Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live

ไม่อยากขัดใจ เผย 'ชวลิต' เลื่อนการสนทนาธรรมไปก่อน หลัง คสช.มีหนังสือขอร้อง

$
0
0

27 ส.ค. 2559 พล.ท.พิรัช สวามิวัศดุ์ หรือเสธ.หมึก ซึ่งเป็นคนสนิทของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ชวลิต ต้องยกเลิกการสนทนาธรรมกับเจ้าอาวาสวัดยานนาวาในวันนี้ว่า มีคำสั่งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นหนังสือส่งมาที่บ้านพักของพล.อ.ชวลิต ซึ่งมีเนื้อหาขอร้องให้พล.อ.ชวลิต เลื่อนการสนทนาธรรมไปก่อน ในส่วนของตนก็ยังไม่เห็นคำสั่งนั้น แต่พล.อ.ชวลิต เห็นหนังสือดังกล่าวแล้วก็ไม่อยากเกิดความขัดแย้ง หรือมีปัญหากับคสช.                

“จริงๆ แล้วท่านก็ไม่ได้จะไปทำอะไร แค่ต้องการไปสนทนาธรรมกับพระอาจารย์ที่วัด สาเหตุที่เลือกวัดยานนาวาก็เพราะว่าวัดเป็นศูนย์กลางของประชาชน เป็นสถานที่ที่ประชาชนพักใจ โดยเฉพาะคนสมัยก่อนที่เลือกเข้าไปนั่งในวัด เรียนหนังสือในวัด และเเค่อยากทำตามหลักการบวร บ้าน วัด โรงเรียน แค่นั้นเอง ” พล.ท.พิรัช กล่าว

 

ที่มา กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ และมติชนออนไลน์

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ส่งออกก.ค.ติดลบต่อเนื่องเดือนที่ 4 ตลาดรถยนต์ 7 เดือนปีนี้ยังไม่ฟื้น ยอดขายลด 0.2%

$
0
0

27 ส.ค. 2559 บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ ผู้ตรวจราชการและโฆษกประจำ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังออกตรวจสอบติดตามสถานการณ์ การจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค ณ ตลาดมณีพิมาน เขตบางซื่อ กทม.ว่า ราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคในช่วงนี้ถือว่าทรงตัว และเป็นปกติไม่มีรายการสินค้าใดมีราคาสูงขึ้น โดยภาพรวมราคาสินค้าทรงตัวเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนมา 2 สัปดาห์แล้ว เช่น ราคาเนื้อหมู กิโลกรัมละ 140-145 บาท ไก่สดทั้งตัว กิโลกรัมละ 70-75 บาท ไข่ไก่เบอร์ศูนย์ ราคาฟองละ 4.50-4.60 บาท ไข่ไก่เบอร์ 1 ราคาฟองละ 4.4-4.30 บาท ไข่ไก่เบอร์ 2 ราคาฟองละ 4 บาท ไข่ไก่เบอร์ 3 ราคาฟองละ 3.80 บาท 

บรรจงจิตต์ กล่าวด้วยว่า ถือเป็นราคาที่ทรงตัวทั้งหมด แต่กระทรวงพาณิชย์ยังคงเดินหน้าติดตามราคาสินค้าทุกรายการอย่างใกล้ชิด ให้พาณิชย์และค้าภายในแต่ละจังหวัดออกตรวจสอบราคาสินค้าอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีน้ำท่วม หากมีการกักตุนหรือเอารัดเปรียบจะถูกดำเนินคดีทางกฎหมายอย่างจริงจัง หากประชาชนพบเห็นจำหน่ายสินค้าแพงเกินจริงร้องเรียนสายด่วน 1569 ได้

พาณิชย์ระบุเศรษฐกิจโลก ฉุดส่งออกก.ค.ติดลบต่อเนื่องเดือนที่ 4

วานนี้ (26 ส.ค. 59) สุวิทย์ เมษิณทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยมูลค่าการส่งออกของไทยในเดือนก.ค. 2559 พบว่า มีมูลค่า 17,415 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบร้อยละ 4.4 มากกว่าเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ที่ติดลบเพียงร้อยละ 0.07 และติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ ซึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) ได้ปรับลดคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจโลกลงเหลือร้อยละ 3.1

ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ 0.4 โดยเฉพาะรถยนต์และส่วนประกอบ ติดลบร้อยละ 6.7  น้ำมันสำเร็จรูป หดตัวร้อยละ 40.7 และเม็ดพลาสติก ติดลบร้อยละ 14.8 และการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ติดลบร้อยละ 18.6 จากสภาพอากาศที่แปรปรวนทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรลดลง รวมทั้งราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ปรับตัวลดลงเฉลี่ยในเดือนกรกฎาคม อยู่ที่ 42.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรล  ส่งผลให้ในระยะ 7 เดือนแรกของปีนี้  มีมูลค่าส่งออกรวม 122,553 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบร้อยละ 2

ตลาดรถยนต์ 7 เดือนปีนี้ยังไม่ฟื้น ยอดขายลดลงร้อยละ 0.2

วุฒิกร สุริยะฉันทนานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยยอดขายรถยนต์เดือนกรกฎาคม 2559 ว่า มีปริมาณการขายทั้งสิ้น 60,635 คัน ลดลงร้อยละ 0.4  อย่างไรก็ตาม รถยนต์นั่งมียอดขาย 24,358 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.6 รถเพื่อการพาณิชย์ 36,277 คัน ลดลงร้อยละ 6.1 รวมทั้ง รถกระบะขนาด 1 ตัน ในเซกเมนท์นี้ จำนวน 29,177 คัน ลดลงร้อยละ 7.7

ส่วนตลาดรถยนต์สะสม 7 เดือนแรกปีนี้ มีปริมาณการขาย 429,265 คัน ลดลงร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยตลาดรถยนต์นั่งลดลงร้อยละ 9.2 ตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 เนื่องจากเศรษฐกิจโดยรวมในประเทศยังคงฟื้นตัวช้า ส่งผลทางจิตวิทยาต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนซึ่งมีผลถึงตลาดรถยนต์

 

เรียบเรียงจาก สำนักข่าวไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรุงเทพโพลล์ระบุคนไทยเห็นว่า ม.44 ยังจำเป็น 75%

$
0
0
กรุงเทพโพลล์เผยผลสำรวจ ประชาชน 75.0% ชี้ ม.44 ยังจำเป็นต่อสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน 56.2% เชื่อจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับต่างชาติ 53.5% ไม่กังวลกับเหตุการณ์ความไม่สงบต่าง ๆ

 
 
 
27 ส.ค. 2559 กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้สำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “ความจำเป็นของมาตรา 44 กับสถานการณ์บ้านเมือง หลังผ่านการลงประชามติร่างฯ” โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,176 คน พบว่า 
 
เมื่อถามความเห็นว่ามาตรา 44 ยังจำเป็นหรือไม่กับสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 75.0 เห็นว่ายัง “จำเป็น” ขณะที่ร้อยละ 19.0 เห็นว่า “ไม่จำเป็น” มีเพียงร้อยละ 6.0 ไม่แน่ใจ
 
เมื่อถามต่อว่ามาตรา 44 จะสร้างความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ให้แก่นานาประเทศหรือไม่ ส่วนใหญ่ร้อยละ 56.2 เห็นว่าจะสร้างความเชื่อมั่น ขณะที่ร้อยละ 30.4 เห็นว่าจะไม่สร้างความเชื่อมั่น ส่วนที่เหลือร้อยละ 13.4 ไม่แน่ใจ
 
สุดท้ายเมื่อถามว่าวิตกกังวลมากน้อยเพียงใดต่อสถานการณ์ความไม่สงบต่างๆ เช่น เหตุระเบิด การก่อการร้าย ในประเทศไทย ส่วนใหญ่ร้อยละ 53.5 วิตกกังวลค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด ขณะที่ร้อยละ 42.4 วิตกกังวลค่อนข้างมากถึงมากที่สุด มีเพียงร้อยละ 4.1 ไม่แน่ใจ
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือข่ายประชาชนภาคเหนือหวั่น!! พ.ร.บ.ใหม่ กสทช.ขาดการคุ้มครองผู้บริโภค

$
0
0

เครือข่ายประชาชนภาคเหนือหวั่นร่าง พ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่ ไม่สร้างความสมดุล บั่นทอนและกลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อความมุ่งมั่นและความตั้งใจในการทำงานของเครือข่ายที่จะทำงานด้านการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคเพื่อประโยชน์ของประชาชนทุกคน

วันที่ 27 สิงหาคม 2559 ณ โรงแรมคุ้มภูคำ จังหวัดเชียงใหม่ ในเวทีส่งเสริมการรวมกลุ่มและสร้างเครือข่ายผู้บริโภค ระดับภูมิภาค ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เครือข่ายประชาชนภาคเหนือ ประกอบด้วย เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคภาคเหนือ เครือข่ายเพื่อนสื่อสาธารณภาคเหนือ เครือข่ายคนทำงานด้านเด็กและเยาวชนภาคเหนือ เครือข่าย 17 ชาติพันธุ์ เครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนภาคเหนือ เครือข่ายแรงงานนอกระบบภาคเหนือ เครือข่ายผู้พิการภาคเหนือ เครือข่ายวิทยุชุมชนภาคเหนือ สถาบันปวงผญาพยาว และสมาคมสื่อจังหวัดพะเยา ได้ขอช่วงเวลาระหว่างการทำกิจกรรม อ่านแถลงการณ์ “พรบ.กสทช.ฉบับใหม่ ต้องสนับสนุนการทำงานเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคอย่างแท้จริง”

นายวีรพงษ์ กังวาฬนวกุล ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนภาคเหนือ อ่านแถลงการณ์ว่า ขอให้กำลังใจ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ชุดปัจจุบัน และคณะอนุกรรมการชุดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่มีความตั้งใจดีที่จะทำงานเพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชน ตามแนวทางการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ ดังนั้นพลเมืองที่มีคุณภาพที่ดีและสังคมที่ดำรงด้วยคุณธรรมจึงเป็นสิ่งสำคัญของการพัฒนาประเทศ ตามนโยบายของรัฐบาล

ดังนั้น ร่าง พ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่ ซึ่งอาจไม่สร้างความสมดุลย์อีกทั้งยังคงบั่นทอนและกลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อความมุ่งมั่นและความตั้งใจในการทำงานของเครือข่าย และ กสทช. ที่จะทำงานด้านการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคเพื่อประโยชน์ของประชาชนทุกคน ในนามเครือข่ายภาคประชาชนภาคเหนือ จึงขอเรียกร้องให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ พรบ.กสทช.ชุดใหม่ ได้ปฎิบัติตามข้อเสนอและข้อเรียกร้องด้วย (อ่านในแถลงการณ์)

ทั้งนี้ นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กรรมการ กสทช. ได้เป็นตัวแทนรับข้อเสนอเพื่อส่งต่อไปยังกรรมการ กสทช. สำนักงาน และ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ การแก้ไขร่าง พรบ.กสทช.ชุดใหม่ต่อไป พร้อมทั้งกล่าวว่าตนอยากให้คณะกรรมาธิการพิจารณาแก้ไขร่าง พ.ร.บ. ได้เชิญเครือข่ายภาคประชาชนภาคเหนือเข้าร่วมให้ความเห็นด้วย


แถลงการณ์เครือข่ายประชาชน ภาคเหนือ

“พรบ.กสทช.ฉบับใหม่

"ต้องสนับสนุนการทำงานเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคอย่างแท้จริง”

วันที่ 27 สิงหาคม 2559
ณ โรงแรมคุ้มภูคำ จังหวัดเชียงใหม่

 ในนามเครือข่ายประชาชนภาคเหนือ ขอให้กำลังใจ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมและกิจการกระจายเสียงวิทยุและโทรทัศน์ (กสทช.) ชุดปัจจุบัน และคณะอนุกรรมการชุดต่างๆที่เกี่ยวข้อง ที่มีความตั้งใจดีที่จะทำงานเพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชน ตามแนวทางการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ ดังนั้นพลเมืองที่มีคุณภาพที่ดีและสังคมที่ดำรงด้วยคุณธรรมจึงเป็นสิ่งสำคัญของการพัฒนาประเทศ ตามนโยบายของรัฐบาล

 ดังนั้น ร่าง พรบ.กสทช.ฉบับใหม่ ซึ่งอาจไม่สร้างความสมดุลย์อีกทั้งยังคงบั่นทอนและกลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อความมุ่งมั่นและความตั้งใจในการทำงานของเครือข่าย และ กสทช. ที่จะทำงานด้านการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคเพื่อประโยชน์ของประชาชนทุกคน

 ในนามเครือข่ายภาคประชาชนภาคเหนือ จึงขอเรียกร้องให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.กสทช.ชุดใหม่ ได้ปฎิบัติตามข้อเสนอและข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้

1)      ให้คงรูปแบบการมีอนุกรรมการในชุดต่าง ๆ เพื่อให้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนภาคประชาชน

2)      ในสัดส่วนของ บอร์ด กสทช. 7 คนชุดใหม่ที่จะต้องมีการแต่งตั้งตาม พ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่นั้น ต้องมีผู้เชียวชาญงานคุ้มครองผู้บริโภคที่มาจากตัวแทนภาคประชาชน

3)      สนับสนุนให้มีการจัดตั้งสภาผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม โดยมีองค์ประกอบที่กลุ่มองค์กรผู้บริโภคที่หลากหลาย เพื่อให้เป็นตัวแทนและเป็นปากเสียงสำคัญแทนผู้บริโภคในการทำงานคุ้มครองสิทธิร่วมกับกสทช.อย่างต่อเนื่อง

4)      ให้ความสำคัญจัดและการมีส่วนร่วมด้านให้มีการทำแผนยุทธศาสตร์การคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมที่มีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนให้ชัดเจน

5)      ให้คงรูปแบบการมีอนุกรรมการในชุดต่าง ๆ เพื่อให้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนภาคประชาชน

6)      ในสัดส่วนของ บอร์ด กสทช. 7 คนชุดใหม่ที่จะต้องมีการแต่งตั้งตาม พ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่นั้น ต้องมีผู้เชียวชาญงานคุ้มครองผู้บริโภคที่มาจากตัวแทนภาคประชาชน

7)      สนับสนุนให้มีการจัดตั้งสภาผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม โดยมีองค์ประกอบที่กลุ่มองค์กรผู้บริโภคที่หลากหลาย เพื่อให้เป็นตัวแทนและเป็นปากเสียงสำคัญแทนผู้บริโภคในการทำงานคุ้มครองสิทธิร่วมกับกสทช.อย่างต่อเนื่อง

8)      ให้ความสำคัญจัดและการมีส่วนร่วมด้านให้มีการทำแผนยุทธศาสตร์การคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมที่มีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนให้ชัดเจน

เครือข่ายประชาชนภาคเหนือ ประกอบด้วย

♣ เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคภาคเหนือ          

♣ เครือข่ายเพื่อนสื่อสาธารณภาคเหนือ

♣ เครือข่ายคนทำงานด้านเด็กและเยาวชนภาคเหนือ     

♣ เครือข่าย 17 ชาติพันธุ์

♣ เครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนภาคเหนือ                    

♣ เครือข่ายแรงงานนอกระบบภาคเหนือ

♣ เครือข่ายผู้พิการภาคเหนือ                                

♣ เครือข่ายวิทยุชุมชนภาคเหนือ

♣ สถาบันปวงผญาพยาว                                     

♣ สมาคมสื่อจังหวัดพะเยา

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เผยร่าง กม.ลูกเสร็จแล้ว 2 ฉบับ ตั้งพรรคการเมืองต้องหาสมาชิก 4 ภาคให้ครบก่อน

$
0
0
กกต. เผยความคืบหน้าการร่างกฎหมายลูกเสร็จแล้ว 2 ฉบับ เตรียมนำเข้าหารือในที่ประชุม กกต. 29 ส.ค.นี้ จัดตั้งพรรคการเมืองยากขึ้นเพราะต้องให้พรรคการเมืองหาสมาชิกให้ครบ 5,000 คน จากทั้ง 4 ภาคทั่วประเทศ จึงจะจัดตั้งได้

 
27 ส.ค. 2559 สำนักข่าวไทยรายงานว่านายบุญส่ง น้อยโสภณ กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย เปิดเผยถึงความคืบหน้าการร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับ กกต.และการเลือกตั้ง โดยล่าสุดเสร็จแล้ว 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง โดยสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว จะทำให้จัดตั้งพรรคการเมืองได้ยากขึ้น และมีแนวทางป้องกันการทุจริตเลือกตั้ง จากเดิมสามารถจัดตั้งพรรคการเมืองก่อนแล้วค่อยหาสมาชิก ในครั้งนี้ได้กำหนดให้พรรคการเมืองต้องหาสมาชิกให้ครบ 5,000 คน จากทั้ง 4 ภาคทั่วประเทศ จึงจะจัดตั้งพรรคการเมืองได้
 
นายบุญส่ง กล่าวยอมรับว่า ปัจจุบันไทยมีพรรคการเมืองมากถึง 71 พรรค ถือว่ามากเกินไป ส่วนการยุบพรรคการเมืองก็สามารถยุบได้จาก 2 สาเหตุเท่านั้น คือ พรรคการเมืองที่มีเจตนาล้มล้างระบอบประชาธิปไตย และพรรคการเมืองที่ปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อหลักประชาธิปไตย
 
“ทุกฉบับอยู่ระหว่างพิจารณาเนื้อหาเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติอย่างแท้จริง คาดว่าจะทยอยส่งให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ.พิจารณาทั้ง 2 ฉบับภายในเดือนสิงหาคม โดยในวันจันทร์ที่ 29 สิงหาคมนี้ จะนำเข้าหารือในที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง” นายบุญส่ง กล่าว
 
นายบุญส่ง กล่าวด้วยว่า ในส่วนฉบับที่ยังร่างไม่เสร็จ คือ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาให้สอดคล้องและมีความเหมาะสมกับรัฐธรรมนูญที่ได้กำหนดให้ กกต.มีทั้งหมด 7 คน ส่วน ส.ว.ถือเป็นฉบับที่ต้องระมัดระวัง เพราะวิธีการได้มาซึ่ง ส.ว.มีความซับซ้อน สำหรับกรณีการแก้รัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติในส่วนบทเฉพาะกาลนั้น หลักการแก้รัฐธรรมนูญที่จะต้องไม่สามารถแก้ง่ายหรือยากจนเกินไป และระวังเรื่องการตีความ เพราะที่ผ่านมารัฐธรรมนูญถูกตีความได้หลากหลาย ทำให้มีปัญหา แต่ถ้าบัญญัติไว้ชัดเจนจะทำให้ปัญหาน้อยลง
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผบช.ก. แถลงจับ 'กิมเอ็ง' พี่สาวหญิงไก่ ฐานแอบอ้างเบื้องสูง

$
0
0

27 ส.ค. 2559 เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่า พล.ต.ท.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ ผบช.ก. พร้อมด้วย พล.ต.ต.สมหมาย กองวิสัยสุข รอง ผบช.ก. พล.ต.ต.ชวลิต แสวงพืชน์ รอง ผบช.ก. พล.ต.ต.ชาญ วิมลศรี รรท.บก.ป. เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) ร่วมแถลงข่าวการจับกุม นางกมนทรรศน์ ธนธรณ์โฆษิตจิร หรือแม่ตุ่ม (ชื่อเดิม นางกิมเอ็ง แซ่เตียว) อายุ 62 ชาว จ.สมุทรปราการ ตามหมายจับศาลอาญาเลขที่ 1563/2559 ลงวันที่ 11 สิงหาคม 2559 ข้อหา “ร่วมกันฉ้อโกง และร่วมกันปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม” พร้อมของกลาง เหรียญที่ระลึกเฉลิมพระชนมพรรษา 88 พรรษา กำไลข้อมือเงิน โดยมีข้อความว่า ”Long Live The King” สามารถจับกุมได้ที่ ต.เกยไชย อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ 
 
พล.ต.ท.ฐิติราช กล่าวว่า สืบเนื่องจาก กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ได้มีคำสั่ง ที่ 131/2559 ลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2559 และ ที่ 136/2559 ลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2559 แต่งตั้งคณะพนักงาน สืบสวนสอบสวนดำเนินคดีกับนางมณตา หยกรัตนกาญ หรือนางไก่ ข้อหา แจ้งความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน ค้ามนุษย์ และหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความ อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานในชั้นพนักงานสอบสวน ระหว่างการสืบสวนสอบสวน ได้มีผู้เสียหาย(ขอปิดนาม) เดินทางมามอบพยานหลักฐาน และให้ข้อมูลว่าผู้ต้องหามีพฤติการณ์ในลักษณะคล้ายนางไก่ และคาดว่าน่าจะเป็นบุคคลคนเดียวกันกับ นางกิมเอ็ง แซ่เตียว อดีตผู้ต้องหา คดีหลอกลวงผู้อื่นให้บริจาคเงิน โดยอ้างว่าสามารถขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และ ถูกศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พิพากษาจำคุก 6 ปี ต่อมาพ้นโทษจึงเปลี่ยนชื่อ – นามสกุล หลายครั้งจนปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ดร.กมนทรรศน์ ธนธรณ์โฆษิตจิร หรือแม่ตุ่ม” 
 
พล.ต.ท.ฐิติราช กล่าวอีกว่า ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจสืบทราบว่า เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคมที่ผ่านมา สถานีโทรทัศน์ แห่งหนึ่งได้เผยแพร่วีดีทัศน์สารคดีเฉลิมพระเกียรติ โดยนางกมนทรรศน์ ให้สัมภาษณ์เชิงกล่าว อ้างว่าเคยตามเสด็จฯ และ อ้างว่าเป็นบุคคลใกล้ชิดกับบุคคลชั้นสูง อีกทั้งเป็นผู้ปรุงอาหารถวายในสำนักพระราชวัง มีการสร้างภาพทาง สังคมหรือสาธารณะเพื่อให้ผู้ที่พบเห็นเชื่อว่าเป็นผู้ใกล้ชิดกับคนชั้นสูง โดยแสดงตนเป็นตัวแทน ประกอบพิธีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการเฉลิมพระเกียรติ และจัดงานวันเกิดอย่างยิ่งใหญ่ มีผู้แต่งกายเป็นเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังนำของขวัญและแจกันดอกไม้ซึ่งอ้างว่าได้รับพระราชทานมามอบให้กับนางกมนทรรศน์ เพื่อให้บุคคลที่มาร่วมงาน หรือผู้พบเห็นหลงเชื่อ จากนั้นจะชักชวนให้ร่วมทำบุญถวายเป็นพระราชกุศลในโอกาสต่างๆ โดยมีผู้เสียหายจำนวนหลายคนหลงเชื่อ มอบเงินสด หรือโอนเข้าบัญชีนางกมนทรรศน์ ซึ่งขณะนี้มีผู้เสียหายมาร้องทุกข์ให้ดำเนินคดี รวมมูลค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 2,979,300 บาท และหลังจากที่ได้รับเงินแล้วนางกมนทรรศน์ ได้นำหนังสือทรงขอบคุณ โดยอ้างว่าเป็นหนังสือที่ออกโดย สำนักพระราชวัง นอกจากนี้จากการตรวจสอบพบว่าเป็นหนังสือปลอม    
 
พล.ต.ต.สมหมาย กล่าวว่า เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม เวลา 09.40 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม ได้ติดตามจับกุมนางกมนทรรศน์ ขณะหลบหนีไปที่ ต.เกยไชย อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ ก่อนขยายผลค้นห้องพักย่านลาดพร้าว 60 พบทรัพย์สินมีค่าจำนวนมาก อาทิ เหรียญที่ระลึกเฉลิมพระชนมพรรษา 88 พรรษา ซึ่งทางเจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบว่าเป็นของแท้ หรือของที่ทางนางกมนทรรศน์ ปลอมแปลงขึ้น อีกทั้งจะทำการตรวจสอบว่าบุคคลที่มามอบดอกไม้ให้กับนางกมนทรรศน์ เป็นบุคคลของสำนักราชวังจริงหรือไม่ซึ่งอยู่ในระหว่างตรวจสอบ 
 
พล.ต.ต.สมหมาย กล่าวด้วยว่า จากการสอบปากคำเบื้องต้น ผู้ต้องหาให้การรับสารภาพทุกข้อกล่าวหา อย่างไรก็ตาม ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะทำการแจ้งข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือ แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายมาตรา 112 ขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจทำการขยายผลผู้ร่วมขบวนการ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจทราบตัวหมดแล้วสำหรับรายละเอียดนั้นยังไม่สามารถเปิดเผยได้ 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตามบัญชาประยุทธ์ แก้ปัญหาทัวร์ศูนย์เหรียญ เผย ตร.ท่องเที่ยว จับกุม 2 บริษัทจีน ผิดฐานอั้งยี่

$
0
0

พล.ต.สรรเสริญ เผยตำรวจท่องเที่ยว จับกุม 2 บริษัททัวร์ศูนย์เหรียญจีน ผิดฐานสวมบัตรประชาชนคนไทยเข้ามาจดทะเบียนจัดตั้งบริษัททัวร์ และความผิดฐานอั้งยี่  หลังพล.อ. ประยุทธ์ ได้สั่งการแก้ไขปัญหาทัวร์ศูนย์เหรียญอย่างจริงจัง 

 
ที่มาภาพ เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล
 
27 ส.ค. 2559 พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นับจากที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แก้ไขปัญหาทัวร์ศูนย์เหรียญอย่างจริงจัง นั้น
 
“ล่าสุดตำรวจท่องเที่ยวได้เข้าจับกุมเจ้าของบริษัทฝูอัน จำกัด และบริษัทซินหยวน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัททัวร์ศูนย์เหรียญที่ไม่ได้นำรายได้เข้าสู่ประเทศไทย มีแต่ยอดนักท่องเที่ยว และเงินรายได้ทั้งหมดจะถูกส่งกลับจีนผ่านนายหน้า โดยทั้ง 2 บริษัทมีความผิดฐานสวมบัตรประชาชนคนไทยเข้ามาจดทะเบียนจัดตั้งบริษัททัวร์ และความผิดฐานอั้งยี่ ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานหลักในการยึดทรัพย์ของ ปปง. และยังได้ขยายผลตรวจพบต้นทางขบวนการทัวร์ศูนย์เหรียญ ชื่อบริษัทโอเอ ทรานสปอร์ต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทคนไทย มีรถทัวร์อยู่ในความครอบครองกว่า 3,000 คัน มีบริษัทจิวเวลรี่ บริษัทเครื่องหนัง บริษัทอาหาร ยาบำรุงสุขภาพ และร้านอาหาร ในเครือ โดยให้บริษัทคนจีนนำลูกทัวร์เข้าไปใช้บริการรถทัวร์ และร้านเหล่านี้ ซึ่งจะเก็บเงินจากลูกทัวร์ที่เข้าใช้บริการเพิ่มอีกประมาณ 35% ของเงินค่าแพคเกจทัวร์ที่เก็บไปแล้วเบื้องต้น ทำให้มีเงินสะพัดหลายพันล้าน และไม่มีการชำระภาษีอย่างถูกต้อง”  พล.ต.สรรเสริญ กล่าว
 
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวต่อว่า รัฐบาลยินดีสนับสนุนธุรกิจท่องเที่ยวที่ถูกกฎหมาย จึงยอมไม่ได้กับพฤติกรรมที่สร้างความเสียหาย โดยอยากเตือนสติคนไทย ว่า ขอให้คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง ไม่สมคบคิดกับต่างชาติ แสวงหาประโยชน์เข้าตัวเอง เพราะถึงแม้ว่าจะร่ำรวยจากการประกอบธุรกิจ แต่รายได้ส่วนใหญ่กลับตกเป็นของต่างชาติ ทำลายภาพลักษณ์การท่องเที่ยว และขวัญกำลังใจของผู้ที่ประกอบธุรกิจด้วยความสุจริต ด้วย
 
“ท่านนายกฯ ได้รับทราบข้อมูลแล้ว และฝากชมเชยเจ้าหน้าที่ที่เข้าปฏิบัติการในครั้งนี้ รวมทั้งกำชับให้ทุกหน่วยงานเร่งเดินหน้าปูพรมแก้ไขปัญหานี้อย่างต่อเนื่อง เพราะเชื่อว่ายังมีอีกหลายบริษัทที่ลักลอบกระทำการในลักษณะนี้ และขอให้ผู้ที่มีพฤติกรรมดังกล่าว หยุดกระทำการโดยทันที และไม่หลงเชื่อคำชักชวนจากผู้ไม่หวังดี หรือหากพบการประกอบธุรกิจที่เข้าข่ายทัวร์ศูนย์เหรียญ ให้รีบแจ้งศูนย์ดำรงธรรม หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจทันที โดยรัฐบาลจะบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ในทุกกรณี” พล.ต.สรรเสริญ กล่าว
 
ทั้งนี้ จนท.ได้สนธิกำลังกัน เข้าจับกุมตัวกรรมการบริษัทโอเอ ทรานสปอร์ต 2 คน ในข้อหาอั้งยี่และกระทำการให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว พร้อมทั้งเข้าตรวจค้น บ.โอเอ ทรานสปอร์ต บ.บางกอกแฮนดิคราฟท์ บ.รอยัลพาราไดซ์ บ.รอยัลเจมส์อินเตอร์เนชั่นแนล บ.รอยัลไทยเฮิร์บ สามารถยึดของกลางได้หลายรายการ
 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนรุ่นใหม่ทั่วโลกเจอปัญหาว่างงาน-ความแคลงใจในคุณภาพ นศ. จบใหม่

$
0
0

ILO คาดปี 2559-2560 คนรุ่นใหม่ที่อายุระหว่าง 16-24 ปี จะว่างงานเพิ่มเป็น 71 ล้านคน ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่นอกจากอัตราว่างงานสูงแล้วยังต้องเผชิญกับปัญหาความยากจนเนื่องจากการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม ประเทศกำลังพัฒนาแม้ว่างงานต่ำแต่คุณภาพงานก็ต่ำด้วย ส่วนที่สหรัฐฯ ผู้ประกอบแสดงความกังวลว่านักศึกษาจบใหม่จากมหาวิทยาลัยอาจขาดความพร้อมในการรับมือกับโลกแห่งการทำงาน

รายงาน World Employment and Social Outlook 2016: Trends for Youth

จากรายงาน World Employment and Social Outlook 2016: Trends for Youthขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่เผยแพร่เมื่อปลายเดือน ส.ค. 2559 ที่ผ่านมาระบุว่าในปี 2559 และ 2560 ที่จะถึงนี้ อัตราการว่างงานของคนรุ่นใหม่ (อายุระหว่าง 16-24 ปี) จะเพิ่มเป็นร้อยละ 13.1 โดยเพิ่มจากปี 2558 ที่มีเพียงร้อยละ 12.9 หากตีเป็นตัวเลขแล้วล่ะก็คนรุ่นใหม่ทั่วโลกในปีนี้และปีหน้าจะว่างงานถึง 71 ล้านคนเลยทีเดียว

ที่มา: รายงาน World Employment and Social Outlook 2016: Trends for Youth

ILO คาดการณ์ว่าในประเทศกำลังพัฒนาในปี 2559 นี้จะมีอัตราว่างงานร้อยละ 9.5 และ 9.4 ในปี 2560 เทียบเป็นจำนวน 7.7 และ 7.9 ตามลำดับ สำหรับประเทศพัฒนาแล้วในด้านสัดส่วนพบว่าอัตราการว่างงานของคนรุ่นใหม่มีสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งโลก แม้จะลดลงจากปี 2558 ที่ร้อยละ 15.0 มาอยู่ที่ร้อยละ 14.5 ในปี 2559 และร้อยละ 14.3 ในปี 2560 เมื่อเทียบเป็นจำนวนจะมีคนรุ่นใหม่ว่างงานในปี 2559 นี้ 9.8 ล้านคนและ 9.6 ล้านคนในปี 2560 ส่วนประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่น่าจะเจอปัญหานี้หนักสุดโดยอัตราการว่างงานในปี 2559 นี้คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 13.6 และในปี 2560 อยู่ที่ร้อยละ 13.7 แต่เมื่อเทียบเป็นจำนวนคนรุ่นใหม่ที่จะว่างงานในปี 2559 และ 2560 นี้มีถึง 53.5 ล้านคนเลยทีเดียว

สำหรับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่นั้นคนทำงานรุ่นใหม่ที่จะต้องเผชิญกับปัญหาการว่างงานสูงแล้วก็ยังต้องเผชิญกับปัญหาความยากจนอยู่เนื่องจากการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม ส่วนคนรุ่นใหม่ในประเทศกำลังพัฒนาแม้อัตราการว่างงานไม่สูงเท่ากับประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ แต่พบว่าปัญหาความยากจนน่าจะเป็นปัญหาหลักมากกว่า  โดยในปี 2559 นี้ประมาณการว่าร้อยละ 37.7 ของคนรุ่นใหม่ที่มีงานทำอยู่ในภาวะยากจนมากหรือยากจนปานกลาง

ในประเทศกำลังพัฒนาแม้ตัวเลขอัตราการว่างงานจะต่ำ แต่กลับพบว่าสภาพการทำงานและคุณภาพของกลับอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะในประเทศแถบแอฟริกา คนรุ่นใหม่ที่มีงานทำต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีมาตรฐานความปลอดภัยและมีค่าแรงต่ำ คนรุ่นใหม่ที่มีงานทำเกือบ 1 ใน 3 ยังอยู่ในระดับยากจนหรือมีค่าแรงต่ำกว่า 3.10 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อวัน

ผู้ประกอบการสหรัฐฯ แคลงใจถึงความพร้อมของนักศึกษามหาวิทยาลัยจบใหม่

ด้าน VOAรายงานว่าเว็บไซต์ Career Builderที่ติดตามความเคลื่อนไหวของภาคแรงงานสหรัฐอเมริกา ระบุว่า 2 ใน 3 ของนายจ้างอเมริกัน เตรียมเปิดตำแหน่งที่เสนอรายได้อย่างต่ำ 50,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีสำหรับผู้ที่เพิ่งจบมหาวิทยาลัย

อย่างไรก็ตามในการสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการ 2,186 ราย นายจ้างจำนวนไม่น้อยแสดงความกังวลว่านักศึกษาจบใหม่จากมหาวิทยาลัยอาจขาดความพร้อมในการรับมือกับโลกแห่งการทำงาน โดยนายจ้างที่กังวลกล่าวว่ามหาวิทยาลัยเน้นการเรียนตามตำรามาเกินไปแต่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริงไม่มากเท่าที่ควร ซึ่งประสบการณ์ที่ว่านี้มักจะได้จากการทำงานเป็นนักศึกษาฝึกงาน

ในภาคธุรกิจ งานที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และทักษะทางวิศวกรรมศาสตร์เป็นตำแหน่งที่ได้รับความสำคัญมากที่สุด ส่วน สาขาชีววิทยา สถาปัตยกรรมศาสตร์และการศึกษาอยู่ในอันดับที่ได้รับความสนใจรั้งท้ายจากนายจ้าง

Career Builder ให้คำแนะนำนักศึกษาจบใหม่ว่าให้ติดตามข่าวสารของบริษัทจากโซเชียลมีเดีย และเข้าติดต่อผ่านช่องทางนี้ แถมบอกด้วยว่า นักศึกษาอาจสามารถเพิ่มความน่าสนใจสำหรับนายจ้างหากเริ่มเขียน blog ในสาขางานที่ตนอยากทำ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'เปรมโมเดล' จตุพร ชี้ที่มาอำนาจต่างกัน ระวังจบสิ้นอำนาจแบบเผด็จการทรราชย์

$
0
0

28 ส.ค. 2559 จากกรณีวานนี้  (27 ส.ค.59) วันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)  กล่าวว่า อย่าไปกังวลตกอกตกใจกับคำเสี้ยมเหน็บแนมตามสันดานนักการเมือง อย่าไปหลงลมคำพูดนักการเมือง ไม่เคยจริงใจกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯอยู่แล้ว ถามว่าวันนี้จำเป็นหรือไม่ที่ พล.อ.ประยุทธ์จะมาตั้งพรรคการเมืองลงเลือกตั้งเองนั้น ตนคิดว่า ถ้ารัฐสภา ส.ส. ส.ว.สนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ท่านก็ควรจะรับ อย่าปฏิเสธ เป็นความสง่างาม ในรัฐสภา ส.ส. หรือ ส.ว.มีทั้งตัวเเทนประชาชน จากสาขาอาชีพ ต้องใช้เสียงข้างมากของคนเหล่านี้ ไม่ใช่เลือกกันส่งเดช พล.อ.ประยุทธ์ไม่จำเป็นต้องตั้งพรรค หากท่านตั้งก็เท่ากับว่ากำลังจะเดินไปหลุมพลางทางการเมือง อาจไปไม่ถึงดวงดาวได้ อาจจะถูกโจมตีกล่าวหาต่างๆ นานา โดยสะดุดขาตัวเองเปล่าๆ นอกจากนี้ยังมีอดีตให้เห็นเป็นตัวอย่างว่า คนที่ทำปฏิวัติแล้วตั้งพรรคลงเล่นการเมือง ไม่เคยไปรอด ล้มกลางคันเเทบทุกราย

“หรือ พล.อ.ประยุทธ์จะดูตัวอย่างสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษก็ได้ ที่ไม่จำเป็นต้องลงเลือกตั้ง แต่ก็อยู่เป็นนายกฯถึง 8 ปี ขอให้บริหารจัดการประนีประนอมอำนาจทั้งในและนอกสภาให้ได้ทุกฝ่ายก็น่าจะเดินได้ เห็นได้จากผลประชามติที่ประชาชนสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์กลายๆ อยู่แล้ว หากนับจากวันนี้ยิ่งสร้างผลงานไปเรื่อยๆ ถึงเวลาเลือกตั้งจะมีเสียงเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์กลับมาเป็นนายกฯสานต่อภารกิจต่อไปอีก 4 ปีแน่ๆ” วันชัย กล่าว

จตุพร เตือนประยุทธ์อย่าฟังแต่กองเชียร์ ชี้ที่มาต่างจากเปรม

ล่าสุดวันนี้ (28 ส.ค.59) จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ต่อข้อเสนอ "เปรมโมเดล" ว่า ที่มาอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ แตกต่างจาก “เปรมโมเดล” อย่างชัดเจน และถ้าคล้อยตามเสียงเชียร์ให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนนอกแล้ว มีโอกาสจบสิ้นอำนาจแบบเผด็จการทรราชย์ได้

จตุพร กล่าวว่า เปรมโมเดลเป็นรูปแบบที่มาอำนาจของพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองค์มนตรี และรัฐบุรุษ เมื่อครั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนนอกตั้งแต่ปี 2523 แล้วอยู่ยาวนานต่อเนื่องถึง 8 ปี จนประกาศวางมือทางการเมือง โดยเปล่งคำพูดว่า “ผมพอแล้ว” ดังนั้น จึงมีความแตกต่างจากประยุทธ์โมเดลตามเสียงเชียร์ของที่ วันชัย สอนศิริ ที่สนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ สืบทอดอำนาจ

จตุพร ตนเห็นว่า ที่มาอำนาจของพล.อ.ประยุทธ์ มีความแตกต่างที่เด่นชัดจากเปรมโมเดล เพราะพล.อ.เปรม ไม่ได้ก้าวขึ้นไปเป็นนายกรัฐมนตรีคนนอก โดยมาจากการยึดอำนาจ ไม่ได้แต่งตั้ง ส.ว. เพื่อปูทางไปสู่อำนาจ แต่พล.อ.เปรม ได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองด้วยเสียงข้างมากในสภา หลังจาก พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ลาออกจากนายกรัฐมนตรีคนนอกแล้ พล.อ.เกรียงศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีด้วยการยึดอำนาจจากรัฐบาล ธานินทร์ กรัยวิเชียร เมื่อ 20 ตุลาคม 2520 แล้วร่างรัฐธรรมนูญ 2521 ซึ่งเป็นต้นกำเนิดการปกครองแบบประชาธิปไตยครึ่งใบ ด้วยการแต่งตั้ง ส.ว. มาปูทางให้นายกรัฐมนตรียึดอำนาจได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนนอกภายหลังการเลือกตั้งเมื่อ 22 เมษายน 2522 กระทั่งถูกพรรคการเมืองเสียงข้างมากอภิปรายไม่ไว้วางใจ จึงลาออกจากนายกรัฐมนตรีก่อนถูกอภิปรายฯ เมื่อกุมภาพันธ์ 2523

จากนั้น พล.อ.เปรม ได้รับการสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนนอกติดต่อกันนานถึง 8 ปี สะสมบารมีมากมายจนมีความน่าเชื่อถือ ได้รับความเคารพทั้งจากฝ่ายทหารและพรรคการเมือง สิ่งสำคัญรู้จักพอทางการเมือง แม้ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ หัวหน้าพรรคชาติไทย ชนะเลือกตั้งเมื่อปี 2531 ไปเชิญให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนนอกอีกครั้ง แต่ปฏิเสธ ด้วยการเปล่งวาจาว่า “ผมพอแล้ว”

จตุพร กล่าวต่อว่า ในช่วงปลายอำนาจการเมืองของพล.อ.เปรมนั้น กระแสประชาธิปไตยสูงมาก นักวิชาการ 99 คน ลงชื่อให้ พล.อ.เปรม วางมือทางการเมือง เพราะต้องการให้นายกรัฐมนตรีมาจาก ส.ส. และไม่ต้องการให้ทหารแทรกแซงทางการเมือง เมื่อพรรคชาติไทยชนะเลือกตั้งปี 2531 มาเป็นอันดับหนึ่ง ไปเชิญ เป็นนายกรัฐมนตรีคนนอก พล.อ.เปรม จึงปฏิเสธ แล้ววางมือทางการเมือง

จตุพร กล่าวว่า การวางมือทางการเมืองนั้น พล.อ.เปรม ถูกวิจารณ์จากนักวิชาการ 99 คน เรียกร้องไม่ให้ทหารเข้ามายุ่งการเมือง และกระแสนายกรัฐมนตรีจาก ส.ส. มาแรงอีกครั้งในช่วงปี 2535 สมัย พล.อ.สุจินดา คราประยูร ที่ยึดอำนาจจาก พล.อ.ชาติชาย แล้วต้องการเป็นนายกรัฐมนตรีคนนอกภายหลังการเลือกตั้งปี 2535 แต่ถูกชุมนุมต่อต้านในเหตุการณ์พฤษภา 2535 ดังนั้น ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนนอก คงเป็นประยุทธ์โมเดล ไม่ใช่เปรมโมเดล เพราะภาพลักษณ์ สถานการณ์บ้านเมืองคนละเรื่องกับสมัยพล.อ.เปรม อีกทั้งพล.อ.ประยุทธ์ คงไม่ได้เปล่งวาจา ผมพอแล้ว แต่จะเปล่งวาจาว่า ผมพังแล้ว

“พล.อ.ประยุทธ์ จะเชื่อหรือไม่ก็ตาม แต่ผมขอพยากรณ์ท่านว่า ท่านจบไม่สวย แต่จะจบลงด้วยเผด็จการทรราชย์ ท่านต้องคิดให้มากกับเสียงเชียร์ของพวกแวดล้อมอำนาจ เมื่อถึงวันนั้นพวกเชียร์ท่านจะหนีไปหมด เมื่อท่านไม่ได้มาจากประชาชน ย่อมไม่มีความสง่างาม เพราะท่านมาจากกระบอกปืน หากเดินตามวิถีกองเชียร์แล้วสุดท้ายท่านจะได้เปล่งวาจาว่า ผมพังแล้ว" จตุพร กล่าว

 

ที่มา มติชนออนไลน์และเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Jatuporn Prompan - จตุพร พรหมพันธุ์'

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรมควบคุมโรคจับมือ สปสช.คุมโรคหัด-หัดเยอรมัน ให้วัคซีนกลุ่มเสี่ยง 1 ล้านคน

$
0
0
กรมควบคุมโรคจับมือ สปสช.ควบคุมโรคหัด-หัดเยอรมัน หลังพบผู้ป่วยในกลุ่มผู้ใหญ่ต่อเนื่อง จัด โครงการให้วัคซีนป้องกันกลุ่มเสี่ยง ในปี 59 ครอบคลุมทุกสิทธิ 1 ล้านคนทั่วประเทศ มุ่งลดผู้ป่วยตามเป้าหมายประเทศไม่เกิน 1 คนต่อประชากร 1 ล้านคน เริ่มรับบริการที่หน่วยบริการของรัฐ ก.ค.-ธ.ค. 59      

 
28 ก.พ. 2559 นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา รักษาการเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ภายใต้นโยบาย ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมมือเร่งควบคุมและป้องกันโรคหัดตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนด โดยให้ทุกประเทศทั่วโลกลดจำนวนผู้ป่วยโรคหัดและหัดเยอรมันให้เหลือน้อยที่สุด ซึ่งประเทศไทยได้กำหนดเป้าหมายให้มีผู้ป่วยเหลือไม่เกิน 1 คนต่อประชากรทุกกลุ่มอายุล้านคนภายในปี 2563 รวมถึงการควบคุมโรคหัดเยอรมัน เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จึงได้เร่งรัดดำเนินการให้วัคซีนแก่เด็กกลุ่มเป้าหมายและผู้ใหญ่ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน โดยปัจจุบันกำหนดให้วัคซีนป้องกันโรคหัดและหัดเยอรมันแก่เด็กรวม 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อเด็กอายุ 9-12 เดือน ครั้งที่สองอายุ 2 ปี 6 เดือน
 
จากข้อมูลเฝ้าระวังสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ที่ผ่านมาพบว่า อัตราป่วยโรคหัดและหัดเยอรมันประเทศไทยลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับอดีต เป็นผลจากการเร่งรัดการบริการวัคซีนแก่เด็กกลุ่มเป้าหมายให้มีความครอบคลุมอยู่ในระดับสูง แต่ทั้งนี้ยังคงพบการระบาดโรคหัดและหัดเยอรมันเป็นระยะ และมีแนวโน้มพบในกลุ่มผู้ใหญ่มากขึ้น เนื่องจากเป็นกลุ่มที่เกิดก่อนจะมีการให้วัคซีนและยังไม่เคยป่วยมาก่อน หรือเกิดภายหลังแต่ไม่ได้รับวัคซีนหรือได้รับวัคซีนไม่ครบถ้วน การระบาดมีโอกาสพบในสถานที่ที่มีกลุ่มคนอยู่รวมกันเป็นหมู่มาก เช่น โรงงาน เรือนจำ โรงเรียน ค่ายทหาร เป็นต้น
 
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวต่อว่า เพื่อสนับสนุนการป้องกันและควบคุมโรคหัด-หัดเยอรมันบรรลุเป้าหมายกำหนด กรมควบคุมโรค จึงได้ร่วมกับ สปสช.จัดทำ “โครงการให้วัคซีนป้องกันโรคหัด-หัดเยอรมันในผู้ใหญ่ ปี 2559” ขึ้น มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อลดการป่วยและภาวะแทรกซ้อนด้วยโรคหัดและหัดเยอรมัน และเพิ่มระดับภูมิคุ้มกันต่อโรคหัดและหัดเยอรมันในบุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 15-40 ปี ครอบคลุมประชาชนทุกสิทธิ 1 ล้านคน ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ พร้อมกันนี้ยังได้ร่วมมือกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด กรมแพทย์ทหารบก กรมแพทย์ทหารเรือ กรมราชทัณฑ์ โรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อจัดบริการให้วัคซีนกับกลุ่มเป้าหมาย เน้นผู้ที่อยู่ในสถานที่รวมเป็นหมู่มากที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด เช่น โรงงาน เรือนจำ โรงเรียน และค่ายทหาร
 
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า การให้วัคซีนป้องกันโรคหัดและหัดเยอรมันโครงการนี้ ได้กระจายวัคซีนให้กับหน่วยบริการทั่วประเทศเพื่อฉีดให้กับกลุ่มเป้าหมาย ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2559 เป็นต้นมาถึง 31 ธันวาคม 2559 ทั้งนี้ให้เป็นไปตามแนวทางการให้บริการวัคซีนตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ผลที่ได้รับไม่เพียงลดจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิต แต่ยังลดค่ารักษาพยาบาล รวมถึงลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการขาดงานเนื่องจากป่วยได้
 
“งานป้องกันและควบคุมโรคจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือทุกฝ่าย สปสช.เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือในครั้งนี้ ที่ผ่านมาแม้ว่าประเทศไทยจะควบคุมและลดจำนวนผู้ป่วยโรคหัดและหัดเยอรมันได้มาก แต่ยังพบการแพร่ระบาดในกลุ่มผู้ใหญ่ต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องมีการควบคุมและป้องกันอย่างจริงจัง ซึ่งทุกหน่วยงานต่างให้ความสำคัญต่อการร่วมมือภายใต้โครงการนี้ เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จการลดจำนวนผู้ป่วยตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้” รักษาการเลขาธิการ สปสช. กล่าว
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สพฉ.กำหนดเกณฑ์คุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต

$
0
0
สพฉ.กำหนดเกณฑ์คุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ตั้งศูนย์ EMCO Service Center เปิดให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมงย้ำผู้ป่วยฉุกเฉินต้องเข้ารักษาฟรีใน รพ.ที่ใกล้สุด เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา คาดประกาศใช้ธันวาคมนี้

 
 
 
นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวถึงความคืบหน้าเรื่องการดำเนินการคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ตามนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ดีทุกสิทธิ” กรณีการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดว่า ที่ประชุม กพฉ. ซึ่งประกอบด้วย กระทรวงสาธารณสุข สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานประกันสังคม(สปส.) และกรมบัญชีกลาง มีมติกำหนดให้จัดทำแนวทางการปฏิบัติในการคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ในโรงพยาบาลเอกชนนอกคู่สัญญา 3 กองทุน ซึ่งจะทําให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตได้รับ การคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงบริการ อย่างปลอดภัยโดยไม่มีเงื่อนไขในการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาล เพื่อให้ไม่เป็นอุปสรรคและเกิดความเสี่ยงของการดูแลรักษา
 
โดยผู้ป่วยฉุกเฉิน วิกฤตจะต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลเอกชนนอกคู่สัญญาก็ตาม ซึ่งโรงพยาบาลจะคัดแยกผู้ป่วยตามแนวทางที่ สพฉ.กำหนดให้ และกรณีที่ปัญหาในการคัดแยก เช่นความเห็นแพทย์ และศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการวินิจฉัยไม่ตรงกัน ให้ปรึกษา EMCO Service Center ของ สพฉ.ได้ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้โรงพยาบาลที่ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยจะต้องได้รับชดเชยค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานับตั้งแต่รับผู้ป่วยจนถึง 72 ชั่วโมง ในอัตราที่ สพฉ.กำหนด และกองทุนเจ้าของสิทธิจะต้องตามจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ตามหลักเกณฑ์ 
 
ยืนยันว่าผู้ป่วยฉุกเฉิน วิกฤตจะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที และหากมีปัญหาในการวินิจฉัยที่ไม่ตรงกัน ที่ประชุมมีข้อสรุปให้ทำการรักษาไปก่อน แล้วค่อยมาเคลียร์กันภายหลัง เพราะหลักการสำคัญคือต้องไม่ปล่อยทิ้งผู้ป่วยไว้กลางห้องฉุกเฉินเด็ดขาด โดยหลังการดำเนินงาน 6 เดือนแรก จะมีการประเมินติดตามเพื่อการปรับปรุงอีกครั้ง
 
อย่างไรก็ตามข้อเสนอดังกล่าว จะต้องนำเสนอให้คณะกรรมการการของทั้ง 3 กองทุนพิจารณาอีกครั้ง ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ซึ่งคาดว่าจะประกาศและใช้ได้จริงภายในเดือน ธ.ค.นี้
 
นพ.อนุชา ยังกล่าวต่อถึง เกณฑ์การคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉิน วิกฤต ว่า คือบุคคลซึ่งได้รับบาดเจ็บหรือมีอาการป่วยกะทันหันซึ่งมีภาวะคุกคามต่อชีวิต ซึ่งหากไม่ได้รับปฏิบัติการแพทย์ทันทีเพื่อแก้ไขระบบการหายใจ ระบบไหลเวียนเลือดหรือระบบประสาทแล้ว ผู้ป่วยจะมีโอกาสเสียชีวิตได้สูง หรือทำให้การบาดเจ็บเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้อย่างฉับไว โดยอาการที่เข้าข่ายฉุกเฉิน อาทิ ไม่รู้สึกตัว , ไม่หายใจ , หายใจผิดปกติ , แน่นหน้าอก , แขนขาอ่อนแรง พูดลำบาก เป็นต้น
 
ทั้งนี้ การเตรียมการทั้งหมดนี้ เพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ที่จะได้เข้ารักษาในโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้และมีความพร้อมทั้งโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน เพื่อให้ผู้ป่วยฉุกเฉินปลอดภัย ลดการสูญเสีย โดยผู้ป่วยฉุกเฉิน หากมีอาการฉุกเฉิน ควรโทรแจ้งที่สายด่วน 1669 ก่อนเพื่อให้ได้รับการประเมินอาการ และเข้ารับการรักษาตามระบบ นอกจากนี้ยังเป็นการป้องกันปัญหาการถูกเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลด้วย 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'วัส ติงสมิตร' แจงกรณีเครือข่ายประชาชนภาคใต้ขอให้เปลี่ยนตัวประธาน กสม.

$
0
0
'วัส ติงสมิตร' ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แจงกรณีเครือข่ายประชาชนภาคใต้ขอให้เปลี่ยนตัวประธาน กสม. 

 
28 ส.ค. 2559 28 สิงหาคม 2559 นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชี้แจงกรณีเครือข่ายประชาชนภาคใต้ขอให้เปลี่ยนตัวประธาน กสม. โดยมีรายละเอียดดังนี้
 
เรื่อง กรณีเครือข่ายประชาชนภาคใต้ขอให้เปลี่ยนตัวประธาน กสม.
 
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2559 มีกลุ่มบุคคลซึ่งใช้ชื่อว่าเครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดสิทธิชุมชนภาคใต้ ได้ร่วมกันแถลงการณ์ ตำหนิและขอให้เปลี่ยนตัวประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (นายวัส ติงสมิตร) โดยให้เหตุผลว่าจะขออ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐหยุดการดำเนินนโยบาย โครงการ หรือกิจการที่ละเมิดสิทธิชุมชนในภาคใต้ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต สังคม วิถีวัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อันนำไปสู่การละเมิดสิทธิชุมชนตามมา
 
แถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า เครือข่ายฯหวังจะให้คณะกรรมการสิทธิฯได้รับเนื้อหาสาระของข้อเสนอ โดยได้ประสานงานกับกรรมการสิทธิฯบางท่านไว้ล่วงหน้าเพื่อขอช่วงเวลาก่อนปิดเวทีการประชุม
ในการจัดแถลงข่าวนี้ แต่กลับได้รับการปฏิเสธจากประธานกรรมการฯ  ขอเรียนชี้แจงว่าในวันที่ 25 สิงหาคม 2559 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของงาน เวลาประมาณ 11 นาฬิกา หลังได้รับแจ้งจากประธานกรรมการสิทธิฯ สำนักงาน กสม.ได้จัดเตรียมไมโครโฟนให้ภาคีเครือข่ายใช้อ่านคำแถลงการณ์ในเวทีหลังปิดงาน โดยประธานกรรมการฯ จะอยู่รับฟังด้วย ตามที่กรรมการสิทธิฯซึ่งได้รับการประสานกับภาคีเครือข่ายได้ตกลงกับประธานกรรมการสิทธิฯ ซึ่งแตกต่างจากเวที กสม. พบประชาชนเวทีอื่น ๆ อีก 3 แห่งก่อนหน้านี้ เมื่อเกิดเหตุไม่ทำตามข้อตกลง ประธานกรรมการฯไม่ทราบว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ไม่มีการบอกกล่าวให้ประธานกรรมการฟังทั้งในเวลาและขณะเกิดเหตุ แถลงการณ์ดังกล่าวยังระบุต่อไปว่า เครือข่ายฯ ทราบมาว่า ในเวที กสม. พบประชาชนที่จัดไปก่อนหน้านี้ในภาคอื่น ๆ ก็เกิดในลักษณะเดียวกัน
 
ขอเรียนชี้แจงว่า ในเวที กสม. พบประชาชนก่อนหน้านี้ 3 แห่ง คือที่จังหวัดขอนแก่น เชียงใหม่ และชลบุรี ไม่ได้เกิดปัญหาทำนองเดียวกับที่เกิดในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา การอ่านคำแถลงการณ์ของขบวนการหนึ่งในจังหวัดขอนแก่นก็อ่านในเวทีหลังปิดงานไปแล้ว และประธานกรรมการฯ ไม่ได้อยู่ฟังคำแถลงการณ์ เพราะมีกำหนดการที่จะไปพบคณบดีคณะนิติศาสตร์และอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อจัดตั้งศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือในมหาวิทยาลัย
 
อนึ่งประธานกรรมการฯ ขอเรียนชี้แจงเพิ่มเติมดังนี้
 
1) บุคคลที่ร่วมประท้วงครั้งนี้คือ ผู้ดำเนินรายการสัมมนากลุ่มย่อยในประเด็นสถานการณ์โครงการพัฒนาในพื้นที่ภาคใต้ในวันที่ 24 สิงหาคม 2559 และเป็นตัวแทนกลุ่มย่อยที่อภิปรายและนำเสนอข้อสรุปผลการประชุมกลุ่มและแนวทางแก้ไขปัญหารวมทั้งตอบข้อซักถามในวันที่ 25 สิงหาคม 2559
 
2) บุคคลที่จะดำเนินการให้มีการอ่านคำแถลงการณ์ในเวทีก่อนประธานกรรมการฯจะสรุปผลการสัมมนาและกล่าวปิดงาน ก็เป็นอนุกรรมการในคณะอนุกรรมการของกรรมการสิทธิฯคนที่มาขออนุญาต
 
3) หากประธานกรรมการฯ ได้ตรวจดูคำแถลงการณ์ที่เครือข่ายฯจะขออ่านในเวทีงานก่อน และทราบเหตุแห่งการทำตามข้อตกลงไม่ได้ประธานกรรมการฯ ก็อาจจะแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที 
 
นายวัส ติงสมิตร
ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
28 สิงหาคม 2559
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสท.จ่อถกพักเวคอัพ 7 วันอีกรอบ จับตา 'วอยซ์ทีวี' ยอมพักหรือสู้

$
0
0
ประชุม กสท. 29 ส.ค. นี้ เสนอให้พักรายการเวคอัพนิวส์ 7 วันอีกรอบ อ้างอำนาจของประกาศ กสทช.ว่าด้วยหลักเกณฑ์ใบอนุญาตฯ แตกต่างจากกรณีก่อนหน้า อาจทำให้วงการสื่อตั้งคำถามถึงมาตรฐานที่ไม่คงเส้นคงวา จับตาท่าที 'วอยซ์ทีวี' ว่าจะยื่นหนังสือขอลงโทษตนเองแทนบทลงโทษทางกฎหมายอีกหรือไม่ และสุดท้ายถ้า กสท.มีมติให้ลงโทษพักรายการ 7 วัน วอยซ์ทีวีจะไปฟ้องศาลปกครองตามสิทธิ์หรือไม่

 
นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.) ครั้งที่ 29/2559 วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม นี้ มีวาระการประชุมน่าจับตา ได้แก่ สำนักงานตรวจสอบพบการออกอากาศ ช่อง Voice Tv รายการ Wake Up News เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 59 เวลาประมาณ 8.46 น. กรณีการสัมภาษณ์ ร.ต.อ.ดร.จอมเดช ตรีเมฆ วิเคราะห์เหตุระเบิด 7 จังหวัดใต้ และวันอังคารที่ 16 ส.ค. 59 เวลาประมาณ 7.41 น. นำเสนอกรณี “ไผ่ ดาวดิน อดอาหารวันที่ 9 อาการทรุดหนัก” และ กรณี “มีชัยชี้ สว. เลือกนายกฯได้ 5 ปี แต่เสนอได้ชื่อเดียว” ซึ่งสำนักงานพบว่าเป็นเนื้อหาที่อาจเข้าข่ายคัดต่อประกาศคำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 41/59 ฉบับที่ 97/57 ฉบับที่ 103/57 รวมทั้งขัดต่อมาตรา 37 แห่ง พรบ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 และอาจขัดต่อข้อกำหนดในบันทึกข้อตกลงที่บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด ทำร่วมกับ สำนักงาน กสทช. ทั้งนี้คณะอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการได้เชิญผู้แทนจากช่องวอยซ์ทีวี และ ผู้แทนคณะทำงานติดตามสื่อ ส่วนงานการรักษาความสงบเรียบร้อย เข้าร่วมการประชุมและให้ความเห็นต่อกรณีการออกอากาศดังกล่าว คณะอนุกรรมการได้มีข้อเสนอให้ กสท. เตรียมพิจารณา มีคำสั่งให้ระงับการออกอากาศ Wake Up News เป็นเวลา 7 วัน โดยใช้อำนาจตามประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. 2555
 
นางสาวสุภิญญา กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ กสท. เสียงข้างมากได้มีมติเห็นชอบการพักงานของผู้ดำเนินรายการสองคนของช่องวอยซ์ทีวีเป็นระยะเวลา 10 วันแล้ว ล่าสุดการพิจารณาวาระเข้าสู่บอร์ด กสท.ครั้งนี้เสนอให้พักรายการเวคอัพนิวส์ 7 วันอีกรอบ โดยอ้างอำนาจของประกาศ กสทช.ว่าด้วย “หลักเกณฑ์ใบอนุญาตฯ” ซึ่งเป็นรูปแบบใหม่การกำหนดบทลงโทษของ กสทช. ที่แตกต่างจากกรณีก่อนหน้า อาจทำให้วงการสื่อตั้งคำถามถึงมาตรฐานในการกำกับดูแลที่ไม่คงเส้นคงวา ต้องรอถกกันว่าวาระนี้บอร์ด กสท.ที่เหลือ 4 คนจะลงมติอย่างไร ที่น่าสนใจกว่าคือท่าทีของช่องวอยซ์ทีวี ต้องดูว่าวันจันทร์นี้เขาจะมายื่นหนังสือขอลงโทษตนเองแทนบทลงโทษทางกฎหมายอีกหรือไม่ และสุดท้ายถ้า กสท.มีมติให้ลงโทษพักรายการ 7 วัน ทางวอยซ์ทีวีจะไปฟ้องศาลปกครองตามสิทธิ์หรือไม่
 
“ส่วนตัวจะให้ความยุติธรรมกับช่องนี้อย่างที่ควรจะเป็น เพราะการนำเสนอข่าวอดอาหารของ ไผ่ ดาวดิน ไม่ควรถูกทำให้เป็นเนื้อหาที่ผิดกฎหมายไปได้ เช่นเดียวกับบทสัมภาษณ์นักวิชาการเรื่องเหตุการณ์ระเบิดภาคใต้ก็เป็นเพียงมุมมองทางวิชาการของผู้เชี่ยวชาญ ตามหลักวารสารศาสตร์ที่สามารถทำได้ แต่ถ้าต่อมามีความเห็นแย้ง หรือข้อเท็จจริงของภาครัฐ ทางออกคือควรให้ทางช่องเสนอมุมมองนั้นเพิ่มเติมด้วย ดิฉันจึงเห็นว่า ถ้าภาครัฐไม่เห็นด้วยกับความเห็นที่ถูกนำเสนอในช่องวอยซ์ทีวี แล้ว ให้ กสทช.ใช้อำนาจสั่ง ก็ควรบอกให้เขาเปิดพื้นที่ให้กับมุมมองจากฝ่ายความมั่นคงเพื่อให้เกิดความสมดุลย์ของเนื้อหาสาระในรายการมากกว่าการไปสั่งระงับรายการนั้นเลย เพราะตามหลักสากลแล้ว ทางออกเรื่องสื่อที่ดูไม่เป็นกลาง ไม่ใช่การปิดกั้นเขา แต่ควรทำให้เขาเป็นกลางมากขึ้น ย่อมดีกว่าการใช้อำนาจปิดกั้นสื่อที่สังคมมองว่าเป็นเสียงของฝ่ายค้าน ในยุคที่รัฐถืออำนาจสูงสุด เพราะปัจจุบันสังคมไทยไม่มีฝ่ายค้านในสภาทำหน้าที่แทน ถ้ารัฐไม่พอใจสื่อใดก็ควรใช้สิทธิ์โต้แย้งข้อมูลและความเห็นนั้น สังคมก็จะได้ใช้วิจารณญาณตัดสินเองว่าความเห็นใดถูกหรือผิด ส่วนข่าวที่ละเอียดอ่อนกระทบความมั่นคงอย่างข่าวการระเบิด ถ้าจะไม่ให้มีการวิเคราะห์เลยก็ต้องให้ทุกช่องงดทั้งหมด ซึ่งเป็นไปได้ยาก ถ้าจะแก้ปัญหาความสับสนควรทำแนวปฏิบัติให้ทุกช่องทุกสื่อใช้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ไม่เลือกปฏิบัติ” สุภิญญา กล่าว
 
วาระอื่นน่าจับตาได้แก่ สรุปผลการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่องค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ... วาระทบทวนงบประมาณรายจ่าย (กลางปี) สายงานกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ประจำปี 2559 วาระการปรับเปลี่ยนที่ตั้งและคุณลักษณะทางเทคนิคของสถานีเสริมในกลุ่ม A2 และ A3 ของกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลและกำหนดการขยายโครงข่าย วาระเพื่อทราบสถานการดำเนินการตรวจสอบผลกระทบจากการใช้สิ่งอำนวยความสะดวกระบบสำรองเป็นการชั่วคราวในการติดตั้งสถานีวิทยุคมนาคมเพื่อให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล และวาระอื่นๆ ติดตามได้ในการประชุมวันจันทร์นี้
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หมายเหตุประเพทไทย #120 ฤาเอลซาใน Frozen จะมีแฟนสาว

$
0
0

หมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้ คำ ผกา และ ชานันท์ ยอดหงษ์ พูดคุยกันเรื่องภาพยนตร์การ์ตูนจากวอลต์ ดิสนีย์ เรื่อง Frozen หรือ ผจญภัยแดนคำสาปราชินีหิมะ ที่ตัวละครหลักของเรื่องอย่างเจ้าหญิงเอลซา ที่มีความสามารถพิเศษเสกน้ำแข็งได้ตามใจสั่ง ทั้งนี้มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าคาแรคเตอร์ของเจ้าหญิงเอลซามีลักษณะโปรโมตภาพลักษณ์ที่ดีของ LGBT หรือผู้มีความหลากหลายทางเพศ จนมีแคมเปญในทวิตเตอร์ติดแฮชแท็ก #GIVEELSAAGIRLFRIEND เพื่อให้วอลต์ ดิสนีย์ หาแฟนสาวให้เอลซาใน Frozen ภาค 2

ภาพยนตร์การ์ตูนเรื่องนี้เป็นหมุดหมายหนึ่งของการยอมรับความหลากหลายทางเพศในสังคม หรือเป็นเพียงการตอบสนองต่อพลังผู้บริโภค ติดตามได้ในรายการหมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้

ติดตามรายการหมายเหตุประเพทไทยย้อนหลังที่

https://www.facebook.com/maihetpraphetthai หรือ

https://www.youtube.com/playlist?list=PLyjd9jzMpO2Xby4FyxWMwY8auIFY01eVQ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เกษตรกรญี่ปุ่นขาดแคลน การใช้แรงงานผิดกฎหมายพุ่ง

$
0
0

จำนวนคนหนุ่มสาววัยทำงานที่เป็นเกษตรกรในญี่ปุ่นลดจำนวนลงเรื่อย ๆ ที่เหลือกว่า 2 ใน 3 มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ทำให้ผู้ประกอบการด้านการเกษตรต้องหันไปใช้แรงงานต่างชาติที่ผิดกฎหมายเพิ่มขึ้น

เกษตรกรในญี่ปุ่น 2 ใน 3 มีอายุ 65 ปีหรือมากกว่า ทำให้มีการใช้แรงงานต่างชาติผิดกฎหมายเพิ่มขึ้น (ที่มาภาพประกอบ: flickr.com/emrank/CC BY 2.0)

ปลายเดือน ส.ค. 2559 ที่ผ่านมาสำนักข่าว Boombergรายงานว่าการลดจำนวนลงของเกษตรกรวัยทำงานและคนหนุ่มสาวในภาคการเกษตร ได้เปิดโอกาสให้แรงงานต่างชาติซึ่งรวมทั้งแรงงานเถื่อนผิดกฎหมายที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น

จากข้อมูลของกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และการประมงของญี่ปุ่นพบว่าจำนวนเกษตรกรลดลงประมาณครึ่งหนึ่งตั้งแต่แต่ปี 2543 และคาดว่าจะมีต่ำกว่า 2 ล้านคนในปีนี้ จากที่เคยมีสูงเกือบ 6 ล้านคนในปี 2528  และที่เหลืออยู่ในปัจจุบันนั้นสัดส่วนถึง 2 ใน 3 ก็เป็นเกษตรกรที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป

แม้การส่งออกของภาคการเกษตรญี่ปุ่นสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา แต่หากญี่ปุ่นเข้าร่วมข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership: TPP) การแข่งขันในภาคนี้กับประเทศที่เข้าร่วม TPP ทั้ง 12 ประเทศก็จะสูงขึ้น ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันวิจัยด้านการเกษตร Norinchukin ระบุว่าปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการเกษตรนั้นย่อมจะส่งผลต่อการส่งออกสินค้าในภาคนี้

โดยทั่วไปแล้วญี่ปุ่นจะกีดกันแรงงานต่างชาติ ซึ่งหากผู้ประกอบการมีความต้องการที่จะใช้แรงงานต่างชาติก็ต้องเข้าร่วมโปรแกรมการใช้แรงงานข้ามชาติแบบฝึกงานผ่านองค์กร IM (Association for International Manpower Development of Medium and Small Enterprises, Japan) และในภาคการเกษตรมีความจำเป็นที่ต้องใช้แรงงานเหล่านี้สูงขึ้นทุกปี ๆ โดยในปี 2556 มีการใช้แรงงานจากโครงการนี้ถึง 7,000 คน ซึ่งเพิ่มขึ้น 2 เท่าจากปี 2550

ผู้ประกอบการด้านการเกษตรจึงหันไปใช้แรงงานต่างชาติผิดกฎหมายมากขึ้นด้วย โดยข้อมูลของกระทรวงยุติธรรมญี่ปุ่นระบุว่ามีแรงงานต่างชาติผิดกฎหมายในภาคการเกษตรที่โดนส่งตัวกลับประเทศเมื่อปี 2558 ที่ผ่านมาถึง 1,744 คน เพิ่มขึ้นจาก 3 ปีก่อนถึง 3 เท่าตัว ทั้งนี้มีการประมาณการว่า ณ วันที่ 1 ม.ค. 2559 มีชาวต่างชาติที่อยู่ในญี่ปุ่นอย่างผิดกฎหมายอยู่ประมาณ 60,000 คน

อนึ่งเมื่อเดือน เม.ย. 2559 ที่ผ่านมาเว็บไซต์ japantimes.co.jpอ้างรายงานของสำนักข่าวเกียวโดว่าจำนวนแรงงานต่างชาติในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเมื่อปี 2558 (ณ สิ้นเดือน ต.ค.) มีแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในญี่ปุ่นถึง 910,000 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ที่มี 686,000 คน ปี 2555 มี 682,000 คน ปี 2556 มี 718,000 คน และปี 2557 ที่มี 788,000 คน

โดยจากสถิติ ณ สิ้นเดือน ต.ค. 2558 พบว่าจำนวนแรงงานต่างชาติในญี่ปุ่นนั้นมีแรงงานจีนมากที่สุดประมาณร้อยละ 35.5 ของแรงงานต่างชาติทั้งหมดในญี่ปุ่น รองลงมาคือ เวียดนาม, ฟิลิปปินส์ และบราซิลตามลำดับ ทั้งนี้ยังพบว่าแรงงานเนปาลในญี่ปุ่นก็มีอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน โดยส่วนใหญ่แล้วแรงงานต่างชาติจะทำงานโรงงานขนาดเล็กและขนาดกลาง แต่ปัจจุบันพบว่าบริษัทขนาดใหญ่ในภาคบริการก็เริ่มใช้แรงงานชาวต่างชาติเพิ่มมากขึ้นแล้วเช่นกัน โดยร้อยละ 30 ของแรงงานต่างชาติทั้งหมด ตามมาด้วยจังหวัดไอจิ เมืองอุตสาหกรรมอันเป็นที่ตั้งของบริษัท โตโยต้า และจังหวัดคานางาวะ ตามลำดับ

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คำสารภาพของประชาสังคมไทย (คนหนึ่ง)

$
0
0

พรุ่งนี้ ได้รับคำขวนให้ไปวิพากษ์ขบวนการภาคประชาสังคมของไทย พร้อมข้อเสนอแนะเชิงยุทธศาสตร์

แต่เนื่องจากผมเองก็เป็นภาคประชาสังคมคนหนึ่งด้วย คำชวนดังกล่าวจึงคล้ายกับการเชิญไปร่วมทำฮาราคีรี สารภาพความผิดของตนเอง ผมจึงต้องเตรียมตัวเขียนคำสารภาพความผิดของตนเองในคืนนี้

ผมคิดว่า พวกเราต้องเผชิญหน้ากับความจริง 5 ประการที่ไม่ค่อยจะโสภาสักเท่าไร

หนึ่ง พวกเราจำนวนไม่น้อยไม่ได้แคร์กับสิทธิเสรีภาพของประชาชน มากกว่าสิทธิเสรีภาพในประเด็นที่เราเคลื่อนไหวอยู่ หรือพี่น้องที่เราร่วมเคลื่อนไหวอยู่ ตัวอย่างเช่น พวกเราภาคประชาสังคมจำนวนไม่น้อยจึงรู้สึกเฉยๆ กับการคุมขังน้องไผ่ ดาวดิน ทั้งที่น้องเขาเพียงแค่รณรงค์เรื่องการลงประชามติ ซึ่งก็เหมือนกับเรารณรงค์เรื่อง GMOs เรื่องเหมืองทอง เรื่องพลังงาน เรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ ฯลฯ

การเพิกเฉยของพวกเรา (ส่วนหนึ่ง) ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ทำให้พวกเรามีสภาพคล้ายแยกเป็นเสี่ยงๆ ตามแต่ละประเด็นที่เราแคร์ตรงกันเท่านั้น แต่สิทธิเสรีภาพของประชาชนไม่ใช่หลักการ “ถ้วนหน้า” ที่เรายึดถืออีกต่อไป พลังของเราจึงค่อยๆ ลดทอนลง เหลือเพียงพลังของเพื่อนที่รู้จักมักคุ้นและทำงานร่วมกัน

สองพวกเรากำลังตกอยู่ในวังวงของระบบอุปถัมภ์ของภาครัฐมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อแลกกับโอกาสในการผลักดันนโยบายและการได้รับการสนับสนุนตามกลไกของภาครัฐ การกล่าวเช่นนี้ มิได้หมายความว่า ภาคประชาสังคมควรแยกตัวออกจากกลไกของรัฐ ผมเองก็เข้าร่วมกลไกของภาครัฐในหลายส่วนเช่นเรื่องปากมูล โรงไฟฟ้ากระบี่

แต่เราก็คงจะต้องยอมรับข้อเท็จจริงว่า เพื่อรักษาโอกาสที่ภาครัฐเปิดให้ พวกเราหลายคน (รวมถึงผมด้วย) ก็จำเป็นที่จะต้องเงียบเสียงลงในบางจังหวะ หรือเปล่งเสียงในท่าทีที่ไม่ดูสวนทางกับแนวทางของภาครัฐจนมากเกินไป หรือแม้กระทั่งบางท่านก็อาจจะพยายามนำท่อนฮุคในนโยบายของรัฐ (ช่วงนี้ก็ 4.0 และประชารัฐ) มาใส่ในคำพูดของตนเองให้บ่อยขึ้นและเนียนขึ้น เผื่อว่าจะได้รับโอกาสที่มากขึ้นจากภาครัฐ

แต่ในขณะที่เราพยายามรักษาโอกาสอันน้อยนิดของเราเอาไว้ กลับกลายเป็นสิ่งที่เราเคยเชื่อ และเคยชวนให้สังคมนี้ยึดถือเช่น หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เรียนฟรีและการศึกษาทางเลือก หรือการสร้างสุขภาวะองค์รวม กลับถูกภาครัฐตั้งคำถามและรุกคืบอย่างต่อเนื่อง ส่วนพวกเราหลายๆ คนก็ทำได้เพียง “ใจเย็นๆ” เพื่อรักษาโอกาสอันน้อยนิด และน้อยลงเรื่อยของเราเอาไว้

สามพวกเรายังชอบอยู่ใน comfort zone อันทรงคุณค่าของพวกเรา เราจึงมีเวทีของเรา มีภาษาของเรา มีลีลาของเรา ที่แม้จะเปี่ยมด้วยคุณค่า (ที่เราเชื่อ) แต่เราก็แทบจะไม่ได้นำคุณค่านั้นไปแลกเปลี่ยนในเวทีและในรูปแบบที่เราไม่ถนัด เราแทบไม่เคยทำงานร่วมป็อบคัลเจอร์หรือวัฒนธรรมกระแสหลักอย่างจริงจัง เราคุ้นเคยกับการตั้งคำถามต่อป็อบคัลเจอร์อยู่ห่างๆ (เช่น ทำไมต้องไล่จับโปเกม่อน?) มากกว่าการร่วมคิด/ร่วมเสนอถึงสิ่งที่เปี่ยมคุณค่ามากกว่านั้น (เช่น เราจะใช้เทคโนโลยี augmented reality ที่ใช้ในโปเกม่อนโก เพื่องานจิตอาสาได้อย่างไร?)

การอยู่ใน comfort zone ทำให้พวกเราแคบลงเรื่อยๆ ช้าลงเรื่อยๆ และเหนื่อยขึ้นเรื่อยๆ ในการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ในสังคมนี้

สี่ พวกเรายังมุ่งขยายความห่วงกังวล มากกว่าขยายความหวัง เราจะเห็นได้ชัดเจนว่า ข้อความเชิงห่วงกังวลของเรายังคงขายดีในสื่อกระแสหลักและสื่อสังคมออนไลน์ ในขณะที่ผู้เสนอขายความหวังกลับกลายเป็นภาครัฐ (เช่น มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน) หรือภาคเอกชน (ผลิตภัณฑ์เพื่อชีวิตที่ดีกว่า-ถ้ามีเงิน)

ผมเชื่อว่า สังคมเข้าถึงข้อความของเรามานานแล้ว และยังเข้าถึงอยู่เสมอ จนสังคมมองเราอย่างเข้าใจแล้วละว่า เราห่วงกังวล แต่สังคมไม่เข้าใจว่า “แล้วจะให้เขาทำอย่างไร” สังคมจึงพร้อมที่จะฝากความหวังไว้กับท่อนฮุคในนโยบายของภาครัฐ (ไม่ได้หมายถึงเฉพาะแค่รัฐบาล คสช.) มากกว่า แม้จะรู้ดีว่า ส่วนใหญ่ก็ฝากความหวังไม่ได้เช่นกัน

เราคงจะต้องเริ่มคิดแล้วละว่า“เราจะขยายความหวังของเราได้อย่างไร?” และนั่นก็เป็นหนึ่งในพื้นที่นอก comfort zone ของเราเช่นกัน

ห้าสุดท้ายแล้ว ผมรู้สึกว่า แม้ว่าเราจะเรียกตนเองว่า “ประชาสังคม” แต่พวกเรา (ส่วนหนึ่ง) ไม่ได้เชื่อในอำนาจอัน “ชอบธรรม” ของประชาชนทุกคน เรา (บางคน) กลับคิดว่าภาค “ประชาสังคม” ทำหน้าที่เหมือนการขัดเกลาให้พวกเรามีสิทธิในอำนาจอัน “ชอบธรรม” นั้น แต่ประชาชนอื่นๆ ที่ยังไม่ผ่านการขัดเกลาอันทรงคุณค่าของเรา ยัง “ไม่มีความพร้อม” มากพอที่ได้รับอำนาจอันชอบธรรมนั้น พวกเราบางคนถึงขึ้นขวนขวายที่จะบัญญัติ “ความพร้อม” ในการได้รับอำนาจอันชอบธรรมนั้น ไว้ในรัฐธรรมนูญในรูปแบบต่างๆ กัน

แต่ผมว่า การที่เรา “ยกระดับ” ตนเองออกมาจาก “ประชาชน” (ทั่วไป) กลับทำให้เราล่องลอยออกมาจากปัญหาที่แท้จริง ล่องลอยออกจากความรู้สึกที่แท้จริง ล่องลอยออกมาจากความหวังที่แท้จริง และล่องลอยออกมาจากพลังที่แท้จริงของสังคมนี้ จนพลังของเราน้อยลงเรื่อยๆ และต้องพึ่งพากับอุปถัมภ์ของรัฐมากขึ้นเรื่อยๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว

ผมคิดว่า ภายใต้ความเป็นจริงทั้ง 5 ข้อ ลำดับแรก เราคงต้องตั้งหลักทบทวนกันใหม่ว่า อะไรคือหลักการ “ถ้วนหน้า” อันเป็นพื้นฐานของภาคประชาสังคมไทย คำว่าหลักการถ้วนหน้าแปลว่า ไม่ว่าคุณจะคิดต่างจากผมเพียงใด คุณจะเชียร์ฝ่ายการเมืองใด หรือจะดูกวนตีนเพียงใดก็ตาม ตราบใดก็ตามที่คุณยังใช้สิทธิเสรีภาพตามหลักการ “ถ้วนหน้า” นี้ คุณย่อมจะได้รับการคุ้มครอง หรืออย่างน้อยก็รับกำลังใจและความปรารถนาดีจากภาคประชาสังคมไทย

หากปราศจากการทบทวนและการยึดมั่นในหลักการ “ถ้วนหน้า” ภาคประชาสังคมของเราก็คงไม่แตกต่างเครือข่ายของคนที่ทำงานด้านเดียวกัน หรือรู้จักชอบพอกัน ได้มีโอกาสทำสิ่งดีร่วมกัน ภายใต้การอุปถัมภ์แบบจำกัดจำเขี่ยของภาครัฐ และภายใต้การเพิกเฉยของเพื่อนๆและประชาชนที่คิดต่างจากเรา (รวมถึงภาครัฐด้วย)

ลำดับถัดมา ผมคิดว่า เราคงต้อง “ดำดิ่ง” ลงไปในห้วงความคิดและความเป็นอยู่ของประชาชน ไปเรียนรู้และค้นหา กับประชาชนกลุ่มต่างๆ ที่แตกต่างจากเรา จนกว่า “ความหวัง” และ “พลัง” มันจะ “ผุด” ขึ้นมา และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ใช่เราคอยเฝ้า “ขัดเกลา” และหวังว่าจะส่งมอบทางออกในแบบแผนที่เราคุ้นเคยให้กับพวกเขา เหมือนที่ผ่านๆ มา

นั่นแปลว่า เราต้องก้าวออกจาก comfort zone ของเราบ้าง และลองทำงานกับผู้คนที่แตกต่างจากเรา ในรูปแบบที่แตกต่างจากที่เราเคยทำมา ในเป้าหมายที่เราอาจยังไม่แน่ใจ และในผลลัพธ์ที่เราไม่อาจคาดเดาได้ในตอนต้น (ไม่ใช่ทำงานเพื่อให้ได้ KPI เป็นหลัก แบบที่ภาครัฐพยายามชักชวนเรา)

สุดท้าย ผมคิดว่าเราต้องเข้าใจกันใหม่ว่า การหวังพึ่งการอุปถัมภ์ของภาครัฐ แม้ไม่ใช่สิ่งที่ต้องห้าม แต่ไม่ใช่ยุทธศาสตร์หลักในการทำงานของเรา การได้รับการตอบรับจากประชาชน รวมถึงการระดมทรัพยากรจากประชาชนที่เกี่ยวข้อง (รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) ต่างหากที่เป็นเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ที่แท้จริงของภาคประชาสังคม

แม้กระทั่ง การสนับสนุนของภาครัฐที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ก็ไม่ควรเกิดจากความเมตตาปราณี หรือวิสัยทัศน์สุดล้ำของท่านผู้นำบางคน แม้ว่ามันไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่มันเป็นเรื่องที่ไม่ยั่งยืน เหมือนที่ภาครัฐกำลังกลับมากระทำอยู่กับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สวัสดิการเรียนฟรี และอื่นๆ

เพราะฉะนั้น การสนับสนุนจากภาครัฐที่ยั่งยืนสำหรับภาคประชาสังคมจะต้องเป็นการสนับสนุนที่เกิดมาจากความต้องการที่แน่ชัดและแรงผลักดันที่เปี่ยมพลังของ “ประชาชน” เท่านั้น

ประชาชนที่มีอำนาจอันชอบธรรมเท่าๆ กับเรา และเท่าๆกับทุกคนในสังคมนี้

 

ปล.ผมพร้อมแล้วสำหรับการสารภาพผิดในวันพรุ่งนี้ ขอบคุณมากครับ

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: ประชามติใต้เบื้องบาท

$
0
0

 

ประชามติ บาทเบื้อง ทุรชน
อำนาจอำมาตย์ดล ป่นปี้
เสียงมากฝากปืนกล กากบาท
ทุรยุทธิ์ฉุดทึ้ง ท่าวท้นธรรมนูญ

ประวัติศาสตร์ยอกย้อน ย่อยยับ
ดาวร่วงด่าวดับ  ลับหล้า
ผืนฟ้าอับทาบทับ คับแค้น
เจ็บแสนแบบใบ้บ้า  บีบเค้นคนไทย

ทุกข์เทวษเปรตปล้น  จนใจ
อีกกี่ชาติไฉน  อยู่ได้
อีกกี่เลือดรินไหล จึงเกิด
อธิปไตยเทิดไว้ ทวยไท้ ตลอดไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

การนอนในฐานะศิลปะแห่งการยักย้ายถ่ายเทพื้นที่

$
0
0


ที่มาภาพ:เฟซบุ๊ก Norapat KamMart

อันที่จริงคงต้องกล่าวว่าผลงานของนักศึกษาสาขาวิชาศิลปะการถ่ายภาพชั้นปีที่สอง ซึ่งเป็นข่าวอยู่ตอนนี้ ไม่ได้มีความโดดเด่นอะไรในตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของเทคนิคการถ่ายภาพและเทคนิคการนำเสนอ เนื่องจากผลงานในลักษณะนี้เคยปรากฏขึ้นมานานแล้วในแวดวงการถ่ายภาพในฐานะที่เป็นการสร้างสรรค์ผลงานทางศิลปะ พลังที่ดูโดดเด่นที่สุดของผลงานชิ้นนี้คือ การนำเสนอดังกล่าวถูกทักท้วงจากหน่วยงานตำรวจให้มีการห้ามปรามและตักเตือนนักศึกษาผ่านอาจารย์ โดยส่วนตัว ผมคิดว่าจะโดยตั้งใจหรือไมตั้งใจ นี่คือความความสำเร็จของการทำงานศิลปะ โดยเฉพาะการชี้ชวนให้สังคมตั้งคำถามและปั่นป่วนอำนาจเชิงสถาบันให้รู้สึกร้อนหนาวขึ้นมาบ้าง

ในการนี้ ผมขอตั้งข้อสังเกตถึงปฏิกริยาที่มีต่อ "การนอน" ดังนี้


1. ชีวิตของมนุษย์โดยทั่วไปดำรงอยู่ได้ในพื้นที่ประเภทต่างๆ มนุษย์อาจเป็นผู้สร้างสรรค์และจัดแบ่งพื้นที่เป็นประเภทต่างๆ แต่พวกเขาล้วนถูกพื้นที่ดังกล่าว "จัดการและควบคุม" ชีวิตด้วยเช่นกัน เนื่องมาจาก "พื้นที่ทางกายภาพ" ล้วนเป็นแหล่งรวมของกฎระเบียบและการควบคุมทางสังคมอยู่เสนอ มโนทัศน์เรื่องพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่สาธารณะเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาควบคู่กับการสร้างสังคมสมัยใหม่ให้เป็นไปตามทิศทางที่รัฐสมัยใหม่กำกับ กิจกรรมบางประเภทจึงกลายเป็นเรื่องส่วนตัวเช่น การร่วมเพศ, การเปลือยกาย, การนอน, การเปลี่ยนเสื้อผ้า จึงกลายเป็นสิ่งที่ต้องทำในพื้นที่ส่วนตัว ไม่อาจทำได้ในพื้นที่สาธารณะ ทั้งที่ก่อนกลไกการแยกพื้นที่ประเภทนี้เกิดขึ้น กิจกรรมดังกล่าวอาจเกิดขึ้นในลักษณะคาบเกี่ยวระหว่างที่ลับกับที่แจ้ง ไม่ก็ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นเรื่องอนาจารแต่อย่างไร

การนอนในสังคมสมัยใหม่จึงผูกโยงกับห้องหับส่วนตัวหรือสถานที่ซึ่งเตรียมขึ้นเพื่อการนี้โดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม, หอพัก ฯลฯ กิจกรรมประเภทนี้จึงมิอาจเกิดขึ้นได้ในพื้นที่สาธารณะ และโดยข้อเท็จจริง ผู้ที่นอนในพื้นที่สาธารณะอย่างเป็นประจำ เช่น คนไร้บ้าน ก็มักจะถูกจัดประเภทว่าเป็นคนที่ไร้ศักยภาพและสร้างปัญหาให้กับผู้อื่นหรือสังคมโดยรวม นี่คือ มายาคติว่าด้วยเรื่องพื้นที่ซึ่งถูกสร้างขึ้นในสังคมสมัยใหม่


2. เวลาเราจะครุ่นคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะในสังคมไทย การคิดผ่านแนวความคิดเรื่องปริมณฑลสาธารณะ (Public Sphere) ของฮาเบอร์มาส เนื่องจากแนวคิดนี้ วางบนพื้นฐานของการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทางกายภาพมาสู่พื้นที่ทางความคิดและสร้างการเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกันพื้นที่กายภาพดังกล่าวก็เป็นพื้นที่ใหม่ในการพบปะสังสรรค์และยังไม่ได้มีการควบคุมหรือตรวจตรามากมายเพียงอย่างไร ขณะที่พื้นที่สาธารณะของรัฐไทยในฐานะรัฐสมัยใหม่ มันคือพื้นที่ในการควบคุมตรวจตราอย่างมีระเบียบแบบแผน เราเดินบนฟุตบาทคือพื้นที่ของเทศบาล เดินบนถนนคือพื้นที่ของกรมทาง รูระบายน้ำข้างทางก็อาจเป็นพื้นที่ซ้อนทับกันระหว่างการปะปากับเทศบาล ขึ้นไปบนตึกก็คือสถานที่ราชการ เข้าไปในป่าก็เป็นพื้นที่ของกรมป่าไม้ กระโดดลงน้ำปิงไปก็เป็นพื้นที่ซ้อนทับกันระหว่างกรมชลกับเทศบาล เข้าสวนสาธารณะก็เป็นพื้นที่ของส่วนราชการ

พื้นที่สาธารณะในสังคมไทยจึงเต็มไปด้วยการควบคุมและชีวิตประจำวันของเราล้วนตัดผ่านพื้นที่เหล่านี้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการเดิน การวิ่ง การขับรถ ฯลฯ การดำรงอยู่ของมนุษย์ในรัฐสมับใหม่โดยทั่วไปจึงอยู่ในพื้นที่และการจัดประเภทของพื้นที่ซึ่งรัฐเป็นผู้ควบคุม กล่าวอีกแบบคือ รัฐไม่ได้ควบคุมประชากรโดยตรงแต่ควบคุมผ่านพื้นที่นั่นเอง


3. ผลงานของนักศึกษาว่าด้วยการนำหมอนและผ้าห่มไปนอนตามพื้นที่สาธารณะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแยกไฟแดงหน้าเมญ่า, หน้าตึกเรียน, บันไดขึ้นดอยสุเทพและขัวเหล็กเป็นต้น ด้านหนึ่งจึงเป็นการตั้งคำถามต่อมโนทัศน์ว่าด้วยด้วยการจัดแบ่งพื้นที่ดังกล่าว ผ่านกระบวนการสลับเปลี่ยนการใช้พื้นที่ มองผิวเผินอาจเป็นแค่กิจกรรมที่กวนอารมณ์ธรรมดา ทว่าอีกด้านหนึ่งเราอาจพิจารณาได้ว่ามันคือการยักย้ายถ่ายเทพื้นที่จากที่เคยถูกแยกออกจากกันให้หันมาซ้อนทับและบรรจบขึ้นใน "ชั่วขณะ"

สภาวะเช่นนี้เองสะท้อนให้เห็นถึงการเพิกเฉยต่อการควบคุมของรัฐในเชิงพื้นที่ ช่วงเวลาชั่วขณะที่เขาเอาหมอนและผ้าห่มไปนอนตามที่ต่างๆ นั่นเองกลับสะท้อนให้เห็นถึงการจัดการพื้นที่สาธารณะที่แสนอนาถอนาถาของรัฐ ความจำกัดจำเขี่ยของพื้นที่ในการมีชีวิตอยู่ในสังคมสมัยใหม่ อาทิ ความล้มเหลวในการจัดการระบบจราจรของเชียงใหม่ (หรืออาจรวมถึงเมืองอื่นๆ) ซึ่งทำให้คนจำนวนมากอยู่บนพื้นที่สาธารณะอย่างสูญเปล่าและเสี่ยงต่อความเจ็บป่วย หรือการนอนหน้าตึกเรียนรวมก็อาจเป็นการส่งสารถึงการออกแบบตึกที่ใหญ่โตดูเป็นสง่า แต่ไร้ประสิทธิภาพในแง่ของการใช้สอย เป็นต้น ในห้วงขณะของการนอนนี่เองจึงเป็นเสมือนการสร้างพื้นที่แห่งใหม่หรือพื้นที่ที่สาม พลังของพื้นที่ในลักษณะนี้คือการกระตุกต่อมคิด,ท้าทาย, และชี้ชวนให้เห็นถึงข้อจำกัดของพื้นที่ซึ่งถูกจัดการอย่างล้มเหลวมาโดยตลอด


4. ผลงานของนักศึกษาท่านนี้จึงประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในแง่ของการถ่ายภาพศิลปะ สภาวะห้วงขณะของการวางหมอนและห่มผ้าในพื้นที่ต่างๆ อาจมีระยะเวลาที่ต่างกัน ตรงแยกไฟแดงอาจถูกควบคุมด้วยระยะเวลาของไฟแดง และหลายๆ ที่อาจถูกควบคุมด้วยเงื่อนไขที่ต่างออกไป ทว่า ห้วงขณะนั้นไม่ได้สิ้นสุดด้วยเสียงของการกดชัตเตอร์ที่จบลง ทว่า สภาวะห้วงขณะดังกล่าว ได้เกิดการยักย้ายถ่ายเทพื้นที่ครั้งที่สอง ผ่านกระบวนการสร้างเป็นไฟล์แล้วอัพขึ้นบนโลกออนไลน์

ชายคนที่นอนบนพื้นที่สาธารณะนั้นไม่ได้นอนบนพื้นที่ทางกายภาพที่รัฐควบคุมเพียงอย่างเดียว ทว่า เขาได้ "นอนบนภาพถ่าย" ซึ่งถูกส่งต่อ ปรับเปลี่ยน และผลิตซ้ำบนโลกออนไลน์อยู่ตลอดเวลาการยักย้ายถ่ายพื้นที่ในลักษณะนี้เองจึงมีพลังสำคัญในการเปลี่ยนแปลงและตั้งคำถามสำคัญต่อไป ด้านหนึ่งอำนาจในการควบคุมของรัฐในระดับต่างๆ อาจเข้ามาตรวจตราโลกออนไลน์และรับทราบข่าวสะดวกสบายขึ้น ทว่า อีกด้าน การยักย้ายถ่ายเทพื้นที่ระหว่างโลกออฟไลน์และออนไลน์ก็ยังคงเป็นประเด็นสำคัญในการวิพากษ์วิจารณ์ความล้มเหลวของอำนาจรัฐที่มักควบคุมประชากรผ่านพื้นที่ด้วยระบบอันล้มเหลวและไร้ความเป็นธรรมตลอดเวลา

5. มนุษย์ในภาพรวมล้วนปรารถนาที่จะมีพื้นที่ซึ่งตนสามารถเป็นตนเองได้มากที่สุด ควบคู่กับการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม ความสัมพันธ์ลักษณะนี้มักเป็นแรงตึงที่รัฐมักเข้ามาจัดการและวางระเบียบต่างๆไว้มากมาย ผลงานการถ่ายภาพของนักศึกษาท่านนี้ชี้ชวนให้เราจินตนาการถึงพื้นที่อันปรารถนาและพวกเราล้วนสูญเสียมันไปและไม่มีสิทธิในการจัดการพื้นที่ พวกเราล้วนเป็นเพียงร่างอันเปลือยเปล่าที่ถูกควบคุมด้วยวิธีการต่างๆ

ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ผลงานนี้ก็ชี้ให้เราเห็นอีกว่า โดยแท้จริงแล้วพวกเราล้วนสามารถขัดขืนระเบียบการจัดการพื้นที่ของรัฐสมัยใหม่ได้ในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่เพียงแค่การนอนในฐานะภาพถ่ายศิลปะแบบนี้เท่านั้น ทว่ายังชี้ชวนให้เห็นถึงศักยภาพของผู้คนที่พยายามขัดขืนอำนาจผ่านการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ อาทิ การเปลี่ยนพื้นที่ริมตลิ่ง (ซึ่งอยู่ในการควบคุมของหน่วยงานราชการ) ให้กลายเป็นสวนผัก, การแอบวางแผงขายของเล็กๆ ตามฟุตบาททางเท้า เป็นต้น ทั้งหมดนี้คือ การเปลี่ยนแปลงพื้นที่สาธารณะที่จืดชืดให้กลายเป็นพื้นที่ชีวิตแทบทั้งสิ้น

ทั้งนี้ยังมิพักต้องเอ่ยถึงการเปลี่ยนแปลงความหมายในเชิงพื้นที่ของชุมชนชาติพันธุ์บนดอยสูงในฐานะที่เป็นป่าชุมชนไม่ใช่ป่าอนุรักษ์ตามความหมายของหน่วยงานราชการ

เราหันมาสร้างพื้นที่ที่เราสามารถจินตนาการได้ด้วยตัวเองกันเถอะครับ ในรัฐที่ใช้อำนาจบงการและคุกคามอิสระภาพของผู้คน จินตนาการว่าด้วยพื้นที่ซึ่งต่างออกไปจะเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เรายังคงสามารถรักษาเสรีภาพเอาไว้ได้

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อัยการสั่งฟ้อง 4 นักกกิจกรรม 1 นักข่าว ศาลให้ประกันตัว คดี"น่าเชื่อว่าจะแจก" เอกสารประชามติ

$
0
0

อัยการสั่งฟ้องคดี 4 นักกิจกรรมและ 1 นักข่าว ผิด ม.61 พ.ร.บ.ประชามติ กรณี "น่าเชื่อว่าจะแจก" เอกสารประชามติที่ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ทั้งหมดยื่นประกันด้วยหลักทรัพย์เดิมที่ใช้ในชั้นสอบสวนคนละ 1.4 แสนบาท ศาลราชบุรีให้ประกันตัว นัดสมานฉันท์ 21 ก.ย.นี้ 


 

29 ส.ค.2559 ที่ศาลจังหวัดราชบุรี อัยการสั่งฟ้องนักกิจกรรมนักข่าว 5 คนในความผิดมาตรา 61 วรรคสองของพ.ร.บ.ประชามติ โดยทั้ง 5 คนเดินทางมารายงานตัวกับศาลจังหวัดราชบุรีและทั้งหมดให้การปฎิเสธข้อกล่าวหา จากนั้นยื่นประกันตัวด้วยหลักทรัพย์เดิมในชั้นตำรวจ คือ เงินสด คนละ 1.4 แสนบาท ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวและนัดสมานฉันท์วันที่ 21 ก.ย.2559 นัดพร้อมตรวจพยานหลักฐาน 17 ต.ค.2559 เวลา 8.30 น.ที่ศาลจังหวัดราชบุรี

ทนายความจำเลยอธิบายว่า นัดสมานฉันท์เป็นนโยบายบริหารจัดการคดีของศาลยุติธรรมเพื่อให้คดีเสร็จรวดเร็ว กระบวนการก็คือจะถามอีกครั้งหลังสอบคำให้การไปแล้วว่า จำเลยจะรับสารภาพหรือปฏิเสธ

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ภายหลังได้รับการประกันตัว ศาลเรียกทนายจำเลยทั้งหมดพูดคุยราว 15 นาที ภายหลังเสร็จสิ้นการพูดคุย ทนายระบุว่า เป็นการชี้แจงระเบียบปฏิบัติของการนัดสมานฉันท์ และทำความเข้าใจการดำเนินคดีในศาลราชบุรี

5 คนประกอบด้วย นักกิจกรรม 4 คน และนักข่าว 1 คน ได้แก่ ปกรณ์ อารีกุล, อนุชา รุ่งมรกต, อนันต์ โลเกตุ สมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ภานุวัฒน์ ทรงสวัสดิ์ชัย นักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้ และทวีศักดิ์ เกิดโภคา ผู้สื่อข่าวประชาไท เหตุเกิดสืบเนื่องจากนักกิจกรรม 4 คนเดินทางเดินทางไปให้กำลังใจชาวบ้าน 23 คนที่ถูกเรียกรายงานตัวฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. จากกรณีการเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ ส่วนผู้สื่อข่าวได้ติดรถไปทำข่าวดังกล่าวเมื่อวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา จากนั้นตำรวจได้ตรวจค้นรถที่ทั้งหมดโดยสารมาและพบเอกสารความเห็นแย้งร่างรัฐธรรมนูญ และรณรงค์โหวตโนหลายรายการในรถดังกล่าวจึงจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหาโดยระบุว่ามีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าจะแจกจ่ายเอกสารดังกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ตามในคำสั่งฟ้องของอัยการระบุถึงสติ๊กเกอร์โหวตโนเพียงรายการเดียว โดยเขียนว่า "จำเลยทั้งห้าร่วมกันกระทำความผิดโดยการแจกจ่ายสติ๊กเกอร์ข้อความ "7 สิงหา Vote No ไม่รับกับอนาคตที่ไม่ได้เลือก" ซึ่งเป็นการเผยแพร่ข้อความในช่องทางอื่นใดที่ผิดจากข้อเท็จจริง มีลักษณะปลุกระดม โดยมุ่งให้ไม่ไปใช้สิทธิ ออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง อันเป็นการร่วมกันกระทำความผิดของคณะบุคคลตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ในการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย มาตรา 61 วรรคสอง พ.ร.บ.ประชามติ โดยอัยการขอให้ลงโทษเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปีและริบของกลางทั้งหมด

ส่วนในบันทึกการจับกุมของตำรวจก่อนหน้านี้ระบุถึงของกลางที่ตรวจพบบนรถว่า พบของกลาง คือ แผ่นไวนิลข้อความ "นายกไทยใครๆ ก็โดนล้อ" 1  แผ่น ไมโครโฟน ลำโพง ที่่คั่นหนังสือ "โหวตโน" , จุลสาร การออกเสียง จำนวน 66 ฉบับ, แผ่นเอกสาร ปล่อย 7 นักโทษประชามติโดยไม่มีเงื่อนไข 21 แผ่น, แผ่นเอกสาร ความเห็นแย้ง 2 ฉบับ, เอกสารแถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ ฉบับลงประชามติ 9 ฉบับ, เอกสารจะใช้สิทธิลงประชามตินอกเขตจังหวัดทำอย่างไร 70 ฉบับ และสติ๊กเกอร์โหวตโนจำนวนมาก

ภายหลังได้รับการประกันตัวในชั้นศาล อนันต์ โลเกตุ หนึ่งในจำเลยคดีให้สัมภาษณ์ว่า ดูจากสำนวนแล้ว ไม่ตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะตนเองไม่ได้ทำตั้งแต่แรก วันดังกล่าวมีเจตนามาเยี่ยมผู้ต้องการคดีศูนย์ปราบโกง ที่บ้านโป่ง ซึ่งโดนความผิด 3/58 เช่นเดียวกับตนเอง (คดีที่สภ.บางเสาธง)

"ประชามติน่าจะอิสระกว่านี้ ในสากล รณรงค์ได้ เราไม่สามารถบังคับให้ใครออกเสียงเหมือนเราได้" อนันต์กล่าว

ปกรณ์ อารีกุล หรือแมน หนึ่งในจำเลยคดีนี้ให้สัมภาษณ์ว่า เห็นคำฟ้องอัยการแล้วรู้สึกแปลกใจที่ระบุว่าจำเลยแจกสติ๊กเกอร์ ขัด พ.ร.บ.ประชามติ ไม่ใช่เรื่องเนื้อหา แผ่นพับ หรือเอกสารความเห็นแย้งเลย จึงคิดว่าสำนวนค่อนข้างอ่อน เพราะข้อความในสติ๊กเกอร์คือ “ 7 สิงหา โหวตโน ไม่รับกับอนาคตที่ไมด้เลือก” ไม่ใช่ข้อความเท็จ เมื่ออ่านร่างรัฐธรรมนูญย่อมเห็นว่าถ้าร่างนี้ผ่าน จากทั้งประเด็นเรื่อง ส.ว.สรรหา และยุทธศาสตร์ชาติ จะทำให้เกิดรัฐซ้อนรัฐ ส่วนการมองว่าเป็นการปลุกระดม การปลุกระดมตามที่อัยการตีความนั้นจะสำเร็จต่อเมื่อประชาชนเขารับสติ๊กเกอร์แล้วไปโหวตโน คำถามคือจะพิสูจน์อย่างไรถ้าฟ้องเช่นนี้ ตอนนี้จำเลยทุกคนปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมดเพราะคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นความผิด แม้ประชามติจบแล้วแต่คดียังเดินหน้า วันนี้ศาลรับฟ้องแต่มีนัดไกล่เกลี่ยศูนย์สมานฉันท์ซึ่งจะไกล่เกลี่ยได้ก็ต้องรับสารภาพก่อนแต่ทุกคนยืนยันจะปฏิเสธ ที่ตกใจคือ ท้ายคำฟ้องอัยการขอให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งสิบปีด้วยถือว่ารุนแรงมาก

“คนที่เคลื่อนไหวทางการเมืองแบบเรา การตัดสิทธิทางการเมืองสิบปี รุนแรงกว่าการติดคุกสิบปี เพราะเราเชื่อว่าระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนคือการที่เรามีสิทธิทางการเมืองในการกำหนดอนาคตตัวเอง และอนาคตประเทศด้วยการมีสิทธิเลือกตั้ง” ปกรณ์กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วันผู้สูญหายสากล แอมเนสตี้จี้รัฐบาลทั่วโลกปราบปรามการอุ้มหาย

$
0
0

แอมเนสตี้ระบุหลายประเทศยังใช้การอุ้มหายปิดปากคนเห็นต่าง ย้ำตามติดกรณีทนายสมชาย บิลลี่ และสมบัด สมพอน เนื่องในวันผู้สูญหายสากล ขอรัฐบาลออกกฎหมายป้องกันและปราบปรามการอุ้มหายให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ตลอดจนชดเชยครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบอย่างเหมาะสมด้วย

29 ส.ค. 2559 ผู้สื่ข่าวได้รับแจ้งจากแอมเนสตี้ ว่า เนื่องด้วยวันที่ 30 ส.ค.ของทุกปี เป็นวันผู้สูญหายสากล (International Day of the Disappeared) ซึ่งถูกกำหนดขึ้นเพื่อรำลึกถึงบุคคลที่สูญหายจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ภาวะสงคราม การปราบปรามจากรัฐ หรือการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นอยู่ในหลายประเทศ และส่งผลให้มีผู้สูญหายและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลพบว่าในหลายประเทศ การบังคับบุคคลให้สูญหายหรือ “อุ้มหาย” ยังคงถูกใช้เพื่อรักษาอำนาจรัฐและปิดปากคนเห็นต่างอย่างต่อเนื่อง

ผู้สนับสนุนแอมเนสตี้มากกว่า 7 ล้านคนร่วมกันรณรงค์เรียกร้องความยุติธรรมและความจริงให้กับผู้ที่ถูกอุ้มหายหลายร้อยคนในทุกภูมิภาคทั่วโลก โดยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แอมเนสตี้ยังคงติดตามกรณีการหายตัวไปของ 'สมบัด สมพอน' นักกิจกรรมชาวลาวที่หายตัวไปตั้งแต่ปลายปี 2555 อย่างต่อเนื่อง โดยแอมเนสตี้เรียกร้องให้รัฐบาลาวจัดตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อสืบหาความจริงต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากการสืบสวนของตำรวจที่ผ่านมาไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอและรัฐบาลเองล้มเหลวในการแจ้งความคืบหน้าการสืบสวนต่อครอบครัวของสมบัดด้วย นอกจากนี้ แอมเนสตี้ยังเรียกร้องให้ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัก โอบามา พูดถึงประเด็นดังกล่าวในการดินทางเยือนลาวเดือนหน้าด้วย

สำหรับในประเทศไทยนั้น แอมเนสตี้ติดตามกรณีการหายตัวไปของ 'สมชาย นีละไพจิตร' ทนายความสิทธิมนุษยชนคนสำคัญของประเทศที่หายตัวไปตั้งแต่ปี 2547 และ 'บิลลี่' พอละจี รักจงเจริญ ผู้นำกลุ่มชาวกะเหรี่ยงบริเวณอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ที่หายตัวไปเมื่อปี 2557 หลังมีปัญหากับเจ้าหน้าที่อุทยาน โดยผู้ต้องสงสัยของทั้งสองคดี ศาลฎีกายกฟ้องทั้งหมด

ซาลิล เช็ตตี้ เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า “แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้รณรงค์ให้กับผู้ที่ถูกอุ้มหายหลายร้อยกรณีทั่วทุกมุมโลก ในโอกาสวันแห่งผู้สูญหายสากล ผู้สนับสนุนหลายล้านคนทั่วโลกของเรายืนยันจะเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ที่เกิดการอุ้มหายยุติการกระทำอันโหดร้ายนี้ตลอดไป”

การอุ้มหายขัดต่อสิทธิมนุษยชนสากลและกฎหมายระหว่างประเทศขั้นร้ายแรง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องให้รัฐบาลทุกประเทศทั่วโลกสืบหาความจริงอย่างโปร่งใสและเป็นกลาง นำตัวผู้ก่อเหตุมาดำเนินคดี ออกกฎหมายป้องกันและปราบปรามการอุ้มหายให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ตลอดจนชดเชยครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบอย่างเหมาะสมด้วย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live




Latest Images