Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live

ประชาสังคม การเมือง และสุขภาพประชากรไทย

$
0
0

 

คำว่าสุขภาพ สำหรับแต่ละคนมีขอบเขตไม่เหมือนกัน ในระดับพื้นฐาน สุขภาพอาจจะหมายถึงภาวะไม่เจ็บไข้ได้ป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางกาย (physical health) แต่เมื่อพิจารณาให้กว้างกว่านั้น ยังมีปัญหาเรื่องสุขภาพจิต เช่น ภาวะโรคจิตโรคประสาท ทั้งสองด้านเป็นการวัดด้านลบ คือ ระดับของสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา เมื่อมองไกลไปกว่านั้น ก็เริ่มเห็นสุขภาพด้านบวก ดังคำว่าอยู่ดีมีแรง อายุ วรรณะ สุขะ พละ เป็นต้น

คำว่า สุขะ ป็นภาพรวมที่ใหญ่กว่าสุขภาพทางกายและใจเสียอีก ถ้าคนในสังคมร่างกายแข็งแรง ไม่ได้เป็นโรคจิตโรคประสาท แต่ไม่รักใคร่ปรองดองกัน หรือ ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ต้องหวาดระแวงว่าอาจจะได้รับภัยที่เกิดจากมนุษย์ด้วยกัน ทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ ก็ถือว่ามีสุขภาพทางสังคม (social health) ที่ไม่ดี

คำว่า health ในภาษาอังกฤษ มาจากคำอังกฤษ โบราณว่า hale ซึ่งมีรากศัพท์เดียวกับ whole, holy, holistic ภาษาฝรั่งเศส ก็ใช้คำว่า santé ซึ่งมีรากศัพท์เดียวกับ sanctus หรือ saint หรือ ความศักดิ์สิทธิ์ แสดงว่าสุขภาพของชาวตะวันตกมีความหมายเป็นองค์รวม ชื่อองค์การอนามัยโลก คือ The World Health Organization หรือ ภาษาฝรั่งเศส คือ Organisation Mondale La Santé น่าจะแปลว่าองค์การสุขภาพโลก ในพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถานฉบับปี พ.ศ. 2542 นิยามสุขภาพว่า “น. ภาวะที่ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ เช่น อาหารเพื่อสุขภาพ การสูบบุหรี่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ.”  ขณะที่คำว่า สุข หมายถึง “น. ความสบายกายสบายใจ” ถ้าสุขภาพหมายถึง ภาวะของความสุข คงจะดีกว่าภาวะที่เพียงแต่ไม่เจ็บไข้ เราจึงควรรณรงค์ให้ประชาชนเข้าถึงสุขภาวะ

องค์การอนามัยโลกตั้งขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งมนุษย์เพิ่งผ่านเหตุการณ์มหันตภัยหลายรูปแบบที่มนุษย์ด้วยกันเองสร้างขึ้น จึงบรรจุสุขภาพสังคมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสุขภาพองค์รวม อย่างไรก็ตาม เจ็ดทศวรรษที่ผ่านมา องค์การอนามัยโรคค่อนข้างจะจำกัดบทบาทอยู่ในสุขภาพทางกายเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากมนุษย์มีการค้นคว้าและสะสมความรู้ด้านสุขภาพกายไว้มาก ความรู้เรื่องสุขภาพจิตมีอยู่อย่างจำกัด และเมื่อถึงระดับสุขภาพทางสังคมแล้ว องค์การอนามัยโลกจะไม่ค่อยเข้าไปยุ่งเกี่ยวเลย อาจจะเป็นเพราะมีองค์การชำนัญพิเศษอื่น ๆ ของสหประชาชาติมีหน้าที่โดยตรงอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ในทศวรรษที่ 1970 องค์การอนามัยโลกตั้งเป้าหมายสุขภาพดีถ้วนหน้า (Health For All By The Year 2000) โดยระบุว่าประเทศต่าง ๆ จะบรรลุถึงจุดนั้นได้ก็ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชน ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งในโลกที่เป็นผู้นำด้านนี้ กระบวนการสาธารณสุขมูลฐานที่ประชาชนทุกระดับมีส่วนร่วม ช่วยเหลือกันเองในชุมชนได้ช่วยให้ประเทศไทยลดอัตราป่วยอัตราตายต่าง ๆ ลงได้มาก จนได้ชื่อว่าเป็นประเทศซึ่งมีสุขภาพดีด้วยต้นทุนที่ต่ำ (Good health at low cost) ในทางสากล สุขภาพจึงไม่ได้จำกัดอยู่ที่การปราศจากโรค

ในทศวรรษที่ 1990 ทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศไทย ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อเอชไอวี/เอดส์อย่างหนัก โรคนี้เจาะเข้าจุดอ่อนของสังคมในสมัยนั้น อันได้แก่ กลุ่มใช้ยาเสพติด กลุ่มรักร่วมเพศ และกลุ่มบริการทางเพศ ปัญหาสังคมหรือ social pathology ปัญหาเหล่านี้ต้องใช้วิธีการทางสังคม คือ สร้าง social health หรือ การมีส่วนร่วมของประชาคมเข้าไปจัดการ ทุกองคาพยพของไทย รวมทั้งภาคสาธารณสุข ธุรกิจบริการ ฝ่ายปกครอง และกองกำลังทางทหารเข้าร่วมกันแก้ไขจนประสบผลสำเร็จระดับหนึ่ง ภาคประชาคมโดยเฉพาะกลุ่มช่วยเหลือผู้ติดเชื้อเข้มแข็งมาก แม้สุขภาพทางกายจะเป็นปัญหา ก็สามารถร่วมมือกับประชาคมโลกผลักดันเร่งการวิจัยการบำบัดรักษา และเมื่อได้ยาต้านเอดส์มาแล้ว ก็ผลักดันทางการเมืองทำให้ผู้ป่วยทุกคนเข้าถึงยาและการรักษา การเคลื่อนไหวนี้มีพลังมากจนฝ่ายรัฐและโลกทั้งโลกต้องรับไปเป็นนโยบาย หลายปีต่อมานโยบายนี้ทำให้ผู้ป่วยทั่วโลกสามารถกลับไปมีชีวิตปรกติและสร้างผลผลิตทางเศรษฐกิจแก่ประเทศและโลก แทนที่จะเป็นภาระเหมือนเมื่อก่อน

พลังทำนองเดียวกันในนโยบายต้านบุหรี่เกิดขึ้นต่อเนื่องในประเทศไทยตั้งแต่ทศวรรษ 1980 การมีส่วนร่วมของประชาชนผลักดันนโยบายให้ผู้นำของประเทศต้องคล้อยตามและเปลี่ยนพฤติกรรมในฐานะของบุคคลสาธารณะที่จะต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการไม่สูบบุหรี่ เพราะคนไทยเห็นว่าการสูบบุหรี่เป็นพฤติกรรมที่ไม่ดีต่อส่วนรวม ประเทศไทยจึงเป็นประเทศที่มีอากาศในสถานที่สาธารณะสะอาด เมื่อเทียบกับประเทศที่มีรายได้ใกล้เคียงกันอย่างอินโดนีเซีย และ จีน ซึ่งไม่มีการเคลื่อนไหวต่อต้านการสูบบุหรี่จากประชาชนเลย การลดอัตราการสูบบุหรี่ยังจะส่งผลระยะยาวต่อสุขภาพและค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลของคนทั้งประเทศ กระบวนการทางสังคมส่งผลให้สุขภาพทางกายดีขึ้น และความร่วมมือในสังคมก็ดีขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาอื่น ๆ ในทางสังคมนอกเหนือจากการลดปัญหาโรคเอดส์ และ การควบคุมการบริโภคยาสูบ ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ เช่น ปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การบริโภคเครื่องดื่มและอาหารที่เพิ่มความเสี่ยงจากโรคเรื้อรัง และพฤติกรรมอื่น ๆ เช่น ภัยจากการเปลี่ยนแปลงทางนิเวศวิทยาและมลพิษ ภัยจากยานยนต์ และพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม ล้วนมีผลต่อสุขภาพและต้องการการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ไขปัญหาทั้งสิ้น

ช่วงปลายทศวรรษ 1990 ในช่วงที่กระแสการมีส่วนร่วมของประชาชนขึ้นสูง มีความคิดว่าที่รัฐควรจะระดมเสริมสร้างความเข้มแข็งของสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพ ในการนี้ต้องมีองค์กรของรัฐแบบใหม่ซึ่งมีความคล่องตัวสูง และมีธรรมาภิบาลที่มีสมดุลระหว่างการเมือง ข้าราชการประจำเดิม ฝ่ายวิชาการ และประชาสังคม ซึ่งก็คือสำนักงานกองทุนทั้งหลาย เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ อื่น ๆ ที่เรียกกันว่า “ตระกูล ส.”

ในทศวรรษ 2000 ฝ่ายการเมืองมีความเข้มแข็งและมีแนวคิดรวมศูนย์การจัดการให้อยู่ใต้อำนาจรัฐ แต่การแตกแยกทางการเมืองทำให้ฝ่ายการเมืองอ่อนแอ ในช่วงทศวรรษ 2010 องค์กรตระกูล ส. อยู่รอดปลอดภัยมาได้ช่วงหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้รับการสนับสนุนมากนัก จนกระทั่งฝ่ายทหารมีอำนาจทางการเมืองอีกครั้ง กระแสความคิดจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการจัดองค์กรดังกล่าว จึงพยายามเสริมการรวมศูนย์อำนาจรัฐอีกครั้งหนึ่ง

เหตุผลหลักสามประการที่ฝ่ายต่อต้านเห็นว่าควรรวมศูนย์อำนาจกลับคืน คือ หนึ่ง การทำงานนอกเหนือจากหน้าที่ขององค์กรเหล่านั้น สอง ปัญหาด้านประสิทธิผลขององค์กร (องค์กรทำงานได้ผลหรือไม่) และ สาม ด้านธรรมาธิบาล มีการใช้ความคล่องตัวในทางที่ผิดและใช้จ่ายอย่างเหมาะสมหรือไม่

ในข้อแรก ฝ่ายไม่เห็นด้วยเห็นว่าการเคลื่อนไหวทางสุขภาพ ควรตีกรอบให้แคบลง เช่น สุขภาพ ควรจะหมายถึงภาวะที่ปราศจากโรค ถ้าปล่อยให้สุขภาพกับสุขภาวะเป็นสิ่งเดียวกัน ขอบเขตของงานจะบานปลายและขาดจุดโฟกัส นอกจากนี้หน้าที่การงานยังซ้ำกับหน่วยราชการเดิมที่มีอยู่แล้ว เช่น การสร้างเสริมสุขภาพซ้ำซ้อนกับงานของกรมอนามัยและกรมควบคุมโรค

ประการที่สอง ฝ่ายต่อต้านชี้ว่าองค์กรต่าง ๆ ที่ตั้งขึ้นในทำนองนี้ทำงานไม่ได้ผล เนื่องจากไม่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของฝ่ายอำนาจรัฐได้ เช่น ฝ่ายสร้างเสริมสุขภาพไม่สามารถแสดงให้เห็นว่า พฤติกรรมสุขภาพของประชาชนเปลี่ยนแปลงไปตามเป้าหมาย

สุดท้าย ฝ่ายต่อต้านบอกว่า องค์กรตระกูล ส. ชี้นำโดยคนจำนวนน้อย มีระบบการจัดสรรทรัพยากรที่อาจจะเอื้อประโยชน์ต่อคนกลุ่มเดิม ๆ


ดังกล่าวแล้วว่า สุขภาพ ในทางสากล หมายถึงสุขภาวะโดยองค์รวม ไม่ใช่ภาวะที่ปราศจากโรคเท่านั้น โรคจำนวนมากเป็นพยาธิสภาพของสังคม ถ้าไม่แก้ด้วยวิธีการทางสังคม ใช้แต่อำนาจและระบบราชการ ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ขาดสุขภาพองค์รวมทางด้านสังคม ก็ยากที่จะป้องกันบรรเทาโรคได้

นอกจากขอบเขตของคำว่าสุขภาพแล้ว ที่จะต้องตกลงกัน คือ ขอบเขตของหน้าที่การงานของหน่วยงานราชการแบบเดิมกับหน่วยงานของรัฐแบบนี้ เนื่องจากมีจุดแข็งและจุดอ่อนที่ต่างกัน ปรกติหัวหน้าหน่วยราชการแบบเดิมจะเป็นกรรมการอำนวยการองค์กรแบบใหม่โดยตำแหน่งอยู่แล้ว และยังมีนักการเมืองคนเดียวกันดูแลทั้งสองฝ่าย ทั้งนักการเมืองและข้าราชการประจำสูงสุดร่วมควบคุมนโยบายของหน่วยงานเหล่านี้อยู่แล้ว ดังนั้น เรื่องการทำงานซ้ำซ้อนกันจึงไม่น่าจะเป็นปัญหามากนัก

จุดอ่อนของการสร้างเสริมสุขภาพไทย ไม่ได้อยู่ที่การขยายขอบเขตสุขภาพให้เลยพ้นไปจากโรคภัยไข้เจ็บ แต่อยู่ที่การขาดความเข้มแข็งทางวิชาการชี้นำสังคม ว่าโรคทางกาย ทางจิตใจ และสังคมก็ดี มีสาเหตุจำเพาะมาจากอะไรบ้าง วิธีการป้องกันแก้ไขโดยภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม หรือปัจเจกบุคคลจะทำอย่างไรจึงจะได้ผลดีที่สุด ฝ่ายต่อต้านและฝ่ายภาคีสร้างเสริมสุขภาพควรถกเถียงกันว่าจะวางกรอบงานส่งเสริมสุขภาพให้ครอบคลุมเรื่องอะไรบ้าง การดำเนินการโดยมีความรู้ด้านสุขภาพไม่มากเท่าที่ควร ไม่ว่าใครจะเป็นฝ่ายชนะก็ยากที่จะทำให้สุขภาพประชาชนดีขึ้นได้

ส่วนเรื่องการทำงานไม่เข้าเป้านั้น ทั้งสองฝ่ายดูเหมือนจะประเมินความยากลำบากของการแก้ปัญหาไว้น้อยไป ปัญหาต่าง ๆ ล้วนมีองค์ประกอบเชื่อมโยงซับซ้อน มีปัจจัยหลายประการที่อยู่นอกเหนือการควบคุมขององค์กรเหล่านี้ นโยบายของรัฐน่าจะมีผลต่อสุขภาพที่สำคัญของประชาชนมากที่สุด  บ่อยครั้งที่นโยบายการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มความเข้มข้นของปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ โดยมีผลต่อ พฤติกรรมการดำเนินชีวิต (เช่น การไม่ควบคุมสินค้าที่มีอันตรายต่อสุขภาพอย่างจริงจัง) และ สิ่งแวดล้อม เช่น การยอมให้กลุ่มทุนดำเนินธุรกิจแบบ extraction economy ทำเหมือง  ทำการเกษตร หรือจัดระบบการค้า ที่มีผลต่อนิเวศวิทยาสิ่งแวดล้อม และอิสรภาพในการประกอบอาชีพในระยะยาว นโยบายเหล่านี้เป็น super force ที่ทำให้องค์กรสุขภาพทำงานได้ยาก ดังนั้น ถ้าจะแก้ปัญหาให้เห็นผลชัดเจนต้องแก้ที่นโยบายรัฐบาลก่อน

การกำหนดเป้าหมายต้องสอดคล้องกับความเป็นจริง ฝ่ายการเมืองมักจะตั้งเป้าไว้สูงเพื่อผลักดันให้ฝ่ายปฏิบัติทำงานให้เต็มที่ กรรมการอำนวยการส่วนที่เป็นนักวิชาการที่มีประสบการณ์ควรใช้หลักฐานทางวิชาการปรับระดับเป้าหมาย และมีกรรมการฝ่ายประเมินผลตรวจสอบว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้นั้นเหมาะสมหรือไม่ ดำเนินการไปได้บรรลุเพียงไร

สุดท้าย คือ ธรรมาภิบาล ประเด็นที่ฝ่ายต่อต้านตระกูล ส. วิจารณ์ว่ามีเครือข่ายครอบงำหน่วยงานเหล่านี้อยู่ ซึ่งเรื่องนี้สามารถตรวจสอบได้ กรรมการอำนวยการควรมาจากพื้นฐานที่หลากหลาย เพื่อให้หลายภาคส่วนมีส่วนร่วมในระดับนโยบาย (policy space) ในขณะเดียวกัน ไม่ว่าจะมาจากฐานใด กรรมการกำกับทิศต้องมีประวัติด้านคุณธรรมและความสามารถที่เกี่ยวข้องกับองค์กร และต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ส่วนข้อกังขาในเรื่องการเลือกสนับสนุนผู้รับทุนอย่างมีอคตินั้น สามารถตรวจสอบได้จากระเบียบวิธีในการพิจารณาโครงการ (review proposal) ตั้งแต่ที่มาของโครงการ ความสอดคล้องกับนโยบายขององค์กรและรัฐบาล รายชื่อและองค์ประกอบของผู้ทบทวนโครงการ (reviewers) บันทึกการให้ความเห็นว่ารอบด้านและเป็นกลางหรือไม่ นอกจากนี้ คือ ระบบติดตามหลังอนุมัติโครงการไปแล้วว่าเข้มงวดเพียงไร

โดยสรุป คำวิพากษ์กล่าวหาองค์กรที่มีความคล่องตัวในการทำงานสูงเหล่านี้ เป็นเรื่องที่คนทั่วไปควรรับฟัง และองค์กรตลอดจนภาคีทั้งหลายต้องช่วยกันชี้แจง การอยู่รอดและการพัฒนาองค์กร ไม่ได้อยู่ที่อุดมการณ์ แต่อยู่ที่ความสามารถขององค์กรและภาคีในการชี้ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเห็นผลงานและความสำคัญขององค์กรนั้น ๆ

องค์กรสนับสนุนประชาคมเกิดจากอำนาจทางการเมือง จะอยู่ต่อหรือจากไปก็ด้วยอำนาจทางการเมือง ซึ่งก็เป็นอนิจจัง ถ้าได้นักการเมืองที่ดีเห็นความสำคัญของกลุ่มประชาสังคม ความเข้มแข็งทางสังคมก็จะผลักดันสุขภาพคนไทยให้ก้าวหน้าต่อไป ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต สังคม วัฒนธรรมและจิตวิญญาณ ถ้าปราศจากสุขภาพองค์รวม สุขภาพของคนไทยก็อาจจะเหมือนสุขภาพของหุ่นยนต์ซึ่งรอผู้สร้างและซ่อม เด็กไทยจะโตเร็วด้วยอาหารและยา และแสงสีเทคโนโลยีที่กระตุ้นการกินการบริโภค ไม่ต่างกับห่วงโซ่อาหารต้นทางซึ่งก็คือสัตว์ในฟาร์มที่ถูกเร่งการเจริญเติบโตด้วยอาหารสัตว์ ยา และ แสงสว่าง เร่งการเจริญเติบโตให้พร้อมที่จะเป็นสินค้าและอาหารที่จะถูกผู้บริโภคต่อไป

 


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บทความแปล: แอนโธนี กิดเดนส์ กับทฤษฏี “หนทางเส้นที่ 3” ของคนรุ่นใหม่

$
0
0



แอนโธนี กิดเดนส์ (Anthony Giddens) คือ นักสังคมวิทยาชาวอังกฤษที่ยังถือกันว่าเป็นนักสังคมศาสตร์ที่มีชื่อเสียงที่สุดของอังกฤษ นับตั้งแต่จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes) นักเศรษฐศาสตร์ผู้สนับสนุนให้รัฐแทรกแซงตลาดเป็นต้นมา กิดเดนส์เกิดเมื่อวันที่ 18 มกราคม ปี 1938 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เข้าศึกษาระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยฮัลล์ และปริญญาโทที่ลอนดอน สคูล ออฟ อีโคโนมิกส์ (London School of Economics) จนมาถึงปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เขาเคยเป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลและมีอิทธิพลทางความคิดต่อนายโทนี แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษในแนวคิดทางเศรษฐกิจบน "หนทางเส้นที่ 3" หรือ The Third Way อันเป็นการผสมผสานแนวคิดตลาดเสรีและการแทรกแซงของรัฐ ในบรรดาหนังสือ 34 เล่ม ที่ถูกตีพิมพ์นั้น ได้เสนอแนวคิดทางสังคมวิทยาสำคัญ ๆ ไว้หลายประการ หนังสืออันโด่งดัง ได้แก่ Central Problems in Social Theory (1979), The Constitution of Society (1984), Consequence of Modernity (1990), Modernity and Self-Identity (1991), The Transformation of Intimacy (1992), Beyond Left and Right (1994) และ The Third Way: The Renewal of Social Democracy (1998)

บทความต่อไปนี้เป็นการแปลจากบทความที่ชื่อ “แอนโธนี กิดเดนส์:ซ้ายหรือขวา หรืออะไรกันแน่?” เขียนโดยคุณเดวิด กานต์เลตต์ จาก www.theory.org.uk ที่จะทำให้เราทราบถึงแนวคิดของนักสังคมวิทยาผู้นี้อย่างคร่าว ๆ กระนั้น ผู้แปลได้ตัดและต่อบางประโยคออกไปเพื่อความเหมาะสม และความสละสลวยของประโยคยิ่งขึ้น


นักทฤษฎีคลาสสิกสุดเจ๋ง

กิดเดนส์นั้นยอดเยี่ยม เพราะเขาผสมผสานรูปแบบสังคมวิทยาแบบดั้งเดิมหรือคลาสสิกเข้ากับความคิดร่วมสมัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และเขาก็มีความสุขในการผสมผสานทฤษฎีใหม่พร้อมด้วยมุมมองทางสังคมวิทยาอื่น ๆ ที่เป็นกระแสหลักแต่ก็ไม่ได้ถูกจัดว่าเป็นพวกหัวอนุรักษ์นิยมแก่ ๆ นั่นคือเขาไม่พยายามจะเบียดขับผลกระทบของลัทธิสตรีนิยม (Feminism) ออกไปจากความเข้าใจของตนที่มีต่อสังคมและพิจารณาว่าการเปลี่ยนแปลงของความสัมพันธ์ทางเพศสภาพ (gender) เป็นสิ่งสำคัญ


อยู่บนฝั่งเทวดา

กิดเดนส์จะไม่ปฏิเสธว่ามาร์กซ์มีความสำคัญในการพัฒนา "วิทยาศาสตร์สังคม" และสัญชาติญาณของเขาดูเหมือนจะเป็นคนจิตใจงามซึ่งสามารถพบได้ในหัวใจทางทฤษฎีของ "พวกเอียงซ้าย" แต่เขาก็ขุ่นเคืองต่อการแบ่งแยกเป็นซ้ายกับขวาในการวิเคราะห์ทางสังคม และในอดีตเขาได้รับการระบุว่าเป็นหนึ่งในสถาปนิกของ "หนทางเส้นที่ 3 " ซึ่งนายโทนี แบลร์และนายแกร์ฮาร์ด ชเรอเดอร์ (นายกรัฐมนตรีอังกฤษและเยอรมันคนก่อน) อาจมีความสนใจ ถึงแม้ความคิดของกิดเดนส์เกี่ยวกับ "หนทางเส้นที่ 3" จะดูจริงแท้และซับซ้อนกว่าการผสมกันระหว่างแนวคิดซ้ายและขวาของนายแบลร์ (หนังสือ ของกิดเดนส์ คือ The Third Way: The renewal of social democracy (1998) และ The Third Way and its Critics (2000)).

ในวิชาสังคมวิทยา มีการแบ่งแยกอย่างยาวนานระหว่างกลุ่มนักทฤษฎีผู้ให้ความสำคัญแก่การศึกษาเกี่ยวกับชีวิตเชิงสังคมในระดับมหภาคนั่นคือการมอง "ภาพใหญ่" ของสังคม และกลุ่มนักทฤษฎีผู้เน้นระดับจุลภาคหรือ “ภาพย่อย” ของสังคม นั่นคือมองว่าชีวิตประจำวันมีความหมายต่อปัจเจกชน กิดเดนส์มักจะมายุ่งเกี่ยวกับการแบ่งแยกเช่นนี้ เขาดูเหมือนจะยกย่องแนวโน้มของอีมิล เดอร์ไคหม์ (Emile Durkheim) ต่อทฤษฏีโดยกว้างเกี่ยวกับสังคมและตัววิชาสังคมวิทยาเอง (หนังสือของเขาที่เกี่ยวกับระเบียบวิธีวิจัยยังล้อตามชื่องานอันยิ่งใหญ่ของเดอร์ไคหม์ ชื่อ New Rules of Sociological Method) 

แต่กิดเดนส์ปฏิเสธความคิดของเดอร์ไคหม์ที่ว่าเราควรจะสามารถสร้างกฎซึ่งพยากรณ์ว่าสังคมดำเนินไปอย่างไรโดยไม่มองความหมายซึ่งเป็นที่เข้าใจโดยตัวละครที่เป็นปัจเจกชนในสังคม กิดเดนส์นั้นมีจุดยืนที่ใกล้ชิดกับ "เจ้าพ่อ" แห่งวิชาสังคมวิทยาอีกท่านหนึ่ง นั่นคือแม็ก เวเบอร์ (Max Weber) ผู้เห็นว่าการเลือกในการมีพฤติกรรมเชิงสังคมของปัจเจกชนเป็นสิ่งสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด แต่กิดเดนส์ตระหนักว่าแนวคิดทั้งสองมีคุณค่าและด้วยชีวิตเชิงสังคมทั้งระดับมหภาคและจุลภาคนั้นต่างมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันตามธรรมชาติ คุณไม่ควรจะอยู่เพียงด้านใดด้านหนึ่ง ดังนั้นเขาจึงบังเกิดทฤษฎี structuration ซึ่งเป็นตัวเชื่อมทั้งสองด้านนี้


ทฤษฎี Structuration

Structuration

ทฤษฏีนี้ของกิดเดนส์เห็นว่าชีวิตเชิงสังคมเป็นไปมากกว่าการกระทำของปัจเจกที่ไม่เป็นระเบียบแต่ก็ไม่ได้ถูกกำหนดเพียงอย่างเดียวจากพลังทางสังคม หรือกล่าวอีกแบบหนึ่งคือมันไม่ใช่เป็นเพียงกลุ่มก้อนของกิจกรรมในระดับจุลภาค แต่คุณก็ไม่สามารถศึกษามันโดยมองเพียงการอธิบายระดับมหภาค กิดเดนส์เสนอความคิดว่าความเป็นมนุษย์และโครงสร้างสังคมมีความสัมพันธ์ต่อกันและกัน และมันเป็นการกระทำของปัจเจกชนที่ซ้ำไปซ้ำมาจนก่อให้เกิดโครงสร้างทางสังคมนั่นคือ จารีตประเพณี สถาบัน หลักศีลธรรม และวิธีการทำสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นกระแสหลัก แต่มันยังหมายความว่าสิ่งเหล่านั้นสามารถถูกเปลี่ยนแปลงได้เมื่อประชาชนเริ่มที่จะเพิกเฉยต่อพวกมัน โดยเอาสิ่งอื่นมาแทนที่หรือผลิตซ้ำพวกมันให้มีความแตกต่าง...


ระเบียบและการผลิตซ้ำทางสังคม

แต่ถ้าปัจเจกชนพบว่ามันยากที่จะกระทำในทางใด ๆ ที่พวกเขาวาดฝันไว้ อะไรคือธรรมชาติของพลังทางสังคมที่มองไม่เห็นซึ่งทำให้เกิดแรงต้านนั้น? กิดเดนส์พบว่าคำตอบคือการนำไปอุปมาอุปไมยกับภาษา นั่นคือถึงแม้ภาษาจะเกิดขึ้นเพียงในเหตุการณ์ที่เราพูดหรือเขียนถึงมัน ผู้คนจะตอบสนองอย่างรุนแรงต่อผู้ที่เพิกเฉยต่อกฎและระเบียบของมัน ในทางเดียวกัน "กฎ" ของระเบียบทางสังคมอาจจะอยู่เพียง "ในหัวของเรา" กล่าวคือพวกมันมักไม่ได้ถูกเขียนลงไปและมักจะไม่มีอำนาจอย่างเป็นรูปธรรมในการเกื้อหนุนพวกมัน กระนั้นคนทั่วไปอาจจะตกใจเมื่อการคาดหวังทางสังคมที่ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อยไม่ได้รับการปฏิบัติตาม

การศึกษาเชิงสังคมวิทยาของฮาโรลด์ การ์ฟิงเกล ในทศวรรษที่ 60 พบว่าเมื่อบุคคลตอบสนองในรูปแบบที่ไม่ได้เป็นไปตามคาดหวังต่อคำถามหรือสถานการณ์ในชีวิตประจำวัน ผู้แสดงคนอื่นสามารถตอบกลับอย่างโกรธแค้นต่อการล่วงละเมิดความเข้าใจร่วมกันของ "พฤติกรรมแบบปกติ" นี้ (ดู Garfinkel ปี1984 (ตีพิมพ์ครั้งแรกปี 1967)).ในกรณีของเรื่องเพศสภาพ รูปแบบของการผลิตซ้ำทางสังคมนี้ก็ยิ่งชัดเจนมาก ดังนั้นการกระทำในชีวิตประจำวันของมนุษย์ได้เสริมสร้างและผลิตซ้ำชุดของการคาดหวังและมันเป็นชุดของการคาดหวังของคนอื่นแบบนี้เองที่ก่อให้เกิด "พลังทางสังคม " และ "โครงสร้างทางสังคม" ซึ่งนักสังคมวิทยาทั้งหลายพูดถึง ดังที่กิดเดนส์ได้กล่าวไว้ว่า "สังคมมีเพียงรูปแบบและรูปแบบได้เพียงแค่มีผลกระทบต่อมนุษย์ ดังนั้นโครงสร้างจึงถูกผลิตและผลิตซ้ำในสิ่งที่มนุษย์กระทำ" (Giddens & Pierson, 1998, หน้า 77)


ยุคสมัยใหม่ ยุคหลังยุคใหม่และยุคหลังจารีต (Modernity, post-modernity and the post-traditional)

ประเด็นเกี่ยวกับยุคสมัยใหม่

พวกเราไม่ได้อยู่ในยุคหลังสมัยใหม่ กิดเดนส์กล่าวว่าไว้ มันเป็นเวลาแห่งยุคสมัยใหม่ช่วงปลาย ๆ ต่างหาก เขาไม่ได้ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดเกี่ยวกับชีวิตเชิงสังคมซึ่งนักวิชาการทั้งหลายขนานนามว่าเป็นแนวคิดแบบยุคหลังสมัยใหม่ ดังเช่นความสงสัยต่อการพรรณนาอันยิ่งใหญ่ (Grand narrative) ความผิวเผินที่ถูกปรุงแต่ง ลัทธิบริโภคนิยม และอื่น ๆ  กิดเดนส์ไม่โต้แย้งต่อการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น แต่เขากล่าวว่าเราไม่ได้ก้าวพ้นยุคสมัยใหม่จริง ๆ มันเพียงแค่เปลี่ยนรูปร่างเท่านั้น

ดังนั้นจึงเป็นการไม่เหมาะสมที่จะเรียกว่าเป็นยุคหลังสมัยใหม่ มันเป็นเพียงยุคสมัยใหม่ที่ถูกประโคมขึ้นเท่านั้น หรือกล่าวได้ว่าเป็นยุคสมัยใหม่ตอนปลาย กิดเดนส์นั้นกล่าวถูกต้องอย่างแน่นอนที่ว่า ยุคหลังสมัยใหม่ไม่ใช่ยุคใหม่ (new era) อย่างสิ้นเชิง แต่นักคิดคนสำคัญของยุคหลังสมัยใหม่อย่างเช่น ฌอง ฟรองซัวส์ ลีโอตารด์ก็ไม่ได้กล่าวจริง ๆ ว่า ยุคหลังสมัยใหม่นั้นเข้ามาแทนที่และไล่ตามยุคสมัยใหม่

อย่างไรก็ตาม การเน้นไปที่ยุคสมัยใหม่เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ เพราะความขัดแย้งซึ่งสำคัญที่สุดสำหรับกิดเดนส์นั้นอยู่ที่วัฒนธรรมยุคก่อนสมัยใหม่ (จารีต) และวัฒนธรรมสมัยใหม่ (หลังจารีต) ปรากฏการณ์เหล่านั้นซึ่งบางคนเรียกว่าเป็น "ยุคหลังสมัยใหม่" ตามการนิยามของกิดเดนส์ มักเป็นรูปแบบสุดโต่งของยุคสมัยใหม่ที่ถูกพัฒนาอย่างเต็มที่


ยุคหลังจารีต

เป็นเรื่องสำคัญว่าการจะเข้าใจต่อกิดเดนส์ได้ต้องมุ่งไปที่ความสนใจในธรรมชาติของยุคหลังจารีตที่มีความเข้มข้นมากขึ้น เมื่อจารีตเข้าครอบงำ การกระทำของปัจเจกชนนั้นไม่ต้องถูกวิเคราะห์และคำนึงถึงมากนักเพราะการเลือกได้ถูกกำหนดโดยจารีตและประเพณี (แน่นอน นี่ไม่ได้หมายความว่าจารีตจะไม่สามารถได้รับการคำนึงถึงหรือถูกท้าทาย) อย่างไรก็ตาม ในยุคหลังจารีต เราไม่ได้วิตกกังวลเกี่ยวกับจารีตที่ถูกสร้างโดยชนรุ่นก่อน และทางเลือกนั้นจะเป็นไปอย่างน้อยที่สุดดังที่ถูกกำหนดไว้โดยกฎหมายและความคิดของสาธารณชน คำถามทั้งหมดเกี่ยวกับว่าจะทำตัวอย่างไรให้เหมาะสมในสังคมกลายเป็นเรื่องสำคัญซึ่งเราจะต้องนำมาพิจารณาและตัดสินใจเกี่ยวกับมัน สังคมนั้นดูเหมือนจะทวีความตระหนักถึงตัวเองและครุ่นคิดมากขึ้นถึงสภาพที่ถูกสร้างขึ้นมาอย่างหมิ่นเหม่ กิดเดนส์ประทับใจกับปริมาณของการตระหนักในตัวเองเช่นนี้ ซึ่งได้เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในทุกแง่มุมของสังคม ตั้งแต่รัฐบาลไปจนถึงความสัมพันธ์ทางเพศ

ยุคสมัยใหม่นั้นเป็นยุคหลังจารีต สังคมไม่สามารถเป็นยุคสมัยใหม่ได้อย่างเต็มที่หากทัศนคติ พฤติกรรม หรือสถาบัน ได้รับอิทธิพลอย่างยวดยิ่งจากจารีต เพราะการยอมต่อจารีตหรือทำสิ่งต่าง ๆ เพียงเพราะคนอื่นในอดีตบอกให้ทำคือสิ่งตรงกันข้ามกับการตระหนักถึงตัวเองแบบยุคสมัยใหม่ ดังนั้น กิดเดนส์เห็นว่าสังคมทั้งหลายซึ่งพยายามทำตัวเองให้ทันสมัยตามรูปแบบกระแสหลักโดยกลายเป็นบางสิ่งเช่นประชาธิปไตยทุนนิยม แต่ก็ไม่ทอดทิ้งจารีตอื่น ๆ เช่นความไม่เท่าเทียมกันทางเพศดูเหมือนจะล้มเหลวในความพยายามที่จะกลายเป็นสังคมสมัยใหม่



ยุคสมัยใหม่และอัตลักษณ์ส่วนบุคคล 

ยุคสมัยใหม่และตัวตน

ในสังคมสมัยใหม่ซึ่งไม่ได้หมายความถึง "สังคมทั้งหลายในปัจจุบัน" แต่เป็น "สังคมทั้งหลายซึ่งมีความเป็นสมัยใหม่ได้ถูกพัฒนาอย่างเต็มที่" อัตลักษณ์ส่วนบุคคลกลายเป็นประเด็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ถึงแม้จะมีคนกล่าวว่าพวกเขาไม่เคยสนใจต่อคำถามหรือความวิตกเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของตัวเอง แต่พวกเขาก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงต่อการถูกบังคับให้ตัดสินใจเลือกในสิ่งต่าง ๆ ตลอดชีวิตของตน ไม่ว่าการแต่งกาย หน้าตา หรืองานอดิเรก จนไปถึงการตัดสินใจที่มีผลกระทบอย่างมาก เช่นความสัมพันธ์ทางเพศ ความเชื่อ และอาชีพ ในขณะที่สังคมยุคก่อนหน้านี้พร้อมระเบียบทางสังคมซึ่งตั้งมั่นคงบนจารีตได้มอบบทบาท(เกือบจะ)ชัดเจนแก่ปัจเจกชน แต่ในสังคมยุคหลังจารีตนั้น เราต้องสร้างนิยามให้กับตัวเอง...


การเปลี่ยนแปลงในทุกระดับ

ความโดดเด่นของคำถามเกี่ยวกับอัตลักษณ์ในสังคมสมัยใหม่นั้น เป็นทั้งผลลัพธ์และสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงในระดับสถาบันโดยทั่วไป กิดเดนส์ตระหนักถึงความสัมพันธ์ระหว่างแง่มุมที่เป็น "จุลภาค" หรือเล็กที่สุดของสังคม นั่นคือการตระหนักรู้ภายในเกี่ยวกับตัวตนและอัตลักษณ์ของปัจเจกชน และในแง่มุม "มหภาค" หรือขนาดใหญ่ของรัฐดังเช่นบริษัททุนนิยมข้ามชาติและยุคโลกาภิวัฒน์ ระดับอันแตกต่างเหล่านั้นที่เคยได้รับการศึกษาแยกจากกันโดยวิชาสังคมวิทยา แท้ที่จริงมีอิทธิพลต่อกันและไม่สามารถเข้าใจได้อย่างโดด ๆ ยกตัวอย่างเช่นการเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ทางเพศ ซึ่งเราสามารถเห็นได้ในเวลา 60 ปีที่ผ่านมานั่นคือ ระดับของการหย่าร้างและการแยกกันอยู่ขณะที่ผู้คนย้ายความสัมพันธ์จากคนหนึ่งไปอีกคนหนึ่ง มีการเปิดกว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ ต่อเรื่องทางเพศ และมีความหลายหลายทางเพศที่ชัดเจนกว่าเดิม การเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น ไม่สามารถเป็นที่เข้าใจโดยการสันนิษฐานว่าถูกชักจูงโดยสถาบันทางสังคมและรัฐ ไม่ใช่เพียงเพราะการคิดแบบเดิมเกี่ยวกับทั้งขวาและซ้าย นั่นคือการที่ทั้ง “ระบบทุนนิยม” และ "ฝ่ายอำนาจที่กำหนดศีลธรรม"ของรัฐ ต้องการให้ประชาชนมีชีวิตครอบครัวแบบผัวเดียวเมียเดียวอย่างมั่นคง แต่การเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น ไม่สามารถถูกอธิบายโดยการมองไปที่เพียงระดับของปัจเจกนั่นคือ เราไม่สามารถเพียงแต่บอกว่าจู่ ๆ มนุษย์เริ่มต้นที่จะเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับการดำรงชีวิตด้วยตนเอง การอธิบายที่จริงจังจะต้องวางอยู่ ณ บางจุดระหว่างความสัมพันธ์ของระดับมหภาคและจุลภาค และเรื่องทางเพศที่เห็นได้ชัดเจนนั้นเกี่ยวข้องกับการเสื่อมถอยของศาสนาและการพุ่งขึ้นของการคิดเชิงเหตุผล นั่นคือการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเกิดจากการที่ปัจเจกชนเปลี่ยนแปลงในการมองชีวิตอย่างไร ซึ่งในทางกลับกันเกิดจากอิทธิพลและการสังเกตการณ์ต่อตัวสังคม การพัฒนาเหล่านั้นยังเป็นผลผลิตของการเปลี่ยนแปลงในกฎซึ่งเกี่ยวข้องกับการแต่งงานและเรื่องทางเพศ (มหภาค) แต่ความต้องการต่อการเปลี่ยนแปลงก็มาจากระดับของชีวิตประจำวัน (จุลภาค) สิ่งเหล่านั้นเกิดจากผลกระทบของกระบวนการทางสังคมเพื่อให้มีความเท่าเทียมและความเป็นอิสระของผู้หญิง (มหภาค) ซึ่งพวกมันเกิดจากความไม่พึงพอใจภายในชีวิตประจำวัน (จุลภาค) ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงก็มาจากจุดประสานกันของพลังแห่งจุลภาคและมหภาค


สื่อและตัวตน

สื่อมวลชนดูเหมือนจะมีอิทธิพลต่อการรับรู้ของปัจเจกชนต่อความสัมพันธ์ต่าง ๆ ของพวกเขา ไม่ว่าในละครเศร้าเคร้าน้ำตา หรือการซุบซิบเรื่องคนดัง ความต้องการ "เรื่องดี ๆ " มักเสริมการมุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ เพราะเกือบไม่มีใครที่โผล่หน้าในโทรทัศน์ที่จะยังคงแต่งงานอย่างมีความสุขไปตลอดชีวิต ไม่ว่าเรากำลังพูดถึงตัวละครในจินตนาการหรือบุคคลที่มีชื่อเสียงที่มีตัวตนจริง ๆ เราจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะรับสื่อว่าความมั่นคงของการแต่งงานระหว่างคนต่างเพศแบบผัวเดียวเมียเดียวนั้นเป็น "อุดมคติ" ที่น้อยรายคาดหวังว่าจะบรรลุถึง เราได้รับการส่งเสริมให้ตระหนักถึงความสัมพันธ์ของเราเองผ่านทางนิตยสารและหนังสือที่สอนให้ผู้อ่านช่วยตัวเอง (อย่างชัดเจน) และในภาพยนตร์ ตลก และละคร (อย่างอ้อม ๆ ) ข่าวและสื่อเกี่ยวกับวิชาการได้บอกกับเราถึงการค้นพบของงานวิจัยเกี่ยวกับวิถีชีวิตและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่แท้จริงในชีวิตครอบครัว ความรู้เหล่านี้ก็ได้ถูก "ปรับเปลี่ยนใหม่" โดยคนธรรมดาซึ่งจะนำไปสู่รูปแบบของการใช้ชีวิตซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับจารีต ข้อมูล และความคิดจากสื่อไม่ได้เพียงแต่สะท้อนโลกเชิงสังคม แต่ยังกำหนดรูปทรงของมันและเป็นจุดศูนย์กลางของการตระหนักถึงตัวเองตามแบบยุคสมัยใหม่


กิจกรรมเชิงตระหนักรู้ของตัวตน

การสร้างบทพรรณนา

หากตัวตนถูก "สร้าง" มากกว่าจะเป็นการรับช่วงต่อหรือเป็นสิ่งที่หยุดนิ่งกับที่แล้ว มันจะอยู่ในรูปแบบไหนกัน? อะไรคือสิ่งที่เราสร้าง? กิดเดนส์บอกว่าในระดับของยุคหลังจารีต อัตลักษณ์ส่วนบุคคลนั้นกลายเป็นกิจกรรมเชิงตระหนักรู้ของตัวตน นั่นคือความพยายามของเราในการกระทำและการครุ่นคิดอย่างต่อเนื่อง เราสร้าง ธำรงรักษา และเขียนใหม่ ต่อการพรรณนาชีวประวัติของตัวเราเอง นั่นคือเรื่องที่ว่าเราเป็นใคร และเราได้มาสู่จุดที่เรายืนอยู่ในขณะนี้ได้อย่างไร

ดังนั้นอัตลักษณ์ส่วนบุคคลจึงไม่ใช่ชุดของร่องรอย หรือลักษณะที่สังเกตได้ มันเป็นความเข้าใจเชิงตระหนักรู้ของตัวบุคคลที่มีต่อชีวประวัติของตัวเอง อัตลักษณ์ส่วนบุคคลมีความต่อเนื่อง นั่นคือมันไม่สามารถถูกเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง โดยเจตจำนง แต่ความต่อเนื่องเป็นเพียงผลผลิตของความเชื่อเชิงตระหนักรู้ของบุคคลเกี่ยวกับชีวประวัติของตัวเอง (Giddens, 1991, หน้า 53)

อัตลักษณ์ส่วนบุคคล มั่นคงขึ้นอยู่กับการอธิบายต่อชีวิต พฤติกรรม และอิทธิพลของตัวบุคคล ซึ่งดูน่าเชื่อถือในความคิดของพวกเขา และสามารถถูกอธิบายต่อเนื่องโดยปราศจากความยากเย็น มัน "อธิบาย"อดีต และถูกมุ่งเน้นไปยังอนาคตที่ถูกคาดหวังไว้

"อัตลักษณ์ส่วนบุคคลไม่อาจถูกพบในพฤติกรรมหรือในปฏิกิริยาจากคนรอบข้างซึ่งแม้จะมีความสำคัญเพียงใด แต่มันอยู่ในความสามารถของมนุษย์ที่จะทำให้การพรรณนาอย่างใดอย่างหนึ่งดำเนินต่อไป ชีวประวัติของปัจเจกชนนั้น หากเขายังคงมีปฏิสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอกับคนอื่น ๆ ในโลกประจำวัน ก็ไม่อาจเป็นเรื่องจินตนาการล้วน ๆ มันต้องบูรณาการอย่างต่อเนื่องต่อเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นในโลกภายนอก และนำมันไปผสมกับ "เรื่องราว" ที่ดำเนินไปเรื่อย ๆ เกี่ยวกับ “ตัวตน" (Giddens, 1991, หน้า 54)


ทันสมัยจริง ๆ

อีกครั้ง นี่คือรูปแบบทันสมัยมาก ๆ กิดเดนส์ได้เชื่อมโยงการอุบัติขึ้นของการพรรณนาของตัวตนเข้ากับการเกิดขึ้นของความรักแบบโรแมนติก แน่นอนว่าอารมณ์และความใคร่ย่อมดำรงอยู่คู่มนุษย์ตลอดกาล แต่วาทกรรมเกี่ยวกับความรักแบบโรแมนติกนั้นกล่าวกันว่าได้พัฒนามาจากปลายศตวรรษที่ 18 ความรักแบบ     โรแมนติกได้แทรกความคิดเรื่องการพรรณนาเข้าไปในชีวิตของปัจเจกชน นั่นคือเรื่องราวเกี่ยวกับคนสองคนที่มีความสัมพันธ์เพียงเล็กน้อยกับกระบวนการทางสังคมที่กว้างขึ้นไป เขาเชื่อมโยงการพัฒนาแบบนี้เข้ากับการอุบัติขึ้นของนวนิยายในเวลาไล่เลี่ยกัน นั่นคือรูปแบบต้น ๆ ของสื่อมวลชน ซึ่งได้แนะนำการพรรณนาเกี่ยวกับชีวิตรักเชิงอุดมคติ (หรือน้อยกว่าอุดมคติ) เรื่องราวเหล่านั้นไม่ได้สร้างความรักให้เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับความเท่าเทียมกัน แน่นอนว่าในทางกลับกัน ผู้หญิงถูกนำเข้าไปเกี่ยวข้องกับโลกแห่งความเป็นผู้หญิง และความเป็นแม่ ซึ่งอาจจะไม่เป็นที่รู้จักของผู้ชาย อย่างไรก็ตามตัวละครผู้หญิงนั้นมักจะเป็นอิสระและกระตือรือร้น ส่วนโลกของผู้ชายนั้นแยกตัวออกจากเรื่องในครอบครัวทั้งด้านอารมณ์และร่างกายและมักจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับความเด็ดเดี่ยวต่อเป้าหมายในโลกภายนอก

ในขณะที่ความสัมพันธ์อย่างเร่าร้อนอาจจะมาและจากไปอย่างคาดเดาไม่ได้ การพรรณนาเกี่ยวกับความรักแบบโรแมนติกที่ดำรงอยู่ยาวนานและมุ่งไปที่อนาคตได้สร้าง "อนาคตร่วมกัน" ซึ่งทำให้ชีวิตของคนทั้ง 2 เป็นสิ่งที่สมเหตุผล แล้วมอบบทบาทอันน่าจดจำและสำคัญให้กับความสัมพันธ์ของพวกเขา การเกิดขึ้นของ "ชีวประวัติเชิงพรรณนาร่วมกัน" นำปัจเจกชนไปสู่การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับชีวิตของพวกเขา ดังนั้นแม้ว่าความสัมพันธ์กับคู่ของตนจะออกนอกลู่นอกทาง เรื่องราวยังคงถูกธำรงรักษาไว้ และบัดนี้ชีวประวัติของตัวตนก็ได้มีชีวิตเป็นของตัวเอง


วิถีชีวิต

เลือกอนาคตของคุณ

ในยุคหลังจารีต ด้วยบทบาททางสังคมไม่จำเป็นต้องถูกส่งมายังเราโดยสังคม เราต้องเลือก "วิถีชีวิต" เองถึงแม้แน่นอนว่าทางเลือกจะไม่ถึงขั้นไร้ขีดจำกัด  "ทางเลือกวิถีชีวิต" อาจจะดูเหมือนเป็นสิ่งสวยหรูของชนชั้นสูง แต่กิดเดนส์ยืนยันว่าทุกคนในสังคมสมัยใหม่ต้องเลือกวิถีชีวิต ถึงแม้ว่ากลุ่มต่าง ๆ จะมีความเป็นไปได้แตกต่างกัน (และความมั่งคั่งดูแน่นอนว่าจะเพิ่มขอบเขตของทางเลือก)  "วิถีชีวิต" นั้นไม่ใช่แค่เกี่ยวกับอาชีพที่สวยหรูและการใช้จ่ายเงินเพื่อแสดงฐานะตน แต่ความหมายของมันยังประยุกต์ไปถึงระดับที่กว้างกว่าเดิมของทางเลือก พฤติกรรม ทัศนคติและความเชื่อ (ไม่ว่าจะระดับที่ใหญ่หรือน้อยกว่า)

วิถีชีวิตสามารถกล่าวได้ว่าเป็นเหมือนกับรูปแบบที่ถูกกำหนดไว้แล้วสำหรับการพรรณนาแห่งตัวตน แต่การเลือกของวิถีชีวิตหนึ่ง ๆ นั้น ไม่ได้เป็นตัวบ่งบอกถึงประเภทใด ๆ ของเรื่องราวชีวิต ดังนั้นวิถีชีวิตจึงเป็นเหมือนประเภทของภาพยนตร์ ในขณะที่ผู้กำกับสามารถเลือกจะสร้างภาพยนตร์รัก หรือตะวันตกหรือสยองขวัญ เราในฐานะ "ผู้กำกับ" ของการพรรณนาชีวิตของเราเองสามารถเลือกวิถีชีวิตแบบชนบท หรือในเมือง วิถีชีวิตที่มุ่งเน้นไปในความสำเร็จของงาน หรือมุ่งเน้นไปที่การเข้าสมาคม กีฬา ความรัก หรือความสุขสมกับเรื่องบนเตียง


เหนือจารีตขึ้นไป

ในด้านหนึ่งทางเลือกซึ่งเรามีในสังคมสมัยใหม่อาจจะถูกกระทบโดยความสำคัญของจารีต แต่อีกด้าน คือเสรีภาพในระดับหนึ่ง ทางเลือกทุกวันนี้เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรากิน หรือสวมใส่ ใครที่เราจะคบค้าด้วยคือการตัดสินใจทั้งหมดซึ่งวางตำแหน่งของตัวเราในฐานะเป็นคน ๆ นั้น ไม่ใช่ใครอื่น และดังที่กิดเดนส์ได้กล่าวไว้ว่า "ยิ่งปัจเจกชนเคลื่อนย้ายตัวเองไปอยู่ในรูปแบบหลังจารีตมากเท่าไร วิถีชีวิตยิ่งเข้าไปเกี่ยวข้องกับแกนหลักของ   อัตลักษณ์ส่วนบุคคลมากเท่านั้น กล่าวคือการสร้างและการสร้างอัตลักษณ์ซ้ำ"
       
ความสำคัญของสื่อในการหล่อหลอมวิถีชีวิตสมัยใหม่จำนวนมากแก่มวลชนควรจะชัดเจน ขอบเขตของวิถีชีวิต หรืออุดมคติของวิถีชีวิตที่ถูกเสนอผ่านสื่ออาจจะมีจำกัด แต่ในเวลาเดียวกัน มันมักจะกว้างกว่าที่เราจะคาดหวังว่าเพียง “บังเอิญเจอ” ในชีวิตประจำวัน ดังนั้นสื่อในยุคสมัยใหม่ได้เสนอความเป็นไปได้และยกย่องความหลากหลาย แต่ยังเสนอการตีความแบบแคบ ๆ ของบทบาทหรือวิถีชีวิตแบบใดแบบหนึ่ง อันนี้ขึ้นอยู่ว่าคุณจะมองไปที่ไหน

 


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 8-14 ต.ค. 2558

$
0
0

การบินไทยทุ่ม 5.3 พันล้าน ลดพนักงานอีก 400 คน ธ.ค.นี้
 
เมื่อวันที่ 7 ต.ค. นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด มหาชน กล่าวว่า สำนักงานบริหารการบินแห่งสหรัฐอเมริกา (เอฟเอเอ) ได้ตรวจการบินไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลการประเมิน ส่วนการตรวจของสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติของสหภาพยุโรป (เอียซ่า) ในช่วงเดือนพฤศจิกายนนั้น ได้เตรียมความพร้อมเรื่องการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัย โดยปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัยให้เป็นมาตรฐานสากล
 
ส่วนกรณีที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย จะเดินทางไปยื่นหนังสือเพื่อให้บริษัทการบินไทย ยุติและถอนฟ้องกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจ 4 คน กรณีพิพาทเรียกร้องการปรับขึ้นเงินเดือน และการจ่ายโบนัส เมื่อปี 2556 และเรียกเสียหาย 326 ล้านบาท ที่ทำเนียบรัฐบาลนั้น นายจรัมพรกล่าวว่า พร้อมรับฟังข้อเสนอจากสหภาพการบินไทย แต่จะต้องพิจารณาข้อเรียกร้องอีกครั้ง โดยยืนยันว่า ยินดีประนีประนอมตาม แต่ต้องอยู่ในอำนาจหน้าที่
 
สำหรับความคืบหน้าเเผนการฟื้นฟูการบินไทย ขณะนี้การบินไทยขายเครื่องบินไปเเล้ว 18 ลำ เหลืออีก 16 ลำที่ยังรอการขาย รวมถึงมีการลดเส้นทางการบิน และปรับโครงสร้างองค์กรไปแล้ว ซึ่งแผนดังกล่าวล่าช้ากว่ากำหนดเล็กน้อย ขณะที่แผนการปรับลดพนักงาน ในช่วงเดือนธันวาคมนี้จะมีการปรับลดอีก 400 คน เบื้องต้นใช้งบประมาณในการปรับลดพนักงานจำนวน 5,300 ล้านบาท และในปี 2559 การบินไทยยังคงเดินหน้าปรับลดพนักงานเพื่อลดการขาดทุน โดยวางงบประมาณไว้ที่ 2,000 ล้านบาท
 
 
องค์กรแรงงานรัฐวิสาหกิจ แถลงสาธารณะ ชวนจับตาบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ หรือ ซุปเปอร์โฮลดิ้ง
 
สหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย( สพร.ท) วันอังคารที่ 6 ตุลาคม 2558 ได้ออกแถลงการณ์ กรณี บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ หรือ ซุปเปอร์โฮลดิ้ง เพื่อเสนอข้อมูลต่อสาธารณชน และเสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล ตามที่ปรากฏเป็นข่าวแล้วว่า รัฐบาลมีแนวคิดในการตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติหรือ “ซุปเปอร์โฮลดิ้ง” โดย วัตถุประสงค์สำคัญคือต้องการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารและพัฒนารัฐวิสาหกิจ และเป็นกลไกป้องกันการเมืองเข้ามาแทรกแซงนั้น
 
สหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย (สพร.ท) ซึ่งเป็นองค์กรแรงงานรวมของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจที่เป็นนิติบุคคล ก่อตั้งตามหมวด 5 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 โดยปัจจุบันมีสมาชิก 22 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ได้ติดตามและมีมติร่วมกันเพื่อกำหนดจัดงานเสวนาทางวิชาการเพื่อทำความเข้าใจในเรื่องนี้ โดยได้เรียนเชิญ คณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) และได้รับความกรุณาจาก. คุณบรรยง พงษ์พานิช คุณรพี สุจริตกุล และคุณกุลิศ สมบัติศิริ ด้วยท่านทั้งสาม มีความเข้าใจชัดเจนเกี่ยวกับนโยบาย และแนวทางการจัดตั้ง “ซุปเปอร์โฮลดิ้ง” ทั้งนี้ได้เรียนเชิญไตรภาคีภาคแรงงาน ประกอบด้วย ฝ่ายบริหารและพนักงานรัฐวิสาหกิจ ผู้แทนกระทรวงแรงงาน และผู้นำองค์กรแรงงานภาคเอกชน มาร่วมรับฟังและร่วมเสวนา เพื่อทำความเข้าใจในเจตนารมณ์ของการจัดตั้ง “ซุปเปอร์โฮลดิ้ง” ซึ่ง สพร.ท ใคร่ขอขอบพระคุณวิทยากรทั้ง 3 ท่านมา ณ โอกาสนี้
 
ภายหลังจากการรับฟังข้อมูล ปรากฏว่า ผู้เข้าร่วมเสวนาซึ่งส่วนใหญ่คือ กลุ่มผู้นำทางความคิดในภาคประชาสังคม และผู้นำองค์กรแรงงาน จำนวนกว่า 300 คน ยังไม่ได้รับความกระจ่างในประเด็นที่มีข้อห่วงใยในฐานะประชาชน ดังนั้น สพร.ท ใคร่ขอสรุปประเด็นข้อห่วงใยจากประชาชนที่มาร่วมงานเสวนา ดังนี้
 
1. ยังไม่มีคำตอบ ในเรื่องหลักประกัน หรือ ระบบตรวจสอบ ถ่วงดุล เพื่อให้ ซุปเปอร์โฮลดิ้ง ปลอดจากการแทรกแซงทางการเมือง ภายหลังการบริหารงานของรัฐบาลชุดปัจจุบัน
 
2. ด้วยรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง จัดตั้งขึ้นด้วยพันธกิจต่างกัน แต่ไม่ว่าจะมีที่มาหรือวัตถุประสงค์ในการก่อตั้งแตกต่างกันอย่างไร พันธกิจสำคัญของรัฐวิสาหกิจที่คล้ายคลึงกัน ก็คือเป็นองค์กรของรัฐ ที่มีหน้าที่สร้างหลักประกันพื้นฐานให้บริการประชาชน และเพื่อความมั่นคงแห่งรัฐ ทั้ง ด้านสื่อสาร โทรคมนาคม สื่อสารมวลชน ขนส่ง และพลังงาน
 
ดังนั้น หากวัตถุประสงค์ของ บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ ที่มุ่งเน้นหนักเรื่องการบริหารงานเชิงธุรกิจ และแนวทางที่รัฐจะต้องชดเชยเพื่อให้ธุรกิจมีผลกำไร โดยกรรมการล้วนเป็นมืออาชีพในการดำเนินธุรกิจ ก็คงยากที่จะหลีกเลี่ยงทัศนคติของนักธุรกิจที่เน้นหนักในมิติด้านธุรกิจ ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ในการจัดตั้งรัฐวิสาหกิจ และอาจส่งผลกระทบต่อการให้บริการและการใช้บริการของประชาชน รวมถึงการมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาผลประโยชน์ของรัฐวิสาหกิจในฐานะพนักงานรัฐวิสาหกิจตามเจตนารมณ์ของกฎหมายแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ด้วย
 
3. ก่อนที่จะเดินหน้าจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติตามกำหนดเวลาที่คาดหวัง นอกจากฝ่ายบริหารของรัฐวิสาหกิจแล้วรัฐบาลควรให้ความสำคัญต่อการรับฟังความคิดเห็นจากผู้แทนพนักงานรัฐวิสาหกิจและภาคประชาสังคม เพื่อให้มีความเข้าใจและร่วมเดินหน้าปฏิรูปรัฐวิสาหกิจไปด้วยกัน เพื่อให้ได้ร่วมคิด ร่วมสร้างสรรค์ เพื่อร่วมสร้างความเจริญและพัฒนารัฐวิสาหกิจ อันเป็นแนวทางที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหา และเพิ่มประสิทธิภาพ ตามเจตนารมณ์ของการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจอย่างยั่งยืน และเกิดความราบรื่น ปรองดองสมานฉันท์ อันจะเกิดประโยชน์ต่อประเทศ และเป็นการแสดงออกอย่างชัดเจนว่า รัฐบาลสนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ตามเจตนารมณ์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวการณ์ปัจจุบัน ที่พวกเราต้องร่วมกันป้องกันความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องจากนานาอารยประเทศ ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจโดยรวม การประกาศวันที่ต้องแล้วเสร็จ และวันเริ่มต้นการมีบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ “ซุปเปอร์โฮลดิ้ง” เป็นข้อจำกัดในการแสดงความจริงใจที่ยอมรับการมีส่วนร่วม
 
เพื่อให้นโยบายของรัฐ สามารถดำเนินงานได้ราบรื่น และเกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม ดังเจตนารมณ์ที่ดี และป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอย ดังเช่น การปฏิรูปหรือแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ดำเนินการเพื่อมุ่งเน้นหาทางให้มีความคล่องตัวในเชิงบริหารเป็นหลัก แต่ละเลยผลกระทบด้านอื่น จนทำให้เกิดผลกระทบโดยไม่เจตนา สพร.ท ใคร่ขอเสนอให้ คณะทำงานที่เกี่ยวข้องกับการยกร่างกฎหมายการจัดตั้ง “ซุปเปอร์โฮลดิ้ง” ได้ถอดบทเรียนที่เคยได้รับผลกระทบจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ หรือปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ที่ผ่านมา ซึ่งทุกวันนี้ ผู้ที่ติดตามเรื่องราวการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ทราบดีว่า แม้ว่ารัฐวิสาหกิจบางแห่งจะมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น โดยสามารถนำส่งผลกำไรให้รัฐเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังมีการนำจุดบกพร่องบางประการจากกระบวนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ที่ทำให้บางกลุ่มนำไปอ้างและชี้นำประชาชน สร้างความแตกแยกทางความคิด จนกระทั่งกลายเป็นประเด็นขัดแย้งทางการเมือง สร้างความยุ่งยากและเป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ ด้วยบางคนอาจหลงเชื่อว่า กำไรของรัฐวิสาหกิจนั้นมาจากการเอารัดเอาเปรียบประชาชน ด้วยขาดการดูแลอย่างใกล้ชิดจากภาครัฐ อีกทั้งที่ผ่านมา ยังมีอีกประเด็นที่เห็นได้ชัดเจนถึงผลกระทบจากการออกกฎหมายที่ ผู้นำแรงงานรัฐวิสาหกิจ มีความเห็นว่า สาเหตุเกิดจากนักวิชาการที่มีส่วนร่วมในการร่างกฎหมาย ปราศจากความเข้าใจที่ลึกซึ้ง ละเลยการมีส่วนร่วมและเสียงสะท้อนจากผู้มีส่วนได้เสีย จากผู้นำแรงงาน นั่นคือ ผลของกฎหมาย กสทช. ที่แม้ว่าจะมีการลงลายมือชื่อเพื่อคัดค้านจากประชาชนจำนวนมากในรัฐบาลชุดที่ผ่านมาก็แทบจะไม่มีการตอบรับ ทุกวันนี้จึงส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง ทั้งกรณีคุณภาพของ 3G และ กรณีดิจิทัลทีวี ทำให้ยังมีความเข้าใจที่สับสน และประชาชนก็ต้องรับภาระเสียค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น และที่เป็นประเด็นทำให้นำไปสู่การหาทางปฏิรูปรัฐวิสาหกิจต่อ คือ การทำให้ 3 รัฐวิสาหกิจ คือ TOT CAT และ อสมท ได้รับผลกระทบโดยสูญเสียประโยชน์แก่รัฐ โดยเฉพาะเรื่องการนำส่งค่าตอบแทน และผลกำไรกลับสู่รัฐ กลับกลายเป็นไปเอื้อประโยชน์ต่อทุนบางกลุ่ม
 
ที่ประชุม สพร.ท จึงมีมติออกแถลงการณ์ เพื่อเสนอข้อมูลต่อสาธารณชน และเสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล กรุณาให้ความสำคัญต่อกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ในการดำเนินการจัดตั้ง และร่างกฎหมายจัดตั้งบรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ “ซุปเปอร์โฮลดิ้ง” อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เนื้อหาสาระกฎหมายที่ร่างขึ้น จะสามารถตอบข้อกังวลทั้ง 3 ประการข้างต้น เพื่อทำให้ประชาชนมั่นใจว่ารัฐบาลปัจจุบัน ยังคงมีนโยบายคำนึงถึงหลักประกันในการให้บริการที่จำเป็นพื้นฐานต่อประชาชน และสร้างระบบถ่วงดุลในการตรวจสอบการใช้อำนาจบริหาร “ซุปเปอร์โฮลดิ้ง” ในอนาคต ที่จะช่วยป้องกันจากการถูกแทรกแซงจากผู้มีอิทธิพลภาครัฐและการเมืองอย่างรอบคอบ ด้วยหากเกิดกรณีการแทรกแซง “ซุปเปอร์โฮลดิ้ง” จากกลุ่มอิทธิพล ที่อาจมีขึ้นในอนาคต ย่อมทำให้รัฐวิสาหกิจภายใต้ “ซุปเปอร์โฮลดิ้ง” ทั้งหมดถูกแทรกแซงได้โดยง่าย และนั่นคือความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศชาติอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ด้วยคนไทยทุกคนต่างทราบดีว่า รัฐวิสาหกิจคือทรัพย์สมบัติของชาติ
 
ด้วยความห่วงใยประเทศชาติร่วมกัน
 
 
เผย พรบ.ประกันสังคมฉบับที่4ให้สิทธิประโยชน์ครอบคลุมมากขึ้น จะมีผลบังคับใช้ 20 ต.ค. นี้
 
(9 ต.ค.58) พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับที่ 4 พ.ศ.2558 จะมีผลบังคับใช้ 20 ต.ค.นี้ เป็นส่วนหนึ่งในนโยบายพัฒนาสวัสดิการและคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานกว่า 13,900,000 คน โดยให้สิทธิประโยชน์ครอบคลุมมากขึ้น
 
ทั้งในส่วนการตรวจป้องกันโรค ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นจากความเสียหายที่เกิดจากการรักษา การคลอดบุตร จากให้แบบเหมาจ่ายคราวละ 13,000 บาท แต่ไม่เกิน 2 ครั้ง ปรับปรุงใหม่เป็นไม่จำกัดจำนวนครั้งและเงินสงเคราะห์บุตรตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปี เดือนละ 400 บาท จากเดิมจำกัดแค่ 2 คน เพิ่มเป็น 3 คน นอกจากนี้ยังเพิ่มสิทธิประโยชน์จากการว่างงานและเงินสงเคราะห์ผู้เสียชีวิตด้วย
 
 
แรงงานไทยที่เคยไปทำงานลิเบีย ร้องศูนย์บริการประชาชน ถูกค้างค่าจ้างตั้งแต่ปี 53 กระทรวงแรงงานยังตอบไม่ได้ช่วยได้แค่ไหน เหตุลิเบียยังไม่สงบ สนง.ไทยก็ถูกปิด
 
(9 ต.ค.) ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงาน ก.พ. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มแรงงานไทยในประเทศลิเบียประมาณ 200 คน นำโดยนายมานะ ผึ่งกล่อม ตัวแทนกลุ่ม เข้าเรียกร้องต่อศูนย์บริการฯ กรณีขอความเป็นธรรมเนื่องจากถูกนายจ้างค้างการจ่ายค่าจ้างในการถูกส่งไปเป็นแรงงานที่ประเทศลิเบียซึ่งได้ไปร้องต่อกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ตั้งปี 2553 แต่ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้า ทั้งนี้ ศูนย์บริการฯ ได้ประสานให้ น.ส.ขจีพรรณ เทพเกาะ นักวิชาการแรงงานชำนาญการพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน เข้าเจรจา โดยเบื้องต้นเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการฯ ได้ดำเนินการตรวจสอบเอกสารและข้อมูลการทำงานจากคนงานทั้ง 200 คนเพื่อให้มีความชัดเจนก่อนดำเนินการช่วยเหลือต่อไป
       
โดย น.ส.ขจีพรรณเปิดเผยว่า ในกรณีนี้บางคนก็เคยร้องมาแล้วแต่บางคนก็ยังไม่เคย ซึ่งเราพยายามคัดกรองอยู่ ถ้าผู้ที่เคยร้องมาแล้วก็จะจัดเก็บเอกสารไว้ ส่วนที่ยังไม่เคยมาร้องขอ ทางเจ้าหน้าที่ได้แนะนำให้มาดำเนินการทำขั้นตอนให้ถูกต้อง โดยขั้นตอนต่อไปทางกรมจัดหางานจะประสานงานไปยังกระทรวงการต่างประเทศให้ดำเนินการตามสิทธิประโยชน์ที่คนงานควรจะได้รับ แต่จะช่วยได้มากน้อยเท่าไรนั้นยังไม่สามารถตอบได้ เนื่องจากประเทศลิเบียยังอยู่ในภาวะไม่สงบ ยังคงมีการอพยพแรงงานต่างชาติออกจากพื้นที่อยู่อย่างต่อเนื่อง ขณะที่สำนักงานแรงงานไทยในลิเบียก็จำเป็นต้องปิดทำการโดยไม่มีกำหนด
 
 
ฮอนด้า เปิดโรงงานผลิตรถยนต์แห่งใหม่ นิคมโรจนะ ปราจีนบุรี 
 
บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศเริ่มเดินสายการผลิตชิ้นส่วนตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ณ โรงงานผลิตรถยนต์แห่งใหม่ ในสวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งเป็นโรงงานที่มีความทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดแห่งหนึ่งของฮอนด้าในภูมิภาคเอเชีย โดยนำนวัตกรรมการผลิตอันล้ำสมัยของโรงงานผลิตรถยนต์ฮอนด้าที่เมืองโยริอิ ประเทศญี่ปุ่นที่ได้รับการออกแบบภายใต้แนวคิด "ผลิตยานยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด ในโรงงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด" (Producing the cleanest products at the cleanest plant) มาประยุกต์ใช้ 
 
พิทักษ์ พฤทธิสาริกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารปฏิบัติการ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ฮอนด้าพร้อมเริ่มเดินสายการผลิต ณ โรงงานแห่งที่สอง ในจังหวัดปราจีนบุรีแล้ว โดยจะเริ่มเดินสายการผลิตชิ้นส่วนขึ้นรูปพลาสติก (Polymer Injection หรือ PO) ก่อน และในเร็วๆ นี้ โรงงานแห่งนี้จะเริ่มเดินสายการผลิตเต็มรูปแบบในสายการผลิตเครื่องยนต์ และรถยนต์ฮอนด้าสำเร็จรูป (CBU) ในลำดับต่อไป โดยโรงงานแห่งนี้จะเป็นโรงงานที่มีเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยมากที่สุด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค ที่ช่วยลดเวลาในกระบวนการผลิตทุกขั้นตอน ตั้งแต่กระบวนการเชื่อมตัวถัง การพ่นสี ไปจนถึงการประกอบรถยนต์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด และมีระบบการใช้น้ำหมุนเวียน เพื่อลดการใช้น้ำในทุกขั้นตอนการผลิต”
       
โรงงานผลิตรถยนต์ฮอนด้าแห่งใหม่ ในจังหวัดปราจีนบุรีนี้ มีการดำเนินงานทุกขั้นตอนที่สอดคล้องกับการประกาศวิสัยทัศน์ปี 2020 ของบริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด (ประเทศญี่ปุ่น) เมื่อปี 2010 ในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าด้วยความรวดเร็ว ในราคาที่ย่อมเยา และมี CO2 ต่ำ เราจึงได้มุ่งมั่นวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ที่มีคุณภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการค้นหาแนวทางใหม่ๆ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เสมอมา เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยของฮอนด้าในการสร้างสรรค์ “ผลิตภัณฑ์ที่มอบความสุขในการเดินทางให้กับผู้คน” (The Joy and Freedom of Mobility) เพื่อ “การใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในสังคมอันยั่งยืน” (A Sustainable Society where People Can Enjoy Life) ตอกย้ำถึงพันธสัญญาด้านสิ่งแวดล้อมของฮอนด้า “Blue Skies for Our Children” หรือ “ท้องฟ้าที่สดใสเพื่ออนาคตของคนรุ่นต่อไป” 
       
โดยในช่วงแรกจะเริ่มเดินสายการผลิตชิ้นส่วนขึ้นรูปพลาสติก (Polymer Injection หรือ PO) ก่อน ซึ่งสายการผลิตนี้จะเริ่มผลิตชิ้นส่วนแผงคอนโซลด้านหน้าของรถยนต์สองรุ่น ได้แก่ ฮอนด้า ซิตี้ และฮอนด้า แจ๊ซ เพื่อส่งไปประกอบเป็นรถยนต์สำเร็จรูป ณ โรงงานผลิตรถยนต์ฮอนด้า สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยในอนาคตเรายังเตรียมผลิตชิ้นส่วนขึ้นรูปพลาสติกสำหรับเป็นชิ้นส่วนในการประกอบ หรือ CKD เพื่อส่งออกไปยังโรงงานฮอนด้าต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนีย ทั้งนี้ สายการผลิตชิ้นส่วนขึ้นรูปพลาสติก ณ โรงงานแห่งนี้มีกำลังการผลิตมากกว่า 360,000 ชิ้นต่อปี
 
 
แรงงานพม่าฮือประท้วงโรงงานไก่เนื้อโคราช
 
(9 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมาร์ หรือพม่า พนักงานบริษัท แหลมทองโพลทริ จำกัด โรงงานแปรรูปเนื้อไก่ เลขที่ 1/10 หมู่ 8 ถ.มิตรภาพ กม.ที่ 223 ต.สูงเนิน อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา กว่า 300 คน ได้รวมตัวกันชุมนุมประท้วงและยื่นข้อเรียกร้องต่อทางบริษัทฯ เป็นวันที่ 2 หลังจากได้ชุมนุมครั้งแรกเมื่อวานนี้ (8 ต.ค.) ที่บริเวณสนามกีฬาข้างบ้านพักของพนักงาน ภายในโรงงาน 
 
โดยเมื่อเวลา 09.30 น. กลุ่มพนักงานชาวพม่าได้ทยอยเดินทางมาร่วมชุมนุมบริเวณสนามกีฬาข้างบ้านพักของพนักงาน และกลุ่มมวลชนได้นั่งรอการเจรจากับทางบริษัท และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ทั้งแรงงาน, จัดหางาน, สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานและประกันสังคม
       
กระทั่งเวลา 11.30 น. ตัวแทนผู้ชุมนุม ผู้บริหารบริษัท และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้ตั้งโต๊ะเจรจาบริเวณพื้นที่ชุมนุมเพื่อเจรจาตามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมซึ่งได้ยื่นข้อเรียกร้องเพิ่มเป็น 9 ข้อ จาก เดิมที่เมื่อวานนี้ (8 ต.ค.) มี 6 ข้อเรียกร้อง เพื่อให้แก้ปัญหาดังนี้ 
 
1. ให้ดำเนินการทำบัตรประกันสังคมให้พนักงานบางส่วนที่ไม่ได้รับสิทธิในการประกันสังคม ทั้งที่มีการหักเงินค่าประกันสังคมทุกเดือน 2. เวลาโรงงานหยุดงาน ซึ่งไม่เกี่ยวกับพนักงาน ให้โรงงานจ่ายเงินให้แก่คนงานด้วย 3. ยกเลิกการห้ามแรงงานทาแป้งทานาคาในขณะเข้าทำงาน 4. ระเบียบข้อบังคับของโรงงาน กรณีที่มีการตรวจพบว่าพนักงานดื่มสุราหรือของมึนเมาอย่างอื่น หรือมีความผิดเล็กๆ น้อยๆ อย่าหักค่าแรงหรือค่าล่วงเวลา ขอให้มีการแจ้งเตือนด้วยเอกสารก่อนทุกครั้ง 
 
5. ข้อกำหนดเวลาการเข้าห้องสุขา ในช่วงเวลาทำงาน/1 กะ/8 ชั่วโมง ซึ่งกำหนดไว้ให้เข้าได้ 4 ครั้งๆ ละไม่เกิน10 นาทีนั้น ขอให้ผ่อนปรนหรือยืดหยุ่น หากพนักงานรายใดใช้เวลาดังกล่าวเกินเพียงเล็กน้อย ขออย่าได้มีการดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น 6. พนักงานที่หนังสือเดินทางกำลังหมดอายุ ขอให้ทางบริษัทฯ เร่งประสานต่ออายุให้โดยเร็ว ส่วนกรณีหมดอายุ ขอให้บริษัทช่วยหาแนวทางแก้ไขให้ด้วย อย่างเร่งรีบให้ออกจากงานโดยทันที 
 
7. เวลาพนักงานไปโรงพยาบาล ให้มีล่ามไปด้วย 8. พนักงานที่ทำข้อตกลงจ้าง (MOU) กับบริษัทเรียบร้อยแล้ว ให้หาที่พักให้พนักงานด้วย 9. ต้องการพบและให้ผู้บริหารระดับสูงมาร่วมเจรจาเท่านั้น
       
โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาหาข้อยุติร่วมกันตามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมดังกล่าว ท่ามกลางดูแลความสงบเรียบร้อยของกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายปกครอง
       
ล่าสุดเวลาประมาณ 17.10 น การเจรจาได้ข้อยุติพร้อมทำบันทึกข้อตกลงร่วมกัน โดยมีสาระสำคัญระบุว่า นายวิสิทธิ์ ตระการกีรติ รองผู้จัดการฝ่ายบุคคล ตัวแทน บริษัทแหลมทองฯ นายจ้าง กับ ผู้แทนลูกจ้างต่างด้าวจำนวน 15 คน ร่วมกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ ได้ร่วมเจรจาประนีประนอมเพื่อหาข้อยุติ โดยทั้ง 2 ฝ่ายตกลงกันได้ ดังนี้
       
1.กรณีเอกสารหนังสือเดินทางบริษัทฯ สามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จ และส่งมอบให้ลูกจ้างจำนวน 430 คนได้ทันที
       
2.กรณีเงินสมทบกองทุนประกันสังคม บริษัทจะดำเนินการส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องให้กับสำนักงานประกันจังหวัดเพื่อขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง สำหรับลูกจ้างรายใดที่ถูกหักเงินและนำส่งเงินสมทบไปแล้วแต่ไม่สามารถขึ้นทะเบียนได้ บริษัทฯ จะดำเนินการยื่นขอคืนเงินให้กับลูกจ้าง
       
3.กรณีค่าใช้จ่ายในการทำวีซ่าจำนวน 1,200 บาท ที่ลูกจ้างจ่ายไปแล้วนั้น เกิดปัญหาการทุจริต ทำให้ลูกจ้างไม่ได้รับสิทธิที่ถูกต้อง บริษัทฯ ได้ดำเนินการรับมอบอำนาจจากลูกจ้างฟ้องร้องดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิด ขณะอยู่ในชั้นพนักงานอัยการ ส่วนค่าใช้จ่ายที่ลูกจ้างต้องจ่ายอีกจำนวน 1,200 บาทนั้น ผู้แทนนายจ้างรับว่าจะนำเสนอผู้บริหารเพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือโดยจะแจ้งผลให้ทรายขายในวันนี้
       
4.กรณีการเลิกจ้างลูกจ้างจำนวน 11 คน บริษัทฯ รับว่าจะรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานทั้งหมด โดยเปลี่ยนแปลงแผนกหรือหน้าที่ในการทำงาน
       
5.กรณีล่ามสำหรับพาลูกจ้างไปพบแพทย์ บริษัทฯ ได้จัดให้มีล่ามจำนวน 2 คน ลูกจ้างสามารถขอใช้บริการได้ตลอดเวลา
       
6.กรณีสภาพการจ้างอื่นๆ บริษัทฯ จะปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
       
7.สำหรับการหยุดงานชุมนุมประท้วงของลูกจ้างในครั้งนี้ บริษัทฯ ไม่ถือเป็นความผิดและจะไม่ดำเนินการฟ้องร้องทั้งทางแพ่งและอาญาแก่ลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง
       
8.ลูกจ้างที่ร่วมชุมนุมประท้วงกลับเข้าทำงานได้ตามปกติ
       
9.สำหรับข้อเรียกร้องอื่นๆ ของกลุ่มพนักงานชาวพม่า ลูกจ้างทั้งหมดไม่ติดใจในข้อเรียกร้องดังกล่าวอีกต่อไป
       
และ 10. ค่าใช้จ่ายในการทำวีซ่า ตามขอ 3 บริษัทให้การช่วยเหลือลูกจ้างรายละ 500 บาท ลูกจ้างตกลงรับความช่วยเหนือของนายจ้าง
       
คู่กรณีทั้ง 2 ฝ่ายได้ฟังข้อความข้างต้นรับว่าถูกต้องเป็นความจริงทุกประกร จึงขอลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน จากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมสลายตัวในเวลาต่อมา 
 
 
สปส.ชงแนวทางเยียวยาผู้เสียหายจากบริการทางการแพทย์ในระบบประกันสังคม ใช้รูปแบบของสธ.เป็นต้นแบบ
 
เมื่อวันที่ 11 ต.ค.พ.ต.ต.หญิงรมยงสุรกิจบรรหาร รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม(สปส.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าเมื่อเร็วๆนี้คณะกรรมการแพทย์ของสปส.ได้เห็นชอบแนวทางเยียวยาผู้ประกันตนที่ได้รับความเสียหายจากบริการทางการแพทย์ในระบบประกันสังคม ซึ่งจะนำรูปแบบตามมาตรา41พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ.2545และอัตราการชดเชยเยียวยาความเสียหายของกระทรวงสาธารณสุขมาใช้อ้างอิงในการจัดทำร่างประกาศการเยียวยาและอัตราการจ่ายค่าชดเชยแก่ผู้ประกันตน โดยการชดเชยเยียวยาผู้ประกันตนที่ได้รับความเสียหายจากบริการทางการแพทย์ในระบบประกันสังคม เป็นเรื่องที่กำหนดไว้ในพ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2558 ทั้งนี้จะเสนอเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการประกันสังคม(บอร์ดสปส.) ในวันที่13 ต.ค.นี้ ถ้าบอร์ดสปส.เห็นชอบ จะเร่งจัดทำร่างประกาศและเสนอบอร์ดแพทย์ของสปส.เพื่อออกประกาศคณะกรรมการการแพทย์ต่อไป โดยคาดว่าจะออกประกาศได้ภายในวันที่20 ต.ค.นี้
 
รองเลขาธิการสปส.กล่าวอีกว่า แนวทางการเยียวยาผู้ประกันตนนั้นเบื้องต้นได้วางกรอบไว้จะมีการกระจายอำนาจการวินิจฉัย โดยแต่งตั้งคณะอนุกรรมการประกันสังคมจังหวัดซึ่งอาจจะมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานคณะกรรมการฯ และมีคณะอนุกรรมการส่วนกลางขึ้นมาพิจารณากรณีร้องเรียนและขอรับการเยียวยา  แต่หากผู้ประกันตนไม่เห็นด้วยกับผลการพิจารณา ก็สามารถยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ของสปส.ได้ทั้งนี้เมื่อดำเนินการเยียวยาผู้ประกันตน โดยหลังจากทำไปได้ 1 ปี จะรวบรวมข้อมูลกรณีร้องเรียนและขอรับการเยียวยาเพื่อนำมาปรับปรุงระบบบริการทางการแพทย์ให้ดีขึ้น
 
 
เอกชนยังจ่าย "โบนัส" แต่เพิ่มกำลังซื้อปลายปีไม่มากนัก
 
สุธิดา กาญจนกันติกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย มองว่า การจ่ายโบนัสปลายปีนี้องค์กรส่วนใหญ่น่าจะยังจ่ายปกติ สำหรับโบนัสแบบคงที่ ส่วนองค์กรที่จ่ายโบนัสแบบผันแปรก็ต้องขึ้นอยู่กับผลประกอบการบริษัทและประสิทธิภาพของพนักงาน ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ค้าปลีก บริษัทรถยนต์ ไอที
 
กลุ่มที่มีแนวโน้มจ่ายโบนัสสูงกว่าปกติเป็นกลุ่มธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ (จิวเวลรี่) เนื่องจากตลาดต่างประเทศยังมีกำลังซื้อสูง ธุรกิจกลุ่มนี้ขยายโรงงานและกำลังการผลิตสูง ส่วนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมรวมถึงองค์กรขนาดใหญ่บางแห่ง ที่ได้รับผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจมีแนวโน้มไม่มีโบนัสคงที่ แต่จะทดแทนด้วยเงินเดือนหรือสวัสดิการบางอย่าง อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการไม่จ่ายโบนัสในองค์กรขนาดใหญ่ ทำยากเนื่องจากมีข้อตกลงกับสหภาพแรงงาน
 
ด้านทิศทางการปรับขึ้นเงินเดือนปี 2559 ส่วนใหญ่น่าจะใกล้เคียงปี 2558 คือ ปรับเฉลี่ย 3-12% แต่จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับผลประกอบการ นโยบายองค์กร รวมถึงปัจจัยแวดล้อม เช่น อัตราขึ้นเงินเดือนเฉลี่ยขององค์กรย้อนหลัง อัตราการขึ้นเงินเดือนของแต่ละประเภทธุรกิจ และแม้เศรษฐกิจโดยรวมชะลอตัว แต่บางธุรกิจมีแนวโน้มดีสวนกระแสก็อาจขึ้นเงินเดือนสูงกว่าค่าเฉลี่ย
 
ธุรกิจที่มีแนวโน้มขึ้นเงินเดือนดีตามธุรกิจที่มีทิศทางดี ได้แก่ 1.กลุ่มโลจิสติกส์และคลังสินค้า เพราะแนวโน้มการแข่งขันสูง ธุรกิจเติบโตรวดเร็วจากการผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ และแรงงานในธุรกิจนี้ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการ 2.กลุ่มธุรกิจการแพทย์และสุขภาพ ที่โตสอดคล้องกับกระแสการดูแลตนเอง ใส่ใจสุขภาพ ทำให้สินค้าสุขภาพโตรวดเร็ว
 
3.กลุ่มเทรดดิ้งสินค้าเชิงนวัตกรรมที่เติบโตเพราะธุรกิจต่างๆ ต้องการลดค่าใช้จ่ายด้านการผลิตและการดำเนินงาน ทำให้สินค้า เครื่องจักร เทคโนโลยี มีบทบาทเชิงรุกในตลาด 4.กลุ่มธุรกิจไอทีและอี-คอมเมิร์ซ กลุ่มนี้เป็นตลาดแรงงานเฉพาะมีความต้องการสูง โดยเฉพาะระดับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะกระแสการลงทุนในอี-คอมเมิร์ซโตมาก ทำให้การปรับเงินเดือนกลุ่มนี้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
 
ขณะที่กลุ่มธุรกิจที่แนวโน้มการขึ้นเงินเดือนชะลอตัว ได้แก่ กลุ่มยานยนต์ กลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จากภาวะกำลังซื้อชะลอตัวในประเทศ รวมทั้งผลกระทบการส่งออกหดตัว แม้การปรับเงินเดือนอาจไม่สูง แต่แนวโน้มการตอบแทนและดูแลพนักงานรูปแบบอื่น เช่น สวัสดิการด้านประกันชีวิต ค่ารักษาพยาบาล มีแนวโน้มดีขึ้น อาจขยายไปยังครอบครัว หรือมีค่าทักษะประสบการณ์ตามอายุงาน เป็นต้น
 
สุธิดา กล่าวว่า แมนพาวเวอร์ฯ คาดว่า ในปี 2559 การจ้างงานจะมีทิศทางบวก โดยเฉพาะแรงงานในรูปแบบสัญญาจ้าง (คอนแท็กต์) หรือตามโครงการดำเนินงานระยะสั้น (โปรเจกต์ เบส) ที่กำลังเป็นที่นิยมและได้รับการยอมรับกว้างขวางทั้งจากลูกค้าและผู้สมัครงานหลายสาขาอาชีพ เช่น ด้านไอที เอกสาร บัญชี และงานฝ่ายผลิต
 
อัตราการเติบโตของแรงงานกลุ่มนี้สูงขึ้นกว่า 2 เท่า เทียบ 2 ปีที่ผ่านมา สอดคล้องภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว องค์กรต่างๆ ลดค่าใช้จ่ายพนักงานประจำ จ้างแรงงานตามฤดูกาลกระตุ้นยอดขาย จ้างงานในโครงการต่างๆ ซึ่งมีเวลา 3-6 เดือน ส่วนพนักงานประจำเพื่อทดแทนและขยายงานน่าจะเกิดการจ้างงานไตรมาส 1-2 ปี 2559
 
สำหรับปัจจัยต้องจับตาปีหน้าคือ เสถียรภาพการเมือง เศรษฐกิจไทยและของโลก การเปิดเออีซี หากองค์กรรับมือได้ดีด้านบริหารรายได้ การบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์ รวมถึงการปรับตัวท่ามกลางเศรษฐกิจขาลงและทำทันเวลา ย่อมส่งผลดีระยะยาวต่อองค์กรและพนักงาน
 
ขณะเดียวกัน อยากให้มองว่าเงินเดือนและโบนัสไม่ใช่แรงจูงใจการทำงานอย่างเดียว ยังมีสวัสดิการและการดูแลพนักงานแบบอื่นที่ทำให้พนักงานมีความสุขและผูกพันกับองค์กร หากทำได้ทั้งองค์กรและพนักงานจะมีความผูกพันและความจงรักภักดี ลดอัตราการหมุนเวียนของพนักงานช่วยกันทำงานให้ประสบผลสำเร็จในที่สุด
 
ด้านธุรกิจความงาม บริษัท บิวตี้คอมมูนิตี้ สุวิน ไกรภูเบศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวว่า ปีนี้บริษัทยังคงจ่ายโบนัสให้กับพนักงานเหมือนเดิม แต่อาจจะเปลี่ยนการพิจารณาเป็นจ่ายตามผลงานของพนักงานแทนต่างจากปีก่อนหน้าที่จะจ่ายในอัตรา 3.5 เดือน
 
“เงินโบนัสเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นการใช้จ่ายและกำลังซื้อในช่วงปลายปี ซึ่งบริษัทยังคาดหวังว่ากำลังซื้อจะเพิ่มมากขึ้นเพราะเป็นช่วงไฮซีซั่น และสินค้าของบริษัทก็สามารถนำไปเป็นของขวัญได้ ช่วยสนับสนุนให้ผลดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลังจะยังคงเติบโตได้สวนทางเศรษฐกิจ”
 
ภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น กล่าวว่า บริษัทยังคงมีการจ่ายเงินโบนัสให้กับพนักงานในปีนี้ แต่จะจ่ายในอัตรากี่เดือนนั้นจะต้องรอดูสถานการณ์ โดยรวมทั้งเศรษฐกิจและผลดำเนินงานของบริษัทในงวดไตรมาส 4 ก่อน ทั้งนี้ ยอมรับว่าในปีนี้คงจ่ายได้ไม่เท่ากับปีที่ผ่านมาหรือในปีก่อนหน้า ที่ให้กับพนักงานในอัตรา 8 เดือนติดต่อกันมา 3 ปีแล้ว เพราะเงินโบนัสถือเป็นขวัญกำลังใจอย่างหนึ่งในการร่วมกันทำงานของพนักงาน และเพื่อให้บริษัทสามารถบรรลุเป้าหมายได้ตามที่คาดหวังไว้
 
วรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า แนวโน้มกำลังซื้อกำลังซื้อในช่วงไตรมาส 4 จะเริ่มเห็นการฟื้นตัวขึ้นบ้าง แต่คงยังไม่กลับไปสู่ภาวะปกติแม้จะเป็นช่วงที่เริ่มจ่ายเงินโบนัสของพนักงานเงินเดือนและเป็นช่วงฤดูกาลจับจ่าย เนื่องจากภาพรวมกลุ่มพนักงานเงินเดือนยังมีภาระหนี้จากการผ่อนชำระที่อยู่อาศัยและรถยนต์ ส่วนกลุ่มผู้ที่มีรายได้สูงก็เป็นกลุ่มคนที่มีสัดส่วนน้อยมาก จึงไม่สามารถกระตุ้นภาพรวมของกำลังซื้อได้
 
“ประเด็นหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงจะเป็นปัจจัยตัดกำลังซื้อไปอีกระยะหนึ่งคิดว่าปี 2559 ทั้งปีกำลังซื้อก็จะยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ เศรษฐกิจจะขยายตัวเพียง 2.4-2.5%” วรวรรณ กล่าว
 
 
ยื่นศาลปกครอง ฟ้องมธ. ปมไม่รับบรรจุเป็นอาจารย์ ป้องสิทธิทางเพศ
 
วันที่ 12 ตุลาคม เคท ครั้งพิบูลย์ เดินทางมายังศาลปกครอง เพื่อยื่นฟ้อง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ถูกฟ้องที่1 และคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย (ก.บ.ม.) เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 2 หลังตนผ่านการคัดเลือกเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ตำแหน่งอาจารย์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ซึ่งหลังจากที่ยื่นคำร้องอุทธรณ์ต่อมติของคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย(ก.บ.ม.) และมีมติ ไม่เห็นชอบจ้าง ตนเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย โดยแจ้งเหตุผลว่า “มีพฤติกรรมการแสดงออกด้วยการใช้ถ้อยคำผ่านสื่อสาธารณะในลักษณะที่ไม่เหมาะสม และส่งผลต่อภาพลักษณ์ของการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย" และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ยืนยันตามมติเดิมว่า ไม่จ้างตนเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย
 
ทั้งนี้  เคท กล่าวว่า ตนมองถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนในการรับเข้ามาเป็นอาจารย์ ต้องมีความเป็นธรรมในการรับสมัครเข้ามาตามเกณฑ์และมีระยะเวลาที่เหมาะสมในการรับเข้ามาเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยอีกทั้งตนคาดหวังว่าต่อสังคมให้เป็นบรรทัดฐานต่อไปให้เข้าใจสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศอีกทั้งในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังร่างอยู่นั้นตนต้องการให้ระบุถึงสิทธิทางเพศเพราะเป็นสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องใส่ลงข้อกฎหมายที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ สำหรับหลักฐานในการพิจารณาที่มายื่นในวันนี้ ตนมองว่าเป็นประโยชน์ในการยื่นฟ้อง
 
นอกจากนี้ นายนคร ชมพูชาติ ทนายความ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญต้องสอดคล้องกฎหมาย(พ.ร.บ.ความเท่าเทียมทางเพศ ) ออกมาแล้ว โดยกฎหมายใหญ่จะต้องเป็นภาพกว้างขึ้น แต่ในคดีนี้เรื่องการตรวจสอบแนวคิดการวินิจฉัยการใช้ดุลยพินิจรับคนเข้าทำงาน โดยการตรวจสอบครั้งนี้เพื่อให้เห็นเหตุผลชัดเจนขึ้น แม้มหาวิทยาลัยจะมีการอ้างหลักพิจารณาต่างๆ ซึ่งต้องมองเรื่องทางเพศวิถีด้วยในการประกอบการพิจารณาด้วย ตนหวังให้ศาลปกครองช่วยทำให้สังคมเห็นถึงความซับซ้อนต่างๆ
 
อย่างไรก็ตามตนมั่นใจในการใช้ดุลพินิจและการตรวจสอบของศาลปกครองที่จะสามารถดูรายละเอียดหลักเกณฑ์ที่ถูกต้องและหวังว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะให้ข้อมูลแก่ศาลด้วย ส่วนการบังคับใช้พ.ร.บ.ความเท่าเทียมทางเพศ นั้น นายนคร ระบุ ต้องดูรายละเอียดว่าใครรับผิดชอบกฎหมายนี้และจะมีขั้นตอนการปฏิบัติ มีกรอบการดำเนินการอย่างไร เพราะกฎหมายเป็นเพียงฐาน แต่ก็อยู่ที่การนำไปใช้ด้วย
 
 
นักเตะ ทีโอที เอสซี ได้รวมตัวไปพูดคุยกับบอร์ดบริหารชุดใหม่ของทีม เพื่อทวงเงินที่ยังค้างจ่ายกว่า 3 เดือน
 
ความเคลื่อนไหวของทีม "ฮัลโหล" ทีโอที เอสซี ล่าสุดเมื่อช่วงบ่ายวันนี้(12 ต.ค.) นักเตะทีม ทีโอที เอสซี ได้รวมตัวกันไปพูดคุยกับบอร์ดบริหารชุดใหม่ของทีม และ เทเวศน์ กมลศิลป์ กุนซือคนใหม่ เพื่อเจรจาเรื่องเงินเดือนที่ยังค้างจ่ายกว่า 3 เดือน ที่บมจ.ทีโอที แจ้งวัฒนะ
 
ทั้งนี้ บอร์ดบริหารชุดเก่า รวมไปถึงสตาฟฟ์โค้ชชุดเก่าอย่าง รอยเตอร์ โมไรร่า และ อภิสิทธิ์ ไข่แก้ว ได้ออกจากทีมไปเรียบร้อยแล้ว โดย ทีโอที ได้สปอนเซอร์รายใหม่เข้ามาสนับสนุนแล้ว นั่นคือ บริษัท ที เอ็ม บี โฮลดิ้ง จำกัด โดยมีรายงานว่า ผู้สนับสนุนรายนี้พร้อมจะทำทีมในระยะยาว และได้เตรียมแผนที่จะพาทีมสู้ศึกดิวิชั่น 1 หากฤดูกาลนี้ต้องตกชั้น
 
นอกจากนั้นยังแต่งตั้ง เทเวศน์ กมลศิลป์ ลูกหม้อเก่าของทีโอที อดีตโค้ช เกษตรศาสตร์ เอฟซี และ ขอนแก่น เอฟซี มาคุมทีมแทนในปัจจุบัน
 
โดยจากการสอบถามเบื้องต้น บอร์ดบริหารชุดใหม่ของทีโอทีฯ ได้มีการเรียกนักเตะเข้าไปคุยเป็นการส่วนตัวแบบรายคน เพื่อหาทางออกถึงเรื่องนี้ ซึ่งคาดว่าน่าจะแล้วเสร็จในช่วงเย็น 
 
 
"ดาว์พงษ์"สั่งภาคเอกชนทบทวนข้อมูลความต้องการแรงงาน 11 กลุ่มสาขาให้ชัดเจนเตรียมเดินสายหารือสภาหอการค้าฯ-สภาอุตฯ และกระทรวงที่เกี่ยวข้อง หวังผลิตอาชีวะป้อนตรงเป้าหมาย
 
(12 ต.ค.)ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีการประชุมคณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษากลุ่มอาชีพ (อ.กรอ.อศ.) 33 กลุ่มอาชีพ โดยมี พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เป้นประธาน ซึ่ง พล.อ.ดาว์พงษ์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้เสนอข้อมูลความต้องการกำลังคนใน11 กลุ่มสาขาที่เป็นความต้องการของตลาดแรงงาน แต่กลับพบว่าข้อมูลยังไม่มีความชัดเจน เพราะตนต้องการเห็นขีดความสามารถการผลิตคนในแต่ละสาขาของสถานศึกษาอาชีวศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน และความต้องการกำลังคนของภาคเอกชน ว่ามีจำนวนเท่าไหร่ โดยให้ได้ข้อมูลที่มีความชัดเจนมากกว่านี้ ดังนั้น จึงมอบให้ที่ประชุมกลับไปทบทวนข้อมูลให้ใกล้เคียงกับการวางแผนผลิตกำลังคนใหม่ ขณะเดียวกันระหว่างนี้ตนก็จะไปหารือกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงแรงงาน เพื่อต้องการทราบข้อมูลที่ชัดเจน และร่วมกันจัดทำแผนการผลิตและพัฒนากำลังคนให้สนองต่อความต้องการของตลาดแรงงานและวางแผนการจัดทำข้อมูลความต้องการกำลังคนด้านอาชีวศึกษา
 
“ ศธ.เป็นหน่วยงานผลิตคนป้อนสู่ตลาดแรงงาน ดังนั้น ภาคเอกชนก็ต้องเร่งจัดทำข้อมูลที่ชัดเจนมาเสนอให้ผมพิจารณาโดยเร็ว เพื่อจะผลิตคนได้ตรงตามความต้องการ ซึ่งเท่าที่พูดคุยกันในที่ประชุมส่วนใหญ่มีความเห็นว่า มีบางสาขาที่ตลาดแรงงานต้องการ แต่กลับไม่มีการเรียนการสอนเลย” รมว.ศึกษาธิการ กล่าวและว่า ทั้งนี้ ระหว่างรอการจัดทำข้อมูลใหม่สิ่งที่ตนมอบให้อาชีวศึกษาทำในขณะนี้ คือ การเดินหน้าระบบทวิภาคี การโอนภารกิจอาชีวศึกษาเอกชน มาอยู่กับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการแก้ไขกฎหมาย ส่วนการเพิ่มผู้เรียนสายอาชีวศึกษานั้น ตนกำลังดูข้อมูลย้อนหลัง 3 ปี ว่า ที่ผ่านมาเด็กอาชีวศึกษา กู้เงิน กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) มากน้อยแค่ไหน อย่างไร ประมาณเท่าไหร่ และมีส่วนที่ต้องการ แต่เข้าไม่ถึงทุนอีกจำนวนกี่คน โดยจะดูแนวทางให้เข้าถึงได้ และอาจจะไปหารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กอาชีวศึกษาได้มีสิทธิกู้ยืมเงินจากกองทุน กยศ. มากขึ้น โดยเฉพาะสาขาวิชาที่กำลังขาดแคลนบุคลากร.
 
 
ดาน่า สไปเซอร์ ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เปิดโรงงานแห่งที่ ที่นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด ระยอง
 
บริษัท ดาน่า สไปเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทในเครือ บริษัท ดาน่า โฮลดิ้ง คอร์ปอเรชั่น จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้นำการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ จัดพิธีเปิดโรงงานแห่งที่ 3 ของบริษัท ดาน่า สไปเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง) พัฒนาโดยบริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) โดยโรงงานแห่งดังกล่าวตั้งอยู่บนพื้นที่ 6,450 ตร.ม. จะช่วยผลิตเกียร์สำหรับรถยนต์ขนาดกลาง เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
 
 
ประกันสังคมคาด ต้องใช้งบถึง 4.5 พันล้านบาท ถึงรองรับสิทธิประโยชน์ตาม กม.ใหม่ได้
 
(12 ต.ค.58) ที่กระทรวงแรงงาน นายสุรเดช วลีอิทธิกุล รักษาการรองปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยนายโกวิท สัจจเศษ รักษาการผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงานและรักษาการเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม(สปส.) ร่วมกันแถลงข่าวถึงสิทธิประโยชน์ของพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ ในวันที่ 20 ตุลาคม 2558 นั้น โดยนายสุรเดชกล่าวว่า สิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นตามกฎหมายฉบับใหม่นี้ สปส.คาดการณ์ว่า จะต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นอีกประมาณปีละ 4,500 ล้านบาท ซึ่งโดยเฉลี่ย สปส.ใช้งบประมาณในกรณีเจ็บป่วยปีละประมาณ 30,000 ล้านบาท ซึ่งในพ.ร.บ.ใหม่ ได้กำหนดให้สปส.สามารถลงทุนในช่องทางที่เพิ่มขึ้น โดยสปส.สามารถลงทุนอสังหาริมทรัพย์และในต่างประเทศได้ แต่ต้องแก้ระเบียบการลงทุนอีกครั้ง
 
นายสุรเดช กล่าวว่า พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับใหม่ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตนในหลายกรณี โดยเฉพาะในเรื่องการขยายความคุ้มครอง ที่ขยายไปถึงลูกจ้างชั่วคราวทุกประเภทของส่วนราชการซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 300,000 คน ให้สามารถเข้าสู่ระบบประกันสังคมมาตรา 33 ได้ ตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคมเป็นต้นไป ซึ่งกรณีที่ลูกจ้างชั่วคราวเป็นสมาชิกมาตรา 40 ก็ให้ถือว่าขาดไป อีกทั้งยังคุ้มครองลูกจ้างของนายจ้างที่มีสำนักงานในประเทศและไปทำงานต่างประเทศ ก็ให้สามารถส่งเงินสมทบได้อย่างต่อเนื่อง จากเดิมจะต้องยุติและกลับมาส่งใหม่เมื่อกลับมาทำงานในประเทศไทย
 
   “กรณีเจ็บป่วยนั้น ผู้ที่เจ็บป่วยเรื้อรังจะได้รับสิทธิประโยชน์ แม้ส่งเงินสมทบไม่ครบตามสิทธิก็จะได้รับเงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต ครอบคลุมไปถึงการเจ็บป่วย ทุพพลภาพและเสียชีวิต หรือสูญเสียสมรรถภาพทางร่างกาย โดยไม่เกิดจากการทำงาน และครอบคลุมการทำร้ายตัวเอง ฆ่าตัวตาย เนื่องจากถือว่าเป็นโรคซึมเศร้าหรือมีภาวะเครียด โดยจะได้รับเงินทดแทนในอัตราไม่เกินร้อยละ 50 ของค่าจ้าง จากเดิมไม่ได้รับสิทธิและได้รับค่าทดแทนการขาดรายได้ไปตลอดชีวิต ซึ่งกฎหมายยังได้กำหนดให้ผู้ทุพพลภาพก่อนวันที่ 31 มีนาคม 2558 ที่กำหนดให้ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 15 ปี ได้รับค่าทดแทนการขาดรายได้ตลอดชีวิตด้วย”นายสุรเดช กล่าวและว่า อีกทั้ง ยังเพิ่มสิทธิกรณีผู้ประกันตนเสียชีวิต หากผู้ประกันตนส่งเงินสมทบ 36 เดือนขึ้นไปแต่ไม่ถึง 120 เดือน จะได้รับเงินสงเคราะห์ร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายเดือนคูณด้วย 4 เท่ากับค่าจ้างประมาณ 2 เดือน เดิมจ่ายแค่ 1.5 เดือน แต่ถ้าผู้ประกันตนส่งเงินสมทบตั้งแต่ 120 เดือนขึ้นไป จะจ่ายให้ร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายเดือนคูณด้วย 12 เท่ากับค่าจ้างประมาณ 6 เดือน จากเดิมจ่ายเพียง 5 เดือน
 
นายสุรเดช กล่าวอีกว่า ได้เพิ่มสิทธิในกรณีคลอดบุตร ผู้ประกันตนจะมีสิทธิได้รับค่าคลอดบุตรไม่จำกัดจำนวนครั้ง ๆ ละ 13,000 บาท ส่วนกรณีสงเคราะห์บุตร สำหรับบุตรอายุ 0 - 6 ปี มีสิทธิได้รับคราวละไม่เกิน 3 คน เหมาจ่ายรายเดือนๆ ละ 400 บาท ต่อคน จากเดิมที่กำหนดไว้ 2 คน ขณะที่กรณีว่างงาน เพิ่มความคุ้มครองกรณีนายจ้างหยุดกิจการชั่วคราว เนื่องจากเหตุสุดวิสัยที่นายจ้างไม่สามารถให้ลูกจ้างมาทำงานได้โดยยังไม่มีการเลิกจ้าง ซึ่งจะเป็นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ได้ และผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน เช่น น้ำท่วมบ้านทำให้ลูกจ้างไม่สามารถเดินทางมาทำงานได้แต่สถานประกอบการสามารถกั้นน้ำและทำงานตามปกติ หรือ กรณีโรงงานถูกน้ำท่วม จะได้รับเงินในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน จากเดิมที่ไม่ให้การคุ้มครอง
 
นอกจากนี้ นายสุรเดช ยังกล่าวว่า หากผู้ประกันตนเสียชีวิตก่อนได้รับสิทธิประโยชน์เงินชราภาพกำหนดจ่ายเงินให้ทายาทในสัดส่วนที่เท่ากัน คือ บุตร สามีภรรยา บิดามารดา และบุคคลที่ผู้ประกันตนได้ระบุไว้ แต่หากไม่มีทายาท ผู้ที่มีสิทธิจะเป็น พี่น้องร่วมสายเลือด ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา ส่วนผู้ประกันตนที่ไม่ใช่สัญชาติไทยหากทำงานครบสัญญาจ้างและเดินทางกลับประเทศให้มีสิทธิรับเงินชราภาพแม้จะส่งเงินสมทบไม่ถึง180เดือนก็ตาม นอกจากนี้ยังกำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายเงินสมทบภายในวันที่ 15 ของทุกเดือน หากเกินเพียงวันเดียวก็จะคิดค่าปรับร้อยละ 2 ต่อเดือน และกำหนดว่าหากนายจ้างแจ้งจำนวนเข้าออกของผู้ประกันตนไม่ตรงกับความจริง จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
ทั้งนี้ นายสุรเดชกล่าวว่า ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อกำกับดูแลความโปร่งใส กำหนดให้คณะกรรมการประกันสังคม(บอร์ดสปส.) จะต้องมีคุณสมบัติตามระเบียบที่กำหนดและต้องแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ด้วย
 
 
สกอ.เตรียมแผน 10 ปี ผลิตแพทย์เพิ่ม
 
รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม รองเลขาธิการคณะกรรมการ การอุดมศึกษา (กกอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมโครงการผลิตแพทย์เพิ่มตามนโยบายรัฐบาล ปีงบประมาณ 2561-2570 ว่า ที่ประชุมได้มีการจัดเตรียมแผนงานการดำเนินโครงการดังกล่าว โดยเป็นแผนระยะ 10 ปี ซึ่งคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัย 21 แห่ง จะร่วมกันผลิตแพทย์เพิ่ม จากเดิมผลิตรวมปีละประมาณ 3,000 คน เป็นปีละ 3,452 คน เพราะขณะนี้ประเทศไทยยังขาดแคลนแพทย์อยู่เป็นจำนวนมาก โดยตั้งเป้าว่าภายในปี 2570 ประเทศไทยต้องมีอัตราส่วนแพทย์ต่อประชากรอยู่ที่ 1 : 1,200 คน จากปัจจุบันอยู่ที่ 1 : 2,000 คน ซึ่งจะใช้งบประมาณในการผลิตทั้งหมดประมาณ 9,400 ล้านบาทต่อปี หากสำนักงบฯ จัดสรรให้ตามนี้ ก็จะทำให้กำลังการผลิต ทั้งทาง
 
ด้านอาจารย์ผู้สอน การฝึกนักศึกษาแพทย์ทั้งระดับพรีคลินิก และระดับคลินิก เพียงพอต่อการผลิตแพทย์เพิ่มอย่างมีคุณภาพ อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการประชุมพิจารณาแผนดังกล่าวอีกสักระยะ ก่อนที่จะสรุปสุดท้ายเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาต่อไป
 
รองเลขาธิการ กกอ.กล่าวต่อว่า ส่วนการ เคลื่อนย้ายแรงงานเสรีของสาขาวิชาชีพแพทย์หลังจากเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตแพทย์ เพราะโครงการนี้เป็นการผลิตแพทย์ในประเทศ แต่เราก็คำนึงถึงความเปลี่ยนแปลงเมื่อเข้าสู่อาเซียน ซึ่งก็อาจจะมีการปรับปรุงโครงการได้ตลอดเวลา.
 
 
มจษ.ช่วยนศ.ไร้เงินกู้ วางแนวทางดูแลเร่งด่วน
 
มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม (มจษ.) ออกแนวทางช่วยเหลือนักศึกษาที่ไม่ผ่านกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ประเภทผู้กู้รายใหม่ วาง 4 แนวทาง หวังเป็นอีกหนึ่งช่องทางลดภาระค่าใช้จ่าย ช่วยนักศึกษาให้สามารถศึกษาต่อได้ 
 
นายบุญเกียรติ ชีระภากร ผู้อำนวยการกองพัฒนานักศึกษา มจษ. กล่าวว่า หลังจากมหาวิทยาลัยได้มีการประกาศรายชื่อผู้ผ่านการอนุมัติให้กู้ยืมกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาไปนั้น มีนักศึกษาจำนวน 216 คน ที่ไม่ได้รับการอนุมัติให้กู้ยืม เนื่องจากงบประมาณที่รัฐบาลให้มานั้นไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ยื่นกู้ที่มีจำนวน 533 คน ซึ่งปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นกับทุกสถาบัน เนื่องจากผู้กู้ยืมที่ผ่านมาไม่ส่งเงินคืนเป็นจำนวนมาก จึงส่งผลกระทบต่อนักศึกษาในปัจจุบัน
 
“มหาวิทยาลัยเล็งเห็นถึงความสำคัญทางการศึกษาของเยาวชน และต้องการช่วยเหลือนักศึกษาที่ไม่ได้รับการอนุมัติให้กู้ยืมกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาประเภทผู้กู้รายใหม่ ให้มีสถานะทางการศึกษาต่อไป ซึ่งหลายคนอาจจะไม่ได้ศึกษาต่อหรืออาจได้รับความเดือดร้อนในเรื่องค่าใช้จ่าย จึงกำหนดแนวทางช่วยเหลือนักศึกษาที่ไม่ได้รับการอนุมัติให้กู้ยืมกองทุนดังกล่าว ด้วยกัน 4 แนวทาง” นายบุญเกียรติ กล่าว
 
นายบุญเกียรติ กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางแรกให้นักศึกษาที่เรียนในสาขาวิชาที่ขาดแคลน ตามประกาศของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาและเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ยื่นเรื่องขอกู้กับกองทุนให้กู้ยืมที่ผูกกับรายได้ในอนาคต หรือ กรอ. แทน อาทิ สาขาวิชา การศึกษาปฐมวัย ภาษาอังกฤษ คอมพิวเตอร์ธุรกิจ อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ การแพทย์แผนจีน เป็นต้น
 
แนวทางที่สองคือการจัดสรรทุนการศึกษาให้เปล่า โดยมหาวิทยาลัยจะพิจารณาตามคุณสมบัติที่ทุนการศึกษาแต่ละทุนกำหนด แนวทางที่สาม จ้างนักศึกษาช่วยงานตามหน่วยงานต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งขณะนี้ทางกองพัฒนานักศึกษาได้ประสานไปยังกองบริหารงานบุคคลแล้ว ว่ามีหลายหน่วยงานใดที่ต้องการรับนักศึกษาช่วยงานบ้าง และแนวทางสุดท้าย ส่งเสริมให้นักศึกษาทำงาน Part Time โดยเจ้าหน้าที่ได้รวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานภายนอกที่เปิดรับสมัครพนักงาน Part Time เพื่อประชาสัมพันธ์ให้นักศึกษาทราบต่อไป โดยทั้ง 4 แนวทางนั้น จะเป็นอีกช่องทางที่ช่วยเหลือนักศึกษาได้ไม่มากก็น้อย หากนักศึกษามีปัญหาหรือต้องการปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องของทุนการศึกษาต่างๆ ก็สามารถมาปรึกษาเจ้าหน้าที่ได้เช่นกัน
 
 
ก.แรงงาน หารือ ILO ผุดโครงการช่วยเหลือแรงงานในอุตฯ ประมงและอาหารทะเล
 
หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า Mr.Maurizio Bussi รักษาการผู้อำนวยการการใหญ่ สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศประจำประเทศไทย กัมพูชา และลาว (ILO) ได้นำคณะหารือแนวทางการขยายความร่วมมือระหว่างกระทรวงแรงงานและองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ทั้งนี้ ILO ได้เสนอโครงการความช่วยเหลือทางวิชาการเพื่อต่อต้านรูปแบบการทำงานที่ไม่เป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเล โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการป้องกันและลดการใช้แรงงานบังคับ การใช้แรงงานเด็ก และรูปแบบการทำงานที่ไม่เป็นที่ยอมรับอื่นๆ รวมทั้งการขจัดการหาประโยชน์จากแรงงานโดยเฉพาะกลุ่มแรงงานต่างด้าวในภาคอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเล นับเป็นโครงการความร่วมมือร่วมกันที่จะช่วยในการขับเคลื่อนนโยบาย การวิเคราะห์เรื่องของกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ เพื่อที่จะนำเข้าไปสู่การรับอนุสัญญาเกี่ยวกับแรงงานบังคับและอนุสัญญาของ ILO ฉบับที่ 188
 
ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการฯ ดังกล่าวถือเป็นโครงการที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กระบวนการตรวจแรงงาน ในลักษณะของการบูรณาการไม่เฉพาะของกระทรวงแรงงานเพียงหน่วยงานเดียว แต่เป็นการบูรณาการกันระหว่างต่างกระทรวง อาทิ ทหารเรือ กรมเจ้าท่า กรมประมง  นอกจากนี้ ยังเป็นโครงการที่เน้นในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในรูปแบบของความสมัครใจในเรื่องของการทำแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (Good Labour Practice หรือ GLP) ซึ่งจะมีการส่งเสริมผู้ประกอบการให้มากขึ้น อีกทั้งเป็นการทำงานร่วมกับ NGO หรือสหภาพแรงงานต่างๆ โดยเน้นไปที่แรงงานประมงและแรงงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารทะเล สำหรับโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสหภาพยุโรป (EU) เพื่อช่วยประเทศไทยแก้ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องแรงงานที่เกี่ยวข้องกับประมง
 
"การทำงานร่วมกับสหภาพ และ NGO อยากให้มีการทำงานร่วมกันแบบไตรภาคีจริงๆ มีภาครัฐเข้าไปร่วมด้วย ไม่เช่นนั้นภาพที่ออกมาเหมือนภาครัฐไม่ได้ทำอะไรเลย ซึ่งในความเป็นจริง ๆ ประเทศไทยได้มีการดำเนินการในเรื่องของการดูแลแรงงานข้ามชาติดีมาก ทั้งในแง่ทางกฎหมาย เชิงการคุ้มครอง เรื่องของหลักประกันทางสังคม  จึงมีการพูดคุยกันว่าอยากให้ภาครัฐมีส่วนร่วมมากขึ้น ตั้งแต่กระบวนการวางแผน กระบวนการที่ทำงานร่วมกันตลอดระยะเวลาดำเนินงาน ซึ่งรักษาการผู้อำนวยการการใหญ่ ILO เห็นด้วยที่จะตั้งเป็นคณะกรรมการเป็นที่ปรึกษาเพื่อที่จะดูแลกำกับโครงการนี้ร่วมกัน" ปลัดกระทรวงแรงงานกล่าว
 
นอกจากนี้ ในรายละเอียดของโครงการกระทรวงแรงงานมีความยินดี แต่เนื่องจากว่าโครงการฯ มีรายละเอียดในหลายส่วนที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน และเพื่อให้การดำเนินโครงการสอดคล้องการทำงานของกระทรวงแรงงานและเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประเทศไทย จะมีการรายงานให้กับคณะกรรมการซึ่งกำกับดูแลหลายๆ กระทรวงในเรื่องของนโยบายด้านนี้ให้ได้รับทราบด้วย ทั้งนี้ อาจมีการปรับในรายละเอียดบางส่วน หรือปรับในแนวปฏิบัติเล็กน้อย ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในเร็วๆ นี้
 
ปลัดกระทรวงแรงงาน  กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ได้มีการหารือประเด็นการขยายโครงการว่าด้วยความร่วมมือแก้ไขปัญหาแรงงานอพยพและโยกย้ายถิ่นฐาน (Triangle Project) เฟส 2 เป็นโครงการในลักษณะของการดูแลแรงงานข้ามชาติ เน้นในเรื่องของการบริหารจัดการเกี่ยวกับเรื่องของแรงงานข้ามชาติ อาทิ การส่งเสริมให้มีกระบวนการที่ทำงานต่อเนื่อง แรงงานสามารถทำงานในทักษะที่ได้รับไปจากการมาทำงานในประเทศไทย เรื่องของการโอนเงินกลับบ้าน กระบวนการจัดการต่างๆ เพื่อทำให้เกิดระบบที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ที่ผ่านมาเฟสแรก เน้นการสร้างความเข้มแข็งในเรื่องของกระบวนการตรวจแรงงานของกระทรวงแรงงาน อาทิ การปรับแก้กฎหมาย การทำความเข้าใจระหว่างรัฐให้เป็นรูปแบบของไตรภาคี
 
"คาดว่าโครงการความช่วยเหลือทางวิชาการเพื่อต่อต้านรูปแบบการทำงานที่ไม่เป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเล จะสามารถดำเนินการในเดือนธันวาคม 2558 ส่วนโครงการ Triangle เฟส 2 คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการในเดือนพฤศจิกายน 2558" ปลัดกระทรวงแรงงานกล่าว
 
อย่างไรก็ตาม คาดว่าโครงการดังกล่าวจะทำให้ภาพการทำงานที่เกี่ยวข้องกับแรงงานประมงมีความชัดเจนมากขึ้นว่าประเทศไทยมีการดูแล จัดการเกี่ยวกับเรื่องของการบังคับใช้กฎหมาย การนำเข้าแรงงานที่ถูกต้อง การบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานประมง ระบบการจัดการว่าแรงงานประมงไม่ได้ถูกบังคับ เพราะโครงการ Triangle ที่ผ่านมามีการวิจัย ซึ่งผลออกมาว่า 60% ของแรงงานประมงยังพอใจที่จะทำงานในอาชีพประมงต่อ นั่นแสดงให้เห็นว่านายจ้างไม่ได้ไม่ดีไปทุกคน รวมทั้งเรื่องของการจ้างงานก็ไม่ได้ไม่ดีไปทุกราย ทั้งนี้ ในส่วนของภาครัฐที่สำคัญ คือ ต้องจัดระบบให้ดีในเรื่องของการดูแลคุ้มครอง ทั้งเรื่องของการดูแลการนำเข้า การตรวจแรงงานให้ได้รับสภาพการจ้างงานที่ดี เรื่องกระบวนการรับเรื่องราวร้องทุกข์ เป็นต้น
 
 
เตือนคนไทยทำงานในญี่ปุ่นแบบผิดกฎหมายอาจรับโทษจำคุก 3 ปี
 
มีคำเตือนจากสถานทูตไทยในกรุงโตเกียว เรื่องการลักลอบการเข้าทำงานในญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นนายจ้างหรือนายหน้าคนไทย ที่แนะนำนักศึกษา หรือแรงงานไทยเข้าไปทำงานอย่างผิดกฎหมาย เพราะอาจจะต้องรับโทษจำคุกถึง 3 ปี
 
นอกจากโทษจำคุกแล้ว อาจจะต้องเสียค่าปรับเป็นเงินถึง 3 ล้านเยน หรือประมาณ 9 แสนบาท โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ตำรวจญี่ปุ่นได้เข้าตรวจค้นสถานบันเทิง ซึ่งเป็นกิจการของคนไทย และพบว่า มีการนำเข้าแรงงานอย่างผิดกฎหมาย
 
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาตำรวจญี่ปุ่นได้เข้าตรวจค้นสถานบันเทิงยามราตรี 2 แห่ง มีชื่อว่า เบญจรงค์ และนิวเบญจรงค์ ย่านยูชิมะในกรุงโตเกียว โดยมีการจับกุมเจ้าของร้าน และนักเรียนสาวไทยที่ไปทำงานที่ร้านแห่งนี้ 1 คน เนื่องจากเดินทางเข้าประเทศด้วยวีซ่านักเรียน แต่กลับมาทำงานในสถานบันเทิงแห่งนี้ ส่วนเจ้าของร้านโดนข้อหาทำผิดกฎหมายคนเข้าเมือง
 
สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ได้ออกประกาศเตือนคนไทย ให้ระวังกับการเป็นนายจ้าง หรือเป็นผู้แนะนำให้แรงงานต่างชาติลักลอบเข้ามาทำงานโดยผิดกฎหมาย ซึ่งมีโทษจำคุกกว่า 3 ปี หรือปรับเป็นเงิน 3 ล้านเยน คิดเป็นเงินไทยกว่า 9 แสนบาท
 
สถานทูตอยู่ระหว่างการประสานงานกับตำรวจกรุงโตเกียว เพื่อขอยืนยันรายละเอียดเพื่อให้การช่วยเหลือ แต่ขอฝากเตือนคนไทยทุกคนว่า ต้องระวังกับการแนะนำ หรือถูกแนะนำให้เข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมาย เพราะจะถูกเนรเทศ และอาจถูกห้ามเข้าญี่ปุ่นในอนาคตด้วย
 
ทั้งนี้การลักลอบทำงานอย่างผิดกฎหมายในญี่ปุ่น แบ่งได้เป็น 3 กรณี คือ 1. การว่าจ้างคนต่างชาติเข้าทำงานแล้วอยู่เกินกว่าที่วีซ่ากำหนด 2. คือกรณีผู้ที่จะเข้าทำงานในญี่ปุ่น จำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากนายจ้าง และมีการลงวีซ่าอย่างถูกต้อง 3. ผู้ถือวีซ่านักศึกษาและขออนุญาตทำงานอย่างถูกต้องแล้ว จะไม่สามารถทำงานเกินจำนวนชั่วโมงที่กฎหมายกำหนด และจะไม่สามารถทำงานใดๆ ในสถานบันเทิงของญี่ปุ่นได้ 
 
หากมีข้อสงสัยประการใด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ข้อมูลการพำนักของคนต่างชาติ หรือสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองใกล้บ้านท่านเอง
 
 
สวนสุนันทา นำร่องปรับเงินเดือน บรรจุก่อนได้ย้อนหลัง ธ.ค. 2557
 
รศ.ดร.ฤๅเดช เกิดวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ปรับขึ้นเงินเดือนพนักงานมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่เดือนธันวาคม 2557 มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ได้ดำเนินการปรับอัตราเงินเดือนดังกล่าวเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมนี้ และมีผลย้อนหลังตั้งแต่ครม.มีมติ โดยพนักงานมหาวิทยาลัยในปัจจุบันมีอยู่สองสายงานคือสายวิชาการ เป็นอาจารย์ผู้สอน และดำรงตำแหน่งทางวิชาการในระดับต่างๆ
 
กับสายสนับสนุนวิชาการ คือเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่สนับสนุนการเรียนการสอน ซึ่งทั้งสองกลุ่มนี้จะมีบทบาทเข้ามาแทนที่ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาซึ่งค่อยๆ ลดจำนวนลง และคาดว่าจะหมดไปในที่สุด ดังนั้นพนักงานมหาวิทยาลัยจึงเป็นกลุ่มคนที่มีภาระหน้าที่และบทบาทสำคัญในการจัดและสนับสนุนการเรียนการสอน ซึ่งตนเชื่อว่าคนเหล่านี้ทำงานด้วยความรักในวิชาชีพ และทุ่มเทเพื่องานเช่นเดียวกับข้าราชการ
 
การดำเนินการเรื่องการปรับขึ้นเงินเดือนครั้งนี้ถือเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตให้พนักงานมหาวิทยาลัยรู้สึกว่าตนมีศักดิ์ศรี มีความผาสุกในการทำงาน มีความรักในองค์กรทุ่มเทและรักในงานที่ทำ ผลที่ได้กลับมาจะส่งผลสู่มหาวิทยาลัยและนักศึกษาในที่สุดซึ่งกล้าพูดได้ว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่ปรับเงินเดือนพนักงานขึ้นตามมติครม.ครั้งนี้ โดยพิจารณาจากสองกลุ่มคือ พนักงานมหาวิทยาลัยที่บรรจุเข้าทำงานก่อนเดือนธันวาคม 2557
 
กลุ่มนี้จะได้รับการปรับขึ้นย้อนหลังตั้งแต่เดือนธันวาคม ส่วนผู้ที่บรรจุเข้าทำงานหลังจากนั้นก็ปรับขึ้นด้วยเช่นกัน แต่ยึดตามวันที่บรรจุเข้าทำงานเป็นสำคัญ เชื่อว่าการตัดสินใจปรับเงินเดือนขึ้นในครั้งนี้ จะเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่พนักงานมหาวิทยาลัยทุกคน อันจะนำไปสู่ความผาสุกขององค์กรในภาพรวม
 
 
อุตสาหกรรมรองเท้าอ่วม! แบกรับภาระต้นทุนไม่ไหว หลังยอดขายร่วงต่อเนื่องถึง 70% หวั่นผู้ประกอบการรายเล็กกว่า 1,000 ราย ปิดกิจการ 
 
นายชนินทร์ จิตต์โกมุท นายกสมาคมรองเท้าไทย เปิดเผยว่า ในปี 2559 ผู้ประกอบการ รายย่อยในอุตสาหกรรมผลิตรองเท้าที่มีอยู่กว่า 1,000 ราย มี แนวโน้มปิดกิจการลงจำนวนมาก หลังจากในช่วงที่ผ่านมาของปี 2558 มียอดขายในประเทศลดลงอย่างต่อเนื่องกว่า 70% เมื่อเทียบกับยอดขายในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากการแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น รวมถึงแรงซื้อในประเทศที่อ่อนตัวลง
 
ทั้งนี้ กำลังซื้อที่ลดต่ำลงส่ง ผลต่อแรงซื้อในประเทศลดลงตามไปด้วย จากเดิมที่ผู้ประกอบการรายย่อยเคยขายได้เฉลี่ยกว่า 1 แสนบาทต่อเดือน เหลือเพียง 2-3 หมื่นบาทต่อเดือน และขณะนี้มีหลายรายที่ต้องปิดกิจการ ซึ่งทางกลุ่มได้หารือกันว่าปี 2559 จะอยู่กันอย่างไร จะแบกรับภาระ คนงานได้หรือไม่ ที่สำคัญเพื่อความอยู่รอดผู้ประกอบการต้องปรับตัวเอง
 
นายชนินทร์กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ผลิตรองเท้ารายใหญ่ส่วนมากได้ย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านแล้ว อาทิ พม่า และกัมพูชาบางส่วน เช่นเดียวกับผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก อย่างไต้หวันเองก็ย้ายฐานไปยังกัมพูชา เช่นกัน ซึ่งรายใหญ่คงไม่มีปัญหาแต่รายกลางและเล็กในไทย โดยเฉพาะธุรกิจครอบครัวที่ทำรองเท้าป้อนตลาดในประเทศเดิมเคยมองว่าจะอยู่รอด แต่ตอนนี้คงจะลำบากหากไม่ปรับตัวเองในการทำงานหลายๆ ด้านมากขึ้น เพื่อให้ทันกับกระแสโลกที่เปลี่ยนเร็ว
 
"ขณะนี้ผู้ผลิตไทยจะรับจ้างผลิตและทำแบรนด์สินค้าของตนเองไปพร้อมกันแต่เพียงเท่านี้ ก็ไม่เพียงพอในสถานการณ์ปัจจุบันทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศที่ตกต่ำ หลายรายต้องหันไปใช้วิธีการนำเข้าจากต่างประเทศมาทำตลาดการขาย เฉพาะวัตถุดิบเป็นต้น ซึ่งที่สุดก็อาจต้องเลือกเพราะเวลานี้การ รับจ้างผลิตเอง ออเดอร์ก็หนีไป เพื่อนบ้านหมดแล้ว เพราะต้น ทุนต่ำ" นายชนินทร์กล่าว
 
นายชนินทร์กล่าวถึงการส่งออกในอุตสาหกรรมรองเท้าว่า ในปีนี้จะติดลบกว่า 5% และในปี 2559 ก็ยังไม่ดีขึ้น เพราะการผลิตของไทยเป็นเพียงส่วนน้อยมากของตลาดโลก ที่มีผู้ค้าหลักๆ คือจีนและเวียดนาม ซึ่งปัจจุบันเวียดนามเป็นผู้นำเข้าวัตถุดิบหนังมากสุดในโลกแล้ว และไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่เวียดนามสั่งนำเข้าวัตถุดิบประเภทหนังฟอก ชิ้นส่วนต่างๆ  ดังนั้นในอนาคตไทยต้องปรับเปลี่ยนบทบาทจากผู้ผลิตรองเท้า เป็นผู้ผลิตวัตถุดิบป้อนให้กับตลาดโลกแทน รวมถึงการเป็นผู้กระจายวัตถุดิบสู่ภูมิภาค จากความได้เปรียบทางภูมิประเทศในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC).
 
 
ส.อ.ท.ลดเป้าผลิตรถยนต์ปี 58 เหลือ 1.95-2 ล้านคัน ลดลง 5 หมื่น-1 แสนคัน
 
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ปรับลดเป้าหมายการผลิตรถยนต์ในปี 2558 ลงเหลือ 1.95-2 ล้านคัน ลดลงจากเป้าหมายเดิม 50,000-100,000 คัน ซึ่งในส่วนของยอดผลิตรถยนต์เพื่อการส่งออกนั้น ยังคงเป้าหมายเดิมที่ 1.2 ล้านคัน แต่ได้ปรับลดเป้าหมายการผลิตรถยนต์เพื่อการจำหน่ายในประเทศลงมาเหลือที่ 7.5-8 แสนคัน
 
 
สรุปผลศึกษาตั้งอู่ตะเภาเป็นนิคมอุตฯการบิน ลงทุน 1.5 หมื่นล้านบาท
 
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคมเปิดเผยว่า ได้รับทราบรายงานผลการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบเบื้องต้นในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทย  สรุปแล้วว่าจะเสนอจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมการบินที่สนามบินอู่ตะเภา เนื่องจากพื้นที่มีความพร้อมและเหมาะสมในการพัฒนา โดยตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออกซึ่งเป็นแหล่งอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยจะพัฒนากิจกรรมการซ่อมบำรุงอากาศยาน (Maintenance Repair and Overhaul : MRO) และกิจกรรมการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน (Original Equipment Manufacturer : OEM)  วงเงินลงทุน 15,000 ล้านบาท โดยมี อัตราผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ (EIRR) 22% และอัตราผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) 6.34% และประมาณการรายได้ตลอดสัญญา 30 ปี ที่ 2.4 แสนล้านบาท
 
ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนในการลงทุนอยู่ในเกณฑ์ที่จะสามารถเปิดให้เอกชนลงทุนได้ โดยหลังจากนี้จะนำผลการศึกษาไปหารือกับกองทัพเรือ (ทร.) ในฐานะเจ้าของพื้นที่และเสนอต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายฯของกระทรวงคมนาคม เรื่องการจัดตั้งนิคมอุตสากรรมการบิน เพื่อหาข้อสรุปร่วมกับและเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) พิจารณาต่อไป ในขณะเดียวกัน จะต้องเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรไว้ด้วย โดยคาดว่าในช่วงแรก มีความต้องการทั้งวิศวกรและบุคลากรในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องประมาณ 1,800 คน จนถึงปี 2566 และระยะต่อไป ถึงปี 2576 จะต้องการบุคลากรถึง 3,500 คน
 
สำหรับการศึกษาวิเคราะห์พบว่า อัตราการเติบโตด้านอุตสาหกรรมการบินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคใน 20 ปีข้างหน้าจะสูงมาก โดยมีคำสั่งซื้อเครื่องบินจำนวน 12,820 ลำ ซึ่งสูงสุดในโลกสัดส่วน  36% โดยในปี 2557 พบว่า ประเทศไทยมีการเติบโตของโลว์คอสต์แอร์ไลน์ เส้นทางระหว่างประเทศ 55% และภายในประเทศ 45% โดยสายการบินที่บินเข้าประเทศไทยทั้งหมดมีการซ่อมบำรุงอากาศยานมูลค่าถึง 23,200 ล้านบาทต่อปี แต่เนื่องจากไทยมีศูนย์ซ่อม 3 แห่ง คือดอนเมือง สุวรรณภูมิและอู่ตะเภา ซึ่งมีขีดความสามารถรองรับได้เพียง 40% หรือประมาณ 9,300 ล้านบาทต่อปี ทำให้อีก 60% มูลค่าประมาณ 139,000 ล้านบาทต้องไปซ่อมต่างประเทศ
 
ดังนั้น หากสามารถจัดตั้งศูนย์ซ่อมอากาศยานที่อู่ตะเภาได้ จะทำให้ดึงเม็ดเงิน 60% กลับมาอยู่ในประเทศไทยได้ โดย แบ่งการลงทุนเป็น 3 ระยะ ๆ ละ 5,000 ล้านบาท (ระยะที่ 1 ปี 2559-2561 , ระยะที่ 2 ปี 2564-2566 และระยะที่ 3  ปี 2569-2571 ซึ่งจะพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรมอากาศยานครบวงจรหรือ Aeropolis : มหานครอากาศยาน) โดยระยะแรกจะมีการก่อสร้างอาคารสำหรับซ่อมเครื่องบิน (แฮงก้า) 2 หลัง รองรับเครื่องบินได้ 48 ลำต่อปี ระยะที่ 2 ก่อสร้างเพิ่มอีก 2 หลังและระยะที่ 3 ก่อสร้างเพิ่มอีก 2 หลัง  อย่างไรก็ตามแม้จะพัฒนาเต็มทั้ง 3 ระยะแต่พบว่า ขีดความสามารถสูงสุดรองรับการซ่อมบำรุงได้เพียง 60% ดังนั้นจะต้องพิจารณาพื้นที่อื่นสำหรับขยายเป็นศูนย์ซ่อมอากาศยานเพิ่มเติมอีกด้วย
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เคลื่อนขบวนมุ่งอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จุดเทียนรำลึก 42 ปี 14 ตุลา

$
0
0

ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนจากแยกคอกวัวมาอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อจุดเทียนรำลึก 42 ปี 14 ตุลา พร้อมตะโกนขับไล่ 3 ป. ป้อม-ป๊อก-ประยุทธ์ ขณะที่ตำรวจขอให้จุดเทียน-รำลึกอย่างเดียว ห้ามคลุมผ้าดำอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

 

ที่มาของภาพ: เพจขบวนการประชาธิปไตยใหม่

14 ต.ค. 58 - ผู้สื่อข่าวรายงานกิจกรรมชุมนุมรำลึก 42 ปี 14 ตุลา ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัวในช่วงเย็น โดยกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ประชาธิปไตยใหม่ และประชาธิปไตยศึกษา ได้จัดกิจกรรม "รำลึก 14 ตุลา ฉบับพลเมือง จาก 3 ทรราช สู่ 3 ป. เผด็จการไม่เคยสูญ" โดยผู้ชุมนุมร่วมตัวกันที่อนุสรณ์สถาน ก่อนเคลื่อนขบวนมาที่ทางเท้าด้านนอก ในเวลา 18.20 น. เพื่อมุ่งหน้าไปที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้ามาเจรจาเพื่อไม่ให้มีการเดินขบวน โดยอ้างว่าการเดินขบวนอาจฝ่าฝืน พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะ อย่างไรก็ตามผู้ชุมนุมได้ต่อรองว่าจะใช้ทางเท้าเคลื่อนขบวน ทำให้ตำรวจใช้วิธีประกบผู้ชุมนุมด้านข้างแทน โดยระหว่างเคลื่อนขบวนมีการตะโกนเรียกร้องประชาธิปไตย และตะโกนขับไล่รัฐบาล คสช.

เวลา 18.50 น. ผู้ชุมนุมเดินมาถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีการเดินวนรอบฐานอนุสาวรีย์ 3 รอบ จากนั้นมีมวลชนได้ชูป้ายผ้าเขียนข้อความว่า "มาวันนี้ ลืมอุดมการณ์ หรืออย่างไร จึงเปลี่ยนใจ มารับใช้ เผด็จการ" และมีคนอีกกลุ่มเตรียมนำผ้าสีดำมาล้อมอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตยไว้ ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาห้ามและกล่าวว่า "มารำลึกนะครับ เราตกลงกันแล้วว่าจุดเทียนเพียงอย่างเดียว ขอความร่วมมือด้วยนะครับ"

จากนั้นผู้นำการชุมนุมได้กล่าวว่า เรารู้ว่าไม่ใช่วันของเรา แต่เพื่ออนาคตเดินต่อไป และเพื่อบอกคนที่อยู่ทางบ้านออกมาร่วมเดินกับเรา วันนี้จึงขอให้ผู้ชุมนุมมาชุมนุมอย่างสงบและเคารพต่อวีระชน ที่มาเรียกร้องวันนี้จะเรียกร้องประชาธิปไตย จะอดทน ไม่ใช้ความรุนแรงแบบเผด็จการ จะทำให้รู้ว่าประชาชนต่างหากที่ศรีวิไล

ในเวลา 19.25 น. ผู้ชุมนุมร่วมกันจุดเทียนรำลึก พร้อมตะโกนว่า "คสช. ออกไป" "สาม ป. ออกไป" "ประชาชนจงเจริญ" "ประชาธิปไตยจงเจริญ" ก่อนยุติการชุมนุมเวลา 19.50 น. โดยหลังกิจกรรม เจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามตรวจยึดป้ายผ้าที่ผู้ชุมนุมนำมาแขวน 2 ผืน แต่ผู้ชุมนุมไม่ยอม โดยป้ายผ้าดังกล่าวเขียนว่า "ขอสรรเสริญ 14 ตุลา คือผู้กล้า แห่งห้วง ยุคสมัย" และอีกผืนที่เขียนว่า "มาวันนี้ ลืมอุดมการณ์ หรืออย่างไร จึงเปลี่ยนใจ มารับใช้ เผด็จการ"

กิจกรรมภาคเช้าที่คอกวัว - ม.ล.ปนัดดาชี้ประชาธิปไตยคือสามัคคี-พอเพียง-ไม่ให้ร้าย-ไม่ทุจริต

dd

 

ส่วนกิจกรรมภาคเช้า เมื่อเวลา 07.00 น. ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา มูลนิธิ 14 ตุลา จัดงานรำลึกและปาฐกถา เหตุการณ์ 14 ตุลา มีพิธีตักบาตรพระสงฆ์ 14 รูป พิธีกรรมทางศาสนาพุทธ อิสลาม และคริสต์เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้เสียชีวิต

โดยมีผู้ร่วมงาน อาทิ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตัวแทนจากนายกรัฐมนตรี นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี ฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายวรชัย เหมะ และนายวิภูแถลง พัฒนภูมิไทย ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย นางละเมียด บุญมาก ภรรยานายจีระ บุญมาก ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ในฐานะนายกสมาคมญาติและวีรชน 14 ต.ค. 16 ผู้แทนฝ่ายประชาธิปไตยและแรงงาน ผู้แทนชาวบ้านนักต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชน ผู้แทนเยาวชน นิสิต นักศึกษาและประชาชนเข้าร่วมงาน นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มและองค์กรต่างๆ อาทิกลุ่มประชาธิปไตยใหม่นำพวงมาลามาวางเพื่อไว้อาลัยแก่วีรชนในเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 และพิธีวางพวงมาลา และกล่าวสดุดีวีรชน

ม.ล.ปนัดดา กล่าวสดุดีวีรชนว่า เหตุการณ์ครั้งนั้นต้องจารึกไว้ เหล่าวีรชนที่กล้าเสียสละต่อสู้กับอำนาจของการบริหารประเทศในหลายรูปแบบขณะนั้น ทำให้คนรุ่นหลังตระหนักถึงความสำคัญของประชาธิปไตยที่ประเทศไทยประสบปัญหามาตลอด นิยามของประชาธิปไตยที่ควรรักษาไว้ 1.ความสามัคคี 2.ความพอเพียง 3.การไม่ให้ร้ายผู้อื่น ไม่พูดความเท็จ 4.ความไม่ทุจริตคดโกงประเทศ เนื่องในโอกาสงานรำลึกครอบรอบ 42 ปี เหตุการณ์ในครั้งนั้นจะอยู่ในใจคนไทยไปตลอด และช่วยกันสืบสานเจตนารมณ์ต่อไป

กลุ่มญาติ 14 ตุลา 16 ทวงการเยียวยาจากรัฐบาล

ละเมียด บุญมาก ภรรยาของจีระ บุญมาก กล่าวรำลึก 42 ปี 14 ตุลาคม 2516

ตัวแทนเยาวชนกลุ่มดาวดิน-ประชาธิปไตยใหม่ กล่าวรำลึก 42 ปี 14 ตุลาคม 2516 

ละเมียด บุญมาก ภรรยาของจีระ บุญมาก กล่าวรำลึก 42 ปี 14 ตุลาคม 2516 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว โดยกล่าวว่า การรำลึก 14 ตุลา จะมีความหมายได้อย่างไร หากไร้ซึ่งการตอกย้ำเจตนารมณ์ประชาธิปไตย สืบทอดจิตใจและภารกิจอันสำคัญยิ่ง เจตนารมณ์คือต้องการเป็นอิสระจากทรราษฎ์ ปัจจุบันมีการปฏิวัติหลายครั้ง สาเหตุเกิดจากนักการเมืองไม่ปรองดองกัน ถ้าใครได้เข้ามาเป็นรัฐบาลก็เกิดการประท้วง ก็จะวนอยู่ในลักษณะเช่นนี้ ไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มที่ แล้วเราจะรำลึกกันทำไม จัดงานกันทำไม สืบทอดเจตนารมย์กันทำไม เพราะทุกคนกำลังแย่งชิงดีชิงเด่นกัน ต่างจากคุณจีระ บุญมาก ที่กล้าตัดสินใจ เดินออกจากบ้าน เพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพให้ประชาชน

นางละเมียด กล่าวต่อว่า ญาติและวีรชน 14 ตุลา 16 ประมาณ 60 กว่าราย ได้เรียกร้องเงินดำรงชีพรายเดือนมา 3 รัฐบาลแล้ว และมีมติเห็นชอบการจ่ายเงินดำรงชีพรายเดือน เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 55 และมีมติคณะรัฐมนตรี สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ยังไม่มีผลบังคับใช้ ซึ่งปัจจุบันกลุ่มญาติวีรชนกำลังรอการช่วยเหลือเงินดำรงชีพรายเดือน และวันนี้ซึ่งเป็นวันครบรอบ 42 ปี 14 ตุลา 16 พร้อมที่จะออกมาเรียกร้องสิทธิของตน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เตรียมจัดวันสิทธิเด็ก ร่วมปกป้องจากความรุนแรง-มีส่วนร่วมกระบวนการสันติภาพ

$
0
0

14 องค์กรประชาสังคมชายแดนใต้/ปาตานี เตรียมจัด “A Beautiful Children's Right Day” วันสิทธิเด็ก 21 พฤศจิกานี้ หวังทุกภาคส่วนตระหนักถึงสิทธิ-ร่วมปกป้องเด็ก สร้างพื้นที่ปลอดภัย ดันให้เด็กมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพ

เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2558 ที่ศูนย์ประสานงานมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก อ.เมือง จ.ปัตตานี กลุ่มด้วยใจพร้อมเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมปาตานี 14 องค์กรร่วมประชุมเตรียมจัดงาน “A Beautiful Children's Right Day” หรืองานวันสิทธิเด็ก

นางสาวอัญชนา หีมมิหน๊ะ หัวหน้ากลุ่มด้วยใจ เปิดเผยว่า การจัดงาน “A Beautiful Children's Right Day” จะมีขึ้นในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2558 นี้ที่โรงยิมเนเซี่ยม สนามกีฬา องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)ปัตตานี โดยให้สอดคล้องกับวันสิทธิเด็กสากลซึ่งตรงกับวันที่ 20 พฤศจิกายนของทุกปี

นางสาวอัญชนา เปิดเผยต่อไปว่า การจัดงานนี้มีเป้าหมาย 1.สร้างการตระหนักทางด้านสิทธิเด็กให้กับหน่วยงานรัฐและองค์กรพัฒนาเอกชน และผู้ที่เกี่ยวข้องในการปกป้องและคุ้มครองเด็กในพื้นที่ 2.เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรพัฒนาเอกชนด้วยกันในการปกป้องและคุ้มครองเด็กในพื้นที่

3.เพื่อสร้างพื้นที่ให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการสร้างการปกป้องสิทธิตนเองและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันกระบวนการสันติภาพ 4.เพื่อสื่อสารเรื่องราวที่เกี่ยวกับสิทธิเด็กในพื้นที่ออกสู่ต่างประเทศ และ 5.เพื่อให้ต่างประเทศได้รับรู้ว่ามีการดำเนินการด้านสิทธิเด็กในพื้นที่ด้วย

นางสาวอัญชนา เปิดเผยด้วยว่า สำหรับกิจกรรมในวันงานมีดังนี้ 1.นิทรรศการที่เกี่ยวกับสิทธิเด็ก 2.การเล่าเรื่องราวของเด็กที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในพื้นที่ “เสียงเด็กสันติภาพ” 3.ถอดบทเรียนการปกป้องคุ้มครองเด็ก กระบวนการ ปัญหา ผลลัพธ์ และข้อเสนอแนะเพื่อไปนำใช้ในการคุ้มครองและปกป้องเด็ก 4.กิจกรรมบนเวที เช่น การแสดงละคร ขับร้องอนาซีด เป็นต้น 5.การเสวนา เช่น สิทธิเด็กในมุมมองศาสนา การคุ้มครองและปกป้องสิทธิในอนาคต และ 6.การอ่านแถลงการณ์การคุ้มครองและปกป้องสิทธิเด็ก

นางสาวอัญชนา คาดว่า ผู้เข้าร่วมงานครั้งนี้จะมีเด็กในพื้นที่ 400 คน เข้าร่วม ส่วนใหญ่เป็นเด็กที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในพื้นที่ ได้แก่ สูญเสียพ่อหรือแม่จากเหตุไม่สงบ 100 คน 2.คนในครอบครัวตกเป็นผู้ต้องหาคดีความมั่นคง 80 คน 3.เด็กในครอบครัวผู้สูญหาย   10 คน 4.เด็กในครอบครัวผู้ที่ถูกวิสามัญฆาตกรรม 10 คน  5.เด็กครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบแต่ไม่ได้รับการรับรองจากเจ้าหน้าที่ 3 ฝ่าย (ปกครอง ตำรวจ ทหาร) จึงทำให้ไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยา จำนวน 50 คน และ 6.เด็กทั่วไป 150 คน

สำหรับรายชื่อดังองค์กรที่ร่วมจัด มีดังนี้ 1.มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก 2.กลุ่มพิราบขาว 3. ‎กลุ่มจู่โจม จิตอาสาเพื่อสังคม 4.กลุ่มบุหงารายอ 5.มูลนิธินูซันตารอเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา(Nusantara) 6.มูลนิธิผสานวัฒนธรรม 7.กลุ่มเซากูนา 8.กลุ่มฟ้าใส 9.สมาคมเด็กและเยาวชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ 10. สมาคมเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี (Patani Human Right Organization) 11.ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) 13.กลุ่มด้วยใจ และ 14.กลุ่มลูกเหรียง

นางสาวอัญชนา กล่าวด้วยว่า เหตุไม่สงบในพื้นที่ในปี 2558 มีสถิติแสดงที่ให้เห็นว่าความรุนแรงต่อเด็กมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมามีเด็กเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนหนึ่งและทำให้ขาดโอกาสทางการศึกษาจำนวนหนึ่ง

“เด็กบางคนสูญเสียผู้ปกครองไป เด็กบางคนได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่มีเด็กอีกกลุ่มที่น่ากังวล คือเด็กในครอบครัวที่ถูกวิสามัญฆาตกรรม ครอบครัวผู้สูญหายและครอบครัวผู้หลบหนี ซึ่งเด็กกลุ่มนี้ไม่ได้รับการเยียวยาจากรัฐหรือเป็นเด็กนอกระบบเยียวยา ซึ่งเด็กเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะใช้ความรุนแรงหรือถูกนำไปใช้ในการแสวงหาผลประโยชน์จากทุกฝ่าย”

นางสาวอัญชนา เปิดเผยว่า สำหรับสนธิสัญญาว่าด้วยเด็ก โดยเฉพาะในการคุ้มครองเด็ก ได้แก่ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิ (Convention on the Right of the Child) ซึ่งระบุรายละเอียดของสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ ไว้ว่าทุกประเทศต้องรับประกันเด็กในประเทศของตัวเอง โดยเป็นสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ได้รับความเห็นชอบมากที่สุดในโลก และใน พ.ศ.2535 ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญานี้ด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผู้จัดการ สสส. เบรคภาคีงดเคลื่อน หลังถูกคตร.สอบ-ประยุทธ์จ่อลงดาบ

$
0
0

หลังประยุทธ์ ให้ คตร. ตรวจ สสส. ชี้อหากเจอผิดลงโทษ-ปรับย้ายปรับออก ส่งศาล ด้านผู้จัดการ สสส. เบรคภาคีงดเคลื่อน ระบุหากตนโดนปลดจะยอมรับ แต่หลายหน่วยงานที่กล่าวหาตนนั้นเพราะมองสุขภาพในแบบที่แคบ

จากการณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวถึงกรณีกรณีความคืบหน้าของคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ คตร. เข้าตรวจสอบการใช้งบประมาณของสสส. ว่า ให้ คตร. ตรวจทุกวันจะได้ไม่ต้องมีการกล่าวอ้างว่าไม่มีความเป็นธรรม แต่ไม่ได้ชี้ว่าผิดหรือถูก เพราะข้อกฎหมาย หรือระเบียบเดิม กองทุนต่างๆ เขียนไม่ชัดเจน มีวิธีการพิจารณาที่กว้างเกินไป ซึ่งขณะนี้ฝ่ายกฎหมายพิจารณาอยู่ ร่างระเบียบใหม่ ทบทวนใหม่ เพราะกองทุนเหล่านี้หยุดไม่ได้ ประชาชนเดือดร้อน อย่างไรก็ตามต้องทำให้ถูกต้อง ขณะเดียวกันเชิงบริหารที่ผ่านมาต้องมีมาตรการการลงโทษ ปรับเปลี่ยนในทางปกครอง ถ้าทำงานไม่ได้ผลก็ปรับย้ายปรับออก หากทำผิดกฎหมายก็ส่งไปที่ศาล คตร.มีหน้าที่ตรวจหาข้อเท็จจริงเท่านั้น (อ่านรายละเอียด มติชนออนไลน์)

เมื่อวันที่ 13 ต.ค.ที่ผ่านมา เวลาประมาณ 23.00 น.  กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โพสต์แถลงผ่านเพซบุ๊กส่วนตัว ‘Krissada Raungarreerat’ ในลักษณะสาธารณะ ภาคี สสส. ต่อกรณีดังกล่าว ที่แสดงความห่วงใยต่อตนมานั้น ไม่อยากให้เคลื่อนไหวใดๆ ระบุหากตนเองโดนปลดจะยอมรับทุกประการ พร้อมชี้แจงด้วยว่าหลายหน่วยงานที่กล่าวหาตนนั้นเพราะมองสุขภาพในแบบที่แคบ

โดยมีรายละเอียดดังนี้

ที่มา ‘Krissada Raungarreerat’ (สืบค้นเมื่อ 15 ต.ค.58 14.40 น.)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มาร่า ปาตานี ระบุความเห็นของบีอาร์เอ็นไม่ส่งผลต่อการเจรจากับรัฐไทย

$
0
0

กัสตูรี มะโกตา แกนนำพูโลซึ่งอยู่ในคณะเจรจาของมาร่า ปาตานี ตอบสำนักข่าวเบนาร์นิวส์ ยืนยันว่าข้อวิจารณ์จากบีอาร์เอ็น ไม่ส่งผลต่อการเจรจา 'มาร่า ปาตานี' จะเจรจากับรัฐบาลไทยต่อไปและทำให้เป็นการเจรจาทางการในอนาคตอันใกล้

15 ต.ค. 2558 หลังจากที่มีการรายงานข่าวของนิเคอิ เอเชียน รีวิว สัมภาษณ์ตัวแทนสี่คนอ้างตัวว่า เป็นฝ่ายข้อมูลของบีอาร์เอ็น โดยพวกเขาระบุว่า องค์กรบีอาร์เอ็นไม่เกี่ยวข้องกับการพูดคุยกับรัฐบาลไทย และมองด้วยว่า การพูดคุยนี้เป็น "ปรากฎการณ์ในแง่ลบ" นั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 ต.ค. ในรายงานของสำนักข่าวเบนาร์นิวส์กัสตูรี มะโกตา ประธานขององค์กรพูโล (PULO) และเป็นสมาชิกของมารา ปาตานี ได้ตอบคำถามด้วยอีเมล์ยืนยันว่า "กลุ่มมารา ปาตานี จะดำเนินการเจรจาต่อไป และจะทำให้แน่ใจว่าการเจรจาดังกล่าวจะเป็นทางการในอนาคตอันใกล้นี้"

เขากล่าวว่า การเจรจาจะดำเนินต่อไป แม้กระบวนการสันติภาพในปัจจุบันจะถูกวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มย่อยหนึ่งของแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี หรือ บีอาร์เอ็นก็ตาม โดยกลุ่มนี้ส่งตัวแทนเป็นผู้นำระดับอาวุโสจำนวนสามคนเข้าร่วมในกลุ่มมารา ปาตานี อันได้แก่ อาวัง จาบัต, สุกรี ฮารี และอาหมัด ชูโว

เบนาร์นิวส์ระบุว่า เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ไม่สามารถติดต่อบุคคลทั้งสามเพื่อขอความคิดเห็นได้

กัสตูรี ตอบอีเมล์ด้วยว่า โดยส่วนตัวแล้ว สิ่งที่ได้เกิดขึ้นภายในบีอาร์เอ็น นั่นคือ คนที่เห็นด้วยและคนที่ต่อต้านกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ ถือเป็นเรื่องปกติ" เขากล่าวด้วยว่า "หากเป็นพระประสงค์ของอัลเลาะห์แล้ว มันก็จะพบทางแก้ไขในอนาคตอันใกล้ และจะไม่ส่งผลต่อการพูดคุยเพื่อสันติใด ๆ ที่กำลังดำเนินอยู่"

กัสตูรียืนยันว่า ผู้แทนเจ็ดคนของกลุ่มมารา ปาตานี และองค์กรของผู้แทนเหล่านั้น "มีความมุ่งมั่นอย่างสูง" ต่อความพยายามในปัจจุบันเพื่อสันติ

ความเห็นจากกัสตูรี เกิดขึ้นหลังจากช่วงต้นสัปดาห์ที่มีการรายงานข่าวของนิเคอิ เอเชียน รีวิว สัมภาษณ์ตัวแทนสี่คนอ้างตัวว่า เป็นฝ่ายข้อมูลของบีอาร์เอ็น โดยพวกเขาระบุว่า องค์กรบีอาร์เอ็นไม่เกี่ยวข้องกับการพูดคุยกับรัฐบาลไทย และมองด้วยว่า การพูดคุยนี้เป็น "ปรากฎการณ์ในแง่ลบ" ในขณะที่มีเอกสารที่อ้างว่า เป็นแถลงการณ์ของบีอาร์เอ็นเผยแพร่ออกมาในอินเทอร์เน็ตเมื่อวันที่ 12 ต.ค. ระบุว่า บีอาร์เอ็นไม่ได้ปฏิเสธกระบวนการสันติภาพ หากแต่ต้องทำอย่างจริงใจ มีคนกลางและผู้สังเกตการณ์จากต่างประเทศ และไม่ใช่อุบายทางการเมือง (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)

ด้าน พล.ต.บรรพต พูลเพียร โฆษก กอ.รมน. ขอร้องกลุ่มที่มีความเห็นต่างงดให้ข่าวด้านเดียว และเสนอให้มาพูดคุยกับเจ้าหน้าที่รัฐดีกว่า (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แอมเนสตี้จี้ไทย สอบสวนคดีจ้างวานฆ่า 'เจริญ วัดอักษร' ใหม่

$
0
0

15 ต.ค. 2558 สืบเนื่องจากกรณีศาลฎีกามีคำพิพากษายืนยกฟ้องจำเลยคดีจ้างวานฆ่า เจริญ วัดอักษร แกนนำคัดค้านการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าบ่อนอก เมื่อวันที่ 13 ต.ค. วันนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์ "ประเทศไทย: ถึงเวลาเรียกร้องความยุติธรรม" เรียกร้องให้ทางการไทยสอบสวนกรณีดังกล่าวใหม่ และให้ทางการใช้มาตรการเพื่อคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทุกคนให้ปลอดภัยจากการถูกทำร้าย และให้การประกันว่าจะมีนำบุคคลผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม รวมทั้งให้ความคุ้มครองต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ตกอยู่ในสภาวะเสี่ยงอันตราย และให้ความคุ้มครองแก่พยานเพื่อคุ้มครองพวกเขาจากอาชญากรรมที่อาจเกิดขึ้น



ประเทศไทย: ถึงเวลาเรียกร้องความยุติธรรม
               
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้ทางการไทยสอบสวนใหม่กรณีการสังหารนายเจริญ วัดอักษร นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม หลังศาลฎีกามีคำพิพากษายืนยกฟ้องจำเลยที่เป็นอดีตเจ้าหน้าที่ทางการท้องถิ่น ซึ่งเดิมก่อนหน้านี้ศาลตัดสินว่าเขามีความผิดฐานจ้างวานฆ่านายเจริญ    

นายเจริญ วัดอักษร อายุ 37 ปีเกษตรกรปลูกสัปปะรด ประธานกลุ่มอนุรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์และเป็นผู้นำการรณรงค์ของชุมชนเพื่อคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าสองแห่งในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์จนเป็นผลสำเร็จ เขาถูกลอบยิงเสียชีวิตหลังจากเดินลงจากรถทัวร์ที่ตำบลบ่อนอก อำเภอเมืองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2547  หลังเดินทางกลับจากการให้ปากคำต่อคณะกรรมาธิการรัฐสภาที่กรุงเทพฯ โดยก่อนหน้านั้นเขาได้ร้องเรียนกรณีการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบในที่ดินสาธารณะตำบลบ่อนอก

ศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ที่กลับคำตัดสินลงโทษต่ออดีตเจ้าหน้าที่ทางการท้องถิ่นในตำบลบ่อนอก โดยศาลชั้นต้นเคยมีคำพิพากษาเมื่อปี 2551 ว่าเขาจ้างวานฆ่านายเจริญและตัดสินให้ประหารชีวิตเขา ทั้งยังพิพากษายืนให้ยกฟ้องจำเลยอีกสองคนซึ่งเป็นลูกชายของเขาโดยคนหนึ่งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นในขณะที่อีกคนเป็นทนายความ ทั้งนี้สอดคล้องกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเมื่อปี 2551 ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกฟ้องจำเลยเนื่องจากขาดพยานหลักฐาน ไม่ใช่เพราะว่ามือปืนสองคนที่เคยให้เบาะแสกับตำรวจว่า เขาเป็นผู้จ้างวานฆ่านายเจริญได้เสียชีวิตระหว่างการไต่สวนของศาลชั้นต้น โดยมือปืนทั้งสองคนเสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่เมื่อเดือนมีนาคมและกรกฎาคม 2549 ตามลำดับ ก่อนจะให้ปากคำต่อศาล
               
ประเทศไทยมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รวมทั้งการเคารพและคุ้มครองสิทธิที่จะมีชีวิต และต้องใช้มาตรการชดเชยการละเมิดสิทธิดังกล่าวรวมทั้งสิทธิอื่นๆ การที่ทางการไม่สามารถชดเชยให้เกิดความเป็นธรรมต่อนายเจริญและครอบครัวของเขา นับเป็นโศกนาฏกรรมในการต่อสู้อย่างยาวนานเพื่อคืนความเป็นธรรมให้กับเขาและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนคนอื่นๆ ในประเทศไทย ทั้งยังสนับสนุนวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดที่น่ารังเกียจให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นเหตุให้เกิดการสังหาร ทำร้ายและคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยต่อไป

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องอีกครั้งให้ทางการใช้มาตรการเพื่อคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทุกคนให้ปลอดภัยจากการถูกทำร้าย และให้การประกันว่าจะมีนำบุคคลผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม รวมทั้งให้ความคุ้มครองต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ตกอยู่ในสภาวะเสี่ยงอันตราย และให้ความคุ้มครองแก่พยานเพื่อคุ้มครองพวกเขาจากอาชญากรรมที่อาจเกิดขึ้น

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘12 เสือใต้’ จัดระดมความเห็นเวทีสุดท้ายเตรียมเคลื่อนแก้ปัญหายางอย่างเป็นระบบ

$
0
0

15 ต.ค. 2558 ที่อาคารอเนกประสงค์ บริเวณสี่แยกห้วยปริก ต.ห้วยปริก อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางใต้ 8 องค์กร หรือ 12 เสือใต้ ร่วมจัดเวทีสัมมนาเชิงวิชาการ “รวบรวมปัญหายางพาราเพื่อเป็นแนวทางเสนอให้มีการแก้ไขโดยด่วน” โดยมีแกนนำ และตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยางจาก 16 จังหวัด เข้าร่วมระดมความคิดเห็นในครั้งนี้ ท่ามกลางสภาพอากาศที่มีฝนตกพรำๆ ตลอดช่วงเช้าที่ผ่านมา

การระดมความคิดเห็นในครั้งนี้ มีหัวข้อที่จะนำเสนอในเวที ประกอบด้วย ทิศทางราคายางและการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนในวันนี้, พ.ร.บ.การยางฯ เจตนารมณ์เพื่อส่งเสริมโอกาสและสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรชาวสวนยาง, มาตรการแก้ไขปัญหาตามมติ คสช.ที่ 26/8/57 และ มติ ครม. 21/10/57 ที่เกษตรกรจะเข้าถึงโอกาสได้อย่างไร, หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย เป็นต้น โดยจะมีวิทยากรผลัดเปลี่ยนการนำเสนอ อาทิ  นายทศพล ขวัญรอด ประธานภาคีเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางและสวนปาล์มแห่งประเทศไทย นายมนัส บุญพัฒน์ นายกสมาคมคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อย นายทวี ขวัญศรีสุทธิ์ กรรมการเครือข่ายชาวสวนยาง นายเสวก ทองเกตุ กรรมการสมาคมเครือข่ายเกษตรกรสถาบันเกษตรกรยางพาราไทย เป็นต้น ซึ่งผลจากการร่วมประชุมเสวนาทางวิชาการในวันนี้ เพื่อหาข้อสรุปเป็นแผนภาพรวมของการพัฒนายางพาราทั้งระบบ และนำเสนอเพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐาน ให้กับคณะทำงานเพื่อร่วมพัฒนายางพาราต่อไป

นายมนัส บุญพัฒน์ กล่าวว่า เวทีในวันนี้จะเป็นเวทีระดมความคิดเห็นเวทีสุดท้าย เพื่อขับเคลื่อนแนวทางการพัฒนาอย่างเป็นระบบในการแก้ไขปัญหายางพารา และในเวลา 16.00 น.วันนี้ 15 ตุลาคม 2558 นายอำนวย ปะติเส ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แจ้งจะเข้าร่วมรับฟังแนวทางการแก้ไขปัญหา พร้อมลงนามข้อตกลงร่วมเพื่อขับเคลื่อนแนวทางการพัฒนาอย่างเป็นระบบในการแก้ไขปัญหายางพารา และจะร่วมแถลงข่าวอย่างเป็นทางการต่อไป ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ เราได้เชิญหน่วยงานทางราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมโดยพร้อมเพรียงกัน

ร้องประยุทธ์ชดเชยส่วนต่างที่ 60 บ.ต่อกิโล

ขณะที่วานนี้(14 ต.ค.58) เวลา 10.00 น. ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ฝั่งสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) นายสุนทร รักษ์รงค์ ผู้ประสานงานแนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยางและตัวแทนแนวร่วมกู้ชีพ พร้อมนายกัมพล เพิงมาก ผู้ประสานงานแนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง ภาคกลาง และภาคตะวันออก เข้ายื่นหนังสือข้อเสนอและเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนพร้อมรายชื่อตัวแทนกู้ชีพชาวสวนยางจากทั่วประเทศจำนวน25 คนต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผ่านศูนย์บริการประชาชนฯ

โดยนายสุนทร กล่าวว่า ตามที่แนวทางร่วมกู้ชีพชาวสวนยางประกาศเขตภัยพิบัติราคายางพาราตกต่ำตั้งแต่วันที่ 22 กันยายนที่ผ่านมา ที่จ.สุราษฎร์ธานี จนถึงปัจจุบันแนวร่วมกู้ชีพฯ แต่ละจังหวัดได้ทยอยประกาศเขตภัยพิบัติราคายางพาราตกต่ำในหลายพื้นที่ ที่เป็นกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ให้เกษตรกรแสดงออกอย่างถูกกฎหมายเพื่อสะท้อนความเดือดร้อนจากราคายางตกต่ำให้รัฐบาลได้รับรู้โดยขอให้รัฐบาลช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วนคือ 1. ให้ชดเชยส่วนต่างของยางพาราที่กิโลละ 60 บาท เพื่อเป็นการชดเชยรายได้ ให้กับชาวสวนยางที่จดทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย

นายสุนทร กล่าวอีกว่า 2. ให้อนุมัติกองทุนข้าวสาร ที่แนวร่วมกู้ชีพเคยเสนอต่อนาย อำนวย ปะติเส ที่ปรึกษารมว.เกษตรฯ เมื่อ 1 ปีที่ผ่านมา แต่ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ 3.ให้ชะลอการตัดโค่นยางพาราตามนโยบายทวงคืนพื้นป่า และตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองระดับจังหวัดโดยมีเกษตรกรเข้าร่วม เพื่อแยกพื้นที่สวนยางของคนจนและนายทุน ตามคำสั่ง 4. ให้เกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์และคนกีดยางในที่ดินดังกล่าว สามารถจดทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยางตามมาตรา 4 ของพ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ได้มีการยื่นรายชื่อตัวแทน แนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยางทั่วประเทศจำนวน 25 คน เพื่อขอพูดคุยโดยตรงกับนายก ในการหาทางออกจากปัญหาครั้งนี้ ขณะเดียวกันแนวร่วมกู้ชีพฯ ขอเสนอโครงการชดเชยส่วนต่างโครงการยางพาราซึ่งเป็นโครงการช่วยเหลือชาวสวนยางรายย่อยไม่เกิน 15 ไร่ เป็นการชดเชยรายได้แก่เกษตรที่คำนวณมาจากผลผลิตยางต่อปีคูณกับส่วนต่างราคา ตามที่คณะทำงานศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติการชดเชยส่วนต่างราคายางพาราแทนการรับซื้อผลผลิตเก็บเข้าสต็อกกำหนดเพื่อให้ความช่วยเหลือนี้ครอบคลุมไปถึงคนกรีดยางด้วย

“ที่พล.ต.สรรเสริญแก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พูดชี้นำล่วงหน้าว่าโครงการช่วยเหลือเกษตรรายย่อย ทำเกษตรกรเสียนิสัย และทำให้กลไกตลาดบิดเบือนนั้น การพูดเช่นนี้พล.ต.สรรเสริญ ทราบหรือไม่ว่าไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาล เกษตรกรกำลังจะตาย เลือดกำลังไหล ลูกต้องออกจากโรงเรียน บอกให้ใช้โครงการระยะยาว มันไม่ถูกต้อง วันนี้พี่น้องเขาเตรียมการเคลื่อนไหวทั่วประเทศวันที่ 15 ตุลาคมนี้ ที่ จ.นครศรีธรรมราช แค่บอกว่ารัฐบาลไม่มีเงินก็พูดตรงๆ ไม่ต้องพูดลีลา อ้อมค้อม เอาแบบแมนๆ เราจะได้เดินหน้าได้ถูกต้องว่าต้องเดินหน้าอย่างไร ซึ่งรัฐบาลต้องไปคุยกับชาวสวนเอง หากรัฐบาลหรือนายกฯ เพิกเฉยมีการเคลื่อนไหวเร็วๆ นี้แน่นอน” นายสุนทร กล่าว

ที่มา : มติชนออนไลน์, 14 ต.ค.58และ 15 ต.ค.58

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประณามพม่าไม่จริงใจ-ยังปฏิบัติการทางทหาร-พ่วงโจมตีพลเรือนในรัฐฉาน

$
0
0

18 องค์กรชุมชนรัฐฉาน แสดงความกังวลที่กองทัพพม่ายังคงยิงโจมตีกลุ่มที่ไม่ได้ลงนามหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) โดยเริ่มถล่มกองทัพรัฐฉานเหนือ SSPP/SSA และปฏิบัติการไม่คำนึงว่าเป้าหมายเป็นพลเรือนหรือไม่ ทำให้มีผู้อพยพระลอกใหม่กว่า 1,500 คน

แผนที่ซึ่งแนบมาโดย 18 องค์กรชุมชนรัฐฉาน แสดงให้เห็นพื้นที่ถูกโจมตีโดยกองทัพพม่าในช่วง 6-11 ตุลาคมที่ผ่านมา และพื้นที่อพยพของชาวบ้าน

15 ต.ค. 2558 ในวันที่มีการลงนามในสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) ระหว่างรัฐบาลพม่า กับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์และกลุ่มติดอาวุธ 8 กลุ่ม ที่เนปิดอว์ในวันนี้ (15 ต.ค.) นั้น มีการออกแถลงการณ์หัวข้อ "ถ้ารัฐบาลพม่าต้องการสันติภาพ พวกเขาต้องยุติปฏิบัติการรุกคืบด้านทหารในเขตหยุดยิงรัฐฉาน" โดยเป็นการออกแถลงการณ์โดยองค์กรชุมชนรัฐฉาน 18 กลุ่ม แสดงความกังวลต่อการที่กองทัพพม่ายังคงปฏิบัติการทางทหารเพื่อโจมตีกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ในรัฐฉาน ที่ยังไม่ได้ลงนามในสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA)

ใจความแถลงการณ์ระบุว่า "องค์กรชุมชนรัฐฉาน (Community Based Organisations - CBOs) กังวลอย่างยิ่งกับปฏิบัติการเชิงรุกของทหารรัฐบาลพม่าในเขตหยุดยิงรัฐฉานทั้งสี่เมืองตอนกลางของรัฐ ส่งผลให้ชาวบ้านกว่า 1,500 คนต้องอพยพหลบหนีไปแล้ว"

"ในวันที่ 6 ตุลาคม 2558 กองทัพพม่าเปิดฉากโจมตีครั้งใหญ่ในพื้นที่ของพรรคก้าวหน้ารัฐฉาน (Shan State Progress Party)/กองทัพรัฐฉาน (Shan State Army) (SSPP/SSA) เขตเมืองสู้และเมืองหนอง มีการส่งทหาร 10 กองพันเข้าไปสู้รบอย่างหนักหน่วง ส่งผลให้ราษฎรกว่า 1,500 คนต้องละทิ้งบ้านเรือนเรือกสวนไร่นาและหลบหนีไป อีกกว่า 1,000 คนต้องไปพักอาศัยกับชาวบ้านในหมู่บ้านใกล้ๆ กัน อีกหลายร้อยไปหลบซ่อนตามป่าเขา ผู้หญิงสี่คนได้คลอดลูกระหว่างการหลบซ่อนตัว คนหนึ่งต้องคลอดในถ้ำ ผู้อพยพเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการคุ้มครองอย่างเร่งด่วน ที่ผ่านมาพวกเขายังไม่ได้เก็บเกี่ยวพืชผล ทำให้ต้องประสบกับวิกฤตด้านอาหารแน่นอน"

"ในวันที่ 11 ตุลาคม 2558 กองทัพพม่าเริ่มยิงปืนใหญ่ถล่มกองบัญชาการของกลุ่ม SSPP/SSA ที่บ้านไฮ เขตเมืองเกซี ทำให้เกิดภัยคุกคามต่อพลเรือนนับพัน ๆ คน ในช่วงหลายวันที่ผ่านมา ยังมีการระดมกำลังทหารในพื้นที่เพิ่มขึ้นอีกหลายร้อยนาย ทำให้เกิดความหวาดกลัวว่าจะมีการปฏิบัติการโจมตีในพื้นราบเร็ว ๆ นี้ ในวันนี้ กองทัพพม่าเริ่มเปิดฉากโจมตี SSPP/SSA ในเขตเมืองต้างยาน การโจมตีเหล่านี้เสี่ยงจะทำให้คนต้องอพยพออกไปเพิ่มขึ้นในเร็วๆ นี้" แถลงการณ์ระบุ

"องค์กรชุมชนรัฐฉานขอประณามอย่างหนักแน่นต่อปฏิบัติการเชิงรุกครั้งนี้ รวมทั้งการยิงโจมตีพลเรือนโดยไม่เลือกเป้าหมาย และการบังคับให้พลเรือนต้องละทิ้งถิ่นฐานบ้านเรือนของตนเอง การโจมตีเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการทางทหารอย่างเป็นระบบในช่วงหลายปีที่ผ่านมาของรัฐบาลพม่า ทั้งนี้เพื่อยึดครองพื้นที่ของกลุ่ม SSPP/SSA นับเป็นการละเมิดข้อตกลงหยุดยิงที่มีผลบังคับใช้อยู่และมีการลงนามตั้งแต่เดือนมกราคม 2555"

"การเปิดฉากโจมตีครั้งใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นไม่นานก่อนจะมีการลงนามความตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ (Nationwide Ceasefire Agreement - NCA) แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลพม่าไม่สนใจการเจรจาทางการเมือง เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้ง และยังคงเดินหน้าตามยุทธศาสตร์เหมือนในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา โดยใช้กำลังยึดและปกครองดินแดนของกลุ่มชาติพันธุ์  กล่าวอีกอย่างหนึ่ง ความตกลงหยุดยิงทั่วประเทศที่ยังไม่ได้ข้อสรุป เป็นเพียงยุทธิวิธีแบ่งแยกและปกครอง มีการยอมสงบศึกกับกลุ่มติดอาวุธบางกลุ่ม แต่เร่งเดินหน้าปราบปรามอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งจะไม่ช่วยให้เกิดสันติภาพ"

"ด้วยเหตุดังกล่าว ถ้าประชาคมนานาชาติต้องการให้เกิดสันติภาพอย่างแท้จริงในพม่า ต้องมีการประณามอย่างเร่งด่วนต่อปฏิบัติการโจมตีครั้งใหม่นี้ และกดดันให้รัฐบาลพม่ายุติการรุกคืบเข้าไปในพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์ และให้ถอนทหารออกจากบริเวณนั้นให้หมด"

"องค์กรชุมชนรัฐฉานกระตุ้นแหล่งทุนระหว่างประเทศ ให้จัดให้มีความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วนกับผู้ที่ต้องอพยพหลบหนีในตอนกลางของรัฐฉาน โดยเป็นการจัดสรรความช่วยเหลือผ่านองค์กรที่ตั้งอยู่ในชุมชนต่างๆ"

โดยองค์กรชุมชนรัฐฉานที่ลงนามประกอบด้วย 1) Shan Human Rights Foundation 2) Shan State Development Foundation 3) Shan Sapawa Environmental Organization 4) Shan Youth Power 5) Shan Women’s Action Network

6) Worker Solidarity Association 7) Migrant Worker Federation 8) Shan Literature and Culture Society (Chiang Mai) 9) Shan Literature and Culture Association in Mong Su 10) Shan Youth Network Group

11) Shan Youth Power Group 12) Organizations in Toom toan tai 13) Shan Refugee Committee 14) Koong Jor Refugee Committee 15) Shan Youth Organization

16) Jao Khur Tai Organization 17) Shan Students’ Union  Chiangmai 18) Shan Farmers’ Network 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สปส. เสนอแนวทางเพิ่มเงินใส่กองทุน เตรียมรับมือค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น

$
0
0

สปส. เสนอมาตราการหาเงินเข้ากองทุน รับรองการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตน เผยอาจจะขยับฐานเงินเดือนจาก 15,000 ไปที่ 20,000 บาท ผู้ประกันตนอาจจ่ายเพิ่มเป็นไม่เกิน 1,000 บาท

เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2558 นายโกวิท สัจจวิเศษ รักษาการเลขาธิการ สำนักงานประกันสังคม หรือ สปส. ระบุว่า กฎหมายประกันสังคมฉบับใหม่ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์หลายกรณี เช่น ขยายความคุ้มครองลูกจ้างชั่วคราวทุกประเภทของส่วนราชการ ทั้งรายวันและรายเดือน ทั้งกรณีเจ็บป่วย ทุพพลภาพ คลอดบุตร สงเคราะห์ชราภาพ และเสียชีวิต ทำให้จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในทุกสิทธิประโยชน์ รวมปีละประมาณ 4,500 ล้านบาท 

ทั้งนี้ จึงเตรียมแนวทางหาเงินมาเติมใส่กองทุน เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อกองทุนในระยะยาว คือ

1.การขยายฐานเงินเดือนของผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบจากเดิมต่ำสุด 1,650 บาทต่อเดือน และสูงสุดอยู่ที่ 15,000 บาทต่อเดือน ซึ่งข้อมูลเบื้องต้นพบว่า ควรจะเพิ่มฐานเงินเดือนต่ำสุดที่ 3,000 บาทต่อเดือน และสูงสุดกว่า 20,000 บาทต่อเดือน

2.ปรับแนวทางการลงทุน โดยมีการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ เช่น การซื้อที่ดิน อาคาร ซึ่งกฎหมายฉบับใหม่เปิดช่องให้ทำได้ รวมทั้งแก้ไขระเบียบให้การลงทุนต่างประเทศทำได้คล่องตัวมากขึ้น

ปัจจุบันการจ่ายเงินสมทบของผู้ประกันตนสูงสุดจะอยู่ที่ร้อยละ 5 ของเงินเดือน ซึ่งเพดานสูงสุดอยู่ที่ฐานเงินเดือน 15,000 บาท คือ จ่ายสมทบสูงสุดเดือนละไม่เกิน 750 บาท หากมีการปรับฐานเงินเดือนขึ้นไปสูงสุดที่ประมาณ 20,000 บาท การจ่ายเงินสมทบกองทุนสูงสุดคือไม่เกินเดือนละ 1,000 บาท

สิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนจะได้รับตามพระราชบัญญัติประกันสังคมฉบับใหม่ คลอบคลุมในหลายกรณี ได้แก่ กรณีผู้ประกันตนเจ็บป่วย ตาย ทุพพลภาพ ว่างงาน คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร โดยสาระสำคัญในการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตน อาทิเช่น

กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเพิ่มค่าส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคและค่าใช้จ่ายเป็นเงินช่วยเหลือเบื้อง ต้นให้แก่ผู้ประกันตน ในกรณีได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์โดยปัจจุบันไม่ครอบคลุม ในส่วนผู้ประกันตนที่เจ็บป่วยเรื้อรังหรือทุพพลภาพและถึงแก่ความตายจะได้รับ เพิ่มสิทธิประโยชน์ แม้ส่งเงินสมทบไม่ครบตามสิทธิ ส่วนผู้ประกันตนที่ทำให้ตนเองบาดเจ็บ ทุพพลภาพ และเสียชีวิต หรือสูญเสียสมรรถภาพทางร่างกายโดยไม่เกิดจากการทำงาน จะได้รับเงินทดแทนในอัตราไม่เกินร้อยละ 50 ของค่าจ้าง จากเดิมไม่ได้รับสิทธิ ทั้งนี้ ในขณะที่ผู้ทุพพลภาพก่อน วันที่ 31 มีนาคม 2538 ซึ่งเป็นวันที่สำนักงานประกันสังคมได้แก้ไขกฎหมายเพื่อขยายความคุ้มครองผู้ ทุพพลภาพ ส่งผลให้ผู้ทุพพลภาพ 2 กลุ่มนี้ได้รับสิทธิประโยชน์ไม่เท่ากัน คือกลุ่มหนึ่งได้รับสิทธิประโยชน์เพียง 15 ปี และอีกกลุ่มหนึ่งได้รับตลอดชีวิต ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตลอดชีวิตเท่ากัน

กรณีคลอดบุตรผู้ประกันตนจะมีสิทธิได้รับประโยชน์ ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ๆ ละ 13,000 บาท รวมถึงได้เงินสงเคราะห์การหยุดงาน 90 วันไม่เกิน 2 ครั้งสำหรับผู้ประกันตนหญิง ส่วนกรณีสงเคราะห์บุตร สำหรับบุตรอายุ 0 - 6 ปี มีสิทธิได้รับคราวละไม่เกิน 3 คน เหมาจ่ายรายเดือน เดือนละ 400 บาท/คน จากเดิมที่กำหนดไว้ 2 คนเท่านั้น  ขณะที่กรณีว่างงานเพิ่มให้ความคุ้มครองสิทธิประโยชน์กรณีนายจ้างหยุดกิจการชั่วคราว เนื่องจากเหตุสุดวิสัยโดยยังไม่มีการเลิกจ้าง และผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน เช่น โรงงานถูกน้ำท่วม จะได้รับเงินในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน จากเดิมที่ไม่ให้การคุ้มครอง รวมทั้งกรณีไม่สามารถจ่ายเงินสมทบได้จากเหตุสุดวิสัย (ปัจจุบันผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับเมื่อถูกเลิกจ้างหรือลาออกเท่านั้น)

กรณีตาย เงินสงเคราะห์กรณีที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย ได้ปรับแก้ไข : ถ้าก่อนถึงแก่ความตาย ผู้ประกันตนได้ส่งเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 36 เดือน แต่ไม่ถึง 120 เดือน ให้จ่ายเงินสงเคราะห์เป็นจำนวนเท่ากับ 50% ของค่าจ้างรายเดือน คูณด้วย 4 (เท่ากับค่าจ้างประมาณ 2 เดือน) จากเดิมจ่ายแค่ 1.5 เดือน แต่ถ้าผู้ประกันตน จ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 120 เดือน ให้จ่าย 50% ของค่าจ้าง คูณด้วย 12 (เท่ากับค่าจ้างประมาณ 6 เดือน) จากเดิมจ่ายแค่ 5 เดือนปรับปรุงหลักเกณฑ์การได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่ม : ผู้ประกันตนสามารถทำหนังสือ ระบุบุคคลผู้มีสิทธิรับเงินบำเหน็จชราภาพไว้ล่วงหน้าได้ โดยมีสิทธิได้รับร่วมกับทายาท หากไม่มีทายาท หรือไม่มีบุคคลที่ทำหนังสือระบุจะให้สิทธิแก่ พี่ น้อง ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา (ปัจจุบัน : ผู้ประกันตนที่ไม่มีทายาท (บิดา มารดา บุตร และคู่สมรส) ไม่สามารถทำหนังสือระบุบุคคลผู้มีสิทธิรับเงินบำเหน็จ ชราภาพไว้ล่วงหน้าได้ โดยเงินบำเหน็จชราภาพจะตกเป็นของกองทุน)  ทั้งนี้ รวมไปถึงผู้ประกันตนที่ไม่มีสัญชาติไทย หากทำงานครบตามสัญญาจ้างและไม่ประสงค์ทำงานต่อในประเทศไทย ให้มีสิทธิรับเงินชราภาพแม้จะส่งเงินสมทบไม่ถึง 180 เดือนก็ตาม

อีกทั้ง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับใหม่ ยังกำหนดให้รัฐบาลร่วมส่งเงินสมทบให้กับผู้ประกันตนมาตรา 40 ในอัตราไม่เกินครึ่งหนึ่งที่ผู้ประกันตนนำส่ง และยังขยายการคุ้มครองไปยังลูกจ้างชั่วคราวทุกประเภทของส่วนราชการ  (ปัจจุบัน คุ้มครองเฉพาะลูกจ้างชั่วคราวรายเดือน)ให้เป็นผู้ประกันตนมาตรา33 โดยส่วนราชการต้องเป็นผู้ยื่นทะเบียนและนำส่งเงินสมทบให้และจะครอบคลุมถึง ลูกจ้างรายวันด้วย อย่างไรก็ตาม ยังขยายความคุ้มครองให้กับลูกจ้างไทยของนายจ้างที่มีสำนักงานในประเทศ และไปประจำทำงานในต่างประเทศ

นอกจากนี้ พ.ร.บ.ฉบับใหม่ ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อกำกับดูแลความโปร่งใส ได้มาตรฐาน และผู้ที่จะเข้ามาเป็นคณะกรรมการประกันสังคม จะต้องมีคุณสมบัติตามระเบียบที่กำหนด และต้องแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและ ปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

ที่มาบางส่วนจาก : Voice TV

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายงาน: ศาลทหารเตรียมชี้ชะตาคดี 112 เขียนผนังห้องน้ำ คดีที่ 2 ของชายสูงวัย

$
0
0

 

พรุ่งนี้ (16 ต.ค.) ศาลทหารมีนัดพิพากษา คดี 112 ที่นายโอภาส วัย 68 ปีตกเป็นจำเลย คดีนี้นับเป็นคดีที่สองของเขา เกิดขึ้นในระหว่างที่เขายังถูกคุมขังในเรือนจำ อันเป็นผลจากคดีแรก

ในคดีแรก โอภาส ผู้มีอาชีพเป็นพ่อค้าขายเสื้อ เข็มกลัด ตามตลาด ถูกนำตัวมาแถลงข่าวใหญ่โตที่กองปราบฯ โดย พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารรัฐธรรมนูญผู้เป็นมือปราบคดี 112  ข้อหาของเขาคือการเขียนผนังห้องน้ำด้วยข้อความหมิ่นสถาบัน

ตั้งแต่วันแถลงข่าวเป็นต้นมา เขาก็ไม่ได้เจอกับอากาศบริสุทธิ์นอกเรือนจำอีกเลย

เรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 ต.ค.2557 ที่ห้างซีคอนสแควร์ เขาถูกรปภ.เข้าชาร์จ หลังไปขีดเขียนผนังห้องน้ำห้างวิจารณ์การเมือง พนักงาน รปภ. และผู้จัดการห้างเข้ามาเจรจา เขายอมรับแต่โดยดีและจ่ายค่าปรับ 2,000 บาทสำหรับค่าทำความสะอาดรอยปากกาเมจิกที่ขีดเขียนไว้ แต่เรื่องไม่จบลงเพียงเท่านั้นเพราะผู้จัดการตัดสินใจโทรแจ้งทหาร เขาจึงถูกนำตัวมาสอบสวนและแถลงข่าวดังกล่าว

ข้อความที่โอภาสเขียนถูกแจกจ่ายให้กองทัพนักข่าวที่มาในวันแถลงข่าว เนื้อหาแบ่งเป็น 7 บรรทัดสั้นๆ ทั้งหมดเป็นการวิพากษ์วิจารณ์คณะรัฐประหารที่ทำการรัฐประหาร โดยเฉพาะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีอยู่ 1 ประโยคที่พาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์ โดยเป็นการระบุว่าคณะรัฐประหารมีการ “โหน” สถาบันกษัตริย์

โอภาสถูกขังในชั้นสอบสวน มีความพยายามยื่นประกันหลายครั้ง โดยอ้างเรื่องการรวบรวมพยานหลักฐานเสร็จสิ้นแล้วและผู้ต้องหามีปัญหาสุขภาพ เป็นโรคเส้นเลือดในจอรับภาพบวมซึ่งอาจแตกและทำให้ตาบอด โดยปกติผู้ต้องหาต้องพบแพทย์ทุก 2-3 เดือน แต่ศาลทหารไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยระบุว่าเป็นคดีร้ายแรง

เขาติดคุกอยู่นาน 5 เดือนเศษ ศาลทหารจึงนัดฟังคำพิพากษาต้องกล่าวไว้ด้วยว่าคดีของโอภาสนับเป็นคดี 112 คดีแรกที่ศาลทหารอนุญาตให้คนนอกเข้าฟังคำพิพากษาซึ่งมีผู้สังเกตการณ์คดีทั้งจากองค์กรในประเทศและระหว่างประเทศ ทั้งที่ปกติจะพิจารณาคดีและอ่านคำพิพากษาเป็นการลับ นอกจากนี้ยังเป็นคดีแรกเช่นกันที่ศาลทหารลงโทษจำคุก 3 ปี เมื่อรับสารภาพจึงลดโทษเหลือ 1 ปีครึ่ง

แม้แต่ในศาลอาญาเองคดี 112 ที่โดนลงโทษจำคุกเพียง 3 ปีก็ถือว่ามีน้อยมาก ส่วนใหญ่จะอยู่ที่กรรมละ 5 ปี ขณะที่ศาลทหาร การพิจารณาคดีที่ผ่านมาการลงโทษจำคุกอยู่ที่ กรรมละ 10 ปี 9 ปี และ 5 ปี ไม่แน่นอน

ข้อมูลจากผู้ติดตามคดีใกล้ชิดระบุว่า หลังฟังคำพิพากษา ครอบครัวของโอภาสอันหมายถึงเพียง ภรรยาและลูกสาว ดีใจและมีกำลังใจดีขึ้นมาก เมื่อรู้ว่าอีกราว 1 ปี ชายแก่ผู้เงียบขรึมก็จะได้ออกจากเรือนจำ โอภาสเองก็สดใสขึ้นมากเมื่อเขาได้รับทราบวันกำหนดปล่อยตัวในวันที่ 2 ม.ค.2559 ความเครียดและโศกเศร้าดูบรรเทาเบาบางลงสำหรับครอบครัวพ่อค้าแม่ค้ารายนี้ พวกเขานัดแนะกันจะเลี้ยงฉลองใหญ่ให้กับอิสรภาพที่ยังมาไม่ถึง

ขณะเดียวกันโอภาสก็ปรับตัวได้มากขึ้นแล้วสำหรับความเป็นอยู่ในเรือนจำ หลายเดือนก่อนเขาบอกว่าถูกมอบหมายให้ดูแลมุมห้องสมุดมุมเล็กๆ ในแดนที่เขาอยู่ เขากล่าวว่า ภาระนี้ค่อนข้างหนัก เพราะเขาต้องคอยซ่อมแซมหนังสือที่ผู้ต้องขังหนุ่มมักฉีกรูปดาราสาวๆ ออกไปเสมอ และเขาเห็นว่าหนังสือที่มีก็ยังไม่มีความหลากหลายน่าอ่านเพียงพอนัก

ในระหว่างนี้เอง ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งรับดูแลคดีแรกของโอภาสก็ได้รับแจ้งข่าวคดีที่สอง ณ ผนังห้องน้ำของห้างสรรพสินค้าเดิม แต่ต่างชั้นออกไป คราวนี้เจอที่ชั้น 1  ตำรวจแจ้งว่ามีพนักงานไปพบเห็นแล้วแจ้งทหาร ทหารจึงมาแจ้งความไว้ จากนั้นปรากฏว่าพนักงานสอบสวนได้เข้าไปสอบปากคำจำเลยในเรือนจำ และจำเลยได้ให้การรับสารภาพไปทั้งหมด ทั้งที่ทนายจำเลยได้บอกกับจำเลยไว้ว่าหากจะมีการสอบปากคำให้แจ้งทนายเพื่อให้มาอยู่ฟังด้วย

“ตอนนั้นผมกลัว ช็อค ผมทำอะไรไม่ถูก” ชายแก่บอกกับทนาย

คดีที่สอง ยื่นฟ้องต่อศาลทหารในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ข้อความที่ปรากฏในคำฟ้องรุนแรงกว่าครั้งแรกเพราะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์บทบาททางการเมืองของสถาบันกษัติย์

ในคดีที่สองนี้ ศาลทหารนัดพิพากษาวันที่ 16 ต.ค.เวลา 9.00 น. ก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน ทนายความได้ยื่นคำร้องประกอบคำรับสารภาพเพื่อให้ศาลพิจารณาและมีจดหมายเขียนด้วยลายมือภรรยาของโอภาสแนบไปด้วย ในคำร้องประกอบดังกล่าวระบุว่าจำเลยสูงวัยรายนี้มีความสำนึกผิดและเข็ดหลาบแล้ว คดีที่ 2 นี้พฤติการณ์แห่งคดีนั้นเกิดเหตุในวันเดียวกับคดีแรกจึงขอให้ศาลเมตตารอการลงโทษหรือ “นับโทษไปพร้อมกับคดีแรก” ซึ่งหมายถึง หากศาลลงโทษจำคุก 3 ปีลดเหลือ 1 ปีครึ่งเท่าคดีแรก เขาจะได้ออกตามกำหนดเดิมคือ 2 ม.ค.59 แต่หากศาลลงโทษจำคุกในคดีที่สองนี้มากกว่าเดิม เช่น 5 ปีลดเหลือ 2 ปีครึ่ง เขาจะต้องติดคุกต่อจากวันที่ 2 ม.ค.ปีหน้าต่อไปอีก 1 ปี ในขณะเดียวกัน ฝั่งอัยการก็ได้ขอให้ศาล “นับโทษต่อจากคดีแรก” หมายความว่าต้องถูกคุมขังจนเสร็จสิ้นคดีแรกแล้วจึงนับ 1 ใหม่ในคดีที่สอง

โอภาส ไม่เคยบอกเล่าแก่ใครโดยละเอียดว่าทำไมเขาจึงทำเช่นนั้น แต่จากการพูดคุยกับเขาและผู้ใกล้ชิด เราพบว่าเขาเริ่มหันมาสนใจการเมืองอย่างจริงจังด้วยการฟังวิทยุชุมชนเมื่อปี 2552 โดยระบุว่า “ฟังทั้งเหลืองทั้งแดง” ในตอนเริ่มแรก ต่อมามีเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงปี 2553 จนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก แม้เขาไม่เคยไปร่วมชุมนุมกับกลุ่มไหนเลย แต่ความเครียดต่อสถานการณ์ทางการเมืองนั้นมีสะสมเรื่อยมา นอกจากนี้ในช่วงหลังเขาเริ่มหัดเล่นอินเทอร์เน็ตและทำให้ค้นหาข้อมูลข่าวสารได้มาก โดยเฉพาะสื่อภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษาที่ชายผู้จบเพียง ปวส.ฝึกฝนด้วยตนเองจนเชี่ยวชาญตั้งแต่วัยหนุ่ม

การรัฐประหาร 22 พ.ค.2557  น่าจะเป็นเหตุที่ทำให้เขาโกรธแค้นและเครียดมากกับสถานการณ์การเมือง ขณะเดียวกันเขาเป็นคนโลกส่วนตัวสูง มีบุคลิกเงียบขรึม มีเพื่อนนักดนตรีไม่กี่คนและเกือบทั้งหมดมีแนวคิดอนุรักษ์นิยม ตรงกันข้ามกับเขา เขาจึงไม่สามารถพูดคุยเรื่องการเมืองได้ ประกอบกับโอภาสไม่เล่นโซเชียลมีเดียใดๆ ทำให้เขาไม่มีช่องทางสนทนาหรือแสดงออกถึงความขับข้องหรือแนวคิดทางการเมืองของตน

เมื่อสอบถามจากผู้ติดตามคดีใกล้ชิดและเคยเข้าเยี่ยมโอกาสที่เรือนจำหลายครั้ง ได้ความเพิ่มเติมอีกว่า

“เท่าที่แกอธิบายก็คือ แกมองว่าทหารหรือคณะรัฐประหารใช้สถาบันกษัตริย์เป็นเครื่องมือในการทำรัฐประหาร แกไม่ได้ต้องการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์...แกไม่พูดด้วยว่าแกรักทักษิณหรือไม่ แต่แกพูดว่าแกไม่เอารัฐประหาร ตั้งแต่ 49 แล้ว แต่แกก็ไม่เคยชุมนุมการเมือง”

“ไปกี่ครั้งแกก็มักชวนคุยเรื่องเพลงเป็นหลัก การคุยเรื่องเพลงทำให้แกสดชื่นขึ้น ชวนคุยเรื่องเดอะวอยซ์บ้าง แนะนำให้ฟังเพลงนั้นเพลงนี้บ้าง”

“ครอบครัวของแกเครียดมาก โดยเฉพาะลูกสาวที่สนิทกับพ่อมาก แรกๆ มีอาการซึมเศร้า รับเหตุการณ์ที่เกิดไม่ได้ ขณะที่เมียแกก็ต้องขายของคนเดียว หลังจากรู้ข่าวคดีที่สอง เมียแกร้องไห้อยู่หลายวัน เครียดมาก แล้วก็เริ่มทรุดเพราะทำงานหนักด้วย ถึงกับเป็นลมล้มจนฟกช้ำดำเขียว”

ในเรื่องดนตรี โอภาสมีความสามารถในการเล่นดนตรีเกือบทุกชนิด เป็นความหลงใหลดนตรีส่วนตัวและมานะฝึกหัดด้วยตัวเอง เขาเป็นมือกีตาร์โซโลให้วงดนตรีวงหนึ่ง เคยเล่นกันจริงจังอยู่บ้างและสุดท้ายทำเป็นงานอดิเรก คนที่เข้าเยี่ยมเขาเล่าว่า โอภาสฟังดนตรีหลากหลายนับตั้งแต่ยุค 60s เรื่อยมาจนถึงเพลงใหม่ๆ ในปัจจุบัน

“ดนตรีที่เราคุยกันมันเยอะมาก จนงงว่าแกชอบแนวไหน แต่เพลง A whiter shade of pale ของ Procol Harum เป็นเพลงแรกที่เราเริ่มต้นสนทนาเรื่องเพลงกัน เข้าใจว่าหลักๆ แกชอบ The Beatles แกเคยบอกว่าการแต่งทุกชุดของบีเทิลเป็นเพลงดี 95% ขณะที่วงอื่นจะมีเพลงเด่นไม่กี่เพลงในอัลบั้ม แล้วแนวดนตรีของบีเทิลก็เปลี่ยนไปเรื่อย พัฒนาไปเรื่อย ไม่มีมากินบุญเก่า” คนใกล้ชิดกล่าว

นอกเหนือจากบทสนทนาเรื่องเพลง ยังมีเพลงเพลงเพลงหนึ่งที่โอภาสแต่งเนื้อเพลงและคอร์ด จากในเรือนจำส่งออกมาเพื่อให้คนใกล้ชิดได้ร้อง และเขาคาดหวังให้สาธารณะได้ฟังเพลงนี้ด้วยเช่นกัน ชื่อเพลง Status quo

Children say whatever they see 
Unlike me who couldn't be such free 

* I'm not saying any words of wisdom 
Neither singing any verses of freedom 

Some folks say no news is good news 
I don't care cos it's only a few 

(*) 

** Keep silent you'll be distant from jail 
Keep saying you'll be threatened like hell 
Keep silent you'll be distant from jail 
Keep saying you'll be threatened like hell 
Like hell, like hell, like hell 

The so called tyrant's slying it's game 
Without a word, I know it's the same 

(*,**,**)

 

ฟังได้ที่

https://soundcloud.com/bravery-jam/status-quo-written-by-opas-cover-by-jammy


หรือ https://www.youtube.com/watch?v=5Y5vWhfPKH0

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กกต. แนะรัฐธรรมนูญใหม่ ควรให้อำนาจ เลื่อนวันเลือกตั้งได้

$
0
0

โฆษก กรธ. เผยประเด็นหลักจากการหารือกับ กกต. ให้อำนาจเลื่อนวันเลือกตั้ง พร้อมคงอำนาจเดิมไว้ พร้อมระบุตอนนี้พิจารณา รธน. ถึงหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยแล้ว

15 ต.ค. 2558 เว็บข่าวรัฐสภารายงานว่า นรชิต  สิงหเสนี โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงผลความคืบหน้าการประชุม กรธ. ว่า วันนี้ที่ประชุมได้เชิญคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยมี ศุภชัย สมเจริญ ประธานกกต. ธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์, บุญส่ง น้อยโสภณ, ประวิช รัตนเพียร, สมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. และภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต. เข้าร่วมการประชุม ซึ่งคณะกรรมการ กกต. ได้เสนอต่อ กรธ. ในประเด็นการร่างรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง จำนวน 5 ประเด็นหลัก

โดยประเด็นแรกคือ การกำหนด กกต. มีอำนาจเลื่อนวันเลือกตั้ง และมีอำนาจควบคุม สั่งการ โยกย้ายข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตลอดจนสั่งลงโทษทางวินัยได้ รวมทั้งควรกำหนดให้ กกต. ทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมและดำเนินการหรือจัดให้มีการเลือกตั้ง

ประเด็นที่สองเป็นประเด็นในเรื่องของกระบวนการการเลือกตั้ง โดย กกต. เสนอให้นับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง เว้นมีเหตุความจำเป็นเฉพาะท้องที่ พร้อมสนับสนุนการใช้เลือกตั้งโดยใช้เครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์

ประเด็นที่สามเป็นประเด็นเกี่ยวกับการเลือกตั้งให้มีความยุติธรรม ซึ่งทาง กกต. เสนอว่า ควรกำหนดให้ กกต. มีอำนาจให้ใบแดงก่อนประกาศผลการเลือกตั้งได้ และกรณีที่เห็นว่า การเลือกตั้งส่อไปในทางทุจริต กกต. ควรมีอำนาจสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้

ประเด็นที่สี่ เรื่องการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ควรให้มีการศึกษาแก่ประชาชนเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระ มหากษัตริย์เป็นประมุข และส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน

สำหรับประเด็นสุดท้าย คือ ที่มาของ กกต. ควรกำหนดให้องค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหา กกต. เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ปี 2550 และให้มีวาระดำรงตำแหน่ง 7 ปีและมีวาระเป็นการเฉพาะตัว

ทั้งนี้ที่ประชุม กรธ. หลังได้รับฟังข้อเสนอแนะของ กกต. แล้ว เห็นว่าจะนำเรื่องดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาอย่างละเอียดต่อไป

โฆษก กรธ. กล่าวต่ออีกว่า สำหรับการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญนั้น ขณะนี้ที่ประชุมได้พิจารณาเป็นรายมาตราถึงความในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยแล้ว ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วเสร็จจะแถลงผลการประชุมให้ทราบต่อไป

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รัฐบาลพม่า-8 กลุ่มชาติพันธุ์ลงนามหยุดยิงทั่วประเทศ-อีก 12 กลุ่มยังไม่ลงนาม

$
0
0

หลังสงครามกลางเมือง 67 ปี วันนี้รัฐบาลพม่า-กลุ่มชาติพันธุ์ 8 กลุ่ม รวมทั้งกองทัพรัฐฉาน กะเหรี่ยงเคเอ็นยู ลงนามหยุดยิงทั่วประเทศ 'เต็ง เส่ง' หวังให้ข้อตกลงหยุดยิงเป็น 'ของขวัญ' ชนรุ่นหลัง ขณะที่อีก 12 กลุ่ม ซึ่งรวมทั้งกองทัพสหรัฐว้ายังไม่ลงนาม ด้านกองทัพพม่ายังเปิดฉากโจมตี 5 กลุ่มชาติพันธุ์รวมทั้งคะฉิ่น KIA และกองทัพรัฐฉาน-เหนือ จนมีผู้อพยพระลอกใหม่

พิธีลงนามข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ ระหว่างรัฐบาลพม่า กับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ 8 กลุ่ม (ที่มา: เฟซบุ๊คเพจ MMPresidentUTheinSein)

พิธีลงนามข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ ระหว่างรัฐบาลพม่า กับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ 8 กลุ่ม ในภาพถัดจากประธาธิบดีเต็ง เส่ง ทางด้านขวาในภาพคือ นพ.จายหมอกคำ รองประธานาธิบดีคนที่ 1 และญัณ ทุน รองประธานาธิบดีคนที่ 2 ส่วนทางด้านซ้ายในภาพเป็นผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์

ที่นั่งถัดจากประธานาธิบดีพม่าคือ พล.อ.มูตู เซพอ ประธานสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต่อสู้กับพม่ามานับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2491 หรือเมื่อ 67 ปีที่แล้ว นับเป็นสงครามกลางเมืองที่ดำเนินมายาวนานที่สุดแห่งหนึ่งของโลก (ที่มา: เฟซบุ๊คเพจ MMPresidentUTheinSein)

ผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ 8 กลุ่ม ถ่ายรูปร่วมกับผู้นำรัฐบาลพม่า หลังพิธีลงนามข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) ที่เนปิดอว์ เมืองหลวงของพม่า เมื่อ 15 ต.ค. 2558 (ที่มา: เฟซบุ๊คเพจ MMPresidentUTheinSein)

 

รัฐบาลพม่า-8 กลุ่มชาติพันธุ์ ลงนามหยุดยิงทั่วประเทศ 'เต็ง เส่ง' หวังให้เป็นของขวัญชนรุ่นหลัง

15 ต.ค. 2558 ที่เนปิดอว์ เมืองหลวงของพม่าวันนี้ (15 ต.ค.) มีพิธีลงนามข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ (Nationwide Ceasefire Agreement) หรือ NCA ระหว่างรัฐบาลพม่า กับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ 8 กลุ่ม ประกอบด้วย

1. แนวร่วมนักศึกษาพม่าทั้งมวลเพื่อประชาธิปไตย (All Burma Students’ Democratic Front  - ABSDF) 2. พรรคปลดปล่อยอาระกัน (Arakan Liberation Party -ALP) 3. กองทัพแนวร่วมแห่งชาติชิน (Chin National Front -CNF) 4. กองทัพกะเหรี่ยงประชาธิปไตยผู้มีความเมตตา (Democratic Karen Benevolent Army -DKBA) หรือกลุ่มของซอ ละเพว หรือ นะคามวย 5. สภาสันติภาพแห่งกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU/KNLA Peace Council หรือ KPC) 6. สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union - KNU) และ 7. องค์กรปลดปล่อยแห่งชาติปะโอ Pa-O National Liberation Organization (PNLO) และ 8. สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน/กองทัพรัฐฉาน (RCSS/SSA)

โดยในรายงานของสถานีโทรทัศน์เสียงประชาธิปไตยแห่งพม่า (DVB) ระบุว่า มีการกล่าวสุนทรพจน์ก่อนเริ่มพิธีลงนาม ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง กล่าวว่า "ข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศเป็นของขวัญประวัติศาสตร์จากพวกเราสำหรับชนรุ่นหลัง" และกล่าวด้วยว่า "นี่เป็นมรดกของพวกเรา"

หลังจากนั้นเป็นการกล่าวโดยผู้นำสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) มูตู เซพอ ก่อนที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะมีการลงนามในเวลา 09.41 น.

โดยสถานีโทรทัศน์เสียงประชาธิปไตยแห่งพม่า (DVB) รายงานว่า มีเข้าร่วมในพิธีลงนามนับพันคน ประกอบด้วยรัฐมนตรีของรัฐบาลพม่า ผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ นักการทูตต่างชาติ ผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญ และสักขีพยาน โดยพิธีลงนามจัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมนานาชาติเมียนมาร์แห่งที่ 2 (Myanmar International Convention Centre II) ที่เนปิดอว์ โดยรัฐบาลพม่าพยายามจัดให้มีการลงนามเสมือนเป็นการยุติความขัดแย้งลงชั่วคราว หลังจากที่การต่อสู้ระหว่างกองทัพรัฐบาลพม่ากับกลุ่มชาติพันธุ์ดำเนินมาอย่างยาวนานถึง 67 ปี นับเป็นสงครามกลางเมืองที่ยาวนานที่สุดที่เกิดขึ้นครั้งหนึ่งในโลก

ผู้แทนจากองค์การสหประชาชาติ สหภาพยุโรป อินเดีย จีน ญี่ปุ่น และไทย ได้เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน เช่นเดียวกับกลุ่มชาติพันธุ์ 8 กลุ่มที่ลงนามกับรัฐบาลพม่า ซึ่งนำโดย ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง และผู้บัญชาการสูงสุดกองทัพพม่า พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย

อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศในวันนี้ถูกลดความสำคัญลงเนื่องจากการเห็นคัดค้านของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มใหญ่ที่ปฏิเสธที่จะลงนาม นอกจากนี้ผู้นำพรรคฝ่ายค้านอย่าง ออง ซาน ซูจี ก็ไม่ได้เข้าร่วมด้วย โดยส่งวิน เถ่ง คณะกรรมการบริหารกลางของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) เข้าร่วมแทน

12 กลุ่มชาติพันธุ์ยังไม่ลงนามหยุดยิงทั่วประเทศ
มีกองทัพสหรัฐว้า-เมืองลา-พรรครัฐมอญใหม่-กลุ่มคะเรนนี ร่วมด้วย

ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานเพิ่มเติมว่า กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่ได้ร่วมลงนามหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) เช่น 1) กองทัพสหรัฐว้า (United Wa State Army - UWSA) ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีกองกำลังมากที่สุดในพม่า มีฐานอยู่ในพื้นที่รัฐฉานติดกับชายแดนจีน จนถึงชายแดนไทย-พม่า  2) กลุ่มหยุดยิงเมืองลา (National Democratic Alliance Army - NDAA) เคลื่อนไหวอยู่ที่เมืองลา รัฐฉาน บริเวณชายแดนจีน-พม่า แต่เดิมระบุว่าขอรอดูท่าที แต่เป็นที่แน่นอนแล้วว่าไม่ร่วมลงนามหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA)

3) พรรครัฐมอญใหม่ (New Mon State Party - NMSP) เคลื่อนไหวในพื้นที่รัฐมอญ 4) พรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะเรนนี (Karenni National Progressive Party – KNPP) เคลื่อนไหวในพื้นที่รัฐคะเรนนี ตรงข้าม จ.แม่ฮ่องสอน 5) แนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติปะหล่อง (Palaung State Liberation Front - PSLF) และ 6) องค์กรแห่งชาติว้า (Wa National Organiztion - WNO) ทั้ง 2 กลุ่มเป็นกองกำลังขนาดเล็กในพื้นที่รัฐฉาน 7) สภาสังคมนิยมแห่งชาตินาคาแลนด์-คะปลัง (National Socialist Council of Nagaland-Khaplang - NSCN-K) ที่อยู่บริเวณชายแดนพม่า-อินเดีย

 

ในจำนวนนี้มี 5 กลุ่มชาติพันธุ์ ยังคงสู้รบกับกองทัพพม่า

ส่วนกลุ่มที่เคยหารือเรื่องหยุดยิงทั่วประเทศกับรัฐบาลพม่า แต่ปฏิเสธข้อเสนอหยุดยิงทั่วประเทศ และมีการปะทะกับรัฐบาลพม่าอยู่ ได้แก่ 8) องค์กรแห่งอิสรภาพคะฉิ่น/กองทัพแห่งอิสรภาพคะฉิ่น (Kachin Independence Organization - KIO/KIA) ซึ่งกลุ่มดังกล่าวยังคงปะทะกับกองทัพรัฐบาลพม่า โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม มีการปะทะกับกองทัพพม่าที่เมืองผาคาน ในรัฐคะฉิ่น 9) พรรคก้าวหน้ารัฐฉาน/กองทัพรัฐฉานเหนือ (Shan State Progressive Party - SSPP) เคลื่อนไหวในพื้นที่รัฐฉาน ซึ่งล่าสุดเมื่อต้นเดือนตุลาคมนี้ กองทัพพม่าได้โจมตีบริเวณโดยรอบฐานบัญชาการของกองทัพรัฐฉานเหนือ ที่บ้านไฮ เมืองเกซี และมีพลเรือนนับพันคนต้องอพยพ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ขณะที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ 3 กลุ่ม ที่ไม่ได้ลงนามหยุดยิงทั่วประเทศ นอกจากนี้รัฐบาลพม่าไม่รับรองสถานะการเจรจาและกำลังสู้รบกันอยู่ด้วย ได้แก่ 10) กองทัพอาระกัน (Arakan Army - AA) 11) กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง หรือดาระอั้ง (Ta’ang National Liberation Army - TNLA) และ 12) กองทัพสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตยเมียนมาร์ (Myanmar National Democratic Alliance Army (MNDAA) หรือกลุ่มโกก้าง โดยกองทัพพม่ากล่าวหาว่าทั้งกองทัพอาระกัน AA ซึ่งมีฐานฝึกอยู่ในรัฐคะฉิ่น และกองทัพตะอาง TNLA ช่วยเหลือกองทัพคะฉิ่น ขณะที่กลุ่มโกก้าง หลังถูกปราบในปี 2552 ต่อมาในต้นปี 2558 ได้เปิดปฏิบัติการทางทหารขนานใหญ่เพื่อชิงพื้นที่คืนจากรัฐบาลพม่าทางตอนเหนือของรัฐฉานติดกับชายแดนจีน

ขณะที่ก่อนหน้านี้ในการประชุมผู้นำกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ ที่เมืองปางซาง เขตปกครองตนเองว้า ในพื้นที่รัฐฉานภาคเหนือ เมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2558 ผู้นำว้า เปา โหยวเฉียง เรียกร้องให้ผู้นำพม่ารับรองกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ ให้เข้าร่วมการเจรจาด้วย (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ธงชัย วินิจจะกูล: โซตัสสะท้อนปัญหาใหญ่ของสถาบันทางสังคมของไทย

$
0
0

หมายเหตุ: บทความนี้แปลและเรียบเรียงใหม่หลายแห่งจาก Thongchai Winichakul, “The Hazing Scandals in Thailand Reflect Deeper Problems in Social Relations,” Perspective, no. 56, 2005, 9 October 2015, by the ISEAS Yusof Ishak Institute, Singapore. Downloadable at http://www.iseas.edu.sg/images/pdf/ISEAS_Perspective_2015_56.pdf

สรุปย่อ

- การรับน้องในสถาบันอุดมศึกษาไทยหรือที่เรียกว่า โซตัส (SOTUS) ทำให้เกิดเหตุการณ์ที่อื้อฉาวจนถึงขั้นเสียชีวิตแทบทุกปี เสียงเรียกร้องให้ยุติประเพณีดังกล่าว มักต้องเผชิญกับฝ่ายสนับสนุนอย่างเหนียวแน่นรวมทั้งจากนักวิชาการและผู้บริหารมหาวิทยาลัย

- โซตัสเฟื่องฟูในไทยเพราะมีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสังคมไทย เป็นพิธีกรรมที่ประมวลและการผลิตซ้ำ “ความเป็นไทย” ที่สำคัญๆ ได้แก่ความสัมพันธ์แบบคนสูงต่ำไม่เท่ากันและสถาบันทางสังคมแบบอิงตัวบุคคล

- การเฟื่องฟูของโซตัส เป็นส่วนหนึ่งของกระแสอนุรักษ์นิยมที่เข้มแข็งขึ้นในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา เป็นปฏิกิริยาที่มีต่อโลกาภิวัตน์และภัยคุกคามจากตะวันตกตามที่คนเหล่านั้นคิด ทั้งยังเป็นผลมาจากลัทธิลุ่มหลงเจ้า (Hyper-royalism) เป็นเหตุให้ในมหาวิทยาลัยมีการประดิษฐ์ประเพณีที่ส่งเสริมความเป็นไทยอย่างแพร่หลาย

- ความสัมพันธ์แบบคนสูงต่ำไม่เท่ากันและสถาบันทางสังคมแบบอิงตัวบุคคล เป็นรากเหง้าของปัญหาร้ายแรงในสถาบันทางสังคมของไทย เพราะทำให้กฎหมาย ระเบียบ จรรยาบรรณวิชาชีพและหลักการซึ่งเป็นพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับสถาบันเชิงสังคมในสังคมที่ซับซ้อน ถูกละเลยจนเป็นเรื่องปกติ


00000000000


ประเพณีการรับน้องในมหาวิทยาลัยไทยแบบที่เรียกว่าโซตัสตกเป็นข่าวพาดหัวบ่อยครั้ง เสียงเรียกร้องให้ยุติประเพณีดังกล่าวเกิดขึ้นทุกครั้งเมื่อเกิดเหตุอื้อฉาวขึ้น ผู้ที่ปกป้องโซตัสไม่ได้มีเพียงนักศึกษาและศิษย์เก่าบางคนเท่านั้น แต่มักรวมถึงอาจารย์และผู้บริหารในมหาวิทยาลัยด้วย

โซตัส มาจากตัวอักษรย่อภาษาอังกฤษของคำว่า “Seniority Order Tradition Unity Spirit” เชื่อกันว่าโซตัส เป็นของนำเข้ามาจากตะวันตก แต่ผู้เขียนก็ไม่พบหลักฐานว่ามาจากสถาบันประเภทไหน (มหาวิทยาลัย โรงเรียนทหาร หรือโรงเรียนประจำ) หรือนำเข้าโดยใคร เมื่อไร บ้างว่ามาจากสหรัฐอเมริกาช่วงทศวรรษ 1950 บ้างว่าพวกเจ้าไทยที่ไปเรียนในอังกฤษนำประเพณีนี้กลับมาช่วงต้นศตวรรษที่ 20 บ้างว่าเริ่มที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บ้างว่าเริ่มที่จุฬาฯ

แม้ว่าประเพณีรับนักศึกษาใหม่จะยังมีอยู่ในหลายสถาบันในสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร แต่การกระทำใดๆ ที่รุนแรง วิตถาร น่าทุเรศ หรือทำให้อับอาย (เรียกรวมในภาษาอังกฤษว่า Hazing) ถูกห้ามมานานแล้วในสถาบันแทบทุกแห่ง รวมทั้งในโรงเรียนของทหาร Hazing ถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายในสถาบันอุดมศึกษา น่าสนใจว่าถ้าเราค้นดูในอินเทอร์เน็ต จะพบว่าคำว่าโซตัสหมายถึงประเพณีรับน้องในประเทศไทยเท่านั้น ดังนี้น แม้ชื่อจะเป็นฝรั่ง แต่อาจเรียกได้ว่าประเพณีนี้มาเกิดใหม่ เติบโตและเฟื่องฟูในประเทศไทยเท่านั้น

เหตุใดโซตัสจึงเฟื่องฟูเฉพาะในสถาบันอุดมศึกษาไทย? โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่สถาบันอุดมศึกษาของไทยกำลังพยายามอยากจะเป็นสถาบันติดอันดับสูงๆ ของโลก เหตุใดผู้บริหารมหาวิทยาลัยและนักวิชาการจำนวนมากจึงยังคงสนับสนุนประเพณีที่ชาวโลกถือว่าป่าเถื่อนผิดกฎหมาย แทนที่จะกำจัดให้หมดไปเพื่อให้สถาบันของตนไต่อันดับสูงขึ้น?

โซตัสเป็นแค่ความสะใจของวัยรุ่นหรือ? หรือสะท้อนเงื่อนไขที่ลึกซึ้งและปัญหาที่ร้ายแรงกว่าในสังคมไทย?

ผู้เขียนเห็นว่าโซตัสเฟื่องฟูขึ้นเพราะสังคมไทยมีลักษณะที่เอื้อต่อการ Hazing ไม่ว่าจะมีที่มาอย่างไรก็ตาม ประเพณีนี้ได้รับการดัดแปลงให้เข้ากับสังคมไทยและตอบสนองกับสภาวะของไทยเป็นอย่างดี โซตัสเป็นไทยไปเรียบร้อยแล้ว มีบางคนบอกว่าโซตัสเฟื่องฟูมากขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมานี้เอง ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ก็หมายความว่าโซตัสสอดคล้องกับภาวะของสังคมไทยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมามากกว่าช่วงก่อนหน้านั้นเสียอีก
 

อะไรเป็นเงื่อนไขให้โซตัสเติบโตในสังคมไทย?

ผู้เขียนขอเสนอว่าโซตัสแสดงถึงและผลิตซ้ำแบบแผนหลักสองอย่างของความสัมพันธ์ทางสังคม ได้แก่ ความสัมพันธ์แบบคนสูงต่ำไม่เท่ากันและสถาบันทางสังคมแบบอิงตัวบุคคล สังคมไทยมีความสัมพันธ์แบบคนสูงต่ำไม่เท่ากันที่เข้มแข็ง “ความเป็นไทย” หมายถึง ความหมกมุ่นให้ความสำคัญเกินควรกับสถานะสูงต่ำของคน ไม่ว่าจะเป็นชาติวุฒิ วัยวุฒิ คุณวุฒิ ชนชั้น ยศถาบรรดาศักดิ์ ตำแหน่ง ความร่ำรวย เพศ หรืออำนาจ สถานะสูงต่ำของคนเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับ แวดวงสาธารณะต่างๆ ที่คนจำนวนมากพบปะสัมพันธ์กันจนก่อรูปก่อร่างเป็นสถาบันทางสังคม (social institution) ทั้งการศึกษา การบังคับใช้กฎหมาย ทหาร ระบบกระบวนการยุติธรรม ธุรกิจ สื่อมวลชน ฯลฯ เป็นเหตุให้สถาบันทางสังคมเหล่านี้มีลักษณะ “อิงตัวบุคคล” อย่างมาก แทนที่จะ “ไม่อิงตัวบุคคล”

สถาบันทางสังคมที่ “อิงตัวบุคคล หรือ ไม่อิงตัวบุคคล” เป็นคุณลักษณะที่ตรงข้ามกันสองประเภท การอิงตัวบุคคลทำให้สถาบันหนึ่งๆ อาศัยสถานะของบุคคลเป็นปัจจัยที่กำหนดวัฒนธรรม โครงสร้างอำนาจ ตลอดจนปฏิสัมพันธ์ของคนในสถาบันสาธารณะนั้นๆ ความสัมพันธ์ที่อิงตัวบุคคลไม่จำกัดแค่ความสัมพันธ์ส่วนตัวล้วนๆ (เช่น การเล่นพรรคเล่นพวก เส้นสาย ระบบอุปถัมภ์ หรืออคติ รังเกียจกัน) แต่รวมถึงการให้ความสำคัญกับสถานะสูงต่ำของคนที่ตนอาจไม่รู้จัก ใช้เป็นปัจจัยกำหนดการตัดสินใจและกำหนดความสัมพันธ์ทางอำนาจในสถาบันนั้นๆ

ส่วนสถาบันทางสังคมแบบที่ไม่อิงตัวบุคคลหมายถึงสถาบันที่มีวัฒนธรรมและโครงสร้างอำนาจอยู่บนพื้นฐานของหลักเกณฑ์หรือระเบียบที่ไม่ได้ขึ้นกับสถานะของตัวบุคคลหรือความสัมพันธ์ส่วนบุคคล หลักเกณฑ์เหล่านี้อาจปรากฏในหลายรูปแบบและหลายระดับ เช่น กฎหมาย ระเบียบกฎเกณฑ์ มาตรฐาน จรรยาบรรณวิชาชีพ และหลักการต่างๆ

อันที่จริง ความสัมพันธ์เชิงสังคมทั้งสองแบบปรากฏอยู่ในทุกสังคมและทุกสถาบันสาธารณะบนโลกใบนี้ ไม่มีสถาบันและสังคมใดอยู่รอดได้ด้วยความสัมพันธ์เพียงประเภทเดียว แต่ความแตกต่างของสังคม ก. และ สังคม ข. เป็นผลจากระดับของความสัมพันธ์แต่ละประเภทที่แตกต่างกันในสังคมหนึ่งๆ และในสถาบันต่างๆ และยังขึ้นอยู่กับว่าสังคมหนึ่งๆ มีสถาบันประเภทใดเป็นหลักหรือเป็นพื้นฐาน

กล่าวโดยทั่วไป สังคมขนาดเล็กและซับซ้อนน้อยกว่า มักจะมีความสัมพันธ์เชิงสังคมที่อิงตัวบุคคลหรือขึ้นอยู่กับตัวบุคคล ยอมยืดหยุ่นระเบียบกฎเกณฑ์ตามตัวบุคคล หรือมีการเลือกบังคับใช้กฎหมายและปรับกระบวนการยุติธรรมให้ยืดหยุ่นตามสถานะของบุคคลที่เกี่ยวข้อง แต่ในสังคมขนาดใหญ่และซับซ้อนที่มีความแตกต่างและผลประโยชน์ของผู้คนขัดแย้งกันมากจนเป็นภาวะปกติ สถาบันทางสังคมที่เป็นสาธารณะต้องอิงตัวบุคคลน้อยลงหรือไม่อิงเลย และต้องยึดมั่นกับกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ มาตรฐาน จรรยาบรรณวิชาชีพ และหลักการมากกว่า นั่นคือต้องไม่เห็นแก่หน้าอินทร์หน้าพรหม

สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความซับซ้อนแตกต่างขัดแย้งกันเป็นภาวะปกติอย่างแน่นอน แต่สถาบันทางสังคมของเรากลับเป็นแบบอิงตัวบุคคล เวลาบังคับใช้ระเบียบต่างๆ เรามักต้องพิจารณาว่าใช้กับ “ใคร” “ใคร” เป็นปัจจัยที่สำคัญกว่า คอขาดบาดตายกว่ากฎหมาย ระเบียบ จรรยาบรรณวิชาชีพ หรือหลักการต่างๆ ซึ่งเป็นความสัมพันธ์แบบไม่อิงตัวบุคคล ในบางสถาบันวิชาชีพ (เช่น สื่อมวลชน) จรรยาบรรณอาจจะยังไม่ได้รับการพัฒนาจนมีวุฒิภาวะพอด้วยซ้ำไป

ระบบกระบวนการยุติธรรมซึ่งมักถูกมองว่าเต็มไปด้วยการปฏิบัติแบบ “สองมาตรฐาน” ความจริงแล้วอาจมีเพียงมาตรฐานเดียว คือขึ้นอยู่กับว่าบุคคลที่เป็นคู่ความกันนั้นมีสถานะทางสังคมแบบใด การบังคับใช้กฎหมายในสังคมสยามสมัยโบราณมักขึ้นอยู่กับศักดินาของบุคคลคู่กรณี ดูเหมือนว่าแม้สังคมไทยจะล้ำยุคทันสมัย แต่วัฒนธรรมโบราณยังดำรงอยู่ หลักการและจรรยาบรรณวิชาชีพที่สำคัญสุดคือการตระหนักถึงปัจจัย “ใคร” ตลอดเวลา

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ทางสังคมแบบอิงตัวบุคคลเช่นนี้ เป็นเสน่ห์และข้อน่าดึงดูดใจสำหรับคนต่างชาติจำนวนไม่น้อย พวกเขานิยมคุณลักษณะซึ่งมีน้อยไปในสังคมของเขา บางคนบอกว่าความสัมพันธ์แบบนี้มีความเป็นมนุษย์มากกว่า (ตรงข้ามกับสถาบันที่ไม่อิงตัวบุคคลที่ เป็นมนุษย์น้อยกว่า?) กล่าวอีกอย่างก็คือ พวกเขารักประเทศไทยที่ยังคงวัฒนธรรมโบราณอยู่ ตราบที่พวกเขายังไม่มีปัญหาที่ต้องเผชิญกับตำรวจและกระบวนการยุติธรรมแบบไทยๆ และตราบที่พวกเขาไม่ต้องข้องแวะกับระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ

ระบบการศึกษารวมทั้งสถาบันอุดมศึกษา เป็นโครงสร้างพื้นฐานทำหน้าที่ผลิตซ้ำและสืบทอดสถาบันแบบอิงตัวบุคคล และความสัมพันธ์แบบคนสูงต่ำไม่เท่ากันต่อเนื่องมาหลายชั่วคน ผู้สนับสนุนโซตัสมักอ้างว่า โซตัสเป็นการตระเตรียมให้คนออกไปเผชิญกับโลกที่เป็นจริง ดูเหมือนว่าพวกเขาจะพูดถูก โซตัสทำให้เกิดเครือข่ายอุปถัมภ์ ซึ่งอาจมีผลต่อการงานอาชีพของบางคนแทบจะตลอดชีวิตก็เป็นได้ โซตัสเป็นเบ้าหลอมผู้มีความเป็นไทยในรุ่นต่อไป เพราะโซตัสได้ประมวลค่านิยมหลักๆ ของความเป็นไทยไว้ด้วยกันจนตกผลึกเป็นพิธีกรรมการละเล่นแบบเด็กๆ ได้แก่ การให้ความสำคัญกับอาวุโสหรือสถานะสูงต่ำ การสยบยอมต่ออำนาจและความสงบราบคาบ การยอมรับประเพณีหรือสิ่งที่ทำตามกันมาอย่างไม่พึงสงสัย เป้าหมายสูงสุดของสังคมเพื่อความสามัคคีสอดคล้องกัน และจิตวิญญาณหรือความภาคภูมิใจในเอกลักษณ์ความเป็นไทย โซตัสจึงเป็นการบ่มเพาะ เป็นการฝึกฝน และเป็นการผลิตซ้ำความสัมพันธ์แบบที่ดำรงอยู่แล้วในสังคมไทย

โซตัสอาจถูกมองว่าเป็นประเพณีสิ้นคิด ใฝ่ต่ำ รุนแรง หรืออาจถึงขั้นอันตราย แต่หากถือว่าเป็นการฝึกฝนอย่างเป็นเรื่องเป็นราว เป็นเบ้าหลอมวัยรุ่นสำหรับสังคมอำนาจนิยมที่มีชั้นชน โซตัสจะดูสมเหตุสมผล เอื้ออาทร เป็นการบ่มเพาะอย่างอ่อนโยน เป็นสนามเด็กเล่นของระบอบอำนาจนิยม

สถาบันอุดมศึกษาไทยทำตามภารกิจที่สังคมคาดหวังได้ดี บรรดาผู้บริหารและนักวิชาการที่สนับสนุนโซตัสอย่างเข้มแข็งทำหน้าที่เป็นอย่างดี สอดคล้องกับดัชนีชี้วัดสมรรถนะ หรือ KPI (key performance index) ตามที่กำหนดให้มหาวิทยาลัยต้องทำ (โปรดดูต่อไป)


ทำไมโซตัสจึงกลับมาแรง?

อันที่จริงโซตัสได้เสื่อมลงตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 1970 โดยเฉพาะภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ซึ่งนักศึกษาได้ตื่นตัวท้าทายสถาบันทางสังคมและจารีตประเพณีต่างๆ โซตัสตกเป็นเป้าหมายสำคัญอย่างหนึ่ง แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สังคมไทยมีลักษณะอนุรักษ์นิยมมากขึ้น มีการส่งเสริมความเป็นไทยอย่างเอาเป็นเอาตาย ทั้งโดยรัฐและประชาสังคม ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความเชื่อว่าภัยคุกคามมาจากโลกตะวันตกในรูปของโลกาภิวัตน์และระบอบทุนนิยมที่สามานย์ เหตุอีกอย่างที่หนุนส่งความเป็นไทยคือภาวะการเมืองอนุรักษ์นิยมจัดและการขยายตัวของลัทธิหลงใหลเจ้า (Hyper-royalism) ในช่วง 30 กว่าปีที่ผ่านมา

ภายใต้ภาวะความเป็นไทยล้นเกิน ผู้คนหันมาใส่ใจกับพฤติกรรมที่เหมาะสมกับสถานะทางสังคมของตนเมื่อเทียบกับคนอื่น ประเพณีพิธีกรรมสาธารณะและการประพฤติปฏิบัติหลายอย่างถูกสร้างขึ้นมาใหม่ ถูกรื้อฟื้น ส่งเสริม และขยายผล เพื่่อตอกย้ำ ผลิตซ้ำ และสร้างความเข้มแข็งให้กับความสัมพันธ์แบบคนสูงต่ำไม่เท่ากัน หลายกรณีมีลักษณะวิจิตรอลังการหรือ “เว่อร์” ผู้คนจับจ้องอ่อนไหวกับรายละเอียดอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน กลัวทำผิดในพิธีกรรมและการแสดงออกหรือถ้อยคำต่างๆ อย่างเหลือเชื่อ จนความหมกมุ่นกับเรื่องไม่เป็นเรื่องกลายเป็นเรื่องปกติ นาฏกรรมแบบเว่อร์ๆ เพื่อตอกย้ำความสูงต่ำของคน มีแนวโน้มขยายตัวอย่างชัดเจนในสถาบันการศึกษาในหลายทศวรรษหลังๆ ตัวอย่างต่อไปนี้เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของสังคมแบบละครโรงใหญ่ของเรา

- การบังคับให้นักศึกษาแต่งเครื่องแบบเกิดขึ้นทั่วประเทศ ทั้งที่ภายหลัง พ.ศ. 2516 ข้อกำหนดให้แต่งเครื่องแบบถูกยกเลิกไปแล้วในมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ เพราะมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของระบอบอำนาจนิยม แต่ในปัจจุบัน หลายแห่งบังคับให้แต่งเครื่องแบบในห้องเรียนอีกครั้ง และแทบทุกแห่งบังคับให้แต่งเครื่องแบบในห้องสอบ

- นับแต่ปี 2540 เศษๆ เป็นต้นมา นิสิตใหม่ของจุฬาฯ จะต้องทำพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนต่อหน้าอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 5 และ 6 ว่าจะเป็นข้ารับใช้ที่จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ว่ากันว่าเป็นการรื้อฟื้นพิธีถวายตัวแบบที่นิสิตจุฬาฯ ปฏิบัติในยุคที่ยังเป็นโรงเรียนมหาดเล็กในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งยังเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อยู่ อาจารย์ใหม่ของจุฬาฯ ก็ต้องเข้าร่วมพิธีที่เพิ่งจะสร้างขึ้นมาใหม่เมื่อไม่กี่ปีมานี้ที่เรียกว่า “พิธีถวายตัวถวายใจ” ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ อาจมีนิสิตใหม่และอาจารย์บางท่านรู้สึกไม่พอใจแต่ก็ต้องปฏิบัติตาม แต่เท่าที่ทราบมา ส่วนใหญ่จะพอใจและภูมิใจที่ได้เข้าร่วมพิธีกรรมนี้

- พิธีกรรมคล้ายคลึงกันต่อพระนเรศวรเพิ่งคิดค้นขึ้นมาไม่กี่ปีนี้เองที่มหาวิทยาลัยนเรศวร ปัจจุบันกลายเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ สถาบันอุดมศึกษาไทยแห่งอื่นๆ จำนวนมากกำลังทำตาม มีการประดิษฐ์พิธีกรรมที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ดูอลังการขึ้นมา (เช่น ดู http://www.oknation.net/blog/ruendorkrak/2012/06/22/entry-1และตัวอย่างอื่นอีกมากมายที่สามารถค้นหาได้เองในอินเทอร์เน็ต) นักเรียนมัธยมก็อยู่ในกระแสนี้เช่นกัน เช่น นักเรียนมัธยมในพิษณุโลกก็ต้องเข้าร่วมพิธีถวายตัวเป็นลูกสมเด็จพระนเรศวรด้วย (http://iiquare.com/post.php?post_id=939) และที่อื่นๆ อีกมาก (เช่น ดู https://www.youtube.com/watch?v=_dkLS3BdKI4)

- หนึ่งในพิธีกรรมเก่าแก่ของสถาบันการศึกษาไทยแทบทุกแห่ง ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัย คือพิธีไหว้ครู คงเนื่องจากบรรดาชนชั้นกลางของไทยที่มีฐานะร่ำรวยขึ้นมากในทศวรรษหลังๆ มานี้ พิธีไหว้ครู จึงวิจิตรพิสดารอลังการขึ้นมาก แม้แต่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นสัญลักษณ์ของสามัญชน ความเท่าเทียม และเสรีภาพ ยังมีการจัดพิธีนี้อย่างเหลือเชื่อ (ดู https://www.youtube.com/watch?v=AWAei5W9jqo)

- แนวโน้มอนุรักษ์นิยมในสถาบันอุดมศึกษาของไทย ถูกกำหนดให้เป็นดัชนีชี้วัดสมรรถนะหลัก (key performance index - KPI) ประการหนึ่งของมหาวิทยาลัยไทย มีการกำหนดภารกิจว่าบัณฑิตที่พึงประสงค์ของมหาวิทยาลัยไทยต้องมีคุณสมบัติที่สามารถ “อนุรักษ์ความเป็นไทยท่ามกลางโลกาภิวัตน์"

ยังมีตัวอย่างอื่นอีกมากมาย

ในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ โซตัสจึงกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้งแถมอาจจะสำคัญขึ้นมากด้วย ในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 2558 ที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์ที่สะท้อนอย่างชัดเจนถึงวัฒนธรรมอำนาจนิยมที่เข้มแข็งในระบบการศึกษาไทย ในกรณีแรก ครูท่านหนึ่งตบศีรษะนักเรียนซึ่งเป็นแกนนำการประท้วงโรงเรียนที่เก็บค่าส่ง SMS ของทางโรงเรียนเอง หลังจากที่ภาพแพร่หลายออกไป ครูท่านนั้นได้ประกาศอย่างชัดเจนต่อสาธารณะว่าตนยอมรับผิดที่ทำรุนแรงไป แต่จะไม่ยอมขอโทษต่อการทำตามสำนึกของความเป็นครู เขากำลังบอกว่าสำนึกของความเป็นครูคือการบ่มเพาะให้ลูกศิษย์สยบยอมต่อครู ต่อโรงเรียน และต่ออำนาจ การลงโทษเด็กจึงสมควรแล้ว เพียงแต่ทำรุนแรงไปหน่อยแค่นั้นเอง

ในกรณีที่สอง อาจารย์ท่านหนึ่งวิจารณ์โซตัสในมหาวิทยาลัยของเธอ เป็นเหตุให้นักศึกษา ศิษย์เก่า อาจารย์มหาวิทยาลัยบางคนและคนภายนอกตอบโต้เธออย่างรุนแรง มีบางคนขู่จะทำร้ายทางเพศและใช้กำลังประทุษร้ายด้วย วันต่อมาผู้บริหารมหาวิทยาลัยคนหนึ่งยังปฏิเสธที่จะปกป้องอาจารย์ท่านนั้นโดยบอกว่าเป็นเรื่องส่วนตัวไม่เกี่ยวกับมหาวิทยาลัย แถมแสดงท่าทีปกป้องการกระทำของนักศึกษาอีกด้วย

การกลับมาเข้มแข็งของโซตัสเป็นประจักษ์พยานว่าอุดมศึกษาไทยประสบความสำเร็จ ไม่ล้มเหลวอย่างที่มักกล่าวหากัน แต่เป็นความสำเร็จในการสืบทอดผลิตซ้ำปัญหาเรื้อรังให้คงอยู่กับสังคมไทยต่อไป (น่าเสียดายที่การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกไม่รวมสมรรถนะข้อนี้ไว้ด้วย)
 

สืบทอดโรคร้ายในสังคมไทย

ปัญหาใหญ่ประการหนึ่งของสังคมไทยก็คือความสัมพันธ์แบบคนสูงต่ำไม่เท่ากันและวัฒนธรรมอำนาจนิยม ประกอบกับสถาบันทางสังคมแบบอิงตัวบุคคลที่ถูกผลิตซ้ำโดยโซตัสนี่เอง โรคนี้ระบาดในทุกอณูของสถาบันต่างๆ ความอัปลักษณ์ของโซตัสและความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างเนืองๆ เป็นภาพขนาดเล็กที่สะท้อนสังคมไทยโดยรวม

ยกตัวอย่างเช่น ในแวดวงนักวิชาการไทย เป็นที่ทราบกันดีว่าการเลื่อนขั้นทางวิชาการ นอกจากต้องอาศัยผลงานทางวิชาการแล้ว ยังต้องอาศัยความสัมพันธ์ทางการเมืองหรือความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างผู้น้อยกับผู้ใหญ่ โดยเฉพาะการเลื่อนขั้นในตำแหน่งที่สูงมักมีความชอบไม่ชอบทางการเมืองหรือส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวด้วยเป็นประจำ การให้ความเห็นเชิงวิชาการต่อผลงานของคนอื่นต้องคำนึงถึงว่าเป็นงานของใครและมีตำแหน่งทางสังคมแบบใด ทำให้เกิดวัฒนธรรมการวิจารณ์แบบไทยๆ (ผู้เขียนเคยกล่าวถึงเรื่องนี้ในที่อื่นแล้ว ขอไม่อธิบายซ้ำในที่นี้อีก) แม้แต่การลอกงานทางวิชาการ (plagiarism) ซึ่งถือเป็นบาปมหันต์ทางวิชาชีพก็อาจได้รับการปกป้องหรือคุ้มครองเป็นเวลาหลายปี หากผู้กระทำผิดมีเส้นสายดีหรือมีอาวุโส นอกเหนือจากวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นจนเป็นปกติในสถาบันวิชาการแล้ว การเมืองแบบที่ต่อต้านประชาธิปไตยอย่างชัดเจนของบรรดาผู้บริหารมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และกระแสอนุรักษ์นิยมที่กล่าวถึงข้างต้น ทำให้ชีวิตนักวิชาการแบบวิพากษ์วิจารณ์เป็นอันตรายต่อสุขภาพจิตอย่างมาก

ในสังคมที่สถาบันทางสังคมยังอิงกับบุคคลอย่างมาก วงการวิชาการและสื่อมวลชนที่ดีเกิดขึ้นได้ยาก เพราะไม่ให้ความสำคัญกับผลงานอย่างที่ควรจะเป็น แถมยังมีการดูแคลนความเป็นมืออาชีพอีกด้วย สถาบันทางสังคมจะเข้มแข็งได้ก็ต่อเมื่ออยู่ในบริบทที่ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเป็นแนวราบ และอยู่ภายใต้กฎระเบียบจรรยาบรรณที่ไม่อิงตัวบุคคล แต่น่าเศร้าที่โรคร้ายเกิดขึ้นแผ่กระจายในสถาบันทหาร ตำรวจ ราชการ และในสถาบันสาธารณะแทบจะทุกแห่งในประเทศไทยทุกวันนี้ รวมทั้งในกระบวนการยุติธรรม ความไร้ประสิทธิภาพและความน่าเชื่อถือตกต่ำดำรงอยู่ต่อเนื่องมาหลายรุ่นเนื่องจากการรับสมัคร การปรับเลื่อนตำแหน่งและการบ่มเพาะบุคลากร ไม่ได้อิงกับมาตรฐานแบบมืออาชีพ แต่อยู่บนพื้นฐานของเส้นสายนานาชนิดและวัฒนธรรมอิงกับบุคคล สถาบันทางสังคมเหล่านี้จึงไม่มีความสามารถรับมือกับภารกิจที่มีความซับซ้อนและยากมากขึ้นในโลกสมัยนี้

ความไร้ประสิทธิภาพเช่นนี้ส่งผลร้ายแรงอย่างมากเมื่อเร็วๆ นี้ อย่างกรณีอื้อฉาวที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization - ICAO) ประกาศลดอันดับอุตสาหกรรมการบินไทย เนื่องจากสอบตกมาตรฐานความปลอดภัย การลงโทษของสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปต่อประเทศไทยกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ และคำเตือนของสหภาพยุโรปต่ออุตสาหกรรมประมงของไทย เนื่องจากปัญหาการใช้แรงงานทาส ในทุกกรณีดูเหมือนว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ซึ่งถูกมองข้ามมาหลายปี ในระยะไม่กี่ปีมานี้ชาวโลกยังได้ตระหนักว่าตำรวจไทยมีความเป็นมืออาชีพแค่ไหนในการคลี่คลายคดีสำคัญๆ ที่โลกจับตามอง ไม่ต้องพูดถึงคดีเล็กๆ ทั้งหลายที่เกิดขึ้นทุกวันในประเทศ การทุจริตก็เป็นผลมาจากวัฒนธรรมทางสังคมแบบนี้เช่นกัน การโยนบาปให้กับนักการเมืองว่าเป็นผู้ทุจริต โดยไม่คำนึงถึงปัญหาที่แท้จริงที่เกิดขึ้นกับสถาบันทางสังคมทุกแห่ง โดยเฉพาะสถาบันของทหารและข้าราชการ แสดงว่าคนไทยกำลังหลอกตัวเองอีกครั้ง

ผลลัพธ์ที่น่าเศร้าที่สุดของสถาบันทางสังคมที่ต้องอิงกับบุคคลจนเกินไป ได้แก่ ระบบการเมืองไทยซึ่งพึ่งพากษัตริย์ผู้มีบารมีอย่างมาก แถมโอกาสที่จะมีมหาบุรุษก็เป็นเรื่องยาก ในยามที่อาทิตย์อัสดง อนาคตของทั้งประเทศจึงเท้งเต้งเหมือนอยู่ในมวลเมฆ ทำให้ระบบการเมืองสั่นคลอนในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มีคนกล่าวว่ากษัตริย์ไทยเป็นเสาหลักการเมืองไทยมั่นคง แต่ดูท่าคนไทยยังไม่เรียนรู้ถึงบทเรียนที่ว่า มนุษย์ที่ไม่เป็นอมตะไม่อาจเป็นพื้นฐานของสถาบันการเมืองที่มั่นคงได้

สรุป

ปัญหาโซตัสจึงเป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็ง เป็นส่วนยอดของปัญหาพื้นฐานที่ร้ายแรงและใหญ่กว่านั้นมาก เป็นภาพสะท้อนเล็กๆ ของปัญหาที่แพร่หลาย หรือเป็นอาการของความบกพร่องเรื้อรังในเชิงโครงสร้าง การหยุดโรคร้ายเช่นนี้ เราต้องเผชิญหน้ากับความสัมพันธ์แบบคนสูงต่ำไม่เท่ากันและวัฒนธรรมอำนาจนิยม และต้องปรับปรุงให้สถาบันทางสังคมโดยเฉพาะสถาบันสาธารณะต่างๆ ให้อิงตัวบุคคลน้อยลง ให้ยึดหลักกฎหมาย ระเบียบ จรรยาบรรณวิชาชีพ และหลักการมากขึ้น

ในระหว่างนี้ถ้าอันดับของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยตกต่ำลงทุกทีก็คงเหมาะสมดีแล้วตามมาตรฐานแบบไม่อิงตัวบุคคล

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทหารนำ ‘ศรีสุวรรณ’ เข้าค่าย หลังยื่นสอบจริยธรรม ‘ประยุทธ์-วิษณุ’ ปมตั้งพี่น้อง-เครือข่ายเป็นสปท.

$
0
0

ทหารนำตัวเลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยเข้าข่าย หลังยื่นผู้ตรวจการแผ่นดิน สอบจริยธรรม ‘ประยุทธ์-วิษณุ’ ปมตั้งพี่น้อง-เครือข่ายเป็นสปท.  คาดไม่ค้างคืน

15 ต.ค. 2558 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 17.13 น. ที่ผ่านมา ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย โพสต์ภาพและข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘Srisuwan Janya’ ว่า มีทหารมาคุมตัวผมไปกองทัพภาคที่ 1 ถนนราชดำเนินในขณะนี้

โดยเมื่อวันที่ 13 ต.ค. ที่ผ่านมา ศรีสุวรรณ ได้เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้ตรวจสอบจริยธรรมของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กรณีแต่งตั้งเครือญาติและบุคคลที่เคยร่วมอาชีพเดียวกันเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เข้าข่ายเป็นการเลือกปฏิบัติ มีผลประโยชน์ทับซ้อนและขัดกันแห่งผลประโยชน์ 

ซึ่งศรีสุวรรณ กล่าวว่า รายชื่อสมาชิกสปท.จำนวน 200 คน ที่นายกฯ ได้ประกาศแต่งตั้งเมื่อวันที่ 5 ต.ค. ที่ผ่านมา พบว่ามีบุคคลที่เป็นเครือญาติของนายวิษณุ ที่เป็นรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องกฎหมายและการยุติธรรม คือ พล.อ.ต.เฉลิมพล เครืองาม และนายดุสิต เครืองาม ทั้งสองคนเป็นพี่น้องร่วมสายโลหิตเดียวกับนายวิษณุ ขณะเดียวกัน พบว่า นายกฯ มีการแต่งตั้งบุคคลที่มีอาชีพหรือเคยมีอาชีพเดียวกับตนเองคือนายทหาร หรือตำรวจในและนอกราชการมาเป็นสมาชิกจำนวนถึง 77 คน หรือมากกว่า 38.5 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด ทั้งที่ในข้อเท็จจริงสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ควรประกอบไปด้วยบุคคลที่มีความหลากหลายอาชีพ มากกว่าจะเป็นพี่น้อง หรือคนกันเอง จึงถือว่าพฤติกรรมดังกล่าวของรองนายกฯและนายกฯในฐานะผู้ใช้อำนาจแต่งตั้ง ไม่ได้ใช้วิจารณญาณในการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลตามระบบคุณธรรม จริยธรรมที่กฎหมายกำหนด (อ่านรายละเอียด)

มติชนออนไลน์รายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อเวลา 18.00 น. แหล่งข่าวจากกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) กองทัพภาคที่ 1 กล่าวถึงกรณีการเชิญตัว ศรีสุวรรณ มาพูดคุยว่า เป็นการเชิญมาพูดคุยทำความเข้าใจ กรณีที่ศรีสุวรรณยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้ตรวจสอบจริยธรรม พล.อ.ประยุทธ์ และ วิษณุ ดังกล่าว จากนั้นเมื่อทำความเข้าใจกันแล้วทางเจ้าหน้าที่กกล.รส.ก็จะเชิญกลับบ้าน คิดว่าแนวโน้มไม่มีการค้างคืน เพราะทราบว่าศรีสุวรรณมีโรคประจำตัว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ครูหยุยชี้ใช้เงินกองทุนยุติธรรมผิดหลักเกณฑ์ ช่วยคนทำร้ายประเทศ

$
0
0

15 ต.ค. 2558 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม พิจารณากระทู้ถามของ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสนช. ถาม นายไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม เรื่อง ความเหมาะสมในการพิจารณาการขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรม ว่า การดำเนินการของกองทุนยุติธรรมในปี 2557 มีคำร้องเข้ามา 2,379 เรื่อง ดำเนินการแล้ว 2,200 เรื่อง อยู่ระหว่างดำเนินการ 179 เรื่อง รวมค่าใช้จ่ายที่ใช้ไปทั้งสิ้น 46  ล้านบาท ทั้งนี้ หากจำแนกรายละเอียดใน 2,200 รายจะพบว่าเป็นค่าใช้จ่าย 46  ล้านบาท โดยเงินส่วนใหญ่  78 % ใช้ไปกับการประกันตัว  36 ล้านบาท  รองลงมาเป็นค่าจ้างทนาย  6 ล้านบาท คิดเป็น 13 % และค่าธรรมเนียมศาล 5 %

ซึ่งหากดูกฎเกณฑ์การใช้เงินกองทุนนั้นจะเห็นว่า หลายกรณีเป็นการใช้เงินที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ซึ่งกำหนดว่าจะต้องไม่เป็นการไม่รักษาประโยชน์ส่วนรวม หรือละเมิดศีลธรรมอันดี แต่กลับพบว่ามีการใช้เงินไปกับจำเลยในคดีร่วมกันก่อการร้าย ที่บางรายยังหลบหนีคดี ดังนั้น จึงอยากถามว่าหลักเกณฑ์เป็นอย่างไรและจะดูแลการใช้เงินกองทุนอย่างไรไม่ให้นำเงินภาษีประชาชนมาช่วยเหลือกลุ่มคนที่ทำร้ายประเทศ

ด้านพล.อ.ไพบูลย์กล่าวชี้แจงว่า การดำเนินการกองทุนนั้นเป็นไปตามมติ ครม.ยุคนั้น ที่ดำเนินตาม นโยบายรัฐบาลในการให้ความช่วยเหลือ ซึ่งไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์กฎเกณฑ์ ของกองทุน แต่ในส่วนของรัฐบาลชุดนี้ไม่ได้มีคำสั่งอะไรให้ไปดำเนินการอะไร ทุกอย่างอยู่บนหลักเกณฑ์

จากนั้น นายวัลลภ กล่าวว่า ขอบคุณที่รัฐมนตรี ชี้แจงอย่างตรงไปตรงมาว่าเรื่องนี้เป็นมติครม.ที่ขัดกับหลักเกณฑ์ อย่างไรก็ตาม ขอฝากให้รัฐมนตรีช่วยดูกฎเกณฑ์การดำเนินการกองทุนยุติธรรมไม่ให้มีการทำผิดในการใช้เงินภาษีของประชาชนอีก

ที่มา : เดลินิวส์และมติชนออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรมควบคุมโรค จับมือ สตช.-สคบ. วางแนวดำเนินคดีดาราโพสต์รูปเหล้า

$
0
0

เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2558 ที่กรมควบคุมโรค นพ.อัษฎางค์  รวยอาจิณ  รองอธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมพล.ต.อ.พงศพัศ  พงษ์เจริญ  รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ  อำพล  วงศ์ศิริ  เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และ นพ.สมาน  ฟูตระกูล  ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร่วมประชุมหารือแนวทางการดำเนินคดีกรณีการใช้ศิลปิน ดารา และผู้มีชื่อเสียงโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551

นพ.อัษฎางค์ กล่าวว่า จากกรณีดังกล่าว ตามมาตรา 32 พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 บัญญัติไว้ว่า ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือแสดงชื่อ หรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยทางตรงหรือทางอ้อม  ซึ่งมีหลักเกณฑ์พิจารณาความผิด 2 กรณี ดังนี้ กรณีที่ 1 “โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” ซึ่งการโพสต์รูปเพื่อประโยชน์ทางการค้าต่อธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็ถือว่าเข้าข่ายมีความผิดตามกฎหมายนี้อยู่แล้ว แม้ว่าจะไม้ได้รับค่าจ้างในการโฆษณาก็ตาม  ส่วนกรณี 2 “การแสดงชื่อ หรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรืออ้อม”

ในกรณีนี้ก็อาจเข้าข่ายเป็นการกระทำอันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม  เพราะตนเองเป็นบุคคลสาธารณะที่เด็ก เยาวชน และบุคคลทั้งไปนิยมชมชอบและพร้อมที่จะปฏิบัติตาม จึงย่อมเป็นความผิดเช่นกัน

นพ.อัษฎางค์ กล่าวอีกว่า ในการปรึกษาหารือครั้งนี้ ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค พร้อมให้ความร่วมมือกับกรมควบคุมโรคในการดำเนินการต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้  และในวันนี้ กรมควบคุมโรค ได้ยื่นหนังสือขอความร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อตรวจสอบข้อมูลประกอบเชิงลึกของศิลปิน ดารา และผู้มีชื่อเสียงตามเรื่องร้องเรียนดังกล่าว ที่มีความเชื่อมโยงกับธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงความเชื่อมโยงของผลประโยชน์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งขอสนับสนุนเจ้าหน้าที่ตำรวจ ร่วมเป็นคณะทำงานในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงตามเรื่องร้องเรียนและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551  

ด้าน นพ.สมาน  ฟูตระกูล  ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กล่าวเสริมว่า สำหรับขั้นตอนในการดำเนินการ มีดังนี้ 1. รวบรวมหลักฐานจากสื่อออนไลน์ที่ลงภาพในลักษณะที่เข้าข่ายความผิด ทั้งพยานหลักฐาน พยานบุคคล รวมถึงการเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้ปากคำ ทั้งผู้ร้องเรียน ผู้ถูกร้องเรียน และศิลปิน ดารา  2. นำเรื่องเข้าคณะอนุกรรมการด้านกฎหมายจากหลายภาคส่วน เพื่อพิจารณาดำเนินการและให้ความคิดเห็นในเรื่องนี้  3. นำสำนวนร้องทุกข์กล่าวโทษเข้าสู่กระบวนการดำเนินคดีต่อ หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โทร 02 590 3342 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรคโทร 1422

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชาวบ้าน 12 จังหวัด บุกค้านเหมืองทอง ด้านกระทรวงแจงเร่งตั้ง กก. เพื่อแก้ปัญหา

$
0
0

ชาวบ้านกลุ่มค้านเหมือง 12 จังหวัด กว่า 500 คน รวมตัวหน้ากรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ค้านการเปิดสัมปทานเหมืองทอง ด้านรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เผยเตรียมตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ และแก้ไขปัญหา

เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2558 ที่สำนักงานกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม ตัวแทนประชาชนที่คัดค้านนโยบายสำรวจและสัมปทานเหมืองแร่ทองคำใน พื้นที่ 12 จังหวัด ประมาณ 500 คน ได้เข้าร้องทุกข์ต่อกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อขอประชุมร่วมกับรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม อันเนื่องมาจากข้อกังวลและความเดือดร้อนของประชาชนรอบเหมืองทอง และผู้ที่อาจได้รับผลกระทบจากการเปิดสัมปทานเหมืองแร่ทองคำรอบใหม่ ภายหลังรัฐมนตรี และผู้บริหารกระทรวงฯ ลงพื้นที่เหมืองทองอัครา ที่จังหวัดพิจิตรในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงทั้งทหาร และตำรวจรักษาความสงบเรียบร้อยตลอดเวลาการพบปะระหว่างชาวบ้าน กับผู้บริหารกระทรวงฯ

อย่างไรก็ตาม อรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม ไม่ได้เข้าพบชาวบ้านในครั้งนี้ แต่สั่งการให้ผู้บริหาร ระดับสูง เช่น อาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงฯ ศักดิ์ดา พันธุ์กล้า รองปลัดกระทรวงฯ และ ชาติ หงส์เทียมจันทร์ อธิบดี กพร. มาพบ ชาวบ้านแทน ซึ่งภายหลังการชุมนุมหน้า กพร.ตั้งแต่เวลา 07.00 น. จนถึงเวลา 10.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ประกาศให้ชาวบ้านทุกคนเดินทางเข้าเจรจาในห้องประชุมทองคำ เพื่อไม่ให้ขัดต่อ พระราชบัญญัติ (พรบ.)การชุมนุม โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจยืนยันว่า การเดินเคลื่อนไหวของชาวบ้านในครั้งนี้ ไม่ได้ขออนุญาตฝ่ายความมั่นคง ดังนั้นจะทำการปักหลักชุมนุมไม่ได้ ซึ่งภายหลังชาวบ้านได้ยอมตกลงเข้าประชุมภายในห้องประชุม กับคณะผู้บริหาร โดยตัวแทนแต่ละพื้นที่แสดงเจตนารมณ์ตรงกันคือ ขอให้กระทรวงฯยกเลิกการขออาชญาบัตร ประทานบัตร ทำเหมืองทองทุกพื้นที่

ณัฐพงษ์ แก้วนวล ชาวบ้านอำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก ได้ให้ข้อมูลว่า การเดินทางมาครั้งนี้ชาวบ้านไม่ได้มาประท้วง การที่ชาวบ้านถือป้ายนั้นเป็นแค่ สารที่ต้องการส่งถึงผู้บริหารกระทรวงฯ เท่านั้น เนื่องจากในระหว่างการลงพื้นที่ของ รมว.อุตสาหกรรม และคณะผู้บริหารกระทรวงฯ ที่ผ่านมา ชาวบ้านเนินมะปรางไม่ได้มีโอกาสพบทั้งๆ ที่ตั้งตารอให้คณะผู้บริหารไปพบปะประชาชน ในอำเภอเนินมะปรางและจังหวัดอื่นๆ โดยรอบ แต่ผลที่เกิดขึ้นคือ คณะผู้บริหารลงพื้นที่เยี่ยมแค่เหมืองทองอัคราฯ และชาวบ้านทับคล้อ จังหวัดพิจิตรเท่านั้น ไม่ได้ไปรับฟังเสียงสะท้อนของชาวบ้านที่คัดค้านการเปิดสัมปทานและการเปิดขออาชญาบัตรสำรวจพื้นที่ทำเหมืองรอบใหม่ ซึ่งภายหลังมีข่าวปรากฏออกในสื่อมวลชนว่า รมว.นัดหมายชาวบ้านทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยมาเจรจา ชาวบ้านจึงได้เดินทางมาจากต่างจังหวัดเพื่อเจรจาตามนัด

ด้าน ศักดิ์ดา รองปลัดกระทรวงฯ กล่าวว่า จากกรณีที่ชาวบ้านเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า รมว.อุตสาหกรรมนัดหมายกลุ่มค้านเหมืองและกลุ่มสนับสนุนเหมืองมาเพื่อประชุม ร่วมกันนั้นไม่เป็นความจริง อย่างไรก็ตามขณะนี้ขอให้ชาวบ้านไว้วางใจว่า กระทรวงฯ ยังไม่มีการเปิดเหมืองเพิ่มแต่อย่างใด ที่ผ่านมาบริษัทแค่ขอสำรวจเท่านั้น ยังไม่มีการอนุญาตทำเหมืองต่อ และขอให้ประชาชนวางใจว่า ทุกกระบวนการ กระทรวงฯ จะรับฟังความคิดเห็นเสมอ อีกทั้งขณะนี้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการ 1 ชุด เพื่อตรวจสอบ ทั้งด้านสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่ทำเหมืองแล้ว ซึ่งคาดว่าจะมีการดำเนินการจากคณะกรรมการดังกล่าวในเร็วๆนี้

อารมณ์ คำจริง ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำ ให้ข้อมูลว่า วันนี้ชาวบ้านทั้ง 12 จังหวัดเดินทางมาเพื่อต้องการแสดงการคัดค้าน และต้องการให้มีการยกเลิกหรือเพิกถอนประทานบัตรและอาชญบัตรเหมืองแร่ทองคำ โดยเฉพาะขอให้ยกเลิกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)แร่ พศ.2510 และยกเลิกร่าง พ.ร.บ. แร่ทุกฉบับ รวมทั้งการที่ กพร. เตรียมเสนอร่างนโยบายสำรวจและการทำเหมืองแร่ทองคำต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) ถือเป็นการเจตนาละเมิดสิทธิ์ต่อประชาชน เนื่องจากในอนาคตหากมีเหมืองแร่ทองคำเกิดขึ้นในพื้นที่ 12 จังหวัด จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่กว่า 1 ล้านไร่ และในขณะนี้ในหลายพื้นที่กำลังมีการแปลงที่ดินให้กลายเป็นเขตป่าอนุรักษ์ เพื่อเอื้อต่อการทำเหมืองที่สามารถขออนุญาติทำเหมืองในเขตป่าอนุรักษ์ได้ อย่างถูกต้องตามกฏหมาย ซึ่งปัญหานี้ได้มีการร้องเรียนไปที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแล้ว

ด้านทิวา แตงอ่อน ตัวแทนชาวบ้านจากจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า รัฐบาลต้องเร่งยุติการผลักดันร่างนโยบายสำรวจและการทำเหมืองแร่ทองคำ เนื่องจากในพื้นที่เป้าหมาย 1.6 ล้านไร่ของเหมืองแร่ที่จะเกิดขึ้น มีประชาชนอาศัยอยู่และจะได้รับผลกระทบหลายแสนคน รัฐบาลจะย้ายชาวบ้านเหล่านี้ไปอยู่ที่ไหน เงินค่าภาคหลวงที่รัฐจะได้รับคุ้มค่าหรือไม่กับสิ่งที่จะต้องสูญเสียไปจาก การทำเหมือง ทั้งป่าต้นน้ำที่จะถูกทำลาย การปนเปื้อนในดิน น้ำ อากาศ จึงอยากให้รัฐบาลได้ทบทวนว่าจะจัดการผลกระทบอย่างไร เพราะชาวบ้านเดินทางมาเรียกร้องเรื่องนี้หลายครั้งแล้ว ไม่ต้องการให้การมาเรียกร้องแต่ละครั้งสูญเปล่า รัฐบาลพอจะให้คำตอบที่ชัดเจนได้มั้ยว่าจะยุติหรือเดินหน้าผลักดันให้เกิดเหมืองทอง

สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ข้อมูลว่า ขอยืนยันกับชาวบ้านที่มาในวันนี้ว่าในขณะนี้ไม่มีนโยบายขยายพื้นที่การทำ เหมืองแร่ที่มีอยู่เดิม และยังไม่มีการให้สัมปทานเหมืองแร่รอบใหม่ เพียงแต่อยู่ในขั้นตอนการให้อาชญบัตรเพื่อสำรวจ ซึ่งต้องมีขึ้นตอนอีกมากมายกว่าจะสามารถอนุญาตการทำเหมืองแร่ได้ ส่วนความเดือนร้อนของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ที่มีอยู่เดิมนั้น ทางกระทรวงรับทราบดี และรัฐมนตรีเพิ่งจะลงพื้นที่ไปติดตามปัญหาเมือสัปดาห์ที่แล้ว โดยได้มีการนำปัญหาของชาวบ้านมาคุยกันในระดับผู้บริหารกระทรวงฯ ว่า หากพิสูจน์ได้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นผลกระทบที่เกิดจากการทำเหมืองจริง ก็จะไม่มีการเปิดสัมปทานเหมืองเพิ่ม ดังนั้นเพื่อให้ปัญหาเกิดความชัดเจนภายในสัปดาห์หน้าจะมีการตั้งคณะกรรมการ ร่วมร่วมหารือถึงปัญหานี้

ด้านอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ตนเองเป็นลูกชาวนามาก่อน จึงเข้าใจความรู้สึกของชาวบ้านเป็นอย่างดี ขอยืนยันว่าหัวใจเป็นชาวบ้าน แต่อยากให้ทุกคนใจเย็นเพราะขั้นตอนขณะนี้กระทรวงกำลังเร่งจัดตั้งคณะกรรมการ เพื่อแก้ปัญหาเหมืองแร่ทองคำอัครา ซึ่งจะมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมและปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานร่วม โดยมีตัวแทนผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ และตัวแทนชาวบ้าน เข้ามาร่วมกันแก้ไขปัญหา โดยจะมีการนำข้อมูล ข้อเท็จจริงที่สรุปนำเสนอต่อรัฐบาลในการตัดสินใจต่อนโยบายเหมืองแร่ทองคำต่อไป

ทั้งนี้มีรายงานข่าวเพิ่มเติมว่าระหว่างวันที่17 –18ตุลาคม นี้ คณะนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยรังสิต สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กรมสอบสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) จะลงพื้นที่เพื่อเจาะเลือดและเก็บปัสสาวะชาวบ้านรอบเหมืองทองคำ ที่เคยพบว่ามีความผิดปกติ และมีสารโลหะหนักในร่างกายเกินค่ามาตรฐาน 400 กว่าราย รวมทั้งประชาชนที่อยู่ในสภาวะเสี่ยง และเด็กที่มี DNA ผิดปกติ รวมถึงเด็กที่ต้องการตรวจใหม่ ณ ศาลาการเปรียญ วัดดงหลง ตำบลท้ายดง อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประธาน สปท. เผยเรื่องปรองดองและนิรโทษกรรม ต้องใช้เวลาศึกษาก่อน

$
0
0

ร.อ.ทินพันธ์ นาคะตะ เผย สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เป็นสภาวิชาการ ไม่มีอำนาจทางการเมือง มีอิสระการทำงานเพื่อปฏิรูปประเทศ ย้ำไม่มีใครสั่งได้ พร้อมระบุเรื่องปรองดองและนิรโทษกรรม เพิ่งได้รับเอกสาร ต้องใช้เวลาศึกษาก่อน

16 ต.ค. 2558 เว็บข่าวรัฐสภารายงานว่า ร.อ.ทินพันธุ์  นาคะตะ ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) พร้อมด้วยอลงกรณ์ พลบุตร และวลัยรัตน์  ศรีอรุณ รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ พบสื่อมวลชนเพื่อแถลงข่าวถึงแนวทางการทำงาน หรือ MEET THE PRESS ที่อาคารรัฐสภา

โดยประธาน สปท. ได้กล่าวว่า สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เป็นสภาวิชาการ ไม่มีอำนาจทางการเมือง และมีหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับรัฐบาล ทั้งนี้แนวทางการทำงานของ สปท. นั้นจะต้องดำเนินการให้แผนการปฏิรูปประเทศที่สภาปฏิรูปแห่งชาติทำไว้ให้เป็น รูปธรรม เบื้องต้นยังไม่กำหนดว่าจะทำเรื่องใดเป็นเรื่องแรก เพราะต้องหารือในที่ประชุม สปท. ก่อน อย่างไรก็ตามส่วนตัวเห็นว่า การปฏิรูปประเทศเป็นสิ่งที่ประชาชนคาดหวังเอาไว้มาก และหากครั้งนี้ปฏิรูปไม่สำเร็จก็คงไม่มีอีกแล้ว พร้อมย้ำว่า ตนไม่ได้ตั้งความคาดหวังเกี่ยวกับการปฏิรูปไว้สูงมาก ถ้าทำได้สำเร็จเพียงเรื่องเดียวก็ถือว่าเป็นเรื่องดีแล้ว

ส่วนข้อถามที่ว่า  สปท. จะนำเรื่องการปรองดองและนิรโทษกรรมมาหารือในที่ประชุมหรือไม่นั้น ประธาน สปท. กล่าวว่า เรื่องนี้ตนตอบเองไม่ได้เพราะจะเป็นความเห็นส่วนตัว ต้องหารือในที่ประชุมก่อน และสมาชิกก็เพิ่งได้รับเอกสารที่เป็นการศึกษาแนวทางการปฏิรูปประเทศของ สปช. คงต้องใช้เวลาพอสมควรในการศึกษาเอกสารทั้งหมด หลังจากนั้นคงจะมีการหารือกัน ในฐานะที่ประเด็นการแก้ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นนั้น ตนเห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะเคยศึกษาวิจัยเรื่องนี้มานานแล้ว และเชื่อมั่นว่าแนวทางที่ตนเคยศึกษาวิจัยไว้จะสามารถแก้ปัญหาเรื่องการ ทุจริตคอรัปชั่นได้

ประธาน สปท. ยังกล่าวถึงกรณีความเป็นอิสระในการทำงานด้วยว่า ตนเองทำงานทางวิชาการมานาน และอุดมการณ์ที่จะทำประโยชน์เพื่อบ้านเมืองเป็นที่ตั้ง ดังนั้นยืนยันว่า ไม่มีใครสามารถสั่งซ้ายหันขวาหันได้อย่างแน่นอน

สำหรับการแบ่งหน้าที่การทำงานระหว่างประธาน สปท. และรองประธาน สปท. ทั้ง 2 ตำแหน่งนั้น ประธาน สปท. กล่าวว่า เบื้องต้นได้มอบหมายให้ อลงกรณ์ พลบุตร รองประธาน สปท. คนที่หนึ่ง ดูแลงานด้านการประชุม สปท. ในขณะที่วลัยรัตน์  ศรีอรุณ รองประธาน สปท. คนที่สอง จะทำหน้าที่การดูแลด้านการรับเรื่องราวร้องทุกข์ ทั้งในการประชุมในสัปดาห์หน้า ที่ประชุม สปท. จะดำเนินการแต่งตั้งกรรมาธิการเพื่อทำหน้าที่ศึกษาแนวทางการปฏิรูปและผลัก ดันการปฏิรูปด้านต่างๆ ให้เป็นรูปธรรม

นอกจากนี้ประธาน สปท. ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ตนอาจไม่ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน แต่จะจัดงานพบสื่อมวลชนเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อพูดคุยกัน พร้อมย้ำว่า สิ่งที่ตนพูดจะเป็นมติของที่ประชุม สปท. แล้วเท่านั้น จะไม่แสดงความเห็นส่วนตัวอย่างแน่นอน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live




Latest Images