Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live

สรรเสริญเผยประยุทธ์ย้ำโครงการรัฐหากพบทุจริตต้องถูกลงโทษทันทีสถานหนัก

$
0
0

3 พ.ค. 2559 เมื่อเวลา 15.25 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงผลการประชุมฯ ว่าที่ประชุมครม.มีมติรับทราบการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณสำหรับรายการงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไปรายการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 4 สาย ชุมพร – ระนอง ตอน 4 จังหวัดชุมพร จังหวัดระนอง และรับทราบการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณสำหรับรายการงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ที่มีวงเงินรวมตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป รายการถนนต่อเชื่อมถนนราชพฤกษ์ – ถนนกาญจนาพิเษก (แนวเหนือ – ใต้) ตอน NS1, ตอน NS2 , ตอน NS3 , และตอน CD Road

ทั้งนี้ในกรณีการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 4 สาย ชุมพร – ระนอง ตอน 4 จังหวัดชุมพร จังหวัดระนอง ซึ่ง ครม. ได้มีมติเห็นชอบในวงเงินการก่อสร้างเมื่อเดือนตุลาคม 2558 วงเงินประมาณ 1,563 ล้านบาทเศษ นั้น นายกรัฐมนตรีและครม. พิจารณาแล้วเห็นว่าราคาการก่อสร้างดังกล่าวสูงเกินไปจึงมอบหมายให้สำนักงบประมาณร่วมกับกรมทางหลวงกลับไปพิจารณารายละเอียดว่ามีส่วนใดที่สามารถปรับลดรายการลงได้ให้เหมาะสมกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งสำนักงบประมาณและกรมทางหลวงก็ได้ดำเนินการปรับลดลงและมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดในบางกรณีทำให้ลดลงมาเหลือประมาณ 1,310 ล้านบาทเศษ และหลังจากการประกวดแบบ e-bidding ปรากฏว่าสามารถลดตัวเลขเศษของราคา 1,310 ล้านบาทเศษลงมาได้อีก ทำให้ราคาอยู่ที่ 1,310 ล้านบาท ซึ่งกรณีดังกล่าวทำให้เห็นว่าสามารถประหยัดงบประมาณลงไปได้จากวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตั้งแต่เดือนตุลาคม 2558 จากวงเงินงบประมาณ 1,563 ล้านบาทเศษ เหลือ 1,310 ล้านบาท ซึ่งสามารถลดลงได้ถึง 252 ล้านบาทเศษ ในการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 4 สาย ชุมพร – ระนอง ขณะที่กรณีของถนนต่อเชื่อมถนนราชพฤกษ์ – ถนนกาญจนาพิเษก (แนวเหนือ – ใต้) ก็เป็นการดำเนินการในลักษณะเดียวกับการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 4 สาย ชุมพร – ระนอง

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี ได้ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวว่าต่อไปนี้การดำเนินการทุกโครงการจะต้องละเอียดรอบคอบเพื่อให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณของแผ่นดินซึ่งเป็นเงินที่มาจากภาษีของประชาชนเกิดประโยชน์สูงสุด และต้องไม่มีการรั่วไหลโดยเด็ดขาด เพราะฉะนั้นทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องตรวจสอบให้เกิดความชัดเจน รวมทั้ง ได้ให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า สาเหตุที่มีการลดราคาได้จำนวนมากในการดำเนินการของ 2 โครงการดังกล่าว เป็นไปได้หรือไม่ว่าเกิดจากที่มีการตั้งราคากลางไว้ตั้งแต่ตอนแรกสูงเกินไป ดังนั้นต่อไปนี้หน่วยงานที่จะก่อสร้างหรือจะดำเนินโครงการใด ๆ การจัดตั้งราคากลางต้องมีความเหมาะสม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมกันตรวจสอบไม่ให้มีการตั้งราคากลางไว้สูงจนเกินไป ขณะเดียวกันที่ผ่านมาในอดีตก่อนที่รัฐบาลชุดปัจจุบันภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน จะพบว่าการประกวดราคาและการประมูลนั้น ราคาที่ประกวดกันได้ส่วนใหญ่จะห่างจากราคากลางนิดหน่อย ตรงนี้จึงทำให้เกิดเป็นข้อสงสัยทั้งจากประชาชนและรัฐบาลชุดปัจจุบันว่า ทำไมผู้ประกวดราคาจึงให้ราคาที่ใกล้เคียงกับราคากลางมาก เสมือนรู้เห็นเป็นใจกัน หรือเป็นการรับทราบราคากลางก่อนหรือไม่ แล้วมาบิดราคาใกล้กับราคากลางมากเกินไป ทั้งนี้ข้อสังเกตดังกล่าวของนายกรัฐมนตรี จึงฝากเน้นย้ำกับรัฐมนตรีทุกกระทรวงว่าไม่ว่าบุคคลใดจะจัดทำโครงการใดจะต้องคำนึงถึงหลักเกณฑ์และหลักการที่ถูกต้อง รวมถึงข้อสังเกตที่นายกรัฐมนตรีได้ให้ไว้ประกอบการดำเนินการด้วย ซึ่งหากตรวจสอบพบการทุจริตประพฤติมิชอบ มีส่วนรู้เห็นเป็นใจ จะต้องถูกลงโทษโดยทันทีสถานหนัก

ที่มา เว็บไซต์ทำเนียบฯ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์แจงคดี 8 มือโพสต์เฟซบุ๊ก จับเพราะทำผิดหมิ่นสถาบัน-ม.116

$
0
0

3 พ.ค. 2559 เมื่อเวลา 14.30 น. ณ บริเวณห้องโถง ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีถึงกรณีข้อเสนอขององค์กรสื่อมวลชนว่า รัฐบาลจะนำข้อเสนอดังกล่าวไปพิจารณา สำหรับความรู้สึกต่อการทำงานของสื่อมวลชนนั้น รู้สึกพอใจ และไม่พอใจบ้างต่อการทำงานของสื่อมวลชน แต่ต้องอดทน เพราะถือว่าสื่อเป็น ผู้ที่ต้องสร้างการรับรู้ให้สังคมและประชาชนโดยรวม แต่การนำเสนอของสื่อมวลชนจะต้องไม่มีการบิดเบือน และต้องเข้าใจถึงบริบทของกฎหมาย วิธีการ และเข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมา และต้องการให้นำเสนอข้อเท็จจริง ส่วนการวิพากวิจารณ์ต้องเป็นไปอย่างสุจริต และมีข้อมูลที่ชัดเจน

“หากทุกคนยังทำเหมือนเดิม ประเทศก็คงหนีไม่พ้นความขัดแย้ง ส่วนในมุมมองของผม ต้องการให้สื่อทำหน้าที่โดยไม่บิดเบือน วิพากษ์วิจารณ์อยู่บนพื้นฐานข้อมูลที่มีข้อเท็จจริง และต้องนึกถึงผลกระทบจากการแสดงความเห็นที่มีต่อการแก้ปัญหาต่างๆ เช่นการแก้ปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ต้องคำนึงถึงทุกภาคส่วน ทั้งในส่วนของประชาชนและเจ้าหน้าที่ และที่สำคัญต้องไม่ขยายความให้กับผู้ที่ไม่ทำตามกฎหมาย” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

แจงคดี 8 มือโพสต์เฟซบุ๊ก จับเพราะทำผิดหมิ่นสถาบัน

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณียิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เขียนเฟซบุ๊กถึงตน เรื่องการใช้อำนาจตามกฎหม่ายกับผู้ที่มีความเห็นต่าง ว่า ให้เกียรติยิ่งลักษณ์ในฐานะที่เป็นผู้หญิง และเคยทำงานร่วมกันมา ไม่ต้องการรังแกผู้หญิง แต่เรื่องคดีความต้องดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม การใช้อำนาจนทางที่ถูกต้องไม่เป็นเรื่องผิด อาทิ แก้ปัญหาเรื่องการทำงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ การทุจริต เพราะที่ผ่านมามีการปล่อยปละละเลยทั้งหมด

“หน้าที่ของผมคือใช้มาตรา 44 นำคนผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม กฎหมายมาตรานี้จะใช้กับทุกเรื่องที่เกี่ยวกับการกระทำผิดกฎหมาย เอาคนเข้าสู่การสอบสวน ไม่เช่นนั้นจะไม่ทันการ หนีไปหมด จับการพนันยังรู้ก่อนเลย แต่การใช้อำนาจต้องไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน คำว่าละเมิดคือการใช้ความรุนแรง ซึ่งที่ผ่านมาโกหกทั้งนั้น แทบจะไม่เคยแตะตัวเลยซักอย่าง เพราะเราระวังอยู่แล้ว” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ส่วนการจับกุม 8 แอดมินที่โพสต์เฟซบุ๊ก พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม ถ้าไม่ผิดก็สามารถฟ้องร้องได้ ซึ่งดูจากข้อมูลแล้วส่วนใหญ่กระทำผิดมาตรา 112 และ 116 เรื่องหมิ่นสถาบัน เรื่องนี้คนไทยยอมรับได้หรือไม่ จึงขออย่าพูดว่าไม่เป็นธรรมหรือสองมาตรฐาน

“ความผิดดังกล่าวไม่เกี่ยวกับการเขียนล้อเลียนผม บางคนละเมิดแล้วละเมิดอีก ก็ปล่อยจับปล่อยจับกันอยู่แบบนี้ ถามว่ากระบวนการยุติธรรมผมเสียหรือไม่ ก็เสียนะ ไปเตือนเขาสิ จะเรียนหนังสือกันหรือเปล่าหรือไม่เรียน จะมีอาชีพแบบนี้ก็อยู่ไป ถ้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่กลัวเสียชื่อก็ให้คนแบบนี้อยู่ไป ผมไม่ว่าอะไรหรอก คนดี ๆ มีเยอะแยะ ผมคิดว่าคนดีๆ นักศึกษาส่วนใหญ่ก็ไม่เห็นชอบอยู่แล้ว อาจารย์ส่วนใหญ่ก็ไม่เห็นชอบ มีแต่กลุ่มเดิม ๆ ที่เคลื่อนไหว ครั้งที่แล้วจนบ้านเมืองบานปลาย ก็อยู่มาตั้งแต่ช่วงที่แล้ว ช่วงนี้ก็ทำเหมือนเดิมอีก แล้วทำไมตอนช่วงนั้นไม่ทำ ไม่เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล ไม่เห็นมีเลยคนเหล่านี้ อยู่ไหนกันหมด” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ระบุคนแพร่คลิปรุมทำร้ายนักท่องเที่ยวอังกฤษมีความผิด

พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงกรณีเหตุการณ์กลุ่มวัยรุ่นรุมทำร้ายนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ ว่า เป็ยการทำลายภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของไทย ซึ่งได้รับทราบจากเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าได้เร่งติดตามจับกลุ่มวัยรุ่นที่ยังหลบหนีแล้ว
 
ส่วนกรณีที่นำคลิปจากกล้องวงจรปิดของเทศบาลเมืองหัวหินที่เป็นข้อมูลในสำนวนของตำรวจออกไปเผยแพร่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นการสร้างความเสียหายให้กับภาพลักษณ์ของประเทศเช่นกัน ผู้ที่เผยแพร่จะต้องถูกดำเนินคดีด้วย เพราะมีส่วนในการสร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นกับประเทศ โดยเฉพาะบทบัญญัติตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ แม้จะบอกว่าผู้เผยแพร่มีเจตนาดี แต่ต้องเคารพกฎหมายเช่นกัน
 
“ผมไม่เห็นใจมาขอโทษเล็ก ๆ น้อย ๆ ผมไม่สนใจ เป็นเรื่องกฏหมายดำเนินการให้เต็มที่ เพราะเสียชื่อเสียงประเทศชาติ ผมถึงบอกว่าทุกคนจะมาบอกว่าไม่รู้หมด มาบอกว่าหวังดี ๆ กฏหมายเขาเขียนว่าอย่างไร จะหวังดีหวังร้าย กฏหมายเขาเขียนไว้ ทำไม่ได้ทั้งนั้น” 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คำบรรยายของ รมว.ต่างประเทศญี่ปุ่น: นโยบายญี่ปุ่นด้านอาเซียน-การเชื่อมโยงที่มีชีวิต

$
0
0

ฟูมิโอะ คิชิดะ รมว.ต่างประเทศญี่ปุ่นบรรยายที่จุฬาฯ ชี้ประเทศลุ่มน้ำโขงจะบรรลุการพัฒนาโดยไม่มีใครตกขบวนต้องมี “การเชื่อมโยงที่มีชีวิต” กระตุ้นการไหลเวียนของสินค้า/ผู้คน เสนองบช่วยภูมิภาค 7.5 แสนล้านเยน เสนอ “3 หลักนิติธรรมทางทะเล” แก้พิพาททะเลจีนใต้ - ย้ำไทย-ญี่ปุ่นเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจสำคัญ เป็นฐานการผลิตในห่วงโซ่อุปทานระดับโลกของญี่ปุ่น หวัง พล.อ.ประยุทธ์ ฟื้นคืนรัฐบาลพลเรือน ตามที่กล่าวกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นว่าจะให้ไทยมีประชาธิปไตยยั่งยืน

ฟูมิโอะ คิชิดะ รมว.กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น บรรยายที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ 2 พ.ค. 2559

หมายเหตุ: เมื่อวันที่ 2 พ.ค. ที่ห้อง 105 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ (ISIS) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการบรรยายสาธารณะด้านอาเซียน โดยเชิญฟูมิโอะ คิชิดะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่น ซึ่งอยู่ระหว่างการเยือนประเทศไทย เป็นผู้บรรยายในหัวข้อ “คำกล่าวนโยบายด้านอาเซียน: ความหลากหลายและเชื่อมโยง บทบาทในฐานะหุ้นส่วนของญี่ปุ่น”

ตอนหนึ่ง รมว.ต่างประเทศของญี่ปุ่นชี้ให้เห็นว่ากลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงจะบรรลุการพัฒนาโดยไม่มีประเทศใดตกขบวน จำเป็นต้องมี “การเชื่อมโยงที่มีชีวิต” เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของสินค้าและผู้คน ทำให้สาธารณูปโภคที่สร้างขึ้นเกิดประโยชน์สูงสุด ญี่ปุ่นไม่เพียงสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแต่จะช่วยปฏิรูปกระบวนการศุลกากรข้ามแดนเพื่อให้การขนส่งสินค้าราบรื่น

ด้วยความร่วมมือของญี่ปุ่นการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 2เชื่อมมุกดาหาร-สะหวันนะเขต ทำให้การขนส่งสินค้าเส้นทางกรุงเทพฯ-ฮานอย จาก 2 สัปดาห์ทางทะเล ร่นเวลาเหลือ 3 วันทางบก หากปรับปรุงงานศุลกากรจะยิ่งราบรื่นกว่าปัจจุบันนี้ ขณะที่พม่าเริ่มใช้เทคโนโลยีระบบศุลกากรญี่ปุ่น ทำให้ร่นพิธีการศุลกากรจาก 2 ชั่วโมงเหลือ 1 นาที การเปิดสะพานทซึบาซะเชื่อมพนมเปญ-โฮจิมินห์ซิตี้ ทำให้ไม่ต้องรอข้ามฝั่งด้วยเรืออีกต่อไป ชี้หากส่งเสริมความร่วมมือในลักษณะนี้ หวังว่าในอนาคตจะทำให้เดินทางจากกรุงเทพฯ ตอนเช้าไปรับประทานเฝอที่โฮจิมินห์ซิตี้ได้ในตอนเย็น หรือเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปชมพระอาทิตย์ตกดินที่ฝั่งมหาสมุทรอินเดียภายในวันเดียวได้

ชี้ภูมิภาคลุ่มน้ำโขงแม้จะมีธรรมชาติอันสมบูรณ์ แต่ไม่อาจหนีพ้นภัยธรรมชาติ ญี่ปุ่นจะดำเนินมาตรการใหม่สร้างเสริมขีดความสามารถและแบ่งปันความรู้และประสบการณ์เพื่อตอบสนองต่อปัญหาในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์ของแม่น้าโขง โดยกรอบความร่วมมือใหม่ “ความคิดริเริ่มการเชื่อมโยงญี่ปุ่น-แม่โขง” (Japan-Mekong Connectivity Initiative) ใช้ทุนช่วยเหลือภูมิภาคลุ่มน้าโขงมูลค่า 7.5 แสนล้านเยน โดยหวังว่าไทยจะร่วมผลักดันกรอบความร่วมมือนี้

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่นย้ำด้วยว่า โดยปราศจากสันติภาพและเสถียรภาพ ความมั่งคั่งในภูมิภาคจะเกิดขึ้นไม่ได้ อาเซียนและหุ้นส่วนรวมถึงญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับมีปัญหาหมักหมมต่างๆ ซึ่งรวมถึงการก่อการร้าย ลัทธิการใช้ความรุนแรง และปัญหาที่เกี่ยวกับความมั่นคงทางทะเล จึงต้องแก้ไขปัญหาด้วยกันและรักษากฎระเบียบในภูมิภาคนี้ ต้องให้ความสำคัญกับ “ความหลากหลาย” และหลักการพื้นฐานของ “หลักนิติธรรม” คุณค่าที่จะใช้แก้ปัญหาการก่อการร้าย คือ ความเมตตาต่อความหลากหลาย โดยสนับสนุนมาเลเซียให้ใช้แนวทางสายกลางสู้กับฝ่ายสุดขั้ว

เรื่องความมั่นคงทางทะเล ท้าทายหลักนิติธรรมมากที่สุด ญี่ปุ่นกำลังประกาศ “3 หลักการว่าด้วยนิติธรรมทางทะเล” 1) การอ้างสิทธิต้องอยู่บนพื้นฐานกฎหมายระหว่างประเทศ 2) ไม่มีการใช้กำลังหรือบังคับเพื่อผลักดันในการอ้างสิทธิ 3) การหาข้อยุติโดยสันติวิธี ชี้ต้องสร้างระเบียบภูมิภาคที่ซึ่ง “หลักนิติธรรม” ต้องถูกส่งเสริมและปฏิบัติอย่างเคร่งครัด และสรุปแนวในการปฏิบัติ (Code of Conduct) ที่มีประสิทธิภาพในทะเลจีนใต้โดยเร็ว

ด้านความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ย้ำไทยกลายเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจสำคัญที่ญี่ปุ่นขาดไม่ได้ เพราะเป็นฐานการผลิตและส่งออกในห่วงโซ่อุปทานระดับโลก (Global Supply Chain) ของเศรษฐกิจญี่ปุ่น มี 4,500 บริษัทของญี่ปุ่นดำเนินกิจการ ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค ไทยให้การสนับสนุนประเทศเพื่อนบ้านมานานแล้วเพื่อลดช่องว่างการพัฒนาในภูมิภาค ญี่ปุ่นคาดหวังต่อไทยในฐานะหุ้นส่วนหลักของความร่วมมือของประเทศญี่ปุ่นในลุ่มแม่น้าโขง และเป็นหุ้นส่วนในการผลักดัน “ความริเริ่มการเชื่อมโยงญี่ปุ่น-แม่โขง”

และหวังว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำลังจัดการภารกิจต่างๆ ในประเทศตลอดจนการฟื้นคืนการบริหารประเทศโดยรัฐบาลพลเรือน ชี้เคยกล่าวกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ชินโซ อาเบะ โดยย้ำว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีประชาธิปไตยอย่างยั่งยืน จึงหวังว่าประชาชนไทยจะก้าวผ่านปัญหายุ่งยากที่กำลังเผชิญอยู่และแสดงบทบาทที่มากขึ้นกว่าที่ผ่านมาในเวทีภูมิภาคและเวทีโลก

โดยคำบรรยายของรัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น มีรายละเอียดดังนี้

000

คำกล่าวนโยบายด้านอาเซียน “ความหลากหลายและเชื่อมโยง บทบาทในฐานะหุ้นส่วนของญี่ปุ่น”

1. บทนำ

ผมชื่อ ฟูมิโอะ คิชิดะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น วันนี้ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสบรรยายที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งมีชื่อเสียงและประวัติศาสตร์อันยาวนาน ในโอกาสนี้ผมขอแสดงความขอบคุณผู้ที่เกี่ยวข้องของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ให้การสนับสนุนและทุกท่านที่มาร่วมรับฟังเป็นจานวนมากด้วย ก่อนอื่นขอแสดงความขอบคุณในกำลังใจอันอบอุ่นอย่างมากจากประเทศต่างๆ ในอาเซียน รวมถึงประเทศไทย ต่อสถานการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเกาะคิวชูเมื่อเดือนที่แล้ว โดยเฉพาะแถลงการณ์ของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ซึ่งทำให้เราตระหนักอีกครั้งว่าประเทศญี่ปุ่นกับอาเซียนมีความเชื่อมโยงกันอย่างแน่นแฟ้น

อาเซียนตั้งอยู่ระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิคและมหาสมุทรอินเดีย คล้ายกับเป็นหัวใจของเอเชีย เป็นตลาดขนาดใหญ่ซึ่งมีประชากรมากกว่า 600 ล้านคน และปัจจุบันกำลังกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตและบริโภคที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก ความสำคัญของอาเซียนไม่ใช่เฉพาะเศรษฐกิจ เนื่องจากอาเซียนเป็นแกนของกรอบทางการเมืองของเอเชียตะวันออก ดังเช่น East Asia Summit (EAS) และ ASEAN Regional Forum (ARF) อาเซียนจึงมีบทบาทหลักในการส่งเสริมสันติภาพและความมั่งคั่งในเอเชีย เราจึงสามารถคาดเดาได้ไม่ยากว่าความสัมพันธ์หุ้นส่วนกับอาเซียนของญี่ปุ่นมีความสำคัญและมีคุณค่ามากแทบจะขาดไม่ได้

เมื่อ 3 ปีครึ่งที่แล้ว ผมเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ ประเทศที่ได้เยือนเป็นครั้งแรกคือ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และบรูไน นั่นคือภารกิจในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศของผมเริ่มต้นจากประเทศอาเซียน ผมรู้สึกเป็นเกียรติที่จะกล่าวว่า การเดินทางมาไทยและลาวครั้งนี้ ทำให้ผมเดินทางเยือนครบทั้ง 10 ประเทศในอาเซียน แสดงถึงหลักระยะทางที่สำคัญทางการทูตต่ออาเซียนของผม ซึ่งนั่นได้แสดงถึงความสำคัญที่ญี่ปุ่นให้กับอาเซียนผ่านการปฏิบัติของผมในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น สิ่งที่ผมอยากจะกล่าววันนี้คือญี่ปุ่นเป็นหุ้นส่วนกันที่ขาดไม่ได้สาหรับอาเซียนในความพยายามที่จะแสดงศักยภาพอันยิ่งใหญ่ โดยใช้ “ความหลากหลาย” ที่มีและการให้ความสำคัญต่อ “ความเชื่อมโยง” ในอาเซียนให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่

 

2. พัฒนาการด้านความสัมพันธ์ญี่ปุ่นกับอาเซียน ตลอด 3 ปีครึ่งที่ผ่านมา

(ความก้าวหน้าตลอด 3 ปีครึ่งที่ผ่านมา)

ความสัมพันธ์ญี่ปุ่นกับอาเซียนได้มีความก้าวหน้าในหลายด้านในช่วงเวลา 3 ปีครึ่ง ตั้งแต่ผมได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ เมื่อปี 2013 ความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-อาเซียนครบรอบ 40 ปี และในโอกาสการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงโตเกียว ญี่ปุ่นและอาเซียนยืนยันว่าจะส่งเสริมความสัมพันธ์เชิงร่วมมือในฐานะหุ้นส่วนกัน ซึ่งประกอบไปด้วย 4 เสาหลักคือ “สันติภาพและเสถียรภาพ” “ความมั่งคั่ง” “ความเป็นอยู่อันดี” และ “ใจถึงใจ” นอกจากนั้น ญี่ปุ่นยังได้ประกาศความช่วยเหลือใหม่ในการสร้างประชาคมผ่านทางความร่วมมือด้านการพัฒนาอย่างเป็นทางการของรัฐบาลญี่ปุ่น (Official Development Assistance (ODA)) มูลค่า 2 ล้านล้านเยน ในระยะเวลา 5 ปี และยังจะให้การสนับสนุนใหม่สาหรับการรวมตัวของอาเซียนผ่านทางกองทุน Japan-ASEAN Integration Fund (JAIF 2.0) อีกเป็นจานวน 100 ล้านดอลลาห์สหรัฐ ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น-อาเซียน มีความก้าวหน้าเป็นอย่างมากในช่วงเวลา 3 ปีครึ่งที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2013 อาเซียนนับเป็นจุดหมายของการลงทุนในต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียของญี่ปุ่น นอกจากนั้น ผู้ที่เดินทางเข้าญี่ปุ่นจากอาเซียนคิดย้อนหลังไปเพียง 2 ปี ในปี 2013 มีจานวนประมาณ 1.17 ล้านคน ได้เพิ่มขึ้นในปี 2015 เป็น 2.1 ล้านคน ซึ่งนับเป็นเกือบสองเท่า

(ปีแห่งการสถาปนาประชาคมอาเซียน)

เนื่องจากเมื่อปลายปีที่แล้วประชาคมอาเซียนได้ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ ปีนี้จึงนับเป็นปีแห่งการสถาปนาอันน่าจดจำของประชาคมอาเซียน ประเทศญี่ปุ่นได้ให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องในความพยายามที่จะสร้างและรวมตัวกันของประชาคมอาเซียน รวมถึงการแก้ไขช่องว่างภายในภูมิภาคอาเซียน ในการสนับสนุนอาเซียนญี่ปุ่นเน้นย้าในการเคารพต่อ “ความหลากหลาย” ของอาเซียน รวมถึงหลักการพื้นฐานอันได้แก่ “ความเป็นเอกภาพ” และ “การเป็นศูนย์กลาง” ผมคิดว่าแทบจะไม่จำเป็นต้องกล่าวเลยว่าการรักษาและส่งเสริมความเป็นเอกภาพของประชาคมอาเซียน การรักษาการเป็นศูนย์กลางในการส่งเสริมความร่วมมือในภูมิภาคเอเซียตะวันออก และการใช้ “ความหลากหลาย” ซึ่งมีอยู่ในด้านต่างๆ เช่น การเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสังคมให้เป็นประโยชน์ ต่างก็เป็นกุญแจสำคัญที่จะบรรลุถึงสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่งคั่งของภูมิภาคนี้

 

3. ความท้าทายในอนาคตและการสนับสนุนของญี่ปุ่น

(ความท้าทายในการเข้าสู่ปี 2025)

การส่งเสริม “ความเชื่อมโยง” มีความจำเป็นอย่างมาก ในการเติมเต็มศักยภาพของอาเซียน ขณะที่ต้องใช้ “ความหลากหลาย” ให้เป็นประโยชน์และสร้าง “ความเป็นเอกภาพ” ให้เข้มแข็ง นั่นคือสิ่งที่ถูกนิยามไว้อย่างแท้จริงใน “วิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2025” ซึ่งอาเซียนได้ประกาศไว้ในการจัดตั้งประชาคมอาเซียนเมื่อปีที่แล้ว เพื่อใช้เป็นแนวทางในอนาคต

(การเสริมสร้างความเชื่อมโยง)

เพื่อส่งเสริมการรวมตัวของอาเซียน การบรรลุการพัฒนาเป็นสิ่งที่จำเป็นสาหรับกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงซึ่งมีศักยภาพอย่างเต็มเปี่ยม เราจะทำอย่างไรให้ผลของการพัฒนาครอบคลุมและขยายตัวทั่วภูมิภาคนี้โดยไม่มีประเทศใดประเทศหนึ่งตกขบวนการพัฒนา คำตอบก็คือ “การเชื่อมโยง” นั่นเอง เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจจำเป็นต้องกระตุ้นไหลเวียนของสินค้าและผู้คน โดยเชื่อมโยงภูมิภาคด้วย ถนน สะพาน และระบบราง เป็นต้น รูปแบบการสนับสนุนของญี่ปุ่นนั้นไม่เพียงสนับสนุนการสร้างถนนและสะพานเท่านั้น เรายังช่วยในการปฎิรูปกระบวนการทางศุลกากรระหว่างชายแดนเพื่อให้การขนส่งสินค้าราบรื่นมากขึ้น ช่วยให้เกิดการพัฒนาภูมิภาครอบระเบียงเศรษฐกิจ นำไปสู่การไหลเวียนของคนและสินค้า รวมทั้งทำให้สาธารณูปโภคที่สร้างขึ้นได้ใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด นี่คือการเชื่อมโยงที่มี "ชีวิต” ตามความคิดของผมครับ

สะพานข้ามแม่น้าโขงแห่งที่ 2 (หมายเหตุ - เชื่อม จ.มุกดาหาร-แขวงสะหวันนะเขต) ซึ่งเชื่อมโยงตะวันออกของไทยและลาวที่ได้เปิดใช้เมื่อปี 2006 จากความร่วมมือของญี่ปุ่น ทำให้การขนส่งระหว่าง กรุงเทพฯ-ฮานอย ซึ่งใช้เวลา 2 อาทิตย์ทางทะเล ลดลงเหลือเพียงอย่างเร็วที่สุด 3 วันทางบก ซึ่งผมคิดว่าถ้าได้มีการปรับการทางานด้านศุลกากร การขนส่งจะราบรื่นยิ่งกว่าปัจจุบันนี้ ที่ท่าเรือที่ย่างกุ้งที่จะใช้เทคโนโลยีระบบศุลกากรของญี่ปุ่น จะทำให้ระยะเวลาที่ใช้ในการตรวจเบื้องต้นทางศุลกากร คาดว่าจะลดลงจากประมาณ 2 ชั่วโมง เหลือเพียงภายใน 1 นาทีเท่านั้น การขยายของการพัฒนารอบนอก เช่นการพัฒนาทวายของพม่าซึ่งเป็นประตูทางตะวันตกของระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ ผมคิดว่าจะนำไปสู่การใช้สาธารณูปโภคที่ระเบียงเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น

เมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว ได้มีการเปิดใช้สะพาน “ทซึบาซะ” (Tsubasa) ซึ่งเชื่อมโยงระหว่างพนมเปญกับโฮจิมินห์ ซิตี้โดยความร่วมมือของญี่ปุ่น ทำให้ไม่จำเป็นต้องรอเรือ 7-8 ชั่วโมงอีกต่อไป ด้วยการส่งเสริมความร่วมมือลักษณะนี้ ทำให้ถ้าออกจากกรุงเทพฯ ตอนเช้าไปทางตะวันออกจะสามารถไปรับประทานเฝอที่โฮจิมินห์ซิตี้ได้ในตอนเย็น หรือออกจากกรุงเทพฯ ตอนเที่ยงไปทางตะวันตกจะสามารถไปชมพระอาทิตย์ตกที่มหาสมุทรอินเดียในวันเดียวกันเกิดขึ้นได้ ซึ่งผมหวังว่าจะเห็นอนาคตแบบนี้ในเวลาอีกไม่นาน

(การพัฒนาบุคลากร)

นอกจากการพัฒนาสาธารณูปโภคแล้ว การพัฒนาบุคลากรซึ่งมีบทบาทในอุตสาหกรรมของแต่ละประเทศก็มีส่วนสำคัญ ภายใต้ “การริเริ่มในการพัฒนาบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม (Industrial Human Resource Development Cooperation Initiative)” ซึ่งนายกรัฐมนตรีอาเบะได้ประกาศไว้เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2015 ญี่ปุ่นจะดำเนินการอย่างหนักแน่นเพื่อให้เกิดความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมโดยคำนึงถึงความต้องการบุคคลากรของแต่ละประเทศด้วยการประสานงานกับบริษัทและสถาบันการศึกษาของญี่ปุ่น ในประเทศไทยเมื่อเดือนมีนาคมปีนี้ ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนของประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทย ได้จัดให้มีการประชุมโต๊ะกลมเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Round Table Conference of Human Resource Development) จากการประชุมนี้ทำให้เราตระหนักว่าประเทศไทยต้องการช่างเทคนิคและวิศวกรซึ่งเป็นพื้นฐานของอุตสาหกรรม เพราะฉะนั้น เพื่อตอบสนองต่อเรื่องนี้ การสร้างความเข้มแข็งภาคการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาและอาชีวศึกษามีความสำคัญยิ่ง เราจึงกำลังเตรียมการเพื่อส่งเสริมการร่วมมือกับสถาบันการศึกษาซึ่งผลิตช่างเทคนิคและวิศวกร เราจะส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรอย่างเป็นรูปธรรมและเข้าถึงความต้องการเฉพาะของแต่ละประเทศ

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งตั้งชื่อตามพระนามของพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 5 ของไทยผู้ทรงมีบทบาทในการพัฒนาประเทศให้มีความก้าวหน้าอย่างมาก มีสำนักงานของ ASEAN University Network/Southeast Asia Engineering Education Development Network (SEED–Net) ซึ่งเป็นเครือข่ายระหว่างมหาวิทยาลัยชั้นนำของญี่ปุ่นและอาเซียน มีนักเรียนเก่าคนหนึ่งของ SEED-Net ที่เรียนจบจากกัมพูชา และศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยที่ญี่ปุ่น ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่ของโครงการพัฒนาทางด่วนพนมเปญ การสนับสนุนของญี่ปุ่นต่อแนวทางการพัฒนาบุคลากรในอาเซียนนำไปสู่การผูกโยงระหว่างญี่ปุ่นและอาเซียนทางบุคลากร ผมมีความเชื่อมั่นว่าการสร้างเครือข่ายบุคลากรลักษณะนี้ทำให้การเชื่อมโยงของอาเซียนแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

(การช่วยเหลือแม่น้ำโขง)

เราไม่สามารถที่จะกล่าวถึงภูมิภาคลุ่มน้าโขงโดยปราศจากการพูดถึงแม่น้าโขง ปัจจุบันนี้ประเทศลุ่มแม่น้าโขงประสบภัยแล้งอย่างหนัก ขณะที่บางปีประสบกับอุทกภัย ภัยธรรมชาติมีความรุนแรงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลก ภูมิภาคลุ่มน้าโขงถึงแม้จะมีธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ก็ไม่อาจหนีพ้นจากภัยธรรมชาติที่รุนแรงนี้ ฉะนั้นญี่ปุ่นจึงจะได้ดำเนินมาตรการใหม่ต่างๆ เช่น การสร้างเสริมขีดความสามารถและแบ่งปันความรู้และประสบการณ์เพื่อตอบสนองต่อปัญหาในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์ของแม่น้าโขง

(การสร้างกรอบความร่วมมือเพื่อให้ตระหนักถึงการเชื่อมโยงที่มี “ชีวิต”)

การพัฒนาและใช้สาธารณูปโภคให้เกิดประโยชน์ การปรับปรุงระบบ การพัฒนาทรัพยากรบุคคล และการสนับสนุนความร่วมมือเพื่อแม่น้าโขงซึ่งไหลผ่านกลางภูมิภาคลุ่มน้าโขง ทั้งหมดที่ผมกล่าวมานี้ต่างก็เกี่ยวข้องกับการเชื่อมโยงที่มี “ชีวิต” แน่นอนประเทศและผู้ที่อาศัยอยู่ในลุ่มน้าโขงมีบทบาทในการทำให้การเชื่อมโยงในภูมิภาคมีชีวิตขึ้น วันนี้ผมจึงเปิดตัว “ความคิดริเริ่มการเชื่อมโยงญี่ปุ่น-แม่โขง (Japan-Mekong Connectivity Initiative)” ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือใหม่เพื่อสนับสนุนความพยายามของแต่ละประเทศ ผมอยากจะสร้างกรอบการสนับสนุนนี้ด้วยความร่วมมือกับประเทศลุ่มน้าโขงโดยใช้ทุนสำหรับการให้ความช่วยเหลือภูมิภาคลุ่มน้าโขงมูลค่า 750,000 ล้านเยนในระยะเวลา 3 ปีจากนี้ด้วย ความริเริ่มนี้จะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายโดยปราศจากความร่วมมือจากประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่ให้ความช่วยเหลือจึงหวังว่าเราจะจับมือกันและผลักดันกรอบความร่วมมือนี้ต่อไป

(การเชื่อมโยงที่ขยายจากทางบกถึงทางทะเล)

การเชื่อมโยงที่ผมพูดถึงเมื่อสักครู่เป็นการเชื่อมโยงทางบก ทั้งนี้การเชื่อมโยงทางทะเลก็มีความสำคัญสำหรับการพัฒนาภูมิภาคในอนาคตเช่นเดียวกัน อย่างที่กล่าวตั้งแต่ต้นว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งอยู่ระหว่าง 2 มหาสมุทร ถ้ามองดูแผนที่โลก ทางตะวันตกของภูมิภาคแม่น้าโขงมีมหาสมุทรอินเดีย ประเทศต่างๆ รอบอ่าวเบงกอล เช่น อินเดีย บังกลาเทศ ศรีลังกา กำลังบรรลุการพัฒนาอย่างเข้มแข็ง ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างภูมิภาคลุ่มน้าโขงกับประเทศริมมหาสมุทรอินเดียกำลังแน่นแฟ้นมากขึ้น อีกด้านหนึ่งทางภาคตะวันออกภูมิภาคลุ่มน้าโขงมีมหาสมุทรแปซิฟิกโดยผ่านทะเลจีนใต้ บูรไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ได้เข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (Trans Pacific Partnership [TPP])แล้ว และส่วนไทย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ก็แสดงความสนใจในการเข้าร่วมเป็นภาคีด้วยเช่นกันซึ่งญี่ปุ่นยินดีเป็นอย่างยิ่ง ประเทศญี่ปุ่นจะให้การสนับสนุนเวียดนามเพื่อส่งเสริมกลไกภายในประเทศให้พร้อมรองรับการดำเนินการตามข้อตกลงนี้ เมื่อใดก็ตามที่แนวทางความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership [RCEP]) ได้ข้อสรุป มันจะครอบคลุมภูมิภาคซึ่งแผ่ขยายจากมหาสมุทรอินเดียไปถึงมหาสมุทรแปซิฟิก โดยมีอาเซียนกับภูมิภาคลุ่มน้าโขงอยู่ระหว่างกลาง ในการสร้างโอกาสสูงสุดจากตลาดอันเป็นเอกภาพและเชื่อมภูมิภาคเหล่านี้ให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น การส่งเสริมการเชื่อมโยงทางบกและทางทะเลของอาเซียนซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้ญี่ปุ่นจึงไม่ลังเลที่จะให้จัดหาความร่วมมือให้แก่อาเซียน

 

4. ความร่วมมือในภูมิภาคและโลก

แน่นอนสันติภาพและเสถียรภาพเป็นเงื่อนไขในการบรรลุความเจริญทางเศรษฐกิจ ปราศจากสันติภาพและเสถียรภาพความมั่งคั่งในภูมิภาคจะเกิดขึ้นไม่ได้ ในภูมิภาคนี้อาเซียนและหุ้นส่วนรวมถึงญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับมีปัญหาหมักหมมต่างๆ ซึ่งรวมถึงการก่อการร้าย ลัทธิการใช้ความรุนแรง และปัญหาที่เกี่ยวกับความมั่นคงทางทะเล เราจึงต้องแก้ไขปัญหาด้วยกันและรักษากฎระเบียบในภูมิภาคนี้ ถึงที่สุดแล้วสิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญคือ “ความหลากหลาย” และหลักการพื้นฐานของ “หลักนิติธรรม”

(ความหลากหลาย)

ผมอยากจะย้ำความสำคัญของ “ความหลากหลาย” ต่อการรักษาสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาคนี้ ขณะที่ประเทศญี่ปุ่นได้ร่วมยึดถือคุณค่าสากล อันได้แก่ เสรีภาพ ประชาธิปไตย และหลักสิทธิมนุษยชนร่วมกับอาเซียน ญี่ปุ่นก็เคารพต่อสถานการณ์ที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศของประเทศอาเซียน รวมถึงความหลากหลายทางด้าน ศาสนา เชื้อชาติ และความเชื่อ ตลอดมา

ทางสายกลาง/ความพอดีซึ่งเป็นคุณค่าที่ในการแก้ปัญหาการก่อการร้าย คือ ความเมตตาต่อความหลากหลาย อย่างที่เห็นเป็นสัญลักษณ์จากการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นที่จาร์กาต้าเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ภัยคุกคามของการก่อการร้ายกำลังจะเพิ่มมากขึ้นในอาเซียนเช่นกัน บนพื้นฐานปรัชญานี้ ประเทศญี่ปุ่นให้การสนับสนุนหลักการทางสายกลาง/ความพอดีที่มาเลเซียกำลังส่งเสริมอยู่ โดยใช้กองทุน JAIF ดาเนินโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาความรุนแรงสุดขั้ว

(หลักนิติธรรม)

“หลักนิติธรรม” เป็นพื้นฐานในการนับถือ “ความหลากหลาย” ตาม “วิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2025” ระบุไว้ว่าประชาคมความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Security Community [ASC]) ในฐานะประชาคมที่มีกฎระเบียบเป็นพื้นฐาน ร่วมยึดถือคุณค่าและบรรทัดฐานร่วมกัน ส่งเสริมหลักการพื้นฐานอาเซียนที่ยึดถือคุณค่าและบรรทัดฐาน รวมถึงหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศร่วมกัน ปัจจุบันนี้หลักการของ “หลักนิติธรรม” ที่ถูกท้าทายมากที่สุดคือด้านความมั่นคงทางทะเล โดยญี่ปุ่นกำลังประกาศ “3 หลักการว่าด้วยนิติธรรมทางทะเล” ประกอบด้วย “1) การอ้างสิทธิต้องอยู่บนพื้นฐานกฎหมายระหว่างประเทศ 2) ไม่มีการใช้กำลังหรือบังคับเพื่อผลักดันในการอ้างสิทธิ 3) การหาข้อยุติโดยสันติวิธี” เมื่อเดือนที่แล้วในการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ (G7) ที่ฮิโรชิม่า ซึ่งเป็นบ้านเกิดของผม มีการยืนยันความสำคัญในการรักษากฎระเบียบทางทะเลบนพื้นฐานกฎหมายระหว่างประเทศ และได้มีการแสดงการคัดค้านอย่างหนักต่อการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงสภาพปัจจุบันแต่เพียงฝ่ายเดียวในทะเลจีนใต้ เราต้องสร้างระเบียบภูมิภาคที่ซึ่ง “หลักนิติธรรม” ต้องถูกส่งเสริมและปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ในมุมมองนี้ ผมอยากจะเรียกร้องอีกครั้งในการสรุปแนวในการปฏิบัติ (Code of Conduct [COC]) ที่มีประสิทธิภาพในทะเลจีนใต้โดยเร็ว EAS คือเวทีหลักที่จะทำให้ “หลักนิติธรรม” เกิดความมั่นคง ในการประชุม EAS เมื่อปีที่แล้ว ผู้นำ 18 ประเทศในภูมิภาครวมถึงญี่ปุ่นและอาเซียน ได้ตกลงกันว่าเราจะพยายามจัดการกับปัญหาด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคและส่งเสริมบทบาทของเวทีนี้ เพื่อทำให้เกิดความมั่นใจต่อหลักนิติธรรมเราต้องให้ EAS ซึ่งเป็นเวทีที่มีบทบาทมากที่สุดในภูมิภาคนี้แข็งแกร่งมากกว่านี้ การผลักดันความร่วมมือในภูมิภาคโดยอาเซียนเป็นแกนกลางร่วมกับประเทศอื่นๆ เป็นหัวใจสำคัญ ซึ่งแน่นอนว่าญี่ปุ่นย่อมจะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่

(การครบรอบ 50 ปีของอาเซียน)

ปีหน้าจะครบรอบ 50 ปีแห่งการสถาปนาอาเซียนนับเป็นความทรงจำ ประเทศญี่ปุ่นได้เดินเคียงบ่าเคียงไหล่ในฐานะหุ้นส่วนก่าแก่กับอาเซียนมาเป็นเวลา 40 ปี ญี่ปุ่นด้วยการจับมือจะให้การสนับสนุนเพื่อส่งเสริม “ความเชื่อมโยง” ในขณะที่ให้ความสำคัญต่อ “ความหลากหลาย” ของอาเซียนอย่างต่อเนื่อง เพื่อเข้าสู่การพัฒนาของอาเซียนในอีกครึ่งศตวรรษต่อไป

ในการประชุมผู้นำ G7 ที่เมืองอิเซะชิมาปีนี้ 6 ประเทศจากเอเซียแปซิฟิค รวมถึงประเทศลาวซึ่งเป็นประธานอาเซียนจะเข้าร่วม เดือนกรกฎาคมนี้มีการประชุมว่าด้วยอาเซียนระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ และกันยายนนี้มีการประชุมว่าด้วยระดับผู้นา ในโอกาสที่ผมจะได้เยือนอาเซียนครบทั้ง 10 ประเทศ ผมมีความมาดหมายขึ้นมาใหม่ว่าจะกระชับความร่วมมือของญี่ปุ่นกับอาเซียนให้มากยิ่งขึ้นในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นเมื่อเราทางานเพื่อกิจกรรมทางการทูตเกี่ยวกับอาเซียน

 

5. ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น

(กรุงเทพฯ คือจุดกำเนิดอาเซียน)

อาเซียนได้ถือกาเนิดขึ้นที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนสิงหาคม 1967 การลงนามในแถลงร่วมของรัฐมนตรี 5 ประเทศรวมถึงประเทศไทย ซึ่งเรียกว่า “ปฎิญญากรุงเทพฯ (Bangkok Declaration)” คือเอกสารการสถาปนาอาเซียน รัฐมนตรีต่างประเทศของไทยเวลานั้นคือ ฯพณฯ ถนัด คอร์มันต์ ซึ่งได้ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ประหนึ่งว่ามีโอกาสเป็นสักขีพยานในการก่อตั้งขึ้นของประชาคมอาเซียน ขอถือโอกาสนี้ชื่นชมผลงานของท่านและแสดงความเสียใจอีกครั้งจากใจจริง

(ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น)

บนพื้นฐานสถานการณ์ในประเทศที่ค่อนข้างมั่นคง ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการรวมศูนย์อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในภูมิภาคอาเซียน โดยรักษาไว้ซึ่งนโยบายที่เอื้อต่อการลงทุนจากต่างประเทศ ปัจจุบันประเทศไทยกลายเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจสำคัญที่ญี่ปุ่นขาดไม่ได้ เนื่องจากประเทศไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกในห่วงโซ่อุปทานระดับโลก (Global Supply Chain) ของเศรษฐกิจญี่ปุ่น

ในประเทศไทยมีบริษัทญี่ปุ่นประมาณ 4,500 บริษัทกำลังดำเนินกิจการอยู่ ซึ่งเป็นขนาดที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิค บริษัทญี่ปุ่นจำนวนมากมีบทบาทที่ขาดไม่ได้ในส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจไทยโดยผ่านการลงทุนและการพัฒนาบุคลากรในหลายปีที่ผ่านมา ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นผู้ให้การสนับสนุนประเทศเพื่อนบ้านมานานแล้วในการลดช่องว่างในการพัฒนาภายในภูมิภาคซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการรวมตัวของอาเซียน ญี่ปุ่นมีความคาดหวังอย่างสูงต่อความพยายามต่อไปของไทยในฐานะหุ้นส่วนหลักของความร่วมมือของประเทศญี่ปุ่นในลุ่มแม่น้าโขง และเป็นหุ้นส่วนในการผลักดัน “ความริเริ่มการเชื่อมโยงญี่ปุ่น-แม่โขง” ซึ่งได้กล่าวถึงไว้ก่อนหน้า

ปัจจุบันนี้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ จันทร์โอชา กำลังจัดการภารกิจต่างๆ ในประเทศตลอดจนการฟื้นกลับคืนสู่การบริหารประเทศโดยรัฐบาลพลเรือน ในการประชุมผู้นำกับนายกรัฐมนตรี นายชินโซ อาเบะที่ผ่านมา ท่านนายกฯ ได้ย้ำว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีประชาธิปไตยอย่างยั่งยืน ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าประชาชนไทยจะก้าวผ่านปัญหายุ่งยากที่กำลังเผชิญอยู่และแสดงบทบาทที่มากขึ้นกว่าที่ผ่านมาในเวทีภูมิภาคและเวทีโลก

ขอบคุณครับ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ความสำคัญและความจำเป็น: มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ

$
0
0




ผมได้รับเกียรติจากสถาบันพลศึกษาจังหวัดเชียงใหม่เชิญไปร่วมเสวนาในเรื่อง “มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ”ในวันเสาร์ที่ผ่านมา จึงขอนำประเด็นพูดคุยมาแลกเปลี่ยนครับ

ผมคิดว่าการเปลี่ยนแปลงสถานะและบทบาทของสถาบันพลศึกษามาเป็น “มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ” เพื่อจะได้สามารถขยายบทบาทและหน้าที่ทางด้าน“การกีฬา”นั้น มีความสำคัญและมีความจำเป็น ต่อสถานการณ์ปัจจุบันอย่างยิ่งดังนี้

ทางด้าน “ความสำคัญ” อาจพิจารณาได้สามระดับ ได้แก่ การขยายตัวของ “อุตสาหกรรมกีฬา” ความเปลี่ยนแปลงความคิดเรื่อง “Body and Health”ในโลกหลังสมัยใหม่ การเปลี่ยนความหมายของการทำงานแบบ Job สู่ Careers

การขยายตัวของ "อุตสาหกรรมกีฬา" มีมูลค่าสูงมากขึ้นกว่าเดิมมหาศาล (ประมาณอย่างต่ำในอเมริกาอยู่ที่ 4 แสนล้านดอลลาร์) พร้อมกันนั้น Segment ของอุตสาหกรรมกีฬาหลากหลายมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของอุตสาหกรรมเชื่อมโยงกันไปอย่างกว้างขวาง ทำให้เกิดการจ้างงานในอุตสาหกรรมนี้มากเป็นอันดับต้นๆ ซึ่งปรากฏการณ์เช่นนี้ก็เกิดขึ้นในประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน

การเปลี่ยนแปลงความคิดเรื่อง “Body and Health” ในโลกหลังสมัยใหม่ “ร่างกาย”ไม่ใช่เพียงแค่ “ร่างกาย” ธรรมดาอย่างที่สำนึกกันมา แต่เริ่มมีความหมายผูกพันมิติความหมายของตัวตนลึกซึ้งมากขึ้น และมีกระบวนการเปลี่ยนแปลงไปสู่การใช้ “ร่างกาย” เป็นทุนในการผลิต/ทำงานทุกระดับ ซึ่งทำให้ความคิดเรื่อง “สุขภาพ” ก็เปลี่ยนจากสุขภาพดี ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ มาสู่ “สุขภาพ” ที่ดีพร้อมและเข้มแข็งในทุกๆ ด้าน

ที่สำคัญการเปลี่ยนแปลงความคิดเรื่อง “ร่างกายและสุขภาพ” นี้ได้ส่งผลทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง/เพิ่ม/แทนความหมายของคำว่า “กีฬา” ด้วยคำว่า “การออกกำลัง” ซึ่งทำให้เกิดมิติและความหมายที่กว้างขวางไพศาลอันสามารถดึงผู้คนเข้าร่วมกิจกรรมได้มากมายเหลือคณานับ จนทำให้การขยายตัวของอุตสาหกรรมกีฬาสูงมากขึ้นตลอดยี่สิบถึงสามสิบปีที่ผ่านมา (ประเด็นนี้หากไม่ลืมจะกล่าวในคราวต่อๆ ไปครับ)

การเปลี่ยนความหมายของการทำงานแบบ Job สู่ Careers เพราะอุตสาหกรรมการกีฬาที่ขยายตัวอย่างมาก และต้องการความต่อเนื่องของงานกีฬาจึงทำให้สภาพของการทำงานแบบเดิมมาสู่การทำงานที่สามารถจะเลื่อน หรือเปลี่ยนแปลงงานตามความสามารถได้กว้างขวาง กว้างไกล และหลากหลายมากขึ้น อีกทั้งยังส่งผลต่อการขยายตัวของงานที่เกี่ยวพันกับอุตสาหกรรมการกีฬา

ทางด้าน“ความจำเป็น” ของสังคมไทยในการสถาปนา “มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ” พิจารณาได้ในสี่ประเด็นได้แก่การแสวงหาทางเลือกทางเศรษฐกิจ:การหลุดออกจาก “กับดักประเทศรายได้ระดับกลาง” การสร้าง “ศูนย์กลาง” ของอุตสาหกรรม “กีฬาอาเซียน” การสร้างฐานรองรับความเปลี่ยนแปลงความคิดเรื่อง Body AndHealth รวมทั้งการสร้าง “คนรุ่นใหม่”

การแสวงหาทางเลือกทางเศรษฐกิจ: การหลุดออกจาก "กับดักประเทศรายได้ระดับกลาง"ปัญหาประเทศไทยในระบบเศรษฐกิจโลก ที่เราเป็นเพียงผู้รับจ้างทำงานผลิตทำให้เราตกอยู่ในสภาวะขึ้นไม่ได้ลงไม่ได้ ทางเลือกที่มีอยู่ตอนนี้เน้นเพียงการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่หากว่ารัฐมองเห็นถึงความสำคัญของ “อุตสาหกรรมการกีฬา” และแสวงหามาตรการที่เสริมให้อุตสาหกรรมการกีฬาในประเทศไทยมีความเข้มแข็งมากขึ้น ก็จะทำให้สังคมเศรษฐกิจไทยมีทางเลือกทางเศรษฐกิจที่สำคัญมากขึ้น

การสร้าง "ศูนย์กลาง" ของอุตสาหกรรมกีฬาอาเซียน ต้องเน้นว่า “อุตสาหกรรมการกีฬา” ของไทย มีความเข้มแข็งในทุกระดับการผลิตอยู่แล้วที่สำคัญสังคมไทย มีบุคลากรที่มีความรู้และความชำนาญใน “อุตสาหกรรมการกีฬา” อยู่มากมาย ดังนั้นหากพิจารณาทางเลือกทางเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมให้สังคมไทยเป็น “ศูนย์กลาง” ของอุตสาหกรรมการกีฬาในกลุ่มประเทศอาเซียน ก็จะส่งผลดีอย่างสำคัญต่อทั้งประเทศไทย และการขยับฐาน “อุตสาหกรรมการกีฬา” ของอาเซียนโดยรวม

การสร้างฐานรองรับความเปลี่ยนแปลงความคิดเรื่อง “ร่างกายและสุขภาพ” ในสังคมไทยโดยรวม ต้องการทั้ง “ความรู้” และ “ปฏิบัติการ” ของการกีฬาและการออกกำลังเพื่อที่จะทำให้ความรู้ความเข้าใจโดยทั่วไปที่คลาดเคลื่อนอยู่บ้าง กลับเข้าสู่กรอบที่ชัดเจนและเพื่อขยายความรู้อันจะทำไปสู่การสร้างปฏิบัติการกีฬา การออกกำลังแบบใหม่ๆ ซึ่งแน่นอนที่สุดว่า จะมีผลต่อเนื่องถึงคุณภาพของคนไทยและระบบเศรษฐกิจอีกโสดหนึ่งด้วย

การสร้าง “คนรุ่นใหม่​” ในทุกสังคมรวมทั้งสังคมไทยย่อมต้องการ “คนรุ่นใหม่” ที่มีศักยภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ แม้ว่าในปัจจุบันจะมีกิจกรรม “การออกกำลัง” ที่กว้างขวางขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถผนวกกลืนเอา “คนรุ่นใหม่” มาร่วมได้มากนัก ดังนั้น หากสามารถสร้างปฏิบัติการการออกกำลังที่มีเสน่ห์ต่อคนรุ่นใหม่ ก็ย่อมที่จะมีโอกาสดึงคนรุ่นใหม่ออกจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์ โดยหันเหพวกเขามาสู่การสร้างความหมายใหม่ให้แก่ตัวตนเพื่อสังคมไทย

ความสำคัญและความจำเป็นในการสร้าง หรือขยายปฏิบัติการกีฬาและการออกกำลังกาย เพื่อที่จะแผ้วถางทางเดินของสังคมไทยทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม จำเป็นที่จะต้องมีองค์กรที่จะทำหน้าที่หลักในการประสานทุกฝ่ายให้เดินหน้าไปได้ สำหรับจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งมีความเหมาะสมทางด้านกายภาพ และมีความพร้อมที่จะสร้างปฏิบัติการกีฬาและการออกกำลัง จึงควรจะเป็นหน้าที่ของสถาบันพลศึกษาเชียงใหม่ที่จะต้องทำงานสำคัญต่อสังคมไทยต่อเนื่องไปให้กว้างขวาง และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: http://www.bangkokbiznews.com

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กทม.จ่อฟ้องกลับ ผู้ว่าฯ สตง.หลังเตรียมชง ป.ป.ช.ฟัน 'ผู้ว่าฯ' เหตุฮั้วไฟ 39 ล้าน

$
0
0

โฆษกผู้ว่าฯ เผย กำลังหารือกับฝ่ายกฎหมาย เพื่อที่จะฟ้องร้องกลับ ผู้ว่าฯ สตง. ในข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หลัง แถลงชี้ กทม.ฮั้วประมูลไฟ 39 ล้าน จ่อชง ป.ป.ช.ฟัน 'ผู้ว่าฯ' 

4 พ.ค. 2559 ความคืบหน้ากรณีการตรวจสอบโครงการติดตั้งไฟประดับบริเวณลานคนเมืองศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร นั้น สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.รายงานว่า วสันต์ มีวงษ์ โฆษกประจำตัวผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผย สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) โดย พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าฯ สตง. แถลงข่าวทำนองว่าผลสอบโครงการติดไฟประดับซุ้มอุโมงค์ไฟ LED 5 ล้านดวง ของกรุงเทพมหานคร เมื่อช่วงปีใหม่โดยใช้งบประมาณ 39.5 ล้านบาท พบว่ามีพฤติการณ์ที่น่าเชื่อว่ามีการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. ต้องรับผิดชอบด้วยนั้น กรณีนี้ถือว่าเป็นข้อมูลที่คลุมเครือไม่ชัดเจน เนื่องจาก ผู้ว่าฯ กทม. เป็นคนกำกับนโยบาย ไม่ใช่คนปฏิบัติ มีการมอบหมายให้ผู้เกี่ยวข้องไปจัดการ ดังนั้น สตง. เหมารวมเช่นนี้ ก็คงไม่ถูกต้องมากนัก ซึ่งทาง ผู้ว่าฯ กทม. พร้อมที่จะต่อสู้ทางคดีหากถูกแจ้งข้อหาแน่นอน

นอกจากนี้ โฆษกผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร ยังกล่าวอีกว่า กำลังหารือกับฝ่ายกฎหมาย เพื่อที่จะฟ้องร้อง ผู้ว่าฯ สตง. ในข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 ด้วย 
 

คตง.ชี้ชัด กทม.ฮั้วประมูลไฟ 39 ล้าน จ่อชง ป.ป.ช.ฟัน 'ผู้ว่าฯ'

โดยวานนี้ (3 พ.ค.59) ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า สตง.ได้แถลงข่าว กรณีคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) พิจารณารายงานผลการตรวจสอบโครงการดังกล่าว โดย พิศิษฐ์ ผู้ว่าฯ สตง. ระบุว่า ในการดำเนินการดังกล่าวพบว่า มีการนำงบฉุกเฉินมาใช้แทนงบปกติ เนื่องจากสภากรุงเทพมหานครไม่อนุมัติงบปกติให้ นอกจากนี้บริษัทที่เข้าร่วมซื้อซองและประกวดราคาอย่างน้อย 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท คิวริโอ ทัวร์ แอนด์ แทรเวิล จำกัด (ผู้ชนะการประกวดราคา) บริษัท สรรค์สร้าง จำกัด (คู่เทียบการเสนอราคา) และบริษัท จิปาถะ ไอเดีย จำกัด (ร่วมซื้อซอง) ไม่มีประสบการณ์ในการทำงานมาก่อน รวมถึงมีหญิงสาวรายหนึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจจาก 3 บริษัท ไปแจ้งเพิ่มวัตถุประสงค์การทำธุรกิจไฟฟ้าประดับตกแต่ง ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ุ บริพัตร) ขณะเดียวกัน กทม. ได้สอบถามทีโออาร์จากบริษัท จิปาถะฯ ก่อนที่จะจัดทำทีโออาร์เสร็จภายในวันเดียว
 
นอกจากนี้ในทีโออาร์ระบุถึงเงื่อนไขเอกลักษณ์ความเป็นไทย แต่ไฟประดับที่จัดทำออกมาไม่มีเอกลักษณ์ดังกล่าว ขณะเดียวกันบริษัท คิวริโอฯ ที่ชนะการประกวดราคาก็สั่งซื้อของจากต่างประเทศมาเตรียมไว้ก่อนจะมีการประกวดราคาขึ้นอีกด้วย
 
ทั้งนี้ คตง.ได้พิจารณาแล้วมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ผู้ว่าฯ กทม. ธวัชชัย ผอ.กองการท่องเที่ยว ปราณี ผอ.สำนักวัฒนธรรม พร้อมกับคณะกรรมการที่กำหนด TOR รวม 9 ราย มีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ และน่าเชื่อว่าเป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เงินและทรัพย์สินของแผ่นดิน รวมถึงเข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว) จึงมีมติเห็นชอบที่จะดำเนินการเอาผิดกับผู้กระทำความผิดทั้งหมด
 
เบื้องต้นแจ้งให้ รมว.มหาดไทย แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกับผู้บริหารสูงสุดของ กทม. รวมทั้งดำเนินการทางวินัยและอาญาแก่เจ้าหน้าที่ และผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งส่วนนี้อาจเข้าข่ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ด้วย โดยภายในสัปดาห์นี้จะส่งสำนวนการไต่สวนให้กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อพิจารณาต่อไป
 
ขณะที่ความเสียหายนั้น ปัจจุบันคณะกรรมการตรวจรับการจ้าง ยังตรวจรับไม่เสร็จ เพราะจำนวนดวงไฟมีทั้งหมด 5 ล้านดวง กทม.จึงยังไม่ได้เบิกจ่ายงบประมาณจากงบฉุกเฉินมาจ่ายแต่อย่างใด อย่างไรก็ดี สตง.ได้ให้ข้อแนะนำว่าไม่ควรเบิกจ่ายงบมาใช้ เนื่องจากหากพบว่า มีการฮั้วราคากันจริง หรือมีการฝ่าฝืนระเบียบปฏิบัติ อาจจะทำให้ราชการเสียหายได้
 
ส่วนการจะดำเนินการส่งรายชื่อให้นายกรัฐมนตรีเพื่อเสนอให้ใช้ มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับนโยบายศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) แต่ปัจจุบัน ศอตช. ยังไม่มีนโยบายให้รวบรวมรายชื่อข้าราชการหรือบุคคลที่เข้าข่ายมีพฤติการณ์กระทำความผิด แต่หาก ศอตช.ส่งสัญญาณมา จะรวบรวมรายชื่อข้าราชการให้ตามขั้นตอน
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

“อย่าบังคับให้ทหารต้องใช้ความรุนแรง” ปิ่นแก้วเล่าประสบการณ์เข้าค่ายปรับทัศนคติครั้งที่2

$
0
0

ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี ซ้ายสุด (ภาพโดย Pipob Udomittipong)

4 พ.ค.2559 จากกรณีที่ ผู้จัดกิจกรรมค้านการคุมตัวผู้ใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ข่วงท่าแพเพื่อคัดค้านการจับกุมตัว 8 ผู้ต้องหาเป็นแอดมินเพจล้อเลียน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกทหารจากมณฑลทหารบก33 ค่ายกาวิละ จ.เชียงใหม่ เรียกเข้าค่ายคุยวานนี้(3 พ.ค.59) ก่อนที่ทั้งหมดจะออกมาโดยไม่ลงชื่อในข้อตกลงหรือเอ็มโอยู (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี รองศาสตราจารย์และอาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนึ่งในผู้ถูกเรียกเข้าค่ายคุยปรับทัศนคติดังกล่าว โพสต์ข้อความเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว 'Pinkaew Laungaramsri' ในลักษณะสาธารณะดังนี้

ในการถูกเชิญให้ไปปรับทัศนะคติครั้งที่สอง ณ ค่ายกาวิละ ในวันนี้พร้อมๆ กับเพื่อนๆ อีกสองท่าน ทำให้ดิฉันอดย้อนคิดเปรียบเทียบกับเมื่อครั้งเข้าค่ายกาวิละตามคำเชิญของทหารเป็นครั้งแรก เมื่อหลังรัฐประหารใหม่ๆเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2557 ไม่ได้ สิ่งที่น่าสนใจคือ แม้ว่าสิ่งที่ทางฝ่ายทหารขอร้องจะเหมือนกันในทั้งสองครั้ง คือ การขอให้ยุติการแสดงออกทางความคิดเห็นและกิจกรรมต่างๆ ในที่สาธารณะ เพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคม แต่เหตุผล และวาทกรรมที่ใช้ในการรองรับคำขอดังกล่าว มีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด

ในตลอดสองชั่วโมงที่นั่งฟังการบรรยายของฝ่ายทหาร เจ้าหน้าที่ตำรวจและตัวแทนจากฝ่ายปกครอง ถึงความจำเป็นที่ต้องเรียกตัวดิฉันและเพื่อนอีกสองคนเข้าพบ คีย์เวิร์ดสองคำที่ไม่พบในวาทกรรมของฝ่ายทหาร ทั้งที่เป็นคำที่ได้ยินอยู่บ่อยครั้งในการปรับทัศนะคติครั้งแรก และเป็นวาทกรรมที่ถูกใช้มาโดยตลอดในการสร้างความชอบธรรมที่จะริดรอนเสรีภาพของประชาชนคือ “เพื่อความปรองดอง” และการอยู่ในช่วงของ “โรดแมป” ในการคืนความสุขให้กับประชาชน คำที่มาแทนที่ ความปรองดอง และโรดแมปในการสนทนาวันนี้ คือ “บ้านเมืองอยู่ในสภาวะพิเศษ” ที่ต้องการ “ความสงบเรียบร้อยปราศจากความวุ่นวายก่อนการเลือกตั้ง” และ “อย่าบังคับให้ทหารต้องใช้ความรุนแรง”
 
การหายไปของวาทกรรมความปรองดอง และโรดแมป สะท้อนความเสื่อมถอยของความชอบธรรมในการใช้อำนาจของทหารในช่วงเวลาเกือบสองปีที่ผ่านมาอย่างมีนัยยะสำคัญ ทั้งนี้ เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า การอ้างความขัดแย้งระหว่างประชาชนและสีเสื้อที่ต่าง ในฐานะมูลเหตุของความไม่สงบในสังคมไทย เป็นสิ่งที่ไม่เป็นจริง และไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไป ในห้วงเวลาเกือบสองปีที่ผ่านมา ความขัดแย้งประการเดียวที่ปรากฏให้เห็น และทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆคือ ความขัดแย้งและเผชิญหน้าระหว่างทหารกับประชาชน ขณะเดียวกัน วาทกรรมโรดแมป ก็เสื่อมมนต์ขลังลงอย่างรวดเร็ว เพราะไม่เพียงแต่ไม่มีถนน ไม่มีแผนที่นำทาง หรือความหวังใหม่ๆใดๆให้เห็น แต่ทิศทางการพัฒนาประเทศ กลับผลิตซ้ำเมกะโปรเจ็คที่พล่าผลาญทรัพยากรและเบียดขับชาวบ้านในทุกหย่อมหญ้า ที่ัไม่ได้ต่างไปจากยุคของพรรคเพื่อไทยแต่อย่างใด
 
การอ้างสภาวะพิเศษ หรือการเป็นสังคม “พิเศษ” ที่แตกต่างไปจากประเทศอื่นๆ (อันเนื่องมาจากความแตกแยกขัดแย้งทางการเมืองของประชาชน) เพื่อแทนที่วาทกรรมความปรองดองและโรดแมปของ คสช. จึงเป็นข้ออ้างที่ไร้น้ำหนัก และนับวันก็ยิ่งไร้ความชอบธรรมมากขึ้นทุกขณะ ดิฉันกลับคิดว่า แทนที่ทหารมุ่งแต่จะคิดว่า สังคมไทยนั้น พิเศษไม่เหมือนใครเขา และดังนั้นจึงไม่ควรนำประเทศไปเปรียบเทียบกับที่อื่น อันเป็นวิธีคิดที่ไม่ได้ช่วยนำพาสังคมให้ไปในทิศทางที่ดีขึ้นแต่ประการใด ฝ่ายทหารควรหันกลับมามองว่า ในประเทศที่เคยปกครองภายใต้ระบอบเผด็จการเช่นเดียวกับไทยนั้น เขานำพาประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยได้สำเร็จกันอย่างไร เรียนรู้วิถีทางที่เป็นประโยชน์ในการปรองดองกับประชาชน เข้าใจประชาชน และแสวงหาหนทางไปสู่ความเป็นประเทศที่ทหารและประชาชนอยู่ร่วมกันได้โดยไม่ต้องมาทะเลาะกันทุกเมื่อเชื่อวัน อย่างนี้ น่าจะเป็นวิธีคิดที่สร้างสรรค์กว่าหรือไม่ ดิฉันกลับคิดว่า สังคมไทยสามารถที่จะเป็นเหมือนกับสังคมอื่นที่ “ปกติ” ได้ ขอเพียงแต่ทหารเปิดใจรับฟังประชาชนให้มากขึ้น แทนที่จะใช้วิธีการกดบังคับ ที่พิสูจน์แล้วว่าล้มเหลวมาตลอดสองปีที่ผ่านมา
 
ดิฉันเข้าใจดีว่า ในฐานะที่เป็นสถาบันที่รวมศูนย์อำนาจมากกว่าสถาบันราชการใดๆในสังคมไทย นายทหารในระดับภูมิภาคนั้น มีแรงกดดันที่ต้องตอบสนองต่อนโยบายจากส่วนกลาง และแรงกดดันที่ว่ามักเป็นที่มาของการตัดสินใจใช้อำนาจที่รุนแรงเหนือการใช้เหตุผล แต่ขณะเดียวกัน ดิฉันกลับเห็นว่า หน้าที่สำคัญของทหาร ที่สำคัญยิ่งไปกว่าการสนองตอบต่อนโยบายของผู้บังคับบัญชา ได้แก่ การรับใช้ประเทศที่มีประชาชนเป็นรากฐานสำคัญ ทหารที่เป็นศัตรูกับประชาชน ย่อมรักษาได้แต่ประเทศอันกลวงเปล่า และขาดไร้ซึ่งความหมาย ทหารในฐานะที่เป็นพลเมืองเช่นกัน จึงควรที่จะสามารถที่จะคิด และใช้วิจารณญาณในการเข้าใจปัญหา เข้าใจสังคม และเข้าใจประชาชน แทนที่จะมุ่งแต่ใช้กฎและอำนาจอย่างปราศจากตรรกะและเหตุผลเพียงถ่ายเดียว
 
ดิฉันได้กล่าวกับผบ.มณฑลทหารบกที่ 33 ในวันนี้ และอยากจะกล่าวซ้ำในที่นี้ อีกครั้งว่า อยากชวนให้ทหารคิด และมองไปในอนาคต “ทหารนั้นอยากให้ประชาชนจดจำตนเองอย่างไร?” สิ่งที่กระทำเฉพาะหน้าในวันนี้ โดยไม่ได้คิด หรือไตร่ตรองอย่างรอบคอบด้วยเหตุและผล ที่สุดแล้ว จะกลายเป็นประวัติศาสตร์ที่จะถูกจดจำต่อไปในกาลข้างหน้า สำหรับดิฉัน สิ่งนี้มีความสำคัญทั้งต่อสถาบันทหาร และต่อประเทศโดยรวม โดยส่วนตัวแล้ว ดิฉันยังหวังว่า สักวันหนึ่ง ทหารจะสามารถถูกจดจำโดยประชาชน ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างชาติ เป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในประวัติศาสตร์แห่งการสรรเสริญ อยู่ในความทรงจำของประชาชนในความหมายของความสว่าง และความรุ่งเรือง
 
เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ว่า ประวัติศาสตร์ความทรงจำเช่นนี้ ยังไม่เคยเกิดขึ้นเลยในสังคมไทย แม้จวบจนปัจจุบัน
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กกต.สมชัย เตือน แจก-ขายเสื้อรณรงค์ผิด กม.ประชามติ

$
0
0

ที่มาภาพ เว็บไซต์สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

4 พ.ค.2559 เมื่อวัน 2 พ.ค. ที่ผ่านมา iLaw ได้รายงาน ราชดำเนินสนทนา หัวข้อ “ประชามติ” อะไรทำได้-ไม่ได้ ซึ่งจัดโดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศ โดย สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรรมการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า ในการออกประกาศ กกต.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการแสดงความคิดเห็นในการออกเสียงประชามติ กกต.คำนึงถึงหลักการสำคัญคือหลักเสรีภาพส่วนบุคคลเป็นสำคัญตามมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ทั้งนี้ต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย คือ ถ้าจะโพสต์ เขียน หรืออภิปรายวิชาการ ต้องไม่นำความเท็จเกี่ยวกับสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งต้องไม่พูดจาหยาบคาย รุนแรง และต้องไม่นำไปสู่การปลุกระดม

กกต.พยายามคิดสถานการณ์ที่เป็นรูปธรรม คือ ถ้าใส่เสื้อโหวต Yes หรือ No ทำได้ เป็นเรืองส่วนบุคคล แต่ถ้าใส่พร้อมกันหลายคน เดินแถวราชประสงค์ หรือ แถวมหาวิทยาลัยแห่งใดแห่งหนึ่ง ทำไม่ได้เท่ากับเป็นการรณรงค์ อย่างไรก็ตาม สมชัย เพิ่มเติมว่า ถึงการกระทำดังกล่าว ไม่ผิด พ.ร.บ.ประชามติฯ ก็อาจผิดกฎหมายความมั่นคงอื่นให้ระวัง

สมชัย อธิบายต่อว่า การขายเสื้อถือว่าเป็นความผิด ถ้าขายอยู่ขอความกรุณาให้เอาออกจากเพจ การแจกก็ถือความเป็นความผิดเช่นกัน เพราะทำให้ประชาชนคิดเหมือนกัน ส่วนการสัมภาษณ์สื่อทำได้ ถ้าไม่สัมภาษณ์เป็นเท็จ และการจัดอภิปรายวิชาการทำได้ แต่ต้องมีเจ้าภาพ เป็นสถาบันการศึกษา หน่วยงานราชการ องค์กรสื่อ ซึ่งถ้าจัดเราจะไม่เซ็นเซอร์ ไม่สนใจว่าจะเชิญใคร เนื้อหาเป็นอย่างไร ให้ท่านรับผิดชอบกันเอง แต่ถ้าเป็นกลุ่มการเมืองทำไม่ได้ เพราะติดประกาศ คสช.ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คนขึ้นไป

"เราไม่อ่อนไหวขนาดนั้น เราอ่อนไหวกับการแชร์ข้อความเท็จ การปลุกระดม ดังนั้นก่อนแชร์ต้องพิจารณาก่อนว่าเป็นข้อความเท็จหรือไม่ กรณีที่จังหวัดขอนแก่นเป็นการแชร์จากหนังสือพิมพ์การแชร์นั้นไม่ผิด แต่พอท่านโพสต์เพิ่ม เป็นข้อความที่หยาบคายและนำไปสู่การชี้นำให้รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เป็นความผิด ถ้าเป็นบุคคลกระทำ ผมอาจจะเฉยๆ แต่นี่เป็นกลุ่มหรือองค์กร" สมชัย ตอบคำถามที่ว่าการกดไลค์ข้อความเท็จผิดหรือไม่  

พล.ร.อ.ชุมนุม อาจวงษ์ สมาชิก สนช. กล่าวว่า พ.ร.บ.ประชามติฯ มีจุดประสงค์อยากให้ประชาชนมาใช้สิทธิให้มากที่สุด เราเน้นการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้การออกเสียงเป็นไปด้วยความสุจริต ไม่สร้างความขัดแย้งใหม่ ใช้เหตุผลในการออกความคิดเห็น ต้องการให้เป็นที่ยอมรับของประชาชน

ต่อกรณีคำถามว่าทำไม สนช.ตัดคำว่ารณรงค์ออก พล.ร.อ.ชุมนุม ชี้แจงว่า เราทำประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญน่าจะไม่ต้องรณรงค์เพื่อแบ่งฝ่ายกัน

ไพโรจน์ ชี้ประชามติควรเปิดให้สองฝ่ายรณรงค์อย่างเต็ม

ขณะที่ ไพโรจน์ พลเพชร จากสมาคมนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน เห็นว่า การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญควรเปิดให้สองฝ่ายรณรงค์อย่างเต็ม ถ้าต้องการให้การลงประชามติน่าเชื่อถือ และนำไปสู่การยอมรับ แต่ปัจจุบันฝ่ายไม่เห็นด้วยมีข้อจำกัดถูกควบคุมควบเนื้อหา รวมถึงวิธีการ เช่น การจัดเวทีต่างๆ องค์กรอื่นที่นอกจากหน่วยงานรัฐและสถาบันการศึกษาไม่สามารถจัดได้

ไพโรจน์ ชี้ให้เห็นว่า มาตรา 10 ของ พ.ร.บ.ประชามติฯ ที่ระบุว่า ถ้า กรธ.กระทำเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ให้ถือเป็นการจูงใจ ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่ กรธ.จะพูดด้านลบของร่างรัฐธรรมนูญของตน เรากำลังสร้างบรรยากาศที่ไม่เป็นที่ยอมรับ การลงประชามติต้องอิสระ การใช้หน่วยงานรัฐไปชี้จะให้ลงมติอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างนี้ไม่อิสระ ต้องให้ประชาชนได้ข้อมูลที่ทั่วถึงเพียงพอ เพราะประชาชนต้องได้ข้อมูลสองด้าน เช่น ถ้า กมธ.บอกร่างรัฐธรรมนูญดีแล้ว อีกฝ่ายก็ต้องบอกได้ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะนำไปสู่อะไร

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 28 เม.ย.-4 พ.ค. 2559

$
0
0
 
สภาองค์การลูกจ้างฯ ชี้แรงงานไทยติดพนัน เหล้า บุหรี่ เพิ่มมากขึ้นสาเหตุเศรษฐกิจย่ำแย่ทำให้ถูกเลิกจ้าง หันหน้าพึ่งอบายมุขทุกรูปแบบ
 
วันนี้ (28 เม.ย. 59) มีรายงานข่าวว่า นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย เปิดเผยข้อมูลภายในงาน เสวนา ถอดรหัส อบายมุข ทุกข์แรงงานไทย ถึงปัญหาการติดการพนันและอบายมุขของแรงงานไทยที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันสามารถเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ได้ง่าย ประกอบกับปัญหาเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ มีการเลิกจ้าง ทำให้แรงงานหันไปพึ่งอบายมุขทุกรูปแบบ จนติดและเป็นโรคเรื้อรัง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและครอบครัว
 
นายมนัส กล่าวว่า ผลการสำรวจพบว่ามีแรงงานประมาณร้อยละ 30 หรือจำนวน 12-13 ล้านคน เกี่ยวข้องกับอบายมุข ทั้งเหล้า บุหรี่และการพนัน มีการใช้จ่ายเงินค่าจ้างหมดไปกับอบายมุขเกือบทั้งหมด หรืออย่างน้อยมีการใช้เงินค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท ไปกับค่าเหล้ากว่าร้อยละ 20 ยังไม่นับรวมการติดบุหรี่และการพนันร่วมด้วย
 
อย่าไรก็ตาม สอดคล้องกับความคิดเห็นของนายจะเด็ด เชาว์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล อธิบายว่า สถิติค่าใช้จ่ายในการดื่มสุราของคนไทยอยู่ที่ปีละกว่า 2 แสนล้านบาท โดยพบว่ามีแรงงานที่ติดสุราเรื้อรังจนถูกเลิกจ้าง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ครอบครัว และประสบปัญหาการหย่าร้าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ใช้แรงงานทั้งหมด และสถานการณ์ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง จึงนำมาสู่การสูญเสียที่เกิดจากอุบัติเหตุ ปัญหาสุขภาพ การทะเลาะวิวาท และปัญหาความรุนแรงในครอบครัว
 
 
"ม.หอการค้า" เผยผลสำรวจผู้ประกอบการค้านการปรับขึ้นค่าแรงขึ้น เหตุเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว ชี้หากปรับขึ้นรัฐบาลต้องลดภาษีช่วย
 
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจในวันแรงงาน จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 600 ตัวอย่าง ในภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ ภาคการค้าและภาคเกษตร พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 71.4 ไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เนื่องจากสภาพธุรกิจ ยังไม่ฟื้นตัว ตามภาวะเศรษฐกิจที่คาดว่าในช่วงไตรมาสที่ 2 จะถึงจุดต่ำสุด ซึ่งจะมีผลให้ต้นทุนของภาคธุรกิจสูงขึ้น และยิ่งซ้ำเติมยอดขายให้ลดลงไปอีก แต่หากมีการปรับขึ้นค่าแรงจริง มีจำเป็นจะต้องเพิ่มราคาสินค้าขึ้นด้วย และลดจำนวนแรงงานลง แต่หันไปจ้างแรงงานต่างด้าวมากขึ้น รวมไปถึงการหันมาใช้เครื่องจักรเพิ่มขึ้น
 
ทั้งนี้ การปรับค่าจ้างควรจะแยกปรับตามความเหมาะสม แต่ละพื้นที่ และในภาวะปัจจุบัน ควรจะปรับไม่เกิน 310 บาท/วัน และรัฐบาลจะต้องมีการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ในการลดภาษีนิติบุคคล จัดฝึกอบรมแรงงาน และให้เงินชดเชยแรงงานขั้นต่ำ
 
 
รมว.แรงงานเร่งศึกษาปรับขึ้นค่าแรงจ้างขั้นต่ำ
 
เมื่อวันที่ 29เม.ย. พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงข้อเรียกร้อง 15 ข้อของสภาองค์การลูกจ้างแรงงาน 17 องค์กรที่จะยื่นต่อนายกรัฐมนตรีเนื่องในวันแรงงาน 1 พ.ค.นี้ ว่าส่วนตัวเห็นข้อเรียกร้องทั้ง 15ข้อแล้วและเห็นผลวิจัยเกี่ยวกับหนี้สินแรงงานซึ่งเผยแพร่ทางสื่อ โดยส่วนของเรียกร้องหลักการขอปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำก็อยู่ระหว่างการศึกษาซึ่งต้องพิจารณาอย่างละเอียดว่า จะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่จะให้ปรับในอัตราเท่ากันทั่วประเทศหรือปรับโดยพิจารณาเป็นพื้นที่
 
พล.อ.ศิริชัย กล่าวอีกว่าส่วนข้อเรียกร้องที่ขอให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ฉบับที่ 87 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและฉบับที่ 98 ว่า ด้วยสิทธิในการ่วมเจรจาต่อรองก็กำลังศึกษาอยู่เพราะมีผลกระทบเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน รวมทั้งต้องเตรียมกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ให้รองรับได้ไม่ใช่เป็นการไปรับอนุสัญญาทั้ง 2ฉบับโดยที่ประเทศไม่พร้อม
 
ทั้งนี้กระทรวงแรงงานจะพยายามทำให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลตามที่ ไอแอลโอกำหนดแต่เรื่องนี้จะต้องใช้เวลา ส่วนข้อเรียกร้องทั้งหมดที่เสนอมานั้นมีหน่วยงานต่างๆของกระทรวงฯดูแลและติดตามอยู่ ขณะเดียวกันตนก็ประชุมติดตามทุกสัปดาห์
 
20 ปีที่ผ่านมากระทรวงแรงงานได้ให้ของขวัญแก่กลุ่มแรงงาน ตามพ.ร.บ.ประกันสังคมพ.ศ.2558 ซึ่งขณะนี้มีผลบังคับใช้แล้วที่ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ประกันสังคมด้านต่าง ๆ เช่น กรณีคลอดบุตรให้ได้รับสิทธิประโยชน์ไม่จำกัดจำนวนครั้ง โดยจ่ายครั้งละ 13,000 บาท ส่วนกรณีเงินสงเคราะห์สำหรับบุตรอายุแรกเกิด ถึง 6ปีก็มีสิทธิได้รับคราวละ 3 คนได้รับคนละ 400 บาทต่อเดือน รวมทั้งที่ผ่านมามีการวางมาตรการดูแลความปลอดภัยในการทำงานของแรงงานซึ่งส่วนตัวขอฝากถึงผู้ใช้แรงงานว่า รัฐบาลและกระทรวงฯจะดูแลแรงงานอย่างเต็มที่ และอยากให้แรงงานทุกกลุ่มตั้งหัวหน้างานและผู้บริหารซึ่งจะเป็นกลไกลหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศได้"พลเอกศิริชัย กล่าว
 
 
ยื่น 15 ข้อเรียกร้องวันแรงงานต่อนายกฯ ทั้งปรับค่าแรงมากกว่าวันละ 300 บาท-ดูแลลูกจ้างรับเหมาช่วง-จี้ให้เร่งช่วยเหลือภายใน 6 เดือน
 
เมื่อวันที่ 29 เม.ย. นายบรรชา ประสิทธิ์สันต์ เลขาธิการสภาองค์การลูกจ้างสภาลูกจ้างแห่งชาติ(สสช.) ในฐานะประธานจัดงานวันแรงงานชาติปี 2559 เปิดเผยว่า ในวันที่ 1 พ.ค.นี้ ซึ่งเป็นวันแรงงานแห่งชาติ จะยื่นข้อเรียกร้องต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) จำนวน 15 ข้อ ดังนี้ 1.ให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ไอแอลโอ) ฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการวมตัวและเจรจาต่อรอง 2.ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้มากกว่าวันละ300บาทในอัตราเท่ากันทั่วประเทศ และควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภค 3.ให้รัฐบาลปฏิรูปสำนักงานประกันสังคม(สปส.)และกองทุนเงินทดแทนโดยแก้ไขกฎกระทรวงเกี่ยวกับบัตรรับรองสิทธิให้ใช้ได้ทุกโรงพยาบาล ประกาศให้ผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่ขาดจากการเป็นผู้ประกันตนจำนวนหลายหมื่นคนให้เข้ามาขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ได้ใหม่ ตามระยะเวลาที่สปส.กำหนด และเพิ่มสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนมาตรา 40 ยกระดับการจ่ายค่ารักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วย อุบัติเหตุฉุกเฉินตามความเป็นจริง รวมถึงเพิ่มเงินทดแทนการขาดรายได้จากอุบัติเหตุการทำงานเดิม 60 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มเป็น 100 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้าง
 
นายบรรชา กล่าวอีกว่า 4.ให้รัฐบาลเร่งนำร่างพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ... และร่างพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ... ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมของผู้ใช้แรงงานเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) 5.ให้รัฐบาลตรากฎหมายตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงให้แก่ลูกจ้างในกรณีที่สถานประกอบกิจการปิดกิจการเลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย 6.ให้รัฐบาลยกเว้นเก็บภาษีเงินได้กรณีค่าชดเชยของลูกจ้างภาคเอกชนและเงินตอบแทนความชอบของพนักงานรัฐวิสาหกิจ รวมถึงเงินได้อื่นๆ ซึ่งเป็นงวดสุดท้ายของลูกจ้าง 7.ให้รัฐบาลตราพระราชกฤษฎีกาการจัดเก็บเงินสะสมและเงินสมทบเพื่อเป็นกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างตามบทบัญญัติว่าด้วยกองทุนเงินสงเคราะห์ในหมวด 13 ของพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 8.ให้รัฐบาลสนับสนุนและผลักดันกฎหมายพัฒนารัฐวิสาหกิจ และยุติการแปรรูปหรือแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจให้เป็นบริษัทเอกชน หรือยุบเลิกรัฐวิสาหกิจ 9.ให้รัฐบาลยกระดับสำนักความปลอดภัยแรงงานเป็นกรมความปลอดภัยแรงงาน 10.ให้รัฐบาลจัดสรรงบสนับสนุนพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย
 
นายบรรชา กล่าวว่า 11.ให้รัฐบาลบังคับให้สถานประกอบกิจการปฏิบัติตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 11/1 กรณีแรงงานรับเหมาช่วงให้ได้รับสิทธิประโยชน์เท่ากับลูกจ้างประจำโดยเคร่งครัด 12.ให้กระทรวงแรงงานเร่งปรับปรุงกฎหมายเพื่อคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ และให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของแรงงานนอกระบบ หน่วยงานและภาคอื่นๆที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจัดตั้งกรมคุ้มครองส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะ 13.ให้กระทรวงแรงงานจัดงบสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กปฐมวัยที่ดูแลลูกหลานของผู้ใช้แรงงานที่จัดตั้งขึ้นมาแล้วอย่างต่อเนื่อง 14.รัฐบาลต้องจัดให้มีระบบบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า ไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจนหรือสัดส่วนรายได้เฉลี่ยของประเทศไทย และ 15.ให้รมว.แรงงานตั้งคณะทำงานติดตามข้อเรียกร้องวันแรงงานชาติปี 2559 ทั้งนี้ข้อเรียกร้องที่อยากให้รัฐบาลเร่งดำเนินการมี 5 ข้อ คือการรับรองอนุสัญญาไอแอลโอฉบับที่ 87และฉบับที่ 98 การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ การปฏิรูประบบประกันสังคม การดูแลแรงงานรับเหมาช่วง และนำร่างพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน และร่างพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฉบับผู้ใช้แรงงานเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. โดยขอให้ดำเนินการให้เป็นรูปธรรมภายใน 6 เดือน
 
 
ทีดีอาร์ไอ แนะรัฐบาลนำร่องปรับขึ้นค่าจ้าง 7 จังหวัด เป็นวันละ 315 บาท และจังหวัดแหล่งท่องเที่ยวปรับให้สอดคล้องกับค่าครองชีพ ปีหน้าค่อยปรับทั้งประเทศ
 
ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ บอกว่า กรณีมีข้อเสนอจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเห็นว่ารัฐบาล ควรพิจารณาขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 5-7เปอร์เซ็นต์ แต่ให้ปรับขึ้นไม่เท่ากันในแต่ละพื้นที่นั้นเห็นว่า ควรให้ปรับขึ้นค่าจ้างเพียง 7 จังหวัดคือ กรุงเทพฯ, สมุทรสาคร, สมุทรปราการ, ปทุมธานี, นครปฐม, นนทบุรี และภูเก็ตที่เคยปรับขึ้นไปเมื่อกลางปี 2555 ก่อน เช่นอาจจะปรับขึ้น 15 บาทส่วนจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวของต่างชาติ เช่น ชลบุรี เชียงใหม่ที่มีค่าครองชีพสูง ก็นำข้อมูลการสำรวจของสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานมาพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตามค่าครองชีพได้แต่ต้องปรึกษาคณะกรรมการค่าจ้างจังหวัดด้วย ส่วนปี 2560 คณะกรรมการค่าจ้างก็พิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศโดยพิจารณาจากฐานค่าจ้างเดิมของปี 2559 เช่น จ.มุกดาหาร มีดัชนีค่าครองชีพ 3 เปอร์เซ็นต์จากฐานค่าจ้างวันละ 300 บาทเมื่อปรับค่าจ้างขั้นต่ำปี 2560 ก็คือ 309 บาท นอกจากนี้ จะต้องออกกฎหมายให้สถานประกอบการทุกแห่งต้องมีโครงสร้างค่าจ้างตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นไป
 
 
สำรวจสถานภาพแรงงานไทย แบกหนี้เกือบหมื่นบาทต่อเดือน แนะเพิ่มค่าจ้างเป็นวันละ 350 บาท
 
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลการสำรวจ ‘สถานภาพแรงงานไทยในทัศนะของแรงงานไทย’ โดยเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,212 ตัวอย่างทั่วประเทศ พบว่าส่วนใหญ่มีรายได้ประมาณ 15,000 บาท และมีรายจ่ายในอัตราใกล้เคียงกัน ซึ่งร้อยละ 95.9 มีภาระหนี้สิน และส่วนใหญ่เป็นหนี้นอกระบบ ร้อยละ 60.62 ที่เป็นสัดส่วนสูงสุดในรอบ 8 ปีที่ผ่านมา รวมถึงต้องมีการผ่อนชำระหนี้ของครัวเรือนเฉลี่ยเดือนละ 9,657 บาท เพราะส่วนใหญ่ร้อยละ 42.5 มีรายจ่ายมากกว่ารายรับ ทำให้ต้องกู้เพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
 
สำหรับความเห็นจากผลสำรวจระบุว่าแรงงานส่วนใหญ่จึงต้องการให้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้น เป็นวันละ 357 บาท จากเดิมที่อัตรา 300 บาท และควรปรับขึ้นตามภาวะค่าครองชีพและกลไกตลาดที่แท้จริง เนื่องจากการใช้จ่ายมากขึ้นในทุกกิจกรรมโดยเฉพาะช่วงวันหยุดแรงงาน ขณะเดียวกันแรงงานยังมีความกังวลเป็นอย่างมากที่จะตกงาน เพราะเศรษฐกิจในประเทศยังชะลอตัว
 
อย่างไรก็ตาม แรงงานส่วนใหญ่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือเรื่องค่าครองชีพให้สอดคล้องกับรายได้ หรือปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ รวมถึงเพิ่มสิทธิประโยชน์และการคุ้มครอง
 
“สถานภาพแรงงานที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แรงงานจึงขอให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 356.76 บาท จากปัจจุบัน 300 บาท ให้ทันตามภาวะค่าครองชีพที่มีการขึ้นตามกลไกตลาด และค่าจ้างที่ไม่ปรับขึ้นมาหลายปี อย่างไรก็ตาม แรงงานยังกังวลเรื่องตกงาน เพราะเห็นนายจ้างมีผลประกอบการไม่ดีนักตามเศรษฐกิจชะลอตัว ดังนั้นควรปรับค่าจ้างขั้นต่ำ นอกจากนี้รายได้ไม่พอใช้จ่าย จะเป็นตัวฉุดความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลง เศรษฐกิจซึมตัวทุกพื้นที่ ทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจไม่ดีขึ้น “ ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจกล่าว
 
นอกจากนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้สำรวจสถานภาพของภาคธุรกิจต่อแรงงาน จากกลุ่มตัวอย่าง 600 ตัวอย่าง พบว่าธุรกิจไทยไตรมาส 1 ปีนี้ ยังไม่ฟื้นตัวดีเท่าที่ควร และอาจต่ำสุดในไตรมาส 2 โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 71.4 ไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เนื่องจากสภาพธุรกิจ ยังไม่ฟื้นตัว เพราะจะมีผลให้ต้นทุนของภาคธุรกิจสูงขึ้น และยิ่งซ้ำเติมยอดขายให้ลดลงไปอีก แต่หากมีการปรับขึ้นค่าแรงจริง มองว่าควรจะปรับไม่เกิน 310 บาทต่อวัน
 
 
กรมอนามัย เผยสถิติแรงงานไทย เผย 10 โรครุมเร้า แถมกลุ่มวัยทำงาน พบอัตราท้องไม่พร้อมเกินครึ่ง 71.1% จบด้วยการทำแท้ง
 
เมื่อวันที่ 1 พ.ค. นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากการศึกษาของกรมอนามัย และรวบรวมข้อมูลจากหลายแหล่งพบว่าประชากรวัยแรงงานมีโรครุมเร้าประมาณ 10 โรค คือ 1. โรคอ้วน 2.โรคหัวใจและหลอดเลือด อันเป็นผลมาจากโรคอ้วน 3.โรคมะเร็งระบบสืบพันธุ์ เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก 4.โรคจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ เช่น มะเร็ง ปอด มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งตับ และเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ 5. โรคเครียด โดยพบว่าวัยทำงานเป็นวัยที่เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายมากที่สุด ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเงินกับเรื่องงาน 6. โรคเอดส์ จากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน 7. ภาวะมีบุตรยาก 8. ท้องไม่พร้อม ทำแท้ง 9. ความเสี่ยงจากงานและโรคจากการประกอบอาชีพ และ 10. อุบัติเหตุบนท้องถนน เป็นต้น “เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ทำการจัดอายุวัยทำงานเริ่มจาก 15- 60 ปี จึงทำให้พบอัตราการท้องไม่พร้อมมากถึงร้อยละ 56.5 ทำแท้ง ร้อยละ 71.1 ท้องไม่พร้อม ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยรุ่น คาบเกี่ยววัยทำงานอายุไม่ถึง 20 ปีบริบูรณ์ ซึ่งปัญหา เพราะสรีระร่างกาย สังคม เศรษฐกิจ การเงิน ความไม่มั่นคง เพราะเป็นช่วงของการเริ่มต้นชีวิต”นพ.วชริระ กล่าว
 
 
สวนดุสิตโพลสะท้อนหัวอกแรงงานไทย "ค่าแรงน้อย-มีหนี้สิน"
 
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,070 คน สำรวจระหว่างวันที่ 25-30 เม.ย.ที่ผ่านมา เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของผู้ใช้แรงงาน เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติประจำปี 2559 พบว่าผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ ร้อยละ 84.58 ระบุแรงงานไทย ณ วันนี้ ได้ค่าแรงต่ำ รายได้น้อย รองลงมาร้อยละ 78.50 ระบุการคุ้มครองแรงงานยังไม่ทั่วถึงเพียงพอ สวัสดิการไม่ดี และร้อยละ 74.77 มีแรงงานหลากหลายอาชีพ มีทักษะและฝีมือ สามารถพัฒนาได้ ส่วนปัญหาของแรงงานไทย ณ วันนี้ ส่วนใหญ่ร้อยละ 82.24 ระบุค่าแรงน้อย เงินไม่พอใช้ มีหนี้สิน ขณะที่ร้อยละ 78.97 ระบุถูกเอารัดเอาเปรียบ ดูถูก ไม่ได้รับความเป็นธรรม และร้อยละ 64.20 ระบุตกงาน ว่างงาน โดนแรงงานต่างด้าวแย่งงาน
 
 
อีก 2-3 ปีไทยจ่อขาดแคลนแรงงาน พบตำแหน่ง พนง.ขับรถบรรทุกว่าง 1 แสน อัตรา
 
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานองค์กรนายจ้าง ผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เป็นห่วงภาวะขาดแคลนแรงงานของไทยจะเข้าสู่วิกฤตในช่วงระยะเวลา 2-3 ปีนี้ เนื่องจากปัจจุบันไทย ยังขาดแคลนแรงงานกลุ่มทักษะสูงเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มพนักงานขับรถบรรทุก ที่ขณะนี้นายจ้างทั่วประเทศต้องการว่าจ้างมากกว่า 100,000 อัตรา เนื่องจากบุคคลากรที่มีอยู่ ส่วนใหญ่อายุมากขึ้นรองลงมาคือกลุ่มช่างกลึง ช่างโลหะ,พนักงานบัญชี,นักบริหารการตลาด ส่วนแรงงานระดับล่าง ปัจจุบันนี้พบว่า แทบไม่มีคนไทยประกอบอาชีพ ทำให้ผู้ประกอบการต้องพึ่งพาการนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศ กว่า 3 ล้านอัตรา
 
สำหรับบัญฑิตใหม่ ที่จะเข้าสู่ระบบแรงงานปีละประมาณ 580,000 คนนั้น ส่วนใหญ่ สาขาที่เรียนจบมายังไม่ตรงความต้องการของตลาดแรงงาน โดยผู้ที่เรียนจบในสาขาสังคมศาสตร์ มีโอกาสว่างงานสูงกว่าสาขาวิชาชีพ
 
ส่วนกรณีผู้ใช้แรงงานเรียกร้องให้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจาก 300 บาทเป็น 360 บาทนั้น สำหรับภาคอุตสาหกรรม มองว่า อัตราจ้างที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 20% ยังไม่ใช่ช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสม เนื่องจากที่ผ่านมาตลอดระยะเลา 3 ปี ผู้ประกอบการต่างอยู่ในภาวะ"หัวเลี้ยวหัวต่อ"เพราะต้องประคับประคองกิจการ ให้ผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจโลกซบเซา ซึ่งเห็นว่า กลางปีหน้า ภาวะเศรษฐกิจไทยน่าจะฟื้นตัวชัดเจนขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสมในการพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างใหม่
 
 
กลุ่มแรงงานเกษตรกร ร้องดีเอสไอ ถูกเบี้ยวค่าแรงและค่าสินค้าเกษตรกว่า 49 ล้านบาท
 
นายบันทิต สังข์นันท์ ผู้อำนวยส่วนรับเรื่องร้องทุกข์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ รับหนังสือร้องเรียนของกลุ่มแรงงานและเกษตรกร จากโรงงานผลิตสินค้าทางการเกษตรแปรรูป จ.พะเยา นำพยานหลักที่เกี่ยวกับกับการที่ถูกเบี้ยวค่าแรง รวมทั้งสินค้าทางการเกษตร รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 49 บ้านบาท หลังจากที่โรงงานงานดังกล่าวประกาศปิดกิจการตั้งแต่ปี 2556 โดย 1 ในตัวแทนผู้ใช้แรงงาน เปิดเผยว่า ถูกทางโรงงานบอกให้มาทำงาน แต่กลับจ่ายค่าแรงไม่เต็มจำนวน บางครั้งก็ไม่ยอมจ่ายค่าแรงให้ จนทำให้ได้รับความเดือนร้อน จึงได้รวมตัวกันเดินทางมาที่ดีเอสไอเพื่อร้องขอความช่วยเหลือ ขณะที่ตัวแทนกลุ่มเกษตรกรที่ส่งสินค้าได้กับโรงงานมาตั้งแต่ปี 2554 - 2556 แต่ว่าไม่ได้รับค่าสินค้าที่ส่งให้กับโรงงาน จนโรงงานปิดกิจการก็ไม่ได้รับเงินในจำนวนดังกล่าว
 
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ทางกลุ่มแรงงานและเกษตรกร ได้เคยเข้าร้องเรียนมาที่ดีเอสไอแล้วครั้งหนึ่ง แต่ขณะนั้นเรื่องอยู่ในขั้นตอนการบังคับคดี จึงไม่สามารถดำเนินการให้ความช่วยเหลือได้ แต่หลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกฟ้องแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว ดีเอสไอจะรับเรื่องไปตรวจสอบต่อไป
 
 
กรมการจัดหางานเปิดรับสมัครไปทำงานที่มาเลเซียถึง 19 พ.ค.
 
นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน แจ้งว่ากรมการจัดหางานเปิดรับสมัครคนหางานเพื่อ FOOD-CHAIN (M) SDN ไปทำงานในประเทศมาเลเซียกับบริษัท ROTOL BHD ซึ่งประกอบกิจการร้านอาหาร จำนวน 2 ตำแหน่ง 8 อัตรา ได้แก่ ตำแหน่งผู้ประกอบอาหารจำนวน 2 อัตรา ค่าจ้างพื้นฐาน 5,000 ริงกิต ต่อเดือน หรือประมาณ 44,074 บาทต่อเดือน และตำแหน่งผู้ช่วยประกอบอาหารจำนวน 6 อัตรา ค่าจ้างพื้นฐาน 3,000 ริงกิตต่อเดือน หรือประมาณ 26,444 บาทต่อเดือน (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 8 เมษายน 2559) ระยะเวลาการจ้าง 2 ปี ต่อสัญญาได้ ทำงานวันละ 8 ชั่วโมง/สัปดาห์ละ 6 วัน นายจ้างรับผิดชอบค่าทำประกันเงินทดแทนตามที่ทางการกำหนด พร้อมจัดหาที่พักและพาหนะรับส่งให้ฟรี จัดให้มีการตรวจโรคประจำปีตามที่กรมตรวจคนเข้าเมืองมาเลเซียกำหนด และรับผิดชอบค่าตั๋วเครื่องบินเที่ยวกลับประเทศไทย เมื่อทำงานครบสัญญา 2 ปี การลาประจำปี 8 วัน ลาป่วยไม่เกินปีละ 14 วัน วันหยุดเทศกาล 11 วัน เอกสารที่ใช้ในการสมัคร ได้แก่ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน รูปถ่าย 2 นิ้ว จำนวน 1 รูป สำเนาหนังสือเดินทาง (ถ้ามี) ประกาศนียบัตรผ่านการฝึกอบรม
 
ผู้สนใจสามารถติดต่อสมัครด้วยตนเองพร้อมหลักฐานได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด ทุกจังหวัด สำนักจัดหางานกรุงเทพเขตพื้นที่ 1-10, สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศกรมการจัดหางาน อาคารสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 3 ชั้น 10 ถนนมิตรไมตรี แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2559 โดยไม่เสียค่าสมัครหรือค่าบริการใดๆ ทั้งสิ้น สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร.0-2245-1034 หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694
 
กรมการจัดหางานเตือนแรงงานไทยอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้างที่ชักชวน ไปทำงานในตำแหน่งพนักงานทำความสะอาด พนักงานโรงงาน คนงานก่อสร้าง และยามในบริษัทใหญ่ที่โรมาเนีย เนื่องจากไม่มีตำแหน่งงานอยู่จริง และรัฐบาลโรมาเนียเข้มงวดในการนำเข้าแรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะแรงงานนอกสหภาพยุโรป
 
นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่าสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบูคาเรสต์ ประเทศโรมาเนีย ได้แจ้งว่าขณะนี้มีนายหน้าชาวไทยแอบอ้างว่าบริษัทขนาดใหญ่ที่โรมาเนีย เช่น บริษัทรอมเพรสต์ บริษัทเออร์บัน เอส เอ และบริษัท เดนบราเว่น เป็นต้น มีงานในตำแหน่งพนักงานทำความสะอาด พนักงานโรงงาน คนงานก่อสร้าง และยาม จำนวน 20-40 ตำแหน่ง โดยได้โควตาวีซ่าเข้าประเทศเรียบร้อยแล้ว เพียงจ่ายเงินค่านายหน้า และดำเนินการตรวจสุขภาพให้เสร็จสิ้นเท่านั้นก็สามารถเดินทางไปทำงานได้ทันที ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ตรวจสอบกับบริษัทดังกล่าวข้างต้นแล้วปรากฏว่าไม่มีตำแหน่งงานเช่นนั้นอยู่จริง และบริษัทเหล่านั้นไม่มีนโยบายจ้างแรงงานต่างชาติแต่อย่างใด อีกทั้งรัฐบาลโรมาเนียยังมีนโยบายที่เข้มงวดในการนำเข้าแรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะแรงงานจากประเทศนอกสหภาพยุโรป ไม่มีการให้โควตา การทำงานครั้งละจำนวนมากๆ แต่จะพิจารณาอนุญาตให้จ้างงานเป็น กรณีๆ ไป ซึ่งมีอัตราค่าแรงขั้นต่ำประมาณ 12,000 บาทต่อเดือนเท่านั้น
 
กรมการจัดหางานจึงขอแจ้งเตือนคนหางานที่ประสงค์จะเดินทางไปทำงานที่โรมาเนียตรวจสอบข้อมูลสถานเอกอัครราชทูต ให้รอบคอบก่อนตัดสินใจ โดยเฉพาะเอกสารสัญญาจ้างงานจะต้องได้รับการรับรองจากสถานทูต ณ กรุงบูคาเรสต์ก่อน โดยสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สถานเอกอัครราชทูตฯ E-mail : Thaibuh@outlook โทร. +40 21 311 0031 หรือที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักจัดหางานกรุงเทพเขตพื้นที่ 1-10 โทรศัพท์ สายด่วนกรมการจัดหางาน 1694
 
 
จับมือเมียนมาจ้างแรงงานแบบรัฐต่อรัฐ
 
โฆษกกระทรวงแรงงาน นายธีรพล ขุนเมือง บอกว่า พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รมว.แรงงานได้ประชุมหารือกับ นายเต็ง ส่วย รมว.แรงงาน ตรวจคนเข้าเมืองและประชากรของเมียนมา เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินการร่วมกันในการจัดส่งแรงงานตามข้อตกลงความร่วมมือในการจัดส่งแบบรัฐต่อรัฐ โดยจัดตั้งคณะทำงานทั้งสองฝ่ายให้แล้วเสร็จภายในมิ.ย.นี้โดยจะมีการเปิดจุดเข้าออกของแรงงาน เพิ่มขึ้นที่บ้านพุน้ำร้อน ต.บ้านเก่า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี รวมถึงเปิดศูนย์อบรมที่ชายแดนไทย-เมียนมา เพื่อปฐมนิเทศก่อนเข้ามาทำงานและส่งกลับเพื่อตรวจสอบสิทธิประโยชน์ด้วย โดยเน้นความร่วมมือในการพัฒนาฝีมือแรงงานและการเข้าสู่ระบบประกันสังคมของแรงงานที่เข้าเมืองโดยถูกกฎหมาย และทั้งสองประเทศจะร่วมมือกันในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร เพื่อไม่ให้มีการหลอกลวงแรงงานและแรงงานบังคับไม่ให้นำไปสู่การค้ามนุษย์
 
 
เร่งช่วย 39 แรงงานต่างด้าวร้องเรียนขอเปลี่ยนนายจ้าง
 
นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าตามที่มีแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา จำนวน 57 คน ซึ่งทำงานกับนายจ้างบริษัท เอ็ดดี้ โกลด์ จำกัด ตั้งอยู่ที่เลขที่ 30/8 ซอยอารีย์อุทิศ ถ.ปทุมสัมพันธ์ ต.บางปรอก อ.เมือง จ.ปทุมธานี ร้องเรียนขอเปลี่ยนนายจ้าง โดยอ้างว่านายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานหลายประการ เช่น ไม่จ่ายค่าจ้างงวดสุดท้าย ไม่นำลูกจ้างเข้าสู่ระบบประกันสังคมตามกฎหมาย ไม่ให้ค่าแรง 300 บาทต่อวัน ไม่จ่ายเงินค่าทำงานล่วงเวลาและนายจ้างประกาศให้ลูกจ้างพ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง
 
นายอารักษ์กล่าวอีกว่า ตนได้สั่งการให้สำนักงานจัดหางาน จ.ปทุมธานี ตรวจสอบข้อมูลทางทะเบียน พร้อมทั้งประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและนายจ้างบริษัท เอ็ดดี้ โกลด์ จำกัด เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและพิจารณาให้การช่วยเหลือในการเปลี่ยนนายจ้างตามกฎหมาย ซึ่งจากข้อมูลเบื้องต้นแรงงานต่างด้าวทั้ง 57 คน ไม่ได้ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนกับสำนักงานประกันสังคม และในจำนวนดังกล่าวมี 37 คน ซึ่งใบอนุญาตทำงานหมดอายุ และบริษัทไม่ต่ออายุใบอนุญาตทำงานให้ และอีก 2 คน ใบอนุญาตทำงานยังไม่หมดอายุ แต่บริษัทได้ยกเลิกใบอนุญาตทำงานแล้ว
 
ดังนั้นแรงงานต่างด้าวทั้ง 39 คนจึงสามารถเปลี่ยนนายจ้างได้ และขณะนี้แรงงานกลุ่มดังกล่าวกำลังรอการบรรจุงานใหม่ที่บริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) จำกัด จ.สมุทรสาคร ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการยื่นขอใบอนุญาตทำงาน ส่วนที่เหลืออีก 18 คน ใบอนุญาตทำงานยังไม่หมดอายุ ซึ่งกรมการจัดหางานได้แจ้งให้สำนักงานจัดหางานจังหวัดตาก ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อขอความร่วมมือบริษัท เอ็ดดี้ โกลด์ แม่สอด จำกัด ซึ่งเป็นนายจ้าง หากไม่ประสงค์จะจ้างแรงงานต่างด้าวทั้ง 18 คนทำงานต่อไป ขอให้ยกเลิกใบอนุญาตทำงาน เพื่อแรงงานต่างด้าวดังกล่าวจะได้เปลี่ยนไปทำงานกับนายจ้างรายอื่น
 
อธิบดีกรมการจัดหางานกล่าวด้วยว่า แรงงานต่างด้าวกลุ่มนี้ได้รับการดูแลและช่วยเหลือเบื้องต้นจากมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) ทั้งด้านที่พักและอาหาร ตลอดจนการประสานงานกับส่วนราชการต่างๆ ทั้งนี้แรงงานต่างด้าวที่นำเข้ามาทำงานภายใต้ MOU สามารถเปลี่ยนนายจ้างได้ในกรณี 1.นายจ้างเสียชีวิต 2.นายจ้างเลิกจ้างและเลิกกิจการ 3.นายจ้างกระทำทารุณกรรม 4.นายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน อย่างไรก็ตามหากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักจัดหางานกรุงเทพเขตพื้นที่ 1-10 หรือโทร.สายด่วนกรมการจัดหางาน 1694
 
ส่วนเรื่องการต่อใบอนุญาตแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติที่ให้จดทะเบียนเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 59 ที่เห็นชอบการดำเนินการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว โดยผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชาที่เคยมีใบอนุญาตทำงาน มารายงานตัวทำบัตรใหม่ภายใน 120 วัน ระหว่างวันที่ 1 เม.ย.-29 ก.ค. 2559
 
ทั้งนี้ นายจ้างจะต้องนำแรงงานต่างด้าวไปตรวจสุขภาพ ทำประกันสุขภาพที่โรงพยาบาลที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ชำระค่าธรรมเนียม มีจุดบริการชำระเงิน (Counter Service) ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักจัดหางานกรุงเทพเขตพื้นที่ 1-10 แล้วนำใบรับรองแพทย์และบัตรสีชมพูหรือเอกสารที่ประเทศต้นทางออกให้ไปชำระค่าธรรมเนียมทั้งสิ้น 1,900 บาท แบ่งเป็นค่ายื่นคำขออนุญาตทำงาน จำนวน 100 บาท ค่าธรรมเนียมการอนุญาตทำงาน 2 ปี จำนวน 1,800 บาท กรณีชำระค่าบริการผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิสจะเสียค่าธรรมเนียมเพิ่ม 10 บาทต่อแรงงานต่างด้าว 1 คน
จากนั้น นำแรงงานต่างด้าวไปศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (OSS) ตามแต่ละพื้นที่กำหนด โดยนำเอกสารบัตรสีชมพู หรือเอกสารที่ประเทศต้นทางออกให้/ใบเสร็จรับเงินชำระค่าธรรมเนียม/ใบรับรองแพทย์/ใบนัด และคำขออนุญาตทำงาน ตท.8 ซึ่งเจ้าหน้าที่จะรับรายงานตัวและจัดทำบัตรใหม่ให้ โดยจะทำงานได้จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2561
 
 
ส.อ.ท.ค้านขึ้นค่าแรง 360 บาทต่อวัน
 
นายเจน นำชัยสิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงกรณีคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เรียกร้องให้ภาครัฐ ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 360 บาทต่อวัน จากปัจจุบันค่าแรง 300 บาทต่อวัน ทั่วประเทศว่า ขณะนี้มีเสียงสะท้อนจากสมาชิก ส.อ.ท.เป็นจำนวนมาก ว่ายังไม่ถึงเวลาที่เหมาะสมที่จะปรับขึ้นค่าแรงงานจาก 300 บาททั่วประเทศ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจในพื้นที่หลายๆจังหวัดยังฟื้นตัวไม่ดีนัก และที่ผ่านมาการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท ผู้ประกอบการหลายรายรับภาระไม่ไหว หากปรับขึ้นอีกเชื่อว่าผู้ประกอบการจะได้รับผลกระทบอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี
 
“ผมต้องการให้การพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงงาน เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการไตรภาคีแต่ละจังหวัดมากกว่า ส่วนกลางไม่ควรชี้นำ เนื่องจากคณะกรรมการฯ แต่ละจังหวัด จะรู้ข้อมูลดีที่สุดว่าผู้ประกอบการแต่ละพื้นที่รับภาระค่าแรงงานได้มากน้อยเท่าใด ควรศึกษาข้อดีข้อเสียให้ดี เช่น หากปรับขึ้นค่าแรงงานขึ้นไป แต่ผู้ประกอบการแบกรับภาระไม่ได้ สุดท้ายต้องปิดกิจการ แรงงานต้องถูกเลิกจ้าง”
 
นายถาวร ชลัษเฐียร ประธานสถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถมนุษย์ ส.อ.ท. กล่าวว่า แนวทางการปรับขึ้นค่าแรงงาน หากจะมีการปรับขึ้นครั้งต่อไป ควรลอยตัวค่าแรงงาน โดยกำหนดค่าแรงขั้นต่ำไว้ที่ 300 บาท จากนั้นให้ปรับขึ้นค่าแรงงานตามทักษะความสามารถ เช่น สอบใบมาตรฐานแรงงาน ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ซึ่งเปิดให้วัดทักษะความสามารถหลายระดับ และแต่ละบริษัทควรมีโครงสร้างเงินเดือนที่ชัดเจน กำหนดให้พนักงานแต่ละคนต้องพัฒนาประสิทธิภาพแรงงาน ก่อนที่จะพิจารณาปรับขึ้นเงินเดือน ไม่ควรพิจารณาแต่อายุการทำงานเท่านั้น เพื่อให้พนักงานมีแรงจูงใจในการพัฒนาฝีแรงงานของตน
 
 
คลังเตรียมออกกฎหมายจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญฯสำหรับลูกจ้างบริษัทเอกชน เพื่อให้มีรายได้หลังเกษียณเพียงพอต่อการดำรงชีพ
 
วันนี้ (3พ.ค.59) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เตรียมออกกฎหมายจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) สำหรับลูกจ้างบริษัทเอกชน โดยมีลักษณะเหมือนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ เพื่อให้พนักงานบริษัทเอกชนมีรายได้หลังเกษียณเพียงพอต่อการดำรงชีพ และช่วยลดภาระงบประมาณการดูแลกลุ่มผู้สูงอายุของภาครัฐ
 
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการ สศค. กล่าวว่า สศค.พยายามผลักดันเรื่องนี้มานานแล้ว แต่เศรษฐกิจช่วงที่ผ่านมายังไม่เอื้ออำนวย ทำให้ยังไม่ประสบผลสำเร็จ ซึ่งที่ผ่านมาสศค.ได้ศึกษาพบว่า รายได้หลังเกษียณของผู้สูงอายุส่วนใหญ่ไม่พอต่อการเลี้ยงชีพ สะท้อนจากข้าราชการเกษียณ 3 ล้านคน จะมีรายได้หลังเกษียณเท่ากับ 70% ของรายได้ก่อนเกษียณ ขณะที่แรงงานในระบบประกันสังคมมี 12 ล้านคน มีรายได้เฉลี่ยหลังเกษียณ 40% ของรายได้ก่อนเกษียณ แต่แรงงานนอกระบบ 27 ล้านคน ไม่มีระบบบำนาญหลังเกษียณ
 
ทั้งนี้ การใช้กฎหมายนี้การจ่ายเงินสะสมของลูกจ้างและเงินสมทบของนายจ้าง จะมีอัตราเท่ากัน โดยจะทยอยปรับขึ้นเป็นช่วงๆ คือ ปีที่ 1-3 อัตรา 3% ของเงินเดือน แต่ไม่เกิน 1,800 บาท ปีที่ 4-6 อัตรา 5% ของเงินเดือน แต่ไม่เกิน 3,000 บาท ปีที่ 7-9 อัตรา 7% ของเงินเดือน แต่ไม่เกิน 4,200 บาท และปีที่ 10 เป็นต้นไป อัตรา 10% แต่ไม่เกิน 6,000 บาท ซึ่งจะมีคณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ทำหน้าที่กำหนดนโยบายและทิศทางพัฒนาและกำกับดูแลระบบบำเหน็จบำนาญให้ครอบคลุม เพียงพอ และยั่งยืน รวมทั้งทบทวนหรือออกกฎหมาย กฎ ระเบียบ และหลักเกณฑ์เกี่ยวกับระบบบำเหน็จบำนาญ
 
อย่างไรก็ตาม ปีแรกหลังใช้กฎหมาย จะกำหนดให้กิจการที่มีลูกจ้าง 100 คนขึ้นไป ต้องมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกิจการที่ได้รับสัมปทานจากภาครัฐ กิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน กิจการในตลาดหลักทรัพย์ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรมหาชน ต้องตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทันที หลังจากนั้นในปีที่ 4 กำหนดให้กิจการที่มีลูกจ้าง 10 คนขึ้นไป ต้องมีกองทุนฯ และในปีที่ 6 กิจการที่มีลูกจ้าง 1 คนขึ้นไป ต้องมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
 
สำหรับ ภาระงบประมาณด้านหลักประกันชราภาพสูงขึ้นมาก จนอาจกระทบต่อความยั่งยืนของระบบ โดยภาระการคลังต่องบประมาณด้านสวัสดิการสังคมกรณีชราภาพปี 2557 มี 2.7 แสนล้านบาท หรือ 2.1% ของจีดีพี มีแนวโน้มเพิ่มเป็น 6.8 แสนล้านบาท หรือ 3.0% ของจีดีพี ใน10 ปีข้างหน้า โดยปัจจุบันรัฐมีภาระจากเงินบำเหน็จบำนาญ 4.7 แสนล้านบาทต่อปี ภาระเงินจ่ายเบี้ยยังชีพคนชราเป็น 9 หมื่นล้านบาทต่อปี ภาระจ่ายเงินกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) 9 หมื่นล้านบาทต่อปี ภาระจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคม 2.3 หมื่นล้านบาทต่อปี ภาระจ่ายเงินเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ 10,000 ล้านบาทต่อปี จากไม่มีภาระเลยในปี 2557
 
ทั้งนี้ กบช.จะเสริมกองทุนประกันสังคม บริษัทใดจ่ายเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สามารถเปลี่ยนเป็น กบช.ได้ ซึ่งกบช.แตกต่างกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพราะกบช.เป็นภาคบังคับให้ทุกบริษัทต้องดำเนินการ แต่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นภาคสมัครใจและมีบริษัทใหญ่หลายแห่ง ยังไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
 
 
เทสโก้ฯ ผนึกสมาคมคนพิการภาคตะวันออกจัดอบรมตัดเย็บเสื้อผ้า
 
นางสาวสลิลลา สีหพันธุ์ รองประธานกรรมการ ฝ่ายกิจการบรรษัท เทสโก้ โลตัส กล่าวว่า ในฐานะผู้นำธุรกิจค้าปลีกของไทยและมีร้านค้ากว่า 1,800 แห่งทั่วประเทศ เทสโก้ โลตัส มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างประโยชน์แก่สังคมไทย โดยใช้ขนาดและศักยภาพขององค์กร เพื่อมอบโอกาสพร้อมช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับกลุ่มคนพิการในประเทศไทย ผ่านการดำเนินงานในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การเปิดโอกาสในการทำงานให้กับคนพิการในสำนักงานและสาขาต่างๆ ,เปิดร้านค้าชุมชนเพื่อส่งเสริมอาชีพคนพิการ,จัดพื้นที่ขายลอตเตอรี่ให้กับคนพิการ,ปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ รวมถึงผู้สูงอายุ รวมถึง การจัดหลักสูตรตัดเย็บเสื้อผ้า 609 ชั่วโมง สร้างงานขยายโอกาสทางอาชีพ ตามมาตรา 35 ด้วย
 
“เทสโก้ โลตัส ได้ร่วมกับสมาคมคนพิการภาคตะวันออก จัดหลักสูตรตัดเย็บเสื้อผ้าสำหรับคนพิการขึ้น ที่ศูนย์ฝึกอบรม โรงเรียนบ้านทุ่งแม่น้ำน้อย อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ ตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์-13 มิถุนายน จำนวน 50 คน ซึ่งเป็นผู้พิการในจังหวัดนครสวรรค์ มีเป้าหมายสร้างงาน ขยายโอกาสในการเข้าถึงอาชีพให้กับคนพิการ โดยหลังจบหลักสูตรจะได้รับมอบจักรพร้อมอุปกรณ์ ไปประกอบอาชีพ ”
 
นายณรงค์ ไปวันเสาร์ นายกสมาคมคนพิการภาคตะวันออก กล่าวว่า สมาคมคนพิการภาคตะวันออกได้ร่วมกับ เทสโก้ โลตัสพัฒนาหลักสูตรดังกล่าวขึ้นมา ตามมาตรา 35 ที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการนั้นอาจให้สัมปทานจัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ จัดจ้างเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการโดยวิธีกรณีพิเศษ ฝึกงาน หรือจัดให้มีอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวก ล่ามภาษามือ หรือให้ความช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการก็ได้
 
“โครงการนี้เป็นโครงการที่ทำให้คนพิการได้รับสิทธิเท่าเทียม เพราะสิ่งที่คนพิการทุกคนกลัวคือ การไม่มีงานทำ หลักสูตรนี้เรามีเบี้ยเลี้ยงให้ เรียนฟรี มีอาหารเลี้ยง 3 มื้อ จบแล้วยังได้จักรเย็บผ้าพร้อมอุปกรณ์ไปประกอบอาชีพอีก ทำให้เขามีความหวังในชีวิตมากขึ้น”
 
นางสาวพร สุขสวัสดิ์ อายุ 46 ปี ผู้พิการแขนขา กล่าวว่า “ปกติแล้วจะอยู่บ้าน ปลูกผักปลูกหญ้า มีรายได้จากเบี้ยเลี้ยคนพิการ 800 บาทต่อเดือน ก็ไม่พอใช้ เพราะมีโรคประจำตัวหอบหืด ค่ายาก็ 300 บาทแล้ว พอมาเข้าอบรมหลักสูตรนี้มีความหวังมากขึ้น เป็นหลักสูตรที่ดีมาก ตอนนี้เย็บกระโปรงได้แล้ว กำลังเรียนเย็บกางเกง เสื้อผ้าอื่นๆ จะได้นำไปทำอาชีพได้”
 
นายแผน บุญรัตน์ ผู้พิการขา กล่าวว่า โครงการนี้ให้โอกาสคนพิการดีมาก โดยเฉพาะผู้ไม่มีงานทำ เพิ่มแรงจูงใจให้เขามาเรียน ซึ่งจะเป็นโอกาสต่อเนื่องให้กับคนพิการ อย่างผมปกติรับซ่อมวิทยุโทรทัศน์ แต่หลังๆ งานเริ่มหายไป เพราะเทคโนโลยีใหม่ขึ้น เสียแล้วทิ้งเลย ไม่ค่อยมีใครนำมาซ่อม พอรู้ว่ามีหลักสูตรนี้ผมเลยมาหาความรู้ สร้างโอกาสให้กับตัวเอง”
 
ทั้งนี้เทสโก้ โลตัส ได้เริ่มจ้างงานเพิ่มเติมให้ผู้พิการที่มีความสามารถในการตัดเย็บ ด้วยการเย็บถุงผ้า สำหรับใช้ภายในองค์กรบ้างแล้ว ขณะที่ในเดือนกรกฏาคม-ตุลาคมนี้ จะมีโครงการอบรมหลักสูตรตัดเย็บเสื้อผ้า 609 ชั่วโมง รุ่นที่สอง ให้แก่ผู้พิการจำนวน 50 คน ณ เทศบาลตำบลจันดุม อำเภอพลับพลาชัย จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นลำดับต่อไป
 
 
ยอดจดทะเบียนต่างด้าว 3 สัญชาติ 160,000 คน ส่วนกิจการประมงมาจดทะเบียนเพียง 33,503 คน
 
นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน(กกจ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ กลุ่มเดิมที่มีบัตรสีชมพู หรือมีหนังสือประจำตัวบุคคล ซึ่งไม่ใช่หนังสือเดินทางที่ประเทศต้นทางออกให้ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ในศูนย์จดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (วันสต็อปเซอร์วิส) 80 จุด ทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 29 กรกฎาคม ว่า ล่าสุดมีนายจ้าง 50,519 ราย พาแรงงานต่างด้าวทั่วประเทศจดทะเบียนแล้ว 166,136 คน เป็นแรงงาน 162,075 คน และผู้ติดตาม 4,061 คน ในจำนวนนี้ แยกเป็นแรงงานที่ถือบัตรประจำตัวสีชมพู 140,326 คน และแรงงานต่างด้าวที่ถือเอกสารประจำตัวบุคคล ที่ประเทศต้นทางออกให้ 25,810 คน เป็นสัญชาติเมียนมา 88,472 คน ลาว 14,554 คน และกัมพูชา 63,110 คน ส่วนยอดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวในกิจการประมงทะเลใน 22 จังหวัด ครั้งที่ 2 วันที่ 2 กุมภาพันธ์ – 31 กรกฎาคม มีนายจ้าง 9,789 คน พาแรงงานต่างด้าวไปจดทะเบียน 33,503 คน เป็นสัญชาติเมียนมา 19,708 คน ลาว 683 คน และกัมพูชา 13,112 คน
 
นายอารักษ์ กล่าวอีกว่า ส่วนยอดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวในกิจการแปรรูปสัตว์น้ำ ระหว่างวันที่ 23 กุมภาพันธ์ – 22 สิงหาคม มีนายจ้าง 7,428 คน นำแรงงานต่างด้าวไปจดทะเบียน 75,067 คน เป็นสัญชาติเมียนมา 61,190 คน ลาว 1,368 คน และกัมพูชา 12,509 คน
 
 
สอศ.-อมตะนคร ผนึกกำลังจัดการศึกษาทวิภาคี ผลิตพัฒนากำลังคนรองรับภาคอุตสาหกรรม ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน
 
(3พ.ค.) ที่อาคารอมตะเซอร์วิสเซ็นเตอร์ นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จ.ชลบุรี ได้มีพิธีลงนามความร่วมมือเพื่อจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กับสถานประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร โดย ดร.อกนิษฐ์ คลังแสง รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า สอศ.มีภารกิจหลักในการจัดการอาชีวศึกษา เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนในด้านวิชาชีพระดับฝีมือ ระดับเทคนิค และระดับเทคโนโลยี ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงาน โดยมีสถานศึกษาที่จัดการเรียนการสอนด้านอุตสาหกรรม และธุรกิจบริการ ทั้งระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.) แต่ในการจัดการเรียนการสอนด้านอาชีวศึกษานั้น หากจะให้เกิดพลังในการพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือสถานประกอบการ หรือภาคอุตสาหกรรม มาร่วมจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ซึ่งในจังหวัดชลบุรีมีสถานศึกษาอาชีวศึกษาในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงทั้งรัฐและเอกชน รวม 33 แห่ง ร่วมกับสถานประกอบการ 29 แห่ง ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ประเภทวิชาอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นความร่วมมือในการพัฒนาการอาชีวศึกษาให้มีศักยภาพ นำไปสู่การพัฒนากำลังคน กำลังแรงงาน ให้มีความเข้มแข็ง และมีคุณภาพตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม รวมถึงเพื่อเป็นการพัฒนากำลังคนในอุตสาหกรรมภาพรวมของประเทศต่อไป
 
ด้าน นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ประเทศไทยอยู่ในภาวะที่ต้องพัฒนากำลังคน ซึ่งแรงงานที่มียังไม่ตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรม อมตะนครจึงร่วมกับ สอศ. เตรียมกำลังคน กำลังแรงงาน เพื่อตอบสนองความต้องการภาคอุตสาหกรรม พร้อมทั้ง รองรับการขยายตัวในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และการพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาจะต้องพัฒนาให้มีศักยภาพสูงขึ้น โดยมีการพัฒนาและปรับหลักสูตร หัวข้อวิชา ให้เหมาะกับงานที่ทำ และมีการเรียนรู้จากการฝึกปฏิบัติงานจริงร่วมกับสถานประกอบการ การจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ร่วมกับสถานศึกษา และสถานประกอบการ จะเป็นการตอบโจทย์ความต้องการกำลังคน ที่มีทักษะฝีมือและมีมาตรฐานตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง
 
 
เล็งตัด 'พนักงานราชการ' ในร่างแผนการศึกษาชาติ
 
ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผยว่า ขณะนี้ สกศ.ได้ทำประชาพิจารณ์ระดมความคิดเห็นร่างแผนการศึกษาแห่งชาติฉบับที่ 12 (2560-2574) และเมื่อประชาพิจารณ์ครบทั้ง 4 ภูมิภาคแล้ว หลังจากนี้จะมีการปรับปรุงร่างแผนการศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ให้สมบูรณสอดคล้องกับความต้องการของครู โดยจะใช้เวลาไม่เกิน 2 สัปดาห์ในการสรุปเสนอคณะกรรมการสภาการศึกษา ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบ และคาดว่าไม่เกินเดือนก.ย.2559 จะสามารถจัดพิมพ์และเผยแพร่ได้ และนำไปได้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2559 เพราะฉะนั้นนับจากนี้ไป สกศ.จะต้องเร่งดำเนินการอย่างเข้มข้น เพื่อให้แผนมีความสมบูรณ์ที่สุด
 
“ความเห็นที่ได้จากการประชาพิจารณ์นั้น สกศ.จะนำไปปรับปรุงแก้ไขร่างแผนให้สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง สอดคล้องกับความต้องการของทุกภาคส่วน แต่ที่สำคัญอยากฝากผู้ที่เกี่ยวข้องว่า ในเรื่องหลักสูตรกระบวนการเรียนการสอน ครู ผู้บริหาร การบริหารจัดการ ขอให้ความเห็นให้ครอบคลุมในทุกประเด็น ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากในการทำแผน ไม่ใช้เน้นเฉพาะบางเรื่องเท่านั้น และในแผนการศึกษาแห่งชาติจะไม่ระบุชัดว่าจะต้องเรียนฟรีกี่ปี ใครจะเป็นผู้จัดสรรงบประมาณ แต่จะพูดในเชิงหลักการเท่านั้น และที่สำคัญจะพูดถึงภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคม ที่จะต้องเข้ามาร่วมกันสนับสนุนทรัพยากรเพื่อการศึกษา ซึ่งที่ผ่านมาเราไปเน้นแต่เรื่องการรับการบริจาค แต่ขณะนี้เรามีรูปแบอื่น ๆ แล้ว ส่วนการจัดสรรงบประมาณจะจัดไปที่เด็กหรือที่โรงเรียนก็ต้องมีการพูดถึง โดยปัจจุบันจัดสรรไปที่โรงเรียน แต่อนาคตจะจัดสรรไปที่ตัวเด็ก เช่น คูปองการศึกษา เพื่อให้เด็กเลือกไปเรียนโรงเรียนไหนก็ได้ โรงเรียนก็จะต้องพัฒนาคุณภาพเพื่อให้เด็กอยากเข้ามาเรียนมากขึ้น และที่สำคัญจะต้องไม่ให้ประชาชนเดือดร้อนและโรงเรียนต้องอยู่ได้ด้วย”เลขาธิการ สกศ.กล่าว
 
ดร.กมล กล่าวด้วยว่า ส่วนข้อห่วงใยในสถานะของครู ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงอยากให้ครูเป็นข้าราชการและอยู่ในระบบเหมือนเดิม ซึ่ง สกศ.ได้รับทราบและพร้อมที่จะนำกลับไปปรับปรุงแก้ไข แต่จุดมุ่งหมายเดิมของการกำหนดให้ “ครู” เป็น “พนักงานราชการ” หรือมีสถานะอื่นนั้น ไม่ได้หมายถึงโรงเรียนทั่วไปหรือครูส่วนใหญ่ แต่จะเป็นโรงเรียนบางประเภท ซึ่งวันนี้ยังไม่มี เช่น โรงเรียนนิติบุคคล โรงเรียนที่สอนสาขาเฉพาะที่ต้องหาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถพิเศษ ซึ่งอาจมีอัตราจ้าง หรือไปสรรหาคนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญมาและมีสถานะที่ไม่ใช่ข้าราชการครู ดังนั้นจึงอยากครูทุกคนสบายใจว่ายังใช้ระบบเดิมในการคัดเลือกครู รวมถึงการแต่งตั้งผู้บริหารก็ยังใช้ระบบเดิม อย่างไรก็ตามเมื่อครูมีความกังวลกันมากก็มีความเป็นไปได้ที่อาจจะตัดส่วนนี้ออก
 
 
กกร.วอนรัฐเลิกค่าจ้างขั้นต่ำราคาเดียวทั่ว ปท. เผยสัญญาณฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยเริ่มชัด
 
นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ประจำเดือนพฤษภาคม โรงแรมดุสิตธานี ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงประเด็นค่าแรงขั้นต่ำที่แรงงานมีการเรียกร้องปรับเพิ่ม จากปัจจุบันอยู่ที่ 300 บาทต่อวันเท่ากันทั่วประเทศ โดยมีมติแสดงจุดยืนดังนี้ 1.ค่าจ้างขั้นต่ำไม่ควรมีอัตราเดียวกันทั่วประเทศ แต่ควรเป็นไปตามสภาพเศรษฐกิจของภูมิภาคนั้นๆ ปรับตามอัตราเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม กกร.ไม่สามารถระบุได้ว่าค่าจ้างที่เหมาะสมควรเป็นระดับใด 2.กกร.ต้องการให้คณะกรรมการค่าจ้างกลาง (ไตรภาคี) เป็นผู้พิจารณาตามหลักเกณฑ์ ในการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยพิจารณาตามข้อมูลข้อเสนอของคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดเป็นหลัก 3.ขอให้ภาครัฐสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพ ให้สอดคล้องกับการปรับค่าจ้างที่สูงขึ้น และ 4.ขอให้ภาครัฐกำหนดนโยบายพัฒนาระบบโครงสร้างค่าจ้างที่สอดคล้องกับผลิตภาพแรงงานของประเทศในระยะยาว
 
นายเจนกล่าวว่า กกร.ยังประเมินเศรษฐกิจไทยพบว่ามีสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาสแรกของปี(มกราคม-มีนาคม2559) อาทิ ยอดส่งออกอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ แต่ก็ต้องจับตาว่าจะฟื้นตัวจริงหรือไม่ เพราะกรณียอดขายเครื่องปรับอากาศอาจสูงในระยะสั้นเท่านั้น จึงยังคงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ไว้ที่ 3-3.5% นอกจากนี้ยังมีปัจจัยสำคัญมาจากเศรษฐกิจโลกที่มีสัญญาณบวก เศรษฐกิจจีนเริ่มนิ่งขึ้น และผลจากธนาคารกลางสหรัฐคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขณะเดียวกันภาคการส่งออกไทยยังขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 กกร. จึงมีมติคงเป้าหมายการส่งออกปีนี้ไว้ที่ 0-2% และภาครัฐมีการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยช่วงครึ่งปีแรก (ตุลาคม 2558 -มีนาคม 2559) มีการเบิกจ่ายแล้ว 31.9% ของงบลงทุนรวม เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ 27% จากปัจจัยบวกดังกล่าว ที่ประชุม กกร. จึงมีมติคงเป้าหมายการส่งออกปีนี้ไว้ที่ 0-2% แต่ยอมรับว่าห่วงเรื่องค่าเงินบาทแข็งค่า จะกระทบขีดความสามารถในการส่งออก
 
"แม้ปัจจัยต่าง ๆ จะเป็นบวกต่อการส่งออก และเศรษฐกิจไทย แต่กกร.ยังมีความเป็นห่วงต่อทิศทางค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ซึ่งอาจกระทบต่อรายได้ของผู้ส่งออก ยิ่งสถานการณ์ปัจจุบันที่เศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญยังไม่แน่นอน ดังนั้นอยากให้รัฐบาลดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด" นายเจนกล่าว
 
 
ก.พาณิชย์ เตรียมส่ง 'ร้านหนูณิชย์พาชิม' บุกขายหน้าโรงงาน ช่วยค่าครองชีพแรงงานที่มีรายได้ต่ำกว่า 1.5 หมื่นบาท
 
น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยภายหลังประชุมหารือร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เรื่องโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศและค่าครองชีพ ว่า กรมได้เตรียมหาแนวทางในการดูแลและลดค่าครองชีพให้กับประชาชนกลุ่มผู้รายได้ต่ำกว่า 1.5 หมื่นบาท หลังผลสำรวจของหอการค้าไทย พบว่าผู้มีรายได้ต่ำกว่า 1.5 หมื่นบาท เป็นกลุ่มที่มีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย จนประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงินต่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และหนี้ครัวเรือนสูงขึ้น จึงต้องเน้นการเพิ่มมาตรการดูแลค่าครองชีพให้กับคนกลุ่มนี้ให้มากขึ้น
 
สำหรับแนวทางในการดำเนินการ กรมจะหารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อจัดเมนูอาหารราคาประหยัดผ่านร้านอาหารหนูณิชย์ พาชิม ซึ่งจะมีการจำหน่ายทั้งอาหารปรุงสำเร็จเพื่อบริโภคประจำวัน และอาหารปรุงสำเร็จบรรจุถุง ซื้อกับไปบริโภคที่บ้าน โดยจะจำหน่ายในเมนูต่ำกว่า 35 บาท เพื่อช่วยเหลือลูกจ้างและผู้มีรายได้ต่ำ ที่ประสบปัญหาค่าครองชีพ
 
ขณะเดียวกัน จะผลักดันให้มีร้านอาหารเข้าร่วมโครงการหนูณิชย์ พาชิมให้เพิ่มมากขึ้น ทั้งร้านค้าในกรุงเทพฯ และจังหวัดต่างๆ และร้านค้าที่อยู่ในห้าง รวมทั้งจะใช้การจัดงานธงฟ้า เพื่อนำสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวันไปจำหน่ายในพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้เข้าถึงประชาชนผู้มีรายได้น้อยเพิ่มขึ้น
 
น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ กล่าวว่า สถานการณ์ราคาสินค้าในช่วงภัยแล้ง จากผลสำรวจพบว่า ผักบางรายการมีการปรับราคาสูงขึ้น ซึ่งเป็นตามกลไกตลาด แต่ไม่น่าห่วง เพราะมีผักหลากชนิดที่สามารถเลือกซื้อและทดแทนกันได้ ส่วนเนื้อสุกรก็มีการปรับราคาขึ้น เพราะลูกหมูโตช้า ผลผลิตเข้าสู่ตลาดลดลง และผู้ประกอบการยังมีต้นทุนที่สูงขึ้นจากการหาแหล่งน้ำเพื่อใช้ในการเลี้ยง ส่วนไข่ไก่และไก่สด ราคาทรงตัว โดยรรคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มเฉลี่ยฟองละ 2.30 บาท และราคาขายปลีกเบอร์ 3 ฟองละ 3 บาท
 
กรมได้สั่งการให้ค้าภายในจังหวัดทั่วประเทศ ติดตามและตรวจสอบภาวะราคาสินค้าอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันการฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาโดยไม่สมเหตุสมผล และหากพบความผิดปกติ ก็จะหารือกับผู้ผลิต ผู้ประกอบการ เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหา ส่วนประชาชน หากพบเห็นการฉวยโอกาสให้ร้องเรียนมาได้ที่สายด่วน
 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตร.ยันได้ข้อมูลหลังไมค์แอดมินเพจล้อประยุทธ์ อย่างถูกกฎหมาย

$
0
0
ตร.ยันได้ข้อมูลหลังไมค์แอดมินเพจ 'เรารัก พล.อ.ประยุทธ์' อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ศรีวราห์บอกยังไม่พบ 'พานทองแท้-จตุพร' เอี่ยว ด้าน บ.ก.Blognone บอกยากที่่ จนท.จะเจาะเฟซหรือได้รับการยินยอม แต่มีวิธีเข้าถึงได้โดยง่ายผ่านอุปกรณ์สื่อสารเอง เฟซบุ๊กเผยครึ่งหลังปี 58 รัฐไทยขอข้อมูล 3 แอคเคาท์ แต่เฟซบุ๊กไม่ให้ 

ภาพ ตำรวจนำผู้ต้องหาทั้ง 8 รายแถลงข่าวเมื่อวันที่ 28 เม.ย.ที่ผ่านมา

4 พ.ค.2559 จากรณีกระแสข่าวว่าเจ้าหน้าที่รัฐสามารถเข้าถึงข้อความแชทของผู้ใช้เฟซบุ๊ก โดยเริ่มจาก อานนท์ นำภา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ได้ให้สัมภาษณ์กับรายการ Thaisvoicemedia ถึงกรณีผู้ต้องหา 8 ราย ที่เกี่ยวข้องกับเพจ ‘เรารัก พล.อ.ประยุทธ์’ ว่าฝ่ายความมั่นคงของทหาร สามารถเข้าถึงกล่องข้อความของเฟซบุ๊กได้ ซึ่งตนไม่แน่ใจว่าเป็นการยินยอมของทางเฟซบุ๊ก หรือเป็นการใช้เทคนิคของเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะทุกคนยืนยันว่า ไม่ได้ให้รหัสผ่านแต่อย่างใด ต่อมาเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Fahroong Srikhao ฟ้ารุ่ง ศรีขาว' รายงานโดยสัมภาษณ์ หฤษฎ์ มหาทน 1 ใน 8 ผู้ต้องหาคดีดังกล่าว ว่า การแชทส่งข้อความกันทาง inbox ตอนนี้ไม่ปลอดภัยแล้ว เพราะมีเจ้าหน้าที่แคปข้อความการแชทในอินบอกซ์มาให้ดู

ตร.ยันได้ข้อมูลหลังไมค์ถูกต้องตามกฎหมาย 

วันนี้ (4 พ.ค.59) บีบีซีไทย - BBC Thaiรายงานว่า พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งข้อหากระทำผิดกฎหมายอาญามาตรา 112 เพิ่มเติมแก่ หฤษฏ์ มหาทน และ ณัฏฐิกา วรธัย 2 ใน 8 แอดมินเพจ 'เรารัก พล.อ.ประยุทธ์' เมื่อวานนี้ว่าการแจ้งข้อหาเพิ่มเติมนั้นมาจากหลักฐานที่เชื่อมโยงอย่างหนักแน่นเพียงพอ และเจ้าหน้าที่ตำรวจมีวิธีการได้หลักฐานเหล่านี้มาแต่ไม่สามารถตอบได้เพราะเป็นรายละเอียดในการสืบสวน อย่างไรก็ตามยืนยันว่าทำตามกรอบอำนาจหน้าที่และได้หลักฐานมาโดยถูกต้องตามกระบวนการทางกฎหมาย 

บ.ก.Blognone บอกยากที่ จนท.จะเจาะเฟซหรือได้รับการยินยอม

อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ โปรแกรมเมอร์และบรรณาธิการเว็บข่าวไอทีชื่อดังของไทยอย่าง Blognone ให้ความเห็นกับบีบีซีไทยว่า ในทางเทคนิคแล้วคิดว่าเป็นไปได้ยากที่เจ้าหน้าที่ตำรวจของไทยจะเจาะเข้าสู่ระบบหรือได้รับความยินยอมให้เข้าสู่ระบบของเฟซบุ๊ก แต่ข้อมูลการพูดคุยและใช้งานอินเตอร์เน็ตของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทั่วไปนั้น มีวิธีเข้าถึงได้โดยง่ายผ่านทางอุปกรณ์สื่อสารเอง แม้ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะไม่มีรหัสผ่าน (password)ของเจ้าของเครื่องก็ตาม ยิ่งหากผู้ใช้งานใช้ระบบวินโดว์ที่ไม่ได้มีการตั้งค่าความปลอดภัยอย่างเข้มงวด ก็ยิ่งเข้าถึงข้อมูลได้โดยง่าย

“ในทางเทคนิคถ้าแชตผ่านคอมพิวเตอร์ ถ้าตำรวจเข้าถึงคอมพิวเตอร์หรือมือถือมันมีวิธีเข้าถึงได้ ต่อให้ผมโดนจับ และผมไม่ได้ให้รหัสอะไร ก็สามารถจะดูดข้อมูลออกมาได้ เว้นแต่อุปกรณ์รุ่นใหม่มากๆ ที่มีการเข้ารหัสข้อมูลทั้งเครื่องเอาไว้ ถ้าเป็นมือถือรุ่นเก่า ดัมพ์ข้อมูลได้ไม่ยาก ยิ่งถ้าเป็นแอนดรอยด์รุ่นเก่าๆ ก็เอาสายยูเอสบีจิ้มเข้าไปก็ดึงเข้าไปได้แล้ว แต่ผมไม่รู่ว่าคนที่ถูกฟ้องใช้อุปกรณ์อะไร” อิสริยะ กล่าว

ทั้งนี้มีอีกวิธีคือ การหลอกให้ผู้ใช้งานคลิกลิงก์ที่มีมัลแวร์ ซึ่งเมื่อมัลแวร์ฝังตัวก็จะดักข้อมูลได้หมด อิสริยะกล่าวว่า สำหรับผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตที่เริ่มห่วงกังวลเรื่องความปลอดภัยในการใช้งานโซเชียลมีเดียนั้น เขาเสนอว่า มีแอพพลิเคชั่นหลายตัวที่มีระบบความปลอดภัยที่ดี เช่น เทเลแกรม วอทส์แอพ หรือแบลกเบอรี่ ทั้งนี้ ระบบอินบอกซ์ของเฟซบุ๊กเองก็มีความปลอดภัยมากเช่นกัน เพราะมีการตั้งรหัสความปลอดภัยเป็น https ไว้ 

อิสริยะ  ยังกล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญคือ ตัวผู้ใช้งาน ที่อาจจะไม่ได้ตั้งค่าความปลอดภัยของอุปกรณ์ไม่ว่าจะเป็นมือถือ หรือคอมพิวเตอร์ โดยเขาแนะนำให้ผู้ใช้งานอุปกรณ์สื่อสารเปิดระบบล็อกอิน 2 ชั้นซึ่งปัจจุบันนี้สามารถทำได้โดยไปตั้งค่าในระบบ setting และสามารถทำได้กับบัญชีเฟซบุ๊ก โดยไปตั้งค่าความปลอดภัย 2 ชั้นได้ที่ระบบ setting เช่นกัน

บีบีซีไทยติดต่อไปยังเฟซบุ๊กประเทศไทย เพื่อสอบถามถึงระบบความปลอดภัยของเฟซบุ๊กจากกระแสข่าวดังกล่าว แต่ยังไม่สามารถติดต่อได้

เฟซบุ๊กเผยครึ่งหลังปี 58 รัฐไทยขอข้อมูล 3 แอคเคาท์ แต่เฟซบุ๊กไม่ให้

ขณะที่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กเปิดเผยรายงานความโปร่งใส ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2558 (ก.ค.-ธ.ค.) ระบุว่า รัฐไทยข้อมูลผู้ใช้เฟซบุ๊กในไทยจากเฟซบุ๊กเป็นจำนวน 3 ครั้ง 3 แอคเคาท์ โดยเฟซบุ๊กไม่ได้ให้ข้อมูลดังกล่าวแม้แต่รายเดียว (0%) ทั้งนี้ เฟซบุ๊กระบุว่าจะตอบสนองต่อคำขอเกี่ยวข้องกับคดีอาญาที่มีผลตามกฎหมาย โดยจะมีการตรวจสอบความเพียงพอทางกฎหมายของแต่ละคำขอ และจะปฏิเสธหรือขอให้มีข้อมูลที่เฉพาะเจาะจงต่อคำขอที่กว้างหรือคลุมเครือเกินไป

ศรีวราห์ บอกยังไม่พบ 'พานทองแท้-จตุพร' เอี่ยวเพจล้อประยุทธ์

วันนี้ (4 พ.ค.59) สำนักข่าวไทย รายงานว่า พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า สำนวนคดีของ 8 ผู้ต้องหา คดีจัดทำเพจ 'เรารัก พล.อ.ประยุทธ์' ยังไม่พบหลักฐานที่เชื่อมโยงว่า ได้รับการสนับสนุนจาก พานทองแท้ ชินวัตร และ จตุพร พรหมพันธุ์  เพียงแต่ในคำให้การของผู้ต้องหา มีการพาดพิงถึงบุคคลทั้งสอง ส่วนรายละเอียดสำนวนคดี ยังอยู่ระหว่างการขยายผลรวบรวมพยานหลักฐาน หาก พานทองแท้ และ จตุพร ไม่เกี่ยวข้อง ก็จะตัดประเด็นนี้ทิ้ง แต่หากมีส่วนเกี่ยวข้อง ตำรวจต้องทำตามขั้นตอนการออกหมายเรียกและหมายจับ

ส่วนกรณีการเคลื่อนไหวของ สรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ จ่านิว หากพบว่า มีการกระทำผิดกฎหมายเมื่อใดก็ตาม ตำรวจจำเป็นต้องดำเนินคดีเด็ดขาด และไม่เป็นกังวลกรณีใกล้ถึงวันลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ วันที่ 7 สิงหาคมนี้ เพราะตำรวจและหน่วยงานความมั่นคง มีความพร้อมรับมือความเคลื่อนไหว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อดีตพันธมิตรฯ ร้องป.ป.ช.ทบทวนปมตั้งกรรมการถอนฟ้องคดีสลายการชุมนุม 51

$
0
0

อดีตกลุ่มพันธมิตรฯ ยื่นหนังสือป.ป.ช.ให้พิจารณากรณีตั้งคณะกรรมการถอนฟ้องคดีสลายการชุมนุมปี 51 เตรียมฟ้องกลับการปฏิบัติหน้าที่ของ ป.ป.ช.

ที่มาภาพเฟซบุ๊ก ธัชพงศ์ แกดำ 

4 พ.ค.2559  ธัชพงศ์ แกดำโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวในลักษณะสาธารณะ วันนี้ (4 พ.ค. 59) เมื่อเวลา 10.00 น สำนักงาน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นิติธร ล้ำเหลือ ทนายความกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พร้อมด้วยแกนนำและมวลชนกลุ่มพันธมิตรฯ ยื่นหนังสือถึง ป.ป.ช. โดยสำนักข่าวไทย รายงานว่า ได้ยื่นหนังสือ ผ่านสุทธิ บุญมี ผู้อำนายการสำนักการข่าวและกิจการพิเศษ ป.ป.ช. เพื่อเรียกร้องให้พิจารณาเรื่องการตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาพิจารณาถอนฟ้องคดีการสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชน เพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551 ซึ่งเป็นคดีที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรง ตำแหน่งทางการเมือง โดยเห็นว่าการที่ป.ป.ช.จะพิจารณาถอนฟ้อ ซึ่งไม่มีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงจากจำเลยว่ากระทำผิดหรือไม่ ทั้งที่ศาลรับคำฟ้องคดีไว้พิจารณาแล้ว ทำให้ประชาชนเกิดความสงสัยในการปฏิบัติหน้าที่ของป.ป.ช.

“แม้ว่าจะตั้งคณะกรรมการศึกษา แต่ไม่สมควรที่ป.ป.ช.จะถอนฟ้อง อีกทั้งตามพ.ร.บ. ป.ป.ช. ไม่ได้ให้อำนาจไว้ หากเทียบเคียงกับพ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ หาก ป.ป.ช.ยังมีมติที่จะถอนฟ้อง กลุ่มพันธมิตรฯ จะยื่นฟ้องการปฏิบัติหน้าที่ของ ป.ป.ช.เช่นกัน  ทั้งนี้  เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับจำเลยในคดีที่มีนามสกุลเดียวกับคนในรัฐบาล แต่เป็นเรื่องที่ประชาชนสูญเสียและยังไม่ได้รับการดูแล ซึ่งศาลปกครองกลางได้วินิจฉัยแล้วว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ปฏิบัติตตามขั้นตอน จึงเป็นเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ” นิติธร กล่าว

นิติธร กล่าวว่า หลังจากนี้จะติดตามความคืบหน้าจากป.ป.ช. โดยจะขอให้ป.ป.ช.เปิดเผยคำฟ้องของบัญชีพยานและต้องชี้แจงว่าป.ป.ช.ชุดเดิมพิจารณาสำนวนบกพร่องหรือผิดพลาดอย่างไร รวมทั้งเปิดเผยหนังสือขอความเป็นธรรมว่ามีความสำคัญอย่างไร และพยานที่ยื่นเป็นใครบ้าง  ซึ่งขณะนี้กำลังศึกษาข้อกฎหมายเพื่อจะขอเป็นโจทก์ร่วมในการฟ้องคดี พร้อมทั้งจะหารือกับกลุ่มพันธมิตรว่าจะไปยื่นหนังสือต่อประธานศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ รวมทั้งจะติดตามเรื่องจากสภาทนายความ และขออนุญาตศาลในการเข้าฟังการพิจารณาคดีทุกครั้ง เห็นว่าถ้าทำลายความยุติธรรม รัฐบาลจะลำบาก

ขณะที่ ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ เชื่อว่าป.ป.ช.ไม่สามารถถอนฟ้องได้ เพราะทำลายความชอบธรรม รวมทั้งทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาล เพราะ ป.ป.ช. ชุดนี้มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หากจะปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลคงเป็นไปไม่ได้ หากนายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเพิกเฉยหรือละเลยแกนนำกลุ่มพันธมิตรจะรวมตัวกันอีกครั้งเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Thai-PAN เผยผักผลไม้มีตรารับรองออร์แกนิคฯ ของก.เกษตรฯเจอสารตกค้าง 1 ใน 4

$
0
0

ไทยแพนพบผักผลไม้ตรา Q มีสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐานมากที่สุด ตรารับรองออร์แกนิคไทยแลนด์ของกระทรวงเกษตรเจอตกค้าง 1 ใน 4 ในขณะที่ผักผลไม้ในห้างยังไม่ได้ดีกว่าตลาดทั่วไป จี้กระทรวงเกษตรฯปฏิรูปการให้ตรารับรอง และเตรียมติดตามผลการดำเนินการของห้างค้าปลีก

4 พ.ค. 2559 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ  กรุงเทพฯ ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือ Thai-PAN ได้เปิดเผยผลการสุ่มเก็บตัวอย่างผักและผลไม้ที่ประชาชนนิยมบริโภค เช่น กะหล่ำปลี แตงกวา ผักบุ้งจีน มะเขือเทศ ผักกาดขาวปลี คะน้า ถั่วฝักยาว มะเขือเปราะ กะเพรา และพริกแดง แตงโม มะม่วงน้ำดอกไม้ มะละกอ แก้วมังกร ฝรั่ง และส้มสายน้ำผึ้ง  จำนวน 138 ตัวอย่าง ในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล เชียงใหม่และอุบลราชธานี ระหว่างวันที่ 16-18 มีนาคม พ.ศ. 2559 และจัดส่งไปวิเคราะห์หาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างแบบ Multi Residue Pesticide Screen (MRPS) ซึ่งสามารถวิเคราะห์หาสารพิษตกค้างได้กว่า 450 ชนิด ที่ห้องปฏิบัติการในประเทศอังกฤษที่ได้รับรอง ISO/IEC 17025:2005 โดย ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกที่มีการตรวจหาสารเคมีตกค้างที่ครอบคลุมชนิดสารมากที่สุดที่มีการเปิดเผยต่อประชาชน  ผลการเฝ้าระวังพบว่า
 
ในภาพรวม มีผักและผลไม้ตกค้างเกินมาตรฐานนั้นสูงถึง 46.4% หรือเกือบครึ่งหนึ่งของตัวอย่างที่ตรวจ โดยข้อมูลที่น่าตระหนกมากไปกว่านั้นคือ การพบว่าผักและผลไม้ซึ่งได้รับตรา Q โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) พบสารเคมีตกค้างมากที่สุด  โดยพบสูงถึง 57.1% นอกเหนือจากนั้นผักและผลไม้อินทรีย์ที่ได้รับการรับรอง Organic Thailand ซึ่งไม่ควรตรวจพบการตกค้างของสารเคมีกลับพบการตกค้างสูงเกินมาตรฐานถึง 25% ของจำนวนตัวอย่าง
 
ไทยแพนยังพบด้วยว่า จำนวนตัวอย่างของผักและผลไม้ซึ่งจำหน่ายในโมเดิร์นเทรดซึ่งผู้บริโภคต้องจ่ายแพงกว่ากลับมิได้มีความปลอดภัยมากกว่าตลาดสดโดยทั่วไป เพราะมีจำนวนตัวอย่างการตกค้างเกินมาตรฐานถึง 46% ในขณะที่ตลาดสดมีสัดส่วนมากกว่าเล็กน้อยที่ 48%
 
การเฝ้าระวังในครั้งนี้ยังพบด้วยว่า มีสารกำจัดศัตรูพืชที่ถูกห้ามใช้แล้ว ไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียน รวม 11 ชนิด (จากการตรวจสอบรายการวัตถุอันตรายที่ได้รับการขึ้นทะเบียน เผยแพร่โดยสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร 4 เมษายน 2559) ตกค้างในผักและผลไม้ที่จำหน่ายในตลาด และมีผู้ประกอบการผักและผลไม้รายใหญ่ที่จัดส่งสินค้าไปยังโมเดิร์นเทรดกระทำความผิดซ้ำซาก ในการจำหน่ายผักและผลไม้ไม่ปลอดภัย และยังไม่พบว่ามีการดำเนินคดีกับบริษัทดังกล่าว
 
ผลการเฝ้าระวังสารเคมีกำจัดศัตรูพืชยังพบว่า ผักที่พบปริมาณสารพิษตกค้างเกินค่า MRL ได้แก่ พริกแดง 100% ของตัวอย่าง กะเพราและถั่วฝักยาว 66.7% คะน้า 55.6% ผักกาดขาวปลี 33.3% ผักบุ้งจีน 22.2% มะเขือเทศและแตงกวา 11.1% มะเขือเปราะพบสารพิษตกค้างแต่ไม่เกินค่า MRL 66.7% ในขณะที่กะหล่ำปลีไม่พบสารพิษตกค้างเลย 100%  ดังแผนภาพ
 
สำหรับการสุ่มตรวจผลไม้รวม 6 ชนิด พบว่าส้มสายน้ำผึ้ง และฝรั่ง ทุกตัวอย่างมีสารพิษตกค้างเกินมาตรฐานทุกตัวอย่างหรือคิดเป็น 100% ที่มีการสุ่มตรวจ รองลงมาเป็นแก้วมังกร มะละกอ มะม่วงน้ำดอกไม้ ซึ่งพบสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 71.4%, 66.7% และ 44.4% ตามลำดับ
 
“ในขณะที่แตงโม จากการตรวจสอบพบว่าทุกตัวอย่างที่มีการตรวจไม่พบสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐานเลย ผลการตรวจครั้งนี้ของไทยแพนสอดคล้องกับผลการตรวจในครั้งที่แล้ว เช่นเดียวกันกับผลการตรวจสอบของมหาวิทยาลัยมหิดลเมื่อปี 2557 ที่พบว่าแตงโมเป็นผลไม้ที่ปลอดภัย” ปรกชล กล่าว

กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา รองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกไทยแพนแถลงว่า ผลการตรวจทั้งหมดของไทยแพนได้นำเสนอต่อห้างค้าปลีก และสมาคมตลาดสดไทย รวมทั้งหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้แก่ มกอช. กรมวิชาการเกษตร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แล้วเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยจากผลการตรวจชี้ว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยมกอช.และกรมวิชาการเกษตรจะต้องยกเครื่องการให้ตรารับรอง Q และออร์แกนิคไทยแลนด์อย่างจริงจังโดยทันที เพราะถ้าสภาพปัญหายังพบการตกค้างเช่นนี้ ประชาชนทั่วไปจะขาดความเชื่อถือในตรารับรองดังกล่าว รวมถึงต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องด้วย

“สำหรับด้านผู้ประกอบการนั้น ภายในสัปดาห์หน้าหลังจากที่ห้างค้าปลีกได้รับผลการตรวจอย่างเป็นทางการ ผู้ประกอบการแต่ละรายจะทำจดหมายแจ้งอย่างเป็นทางการว่าได้ดำเนินการลงโทษซัพพลายเออร์และมีมาตรการในการลดปัญหาการตกค้างของสารเคมีอย่างไรมายังไทยแพน โดยในส่วนของสมาคมตลาดสดไทยนั้นจะมีการจัดประชุมเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาร่วมกันอย่างใกล้ชิดในเร็วๆนี้ นอกเหนือจากนี้ไทยแพนยังได้หารือกับหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย และองค์กรผู้บริโภคเพื่อพิจารณาดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดซ้ำซากเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้ประกอบการอื่นๆต่อไปด้วย”

“อย่างไรก็ตามเรายังมีความหวังว่าจะสร้างสังคมไทยที่ปลอดภัยจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชได้มากขึ้นกว่านี้ เพราะผลจากการทำงานประสานงานระหว่างไทยแพนกับผู้ประกอบการ และหน่วยงานของรัฐบางหน่วยงาน พบว่าสามารถลดการตกค้างของสารเคมีตกค้างในผักและผลไม้ได้จริง กล่าวคือหากใช้เกณฑ์การวัดสารตกค้างใน 4 กลุ่มหลักแบบเดิม สามารถลดการตกค้างของสารเคมีได้จาก 48.6%  เมื่อปี 2555 จนเหลือเพียง 18% เท่านั้นในปีนี้ “ กิ่งกรกล่าว

ข้อมูลเพิ่มเติมที่
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ฉะร่าง พ.ร.บ.แร่ เซ็นเช็คเปล่าให้อำนาจรัฐ ตัดการมีส่วนร่วม ปชช.

$
0
0

กสม.จัดรับฟังข้อเสนอแนะต่อร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.... นักกฎหมายและนักวิชาการสิ่งแวดล้อมชี้ พ.ร.บ.ใหม่ เหมือนเซ็นเช็คเปล่าให้รัฐ ไว้ใจอำนาจรัฐมากเกินไปว่าจะไม่ละเมิดสิทธิประชาชน เน้นเศรษฐกิจเป็นหลักโดยไม่สนผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซ้ำไม่มีเรื่องการฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ

4 พ.ค. 2559 เมื่อวันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา เวลา 9.00 น. ณ ห้องประชุม 709 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีการจัดรับฟังข้อเสนอแนะต่อร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.... โดยคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร คณะอนุกรรมการด้านเสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมายและกฎเพื่อส่งเสริมและการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย และมหาวิทยาลัยรังสิต 

สุรชัย ตรงงาม กรรมการและเลขาธิการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.แร่ ฉบับนี้ 1.กำลังสนับสนุนให้มีการออกกฎหมายลูกหลายฉบับ โดยมีความเชื่อมั่นว่าผู้ที่ออกกฎหมายจะเคารพสิทธิและปกป้องสิทธิของประชาชน เป็นการเผชิญโชคมากเกินไป 2.หลักการมีส่วนร่วมมีเพียงใน มาตรา 53 ที่ให้มีการติดประกาศการขอประทานบัตรไม่น้อยกว่า 30 วัน เมื่อครบกำหนดเวลาให้เจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่หรือเจ้าหนักงานท้องถิ่น จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของชุมชนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ซึ่งหลักการสำคัญหลายเรื่องในทางกฎหมาย ให้อำนาจรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ไปออกกฎเกณฑ์ในรายละเอียดจำนวนมาก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประเทศชาติและต่อสิทธิการมีส่วนร่วมหรือการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีของประชาชน

สุรชัย กล่าวยกตัวอย่างมาตรา 13 ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมโดยคำแนะนำของคณะกรรมการมีอำนาจนำพื้นที่ที่มีแหล่งแร่อุดมสมบูรณ์และมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจสูง มาประกาศประมูลแหล่งแร่ในพื้นที่ดังกล่าวเพื่อให้ผู้ชนะการประมูลได้สิทธิในการสำรวจแร่และทำเหมืองในพื้นที่นั้น วรรค 2 เขียนว่า หลักเกณฑ์ เงื่อนไขในการประมูล และการยกเลิกการประมูล ตลอดจนการให้ประโยชน์ตอบแทนแก่รัฐ ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมประกาศกำหนดตามคำแนะนำของกรรมการ ในทางกฎหมาย มาตรานี้เปรียบเหมือนเป็นการเขียนเช็คเปล่า พูดง่ายๆ ว่าประชาชนจะต้องเชื่อว่าราชการและคณะกรรมการเหล่านี้มีความสุจริตเป็นที่ตั้งในการดำเนินการเรื่องเหล่านี้

หรือในมาตรา 28 ที่มีเนื้อหาว่า เพื่อประโยชน์ในการควบคุมการทำเหมือง การแต่งแร่ และการประกอบโลหกรรม ให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกประกาศกำหนดมาตรฐานและวิธีการควบคุมการปล่อยมลพิษ หรือสิ่งอื่นใดที่อาจมีการกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากการทำเหมือง การแต่งแร่ และการประกอบโลหกรรม และหลักเกณฑ์หรือวิธีการให้ความคุ้มครองแก่คนงานและความปลอดภัยแก่บุคคลภายนอก พูดง่ายๆ คือให้รัฐมนตรีฯ มีอำนาจกำหนดมาตรฐาน ดังนั้น ลองนึกว่าการออกประกาศหรือระเบียบเหล่านี้ในอนาคตจะเป็นอย่างไร ประเทศไทยแม้จะมีการกำหนดค่ามาตรฐานไว้ก็จริง แต่ทางปฏิบัติมีปัญหา ดังนั้นค่ามาตรฐานไม่ใช่ตัวหลักประกันทางด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม การใช้อำนาจออกมาตรฐานหรือวิธีการควบคุมทั้งหมดควรถูกตรวจสอบได้ และมีหน่วยงานวิชาการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม และสิ่งสำคัญคือควรคำนึงถึงสิทธิในการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีของประชาชน ซึ่งไม่มีสิทธินี้ใน พ.ร.บ.แร่

ส่วนมาตรา 124 ให้อำนาจทางปกครองกับหน่วยงานรัฐหรือเจ้าหน้าที่ หากพบว่ามีการกระทำที่ทำให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมแลสุขภาพ ก็สามารถสั่งให้แก้ไข สั่งพัก ระงับ หรือเพิกถอนได้ อันนี้เป็นหลักการที่ดี แต่ผมมีความเห็นว่า ตามมาตรา 124 วรรค 3 ถ้าผู้ประกอบการไม่ปรับปรุงแก้ไขหรือการประกอบกิจการอาจทำให้สิ่งแวดล้อมเป็นพิษหรือรุนแรง อันเป็นเหตุให้อันตรายแก่ชีวิต สุขภาพ หรือทรัพย์สินของประชาชนหรือสิ่งแวดล้อมโดยไม่อาจแก้ไขได้ ตรงนี้เป็นปัญหาเชิงคดีอย่างมากในทางเทคนิค เพราะข้อคิดเห็นทางวิชาการไม่มีอะไรที่แก้ไขไม่ได้ ดังนั้น การเติมเงื่อนไขว่า ‘ไม่อาจแก้ไขได้’ ลงไปนั้นใน มาตรา 124 จะทำให้การดำเนินกิจการที่มีผลกระทบรุนแรงยังดำเนินไปได้จนกว่าจะถูกคำสั่งเพิกถอนอาญาบัตรหรือใบอนุญาต

ด้าน สมิทธ์ ตุงคะสมิต นักวิชาการด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.... นี้คล้ายเหมือนเป็นการตัดแปะ เพราะที่สุดแล้วเจตจำนงของ พ.ร.บ.แร่ ฉบับนี้ยังมองว่า แร่ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องหิน ดินทราย ดีบุก แต่ยังรวมไปถึงทองคำ น้ำมัน ซึ่งเป็นเรื่อง พ.ร.บ.ขุมสมบัติชาติ

ในมุมมอง พ.ร.บ.แร่ ในอดีตที่ผ่านมาไม่ได้เชื่อมโยงกับเรื่องผังเมืองหรือสาธารณะสุข พ.ร.บ.นี้แยกส่วนกับเรื่องอื่นโดยสิ้นเชิง เพราะกรณีของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ต่างๆ มันเกิดจากช่องว่างของกฎหมาย เนื่องจาก พ.ร.บ.แร่ พูดถึงการออกประทานบัตร เรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่ส่วนเรื่องของการดูแลประชาชน การชดเชยให้ประชาชน ไม่มีการระบุอย่างชัดเจน ในแง่ของการตีความก็มีความตีความหลากหลายไม่มีความชัดเจนในตัวบทกฎหมาย เป็นปัญหาแรกที่เห็นจากฐานะที่ไม่ใช่นักกฎหมาย แต่สนใจประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม

สมิทธ์ กล่าวต่อว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ได้ให้ผลประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ขาดเอกภาพ เพราะให้น้ำหนักกับเรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นหลัก จะเห็นชัดเจนว่าในมาตรา 9 ใน พ.ร.บ.แร่ ฉบับนี้ ที่ห้ามไม่ให้ทำเหมืองในพื้นที่ที่แผนแม่บทบริหารแร่กำหนดให้มีการสงวนหวงห้ามหรืออนุรักษ์ไว้ แต่มีข้อยกเว้นว่า ‘เว้นแต่มีความจำเป็นในทางเศรษฐกิจและไม่สามารถหาพื้นที่อื่นทดแทนได้ โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี’ ซึ่งการเขียนแบบนี้ สมิทธ์เห็นว่าเหมือนกับการให้ตรงไหนเป็น Mining Zone ก็ได้ ถ้ามีความจำเป็นทางเศรษฐกิจ และอะไรคือตัวชี้วัดความจำเป็นทางเศรษฐกิจ สิ่งเหล่านี้ไปอยู่ที่นักวิชาการ คนถืออำนาจเรื่องแหล่งแร่กำหนด ดังนั้น องค์ความรู้ไม่ได้ถูกนำมาให้ปรากฏแก่สาธารณชน

“ในส่วนที่มอบหมายให้รัฐจัดการ โดยขึ้นอยู่กับกระทรวง 2 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงทรัพยากร และกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นผู้พัฒนาแผนแม่บทในการจัดการแร่นั้น คิดว่าเป็นกระบวนการที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมตั้งแต่แรก ดังนั้น เมื่อพูดถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนมันจึงยาก เพราะเป็นการจัดการรวมศูนย์และเป็นเจตนารมณ์ของคนบางกลุ่ม พ.ร.บ.ชุดนี้จึงไม่มีการกระจายอำนาจให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนจัดการหรือรู้เห็นว่าลายแทงสมบัติมีอะไรบ้าง อยู่ตรงไหน ถ้าจะอ้างเรื่องความมั่นคง ก็มองว่ายิ่งประชาชนรู้มากก็จะยิ่งมั่นคง ไม่มีหมวดไหนเลยที่กล่าวถึงการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน” สมิทธ์ กล่าว

ขณะที่ประเด็นการตั้งคณะกรรมการแร่ ภาพรวมการจัดการแร่ยังอยู่แค่ 2 กระทรวงหลัก องค์ประกอบของคณะกรรมการแร่ส่วนใหญ่เป็นราชการและนักวิชาการมากกว่าประชาชน ดังนั้น ควรมีการปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการให้มีสัดส่วนที่มีประชาชนและนักวิชาการหลายส่วนที่เกี่ยวข้องมากกว่านี้  ทำให้บทบาทหรือข้าราชการประจำลดลงมากกว่านี้ โดยในบทเฉพาะกาลเขียนไว้ว่า ในกรณีที่ยังไม่มีการแต่งตั้งคระกรรมการแร่ที่เป็นคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญภายใน 180 วัน ให้คนที่ทำหน้าที่อยู่ภายใน ซึ่งก็คือคนที่เป็นข้าราชการประจำทำหน้าที่เสมือนเป็นคณะกรรมการแร่ได้เลย ซึ่งระยะเวลา 180 วันหรือ 6 เดือน สามารถทำอะไรได้มากมาย เช่นการไม่แต่งตั้งคณะกรรมการที่เป็นภาคประชาชนเข้าไปนั่งในกรรมการแร่ ก็สามารถทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย เป็นต้น

สมิทธ์ ขยายความว่า การกระจายอำนาจมี 2 ส่วน ในส่วนที่ให้ออกอาชญาบัตรกับในส่วนที่ให้อนุญาตทำเหมือง เจตนารมณ์จริงๆ คือทำเพื่อบริษัทเหมือง การให้ขออนุญาตทำเหมืองไม่เกิน 100 ไร่ สามารถขอโดยอาศัยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ ขณะที่ปัจจุบันภาคประชาชนมีความขัดแย้งกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างรุนแรงอยู่ ความน่าเป็นห่วงในมาตรา 50 กับมาตรา51 ก็คือแปลงเล็กที่ขอเป็นประเภท 1 ซึ่งน้อยกว่า 100 ไร่ สามารถมารวมเป็นแปลงใหญ่ได้โดยการบริหารจัดการ หมายความว่าผู้ขอประทานบัตรสามารถขอเป็นแปลงย่อยแล้วไปรวมเป็นแปลงใหญ่ได้ และสามารถใช้ Nominee ในพื้นที่เพื่อขออนุญาตอาชญาบัตรหรือการขออนุญาตสำรวจแร่ แล้วจึงไปขอประทานบัตรหรือใบอนุญาตสำหรับทำเหมืองที่มีอายุ 30 ปี และเนื้อที่ไม่เกิน 100 ไร่ มารวมกันเป็นแปลงใหญ่ได้

สมิทธ์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาชัดเจนว่าเราสู้เพื่อดูแลสิทธิของผู้ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ต่างๆ ได้น้อยมาก ไม่ว่าจะเป็นกรณีใดๆ ทั้งสิ้น อย่างที่สู้เรื่องเหมืองทองคำที่จังหวัดพิจิตร แทนที่เราจะสามารถอ้างอิง พ.ร.บ.ฉบับเก่าได้ ทั้งที่ในมาตรา 133 ให้สันนิษฐานว่าความผิดหรือสิ่งที่ได้รับความเสียหายดังกล่าวเกิดจากการกระทำของผู้ได้รับอนุญาตรายนั้น แม้ว่ากฎหมายเขียนไว้ชัดเจนแล้ว ก็ยังไม่สามารถใช้บังคับได้

“ในส่วนของการฟื้นฟูไม่มีการเขียนเรื่องการฟื้นฟูแหล่งแร่ ไม่มีการยกเรื่องการฟื้นฟูในส่วนที่ทำแร่ไปแล้ว ไม่ว่าจะกรณีคลิตี้ เหมืองแร่เหมืองเลย หรือเหมืองทองคำที่พิจิตร โดยพื้นที่ที่เป็นบ่อเก็บกากแร่อย่างพิจิตร มองจากภาพถ่ายทางอากาศเห็นว่าเป็นเนื้อที่ 2,000 กว่าไร่ ตรงนั้นทำการเกษตรไม่ได้แล้ว จะต้องใช้เทคโนโลยีอะไรมาบำบัด ต้องใช้เงินเท่าไหร่ หรือค่าภาคหลวงที่เก็บก็ฟื้นฟูไม่ไหวอยู่ดี เพราะการสลายโลหะนานมาก การขุดโลหะหนักขึ้นมาแล้วกองไว้ คิดดูว่าจะสร้างผลกระทบมากขนาดไหนให้แก่พื้นที่บริเวณนั้น” สมิทธ์ กล่าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายงาน: 50 ปีการจากไปของ จิตร ภูมิศักดิ์ จาก ‘ผีใบ้หวย’ สู่ ‘อาจารย์จิตร’

$
0
0

วันที่ 5 พฤษภาคมนี้ ครบรอบ 50 การตายของจิตร ภูมิศักดิ์ ตลอดเวลากว่า 50 ปี ที่ผ่านมา ตำนานของจิตรถูกนำมาประกอบสร้างอยู่หลายครั้ง ทั้งในพื้นที่และสถานะที่ต่างกันออกไป จาก ‘ผีบักข่อหล่อ’ ถึง ‘อาจารย์จิตร’ และ ‘เจ้าพ่อหวย’

จิตร ภูมิศักดิ์ เสียชีวิตในวันที่ 5 พฤษภาคม 2509 เป็นเวลากว่า 50 ปีหลังจากการเสียชีวิตของบัณฑิตอักษรศาสตร์ผู้นี้ มีผู้คนนำเรื่องราวเขามาเล่าขานสืบต่อกันมากมาย ทั้งในรูปแบบฐานะที่ต่างกันไปในบริบท สถานที่ และช่วงเวลาที่ต่างกัน จิตรถูกปลูกสร้างให้เป็นทั้งศิลปิน นักคิด นักเขียน นักปฏิวัติ ผู้ทรงอิทธิพลของขบวนการนักศึกษาในเมือง ไปจนถึง ‘เจ้าพ่อจิตร’ ‘อาจารย์จิตร’ ‘บุคคลสำคัญของท้องถิ่น’ ของคนในตำบลคำบ่อ อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร ถึงกับจะพูดได้ว่าชื่อจิตร ภูมิศักดิ์ เป็นที่รู้จักกันก็เมื่อหลังจากที่เขาเสียชีวิตไปแล้ว มากกว่าในช่วงที่เขามีชีวิตอยู่ด้วยซ้ำไป หลายคนอาจจะเรียกมันว่าการเกิดใหม่ของจิตร


ช่วง 14 ตุลา การกำเนิดของตำนานจิตร ภูมิศักดิ์ การแพร่หลายของผลงานจิตร

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นช่วงจิตรเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในหมู่นักศึกษาปัญญาชน จากการที่ผลงานของเขาในขณะที่มีชีวิตอยู่ถูกนำมาตีพิมพ์เผยแพร่อีกครั้ง จนเป็นเหมือนการกลับมาเกิดใหม่ของจิตร

“จิตรนั้นเป็นผู้ ‘มีการก่อเกิดสองครั้ง’ ครั้งแรกคือเขาเกิดและดับไปตามวิถีของของนักสู้เพื่อสิทธิประชาธิปไตยในระบอบเผด็จการ ครั้งที่สองเป็นกำเนิดแห่ง ‘ตำนาน จิตร ภูมิศักดิ์’ นับเป็นตำนานกล่าวขานจนถึงปัจจุบัน วันเกิดครั้งที่สองนี้ อุบัติขึ้นในวันที่คนไทยลืมยากคือ 14 ตุลาคม 2516” เคร็ก เจ. เรย์โนลด์ นักประวัติศาสตร์และเอเชียศึกษาชาวอเมริกา เขียนไว้ในคำนำของหนังสือ ‘ความคิดแหวกแนวของไทย: จิตรภูมิศักดิ์และโฉมหน้าศักดิ์นาไทยในปัจจุบัน’

เดิมทีในช่วงที่จิตรยังคงมีชีวิตอยู่ ชื่อเสียงของจิตรยังจำกัดอยู่เพียงแค่ในวงปัญญาชนบางกลุ่มเท่านั้น เหตุการณ์ที่ทำให้จิตร ภูมิศักดิ์เป็นที่รู้จักกับสาธารณะอยู่บ้างคือ เหตุการณ์ที่จิตรถูกจับโยนบกที่กลางหอประชุมจุฬาลงกรณ์โดยกลุ่มนิสิต นำโดยนายสีหเดช บุนนาค จากการที่จิตรเป็นสาราณียกรให้กับหนังสือประจำปีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จิตรมามีชื่อเสียงเป็นที่ได้รับความสนใจอย่างมากซึ่งเปรียบเหมือนการเกิดใหม่ของจิตรในช่วงยุคเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หลังจากที่จิตรเสียชีวิตไปแล้วนานกว่า 7-8 ปี

จุดเปลี่ยนอยู่ที่มีการนำงานเขียนของจิตรมาตีพิมพ์ขึ้นใหม่ โดยปัญญาชนคนอื่นๆ เช่น ประวุฒิ ศรีมันตะ และนิสิต จิรโสภณ ที่นำผลงานของจิตรนำมารวบรวมตีพิมพ์ใหม่ โดยผลงานสำคัญที่ทำให้จิตรเป็นที่รู้จักในวงกว้างคือ บทความชื่อ ‘โฉมหน้าศักดินาไทย’ ซึ่งจิตรเขียนไว้ตั้งแต่ปี 2500 ลงในวารสาร ‘นิติศาสตร์ 2500’ ในนามปากกา ‘สมสมัย ศรีศูทรพรรณ’ ซึ่งเป็นบทความที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ระบอบศักดินาอย่างเป็นระบบ และเป็นงานที่มีความแปลกใหม่แหวกจากการศึกษาประวัติศาสตร์ในขณะนั้น โดยใช้แนวคิดของฝ่ายซ้ายแนวมาร์กซิสต์เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์สังคม และอีกผลงานสำคัญของจิตรก็คือ ‘ศิลปะเพื่อชีวิต’ ที่ตีพิมพ์ในปี 2550 ในนามปากกา ทีปกร ซึ่งภายหลังได้ถูกนำไปตีพิมพ์รวมกับบทความอื่นๆ ของเขาในชื่อ ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน โดยมีเนื้อหาวิพากษ์การสร้างสรรค์งานศิลปะ ผลงานชิ้นนี้มีอิทธิพลอย่างสูงต่อขบวนการนักศึกษา

ผลงานทั้งสองชิ้นดังกล่าวทำให้ชื่อจิตรกลับมามีชีวิตอีก แต่ไม่ได้เป็นเพียงแค่นายจิตร ภูมิศักดิ์เท่านั้น แต่เป็นชีวิตของจิตร ภูมิศักดิ์ ศิลปินนักรบประชาชน โดยหลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลา ผลงานทั้งสองชิ้นนี้ถูกนำมาตีพิมพ์ซ้ำอีกหลายครั้งจนกลายเป็นหนังสือขายดีที่นักศึกษาในช่วงเวลานั้นนิยมอ่าน อีกทั้งมีการขุดค้นผลงานชิ้นอื่นๆ ของจิตร ภูมิศักดิ์ นำมาเผยแพร่ โดยส่วนใหญ่เป็นผลงานที่เคยถูกตีพิมพ์มาก่อนแล้ว แต่ไม่มีใครทราบว่าเป็นผลงานของเขา เพราะจิตรใช้นามปากกาในการเขียน จึงต้องมีการขุดค้นหาผลงานของจิตร  มีการเก็บรวบรวมนิตยสารเก่าที่มีอยู่ตามหอสมุดต่างๆ โดยตีความจากสำนวนการเขียนการนำเสนอต่างๆ เพื่อให้ทราบว่างานชิ้นไหนเป็นของจิตร

“หลัง 14 ตุลามีการพิมพ์หนังสือโฉมหน้าศักดินาไทยใหม่อยู่หลายครั้ง กลายเป็นหนังสือขายดีเป็นอันดับต้นๆ นักศึกษาทุกคนยุคนั้นนิยมอ่านกันมาก ตอนนั้นใครต่อใครก็หันไปอ่านงานของจิตร ทำให้จิตรมีชื่อเสียงโด่งดังอย่างมากมาย ซึ่งตอนนั้นจิตรตายไปแล้วกว่า 7-8 ปี จนถึงกับมีการแต่งเพลงจิตร ภูมิศักดิ์ขึ้นมา โดยสุรชัย จันธิมาธร ในปี 2517 มีการจัดงานสัมมนาเกี่ยวกับจิตร สรุปง่ายๆ คือในช่วงปี 2516-2517 จิตรเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง เรื่องราวของจิตรถูกนำมาขุดค้นและเล่าใหม่ งานของเขามีอิทธิพลต่อขบวนการนักศึกษาในสมัยนั้นอย่างมาก” สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าถึงบรรยากาศของขบวนการนักศึกในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา ที่ผลงานของจิตรได้รับความนิยมอย่างสูงในหมู่นักศึกษาปัญญาชนขณะนั้น


บรรยากาศทางการเมืองที่เปิดกว้างในช่วงหลังการสิ้นสุดของระบอบเผด็จการสฤษดิ์-ถนอม เป็นยุคที่เสรีภาพและประชาธิปไตยพอจะมีช่องทางได้เติบโตอยู่บ้าง ขบวนการนักศึกษาประชาชนเริ่มเติบโต มีการผลิตผลงานหนังสือทั้งวรรณกรรมและทฤษฎีการเมืองจำนวนมาก ผลงานของนักเขียนหัวก้าวหน้าหลายคน ก็ได้ถูกนำมาเผยแพร่อย่างแพร่หลาย ผลงานและเรื่องราวชีวิตของจิตรก็ถูกขุดค้นขึ้นมาอีกครั้ง

“ที่กล่าวกันว่า จิตรเกิดครั้งที่สอง ช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ก็เพราะว่ามีเยาวชนคนหนุ่มสาวรุ่นนั้น ทำการขุดงานคิด งานเขียน และงานปฏิวัติของเขาขึ้นมาอีกครั้ง ดังนั้น สิ่งที่เขาได้ทำไว้ในช่วงทศวรรษ 2490-2500 และถูกลืมเลือนไปเนื่องจากระบอบเผด็จการสฤษดิ์-ถนอม จึงกลับมามีพลังใหม่ มีคนได้รับแรงบันดาลใจจากจิตร มีคนต้องการเรียนรู้จากจิตร และมีคนต้องการสืบสานปณิธานของจิตร ถ้าจะว่าไปเขาก็กลายเป็นอมตะ และผู้คนกับสังคมนี้ก็จะลืมเขาไม่ได้เช่นกัน น่าเชื่อว่าในอนาคตก็จะมีคนต้องการเรียนรู้จากจิตรอยู่ร่ำไป” ศาสตราจารย์พิเศษ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ประธานมูลนิธิจิตร ภูมิศักดิ์กล่าว

นอกจากนั้น พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เองก็เข้ามามีส่วนในการผลักดันสนับสนุนให้มีการเผยแพร่ผลงานของจิตร โดยคนของ พคท. ที่ทำงานอยู่ในเมืองได้นำผลงานของจิตรส่งมอบให้สำนักพิมพ์ที่มีคนของ พคท. ควบคุมอยู่ตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานเหล่านั้น

การสร้างตัวตน จิตร ภูมิศักดิ์ ในสถานที่วายชีวา จากผู้ก่อการร้ายสู่บุคคลสำคัญของรัฐ จากผีกลางทุ่งสู่อาจารย์จิตร
ชื่อ จิตร ภูมิศักดิ์ กว่าจะเป็นที่รู้จักในตำบลคำบ่อ สถานที่เสียชีวิตของเขา ต้องใช้เวลากว่า 20 ปีจากวันที่เขาเสียชีวิต ปัจจุบันในทุกวันที่ 5 พฤษภาคมของทุกปีจะมีการจัดงานรำลึกการจากไปของจิตร ในฐานะบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่น จากที่ก่อนหน้านี้เขาเคยเป็นผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์และผีกลางทุ่งนา การสร้างตัวตนของจิตรในท้องถิ่นจึงต้องผ่านเวลาและกระบวนการมากมาย
 

เขาตายในชายป่าเลือดทาดินเข็ญ ยากเย็นข้นแค้นอับจน
ถึงวันพรากเขาลงมาจากยอดเขา ใต้เงามหานกอินทรี
ล้อมยิงโดยกระหยิ่ม อิ่มในเหยื่อตัวนี้
โชคดี สี่ขั้นพันดาวเหมือนดาวร่วงหล่น
ความเป็นคนล่วงหาย ก่อนตายจะหมายสิ่งใด


เพลงจิตร ภูมิศักดิ์ แต่งโดยสุรชัย จันทิมาธร เพื่ออุปมาเหตุการณ์การเสียชีวิตของบัณฑิตอักษรศาสตร์ จากรั้วจามจุรีที่ต้องจบชีวิตลงด้วยกระสุนของอาสาสมัครรักษาดินแดนและกำนันแหลมหรือคำพน อำพล ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2509 ณ บ้านหนองกุง ตำบลคำบ่อ อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร การตายของจิตร ภูมิศักดิ์ หรือสหายปรีชาวันนั้น ในเวลาต่อมาจะทำให้ตำบลแห่งนี้มีชื่อเสียงในฐานะสถานที่วายชีวาของปัญญาชนนักปฏิวัติคนสำคัญของประเทศไทย โดยใช้เวลากว่า 20 ปี กว่าที่ผู้ก่อร้ายคอมมิวนิสต์จะกลายมาเป็นบุคคลสำคัญของท้องถิ่นที่รัฐส่งเสริมให้มีการหวนรำลึกถึงอย่างสม่ำเสมอ จาก ‘ผีบักข่อหล่อ’ จนกลายมาเป็น ‘อาจารย์จิตร’ ที่เคารพของชาวบ้านในตำบลคำบ่อ

จิตร ภูมิศักดิ์ ได้เข้าร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หลังได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำลาดยาว ซึ่งจิตรถูกจับกุมในข้อหากระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์ภายหลังจากที่จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการรัฐประหารยึดอำนาจจอมพล ป.พิบูลสงครามเพียงหนึ่งวัน โดยจิตรได้ขอทางพรรคเข้าทำงานมวลชนในเขตงานเลขที่ 555 แถบอำเภอวาริชภูมิซึ่งยังเป็นพื้นที่สีขาว ทั้งยังเป็นพื้นที่มีกำลังทหารตั้งรับอยู่หนาแน่น ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2509 จิตรอาสาลงจากภูเขามายังหมู่บ้านหนองกุง เพื่อมาขออาหารจากหญิงชาวบ้านเพื่อนำกลับไปให้สหายร่วมรบที่รออยู่บนภูเขา ซึ่งก่อนหน้านั้นหน่วยของจิตรมีการปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐจนต้องล่าถอยไปอยู่บนภูเขา หลังจากหญิงชาวบ้านได้มอบอาหารให้แก่เขาแล้ว หญิงชาวบ้านคนดังกล่าวจึงนำข่าวการมาเยือนของเขา ไปแจ้งแก่กำนันแหลม จากนั้นกำนันแหลมจึงรวบรวมอาสาสมัครรักษาดินแดนไล่ตามจิตรไปถึงทุ่งนาชายป่าและยิงจิตรจนเสียชีวิต ศพของจิตรถูกเผาทำลายทันทีในวันนั้น หลังจากที่จิตรเสียชีวิตลง ก็ไม่มีการเคลื่อนไหวทำงานมวลชนของพรรคคอมมิวมิสต์ในพื้นที่แถบนี้อีกเลย เพราะถูกมองเป็นพื้นที่ ‘ล้าหลัง’ และถูกยึดกุมโดยรัฐ

กำนันแหลม เจ้าของฉายาสี่ขั้นพันดาว ได้เป็นหนึ่งในห้าผู้นำท้องถิ่นในภาคอีสานที่ได้รับคัดเลือกให้เดินทางไปศึกษาดูงานที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นเวลากว่าสองเดือน ไม่แน่ชัดว่าเป็นผลมาจากวีรกรรมของเขาในวันที่ 5 พฤษภาคม 2509 หรือไม่ อีกทั้งยังได้รับเลือกเป็นกำนันดีเด่นในปีเดียวกัน จากบทบาทที่กำนันแหลมเป็นหัวเรือสำคัญในการปราบปรามคอมมิวนิสต์ในพื้นที่ และมีส่วนในโครงการพัฒนาในชุมชน อย่างตัดถนนเข้าหมู่บ้าน จัดระเบียบหมู่บ้านจนทำให้ท้องถิ่นปราศจากอิทธิพลของคอมมิวนิสต์ ในส่วนของจิตรกลายเป็น ‘ผีบักข่อหล่อ’ (คำว่าบักข่อหล่อเป็นคำภาษาอีสานใช้อธิบายสิ่งที่มีขนาดเล็กหรือไม่สมบูรณ์ ที่ชาวบ้านเรียกจิตรเช่นนี้ น่าจะมาจากการที่ศพของจิตรขณะที่เสียชีวิตอยู่ในสภาพนอนขดตัวเล็ก) ที่ชาวบ้านหนองกุงร่ำลือกันถึงการให้หวยที่แม่นของผีตนนี้

“ช่วงที่ผมเข้าป่าในช่วงก่อน 6 ตุลา ผมได้มีโอกาสเข้าไปในฐานที่มั่นภูพานของพรรคและได้เข้าร่วมโรงเรียนการเมือง ผมมีความแปลกใจอยู่อย่างหนึ่งคือ ตอนที่อยู่ในเมือง จิตรเป็นเหมือนฮีโร่ เป็นแบบอย่างของเรา แต่พอเข้ามาในป่ากลับไม่มีใครพูดถึงจิตรเลย จะถูกพูดถึงบ้างเฉพาะในกลุ่มนักศึกษา ส่วนสหายชาวนาที่ไม่ได้มีส่วนกับทางบ้านหนองกุง ไม่มีใครรู้จักจิตร” บัณฑิต จันทศรีคำ ผู้เขียนหนังสือ ‘วาระสุดท้ายแห่งชีวิตจิตรภูมิศักดิ์’ กล่าว

โดยบัณฑิตเล่าให้ฟังอีกว่า แม้แต่ในช่วง 2529 ที่มีโอกาสกลับไปลงพื้นที่รอยต่อจังหวัดสกลนคร-อุดรธานีเพื่อตามรอยจิตรภูมิศักดิ์ ณ เวลานั้นจิตรไม่ได้เป็นที่รู้จักหรือเป็นบุคคลสำคัญของตำบลเหมือนในปัจจุบัน

จิตร ภูมิศักดิ์ เริ่มมีตัวตนในตำบลคำบ่อในราวปี 2530 เริ่มจากที่มีกลุ่มสายธารวรรณกรรมจากจังหวัดยโสธร นำโดยพิเชษฐ์ ทองน้อย และสานิต มาสขาว สนใจติดตามชีวิตของจิตร ภูมิศักดิ์ เข้ามาในพื้นที่ โดยการเข้าหาพระมหาพงษ์สุริยา เจ้าอาวาสวัดประสิทธิ์สังวร หลังจากทางกลุ่มได้พูดคุยกับทางพระมหาพงษ์สุริยา ทำให้ท่านสนใจเรื่องราวของจิตร นำมาสู่การทำบุญทอดพระป่าสามัคคีให้แก่จิตร และต่อมามีการขุดกระดูกของจิตรขึ้นมาเป็นครั้งแรกเพื่อบรรจุในเจดีย์ในปี 2533 โดยเจ้าอาวาสวัดประสิทธิ์สังวรเป็นผู้ดำเนินการต่างๆ อย่างเสร็จสรรพ จนในปีถัดมาภิรมย์ ภูมิศักดิ์ พี่สาวของจิตรได้เข้ามาทำการบูรณะวัดประสิทธิ์สังวรเพื่อทำบุญให้จิตรและขอซื้อที่ดินในจุดที่จิตรเสียชีวิต จนเกิดการทำบุญเป็นประจำทุกปีในช่วงวันที่ 5 พฤษภาคม เรื่องราวสหายปรีชาก็เริ่มเป็นที่คุ้นเคยของชาวบ้าน

“ชาวบ้านมองจิตรเป็นคนมีความรู้ เป็นคนเขียนหนังสือ เขามองมุมนี้มากกว่า เขาไม่ได้มองมุมนักปฏิวัติ ชาวบ้านเลยเรียกว่าอาจารย์จิตร ซึ่งเรียกตามเจ้าอาวาสเพราะคนที่เล่าเรื่องจิตรให้ชาวบ้านฟังคือเจ้าอาวาส กว่าจิตรจะมีตัวตนในชุมชนก็ใช้เวลามากกว่า 20 ปี นับจากปีที่จิตรเสียชีวิต” บัณฑิต กล่าวเสริม

ในปี 2543 จึงเกิดกิจกรรมงานรำลึกการจากไปของจิตร ภูมิศักดิ์ ขึ้นเป็นครั้งแรก มีการมอบที่ดินในจุดเสียชีวิตของจิตรที่ภิรมย์ซื้อมาให้แก่วัดประสิทธิ์สังวร จิตรจึงไม่ได้เป็นคนแปลกหน้าของตำบลแห่งนี้อีกต่อไป

“ผมมีโอกาสได้ลงไปบ้านหนองกุงในปี 2542 ผมได้ไปเห็นชาวบ้านไหว้เจดีย์จิตร ภูมิศักดิ์กัน ก็เลยเดินไปคุยกับเขา ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่าเจ้าพ่อจิตรให้หวยแม่น ต้องไหว้เจ้าพ่อจิตรด้วยบุหรี่เพราะว่าท่านชอบบุหรี่ นอกจากบุหรี่แล้วก็ต้องไหว้ด้วยเบียร์ดาวแดงคือไฮเนเกน ใช้ยี่ห้ออื่นไม่ได้” สุธาชัย กล่าวในงานเสวนา 80 ปีจิตรภูมิ คณะอักษรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 29 ตุลาคม 2553

ส่วนกำนันแหลมต้องคอยหลบผู้คนไปอยู่ที่อื่นเวลาจัดงานรำลึกจิตร มักจะมีคนจากต่างถิ่นที่มาร่วมงานเข้าไปถามหากำนันที่บ้าน

มาถึงในปี 2547 ที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของตำนานจิตร ภูมิศักดิ์ในตำบลคำบ่อแห่งนี้ เมื่อสถานที่เสียชีวิตของจิตรถูกพัฒนาให้เป็นแหล่งประวัติศาสตร์ท้องถิ่น มีการดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณนั้น มีการปรับปรุงเส้นทาง สร้างศาลาพักร้อน ห้องน้ำ ซึ่งได้รับอนุมัติงบประมาณจากผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร และในวันที่ 5 พฤษภาคมของปีเดียวกันผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร องค์การบริหารส่วนจังหวัด และองค์การบริหารส่วนตำบลคำบ่อ ร่วมกันจัดงานรำลึก 38 ปีแห่งการเสียชีวิตของจิตร ภูมิศักดิ์ จนเป็นจุดเริ่มต้นที่ อบต. เป็นเจ้าภาพจัดงานรำลึกการจากไปของนักปฏิวัติผู้นี้ในปีต่อๆ มา และแปรเปลี่ยนเป็นส่วนหนึ่งของคำขวัญประจำเทศบาลตำบลคำบ่อที่ว่า

‘ภูไทคำบ่อ งามละออผ้าไหม น้ำตกใสแม่คำดี ม้วยชีวีจิตรภูมิศักดิ์'

ท่ามกลางกระแสที่รัฐส่งเสริมการสร้างประวัติศาสตร์ท้องถิ่น การตายของจิตรถูกมองเป็นจุดสำคัญของประวัติศาสตร์ท้องถิ่น จากผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐกลายมาเป็นบุคคลที่รัฐท้องถิ่นส่งเสริมให้รำลึกถึง เด็กในโรงเรียนแถบนั่นต่างก็ต้องเรียนเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตของจิตร หลังที่รัฐมีการส่งเสริมการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่น บ้านหนองกุงแห่งนี้ได้ต้อนรับผู้คนต่างถิ่นหลั่งไหลเดินมาเพื่อศึกษาตามรอยชีวิตของปัญญาชนคนสำคัญคนนี้อย่างไม่ขาดสาย

“รัฐมองจิตรเปลี่ยนไป ด้วยบริบทสังคมที่คลี่คลายลง สงครามเย็นได้สิ้นสุดไปแล้ว ยิ่งมีการเมืองท้องถิ่นเข้ามาก็ทำให้ท้องถิ่นสามารถจัดการอะไรพวกนี้ได้ รัฐส่วนกลางอาจจะยังไม่เปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับจิตรก็ได้ แต่รัฐท้องถิ่นเปลี่ยนไปแน่ ไม่ว่าจะเปลี่ยนด้วยอะไรก็ตาม แต่มันเปลี่ยน ตั้งแต่ที่ผมลงไปที่หนองกุงครั้งแรกจนถึงทุกวันนี้ที่มีอะไรต่างๆ มากมายที่ผมก็คิดไม่ถึงเหมือนกัน ถ้าจะให้เครดิตก็คงต้องให้เครดิตกับเจ้าอาวาสในวันนั้น” บัณฑิตทิ้งท้าย

 

โปรดติดตาม

สัมภาษณ์ ‘ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์’ บุหรี่ที่หายไปของจิตร ภูมิศักดิ์ 

ที่นี่ เร็วๆ นี้

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'กกต.สมชัย' เตือนเพจขายเสื้อรณรงค์ระวังทำผิดกฎหมายประชามติ

$
0
0

4 พ.ค.2559 สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้รับการรายงานว่า มีเพจของกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองกลุ่มหนึ่ง ประกาศจำหน่ายเสื้อ ตัวละ 300 บาท ในลักษณะรณรงค์ทั่วไป เพื่อนำไปสู่การปลุกระดมทางการเมือง ให้เกิดการออกเสียงประชามติ เป็นไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง ซึ่งอาจขัดกับประกาศ กกต. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการแสดงความคิดเห็นในการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2559 ข้อ 5 (5) ซึ่งอาจจะเข้าข่ายการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 61 (1) ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท ทั้งนี้ศาลอาจสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดไม่เกิน 5 ปีด้วยก็ได้

“เข้าใจว่า ภาพที่เผยแพร่เกี่ยวการดำเนินการขายเสื้อดังกล่าว น่าจะดำเนินการก่อนวันที่ 23 เม.ย. 2559 ก่อนที่ พรบ.จะมีผลบังคับใช้ ซึ่งยังไม่ถือว่าเป็นความผิด แต่เนื่องจากภาพโฆษณาดังกล่าวยังคงค้างอยู่ในเพจของกลุ่มการเมืองดังกล่าวในปัจจุบัน จึงขอเตือนว่าควรนำภาพโฆษณาดังกล่าวออก มิเช่นนั้น หากมีบุคคลไปแจ้งความกล่าวโทษ อาจมีการจับกุมผู้ดำเนินการได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถดำเนินการไม่ยาก เพราะมีชื่อผู้เปิดบัญชีที่ธนาคารชัดเจน และ หากสืบสวนเพิ่มเติมพบว่า เป็นคณะบุคคลตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ร่วมกระทำการดังกล่าว บทลงโทษจะรุนแรงกว่าการกระทำโดยคน ๆ เดียว (ตาม ม.61 วรรค 4 )” สมชัย กล่าว

มีชัยปัดเชิญต่างชาติสังเกตการณ์ประชามติ บอกทีประเทศอื่นทำก็ไม่เชิญไทย

มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) กล่าวถึงข้อเสนอให้เชิญองค์กรระหว่างประเทศมาสังเกตการณ์การทำประชามติของประเทศไทย ว่าการทำประชามติเป็นเรื่องภายในของไทย และเวลาที่ประเทศอื่นเลือกตั้ง ก็ไม่ได้เชิญไทยไป จึงไม่มีเหตุผลความจำเป็นอะไรที่จะต้องไปเชิญต่างชาติเข้ามาสังเกตการณ์ เชื่อว่าคสช.คงไม่เชิญมาแน่นอน แต่หากจะมาเองในฐานะส่วนตัวหรือนักท่องเที่ยวก็คงห้ามไม่ได้

“เป็นเรื่องของบ้านเรา เวลาที่ประเทศอื่นเลือกตั้งไม่เห็นเขาเชิญเราไป ไม่มีเหตผลอะไรที่ต้องเชิญ คุณอยู่บ้านคุณเวลาปูที่หลับ ปัดที่นอนจะไปเชิญใครเขามาทำไม” มีชัย กล่าว

สำหรับกรณีที่กกต.นำแอพพิเคชั่น “ฉลาดรู้เรื่องประชามติ” มาให้ดูวานนี้ (3 พ.ค.)นั้น มีชัย กล่าวว่า เสนอให้เติมเนื้อหาในบางเรื่อง  และอยากให้เผยแพร่เพิ่มใน “ไลน์” อีกช่องทางหนึ่ง เพื่อให้ประชาชนเข้าดูได้ง่ายขึ้น ซึ่ง กกต.ก็ไม่มีปัญหา

วิษณุห่วงกฏเกณฑ์กกต.กว้าง คนอาจสับสน

วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงความชัดเจนของการบังคับใช้กฎหมายตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติว่า ต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมาก เนื่องจากเกรงว่าผู้ที่ออกมาคัดค้านจะกระทำผิดกฎหมายอื่นด้วย เพราะปัจจุบันยังคงมีคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) และกฎหมายปกติที่บังคับใช้อยู่ เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กฎหมายอาญา ซึ่งหากใครกระทำความผิดสามารถแจ้งความได้

“ยืนยันว่าทุกคนยังคงมีสิทธิ์เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ทั้งการพูด ฟัง เขียน และพิมพ์โฆษณาอยู่ เพียงแต่มีข้อยกเว้นในมาตรา 7 และมาตรา 61 อยู่บ้าง จึงต้องระมัดระวังไม่กระทำผิดเท่านั้นเอง อะไรที่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเมื่อคนหนึ่งเข้าใจอย่างหนึ่งและอีกคนเข้าใจไปอีกอย่างหนึ่ง เมื่อสวนทางกันแบบนี้ก็จะเป็นปัญหา เพราะฉะนั้นอะไรก็ตามที่คิดว่าอยู่ภายใต้ความเสี่ยงต้องระมัดระวัง” วิษณุ กล่าว

วิษณุ กล่าวถึงกรณีที่ กกต. ตั้งหลักเกณฑ์เรื่องใดทำได้และทำไม่ได้ เช่น ตามที่กฎหมายประชามติห้ามไว้ คือ ต้องไม่ทำการใดที่ขัดต่อกฎหมาย ไม่ก้าวร้าว ไม่รุนแรง ไม่หยาบคาย ไม่ปลุกระดม และไม่ข่มขู่ เชื่อว่าเป็นเจตนาดีของกกต. แต่ยังเป็นห่วงเรื่องของการตีความที่ยังดูงงและกว้างไป ซึ่งเกรงว่าหากแนะนำแล้วมีคนเชื่อแบบนั้น แต่เมื่อเรื่องไปสู่ศาลกลับวินิจฉัยผลตรงกันข้ามจะเป็นปัญหาได้

“เพราะฉะนั้นกลุ่มที่จะออกมาเคลื่อนไหวต้องระมัดระวัง เรื่องใดที่ยังไม่แน่ใจก็อย่าทำ ยกตัวอย่างเช่นคำว่าปลุกระดม ใส่เสื้อมีข้อความว่าไม่รับรัฐธรรมนูญ 1 คน ไม่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุม แต่พอมีคนมาใส่เหมือนกัน 5 คนมารวมตัวกัน แบบนี้ก็อาจถูกจับได้ เพราะเข้าข่ายปลุกระดม เป็นต้น อย่างไรก็ตามทุกอย่างขึ้นอยู่กับเจตนา ถ้าเจตนาดีก็ไม่ผิด”  วิษณุ กล่าว

พล.อ.ประวิตร ยันไม่ออกกม.บังคับไปใช้สิทธิ์ประชามติ

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการลงประชามติ วันที่ 7 สิงหาคมนี้ ว่า ไม่รู้สึกกังวล หากประชาชนจะมาใช้สิทธิ์น้อยกว่าที่ตั้งเป้าไว้ เพราะขณะนี้เห็นว่าทุกฝ่ายมีความตื่นตัวในการติดตามข่าวสารต่าง ๆ ส่วนจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เป็นสิทธิ์ที่ประชาชนจะตัดสินใจ รัฐบาลและ คสช. จะไม่ปิดกั้นหรือบังคับ แต่ขอร้องกลุ่มต่าง ๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหวว่าไม่ควรชี้นำและไม่ควรโฆษณาเชิญชวน ให้ทำในสิ่งที่ผิดกฎหมาย
 
ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร ปฏิเสธข่าวรัฐบาลเตรียมออกกฎหมายเพื่อบังคับให้ประชาชนไปใช้สิทธิ์ลงประชามติ โดยระบุว่า คงทำแบบนั้นไม่ได้ คสช.และรัฐบาลคงไม่บังคับใคร

 

เรียบเรียงจาก สำนักข่าวไทย 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Timeline ก่อนหายตัว ลุงเด่น คำแหล้ นักสู้สิทธิที่ดินต่อการทวงคืนผืนป่ายุค คสช.

$
0
0

เด่น บนเวทีสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 25 ก.พ.58

3 พ.ค.2559 ศรายุทธ ฤทธิพิณ สำนักข่าวปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน ได้เขียนรายงานลำดับช่วงชีวิตของ เด่น คำแหล้ อายุ 65 ปี ประธานโฉนดชุมชนโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ แกนนำการนักต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินบนผืนป่าโคกยาว ในเหตุการณ์สำคัญหลังรัฐประหาร ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จนถึงเมื่อวันที่ 16 เม.ย. ที่ผ่านมา เวลาประมาณ 09.00 น. ที่เขาเดินทางเข้าป่าบริเวณสวนป่าโคกยาวรอยต่อระหว่างป่าสงวนหางชาติภูซำผักหนาม และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว เพื่อเข้าไปหาเก็บหน่อไม้ ไปวางขายที่ตลาดทุ่งลุยลายในช่วงตอนเย็นของทุกวันตามปกติ นับจากนั้น เด่น ยังไม่ได้เดินทางกลับเข้าที่พัก

การพยายามค้นหา เด่น ที่มาภาพ สำนักข่าวปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน

ซึ่งญาติพี่น้อง และสมาชิกเครือข่ายปฎิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) อาทิ ชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ และสมาชิก คปอ. ที่มาจากต่างจังหวัด เช่น ชัยภูมิ ศรีสะเกษ ยโสธร ขอนแก่น และร้อยเอ็ด รวมทั้งเจ้าหน้าที่ป่าไม้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว ระดมกำลังร่วมค้นหาอย่างต่อเนื่องนับแต่วันที่ 17 เม.ย. เป็นต้นมา รวมเวลา 18 วันแล้ว ที่ยังไม่พบตัว เด่น แต่อย่างใด
 

ปมพิพาทสวนป่าโคกยาว

ชุมชนโคกยาวได้รับผลกระทบความเดือดร้อนหลายครั้ง นับแต่ถูกประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนามเมื่อปี 2516 กระทั่งช่วงปี 2528 เจ้าหน้าที่ป่าไม้  ชย.4 มีคำสั่งให้ผู้ที่ทำกินในพื้นที่ป่าโคกยาว เก็บเกี่ยวสิ่งของผลผลิตทางการเกษตรแล้วให้อพยพออกจากพื้นที่ เพื่อนำพื้นที่ป่าโคกยาวไปปลูกป่ายูคาลิปตัส ตามแนวนโยบายของป่าไม้ พร้อมรับปากว่าจะหาที่ดินทำกินให้ใหม่ ปรากฏว่าพื้นที่ที่จัดสรรให้มีเจ้าของครอบครองอยู่แล้ว ส่งผลให้ผู้เดือดร้อนกว่า 30 ครอบครัว ตกอยู่ในสภาพถูกลอยแพ ไม่มีที่ดินทำกิน
 
เด่น คำแหล้ ร่วมต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิที่ดินทำกินมานับแต่นั้น กระทั่งกระบวนการแก้ไขปัญหาเข้าสู่ปี 2548 คณะทำงานตรวจสอบพื้นที่โดยมี ธนโชติ ศรีกุล ปลัดอาวุโสอำเภอคอนสาร เป็นประธาน ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการถือครองทำประโยชน์ที่ดิน และการสำรวจรังวัดพื้นที่ มีมติว่าสวนป่าโคกยาวได้สร้างผลกระทบขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ และให้ดำเนินการช่วยเหลือผู้เดือดร้อนเป็นการต่อไป ต่อมาคณะอนุกรรมการสิทธิที่ดินและป่า(คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ) ลงตรวจสอบพื้นที่และได้รายงานผลการละเมิดสิทธิ โดยมีมติว่าการปลูกสร้างสวนป่าโคกยาวได้ละเมิดสิทธิในที่ดินของผู้เดือดร้อน และให้ยกเลิกสวนป่าโคกยาว ทั้งนี้ในระหว่างการแก้ไขปัญหาจะได้ข้อยุติ ให้ผู้เดือดร้อน สามารถทำกินในระหว่างร่อง แถวของสวนป่าไปพลางก่อน
 
ต่อมาพื้นที่พิพาทสวนป่าโคกยาว ผ่านความเห็นชอบดำเนินโครงการพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชน บนพื้นที่กว่า 830 ไร่ ตามมติ ครม.ปี 2553 และให้ผู้เดือดร้อนสามารถเข้าใช้ประโยชน์ในสวนป่าได้โดยไม่มีการข่มขู่ กักขัง หรือดำเนินคดีใดใดในช่วงที่กำลังมีการแก้ไขปัญหา กระทั่ง แนวทางปฎิบัติกลับสวนทางกัน กล่าวคือ วันที่ 1 กรกฎาคม 2554 ประมาณ 05.30 น. นายอำเภอคอนสาร พร้อมเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ตำรวจ สนธิกำลังเข้ามา กว่า 200 นาย บุกรวบตัวชาวบ้านชุมชนโคกยาว ไปคุมขังที่สถานีตำรวจภูธรห้วยยาง และสถานีตำรวจภูธรคอนสาร ต่อมาแจ้งข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนฯ จำนวน 10 ราย แยกเป็น 4 คดี นำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ในชั้นศาลจังหวัดภูเขียว อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ ปัจจุบันกระบวนการพิจารณาคดีอยู่ในชั้นกีฎา
 

ลำดับการต่อสู้หลังรัฐประหาร คสช.

ภายหลังรัฐประหาร วันที่ 22 พ.ค. 2557 โดย คสช. หลังจากมีคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 64/2557 และนโยบายตามแผนแม่บทป่าไม้ ฯ ชุมชนโคกยาวถือเป็นพื้นที่แห่งแรก ที่ถูกแผนนโยบายดังกล่าวพยายามไล่ออกจากพื้นที่ แต่สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสานได้ร่วมต่อสู้มาอย่างต่อเนื่อง โดยในชุมชนโคกยาว มี เด่น เป็นแกนนำหลักที่ต่อสู้เรื่องสิทธิที่ดินให้ชุมชนโคกยาวสามารถอยู่ในพื้นที่ได้มาตราบทุกวันนี้ ดังตัวอย่างบางเหตุการณ์ที่นำเสนอ ดังนี้
 
วันที่ 25 ส.ค. 2557 เจ้าหน้าที่สนธิกองกำลังทหาร ตำรวจ ป่าไม้ จำนวนประมาณ 100 นาย เข้ามาปิดป้ายประกาศคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 64/2557 ลงวันที่ 14 มิ.ย. 2557 เรื่อง การป้องกันและปราบปรามการลักลอบตัดไม้และบุกรุกพื้นที่ป่าจังหวัดชัยภูมิ ในพื้นที่พิพาทสวนป่าโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ให้ชาวบ้านรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างรวมทั้งพืชผลอาสินทั้งหมดออกจากพื้นที่ภายใน 15 วันนับแต่วันปิดประกาศ หากพ้นกำหนดเจ้าหน้าที่จะเข้าทำการรื้อถอนเอง พร้อมทั้งจะดำเนินการตามกฎหมายโดยเฉียบขาด
 
วันที่ 28 ส.ค. 2557 ชาวบ้านเดินทางไปยังศาลากลางจังหวัดชัยภูมิ เพื่อขอเข้าพบและยื่นหนังสือต่อ พล.ต.มารุต ลิ้มเจริญ ผู้อำนวยการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดชัยภูมิ (ผบ.กกล.รส.จว.ชย) เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงต่อผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้อง โดยเนื้อหาระบุว่า ขอให้ทบทวนพิจารณายกเลิกประกาศจังหวัดชัยภูมิ ในคำสั่งที่จะขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ โดยหนังสือที่ยื่นมีข้อเรียกร้อง ดังนี้
 
1.ให้ยกเลิกประกาศจังหวัดชัยภูมิ เรื่อง การป้องกันและปราบปรามการลักลอบตัดไม้และบุกรุกพื้นที่ป่าจังหวัดชัยภูมิ
 
2.ให้พิจารณามาตรการและแนวทางการคุ้มครองสิทธิในที่ดินและทรัพย์สินของชาวบ้านที่เดือดร้อน เพื่อให้เกิดความปกติสุขในการดำเนินชีวิต จนกว่าจะมีกระบวนการในการแก้ไขปัญหาในทางนโยบายต่อไป โดยทาง เลขาฯ ผบ.กกล.รส.จว.ชย รับทราบปัญหา พร้อมกล่าวว่าจะนัดหมายให้ตัวแทนชาวบ้านผู้เดือดร้อน พร้อมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาประชุมชี้แจงข้อเท็จจริง พร้อมกันในวันนี้ 1 กันยายน2557 
วันที่ 29 สิงหาคม 2557 เดินทางเพื่อไปยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
 
วันที่ 1 ก.ย. 2557 เข้าร่วมประชุม  ณ ศาลากลางจังหวัดชัยภูมิ ที่ห้องประชุมศูนย์ดำรงธรรม โดยมีหน่วยงานภาครัฐเข้าร่วมประชุมด้วย ดังนี้ เลขานุการผู้อำนวยการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดชัยภูมิ (ผบ.กกล.รส.จว.ชย) หัวหน้าสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 (นครราชสีมา) เจ้าหน้าที่ศาลอุธรณ์ภาค 3 และเจ้าหน้าที่สถานีตำรวจภูธรชัยภูมิ แต่ไม่มีความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหา
 
วันที่ 10 ก.ย. 2557 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้มีหนังสือเชิญไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาร่วมประชุมเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา ที่ประชุมมีมติให้ชะลอการไล่รื้อชุมชนโคกยาว ในวันที่ 8 ก.ย. 2557 ออกไปก่อน
 
วันที่ 1 ต.ค.  2557 เจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ชย.4 (คอนสาร) นำแผ่นป้าย "ยุทธการทวงคืนผืนป่า ตามประกาศจังหวัดชัยภูมิ ลงวันที่ 21 ส.ค.57 เรื่องการป้องกันและลักลอบตัดไม้และบุกรุกพื้นที่ป่าชัยภูมิ พื้นที่โคกยาว เนื้อที่ 80 ไร่ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม”
 
วันที่ 2 ต.ค. 2557 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ส่งหนังสือด่วนที่สุด ที่ นร 0105.04 / 5542 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ อ้างถึงหนังสือสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ที่นร 0105.04 / 4927 ลงวันที่ 4 ก.ย. 2557 เรื่องการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเร่งด่วนของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) โดยสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้แจ้งว่าปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรในพื้นที่ดังกล่าวอยู่ระหว่างกระบวนการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ซึ่งจะได้มีการประชุมหารือร่วมกันระหว่างฝ่ายนโยบาย หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนของพีมูฟ ในวันที่ 7 ต.ค. 2557
 
วันที่  7 ต.ค. 2557 เข้าร่วมประชุมหารือเพื่อแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ณ ห้องประชุมอรรถไกวัลวที ชั้น 1 อาคารสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล กรณีชุมชนโคกยาว มติที่ประชุม มอบหมายให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีมีหนังสือประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแก้ไขปัญหา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎรต่อไป
 
วันที่ 8 ต.ค. 2557 นายอำเภอคอนสาร ได้ประชุมวางแผนขอทวงคืนผืนป่าสงวนแห่งชาติภูมิซำผักหนาม และในที่ประชุมมีมติให้ให้ชาวชุมชนโคกยาว และชุมชนบ่อแก้ว รื้อถอนเองภายใน 19 วัน  หากไม่ดำเนินตาม จะเข้ามาดำเนินการรื้อถอนเอง
 
วันที่ 24 ต.ค. 2557 เดินทางเข้าพบนายอำเภอคอนสาร (เจนเจตน์ เจนนาวิน) เพื่อยื่นหนังสือให้รับทราบขบวนการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2557 โดยมี ม.ล.ปนัดดา  ดิษกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อแจ้งให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ชะลอและยุติการดำเนินการใดๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตอันปกติสุขของประชาชน
 
วันที่ 13 พ.ย. 2557 นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อประชุมหารือ และติดตามการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเร่งด่วน ของสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ(สกน.) ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาชนในขปส.โดยในการประชุมหารือดังกล่าวหม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล ได้แจ้งว่ารัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะลงมาพบกับภาคประชาชนในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2557
 
วันที่ 17 พ.ย. 2557 พล.อ.ดาว์พงษ์  รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ประชุมร่วมกับสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) และเครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายการจัดการที่ดินและป่าไม้ ณ ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ในวาระการประชุมที่ 3.2 พิจารณาการทบทวนแผนแม่บทในการแก้ไขปัญหาการทำลาย ทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน และที่ประชุมมีมติทบทวนแผนแม่บทในการแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้
 
วันที่ 20 พ.ย. 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 216 / 2557 เพื่อเป็นกลไกในการกำกับเร่งรัดและติดตามการแก้ไขปัญหาโดยมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล) เป็นประธานกรรมการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและตัวแทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมร่วมเป็นคณะกรรมการ จำนวน 25 คน โดยคณะกรรมการชุดดังกล่าว มีบทบาทหน้าที่ ในการกำหนดนโยบาย แนวทาง มาตรการ และงบประมาณในการดำเนินการแก้ไขปัญหาตามข้อเสนอของพีมูฟ เพื่ออำนวยการเร่งรัดการดำเนินงาน และติดตามผลการดำเนินการของส่วนราชการ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานได้ตามความเหมาะสม ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย
 
วันที่ 23 มกราคม 2558 ประชุมคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ครั้งที่ 1/2558 ณ ห้องประชุมอรรถไกวัลวที ชั้น1 อาคารสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาลโดยผลการประชุมดังนี้
 
วาระที่ 3.1 กรอบแนวทางในการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ มติที่ประชุม : เห็นชอบกรอบแนวทางในการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ ดังนี้
 
1) การพิจารณาให้ความช่วยเหลือประชาชน ควรคำนึงถึงปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และข้อเท็จจริงเป็นที่ตั้ง 
 
2) แนวทางในการดำเนินการต้องไม่กระทบต่อวิถีชีวิตปกติของประชาชน ในระหว่างการแก้ไขปัญหาให้ยุติ ขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชะลอการดำเนินการใดๆ ที่อาจเป็นมูลเหตุ ให้เกิดความขัดแย้ง หรืออาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนในการดำเนินชีวิตตามปกติสุข และให้สามารถใช้ประโยชน์ ในที่ดินของรัฐตามวิถีปกติไปพลางก่อน จนกว่ากระบวนการพิจารณาของส่วนราชการหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลพื้นที่ตามแต่กรณีจะมีผลเป็นที่ยุติต่อไป
 
3) การดำเนินการหากติดขัดปัญหาเกี่ยวกับระเบียบ กฎหมาย ควรพิจารณาปรับปรุงแก้ไขระเบียบ กฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชนตามความเหมาะสม 
 
4) การดำเนินการแก้ไขปัญหาต้องสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล เช่น คำแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยเฉพาะเรื่องที่ดิน กล่าวคือ เร่งรัดการจัดสรรที่ดินให้แก่ ผู้ยากไร้ ในลักษณะสิทธิร่วมในการจัดการที่ดินของชุมชน ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล เป็นต้น
 
5) ขอให้คณะกรรมการฯ คณะอนุกรรมการฯ คณะทำงานฯ ที่จะแต่งตั้งขึ้น นำผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาไปประกอบการพิจารณาด้วย
 
วันที่ 6 ก.พ. 2558 เจ้าหน้าที่สนธิกองกำลังทหาร ตำรวจ ป่าไม้ จำนวนประมาณ 100 นาย เข้ามาปิดป้ายหนังสือประกาศคำสั่งที่ ทส.1621.4/2404 ลงวันที่ 26 ม.ค.2558 เรื่อง ให้ผู้ถือครองพื้นที่ออกจากป่าสงวนแห่งชาติ หรืองดเว้นการกระทำใดๆ หรือรื้อถอน หรือแก้ไข ทำประการอื่นใดแก่สิ่งที่เป็นอันตราย หรือสิ่งที่ทำให้เสื่อมสภาพในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และให้รื้อถอนสิ่งปลุกสร้าง พืชผลอาสินทั้งหมดออกจากป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม  .ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่มีคำสั่ง อนึ่ง ผู้เดือดร้อนมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่ง ภายใน 15  วัน นับแต่วันได้รับคำสั่ง
 
 
วันที่ 16 ก.พ. 2558 เดินทางไปยังศาลากลางจังหวัดชัยภูมิ(ศูนย์ดำรงธรรม) เพื่อขอเข้าพบและยื่นหนังสือต่อ ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ และ พล.ต.มารุต ลิ้มเจริญ (ผบ.กกล.รส.จว.ชย)โดยทาง เลขาฯ ผบ.กกล.รส.จว.ชย (พ.ต.สุรขัย ชอบยิ่ง)  เป็นตัวแทนรับหนังสือ พร้อมแจ้งว่าจะนำยื่นต่อผู้อำนวยการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดชัยภูมิ และผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ เพื่อให้รับทราบปัญหาผลกระทบความเดือดร้อนโดยเร็วที่สุด
 
นอกจากนี้ได้เดินทางไปถึงนครราชสีมา เพื่อขอเข้าพบและยื่นหนังสือต่อผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 โดยทางเลขาฯกองอำนวยการสำนักจัดการป่าไม้ที่ 8 เป็นตัวแทนรับหนังสือ
 
วันที่ 17 ก.พ. 2558 ประมาณ 09.30 น.เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์)  และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม  เพื่อให้ยกเลิกคำสั่งไล่รื้อชุมชนโคกยาว โดยมีข้อเสนอเพื่อพิจารณาดังนี้ 1.ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ) และผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้อง สั่งการมายังผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8  (นครราชสีมา) ทุเลาคำสั่งบังคับให้ชาวบ้านผู้เดือดร้อนออกจากพื้นที่โดยเร็วที่สุด 2. ให้พิจารณารับรองแผนงานโครงการจัดการที่ดินและทรัพยากรอย่างยั่งยืนโดยชุมชน กรณีชุมชนโคกยาว ตำบลทุ่งลุยลาย อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ
โดยสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นตัวแทนรับหนังสือ
 
จากนั้น เวลาประมาณ 11.30 น. เดินทางไปยังสำนักงานสหประชาชาติ (ยูเอ็น) โดย ยู คาโนะสุเอะ เจ้าหน้าที่สิทธิมนุษยชน  เป็นตัวแทนรับหนังสือ และได้ร่วมแลกเปลี่ยน พร้อมรับทราบปัญหา โดยแจ้งว่า ผู้แทนสำนักข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ทำหนังสือระบุถึงข้อกังวลกรณีขับไล่ชุมชนโคกยาว ไปยัง ผู้ว่าฯชัยภูมิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพย์ฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย  และอธิบดีองค์การระหว่างประเทศแล้ว ทั้งนี้ ยู คาโนะสุเอะ แจ้งว่าจะมีการประชุมร่วมกันกับนานาชาติ เพื่อให้ต่างประเทศได้เกิดความเข้าใจ และรับรู้ เพื่อให้มีการแก้ไขกรณีปัญหาที่ดินทำกินอย่างถูกต้อง และเป็นธรรม
 
ประมาณ 13.00 น. เดินทางไปยังศูนย์ราชการใหม่ ถนนแจ้งวัฒนะ เพื่อเข้ายื่นหนังสือ นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ (คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กสม.) โดยได้รับความคืบหน้าว่า ทางทีมงาน กสม.จะลงมาตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ชุมชนโคกยาว ในวันที่ 24 ก.พ.58
 
และเวลาประมาณ 14.30 น. เดินทางไปยื่นหนังสือต่อยังกระทรวงทรัพยากรฯ โดย เกรียงไกร นวนมะณี สร.ทส.(เลขาฯสำนักงานรัฐมนตรีทรัพยากรธรรมชาติฯ) เป็นตัวแทนรับหนังสือ แจ้งว่าจะนำไปยื่นต่อท่าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพย์ฯ และมอบหมายให้ปลัดกระทรวงฯ มีหนังสือไปยังสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 (นครราชสิมา) เป็นการต่อไป พร้อมทั้งยืนยันว่า หากเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ยังเข้าไปกระทำการข่มขู่ คุกคาม หรือเข้าไปปิดป้ายคำสั่งไล่รื้ออีก สามารถให้นำเลขลับของหนังสือที่ได้ประทับการยื่นไปแล้วให้เจ้าหน้าที่ดู เพื่อยืนยันว่าผู้เดือดร้อนได้มายื่นหนังสือ และขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการแก้ไขปัญหาอยู่
 
วันที่ 24 ก.พ. 2558 ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์  รองประธานอนุกรรมการด้านที่ดินและป่า(คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กสม.) ลงพื้นที่ชุมชนโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ เพื่อรับฟังและตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมร่วมแลกเปลี่ยน หาแนวทางสู่การแก้ไขปัญหาให้เกิดความเป็นธรรม
 
วันที่ 19 ส.ค. 2558 ตัวแทนสำนักงานปลัดนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายอำเภอคอนสาร และหัวหน้าหน่วยป้องกันรักษาป่า (ชย.4 คอนสาร) รวมทั้งเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ทหาร ตำรวจ ลงพื้นที่ชุมชนโคกยาว เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง เตรียมยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาล ร่วมหาแนวทางแก้ไขปัญหา ตามที่ภาคประชาชนร่วมร้องเรียนจากผลกระทบคำสั่ง คสช.ที่ 64/57 และแผนแม่บทป่าไม้ฯ
 
เหตุการณ์ล่าสุด เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2559 เจ้าหน้าที่ทหาร ป่าไม้ สนธิกำลังกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำรถหกล้อ รถปิกอัพ รวม 8 คัน ขนเจ้าหน้าที่เข้ามาจำนวนกว่า 40 นาย วิ่งฝ่าเรียงแถวเป็นทางยาวเข้ามาในพื้นที่ชุมชนโคกยาว ขณะเดียวกัน เจนวิทย์ คำนึงผล หัวหน้าหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ชย.4 (คอนสาร) ลดกระจกลงมาทักทาย เด่น คำแหล้ ว่า จะลงไปตรวจดูพื้นที่ข้างล่างเพื่อนำใบปิดประกาศของเจ้าพนักงานบังคับคดีผู้ที่บุกรุกป่ารายอื่น ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับกรณีของสมาชิกชุมชนโคกยาวบนพื้นที่โฉนดชุมชน 830 ไร่ แต่อย่างใด
 
ปรากฏว่า เมื่อชาวบ้านเข้าไปดูกลับพบแผ่นป้ายโปสเตอร์ขนาดใหญ่เขียนว่า “ยุทธการพลิกฟื้นผืนป่า แผนปฏิบัติการบังคับใช้กฏหมายต่อพื้นที่บุกรุกปลูกยางพาราในเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม จังหวัดชัยภูมิ” และมีแผ่นกระดาษเย็บติดกับแผ่นป้ายโปสเตอร์ ซึ่งเป็นหมายบังคับคดีลงวันที่ 10 มีนาคม 2559 ให้สมาชิกชุมชนโคกยาว จำนวน 1 ราย โดยระบุว่า
 
สำนักงานบังคับคดีจังหวัดชัยภูมิ สาขาภูเขียว กรมบังคับคดี ขอประกาศให้ทราบทั่วกันว่า ศาลจังหวัดภูเขียว ได้มีหมายบังคับคดีขับไล่จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทนและบริวารออกจากพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม ป่าโคกยาว หมู่ที่ 6 ตำบลทุ่งลุยลาย อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ
 
จึงประกาศให้ผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของจำเลย ยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาล ภายในกำหนดเวลา 8 วัน นับแต่วันปิดประกาศ มิฉะนั้นจะถือว่าเป็นบริวารของจำเลย และเจ้าพนักงานจะดำเนินการบังคับคดีตามกฎหมายต่อไป อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านมีความเห็นร่วมกันว่าไม่ไปแสดงตน เพราะอย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่มักหาเหตุมาอ้างให้ชุมชนออกจากพื้นที่โดยเสมอ ครั้งนี้อาจเพียงนำหมายบังคดีให้ออกเพียงรายเดียว วันต่อมาอาจออกหมายเพิ่มอีกทีละคน
 
16 เม.ย. 2559 วันที่ เด่น คำแหล้ อายุ 65 ปี แกนนำนักต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินทำกิน กลับสูญหายไปในราวป่า ในช่วงระหว่างการต่อสู้เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาปมพิพาทในพื้นที่ที่กำลังเผชิญกับสถานการณ์การทวงคืนผืนป่าฯ อย่างเข้มข้น อะไรคือสาเหตุของการถูกทำให้สูญหาย
 
กว่า 18 วันแล้ว ที่ยังไม่พบตัวแต่ย่างใด นอกจากปมปริศนาที่ทิ้งไว้ให้สังคม หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสมาชิกเครือข่ายฯ ต้องแกะรอย ควานหาผู้ที่มีส่วนได้เสีย เพื่อมิให้แกนนำนักต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินคนสำคัญของสามัญชนอันทรงคุณค่าหายตัวไปอย่างสูญเปล่า
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แนะคนไทยช่วยกันมีลูกเยอะๆ เอามาเป็นกำลังสำรอง

$
0
0

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธานวันกำลังสำรอง โดยแสดงความมั่นใจว่าเรียกใช้กำลังสำรองได้ 70% แต่ต้องได้รับความร่วมมือเอกชนด้วย ในอนาคตจะต้องพัฒนาศักยภาพกำลังสำรองให้พร้อมปฏิบัติการ และขอให้คนไทยช่วยกันมีลูกเยอะๆ จะได้เอามาเป็นกำลังสำรอง

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์เนื่องในวันกำลังสำรอง เมื่อ 4 พ.ค. 2559 (ที่มาของภาพ: จากคลิปมติชนออนไลน์)

4 พ.ค. 2559 สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยรายงานว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีวันกำลังสำรอง ประจำปี 2559 ที่หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน โดยมี พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก พล.ท. วีรชัย อินทุโศภน ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน และนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ให้การต้อนรับ

โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เป็นประธานในพิธีวางพานพุ่มถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 6 และร่วมชมการสาธิตขีดความสามารถ จากองค์กรกำลังสำรองกลุ่มต่าง ๆ จำนวนกว่า 700 นาย การแสดงกำลังของกำลังพลสำรอง ซึ่งเป็นพลเรือนที่เข้ารับการเรียกพลเพื่อฝึกวิชาทหาร ณ กองพลทหารราบที่ 11 จังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวนกว่า 688 นาย โดยสาธิตการแสดงขีดความสามารถของหน่วยกำลังทดแทนระดับกองพันทหารราบ รวมกำลังสำรองทุกกลุ่มที่ร่วมแสดงพลังทั้งสิ้น 1,389 นาย ถือเป็นการแสดงพลังกำลังสำรองที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา นอกจากนี้ ยังมีพิธีกล่าวคำปฏิญาณตนของกำลังพลสำรอง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยังได้พบปะกับกำลังพลสำรอง พร้อมทั้งร่วมชมนิทรรศการที่จัดขึ้นอีกด้วย

ในรายงาน สำนักข่าวไทยพล.อ.ประวิตร ให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า มั่นใจว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ของกำลังสำรองที่มีอยู่สามารถเรียกใช้งานได้ แต่ต้องได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนด้วย เพราะในอนาคตต้องมีการปฏิรูปกองทัพและพัฒนาศักยภาพของกำลังสำรองเพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้ในทุกภารกิจ ให้เทียบเท่ากับประเทศที่เจริญแล้ว

ในคลิปของ มติชนออนไลน์ มีผู้สื่อข่าวถามว่า "ท่านครับเรามียังมีจำนวนเพียงพอไหมครับกำลังสำรองของเรา" โดย พล.อ.ประวิตรตอบว่า "มีเพียงพอ ประชาชนไทยเยอะแยะ เราอยู่ในห้วงนั้นนะครับคนไทย ก็มีลูกเยอะๆ สิช่วยกันนะ จะได้เอามาเป็นกำลังสำรอง"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สัมภาษณ์ ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ 'บุหรี่' ที่หายไปของ 'จิตร ภูมิศักดิ์'

$
0
0


บทสัมภาษณ์ในวาระครบรอบ 50 ปี การเสียชีวิต จิตร ภูมิศักดิ์ ประชาไทพูดคุยกับ รศ.ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกี่ยวกับการพยายามแก้ไขภาพบุหรี่ออกภาพโปสเตอร์จิตร ผู้เขียนบทความ ‘จิตร ภูมิศักดิ์ในความทรงจำของใคร อย่างไร’ บทความที่เสนอมุมมองเกี่ยวการลบภาพบุหรี่ออกจากภาพของจิตร ภูมิศักดิ์ ที่นอกจากสะท้อนกระแสสังคมที่มีอิทธิพลกับผู้คนในขณะนั้นแล้ว ยังอธิบายได้ถึงวิธีการเลือกที่จะจดจำวีรบุรุษในแต่ละสังคมอีกด้วย


ประชาไท: อะไรเป็นกระบวนที่สร้าง จิตร ภูมิศักดิ์ ให้เป็นวีรบุรุษในขบวนการนักศึกษา
ชูศักดิ์: ผมคิดว่ามันเริ่มจากงานเขียนก่อนครับ ที่จริงจิตรก็เป็นที่รับรู้ของคนจำนวนหนึ่งก่อนหน้านั้นแล้ว ตั้งแต่ก่อน 14 ตุลา เช่น งานศิลปะเพื่อชีวิต ผมก็เคยได้อ่านก่อน 14 ตุลาแล้ว มันก็มีคนอยู่ส่วนหนึ่งที่รู้จักงานของเขา ในหมู่นักศึกษา มีคนจำนวนหนึ่งที่พอจะรู้จักชื่อจิตร พอหลัง 14 ตุลาที่บรรยากาศทางการเมืองมันเปิดกว้าง มีประชาธิปไตยมากเป็นพิเศษ มันก็ทำให้งานของจิตรเป็นที่รับรู้มากขึ้น โดยเฉพาะการเอาโฉมหน้าศักดินาไทยมาพิมพ์ใหม่ ซึ่งเป็นงานชิ้นสำคัญที่มันอธิบายอดีตต่างไปจากที่เราเคยรับรู้หรือเข้าใจกัน มันก็ทำให้จิตรเป็นนักคิดที่มีบทบาทสำคัญต่อขบวนการนักศึกษาประชาชนในช่วงนั้น

มีข้อเสนอของอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ที่เสนอไว้ว่า พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยมีบทบาทอยู่พอสมควรที่สร้างให้จิตรเป็นฮีโร่ของนักศึกษาในยุคนั้น สหายจัดตั้งที่อยู่ในเมืองมีการผลักดันในการเชิดชูจิตรหรือมีการทยอยเอาผลงานของจิตรมาพิมพ์ใหม่ ผ่านสำนักพิมพ์ที่พรรคคอมมิวนิสต์มีสายสัมพันธ์ด้วย มันก็ทำให้งานของจิตรมีการเผยแพร่มากขึ้น จนงานของจิตรเป็นที่รู้จักกันเยอะ งานหลักๆ ที่นักศึกษามักพูดถึงก็คือ ศิลปะเพื่อชีวิตกับโฉมหน้าศักดินาไทย
 

ทำไมทางพรรคคอมมิวนิสต์ถึงเลือกที่จะเชิดชูจิตร ทั้งที่มีนักคิดฝ่ายซ้ายที่มีชื่อเสียงอยู่หลายคน เช่น นายผี อัศนี พลจันทร์ หรือเปลื้อง วรรณศรี
นักคิดคนอื่นก็เป็นที่รับรู้อยู่บ้าง อย่างงานของนายผีหลายชิ้นก็ได้รับการตีพิมพ์ออกมา งานข้อคิดจากวรรณคดีที่ชำแหละวรรณคดีโบราณ โดยเฉพาะลิลิตพระลอก็มีการพูดถึงอยู่บ้าง ผมว่ามันไม่ได้มีจิตรคนเดียวที่มีการหันไปรื้อฟื้นงานของฝ่ายซ้ายในอดีตมาเผยแพร่ใหม่ งานของเปลื้อง วรรณศรีหรืองานของศรีบูรพาก็เอามาพิมพ์ใหม่ ในบรรดาอดีตฝ่ายซ้ายในยุคนั้นจิตรอาจจะเด่นที่สุด

อันนี้พูดยากว่าทำไม อาจจะเป็นเพราะว่าจิตรหนุ่มที่สุด มันอาจจะมีความรู้สึกที่นักศึกษาสามารถเชื่อมโยงไปถึงตัวเขาเองมากกว่า เป็นไปได้อีกว่าการที่เขาตายในหน้าที่นักปฏิวัติที่ถูกอาสาสมัครรักษาดินแดนฆ่า มันไปพ้องกับเรื่องเช กัววารา ซึ่งก็เป็นหนึ่งในฮีโร่ของฝ่ายซ้ายในยุคนั้น อาจารย์สมศักดิ์ก็เสนอว่าจริงๆ แล้วพรรคคอมมิวนิสต์ก็มีบทบาทอยู่ในระดับหนึ่งที่ผลักดันให้เช กัววารา กลายเป็นฮีโร่ในสังคมไทย

ถ้าจะถามว่าทำไมขบวนนักศึกษาต้องมีฮีโร่ อาจารย์สมศักดิ์เสนอไว้ว่ามันเป็นปรากฏการณ์ที่พรรคคอมมิวนิสต์มองว่านักศึกษาปัญญาชนในเมืองยังติดลักษณะที่ชื่นชอบฮีโร่อยู่ ก็เลยต้องหาฮีโร่ฝ่ายซ้ายขึ้นมาสักคนสองคนที่จะเป็นจุดเชื่อมโยงให้คนเหล่านี้มาสนใจแนวคิดของสังคมนิยม นั่นก็เป็นคำอธิบายชุดหนึ่งได้

ในส่วนที่ผมเสริมหรือมองเพิ่มก็คือว่า ปรากฏการณ์นิยมฮีโร่ในยุคนั้นมันเป็นส่วนหนึ่งของกระแสวัฒนธรรมแบบที่เรียกว่าสังคมแบบมหรสพ มันเป็นกระแสในวัฒนธรรมโดยรวมที่เริ่มจะให้ความสำคัญกับสิ่งที่ทุกวันนี้เราเรียกว่าเซเล็บ ถ้าพูดแบบภาษาสมัยนี้ ในยุค 60 ถึง 70 ของบ้านเรา มันมีนิตยสารหลายฉบับที่เอานักร้องนักดนตรีหรือดารามาเผยแพร่เป็นรูปโปสเตอร์ เหมือนในหนังสือสตาร์พิคส์ ในแง่ของวัฒนธรรมมวลชน มันมีกระแสที่จะหันมาเชิดชูยกย่องคนดังอยู่ ถ้าเรามองในกรอบอย่างนี้ จิตร ภูมิศักดิ์ หรือเช กัววาราก็เป็นส่วนหนึ่งของกระแสดังกล่าว



ภาพต้นฉบับที่จิตรคาบบุหรี่

การลบบุหรี่ออกจากภาพของจิตรมีความเป็นมาอย่างไร
จำได้ว่ามันมีกลุ่มนักศึกษาคิดที่จะพิมพ์ภาพโปสเตอร์จิตร ภูมิศักดิ์ โดยภาพที่ผู้คนพอจะคุ้นเคยกันอยู่บ้างก็คือภาพที่จิตรคาบบุหรี่ ซึ่งตอนนั้นไม่มีคนได้เห็นภาพถ่ายจริงหรอก ภาพดังกล่าวเป็นเพียงภาพที่สเกตช์มาจากภาพจริง ซึ่งตอนนั้นผมก็ได้เห็นแล้ว ต่อมาภาพดังกล่าวมีการพิมพ์ออกมาขาย ซึ่งก็มาพร้อมกระแสที่มีภาพเช กัววาราที่มีออกมาก่อน หลังจากที่ภาพนี้ออกมาขายได้ไม่นานก็มีการพูดกันในขบวนการนักศึกษาว่ามันไม่เหมาะหรือเปล่าที่เป็นรูปจิตรสูบบุหรี่ อีกทั้งมีเงื่อนไขพิเศษที่ว่าขบวนการนักศึกษาในตอนนั้นเกิดการลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวเรียกร้องวิพากษ์ชีวทัศน์หรือแบบแผนวิธีปฏิบัติในชีวิตว่านักปฏิวัติ นักสังคมนิยม ฝ่ายซ้ายหรือนักศึกษาควรจะมีวิถีชีวิตที่ดีงามด้วย เรื่องการสูบบุหรี่ กินเหล้า เที่ยวซ่องพวกนี้ก็จะถูกวิจารณ์ กระแสอันนี้มันก็มีผลให้คนเขาพูดกันว่าโปสเตอร์จิตรรูปนี้มันไม่เหมาะ ผมเลยเข้าใจว่าโปสเตอร์นี้มันเลยไม่เป็นที่แพร่หลายเท่าไหร่ ผมก็ไม่ทราบว่าถึงขั้นเก็บไม่ขายเลยหรือเปล่า ผมจำได้ว่ามันเคยขายอยู่หน้าหอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังจากนั้นมันก็หายไป แต่พอหลัง 6 ตุลาก็มีการเอาภาพดังกล่าวมาพิมพ์ใหม่ และก็ยังเป็นรูปเดียวกับโปสเตอร์คาบบุหรี่ แต่ครั้งนี้บุหรี่มันถูกแต่งถูกตัดออกไปแล้ว ก็กลายเป็นรูปจิตรไม่สูบบุหรี่ เป็นที่มาของบทความผมชื่อว่า จิตร ภูมิศักดิ์ในความทรงจำของใคร อย่างไร
 


ภาพโปสเตอร์ที่เป็นภาพสเก็ตช์ จากภาพถ่ายต้นฉบับ

 

มันตลกตรงที่ภาพดังกล่าวเกิดจากการแอ็คท่าถ่ายภาพของจิตร เหมือนจะทำให้ดูเหมือนเป็นผู้ชายแมนๆ ซะหน่อย เลยเอาเหล้ามาถือ เอาบุหรี่มาคาบไว้
 

 

การลบบุหรี่ออกจากปากของจิตรสะท้อนให้เห็นอะไรในขบวนนักศึกษาขณะนั้น
กรณีนี้มันซับซ้อน ถ้าพูดให้ง่าย คนที่อยู่ในขบวนการนักศึกษาเขาอาจมองว่าฮีโร่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในทุกด้าน ทำให้เขารู้สึกว่าถ้าจิตรสูบหรี่จะเป็นแบบอย่างที่ไม่ดี เหมือนกับสมัยนี้ดาราต้องไม่เสพยาบ้า ก็กลายเป็นเรื่องแบบนั้นไป มันก็เป็นปัญหาในเรื่องวิธีการสร้างฮีโร่ แต่จริงๆ แล้วผมคิดว่ามันก็ไม่ได้ง่ายและไม่ได้ตรงไปตรงมาขนาดนั้น ที่บอกว่าฮีโร่ต้องดีทุกด้านมันก็...จริงๆ ก็ไม่ใช่หรอก มันหมายถึงว่าในสังคมฮีโร่ต้องเป็นแบบอย่าง แต่มันไม่ได้หมายความว่าต้องดีทุกด้าน เผอิญกรณีสูบบุหรี่ในยุคนั้นมันไปสอดคล้องกับการรณรงค์เรื่องชีวทัศน์เยาวชนหรือนักศึกษา ทำให้ประเด็นเรื่องบุหรี่มันเซนสิทีฟขึ้นมาทันที อย่างที่บอก ฮีโร่ไม่จำเป็นจะต้องดีในทุกด้าน แต่ด้านที่จะต้องดีหรือไม่พึงกระทำในแต่ละช่วงแต่ละยุคมันก็ไม่เหมือนกัน ซึ่งจริงๆ ตอนนั้นการสูบบุหรี่ไม่ใช่เรื่องไม่ดีหรือเสียหายอะไรในสังคมหรอก ไม่เหมือนสมัยนี้ที่มีคนมารณรงค์ให้เลิกสูบบุหรี่ แต่โดยเงื่อนไขพิเศษในขณะนั้นในขบวนการมีการรณรงค์เรื่องชีวทัศน์อย่างที่ว่า ภาพถ่ายดังกล่าวไม่ชัดเจนว่าเป็นช่วงที่จิตรเรียนอยู่หรือไม่ จากที่มีการสืบค้นพบว่าเป็นภาพที่จิตรไปเที่ยวอยุธยากับเพื่อน มันตลกตรงที่ภาพดังกล่าวเกิดจากการแอ็คท่าถ่ายภาพของจิตร เหมือนจะทำให้ดูเหมือนเป็นผู้ชายแมนๆ ซะหน่อย เลยเอาเหล้ามาถือ เอาบุหรี่มาคาบไว้

ในหมู่นักศึกษาในขณะนั้นมันก็มีวัฒนธรรมสองอย่างที่ปนๆ กันอยู่คือวัฒนธรรมแบบพระเอก แบบหนังฮอลลิวูด มันก็มาตั้งแต่ก่อน 14 ตุลา อิทธิพลของวัฒนธรรมแบบอเมริกายุค 60 พวกฮิปปี้อะไรแบบนี้ มันก็มีบทบาทกับขบวนการนักศึกษาพอสมควร ภาพของคนที่ดูเหมือนกับว่ามันขบถกับสังคม มันก็ดูน่าสนใจ เมื่อมันมาผสมกับขบวนการหรืออิทธิพลของฝ่ายซ้าย ซึ่งก็จะมีวัฒนธรรมหรือวิธีคิดอีกชุดหนึ่ง ที่มองความเป็นวีรบุรุษที่ต้องเข้มงวดต่อตัวเอง มีแบบแผนชีวิตที่บริสุทธิ์ค่อนข้างมาก มันก็เลยเหมือนกับว่ามาปะทะกันอยู่ ภาพจิตรที่ต้องเปลี่ยนจากสูบบุหรี่มาเป็นไม่สูบบุหรี่ มันสะท้อนให้เราเห็นถึงการปะทะกันของวัฒนธรรมสองกระแสที่อยู่ในขบวนการนักศึกษา
 

ทำไมถึงมีการหันมาเชิดชูจิตรแทนเช กัววารา
เชเดิมก็เป็นฮีโร่ที่ขบวนการนักศึกษายกย่องเชิดชูอยู่แล้ว มีหนังสือชีวประวัติของเชมาก่อน 14 ตุลา จากที่อาจารย์สมศักดิ์ ได้เสนอไว้ว่า พรรคคอมมิวนิสต์มองว่าถึงแม้เชจะเป็นนักปฏิวัติ แต่เชมีลักษณะเป็นนักปฏิวัติแบบฉายเดี่ยว คือร่วมปฏิวัติเสร็จก็ไม่ได้อยู่คิวบาต่อ ไม่สร้างขบวนการปฏิวัติของตัวเองขึ้นมา ถ้ามองในแง่พรรคคอมิวนิสต์ที่เคร่งคัดในระเบียบวินัย อย่างเรื่องการนำลักษณะที่รวมหมู่ เชก็อาจไม่ใช่ฮีโร่ที่พรรคคอมมิวนิสต์พึงประสงค์เท่าไหร่ มันมีลักษณะแบบวีรชนเอกชน ก็เลยหันมาเชิดชูจิตรแทน


ในสังคมอื่นๆ มีการเลือกจำอะไรบางอย่างและไม่จำอะไรบางอย่างของวีรบุรุษ เรื่องราวของจิตรก็มีลักษณะนี้ใช่ไหม
อันนี้มันเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว ทุกที่ก็เป็นแบบนี้ทั้งนั้น กระบวนการการสร้างฮีโร่เป็นกระบวนการของการเลือก ตั้งแต่จะจำใคร ไม่จำใคร มีกระบวนการเลือกสรรว่าใครควรจะเป็นฮีโร่ ในสังคมไทยคุณก็จะเห็นอยู่ว่ามีใครบ้างที่เราจดจำ บุคคลประเภทไหนที่เราจะจำหรือไม่จำ มันก็เหมือนประวัติศาสตร์ ซึ่งมันจะบอกเราได้เยอะเกี่ยวกับสังคมนั้นว่าสังคมหนึ่งเลือกที่จะจำคนแบบหนึ่ง อีกสังคมเลือกที่จะจำคนแบบหนึ่ง แต่การจะจำ เราก็ไม่เลือกที่จะจำทั้งหมดของเขา จะเลือกว่าจะจำอะไร ไม่จำอะไร ถ้าจะพูดอย่างกว้างๆ เช่นสังคมอเมริกันที่พยายามจะเชิดชูความเป็นปัจเจกชน เชิดชูอุดมการณ์ประชาธิปไตย ความเป็นอิสระ เขาก็เลือกจะเชิดชูบุคคลอยู่จำนวนหนึ่งอย่าง เช่น กลุ่ม Founding Father ที่เข้าร่วมการปฏิวัติในการปลดปล่อยอเมริกาออกจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ก็จะเลือกจำคนแบบหนึ่งที่เน้นบุคลิกหรือภาพของคนที่เป็นอิสรชนต่อต้านอาณานิคมอังกฤษ

หรือกรณีลินคอล์นที่ถูกเชิดชูในการเลิกทาส ทั้งที่เราก็รู้ว่าจริงๆ แล้วสงครามกลางเมืองไม่ได้มีแค่เรื่องการเลิกทาส มันมีปัญหาอื่นด้วย แต่เราก็จำเขาในฐานะที่ผลักดันให้เกิดการล้มระบบทาสในอเมริกา ในเมืองไทยเราก็เห็นว่ามีการเลือกจำวีรบุรุษในอดีตของเรา เราจะเลือกจำวีรบุรุษที่เน้นการกู้ชาติหรือการปกป้องรักษาชาติเอาไว้ มีคนตั้งคำถามว่าหมกมุ่นกับการกู้ชาติปกป้องเอกราชเท่านั้นหรือ มันมีเรื่องอื่นตั้งมากมายที่คนในอดีตก็ทำ แค่เราเลือกไม่จำวีรกรรมเหล่านั้น เช่น เวลาเราเลือกจำพระมหากษัตริย์ที่สำคัญๆ จะพบว่ากษัตริย์ที่เรามักจดจำจะต้องผูกพันกับการกู้ชาติหรือเอกราชของชาติ แต่กษัตริย์องค์อื่นที่เขามีบทบาทด้านอื่นๆ เราก็มักจะไม่จำ ก็แสดงว่าวีรบุรุษจะเป็นตัวแทนของอุดมการณ์บางอย่างในสังคมนั้นๆ

 

เมื่อสังคมได้เรียนรู้หรือเมื่ออุดมการณ์หรือค่านิยมใหม่ๆ เข้ามาในสังคม ฮีโร่ในอดีตซึ่งเคยรับใช้อุดมการณ์บางอุดมการณ์ก็ถูกตรวจสอบ ก็เหมือนกับจิตร ภูมิศักดิ์เจอกระบวนการที่ถูกจำในลักษณะต่างๆ กันมาหลายยุคหลายสมัยที่ไม่เหมือนกัน



แล้วที่ประเทศไทยหมกมุ่นอยู่กับเรื่องการเสียดินแดน มันเป็นความพยายามจะปิด ปมเรื่องการเสียเอกราชของเราหรือเปล่า
เรื่องนี้น่าจะเป็นเหตุผลเล็กๆ ไม่ใช่เหตุผลใหญ่ แต่ผมคิดว่ามันมีเป้าหมายหรือมีวาระที่ใหญ่กว่านั้น พอคุณให้ความสำคัญกับการกอบกู้เอกราช ถ้าเราเน้นเรื่องนี้มากแสดงว่าเราต้องมีกองทหารที่ใหญ่โตและแข็งแรงจำนวนมาก มันไม่ใช่แค่เรื่องปมด้อย มันทำให้สถาบันบางสถาบันกลายเป็นสถาบันที่ใหญ่มากในสังคมไทย ไม่ใช่แค่ปมเรื่องการเสียเอกราช แต่มันทำให้เรารู้สึกว่าเราต้องมีทหารที่เป็นรั้วของชาติ เราก็ต้องเพิ่มจำนวนทหารเยอะๆ ที่มีคนเริ่มพูดว่าทำไมต้องเกณฑ์ทหาร คนก็บอกว่าต้องเกณฑ์ทหารไว้ปกป้องชาติไง แต่ถ้าเราไม่รู้สึกว่าชาติเราจะล่มสลาย เราก็จะเริ่มมีความรู้สึกว่าไม่มีความจำเป็นต้องมีกำลังทหารมากขนาดนี้ ประเทศไทยมีความคิดแบบอิสราเอลที่คิดว่าตัวเองล้อมรอบไปด้วยศัตรู
 

มีการพยายามสร้างวีรบุรุษทางเลือกใหม่ๆ ขึ้นมา สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงการต่อสู้ของอุดมการณ์ชุดต่างๆ ใช่ไหม
มันก็เป็นธรรมดา เวลาเราพูดถึงฮีโร่มันก็มีในระดับปัจเจก เหมือนเวลาไปถามคนถึงดาราในดวงใจหรือนักเขียนในดวงใจ เขาก็เป็นฮีโร่ของแต่ละบุคคล แต่ถ้าจะพูดถึงบุคคลสำคัญที่เป็นความทรงจำร่วมของคนในชาติ มันก็เข้าไปเกี่ยวข้องกับกลไกจำนวนมากในสังคมว่าใครจะเป็นตัวแทนหรือความทรงจำร่วมของสังคม ใครที่ถูกเชิดชูขึ้นมา มันก็สะท้อนสังคมนั้นว่ายึดค่านิยมอะไรเป็นค่านิยมหลัก มันก็จะมีกลุ่มทางเลือกที่จะเสนอวีรบุรุษทางเลือกเพื่อจะไปแข่งกับค่านิยมหรืออุดมการณ์หลักของสังคม อย่างที่คุณยกตัวอย่างลุงนวมทอง ไพรวัลย์ แสดงว่าประชาธิปไตยของสามัญชนไม่ได้ถูกพูดถึงใช่ไหม อย่างกรณีคุณสืบ นาคะเสถียร ที่กลายเป็นฮีโรของนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไป ทั้งที่คนจำนวนมากที่ทำเรื่องสิ่งแวดล้อมไม่จำเป็นต้องฆ่าตัวตายเหมือนคุณสืบก็ได้ ประเด็นคุณสืบก็น่าสนใจทั้งที่การตายของเขาก็อธิบายได้ลำบากเหมือนกันว่าทำไมต้องฆ่าตัวตาย แต่ก็กลายเป็นเรื่องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มันก็มีการแข่งกันไป

นี่ก็แสดงว่าฮีโร่มันไม่อมตะ มันก็ผ่านกระบวนการแข่งขันกันไปตลอด เพราะเมื่อสังคมพัฒนาและเรียนรู้มากขึ้น มันก็มีการมาทบทวนฮีโรเก่าเสมอ อย่างนักศึกษาหลายมหาวิทยาลัยในอังกฤษก็มีการกลับไปทบทวนฮีโร่ของมหาวิทยาลัย บางแห่งถึงขั้นไปทุบรูปปั้นทิ้งหรือเปลี่ยนชื่อตึกไปเลย เมื่อสังคมได้เรียนรู้หรือเมื่ออุดมการณ์หรือค่านิยมใหม่ๆ เข้ามาในสังคม ฮีโร่ในอดีตซึ่งเคยรับใช้อุดมการณ์บางอุดมการณ์ก็ถูกตรวจสอบ ก็เหมือนกับจิตร ภูมิศักดิ์เจอกระบวนการที่ถูกจำในลักษณะต่างๆ กันมาหลายยุคหลายสมัยที่ไม่เหมือนกัน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทหารชุดจับกุม 'บัณฑิต อานียา' คดี 112 จับกุมโดยไม่แน่ใจว่าพูดหมิ่นหรือไม่

$
0
0

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนแจ้งข่าวว่าเมื่อวันที่ 4 พ.ค. ที่ผ่านมาศาลทหารกรุงเทพนัดสืบพยานโจทก์ นายทหารชุดจับกุม 2 นาย คดีที่สมอลล์ บัณฑิต อาร์ณีญาญ์ (ชื่อเดิมบัณฑิต อานียา) นักเขียนอิสระ ถูกฟ้องเป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ จากการแสดงความเห็นในวงเสวนาของกลุ่มนวัตกรรมไทย
 
เวลา 09.45 น. องค์คณะตุลาการประกอบด้วย พ.อ.นิรันต์ กำศร, พ.อ.อัมรินทร์ บุณยะวิโรจน์, และ พ.อ.โฆษนันทน์ สุทัศน์ ณ อยุธยา เริ่มพิจารณาคดี โดยอัยการศาลทหารเบิกพยานปาก จ.ส.อ.กายสิทธิ์ เจริญไพบูลย์ ผู้บังคับหมู่ปืนเล็ก  สังกัดกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ (ร.1 พัน.2 รอ.) นายทหารชุดจับกุม ขึ้นให้การต่อศาล
 
จ.ส.อ.กายสิทธิ์ ให้การว่า เขามีหน้าที่ดูแลเหตุสุขาภิบาลภายในหมู่ และปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ก่อนเกิดเหตุวันที่ 26 พ.ย. 2557 จ.ส.อ.กายสิทธิ์ปฏิบัติหน้าที่ที่หน่วยตามปกติ ก่อนได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้มาร่วมประชุมกับชุดสืบสวนของ สน.สุทธิสาร ร่วมกับ ส.ท.พิชาญ ที่ประชุมได้มอบหมายให้ จ.ส.อ.กายสิทธิ์ร่วมสังเกตการณ์ ส่วน ส.ท.พิชาญได้รับมอบหมายให้บันทึกวิดีโองานเสวนา ที่จัดโดยนายวรัญชัย โชคชนะ มีลักษณะเป็นงานเสวนาทางการเมือง
 
หลังจากประชุมเสร็จ จ.ส.อ.กายสิทธิ์ เดินทางไปยังที่เกิดเหตุ เวลาประมาณ 12.00 น. ผู้เข้าร่วมเสวนาประมาณ 15 คนทยอยเข้าห้องประชุมเวลาประมาณ 13.00 น. พยานได้เข้าห้องประชุมตามนักข่าวไป ในวงเสวนาพูดคุยเรื่องการเมือง การเลือกตั้ง ส.ว. ส.ส. เหตุการณ์บ้านเมืองขณะนั้น โดยนายวรัญชัยเป็นผู้กำหนดประเด็น ผู้เข้าร่วมเสวนาทราบประเด็นจากเอกสารที่วางไว้ และที่นายวรัญชัยแจ้งให้ทราบก่อนเริ่มเสวนา
 
จ.ส.อ.กายสิทธิ์ ให้การอีกว่า ประมาณ 13.30 น. นายวรัญชัยเปิดให้ผู้ร่วมเสวนาถามคำถาม พอมาถึงสมอลล์ บัณฑิต อาร์ณีญาญ์ได้พูดตามที่บันทึกไว้ในวิดีโอที่ ส.ท.พิชาญ และตำรวจ สน.สุทธิสาร บันทึกไว้ในมีลักษณะพาดพิงถึงระบอบพระมหากษัตริย์ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับหัวข้อที่เสวนาในวันนั้น และไม่เกี่ยวกับที่บุคคลอื่นได้แสดงความคิดเห็นมาก่อนหน้า
 
พยานให้การต่อไปว่า  หลังจากสมอลล์ บัณฑิต อาร์ณีญาญ์พูดถ้อยคำดังกล่าว ผู้เข้าร่วมเสวนาบางคนห้ามไม่ให้พูดต่อ ขณะที่บางคนเดินออกนอกห้องไป จ.ส.อ.กายสิทธิ์จึงปรึกษากับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์หรือไม่ ซึ่งพยานเห็นว่าข้อความยังไม่ชัดเจน แต่น่าจะเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ จึงนำตัวสมอลล์ บัณฑิต อาร์ณีญาญ์ไป สน.สุทธิสาร
 
ต่อมา อัยการได้นำพยานปาก ส.ท.พิชาญ วรรณกี้ หัวหน้าชุดยิง สังกัด ร.1 พัน.2 รอ. นายทหารชุดจับกุมอีกคน ขึ้นเบิกความต่อศาล
 
ส.ท.พิชาญ เบิกความว่า เขามีหน้าที่ดูแลทุกข์สุขและสวัสดิการของลูกชุด ดูแลเขตรับผิดชอบของตนเองในกรมกอง และรับคำสั่งที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย โดย ส.ท.พิชาญ เป็นประจักษ์พยานในคดีนี้
 
วันที่ 26 พ.ย. 2557 ขณะที่ ส.ท.พิชาญปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ ผู้บังคับบัญชาได้มอบหมายไปประชุมที่ สน.สุทธิสารร่วมกับแผนกสืบสวน สน.สุทธิสาร และ จ.ส.อ.กายสิทธิ์ เจริญไพบูลย์ โดยมี ผกก.สน.สุทธิสารเป็นประธานการประชุม
 
ส.ท.พิชาญ ให้การว่า เหตุที่ไปยังที่เกิดเหตุ เนื่องจากมีรายงานว่า มีการจัดเสวนาของกลุ่มการเมือง ในวันที่ 26 พ.ย. 2557 เวลา 13.00 น. ซึ่งที่ประชุม สน.สุทธิสารได้มอบหมายให้ ส.ท.พิชาญเป็นผู้บันทึกเสียงและวิดีโอ ขณะที่ จ.ส.อ.กายสิทธิ์ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ตรวจการณ์
 
ส.ท.พิชาญเบิกความต่อว่า เวลาประมาณ 13.00 น. ผู้ร่วมเสวนาประมาณ 15 คนทยอยเข้าห้องประชุม จากนั้นจึงมีการยกมือถามคำถามและเสนอความคิดเห็น ซึ่งผู้ร่วมเสวนาจะถามคำถามหรือเสนอความเห็นอย่างไร ส.ท.พิชาญจำไม่ได้ แต่ได้บันทึกไว้ในวิดีโอ ประเด็นการเสวนาเกี่ยวกับการแต่งตั้งรัฐบาล โดยนายวรัญชัยเป็นผู้กำหนดประเด็นเสวนา และผู้เข้าร่วมทราบประเด็นจากเอกสารที่นายวรัญชัยแจก
 
พยานให้การต่อไปว่า ประมาณ 13.30 น. สมอลล์ บัณฑิต อาร์ณีญาญ์พูดพาดพิงถึงระบอบกษัตริย์ โดยไม่เกี่ยวกับหัวข้อเสวนา หรือเกี่ยวกับที่คนอื่นแสดงความคิดเห็นก่อนหน้า ซึ่งผู้ร่วมเสวนาบางส่วนขอให้ไม่นำประเด็นนี้มาพูดคุย บางส่วนลุกออกจากที่นั่ง บางส่วนจะออกไปนอกห้องแต่ถูกกันไว้ไม่ให้ไปไหน
 
ส.ท.พิชาญ ได้ปรึกษากับตำรวจว่าที่สมอลล์ บัณฑิต อาร์ณีญาญ์พูดเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์หรือไม่ จึงควบคุมตัวไปที่ สน.สุทธิสาร เพราะเห็นว่าน่าจะเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ และได้เปิดวิดีโอที่บันทึกไว้ ให้ปากคำกับตำรวจ และมอบซีดีที่บันทึกวิดีโอให้กับตำรวจไว้
 
หลังอัยการนำสืบพยานนายทหารชุดจับกุมทั้งสองปากแล้ว ศาลได้นัดให้ทนายจำเลยถามค้านพยานโจทก์ที่เป็นชุดจับกุมที่มีนายตำรวจอีก 2 นาย ซึ่งเบิกความไปแล้วก่อนหน้านี้ พร้อม จ.ส.อ.กายสิทธิ์ และ ส.ท.พิชาญ มาในวันที่ 25 ก.ค. 2559 พร้อมทั้งอนุญาตให้ทนายความจำเลยคัดถ่ายซีดีที่ ส.ท.พิชาญบันทึกไว้เป็นหลักฐาน
 
ก่อนหน้านี้ ทนายความได้ขอให้ส่งตัวสมอลล์ บัณฑิต อาร์ณีญาญ์เข้าตรวจรักษาอาการทางจิต แต่แพทย์จากสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์มีความเห็นว่า สมอลล์ บัณฑิต อาร์ณีญาญ์มีร่องรอยความเจ็บป่วย ได้รับการรักษาไม่ต่อเนื่อง มีเเนวโน้มก่อคดีซ้ำ จึงควรได้รับการรักษาต่อเนื่อง ขณะประกอบคดีรู้ผิดชอบ รวมถึงจำเลยมีความคิดยึดติดกับเรื่องบางเรื่อง และการรับรู้ความเป็นจริงอ่อนด้อยกว่าคนทั่วไป แพทย์มีความเห็นว่าสามารถต่อสู้คดีได้
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสท. มีมติให้ PSI ปรับปรุงการตั้งค่าช่องอัตโนมัติเอื้อประโยชน์ช่อง Workpoint ภายใน 30 วัน

$
0
0
กสท. มีคำสั่งทางปกครองให้บริษัท พีเอสไอ บรอดแคสติ้ง จำกัด ระงับการกระทำกรณีขึ้นเมนูช่องรายการแนะนำ โดยเป็นระบบที่นำเข้าสู่ช่อง 23 เป็นช่องเริ่มต้นอัตโนมัติทุกครั้งที่มีการเปิดปิดกล่อง  ก่อนที่ผู้ชมจะเปลี่ยนไปเลือกชมรายการช่องอื่น

 
 
ที่มาภาพ: ศูนย์ข้อมูล&ข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง TCIJ
 
5 พ.ค. 2559 นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า กรณีที่มีผู้ร้องเรียนขอให้บริษัทพีเอสไอฯ ยกเลิกช่องรายการแนะนำในกล่องรับสัญญาณดาวเทียม PSI โดยขึ้นเป็นเมนู “ช่องรายการแนะนำ” เพื่อให้ผู้ชมสามารถเลือกช่องรายการต่างๆเป็นเวลาประมาณ 7 วินาที หากไม่เลือกระบบจะนำเข้าสู่ช่อง 23 เป็นช่องเริ่มต้นโดยอัตโนมัติทุกครั้งที่มีการเปิดปิดกล่อง ก่อนที่ผู้ชมจะเปลี่ยนไปเลือกชมรายการช่องอื่น ซึ่งเป็นการใช้วิธีทางเทคนิคเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับช่อง 23 (Workpoint)   อันเป็นพฤติกรรมหรือการกระทำที่เลือกปฏิบัติจากการจัดลำดับหมวดหมู่บริการโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การกำหนดหมวดหมู่และการจัดลำดับบริการโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ พ.ศ. 2556 และเป็นการกระทำที่ไม่ได้ให้บริการแก่ผู้ได้รับใบอนุญาตรายอื่นอย่างเท่าเทียมกัน  และมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. 2555 ด้วย  ซึ่งถือเป็นการปฏิบัติผิดเงื่อนไขในการอนุญาตการประกอบกิจการโทรทัศน์ กสท. จึงมีมติให้สำนักงาน กสทช. มีคำสั่งทางปกครองให้บริษัทพีเอสไอฯ ระงับการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศดังกล่าว  และให้แก้ไขปรับปรุงให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม ให้กำหนดค่าปรับทางปกครองในอัตราวันละไม่เกิน 20,000 บาท  ตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืน    
 
“ก่อนหน้านี้คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ มีความเห็นว่าการกระทำดังกล่าวถือเป็นการใช้วิธีการทางเทคนิคที่ส่งผลให้ผู้ใช้บริการต้องรับชมข้อมูลเมนูแนะนำรายการโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และเมนูแนะนำรายการดังกล่าวได้บดบังพื้นที่หน้าจอโทรทัศน์บางส่วน ซึ่งขัดขวางการรับชมรายการโทรทัศน์อย่างปกติทั่วไปชั่วขณะหนึ่งทุกครั้งที่มีการเปิดกล่องฯ ดังนั้นการกระทำที่ทำให้ผู้บริโภคต้องถูกบังคับให้รับชมช่องรายการตามที่ผู้ประกอบกิจการกำหนดหรือบดบังการรับชมช่องรายการตามปกติทั่วไป  จึงพิจารณาว่าเป็นการกระทำที่เข้าข่ายการเอาเปรียบผู้บริโภคด้วย”  นางสาวสุภิญญากล่าวเพิ่มเติม
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: หากเราจะกล่าวถึงท่าน

$
0
0



หากเราจะกล่าวถึงท่าน
เราควรกล่าวถึงเศษส่วนใด
มิติซับซ้อนที่ท่านเลือกใช้
ดวงหน้าหมดจดที่ถูกจารจนฝังใจ

ตรงข้ามกับเขาคนนั้น
ในดินแดนที่ราบสูงแร้นลำเค็ญ
ความคิดและปากกาที่เผยเอาแกนกระดูกของท่านขึ้นมาวาง
ชำแหละกระโหลกของท่านอย่างละเอียดละออ
ฟันฉับเข้าที่ข้อมือข้อเท้า
เมื่อท่านกำลังจะเหยียบยืนบนหัวของใครต่อใคร
หากทั้งหมดนี้เราก็ยังลังเลที่จะกล่าวถึงท่าน
ท่านในความหมายที่ต่างออกไปจากวัยวันนั้น
คลุมเครือและหม่นเทากว่านั้น
พลาดผิดและจงใจกว่านั้น

การคัดแยกระหว่างความกล้ากับความกลัว
อาจทำได้ง่ายดาย
ทว่า บนผืนแผ่นดินที่ชุ่มไปด้วยเลือดของคนเท้าเปล่า
ไม่อาจทำได้ง่ายดายอย่างนั้น
มิติซับซ้อนที่ท่านเลือกใช้นั้นซับซ้อนอย่างยิ่ง
ซับซ้อนเสียจนการมองเห็นแสงสว่างกลายเป็นความมืด
ในวันวัยที่ดวงหน้าของท่านมิได้หมดจดงดงามเยี่ยงกาลนั้น
เราทำได้เพียงพยายามที่จะกล่าวถึงท่าน
ในแกนกระดูกที่เขาคนนั้นเปิดเปลือยมันออกมา


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live




Latest Images