Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live

NDM ไม่สนคำวินิจฉัยศาล รธน. วรเจตน์ชี้ ประชามติไม่เสรี ไม่ใช่ประชามติ

$
0
0

NDM ชี้คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญคือการคุมกำเนิดการรณรงค์ประชามติ ยันไม่แคร์ ไม่สน รณรงค์ไม่ผิดพร้อมฝากถึง พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ถ้าจะจับคนที่ออกมาเคลื่อนไหว อธิบายให้ชัดว่าจับข้อหาอะไร ด้านวรเจตน์ผิดหวังไม่ได้เยี่ยมลูกศิษย์ หลังเรือนจำ บังคับใช้กฎ 10 คน

30 มิ.ย. 2559 10.40 น. ที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ สมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ หรือ NDM ได้แถลงข่าวต่อกรณีคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นเรื่องพ.ร.บ. ประชามติ มาตรา 61 วรรค 2 ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ปกรณ์ อารีกุล หนึ่งในสมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ระบุว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น ได้ให้มีการตีความการใช้อำนาจ ตามพ.ร.บ. ประชามติอย่างกว้างขวาง เพื่อคุมกำเนิดการรณรงค์ "หลังจากนี้ก็อาจจะมี การตีความว่าการรณรงค์ต่างๆ ขัดต่อ พ.ร.บ.ประชามติ ซึ่งจริงๆแล้ว เราไม่ได้แปลกใจ ที่ศาลมีคำตัดสินแบบนี้ แต่ในส่วนของเรา ยืนยันว่าเราไม่ได้แคร์ ไม่ได้สน ประชาชนไม่ผิด เพราะสิทธิ์ในการรณรงค์เรื่องประชามติ เป็นสิทธิที่ ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ยืนยันมาโดยตลอดว่าสามารถทำได้" ปกรณ์ กล่าว

ด้านวรวุฒิ บุตรมาตร หนึ่งในสมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ระบุว่า การรับรอง พ.ร.บ.ประชามติ โดยศาลรัฐธรรมนูญ ถือว่าเป็นเรื่องที่แปลกประหลาด เพราะกฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายที่ผิดต่อหลักการทำประชามติอย่างร้ายแรง เป็นกฎหมายที่มีโทษสูงเกินกว่าเหตุ ทั้งยังมีปัญหาการตีความว่าอะไรคือ การข่มขู่ ปลุกระดม และหยาบคาย ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่รัฐทั้งตำรวจและทหาร ได้เริ่มใช้กฎหมายในการเข้าจับกุมผู้ที่ออกมารณรงค์อย่างกว้างขวางแล้ว

ปกรณ์ ยังกล่าวฝากถึงพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ต่อกรณีที่ออกมาให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนว่า หากมีนักกิจกรรมออกมาเคลื่อนไหวและทำผิดกฎหมายจะดำเนินการจับกุมให้หมด โดยปกรณ์ระบุว่า ตอนนี้นักกิจกรรมทั่วประเทศกำลังเริ่มออกมาเคลื่อนไหว ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐจะจับกุม ขอให้ระบุให้ชัดเจนว่าจะจับกุมข้อหาอะไร และระบุให้ชัดด้วยว่า สิ่งที่ตนทำนั้นผิดกฎหมายอย่างไร พร้อมทั้งฝากไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า ขอให้ทำตามหน้าที่ตามหลักกฎหมาย เพราะการให้สัมภาษณ์รายวันของผู้มีอำนาจนั้น ไม่ถือเป็นกฎหมาย

วรเจตน์ผิดหวังไม่ได้เยี่ยมลูกศิษย์ หลังเรือนจำ บังคับใช้กฎ 10 คน ชี้ไม่มีความเห็นต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เพราะศาลควรหมดอำนาจตั้งแต่รัฐธรรมนูญถูกล้ม

13.45 น. ที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า วันนี้ได้เดินทางมาเยี่ยมนักศึกษาทั้ง 7 คนที่ถูกจับกุม หลังจากออกไปรณรงค์เรื่องการทำประชามติ และแจกเอกสารความเห็นแย้งร่างรัฐธรรมนูญ แต่ไม่สามารถเข้าเยี่ยมนักศึกษาได้ เนื่องจากเรือนจำบังคับใช้ กฏเข้าเยี่ยม 10 คน ซึ่งไม่รู้และไม่ได้เตรียมการไว้ล่วงหน้า เนื่องจากเมื่อครั้งที่ 14 นักศึกษาถูกจับกุมเมื่อปีที่ผ่านมายังสามารถเข้าเยี่ยมได้

วรเจตน์ กล่าวต่อว่า วันนี้ตั้งใจเดินทางมาเพื่อให้กำลังใจนักศึกษา โดยเฉพาะรังสิมันต์ โรม ซึ่งถูกจับกุมคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ไม่ได้คิดว่าจะมาพูดเรื่องการประกันตัวหรือไม่ประกันตัว เนื่องจากเคารพในการตัดสินใจของลูกศิษย์

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่ามีความคิดเห็นอย่างไรกับ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ วรเจตน์ตอบว่า ไม่ได้มีความคิดเห็นอย่างไรต่อคำตัดสิน แต่ก็ไม่ได้เกินความคาดหมาย ทั้งนี้ยังเห็นว่าโดยสภาพของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่อาจมีอำนาจในการวินิจฉัยอีกต่อไป ตั้งแต่รัฐธรรมนูญถูกล้มไป

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า การบังคับใช้กฎหมายกับนักศึกษาลักษณะนี้เป็นการกลั่นแกล้งหรือไม่ วรเจตน์ตอบว่า ช่วงเวลานี้เราอยู่ในช่วงเวลาของการทำประชามติ และการทำประชามติมีหลักการคือต้องเปิดกว้างในการแสดงความคิดเห็นของทุกฝ่าย

"ถ้าทำประชามติโดยที่ไม่สามารถรณรงค์ ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี เราก็ยากที่เรียกการกระทำลักษณะนั้นว่าประชามติ" วรเจตน์ กล่าว

'ประชาธิปไตยใหม่' ร้องขอ กรรมการสิทธิฯ ยืนยันสิทธิเสรีภาพในการรณรงค์ พร้อมเชิญไปเยี่ยมเพื่อน 7 นักโทษประชามติ

เมื่อเวลา 15.30 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขบวนการประชาธิปไตยใหม่หรือ NDM นำโดย แมน ปกรณ์ อารีกุล หนุ่ย อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ และโอ้ รักษ์ชาติ วงษ์อธิชาติ ได้เดินทางมาเพื่อยื่นหนังสือให้กับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมทั้งมอบเอกสารความเห็นแย้งต่อร่างรัฐธรรมนูญสติ๊กเกอร์โหวตโนและลูกโป่งรณรงค์ไม่ผิดให้กับคณะกรรมการสิทธิ์ เพื่อขอให้คณะกรรมการสิทธิออกมายืนยันว่าการรณรงค์เป็นสิทธิทำได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมทั้งเรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิ เดินทางไปเยี่ยมเพื่อน 7 นักโทษประชามติที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ

โดยมีชาติชาย สิทธิกลม ประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ และอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติออกมารับเรื่อง

ทั้งนี้การจับกุมดำเนินคดีดังกล่าว เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา จากกรณีมีนักกิจกรรมจากกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ (NDM) นักกิจกรรม รามคำแหง และกลุ่มสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ รวม 13 คน ได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจควบคุมตัวตั้งแต่วันนี้ที่หน้านิคมอุตสาหกรรมบางพลี จ.สมุทรปราการ เนื่องจากไปแจกแผ่นพับและเอกสารให้ความรู้เรื่องร่างรัฐธรรมนูญและการลงประชามติ ต่อมาถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58 ข้อ 12 เรื่องชุมนุมทางการเมืองจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยในจำนวนนั้นมีผู้ขอประกันตัว 6 ราย ที่เหลืออีก 7 รายยืนยันว่าไม่ได้ทำสิ่งใดผิดจึงไม่ขอประกันตัว ทั้งหมดถูกเจ้าหน้าที่นำตัวมาศาลทหารเพื่อขออนุญาตฝากขัง โดยที่ 6 ราย ขอประกันตัวและได้รับการปล่อยตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพและ ทัณฑสถานหญิงกลางเมื่อกลางดึกคืน 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่ 7 รายที่ไม่ยื่นประกันตัวนั้นถูกฝากขังที่เรือนจำดังกล่าว

ขบวนการประชาธิปไตยใหม่

30 มิถุนายน 2559

เรื่องขอให้เข้าเยี่ยมผู้ต้องหาและร่วมสังเกตการณ์การรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญ
เรียนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ด้วยสถานการณ์ในประเทศไทยใน ที่ใกล้จะถึงวันออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 เข้ามาทุกขณะ ได้ปรากฏเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจภายใต้รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กระทำการคุกคามประชาชนผู้รณรงค์คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ โดยการเข้าจับกุมและแจ้งข้อหาแก่ผู้จัดและผู้เข้าร่วมกิจกรรมแจกเอกสารรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญและเอกสารลงทะเบียนขอใช้สิทธิออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัด ในวันที่ 23 มิถุนายน 2559 ณ ตลาดเคหะบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ จำนวน 13 คน และการจับกุมและพยายามแจ้งข้อหาแก่ผู้จัดกิจกรรมทำความสะอาดอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ในวันที่ 24 มิถุนายน 2559 ณ วงเวียนหลักสี เขตบางเขน กรุงเทพฯ โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. เจ้าหน้าที่ใช้กำลังไม่เหมาะสมในการเข้าจับกุม โดยใช้ความรุนแรง เช่นการบีบคอและอุ้มตัวผู้จัดและผู้เข้าร่วมกิจกรรมในลักษณะที่เกินกว่าเหตุ

2. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งข้อหาชุมนุมทางการเมืองเป็นจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 แก่ผู้จัดและผู้เข้าร่วมในวันที่ 23 มิถุนายน 2559 ทั้ง 13 คน ทั้งที่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 แล้ว ในทางปฏิบัติผู้รณรงค์จึงยังคงไม่มีหลักประกันเสรีภาพในการรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เพราะแม้ว่าการรณรงค์จะไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 แต่ผู้รณรงค์ก็อาจถูกแจ้งข้อหาตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ได้อยู่ดี

3. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งข้อหาก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อยตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 61(1) วรรคสอง และวรรคสาม ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุดถึง 10 ปี ปรับสูงสุดถึง 2 แสนบาทแก่ผู้จัดกิจกรรมในวันที่ 23 มิถุนายน 2559 ทั้ง 13 คนโดยปราศจากอำนาจ เนื่องจากในมาตรา 5 ของ พ.ร.บ. ดังกล่าวกำหนดให้ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้รักษาการตาม พ.ร.บ. นี้

4. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้พยายามแจ้งข้อหาก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อยตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 61(1) วรรคสอง และวรรคสามแก่นางสาวชนกนันท์ รวมทรัพย์ หนึ่งในผู้จัดกิจกรรมในวันที่ 24 มิถุนายน 2559 จากการที่ตรวจค้นรถยนต์ของนางสาวชนกนันท์แล้วพบว่ามีเอกสารรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญอยู่ ทั้งที่ไม่ปรากฏพฤติการณ์อื่นใดที่ชี้ว่านางสาวชนกนันท์จะนำเอกสารเหล่านั้นออกมาแจกในกิจกรรมที่จัดขึ้น

5. จากข้อเท็จจริงแล้ว นายรักษ์ชาติ วงศ์อธิชาติ หนึ่งใน 13 ผู้ที่ถูกจับกุมตัวเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2559 มีฐานะเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์กิจกรรมเท่านั้น มิได้ร่วมแจกเอกสาร ปราศรัย หรือแสดงสัญลักษณ์รณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญใดๆ เลย แต่กลับถูกจับกุมตัวและแจ้งข้อหาเช่นเดียวกันกับคนอื่นๆ

6. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งข้อหาไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือตามประกาศคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ที่ 25/2549 แก่ผู้จัดกิจกรรมในวันที่ 23 มิถุนายน 2559 ที่ไม่ยอมยื่นขอประกันตัว จำนวน 7 คนอีกด้วย

7. ในท้ายสุด ศาลทหารมีคำสั่งให้ฝากขังผู้จัดและผู้เข้าร่วมกิจกรรมในวันที่ 23 มิถุนายน 2559 ผลัดแรกเป็นเวลา 12 วัน ที่เรือนจำกลางพิเศษกรุงเทพฯ โดยมีผู้ยื่นขอประกันตัว 6 คน และผู้ไม่ยื่นขอประกันตัว 7 คน และมีคำสั่งยกคำร้องขอฝากขังผู้จัดกิจกรรมในวันที่ 24 มิถุนายน 2559 ทั้ง 7 คน

ขบวนการประชาธิปไตยใหม่มีความเห็นว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ทั้งโดยการใช้กำลังและการใช้กระบวนการทางกฎหมาย แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่รัฐบาลไทยได้กล่าวไว้ในการประชุมรายงานกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (UPR) ว่ารัฐบาลเคารพสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนนั้นไม่เป็นความจริง และยิ่งในสถานการณ์ที่เข้าใกล้วันออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นสิ่งที่จะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศและประชาชนไทย การที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลคุกคามผู้รณรงค์จนไม่สามารถจัดการรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญได้จะส่งผลให้ประชาชนไม่สามารถรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างครบถ้วนรอบด้าน จนอาจตัดสินใจออกเสียงประชามติอย่างผิดพลาด และเกิดผลกระทบในทางลบต่อประชาชนเองได้

ขบวนการประชาธิปไตยใหม่จึงขอเรียกร้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้

1. เข้าเยี่ยมผู้ต้องหาประชามติทั้ง 7 คนในเรือนจำ เพราะการแสดงออกหรือเคลื่อนไหวรณรงค์อย่างสันติ ต้องได้รับความคุ้มครองจากหลักการสิทธิมนุษยชนสากล และพันธะสัญญาระหว่างประเทศ

2. ส่งเจ้าหน้าที่มาสังเกตการณ์การรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญของขบวนการประชาธิปไตยใหม่และกลุ่มอื่นๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐบาลมิให้มีการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญได้อีก

ขบวนการประชาธิปไตยใหม่หวังเป็นอย่างยิ่งว่าด้วยความช่วยเหลือจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประชาชนจะสามารถรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญได้โดยปราศจากการคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐบาลอย่างที่เคยเป็นมา

ขอแสดงความนับถือ
ขบวนการประชาธิปไตยใหม่

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายงานค้ามนุษย์ปี 59 สหรัฐอเมริกาเลื่อนอันดับไทยขึ้นบัญชี 2 ต้องจับตา

$
0
0

กระทรวงต่างประเทศสหรัฐเผยรายงานค้ามนุษย์ปี 2559 ไทยเลื่อนอันดับจากบัญชี 3 สู่ 'บัญชีที่ 2 ต้องจับตา' ชี้ไทยพยายามขจัดการค้ามนุษย์ ดำเนินคดีข้าราชการทุจริต แต่ปัญหาทุจริตและข้าราชการสมรู้ร่วมคิดยังคงเป็นอุปสรรคต่อการปราบการค้ามนุษย์ ขณะที่พม่าถูกลดอันดับไปอยู่บัญชีที่ 3 สถานการณ์เลวร้าย ร่วมเกาหลีเหนือ และปาปัวนิวกินี

แผนที่ในรายงานประจำปี สถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี 2558 ของกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา แสดงสถานการณ์ด้านเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก โดยสีเขียวหมายถึงอยู่ในบัญชีที่ 1 (Tier 1) สีเหลืองอยู่ในบัญชีที่ 2 (Tier 2) สีส้มอยู่ในบัญชีที่ 2 ซึ่งต้องจับตามอง (Tier 2 Watch List) สีแดงหมายถึง บัญชีที่ 3 (Tier 3) สถานการณ์เลวร้าย โดยไทยขึ้นมาอยู่ในบัญชีที่ 2 ซึ่งต้องจับตามอง ขณะที่พม่า เกาหลีเหนือ และปาปัวนิวกินี อยู่ในกลุ่มสีแดง หมายถึง บัญชีที่ 3 (ที่มา: TIP Report 2016)

 

เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา โดยนายจอห์น แครี่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา เผยแพร่รายงานประจำปี เรื่อง สถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี 2559 (Trafficking in Persons Report 2016 หรือ TIP Report 2016) เป็นการสำรวจทุกประเทศ (อ่านรายงานฉบับเต็ม)

โดยในปีนี้ประเทศไทย ได้รับการเลื่อนอันดับอยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 2 ซึ่งต้องจับตามอง (Tier 2 Watch List) หลังจากเมื่อปีที่แล้วอยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 3 (Tier 3) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีสถานการณ์ค้ามนุษย์ระดับเลวร้ายที่สุด โดยเมื่อปี 2557 ไทยถูกลดอันดับอัตโนมัติจากบัญชีกลุ่มที่ 2 ซึ่งต้องจับตามอง ไปอยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 3 (Tier 3)

อย่างไรก็ตามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พม่าถูกลดอันดับจากบัญชีที่ 2 ซึ่งต้องจับตามอง (Tier 2 Watch List) ไปอยู่ในบัญชีที่ 3 (Tier 3) กลุ่มที่ 3 ประเทศที่มีสถานการณ์ค้ามนุษย์ระดับเลวร้ายที่สุด

โดยในรายงานประจำปี 2559 ประเทศที่ถูกจัดอันดับให้อยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 3 ประเทศที่มีสถานการณ์ค้ามนุษย์ระดับเลวร้ายที่สุด (Tier 3) มี 26 ประเทศ ได้แก่ แอลจีเรีย เบลารุส, เบลิส, พม่า, บุรุนดี, สาธารณรัฐแอฟริกากลาง, โคโมรอส, จิบูติ, อิเควทอเรียลกินี, เอริเทรีย, แกมเบีย, กินี-บิซเซา, เฮติ, อิหร่าน, เกาหลีเหนือ, หมู่เกาะมาร์แชล, มอริเตเนีย, รัสเซีย, เซาท์ซูดาน, ซูดาน, ซีเรีย, เติร์กเมนิสถาน, อุซเบกิสถาน, เวเนซุเอลา, ซิมบับเว

โดยใน คำแถลงเรื่องรายงานการค้ามนุษย์ประจำปี พ.ศ. 2559 ที่เผยแพร่อยู่ใน เว็บไซต์สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เมื่อ 30 มิถุนายน 2559 ระบุว่า

000

การค้ามนุษย์เป็นอาชญากรรมโหดเหี้ยมที่ไร้พรมแดน โดยในแต่ละปี มีประชาชนทั้งชาย หญิงและเด็กหลายสิบล้านคนทั่วโลกตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมอันร้ายกาจนี้ คำว่า “การค้ามนุษย์” และ “การค้าทาสสมัยใหม่” ต่างหมายถึงการแสวงหาประโยชน์จากบุคคลเพื่อบังคับใช้แรงงานหรือค้าประเวณีโดยการใช้อำนาจบังคับ กลฉ้อฉลหรือการขู่เข็ญบีบบังคับ การค้ามนุษย์มีหลายรูปแบบ ได้แก่ การค้าเพื่อบังคับใช้แรงงานหรือในธุรกิจทางเพศ ซึ่งรวมถึงพันธนาการหนี้และงานรับใช้ตามบ้าน เมื่อบุคคลที่อายุต่ำกว่า 18 ปีตกอยู่ในสถานภาพที่ต้องค้าประเวณีก็ถือว่าเป็นการค้ามนุษย์เพื่อธุรกิจทางเพศ แม้จะไม่มีการบังคับ ล่อลวงหรือขู่เข็ญก็ตาม

กระทรวงการต่างประเทศแถลงออกรายงานการค้ามนุษย์ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2559 โดยประเทศไทยได้เลื่อนอันดับขึ้นไปอยู่ในกลุ่มที่ 2 บัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามอง รายงานการค้ามนุษย์ประจำปี พ.ศ. 2559 ครอบคลุมความพยายามดำเนินการของรัฐบาลต่างๆ ระหว่างวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2558 ถึงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2559 การถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มที่ 2 บัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามองแสดงว่า รัฐบาลไทยได้ดำเนินความพยายามอย่างมีนัยสำคัญในการขจัดการค้ามนุษย์ในช่วงเวลาการทำรายงานจัดอันดับ ทว่า การดำเนินงานนั้นยังไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานขั้นต่ำสุดอย่างครบถ้วน

การถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มที่ 2 บัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามองนั้นเป็นการย้ำว่า ปัญหาการค้ามนุษย์ในประเทศไทยยังมีอยู่กว้างขวางและรัฐบาลต้องแสดงความเป็นผู้นำในการดำเนินการมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันโดยให้มีผลงานเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิผล สหรัฐฯ ขอให้ไทยดำเนินงานให้ก้าวหน้ามากขึ้นและอย่างต่อเนื่องในการต่อสู้กับการค้ามนุษย์ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมายการค้ามนุษย์ของไทย รายงานฉบับนี้ได้รวมคำแนะนำต่างๆ ที่ตรงประเด็นการค้ามนุษย์ในไทยที่สหรัฐฯ เชื่อว่าจะช่วยให้รัฐบาลไทยดำเนินการได้ก้าวหน้าขึ้น เราขอให้รัฐบาลไทยดำเนินการตามคำแนะนำอย่างเต็มที่ หน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายบังคับใช้กฎหมายของสหรัฐฯ ยังคงเป็นหุ้นส่วนร่วมมือทำงานกับรัฐบาลไทยและภาคประชาสังคมในไทยในการพยายามขจัดปัญหาการค้ามนุษย์

ในปี พ.ศ. 2558 รัฐบาลไทยรายงานว่าในช่วงปีที่ผ่านมา ทางการได้เพิ่มความพยายามดำเนินการสืบสวนคดีการค้ามนุษย์เพื่อธุรกิจทางเพศ และคดีที่ต้องสงสัยว่ามีการบังคับใช้แรงงาน รวมถึงได้ดำเนินคดีและพิพากษาโทษนักค้ามนุษย์หลายร้อยคน นอกจากนี้ รัฐบาลยังเริ่มสืบสวนคดีการค้าแรงงานในภาคอุตสาหกรรมการประมงหลายสิบคดี กระนั้น การค้ามนุษย์เพื่อใช้แรงงานซึ่งรวมถึงพันธนาการหนี้ยังคงเป็นปัญหาสำคัญในไทย และการบังคับใช้แรงงานอย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรมอาหารทะเลยังคงเป็นปัญหาอยู่ เจ้าพนักงานรัฐ นายจ้าง เจ้าของกิจการ นายหน้าและสำนักงานจัดหางานที่สมรู้ร่วมคิดค้ามนุษย์ส่วนใหญ่ยังคงดำเนินกิจการต่อโดยไม่ต้องรับโทษ รัฐบาลไทยได้เริ่มดำเนินคดีที่เกี่ยวกับผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาและบังกลาเทศที่ตกเป็นเหยื่อการกระทำทารุณ สหรัฐฯ ขอให้ทางการไทยติดตามผลการสอบสวน การดำเนินคดีและกระบวนการศาลยุติธรรมสำหรับคดีที่อยู่ในระหว่างดำเนินการอย่างขันแข็งและอยู่ในห้วงเวลาอันเหมาะสม ซึ่งรวมถึงคดีที่เจ้าพนักงานรัฐถูกกล่าวหาว่าสมรู้ร่วมคิดค้ามนุษย์ และขอให้รัฐบาลไทยใช้คดีที่ประสบความสำเร็จในปีที่ผ่านมาเป็นรากฐานในการระบุและสอบสวนคดีใหม่ด้านการบังคับใช้แรงงาน พันธนาการหนี้และการค้ามนุษย์เพื่อธุรกิจทางเพศ

ฝ่ายบังคับใช้กฎหมาย เจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์และภาคประชาสังคมของไทยร่วมมือกันระบุตัวบุคคลและให้ความช่วยเหลือผู้รอดชีวิตจากการค้ามนุษย์ในปี พ.ศ. 2558 อย่างไรก็ดี หน่วยงานต่างๆ ทุกหน่วยจำต้องเพิ่มความพยายามร่วมมือดำเนินการที่มีประสิทธิผลมากขึ้น พร้อมร่วมมือกับภาคประชาสังคมเพื่อตรวจพบสิ่งบ่งชี้ต่างๆ ได้ดีขึ้น ว่ามีการค้ามนุษย์ ตลอดจนให้ความช่วยเหลือและสร้างเสริมความสามารถให้แก่ผู้รอดชีวิตจากการค้ามนุษย์ รายงานฉบับนี้เรียกร้องให้ไทยดำเนินการต่อไปในการปรับปรุงความคงเส้นคงวาของกระบวนการระบุตัวบุคคลผู้เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ การจัดลำดับความสำคัญของสิทธิ เสรีภาพและความปลอดภัยของเหยื่อการค้ามนุษย์ จนถึงการออกกฎระเบียบใหม่ๆ ในการให้สถานภาพทางกฎหมายและใบอนุญาตทำงานแก่เหยื่อการค้ามนุษย์ นอกจากนี้ เราขอให้รัฐบาลไทยดำเนินการตรวจสอบแนวทางปฏิบัติว่าด้วยการจัดหาแรงงานอย่างละเอียดและแข็งขัน พร้อมทั้งดำเนินการปรับปรุงแนวปฏิบัติดังกล่าวผ่านช่องทางทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการเพื่อประโยชน์ของแรงงานอพยพ

ในปี พ.ศ. 2558 ประเทศไทยดำเนินมาตรการเกี่ยวกับกรณีข้าราชการสมรู้ร่วมคิดการค้ามนุษย์ ซึ่งได้แก่ การพิพากษาจำคุกข้าราชการสองคน แต่ปัญหาทุจริตและข้าราชการสมรู้ร่วมคิดยังคงเป็นอุปสรรคต่อความพยายามปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยหลายๆ คดีที่ข้าราชการถูกกล่าวหาว่าสมรู้ร่วมคิดยังคงอยู่ในระหว่างการพิจารณา มีรายงานหลายฉบับกล่าวว่า ข้าราชการบางคนได้รับผลประโยชน์จากเงินสินบนและมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการกรรโชกทรัพย์และขายผู้อพยพให้แก่นายหน้า อันเป็นการเพิ่มสภาวะอ่อนแอเปราะบางของผู้อพยพเหล่านี้ที่จะตกเป็นเหยื่อในธุรกิจทางเพศ แรงงานบังคับและพันธนาการหนี้ ประเทศไทยจัดตั้งแผนกคดีค้ามนุษย์ในศาลอาญาและสำนักงานคดีค้ามนุษย์ในสำนักงานอัยการสูงสุดซึ่งได้เริ่มดำเนินการพิจารณาคดีแล้ว สหรัฐฯ มีความยินดีและสนใจรอรับทราบผลการดำเนินงานของหน่วยงานที่จัดตั้งพิเศษเหล่านี้ซึ่งหน่วยงานทั้งสองยังสรรหาทรัพยากรและความเชี่ยวชาญเพิ่มขึ้นต่อไป ในบรรดาคดีค้ามนุษย์เพื่อธุรกิจทางเพศนั้น ความพยายามในการสอบสวนคดีเด็กและการจัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจเพื่อดำเนินงานป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางอินเทอร์เน็ตที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดต่อเด็กและเยาวชนได้นำไปสู่การจับคุมนักค้ามนุษย์ทั้งชาวไทยและต่างชาติ

สหรัฐฯ จะยังขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินการให้ก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรมตามกรอบคำแนะนำในรายงานการค้ามนุษย์ประจำปี พ.ศ. 2559 รัฐบาลสหรัฐฯ มุ่งมั่นที่จะร่วมทำงานอย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลไทยและประชาชนชาวไทยในการแก้ไขปัญหาสำคัญนี้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ASEAN Weekly: ปฏิรูปบริหารรัฐกิจวิถีพม่า ความท้าทาย และข้อจำกัด

$
0
0

มองการปฏิรูปการเมืองพม่ากับ ดุลยภาค ปรีชารัชช เมื่อชนะเลือกตั้งท่วมท้นแต่นั่งประธานาธิบดีไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญสมัยกองทัพปิดล็อก แต่พรรคเอ็นแอลดี/ประธานาธิบดีถิ่นจ่อ ก็ลงมติในสภาผ่านกฎหมายตั้ง 'ออง ซาน ซูจี' เป็นที่ปรึกษาแห่งรัฐ แถมนั่งกระทรวงต่างประเทศ และ สำนักงานประธานาธิบดี ส่งผลให้คุมนโยบายสาธารณะป้อนส่วนราชการและรัฐชาติพันธุ์

นอกจากนี้มีการปรับลดกระทรวงจาก 36 รมต. เหลือ 22 รมต. เพื่อความคล่องตัว อย่างไรก็ตามไม่อาจมองข้ามตัวแปรการเมืองสำคัญอย่าง 'กองทัพพม่า' ที่ถือมหายุทธศาสตร์จัดระเบียบความมั่นคงเฉพาะตัว และยังคุมสภากลาโหมฯ ที่อาจใช้การประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อดึงอำนาจรัฐบาลพลเรือนกลับมาอยู่ในมือกองทัพ

1 ก.ค. 2559 ASEAN Weekly สัปดาห์นี้พูดคุยกับ ดุลยภาค ปรีชารัชช ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พูดคุยถึงสถานการณ์การเมืองในประเทศพม่า หรือ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ หลังรัฐบาลพลเรือนซึ่งนำโดยประธานาธิบดี ถิ่นจ่อ เริ่มปฏิรูปการเมืองเท่าที่กลไกภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2008 ยุครัฐบาลทหารจะอำนวย

ดุลยภาค เริ่มอธิบายรูปแบบการปกครองของพม่าหลังได้รับเอกราชเมื่อ ค.ศ. 1948 ว่าในยุคแรกพม่าปกครองในรูปแบบรัฐสภา มีประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐ และมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร ต่อมาหลังเข้าสู่รัฐบาลทหารเมื่อปี ค.ศ. 1962 สมัยนายพลเนวิน จนถึงสมัยรัฐบาลทหารพม่ายุค SLORC ถึง SPDC และพม่าภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2008 ยุคเต็ง เส่ง เป็นประธานาธิบดี รูปแบบการปกครองได้เปลี่ยนเป็นระบอบประธานาธิบดี มีประธานาธิบดีเป็นทั้งประมุขของรัฐและเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร

ต่อมาหลังการเลือกตั้งทั่วไปปีที่ผ่านมา ที่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ เอ็นแอลดี นำโดย ออง ซาน ซูจี ชนะท่วมท้น และแม้รัฐธรรมนูญจะมีข้อจำกัดทำให้ผู้นำตัวจริงอย่าง ออง ซาน ซูจี เป็นประธานาธิบดีไม่ได้ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เป็นไปได้ยากเพราะต้องใช้เสียงข้างมากเกิน 3 ใน 4 แต่พรรคเอ็นแอลดีซึ่งคุมเสียงทั้งสองสภาแห่งสหภาพ คือ สภาผู้แทนประชาชน และสภาชนชาติ ก็มีเสียงข้างมากเพียงพอที่จะผ่านกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ ทำให้ ออง ซาน ซูจี ดำรงตำแหน่ง "ที่ปรึกษาแห่งรัฐ" อีกตำแหน่งหนึ่ง

นอกจากตำแหน่ง "ที่ปรึกษาแห่งรัฐ" ในคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ออง ซาน ซูจี ยังคุม 2 กระทรวงคือ กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งทำให้ออง ซาน ซูจี มีที่นั่งในสภากลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติ (NDSC) ที่สมาชิกเสียงข้างมากเป็นฝ่ายกองทัพพม่า

และอีกตำแหน่งคือ รัฐมนตรีประจำสำนักงานประธานาธิบดี ซึ่งทำให้ออง ซาน ซูจี คุมกลไกผลิตนโยบายสาธารณะต้นแบบที่จะแจกจ่ายให้กับกระทรวง และ ภาค/รัฐชนชาติต่างๆ ซึ่งทำให้รูปแบบปฏิบัติทางการเมืองทำให้รัฐพม่าใกล้เคียงกับรูปแบบการปกครองในระบอบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี เหมือนฝรั่งเศส หรือรัสเซีย

นอกจากนี้รัฐบาลพม่ายังปรับโครงสร้างของการบริหารรัฐกิจ โดยปรับลดกระทรวงลง จากเดิมที่รัฐบาลประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ตั้งรัฐมนตรี 36 ตำแหน่ง ในจำนวนนี้เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักงานประธานาธิบดี 6 คน แต่รัฐบาลประธานาธิบดีถิ่น จ่อ ตั้งรัฐมนตรี 22 ตำแหน่งเท่านั้น และมีรัฐมนตรีประจำสำนักงานประธานาธิบดี 1 คน นั่นคืออ อง ซาน ซูจี โดยเป้าหมายการปรับลดกระทรวงก็เพื่อการลดความซ้ำซ้อน และลดการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาล

"ต้องมองระยะยาวว่านับจากนี้ ออง ซาน ซูจี จะเป็นแค่ผู้ให้คำปรึกษาเท่านั้นหรือไม่ แต่ก็เห็นแล้วว่าการสยายปีกในโครงสร้างอำนาจของเธอ การคุมตำแหน่งรัฐมนตรีที่สำคัญ ทำให้เธอเหยียบเข้าไปในตำแหน่งที่มีวิถีคล้ายๆ กับนายกรัฐมนตรี"

ดุลยภาค ประเมินด้วยว่า อาจจะไม่มีปัญหาเรื่องการทับซ้อนตำแหน่งระหว่าง ประธานาธิบดี ถิ่น จ่อ และที่ปรึกษาแห่งรัฐ ออง ซาน ซูจี เพราะมาจากพรรคการเมืองเดียวกัน สะท้อนการเมืองพม่าที่เหมือนการเมืองหลายประเทศ ที่บางครั้งเมื่อสถานการณ์ทางการเมืองเปลี่ยน สูตรการเมือง หรือนวัตกรรมการเมืองการปกครองก็เปลี่ยน

คำอธิบายภาพปก: ออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ รมว.ต่างประเทศ และ รมว.ประจำสำนักงานประธานาธิบดีพม่า พบกับชาวพม่าที่มารอต้อนรับ ระหว่างลงพื้นที่เยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านหัวอ่าว อ.สามพราน จ.นครปฐม ทั้งนี้ออง ซาน ซูจี เยือนประเทศไทยตามคำเชิญของรัฐบาลไทย ระหว่าง 23 ถึง 25 มิถุนายน 2559 ที่ผ่านมา (ที่มา:  สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดนครปฐม/สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์)

นอกจากนี้ยังมีประเด็นท้าทายรัฐบาลใหม่ ทั้งเรื่องการกระจายอำนาจ การปกครองรูปแบบสหพันธรัฐอย่างที่กลุ่มชาติพันธุ์เรียกร้อง รวมทั้งการจัดสรรทรัพยากร ซึ่งที่ผ่านมากลุ่มชาติพันธุ์รู้สึกว่าไม่ได้รับประโยชน์เท่าที่ควร นอกจากนี้การสานต่อการเจรจาสันติภาพกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ก็เป็นเรื่องที่น่าจับตามอง หลังจากที่กระบวนการดังกล่าวได้รับการริเริ่มไว้โดยอดีตประธานาธิบดี เต็ง เส่ง

อีกตัวแปรสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม คือ กองทัพพม่า ที่มีมหายุทธศาสตร์จัดระเบียบความมั่นคงด้วยตัวเอง ว่ากองทัพจะใช้ไม้ไหนในการเข้าร่วม หรือกระทั่งแทรกแซงกระบวนการสันติภาพ ทั้งนี้กองทัพพม่ายังคงหวาดระแวงว่าการเจรจาสันติภาพกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์จะนำไปสู่การแยกสลายของสหภาพ และกองทัพเองก็จะต้องดูลู่ทางการเมือง แม้การเมืองในสภา สมาชิกสภาโควตากองทัพร้อยละ 25 อาจคานเสียงข้างมากของพรรคเอ็นแอลดีไม่อยู่ แต่การเมืองนอกสภา หากกองทัพพม่ากำหนดวงยุทธศาสตร์ขึ้นมาและประกาศภาวะฉุกเฉิน และใช้กลไกของสภากลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติ (NDSC) ที่มีเสียงข้างมากเหนือกว่า ถ่ายโอนอำนาจรัฐบาลพลเรือนมาอยู่ในความควบคุมของผู้บัญชาการกองทัพพม่าได้ ซึ่งจะทำให้กองทัพกลายเป็นผู้ปกครองโดยตรงในบางพื้นที่ซึ่งประกาศภาวะฉุกเฉิน หรือขยายพื้นที่เพื่อควบคุมทั้งประเทศ แต่ฉากทัศน์นี้ก็ยังเป็นไปได้ยากอยู่

ติดตามข่าวสารจาก ASEAN Weekly ได้ที่ https://www.facebook.com/AseanWeekly/

ลงทะเบียนเพื่อติดตามวิดีโอจากประชาไททีวีที่

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จบไหม! หากร่างรธน.ไม่ผ่าน ประยุทธ์ ไม่ออก ไม่ลงโทษใคร ย้ำทุกคนทำดีที่สุดแล้ว

$
0
0

ประยุทธ์ประกาศไม่ลงโทษใครหากร่างรธน.ไม่ผ่าน ระบุทุกคนทำดีที่สุดแล้ว ย้ำตนเองจะรับผิดชอบประเทศต่อและไม่ลาออก หากไม่ผ่านก็ต้องร่างใหม่ เนื่องจากการเลือกตั้งต้องมีรัฐธรรมนูญ 

ที่มาภาพ เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา สำนักข่าวไทยรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่าน ก็จะไม่มีการลงโทษใคร

"ผมตั้งคณะแต่ละคณะมา ถึงแม้ผมจะเป็นคนตั้งก็ตาม แต่เป็นหน้าที่ที่ผมมอบหมายไปแล้ว เขาต้องไปทำมา ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะอะไรต่างๆ ก็ตาม เขาก็ทำหน้าที่ของเขาอย่างดีที่สุดมาอยู่แล้วนะ แต่ไม่ใช่คนทุกคนจะไปลงโทษคนโน้นคนนี้ ถ้าไม่ผ่าน ก็ตั้งใจดีทุกคน" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
 
โดยเมื่อวันที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีการนำกรณีผลประชามติของประเทศอังกฤษและ เดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ ยอมลาออกเพื่อรับผิดชอบต่อสถานการณ์ทางการเมืองดังกล่าว ส่งผลให้มีผู้ตั้งคำถามโดยนักการเมืองไทยว่า หากประชามติในไทย รัฐธรรมนูญไม่ผ่าน คสช. ก็ควรเปลี่ยนผู้นำรัฐบาลเช่นกันเพื่อแสดงความรับผิดชอบหรือไม่นั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "ทำไมจะให้ผมลาออกใช่ไหม ผมไม่ออก ผมเป็นคนกำหนดกติกาของผม เขาไม่ได้มาแบบผม บ้านเมืองเขาไม่ได้มีปัญหาแบบบ้านเรา ไม่รับผิดชอบกันเลยหรอ ทุกคนไม่รับผิดชอบอะไรกันเลย ร่วมกับผมไม่มีเลยหรอ ผมรับผิดชอบอยู่แล้ว ที่ผมเข้ามานี่ แล้วคนอื่นไม่รับผิดชอบอนาคตประเทศไทยเลยหรือไง ทำไมอนาคตประเทศไทยมันอยู่ที่ผมคนเดียวเลยหรือไง ทำไมไม่ช่วยกันเล่า"
 
จากนั้นวันที่ 29 มิ.ย.59 พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวย้ำอีกครั้งถึงกรณีประชามติไม่ผ่านในงานในระหว่างเป็นประธานพิธีเปิดงานเนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก ประจำปี 2559 “Go Wild For Life” หยุดซื้อ หยุดขาย หยุดฆ่า แก้ปัญหาสัตว์ป่าสูญพันธุ์ โดย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว่า หากร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ผ่านประชามติ ก็ต้องเริ่มร่างใหม่ ซึ่งตนจะไม่ลาออก และไม่มีใครสามารถปลดตนได้ เพราะตนมีอำนาจตามมาตรา 44 อยู่ 
 
"ถ้ามันไม่ผ่านประชามติ ก็ทำใหม่ บอกยังงี้ ไปถามผมบ่อยนัก ก็ทำรัฐธรรมนูญใหม่ ตามกติกาเลือกตั้งก็ต้องมีรัฐธรรมนูญ จบไหม" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ญาติ 20 แรงงานข้ามชาติสตรี 'นาตาลีอาบอบนวด' ร้อง กสม. ถูกกัก 20 วันแล้ว

$
0
0

ผู้แทนญาติ 20 สตรีแรงงานข้ามชาติ “นาตาลีอาบอบนวด” กรณีถูกจับดำเนินคดีผิดเป็นคนต่างด้าวไม่ทำงานตามประเภท ร้อง กสม. ถูกคุมขังเป็นเวลา 20 วัน แล้วยังไม่ได้รับการปล่อยตัว 'อังคณา' เตรียมส่ง ทีมสอบข้อเท็จจริงเข้าเยี่ยมผู้ต้องหา 

ที่มาภาพ เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

1 ก.ค.2559 เมื่อเวลา 13.39 น. เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ' โพสต์ภาพพร้อมรายงานว่า ที่ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติรับเรื่องร้องเรียนจากผู้แทนญาติของสตรีแรงงานข้ามชาติในสถานบริการ “นาตาลีอาบอบนวด” กรณีถูกจับดำเนินคดีในฐานความผิดเป็นคนต่างด้าวไม่ทำงานตามประเภท หรือลักษณะงานตามที่ได้รับอนุญาต เข้าไปมั่วสุมในสถานการค้าประเวณีเพื่อประโยชน์ในการค้าประเวณีของตนเองและผู้อื่น โดยอ้างว่าถูกละเมิดสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เนื่องจากไม่ได้รับการปล่อยตัวจากการถูกคุมขังเป็นเวลา 20 วัน ภายหลังจากศาลมีคำพิพากษาปรับและได้ชำระค่าปรับเรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ กสม.ได้รับเรื่องไว้และจะดำเนินการตรวจสอบตามขั้นตอนต่อไป

โดย สำนักข่าวไทยรายงานด้วยว่า ตัวแทนญาติผู้เสียหายต้องการให้ กสม.ตรวจสอบในเรื่องดังกล่าว เพราะตามกฎหมายแล้ว  เมื่อศาลตัดสินและสั่งปรับ และได้เสียค่าปรับแล้ว ญาติควรไปขอรับตัวได้

ด้าน อังคณา กล่าวว่า กรณีนี้ไม่ได้มีการร้องเข้ามาเป็นครั้งแรก ญาติมีความกังวลเรื่องความปลอดภัย เพราะถูก สตม. ควบคุมไว้ในสถานที่กักกัน วันนี้จึงได้ส่งทนายความมาเป็นตัวแทนผู้เสียหายทั้ง 20 คน  ในกรณีที่เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ หากจะกันตัวไว้เป็นพยาน  ผู้เสียหายควรได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม

“หลังจากนี้ กสม.จะสอบสวนข้อเท็จจริง โดยการเข้าเยี่ยมผู้ต้องหา และขอข้อมูลจากพนักงานสอบสวนและ สตม.” อังคณา กล่าว และว่า ที่ผ่านมาเมื่อศาลตัดสินและประกันตัวแล้ว เจ้าหน้าที่จะต้องนำตัวไปส่งที่ชายแดนในกรณีคนต่างด้าว รวมทั้ง ให้ญาติมารับตัว

สำหรับผู้ต้องหาที่มีการยื่นให้กรรมการสิทธิตรวจสอบนั้น  มีผู้ต้องหา 21 คน เป็นหญิงสาวจากประเทศเพื่อนบ้าน และ 1 ในนั้น มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ซึ่งผู้ต้องหาอายุต่ำกว่า 18 ปี อยู่ในการดูแลของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่งคงของมนุษย์ อีก 20 คน อยู่ในการควบคุมของ สตม. 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อีสานใหม่-Walk4Rights ถูกรุกหนัก ตำรวจบุกค้นรถ อ้างนายเป็นห่วง

$
0
0

ตำรวจบุกค้นรถขบวนการอีสานใหม่-Walk4Rights อ้างมีอำนาจ พร้อมขอข้อมูลละเอียด เอาเงินที่ไหนมาทำกิจกรรม เจ้าหน้าที่ระบุเข้าใจ แต่นายยังห่วง เพราะระหว่างเดินมีการถือธงสัญลักษณ์

1 ก.ค. 2559 10.40 น. ในเขตอำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์ ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนจาก สภ.จอมพระ ทั้งในและนอกเครื่องแบบจำนวน 12 นาย เข้ามาสอบถามขบวนเดินเพื่อสิทธิชีวิตคนอีสาน Walk for Rights ของขบวนการอีสานใหม่ว่า จะเดินไปไหน มากันกี่คน  โดยเจ้าหน้าที่ระบุว่าเข้าใจการทำกิจกรรมของขบวนการอีสานใหม่ แต่จำเป็นต้องสอบถามขอข้อมูล โดยแจ้งเหตุผลว่า นายเป็นห่วงเนื่องจากเห็นว่าเป็นกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ เช่น มีธงรณรงค์ทั้งสีเขียว และสีแดง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งว่า หากจะเดินต่อไปขอให้ไม่แสดงธง พร้อมทั้งขอถ่ายรูปเสื้อที่ใส่ โดยทางขบวนการอีสานใหม่ปฏิเสธที่จะทำตามที่เจ้าหน้าที่สั่ง เพราะเห็นว่าสิ่งที่ทำไม่ใช่เรื่องที่ผิด

ต่อมา 11.15 น เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองจากอำเภอจอมพระ ได้เข้ามาระหว่างที่ขบวนการอีสานใหม่กำลังเดินทาง โดยมาสอบถามขบวนฯว่า จะไปที่ไหนบ้างในจังหวัดสุรินทร์ จะมีการแสดงสัญลักษณ์อะไรหรือไม่ มากี่คน มีรถกี่คัน คนที่มาเข้าร่วมแต่ละคนทำงานอะไร เอาเงินไหนมาทำกิจกรรม ใครคือแกนนำ ต้องการจะเข้าไปผู้คุยกับแกนนำชาวบ้านในแต่ละพื้นที่หรือไม่ พร้อมทั้งขอชื่อแกนนำชาวบ้านแต่ละพื้นที่ด้วย พร้อมขอให้ทุกคนลงชื่อ เพื่อจะได้ถือว่าให้ความร่วมมือกันเจ้าหน้าที่ แต่ทางขบวนฯ ปฏิเสธที่จะทำตามที่เจ้าหน้าที่ตำรวจขอ ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ระบุว่ามีอำนาจในการสั่งให้ทุกคนแสดงชื่อ และที่อยู่ อย่างไรก็ตามทางขบวนฯ เห็นว่าเจ้าหน้าที่มีอำนาจเพียงแค่ขอดูบัตรประชาชนเท่านั้น ไม่ได้มีอำนาจในการบังคับให้ทุกคนลงชื่อ

ต่อมา 12.10 น. มีเจ้าหน้าที่ตำรวจรวม 15 นาย นอกเครื่องแบบ 8 ในเครื่องแบบ 7 นาย บุกเข้าค้นรถสำหรับขนสัมภาระของขบวนการอีสานใหม่ ขณะที่กำลังหยุดพักเพื่อเข้าห้องน้ำ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่ามีสิทธิค้น แต่ไม่ได้มีการแสดงหมายค้นแต่อย่างใด

ทหารไล่ขบวน walk for Rights ออกจากพื้นที่อ้างผิด พ.ร.บ. ชุมนุม ถามใครเป็นแอดมินเพจอีสานใหม่ และขอให้ลบคลิปที่แอคชั่นเรื่อง พ.ร.บ.น้ำ

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2559 17.45 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่วัดเหล่าโดน อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารในเครื่องแบบราว 20 นาย และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งในและนอกเครื่องแบบราว 10 นาย เข้ามาในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งเป็นที่พักสำหรับคืนนี้ของขบวนเดินเพื่อสิทธิชีวิตคนอีสาน ซึ่งจัดโดยขบวนการอีสานใหม่

เจ้าหน้าที่ทหารได้เข้ามาถามสมาชิกในขบวนการอีสานไหมว่า ใครเป็นแอดมินเพจขบวนการอีสานใหม่ พร้อมทั้งพยายามขอให้มีการลบคลิปวีดีโอซึ่งเป็นคลิปการแอคชั่นต่อต้าน พ.ร.บ. น้ำ ซึ่งโพสต์ลงในเพจขบวนการอีสานใหม่ โดยโพสต์ดังกล่าวมีข้อความในเชิงต่อต้านอำนาจของรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ทหารได้พยายามแย่งโทรศัพท์มือถือจากสมาชิกขบวนการอีสานใหม่ด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ. ราษีไศล ได้เข้ามาแจ้งกับสมาชิกว่า การเข้ามาในพื้นที่และมีการทำกิจกรรมในลักษณะนี้เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ. การชุมนุมที่สาธารณะ พร้อมทั้งกดดันให้ออกนอกพื้นที่ภายใน 1 ชั่วโมง

โดย 18.40 น. ของวันที่ 30 มิ.ย. ขบวนการอีสานใหม่ได้ออกจากพื้นที่แล้ว โดยการเดินเท้าต่อไป แต่เจ้าหน้าที่ทหารกลับแสดงความไม่พอใจและถามว่าทำไมไม่ออกไปดีๆ จะเดินต่ออีกทำไม จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็ได้กลับไป

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประวิตร ยันช็อปเรือดำน้ำจีน 3 ลำ 1.2 หมื่นล้าน ถือว่าไม่มาก รับประกันคุณภาพ

$
0
0

1 ก.ค.2559 จากเมื่อวันที่ 29 มิ.ย.ที่ผ่านมา คมชัดลึกออนไลน์รายงานบทวิจารณ์ว่า กองทัพเรือ ยังไม่ละความพยายามเดินหน้าจัดซื้อเรือดำน้ำรุ่น Yuan Class S26T จากสาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 1 ลำ ภายหลัง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้กันงบประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท โดยบรรจุไว้ในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 จากนั้นจะทยอยจัดซื้อให้ครบจำนวน 3 ลำภายในระยะเวลา 12 ปี ตามแผนยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือ เพื่อรักษาความมั่นคงและผลประโยชน์ทางทะเล เสริมกำลังการรบ 3 มิติ คือ ผิวน้ำ ใต้น้ำ และในอากาศ ให้ทัดเทียมหรือเหนือกว่าในภูมิภาค

บทวิจารณ์ของคมชัดลึกออนไลน์ ยังระบุว่า ก่อนหน้านั้น กองทัพเรือเคยเสนอจัดซื้อเรือดำน้ำรุ่นดังกล่าวมาแล้วเมื่อปีที่ผ่านมา จำนวน 3 ลำ ในวงเงิน 3.6 หมื่นล้านบาท แต่ได้รับการต่อต้านอย่างหนักจากสังคม ที่มองว่าในสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ประชาชนเดือดร้อน แต่ทหารจะทุ่มเงินมหาศาลจัดซื้อเรือดำน้ำ แม้กองทัพเรือจะออกมายืนยันว่า เงินที่ใช้มาจากงบประมาณประจำปีของกองทัพเรือเองไม่ได้ขอเพิ่มจากรัฐบาล พร้อมทั้งแจกเอกสาร 9 หน้าชี้แจงถึงความจำเป็น แต่ไม่สามารถลดกระแสดังกล่าวได้ จนต้องชะลอการจัดซื้อออกไปในที่สุด

ล่าสุดวันนี้ (1 ก.ค.59) มติชนออนไลน์รายงาน ท่าทีของ พล.อ.ประวิตร ถึงกรณีการแผนการจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีนจำนวน 3 ลำ ดังกล่าวด้วย โดย พล.อ.ประวิตร ให้สัมภาษณ์ ว่า แผนจัดซื้อเรือดำน้ำจำนวน 3 ลำ มูลค่าลำละ 1.2 หมื่นล้านบาทนั้น ถือว่าไม่มากเนื่องจากสามารถผ่อนชำระเป็นเวลาร่วม 10 ปี ทั้งยังสามารถใช้งานได้ยาวนาน ส่วนเรื่องเทคโนโลยีของจีนที่หลายฝ่ายยังมีข้อกังขาว่าสู้ชาติอื่นไม่ได้นั้น ตนรับรองว่ามันดีแล้ว ใช้ได้แน่นอน แล้วเป็นเทคโนโลยีใหม่

เมื่อถามว่า กองทัพเรือเคยมีกองเรือดำน้ำ แต่ถูกยุบไป เนื่องจากปัจจัยทางภูมิศาสตร์ชายฝั่งทะเลไทยมีความลึกไม่มาก แต่ทำไมถึงยังมีแผนจัดซื้ออีกในยุคนี้ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ทรัพยากรธรรมชาติฝั่งอันดามันของเรามีจำนวนมาก อีกทั้ง ประเทศเพื่อนบ้านเราก็ล้วนแต่มีเรือดำน้ำทั้งหมด เมียนมายังมีตั้ง 10 ลำ ซึ่งไม่ได้ซื้อเรือเก่าเลย

 พล.อ.ประวิตร กล่าวด้วยว่า สื่อก็ต้องช่วยกัน กองทัพเรือเป็นเจ้าของเรื่องก็ต้องไปดู ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาลซึ่งขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นทำความตกลงร่วมกัน อยู่ในขั้นดำเนินการ แต่ชั้นนี้กองทัพเรือได้ไปพิจารณารายละเอียดไว้หมดแล้ว แต่ยังต้องใช้ระยะเวลาอีกนาน กองทัพเรือกำหนดแล้วว่าจะซื้อ เบื้องต้นจะใช้ประมาณปี 2560 จัดซื้อเรือดำน้ำลำแรกก่อน ต้องค่อยๆทำ ไม่ใช่ใช้งบประมาณแบบเศรษฐีเสียเมื่อไหร่ ต้องใช้แบบคนยากคนจน ซึ่งเป็นแผนงานของกองทัพเรือตั้งแต่ปี 2551-2552 แต่ตอนนั้นตนขอให้ระงับไว้ก่อน

 

 

counter

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือข่ายนักวิชาการต่างประเทศ เรียกร้องปล่อย 7 น.ศ.รณรงค์ประชามติ

$
0
0

เครือข่ายนักวิชาการในภาวะเสี่ยง หรือ Scholars at Risk (SAR) กระตุ้นนักวิชาการ-นักศึกษาทั่วโลกเรียกร้องประยุทธ์ปล่อย 7 ประชาธิปไตยใหม่

30 มิ.ย. 2559 เครือข่ายนักวิชาการในภาวะเสี่ยง หรือ Scholars at Risk (SAR) ในกรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ออกจดหมายเปิดผนึกรณรงค์ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปล่อยนักศึกษาและนักเคลื่อนไหวของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ 7 คนที่ถูกกักขังโดยทันที และหยุดการดำเนินคดีนักศึกษาที่แสดงออกความคิดเห็นอย่างสันติ

จดหมายเปิดผนึกดังกล่าว สืบเนื่องจากกรณีการจับกุมนักศึกษาและสมาชิกสหภาพแรงงาน จำนวน 13 คน ที่ทำกิจกรรมแจกเอกสารที่มีข้อมูลเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญที่จะลงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ที่การเคหะบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ โดยเจ้าหน้าที่เห็นว่าการเผยแพร่ข้อมูลเป็นการละเมิดกฎหมาย มีการจับและยึดเอกสารโดยทันที ทั้งนี้ 13 นักกิจกรรมนักศึกษาและแรงงานถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ในประเด็นที่ชุมนุมเกิน 5 คน ฝ่าฝืนมาตรา 61 พ.ร.บ.ประชามติ พ.ศ.2559 (ก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย) และประกาศ คมช. 25/2549 เรื่องฝ่าฝืนไม่พิมพ์ลายนิ้วมือตามคำสั่งเจ้าพนักงาน ซึ่งหากถูกตัดสินว่ามีความผิด อาจมีทั้งโทษจำคุก เสียค่าปรับ และการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

ในกลุ่ม 13 คนมี 6 คนยื่นขอประกันตัวและได้รับอนุญาตจากศาลทหารในเวลาต่อมา แต่  7 คนที่ถูกกักขังอยู่ไม่ขอประกันตัวและยืนยันว่าการกระทำไม่ผิดกฎหมาย โดยเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ศาลทหารสั่งฝากขังผัดแรก และในวันที่ 5 กรกฎาคม จะมีการฝากขังผัดสอง

เครือข่ายนักวิชาการในภาวะเสี่ยง (SAR)  เขียนจดหมายเปิดผนึกและชวนสมาชิกในเครือข่ายส่งจดหมายถึงพันเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา รัฐมนตรีว่ากระทรวงการต่างประเทศ และอัยการสูงสุด ด้วยการส่งฉบับถึงทั้ง จอห์น เคร์รี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา และ ซาอิด ราอัด อัล ฮุสเซน ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เรียกร้องปล่อยให้นักศึกษา 7 คนที่ถูกกักขังอยู่ในเรือนจำโดยทันที และยกเลิกข้อหาและหยุดกระบวนการดำเนินคดีต่อทั้งอีก 6 คนที่ถูกจับในเวลาเดียวกัน พร้อมยืนยันว่าการกระทำของนักศึกษาประชาธิปไตยใหม่ไม่ใช่การกระทำที่ผิดกฎหมายและเป็นสิทธิที่ควรถูกปกป้อง ไม่ใช่ละเมิด

สำหรับเครือข่ายนักวิชาการในภาวะเสี่ยง (SAR) เป็นเครือข่ายของนักวิชาการและสถาบันการศึกษาทั่วโลกที่ร่วมตัวกันปกป้องนักวิชาการและนักศึกษาที่ถูกคุกคามโดยรัฐและสนับสนุนและส่งเสริมเสรีภาพทางวิชาการ โดยจะมีการบันทึกกรณีการจับกุม กักขัง การสังหาร และการละเมิดสิทธิชนิดอื่น นอกจากนี้ SAR ยังทำหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการจำกัดเสรีภาพทางวิชาการและการแสดงออกความคิดเห็นอย่างสันติโดยนักวิชาการและนักศึกษา

 

ที่มา:

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

"ผมต้องมา แม้ไม่รู้จักกัน" อาจารย์-นักเขียนผู้มีโควต้า เข้าเยี่ยม 7 นักโทษประชามติ

$
0
0

กลุ่มนักเขียน-อาจารย์เข้าเยี่ยม 7 นักโทษประชามติ พร้อมปล่อยลูกโป่งรณรงค์ไม่ผิด ไอดา บก.นิตยสารอ่าน ระบุชัด “พวกเขาตัดสินใจแล้ว การเข้าไปของเขาเป็นการต่อสู้ การมาเยี่ยมก็เพื่อมาแสดงการสนับสนุนพวกเขา”

1 ก.ค. 2559 เวลาประมาณ 11.30 น. ที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ กลุ่มนักเขียน อาจารย์ ได้เดินทางมาเข้าเยี่ยม 7 ผู้ต้องขังขบวนการประชาธิปไตยใหม่ หรือ NDM ซึ่งถูกจับกุมคุมขังหลังจากออกไปจัดกิจกรรมแจกเอกสารแสดงความเห็นแย้งต่อร่างรัฐธรรมนูญ จนถูกจับกุมและตั้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 เรื่องการชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 วรรคสอง และความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศ คมช. ฉบับที่ 25/2549 เรื่องการไม่พิมพ์ลายนิ้วมือตามคำสั่งของเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้เข้าเยี่ยมวันนี้ประกอบด้วย เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์มาหวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บารมี ชัยรัตน์ ผู้ประสานงานสมัชชาคนจน ไอดา อรุณวงษ์ สุชาติ สวัสดิ์ศรี อังศุมาลี เจ้าของนามปากกา สิเหร่ เวียงวชิระ บัวสนธ์ อธิคม คุณาวุฒิ และนักเขียนรวมถึง บก. สำนักพิมพ์หลายแห่ง

สำหรับกฎของเรือนจำที่เพิ่งบังคับใช้เข้มงวดหลังรัฐประหารได้กำหนดให้ผู้ต้องขังแต่ละคนสามารถมีญาติ/เพื่อนเยี่ยมได้ไม่เกิน 10 คนและต้องระบุรายชื่อให้ชัดเจน นอกเหนือจากรายชื่อดังกล่าวจะไม่สามารถเยี่ยมได้

"ผมรู้สึกแปลกใจที่เขาใส่ชื่อผมเพราะเราไม่รู้จักกันมาก่อน หรืออาจเคยเจอแต่ก็จำกันไม่ได้ พอทราบข่าวว่ามีชื่อผมผมเลยต้องรีบมาเพื่อมาให้กำลังใจพวกเขา" บารมีกล่าว

ทั้งนี้ก่อนหน้าการเข้าเยี่ยมกลุ่มนักเขียนไปร่วมกันปล่อยลูกโป่งหน้าเรือน จำเป็นสัญลักษณ์ของเสรีภาพที่ขาดหายไปจากสังคมนี้ และร่วมบริจาคหนังสือเข้าห้องสมุด

เดชรัตกล่าวภายหลังเข้าเยี่ยมว่า หลายคนมีสภาพอ่อนเพลียอาจเพราะสภาพอากาศและการนอนหลับที่ไม่ค่อยดี ส่วนของฝากจำพวกของกินของใช้ที่ฝากกันก่อนหน้านี้บางส่วนยังไม่ได้รับ พวกเขากระหายจะทราบข้อมูลข่าวสารภายนอกมากเพราะไม่ได้รับทราบข่าวสารเลยใน เรือนจำ เพื่อนๆ ต้องเล่าสถานการณ์ต่างๆ ให้ฟังและพวกเขายังหวังอยากให้การณรงค์เกิดขึ้นได้อย่างปกติ ส่วนกรณีของปอ กรกช แสงเย็นพันธ์ ศิษย์เก่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แสดงความเป็นห่วงน้องๆ กลุ่มเสรีเกษตรว่าจะโดนทางมหาวิทยาลัยลงโทษทางวินัยหรือไม่ ซึ่งตนเองได้แจ้งให้ปอทราบว่า ตนได้แจ้งทางอธิการบดีไปแล้วว่าน้องๆ ไม่มีความผิดและตอนนี้ไม่มีการลงโทษจากมหาวิทยาลัยแต่อย่างใด

คณะนักเขียนปล่อยลูกโป่งเสรีภาพหน้าคุก-บริจาคหนังสือผู้ต้องขัง

สุชาติ สวัสดิ์ศรี จิรภัทร อังศุมาลี เจ้าของนามปากกา สิเหร่ เวียงวชิระ บัวสนธ์ อธิคม คุณาวุฒิ และนักเขียนรวมถึงบก.สำนักพิมพ์หลายแห่ง มาร่วมกิจกรรมปล่อยลูกโป่ง 'รณรงค์ไม่ผิด' หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ พร้อมมอบหนังสือให้ ชลธิชา แจ้งเร็ว สมาชิก NDM เป็นตัวแทนนำส่งเข้าเรือนจำ

"มันเป็นตลกร้ายที่ตอนนี้เราต้องมารณรงค์เพื่อให้ได้รณรงค์" แมน ปกรณ์ อารีกุล สมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ หรือ NDM

สุชาติกล่าวว่า พวกเขามาเพื่อให้กำลังใจนักศึกษานักกิจกรรม และต้องการแสดงให้สังคมได้เห็นว่า เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและความยุติธรรม เป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานสำหรับสังคมประชาธิปไตย และต้องการให้การปล่อยลูกโปร่งเป็นสัญลักษณ์ของเสรีภาพที่ขาดหายไปจากประเทศนี้

สุชาติกล่าวด้วยว่า การแสดงออกและการรณรงค์เป็นสิทธิของประชาชน แต่จะไปโหวตเช่นไรเป็นเรื่องเสรีภาพของบุคคล ส่วนหนังสือนั้นตั้งใจบริจาคหนังสือดีๆ ให้ผู้ต้องขังโดยทั่วไปตลอดจนผู้คุมให้ได้อ่านด้วย

ไอดา บก.สำนักพิมพ์อ่าน ผู้ริเริ่มกิจกรรมนี้กล่าวถึงจุดเริ่มต้นว่า เป็นเพราะนักศึกษานักกิจกรรมที่ถูกขังแจ้งออกมาว่าอยากอ่านหนังสือ จึงได้เริ่มสอบถามสำนักพิมพ์ นักเขียนต่างๆ ซึ่งมีคนสนใจร่วมมากจึงคิดว่าน่ากระจายข่าวในวงกว้างเพื่อเป็นพื้นที่ให้ผู้ คนได้แสดงออกถึงการให้กำลังใจหรือสนับสนุนการต่อสู้ของพวกเขา โดยกิจกรรมนี้จะรวบรวมหนังสือที่มีผู้นำมาให้บริจาคแก่ห้องสมุดในเรือนจำ เพื่อให้ผู้ต้องขังอื่นๆ ได้อ่านด้วย และจะรวบรวมนำมาบริจาคเรื่อยๆ

"มันไม่ใช่เรื่องน่าเศร้า พวกเขาตัดสินใจแล้ว การเข้าไปของเขาเป็นการต่อสู้ การมาเยี่ยมก็เพื่อมาแสดงการสนับสนุนพวกเขา หากเศร้าหรือวิตกกังวลมันเป็นการลดทอนเขาเปล่าๆ" ไอดากล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เผยไทยมุ่ง 'ออกแบบเพื่อทุกคน' ส่งเสริมเข้าถึงท่องเที่ยวเท่าเทียม

$
0
0
ภาครัฐ-เอกชนหลายหน่วยงานเร่งผลักดันการออกแบบเพื่อทุกคน มุ่งให้ไทยเป็นผู้นำด้านการท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียนที่สะดวก และเข้าถึงได้สำหรับคนทุกกลุ่ม รมว.ท่องเที่ยวเผย ทำมาตรฐานแล้ว แต่ยังไม่มีแหล่งท่องเที่ยวผ่านเกณฑ์
 
 
 
1 ก.ค. 2559 วานนี้ (30 มิ.ย.) มูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงาน ‘เมืองไทย เมืองอารยสถาปัตย์ การท่องเที่ยวไทยเพื่อคนทั้งมวล’ โดยมีการเสวนาในหัวข้อ "วาระชาติ-ติวเข้มผู้นำเครือข่ายทูตอารยสถาปัตย์ประเทศไทย ครั้งที่ 1" และทูตอารยสถาปัตย์พบเมล็ดพันธุ์ใหม่ ปี 2559 ซึ่งได้รับความสนใจจากสื่อหลายสำนัก อีกทั้งมีผู้เข้าร่วมกว่า 180 คน จากตัวแทนองค์กรคนพิการกว่า 40 คน นักเรียน นักศึกษา รวมทั้งภาคเอกชนที่สนใจในการจัดการตามแนวทางอารยสถาปัตย์ดังกล่าว
 
 
 
‘อารยสถาปัตย์’” ตามความหมายของกฤษนะ ละไล ผู้จัดการโครงการทูตอารยสถาปัตย์ และประธานคณะทำงานอารยสถาปัตย์ไทย สู่ประชาคมอาเซียนนั้น ประกอบไปด้วยคำ 2 คำ คือ “สถาปัตยกรรม” (การออกแบบก่อสร้าง) และคำว่า “อารยะ” (ความเจริญก้าวหน้า) อารยสถาปัตย์จึงหมายความว่า การออกแบบที่เจริญก้าวหน้าตามยุคสมัยหรือตามความจำเป็นของทุกคนในสังคม” หากจะแปลโดยยึดตามคำภาษาอังก ฤษอย่าง ‘Friendly Design’ ก็จะหมายถึงการออกแบบบ้านเรือน ตึกอาคาร สถานที่ สิ่งของเครื่องใช้ ตลอดจนบริการสาธารณะต่างๆ ให้เป็นมิตรกับคนทุกคน” โดยมีเป้าหมายสำคัญ“เพื่อให้ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกสภาพร่างกาย สามารถเข้าถึง และใช้ประโยชน์ได้ โดยสะดวก ปลอดภัย ทันสมัย เป็นธรรม ทั่วถึง และเท่าเทียม”กัน 
 
กฤษนะ กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้จึงเสมือนเป็นการประกาศว่าประเทศไทยจะก้าวสู่การเป็นต้นแบบของการออกแบบเพื่อทุกคน รวมทั้งเป็นการบ่มเพาะผู้นำเยาวชนและตัวแทนคนพิการให้ออกมามีบทบาทในการผลักดันนโยบายดังกล่าวร่วมกัน
 
สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวเปิดงาน และระบุเป้าหมายของการจัดงานในครั้งนี้ว่า เกิดขึ้นจากคำถามที่ว่า เราจะทำอย่างไร ให้การออกแบบเข้าถึงคนทุกคนได้ ซึ่งหลังจากการทำงานระยะหนึ่งที่ผ่านมา ผลสำเร็จนั้นค่อนข้างน่าพอใจ มีการปรับสภาพแวดล้อมในบ้านคนพิการกว่า 20 หลัง ปรับสภาพสถานที่ท่องเที่ยวให้เอื้อแก่คนทุกกลุ่มได้ไม่น้อยกว่า 10 แห่ง รวมทั้งเข้าไปพัฒนาแยกดัง ที่เป็นแหล่งสัญจรอย่างแยกปทุมวัน และสามย่าน จนปัจจุบันบริเวณดังกล่าวมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้งานของคนทุกสภาพร่างกาย
 
กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ขึ้นกล่าวในหัวข้อ“อารยสถาปัตย์-การท่องเที่ยวไทย เพื่อคนทั้งมวล” ว่า ในปีนี้ประเทศไทยได้รับมอบหมายจากองค์การการท่องเที่ยวโลก (United Nation World Tourism Organization – UNWTO) ให้เป็นเจ้าภาพในการจัดงาน ‘งานวันท่องเที่ยวโลก’ หรือ Tourism for All ซึ่งมีธีมหลักคือการท่องเที่ยวเพื่อทุกคน จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่ไทยต้องขับเคลื่อน และพัฒนาปัจจัยในการท่องเที่ยวต่างๆ ให้ได้มาตรฐานและเข้าถึงได้สำหรับทุกคน
 
นอกจากนั้นเธอเสริมว่า สังคมไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในปี 2563 ซึ่งจะส่งผลให้มีผู้สูงอายุกว่าร้อยละ 17.5 หรือประมาณ 12 ล้านคน แนวทางอารยสถาปัตย์จึงไม่ได้จำเป็นแค่เพียงกับคนพิการเท่านั้น ผู้สูงอายุที่กำลังจะกลายเป็นสังคมขนาดใหญ่ของไทย ก็จะได้ใช้ประโยชน์จากการสร้างสิ่งเหล่านี้เช่นกัน โดยแนวทางการจัดสร้างจะต้องไม่อิงแผนงานที่สวยงาม แต่ต้องเน้นแผนงานที่จะสามารถปฏิบัติได้จริงตามจำนวนเม็ดเงินที่มี
 
เธอแลกเปลี่ยนว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการวางมาตรฐานของแหล่งท่องเที่ยวและบริการ ในแนวทางของคู่มือหลักปฏิบัติ เช่น การสร้างทางลาด ห้องน้ำ หรือการใช้อักษรเบรลล์ ซึ่งจะมีการมอบใบรับรองแก่สถานประกอบการที่ทำได้ตามมาตรฐานนั้นๆ อย่างไรก็ดี กลับพบว่า ไม่มีแหล่งท่องเที่ยวแม้แต่ที่เดียวที่ถึงเกณฑ์มาตรฐานและได้รับใบรับรองดังกล่าว แต่ก็เห็นได้ว่ามีความพยายามที่จะปรับปรุงพัฒนาเพื่อให้สถานที่ต่างๆ เข้าถึงได้สำหรับทุกคน เช่น เกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ที่มีการทำท่าเรือ แผนที่ ห้องน้ำคนพิการ ฯลฯ ก็นับได้ว่า เป็นต้นแบบทีดีแห่งหนึ่งของสถานที่ท่องเที่ยว
 
 
 
บุษฎี สันติพิทักษ์ เอกอัครราชทูต คณะผู้แทนถาวรไทย ประจำอาเซียน กล่าวว่า การขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้ นอกจากจะอาศัยภาครัฐแล้ว ประชาชนเองก็เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญอย่างมากต่อการพัฒนา โดยต้องให้คนทุกกลุ่มได้เข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องนโยบายและแผนงาน และคำนึงถึงสิทธิที่ทุกคนพึงมีอย่างเท่าเทียมในเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวก รวมทั้งควรมีการจัดเวทีหารือระดับภูมิภาค เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเธอหวังว่า การมีส่วนร่วมนี้จะช่วยผลักดันการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิต่อไปในอนาคต
 
นอกจากนี้ มิเคล เหมนิธิ วินเทอร์ เอกอัครราชทูตเดนมาร์ก ประจำประเทศไทย กล่าวถึงปัจจัยความสุขของคนในประเทศเดนมาร์ก ที่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างเท่าเทียมโดยชี้ 3 ปัจจัยได้แก่ 1.เงิน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ปฏิเสธไม่ได้ 2.การมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับสังคม และ 3.การได้ทำงานที่มีประโยชน์และรับใช้สังคม 
 
เขาเสริมด้วยว่า นอกจากปัจจัยความสุขแล้ว เมื่อต้องร่างกฎหมายที่มีสาระสำคัญเกี่ยวข้องกับคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด ก็จะต้องเชิญตัวแทนจากกลุ่มนั้นๆ เข้าร่วมเสมอเพื่อที่จะทำให้มั่นใจว่า หากกฎดังกล่าวถูกนำไปใช้ปฏิบัติ จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดี และสามารถใช้ประโยชน์ได้จริง รวมทั้งเน้นย้ำว่า ผู้นำไม่ควรนั่งจินตนาการไปเองว่า กฎหมายที่มีนั้นควรเป็นอย่างไร 
 
เขากล่าวต่อว่า หลังจากเดนมาร์กปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าว จากค่านิยมรู้สึกสงสารคนพิการที่เคยมี กลับกลายเป็นแรงขับเคลื่อนและ พลังแห่งความเท่าเทียม และทำให้คนตระหนักได้ว่า การเข้าถึงสิ่งต่างๆ เช่น สิ่งอำนวยความสะดวก ฯลฯ นั้นไม่ใช่เรื่องของความสงสาร แต่มันคือสิทธิที่คนทุกคนควรจะได้อย่างเท่าเทียมไม่ว่าร่างกายจะเป็นอย่างไร 
 
ต่อมา ในช่วงบ่ายมีการแสดง และขับร้องเพลง “ทูตอารยสถาปัตย์“ โดย เจ้าของฉายา มนุษย์ตู้เพลง เบิร์ด-พงษ์ศักดิ์ หมื่นไฉน ตัวแทนผู้พิการทางสายตา และเสวนาวาระชาติ หัวข้อ “เมืองต้นแบบอารยสถาปัตย์ สะดวก ปลอดภัย ทันสมัย ทั่วไทย เดินหน้าสู่เมืองศูนย์กลางอารยสถาปัตย์ในภูมิภาคอาเซียน” โดยวิทยากรจากหลายภาคส่วน ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ บริษัทเอกชนและผู้ประกอบการหลายราย
 
นิสิต จันทร์สมวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี
 
นิสิต จันทร์สมวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรีกล่าวว่า นนทบุรีเป็นเมืองที่อยู่อาศัย โดยมีเป้าหมาย 7 ข้อที่ต้องการผลักดันได้แก่ 1.เป็นเมืองที่รองรับการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคต 2. เป็นเมืองที่เชื่อมโยงเศรษฐกิจในระดับฐานรากของชุมชน 3. มีความมั่นคงปลอดภัยสำหรับทุกคน และยิ่งตอนนี้รถไฟฟ้าสายสีม่วงกำลังจะเปิดใช้งาน จึงต้องยิ่งมีแผนเพื่อรองรับการเข้ามาของคนจำนวนมาก 4. เป็นเมืองครอบครัวอบอุ่น มีบ้านจัดสรร และคอนโดมิเนียมให้เลือกอย่างหลากหลาย 5.สืบสานมรดกวัฒนธรรม 6.เป็นเมืองแห่งการพัฒนาอย่างยั่งยืน และ7. เป็นเมืองที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม
 
ด้านพินิจ บุญเลิศ ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่กล่าวว่า กระบี่ได้ออกโครงการ ‘Krabi Global City’ ซึ่งเป็นโครงการผลักดันยูนิเวอร์แซลดีไซน์ หรือการออกแบบเพื่อคนทุกคน เพราะจังหวัดกระบี่มีผู้สูงอายุจำนวนมาก จึงทำให้การออกแบบต้องเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของสังคม นอกจากนี้ยังตั้งเป้าหมายให้กระบี่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมอีกด้วย
 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ดอน ยก ม.44 ให้อำนาจปราบค้ามนุษย์ ทำไทยกลับขึ้นเทียร์2

$
0
0

1 ก.ค.2559 จากกรณีวานนี้ (30 มิ.ย.59) กระทรวงต่างประเทศสหรัฐเผยรายงานค้ามนุษย์ปี 2559 โดยประเทศไทยได้รับการเลื่อนอันดับอยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 2 ซึ่งต้องจับตามอง (Tier 2 Watch List) หลังจากเมื่อปีที่แล้วอยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 3 (Tier 3) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีสถานการณ์ค้ามนุษย์ระดับเลวร้ายที่สุด โดยเมื่อปี 2557 ไทยถูกลดอันดับอัตโนมัติจากบัญชีกลุ่มที่ 2 ซึ่งต้องจับตามอง ไปอยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 3 (Tier 3) (อ่านรายละเอียด)

ที่มาภาพ กระทรวงการต่างประเทศ

ล่าสุดวันนี้ ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แถลงข่าวกรณีดังกล่าวว่า เป็นเรื่องที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญมาตลอด มุ่งขจัดการค้ามนุษย์ให้หมดไปจากสังคมไทย หลังเรื้อรังมากว่า 10 ปี โดยความร่วมมือของหน่วยราชการ ทั้งศาล อัยการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และตำรวจ จนเกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ตั้งแต่การดำเนินคดีและมีผลลงโทษสูงขึ้นอย่างชัดเจน สามารถจับกุมหัวหน้าขบวนการได้ และคุ้มครองเหยื่อได้เพิ่มขึ้น หลังจากนี้ไป จะเดินหน้าแก้ปัญหาอย่างมุ่งมั่นโดยไม่นิ่งนอนใจ และหวังว่าผลการดำเนินงานในปีต่อๆไปจะดีขึ้น โดยยอมรับว่าปัญหาการทุจริตมีส่วนสำคัญ ที่ต้องเร่งการบังคับใช้กฎหมายให้ดีขึ้น

"เรื่องนี้เป็นผลงานรัฐบาลที่ชัดเจน ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยในระยะเวลา 1 ปีกว่า ตั้งแต่ประกาศให้การค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติ 3 เม.ย.58 เป็นผลจากการที่รัฐบาลใช้คำสั่งตามอำนาจมาตรา 44 ออกกฎหมายและเร่งรัดแก้ไขค้ามนุษย์อย่างรวดเร็ว และเกิดผลสำเร็จด้วยการแก้ไขปัญหาแบบไทยจนเกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม" ดอน กล่าว
 
ต่อประเด็นสหรัฐระบุว่า แม้จะจัดระดับดีขึ้น แต่การแก้ปัญหายังไม่ได้มาตรฐานขั้นต่ำ ดอน กล่าวว่า จะมีการประเมินอย่างไรนั้นอยู่ที่การกระทำ ยืนยันว่า การแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ไม่ได้ทำเพื่อสหรัฐอย่างเดียว แต่ทำเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของคนไทย โดยไทยไม่อาจนิ่งนอนใจ เพราะมีบางประเทศที่ปีที่แล้วได้รับการยกระดับขึ้นเทียร์2 แต่ในปีนี้กลับมาอยู่ในเทียร์ 3 โดยการปรับอันดับครั้งนี้ ถือเป็นข่าวดีในความสัมพันธ์ระหว่างไทยสหรัฐ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาอาชญากรรม 

สำหรับแผนการดำเนินงานแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ต่อจากนี้ ดอน กล่าวว่า ภารกิจของกระทรวงการต่างประเทศเป็นในเรื่องการสร้างความเป็นหุ้นส่วนพันธมิตรกับต่างชาติ และภาคประชาสังคม ซึ่งไทยในฐานะประเทศผู้ประสานงานอาเซียน-อียู จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียน-อียู ในเดือนตุลาคมนี้ ที่กรุงเทพฯ โดยเราตั้งใจจะหยิบยกผลการดำเนินงานแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ของรัฐบาลเล่าให้กับอียูได้ทราบ อย่าง เรื่องสิทธิมนุษยชนที่เราพยายามอธิบายกับอียูมาโดยตลอด จะได้เข้าใจและเห็นว่ารัฐบาลไทยมีการปฏิบัติเพื่อดูแลสิทธิและมีมนุษยธรรมมาโดยตลอด

ชี้โยงกับไอยูยู

สำหรับความคาดหวังต่อผลการพิจารณาของกฎระเบียบว่าด้วยการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่รายงาน และไร้การควบคุม (IUU) นั้น ดอน กล่าวว่า รายงานค้ามนุษย์และไอยูยูมีความเชื่อมโยงกัน แยกกันไม่ออก เพราะปัญหาใช้แรงงานประมงผิดกฎหมายเป็นส่วนหนึ่งของการค้ามนุษย์ อย่างไรก็ตาม ทุกเรื่องราวอยู่ที่การประเมินว่าเป็นอย่างไร

ประยุทธ์ไม่สนคำวิจารณ์ของทูตสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตามเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย ระบุว่า แม้การประกาศรายงานประจำปีสถานการณ์การค้ามนุษย์  ไทยจะถูกจัดอันดับดีขึ้น จากเทียร์ 3  เป็นเทียร์ 2 บัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามอง แต่ก็ยังไม่ได้ถึงมาตรฐานเกณฑ์ขั้นต่ำ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)  กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า เป็นเพียงความเห็นของคนเพียงคนเดียว ขออย่าให้ความสนใจ และรัฐบาลต้องทำต่อไป เพราะทุกอย่างได้เคยบอกไปแล้วว่า ไม่ได้ทำเพื่อใคร แต่ทำเพื่อประชาชน  เรื่องใดที่เป็นปัญหา รัฐบาลจะแก้ทั้งหมด โดยนำหลักการมาพิจารณาและวางแนวทางแก้ไข

“ยืนยันว่า แม้ไม่ถูกบังคับ รัฐบาลก็จะแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างเต็มที่ และต่อจากนี้ทุกรัฐบาลก็ต้องทำเช่นเดียวกัน โดยต้องนำปัญหาทั้งหมดมาดู หาวิธีการแก้ปัญหา บริหารการจัดทำงบประมาณให้ถูกต้อง บูรณาการให้สามารถแก้ปัญหาได้สำเร็จตามเป้าหมาย ที่ต้องวางไว้เป็นระยะ เพราะที่ผ่านมาไม่สำเร็จและผมก็ทำงานอย่างเต็มที่ ขออย่าไปฟังทุกคนที่พูด อย่าไปเชื่อทุกอย่างที่ได้ยิน และอย่าไปพูดตามในสิ่งที่ทุกคนพูด แค่นี้ก็จะทำให้ไม่ทะเลาะกัน” นายกรัฐมนตรี กล่าว

รมว.แรงงานปลื้มไทยหลุด 'เทียร์ 3'

ขณะที่ ธีรพล ขุนเมือง ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงานในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พล.อ. ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานผิดกฎหมาย กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า บ่งชี้ถึงความมุ่งมั่นในความพยายามของรัฐบาลชุดปัจจุบันในการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ ซึ่งมีหลายภาคส่วนที่ร่วมดำเนินการจนมีความคืบหน้าในการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ โดยเป้าหมายหลักในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ นอกจากเป็นไปตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ประกาศเป็น “วาระแห่งชาติ” แล้ว ยังมุ่งเน้นให้การดำเนินงานของไทยเป็นไปตามหลักสากล เพื่อประโยชน์ของชาติโดยรวมด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านแรงงาน ซึ่งภายใต้รัฐบาลชุดนี้ ได้มีการปรับระบบการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวใหม่ทั้งระบบ มุ่งเน้นปรับสถานะแรงงานผิดกฎหมายให้เข้าสู่การทำงานที่ถูกต้อง ควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น และเพิ่มบทลงโทษที่รุนแรง พร้อม ๆ กับแสวงหาความร่วมมือกับประเทศต้นทาง ร่วมแก้ไขปัญหาร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย ตลอดจนดึงภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมแก้ไข ทั้งองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) รวมทั้งสหภาพยุโรป (EU) และประเด็นสำคัญ คือ การปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อเอื้อต่อการแก้ปัญหาค้ามนุษย์ ซึ่งในส่วนของกระทรวงแรงงานได้มีการปรับปรุงกฎหมายหลายส่วนด้วยกัน อาทิ พ.ร.ก. การนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศ โดยการนำเข้าแรงงานตาม MOU ผ่านผู้รับใบอนุญาตที่ถูกต้องตามกฎหมาย และเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากนายจ้างเท่านั้น พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานที่มีการแก้ไขเพิ่มโทษการกระทำผิดที่เกี่ยวกับแรงงานเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากนายจ้างจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ทำงานทั่วไปหรือทำงานในงานเกษตรกรรม หรืออายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานในงานประมงทะเล เพิ่มโทษเป็นจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่น้อยกว่า 400,000 บาท แต่ไม่เกิน 800,000 บาท ต่อลูกจ้าง 1 คน หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนั้นยังได้ออกแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเปรียบเทียบปรับตาม พ.ร.บ. การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 โดยให้เปรียบเทียบปรับในอัตราสูงสุด 100,000 บาทต่อคน ในการกระทำผิดในงานประมงทะเลและแปรรูปสัตว์น้ำ และทั้ง 2 กิจการนี้ให้สามารถเปลี่ยนนายจ้างได้ด้วย

ธีรพล กล่าวต่อไปว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ขอบคุณ ILO และ EU ที่ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อช่วยเหลือทางวิชาการในการต่อต้านรูปแบบการทำงานที่ไม่เป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเล รวมทั้งนายจ้างแสวงหาประโยชน์จากแรงงาน โดย ILO สนับสนุน 19.5 ล้านบาท EU สนับสนุน 144.3 ล้านบาท ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริงของไทย ทำให้นานาชาติสนับสนุนงบประมาณร่วมแก้ไขปัญหาสำคัญนี้ พร้อมขอบคุณทุกส่วนราชการที่ร่วมทำงานอย่างเข้มแข็ง และจะต้องดำเนินการอย่างเข้มข้นต่อไปอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาคการส่งออกสินค้าโดยเฉพาะอาหารทะเลแช่แข็งไทย เนื่องจากไทยดูแลเรื่องแรงงานทั้งภาคอุตสาหกรรมประมงและแปรรูปสัตว์น้ำ รวมทั้งอุตสาหกรรมอื่น ๆ เป็นไปตามหลักสากล ซึ่งจะส่งผลต่อคำสั่งซื้อสินค้าไทยเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน อันจะเป็นประโยชน์โดยรวมต่อเศรษฐกิจไทย

 

เรียบเรียงจาก สำนักข่าวไทยและคมชัดลึกออนไลน์

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

7 รณรงค์ประชามติ ส่งจม.จากเรือนจำ ถึง 'คนพฤษภา 35' จำได้ไหมท่านเคยสู้เพื่ออะไร

$
0
0

ผู้ต้องขังจากการรณรงค์ประชามติ ส่ง จดหมาย ถึง พี่ๆ เดือนพฤษภา 35 ขอช่วยกันสานต่อสิ่งที่พวกพี่ทำไว้ เพื่อจบภาระกิจไปด้วยกันกับพวกเรา ชี้ร่างรัฐธรรมนูญนี้เปิดให้นายกไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งและทำลายสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนจนถึงแก่น 

1 ก.ค. 2559 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ 7 ผู้ต้องขังขบวนการประชาธิปไตยใหม่ หรือ NDM ซึ่งถูกจับกุมคุมขังหลังจากออกไปจัดกิจกรรมแจกเอกสารแสดงความเห็นแย้งต่อร่างรัฐธรรมนูญ จนถูกจับกุมและตั้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 เรื่องการชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 วรรคสอง และความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศ คมช. ฉบับที่ 25/2549 เรื่องการไม่พิมพ์ลายนิ้วมือตามคำสั่งของเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรม ได้ออกจดหมายผ่านคำบอกเล่าของทนายความถึงผู้ที่ต่อสู้กับเผด็จการทหารในเหตุการณ์พฤษภาคม ปี 2535 

โดยจดหมายมีใจความดังนี้

 

จดหมายถึงพี่ๆ เดือนพฤษภาคม
 
สวัสดีพี่ๆ ทุกคน ถึงเวลานี้ผมและเพื่อนมีความมั่นใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุปันมีสถานการณ์คล้ายคล้ายคลึงในหลายๆ อย่าง ที่เคยเกิดขึ้นในช่วงพฤษภาคม ปี 35 พวกเราจึงอดคิดถึงในสิ่งที่พี่ๆ เคยทำไม่ได้ ผมและเพื่อนๆ จำได้ว่าเหตุการณ์ พฤษภาคม ปี 35 มันเป็นเหตุการณ์ที่รุนแรง บาดเจ็บเสียเลือดเนื้อ หลายคนต้องเสียชีวิต เพื่อให้ได้มาซึ่งนายยกที่มาจากการเลือกตั้ง ให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญที่ประชาชนได้มีส่วนร่วม น่าเสียดายเมื่อเวลาผ่านไปสิ่งที่พวกพี่เคยทำเอาไว้ได้ถูกทำลายลงสิ้น วันนี้พวกผมต้องเผชิญกับสิ่งที่พวกพี่ต้องเจอ ทหารได้ร่างรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้นายกไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง และที่สำคัญรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำลายสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนจนถึงแก่น 
 
พวกผมยินดีที่จะทำหน้าที่ที่พี่ๆ เคยริเริ่มเอาไว้ มันคือหน้าที่ของคนรุ่นผมที่จะปล่อยผ่านเอาไว้ไม่ได้ เพราะหากปล่อยผ่านไปแล้วคงไม่อาจแบกหน้าไปตอบคำถามคนรุ่นหลังได้ พวกผมไม่อาจให้คนรุ่นหลังมีชะตากรรมเดียวกันกับคนรุ่นผม มันถึงเวลาที่เราต้องพอได้แล้วกับเผด็จการทหาร ซึ่งพวกผมเชื่ออย่างยิ่งว่าพี่ๆ ก็คิดเห็นเช่นเดียวกับพวกผม ทั้งนี้พวกผมเชื่ออย่างยิ่งว่าพวกพี่จะไม่ปล่อยให้พวกผมสู้อย่างโดดเดี่ยว และมาช่วยกันสานต่อสิ่งที่พวกพี่ทำไว้ เพื่อจบภาระกิจไปด้วยกันกับพวกเรา
 
7 ประชาธิปไตยใหม่ในห้องขัง
 
1 กรกฎาคม 59 เรือนจำพิเศษกรุงเทพ
 
 
สำหรับทั้ง 7 คน ประกอบด้วย รังสิมันต์ โรม กรกช แสงเย็นพันธ์ นันทพงศ์ ปานมาศ สมสกุล ทองสุกใส อนันต์ โลเกตุ ยุทธนา ดาศรี และ ธีรยุทธ นาบนารำ ถูกจับ ดำเนินคดีและฝากขัง จากเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา พวกเขาในฐานะนักกิจกรรมจาก NDM นักกิจกรรม รามคำแหง ร่วมับนักสหภาพแรงงานรวม 13 คน ได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจควบคุมตัวที่หน้านิคมอุตสาหกรรมบางพลี จ.สมุทรปราการ เนื่องจากไปแจกแผ่นพับและเอกสารให้ความรู้เรื่องร่างรัฐธรรมนูญและการลงประชามติ (อ่านข่าวที่นี่) ต่อมาถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58 ข้อ 12 เรื่องชุมนุมทางการเมืองจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยในจำนวนนั้นมีผู้ขอประกันตัว 6 ราย ที่เหลืออีก 7 รายยืนยันว่าไม่ได้ทำสิ่งใดผิดจึงไม่ขอประกันตัว ทั้งหมดถูกเจ้าหน้าที่นำตัวมาศาลทหารเพื่อขออนุญาตฝากขัง โดยที่ 6 ราย ขอประกันตัวและได้รับการปล่อยตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพและ ทัณฑสถานหญิงกลางเมื่อกลางดึกคืน 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่ 7 รายที่ไม่ยื่นประกันตัวนั้นถูกฝากขังที่เรือนจำดังกล่าว (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เกณฑ์ทหาร = การลงโทษ? คสช.ผุดไอเดียแบล็กลิสต์นักเรียนตีกันจบเป็นทหารเกณฑ์ทันที

$
0
0

1 ก.ค.2559 พ.อ.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังประชุมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมว่า ที่ประชุมมีแนวคิดพิจารณาให้นักเรียนตีกัน ที่ส่วนใหญ่พบว่าจะมีอายุช่วงระหว่าง 18-20 ปี ถูกคัดเลือกชื่อขึ้นบัญชีดำ หรือแบล็กลิสต์เป็นทหารเกณฑ์ เมื่อศึกษาจบ และอายุเข้าเกณฑ์ก็จะถูกคัดเลือกเป็นทหารเกณฑ์ทันที โดยไม่ต้องผ่านการตรวจเลือกทหาร ขณะนี้กำลังศึกษาข้อกฎหมายอยู่ว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่ และมีความเหมาะสมหรือไม่

ขณะที่เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. ที่ผ่านมา พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงปัญหานักเรียนตีกัน  โดยยอมรับว่า หนักใจ แม้จะมีการใช้อำนาจตามมาตรา 44 แต่ก็ยากที่จะแก้ปัญหา เจ้าหน้าที่ไม่สามารถดูแลได้ทุกตารางนิ้ว เพราะเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน โดยเฉพาะบุคคลใกล้ชิด เช่น ผู้ปกครอง และสถาบันการศึกษา ทั้งนี้พร้อมรับคำแนะนำไปปฏิบัติ หากมีผู้เสนอหาทางออก

นอกจากนี้ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล เยาวชนอดีตนักเรียนจากกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ได้แชร์ข่าวข้อเสนอของ คสช. ดังกล่าว พร้อมโพสต์ว่า "เกณฑ์ทหาร = การลงโทษ"

ที่มา Netiwit Chotiphatphaisal

ที่มา มติชนออนไลน์ สำนักข่าวไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กต.ยันใช้งบเพียง 132 ล้านหาเสียงชิงเก้าอี้คณะมนตรีความมั่นคง UN

$
0
0

1 ก.ค.2559 จากกรณีเมื่อวันที่ 28 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ลงคะแนนเสียงเลือกผู้ดำรงตำแหน่ง ประเภทสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรือ UNSC โดยในส่วนส่วนภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกคาซักสถานได้ 138 เสียง ขณะที่ไทยได้ 55 เสียง ทำให้คาซักสถานได้เป็นสมาชิกยูเอ็นเอสซีในสัดส่วนภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (อ่านรายละเอียด)

ที่มาภาพ กระทรวงการต่างประเทศ

วันนี้ (1 ก.ค.59) สำนักข่าวไทยรายงานว่า ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) กล่าวถึงกรณีที่มีผู้กล่าวอ้างว่า กต. ใช้งบประมาณกว่า 600 ล้านบาท ในการหาเสียงชิงตำแหน่งสมาชิกไม่ถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC)  โดยยืนยันว่ายังไม่เคยเห็นตัวเลขดังกล่าว และจากการตรวจสอบข้อมูลในกระทรวงก็ไม่พบตัวเลขดังกล่าวเช่นกัน

“เรื่องนี้เป็นประเด็นทางการเมือง เพื่อสร้างความปั่นป่วน เพราะในข้อเท็จจริงมีการใช้งบประมาณเพียง 132 ล้านบาท อย่างเป็นประโยชน์ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้” ดอน กล่าว

ดอน กล่าวว่า การแข่งขันหาเสียงมีหลายปัจจัย โดยเฉพาะความมีเสถียรภาพของประเทศ ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาไทยมีปัญหาทางการเมืองมาโดยตลอด และบุคคลที่ออกมากล่าวอ้างเรื่องการใช้งบประมาณนี้ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ  ก็ไม่ได้ดำเนินการใด ๆ

นายดอน ยังกล่าวถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีส่งผู้แทนไปชี้แจงต่อ บัน คี มูน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (UN)  ว่า เป็นการอธิบายให้ทราบและชี้แจงข้อสงสัยถึงสถานการณ์การบ้านเมืองไทย เนื่องจากมีกลุ่มบุคคลได้รายงานสถานการณ์ของไทยให้เสมือนว่ามีสารพัดปัญหา ทำให้ UN เริ่มสนใจสถานการณ์ในไทย และย้ำว่าที่ผ่านมาไทยไม่เคยจำกัดสิทธิเสรีภาพ โดยเฉพาะสื่อมวลชน แม้จะมีรัฐบาลที่จะมาจากการรัฐประหารก็ตามซึ่ง UN ก็เข้าใจ

ไพศาล ระบุสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ 600 กว่าล้าน ยิ่งลักษณ์ 400 กว่าล้าน

วันนี้ ไพศาล พืชมงคล กรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Paisal Puechmongkolในลักษณะสาธารณะ ระบุถึงกรณีดังกล่าวด้วยว่า ค่าใช้จ่ายเดินทางประสานงานแข่งเป็นสมาชิกไม่ถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติเท่าไหร่ ถ้านับแต่สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ 600 กว่าล้าน ถ้านับจากสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 400 กว่าล้าน และถ้านับจากสมัยรับเวร 22 พ.ค.57 ก็ 120 กว่าล้าน

ขณะที่ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.ที่ผ่านมา ไพศาล โพสต์ถึงกรณีไทยพ่ายคาซัคสถานดังกล่าวด้วยว่า บทเรียนครั้งนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลนักการเมืองเริ่มไว้ก่อนถูกยึดอำนาจหลายปี และลงทุนหาเสียงมานานแล้ว รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์  จำเป็นต้องแบกรับปัญหามากมายมาแก้ และรัฐบาลขี้ข้าฝรั่งก็หลงเชื่อว่า ฝรั่งจะล็อบบี้ให้ชนะคาซัคสถาน ขอว่าอย่าด่าผิดตัวละกัน โน่นต้องด่าพวกรัฐบาลนักการเมืองและพวกหน้าโง่แต่อวดดี

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ศูนย์ทนายสิทธิ' จี้รัฐยุติการคุกคามกิจกรรม 'เดินเพื่อสิทธิ ชีวิตคนอีสาน'

$
0
0

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ยุติการคุกคามเสรีภาพในการแสดงออกกิจกรรม “เดินเพื่อสิทธิ ชีวิตคนอีสาน” เคารพต่อพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนที่ไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม พร้อมขอสังคมร่วมตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่ 

 

1 ก.ค.2559 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ยุติการคุกคามเสรีภาพในการแสดงออกกิจกรรม “เดินเพื่อสิทธิ ชีวิตคนอีสาน” 

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ ระบุว่าได้ติดตามสังเกตการณ์กิจกรรม “เดินเพื่อสิทธิ ชีวิตคนอีสาน” หรือ Walk for Rights ของกลุ่มขบวนการอีสานใหม่ New E-Saan Movement ซึ่งเป็นกิจกรรมการเดินเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาโดยรัฐในพื้นที่ภาคอีสาน ซึ่งตั้งแต่เริ่มกิจกรรมวันที่ 4 มิ.ย.59 ได้มีเจ้าหน้าที่มาติดตามถ่ายภาพการทำกิจกรรมโดยตลอด จนกระทั่งวันที่ 30 มิ.ย. 2559 และขณะทางกลุ่ม พักผ่อนอยู่ในบริเวณวัดเหล่าโดน ตำบลหนองแคน อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารทั้งในและนอกเครื่องแบบ และฝ่ายปกครองกว่า 20 นาย เข้ามาบังคับไม่ให้ทางกลุ่มนอนพักในพื้นที่ดังกล่าว โดยอ้างอำนาจตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะพ.ศ.2558 พร้อมทั้งสอบถามและบังคับให้แอดมินเพจขบวนการอีสานใหม่ลบคลิปวีดีโอที่เกี่ยวกับการคัดค้านร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ....หากไม่ลบทางกลุ่มจะไม่สามารถเดินทางไปไหนได้

แถลงการณ์ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ ระบุด้วยว่า การกระทำดังกล่าวทำให้กลุ่มขบวนการอีสานใหม่ต้องลบคลิปวีดีโอและภาพการเข้ามาเจรจาของเจ้าหน้าที่ทหารออกจากเพจ และเดินทางออกจากที่พักในเวลาประมาณ 18.30 น.ท่ามกลางความมืดโดยไม่มี่จุดหมายว่าจะไปพักค้างคืนที่ใด จนทางกลุ่มต้องเดินเท้าต่อมาเวลา ปักหลักค้างคืนที่โรงพยาบาลราษีไศลในเวลาประมาณ 22.00 น.ห่างจากจุดเดิมเกือบ 10 กิโลเมตร แม้เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ทหารและฝ่ายปกครองจะบังคับให้ออกจากพื้นที่ตลอดเวลา

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ เห็นว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวเป็นการละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและกระทำไปโดยปราศจากอำนาจตามกฎหมายด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1. บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุม โดยสงบ เปิดเผย และปราศจากอาวุธ รวมถึงมีเสรีภาพที่จะแสดงออกรับหรือเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร อันเป็นสิทธิที่ถูกรับรองไว้ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) กลุ่มขบวนการอีสานใหม่จึงมีเสรีภาพในการชุมนุม แสดงออกและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับคลิปวีดีโอดังกล่าวในช่องทางของตน เพื่อเรียกร้องและกำหนดชะตากรรมชีวิตของตนเองตามวิถีทางแห่งระบอบประชาธิปไตย

2. การกระทำของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจที่กดดันไม่ให้กลุ่มขบวนการอีสานใหม่พักในพื้นที่ และบังคับให้ลบคลิปวีดีโอในเพจขบวนการอีสานใหม่ ถือเป็นการแทรกแซงการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการละเมิดพันธกรณีตามข้อ 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง(ICCPR)

3. การบังคับใช้พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ต้องบังคับใช้โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายที่บัญญัติขึ้นมาเพื่อคุ้มครองการใช้สิทธิและเสรีภาพ  ดังนั้นเจ้าหน้าที่รัฐจึงมีหน้าที่รักษาความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ชุมนุมไม่ใช่ผลักดันผู้ใช้สิทธิเสรีภาพให้ตกอยู่ในอันตรายมากยิ่งขึ้น การอ้าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 เพื่อปิดกั้นมิให้กลุ่มขบวนการอีสานใหม่พักในพื้นที่ดังกล่าวโดยมิได้มุ่งคุ้มครองสิทธิอันชอบธรรมของประชาชนตามพันธกรณีระหว่างประเทศ จึงเป็นการบังคับใช้ที่ไม่ชอบตามหลักสิทธิมนุษยชน

4. กรณีที่เจ้าหน้าที่เห็นว่าทางกลุ่มกระทำผิดกฎหมายไม่ว่าจะเป็นคำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/58 หรือพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะพ.ศ.2558 เจ้าหน้าที่รัฐก็ยังคงต้องปฏิบัติไปตามขั้นตอนตามกฎหมาย ซึ่งไม่มีกฎหมายฉบับใดให้อำนาจเจ้าหน้าที่ไล่บุคคลออกจากพื้นที่สาธารณะดังเช่นเหตุที่เกิดเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.59 การกระทำดังกล่าวจึงเข้าข่ายเป็นการกระทำโดยอำเภอใจและปราศจากอำนาจทางกฎหมายมารองรับ

 

โดยตอนท้ายแถลงการณ์ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ ได้ระบุถึงข้อเรียกร้องด้วยว่า ขอให้ 1. เจ้าหน้าที่รัฐทุกภาคส่วนทั้งเจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายปกครองเคารพต่อพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม บังคับใช้กฎหมายให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์และมุ่งคุ้มครองสิทธิอันชอบธรรมของประชาชน และยุติการใช้อำนาจโดยมิชอบคุกคาม กิจกรรม “เดินเพื่อสิทธิ ชีวิตคนอีสาน” หรือ Walk for Rights ของกลุ่มขบวนการอีสานใหม่ในทันที  และ 2. ขอให้สังคมร่วมกันตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่ เพื่อถ่วงดุลการใช้อำนาจให้เป็นไปอย่างถูกต้องและชอบธรรม การเคารพซึ่งสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเท่านั้นที่จะนำมาสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ทีโบน-เบิร์ดกะฮาร์ท' โพสต์ถึงร้านกาแฟเปิดเพลงได้ฟรี แนะ Youtube อัพไว้เยอะ

$
0
0

1 ก.ค.2559 จากกรณีที่เจ้าของร้านกาแฟรายหนึ่ง ที่จ.แพร่ ได้โพสต์เฟซบุ๊กเผยแพร่เรื่องราว อ้างว่า ถูกเจ้าหน้าที่ลิขสิทธิ์ค่ายเพลงแห่งหนึ่งปรับเงิน 2 หมื่นบาท เนื่องจากเปิดเพลงจากยูทูปภายในร้านนั้น ทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์ 

โดยเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. ที่ผ่านมา ข่าวสดออนไลน์  ได้สอบถามไปยังผู้โพสต์ คือ สุรชาญ มุ้งตุ้ย เปิดเผยว่า เหตุการณ์ดังกล่าวได้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. โดยตนขายกาแฟ ขนม ไม่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใดๆ ระหว่างที่เปิดร้านตามปกติ มีผู้หญิงสองคนเข้ามานั่งในร้าน สั่งกาแฟทาน สักพักมีผู้ชายเข้ามาถามหารีสอร์ตในละแวกใกล้เคียงว่ามีตรงไหนบ้าง ซึ่งมีการแอบบันทึกเสียงในช่วงเวลาดังกล่าวไว้ หลังจากนั้น ตนได้ออกไปทานข้าวข้างนอกโดยลูกน้องได้โทรมาบอกว่า ตำรวจเข้าร้านและจะจับเรื่องลิขสิทธิ์ จากนั้นเมื่อกลับมาเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ให้ไปคุยที่โรงพัก และมีการแจ้งว่า ทางร้านละเมิดลิขสิทธิ์เพลง โดยที่ตนเองไม่ได้มีความรู้เรื่องกฎหมายมากนัก สุดท้ายก็ได้จ่ายเงินค่าปรับต่อหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจไป 20,000 บาท เพื่อยอมความ 

ซึ่งผู้สื่อข่าวข่าวสดได้สอบถามไปยังบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ถึงกรณีที่มีการเผยแพร่เสียงหรือผลิตภัณฑ์ของทางต้นสังกัดในร้านกาแฟแห่งหนึ่งในจังหวัดแพร่ ระบุได้ว่า เป็นการเข้าข่ายการละเมิดลิขสิทธิ์ ตามพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ในมาตรา 27-31 ในลักษณะของการเผยแพร่สู่สาธารณะโดยไม่ได้รับการอนุญาต

'ทีโบน-เบิร์ดกะฮาร์ท' โพสต์ถึงร้านกาแฟเปิดเพลงได้ฟรี 

ล่าสุดวันนี้ (1 ก.ค.59) วงดนตรี ทีโบน ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'T-bone' ระบุว่า ถึงร้านกาแฟที่รัก เปิดเพลงของ T-bone ได้ทุกร้าน ทีโบนอนุญาต ให้เปิดได้ ตามสบายถ้าทำให้บรรยากาศดีขึ้น ทีโบนยินดี ถ้าร้านกาแฟใดโดนข้อหาเปิดเพลงของทีโบน โปรดแจ้งให้ท่านทราบด้วยว่า ทีโบนให้เปิดได้ฟรี

ด้าน "เบิร์ดกะฮาร์ท" ก็ได้โพสต์ข้อความในลักษณะเดียวกันผ่านเฟซบุ๊ก 'Byrd & Heart' ระบุว่า ผู้ประกอบการธุรกิจที่ไหน ไม่มีเพลงเปิดให้ลูกค้าฟังเพราะกังวลเรื่องลิขสิทธิ์ ก็เอาเพลงของ Byrd & Heart ไปเปิดได้เลย ไม่มีเจ้าหน้าที่ไปจับ แต่เบิร์ดกับฮาร์ท อาจจะขอไปแจกลายเซ็นถึงที่ ‎หาฟังได้ตาม Youtube ทั่วไป‬ ‪มีคนอัพไว้เยอะ‬ ‪ไม่เคยได้ค่าลิขสิทธิ์เลย‬

ทนายยกฎีกาชี้ไม่เป็นความผิด-ไม่ได้หากำไรโดยตรง

ก่อนหน้านี้ (28 มิ.ย.59) ทนายความ เกิดผล แก้วเกิด โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก 'เกิดผล แก้วเกิด' อธิบายกรณี การเปิดเพลงให้ลูกค้าฟังในร้านกาแฟ/ร้านอาหารโดยไม่ได้เรียกเก็บค่าตอบแทนจากลูกค้าในการเปิดเพลงนั้น "ไม่เป็นความผิด" เพราะมิได้เป็นการหากำไร โดยตรงจากการละเมิดลิขสิทธิ์ แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ ศาลก็ลงโทษไม่ได้ โดยหยิบยกคำพิพากษาของศาลมาแสดงเป็นตัวอย่างดังนี้

ฎีกาที่ 10579/2551
โจทก์บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ฯ มาตรา 31 โดยโจทก์บรรยายฟ้องเพียงแต่ว่าจำเลยเปิดแผ่นเอ็มพี 3 และซีดีเพลงให้ลูกค้าในร้านอาหารของจำเลยได้ร้องและฟังเพลงของผู้เสียหายจำนวน 1 เพลง เพียง "เพื่อประโยชน์ในทางการค้า" ขายอาหารและเครื่องดื่มของจำเลย ซึ่งความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวต้องเป็นการกระทำแก่งานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น "เพื่อหากำไร" เท่านั้นแต่ตามคำบรรยายฟ้องไม่ปรากฏว่าจำเลยกระทำเพื่อหากำไรโดยตรงจากการที่ให้ลูกค้าได้ร้องและฟังเพลง โดยเรียกเก็บค่าตอบแทนจากลูกค้าในการเปิดเพลงดังกล่าวหรือเรียกเก็บรวมไปกับค่าอาหารและเครื่องดื่มแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยตามฟ้องจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ฯ มาตรา 31 เพราะไม่ครบองค์ประกอบความผิดของบทมาตราดังกล่าวซึ่งต้องเป็นการกระทำเพื่อหากำไรโดยตรงจากการละเมิดลิขสิทธิ์นั้นด้วย ดังนั้น แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้ ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ฯ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 185

ฎีกาที่ 8220/2553
ความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 ต้องเป็นการเผยแพร่งานนั้นต่อสาธารณชน "เพื่อหากำไร" ซึ่งหมายความว่า กำไรนั้นหากจำเลยได้มาหรือจะได้มาจะต้องเกิดจากการกระทำแก่งานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น แต่ตามที่โจทก์บรรยายฟ้องมานั้นได้ความว่า จำเลยประกอบกิจการค้าขายอาหารตามสั่งและเครื่องดื่มจำเลยเปิดแผ่นวีซีดีเพลง "กำลังใจที่เธอไม่รู้" อันเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย ซึ่งได้มีผู้ทำขึ้นหรือดัดแปลงขึ้นให้ลูกค้าในร้านอาหารของจำเลยได้ฟัง ไม่ปรากฏว่าจำเลยเปิดเพลงดังกล่าวเพื่อหากำไรโดยตรงจากการที่ให้ลูกค้าได้ฟังเพลงโดยการเรียกเก็บค่าตอบแทนจากลูกค้าในการเปิดเพลงดังกล่าว หรือเรียกเก็บเพิ่มรวมไปกับค่าอาหารและเครื่องดื่มแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยตามฟ้องจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 ประกอบมาตรา 70 วรรคสอง เพราะไม่ครบองค์ประกอบความผิดของบทมาตราดังกล่าวซึ่งต้องเป็นการกระทำเพื่อหากำไรโดยตรงจากการละเมิดลิขสิทธิ์แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กลุ่มสหภาพแรงงานกลุ่มย่านรังสิตฯ ร้องปล่อยตัว-ยุติดำเนินคดีผู้รณรงค์ประชามติ

$
0
0

ภาพขณะจับกุม 13 นักกิจกรรมจากกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ และกลุ่มสหภาพแรงงานฯ ที่หน้านิคมอุตสาหกรรมบางพลี จ.สมุทรปราการ  เย็นวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา

1 ก.ค. 2559 จากกรณีจับกุมนักศึกษา นักสหภาพแรงงาน 13 คน กรณีแจกเอกสารรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญและเอกสารขอใช้สิทธิออกเสียงประชามตินอกพื้นที่ ที่ตลาดเคหะบางพลี จ.สมัครปรากการ เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา พร้อมกับตั้งข้อกล่าวหา ฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉ.3/2558 และฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประชามติ ซึ่งขณะนี้ยังมีนักศึกษา 7 ใน 13 คน ยังถูกควบคุมตัวในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ  

กลุ่มสหภาพแรงงานกลุ่มย่านรังสิตและใกล้เคียง (กสรก.) ได้ออกแถลงการณ์ยืนยันกลักการสิทธิเสรีภาพที่รัฐต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างเสรี

นอกจากนี้ กลุ่มสหภาพแรงงานกลุ่มย่านรังสิตฯ ยังมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ 1. ปล่อยนักศึกษาที่รณรงค์ออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 7 คน 2. ยุติการดำเนินคดีนักศึกษาและนักสหภาพแรงงานที่รณรงค์ดังกล่าวทั้ง 13 คน ซึ่งในจำนวนนั้นมีนักสหภาพแรงงาน 3 คน และ 3 ยุติการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพการมีส่วนร่วม การแสดงความคิดเห็นของประชาชน เปิดพื้นที่ในรการรณรงค์ร่างรัฐธรรมนูญให้มีการเสนอความเห็นได้อย่างเสรี

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เผย ม.ค.-พ.ค.59 แรงงานไทยไปทำงานต่างปท. สร้างรายได้กลับประเทศกว่า 3.6 หมื่นล้าน

$
0
0

1 ก.ค.2559 อารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า จากสถิติแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศพบว่า จำนวนแรงงานไทยที่ได้รับอนุญาตจากกรมการจัดหางานให้เดินทางไปทำงานต่างประเทศประจำปี 2559 (มกราคม-พฤษภาคม) มีจำนวนทั้งสิ้น 45,818 คน จำแนกตามวิธีการเดินทางที่ถูกต้องตามกฎหมายทั้งหมด 5 วิธี ได้แก่ 1.ไปทำงานผ่านบริษัทจัดหางานที่จดทะเบียนเป็นผู้รับอนุญาตจัดหางานกับกรมการจัดหางานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จำนวน 11,591 คน 2.ไปทำงานโดยการจัดส่งของกรมการจัดหางาน เป็นบริการของรัฐที่ส่งคนหางานไปทำงานต่างประเทศโดยไม่ต้องเสียค่าบริการ นอกจากค่าใช้จ่ายที่จำเป็น เช่น ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าวีซ่า ค่าสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ เป็นต้น จำนวน 4,441 คน 3.การแจ้งเดินทางไปทำงานด้วยตนเอง เป็นกรณีที่คนหางานติดต่อกับนายจ้างในต่างประเทศด้วยตนเอง แล้วมาแจ้งการเดินทางไปทำงานกับกรมการจัดหางาน จำนวน 3,208 คน 4.นายจ้างในประเทศไทยพาลูกจ้างไปทำงานในต่างประเทศ จำนวน 1,848 คน 5.นายจ้างในประเทศไทยส่งลูกจ้างไปฝึกงานในต่างประเทศ จำนวน 1,886 คน ทั้งนี้ มีผู้เดินทางกลับไปทำงานในต่างประเทศ(Re-entry) จำนวน 22,844 คน โดยเดินทางไปประเทศไต้หวันมากที่สุด จำนวน 13,321 คน รองลงมาเป็นสาธารณรัฐเกาหลี จำนวน 5,286 คน ญี่ปุ่น  จำนวน  3,558 คน อิสราเอล จำนวน 3,288 คน และสิงคโปร์ จำนวน 3,254 คน ซึ่งสามารถสร้างรายได้ส่งเงินกลับประเทศไทยโดยผ่านระบบธนาคารแห่งประเทศไทย ประจำปี 2559 (มกราคม-พฤษภาคม) เป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 36,686  ล้านบาท

อารักษ์ กล่าวต่อว่า หากคนหางานใดประสงค์จะไปทำงานต่างประเทศ สามารถ ขอคำแนะนำหรือตรวจสอบข้อมูลกับกรมการจัดหางานได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักจัดหางานกรุงเทพเขตพื้นที่ 1-10 สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

"ผมบังคับท่านไม่ได้อยู่แล้ว" ประยุทธ์ บอกนักศึกษาไม่ประกันออกจากคุก ก็แล้วแต่

$
0
0

1 ก.ค.2559 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ตอนหนึ่งถึงการความคุมสถานการณ์ ว่า นับตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.57 เป็นต้นมา ยังไม่มีใครต้องบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต เลยจากการที่เราเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้  ฉะนั้นไปตรวจสอบได้ แม้กระทั่งใช้กฎหมายปกติหรือกฎหมายพิเศษ ไม่มีเลย หลายคนนี่ดื้อดึงขัดขืนหลีกเลี่ยงไม่ยอมให้จับกุม ใช้ประชาชนเป็นโล่กำบังอะไรเหล่านี้ แต่ถ้าดำเนินการได้ก็จะต้องถูกดำเนินคดี อาจจะต้องใช้กฎหมายพิเศษบ้าง แต่ก็ต้องทำในสถานการณ์ที่ไม่ทำให้เกิดความรุนแรงเกิดขึ้น ต้องเข้าใจ หลายคนก็ใจร้อน ทำไมไม่ใช้มาตราโน้น มาตรานี้ ทำให้เร็ว ตนไม่สามารถจะฝ่าคนเป็นพันๆ เข้าไปได้ มันอยู่ที่ทำยังไงคนเป็นพันๆ หมื่นคนเหล่านั้นจะยุติ แล้วก็ผลักดันให้คนที่มีปัญหาออกมาต่อสู้คดีตามกฎหมาย มันเหมือนไม่เคารพกฎหมาย ก็บอกว่า อะไรนะ จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมก็ต่อเมื่อประเทศชาติมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เขาทำได้เหรอ ไม่น่าทำได้ ตนถามประชาชนทั้งประเทศว่าทำได้ไหม ช่วยกันตอบหน่อย  ถ้าระหว่างนี้ทำผิดอะไรก็ได้ไม่เป็นไร แล้ววันหน้าค่อยมีรัฐบาลเลือกตั้ง แล้วค่อยมามอบตัวกันตอนนั้น ตนว่ามันไม่ใช่  วันนี้ผิดก็ต้องลงโทษวันนี้กระบวนการยุติธรรมเขาก็มีอยู่แล้ว เราก็เพียงแค่นำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมให้ท่านต่อสู้คดี

"เราอาจจะต้องใช้มาตรา 44 ในการควบคุมตัวเข้าจับกุม เพราะว่ามันหลายอย่างด้วยกันนะครับท่านก็รู้ดีอยู่ กฎหมายปรกติไม่ค่อยเชื่อ แต่เข้าไปจับกุมดำเนินคดีก็ใช้วิธีการอันละมุนละม่อมไม่เคยต้องไปทำร้าย ไปทุบตีอะไรต่างๆ ไปทรมาน ไม่เคยทำซักอย่าง  ถ้าทำผมก็ลงโทษนะ  ฉะนั้นก็เพียงนำพามา และสอบสวน ให้สู้คดี ต่างคนต่างก็พยายามที่จะบิดเบือน  หลายคนก็เคยให้ความเมตตาแล้ว ให้ออกมา ให้ประกัน  บอกไม่ประกันอีก จะขออยู่ในคุกก็แล้วแต่ตามใจ ก็ต้องเข้าใจนะครับ ไม่ใช่ผมไปบังคับให้เขาอยู่ ต้องการให้เขาติดคุกไม่ใช่  ผมเมตตาอยู่แล้ว ไม่ว่าจะนิสิต นักศึกษา  แต่เขาบอกเขาไม่อยากออกจากคุก จนกว่าจะมีประชาธิปไตย ก็แล้วแต่นะ ผมบังคับท่านไม่ได้อยู่แล้ว ก็ขึ้นอยู่กับประเทศไทย คนไทย จะคิดยังไงนะ ว่าผมรังแกเขาหรือเปล่า พ่อแม่ก็เดือดร้อน ร้องไห้ แล้วก็กลายเป็นว่าพ่อแม่ก็มาเกลียดชังผม จริงๆ มันไม่น่าใช่นะไปคิดเอา" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์ ชี้พวกชวน 'No Vote' ไม่น่าเพื่อประโยชน์ชาติ ขอปชช.ร่วมมือกันไปลงประชามติ

$
0
0

1 ก.ค.2559 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ตอนหนึ่งถึงเรื่องการทำประชามติ ด้วยว่าใกล้เข้ามาทุกวันนี้ ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ประชาชนทุกคนต้องร่วมมือกันในการใช้สิทธิของท่านหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง ตนทำหน้าที่ของตน ท่านทำหน้าที่ของท่านที่จะลงประชามติ รัฐบาลก็พยายามทำทุกอย่างในส่วนของรัฐบาลได้มีการมอบหมายเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญ เรื่องของการรับผิดชอบในการทำประชามติ โดยรัฐบาลจะไม่เข้าไปก้าวล้ำ ก้าวล่วง ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจเอง กฎหมายต่างๆ ที่ออกมาก็ระมัดระวังหน่อย  คิดว่าถ้าทุกคนมีเจตนาดี บริสุทธิ์ก็ไม่น่าจะเป็นกังวล

"อาจจะมีอยู่หลายคนหลายพวกก็บอกว่า กฎหมายเยอะก็อย่าไปเลย เดี๋ยวจะมีความผิด ผมว่าถ้าชี้นำแบบนี้ ผมว่ามันน่าจะไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของชาตินะ หน้าที่ของทุกคนก็ไปทำประชามติ ไม่ต้องไปกลัว เขาเขียนไว้ชัดเจน อะไรคือผิด อะไรคือถูก ฉะนั้นอย่าไปข่มขู่ประชาชนว่าอย่าไปเลย" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว 

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้ววว่า ถ้าทุกคนไปให้ใครชี้นำอยู่ในทางที่ไม่ถูกต้องแบบนี้  ก็ไม่สามารถปลดล็อคตัวเอง เป็นอิสระจากคนอื่นเขาได้ อยากให้ทุกคนมีอิสระทางความคิดของแต่ละบุคคล กรุณาให้ความสำคัญหน่อย มีไม่กี่ข้อ  มีไม่กี่เรื่องที่มีผลกระทบกับประชาชน แต่ว่าจะดีหรือไม่ดีก็ไปอ่านเอาเอง ก็หลายคนหลายนักการเมือง ก็ไปพูดจาบิดเบือนอยู่ในวันนี้ ในพื้นที่ในระดับท้องถิ่นนะ ตามหมู่บ้านบ้างอะไรบ้าง เช่น  รัฐบาล จะลดการศึกษาฟรี 15 ปี ยกเลิกการใช้บัตรทองจะให้ คสช. เขาดำเนินการ พูดโกหกบิดเบือนอย่างเลวร้าย คนพวกนี้แย่มาก

พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงสื่อและโซเชียลเน็ตเวิร์กด้วยว่า เรื่องการขยายความขัดแย้งใดๆ ก็ตาม โดยสื่อฯ + โซเชียล ทั้งโดยเจตนาหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร โดยไม่สนใจข้อกฎหมาย มันก็เลยทำให้สังคมเชื่อไปว่า รัฐมีการดำเนินการ 2 มาตรฐาน  มันต้องมาตรฐานเดียว เพราะกฎหมายตัวเดียวกัน  ไม่เคยคิดจะไปละเมิดสิทธิ์ใคร  และก็ไม่พยายามจะใช้อำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตย แต่มันก็จำเป็นที่ต้องใช้นะ เพราะคนปั่นป่วนยังมีอยู่ ถ้าไม่มีตนจะใช้ทำไม

สิ่งเหล่านี้ต้องช่วยอธิบายให้ต่างชาติได้เข้าใจว่าสถานการณ์ประเทศไทยเป็นอย่างไร วันนี้เรากำลังก้าวหน้าไปในทางที่ดี มีศักยภาพ มีหลายประเทศต้องการมาลงทุนกับเรา หลายประเทศก็ให้ความเชื่อมั่นในเรื่องของการปฏิรูปประเทศหรือการแก้ปัญหา ก็มีอย่างเดียวเท่านั้นแหละที่ไม่ยินยอมกันอยู่คือเรื่องทางการเมือง อยากให้ประชาชนได้เข้าใจว่า อะไรมันสำคัญกว่ากันตอนนี้ จริงๆ แล้วสำคัญทั้งคู่ ถ้าเดินไปพร้อมๆ กันได้ก็ดีคือการเมืองก็คือการเมืองที่มันเป็นสุจริต แล้วก็ในเรื่องของการปฏิรูปก็ช่วยกันทำไปแล้ววันหน้าการเมืองเหล่านั้นก็เข้ามาทำต่อ  มันมีปัญหาตรงไหนตนก็ไม่รู้เหมือนกัน

อย่าเงียบกันมากนัก

"เรื่องการปฏิรูป ถ้าเราไม่เคารพกฎหมายกันแล้ว ไม่ร่วมมือกันไม่มีใครทำได้หรอกครับ อย่างมากมันก็ได้แต่พูดกัน พูดอย่างนี้อย่างนั้นพูดถึงปัญหาพูดถึงสิ่งที่เราต้องแก้ไขแต่ไม่มีวิธีการ วันนี้รัฐบาลกำลังหาวิธีการแล้วก็ใช้วิธีการหลายอย่างทำมาแล้ว ทำมา 1 ปี 9 เดือน ไม่ใช่ง่ายๆ กว่าจะหากฎหมายได้ กว่าจะหาวิธีการได้ กว่าจะปรับแก้วิธีการบริหารจัดการได้ กว่าจะให้ข้าราชการได้เข้าใจ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้สร้างการเรียนรู้เหล่านี้ไว้ อันนี้คือความยาก หลายคนอย่ามาบอกว่าไม่ได้ผลอะไรเลย ปฏิรูปก็ไม่ได้ปฏิรูป อันที่ 1 บ้านเมืองสงบไหมครับ อันที่ 2 กฎหมายที่ออกมามีประโยชน์ต่อประชาชนไหม อันที่ 3 สิ่งที่เราทำมาแล้ววันนี้ มันสนับสนุนการลงทุนต่างประเทศหรือเปล่า กฎหมายระเบียบกติกา กฎหมายที่เป็นสากลออกมาใหม่ให้หรือเปล่า แล้วทำไมประเทศต่างๆถึงมารุมเยือนประเทศไทยเพื่อจะมาแสวงหาความร่วมมือกับประเทศไทยแต่มีคนไทยต่อต้านทุกประการ ผมเลยไม่เข้าใจว่านี้คือประเทศไทยหรือไง เพราะฉะนั้นคนไทยกรุณาแสดงความคิดเห็นออกมานะครับ ก็อย่าเงียบกันมากนักนะ ส่วนใหญ่ก็สนับสนุนตลอดเต็มที่กำลังใจ สนับสนุนได้พูดได้แต่อย่าผิดกฎหมาย เพราะเป็นพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันในสังคม แสดงความคิดเห็นอันเป็นประโยชน์ แล้วก็เพื่อการเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ในอนาคต ฉะนั้นอย่าต่อว่ารัฐบาลมากนักเลยผมไม่ได้ออกมาบ่นอะไรนักหรอกยังไงท่านบ่นยังไงผมก็ทำผมก็จะอยู่ตรงนี้นะ บ่นไปก็ไม่มีประโยชน์นะท่าน" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ขอประชาชนอย่าให้เขาหลอกเป็นบันไดปีนสู่อำนาจ

พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวด้วยว่า รัฐบาลกำลังทำให้แข็งแรง ถ้าหากต้องการปฏิรูป ประชาชนทุกคนต้องเรียกร้องต้องการปฏิรูปก็แสดงความคิดเห็นกันออกมา อยากปฏิรูปแต่จะปฏิรูปยังไงท่านก็บอกมาแล้วกัน ตนก็จะทำให้ ใครที่ไม่ต้องการการปฏิรูปก็บอกมาให้ชัดเจนเลยว่าไม่ต้องการปฏิรูป ถ้าไม่ปฏิรูปจะเดินหน้าประเทศยังไงบอกมาให้ชัด อย่ามาพูดให้ไขว้เขวกันไปไขว้เขวกันมาแล้วก็อ้างประชาชนต้องการ ตนไปต่างจังหวัดผมก็เห็นประชาชนต้องการให้รัฐบาลทำโน่นทำนี่ให้เขาแล้วตนก็ทำไปให้เขาตั้งเยอะแล้ว ก็ยังไปเอาสิ่งที่มันบิดเบือนมาพูดอีก

"ตัวเลขโพลต่างๆ  ก็ไปดูเอาแล้วกัน มันก็แล้วแต่จะทำนะ หลายๆอย่างอยู่ที่คำถามอยู่ที่คำตอบด้วยและก็อยู่ที่จะถามใคร ฉะนั้นประชาชนต้องเชื่อมั่นตัวเอง แล้วก็เพิ่มพูนความรู้ เรียนรู้ตัวเองว่าเราจะรู้เท่าทันเขาอย่างไร ประชาชนทุกคนผมถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ เขาจริงใจกับทุกคนนั้นแหละ เพราะฉะนั้นใครที่จริงใจกับเขาก็จะตอบสนองท่าน แต่ถ้าใครไม่จริงใจกับเขานั้นแหละเป็นการแสดงที่เรียกว่าทำร้ายพวกเขา หยุด อย่าให้เขาหลอก ประชาชนต้องอย่าให้เขาหลอกเพื่อให้เป็นบันไดปีนสู่อำนาจและผลประโยชน์ในอนาคต เพราะฉะนั้นก็ต้องช่วยกันระมัดระวัง" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live




Latest Images