Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live

'หมอยุทธ' ลาออก ปธ.แก้ปัญหา รพ.สธ.ขาดทุน หลังประชุมนัดแรกล่ม ไร้เงา กก.สธ.

$
0
0

เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2557 ได้มีการประชุมคณะกรรมการอำนวยการตรวจสอบและปรับปรุงสถานะทางการเงินของหน่วยบริการในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขนัดแรก ภายหลังจากที่ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข ได้มีคำสั่งแต่งตั้งเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ที่ผ่านมา เพื่อแก้ไขปัญหา รพ.ขาดทุน
 
ทั้งนี้การประชุมได้เริ่มขึ้นเมื่อเวลา 09:00 น. โดยมี นพ.ยุทธ โพธารามิก อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการตรวจสอบและปรับปรุงสถานะทางการเงินของหน่วยบริการในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งปรากฎว่ามีกรรมการเข้าร่วมประชุมเพียง 9 คน จาก 16 คน โดยกรรมการในส่วนกระทรวงสาธารณสุข ทั้ง นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัด สธ. นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองปลัด สธ. นพ.สมยศ ศรีจารนัย ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารการสาธารณสุข และ นพ.บัญชา ค้าของ ผู้อำนวยการกลุ่มงานประกันสุขภาพ ไม่เข้าร่วมประชุม โดยได้มีหนังสือแจ้งมายังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยลงลายมือชื่อทั้ง 5 คนไว้เป็นหลักฐาน เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ที่ผ่านมา
 
นพ.ยุทธ กล่าวว่า ได้รับเชิญจาก นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. ให้เป็นประธานคณะกรรมการชุดนี้ ซึ่งคิดว่าคงต้องอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งของ 2 ฝ่าย ดังนั้นจึงได้กำหนดเงื่อนไขว่า กรรมการแต่ละฝ่ายต้องมีสัดส่วนที่เท่ากัน แต่จากที่ สธ.ได้ทำหนังสือขอไม่เข้าร่วมประชุม และให้เหตุผลว่าการเข้าร่วมเป็นกรรมการชุดนี้ไม่เหมาะสม และยังจะเป็นการซ้ำเติมหน่วยบริการที่ประสบวิกฤตการเงิน นั่นหมายความว่ากรรมการส่วน สธ.คงไม่เข้าร่วมแน่ และคงไม่เข้าร่วมตลอดไป แม้ว่าคณะกรรมการฯ จะประชุมในนัดถัดไปคงไม่มีประโยชน์ เพราะทาง สธ.คงไม่มา ดังนั้นจึงขอลาออกจากการเป็นประธานคณะกรรมการฯ   
  
“ผมรับเป็นประธานเพราะอยากให้วินวินทั้งคู่ ทั้งสองฝ่ายต้องลดลาวาศอกกันบ้างเพื่อคุยกัน แต่วันนี้คงไม่มีทางคุยกันได้ เพราะอีกฝ่ายไม่ลดลาวาศอก จึงมองว่าไม่มีประโยชน์ที่จะประชุม และโดยมารยาทจึงขอลาออกจากการเป็นประธานคณะกรรมการฯ และขอคืนสิ่งเหล่านี้ให้ รมว.สาธารณสุข เป็นผู้ติดสินใจ เพราะท่านเป็นผู้บังคับบัญชาของทั้ง 2 หน่วยงาน” นพ.ยุทธ กล่าว
ด้าน นพ.วินัย กล่าวว่า จากการประชุมในวันนี้ คงนำเรื่องเสนอต่อ รมว.สธ. เพื่อให้พิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผู้เสียหายและญาติยื่่นข้อเสนอแนะต่อร่างกฎหมายทรมานและคนหายต่อปลัด กท.ยุติธรรม

$
0
0

เมื่อวันที่ 19  ธันวาคม  พ.ศ. 2557 มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย สมาคมสิทธิเสรีภาพประชาชน มูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้จัดทำข้อเสนอแนะต่อปลัดกระทรวงยุติธรรมและอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิมนุษยชน  กรณีกระทรวงยุติธรรมได้ริเริ่มให้มีการร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ. .... ที่มีการนำหลักการด้านสิทธิมนุษยชนสากลตามพันธกรณีที่ประเทศไทยพึงนำมาแก้ไขกฎหมายในประเทศให้สอดคล้อง  โดยเฉพาะการบัญญัติให้การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงทั้งสองประการคือการทรมานและการบังคับให้สูญหายเป็นความผิดทางอาญาและมีบทลงโทษที่เหมาะสมกับความร้ายแรงของการกระทำความผิด โดยทางกระทรวงฯจะจัดให้มีการพิจารณาร่างฯอีกครั้ง ในวันที่ 22 ธันวาคมนี้
 
ข้อเสนอแนะดังกล่าวมาจากเวทีเสวนาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวจากการระดมความเห็นเมื่อวันที่ 1-2 ธันวาคม ที่ผ่านมา ณ โรงแรมทีเคพาเลสโดยมีผู้สนใจเข้าร่วมเสวนาจากตัวแทนมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม กลุ่มด้วยใจ เครือข่ายสิทธิมนุษยชนชาวลาหู่  เครือข่ายสิทธิมนุษยชนปัตตานี กลุ่มญาติผู้ถูกบังคับให้สูญหายและตัวแทนจากองค์กรของรัฐหลายหน่วยงานเข้าร่วมรับฟังและเสนอแนะด้วย  สรุปข้อเสนอแนะได้จัดเสนอทำเป็นเอกสารจำนวน 7 หน้านำเสนอต่อปลัดกระทรวงยุติธรรมและอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพร่างกฎหมายฉบับนี้สมบูรณ์และสอดคล้องกับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยสรุปได้ดังนี้คือ
 
1. การทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหายมักเกิดกับประชากรบางกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงหรือกลุ่มคนที่ด้อยโอกาสในสังคม กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มที่ขัดแย้งหรือเห็นต่างกับเจ้าหน้าที่รัฐ เช่นนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน หรือกลุ่มประชากรที่อยู่ภายใต้นโยบายพิเศษบางอย่างของรัฐ เช่น การปราบปรามยาเสพติด การปราบปรามการก่อการร้าย หรือการปราบปรามผู้มีอิทธิพล เป็นต้น
 
2. การสืบสวนสอบสวนคดีทรมานหรือการบังคับสูญหายมักไม่ประสบความสำเร็จในการเข้าถึงความยุติธรรม เนื่องจากหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการและรับผิดชอบไม่เป็นอิสระ เป็นกลาง และอาจไม่สนใจที่จะทำคดีหรือสืบสวนสอบสวนโดยทันที  และอาจ อาจถูกแทรกแซงโดยผู้มีอำนาจหรือผู้มีอิทธิพลจึงเห็นว่าในการแต่งตั้งบุคคลกรที่มีอำนาจสืบสวนสอบสวนจำเป็นต้องเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญซึ่งผ่านการฝึกอบรมและการทำงานเป็นมืออาชีพเพื่อให้เกิดความเป็นอิสระและได้รับความไว้วางใจจากผู้เสียหายและญาติ
 
3. การตรวจรักษาผู้บาดเจ็บจากการทรมานนั้นต้องการผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์และนักจิตวิทยาที่มีความรู้ความเข้าใจเป็นการเฉพาะ ร่างกฎหมายฉบับนี้ควรจะมีการกำหนดการชดเชยเยียวยา รวมถึงค่าชดใช้และการฟื้นฟูเยียวยาทางด้านร่างกายและจิตใจ รวมทั้งการฝึกอบรมการใช้คู่มือการสืบสวนและการบันทึกการกระทำทรมานและการประติบัติ หรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีอย่างมีประสิทธิภาพ (พิธีสารอิสตันบูล) สำหรับบุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกคน รวมทั้งบุคลากรการแพทย์
 
4. ในร่างกฎหมายฉบับนี้ต้องให้ความมั่นใจว่ากรณีการบังคับบุคคลให้สูญหายต้องได้รับการสืบสวนสอบสวนโดยทันที เป็นกลางและมีประสิทธิภาพโดยต้องนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษโดแม้ไม่พบตัวหรือไม่พบชิ้นส่วนศพก็ตาม และต้องตระหนักว่าสิทธิในการรับทราบความจริงเกี่ยวกับชะตากรรมของเหยื่อเป็นสิทธิโดยสมบูรณ์ที่ไม่อาจปฏิเสธได้
 
5. ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังขาดแนวทางการคุ้มครองพยานอย่างมีประสิทธิภาพและต้องกำหนดอย่างชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่คุ้มครองพยานต้องไม่เป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานเดียวกันหรือใกล้ชิดกับหน่วยงานที่ถูกกล่าวหาว่าทำการทรมานหรือบังคับให้สูญหาย เพื่อให้ความมั่นใจว่าผู้กระทำผิดจะไม่มีอิทธิพลต่อกลไกการคุ้มครองพยาน
 
6. ร่างกฎหมายฯ ยังคงเปิดช่องให้ไม่เปิดเผยข้อมูลต่อญาติและบุคคลภายนอกเป็นเหตุให้เกิดการทรมาน การบังคับบุคคลให้สูญหาย หรือการคุมตัวในสถานที่ไม่เปิดเผยกรณีอาจก่อให้เกิดอันตรายหรือเป็นอุปสรรคต่อการสืบสวนคดีอาญา ซึ่งข้อกำหนดดังกล่าวอาจจะยังเป็นช่องว่างหรือข้อยกเว้นที่เป็นอุปสรรคต่อการห้ามทรมานและห้ามไม่ให้มีการบังคับให้บุคคลสูญหายโดยเด็ดขาดตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย จึงควรที่จะพิจารณาแก้ไข
 
7. การทรมานอย่างเป็นระบบและการบังคับบุคคลสูญหายเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (Crime Against Humanity) ตามกฎหมายระหว่างประเทศที่ไม่อาจมีการละเว้นโทษ หรือนิรโทษกรรมได้แม้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน
 
8. การเสริมความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายให้กับผู้เสียหายและเหยื่อซึ่งถ้าหากร่างกฎหมายฉบับนี้ได้ระบุถึงหลักเกณฑ์ให้สามารถร้องขอความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรมเพื่อการร้องเรียนต่อศาลด้วยเป็นการเฉพาะก็จะช่วยทำให้ผู้เสียหายและญาติเข้าถึงความยุติธรรมได้ทั่วถึงมากขึ้น 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรรมการสิทธิชี้ชาวบ้านประชามติย้ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีทำไปเพราะขาดความรู้

$
0
0
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแถลงการณ์เรื่อง กรณีการลงประชามติให้ย้ายสถานดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีออกจากหมู่บ้านที่ จ.ชลบุรี ระบุประชาชนมีความรู้สึกหวาดกลัวผู้ติดเชื้อเอชไอวี  เนื่องจากประชาชนส่วนหนึ่งยังขาดความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการแพร่กระจายของเชื้อเอชไอ

 
19 ธ.ค. 2557 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติออกแถลงการณ์ เรื่อง กรณีการลงประชามติให้ย้ายสถานดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีออกจากหมู่บ้าน โดยมีรายละเอียดดังนี้  
 
แถลงการณ์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
เรื่อง กรณีการลงประชามติให้ย้ายสถานดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีออกจากหมู่บ้าน
 
ตามที่ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชนว่า ได้มีการทำประชามติของหมู่บ้านชาวชุมชนหลังเนิน หมู่ที่ 3 ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี  ต้องการให้มูลนิธิกระท่อมพระสิริ ซึ่งเป็น ศูนย์ดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี มีผู้ติดเชื้ออยู่ประมาณ 40 คน  ย้ายที่ตั้งศูนย์ออกจากชุมชนดังกล่าวไปอยู่พื้นที่อื่น   เนื่องจากเกรงจะมีปัญหาส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของชุมชน  โดยเสียงของประชาติไม่ต้องการให้ผู้ติดเชื้ออยู่ร่วมในชุมชนหลังเนินต่อไป นั้น
 
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งมีหน้าที่ในการปกป้อง คุ้มครอง ส่งเสริม การเคารพและปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน ได้ติดตามข่าวเรื่องนี้ และลงพื้นที่ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นแล้ว  เห็นว่า สาเหตุประการสำคัญที่ทำให้ประชาชนมีความรู้สึกหวาดกลัวผู้ติดเชื้อเอชไอวี   เนื่องจากประชาชนส่วนหนึ่งยังขาดความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการแพร่กระจายของเชื้อเอชไอวี และการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างปกติสุขซึ่งอาจนำไปสู่การกระทำที่เป็นการกระทบสิทธิมนุษยชน  คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีข้อห่วงใยและข้อกังวลต่อสถานการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น  ดังนั้นสิ่งที่ควรเร่งรีบดำเนินการในขณะนี้ คือ รัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทุกฝ่าย  ต้องร่วมมือกันส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้ติดเชื้อเอชไอวี บนพื้นฐานของความเข้าใจ และเคารพสิทธิมนุษยชนของกันและกัน จึงขอเรียกร้องและมีข้อเสนอให้ดำเนินการโดยมีมาตรการเร่งด่วน  และมาตรการระยะยาว ดังนี้
 
(1) มาตรการเร่งด่วน  ขอให้รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการให้ข้อมูลกับประชาชนเพื่อให้เกิดความรู้  ความเข้าใจที่ถูกต้อง  เกี่ยวกับการแพร่กระจายของเชื้อเอชไอวี  และการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อดังกล่าวได้อย่างปกติสุข โดยไม่ต้องอยู่ในภาวะวิตกกังวลใด ๆ เพราะปัจจุบันการพัฒนาด้านการสาธารณสุข และเทคโนโลยีทางการแพทย์ มีความก้าวหน้าเป็นอย่างมากในการป้องกันและการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อ  หากได้ปฏิบัติตามข้อแนะนำของเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์ และสาธารณสุข  ทุกคนจะสามารถดำเนินตามวิถีชีวิตของตนได้อย่างปกติ และอยู่ร่วมในสังคมเดียวกันได้อย่างมีความสุขเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันตลอดไป
 
(2) มาตรการระยะยาว ขอให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  กำหนดนโยบาย  วางแผนงาน  จัดงบประมาณ  และสถานที่ที่เหมาะสมในการบริหารจัดการ ดูแล รวมถึงจัดระบบการอำนวยความสะดวก ด้านสาธารณสุข ด้านสุขภาวะ และการสุขาภิบาล ให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้อยู่ในพื้นที่ห่างไกล  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรต้องมีบทบาทหน้าที่ เพื่อให้ชุมชนได้รับบริการอย่างถูกสุขลักษณะ สามารถเข้าถึงสวัสดิการของรัฐได้อย่างทั่วถึง
 
(3) สำหรับประชาชนทั่วไป ขอเชิญชวนให้เข้ามีส่วนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ องค์กรอาสาสมัครต่าง ๆ ของภาคเอกชน และชุมชนภาคประชาสังคม  ในการแสวงหาความรู้ ความเข้าใจ  และยึดมั่นคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์โดยไม่ตั้งข้อรังเกียจ  หรือเลือกปฏิบัติ  เพราะเหตุผลด้านสภาพทางกาย หรือสุขภาพอนามัยในทุกกรณี  ทั้งนี้  เพื่อให้เกิดวัฒนธรรมที่มีความเอื้ออาทร ต่อกันและกันในสังคมไทยอย่างยั่งยืนต่อไป
 
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขอวิงวอนให้ทุกฝ่าย ทุกภาคส่วน ได้มีบทบาทร่วมกันปฏิบัติตามแนวทางข้างต้น โดยยึดมั่นแน่วแน่ตามหลักการสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ หากผู้ใดพบเห็น หรือผู้ใดถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน  สามารถแจ้งรายละเอียด หรือร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ตลอดเวลาทาง สายด่วน 1377  เพื่อรีบดำเนินการพิจารณา ตรวจสอบ แก้ไขเยียวยา และปกป้องคุ้มครอง ด้านสิทธิมนุษยชนต่อไป
                                                                                                         
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
19 ธันวาคม  2557
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ให้ 'ไพบูลย์' เป็นเจ้าภาพเดินหน้าเอาผิดผู้ละเมิด ม.112

$
0
0
"พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ" รัฐมนตรีกลาโหม ให้ "พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา" รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม เป็นเจ้าภาพเดินหน้าเอาผิดผู้ละเมิด ม.112 ทั้งในและนอกประเทศ ให้เวลาทำงานเต็มที่ ไม่กำหนดกรอบระยะเวลา ยืนยัน ดำเนินการกับทุกคนที่กระทำผิด ไม่เจาะจงใคร

 
19 ธ.ค. 2557 สำนักข่าวไทยรายงานว่าพล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ติดตามการดำเนินคดีทางกฏหมายกับผู้ที่ละเมิดมาตรา112 ทั้งผู้กระทำผิดที่อยู่ในประเทศและต่างประเทศ จึงมอบหมายให้ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นเจ้าภาพหลัก เน้นทำความเข้าใจกับต่างประเทศที่กลุ่มผู้กระทำผิดกฏหมาย ใช้ประเทศนั้น ๆ ใช้เป็นที่หลบหนีพักพิง ยืนยันจะเดินหน้าเรื่องนี้เต็มที่ ไม่กำหนดกรอบเวลา ให้ทำงานได้อย่างเต็มที่
 
ส่วนการดำเนินการกับนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แกนนำองค์กรเสรีไทย ที่เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า หากกระทำผิดต้องดำเนินการหมด ไม่เฉพาะเจาะจงว่าเป็นบุคคลใด
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘เกษียร’ อ่าน ‘นิธิ’ และ 20 ปีให้หลัง : อสูรกาย ใกล้ถือกำเนิด

$
0
0

เกษียร เตชะพีระ ชี้งาน “นิธิ” เป็นคู่มืออ่าน วัฒนธรรมไทย พร้อมเผยคนชั้นกลาง และชนชั้นนำไม่ยอมเข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม พยายามตรึงรั้งมโนทัศน์เก่าอยู่เสมอ และก้าวเดินสู่สังคมไร้อำนาจนำ

 

หมายเหตุ. นี่เป็นรายงานเสวนาฉบับเต็มของเกษียร เตชะพีระ ในงานเสวนาหัวข้อ “นิธิ 20 ปีให้หลัง” และงานเปิดตัวหนังสือพิมพ์ซ้ำ 4 ปก อันประกอบด้วย “กรุงแตก, พระเจ้าตากฯ และประวัติศาสตร์ไทย” , “โขน, คาราบาว, น้ำเน่าในหนังไทย” , “ชาติไทย, เมืองไทย, แบบเรียนและอนุสาวรีย์” และผ้าขาวม้า, ผ้าซิ่น, กางเกงใน และ ฯลฯ โดยกล่าวขึ้นเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2557 ที่อาคารมติชนอคาเดมี ซึ่งจัดขึ้นโดย ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ สำนักพิมพ์มติชน และมติชนอคาเดมี ประชาไทนำเสนอโดยละเอียด

ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก  Prince Juthamas

ก่อนมามติชนได้ยินข่าวลือว่าขาดทุน มีโครงการให้พนักงานออก ใจตุ๋มๆ ต่อมๆ แต่มาถึงก็สบายดี พนักงานก็ยิ้มแย้มแจ่มใส ผู้คนอุ่นหนาฝาคั่ง พูดตรงๆ ที่ผ่านมาเราเจอ กปปส.เข้า เจอ คสช.เข้า ใครบ้างไม่ขาดทุน มีกิจการไหนบ้างที่ไม่ขาดทุน หายากมาก แต่ขาดทุนแล้วยังยืนอยู่ได้และยังมีความหวัง ยังเชื่อว่ามติชนจะอยู่รอดหลัง กปปส.และคสช.เป็นอดีตไปแล้ว

นอกจากยินดีที่ได้มาเยี่ยมมติชน ก็ชอบมากที่ชวนให้ขึ้นมาพูดเรื่องอาจารย์นิธิ อีกทั้งยังเป็นหนังสือที่ผมเขียนคำนำให้เมื่อ 20  ปีก่อน อ.นิธิเป็นปัญญาชนผู้ปรับทัศนติของสังคมวัฒนธรรมไทยไปอย่างใหญ่หลวงที่สุด ไอ่ที่คสช.พยายามจะปรับทัศนคตินี่ (หัวเราะ) ให้เซ็นอะไรก็ต้องไปเซ็นไปนะ แต่ถ้าจะหาคนที่ปรับทัศนคติของสังคมวัฒนธรรมไทยอย่างใหญ่หลวงที่สุดในรอบทศวรรษล่ะก็ เขานั่งอยู่ตรงนี้ (ผู้ฟังปรบมือ) คิดอย่างนี้ดูแล้วกัน อีก 20 ปีข้างหน้า ปี 2578 ใครบ้างจะยังจำค่านิยม 12 ประการของ คสช.ได้ ทุกวันนี้ผมยังจำไม่ได้เลย (หัวเราะ)

ผมเข้าใจว่าผมควรโฟกัสไปที่รวมบทความของอ.นิธิ เล่มที่ผมเขียนคำนำให้ก็คือ “ผ้าขาวม้า ผ้าซิ่น และกางเกงใน” แล้วก็จะคิดถึงมันและพยายามขยายเชื่อมโยงไปถึงภาพที่กว้างขึ้นหรืองานเรื่องอื่นที่เกี่ยวข้อง ผมแบ่งการพูดเป็นสองส่วนหยาบๆ  ส่วนแรก อยากจะเริ่มว่าเมื่อ 20 ปีก่อนผมเข้าใจว่าเนื้อหาใจความสำคัญที่อ.นิธิฝากไว้มีอะไรบ้าง และส่วนหลังนั้นอยากจะมองตามมาว่าเมื่อเราคิดถึงข้อคิดของอ.นิธิประเด็นมันมีอะไรบ้าง แต่เพื่อตอบอ.ประจักษ์ว่า 20 ปีให้หลังมานี้งานอ.นิธิเชยไปแล้วไหม คือ ไม่เชยเลย เพราะอ.นิธิไม่หยุด ถ้าไปดูงานอ.นิธิใน 20 ปีให้หลังจะเห็นว่ามีการปรับเปลี่ยนทัศนคติความคิดให้ไล่เท่าทันสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปอยู่ตลอดเวลา พูดอย่างเปรียบเทียคือ จ๊าบได้ตลอด สำหรับคนที่จะว่าไปก็รุ่นปู่แล้ว (หัวเราะ)

นิธิ กับการอ่านวัฒนธรรมไทย

ผมอยากจะจับประเด็นสำคัญก่อนว่าถ้าเรานึกถึงงานผ้าขาวม้า ผ้าซิ่น กางเกงในของอาจารย์ เรื่องสำคัญก็คือการอ่านวัฒนธรรมไทยของอ.นิธิ เนื้อหาในเล่มพูดตรงไปตรงมาก็คือ วัฒนธรรมไทยกับความเป็นไทย ฐานะของหนังสือเล่มนี้คืออะไร มันเป็นคู่มือในการอ่านวัฒธรรรมไทยร่วมสมัย ทีนี้เวลาอ่านวัฒนธรรมไทยจะอ่านเข้าไปตรงไหน อะไรคือแก่นของวัฒนธรรมไทย ผมคิดว่าเป้าการอ่านของอ.นิธิคือไวยกรณ์การคิดทางวัฒนธรรม มันก็เหมือนภาษา ภาษาก็จะมีแกรมม่ากำกับ อ.นิธิพยายามจับว่าอะไรคือไวยกรณ์ความคิดทางวัฒนธรรมที่อยู่เบื้องลึก เบื้องหลังของสังคมไทย ถ้าคิดอย่างนี้ บทบาทของอ.นิธินั้นเป็นทั้งอารักษ์และเป็นทั้งล่าม เป็นอารักษ์ในความหมายที่ว่าเป็นคนที่จดบันทึกวัฒนธรรมไทยในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนผ่านทางประวัติศาสตร์ว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้าง แล้วก็เป็นล่ามที่ช่วยแปลความหมายให้คนไทยได้คุยกับคนไทยด้วยกัน ปัญหาอยู่ตรงที่ว่าคนไทยมีความแตกต่างหลากหลายมาก อาจจะมองต่างกันจนกระทั่งขัดแย้งกันจนอาจจะคุยกันไม่รู้เรื่อง ผมคิดว่าพยายามของอ.นิธิช่วยแปลความหมายให้คนไทยที่อาจจะต่างถิ่นกัน ต่างเวลา ต่างกลุ่มกันได้คุยกันรู้เรื่อง รวมทั้งเป็นล่ามแปลให้เราได้คุยกับตัวเราเองด้วย ในความหมายที่ว่าชิ้นส่วนบางอย่างในไวยกรณ์การคิดทางวัฒนธรรมนของเรานั้น เราไม่รู้หรอกว่ามันมาจากไหน เวลาอ่านงานของอ.นิธิมันทำให้เราเข้าใจมากขึ้นว่า ไอ่ชิบหาย ความคิดแบบนี้มันมาจากตรงนี้เอง หรือทำให้เราเริ่มเห็นว่าทำไมเราไม่คิดไปในแบบนั้น อะไรเป็นตัวที่สกัดหรือล็อคมันอยู่ นี่คือประโยชน์สำคัญที่ได้จากงานที่อ.นิธิทำ

วิธีการอ่านของอาจารย์ก็เป็นการมองแบบเปรียบเทียบเชิงประวัติศาสตร์ และอาศัยความรู้ทางมานุษยวิทยามาช่วยจับ วิธีการของอาจารย์มีลักษณะทางมนุษยวิทยามากทั้งที่อ.ไม่ได้ฝึกมาทางนั้น และมีลักษณะสัมพัทธ์ คือไม่สมบูรณ์ ไม่แน่นอน ตายตัว มันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ของทั้งประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม

อ่านเข้าไปอีกไวยากรณ์อะไรที่สำคัญ อะไรที่เป็นการค้นพบเมื่ออ่านงานอ.นิธิ อ.ชี้ให้เห็นถึงวาทกรรมความเป็นไทย 3 แบบ คล้ายการคุยหรือสนทนาเรื่องความเป็นไทยในสังคมบ้านเรา ไปนั่งแยกแยะดูดีๆ

อันแรกคือ ความเป็นไทยในจินตการ คือมโนว่าความเป็นไทยเป็นแบบนี้ตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา รัชการที่ 5 ทั้งที่เอาเข้าจริงเราไม่เคยเป็น ผมเรียกความเป็นไทยแบบนี้ว่า The Imaginary Thainess คือความเป็นแบบมโนว่าชิบหายแต่ก่อนคนไทยเป็นแบบนี้ทั้งที่ไม่เคยเป็น แต่เราเสือกเชื่อว่าเป็น

อันที่สองคือ ความไม่เป็นไทยหรือเป็นอื่น ส่วนหนึ่งของความเป็นไทยคือเราไม่อยากเป็นไทยเท่าไร เราไม่อยากเป็นไทยเท่าไร เราอยากเป็นสิงคโปร์ ฮ่องกง จีน อเมริกา อังกฤษ อยากหลุดให้พ้นอะไรบางอย่างในสังคมไทยที่เราไม่ชอบแล้วไปเป็นโลกาภิวัตน์ ไปเป็นเจริญ ไปเป็นก้าวหน้า ไปเป็นพัฒนา ผมรวมเรียกอันนี้ว่า ความไม่เป็นไทยหรือเป็นอื่นในฝันที่เราไม่ได้เป็น และอาจจะไม่มีวันเป็น แต่มันเป็นความฝันที่เกาะกุมความคิดจิตใจเราและหลอนเรา ให้คนไทยจำนวนมากนึกอยากจะเป็นไอ้นั่นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ผมเรียกว่า The Symbolic Un-thainess ความไม่เป็นไทยหรือเป็นอื่นในเชิงสัญลักษณ์

อันที่สาม ซ่อนแฝงอยู่และอ.นิธิเป็นคนแรกที่หยิบเอามาอภิปรายให้เราเห็น คือ ความเป็นไทยที่เป็นจริง ความเป็นไทยที่เราเป็นอยู่จริง ผมคิดว่าเจ๊กปนลาว คนจำนวนมากเป็นคนอีสาน คนเชื้อสายลาว มันเป็นความเป็นจริงในประเทศเรา แต่เป็นความเป็นไทยที่ถูกกลบเกลื่อน กดทับไว้ เราไม่พูดถึงมันราวกับมันไม่มีอยู่จริง มันถูกกลบเกลื่อนไว้ด้วยความเป็นไทยสองแบบแรก ความเป็นไทยที่เป็นจริงมันถูกความเป็นไทยในจินตนาการและความเป็นอื่นที่เราฝันกลบเกลื่อนกดทับไว้ ทำให้เราไม่สามารถเข้าใจตัวเอง สังคมไทยขาดความสามารถที่จะเข้าใจตัวเองที่เป็นจริงได้ เพราะถูกหลอนถูกมโนเอาไว้ด้วยความเป็นไทยในจินตนาการและความไม่เป็นไทยในฝัน เมื่อถูกกดทับเยอะๆ สิ่งที่คนไทยแสดงออกและอาจารย์นิธิได้บอกไว้คือ การฆ่าตัวตายทางวัฒนธรรม หรืออัตวิบากกรรมทางวัฒนธรรม คือ อาการมันออกแบบนี้ มีอาการอายและเกลียดตัวเองที่ดันเกิดมาเป็นคนไทยซึ่งไม่เหมือนอุดมคติความเป็นคนไทยในอดีตของนักอนุรักษ์นิยมที่ไม่เคยมีตัวตนอยู่จริง ชิบหาย กูมีตัวตนแบบนี้ เป็นเจ๊กปนลาวหรืออะไรก็แล้วแต่ แล้วมันไม่ตรงกับความเป็นไทยในจิตนาการ เกลียดตัวเองที่ไม่เป็นไทยแบบนั้น อันนี้ชิบหายแล้ว ตื่นเช้ามาโบยตีตัวเองก่อน ทำไมกูไม่เป็นไทยให้มากกว่านี้ๆ และไม่เทียมทันความไม่เป็นไทยในอนาคตของนักพัฒนาที่อาจไม่มีวันเป็นไปได้ มันถูกหลอนโดยความเป็นไทยที่ฝันว่าจะเป็นอย่างนี้ เป็นอย่างอื่น พัฒนา นิกส์ หรืออะไรอย่างอื่น แล้วปฏิเสธสิ่งที่ตัวเองเป็นในปัจจุบัน อายที่ตัวเองเป็นแบบนี้ เกลียดที่ตัวเองเป็นแบบนี้

ไม่เพียงแต่อายและเกลียดตัวเองที่เป็นคนไทยแล้วไม่เข้าแก๊ปแบบที่อยู่ในจิตนาการหรือความฝัน แต่ยังอายและเกลียดตัวเองในแง่ความเป็นมนุษย์ อายและเกลียดตัวเองที่ดันเป็นมนุษย์ซึ่งในด้านที่ใฝ่ต่ำ ขี้เหม็น เห็นแต่ตัวเอง โง่ งี่เง่าและเงี่ยนด้วยซ้ำไป มนุษย์มันก็เป็นแบบนี้ แต่บางทีเราถูกโบยตีทางวัฒนธรรมว่ามนุษย์ในแง่ที่เรามีบางด้านมันผิด เราเป็นมนุษย์อย่างนี้แหละ เราใฝ่หาความสุขความพอใจของตัวเอง อยากได้ใคร่ดีและเห็นแก่ตัว อยากเห็นความพินาศที่ตัวเองไม่ชอบเพื่อบำเรอความสุขอย่างหยาบของตัวเอง บางทีผมอ่านประโยคนี้แล้วทำให้เห็นว่าคำที่ท่านประวิตรบอกว่า คิดต่างได้แต่ห้ามแสดงออก มันก็มีประเด็นนี้อยู่นะ ผมคิดว่าถ้าผมจะแสดงออกทุกอย่างที่ผมคิดเวลาที่ผมดูทีวีหรือรายการข่าวนี่ชิบหายนะ (หัวเราะ) เพราะในระหว่างที่เราดูข่าวเราคิดอะไรบ้าง (หัวเราะ) เชื่อและคาดหวังอย่างไม่มีเหตุผลอย่างงมงาย เพื่อปลอบประโลมใจตนเองให้ผ่านพ้นความทุกข์ยากของโลกนี้ไปเป็นครั้งคราว มีความต้องการจริงในโลกที่เปลี่ยนแปลงวูบวาบหาความเที่ยงแท้แน่นอนไม่ได้เลย มีอารมณ์ความรู้สึกซึ่งอาจจะโง่ ไร้เหตุผล เปียกชุ่มด้วยกิเลส คนมันเป็นแบบนี้ แน่นอน คนมันไม่ได้มีแค่นี้ มันมีแง่งาม แง่ที่อยากจะก้าวไปสู่อรหันตผลด้วย แต่มันมีด้านมืด ด้านต่ำ ปัญหาที่เราจะจัดการกับความเป็นคนด้านมืด ด้านต่ำก็คือ ยอมรับซะ รู้จักมันซะว่ามันเป็นยังไงจริงๆ จะได้จัดการมันได้อยู่ แต่ผมเกรงว่าสิ่งที่อาจารย์นิธิเสนอกับวัฒนธรรมไทยที่เรียนรู้กันมามันกดทับปิดด้านนี้ไว้เหมือนกับว่ามันไม่มี ทำให้เราอายและเกลียดตัวเองในด้านที่เป็นจริงของเราด้านนั้น ไม่มีวิธีการที่จะไปจัดการมัน อันนี้จึงทำให้ผมคิดถึงกลอนของพี่สุจิตต์ (วงษ์เทศ) ที่ว่า “คนทั้งโลกมองเห็นเป็นสีดำ แต่เจ้ากรรมมองเป็นสีขาว ความเป็นไทยคล้ายมนุษย์ต่างดาว ไม่เหมือนชาวโลกนี้ที่เป็นคน” บางทีความเป็นไทยที่เราได้ยินได้ฟังอยู่ทุกวันนี้มันใช่ไทยจริงหรือเปล่า ใช่ความเป็นมนุษย์ธรรมดาที่เราเป็นอยู่จริงๆ หรือเปล่า

อย่างนั้นทางออกคืออะไร เมื่อ 20 ปีก่อนอ.นิธิได้นำเสนอทางออกซึ่งถ้าพูดเป็นคำขวัญสรุปรวบยอดก็คือ “คืนวัฒนธรรมให้แก่คน คืนคนให้แก่วัฒนธรรม” ก็คือ ไม่ต้องอายและเกลียดตัวเองที่เป็นคนไทยและมนุษย์อย่างที่มันเป็นจริง พูดให้ถึงที่สุด สิ่งที่นิธิทำเท่าที่ผมเข้าใจคือ การให้ชื่อ ให้เสียง กับสิ่งที่รอคำ ให้ความเป็นธรรมดาธรรมชาติแก่สิ่งที่เราเป็นจริง ไม่ว่าในฐานะคนไทยหรือมนุษย์ ช่วยให้เราปลดปล่อยตัวเองจากความอายและความเกลียดตัวเอง ให้เรากลับภาคภูมิใจในคุณค่าในศักดิ์ศรีของตัวเอง ได้รู้จักตัวเองทั้งด้านดีด้านเลว จุดอ่อนจุดแข็ง เพื่อจะสามารถฝึกฝนขัดเกลาจัดการตัวเอง เป็นการคืนวัฒนธรรมให้แก่คน และคืนคนให้แก่วัฒนธรรม อันเป็นกระบวนท่าการอ่านวัฒนธรรมไทยที่ปลดปล่อยคนอ่านออกจากกล่องกรอบที่จำกัดรัดรึงตัวไว้ให้เป็นอิสระเสรีที่สุด

ถ้าจะแถมก็คือว่า ต้องทำให้กระบวนการนิยาม สร้างสรรค์และปรับเปลี่ยนความเป็นไทยนั้นเป็นไปโดยเสรีประชาธิปไตย แทนที่การครอบงำโดยรัฐและการล่อใจโดยตลาด สิ่งที่เราต้องการเพื่อผดุงวัฒนธรรมไทยคือการสนทนากันอย่างสันติและเสรีบนพื้นฐานอำนาจที่เท่าเทียมและความรู้เท่าทันระหว่างคนไทยทุกเชื้อชาติ ภาษา ศาสนา เพศและฝ่าย นี่คือข้อประมวลที่ผมเก็บได้เมื่อ 20 ปีที่แล้ว

20 ปีให้หลังของนิธิ

ทีนี้ 20 ปีให้หลังเป็นยังไง ผมคิดว่าอยากจะเริ่มด้วยเรื่องเล่า 3 เรื่อง คือ ประสบการณ์ส่วนตัวของผม ลูกเจ๊กเมืองกรุง เรื่องเล่าของอาจารย์คริส เบเกอร์ ซึ่งเป็นคู่ชีวิตของอาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร และคำบ่นของอาจารย์เบเนดิก แอนเดอร์สัน ซึ่งเป็นครูสอนหนังสือผมและเชี่ยวชาญเรื่องเมืองไทย

ผมนึกถึงตัวเองตอนก่อน 14 ตุลา 16  ที่ได้สัมผัสกับความคิดที่ก้าวหน้า ก่อนหน้านั้นผมเรียนเตรียมฯ และไปเรียนธรรมศาสตร์ ก็นั่งรถเมล์ไป เหมือนคนทั้งหลายที่นั่งรถเมล์ และหลัง 14 ตุลาก็จะเห็นชาวบ้านตาสีตาสา ใส่เสื้อม่อฮ่อม หิ้วตระกร้า ขึ้นรถเมล์มาเพื่อจะไปประท้วงรัฐบาล ระหว่างที่ผมใส่ชุดนักศึกษาหรือใส่ชุดนักเรียนแล้วเห็นคนเหล่านี้ พูดอย่างตรงไปตรงมาว่า คนจากชนบทเหล่านี้เป็นคนกลุ่มสุดท้ายที่จะมีอะไรให้ผมเรียนรู้ มีอะไรที่จะมาสอนผม ชีวิตผมอย่างที่ดำเนินมาและเรียนมาและอยู่ในกรุงเทพฯ ผมคิดไม่ออกเลยว่ามีอะไรที่พวกเขาจะประสบ ผมอดคิดไม่ได้ว่าลูกเจ๊กเมืองกรุงคิดแบบนั้น ผมมาเปลี่ยนความคิดเมื่อผมเข้าป่าหลัง 6 ตุลา พอเข้าป่า คิดดูแล้วกันจากเยาวราชไปสู่อีสานใต้ ก็เป็นนักเรียนน้อยเปิ่นเซ่อ ทื่อมะลื่อ ไม่รู้ประสา(ห่า)อะไรเลย ไม่รู้จักต้นมันสำปะหลัง แยกไม่ออกระหว่างต้นกล้าข้าวกับต้นหญ้า ผมเดินต้อนควายด้วย จัดตั้งให้ผมต้อนควาย ผมต้อนควายทั้งฝูงลงไปกินกล้าข้าวเพราะนึกว่าเป็นหญ้า แล้วสหายก็วิ่งตามไป “บ่แม่น บ่แม่น” ผมไม่รู้จักต้นไม้สัตว์ป่านานาชนิด หว่านข้าว ไถนา เลี้ยงควาย เกี่ยวข้าว ตำข้าว ทำไม่เป็นทั้งนั้น หลงทางประจำ เมื่อไรเข้าป่าก็หลงต้องจับตาดูให้ดี เดี๋ยวมันหายไปอีกแล้ว เว้าลาวก็บ่เป็น ถูกหัวเราะเยาะ ต้องเรียนรู้หัดเอาจากใคร จากตาสีตาสายายมียายมาสหายชาวนาที่ผมเคยคิดว่าคงไม่มีอะไรให้เรียนรู้ ผมคิดว่านี่เป็นประสบการณ์ที่ healthy มาก ดีมากสำหรับสุขภาพสมองและสุขภาพใจของลูกเจ๊กเมืองกรุงที่ได้พาตัวเองเข้าป่าไปตกในสภาพช่วยอะไรตัวเองไม่ได้ในทางวัฒนธรรม ต้องถ่อมตัวเรียนรู้จากผู้อื่นเพื่อเอาตัวรอด จะได้เข้าใจว่ามีอะไรที่เราไม่รู้อีกเยอะในโลก ไม่อวดวิเศษ ดูถูกคนอื่นและโง่เขลา

เรื่องที่สองเป็นเรื่องเล่าที่อ.คริส เบเกอร์ เล่าในหอเล็กในงานสัมมนาที่ท่าพระจันทร์ อาจารย์เล่าถึงเหตุการณ์หลังจากที่มีความขัดแย้งทางการเมืองเรื่องเสื้อสี บรรดาคนรวยทั้งหลายในเมืองไทยก็เดือดร้อน ชิบหาย อนาคตบ้านเมืองจะเป็นยังไง ก็เชิญนักวิชาการมือหนึ่งที่วิเคราะห์เรื่องนี้เยอะอย่างคุณคริสและอ.ผาสุกไปคุยให้ฟังถึงความเปลี่ยนแปลง ซึ่งเรื่องเล่าที่คุณคริสวิเคราะห์ให้พวกเขาฟังถึงความเปลี่ยนแปลงในชนบท เรากำลังพูดถึงที่ประชุมที่เต็มไปด้วยนายธนาคารใหญ่ บิ๊กๆ ทั้งหลายของเมืองไทย พอคุณคริสเล่าจบก็เปิดให้ตั้งคำถามหรือคอมเม้นต์ พอคุณคริสเล่าจบก็มีนายธนาคารใหญ่คนหนึ่งพูด แม้จะเป็นคนไทยแต่ที่ประชุมพูดภาษาอังกฤษ แกบอกว่า Now I know what the problem is ผมรู้แล้วล่ะว่าปัญหามันอยู่ที่ไหน The problem is they know us but we don’t know them ปัญหาก็คือคนชนบทในเมืองไทยทั้งหลายรู้จักเข้าใจอิลีทในกรุงเทพฯ แต่อีลีทในกรุงเทพฯ ไม่รู้จักเข้าใจคนชนบทเลย

เรื่องเล่าสุดท้ายเป็นคำบ่นของครูผม แกเขียนไว้ในงานเขียนเพิ่มเติม จริงๆ เป็นบทวิจารณ์หนังเรื่องลุงบุญมีระลึกชาติ ซึ่งก็จะมีปัญหามากว่าหนังเรื่องนี้คนไทยดูแล้วไม่ค่อยเข้าใจ โดยเฉพาะคนไทยที่เป็นลูกเจ๊กเมืองกรุงอย่างผม แต่ตลกดี ประสบการณ์ของอ.เบ็นคือ เมื่อเอาหนังเรื่องนี้ไปฉายให้คนอินโดนีเซียดู คนอินโดฯ ที่มีประสบการณ์ชีวิตอยู่ในชนบทในป่าในเขาเข้าใจหนังเรื่องนี้ได้ง่ายมาก นำไปสู่ข้อสรุปที่น่าสนใจว่า อ.เบ็นตั้งข้อสังเกตว่า ลองคิดถึงคน 3 กลุ่ม ชาวชนบท, คนชั้นกลางชาวเมืองโดยเฉพาะในกทม. และวัฒนธรรมของปัญญาชนโลกซึ่งมีวัฒนธรรมรอบรู้กว้างขวางวิพากษ์วิจารณ์ อ.เบ็นเสนอว่า คนชั้นกลางชาวเมืองโดยเฉพาะในกทม.ห่างไกลกับชาวชนบท และห่างไกลกับวัฒนธรรมวิจารย์ของปัญญาชน ทั้งในแง่เชื้อชาติและวัฒนธรรม ไม่สามารถเข้าใจชาวชนบทได้ ขณะเดียวกันคิดว่าตัวเองโลกาภิวัตน์ตายห่าก็ไม่สามารถเข้าใจวัฒนธรรมปัญญาชนของตะวันตกได้

ที่น่าสนใจก็คือ ถ้าข้อสังเกตนี้เป็นจริง เรากำลังเจอกับภาวะที่อิหลักอิเหลื่อมาก เพราะในขณะที่คนชั้นกลางในกทม.ห่างไกลกับคนชนบททั้งในแง่วัฒนธรรมและชาติพันธุ์แต่คนสองกลุ่มนี้กลับเข้าใกล้ถึงขนาดประชิดถูกตัวกันมากขึ้นในทางการเมือง ในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา เข้าใกล้กันถึงขนาดที่เขาเริ่มแย่งโอกาสกัน เริ่มแย่งทรัพยากรกันและเริ่มแย่งอำนาจรัฐกัน สิ่งเหล่าไม่เกิดเมื่อ 20 ปีก่อนเพราะว่าชาวชนบท ยังไม่มีโอกาสช่องทางที่เปิดให้เข้ามาแย่งสิ่งหล่านี้ ยังอยู่ที่ปลายทางของการรับความเมตตา แต่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเมื่อ 20 ปีมานี้มันเปิดช่องให้คนชนบท เข้ามาถึงจุดที่เขาเริ่มเข้ามาในเกมส์แย่งชิงทรัพยากร เริ่มเข้ามาในเกมส์แย่งชิงโอกาส และเริ่มเข้ามาในเกสม์แย่งชิงอำนาจรัฐกันชนชั้นกลางในเมือง แบบที่เขาไม่เคยทำมาก่อน ผ่านการเลือกตั้งและการเมืองบนท้องถนน ห่างกันทางวัฒนธรรมแต่ประชิดติดกันทางการเมือง ทะเลาะกันฉิบหาย

ทีนี้ 20 ปีให้หลัง อาจารย์นิธิ ทำอะไรบ้าง ผมคิดว่าอาจารย์นิธิ เป็นคนแรกๆ ในรอบ 20 ปีนี้ที่สังเกตุเห็นและร้องทัก กระทั่งระบุเรียกสิ่งเหล่านี้ 1.ความสัมพันธ์ระหว่างเมืองกับชนบทเปลี่ยนไปแล้วในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา 2.การปรากฎตัวทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองของกลุ่มคนที่อาจารย์นิธิใช้คำว่า คนชั้นกลางระดับล่าง lower middle class ในชนบท อาจารย์นิธิได้รับแรงบรรดาใจจากบทความ What is middle class about the middle class around the world ของนักวิชาการชาวอินเดีย กับลาตินอเมริกา โดยมองวิธีการวิเคราะห์ของเขาแล้วเอามาประยุกต์ทำความเข้าการเปลี่ยนแปลงในชนบทไทย คือชาวนาในนบทไทยเปลี่ยนไปแล้วไม่ใช่คนจนหงำเหงือก แต่ได้กลายเป็นคนชั้นกลางระดับล่างไป และเพราะเขาเปลี่ยนเป็นคนชนกลางระดับล่างแล้ว ความใฝ่ฝันและจินตนาการ วัฒนธรรมทางการเมืองเขาจึงเปลี่ยนและเป็นที่มาของความขัดแย้งด้วย ชุมชนชาวนาแบบเดิมที่เราเคยหลับตาฝันเห็นเขียวอร่าม ร่มรื่นอยู่ดีมีสุขมันได้เปลี่ยนไปแล้ว มันกลายเป็นสังคมการเมืองของคนชั้นกลางระดับล่าง เป็นสังคมการเมืองของชาวนารายได้ปานกลางในชนบท ซึ่งปีหนึ่งเลือกตั้งทั้งระดับชาติและท้องถิ่นหลายต่อหลายครั้ง มีโรงเรียนประชาธิปไตยที่เป็นจริงเปิดตลอดปี ในสังคมท้องถิ่นทั่วทั้งประเทศ เขาได้กลายเป็นสิ่งมีชีวิตทางการเมืองแล้ว ถ้าท่านคิดว่าการเมืองเป็นเรื่องสกปรก เขาเสียตัวแล้วว่ะไอ้ห่า (หัวเราะ) กลับไปบริสุทธิ์แบบเดิมไม่ได้แล้ว เขารู้จักแล้วว่าการเมืองต้องเล่นกันแบบนี้ มันถึงจะได้อะไรที่เขาต้องการ และกลุ่มคนเหล่านี้ที่เป็นฐานมวลชนของพรรคของคุณทักษิณ และเป็นฐานมวลชนของคนเสื้อแดง

คิดต่อจากนิธิ

ทีนี้ ผมอย่างจะคิดต่อจากอาจารย์นิธิค้นพบเหล่านี้นะครับ คือถ้ามองภาพรวม ผมอยากจะยกข้อคิดของ Andrew Walker ในหนังสือ Thailand's Political Peasants: Power in the Modern Rural Economy แกเสนอว่าชนบทไทยเปลี่ยนแปลงไปแล้ว สรุปมามี 4 อย่างที่เปลี่ยน 1.ชาวนาไทยส่วนใหญ่ไม่จนแล้ว คนจนยังพอมีอยู่แต่ไม่ใช่ส่วนใหญ่แล้ว แปลว่าเขาพ้นจากความยากจนไม่พอกิน ไม่มีจะกินมาแล้ว เขาได้กลายเป็นชาวนารายได้ปานกลาง ซึ่งมี(2.)เศรษฐกิจที่หลากหลาย ก็คือไม่ได้พึ่งเกษตร ไม่ได้พึ่งการปลูกข้าว อันใดอันหนึ่งอย่างเดียวแล้ว แต่เศรษฐกิจประเภท เปิดร้านบ้าง รับจ้างบ้าง เข้าไปทำงานในกรุงเทพฯบ้าง เข้าไปทำงานต่างประเทศบ้าง เข้ามาประกอบประสมกัน เพราะฉะนั้นเขาพึ่งพาเศรษฐกิจที่หลากหลายแตกต่างจากแต่ก่อน ชาวนาจึงเผชิญหน้ารูปแบบใหม่ขอความเหลือมล้ำทางเศรษฐกิจ (3.)ปัญหาหลักไม่ใช่ไม่มีจะกิน ปัญหาหลักคือทำอย่างไรกูจะรวยเท่ามึง ทำอย่างไรจึงจะได้ส่วนแบ่งจากความมั่งคั่งของประเทศที่เท่าเทียมกับคนเมืองบ้าง

ข้อ4 นะครับ รัฐไทยมีบทบาทใจกลางในการอุดหนุนเศรษฐกิจชาวนา การดำเนินในรอบ 20 ปีที่ป่านมามันโน้มไปในทางที่รัฐ โดยผ่านองค์ปกครองส่วนท้องถิ่น ผ่านนโยบายพัฒนาต่างๆ ได้ผันเงินงบประมาณของรัฐจำนวนมากเข้าไปอุ้มชูเศรษฐกิจของชาวนาไว้ และมีความจำเป็นต้องอุ้มชูด้วย จนกระทั้งคือ ประทานโทษทีนะ นี่ไม่ใช่ความเหี้ยของทักษิณ (หัวเราะ) คือถ้าเข้าใจว่ามึงเป่าทักษิณให้หายไปจากโลกนี้ แล้วมึงไม่ต้องอุ้มชูชาวนามึงบ้า เลิกได้จำนำข้าว แต่ก็กลายเป็นจำนำยุ้งฉาง มันเลิกได้ป่ะ เอ้าไม่ยอมราคายาง มึงไปขายดาวอังคารสิ แต่สุดท้ายก็ต้องต่อรอง นึกออกไหมครับ จะเป็นรัฐบาลเหาะมาจากสวรรค์ไหน มาปกครองประเทศไทย คุณเจอกับความเป็นจริงของเศรษฐกิจในชนบทแบบนี้ ความต้องการชีวิตที่ดีขึ้นของพวกเขาเหล่านี้ คุณไม่ช่วยเขาไม่ได้ เว้นแต่คุณเปลี่ยนเศรษฐกิจทั้งประเทศด้วยการลงทุนขนานใหญ่ ซึ่งก็เป็นทิศทางที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์อยากจะทำ โครงการโลจิสติกส์ต่างๆ แล้วในที่สุดรัฐบาลชุด คสช. ก็กำลังทำ มันเป็นทางที่ต้องไป ความเป็นจริงมันเป็นอย่างนี้

คิดต่อไปอีกนะครับ ถ้าดึงเอาข้อคิดของ Partha Chatterjee ซึ่งเป็นนักวิชาการคนหนึ่งซึ่งศึกษาเรื่องชนบทอินเดียมา ผมคิดว่าเราพูดการเปลี่ยนแปลงในชนบทลึกลงไปในทางการเมืองทำได้ 3 เรื่อง 1.ชุมชนชาวนาสมัยก่อน การเลี้ยงตัวเองพึ่งตัวเองสำคัญมาก บทความเรื่อง แห่นางแมวของอาจารย์นิธิ พูดถึงเรื่องนี้ไว้ได้ดีที่สุดคือ ชุมชนชาวนาแต่ก่อนต้องมีพีธีกรรมต่างๆ เพื่อรักษาความกลุ่มก้อนอันหนึ่งอันเดียวไว้เพราะการจะมีพอกินครบรอบปี มันไม่มีอะไรเป็นหลักประกันเลยนอกจากความเอื้อเฟื้อช่วยเหลือกันในหมู่บ้าน และชุมชน ดังนั้นจริยธรรมที่ถูกกำหนดจากการต้องพึ่งตัวเอง พอเพียงในตัวเองนั้นสำคัญมาก ซึ่งอันนี้มันไปแล้วในภาวะแบบใหม่ ประเด็นไม่ใช่จริยธรรมของการพอมีพอกิน ประเด็นคือจะดำเนินการเมืองอย่างไรที่จะเป็นห่วงชูชีพช่วยเขาไว้ให้พ้นจากภาวะผันผวนของตลาดโลก จะดำเนินนโยบายการเมืองอย่างไรจึงจะผลักเขาขึ้นฝั่ง คือภาพของชาวนาที่วาดไว้ช่วงหลังมันไม่ใช่ภาพของชาวนาที่กำลังจะจม เขาประคองตัวเองได้ แต่ว่าถ้ามรสุมมาเขาอยากจะได้ห่วงชูชีพ และเป้าหมายของเขาไม่ใช่การลอยคออยู่เรื่อยๆ มันดี ของลอยอยู่ก่อน ไม่ใช่! เขาอยากจะขึ้นฝั่ง

เพราะฉะนั้นสิ่งที่เขาเรียกร้องจากรัฐคือ 1.ถ้ามรสุมมาขอห่วงชูชีพคือ นโยบายจำนำข้าว ประกันราคาข้าว ประกันพืชผลทางการเกษตรทั้งหลาย 2.เขาต้องการนโยบายที่จะซัดเขาขึ้นฝั่ง เขาอยากขึ้นฝั่งเหมือนเรา และนี่มันเปลี่ยนจากจริยธรรมของการต้องยังชีพให้รอด เป็นไปเป็นการรักษาชีพ หรือห่วงชูชีพ เป็นการเมืองที่มุ่งเป้าขอห่วงชูชีพเวลาผันผวน และช่วยผลักเขาขึ้นฝั่งด้วย ชาวนารายได้ปานกลางอยากได้สิ่งนี้ และจะต้อนรับรัฐบาล หรือพรรคการเมือง และนโยบายการเมืองที่ช่วยเขาในเรื่องเหล่านี้ เขาเป็นอย่างนี้แล้ว เขาเปลี่ยนไปแล้วไม่ใช่เพราะทักษิณไปปลุกระดม ไม่ใช่เพราะว่าฟังอาจารย์นิธิ และอาจารย์ประจักษ์แล้วแบบว่า อยากจะต่อต้าน ไม่! ชีวิตเขาเปลี่ยนไปแล้ว

ฉะนั้นถ้าคนชนกลางในเมืองอยู่กับ civil society หรือประชาสังคม ซึ่งให้สิทธิ กฎหมาย และความมั่นคงในชีวิต นึกออกไหมครับ เราได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา เราไม่จำเป็นกลัวเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือตำรวจเทศกิจ เพราะเรามีห้องแถวของเรา เรามีสิทธิของเรา แต่กับกลุ่มคนเพิ่งขึ้นมา คนชั้นกลางระดับล่างในชนบท และเศรษฐกิจนอกระบบของเมือง คิดถึงพ่อค้าแม่ขาย หายเร่แผงลอย คนพวกนี้เขาอยู่ได้เพราะนโยบายช่วยให้เขาอยู่ได้ ผิดกฎหมายไหม ผิด แต่มีนโยบายให้เขาทำมาหากินต่อได้ นโยบายของรัฐบาลแต่ละชุดที่ลงไปอุ้มพืชผลทางการเกษตร ให้เขาสามารถอยู่รอดได้ ชีวิตของพวกเขามัน การเมืองอย่างไม่มีทางเลี่ยง เขาอยู่เป็นสังคมการเมือง เพราะแต่ละอย่างที่เขาได้มันเป็นนโยบายทั้งนั้น พอผู้ว่ากทม. เปลี่ยนคน  เขาต้องกดดัน ม๊อบ เพื่อให้คงนโยบายที่ของจะพึ่งพาได้ต่อไป พอรัฐบาลเปลี่ยนชุด ชาวสวนยาง ชาวนา พ่อค้าหมูคือ ต้องกดดันตลอด ชีวิตเขาอยู่กับ จะใช้คำพูดอย่างไงดีว่ะไอ้ห่า…. คือ นึกออกไหมครับ ผมหวังว่าจะมีทหารฟัง คือชีวิตของชาวนารายได้ปานกลาง และคนรายได้ปานกลางระดับล่างทั้งในเมืองและชนบท อยู่รอดได้โดยที่เขาบวกการเมืองเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เพราะชีวิตของพึ่งนโยบายของพวกคุณ ถ้าคุณบอกว่าการเมืองมันเลว กวาดการเมืองไปให้หมด แล้วบอกให้เขาอยู่บ้านเฉยๆ เขาอยู่ไม่ได้ ไม่ใช่เพราะทักษิณ

แล้วเขาคิดอย่างไรในแง่การเมืองนะครับ ซึ่ง Andrew Walker เสนอแนวคิดธรรมนูญชนบท  rural constitution เรากลับไปสู่ประเด็นคนบ้านนอกไม่รู้หนังสือ ไม่รู้การเมือง โดนนักการเมืองหลอก น่าสนใจนะครับเรื่องนี้ Andrew Walker ไว้ ธรรมนูญชนบทเป็นอย่างไรคือ วิธีคิดทางการเมืองของชาวบ้านชนบทเป็นอย่างไร เขาอย่างนี้นะ โมเดลในการเข้าใจทั้งหมดคือ ให้ไปดูความสัมพันธ์ระหว่าชาวบ้านกับผี (หัวเราะ) ตอนแรกผมอ่านผมไม่ค่อยเชื่อ มึงหลอกกูเปล่า (หัวเราะ) ผมอ่านสามรอบนะ กูเข้าใจผิดเปล่าว่ะ อ่านทั้งคืน คือแกอธิบายอย่างนี้นะครับ ความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านชาวชนบท ซึ่งแกดูในภาคเหนือ กับศาลเจ้า ผี สิ่งศักดิ์ในหมู่บ้าน เป็นแบบจำลองความสัมพันธ์ของเขากับพลังภายนอกทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นรัฐ และทุน เขาไหว้ผี เขาบวงสรวงผี เพราะอะไร เขาหลอกใช้ผี ดูดทรัพยากรภายนอกมาเพิ่มผลิตภาพ รายได้ และโอกาสของเขา เขากระทำต่อรัฐ เหมือนที่กระทำกับผี เขากระทำต่อบริษัททุน เหมือนกระทำต่อผีนี่แหละ เขาไม่ได้สยบยอมนะครับ เขาใช้พวกคุณเป็นประโยชน์ ดังนั้นถ้าทีโครงการเศรษฐกิจพอเพียงมาจากมหาดไทย หรือกอ.รมน. เขาก็เศรษฐกิจพอเพียง (หัวเราะ) เพราะมันมีงบประมาณมากับเศรษฐพอเพียง เข้าใจไหม

เขามีไหมเกณฑ์ศีลธรรมการเมือง เขามี เขาเข้าใจนะครับ คอรัปชั่น แต่วิธีคิดของเขาไม่เหมือนเรา เขาให้ค่าเกณฑ์ดีชั่ว ทางการเมืองและการคอรัปชั่น อย่างสมจริงกว่า ยึดหยุนกว่า และสัมพัทธ์กว่า มันต้องสัมพัทธ์อยู่แล้ว เขาให้ค่าอย่างสมบูรณ์อย่างพวกคุณไม่ได้ และพวกคุณก็ไม่ได้สัมบูรณ์จริงหรอก แต่เขาให้ค่าอย่างสมบูรณ์อย่างพวกคุณไม่ได้เพราะ พวกคุณอยู่ในประชาสังคมอันมีกฎหมายรองรับ แต่เขาอยู่กับสังคมการเมืองที่แต่ละอย่างจะได้มามันอยู่ที่นโยบาย เพราะฉะนั้นแปลว่าอะไร เขาต้องให้ค่ามันสมจริงน่ะ คอรัปชั่น มีไหม เขายอมให้กินได้มีเลือกตั้ง มีผู้มาบริหารส้วนท้องถิ่น มีเบี้ยใบ้รายทางบ้าง มีช่วยพรรคพวกได้ มีกินบ้าง ได้ แต่ต้องมีขอบเขต อย่าตระกละตะกลามจนส่วนรวมเสียหาย ถ้าแดกจนส่วนรวมเสียหายกูไม่เอา นี่ไม่ใช่เขาไม่มีเกณฑ์นะครับ เพียงแต่เกณฑ์เขาไม่เหมือนเรา ของเราเนี่ยโกงไม่ได้ โกงไม่ได้ ! โกธร แต่มันก็โกงได้ใช่ไหม (หัวเราะ) เขามีเกณฑ์ไม่ใช่ไม่มีเกณฑ์ แต่เกณฑ์เขาไม่ได้สัมบูรณ์ เกณฑ์เขาสัมพัทธ์คือ แบ่งกันกินแบ่งกันใช้ แต่อย่ากินมาไปจนส่งผลเสียต่อโครงการจนส่งผลเสียต่อโครงการ กินจนถนนผังอย่างนี้ไม่ได้

เขาอยากจะอยู่กับนักการเมืองอย่างยั่งยืน อยากจะรู้จักนักการเมือง อยากจะไว้ใจนักการเมือง เขาดูผลงานของคนเหล่านี้ ไม่ได้ยึดกฎหมายที่เป็นสากล เขาเน้นความสัมพันธ์เฉพาะตัว เฉพากลุ่ม อันนี้เป็นจุดที่ผมคิดว่า มีความแตกต่างจากคนเมืองเยอะนะครับ

ทีนี้ ใกล้จบแล้ว ที่เราเจออยู่ในปัจจุบันคืออะไรถ้าพยายามจะคิดแบบนิธิ ก็เหมือนก็พี่ธเนศ (อาภรณ์สุวรรณ) เลยนะครับ เราอ่านบทความเดียวกันก็คือ มองการเมืองไทยแบบกรัมชี่ ผมคิดว่าในบทความนั้นสิ่งที่อาจารย์นิธิเสนอก็คือข้อกังวลที่เห็นว่าเราอย่ในสังคมการเมืองที่ไม่มีอำนาจนำ อย่างที่พี่ธเนศอ่านให้ฟัง อาจารย์นิธิช่วยนิยาม อำนาจนำ ให้เข้าใจง่ายมาก อำนาจนำ หรือ hegemony คือฐานทางวัฒนธรรม ที่ทำสังคมยอมรับอำนาจครอบงำที่รัฐต่างๆ ยึดครองอยู่ ประเด็นคือฐากอันนี้มันกำลังกร่อน ทั้งความเป็นไทยแบบในอดีตที่ไม่เคยเป็นจริง และความไม่เป็นไทยเชิงสัญลักษณ์ที่อาจไม่มีวันเป็นจริง ล้วนสูญเสียอำนาจนำเหนือสังคมไทยโดยรวมไปแล้ว ไม่อาจยึดกุมสมองของคนไทย ไม่อาจยึดกุมหัวใจของคนไทยทั่วไป ให้ยอมตามการนำโดยไม่ต้องบังคับได้ คุณสูญเสียอำนาจนำ สัญญานที่ชัดที่สุดคือการใช้วิธีการบังคับ แล้วจริงไหมล่ะว่ามีการบังคับมาก มากขึ้น เพราะเราไม่เชื่อ และเราไม่ยอม

ฉะนั้นในภาวะคลุมเครืออิหลักอิเหลื่อ ของใหม่ยังไม่ทันดิ้นรนเกิดออกมา และของเก่ายังไม่ทันตกตาย กรัมชี่ชี้ว่า ปีศาจอสูรกายทั้งหลายจะปรากฎตัวขึ้น คำถามก็คือว่า มันเป็นปีศาจของกาลเวลาที่เป็นตัวแทนของอำนาจนำใหม่ของเสนีย์ เสาวพงศ์ หรือปีศาจแห่งโลกเก่าของสมาคมชั้นสูงที่ปฏิเสธสิ่งเหล่านี้ อันนี้เรายังไม่รู้ขอบคุณครับ

                 

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จี้ปฏิรูปโดยประชาชนนำ รธน. 2540 มาใช้ชั่วคราวก่อน

$
0
0
19 ธ.ค. 2557 กลุ่ม 12 องค์กรภาคประชาชนอีสาน ได้เผยแพร่แถลงการณ์ปฏิรูปและร่างรัฐธรรมนูญโดยประชาชน โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
 
แถลงการณ์
ปฏิรูปและร่างรัฐธรรมนูญโดยประชาชน
 
การแสดงออกเพื่อต่อต้านการทำรัฐประหาร และการเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้องของประชาชนนับวันยิ่งจะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ  ภาพดังกล่าวได้สะท้อนให้เห็นข้อจำกัดทางความรู้ ความสามารถในการบริหารประเทศของรัฐบาล รวมทั้งได้สะท้อนให้เห็นว่าคำสั่งของท่านผู้นำ “คิดได้ แต่ห้ามแสดงออก” ประชาชนไม่สามารถปฏิบัติตามได้ 
 
ในภาวะที่บ้านเมืองติดอยู่ในกับดักการปฏิรูปประเทศ สิ่งที่พบคือ รัฐบาล กลุ่มทุน นักธุรกิจ กลับอาศัยสถานการณ์การปฏิรูป  “ลดอำนาจประชาชน เพิ่มอำนาจกลุ่มทุน และชนชั้นนำ”  แต่ในส่วนของภาคประชาชนที่ถูกชี้นำโดยองค์กรพัฒนาเอกชน  นักศึกษา  นักวิชาการ  องค์กรอิสระ  หรือปัญญาชนอิสระ ได้เข้าไปสนับสนุนการรัฐประหารโดยมองว่านี่คือสภาวการณ์ที่เป็น  “หน้าต่างแห่งโอกาส”  แทนที่จะสร้างขบวนประชาชนให้มีความเข้มแข็งเพื่อเป็นพลังตรวจสอบ และถ่วงดุลอำนาจของชนชั้นนำ แต่กลับเลือกใช้วิธีสยบยอมด้วยการกวาดต้อนประชาชนบางส่วน เข้าร่วมเวทีปฏิรูป เพื่อผลิตข้อเสนอและส่งข้อเสนอต่อองค์กรตามกลไกปฏิรูปของรัฐบาล
 
ถ้าเราได้อ่านรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 จะเข้าใจได้ว่าไม่มีกลไกใดๆ ในรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราวรองรับและเป็นหลักประกันได้ว่าความเห็นและข้อเสนอแนะของภาคประชาชนจะถูกนำไปสู่การปฏิรูป และแก้ไขปัญหาแต่อย่างใด ดังนั้น การปฏิรูปจึงเป็นประเพณีตามเทศกาลของ “นักทำข้อเสนอ” บนวาทกรรม “ปัญหาชาวบ้านรอไม่ได้” 
 
การล้มระบอบการปกครองที่มาจากการเลือกตั้ง เพื่อหวังว่าอำนาจพิเศษและมือที่มองไม่เห็นจะสามารถมาสร้างกลไก กติกา และรูปแบบการปกครองที่มีความเหมาะสมกับสังคมไทย แต่เราต้องสูญเสียประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้งและ “ขบวนการประชาชนถูกทำลายจนย่อยยับ”  รวมทั้งยังทำลายสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในระดับส่วนบุคคล  เพราะห้ามการแสดงออกใด ๆ ที่ขัดต่อคำสั่ง ประกาศ  ของท่านผู้นำ เช่น ห้ามการชุมนุม ห้ามประชุม ห้ามสัมมนาทางวิชาการ  แม้กระทั่งปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ เช่น ยางพารา ข้าว ปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ  ห้ามมีการชุมนุมเรียกร้องแต่อย่างใดทั้งสิ้น  
 
การปฏิรูปและการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญตามกลไกที่ใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกบังคับให้ประชาชนต้อง “เงียบและห้ามคิดต่าง”  ไปจากแนวทางที่ผู้มีอำนาจวางเอาไว้ พวกเราเห็นว่าไม่ใช่หนทางที่ประชาชนจะยอมรับได้ เราเชื่อมั่นว่าการปฏิรูปประเทศ ประชาชนทุกกลุ่มต้องมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ และต้องมีบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตย 
 
การปฏิรูประเทศในครั้งนี้ ประชาชนต้องไม่เป็นเพียงเบี้ยบนเกมแห่งอำนาจของชนชั้นนำและกลุ่มทุน โดยผู้มีอำนาจเป็นผู้ควบคุมการเล่นเกมและพร้อมที่จะล้มกระดานถ้าไม่พอใจ เราเชื่อว่าความขัดแย้งจะรุนแรงมากยิ่งขึ้น ถ้าแนวทางการปฏิรูปยังไม่ยอมรับฟังเสียงจากประชาชนอย่างแท้จริง ดังนั้น เราจึงมีข้อเสนอต่อผู้มีอำนาจดังนี้
 
1. ให้ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว  ยกเลิกกฎอัยการศึก และประกาศให้มีการเลือกตั้งทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ภายใน 3 เดือน โดยในระหว่างนี้ให้นำรัฐธรรมนูญฯ 2540 ขึ้นมาใช้เป็นการชั่วคราว
 
2. ให้ยุบกลไกจากการรัฐประหาร  ให้รัฐบาลรักษาการจากคนนอกที่ไม่เป็นทั้งนักการเมือง
ไม่เป็นข้าราชการประจำ โดยให้เลือกมาจากตัวแทนประชาชนมาทำหน้าที่
 
3. รัฐบาลรักษาการมีหน้าที่เพียงดูแลและจัดให้มีการเลือกตั้งเท่านั้น ส่วนการทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติให้ยุติไว้ก่อน
 
4. หลังจากได้รัฐบาลและสมาชิกรัฐสภาที่ได้จากการเลือกตั้งแล้ว ให้ตั้งกลไกในการปฏิรูป และจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี
 
5. หลังจากได้รัฐธรรมนูญใหม่ ให้มีการจัดเลือกตั้งใหม่ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญใหม่ทันที
 
ทั้งนี้ ด้วยข้อเสนอตามแนวทางนี้ถึงจะเป็นหลักประกันที่ชัดเจนว่าประชาชนจะมีส่วนร่วมในการปฏิรูปและจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่ใช่การปฏิรูปและจัดทำร่างรัฐธรรมนูญภายใต้กฎอัยการศึกที่กดหัวเราเอาไว้
 
ด้วยความเคารพ
12 องค์กรภาคประชาชนอีสาน
19 ธันวาคม 2557
 
อนึ่งในแถลงการณ์ไม่ได้ระบุว่า 12 องค์กรภาคประชาชนอีสานนี้ประกอบด้วยองค์กรใดบ้าง
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'พนักงานประกันสังคม' วอนลดความเหลื่อมล้ำในองค์กร-เพิ่มสวัสดิการ

$
0
0
ทั้งๆ ที่เป็นพนักงานที่ต้องดูแลจัดเก็บและจ่ายเงินด้านสิทธิประโยชน์ให้คนทำงานทั่วประเทศ แต่กลับพบความเหลื่อมล้ำในองค์กร วอนผู้บริหารของกระทรวงแรงงานขอขึ้นสวัสดิการ "กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ-เงินบำนาญเกษียนอายุ-ขยับฐานเงินเดือน"

 
 
 
19 ธ.ค. 2557 แหล่งข่าวจากสำนักงานประกันสังคมเปิดเผยว่า พนักงานของสำนักงานประกันสังคมจำนวนหนึ่งได้พยายามร้องเรียนไปยังผู้บริหารของกระทรวงแรงงานเพื่อขอความอนุเคราะห์พิจารณาค่าตอบแทน สวัสดิการ และอื่นๆ แก่พนักงานประกันสังคม
 
โดยพนักงานกลุ่มนี้ระบุว่า สำนักงานประกันสังคม เป็นหน่วยงานราชการ มีภารกิจจัดเก็บเงินสมทบจากนายจ้าง ลูกจ้าง /ผู้ประกันตน เข้ากองทุนประกันสังคม กรณีไม่เนื่องจากการทำงาน และจัดเก็บเงินสมทบจากนายจ้างฝ่ายเดียว เข้ากองทุนเงินทดแทน กรณีเนื่องจากการทำงาน ดังนั้น ทั้ง 2 กองทุน ต่างให้เกิดสิทธิประโยชน์ทดแทน กรณีต่างๆ และสำนักงานประกันสังคม เป็นผู้กำกับดูแล ภารกิจดังกล่าว รวมทั้งสำนักงานประกันสังคมบริหารงานมีบุคลากรจำนวนมาก รวมทั้ง ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ พนักงานราชการ และพนักงานประกันสังคม ดังนั้นบุคลากรทุกคนของสำนักงานประกันสังคม ก็เป็นส่วนหนึ่งในการปฏิบัติงาน โดยมีจุดมุ่งหมายในการทำงานเพื่อหวังมีความก้าวหน้าในอาชีพ มีรายได้ มีเงินเดือน เพื่อดำรงชีวิตของตนเอง และครอบครัว รวมทั้งมีจุดมุ่งหมายในการบริหารงาน และการปฎิบัติงานภายในองค์กร เพื่อให้เกิดความสร้างสรรค์ ในการพัฒนาองค์กรแบบองค์รวม
 
ทั้งนี้พนักงานประกันสังคมมี 2 สถานะในองค์กรคือ มีสถานะ 1. นำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ร้อยละ 5 เช่นเดียวกับผู้ประกันตนทั่วๆ ไป เพื่อให้เกิดสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีต่างๆ และสถานะที่ 2. ก็เป็นส่วนหนึ่งในการปฏิบัติงานของสำนักงานประกันสังคมที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ รวมทั้งในส่วนกลาง สำนัก กอง สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-12 สำนักงานประกันสังคมจังหวัด/สาขา และศูนย์ฟื้นฟูในจังหวัดต่างๆ ดังนั้น บุคคลากรสำนักงานประกันสังคมในปัจุบันมีจำนวน 4 ประเภทได้แก่ (ข้อมูลตัวเลข ณ เดือนพฤศจิกายน 2556)
 
1. ข้าราชการ 1,885 อัตรา 2. ลูกจ้างประจำ 189 อัตรา 3. พนักงานราชการ 158 อัตรา และ 4. พนักงานประกันสังคม ซึ่งยังแบ่งย่อยออกเป็นอีก 6 ประเภท ดังนี้
 
(1) พนักงานประกันสังคมที่เป็นพนักงานประจำ 3,662 อัตรา มีรายละเอียดอาทิ จำนวนไม่น้อยปฏิบัติงานตั้งแต่สำนักงานประกันสังคมเปิดทำการ (กันยายน พ.ศ. 2533), จำนวนไม่น้อยปฎิบัติงาน ใช้วุฒิการศึกษา ปวช. ปวส. และปริญญาตรี ทั้งที่ตนเองมีวุฒิการศึกษาสูงกว่าที่ใช้ในการสมัครงาน, จำนวนไม่น้อยได้รับทุนสำนักงานประกันสังคมเรียนต่อปริญญาโท (ภายในประเทศ) แต่เมื่อจบการศึกษามาแล้ว การบริหารงานไม่ได้ให้บุคลากรเหล่านี้มาพัฒนาองค์กร ทำให้การลงทุนด้านการศึกษาไม่คุ้มทุน (จบมาแล้วไม่มีการปรับวุฒิปริญญาโทให้), จำนวนไม่น้อยที่มีความสามารถในการปฏิบัติงาน แต่องค์กรมองข้ามความสามารถ อาจจะด้วยระบบโครงสร้างส่วนงานราชการมาบริหาร, จำนวนไม่น้อยได้รับผลกระทบจากนโยบายภาครัฐที่มีวุฒิปริญญาตรีพนักงานเข้าทำงานใหม่ได้รับเงินเดือน 15,000 บาท พนักงานเก่า ๆ ฐานเงินเดือนเกิน 15,000 บาท ณ ตอนนั้นและปัจจุบันฐานเงินเดือนเท่ากัน แต่คนเก่า ๆ ทำงานมานาน ทำให้เกิดการเหลื่อมล้ำ และไม่ยุติธรรมในการบริหารงาน (เมื่อพนักงานเก่า ๆ ทวงถามได้รับคำตอบคือ "ต้องรับสภาพ")
 
(2) พนักงานประกันสังคม มาตรา 40 (ชั่วคราว) จำนวน 100 อัตรา
 
(3) พนักงานประกันสังคม เร่งรัดหนี้ฯ (ชั่วคราว) จำนวน 175 อัตรา
 
(4) พนักงานกองทุนเงินทดแทน (ชั่วคราว) จำนวน 46 อัตรา
 
(5) พนักงานประกันสังคม ฝ่ายอุทธรณ์ (ชั่วคราว) จำนวน 6 อัตรา
 
(6) พนักงานประกันสังคม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ชั่วคราว) จำนวน 28 อัตรา
 
แหล่งข่าวตัวแทนพนักงานสังคมระบุว่า ส่วนใหญ่แล้วพนักงานต้องการมีชีวิตที่ดีขึ้น ต้องการความยุติธรรม ต้องการมีส่วนร่วมในการบริหาร ไม่ต้องการให้เกิดความเหลื่อมล้ำในองค์กร จึงเตรียมเพื่อนำเสนอต่อผู้บริหารของกระทรวงแรงงานพิจารณาค่าตอบแทน สวัสดิการ และอื่นๆ ให้กับพนักงานประกันสังคม ซึ่งพนักงานกว่า 4,000 คน นั้นก็จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเหมือนกัน จึงอยากให้บอร์ดประกันสังคมพิจารณาสวัสดิการขั้นพื้นฐานแก่พนักงานดังนี้
 
1. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้พนักงาน
 
2. เงินบำนาญแก่พนักงานประกันสังคม เมื่อยามเกษียนอายุ
 
3. ค่าตอบแทนทุกสิ้นปี จาก 1 เดือน ขอเพิ่มเป็น 2 เดือน
 
4. สวัสดิการเงินกู้บ้านและที่อยู่อาศัยในอัตราดอกเบี้ยต่ำไม่เกินร้อยละ 1
 
5. ทบทวนการขยับฐานเงินเดือนให้กับพนักงานที่ทำงานมานานก่อนที่นโยบายเงินเดือนวุฒิปริญาตรี 15,000 บาท จะประกาศใช้ ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างพนักงาน และให้ความเป็นธรรมแก่พนักงานที่ทำงานมานาน 
 
6. มีกองทุนกู้เงินอัตราดอกเบี้ยต่ำให้แก่พนักงาน
 
7. มีสวัสดิการรักษาพยาบาลให้ครอบครัวรวมพ่อแม่และบุตร
 
และ 8. มีทุนการศึกษาให้บุตรของพนักงาน
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไทย-จีน บรรลุความตกลง 2 ฉบับ 'รถไฟรางคู่-สินค้าเกษตร'

$
0
0
"ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ให้การต้อนรับ "หลี่ เค่อเฉียง" นายกจีน ในโอกาสหารือทวิภาคีและร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลง 2 ฉบับ โครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ และความร่วมมือด้านการค้าสินค้าเกษตร 

 
19 ธ.ค. 2557 เว็บไซต์สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีรายงานว่า เวลา 16.00 น. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้การต้อนรับนาย หลี่ เค่อเฉียง  (Mr. Li Keqiang) นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในโอกาสหารือทวิภาคีและร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลง 2 ฉบับ ระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน  โดยมีผู้บริหารระดับสูงของทั้งสองฝ่ายเข้าร่วมหารือ ประกอบด้วยฝ่ายไทย ได้แก่ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม  พลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี  พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายปิติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมและเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ฝ่ายจีน ได้แก่ นาย Gao Hucheng รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นาย Lou Jiwei รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง นาย Wang Yi รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นาย Yang Chuantang รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นาย Zhou Xiaochuan ผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งประเทศจีน และนายฉี เจ้าฉื่อ (XU  SHAOSHI)  ผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ และนาย Sheng Guangzu ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศจีน ณ ทำเนียบรัฐบาล โอกาสนี้ ร้อยเอกยงยุทธ มัยลาภ ได้กล่าวสรุปสาระสำคัญการหารือ ดังนี้
 
นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความยินดีต้อนรับนายกรัฐมนตรีจีน ซึ่งเป็นการพบปะกันครั้งแรกในประเทศไทย และยินดีที่เข้าร่วมการประชุมสุดยอด (GMS Summit) ครั้งที่ 5  ซึ่งจีนมีบทบาทสำคัญในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง  เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ไทยและจีนบรรลุการลงนามความตกลงที่สำคัญ 2 ฉบับ ได้แก่  (1) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีนด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟของประเทศไทยในกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558 - 2565 และ (2) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการค้าสินค้าเกษตร  ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศและเศรษฐกิจของภูมิภาคในระยะยาว นายกรัฐมนตรียังเห็นควรให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมไทย - จีน ทั้งในส่วนของการพัฒนาเส้นทางรถไฟและความร่วมมือด้านการค้าสินค้าเกษตร และขอให้คณะกรรมการร่วมฯ เริ่มการประชุมครั้งแรกภายในในต้นปี 2558
 
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงกรอบความร่วมมือ GMS เป็นอนุภูมิภาคที่มีศักยภาพในการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดแห่งหนึ่ง ไทยพร้อมที่จะร่วมมือกับจีนในการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งในอนุภูมิภาค GMS ทั้งทางถนน ราง และน้ำ  ขณะนี้ได้มีการพัฒนาโครงข่ายถนนเชื่อมโยงในเส้นทาง R3A (กรุงเทพฯ - คุนหมิง)  เพื่อให้การขนส่งคนและสินค้าเป็นไปโดยสะดวกและรวดเร็วขึ้น  ไทย สปป. ลาว และเวียดนาม ยังได้เห็นชอบในหลักการในการพัฒนาเส้นทางหมายเลข R8 และR12 ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการเชื่อมโยงไปยังกว่างซีในอนาคต
 
นอกจากนี้  ไทยยังได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาแนวเส้นทางขนส่งระหว่างประเทศให้เป็นระเบียงเศรษฐกิจ  ไทยอยู่ระหว่างการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษตามระเบียงเศรษฐกิจ ในบริเวณชายแดน ซึ่งในอนาคตสามารถเชื่อมโยงกับเขตเศรษฐกิจพิเศษของจีนที่อยู่ตามระเบียงเศรษฐกิจเดียวกัน เพื่อพัฒนาให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษข้ามพรมแดนต่อไป
 
ความร่วมมือด้านการจัดการภัยพิบัติ จีนมีบทบาทสำคัญในการจะช่วยสนับสนุนการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการจัดการภัยพิบัติภายใต้กรอบ GMS โดยเฉพาะการจัดการภัยพิบัติเพื่อความต่อเนื่องทางธุรกิจ การส่งเสริม Credit Guarantee สำหรับ SMEs ซึ่งเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รวมทั้งสนับสนุนให้ภาคเอกชนจีนเข้ามาลงทุนในโครงการต่าง ๆ ในไทยและอนุภูมิภาค
 
ในโอกาสนี้  นายกรัฐมนตรีจีนกล่าวขอบคุณในการต้อนรับอย่างอบอุ่น การลงนามความตกลงทั้ง2 ฉบับ เป็นการยืนยันถึงความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ การพัฒนาเส้นทางรถไฟจะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การพัฒนาเส้นทางรถไฟเชื่อมจีน ลาว ไทย จะทำให้มีการเพิ่มพูนปริมาณสินค้าและจำนวนนักท่องเที่ยวระว่างประเทศในภูมิภาคต่อไปในอนาคต  สำหรับความร่วมมือด้านการซื้อสินค้าเกษตร จีนจะพิจารณาเพิ่มปริมาณการซื้อสินค้าเกษตรจากไทยให้มากยิ่งขึ้น เช่น ข้าว และยางพารา
 
ความร่วมมือในภูมิภาค GMS นั้น จีนพร้อมที่จะร่วมมือกับไทยในการส่งเสริมการพัฒนาในอนุภูมิภาคในทุกมิติ พร้อมที่จะได้มีการร่วมมือกับประเทศสมาชิกในการเชื่อมโยงเส้นทางถนน เพื่อประโยชน์ในการขนส่งคนและสินค้าในอนาคต นายกรัฐมนตรีจีนกล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่สถานการณ์ภายในประเทศไทยมีเสถียรภาพและความมั่นคง เป็นผลให้มีนักท่องเที่ยวชาวจีนนิยมเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก
 
หลังเสร็จสิ้นการหารือ นายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีจีน ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน 2 ฉบับ ดังนี้
 
-บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนด้วยความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟในกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน  ด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558 – 2565 (Memorandum of Understanding between  the Government of the Kingdom of Thailand  and the Government of the People’s Republic of China (PRC) on Cooperation on the Thailand’s Railways Infrastructure Development on The Strategic Framework for Development of Thailand’s Transportation Infrastructure 2015-2022(B.E.2558-2565)泰王国政府和中华人民共和国政府 关于在泰国2015 至2022 年交通运输基础设施发展战略框架下开展 铁路基础设施发展合作的谅解备忘录
 
ระหว่าง พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายฉี เจ้าฉื่อ (XU  SHAOSHI)  ผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ
 
-บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยความร่วมมือด้านการค้าสินค้าเกษตร Memorandum of Understanding between the Government of the People’s Republic of China (PRC) and the Government of the Kingdom of Thailand for Cooperation on Agricultural Products Trade 泰王国政府和中华人民共和国政府 关于农产品贸易合作的谅解备忘录
 
โดยพลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ลงนามฝ่ายไทยและนายฉี เจ้าฉื่อ (XU  SHAOSHI)  ผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ
 
สาระสำคัญของร่าง MOU ดังกล่าวมีดังนี้  รัฐบาลไทยตกลงให้รัฐบาลจีนเข้ามีส่วนร่วมดำเนินการตามกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565 โดยเฉพาะโครงการรถไฟทางคู่ขนาดมาตรฐาน (Standard Gauge) เส้นทางหนองคาย-โคราช-แก่งคอย-ท่าเรือมาบตาพุด ระยะทางประมาณ 734 กิโลเมตร และช่วงแก่งคอย-กรุงเทพฯ ระยะทางประมาณ 133 กิโลเมตร ซึ่งเป็นโครงการทางคู่ขนาดมาตรฐานโครงการแรกของไทย โดยทั้ง 2 ฝ่ายจะใช้ความร่วมมือในรูปแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล    สำหรับบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยความร่วมมือด้านการค้าสินค้าเกษตรนั้น จะเป็นการแสดงเจตจำนงของจีนในการซื้อสินค้าเกษตรของไทย โดยเฉพาะ ข้าวและยางพารา รวมทั้งจะเพิ่มปริมาณการสินค้าเกษตรอื่นจากไทยอย่างต่อเนื่อง
 
หลังจากนี้นาย หลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน จะเข้าร่วมงานอาหารค่ำ (Gala Dinner) ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำ เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้นำที่เข้าร่วมการการประชุมสุดยอดผู้นำประเทศ ครั้งที่ 5 ณ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพมหานคร
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายการคืนความสุขฯ 'ประยุทธ์' เผยเกาหลีใต้พร้อมช่วยโครงการบริหารจัดการน้ำ

$
0
0
พร้อมรับเกาหลีใต้เข้ามาลงทุนเหมือนในสมัยรัฐบาลก่อนๆ ผลประชุมอาเซียน+1 พร้อมร่วมมือพัฒนาด้านเศรษฐกิจ ไทย-จีน MOU ร่วมมือสินค้าเกษตร-โครงการก่อสร้างโรงไฟทางคู่ 2 เส้นทาง ชมนักเตะไทยทำผลงานดีสร้างความสุขให้คนไทย  ปีใหม่ขอคนไทยเดินทางกลับบ้านฉลองปีใหม่ด้วยความปลอดภัย

 
 
 
19 ธ.ค.2557 เมื่อเวลาประมาณ 20.00 น.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จัดรายการคืนความสุขให้คนในชาติ โดยมี เนื้อหาดังต่อไปนี้  
 
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย วันศุกร์ที่ 19 ธันวาคม  2557 เวลา 20.15 น.
 
สวัสดีครับ พี่น้องประชาชนที่รักทุกคน
 
ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น พสกนิกรชาวไทยได้ยินดีพร้อมใจกันทำความดีถวายในหลวงฯ เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระชนมายุครบ 87 พรรษา และในสัปดาห์นี้ชาวไทยทั้งประเทศก็ได้รับทราบข่าวดีอีกครั้ง เมื่อสำนักพระราชวังได้ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 12 ว่าพระอาการโดยทั่วไปของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดีขึ้น เสวยได้มากขึ้น ทรงบรรทมได้ดี และทรงมีพระวรกายแข็งแรงขึ้น ผมมั่นใจว่า “การรู้รักสามัคคี” ของพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า      จะเป็นการถวายพระพร และเป็นการเสริมสร้างกำลังพระทัยแด่พระองค์ท่านให้หายจากพระอาการประชวรโดยลำดับครับ
 
ในโอกาสนี้ ผมขอเชิญชวนปวงชนชาวไทย ร่วมกันปฏิบัติตาม “ค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ” เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลตลอดทั้งปี เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความยั่งยืน ของประเทศเราในอนาคตด้วย ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้นก็ขอขอบคุณสื่อทุกภาคส่วน ที่ร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งที่ดี ๆ ให้กับคนไทยได้รับรู้ รับทราบ ก็ขอความร่วมมืออีกครั้ง สื่อทุกแขนงในการนำเสนอข้อมูลสู่สายตาประชาชนเพื่อสร้างการรับรู้นั้น ขอให้เป็นในลักษณะสร้างสรรค์ สร้างกำลังใจให้แก่กัน และสร้างการรับรู้ให้กับต่างประเทศด้วย ในสิ่งที่ดี ๆ ของไทย เพื่อสนับสนุนให้ทุกคนทำความดีด้วย เช่นที่ผ่านมา ผมได้เห็นและขอชื่นชมสื่อต่าง ๆ ทั้งสื่อวิทยุ โทรทัศน์ และ Social Media ที่นำเสนอข่าวของ “ลูกกตัญญู” ด.ช. ศุภณัฐ ศรียอด หรือน้องพร อายุ 14 ปี นักเรียนชั้น ม. 3 โรงเรียนวัดราชบพิธ ที่ช่วยมารดากวาดถนนหลังเลิกเรียนมาตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา แม้ในช่วงแรกจะรู้สึกอายเพื่อน ถูกเพื่อน ๆ ล้อเลียนอยู่บ้าง แต่น้องพรก็ใช้ความเพียรพยายาม อดทน อดกลั้น เพราะถือว่าเป็นอาชีพที่สุจริต การทำความดีไม่ใช่สิ่งที่น่าอาย และเป็นหน้าที่ของลูกทุกคนที่ต้องตอบแทนบุญคุณบุพการี
 
ในเรื่องดี ๆ อีก คือเรื่องของ “ความซื่อสัตย์” ของนายโกศล ใคลคลาย อายุ 48 ปี คนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ในย่านซีกิมหยง เขตเทศบาลนครหาดใหญ่ ที่ได้นำเอกสารสำคัญ พร้อมเงินสดจำนวนหนึ่งไปคืนนายทาเลีย อูลาร์ฟ ยูเฟอร์ อายุ 44 ปี ชาวนอร์เวย์ นักปั่นจักรยานรอบโลก ถึงแม้ว่าจะเป็นจำนวนเงินที่ไม่มากนัก แต่ก็ทำให้แขกผู้มาเยือนประเทศของเรารู้สึกประทับใจ และซาบซึ้งถึงจิตใจที่ดีงามของคนไทย ที่มีความจริงใจและพร้อมที่จะช่วยเหลือผู้อื่น
 
หลายข่าวก็มีมาเรื่อย ๆ ไม่ว่าที่มา หรือในปัจจุบัน ผมอาจจะเสนอได้ไม่หมด เรื่องความกตัญญูอีกเรื่องหนึ่งก็คือนักศึกษาหญิง น.ส.สุนิดา อาลีนะ ดูแลพ่อซึ่งเคยรับราชการทหารในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และถูกคนร้ายซุ่มยิงจนขณะนี้พิการเดินไม่ได้ วันไหนที่ต้องไปเรียน ก็จะเตรียมอาหารบรรจุถุงใส่รถสามล้อ และพาพ่อไปที่มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ด้วย ช่วงพักเที่ยงจะลงมาป้อนข้าวป้อนน้ำให้พ่อ โดยไม่นึกท้อหรืออายเพื่อน ๆ คุณพ่อเป็นวีรบุรุษ ผมติดตามมาตลอด เวลาเหนื่อย ๆ เครียด ๆ ได้เห็นข่าวเหล่านี้ ก็มีแรงบันดาลใจเพิ่มเหมือนเป็นการเติมพลังให้เราเห็นว่าสังคมไทยมีเยาวชนและคนดี ๆ ที่น่ายกย่อง และเป็นความหวังของชาติ สอดคล้องกับค่านิยมไทยที่กล่าวไปแล้ว อยากให้ทุกคนนำมาเป็นตัวอย่าง มีอีกมากมาย เพราะฉะนั้นการให้ข้อมูลข่าวสารด้านลบแต่เพียงด้านเดียว อาจจะทำให้บดบังคุณธรรมความดี ความเพียรพยายามของพี่น้องชาวไทยอีกหลาย ๆ คน โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อย เขามีจิตใจที่ซื่อสัตย์ และคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติมากกว่าความเห็นส่วนตัวที่จะอยากได้ อยากมีข้าวของ ของคนอื่น ผมคิดว่าน่าจะเป็นตัวอย่างที่ดี ก็อยากให้ทุกท่าน ไม่ว่าจะเป็นเด็กนักเรียน พ่อค้าแม่ค้า คนขับรถแท๊กซี่ มอเตอร์ไซต์ พนักงานบริการ นักธุรกิจ และสื่อต่าง ๆ ต่างต้อง ตระหนักว่าทุกคนมีหน้าที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับสั่งไว้แล้วว่า ทุกคนทำหน้าที่ของตน ๆ ให้ดีที่สุด ก็ที่จะสามารถมีส่วนในการปรับภาพลักษณ์ของประเทศของเราในสายตาของต่างประเทศได้ จากการกระทำเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นการยิ้ม การแสดงน้ำใจ ความซื่อสัตย์ รักษากฎระเบียบ ความสะอาด บ้านเมืองเหล่านี้ หรือเป็นการนำเสนอสิ่งดี ๆ ของบ้านเรา ความงดงาม ความเป็นบ้านเมืองที่มีวัฒนธรรมอันเก่าแก่ มีสถาบันพระมหากษัตริย์ มีโบราณสถานที่งดงาม เราก็ต้องช่วยกันทำให้ทุกคนในประเทศมีความสุข มีรายได้ ประเทศมั่นคง ประชาชนมั่งคั่ง อันนี้เป็นสิ่งสำคัญ และจะทำให้ชาวต่างชาติมาเยือนมาก ๆ ก็เกิดรายได้กับคนของเราด้วย ทุกธุรกิจ การบริการจะเพิ่มขึ้น รายได้ก็มากขึ้น นี่คือสิ่งที่ผมอยากให้เกิดขึ้น
 
ในเรื่องของความประทับใจของชาวต่างชาตินั้น ประเทศไทยมีมากมาย ถึงเวลาแล้วทุกคนต้องช่วยกัน ช่วยกันเปลี่ยนทัศนคติ ลบภาพของประเทศไทยในสิ่งที่ไม่ดี หลาย ๆ เรื่องที่ผ่านมา ซึ่งมีทั้งความขัดแย้ง ความวุ่นวาย ความไม่เป็นระเบียบ ไม่มีเสถียรภาพ ออกจากความทรงจำของชาวต่างชาติ ภาพเหล่านี้เกิดแล้วลบยาก แต่ผมคิดว่าถ้าเราทำ ช่วยกันทุกคน ผมมั่นใจว่าเราทำได้
 
นอกจากการปลูกฝังค่านิยมที่ดีแล้ว การสร้างสรรค์บุคลากรที่มีคุณภาพและคุณธรรมแล้วนั้น การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในด้านอื่น ๆ เป็นเรื่องสำคัญ เป็นอนาคตข้างหน้าของเราในเรื่องของการเชื่อมโยงระหว่างประเทศ ที่เรียกว่า connectivity หลาย ๆ ด้าน ทั้งทางบก ทางทะเล เศรษฐกิจต่าง ๆ ต้องเดินหน้าไปด้วยความยั่งยืนในฐานะที่เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน และประชาคมโลกอื่น ๆ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำพาประเทศต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทยนั้น ให้มีบทบาทและอำนาจในการต่อรองพัฒนาประเทศต่อไปได้ ในรูปแบบของทั้งประเทศไทย และอาเซียนด้วย
 
ในเรื่องของการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันนั้น มีหลายอย่างด้วยกัน มีทั้งการเพิ่มมูลค่าผลิตผลทางการเกษตร การจัดตั้งโรงงาน ที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ จะต้องทำให้มากขึ้น ตอนนี้รัฐบาลเร่งรัดในเรื่องนี้อยู่ ก็ทราบว่าในปีนี้จะมีโรงงานยางมาเพิ่มอีก 2 โรงงาน ที่ทางด้านตะวันออก และที่มาอีกหลายบริษัทก็กำลังไปพิจารณาอยู่ว่าจะมาเพิ่มอีกหรือไม่ ผมคิดว่าช่วงนี้ต้องประชาสัมพันธ์ให้มาก ในการจัดตั้งโรงงานต่าง ๆ
 
ในเรื่องของ BOI วันนี้เราสนับสนุนไปแล้ว คาดว่าน่าจะถึง 8 แสนล้านบาท ในปี 2557 ที่เราอนุมัติตามมา ตามมา ตามกฎกติกาใหม่เพื่อจะสอดคล้องกับความต้องการของเรา ผมคิดว่าวันนี้เราได้รับความเชื่อมั่นกลับมาพอสมควร การท่องเที่ยวก็ดีขึ้น ประมาณสัก 23 ล้าน ก็น้อยลงไปเล็กน้อยจากปีที่ผ่านมา ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีจากพวกเราทุกคนช่วยกัน และบ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อย มีเสถียรภาพ ปลอดภัยขึ้น สวยงาน วันนี้ผมคิดว่าบบ้านเราสวยงาม โดยเฉพาะเดือนนี้เป็นเดือนมหามงคลด้วย ก็สวยไปทุกที่ ขอบคุณทุกคน ถ้ารักษาแบบนี้ได้ตลอดไปก็ดี
 
อีกเรื่องหนึ่งคือนอกจากการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันแล้ว เรื่องการขับเคลื่อนทุกอย่างให้มีประสิทธิภาพประสิทธิผลนั้น จำเป็นต้องปราศจากการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญ ต้องดำเนินการมาทั้งในเรื่องของการบริการ ในเรื่องของการ จัดระเบียบ ในเรื่องของการกระบวนการยุติธรรมด้วย ให้ความเป็นธรรมทุกภาคส่วน วันนี้เราได้ขับเคลื่อนในเรื่องนี้ให้ชัดเจนขึ้น รัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติน (คสช.) ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ เพื่อเป็นการบูรณาการ วันนี้อาจจะทำจากหลายส่วนด้วยกัน ทั้งต้นทาง กลางทาง ปลายทาง เหล่านี้ ก็จะมีกรรมการทุกภาคส่วน คงไม่ใช่เฉพาะราชการ ก็มีส่วนของภาคเอกชนมาด้วย ก็คงไม่ใช่ไปชี้เป็น ชี้ตาย กับใครได้ เพียงแต่ไปติดตามเรื่องนี้ว่าจะทำอย่างไร จะไปเข้ากระบวนยุติธรรมได้ที่ไหน เริ่มต้นหรือยัง หรือทำไปแล้ว จะได้เกิดความชัดเจนขึ้นช่วยกันดูแลร่วมกับหน่วยงานภาคเอกชนต่าง ๆ ก็พร้อมที่จะขับเคลื่อนให้ได้โดยเร็ว ที่ผ่านมาก็ทำได้ดีพอสมควรแล้ว ในปัจจุบัน ก็ช่วยกันดูแลทุกมิติ การป้องกัน ปราบปราม หากประเทศเรานั้นสามารถกำจัดเรื่องนี้ได้จากสังคมไทย ผมคิดว่าจะพัฒนาไปได้อีกไกล งบประมาณก็จะใช้ได้เต็มที่ ประชาชนก็มีความสุข มีความมั่งคั่งขึ้น วันนี้ต้องขับเคลื่อนด้วยงบประมาณของรัฐ และให้เกิดการลื่นไหลของเศรษฐกิจภายในประเทศได้ จะเกิดความยั่งยืนในอนาคต พร้อมกับการสร้างความเข้มแข็งของภาคเศรษฐกิจ โรงงานเกษตรต่าง ๆ เกษตรอุตสาหกรรม ให้พ่อแม่พี่น้องได้เข้ามามีโอกาสขายสินค้าในราคาของตัวเอง ราคาที่ตัวเองกำหนด ทดลองดู ปัญหาของเราคือเรื่องของการผลิตอย่างเดียว และไม่รู้จะไปขายอย่างไร ไปพึ่งภาคเอกชนมาก ๆ ก็คงไม่ได้ อาจจะต้องมี ได้สั่งการไปแล้วให้จัดตลาดที่เป็นตลาดขายตรงจากพี่น้องเกษตรกร เดิมอาจจะมีอยู่แล้ว เราจะส่งเสริมให้มากขึ้นให้กระจายไปในทุกพื้นที่ ต่อไปเราอาจจะมีการไปซื้อของถ้าจะซื้อปลาดี ๆ ไปตลาดนี้ ตลาดโน้น เพื่อจะได้มีทางเลือกหลายทางในส่วนของส่งออกก็ว่าไป ในส่วนของขายปลีกก็กำหนดราคากันเอง ดูว่าจะขายได้หรือไม่ ราคานี้ที่พี่น้องต้องการ ถ้าไม่ได้ก็ต้องลดราคาลง จะได้รับรู้รับทราบว่าเป็นอย่างไร กลไกในการค้าขาย ไม่อย่างนั้นพี่น้องเกษตรกรก็ขายส่งอย่างเดียว ตัวเองก็ไม่ได้ผลประโยชน์อย่างเต็มที่ ลองดู ที่สั่งการไปแล้ว ให้ความสนใจด้วย สั่งการไปกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตร กำลังดำเนินการอยู่ก็ไปเสริมของเดิมที่มีอยู่แล้วให้เข้มแข็งขึ้น ขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนช่วยกันสอดส่องดูแลเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น ในเรื่องของการส่งเสริมคนมีรายได้น้อย ให้มีอาชีพมีรายได้ แต่ขณะเดียวกันต้องเคารพกฎหมายด้วย กติกาสังคมมีอยู่ อย่างไรก็ตามก็ไม่อยากให้ใครเดือดร้อนทั้งสิ้น
 
ในเรื่องการของการแข่งขัน ในเรื่องผลิตผลการเกษตรของไทยกับประเทศ หรือประเทศอื่น ๆ นั้น ผมเชื่อว่าของเราไม่แพ้ประเทศไหน วันนี้ผมก็ได้รับข่าวดีมาประเทศอินเดีย เขาส่งข่าวมาว่าคนอินเดียชอบผลไม้ไทยมากที่สุด อร่อย หอม หวาน หลาย ๆ ประเทศชอบ แต่มีปัญหาเรื่องการตลาด ในเรื่องของข้อตกลงทางการค้า เราต้องปรับปรุงเรื่องเหล่านี้ และก็เริ่มการเจรจาให้ทันเวลา และเริ่มเปิดตลาดได้ อันนี้ผลไม้มีปัญหาอยู่เล็กน้อย การขนส่งอะไรก็ลำบาก และก็เรื่องมาตรฐานเกณฑ์ปลอดภัยอะไรต่าง  ๆ มีมากมาย วันนี้ก็มีหลายประเทศที่มีการระงับการขนส่งสินค้า ผลิตผลทางการเกษตร ผลไม้ อาหารทะเลต่าง ๆ เราต้องดูกติกาว่าวันนี้เราอาจจะไม่สามารถกำหนดกติกาโลกได้ แต่เราก็ต้องปรับปรุงคุณภาพของเรา มาตรฐานของเราให้ได้รับการยอมรับผมคิดว่าด้วยพื้นฐานของเราดีกว่าอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเรากำกับดูแลควบคุมอย่างไร การส่งออก การนำเข้าจะมีสัดส่วนที่ทัดเทียมกันอย่างไร เพราะบอกแล้วว่าเราต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ไม่อย่างนั้นเราก็ไม่มีงบประมาณในการพัฒนาประเทศและอาเซียน อันนี้ก็หารือกันอยู่ในอาเซียนด้วยกัน แต่ละประเทศเขามีเอกลักษณ์ประจำตัว มีข้อได้เปรียบเสียเปรียบแตกต่างกันไป ถ้าประเทศใหญ่ก็กติกามากหน่อย ประเทศเล็กก็พอพูดคุยกันได้ ฉะนั้นเราต้องแสวงหาจุดเด่นของเรา และพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ เป็นที่ต้องการของตลาด วันนี้ทราบกันดีอยู่แล้วว่าค่าแรงประเทศไทยนั้นค่อนข้างสูงถ้าเรามองว่าในประเทศไทย ค่าแรง 300 บาท วันนี้ว่าถูก ถ้าเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านแล้ว เรายังสูงกว่าเขา เพราะฉะนั้นผมคิดว่าถ้าเราลดต้นทุน พัฒนาคุณภาพ และพัฒนาสินค้าของเราให้มีเอกลักษณ์ เป็นที่ต้องการ เราก็สามารถที่จะเพิ่มราคาไปได้มากขึ้น แต่ถ้าสินค้าประเภทเดียวกันไม่มีความแตกต่างแล้วต้นทุนการผลิตเราสูง ก็ขายใครไม่ได้เมื่อขายไม่ได้เราก็จะเพิ่มอัตราค่าแรงต่าง ๆ ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องร่วมมือกัน ทั้งภาคแรงงาน ภาคการผลิตต่าง ๆ พ่อค้าคนกลางอะไรก็แล้วแต่ และราชการ หน่วยงานของรัฐก็ต้องให้การสนับสนุน ยกตัวอย่างเช่น ข้าวหอมมะลิของไทย เคยได้รับการชื่นชมว่าเป็นข้าวที่ดีที่สุดในโลก วันนี้หลายประเทศพยายามที่จะปลูกข้าวหอมมะลิเพื่อจะมาแข่งขันกับเรา ประเทศเพื่อนบ้านมีการพัฒนามาตามลำดับจนทัดเทียมหรือเกือบทัดเทียมได้หมดแล้ว การผลิตที่มีต้นทุนที่ถูกกว่า อันนี้เป็นประเด็นสำคัญทุกอย่างถ้าต้นทุนถูก เมื่อบวกราคาสินค้าแล้วก็ต้องถูกกว่าของเรา เพราะฉะนั้นเราจะแข่งขันได้นั้นก็ต้องเร่งพัฒนาหาความแตกต่าง ทำจุดเด่นให้เป็นจุดเด่นมากขึ้น ให้มีการให้ผู้บริโภคเขาเลือกสินค้าที่มีคุณภาพดี ฉะนั้นสิ่งที่เราจะต้องแข่งก็คือการยกระดับคุณภาพสินค้า หรือคุณภาพข้าวหอมมะลิของเราให้คงความโดดเด่นให้ได้เป็นเอกลักษณ์ มีกลิ่นหอม หุงขึ้นหม้อต่าง ๆ และมีประโยชน์ทางสุขภาพ เหล่านี้ต้องพัฒนา ต้องประชาสัมพันธ์ให้เขาสนใจเรียนรู้ แล้วจะเพิ่มราคาเหล่านี้ได้เอง ถ้าเรากำหนดเอง ขายเท่านั้น เท่านี้ เป็นไปไม่ได้ แล้วก็เป็นปัญหากับประเทศในเรื่องงบประมาณในอนาคต ถ้าเราต้อง Subsidize กันไปเรื่อย ๆ เหมือนกันต้นทุนการผลิตเป็นสิ่งสำคัญ พัฒนาพันธุ์ แม้กระทั่งข้าวและยางด้วย ผมเป็นห่วงพี่น้องทุกอย่าง เพราะว่าประเทศไทยก็มีปัญหาเรื่องทางระบบชลประทานด้วย ปริมาณน้ำฝนก็ไม่แน่นอนในปัจจุบัน วันนี้ก็ต้องไปแก้เก็บให้ได้ ทำอย่างไรให้ลดต้นทุน ค่าปุ๋ยเป็นอย่างไร เดี๋ยวเราจะผลิตปุ๋ยเองได้หรือไม่ เคยทำมาแล้ว และก็ล้มเหลวไป ต้องทำให้ได้ความยั่งยืน เราต้องดูว่าเรามีอะไรอยู่บ้างที่จะมาเป็นวัตถุดิบ แล้วจะทำต่อไปให้สำเร็จในอนาคต
 
การผลิตข้าวปลอดสารพิษ ผมคิดว่าเป็นประเด็นสำคัญ ข้าวปลอดสารพิษส่งออกเมืองนอกนิยมมาก ราคาสูงและขายตามตลาดที่มีในระดับสูงขึ้นไปก็ต้องแยกประเภทตลาด ถ้าชัดเจนขึ้น ถ้าเหมากันไปไม่รู้ว่าจะไปขายที่ไหน ได้ราคาอย่างไร ถ้าเราผลิตข้าวคุณภาพดีแล้วไปขายในตลาดระดับสูงพรีเมี่ยมก็จะแพง จะถัวเฉลี่ยทำให้ข้าวอื่น ๆ ยกระดับตามขึ้นมาด้วย เรื่องราคา ฉะนั้นต้องลดต้นทุนให้ได้และใช้พื้นที่ในการปลูกให้มากขึ้น วันนั้นผมเห็นเกษตรกรได้มารับการอบรมจากศูนย์อบรมทางการเกษตรเรื่องเกษตรสมัยใหม่อะไรทำนองนี้ ก็ออกข่าวมาว่าใส่ปุ๋ยผิดมาเป็นสิบกว่าปี ยี่สิบปีแล้ว ใส่ปุ๋ยข้าวเคยใส่ปุ๋ยที่มีสัดส่วน N-P-K (คือธาตุอาหารหลัก) การใส่ปุ๋ย N-P-K ก็ผิดสูตรมาตลอดทำให้ข้าวได้รับเพียงแค่ 300 ถัง วันนี้พอได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ไปก็ไปใส่ปุ๋ยให้ถูก ก็ได้ข้าวมา 450 ถัง ดีใจมาก นี่คือสิ่งที่ต้องช่วยเหลือเขา การเกษตรสมัยใหม่จะทำอย่างไร เรื่องต้นทุน เรื่องค่าแรง ค่ารถไถ ผมก็คิดทุกวันว่าจะทำอย่างไรเป็นไปได้หรือไม่มีขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่จะช่วยเป็นพื้นที่ได้หรือไม่รวมนา 5 ไร่ 10 ไร่ มารวมเป็นแปลงใหญ่แล้วเช่าให้ราคาถูกลง เพราะว่าถ้ามารับจ้างไถในพื้นที่เล็ก ๆ ก็ไม่คุ้มของเขา เขาก็ต้องขึ้นราคาถ้าแบบนี้ทำเป็นแปลงได้หรือไม่รวมเป็นแปลงใหญ่มาต้องช่วยกัน ทุกคนต้องคิดแบบที่ผมคิด จะถูกหรือผิด ผมว่าน่าจะดี วันนี้ก็เห็นบทเรียนมาหลาย ๆ พื้นที่แล้ว และหลายอย่าง หลายพื้นที่ก็เห็นปลูกข้าวก็ดีขึ้น วันนี้เรากลับมาสนใจเรื่องพวกนี้ดีกว่า แล้วนำภูมิปัญญาชาวบ้านมาดูว่า คันนาจะทำอะไร เมื่อปลูกข้าวไม่ได้ ทำนาปรังไม่ได้ ผมเห็นบางพื้นที่เขาปลูกถั่วใช้เวลาสั้น ใช้น้ำน้อย และถึงเวลาก็ไถกลบไป นำถั่วไปขายและไถเถาต้นลงดินก็ดี เป็นปุ๋ยและในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก ลองดูว่าจะทำได้หรือไม่ จุลินทรีย์ ชีวภาพ ร่วมกับผักตบชวามีมากมายไปหมด นำขึ้นมากอง ๆ ไว้แล้วก็เป็นปุ๋ยในวันหน้า ใบไม้อะไรต่าง ๆ ก็ได้หมด เขามีคำแนะนำอยู่แล้วทางการเกษตรว่าปุ๋ยหมักจะทำอย่างไร อินทรีย์ทำอย่างไร อาจจะช้าหน่อย เหนื่อยหน่อย แต่ลดไปมาก ทำไมเราต้องเอากำไรไปให้เขา และสร้างสารพิษ สร้างยา ยาฆ่าแมลงอีกมากมายไปหมด กินเข้าไปก็อันตราย ฝากด้วยแล้วกันกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกรมวิชาการเกษตรต่าง ๆ เขามีการคิด กำจัดแมลง กำจัดโรค กำจัดที่มีผลกระทบต่อผลผลิต ก็เคยมีอยู่ ผมอยากให้เร่งรัดเรื่องเหล่านี้ออกมาให้ได้ เพื่อจะลดการใช้ปุ๋ยเคมี และยาฆ่าแมลงในการกำจัดศัตรูพืช วัตถุเหล่านี้ที่เราจะมาทำปุ๋ย ทำยาฆ่าแมลงของเราเองหาได้ทั่วไป ผมจำได้ว่าต้นสะเดาก็ทำได้ แต่เหนื่อย เพราะฉะนั้นไปซื้อง่ายกว่า พอง่ายกว่าต้นทุนก็สูง ต้องช่วยกัน ทุกคนอาจจะต้องกลับมาเหนื่อยกันสักระยะหนึ่งจนกว่าราคาจะดีขึ้น ๆ ท่านก็อาจจะมีเงินใช้จ่ายกันมากขึ้น ครอบครัวก็ดีขึ้น ไม่ไปสร้างหนี้สิน หนี้ครอบครัว หนี้ครัวเรือนมากขึ้น ก็อันตรายทำให้ประเทศชาติเดินหน้าไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องช่วยกันวันนี้
 
อีกอันคือเรื่องผัก ผมพูดไปหลายครั้งแล้วว่าผักหาทานยากมาก ผักปลอดสารพิษ ถ้าเราทำมาแล้วส่งให้เป็นเรื่องเป็นราว หรือเปิดตลาดพืชผักการเกษตรโดยตรงชาวบ้านมาขายเอง กำหนดราคาเอง แล้วคนไปซื้อถ้าพอใจก็ซื้อราคานี้ เพราะว่าผักสด ถ้าไม่พอใจก็ขอลดราคาเป็นเรื่องของเกษตรกรตกลงกัน ผมว่าน่าจะดี อย่าไปขายตัดราคากันเองแล้วกัน เราจะได้มีตลาดในหลาย ๆ พื้นที่เพิ่มขึ้นมา เหมือนที่เรามีแต่ต้องกระจายไปพอสมควรให้ได้หลายพื้นที่ เพราะว่าจะได้ไม่เดินทางไปไกลไปซื้อ ขับรถไปนานมาก ไม่ควรเกินครึ่งชั่วโมง ถึงชั่วโมงที่จะไปซื้อของที่อร่อยคนก็ไปเที่ยวด้วย ครอบครัวก็มีการปฏิสัมพันธ์พาลูกพาอะไรต่าง ๆ ไป ก็ขอให้ปลอดภัยแล้วกันในการขับรถ
 
ในเรื่องของการปลูกข้าวหอมมะลิโลก ซึ่งวันนี้ก็เห็นในหนังสือพิมพ์บทความจากคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐได้กล่าวถึงโครงการพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิโลก ก็ให้ความรู้กับพี่น้องชาวนาในเรื่องของการปลูกข้าวคุณภาพว่าจะทำอย่างไรไม่ให้ข้าวกลายพันธุ์ การควบคุมแปลงเพาะปลูก และการจัดการผลิตผล โดยไม่มีการทำสัญญาบังคับการขายแต่อย่างใด ขอขอบคุณหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ มีสิ่งดี ๆ หลายอย่างในสื่อ ก็ขอให้นำสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มาเสนอข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมด้วย หลาย ๆ เล่ม หลาย ๆ คอลัมน์ หลาย ๆ สื่อที่มีเรื่องของเศรษฐกิจที่ดี ๆ มีการทำอะไรต่าง ๆ ของรัฐบาลในสิ่งที่ใหม่ ๆ ก็ดีกว่าไปเสนอข่าวสังคมแต่เพียงอย่างเดียว ผมไม่ได้ต่อต้านก็เสนอไป แต่ต้องนำสิ่งที่ดี ๆ ให้คนเขารับรู้ว่า ทำอย่างนี้จะดีอย่างนี้อย่างนี้ สร้างความเข้าใจสิครับช่วยกับเราถ้าอะไรที่มีปัญหามีข้อติดขัดมีอะไรต่าง ๆ ก็บอกมารัฐบาลก็พร้อมจะดูแล ผมก็ดูแลแก้ไขตลอดเพียงแต่ว่ายากเหมือนกันใช้เวลาสั้น ๆ ไม่ได้  ก็ขอว่าต้องให้เวลากัน ท่านก็ต้องปรับตัวเอง เรารัฐบาลก็จะแก้ไขสนับสนุน ภาคเอกก็ต้องเข้ามาช่วย การดำเนินธุรกิจต่าง ๆ ก็ต้องลดราคาลงอะไรลงเพื่อให้พี่น้องประชาชนคนไทยนี้อยู่ได้ เราต้องดูแลคนของเรา คนไทยต้องรักกัน อย่าเอากำไรกันมากเลยในตอนนี้ ทุกคนก็เดือดร้อน
 
วันนี้ยางของเราก็สามารถพัฒนาหลายรูปแบบ เรียนไปแล้วว่า สิ่งที่ประเด็นสำคัญของราคายาง ถ้าเราขายยางมีแต่ตกลงไปเรื่อย ๆ ทุกปี ๆ เพราะว่าแข่งกันมาก รอบบ้านก็มีเขาก็มีเขาก็ปลูกกันได้ใครคิดว่าปลูกไม่ได้ วันนี้ปลูกได้หมดแล้ว แล้วก็ลงทุนในหลายประเทศที่มีพื้นที่อยู่มาก ก็ไปปลูกเพราะราคาถูกกว่าไง เมื่อถูกกว่า ต้นทุนต่อกิโลกรัมก็ถูกกว่า เพราะฉะนั้นราคา พี่น้องเขาก็กำไรมากของเราพอต้นทุนสูง พอราคาต่ำกว่าต้นทุนก็ลำบากแล้ว เพราะฉะนั้นเราต้องนำมาทำนวัตกรรม
 
วันนี้ก็คิดไปถึงว่า ยางรถยนต์ขนาดใหญ่ แล้วก็ยางเครื่องบิน วันนี้ก็บริษัทที่มา เขาก็รับว่าจะพัฒนาภายในปีครึ่งให้ได้โดยเร็วโรงงานเหล่านี้ หลาย ๆ ประเทศสนใจเอามาทำอย่างอื่นอีก เช่น ตอนนี้ทำพรมปูพื้น วันก่อนทางสถาบันวิจัยของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ  ก็นำมาให้ดู เป็นการนำยางมาทำเพื่อจะทำแผ่นปูลองพื้นสนามกีฬาที่มีปัญหาอยู่แล้ว เพราะสั่งซื้อมาก็มีปัญหาหมด ทำเองดีกว่า ผมสั่งการไปแล้ว ให้นำอันนี้มารีบผลิตออกมาแล้วก็ไปทำพื้นสนามฟุตซอล ทำสนามกีฬา หรือว่าปูทางเดินอะไรต่าง ๆ ให้รวดเร็วขึ้น วันนี้ก็กำลังคุยกับบริษัทที่กำลังเป็นคนทำอยู่ แล้วเราเอายางของเรา โดยรับซื้อจากพี่น้องมาแล้วเข้าสู่การผลิตให้ได้จะได้ จะได้ยกราคายาง อย่างนี้ผมถึงได้เรียนพี่น้องชาวนาว่า เราคิดทุกอย่าง ถ้า subsidize อย่างเดียวไปไม่ไหวจริง ๆ ผมอยากให้ แต่ก็ไม่ไหวจริง ๆ เพราะไม่มีสตางค์แล้ว ให้ได้เท่าไรคงต้องอดทนกันไปเล็กน้อย
 
ผมรู้เดือดร้อน เห็นใจ ไม่ได้หลอกหลวงพี่น้องเลยทุกคน มีหลายพวกด้วยกัน ทั้งข้าว ทั้งยาง ทั้งมันและหลาย ๆ อย่าง ผลผลิตทางการเกษตรที่ค่อนข้างจะมีปัญหา อ้อย น้ำตาล อะไรมากมาย ซึ่งพันกันไปหมด ถ้าเราช่วยอย่างหนึ่งอีกอย่างเดือดร้อนจะทำไง นี่ก็ไม่มีสตางค์ให้หมดแล้ว ต้องสร้างความเข้มแข็งให้ได้ แล้วก็สร้างความยั่งยืน วันนี้ควรจะเกิดมาหลายปีแล้ว โรงงานขนาดนี้ วันนี้เรามียางขนาดนี้ แล้วเราก็ขายไปเรื่อย ๆ ทุกปี ๆ ขาดทุนมาตลอด พี่น้องก็ต้องมาเดินขบวนเสียเวลา เสียโอกาส บั่นทอนจิตใจด้วย
 
รัฐบาลเจ็บปวดกว่าท่านอีก เพราะเราอยากทำ ตั้งใจทุกอย่างแต่ติดขัดด้วยปัญหาหลาย ๆ อย่างกฎหมายก็กองทุนสวนยางต้องแก้หมดนี่คือสิ่งที่เราทำไง ทำง่าย ๆ จ่ายเงินก็ง่าย แต่ปัญหาข้างหลังมากมายไม่รู้จะทำอย่างไร ก็เห็นใจซึ่งกันและกัน โครงการพร้อมจะให้การสนับสนุนทุกโครงการที่เป็นสินค้าของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการส่งเสริมการตลาด ตลาดชุมชน ผมเรียนไปแล้วเมื่อสักครู่นี้ เป็นตลาดชุมชน ตลาดเกษตรกรที่ค้าขายโดยตรงได้บ้าง บางส่วนหรือทั้งหมดอะไรก็แล้วแต่ ไปทำกันมา ผู้ผลิต ผู้ขายสามารถพบปะกันได้ ส่งเสริมทักษะการขายให้ได้ พี่น้องจะได้เข้าใจ
 
วันนี้เราขาดความเข้าใจในทุกมิติ ทุกประเด็นเลย ที่ผ่านมาก็ไม่รู้ว่ารัฐบาลจะต้องทำอะไรชาวบ้านก็ไม่รู้ ชาวบ้านเดือดร้อนอย่างไรรัฐบาลก็แก้ปัญหาอาจจะไม่ยั่งยืนไง วันนี้เราจะต้องแก้อย่างยั่งยืนแต่ต้องอดทนแก้ง่าย ๆ แป๊บเดียว แต่ไม่รู้จะนำเงินจากไหนให้อีกแล้ว เพราะฉะนั้น เศรษฐกิจตกต่ำ รายได้ประทศน้อยลงทำอย่างอื่นก็ไม่ได้ ลงทุนก็ไม่ได้ แล้วอนาคตจะอยู่กันอย่างไร อย่างยั่งยืน
 
ขอให้เข้าใจว่า 3 เดือนที่เข้ามาในนามของรัฐบาล เราไม่ได้นิ่งนอนใจเลย หลายอย่างต้องสะสางปัญหาหมักหมมมานาน ซับซ้อน กฎหมาย พันธะสัญญา ต่างประเทศก็เข้ามามีส่วนในการกำหนดมาตรฐาน กำหนดราคามากขึ้น บางอย่าง เช่น การส่งออกในเรื่องของผลิตภัณฑ์บางประเภทมีขั้นตอนตั้ง 8 - 9 ขั้นตอน ต้องผ่านมาตรฐานระดับหนึ่งจัดไปก่อนทำเสร็จพอจะส่งหนึ่งมีสองอีกแล้ว มีสาม มีสี่ มีห้า มีหก มีเจ็ด มีแปด เขาเรียกว่ามาตรการทางการค้าแล้วเราเป็นประเทศเล็กลำบากแต่ถ้าทำของเราให้ดีใครก็อยากได้ แย่งกันด้วยซ้ำไป พี่น้องประชาชนที่เกษตรก็ต้องเข้มแข็งและต้องเรียนรู้ อย่าไปทำตามธรรมชาติอีกต่อไป ต้องศึกษาทุกเรื่องด้วย
 
วันนั้นที่ผมเคยคุยไว้แล้วเรื่องความร่วมมือทุกมิติทั้ง การเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ การลงทุน สังคม วัฒนธรรมกับประเทศเพื่อนบ้านซึ่งเป็นพันธมิตรดั่งเดิม แล้วก็ใหม่ ๆ ด้วย วันนี้ก็หลายพวกด้วยกันที่เราแบ่งทั้ง อาเซียน ทั้งประชาคมโลกอื่น ๆ ทั้งประเทศหมู่เกาะ แล้วก็ประเทศในตะวันออกกลาง ขณะนี้รัฐบาลได้จัดกลุ่มเหล่านี้ไว้แล้วว่าเราจะตกลงกันอย่างไร ค้าขายกันอย่างไร ให้เกิดความทัดเทียมกัน อย่างน้อยเราก็เพิ่มผู้ค้าให้มากขึ้นเราจะได้มีตลาด อย่าไปปล่อยให้เป็นตลาดขาประจำอยู่อย่างเดิม วันนี้เราต้องพัฒนา แล้วก็การพัฒนาสินค้าให้เป็นระดับพรีเมี่ยม ให้มีเเบรนด์ มีอะไรต่าง ๆ เหล่านี้ สำคัญทั้งนั้น เหล่านี้จะทำให้ประชาชนมีความมั่งคั่งขึ้นในอนาคต วันนี้ยังไม่ได้ก็ไม่ได้ ก็ต้องใช้เวลา ก็จะให้เร็วที่สุด
 
ในห้วงวันที่ 11 – 12 ธันวาคม 2557 นั้น ได้มีโอกาสไปเยือนสาธารณรัฐเกาหลี มีการประชุมใน 4 เวทีด้วยกัน สิ่งที่เป็นประเด็นก็คือ เป็นการประชุมสุดยอดอาเซียน - สาธารณรัฐเกาหลี สมัยพิเศษ ประเทศในอาเซียนก็ไปประชุมที่โน้นก็ไปทุกประเทศก็โดยรวมแล้วก็แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เรื่องการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อาเซียนกับเกาหลี เพราะว่าเขาเข้ามาช่วยเหลือสนับสนุนหลายโครงการด้วยกัน เป็นประเทศที่มีสถานภาพทางเศรษฐกิจที่ดีมากในปัจจุบัน         เพราะฉะนั้น ก็ต้องมาช่วยกันหาความร่วมมือ แสวงหาความร่วมมือร่วมกัน ทั้งการตลาด การผลิตต่าง ๆ แลกเปลี่ยนสินค้าเชื่อมโยงอะไรต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นความท้าทาย ว่าเราทำอย่างไรจะให้เกิดความมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะฉะนั้นในอาเซียนด้วยกันต้องเชื่อมต่อกันให้ได้ ยุทธศาสตร์ก็ต้องต่อกัน จะได้ต่อไปประเทศอื่นได้ที่มีความเข็มแข็ง ก็เป็นความท้าทายหรือระยะยาว มองว่าวันนี้มีวิกฤตราคาสินค้าตก นี่ก็ไม่ดี นั้นก็ไม่ดี ถ้ามองเรื่องไม่ดีก็ท้อแท้ ผมว่ามองอนาคตดีกว่าว่าจะทำกันอย่างไร ทำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะฉะนั้นเราก็ตกลงกับเกาหลีว่า เราจะร่วมมือระหว่างอาเซียนกับเกาหลี ไม่ใช่เฉพาะไทยอย่างเดียว ในของไทยกับเกาหลี ในส่วนของอาเซียนกับเกาหลีก็เป็นภาพรวมจะทำอย่างให้ให้ไม่มีปัญหาระหว่างกัน จะมีการค้าขายที่ทัดเทียมกันได้ไหม บางเรื่องแลกเปลี่ยนกันได้ไหม เพิ่มขึ้นได้ไหม ส่วนใหญ่เราจะน้อยกว่าหมด อย่างที่บอกแล้วไงถ้าเข็มแข้งพอ เราก็จะต่อลองกันได้มากกับทุกประเทศ
 
ในการร่วมรับรองแถลงการณ์การประชุมสุดยอดอาเซียน ในโอกาสครบรอบ ปีนี้เป็นสมัยพิเศษครบรอบ 25 ปี ก็หารือกันเรื่องวิสัยทัศน์ในอนาคตของหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียน - สาธารณรัฐเกาหลี  ในเรื่องของสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ นำมาซึ่งความสุข” “Building Trust, Bringing Happiness” ความหมายก็ชัดเจนอยู่แล้ว แต่ละประเทศต้องไว้วางใจ ไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน แล้วก็เศรษฐกิจการค้าก็จะเกิดขึ้น มีความเป็นเสถียรภาพที่ยั่งยืน ประชาชนมีความสุข แล้วก็มั่งคั่งทำนองนี้ เพราะฉะนั้นกำหนดทิศทางไว้ 6 ด้าน ที่จะร่วมมือกันในอนาคต ทั้งด้านการเมือง ความมั่นคง เพื่อสันติภาพของภูมิภาค เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องสังคมและวัฒนธรรมเพื่อให้ความสุขร่วมกัน ความเชื่อมโยงในอาเซียน ในหลายมิติ การแก้ไขปัญหาในภูมิภาคและระหว่างประเทศ ที่มีความขัดแย้งกันอยู่บ้าง น้อยมากในวันนี้ แล้วก็การสร้างความเข้มแข็งให้กับกลไกความร่วมมืออาเซียน - สาธารณรัฐเกาหลี
 
เรื่องของการประชุมสุดยอดภาคธุรกิจอาเซียน – ของสาธารณรัฐเกาหลี ได้มีหลายบริษัทมาฟัง ผมได้รับโอกาสให้เป็นผู้บรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “แนวโน้มเศรษฐกิจโลกและบทบาทของเอเชีย” ก็เลยใช้โอกาสนี้ได้พูดกับเขาถึงบทบาทสำคัญของภาคเอกชนในการผลักดันให้เอเชีย – แปซิฟิก เป็น “ศูนย์กลางแห่งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภูมิภาคและของโลก” โดยรัฐและเอกชนต้องร่วมกันมือกัน ทั้งเรา ทั้งเขา ต้องร่วมกันให้ได้สองช่องทาง รัฐก็ต้องสนับสนับเต็มที่ ส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในสาขาที่ตัวเองหรือตนเองมีศักยภาพ ให้รับผลประโยชน์ร่วมกัน
 
วันนี้ที่เราคุยกันก็คือ ประเทศไทยเราต้องการเทคโนโลยี และการผลิตทางนวัตกรรม พลังงาน เกษตรกรรมที่แปรรูป ก็ได้แสดงให้ประเทศสมาชิกหรือภาคเอกชนต่าง ๆ ของสาธารณรัฐเกาหลีนั้น ได้เห็นถึงความพร้อมของประเทศไทย แล้วก็ให้มีการส่งเสริมการลงทุนให้มากขึ้น ในวันนี้ก็ได้ขอร้องกับนักธุรกิจเกาหลีใต้ แล้วก็อาเซียนทุกประเทศนั้น ให้มีความร่วมมือกันให้มากขึ้นในมิติการค้าขายเหล่านี้ แล้วก็ช่วยในเรื่องของราคาสินค้าทางการเกษตร การแปรรูปต่าง ๆ ให้มีมูลค่าสูงขึ้นประชาชนจะได้มีความสุข พี่น้องเกษตรกรจะได้มีความสุข ยิ้มสักที ผมเห็นเหนื่อยกันมามากแล้ว ทั้งชีวิตแล้ว จะได้ช่วยเพิ่มศักยภาพของเราด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งของการธุรกิจ SMEs วันนี้เราก็กำลังเร่งรัดตรงนี้ อยู่เรื่องของกองทุน เรื่องของการเข้าถึง ในเรื่องของการปรับปรุงคุณภาพต่าง ๆ ก็กำลังเร่งรัดอยู่ทั้งหมด
 
อีกเรื่องก็คือ เรื่องของเศรษฐกิจดิจิตอล เรื่องของไอทีต่าง ๆ ในเกาหลีมีความก้าวหน้ามาก ถ้าทุกคนไปจะเห็นว่าเขาทำได้รวดเร็วมาก เราก็คงไม่น้อยหน้าเขา เพียงแต่ต้องสนับสนุนกันให้ตรง ถ้าเราทำทุกอย่างไปพร้อมกันหมดไปไม่ได้ รัฐก็ไม่มีเงินไปลงทุนให้ เอกชนก็ไม่เข็มแข็งพอ แล้วเราก็ได้สินค้าที่สู้เขาไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราต้องเลือกว่า ภาคธุรกิจใด ๆ ที่จะเป็นรายได้ของประเทศ อะไรที่จะได้มีเงินมาขับเคลื่อน อะไรที่ประชาชนจะใช้ของในราคาสินค้าควบคุมได้ ราคาถูก เหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องมาคิดในภาพรวมทั้งหมดเลย
 
วันนี้เราก็ได้บอกเขาว่า เราเปิดเศรษฐกิจชายแดนขึ้นมาอีกในปีนี้ 5 - 6 แห่ง แล้วก็ปีหน้าอีก 7 แห่ง เพราะฉะนั้นเขาก็สนใจ เพราะว่า เป็นการเชื่อมต่อ Connectivity กับประชาคมอื่น ๆ ด้วย แล้วก็จะเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจในประเทศถ้าเราทำได้จะดี
 
เรื่องวาระของชาติเราก็บอกเขาไป เราก็มีเรื่องกำจัดขยะ แปรสภาพขยะให้เป็นพลังงาน เหล่านี้ ปรับสัดส่วนพลังงานเราอย่างไร เพื่อให้สะท้อนต้นทุน วันนี้ทุกคนก็โอเค เขาก็เห็นเราทำได้ เดี๋ยวเขาก็จะทำกัน บางประเทศเขาก็ทำไปหมดแล้ว บางประเทศเขาก็ดูไทยอยู่เหมือนกันว่าทำได้ไหม
 
การแปรสภาพขยะแล้วให้ขยะมีมูลค่านั้นสำคัญ พี่น้องก็อย่ารังเกียจเลยขยะ หลาย ๆ ธุรกิจในต่างประเทศเขารวยไปมากแล้วจากขยะ แต่ปัญหาเราก็คือจะทำอย่างไรให้มีที่ทิ้ง ที่ขยะ ที่แยก แต่ละประเภท ต่อไปก็ธุรกิจในการกำจัดขยะ หรือว่าอาจจะมีคนมารับไปก็ได้ วันนี้ก็มีอยู่บ้างแล้วแต่ไม่ทั่วถึง เขาก็จะมาประมูล แล้วก็มาเลือกซื้อขยะในแต่ละกล่อง ๆ ไปนี้ก็เป็นรายได้อีก แล้วที่เหลือจากการคัดแยกเหล่านี้ ก็อาจจะไปถึงพี่น้องคนอื่น ๆ อีก เป็นธุรกิจที่ต่อเนื่อง เพราะฉะนั้น ต้องทำ ๆ อย่าให้ไปรวมอยู่ที่ใครคนใดคนหนึ่งมากมายจนเกินไปไม่ได้ แล้วถ้าทำได้นอกจากการแยกขยะแล้ว การทำธุรกิจขยะได้แล้ว การขนย้ายก็เป็นงานอีกงานหนึ่ง การให้การบริการขนขยะ ต่อไปอาจให้เอกชนมาทำได้ไหม แล้วก็ขนแยกไป วันนี้เวลาเช้ามาขนขยะที่เน่าเสียหรือใช้ไม่ได้ เศษอาหารเศษอะไรอาจจะไปใช้ประโยชน์อะไรได้หรือไม่
 
เราอาจจะขนเวลาเช้าจะได้ไม่สกปรก แล้วอื่น ๆ ที่มีราคาก็มาเก็บตอนสายได้ แต่ต้องมีเอกชนมาร่วมหรือเปล่าไม่รู้ เพราะว่าทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) หรือทางมหาดไทย ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ก็คงลำบากที่จะใช้เงินงบประมาณรัฐก็ต้องไปหาดู ผมว่าทุกอย่าง บางอย่าง ต้องใช้ Outsource มาลงทุนมาร่วมกันแล้วให้ประโยชน์ไป แต่ข้อสำคัญคือประเทศชาติจะได้อะไรให้เป็นธรรมแล้วกัน ประชาชนมีส่วนร่วมเหล่านี้ ถ้าไม่คิดอย่างนี้ อะไรก็ไม่ได้ ๆ แล้วจะเกิดธุรกิจอะไรขึ้นมา แล้วประชาชนจะนำเงินที่ไหนมาใช้ ไม่ได้ ต้องทำทุกอย่างให้เป็นประโยชน์ในเรื่องนี้ก็ในส่วนของไทย เกาหลีก็ร่วมกันทั้งหมด ตกลงว่าจะร่วมมือกันอย่างเต็มที่ก็อย่างที่บอกแล้ว เราต้องนำส่วนดี ๆ ไปพูดเขาว่าเราพร้อมอะไรบ้าง แล้วก็รับปากกันว่าต่างคนต่างแลธุรกิจทั้งสองฝ่ายเต็มทีเราดูแลของเขา เราดูแลของเรา
 
วันนี้ตกลงกันว่า จะตั้งคณะทำงานดูแลเป็นพิเศษในฐานะที่เราใกล้ชิดมาแต่เดิม ทุกประเทศเราพร้อมที่มีคณะทำงานดูแลเป็นพิเศษ ในการที่จะกระชับความสัมพันธ์ ในการที่จะเชื่อมต่อ ในการที่จะค้าขายร่วมกัน ต้องมาคุยกันแล้ว นาน ๆ คุยทีไม่ได้ ไปเยี่ยมทีแล้วคุยทีไม่เกิด เพราะฉะนั้น กลไกของรัฐ ต้องมีการประสานงาน ทั้งฝ่ายการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีการประชุมร่วมทุกวัน เราต้องวางยุทธศาสตร์ให้แต่ละกระทรวงสามารถไปคุยกับเขาได้ว่า เราจะเดินหน้าอย่างไร วันนี้เขาถามกลับ ที่ผ่านมาตอบเขาไม่ได้
 
วันนี้ผมตอบได้หมดว่า เราจะเดินหน้าประเทศอย่างไร เป็นประเทศด้านการเกษตรแต่เป็นเกษตรอุตสาหกรรม พร้อมกับมีการพัฒนาอุตสาหกรรมหนักหรือกลาง เอากลางแล้วกันที่ไม่มีมลพิษหรือแก้ปัญหาทางอื่น เพราะว่าถ้าไม่มีอุตสาหกรรมเลยรายได้ประเทศน้อย เราต้องหาว่าจะทำอะไรก็น่าจะทำที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรทำให้เป็นอุตสาหกรรม แล้วขายได้มาก ๆ มีคุณภาพราคาสูง ต้องพัฒนาเครื่องจักร เครื่องไม้ เครื่องมือ เพราะฉะนั้น ต้องไปแก้กติกาของ ( Board of Investmrnt : BOI ) BOI ไม่ต้องกังวลถึงแม้จะแก้ไขสิทธิประโยชน์อะไรแล้วก็ให้เลือกได้ ให้เวลาในการเปลี่ยนผ่าน ผมส่งการไปแล้วล่ะ ในส่วน BOI ในส่วนกติกาใหม่ใครจะเลือกแบบนี้ แบบนั้น ก็อาจจะมีเวลาให้ระยะหนึ่งเป็นระยะส่งผ่านอย่ากังวล เดี๋ยวเขาไม่มีลงทุนจะเดือดร้อน เพราะฉะนั้นก็ให้เลือกไประยะหนึ่งแล้วอันใหม่ก็ปรับปรุงไปตลอดเวลาอยู่แล้ว แต่ก็เยียวยาให้ความเป็นธรรมกับคนเขาด้วย ผู้ลงทุนก็ต้องเคารพกฎกติกาด้วยเหมือนกัน เชิญทุกประเทศมาได้เลย
 
เราจะเร่งกระชับความสัมพันธ์กับเกาหลีที่ไปมานี้ทุกด้าน แล้วจะให้ทางรองนายกรัฐมนตรี ทางรัฐมนตรีต่างประเทศ หรือว่าสถานทูตติดต่อประสานงานตลอดเวลา และในส่วนของประธานาธิบดีเกาหลีใต้ก็ยินดีทุกเรื่องเหมือนกัน ผลไม้ไทยเคยเข้าเกาหลีได้ 7 ชนิด ผลไม้เกาหลีเข้าไทย 20 ชนิด ทำอย่างไรจะเท่าเทียมกันได้ไหม ท่านรับไปแล้วว่าจะไปหาทางดูสิ ผมถึงบอกว่ายาก การนำเข้าไก่สดแช่แข็งของไทย วันนี้เคยยกเลิกกันไว้เคยห้ามไว้เนื่องจากโรคซาร์ส โรคไข้หวัดนกที่ผ่านมา วันนี้เลิกไปตั้งนานแล้ว ก็ยังเข้าไม่ได้อยู่เลย ผมก็เรียนท่านว่าก็ให้ช่วยเราตรงนี้ แล้วเขาจะให้เราช่วยอะไรเราก็จะช่วยเขา เรื่องการลงทุน การบริหารจัดการน้ำนั้น ก็บอกว่าเรายินดี ยินดีทุกอย่างที่เคยทำไว้สมัยรัฐบาลก่อน ๆ ก็มาคุยกันมาประมูลมาอะไรต่าง ๆ เราก็จะดูแลให้ทุกเรื่องพร้อม
 
ในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานก็มีหลายเรื่อง ระบบราง ระบบรถไฟความเร็วสูง ประเทศเกาหลีใต้และหลายประเทศมีศักยภาพทุกคนสนใจหมดเดี๋ยวค่อยมาว่ากัน ก็ต้องหาทางร่วมมือระหว่างกันให้ได้มากที่สุด ภาคเอกชนก็ดีใจ เข้าใจ เช่น  ฮุนได ซัมซุง ลอตเต้  ฮันวา พอสโก้  ชิลลา เควอเตอร์ และฮานา เข้าร่วม ก็หลายเรื่องได้ชี้แจงนโยบายรัฐบาลไทยจะดูแลอย่างไรให้เท่าเทียม เกาหลีใต้ลงทุนในไทย มูลค่า 8.9 หมื่นล้านบาท แต่ก็ยังน่าจะมีมูลค่าในการลงทุนมากขึ้นกว่านี้อีกมาก โอกาสยังมีอีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนอุตสาหกรรม เทคโนโลยีขั้นสูง อุตสาหกรรมยานยนต์ การลงทุนมาตรฐานหรือมาตรการของ BOI  ก็ปรับให้ทันสมัย เพื่อจะได้สร้างแรงจูงใจ แล้วก็มีการลงทุนในสาขาต่าง ๆ ให้มากขึ้น
 
เรื่อง SMEs  ก็คุยกับเขาเหมือนกัน SMEs คุยกันทั้งโลกต้องดูแล ประเทศไทยมีเป็นล้าน ๆ แห่ง ทำอย่างไรเป็นเศรษฐกิจในระดับพื้นล่างด้วย ในการจ้างแรงงานและในการรับซื้อผลผลิตนำไปสู่การส่งออก นำเข้า อะไรก็แล้วแต่ เพราะฉะนั้นอย่างนี้ไปเอื้ออย่างนั้น ใช่ไหม ผลิตออกแล้วเป็นวัสดุต้นทุนของกิจการอีกกิจการหนึ่ง อันนี้ทุกคนต้องเข้าใจว่า ไม่ใช่ว่านี่ขายไปแล้วหรือนี่ทำไมถึงภาษีน้อย ทำไมถึงต้นทุนน้อย น้อยเพราะนี่ต้องไปผลิตอย่างอื่น ถ้าผลิตในประเทศไทยภาษีตรงนี้ ในเมื่อเขาเสียตรงนี้ไปแล้ว แล้วเดี๋ยวเขาต้องมาเสียอีกรอบหนึ่งไง ถ้าเราเก็บตรงนี้สูง ก็ไปตรงนี้ไม่ได้นี่ ต้องเข้าใจตรงนี้
 
เรื่องของการเตรียมการมีความพร้อมของเราในการเข้าสู่ AEC ผมคิดว่าเราต้องก้าวหน้าไปมากใช้เวลา 6 เดือนที่ผ่านมา 3 เดือนก็มาทบทวนแก้ปัญหาอะไรต่าง ๆ ที่เร่งด่วน กฎหมายข้อตกลงอะไรต่าง ๆ ต้องทำให้ได้แล้ว อีก 3 เดือนตอนนี้ก็ไปเยี่ยมเยือนรอบบ้าน ไปประเทศไกล ๆ ประเทศที่มีมหาอำนาจบ้าง ทั้งนี้ เพื่อจะเตรียมความพร้อม ในเรื่องของการเป็นทั้งผู้นำ ผมไม่อยากใช้คำว่าผู้นำ ใช้คำว่าแสดงบทบาทของอาเซียน ของผู้นำอาเซียนดีกว่า ทุกคนเป็นผู้นำหมด ผู้นำอาเซียนไง เราก็เป็นผู้นำของเรา
 
อีกอันหนึ่งที่ผมทราบจากอินเดียเขา ตอนนี้ เขาสนใจประเทศไทยนอกจากเรื่องผลไม้แล้ว ก็มีเรื่องการจัดงานแต่งงานในประเทศไทย ชอบ ๆ ประเทศไทย จัดงานแต่งงานได้สวยงาม วัฒนธรรมประเพณีก็ไม่ต่างกันมากนัก ก็นี่จะสร้างงานทั้งหมด เดี๋ยวเชิญมาแต่งงานประเทศไทยมาก ๆ ดูแลสิว่าจะทำไง อาจจะมีเที่ยวบินพิเศษไหมปีนี้ หน้านี้ อากาศเย็น แต่งกันที่ไหนสวย ๆ วิว ทิวทัศน์ดี ผมว่าต้องไปอย่างนั้นแล้วต้องคิดหาช่องทางหาโอกาส ไม่ใช่เหมือนเดิมใครอยากมาก็มา ไม่ได้ ไปเลือกที่เที่ยวบินพิเศษ หรือช่วงพิเศษ มีรางวัล มีโบนัส ลดราคาลดอะไรก็แล้วแต่ ทั้งท่องเที่ยว จัดงานแต่งงาน เรื่องหมอ พยาบาล เปิดการรักษาโรคต่าง ๆ ในราคาที่ลดกว่าปกติ เรามีชื่อเสียงอยู่แล้ว ที่ผ่านมาก็ราคาแพง เวลาต่างประเทศมา ลดให้เขาสักหน่อยก็มามากขึ้นผมว่า ถ้าเยอะมาก ๆ ก็จัดวาระนำเที่ยวบินไป เราก็มีเครื่องบินมากมาย ว่าง ๆ ไปทำมา
 
เรื่องสัปดาห์ที่ผ่านมา เรื่องการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน+3 สมัยพิเศษ ผมก็ได้เชิญ ในครั้งที่แล้วในการประชุมที่ต่างประเทศก็ได้เชิญ ประเทศในอาเซียนมาประชุมในไทย ก็มากันหมด ทุกคนให้ความสนใจเราก็ประชุมตามที่มีกับซาร์สกับไข้หวัดนกมาเป็นแนวทาง ทุกคนให้ความสนใจแล้วก็มา แล้วที่ผ่านก็ได้รับความชื่นชมจาก UN ด้วยว่าเราสามารถจะนำในเรื่องนี้ได้ ก็เป็นเรื่องที่ดีเดี๋ยวประเทศอื่นเขามีอะไรดี เขาก็เชิญเราไปเราก็ไป ทุกคนให้ความสนใจกับประสบการณ์ที่มีกับโรคซาร์ส ไข้หวัดนกมาเป็นแนวทาง ทุกคนให้ความสนใจแล้วก็มา แล้วที่มาก็ได้รับความชื่นชมจากองค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) ว่าเราสามารถนำในเรื่องนี้ได้ เพราะเป็นเรื่องที่ดี เดี๋ยวประเทศอื่นเมื่อเขาก็มีอะไรดี ๆ เขาก็เชิญประเทศไทยไป ประเทศไทยก็ไปร่วมกับเขา นี่แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือ และโชคดี โรคนี้ยังมาไม่ถึงประเทศไทย แต่เราต้องมีมาตรการป้องกัน มีตั้ง 5 มาตรการ เดี๋ยวคงทราบกันอยู่แล้ว ทุกคนต้องเฝ้าระวัง ทุกคนต้องเรียนรู้ ว่าอันตรายอย่างไร และจะป้องกันตนเองอย่างไร ตื่นตัวแต่ไม่ตื่นตระหนก ไม่ใช่ใครเขาบอกอะไรมาก็ตื่นตระหนกไปทุกเรื่อง ใช่หรือไม่ใช่ จริงหรือไม่จริง ไม่เคยเช็คอะไร
 
พอเห็น Social Media เขียนมาก็ตกใจ หุ้นตกอะไรทำนองนี้ คนไทยต้องหนักแน่น อย่าไปตื่นตัว หรือตื่นตระหนก ตื่นตัวได้แต่อย่าตื่นตระหนก ตระหนักรู้ มีสติ มีการเฝ้าระวัง ช่วยกันดูแล เตือนภัยล่วงหน้า รัฐบาลก็เต็มที่ ผมก็สั่งการไปหมด กระทรวงสาธารณสุข เขาก็เต็มที่ตรงนี้ หมอ พยาบาล แพทย์ เตรียมความพร้อมหมด หลายโรงพยาบาล 20 กว่าโรงพยาบาล ตั้งแต่รัฐบาลนี้เข้ามา ซื้อเครื่องไม้เครื่องมือไป 200 – 300 ล้านบาท เพื่อรองรับกับการระบาดของโรคอีโบลาหรือโรคร้ายแรงอื่น ๆ ในอนาคตด้วย มีการพัฒนา เราพัฒนา เชื้อโรคก็พัฒนา โรคก็มากขึ้น เพราะฉะนั้นต้องแข็งแรง ออกกำลังกาย กินอาหารให้มีคุณภาพ กินข้าวไทยแข็งแรง อย่ากินมาก ๆ  กินมากอาจจะมีแป้งมากไป แต่บางประเภท ให้เลือกกินที่ไม่อ้วน มีมากมาย แต่มีพลังงาน
 
ในห้วงวันนี้ วันที่ 19 – 20 ธันวาคม 2557 เป็นวาระสำคัญของประเทศไทย เราเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงครั้งที่ 5 GMS Summit เป็นความร่วมมือของประเทศอาเซียนภาคพื้นดินตอนบน มีผู้นำ 6 ประเทศมา จีน เมียนมาร์ ลาว กัมพูชา เวียดนาม และไทย ร่วมประชุมกันที่กรุงเทพมหานคร วัตถุประสงค์ของการประชุมนี้ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือ และเสริมสร้างขีดความสามารถด้านเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำ อาชีพ รายได้ อะไรต่าง ๆ ก็แล้วแต่ ทุกเรื่องความเหลื่อมล้ำ ก็รู้อยู่แล้ว พัฒนากฎระเบียบให้เกิดความเชื่อมโยงกันในภูมิภาค และจะร่วมมือกันอย่างไรระหว่างประเทศสมาชิกที่จะครอบคลุมเนื้อที่ 2.6 ล้านตารางกิโลเมตร ซึ่งมีประชากรร่วมกัน 326 ล้านคน ไม่น้อย เพราะฉะนั้นเป็นโครงการระดับอนุภูมิภาค ถ้าเรารวมกันได้ตรงนี้จะเข้มแข็ง อาเซียนจะเข้มแข็งด้วย จะมีการหารือในเรื่องของคมนาคม พลังงาน โทรคมนาคม สิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยว การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การค้า เกษตรกรรม การลงทุนภาคเอกชน และการพัฒนาเขตเมือง และหลาย ๆ เรื่องที่หารือกับเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ การพัฒนาความเชื่อมโยงเส้นทางต่าง ๆ ต้องต่อกันให้ได้ วันนี้รัฐบาลนี้ร่างไว้ให้แล้ว ทั้งทางรถไฟ ทางถนน ทางน้ำได้เตรียมแผนไว้ จะได้คุยกัน แล้วจะได้ต่อกันได้ ถ้าเราไม่เริ่ม เขาเริ่มมาแล้วเราก็ต้องย้ายไปต่อตามเขา ผมว่าไม่ทันการณ์ เราต้องใช้เชิงรุก และเราก็มีความพร้อมอยู่มากพอสมควร
 
อีกเรื่องหนึ่ง ได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ ที่เรียกว่า MOU ความร่วมมือระหว่างไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 2 ฉบับ เรื่องสินค้าการเกษตรไทย - จีน และเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟความเร็วปานกลางของประเทศไทย 2 เส้นทาง คือ“หนองคาย - แก่งคอย – มาบตาพุด” และ “แก่งคอย – กรุงเทพฯ” ในยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558 –2565 ก็เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของรัฐบาล ที่ยกระดับของประเทศไทยให้เป็น HUB ในการเชื่อมโยงให้ได้ Connectivity ที่ กล่าวเมื่อสักครู่ ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กับจีนและอินเดีย เราต้องมีความพร้อม และเตรียมพร้อมการตั้งแต่บัดนี้ เพื่อวางรากฐานการพัฒนาประเทศในระยะยาว ก็ทำกันมาตลอดตั้งนานแล้ว ไม่เกิดสักที วันนี้ก็ทำให้เกิดขึ้นได้ อย่าหาว่าไปเอาของคนโน่นมา คนนี้มา ไปดูว่ามีอะไรใหม่ตั้งหลายอย่าง ผมไม่ได้ว่าจะไปทำอะไรที่วิลิศมาหรากว่าเดิม  ผมเพียงแต่จัดระเบียบให้ได้ และไม่ให้มีการทุจริต เป็นความร่วมมือ เป็นรัฐบาลต่อรัฐบาลที่มาตรวจสอบได้ ทำนองนี้ ไม่ให้ประเทศเสียโอกาสแค่นั้น หลาย ๆ อย่างเราปรับหมด คนอื่นก็ต้องเข้าใจ
 
อีกเรื่องคือเรื่องของการจัดให้มีการประชุมระดับเยาวชนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 2 (2nd GMS Youth Forum) “คู่ขนาน” ไปกับการประชุมสุดยอดผู้นำประเทศครั้งนี้เลย ให้คนรุ่นใหม่มีส่วนร่วม เขาจะได้เข้าใจและก็เกิด “ประชาคมพลวัต” การที่จะต้องแปรเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เขาเรียกว่าเป็นพลวัต ทำอย่างไรถึงจะต่อเนื่อง พัฒนาต่อเนื่อง สถานการณ์ไม่มีความต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นคนต้องพัฒนาไปเรื่อย ๆ ความรู้ ความเข้าใจ ต้องช่วยกันหาแนว ทำอย่างไรจะเชื่อมโยงได้ และสังคมพลวัตที่ว่าแต่ละประเทศจะเป็นอย่างไร เราจะเชื่อมโยงกันอย่างไรให้ไปด้วยกันให้ได้ ไปแตกแยกอะไรกันไม่ได้อีกแล้ว ทั้งอาเซียน ทั้งในไทยด้วย ในหลาย ๆ ประเทศเขาก็เห็นร่วมกันหมด เวลาผมคุยกับผู้นำ เขาบอกไม่ได้ ต้องรักต้องสามัคคีกัน ไม่อย่างนั้นอาเซียนไปไม่ได้แน่นอน และประเทศไทยก็จะเสียเปรียบประเทศอื่น ๆ ใหญ่ ๆ เขา
 
วันนี้ก็จะได้มีโอกาสต้อนรับเขา ทั้งเยาวชน 5 ประเทศ ผู้นำ 5 ประเทศ เขามาทุกประเทศ ก็เป็นเกียรติกับประเทศไทยด้วย ชอให้เป็นเจ้าบ้านที่ดี ช่วยกันต้อนรับหน่อย ทำให้บ้านเมืองสะอาด เขาพักโรงแรมที่ใกล้เส้นทางธุรกิจประกอบการมากมาย รถอาจจะติดบ้าง เพราะต้องมีการรักษาความปลอดภัย ขอโทษด้วย แต่เป็นหน้าตาของประเทศไทย เวลาผมไปเขาก็ต้อนรับแบบนี้ เวลาเขามาก็ต้องต้อนรับเหมือนกัน ให้เกียรติซึ่งกันและกัน ขอให้อดทนเล็กน้อย วันครึ่งเอง รถก็ติดบางเวลามีขบวนบ้าง อะไรบ้าง ขอโทษจริง ๆ แต่ทำเพื่อประเทศชาติของเรา เขาได้มาเห็นบ้านเมืองของเราว่าวันนี้สงบแบบนี้ เรียบร้อยแบบนี้ จะได้กล้าที่จะมาลงทุน มาท่องเที่ยวที่ประเทศไทยมากขึ้น
 
อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นเรื่องสำคัญ ต้องสร้างศักยภาพให้กับทรัพยากรมนุษย์ ด้วยการให้การศึกษา วันนั้นกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.)  ได้จัดโครงการ “คืนความสุขให้เธอ...เยาวชน” ภายใต้แนวคิด “ วิทยาศาสตร์ นำชาติยั่งยืน” วันนั้นผมได้ไปเปิดช่วงที่จะให้นักเรียนต่าง ๆ มาดู มาศึกษาที่ท้องฟ้าจำลอง ที่เอกมัย กรุงเทพมหานคร ก็ดูแล้วยังโอเค แล้ววันนี้ผมก็ทราบว่ามีทั้งหมด 16 แห่ง ในประเทศไทยตอนนี้ ไม่ใช่มีที่เดียว นอกจากนั้นก็มีหอดูดาวอีกหลายที่ ทั้งภาคเหนือที่ดอยอินทนนท์ ที่นครราชสีมา (โคราช) ก็มี มีอีกหลายที่ มีทั้ง 2 อย่าง 10 กว่าแห่งแล้ว ทั้งหอดูดาว ทั้งท้องฟ้าจำลอง มีหลายที่
 
ผมก็บอกให้ความสำคัญเรื่องนี้ ถ้าอะไรจำเป็นก็ต้องทำเพิ่มเติมก็ว่ามา ก็ต้องประหยัดก่อนแล้วกันในขณะนี้ เพื่อจะกระตุ้นความสนใจ สร้างแรงบันดาลใจให้คนอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ อยากให้ไปขึ้นอวกาศ วันนั้นไปเจอคนไทยคนหนึ่ง ผู้หญิงด้วย เขาบอกเขาอยากขึ้นไป วันนี้ได้รับการคัดเลือกแล้วกำลังเตรียมร่างกายอยู่ รอเวลาอยู่ หน้าชื่นใจ เด็ก ๆ จบการศึกษาทางด้านนี้มาด้วย และให้ความสนใจ และก็พร้อมที่จะไปกับเขา ก็รอเวลาขึ้นไป ต้องคิดแบบนี้ ว่าเราจะมีนักวิทยาศาสตร์มากขึ้นได้อย่างไร จะมีคนกล้าเหล่านี้ได้อย่างไร ไปแสดงให้โลกเขาเห็นว่าคนไทยก็เก่งเหมือนกัน ต้องผลิตให้ได้มาก ๆ นักวิทยาศาสตร์ จะได้ผลิต วิจัย พัฒนาได้ โลกนี้เจริญด้วยวิทยาศาสตร์ ไม่ได้เจริญด้วยอย่างอื่น เหมือนอย่างอื่นเป็นการสร้างสังคมให้ได้ เป็นการเกื้อหนุน เกื้อกูล สร้างธุรกิจต่อเนื่องกัน แต่วิทยาศาสตร์จะนำหน้า เพราะปลุกปั่นเรื่องของความทันสมัย วันนี้หลาย ๆ อย่างก็ขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์เป็นหลัก
 
ในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่นี้ ทางภาคเหนือและภาคอีสานกำลังยังประสบภัยแล้งและภัยหนาว พวกหนึ่งแล้งและก็หนาว อีกพวกหนึ่งกำลังไปเที่ยวสวยงาม ขัดแย้งกัน ประเทศไทย เพราะมีความแตกต่างความเหลื่อมล้ำ ทำอย่างไรจะดูแลคนเหล่านี้ ไปเที่ยว นำเสื้อกันหนาว เสื้อผ้าเก่า ๆ ที่ไม่ได้ใช้แล้ว ยังดีอยู่ นำไปให้เขา ติดไปกับรถ ท้ายรถไปได้ไหม สิ่งนี้เรียกน้ำใจคนไทย ไม่ใช่ไป คนนี้ก็นั่งตัวสั่นอยู่ข้างทาง แล้วก็หนาว ไปคนนี้ก็เที่ยว ถ่ายรูป ขัดแย้ง แต่ผมไม่ว่าท่านแล้วกัน บางทีท่านนึกไม่ถึง ที่บ้านกลับมาของเต็มบ้านเลย ขนไปเถอะ ผมก็ส่งไปแจกมากมายไปหมด อันไหนไม่ได้ใช้ บางอย่างก็เล็กไปบ้าง อะไรบ้าง ก็แจกเขาไป บางทีต้องเผื่อแผ่
 
อีกสิ่งหนึ่งคือเรื่องน้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก หลายจังหวัดเดือดร้อน วันนี้ผมเห็นเขาสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูแลช่วยเหลือ ภาคใต้น้ำท่วมเร็ว ลงเร็ว แต่ก็เดือดร้อน วันนี้ประกาศพื้นที่หลายพื้นที่ และให้ทางกระทรวงมหาดไทย กรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย ทหาร ตำรวจ พลเรือนช่วยกัน คนที่ไม่ท่วมก็ไปช่วยเขาด้วย ช่วยแรง ช่วยอะไรต่าง ๆ ไม่ใช่ไปช่วยบำรุงเขาอย่างเดียว ไปช่วยเขาออกแรงด้วย พี่น้องกันทั้งนั้น ขอให้ช่วยกันตามนโยบายรัฐบาลให้มีการป้องกัน และแก้ไขฟื้นฟูให้ได้โดยเร็ว และขอความร่วมมือในการแก้ไขสถานการณ์ต่าง ๆ เหล่านั้นที่อาจจะมากขึ้นกว่านี้อีกก็ได้ วันหน้าจะเกิดภัยพิบัติอะไรอีกก็ไม่รู้ ไม่ทราบเหมือนกัน เพราะโลกเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศ Climate Change ทำให้เกิดปัญหามาก ขอความร่วมมือทุกคน ช่วยกันดูแลพี่น้องห่างไกลด้วย คนไทยทั้งนั้น
 
สำหรับของขวัญปีใหม่ที่รัฐบาลและกระทรวงจะมอบให้ ก็ถือว่าเป็นของขวัญปีใหม่เหมือนกับของขวัญอื่น ๆ เพราะเราเป็นคนไทย และเป็นวัฒนธรรมไทย ปีใหม่ก็มีของขวัญเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้กัน รัฐบาลก็ไม่มีอะไรให้ นอกจากสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืน นั่นเป็นเรื่องอนาคตที่ต้องทำในขณะนี้อยู่ การปฏิรูป เป็นของขวัญที่ยั่งยืน ราคาผลิตผลทางการเกษตรจะขึ้นได้อย่างไร สร้างโรงงานอะไรขึ้นมา นั้นคือของขวัญที่เราจะมอบอย่างยั่งยืน แต่วันนี้ของขวัญที่ให้ปีใหม่จริง ๆ ก็คือการทำให้มีการจับจ่ายใช้สอย ซื้อของเราคาถูกลง บางอย่างผมเห็นในข่าว 80 เปอร์เซ็นต์ โดยกระทรวงพาณิชย์ ขอบคุณห้างร้านต่าง ๆ ที่ให้การช่วยเหลือ หลาย ๆ บริษัทขอให้เจริญ ๆ พวกที่เสียสละ พวกที่ยอมลดกำไร ให้เจริญ ๆ พวกไหนที่เอาเปรียบคน ผมว่าอยู่ได้ไม่นาน อย่าไปอุดหนุน
 
เพราะฉะนั้นเมื่อบ้านเมืองมีปัญหา รัฐบาลขอร้องก็ช่วยกันหน่อย ผมเป็นกังวลเรื่องนี้ ถ้าไม่รักกันไม่ช่วยกัน ยิ่งเดือดร้อน ยิ่งขึ้นราคา จะได้อย่างไร เป็นคนไทยหรือเปล่า ต้องช่วยกัน อย่าว่าผมแรงก็แรงเรื่องเหล่านี้ไม่ได้ ต้องเห็นใจคนลำบาก เพราะฉะนั้นเศรษฐกิจมีปัญหา เราทุกคนคนไทยก็ต้องมีส่วนร่วมกัน ทั้งภาคธุรกิจ ภาคเอกชน สร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจได้ เงินทอง ก็ไม่ได้ไปไหน ให้พี่น้องคนไทยทั้งสิ้น ท่านเอาแต่ข้างเดียวแล้วใช้หมดหรือเปล่ายังไม่รู้เลย ช่วยกันดูแลด้วย จะได้มีความสุขด้วยกัน ประเทศชาติก็มั่นคง ประชาชนก็มั่งคั่งในทุกระดับ
 
อีกเรื่องก็ต้องขอขอบคุณ นักฟุตบอล “ขุนพลช้างศึก” ผมได้มีโอกาสดูในทีวี ทีมชาติไทย ขอบคุณทั้งโค้ช ผู้จัดการอะไรต่าง ๆ สร้างความสุขให้กับคนไทย เมื่อวานดู และก็เล่นดีทั้งคู่ และรักษากติกา มีหนักนิดเบาหน่อยก็ให้อภัยซึ่งกันและกัน พี่น้องกัน เพื่อนบ้านกัน
 
ขอให้ประชาชนชาวไทยทุกคนได้ร่วมแรงร่วมใจกัน สร้างประเทศไทยให้เป็นประเทศที่ร่มเย็น น่าอยู่ มั่นคงแข็งแรง อย่างยั่งยืนในทุกมิติต่อไปด้วย ทุกคนต้องเตรียมความพร้อมที่จะเผชิญกับสถานการณ์ในวันข้างหน้า ซึ่งมีหลาย ๆ อย่างด้วยกัน ทั้งภัยคุกคามรูปแบบเก่า รูปแบบใหม่ ภัยที่เกิดขึ้นจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง โรคระบาด เราต้องเตรียมความพร้อม วันหน้าจะเกิดอะไรขึ้นไม่รู้ ถ้าเราแข็งแรง ครอบครัวเข้มแข็ง ประเทศเข้มแข็ง ทุกอย่างก็จะไปได้หมด ข้อสำคัญคือจิตใจเราต้องเข้มแข็ง ก็ช่วยกันแล้วกัน ขอบคุณครับ สวัสดีครับ
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือข่ายเลิกแร่ใยหินหนุน สธ. งดใช้วัสดุที่มีแร่ใยหิน

$
0
0
เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมาเครือข่ายรณรงค์ยกเลิกแร่ใยหินแห่งประเทศไทย (T-BAN) ทำหนังสือถึงนายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สนับสนุนมติสังคมไทยไร้แร่ใยหิน พ.ศ.2554 ขอขอบคุณกระทรวงสาธารณสุขและขอสนับสนุนให้มีการดำเนินการตามรายงานผลการศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพจากแร่ใยหิน โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
 
เรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน
 
โดยที่กระทรวงสาธารณสุขได้รายงานผลการศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพจากแร่ใยหินต่อคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2557 ตามที่คณะรัฐมนตรี มอบหมาย (มีมติเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2554) และผลการศึกษาดังกล่าว สรุปว่าสมควรให้มีการยกเลิกการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์โดยทันที ถือเป็นบทบาทของกระทรวงสาธารณสุขที่ทำหน้าที่ปกป้องดูแลสุขภาพประชาชนโดยแท้จริง
 
เครือข่ายรณรงค์ยกเลิกแร่ใยหินแห่งประเทศไทย (T-BAN) ซึ่งได้ดำเนินการเพื่อสนับสนุนมติสังคมไทยไร้แร่ใยหิน พ.ศ.2554 ขอขอบคุณกระทรวงสาธารณสุขและขอสนับสนุนให้มีการดำเนินการตามรายงานผลการศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพจากแร่ใยหิน ทั้ง 5 ข้อ โดยเฉพาะข้อ 4.1 และ 4.5 ดังนี้
 
4.1 ขอให้ดำเนินการยกเลิกการใช้แร่ใยหินในทุกผลิตภัณฑ์ ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 12 เมษายน 2554 เนื่องจากไม่มีระดับความปลอดภัยใดๆ จากการรับสัมผัสแร่ใยหิน ไม่ว่าจะเป็นแร่ใยหินชนิดใดก็ตาม
 
4.5 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทาแนวทางมาตรการความปลอดภัยในการรื้อถอนซ่อมแซม ต่อเติมอาคาร การทิ้ง และการจาจัดขยะที่มีแร่ใยหินเพื่อมิให้เกิดการฟุ้งกระจายสาหรับกลุ่มประชาชนโดยทั่วไป
 
นอกจากนี้ เครือข่ายฯ ขอเสนอให้
 
1. หน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะโรงพยาบาล และสถานบริการสาธารณสุขที่จะมีการก่อสร้าง ต่อเติม และปรับปรุงสถานที่งดใช้วัสดุที่มีแร่ใยหินไคร์โซไทล์ เพื่อเป็นแบบอย่างในการสนับสนุนมติสังคมไทยไร้แร่ใยหิน
 
2. เร่งรัดการดำเนินงานของ กรม และหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุขทำการเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์โทษภัยของแร่ใยหินให้ประชาชนได้รับทราบ
 
ทั้งนี้เครือข่ายฯ ขอยืนยันที่จะสนับสนุนเจตนารมย์และการดำเนินการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเต็มกาลัง
 
ขอแสดงความนับถือ
เครือข่ายรณรงค์ยกเลิกแร่ใยหินแห่งประเทศไทย
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'วีระกานต์' ไม่เห็นด้วยเลือกนายกโดยตรง ชี้ต้องไม่นิรโทษกรรมแกนนำ-ผู้สั่งการ

$
0
0
"วีระกานต์ มุสิกพงศ์" อดีตประธาน นปช. แสดงความเห็นต่อกรรมาธิการยกร่าง รธน. ระบุไม่เห็นด้วยกับการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง ชี้ถ้าจะให้ประชาชนยอมรับต้องทำประชามติรัฐธรรมนูญ เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม แต่ควรจะนิรโทษเฉพาะประชาชน และผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ ที่ไม่ใช่แกนนำ หรือผู้สั่งการ

 
เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2557 ที่ผ่านมาเว็บไซต์สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภารายงานว่า พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยถึงกรณีที่ นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้เข้าให้ข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญว่านายวีระกานต์ ไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีโดยตรง รวมถึงประเด็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง เพราะที่ผ่านมาเห็นว่า ส.ส. ที่ไม่ได้สังกัดพรรคจะไม่มีจุดยืนในการทำงาน และจะไม่สามารถเสนอกฎหมายเข้าสู่สภาได้ นอกจากนี้ นายวีระกาต์ ยังให้ความเห็นในเรื่องอำนาจการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระหว่างองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ซึ่งอยากให้มีความชัดเจนในการแบ่งอำนาจหน้าที่ ส่วนด้านศาลและกระบวนการยุติธรรม เห็นว่าควรนำบุคคลภายนอกมาเป็นส่วนหนึ่งในคณะกรรมการตุลาการ ส่วนการปฏิรูปองค์กรอิสระ ก็อยากให้ได้มีการตรวจสอบองค์กรอิสระด้วย เนื่องจากมีความเป็นอิสระมากเกินไป
 
ขณะที่ด้านการปฏิรูป นายวีระกานต์ ระบุว่า ส่วนตัวก็มีหลายความคิดเห็นที่สอดคล้องกับพรรคเพื่อไทยที่ได้เคยเสนอไว้แล้ว เช่น การส่งเสริมประเทศไทยให้มีประชาธิปไตยที่แท้จริง การสร้างความสมานฉันท์และการขจัดการทุจริตคอรัปชั่น ทั้งนี้ มองว่าเมื่อร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ก็ควรเสนอทำประชามติ เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากประชาชนทั้งประเทศ พร้อมทั้งไม่เห็นด้วยในการเปลี่ยนแปลงอำนาจรัฐที่อยู่นอกเหนือประชาธิปไตย และอยากเห็นการนำหลักธรรมะมาใช้ในการปกครองประเทศ นอกจากนี้ยังเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม แต่ควรจะนิรโทษเฉพาะประชาชน และผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ ที่ไม่ใช่แกนนำ หรือผู้สั่งการ
 
พล.อ.เลิศรัตน์ ยังเปิดเผยอีกว่า ในวันที่ 22-26 ธันวาคมนี้ คณะกรรมาธิการยกร่างร่างรัฐธรรมนูญจะประชุมเพื่อวางกรอบและแนวทางการยกร่างรัฐธรรมนูญจากทุกฝ่ายที่เสนอมา ก่อนที่จะลงรายละเอียดเป็นรายมาตราในช่วงต้นเดือนมกราคมต่อไป
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลเกาหลีใต้สั่งยุบพรรคฝ่ายซ้าย อ้าง 'เข้าข้างเกาหลีเหนือ'

$
0
0

พรรคยูพีพีซึ่งเป็นพรรคการเมืองหัวก้าวหน้าในเกาหลีใต้ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรค อ้างหนุนสังคมนิยมเกาหลีเหนือ ขณะที่นักวิจารณ์มองว่าเป็นการลิดรอนเสรีภาพในการแสดงออก และเป็นการเล่นงานคู่แข่งทางการเมืองแบบเดียวกับสมัยที่เกาหลีใต้ยังเป็นเผด็จการทหารเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว


19 ธ.ค. 2557 ศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้สั่งยุบพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายชื่อพรรคแนวร่วมหัวก้าวหน้าหรือ 'ยูพีพี' ซึ่งเป็นพรรคการเมืองเล็กๆ โดยอ้างว่าเป็นพรรคที่มีอุดมการณ์สนับสนุนสังคมนิยมแบบเกาหลีเหนือ ทำให้นักวิจารณ์หลายคนวิจารณ์ว่าเป็นการลิดรอนเสรีภาพในการแสดงออก

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือน พ.ย. 2556 กระทรวงยุติธรรมของเกาหลีใต้ยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งยุบพรรคการเมืองยูพีพีโดยอ้างว่ามีอุดมการณ์สนับสนุนสังคมนิยมแบบเกาหลีเหนือและเป็นภัยต่อเสรีนิยมประชาธิปไตยของเกาหลีใต้ พวกเขายื่นคำร้องหลังจากที่สมาชิกพรรคการเมืองคนสำคัญถูกจับกุมตัวด้วยข้อกล่าวหาว่ามีการวางแผนก่อกบฏเพื่อโค่นล้มรัฐบาลเกาหลีใต้ในเหตุการณ์สงครามคาบสมุทรเกาหลี

พรรคยูพีพีตั้งขึ้นเมื่อช่วงปลายปี 2554 ที่ผ่านมา จากการหลอมรวมพรรคการเมืองกับกลุ่มการเมืองหัวก้าวหน้า มี ส.ส. ได้ที่นั่งในสภา 5 คน แต่จากคำสั่งศาล ส.ส. ทั้ง 5 คนจะถูกถอดถอนจากสภา นี่ยังถือเป็นกรณีแรกที่ศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้สั่งยุบพรรคการเมือง

เกาหลีใต้เพิ่งมีศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2531 ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อปกป้องสิทธิพื้นฐานของประชาชนหลังจากที่เคยอยู่ในช่วงการปกครองแบบเผด็จการทหารมาหลายสิบปี โดย ปาร์กจุงฮี ผู้เป็นบิดาของปาร์กกึนเฮ ประธานาธิบดีคนปัจจุบันเคยเป็นหนึ่งในผู้นำเผด็จการมาก่อนและเคยสั่งยุบสภาและกลุ่มทางการเมืองตามอำเภอใจ รวมถึงสั่งห้ามกิจกรรมพรรคการเมืองเพื่อเล่นงานคู่แข่งของตน

สมาชิกพรรคยูพีพีระบุว่าพวกเขาแค่ต้องการให้มีการประนีประนอมกันมากขึ้นระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ อีกทั้งยังกล่าวหาว่าหน่วยงานสืบราชการลับของเกาหลีใต้กุเรื่องเพื่อใส่ร้ายให้พวกเขาเป็นกบฏเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากกรณีที่พวกเขาถูกเปิดโปงเรื่องให้การช่วยเหลือการรณรงค์หาเสียงให้ตัวแทนพรรครัฐบาลคือปาร์กกึนเฮซึ่งสามารถชนะการเลือกตั้งได้เมื่อช่วง ธ.ค. 2555

สมาชิกพรรคยูพีพี 7 คนที่ถูกตัดสินให้มีความผิดโทษฐานก่อกบฏถูกลงโทษให้จำคุกอย่างมาก 9 ปี จากข้อกล่าวหาว่ายุยงให้มีการกบฏหรือละเมิดกฎหมายความมั่นคงของเกาหลีใต้ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อต่อต้านเกาหลีเหนือ

เดอะการ์เดียนระบุว่าการลงโทษในครั้งนี้จะทำให้รัฐบาลปาร์กกึนเฮถูกวิจารณ์เรื่องลิดรอนเสรีภาพในการแสดงออกและอาจจะทำให้เกิดความแตกแยกระหว่างฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวามากขึ้นในเกาหลีใต้ คู่แข่งของปาร์กกึนเฮที่เป็นฝ่ายเสรีนิยมเคยบอกว่าเธอใช้วิธีการปราบปรามอย่างหนักแบบเดียวกับที่บิดาเธอเคยทำ

โรซีนน์ ไรฟ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเอเชียตะวันออกขององค์กรแอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนลกล่าวผ่านแถลงการณ์ว่า การลงโทษพรรคยูพีพีทำให้เกิดคำถามต่อเรื่องหน้าที่ของรัฐบาลเกาหลีใต้ที่ต้องปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม และการอ้างความกังวลเรื่องความมั่นคงไม่สามารถนำมาใช้ลิดรอนสิทธิในการแสดงความเห็นต่างทางการเมืองได้ในทุกกรณี

เดอะการ์เดียนระบุว่าเรื่องที่มีความขัดแย้งกันมากในเกาหลีใต้คือความคิดที่ต่างกันว่าควรมองเกาหลีเหนืออย่างไร ทั้งสองประเทศนี้มีการปิดกั้นพรมแดนอย่างแน่นหนามาตั้งแต่ราว 60 ปีที่แล้วหลังจากสงครามที่ทำให้เกิดการแบ่งแยกประเทศกัน ในเกาหลีใต้แม้แต่การแค่กล่าวชื่นชมเกาหลีเหนือก็อาจจะทำให้ถูกลงโทษจำคุก 7 ปีได้

 


เรียบเรียงจาก

South Korea court orders breakup of ‘pro-North’ leftwing party, The Guardian, 19-12-2014
http://www.theguardian.com/world/2014/dec/19/south-korea-lefwing-unified-progressive-party-pro-north

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มติมหาเถรฯ ‘ห้ามบวชภิกษุณี’ ขัดพระธรรมวินัยเสียเอง?

$
0
0



กรณีมหาเถรสมาคม (มส.) มีมติห้ามคณะสงฆ์ไทยทำการอุปสมบทภิกษุณี สะท้อนปัญหาการคิด “เชิงหลักการ” ในหลายเรื่องที่น่าศึกษาอย่างยิ่ง

หนึ่งคือ เมื่อมีผู้ไปร้องเรียนคณะกรรมาธิการปฏิรูปค่านิยม ศิลปวัฒนธรรม จริยธรรมและการศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ปรากฏว่า สปช.บางคนอ้างว่า “มติ มส.ขัดรัฐธรรมนูญและสิทธิมนุษยชน” ข้ออ้างเช่นนี้ไม่ได้มีปัญหาในตัวมันเอง แต่มีปัญหาที่จริยธรรมของผู้อ้าง ในเมื่อคุณรับได้กับรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ เข้ามาทำงานกับรัฐบาลจากรัฐประหาร และไม่แคร์กับการที่รัฐบาลปัจจุบันละเมิดสิทธิการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน คุณยังมีความชอบธรรมอะไรจะใช้ข้ออ้างเช่นนี้กับคนอื่นๆ

เพราะโดยหลักการแล้ว เวลาเราอ้างรัฐธรรมนูญหรือหลักสิทธิมนุษยชน เราย่อมอ้างในฐานะเป็น “หลักการสากล” ที่ใช้กับ “ทุกคน” แต่การอ้างแบบ สปช.เป็นการอ้างอย่างเลือกปฏิบัติ ซึ่งสะท้อนการขาดความซื่อตรงต่อหลักการและการเคารพตัวเอง

อีกหนึ่งคือ โฆษกสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ออกมากล่าวว่า “มติ มส.เป็นคนละประเด็นกันกับเรื่องสิทธิมนุษยชน เพราะคณะสงฆ์ไทยไม่ได้ห้ามบวชภิกษุณี หากจะไปบวชมาจากประเทศอื่น นิกายอื่น ก็สามารถทำได้ และยังสามารถมาสร้างสถานที่เผยแผ่หลักคำสอนในประเทศไทยได้ แต่เรื่องภิกษุณีสายเถรวาทที่ขาดสายไปแล้วนั้น เป็นเรื่องของพระธรรมวินัย จะนำเรื่องหลักสิทธิมนุษยชนมาเกี่ยวข้องกับหลักพระธรรมวินัยไม่ได้...”

มุมมองเช่นนี้มีปัญหาที่ผมอยากชวนอภิปราย คือ

(1) เรื่อง “ภิกษุณีขาดสาย” นั้นยังเป็นข้อถกเถียงทางประวัติศาสตร์ คณะสงฆ์ไทยเชื่อว่าขาดสายไปแล้ว แต่ทางจีนเขายืนยันว่าภิกษุณีจีนที่บวชสืบสายไปจากศรีลังกายังมีอยู่ในจีน ต่อมาศรีลังกาก็ไปบวชมาจากจีน ซึ่งทำพิธีบวชแบบนิกายธรรมคุปต์ และเพื่อแก้ปัญหาการติดใจเรื่อง “นานาสังวาส” ทางคณะสงฆ์นิกายเถรวาทศรีลังกาจึงกระทำพิธีอุปสมบทใหม่แบบเถรวาทให้แก่ภิกษุณีที่บวชมาจากจีน นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นฟูภิกษุณีเถรวาทในศรีลังกา ซึ่งภิกษุณีไทยบางท่านเช่น “ธัมมนันทาภิกษุณี” ก็บวชมาจากศรีลังกา

อาจมีข้อโต้แย้งว่า ภิกษุณีเถรวาทที่ไปบวชมาจากนิกายธรรมคุปต์ (นิกายย่อยของมหายาน) เป็น “เถรวาทกลาย” หากเถรวาทไทยจะให้การยอมรับก็เท่ากับเถรวาทไทยจะเป็นเถรวาทกลายไปด้วย คำถามก็คือเถรวาทไทย (หรือเถรวาทศรีลังกา พม่า ลาว กัมพูชา) ที่แยกเป็น “ธรรมยุต” และ “มหานิกาย” ใช่ “เถรวาทแท้” จริงๆหรือ วัดจากอะไร?

หากอ้างว่าวัดจากการยึดถือปฏิบัติตามพระธรรมวินัยตามมติของพระเถระในการสังคายนาครั้งที่ 1 โดยไม่มีการถอน ไม่มีการเพิ่มบทบัญญัติใดๆ แล้วการมีระบบสมณศักดิ์และองค์กรมหาเถรสมาคมเกิดจากบทบัญญัติของพระธรรมวินัยในการสังคายนาครั้งที่ 1 ข้อไหนหรือครับ

ไม่มีบทบัญญัติในพระธรรมวินัยในการสังคายนาครั้งที่ 1 รองรับให้มีสมณศักดิ์และองค์กรมหาเถรสมาคมเลยใช่ไหมครับ แต่คณะสงฆ์ไทยอธิบาย “เอาเอง” ว่า “สมณศักดิ์อนุโลมตามเอตทัคคะ” จะอนุโลม(อย่างสมเหตุผล)ได้อย่างไรครับ ในเมื่อ “เอตทัคคะ” นั้นพุทธะท่านใช้ยกย่องภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาที่เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เป็นที่ประจักษ์โดยไม่เกี่ยวใดๆ กับอำนาจรัฐ แต่สมณศักดิ์อำนาจรัฐแต่งตั้งและมีข้อผูกพัน “โดยประเพณีปฏิบัติ” ให้คณะสงฆ์ต้องตอบสนองนโยบายของรัฐ แต่เอตทัคคะไม่ได้ทำให้คณะสงฆ์ต้องมีข้อผูกพันใดๆ กับอำนาจรัฐ

และมีบทบัญญัติในพระธรรมวินัยข้อไหนครับ ที่กำหนดว่าให้มีคณะสงฆ์จำนวนหนึ่งเรียกว่าองค์กร “มหาเถรสมาคม” มีอำนาจออกมติ กฎระเบียบต่างๆ ที่มีข้อผูกพันให้พระสงฆ์เป็นหมื่นหรือแสนรูปต้องปฏิบัติตาม พระธรรมวินัยกำหนดชัดเจนว่าให้มีสงฆ์ 20 รูป, 10 รูป, 5 รูป, หรือ 4 รูป เป็นต้น ทำสังฆกรรมหรือกิจของส่วนรวมในกรณีนั้นๆ เช่นการให้การอุปสมบท, กรานกฐิน และอื่นๆ ซึ่งแปลว่าพระธรรมวินัยให้พระสงฆ์กระจายอำนาจในการหารือร่วมกันทำกิจของส่วนรวม ไม่ใช่ผูกขาดอำนาจตัดสินใจไว้ที่สงฆ์กลุ่มเล็กๆ กลุ่มเดียวแบบมหาเถรสมาคมในปัจจุบัน

มติมหาเถรสมาคมที่ห้ามพระสงฆ์ไทยทำการบวชภิกษุณีนั้น เป็นมติที่มีอำนาจตามกฎหมายและเป็นกฎหมายที่ออกในรัฐบาลเผด็จการ ในทางพระธรรมวินัยแล้วพุทธะไม่ได้ให้สิทธิพิเศษแก่คณะสงฆ์กลุ่มเล็กๆ กลุ่มใดมีอำนาจออกมติให้พระสงฆ์เป็นหมื่นเป็นแสนรูปต้องปฏิบัติตาม การสังคายนาพระธรรมวินัยที่สามารถออกมติเป็นข้อผูกพันให้สงฆ์ต้องปฏิบัติตามนั้น ต้องใช้คณะสงฆ์ประชุมกันจำนวนมาก เช่นสังคายนาครั้งที่ 1 ก็ใช้พระอรหันต์ตั้ง 500 รูป ลงมติ เป็นต้น

ถ้าอ้างว่าองค์กรมหาเถรสมาคมและมติมหาเถรสมาคม แม้จะไม่มีพระธรรมวินัยบัญญัติรองรับไว้ (ให้ตั้งองค์กรแบบนี้และมีอำนาจเช่นนี้โดยตรง) แต่ก็ถือกันโดย “อนุโลม” ว่า “เข้ากันได้กับหลักพระธรรมวินัย(?)” แล้วทำไมการบวชภิกษุณีซึ่งมีเงื่อนไขให้อนุโลมได้ (เช่นบวชภิกษุณีเถรวาทจากศรีลังกาแล้วจึงมาทำพิธีบวชในคณะสงฆ์ไทยก็ได้) มหาเถรสมาคมถึงไม่ยอมอนุโลม

ถ้าคิดว่าอนุโลมแล้ว “ไม่บริสุทธิ์” ตามพระธรรมวินัย หรือไม่ถูกต้องตรงตามตัวอักษรในธรรมวินัยตามพระไตรปิฎกเป๊ะๆ แล้วพระสงฆ์ไทยปัจจุบันปฏิบัติตามพระธรรมวินัยได้บริสุทธิ์บริบูรณ์อย่างไรหรือครับเช่นวินัยสงฆ์ “ห้ามพระภิกษุรับเงินและทอง” แต่ทำไมปัจจุบันพระไทยจึงมีบัญชีเงินฝากส่วนตัวเป็น 10 เป็น 100 ล้านได้ หรือว่านี่เป็นการอนุโลมตามความ “จำเป็น” ในโลกปัจจุบันอีกหรือครับ

(2) เอาล่ะเรื่องพระมีบัญชีเงินฝากอนุโลมได้ก็ว่ากันไปครับ แต่ถามว่า ทำไมคณะสงฆ์ไทยจึงตีความพระธรรมวินัยในบางเรื่องที่เกี่ยวกับการเคารพความเท่าเทียมของมนุษย์โดยอนุโลมตามหลักสิทธิมนุษยชนไม่ได้ ทำไมพูดแบบไม่คิดว่า “ธรรมวินัยกับสิทธิมนุษยชนไม่เกี่ยวกัน” มีวินัยสงฆ์ข้อไหนบ้างที่พุทธะบัญญัติขึ้นโดยไม่มีมิติที่เกี่ยวข้องกับบริบทสังคมวัฒนธรรมอินเดียโบราณ ถ้าการบัญญัติวินัยสงฆ์พุทธะให้ความสำคัญกับบริบทวัฒนธรรมอินเดียโบราณได้ แล้วทำไมชาวพุทธในยุคปัจจุบันจะตีความธรรมวินัยหรือวินัยสงฆ์โดยคำนึงถึงบริบทวัฒนธรรมสมัยใหม่ (ในแง่ที่ก้าวหน้ากว่าวัฒนธรรมอินเดียโบราณ) ไม่ได้

สรุป ถ้าคิดไล่เรียงเหตุผลอย่างถึงที่สุด ไม่ใช่การบวชภิกษุเป็นเรื่องที่ขัดพระธรรมวินัย หรือไม่มีพระธรรมวินัยรองรับให้บวชได้หรอกนะครับ แต่ ”มติ” มหาเถรสมาคม (ซึ่งเป็นพระกลุ่มเล็กๆ) ที่มีผลบังคับทางกฎหมายให้พระเป็นหมื่นเป็นแสนรูปทั่วประเทศต้องปฏิบัติตามนั่นแหละ ที่ไม่มีพระธรรมวินัยรองรับ หรือไม่มีพระธรรมวินัยข้อไหนให้อำนาจไว้เช่นนั้น

ที่สำคัญ “มติ” มหาเถรฯ ที่อยู่บนสมมติฐานที่ว่า “ธรรมวินัยไม่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน” นั่นเอง เป็นการตัดขาดตัวเองและคณะสงฆ์ไทยจากการมีปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์กับความยุติธรรมและความก้าวหน้าในความเป็นมนุษย์ในบริบทโลกสมัยใหม่ ซึ่งหมายความว่าเป็นการตัดโอกาสที่พระธรรมวินัยของพุทธะจะก่อเกิดคุณค่าต่อเพื่อนมนุษย์และวิถีสังคมสมัยใหม่ด้วยอย่างน่าเศร้า

คำถามด้วย “เมตตามโนกรรม” คือ ถ้าเป็นเช่นนี้คณะสงฆ์ไทยจะอยู่ในสังคมสมัยใหม่อย่างมีคุณค่าได้อย่างไร และพระธรรมวินัยของพุทธะจะมีปฏิสัมพันธ์กับคุณค่าสมัยใหม่ที่ให้ความสำคัญสูงสุดกับเสรีภาพ และความเท่าเทียมของมนุษย์อย่างไรครับ ในขณะที่มหาเถรสมาคมชี้ว่าการกระทำของคนอื่นๆ (เช่นการบวชภิกษุณี ฯลฯ) ไม่ชอบด้วยพระธรรมวินัย แต่การที่พระมีฐานันดรศักดิ์ มีบัญชีเงินฝากส่วนตัว มีองค์กรสงฆ์แบบเผด็จการ (ขณะที่ชาวพุทธมักอ้างเสมอว่าสังฆะในสมัยพุทธกาลบมีความเป็นประชาธิปไตย) ล้วนแต่ถูกตั้งคำถามได้ในทางพระธรรมวินัย

ฉะนั้น การที่มหาเถรฯ ซึ่งมีสถานะและอำนาจที่ถูกตั้งคำถามได้ถึงความชอบธรรมทางพระธรรมวินัย แต่ชี้นิ้วให้คนอื่นๆ เคารพพระธรรมวินัย จะต่างอะไรกับอำนาจที่ฉีกรัฐธรรมนูญแล้วสั่งสอนคนอื่นให้เคารพกฎหมาย นี่เป็นสิ่งที่ชาวพุทธควรไตร่ตรองด้วยโยนิโสมนสิการเป็นอย่างยิ่ง
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ใบตองแห้งออนไลน์: ปฏิรูปศาลไหม ?

$
0
0

 

สปช.กมธ.มีใครคิดปฏิรูปศาลไหม ยังไม่มี เห็นมีแต่แนวคิดเอาศาลออกไปจากการสรรหาองค์กรอิสระ แต่ก็จะเพิ่มอำนาจออกใบเหลืองใบแดง

ศาลถูกวิจารณ์อึงมี่ตั้งแต่รัฐประหารปี"49 เมื่อผู้พิพากษากระโดดข้ามรั้วมาใช้อำนาจ "กวาดล้างคนชั่ว" ยุบพรรค ตัดสิทธิ เป็น คตส. เป็น ส.ส.ร. เป็น สนช. เป็นรัฐมนตรี เป็นอธิบดี โห ก็มีปัญหาสิครับ สังคมจะเชื่อมั่นเมื่อกรรมการเป็นกลาง แต่นี่ออกมาเตะบอลเองทั้งที่ยังเป่าปี๊ดๆ

ศาลก็รู้ดูรัฐประหารครั้งนี้ก็ได้ ศาลสรุปบทเรียนไม่เกี่ยวข้อง รองประธานศาลฎีกายังต้องถอนตัวจากกรรมการคดีพิเศษ

แต่ปัญหาที่เกิดมา 8 ปี เริ่มมีคำถามเรื่องที่มาของอำนาจ ว่าควรยึดโยงประชาชนไหม เรื่องการตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์ ทำได้ไหม

ศาลไทยไม่เคยยึดโยงอำนาจเลือกตั้งทั้งก่อนและหลัง 2475 จนรัฐธรรมนูญ 2540 จึงมีคณะกรรมการตุลาการ 2 ใน 15 คนเลือกโดยวุฒิสภา ต่างจากอเมริกา ญี่ปุ่น เยอรมัน ฯลฯ ที่ผู้พิพากษาศาลสูงมาจากการเสนอชื่อและรับรองโดยอำนาจเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญ 2540 ยืมมาใช้กับศาลปกครองแบบครึ่งๆ กลางๆ คือ ก.ศป.เสนอชื่อตุลาการศาลปกครองสูงสุดให้วุฒิสภารับรอง

ประธานศาลฎีกามาจากไหน รู้ไหมครับ น้อยคนที่รู้ว่าประธานศาลฎีกามาจากคนสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาได้ที่ 1 ตอนอายุ 25 ปี ผ่านไป 40 กว่าปีถ้าไม่อายุสั้นถ้าไม่ทำตัวเสื่อมเสีย พอใกล้ 70 ก็จะได้เป็นประธานศาลฎีกา เพราะนับอาวุโสตามลำดับที่สอบได้

ศาลยึดการเลื่อนขั้นตามอาวุโสเคร่งครัด ผู้ใหญ่ของสถาบันตุลาการท่านหนึ่งตำหนิว่าไม่ยึดหลักค่าของคนอยู่ที่ผลงาน แต่บางท่านก็อธิบายว่าศาลไม่ต้องการให้แข่งขัน เงินเดือนผู้พิพากษาจึงมีแค่ 5 ชั้น ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ชั้น 3 ประธานศาลฎีกาชั้น 5 รวมเงินประจำตำแหน่งก็แสนกว่าไล่ๆ กัน ต่างกันแค่หมื่นกว่าบาท ศาลต้องการให้ผู้พิพากษามีอิสระ ไม่ต้องเอาใจนาย เพราะยังไงก็ขึ้นเงินเดือนไม่กี่พัน

ถ้าว่าตามหลัก ประธานหรืออธิบดีศาลไม่มีอำนาจสั่ง ผู้พิพากษานะครับ ผู้พิพากษามีอิสระ ไม่มี "นาย" เหมือนระบบราชการอื่น ประธานหรืออธิบดีแค่มีหน้าที่บริหาร เมื่อเป็นองค์คณะก็มีหนึ่งเสียงเท่ากัน แต่ว่าตามจริง ประธานหรืออธิบดีมีอำนาจแจกสำนวน ซ้ำหลังรัฐธรรมนูญ 2550 ยังแก้กฎหมายให้อธิบดีศาลชั้นต้นตรวจสำนวนแก้คำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้ง ได้

ประชาชนจะตรวจสอบศาลได้อย่างไร ต้องย้อนดูว่าทำไมเราเชื่อถือศาล เราไม่ได้เชื่อเพราะผู้พิพากษาเป็นคนดีมีศีลธรรม แต่เราเชื่อกระบวนการ เชื่อการพิจารณาโดยเปิดเผย พิสูจน์พยานหลักฐานระหว่างโจทก์จำเลย แล้ว ผู้พิพากษาเขียนคำตัดสิน ให้เหตุผลประกอบข้อเท็จจริงข้อกฎหมาย เผยแพร่ต่อสาธารณะ ประชาชนจึงต้องวิจารณ์ได้ นั่นคือการตรวจสอบเบื้องต้น

ในเชิงองค์กร จะตรวจสอบศาลอย่างไร มีตัวอย่างน่าสนใจคืออังกฤษซึ่งปฏิรูปในปี 2548 ที่จริงอังกฤษไม่เหมือนเราตั้งแต่แรก ศาลไทยรับผู้ช่วยผู้พิพากษาอายุ 25 โดยศาลจัดสอบเอง เหมือนราชการทั่วไป ผู้สอบต้องจบเนฯ ซึ่งประธานศาลฎีกาก็เป็นนายกเนติบัณฑิตยสภา ผู้พิพากษาใหม่เข้ามาก็จะอบรมให้คิดในจารีตเดียวกัน

อังกฤษแต่เดิมให้ประธานสภาขุนนางตั้งผู้พิพากษาตามคำแนะนำของเนติบัณฑิตยสภาซึ่งมี 4 แห่ง แต่ปัจจุบันให้อำนาจคณะกรรมการอิสระ 15 คน เรียกว่า JAC คัดเลือกทนายเก่ง ชื่อเสียงดี เสนอประธานสภาขุนนาง เขาไม่ให้ศาลคัดผู้พิพากษาเอง และคนใหม่ก็มาพร้อมทัศนะของตัวเองทำให้ศาลเปิดกว้าง

อังกฤษยังตั้งสำนักงานร้องทุกข์ศาลยุติธรรม OJC เป็นองค์กรอิสระรับเรื่องร้องเรียนผู้พิพากษา ไม่ใช่แค่นั้น เขายังตั้งผู้ตรวจการ JACO มาตรวจสอบซ้อนตรวจสอบ รับเรื่องร้องเรียน JAC และ OJC อีกทีหนึ่ง

ไม่ได้บอกว่าเห็นด้วยนะครับ แค่ยกเป็นตุ๊กตาว่าศาลก็ตรวจสอบได้ ไม่ใช่ผมรู้มากหรอก แค่ได้อ่านบทความ "การปรับปรุงศาลยุติธรรม" ของ ศ.ธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี ท่านเขียนไว้เมื่อปี 2551 ตีพิมพ์ในวารสารจุลนิติของสำนักเลขาธิการวุฒิสภา ปี 2556 ใครสนใจหาอ่านดู 

 

ที่มา:ข่าวสดออนไลน์ 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘พระสุเทพ’ เบิกความคดีฮิโรยูกิฯ 10 เมษา ไล่ Timeline ระบุออกคำสั่งให้ จนท.ใช้อาวุธป้องกันตนเองหลังชุดดำโจมตี

$
0
0

พระสุเทพ เบิกความไต่สวนการตาย ‘ฮิโรยูกิ’ 10 เม.ย.53 ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ระบุออกคำสั่งให้จนท. ใช้อาวุธป้องกันตนเองหลังชุดดำโจมตี ยันพยายามแก้ไขสถานการณ์ด้วยสันติวิธี เพื่อรักษานิติรัฐ แต่นปช. ขยายพื้นที่การชุมนุมสร้างปัญหาจราจรอย่างมาก นัดฟังคำสั่ง 30 เม.ย. 2558

 ‘ฮิโรยูกิ-วสันต์-ทศชัย’

วานนี้ (19 ธ.ค. 2553) ศาลอาญากรุงเทพใต้มีนัดสืบพยาน สุเทพ เทือกสุบรรณ หรือ พระสุเทพปภากโรพยานปากสุดท้ายของไต่สวนชันสูตรพลิกศพของฮิโรยูกิ มูราโมโต้ ช่างภาพสำนักข่าวรอยเตอร์ ชาวญี่ปุ่น ผู้ตายที่ 1 วสันต์ ภู่ทอง ผู้ชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ผู้ตายที่ 2 และทศชัย เมฆงามฟ้า ผู้ชุมนุม นปช. ผู้ตายที่ 3 จากการถูกยิงเสียชีวิตในคืนวันที่ 10 เม.ย. 2553 จากปฏิบัติการขอคืนพื้นที่การชุมนุม นปช. ของทหารบนถนนดินสอ บริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา โดยเป็นการสืบผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์

พระสุเทพ เบิกความว่าเมื่อปี 2553 ขณะนั้นตนได้ดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ตนได้เท้าความไปก่อนเกิดการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ในช่วงมี.ค.-พ.ค. ปี 2553 ว่า ตั้งแต่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากการลงมติเลือกของสภาผู้แทนราษฎร ใน 15 ธ.ค. 2551 ก็ถูกกลุ่ม นปช. ประท้วงต่อต้าน ซึ่งได้ก่อเหตุรุนแรงถึงขั้นปิดล้อมรัฐสภาและต่อมา 10-12 เม.ย. ปี 2552 ก็มีการไปชุมนุมปิดล้อม โรงแรมรอยัลคลิฟบีช รีสอร์ท พัทยา จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นสถานที่จัดการประชุมอาเซียนซัมมิทจนต้องยกเลิกการประชุมไป

จากนั้น นปช.ยังได้ยึดกรุงเทพมหานครโดยการปิดถนนตามแยกต่างๆ และก่อเหตุเอารถโดยสารประจำทาง รถแท็กซี่ มาเผา รัฐบาลจึงต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งในวันที่ประกาศ กลุ่มผู้ชุมนุม นปช. ยังได้เข้าปิดล้อมกระทรวงมหาดไทย ซึ่งรัฐบาลใช้เป็นสถานที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และได้พยายามเข้าทำร้ายตนและอภิสิทธิ์ แต่เนื่องจากอยู่ในรถประจำตำแหน่ง ซึ่งเป็นรถกันกระสุนจึงไม่ได้รับอันตราย แต่ นิพนธ์ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรีและสุธรรม ลิ้มสุวรรณเกษม รองเลาขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้ถูกทำร้ายบาดเจ็บสาหัสรวมถึงเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำตัวนายกรัฐมนตรีและผู้ชุมนุมยังได้ยึดอาวุธไปและนำไปแสดงบนเวที นปช. ที่ข้างทำเนียบรัฐบาลอีกด้วย

รัฐบาลจึงได้ใช้กำลังเจ้าหน้าที่เข้าคลี่คลายสถานการณ์จน นปช. ยอมยกเลิกการชุมนุมและส่งผู้ชุมนุมกลับภูมิลำเนาในวันที่ 14 เม.ย. 2552 โดยในเหตุการณ์ไม่ได้มีผู้ชุมนุมเสียชีวิต แต่มีชาวบ้านในชุมชนนางเลิ้งเสียชีวิต 2 รายจากการถูกอาวุธปืนยิงโดยผู้ชุมนุม นปช. หลังจากนั้นแกนนำได้ประกาศให้ประชาชนเข้าใจผิดว่ารัฐบบาลได้สั่งฆ่าประชาชนเสียชีวิตหลายร้อยคนแล้วทหารนำศพไปทิ้งและซ่อนไว้เพื่อสร้างความเกลียดชังต่อรัฐบาล และมีการปลุกระดมต่างๆ ผ่านทางโทรทัศน์ดาวเทียมและวิทยุชุมชน

ต่อมาในปี 2553 วันที่ 26 ก.พ. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินยึดทรัพย์อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร แกนนำกลุุ่ม นปช. ก็ได้ประกาศชุมนุมใหญ่ที่กรุงเทพฯ ทันที โดยในระหว่างวันที่ 9-11 มี.ค. ได้ประกาศระดมพลทางภาคเหนือและอีสานให้นำรถที่ใช้ในการเกษตรเข้ามาปิดล้อมกรุงเทพฯ

พระสุเทพเบิกความว่า ได้เสนอนายกรัฐมนตรีให้มีการตั้งคณะกรรมการติดตามสถานการณ์ และให้ประกาศใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติในวันที่ 9 มี.ค. เห็นชอบให้ประกาศพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันส่งผลกระทบต่อการรักษาความมั่นคงภายใน ในพื้นที่กรุงเทพฯ บางอำเภอของนนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ นครปฐม ฉะเชิงเทรา อยุธยา และให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร(กอ.รมน.)รับผิดชอบป้องกัน ระงับยับยั้งเหตุร้าย โดยนายกฯ ได้มอบหมายให้ตนเป็นผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย(ผอ.ศอ.รส.) โดยได้ออกประกาศและข้อกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตาม พรบ.ความมั่นคง บังคับใช้เป็นห้วงเวลา 4 ห้วงเวลา ห้วงแรก 11-23 มี.ค. ห้วงที่สอง 24-30 มี.ค. ห้วงที่สาม 31 มี.ค. - 7 เม.ย. ห้วงที่สี่ 8 – 20 เม.ย. โดย ศอ.รส.ได้ประกาศว่าการปฏิบัติจะเป็นไปตามกฎหมาย สิทธิมนุษยชน และเป็นไปตามหลักสากล ควบคุมการชุมนุมจากเบาไปหาหนัก

ช่วงดังกล่าว นปช. ได้มีการก่อเหตุร้ายแรงขนานไปกับการตั้งเวทีปราศรัย ในวันที่ 15 มี.ค. มีการยกกำลังไปที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ และยิงเอ็ม 79 เข้าไป ทำให้ทหารได้รับบาดเจ็บ 3 นาย วันที่ 16 มี.ค. ไปเทเลือดที่หน้าทำเนียบรัฐบาลและหน้าที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ และวันเดียวกันได้มีการยิงเอ้ม 79 ยิงบ้านประชาชนที่ซอยลาดพร้าวซึ่งสันนิษฐานว่าตั้งใจยิงบ้านของอักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด

20 มี.ค. มีการขว้างระเบิดเอ็ม 67 ใส่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และยิงจรวดอาร์พีจีใส่กระทรวงกลาโหมแต่ภายหลังได้ตามจับกุมตัวได้โดยได้สารภาพว่าถูกจ้างมาให้ยิงใส่วัดพระแก้ว 23 มี.ค. รัฐบาลได้จัดประชุม ครม.กันที่กระทรวงสาธารณสุข นปช. ได้ยิงเอ็ม 79 ใส่ 2 นัด

26 มี.ค. มีการขว้างระเบิดเอ็ม 67 เข้าไปที่สำนักงานอัยการสูงสุด 27 มี.ค. มีการยิงปืนเอเค-47 ใส่ธนาคารกรุงเทพ สาขาดอกคำใต้ จ.พะเยา, ขว้างระเบิดเอ็ม67 ใส่สถานีโทรศัน์ช่อง 5 พญาไท และ เอ็ม 79 ใส่สถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีทำให้มีผู้บาดเจ็บ 3 คน 28 มี.ค. ยิงเอ็ม 79 เข้าไปที่กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของ ศอ.รส.เป็นจำนวน 2 นัด ทำให้ทหารได้รับบาดเจ็บ 4 นาย บาดเจ็บสาหัส 1 นาย และมีการขว้างระเบิด ชเอ็ม 67 เข้าไปที่บ้นของบรรหาร ศิลปอาชา ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 1 คน

ซึ่งรัฐบาลก็ได้พยายามใช้สันติวิธีในการแก้ไขปัญหา มีการจัดเจรจาระหว่างแกนนำผู้ชุมนุมประกอบด้วย วีระ มุสิกพงษ์ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ จตุพร พรหมพันธุ์ และเหวง โตจิราการ กับฝ่ายรัฐบาลซึ่งมีอภิสิธิ์เป็นหัวหน้าคณะเจรจา โดยการเจรจาครั้งนี้ได้ถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ทั้ง 2 วัน แต่เห็นได้ชัดว่าแกนนำผู้ชุมนุมที่เข้าร่วมการเจรจาไม่สามารถตัดสินใจเองได้ต้องรอให้ทักษิณออกคำสั่งจึงทำให้การเจรจาไม่ประสบผลสำเร็จ ภายหลังการเจรจาทาง นปช. ก็ได้ก่อเหตุรุนแรงต่อไปเช่นตัวอย่างที่ได้กล่าวไป

จนกระทั่งวันที่ 7 เม.ย. นปช. นำโดยอริสมันต์ พงษ์เรืองรองได้บุกไปที่รัฐสภาซึ่งกำลังมีการประชุมอยู่ และพังประตูรัฐสภาเข้าไปตามล่าจับกุมตัวตนและอภิสิทธิ์ ทำร้ายเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของนายกรัฐมนตรีและยึดอาวุธทั้งปืนพก 9 มม. และเอ็ม 16 ไป ทำให้การประชุมต้องยกเลิก และตนต้องขึ้นเฮลิคอปเตอร์หนีออกไป

จากเหตุการดังกล่าวในตอนค่ำวันเดียวกันโดยความเห็นชอบของ ครม. นายกรัฐมนตรีได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพฯ และบางอำเภอในจังหวัดดังต่อไปนี้ได้แก่ นนทบุรี, สมุทรปราการ ปทุมธานี, นครปฐม และอยุธยา ซึ่งรัฐบาลก็ได้ประกาศชี้แจงเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ

หลังจากประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว ได้ตั้ง ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) โดยนายกฯได้แต่งตั้งให้ตนเป็น ผอ.ศอฉ. และเป็นหัวหน้าควบคุมปฏิบัติการ และออกประกาศการโอนอำนาจของรัฐมนตรีให้นายกฯ และให้ตนใช้อำนาจตามประกาศนี้แทนนายกรัฐมนตรีและได้ออกข้อห้ามตามความในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หลายข้อ เช่น ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน หรือยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ห้ามนำเสนอข่าวที่จะทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเข้าใจผิด ส่งผลต่อความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดี, ห้ามใช้เส้นทางคมนาคม หรือห้ามเข้าหรือใช้อาคาร และให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ในการจับกุมตัวผู้กระทำความผิด

ศอฉ. ดำเนินการในรูปแบบของคณะกรรมการ โดยมีทั้งหมด 27 คน ประกอบด้วยหัวหน้างานส่วนราชการต่างๆ ข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ พนักงานอัยการสูงสุด กฤษฎีกา อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)ปลัดกระทรวงต่างๆ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทั้งสามเหล่าทัพ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

ในฐานะผอ.ศอฉ.และผู้กำกับการปฏิบัติการได้ออกคำสั่งปฏิบัติการ ฉบับที่ 1/2553 ศอฉ. ลงวันที่ 7 เม.ย. ซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับวิธีการใช้กำลังควบคุมฝูงชนและได้กำหนดวิธีการเอาไว้อย่างชัดเจนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิบัติในการใช้กำลังทางกายภาพโดยได้จัดทำภาคผนวก ค. ว่าด้วกฎการใช้กำลังประกอบคำสั่ง 1/2553 เป็นการเฉพาะ

จากนั้นก็ได้พยายามแก้ไขสถานการณ์ด้วยสันติวิธี มีการส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงไปเจรจากับแกนนำเพื่อไม่ให้ประชาชนเดือดร้อนในการใช้รถใช้ถนนของประชาชน เมื่อฝ่าย นปช. ได้ขยายพื้นที่การชุมนุมจากเดิมที่ตั้งเวทีที่สะพานผ่านฟ้าตั้งแต่ 14 มี.ค. เป็นต้นมาจนถึง 3 เม.ย. ได้ไปตั้งเวทีใหม่ที่แยกราชประสงค์อีกที่หนึ่งจึงทำให้เกิดปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ อย่างมาก

พระสุเทพ เบิความด้วยว่า ได้ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งขอให้พิจารณามีคำสั่งให้ณัฐวุฒิและจตุพรซึ่งเป็นแกนนำยกเลิกการกระทำที่ทำให้ประชาชนกรงุเทพฯเดือดร้อน ซึ่งศาลแพ่งก็ได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 5 เม.ย. ว่าการชุมนุมของ นปช. ไม่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐบาลสามารถบังคับใช้อำนาจตามกฎหมายที่มีอยู่แล้ว แม้ว่าจะมีคำสั่งออกมาดังกล่าวแต่ นปช. ก็ยังไม่ยกเลิกการชุมนุมควบคู่ไปกับการก่อเหตุร้ายต่อไป

ในวันที่ 9 เม.ย. ศอฉ. ได้ส่งกำลังเจ้าหน้าที่ของศอฉ. ซึ่งประกอบด้วยตำรวจและทหารไปยังสถานีดาวเทียมไทยคมที่ลาดปลาเค้า เนื่องจากต้องการระงับการส่งสัญญาณการถ่ายทอดของสถานีโทรทัศน์ People Channel หรือ PTV ศอฉ.ได้มีคำสั่งให้ระงับการออกอากาศแล้ว แต่กลุ่ม นปช. ได้ระดมคนไปกดดันบังคับให้สถานีดาวเทียมไทยคมเชื่อมต่อสัญญาณออกอากาศใหม่ ทางศอฉ. จึงจำเป็นต้องจัดกำลังเจ้าหน้าที่เข้าไปควบคุมรักษาความปลอดภัยของสถานีดาวเทียมและเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปตามประกาศของ ศอฉ. ซึ่งเป็นการรักษาไว้ซึ่งอำนาจนิติรัฐ

ปรากฎว่าตั้งแต่ 10.00 น. นปช.เกือบ 20,000 คน นำโดยณัฐวุฒิ ได้บุกไปที่ไทยคม 2 ไล่ทุบตีทำร้ายเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ได้พยายามหลีกเลี่ยงการปะทะ ยอมถอนกำลังออกจากสถานีดาวเทียม โดยเจ้าหน้าที่ถูกทำร้ายบาดเจ็บเป็นจำนวนมากและได้ยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ไปจำนวนหนึ่งด้วยและต่อสัญญาณ PTV ใหม่ ซึ่งได้ทำระหว่างที่มีการทำร้ายและยึดอาวุธเจ้าหน้าที่

ต่อมาในวันที่ 10 เม.ย. ศอฉ.ได้สั่งเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจและพลเรือนสนธิกำลังกันขอคืนพื้นที่การจราจรถนนราชดำเนินในส่วนเชื่อมต่อสะพานพระราม 8 และสะพานพระปิ่นเกล้า เพราะว่าเมื่อ นปช. ได้ย้ายเวทีไปที่ราชประสงค์แต่ยังคงยึดถนนราชดำเนินทั้งสายเอาไว้ทำให้ประชาชนฝั่งกรุงเทพฯและฝั่งธนบุรีสัญจรไปมาด้วยความยากลำบาก ศอฉ. จึงจำเป็นต้องขอคืนพื้นที่บางส่วนของถนนราชดำเนินส่วนเชื่อมต่อสะพานพระราม 8 และสะพานพระปิ่นเกล้าเพื่อให้การจราจรคล่องตัวเป็นไปโดยสะดวก โดยไม่ได้เจตนาที่จะเข้าไปยึดหรือรื้อเวทีสะพานผ่านฟ้าลีลาศแต่อย่างใด

การปฏิบัติการเริ่มตั้งแต่ 13.00 น.เศษ ก็ได้มีการผลักดันกันระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุม นปช. ซึ่งมีภาพถ่ายที่เห็นได้ชัดที่สะพานมัฆวานรังสรรค์และสะพานชมัยมรุเชฐ โดยไม่ได้มีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้น

18.00 น. ศอฉ. จึงได้มีคำสั่งการทางวิทยุให้ทุกหน่วยหยุดปฏิบัติการเนื่องจากเห็นว่าเข้าสุ่ห้วงเวลากลางคืนแล้ว และให้รักษาแนวในขณะนั้น คำสั่งดังกล่าวลงวันที่ 10 เม.ย. เวลา 18.15 น. ปรากฎว่าหลังจากนั้นได้มีกองกำลังของฝ่าย นปช. ใช้ความรุนแรงโดยใช้อาวุธยิงเจ้าหน้าที่และปิดล้อมด้านหลังของเจ้าหน้าที่ ศอฉ. จึงได้ออกคำสั่งให้ถอนตัวออกจากพื้นที่ปฏิบัติการตั้งแต่เวลา 20.20 น. เป็นต้นไป แต่ว่าได้มีกองกำลังติดอาวุธซึ่งสื่อมวลชนเรียกว่ากองกำลังชายชุดดำ ใช้อาวุธสงครามทั้งเอ็ม 16 อาก้า เครื่องยิงระเบิดเอ็ม 79 ระเบิดขว้างสังหารเอ็ม 67 ยิงใส่เจ้าหน้าที่และประชาชนทั่วไป ทำให้เจ้าหน้าที่เสียชีวิต 5 นาย ได้แก่ พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ส.อ.อนุพนธ์ ส.ท.อนุพงษ์ ส.ท.ภูริวัฒน์ และพลทหารสิงหา นอกจากนั้นยังีมเจ้าหน้าที่บาดเจ็บ 800 กว่านาย ในจำนวนนี้มี พล.ต.วลิต โรจนภักดี ผู้บัญชาการ กองพลที่ 2 รักษาพระองค์ถูกยิงขาหักทั้ง 2 ข้าง และมีนายทหารอีกจำนวนมากที่ได้รับบาดเจ็บสาหัส มีพลเรือนเสียชีวิต 20 คน และบาดเจ้บอีกจำนวนมาก

จนกระทั่ง 23.00 น. การเจรจาระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ ศอฉ. และแกนนำของฝ่าย นปช. ได้ตกลงที่จะยุติการเผชิญหน้าด้วยกำลัง ศอฉ. จึงสั่งถอนกำลังเจ้าหน้าที่ทั้งหมดออกจากพื้นที่

ในการสั่งการขอคืนพื้นที่จราจรได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ใช้เฉพาะโล่ กระบอง รถฉีดน้ำ แก๊ซน้ำตาชนิดขว้าง และปืนลูกซองที่ใช้กระสุนยาง อนุญาตให้แต่ละหน่วยมีปืนเล็กยาวประจำกายเอ็ม 16 ไม่เกินหน่วยละ 2 นาย แต่ผู้ใช้ต้องเป็นหัวหน้าหน่วยเท่านั้นและใช้ในกรณีป้องกันชีวิตของเจ้าหน้าที่และประชาชน และมีภาพแสดงการใช้อุปกรณ์ควบคุมฝูงชนของเจ้าหน้าที่ ขณะเคลื่อนกำลังก็มีการชี้แจงให้ประชาชนและผู้ชุมนุมทราบโดยใช้เครื่องขยายเสียงไปตลอดเส้นทาง และมีภาพของทหารตั้งโล่และกระบองเพื่อป้องกันตนเอง ขณะที่ฝ่ายผู้ชุมนุมเริ่มโจมตี และมีเจ้าหน้าที่ประกาศให้ผู้ชุมนุมเข้าใจถึงการใช้ 7 ขั้นตอนจากเบาไปหาหนัก และมีภาพของเจา้หน้าที่ทหารนำปืนลูกซองสำหรับยิงกระสุนยางแทรกมาในแนวทหารหลังจากถูกผู้ชุมนุม นปช. ทำร้ายอย่างหนัก

ในคำสั่งปฏิบัติการนั้นได้กำหนดขั้นตอนการตัดสินใจในการสั่งงานเอาไว้ชัดเจนว่า ผู้บัญชาการเหตุการณ์ในพื้นที่สามารถสั่งการตัดสินใจตามสถานการณ์ได้ ถ้าหากจะต้องใช้แก๊ซน้ำตาหรือปืนลูกซองกระสุนยางต้องทำการขออนุญาตกับทาง ศอฉ. ก่อน แต่ในเหตุการณ์วันนั้นเกิดขึ้นเร็วมากจึงไม่ได้มีการขออนุญาตมาทาง ศอฉ.

การขออนุญาตการใช้อาวุธปืนและกระสุนปืนจริงเกิดขึ้นเมื่อถูกโจมตีด้วยอาวุธสงครามจากกองกำลังชายชุดดำแล้วมีเจ้าหน้าที่เสียชีวิตแล้ว 5 นาย บาดเจ็บเป็นจำนวนมาก เจ้าหน้าที่จึงขออนญาตใช้อาวุธเพื่อป้องกันตนเองและประชาชนในขณะที่มีการถอนกำลังและลำเลียงผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาล จึงได้มีการขออนุญาตจาก ศอฉ. และได้อนุญาตตามหลักฐานเอกสาร กห. 0407.45/59 ซึ่งเป็นคำสั่งที่อนุมัติไปทางวิทยุในเวลา 20.30 น. ลงวันที่ 10 เม.ย.2553

ทั้งนี้ได้กำหนดการใช้อาวุธด้วยว่า 1. ใช้ยิงเมื่อปรากฎภัยคุกคามอย่างชัดเจนหรือกลุ่มติดอาวุธคุกคามต่อชีวิตเจ้าหน้าที่หรือประชาชน 2. การใช้อาวุธให้ใช้โดยสมควรแก่เหตุไม่มุ่งประสงค์ต่อชีวิตของเป้าหมาย ให้เล็งส่วนล่างของร่างกายตั้งแต่เข่าลงมา เเพื่อยับยั้งกลุ่มติดอาวุธที่คุกคามเจ้าหน้าที่และประชาชน ไม่ใช้อาวุธต่อเป้าหมายที่เป็นผู้หญิงและเด็ก

ในการประชุมหรือการออกคำสั่งของ ศอฉ. ไม่มีนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมด้วย มีตนที่เป็นผู้สั่งการกับเจ้าหน้าที่และคณะกรรมการ ศอฉ. อื่น และไม่ได้รายงานระเอียดลงไปในแต่ละคำสั่ง เพียงแต่รายงานว่ามีเจ้าหน้าที่หรือพลเรือนเสียชีวิตและบาดเจ็บกี่คน

พระสุเทพ เบิกความด้วยว่า ไม่ทราบรายละเอียดว่าใครเสียชีวิตอย่างไรบ้างนอกจากกรณีของฮิโรยูกิจากรายงานของพล.ท.อัมพร จารุจินดา ว่าฮิโรยูกิไม่ได้เสียชีวิตจากกระสุนปืนเอ็ม 16 แต่เสียชีิวิตจากกระสุนปืนขนาด 7.62 มม. ซึ่งเป็นกระสุนปืนอาก้า แต่ปืนรุ่นนี้ไม่มีใช้ในหน่วยทหาร

การซักถามของทนายต่อสุเทพเริ่มขึ้นในการสืบพยานช่วงบ่าย โดย พระสุเทพ อธิบายถึงการที่มอบอำนาจของนายกรัฐมนตรีว่า เป็นการออกคำสั่งแต่งตั้งผู้อำนวยการและกรรมการ ศอฉ. ตาม พรก.ฉุกเฉิน และมอบอำนาจหน้าที่ที่โอนจากรัฐมนตรีมาให้กับนายกฯ จากนั้นนายกฯ จึงมอบให้ตนซึ่งเป็นผู้อำนวยการและผู้กำกับการปฏิบัติการใช้อำนาจดังกล่าวอีกที

พระสุเทพ เบิกความว่า ในวันที่ 10 เม.ย. ได้ออกคำสั่งในฐานะ ผอ.ศอฉ.ให้เจ้าหน้าที่ ตำรวจ ทหาร และพลเรือนร่วมกันเข้าขอคืนพื้นที่เพื่อแก้ไขสถานการณ์จราจรบนถนนราชดำเนิน ซึ่งในคำสั่งแต่งตั้งส่วนหนึ่งของคำสั่งให้ข้าราชการ ทหารตำรวจ พลเรือนปฏิบัติหน้าที่ภายใต้การบังคับบัญชาของหัวหน้าผู้รับผิดชอบแก้ไขสถานการณืฉุกเฉิน ต่อมาคำสั่งพิเศษที่ 2/2553 นายกฯ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้ตนเป็นผอ.ศอฉ. และหัวหน้าผู้รับผิดชอบและผู้กำกับการปฏิบัติการในเขตท้องที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งตนก็ดำรงตำแหน่ง และมีอำนาจในการสั่งการและเป็นผู้ลงนามในคำสั่งให้ทหารตำรวจเข้าปฏิบัติการขอคืนพื้นที่

ในวันที่ 10 เม.ย. การขอคืนพื้นที่ถนนราชดำเนินโดยมีการส่งกำลังเจ้าหน้าที่ผ่านถ.ตะนาวและดินสอ ผ่านสะพานวันชาติ ดงันั้นกำลังทหารก็ต้องยึดพื้นที่ตั้งแต่บริเวณเชิงสะพานวันชาติไปตามถ.ดินสอจนถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ทนายได้ถามว่าในการประชุมดูแลและการกำกับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ศอฉ.และนายกฯ ร่วมอยู่ด้วยตลอดเวลาใช่หรือไม่ พระสุเทพได้ตอบว่าในการประชุมมีตนและคณะกรรมการทั้งหมดอยู่ในที่ประชุมแต่นายกฯ ไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วยแต่ว่าบางครั้งนายกฯก็ได้แวะเข้าไปในที่ประชุมเพื่อสอบถามสถานการณ์ราว 1-2 ครั้ง ซึ่งคณะกรรมการได้อยู๋ในห้องประชุมตั้งแต่เช้าวันที่ 10 จนถึงราวเที่ยงคืนของวันเดียวกัน ซึ่งได้มีการถอนกำลังออกจากพื้นที่หมดแล้วถึงเลิกการประชุม

การติดตามการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ทหารจะมีการรายงานเป็นระยะแก่คณะกรรมการและในที่ประชุมมีโทรทัศน์รับการถ่ายทอดภาพเหตุการณ์บางจุดจากสื่อมวลชนระหว่างที่มีการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่

การปฏิบัติการขอคืนพื้นที่ของเจ้าหน้าที่เป็นเรื่องของฝ่ายยุทธการแล้วก็รายงานตรงขอตนซึ่งเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบ แต่นายกฯ ไม่ได้มีหน้าที่รับผิดชอบ

ทนายได้ถามสุเทพว่าทราบถึงเรื่องที่มีการปะทะบนถ.ราชดำเนิน บริเวณหน้ากระทรวงศึกษาธิการระหว่างผู้ชุมนุมและทหารในช่วงบ่ายวันที่ 10 เม.ย. จนมีเหตุเจ้าหน้าที่ทหารยิงผู้ชุมนุมเสียชีวิตไป 1 รายหรือไม่ พระสุเทพ ตอบว่าเหตุการณ์นี้เห็นภาพจากโทรทัศน์ชัดเจนว่าตั้งแต่บริเวณตั้งแต่หน้ากระทรวงศึกษาธิการ สะพานมัฆวานฯ จนถึงสี่แยก จปร. ตลอดบ่ายมีการผลักดันไปมาระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุมไม่มีการยิงกันปรากฎ กรณีผู้เสียชีวิตที่หน้ากระทรวงศึกษาธิการทราบเมื่อเหตุการณ์ผ่านไปแล้ว 2-3 วัน และตนไม่เห็นว่ามีข่าวชายถูกยิงเสียชีวิต 1 ราย ที่หน้ากระทรวงศึกษาธิการ

ในการปฏิบัติการขอคืนพื้นที่ใช้กำลังทหารเป็นหลัก แต่มีกำลังของตำรวจประกอบอยู่ด้วย และมีการกำหนดให้สนธิกำลังกันทั้ง 3 เหล่าทัพ กองบัญชาการตำรวจแห่งชาติและกองกำลังพลเรือนที่ขอมาช่วยปฏิบัติงานใน ศอฉ. ให้ทำงานร่วมกัน ในการออกคำสั่งได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ใช้อุปกรณ์ควบคุมฝูงชน โล่กระบอง รถฉีดน้ำ แก๊ซน้ำตาชนิดขว้างและปืนลูกซองกระสุนยาง โดยอนุญาตให้แต่ละหน่วยมีเอ็ม 16 แต่ในส่วนของรถลำเลียงพล ตนทราบว่าเมื่อกำลังพลเคลื่อนย้ายมาก็ต้องเอารถลำเลียงพลซึ่งมีอาวุธปืนประจำรถติดอยู่มาด้วย แต่ไม่ได้มีคำสั่งให้นำรถลำเลียงพลดังกล่าวมาใช้ในการขอคืนพื้นที่

ในการขอคืนพื้นที่บนถ.ดินสอ ช่วงกลางวันจนถึงก่อนเย็นฝ่ายเจ้าหน้าที่ยึดพื้นที่ถนนดินสอหน้าโรงเรียนสตรีวิทยาจนถึงสะพานวันชาติส่วนฝั่งผู้ชุมนุมอยู่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยการขอคืนพื้นที่นั้นเนื่องจากผู้ชุมนุมได้ยึดถ.ราชดำเนินตลอดสายตั้งแต่สนามหลวงถึงลานพระบรมรูปทรงม้า แต่เมื่อผู้ชุมนุมที่แยกราชประสงค์อีกแห่ง จึงเห็นว่าควรคืนถนนราชดำเนินบางส่วนให้ประชาชนได้ใช้และให้ไปรวมตัวอยู่ที่เวทีสะพานผ่านฟ้าเท่านั้นไม่ใช้ยึดถ.ราชดำเนินทั้งหมด

ในการขอคืนพื้นที่ได้ใช้วิธีการผลักดันโดยใช้รถกระจายเสียงประกาศให้ไปรวมตัวกันที่สะพานผ่านฟ้าและคืนพื้นผิวการจราจรที่เหลือเพื่อรองรับการจราจรจากสะพานพระราม 8 และพระปิ่นเกล้า การใช้โล่กระบองใช้เมื่อมีการประชาชนไม่ยอมไปแล้วแกนนำปลุกระดมให้มาสู้กับทหารมีการผลักดันกัน

ทนายได้ถามว่ามีการใช้เฮลิคอปเตอร์โปรยแก๊ซน้ำตาในพื้นที่หน้าถ.ดินสอด้วยใช่หรือไม่ พระสุเทพ ตอบว่าได้สั่งให้ใช้เฮลิคอปเตอร์โปรยใบปลิวเพื่อให้ประชาชนหยุดทำร้ายเจ้าหน้าที่ แต่เมื่อประชาชนใช้ความรุนแรงขึ้นเจ้าหน้าที่บนเฮลิคอปเตอร์จึงได้ใช้แก๊ซน้ำตาหย่อนลงไปเพื่อให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่แยกห่างออกจากกัน ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้มีการขออนุญาตแล้วและตนก็ได้อนุญาต ก่อนมีการใช้แก๊ซน้ำตาโปรยลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ก็ได้ใช้รถฉีดน้ำใส่ผู้ชุมนุมหลายครั้งในวันนั้นแล้ว

หน่วยพลเรือนที่ร่วมสนธิกำลังปฏิบัติการคือ เทศกิจของกรุงเทพฯ ราว 1,000 กว่านาย เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองของจังหวัดนนทบุรี แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้อาวุธปืนและกระสุนจริง มีเพียงเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจเท่านั้นที่สามารถใช้อาวุธและกระสุนจริงตามเงื่อนไขที่ได้รับอนุญาตไว้เท่านั้น

ทนายได้ถามว่าตามหลักสากลได้ห้ามสลายการชุมนุมหรือปฏิบัติการใดๆ กับผู้ชุมนุมตอนกลางคืนใช่หรือไม่ พระสุเทพ ตอบว่าในเวลา 18.15 ได้มีการออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่หยุดปฏิบัติการและรักษาแนวพื้นที่ตั้งอยู่ในเวลานั้น

ทนายถามว่าในคำสั่ง 0407.45/59 นั้นได้มีการอนุญาตให้ใช้อาวุธปืนและกระสุนจริงด้วยใช่หรือไม่ พระสุเทพ ตอบว่าในวันนั้นได้มีการออกคำสั่งขึ้นตามสถานการณ์ เช่น ใน 18.15 ได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่หยุดปฏิบัติการ แต่เมื่อมีกองกำลังชายชุดดำใช้อาวุธสงครามทำร้าย เจ้าหน้าที่ไม่สามารถตอบโต้ได้เพราะกองกำลังชายชุดดำได้ใช้ผู้ชุมนุมเป็นโล่มนุษย์จึงได้สั่งให้ถอนกำลังออกเวลา 20.20 น. แต่เมื่อถอนกำลังออกแล้วเจ้าหน้าที่ยังถูกโอบล้อมและถูกโจมตีด้วยอาวุธปืน จึงออกคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ใช้อาวุธเพื่อป้องกันตนเองได้ในเวลา 20.30 น. หลังจากที่มีเจ้าหน้าที่ทั้ง 5 นาย และมีประชาชนเสียชีวิตแล้ว

ทนายถามว่าในการออกคำสั่งให้ใช้อาวุธปืนและกระสุนจริงเพื่อป้องกันตนเองได้นั้นต้องยิงตั้งแต่ระดับพื้นถึงระดับเข่าใช่หรือไม่ พระสุเทพ ตอบว่าในคำสั่ง 1/2553 ได้มีการออกคำสั่งไว้เช่นนั้น แต่คำสั่งเฉพาะเหตุการณ์ของวันที่ 10 เม.ย. นั้นได้มีการออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ใช้อาวุธเพื่อป้องกันตนเองและประชาชนบริสุทธิ์ได้โดยมีหลัการ 2 ข้อ คือ 1. ใช้เมื่อเห็นภัยคุกคามชัดเจน หรือเมื่อกลุ่มติดอาวุธมีท่าทีคุกคามต่อเจ้าหน้าที่หรือประชาชน 2. ใช้ให้สมควรแก่เหตุไม่ประสงค์ต่อชีวิตของเป้าหมาย

ทนายถามสุเทพต่อว่าในวันนั้นทราบข่าวว่ามีนักข่าวถูกยิงที่หน้าอกที่ขั้วหัวใจด้วยกระสุนนัดเดียวในขณะนั้นนักข่าวกำลังถือกล้องถ่ายทำข่าวหน้าโรงเรียนสตรีวิทยาหรือไม่ พระสุเทพ ตอบว่าทราบข่าวว่ามีนักข่าวญี่ปุ่นถูกยิงเสียชีวิต แต่ข่าวไม่ได้มีรายงานถึงรายละเอียด ทนายได้ถามว่าพระสุเทพไม่เคยสั่งให้ทหารใช้อาวุธปืนยิงผู้ชุมนุมใช่หรือไม่  พระสุเทพ ตอบว่าไม่เคยมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้ชุมนุม

จากนั้นทนายถามว่าอภิสิทธิ์ ในฐานะนายกฯ ไม่เคยสอบถามว่าเหตุการณ์ตายเกิดเพราะใครอย่างไร และไม่เคยบอกห้ามให้เจ้าหน้าที่ใช้อาวุธปืนและกระสุนจริงใช่หรือไม่ พระสุเทพ ตอบว่าหลังเกิดเหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย. ได้ให้ดีเอสไอสอบสวนหาสาเหตุการตายของผู้เสียชีวิตทุกราย ทนายถามต่อว่าในวันที่ 10 ตั้งแต่ช่วงบ่ายถึงเย็น อภิสิทธิ์ไม่ได้อยู่ในที่ประชุมด้วยและไม่ได้สอบถามถึงเหตุการณ์เมื่อมีข่าวการยิงและเสียชีวิตของประชาชนและทหารกับสุเทพหรือคณะกรรมการ ศอฉ. เลยใช่หรือไม่ พระสุเทพตอบว่าเมื่ออภิสิทธิ์ได้สอบถามถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตนเป็นผู้รายงานให้อภิสิทธิ์ทราบเองว่าในการขอคืนพื้นที่เกิดเหตุการณ์อะไรบ้างและมีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ และการสั่งถอนกำลังในเวลา 23.00 น.

ทนายถามต่อว่าอภิสิทธิ์ไม่ได้สั่งการใดๆ หรือมีการสั่งห้ามใช้อาวุธใช่หรือไม่ พระสุเทพ ตอบว่าไม่ได้สั่งเพราะตนสั่งไปก่อนแล้วว่าห้ามใช้อาวุธกับผู้ชุมนุม แต่ให้ใช้กับกองกำลังติดอาวุธที่ทำร้ายเจ้าหน้าที่และประชาชนเท่านั้น

ทนายถามต่อว่าในคืนนั้นก่อนที่นายฮิโรยูกิจะถูกยิงเสียชีวิตได้มีการยิงผู้ชุมนุมที่ถือธงชาติและไม่มีอาวุธเข้าที่ศีรษะก่อนแล้วใช่หรือไม่ พระสุเทพตอบว่าไม่ได้มีการรายงานใครถูกยิงก่อนหลังเนื่องจากเหตุการณ์ยังชุลมุนอยู่ เพียงแต่มีรายงานว่ามีทหารและประชาชนถูกยิงกี่รายและเสียชีวิตกี่ราย แม้กระทั่งชื่อผู้เสียชีวิตก็ยังไม่ได้มีการรายงานในคืนนั้น และข่าวการเสียชีวิตทั้ง 3 ในทันทีทั้งในและต่างประเทศตนได้เห็นในภายหลัง ซึ่งที่ตนเห็นทั้งฮิโรยูกิซึ่งเป็นช่างภาพและวสันต์ที่ถือธงชาติทั้งสองคนไม่ได้ถืออาวุธ

ทนายได้นำภาพถ่ายทหารที่ถืออาวุธปืนในสำนวนให้สุเทพดูแล้วถามว่าทหารหลายนายที่ถืออาวุธทั้งหมดในภาพไม่ได้เป็นระดับหัวหน้าหน่วยใช่หรือไม่ และมีภาพทหารกำลังใช้อาวุธปืนยิงรวมถึงมีภาพทหารบนรถลำเลียงพลด้วย พระสุเทพ ตอบว่าไม่ทราบว่าภาพดังกล่าวถูกถ่ายที่ไหนและเมื่อไหร่ เพราะตัวตนเองอยู่ที่ ศอฉ. จึงไม่สามารถระบุได้

ทนายถามว่าทราบถึงรายงานข่าวว่ามีการเก็บกระสุนปืนจริงและปลอกกระสุนใช้แล้วจากถนนดินสอนำมาแถลงข่าวด้วย พระสุเทพตอบว่าไม่ทราบ ทนายถามต่อว่าทราบถึงมีเจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธปืนและกระสุนจริงยิงใส่ผู้ชุมนุมหรือไม่ พระสุเทพ ตอบว่าไม่ทราบ แต่ทราบว่ามีกองกำลังชายชุดดำใช้อาวุธปืนยิงและขว้างระเบิดใส่เจ้าหน้าที่ทหาร ทนายถามอีกว่าทหารได้ใช้อาวุธปืนและกระสุนจริงยิงโต้ตอบกองกำลังดังกล่าวหรือไม่ พระสุเทพ ตอบว่า ได้รับรายงานว่าทหารไม่สามารถยิงโต้ตอบได้เพราะใช้ผู้ชุมนุมเป็นโล่มนุษย์ แต่ได้ใช้อาวุธปืนและกระสุนปืนจริงในตอนที่ถอนกำลัง ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ก็ได้มีการขออนุญาตใช้อาวุธปืนมาที่ตน แต่จะยิงไปทางไหนบ้างตนไม่ทราบ

ทนายถามว่ามีรายงานหรือไม่ว่ามีการเบิกกระสุนปืนจริง ระเบิดเอ็ม 79 และระเบิดขว้างเอ็ม 67จากรมสรรพาวุธไปด้วย พระสุเทพ ตอบว่ามีคำสั่งห้ามเด็ดขาดห้ามใช้อาวุธสงครามอย่างอื่นนอกจากอาวุธปืนประจำตัวทหารเท่านั้น ไม่มีระเบิดเอ็ม 67 และเอ็ม 79 และตนไม่ทราบว่ามีการเบิกกระสุนหรือไม่ เพราะไม่จำเป็นต้องมีการรายงานมาที่ตนว่าได้เบิกกระสุนไปกี่นัด ซึ่งตนแค่สั่งการในเรื่องหลักการเท่านั้นว่าต้องใช้อาวุธในกรณีไหนบ้างเท่านั้น

ทนายถามว่าหลังเหตุการณ์สลายการชุมนุม เม.ย.-พ.ค. 2553 แล้วได้มีการสั่งการให้ตำรวจและดีเอสไอสืบสวนสอบสวนใช่หรือไม่ พระสุเทพ ตอบว่าใช่และมีการสรุปสำนวนส่งฟ้องศาลมีผู้ต้องหา 19 คน ปัจจุบันอยู่ในระหว่างพิจารณาคดีของศาล ทนายถามอีกว่าเคยทราบรายงานการตรวจพิสูจน์สถานที่เกิดเหตุของตำรวจที่พบร่องรอยกระสุนปืนตามต้นไม้ เสาไฟฟ้าผนังปูนของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่มีทิศการยิงมาจากสะพานวันชาติที่ทหารอยู่ พระสุเทพ ตอบว่าไม่เคยเห็นรายงานดังกล่าว และไม่ทราบถึงผลการตรวจสถานที่เกิดเหตุ

ทนายถามสุเทพเกี่ยวกับรายงานที่ใช้อ้างในตอนให้การและให้ไว้กับพนักงานสอบสวนถึงชายชุดดำที่อยู่ในรถตู้ มีแต่เพียงภาพถ่ายรถตู้แต่ไม่ได้มองเห็นว่ามีชายชุดดำในรถตู้หรือไม่ ใช่หรือไม่ พระสุเทพ ตอบว่าภาพเหล่านี้เป็นเอกสารที่ได้จากดีเอสไอซึ่งได้รวบรวมการสอบสวนปรากฎเป็นสำนวน และได้งข้อหาก่อการร้ายกับผู้ต้องหา 26 คน ซึ่งตนได้อ้างตามการสอบสวนของดีเอสไอทุกอย่าง รวมทั้งภาพรถตู้ที่ถูกบันทึกด้วยกล้องวงจรปิดที่แยกสี่กั๊กในคืนวันที่ 10 เม.ย. ในเวลา 20.00 น. เศษ ภาพรถตู้มี 4 ภาพทั้งภาพตอนขาเข้าและขาออก และมีอีก 1 ภาพเป็นภาพที่มีคนใช้เครื่องยิงระเบิดเอ็ม 79 อยู่ข้างรถตู้ สวมหมวกปิดหน้าและมีผ้าผูกแขนสีแดง ซึ่งดีเอสไอระบุว่าเป็นกองกำลังชายชุดดำที่ยิงเจ้าหน้าที่และประชาชนในวันนั้น แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าในภาพถ่ายรถตู้นั้นคนในรถเป็นใคร ซึ่งดีเอสไอรายงานแก่ตนว่าเวลา 20.19น. เป็นภาพถ่ายรถตู้ขับเข้าไป และ21.00 น.เป็นเวลาที่รถตู้ขับกลับออกไป ส่วนรถตู้ขับไปส่งที่ใดบ้างนั้นไม่มีรายงาน

ทนายถามว่าเจ้าหนา้ที่ทหารถูกชายชุดดำยิงตอนเวลาเท่าใด พระสุเทพ ตอบว่าได้รับรายงานว่าเกิดเหตุในเวลาราว 2 ทุ่ม แต่ก่อนหน้านั้นก็มีการยิงใส่เจ้าหน้าที่อยู่ตลอด ซึ่งก็ได้มีการอนุญาตใช้อาวุธตอนราว 2 ทุ่มเศษ

ทนายถามต่อว่าหลังเหตุการณ์ยังมีการชุมนุมต่อใช่หรือไม่ แล้วทหารได้กลับที่ตั้ง พระสุเทพ ตอบว่าราว 23.00น. แกนนำได้ประกาศให้ยุติการใช้กำลังต่อเจ้าหน้าที่ทหาร ทหารจึงได้ถอนกำลังกลับที่ตั้ง

ทนายถามว่าพระสุเทพเกี่ยวกับจำนวนกระสุนจริงที่ใช้ จำนวนกองกำลังและมีหน่วยใดบางในปฏิบัติการ และจำนวนผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้หรือไม่ พระสุเทพ ตอบว่าไม่ได้รับรายงานและไม่ได้มีการสั่งให้รายงาน ในส่วนของจำนวนผู้เสียชีวิตตนได้รับรายงานในวันรุ่งขึ้นจากกระทรวงสาธารณสุข

ทนายถามว่าไม่เคยมีการรายงานเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับทางการญี่ปุ่นใช่หรือไม่ พระสุเทพ ตอบว่าเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เคยเข้าพบอภิสิทธิ์ และตนเพื่อขอให้สืบสวนหาตัวผู้ยิงนายฮิโรยูกิ แต่ไม่เคยชี้แจงให้ทราบว่าใครเป็นผู้ยิงฮิโรยูกิ เพราะคดียังอยู่ระหว่างการสอบสวน ในสมัยที่พยานอยู่ในคณะรัฐบาล ดีเอสไอได้ทำการสอบสวนว่าวันที่ 10 เม.ย. มีการเสียชีวิตใดบ้างทั้งที่เกิดจากผู้ก่อการร้ายชายชุดดำ และเจ้าหน้าที่ ซึ่งเคยเร่งรัดให้ดีเอสไอสืบสวนสอบสวน แต่ปัจจุบันยังไม่ได้รับรายงานที่สมบูรณ์

เมื่อการสืบพยานเสร็จสิ้นศาลได้นัดฟังคำสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพของผู้เสียชีวิตทั้ง 3 คน ในวันที่ 30 เม.ย. 2558 โดยศาลให้เหตุผลว่าช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค. ศาลมีคดีที่ต้องพิจารณาเป็นจำนวนมากและในคดีนี้มีข้อเท็จจริงที่ต้องพิจารณาเป็นจำนวนมาก

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทีมชาติไทยชนะเลิศฟุตบอลเอเอฟเอฟซูซูกิคัพ - 'ชาริล-ชนาธิป' ช่วยชูชีพ

$
0
0

ฟุตบอลนัดชิงเอเอฟเอฟ ซูซูกิคัพ นัดที่สอง ทีมชาติมาเลเซียนำ 3 ลูก ก่อนถูกที่ช่วง 10 นาทีสุดท้าย 'ชาริล ชัปปุยส์-ชนาธิป สรงกระสินธิ์' ยิงตีตื้น 2 ลูก ทำให้ผลประตูรวม 2 นัด ทีมชาติไทยชนะทีมชาติมาเลเซีย 4 ต่อ 3 คว้าแชมป์เอเอฟเอฟคัพเป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปี 

(ที่มาของภาพประกอบ AFF Susuki Cup)

20 ธ.ค. 2557 - ผลการแข่งขันฟุตบอลเอเอฟเอฟ แชมป์เปี้ยนชิฟ หรือเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ ครั้งที่ 10 รอบชิงชนะเลิศ ระหว่างทีมชาติมาเลเซีย และทีมชาติไทย ที่สนามกีฬาแห่งชาติบูกิต จาลิล กรุงกัวลาลัมเปอร์ โดยนัดนี้เป็นนัดเยือนของทีมชาติไทย โดยการแข่งขันในฐานะเจ้าบ้านเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. ที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน ทีมชาติไทย ชนะ ทีมชาติมาเลเซีย 2 ต่อ 0

สำหับผลการแข่งขันนัดที่สอง ครึ่งแรก ทีมชาติมาเลเซีย ยิงนำไปก่อน 2 ต่อ 0 โดย ซาฟิก ราฮิม ยิงลูกจุดโทษนาทีที่ 6 และอินทรา ปุตรา ยิงได้ในช่วงทดเวลาบาดเจ็บผ่านไปได้ 2 นาที

ครึ่งหลังมาเลเซียยิงนำ 3-0 นาทีที่ 57 โดยซาฟิก ราฮิม ทีมชาติมาเลเซียดูเหมือนเข้าใกล้ชัยชนะ หลังทำสกอร์รวม 2 นัดนำ 3 ต่อ 2 อย่างไรก็ตามในนาทีที่ 82 ชาริล ชัปปุยส์ ทำประตูตีไข่แตกเป็น 3 ต่อ 1 และนาทีที่ 86 ชนาธิป สรงกระสินธ์ ยิงได้อีกเป็น 3 ต่อ 2 เมื่อจบ 90 นาที รวมช่วงทดเวลาบาดเจ็บ ทีมชาติมาเลเซีย ชนะทีมชาติไทย 3 ต่อ 2 แต่สกอร์รวมยังไม่พอสำหรับทีมชาติมาเลเซียที่จะคว้าแชมป์

โดยผลการแข่งขันเหย้า-เยือนรวม 2 นัด ทีมชาติไทยชนะทีมชาติมาเลเซีย 4 ประตูต่อ 2 ชนะเลิศฟุตบอลเอเอฟเอฟครั้งที่ 10

เป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปี นับตั้งแต่การคว้าแชม์เมื่อปี 2545 ที่เอาชนะลูกจุดโทษทีมชาติอินโดนีเซีย 4 ประตูต่อ 2 หลังเสมอกันในเวลา 2 ประตู ต่อ 2

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทูตไทยประจำย่างกุ้งแนะ "อย่ามโน" เรื่องพม่า ต้องหาข้อมูล-ไปดูให้เห็นกับตา

$
0
0

"พิษณุ สุวรรณะชฏ" นำเสนอภาพพม่าปฏิรูป 4 ด้าน เจรจาสันติภาพ-การเมืองสิทธิมนุษยชน-บริหารภาครัฐ-ปฏิรูปเอกชน แนะสังคมไทยต้องไปดูพม่าให้เห็นกับตา เรียนรู้ให้ถึงแก่น และห้ามมโน ทุกฝ่ายต้องปรับวิธีดำเนินความสัมพันธ์กับพม่าอย่างสร้างสรรค์ เพื่อความสำเร็จร่วมกัน

 

คลิป พิษณุ สุวรรณะชฎ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง กล่าวปาฐกถานำในการสัมมนา "ไทย-พม่าศึกษา ในกรอบประชาคมอาเซียน" เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2557 ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร

ลงทะเบียนเพื่อติดตามชมวิดีโอจากประชาไทได้ที่

 

 

18 ธ.ค. 2557 - ในการสัมมนาวิชาการประจำปี 2557 "ไทย-พม่าศึกษาในกรอบประชาคมอาเซียน" โดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 18 - 19 ธ.ค. ที่อาคารเอกาทศรถ มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก นั้น

000

พิษณุ สุวรรณะชฎ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง กล่าวปาฐกถานำ ในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2557 "ไทย-พม่าศึกษาในกรอบประชาคมอาเซียน" จัดโดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ที่มาวิทยาลัยนเรศวร เมื่อ 18 ธ.ค. ที่ผ่านมา

ในวันแรกของการสัมมนา มีปาฐกถานำโดย พิษณุ สุวรรณะชฏ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง โดยทูตพิษณุ ได้กล่าวถึงพัฒนาการด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา หรือประเทศพม่า และแนะนำเรื่องการพัฒนาทัศนคติของสังคมไทยต่อประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะพม่า

โดยทูตเชื่อว่าถ้ามี Mindset ที่ถูกต้องจะมีวิธีคิดที่ถูกต้อง และจะมีโอกาสที่ผู้คนทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนพบปะหารือ ทำให้เข้าอกเข้าใจกันดีขึ้น 

วันนี้สถานการณ์ในพม่าเปลี่ยนแปลงไปอีก การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทุกวัน รวดเร็ว ล้วนแต่เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นตลอดเวลา ในด้านการเมืองเราก็รู้กันแล้วว่ามีพัฒนาการด้านต่างๆ มาก สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ความเป็นประชาธิปไตย ความปรองดองสมานฉันท์ภายในชาติ ส่วนที่ก้าวหน้าสุดคือเรื่องการเจรจาสันติภาพ สำหรับผมเชื่อว่าการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับชนกลุ่มน้อยก้าวข้ามพ้นจุดที่ยากที่สุดไปแล้ว แต่แน่นอนอาจจะมีกระบวนการต่างๆ ที่สะดุดอยู่บ้าง แต่เป็นเรื่องปกติของการเจรจาสันติภาพ แต่ตราบใดที่ยังสามารถรักษาเจตนารมณ์ทางการเมืองเรื่องการนำสันติภาพมาสู่สังคมได้ก็เชื่อได้ว่าการเจรจาสันติภาพจะเดินหน้าต่อไปได้

ทั้งนี้การเจรจาสันติภาพจะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองในพม่า ที่จะมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะในการเลือกตั้งเดือนธันวาคมปีหน้า ตามแผนการที่รัฐบาลและทุกภาคส่วนในพม่าตั้งใจไว้

สิ่งเดียวที่คนในสังคมไทยจะทำได้ดีที่สุดคือต้องให้กำลังใจประเทศเพื่อนบ้าน ให้การสนับสนุนทุกอย่างให้สามารถดำเนินกระบวนการสันติภาพไปด้วยความเรียบร้อย ราบรื่น

ในเรื่องของการปฏิรูปการเมือง ทูตพิษณุเล่าว่า "การเมืองพม่า ยังเป็นการเมืองที่ขับเคลื่อนประเทศได้อย่างรวดเร็ว การเมืองของพม่าไม่ใช่รัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน แต่เป็นการเมืองของกลุ่มคนที่ต้องการปฏิรูปประเทศ และกลุ่มคนที่อาจจะเสียประโยชน์จากการปฏิรูป โชคดีที่ในพม่ากลุ่มคนที่ต้องการให้มีการปฏิรูปประเทศเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น ประธานาธิบดีเต็งเส่งและรัฐบาล นางออง ซาน ซูจีและพรรคเอ็นแอลดี ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน ตุระฉ่วยมาน ซึ่งเป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คู่แข่งสำคัญของประธานาธิบดีเต็งเส่ง ทหารในกองทัพ คนเหล่านี้ต้องการเห็นประเทศมีการปฏิรูป นี่เป็นเหตุผลในการอธิบายว่าทำไมพม่าจึงเปลี่ยนแปลงรวดเร็วในด้านการเมือง"

ในด้านสังคม การเปลี่ยนแปลงในพม่ารวดเร็วมาก สิทธิมนุษยชนในอดีตเป็นปัญหาอย่างมาก ปัจจุบันเป็นประเด็นที่คนให้ความเคารพอย่างมาก คนมีสิทธิมีเสียงมากขึ้น การแสดงออกด้านความคิดเห็นทางการเมืองมีมากขึ้น และสามารถทำได้อย่างเสรี กระบวนการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการแสดงออกด้านความคิดเห็นเข้าสู่รูปรอยที่ดีขึ้น คนมีสิทธิมากขึ้น ขณะที่การบังคับใช้กฎหมายต่างๆ ในเรื่องการละเมิดรุกล้ำสิทธิคนอื่นก็เป็นไปอย่างเข้มงวด เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องของกระบวนการต่างๆ ที่กำลังหมุนไป อย่างรวดเร็ว

คนในพม่ามีโอกาสเข้าถึงโซเชียลมีเดีย 100% ไม่มีการปิดกั้น คนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ในพม่าร้อยทั้งร้อยมีเฟซบุ๊คหมด สามารถใช้ไวเปอร์ ใช้ไลน์ แน่นอนอาจจะไม่ได้อยู่ในเกณฑ์รวดเร็วเหมือนไทย แต่ต้องถือว่าใช้ได้

"อาจจะมีข้อโต้แย้งว่าจะมีคนสักกี่คนเชียวในพม่าที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ต แน่นอนมีคน 3% เท่านั้นที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต แต่ที่เราจะต้องเข้าใจก็คือ คน 3% ของประชากรพม่าสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ในเวลาไม่ถึง 2 ปี และต้องถามกลับว่าคนกี่เปอร์เซ็นต์ของไทยที่ปัจจุบันเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ และใช้เวลาในการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมายาวนานกว่า 20 ปี"

"ผมคิดว่าถ้าเราตั้งคำถามลักษณะนี้ เราจะเข้าใจพัฒนาการของสังคมในพม่าที่ดีขึ้น" 

เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไม่น่ากังวลอะไรเลย เพราะทุกคนอยากนำพม่าเข้าสู่อ้อมกอด วันนี้พม่าเปิดประเทศกว้างขวาง การเดินทางไปต่างประเทศของผู้นำพม่าทุกระดับ ทุกสาขา เป็นไปอย่างเต็มที่แข็งขัน และสร้างสรรค์ ท่านประธานาธิบดีเต็งเส่งเดินทางไปตลอดเพื่อเชื่อมสันถวไมตรีกับมิตรประเทศ นางออง ซาน ซูจี ก็ช่วยในเรื่องพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

"สิ่งหนึ่งที่เรายังไม่เคยเห็นก็คือเวลาบุคคลสำคัญของพม่าออกไปต่างประเทศ มีใครเคยได้ยินเขาไปพูดจาให้ร้ายกันบ้างไหมครับ ไม่มี ไม่มีใครเคยได้ยินนางออง ซาน ซูจี ไปพูดจาเป็นลบต่อตัวประธานาธิบดีเต็งเส่ง และรัฐบาล แน่นอนไม่มีคำพูดทางลบใดจากปากท่านประธานาธิบดีเต็ง เส่ง จากนางออง ซาน ซูจีเลย"

ความสำเร็จด้านต่างประเทศที่สำคัญที่สุดคือการเป็นประธานอาเซียนของพม่า ซึ่งได้ส่งมอบให้มาเลเซียเป็นประธานอาเซียนต่อไปแล้ว ในบรรดาประเทศอาเซียน 9 ประเทศ ทุกคนทึ่งในขีดความสามารถของพม่า ในการเป็นประธานอาเซียน การประชุมประสบความสำเร็จ ความสำเร็จของพม่าในเรื่องอาเซียนเป็นความมหัศจรรย์ ความสำเร็จในการประชุมอาเซียนของพม่า จะทำให้พม่าสามารถจัดการประชุมนานาชาติในระดับต่างๆ ได้แน่นอน

เรื่องการพัฒนาประเทศของพม่า หลังขั้นแรก มีการพัฒนาการเมือง การเจรจาสันติภาพ ให้มีสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ขั้นสอง มีการปฏิรูปเศรษฐกิจ ปล่อยค่าเงินลอยตัว เริ่มจัดระบบธนาคาร ขั้นสาม การพัฒนาประเทศ การปฏิรูปเรื่องจัดระเบียบบริหารจัดการภาครัฐและเอกชน ขณะนี้เข้าขั้นที่สี่ ปฏิรูปภาคเอกชน ในวันนี้จะเห็นว่าการพัฒนาไปสู่การปฏิรูปประเทศดำเนินไปอย่างขนานใหญ่ ทั่วด้าน ไม่ได้จำกัดเพียงแค่ภาครัฐ แต่ไปสู่ภาคเอกชนแล้ว

ในพม่าขณะนี้เราเริ่มเห็นการควบคุมกิจการ เพื่อให้เอกชนพม่าสามารถมีขีดความสามารถแข่งขันต่างประเทศได้ เช่น พม่าเปิดให้ธนาคารต่างชาติประกอบธุรกิจธนาคาร ตอนนี้มี 9 แห่งแล้ว รวมทั้งธนาคารกรุงเทพ

ตอนหนึ่ง ทูตพิษณุ กล่าวตอนหนึ่งว่า หลายคนอาจจะถามว่าอะไรคือปัจจัยที่ทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจในพม่าเดินไปได้ ถ้าถามผมตอบได้อย่างหนึ่งว่า ศักยภาพสำคัญที่สุดของพม่าไม่ได้อยู่ที่ทรัพยากรธรรมชาติเท่านั้น แต่สิ่งที่มีค่าที่สุดคือ คนพม่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนพม่าที่มีขีดความสามารถในการคิดเชิงเหตุผลที่ดีมาก ซึ่งไม่ได้เกิดจากการศึกษาในระบบ แต่เกิดจากการปฏิบัติทางพุทธศาสนา ทำให้เขามีระบบความคิดทางเหตุผลที่ดีมาก ก็มีคำถามต่อไปว่าประเทศเพื่อนบ้านของพม่าก็เป็นประเทศพุทธ ทำไมคนในสังคมในประเทศเหล่านั้นความคิดเชิงเหตุผลแย่เหลือเกิน

อีกสองส่วนที่อยากเรียนวิงวอนว่า วันนี้เมื่อปรับ Mindset ต่อเรื่องพม่าได้แล้วบางส่วน สิ่งที่สังคมไทยต้องทำต่อ ประการแรก ต้องไปดูพม่าให้เห็นกับตา เรียนรู้ให้ถึงแก่น และห้ามมโน ห้ามมโนเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกับพม่าห้ามโนเด็ดขาด โดยเฉพาะไปหาว่าเขาต่ำต้อย ไร้วัฒนธรรม ห้ามมโนเด็ดขาด เพราะมันไม่ใช่ข้อเท็จจริง

ประการที่สองคือ สังคมไทย ต้องรับรู้เกี่ยวกับเรื่องความเปลี่ยนแปลงในประเทศเพื่อนบ้านให้ถูกต้อง ต้องตามการเปลี่ยนแปลงให้ทัน วันนี้ผมบอกได้เลยสังคมไทยตามเปลี่ยนแปลงในพม่าไม่ทัน สังคมไทยมีใครบ้างที่ติดตามเรื่องโครงการพัฒนาในพม่าสามแห่ง คือ โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษติละวา จ๊อกผิ่ว และทวาย มีใครรู้รายละเอียดบ้างว่าสามโครงการนี้จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรในพม่า และจะเกิดผลประโยชน์อย่างไรต่อประเทศไทย

ถ้าเราไม่รู้ข้อเท็จจริง โอกาสที่เราจะผลักดันของเหล่านี้ให้เกิดขึ้นจะยิ่งยาก หลายโครงการจะมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับประเทศไทยอย่างมาก โดยเฉพาะที่ติละวา และทวาย เราต้องมีความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ว่า ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงในเชิงพัฒนาแล้ว ผลประโยชน์จะตกกับประเทศในภูมิภาคทั้งหมด โดยเฉพาะประเทศไทย ถ้าเราไม่เข้าใจ เราจะไม่สามารถเดินไปสู่จุดที่มีผลประโยชน์ร่วมกันได้

นอกจากนี้ หลายสิ่งที่ทำกับพม่าในอดีตจะไม่ประสบผล ยกตัวอย่างมหาวิทยาลัยไทยอยากให้ทุนนักศึกษาพม่า ผมเรียนไปว่า ลักษณะการให้ทุนกับพม่าทำงานแบบเดิมไม่ได้แล้ว วันนี้คนทั่วโลกเข้ามาแข่งให้ทุนกับพม่า สถานภาพพม่าเปลี่ยนแปลงไปแล้วอย่างสิ้นเชิง พม่าเป็นคนเลือก

ยกตัวอย่าง ถ้ามหาวิทยาลัยนเรศวรจะให้ทุนนักศึกษาพม่ามาเรียนวิศวกรรม ขณะที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ก็จะให้ทุนนักศึกษาพม่าไปเรียนวิศวกรรมด้วย คิดว่านักเรียนพม่าจะเลือกที่ไหน แน่นอนคำตอบมีอยู่ในใจท่านว่าเราไม่สามารถทำแบบเดิมได้ เช่น ถ้าเราแค่ให้ทุนแบบเดิมเท่านั้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ เราจะได้คนแถวสองหมด และจะไม่มีโอกาสได้คนแถวแรกเลย

วันนี้สิ่งที่สถานทูตทำ หนึ่ง Redifine (จำกัดความใหม่) ทุกอย่าง ในเรื่องการดำเนินความสัมพันธ์กับพม่า สอง Redesign (ออกแบบใหม่) ทุกอย่าง เกี่ยวกับแพ็กเกจการดำเนินความสัมพันธ์กับพม่า

อย่างเช่น ในเรื่องของการปรับแพ็กเกจการให้ทุน โครงการหนึ่งที่เรารู้สึกว่ามีผลมากคือ เราร่วมมือกับบริษัทเอกชน กับมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยลงขันในแง่ยกเว้นค่าเทอมให้ บริษัทเอกชนลงขันออกค่าที่พักตลอดหลักสูตร สถานทูตในนามรัฐบาลไทย ไปช่วยคัดเลือกคน และใช้สถานที่ในการสอบต่างๆ ผลปรากฏว่าเมื่อ Redesign แพ็กเกจและวิธีการให้ทุนแล้ว ได้ผลมาก ทุนเรามีของพ่วงด้วย คือบริษัทเอกชนที่ร่วมงานกับสถานทูตนั้นรับประกันว่า นักเรียนที่ได้ทุนแล้วเมื่อจบแล้วเขารับเข้าทำงานไม่มีเงื่อนไข ทำให้แพ็จเกจของเราดูสวยงามและดีกว่า

ทั้งนี้ผลจากการเปลี่ยนแปลงในพม่า ทำให้วิธีการดำเนินความสัมพันธ์กับพม่าเป็นอย่างเดิมไม่ได้ดังนั้น และมีความจำเป็นที่ทุกภาคส่วนต้องปรับวิธีการดำเนินความสัมพันธ์กับพม่าอย่างสร้างสรรค์

ในช่วงท้าย ทูตพิษณุ ได้แนะนำให้ผู้ที่สนใจเข้าชมเว็บไซต์ของสถานทูต (thaiembassy.org/yangon) โดยผู้สนใจสามารถลงทะเบียนรับจดหมายข่าวรายวันที่บริการข้อมูลทางธุรกิจโดยสถานทูตได้ เพื่อจะเห็นว่าพม่าเคลื่อนตัวไปอย่างไร ทั้งนี้การได้รับข้อมูลจะช่วยปรับ Mindset เพื่อให้เลิกมโนผิดๆ เกี่ยวกับพม่า และมีมุมมองที่ถูกต้องเกี่ยวกับพม่า ตลอดจนติดตามพัฒนาการต่างๆ ในพม่าได้อย่างครบถ้วน เห็นผลประโยชน์บนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกัน สามารถเตรียมพร้อมรับมือสิ่งที่จะเกิดขึ้นในพม่าได้

ทูตพิษณุยังชวนผู้ร่วมประชุม "ไปดูพม่าให้เห็นกับตา" โดยสถานทูตยินดีที่จะให้การสนับสนุนผู้ที่เดินทางไปพม่า

"และสิ่งที่อยากจะวิงวอนคือ ขอให้เลิกมโนเกี่ยวกับพม่า และหันมามองในแง่ข้อเท็จจริง เพื่อให้เกิดความเข้าใจพม่า และปรับตัวเราเองให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดในพม่าได้ ตลอดจนจัดแพ็กเกจที่ดีในการปฏิสัมพันธ์กับพม่าในทุกๆ ด้าน โดยเชื่อว่าความสัมพันธ์ไทย-พม่าจะประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิธิ เอียวศรีวงศ์กับปัญหาปาตานี

$
0
0

 

ปัญหาปาตานี/ชายแดนใต้ในรอบ 1ทศวรรษที่ผ่านมา ปัญญาชนสาธารณะอย่างนิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้เข้ามาเริ่มอธิบายปัญหาปาตานี/ชายแดนใต้ ตั้งแต่ความรุนแรงเริ่มเมื่อปี 2547 ผมจำได้ว่าได้เจออาจารย์นิธิ ครั้งแรกที่ตึกองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นการพูดคุยวงเสวนาเล็กๆ เกี่ยวกับปัญหาความรุนแรง เช่นการอุ้มหายชาวบ้าน และการถล่มมัสยิดกรือเซะของเจ้าหน้าที่ทหาร โดยมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลจากการไปเก็บคำสัมภาษณ์ของญาติผู้ที่ถูกอุ้มหายและที่เสียชีวิตที่มัสยิดกรือเซะ ระหว่างการพูดคุยแลกเปลี่ยน อาจารย์นิธิก็เดินออกไปข้างนอกวงเสวนาไปยืนเงียบๆคนเดียว และกลับมาวงเสวนาอีกครั้ง แกบอกว่า ทนฟังไม่ได้ รู้สึกสะเทือนใจและไม่คิดว่าจะมีเหตุการณ์ความรุนแรงแบบอีกในสังคมไทย ที่ร้ายกว่านั้นเป็นการกระทำจากคนที่มีอำนาจรัฐ ทั้งๆที่เราผ่านเหตุการณ์และมีบทเรียนมามากมาย

หลังจากนั้นเป็นต้นมา อาจารย์นิธิ ได้เสนอ “ทฤษฎีกบฏชาวนา” ต่อการอธิบายเรื่องปัญหาความรุนแรงปาตานี สำหรับทฤษฎี อาจารย์นิธิได้บอกว่า เป็นทฤษฎีที่อาจารย์นิธิ พยายามอธิบายแต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับ และได้กล่าวในกลางวงเสวนาการเปิดตัวหนังสือ “มลายูศึกษา” ว่าทฤษฎีกบฎชาวนาของแก คงใช้อธิบายเรื่องปาตานีไม่ได้ ฉะนั้นเลิกสนใจได้แล้ว ! นี้ถือว่าเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่นักวิชาการรุ่นหลัง เพราะปัจจุบันนี้ 10 ปีแล้วมีนักวิชาการจำนวนไม่น้อยที่เขียนบทความ หนังสือ โดยมีความผิดพลาดเป็นอย่างมาก ไม่เคยออกมายอมรับและบอกว่าตัวเองคิดผิดเลย หากเราพิจารณาหนังสือที่เกี่ยวกับปาตานีในช่วง 6-7 ปีของเหตุการณ์ จะพบว่านักวิชาการหลายคนได้อธิบาย/เขียน แม้กระทั่งชื่อ สถานที่ พศ. และชื่อผู้นำที่สำคัญๆยังผิดพลาด

สำหรับผลงานที่สำคัญสำหรับการอธิบายการเมืองวัฒนธรรมของนิธิต่อปัญหาปาตานี ก็คือ ได้พิมพ์หนังสือออกเป็นการรวบรวมบทความจากนักวิชาการ 4 คน รวมถึงอาจารย์นิธิด้วย ชื่อว่า มลายูศึกษา :ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับประชาชนมลายูมุสลิมในภาคใต้(ความรู้เที่ยงคืน ชุดที่ 4) เพื่อให้สังคไทยได้เข้าใจสามัญชนมลายูมากขึ้น ไม่ใช่แบบเจ้ามลายูอย่างเดียว โดยชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของทางด้านภาษา วัฒนธรรมและการเคลื่อนไหวของสามัญชนมลายูที่อดีตที่ผ่านมา พร้อมกันนั้น อาจารย์นิธิ ได้จัด "หลักสูตรเรียนรู้มลายูศึกษาเพื่อความสมานฉันท์" ขึ้นที่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จ.เชียงใหม่ เป็นการเคลื่อนไหวทางวิชาการที่ข้ามพรมแดนทางวัฒนธรรม เพื่อให้คนทางเชียงใหม่ได้รับรู้ปัญหาปาตานี

ตลอดที่ผ่านมา เมื่อมีเหตุการณ์สำคัญๆเกิดขึ้นที่ปาตานี อาจารย์นิธิเขียนและแสดงความคิดเห็นผ่านบทความในคอลัมน์มติชนรายวันและสุดสัปดาห์อย่างต่อนื่อง ไม่ว่าภายใต้รัฐบาลไหนก็ตาม ตั้งแต่คุณทักษิณถึงคุณประยุทธ์ ที่กุมอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ของการเมืองไทย พร้อมกันนี้ได้เสนอทางออกบางประการเสมอ โดยเฉพาะการเมืองแบบไม่รุนแรง จำได้ว่าอาจารย์นิธิได้เสนอความคิดเรื่อง พรรคมลายูเพื่อเป็นช่องทางหนึ่งของการต่อสู้ในพื้นที่ทางการเมืองให้แก่คนในพื้นที่

การใช่แต่เพียงผลงานวิชาการเท่านั้น แต่อาจารย์นิธิได้เข้ามามีส่วนรวมในการเคลื่อนไหวเวทีเสวนาวิชาการบ่อยครั้งในพื้นที่ครั้งล่าสุดจำได้ว่า อาจารย์นิธิ ปาฐกถาเรื่อง "ทำไมจึงต้องมีประชาธิปไตย"ในเวที “อนาคตปาตานีหลังเลือกตั้ง” โครงการเวทีเสวนาประชาธิปไตยภาคใต" (สปต.) ก่อนที่จะมีวันเลือกตั้งและรัฐประหาร สำหรับเวทีข้างต้น อาจารย์นิธิได้ตอบรับและเดินทางมาร่วมเวที ทั้งๆที่สถานการณ์ในขณะนั้นการจัดเวทีวิชาการในภาคใต้หรือแสดงความเห็นสาธารณะก็เป็นเรื่องที่กระทำยากยิ่ง เพราะห้วงเวลานั้นเรากำลังตกอยู่ภายใต้อำนาจของมวลมหาประชาชน ที่สุ่มเสี่ยงต่อการได้รับเสียงนกหวีดกลางเวทีเสวนา แต่ทว่าอาจารย์นิธิก็ตอบตกลงมาและให้ข้อคิดที่สำคัญก็คือ “เมื่อย้อนดูประวัติศาสตร์ชายแดนใต้ จะพบว่าปัญญาชนที่สืบทอดมาจากผู้ปกครองและสามัญชนกระตือรือร้นต่อการเปลี่ยนแปลงในกรุงเทพฯมาก ชนชั้นนำอยากเข้าไปมีส่วนร่วมเพราะคิดว่าคือวิธีการแก้ปัญหา แต่ก็ถูกครอบงำโดยฝ่ายทหาร มุสลิมในพื้นที่ต้องอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่ไม่เปิดเวทีให้เข้ามากำหนดชะตาชีวิตของเขาได้จริง แม้เกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475 ประเทศก็ไม่ได้พัฒนาความเป็นชาติแท้จริงได้ เพราะความลักลั่นของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มีมาจนทุกวันนี้”

ทั้งนี้สำหรับงานวิจัยและวิชาการที่เกี่ยวข้องกับปาตานี/ชายแดนใต้ ที่ผลิตขึ้นโดยนักวิจัย อาจารย์นิธิ ก็ได้ให้ความสนใจและเอาจริงเอาจังกับการติดตามและให้ความเห็น อาทิเช่น งานเสวนาวิชาการประจำปี "หนึ่งทศวรรษมานุษยวิทยากับการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้" โดยคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 19 กันยายน ที่ผ่านมา อาจารย์นิธิก็ได้เข้ามาร่วมให้ความเห็นและคอยรับฟังผลการศึกษาของนักวิชาการรุ่นใหม่ๆ มาโดยตลอด

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผู้ค้นพบเชื้อ 'เอชไอวี' แจง 'ฮุนเซน' กรณีไม่เชื่อ ปชช. ในพระตะบองเป็นโรคเอดส์

$
0
0

นักไวรัสวิทยาผู้ค้นพบว่าเชื้อเอชไอวีเป็นสาเหตุของโรคเอดส์จนได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ชี้ฮุนเซนน่าจะได้รับข้อมูลผิดๆ หลังจากที่ฮุนเซนพูดถึงกรณีมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีในจังหวัดพระตะบองมากกว่า 100 คน ในเชิงไม่เชื่อว่าจะเป็นโรคเอดส์

ฟรองชัวร์ บาร์เร-ซินุสซิ นักไวรัสวิทยาผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ปี 2551 จากผลงานการค้นพบว่าไวรัสเอชไอวี กล่าวว่านายกรัฐมนตรีฮุนเซนของกัมพูชา "ได้รับข้อมูลผิดๆ" ในคำประกาศของเขากรณีที่มีประชาชนมากกว่า 100 คนในจังหวัดพระตะบอง ('บัตตัมบอง' ในภาษากัมพูชา) ตรวจพบเชื้อไวรัสเอชไอวีเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา

ฮุนเซนกล่าวผ่านสื่อในเชิงไม่เชื่อว่าประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวจะเป็นโรคเอดส์ "แม้ว่าจะมีเชื้อไวรัสแต่มันไม่ใช่เอดส์... คนแก่อายุ 80 จะเป็นโรคเอดส์ได้จริงหรือ และเยาวชนที่ไม่รู้ความอะไรเลยจะติดเอดส์ได้หรือ" ฮุนเซนกล่าว จากคำกล่าวของฮุนเซนทำให้หน่วยงานสาธารณสุขหลายหน่วยงานรวมถึงยูเอ็นเอดส์และสถาบันวิจัยปาสเตอร์ในกัมพูชาระบุว่ามีโอกาสผิดพลาดในการตรวจโรคน้อยมาก

แต่ทางบาร์เร-ซินุสซิ ไม่เข้าใจว่าทำไมฮุนเซนถึงกล่าวเช่นนั้น เธอคาดเดาว่าฮุนเซนอาจจะได้รับข้อมูลผิดๆ ในเรื่องโรคเอดส์ เธอกล่าวอีกว่าในสถานการณ์เช่นนี้กลุ่มผู้นำในกัมพูชาควรเน้นสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนโดยบอกกับประชาชนว่าทางการจะตรวจสอบในเรื่องที่เกิดขึ้นและผู้ติดเชื้อจะได้รับการดูแลรักษาอย่างดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

เอดส์หรือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องเป็นการที่เชื้อไวรัสเอชไอวีทำให้ผู้ป่วยมีการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง จนทำให้เชื้อโรคอื่นๆ เช่น แบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา ฉวยโอกาสทำให้เกิดโรคอื่นๆ ได้ หรือทำให้เป็นมะเร็งบางชนิดได้ง่ายกว่าคนทั่วไป โดยบาร์เร-ซินุสซิ ค้นพบเชื้อไวรัสนี้ในปี 2526 ในช่วงที่เธอทำงานกับสถาบันปาสเตอร์ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยด้านเชื้อโรคและวัคซีนตั้งอยู่ในฝรั่งเศส ปัจจุบันบาร์เร-ซินุสซิ ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายควบคุมการติดเชื้อเรโทรไวรัสของสถาบันดังกล่าว

เหตุการณ์ระบาดดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงต้นเดือน พ.ย. ที่ผ่านมาในอำเภอสังแก จังหวัดพระตะบองมีชายอายุ 74 ปี คนหนึ่งตรวจพบเชื้อเอชไอวีจึงได้ลองให้หลานสาวและหลานเขยของเขาไปตรวจด้วยก็พบว่ามีเชื้อเอชไอวีเช่นกัน ทำให้มีคนในหมู่บ้านของพวกเขาพากันไปตรวจ โดยจากการเปิดเผยล่าสุดเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาพบว่ามีประชาชนในอำเภอสังแกติดเชื้อมากกว่า 106 คน จากผู้ไปตรวจทั้งหมด 895 คน

มีการสันนิษฐานว่าการระบาดของเชื้อมาจากหมอในพื้นที่ซึ่งอาจจะไม่มีใบอนุญาตใช้เข็มฉีดยาเดิมในการรักษาคนไข้หลายคน ในตอนนี้หมอรายดังกล่าวถูกควบคุมตัวอยู่ในการคุ้มครองของตำรวจ

บาร์เร-ซินุสซิกล่าวว่าควรมีการตรวจสอบสาเหตุของการระบาดให้แน่ชัดโดยเจ้าหน้าที่ทางการเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้คนด่วนสรุปว่าเป็นฝีมือหมอคนดังกล่าว ซึ่งทางการกัมพูชาระบุว่าในตอนนี้องค์กรด้านสาธารณสุขจากต่างชาติอย่างองค์การอนามัยโลก ยูเอ็นเอดส์ ยูนิเซฟ และสถาบันปาสเตอร์ กำลังให้การช่วยทางการเพื่อหาสาเหตุของการระบาด

ทางยูเอ็นเอดส์ประเมินว่ามีคนในกัมพูชาราว 41,000 ถึง 130,000 คน ที่ติดเชื้อเอชไอวี อย่างไรก็ตามยูเอ็นเอดส์ได้ชื่นชมนายกรัฐมนตรีฮุนเซนที่วางงบประมาณราว 3.7 ล้านดอลลาร์เพื่อยับยั้งการแพร่เชื้อเอชไอวี ในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ฮุนเซนยังให้คำมั่นว่าจะหยุดการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีในกัมพูชาให้ได้ภายในปี 2563

 


เรียบเรียงจาก

HUN SEN “MISINFORMED” OVER CAMBODIA’S MASS HIV INFECTION, SAYS FRANÇOISE BARRÉ-SINOUSSI, Southeast Asia Globe, 19-12-2014
http://sea-globe.com/hun-sen-cambodias-mass-hiv-infection-says-francoise-barre-sinoussi-southeast-asia-globe/

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

http://en.wikipedia.org/wiki/Fran%C3%A7oise_Barr%C3%A9-Sinoussi
http://www.thaiall.com/aids/

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'วู้ดดี้' ฟ้องหมิ่นประมาท-พ.ร.บ.คอมฯ ช่างภาพ-ทนาย-จ่าพิชิต

$
0
0

หลังช่างภาพฟ้องวู้ดดี้ละเมิดลิขสิทธิ์ภาพถ่าย ล่าสุด วู้ดดี้ฟ้องกลับช่างภาพ-ทนาย พ่วงจ่าพิชิต ที่แชร์ภาพดังกล่าว ด้วยข้อหาหมิ่นประมาท-พ.ร.บ.คอมฯ

21 ธ.ค. 2557 สำนักข่าวอิศรารายงานว่า จากกรณีนายจักริน ภัสสรดิลกเลิศ อาจารย์สอนถ่ายภาพชื่อดัง ได้มอบหมายให้ นายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ทนายความของส่วนตัวยื่นฟ้อง บริษัท วู้ดดี้ เวิลด์ จํากัด จำเลยที่ 1 และนายวุฒิธร มิลินทจินดา หรือ "วู้ดดี้" พิธีกรชื่อดังเจ้าของรายการ "วู้ดดี้เกิดมาคุย" ในความผิดเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ภาพถ่าย "ประตูเมืองขอนแก่น" โดยยื่นฟ้องเป็นคดีอาญาต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ในช่วงปลายเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา และศาลนัดไต่สวนคดีในวันที่ 25 ธ.ค.นี้

ล่าสุด นายรณณรงค์ ทนายความของนายจักริน เปิดเผยว่า ถูกวู้ดดี้ฟ้องร้องดำเนินคดีกลับ โดยฟ้องตนเอง นายจักริน และนายวิทวัส ศิริประชัย (จ่าพิชิต แห่งเพจดราม่าแอดดิก) ในข้อหาหมิ่นประมาทและ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยยื่นฟ้องช่วงก่อนที่จักรินจะขึ้นเบิกความในวันที่ 25 ธ.ค.นี้พอดี สำหรับคดีล่าสุดนี้ ศาลนัดไต่สวนมูลฟ้องวันที่ 23 ก.พ.2558

ด้านจ่าพิชิตโพสต์ผ่านเพจว่า แค่แชร์ภาพของตากล้องแล้วเขียนว่า "ดราม่าครัชดราม่า" ก็ถูกฟ้องด้วยข้อหานำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ มีความผิดตามมาตรา 14  พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ อย่างไรก็ตาม ได้เตรียมทนายไว้แล้ว

 


 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live




Latest Images