Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live

กวีประชาไท: ล้างวิบัติ

$
0
0

 

เมืองวิบัติวิปริตวิปลาศ
ธรรมศาสตร์ธรรมกายธรรมะสูญ
ปฏิสนธ์ปฏิวัติปฏิกูล
ทวีคูณทวีเถื่อนสะเทือนธรรม

ผุดเหง้ารากจากเชื้อเป็นเนื้อร้าย
ลามกระจายวงการมารระห่ำ
เหลืองจีวรห่มผีเปื้อนสีดำ
ครุยแห่งธรรมกลายเตี่ยวติดเขียวพราง

มันมืดดำต่ำสุดดุจนรก
มันไหม้หมกตกภูมิสุดขุมล่าง
ใต้ปืนโตโซ่ตรวนเสียงครวญคราง
แต่ไม่สร่างเสียงโต้สู้โซ่ตรวน

อาจเริ่มเสียงเพียงกระซิบแต่ยิบสู้
แต่จะกู่ต่อไกลไปทุกส่วน
แล้วเพิ่มดังฟังชัดจัดขบวน
เป็นเสียงชวนรุกรบสยบทราม

ในวิบัติวิปริตวิปลาศ
ก้องเสียงคนองอาจไม่ขลาดขาม
สะเก็ดไฟเพียงนิดพร้อมติดลาม
ลุกฮือข้ามทุ่งกว้างล้างแผ่นดิน

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อิศราโต้TCIJ ไม่ได้สัมภาษณ์สุชาดา"แต่"ได้รับข้อมูลที่น่าเชื่อถือ

$
0
0

ระบุต้องการเสนอปัญหาที่สื่อทางเลือกต้องเผชิญ อ้างขอสัมภาษณ์สุชาดาเป็นแค่การยืนยันข้อเท็จจริง ประกาศเรื่องไหนควรเป็นข่าวขึ้นอยู่กับประสบการณ์และนโยบายของสำนักข่าวนั้น ยืนยันทำหน้าที่ตรวจสอบผู้ถือครองอำนาจรัฐ กลุ่มทุนทางการเมือง นโยบายสาธารณะ มาตลอด และให้โอกาสผู้เกี่ยวข้องชี้แจงหากมีตวามต้องการ 

รายละเอียดการชี้แจงมีดังต่อไปนี้

๐๐๐๐

"...เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านสำนักข่าวอิศราได้รับข้อมูลที่น่าเชื่อถือว่า TCIJ (สื่อทางเลือกที่เกิดขึ้นในปี 2554 ท่ามกลางวิกฤตของสื่อกระแสหลักและได้รับเงินสนับสนุนจากองค์กรอื่น อาทิ สสส.) กำลังจะปิดสำนักงานและบอกเลิกจ้างพนักงานล่วงหน้า 1 เดือน ... สิ่งที่สำนักข่าวอิศราปฏิบัติเหมือนกับการทำข่าวปกติอื่นก็คือให้ผู้สื่อข่าวสอบถามเพื่อยืนยันข้อเท็จจริงไปยังผู้บริหารของ TCIJ .."

owwwwwwwfffff

สืบเนื่องจากกรณีสำนักข่าวอิศราได้เสนอข่าวระบุว่าศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ)เตรียมปิดสำนักงานที่กรุงเทพฯ และเตรียมย้ายสำนักงานไปอยู่จังหวัดเชียงใหม่ ภายในสิ้นเดือนนี้ และได้จ้างพนักงานจากเป็นเจ้าหน้าที่ประจำโครงการทำงานเป็นฟรีแลนซ์ทั้งหมด และระบุว่า การเปลี่ยนแปลงของ TCIJ กรณีปิดสำนักงานในสิ้นเดือนนี้ ได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ประจำโครงการซึ่งเป็นนักข่าวซึ่งมีประมาณ 2-3 คนทราบเมื่อช่วงต้นเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ทำให้นักข่าวรู้สึกว่าแจ้งล่วงหน้าล่าช้าเกินไป มีผลต่อการหางานใหม่ 

(อ่านประกอบ : “สุชาดา” รับปิด สนง.TCIJ ย้ายไปเชียงใหม่สิ้นเดือนนี้ -ไม่ปิดเว็บไซต์)

ต่อมาผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ) ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงสรุปสาระสำคัญดังนี้

1.ไม่ได้ให้สัมภาษณ์แก่สำนักข่าวอิศรา มีเพียงนักข่าวของสำนักข่าวอิศรา ติดต่อทางโทรศัพท์เพื่อขอสัมภาษณ์ แต่ได้ให้การปฏิเสธว่าไม่พร้อม ไม่ได้ปิด เป็นการย้าย office base เท่านั้นเอง

2.พนักงาน TCIJ ทุกคนจะได้รับการชดเชยแรงงาน 3 เดือน

3.ประเด็นการย้ายสำนักงาน TCIJ มีคุณสมบัติ”เป็นข่าว”ตรงไหนหรือ ? มีอะไรที่เป็นปัญหาของส่วนรวม สมควรเป็นข่าว เมื่อเทียบกับประเด็นนายทุนเอาเปรียบเกษตรกรแล้วจ่ายเงินพิเศษอุดหนุนสื่อ ?

(อ่านประกอบ: TCIJ ออกแถลงการณ์กรณี สนข.อิศรา เขียนข่าวเอง บิดเบือน เลิกจ้างกระชั้น)

 

เพื่อให้เห็นข้อมูลอย่างรอบด้านสำนักข่าวอิศราขอชี้แจงข้อเท็จจริงดังนี้

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านสำนักข่าวอิศราได้รับข้อมูลที่น่าเชื่อถือว่า TCIJ (สื่อทางเลือกที่เกิดขึ้นในปี 2554 ท่ามกลางวิกฤตของสื่อกระแสหลักและได้รับเงินสนับสนุนจากองค์กรอื่น อาทิ สสส.) กำลังจะปิดสำนักงานและบอกเลิกจ้างพนักงานล่วงหน้า 1 เดือน (คนละประเด็นกับการได้รับการชดเชยแรงงาน 3 เดือน)

ประเด็นดังกล่าวสะท้อนให้เห็นนัยยะบางอย่างของ TCIJ และปัญหาของสื่อทางเลือกอื่นกำลังเผชิญในขณะนี้ สิ่งที่สำนักข่าวอิศราปฏิบัติเหมือนกับการทำข่าวปกติอื่นก็คือให้ผู้สื่อข่าวสอบถามเพื่อยืนยันข้อเท็จจริงไปยังผู้บริหารของ TCIJ

แต่ได้รับการยืนยันว่าผู้บริหารของ TCIJ ไม่พร้อมที่จะชี้แจง และปฏิเสธว่าไม่ได้มีการปิดตัวเว็บไซด์ แต่เตรียมย้ายสำนักงานจากกรุงเทพฯไปอยู่จังหวัดเชียงใหม่ ภายในสิ้นเดือนนี้ และได้จ้างพนักงานจากเป็นเจ้าหน้าที่ประจำโครงการทำงานเป็นฟรีแลนซ์ (พนักงานไม่ประจำ) ทั้งหมด

เมื่อได้รับการยืนยันข้อเท็จจริงที่ได้รับมาก่อนหน้านี้ ทางสำนักข่าวอิศราได้รายงานข้อมูลดังกล่าวข้างต้นและรายงานอีกว่า ผู้บริหาร TCIJ ไม่พร้อมชี้แจง และ ปฏิเสธที่จะกล่าวถึงรายละเอียดโดยบอกเพียงว่าจะแจ้งในเดือน พ.ค.นี้

2. คำชี้แจงของผู้บริหาร TCIJ ที่ระบุว่า “พนักงาน TCIJ ทุกคนจะได้รับการชดเชยแรงงาน 3 เดือน” เป็นคนละประเด็นกับกรณีบอกเลิกจ้างล่วงหน้า 1 เดือน จึงไม่ใช่ประเด็นที่ปรากฏเป็นข่าวในสำนักข่าวอิศรา (และการได้รับเงินชดเชยแรงงาน 3 เดือนก็เป็นไปตามกฎหมายแรงงาน)

น่าสังเกตว่า ในคำแถลงการณ์ดังกล่าวของผู้บริหาร TCIJ ก็มิได้ปฏิเสธข้อเท็จจริงที่สำนักข่าวอิศราได้รับมา และ ผู้บริหาร TCIJ ชี้แจง แต่อย่างใด

3.ประเด็นการย้ายสำนักงาน TCIJ มีคุณสมบัติ”เป็นข่าว”ตรงไหนหรือ ? มีอะไรที่เป็นปัญหาของส่วนรวม สมควรเป็นข่าว เมื่อเทียบกับประเด็นนายทุนเอาเปรียบเกษตรกรแล้วจ่ายเงินพิเศษอุดหนุนสื่อ ? 

ประเด็นมอง “คุณค่าข่าว” สำนักข่าวอิศรามีความเห็นว่า เป็น “มุมมอง”ของนักข่าวแต่ละคนว่าเรื่องไหนควรเป็นข่าว หรือ เรื่องไหนไม่ควรเป็นข่าว ซึ่งขึ้นอยู่กับ “ประสบการณ์” และ“นโยบาย”ของสำนักข่าวแต่ละแห่งประกอบกัน

อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งก็คือในช่วงที่ผ่านมา สำนักข่าวอิศราได้ทำหน้าที่ตรวจสอบผู้ถือครองอำนาจรัฐ กลุ่มทุนทางการเมือง นโยบายสาธารณะ ปรากฏการณ์เด่นๆทางสังคมมาโดยตลอด และเปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องได้ชี้แจงข้อเท็จจริงอย่างเต็มที่ในกรณีต้องการจะชี้แจง 

(อ่านประกอบ: “อิศรา”คว้า 2 รางวัลช่อสะอาด ข่าวโกงแวต4.3พันล.-ทรัพย์สิน“แซม”)

oeeeeeeee

ครั้งที่ TCIJ ออกมาเสนอข่าวกรณีกลุ่มทุนซื้อ สำนักข่าวอิศราก็รายงานเกาะติดและพยายามสอบถามข้อเท็จจริงจากผู้บริหาร TCIJ กลุ่มทุนที่ถูกพาดพิง และองค์กรวิชาชีพอย่าง “รอบด้าน” (ปูดข้อมูลบ.ยักษ์ใหญ่ ตั้งงบลับ จ่ายเงินบิ๊กสื่อ 19 ราย ปั้นภาพลักษณ์ธุรกิจ)

กรณีนี้หรือกรณีอื่นๆ จะเห็นได้ว่าสำนักข่าวอิศราได้ทำหน้าที่ปกติของสื่อเพื่อประโยชน์ของสาธารณะอย่างแท้จริง

บรรณาธิการสำนักข่าวอิศรา


อ่านประกอบ :

"สัก"เสียบแทน"กล้านรงค์"นั่งปธ.สอบปม ซีพีเอฟจ่ายเงินบิ๊กสื่อ-ยันคกก.ไม่ถูกซื้อ

 2 สภาวิชาชีพสื่อ ตั้ง "กล้านรงค์" สอบปม "ซีพีเอฟ" จ่ายเงินบิ๊กสื่อ 19 ราย

"ซีพีเอฟ" ยันไม่ใช้เงินซื้อบิ๊กสือ 19 ราย ปั้นภาพลักษณ์ทางธุรกิจบริษัท

ปูดข้อมูลบ.ยักษ์ใหญ่ ตั้งงบลับ จ่ายเงินบิ๊กสื่อ 19 ราย ปั้นภาพลักษณ์ธุรกิจ

ปูมหลัง 6 อรหันต์ "ไม้บรรทัด" สอบปมบิ๊กสื่อ 19 รายรับเงิน"ซีพีเอฟ"

 

ที่มา: คำชี้แจงสำนักข่าวอิศราต่อกรณี TCIJ ปิด สนง.กรุงเทพฯย้ายไปเชียงใหม่ 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

การพัฒนาประเทศ : การรับผิดชอบผลกระทบต่อคนจนของรัฐบาล (1)

$
0
0


ในช่วงเวลานี้ผู้เขียนได้ร่วมเวทีการสมัชชาใหญ่ของเครือข่ายองค์กรชาวบ้าน “เครือข่ายฟื้นฟูประชาสร้างสรรค์” ซึ่งเป็นองค์กรชาวบ้านที่อยู่ในจังหวัดขอนแก่น และเป็นหนึ่งในเครือข่ายสมาชิกของเครือข่ายสลัม 4 ภาค   ในเวทีสมัชชาใหญ่นี้เองเป็นเวทีที่ต้องมาสรุปกิจกรรมที่ผ่านมาตลอดปีของเครือข่ายเอง   พร้อมทั้งมาร่วมวางแผนการทำงานในปีถัดไป   เครือข่ายฟื้นฟูฯเองมีความพิเศษตรงที่ชุมชนสมาชิกของเครือข่ายเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยทั้งหมดจำนวน 16 ชุมชน ดังนี้


รายชื่อชุมชนสมาชิกเครือข่ายฟื้นฟูประชาสร้างสรรค์รายชื่อชุมชนสมาชิกเครือข่ายฟื้นฟูประชาสร้างสรรค์

จากสถานการณ์ที่มีความต้องการพัฒนาประเทศในปัจจุบันนี้เองทำให้เครือข่ายฟื้นฟูฯจำเป็นต้องระดมสมองกันอย่างเข้มข้น   เนื่องจากการพัฒนาในด้านระบบคมนาคมระบบรางกำลังเป็นที่จับตาและเป้าหมายแรกๆที่รัฐบาลจะดำเนินการก่อน ไม่ว่าจะเป็นโครงการก่อสร้างทางรถไฟทางคู่ ช่วง จิระ – ขอนแก่น หรือ โครงการก่อสร้างทางรถไฟรางมาตรฐาน (ความเร็วสูงเดิม) จาก กรุงเทพฯ – หนองคาย ทั้ง 2 โครงการนี้เองเป็นเหคุผลที่ชาวเครือข่ายฟื้นฟูฯจำเป็นต้องมาร่วมออกแรงทั้งทางความคิด และพละกำลังกาย

หากจะย้อนเวลากลับไป เครือข่ายฟื้นฟูประชาสร้างสรรค์ ได้ร่วมกับเครือข่ายสลัม 4 ภาค ในการผลักดันการปฏิรูปที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยมาเป็นที่อยู่อาศัยของคนจนได้สำเร็จ   จากที่คณะกรรมการรถไฟฯได้มีมติในวันที่ 13 กันยายน 2543 ซึ่งมีเนื้อหาถึงพื้นที่การรถไฟฯที่ปล่อยทิ้งร้างไม่ได้ทำประโยชน์ใดๆสามารถนำมาให้คนจนเช่าราคาถูกเพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยให้พ้นจากความเป็นชุมชนแออัด หรือสลัมได้   โดยเครือข่ายฟื้นฟูฯ ก็ได้นำมติดังกล่าวมาขับเคลื่อนจนสามารถนำพาสมาชิกชุมชนในจังหวัดขอนแก่นและที่ไม่ใช่สมาชิกบางส่วน รวม 15 สัญญาเช่าแปลงที่ มีชาวบ้านได้รับประโยชน์กว่า 500 ครอบครัว  โดยการเช่าที่ดินชาวชุมชนจะเช่าในพื้นที่ที่วัดจากกึ่งกลางรางออกมา 20 เมตร ซึ่งเว้นไว้สำหรับการพัฒนาในอนาคต  ถัดจากพื้นที่ดังกล่าวก็จะพัฒนาที่อยู่อาศัยตามนโยบายโครงการบ้านมั่นคง  อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ได้เป็นพลเมืองชั้นสองอีกต่อไป

ชุมชนหลักเมืองกำลังพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยเช่าที่ดินรถไฟชุมชนหลักเมืองกำลังพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยเช่าที่ดินรถไฟ

แต่สถานการณ์การพัฒนาระบบรางในปัจจุบันนี้เองที่ทำให้ชาวเครือข่ายฟื้นฟูฯต้องกลับมาอกสั่นขวัญหายกันอีกครั้ง เพราะมีข่าวจากทางการรถไฟฯถึงการใช้พื้นที่ในการก่อสร้างทั้ง 2 โครงการว่า อาจจะต้องใช้เนื้อที่ที่วัดออกจากกึ่งกลางรางไปข้างละ 40 เมตร รวม 2 ข้างเป็น 80 เมตร  ส่งผลให้ชาวชุมชนที่อาศัยอยู่ตามสองข้างทางต้องได้รับผลกระทบทั้งหมดไม่ว่าจะได้เช่าที่ดิน หรือยังไม่ได้เช่าแล้วก็ตาม

ที่ผ่านมาเครือข่ายฟื้นฟูฯและเครือข่ายสลัม 4 ภาค ได้เจรจาถึงแนวทางการแก้ปัญหาโครงการก่อสร้างทางรถไฟทางคู่ จิระ – ขอนแก่น ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนในรัฐบาลที่แล้ว  ซึ่งได้ข้อยุติเป็นที่พอใจทั้งสองฝ่ายคือ ชาวบ้านสามารถอาศัยอยู่ในที่ดินเดิมในระยะที่ห่างออกมาจากกึ่งกลางราง 20 เมตร ได้ หากมีบ้านเรือนที่ล้ำไปในเขต 20 เมตรแรกก็จะทำการรื้อขยับปรับเข้ามาอยู่ในเขต 20 เมตรหลัง ทำให้การก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ จิระ – ขอนแก่น สามารถดำเนินการไปต่อได้  โดยรูปแบบการก่อสร้างที่จะมีการยกระดับรางขึ้นในช่วงที่เข้าตัวเมืองขอนแก่น  ต้องใช้งบประมาณการก่อสร้างเพิ่มขึ้นจากเดิมที่จะสร้างในรูปแบบเลียบบนดินตามรางเดิมไปอีก 2,000 ล้านบาท นับว่าเป็นตัวเลขที่ไม่ถือว่าเยอะเกินไปหากจะต้องมีการขับไล่ชาวบ้านให้ไปอยู่ที่ใหม่ที่ไกลออกไปจากตัวเมืองกว่า 2,000 ครอบครัว ถ้าหากต้องดูจากด้านต่างๆที่ชาวบ้านต้องสูญเสียไป และรัฐต้องอุดหนุนช่วยเหลือทดแทนด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การหาที่ดินแห่งใหม่ , ระบบคมนาคมในพื้นที่แห่งใหม่ , การสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ หรือการลงทุนระบบสาธารณูปโภคในที่ดินแห่งใหม่ด้วยนั้น อีกทั้งยังต้องมีการก่อสร้างเพิ่มเติมเพื่อแก้ปัญหาจุดตัดระหว่างถนนกับรางรถไฟหลายจุดอีกด้วย ยังไม่รวมผลที่จะเกิดตามมาของชาวบ้านที่จะต้อง หางานใหม่ , หาที่เรียนให้ลูกใหม่ , ต้องเปลี่ยนวิถีความเป็นอยู่ใหม่ หากดูผลกระทบที่ตามมาเหล่านี้ จำนวนเม็ดเงินที่เพิ่มขึ้นมาจากการก่อสร้างที่จะไม่ให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนเดิมนั้นจึงถือว่ารัฐบาลคุ้มมากนัก

สิ่งที่ตรงกันเครือข่ายฟื้นฟูประชาสร้างสรรค์ และเครือข่ายสลัม 4 ภาค ไม่ได้มีเจตจำนงที่จะขัดขวางการพัฒนาของประเทศ หรือจังหวัดขอนแก่น แต่อย่างใด   เพราะที่ผ่านมาการรับผิดชอบต่อผลกระทบจากโครงการขนาดใหญ่ของรัฐส่วนมากคนจนที่เป็นผู้เสียสละให้กับคนกลุ่มต่างๆ  กลับไม่เคยได้รับการเหลียวแลมาก่อน  จะดูได้จากงบประมาณโครงการการก่อสร้างขนาดใหญ่ในหลายโครงการส่วนใหญ่จะไม่มีงบประมาณในด้านที่ช่วยเหลือ ทดแทน ให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ หรือถ้ามีก็ไม่เคยที่จะจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอต่อการช่วยเหลือ

แต่นั้นก็เป็นหนึ่งในโครงการที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนในจังหวัดขอนแก่นเพราะโครงการก่อสร้างทางรถไฟทางคู่จะก่อสร้างด้านฝั่งขวามือเท่านั้น (หันหน้าไปทางหนองคาย) ส่วนฝั่งซ้ายยังคงสงวนไว้สำหรับการก่อสร้างรถไฟรางมาตรฐานซึ่งรูปแบบการก่อสร้างยังไม่มีข้อยุติว่าจะใช้พื้นที่การก่อสร้างขนาดไหน นี่คือจุดเริ่มต้นอีกครั้งที่ชาวเครือข่ายฟื้นฟูฯจะต้องระดมสมองในการหาแนวทางการแก้ปัญหากันอีกครั้ง

โครงการก่อสร้างทางรถไฟขนาดทางมาตรฐาน 1.435 เมตร ซึ่งจะนำรถไฟความเร็วระหว่าง ๑๖๐-๑๘๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือกึ่งความเร็วสูง (Medium-Speed Rail) มาใช้วิ่งในเส้นทางดังกล่าว ส่วนอนาคตหากมีการเปลี่ยนแปลงสามารถนำรถไฟความเร็วสูง (High-Speed Rail) ที่มีความเร็วกว่า 250 กิโลเมตรมาวิ่งในรางรถไฟได้เช่นกัน

ในช่วงรัฐบาลก่อนหน้านี้เคยเสนอรูปแบบการก่อสร้างไว้เป็นโมเดลเดิม  ซึ่งมีการคัดค้านในหลายภาคส่วน  ในหลายความเห็นที่ยังไม่พร้อมจะดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นความเห็นของศาลระหว่างการสืบคดีการขอกู้งบประมาณในการก่อสร้างที่ว่า ควรจะดำเนินการพัฒนาระบบคมนาคมด้านอื่นให้ดีเสียก่อนแล้วค่อยมาสร้างระบบความเร็วสูงนี้  หรือกลุ่มองค์กรภาคประชาชนกลุ่มต่างๆที่สะท้อนถึงความไม่คุ้มในการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงในช่วงนั้น


แผนที่ตั้งชุมชนในเมืองขอนแก่นแผนที่ตั้งชุมชนในเมืองขอนแก่น


โครงการก่อสร้างรถไฟรางมาตรฐานในครั้งนี้ จึงจะเป็นบทพิสูจน์อีกครั้งว่ารัฐมีความใส่ใจต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด ในช่วงเวลาที่กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ( สนข.) เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการศึกษาการก่อสร้างโครงการนี้  การสร้างการมีส่วนร่วมในทุกส่วน โดยเฉพาะกลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบยิ่งควรจะต้องเปิดโอกาสให้เขาเหล่านั้นได้มีพื้นที่ในการแสดงความเห็น และเสนอแนวทางเลือกอื่นๆด้วย

แต่ที่ผ่านมาบริษัทที่ปรึกษาโครงการฯที่ได้รับการว่าจ้างจากรัฐบาลราว 200 ล้านบาท ที่จะต้องสร้างกระบวนการเหล่านี้กลับไม่ทำให้เกิดความมีส่วนร่วมจากทุกส่วน จะเห็นได้จากการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในจังหวัดขอนแก่นเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2558 ที่ผ่านมา การสื่อสารบอกกล่าวถึงการจัดเวทีประชาชนในจังหวัดขอนแก่นกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบกลับไม่ได้รับการติดต่อให้ร่วมเวทีแต่อย่างใด เครือข่ายฟื้นฟูฯหลังจากที่ได้ทราบข่าวการจัดเวทีดังกล่าวก่อนล่วงหน้า 1 วัน จึงเร่งรีบประสานผู้แทนชุมชนต่างๆไปเข้าร่วมเวทีนั้นเพื่อแสดงจุดยืนในการหาแนวทางการแก้ปัญหาร่วมกัน ฉะนั้นความจริงใจที่จะเปิดโอกาสรับฟังความเห็นอย่างเป็นกลาง และเป็นธรรม ควรจะเริ่มต้นตั้งแต่ในช่วงที่ศึกษา   ไม่เช่นนั้นแล้วความเข้าใจที่ไม่ตรงกันอาจจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินการก่อสร้างก็เป็นได้

การพัฒนาที่มีความจริงใจและโปร่งใส  พร้อมที่จะให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมจะได้รับความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างดี   หากแต่การพัฒนาโครงการใดๆที่ไม่มีความจริงใจและไม่โปร่งใสก็ย่อมที่จะเห็นประชาชนออกมาสร้างเวทีแสดงความเห็นของตนเอง   นี่คืออีกหนึ่งบททดสอบความจริงใจของรัฐที่มีความรับผิดชอบมากน้อยเพียงใดกับประชาชน 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จำคุกอีก 15 ปี 'พงศ์พัฒน์' ส่วยน้ำมัน-สินบนโยกย้าย ตร.

$
0
0

26 ก.พ. 2558  ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เบิกตัว พลตำรวจโทพงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง พร้อมพวกรวม 6 คน จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร มาฟังคำพิพากษา 2 คดี

คดีแรก พลตำรวจโทพงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์, พลตำรวจตรีโกวิทย์ วงศ์รุ่งโรจน์ และพลตำรวจตรีบุญสืบ ไพรเถื่อน ถูกฟ้องเป็นจำเลยคดีร่วมกันเรียกรับเงินจากขบวนการค้าน้ำมันเถื่อน เป็นเงินกว่า 147 ล้านบาท  ซึ่งทั้งสามคนให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา

ศาลจึงพิพากษาจำคุก คนละ 10 ปี แต่จำเลยรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 5 ปี ยกเว้นเฉพาะพลตำรวจตรีบุญสืบ ศาลลงโทษในข้อหาหมิ่นเบื้องสูงตามมาตรา 112  สั่งจำคุก 5 ปี รวมเป็น 15 ปี แต่ให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษเหลือจำคุก 7 ปี 6 เดือน

ส่วนคดีร่วมกันใช้ตำแหน่งหน้าที่เรียกรับเงินจากตำรวจในสังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง รายละ 3- 5 ล้านบาท รวมทั้งให้จัดส่งเงินเป็นรายเดือนเดือนละ 10,000-200,000 บาท

ศาลพิพากษาจำคุกพลตำรวจโทพงศ์พัฒน์ และพลตำตรวจตรีโกวิทย์ คนละ 20 ปี  จำเลยรับสารภาพลดโทษเหลือ คนละ 10 ปี ส่วนพลตำรวจเอกวุฒิชาติ เลื่อนสุคันธ์, ดาบตำรวจสุรศักดิ์ จันเงา และ ดาบตำรวจฉัตรินทร์ เหล่าทอง พิพากษาจำคุกคนละ 12 ปี ลดโทษเหลือคนละ 6 ปี

สำหรับพลตำรวจโทพงศ์พัฒน์ ศาลได้มีคำพิพากษาไปแล้วก่อนหน้านี้ 3 คดี ได้แก่
- คดีความผิดตาม พ.ร.บ.ฟอกเงินลงโทษจำคุก 10 ปี
- คดีเรียกรับส่วยจากบ่อนการพนันจำคุก 6 ปี 
- คดีครอบครองไม้ชิงชัน ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้จำคุก 9 เดือน 

เมื่อรวมกับ 2 คดี ในวันนี้ อีก 15 ปี รวมโทษจำคุกเท่ากับ 31 ปี 9 เดือน อย่างไรก็ตาม กฎหมายกำหนดให้จำเลยรับโทษจำคุกรวมสูงสุดไม่เกิน 20 ปี

 

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์และครอบครัวข่าว 3

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผลเจรจาปาฐกถาป๋วย ยังยืนยัน ‘ยงยุทธ’ แต่ยกเลิกช่วงกวี ‘เนาวรัตน์’

$
0
0

บัณฑิตอาสาสมัครปกป้องประชาธิปไตยเผยผลการเจรจากับตัวแทนผู้เกี่ยวข้องกับกำหนดการ “โครงการสืบสานปณิธานป๋วย” ระบุทางออกต้องให้ “ยงยุทธ” ถอนตัวไปเองซึ่งมีความเป็นไปได้ยาก แต่ยกเลิกกวีเนาวรัตน์ ด้านฝ่ายคัดค้านเดินหน้าทำกิจกรรมต่อ

 



กลุ่มบัณฑิตอาสาสมัครปกป้องประชาธิปไตย เดินหน้าทำกิจกรรมต่อ หลังผู้จัดงานสืบสานปณิธานป๋วย ยังยืนยันให้นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปาฐกถาในงาน

27 ก.พ. 2558 กลุ่มบัณฑิตอาสาสมัครปกป้องประชาธิปไตย (บอ.ป.) ได้เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2558 ที่ผ่านมาตัวแทนกลุ่มได้เข้าพบเพื่อเจรจากับตัวแทนของผู้เกี่ยวข้องกับกำหนดการ "โครงการสืบสานปณิธาน… ป๋วย" ณ สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยมีตัวแทนจาก บอ.ป.จำนวน 4 คน และตัวแทนผู้เกี่ยวข้องกับกำหนดการจัดงานจำนวน 8 คน เข้าร่วมการเจรจาดังกล่าว บรรยากาศการเจรจาเป็นไปด้วยดีและมีข้อสรุปเนื้อหาการเจรจาคร่าวๆ ดังนี้

นายอภิชาติ พงษ์สวัสดิ์ หนึ่งในตัวแทนกลุ่ม บอ.ป. เริ่มการเจรจาด้วยการชี้แจงเหตุผลและความเป็นมาของการคัดค้าน นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนาย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐประหาร โดยชี้ให้เห็นถึงความไม่เหมาะสมของบุคคลทั้งสอง ที่มีความเกี่ยวพันกับคณะรัฐประหารที่ยึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รวมถึงภายใต้บรรยากาศทางสังคมการเมืองปัจจุบันซึ่งเต็มไปด้วย การข่มขู่ จับกุม คุกคาม ทรมาน ประชาชนจำนวนมากตลอดหลังการรัฐประหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชนบทที่มีการอ้างคำสั่ง คสช. เข้าไล่รื้อบ้านเรือน และจับกุมชาวบ้านไปจำนวนมาก ด้วยเหตุดังกล่าวบุคคลทั้งสอง จึงไม่เหมาะสมที่จะมาร่วมงานในวาระสำคัญที่ทางผู้จัดใช้ชื่อว่า "โครงการสืบสานปณิธานงานอาสาสมัครและงานพัฒนาของ ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เนื่องในโอกาสรำลึก 100 ปี ชาตกาล" ซึ่งขัดแย้งโดยตรงกับหลักคิด ปณิธาน และปรัชญา ของป๋วย อึ๊งภากรณ์ และของสำนักบัณฑิตอาสาสมัคร

ด้าน ผศ.ดร.จิตติ มงคลชัยอรัญญา ผู้อำนวยการสำนักบัณฑิตอาสาสมัคร ชี้แจงถึงรายละเอียดของงาน ว่ากำหนดการดังกล่าวเป็นการรวมเอางานทั้ง 3 ช่วง เข้าไว้ในโครงการเดียวกันคือ ช่วงเช้า ประชุมกรรมการจัดงาน 100 ปีชาตกาล ของ ดร.ป๋วย และช่วงบ่าย จะเป็นงานปาฐกถา ซึ่งทางมูลนิธิบัณฑิตอาสาสมัครได้รับผิดชอบในส่วนนี้รวมถึงงานเสวนา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ให้คนรู้จัก อ.ป๋วย และงานพัฒนามากขึ้น สำหรับช่วงเย็นเป็น "งานผีเสื้อคืนรัง" ซึ่งเป็นกิจกรรมยามกลางคืนของศิษย์เก่าหลักสูตรบัณฑิตอาสาสมัคร ซึ่งศิษย์เก่ารับผิดชอบ และในช่วงค่ำ นายเนาวรัตน์ไม่ได้มาร่วมงาน เพียงแต่ทาง ผู้อำนวยการได้ดำเนินการขอบทกวีที่เกี่ยวกับบัณฑิตอาสาสมัคร มาและตั้งใจมอบให้คนอื่นอ่านในงานเพียงเท่านั้น

ด้านตัวแทนมูลนิธิบัณฑิตอาสาสมัคร ในฐานะผู้ติดต่อทาบทามนายยงยุทธมาปาฐกถาในงาน ได้ชี้แจงว่าทางมูลนิธิมีความเห็นกันว่านายยงยุทธ ยุทธวงศ์ เป็นหลาน อ.ป๋วย ซึ่งมีความรักและเคารพ อ.ป๋วย และมีบทความที่เขียนชื่นชม อ.ป๋วย รวมทั้งไม่คิดว่าการเชิญดังกล่าวจะเกี่ยวข้องกับการเมือง เพราะตั้งใจเชิญมาพูดในแง่มุมชีวิตของ อ.ป๋วยเท่านั้น นอกจากนั้นรองนายกฯ ท่านนี้ยังเคยร่วมขับเคลื่อนงานของของ คณะกรรมการจัดงาน 100 ปี ป๋วยอีกด้วย ทำให้ไม่เห็นว่าการเชิญนายยงยุทธมาร่วมงานจะมีปัญหาอะไร และเหตุผลคัดค้านว่าท่านยงยุทธเกี่ยวพันกับคณะรัฐประหาร ก็ไม่มีน้ำหนักเพียงพอเนื่องจาก อ.ป๋วยท่านก็เคยรับใช้คณะรัฐประหารในช่วงสมัยจอมพลสฤษดิ์เช่นเดียวกัน

นอกจากนั้น มีตัวแทนผู้เกี่ยวข้องกับการจัดงานโครงการดังกล่าวเข้ามาเพิ่มเติมเพื่อให้ความเห็น ผศ.ดร.ประชา คุณธรรมดี อธิบายว่า การเชิญอาจารย์ยงยุทธ มีข้อจำกัดหลายประการที่จะถอนชื่อท่านออกไป เนื่องจาก กำหนดการมีความกระชั้นชิดจนเกินที่จะถอดออกไป และทางผู้จัดได้ดำเนินการเรียนเชิญไปแล้ว ซึ่งท่านรองนายกก็ได้ตอบรับมาว่าจะมาร่วมงานอย่างเป็นทางการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทางออกก็คือต้องให้รองนายกท่านถอนตัวไปเอง ซึ่งมีความเป็นไปได้ยากมาก ดังนั้นจึงเห็นว่าทางบัณฑิตอาสาสมัครผู้คัดค้านก็ได้แสดงออกไปแล้วน่าจะเพียงพอแล้ว

ประกอบกับมีความเห็นส่วนตัวว่า บุคคลที่ทำงานรับใช้คณะรัฐประหาร ไม่ควรถูกปิดกั้นให้เข้าร่วมกิจกรรมเพราะว่า อาจารย์ป๋วยในสมัยหนึ่งก็เคยทำงานให้กับจอมพลสฤษดิ์เช่นเดียวกัน เช่นกรณี ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนไทย ประจำคณะมนตรีดีบุกระหว่างประเทศ และไม่มีความสำคัญว่าที่มาของตำแหน่งทางการเมืองจากระบอบอะไรอาจจะไม่สำคัญเท่ากับมีความตั้งทำงานเพื่อส่วนรวมหรือประเทศชาติจริงหรือไม่ต่างหากกรณีนี้ ผศ.ดร. ประชา ได้ยกตัวอย่างการเข้าไปร่วมทำงานในรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาของ หม่อมราชวงศ์ ปรีดียาธร เทวกุล ว่าเป็นการเข้าไปช่วยกอบกู้เศรษฐกิจที่กำลังแย่ในปัจจุบันของประเทศ นอกจากนั้นแล้วคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันหลายท่านก็มีส่วนร่วมในการสนับสนุนการเสนอชื่อ อ.ป๋วยให้ได้รับรางวัล ยูเนสโกอีกด้วย การคัดค้านจะก่อให้เกิดปัญหาต่อกระบวนการดังกล่าวได้

"เงินจัดงาน 100 ปีชาตกาล อ.ป๋วย มาจากรัฐบาล จำนวน 1,000 ล้านบาท ที่จะต้องใช้ดำเนินการทุกงานที่จะเกิดขึ้นในช่วง 3 ปีนี่ และเรามีความจำเป็นที่จะต้องทำงานต่อไป หากมีการคัดค้านแบบนี้ก็จะทำให้งานทุกอย่าง shut down อุทยานป๋วยที่เราอยากให้เกิดก็จะไม่เกิด รวมไปถึงการขอให้ อ.ป๋วย เป็นบุคคลของโลก ทีมร่างก็จะเป็นทีมของหม่อมอุ๋ย หากมีปัญหาก็จะทำให้การขอชะงักลงอีกได้" ผศ.ดร.ประชากล่าว

นายอิทธิพล โคตะมี หนึ่งในตัวแทนของกลุ่ม บอ.ป. เสนอว่า การจะกล่าวถึงความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างอาจารย์ป๋วยกับจอมพลสฤษดิ์ อาจจะต้องมีความระมัดระวัง เนื่องจาก อ.ป๋วยดำรงตำแหน่งเป็นข้าราชการประจำ การทำงานดังกล่าวเป็นเรื่องปกติในระบบบริหารราชการแผ่นดิน ที่ปัญญาชนฝ่ายก้าวหน้าจำนวนมากก็ทำเช่นนั้นเช่นกัน การเป็นข้าราชการในช่วง จอมพล ป ด้วย. ถนอมด้วย เช่นเดียวกับ ข้าราชการฝ่ายก้าวหน้าหลายคน แต่จุดชี้ขาดก็คือ ป๋วยปฏิเสธการรับตำแหน่งทางการเมือง และปกป้องการแทรกแซงความเป็นอิสระของข้าราชการจากระบอบเผด็จการทหาร (ดูตัวอย่างการปฏิเสธจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ต้องการซื้อ สหธนาคารกรุงเทพ จำกัด แต่เนื่องจากธนาคารแห่งนั้น กระทำผิดระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทย และดูความเห็นของรังสรรค์ ธนะพรพันธ์ ในงานสัมมนาที่คณะเศรษฐศาสตร์หลังจากป๋วย อึ๊งภากรณืเสียชีวิตไม่นาน- ผู้เขียนสรุป) แต่กรณียงยุทธเป็นการบิดเบือนปณิธาณป๋วย ส่วนกรณีเนาวรัตน์ นอกจากเนาวรัตน์ไม่เกี่ยวข้องกับป๋วยเลย ยังเคยมีประวัติเขียนกวีดูแคลนชาวบ้านในชนบทหลายครั้งหลายครา

"หากสำนักบัณฑิตอาสา ซึ่งอนาคตคือ วิทยาลัยป๋วยฯ จะต้องพัฒนาขึ้นไป ดังนั้นอาจารย์ป๋วยไม่ใช่ตัวบุคคล แต่คือสถาบัน และหากจะทำให้เป็นที่ยอมรับ จะต้องไม่ถูกเคลือบแคลงสงสัย ยิ่งหากจะเป็นบุคคลของโลกก็ต้องทำให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งยึดโยงกับชุดคุณค่าสากล แต่หากบุคคลที่เราเชิญมาพูดแทนภาพป๋วย คือคนที่มาจากรัฐบาลทหาร จะส่งผลให้ป๋วยเสื่อมเสีย แล้วจะทำให้เราไม่สามารถพูดถึงป๋วยได้ชัดถ้อยชัดคำ"

สำหรับข้อสรุปการเจรจามีดังนี้

- ตัวแทนผู้เกี่ยวข้องกับกำหนดการงานยอมรับว่าไม่ได้คิดให้รอบด้านในเรื่องการเชิญบุคคลมาร่วมงาน ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นก็จะเป็นบทเรียนในครั้งต่อไป แต่ครั้งนี้จำเป็นต้องคงชื่อนายยงยุทธ ยุทธวงศ์ ไว้ แต่จะปรับกำหนดการไม่ให้มีลักษณะเป็นปาฐกถา
- ผู้อำนวยการสำนักบัณฑิตอาสาสมัคร รับปากว่าจะยกเลิกกวีเนาวรัตน์ในช่วงเวลากลางคืนตามกำหนดการ
- ด้านตัวแทน บอ.ป. ยังคงยืนยันที่จะเคลื่อนไหวคัดค้านจนถึงที่สุด หากรองนายกในรัฐบาล คสช. ยังคงมาร่วมกิจกรรม
- ด้านตัวแทนผู้เกี่ยวข้องกับกำหนดการยอมรับการเคลื่อนไหว แต่ขอให้เป็นการเคลื่อนไหวคัดค้านอย่างมีอารยะ ซึ่งทาง บอ.ป. ได้ยอมรับข้อเสนอ เนื่องจากเห็นว่า การคัดค้านบุคคลที่เกี่ยวพันกับคณะรัฐประหารทั้งสองของ บอ.ป. คือ คัดค้านการขัดต่อหลักการสันติประชาธรรม ตามปณิธานของ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ทาง บอ.ป.ต้องการรักษาปณิธานให้สืบไปด้วยการดำเนินการคัดค้านบุคคลทั้งสองอย่างถึงที่สุดด้วยแนวทางสันติประชาธรรมเช่นกัน

ในช่วงท้ายของการเจรจา บอ.ป. ได้มีการมอบจดหมายเปิดผนึกให้แก่ทางผู้อำนวยการสำนักบัณฑิตอาสาสมัครและตัวแทนมูลนิธิบัณฑิตอาสาสมัคร และได้มอบรูปปณิธานอาจารย์ป๋วย ให้ผู้อำนวยการสำนักบัณฑิตอาสาสมัครไว้เป็นที่ระลึก
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ปานเทพ' โวยแทรกแซงภาคประชาชนหลังไม่มีชื่อตัวเองเป็น กก.ทางออกพลังงาน

$
0
0

“ปานเทพ” ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ข้องใจไม่มีชื่อ “น.ต.ประสงค์-ปานเทพ” เป็นกรรมการร่วมเพื่อหาทางออกการสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ตามที่ได้มีการเสนอรายชื่อในสัดส่วนของคณะกรรมการที่มาจากภาคประชาชน



27 ก.พ. 2558 สำนักข่าวไทยรายงานว่านายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ผู้จัดรายการ “ยามเฝ้าแผ่นดิน” และคอลัมนิสต์ หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ เดินทางมายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี โดยมีทีมงาน ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รับแทน ซึ่งดูแลรับผิดชอบในเรื่องของคณะกรรมการร่วมเพื่อหาทางออก การสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 เป็นการสอบถามถึงการตั้งคณะกรรมการฯ ชุดดังกล่าว  ที่ไม่มีรายชื่อ  น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ  และนายปานเทพ  ตามที่ได้มีการเสนอรายชื่อในสัดส่วนของคณะกรรมการที่มาจากภาคประชาชน  ซึ่งอาจเกิดจากความผิดพลาดในการดำเนินการ  จนอาจทำให้เกิดความเข้าใจในทางเสียหายต่อนายกรัฐมนตรี ว่ามีความพยายามในการแทรกแซงการกำหนดตัวแทนภาคประชาชน

“อาจเป็นการทำลายบรรยากาศความจริงใจในการเจรจาหาทางออกให้กับประเทศ เพื่อการปฎิรูปพลังงานได้ เรื่องนี้จึงมีความสำคัญที่ต้องหาทางป้องกัน มิให้ปัญหาเช่นนี้เกิดขึ้นซ้ำซาก จึงขอให้ภาครัฐประสานงานกับภาคประชาชนอย่างใกล้ชิด และเคารพการตัดสินใจในการส่งตัวแทนของภาคประชาชน รวมถึงการรักษากติกาในการกำหนดตัวบุคคลให้เท่ากันระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน” นายปานเทพ กล่าว

นายปานเทพ  กล่าวว่า ที่มีการเลื่อนการเปิดสัปทานรอบที่ 21 ออกไป ทางเครือข่ายประชาชน เสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและภาคประชาชน 3 คณะ เพื่อทำงานคู่ขนานกัน เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ  และครอบคลุมในทุกประเด็น รวมถึงการจัดการแปลงปิโตรเลียมที่จะสิ้นสุดสัมปทานและแปลงปิโตรเลียมใหม่ข้างเคียงแปลงที่ดำเนินการผลิตแล้วในปัจจุบัน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เตรียมส่งฟ้อง 'อภิรุจ-วันทนีย์ สุวะดี' หลังสารภาพทุกข้อหา

$
0
0

กองปราบเตรียมนำนายอภิรุจและนางวันทนีย์ สุวะดี พร้อมสำนวนสั่งฟ้องฐานหมื่นเบื้องสูง และอื่นๆ ส่งฟ้องต่ออัยการ หลังทั้งสองรับสารภาพทุกข้อกล่าวหา ด้านนายบุญธรรม บุญเทพประทาน หรือ "ป๋าชื่น" มอบตัวสู้คดี อ้างไม่เคยแอบอ้างเบื้องสูง

27 ก.พ. 2558สำนักข่าวไทยรายงานว่านายอภิรุจ และนางวันทนีย์ สุวะดี เข้าพบพนักงานสอบสวนกองปราบปราม ตามนัดหมายหลังเข้ามอบตัวในความผิดฐานหมิ่นเบื้องสูง, ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนได้รับความเสียหาย และใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิดฐานแจ้งความเพื่อกลั่นแกล้งให้ผู้อื่นได้รับโทษทางอาญา

พันตำรวจเอก อัคราเดช พิมลศรี รักษาราชการแทนผู้บังคับการกองปราบปราม เปิดเผยว่า ขั้นตอนจากนี้จะนำตัวผู้ต้องหา ไปขอหมายขังจากศาลอาญารัชดาภิเษก ก่อนนำสำนวนความเห็นสั่งฟ้องของพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามส่งให้พนักงานอัยการพิจารณาสั่งคดี พร้อมคัดค้านการประกันตัว จากกรณีที่ถูกนางสาวศวิตา มณีจันทร์  ชาวจังหวัดราชบุรี กล่าวหาว่าใช้อิทธิพลกลั่นแกล้งจนได้รับโทษทางอาญา จนถูกจำคุก 1 ปี 6 เดือน โดยนายอภิรุจและนางวันทนีย์มีสีหน้าเรียบเฉย

นายอภิรุจ และนางวันทนีย์ เผยรับสารภาพทุกข้อกล่าวหา ยอมรับผิดในสิ่งที่เกิดขึ้นและไม่มีเจตนาที่จะกระทำความผิด พร้อมยืนยันไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีอื่นๆ รวมถึงคดีแอบอ้างอ้างสถาบันเบื้องสูงในการเปิดบ่อนการพนัน

ป๋าชื่นมอบตัวสู้คดีอ้างไม่เคยแอบอ้างเบื้องสูง

วันเดียวกันนี้ (27 ก.พ.) สำนักข่าวไทยยังรายงานว่านายบุญธรรม บุญเทพประทาน หรือ ป๋าชื่น กรรมการบริษัทบ้านชุมทองจำกัด และบริษัทเขาใหญ่เบเวอร์ลี่ฮิลล์ จำกัด เข้ามอบตัวกับพลตำรวจเอกสมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หลังถูกออกหมายจับในข้อหา แอบอ้างเบื้องสูง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากกรณีหลอกลวงประชาชนเพื่อซื้อที่ดินนิคมสร้างตนเอง ลำตะคอง บริเวณเขาหนองเชื่อมกว่า 500 ไร่ ในตำบลขนงพระ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา และเป็นพื้นที่รอยต่อกับเขตทหาร

นายบุญธรรม ปฏิเสธว่าตนเองไม่เคยแอบอ้างสถาบัน แต่ยอมรับอยากได้ที่ดินที่เขาใหญ่ซึ่งมีอากาศดีเป็นแหล่งโอโซนอันดับ7ของโลก มาจัดสรรขายเพื่อเก็งกำไร โดยมีนายเสฏฐวุฒิ เพ็งดิษฐ์ ซึ่งเป็นนายหน้าค้าที่ดินในพื้นที่ดังกล่าวมาเสนอขายที่ดินบริเวณนี้ให้ ในราคาไร่ละไม่เกิน1แสนบาท ตนเห็นว่ามีราคาถูก และพื้นที่ทำเลดีน่าจะจัดสรรได้ในราคาสูง จึงตัดสินใจซื้อและนำไปจัดสรรขายต่อ ไร่ละ 6-7 แสนบาท หรือบางแปลงมีราคาสูงถึงหลักล้าน  ยืนยันไม่เคยไปบังคับชาวบ้านในพื้นที่ และไม่ทราบว่านายเสฏฐวุฒิ ใช้วิธีใดจึงได้มาซึ่งเอกสารสิทธิ์ เมื่อโอนกรรมสิทธิ์ได้จึงไม่ได้ติดใจสงสัยที่มาแต่อย่างใด ก่อนนำที่ดินดังกล่าวมาจัดสรรขาย. ต่อมาพลตำรวจตรีโกวิทย์ วงศ์รุ่งโรจน์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางซึ่งรู้จักสนิททสนมเป็นการส่วนตัว มาเห็นพื้นที่ดังกล่าว จึงขอแบ่งซื้อ ตนจึงได้ขายให้ในราคาถูกไร่ละไม่เกินสองแสนบาท และต่อมาพลตำรวจโทพงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ทราบเรื่องอยากซื้อที่ดินบริเวณดังกล่าวด้วยจึงขายให้ในราคาเดียวกัน

ทั้งนี้นายบุญธรรมยอมรับว่าเคยได้ยินพลตำรวจตรีโกวิทย์ พูดคุยกันในกลุ่มว่าต้องการซื้อที่ดินดังกล่าวเพื่อนำไปสร้างวัง อย่างไรก็ตามหลังมอบตัวพนักงานสอบสวนกองปราบปรามได้ควบคุมตัวนายทรงธรรมไปสอบปากคำเพิ่มเติมที่กองปราบปราม

พลตำรวจเอกสมยศ ระบุนายบุญธรรมเข้ามอบตัวด้วยความสมัครใจ ยืนยันจะให้ความเป็นธรรมอย่างเต็มที่ ซึ่งรายละเอียดไม่สามารถเปิดเผยได้เนื่องจากคดีดังกล่าวเป็นเรื่องละเอียดอ่อน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลอุทธรณ์ ยกฟ้อง คดี ‘บิลลี่ พอละจี’ หายตัวไป หลังถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า

$
0
0

ศาลอุทธรณ์ ยันตามศาลชั้นต้น ยกคำร้อง คดี ‘บิลลี่’ หายตัว ด้านอดีตหัวหน้าอุทยานแก่งกระจาน เผย ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทุกวันนี้ก็ยังตามหา ‘บิลลี่’ เหมือนกัน

 

27 ก.พ. 2558 เมื่อวานนี้ เว็บไซด์ Thai PBSรายงานว่า ที่ศาลจังหวัดเพชรบุรีอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 คดีที่ พิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาของ พอละจี รักจงเจริญ หรือ "บิลลี่" ยื่นคำร้องให้ไต่สวนฉุกเฉินเพื่อสั่งให้ ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าอีก 3 คนที่เข้าควบคุมตัว บิลลี่ โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ปล่อยตัว บิลลี่ โดยศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ยกคำร้องเนื่องจากน้ำหนักไม่เพียงพอที่จะเชื่อได้ว่า บิลลี่ยังถูกควบคุมตัว

ขณะที่ ชัยวัตน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เปิดเผยว่ารู้สึกสบายใจขึ้นและจะทำงานเกี่ยวกับการรักษาทรัพยากรป่าไม้ต่อไป ส่วนกรณีที่ บิลลี่ที่หายตัวไปนั้นเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ได้พยายามค้นหาตัวเช่นเดียวกัน

ด้านภรรยาของ บิลลี่ ระบุว่าจะค้นหา บิลลี่ต่อไปจนกว่าคดีจะสิ้นสุด

สำหรับ พอละจี รักจงเจริญ หรือ "บิลลี่" เป็นแกนนำชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี หายตัวไปตั้งแต่วันที่ 17 เม.ย. 2557 โดยมีรายงานว่าก่อนจะหายตัวไป  บิลลี่ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานควบคุมตัวไปสอบสวน อ้างความผิดซึ่งหน้าว่าเจอรังผึ้งและน้ำผึ้ง 6 ขวด แต่ทางอุทยานฯ ยืนยันว่าได้ปล่อยตัว บิลลี่ไปแล้ว

นอกจากนี้ บิลลี่ยังเป็นแกนนำชาวกะเหรี่ยงในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ที่มีข้อมูลว่าก่อนจะหายตัวไปนั้น บิลลี่กำลังเตรียมข้อมูลในคดีที่ชาวบ้านกะเหรี่ยงบางกลอยฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และ ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จากกรณีที่การเข้ารื้อทำลาย เผาบ้านเรือนและทรัพย์สินของชาวบ้านกะเหรี่ยงกว่า 20 ครอบครัวที่บ้านบางกลอยบนเมื่อ ก.ค. 2554

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

FCC เห็นชอบข้อบังคับใหม่ ห้ามปิดกั้นเนื้อหา-สนับสนุนความเป็นกลางทางอินเทอร์เน็ต

$
0
0

วานนี้ (26 ก.พ.2558) คณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสาร (Federal Communications Commission) หรือเอฟซีซีของสหรัฐอเมริกา ลงมติเห็นชอบข้อบังคับใหม่ของการกำกับกิจการอินเทอร์เน็ต โดยระบุให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์เป็นสาธารณูปโภค (public utility) อย่างหนึ่ง

คณะกรรมการมีมติ 3 ต่อ 2 โดยข้อบังคับใหม่ระบุไม่ให้มีการปิดกั้นเนื้อหาใดๆ บนอินเทอร์เน็ต รวมทั้งห้ามไม่ให้บริษัทอินเทอร์เน็ตและบริษัทสื่อที่มีกำลังจ่ายสูง สามารถจ่ายเงินผู้ให้บริการบรอดแบนด์เพื่อให้บริการของตนเร็วกว่ารายอื่นได้

การออกข้อบังคับทั้งสองนี้เป็นการสนับสนุนหลักการสำคัญว่าด้วยความเป็นกลางทางอินเทอร์เน็ต (net neutrality) ซึ่งมีใจความว่า ผู้ให้บริการควรสามารถส่งมอบข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตทุกชนิดให้กับผู้ใช้บริการได้อย่างเท่าเทียม ไม่ว่าข้อมูลเหล่านั้นจะมาจากผู้ให้บริการรายใดหรือเป็นข้อมูลประเภทไหน

ทอม วีลเลอร์ ประธานคณะกรรมการระบุว่า เอฟซีซีจะทำทุกวิถีทางเพื่อปกป้องผู้บริโภคและผู้บุกเบิกนวัตกรรม ด้วยการรักษาบทบาทของอินเทอร์เน็ต ในฐานะที่เป็นหัวใจสำคัญของเสรีภาพในการแสดงออกและหลักการประชาธิปไตย

วีลเลอร์ให้เหตุผลของการออกข้อบังคับดังกล่าวว่า การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมีความสำคัญ “มากเกินกว่าที่จะปล่อยให้ผู้ให้บริการบรอดแบนด์เป็นคนออกกฎ”

ข้อบังคับดังกล่าวยังรวมไปถึงการให้มีการปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ และรับรองว่าผู้พิการและผู้อาศัยในพื้นที่ห่างไกลจะสามารถเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตด้วย

ความเปลี่ยนแปลงสำคัญในข้อบังคับใหม่ที่จะกระทบกับผู้ให้บริการบรอดแบนด์ มีดังนี้

  • การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์จะถูกจัดหมวดใหม่ให้เป็นบริการการสื่อสาร (telecommunications service) ซึ่งหมายความว่าบริการนี้จะถูกบังคับด้วยกฎที่เข้มงวดขึ้น
  • ผู้ให้บริการบรอดแบนด์จะไม่สามารถปิดกั้นเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ต หรือเพิ่มความเร็วในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพื่อแลกกับค่าตอบแทนได้
  • ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตจะไม่สามารถเจรจาต่อรองกับผู้ผลิตเนื้อหา ให้การรับส่งข้อมูลไปยังผู้ใช้ของตนทำได้อย่างราบรื่นขึ้น หรือที่เรียกว่า “การจ่ายเพื่อให้ได้สิทธิพิเศษ” (paid prioritisation)
  • ข้อตกลงการเชื่อมต่อโครงข่าย ซึ่งบริษัทผู้ผลิตเนื้อหาจ่ายให้กับผู้ให้บริการบรอดแบนด์เพื่อเชื่อมต่อไปยังโครงข่าย จะต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลเช่นกัน (Interconnection deals, where content companies pay broadband providers to connect to their networks, will also be regulated)
  • บริษัทที่รู้สึกว่าเสียค่าบริการอย่างไม่เป็นธรรมสามารถร้องเรียนไปยังเอฟซีซี ซึ่งจะพิจารณาข้อร้องเรียนเป็นรายกรณีไป
  • ข้อบังคับทั้งหมดจะบังคับใช้กับทั้งผู้ให้บริการเคลื่อนที่ (mobile) และผู้ให้บริการประจำที่ (fixed line)
  • เอฟซีซีจะไม่นำเนื้อหาบางหมวดของข้อบังคับใหม่มาใช้ หนึ่งในนั้นรวมถึงการกำกับราคาการให้บริการอินเทอร์เน็ต

 

ที่มา

http://www.nytimes.com/2015/02/27/technology/net-neutrality-fcc-vote-internet-utility.html
http://www.bbc.com/news/technology-31638528

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทิชา ณ นคร ลาออก สปช. และ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ

$
0
0

"ทิชา ณ นคร" แจ้งลาออก 2 ตำแหน่งได้แก่ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญให้มีผล 1 มีนาคมนี้ ระบุไม่เคยคิดสมัคร สปช. แต่ผู้ใหญ่ขอ - 4 เดือนเต็มเพียงพอแล้วสำหรับภาวะปลาผิดน้ำ

28 ก.พ. 2558 - ทิชา ณ นคร สมาชิก สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้แจ้งขอลาออกจากการดำรงดำรงตำแหน่งทั้งสอง โดยมีรายละเอียดในจดหมายชี้แจงอยู่ในเพจบ้านกาญจนาภิเษก กรมพินิจดังนี้

ขอแจ้งการลาออก
จากสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)
จากกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนูญ

ข้าพเจ้านางทิชา ณ นคร สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ลำดับที่ 091 และหนึ่งในสามสิบหกคนในคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ "ขอลาออกจากตำแหน่งทั้งสองคือสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2558"

ทิชา ณ นคร

สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ
กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ในสเตตัสของ บ้านกาญจนาภิเษก กรมพินิจได้นำข้อความของทิชา ณ นคร มาเผยแพร่ด้วยว่า

28-2-58 : ถึงเวลาที่ต้องหมดเวลากับบางภารกิจ !!!

•) เบื้องต้นไม่ได้คิดจะสมัคร สปช. แต่ผู้ใหญ่ที่เคารพที่สุดขอมาและหาเจ้าหน้าที่มาช่วยดำเนินการด้านเอกสารจนเกือบสมบูรณ์

•) ยกเว้น "วิสัยทัศน์" ที่เจ้าหน้าที่ไม่สะดวกใจจะเขียนให้ ...ป้าจึงเขียนความในใจเร็วๆ สั้นๆ

•) ทราบว่าผ่าน 7000 กว่าคนเข้าไป...และต้องไปรายงานตัว

•) นาทีนั้น...หาปริญญาบัตรไม่เจอ จนวันสุดท้าย ตั้งใจเบื้องต้นว่าจะไม่ไปรายงานตัว

•) สายๆ นักข่าวสภาฯ โทรศัพท์มาถามว่า...เหลือป้าคนเดียวแล้วนะ (จาก 250 คน อีก 1 คน แจ้งแล้วว่าอยู่ต่างประเทศ) ที่ยังไม่มารายงานตัว

•) เมื่อทราบเหตุผล นักข่าวก็ไปปรึกษาเจ้าหน้าที่สภาฯ ให้ สรุปว่า ส่งเอกสารภายหลังได้

•) ในวันแสดงวิสัยทัศน์ในสภาฯ เพื่อไปเป็นคณะฯ ยกร่างรัฐธรรมนูญโดยการโหวตลับ...

•) วันนั้นป้าต้องไปขึ้นศาลตามหมายเพื่อแถลงในฐานะผอ.ที่ปฎิเสธการให้ยาบางตัวแก่เยาวชนตามคำสั่งแพทย์และศาล

•) ทุกทุเลมากกว่าจะฝ่าด่านจราจรจราจลให้ทันเวลาแสดงวิสัยทัศน์

•) ในที่สุด...ผ่านโหวตในลำดับที่ 12 จาก ได้เป็น "กมธ."

•) ต่อมาทราบว่าเงินเดือนจากภารกิจนี้เยอะมาก ... สำหรับป้า !!!

•) จึงตัดสินใจ...หาที่บริจาคเงินบางส่วน ( 40 % ทุกเดือน ) ออกไป 

•) 4 เดือนเต็มเพียงพอแล้วสำหรับ ... ภาวะปลาผิดน้ำ

ขอบคุณและขอโทษทุกคนนะคะ

ป้ามล : คนไท

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิธิ เอียวศรีวงศ์: อารมณ์ความรู้สึกทางศาสนา

$
0
0

 

วิดีโอที่ผมชอบดูเป็นพิเศษคือ Les Miserables ชุดที่เป็นละครเพลง เพราะนอกจากเพลงไพเราะแล้ว ส่วนใหญ่ของผู้แสดงร้องเพลง (ซึ่งดีทั้งทำนองและเนื้อร้อง) ได้เป็นเลิศ ฟังแล้วจับใจมาก ว่างเมื่อไรผมจึงชอบนำมาเปิดดูเสมอ

ครั้งสุดท้ายที่ได้ดู จึงได้พบว่า มีศาสนาคริสต์ถึงสามศาสนาในละครเพลงเรื่องนี้ (หรือในนิยายเรื่องนี้) ก็ไม่น่าแปลกอะไรนะครับ จะหานักคิดของชาติอะไรที่หมกมุ่นกับศาสนายิ่งไปกว่านักคิดสมัยใหม่ของฝรั่งเศสได้ยาก ทั้งปฏิเสธ ทั้งสนับสนุน ทั้งตีความใหม่ ทั้งจัดสถานะให้ศาสนาไว้ในที่ต่างๆ ทางการเมืองและสังคมแตกต่างกันเป็นหลายสิบอย่าง ดังนั้น หาก วิกตอร์ อูโก ไม่พูดถึงศาสนาในนิยายชิ้นเอกนี้เลยสิ ถึงจะแปลก

ศาสนาคริสต์แรกเป็นของชาแวร์ต สารวัตรตำรวจ ผู้ตามล่าวัลชองตัวพระเอก ซึ่งเคยก่ออาชญากรรมลักขโมยเพื่อเอาเงินไปช่วยน้องสาวที่กำลังป่วยมาก่อน จนถูกจำขังให้ทำงานหนัก และได้รับภาคทัณฑ์ปล่อยตัว ในโลกของชาแวร์ต มนุษย์มีเพียงสองประเภท คือคนดีกับคนชั่ว หน้าที่ของตำรวจคือกีดกันคนชั่วออกไปจากโลกของคนดี ตัวเขามีหน้าที่รักษากฎหมายเพื่อผดุงระเบียบสังคมเช่นนี้

ดังนั้น จึงต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เพราะระเบียบสังคมเช่นนี้สอดคล้องกับกฎของพระเจ้า ซึ่งจะลงโทษคนชั่วซ้ำอีกเมื่อถึงวันชำระ กฎหมายคือประจักษ์พยานของพระเจ้าในโลกนี้ กฎหมายและพระเจ้าจึงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ศาสนาคริสต์ที่สองคือศาสนาของวัลชองและหลวงพ่อ (หรือคุณพ่อ) ที่ไม่เอาผิดกับเขา เมื่อจับได้ว่าเขาขโมยเครื่องเงินของโบสถ์ไป นี่คือคริสต์ศาสนาแห่งความรัก ความเข้าใจ และการให้อภัย ซึ่งสามารถชุบชูอาชญากรให้ออกมาเป็นคนที่มีคุณค่าต่อสังคมได้ ดังที่วัลชองช่วยเหลือลูกสาวของโสเภณีที่เขาหลงรักให้กลายเป็นหญิงสาวที่มีจิตใจอันงดงาม ช่วยชาแวร์ตให้รอดพ้นจากการถูกนักศึกษาปฏิวัติสังหาร ฯลฯ

ศาสนาคริสต์ที่สามคือศาสนาของนักศึกษาปฏิวัติ ผู้ฝันถึงสังคมที่มีความเท่าเทียม ปราศจากการกดขี่เอารัดเอาเปรียบ ที่ซึ่งทุกคนสามารถเสวยผลของการทำงานของตนได้โดยไม่ถูกผู้มีอำนาจแย่งชิงแบ่งส่วนไป ทั้งในบทเพลงและในเนื้อเรื่อง เราอาจคิดว่านักศึกษาปฏิวัติไม่มีศาสนาก็ได้ แต่โลกที่อุบัติขึ้นจากการปฏิวัติคือภาพสะท้อนอาณาจักรของพระเจ้าในสวนอีเดนนั่นเอง อันเป็นภาวะที่อาจกลับเกิดขึ้นได้ใหม่ โดยไม่ต้องรอถึงวันชำระ

ข้อสังเกตประการแรกก็คือ คริสต์ศาสนาทั้งสามไม่เกี่ยวหรือไม่ค่อยเกี่ยวกับโลกหน้า ทั้งหมดเป็นอุดมคติของศาสนาที่อาจและควรเกิดขึ้นได้ในโลกนี้ ตกมาถึงสมัยของ วิกตอร์ อูโก นักคิดฝรั่งเศสไม่ใส่ใจกับมิติของโลกหน้าในศาสนาอีกแล้ว แต่หากศาสนาจะยังมีอยู่ ก็ต้องอธิบายให้ได้ว่าศาสนาสัมพันธ์กับโลกนี้อย่างไร

ข้อสังเกตประการที่สองสำคัญกว่า เพราะเป็นประเด็นที่ผมอยากนำมาเปรียบกับพัฒนาการของพระพุทธศาสนาในประเทศไทย นั่นก็คือสิ่งที่เรียกทางสังคมวิทยาว่า religiosity ซึ่งผมไม่รู้จะแปลไทยว่าอย่างไรดีไปกว่าคำที่คนไทยใช้มานานแล้วคือ "ถือ" ศาสนา

การถือศาสนานั้น แบ่งคุณลักษณะออกได้เป็นสามอย่าง หนึ่งคือความรู้ความเข้าใจ (จะผิดหรือถูกตามคัมภีร์หรือไม่ก็ไม่สำคัญ) สองคือสิ่งที่กระทบต่อจิตใจซึ่งผมขอเรียกให้เข้าใจง่ายๆ ว่า อารมณ์ความรู้สึก (ก็อีกเหมือนกันนะครับ สิ่งที่รู้สึกหรือมีอารมณ์นั้นจริงหรือไม่ก็ไม่สำคัญ แต่รู้สึกจริงและมีอารมณ์จริงสำคัญกว่า เช่น คนเชื่อผีและได้เห็นผี เป็นต้น)

และสามคือการปฏิบัติศาสนา จะเป็นพิธีกรรมหรือนำมาใช้ในชีวิตก็ตาม

ผมอยากพูดถึงคุณลักษณะอย่างที่สองของการถือศาสนา นั่นคือด้านอารมณ์ความรู้สึก ถ้าจะแปลคำนี้ในภาษาอังกฤษว่า sentiment, emotion ก็อาจยังไม่พอในบางกรณี เพราะอารมณ์ความรู้สึกทางศาสนาอาจพัฒนาไปถึงขั้นที่อาจเรียกได้ว่าเป็น ecstasy ก็ได้ ในพิธีกรรมหรือสถานการณ์ที่เหมาะสม คือแรงเสียจนบังคับตัวเองไม่อยู่ ต้องไหลไปตามอารมณ์ความรู้สึกจนหมดตัว

เช่น ในพิธีมะหะหร่ำของ (แขก) เจ้าเซน (มุสลิมนิกายชีอะห์) ผู้ร่วมขบวนแห่ในบางสังคม ทำร้ายตนเองจนเลือดตกยางออก หรือการลุยไฟของพิธีไหว้เจ้าของชาวจีนที่ภูเก็ต เป็นต้น

ขอให้สังเกตด้วยว่า การถือคริสต์ศาสนาทั้งสามใน Les Miserables นั้น ผู้ถือล้วนมีอารมณ์ความรู้สึกในการถือศาสนาอย่างเข้มข้นทั้งสิ้น ชาแวร์ตไม่ได้ตามล่าวัลชองด้วยความรักความเกลียดส่วนตัว แต่พระเจ้าหรือระเบียบทางสังคมที่เขามีหน้าที่รักษาเชิดชูไว้ ทำให้เขาปล่อยวัลชองไปไม่ได้ แทบจะเท่ากับการปฏิเสธพระเจ้าทีเดียว เพราะวัลชองคือตัวแทนของผู้ทำลายระเบียบกฎหมาย ซึ่งเท่ากับต่อต้านพระเจ้า ดังนั้น เมื่อเขาได้รับการช่วยชีวิตจากวัลชอง จึงทำให้เกิดความว้าวุ่นใจอย่างสุดขีด ยิ่งเมื่อเขาปล่อยให้ซาตานวัลชองนำคนเจ็บไปโรงพยาบาล แทนที่จะจับกุมไว้ ก็เท่ากับเขาเริ่มวางใจซาตานด้วยการกระทำ ชีวิตของเขาจึงไร้ความหมายแก่ตนเองไปทันที

วัลชองเองได้รับการชุบจิตวิญญาณขึ้นมาใหม่จากหลวงพ่อที่ช่วยปกป้องเขาจากการก่ออาชญากรรมครั้งใหม่ จากนั้นเขาก็ยึดถือศาสนาคริสต์อย่างแน่วแน่ ไม่ใช่เพียงมีความเชื่อตามพระคัมภีร์เท่านั้น เมื่อต้องเลือกระหว่างการพูดเท็จ กับการยอมรับความจริงซึ่งจะทำให้คนงานทั้งหมดต้องตกงาน เพลงร้องในตอนนี้แสดงว่าไม่ใช่การเลือกระหว่างทางเลือกในทางโลกย์ธรรมดา เป็นทางเลือกทางศาสนา เขาหวั่นวิตกว่า หากเขาเลือกการกล่าวเท็จ เขาก็จะถูกพระเจ้าลงโทษ ในขณะที่การปล่อยให้กิจการล้มลงด้วยการยอมรับความจริง คือการปฏิเสธความรักของพระเจ้าซึ่งในทางปฏิบัติคือความรักต่อเพื่อนมนุษย์นั่นเอง ในที่สุดวัลชองจึงเลือกการหนีเป็นการปฏิบัติศาสนาที่พร้อมมูลที่สุด

นี่คืออารมณ์ความรู้สึกทางศาสนาที่รุนแรงและลึกซึ้ง เพราะกำกับการตัดสินใจของผู้ศรัทธาแม้ในยามวิกฤต เช่นเดียวกับการช่วยชีวิตชาแวร์ต และคำสัญญากับชาแวร์ตว่าเขาจะกลับมามอบตัว เมื่อได้พาคนเจ็บไปโรงพยาบาลแล้ว

ในส่วนอารมณ์ความรู้สึกทางศาสนาของนักศึกษาปฏิวัตินั้น เห็นได้ชัดจนไม่จำเป็นต้องอธิบายให้ยาวความ แม้การปฏิวัติอาจไม่ใช่คำสอนของคริสต์ศาสนา แต่อารมณ์ความรู้สึกที่รุนแรงอันมีต่อพันธะของการปฏิวัตินั้น ไม่ต่างอะไรจากอารมณ์ความรู้สึกทางศาสนาของชาแวร์ตและวัลชองแต่อย่างใด

ผมคิดว่าคุณลักษณะอย่างที่สองของศาสนาคืออารมณ์ความรู้สึกนี้ เป็นตัวชีวิตของศาสนา เพราะมันเชื่อมคุณลักษณะอย่างที่หนึ่งคือความรู้ความเข้าใจให้ต่อกับคุณลักษณะอย่างที่สามคือการปฏิบัติ หากไม่มีอารมณ์ความรู้สึกมาทำหน้าที่นี้ ศาสนาก็สูญเสียชีวิตไป อย่างที่เราพบได้ในพระพุทธศาสนาของไทยปัจจุบัน (หรือจะว่าไปก็ในการ "ถือศาสนา" อื่นของสังคมอื่นในโลกปัจจุบันอีกมาก)

การ "ปฏิรูปศาสนา" ซึ่งกระทำในช่วงที่รัฐไทยกำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ความเป็นรัฐสมัยใหม่ภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ นอกจากทำให้องค์กรคณะสงฆ์ตกอยู่ใต้การกำกับควบคุมของรัฐอย่างเต็มที่แล้ว ยังตัดรอนเนื้อหาด้านอารมณ์ความรู้สึกทางศาสนาของชาวพุทธไทยออกไปจนหมดอีกด้วย เพราะปัญญาชนไทยผู้นำการปฏิรูปอาศัยตรรกะของวิทยาศาสตร์ และเหตุผลนิยมแบบตะวันตกในยุคสมัยนั้น เป็นบรรทัดฐานในการตีความพระพุทธศาสนาที่พึงได้รับคำรับรองจากรัฐ

อารมณ์ความรู้สึกทางศาสนาของชาวพุทธไทยอยู่ที่ผี, เทวดา, เจ้าป่าเจ้าเขา, นรก, สวรรค์, อิทธิปาฏิหาริย์ ทั้งที่สอดคล้องและไม่สอดคล้องกับศีลธรรมแบบพุทธ ที่ไม่ละเมิดทรัพย์สินของผู้อื่นก็เพราะกลัวตกนรก ไม่ละเมิดทรัพย์สินสาธารณะก็เพราะกลัวผีหรือเทพซึ่งคุ้มครองสิ่งเหล่านั้นจะทำร้ายเอา แต่ความรู้ความเข้าใจพระพุทธศาสนาแบบนี้ขัดกับหลักวิทยาศาสตร์ จึงต้องถูกขจัดออกไปจากพระพุทธศาสนาที่ถูกปฏิรูปแล้ว (บางคนเรียกว่าพุทธศาสนาที่เป็นทางการ)

อำนาจของรัฐซึ่งขยายมากขึ้นทั้งทางกว้างและทางลึก ทำให้พระพุทธศาสนาแบบไทยซึ่งมีมาแต่เดิมถูกกีดกันกดทับมากขึ้น จนกระทั่งในสำนักคนทรงทุกวันนี้ พระพุทธรูปเป็นเพียงหนึ่งในบรรดาผีและเทพอีกหลายตนและองค์ที่ยกขึ้นบูชาบนหิ้งของอาจารย์ ความเกี่ยวพันกับพระพุทธศาสนาเหลือแต่สัญลักษณ์ แม้การทรงเจ้าเข้าผีเป็นอารมณ์ความรู้สึกทางศาสนาอย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่ไม่ใช่อารมณ์ความรู้สึกทางศาสนาของพระพุทธศาสนาแน่

พระพุทธศาสนาที่เป็นทางการของไทยทุกวันนี้ เป็นศาสนาที่โหว่ตรงกลาง คือมีความรู้ความเข้าใจหลักธรรมคำสอน อาจดีกว่าสมัยโบราณด้วย เพราะอาจรู้กว้างขวางไปถึงคัมภีร์มหายานและวัชรยาน ซึ่งโบราณไม่รู้ แต่ความรู้ความเข้าใจเหล่านี้ไม่สู้จะมีผลไปสู่การปฏิบัติมากนัก เช่น เหลือคนถือศีลกินเพลในวันพระน้อยลงเต็มที อดเหล้าเข้าพรรษาทีก็ต้องรณรงค์กันขนานใหญ่ และไม่ได้ผลนักเพราะยอดจำหน่ายสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ

นี่เป็นธรรมดาของศาสนาที่โหว่กลาง คือไม่มีส่วนที่เป็นอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งเป็นสะพานเชื่อมโยงความรู้ความเข้าใจไปสู่การปฏิบัติ และนี่เป็นผลอย่างหนึ่งที่เกิดกับศาสนาในยามที่ศาสนาเหลือแต่คำสอน, องค์กรนักบวช, สื่อ และผู้อ้างตนเป็นคนดีอีกฝูงใหญ่ ฯลฯ เมื่อศาสนาขาดอารมณ์ความรู้สึก

ผมยังอยากหยั่งลงไปถึงผลพวงของความโหว่กลางของพระพุทธศาสนาแบบทางการของไทย ในด้านอื่นๆ ที่อาจไม่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาโดยตรง

ความเฟื่องฟูของเครื่องรางของขลังและอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ต่างๆ ดังที่กล่าวข้างต้น ก็อาจมองได้ว่าเป็นผลพวงอีกอย่างหนึ่งของการที่พระศาสนาไม่มีอารมณ์ความรู้สึกทางศาสนา ผมไม่ได้หมายความว่าแต่ก่อนเขาไม่เล่นพระเครื่องนะครับ พระเครื่องเมื่อเริ่มเล่นกันแพร่หลายมากขึ้นนั้น เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกทางศาสนาทีเดียว เช่น การปลุกพระนั้นคืออารมณ์ความรู้สึกทางศาสนาอย่างแรง ชนิดที่จะเรียกว่า ecstasy ยังได้ แต่คุณของพระเครื่องอย่างพระสมเด็จนั้น แม้ปลุกขึ้น แต่จะเป็นผลได้จริง ผู้บูชาก็ต้องถือศีลห้าด้วย พระเครื่องในทุกวันนี้แทบไม่สัมพันธ์อะไรกับคำสอนในพระพุทธศาสนาอีกแล้ว เหลือแต่เพียงสัญลักษณ์เหมือนพระพุทธรูปเหนือหิ้งผีของ "อาจารย์" ใบ้หวยนั่นแหละ

สำนักสมาธิวิปัสสนาจำนวนมากริเริ่มและดำเนินการโดยฆราวาส รับ "สาวก" ได้จำนวนมากจนหลายแห่งทำในเชิงธุรกิจก็มี ความเฟื่องฟูของสมาธิวิปัสสนาคือการตอบสนองต่อสิ่งที่ขาดหายไปในพระพุทธศาสนาที่เป็นทางการ เพราะการทำสมาธิ (หากไม่ใช่พิธีกรรมแล้ว) คือเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกทางศาสนาโดยตรง แม้แต่ได้ขณิกสมาธิในช่วงสั้นๆ ก็เปี่ยมล้นด้วยอารมณ์ความรู้สึกอย่างรุนแรง ส่วนจะนำไปสู่การทำวิปัสสนาหรือไม่เป็นคนละเรื่อง ก็ดังที่ทุกท่านทราบแล้วว่า การทำสมาธิไม่ได้เป็นสมบัติของพระพุทธศาสนาเพียงอย่างเดียว มีในทุกศาสนา หรืออาจทำโดยไม่ต้องเกี่ยวกับศาสนาอะไรเลยก็ได้

ที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งในเรื่องนี้ก็คือ อาจารย์สำนักสมาธิจำนวนไม่น้อยที่มีศิษย์หาจำนวนมากนั้น เป็นผู้หญิง สตรีเพศเป็นพลังของอารมณ์ความรู้สึกทางศาสนาอย่างไร เป็นเรื่องยาวอีกเรื่องหนึ่งซึ่งยังไม่ขอคุยในที่นี้ เอาแต่ว่ามันเกี่ยวกันอย่างลึกซึ้งทีเดียว

ผลอีกด้านหนึ่งของศาสนาที่ไร้อารมณ์ความรู้สึก ต้องดูจากลุงบุญมีผู้ระลึกชาติได้ ลุงบุญมีผู้ "ถือศาสนา" ที่ยังครบถ้วนด้วยอารมณ์ความรู้สึก มีความสัมพันธ์กับผู้คนอย่างผู้ร่วมทุกข์ด้วยกันกว้างขวางมาก ทั้งคนงานอพยพในไร่ เพื่อนบ้าน ผู้ดูแลพยาบาล ฯลฯ ไปจนถึงผีของเมียและญาติที่ตายไปแล้ว แม้จนผีในตำนานกำเนิดชาวอีสานก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตลุงบุญมี แต่เด็กหนุ่มที่บวชหน้าไฟให้ลุงบุญมี (เป็นลูกหรือหลาน ผมก็ไม่แน่ใจ) นั้นแทบจะหาความสัมพันธ์กับคนอื่นไม่ได้เลย เพราะเขาถือศาสนาที่ไร้มิติของอารมณ์ความรู้สึก เมื่อนั่งดูรายการข่าวในโทรทัศน์ ทุกคนนั่งเงียบกริบ เพราะข่าวโทรทัศน์กำลังพูดถึงคนอื่นในสังคมวงกว้าง ซึ่งตนไม่รู้ว่าจะเชื่อมต่อตนเองเข้าไปกับคนที่เป็นนามธรรมเช่นนั้นได้อย่างไร

และว่าที่จริงเขาเชื่อมต่อกับตัวเองยังไม่ได้ด้วยซ้ำ เมื่อเขาชวนน้าออกไปกินข้าวฟังเพลงในตอนท้ายเรื่องนั้น วิญญาณของเขาออกไปฟังเพลง หรือตัวเขาออกไปฟังเพลงกันแน่ เขาเองก็ไม่รู้และไม่สนใจ เพราะวิญญาณของเขาไม่ได้อยู่ในผ้าเหลืองมาแต่ต้นแล้ว ผ้าเหลืองเป็นการปฏิบัติศาสนาที่ไร้อารมณ์ความรู้สึกเท่านั้น

หนังเรื่อง "ลุงบุญมีฯ" บอกเราว่า อารมณ์ความรู้สึกทางศาสนานั้น มีผลต่อความสัมพันธ์ทางสังคมของบุคคลด้วย เราเป็นหนึ่งในโครงข่ายความสัมพันธ์อันกว้างใหญ่ทั้งในชาตินี้และชาติก่อน หรือเป็นปัจเจกชนโดดๆ ที่ไม่เชื่อมโยงกับอะไรอีกเลย

เมื่อหาอารมณ์ความรู้สึกทางศาสนากับพระพุทธศาสนาที่เป็นทางการไม่ได้ คนอีกจำนวนมากทีเดียวนำเอาอารมณ์ความรู้สึกทางศาสนานี้ไปให้แก่บุคคล และบุคคลที่ได้รับโอนอารมณ์ความรู้สึกทางศาสนาไว้ได้มากที่สุดคือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบัน มีผู้ถามว่าเมื่อราษฎรสามัญได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวโรกาสต่างๆ เหตุใดจึงต้องหลั่งน้ำตา ผมคิดว่าคำตอบก็คือเป็นอารมณ์ความรู้สึกทางศาสนา เหมือนคนโบราณได้เห็นพระบรมธาตุลอยไปในอากาศเป็นแสงรุ่งเรืองก่อนจะลับหายเข้าไปในพระบรมธาตุเจดีย์สักองค์หนึ่ง ชาวพุทธเรียกอาการอย่างนี้ว่า "ปีติ"

อารมณ์ความรู้สึกทางศาสนาไม่ได้อุบัติขึ้นโดยไร้ที่มาที่ไป หากคิดถึงข้อมูลข่าวสารที่ประชาชนได้รับผ่านสื่อมาแต่เล็กแต่น้อยเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ รวมไปถึงผลในทางปฏิบัติทั้งในโครงการหลวงและการเดินตามพระราชดำริในเรื่องต่างๆ หากมองจากคุณลักษณะสามด้านของศาสนา ประชาชนรับรู้เกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจ และหนทางปฏิบัติซึ่งตนเองก็อาจมีส่วนร่วมโดยตรง เช่นโดยเสด็จพระราชกุศล จึงไม่แปลกอะไรที่คุณสมบัติด้านที่สองอันเกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึกทางศาสนาจะยึดกุมจิตใจของผู้ศรัทธาไปด้วย

ผมเชื่อว่า หากมองจากแง่มุมของความโหว่กลวงของศาสนา เราอาจอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมอีกหลายอย่างที่เกิดในสังคมไทยเวลานี้-ทั้งที่เกี่ยวกับศาสนาโดยตรง และเกี่ยวโดยเปรียบเทียบ-ว่าสัมพันธ์อย่างไรกับอารมณ์ความรู้สึกทางศาสนาซึ่งขาดหายไปในพระพุทธศาสนาแบบทางการของไทย

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ 20-26 ก.พ.2558
ที่มา:มติชนออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'อภิสิทธิ์' ไม่เห็นด้วยนายกไม่ต้องมาจากเลือกตั้ง ชี้หากข้อมูลพอไม่ต้องให้ 'ประยุทธ' เป็นพยานสลายชุมนุม 53

$
0
0

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุกรณี กมธ.ยกร่างฯ กำหนดให้ร่าง รธน.ฉบับใหม่ นายกฯ ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งในช่วงที่มีวิกฤต เป็นการถอยหลังเข้าคลองและจะยิ่งเป็นการสร้างวิกฤตให้ประเทศ ขอข้อมูล พล.อ.อนุพงษ์ คดีสลายชุมนุม นปช.ปี 53 หากครบถ้วน ไม่จำเป็นต้องให้นายกรัฐมนตรีเป็นพยาน ยันไม่มีเจตนากดดันการทำงานเจ้าหน้าที่



28 ก.พ. 2558 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้งในช่วงที่มีวิกฤต ว่า ถือเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง และไม่อยากให้เป็นการร่างรัฐธรรมนูญที่ถอยหลังเข้าคลอง เพราะขณะนี้ระบอบการปกครองประเทศเดินมาไกลมากแล้ว  อีกทั้งจะทำให้การร่างรัฐธรรมนูญได้รับแรงกดดันทั้งจากคนในประเทศและนานาประเทศที่จับตามองการสร้างประชาธิปไตยของประเทศไทยอยู่ และอาจจะยิ่งเป็นการสร้างวิกฤติให้กับประเทศได้

“หากจะเปิดช่องไว้ ก็ควรจะบัญญัติให้ชัดเจนเกี่ยวกับรายละเอียดเงื่อนไขของเหตุการณ์พิเศษที่จะทำให้เกิดการตั้งนายกรัฐมนตรีที่ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งได้ ขณะเดียวกันไม่เห็นด้วยที่รัฐธรรมนูญที่จะกำหนดให้รัฐมนตรีจะต้องไม่เป็น ส.ส. เนื่องจากจะเป็นการทำลายระบบการเมืองในระบอบรัฐสภาที่ต้องการให้เกิดการติดโยงระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งในหลายประเทศก็กำหนดให้ผู้จะได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีจะต้องเป็น ส.ส.เท่านั้น เพราะจะทำให้ใส่ใจกับงานของสภา เพิ่มการมีส่วนร่วม โดยเฉพาะหากรัฐมนตรีเป็น ส.ส.เขต จะยิ่งเพิ่มกระบวนการตรวจสอบที่ว่าหากทำงานไม่ดีแล้วจะทำให้ประชาชนในพื้นที่เลือกตั้งไม่ยอมรับ ส่งผลต่อการเลือกตั้งครั้งต่อไปด้วย” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้อยากให้กรรมธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกลับไปทบทวนรายละเอียดของการร่างรัฐธรรมนูญด้วย นอกจากนี้ยังเห็นว่าเมื่อร่างรัฐธรรมนูญแล้วเกิดข้อโต้แย้งในรายละเอียดเนื้อหา ทางที่ดีที่สุดคือควรมีการทำประชามติในชั้นตอนสุดท้าย จะเป็นสิ่งที่เหมาะสมที่สุด

เผยประสานขอข้อมล อนุพงษ์ คดีสลายการชุมนุมปี 53

นอกจากนี้นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวถึงความคืบหน้าในการในการชี้แจงข้อกล่าวหากรณีเหตุสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช.ในปี 2553 ว่า ขณะนี้ยังไมได้หนังสือแจ้งข้อกล่าวหาจากคณะกรรมการป้องกันและปรายบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แต่ระหว่างนี้ได้เตรียมข้อมูลไว้บ้างแล้ว โดยได้ประสานขอข้อมูลไปยัง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งในขณะนั้นทำหน้าที่ผู้บัญชาการทหารบกในฐานะของผู้ที่ดูแลคุมกำลังการปฎิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เพราะตนเป็นเพียงผู้ดูแลเชิงนโยบายที่ลงนามในคำสั่งตั้งศูนย์อำนวยการสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เท่านั้น และได้มอบหมายให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้อำนวยการ ศอฉ. และเมื่อมีการปฎิบัติงานก็มีการปรับแผนการทำงานมาหลายครั้ง คาดว่า พล.อ.อนุพงษ์ จะเข้าใจและทราบแนวทางการทำงานดีที่สุด

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะอดีตรองผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.อ.อนุพงษ์ เป็นผู้ที่ทราบข้อมูลดี เพราะเคยทำงานร่วมกันมาก่อน อย่างไรก็ตาม หากได้ข้อมูลจาก พล.อ.อนุพงษ์ครบถ้วน ก็ไม่จำเป็นต้องให้บุคคลทั้ง 3 ไปเป็นพยานให้ ส่วนที่มีการโจมตีว่าการอ้างถึงพยานที่เป็นถึงนายกรัฐมนตรีเป็นการข่มขู่การทำงานของเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.นั้น ยืนยันว่าไม่มีเจตนาที่จะไปข่มขู่การทำงานของใคร เพียงแต่บุคคลที่ 3 ทราบเรื่องและเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง และอยากให้ย้อนไปในอดีตสมัยที่พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล ใครที่ไปกดดันไม่ให้บุคคลทั้ง 3 พูดความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น” นายอภิสิทธิ์ กล่าว


ที่มาข่าวเรียบเรียงจากสำนักข่าวไทย
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ช่วยลูกเรือประมงไทย 4 คนได้แล้ว หลังถูกโจรสลัดโซมาเลียจับ 5 ปี

$
0
0


28 ก.พ. 2558 สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยรายงานว่ากระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า รัฐบาลไทยประสบความสำเร็จในการให้ความช่วยเหลือลูกเรือประมงไทย 4 คน คือ นายชาญณรงค์ นะวะระ , นายโกศล ดวงมาเกิด, นายต้น วิยาสิงห์ และนายธนกร แก้วกำกง ซึ่งทั้งหมดถูกโจรสลัดจับกุมตัวเป็นเวลาเกือบ 5 ปี โดยความสำเร็จที่เกิดขึ้นในครั้งนี้เป็นผลมาจากที่นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการอย่างจริงจัง ซึ่งบัดนี้ลูกเรือทั้ง 4 คนได้เดินทางกลับถึงประเทศไทยโดยสวัสดิภาพแล้ว และจะเดินทางไปขอบคุณ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในช่วงบ่ายวันนี้ (28 ก.พ.)

อนึ่งก่อนหน้านี้สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่าเจ้าหน้าที่ของโซมาเลียได้ระบุว่าชาวประมงไทย 4 คนที่ถูกโจรสลัดโซมาเลียจับเป็นตัวประกันมาเกือบ 5 ปีได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 26 ก.พ. โดยเจ้าหน้าที่โซมาเลียได้ไปรับคนไทย 4 คนจากท้องถิ่นห่างไกลแห่งหนึ่ง เพิ่มเติมว่าทั้ง 4 คนได้โทรศัพท์พูดคุยกับญาติในประเทศไทยและร่ำให้ หลังได้รับการปล่อยตัว สำหรับประมงทั้ง 4 คนเป็นหนึ่งในลูกเรือ 24 คนที่ถูกจับกุมไปเมื่อเดือนเมษายน 2553 เมื่อโจรสลัดปล้นเรือประมงเอฟวี พรานทะเล 12 ซึ่งติดธงชาติไต้หวัน การจับกุมตัวไว้เกือบ 5 ปีถือว่ายาวนานที่สุดเท่าที่โจรสลัดเคยจับมา

ทั้งนี้ในจำนวนลูกเรือทั้ง 24 คน เสียชีวิต 6 คนจากอาการเจ็บป่วยระหว่างถูกควบคุมตัว ส่วนลูกเรือชาวเมียนมาร์อีก 14 คนได้รับการปล่อยตัวให้แก่รัฐบาลท้องถิ่นในรัฐปุนท์แลนด์ ทางภาคเหนือของโซมาเลียเมื่อเดือนพฤษภาคม 2554 และได้รับการช่วยเหลือส่งกลับประเทศโดยโครงการช่วยเหลือตัวประกันของสำนัก งานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ ส่วนตัวประกันอีก 26 คนยังคงถูกควบคุมตัวอยู่ในขณะนี้ สำหรับการจี้เรือที่นอกชายฝั่งของโซมาเลียเกิดขึ้นบ่อยครั้งเมื่อปี 2554 มี 237 กรณีที่น่าจะเกิดจากการลงมือของโจรสลัดโซมาเลียและจี้เรือได้สำเร็จ 28 ลำ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เพิ่มขั้นตอนแก้ รธน.ใช้มติสภา 2 ใน 3 และศาล รธน.วินิจฉัย - แก้หลักสำคัญต้องประชามติ

$
0
0

ร่าง รธน. บท “แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ” ต้องใช้มติ 2 ใน 3 ของ ส.ส.และ ส.ว. จากเดิม รธน.50 ใช้เสียงกึ่งหนึ่ง - ผ่านสภาแล้วต้องส่ง "ศาล รธน." วินิจฉัยว่ามีผลเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองหรือรูปแบบรัฐหรือไม่ - แก้ไข “หลักการพื้นฐานสำคัญ” เมื่อผ่านสภา-ศาล รธน. แล้ว ต้องประชามติ - ทุกๆ 5 ปี “คณะผู้ทรงคุณวุฒิอิสระ” จะประเมินผล รธน. พร้อมเสนอร่างแก้ไข

28 ก.พ. 2558 - ตามที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มีการนัดประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 53-58 ระหว่างวันจันทร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2558 - วันเสาร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2558 ที่โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ พัทยา จ.ชลบุรี โดยมีระเบียบวาระการประชุมเป็นการพิจารณายกร่างบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรานั้น

ล่าสุด พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ที่ปรึกษาและโฆษกกรรมาธิการ ได้นำเสนอรายงานความคืบหน้าของการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ โดยในวันศุกร์ที่ 27 ก.พ. มีการพิจารณา บทสุดท้าย "การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ" โดยยังรอการระบุมาตรา และร่างมาตรา 196 ที่รอการพิจารณา (อ่านเอกสารเผยแพร่) โดยมีส่วนที่สำคัญดังนี้

แก้ไขรัฐธรรมนูญ สองสภาต้องใช้เสียง 2 ใน 3 จากเดิมใช้เสียงกึ่งหนึ่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีผลเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ ในร่างรัฐธรรมนูญบับนี้ยังคงระบุไว้ว่า “จะกระทำมิได้” เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญ 2550

ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสองสภา ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมในรัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดเพียงเสียง “มากกว่ากึ่งหนึ่ง” นอกจากนี้หลังผ่านขั้นตอนของสองสภาแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้วินิจฉัยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ “มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ” หรือไม่ ก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่มีการแก้ไข โดยมีรายละเอียดดังนี้

บทสุดท้าย การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

“มาตรา (ส) 1 การขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ จะกระทำมิได้”

“มาตรา (ส) 2 การแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในบททั่วไป ภาค 1 พระมหากษัตริย์ และประชาชน หมวด 1 พระมหากษัตริย์ และการแก้ไขเพิ่มเติมหลักการพื้นฐานสำคัญที่บัญญัติไว้ใน รัฐธรรมนูญนี้ ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามมาตรา (ส) 4

หลักการพื้นฐานสำคัญตามวรรคหนึ่ง หมายถึง

(1) หลักประกันเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมของพลเมืองในทางการเมือง

(2) โครงสร้างของสถาบันการเมือง ซึ่งได้แก่การมีสองสภา องค์ประกอบของแต่ละสภา การตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ

(2/1) กลไกเพื่อการรักษาวินัยการเงิน การคลัง และการงบประมาณ

(3) สาระสำคัญของบทบัญญัติในภาค 3 หลักนิติธรรม ศาล และองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ

(4) สาระสำคัญของบทบัญญัติในภาค 4 การปฏิรูปและการสร้าง ความปรองดอง

(5) หลักเกณฑ์การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามบทสุดท้ายนี้

การแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อขยายหรือเพิ่มสิทธิเสรีภาพหรือการมีส่วนร่วมของพลเมืองทางการเมือง หรือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการของศาลหรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ไม่ถือเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหลักการพื้นฐานสำคัญตามมาตรานี้

“มาตรา (ส) 3 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้กระทำได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการดังต่อไปนี้

(1) ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องมาจากคณะรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและ สมาชิกวุฒิสภามีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาหรือจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคนตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย

(2) ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมและให้รัฐสภาพิจารณาเป็น สามวาระ

(3) การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการ ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผยและต้องมีคะแนนเสียเห็นชอบด้วยในการแก้ไขเพิ่มเติมนั้น ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่ มีอยู่ของทั้งสองสภา

(4) การพิจารณาในวาระที่สองขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมด้วย

การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สองขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา ให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ

(5) เมื่อการพิจารณาวาระที่สองเสร็จสิ้นแล้ว ให้รอไว้สิบห้าวัน เมื่อพ้นกำหนดนี้แล้วให้รัฐสภาพิจารณาในวาระที่สามต่อไป

(6) การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สามขั้นสุดท้าย ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่าสองในสาม ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

(7) เมื่อการลงมติได้เป็นไปตามที่กล่าวแล้ว ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย ให้ส่งร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่รัฐสภาเห็นชอบแล้วให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณา ว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนั้นได้ตราขึ้นโดยถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือมีข้อความขัดหรือแย้ง ต่อมาตรา (ส) 1 หรือไม่ ซึ่งต้องกระทำให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง ใน กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญนั้นตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ หรือมี ข้อความขัดหรือแย้งต่อมาตรา (ส) 1 ให้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไป แต่ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหลักการพื้นฐานสำคัญ ให้รัฐสภาดำเนินการตามมาตรา (ส) 4 ต่อไป

(8) ให้นำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยแล้วว่าไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายในยี่สิบวันนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้ และให้นำบทบัญญัติมาตรา 158 และมาตรา 159 มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่มติยืนยันต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา”

 

แก้ไข "หลักการพื้นฐานสำคัญ" ผ่านสภา-ศาล รธน. แล้ว ต้องลงประชามติ

ขณะที่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ภาค 1 หมวด 1 พระมหากษัตริย์ และการแก้ไขเพิ่มเติม “หลักการพื้นฐานสำคัญ” ได้แก่ (1) หลักประกันเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมของพลเมืองในทางการเมือง (2) โครงสร้างของสถาบันการเมือง ซึ่งได้แก่การมีสองสภา องค์ประกอบของแต่ละสภา การตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ (2/1) กลไกเพื่อการรักษาวินัยการเงิน การคลัง และการงบประมาณ (3) สาระสำคัญของบทบัญญัติในภาค 3 หลักนิติธรรม ศาล และองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ (4) สาระสำคัญของบทบัญญัติในภาค 4 การปฏิรูปและการสร้าง ความปรองดอง และ (5) หลักเกณฑ์การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามบทสุดท้าย

โดยทั้ง 5หัวข้อนี้ นอกจากจะต้องผ่านการลงมติของสองสภา และมีเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 และผ่านขั้นตอนวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว จากนั้นจะต้องนำไปลงประชามติก่อน เมื่อผ่านขั้นตอนลงประชามติแล้วจึงจะนำมาประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญได้

“มาตรา (ส) 4 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา (ส) 2 ให้กระทำได้ตามหลักเกณฑ์และ วิธีการตามมาตรา (ส) 3 เว้นแต่ 3

(1) การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สามขั้นสุดท้าย ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

(2) ให้นำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยตามมาตรา (ส) 3 (8) แล้วให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกเสียงประชามติก่อนนำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนั้นขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ในกรณีที่ประชาชนผู้มำใช้สิทธิออกเสียงประชามติโดยเสียงข้างมากไม่เห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญ ให้ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนั้นเป็นอันตกไป แต่ถ้าประชาชนผู้มาใช้สิทธิ ออกเสียงประชามติโดยเสียงข้างมากเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญ ก็ให้ดำเนินการต่อไป ตามมาตรา (ส) 3 (8) ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ”

 

ทุกรอบ 5 ปี 5 หน่วยงานจะตั้งคณะผู้ทรงคุณวุฒิอิสระประเมินผลการใช้รัฐธรรมนูญ - พร้อมเสนอร่างแก้ไข

ขณะเดียวกันร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ยังกำหนดให้ สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภาคณะรัฐมนตรี ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองสูงสุด และองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิฝ่ายละ 1 คน เพื่อประเมินผลการบังคับใช้รัฐธรรมนูญทุกรอบ 5 ปีที่ใช้รัฐธรรมนูญ และให้เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมต่อสภาและคณะรัฐมนตรีด้วย

“มาตรา (ส) 5 ทุกรอบห้าปีนับแต่วันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรแจ้งไปยังสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภาคณะรัฐมนตรี ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองสูงสุด และองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ เพื่อให้แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิฝ่ายละหนึ่งคน ประกอบกันเป็นคณะผู้ทรงคุณวุฒิอิสระประเมินผลการใช้บังคับรัฐธรรมนูญ

ในกรณีที่คณะผู้ทรงคุณวุฒิอิสระตามวรรคหนึ่งเห็นสมควรแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ให้เสนอร่าง รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภาและคณะรัฐมนตรี พิจารณาดำเนินการตามอำนาจ หน้าที่ต่อไป และประกาศให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปด้วย”

 

ม.196 เพิ่มขั้นตอนในส่วนการทำสนธิสัญญาที่มีผลต่ออธิปไตย

ในส่วนของมาตรา 196 หนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ กำหนดขั้นตอนให้ต้องได้รับความเห็นชชอบของรัฐสภา โดยมีรายละเอียดเพิ่มขึ้นจากรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 190 ดังนี้

“มาตรา 196 พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึก และสัญญาอื่นกับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศ

หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา หรือที่กระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา

หนังสือสัญญาที่กระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้าการลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญตามวรรคสอง หมายถึงหนังสือ สัญญาเกี่ยวกับการค้าเสรี เขตศุลกากรร่วม การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา หรือการให้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติ หรือทำให้ประเทศต้องสูญเสียสิทธิในทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมดหรือบางส่วน หรือการอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ

ก่อนการดำเนินการเพื่อทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศหรือ องค์การระหว่างประเทศตามวรรค สอง คณะรัฐมนตรีต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและต้องชี้แจงต่อรัฐสภาเกี่ยวกับทำหนังสือสัญญานั้น โดยให้คณะรัฐมนตรีเสนอกรอบการเจรจาที่เป็นเนื้อหาสาระสำคัญอันจะนำไปสู่การจัดทำหนังสือสัญญานั้นต่อคณะกรรมาธิการการต่างประเทศของรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบด้วย ในการนี้คณะกรรมธิการจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องดังกล่าว

เมื่อลงนามในหนังสือสัญญาหรือจะเข้าทำหนังสือสัญญาตามวรรคสองแล้ว ก่อนที่จะแสดงเจตนาให้มีผลผูกพันในหนังสือสัญญาตามวรรคสอง คณะรัฐมนตรีต้องให้ประชาชนสามารถเข้าถึงรายละเอียดของหนังสือสัญญานั้น และต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ในการนี้ รัฐสภาจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องดังกล่าว ในกรณีที่การปฏิบัติตามหนังสือสัญญาดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการแก้ไขหรือเยียวยำผู้ได้รับผลกระทบนั้นอย่างรวดเร็ว เหมาะสม และเป็นธรรม

ให้มีกฎหมายว่าด้วยการทำหนังสือสัญญาซึ่งครอบคลุมถึงการกำหนดประเภท กรอบการเจรจา ขั้นตอน และวิธีการจัดทำหนังสือสัญญาตามวรรคสอง รวมทั้งการแก้ไขหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตามหนังสือสัญญาดังกล่าว โดยคำนึงถึงความเป็นธรรมระหว่างผู้ที่ได้ประโยชน์กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตามหนังสือสัญญานั้นและประชาชนทั่วไป

ในกรณีที่มีปัญหาตามวรรคสอง ให้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัยชี้ขาด โดยให้นำบทบัญญัติมาตรา 166 มาใช้บังคับกับการเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยอนุโลม

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสวนา ม.อุบล 'วรเจตน์' ชี้ รธน.ใหม่สร้างกลไกครอบรัฐบาล

$
0
0

มติชนออนไลน์รายงานเมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2558 ที่ผ่านมาว่าที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จัดเสวนาทางสังคมศาสตร์เรื่องการปฏิรูปเพื่อความงาม ความเจริญ และความเป็นธรรม โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ศ.ดร.สมบัติ จันทรวงศ์ รศ.ม.ร.ว.พฤทธิสาณ ชุมพล รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ดร.ฐิติพล ภักดีวานิช และนายอธึกกิต แสวงสุข โดยมีนักศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ อาจารย์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมฟังประมาณ 300 คน
            
ศ.ดร.สมบัติ จันทรวงศ์ อดีตอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงการปฏิรูปและประชาธิปไตยในเมืองไทย ยังไม่สมบูรณ์ เพราะคนในประเทศไม่เคารพกฎหมาย สำหรับทำไมอเมริกาเมื่อตั้งประเทศ ก็มีประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ เพราะคนอเมริกันไม่มีจารีตประเพณี ไม่มีคนมียศถาบรรดาศักดิ์ ผิดจากประเทศอังกฤษที่มีจารีตและชนชั้น จึงปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้ยาก
           
พร้อมมีความเห็นว่าการเลือกตั้งไม่ใช่วิธี ทำให้ได้รัฐบาลที่ดีได้ และรัฐบาลที่มีเสียงข้างมาก ก็ต้องฟังเสียงของคนส่วนน้อยด้วย ประชาธิปไตยของประเทศไทยยังไม่หยั่งรากลึก บางครั้ง จึงนำเอาทรราชย์เข้ามาเป็นผู้บริหารประเทศ การปฏิรูปต้องดูว่าทำอย่างไร ให้ประเทศมีรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ มีความชอบธรรม จะได้ไม่ต้องมาล้มกันไปมา โดยต้องสร้างสังคมที่เสรีหรือสังคมที่เป็นประชาธิปไตย
           
ขณะที่ นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงเรื่องเดียวกันว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คงอยู่ไม่นาน แต่จะมีการสร้างเครื่องมือผ่านรัฐธรรมนูญมาใช้ควบคุมการจัดหานายกรัฐมนตรี นักการเมือง โดยใช้องค์กรอิสระเป็นเครื่องมือที่ครอบรัฐบาลไว้อีกชั้น ซึ่งอาจมีอำนาจเข้าถึงนโยบายการทำงานของรัฐบาลเลย
           
และการได้มาของรัฐบาลใหม่ หากไม่ได้มาจากอำนาจของประชาชน จะเป็นปัญหา ดังนั้นอำนาจที่แท้จริง จึงยังไม่เป็นของประชาชนและกฎหมายยังไม่เป็นธรรม อยากให้ดูประเทศเกาหลี หลังสงครามกลางเมือง มีการแยกการปกครองเป็นสองระบบ โดยเกาหลีหนึ่งเป็นประชาธิปไตย อีกหนึ่งปกครองแบบเผด็จการ จึงเห็นการเจริญเติบโตของสังคมแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด
           
ดังนั้นการปฏิรูป ต้องมีผู้ปกครองที่เป็นธรรม ต้องมีการสร้างกลไกการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยให้ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจ ทำการถอดถอนผ่านสภา รัฐธรรมนูญที่ดีต้องเป็นที่ยอมรับของคนทุกชั้น นายวรเจตน์กล่าว
            
สำหรับการจัดเสวนาดังกล่าว เหตุการณ์ทั่วไปปกติ ไม่มีตำรวจหรือทหารเข้ามาดูการเสวนา ปล่อยให้การเสวนาดำเนินไปอย่างอิสระจนจบการเสวนาในเที่ยงวันเดียวกัน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จะสันติสุขหรือสันติภาพ? ดุลยปาฐก ‘พล.ต.ชินวัฒน์ แม้นเดช - อาบูฮาฟิซ อัลฮากีม’

$
0
0

การพูดคุยสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานีรอบใหม่จะไปอย่างไร ฟังความเคลื่อนไหวจากสองฝ่าย ใน“ดุลยปาฐกว่าด้วย “ภาพ” การพูดคุยสันติภาพรอบใหม่” ในงานวันสื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ครั้งที่ 2” สันติ (ที่มองเห็น) ภาพ Visible/Visionary Peace ที่ ม.อ.ปัตตานี โดยพล.ต.ชินวัฒน์ แม้นเดช และอาบูฮาฟิซ อัลฮากีม

เวลา 10.00 น.วันที่ 28 มกราคม 2558 ในงาน“วันสื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ครั้งที่ 2” สันติ (ที่มองเห็น) ภาพ Visible/Visionary Peace ที่หอประชุมชั้น 2 คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) พล.ต.ชินวัฒน์ แม้นเดช ผู้อำนวยการศูนย์สันติสุข กองอำนวยการรักษาความสงบภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ผู้แทนแม่ทัพภาคที่ 4 และ อาบูฮาฟิซ อัลฮากีม จากขบวนการ BIPP สมาชิกอาวุโสในฝ่ายต่อสู้เพื่ออิสรภาพปาตานี ได้สลับกันแสดงปาฐกถา ในหัวข้อ “ดุลยปาฐกว่าด้วย “ภาพ” การพูดคุยสันติภาพรอบใหม่” ต่อหน้าภาคประชาสังคมในพื้นที่จำนวนมาก ซึ่งอาบูฮาฟิซได้แสดงผ่านคลิปวีดิโอ

 

พล.ต.ชินวัฒน์ แม้นเดช

พล.ต.ชินวัฒน์ เริ่มต้นแสดงปาฐกถาด้วยคำว่า “เมื่อพูดถึงสันติสุข เราคงไม่สามารถก้าวผ่านคำว่าสันติภาพไปได้” ก่อนจะอธิบายโดยสรุปดังนี้

“วันนี้ขอยืนยันว่า นโยบายสำคัญของรัฐบาลนี้ คือการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยสันติวิธีและขับเคลื่อนกระบวนพูดคุยต่อไป โดยนำบทเรียนและจุดอ่อนของการพูดคุยครั้งที่ผ่านมามาวิเคราะห์ เพื่อให้กระบวนการพูดคุยครั้งใหม่บรรลุเป้าหมาย และร่วมกันสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้น

ที่ผ่านมาแม่ทัพภาคที่ 4ได้เตรียมพื้นที่ของกองทัพในการรองรับการขับเคลื่อนสันติสุข โดยดำเนินการลดความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐทั้งหมดก่อนและพยายามไม่ใช้กฎหมายพิเศษมาใช้แก้ปัญหา การติดตาม ปิดล้อม ตรวจค้นขนาดใหญ่ได้ยุติลงแล้ว คงดำรงไว้เพียงการใช้กำลังชุดเล็กเข้าไปบังคับใช้กฎหมายกับกลุ่มบุคคลที่มีหมายศาลเท่านั้น เริ่มจากเบาไปหาหนักเพื่อหลีกเลี่ยงการวิสามัญโดยสิ้นเชิง เราพยายามใช้กระบวนการพูดคุยกับผู้มีหมายเพื่อให้ออกมาแสดงตัวและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

หน้าที่ที่เหลือคือการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน โดยให้พี่น้องประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกำหนดแนวคิด กำหนดวิธีการตามยุทธศาสตร์ทุ่งยางแดงโมเดล

มาตรการต่อมา ทหารหรือเจ้าหน้าที่รัฐทุกคนต้องเป็นคนดี เรามีการตรวจเจ้าหน้าที่ทุกรอบเดือน หากคนใดเกี่ยวข้องกับยาเสพติดเราจะลงโทษและให้ออกนอกพื้นที่ มีการเก็บลายนิ้วมือและ DNA ตรวจปลอกกระสุนทุกปลอกและบันทึกไว้ ถ้ากระสุนของเจ้าหน้าที่รัฐคนใดปรากฏในที่เกิดเหตุอย่างไรhเหตุผล จะถูกดำเนินการตามกฏหมาย เราพยายามควบคุมเจ้าหน้าที่ให้อยู่ในกรอบของกฏหมาย

สำหรับกำลังประชาชนโดยเฉพาะอาสาสมัครรักษาดินแดน และชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน เราทดสอบปลอกกระสุนทุกกระบอกและเก็บลายนิ้วมือทุกคน เพื่อหามาตรการป้องกันไม่ให้ใช้กระสุนปืนนอกหน้าที่หรือเกินอำนาจหน้าที่ หากใครผิดทุกคนจะถูกลงโทษทางกฏหมาย

ในช่วงที่ผ่านมา เราได้ขับเคลื่อนการเข้าไปพูดคุยกับพี่น้องประชาชนโดยตรง โดยเปิดเวทีพูดคุยกับชาวบ้านมาแล้วไม่ต่ำกว่า 300 เวที เพื่อสื่อสารระหว่างพี่น้องประชาชน เรานำความต้องการประชาชนมาเป็นศูนย์กลาง เราได้จัดเรียงลำดับความเร่งด่วนของปัญหาและความต้องการของพี่น้องประชาชน และจะดำเนินการแก้ปัญหาเหล่านั้น

งานเร่งด่วนตอนนี้คือการสร้างเส้นทาง 37 เส้นทาง ใช้งบประมาณกว่า 800 ล้านบาท เรื่องการศึกษา เราคุยกับมหาวิทยาลัยอัลอัซฮาร ประเทศอียิปต์ให้รับเด็กนักเรียนที่จบชั้นมัธยม 6 จากประเทศไทย เดิมรับเด็กนักเรียนที่จบศาสนาชั้น 10 แต่ปัจจุบันนักเรียนของไทยสามารถไปศึกษาต่อด้านสามัญได้แล้ว”

 

“สันติภาพ”กับ “สันติสุข”

“สันติภาพคืออะไร? ในความหมายเชิงตรรกะที่เราพูดกันหรือในความหมายในเชิงพื้นที่มันคืออะไร? ถ้าเราให้ความหมายเหมือนกันเราก็ขับเคลื่อนเหมือน แต่ถ้าเราให้ความหมายแตกต่างกันแน่นอนว่าเราย่อมขับเคลื่อนต่างกัน

สันติภาพ คือข้อบ่งชี้ของการอยู่ร่วมกันโดยปกติสุขของสังคม ในสังคมที่มีความแตกต่างหลากหลาย หากมนุษย์มุ่งที่จะทำให้เกิดความเกลียดชังกัน แก่งแย่งฆ่าฟันกัน แน่นอนว่านั้นไม่ใช่สันติภาพ และนั้นคือต้นเหตุของตรรกะที่ตรงข้ามกับสันติภาพ

หากมนุษย์ยอมรับและเคารพในความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ปลายทางมันก็คือสันติภาพ มนุษย์ไม่ทะเลาะกัน ไม่แก่งแย่ง ไม่ฆ่าฟันกัน สันติภาพก็เกิดขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว สันติภาพจึงเป็นกุญแจดอกสำคัญ ที่จะทำให้เราไปสู่ประตูแห่งสันติสุขได้

 

สันติภาพคือพื้นฐานของสันติสุข

“จากที่กล่าวมาข้างต้น มันจึงทำให้เห็นว่าสันติภาพคือพื้นฐานของการเดินไปสู่สันติสุข และเป็นพื้นฐานสำคัญของกระบวนการพัฒนาทั้งหมดทั้งสิ้นของสังคม ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาทางวัฒนธรรม และทางจริยธรรมที่ต้องดำเนินการควบคู่และสร้างสมดุลให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน หากพัฒนาแต่วัตถุโดยขาดการพัฒนาทางจริยธรรม วัตถุจะนำทางเรา ท้ายที่สุดจะนำมนุษย์ไปสู่การแก่งแย่งชิงดี เกิดความขัดแย้ง มันก็จะทำลายสันติภาพเช่นกัน

ความขัดแย้งเยียวยาได้ด้วยวัฒนธรรมและจริยธรรม สังคมจะต้องนำเสนอประวัติศาสตร์ในเชิงอารยธรรม และความสัมพันธ์ของมนุษย์ในเชิงวัฒนธรรม ภายใต้การยอมรับและให้เกียรติวัฒนธรรมของกันและกัน เพราะฉะนั้นสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดภาคประชาสังคมมีบทบาทที่สำคัญที่จะกำหนดองค์ประกอบทั้งหลายของการขับเคลื่อนไปสู่สันติภาพได้

ดังนั้นการขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพให้สำเร็จได้นั้น ไม่ได้อยู่ที่นโยบายของรัฐบาล แต่อยู่ที่ทุกองคาพยพที่จะต้องช่วยกันขับเคลื่อนไปด้วยกัน และเชื่อว่าสันติสุขอยู่ไม่ไกล

สุดท้ายขอยืนยันว่า นโยบายของรัฐบาลอยู่บนหลักการสันติวิธีอย่างมั่นคง กระบวนการพูดคุยเป็นนโยบายหลักสำคัญที่รัฐบาลกำลังดำเนินการ ขอให้มั่นใจ เพราะเราได้นำบทเรียนจากครั้งที่แล้วไปสู่การวางยุทธศาสตร์การพูดคุยครั้งใหม่ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์หลัก นั่นก็คือการสร้างสันติสุขร่วมกันในสังคมแห่งนี้ให้ได้”

 

อาบูฮาฟิซ อัลฮากีม

จากนั้นเป็นการปาฐกถาจากสมาชิกอาวุโสขบวนการต่อสู้เพื่อปาตานี คือ อาบูฮาฟิซ อัลฮากีม จากขบวนการ BIPP ซึ่งได้แถลงผ่านคลิปวีดิโอ ซึ่งใช้หัวข้อปาฐกถาชื่อ “การเดินทางสู่สันติภาพ ระยะที่ 2” มีเนื้อหาโดยสรุป ดังนี้

“......การรัฐประหารของกองทัพเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มีความวิตกกังวลถึงชะตากรรมของการพูดคุยสันติภาพในตอนนั้น อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นสี่เดือน รัฐบาลทหารก็ยืนยันที่จะสานต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพและเห็นพ้องให้มาเลเซียกลับมารับบทบาทเป็นผู้อำนวยความสะดวกเช่นเดิม

ถึงแม้ไม่มีการตอบรับอย่างเป็นทางการจากกลุ่มนักรบเพื่อเสรีภาพปาตานี แต่เราเชื่อว่ากองทัพส่งสัญญาณในเชิงบวก เราเห็นด้วยว่าการสานต่อกระบวนการสันติภาพพึงใช้ข้อตกลงทั่วไปที่ลงนามกันไว้เมื่อสองปีก่อนเป็นรากฐานในการเดินหน้าต่อ ดังที่พวกเราคนหนึ่งแสดงความคิดเห็นไว้ว่า

“คำบางคำหรือวลีบางวลีจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขหรือตัดทิ้งไปด้วยซ้ำ เพราะคำเหล่านี้ไม่สอดคล้องกับรัฐบาลไทยชุดปัจจุบัน เช่น วลีที่ว่า ‘ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญไทย’ รัฐบาลไทยชุดปัจจุบันปกครองด้วยกฎอัยการศึก มิใช่ด้วยรัฐธรรมนูญ”

ในส่วนของเรานั้น ไม่ว่าเราจะมีส่วนร่วมในการพูดคุยกับกองทัพหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ สำหรับรัฐบาลไทย ไม่ว่ารัฐบาลทหารหรือรัฐบาลพลเรือน อำนาจโดยพฤตินัยอยู่ที่กองทัพ ความเป็นไปทางการเมืองล่าสุดชักนำให้เราเผชิญหน้ากับกองทัพ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของอำนาจสูงสุด ถึงแม้การวัดความจริงใจของกองทัพเป็นเรื่องยาก แต่เราก็จะตรวจสอบพฤติกรรมของกองทัพในทุกด้านต่อไป

 

คุยกับใครก็ได้ตราบที่อีกฝ่ายจริงใจและจริงจัง

“เราพร้อมที่จะพูดคุยกับใครก็ได้ตราบที่อีกฝ่ายจริงใจและจริงจังต่อการพูดคุย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลทหารหรือรัฐบาลพลเรือน กระบวนการพูดคุยสันติภาพย่อมได้รับการตอบรับจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะในทัศนะของสังคมโลก หากกระบวนการนั้นจัดขึ้นในบรรยากาศประชาธิปไตยภายใต้หลักนิติธรรมมากกว่าภายใต้เงื้อมเงาของรัฐบาลเผด็จการทหาร”

อย่างไรก็ตาม เราดำเนินการอย่างรอบคอบ อุสตาซฮาซัน ตอยิบ เคยเสนอว่า ประเทศไทยควรรับรองกระบวนการพูดคุยสันติภาพขึ้นเป็นวาระแห่งชาติ โดยได้รับการเห็นชอบจากรัฐสภาและมีการประกาศอย่างเป็นทางการ วิธีการนี้จะช่วยสะท้อนให้เห็นความจริงใจของฝ่ายไทยและรับประกันความต่อเนื่องของกระบวนการอันเปราะบางเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลในอนาคต ทว่าจนถึงบัดนี้ เรายังไม่เห็นสิ่งนี้เกิดขึ้น

“เราไม่อยากเห็นกระบวนการสันติภาพหยุดชะงักหรือถึงขั้นล้มเหลว แล้วจากนั้นค่อยกลับมาดำเนินการใหม่โดยเปลี่ยนผู้รับผิดชอบและวิธีปฏิบัติทุกครั้งที่เกิด “อุบัติเหตุทางการเมือง” ในประเทศไทย”

การพบปะอย่างเป็นทางการระหว่างนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยกับมาเลเซียเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2557 ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ส่งผลให้เกิดยุทธศาสตร์สามเส้าสำหรับการพูดคุย สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมีความจริงใจที่จะรื้อฟื้นกระบวนการสันติภาพอีกครั้ง ถึงแม้กองทัพไทยจะเปลี่ยนชื่อการพูดคุยครั้งใหม่เป็น “การพูดคุยสันติสุข” ด้วยเหตุผลที่เราเข้าใจดี แต่ที่โต๊ะพูดคุยก็ยังคงใช้คำเรียกอย่างเป็นทางการว่า “การพูดคุยสันติภาพ”

 

เสนอหลักประกัน 9 ข้อเพื่อการพูดคุย

“ท่านสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษ เพื่อสร้างหลักประกันให้เกิดความราบรื่นและความโปร่งใสของกระบวนการพูดคุยที่ใกล้จะกลับมาดำเนินการใหม่ เราอยากตั้งข้อสังเกตดังต่อไปนี้:

1.เป้าหมายหลักของกระบวนการพูดคุยสันติภาพไม่ควรเพ่งเน้นเพียงแค่การลดหรือขจัดความรุนแรงเท่านั้น แต่ควรสำรวจหาสาเหตุรากเหง้าและเหตุผลว่าทำไมชาวปาตานีจึงจำต้องหยิบอาวุธขึ้นต่อสู้กับการปกครองของไทยด้วย

2.ทางออกทางการเมืองใดๆ ไม่ควรเอื้อประโยชน์ต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แง่มุมใดแง่มุมหนึ่งหรือเป็นทางออกชั่วคราวเท่านั้น แต่พึงเป็นทางออกที่เป็นธรรม ครอบคลุมและยั่งยืน

3.แต่ละฝ่ายพึงนั่งลงที่โต๊ะพูดคุยอย่าง “มือเปล่า” กล่าวคือ ปราศจากเงื่อนไขตั้งแง่ที่อาจทำให้อีกฝ่ายประสบความยากลำบากหรือตกอยู่ในสถานะที่เสียเปรียบ

4.กระบวนการพูดคุยควรเริ่มต้นด้วยมาตรการเสริมสร้างความไว้วางใจและค่อยๆ เดินหน้าอย่างช้าๆ ต่อเมื่อทั้งสองฝ่ายพร้อม โดยปราศจากการเร่งรัดกดดัน โดยมีความจริงใจที่น่าเชื่อถือต่อกันและกัน

5. แนวทางการดำเนินการหรือโรดแมปควรร่างร่วมกันทั้งสองฝ่ายที่เกี่ยวข้องในกระบวนการพูดคุยโดยตรง กล่าวคือ ไม่ถูกกำหนดจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือฝ่ายอื่นๆ โดยมีฝ่ายที่สาม (ผู้อำนวยความสะดวก) คอยสังเกตการณ์และอำนวยความสะดวก เพื่อให้บรรลุข้อตกลงร่วมกันในขั้นตอนต่อไป

6.ทั้งสองฝ่ายจะหารือและตกลงกันบนกรอบอ้างอิงพื้นฐานบางประการ ซึ่งจะมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันตลอดทั้งกระบวนการพูดคุย ภายในกรอบเวลาที่มีเหตุมีผลอันสมควรในทุกประเด็นและในทุกขั้นตอน ทั้งนี้รวมถึงการตกลงร่วมกันในการเชิญฝ่ายอื่นๆ เข้าสู่โต๊ะการพูดคุยในฐานะผู้สังเกตการณ์และ/หรือผู้สนับสนุนกระบวนการ

7. ทั้งสองฝ่ายจะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและตกลงกันเกี่ยวกับมาตรการเชิงปฏิบัติเพื่อลดปฏิบัติการความรุนแรงและการปะทะกันด้วยอาวุธ ตามด้วยข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราวหรือจำกัดขอบเขต โดยมีการแต่งตั้งคณะเฝ้าระวังและตรวจสอบที่ได้รับการยอมรับจากทั้งสองฝ่าย

8.เริ่มต้นการพูดคุยสันติภาพบนสถานะที่เท่าเทียมกันตามเงื่อนไขและบรรทัดฐานที่นานาชาติยอมรับ

9.ข้อตกลงหยุดยิงถาวรจะบรรลุถึงได้ด้วยการลงนามในข้อตกลงสันติภาพ ตามด้วยการนำรายละเอียดของข้อตกลงและคำแนะนำในข้อตกลงนั้นไปปฏิบัติให้เกิดผล

ด้วยเหตุนี้ เราจึงขอสรุปว่า กระบวนการพูดคุยสันติภาพควรเริ่มต้นด้วยมาตรการเสริมสร้างความไว้วางใจและการร่างโรดแมปร่วมกัน ตามด้วยข้อตกลงร่วมกันเกี่ยวกับประเด็นพื้นฐานและประเด็นสำคัญที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในขั้นตอนต่อไป  หลังจากลงนามในข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราวแล้ว การพูดคุยสันติภาพอย่างจริงจังสามารถดำเนินต่อในบรรยากาศสันติและพึงปรารถนา ซึ่งในท้ายที่สุดจะนำไปสู่ข้อตกลงสันติภาพและการนำไปปฏิบัติให้เกิดผล

 

ความคุ้มกันทางการเมือง

ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งในส่วนของสมาชิกคณะนักรบเพื่อเสรีภาพปาตานีก็คือ ความคุ้มกันทางการเมือง รัฐบาลของประเทศไทยและประเทศมาเลเซียควรให้การรับรองและสร้างหลักประกันความคุ้มกันอย่างเต็มที่แก่พวกเขา ไม่ใช่แค่จัดหามาตรการความปลอดภัยให้เท่านั้น ความคุ้มกันควรครอบคลุมถึงความคุ้มครองเต็มที่ตลอดกระบวนการสันติภาพทั้งหมด ไม่ว่า ณ สถานที่ประชุม ในระหว่างการเดินทางหรือในบ้านเรือนของพวกเขา รวมทั้งควรได้รับโอกาสในการเดินทางเข้าหรือออกจากประเทศใดๆ รวมทั้งประเทศไทย โดยเฉพาะหากเกี่ยวข้องกับกระบวนการสันติภาพ

เราตระหนักดีว่า กลไกกองทัพบางหน่วยงานภายใต้กองทัพภาคที่ 4 ได้เริ่มต้น “ความริเริ่มพูดคุยสันติสุข” ในระดับท้องถิ่นกับนักกิจกรรมองค์กรภาคประชาสังคมและเอ็นจีโอ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประชุมสื่อสารกัน เราไม่มีข้อคัดค้านต่อเรื่องนี้ตราบที่ไม่มีการข่มขู่ คุกคามหรือกดดันต่อผู้มีความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐหรือกองทัพ

“ถ้ารัฐบาลทหารมีความจริงใจและใจกว้าง ก็ไม่ควรมีเหตุผลใดๆ ว่าทำไมประชาชนจึงไม่ควรมีพื้นที่และโอกาสในการแสดงความคิดเห็นของตนอย่างเสรีโดยปราศจากความกลัวเกรงใดๆ ทั้งนี้รวมถึงการอนุญาตให้สื่อมวลชนท้องถิ่นและสถานีวิทยุชุมชนกลับมาเปิดดำเนินการอีกครั้งหลังจากถูก “สั่งให้เงียบ” นับตั้งแต่รัฐประหารเป็นต้นมา”

เมื่อต้นเดือนนี้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ของกองทัพภาคที่ 4 ร่วมกับนายทหารเกษียนอาวุโส ได้ประกาศในกรุงเทพฯว่า รัฐบาลทหารใกล้จะคลี่คลายความขัดแย้งในภาคใต้หลังจากยึดอำนาจเพียงไม่กี่เดือน เราอยากเตือนดังนี้ว่า จะเป็นเรื่องไร้สาระอย่างยิ่งที่จะด่วนสรุปว่า ความขัดแย้งยืดเยื้อยาวนานกว่า 200 ปีสามารถแก้ไขได้ภายในไม่กี่เดือน โดยไม่มีการเจรจาต่อรองกับนักรบเพื่อเสรีภาพปาตานีผู้เป็นตัวแทนของประชาชนชาวมลายูปาตานี มันเป็นแค่มายาภาพและการฝันกลางวันโดยแท้ เหตุการณ์วางระเบิดครั้งล่าสุดในนราธิวาสเมื่อสัปดาห์ที่แล้วควรเป็นสิ่งเตือนใจสำหรับเราทุกคนว่า ไม่มีทางลัดสู่สันติภาพนอกจากการพูดคุยสันติภาพเท่านั้น

 

พูดคุยสันติภาพย่อมไร้ความหมาย ถ้า....

ประการสุดท้ายก็คือ เราอยากเน้นย้ำ ณ ที่นี้ว่า ถึงแม้มีการสนับสนุนอย่างกว้างขวางต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพและมีความคาดหวังอย่างสูงจากประชาชน แต่พึงสังวรว่า การพูดคุยสันติภาพย่อมไร้ความหมาย ถ้า:

1.รัฐบาลทหารต้องการแค่ลดหรือขจัดความรุนแรงโดยไม่สนใจสาเหตุรากเหง้าของความขัดแย้งทางการเมืองและอาวุธในปาตานี

2.ไม่มีการสำรวจทบทวนและแก้ไขความอ่อนแอและล้มเหลวของกระบวนการก่อนหน้านี้

3.ความอยุติธรรม การกักขังหน่วงเหนี่ยวทางการเมือง การกลั่นแกล้งข่มเหงรายบุคคล การวิสามัญฆาตกรรมและการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวมลายูปาตานียังรุนแรงและระบาดไปทั่ว

4.เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยปราศจากการกดดันและข่มขู่คุกคามของประชาชนมลายูปาตานียังไม่มีหลักประกันเต็มที่ที่ทำให้พวกเขาสามารถแสดงทัศนะและความปรารถนาที่แท้จริงออกมาได้

5.ชีวิตประจำวันของประชาชนปาตานียังถูกกดขี่และตกอยู่ภายใต้กฎหมายที่เข้มงวดโหดร้ายสามฉบับ กล่าวคือ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรและกฎอัยการศึก

6.สิทธิการสืบทอดจากบรรพบุรุษและสิทธิอธิปไตยเหนือดินแดนปาตานีและสิทธิการกำหนดชะตากรรมตนเองของชาวปาตานียังไม่ได้รับการหยิบยกขึ้นมาอภิปราย

กระบวนการพูดคุยสันติภาพย่อมใช้เวลายาวนานและเส้นทางย่อมเต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนาม เราเน้นย้ำมาตั้งแต่ต้นแล้วว่า ถ้าทั้งสองฝ่ายมีความจริงใจและเชื่อมั่นว่า ความขัดแย้งนี้สามารถคลี่คลายได้ด้วยการพูดคุยอย่างสันติ มันย่อมเป็นการดีกว่า ถ้าเราเริ่มต้นกันตั้งแต่บัดนี้แทนที่จะต่อสู้กันต่อไปอีกสิบ ยี่สิบ หรือห้าสิบปี เพิ่มจำนวนผู้บาดเจ็บล้มตายและความเสียหายต่อทั้งสองฝ่าย ก่อนที่เราจะยอมก้าวเข้ามาพูดคุยกันที่โต๊ะเจรจาในท้ายที่สุด

สุดท้ายนี้ อีกครั้งที่ข้าพเจ้าขอมอบช่อดอก “ชบา” แด่ประชาชนผู้รักสันติทุกท่านเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งสันติภาพ” ลงชื่อ อาบูฮาฟิซ อัลฮากีม, จากนอกรั้วปาตานี

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ซัมซุงประกาศ 'ไม่ขึ้นเงินเดือน' ส่วนการผลิตในไทยทยอยย้ายไปเพื่อนบ้าน

$
0
0

ครั้งแรกในรอบ 6 ปี ซัมซุงประกาศไม่ขึ้นเงินเดือนในเกาหลีใต้ ส่วนการผลิตในไทย สศอ. ระบุย้ายสายการผลิตทีวีไปเวียดนาม-อินโดนีเซีย ส่วนการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ทักษะฝีมือแรงงานยังคงรักษาฐานการผลิตไว้ได้



เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2015 ที่ผ่านมาสำนักข่าว Bloomberg รายงานว่าบริษัทซัมซุงจะไม่มีการปรับเพิ่มเงินเดือนพนักงานในเกาหลีใต้ในปี 2015 นี้ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี ที่ซัมซุงประกาศแช่แข็งค่าแรง เนื่องจากผลประกอบการกำลังย่ำแย่ โดยข้อมูลเมื่อเดือนมกราคม 2015 ว่าในรอบปีที่ผ่านมามีกำไรลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2011 เนื่องจากเสียส่วนแบ่งทางการตลาดให้กับไอโฟนของแอปเปิลในตลาดบนและในตลาดล่างก็คู่แข่งจากจีนที่มีต้นทุนต่ำอย่างเซียวมี
       
ครั้งสุดท้ายที่ซัมซุงสั่งแช่แข็งค่าแรงพนักงานเกิดขึ้นในปี 2009 ซึ่งเป็นผลจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก แต่หลังจากนั้นก็มีการปรับเพิ่มเงินเดือนตามปกติ ทั้งนี้โฆษกของซัมซุงไม่ได้อธิบายเหตุผลของการสั่งแช่แข็งค่าแรงครั้งนี้ ส่วนราคาหุ้นของซัมซุงตกลงมา 0.3 เปอร์เซ็นต์ ก่อนหน้านี้ทางซัมซุงเองก็ได้เคยส่งสัญญาณว่าบริษัทอาจจะงดจ่ายเงินปันผลในปี 2015 หลังจากที่มีรายจ่ายเพิ่มขึ้นถึง 40 เปอร์เซ็นต์ แถมยังซื้อหุ้นคืนมาเมื่อปีที่แล้ว

ฐานผลิตในไทยทยอยย้ายไปเพื่อนบ้าน

ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ในช่วงต้นปี 2558 ระบุว่าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าลดลง 14.03% เนื่องจากยอดการผลิตสินค้าโทรทัศน์ลดลงมาก เพราะบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างซัมซุง และแอลจี ได้ย้ายสายการผลิตโทรทัศน์ไปยังประเทศเวียดนาม และอินโดนีเซีย เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องใช้แรงงานในการประกอบสูง ทำให้ประเทศเพื่อนบ้านมีความได้เปรียบมากกว่า ส่วนการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ทักษะฝีมือแรงงานยังคงรักษาฐานการผลิตไว้ได้

โดย สศอ. ระบุว่าสินค้าที่ย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนเพื่อนบ้านส่วนใหญ่พึ่งพาแรงงานในการประกอบเป็นจำนวนมาก จึงไม่เหมาะที่จะอยู่ในประเทศไทย แต่ทั้งนี้ก็จะมีอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงย้ายเข้ามาประเทศไทยเพิ่มขึ้น เห็นได้จากยอดการขอบีโอไอ ในปี 2556-2557 ในกลุ่มนี้มีจำนวนสูงมาก และคาดว่าจะทยอยเข้ามาตั้งโรงงานได้ตั้งแต่ช่วงกลางปีนี้เป็นต้นไป ซึ่งจะทำให้อัตราการผลิต และส่งออกค่อยๆปรับตัวดีขึ้น รวมไปถึงจะได้รับเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาอีกมากปรับฐานไปสู่การผลิตสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง แทนการผลิตสินค้าที่พึ่งพาแรงงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งมาตรการใหม่ของบีโอไอ ก็จะเร่งกระบวนการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีให้เร็วขึ้นภายใน 3 ปี จะเห็นสินค้าชนิดใหม่ๆ จากเดิมที่ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปี

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ลูกเรือประมงขอบคุณรัฐบาลที่ช่วยเหลือจากการควบคุมตัวของโจรสลัดโซมาเลีย

$
0
0

คณะลูกเรือประมง 4 ราย เดินทางมาขอบคุณ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ได้ช่วยเหลือจากการถูกโจรสลัดโซมาเลียยึดเรือและจับตัวตั้งแต่เดือนเมษายนปี 53 ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ เผยใช้เวลากว่า 7 เดือนในการเจรจาจนนำลูกเรือกลับไทยได้ ที่ผ่านมาได้ช่วยคนไทยที่ติดเกาะอัมบน อินโดนีเซีย 61 คน พร้อมขอร้องเจ้าของเรือประมงดูแลสวัสดิภาพลูกเรือด้วย

28 ก.พ. 2558 - เว็บไซต์รัฐบาลไทยรายงานว่า เมื่อเวลา 17.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล คณะลูกเรือประมงไทย 4  คน ซึ่งถูกโจรสลัดโซมาเลียควบคุมตัว เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอบคุณนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลที่ให้การช่วยเหลือสามารถเดินทางกลับมาถึงประเทศไทย

โดยลูกเรือไทยทั้ง 4 ประกอบด้วย นายชาญณรงค์ นะวะระ ชาว อ.เมือง จ.ระนอง นายโกศล ดวงมาเกิด อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ นายต้น วิยาสิงห์ อ.เมือง จ.ตราด และนายธนกร แก้วกำกง อ.โนนดินแดน จ.บุรีรัมย์ โดยทั้งหมดเป็นลูกเรือประจำเรือประมงพรานทะเล 12 ซึ่งถูกกลุ่มโจรสลัดโซมาเลียบุกเข้ายึดเรือและควบคุมลูกเรือ เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2553 รวมเป็นระยะเวลา 4 ปี 10 เดือน ทั้งหมดเดินทางประเทศไทยโดยสายการบิน KQ 860 ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 14.10 น. ณ ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ

ทั้งนี้ มี พล.อ.ธนะศักดิ์  ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พล.ต.อ.พีระ พุ่มพิเชษฐ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ และคณะเจ้าหน้าที่ทหารและพลเรือน จากกองทัพและกระทรวงการต่างประเทศที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วย ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล

นายชาญณรงค์ ได้กล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลที่ได้ให้ที่ความจริงจังในการช่วยเหลือตนเองพร้อมลูกเรือประมงไทยอีก 3 คนที่ถูกจับทำให้สามารถกลับมาเมืองไทย ได้พบหน้าครอบครัวอีกครั้งได้ในวันนี้ ต้องขอบพระคุณนายกรัฐมนตรีและคณะทำงานเป็นอย่างสูง ทั้งนี้ นายชาญณรงค์ ในฐานะไต๋กงเรือได้เป็นผู้แทนมอบกระเช้าดอกไม้แก่นายกรัฐมนตรีด้วย

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวในนามรัฐบาล ยินดีต้อนรับลูกเรือประมงไทยทั้ง 4 คน เดินทางกลับประเทศไทยอย่างปลอดภัย และได้พบปะญาติพี่น้องได้ในวันนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เริ่มตั้งแต่มี คสช. และจนถึงรัฐบาลบริหารประเทศ ได้สั่งการให้เร่งสำรวจคนไทยที่ประสบความยากลำบากที่อยู่ในต่างประเทศ เพื่อหาทางให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน มอบหมายให้ทุกหน่วยงานดูแลและให้ความช่วยเหลือแก่คนไทยในทุกกรณีและในทุกพื้นที่ เพราะทราบดีว่าทุกท่านต่างๆมีครอบครัวและญาติพี่น้องที่อยู่เมืองไทยมีห่วงใย สำหรับกรณีนี้ รัฐบาลมีความเป็นห่วงมากเพราะอยู่ในพื้นที่ห่างไกลและมีความยากลำบาก รัฐบาลโดยกระทรวงการต่างประเทศ หน่วยงานความมั่นคงของไทย สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบี และองค์การสหประชาชาติ ได้ทุ่มเททำงานอย่างจริงจังตลอดระยะเวลากว่า 7 เดือน จนสามารถนำตัวลูกเรือไทยกลับประเทศไทยในช่วงบ่ายวันนี้ได้

หลังจากนี้ จะมอบหมายให้หน่วยงานด้านสาธารณสุขมาดูแลตรวจสุขภาพจนถึงส่งกลับภูมิลำเนา จะเร่งเยียวยาและดูแลการทำกินโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายกรัฐมนตรีกล่าวกับลูกเรือประมงว่า “ไม่มีใครติดค้างบุญคุณผม ไม่ต้องขอบคุณผม นี่คือหน้าที่เพราะรัฐบาลมีหน้าที่ในการดูแลประชาชนทุกคน” ก่อนหน้านี้ รัฐบาลก็ได้ให้ความช่วยเหลือแรงงานประมงไทยจำนวน 61 คน ที่ตกค้างเกาะอำบน อินโดนีเซีย เดินทางกลับประเทศไทยอย่างปลอดภัยด้วย

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีย้ำว่า รัฐบาลจริงจังในการจัดระเบียบการประมงไทยทั้งระบบ  โดยเร่งรัดให้มีการจดทะเบียนเรือประมง ขอให้เรือประมงทุกลำมีระบบตรวจสอบพิกัดตำแหน่งที่ตั้ง (GPS) การทำการประมงจะต้องเป็นไปตามกฎระเบียบ รวมทั้งขอร้องผู้ประกอบการประมงให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบของไทยและสากล  ขอให้คำนึงถึงส่วนรวมเพราะการกระทำผิดกฏหมายใดๆ จะส่งผลเสียหายทั้งต่อตนเองและการค้าขายต่างประเทศ ขอให้ดูแลสวัสดิภาพของแรงงานประมงด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

น.ศ.ขอนแก่น ชูป้าย'คิดถึงแบงค์' ผู้ต้องขังคดีเจ้าสาวหมาป่า

$
0
0

ห้านักศึกษา ม.ขอนแก่น ชูป้าย  "Art is not a Crime" และ"คิดถึงแบงค์" ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม นักศึกษาในคณะ ผู้ต้องขังจาก ม.112 จากการแสดงละครเจ้าสาวหมาป่า ในงานเทศกาลถนนศิลปะ (Art Lane) ที่ได้จัดขึ้นโดยคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  


เวลาประมาณ19.00 น.ของวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2558  บริเวณสะพานขาว ในระหว่างการแสดงศิลปะพื้นบ้านของนักศึกษาในคณะศิลปกรรม  ได้มีนักศึกษากลุ่มซุ้มเกี่ยวดาว จำนวน 5คน ได้มาชูป้ายข้อความ "คิดถึงแบงค์" และ "Art is not a Crime" (ศิลปะไม่ใช่อาชญากรรม)  บริเวณหน้าเวทีการแสดง โดยที่หนึ่งในนักศึกษาที่มาชูป้ายได้แจ้งวัตถุประสงค์ว่าเป็นการแสดงความระลึกถึง ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือแบงค์ นักแสดงละครเจ้าสาวหมาป่า ที่ได้ถูกตัดสินว่ามีความผิดตาม กม.อาญา มาตรา 112 จำคุกเป็นเวลา 2ปี 6เดือน ทำให้ปติวัฒน์ ไม่สามารถได้เรียนจนสำเร็จการศึกษาและไม่สามารถมาแสดงผลงานศิลปะดนตรีพื้นบ้านในวันนี้ได้ 

หลังการแสดงดนตรีพื้นเมืองจบ นศ.ซุ้มเกี่ยวดาว ได้พากันไปชูป้ายบริเวณป้ายจัดงาน แต่ได้โดนเจ้าหน้าที่จากกองอำนวยการจัดงานขับไล่ออกไปจากบริเวณงาน


อนึ่ง งานเทศกาลถนนศิลปะ (Art Lane) ครั้งที่12 ได้จัดขึ้นโดยคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น   โดยในงานจะมีการแสดงศิลปะหลายแขนงและส่วนหนึ่งจะเป็นการแสดงผลงานปริญญานิพนธ์ของนักศึกษาปีสุดท้ายในคณะ ในกิจกรรมดังกล่าวจะมีบุคคลทั้งภายในและนอกมหาวิทยาลัยเข้าร่วมชมการแสดงศิลปกรรมของคณะเป็นจำนวนมาก


ภาพของปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม (แบงค์) ขณะทำกิจกรรมต้านการรัฐประหาร
ก่อนที่เขาจะถูกจับกุมดำเนินคดีในฐานะนักแสดงละคร"เจ้าสาวหมาป่า"
ที่มาภาพ: 
http://isaanrecord.com/2015/02/27/profile/

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อภิสิทธิ์ ชี้สลายแดง53 "บิ๊กป้อม-ป๊อก-ตู่" รู้ดี ‘สุเทพ’ ยัน ‘สั่งการคนเดียว’ ย้อนเวลาได้ก็จะทำแบบเดิม

$
0
0

หลังจากเมื่อวันที่ 24 ก.พ. ที่ผ่านมา คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)  มีมติแจ้งข้อกล่าวหา อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ  นายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น) และสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น)  มีพฤติการณ์ส่อกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ กรณีสั่งใช้กำลังทหารขอคืนพื้นที่จากกลุ่มผู้ชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)  ระหว่างวันที่ 10 เม.ย. ถึง 19  พ.ค.53 (อ่านรายละเอียด)

โดยที่ อภิสิทธิ์ ออกมาตั้งคำถามว่า ถ้าในขณะนั้น ไม่ดำเนินการใด ๆ เลย ก็จะเกิดคำถามว่าเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ (อ่านรายละเอียด) และ มติชนออนไลน์รายงานด้วยว่า อภิสิทธิ์ ยืนยันว่ามีการปรับหลักการทำงาน เพื่อหลีกเลี่ยงความสูญเสีย แต่กรณีมีผู้ใช้อาวุธไม่ใช่เรื่องง่าย รัฐบาลมีหน้าที่คืนความสงบให้กับสังคม คนที่ทำงานร่วมกันรู้ดี เช่น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.ในขณะนั้น รวมถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นรอง ผบ.ทบ.ในขณะนั้นด้วย เพราะเข้าร่วมประชุมอยู่ จึงรู้ดีถึงการทำงานในขณะนั้น หาก ป.ป.ช.ได้ข้อมูลจากบุคคลเหล่านี้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา

ขณะที่วานนี้(28 ก.พ.58) ไทยรัฐออนไลน์ได้รายงานถึงกฏิกิริยาของ สุเทพ หรือ พระสุเทพ ปภากโร ต่อกรณีนี้ โดย พระสุเทพกล่าวว่า มีคนมาบอกแล้วว่า ป.ป.ช. กำลังเล่นงาน แต่ไม่รู้สึกหวั่นไหว ตั้งใจและรอว่า ป.ป.ช.จะมีหนังสือมาเมื่อไร เพราะหลังรับหนังสือ อาตมาจะมีเวลา 15 วัน เพื่อที่จะมีคำชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรไป ยังป.ป.ช. ซึ่งก็พร้อม แต่ตอนนี้ทำคำชี้แจงยังไม่ได้ เพราะยังไม่เห็นข้อกล่าวหาและรายละเอียดใดๆ

"อาตมาไม่ต้องอ้างเป็นพยาน เพราะจำได้หมดทุกเรื่องที่ทำมา ทั้งหมดตอบได้เลยว่า อาตมาสั่งการคนเดียว นายอภิสิทธิ์ ไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย ผู้เข้าร่วมประชุมในช่วงนั้น ทุกคนมีมติกัน ได้อภิปรายร่วมกันแล้ว อาตมาเป็นสั่งการ ขอรับผิดชอบในการสั่งการ ถ้าจะผิดหรือถูก อาตมารับผิดชอบ แล้วขอร้องว่า อย่าได้ไปเกี่ยวโยงกับเจ้าหน้าที่ทั้งหลาย ที่เขาทำ เพราะเขาทำตามคำสั่งอาตมา ตรงนี้ต้องให้ชัดเจน การชี้แจงเบื้องต้นจะทำเป็นหนังสือ แต่หาก ป.ป.ช.ต้องการให้ไปชี้แจงด้วยตัวเอง ก็พร้อมที่จะไป เวลานี้ก็รออยู่ และหาก ป.ป.ช. จะทำเรื่องถอดถอนในสภาฯ ก็พร้อมไปชี้แจงในสภาฯ ทั้งผ้าเหลืองเลย ที่ผ่านมาเคยใส่สูทเข้าสภามา 36 ปี เที่ยวนี้ จะห่มผ้าเหลืองเข้าสภาอยู่ และบางทีอาจจะถือโอกาสเทศน์ใหญ่กลางสภาเลย พูดจริงๆ ตอนนี้เตรียมร่างคำเทศน์ไว้แล้ว พร้อมที่จะไปตอบทุกคำถามในสภา ถ้า ป.ป.ช.เสนอให้ถอดถอน ไม่หนีไปด้วยตัวเองไม่ส่งทนายไปชี้แจงแทน" พระสุเทพ กล่าว

ต่อกรณีที่ อภิสิทธิ์ ระบุว่าจะขอให้ ผบ.ทบ. รอง ผบ.ทบ. หรือ อดีต รมว.กลาโหม ขณะนั้นเป็นพยานด้วยนั้น พระสุเทพ กล่าวว่า เป็นเรื่องของคุณอภิสิทธิ์ ที่เป็นผู้ถูกกล่าวหา ย่อมมีสิทธิที่จะสู้คดีชี้แจง อย่างไรก็ได้ สำหรับอาตมา จะไม่อ้างทั้ง พล.อ.ประวิตร, พล.อ.อนุพงษ์, พล.อ.ประยุทธ์ สำหรับอาตมา ไม่จำเป็นต้องเอาใครมาเป็นพยาน เพราะจะชี้แจงด้วยตัวเอง อาตมาทำเอง เพราะทุกอย่างรู้หมด เข้าใจหมด มีหลักฐาน มีพยาน มีเอกสารเป็นตัวหนังสือ เป็นรูปถ่ายหมด ขอให้ ป.ป.ช.สบายใจ ทำงานอย่างตรงไปตรงมา

เมื่อถามย้ำว่า หากชี้แจงแล้ว อาจเป็นเหตุต้องโดนคดีอาญา พระสุเทพ กล่าวว่า ไม่เป็นไร ยินดีที่จะไปขึ้นศาล และถ้าถามว่าหากย้อนไปได้จะทำอย่างไร บอกได้เลยก็ต้องทำแบบที่ผ่านมา เพราะเป็นการทำหน้าที่ ยังยืนยันว่าจะทำแบบนั้น บอกได้เลยว่า ตัดสินใจถูกต้องดีแล้ว เป็นการทำหน้าที่ และพร้อมรับผิดชอบคนเดียว ไม่มีปัญหา เพราะการรับผิดชอบคนเดียว เนื่องจากนายกรัฐมนตรีในเวลานั้น ตั้งให้เราเป็นรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ เราก็ต้องดูแลความมั่นคงของประเทศตามหน้าที่

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live




Latest Images