Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live

ดิอิโคโนมิสต์วิพากษ์ร่างรธน.ไทย 'เร่ขาย' เผด็จการ ทำตัวเหมือน 'พี่เลี้ยงเด็ก'

$
0
0

ดิอิโคโนมิสต์เขียนบทความวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดว่า ขณะที่มีการอ้างไม่ให้เกิด "เผด็จการรัฐสภา" แต่ก็มีการให้อำนาจองค์กรอิสระและวุฒิสภาอย่างล้นเกินเสมือนการ "เร่ขาย" เผด็จการแบบอื่นเข้ามาแทน โดยให้องค์กรเหล่านี้ทำตัวเหมือน "พี่เลี้ยงเด็ก" สำหรับนักการเมือง

25 เม.ย. 2558 นิตยสารดิอิโคโนมิสต์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของไทยที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการอภิปราย โดยระบุว่ารัฐธรรมนูญที่อ้างว่าได้รับอิทธิพลจากระบบการเลือกตั้งของเยอรมนีจะไม่สามารถรักษา "บาดแผลทางการเมือง" ของประเทศไทยได้ แต่จะยิ่งทำให้แย่ลงกว่าเดิม

ดิอิโคโนมิสต์มองว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีการพยายามกีดกันพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรคที่ฝ่ายผู้มีอำนาจสถาปนาไม่ชอบ โดยมีการส่งเสริมระบบ ส.ส. แบบสัดส่วน ทำให้พรรคการเมืองใดก็ตามเอาชนะเสียงข้างมากได้ยาก บีบให้ต้องมีการจัดรัฐบาลผสมและเปิดโอกาสให้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งถ้า ส.ส. ไม่ได้รับเสียงสนับสนุนมากพอ อีกทั้งยังให้อำนาจวุฒิสภาครอบงำสภาล่างและมีการลดจำนวนส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้งลง

ดิอิโคโนมิสต์วิจารณ์อีกว่ายังมีองค์กรอิสระอีกจำนวน 10 องค์กรหรือมากกว่านั้นที่คอยทำตัวเป็น "พี่เลี้ยงเด็ก" ของนักการเมือง รวมถึง 'สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ' ที่อ้างว่าเพื่อใช้ลงโทษ "การทำผิดจริยธรรม" ดิอิโคโนมิสต์ชี้ว่าคำว่า "การทำผิดจริยธรรม" นี้เองมักจะเป็นคำกล่าวอ้างที่นำมาใช้อ้างกับทุกอย่างรวมถึงใช้อ้างตอบโต้คนวิจารณ์รัฐบาลด้วย นอกจากนี้ยังมีองค์กรอิสระที่มีพรรคพวกของเผด็จการทหารซ่องสุมกับอยู่เพื่อคอยใช้อำนาจชักจูงรัฐบาลในอนาคต

"เจ้าหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญใหม่อ้างว่าพวกเขาต้องการป้องกันไม่ให้เกิด 'เผด็จการรัฐสภา' แต่พวกเขาก็ 'เร่ขาย' เผด็จการในรูปแบบอื่นแทน" ดิอิโคโนมิสต์ระบุในบทความ

รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้จะเป็นฉบับที่ 20 ของไทย แต่ดิอิโคโนมิสต์ก็วิจารณ์ว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ล้าหลังอย่างมากเมื่อเทียบกับรัฐธรรมนูญสมัยปี 2540 เนื่องจากมีโอกาสให้อำนาจกับกองทัพยาวนานมาก มีวรรคหนึ่งซึ่งจำกัดอำนาจราชวงศ์ในการแทรกแซงความวุ่นวายทางการเมืองที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งดิอิโคโนมิสต์มองว่าอาจเป็นเพราะเกรงว่าจะเป็นการอ่อนข้อให้กับศัตรูของพวกกลุ่มผู้มีอำนาจสถาปนา

ดิอิโคโนมิสต์ระบุว่าในช่วงที่ยังรอการประกาศใช้ร่างรัฐธรรมนูญนี้มีแม้ว่ากองทัพจะยอมลดข้อเสนอที่เลวร้ายบางอย่างลงเนื่องจากถูกวิจารณ์จากประชาชนแต่กองทัพก็มีท่าทางเผด็จการมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันก็เผชิญปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย


เรียบเรียงจาก

A baby-sitters’ charter, The Economist, 25-04-2015
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นศ.ธรรมศาสตร์ เดินหน้าขอมีส่วนร่วมในสภามหา'ลัย ล่าชื่อหนุน 28 เม.ย. นี้

$
0
0
องค์การนักศึกษาและสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ออกแถลงการณ์ เดินหน้ากดดัน กมธ. วิสามัญร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ของ สนช. ให้มีตัวแทนนักศึกษาเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยด้วย ขอแรงชาวธรรมศาสตร์ร่วมลงชื่อสนับสนุน 28 เม.ย. นี้

 
เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2558 ที่ผ่านมาองค์การนักศึกษาและสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ออกแถลงการณ์ร่วมเรื่อง "ผลการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. .... สภานิติบัญญัติแห่งชาติ" โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
 
แถลงการณ์ร่วมองค์การนักศึกษาและสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
 
เรื่อง ผลการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. .... สภานิติบัญญัติแห่งชาติ
 
ตามที่สภานักศึกษา และองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ยื่นแถลงการณ์ต่อ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. .... สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันศุกร์ที่ 3 เมษายน 2558 อันมีเนื้อหาเสนอเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการฯ พิจารณาดังต่อไปนี้
 
1. ขอให้ตัวแทนประชาคมธรรมศาสตร์ได้เข้าไปมีส่วนร่วมรับฟังและเสนอแนะแนวความคิดเห็นต่อกรรมาธิการฯ
 
2. ขอให้แก้ไขเนื้อหาในมาตรา 20 ของร่างพระราชบัญญัติฯ ให้มีตัวแทนนักศึกษาเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย จำนวน 2 คน คือนายกองค์การนักศึกษา และประธานสภานักศึกษา
 
3. ขอให้มีการแก้ไขเนื้อหาในมาตรา 21 ของร่างพระราชบัญญัติฯ ให้มีการกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ โดยให้มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละไม่เกิน 3 ปี ติดต่อกันได้ไม่เกิน 2 วาระ
 
ในวันที่ 10 เมษายน 2558 คณะกรรมาธิการได้มีหนังสือเชิญมาถึงให้อนุญาตเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการฯ โดยคณะกรรมาธิการได้พิจารณาเล็งเห็นว่าการมีส่วนร่วมของนักศึกษาต่อการพิจารณานั้นมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งเพื่อประกอบการพิจารณา โดยให้ไปร่วมประชุมเพื่อชี้แจงแสดงความคิดเห็นตามที่ได้แถลงไว้ใน ข้อ 2 และ ข้อ 3 ในวันพฤหัสบดีที่ 23 เมษายน 2558 (วันนี้) เวลา 14.00 นาฬิกา ซึ่งสภานักศึกษาและองค์การนักศึกษา ก็ได้เข้าไปชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการโดยสรุปได้ดังต่อไปนี้
 
1. ในการที่ได้เสนอให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยได้มีผู้แทนจากนักศึกษาจำนวน 2 คน ด้วยสภามหาวิทยาลัยเป็นองค์กรที่บทบาทสำคัญในการบริหารมหาวิทยาลัยอันมีผลกระทบโดยตรงต่อตัวนักศึกษา และในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯเมื่อครั้งปี 2556 ที่นักศึกษาได้เข้าไปมีส่วนร่วมตั้งแต่ในการประชุมครั้งที่ 3 จนถึงครั้งสุดท้าย คณะกรรมาธิการก็ได้มีมติให้แก้ไข โดยเพิ่มนายกองค์การนักศึกษาและประธานสภานักศึกษาเข้าไปในกรรมการมหาวิทยาลัย อีกทั้งในสภามหาวิทยาลัยต่างประเทศหลากหลายประเทศไม่ว่าจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วหรือในประเทศที่มีสภาพเศรษฐกิจการพัฒนาพอกับเรา อาทิ ฝรั่งเศส ฟินแลนด์ บราซิล โปรตุเกส เดนมาร์ก อุรุกวัย ปารากวัย เปรู เวเนซุเอลา ต่างก็มีตัวแทนนักศึกษานั่งเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยด้วยกันทั้งสิ้น เหนือไปกว่านั้นแล้วในสภามหาวิทยาลัยต่างประเทศบางประเทศมีนักศึกษาเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยถึงครึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมด ในเมื่อประเทศของเราที่ความต้องการจะปฏิรูปการศึกษาในหลาย ๆ ด้าน สภานักศึกษาและองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นว่าการที่มีตัวแทนนักศึกษาอันเป็นประชาคมส่วนใหญ่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และได้รับผลกระทบโดยตรง เข้าเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยเพื่อให้ได้นักศึกษาได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ กำหนดบทบาทการบริหารและพัฒนามหาวิทยาลัยไปพร้อมกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง แต่ในร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าวนักศึกษากลับมิได้เข้ามามีบทบาทในการกำหนดทิศทางการบริหารและพัฒนามหาวิทยาลัยแต่อย่างใด
 
2. ในการที่ได้เสนอให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละไม่เกิน 3 ปี ติดต่อกันได้ไม่เกิน 2 วาระ ด้วยกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีอยู่ทั้งสิ้น 15 คน จากทั้งสิ้น 27 คนนั้น เป็นตำแหน่งที่มีส่วนสำคัญในการบริหารมหาวิทยาลัย ในการต่อไปที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ (ออกนอกระบบ) การบริหารมหาวิทยาลัยจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริหารให้ทันต่อสมัยสังคม โดยปัจจุบันสภาพสังคมของเรามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วแม้เวลาจะผ่านไปเพียง 5-6 ปีก็ตาม การบริหารจึงต้องอาศัยองค์ความรู้ใหม่ๆเข้ามาในการบริหาร อีกด้วยระบบการบริหารมหาวิทยาลัยในอนาคตมิใช่การบริหารในลักษณะของราชการอีกต่อไป แต่จะมีลักษณะที่แปลกใหม่ไปจากเดิมเป็นอย่างยิ่ง วาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการมหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิจึงควรมีการกำหนดวาระ เพื่อให้เกิดการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนการบริหารมหาวิทยาลัย หาใช่กรรมการฯ ผู้คุณวุฒิจะดำรงตำแหน่งได้ยาวนานจนถึง 10 ปี 20 ปี 30 ปี หรือ 40 ปี
 
และเมื่อได้มีการอภิปรายให้ความเห็นต่อคณะกรรมาธิการฯ ก็ปรากฏในภายหลังว่า การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวได้มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติจนเสร็จสิ้นลงแล้ว โดยไม่ได้รั้งรอเพื่อรับฟังการเสนอความคิดเห็นจากนักศึกษา ตามที่ประธานคณะกรรมาธิการได้ให้คำมั่นว่า หากมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับนักศึกษา ก็จะเชิญนักศึกษาเข้าร่วมเสนอความคิดเห็น ดังนั้น เมื่อการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ ได้มีการพิจารณาครบถ้วนทุกรายมาตราแล้ว การเสนอความคิดเห็นของนักศึกษาก็ย่อมเปล่าประโยชน์ และเป็นเพียงแบบพิธีของการมีส่วนร่วมเท่านั้น หาได้ปรากฏความจริงใจที่ซื่อตรงต่อคำมั่นดังกล่าวแต่ประการใด 
 
ถึงอย่างไรก็ตาม สภานักศึกษาและองค์การนักศึกษาขอยืนยันที่จะต่อสู้เรียกร้องตามเจตนารมณ์ที่ได้แถลงไว้ตามเดิมทุกประการ ในการนี้ สภานักศึกษาและองค์การนักศึกษาจึงขอเรียนเชิญนักศึกษา คณาจารย์ พนักงาน และประชาคมธรรมศาสตร์ทุกภาคส่วนเข้าประชุมหารือต่อกรณีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กำลังออกนอกระบบ และร่วมลงชื่อสนับสนุนในวันอังคาร ที่ 28 เมษายน 2558 เวลา 17.00 นาฬิกา (โดยสถานที่จะแจ้งให้ทราบภายหลัง) เพราะเราเล็งเห็นว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แห่งนี้เป็นมหาวิทยาลัยของเราชาวประชาคมธรรมศาสตร์ทุกๆคน แล้วนำเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
 
องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
23 เมษายน 2558
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บึ้มโดนเด็ก-ฆ่า 2 สาว คล้อยหลัง กอ.รมน.ชี้สถานการณ์ดีขึ้นรอบ 6 เดือน -สมาคมสตรีประณาม

$
0
0
บึ้มข้างทางโดนเด็ก 3 คน วางบึ้มทหาร-กู้ได้ 2 ลูก สลด! ยิง 2 สาวเสียชีวิต ด้านสมาคมผู้หญิงฯ ออกแถลงการณ์ 2 ฉบับประณาม ขอให้ทุกฝ่ายปกป้องผู้หญิงและเด็ก ให้ผู้หญิงบทบาทในกระบวนการสันติภาพ กอ.รมน.ชี้เป็นพฤติกรรมสุดโต่ง แต่จะใช้สันติวิธีจัดการ แม่ทัพสั่งย้ายผู้การทหารพรานกรณีโต๊ะชูด รุนแรงคล้อยหลัง กอ.รมน.แถลงสถานการณ์ดีขึ้นในรอบ 6 เดือน

 
เพียงวันเดียวเกิด 4 เหตุ เจ็บ 8 ตาย 2
 
วันที่ 24 เมษายน 2558 เกิดเหตุรนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ถึง 4 เหตุการณ์ ทั้งวางระเบิดและลอบยิง มีผู้บาดเจ็บ 8 ทั้งชาวบ้านและทหาร ตาย 2 คนเป็นผู้หญิงชาวอาข่า
 
โดยเริ่มจากเวลา 05.30 น. คนร้ายใช้อาวุธปืนสงครามเอชเค 33 ยิงถล่มบ้านนายอำนวย แก้วยอด อายุ 45 ปี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านควนหรัน เลขที่ 109 ม.10 บ้านควนหรัน ต.ท่าม่วง อ.เทพา จ.สงขลา แต่กระสุนปืนไปถูกรถยนต์มิตซูบิชิ ปาเจโรที่จอดอยู่หน้าบ้าน 3 นัด จนกระจกแตก ส่วนผู้ที่อยู่ในบ้านปลอดภัย ที่เกิดเหตุเจ้าหน้าที่พบปลอกกระสุนปืน M16 ตกอยู่ 14 ปลอก จึงเก็บไว้เป็นหลักฐาน เจ้าหน้าที่เชื่อว่าเป็นการสร้างสถานการณ์ไม่สงบที่เกิดเหตุรุนแรงพร้อมกันหลายจุดในวันเดียวกัน
 
 
บึ้มข้างทางโดนเด็ก 3 คน
 
เวลา 08.15 น.คนร้ายลอบวางระเบิดริมถนนทางเข้าหาดเสด็จ ม.1 ต.เจ๊ะเห อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ทำให้ชาวบ้านได้รับบาดเจ็บ 4 ราย ได้แก่ 1. นายมูอารีรัน ลายอเงาะ 2. ด.ญ.อูนาเดีย ลายอเงาะ 3. ด.ช.ไมฮาดี ลายอเงาะ และ 4. ด.ช.นาซาฮี ลายอเงาะทั้งหมดเป็นพ่อลูกกัน โดยถูกสะเก็ดระเบิดบาดเจ็บเล็กน้อย เหตุเกิดขณะทั้งหมดขับขี่รถจักรยานยนต์พ่วงข้างจะไปออกกำลังกายที่หาดเสด็จ ต่อมาเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบระเบิดอีกลูกหนัก 10 กิโลกรัม ห่างจากจุดแรกประมาณ 60 เมตร เจ้าหน้าที่ใช้เครื่องแรงดันน้ำพลังสูงยิงทำลาย
 
หลังเหตุการณ์นายณัฐพงศ์ ศิริชนะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เดินทางไปเยี่ยม 4 ราย โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ และได้มอบกระเช้าเยี่ยมและเงินช่วยเหลือเยียวยาแก่ทั้ง 4 ราย รวม 60,000 บาท
 
 
วางบึ้มทหาร-กู้ได้ 2 ลูก
 
เวลา 08.30 น.เกิดเหตุระเบิดบนถนนหมายเลข 4092 มายอ-ทุ่งยางแดง ม.1 ต.มายอ อ.มายอ จ.ปัตตานี ทำให้เจ้าหน้าที่ อส.มายอ บาดเจ็บเล็กน้อย 4 นาย ได้แก่ 1.จ.ส.อ.ทองจันทร์ เจิมทอง 2.สท.อุดร จินดาพงษ์ 3.อส.อาริ มีสา เเละ 4.อส.มะสะกรี ตาเห เกิดเหตุขณะ อส.ทั้ง 4 นาย กำลังลาดตระเวนเส้นทางโดยรถหุ้มเกราะ
 
ต่อเวลาประมาณ 10.30 น. ขณะชุดเก็บกู้วัตถุระเบิด ตชด.ที่ 44 เข้าตรวจสอบเหตุระเบิดดังกล่าว พบระเบิดแสวงเครื่องอีก 2 ลูก ซุกไว้ใต้คอสะพานห่างจากจุดแรก ประมาณ 100 เมตร เจ้าหน้าที่จึงนำสายไฟที่เชื่อมต่อกับระเบิดลากยาวเข้าป่าประมาณ 150 เมตรพร้อมดึกสายไฟจนเกิดระเบิดขึ้นเสียงดังสนั่นหวั่นไหว แรงระเบิดทำให้เกิดหลุมกว้าง 3 เมตร ลึก 1 เมตร คอสะพานได้รับความเสียหาย และมีชิ้นส่วนถังแก๊สปิกนิกและชิ้นส่วนระเบิดกระจายไปทั่วบริเวณ
 
 
สลด!ยิง 2 สาวชาวอาข่าเสียชีวิต
 
เหตุต่อมาเกิดขึ้นเวลา 15.00 น. คนร้ายไม่ทราบจำนวนใช้อาวุธปืนพก ขนาด 9 มม. ยิงราษฎรเสียชีวิต 2 ราย ชื่อนางมูเซอะ มาเยาะ อายุ 48 ปี และนางสาวบูยือ มาเยาะ อายุ 17 ปี ชาวอาข่า อยู่บ้านเลขที่ 71 ม.5 ต.บ้านช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ขณะขับขี่รถจักรยานยนต์เดินทางกลับบ้าน มาตามถนนสาย 410 หน้ามัสยิดดารุลอามาน บ้านกาโสด ม.5 ต.บันนังสตา อ.บันนังสตา จ.ยะลา
 
 
สมาคมผู้หญิงฯออกแถลงการณ์ 2 ฉบับประณาม
 
ด้านสมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ ออกแถลงการณ์ประณามผู้ก่อเหตุระเบิด เด็ก ผู้หญิงและผู้บริสุทธิ์ทันทีเช่นกัน ต่อกรณีคนร้ายลอบวางระเบิดบริเวณทางเข้าหาดเสด็จ ต.เจ๊ะเห อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ที่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 4 ราย ซึ่ง เด็ก 3 ราย และเป็นผู้หญิง 1 รายว่าเป็นการกระทำที่โหดร้าย ไร้ซึ่งมนุษยธรรม ขัดต่อทั้งหลักการสากลและหลักศาสนา พร้อมกับมีเรียกร้อง 5 ข้อ
 
ต่อมาหลังเกิดเหตุฆ่า 2 สาวชาวอาข่า ทางสมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพได้ออกแถลงการณ์อีกฉบับ เรื่องประณามผู้ก่อเหตุยิงสตรีเสียชีวิต โดยระบุว่า เป็นการกระทำรุนแรงและไร้มนุษยธรรม ไม่อาจหาคำบรรยายใด ๆ กับการกระทำต่อเพศแม่เช่นนี้ ทำกับผู้หญิงไม่มีอาวุธและไม่มีทางสู้ ทั้งยังเป็นเพียงชาวบ้านธรรมหาเช้ากินค่ำ ถือว่าโหดร้าย ไร้ซึ่งมนุษยธรรม ขัดต่อทั้งหลักการสากลและหลักศาสนา โดยมีเรียกร้องเดียวกันกับแถลงการณ์ฉบับแรก
 
 
ให้ปกป้องผู้หญิงและเด็ก ให้มีบทบาทในกระบวนการสันติภาพ
 
สำหรับข้อเรียกร้องทั้ง 5 ข้อ มีดังนี้
 
1.ให้ทุกฝ่ายที่ใช้อาวุธเคารพและปกป้องชีวิตผู้หญิงและเด็กตลอดจนเป้าหมายอ่อนแออื่นๆ 
2.ขอให้มีการตั้งกรรมการพิเศษขึ้นมาค้นหาความจริงและหามาตรการคุ้มครองให้ความเป็นธรรมรวมทั้งเยียวยา
3.ให้มีการเสวนาระหว่างคนต่างศาสนาเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
4.ขอให้มีกรรมการกาชาดระหว่างประเทศช่วยปกป้องคนเหล่านี้รวมถึงบุคคลากรทางแพทย์
5.เพิ่มสัดส่วนให้ผู้หญิงมีบทบาทในการแก้ปัญหาภาคใต้รวมทั้งในกระบวนการสันติภาพ
 
“สมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ (We Peace) ขอแสดงความเสียใจเป็นอย่างยิ่งต่อครอบครัวผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นทั้งหมด และขอประณามการกระทำใดๆอันเป็นการทำร้ายและก่ออาชญากรรมต่อผู้หญิงและเด็ก อีกทั้งขอเรียกร้องให้รีบเร่งดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม เพื่อนำผู้กระทำผิดที่แท้จริงมาลงโทษอย่างเร่งด่วน เพื่อลดความเคลือบแคลงและสร้างความเชื่อมั่นในการดำเนินชีวิตอย่างปกติสุขของคนในพื้นที่ให้กลับคืนมา” แถลงการณ์ระบุ
 
 
กอ.รมน.ชี้สุดโต่ง แต่จะใช้สันติวิธีจัดการ
 
 
ต่อมา เวลา 10.00 น.พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ หัวหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์/โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค4 สน.) เปิดแถลงข่าวทันทีกรณีมีเหตุการณ์รุนแรงหลายจุดในช่วงเช้าที่ผ่านมาว่า พล.อ.อุดมเดช สีตะบุตร ผู้บัญชาการทหารบก/รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ได้รับทราบสถานการณ์แล้ว และได้กำชับให้ กอ.รมน.ภาค 4 สน. เร่งคลี่คลายสถานการณ์และดูแลผู้ที่ได้รับบาดเจ็บอย่างเร่งด่วน ส่วนแม่ทัพภาคที่ 4/ ผอ.รมน.ภาค 4 ก็ได้สั่งการให้ควบคุมสถานการณ์รวมทั้งรวบรวมวัตถุพยานต่างๆ เพื่อติดตามจับกุมคนร้ายที่ก่อเหตุโดยเร็วที่สุด
 
พ.อ.ปราโมทย์ แถลงว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นความพยายามก่อเหตุโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนผู้บริสุทธิ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลกระทบกับเด็กซึ่งถือเป็นพฤติกรรมแบบสุดโต่ง และไร้มนุษยธรรมที่สมควรต้องได้รับการประณามอย่างกว้างขวาง และไม่อยากให้มองว่าเป็นการกระทำในวันสำคัญเชิงสัญลักษณ์ เพราะกลุ่มคนดังกล่าวพร้อมก่อเหตุทุกครั้งที่มีโอกาส เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือในระบอบอำนาจรัฐ ทำลายระบบเศรษฐกิจ และสร้างความหวาดกลัว โดยไม่เคยคำนึงถึงผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน
 
“กอ.รมน.ภาค 4 สน.จะไม่ใช้ความรุนแรงในการตอบโต้อย่างเด็ดขาดและยังคงแก้ปัญหาโดยใช้สันติวิธี ตามแนวทางการเมืองนำการทหาร ด้วยการติดตามจับกุมคนร้ายที่ก่อเหตุในครั้งนี้มาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งจะเร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบต่อไป” พ.อ.ปราโมทย์ กล่าว
 
 
ย้ายผู้การทหารพรานกรณีโต๊ะชูด
 
พ.อ.ปราโมทย์ เปิดเผยด้วยว่า พล.ท.ปราการ ชลยุทธ แม่ทัพภาคที่ 4 มีคำสั่งให้ พ.อ.พิเชษฐ์ ชุติเดโช ผู้บังคับการกรมทหารพราน 41 ไปช่วยราชการที่มณฑลทหารบก 42 เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2558 ที่ผ่านมา เป็นเวลา 1 ปี หลังจากเกิดเหตุการณ์ที่บ้านโต๊ะชูด ต.พิเทน อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี มีผู้เสียชีวิต 4 ราย เมื่อวันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา
 
ในส่วนของคดีอาญา ทางพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นต่อตำรวจ 3 นาย และทหาร 3 นายแล้ว แต่ไม่ได้ควบคุมตัวแต่อย่างใด โดยแยกสำนวนออกเป็น 3 คดีได้แก่ 1.คดีชันสูตรพลิกศพ 2.คดีผู้ตายถูกกล่าวหา 3.คดีพยายามฆ่า 
 
 
รุนแรงคล้อยหลังกอ.รมน.แถลงสถานการณ์ลด
 
ก่อนหน้านี้เพียงวันเดียว คือวันที่ 23 เมษายน 2558 พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ ร่วมแถลงข่าวว่า การขับเคลื่อนการแก้ปัญหาชายแดนใต้ที่ผ่านมาทำให้มีพัฒนาการดีขึ้นตามลำดับ 
 
โดยพ.อ.ปราโมทย์ แถลงว่าสถานการณ์และการสูญเสียในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมาลดลงอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเปรียบเทียบกับห้วงเวลาเดียวกันของปี 2557 กล่าวคือ มีเหตุการณ์รวม 305 เหตุการณ์ ลดลงร้อยละ 61.63 และการสูญเสียทั้งบาดเจ็บและเสียชีวิตรวม 339 ราย ลดลงร้อยละ 47.44 ในขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐสามารถปฏิบัติงานและบังคับใช้กฎหมายได้ในทุกพื้นที่ ส่วนราชการปกติเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหามากยิ่งขึ้น
 
นายอับดุลฮาลิม มินซาร์ ผู้อำนวยการสำนักประสานนโยบายการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมแถลงด้วยว่า ศอ.บต. จัดติวเข้ม ภาค ก.ให้ครูนอกระบบ เพื่อสอบบรรจุเป็นข้าราชการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในตำแหน่งครูผู้ช่วย เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาในพื้นที่
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสนอใช้ ม.44 แก้ปัญหาสลากเกินราคาตั้งแต่งวด 1 มิ.ย. เป็นต้นไป

$
0
0
ประธานบอร์ดสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล หารือนอกรอบกรณีใช้มาตรา 44 แก้ปัญหาการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคา พร้อมเสนอการปรับส่วนต่างกำไรผู้ค้าใหม่ จาก 5.60 บาท เป็น 10 บาท ก่อนเสนอนายกพิจารณาต่อ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนเป็นต้นไป

 
 
25 เม.ย. 2558 สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยรายงานว่านายสมชัย สัจจพงษ์ อธิบดีกรมศุลกากร ในฐานะประธานคณะกรรมการ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เปิดเผยเมื่อวันที่ 24 เม.ย. ที่ผ่านมาว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เตรียมประกาศใช้กฎหมายมาตรา 44 แก้ปัญหาการจำหน่ายสลากกินแบ่งเกินราคา 80 บาท ว่าเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีที่สามารถทำได้ โดยเตรียมหารือกันนอกรอบในการประชุมบอร์ด สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเมื่อวันที่ 24 เม.ย. ตนเองได้เสนอให้มีการปรับราคาส่วนต่างของกำไรผู้ค้า จาก 5 บาท 60 สตางค์ เป็น 10 บาท ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนเป็นต้นไป ตามการบังคับใช้กฎหมายกินแบ่งรัฐบาลฉบับใหม่ ก่อนเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป พร้อมยอมรับการปรับส่วนต่างกำไรดังกล่าวแม้จะทำให้เงินเข้ารัฐบาลน้อยลง แต่จะช่วยลดปัญหาการจำหน่ายสลากเกินราคาได้
 
ประธานบอร์ดสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าวต่อถึงกรณีการจำหน่ายสลากออนไลน์ และการจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อ ว่าสามารถใช้ มาตรา 44 ได้ โดยทั้ง 2 ช่องทางการจำหน่ายนี้ ถือเป็นอีกกลไกหนึ่งที่สามารถจำหน่ายสลากในราคาที่กำหนดได้ ในส่วนของการจำหน่ายสลากออนไลน์ ขึ้นอยู่กับความพร้อม อย่างไรก็ตามจะยังไม่มีการหารือในที่ประชุมบอร์ดในวันที่ 24 เม.ย.
 
นอกจากนี้การจำหน่ายสลากแบบรวมชุด เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ราคาสลากขายเกินราคา ในประเด็นนี้ไม่จำเป็นต้องใช้มาตรา 44 เข้าไปแก้ไข เพราะมีเงื่อนไขกำหนดอยู่ในสัญญาโควต้าจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลอยู่แล้ว ว่าให้จำหน่ายปลีกเท่านั้น และสามารถยกเลิกโควต้าจำหน่ายได้ทันทีหากพบมีการจำหน่ายสลากแบบรวมชุด แต่ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ไม่เข้มงวด จึงทำให้มีการจำหน่ายแบบรวมชุด อย่างไรก็ตามยังคงจัดสรรโควต้าการจำหน่ายสลากกินแบ่งให้กับผู้พิการตามเดิม แต่จะมีความเข้มงวดในการส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบมากขึ้น หากพบว่าไม่จำหน่ายในพื้นที่ที่ระบุไว้ในสัญญาหรือไม่ติดบัตรผู้พิการก็สามารถสั่งยกเลิกโควต้าการจำหน่ายในทันที
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'พุทธะอิสระ' ค้านให้อำนาจสภาผู้แทนราษฎรเสนอร่างกฎหมาย

$
0
0
"พุทธะอิสระ" ยื่นหนังสือให้แก้ไขร่างรธน. ม.151 ม.156 ม.157 ที่เกี่ยวกับการเสนอร่าง พ.ร.บ.ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ระบุไม่เห็นด้วยเพราะแสดงถึงอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร รัฐสภา รวมถึงนายกที่มีผิดไปจากจารีตประเพณีการปกครองของประเทศซึ่งมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ด้าน "บวรศักดิ์" พร้อมปรับลดจำนวนมาตราในร่าง รธน. โบ้ยบอก จนท.พิมพ์ผิด ปมร่างรธน. แยกพนักงานสอบสวนออกจาก ตร.

 
 
(ที่มาภาพ: สำนักข่าวไทย)
 
25 เม.ย. 2558 สำนักข่าวไทยรายงานว่าหลวงปู่พุทธะอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม ยื่นหนังสือต่อนายบวรศักดิ์ อุวรรโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และนายเทียนฉาย กีระนันท์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) เสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 151 มาตรา 156 มาตรา 157 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเสนอร่างพระราชบัญญัติต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับการตรากฎหมายลักษณะดังกล่าว เพราะแสดงถึงอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร รัฐสภา รวมถึง นายกรัฐมนตรี ที่มีผิดไปจากจารีตประเพณีการปกครองของประเทศ ซึ่งมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
 
พระพุทธอิสระ ยังเสนอแนวทางปฏิรูปพุทธศาสนา อีก 14 ข้อ อาทิ ตรวจสอบทรัพย์สินของวัด เจ้าอาวาส และพระสงฆ์ทุกรูป ไม่เว้นแม้แต่กรรมการมหาเถรสมาคม ตรวจสอบพฤติกรรมของมหาเถระสมาคม กำหนดบทลงโทษแก่ผู้ที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ในพระพุทธศาสนา ให้มีความผิดทั้งแพ่งและอาญา คัดสรรคณะสงฆ์จากส่วนภูมิภาคที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาปกครองคณะสงฆ์สูงสุดในส่วนกลาง เป็นต้น
 
ขณะที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า บทบัญญัติในมาตราดังกล่าว ได้เขียนเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญทุกฉบับในอดีต ไม่ได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงและเป็นไปตามธรรมเนียมประเพณี ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ยืนยันไม่ได้มีการลดพระราชอำนาจแต่อย่างใด
 
 
"บวรศักดิ์" พร้อมปรับลดจำนวนมาตราในร่าง รธน.
 
นอกจากนี้สำนักข่าวไทยยังรายงานว่านายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงข้อเสนอของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่เสนอให้ตัดจำนวนมาตราในร่างรัฐธรรมนูญ ออกไป 20-30 มาตรา ว่า กรรมาธิการยกร่าง พร้อมรับฟังความเห็น ซึ่งต้องดูความชัดเจนในคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ จาก คณะรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก่อน ว่าประเด็นใดต้องการให้ปรับลด  แต่อยากให้ทุกฝ่ายดูที่ความเหมาะสมและความจำเป็นที่ต้องบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมากกว่าที่จะดูจำนวนมาตรา เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้เพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการปฎิรูปและการสร้างความปรองดอง หากจะให้นำบางเรื่องบัญญัติไว้ในกฎหมายลูก ก็สามารถทำได้  แต่ก็กังวลว่าอาจจะเกิดความล่าช้า อย่างที่เคยเกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญปี 2550
 
นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า กรรมาธิการยกร่างฯ ดำเนินการตามกรอบเวลาที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวกำหนดไว้อย่างดีที่สุด จึงไม่ขอแสดงความเห็นว่าควรจะมีการขยายเวลาการเลือกตั้งออกไป ตามข้อเรียกร้องของพรรคการเมืองหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ต้องไปถามความเห็นจากพรรคการเมืองที่เสนอ เพราะหากจะมีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ต้องไปแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวก่อน เพราะขณะนี้ทุกอย่างเป็นไปตามโรดแมปที่วางไว้
 
 
โบ้ย บอก จนท.พิมพ์ผิด ปม ร่างรธน.แยกพนักงานสอบสวนออกจาก ตร.
 
ด้านมติชนออนไลน์รายงานว่านายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงบทบัญญัติในมาตรา 282(8) ที่กำหนดให้แยกพนักงานสอบสวนออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ว่า เนื่องจาก กมธ.ปฏิรูปกฏหมายและกระบวนการยุติธรรม สปช.ส่งข้อเสนอแนะแนวทางปฏิรูปตำรวจมาให้ล่าช้า และเมื่อส่งมาก็มีมา 2 ความเห็น คือ เสนอให้พนักงานสอบสวนมีอิสระในการทำงาน แต่ไม่แยกออกจากสตช.กับ เสนอให้แยกงานสอบสวนออกจาก สตช.โดยความเห็นดังกล่าวที่ส่งมาลงนามโดยนายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธาน กมธ.ปฏิรูปกฏหมายฯ ซึ่งยืนยันว่า ในส่วนนี้ กมธ.ยกร่างฯ มีมติเห็นว่า พนักงานสอบสวนควรมีอิสระแต่ต้องไม่แยกออกจาก สตช. ซึ่งในการพิจารณาในวันดังกล่าว ตนกับนางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ เลขาฯ กมธ.ยกร่างฯ ติดภารกิจไม่อยู่ในที่ประชุม ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่พิมพ์เนื้อหาร่างในที่ประชุมอาจไม่มีความชำนาญ จึงเขียนผิดมติ กมธ.ยกร่างฯ และอาจเป็นความผิดพลาดของตนที่ไม่ได้อ่านทวนอีกครั้ง หลังจากนี้ กมธ.ยกร่างฯ จะนำกลับไปแก้คำผิดให้เป็นไปตามมติที่ประชุม กมธ.ยกร่างฯ ต่อไป
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยอดผู้เสียชีวิตแผ่นดินไหวเนปาลขั้นต่ำ 688 คนแล้ว

$
0
0
กระทรวงมหาดไทยเนปาลแจ้งยอดผู้เสียชีวิตล่าสุดจากแผ่นดินไหวขนาด 7.9 ริกเตอร์ที่เกิดขึ้นในสายวันนี้ว่าอยู่ที่ 688 คนแล้ว ด้านกระทรวงการท่องเที่ยวเนปาลแจ้งว่า มีผู้เสียชีวิตแล้ว 8 คน จากหิมะถล่มบนยอดเขาเอเวอเรสต์เพราะแผ่นดินไหว

 
 
ที่มาภาพ: สำนักข่าวไทย
 
25 เม.ย. 2558 สำนักข่าวไทยรายงานว่าเจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยเนปาลเผยกับสำนักข่าวต่างประเทศเมื่อเวลา 18.34 น.วันนี้ตามเวลาในไทยว่า ยอดผู้เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นช่วงสายวันนี้เพิ่มขึ้นเป็น 688 คนแล้ว เฉพาะในกรุงกาฐมาณฑุมีผู้เสียชีวิต 181 คน ด้านเจ้าหน้าที่กระทรวงการท่องเที่ยวเผยว่า แผ่นดินไหวทำให้หิมะถล่มกลบเบสแคมป์บางส่วน ซึ่งเป็นจุดพักของนักไต่เขาที่ต้องการพิชิตยอดเขาสูงที่สุดในโลกแห่งนี้ ขณะนี้ได้รับแจ้งแล้วว่ามีผู้เสียชีวิต 8 คน ล่าสุดมีรายงานจากเขตปกครองตนเองทิเบตของจีนว่า มีผู้เสียชีวิต 1 คนจากแผ่นดินไหวเนปาล
 
แผ่นดินไหวครั้งนี้ถือว่ารุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เนปาลเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ขนาด 8 ริกเตอร์เมื่อ 81 ปีก่อน ครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตทั้งในเนปาลและรัฐพิหารของอินเดียประมาณ 10,800-12,000 คน
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล

$
0
0

"ยังมีความตื้นเขินอย่างที่สุด ไม่เข้าใจหลักการการประกันสิทธิพื้นฐานสุขภาพให้กับประชาชน มองเห็นคนไม่เท่ากัน ต้องการลดทอนสวัสดิการพื้นฐานของประชาชนให้เหลือเพียงการสังคมสงเคราะห์อนาถาเท่านั้น.."

กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ เสนอให้คนรวยเสียสละไม่ใช้สิทธิ์ 30 บาทรักษาทุกโรค เพื่อทำกุศลให้คนจน ในรายการคืนความสุขฯ

อมธ.-LLTD งดจัดเสวนาปม ‘มรดกจอมพลสฤษดิ์’ หลังถูกบีบให้เปลี่ยนหัวข้อ-เนื้อหา

$
0
0

อมธ.-กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย แจ้งยกเลิกจัดเสวนา “จอมพลสฤษดิ์ และมรดกที่ประกอบสร้างจากยุคพัฒนา” เหตุได้รับแจ้งให้เปลี่ยนหัวข้อและเนื้อหา มิเช่นนั้นจะไม่ได้รับอนุญาตให้จัด

26 เม.ย.2558 องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(อมธ.)และกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD) ระบุขอยกเลิกการจัดกิจกรรมเสวนาสาธารณะ “จอมพลสฤษดิ์ และมรดกที่ประกอบสร้างจากยุคพัฒนา” โดยชี้แจงเหตุผลและรายละเอียดของการเตรียมการจัดกิจกรรมดังกล่าวดังนี้

ในครั้งแรก ทางผู้จัดมีความตั้งใจที่จะจัดกิจกรรมตั้งแต่เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2558 โดยได้ขออนุญาตใช้สถานที่กับทางมหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2558 แต่ไม่ได้รับอนุญาตโดยให้เหตุผลว่ากิจกรรมจะต้องได้รับอนุญาตจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เสียก่อน ทางผู้จัดจึงทำหนังสือขออนุญาตจัดกิจกรรมไปยัง คสช.ในวันเดียวกัน แต่กว่าที่จะได้รับอนุญาตก็ล่วงเลยจากวันที่กำหนดไว้แล้ว จึงต้องเลื่อนการจัดกิจกรรมออกไปก่อน

ต่อมา ทางผู้จัดกำหนดจัดกิจกรรมดังกล่าวในวันที่ 26 เมษายน 2558 โดยได้ทำหนังสือขออนุญาตจัดกิจกรรมไปยัง คสช. อีกครั้งเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2558 หลังจากนั้นได้รับแจ้งจากทางมหาวิทยาลัยในบ่ายวันที่ 20 เมษายน 2558 ว่าได้รับอนุญาตแล้วและให้ไปรับหนังสืออนุญาตที่สถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม เมื่อไปติดต่อที่สน. ดังกล่าวในวันที่ 22 เมษายน 2558 กลับได้รับแจ้งว่ายังไม่ได้รับหนังสืออนุญาต คาดว่าจะได้รับภายในสัปดาห์นั้น แต่เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2558 กลับได้รับแจ้งให้เปลี่ยนหัวข้อและเนื้อหาการเสวนา มิเช่นนั้นจะไม่ได้รับอนุญาตให้จัด ทางผู้จัดจึงต้องยกเลิกการจัดกิจกรรมในที่สุด

สาเหตุที่เลือกหัวข้อนี้ เพราะผู้จัดได้มีโอกาสอ่านงานเขียนของอาจารย์ทักษ์ เฉลิมเตียรณ ชื่อ "การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ (Thailand: The politics of Despotic Paternalism)" จึงได้รู้ว่าในยุคของจอมพลผ้าขาวม้าแดงรายนี้ ได้สร้างมรดกตกทอดทั้งทางการเมือง ระบบเศรษฐกิจ และวิธีคิดต่างๆมากมายต่อประเทศไทยจนสืบทอดมาถึงปัจจุบันอย่างที่เราเป็นกัน หลายคนที่เกิดไม่ทัน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ เราไม่รู้เลยว่าหลายสิ่งที่ได้เกิดจากยุคดังกล่าว ยังคงอยู่และฝังตัวหยั่งรากลึกจนกลายเป็นรากฐานวิธีคิดของคนในสังคมไทย จนเรามิได้รู้ตัวเลยว่าเป็นสิ่งที่เพิ่งถูกประกอบสร้างขึ้นเมื่อกึ่งศตวรรษนี้เอง อีกทั้งคนที่เกิดทันยุคทันสมัย หรือห่างจากยุคสมัยนั้นไม่มากนักก็ยังมีภาพความเข้าใจที่ไม่แม่นยำนัก

และนอกจากนี้ ในประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับโลกช่วงสงครามเย็นนั้น ประเทศไทยเราได้มีโอกาสพัฒนาอย่างก้าวกระโดด โดยที่หลายคนมิได้สงสัยเลยว่าทำไมประเทศไทยจึงก้าวไปได้ไกลกว่าเพื่อนบ้านในยุคนั้น ซึ่งนี่จะเป็นประเด็นที่ได้ทำให้เรามีความเข้าใจต่อจุดยืนของประเทศเราเองท่ามกลางสังคมโลกได้อย่างดีขึ้น และจะเป็นผลดีต่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (AEC) เนื่องจากเป็นที่รู้กันดีว่าในภูมิภาคนี้ มีหลายชาติรวมถึงประเทศไทยที่ยังคงมีภาพความเข้าใจต่อประเทศอื่นๆที่ไม่เป็นผลดีและไม่ถูกต้องนักต่อการพัฒนา ดังคำที่เราได้โปรยเอาไว้ในคำเชิญร่วมงานเสวนาว่า “ไม่เรียนรู้อดีต ก็จะไม่เข้าใจปัจจุบัน และไม่เท่าทันอนาคต”

ผู้จัดเป็นเพียงกลุ่มนักศึกษาที่ต้องการเพิ่มพูนความรู้ให้แก่ตนเองและผู้อื่น หากแต่ไม่ได้มีทรัพยากรมากเพียงพอที่จะอำนวยการจัดกิจกรรมทุกอย่างได้เอง จึงต้องขอพึ่งพามหาวิทยาลัย ด้วยหวังว่ามหาวิทยาลัยจะดำเนินการตามภารกิจของตนให้สมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นสถานที่แห่งวิชา แต่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยก็ไม่ปกป้องคุ้มครองเสรีภาพทางวิชาการ อันเป็นหัวใจของมหาวิทยาลัยไว้ กลับมอบอำนาจตัดสินใจให้บุคคลภายนอกเข้ามาแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างง่ายดาย ผู้จัดในฐานะนักศึกษามหาวิทยาลัยจึงรู้สึกผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม ผู้จัดเห็นว่า หากกิจกรรมนี้ได้มีขึ้น จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะเป็นอย่างมาก ดังนั้นผู้จัดจะพยายามหาช่องทางในการจัดกิจกรรมดังกล่าว ขอให้ทุกท่านโปรดติดตามต่อไป

ทั้งนี้ตามกำหนดการเสวนาเดิมที่มีการเผยแพร่นั้นจะจัดขึ้น ในนวันอาทิตย์ที่ 26 เมษายน 2558 เวลา 13.00 - 16.30น. ณ ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ ชั้น3 อาคารเอนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ดำเนินการการโดย อ.ธร ปีติดล จากคณะเศรษฐศาสตร์ มธ.

โดยมี วิทยากรร่วมเสวนา ประกอบด้วย  ด้านประวัติศาสตร์  อ.ศุภวิทย์ ถาวรบุตร จากคณะศิลปศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ มธ. ด้านรัฐศาสตร์ อ.พวงทอง ภวัครพันธุ์ จากคณะรัฐศาสตร์ ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ม.จุฬาฯ และด้านเศรษฐศาสตร์  อ.อภิชาต สถิตนิรามัย จากคณะเศรษฐศาสตร์ มธ.
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คาดใช้ ม.44 ตั้ง 'อภิรัชต์ คงสมพงษ์' เป็นประธานบอร์ดกองสลากคนใหม่

$
0
0
ปลัดคลังเตรียมหารือรัฐมนตรีคลัง รัฐมนตรีช่วยคลัง สรรหาประธานบอร์ดสาลากฯคนใหม่ และแนวทางการแต่งตั้ง โดยอาจเสนอใช้มาตรา 44 ตั้งประธานบอร์ดจากภายนอก คาดเป็น "พล.ต.อภิรัชต์ คงสมพงษ์" รองแม่ทัพภาคที่ 1 สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) บุตรชาย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุดและหัวหน้า รสช.

 
26 เม.ย. 2558 สำนักข่าวไทยรายงานว่านายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า หลังจากนายสมชัย สัจจพงษ์ อธิบดีกรมศุลกากร ในฐานะประธานคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ได้ยื่นหนังสือลาออกจากประธานบอร์ด โดยใบลาออกมีผลในวันที่ 27 เม.ย.นี้ ต้องรอดูหนังสือให้ชัดเจนอย่างเป็นทางการ เพื่อหารือกับนายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาขั้นตอนการแต่งตั้ง เพราะตามปกติแล้วปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานบอร์ดตามกฎหมายและได้มอบหมายให้รองปลัดกระทรวงหรือข้าราชการกระทรวงการคลังระดับสูง
 
สำหรับแนวทางหากจะแต่งตั้งบุคคลภายนอกเข้ามารับตำแหน่ง หรือการตั้งรูปแบบคณะกรรมการ คณะทำงานรูปแบบต่างๆต้องหารือร่วมกัน  เพื่อเสนอให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีพิจารณาใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อพิจารณาแต่งตั้ง ทั้งนี้เพื่อต้องการแก้ปัญหาในหลายด้านให้เกิดความชัดเจนเป็นรูปธรรม ทั้งปัญหาสลากเกินราคา และการจัดสรรสลากโควต้า ซึ่งจะครบกำหนดในช่วงกลางปีและปลายปีเกือบทั้งระบบ
 
ด้านนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า นายสมชัย โทรศัพท์มาบอกกล่าวอย่างไม่เป็นทางการ  เมื่อพยายามแก้ไขการจำหน่ายสลากฯ เกินราคามาได้ระดับหนึ่ง แต่ยังไม่เป็นที่พอใจ จึงขอลาออกเพื่อเปิดโอกาสให้กระทรวงการคลังเสนอบุคคลที่มีความเหมาะสมมากกว่าเข้ามารับตำแหน่งประธานบอร์ดสำนักงานสลากฯ แทน เพื่อมุ่งแก้ปัญหาสลากเกินราคา ซึ่งเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก ทั้งเอเย่นต์ ผู้ค้าสลากรายย่อยและคนพิการ เป็นต้น ดังนั้นการออกมาตรการใดๆที่มีความรุนแรงก็เกิดผลกระทบไปด้วย
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บุคคลภายนอกซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดสลากกินแบ่งรัฐบาล คือ พล.ต.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ รองแม่ทัพภาคที่ 1 สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) บุตรชาย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ผู้นำการรัฐประหารปี 2534
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กต.แจงคนไทยในเนปาลติดต่อเข้าพักได้ที่ทำเนียบเอกอัครราชทูตได้

$
0
0
กระทรวงการต่างประเทศออกข่าวสารนิเทศ "เหตุแผ่นดินไหวและการช่วยเหลือคนไทยในเนปาล ฉบับที่ 2" ระบุคนไทยที่ต้องการที่พักชั่วคราว สามารถติดต่อสถานเอกอัครราชทูตฯ เพื่อเข้าพักได้ที่ทำเนียบเอกอัครราชทูตได้

 
เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2558 กระทรวงการต่างประเทศออกข่าวสารนิเทศ "เหตุแผ่นดินไหวและการช่วยเหลือคนไทยในเนปาล ฉบับที่ 2" โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
 
ข่าวสารนิเทศ : เหตุแผ่นดินไหวและการช่วยเหลือคนไทยในเนปาล ฉบับที่ ๒
 
ตามที่เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ห่างจากกรุงกาฐมาณฑุไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ ๘๐ กิโลเมตร ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย ๑,๘๐๐ คน บาดเจ็บ เป็นจำนวนมาก (ตามรายงานของทางการเนปาล) รวมทั้ง อาคารบ้านเรือนและทรัพย์สินเสียหาย เป็นจำนวนมาก โดยเป็นแผ่นดินไหวที่ร้ายแรงที่สุดของเนปาลในรอบ ๘๐ ปี นั้น  
 
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกาฐมาณฑุ รายงานสถานการณ์ล่าสุดและการตรวจสอบความเสียหายและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับคนไทย และการให้ความช่วยเหลือ ดังนี้
 
-  ขณะนี้ มีคนไทยเข้าพักพิงที่ทำเนียบเอกอัครราชทูต ๒๐ คน เป็นข้าราชการ ครอบครัว และคนไทย ที่พักอยู่ในอาคารสูงซึ่งไม่ปลอดภัยที่จะกลับเข้าไป โดยกลุ่มนี้ ยังไม่แสดงความประสงค์ที่จะเดินทางกลับประเทศไทย
 
- สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ติดต่อคนไทยที่อยู่อาศัยในกรุงกาฐมาณฑุอีกประมาณ ๓๐ คน ทุกคนปลอดภัยดีและยังไม่ประสงค์จะกลับประเทศไทย เช่นกัน
 
-  กลุ่มคนไทย ๓๔ คนที่มาประชุมที่เมืองนากากอด ห่างจากกรุงกาฐมาณฑุประมาณ ๓๐ กิโลเมตร ปลอดภัยดี และได้ลงชื่อเพื่อขอรับบัตรโดยสารและกำลังรอขึ้นเครื่องบินโดยสารเดินทางกลับประเทศไทย
 
-  คนไทยที่ต้องการที่พักชั่วคราว สามารถติดต่อสถานเอกอัครราชทูตฯ เพื่อเข้าพักได้ที่ทำเนียบเอกอัครราชทูต (Dev Nivas) ได้  
 
-  สถานเอกอัครราชทูตฯ เปิดสาย Hotline หมายเลข +๙๗๗ ๙๘๐ ๑๐๖ ๙๒๓๓ และ +๙๗๗ ๙๘๔ ๑๒๔ ๒๐๙๔  (ระบบการสื่อสารในกรุงกาฐมาณฑุและในหลายพื้นที่ล่มและใช้ได้เป็นบางช่วงเท่านั้น ทำให้มีความยากลำบากในการติดต่อสื่อสารระหว่างสถานเอกอัครราชทูตฯ กับคนไทยในพื้นที่ สถานเอกอัครราชทูตฯ กำลังพยายามหาช่องทางสื่อสารอื่นๆ)
 
ขณะเดียวกัน กองคุ้มครองฯ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศได้เปิดสาย Hotline ๔ หมายเลข ได้แก่ ๐๘ ๕๙๑๑ ๔๐๗๖, ๐๙ ๔๐๐๓ ๗๑๙๐-๒ ระหว่างเวลา ๐๘.๐๐ - ๒๒.๐๐ น.
 
สำหรับผู้โดยสารของบริษัทการบินไทยที่ประสงค์จะเดินทางออกจากกรุงกาฐมาณฑุสอบถามข้อมูลการบินไทยได้ที่ + ๙๗๗ ๑๔๑๑ ๓๑๔๐ และ + ๙๗๗ ๑๔๑๑ ๓๐๔๗
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เมื่อพลังงาน...ปฏิรูปการเมือง

$
0
0

 


เมื่อร่างแรกของรัฐธรรมนูญฉบับที่มี ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานคณะกรรมการยกร่าง (ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่าร่างแรกของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2558 ซึ่งถูกคาดการณ์ว่าจะประกาศใช้ได้ภายในปี พ.ศ. 2558) ได้ถูกเผยแพร่ไปสู่สาธารณะ และตามมาด้วยการอภิปรายของสถาบันทางการเมือง อย่างสมัชชาปฏิรูปแห่งชาติ ไปจนถึงในระดับปัจเจก อย่างนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ สื่อมวลชน ภาคประชาสังคม ฯลฯ ประเด็นที่ถูกจับจ้อง และถูกหยิบยกขึ้นมาอภิปรายกันอย่างกว้างขวางมักเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันทางการเมือง อันได้แก่ บรรดาสภา สมัชชา คณะกรรมการ และองค์กรที่จัดตั้งตามรัฐธรรมนูญ นอกจากนั้นก็มักเป็นการอภิปรายถึงที่มาของอำนาจและการตรวจสอบการใช้อำนาจในพื้นที่ทางการเมือง อาทิ ที่มาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญ ทั้งนายกรัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. ตลอดจนอำนาจของศาลในปริมณฑลทางการเมือง รวมไปถึงการอภิปรายถึงหลักการทางประชาธิปไตยที่มีลักษณะเป็นนามธรรมสูง อย่างความเป็นพลเมือง ผู้นำที่ดี และระบบผู้แทนที่ดี

       
อย่างไรก็ตามประเด็นที่ดูจะถูกละเลยเพื่อหยิบยกมาสร้างการถกเถียงสาธารณะภายหลังการเผยแพร่ร่างแรกของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2558 คือ ประเด็นพลังงาน ทั้งที่ก่อนหน้านี้สังคมให้ความสนใจในการปฏิรูปพลังงานเป็นอย่างมาก ทั้งการจัดเวทีเพื่อระดมความคิดเห็นในการปฏิรูปพลังงาน ทั้งเวทีใหญ่ที่จัดโดยหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงเวทีย่อยๆ ที่จัดโดยภาคประชาชนและสถาบันวิชาการ รวมไปถึงคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับการปฏิรูปพลังงาน เช่น คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับ 54/2557, 55/2557 และ 56/2557  


หากพิจารณาเฉพาะประเด็นพลังงานกับรัฐธรรมนูญ จะพบว่าในร่างแรกของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2558 มีการอุทิศมาตราหนึ่งในร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นการกล่าวถึงประเด็นพลังงานโดยเฉพาะ ซึ่งหากพิจารณาย้อนไปในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 และ 2550 แล้วจะพบว่าไม่ปรากฏว่ามีการบัญญัติประเด็นพลังงานไว้อย่างเป็นเอกเทศ พลวัตรของพลังงานที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญสะท้อนให้เห็นนัยสำคัญประการหนึ่งคือ ความสัมพันธ์ของการเมืองกับพลังงานโดยทิศทางของความสัมพันธ์อาจระบุได้ยากว่าการเมืองหรือพลังงานที่เป็นประธาน (Subject) หากแต่กล่าวเฉพาะในร่างแรกของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2558 อาจตีความได้ว่าพลังงานสามารถกลายสถานะมาเป็นจุดตั้งต้นที่ส่งผลต่อความเป็นการเมือง กล่าวให้ถึงที่สุดไม่ใช่เพียงการเมืองที่เข้าไปไปปฏิรูปพลังงาน ในทางกลับกันพลังงานก็บีบรัด หรือเปลี่ยนให้การเมืองต้องปฏิรูปตามไปด้วย


หากพิจารณาย้อนกลับไปที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ซึ่งถูกยกย่องโดยทั่วไปว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตย จะพบว่าไม่มีการกล่าวถึงประเด็นพลังงานไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวเลย แม้ว่าไม่มีการกล่าวถึงพลังงานไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 แต่ผลพวงจากรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวได้สร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในการพัฒนาพลังงานของรัฐ รวมถึงการลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงาน โดยเฉพาะมาตรา 56 วรรค 2 ที่ระบุให้ “การดำเนินโครงการ หรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม” จากบทบัญญัติดังกล่าวทำให้การสร้างโรงไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิตตั้งแต่ 10 เมกะวัตต์ขึ้นไป ต้องถูกกำกับและตรวจสอบมาตรฐานที่เรียกกันจนติดปากว่า EHIA จากสังคม หรือชุมชนซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้า การตรวจสอบโรงไฟฟ้าภายใต้มาตรฐาน EHIA ได้นำไปสู่ปรากฏการณ์ความขัดแย้ง และความแตกแยกทางการเมืองภายในพื้นที่อย่างมาก ดังอาการที่ปรากฏให้เห็นจากการเดินขบวนประท้วงเพื่อต่อต้านโรงไฟฟ้า การแบ่งคนในชุมชนออกเป็น 2 ฝ่าย ระหว่างฝ่ายเอา กับฝ่ายไม่เอาโรงไฟฟ้า รวมถึงการยื่นฟ้องร้องถอดถอนเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนในการอนุมัติอนุญาตให้มีการการตั้งโรงไฟฟ้า เป็นต้น      


สำหรับในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ประเด็นพลังงานถูกบัญญัติไว้ในหมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ส่วนที่ 9 แนวนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ ทรัพย์สินทางปัญญา และพลังงาน โดยมีการบัญญัติให้รัฐส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย พัฒนา และใช้ประโยชน์จากพลังงานทดแทนซึ่งได้จากธรรมชาติและเป็นคุณต่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ สำหรับร่างแรกของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2558 ประเด็นพลังงานถูกระบุไว้ในส่วนที่ 2 ด้านการปฏิรูปด้านต่างๆ มาตรา 288 โดยเป็นการกำหนดให้เกิดการปฏิรูปพลังงาน ซึ่งอาจสรุปสาระโดยสังเขปได้เป็น 3 ประเด็นหลักกล่าวคือ พลังงานในฐานะความเป็นชาติ (Energy as the nation) พลังงานในฐานะการเปิดเผย (Energy as the openness) และพลังงานในฐานะความเป็นสาธารณะ (Energy as the public)[1]


ประการแรก พลังงานในฐานะความเป็นชาติ (Energy as the nation) บทบัญญัติในร่างแรกของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2558 มีการกำหนดให้“ปิโตรเลียมและเชื้อเพลิงธรรมชาติอื่นเป็นทรัพยากรของชาติและมีไว้เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชน” บทบาทและสถานะของพลังงานที่ถูกนำมาผนวกรวมให้เป็นภาพแทนของความเป็นชาติ จะทำให้การเมืองของการบริหารจัดการพลังงานมีความเปราะบางในฐานความชอบธรรม ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการผลประโยชน์ทางพลังงาน (ทั้งในระบบสัมปทาน หรือการแบ่งปันผลผลิต) การบริหารจัดการในการผลิตพลังงาน (ไม่ว่าจะเป็นการแปรรูปบริษัทพลังงาน และการเรียกคืนอุตสาหกรรมพลังงานมาเป็นของรัฐ) การสำรวจและขุดเจาะเพื่อการแสวงหาพลังงาน (ซึ่งไม่ว่าจะดำเนินการโดยรัฐ หรือเอกชนต่างชาติ) ล้วนแล้วแต่สามารถนำไปสู่ปัญหาทางการเมืองของการบริหารจัดการพลังงานได้ทั้งสิ้น โดยเฉพาะข้อกล่าวหาเรื่องการขายชาติ การทรยศต่อชาติ หรือการไม่รักชาติ ดังที่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เคยถูกกล่าวหาในการแปรรูป ปตท. และช่วงการต่อต้านการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย


ปัญหาชาตินิยมทางพลังงานดังกล่าวจะกลายเป็นความท้าทายต่อการเมือง และการพัฒนาพลังงานในสังคมเป็นอย่างมาก เพราะในขณะที่ประเทศที่พัฒนาหรือกำลังพัฒนาต่างมุ่งหน้าแสวงหาความมั่นคงทางพลังงาน ที่ไม่ใช่มีแต่รัฐเป็นศูนย์กลางในความมั่นคง แต่พยายามสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้เกิดขึ้นในทุกระดับของสังคม ให้เหมาะสมในแต่ละชุมชนที่ใช้พลังงาน รวมไปถึงการเชื่อมโยงความมั่นคงทางพลังงานไปในระดับโลกาภิวัตน์ (Globalization of Energy Demand)[2]ที่เมื่อโลกถูกย่นย่อและเชื่อมโยงเข้าหากัน พลังงานจึงถูกเชื่อมกันเป็นเครือข่าย (Energy Grid) ร่วมกันในโลกอย่างปฏิเสธไม่ได้ ในขณะที่สังคมไทยยังก้าวไม่พ้นความมั่นคงทางพลังงานที่ใช้แนวคิดรัฐชาติ หรือความเป็นชาติกำหนดแนวทางการพัฒนาพลังงาน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วพลังงานไม่ควรถูกความเป็นชาติครอบครอง แต่ควรเป็นของชุมชนท้องถิ่นซึ่งเป็นเจ้าของพลังงานโดยแท้ เพราะเป็นพื้นที่ซึ่งกักเก็บรักษา สืบทอด และแบกรับต้นทุนจากทรัพยากรทางพลังงานที่ธรรมชาติได้มอบให้ไว้ในแต่ละพื้นที่    


ประการที่สอง พลังงานในฐานะการเปิดเผย (Energy as the openness) ข้อบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับประเด็นพลังงานในร่างแรกของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2558 กำหนดให้“รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับรู้ เข้าถึง และเข้าใจในข้อมูลด้านพลังงาน และมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและวางแผนพลังงาน ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น” ข้อกำหนดดังกล่าวสะท้อนความน่าสนใจที่มีกล่าวถึงบทบาทของท้องถิ่นในการกำหนดพลังงาน และความรู้ทางพลังงานที่เปิดเผย (Open Science) ให้ประชาชนได้เข้าถึง


แต่อย่างไรก็ตามการเปิดเผยความรู้ทางพลังงานแต่เพียงอย่างเดียว อาจไม่เพียงพอที่จะสร้างการพัฒนาพลังงานอย่างรอบด้านได้ แต่ควรมองไปที่ประเด็นแวดล้อมทางพลังงานอื่นๆ ด้วย อาทิ เนื้อหาที่เปิดเผย (Open Content) ซึ่งเป็นการเปิดเผยข้อมูลการผลิต การทำงาน ระเบียบข้อบังคับทางพลังงาน การเงินที่เปิดเผย (Open Finance) ที่เป็นการให้ข้อมูลด้านการเงิน การลงทุนในด้านพลังงาน  รัฐบาลที่เปิดเผย (Open Government) การตัดสินใจของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับพลังงานที่ได้รับการเปิดเผย โปร่งใส และตรวจสอบได้ ระบบสังคมที่เปิดเผย (Open Society) เป็นสังคมที่ผู้คนเปิดรับและสนใจต่อความเป็นไปของพลังงานมากกว่ายึดถือเฉพาะความเชื่อทางพลังงานของตนเองเพียงฝ่ายเดียว ท้องถิ่นที่เปิดเผย (Open Local) พลังงานต้องสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนให้แก่ชุมชนท้องถิ่น และอยู่ร่วมกับท้องถิ่นได้ ธุรกิจที่เปิดเผย (Open Business) ธุรกิจพลังงานที่ทำการผลิตต้องไม่ดำเนินการให้เกิดประโยชน์เฉพาะแต่ตนเอง หากแต่ต้องกระจายประโยชน์ให้แก่ผู้คนและระบบเศรษฐกิจในท้องถิ่น ประเด็นเหล่านี้อาจนำไปสู่การปฏิรูปเพื่อสร้างการอยู่ร่วมกันระหว่างพลังงานและชุมชนท้องถิ่นได้ไม่มากก็น้อย


ประการที่สาม พลังงานในฐานะความเป็นสาธารณะ (Energy as the public) มาตรา 288 ในร่างแรกของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2558 ได้การกำหนดให้มีการ “ดำเนินการจัดทำหรือปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับพลังงานให้สอดคล้องกัน มีการติดตามและตรวจสอบการดำเนินนโยบายและแผนบริหารจัดการพลังงานอย่างมีธรรมาภิบาลและยั่งยืน ปรับปรุงให้การสำรวจ การผลิต และการใช้ปิโตรเลียมหรือพลังงานอื่นใด ต้องคำนึงถึงผลกระทบ ต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมทั้งวิถีชีวิตและสุขภาพของประชาชนและชุมชน” ข้อกำหนดดังกล่าวอาจสะท้อนความเป็นใหญ่ของสาธารณะที่มีเหนือพลังงาน กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การทำให้ภาคสาธารณะสามารถเข้าไปกำกับ ดูแล และตรวจสอบนโยบาย ข้อบังคับ หรือข้อกำหนดทางพลังงานได้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของหลักธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการของภาครัฐโดยทั่วไป แต่สิ่งที่สำคัญที่มักไม่ถูกนำมาขบคิดในกระบวนการบริหารจัดการทางพลังงานคือ การสร้างความเป็นเจ้าของพลังงานร่วมกันของสาธารณะสำหรับในประเด็นการสร้างความเป็นเจ้าของร่วมกันของสาธารณะ มีนัยถึงการที่สาธารณะเข้ามาผูกพันในกระบวนการตัดสินใจทางนโยบาย ผ่านการถกเถียงกับชุมชนท้องถิ่นซึ่งเป็นที่ตั้งของแหล่งผลิตพลังงาน อาทิ การพูดคุยร่วมกันระหว่างโรงไฟฟ้า หน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ และประชาชนในพื้นที่ นอกไปจากนั้นการสร้างความเป็นเจ้าของพลังงานร่วมกันของสาธารณะยังต้องมีเป้าหมายเพื่อการปกป้องและรองรับผลประโยชน์สาธารณะ (Public Interest) ที่จะเกิดขึ้นจากการผลิตพลังงาน รวมถึงสร้างกระบวนการที่เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย (Fair processes) [3]ในกระบวนการผลิตพลังงาน อาทิ การมีกลไกรับเรื่องราวร้องทุกข์จากผลกระทบที่เกิดขึ้น และสามารถแก้ไขจัดการให้เกิดความพึงพอใจและความเชื่อมั่นได้ การมีกองทุนจากผลกำไรในการผลิตพลังงานที่สามารถเชื่อมร้อยให้ทุกคนในพื้นที่สามารถเข้าถึงได้โดยไม่ต้องมีนายหน้ามาคอยช่วยค้าความทุกข์ยาก และสามารถใช้เงินกองทุนดังกล่าวเพื่อบำบัดทุกข์ หรือลดทอนความเสียหายได้โดยตัวประชาชนเอง    


การสร้างความเป็นเจ้าของพลังงานร่วมกันของสาธารณะ เป็นวิธีการปฏิรูปที่สำคัญซึ่งจะตีไปที่ใจกลางปัญหาพลังงานในสังคมไทย ซึ่งเกิดปรากฏการณ์ การเกลียดกลัวผลกระทบใกล้ตัวทางพลังงาน (Not in my Backyard)”ปัญหาดังกล่าวเป็นอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนที่เกรงกลัวต่อการกำจัดของเสียอันตรายจากโรงไฟฟ้า หรือการเกลียดกลัวต่อกระบวนการการผลิตพลังงานที่อาจมีอันตราย ซึ่งอยู่ใกล้กับที่อยู่อาศัยของตนเอง[4]จนอาจทำให้เกิดความเดือดร้อนและผลกระทบทางลบได้ กล่าวอย่างง่ายคือ สภาพของปัญหาในลักษณะที่ว่า “สร้างโรงไฟฟ้าที่ไหนก็ได้ แต่ต้องไม่ใช่แถวบ้าน” ทั้งที่ความต้องการบริโภคพลังงานและพฤติกรรมการใช้พลังงานก็ยังคงเติบโตและต่อเนื่อง โดยเฉพาะการบริโภคเทคโนโลยีเวอร์ชั่นสมาร์ตทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ ไปจนถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลายที่มีการผลิตออกมาหลายรุ่น หลายเวอร์ชั่น หลายซีรีย์


เมื่อความต้องการบริโภคพลังงานไม่สามารถแยกขาดจากการผลิตพลังงานได้ ดังนั้นกระบวนการผลิตพลังงานอย่างไรที่จะช่วยสร้างให้เกิดความเป็นเจ้าของร่วมกัน อันจะนำไปสู่การลดทอนความเกลียดกลัวผลกระทบใกล้ตัวทางพลังงาน ทั้งคนในพื้นที่ในฐานะผู้แบกรับต้นทุน ผู้ใช้พลังงานนอกพื้นที่ในฐานะผู้ตักตวงผลประโยชน์ และผู้ดำเนินการผลิตในฐานะผู้รับผลกำไร คำตอบในการสร้างความเป็นเจ้าของร่วมกันทางพลังงานคงไม่สามารถกำหนดได้อย่างตายตัว หากแต่เป็นคำตอบที่ต้องเลื่อนไหลไปตามบริบทของพื้นที่ ผู้คนในพื้นที่ รวมถึงทิศทางของนโยบายจากรัฐ และแรงขับจากสถานการณ์ทางพลังงานในอนาคตที่ต้องปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ


เมื่อพลังงานไม่ได้ถูกการเมืองกำกับแต่เพียงฝ่ายเดียวอย่างที่เป็นมา เมื่อบริบทและสถานการณ์ทางพลังงานเปลี่ยนไป พลังงานอาจกลายเป็นจุดตั้งต้นให้การเมืองต้องปฏิรูป หรือเปลี่ยนแปลงตามพลังงาน อาทิ เมื่อปลายทางของพลังงานในสังคมไทยขึ้นอยู่กับพลังงานหมุนเวียนจากสายลม แสงแดด ชีวะมวล คือตัวกำหนดอนาคตทางพลังงานในสังคมไทย การเมืองจะออกแบบสังคม และชีวิตในสังคมอย่างไร มีการจัดการพื้นที่ ภูมิทัศน์หรือออกแบบเมืองอย่างไร ในทางกลับกันหากถ่านหิน กลายมาเป็นคำตอบที่ชัดเจนมากขึ้น การเมืองของความเป็นถ่านหินจะดำเนินไปในทิศทางใด หน่วยงาน กลไกภาครัฐ นโยบายจะตอบสนองอย่างไรเพื่อรองรับต่อสังคมที่มีถ่านหินเป็นตัวกำหนดพลังงาน ประเด็นเหล่านี้จึงเป็นอนาคตของพลังงาน อนาคตของสังคม และอนาคตทางการเมือง ที่ต้องเกาะเกี่ยวสัมพันธ์ในลักษณะที่ว่าชาตินี้คงแยกจากกันไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นชาติที่อยู่ในสังคมประชาธิปไตยหรือชาติในสังคมเผด็จการ  

 

 

อ้างอิง   

[1]พิจารณา Gijs Graafland. Energy Politics. Amsterdam: Planck Foundation, 2010.

[2]พิจารณา Daniel Yergin. The Quest: Energy, Security, and the Remaking of the Modern World. New York: Penguin Press, 2011.

[3] Patrick Devine-Wright. Renewable Energy and the Public: From NIMBY to Participation. London: Earthscan, 2011.

[4] Michael O Hare, Nuclear Waste Facility Siting and Local Opposition, Report commissioned by the Blue Ribbon Commission on America’s Nuclear Future, January, 2011

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มายาภาพของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซีย

$
0
0

       
การมาเยือนไทยของนายกรัฐมนตรีรัสเซียคือนายดมีตรี เมดเวเดฟเมื่อวันที่ 7-8 เมษายนที่ผ่านมานี้ถูกตีความโดยรัฐบาลทหารและพวกสนับสนุน (ซึ่งผู้เขียนจะขอเรียกแบบรวม ๆ ว่า"ขวาอำมาตย์นิยม") ราวกับเป็นการประกาศชัยชนะของการปกครองแบบเผด็จการของไทยซึ่งต้องแบกรับแรงกดดันทางการเมืองและเศรษฐกิจจากสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปมานานนับปี  อันสะท้อนให้เห็นว่าการเข้าไปซบอกแค่จีนนั้นยังไม่เพียงพอจึงต้องมีอกของมหาอำนาจอื่นๆ เพื่อถลาเข้าหาอีกด้วยอันจะเป็นการยกระดับรัฐบาลทหารของไทยให้เข้าสู่ระดับสากลให้มากที่สุด ดังนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจว่าถ้าหากมีการเชื่อมความสัมพันธ์กับประเทศขนาดใหญ่ประเทศอื่นเช่นประธานาธิบดีของบราซิลหรือนายกรัฐมนตรีอินเดียมาเยือนไทยในอนาคตก็จะนำไปสู่การตีฆ้องร้องป่าวผ่านสื่อต่างๆ แบบถี่ยิบอีกครั้งทั้งที่ในสมัยอื่นก็อาจเป็นฟกิจกรรมของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบธรรมดาๆ เท่านั้น การมาเยือนของนายกรัฐมนตรีรัสเซียและประโยคอันแสนหวานหูที่ว่าไทยเป็นมิตรที่ดีของรัสเซีย จึงเป็นการรับรองต่อความถูกต้องชอบธรรมของรัฐบาลทหารซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะดำเนินต่อไปภายใต้การสับขาหลอกหรือโกหกคำโตที่ว่าไทยจะมีรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยโดยเร็ววัน

สำหรับผู้เขียนได้ชมรายการทางโทรทัศน์อยู่ 2 รายการซึ่งวิเคราะห์เกี่ยวกับการมาเยือนของนายเมดเวเดฟในเชิงยกย่องเขาโดยมีวัตถุแฝงคือการเชิดชูรัฐบาลไทยก็ได้ทราบว่าพวกขวาอำมาตย์นิยมมีความคิดอย่างไรต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยเอาประเทศตัวเองเป็นจุดศูนย์กลาง รายการแรกคือรายการของนายสุทธิชัย หยุ่นซึ่งมีเส้นสายดีจนได้ไปสัมภาษณ์นายเมดเวเดฟอย่างใกล้ชิดอยู่นานและรายการที่ 2 ซึ่งผู้เขียนจะนำมาวิเคราะห์เป็นหลักคือรายการ “ห้องข่าวฉุกเฉิน” ที่มีกูรูผู้เชี่ยวชาญในการเมืองและเศรษฐกิจโลกมาฟันธงคือนายทนง ขันทอง[i]

 ในตอนแรกของรายการ พิธีกรที่สัมภาษณ์นายทนงได้เริ่มต้นโดยสร้างความประหลาดใจให้กับผู้เขียนเพราะเขากล่าวเป็นทำนองว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างไทยและรัสเซียในถึง118 ปีทำให้น่าจับตามองต่อการมาเยือนครั้งนี้ของนายเมดเวเดฟ สำหรับผู้เขียนแล้วในการฉลองครบรอบหรือการให้ความสำคัญเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เลข 118 นั้นไม่ได้มีความสำคัญอะไรนัก ถ้าหากเป็น 120 หรือ 130  น่าจะดูมีน้ำหนักมากกว่าในการระลึกถึง แต่ผู้เขียนคิดว่าพิธีกรอาจจะตั้งใจเน้นไปที่ความยาวนานของความสัมพันธ์ไทยกับรัสเซียเพื่อประชันกับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาผู้ไม่เป็นมิตรกับคสช.ที่ในปีนี้ที่ครบรอบ 182 ปีก็เป็นได้ ในประเด็นนี้ ผู้เขียนขอยกมาวิเคราะห์ในช่วงหลัง

จากนั้นนายทนงก็วิเคราะห์เป็นทำนองได้ว่าการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซียในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ โดยเฉพาะช่วงเสด็จประพาสไปยังต่างประเทศ ได้นำไปสู่การคานอำนาจให้ไทยรอดพ้นจากมหาอำนาจที่ล่าเมืองขึ้นดังเช่นอังกฤษและฝรั่งเศส นอกเหนือไปจากความสามารถทางการทูตและความชาญฉลาดที่ไทยยอมสละดินแดนเข้าทำนองเสียอวัยวะเพื่อรักษาชีวิตอันสอดคล้องกับประวัติศาสตร์กระแสหลักของไทยในปัจจุบัน

ตามความเป็นจริงแล้วความเชื่อทางประวัติศาสตร์เช่นนี้ก็ยังไม่มีหลักฐานที่บ่งชี้ชัดเจนนัก  ไม่มีการพิสูจน์ได้แน่ชัดว่าหากไม่มีสนธิสัญญาอังกฤษกับฝรั่งเศส ในปี 1896 ที่มีการแบ่งเขตอิทธิพลของ 2  ประเทศบริเวณพื้นที่รอบสยามแล้ว ความสัมพันธ์เพียงส่วนพระองค์ระหว่างรัชกาลที่ 5 และพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 จะทำให้อังกฤษและฝรั่งเศสเกิดความเกรงใจจนไม่กล้ายึดไทยหรือไม่  นักประวัติศาสตร์บางท่านเห็นว่าความสัมพันธ์เช่นนี้ระหว่างสยามกับรัสเซียยังไม่มีน้ำหนักพอและรัสเซียย่อมคำนึงว่าอังกฤษและฝรั่งเศสมีความสำคัญและคุณค่ามากกว่าอาณาจักรเล็กๆ ที่อยู่ไกลจากกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (เมืองหลวงของรัสเซียในยุคนั้น) อย่างกรุงสยามมาก  นอกจากนี้คำอ้างของทนงที่ว่าฝรั่งเศสกับอังกฤษวางแผนจะหั่นไทยเป็น 2 ส่วนก็ปราศจากหลักฐานที่ชัดเจนอีกเช่นกัน[ii]ทั้งนี้ไม่นับความคิดแบบโบราณของทนงอีกที่ว่าไทยได้มีความเป็นประเทศก่อนหน้านี้แล้วและต้องเสียดินแดนให้กับตะวันตก  ด้วยความจริงประชาชนในพื้นที่เหล่านั้นเช่นลาวและกัมพูชาก็ไม่ได้มีความรู้สึกเป็นชาติเดียวกับทางกรุงเทพฯ แต่ประการใด กลับเป็นเรื่องตลกร้าย (ที่ประวัติศาสตร์ไทยก็ไม่ค่อยพูด) คือกษัตริย์ของลาวและกัมพูชาต่างหากที่ร้องขอไปอยู่ภายใต้การอารักขาของฝรั่งเศสเสียเอง การสร้างความเป็นชาติไทยของรัชกาลที่ 5 เกิดขึ้นพร้อมกับการสูญเสียดินแดนที่รัฐบาลกรุงเทพฯ เคยถือว่าเป็นอาณาเขตหรือประเทศราชของตนมากกว่า

จากนั้นผู้ดำเนินรายการ "ห้องข่าวฉุกเฉิน" และทนงก็ได้พาคนดูข้ามมหาสมุทรแห่งกาลเวลาจากยุครัชกาลที่ 5 และพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ในปลายศตวรรษที่ 19 ไปยังยุคของปูตินในต้นศตวรรษที่ 21 จนทำให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนกับว่าความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซียนั้นตั้งอยู่บนมิตรภาพอันไม่เสื่อมคลายถึง 118 ปี  ผู้เขียนจึงไม่ทราบว่าผู้ดำเนินรายการนั้นพอจะรู้ประวัติศาสตร์ของรัสเซียหรือไม่ว่ารัสเซียมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์ในปี 1917 และได้รวมเข้ากับรัฐขนาดเล็กใหญ่อื่นๆ อีกภายใต้ชื่อสหภาพโซเวียต แต่สหภาพโซเวียตอยู่ภายในวาทกรรมหลักของความเป็นรัสเซียเพราะผู้ปกครองส่วนใหญ่มาจากรัสเซีย  เหตุการณ์นี้ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับรัสเซียภายใต้ชื่อสหภาพโซเวียตอย่างมาก ชนชั้นปกครองของไทยในสมัยนั้นต่างตื่นกลัวว่าพรรคบอลเชวิกของวลาดิมีร์เลนินจะเป็นภัยต่อประเทศซึ่งปกครองแบบระบอบทุนนิยมกึ่งศักดินาแบบสยามอย่างมาก  ผู้เขียนจำได้ว่าเคยอ่านเรื่องราวของเชื้อพระวงศ์ไทยซึ่งศึกษาอยู่ในรัสเซียช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 1917 พอดีจากนิตยสารสำหรับผู้หญิงฉบับหนึ่งซึ่งนำเสนอถึงพรรคบอลเชวิกในน้ำเสียงด้านลบเช่นเชื้อพระวงศ์พระองค์นั้นได้ทรงเข้าพบกับเลนินเพื่อเข้าอนุญาตออกนอกประเทศและได้แลเห็นเลนินนั่งอยู่ท่ามกลางสมาชิกพรรคบอลเชวิกเหมือนกลุ่มโจร แถมเลนินยังสวมแหวนของพระเจ้าซาร์เสียด้วย  จึงเป็นเรื่องชัดเจนที่ว่าความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศต้องเหินห่างไป (หรือตามความจริงแล้วอาจจะไม่ได้มีความสัมพันธ์เท่าไรมาตั้งแต่ไหนแต่ไรก็ได้) แต่อย่างไรแล้วไทยกับรัสเซียก็ไม่เป็นศัตรูกันอย่างตรงๆ เพราะความห่างไกลและอิทธิพลจำกัดของสหภาพโซเวียตในเอเชีย และที่สำคัญไทยก็หันมาคำนึงถึงการคุกคามจากจีนเสียมากกว่า ด้วยความวิตกกังวลของรัฐบาลไทยต่อภัยจากคอมมิวนิสต์ในช่วงรัชกาลที่ 6 และ 7  ซึ่งมักโยงเข้ากับเชื้อชาติจากการอพยพของชาวจีนเข้ามาในสยามเป็นจำนวนมาก

ไทยกับสหภาพโซเวียตนั้นเริ่มหันกลับมามีความสัมพันธ์ทางทูตอีกครั้งในปี 1941 ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม  ผู้เขียนจำได้ว่าเคยอ่านหนังสืออัตชีวประวัติชื่อ“ชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า” ของประยูร ภมรมนตรีซึ่งเป็นหนึ่งในคณะรัฐมนตรีของจอมพล ป. เขาเล่าว่าในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (ถ้าจำไม่ผิด) เขาได้เดินทางเป็นตัวแทนของไทยไปเชื่อมความสัมพันธ์หรือเจรจาสัญญากับสหภาพโซเวียตและได้แลเห็นสตาลินยืนมองเขาเหมือนกับ “ราชสีห์กับลูกแกะ” อันอาจจะบอกกับเราในระดับหนึ่งว่าชนชั้นปกครองไทยในยุคนั้นมองสหภาพโซเวียตอย่างหวาดระแวงไม่แพ้กับในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช อย่างไรก็ตามในเดือนตุลาคมปี1946  รัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ประกาศยกเลิก พ.ร.บ.ว่าด้วยคอมมิวนิสต์ พ.ศ.2476 (ค.ศ. 1933) จากสาเหตุประการหนึ่งคือต้องการให้สหภาพโซเวียตในฐานะหนึ่งในบรรดาผู้ก่อตั้งสหประชาชาติยอมรับให้ไทยเป็นสมาชิกของสหประชาชาติจนประสบความสำเร็จในปลายปี 1946 อันชี้ให้เห็นว่าความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศตั้งอยู่บนผลประโยชน์ในเวลานั้นเป็นหลัก

ในยุคสงครามเย็น แม้ไทยจะจัดตัวเองว่าอยู่ค่ายเสรีนิยมและเอียงข้างมาทางสหรัฐอเมริกาโดยเฉพาะรัฐบาลในยุคหลังการทำรัฐประหาร พ.ศ.2490 (ค.ศ.1947) เป็นต้นมา แต่ไทยก็มีความสัมพันธ์ในระดับครึ่งๆ กลางๆ กับสหภาพโซเวียตคือไม่ได้เป็นศัตรูแต่ก็ไม่เป็นมิตรกันอย่างดูดดื่มเหมือนกับรายการ“ห้องข่าวฉุกเฉิน” ตั้งใจจะสื่อให้เป็นเช่นนั้น  สหภาพโซเวียตได้ให้ความสนใจแก่ไทยเป็นพิเศษนับตั้งแต่ปี 1969 เพราะความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียตนั้นมีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และท่าทีของสหรัฐฯ ซึ่งเริ่มผ่อนปรนทางการทหารต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น อาจเพราะยุทธการตรุษญวนที่เกิดขึ้นในสงครามเวียดนามเมื่อปี 1968 ทำให้สหรัฐฯเริ่มตระหนักว่าตนไม่มีทางจะชนะในสงครามนี้ได้  ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสันจึงมุ่งหวังจะถอนฐานทัพจากเวียดนามและไทย  ดังนั้นการที่สหภาพโซเวียตพยายามเข้ามาเน้นความสัมพันธ์กับไทยและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่นๆ ที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ดังเช่นอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ก็จะกลายเป็นการสร้างฐานอำนาจให้กับสหภาพโซเวียตในการโอบล้อมจีนเช่นเดียวกับการเข้ามาเติมเต็มช่องว่างทางอำนาจที่เกิดจากการถอนกำลังทางทหารของสหรัฐอเมริกา อันสะท้อนว่าความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพโซเวียตกับไทยก็เป็นเรื่องของกลยุทธ์ทางการเมืองในช่วงสงครามเย็นอีกเช่นกัน ไม่เกี่ยวอะไรกับการทูตเมื่อกว่า 100 ปีที่แล้วเลย

นอกจากนี้สหภาพโซเวียตในยุคของลีโอนิค เบรสเนฟได้เสนอแผนของระบบความมั่นคงรวมแก่เอเชียในปี 1969  แต่ได้รับการปฏิเสธจากหลายประเทศที่นิยมตะวันตกอย่างเช่นไทยซึ่งเกรงว่าจะสร้างความไม่พอใจให้กับจีนที่เป็นปรปักษ์กับโซเวียตอยู่แล้ว เช่นเดียวกับการที่ไทยหวาดระแวงอิทธิพลของสหภาพโซเวียตต่อประเทศเพื่อนบ้านซึ่งกำลังอยู่ในช่วงแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองคือเวียดนามกับลาวคือกลายเป็นคอมมิวนิสต์ในปี 1975 (อันเป็นสาเหตุที่ว่าเหตุใดไทยจึงสนับสนุนเขมรแดงซึ่งต่อมากลายเป็นศัตรูกับเวียดนาม)รวมไปถึงการสนับสนุนของสหภาพโซเวียตต่อพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยซึ่งประกอบกิจกรรมแทรกซึมและการก่อวินาศกรรมในพื้นที่ชนบทเช่นทางภาคเหนือและอีสาน

การสถาปนาการทูตระหว่างจีนกับไทยรวมถึงประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 1975 ยังทำให้สหภาพโซเวียตมีความสนใจในการแผ่อิทธิพลแข่งกับจีนในภูมิภาคนี้แต่ก็ผิดหวังในที่สุดเพราะอิทธิพลของจีนนั้นอยู่ในฝังลึกอยู่ในสังคมไทยเช่นเดียวกับการมีอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจของคนเชื้อสายจีน ในช่วงปี 1975-1991  ไทยกับสหภาพโซเวียตย่อมไม่ใช่มิตรสหายที่สนิทใจนัก ถึงแม้ 2 ประเทศจะมีความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจ มีการติดต่อค้าขายหรือการส่งบุคคลสำคัญไปเยือนประเทศของกันและกัน แต่สหภาพโซเวียตให้การสนับสนุนเวียดนามและลาวซึ่งผู้นำไทยในยุคหนึ่งถือว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของตนและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แม้ชนชั้นปกครองไทยหวังที่จะใช้รัสเซียในการถ่วงดุลอำนาจกับเวียดนามแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่ากับพึ่งจีนซึ่งหันมาเป็นศัตรูกับเวียดนามนัก  ไทยในยุคที่ไร้การสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกายังเฝ้าดูการเข้าแทรกแซงทางการเมืองและการทหารของสหภาพโซเวียตยังภูมิภาคอื่น ๆ เช่นแองโกลาในแอฟริกาด้วยความวิตกกังวล   สงครามระหว่างชายแดนไทยกับลาวที่บ้านร่วมเกล้าในปี 1988 สหภาพโซเวียตพร้อมกับประเทศในค่ายคอมมิวนิสต์อื่นๆ เช่นเวียดนามก็ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนสนับสนุนลาวในการทำสงครามช่วงสั้นๆ กับไทย มีรายงานระบุว่าทหารโซเวียตเสียชีวิตในสมรภูมิครั้งนี้ 2 นาย บาดเจ็บ 2 นาย[iii]

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซียยุคหลังสหภาพโซเวียตก็ได้เริ่มต้นในปี 1991 โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจไม่ว่าการค้าหรือการเดินทางมาท่องเที่ยวของชาวรัสเซียเป็นจำนวนมาก ในทศวรรษที่ 90 นั้นรัสเซียภายใต้ยุคของบอริส เยลต์ซินยังคงหมกมุ่นอยู่กับปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมในประเทศตัวเองจึงทำให้ละทิ้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เสียส่วนใหญ่ยกเว้นเวียดนามซึ่งเป็นรัฐที่เคยอุ้มชูกันมา แน่นอนว่าความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซียก็มีลักษณะเบาบางเหมือนเดิม ก่อนที่รัสเซียจะหันมาให้ความสำคัญกับเอเชียในต้นศตวรรษที่ 21 พร้อมกับความใฝ่ฝันของวลาดิมีร์ปูตินในการนำรัสเซียกลับสู่การเป็นมหาอำนาจอีกครั้ง ปูตินจึงได้เดินทางมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการในปี 2003  ในยุคของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร เป็นเรื่องที่น่าสนใจสำหรับพวกขวาอำมาตย์นิยมที่มักอ้างว่าพวกตนไม่อาจรับรูปแบบการโกงกิน หรือการเป็นเผด็จการของทักษิณได้ แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาจำนวนมากกลับยอมรับปูตินซึ่งก็มีภาพพจน์เช่นเดียวกับทักษิณอย่างน้อยในสายตาของคนรัสเซียเป็นจำนวนมาก (การประท้วงปูตินในช่วงปี 2011 เป็นต้นมาของคนรัสเซียจำนวนเรือนแสนก็คงจะเปรียบได้กับกลุ่มกปปส.) ซึ่งเป็นการบอกได้ว่าพวกเขาก็ไม่ได้สนใจคำว่าประชาธิปไตยเท่าไรนักนอกจากโรคกลัวทักษิณและลัทธิชาตินิยมที่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางตัวอย่างที่ดีได้แก่นงนุช สิงหเดชะที่มักเขียนยกย่องปูตินแต่เกลียดทักษิณ แต่น่าสนใจว่าสุทธิชัย หยุ่นดูเหมือนจะทราบเรื่องนี้จึงเชิดชูเมดเวเดฟเสียมากกว่าปูติน

เป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่ว่าการมาเยือนของเมดเวเดฟเป็นครั้งแรกในรอบ 25 ปีของผู้นำระดับสูงของสหภาพโซเวียต/รัสเซียมาเยือนไทย หากไม่นับกรณีของปูตินซึ่งเป็นระดับพิธีการ แต่การมาเยือนของเมดเวเดฟคงไม่สามารถเกิดขึ้นมาได้หากไม่มีผลงานของรัฐบาลชุดก่อนพลเอกประยุทธ์ ไม่ว่ารัฐบาลทักษิณและรัฐบาลยิ่งลักษณ์ซึ่งถูกมองว่าเป็นลิ่วล้อของสหรัฐฯ แต่ก็ได้เน้นนโยบายในการเชื่อมความสัมพันธ์กับรัสเซียทางการทูตและเศรษฐกิจตลอดมานับตั้งแต่ปี 2001[iv] นายทนงยังฟันธงไปอีกว่าสาเหตุสำคัญสำหรับการมาเยือนของนายเมดเวเดฟก็เพราะต้องการหันมาพึ่งพิงการค้าและการเกษตรกับไทยเพราะรัสเซียถูกสหรัฐอเมริกาและตะวันตกคว่ำบาตรในปี 2013 จากกรณีวิกฤตยูเครน  จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายว่านายทนงอาจไม่ทราบว่ารัสเซียนั้นมีแผนการโอบล้อมเอเชีย  (Pivot to Asia) เช่นเดียวกับสหรัฐฯ คือเน้นการมาเชื่อมความสัมพันธ์ทางการทูต เศรษฐกิจและการทหารกับประเทศในเอเชียโดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก่อนรัสเซียจะถูกคว่ำบาตรเสียด้วยซ้ำ[v]

นอกจากนี้นายทนงยังให้เหตุผลอย่างข้างๆ คู ๆ อยู่ 2 อย่างคือ 1) เขาเห็นว่าการที่เมดเวเดฟมาเยือนไทยกับเวียดนามเพียง 2 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เพราะประเทศอื่นนั้นฝักใฝ่กับสหรัฐฯ จากแผนการโอบล้อมเอเชีย โดยทนงมองข้ามไปว่าเวียดนามในปัจจุบันก็เริ่มมีการกระชับความสัมพันธ์อย่างสหรัฐฯ ในด้านเศรษฐกิจและการทหารเพื่อเป็นคานอำนาจกับจีน 2) ทนงบอกว่าสาเหตุที่เป็นเมดเวเดฟมาเยือนไม่ใช่ปูตินเพราะปูตินมัวแต่ยุ่งอยู่กับความขัดแย้งกับตะวันตก ซึ่งตามความจริงประธานาธิบดีรัสเซียมีเวลาในการทำอย่างอื่นอีกมากมายแม้แต่การออกรายการโทรทัศน์เป็นเวลายาวเหยียดเพื่อตอบคำถามสารพัดแม้แต่คำถามไร้สาระจากผู้ชมทางบ้าน[vi]

ผู้เขียนคิดว่าคำอธิบายที่น่าจะสมเหตุสมผลกว่าสำหรับการที่ปูตินไม่ได้มาเยือนไทยและเวียดนามก็เพราะตระหนักดีว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นสมรภูมิสำคัญในการขยายอิทธิพลระหว่างมหาอำนาจเช่นจีนและสหรัฐอเมริกา การมาเยือนของปูตินซึ่งมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับสหรัฐฯ อาจทำให้ประเทศเล็กๆ เหล่านั้นลำบากใจเพราะยังต้องการการสนับสนุนจากสหรัฐฯ  เพื่อคานอำนาจกับจีน (แท้ที่จริง 1 ในนั้นก็มีไทยอยู่ด้วยเพียงแต่ไม่กล้าแสดงออกมาก) การมาเยือนของเมดเวเดฟซึ่งเป็นบุคคลสำคัญเป็นอันดับ 2 น่าจะเปิดช่องหายใจให้กับประเทศเหล่านั้นได้เช่นเดียวกับภาพพจน์ของนายเมดเวเดฟเองก็ดูเป็นคนดี ใสซื่อและจริงใจกว่าปูติน สุทธิชัย หยุ่นซึ่งกล่าวชมนายเมเวเดฟทั้งรายการถึงกลับออกปากว่านายเมดเวเดฟนั้นมีความเป็นตัวของตัวเองสูงจนไม่น่าจะเป็นหุ่นเชิดให้กับปูติน[vii]การมาเยือนของเมดเวเดฟย่อมส่งผลดีต่อความสัมพันธ์ของรัสเซียต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในฐานะเป็นมหาอำนาจหมายเลข 3 ที่จะเข้ามาข้องเกี่ยวกับภูมิภาคนี้ต่อจากจีนและสหรัฐฯ  หรือถ้านับญี่ปุ่น รัสเซียก็จะเป็นหมายเลข 4

การที่เมดเวเดฟบอกกับรัฐบาลไทยว่าไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองในประเทศก็อาจจะเป็นการตีความได้ว่านายกรัฐมนตรีรัสเซียอาจกำลังบอกว่าแม้ยิ่งลักษณ์ ทักษิณหรืออภิสิทธิ์จะเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ ตนก็ยังจะมาเยือนเมืองไทยอยู่นั้นเอง เพราะเขาก็ไม่ได้สนใจว่าไทยจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ตราบใดที่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับรัสเซียได้ กระนั้นผู้เขียนก็ยอมรับว่าการที่สหรัฐอเมริกาและตะวันตกมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับรัฐบาลไทยเช่นเดียวกับการคว่ำบาตรของประเทศเหล่านั้นกับรัสเซียก็มีผลกระทบเหมือนกันต่อการมาเยือนของนายกรัฐมนตรีรัสเซียซึ่งอาจจะให้ความสำคัญกับไทยมากขึ้นในฐานะเป็น “จิ๊กซอว์อันหนึ่ง” ของนโยบายการโอบล้อมเอเชียของรัสเซียแต่ก็ไม่ใช่ปัจจัยหลักดังรายการทั้ง  2  ซึ่งอิงแนวคิดขวาอำมาตย์นิยมพยายามทำให้คนดูเชื่อ 

ผู้เขียนคิดว่าไทยเป็นได้ก็เพียงรัฐดาวเทียมในสงครามเย็นครั้งใหม่ระหว่างค่ายรัสเซียและจีนกับค่ายสหรัฐฯและตะวันตก กระนั้นมายาภาพของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซีย (รวมถึงมหาอำนาจอื่นๆเช่นจีน) ในฐานะเป็นสหายที่เคียงบ่าเคียงไหล่กันหรือ comrade-in-arms ย่อมจะถูกผลิตซ้ำอีกเรื่อยๆ ผ่านสื่ออย่างเช่นรายการของทนงและสุทธิชัย ในอนาคตตราบใดที่รัฐบาลทหารของไทยยังคงพยายามแสวงหาการยอมรับจากรัฐบาลอื่นทั่วโลกเพราะตระหนักดีว่าตนเริ่มขาดแรงสนับสนุนและความศรัทธาจากประชาชนในประเทศตัวเองขึ้นเรื่อยๆ

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เข้าถึงเอดส์ ชี้ 14 ปี บัตรทอง งบรายหัวขยับเพิ่มสมเหตุสมผล อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

$
0
0

ชี้ช่วงเริ่มโครงการอัตรา 1,200 บาทต่อคน เป็นอัตราต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะต้องจูงใจพรรคการเมืองร่วมผลักดันโครงการ แถมขาดประสบการณ์ดำเนินโครงการ ไม่ทราบตัวเลขงบฯชัดเจน จึงต้องปรับเพิ่มภายหลัง เพื่อให้ครอบคลุมการรักษาทุกโรค ระบุกรณีเปรียบเทียบอัตราเพิ่มงบบัตรทองกับเงินเฟ้อ ต้องบวกเงินเดือน ขรก.ที่ปรับเพิ่มต่อเนื่อง

26 เมษายน 2558 นิมิตร์ เทียนอุดม ผอ.มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ชี้ 14 ปี บัตรทอง งบรายหัวขยับเพิ่มสมเหตุสมผล อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เหตุช่วงเริ่มต้นโครงการปี 2545 ด้วยอัตรา 1,200 บาทต่อคน เป็นอัตรางบต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะต้องจูงใจพรรคการเมืองร่วมผลักดันโครงการ แถมขาดประสบการณ์ดำเนินโครงการ ไม่ทราบตัวเลขงบชัดเจน จึงต้องปรับเพิ่มเติมภายหลัง เพื่อให้ครอบคลุมการรักษาทุกโรค ดูแลประชาชนได้อย่างทั่วถึง พร้อมระบุกรณีเปรียบเทียบอัตราเพิ่มงบบัตรทองกับเงินเฟ้อ ต้องบวกเงินเดือน ขรก.ที่ปรับเพิ่มต่อเนื่อง

นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีที่มีการวิเคราะห์งบเหมาจ่ายรายหัวในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ช่วง 14 ปีที่ผ่านมา ซึ่งพบว่ามีการปรับเพิ่มงบประมาณที่สูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อ) ว่า ประเด็นนี้ต้องอธิบายว่าในช่วงแรกเริ่มต้นโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่เป็นการปฏิรูปการจัดสรรงบประมาณในระบบสาธารณสุข โดยกระจายงบประมาณในรูปแบบเหมาจ่ายรายหัวได้เริ่มต้นอัตรา 1,200 บาทต่อคน เป็นการเริ่มต้นงบประมาณที่ต่ำมาก ทั้งนี้เพื่อผลักดันให้โครงการนี้เกิดขึ้น โดยต้องทำให้พรรคการเมืองตอบรับและผลักดัน และไม่เห็นว่าเป็นภาระงบประมาณเกินไป จนนำมาสู่นโยบายประชานิยมในยุคนั้น เพราะไม่เช่นนั้นระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านี้คงไม่เกิดขึ้น ดังนั้นจึงได้กำหนดตัวเลขงบประมาณที่พอเป็นไปได้โดยคำนึงถึงคุณภาพและประสิทธิภาพในการรักษา ซึ่งต้องบอกว่าเป็นช่วงของการโปรโมชั่น

“การเสนอตัวเลข 1,200 บาทต่อคนในยุคเริ่มต้น 30 บาท แม้ว่าจะเป็นอัตราที่ต่ำกว่าความเป็นจริง แต่ต้องบอกว่าเป็นความฉลาดของคนที่ผลักดันระบบในยุคนั้น เพราะหากใช้ตัวเลขงบประมาณที่สูงมากๆ การเมืองก็จะเกิดความหวาดระแวง ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่เกิดขึ้นและดำเนินมาถึงขณะนี้ ซึ่งทำให้ประชาชนทั้งประเทศมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและเข้าถึงการรักษาได้อย่างทั่วถึง” ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าว

นายนิมิตร์ กล่าวต่อว่า ประกอบกับขณะนั้นทุกคนยังไม่มีประสบการณ์การดำเนินโครงการระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จึงไม่รู้ว่าต้องใช้งบประมาณชัดเจนเท่าไหร่จึงจะเพียงพอ ซึ่งต่อมาภายหลังจากที่ได้มีการดำเนินโครงการในแต่ละปีจึงเห็นข้อมูลและได้มีการปรับงบประมาณเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ระบบโดยเฉพาะหน่วยบริการดำเนินไปได้โดยไม่ประสบปัญหา แต่ทั้งนี้จะต้องไม่ปล่อยให้มีการปรับเพิ่มงบประมาณจนสูงเกินไป ที่ต้องควบคู่กับประสิทธิภาพและคุณภาพบริการ ควบคลุมสิทธิการรักษาทุกโรค รวมถึงโรคค่าใช้จ่ายสูง ประชาชนเข้าถึงการรักษาอย่างทั่วถึง โดยประมาณว่าน่าจะอยู่ที่ 3,000 บาทต่อคน โดยอัตรานี้ยังเป็นงบประมาณประเทศยังจ่ายได้ ดังนั้นการเพิ่มงบเหมาจ่ายรายหัวจาก 1,200 บาท ในปี 2545 จนขยับล่าสุดอยู่ที่ 3,028 บาท ในปี 2559 ที่ ครม.ได้อนุมัติ จึงเป็นการเพิ่มที่สมเหตุสมผล อีกทั้งเมื่อดูภาพรวมในงบประมาณภาครัฐค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพอยู่ที่ร้อยละ 14 แสดงว่าการขยับเพิ่มยังทำได้ เพราะยังไม่เกินร้อยละ 15 

นายนิมิตร์ กล่าวต่อว่า ในการเพิ่มขึ้นของงบประมาณ หากจะอ้างอิงเงินเฟ้อก็สามารถทำได้ แต่ต้องไม่ลืมว่างบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นงบที่รวมเงินเดือนบุคลากรในระบบสาธารณสุขที่เพิ่มขึ้นประมาณปีละร้อยละ 10 ซึ่งแตกต่างจากงบในระบบประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการ ขณะที่งบเหมาจ่ายรายหัวกลับเพิ่มปีละไม่ถึงร้อยละ 10 เช่นเดียวกับเงินเดือนที่ปรับเพิ่ม

“ตอนนี้หากเราคุมค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 3,000 บาทต่อคน หรือไม่ให้เกินร้อยละ 15 เป็นงบประมาณที่เพียงพอและสามรถขยับเพิ่มขึ้นได้อีกโดยไม่ต้องพูดถึงการร่วมจ่ายด้วย และแม้จะบอกว่ารัฐบาลเป็นผู้แบกรับภาระค่ารักษาพยาบาลให้กับประชาชนถึงร้อยละ 80 แต่ก็เป็นเงินที่มาจากงบประมาณแผ่นดินร้อยเปอร์เซ็น ประชาชนเป็นผู้จ่ายภาษี จึงเป็นเรื่องถูกต้องชอบธรรมในการนำเงินภาษีเหล่านี้มาคืนให้กับประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และแม้แต่ในรัฐธรรมนูญยังระบุไว้ว่า เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องจัดบริการสุขภาพอย่างเป็นธรรม ทั่วถึง และเท่าเทียม” ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าว  

นายนิมิตร์ กล่าวต่อว่า จากที่มีการวิเคราะห์การเพิ่มขึ้นของงบเหมาจ่ายรายหัวโดยพยายามชี้ให้เห็นภาระงบประมาณที่อาจเป็นปัญหานั้น สะท้อนให้เห็นว่ามีนักวิชาการส่วนหนึ่งที่ไม่ได้ศึกษาเรื่องนี้ในรายละเอียด ทำให้ไม่เข้าใจ และมีส่วนหนึ่งที่มองไม่เห็นชาวบ้านต่อปัญหาการเข้าถึงการรักษา และคิดว่าเมื่อชาวบ้านเจ็บป่วยเล็กน้อยก็จะไปใช้บริการในหน่วยบริการ ซึ่งหากดูอัตราการใช้บริการรักษาพยาบาลตั้งแต่มีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะพบว่าจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับบริการไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจเหมือนกับในหลายประเทศ เพราะการหาหมอแต่ละครั้งประชาชนต้องเสียทั้งค่าเดินทาง ค่ากิน และยังต้องหยุดงานเพื่อรับการตรวจ แถมยังต้องรอเป็นเวลานาน การหาหมอด้วยการป่วยเล็กน้อยจึงอาจไม่คุ้มค่า ทั้งนี้อัตราการรับบริการผู้ป่วยในขณะนี้เฉลี่ยที่ 1.5 ครั้งต่อคนต่อปี และผู้ป่วยนอก 3 ครั้งต่อคนต่อปี ถือว่าเป็นตัวเลขไม่มาก ดังนั้นที่ผ่านมาที่มักมีการระบุว่า ประชาชนมักเลือกไปหาหมอแม้เจ็บป่วยเล็กน้อยๆ จึงควรวิเคราะห์ข้อเท็จจริงว่าเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ 

“ในการกำหนดนโยบายประเทศ ผู้บริหารต้องฟังข้อมูลที่หลายหลาย โดยเฉพาะข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง  ไม่ใช่ข้อมูลที่มาจากความเห็นและความรู้สึก หากเป็นแบบนั้นประเทศก็อาจมีปัญหา ซึ่งในด้านการบริหารระบบสุขภาพของประเทศ นายกรัฐมตรี ครม. และ รมว.สาธารณสุข ควรเลือกบริหารบนข้อเท็จจริง ไม่เช่นนั้นจะนำประเทศไปผิดทาง ซึ่งหากดูงบประมาณเหมือนเป็นเม็ดเงินที่มาก แต่เมื่อดูสัดส่วนงบประมาณ และดูสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลที่ครอบคลุมและปรับเพิ่มต่อเนื่อง จะเห็นได้ว่าเป็นการบริหารที่ใช้งบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างมาก” นายนิมิตร์ กล่าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

“ความเป็นไท”ในอเมริกา

$
0
0


 

“อเมริกาคือประเทศของฉัน ปารีสคือบ้านของฉัน” Gertrude Stein  นักเขียนหญิงอเมริกันเคยกล่าวไว้ทำนองนี้

Stein เกิดที่ West Allegheny เมือง Pittsburgh รัฐเพนซิลเวเนีย  เธอไปโตที่เมือง Oakland  รัฐแคลิฟอร์เนีย  ก่อนย้ายไปอยู่ที่ปารีส ฝรั่งเศสในปี 1903  และอาศัยอยู่ที่นั่นจนเสียชีวิตที่ Neuilly-sur-Seine ฝรั่งเศส ในปี 1946

ผมยกคำพูดของ Stein ขึ้นมา เพื่อแสดงให้เห็นถึงความรู้สึกส่วนหนึ่งจาก “การโยกย้ายถิ่นฐาน” ของผู้คนในโลก ทั้งที่การโยกย้ายถิ่นฐานเป็นเรื่องธรรมดาของผู้คนบนโลกใบนี้ เราอาจมองเห็นภาพกรรมกรชาวจีนเดินทางมาสร้างทางรถไฟข้ามทวีปอเมริกา ในช่วงกลางของคริสตวรรษที่ 18 เช่น  ทางรถไฟสาย Central Pacific Railroad เป็นต้น ก่อเกิดเป็นฐานชุมชนชาวจีนในอเมริกาขึ้น  โดยที่วัตถุประสงค์ของการย้ายถิ่นในช่วงแรกๆ ของชาวจีนดังกล่าวเพื่อสนองตอบต่อความต้องการทางด้านเศรษฐกิจ หรือเพื่อการทำมาหากิน ดังการย้ายถิ่นฐานของชาวจีนกระจายไปทั่วโลกนั่นเอง

ในช่วงต้นคริสตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา การเคลื่อนย้ายของคนเชื้อสายต่างด้าวสู่อเมริกามีมากขึ้นเรื่อยๆ จากหลายสาเหตุ นอกจากเหตุผลในเรื่องเศรษฐกิจแล้ว ยังมีเหตุผลทางการเมือง โดยเฉพาะในช่วงสงครามเย็น โลกถูกแบ่งออกเป็น 2 ขั้ว คือ ฝ่ายสังคมนิยม (คอมมิวนิสต์) กับฝ่ายเสรีนิยม ฝ่ายแรกนำโดยสหภาพโซเวียต ฝ่ายหลังนำโดยสหรัฐอเมริกา ผลพวงของสงครามเย็นอันเนื่องมาจากความขัดแย้งด้านลัทธิอุดมการณ์ทางการเมือง ส่งผลให้เกิดคลื่นผู้อพยพทยอยเดินทางมายังอเมริกาจำนวนมาก เช่น ในช่วงครามเวียดนาม ก็มีผู้อพยพชาวเวียดนามซึ่งส่วนใหญ่เป็นเวียดนามใต้อพยพมาตั้งรกรากในอเมริกาจำนวนมากจน เกิดเป็นชุมชนเวียดนามขนาดใหญ่ในหลายๆ รัฐ หรือตัวอย่างอย่างชุมชนลาว ชุมชนเขมรก็เช่นกันที่การอพยพย้ายถิ่นฐานมาอเมริกาด้วยเหตุผลทางด้านการเมืองเป็นหลัก

แต่เมื่อพิจารณากรณีของชุมชนไทยในอเมริกา เหตุผลการเกิดเป็นชุมชนไทยนั้นไม่ได้บ่งว่า เหตุผลทางการเมืองเป็นเหตุผลที่โดดเด่นมากเท่าชนชาติอินโดจีนอื่นๆ ดังที่เอ่ยมา อย่างนั้นคนไทยและชุมชนไทยในอเมริกามีเหตุผลในการย้ายถิ่นฐานอย่างไร?

โดยเหตุที่ไม่เคยมีการศึกษาหรือวิจัยด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์เชิงประวัติศาสตร์ว่าชาติพันธุ์คนไทยในอเมริกามีที่มาที่ไปอย่างไร จึงไม่สามารถระบุอย่างชัดเจนว่าคนไทยคนแรกหรือกลุ่มแรกที่ลงหลักปักฐานในอเมริกาเป็นใครและมีเหตุผลอย่างไรในการลงหลักปักฐานดังกล่าว  แต่เท่าที่พออนุมานจากภาพสะท้อนของวัฒนธรรมคนไทยในอเมริกาในอดีตและปัจจุบัน เหตุผลในการลงหลักปักฐานของคนไทยในอเมริกานั้นพอสรุปได้ว่า เหตุสำคัญหรือเหตุผลใหญ่คือ เหตุผลด้านเศรษฐกิจมากกว่าเหตุผลอย่างอื่น

ยิ่งในช่วงสงครามเย็น ซึ่งอยู่ในยุคเผด็จการ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอเมริกัน การเดินทางมายังอเมริกาของคนไทยในขณะนั้น กลับไม่มีเหตุผลทางการเมืองมารองรับเอาเลยด้วยซ้ำ หากเป็นเหตุผลอย่างอื่น เช่น การศึกษาแบบไม่ค่อยซีเรียสเสียมากกว่า ยิ่งถ้ากล่าวว่าเป็นการเดินทางมาท่องเที่ยวเพื่อผจญภัย เรียนรู้ชีวิตในอเมริกายิ่งเป็นไปไม่ได้เอาเลย เพื่อนคนไทยคนหนึ่งที่อยู่อเมริกามาราวๆ 50 ปี ซึ่งตอนนี้อายุมากแล้วเล่าให้ฟังว่า เขาเองก็ไม่ทราบสาเหตุของความต้องการที่แท้จริงของการมาอเมริกาเหมือนกัน ทราบแต่เพียงว่า “นึกสนุก”อยากนั่งเครื่องบินของจีไอเดินทางไปกับผู้อพยพชาวลาว (ในช่วงสงครามระหว่างลาวขาวกับลาวแดง) จนในที่สุดก็มีครอบครัว มีลูก แล้วชีวิตในอเมริกาก็ดำเนินไปเรื่อยๆ จนปัจจุบัน

ในช่วงแรกๆ ของการตั้งถิ่นฐานของคนไทยในอเมริกา เหตุผล “เพื่อการศึกษา” ก็ไม่มีหรือแทบไม่มีเอาด้วยซ้ำ เพราะส่วนใหญ่ พวกมุ่งหวังต่อการศึกษาในต่างประเทศส่วนใหญ่คือชนชั้นสูงของไทยนั้น ต่างมุ่งไปยังสถานศึกษาในยุโรป อาทิ อังกฤษ ฝรั่งเศส  เป็นต้น การศึกษาในอเมริกาแทบไม่มีใครในบรรดาชนชั้นนำของเมืองไทยให้ความสนใจ ถึงขนาดในช่วงสงครามเย็นช่วงหนึ่งรัฐบาลอเมริกันต้องให้ทุนกับนักศึกษาไทย “เดือนตุลาเอียงซ้าย” ผู้เคยเข้าป่าร่วมงานกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

หลังจากนั้นก็มีนักศึกษาไทย สมัยอุดมการณ์เดินทางมาศึกษาในอเมริกา เช่น ที่คอร์แนล เป็นต้น ปัจจุบันไม่เหลือร่องรอยว่าเคยมีนักศึกษาไทยมาเรียนอยู่ที่นี่ พอเรียนจบพวกเขาก็กลับไปทำงานและใช้ชีวิตที่เมืองไทย  หากจะเหลือบ้าง ถึงแม้จบการศึกษาจากประเทศอื่น แต่ก็แทบไร้พลังต่อการแสดงออกทางความคิดในฐานะของผู้ที่ดำรงถิ่นฐานในอเมริกาต่อคนไทยด้วยกันเองบนดินแดนแห่งเสรีภาพ เสมือนความพยายามเอาก้อนหินไปถมทะเล อย่างเช่น กรณีของ ธงชัย วินิจจะกูล ผู้เขียนวิทยานิพนธ์ Siam Mapped: A History of the Geo-Body of a Nation จากออสเตรเลีย ธงชัย ย้ายมาเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประวัติศาสตร์ไทย ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน  อเมริกา แต่ธงชัยเองก็ไม่เป็นพลังหรือแรงบันดาลใจให้กับคนไทยผู้อาศัยในอเมริกามากนัก เขาอิสระทว่าโดดเดี่ยวในทางมิตรสหายผู้รับรสความคิด (วิชาการ) ที่เป็นคนไทยด้วยกัน หากไปสอบถามดูก็จะพบว่าคนไทยในอเมริกาแทบไม่รู้จักธงชัยเอาเลยด้วยซ้ำ ทั้งนี้คงเพราะสังคมไทยอเมริกามิใช่สังคมอุดมปัญญาตามความเข้าใจหรือจินตนาการของคนไทยในเมืองไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะชนชั้นสูงที่ปากว่าตาขยิบ จบการศึกษาจากสถาบันในอเมริกา ใช้สินค้าอเมริกัน แต่ปากตะโกนโหยหาความเป็นไทยเสียเต็มประดา

ไม่นับรวมเหล่านักวิชาการที่ได้รับผลกระทบจากความเห็นแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นภายหลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557  คือ เห็นแย้งกับคณะนายทหารผู้ทำการรัฐประหารและจากสาเหตุอื่นๆ เช่น ความไม่ปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน หรือไม่ว่าจะโดยเหตุผลส่วนตัวใดก็ตาม พวกเขาที่ย้ายมาอยู่อาศัยและทำงาน เช่น สอนหนังสือ ในอเมริกาจากประสบการณ์และความสามารถของพวกเขาเอง แต่นักวิชาการเหล่าก็แทบไร้พลังบันดาลใจต่อชุมชนไทยในอเมริกา แม้ว่าพวกเขาจะผลิตบทความลงบนสื่อไทยมากมายเพียงใดก็ตาม แรงกระเพื่อมกลับไม่ปรากฏต่อชุมชนไทยที่นี่มากนัก อย่างน้อยสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าเรื่องนี้เป็นจริง คือ การสัมมนาของชุมชนไทยยินดีที่ลงทุนจะเชิญนักกิจกรรมทางการเมืองหรือนิมนต์พระสงฆ์ที่โด่งดังจากเมืองไทยมาเป็นวิทยากรมากกว่าที่จะเชิญนักวิชาการไทยที่อาศัยอยู่ในอเมริกาอยู่แล้วนี้

นอกนั้นหากจะนึกถึงภาพหรือกล่าวถึงคนไทยในอเมริกา เราก็คงนึกถึง “เมียจีไอ” เป็นหลัก เพราะในความเป็นจริงแล้วเมียจีไอ คือองค์ประกอบสำคัญต่อการขับเคลื่อนหรือเคลื่อนไหวของชุมชนไทยในอเมริกา โดยมีบทบาทสำคัญมาตั้งแต่สงครามเวียดนามแล้ว ปัจจุบันก็ยังคงมีบทบาทสำคัญอยู่ โดยเฉพาะในด้านวัฒนธรรมรากหญ้า (พื้นบ้าน)และต่อวัดไทยส่วนมากในอเมริกา  และจนถึงทุกวันนี้เมียจีไอไทยที่กระจายอยู่ทั่วอเมริกาได้ผลิตทายาทรุ่นสอง รุ่นสามเข้าไปแล้ว ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าลูกหลานของพวกเธอเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ยังปฏิสัมพันธ์กับเมืองไทย หากพวกเขาส่วนใหญ่ถูกบ่มเพาะด้วยวัฒนธรรมอเมริกันตามลักษณะสิ่งแวดล้อมที่เกิด

สาเหตุที่สำคัญมากอีกสาเหตุหนึ่งในการย้ายถิ่นฐานของคนไทยเพื่อลงหลักปักฐานในอเมริกา คือ สาเหตุด้านเศรษฐกิจ  นั่นคือ การมุ่งหน้ามาอเมริกาเพื่อแสวงรายได้เป็นยูเอสดอลลาร์ โดยไม่จำกัดว่าการทำงานเพื่อเงินดังกล่าวถูกหรือผิดกฎหมาย  และก็ให้เผอิญว่าแรงงานไทยในอเมริกาในช่วงราวๆ สามถึงสี่ทศวรรษที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นแรงงานผิดกฎหมาย หรือที่คนไทยเรียกกันเองว่า “โรบินฮู้ด” กลุ่มแรงงานโรบินฮู้ดน่าจะมีบทบาทต่อเศรษฐกิจของคนไทยในอเมริกามากที่สุด รวมทั้งมีบทบาทต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยมากเช่นกันในแง่ของการส่งเงินกลับประเทศ เพียงแต่ไม่เคยมีการสำรวจอย่างจริงจังถึงตัวเลขจำนวนเงินส่งกลับประเทศดังกล่าว

อาจเป็นตามสิ่งที่ Kiran Desai นักเขียนอินเดีย ผู้เขียนเรื่อง The Inheritance of Loss ซึ่งได้รับรางวัล Booker Prize นำเสนอว่าแท้จริงแล้วแรงงานระดับรากหญ้าส่วนใหญ่นั้นไม่ได้มองว่าอเมริกาคือบ้านของพวกเขาแต่อย่างใด หากแต่มองว่าอเมริกาเป็นสถานที่ทำมาหากินเพื่อยูเอสดอลลาร์เท่านั้น การขลุกอยู่กับการทำงานวันละหลายชั่วโมงทำให้แรงงานเหล่านี้เลิกจากอาการพะวงถึงบ้านเกิดหรือมาตุภูมิของพวกเขา ต่างจากปัญญาชนเชื้อสายต่างด้าวที่ทำงานในอเมริกาที่ดูเหมือนจะมีเหตุผลเป็นตัวของตัวเองในแง่ทางเลือกการทำงานและในแง่อุดมคติที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมเสรีประชาธิปไตยแบบอเมริกันแม้ว่าปัญญาชนเหล่านี้แทบไม่มีอะไรที่สื่อได้ว่าพวกเขาสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้กับแรงงานไทยในอเมริกา

ภาพดังกล่าวสะท้อนให้เห็นเช่นกันว่า แท้จริงแล้วแรงงานไทยในอเมริกาเป็นอย่างไร การก้มหน้าก้มตาทำงานจนแทบไม่มีเวลาผักผ่อนส่วนตัว หรือหากมีพวกเขาก็ใช้มันไปในแง่การตอบสนองต่อการพะวงคิดถึงวัฒนธรรมไทยเสียเป็นส่วนใหญ่ โดยมีสถานที่สำคัญได้แก่ วัดไทย ตลาดไทยและร้านอาหารไทย เป็นแหล่งแก้อาการพะวงถึงบ้านเกิด ก่อนจะกลับไปทำงานตามปกติ แรงงานไทยจำนวนไม่มากที่มีโอกาสได้ “อิน”กับวัฒนธรรมอเมริกัน 

“ฉันคืออเมริกัน อเมริกาไม่ใช่ประเทศของฉัน เมืองไทยคือบ้านของฉัน...”
   


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หมายเหตุประเพทไทย : พม่าในสื่อบันเทิงไทย

$
0
0

 

 

หมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้ พบกับ อรรถ บุนนาค และแขกรับเชิญ ‘ลลิตา หาญวงศ์’ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ชวนกันมาคุยถึงข้อเท็จจริงที่นำเสนอในละครหรือภาพยนตร์ไทยอิงประวัติศาสตร์ ที่ส่วนใหญ่สร้างขึ้นหลายครั้งจากนวนิยายที่ได้รับความนิยม เช่น ผู้ชนะสิบทิศ, บางระจัน, เลือดสุพรรณ โดยที่ ‘พม่า’ มักถูกนำเสนอในในลักษณะคู่ขัดแย้งหรือผู้รุกรานราชอาณาจักรไทยในยุคโบราณ มาวิเคราะห์ถึงอิทธิพลของละครหรือภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ดังกล่าวว่าส่งผลหรือไม่อย่างไรต่อกระแสชาตินิยมไทยและความรู้สึกชาตินิยมไทย

คลิกไลค์เพื่อติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวของรายการได้ที่ facebook.com/maihetpraphetthai

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กก.สิทธิฯเอเชีย แถลงเรียกร้องนานาชาติช่วยเหลือแผนดินไหวเนปาล

$
0
0

เหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเนปาลมีความรุนแรงมากทำให้คนเสียชีวิต บ้านเรือนและระบบโครงสร้างพื้นฐานพังเสียหาย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเอเชีย (AHRC) แถลงการณ์แสดงความเสียใจต่อการสูญเสียและเรียกร้องให้นานาชาติช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

26 เม.ย. 2558 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเอเชีย (AHRC) ออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจต่อการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนในเนปาลที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อเวลา 11.50 น. วันที่ 25 เม.ย. ที่ผ่านมาตามเวลาของเนปาล เป็นแผ่นดินไหวที่มีขนาด 7.9 ส่งผลกระทบในระยะ 80 กม. ทางตะวันออกของเมืองโพคารา ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก อีกทั้งยังส่งผลเสียหายต่อประเทศอื่นๆ ในแถบเทือกเขาหิมาลัย

แถลงการณ์ AHRC ระบุว่าเนปาลต้องการความช่วยเหลือโดยด่วน ในตอนนี้กองทัพอากาศอินเดียได้ส่งทีมค้นหาและกู้ภัยไปที่เนปาลแล้ว นอกจากนี้ อินเดียยังส่งทีมช่วยเหลือด้านการแพทย์และอุปกรณ์กู้ภัยขนาดใหญ่ไปยังเนปาลด้วย

AHRC ระบุว่าตัวเลขผู้สูญเสียในตอนนี้ยังไม่แน่นอนแต่ก็มีการระบุว่ามีผู้เสียชีวิตพุ่งสูงมากกว่าพันคนแล้ว ทั้งนี้การที่โครงสร้างพื้นฐานได้รับความเสียหายทำให้การติดต่อสื่อสารถูกตัดขาดไปด้วย

แถลงการณ์ของ AHRC ระบุอีกว่าในช่วงที่เนปาลมีวิกฤติระดับชาติโดยที่ไม่ได้เตรียมการรับมือไว้ก่อนเช่นนี้ทำให้พวกเขาต้องดิ้นรนเพื่อให้มีการประสานงานรับมือต่อภัยฉุกเฉิน มีคนทำงานสาธารณสุข หน่วยงานกาชาด ตำรวจ ทหาร กลุ่มประชาสังคม และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมในการกู้ภัยและช่วยเหลือผู้ประสบภัย โรงพยาบาลเต็มไปด้วยคนบาดเจ็บและมีการรักษาคนไข้ส่วนใหญ่ด้านนอกอาคารของโรงพยาบาลเนื่องจากกลัวจะเกิดอาฟเตอร์ช็อก

AHRC ระบุอีกว่าผู้คนพากันออกมานอกตัวอาคารเนื่องจากกลัวจะเกิดอาฟเตอร์ช็อก ในขณะเดียวกันก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดพายุโหมกระหน่ำอย่างหนักในช่วงกลางคืน ถือเป็นช่วงที่ยากลำบากที่สุดสำหรับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในเนปาล

ในช่วงเวลาวิกฤติเช่นนี้ทาง AHRC เรียกร้องให้ประชาคมโลกและหน่วยงานนานาชาติให้ความช่วยเหลือเนปาลอย่างไม่มีเงื่อนไข โดย มิเนนทรา ริจัล รัฐมนตรีกระทรวงข้อมูลข่าวสารของเนปาลได้เรียกร้องให้นานาชาติช่วยเหลือพวกเขาโดยเฉพาะประเทศหรือองค์กรที่มีความรู้มากกว่าและมีเครื่องมือที่สามารถรับมือกับภัยฉุกเฉินได้ โดย AHRC ระบุย้ำว่า "ประชาชนชาวเนปาลและประเทศเนปาลต้องการการสนับสนุนของพวกเราในช่วงเวลาวิกฤติเช่นนี้"

 

เรียบเรียงจาก

NEPAL: Earthquake - call for international support, AHRC, 25-04-2015
http://www.humanrights.asia/news/ahrc-news/AHRC-STM-065-2015

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: หัวขาวขาว

$
0
0

 

๏ โหดร้ายเกินจะกล่าว
คนสนุกกับข่าวโศกนาฏกรรม

๏ เกลียดชังจนคั่งแค้น
อกอัดแน่นว่าถูกกระทำ
จนใจจมลงต่ำ
ดำสุดดำเขรอะเลอะเหนียว

๏ เคี่ยวดำในความคิด
วิปริตกระนั้นเชียว
ต่ำตมงับจมเขี้ยว
จะแก้เกี้ยวคงเกินการณ์

๏ ฝีมืออาจลือชา
หากชราเพราะสันดาน
แดกดันอันธพาล
จะขายบ้านจะขายรถ

๏ นิจจังสังขารา
น้ำลดมาปลากินหมด
ผุดตอคอหยักคด
เกินสลดจะกล่าวไป

๏ ตื้นเขินเกินจะกล่าว
หัวขาวขาวช่างโหดใน
กะหล่ำพับห่อใบ
พอกกะลาเทินบ่าหนอฯ


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมาพันธ์นศ.มุสลิมฯ ชี้ละเมิดสิทธิ หลังคอมมานโดบุกหอพักนศ.รามฯ วอนรัฐปรับวิธี

$
0
0

26 เม.ย.2558 เมื่อเวลา 17.40 น. สมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย (MUSTFETH)ได้เผยแพร่แถลงการณ์ ฉบับที่ 2 กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ทหารบุกตรวจค้นหอพักนักศึกษาย่านรามคำแหง

โดยแถลงการระบุว่า เนื่องด้วยเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2558 เวลาประมาณ 6.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ทหาร ทั้งในและนอกเครื่องแบบ รวม 1,800 นาย เข้าบุกค้นหอพักย่านรามคำแหงและวังทองหลาง ตลอดจนย่านลาดพร้าว ทั้งนี้ ได้เข้าไปบุกค้นหอพักนักศึกษาหญิงและนักศึกษาชาย ซึ่งสร้างความตื่นตระหนกหวาดผวาอย่างสูงให้กับนักศึกษา เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารกลุ่มดังกล่าวได้ใช้ท่าทีข่มขู่ให้นักศึกษาเปิดประตูหอพักเพื่อเข้าตรวจค้น นักศึกษาจึงยินยอมให้เข้าไปตรวจด้วยความขืนใจและเพื่อแสดงว่าตนมีความบริสุทธิ์ โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าเป็นการปฎิบัติหน้าที่ตามโครงการ “รามคำแหงร่มเย็น” หนึ่งในจุดใหญ่ที่เข้าตรวจค้น คือชุมชนภายในซอยรามคำแหง 53/1 แขวงวังทองหลาง เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีนักศึกษาพักอาศัยอยู่จำนวนมาก เเละได้เชิญตัวนักศึกษาผู้ต้องสงสัยกว่า 10 คน ตรวจปัสสาวะหาสารเสพติด ซึ่งการตรวจสอบไม่พบยาเสพติด และสิ่งผิดกฎหมายใดๆ

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทางสมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย ในฐานะองค์กรแกนนำนักศึกษาที่เคลื่อนไหวประเด็นทางการเมือง มีความเห็นว่า การทำงานของเจ้าหน้าที่ในครั้งนี้เข้าข่ายการละเมิดและคุกคามต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของนักศึกษา อีกทั้งยังอาจสร้างความเข้าใจผิดให้กับประชาชน ที่ต้องการมีส่วนร่วมรณรงค์เปิดและขยายพื้นที่ทางการเมืองสู่การลดพื้นที่การใช้ความรุนแรงในการนำพาสังคมไทยให้สงบสุข ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของภาครัฐโดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคงที่ได้พยายามใช้นโยบายขับเคลื่อนสังคมให้เกิดความปรองดองสมานฉันท์

เพื่อไม่ให้การคุกคามของเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ทหารต่อนักศึกษาและพลเมืองในครั้งนี้ จะส่งผลให้ประชาชนหมดศรัทธาในแนวทางแห่งสันติวิธี ซึ่งควรได้รับการคุ้มครองจากกฎหมาย แห่งรัฐ สมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทยจึงขอเรียกร้องต่อรัฐดังต่อไปนี้

1.ขอความชัดเจนของวัตถุประสงค์และกลุ่มเป้าหมายในการตรวจค้น รวมถึงการใช้อำนาจใดตามรัฐธรรมนูญ และขอให้เจ้าหน้าที่รัฐชี้แจงข้อมูลสู่ความเข้าใจแก่ประชาชนโดยเร็ว

2.ขอคัดค้านการตวรจ DNA ของผู้ถูกต้องสงสัยหรือตรวจค้น โดยที่เจ้าของไม่ยินยอมหรือการกระทำให้ยินยอมให้ตรวจ ซึ่งเป็นการละเมิดขั้นพื้นฐานของตัวบุคคลในฐานะมนุษย์ และเสี่ยงต่อการนำไปใช้ในทางมิชอบ

3.ขอคัดค้านวิธีการดังกล่าว เพราะย่อมเป็นการดีถ้าก่อให้เกิดความร่มเย็นแก่ประชาชนจริงๆ แต่การปราบปรามไร้ซึ้งการให้เกียติพลเมืองเช่นนี้ เสี่ยงก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่สวนทางกัน กลายเป็นว่าเป็นรัฐเองจุดไฟแห่งความเกลียดชังระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งรัฐเองต้องการความร่วมมือของคนในชาติในการก้าวพ้นความขัดแย้งที่มีอยู่

 

 

แถลงการณ์ ฉบับที่ ๒กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ทหารบุกตรวจค้นหอพักนักศึกษาย่านรามคำแหง เนื่องด้วยเมื่อวันที่ ๒๕...

Posted by สมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย (MUSTFETH) on 26 เมษายน 2015

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

คอมมานโดบุกค้นหอพักนักศึกษาราม ตามโครงการ "ยุทธการรามคำแหงร่มเย็น"

สมาพันธ์ นศ.มุสลิม ออกแถลงการณ์กรณีทหาร-ตร.บุกค้นหอพักนศ.ที่รามฯ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรุงเทพโพลล์สำรวจนักเศรษฐศาสตร์ชี้ GDPปี 58 หลุดเป้าเหลือ3% ชี้ไม่ควรลดดอกเบี้ย

$
0
0

กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ เปิดเผยผลสำรวจความเห็น  นักเศรษฐศาสตร์จาก 25 องค์กร จำนวน 63 คน เรื่อง “คาดการณ์แนวโน้ม GDPและทิศทางดอกเบี้ย” พบว่า GDP ปี 58 ไม่น่าจะขยายตัวได้ตามเป้าหมายของกระทรวงการคลังที่ตั้งไว้ 3.9%  และคาดว่าจะขยายตัวได้เพียง 3.0% เท่านั้น  ขณะที่ร้อยละ 9.5   คาดว่า GDP น่าจะเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้  และมีเพียงร้อยละ 1.6 ที่คาดว่า GDP จะขยายตัวได้ 4.5% ที่เหลือร้อยละ 12.7 ไม่แน่ใจ

ในส่วนของทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายซึ่งจะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ในวันที่ 29 เมษายนที่จะถึงนี้  นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ร้อยละ  84.1  คาดว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ระดับเดิมที่ 1.75%  มีเพียงร้อยละ 4.8 ที่คาดว่า กนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็น 1.50% ที่เหลือร้อยละ 11.1 ไม่แน่ใจ

เมื่อถามต่อว่า กนง.ควรปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นอย่างไร นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ร้อยละ 61.9  เห็นว่า กนง.  ควรคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ระดับเดิมที่ 1.75% ขณะที่ร้อยละ 22.2  เห็นว่า กนง.ควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในจำนวนนี้นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 15.9  เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายควรอยู่ที่ 1.50% นักเศรษฐศาสตร์ที่เหลือร้อยละ 6.3  เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายควรอยู่ที่ 1.25%  ที่เหลือร้อยละ  15.9 ไม่แน่ใจ


 

รายละเอียดของผลสำรวจ กรุงเทพโพลล์

1.คาดว่า GDP ปี 58 จะขยายตัวเป็นไปตามเป้าหมายของกระทรวงการคลัง(โดย สศค.) ที่ตั้งไว้ 3.9% ได้หรือไม่  

ร้อยละ   9.5  คาดว่า GDP น่าจะเติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ที่ 3.9%

ร้อยละ 76.2  คาดว่าน่าจะเห็นการปรับลด GDP ในการประมาณการครั้งถัดไป  และเชื่อว่าปีนี้ GDP จะขยายตัวเพียง 3.0%

ร้อยละ 1.6   คาดว่าน่าจะเห็นการปรับเพิ่ม GDP ในการประมาณการครั้งถัดไป และเชื่อว่าปีนี้ GDP  จะขยายตัวได้ 4.5%

ร้อยละ 12.7 ไม่แน่ใจ

 

    หมายเหตุ: 1. สศค. จะมีการปรับการประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 58 อีกครั้งวันที่ 29 เม.ย. 58

                        2. ค่าประมาณการเป็นค่าเฉลี่ย

 

2.การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 29 เมษายนนี้  คาดว่า  กนง. จะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นอย่างไร (จากปัจจุบันที่อยู่ในระดับ 1.75%)

ร้อยละ 84.1  คาดว่า กนง.  จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ระดับเดิมที่ 1.75%

ร้อยละ  4.8   คาดว่า กนง.  จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็น 1.50%

ร้อยละ  11.1 ไม่แน่ใจ

 

3.การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 29 เมษายนนี้  คิดว่า  กนง.  ควรปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นอย่างไร (จากปัจจุบันที่อยู่ในระดับ 1.75%)

ร้อยละ  61.9  เห็นว่า กนง.  ควรคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ระดับเดิมที่ 1.75%

ร้อยละ  22.2  เห็นว่า กนง.  ควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

       ในจำนวนนี้นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 15.9  เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายควรอยู่ที่ 1.50%  

       นักเศรษฐศาสตร์ที่เหลือร้อยละ 6.3  เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายควรอยู่ที่ 1.25%

ร้อยละ  15.9 ไม่แน่ใจ

 

หมายเหตุ: รายงานผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ฉบับนี้  เป็นการสำรวจความเห็นส่วนตัวของ           

                 นักเศรษฐศาสตร์ซึ่งมิได้สื่อถึงแนวนโยบายขององค์กรที่นักเศรษฐศาสตร์สังกัดอยู่แต่อย่างใด

*******************************************************************************************************************

 

รายละเอียดในการสำรวจ

 

วัตถุประสงค์

เพื่อสะท้อนความคิดเห็นนักเศรษฐศาสตร์ต่อการคาดการณ์แนวโน้ม GDP และทิศทางดอกเบี้ยให้กับประชาชน และหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนรับทราบเพื่อนำไปใช้ประกอบการวางแผนนโยบายเศรษฐกิจและธุรกิจต่อไป

 

กลุ่มตัวอย่าง

เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่สำเร็จการศึกษาทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโทในสาขาเศรษฐศาสตร์ (กรณีสำเร็จการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์เฉพาะปริญญาตรี หรือปริญญาโท หรือปริญญาเอก  อย่างใดอย่างหนึ่ง จะต้องมีประสบการณ์ในการทำงานด้านวิเคราะห์/วิจัย/หรืองานที่เกี่ยวข้องที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถด้านเศรษฐศาสตร์อย่างน้อย 5 ปีจนถึงปัจจุบัน) ที่ทำงานอยู่ในหน่วยงานด้านการวิเคราะห์  วิจัยเศรษฐกิจระดับชั้นนำของประเทศ จำนวน 25  แห่ง  ได้แก่  ธนาคารแห่งประเทศไทย  สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง  สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม  สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร  สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์  สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI)  ศูนย์วิจัยกสิกร สำนักงานคณะกรรมการกำกับการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า  ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงไทย  ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย  ธนาคารธนชาต ธนาคารกรุงศรีอยุธยา  ธนาคารไทยพาณิชย์  ธนาคารทหารไทย  บริษัทหลักทรัพย์ภัทร บริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน   บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกรุงไทย  บริษัททิพยประกันชีวิต คณะเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย                         คณะวิทยาการจัดการและสารสนเทศศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร  สำนักวิชาเศรษฐศาสตร์และนโยบายสาธารณะมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ  คณะวิทยาการจัดการมหาวิทยาลัยขอนแก่น  และคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยกรุงเทพ    

 

วิธีการรวบรวมข้อมูล

การสำรวจนี้เป็นการวิจัยโดยการเลือกตัวอย่างประชากรโดยไม่อาศัยหลักความน่าจะเป็น (Non-probability sampling) แต่ละหน่วยตัวอย่างที่จะได้รับการเลือก จึงเป็นการเลือกตัวอย่างประชากรแบบเจาะจง (Purposive sampling) และดำเนินการรวบรวมข้อมูลโดยการส่งแบบสอบถามออนไลน์ไปยังนักเศรษฐศาสตร์ในหน่วยงานที่กำหนดภายในระยะเวลาที่กำหนด

 

ระยะเวลาในการเก็บข้อมูล  :  1 – 21 เมษายน 2558

 

วันที่เผยแพร่ผลสำรวจ     :  26 เมษายน 2558


 

ข้อมูลรายละเอียดของกลุ่มตัวอย่าง

 

 

จำนวน

ร้อยละ

ประเภทของหน่วยงานที่กลุ่มตัวอย่างทำงานอยู่

  

หน่วยงานภาครัฐ

37

58.7

หน่วยงานภาคเอกชน

19

30.2

สถาบันการศึกษา

7

11.1

รวม

63

100.0

เพศ          

  

ชาย

42

66.7

หญิง

21

33.3

รวม

63

100.0

อายุ      

 

 

26 ปี – 35 ปี

11

17.5

36 ปี – 45 ปี

28

44.4

46 ปีขึ้นไป

24

38.1

รวม

63

100.0

การศึกษา      

  

ปริญญาตรี

3

4.8

ปริญญาโท

46

73.0

ปริญญาเอก

14

22.2

รวม

63

100.0

ประสบการณ์ทำงานรวม

  

1-5  ปี

5

7.9

6-10 ปี

15

23.8

11-15 ปี

13

20.6

16-20 ปี

10

15.9

ตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป

20

31.8

รวม

63

100.0

 

 

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เฟซบุ๊กเปิด 'ระบบเช็คความปลอดภัย' สำหรับคนรู้จักผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในเนปาล

$
0
0

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กประกาศเปิดระบบเช็คความปลอดภัยผู้ประสบภัยจากแผ่นดินไหวในเนปาล โดยสามารถให้คนในพื้นที่ประกาศว่ายังปลอดภัยดีหรือไม่ รวมถึงให้คนรู้จักผู้ประสบภัยตรวจเช็คได้ว่าญาติพี่น้องหรือเพื่อนของตนยังปลอดภัยดีอยู่หรือไม่

26 เม.ย. 2558 เว็บไซต์เฟซบุ๊กประกาศว่าพวกเขาเปิดให้มีระบบตรวจสอบความปลอดภัย (Safety Check) เพื่อช่วยให้ทราบว่าเพื่อนของผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ยังอยู่ในพื้นที่ประเทศเนปาลปลอดภัยจากแผ่นดินไหวหรือไม่

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์เฟซบุ๊กประกาศผ่านทางเฟซบุ๊กของตัวเองว่า เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 26 เม.ย. เขาได้เปิดระบบตรวจเช็คความปลอดภัยให้กับคนที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวในเนปาล โดยถือเป็นวิธีการง่ายที่จะทำให้ผู้ใช้บอกกับเพื่อนหรือครอบครัวพวกเขาได้ทราบว่าพวกเขายังปลอดภัยดี

ระบบดังกล่าวจะรายงานเกี่ยวกับภัยพิบัติในเนปาลก่อนจะถามว่าคุณอยู่ในพื้นที่ๆ ได้รับผลกระทบหรือไม่ และสามารถคลิกเพื่อให้แจ้งเตือนเพื่อนได้ถ้าหากอยู่ในพื้นที่ได้รับผลกระทบและปลอดภัยดี

"ถ้าเกิดคุณอยู่ในพื้นที่ๆ ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว คุณจะได้รับการแจ้งเตือนถามว่าคุณปลอดภัยหรือไม่ หรือถามว่าคุณต้องการเช็คดูเพื่อนคนอื่นๆ ของคุณว่ายังปลอดภัยดีหรือไม่" ซักเคอร์เบิร์กระบุในคำประกาศ

เหตุการณ์แผ่นดินไหวในเนปาลครั้งล่าสุดมียอดผู้เสียชีวิตพุ่งสูงมากกว่า 2,300 คนแล้ว ซึ่งถือเป็นเหตุแแผ่นดินไหวที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 80 ปี นอกจากนี้ยังมีภัยจากหิมะถล่มบนยอดเขาเอเวอร์เรสที่เป็นผลพวงจากแผ่นดินไหว รวมถึงเกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีกในเนปาล อินเดีย และบังกลาเทศ ในช่วงวันอาทิตย์ที่ผ่านมาซึ่งสร้างความยากลำบากให้กับหน่วยกู้ภัย ทางถนนและภูเขาจำนวนมากถูกปิดกั้นเพราะหินถล่ม

สำนักข่าวบีบีซีรายงานอีกว่าหน่วยงานพยาบาลในเนปาลกำลังต้องการความช่วยเหลือด้านทรัพยากรทางการแพทย์ เนื่องจากอุปกรณ์ทางการแพทย์เริ่มน้อยลง ขณะที่ผู้ที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลอาจจะมีมากขึ้น

"เมื่อมีภัยพิบัติเกิดขึ้น ผู้คนย่อมต้องการทราบว่าคนที่ตนรักปลอดภัยดีหรือไม่ ช่วงเวลาแบบนี้เองที่ความสามารถเชื่อมต่อสื่อสารได้เป็นสิ่งที่สำคัญ" ซักเคอร์เบิร์กระบุ

ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กระบุอีกว่าเขาเป็นห่วงสถานการณ์ในเนปาลเช่นเดียวกันผู้เกี่ยวข้องในโศกนาฏกรรมครั้งนี้


เรียบเรียงจาก

เฟซบุ๊กของมาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก, 26-04-2015
https://www.facebook.com/zuck/posts/10102050030813611

Nepal earthquake: Rescue effort intensifies, BBC, 26-04-2015
http://www.bbc.com/news/world-asia-32470731

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live




Latest Images