Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live

ILO เผยแม้จะมีงานทำ แต่คนทำงานทั่วโลกยังยากจนอยู่

$
0
0

ILO ระบุคนทำงานที่อยู่ในสภาพที่ยากจนที่สุดคือผู้ที่มีรายได้ไม่ถึง 1.90 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อวัน ส่วนคนทำงานที่มีความยากจนปานกลางคือผู้มีรายได้น้อยกว่า 3.10 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อวัน ซึ่งมีอยู่เกือบ 2,000 ล้านคน แม้จะมีงานทำแต่บางครั้งกลับพบว่าไม่มีการจ่ายค่าแรง งานไม่มีคุณภาพเพราะเป็นงานที่ใช้ทักษะต่ำ รวมทั้งการขาดสวัสดิการทางสังคม

ILO เผยแม้จะมีงานทำแต่แรงงานทั่วโลกยังยากจนอยู่ (ที่มาภาพ: Metin Aktas/Anadolu Agency/ILO)

21 พ.ค. 2559 จากรายงาน World Employment and Social Outlook (WESO) 2016 – Transforming jobs to end povertyขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO ที่เผยแพร่ในช่วงกลางเดือน พ.ค. 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งแสดงถึงแนวโน้มการจ้างงานและสวัสดิการสังคมของโลกประจำปีนี้ระบุว่าถึงแม้อัตราความยากจนได้ลดลงมากกว่าครึ่งนับตั้งแต่ปี 2533 แต่กระนั้นคนทำงานจำนวนมากทั่วโลกยังคงมีความเป็นอยู่ที่ยากจน และแม้คนส่วนใหญ่จะได้รับการจ้างงานแต่ประชากรที่ยากจนที่สุดเกือบ 1 ใน 3 ของประเทศที่กำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่พบว่าไม่มีการจ่ายค่าแรง งานไม่มีคุณภาพเพราะเป็นงานที่ใช้ทักษะต่ำ รวมทั้งการขาดสวัสดิการทางสังคม

เมื่อพิจารณาตัวเลข 'ความยากจนสัมพัทธ์' (relative poverty - การขาดระดับทรัพยากรหรือรายได้ตามปกติหรือระดับที่สังคมยอมรับเมื่อเทียบกับบุคคลอื่นในสังคมหรือประเทศ) พบว่าแม้แต่ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปตัวเลขความยากจนสัมพัทธ์คงที่อยู่ที่ราวร้อยละ 16.5 มาหลายปีแล้ว ซึ่งเป็นผลจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี 2551 แต่ในปี 2555 ความยากจนสัมพัทธ์เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 16.8 และเป็นร้อยละ 17.5 ในปี 2557 ส่วนในสหรัฐอเมริกาความยากจนสัมพัทธ์ในปี 2548 อยู่ที่ร้อยละ 23.8 และเพิ่มเป็นร้อยละ 24.6 ในปี 2555

ถึงแม้อัตราความยากจนได้ลดลงอย่างมากในจีนและละติน อเมริกา แต่ก็ยังคงสูงในแอฟริกา และบางส่วนของเอเชีย ซึ่งประชากรที่อาศัยอยู่ในสภาพที่ยากจนที่สุดคือผู้ที่มีรายได้ไม่ถึง 1.90 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อวัน ส่วนประชากรที่ยากจนปานกลางคือผู้มีรายได้น้อยกว่า 3.10 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อวัน ซึ่งมีอยู่เกือบ 2,000 ล้านคน โดยร้อยละ 36 อยู่ในประเทศพัฒนาแล้วและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รัฐธรรมนูญกับประชามติที่เลือกได้: สมชาย-บารมี-อภิชาต-เดชรัต-เกษียร ชำแหละรัฐธรรมนูญ

$
0
0

สมชาย ปรีชาศิลปกุล-ถามจะลงประชามติเพื่อไปสู่อำนาจนิยมหรือเหนี่ยวรั้งเพื่อกลับสู่เสรีประชาธิปไตย บารมี ชัยรัตน์-ให้ระวังยุทธศาสตร์ลิดรอนสิทธิคนจนจะกลายเป็นยุทธศาสตร์ชาติ อภิชาต สถิตนิรมัย-ร่าง รธน. ทำคลอดรัฐบาลอ่อนแอ เจอแน่สังคม "แก่ก่อนรวย" เดชรัต สุขกำเนิด-ถามเอ็นจีโอจะทำงานเพื่อสิทธิประชาชน หรือเป็นนายหน้าความเมตตาปราณีจอมปลอม เกษียร เตชะพีระ-ตัดเกรดมีชัยร่าง รธน. ได้ D รวมบทเฉพาะกาลได้ F - ชี้ลงประชามติ รธน. พ่วงระเบียบอำนาจ คสช.

21 พ.ค. 2559 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการบรรยายทางวิชาการหัวข้อ รัฐธรรมนูญกับประชามติที่เลือกได้ วิทยากรโดย 1. ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2. รศ.ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 3. บารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน 4. ดร.เดชรัต สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 5. รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล: ประชามติเพื่อไปสู่อำนาจนิยมหรือเหนี่ยวรั้งเพื่อกลับไปสู่เสรีประชาธิปไตย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อภิปราย 3 เรื่อง 1.ประชามติในรัฐธรรมนูญและสังคมการเมืองไทย 2.ตำแหน่งแห่งที่ของประชามติ 3.อนาคตของสังคมการเมืองไทย 

ประเด็นแรก ในรัฐธรรมนูญไทย เคยมีข้อกำหนดเกี่ยวกับประชามติมาหลายครั้ง เช่น รัฐธรรมนูญฉบับ 2492, 2511, 2517, 2540 แต่ประชามติปรากฏจริงในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549 สมัย คมช. และเป็นครั้งแรก ถ้าจะมีประชามติอีกครั้งก็คือการลงประชามติปีนี้  คำถามเบื้องต้น ทำไมต้องกำหนดประชามติ เพราะเราได้ยินทุกเมื่อเชื่อวันว่า “ผมเป็นผู้มีอำนาจ ในสถานการณ์ไม่ปกติ” ถ้ามีอำนาจทำไมจึงต้องกำหนดประชามติ เรื่องนี้สำคัญ เราต้องคิดสองเรื่อง หนึ่ง อำนาจ สอง ความชอบธรรม

อำนาจมันอาจทำงานได้ในระยะสั้นๆ ในช่วงยึดอำนาจแรกๆ แต่เมื่อจะอยู่ระยะยาวต้องมีความชอบธรรมจำกัด การประกาศให้มีประชามติสะท้อนให้เห็นว่าผู้มีอำนาจในทางการเมืองตอนนี้ มีอำนาจ แต่ความชอบธรรมมีหรือไม่ ไม่รู้ ในทางการเมืองคุณจะอยู่ได้ต้องมีทั้งสองอย่าง

ประเด็นที่สอง เวลาเราคิดถึงประชามติ ที่มีการวิจารณ์มากมาย ประชามติในโลกนี้มีการใช้มาเยอะแล้ว จำแนกได้ใน 3 รูปแบบ

กลุ่มแรก ใช้ประชามติภายใต้สังคมเสรีประชาธิปไตย เช่น ประเทศในยุโรปจะเข้าร่วมสหภาพยุโรปหรือไม่ มันเป็นเครื่องมือในการระดมความเห็นหรือตัดสินปัญหาบางอย่าง มีการดีเบทกันได้โดยปกติ เราวิจารณ์กันทุกวันนี้บนฐานนี้

กลุ่มสอง ประชามติในสถานการณ์ที่เป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนสังคมจากประชาธิปไตยไปสู่เผด็จการหรืออำนาจนิยม ในโลกนี้ก็เคยใช้ โดยเฉพาะก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง เช่น ในเยอรมนี มีการใช้ประชามติในช่วงที่ฮิตเลอร์เป็นผู้นำอย่างน้อย 4 ครั้งแต่ละครั้งได้คะแนนไม่น้อยกว่า 90% และใช้การลงประชามติเพื่อเพิ่มอำนาจให้รัฐบาล ทำลายหลักการในกฎหมาย เป็นต้น

กลุ่มสาม เป็นการใช้ประชามติเพื่อเปลี่ยนสังคมจากเผด็จการไปสู่ระบอบประชาธิปไตย เช่น ในชิลีปี 1988 ในชิลีมีปิโนเชต์จอมเผด็จการอยู่มานาน 15 ปีแล้วทำประชามติว่าจะขยายอำนาจตัวเองหรือเปล่า พลเมืองออกไปลงประชามติ เกินครึ่งหนึ่งปฏิเสธการขยายอายุ เริ่มเปลี่ยนทิศทางของสังคม อีก 2-3 ปีเขาก็พ้นจากตำแหน่งไป

ผมจำแนกทั้งสามแบบนี้เพื่อให้เข้าใจว่า เวลาเราคิดถึงข้อถกเถียงในปัจจุบัน เราอยู่ในมุมมองที่ต่างกัน ผู้มีอำนาจกับประชาชนเห็นไม่เหมือนกัน

ประเด็นที่สาม แล้วประชามติในอนาคตของสังคมการเมืองไทยเป็นอย่างไร โดยสมชายกล่าวว่า เราไม่ได้อยู่ในกระบวนการทำประชามติแบบเสรีประชาธิปไตยแน่ๆ เพราะการอภิปรายกันอย่างมีเหตุผล อย่างเสรี ทำไมได้ และในขณะเดียวกันมันจะเปลี่ยนผ่านจากเผด็จการเป็นประชาธิปไตยหรือเปล่า ก็ไม่แน่ใจ

ประชามติครั้งนี้คือระหว่างทางของการสร้างระบอบอำนาจนิยมกับความพยายามที่จะหันเหทิศทางของสังคมไปสู่ระบอบประชาธิปไตย มันเป็นทางสองแยก ไปสู่อำนาจนิยม ซึ่งต่างจากที่เคยมีมา ผมอยากเรียกมันโดยใช้คำของปรีดี พนมยงค์ ที่ว่า "อภิสิทธิ์ชนกับลูกสมุน" แต่คำว่าลูกสมุนมันดูไม่เป็นวิชาการ ผมจึงเสนอคำใหม่ว่า "เผด็จการเชิงเครือข่าย" เครือข่ายในที่นี้ไม่ใช่แค่กองทัพ แต่รวมถึงนักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน ฯลฯ อยู่ในเครือข่ายนี้ด้วย

ถ้าเราโหวต YES เรากำลังเดินไปสู่ทางนี้ แต่ทั้งนี้ต้องหมายความว่าประชามติครั้งนี้จะไม่มีการโกง หรือยัดไส้กันโดยชัดเจน

ถ้าเราโหวต NO ผลจะเป็นอย่างไร ชนชั้นนำของสังคมไทยจะตระหนักถึงความล้าหลังของระบอบนี้เพียงไร ถ้ารับรู้และยอมรับ การเปลี่ยนแปลงก็จะเกิดขึ้นได้อย่างราบรื่น แต่หากไม่ตระหนักถึงความเห็นเหล่านี้ สังคมไทยกำลังอยู่บนเส้นทางของความสุ่มเสี่ยงอย่างสำคัญ

“มันเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญว่า เราจะเดินไปสู่อำนาจนิยมหรือเหนี่ยวรั้งเพื่อจะเดินกลับไปสู่เสรีประชาธิปไตย”

 

บารมี ชัยรัตน์: ระวังยุทธศาสตร์ลิดรอนสิทธิคนจนจะกลายเป็นยุทธศาสตร์ประเทศ 20 ปี

บารมี ชัยรัตน์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญคือกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ แต่พออยู่มาเรื่อยๆ ได้ทำงานกับชาวบ้าน จึงรู้สึกว่าสิ่งที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญ มันแปลกๆ สงสัยว่าทำไมมันต้องมีอำนาจมากมายมหาศาล ทำไมต้องให้รัฐมีอำนาจจัดการกับเราได้ สั่งสร้างเขื่อน ให้คนออกจากป่าได้ อพยพคนได้ ทำร้ายคนจนได้ตลอดเวลา จนเมื่อปี 2540 เป็นปีแรกที่คนจนได้มีโอกาสร่วมร่างรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นสิ่งที่เขาภูมิใจที่จะเรียกว่า "รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน"

โดยบารมีเปรียบเทียบมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญ 2540 กับมาตรา 25 ของร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับมีชัย ฤชุพันธุ์ ซึ่งกล่าวถึงการใช้อำนาจของรัฐว่า ขณะที่ในรัฐธรรมนูญ 2540 รับรองสิทธิประชาชน โดยบอกว่าถ้าหน่วยงานรัฐจะใช้อำนาจต้องคิดถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่มาตรา 25 ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย เขียนว่า ถ้าจะใช้สิทธิ อย่ากระเทือนรัฐ

อ่านแล้วจะเห็นความแตกต่างที่มีนัยสำคัญ ที่จะหาช่อง โอกาส วิธีจำกัดลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนอยู่ตลอดเวลา ทั้งหมวดสิทธิเสรีภาพ และหน้าที่ของรัฐ จนตีความยากว่าใครจะจัดการ

ต่อมาเรื่องการศึกษา การรักษาพยาบาล ซึ่งเป็นเรื่องที่คนจนเข้าถึงยากที่สุด ร่างรัฐธรรมนูญนี้ พยายามบอกว่าจะช่วยเรื่องการศึกษาและการรักษาพยาบาลเฉพาะคนยากไร้

"การศึกษา การรักษาพยาบาล ไม่ใช่เรื่องสงเคราะห์ เป็นสิทธิที่เราพึงมีพึงได้ รัฐต้องจัดให้เราไม่ใช่มากีดกัน"

"คนจนเป็นคนที่ประหลาดประเภทหนึ่ง นโยบายที่ออกให้คนจน คนจนไม่ค่อยจะได้ เช่น สปก. 4-01 แต่ถ้าบอกว่า ออกเพื่อทุกคน คนจนจะได้ แต่กว่าจะได้ก็ยาก"

นอกจากนี้ บารมีกล่าวถึงระบบการเลือกตั้ง ส.ส. จากเลือกโดยตรงกับบัญชีรายชื่อ เป็นแบบเลือกทางโกงให้คนแพ้ โดยยกตัวอย่างเปรียบเทียบกับการแข่งวอลเลย์บอลว่า แทนที่จะนับจำนวนเซ็ตแพ้-ชนะ เป็นการนับคะแนนรวม ซึ่งนั่นอาจทำให้ชนะกลายเป็นแพ้ได้ รวมถึงยังเปลี่ยนระบบเลือกตั้ง ส.ว. เป็นการแต่งตั้งด้วย

"นี่เป็นการปล้นการเลือก ส.ว.ไปจากมือ"

อีกอย่างที่ลิดรอนสิทธิคนจนคือ ยุทธศาสตร์ประเทศ ถ้ามียุทธศาสตร์ 20 ปี พรรคการเมืองไม่ต้องหาเสียงแข่งกันเรื่องนโยบายอีก ก่อน 2540 นั้น รัฐบาลเอานโยบายสภาพัฒน์ฯ มาใช้ หลัง 2540 พรรคไทยรักไทยถึงได้เอานโยบายออกมาใช้ ตอนนี้จะกลับมาใช้ยุทธศาสตร์ชาติ ถามว่า 50 ปีที่ผ่านมาสร้างความฉิบหายให้ประเทศไม่พอหรือ การเกิดคนจน เกิดคนไร้ที่ดิน สลัม คือความล้มเหลวของสภาพัฒน์ และต่อไปก็จะเป็นแบบนั้น

บารมี ชี้ว่า นอกจากรัฐธรรมนูญจะจำกัดสิทธิชาวบ้านแล้ว แล้วยังเพิ่มอำนาจราชการด้วย ก่อนหน้านั้น การต่อสู้ของสมัชชาคนจน ชัยชนะหนึ่งคือ ทำให้เกิดความเสมอหน้าระหว่างคนจนกับราชการ แต่คราวนี้ ข้าราชการจะกลับมาใหญ่

ประชาชนจะมีอำนาจได้ต้องมีการกระจายอำนาจ พูดถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไว้อย่างคลุมเครือ เพื่อที่พอจะร่างกฎหมายลูกแล้วจะได้สับสนขึ้น ไม่ได้พูดเรื่องกระจายอำนาจที่ระบุไว้ชัดเจน

ถ้าไม่มีการกระจายอำนาจ สิทธิที่จะบอกว่าน่าจะได้ ไม่มีทางเกิด มันจะเกิดได้เมื่อเราสามารถควบคุมอำนาจในท้องถิ่นได้ ยกตัวอย่างกรณีเหมืองทอง ถ้าเหมือนสมัยก่อน สภาตำบล มีครู แพทย์ตำบล เกษตรตำบลเป็นกรรมการ เราไม่มีทางกำกับ-ปกป้องพื้นดินของเราได้เลย

โดยสรุป ถ้าเลือกได้ ก็คงเลือกที่จะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนี้ บารมีกล่าว

 

อภิชาต สถิตนิรมัย:  ร่างรัฐธรรมนูญทำคลอดรัฐบาลอ่อนแอ เจอแน่สังคม "แก่ก่อนรวย"

ด้านอภิชาต สถิตนิรมัย กล่าวถึงแนวโน้มการมีรัฐธรรมนูญ ในขณะที่เศรษฐกิจอยู่ในสภาพกับดักรายได้ปานกลางว่า ร่างรัฐธรรมนูญจะส่งผลให้เกิดการทำคลอดรัฐบาลเป็ดง่อย เป็นรัฐบาลรักษาการถาวร

ทุกวันนี้ เราต้องการรัฐที่เข้มแข็งกว่ายุคสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ด้วยซ้ำ เพราะกระตุ้นเศรษฐกิจยากกว่า เราต้องการระบบราชการที่แข็งและมีประสิทธิภาพมากกว่ายุคสฤษฎ์ด้วยซ้ำ ต้องดูว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหานี้ได้หรือเปล่า ปัญหาเร่งด่วนคือ ภายในปี 2564 คนอายุ 60 ขึ้นไปจะมี 14% และจะเป็น 20% ในปี 2570 เราจะกลายเป็นสังคมแก่ก่อนรอย ระบบสวัสดิการจะล่ม เราจะมีรายได้เพิ่มขึ้นเร็วทันหรือไม่ เราจะหลุดจากกับดักรายได้ปานกลางหรือไม่ จะทันเวลาที่เราก้าวเข้าสู่สังคมคนแก่โดยสมบูรณ์หรือไม่

หากลองดู รอบปี 2543-2553 ผลิตภาพในด้านแรงงาน เพิ่ม 2% กว่าเท่านั้น เราจะกลายเป็นสังคมแก่ก่อนรวยอย่างรวดเร็ว เราจะรับมือกับการเปลี่ยนผ่านของโครงสร้างสังคมไม่ได้ รายงานแบบวงเวียนชีวิตอาจต้องเพิ่มมากขึ้น

เราจึงต้องการรัฐบาลที่เข้มแข็งและมีเสถียรภาพเพื่อขับเคลือนนโยบาย และระบบราชการที่มีประสิทธิภาพ แต่ระบบราชการไทยล้าหลังและตามโลกไม่ทัน ต้องการปฏิรูปขนานใหญ่ ซึ่งก็ต้องการรัฐบาลที่เข้มแข็ง

ทั้งหมดนี้เมื่อเทียบกับร่างรัฐธรรมนูญที่เราเห็น ถ้าร่างรัฐบาลผ่าน รัฐบาลที่จะเกิดขึ้นจะเป็นรัฐบาลอ่อนแอ อายุสั้น ไม่สามารถแก้ปัญหากับดักรายได้ปานกลาง เพราะการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมโดยตัวเองก็ไม่ก่อให้เกิดการแข่งขันเชิงนโยบาย เอื้อต่อพรรคขนาดกลาง การเลือกตั้งจะไม่เกิดการชนะแบบเบ็ดเสร็จ มีแนวโน้มสูงที่จะเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค ก่อนปี 2540 โอกาสที่จะแก้ปัญหาโครงสร้างทางเสรษฐกิจที่ยาก แทบเป็นไปไม่ได้เลย เพราะการยกระดับผลิตภาพ ความสามารถในการผลิตต้องอดทน วางแผนและปฏิบัติการยาว และร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะทำให้รบ.อายุสั้นไปอีก เช่น ความคลุมเครือในการพิจารณางบประมาณประจำปีที่นำไปสู่การถอดถอนได้ มาตรฐานจริยธรรมที่กำหนดโดยองค์กรต่างๆ รวมถึงศาล มันอาจนำไปสู่การส่งให้ศาลตัดสิน ศาลรัฐธรรมนูญสามารถตัดสินได้ว่ารัฐมนตรีไม่มีจริยธรรมเป็นที่ประจักษ์ซึ่งเป็นการตีความเชิงอัตวิสัยมาก

มันจะกลายเป็นรัฐบาลเป็ดง่อย รัฐบาลรักษาการถาวร ไม่สามารถล้มนโยบายเก่าหรือสร้างนโยบายเก่าได้ และยิ่งไม่มีทางปฏิรูประบบราชการได้

ร่างรัฐธรรมนูญนี้เป็นการฟื้นคืนชีพของระบบรัฐราชการ ทั้งที่พวกเราก็รู้อยู่เป็นอย่างดีว่าปัจจุบันราชการไล่ตามเอกชนไม่ทัน และการแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ในอนาคตแทบเป็นไปไม่ได้เลย แม้ ส.ส. เกือบทั้งสภาเห็นชอบก็ยังทำไม่ได้เพราะต้องอาศัยเสียงเห็นชอบจาก ส.ว.แต่งตั้งจำนวนมาก และรัฐธรรมนูญที่แก้ได้ยากแบบนี้ไม่สามารถพัฒนาไปสู่การเป็นเครื่องมือที่รอมชอมกันได้ในทางการเมือง อาจนำสู่ความขัดแย้งสูงมากในทางการเมือง

“มองแบบนี้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ในทัศนะของผม จึงเป็นตัวให้ความหวังว่าจะผลิตรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพประสิทธิผลพอที่จะผลักดันสังคมหลุดจากกับดักรายได้ปานกลางได้ เราคงต้องเผชิญกับสภาพแก่ก่อนรวยไปก่อนแล้วกัน”

 

เดชรัต สุขกำเนิด: ถามเอ็นจีโอจะทำงานเพื่อสิทธิเสรีภาพประชาชน หรือเป็นนายหน้าสำหรับความเมตตาปราณีจอมปลอม

เดชรัต สุขกำเนิด กล่าวว่า เผด็จการเชิงเครือข่ายในร่างรัฐธรรมนูญนี้มาชุดใหญ่ มาทุกจุด มาแบบ “ผ้าป่าสามัคคี” และจะอธิบายว่าทำไมเป็นอย่างนั้น เดชรัตกล่าวว่า เขาอยากพูดกับภาคประชาสังคมและองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ เอ็นจีโอ ระหว่างที่เราคุยกันเรื่องนี้เขาก็มีการจัดกระบวนการประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญและประชารัฐ โดยเอาภาคประชาสังคมเป็นแกนหลัก เช่น ครู ก. รวมถึงเอ็นจีโอเพื่อช่วยอธิบายข้อดีรัฐธรรมนูญ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพูดคุยกับเอ็นจีโอ เพราะผมไปแอบส่องเฟซบุ๊กใครหลายคนเหมือนแต่งตั้งผมให้เป็น “นักวิชาการสายเอ็นจีโอ”

ประเด็นแรก สิทธิเสรีภาพประชาชนหายไป น้องเพนกวินได้หยิบยกเรื่องสิทธิการเรียนฟรีที่หายไป สิ่งที่ผมอยากพูดคือ มันไม่ได้หายแค่สิทธิการได้เรียนฟรี เพราะรัฐธรรมนูญปี 2540, 2550 บอกว่าประชาชนมีสิทธิในการจัดการศึกษาด้วย เพราะการศึกษาเป็นเรื่องของสังคม ร่างมีชัยเขียนถึงบทบาทภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเอกชน เมื่อทวงถามว่า ประชาชนหายไปไหน เขาก็บอกว่า ประชาชนคือเอกชน นอกจากนี้ยังเกิดเรื่องตลกขึ้นหลังเพนกวินจัดแคมเปญ ทั้งนายกฯและ รมว.ศึกษาธิการบอกว่าให้รับร่างรัฐธรรมนูญไปเถอะ รับไปแล้วรัฐบาลก็จะจัดการศึกษาฟรีให้ 15 ปีเหมือนเดิม

“นี่เขากำลังเล่นอะไร รับไปก่อนเดี๋ยวผมแถมให้ สิ่งเหล่านี้เรียกว่าอะไร กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทก็สอบถามผม เรื่องนี้ผมขออนุญาตอ่านงานของเปาโล เฟรเร เรื่องการศึกษาของผู้ถูกกดขี่ ที่ว่า “เพื่อที่จะรักษาโอกาสในการแสดงความเมมตตาปราณีของผู้กดขี่ พวกเขาจำเปนต้องคงไว้ซึ่งโครงสร้างอันอยุติธรรม......” นี่คือความเมตตาปราณีที่รัฐบาลจะหยิบยื่นให้ และเป็นสาเหตุว่าทำไมผู้แจกจ่ายควาเมมตาปราณีจอมปลอมถึงต้องสู้ตายแม้แหล่งกำเนิดความเมตตาปราณีจอมแปลอมถูกคุมคามเพียงน้อยนิด เขาอยากให้เราสำนึกในบุญคุณของเขา มากกว่าสำนึกว่ามันเป็นสิทธิอันชอบธรรมของพวกเราเอง”  

รัฐธรรมนูญปี 2550 ยังกำหนดว่า “ผู้ยากไร้ ผู้พิการ ผู้ทุพลภาพ และผู้อยู่ในสภาวะยากลำบากต้องได้รับการเรียนฟรี 12 ปีและต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐเพื่อให้ได้รับการศึกษาทัดเทียมกับบุคคลอื่น” ตรงนี้ไม่เข้าใจว่าร่างใหม่ตัดออกไปทำไม ตัดแล้วมันปราบโกงได้ดีขึ้นหรือ

“ตอนนี้ผมทำงานกับเด็กที่อ่านหนังสือไม่ออก ผู้ที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ เด็กจะมองซ้ายกับขวาสลับกัน แทนที่เราจะดูว่าเราจะแก้ปัญหาอย่างไร ในแต่ละประเทศจะมีคนกลุ่มนี้ประมาณ 10% แต่กระทรวงศึกษาฯ เตรียมการทำในปีการศึกษาที่จะถึงคือ สอบตก ซ้ำชั้น”

ย้อนกลับมาดูในรัฐธรรมนูญ ประเด็นเล็กประเด็นน้อยหายไปหมด ผมอยากถามภาคประชาสังคมช่วยภาครัฐปชส.รัฐธรรมนูญอย่างขมีขมัน อยากถามว่าสิ่งเหล่านี้ยังมีความสำคัญกับคุณอยู่หรือไม่

นอกจากนี้รัฐธรรมนูญ 2550 มีการระบุว่า ประชาชนเข้าชื่อ 20,000 คนถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งได้ ไม่เฉพาะนักการเมือง แต่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. ประธานศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองสูงสุด อัยการสูงสุด ตุลาการ กกต. กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ฯลฯ ร่างฉบับมีชัยตัดออก กลัวประชาชนจะมีส่วนร่วมในการปราบโกง ให้เป็นหน้าที่ของ ปปช. และศาลรัฐธรรมนูญอย่างเดียว

ประเด็นสุดท้าย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. เดิมทีสิทธิของประชาชนในการเข้าไปกำกับ อปท. มีอยู่ด้วยกันหลายข้อ หนึ่ง เราได้เลือกสมาชิกสภาฯ เราได้เลือกผู้บริหาร สาม เรามีสิทธิถอดถอน สี่ เรามีสิทธิร้องขอให้มีการออกข้อบัญญัติท้องถิ่น มีสิทธิร้องขอให้จัดรับทำความคิดเห็นประชาชน และประชามติเพื่อตัดสินใจในสิ่งที่กระทบชุมชน หายหมด เหลือแค่ ถอดถอนสมาชิกกับผู้บริหาร อปท.

“เราไม่ได้มีโอกาสมีส่วนร่วมกับ อปท.อย่างที่เราเคยมี และเราถอดถอนได้แค่นายก อบต.ของเรา แต่ไม่รวมถึง ประธานศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ อันนั้นเราได้แต่กระพริบตา”

“อำนาจของอปท.ก็หายไปด้วย เช่น การเข้าไปมีส่วนร่วมบำรุงรักษาธรรมชาตินอกเขตพื้นที่ซึ่งมีผลกระทบกับระชาชนในพื้นที่ พูดง่ายๆ ถ้าอบต.บ้านคุณบารมีทำเหมืองทอง แต่ผมอยู่ปลายน้ำ อบต.ผมมีอำนาจเข้าไปดูแล แม้ว่าเหมืองอยู่ในเขตอบต.คุณบารมี ตรงนี้หายไหมด”

นอกจากนี้ยังตัดของเดิมแล้วเขียนใหม่ว่า "ผู้บริหารท้องถิ่นได้มาจากการเลือกตั้งหรือวิธีอื่น” แปลว่าต่อไปจะมีอปท.แบบพิเศษที่ไม่จำเป็นต้องมีผู้บริหารที่มาจาการเลือกตั้งและไม่จำเป็นต้องมีสภาท้องถิ่น สามารถแต่งตั้งมาโดยตรง

“ถามว่าดีไซน์ไว้สำหรับอะไร ผมเดาว่า เพราะผู้ร่างรัฐธรรมนูญนี้ก็เป็นผู้ร่าง พ.ร.บ.ปี 2548 คือ เขตเศรษฐกิจพิเศษ นี่ใช่ไหมที่ภาคประชาสังคมห่วงเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่สุดท้ายพอร่างออกมา ผมอยากถามองค์กรพัฒนาเอกชนบางแห่งที่ร่วมกับรัฐประชาสัมพันธ์รัฐธรรมนูญว่า ได้อ่านรัฐธรรมนูญไหม ได้เข้าใจไหมว่าสิทธิเสรีภาพประชาชนหายไป หรือท่านอย่ากมีส่วนร่วมในการแจกจ่ายความเมตตาปราณีของภาครัฐ ผมอยากเรียกร้องให้ท่านกลับมา เราเคยต่อสู้ร่วมกนในการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน ตั้งแต่สมัยสมัชชาคนจน....เรายังจำวันนั้นได้ไหม เรายังจะยืนเคียงข้างเพื่อต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนไหม หรือวันนี้บางท่านพร้อมแล้วที่จะเป็นนายหน้าสำหรับความเมตตาปราณีอย่างจอมปลอม”

 

เกษียร เตชะพีระ: ตัดเกรดมีชัยร่างรัฐธรรมนูญได้ D รวมบทเฉพาะกาลได้ F -ชี้เป็นการลงมติรัฐธรรมนูญพ่วงระเบียบอำนาจ คสช.

เกษียร เตชะพีระ กล่าวว่า หลังอ่านร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับมีชัย ทั้งฉบับ 16 หมวด 279 มาตรา 105 หน้าแล้ว คงให้เกรด D และถ้ารวมบทเฉพาะกาล แล้วคงให้  F

ต่อให้อ่านรัฐธรรมนูญทั้งฉบับแล้ว น่าตกใจว่าไม่พอที่จะเข้าใจมันทั้งหมด จะเข้าได้ ต้องเอาตัวบททั้งฉบับไปเชื่อมโยงกับอย่างอื่น เช่น ที่ อ.เดชรัต หรือคุณบารมี ไปเชื่อมโยงกับฉบับอื่น ผมจะโยงกับประวัติศาสตร์ ระบบความคิด ระเบียบอำนาจโดยรวมที่ล้อมรัฐธรรมนูญอยู่

โดยเกษียรนำเสนอ 4 เรื่อง ได้แก่

หนึ่ง มองยาว โยงกับสิบปีของวิกฤตการเมืองไทย เป็นสิบปีของความพยายามเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบไม่ประชาธิปไตย
สอง มองลึก เชื่อมโยงกับแนวคิดประชาธิปไตยแบบไทยๆ
สาม มองเป็นระบบ เชื่อมโยงกับระเบียบอำนาจที่ คสช. พยายามสร้างขึ้นในสองปีที่ผ่านมา อยู่ในคำว่า ปฏิรูป ยุทธศาสตร์ชาติ มาตรฐานทางจริยธรรม
สี่ มองไปข้างหน้า

หนึ่ง มองยาว สิบปีที่ผ่านมา 2549-2559 หลายรัฐบาล หลายร่างรัฐธรรมนูญ หลายประท้วงใหญ่ มีรัฐประหารสองครั้ง มีความพยายามของผู้นำเปลี่ยนผ่านประเทศไทยกลับสู่ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งส่วนตัวไม่เข้าใจว่ามีการเปลี่ยนผ่านมากมายแต่ทำไมไปไม่ถึง

มันจะเมคเซ้นส์มาก ถ้าเข้าใจว่าพยายามเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบ "ไม่ประชาธิปไตย"

แน่นอนว่าระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐบาลสมัยทักษิณ ยิ่งลักษณ์ มีปัญหา เพราะเสียงข้างมากได้อำนาจแล้วบิดเบือนฉวยใช้โดยมิชอบ สมัยยิ่งลักษณ์ มีการนิรโทษกรรมเหมาเข่ง สมัยทักษิณ มีประเด็นภาคใต้ และสงครามยาเสพติด  

แต่แนวโน้มที่ผ่านมา แก้โดยสร้างอำนาจนิยมของระบบราชการ อำนาจนิยมของเสียงข้างน้อยไปแก้ แต่ยิ่งเพิ่มปัญหาเท่าตัว เป็นการแก้ปัญหาความบกพร่องประชาธิปไตยโดยทำให้ประชาธิปไตยน้อยลง เอาอำนาจไปให้กับระบบราชการ ทำให้ยิ่งแตกแยกกว่าเก่า

ยกตัวอย่าง ข้อเสนอสภาเลือกตั้ง 30% แต่งตั้ง 70% ของสนธิ ลิ้มทองกุล และ พันธมิตรฯ สภาเลือกตั้ง 0% แต่งตั้ง 100% ของ สุเทพ เทือกสุบรรณ กับ กปปส.

ที่เขาพยายามจะทำ พูดอย่างเป็นรูปธรรม เขาอยากสร้างระบบที่มีการเลือกตั้ง แต่สถาบันที่มาจากเสียงข้างมากจากเลือกตั้ง ส.ส. ส.ว. พรรคใหญ่ ต้องอยู่ใต้การกำกับควบคุมของสถาบันเสียงข้างน้อยที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เช่น ตุลาการ องค์กรอิระ กองทัพ ข้าราชการประจำ วุฒิสภาแต่งตั้งและคณะกรรมการสรรหา

ความต่างระหว่างร่างบวรศักดิ์กับฉบับมีชัย อยู่ที่ว่าจะเอาอำนาจจากสถาบันเลือกตั้งเสียงข้างมาก ไปแปะที่ไหนให้ใคร จะให้ใครได้ไป

ร่างบวรศักดิ์ ให้คนดีและเอ็นจีโอ ส่วนร่างมีชัย เอาไปให้ตุลาการภิวัตน์และวุฒิสภาจากการสรรหา ส่วนข้อแก้ไขเพิ่มเติมของ คสช. จะเอาอำนาจแปะให้กองทัพและวุฒิสภาจากการแต่งตั้งในห้าปีแรก แต่ทั้งหมดเทรนด์เดียวกัน คือลดประชาธิปไตยแทนการเพิ่ม

สอง คิดอย่างไร ปมอยู่ที่ความคิด "ประชาธิปไตยแบบไทย"

มีชัยให้สัมภาษณ์นักข่าวญี่ปุ่น หลังเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญว่า แนวคิดประชาธิปไตยของเขายึดตามหลักการของพุทธทาสภิกขุ คือ อำนาจจะต้องเป็นสำหรับประชาชน แต่อำนาจต้องรับใช้ผลประโยชน์ที่ดีที่สุดของประชาชน กล่าวคือความคิดประชาธิปไตย มีอำนาจเพื่อประชาชน แต่ไม่ใช่โดยพวกมึง เพราะพวกมึงยังโง่อยู่

ถ้ามองลึก ความคิดชี้นำเบื้องหลังคือ แนวคิดประชาชนบ้าบอ เห็นแก่ตัว ไม่รู้ได้ ดังนั้น ประชาธิปไตยคือการปกครองเพื่อประชาชน แต่โดยประชาชนไม่ได้  

สาม มองอย่างเป็นระบบ เมื่ออ่านร่างจบแล้ว รู้สึกว่า นี่มันรัฐธรรมนูญที่สะท้อนให้เห็น "รัฐพันลึก" โดยพื้นผิว รัฐธรรมนูญพูดเรื่องสิทธิชุมชน ประชาชนเสนอร่างกฎหมาย ป้องกันคอร์รัปชัน ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่เมื่อถึงจังหวะคับขัน โครงสร้างอำนาจส่วนลึกของรัฐราชการไทย จะโผล่ขึ้นบนผิวน้ำทันที อำนาจตรวจสอบแต่งตั้งจะโผล่ขึ้นมา ให้สังเกตคำว่า ยุทธศาสตร์ชาติ ปฏิรูป วุฒิสภา สรรหา คณะกรรมการองค์กรอิสระ คำเหล่านี้ส่งซิกว่ามีอำนาจดุลพินิจ วินิจฉัย ตัดสินการดำรงตำแหน่งของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และสัดส่วนของคนที่มาจากการแต่งตั้งมากกว่าเลือกตั้งเสมอ

ส่วนการแก้รัฐธรรมนูญ ต้องมีถึงสี่ด่าน ขณะที่ในรัฐธรรมนูญ 2550 ขั้นตอนแก้น้อยกว่านี้ยังแก้ไม่ได้ ทั้งหมดแปลว่ายากที่จะสร้างการนำระดับชาติที่เข้มแข็งที่มาจากการเลือกตั้งเสียงข้างมากของประชาชน เพราะถูกรัฐพันลึกยิงตอร์ปิโดใส่

ร่างรัฐธรรมนูญนี้กับระเบียบอำนาจ คสช. เป็นแพ็คเกจเดียวกัน ตอนไปโหวตไม่ใช่การรับ-ไม่รับเฉพาะร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ระเบียบอำนาจ คสช. ด้วย ถ้ายังนึกไม่ออก ให้ลองนึกถึงรายการหกโมงเย็น และรายการพิเศษวันศุกร์

ถ้าเราโชคดี รายการเหล่านี้จะอยู่กับเราไป 20 ปี อาจมีปัญหากับดักรายได้ปานกลาง แต่เราจะประหยัดไฟ

ร่างรัฐธรรมนูญนี้พ่วงเอาระเบียบอำนาจเป็นแพคกัน แก้ยากมาก นอกจากนี้ยังประกันความต่อเนื่องของระเบียบ คสช. ให้อยู่ต่อจนมีรัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้ง ทั้งวุฒิสภาเฉพาะกาล คณะกรรมการ ยุทธศาสตร์ชาติ  

สำหรับ "ยุทธศาสตร์ชาติ" นั้น มีการอธิบายสาระสำคัญของร่างว่า มุ่งให้ดำเนินการ 20 ปี สี่รัฐบาล เป็นแม่บทหลักที่เป็นกรอบนโยบาย เบ็ดเสร็จ ครอบทั้งหมด ทั้งนโยบายรัฐสภา ครม. ทั้งยังมีผลผูกพัน รัฐสภา ครม. ทุกสมัย แม้ไม่ได้ให้ความเห็นชอบ ถือว่าเห็นชอบ นี่ยิ่งกว่าแผนสภาพัฒน์ที่ครอบคลุมแค่เศรษฐกิจ สังคม แต่นี่ทุกด้านและมีบทลงโทษด้วย และในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ สัดส่วนฝ่ายแต่งตั้งมากกว่าฝ่ายเลือกตั้ง

ระเบียบอำนาจ คสช. ซึ่งเป็นแพคเกจเดียวกับร่างรัฐธรรมนูญ มีสี่ประการ คือ

1) สถานการณ์ไม่ปกติ ดังนั้น ต้องใช้อำนาจพิเศษ ภาวะยกเว้นที่ปลอดความขัดแย้งทางการเมือง ใต้อำนาจอาญาสิทธิ์

2) ประชาธิปไตยย้อนยุคใต้การกำกับของสถาบันที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

3) เพิ่มอำนาจบังคับและบทบาทการเมืองของกองทัพ

4) เศรษฐกิจประชารัฐ ใต้อำนาจนำของรัฐราชการและทุนใหญ่

สี่ เมื่อมองไปข้างหน้า  

เรามาถึงจุดที่รัฐเข้มแข็งไม่ได้ถ้าสังคมไม่เข้มแข็ง

รัฐที่ระแวงมองสังคมเสียงข้างมากเป็นศัตรูไม่อาจเข้มแข็งได้และไม่อาจปฏิรูปได้

ระบอบเดียวที่จะทำให้รัฐและสังคมไทยสนธิพลังร่วมเข้มแข็งไปด้วยกัน ปฏิรูปได้ คือระบอบประชาธิปไตย

และร่างรัฐธรรมนูญนี้อาจไม่ตอบโจทย์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อย่าซ้ำรอย!การทวงคืนความยุติธรรมในสงครามสกปรกของกองทัพอาร์เจนตินา (1)

$
0
0


“วงเวียนแห่งความรัก” ที่จัตุรัสมาโย กรุงบัวโนสไอเรส, ปี 1981
ภาพจาก
https://clas.uchicago.edu/blog

“สงครามสกปรก” (the Dirty War) และการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมในอาร์เจนตินา ได้สร้างบทเรียนที่น่าสนใจหลายประการ เช่น

  • จำนวนเหยื่อที่ถูกคุมขังทรมาน-อุ้มหายสูงมาก ชี้ว่ามีกลไกและเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องกว้างขวางมาก  นี่เป็นเรื่องระดับนโยบายของรัฐ ไม่ใช่ผู้ปฏิบัติงานระดับล่างทำกันเองตามอำเภอใจ
     
  • การต่อสู้เพื่อทวงคืนชีวิตและความยุติธรรมเริ่มจากแม่บ้านกลุ่มเล็ก ๆ ที่ไม่เคยสนใจทางการเมืองมาก่อน  นำไปสู่การศึกษาบทบาทของผู้หญิงในการต่อสู้ทางการเมือง
     
  • อะไรทำให้ความยุติธรรมในช่วงเปลี่ยนผ่านเจออุปสรรคมากมาย และทำท่าว่าจะไปไม่รอดหลายครั้งหลายหน
     
  • การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจและการต่อสู้ขยายพื้นที่ประชาธิปไตยเป็นสิ่งสำคัญต่อการสถาปนาความยุติธรรม
     
  • ขอบเขตของ “เหยื่อ” ไม่ได้มีแค่คนที่เสียชีวิต-ถูกอุ้มหาย แต่ยังรวมถึงทารกแรกเกิดที่ถูกพรากจากครอบครัว ทำให้การติดตามหาเหยื่อใช้เวลาต่อเนื่องยาวนานจนถึงปัจจุบัน ประการสำคัญ เมื่อเหยื่อยังมีชีวิตอยู่ อายุความของคดีอาญาย่อมไม่สิ้นสุด การเอาผิดย่อมกระทำได้
     
  • เมื่อการเมืองและสังคมเปลี่ยน การตีความกฎหมายก็เปลี่ยนไปด้วย
     
  • การกดดันจากภายนอกประเทศส่งผลต่อการปรับตัวของกระบวนการยุติธรรมในประเทศเพราะกลัวการแทรกแซงและกระทบต่อ “อำนาจอธิปไตย” ในทางการศาล
     
  • เจตน์จำนงของผู้นำทางการเมืองมีความสำคัญอย่างยิ่ง
     
  • การต่อสู้เพื่อสิทธิในชีวิต สิทธิที่จะได้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับคนรักที่สูญหายไป สิทธิที่จะได้รับความยุติธรรม ส่งผลให้ระบอบประชาธิปไตยเข้มแข็งมากขึ้น

ฯลฯ

ฉะนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่มีหนังสือ-บทความ ภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับ “สงครามสกปรก” ในอาร์เจนตินาออกมามากมาย เป็นกรณีศึกษาความรุนแรงโดยรัฐและความยุติธรรมในช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญอย่างยิ่งกรณีหนึ่งในแวดวงการศึกษาและสื่อมวลชนต่างประเทศ

บทความชิ้นนี้ อันเป็นตอนที่หนึ่งของสงครามสกปรกในอาร์เจนตินา จะให้ภาพรวมของความรุนแรง และกล่าวถึงขบวนการต่อสู้ทวงคืนชีวิตและความยุติธรรมของกลุ่มผู้หญิงที่เรียกตัวเองว่า “สมาคมแม่แห่งจัตุรัสมาโย” (the Association of the Mothers of the Plaza de Mayo) และ “สมาคมย่ายายแห่งจัตุรัสมาโย” (the Association of the Grandmothers of the Plaza de Mayo)

0000


  21 September 1983. ภาพโดย Daniel García
รูปเงาดำนับพันรูป พร้อมชื่อของคนที่สูญหายไป ถูกนำไปติดตามผนังตึกในใจกลางเมืองบัวโนส ไอเรส
afterall.org/photographs-and-silhouettes-visual-politics-in-the-human-rights-movement-of-argentina


“สงครามสกปรก” (the Dirty War) หรือภายใต้ชื่อทางการว่า “กระบวนการจัดองค์กรแห่งชาติ” (the Process of National Reorganization) เริ่มขึ้นหลังการรัฐประหารในเดือนมีนาคม 2519 นำโดยพลตรี จอร์จ ราฟาเอล วิเดลา (Jorge Rafael Videla) ไม่กี่เดือนก่อนรัฐประหาร วิเดลาบอกกับผู้สื่อข่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า “เพื่อที่จะสร้างหลักประกันให้กับความมั่นคงของรัฐ คนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต้องตาย” (In order to guarantee the security of the state, all the necessary people will die) และเมื่อถูกถามว่าใครบ้างที่จัดอยู่ในข่ายบ่อนทำลายความมั่นคงของรัฐ เขาตอบว่า “ใครก็ตามที่อยู่ตรงข้ามกับวิถีชีวิตแบบอาร์เจนตินา”[1]พูดง่ายๆ คือ ใครก็ตามที่ไม่มีความเป็นไทยอาร์เจนตินา  ทันทีหลังการรัฐประหาร สงครามสกปรกก็เริ่มขึ้นอย่างเป็นกระบวนการและกว้างขวาง ด้วยการอุ้มหายหรือถูกบังคับให้สูญหาย (Forced disappearance) ระบอบทหารมีอำนาจอยู่จนถึงปี 2526


สัญลักษณ์ผ้าผูกผมสีขาว ถูกวาดลงบนพื้นของจัตุรัสมาโย
wikipedia.org/wiki/Mothers_of_the_Plaza_de_Mayo

วิธีการสกปรก

อันที่จริงก่อนการรัฐประหารในปี 2519 กองทัพได้เริ่มสงครามสกปรกอย่างลับๆ ต่อผู้ที่ถูกสงสัยว่าเป็นพวกฝ่ายซ้าย/คอมมิวนิสต์ โดยนับแต่กลางทศวรรษ 2510 กระบวนการฝ่ายซ้ายติดอาวุธในอาร์เจนตินาเติบโตมากขึ้นทั้งในเมืองและชนบท ทั้งสองฝ่ายใช้ความรุนแรงต่อกันและกัน แต่ความรุนแรงโดยทหารมีสูงกว่ามากโดยเฉพาะนับแต่ปี 2519 เป็นต้นมา   

ภายหลังรัฐบาลจากการเลือกตั้งขึ้นปกครองประเทศในปี 2526 ประธานาธิบดีราอูล อัลฟองซิน (Raul Alfonsin) ได้แต่งตั้ง “คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการสูญหายของบุคคล” หรือ “CONADEP” (National Commission of the Disappearance of Persons) เพื่อรวบรวมข้อเท็จจริงของอาชญากรรมภายใต้รัฐบาลทหาร  สองปีหลังจากนั้น CONADEP ได้เผยแพร่รายงานชื่อ Nunca Mas![2]  (Never Again!) หรือ “อย่าซ้ำรอย!รายงานระบุว่าระหว่างปี 2516-2526 มีคนที่ถูกอุ้มหายอย่างน้อย 8,961 คน อีกราว 1,300 คนยังไม่ทราบชะตากรรม ส่วนองค์กรสิทธิฯประเมินตัวเลขไว้ที่ราว 30,000 คน ขณะที่เอกสารของตำรวจลับชิลี ที่ประจำการอยู่ในบัวโนสไอเรส เมืองหลวงของอาร์เจนตินา ระบุว่าในช่วงเวลาเพียง 3 ปี (2518- ก.ค. 2521) พวกเขานับจำนวนคนที่เสียชีวิตและสูญหายได้ถึง 22,000 คน[3]

ตามรายงานของ CONADEP ร้อยละ 80 ของคนที่ถูกอุ้มหายเป็นคนหนุ่มสาวที่อยู่ในช่วงอายุ 16-35 ปี ร้อยละ 30 เป็นผู้หญิง และร้อยละ 3 ของผู้หญิงเหล่านี้กำลังตั้งครรภ์ เหยื่อมีทุกสาขาอาชีพ (นักเรียน ผู้นำแรงงาน ทนายความ สื่อมวลชน นักวิทยาศาสตร์ ศิลปิน นักสิทธิมนุษยชน เอ็นจีโอ ครูอาจารย์ แม่ชี นักบวช และคนต่างชาติ) การลักพาตัวส่วนใหญ่เกิดขึ้นในยามวิกาล บางครั้งทหารก็ลากเหยื่อจากข้างถนนขึ้นรถ บางครั้งก็ลากตัวออกจากที่พัก ในหลายกรณีมีคนในครอบครัวและเพื่อนบ้านเห็นเหตุการณ์ บางครั้งการทรมานและการข่มขืนเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาคนในครอบครัว หลังจากนั้นพวกเขาจะถูกนำไปไว้ที่ค่ายคุมขัง โดยที่ญาติไม่รู้ว่าพวกเขาถูกพาไปที่ไหนด้วยข้อหาอะไร

เมื่อจำนวนคนที่ถูกอุ้มหายมีมากขนาดนี้ ค่ายคุมขังจึงต้องมีมากตามไปด้วย นั่นคือ 340 แหล่งทั่วประเทศ หลายแห่งอยู่ในค่ายทหารและตำรวจ การดำรงอยู่ของค่ายคุมขังจำนวนมากขนาดนี้ ในระยะเวลาที่ยาวนานเช่นนี้ ยังหมายความต่อว่า ต้องมีการสนับสนุนทั้งกำลังคนและงบประมาณจำนวนมากจากรัฐบาลและกองทัพ มีกำลังพลจำนวนมากในกองทัพรับรู้และเกี่ยวข้องด้วย  และยังหมายความต่อว่าอาชญากรรมนี้คือนโยบายต่อเนื่องของรัฐบาลทหาร คนที่รอดชีวิตออกมาได้เล่าว่าพวกเขาเห็นนายทหารระดับสูงเข้ามาที่ค่ายคุมขัง  กระนั้นก็ตาม รัฐบาลทหารก็มักปฏิเสธไม่รู้ไม่เห็น และอ้างว่าคนที่หายไปนั้น หนีออกนอกประเทศ หรือถูกฝ่ายเดียวกันสังหารทิ้งเพื่อโยนความผิดให้กับรัฐบาล

ณ ค่ายคุมขัง พวกเขาจะเจอกับการสอบสวนด้วยวิธีซ้อมทรมาน ที่ไม่ได้มีจุดหมายอยู่เพียงการรีดเค้นเอาข้อมูลจากเหยื่อ แต่เพื่อดูถูกเหยียดหยามทำลายศักดิ์ศรีและความเป็นมนุษย์ของเหยื่อ  คนที่ยังมีโชคเหลืออยู่บ้าง จะถูกส่งไปยังเรือนจำและขึ้นศาลทหารเพื่อดำเนินคดีต่อไป (คนเหล่านี้ภายหลังเป็นประจักษ์พยานสำคัญบอกเล่าการซ้อมทรมานและเพื่อนร่วมชะตากรรมที่ไม่มีโอกาสรอดชีวิต) แต่คนที่โชคร้ายจะถูกสังหารทิ้งด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น ทรมานจนเสียชีวิต สังหารหมู่แล้วฝังรวมกัน หรือเผาศพทิ้งด้วยน้ำมันและยางรถยนต์ บางคนถูกเผาขณะที่ยังมีลมหายใจอยู่ หลังทหารหมดอำนาจ มีความพยายามติดตามหาร่องรอยของเหยื่อ และพบว่ามีหลุมศพหมู่ (mass grave) จำนวนมากที่ไม่สามารถระบุตัวตนของผู้ตายได้

จำนวนมากถูกฉีดยาสลบให้หลับ แล้วนำขึ้นเฮลิคอปเตอร์ออกไปกลางทะเล ก่อนจะถูกถีบลงมา ศพจำนวนมากลอยมาเกยชายฝั่งทะเลของอาร์เจนตินาและประเทศเพื่อนบ้าน การชันสูตรพลิกศพพบว่าพวกเขาถูกทรมานและพบแรงกระแทกที่ชี้ว่าตกลงมาจากที่สูง

สำหรับผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ในระหว่างถูกคุมขัง เมื่อคลอดลูกออกมาแล้ว เด็กจะถูกขายไปให้ครอบครัวอื่น  แล้วสังหารพ่อแม่ทิ้ง นอกจากนี้ ยังมีเด็กจำนวนหนึ่งที่ถูกทหารลักพาตัวพร้อมกับผู้ใหญ่ในครอบครัว ถ้าเป็นเด็กที่โตจนยากแก่การอุปถัมภ์ของครอบครัวใหม่ ก็จะถูกสังหารทิ้ง  (มีกรณีที่เด็กอายุ 3 และ 5 ขวบถูกสังหารพร้อมแม่)[4]ส่วนเด็กทารกจะถูกนำไปให้ครอบครัวอื่นเลี้ยง บางครอบครัวเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของพ่อแม่เด็กโดยตรง พวกเขาเติบโตขึ้นโดยไม่รู้ความเป็นมาที่แท้จริงของตนเอง แต่ปู่ย่าตายายยังพยายามดั้นด้นตามหาลูกหลานของพวกเขาต่อไป ประมาณว่ามีเด็กถึง 500 คนที่ถูกพรากไปจากครอบครัว จนถึงปี 2557 พวกเขาตามหาเด็กเจอ 114 คนแล้ว[5]


ที่มาภาพ: https://madresdemayo.wordpress.com/the-dirty-war/

ท้าทายอำนาจรัฐด้วยวงเวียนแห่งความรัก (the Circle of Love)[6]

 

เผด็จการทหารทำให้สังคมอาร์เจนตินาตกอยู่ภายใต้ความกลัวและความเงียบงัน การท้าทายในรูปของการประท้วงหรือตั้งคำถามสามารถทำให้ประชาชนกลายเป็นอาชญากรของรัฐได้ คนกลุ่มแรกที่ออกมาท้าทายอำนาจรัฐคือ แม่บ้านกลุ่มหนึ่งที่เริ่มต้นจาก 14 คน และเพิ่มจำนวนเป็นหลายร้อยคนในเวลาต่อมา พวกเธอได้ร่วมกันจัดตั้งกลุ่ม “แม่แห่งจัตุรัสมาโย” (Mothers of the Plaza de Mayo) และ “ย่ายายแห่งจัตุรัสมาโย” (Grandmothers of the Plaza de Mayo) ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลต่อวัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวลและการพัฒนาประชาธิปไตยในอาร์เจนตินาในอีกสามทศวรรษต่อมา

ผู้หญิงส่วนใหญ่เหล่านี้เป็นแม่บ้านธรรมดา คนที่ทำงานก็เป็นอาชีพของผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ (เช่น รับจ้างเย็บเสื้อผ้า ทำความสะอาด)  พวกเธอได้มารู้จักกันเพราะสาเหตุเดียวคือ ออกตามหาลูกๆ ของเธอตามสถานที่ราชการ สถานีตำรวจ ค่ายทหาร ทำเนียบรัฐบาล ฯลฯ แต่ก็ไม่ได้คำตอบใด ๆ เมื่อได้พบผู้หญิงอีกหลายคนที่ตกอยู่ในสภาพเดียวกับตน และเชื่อว่าน่าจะมีอีกมากที่ยังไม่ได้พบเจอ พวกเธอนัดพบกัน แลกเปลี่ยนข้อมูลกันบ่อยขึ้น ในที่สุด พวกเธอทั้ง 14 คน ภายใต้การนำของหญิงแกร่ง อาซูซีนา (Azucena Villaflor de DeVincenti) ที่ลูกชายถูกอุ้มหายไปเช่นกัน ได้ตัดสินใจประกาศเรื่องของตนเองให้สาธารณชนได้รับรู้ ด้วยการนัดเดินเป็นวงกลมรอบจัตุรัสมาโย ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามกับทำเนียบรัฐบาลและเป็นพื้นที่ที่ประชาชนมักจัดกิจกรรมทางสังคม  เพื่อเรียกร้องให้ประธานาธิบดีวิเดลา ตอบคำถามว่าลูกๆของเธอหายไปไหน

แม่ 14 คนนี้เริ่มเดินครั้งแรกในวันที่ 30 เมษายน 2520 ไม่ว่าฝนจะตก แดดจะแรงแค่ไหน วงเวียนแห่งความรักนี้จะปรากฏขึ้นทุกบ่ายวันพฤหัสบดี ยิ่งเดิน จำนวนแม่ก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นหลายร้อยคน  พวกเธอมีจุดหมายเดียวกันคือ เรียกร้องขอลูกคืน

แต่เพียง 8 เดือนหลังจากนั้น อาซูซีนา และแม่ผู้ก่อตั้งกลุ่มอีกสองคน คือ มาเรีย (Maria Eugenia Ponce de Bianco) และเอสเธอร์ (Esther Bllestrino de Careago) ก็ถูกลักพาตัวออกจากบ้านและหายสาบสูญไป ดูเหมือนอาซูซีนารู้ดีว่าเธอตกอยู่ในภาวะเสี่ยงอย่างไร ไม่กี่วันก่อนจะเกิดเหตุร้าย เธอจึงบอกกับเพื่อนๆ ในกลุ่มว่า “หากมีอะไรเกิดขึ้นกับฉัน พวกเธอเดินหน้าต่อไป อย่าลืมเด็ดขาด!”[7]

การอุ้มหายของแม่สามคนทำให้คนที่เหลืออยู่หวาดกลัว และการเดินหยุดชะงักลงชั่วคราว แต่ความกลัวก็ไม่สามารถเอาชนะความรักของพวกเธอได้ ไม่นานหลังจากนั้น พวกเธอกลับมารวมตัวกันใหม่ภายใต้การนำของเอเบ้ เด โบนาฟินี่ (Hebe De Bonafini) และแข็งแกร่งยิ่งขึ้น

แม้จะเป็นหญิงชาวบ้านธรรมดา แต่พวกแม่-ย่ายายพยายามทุกวิถีทางที่จะไม่ยอมให้การหายตัวไปของลูกๆ “เงียบหายไป” พวกเธอเรียนรู้-คิดค้นสารพัดวิธีที่จะทำให้โลกรับรู้ความทุกข์ของพวกเธอ (ได้รับการสนับสนุนด้านการเงินและคำแนะนำด้านยุทธวิธีจากเอ็นจีโอกลุ่ม SERPAJ ด้วย) จนได้รับความสนใจจากสาธารณชน สื่อทั้งและต่างประเทศ วิธีการที่พวกเธอใช้ เช่น[8]           

  • แต่ละคนมีสัญลักษณ์เป็นผ้าสีขาวผูกผม ปักชื่อลูกไว้บนผ้า และถือภาพถ่ายของลูกไว้
     
  • ในปี 2521 อาร์เจนตินาเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก การเดินขบวนของพวกแม่กลายเป็นจุดสนใจของนักข่าวจากทั่วโลก โดยเฉพาะเมื่อมีนักฟุตบอลบางคนจากทีมยุโรปร่วมเดินขบวนด้วย เช่นเดียวกัน เมื่อมีการประชุมอนามัยโลกที่บัวโนส ไอเรส พวกแม่ก็ไปปรากฏตัวและได้รับความสนใจจากสื่อต่างชาติ
     
  • จัดพิมพ์จดหมายข่าว
     
  • เดินสายต่างประเทศเพื่อบอกเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเธอ พวกเธอได้รับการสนับสนุนจาก สหประชาชาติ, Amnesty International, รัฐบาลคาร์เตอร์ของสหรัฐอเมริกา
     
  • ซื้อโฆษณาหนังสือพิมพ์เพื่อตีพิมพ์จดหมายเปิดผนึกถึงประธานาธิบดี ศาลฎีกา ผู้บัญชาการทหาร ผู้นำคณะรัฐประหาร ผู้นำศาสนา พร้อมด้วยชื่อคนที่สูญหาย
     
  • แจกจ่ายเอกสารและโปสเตอร์ตามสถานที่สาธารณะ บนรถประจำทาง รถไฟ สภาคองเกรส
     
  • เชิญชวนคนมีชื่อเสียงแสดงการสนับสนุนการรณรงค์ของพวกเธอ
     
  • จัดประชุมลับที่บ้านหรือโบสถ์ในเวลาที่การเดินขบวนทำไม่ได้หรือเสี่ยงเกินไป
     
  • จดทะเบียนจัดตั้งสมาคมแม่และย่าย่ายแห่งจัตุรัสมาโย และจัดตั้งสาขาในต่างจังหวัด
     
  • ขัดขืนไม่ยอมรับกฎหมายที่ห้ามการชุมนุมประท้วง
     
  • ประกาศไม่สนับสนุนการทำสงครามฟอล์คแลนด์ เพราะเห็นว่าเป็นความพยายามเบี่ยงเบนปัญหาภายในของรัฐบาลทหาร
     
  • ใช้ยุทธวิธี “ฟ้าแลบ” รวมกลุ่มกันวิ่งฝ่าเครื่องกีดขวางของตำรวจ ที่ไม่ยอมให้พวกเธอเข้าไปใช้พื้นที่จัตุรัสมาโย
     
  • วาดรูปเงาดำนับพันรูป พร้อมชื่อของคนที่สูญหายไป ติดตามผนังตึกในใจกลางเมืองหลวง


เมื่อเข้าสู่กลางทศวรรษ 2520 วิกฤติเศรษฐกิจทำให้ความนิยมของทหารเสื่อมถอยลงอย่างรวดเร็ว วิธีการกำจัดประชาชนเริ่มถูกตั้งคำถามจากคนในสังคม เมื่อความนิยมเริ่มเสื่อมถอย รัฐบาลทหารแก้ปัญหาด้วยการตัดสินใจพาประเทศเข้าสู่สงคราม หวังใช้กระแสชาตินิยมกลบปัญหาภายในประเทศ ด้วยการบุกยึดหมู่เกาะมาร์วินัส (Marvinas) หรือฟอล์คแลนด์ (Falklands) ที่อยู่ใต้การยึดครองจากอังกฤษ สงครามดำเนินอยู่สามเดือน (ในวันที่ 2 เม.ย.-ก.ค. 2525) ผลคือ อาร์เจนตินาพ่ายแพ้อย่างยับเยินจนต้องประกาศยอมแพ้

ความพ่ายแพ้นี้ทำให้ระบอบทหารถูกโจมตีจากประชาชนมากขึ้น นายพลลิโนโปลโด ฟอร์ตูนาโต กัลเตียรี่ ต้องลงจากตำแหน่งประธานาธิบดีในทันที คนที่สืบทอดอำนาจต่อคือนายพลเรย์นัลโด เบนิโต แอนโตนิโอ บิโยเน (Reynaldo Benito Antonio Bignone) เศรษฐกิจที่ดิ่งเหวทำให้บิโยเนตัดสินใจประกาศคืนอำนาจให้ประชาชน จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนตุลาคม 2526

หลังสงครามฟอล์คแลนด์ กลุ่มแม่-ย่ายายได้รับการสนับสนุนจากประชาชนมากขึ้น พวกเธอประกาศแผน “March of Resistance” (ก้าวแห่งการขัดขืน) ในวันที่ 10 ธันวาคม 2526 โดยเดินรอบจตุรัสมาโยติดต่อกัน 24 ชั่วโมง มีประชาชนนับพันคนร่วมเดินกับพวกเธอ นี่เป็นสัญลักษณ์ที่ชี้ว่าระบอบทหารหมดสิ้นความชอบธรรมแล้ว

หลังจากนี้ รัฐบาลพลเรือนภายใต้การนำของประธานาธิบดีราอูล อัลฟองซิน (Raul Alfonsin) มีเจตน์จำนงอันแน่วแน่ที่จะนำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่เขาก็ต้องประสบกับการโต้กลับของกองทัพหลายครั้งหลายหนจนต้องยอมประนีประนอม แม้ทหารจะไม่ได้เป็นรัฐบาลอีกต่อไป แต่พวกเขายังมีกองกำลังและอาวุธเป็นเครื่องมือต่อรองกับรัฐบาลพลเรือน รวมทั้งเครือข่ายอำนาจรัฐเก่ายังช่วยกันทำงานปกป้องกองทัพอย่างแข็งขัน ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยของอาร์เจนตินาต้องใช้เวลายาวนานอีกถึงสองทศวรรษ  

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

 

 

เชิงอรรถ

[1] Rita Arditti, “The Grandmothers of the Plaza de Mayo and the Struggle against Impunity in Argentina”, Meridians: feminism, race, transnationalism, Vol 3, No. 1, (2002), p. 19.

[2]ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับสงครามสกปรก อ้างจาก Nunca Más (Never Again), Report of Conadep (National Commission of the Disappearance of Persons), 1984. http://www.desaparecidos.org/nuncamas/web/english/library/nevagain/nevagain_001.htm

[3]“On 30th Anniversary of Argentine Coup, New declassified details on repression and U.S. support for military dictatorship”, The National Security Archives. 23 March 2006, http://nsarchive.gwu.edu/NSAEBB/NSAEBB185/

[4] "Nieto Recuperado" - Born to Parents Disappeared by Argentina's Dictatorship, Kidnapped and Raised by a Military Family, a "Recovered Grandchild" Finds His Way Home”, Democracy Now. 12 November 2010. http://www.democracynow.org/2010/11/12/nieto_recuperado_born_to_parents_disappeared

[5]“Grandmother Finds Grandson, Abducted In Argentina's Dirty War”, NPR. 7 August 2014, http://www.npr.org/sections/parallels/2014/08/07/338498098/activist-finds-her-grandson-abducted-during-argentinas-dirty-war

[6]มาจากชื่อหนังสือ Circle of Love over Death: Testimonies of the Mothers of the Plaza de Mayo by Matilde Mellibovsky, translated by Maria and Matthew Proser, (Willimantic, CT: Curbstone Press, 1997).

[7] Rita Arditti, op.cit. p. 21.

[8] Lester Kurtz, “The mothers of the disappeared challenging the junta in Argentina (1977-1983)”, International Center on Nonviolent Conflict July 2010, https://www.nonviolent-conflict.org/the-mothers-of-the-disappeared-challenging-the-junta-in-argentina-1977-1983/เข้าถึงข้อมูลวันที่ 20 พฤษภาคม 2559. 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สำรวจความเป็นประชาธิปไตยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

$
0
0


บทความต่อไปนี้ถือว่าเป็นภาค 2  ต่อจากบทความของผู้เขียนเองเมื่อปี 2014 ที่ชื่อว่า “ไทยเป็นเผด็จการ อันดับที่เท่าไรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”อันได้รับแรงบันดาลใจมาจาก การที่ผู้เขียนสังเกตเห็นว่าเด็กรุ่นใหม่ถึงแม้จะผ่านการเรียนเรื่องอุษาคเนย์ (ชื่อของภูมิภาคนี้ที่ตั้งโดยคุณไมเคิล ไรท์) มาแล้ว ในโรงเรียนอย่างละเอียด แต่เมื่อก้าวเข้ามาในระดับอุดมศึกษากลับมีความรู้หรือความทรงจำเกี่ยวกับภูมิภาคนี้น้อยมาก จนหลายคนยังไม่รู้เสียด้วยซ้ำว่า เมืองหลวงของฟิลิปปินส์ชื่ออะไร ดังนั้น จึงไม่ต้องพูดถึงมิติทางการเมืองหรือเรื่องที่ซับซ้อนขึ้นไป ไม่ว่าสถาบันบริหาร รัฐธรรมนูญ หรืออุดมการณ์ทางการเมืองของประเทศนั้น ๆ  ดังเช่นที่ผู้เขียนได้ยินท่านผู้รู้คนหนึ่งพูดเป็นทำนองว่า “ปัจจุบันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีแต่เราประเทศเดียวที่เป็นเผด็จการ ประเทศอื่นเขาไปถึงไหนแล้ว![1]         

    
บทความนี้ เป็นการสำรวจความเป็นประชาธิปไตยของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยใช้เกณฑ์เดิมจากบทความที่แล้ว นั่นคือ ดัชนีการวัดความเป็นประชาธิปไตยในปี 2015 ขององค์กร  Economist Intelligence Unit [2]โดยทำการสำรวจประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ถึง 167 ประเทศ  บทความขอแบ่งประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็น 3  กลุ่ม คือ กลุ่มประชาธิปไตย ติดลมบน  คงเส้นคงวา และขาลงเนื่องด้วยเหตุการณ์ทางการเมืองของแต่ละประเทศมีความหลากหลายและซับซ้อน ผู้เขียนจึงขอยกตัวอย่างสำคัญ ๆ ทางการเมือง อันสอดคล้องกับคะแนน และอันดับของประเทศนั้น ๆ  ดังต่อไปนี้

      
 ติดลมบน

สำหรับ อินโดนีเซีย นั้น เริ่มต้นพัฒนาการเป็นประชาธิปไตย (Reformasi) ภายหลังจากซูฮาร์โตพ้นจากเก้าอี้ประธานาธิบดีในปี 1998  จนปัจจุบันอดีตอาณานิคมของดัตช์แห่งนี้ มีดัชนีประชาธิปไตยอยู่ในอันดับที่ 49 สูงขึ้นจากเดิม คือ อันดับ 53 อันมีปัจจัยสำคัญมาจากการที่ นายโจโค วิโดโด ได้เป็นประธานาธิบดีในปี 2014 แม้ว่าเขาจะไม่ได้อยู่ในแวดวงชนชั้นนำก็ตาม โดยเริ่มต้นจากการเป็นนักธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ จนได้เป็นผู้ว่าการนครจาการ์ตา เหตุการณ์อื่นที่ทำให้อินโดนีเซียได้คะแนนมาหลายแต้ม คือ เมื่อปี 2015  นายวิโดโด แต่งตั้งผู้บัญชาการทหารบก ให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพสูงสุด แทนที่จะเป็นผู้บัญชาการทหารอากาศ ตามธรรมเนียมของกองทัพอินโดนีเซีย ที่ให้ผู้นำเหล่าทัพต่าง ๆ ผลัดกันขึ้นดำรงตำแหน่งนี้ โดยการตัดสินใจของนายวิโดโด ไม่ได้นำไปสู่แรงต้าน หรือผลกระทบทางการเมืองอย่างชัดเจน อันสะท้อนว่ากองทัพได้อยู่ภายใต้การควบคุมของพลเรือน อันเป็นไปตามครรโลงของประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตาม นายวิโดโดยังต้องพยายามแก้ตัวจากการไม่ค่อยประสบความสำเร็จนักในรอบ 2 ปีที่ผ่านมาในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ไม่ว่าด้านเศรษฐกิจ และการฉ้อราษฎร์บังหลวง ซึ่งฝังลึกในสังคมอินโดนีเซีย หรือวัฒนธรรมทางการเมืองแบบอนุรักษ์นิยม ที่มักเปิดช่องให้กลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงเข้าคุกคามสิทธิและเสรีภาพของชนกลุ่มน้อย นอกจากนี้ นายวิโดโดต้องเผชิญกับการแทรกแซงการบริหารประเทศจากกลุ่มอำนาจที่หนุนเขาขึ้นมา คือ พรรคการเมืองประชาธิปไตยอินโดนีเซียเพื่อการต่อสู้ และมีประธานพรรค คือ อดีตประธานาธิบดีเมกาวาตี ซูการ์โนปุตรี นั่นเอง[3] อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีคนปัจจุบันยังได้รับข่าวดี คือ พรรคโกลคาร์ ซึ่งเป็นพรรคที่มีคะแนนเสียงมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ได้ประกาศสนับสนุนเขาอย่างเต็มที่ อันจะทำให้การออกกฎหมายและนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลได้รับความสะดวกเพิ่มขึ้น 

ส่วน พม่า  ปัจจุบันอยู่ในอันดับที่ 114 โดยขยับขึ้นจากอันดับเดิมเมื่อหลายปีก่อนอย่างน่าตกใจ คือ 155   การพุ่งทะยานขึ้นเช่นนี้ เกิดจากการที่รัฐบาลจากการเลือกตั้งได้เข้ามาปกครองประเทศเป็นครั้งแรก ตั้งแต่ปี 1962  พร้อมกับบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เช่น การปลดปล่อยนักโทษการเมือง และเสรีภาพสื่อมวลชนที่เปิดกว้างกว่าเดิม อนึ่ง พม่าจะมีอันดับของประชาธิปไตยสูงขึ้นไปอีกในอนาคต หรือคงที่ หรือว่าอาจจะลดลงนั้น ต้องรอดูว่ากองทัพจะจริงใจมากน้อยเพียงใดในการผลักดันให้ประเทศเป็นเสรีนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ หรือเพียงต้องการให้เป็นประชาธิปไตยในฐานะภาพจำแลงของเผด็จการ โดยอาศัยภาพของนางอองซาน ซูจี มาบังหน้า และพม่ากลับมาตกอยู่ในการปกครองค่อนไปทาง duumvirate คือ คน 2 คน มีอำนาจปกครองร่วมกัน โดยนางอองซาน ในฐานะที่ปรึกษาแห่งรัฐ เป็นผู้มีอำนาจที่แท้จริงเหนือนายถิ่น จอ ซึ่งทำให้เป็นการปกครองที่ขาดระบบชัดเจน ไม่เป็นระบบ เพราะความด้อยอำนาจและศักดิ์ศรีของประมุขสูงสุดของรัฐ  อีกทั้งทางพรรคแกนนำรัฐบาลยังไม่สามารถหาคนรุ่นใหม่มาเป็นผู้นำ ซึ่งมีบารมีแทนนางอองซาน แม้แต่ตัวประธานาธิบดี คนปัจจุบัน คือ นายถิ่น จอ ก็ตาม  จึงเป็นไปได้ว่าหากรัฐบาลไม่สามารถปฏิรูปโครงสร้างทางการเมืองในขณะนี้ได้ ในการเมืองภายหลังยุคนางอองซาน ซึ่งสูงอายุแล้ว พม่าก็จะได้ผู้นำที่อ่อนแอและตกเป็นหุ่นเชิดของอำนาจแฝงอย่างเช่นกองทัพ ถึงแม้พม่าจะก้าวเข้าสู่ระบบหลายพรรคการเมืองก็ตาม        

ปัจจัยสำคัญที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ ความทะเยอทะยานของนางอองซานเอง จนกลายสภาพเป็นนักการเมือง ที่คำนึงถึงคะแนนความนิยม ไม่ใช่วีรสตรีที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเหมือนแต่ก่อน ภาพนี้ยังถูกตอกย้ำเมื่อเธอปฏิเสธไม่ยอมกล่าวถึงการที่ชาวโรฮิงญาถูกสังหารหมู่และต้องเผชิญกับการใช้ความรุนแรงและการกีดกันในทุกรูปแบบจากชาวพุทธหัวรุนแรง อันเป็นไปได้ว่ารัฐบาลของเธอก็จะปฏิบัติต่อชาวโรฮิงญา  อย่างไม่น่าแตกต่างจากรัฐบาลชุดก่อนมากนัก เพราะไม่ต้องการเสียคะแนนความนิยมจากประชาชน  นางซูจียังต้องพบกับปัญหาที่รัฐบาลทหารและของนายพลเต็ง เส่ง ประสบมา คือ ความล่าช้าในการเจรจาทางการเมืองกับชนกลุ่มน้อยเพื่อนำประเทศเข้าสู่ระบอบสหพันธรัฐอย่างแท้จริง       

อย่างไรก็ตามเป็นเรื่องตลกร้ายที่ว่า ประเทศซึ่งประสบความสำเร็จในเรื่องประชาธิปไตย หากเราใช้ดัชนีความเป็นประชาธิปไตยมาวัดกลับเป็นประเทศเล็ก ๆ ซึ่งยากจนที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนไม่ได้เป็นสมาชิกของสมาคมอาเซียน คือ ติมอร์เลสเตที่อยู่ในอันดับ 44 (ตกลงจากเดิม 1 อันดับ)  แม้ว่ายังคงถูกโจมตีในเรื่องการฉ้อราษฎร์บังหลวง หรือความโปร่งใสในการบริหารงานภาครัฐก็ตาม แต่ติมอร์เลสเตได้รับการยกย่องเรื่องการเลือกตั้งประธานาธิบดี และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี 2012 อันใสสะอาด (ติมอร์เลสเตมีการปกครองแบบรัฐสภาอันมีประธานาธิบดีเป็นประมุข)  เช่นเดียวกับการเปิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองแก่ประชาชนและสื่อมวลชน แม้ว่าจะมีกฎหมายในการจำกัดสิ่งเหล่านั้นอยู่บ้าง

คงเส้นคงวา

ประเทศในกลุ่มนี้ถือได้ว่าเป็นเผด็จการแบบมั่นคง หรือคงเส้นคงวาจนถึงปัจจุบัน มีอยู่ 5 ประเทศ ตัวอย่างแรกที่จะขอกล่าวถึง คือ ประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราช (อย่างเป็นทางการ) อย่างบรูไน จากมุมมองของตะวันตกนั้น ถือได้ว่ามีรัฐบาลที่ลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในทุกด้าน  เป็นที่น่าสนใจว่าบรูไนเคยมีระบบหลายพรรคการเมือง แต่พรรคการเมืองเหล่านั้นถูกยุติบทบาทภายหลังจาก สุลต่านโอมาร์ อาลี ไซฟุดดีนที่ 3 ประกาศกฎอัยการศึกในการปกครองประเทศ ตั้งแต่ปี 1962  จนถึงปัจจุบัน อีกทั้งยังยุบพรรคการเมืองอย่าง Brunei People's Party ซึ่งมีอุดมการณ์ค่อนไปทางซ้าย  นอกจากนี้ชีวิตอื้อฉาวของพระเชษฐาของสุลต่านองค์ปัจจุบัน คือ เจ้าชายเจฟริ โบลเกียห์ ไม่ว่าเรื่องส่วนตัวและการเกี่ยวข้องกับการฉ้อราษฎร์บังหลวงในโครงการของรัฐ เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความฉ้อฉลของชนชั้นนำ บรูไน จึงเป็นไปได้ว่าสาเหตุที่ทำให้สมเด็จพระราชาธิบดีฮัจญี ฮัสซานัล โบลเกียห์ ทรงประกาศใช้กฎหมายชารีอะฮ์ ก็เพื่อกลบเกลื่อนภาพเช่นนี้ เช่นเดียวกับต้องการให้กฎหมายดังกล่าวช่วยเหลือให้รัฐบาลสามารถแก้ไขปัญหาสังคมอันเสื่อมโทรมและเศรษฐกิจได้ถนัดมากขึ้น ความเป็นประชาธิปไตยของบรูไนจึงไม่น่าจะสู้ดีนักไม่ว่าปีนี้หรือในอนาคต  ถึงแม้ประเทศนี้จะไม่ได้อยู่ในรายชื่อของการสำรวจจากองค์กร  Economist Intelligence Unit อีกเช่นเคย

ต่อมาได้แก่ประเทศที่มีระบบพรรคการเมืองเดียว หรือระบบที่มีพรรคถูกกฎหมายเพียงพรรคเดียว อันได้แก่ เวียดนาม และลาว ซึ่งมีการผลัดใบหรือได้ผู้นำใหม่ในเวลาไล่เลี่ยกันของปีนี้ โดยภาพพจน์ของผู้นำสะท้อนถึงการปกครองแบบคณาธิปไตยที่แข่งขันแย่งอำนาจ โดยอาศัยระบบพวกพ้องในพรรคมากกว่าความสามารถและการแข่งขันเชิงนโยบายดังประเทศประชาธิปไตยเสรีนิยม เช่นเดียวกับข่าวของการฉ้อราษฎร์บังหลวงของสมาชิกพรรคและข้าราชการซึ่งมีอยู่อย่างสม่ำเสมอ และรัฐบาลยังเน้นการปราบปรามผู้มีความคิดเห็นต่างโดยเฉพาะผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์  ถึงแม้ทั้ง  2 ประเทศ มีการเลือกตั้งสำหรับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปีนี้ ภายใต้ชื่อ สมัชชาแห่งชาติ (National assembly) เหมือนกัน  แต่เป็นการเลือกตั้งที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้สมัคร ภายใต้อาณัติของพรรคคอมมิวนิสต์ อีกทั้งผู้สมัครรายอื่นไม่สังกัดพรรคใด และสมัชชาแห่งชาติเป็นเพียงสภาตรายาง เพราะพรรคคอมมิวนิสต์เป็นผู้กำหนดนโยบายการบริหารประเทศอย่างแท้จริง ดังนั้นทั้งเวียดนามและลาวจึงอยู่ในอันดับล่าง ๆ มาอย่างยาวนาน คือ ในอันดับที่ 128  และอันดับที่ 155 ถึงแม้อันดับจะสูงกว่าเมื่อก่อน คือ อันดับ144 และ 156 ตามลำดับ แต่ผู้เขียนคิดว่าเพราะประเทศอื่นที่อยู่ในอันดับใกล้เคียงนั้นมีความเป็นประชาธิปไตยลดลงเสียมากกว่า เพราะความผันผวนทางการเมือง ไม่ว่า ซีเรีย สาธารณรัฐแอฟริกากลาง  สาธารณรัฐคองโก ดังนั้น แนวโน้มของทั้งเวียดนามและลาวในการเป็นประชาธิปไตยจึงมีน้อยมาก[4]เสียยิ่งกว่ากัมพูชา เพราะพรรคคอมมิวนิสต์นั้นปกครองประเทศแบบคณาธิปไตย ที่อิงกับกลุ่มและทำงานกันเป็นระบบมากกว่าอิงอาศัยกับตัวบุคคลแบบฮุนเซน

นอกจากนี้ ยังได้แก่ประเทศเผด็จการอำนาจนิยมที่รัฐบาลมีเสถียรภาพน้อยกว่า 2 ประเทศคอมมิวนิสต์ข้างบน นั่นคือ  มาเลเซีย และสิงคโปร์อันมีการปกครองแบบกึ่งพรรคการเมืองเดียว อันหมายความว่า มีการแข่งขันเลือกตั้งแบบหลายพรรคการเมืองเหมือนกับประชาธิปไตย แต่พรรคการเมืองเดียวมักได้จัดตั้งรัฐบาลอยู่เสมอ กระนั้นทั้ง 2 ประเทศ ยังมีโอกาสในการพัฒนาทางประชาธิปไตยสูงกว่าเวียดนามและลาว สำหรับ สิงคโปร์ นั้น อยู่ในอันดับที่  74 (เดิม อันดับ 81)  ด้วยลักษณะสำคัญที่ทำให้มีคะแนนสูง คือ ความโปร่งใสในการทำงานของภาครัฐ และนโยบายการยอมรับความหลากหลายของชนชาติต่าง ๆ กระนั้นสิงคโปร์ก็ยังเป็นเผด็จการที่ลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เพื่อการผูกขาดอำนาจของรัฐบาล  เหตุการณ์เล็ก ๆ ที่สั่นสะเทือนการเมืองของสิงคโปร์ ก็คือ การที่นางสาวลี เวย หลิง น้องสาวของนายลี เซียนลุง ได้เขียนเฟซบุ๊คประณามพี่ชายของเธอว่าใช้งานระลึกถึงการถึงแก่อสัญกรรมของนายลี กวนยิว เพื่อสร้างอำนาจให้กับตน จนกลายเป็นการเมืองแบบราชวงศ์  มุมมองเช่นนี้สามารถสะท้อนความรู้สึกของคนสิงคโปร์ต่อการเมืองของตนได้อย่างดี เช่นเดียวกับคลิปของเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่ได้ด่าทอนายลี กวนยิว อย่างดุเดือด  อย่างไรก็ตามนายลี เซียงลุง อาจไม่สามารถผลักดันให้ลูกตัวเอง ขึ้นดำรงตำแหน่งแทนในอนาคตอันใกล้เหมือนที่บิดาได้ทำเช่นนี้กับตน จนมีผู้ตั้งคำถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่สิงคโปร์จะมีนายกรัฐมนตรีที่ไม่มีเชื้อสายจีนในอนาคต และหากเป็นเช่นนั้นสิงคโปร์อาจก้าวเข้าสู่การเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น  แต่ก็ต้องพิจารณาถึงเกณฑ์ด้านอื่น เช่น รัฐบาลได้เปิดให้ประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพมากขึ้น หรือพรรคฝ่ายค้านสามารถเข้ามาเป็นรัฐบาลหรือไม่ ไม่ใช่แค่ให้พรรคของนายลี คือ People’s  Action Party ครองอำนาจเพียงฝ่ายเดียว

ส่วน มาเลเซีย อยู่ในอันดับที่  68 (เดิม อันดับ 64)  โดยตัวแปรซึ่งน่าจะทำให้อันดับประชาธิปไตยของประเทศนี้ตกลงในปี 2016 คือ เรื่องอื้อฉาวเกี่ยวการฉ้อราษฎร์บังหลวงของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน คือ นายนาจิบ ราซะก์ จากกรณีการขาดทุนของกองทุนของรัฐ ชื่อว่า วันเอ็มดีบี และเงินบริจาคที่อยู่ในบัญชีส่วนตัวของของนายนาจิบ อันนำไปสู่การประท้วงครั้งใหญ่ ของชาวมาเลเซีย ถึงแม้ทางรัฐบาลซาอุดิอาระเบียจะยืนยันว่าเงินในบัญชีของนายกรัฐมนตรีเป็นเงินบริจาคจากตนจริง แต่แรงกดดันทางการเมืองต่อเรื่องกองทุนยังคงอยู่ การที่พรรคอัมโนพร้อมพันธมิตรยังให้การสนับสนุนนายนาจิบอย่างเหนียวแน่น ย่อมทำให้การเมืองมาเลเซียเป็นเผด็จการมากขึ้นไปอีก  นอกจากนี้กฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงของมาเลเซีย ยังคงนำไปสู่การประณามจากนานาชาติ ในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยปัจจุบันเหยื่อคนดังก็คือ อดีตนายกรัฐมนตรีมหาเธร์  โมฮัมหมัด วัย 90 ปีซึ่งหันมาโจมตีและนำมวลชนในการประท้วงนายนาจิบนั้นเอง โดยนายมหาเธร์นอกจากจะถูกลดสิทธิประโยชน์บางประการที่อดีตนายกรัฐมนตรีพึงได้รับ และยังถูกสอบสวนในข้อหายุยง หรือปลุกปั่นให้มีการโค่นล้มรัฐบาลอีกด้วย

         
ขาลง

ส่วน ฟิลิปปินส์ ถูกจัดว่าเป็นกลุ่ม (อาจจะ) ขาลง เพราะผู้กำลังจะมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 16 ของฟิลิปปินส์ ก็คือ นายรอดริโก ดูเตอร์เต นายกเทศมนตรีซึ่งดุดัน ปากร้าย และที่สำคัญยังมีนโยบายหาเสียงอันขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนกับประชาธิปไตย ดังบทความที่แล้วของผู้เขียนนั้นเอง  ตัวอย่างหนึ่งซึ่งกำลังรอการพิสูจน์ว่า นายดูเตอร์เต จะสามารถทำตามที่รณรงค์หาเสียงได้หรือไม่ คือ การสัญญาว่าจะปล่อยนางกลอเรีย มาคาปากัล-อาร์โรโย ประธานาธิบดีหญิงคนที่ 2 ของฟิลิปปินส์ (ไม่ใช่คนแรกดังบทความที่แล้ว เพราะคนแรกคือ นางคอราซอน อาคีโน ดังนั้นผู้เขียนต้องขออภัยอย่างยิ่ง)  ออกจากการคุมขังในโรงพยาบาลที่กรุงมะนิลา ดังนั้นในอนาคต ฟิลิปปินส์อาจมีอันดับของประชาธิปไตยลดลง จากอันดับปัจจุบันคือ 54 ในปี 2015 (จากเดิมอันดับ 69)  หากนายดูเตอร์เตทำตามสัญญานี้หรืออื่น ๆ ไว้ ไม่ว่ามากหรือน้อย หรือในอนาคตเขาอาจจะเป็นแค่นักการเมืองระดับอาร์โรโย และเอสตราดา คือ ฉ้อฉลและไร้ประสิทธิภาพ หรือเขาอาจจะกลายเป็นประธานาธิบดีที่เก่งและสามารถประนีประนอมนโยบายให้สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย ก็อาจทำให้ฟิลิปปินส์มีอันดับสูงขึ้นก็ได้ ทั้งนี้ ต้องติดตามดูต่อไป อนึ่ง กรณีนายเฟอร์ดินานด์ มาคอสจูเนียร์นั้น อาจจะแพ้การเลือกตั้งรองประธานาธิบดีซึ่งกำลังมีปัญหากันในเรื่องนับคะแนนอยู่ขณะนี้จึงอาจเป็นตัวแปรในระยะยาว

สำหรับ  กัมพูชา มีลักษณะค่อนไปทางมาเลเซียและสิงคโปร์ คือ ก้าวเข้าสู่ระบบพรรคการเมืองเดียวกึ่งผูกขาด จากเดิมที่เคยเป็นระบบ 2 พรรคการเมือง ในช่วงเวลาสั้น ๆ  นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 90 มา โดยนายฮุนเซนได้รวบอำนาจและใช้กฎหมายเล่นงานบุคคลสำคัญหลายรายของพรรคฝ่ายค้าน คือ พรรคสงเคราะห์ชาติ ในปีนี้ ซึ่งจะช่วยให้พรรคของเขา คือ พรรคประชาชนกัมพูชา อาจผูกขาดอำนาจอีกยาวนาน  บทความนี้จึงจัดให้ประชาธิปไตยของกัมพูชาอยู่ในช่วงขาลง ตอกย้ำโดยระบบอุปถัมภ์ และการฉ้อราษฎร์บังหลวง ที่หยั่งรากลึงลงไปในสังคมกัมพูชา ปัจจุบันกัมพูชาอยู่ในอันดับที่ 113 (จากเดิม 110)  และไม่มีท่าทีว่าจะอยู่ในอันดับที่ดีขึ้นในอนาคตอันใกล้ เว้นเสียว่านายฮุนเซนจะเสียชีวิต และทายาทไม่มีความเข้มแข็งเพียงพอจะสืบทอดอำนาจ หรือเกิดกัมพูชาสปริงหรือการประท้วงความยิ่งใหญ่จากชาวกัมพูชา อันเนื่องมาจากสำนึกในประชาธิปไตยของคนรุ่นใหม่ผ่านสื่อทางสังคมออนไลน์ หรือที่น่าเป็นไปได้มากกว่า คือ เพราะรัฐบาลกัมพูชาไม่สามารถปัญหาเศรษฐกิจร้ายแรงอย่างเช่นที่ซูฮาร์โตของอินโดนีเซียเคยพบมาก่อน เหตุการณ์เหล่านี้อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าทางการเมืองครั้งใหญ่ของกัมพูชา

ส่วน ไทย เริ่มต้นการพัฒนาเป็นประชาธิปไตยในช่วง พลเอกชาติชาย ชุณหะวัน ปลายทศวรรษที่ 80 ภายหลังการทำรัฐประหารในปี 1991 และเหตุการณ์พฤษภาทมิฬอีก 1 ปีต่อมา ได้นำไทยไปสู่การเป็นประชาธิปไตยอันยาวนาน จนถึงการทำรัฐประหารในปี 2006   ในช่วงปี 2006-2014 การเมืองไทยมีโฉมหน้าที่ซับซ้อน นั่นคือ เต็มไปด้วยความขัดแย้งในการตีความระบอบประชาธิปไตยในบรรดาหมู่คนไทย (เสื้อแดงและเสื้อเหลือง) อันนำไปสู่การทำรัฐประหารในปี 2014 ซึ่งเป็นแผนการที่วางไว้ล่วงหน้าโดยชนชั้นนำ โดยเฉพาะกองทัพ อันดับของประชาธิปไตยของไทยจึงล่วงลงอย่างมากคืออยู่ในที่ 98 จากเดิม 58    ซึ่งเป็นอันดับต่ำยิ่งกว่าสิงคโปร์เสียอีก และมีท่าทีว่าจะลดลงเรื่อย ๆ อันมีปัจจัยมาจากการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน ผ่านกฎหมายต่าง ๆ เช่น มาตรา 44  กฎหมายอาญามาตรา 112 และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ที่รัฐนำมาใช้อย่างพร่ำเพรื่อในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา เพียงเพื่อความมั่นคงของรัฐบาล สภานิติบัญญัติยังได้ออกกฎหมายห้ามไม่ให้ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างเต็มที่ และได้ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวจากบทลงโทษ อันเป็นการโหมโรงไปสู่กฎหมายอื่นที่เผด็จการพอ ๆ กัน เช่นเดียวกับการเลือกตั้งและรัฐบาลในอนาคตที่จะเป็นตรายางให้กับกลุ่มอำนาจแฝง อย่างเช่นวุฒิสภา และคสช. ระบบพรรคการเมืองของไทยจึงเป็นแบบหลายพรรคที่ไร้ค่า นั่นคือ หลายพรรคแข่งขันกันแต่รัฐบาลที่จัดตั้งไม่มีอำนาจอย่างแท้จริง รวมไปถึงการที่ไทยออกนโยบายอันคล้ายคลึงกับดวิฟุงสี (dwifungsi) ของอินโดนีเซีย ในยุคของซูฮาร์โต นั่นคือให้กองทัพเข้ามามีอิทธิพลต่อการเมือง เศรษฐกิจและสังคม บนข้ออ้างของความมั่นคง  ผสมกับการโฆษณาชวนเชื่ออย่างต่อเนื่องของสื่อกระแสหลัก ที่จะนำจิตสำนึกของคนไทยไปสู่การเป็นคนเกาหลีเหนือ หรือไม่ก็คนเยอรมันยุคนาซี

.ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่าประชาธิปไตยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น อยู่ในภาวะที่บกพร่อง หรือขาดแคลนเสียเป็นส่วนใหญ่ (มีติดลมเพียงแค่ 3  ประเทศ)  อันเกิดจากปัจจัยมากมาย ไม่ว่าประวัติศาสตร์หรือปูมหลังของประเทศนั้น วัฒนธรรมทางการเมืองซึ่งทำให้ประชาชนยึดติดตัวบุคคลและฝักใฝ่เผด็จการ การขาดพัฒนาการของสถาบันทางการเมืองของประชาธิปไตย ซึ่งก่อให้เกิดวิกฤตทางการเมืองและการผูกขาดอำนาจของผู้ที่มาจากการเลือกตั้ง  การผูกขาดอำนาจของชนชั้นนำเก่า ดังเช่นกองทัพ ตุลาการ ปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม ที่รัฐบาลจากการเลือกตั้งแก้ไขไม่สำเร็จทำให้องค์กรอื่นเข้ามาแทรกแซง  ภัยคุกคามเช่นการก่อการร้ายทำให้รัฐบาลนำมาใช้เป็นข้ออ้างสำหรับการออกกฎหมายอันเข้มงวด หรือยังนำไปสู่การมีอำนาจของนักการเมืองที่มีนโยบายแบบขวาหรือซ้ายสุดโต่ง ฯลฯ  

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ที่ผู้เขียนเห็นว่าสำคัญอยู่ไม่น้อยที่เป็นตัวส่งเสริมเผด็จการคือ ตัวอาเซียน หรือสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นั่นเอง ถึงแม้อาเซียนจะมีกฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) ที่มีหลักการโดยย่อ ๆ ว่าช่วยส่งเสริมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในบรรดาหมู่สมาชิก แต่เนื่องจากความเกรงอกเกรงใจต่อกัน หรือการคำนึงถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ รวมไปถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ  (โดยอ้างการเคารพต่อความแตกต่างของประเทศสมาชิก) กฎบัตรดังกล่าวจึงไม่มีผลบังคับเหมือนกับสหภาพยุโรป อันเป็นสาเหตุให้ตัวสมาคมนั้นปราศจากบทบาทอย่างแน่ชัด ในกรณีที่ประเทศสมาชิกมีการล่วงละเมิดประชาธิปไตย ดังเช่นการทำรัฐประหารของไทย เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ปี 2014 ที่อาเซียนแสดงการนิ่งเฉยไม่ได้แสดงการประณามหรือกดดันไทยเหมือนกับสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป อันส่งผลให้สื่อซึ่งรับใช้กองทัพนำเอาอาเซียนมาสร้างความชอบธรรมแก่รัฐบาล โดยอ้างว่าอาเซียนเป็นมิตรที่ดีของไทย รองจากจีน  (ถึงแม้จะมีการประณามเรื่องสิทธิมนุษยชนของไทยจากบางประเทศในภายหลังก็แต่ก็ถือว่าไม่มีน้ำหนักมากนัก)    

 นอกจากนี้ การสร้างความรู้สึกเป็นมิตรระหว่างประเทศสมาชิกนั้น ย่อมส่งผลถึงสื่อมวลชนในการนำเสนอภาพพจน์ที่ดีต่อกันไม่ได้ อันจะเป็นอุปสรรคที่ทำให้ประชาชนไม่สามารถมองระบอบเผด็จการของเพื่อนบ้านอย่างพินิจพิเคราะห์ หรือการที่หลายประเทศซึ่งเป็นเผด็จการนั้นได้คุกคามเสรีภาพของสื่อต่างประเทศ โดยการกำหนดวาระสำหรับนักข่าวต่างประเทศที่มาเยือนประเทศตนไว้เรียบร้อยแล้วว่า ต้องนำเสนอข่าวเกี่ยวกับรัฐบาลในด้านดีเท่านั้น ดังเช่นที่ผู้เขียนได้ยินผู้สื่อข่าวอาวุโสท่านหนึ่งซึ่งมักเป็นแขกรับเชิญในรายการเกี่ยวกับอาเซียน มักนำเสนอแง่มุมในด้านดีเกี่ยวกับลาวและเวียดนามอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจซึ่งกำลังเจริญเติบโตเร็วและต่อเนื่อง ทั้งที่สาเหตุสำคัญก็เพราะจากการลงทุนและการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจจากต่างชาติมากกว่าความสามารถของรัฐบาลเอง[5]นอกจากนี้เศรษฐกิจของทั้งลาวและเวียดนามยังมีปัญหาความเจริญที่มักกระจุกตัวอยู่ที่คนรวยมากกว่า เช่นเดียวกับการฉ้อราษฎร์บังหลวงของเจ้าหน้าที่พรรคซึ่งมักร่วมกับนายทุนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเข้ามากอบโกยทรัพยากรภายในประเทศ โดยไม่คำนึงถึงเสียงจากประชาชน (เป็นมุมมองที่ผู้เขียนได้รับจากการสัมภาษณ์ประชาชนประเทศนั้น ๆ ซึ่งเดินทางมาศึกษาในเมืองไทย)  กระนั้น คนต่างประเทศจำนวนมาก (โดยเฉพาะไทย) ที่ไม่ได้คำนึงถึงข้อเท็จจริงเช่นนี้คงยกย่องและให้การสนับสนุนเผด็จการ เพราะหลงคิดว่าเผด็จการในประเทศของตนก็คงจะดีเหมือนกับประเทศดังกล่าว

 

0000

 

เชิงอรรถ

 [1]  นี่อาจไม่ได้หมายความว่าคนไทยนั้นมีความบกพร่องทางการศึกษาเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายความว่ามโนทัศน์หรือสำนึกการเป็นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของคนไทยเป็นสิ่งที่ถูกยัดเหยียดหรือกำหนดจากข้างบน ด้วยการประโคมข่าวผ่านสื่อต่าง ๆ โดยรัฐบาลและเอกชนที่ได้รับผลประโยชน์จากประชาคมเศรษฐกิจของอาเซียน ในขณะที่ชีวิตของคนไทยทั่วไปกลับได้รับผลกระทบไม่มากเท่าที่โฆษณากันเท่าไรนัก ขณะขับรถไปทำงานตอน 7 โมง ผู้เขียนมักฟังรายการเกี่ยวกับอาเซียนและเพลงสดุดีอาเซียนซึ่งเป็นเพลงภาษาอังกฤษและแปลเป็นภาษาไทย พร้อมทำนองไปทางป็อบผสมแจ๊ซบิกแบนด์ แบบชนชั้นกลาง ทำให้นึกในใจว่าจะมีคนไทยโดยเฉพาะชาวรากหญ้ามากน้อยแค่ไหนที่จะ รู้สึก “อิน” หรือซาบซึ้งกับความเป็นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  รวมถึงการที่รายการพยายามโฆษณาชวนเชื่อถึงลัทธิภูมิภาคนิยม จึงไม่มีทางที่มวลชนซึ่งถูกรัฐบาลปลูกฝังแต่ลัทธิชาตินิยมแบบไทย ๆ จะชื่นชอบเท่าไรนัก แม้นักวิชาการจำนวนไม่น้อยได้พยายามผลักดันหรือส่งเสริมการศึกษาเกี่ยวกับอุษาคเนย์ผ่านการผลิตงานวิจัย ตำรา หรือเสวนา แต่ก็ยังจำกัดอยู่แต่ในแวดวงแคบ ๆ ทั้งนี้ยังไม่ต้องนับมิติทางเรื่องการเมืองของประเทศต่าง ๆ  ในอุษาคเนย์ ซึ่งยิ่งห่างจากความรู้สึกของคนไทย ยกเว้นผู้อยู่ในแวดวงรัฐศาสตร์หรือสาขาวิชาภูมิภาคศึกษา เป็นต้น หรืออย่างมากที่สุด สำหรับกลุ่มคนที่ไม่ชอบรัฐประหารก็อาจจะสนใจเพียงบางประเทศ อย่างเช่น พม่า ซึ่งมีพัฒนาการสวนทิศทางกับไทย 

[2] https://en.wikipedia.org/wiki/Economist_Intelligence_Unit การสำรวจวัดดัชนีความเป็นประชาธิปไตยของประเทศต่าง ๆ ในโลก โดยผู้สำรวจได้จัดอันดับของ 167 ประเทศ ผ่านคะแนนจากการประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน รวมไปถึงทัศนคติของประชาชนต่อการเมืองของประเทศตน อันตั้งอยู่บนเกณฑ์ของความเป็นประชาธิปไตยดังต่อไปนี้
1. กระบวนการเลือกตั้งและความเป็นพหุลักษณ์

 ดังคำถาม เช่น การเลือกตั้งนั้นเสรีและยุติธรรมหรือไม่ ประชาชนที่อายุตามเกณฑ์ทุกคนสามารถใช้สิทธิเลือกตั้งหรือไม่ พรรคการเมืองต่าง ๆ มีเสรีภาพในการรณรงค์หาเสียงหรือไม่ พรรคฝ่ายค้านมีโอกาสในการจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ ฯลฯ

2.บทบาทและหน้าที่ของรัฐบาล

ดังคำแทน เช่น ตัวแทนที่ได้รับการเลือกจากประชาชนสามารถกำหนดนโยบายของรัฐได้หรือไม่  มีระบบตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจรัฐบาลหรือไม่ มีรัฐธรรมนูญที่มั่นคงและมีประสิทธิภาพหรือไม่ รัฐบาลนั้นปลอดอิทธิพลจากกองทัพหรือไม่ รัฐบาลมีอำนาจปกครองครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศหรือไม่ ฯลฯ

3.กระบวนการมีส่วนร่วมทางการเมือง

ดังคำถามเช่น จำนวนผู้มาใช้สิทธิในการเลือกตั้งระดับประเทศมีเท่าใด   เชื้อชาติ กลุ่มทางสังคม รวมไปถึงผู้นับถือศาสนาซึ่งถือว่าเป็นชนกลุ่มน้อยมีอิสระปกครองตัวเองหรือมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองมากน้อยเพียงใด   ความพร้อม (เสรีภาพ) ของประชาชนในการเข้าร่วมชุมนุมหรือประท้วงภายใต้กฎหมายมีเพียงใด  ฯลฯ

4.วัฒนธรรมทางการเมือง

ดังคำถามเช่น มติร่วมกันของสังคมที่เพียงพอและสอดคล้องกันในการสร้างประชาธิปไตยอันมีเสถียรภาพหรือไม่  ประชาชนมีความต้องการผู้นำที่เข้มแข็งจนสามารถละเลยรัฐสภาและการเลือกตั้งมากน้อยขนาดไหน  มีสัดส่วนของประชาชนที่ต้องการถูกปกครองโดยกองทัพมากน้อยเพียงใด ฯลฯ

5.สิทธิและเสรีภาพของพลเมือง

ดังคำถามเช่นมีเสรีภาพในการแสดงออกและการประท้วงที่ไม่ก่อให้เกิดความรุนแรงหรือไม่  ประชาชนมีเสรีภาพในการจัดตั้งองค์กรทางอาชีพและสหภาพแรงงานหรือไม่ สื่อด้านสิ่งพิมพ์และทางอิเล็คโทนิกมีเสรีภาพในการแสดงออกหรือไม่  มีการยอมรับความเท่าเทียมและความแตกต่างทางศาสนา เชื้อชาติ เพศหรือไม่  ฯลฯ

 [3] ในปี  2015 นางเมกาวาตี กดดันให้นายวิโดโด เสนอชื่อผู้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจซึ่งมีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับเธอ ให้กับวุฒิสภา แต่ได้รับการคัดค้านจากคณะกรรมการกวาดล้างการฉ้อราษฎร์บังหลวง จนทำให้กรมตำรวจและคณะกรรมการดังกล่าว เกิดความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง ในที่สุดนายวิโดโดต้องถอนชื่อของนายตำรวจคนนี้ไป อันกลายเป็นภาพพจน์ของความเป็นผู้นำอ่อนแอ นอกจากนี้ นางเมกาวาติยังปรามนายวิโดโดในที่สาธารณะว่าอยู่ภายใต้อำนาจของเธอ เช่นเดียวกับการตำหนิเขาที่ยังไม่ดำเนินการการประหารชีวิตนักโทษคดีค้ายาเสพติดชาวต่างประเทศอย่างเด็ดขาด เพราะแรงต้านจากต่างประเทศ 

[4]เป็นเรื่องน่าสนใจว่าภายหลังจากค่ายคอมมิวนิสต์โดยเฉพาะยุโรปตะวันออกและสหภาพโซเวียตได้ล่มสลายในช่วงปี 1989-1991 ประเทศคอมมิวนิสต์ที่เหลือกลับสามารถปรับตัวเข้ากับระบบตลาดเสรีได้อย่างดี ไม่ว่าจะเป็น จีน เวียดนาม ลาว คิวบา และสามารถรอดพ้นจากคลื่นกระแสประชาธิปไตย จนดูมีความเข้มแข็งยิ่งกว่ายุคสงครามเย็นเสียอีก แม้แต่ประเทศที่ตกขอบกระแสโลกาภิวัฒน์อย่างเกาหลีเหนือกลับใช้กลไกแบบลัทธิสตาลินเพื่อพยุงตัวเองไปได้

[5]ต่างชาติดังกล่าวได้แก่ตะวันตกอย่างเช่นสหรัฐฯ สหภาพยุโรปและญี่ปุ่น ซึ่งมักยกประเด็นเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนมากดดัน แต่ก็ปรารถนาการร่วมมือทางเศรษฐกิจจากรัฐบาลเผด็จการ เข้าทำนองมือถือสาก ปากถือศีล  รวมไปถึงจีนซึ่งเข้ามาลงทุนแข่งกับกลุ่มประเทศดังกล่าวเพื่อแย่งชิงอิทธิพลกัน ที่สำคัญจีนยังกลายเป็นแรงบันดาลใจหรือต้นแบบประเทศเผด็จการที่ประสบความสำเร็จให้กับหลายประเทศในอุษาคเนย์

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ: ทำไมต้องมีรัฐธรรมนูญ-และแนวคิด รธน. จากกรีก-สหรัฐมาถึงกรุงสยาม

$
0
0

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เล่าเรื่องรัฐธรรมนูญ เริ่มจากยุคกรีกโบราณ การตั้งกติกาการเมืองเพื่อเลี่ยงความรุนแรง การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ในอังกฤษ แนวคิดแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยใน รธน.สหรัฐอเมริกา แนวคิดสิทธิและเสรีภาพจากฝรั่งเศส ข่าวรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกามาถึงกรุงสยามใน นสพ. "หมอบรัดเลย์" คำกราบบังคมทูลต่อ ร.5 ของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ความย้อนแย้งของรัฐธรรมนูญไทยและวงจรอุบาทว์รัฐประหารสลับรัฐธรรมนูญซ้ำแล้วซ้ำเล่า

วิดีโอการบรรยายของธเนศ อาภรณ์สุวรรณ "ทำไมต้องมีรัฐธรรมนูญ"

21 พ.ค. 2559 ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ธรรมศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) บรรยายพิเศษ เรื่อง “ทำไมต้องมีรัฐธรรมนูญ” ในงานเสวนาทางวิชาการ “รัฐธรรมนูญกับประชามติที่เลือกได้” ซึ่งจัดโดย เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ที่ห้องอเนกประสงค์ริมน้ำ คณะศิลปศาสตร์ มธ. ท่าพระจันทร์

ธเนศ กล่าวว่า ต้นกำเนิดที่เก่าที่สุดของแนวคิดรัฐธรรมนูญคือ กรีกโบราณ เมื่อ 2000-3000 ปีมาแล้ว เพลโต นักปรัชญาชื่อดัง เป็นคนแรกๆ ที่เสนอว่า เครื่องมือที่จะนำสู่ระบบการเมืองที่ไม่ต้องเปลี่ยนผ่านอย่างรุนแรงคือมีกติกาขึ้น ซึ่งต่อมาเรียกสิ่งนี้ว่ารัฐธรรมนูญ ต่อมา อริสโตเติล ศิษย์ของเพลโต เสนอเรื่องการจำกัดอำนาจของรัฐบาลเพื่อไม่ให้เลื่อนไหลสู่ระบอบทรราช

จากแนวคิดเกี่ยวกับกติกาการปกครองดังกล่าว นำสู่การเกิดปรัชญาการเมืองที่มองว่ารัฐและการปกครองไม่ใช่เรื่องบุญญาบารมี แต่คนทั่วไปเข้ามาเกี่ยวข้องได้ และแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ นี่ทำให้ระบบการเมืองการปกครองเป็นรัฐฆราวาส (secular state)

ธเนศ ตั้งข้อสังเกตว่า แนวคิดปรัชญาการเมืองระหว่างโลกตะวันตกกับตะวันออกว่า โลกตะวันออกมองว่า คนส่วนน้อยเป็นคนพิเศษ เพราะฉะนั้น คนส่วนใหญ่ไม่มีคุณสมบัติ ขณะที่โลกตะวันตก มองว่าระบบเป็นตัวผลักดันการเปลี่ยนแปลง คนนั้นมีดีมีชั่ว ถ้าระบบดีทำให้คนไม่ดีดีได้ อย่างไรก็ตาม แนวคิดโลกตะวันออกไม่ได้หยุดนิ่ง โดยมีแนวคิดของเมิ่งจื้อ ที่พูดถึงการยกระดับราษฎรเท่าผู้ปกครอง โดยบอกว่า ความชอบธรรมของอำนาจรัฐมาจากราษฎร แต่ก็ยังจบที่โองการสวรรค์

ต่อมา ธเนศ ฉายให้เห็นตารางเวลาการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองฝั่งตะวันตก โดยเริ่มที่ปี 1581 ซึ่งเกิดปฏิวัติในเนเธอร์แลนด์ สมัยที่ยังเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรสเปน มีการอ้างความชอบธรรมของอำนาจประชาชน ขณะที่อังกฤษ ปี 1642-60 เกิดสงครามกลางเมืองปี 1688 เกิดการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ปี 1689 เกิด Bill of Rights ซึ่งอำนาจกษัตริย์ถูกจำกัด

ต่อมา สหรัฐอเมริกาประกาศเอกราชและร่างรัฐธรรมนูญ คติความเชื่อเรื่องรัฐธรรมนูญน่าจะเกิดขึ้นในช่วงนี้ ผลสะเทือนของประชาธิปไตยสหรัฐอเมริกาแผ่ขยายไปทั่วโลก ไม่กี่ปีต่อมาปี 1789 เกิดปฏิวัติของกระฎุมพีในฝรั่งเศส ทำให้อำนาจการปกครองเป็นอำนาจที่ชอบธรรมของประชาชน

ดังนั้น การร่างรัฐธรรมนูญจะต้องพูดสองเรื่องคือ แนวคิดเรื่องอำนาจอธิปไตยแบบสหรัฐอเมริกา และสิทธิเสรีภาพเป็นของประชาชนที่มาจากฝรั่งเศส

อำนาจอธิปไตยเป็นของใคร และสิทธิเสรีภาพประชาชนอยู่ตรงไหน ประกันอย่างไร ต้องทำให้ได้

ค.ศ. 1865 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4 ข่าวเรื่องรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาเดินทางมาถึงสยาม หมอบรัดเลย์เขียนบทความ "กระษัตริย์ในเมืองยูในติศเทค" อธิบายระบอบการปกครองของสหรัฐเมริกาที่ปกครองโดย "เปรศซิเดนต์" และแปลรัฐธรรมนูญให้คนสยามได้ดู โดยเล่าถึง "กอนสติตัวชัน" คือ "กดหมายสั้นๆ" ว่า "เป็นต่างกษัตริย์ ถ้าแม้นเปรศซิเดนต์ จะหักทำลายเมื่อใดก็จะเป็นเรื่องใหญ่เมื่อนั้น" 

อย่างไรก็ตามสถานการณ์เริ่มพลิกผันในยุคล่าอาณานิคม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชหัตถเลขาถึงพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ให้แสดงความเห็นต่อปัญหา เหตุการณ์อังกฤษยึดเมืองมัณฑะเลย์ ในปี พ.ศ. 2428 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ขณะนั้นเป็นอัครราชทูตประจำกรุงปารีส ร่วมกับเจ้านายพระองค์อื่นและข้าราชการในสถานทูต

พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ร่างจดหมายเสนอพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 หรือที่เรียกว่า "คำกราบบังคมทูล ร.ศ. 103" ว่ากรุงสยามไม่รอดแน่ถ้าเราไม่เปลี่ยนแปลงการปกครอง ราษฎรต้องมีความยุติธรรมและมีสิทธิเสรีภาพ คือพูดเหมือนหลักการรัฐธรรมนูญทั่วโลก เสนอเปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็น "คอนสติตูชาแนลโมนากี" หรือระบอบที่พระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ และเสนอว่า รัฐธรรมนูญต้องประกอบด้วยสติปัญญาของราษฎรจำนวนมาก คนที่เข้ามาร่วมต้องได้รับความยุติธรรมจากรัฐธรรมนูญถึงจะทำได้สำเร็จ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์บอกว่า ความเห็นที่มีประโยชน์ต้องให้เขามีอำนาจที่จะแสดงออกมาให้ปรากฏ

นี่คือความเปลี่ยนแปลงจากข้างนอกมากระแทกกรุงสยามอย่างแรง

จะเห็นที่จริงแล้ว ชนชั้นนำและผู้ปกครองสยามในสมัยรัชกาลที่ 5 รู้จักรัฐธรรมนูญแล้ว และนำความเห็นเสนอเรียกร้องรัฐธรรมนูญนี้กราบบังคมทูล รัชกาลที่ 5 ซึ่งพระองค์ทรงเห็นด้วยในหลักการแต่บอกว่าปฏิบัติยากและไม่มีหลักประกันว่าจะได้อย่างที่เสนอจึงจะปฏิรูปอย่างที่เตรียมไว้แล้ว ผลคือ ผู้เสนอทั้งหมดถูกเรียกตัวกลับจากสถานทูตต่างๆ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ก็ไม่ได้รับราชการต่อ

24 มิถุนายน 2475 เป็นปฏิบัติการที่ทำให้แนวคิด ความคิด ความเข้าใจ เรื่องรัฐธรรมนูญปรากฏเป็นจริงขึ้นในประเทศสยามด้วยการปฏิวัติรัฐประการ แล้วได้พระธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 ขึ้น

ต่อมา 10 ธันวาคม 2475 มีรัฐธรรมนูญใหม่ โดยคำปรารภเปลี่ยน เริ่มต้นพูดถึงอุดมการณ์รัฐสยามเก่า จากโบราณถึง พ.ศ. 2475 และว่าข้าราชการขอพระราชทานรัฐธรรมนูญเพื่อให้สยามปกครอง "ดำรงอิสสราธิปไตยโดยบริบูรณ์"

จะเห็นว่าความย้อนแย้งของรัฐธรรมนูญไทย เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2475 มาแล้ว ช่วงต่อมาที่น่าสนใจคือ มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในปี พ.ศ. 2489 ฝ่ายรัฐสภา เริ่มมีความมั่นคง ฝ่ายปรีดีมองว่าควรจะเปลี่ยนให้รัฐธรรมนูญเป็นสากล และเป็นตัวแทนประชาชนจริงๆ มากขึ้นจึงตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้น ปรับปรุงรัฐธรรมนูญใหม่ ยกเลิกสมาชิกประเภทสอง ให้มีสองสภาจากการเลือกตั้งและห้ามข้าราชการดำรงตำแหน่งทางการเมือง แปลว่า ห้ามทหารมีตำแหน่งทางการเมือง คือให้การเมืองเป็นการเมืองของพลเรือน ขณะเดียวกัน เปิดให้ชนชั้นสูงเล่นการเมืองได้

รัฐธรรมนูญ 2489 อารัมภบทเปลี่ยน ตัดคติจักรพรรดิราช และประวัติออก เล่าประวัติรัฐธรรมนูญชั่วคราว รัฐธรรมนูญฉบับถาวร และตรวจสอบรัฐธรรมนูญทั่วโลก

ในบทเฉพาะกาลของปี 2489 มาตรา 90 ระบุว่า วาระแรกให้องค์การเลือกตั้งจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เลือกสมาชิกพฤติสภาชุดแรกก่อน

"ฐานะของรัฐธรรมนูญ 2489 ใช้ได้ไม่ถึงปี 8 พ.ย. 2490 เกิดรัฐประหาร จากนั้นเราเข้าถึงวงจรอุบาทว์ ยึดอำนาจ ร่างรัฐธรรมนูญ รัฐประหารตลอด" ธเนศกล่าว แต่ก็แสดงว่า มีการยอมรับความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญว่า ไม่ว่าจะได้อำนาจมาอย่างไร ต้องกลับสู่การมีรัฐธรรมนูญรองรับโดยเร็ว

ระหว่าง พ.ศ. 2495 - 2496 มีการฟ้องว่าการยึดอำนาจขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยมีคำพิพากษาว่า หากสำเร็จถือว่าชอบธรรมเป็นรัฏฐาธิปัตย์ออกกฎหมายได้ ทำให้ความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญเปลี่ยนไป และผู้ยึดอำนาจลดการพึ่งพารัฐธรรมนูญลง เพราะถือว่าศาลฎีกาให้คำตัดสินแล้ว นอกจากนี้จะเห็นการใช้สภาสูง เป็นฐานอำนาจของกลุ่มผู้ยึดอำนาจ 

สำหรับสัดส่วนทหารและพลเรือนในวุฒิสภา จะเห็นว่าสัดส่วนของทหารมากขึ้นในช่วงหลัง

พ.ศ. 2476 ทหาร 62% พลเรือน 38%
พ.ศ. 2489, 2490 และ 2492 ห้ามข้าราชการมีตำแหน่งทางการเมือง
พ.ศ. 2494 ทหาร 74% พลเรือน 17%
พ.ศ. 2500 ทหาร 74%
พ.ศ. 2518 ทหาร 14%
พ.ศ. 2519 ทหาร 41.47%

ตั้งคำถามว่าชุดต่อไปจะมีเท่าไหร่ 

โดยสรุป ความหมายของรัฐธรรมนูญไทย ไม่ได้ยืนยันการอำนาจการปกครองหรืออำนาจอธิปไตยเป็นของและมาจากประชาชน จึงไม่คุ้มครอง ปกป้อง เสรีภาพของประชาชน

รัฐธรรมนูญเป็นความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มอำนาจกันเอง ไม่ใช่ความสัมพันธ์กับประชาชน โดยประชาชนเป็นเชิงอรรถ

รัฐธรรมนูญเป็นผลรวมของกฎหมายลูก อยากให้มีนโยบายอะไรให้ไปเขียนใส่รัฐธรรมนูญ ซึ่งนั่นไม่ใช่หน้าที่รัฐธรรมนูญที่ควรมีเนื้อหาว่า จะประกันว่าอำนาจของใคร จำกัดอำนาจผู้ปกครอง และปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน กลายเป็นว่าใครมีอำนาจก็ประกาศกฎหมายและปกครองไปเท่านั้น

ขอยกคำของ เสน่ห์ จามริก ในหนังสือ "การเมืองไทยกับพัฒนาการรัฐธรรมนูญ" ว่า รัฐธรรมนูญเป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจของทุกคน การศึกษาต้องเป็นเชิงประจักษ์ ไม่ใช่ยึดกับหลักการหรือสมมติฐานอันเลื่อนลอย ที่สำคัญคือต้องไม่จำกัดการศึกษาแต่เรื่องการตีความตัวบทกฎหมาย แต่ต้องขยายถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจอื่นๆ
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ความทรงจำที่ตกค้าง: สิ่งที่ผมกลัวไม่ใช้ปืนแต่เป็นอำนาจ (ตามอำเภอใจ)

$
0
0

-1-

หลายคนจดจำวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 ในฐานะวันเริ่มต้นของการเปิดประตูไปสู่การรัฐประหาร และหลายคนก็เริ่มวิพากษ์วิจารณ์คนที่ออกมาเชียร์กฎอัยการศึกเพื่อให้ทหารปกป้องการเลือกตั้ง

ในตอนนั้น ผมจำได้ว่ามี  นิติราษฎร์ที่ออกมาแถลงค้านการประกาศใช้กฎอัยการศึกว่า ไม่ชอบมาพากลและไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร และมีหลายคนตั้งข้อสังเกตอย่าง อาจารย์สมศักดิ์ อาจารย์เกษียร แล้วก็คุณใบตองแห้ง อีกทั้ง มวลชนคนเสื้อแดงก็ไม่ถอยทัพหากการประกาศกฎอัยการศึกจะบั่นทอนประชาธิปไตยให้มากขึ้นไปอีก (ดูรายละเอียดที่นี้)

แต่ปัจจัยสำคัญก็คือ ฝ่ายรัฐบาลเสียเองที่ “เชื่อใจ” ทหารจนไม่คิดจะคัดค้านใดๆ ดังนั้นพอรัฐประหาร เราทุกคนก็ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของความผิดพลาดที่เกิดขึ้น

กว่าที่คนจะลุกฮือลงถนนก็ไปเขาไปวันที่ 23 และมีปริมาณน้อยมาก และเย็นวันนั้นมีคนโดนจับต่อหน้าต่อตาผม จากการชุมนุมที่หน้าหอศิลปฯ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ‘ปอน อภิชาติ’ โชคดีที่มีคนติดตามไปด้วยอย่างพี่ปุ๊ ธนาพล(ไม่ได้โดนจับ แต่ไปกับเขาด้วย) และคนที่เกือบจะโดนจับคนสุดท้ายของวันนั้นก็คือชายร่างท้วมและเป็นนักศึกษาชื่อว่า "จ่านิว" ที่ไปตะโกนเรียกให้ทหารปล่อยตัวอภิชาติ ก่อนจะมีทหารเข้ามารุมจะจับตัวไป

นึกถึงตอนนั้นยังสั่นและกลัวไม่หาย ผมจำได้ว่าผมและคนอีกมากไปช่วยกันดึงจ่านิวออกจากมือทหาร ก่อนที่หัวหน้าทหารจะตะโกนอะไรซักอย่าง ที่ผมได้ยินประมาณว่า "สกรัม" และปากกระบอกปืนก็เล็งมาบริเวณใบหน้าผม

ผมและเพื่อนที่ไปด้วยกันวิ่งแตกกระจายกันไปคนละทิศละทาง ก่อนจะตั้งสติแล้วตะโกนเรียกหากัน ผมขอยืมมือถือเพื่อนทั้งที่มือยังสั่น เพื่อโทรบอกหัวหน้าผมว่า พี่อย่ากลับมา มันอันตราย พาพี่และแฟนกลับไป ก่อนที่ผมเองจะวิ่งขึ้นไปตรงบันไดหน้าหอศิลปฯ

ผมเคยผ่านการะทะเลาะวิวาทมาบ้าง แต่ไม่เคยมีครั้งไหนที่จะทำให้จิตใจผมสั่นได้ขนาดนี้


-2-

น่าแปลกอยู่เหมือนกัน ที่ทหารทำให้ผมเชื่อว่า ผมหวาดกลัวพวกเขาเพราะกระสุนปืน แต่แท้จริงแล้ว ผมกลัวการใช้อำนาจของพวกเขามากกว่า

ความน่ากลัวเริ่มต้นจาก การออกประกาศเรียกคนผ่านจอทีวี ใครจะไปคิดว่าบ้านนี้เมืองนี้จะมีอะไรแบบที่ในหนังเขาทำกัน เหมือนเวลาทหารเกณฑ์ไพร่พลคนไปรบโดยที่คนถูกเรียกก็ไม่ค่อยเต็มใจนัก ดังนั้น ส่วนที่จะต่างก็มีเพียงเหตุผลของการเรียก ที่ทหารไม่เคยชี้แจงว่าเพราะเหตุใด

ผมมาทราบเอาภายหลังก็หลายวันหลังรัฐประหาร อำนาจที่รองรับการเรียกตัวหรือควบคุมตัวมีชื่อว่า “กฎอัยการศึก” และไม่ใช่แค่มีอำนาจเรียก ยังมีอำนาจกักตัวได้นานสูงสุดถึง 7 วัน โดยไม่ต้องพบทนายความ พบญาติ หรือเปิดเผยสถานที่ควบคุมตัว

และในระหว่างที่สับสนอลหม่านกับการเรียกคนไปรายงานตัวนั้น ก็มีกระแสข่าวออกมาอีกว่า คนที่ถูกเรียกไปบางส่วนจะถูกตั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือข้อหา “หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ” ภายหลังออกจากค่ายทหารหลายราย

และหลายคนก็ยังไม่เข้าใจว่าทหารมีกระบวนการอย่างไรเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ต้องสงสัยเหล่านี้ หรือจริงๆ แล้วพวกเขามีความผิดอย่างที่ทหารตั้งข้อหาให้เขาหรือไม่ ก็ไม่มีใครรู้เสียด้วยซ้ำ


-3-

สำหรับผมไม่มีอะไรที่น่ากลัวไปกว่าการถูกเรียกเข้าค่ายทหารแล้วออกมาด้วยการถูกตั้งข้อหา เพราะว่า ไม่มีใครล่วงรู้ถึงกระบวนการปิดลับเหล่านี้ ว่ามันคือกระบวนการอะไร ถูกต้องยุติธรรมหรือไม่ และมีอะไรเป็นหลักประกันในชีวิตให้ผมได้บ้างหรือเปล่า

แม้นักการเมืองและแกนนำมวลชนหลายคนจะออกมาบอกว่าสุขสบายดีในค่ายทหาร แต่บางคนก็หดหู่และเสียสุขภาพจิตไปมากเหมือนกัน หลายคนเล่าว่าถูกสอบสวนอย่างหนัก ถูกคุกคามทางความคิดและจิตใจ ก่อนจะมีเรื่องใหญ่หลายเรื่องตามมา อย่างเช่น การหายตัวไปของกริชสุดา และข่าวลือของการซ้อมทรมานผู้ต้องหาคดีอาวุธ

ต้องย้ำอีกครั้งว่า ในการควบคุมตัวของทหารนั้น ไม่มีทนายความ ไม่ได้ติดต่อญาติ ไม่มีการเปิดเผยสถานที่ควบคุมตัว ฯลฯ แต่อย่างใด ทำยังมีกลไกรองรับไม่ต้องรับผิดได้อีกด้วย

ไม่ใช่แค่คนที่ถูกเรียกไปรายงานตัว คนที่ถูกจับจากการออกไปชุมนุมเองก็ไม่ต่างกัน มีการยึดตรวจค้นโทรศัพท์เพื่อสำรวจความคิดและหาการกระทำความผิด นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่มีการวางกลยุทธ์สกัดกั้นและสกัดจับบุคคลที่มีท่าทีต่อต้านหรือกระด้างกระเดื่องต่อรัฐ และใช้วาทกรรม “ปรับทัศนคติ” ที่พูดคุยแกมบังคับให้ยอมรับอำนาจรัฐประหาร รวมถึงต้องแเซ็นสัญญารับเงื่อนไขว่า พวกเขาจะไม่เคลื่อนไหวทางการเมืองอีก มิเช่นนั้นจะมีโทษ

และที่มากกว่านั้น การตั้งข้อหาแปลกๆ ที่ดูไม่สอดคล้องกับการกระทำที่กล่าวหา เช่น การให้ดอกไม้ การโปรยใบปลิว การโพสต์เฟซบุ๊กล้อเลียน สิ่งเหล่านี้การเป็นข้อหาภัยความมั่นคงไปหมดแล้ว

สิ่งเหล่านี้ยิ่งตอกย้ำให้ผมมั่นใจว่า สิ่งที่ผมกลัวหาใช่ความตายจากปากกระสุนปืนของทหาร แต่คืออำนาจที่ริดรอนสิทธิเสรีภาพได้อย่างอิสระ เพราะถ้ามีคนยิงกระสุนใส่ผมในคืนวันที่ 23 พฤษภาคม 2557  ผมก็ไม่แน่ใจว่าระบบยุติธรรมจะคืนความเป็นธรรมให้ผมได้จริงหรือเปล่า

จะมีสังคมใดที่น่ากลัวไปกว่า สังคมที่ปล่อยให้คนทำผิดลอยนวลได้แบบนี้อีก 


-4-

หลายคนอาจจะคิดว่ารากของปัญหาคือ การที่ คสช. สถาปนาตัวเองเป็น ‘รัฏฐาธิปัตย์’ พร้อมทั้งใช้อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จเพื่อออกประกาศหรือคำสั่ง คสช. มาริดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน

และก็คงไม่ผิดนักที่จะบอกว่า คสช. เพิ่มอำนาจของเจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปสอดแทรกในกระบวนการยุติธรรมแทบจะทั้งหมด ไม่ว่าจะเ็น ตำรวจ พนักงานสอบสวน อัยการ แถมยังเอาคนขึ้นศาลทหารของตนเอง และก็ยังมีเรือนจำในค่ายทหารของตัวเองอีก

แต่สำหรับผม มันเป็นซึกหนึ่งของปัญหา เพราะกฎหมายที่เอามาบังคับใช้กันอยู่ทุกวันนี้มีรากฐานมาจากกฎหมายเดิมๆ ที่มีปัญหาด้วยตัวมันเองแถมทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น

หนึ่ง ตระกูลกฎหมายความมั่นคง = กฎอัยการศึก / พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และอื่นๆ

ซึ่งมันเปิดช่องให้รัฐใช้อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ รวบรัด และมองข้ามกระบวนการถ่วงดุลอำนาจที่สำคัญเหมือนกฎหมายปกติ จนอาจจะลุกลามเป็นการละเมิดสิทธิที่ร้ายแรงเหมือนอย่างที่เกิดในภาคใต้ เช่น ซ้อมทรมาน อุ้มหาย เป็นต้น

สอง ตระกูลกฎหมายหมิ่นประมาท = มาตรา 112 / มาตรา 116 /พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14

ซึ่งกฎหมายเหล่านี้มีนิยามความผิดที่กว้างขวางไม่ชัดเจน อีกทั้ง กฎหมายดังกล่าวยังถูกนำมาใช้กับความผิดฐานหมิ่นประมาท แต่กลับไม่มีหลักการคุ้มครองการใช้เสรีภาพในการแสดงออก เช่น การยกเว้นโทษเพราะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตและเป็นประโยชน์ต่อแผ่นดิน และด้วยเหตุที่มันอยู่ใต้ธงความมั่นคง เจตนาบริสุทธิ์ของประชาชนจึงไม่เคยได้พิสูจน์เลย

สิ่งเหล่านี้ เราล้วนรู้ดีถึงปัญหามาก่อนแล้ว เพียงแต่ว่าเราอาจจะไม่ตั้งใจฟัง ลืมมันไป อย่างเช่น การบังคับใช้กฎอัยการศึกหรือกฎหมายความมั่นคงที่ภาคใต้ หรือการใช้กฎหมายเพื่อปิดปากการเคลื่อนไหวของชาวบ้าน หรือคนที่ออกมาตั้งคำถามต่อวิกฤติการเมืองไทย

ท้ายที่สุดแล้ว มันน่าสนใจตรงที่ว่า อำนาจแบบนี้มีสองคำที่คู่กัน นั้นก็คือ คำว่า ‘เชื่อใจ’ ที่ทำให้เกิดอำนาจ ‘ตามอำเภอใจ’

0000

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ณัชปกร นามเมือง ศึกษาจบระดับปริญญาตรีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ปัจจุบันทำงานที่ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)


 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ปิยบุตร-ปูนเทพ' ชำแหละร่าง รธน. ชี้สร้าง 'ซูเปอร์ตุลาการ'

$
0
0

เสวนารัฐธรรมนูญกับประชามติที่เลือกได้ 'ปิยบุตร' ระบุอำนาจของ คสช. ยังคงดำรงอยู่ต่อไปแม้รัฐธรรมนูญนี้ผ่าน หวั่นมีการเลื่อนหรือพักการเลือกตั้ง ด้าน 'ปูนเทพ' ชี้ร่างมีชัยสร้าง 'ซูเปอร์ตุลาการ' และการปูทางให้สามารถฉีก รธน.โดยที่ รธน.ยังบังคับใช้ได้

ปูนเทพ ศิรินุพงศ์ (ซ้าย) และปิยบุตร แสงกนกกุล (ขวา) 

21 พ.ค. 2559 ในงานเสวนาทางวิชาการ “รัฐธรรมนูญกับประชามติที่เลือกได้” ซึ่งจัดโดย เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ที่ห้องอเนกประสงค์ริมน้ำ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ 

 

ร่างมีชัยสร้าง 'ซูเปอร์ตุลาการ' และการปูทางให้สามารถฉีก รธน.โดยที่ รธน.ยังบังคับใช้ได้

ปูนเทพ ศิรินุพงศ์ กลุ่มนิติราษฎร์และอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อภิปรายว่า อันที่จริงร่างรัฐธรรมนูญมีรายละเอียดปลีกย่อยเต็มไปหมดที่โต้แย้งได้ แต่เราเลือกเฉพาะเรื่องใหญ่ ใน 3 ประเด็นคือ 1.ภาพของโครงสร้างสถาบันการเมืองที่จะเกิดขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ ว่ามันจะนำไปสู่อะไร 2. มาตรา 5 ของร่างรัฐธรรมนูญที่มีปัญหาว่าอะไรคือประเพณีการปกครอง และ 3.การแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ประเด็นที่หนึ่ง ภาพของโครงสร้างสถาบันการเมืองที่จะเกิดขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ การแบ่งแยกอำนาจ 3 ฝ่าย ทุกองค์กรต้องตรวจสอบถ่วงดุลกันอย่างมีดุลยภาพ แต่จะวางกลไกตรวจสอบกันอย่างไรก็ออกแบบกันไป แต่ประชาชนจะเป็นผู้เป็นฐานความชอบธรรมของทั้งสามอำนาจนี้ ทั้งสามต้องเชื่อมโยงและรับผิดชอบต่อประชาชน แต่เมื่อดูฉบับปัจจุบันมีลักษณะลดทอนอำนาจตัดสินใจของประชาชน และสร้างองค์กรใหม่ขึ้นมาหรือเอาองค์กรที่มีอยู่แล้วขึ้นมาทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์ ตรวจสอบเพื่อไม่ให้องค์กรที่มีฐานความชอบธรรมจากประชาชนมีอำนาจ ขอลงรายละเอียดในบางประเด็น เช่น

ระบบเลือกตั้ง เรื่องนี้ควรให้ประชาชนมีส่วนร่วมตัดสินใจ ระบบจัดสรรปันส่วนผสมที่ร่างนี้กำหนดไว้ พื้นฐานของมันคล้ายกับร่างของอาจารย์บวรศักดิ์ที่ยืนบนระบบสัดส่วน แต่ความต่างคือ ในขณะที่ร่างอาจารย์บวรศักดิ์หรือแบบเยอรมันนั้น ประชาชนสามารถเลือกคะแนนได้ 2 ลักษณะ คือ พรรคการเมืองและผู้แทนแบบแบ่งเขต แล้วเอาคะแนนพรรคมาเป็นฐานในการจัดสรรปันส่วน แต่ของอาจารย์มีชัยเลือกได้แบบเดียว ถ้าประชาชนอยากเลือกส.ส.คนนี้แต่เกลียดพรรคนี้ ก็ไม่มีทางออกให้ในระบบ เท่ากับเป็นการบิดเบือนเจตนารมย์ของประชาชน และยังมีปัญหารายละเอียด เช่น มันยืนบนจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขต ปัญหาคือถ้าพรรคไม่มีปัญญาส่งส.ส.ลงสมัครทุกเขตทั่วประเทศจะทำอย่างไร ระบบนี้อิงคะแนนจาก ส.ส.ในเขตเลือกตั้ง ถ้าเกิดส.ส.เขตเลือกตั้งหายไป เช่น โดนใบเหลือง ใบแดง แล้วจะมีผลต่อคะแนนอย่างไร มันจะกลายเป็นระบบ “ส.ส.แบบชักเข้าชักออก” ระบบการคำนวณแบบมีชัยจึงมีปัญหาในเชิงหลักการทฤษฎีมาก มีความไม่แน่นอนของส.ส.บัญชีรายชื่ออยู่ภายใน 1 ปีแน่ๆ ว่าเขาจะพ้นจากตำแหน่งหรือไม่ ถามว่าในต่างประเทศใช้ไหม มีบ้างแต่น้อยมาก

วุฒิสภา เราคุ้นเคยกับรัฐธรรมนูญ 2540 ใช้ระบบเลือกตั้ง ปี 2550 ใช้ระบบเลือกครึ่งหนึ่งแต่งตั้งครึ่งหนึ่ง โดยหลักการต้องตั้งคำถามก่อนว่าควรมี ส.ว.หรือไม่ ถ้ามี มีไว้ทำไม อำนาจควรมีมากแค่ไหน ถ้ามีอำนาจมากก็ต้องมีความเชื่อมโยงกับประชาชนมากด้วย ส.ว.ตามรัฐธรรมนูญนี้ สามารถเลือกศาลรัฐธรรมนูญ เลือกองค์กรอิสระ ร่วมกับส.ส.ตรากฎหมาย แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ แก้ไขพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่รัฐสภาในบางกรณี ส.ว.200 คนมากจากการเลือกกันเองของกลุ่มส.ว.รายละเอียดการเลือกที่จะเกิดในทางปฏิบัติ คุณสบัติต่างๆ จะอยู่ในพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ถามว่าการเลือกกันเองคือการเลือกตั้งไหม มองในมุมมองหลักการการเลือกตั้ง การเลือกตั้งมี 2 ประเภท คือ เลือกตั้งทางตรง คือ เราเลือกผู้ถูกเลือกโดยตรง กับเลือกตั้งทางอ้อม เราเลือกคนที่จะไปเลือกคนในตำแหน่งอีกที แต่ไม่ว่าอย่างไรทางตรงหรือทางอ้อมก็ต้องย้อนกับมาสู่ประชาชนได้ ส่วนบทเฉพาะกาลที่กำหนดให้คสช.แต่งตั้งส.ว.ทั้งหมดใน 5 ปีแรก ขอยกไว้ก่อน

นอกจากนี้ในร่างรัฐธรรมนูญมีชัยยังมีคำประหลาดให้ต้องตีความอีกหลายคำ เช่น “มาตรฐานจริยธรรม” ตอนนี้คนไม่รู้ว่าคืออะไร โดยให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระไปออกแบบมาตรฐานจริยธรรม ถ้านักการเมืองไม่ทำตาม ป.ป.ช.มีอำนาจตรวจสอบ ยื่นเรื่องให้ศาลฎีกาวินิจฉัยให้นักการเมืองนั้นๆ พ้นจากตำแหน่งและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่เกิน 10 ปี และเพิกถอนสิทธิในการสมัครรับเลือกตั้งด้วย โดยไม่กำหนดกรอบเวลา

ปูนเทพระบุว่ายิ่งกว่านั้น ยังเพิ่มคุณสมบัติของ รมต. ครม. และนายกฯ ว่าต้อง “มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์” ถ้าไม่มีสิ่งนี้อาจทำให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่ง กลายเป็นว่าศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้ตัดสินทั้งที่เขาผ่านการเลือกตั้งของคนทั้งประเทศแล้ว นี่ยังไม่นับว่า พวกปิดทองหลังพระคนไม่รู้จักทำอย่างไร

ประเด็นที่สอง มาตรา 5 ในร่างรัฐธรรมนูญ ปูนเทพระบุว่าได้สร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาคือ องค์กรพิเศษที่จะมาวินิจฉัยว่าอะไรคือประเพณีการปกครองประชาธิปไตยแบบมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งเรื่องนี้หากไปถามคนร่างก็น่าจะตอบไม่เหมือนกัน แต่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 5 ซึ่งกำหนดว่าเรื่องใดไม่มีบัญญัติในรัฐธรรมนูญให้ใช้ตามจารีตประเพณีที่ว่า และให้ประธานศาลฎีกาจัดการประชุมร่วมหลายฝ่ายเพื่อวินิจฉัย โดยให้คำวินิจฉัยเป็นที่สุดปัญหาของมันคือ การตีความร่างธรรมนูญนั้น จะมีบทบัญญัติเป็นลายลักษณ์และบางเรื่องอาจมีประเพณีมาเสริม แต่ไม่ว่าอย่างไรส่วนเสริมนั้นก็ไม่สามารถขัดกับลายลักษณ์ได้ แต่มาตรา 5 สร้างกลไกใหม่ขึ้นมา และประธานศาลรัฐธรรมนูญเป็นคนกำหนดว่าเรื่องนั้นๆ ไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญต้องใช้กลไกแล้ว แม้ว่าคนทั้งประเทศอาจเห็นว่ายังใช้รัฐธรรมนูญต่อไปได้ก็ตาม

“เราจะมีศาลรัฐธรรมนูญพิเศษเพิ่มมาเพื่อวินิจฉัยเรื่องในส่วนที่ไม่มีในรัฐธรรมนูญ และผลก็ผูกพันทุกองค์กร ความชอบธรรมทางประชาธิปไตยมีน้อยมาก ในบริบทในประวัติศาสตร์ไทยมีการอ้างมาตรา 7 หลายครั้งเพื่อขอนายกฯ พระราชทาน เช่นเมื่อปี 2548 ตอนปี 2557 ก็ใช้มาตรา 7 เพื่อให้ ส.ว.เลือกนายกได้ แต่ปัญหาคือไม่มีใครมายืนยันว่าทำได้ คนอยากทำเลยไม่กล้าแต่ถ้ามีมาตรา 5 ตอนนี้ถ้ามีคนอยากให้พระมหากษัตริย์พระราชทานนายกฯ อยากให้ส.ว.เลือกนายกฯ ก็ส่งเข้าที่ประชุมร่วม และถ้าที่ประชุมร่วมบอกทำได้ ก็ทำได้ แม้ว่าจะขัดกับความเห็นคนทั้งประเทศหรือแม้แต่ขัดกับหลักในรัฐธรรมนูญเอง .. มันอาจเป็นการฉีกรัฐธรรมนูญขณะที่รัฐธรรมนูญยังบังคับใช้อยู่ เราอาจได้เห็น ผบ.ทบ.เป็นนายกฯ ได้โดยไม่ต้องทำรัฐประหาร” ปูนเทพกล่าว

ประเด็นที่สาม การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นไปไม่ได้กระบวนการแก้กฎหมายสูงสุดนั้นต้องเรียกร้องเสียงในการแก้ให้มากและยากกว่ากฎหมายอื่นนั้นถูกต้อง แต่ไม่ใช่แก้ไม่ได้ เพราะโดยสภาพเราต้องปรับรัฐธรรมนูญให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง การออกแบบการแก้ไขเพิ่มเติมต้องให้ได้สมดุลระหว่าง “แก้ไขยากกับแก้ไขได้” แต่ร่างรัฐธรรมนูญมีชัยนั้นแก้ไขยากมาก ๆ มาตรา 255 บอกว่าไม่ว่าจะยังไงก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือรูปของรัฐได้ ซึ่งคนวินิจฉัยคือ ศาลรัฐธรรมนูญ

โดยกระบวนการแก้ไขก็ยากมาก วาระที่หนึ่ง คะแนนเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งทั้งสภา (เหมือนเดิม) แต่ส.ว.ต้องเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ซึ่งส.ว.มาจาก คสช.แต่งตั้งใน 5 ปีแรก หลังจากนั้นมาจากการคัดเลือกกันเอง ถ้าส.ว.ไม่เอา ต่อให้ส.ส.จับมือกันทุกพรรคก็แก้ไม่ได้ วาระที่สอง ให้ใช้เสียงข้างมากเป็นประมาณ วาระที่สาม ต้องเห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่ง โดยต้องมีส.ส.จากฝ่ายค้านไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 (เพิ่มจากร่างแรกคือร้อยละ 10) ของทุกพรรคด้วย พูดง่ายๆ พรรคเสียงข้างมากต่อให้คุณมีเสียงข้างมาก ร้อยละ 75-80 แต่ถ้าคนในพรรคฝ่ายค้านไม่เอาด้วย ไม่ถึงเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญเขียนก็ไม่มีทางแก้ไขได้ ไม่มีที่ไหนในโลกเขียนแบบนี้ เป็นกลไกเขียนขึ้นมาใหม่

"ต่อให้คุณผ่านกระบวนการรัฐสภาไปได้หมด ก็ยังมีด่านต่อไป ถ้าร่างนี้แก้หมวด 1,2,15 หรือหน้าที่ของศาลหรือองค์กรอิสระ รัฐธรรมนูญกำหนดว่าก่อนขึ้นทูลเกล้าฯ ก็ต้องให้ออกเสียงประชามติก่อน แม้จะผ่านสภาแล้วและผ่านประชามติแล้ว คนก็ยังส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญได้อีก ตามมาตรา 55 .. ถ้าไม่เปิดโอกาสให้ผลักดันการเปลี่ยนแปลงตามระบบ มันจะนำไปสู่ความขัดแย้ง บังคับให้คนออกไปสู่การใช้กำลังเข้าสถาปนารัฐธรรมนูญ โดยสภาพอาจนำไปสู่จุดนั้น ที่ผ่านมารัฐธรรมนูญเราแก้ยาก เมื่อแก้ไม่ได้ก็ใช้วัฒนธรรมนแบบไทยคือ ฉีกแล้วร่างใหม่ตลอด แต่คนที่เขาเคารพกติกามาตลอด 30 ปีแล้วยังต้องอยู่ภายในรัฐธรรมนูญนี้เขาอาจทนไม่ไหวต่อไปอีกก็ได้” ปูนเทพกล่าว

 

ปิยบุตรชี้บทเฉพาะกาลเปิดช่องให้อำนาจ คสช. สืบต่อไป - ไขโจทย์ 'รัฐธรรมนูญปราบโกง' จริงหรือ

ปิยบุตร แสงกนกกุล กลุ่มนิติราษฎร์และอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้บรรยายโดยแบ่งเป็นสองส่วน หนึ่ง บทเฉพาะกาล ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอำนาจของ คสช. ยังคงดำรงอยู่ต่อไปแม้รัฐธรรมนูญนี้ผ่าน และ สอง การโต้ฝ่ายสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ

โดยส่วนที่หนึ่งเรื่องบทเฉพาะกาลนั้น ปิยบุตรระบุว่าลองพิจารณาประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญไทย จะพบว่ารัฐธรรมนูญไทยมีหลายฉบับ สืบเนื่องจากการรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญบ่อย ๆ แบ่งกลุ่มได้เป็นรัฐธรรมนูญถาวรกับชั่วคราวรัฐธรรมนูญชั่วคราว เกิดหลังการรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญถาวรแล้วทำรัฐธรรมนูญชั่วคราวขึ้น ก่อนจะมีรัฐธรรมนูญถาวรอันใหม่ขึ้น เลือกตั้งเข้าระบบ คณะรัฐประหารถอนตัวไป

เมื่อพูดถึงรัฐธรรมนูญชั่วคราว โดยความหมายต้องอยู่แป๊บเดียว แต่ในประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญไทยพบว่ามีรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่อยู่นาน ได้แก่ สมัยจอมพลสฤษดิ์ ปี 2502 อยู่จนปี 2511 สมัยจอมพลถนอม อยู่เกือบสองปี จนเกิดเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516

มีข้อสังเกตว่าระยะหลังเมื่อมีรัฐประหาร รัฐธรรมนูญชั่วคราวจะสั้นขึ้น เช่น ปี 2534 รสช. รัฐประหาร อยู่ไม่ถึงปี ก็มีรัฐธรรมนูญถาวร หรือ คปค. อยู่เกือบปีก็มีรัฐธรรมนูญ 2550 น่าสนใจว่าถ้าเรามองรัฐประหารแต่ละครั้งของไทย ดูความตั้งใจของคณะรัฐประหารแต่ละชุด จะมีชุดที่อยากอยู่ยาวกับอยากอยู่สั้น คนที่อยากอยู่ยาว เช่น สฤษดิ์ และธานินทร์ หลัง 6 ต.ค. ตามแผน 4+4+4 แต่มีรัฐประหารก่อน ส่วนคณะรัฐประหารมาแล้วก็ไป เช่น รสช. (2534) คปค. (2549)

สาเหตุของพวกที่อยากอยู่สั้นคือต้องการไล่รัฐบาลจากการเลือกตั้งขณะนั้นออกไปเพราะขัดแย้งกัน เช่น ไม่พอใจที่มีการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหาร ส่วนพวกที่อยากอยู่ยาวเพราะประเมินว่ามีการคุกคาม เป็นอันตรายต่อระบอบของพวกเขา พลังประชาธิปไตยเริ่มคุกคาม อำนาจเริ่มเป็นของประชาชนมากขึ้น จึงรัฐประหารเพื่อต้องการดึงกลับไป

ถามว่าชุดปัจจุบันอยากอยู่สั้นหรือยาว ชุดปัจจุบันนั้นพรุ่งนี้จะครบสองปี ดูเหมือนสั้น แต่ถ้าคิดว่าศตวรรษที่ 21 เผด็จการทหารที่อยู่ได้สองปีถือว่านานมาก โลกนี้แทบไม่เหลือประเทศไหนที่เป็นรัฐบาลเผด็จการทหาร เมื่อเราอยู่คนเดียวไม่ได้ ถ้าเราไม่พร้อมปิดประเทศ จึงต้องออกแบบรัฐธรรมนูญถาวรขึ้น เพื่อบอกว่าเดี๋ยวเราจะกลับสู่การเลือกตั้ง รัฐประหารจะไม่อยู่แล้วเรากลับไปคบค้ากับชาวโลกได้

โจทย์คือ ทำอย่างไรให้องค์กรแบบคณะรัฐประหารซ่อนตัวอยู่ในรัฐธรรมนูญถาวร เพื่อบอกประชาคมโลกว่ามีรัฐธรรมนูญใหม่แล้ว เลือกตั้งแล้ว ออกแล้วเราต้องดูรัฐธรรมนูญ จะต้องอ่านจากมาตราสุดท้าย เพราะของไม่ดีอยู่ท้าย ๆ ในบทเฉพาะกาล ทำอย่างไรให้รัฐธรรมนูญชั่วคราวแปลงอยู่ในรัฐธรรมนูญถาร ถ้าผ่านได้เราจะได้ "รัฐธรรมนูญชั่ว(คราว)ถาวร"

มาตรา 265 บทเฉพาะกาล นี่เป็นครั้งแรกที่องค์กรที่ทำรัฐประหารยังตามอยู่ต่อแม้รับรัฐธรรมนูญแล้ว โดยเขียนให้อำนาจของหัวหน้า คสช. ที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ยังมีอยู่ต่อไป จนกว่า ครม.ชุดใหม่จากการเลือกตั้งเข้ารับตำแหน่ง ซึ่งนั่นก็คืออำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 นั่นเอง เท่ากับถ้าร่างนี้ผ่าน ไม่ใช่แค่ 279 มาตรา แต่บวกมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวไปด้วย

ทั้งนี้จากสถานการณ์การเมืองที่ผ่านมาทำให้ไม่อาจแน่ใจได้เลยว่าจะมีเลือกตั้งเมื่อไหร่จะได้รัฐบาลไหม จะโดนใบเหลืองใบแดง หรือเลือกตั้งโมฆะไหม นอกจากนี้การออกคำสั่งตามมาตรา 44 ที่ผ่านมา กว่า 70 ฉบับ ยังเป็นการออกแบบกว้างขวางในทุกเรื่อง ซึ่งอาจมีการเลื่อนเลือกตั้งหรือพักการเลือกตั้งก็ได้ นอกจากมาตรา 44 แล้วยังมีมาตรา 269 ที่พูดเรื่อง ส.ว.ชุดที่มีข้าราชการ เหล่าทัพ เป็น ส.ว. โดยตำแหน่ง ที่เหลือ คสช. เลือก โดย ส.ว.ชุดนี้ มีบทบาทเลือกองค์กรอิสระ และพัวพันกับการตรากฎหมายปฏิรูป เท่ากับจะมีสภาหนึ่งชุดที่มีความสัมพันธ์กับ คสช. แน่ ๆ

นอกจากนี้ยังมีมาตรา 272 ที่เปิดช่องให้มีนายกฯ จากคนนอก และหมวดปฏิรูประบุว่าถ้าใช้รัฐธรรมนูญใหม่จะต้องเอาแพคเกจนี้ไปด้วย ถ้าไม่ทำมีมาตรการลงโทษตามมาอีก และสุดท้าย มาตรา 279 ที่รับรองว่าสิ่งที่ คสช. ทำมาทั้งหมด สิ่งใด ๆ ก็ตามที่ คสช. ทำมา ตั้งแต่รัฐประหารจนถึงวันนี้ ให้ถือว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญใหม่ทุกประการ มาตรานี้คล้ายมาตรา 309 ของรัฐธรรมนูญ 2550 แต่แรงกว่าเดิม เพราะมาตรา 265 ทำให้รัฐธรรมนูญของมีชัยมีมาตรา 44

ในประเด็นที่สองเรื่องโต้แย้งกับสิ่งที่ฝ่ายสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญประชาสัมพันธ์ ปิยบุตรระบุว่า ในเรื่อง "รัฐธรรมนูญปราบโกง" นั้นเมื่อชูธงว่ารัฐธรรมนูญปราบโกงใครก็เชียร์ ถามว่าปราบโกงจริงไหม รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ว่าด้วยการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจ พูดถึงที่มาของ ส.ส. ส.ว. ความสัมพันธ์ของสถาบันการเมือง รับรองสิทธิเสรีภาพของบุคคล ไม่ได้มีฟังก์ชันเพื่อปราบโกง การปราบคอร์รัปชันไม่มีทางใช้รัฐธรรมนูญปราบได้ ถ้าใช้ได้ ประเทศนี้คงใช้เสร็จไปเรียบร้อยแล้ว เพราะทำมาหลายครั้งแล้ว แต่ทำกี่ทีก็ไม่สำเร็จ

การปราบโกงเป็นโฆษณาชวนเชื่อ พอขายไอเดียว่ารัฐธรรมนูญปราบโกงคนเฮหมด แต่จริงๆ แล้วการปราบโกงขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยในระบอบเผด็จการอาจจะเห็นว่าไม่มีการโกงเลยก็ได้ เพราะไม่มีระบบตรวจสอบ แต่ระบอบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้ง มีกลไกตรวจสอบ อนุญาตให้แสดงความเห็นจึงทำให้เห็นว่ามีการคอร์รัปชันเกิดขึ้นเพราะฉะนั้น ประชาธิปไตยเท่านั้นจึงจะปราบคอร์รัปชันได้

นอกจากนี้ มีข้อสังเกตว่า ระบบตรวจสอบคอร์รัปชันนั้นมีมาตรฐานไม่เสมอกัน โดยเอียงไปทางตรวจสอบนักการเมืองจากการเลือกตั้งมากกว่าคนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เช่น ศาล กองทัพ ข้าราชการประจำ องค์กรอิสระต่างๆในวิธีคิดของคนร่าง ดูเหมือนคนโกงมีแค่นักการเมืองจากการเลือกตั้งเท่านั้น

ประเด็น "รัฐธรรมนูญนี้เชิดชูรับรองสิทธิเสรีภาพไว้จำนวนมาก" ปิยบุตรระบุว่ามาตรา 26 บอกว่า การตรากฎหมายจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของประชาชนต้องทำตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ กรณีไม่บัญญัติไว้ต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ถามว่า หลักนิติธรรมคืออะไรยกตัวอย่างให้ดูเวลาศาลรัฐธรรมนูญใช้ "หลักนิติรรม" ว่าใช้ในลักษณะใด เช่น คดีสมยศ พฤกษาเกษมสุข ที่ฟ้องศาลรัฐธรรมนูญว่า มาตรา 112 ขัดรัฐธรรมนูญจำกัดเสรีภาพการแสดงความเห็น และมีโทษไม่ได้สัดส่วน ผลคือ ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย 9-0 บอกว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ชอบด้วยหลักนิติธรรมแล้ว

"คุณเขียนรัฐธรรมนูญแบบกังวลใจมากว่าคนจะเอาสิทธิเสรีภาพไปใช้แบบไหน" ปิยบุตรกล่าว

มาตรา 34 บุคคลมีเสรีภาพในการแสดงความเห็น เสรีภาพทางวิชาการได้รับการคุ้มครองแต่ต้องไม่ขัดหน้าที่ปวงชนชาวไทย ศีลธรรมอันดี และต้องเคารพและไม่ปิดกั้นความเห็นต่างของประชาชน ขณะที่เมื่อดูมาตราที่ว่าด้วยหน้าที่ปวงชนชาวไทย ระบุว่าห้ามกระทำการในลักษณะปลุกระดมสร้างความเกลียดชัง ทำให้เกิดความแตกแยกในสังคม หรือเรื่องสิทธิเลือกตั้งและประชามติ ก็ระบุให้คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ รวม ๆ แล้วเป็นการรับรองสิทธิไว้ แต่แนะนำด้วยว่าจะต้องใช้สิทธิอย่างไร ดังนั้น แม้เขียนรับรองสิทธิไว้ ถ้าประชาชนรู้สึกว่ารัฐละเมิดสิทธิ และโต้แย้งไปที่ศาล ศาลจะแปลความตามที่ศาลต้องการ

นอกจากนี้ แม้จะรับรองสิทธิทั้งหมด แต่วันหนึ่ง ประชาชนอยากยันกับประกาศหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 เช่น กรณียกเว้นกฎหมายผังเมือง ประมง เด็กแว้น ถ้าเห็นว่าคำสั่งเหล่านี้ละเมิดเสรีภาพประกอบอาชีพ จึงต้องการโต้แย้ง ถามว่าอ้างได้ไหม ตอบว่าไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญรับรองความชอบไว้แล้วตลอดกาล รวมทั้งการที่บอกว่า เป็นการปฏิรูปหรือปรองดอง นั้นเป็นการปฏิรูป-ปรองดองข้างเดียว เพราะรัฐธรรมนูญนี้กำหนดให้แพ็คเกจปฏิรูปทั้งหมด ที่รัฐบาล สนช. สปท. เป็นคนทำ ให้รัฐบาลจากการเลือกตั้งทำต่อรัฐบาลจากการเลือกตั้งในอนาคตทำได้แค่เป็น "ม้าใช้" เอาแพคเกจไปใช้ต่อ

หลายคนรับรัฐธรรมนูญเพราะอยากเลือกตั้ง รับเพราะไม่ชอบรัฐบาล คสช. เลย อยากมีรัฐบาลพลเรือนเร็วๆ จะได้ค้าขายต่อ สำหรับคนที่คิดแบบนี้อาจไม่จริง เพราะถ้าผ่านประชามติ ก็อาจยังไม่ได้เลือกตั้ง โรดแมป 15 เดือน อาจยืดได้หดได้ เพราะหัวหน้า คสช. ยังมีอำนาจตาม มาตรา 44 ยังไม่นับว่าต้องร่างกฎหมายลูก 4 ฉบับ เรื่องเลือกตั้ง ส.ส. ส.ว. ซึ่งไม่รู้ว่า สนช.จะเห็นด้วยหรือไม่ รัฐธรรมนูญที่ทำกันอยู่ เป็นเทคนิคการเขียนสิ่งที่อยู่ชั่วคราวเป็นถาวร แปลงระบอบรัฐประหารให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญใหม่ให้หมด นำสิ่งที่ผิดรัฐธรรมนูญในสมัยก่อน ให้ถูกรัฐธรรมนูญหมด ด้วยการใส่ในรัฐธรรมนูญ นำองค์กรนอกรัฐธรรมนูญมาใส่ เขียนถ้อยคำกว้าง ๆ ให้องค์กรอิสระ ศาลเข้ามาตีความ

ท้ายสุดปิยบุตรระบุว่าคณะนิติราษฎร์จึงไม่รับร่างนี้ เพราะรับแล้วเท่ากับเรายอมรับให้สิ่งผิดปกติ กลายเป็นสิ่งปกติ ทำให้สภาวะยกเว้นกลายเป็นสภาวะปกติ ทำให้เรื่องชั่วคราวกลายเป็นถาวร ทำความจำเป็นสองปีให้กลายเป็นถาวรตลอดกาลถ้าร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่ผ่าน ผู้ทรงอำนาจในความเป็นจริงควรยุติบทบาททำร่างรัฐธรรมนูญและคืนอำนาจสูงสุดให้ประชาชน กลับไปกำหนดชะตาชีวิตว่าจะออกแบบบรัฐธรรมนูญตามที่ต้องการอย่างไร

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทหารเข้าพบชาวบ้านค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินบำเหน็จณรงค์ อ้างอยากคุยเพราะเป็นแกนนำ

$
0
0

ภาพกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ ขณะเดินทางไปที่สมาคมนักข่าวฯ เมื่อวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา (ที่มาภาพ เฟซบุ๊ก ฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ 

21 พ.ค.2559 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า เมื่อเวลา 10.50 น. ได้รับแจ้งจากกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ว่า มีรถกระบะสี่ประตูสีบรอนซ์ เข้าไปจอดที่หน้าบ้าน เสมอ เถินมงคล สมาชิกกลุ่มฯ ที่บ้านเพชร หมู่ 2 ต.เพชร อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ จากนั้น ทหารแต่งชุดลายพราง 2 คน เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ 1 คน พร้อมผู้ใหญ่บ้านบ้านเพชร หมู่ 2 ก็ลงมาจากรถคันดังกล่าว เข้าไปสอบถามพ่อและน้องสาวของเสมอว่า เสมออยู่ไหม นายอยากคุยด้วย เพราะเสมอเป็นแกนนำคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน  แต่เนื่องจากเสมอไปทำงาน ไม่อยู่บ้าน เจ้าหน้าที่ทั้งหมดจึงขับรถกลับออกไป และไปหาเสมอที่ทำงานอีก แต่ไม่พบตัวเสมอเช่นกัน เจ้าหน้าที่จึงขับรถย้อนกลับมาถ่ายภาพบ้านและน้องสาวของเสมออีกครั้ง ก่อนขับรถออกไปจากหมู่บ้าน ทั้งนี้ แหล่งข่าวให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ทหารกลุ่มดังกล่าวน่าจะเป็นฝ่ายความมั่นคงอำเภอบำเหน็จณรงค์

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ ยังคาดด้วยว่า กรณีนี้สืบเนื่องมาจากการเคลื่อนไหวคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเพื่อใช้ในเหมืองแร่โปแตช อ.บำเหน็จณรงค์ ของชาวบ้านในนาม ‘กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์’ ซึ่งทำให้การก่อสร้างโรงไฟฟ้ายังไม่สามารถเริ่มได้ ทั้งนี้ เหมืองแร่โปแตช อ.บำเหน็จณรงค์ หรือเหมืองโปแตชอาเซียน จ.ชัยภูมิ ของบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน)  ได้รับประทานบัตรในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 หลังรัฐบาลต่างๆ พยายามผลักดันมากว่า 30 ปี แต่การดำเนินโครงการล่าช้า เนื่องจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่จะใช้ภายในโครงการ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมโดยใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ถูกชาวบ้านในพื้นที่คัดค้าน เนื่องจากความกังวลถึงผลกระทบจากมลพิษต่อสุขภาพ และพืชผลทางการเกษตร รวมถึงการแย่งชุมชนใช้แหล่งน้ำ อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวคัดค้านของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ก็ถูกปิดกั้นจากฝ่ายความมั่นคงอยู่เสมอ ทั้งการห้ามใส่เสื้อคัดค้านและแสดงความเห็นในเวทีรับฟังความเห็นเมื่อเดือนตุลาคม 2558 จนถึงการสั่งห้ามจัดงานบุญผ้าป่าเพื่อระดมทุนต่อสู้คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปลูกเลย! โจอี้บอย ตอบ บ.ก.ลายจุด "แนะนำตรงใจกับพวกเราเกือบทุกเรื่อง"

$
0
0

หลังจาก บ.ก.ลายจุด โพสต์วิจารณ์พร้อมเสนอแนะมาตรการปลูกป่า ในหัวข้อ 'อย่าปลูกเลย' หัวเรือใหญ่รณรงค์ปลูกเลย อย่าง โจอี้บอย เข้ามาตอบ "แนะนำตรงใจกับพวกเราเกือบทุกเรื่อง" พร้อมระบุจะนำข้อเสนอไปคุยและเดินหน้ากิจกรรมต่อ

เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'ปลูกเลย

22 พ.ค. 2559 หลังจากวานนี้ สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บ.ก.ลายจุด แกนนำกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง และอดีตประธานกรรมการมูลนิธิกระจกเงา ได้โพสต์วิจารณ์พร้มเสนอแนะการปลูกป่าการรณรงค์ 'ปลูกเลย' ที่นำโดย โจอี้ บอย (อภิสิทธิ์ โอภาสเอี่ยมลิขิต) นักร้องชื่อดัง โดย สมบัติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ในหัวข้อว่า 'อย่าปลูกเลย' พร้อมระบุว่า ข่าวที่นักร้องดังโจอี้บอยเอาจริงที่จะระดมคนไปปลูกป่าที่ จ.น่าน และได้ตั้งเพจ "ปลูกเลย" ขึ้นมา ผมรู้สึกดีที่มีคนกรุงเทพอยากเห็นสิ่งแวดล้อมที่ดีกลับมา แต่ผมอยากบอกว่า "อย่าปลูกเลย" 

โดย สมบัติ ให้เหตุผลพร้อมข้อเสนอแนะไว้ดังนี้

ผมไม่เคยเห็นการปลูกป่าจริง ๆ ส่วนใหญ่ปลูกแค่ต้นไม้ เอาแค่เลือกต้นไม้ก็มักออกมาเป็นรูปแบบของไม้เศรษฐกิจ หรือไม้ที่พวกเราเรียนหนังสือกันว่าในป่าต้องมีต้นสักอะไรทำนองนี้ แต่ในความจริงป่ามีต้นไม้นับร้อยนับพันชนิด ป่าที่สมบูรณ์มีเรือนไม้ 7 ชั้น (7ระดับ)

ภูเขาหัวโล้นที่คุณเห็นแล้วเกิดความสะเทือนใจนั้น รากของปัญหามาจากปัญหาความยากจน พวกเขาต้องปลูกพืชเศรษฐกิจระยะสั้นที่เก็บเกี่ยวภายใน 3 เดือน และถึงแม้เขาปลูกต้นไม้ที่อายุยืนขึ้นหน่อย อย่างต้นยางพารา ภูเขาคงไม่หัวโล้นแต่มันก็ไม่ใช่ป่าอยู่ดี ไม่มีแนวต้นไม้เกาะผิวดินที่จะชะลอการกัดเซาะ

คุณเคยไปดูสวนสักของ ออป หรือป่าไม้ปลูกไว้มั๊ย ?
เขาปลูกต้นไม้เชิงเดี่ยว ยืนเข้าแถวเหมือนเด็กนักเรียนเคารพเสาธง ทุกฤดูแล้งต้นสักจะผลัดใบจนหมด เมื่อฝนมาเม็ดฝนจะกระทบดินและงัดเอาหน้าดินไปกับน้ำ หลายพื้นที่คุณไม่สามารถเดินเท้าเปล่าในสวนสักบนเขาได้ เพราะมันมีแต่หิน

ป่าไม่ต้องปลูกครับ เพียงมนุษย์เราไม่ไปรบกวนมัน ภูเขาหัวโล้นที่คุณเห็นจะฟื้นฟูตัวเองด้วยเริ่มจากไม้เบิกนำ ซึ่งได้แก่ หญ้า ไผ่ และ กล้วย ภายในฤดูฝนเดียวภูเขาทั้งลูกก็จะเขียวขจี หลังจากนั้นต้นไม้ชนิดต่าง ๆ ก็จะกลับคืนมา ลองคำนวนว่าถ้าคุณต้องไปปลูกต้นไม้บนเขาสักลูกหนึ่งให้ได้เท่ากับที่ธรรมชาติฟื้นฟูตัวเองใน 1 ปี คุณต้องใช้กำลังคนและทรัพยากรเท่าไหร่เพื่อการนี้

คำตอบที่ถูกต้องคือ ช่วยสนับสนุนชาวบ้านให้มีกินและมีป่าอยู่ไปด้วยกัน อย่าให้พวกเขาหิวโหยในขณะที่นั่งดูต้นไม้เขียวๆ แบบที่คนกรุงเทพอยากให้เห็น

ในอินโดนีเซียมีปัญหาเรื่องการทำลายป่าพรุ ก็ที่เป็นข่าวเรื่องควันไฟปลิวมาที่มาเลเซียและภาคใต้ตอนล่างเราทุกปีนั่นแหละ มีองค์กรแห่งหนึ่งคิดวิธีการระดมทุนเพื่อให้ชาวบ้านช่วยกันดูแลป่าไม้ จ่ายกันเป็นพื้นที่เลย เหมือนเฝ้ายาม ชาวบ้านเข้าป่าแทนที่จะไปเผาหรือถางป่าก็ไปตรวจดูสุขภาพและความเป็นอยู่ของป่าไม้ แถมยังสร้างจิตสำนึกไปพร้อม ๆ กัน

จริง ๆ มีวิธีการอีกมากที่ชาวบ้านจะอยู่กับป่าได้โดยไม่รุกรานกัน แต่ผมรับประกันว่าไม่ใช่การไปปลูกป่าแล้วตะโกนให้ชาวบ้านตรงนั้นช่วยกันอนุรักษ์เพียงฝ่ายเดียว

อย่าได้ตีความข้อความนี้เป็นการต่อต้านหรือหมิ่นความปราถนาดีที่คุณโจอี้บอยมีต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม ผมเพียงอยากร่วมกับคุณเพื่อให้สิ่งนี้ใกล้เคียงความจริงมากที่สุด

 

ภายหลัง โจอี้ บอย ได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นท้ายโพสต์ของสมบัติ ผ่านเฟซบุ๊ก 'Apisit Joeyboy Opasaimlikit' ด้วยว่า  เรื่องที่พี่แนะนำตรงใจกับพวกเราเกือบทุกเรื่อง เป็นข้อมูลเดียวกันกับที่พวกเราได้รับรู้และหาหนทางแก้ไขร่วมกับทางพื้นที่ซึ่งทางจังหวัดมีแผนดูแลความเป็นอยู่ของชาวบ้านทั้งปลูกทั้งสร้างฝายและเกษตรรองรับถึง 14 โมเดล ส่วนสิ่งที่เราทำเป็นโมเดลนึงในพื้นที่เล็กๆ เท่าที่กำลังเราทำไหว

"เราเลือกจะ "ปลูกเลย!" บนพื้นที่เขาที่บอบช้ำจากยาฆ่าแมลงที่ทำลายลึกลงไปในชั้นดิน กว่าจะรอมันเติบโตเองคงใช้เวลาพอสมควร บางพื้นที่ปล่อยขึ้นเองได้ครับ แต่พื้นที่เราเจอ เราอยากกระตุ้นให้คนเข้าช่วยพยาบาลธรรมชาติอีกแรง ดังเช่นที่อาจต้องขอแรงพี่อีกแรงช่วยพวกเรา "ปลูกเลย!" ครับ" โจอี้ บอย แสดงความเห็น

ขณะที่ สุหฤท สยามวาลา  นักจัดรายการวิทยุ ซึ่งร่วมในการรณรงค์ปลูกป่าด้วยกัน ได้เข้ามาขอบคุณพร้อมแสดงความเห็นด้วยว่า จะนำไปคุยกันในกลุ่ม มันก็เกิดหลายคำถามในสเตตัสสมบัติ แต่ตนจะจดไปคุยกันเพื่อหาทางออก ฝากรอติดตามวิธีการนิดนึง พรุ่งนี้ 22 พวกตนจะประชุมกัน

จากนั้นวันนี้ สมบัติ ได้นำความเห็นของ โจอี้ บอย และสุหฤท มาโพสต์โดยระบุว่า ขอบคุณท่าทีในการรับฟังของทั้งคุณสุหฤท และคุณโจอี้บอย 
 
"ผมทำงานชาวเขาอยู่ 7 ปีที่เชียงราย เห็นทั้งวิถีของผู้คนและวิถีของธรรมชาติ ต้องขออภัยที่ข้อเขียนก่อนหน้านี้อาจบั่นทอนความปรารถนาดีของบางท่าน ผมขอให้ภาระกิจที่ท่านทั้งหลายได้ตั้งใจไว้จงบรรลุเป้าหมายและประสบความสำเร็จ" สมบัติ กล่าว

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อินโดนีเซียเตรียมยุติส่งออกคนทำงานบ้านที่ต้องพักกับนายจ้าง

$
0
0
รัฐบาลอินโดนีเซียประกาศจะยุติส่งออกคนทำงานบ้านที่อาศัยอยู่กับบ้านนายจ้างในปีหน้า ระบุการพักอาศัยกับนายจ้างเป็นสาเหตุให้ถูกกระทำรุนแรง ขอนายจ้างต่างแดนมีสัญญาจ้างคนทำงานบ้านมาตรฐานเช่นเดียวกับพนักงานบริษัท

 
 
มาตรการใหม่ของอินโดนีเซียจะไม่อนุญาตให้คนทำงานบ้านพักกับนายจ้างในต่างแดน (ที่มาภาพ: Mopaw Foundation)
 
เว็บไซต์ International Business Timesรายงานเมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2559 ที่ผ่านมาว่ารัฐบาลรัฐบาลอินโดนีเซียจะไม่อนุญาตให้ผู้หญิงที่ออกไปทำงานยังต่างประเทศในงานแม่บ้านที่ต้องพักอาศัยกับนายจ้าง โดยจะเริ่มนโยบายนี้ตั้งแต่ปีหน้า (2560) เป็นต้นไป ทั้งนี้ตามมาตรการใหม่นี้คนทำงานบ้านชาวอินโดนีเซียจะได้รับการฝึกอบรมก่อนออกไปทำงานยังนอกประเทศอีกด้วย
 
เฮอร์แมน เพรยิตโน (Herman Prayitno) เอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำมาเลเซียระบุว่าต้องการให้คนทำงานบ้านชาวอินโดนีเซียมีสัญญาจ้างที่เป็นมาตรฐานเช่นเดียวกับพนักงานบริษัท
 
ด้าน The Straits Timesระบุว่าเฉพาะในสิงคโปร์นั้นคนทำงานบ้านจากอินโดนีเซียมีจำนวนสูงถึง 125,000 คน โดยคนทำงานบ้านหญิงชาวอินโดนีเซีย วัย 27 ปี ที่ทำงานในสิงคโปร์มาเป็นเวลา 6 ปีแล้ว ระบุว่าแม้สภาพการทำงานโดยรวมของเธอจะไม่มีปัญหา แต่ก็รู้สึกยินดีต่อมาตรการใหม่ของรัฐบาลอินโดนีเซียที่ต้องการคนทำงานบ้านชาวอินโดนีเซียในต่างแดนมีวันหยุด และเดินทางไปข้างนอกบ้านของนายจ้างได้ นอกจากนี้เธอยังระบุว่าเพื่อนที่ทำงานบ้านแบบเธอนั้น หลายคนต้องการความช่วยเหลือ พวกเธอไม่สามารถออกไปข้างนอกเพื่อใช้ชีวิตส่วนตัวในวันหยุดได้ เพราะนายจ้างและครอบครัวมักอยู่บ้านเสมอ
 
โซเอส ฮินด์ฮาร์โน (Soes Hindharno) ผู้อำนวยการฝ่ายคุ้มครองแรงงานในต่างประเทศ กระทรวงแรงงานอินโดนีเซีย ระบุว่ามาตรการใหม่นี้จะทำให้คนทำงานบ้านชาวอินโดนีเซียในต่างแดนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พวกเธอจะได้หนังสือรับรองจากรัฐบาลอินโดนีเซีย การเข้ารับการอบรมด้านการทำอาหาร ดูแลเด็กเล็ก และคนชรา นอกจากนี้มาตรการใหม่นี้คนทำงานหญิงอินโดนีเซียก็จะยังคงสามารถทำงานอื่น ๆ ตามที่ได้รับการร้องขอนอกเหนือจากสาขาที่ได้ผ่านการฝึกอบรม แต่หากว่าเธอเหล่านั้นไม่สามารถทำหน้าที่ได้ดีทางนายจ้างก็ไม่ควรต้องลงโทษ และยังเชื่อว่าหากคนทำงานบ้านชาวอินโดนีเซียถูกจำกัดให้อยู่แต่ภายในที่พักกับนายจ้างก็จะไม่มีทางทราบได้เลยว่าพวกเธอเหล่านั้นถูกบังคับให้ต้องทำงานเกินเวลาหรือไม่ ซึ่งคนคนทำงานบ้านก็ควรที่จะได้รับค่าตอบแทนตามเวลาที่ได้ทำงานจริง
       
อย่างไรก็ตามมาตรการใหม่นี้จะบังคับใช้กับแรงงานที่จะออกไปทำงานยังต่างประเทศที่เป็นรายใหม่เท่านั้น ซึ่งคนทำงานบ้านชาวอินโดนีเซียที่กำลังทำงานในต่างแดนอยุ่ในปัจจุบันก็ยังสามารถต่ออายุวีซ่าการทำงานออกไปได้ และยังเลือกที่จะอยู่กับนายจ้างต่างชาติของตนเองได้
       
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ฟังเสียงจากคนต้นน้ำแตง: เวียงแหง กับการจัดการฐานทรัพยากรที่เปลี่ยนไป (ตอนจบ)

$
0
0
เมื่อคนเวียงแหงพร้อมใจกันจัดงาน‘มหกรรมเสียงจากคนต้นน้ำแตง’ สรุปบทเรียนความร่วมมือและทิศทางการจัดการทรัพยากรฯที่ยั่งยืน หลายองค์กรขานรับ แนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินและป่าไม้ของชุมชน ว่าลดความขัดแย้ง ไม่ต้องจับกุม ไม่มีบุกรุก แถมยังช่วยกันดูแลรักษาดิน น้ำ ป่า ได้ยั่งยืน
 
 
 
 
เมื่อวันที่ 24 - 25 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา ทางเครือข่ายฯ จึงได้มีการจัดงานมหกรรมเสียงจากคนต้นน้ำแตง ณ บริเวณสำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลเปียงหลวง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ โดยภายในงาน จะมีการจัดกิจกรรมของเครือข่ายหลากหลายกิจกรรมด้วยกัน อาทิ งานถอดองค์ความรู้ การจัดนิทรรศการกิจกรรมของเครือข่ายฯ และมี“วงเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์“การเติมเต็มสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่า” โดยมี เครือข่ายทรัพยากรฯลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน ผู้นำท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ตัวแทนสภาองค์กรชุมชน อาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทสม.) และนักพัฒนาเอกชน เข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน แล้วยังมีนำเสนอวีดีทัศน์“เหลียวหลัง แลหน้า สร้างพลังข้อมูล ปฏิรูปฐานทรัพยากร” ให้ได้ชมภายในงานกันอีกด้วย
                                                                                   
นอกจากนั้น ยังมีความเห็นต่อบทเรียน ประสบการณ์ของเครือข่ายฯ รวมทั้งยังมีการจัดวงเสวนาเรื่อง “ข้อเสนอ สิ่งที่ท้าทายจากบทเรียนชาวบ้าน สู่การปฏิรูปทรัพยากร ฐานราก สู่การเปลี่ยนแปลงทางนโยบาย” โดยมีผู้แทนจากสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เชียงใหม่ ผู้แทนกองทุนสิ่งแวดล้อม สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม ผู้แทนกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ผู้แทนสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ผู้แทนท้องถิ่น 3 ตำบล อำเภอเวียงแหง ผู้แทนเครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน และผู้แทนภาคีเครือข่าย ภาคเหนือ เข้าร่วมวงเสวนากันด้วย
 
ไพรัช ใหม่ชมพู รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ (อบจ.เชียงใหม่) ประธานในการจัดการงานในครั้งนี้ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าพี่น้องชาวบ้าน เครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน นี้สุดยอดมาก ทำได้ขนาดนี้ เพราะพี่น้องชาวบ้านเจ้าของพื้นที่นั้นจะรู้ปัญหาของตนเองดี โดยให้ทุกฝ่ายทุกกลุ่มเข้ามามีส่วนร่วม
 
“บางทีเราต้องเข้าใจว่า รัฐบาลก็พยายามแก้ไขปัญหาแต่บางครั้งก็ไม่รู้จะใช้วิธีไหนมาแก้ แต่ถ้ารัฐมาเห็นกระบวนการทำงานการแก้ไขปัญหาที่ดินและป่าไม้ที่เป็นรูปธรรมเหมือนที่เครือข่ายกำลังทำอยู่นี้ ก็อาจนำไปสู่นโยบายของรัฐได้ ซึ่งก็คงต้องค่อยเป็นค่อยไป ในส่วนของ อบจ. ก็กำลังศึกษารูปแบบในเรื่องนี้อยู่ว่าจะใช้พื้นที่อำเภอไหนที่มีความพร้อมและเป็นรูปธรรม เป็นพื้นที่นำร่องต่อไป ซึ่งจะต้องเชิญตัวแทนของอบต. เทศบาลที่มีความพร้อม มาคุยกัน โดยทาง อบจ.จะเป็นฝ่ายสนับสนุนงบประมาณในการขับเคลื่อนกันต่อไป”
 
ด้าน สมพงษ์ ปละทองคำ หัวหน้าหน่วยจุดสกัดเวียงแหง อุทยานแห่งชาติผาแดง กล่าวว่า จริงๆ แล้ว การทำงานของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ป่าไม้ ต่างก็ใช้ตัวบทกฎหมาย 4 ตัวเหมือนกันหมดทั่วประเทศ เพียงแต่ว่าเราอาจจะต้องมองบริบทในแต่ละพื้นที่ ซึ่งอาจนำไปใช้ในพื้นที่อื่นๆ ได้ แต่อาจจะนำไปใช้กับพื้นที่อำเภอเวียงแหง อำเภอเชียงดาว หรืออำเภอปาย อาจไม่สามารถแก้ไขปัญหาการบุกรุกป่าได้ แต่กรณีเวียงแหง นี้ถือว่าเป็นเรื่องน่าภาคภูมิใจ เมื่อคนเวียงแหงได้ลุกขึ้นมาสู้ด้วยตัวของตัวเอง ร่วมกันจัดการแก้ไขปัญหาที่ดินและป่ากันเองได้ โดยใช้กฎกติกาของเครือข่าย ดังนั้น ในเรื่องตัวบทกฎหมาย รวมไปถึงแนวทางการทำงานของเครือข่ายฯ คงต้องฝากไปยังผู้หลักผู้ใหญ่ในระดับกระทรวง ช่วยกันพิจารณาเป็นนโยบายกันต่อไป เพราะมาถึงตรงนี้ ถือว่าพี่น้องเวียงแหงได้ร่วมกันผลักดันกันมาได้ไกลแล้ว
 
เมื่อเราถามว่า พื้นที่อื่นสามารถนำรูปแบบการจัดการแก้ไขปัญหาป่าไม้และที่ดินของเวียงแหง ไปปรับใช้ได้หรือไม่
 
ตัวแทนอุทยานแห่งชาติผาแดง บอกว่า อาจนำไปปรับใช้ได้ อย่างกรณีเวียงแหง จัดการกันแบบนี้ พื้นที่เชียงดาว พื้นที่ไชยปราการ ก็อาจทำในอีกรูปแบบหนึ่ง แต่ก็อาจมีบางอุทยานฯ ที่ยังไม่กล้าที่จะปรับกระบวนการทำงานแบบนี้ ซึ่งเราก็คงไม่สามารถไปก้าวล่วงได้ แต่เราก็พยายามจะเสนอให้ทางกรมอุทยานแห่งชาติได้รับรู้ในสิ่งที่เครือข่ายฯ กำลังทำกันอยู่นี้ว่า มันช่วยลดความขัดแย้ง ลดการจับกุม และลดการบุกรุกป่าได้จริง
 
“ต้องขอขอบคุณคณะทำงานเครือข่ายฯ และนายกฯ ทั้ง 3 ตำบล ที่กล้าเข้ามาทำงานในจุดนี้ แม้กระทั่งตัวเองด้วย ยอมรับว่าเสี่ยงเหมือนกัน เพราะที่ผ่านมา ทางกรมอุทยานฯ เคยเอาจำนวนคดีเป็นตัวตั้ง เป็นตัวชี้วัดของการทำงานของหัวหน้าอุทยานฯ แต่เป็นที่รู้กันว่ามันไม่ตอบสนองเลยว่า คดีเยอะ แล้วพื้นที่ป่าจะเพิ่มขึ้นตามคดีนั้นๆ เพราะฉะนั้น เราต้องหันกลับมาดูกันใหม่ว่า ทำอย่างไรถึงจะเพิ่มพื้นที่ป่า แต่ลดคดีลง ซึ่งก็ได้เริ่มการทำงานในพื้นที่เวียงแหงนี่แหละ ซึ่งจะเห็นได้ว่า หลังจากที่เราได้วางกรอบ บล็อกพื้นที่ แล้วทำให้พื้นที่บุกรุกลดลง แทบจะไม่มีเลย ซึ่งต้องขอขอบคุณทุกองค์กรเครือข่ายที่ช่วยกันดูแลพื้นที่ป่าของเวียงแหงเอาไว้ เพราะลำพังจะให้เจ้าหน้าที่ 6 คน ดูแลพื้นที่ป่า 70,000 กว่าไร่ มันคงเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว” หัวหน้าหน่วยจุดสกัดเวียงแหง อุทยานแห่งชาติผาแดง กล่าวทิ้งท้าย
 
ก่อชิ เพชรไพรพนาวัลย์ นายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลบ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นอีกผู้หนึ่งที่ได้ยึดแนวทางการจัดการปัญหาที่ดินและป่าไม้ในพื้นที่ตำบลบ้านหลวง อ.จอมทอง จนนำไปสู่การออกข้อบัญญัติท้องถิ่นขึ้นมาเพื่อจัดการดูแลทรัพยากรฯ ในพื้นที่ของตนเอง ก็ได้กล่าวว่า สิ่งที่เราทำนั้น ก็เพื่อป้องกันการบุกรุกแผ้วถางพื้นที่ป่า ซึ่งมันเป็นความต้องการของหน่วยงานภาครัฐและพี่น้องชาวบ้านกันอยู่แล้ว และที่ผ่านมา หลายพื้นที่ก็จะเจอปัญหาความขัดแย้งมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการบุกรุก การถูกจับดำเนินคดี กลายเป็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่ป่าไม้กับชาวบ้านไม่มีวันจบสิ้น เพราะฉะนั้น เราจึงมีความพยายามจะหาจุดที่ว่าจะทำอย่างไรถึงจะให้ปัญหาความขัดแย้งเหล่านี้มันยุติ โดยทำอย่างไรให้พื้นที่ทำกินของพี่น้องชาวบ้านมันชัดเจน และป่าที่เหลืออยู่นี้เราจะช่วยกันรักษากันอย่างไร
 
“ดังนั้น จะให้ฝ่ายรัฐแก้ปัญหากันเองก็คงไม่ไหวและไม่มีที่สิ้นสุดเสียที ดูได้จากการพิสูจน์สิทธิ ตามมติครม.ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังทำกันไม่เสร็จ เพราะฉะนั้น การที่พี่น้องชาวบ้านลุกขึ้นมาจัดการตนเองตรงนี้ การออกข้อบัญญัติท้องถิ่นในครั้งนี้ มันช่วยทำให้แบ่งเบา และเป็นการวางแนวทางการแก้ไขปัญหาไว้ให้รัฐบาลต่อไป แล้วยังช่วยลดความขัดแย้ง การจับกุมชาวบ้านได้อีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งตนเห็นว่า การออกข้อบัญญัติท้องถิ่น ก็เป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อรองรับกระบวนการทำงานของพี่น้องเครือข่ายฯ ในพื้นที่ ทั้งยังช่วยในเรื่องการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทที่เกิดขึ้น ซึ่งตนคิดว่า ตอนนี้ หลายพื้นที่ต่างกำลังเจอกับปัญหาข้อพิพาทกันไปทั่วอยู่แล้ว ซึ่งเข้ามาทำงานของเครือข่าย จะช่วยลดปัญหาการจับกุม ความขัดแย้งตรงนี้ได้”
 
ธนภณ เมืองเฉลิม รักษาการผู้จัดการภาค สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) สำนักงานภาคเหนือตอนบน กล่าวว่า ดีใจที่ได้มาเห็นความสำเร็จทั้งที่มาจากความรู้สึก และที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ เห็นกระบวนการทำงานของพี่น้องชาวบ้าน ที่ต้องลงพื้นที่เก็บข้อมูล หน้าดำหน้าแดง แล้วมาเห็นพี่น้องชาวบ้านในครั้งนี้ ที่มารุมดูแผนที่การจัดแนวเขตที่ดินทำกินของตนเองแบบนี้ ทำให้เราเห็นว่า ทุกคนมีส่วนร่วม และมีสิทธิในการทำประโยชน์ในที่ดินตามขอบเขตของตนเอง ทำให้พี่น้องชาวบ้านมีความมั่นใจมากยิ่งขึ้น ว่าที่เราอยู่ที่เราทำกิน
 
ผู้แทนของ พอช. ยังได้ให้ข้อเสนอแนะไว้อีกว่า ประเด็นที่หนึ่ง อยากเห็นเรื่องการกระจายอำนาจ เพราะที่ผ่านมาในประเทศไทย หลายๆ ด้าน มักจะรวมศูนย์ทั้งในเรื่องของงบประมาณ แม้กระทั่งในเรื่องของการพัฒนา เพราะฉะนั้น เรื่องการกระจายอำนาจ จะเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งกรณีเวียงแหง ครั้งนี้ เรากำลังเป็นตัวอย่างของการจัดการตนเอง ว่าเป็นจริง และให้ทางฝ่ายนโยบายได้รับทราบและมาเรียนรู้ ว่าเรากำลังพยายามเรียนรู้ด้วยตนเอง แก้ไขปัญหากันเอง
 
ประเด็นที่สอง พวกเราเชื่อในศักยภาพของชุมชน ศักยภาพของประชาชน ศักยภาพของผู้ที่ประสบปัญหา ว่าทุกคนสามารถรวมกลุ่มกันจัดการแก้ไขปัญหาด้วยตนเองได้ ซึ่งกรณีเวียงแหง ถ้าชุมชนพร้อม ในส่วนของ พอช.ก็พร้อมสนับสนุนในเรื่องงบประมาณอุดหนุนกิจกรรมได้
 
ประเด็นสุดท้าย จำเป็นที่เครือข่ายฯ หรือตำบล จะต้องมีแผนแม่บทหรือแผนของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นแผนการจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อม แผนสังคม เศรษฐกิจ สุขภาพ ฯลฯ ซึ่งการมีแผนแบบนี้ จะทำให้เรานำไปเชื่อมโยงกับองค์กรหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไปได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
 
ผู้แทนกองทุนสิ่งแวดล้อม ชื่นชมคนเวียงแหง ย้ำลงมือทำในพื้นที่ แต่ตอบโจทย์แก้ปัญหาระดับโลกได้
 
วรศักดิ์ พ่วงเจริญ ผู้แทนจากกองทุนสิ่งแวดล้อม สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ที่ผ่านมา เมื่อเราพูดถึงเรื่องของนโยบายหรือแผน หรือที่เรียกว่าแพลนนิ่ง นั้นส่วนใหญ่ก็จะนิ่งจริงๆ คือมีแผนแล้วไม่ลงมือทำกัน แต่ครั้งนี้ได้มาเห็นความสำเร็จของคนเวียงแหง ซึ่งทำให้ตนเชื่อว่า ต่อไป นโยบาย แผน หรือรูปแบบการทำงานจากบนลงล่าง จะเหลือน้อยลงไป แต่การบริหารในอนาคต ตนมองว่า จะเป็นการบริหารแบบมีส่วนร่วม โดยมีองค์กรภาครัฐ เอกชน รวมทั้งเครือข่ายต่างๆ จะเข้ามาบริหารจัดการแบบการมีส่วนร่วมกันมากขึ้น ซึ่งการมีส่วนร่วมในครั้งนี้ นั้นเริ่มจากการรับรู้ปัญหาของคนในชุมชน ร่วมกันคิดที่แก้ไขปัญหานั้น ร่วมลงมือทำ สุดท้ายก็ร่วมรับผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น ดังนั้น มีสิ่งที่ท้าทายทุกคนก็คือ ทำอย่างไรเราถึงจะนำไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืนของฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคม ต่อไปได้อย่างไร ซึ่งตรงนี้จะเป็นสิ่งสำคัญที่จะเป็นตัวยืนยันว่า ชุมชนสามารถบริหารจัดการฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ด้วยตนเองอย่างแท้จริง ซึ่งตนก็ขอให้ทุกคนได้ร่วมกันยืนหยัดรักษาฐานทรัพยากรของอำเภอเวียงแหงเอาไว้ต่อไป
 
“อยากจะบอกว่า สิ่งที่ท่านกำลังทำกันในครั้งนี้ว่า ที่ทุกคนได้ร่วมกันทำงานแก้ไขปัญหาในพื้นที่เวียงแหง มันไม่ได้ตอบโจทย์เฉพาะพื้นที่เวียงแหงอย่างเดียว แต่มันกำลังตอบโจทย์ทั้งในระดับประเทศ และระดับโลก ในมิติของ อนุสัญญาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นอนุสัญญาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ รวมทั้งเป้าหมายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ที่สหประชาชาติได้บรรจุเอาไว้ 17 เป้าหมาย ซึ่งพี่น้องเวียงแหงกำลังทำกันอยู่นี่เอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการรับมือความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ การฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ การบริหารทรัพยากรน้ำ ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกันทั้งหมด และเราสามารถบอกได้เลยว่า สิ่งที่เราทำนี้ มันไม่ได้สอดคล้องเพียงแค่กับนโยบายของประเทศ แต่มันสอดคล้องกับนโยบายระดับโลกทำในพื้นที่ แต่ตอบโจทย์ระดับโลกได้ด้วย”
 
ลงนามสร้างธรรมนูญระดับตำบลมอบหนังสือทะเบียนประวัติการใช้ประโยชน์ที่ดิน                
 
 
 
ที่น่าสนใจอีกกิจกรรมหนึ่งในงานมหกรรมเสียงจากคนต้นน้ำแตง ในครั้งนี้ก็คือ มีการจัดพิธีลงนามสนับสนุนสิทธิชุมชนกับการขับเคลื่อนการจัดการทรัพยากรฯ เพื่อสร้างธรรมนูญระดับตำบล และมีพิธีมอบ หนังสือทะเบียนประวัติการใช้ประโยชน์ที่ดินตำบลเปียงหลวง โดย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเปียงหลวง พิธีมอบ บัตรประจำตัว ทสม. อำเภอเวียงแหง โดย ผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.เชียงใหม่
 
“งานมหกรรมเสียงจากคนต้นน้ำแตงในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นงานเปิดตัวเครือข่ายฯ เพราะที่เราได้ทำกันทุกวันนี้ บางครั้งพี่น้องในชุมชนเวียงแหงก็ไม่รู้ว่าเราทำอะไร แต่คนที่ได้เข้ามาใกล้ๆ ก็รู้บ้าง ก็เลยอยากขยายองค์ความรู้ไปถึงพี่น้องประชาชน โดยไฮไลต์ของงาน นั่นคือการทำทะเบียนประวัติการใช้พื้นที่ และถือเป็นผลงานชิ้นโบแดงของเครือข่าย แล้วถัดไป หลังจากงานนี้ พี่น้องที่ได้ใบนี้ไปอวดพี่อวดน้องแล้ว ผมเชื่อว่าการทำงานของเครือข่ายก็จะง่ายขึ้นอีกครับ” ประสิทธิ์ สุวรรณเลิศ ประธานเครือข่ายทรัพยากรฯ ลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน บอกเล่า
 
และในตอนท้าย ยังมีการร่วมกันประกาศธรรมนูญตำบล ขับเคลื่อนสู่ข้อเสนอทางนโยบายและกฎหมาย เกี่ยวกับสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดย เครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อำเภอเวียงแหง ซึ่งถือเป็นสรุปบทเรียนการทำงานของเครือข่ายฯ ที่ชัดเจน ประสบผลสำเร็จ และสามารถมองเห็นทิศทางข้างหน้าของการดูแลฐานทรัพยากรดิน น้ำ ป่าของเวียงแหงได้เป็นอย่างดี
 
เวียงแหงโมเดล หรือ “พื้นที่เรียนรู้”กรณีศึกษา :เปลี่ยนความขัดแย้งเป็นความร่วมมือได้อย่างไร?
 
มีหลายคนมองว่า สามารถเอาปัญหาและการขับเคลื่อนของเครือข่ายฯ ในครั้งนี้ เป็นกรณีศึกษา หรือเป็นเวียงแหงโมเดล ให้ท้องถิ่นอื่นนำไปปรับใช้ได้หรือไม่ และเครือข่ายฯ เปลี่ยนความขัดแย้งเป็นความร่วมมือได้อย่างไร?
 
นุจิรัตน์ ปิวคำ ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ บอกว่า “มีหลายคนพยายามจะให้มันเป็นโมเดลของเวียงแหง แต่ส่วนตัวคิดว่าคำว่าโมเดลมันใหญ่ไป บางทีอาจจะเป็นเรื่องของ ‘พื้นที่เรียนรู้’ ว่าด้วยเรื่องของการสร้างพลังข้อมูลเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงการปฏิรูปการจัดการทรัพยากรในอนาคตมากกว่า ว่าสิ่งที่เราทำนี้ เหมือนกับว่ามองย้อนไปข้างหลังว่าที่ผ่านมา ขบวนเครือข่ายกว่าจะมาถึง ณ วันนี้ มันเกิดอะไรขึ้นมามากมาย มีการต่อสู้เคลื่อนไหวอย่างแรง บางคนบางบ้านแทบจะไม่เอาเครือข่าย แต่มา ณ ตอนนี้ พอเราใช้รูปแบบกระบวนการแบบนี้ ปรับเปลี่ยนการทำงานแบบใหม่ มันทำให้ได้ใจคน ได้ใจผู้นำและภาครัฐเข้ามาร่วมไม้ร่วมมือกันทำงานมากขึ้น อย่างที่ว่าอะไรที่มันใกล้ท้องใกล้ตัวชาวบ้านมันก็จะเป็นแรง แต่โจทย์ใหญ่ต่อไปก็คือว่า ที่ชาวบ้านสร้างกลไกขึ้นมาไม่ว่าจะเป็นระดับชุมชน ตำบล อำเภอ หรือว่าสร้างกฎระเบียบของตัวเองขึ้นมาในการรับรองเรื่องการจัดการทรัพยากรดินน้ำป่า มันเป็นความท้าทายต่อจากนี้ไป ว่าชาวบ้านจะสามารถใช้ระเบียบตัวเองที่สร้างขึ้นมาได้เพียงแค่กระดาษ หรือว่านำไปสู่การปฏิบัติการได้จริง ภาครัฐอาจจะมองอยู่ว่าสร้างขึ้นมาแล้วมันจะต่อเนื่องไหม ทำงานได้จริงไหม”
 
และยังมีคำถามต่ออีกว่า กรณีเวียงแหง สามารถต่อยอด มีการผลักดันแนวทางการแก้ไขปัญหาการจัดการที่ดินและพื้นที่ปาไปสู่นโยบายระดับประเทศได้หรือไม่?    
                                                                      
มีการสรุปกันว่า การขับเคลื่อนของเครือข่ายฯ ในครั้งนี้ มันมีพลัง และการสำรวจแนวเขต การจัดเป็นฐานข้อมูล รวมไปถึงการคืนข้อมูล ถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญ ถ้าเกิดต่างคนต่างยืนอยู่บนฐานข้อมูลของตัวเองแล้วไม่เอามาจูน ไม่พยายามปรับรูปแบบการทำงาน ที่เรียกว่า ‘การจัดการร่วม’ ก็ดี การใช้พลังข้อมูลเพื่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางนโยบายก็ดี มันไม่มีโอกาสที่จะแก้ไขปัญหาได้ เพราะว่า ถึงแม้เราจะบอกว่าเราทำกิน แต่ว่ามันแค่คำพูด มันไม่ได้มีอะไรมาเป็นเครื่องมือในการทำนโยบาย สิ่งที่จะนำไปสู่การเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายให้เกิดการปฏิรูปการจัดการทรัพยากรด้วยฐานข้อมูลที่มีความชัดเจน เกิดการยอมรับ เกิดความเข้าใจ และเป็นพลังความร่วมมือของหลายฝ่ายที่มาร่วมที่เป็นทิศทางเดียวกันอยู่แล้ว มีเป้าหมายร่วมกันชัดเจน ก็จะเป็นพลังที่ขับเคลื่อนไปสู่การปรับเปลี่ยนทางนโยบายได้ อาจจะเป็นข้อเสนอในรัฐธรรมนูญใหม่ ว่าด้วยเรื่องของสิทธิชุมชนที่เกี่ยวข้องด้วยเรื่องพวกนี้ ว่าด้วยเรื่องของการสนับสนุนท้องถิ่นออกข้อบัญญัติว่าด้วยเรื่องนี้ ก็น่าจะทำได้
 
ย้ำแนวทางการขับเคลื่อนของคนเวียงแหง ช่วยลดความขัดแย้ง ไม่ต้องมีการจับกุม แล้วยังได้ทั้งป่า ได้ทั้งคน
 
เดโช ไชยทัพ จากมูลนิธิพัฒนาที่ยั่งยืน กล่าวว่าสรุปให้ฟังว่า เราได้เล็งเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่เวียงแหง จึงได้ประสานงานขอทุนจัดทำโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาดำเนินการหนุนเสริมพลังความร่วมมือจากพี่น้องชาวบ้านในท้องถิ่น โดยมีการคิดค้นการแก้ปัญหาในแนวทางใหม่ ที่จำเป็นและสำคัญต่อคนท้องถิ่น อาทิ การสำรวจแยกแยะที่ดิน-ป่าไม้ โดยไม่จำเป็นต้องรอการสั่งการจากภาครัฐส่วนกลาง การจัดทำกติกาชุมชน ในการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ดิน น้ำ โดยไม่จำเป็นต้องรอเพื่อการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานภาครัฐ, การพลิกฟื้นคืนพื้นที่บุกรุกโดยขบวนชุมชนเป็นผู้สมัครใจ โดยไม่จำเป็นต้องถูกบังคับใช้กฎหมายหรือการดำเนินการโดยภาครัฐเพียงอย่างเดียว
 
“ซึ่งกระบวนการดังกล่าว เราพูดได้เลยว่า ชุมชน และผู้นำท้องถิ่นได้เรียนรู้ และค้นพบว่า พวกเราทำได้ และทำได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดการร่วมกันในลักษณะพหุภาคีในท้องถิ่นที่เชื่อมโยงกับระเบียบกติกาของท้องถิ่นและกฎหมายรัฐที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้จากบทเรียนความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับชุมชนท้องถิ่นที่เกิดขึ้นในเวลานี้ แม้สถานะทางกฎหมาย และนโยบายที่เหมาะสมยังไม่เกิดขึ้น ก็ตาม แต่การขับเคลื่อนของพี่น้องเครือข่ายในครั้งนี้ ถือว่าประสบผลสำเร็จ เพราะเราได้ทั้งป่า ได้ทั้งคน ป่าอยู่ได้ คนอยู่ได้ โดยไม่มีความขัดแย้ง ไม่ต้องมีการจับกุม ซึ่งในระยะยาว เราคงทำเป็นข้อเสนอไปยังระดับนโยบายต่อไป”
 
 
ข้อมูลประกอบ
 
1.หนังสือ เสียงจากคนต้นน้ำแตง...บทเรียน ความร่วมมือ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม,จัดทำโดย เครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน,มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภาคเหนือ,สนับสนุนโดย กองทุนสิ่งแวดล้อม สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม,เมษายน 2559 
 
 
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรธ. ไม่หวั่น 'นิติราษฎร์' ขยับ ชี้จับตาสถานการณ์บิดเบือนร่าง รธน.

$
0
0
'สุพจน์ ไข่มุกด์' กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์สื่อจับตาสถานการณ์บิดเบือนร่าง รธน. ล่าสุดมีกลุ่มการเมืองตีกระแส ครู เป็นหัวคะแนน ไม่หวั่น 'นิติราษฎร์' เคลื่อนไหว

 
22 พ.ค. 2559 เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่านายสุพจน์ ไข่มุกด์ รองประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) คนที่หนึ่ง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีความเคลื่อนไหวของเครือข่ายนักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ รณรงค์ส่วนที่เห็นต่างกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติและชี้นำให้ประชาชนโหวตไม่รับกับอนาคตที่ไม่ได้เลือก ว่าสิ่งที่กลุ่มนักวิชาการดังกล่าวเคลื่อนไหวเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติที่ไม่ดีต่อ กรธ. อยู่แล้ว ซึ่งส่วนที่นำเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญประกอบการวิจารณ์และชี้ถึงส่วนที่ไม่ดีนั้น ตนมองว่าเป็นเรื่องจุกจิก และไม่กระทบกับการทำงานของวิทยากรกระบวนการระดับจังหวัด (ครู ก), ระดับอำเภอ (ครู ข) และระดับหมู่บ้าน (ครู ค) ที่เป็นเครือข่ายของกรธ.​ในการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์เนื้อหา รวมถึงสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญไปยังประชานทั่วประเทศ และการเคลื่อนไหวต่อต้านที่เกิดขึ้นเท่ากับก้อนกรวดในรองเท้าเท่านั้น
 
นายสุพจน์ กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีที่กลุ่มเครือข่ายนักวิชาการฯ พยายามรณรงค์ไม่ให้รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ได้พูดในถ้อยคำที่ตรงไปตรงมา แต่กลับใช้คำว่า โหวตไม่รับกับอนาคตที่ไม่ได้เลือกนั้น ตนไม่ขอออกความเห็นดังกล่าว และคิดว่าไม่ใช่หน้าที่ของกรธ. ที่จะตีความ ต้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้วินิจฉัยเรื่องดังกล่าวว่าผิดต่อระเบียบหรือกฎหมายหรือไม่ 
 
“กรธ.ตอนนี้ต้องคอยติดตามสถานการณ์ เพราะตอนนี้มีการบิดเบือนเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญจำนวนมาก รวมถึงมีเครือข่ายทางการเมืองพยายามพูดว่า ครู ก, ครู ข และ ครู ค ทำหน้าที่เป็นหัวคะแนนให้กับกรธ.​ทั้งที่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น เพราะครู ก, ครู ข และครู ค นั้นเป็นเพียงการนำเนื้อหาข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติไปบอกกับประชาชน โดยไม่มีการชี้นำหรือให้ตัดสินใจลงคะแนนประชามติอย่างไร ซึ่งไม่เหมือนกับหัวคะแนนของนักการเมืองที่ต้องมีการชี้นำให้เลือกหรือไม่เลือกบุคคลใด” นายสุพจน์ กล่าว 
 
รองประธาน กรธ.​คนที่หนึ่ง กล่าวถึงวันครบรอบ 2 ปีของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) วันที่ 22 พ.ค. ด้วยว่า ตนคงไม่ฝากอะไรไปถึงรัฐบาลชุดปัจจุบัน มีเพียงแต่ทำผลงานตามภารกิจที่มอบหมาย เพื่อทำให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติและทำให้เห็นว่าบ้านเมืองจะเดินหน้าต่อไปได้
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ยิ่งลักษณ์' ซัด 2 ปีรัฐประหารเสรีภาพประชาชนถูกลิดรอน

$
0
0

'ยิ่งลักษณ์' โพสต์เฟสบุ๊กชี้ครบรอบ 2 ปีรัฐประหารสิทธิและเสรีภาพของประชาชนถูกลิดรอนแนะเร่งแก้ปัญหาปากท้อง อดีต รมว.พลังงาน ซัด 2 ปีรัฐประหารชาติเสื่อมถอยทุกด้าน เศรษฐกิจเติบโตต่ำสุดในอาเซียน

 
22 พ.ค. 2559 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟสบุ๊กส่วนตัว Yingluck Shinawatraเนื่องในโอกาสครบรอบ 2 ปี การทำรัฐประหารของ คสช. โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
 
วันนี้เป็นวันครบรอบ 2 ปีรัฐประหาร ที่รัฐบาลดิฉันถูกยึดอำนาจไป
 
แต่แท้จริงแล้ว อำนาจ สิทธิและเสรีภาพคือของประชาชนต่างหากที่ถูกลิดรอน โดยใช้เหตุผลว่า รัฐบาลของดิฉันทำงานไม่ได้ จึงเข้ามายึดอำนาจ เพื่อให้เกิดความสามัคคีปรองดอง สร้างความชอบธรรมให้กับทุกฝ่ายและเพื่อต้องการปฏิรูปประเทศ
 
ดิฉันก็คงได้แต่หวังว่า คสช. คงจะไม่ลืมสัญญา และขอฝากคำถามว่า ความสามัคคีปรองดอง สร้างความชอบธรรมให้กับทุกฝ่าย ได้เกิดขึ้นในทิศทางที่ถูกต้องหรือเปล่า รวมทั้ง เร่งรัดในการปฏิรูปไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ตามโรดแมปที่ได้สัญญาไว้
 
เพราะวันนี้ประชาชนกำลังจะเผชิญกับความยากลำบาก จากปัญหาปากท้อง ความยากจน รวมถึงปัญหา สังคม ยาเสพติดที่กำลังเพิ่มมากขึ้นทุกวัน
 
จึงอยากให้เร่งคืนความสุข ที่เป็นการคืนอำนาจ สิทธิ อิสรภาพ และ เสรีภาพ รวมทั้งการแก้ไขความขัดแย้งแทนการคืนความสุขบนความอึดอัดด้วยการกดไว้เพราะจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่แท้จริงที่ประชาชนกำลังเผชิญอยู่มากกว่า เพื่อให้ประชาชนนั้นได้มีโอกาสเลือกหนทางชีวิต ด้วยตัวของเขาเอง นั่นคือหนทางออกที่ดีที่สุด
 
ก็จะทำให้สองปีที่ผ่านมานั้น... เป็นสองปีที่ไม่สูญเปล่า
 
ซึ่งดิฉันอยากจะคิด และหวังให้เป็นอย่างนั้นค่ะ
 
อดีต รมว.พลังงาน ซัด 2 ปีรัฐประหารชาติเสื่อมถอยทุกด้าน เศรษฐกิจเติบโตต่ำสุดในอาเซียน
 
ASTV ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่านายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว.พลังงาน กล่าวถึงวาระครบรอบ 2 ปีการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พ.ค.57 ว่า ผ่านมา 2 ปีประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศรู้สึกได้ว่าประเทศเสื่อมถอยในทุกด้านอย่างชัดเจน โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจที่ประเทศไทยเติบโตต่ำสุดในอาเซียนติดต่อกันทั้ง 2 ปีหลังการรัฐประหารปี 2557 ที่เติบโตเพียง 0.7% และ 2.8% ในปี 2558 แม้การขยายตัวในไตรมาสแรกของปี 2559 จะโต 3.2% ก็ถือว่ายังต่ำมาก เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน แถมยังมองได้ว่าเป็นการเติบโตแบบไม่ยั่งยืน ได้อานิสงส์จากการท่องเที่ยว การใช้จ่ายภาครัฐกว่าแสนล้าน และการส่งออกทองคำ การส่งคืนยุทโธปกรณ์มาช่วยเท่านั้น ส่วนการส่งออกที่แท้จริงยังติดลบ และการลงทุนยังอยู่ในระดับที่ต่ำมาก เชื่อว่าในไตรมาสต่อๆ ไปก็ยังคงดูไม่ดีนัก และทั้งปีจะโตได้ไม่ถึง 3.7% ตามที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้อย่างแน่นอน
       
“ปัญหาหลักอยู่ที่ความเชื่อมั่นของต่างประเทศ ส่งผลทำให้การลงทุนจากต่างประเทศหายไปถึง 90% ในปี 2558 - 59 อาจจะโตขึ้นบ้าง แต่ก็ไม่มากนักเมื่อเทียบกับภาวะปกติ และการส่งออกทั้งปีนี้จะยังคงติดลบต่อเนื่อง ประชาชนยังลำบากกันอย่างมากเพราะมีรายได้ลดลงกันถ้วนหน้า” นายพิชัย กล่าว
       
นายพิชัย กล่าวต่อว่า ความเชื่อมั่นของต่างประเทศยิ่งน่าเป็นห่วงเมื่อไทยถูกตำหนิในเรื่องปัญหาสิทธิมนุษยชนอย่างหนักในช่วงหนักทั้งจากสหประชาชาติ (ยูเอ็น) สหภาพยุโรป (อียู) รวมทั้งสหรัฐอเมริกา อีกทั้งยังทำให้ประชาชนส่วนใหญ่สับสน เพราะไม่เข้าใจว่าในขณะที่รัฐบาลและ คสช.เรียกร้องให้ประชาชนเคารพกฏหมายที่รัฐบาลและ คสช. ร่างและกำหนดขึ้นมาเอง แต่รัฐบาลและคสช. กลับไม่ปฏิบัติตามกฏบัตรสหประชาชาติ และกติกาสากลที่ทั่วโลกยอมรับ ซึ่งทำให้ประเทศไทยมีปัญหาทางภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นในสายตาของชาวโลกมากขึ้น นอกจากนี้ปัญหาความแตกแยกของประชาชนที่เป็นโจทย์ใหญ่กลับยิ่งเพิ่มมากขึ้น ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมาปัญหาและความล้มเหลวยังมากมายขนาดนี้ หากยังคงดำเนินต่อไปความเดือดร้อนของประชาชนจะยิ่งเพิ่มขึ้น จึงอยากเรียกร้องให้นำประเทศกลับสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริงโดยเร็ว
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'มูลนิธิผสานวัฒนธรรม' หวั่น 'รธน.ฉบับทหาร' ทำหลักนิติธรรมหายไปถาวร

$
0
0
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมระบุ 2 ปีรัฐประหาร หวั่นรัฐธรรมนูญฉบับทหารทำหลักนิติธรรมหายไปถาวร ประชาชนได้ผลกระทบจากอำนาจรัฐบาลทหารถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพอย่างกว้างขวาง

 
22 พ.ค. 2559 ในห้วงเวลาสองปีหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มูลนิธิผสานวัฒนธรรมพบว่าหลักนิติธรรมที่หายไปทำให้การคุ้มครองสิทธิประชาชนกลุ่มต่างๆ ถูกจำกัดลงอย่างมาก จนถึงขั้นที่ทำให้ประชาชนกลุ่มชายขอบไม่สามารถเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานของตนเองได้ เช่น สิทธิในการแสดงออกทางความคิดเห็น การใช้สิทธิในการร่วมกลุ่มใช้สิทธิในการชุมนุมโดยสงบเรียกร้องให้รัฐบาลทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นรับฟังความคิดเห็นเพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายและการปฏิบัติ โดยสะท้อนให้เห็นจากการใช้นโยบายทวงคืนผืนป่าที่อาจต้องการดำเนินการกับนายทุนหรือผู้บุกรุกใหม่ แต่กลับส่งผลต่อกลุ่มชนเผ่าพื้นเมือง กลุ่มชาติพันธุ์ เกษตรกรที่ไร้ที่ทำกิน ที่อยู่มาดั้งเดิม ทำให้เกิดการจับกุมควบคุมตัวด้วยอำนาจพิเศษ เช่นคำสั่ง 64/ 2557 และคำสั่ง 66/2557 หรือการดำเนินคดีในฐานความผิดทั้งอาญาและแพ่งโดยใช้กฎหมายป่าไม้ กฎหมายอุทยานที่ไม่พิจารณาถึงบริบททางด้านประวัติศาสตร์การถือครองหรือครอบครองที่ดินในแต่ละพื้นที่ เช่นในกรณีชาวเล บ้านราไวย์ จ.ภูเก็ต ชาวบ้านทุ่งปาคา จ.แม่ฮ่องสอน ชาวบ้านนอแล จ. เชียงใหม่ กรณีการตัดฟันต้นยางทั่วประเทศโดยไม่มีการเยียวยาชดใช้ หรือถึงขั้นบังคับขับไล่ ชาวบ้านในเขตอุทยานแห่งชาติดงใหญ่ จ. บุรีรัมย์ เป็นต้น อีกทั้งกระบวนการยุติธรรมต่อคดีนโยบายลักษณะเช่นนี้ ยิ่งกลับทำให้ประชาชนตกอยู่ภาวะยากลำบาก เช่นไม่มีเงินประกันตัว ศาลสั่งลงโทษไม่รอลงอาญา ประชาชนขาดที่พึ่งเพราะข้าราชการพลเรือนเกรงกลัวอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เช่นการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ม. 44 ในการออกคำสั่งทางปกครองโดยปราศจากการถ่วงดุลตรวจสอบ ขาดไปซึ่งหลักนิติธรรมใดใดเป็นเวลาสองปีมาแล้ว
 
การทำงานเพื่อส่งเสริมหลักนิติธรรมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความยากลำบากมากขึ้นเนื่องจากมีการคุกคามข่มขู่นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนและด้านการพัฒนาเกิดขึ้นในหลายรูปแบบ เช่นการตรวจดีเอ็นเอนักกิจกรรมในพื้นที่ การข่มขู่ว่าจะฟ้องร้องคดีหมิ่นประมาทเมื่อมีการร้องเรียนว่ามีการทรมานเกิดขึ้น เป็นต้น การตรวจสอบและการคุ้มครองทางกฎหมายโดยหน่วยงานอื่นด้อยประสิทธิภาพลงและมีแนวโน้มว่าการใช้กฎอัยการศึกและพรก.ฉุกเฉินจะเป็นการถาวร การจับกุมตัวบุคคลโดยพลการ การควบคุมตัวและการซักถามที่มีเรื่องร้องเรียนว่ามีการทรมานและการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมยังคงเกิดขึ้น แม้พื้นที่จังหวัดชายแดนใต้จะไม่มีการสั่งให้คดีความมั่นคงเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในศาลทหารเหมือนในสถานการณ์อื่นๆ ทั่วประเทศหลังรัฐประหาร แต่การติดตามจับกุมผู้เห็นต่างทางความคิดหรือเข้าข่ายผู้ก่อความไม่สงบโดยพลการ กรณีการเสียชีวิตในการควบคุมตัวของทหารเมื่อเดือนธันวาคม 2558 รวมทั้งกรณีการลักพาตัวอดีตผู้ต้องหาคดีความมั่นคงซึ่งอาจเป็นการบังคับให้สูญหายกรณีนายฟาเดล เสาะหมาน เหตุเกิดเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2558 เป็นต้น อีกทั้ง เหตุการณ์ความรุนแรงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างเป็นลำดับ แตกต่างจากช่วงปี 2555-2556 ซึ่งเป็นห้วงเวลาก่อนรัฐประหาร และการเจรจาสันติภาพครั้งล่าสุดเมื่อเดือนเมษายน 2559 ก็ประสบกับความล้มเหลวโดยคู่เจรจาไม่สามารถร่วมกันลงนามในการข้อตกลงเบื้องต้นหรือทีโออาร์ได้
 
นายสมชาย หอมลออ ที่ปรึกษามูลนิธิผสานวัฒนธรรมมีความเห็นด้วยว่า “การร่างรัฐธรรมนูญเองก็ไม่สะท้อนให้เห็นถึงการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมที่จะเป็นไปตามหลักนิติธรรม อีกทั้งบรรดาคำสั่งของคสช.ที่อาจขัดต่อหลักนิติธรรมของไทยที่มีอยู่เดิมและหลักการสากลที่ประเทศไทยมีพันธกรณีอยู่ ส่งผล คำสั่งคสช.ที่ออกคำสั่งโดยรัฐบาลทหารในช่วงเวลาที่ไม่มีความเป็นประชาธิปไตยนี้มีผลในการบังคับใช้ต่อไปโดยชอบ ความผิดความมั่นคงและความผิดมาตรา 112 เป็นการบังคับให้คดีเหล่านี้ขึ้นศาลทหารต่อไป คำสั่งที่ 13/2559 ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารรับผิดชอบในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมายต่อไป เช่นการตรวจค้น จับ ยึดในการกระทำความผิดที่เรียกว่าผู้มีอิทธิพล กฎหมายเหล่านี้จะมีบังคับใช้ต่อไป และยกเลิกได้เมื่อต้องประกาศเป็นพระราชบัญญัติเท่านั้น” และนายสมชายกล่าวเสริมว่า “ถ้าหากประเทศไทยไม่สามารถเปลี่ยนผ่านไปเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง หากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการประชามติก็จะส่งผลให้คำสั่งคสช.ก็จะมีผลตลอดไปอย่างถาวรหรือไม่”
 
การทำลายหลักนิติธรรมของประเทศไทยที่ได้ก่อร่างสร้างตัวมาให้ทันสมัยทัดเทียมนานาประเทศและกำลังถูกเฝ้ามองจากนานาอารยประเทศโดยสะท้อนอย่างเห็นได้ชัดเจนในกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติเมื่อวันที่ 10-11 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา มูลนิธิผสานวัฒนธรรมเห็นว่านโยบายหรือแนวปฏิบัติของรัฐบาลคสช.หลังรัฐประหารไม่อาจก่อให้กระบวนการประชาธิปไตยแต่อย่างใดและไม่เอื้อให้เกิดความปรองดองในชาติ และเห็นว่ารัฐบาลคสช.ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนให้เกิดการเลือกตั้ง และเพื่อให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามาแก้ไขความผิดพลาดในการออกกฎหมายคำสั่งที่ผิดหลักนิติธรรมอย่างโดยเร็วมิเช่นนั้นหลักนิติธรรมของไทยจะสูญหายไปอย่างถาวร
 
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร ทำงานด้านความยุติธรรมและการคุ้มครอง ส่งเสริม และเฝ้าระวังด้านสิทธิมนุษยชนในไทย มูลนิธิผสานวัฒนธรรมก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2545 และมีบทบาทปกป้องสิทธิของประชาชนทุกกลุ่ม โดยไม่แยกแยะด้วยเหตุผลด้านเชื้อชาติ สีผิว เพศ (เพศสภาพ) ภาษา ศาสนา ความเห็นทางการเมืองหรืออื่นใด ความเป็นมาด้านชาติกำเนิดหรือสังคม ทรัพย์สิน การเกิดหรือสถานภาพอื่นใด มูลนิธิผสานวัฒนธรรมมีหลักปรัชญาและกิจกรรมในการส่งเสริมหลักสิทธิมนุษยชนเพื่อให้เกิดการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอย่างยั่งยืนตลอดทั่วสังคม ตั้งแต่บนสู่ล่าง และล่างสู่บน ให้ความสำคัญเป็นการเฉพาะกับกลุ่มชายขอบ เช่น ชนเผ่าพื้นเมือง กลุ่มชาติพันธุ์ คนไร้รัฐ คนงานข้ามชาติ และผู้เสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนและจากความขัดแย้งในไทย เป็นต้น
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

YPD แถลง 2 ปี รัฐ 'ทหาร' การปฏิรูปที่ไม่มีอยู่จริง

$
0
0

 

22 พ.ค. 2559 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย (YPD) ได้จัดแถลงข่าว 2 ปีการรัฐประหาร ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดย YPD ออกแถลงการณ์ในหัวข้อ 2 ปี  รัฐ “ทหาร” การปฏิรูปที่ไม่มีอยู่จริง!!!

ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

แถลงการณ์ ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย (Young People for Social-Democracy Movement, Thailand (YPD.) ) 2 ปี  รัฐ“ทหาร” การปฏิรูปที่ไม่มีอยู่จริง!!!

ครบ 1  ปีที่ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย(YPD.) ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง 1 ปี รัฐ(ประ)(ท)หารอันอัปยศ ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 เพื่อประณามพฤติกรรมการใช้อำนาจของ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” หลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557  ซึ่งในวันนั้นเอง การละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกก็เกิดขึ้นกับเราเอง จากการห้ามใช้ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ เป็นสถานที่จัดงานและเชิญตัวพวกเราไปยังสถานีตำรวจหลังจากการอ่านแถลงการณ์บริเวณหน้าอนุสรณ์ 14 ตุลาฯ   อีกทั้งการจับกุมตัวและแจ้งข้อกล่าวหากับเพื่อนๆของเราจากเหตุการณ์บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพฯ ในช่วงค่ำวันเดียวกัน

ตลอดปีที่ผ่านมา การปกครองของรัฐทหารคุกคามต่อสิทธิเสรีภาพและการแสดงความคิดเห็น ปิดกั้นการแสดงออกของประชาชน  การใช้กฎหมายจัดการผู้เห็นต่างทางการเมือง การคุกคามแกนนำชาวบ้าน คุกคามผู้ที่พยายามตรวจสอบการทุจริตของรัฐบาล การจับกุมตัวโดยผิดหลักกฎหมาย  พฤติกรรมเหล่านี้  ถือเป็นการละเมิดสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมืองของประชาชนชาวไทยอย่างเห็นได้ชัด  จึงขอเรียกร้องให้สังคมไทยและสังคมโลกยังคงจับตามองและประณามการกระทำดังกล่าว

ทั้งนี้ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย(YPD.)ยังมีความกังวลและให้ความสำคัญกับพื้นฐานของประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ คือเรื่องของการปกป้องสิทธิชุมชนและสิทธิในการจัดการทรัพยากร เห็นได้จากปีที่ผ่านมา มีการต่อสู้กันระหว่างรัฐทหารกับประชาชนในสนามรบด้านการแย่งยืดปัจจัยการผลิต ส่งเสริมผู้ได้เปรียบทางเศรษฐกิจให้ยิ่งมีความร่ำรวยยิ่งขึ้นไป การใช้มาตรา 44 ซึ่งเป็นอำนาจไม่ชอบธรรมในการจัดการกับปัญหาที่ละเอียดอ่อนเกี่ยวกับสิทธิชุมชน  ไม่ว่าจะเป็นคำสั่ง คสช. ที่ 3 ,4 ,9 และ 13   การผลักดันโรงไฟฟ้าถ่านหิน  ความไม่ชัดเจนในการยกเลิกสัมปทานหรือให้สัมปทานเหมืองทองคำ ร่วมถึงทรัพยากรแร่ธาตุทุกชนิด  การขับไล่ชาวบ้านออกจากที่ดินเพื่อโครงการของรัฐ   นโยบายทวงคืนผืนป่าที่เห็นได้ชัดว่าส่งผลกระทบต่อคนยากคนจน คนชายขอบ มากกว่าที่จะเข้าปราบปรามนายทุนผู้บุกรุกหรือแก้ไขปัญหาที่ต้นตอของการบุกรุกป่าที่แท้จริง

คำกล่าวอ้างเรื่องการปฏิรูปตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา หากพิจารณาจากพฤติการณ์ของรัฐบาลที่กล่าวแล้วไปข้างต้น เป็นไปไม่ได้เลยที่จะเกิดการปฏิรูปท่ามกลางบรรยากาศของความหวาดกลัวและการใช้อำนาจโดยไม่ฟังเสียงประชาชน การห้ามการแสดงออก การห้ามแสดงความคิดเห็นเท่ากับการฟังเสียงคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพียงกลุ่มเดียว ซึ่งนั้นไม่ใช่พื้นฐานของการปฏิรูปที่แท้จริง  และหากมองถึงความสำเร็จของการปฏิรูปก็พบว่ารัฐบาลแทบจะไม่ปฏิบัติตามคำกล่าวอ้างดังกล่าว ไม่มีหลักการที่ชัดเจนเพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การให้สิทธิและโอกาสทางการเมืองที่เท่าเทียมกันแก่คนในสังคม ซ้ำร้ายยังมีการขึ้นเงินเดือนให้แก่ข้าราชการและพรรคพวกของตนเองหรือความพยายามที่จะตัดสวัสดิการของประชาชน

การขับเคลื่อนและรักษาระบอบประชาธิปไตย ยกระดับคุณภาพของประชาธิปไตย สร้างพลเมืองที่มีจิตสำนึกในระบอบประชาธิปไตยนั้นแน่นอนว่าไม่ได้เกิดขึ้นจากคณะผู้ปกครองคณะใดคณะหนึ่ง ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง  หากแต่เกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชน  ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจก็เช่นกัน ที่ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากประชาชนที่ทุกกลุ่มที่ร่วมกันเข้ามาปกป้องสิทธิทางเศรษฐกิจของตนเอง และใช้กระบวนการประชาธิปไตยในการจัดสรรแบ่งปันผลประโยชน์  เพราะฉะนั้นพวกเราจึงอยากเรียกร้องให้ประเทศกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยเร็ว ด้วยการเปิดโอกาสการให้ข้อมูลการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญแก่ทุกฝ่าย และรัฐบาลต้องสัญญาว่าจะลาออกและคืนอำนาจให้ประชาชนทำการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญของประชาชน หากประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่านการลงประชามติ

เพื่อประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและประชาธิปไตยทางการเมือง

ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย(YPD.)

22 พฤษภาคม 2559

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ขอทหารหยุดคุกคามชาวบ้านที่ต่อสู้คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน

$
0
0

22 พ.ค. 2559 กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ ออกแถลงการณ์ "ขอให้ทหารหยุดคุกคามชาวบ้านที่ต่อสู้คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน ของบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน)" โดยระบุว่านับตั้งแต่ 16 กุมภาพันธ์ 2558 หลังรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกประทานบัตรให้แก่โครงการเหมืองแร่โพแทชและเกลือหินของบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) ที่อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลในประเทศสมาชิกอาเซียน 6 ประเทศ ที่ร่วมกันจัดทำข้อตกลงพื้นฐานว่าด้วยโครงการอุตสาหกรรมอาเซียน ซึ่งเป็นโครงการที่มาทดแทนโครงการอุตสาหกรรมผลิตเกลือหินและโซดาแอชที่ถูกยกเลิกไปในปี 2532 โดยต่อมาเมื่อโครงการเหมืองแร่โพแทชและเกลือหินได้รับประทานบัตร บริษัทดังกล่าวก็ดำเนินการผลักดันโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขึ้นเพื่อใช้ในกิจการของเหมืองแร่
 
แรกเริ่มเดิมทีประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ไม่ได้คัดค้านเหมืองโปแตช อาจจะเป็นเพราะมองเห็นประโยชน์การจ้างงานมีรายได้ที่จะเกิดขึ้นในท้องถิ่นจึงยอมให้ ต่อมาหลังจากได้รับประทานบัตรในปีที่แล้ว บริษัทฯก็ประกาศผลักดันโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินควบคู่กันไปด้วยจึงรู้สึกเหมือนถูกตบหน้า โกหกหลอกลวง เพราะตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมานับตั้งแต่มีข้อตกลงอาเซียนว่าจะผลักดันเหมืองโปแตชขึ้นที่นี่ก็ไม่เคยมีแนวคิดอุตริที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินร่วมด้วย
 
เหตุเพราะว่าบทเรียนที่เกิดขึ้นจากเหมืองและโรงไฟฟ้าถ่านหินที่แม่เมาะและที่โรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดระยองทำให้ชาวบ้านที่นี่พากันวิตกกังวลต่อผลกระทบต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมา กังวลถึงชีวิตลูกหลานในวันข้างหน้า กังวลว่าเมื่อโรงไฟฟ้าถ่านหินเริ่มดำเนินกิจการแล้วจะเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งการเพิ่มกำลังการผลิตก็คือการเพิ่มสารพิษและมลพิษให้เกิดมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย จึงเกิดการรวมตัวกันคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ เพราะไม่อยากให้ชุมชนมีสภาพเหมือนที่แม่เมาะ จังหวัดลำปาง และที่จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ชัดถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเจ็บป่วยของประชาชนในพื้นที่ การอพยพโยกย้ายจากถิ่นฐานที่อยู่ หรือการไร้ที่ดินทำกิน รวมทั้งปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรน้ำระหว่างชาวบ้านกับภาคอุตสาหกรรม
 
ประชาชนในพื้นที่จึงรวมกลุ่มกันขึ้นในนาม ‘กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์’ เพื่อลุกขึ้นมาคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยกลุ่มฯพยายามบอกกล่าวทั้งด้วยวาจา ทำหนังสือร้องเรียน สอบถามข้อมูล และยื่นหนังสือคัดค้านไปยังหน่วยงานราชการต่าง ๆ ที่รับผิดชอบ เช่น การร้องเรียนที่ศูนย์ดำรงธรรม การยื่นสอบถามไปยังสถานฑูตอาเซียนทั้ง 6 ประเทศ การยื่นหนังสือคัดค้านบริษัทผู้ถือหุ้น เป็นต้น แต่ทางบริษัทฯก็มิได้นำพาต่อเสียงของประชาชนที่อาศัยโดยรอบเหมือง กลับยังคงผลักดันและเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินต่อไป 
 
โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาในกรณีที่กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์มีการจัดกิจกรรมใดใดในพื้นที่มักถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐกดดันห้ามปราม ข่มขู่ด้วยมาตรา 44 พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มีการส่งสายสืบทั้งตำรวจ ทหาร ทั้งในและนอกเครื่องแบบเข้ามาจับตา และบังคับให้กลุ่มฯขออนุญาตเจ้าหน้าที่รัฐทุกครั้งหากมีการจัดกิจกรรม โดยข่มขู่ว่าหากขัดขืดจะดำเนินการแจ้งความจับกุมประชาชนผู้ที่มาร่วมกิจกรรมและผู้จัดงาน ตัวอย่างเช่น กรณีทหารอ้าง ม.44 สั่งถอดเสื้อชาวบ้านที่พิมพ์ข้อความคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินบนเสื้อรณรงค์ในเวทีการประชุมคณะกรรมการไตรภาคีของกิจการเหมืองแร่ฯ กรณีทหารสั่งห้ามจัดผ้าป่าสามัคคีซึ่งเป็นกิจกรรมตามประเพณี จนชาวบ้านต้องเปลี่ยนสถานที่จัดงานถึงสามครั้ง ทั้งยังมีการติดตามข่มขู่จากชายฉกรณ์เพื่อกดดันไม่ให้เจ้าของสถานที่เอกชนอนุญาตให้กลุ่มฯจัดกิจกรรมทอดผ้าป่าสามัคคีในเดือนมีนาคม 2559 ที่ผ่านมา แม้แต่การติดป้ายคัดค้านบริเวณจุดต่าง ๆ ในพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ส่วนบุคคลเช่นรั้วบ้านตนเองก็บอกว่าผิดกฎหมาย ในขณะที่ฝ่ายบริษัทฯสามารถจัดกิจกรรมสนับสนุนเหมืองได้โดยไม่ต้องขออนุญาตแต่อย่างใด
 
รวมทั้งมีการใช้กลไกการปกครองในพื้นที่ข่มเหงจิตใจชาวบ้านซ้ำเติม เช่น ผู้ใหญ่บ้านกำนันในพื้นที่ข่มขู่ชาวบ้านว่าถ้าใครออกมาคัดค้านหรือต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินหากมีโครงการใด ๆ ของรัฐเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นเงินชดเชยภัยแล้งน้ำท่วม เงินกองทุนหมู่บ้านจะไม่ดำเนินการให้กับบุคคลที่ออกมาต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน เป็นต้น 
 
ล่าสุดการข่มขู่คุกคามจากทหารยิ่งรุนแรงมากขึ้น เช้าของวันที่ 21 พฤษภาคม 2559 เวลาประมาณ 10.50 น. มีทหารแต่งชุดลายพราง 2 คน เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ 1 คน พร้อมผู้ใหญ่บ้านบ้านเพชร หมู่ 2 ต.บ้านเพชร อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ ขับรถกะบะสีบอรนซ์สี่ประตู และรถเก๋งหนึ่งคัน เข้าไปจอดที่หน้าบ้านของนายเสมอ เถินมงคล ผู้เข้าร่วมคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกับกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ จากนั้นเดินเข้ามาถามหาตัวนายเสมอกับพ่อและน้องสาวว่า นายเสมออยู่ไหน นายอยากคุยด้วยเพราะนายเสมอเป็นแกนนำคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่ไม่พบตัวนายเสมอเนื่องจากออกไปทำงาน เจ้าหน้าที่ทั้งหมดจึงขับรถออกไปหายังที่ทำงานของนายเสมอแต่ก็ไม่พบตัว จากนั้นเจ้าหน้าที่จึงย้อนกลับมาถ่ายภาพบ้านและน้องสาวของนายเสมออีกครั้งก่อนขับรถออกไป
 
จากเหตุการณ์ที่ดำเนินมาตั้งแต่เริ่มมีการผลักดันโรงไฟฟ้าถ่านหินจนถึงขณะนี้ ท่ามกลางความขัดแย้งและการใช้อำนาจทุกวิถีทาง การวางตัวไม่เป็นกลางของเจ้าหน้าที่รัฐ และการไม่ได้รับความเป็นธรรม ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความหวาดกลัว หวาดระแวง คับแค้นใจ และเกิดทัศนะคติที่ไม่ดีต่อเจ้าหน้าที่รัฐ และสร้างความไม่พอใจไปยังเหมืองโปแตชซึ่งเป็นฉนวนเหตุสำคัญในการริเริ่มก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ดังนั้นแล้ว หากรัฐบาลที่อ้างว่าจะมาคืนความสุขให้แก่ประชาชน ขอจงได้หยุดการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐอันเป็นการกระทำที่ขัดแย้งกับการสร้างความสุข และขอให้วางตัวให้เป็นกลาง ให้ความยุติธรรมกับประชาชน หยุดติดตามและห้ามปรามการแสดงออกซึ่งสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และสิทธิชุมชนในการปกป้องวิถีชีวิต วิถีชุมชน สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมอันดีงาม อันเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน
 
ท้ายที่สุด กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ขอแถลงจุดยืนต่อสู้คัดค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในทุกกรณี และพวกเราทุกคนจะยืนหยัดต่อสู้ไปด้วยกันกับนายเสมอ เถินมงคล แม้ต้องเผชิญสถานการณ์ภายใต้การกดขี่ ข่มขู่ คุกคาม ห้ามปราม หรือมองชาวบ้านเป็นศัตรูต่อความมั่นคงของรัฐ และสร้างความวุ่นวายปั่นป่วนให้กับนายทุนถ่านหินที่เจ้าหน้าที่รัฐคอยอุ้มชูก็ตาม เราจะยืนหยัดเคียงบ่าเคียงไหล่กับนายเสมอ เถินมงคลด้วยสองมือเปล่าอย่างสันติธรรม
 
ในวาระครบรอบรัฐประหารสองปี ท่ามกลางการกวาดจับประชาชนผู้เห็นต่างในเรื่องความคิดทางการเมือง ทั้งที่เป็นสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนควรแสดงออกได้โดยไม่ถูกคุกคามและจับกุมคุมขัง อำนาจรัฐที่มากล้นของทหารได้ทำให้ทหารในจังหวัดชัยภูมิกลายเป็นทหารรับจ้างหาลำไพ่พิเศษด้วยการกดขี่คุกคามสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่ต่อสู้คัดค้านเหมืองแร่โปแตชและโรงไฟฟ้าถ่านหินที่อำเภอบำเหน็จณรงค์ เพื่อจะยัดเยียดข้อหารุนแรงให้นายเสมอ เถินมงคลตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2559 ที่มองเห็นประชาชนที่ออกมาต่อสู้คัดค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินว่าเป็นพวกที่มีภยันตรายต่อความสงบเรียบร้อยหรือบ่อนทำลายระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ 
 
ในนามกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ ขอขอบคุณชาวบ้านทุกคน ทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล ที่ร่วมกันต่อสู้คัดค้านตลอดระยะกว่า 1 ปีที่ผ่านมา และขอขอบคุณกัลยาณมิตรจากทั่วทุกสารทิศที่ส่งทั้งพลังกายและใจร่วมต่อสู้เพื่อปกป้องถิ่นฐานบ้านเกิดและโลกใบนี้ของพวกเรา เราจะสู้ด้วยสองมือเปล่าอย่างมั่นคงแข็งแกร่งทั้งในวันนี้และวันข้างหน้า ด้วยเป้าหมายอันมุ่งมั่นแน่วแน่ว่าเราจะส่งต่อแผ่นดินที่สงบสุขปราศจากมลพิษให้กับลูกหลานของเรา
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชุมนุมรำลึก 2 ปีรัฐประหารเจอฝ่ายหนุนโห่ไล่-ลั่น "คสช. ไม่ใช่เผด็จการ"

$
0
0

ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ชุมนุมรำลึก 2 ปีรัฐประหาร คสช. เคลื่อนขบวนจากธรรมศาสตร์มุ่งหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก่อนเจอกลุ่มหนุน คสช. 20 คน  ตะโกนลั่น "คสช. ไม่ใช่เผด็จการ พวกมึงออกไป" มีการโต้เถียงกับผู้ชุมนุมรำลึก2 ปีรัฐประหาร ตำรวจต้องจับแยก - โดยแยกย้าย 19.40 น. หลังสายฝนโปรย พร้อมเชิญชวนให้ไปลงประชามติ 7 สิงหา กำหนดอนาคตตัวเอง

ปักหลักที่ลานประติมากรรมประวัติศาสตร์การเมือง ข้างหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ตั้งแต่ 16.00 น.

17.12 น. เริ่มเคลื่อนขบวนมุ่งหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

17.25 น. เคลื่อนผ่านท้องสนามหลวง ผ่านด่านตรวจค้นอาวุธของเจ้าหน้าที่ตำรวจ มุ่งเข้าถนนราชดำเนิน

ผู้ชุมนุมรำลึก 2 ปี รัฐประหาร คสช. มาถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในเวลา 18.00 น.

ผู้ชุมนุมร่วมกันกางร่มหลังฝนตก ก่อนอำลาด้วยการร้องเพลง "แสงดาวแห่งศรัทธา" และ "บทแห่งสามัญชน"

22 พ.ค. 2559 ผู้สื่อข่าวรายงานจากลานประติมากรรมประวัติศาสตร์การเมือง ด้านข้างหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อเวลา 15.45 น. ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) และกลุ่มต่างๆ ร่วมกันจัดงานรำลึก "2 ปี กับอนาคตที่ประชาชนไม่ได้เลือก" เนื่องในวันครบรอบ 2 ปี รัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยกิจกรรมในวันนี้ตั้งแต่เวลา 17.00 น. จะมีการเดินขบวนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทั้งนี้ระหว่างรอประชาชนมาสมทบเพื่อเคลื่อนขบวน รวมทั้งมีการแสดงดนตรี มีการร้องเพลงเพื่อมวลชน และเพลงเธอได้ยินเสียงผู้คนร้องไหม (Do you hear the people sing)

ในเวลา 16.30 น. พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน วัย 17 ปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จากกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ได้ร่วมชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วย เขากล่าวว่า รัฐบาล คสช. กำลังปลุกผี และทำเรื่องแย่ๆ กับเด็กคือ การปลุกผีจอมพล ป. พิบูลสงครามขึ้นมา ผ่านการออกค่านิยม 12 ประการ สั่งให้เด็กท่องจำ และทำตามห้ามตั้งข้อสงสัย โดยรัฐบาลเชื่ออย่างผิดๆ ว่า การสั่งให้เด็กท่องจำ และทำตามจะทำให้เด็กเป็นคนดีได้ ซึ่งนั้นไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง

ส่วนการร่างรัฐธรรมนูญซึ่งตัดสิทธิการเรียนฟรีในระดับ มัธยมศึกษาตอนปลาย นั้น เขาเห็นว่าเป็นการร่างเพื่อกีดกัน และกดดันให้คนจน ต้องออกมาแสดงตัว ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จำเป็นต้องร้องขอความเมตาจากรัฐ ทั้งที่เรื่องสิทธิในด้านการศึกษาควรเป็นสิทธิที่ทุกคนควรจะได้รับอย่างเท่าเทียมกัน

เมื่อเวลา 17.12 น. ข้างหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ชุมนุมรำลึก 2 ปีรัฐประหารนำโดย จตุภัทร บุญภัทรรักษา หรือ 'ไผ่ ดาวดิน' เดินทางมาจาก จ.ขอนแก่น เริ่มออกเดินขบวนมุ่งไปที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

เวลา 17.25 น. บริเวณทางเดินที่ท้องสนามหลวง เจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งจุดตรวจค้นอาวุธผู้ชุมนุม เมื่อตรวจค้นแล้วไม่พบวัตถุต้องสงสัย จึงปล่อยให้เดินขบวนต่อไป โดยขบวนมาถึง ถ.ราชดำเนิน หน้าโรงแรมรอยัลรัตนโกสินทร์

ต่อมาเวลา 18.00 น. ผู้ชุมนุมประมาณ 500 คน เดินเท้าจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มาถึง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยมีสมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ สลับกันขึ้นปราศรัยแสดงความคิดเห็นต่อเหตุการณ์บ้านเมืองในช่วงสองปีที่ผ่านมา

กลุ่มหนุน คสช. ประมาณ 20 คน รวมตัวต่อต้านผู้ชุมนุมรำลึก 20 ปีรัฐประหาร คสช.  โดยสตรีรายนี้ตะโกนว่า "เขากำลังจะปฏิรูปกันอยู่มาขวางทำไมไอ้พวกขายชาติ" (ที่มา: เพจ Banrasdr)

เกิดการกระทบกระทั่งระหว่างผู้ชุมนุมรำลึก 2 ปีรัฐประหาร คสช. (ซ้าย) กับกลุ่มหนุน คสช. (ขวา) รายหนึ่ง ร้อนถึงผู้ชุมนุมคนอื่นๆ และเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องจับแยก (ที่มา: เพจ Banrasdr)

เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาควบคุมสถานการณ์หลังมีการกระทบกระทั่ง โดยพาชายหนุ่มผู้สนับสนุน คสช. รายหนึ่งออกห่างจากบริเวณที่ชุมนุม (ที่มา: เพจ Banrasdr)

ชายกลุ่มหนุน คสช. (ซ้าย) รายหนึ่ง พยายามจับศีรษะชายผู้เข้าร่วมชุมนุมรำลึก 2 ปีรัฐประหาร คสช. ทำให้ผู้อยู่ในเหตุการณ์คนอื่นรวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าห้ามปราม (ที่มา: เพจ Banrasdr)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่มีการจัดกิจกรรม มีมวลชนสนับสนุน คสช. กลุ่มหนึ่ง ประมาณ 20 คน ตะโกนไล่กลุ่มผู้ชุมนุมรำลึก 2 ปี รัฐประหารที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยตะโกนว่า "คสช. ไม่ใช่เผด็จการ พวกมึงออกไป"

เวลา 18.50 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าควบคุมสถานการณ์ โดยแยกมวลชนฝ่ายหนึ่งออกไปอยู่ฝั่งแมคโดนัลด์ ขณะที่ฝ่านจัดกิจกรรมอยู่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ส่งผลให้ฝ่ายหนุน คสช. ตะโกนโห่ด้วยความไม่พอใจ ส่วนมวลชนฝ่ายจัดรำลึกก็มีการตะโกนโห่กลับเช่นกัน แต่นักศึกษาขอร้องให้ผู้ร่วมกิจกรรมอยู่ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเท่านั้น โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจยืนกันบริเวณดังกล่าว

ทั้งนี้เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานโดยพาดหัวข่าวว่า "กรูปะทะวุ่น'อนุสาวรีย์ปชต.' ค้านทำกิจกรรม-มีบาดเจ็บ! อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบผู้สื่อข่าวภาคสนามระบุว่า ระหว่างผู้ชุมนุมทั้ง 2 ฝ่าย เป็นเพียงการโต้เถียงเท่านั้น แต่มีช่วงหนึ่งที่มีผู้ชุมนุมหนุน คสช. รายหนึ่งได้เข้ามาตบศีรษะชายวัยกลางคนที่มาร่วมชุมนุมรำลึก 2 ปีรัฐประหาร คสช. ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้ชุมนุมคนอื่นต้องช่วยกันจับแยก อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถกันผู้ชุมนุมทั้ง 2 กลุ่มออกจากกันได้

จากนั้นมีการประกาศผลการลงประชามติจำลองพบว่าในกล่องลงคะแนนทั้งหมด 392 เสียง ระบุว่าไม่รับ ต่อมาเวลา 19.10 น. เริ่มมีฝนตก แต่ยังมีผู้ชุมนุมร่วมทำกิจกรรมอยู่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยมีผู้ชุมนุมนำร่มไปกางให้สมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ เพื่อให้สามารถนำจัดกิจกรรมต่อไปได้

และต่อมาในเวลา 19.40 น. มีการอำลากิจกรรมด้วยการร้องเพลง "แสงดาวแห่งศรัทธา" และ "บทแห่งสามัญชน" ก่อนสลายตัว โดยมีการเชิญชวนให้ประชนออกไปลงประชามติวันที่ 7 สิงหาคม เพื่อให้ประชาชนได้กำหนดอนาคตของตัวเอง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หมายเหตุประเพทไทย: ชีวิตในเรือนจำหญิง

$
0
0

หมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้ เจนวิทย์ เชื้อสาวะถี พูดคุยกับ กรกนก คำตา นักศึกษาซึ่งร่วมกิจกรรมนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ก่อนที่ล่าสุดจะถูกศาลทหารสั่งฟ้องฐานขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 ชุมนุมเกิน 5 คน โดยถูกส่งตัวเข้าเรือนจำหญิงทันที ทั้งทีอยู่ระหว่างรอการประกันตัว

โดยกรกนกเปิดเผยถึงชีวิตในเรือนจำระหว่างรอประกันตัว กระบวนการค้นเปลือยก่อนเป็นผู้ต้องขังหญิง สภาพความเป็นอยู่ในเรือนจำหญิงมีเรื่องใดบ้างที่ต้องปรับปรุง พร้อมคำตอบถามเรื่อง “คุกควรเป็นสถานที่แบบไหน?"” ระหว่าง สถานที่สำหรับแก้แค้น หรือ สถานที่เพื่อการปรับตัวเพื่อกลับคืนสู่สังคมอย่างปกติ

ติดตามวิดีโอจากประชาไทที่

 

 

ติดตามรายการหมายเหตุประเพทไทยย้อนหลังที่

https://www.facebook.com/maihetpraphetthai หรือ

https://www.youtube.com/playlist?list=PLyjd9jzMpO2Xby4FyxWMwY8auIFY01eVQ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คณะแพทย์รายงานพระอาการในหลวงระบุการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อพระพักตร์ลดลงเกือบเป็นปรกติ

$
0
0

เมื่อเวลา 18.50 น. วันที่ 22 พ.ค. 2559 สำนักพระราชวัง ออกแถลงการณ์สำนักพระราชวังเรื่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ มาประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช ฉบับที่ 25 ความว่า วันนี้คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้รายงานผลการแก้ไขการเพิ่มขึ้นของน้ำไขสันหลังในโพรงพระสมอง เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2559 ว่าการเคลื่อนไหวผิดปรกติของกล้ามเนื้อพระพักตร์ (หน้า) ลดลงมากจนเกือบเป็นปรกติ การหายพระทัย พระชีพจร อุณหภูมิพระวรกายและความดันพระโลหิตอยู่ในเกณฑ์ปรกติ จึงประกาศมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน 
 
สำนักพระราชวัง 
22 พฤษภาคมพุทธศักราช 2559
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ข้อสังเกตบางประการ เกี่ยวกับ 'การควบรวมองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)'

$
0
0



สืบเนื่องจากรายการ “เถียงให้รู้เรื่อง” ทางช่อง ThaiPBS นำเสนอประเด็นเถียงให้รู้เรื่อง : "ควบรวมท้องถิ่น ได้คุ้มเสียจริงหรือ ?"ออกอากาศในวันที่ 17 พ.ค. 2559 เวลา 22.30 น. ผมมีข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับ “การควบรวม อปท.” ดังนี้

โดยส่วนตัวผมเห็นว่า "การควบรวมท้องถิ่น" ไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องที่สุดและไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุดของการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น เพราะปัญหาประสิทธิภาพของการปกครองท้องถิ่นไม่ได้อยู่ที่ขนาดขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อย่างเดียว หากแต่ปัญหาที่แท้จริงของเรื่องนี้อยู่ที่ "การกระจายอำนาจและการกำกับดูแล อปท.”  ซึ่งมีสาเหตุของปัญหาที่สำคัญ ดังนี้

1. ความจริงใจของรัฐบาลในนโยบายการกระจายอำนาจให้แก่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น  รัฐบาลในทุกยุคทุกสมัยต้องตั้งคำถามนี้กับตนเองว่าจริงจังและจริงใจแค่ไหนกับการปกครองท้องถิ่น

2. ด้านอำนาจหน้าที่ของ อปท. กล่าวคือปัจจุบัน อปท. ไม่มีอำนาจหน้าที่โดยเฉพาะเป็นของตนเอง เพราะกฎหมายจัดตั้งองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหลายต่างมีบทบัญญัติที่กำหนดอำนาจหน้าที่ของ อปท. ไว้ว่า “ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย ให้องค์การบริหารส่วนตำบล/เทศบาล มีอำนาจหน้าที่ (1) ... (2) ... (3) ...
(4) ...” เป็นต้น (แม้ว่ารัฐธรรมนูญ 2 ฉบับที่ผ่านมามีเจตนารมณ์ต้องการ “ให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำบริการสาธารณะ” ก็ตาม  แต่ปัญหาอยู่ที่ว่ากฎหมายระดับพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่นไม่เคยมีการปฏิรูปอย่างจริงจังและเป็นระบบสักเลย) นอกจากนี้กลไกตรวจสอบจากหน่วยงานภายนอกก็มีส่วนทำลายหลักความเป็นอิสระในทางอำนาจหน้าที่ของ อปท. อีกด้วย เช่น มักมีบางหน่วยงานมีข้อสังเกตหรือข้อทักท้วงว่าการจัดทำบริการสาธารณะนั่นก็ทำไม่ได้นี้ก็ทำไม่ได้ เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างการที่ อปท. จะฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าก็ยังเป็นปัญหา ดังนั้น มิพักต้องพูดถึงภารกิจหลัก ๆ ของ อปท. เลยว่าจะติดขัดแค่ไหน !

2. ด้านการกำกับดูแล อปท.ในปัจจุบันเผชิญกับการกำกับดูแล "ในคราบ" ของ "การบังคับบัญชา" ผ่านกลไกของฝ่ายมหาดไทย กล่าวคือ หลักในเรื่องการกำกับดูแลมีอยู่ว่า “ (1) ต้องมีกฎหมายให้อำนาจกำกับดูแล (2) ต้องกำกับดูแลเท่าที่จำเป็น โดยมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน (3) ต้องกำกับดูแลโดยไม่กระทบกระเทือนสาระสำคัญของหลักแห่งการปกครองตนเอง และ (4) การกำกับดูแลต้องเป็นไปเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นหรือประโยชน์ของส่วนรวม” แต่การกำกับดูแลที่ใช้อยู่ในปัจจุบันหลายเรื่องขัดต่อหลักการนี้ เช่น การที่ผู้กำกับดูแลหรือองค์กรกำกับดูแลมี “หนังสือสั่งการ” ให้ท้องถิ่นทำโน้น ทำนี่ ต่าง ๆ นานา รวมทั้งการบิดเบือนการใช้อำนาจกำกับดูแล หรือที่ร้ายกาจคือองค์กรกำกับดูแลกระทำการต่าง ๆ ต่อท้องถิ่นประหนึ่งว่า อปท. ต่าง ๆ เป็นหน่วยงานภายใต้การบังคับบัญชาของตนเอง เป็นต้น

3. กฎหมายที่เป็นฐานรายได้ของท้องถิ่น เช่น กฎหมายภาษีต่าง ๆ ไม่ถูกปรับปรุงให้สอดคล้องกับหลักการปกครองท้องถิ่น ซึ่งความข้อนี้ทำให้รัฐมักใช้อ้างว่า “ท้องถิ่นเลี้ยงตัวเองไม่ได้/ท้องถิ่นหารายได้เองไม่พอ”

4. ด้านระบบแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้ อปท. ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การกระจายอำนาจและภารกิจหลายเรื่องยังไม่เป็นไปตามแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ หรือแม้จะกระจายอำนาจไปให้ อปท. แล้วก็ตาม แต่ทรัพยากรต่าง ๆ (เช่น งบประมาณและบุคลากร) ที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหรือภารกิจเรื่องนั้นไม่ถูกกระจายไปด้วย

5. ด้านระบบการอุดหนุนงบประมาณให้แก่ อปท. ไม่เป็นธรรมแถมยังสร้างความเหลื่อมล้ำระหว่าง อปท. ต่าง ๆ ในนาม "งบอุดหนุนเฉพาะกิจ"

6. ด้านงบประมาณของ อปท. กล่าวคือ งบประมาณส่วนใหญ่ใช้จ่ายไปกับ "รายจ่ายประจำ" โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ค่าใช้จ่ายบุคลากร" มากกว่า "งบพัฒนา"  ซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวกับงบประมาณที่ไม่เพียงพอและระบบบริหารงานบุคคลท้องถิ่นที่ขาดประสิทธิภาพ กล่าวคือ อปท. หลายแห่งมีโครงสร้างบุคลากรมากเกินความจำเป็นทำให้เกิดภาระในทางงบประมาณ เป็นต้น

7. ด้านการบริหารท้องถิ่นที่ขาดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน ซึ่งเกิดได้ในสองมิติ คือ มิติแรก ประชาชนในท้องถิ่นไม่สนใจปล่อยปละละเลยต่อการปกครองของตนเอง และมิติที่สอง คือ อปท. กีดกันหรือปิดกั้นพื้นที่การมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งปัญหาทั้งสองมิติทำให้การปกครองถิ่นตกอยู่ในเงื้อมมืออำนาจและอิทธิพลของนักเลือกตั้งท้องถิ่น จนเป็นข้ออ้างของฝ่ายผู้มีอำนาจที่ยกเป็นเหตุอ้างประการหนึ่งในอันที่จะไม่ยอมกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น เป็นต้น ซึ่งในข้อนี้ผู้เขียนเชื่อว่าการปกครองท้องถิ่นจะมีประสิทธิภาพสูงสุดปัจจัยได้อยู่ที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น หากอยู่ที่ความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในท้องถิ่นต่างหาก


ดังนั้น หากแก้ปัญหาทั้ง 7 ข้อที่ยกมานี้ได้จริง การควบรวมท้องถิ่นจึงอาจเป็นทางเลือกสุดท้ายในการแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างการปกครองท้องถิ่นก็ได้ แต่อย่างไรก็ดีหากผู้มีอำนาจต้องการเห็นการควบรวม อปท. จริง ผู้เขียนก็จะข้อเสนอแนวทางพิจารณาในการควบรวม ดังนี้

1. ต้องปรับปรุงกฎหมายจัดตั้งองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นก่อนที่จะดำเนินนโยบายควบรวมท้องถิ่น กล่าวคือ  ต้องปรับปรุงหลักเกณฑ์ตามกฎหมายในเรื่องการควบรวมและเรื่องจำนวนสมาชิกสภาท้องถิ่น เป็นต้น ( โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการกำหนดจำนวนสมาชิกสภาท้องถิ่นเป็นประเภท ๆ เช่น อบต. มีสมาชิกหมู่บ้านละ 2 คน / สภาเทศบาลตำบล (ทต.) มีสมาชิก 12 คน /สภาเทศบาลเมือง (ทม.) มีสมาชิก 18 คน / สภาเทศบาลนคร (ทน.) มีสมาชิก 24 คน / ส่วนตัวเสนอให้จำนวนสมาชิกสภาท้องถิ่นแปรผันตามจำนวนประชากรเช่นในกรณีเทศบาลอาจมีสมาชิกสภาเทศบาลตั้งแต่ 12 คน ถึง 36 คน เป็นต้น ) นี้ยังไม่ได้กล่าวถึงนักการเมืองในระดับ อบต. ที่ต้องเสียประโยชน์จากการที่จำนวนสมาชิกสภา อบต. ต้องถูกลดลงไปหากควบรวมกันแล้วยกฐานะเป็นเทศบาลตำบล เช่น บาง อบต. มี 20 หมู่บ้านเคยมีสมาชิก อบต. อยู่ 40 คน เมื่อควบรวมแล้วยกเป็นเทศบาลตำบลทำให้ต้องมีสมาชิกสภาเทศบาลตำบลลดเหลือเพียง 12 คน เท่านั้น

2. เมื่อปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวแล้ว การจะควบรวมหรือไม่ควบรวม อปท. ควรพิจารณาจากเกณฑ์เจตนารมณ์ของประชาชนเป็นลำดับแรก (โดยอาจผ่านกลไกการออกเสียงประชามติในระดับท้องถิ่น) กล่าวคือ ต้องให้ประชาชนในท้องถิ่นแสดงเจตนารมณ์เห็นด้วย/หรือไม่เห็นด้วยกับการให้ควบรวมท้องถิ่น บนพื้นฐานข้อมูลหรือข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน ทั้งข้อดีและข้อเสียที่จะได้จากการควบรวม

3. ไม่ควรมีระบบบังคับให้ อปท. ควบรวม  หากแต่ควรใช้ระบบสมัครใจ โดยอาจมีมาตรการส่งเสริม อปท. ที่ควบรวม และในขณะเดียวกันต้องมีแนวทางพัฒนา อปท. ที่ยังไม่ควบรวมให้สามารถพึ่งพาตนเองหรือ "จัดการตนเอง" ได้ บนหลักแห่งการปกครองตนเอง

4. ต้องสร้างระบบตัวแทนของท้องถิ่นให้สามารถมีสมาชิกสภาท้องถิ่นที่สะท้อนตัวแทนของพื้นที่ได้อย่างครอบคลุม

โดยสรุปแล้ว ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับนโยบายการควบรวม อปท. เพราะเห็นว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด ดังนั้น หากรัฐจริงใจต่อการปกครองท้องถิ่นจริง ก็ควรที่จะปฏิรูปการปกครองท้องถิ่นทั้งระบบให้ท้องถิ่นสามารถปกครองตนเอง มีความเป็นอิสระตามหลักแห่งการปกครองตนเองของท้องถิ่น แต่อย่างไรก็ดีมีโจทย์ใหญ่ที่ท้าท้ายการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่นอยู่ว่า “บทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญ หมวดการปกครองส่วนท้องถิ่นจะเอื้อหรือส่งเสริมต่อการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่นมากน้อยเพียงใด?”

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live




Latest Images