Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live

ภาคภูมิ แสงกนกกุล: ความยุติธรรมในบริบทของเศรษฐศาสตร์(3)

$
0
0

นักคิดคนสำคัญอีกคนหนึ่งในสำนัก Egalitarisme liberale เช่น Ronald Dworkin ได้พัฒนาทฤษฎีการกระจายทรัพยากรอย่างยุติธรรมไปอีกขั้นหนึ่ง แนวความคิดเขาค่อนไปทาง John Rawls คือเน้นเรื่องการกระจายทรัพยากรภายนอกให้เท่าเทียมกันเป็นหลักทั้งนี้รวมถึงโชคชะตาและความสามารถส่วนบุคคลด้วย อย่างไรก็ตามเช่นเดียวกับรอว์ เขาคิดว่าปัจเจกบุคคลต้องรับผิดชอบต่อความชอบ รสนิยมส่วนตัว และความทะเยอทะยานด้วยเช่นกัน ไม่จำเป็นเสมอไปที่ทุกคนจะต้องได้ในสิ่งที่อยากได้ต้องได้เป็นในสิ่งที่อยากเป็น ปัจเจกบุคคลต้องพยายามทำมันขึ้นมาโดยรัฐมีหน้าที่กระจายทรัพยากรพื้นฐานเพื่อช่วยให้ปัจเจกชนทำในสิ่งที่ตนทะเยอทะยานไว้ เช่น ถ้าปัจเจกชนอยากเป็นนักดนตรีชื่อดัง หน้าที่ของรัฐคืออำนวยสะดวกด้านอุปกรณ์และการสอน แต่ปัจจเจกชนจะบรรลุประสงค์ได้นั้นต้องขึ้นอยู่กับการพยายามซ้อมด้วยเช่นกัน

ดร์อวกินยังเชื่ออีกว่าความยุติธรรมกับเสรีภาพมิใช่เป็นสิ่งที่เป็นปฎิปักษ์กัน และสามารถดำเนินสนับสนุนไปด้วยกันได้ สำหรับกลไกตลาดเสรีนั้น เขาเชื่อว่าเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่ช่วยให้เกิดการกระจายทรัพยากรที่เป็นธรรมตามมา ขั้นแรกเขาเริ่มต้นโดยให้ทุกคนได้รับรัพยากรเริ่มต้นที่เป็นปัจจัยในการผลิตเท่าๆกัน เมื่อได้ทรัพยากรแล้วทุกๆคนจะเข้าสู่ระบบตลาดเสรีเพื่อแลกเปลี่ยนสินค้ากันอย่างอิสระเพื่อทุกคนจะได้แลกเปลี่ยนสิ่งที่ตนไม่ต้องการกับคนอื่นแล้วได้สิ่งที่ตนต้องการกลับคืนมา กลไกนี้จะเข้าสู่สมดุล และทุกๆคนได้สิ่งที่ตนพึงปราถนาตามรสนิยม และไม่เกิดการอิจฉาริษยาต่อกัน (envy free) ซึ่งหมายถึงว่าสังคมจะเข้าสู่ความยุติธรรม

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน สมมติให้รัฐบาลแจกแจงทรัพยากรอย่างเท่าเทียมกันทุกๆคนโดยเป็น แหวนเพชรและทับทิม โดยที่แหวนเพชรและทับทิมนั้นสมมติว่าไม่มีความแตกต่างกัน การจะเห็นคุณค่าและทำการเก็บรักษาแหวนเพชรเป็นของตัวเองต่อไปโดยไม่ขายแหวนเพชรไปนั้นขึ้นอยู่กับรสนิยมส่วนตัวของแต่ละคน เช่น นาย ก เห็นว่าสำหรับเขาแล้วแหวนเพชรไม่มีประโยชน์อะไร และอยากได้ทับทิมมากกว่า แต่ว่าเขากลับได้แหวนเพชรสองวงจากรัฐบาลและรู้สึกอิจฉา นาย ข ที่ได้ทับทิมสองเม็ดมาจากรัฐบาล ในขณะที่ นาย ข ที่ครอบครองทับทิมนั้นกลับชอบแหวนเพชรมากกว่าและรู้สึกอิจฉา นาย ก ที่มีแหวนเพชรถึงสองวง ดังน้นทั้งสองคนจึงแสวงหาการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกัน นาย ก แลกแหวนเพชรกับ ทับทิมของนาย ข แล้วเขาทั้งสองได้ของที่พึงพอใจกับรสนิยมเขา และความอิจฉาริษยาก็หายไป

อย่างไรก็ตามถ้า สมมติให้ นาย ก และ นาย ข ไม่มีความขวนขวายในการเสาะหาแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกันแล้ว ทั้งสองต้องทนอยู่กับการครอบครองสิ่งที่เขาไม่ต้องการ ทั้งสองคนก็ต้องทนรับสภาพไป เพราะรสนิยมเป็นสิ่งที่ปัจเจกชนต้องรับผิดชอบเอง ปัจเจกชนต้องรับผิดชอบขวนขวายได้มาสิ่งที่ต้องตามรสนิยมเอง และถ้านาย ก และ นาย ข ไม่เคยเจอและเปรียบเทียบทรัพยากรที่มีระหว่างกัน ความอิจฉาริษยาย่อมไม่เกิดขึ้นมาและไม่เกิดการแลกเปลี่ยสินค้าด้วยเช่นกัน

นอกจากทรัพยากรภายนอกที่ต้องมีการกระจายอย่างเท่าเทียมกันแล้ว ดร์อวกินคิดว่าความสามารถและโชคของคนก็ต้องมีการกระจายอย่างเท่าเทียมกันด้วย โชคและความสามารถส่วนบุคคลมีการกระจายแบบสุ่มในสังคมที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ และเป็นสิ่งที่สังคมต้องรับผิดชอบ บางคนเกิดมามีความสามารถมากกว่าอีกคนหรือโชคดีกว่าอีกคน ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของมนุษย์ คนที่มีความสามารถมากกว่าต้องกระจายไปให้คนที่มีความสามารถน้อยกว่า คนที่มีความสามารถเท่ากันควรมีทรัพยากรที่เท่าเทียมกัน อย่างไรก็ตามปัญหาที่ตามมาคือ ความสามารถเป็นสินค้าที่ไม่สามารถแบ่งได้แล้วจะทำอย่างไรเพื่อแบ่งความสามารถคนที่มากกว่าให้คนที่มีความสามารถน้อยกว่า ดังนั้นเราจึงต้องใช้ตัวกลางที่เป็นสินค้าที่สามารถแบ่งได้ เช่นทรัพยากรอื่นที่แบ่งได้ หรือเงิน โดยเราจะพบว่าเงินเป็นตัวกลางที่ใช้ง่ายที่สุดเพราะ สามารถแบ่งได้และมีค่าชัดเจน และทุกคนต่างมีความชอบไม่ต่างกันคือ ทุกคนชอบครอบครองเงินจำนวนมากมากกว่าเงินจำนวนน้อยกว่า

สมมติให้คนที่มีความสามรถมากกว่า ผลิตสินค้าได้มากกว่า และสินค้าตีค่าออกมาเป็นเงินได้มากกว่า ในขณะที่อีกคนเป็นคนพิการมีความสามารถในการผลิตสินค้าได้น้อยกว่า และตีค่าออกมาเป็นเงินได้น้อยกว่า ถ้าตามแนวความคิดของดร์อวกินแล้ว สังคมต้องมีการกระจายความสามารถจากคนที่มากกว่าให้คนที่น้อยกว่า และวิธีการที่ง่ายที่สุดคือการโอนเงินหรือเก็บภาษีจากคนที่มีความสามารถมากกว่าไปให้คนพิการเป็นต้น อย่างไรก็ตามการเก็บภาษีกับพวกที่มีความสามารถมากเป็นจำนวนมากกว่าพวกที่มีความสามารถน้อยอาจส่งผลให้เกิดกลุ่มคนที่ดร์อวกินเรียกว่า ความเป็นทาสของพวกที่มีความสามารถ (l'esclavage des talentueux) ซึ่งหมายถึงสองกรณีดังต่อไปนี้คือ การที่พวกที่มีความสามาถต้องทำงานหนักเพื่อนำรายได้ไปให้พวกที่มีความสามารถน้อยกว่า หรือกรณีที่สองคือ พวกที่มีความสามารถแสร้งทำตัวไม่มีความสามารถเพื่อจะได้ไม่ต้องเสียภาษีไป ซึ่งภาวะเช่นนี้ส่งผลให้ความสามารถของคนไม่ได้ถูกใช้ไปเต็มที่ ระบบทุนทำงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพ เพื่อขจัดปัญหานี้ดร์อวกินเสนอระบบการเก็บภาษีที่กระตุ้นการใช้ความสามารถของคนอย่างมีประสิทธิภาพ เขาเสนอว่าการเก็บภาษีเสมือนกับการเก็บเบี้ยประกันอย่างหนึ่ง เช่น ถ้าสมมตินาย ก และ นาย ข มีความสามารถเท่าเทียมกัน แต่นาย ก มีรสนิยมที่ต้องการสินค้าราคาแพงกว่า นาย ข ผลที่ตามมาคือ นาย ก ต้องทำงานหนักกว่า นาย ข เพื่อให้ได้เงินมาซื้อสินค้าราคาแพง แต่ทว่าระบบภาษีไม่เอื้ออำนวยต่อการทำงานของนาย ก เพราะว่าถึงแม้นาย ก ทำงานหนักกว่านาย ข เพียงใด รายได้หลังหักภาษีก็เท่ากับ นาย ข ซึ่งมีความสามารถเท่ากันแต่แสร้งทำเป็นไม่ทำงานหรือทำเป็นไม่มีความสามารถ ดังนั้นระบบภาษีต้องเอื้ออำนวยให้นาย ก ได้รับผลประโยชน์จากการที่เขาทำงานหนักมากขึ้น มิใช่เก็บภาษีจนหมดจนไม่มีความแตกต่างกันของรายได้หลังหักภาษีของ นาย ก และ นาย ข แนวความคิดนี้แปลงสภาพเป็นนโยบายและเห็นภาพชัดเจนมากในประเทศเสรีทุนนิยมอเมริกา ที่มีลักษณะดังนี้คือ แรกเริ่มแต่ละคนมีทรัพยากรเริ่มต้นเท่าๆกัน แล้วทุกคนเข้าสู่ระบบตลาดเสรีเพื่อทำการผลิตแลกเปลี่ยนสินค้าอย่างเสรีโดยไม่มีการแทรกแซงเพื่อให้ทุนและความสามารถถูกใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และพอหลังจากแลกเปลี่ยนผลิตสินค้ากันเสร็จจึงค่อยเกิดการเก็บภาษีกระจายรายได้เพื่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำน้อยลง ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่เห็นเศรษฐีอเมริกัน อย่าง บัฟเฟต ยังคงทำงานหนักทุกวันทั้งๆที่มีเงินมากชนิดใช้ร้อยชาติไม่จบก็ตาม ค่านิยมของอเมริกันคือ ค่าของคนขึ้นอยู่กับงานผลสำเร็จขึ้นอยู่กับตัวเลขรายได้ที่เข้ามา แต่หลังจากทำงานประสบความสำเร็จแล้วสิ่งที่ต้องตามมาคือการรับผิดชอบต่อสังคม จ่ายภาษีนำรายได้กลับไปกระจายคืนกลับให้สังคมอีกครั้ง

ดว์อรกินเชื่อว่า สังคมก็ต้องกระจายโชคให้เท่าเทียมด้วยเช่นกัน เขาแบ่งโชคออกเป็นสองลักษณะคือ option luck และ brut luck สำหรับ option luck คือโชคที่ทราบความเสี่ยงในการเล่นและผลตอบแทนที่ได้ชัดเจน เช่นการเล่นการพนันเป็นต้น ส่วน brut luck คือ โชคที่ไม่ทราบความเสี่ยงและผลตอบแทนได้ชัดเจน เช่นการเกิดอุบัติเหตุ เป็นต้น ดว์อรกินให้ความเห็นว่า เฉพาะ brut luck เท่านั้นที่สังคมต้องรับผิดชอบในการกระจายให้เกิดความเท่าเทียมกัน โดยไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบ option luck เช่น การที่ปัจเจกชนเลือกที่จะซื้อหวยโดยทราบอัตราการถูกหวยแน่ชัดแล้วยังยินดีที่จะเสี่ยงโชคนั้นก็เป็นเรื่องที่ปัจเจกชนเองต้องรับผิดชอบต่อความเสี่ยงและผลเสียที่ตามมา

ยกตัวอย่าง brut luck ชัดเจนเช่นกรณีเกิดมหันตภัย น้ำท่วมหรือสึนามิ ไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดเมื่อไหร หรือควบคุมไม่ให้เกิดได้ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับโชคชะตา ซึ่งประชากรที่ประสบอุทกภัยนั้นมีความโชคร้ายมากกว่าคนที่ไม่โดนและได้รีบความเสียหายแล้ว รัฐบาลจึงต้องมีนโยบายเพื่อโอนความโชคดีให้กับคนที่โชคร้ายกว่า ซึ่งการโอนด้วยวิธีให้เงินเป็นวิธีหนึ่งที่สะดวกที่สุด และโอนจากคนที่ไม่ประสบภัยให้กับคนที่ประสบภัย ดว์อรกินแนะนำวิธีการเปลี่ยนจาก brut luck เป็น option luck โดยการสร้างระบบประกันภัยสมบูรณ์ที่สมาชิกทุกคนได้รับแจ้งข้อมูลข่าวสารสมบูรณ์ทุกอย่างไม่ว่าเป็นความเสี่ยงผลที่ตามมา งบประมาณ ภายในการแข่งขันตลาดประกันภัยสมบูรณ์ ยกตัวอย่างเช่น การสร้างระบบประกันสุขภาพสมบูรณ์ที่ทุกคนได้ข้อมูลความเสี่ยงการเกิดโรค รับทราบข้อมูลการรักษาเครื่องมือทางการแพทย์ผลการรักษาที่ตามมา และผู้ป่วยมีเสรีในการเลือกประกันภัยภายใต้งบประมาณที่จำกัดและในตลาดการแข่งขันเสรีที่มีบริษัทประกันจำนวนมาก

เชิงอรรถ

  1. DWORKIN R., « What is Equality ? Part 2: Equality of Resources », Philosophy and Public Affairs, 10, 1981.
  2. FLEURBAEY M., SCHOKKAERT E., « Equity in Health and Health Care », ECORE Discussion Paper, 2011.
  3. ROUX V., Le Mirage de l’Etat providence, Paris, L’Harmattan, 2007.

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

22 เม.ย. “วันนี้เมื่อ 2 ปีที่แล้ว เกิดอะไร ใครเสียชีวิต”

$
0
0

หมายเหตุ ประชาไทนำเสนอซีรี่ส์ “วันนี้เมื่อ 2 ปีที่แล้ว เกิดอะไร ใครเสียชีวิต” นำเสนอเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม ปี 2553 (หลังเหตุการณ์ 10 เมษา) โดยจะทยอยนำเสนอความสูญเสียที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน เพื่อเป็นการรำลึกและย้ำเตือนถึงบาดแผลความรุนแรงที่อีกสองปีให้หลังสังคมไทยก็ยังไม่มีทางออกว่าจะจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไร

 

วันนี้ (22 เม.ย.) เกิดเหตุยิงเอ็ม 79 เข้าใส่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสศาลาแดงและบริเวณใกล้เคียง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย คือ น.ส.ธัญญานัน แถบทอง อายุ 50 ปี  และได้รับบาดเจ็บราว 75 ราย

สื่อมวลชนรายงานว่า ในวันนั้นกลุ่มประชาคมสีลม กลุ่มคนเสื้อหลากสี และชมรมนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตย นับพันคนได้มาชุมนุมริมฟุตบาท หน้าอาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ถนนสีลม เพื่อแสดงพลังต่อต้านการยุบสภาและเรียกร้องให้กลุ่มคนเสื้อแดงยุติการชุมนุม ขณะที่กลุ่มคนเสื้อแดงปักหลักชุมนุมอยู่ด้านสวนลุมพินี หลังเกิดเหตุความรุนแรงก็มีการปะทะกันระหว่างสองกลุ่มและมีผู้ได้รับบาดเจ็บ

ด้าน น.ส.ภาวิณี แซ่เล้า อายุ 29 ปี ลูกสาวผู้ตายระบุว่า มารดามีอาชีพขายอาหารย่านสีลม และเดินทางมาบริเวณชุมนุมเป็นครั้งที่สอง ก็เคยเตือนให้ระวังตัวไม่อยากให้ชุมนุม แต่ผู้ตายมีอคติกับคนเสื้อแดงที่ขับรถผ่านหน้าร้านขายแสดงความก้าวร้าว เมื่อมีการชุมนุมจึงเข้าร่วม โดยเอาน้ำและดอกไม้ไปมอบให้ทหาร และยืนสังเกตการณ์เท่านั้น พร้อมทั้งเชื่อว่าเหตุที่แม่เสียชีวิตเพราะกลุ่มคนเสื้อแดงบางส่วนพยายามขัดขวางการส่งตัวสู่โรงพยาบาล

ด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ และผอ.ศอฉ. รวมถึง พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ศอฉ.ให้สัมภาษณ์ว่า จากการประเมินสถานการณ์เบื้องต้นไม่เชื่อว่าระเบิดจะยิงมาจากอาคารสูง แต่น่าจะยิงมาจากหลังพระบรมรูปรัชกาลที่ 6 สวนลุมพินี  ขณะที่มีพยานบางคนอ้างว่าเห็นไฟเปิด-ปิดอยู่บริเวณชั้น 5 โรงพยาบาลจุฬาฯ และสักครู่ก็มีคนกระโดดออกจากหน้าต่างมายืนริมระเบียง จากนั้นก็ได้ยินเสียงระเบิดดังขึ้นเป็นลูกสุดท้าย ที่บริเวณหน้าธนาคารกรุงศรียุธยา สีลม โดยเอ็ม 79 ได้แฉลบต้นไม้ก่อนจะลงมาที่ด้านหน้าธนาคาร

 

เรียบเรียงจาก เว็บไซต์คมชัดลึก,เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

บทกวีจาก “ป้าอุ๊” ถึง “อากง SMS”

$
0
0

หมายเหตุ - บทกวีจากนางรสมาลิน (ป้าอุ๊) ภรรยานายอำพล หรือ อากง SMS ผู้ต้องขังคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่ถูกตัดสินจำคุก 20 ปี จากข้อกล่าวหาในการส่งข้อความสั้น 4 ข้อความไปยังมือถือเลขานุการนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

 

 

วันที่ 5 พฤษภาคม 2555                 เราอยู่ด้วยกันมาถึงปีที่ 44

รวมความสุขทั้งความทุกข์ที่มามี       แล้ววันนี้มีเปลี่ยนเปลี่ยนไป

มวลมรสุมทุ่มเข้ามาผวาสุดสุด          ร่างกองทรุดสุดหวั่นไหว

แต่เรายังมีเราร่วมหัวใจ                   จะยืนให้ได้ในชะตากรรม

หากวันนี้ฉันมีคาถาเสกเป่าได้           และถ้าได้ตาฝันที่ฉันขอ

ให้ทุกสิ่งเป็นจริงเหมือนเฝ้ารอ          เพียงขอเธอให้ได้กลับคืน

บนทางเดินในเส้นนี้มีขวากหนาม       จะพยายามไม่ยอมแพ้แม้ร้องไห้

จะฝืนยืนสู้ซมซานไป                     ใจไม่เคยท้อเพราะรอเธอ

ถึงวันนี้ยังลางเลือนเหมือนว่างเปล่า   แต่พวกเราคงหวังยังมีวันใหม่

วันพรุ่งนี้คงมีทางวิ่งกลิ้งเข้าเส้นชัย     มาเริ่มต้นกันใหม่ในวัยชรา

จนตายจากกัน

 

เพื่อเธอ

ป้าอุ๊

ครบรอบ 44 ปีของเธอและฉัน ครบรอบ 478 วันของเธอ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แวดวงเภสัช-หมอขยับ สรุปบทเรียนจาก ‘ยาซูโด’ สู่ การยกเครื่องระบบยา

$
0
0

ยาซูโดอีเฟดรีน หรือเรียกสั้นๆ ว่า “ซูโด” กลายเป็นประเด็นร้อนและร้อนขึ้นเรื่อยๆ สะเทือนแวดวงเภสัชกรและแพทย์จนเจ้าของประเด็นต้องลุกมาทำความเข้าใจภาพย่อยของยาซูโดฯ และภาพรวมของเรื่องทั้งหมดเพื่อหาทางออกร่วมกัน  ผ่านการจัดประชุมเรื่อง “การพัฒนาระบบยา จากบทเรียนยาซูโดฯ”

งานนี้จัดโดยแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) แผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) วิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพแห่งประเทศไทย(วคบท.)ชมรมเภสัชชนบท

ยาซูโดฯ เป็นยาสูตรผสม (ผสมตัวยาหลายชนิด) ที่ใช้ในการบรรเทาอาการหวัดคัดจมูกหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป มันถูกขึ้นบัญชีเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภทสองเมื่อวันที่ 4 เม.ย.55 ซึ่งอนุญาตให้จำหน่ายเพียงในโรงพยาบาลเท่านั้น เนื่องจากซูโดฯ ถูกนำไปเป็นสารตั้งต้นของยาเอมเฟตามีน หรือ “ยาบ้า” ที่สำคัญคือการปรากฏข่าวคราวการสั่งซื้อยาซูโดฯ จำนวนมากและการสูญหายไปจากโรงพยาบาลในหลายจังหวัด

แม้ว่าคนในแวดวงสาธารณสุขหลายคนยังไม่แน่ใจว่ามหากาพย์ซูโดฯ นี้เป็นข่าวใหญ่โตเกินเหตุเพราะ “การเมือง” ในช่วงโยกย้ายถ่ายโอนอำนาจหรือไม่ แต่ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ากรณีนี้สะท้อนปัญหาระบบยาทั้งระบบที่คนในวงการก็ยอมรับว่า ควรต้องทบทวนและควรถือโอกาสปัดกวาดกันใหม่ เป็น “ซูโดภิวัตน์” ดังที่ภก.วิทยา กุลสมบูรณ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาฯ เปรียบเปรยอย่างอารมรณ์ดีไว้

งานประชุมเริ่มต้นด้วยการเล่าภาพรวมของปัญหาโดย ผศ.ภญ.ดร.วรรณา ศรีวิริยานุภาพ รองผู้จัดการ คคส. คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ระบุว่า ก่อนหน้านี้ ซูโดอีเฟดรีนสูตรเดี่ยวที่เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทที่ถูกควบคุมเป็นอย่างดีตลอดกระบวนการโดย อย. ขณะที่ยาซูโดอีเฟดรีนสูตรผสมนั้นไม่ถูกควบคุมมากเท่าสูตรเดี่ยว มีผู้ผลิตถึง 65 บริษัท และมีสูตรถึง 241 ตำรับ ซูโดฯ สูตรผสมกระจายอยู่ตามร้านขายยามากที่สุดราว 70% ที่เหลืออยู่ตามโรงพยาบาลรัฐและเอกชน แต่เมื่อยกระดับประกาศเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภทสองที่ขายได้เฉพาะในโรงพยาบาลที่ได้รับอนุญาต ทำให้ อย.ต้องประกาศให้ร้านขายยาหรือ รพ.ที่ไม่ประสงค์รับอนุญาตส่งคืนยา ซึ่งถึงขณะนี้คาดว่ายังค้างอยู่ในระบบในหลักสิบล้านเม็ด โดย อย.ให้เวลานำส่งคืนภายใน 30 วัน (นับจาก 4 เม.ย.) และสามารถเรียกคืนมาได้เพียง 700,000 เม็ดในสัปดาห์แรก

อาจารย์วรรณายังชี้ถึงปัญหาเชิงระบบของยาซูโดฯ ด้วยว่า นอกจากยาซูโดฯ สูตรผสมจะควบคุมได้ยากแล้ว ยังมีปัญหาการลักลอบนำเข้าผิดกฎหมาย ซึ่งกว่า 75% มาจากประเทศเกาหลีใต้ ปัญหาการนำเข้าผิดกฎหมายเป็นปัญหาใหญ่และมีสัดส่วนสูงยิ่งกว่าปัญหายาภายในประเทศ ดูจากสถิติคดีตั้งแต่ปี 51-55 จำนวน 40 คดี จะพบว่ายึดของกลางได้กว่า 48 ล้านเม็ด เป็นยาที่ผลิตในไทยเพียง 8 ล้านเม็ด

ที่สำคัญ กฎหมายของไทยที่มีอยู่ยังไล่ตามการ “นำผ่าน” หรือการซื้อยาจากต่างประเทศ ผ่านไทย ไปสู่ประเทศอื่นๆ ไม่ทัน ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ที่ไม่มีบทบัญญัติเรื่องการนำผ่านและส่งออก มีเพียงการควบคุมการผลิต ขาย นำเข้าเท่านั้น ขณะที่ พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 ก็มีบทลงโทษผู้กระทำผิดได้เพียงตัดโควตา ไม่สามารถเพิกถอนใบอนุญาตได้ และไม่มีบทบัญญัติการเรียกคืนยา ทำได้เพียงประกาศให้ผู้ไม่ประสงค์จะรับอนุญาตส่งคืนกับบริษัทผู้ผลิต ดังนั้น จึงควรเร่งผลักดันร่างพ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ของภาคประชาชน และของ อย. ซึ่งตอนนี้ทั้งร่างทั้ง 2 ฉบับอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ขณะที่ร่างพ.ร.บ.วัตถุออกฤทธิ์ที่ตกไป รัฐบาลก็ควรนำมาพิจารณาใหม่

นอกจากนี้ยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างส่วนอื่นๆ ที่สำคัญอีก เช่น ความบกพร่องในการบริหารเวชภัณฑ์ ซึ่งดูจากตัวอย่างโรงพยาบาลที่มีปัญหายาซูโดสูญหายแห่งหนึ่งพบว่า การจัดซื้อยาแก้หวัดสูตรผสมซูโดอีเฟดรีนมิได้ดำเนินการตามแผนจัดซื้อของโรงพยาบาล ขาดการควบคุมการเบิกจ่ายยาในคลังย่อย ไม่มีระบบการตรวจสอบการรับยาที่เบิกจ่าย

ขณะที่เภสัชกรจิระ วิภาสวงศ์ หัวหน้าฝ่ายเภสัชสาธารณสุข จังหวัดลำพูน ขยายความถึงข้อบกพร่องในการบริหารเวชภัณฑ์ว่า แม้ว่าจะมี “การออกแบบระบบ” การบริหารเวชภัณฑ์ที่รัดกุมและมีประสิทธิภาพไว้แล้ว แต่ที่ผ่านมาก็มีการละเลยจากบุคลากรภายในเอง กระทั่งข้อบกพร่องหลายอย่างเกิดมาอย่างยาวนานจนกลายเป็นเรื่องปกติแล้ว เช่น การสั่งยาในนามโรงพยาบาลเข้าคลินิกส่วนตัวของแพทย์เพราะจะได้ราคาถูกกว่า คณะกรรมการที่มีหน้าที่วางนโยบาย อนุมัติกรอบรายการยาทั้งในระดับจังหวัดและโรงพยาบาลไม่ทำหน้าที่ รวมไปถึงปัญหาการจัดซื้อที่มีการซอยใบสั่งซื้อ บันทึกการขออนุมัติภายหลัง การมีคำสั่งซื้อลอย

“วันหนึ่งหมดจากเรื่องซูโดไปแล้ว แล้วมาแตะที่ระบบเวชภัณฑ์ว่ามันรั่วไหล จะเห็นจุดอ่อนเยอะแยะไปหมด แล้ววันนั้นเราจะขาดความน่าเชื่อถือไปเลย” เภสัชกรจิระเตือน

ในช่วงท้ายการสัมมนา ตัวแทนจากร้านขายยา เภสัชกรหญิงช้องนาง นิติศฤงคาริน ประธานสมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) ได้ให้ความเห็นต่อมาตรการคืนยาภายใน 30 วันว่าเป็นเรื่องยากลำบากสำหรับร้านขายยาเพราะกระชั้นชิดเกินไปและไม่มีการส่งสัญญาณให้ปรับตัวอย่างเพียงพอ ขณะที่ระบบการส่งคืนบริษัทผู้ผลิตค่อนข้างยุ่งยาก ประกอบกับมีวันหยุดสงกรานต์ยาวนาน หากร้านใดจะไม่ส่งคืนก็ต้องทำลาย จะเอาไปทิ้งขยะก็จะเป็นประเด็นอีกและตามไม่ได้ว่ามาจากไหน มาตรการเช่นนี้ทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจในระบบ  นอกจากนี้กรณีของซูโดไม่ควรทำให้ร้านขายยาเป็นผู้ร้ายแต่ควรหาหนทางว่าจะพัฒนาอย่างไรให้ร้านขายยาซึ่งเป็นหน่วยหนึ่งในระบบได้เข้ามามีส่วนร่วมแก้ปัญหาด้วย

อย่างไรก็ตาม เภสัชกรประพนธ์ อางตระกูล ผอ.กองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาระบุว่า อย.ได้ทำหนังสือแจ้งต่อร้านขายยาให้ระงับการขายยาเหล่านี้หลายครั้งแล้ว และเคยพูดในเวทีเสวนาตั้งแต่ปีที่แล้วว่าซูโดฯ สูตรผสมกำลังจะถูกยกระดับเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภทสอง นอกจากนี้เขายังเพิ่มเติมข้อมูลในด้านการประสานกับหน่วยงานควบคุมเรื่องอาหารและยาของต่างประเทศ โดยเฉพาะเกาหลีใต้ซึ่งมีการนำเข้าซูโดฯ มาในไทยเยอะมากว่าเป็นไปอย่างใกล้ชิด และพยายามผลักดันให้เกาหลีใช้ระบบแจ้งการส่งออกยาไปยังประเทศปลายทางล่วงหน้าเหมือนระบบสากล เพื่อให้มีการตรวจสอบที่รัดกุมมากยิ่งขึ้น

นั่นเป็นเรื่องของ “ระบบ” การบริหารจัดการยา ซึ่งเป็นวงจรขนาดใหญ่ตั้งแต่การคัดเลือก  การผลิต การกระจาย และการใช้ แต่สำหรับความเห็นของแพทย์ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการสั่งยานี้ให้กับคนไข้ ซึ่งพากันกังวลกับกระแส “กลัวไม่มียาแก้หวัดกิน” บรรดาแพทย์กลับมองต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง

ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล จากคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ ฟันธงว่า เป็นหวัด หายได้เอง ไม่ต้องกินยา ไม่ต้องหาหมอ เนื่องจากยาที่จะได้รับทั้งหลายทั้งปวงล้วนไม่มีประสิทธิพลในการบรรเทาอาการ ผลการวิจัยจากต่างประเทศพบว่า ยาซูโดฯ ประสิทธิผลต่ำ แต่ยา Phenylephrine ที่กระทรวงสาธารณสุขจะให้นำมาใช้เป็นยาทดแทนยิ่งประสิทธิผลต่ำกว่า หรือที่จริงควรเรียกว่า “ไม่มีประสิทธิผลเลย” โดยเฉพาะในเด็กยาสูตรผสมสำหรับบรรเทาอาการหวัดคัดจมูกนั้นถูก “ยกเลิก” ไปแล้วในหลายประเทศ เนื่องจากประสิทธิผลต่ำและมีผลข้างเคียงสูงอาจถึงชีวิต

“ยาผสมที่ผสมหลายตัวแก้ไอ ขับเสมหะ คัดจมูก ในต่างประเทศเขาไม่ให้เด็กของเขาใช้แล้วและอาจมีผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย สังคมต้องคุยกันว่ายาเหล่านี้ไม่ควรให้ซื้อได้ง่ายตามร้านขายยา” นพ.พิสนธิ์กล่าวและว่าการไปหาหมอด้วยโรคหวัดก็ทำให้โรงพยาบาลแน่นโดยใช่เหตุ เพราะก็จะได้ยาเหล่านี้กลับมา ที่สำคัญ คนไทยจำนวนมากเข้าใจผิดใช้ยาปฏิชีวนะ หรือยาแก้อักเสบบรรเทาอาการทั้งที่มันไม่ช่วยและไม่เกี่ยวข้องกับโรคแต่อย่างใด รังแต่จะทำให้เกิดการดื้อยา  ดังนั้น แม้ซูโดฯ สูตรผสมจะเข้าถึงยากขึ้นก็ไม่ใช่เรื่องต้องกังวล

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านเคมีก็สรุปคล้ายกับว่า การแบนยาซูโดฯ อาจไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุสำหรับสกัดกั้นสารตั้งต้นผลิตยาบ้า ผศ.ดร.ชำนาญ ภัตรพานิช จากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ระบุถึงการสังเคราะห์ทางเคมีของยาซูโดฯ ไปสู่เอมเฟตามีนว่าทำได้หลายวิธีมากกว่าที่ อย.เฝ้าระวัง และยังมีสารเคมีในผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่มีความสามารถเป็นสารตั้งต้นสำหรับผลิตแอมเฟตามีนได้อีกหลายชนิด หรือแม้แต่ยาทดแทน Phenylenphrine ก็ไม่แน่ว่าในอนาคตจะสามารถสังเคราะห์เป็นแอมเฟตามีนในต้นทุนที่ต่ำลงได้หรือไม่  

สำหรับบทสรุปก็คงเป็นดังที่ ผศ.พญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการ กพย.สรุปไว้ว่า

"การบริหารเวชาภัณฑ์คงต้องมีการรื้อระบบ การติดตาม การจัดหา ยังเป็นเรื่องที่ต้องเร่งปรับปรุง เพื่อให้เกิดธรรมาภิบาล มีความความโปร่งใส , accountability , การตรวจสอบการมีส่วนได้ส่วนเสียของผู้เกี่ยวข้อง ตลอดจน code of conduct ขณะเดียวกัน ยากลุ่มเสี่ยงยังมีอีกเยอะ ซูโดฯ เป็นแค่ยอดน้ำแข็ง ยังมีอย่างอื่นๆ เช่น สเตียรอยด์ ซึ่งเป็นปัญหาเดียวกันในการจัดหาและกระจาย ซึ่งเชื่อว่ามีการลักลอบนำเข้าด้วย"

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ถกปัญหาโรฮิงญา "อมรา" แนะอาเซียนเลิกเกรงใจ-พูดกันตรงไปตรงมา

$
0
0

“ศรีประภา เพชรมีศรี” เสนอผลักดันให้ประเด็นโรฮิงญาถูกพูดถึงในวงกว้าง และดึงประเทศนอกอาเซียน ร่วมมือกันเพื่อให้ปัญหานี้ได้รับการแก้ไข

 

ศรีประภา เพชรมีศรี (ซ้าย) ผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษย์ชน และโซฟี่ แอนเซล  (ขวา) นักข่าวชาวฝรั่งเศสที่ติดตามประเด็นโรฮิงญา ในวงเสวนา “โรฮิงญา...บนเส้นทางที่โลกลืม”

วันนี้ (24 เม.ย. 55) ฝ่ายเครือข่ายทุนทางสังคม สำนักพัฒนาทุนทางสังคม สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และองค์กรเครือข่ายด้านสิทธิมนุษยชน ได้มีการเปิดเวทีเสวนา “โรฮิงญา…บนเส้นทางที่โลกลืม” มีผู้ร่วมเสวนาคือ อมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรทการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ศรีประภา เพชรมีศรี ผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษย์ชน หม่อง จอ นู จากสมาคมโรฮิงญาในประเทศไทย (BRAT) ฟิล โรเบิร์ตสัน จากกลุ่มติดตามสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (Asia Division Human Right Watch) และโซฟี่ แอนเซล นักข่าวชาวฝรั่งเศสที่ติดตามประเด็นโรฮิงญา

โดย ศรีประภา เพชรมีศรี ผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษย์ชน ได้เสนอว่า ควรมีการผลักดันให้ปัญหาผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาให้เป็นประเด็นสาธารณะที่จะต้องมีการพูดถึงเป็นวงกว้าง นอกจากนั้นยังต้องมีการแก้ไขปัญหาโรฮิงญาไม่เพียงเฉพาะในภูมิภาคอาเซียนเท่านั้น ควรให้มีการแก้ไขปัญหาโรฮิงญานอกภูมิภาคอาเซียนด้วย อาทิ เช่น ในประเทศซาอุดิอาระเบีย และบังคลาเทศ ซึ่งในสองประเทศนี้มีชาวโรฮิงญาที่ยังไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอยู่อีกล้านกว่าคน

ด้านโซฟี่ แอนเซล นักข่าวซึ่งที่ติดตามประเด็นโรฮิงญา ได้แสดงข้อคิดเห็นต่อความเป็นประชาธิปไตยของรัฐบาลพม่าว่า ควรยกเลิกคำสั่งการเดินทางออกนอกพื้นที่ของชาวโรฮิงญา ซึ่งถ้าเกิดยังไม่มีการยกเลิกก็ยังไม่ถือว่าประเทศพม่ายังไม่ได้เป็นประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

ส่วนอมรา พงศาพิชญ์ กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้ปัญหาของชาวโรฮิงญายังไม่ได้รับการแก้ไขเท่าที่ควร เป็นเพราะว่าแต่ละประเทศในสมาคมประชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ยังมีความเกรงใจกันอยู่ ไม่กล้าพูดถึงถึงปัญหาดังกล่าวอย่างตรงไปตรงมา โดยประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติผู้นี้แนะว่าควรให้ประเทศอาเซียนลดความเกรงใจระหว่างกันลงและขยายความร่วมมือกันในระดับที่กว้างออกไปกว่าภูมิภาคอาเซียนนำปัญหาดังกล่าวมาพูดถึงอย่างตรงไปตรงมา จึงจะสามารถทำให้ปัญหาโรฮิงญาได้รับการแก้ไข

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แรงงานนอกระบบร้อง คปก.ชงคลอดกฎกระทรวงคุ้มครองสิทธิคนทำงาน

$
0
0

24 เมษายน 2554 สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย - ผู้แทนเครือข่ายแรงงานนอกระบบ  คนทำงานบ้านจากหลายจังหวัด เช่น ขอนแก่นปัตตานี เชียงราย  และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพกว่า 30คน  เข้าพบ คปก. โดยนางสุนี ไชยรส ศ.ดร.เสาวนีย์ อัศวโรจน์  นายชัยสิทธิ์ สุขสมบูรณ์ นายไพโรจน์ พลเพชร และดร.โชคชัย สุทธาเวศ คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านสวัสดิการสังคม  เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2555 ขอให้เร่งรัดกระทรวงแรงงานออกกฎกระทรวงตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2553 ซึ่งกำหนดว่าต้องจัดตั้งคณะกรรมการมากำกับภายใน 120 วัน รวมทั้ง ออกกฎ ระเบียบอีกหลายฉบับ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2555 แต่ไม่มีการดำเนินการใด โดยพ.ร.บ.ประกาศเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2553  มีผลบังคับใช้หลังจากนั้น 180 วัน คือในวันที่ 15 พฤษภาคม 2554

ทั้งนี้ความล่าช้าดังกล่าวส่งผลให้ผู้รับงานไปทำที่บ้านไม่สามารถใช้สิทธิตามกฎหมายรับรองและคุ้มครอง เช่น   ค่าจ้างขั้นต่ำ ความปลอดภัยในการทำงาน และสุขภาพของแรงงานนอกระบบ ฯลฯ   ทำให้แรงงานนอกระบบไม่สามารถใช้สิทธิ  สูญเสียโอกาสและประโยชน์ที่ควรจะได้รับจากสิทธิที่กฎหมายรับรองและคุ้มครองแม้พระราชบัญญัติที่มีผลบังคับใช้มากว่าหนึ่งปีแล้ว

นอกจาก แรงงานทำงานบ้านที่ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541ยกเว้นไม่คุ้มครอง  ไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิในกฎหมายประกันสังคม ทั้งที่มีอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 189 ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับแรงงานทำงานบ้าน และข้อเสนอแนะฉบับที่ 201 คนทำงานบ้านยังถูกโกงค่าแรง  ถูกล่วงละเมิดทางเพศจากนายจ้าง บางส่วนปกป้องสิทธิตนเองได้ยากลำบากเพราะกลัวถูกเลิกจ้าง บางรายสะท้อนว่าเมื่อถึงยามอายุมาก ไม่มีใครดูแล ต้องอาศัยพี่น้อง และรับจ้างทำงานเล็กๆน้อยๆ  

อย่างไรก็ตามหลังจากรับฟังแล้วคณะกรรมการฯ จะเชิญผู้แทนจากกระทรวงแรงงาน และผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงการบังคับใช้พ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน สาเหตุของความล่าช้าในการออกกฎกระทรวงต่างๆ เพื่อคุ้มครองสิทธิผู้รับงานไปทำที่บ้านและคนทำงานบ้านตามกฎหมาย ต้นเดือนพฤษภาคมนี้

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กระตุกกรมทรัพย์สินฯ ‘เร่งออกคู่มือขจัดสิทธิบัตรยาที่ไม่มีที่สิ้นสุด

$
0
0

เครือข่ายภาคประชาชนเพื่อการเข้าถึงยา มอบ คู่มือฯ สกัดคำขอ Evergreening ขนาดมหึมา กระตุกสำนึกกรมทรัพย์สินฯ ‘เร่งออกคู่มือ ขจัด evergreening สกัดทางหากิน พวกแร้งทึ้งผู้ป่วย’

4 เม.ย.55 เวลา 13.30 น. เครือข่ายภาคประชาชนเพื่อการเข้าถึงยา (อาทิ เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ, เครือข่ายเพื่อนมะเร็ง, ชมรมผู้ป่วยโรคไต, เครือข่ายผู้บริโภค, มูลนิธิเข้าถึงเอดส์, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ ฯลฯ) มีนัดหารือกับนางปัจฉิมา ธนสันติ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อวางกรอบและหลักเกณฑ์คู่มือการตรวจสอบคำขอสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ทางยาเพื่อป้องกันสิทธิบัตรที่ไม่มีที่สิ้นสุด (Evergreening Patent) ซึ่งที่ผ่านมามีการหารือหลายครั้งตั้งแต่ต้นปี 2553 แต่ยังไม่คืบหน้า เพราะบริษัทยาข้ามชาติพยายามขัดขวางการทำคู่มือฯดังกล่าว เพราะเกรงว่า คำขอสิทธิบัตรที่ไม่มีความใหม่ และไม่มีนวัตกรรมที่สูงขึ้นจริงจะไม่ได้รับสิทธิบัตร

ก่อนการหารือ นายอนันต์ เมืองมูลไชย รองประธานมูลนิธิเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ เป็นตัวแทนมอบคู่มือการตรวจสอบสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับสิ่งประดิษฐ์ทางยาขนาดสูง 1.78 เมตร กว้าง 1.20 เมตร ให้แก่อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา และติดตั้งถาวรที่กรมฯเพื่อเป็นเครื่องเตือนสติให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาพัฒนามาตรฐานการตรวจสอบสิทธิบัตรให้มีคุณภาพเพื่อรักษาสมดุลย์ระหว่างการรักษาประโยชน์ให้เจ้าของสิทธิและการพิทักษ์ประโยชน์สาธารณะ โดย คู่มือฯ สกัดคำขอ Evergreening ขนาดยักษ์ดังกล่าวมีลักษณะเป็นหนังสือขนาดใหญ่ โดยมีปกหลังเขียนว่า ‘เร่งออกคู่มือฯ ขจัด Evergreening สกัดทางหากิน แร้งทึ้งผู้ป่วย’

"อุปสรรคชิ้นใหญ่ ของการเข้าไม่ถึงยารักษา และกรรมการยาแห่งชาติไม่บรรจุยานั้นเข้าในบัญชียาหลักแห่งชาติ อีกทั้งทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพไม่สามารถจ่ายยานั้นๆให้กับประชาชนได้ คือราคายาที่สูงอย่างไม่สมเหตุสมผล การกำหนดราคาที่ไม่เคยชี้แจง โครงสร้างราคา ของบริษัทยา และที่สำคัญที่ทำให้บริษัทยา มีพฤติกรรมที่ไร้มนุษยธรรม ไม่มีคุณธรรม คือการผูกขาดการค้า การใช้สิทธิบัตรที่ได้มาง่ายๆ ได้ไม่รู้จบ จากการยื่นขอสิทธิบัตรได้อย่างต่อเนื่อง เพียงแค่ปรับสูตรของตัวยาเล็กน้อย เท่านั้น ดังนั้นถ้าเราจะหยุดวงจรสูบเลือด สูบเนื้อ เอาเปรียบผู้ป่วย เอาเปรียบคนไทยทั้งประเทศได้ ประเทศของเราต้องมี "คู่มือฉบับนี้" เพื่อกำหนดกติกา หลักเกณฑ์ ที่รัดกุมและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย" รองประธานมูลนิธิเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯกล่าว

คู่มือดังกล่าวพัฒนามาจากงานวิจัย “สิทธิบัตรยาที่จัดเป็น evergreening patent ในประเทศไทย และการคาดประมาณผลกระทบที่เกิดขึ้น” ที่เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข และกรมทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งนี้ คณะผู้วิจัยได้ทำการตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับสิ่งประดิษฐ์ทางยา ในระหว่าง ปี พ.ศ. 2543-2553 จำนวน 2,034 ฉบับ พบว่า มีคำขอรับสิทธิบัตร ร้อยละ 96 ที่มีลักษณะอยู่ในเงื่อนไขที่เป็น evergreening patent โดยพบว่าปัญหาส่วนใหญ่คือ คำขอรับสิทธิบัตร ‘ข้อบ่งใช้/การใช้’ ร้อยละ 73.7 สูตรตำรับและส่วนประกอบ ร้อยละ 36.4 และ Markush Claim ร้อยละ 34.7 ซึ่งทางสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขได้ทำหนังสือถึงกรมทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อนำเสนอผลการวิจัยในฐานะที่เป็นองค์กรร่วมสนับสนุนการวิจัย และมีข้อเสนอแนะให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาควรจะพิจารณาคู่มือที่คณะผู้วิจัยพัฒนาขึ้นนำไปใช้ในการปรับปรุงระบบการตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรซึ่งกรมฯกำลังดำเนินการพัฒนาระบบอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งการพัฒนาแก้ไข พรบ.สิทธิบัตรให้มีความเป็นธรรมมากขึ้นตามยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ

“ประเด็นเร่งด่วนที่กรมทรัพย์สินฯเร่งขจัดข้อถือสิทธิใน สูตรตำรับใหม่ และองค์ประกอบใหม่ของสารเคมีเดิมที่เป็นที่รู้จักกันอยู่แล้ว รวมถึงกรรมวิธีการเตรียมสูตรตำรับดังกล่าว, หากตัวยาสำคัญของตำรับดังกล่าวเป็นที่รู้จักกันอยู่แล้ว ตำรับยาสูตรผสมนั้นไม่สมควรได้รับสิทธิบัตร, ขนาดการใช้ยาใหม่ของสำหรับผลิตภัณฑ์ที่เปิดเผยอยู่แล้วสำหรับข้อบ่งใช้เดิมหรือข้อบ่งใช้ใหม่ ไม่ถือว่ามีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น ไม่สมควรได้รับสิทธิบัตร, วิธีการรักษา บำบัด รวมถึงการวินิจฉัย ที่ใช้กับมนุษย์หรือสัตว์ ก็ไม่ได้รับสิทธิบัตรตามมาตรา 9 (4) แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตรของไทย และ ข้อถือสิทธิการใช้ยารวมถึงข้อบ่งใช้ที่ 2 ไม่ให้รับสิทธิบัตรตามมาตรา 9 (4) แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตรของไทย ตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการสิทธิบัตรที่ 1/2553 ลงวันที่ 26 มกราคม2553”

เมื่อไม่นานมานี้ เคยมีรายงานข่าวระบุว่า บ.ติลลิกีแอนด์กิบบิน ยื่นหนังสือถึงกรมทรัพย์สินทางปัญญาให้ทบทวนคำสั่งปฏิเสธข้อถือสิทธิการใช้ยาเพื่อเตรียมเป็นเภสัชภัณฑ์ที่ได้มีการปฏิเสธก่อนหน้านี้ทั้งหมด ทั้งที่เป็นคำวินิจฉัยที่เป็นบรรทัดฐานของคณะกรรมการสิทธิบัตร ปรากฏว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาแทนที่จะส่งให้คณะกรรมการสิทธิบัตรพิจารณา กลับส่งให้ ‘คณะอนุกรรมการสิทธิบัตร สาขาเคมี’ ซึ่งมีประธานซึ่งมีผู้ใกล้ชิดทำงานให้กับบริษัทยาข้ามชาติชี้ขาดว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการสิทธิบัตรไม่เป็นบรรทัดฐาน

ในประเด็นนี้ รองประธานมูลนิธิเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ กล่าวว่า ขณะนี้ กำลังให้นักกฎหมายพิจารณาว่า อาจมีความจำเป็นที่ต้องฟ้องร้องดำเนินคดีกับคณะอนุกรรมการสิทธิบัตรสาขาเคมี

“จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสิทธิบัตรซึ่งเราได้เรียกร้องความโปร่งใสและต้องไม่เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับบริษัทยาข้ามชาติเข้ามาเป็นกรรมการดังเช่นที่ผ่านมา นอกจากนี้ ภาคประชาสังคมร่วมกับทีมวิชาการและนักกฎหมาย กำลังรวบรวมข้อมูลหลักฐานต่างๆ และคำวินิจฉัยสิทธิบัตร เรากำลังพิจารณาเลือกใช้การฟ้องเพิกถอนสิทธิบัตรที่ได้อย่างไม่ชอบธรรมเพื่อให้เกิดบรรทัดฐานที่ดีของสังคม เพื่อให้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญามีมาตรฐานและเป็นธรรมการผู้บริโภคเท่าๆกับที่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบการภายใต้กฎหมายเดียวกัน”

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์: ป่าแม่วงก์ ในความทรงจำ

$
0
0

 

"หวือๆๆ"

เสียงดังมาจากเบื้องหลัง ด้านหน้าของผมคือนายกั๊ก - กุลพัฒน์ ศรลัมภ์ ช่างภาพนกและสัตว์ป่ามือฉมัง ผู้กำลังชี้มือทำหน้าตื่นเต้นสุดขีด "อาจ้าน! นกเงือกคอแดง!!!"

หวือๆๆ ผมหันกลับไปทันเห็นเงาดำอีกหนึ่ง ร่อนลงมาเกาะบนตอไม้ที่ขึ้นอยู่ริมผา เหนือหลังคาบ้านพักเพียงไม่กี่เมตร ท่ามกลางสายหมอกที่ปลิวมาตามกระแสลมไม่ขาดระยะ ผมยกกล้องส่องทางไกลราคาแพงหูฉี่ที่ตัดใจซื้อมาตั้งแต่สมัยไปเคนย่า แนบเบ้าตาเข้ากับกล้อง ภาพที่ปรากฏคือนกสีดำสองตัว มัวซัวไม่ชัดเพราะไอน้ำในอากาศ
แล้วหมอกก็จางหายไป ชั่วอึดใจนั้น ผมเห็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่เคยเห็นมาก่อน...
...

นกเงือกคอแดง (Rufous-necked Hornbill) เป็น 1 ใน 12 ของนกเงือกที่พบในเมืองไทย จัดอยู่ในสกุลนกเงือกคอแดง (สกุล Aceros) คำว่า a หมายถึง "ไม่" คำว่า cera หรือ keras หมายถึง "เขาสัตว์" นกเงือกในสกุลนี้ไม่มีโหนกแข็งอยู่บนหัวเหมือนนกเงือกสกุลอื่นๆ 
นกเงือกคอแดงพบในเนปาล จีนด้านตะวันตกเฉียงใต้ พม่า ไทย ลาว และเวียดนามตอนเหนือ เป็นนกขนาดใหญ่มาก ความยาว 117 เซนติเมตร เมื่อดูจากระยะไกลจะเห็นร่างกายเป็นสีดำ ปลายหางสีขาว ปากสีเหลือง มีขนสีแดงตามหัว คอ และลำตัวด้านล่าง (ตัวผู้) อาศัยในป่าดิบแล้งและป่าดิบเขา ความสูง 600-1,800 เมตร มักอยู่เป็นคู่หรือฝูงเล็ก 4-5 ตัว เกาะอยู่ในระดับสูงบนต้นไม้ใหญ่

กฎหมายจัดนกเงือกคอแดงเป็นสัตว์คุ้มครอง สถานภาพในเมืองไทยเป็นนกประจำถิ่นหายากมาก พบเฉพาะด้านตะวันตกของประเทศ ตั้งแต่เชียงใหม่ไปจนถึงจังหวัดอุทัยธานี แต่ปัจจุบันมีรายงานเพียงบางแห่ง เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เขตฯทุ่งใหญ่นเรศวร และอุทยานฯแม่วงก์

ข้อมูลสรุปจากหนังสือ "นกในเมืองไทย" โดยรศ.โอภาส ขอบเขตต์ ขอบคุณอาจารย์ครับ แม้อาจารย์จะล่วงลับไปแล้ว แต่ปีนี้ ปีหน้า หรือปีไหนๆ ตลอดชีวิตนักเขียนของผม คงได้รบกวนอาจารย์อีกนาน
...

ต้นปี 2544 ผมหนีไปเที่ยวเมืองใต้ ตะลุยป่าฮาลาบาลาอยู่หลายวัน สวรรค์บันดาลให้ผมได้เห็นนกเงือกหัวแรด ปากย่น ชนหิน กรามช้าง กก และปากดำ หลังจากนั้นมา ผมถึงเข้าใจว่า นอกจากปลาและสาว เรายังหลงรักนกเงือกแต่เกลียดเด็กทารก

การไปป่าครั้งนั้น ไม่ใช่การเห็นนกเงือกเป็นครั้งแรก ตั้งแต่เด็กผมเคยเจอหลายหน แต่แทบทุกครั้งคือนกกกหรือนกเงือกพันธุ์โหลที่เชื่อว่าคุณๆ คงรู้จักดี ช่วงนั้นผมไม่ได้สนใจนกเงือก เพราะใจกำลังแตกสนใจเด็กมัธยมมากกว่า สำหรับผม นกเงือกเป็นนกตัวใหญ่ดีสีสวยเห็นแล้วชื่นใจ...ก็เท่านั้น ต่อมาได้เห็นนกเงือกกรามช้างบินกันเป็นฝูง ชอบใจครับ แต่ยังไม่ถึงขั้นวางแผนเข้าป่าไปดูนกเงือก เพราะความสนใจเพิ่งเลื่อนระดับจากเด็กมัธยมมาเป็นน้องปีหนึ่ง แถมยังมีงานในทะเลเยอะแยะ จัดทริปไปดูปลาผีเสื้อรู้สึกสนุกกว่า อีกอย่างการเห็นของผมเป็นการเห็นแบบธรรมดา ไม่ได้ไปกับผู้เชี่ยวชาญ จึงไม่มีความรู้อะไรติดตัว ความประทับใจวูบมาแล้วก็วูบไป เหมือนความรักในม่านหมอก

มาระยะหลัง ผมเริ่มเกลียดน้ำเค็ม ดำลงไปเจอโน่น...ยี้ เจอนี่...ย้า เคยเจอมาหมดแล้ว ความตื่นเต้นเริ่มเลือนหาย แถมยังเริ่มสนิทสนมคุ้นเคยกับทีมงานตะลุยป่า แม้สังขารจะไม่ให้ (พุงเป่งเกินไป) แต่ใจรักอยากลองเที่ยวไพรพฤกษ์ดูบ้าง เอาแบบป่าที่รถยนต์เข้าถึง เดินน้อยๆ แต่พองาม

ผมตั้งใจไปเที่ยวเพื่อดูนกครั้งแรกที่อินทนนท์ สองปีมาแล้ว แม้ได้เห็นนกมากหลาย แต่ยังไม่ติดใจเพราะเกือบทั้งหมดตัวเล็กกว่ากำปั้น แถมช่วงนั้นยังบ้าถ่ายภาพ แบกกล้องตัวยาวเท่าบาซูก้า เดินไปเดินมาเหนื่อยชะมัด จนเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ผมตั้งใจไปป่าบาลาเพื่อดูนกเงือกโดยเฉพาะ ครั้งนี้ไม่เน้นภาพ เพราะเพิ่งบรรลุว่าเราเป็นนักเขียน ไม่ใช่ช่างภาพ มัวแต่ถ่ายภาพพอดีไม่มีไอเดียอะไรมาเขียนเรื่อง ผมมีเพื่อนเป็นช่างภาพเยอะแยะ อยากได้ภาพนกตัวไหน ออเดอร์ไปแป๊บเดียวก็ได้ (อย่าว่าแต่นกเลยครับ เสือ สิงห์ กระทิง แรด อยากได้อะไรมีหมด ฮ่าๆๆ เกิดเป็นอาจารย์ธรณ์สบายจริงหนอ)

เมื่อผมไม่ต้องถ่ายภาพ หันมาดูนกอย่างเดียว ความสุขเริ่มเกิด อย่างน้อยก็ไม่เหนื่อยเดินแบกกล้อง มีโอกาสพิจารณาคุณปักษามากกว่าเดิม พอลงไปบาลาก็โป๊ะเชะ เจอนกเงือกบินกันพึ่บพั่บ ทั้งเช้าทั้งเย็นดูได้ดูดีไม่มีเบื่อ พอกลับมากรุงเทพฯ ผมฝันดีเห็นหน้านกเงือก ฝันร้ายเห็นหน้าแฟน อัดอั้นตันใจขึ้นมา ฝนฟ้ากระหน่ำ ไปดำน้ำก็ไม่สนุก ไปทีไรน้ำขุ่นทุกที จึงตัดสินใจว่า เราไปดูนกอีกดีกว่า แต่นกที่มีศักดิ์ศรีสาสมกับสายตาของเรา ต้องเป็นราชาแห่งพงไพร นกเงือกตัวใหญ่เท่านั้น 

บรรดานกเงือกทั้งหลายที่ผมยังไม่เคยเจอ เจ้าตัวที่อยากเห็นสุดคือนกเงือกคอแดง เพราะโดนคุณโอภาส เพื่อนรุ่นพี่ผู้เที่ยวด้วยกันมา 30 ปีแล้ว กรอกหูอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ธรณ์...นกเงือกคอแดงนะ อู้ฮู...ตัวมันใหญ่มากเลย กางปีกบินแล้วดังหวือๆๆ คอก็แดงกล่ำเหมือนคนกระดกตอกิลล่า หางก็ข๊าวขาว ยิ่งกว่าซอกแขนของคุณหนูที่เดินอยู่ตรงหน้าเราอีกแน่ะ (ผมมีนัดกับพี่เล็กที่สยามครับ) ผมเดินดูซอกแขนคุณเธอไปพลาง คิดถึงเรื่องนกเงือกไปพลาง คิดถึงภรรยาและบุตรทางบ้านบ้างนิดหน่อย ก่อนตัดสินใจเด็ดขาด ลูกเมียช่างมัน คอแดงสำคัญกว่า

เมื่อนั่งเช็คกับบรรดาผู้รู้เรื่องนกทั้งหลาย แทบทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวกัน อยากเห็นคอแดงต้องไป "ช่องเย็น" ฮะอาจารย์ (ผู้รู้อ่อนวัยกว่าผมครับ) แต่อย่าฝันสูงให้มากนะฮะ เดี๋ยวจะรักคุดเหมือนผม หวังต่ำๆ เข้าไว้ ดอกไม้ริมทางคว้ามาก่อน นกกระจิบนกกระจอกอะไรก็ดูๆ เข้าไป บางคนไปช่องเย็นสิบกว่าเที่ยวยังไม่เคยเห็นเจ้าคอแดงเลยฮะ

ช่องเย็น...ชื่อนี้เคยได้ยิน เพราะพี่เล็กพูดถึงเป็นประจำ ผมไปค้นข้อมูลเพิ่มเติมได้ความว่า ช่องเย็นเป็นชื่อช่องเขาแห่งหนึ่ง ความสูง 1,340 เมตร ถือเป็นจุดสูงสุดบนถนนสายคลองลาน-อุ้มผาง ถนนตัดผ่านป่าตะวันตกที่ปัจจุบันสิ้นสุดที่ช่องเย็น หากอยากไปต่อจากนั้นต้องเดินย่ำต๊อก สภาพถนนหายกลายเป็นป่าปกคลุม เหตุที่ถนนสายนี้ถูกปิดเพราะตัดผ่านผืนป่าตะวันตก ป่าใหญ่ผืนสุดท้ายของเมืองไทย ถ้ายังมีการใช้กันอยู่ มีหวังป่าหายป่าหดหมดแน่นอน (แล้วก่อนทำถนน ทำไมไม่คิด?)

ช่องเย็นอยู่ในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ อุทยานระดับป๋ามีพื้นที่ 894 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ในจังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดกำแพงเพชร ใครอยากไปต้องขับรถไปที่อุทยานฯแม่วงก์ ก่อนปุเลงๆ ขึ้นเขาอีกเกือบ 30 กิโลเมตร บนช่องเย็นไม่มีไฟฟ้า ไม่มีร้านอาหาร อยากกินอะไรเชิญทำเอง ที่นั่นมีลานกางเต็นท์ แล้วก็มีบ้านพักพออยู่ได้ 

ผมสำรวจข้อมูลหมดแล้วถึงเริ่มวางแผน ประการแรก...เราไปดูนก ขืนไปกับพี่เล็กสองคน นั่นเป็นความคิดที่ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง ไม่ใช่จะดูถูกพี่เล็ก ใครก็ทราบว่าแกเป็นป๋า แต่ชื่อนกที่พี่เล็กบอก กับชื่อนกที่อยู่ในหนังสือ รู้สึกว่ามันจะไม่เคยตรงกันเลย เอะอะก็ปรอดบ้างอีแพร่ดบ้าง พี่เล็กน่ะไปด้วยแน่ แต่เราควรหาใครที่มีความรู้เรื่องนกมากกว่านั้น
อย่างที่บอก ผมเป็นคนที่มีผู้ชายรักธรรมชาติอยู่รอบกายเยอะ แต่ละคนล้วนเป็นเซียน ตั้งแต่ฝึกหัดเซียน (ระดับ 400 ชนิด) โคตรเซียน (650 ชนิด) เซียนเหยียบเซียน (750 ชนิด - เจ้าตัวเลขเหล่านี้หมายถึงจำนวนชนิดของน้องนกที่เซียนเคยเห็นมา) ครั้งนี้ผมจึงเลือกไป 3 เซียน ได้แก่ นายตี๋นิสิตสุดที่รัก เห็นหน้ากันมานานเกือบแปดปีแล้ว เซียนรายที่สองชื่อนายกั๊ก ช่างภาพนกและสัตว์ป่า เซียนรายสุดท้ายคือนายก้อง บารมี ช่างภาพดาวรุ่งฝีมือดีน่าติดตาม 

ผมสอบถามจากพี่เล็กผู้เคยไปช่องเย็นมาแล้ว 4 ครั้ง ได้ความว่าบนนั้นหนาวนะธรณ์ ผมดูจากตัวเลขความสูงแล้ว ไม่แปลกอะไรหรอกครับ 1,340 เมตร สูงกว่าภูกระดึงอีกแน่ะ ถึงจะเป็นหน้าฝนแต่อากาศคงเย็น ไม่งั้นเค้าจะตั้งชื่อว่า "ช่องเย็น" ทำไม? เสื้อผ้าที่ต้องเตรียมควรมีเสื้อหนาวติดไปสักตัว แต่อากาศหน้าฝนคงเปียกชื้น เตรียมเสื้อฝนไปด้วยก็ดี อุปกรณ์กำเนิดแสง ประเภทตะเกียง ไฟฉาย เทียนไข ไฟสุมทรวง เอาไปให้ครบถ้วน เตา ตะหลิว และกระทะ พี่เล็กเป็นคนเตรียม ผมไม่เกี่ยว ทีนี้ก็มาถึง "คุ่น"

"คุ่น" หน้าตาเหมือนแมลงหวี่ แต่มีนิสัยเหมือนแวมไพน์ เมื่อคุ่นเจอเรา คุ่นจะบินมาเกาะ ใช้ปากเจาะผิวหนังนุ่มๆ แล้วก็จ๊วบๆๆ ดูดเลือดที่เต็มไปด้วยฮีโมโกลบินสีแดงฉ่ำของเราเข้าไปจนเต็มกระเพาะ ผมลองสังเกตคุ่นที่เกาะหน้านิสิต พบว่าเค้าใช้เวลาดูดเลือดนานกว่ายุงธรรมดาถึง 2 เท่า ที่สำคัญคือคุ่นกัดไม่เจ็บครับ เรียกว่าเราแทบไม่รู้ตัวเลย อย่างนิสิตผู้เป็นคนสาธิตให้ดู คุ่นดูดเลือดจนตัวเป่งก่อนบินจากไป เค้ายังไม่รู้ตัวเลยว่าโดนคุ่นกัด

ผมเหลือบมองขนอันดกดำของตัวเอง นั่นคือเกราะป้องกันคุ่นชั้นแรก คุ่นบินมาเจอขนเราคงส่ายหน้า บินไปหาเนื้อโล่งๆ ของชาวคณะรายอื่น หากมีคุ่นหน้าด้าน ผิวหนังอันหยาบกร้านของผม ผ่านการตากแดดตากลมตากไอเค็มมาหลายพันวัน คงป้องกันคุ่นได้ระดับหนึ่ง ถึงแม้กัดเข้าไป ร่างกายที่ทนทาน เกินมาโดนตัวอะไรกัดก็ไม่เคยแพ้ อย่างดีก็แค่เกาสองสามแกรกคงหาย ผมเลยตัดสินใจไม่เอาตะไคร้หอมติดตัวไป เพราะต้องไปซื้อใหม่ เนื่องจากที่บ้านไม่เคยมีอุปกรณ์อะไรในการป้องกันยุง

จากคุ่นมาถึงทาก เจ้าตัวยึกยือนี้หลายคนเกลียดมาก แต่ผมรู้สึกเฉยๆ ทากกับผมไม่เคยทำบุญทำกรรมร่วมกันมาแต่ชาติปางไหน ตั้งแต่เข้าป่ามาผมเคยถูกทากดูดเลือดแค่หนเดียว แถมครั้งนี้ยังมีพี่เล็กไปด้วย แกเป็นตัวดูดทาก ทั้งป่าต่างมุ่งหน้าหาแกหมด ผมเลยไม่เดือดร้อน ใส่กางเกงเลดูนกสบายดีออก

ท้องฟ้าใสกระจ่าง จันทร์ดวงงามลอยเด่นให้เราขอข้าวขอแกง เสียงหนุ่มสาวคุยกันกรุ๋งกริ๋ง ถ้าเป็นนักเขียนประเภทเพ้อฝัน คงเริ่มเรื่องด้วยคำพรรณนาเช่นนั้น แต่ผมเป็นนักเขียนประเภทอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง สิ่งที่เกริ่นมาจึงเป็นเรื่องโกหก เพราะท้องฟ้ายามค่ำคืนวันศุกร์มืดตึ๊ดตื๋อ จันทร์เจ้าขาอยู่ไหนข้าพเจ้าไม่ทราบ เห็นแต่ไฟนีออนของร้านคาราโอเกะข้างถนน เสียงหนุ่มสาวคุยกันก็ไม่มี ได้ยินแต่เสียงกรนครอกๆ ของนายกั๊กที่นอนชันเข่าอยู่เบาะหลัง ผมอยากกรนบ้างก็ไม่ได้กรน เพราะกลัวพี่เล็กโชเฟอร์ของเราจะกรนตาม แล้วจะได้ไปช่องเย็นในโรงพยาบาลแทน

ระหว่างเส้นทางกรุงเทพ-นครสวรรค์ ไม่มีอะไรเล่าให้ฟัง เราใช้เวลาเดินทางไม่ถึงสองชั่วโมง พอเข้าเขตนครสวรรค์ พี่เล็กเติมน้ำมันจนเต็มถัง บอกว่าต้องเผื่อไว้เพราะในอุทยานฯไม่มีน้ำมัน เราต้องขับรถไปโน่นมานี่ไม่สำรองไว้เดี๋ยวแย่ ผมลงมาเดินเล่นรอบปั๊มหนึ่งรอบ มองดูเมืองนครสวรรค์ยามค่ำคืน โอ้! เมืองแห่งโมจิ ปากน้ำโพที่ลือลั่นตั้งแต่สมัยบรมครูมาลัย ชูพินิจ เคยเขียนไว้ในเรื่อง "แผ่นดินของเรา" ทุกอย่างเปลี่ยนไปเกือบหมด ครูมาลัยกลับมาดูอีกหนคงกลุ้มใจพิลึก

จากนครสวรรค์ พี่เล็กใช้เส้นทางไปสู่กำแพงเพชร พอเลยนครสวรรค์สัก ๒๐ กิโลเมตร แกเลี้ยวซ้ายแยกจากถนนใหญ่ตามป้ายสู่อำเภอลาดยาว ถนนสายนี้แคบและมีหลุมบ่อ แต่พี่เล็กบอกว่าเป็นเส้นทางลัด ผมเชื่อใครไม่เชื่อ ดันไปเชื่อพี่เล็ก นั่งรถมาอีกชั่วโมงกว่ายังไม่ถึงสักที มันลัดยังไงเหรอพี่จ๋า? นิสิตผู้ทำหน้าที่เป็นโชเฟอร์ของรถอีกคันก็กลุ้มใจ เขานัดแนะกับพี่เล็กมาเสร็จสรรพ ขาไปใช้เส้นทางนี้ ขากลับไม่เชื่อพี่เล็กแล้ว ลองใช้อีกเส้นทางดีกว่า เลี้ยวออกทางอำเภอคลองขลุง ปรากฏว่าเร็วกว่ากันตั้งเยอะ สรุปแล้วใครจะมา กรุณาอย่าหลงผิดอย่างผม ขับรถไปตามถนนใหญ่มุ่งหน้าไปกำแพง เมื่อถึงอำเภอคลองขลุง เจอป้ายซ้ายมือเขียนว่า "อำเภอคลองลาน" เลี้ยวไปทางนั้น พอมาถึงคลองลาน สังเกตป้ายหรือถามทางชาวบ้าน อีกแค่ ๑๕ กิโลเมตรก็ถึงที่ทำการอุทยานฯแล้วครับ

แม่วงก์อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพ ถ้าอากาศดีไม่มีฝนตก ขับรถ ๓-๔ ชั่วโมงน่าจะถึง (อย่าลืมนะครับ พวกผมวัยกำลังห้าว ขับรถเร็วกว่าชาวบ้าน เวลาถูกรถคันอื่นแซงรู้สึกโดนเหยียดหยาม เชื่อว่าหากประพฤติเช่นนี้ต่อไป คงไม่ได้แก่ตายแน่) ออกจากกรุงเทพเย็นวันศุกร์ทันถมเถ ขนาดผมออกมาตอนหัวค่ำ ผจญรถติดบานตะไท แวะกินข้าวอีกต่างหาก ยังมาถึงอุทยานฯแห่งนี้ไม่เกินเที่ยงคืน เราจ่ายเงินค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานฯเรียบร้อย คุณยามแย้มยิ้มต้อนรับพร้อมเปิดที่กั้นให้ จากด่านกั้นเข้าไปสัก ๓-๔ กิโลเมตร เส้นทางขึ้นเขานิดหน่อย เรามาถึงที่ทำการอุทยานฯแล้วครับ

ที่ทำการฯอยู่บนเชิงเขา ปรับแต่งพื้นที่ไว้อย่างดี มีเจ้าหน้าที่เฝ้าตลอด ๒๔ ชั่วโมง แม้พวกผมมาถึงกลางดึก พอจอดรถได้แป๊บเดียว พี่เค้ารีบเข้ามาถามไถ่ เมื่อทราบว่าเราจองบ้านไว้เรียบร้อยแล้ว แกพาพวกเราไปที่บ้าน บอกว่าเชิญเลยครับ บ้านหลังนี้อยู่ริมน้ำมีระเบียงสวยงาม นอนให้สบายนะครับ

ผมกับคณะพรรคกำลังจะขนของเข้าห้อง แต่ยังไม่ทันขน นายตี๋ เบิร์ดลีดเดอร์ หยุดยืนเงี่ยหูแล้วบอกว่าโอ้เสียงนก ผมได้ยินเสียงนก มันต้องเป็นนกกลางคืนแน่ เอาไฟมา มีไฟฉายมั้ย? ผมจะหานกกลางคืน เมื่อตี๋ได้ไฟฉาย ตี๋ก้มตี๋เงย ตี๋ทำท่าเหมือนหมาล่าเนื้อได้กลิ่นกระต่ายป่า ตี๋บุกดงหญ้าแบบไม่กลัวงูกัด ก่อนฉายไฟปราดเข้าให้ นกตัวหนึ่งที่เกาะอยู่หลังต้นไม้ โผล่หน้าออกมาจ๊ะเอ๋ไฟฉาย นกแสกแดง! ก้องบารมีที่ย่องตามตี๋ไปอย่างกระชั้นชิด กระซิบบอก แสกแดง!!! เย้...ดีใจจัง ว่าแต่มันหายากหรือเปล่า? เมื่อก้องพยักหน้าบอกว่าหายาก ผมค่อยกลับเข้าไปในรถเพื่อตะกุยหากล้องส่องทางไกล รื้อออกมาได้ยังไม่ทันยกขึ้นส่อง ฟุ่บๆๆ นกแสกแดงบินลับลา คุณนกเจ้าขา เจ้านกบ้า รอเดี๋ยวก็ไม่ได้

นกไปแล้ว แต่ข้าวของยังอยู่ รอช้าอยู่ไย ผมบงการให้นิสิตและสตาฟขนของ ส่วนตัวเองเดินเข้าไปเลือกที่นอน บ้านพักอุทยานฯที่นี่ใช้ได้เลยครับ มีระเบียงฟังเสียงน้ำในห้วยไหลกระฉอกตลิ่ง คืนนั้นผมนอนฟังเสียงน้ำไหลสลับกับเสียงกรนของพี่เล็กตลอดทั้งคืน ตื่นเช้ามาฮ้าสดชื่น ออกมาเดินโต๋เต๋ เห็นนายตี๋พาพรรคพวกลงไปที่ริมห้วย ท่าจะไปหากระเต็นขาวดำใหญ่ แต่ผมเชื่อมั่นแน่ว่าด้วยโชคชะตาของนายตี๋ คงไม่มีวันเจอ

ว่าแล้วเราเดินสำรวจที่ทำการฯแม่วงก์ดีกว่า เค้าจัดสวนไว้สวยเชียวครับ มีไม้พุ่มตัดทำเป็นป้ายชื่อ สนามหญ้ากว้างเหมาะสำหรับกางเต็นท์ บ้านพักหลายหลังสร้างอยู่ริมห้วยสวยเก๋ ร้านอาหารสวัสดิการก็มี ราคาแพงกว่าร้านข้าวแกงข้างนอกเพียงนิดเดียว ในศูนย์นิทรรศการยังมีข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวให้พร้อมสรรพ ถ้าคุณเป็นคนชอบดูนก มาที่นี่คงไม่ผิดหวัง เพราะแม่วงก์มีนกให้ดูไม่ต่ำกว่า ๓๕๐ ชนิด

แล้วถ้าไม่ดูนกล่ะ? แม่วงก์ยังเหมาะสำหรับการท่องเที่ยวหลากรูปแบบ หนุ่มสาวเรอะ ต้องกางเต็นท์ครับ บ้านพักที่นี่หลังใหญ่เกินเหตุ อยู่บ้านคงโหวงเหวงน่าดู กางเต็นท์ฮันนีมูนกลางฝน ตื่นเช้าขึ้นมาเจ้าสาวถูกน้ำพัดหายไป เจ้าบ่าวคงสุขชะมัด (เหมาซองของขวัญในงานแต่งเป็นของเราแต่ผู้เดียว สุขหรือทุกข์ดีล่ะเนี่ย) ถ้าเป็นหนุ่มใหญ่มาแบบครอบครัว เหมาบ้านพักทั้งหลัง ปล่อยลูกหลานวิ่งไล่กันบนสนามหญ้า เรานั่งจิบเหล้าดูลูกหลานตกห้วย นั่นก็น่าจะสุข โดยเฉพาะถ้ามาหน้าหนาว แต่ต้องระวังสักนิด เสาร์อาทิตย์หรือวันหยุดราชการ ผู้คนอาจล้นหลาม หากเลี่ยงช่วงนั้นได้ ผมเชื่อว่าทุกคนคงชอบใจการมาพักผ่อนที่แม่วงก์ 

บางคนอาจต้องการกิจกรรมเพิ่มเติม แต่ไม่หวังจะไปให้ถึงช่องเย็น เพราะรถเก๋งไม่เอื้ออำนวย ผมแนะนำว่าอาจเดินเที่ยวตามริมห้วย หรือไปแก่งผาคอยนาง อยู่เลยที่ทำการฯไปไม่ถึง ๒ กิโลเมตร จะเดินไปก็ได้ ขับรถไปก็สะดวก แต่ผมไม่ยักไป เพราะรู้สึกว่าชื่อแก่งดูหมิ่นศักดิ์ศรีลูกผู้ชาย มีอย่างที่ไหนให้เราไปคอย นางนั่นจะสวยขนาดไหนก็มีสามีแล้ว ถ้าเปลี่ยนชื่อเป็น "แก่งคอยนางสาว" เมื่อไหร่รับรองไปแน่ 

สำหรับคุณที่ต้องการกิจกรรมเพิ่มมากขึ้น มานอนนี่สักคืน ตื่นเช้าค่อยเดินเที่ยวแก่ง ถึงบ่ายออกจากอุทยานฯไปเที่ยวน้ำตกคลองลานก็สนุก น้ำตกแห่งนั้นสูงใหญ่ ตั้งอยู่ไม่ไกลจากแม่วงก์ ถ้าถนนดีๆ ใช้เวลาเดินทางไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง เทคนิคไปก็ไม่ยาก แค่ขับรถกลับไปที่อำเภอคลองลาน สังเกตป้ายบอกทางไป "อุทยานฯคลองลาน" แค่นั้นก็เรียบร้อย

ผมเดินคิดอะไรเพลินๆ จนไม่ได้ยินเสียงตี๋เรียก มารู้สึกตัวอีกครั้งเมื่อนิสิตหนุ่มวิ่งเข้ามาจับมือถือแขน (ว้าย!) ลากผมให้ลงไปดูนกประหลาด ขณะนี้คณะพรรคกำลังชุลมุนดูอยู่อย่างสนุกสนานเป็นยิ่งนัก เมื่อเข้ามาใกล้ผมถึงร้องอ๋อ นกประหลาดที่ว่าคือเจ้าแสกแดง เมื่อคืนบินปิ๊วๆ ล่อนายตี๋ พอตะวันขึ้น นกกลางคืนที่ดีย่อมไม่บินพั่บๆ ท่ามกลางแสงแดดของประเทศใกล้เขตศูนย์สูตร เขาต้องหาที่พักผ่อนนอนหลับ สำหรับเจ้าแสกแดงตัวนี้ ท่าทางแถวแม่วงก์จะเงียบสงบ ไม่ค่อยมีใครไปกวน แถมยังไม่มีวัดอยู่ใกล้ๆ (นกแสกชอบนอนตามวัดครับ) แสกแดงเลยตั้งหลักปักขาเกาะอยู่บนตอไม้ริมน้ำ นายตี๋บังเอิญเหลือบไปเห็น กระโดดโลดเต้นดีใจก่อนพาชาวคณะส่องกล้องดูอย่างใกล้ชิด ส่องจนสาสมอารมณ์หมายแล้วค่อยวิ่งขึ้นมาเรียกผมไปช่วยส่อง

จากเลนส์ใสปิ๊งทำจากแร่ซิลากาชั้นเริ่ดในประเทศออสเตรีย ผมมองเห็นแทบทุกขุมขนของแสกแดง ในใจภาวนาให้เปลี่ยนจากนกกลายเป็นอย่างอื่น (อย่างไหน? แฮ่ม! เดี๋ยวนี้เอาใหญ่แล้ว ชักทะลึ่ง น่าตีจริงเชียวเรานี่) ส่องไปนายตี๋ก็อธิบายไป นกแสกแดงเป็นนกที่ออกหากินเวลากลางคืน อาศัยอยู่ในป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณ และป่าพรุ มีถิ่นแพร่กระจายอยู่ทางตะวันตก ทางเหนือ ภาคใต้ และบางส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดเป็นนกประจำถิ่นหายาก อาหารที่ชอบคือแมลงและสัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็ก เช่น กิ้งก่า ตุ๊กแก

บางครั้งเขาก็กินพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก เช่น หนู เพื่อการจับเหยื่ออันรื่นรมย์ นกแสกแดงมีนิ้วเท้าที่แข็งแรงและเล็บที่แหลมคมเหมือนเท้าเหยี่ยวไว้สำหรับขยุ้มเหยื่อ ก่อนใช้จะงอยปากที่โค้งเหมือนเคียวฉีกทึ้ง ตัวอย่างเห็นง่าย น่าน...นั่น! เห็นมั้ยครับ ที่บนตอไม้ใกล้ที่เกาะของนายแสกแดง มีตุ๊กแกคอขาดนอนตายอยู่หนึ่งตัว เชื่อว่าตุ๊กแกตัวนี้ถูกแสกแดงจับกิน พอกินส่วนหัวหมด พุงแสกแดงก็เป่ง เลยเก็บตัวตุ๊กแกไว้กินต่อมื้อหน้า จัดเป็นนกที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลกว่าผู้บริหารประเทศบางคน

ชมแสกแดงเสร็จสรรพ ถึงเวลาเดินทางต่อ จากที่ทำการฯขึ้นไปจนถึงช่องเย็น ระยะทาง ๒๘ กิโลเมตร เป็นทางขึ้นเขาตามถนนสายคลองลาน-อุ้มผาง ที่ปัจจุบันเปิดให้บริการถึงแค่ช่องเย็น เลยจากนั้นห้ามเข้าจ้ะ ถึงอยากเข้าก็เข้าไม่ได้ เพราะป่ากลืนถนนไปหมดแล้ว ผมกระโดดขึ้นรถมีพี่เล็กเป็นโชเฟอร์ พอเราเลี้ยวออกจากที่ทำการฯได้หน่อยก็เจอด่าน ใครจะขับรถขึ้นไปต้องขออนุญาตให้เรียบร้อย เมื่อเช้าพี่เล็กแอบไปติดต่อศูนย์บริการนักท่องเที่ยวมาแล้ว จึงไม่มีปัญหาอะไร เมื่อผ่านด่านไปสักหน่อย ถนนเริ่มแคบคดโค้งขึ้นเขา ผมคิดถึงถนนไปแก่งกระจานขึ้นมาทันที

จะว่าไปแล้ว ไปเที่ยวช่องเย็นกับไปเที่ยวแก่งกระจานมีส่วนคล้ายกันหลายอย่าง (แก่งกระจาน - ในที่นี้หมายถึงอุทยานฯ ไม่ใช่เขื่อนนะครับ) ถนนขึ้นเขาทั้งสองแห่งไม่เปิดให้บริการตอนกลางคืน ต้องขึ้นกลางวัน ที่แตกต่างคือการไปแก่งกระจานต้องขึ้นลงเป็นเวลา เพราะถนนแคบรถสวนกันลำบาก แต่ที่ช่องเย็นขึ้นลงได้ตลอดวัน ถนนยังอยู่ในสภาพดีกว่านิดหน่อย พอให้รถสวนกันได้

ข้อดีประการหนึ่งของการเที่ยวช่องเย็น คือ ช่วงนี้ไม่ค่อยมีคนไป อาจเป็นเพราะอยู่ไกลกรุงเทพมากกว่า ผิดกับแก่งกระจานที่เสาร์อาทิตย์เกือบเป็นเหมือนตลาดนัด ผู้คนเยอะแยะ บางทีขับขึ้นเขามีรถต่อกันสิบกว่าคัน ขณะที่ทริปสู่ช่องเย็นของผม ไม่มีรถขึ้นเขาสักคันยกเว้นรถของพวกเรา ทั้งที่เป็นวันเสาร์นะเนี่ย

สูงๆ ขึ้นไป ชาวคณะแวะจอดดูนกสองข้างทางเป็นระยะ อันนี้ก็เหมือนครับ เพราะไปเที่ยวแก่งกระจานใช้เทคนิคดูนกตามถนน บางหนอาจเจอสัตว์ป่า เช่น เสือดาว อย่างที่พี่เล็กเคยเจอและเคยเล่าในคอลัมน์ของแกไปสักหนึ่งปีมาแล้ว เส้นทางขึ้นช่องเย็นมีเสือดาวเช่นกัน เพื่อนผมเพิ่งจ๊ะเอ๋ไปเมื่อไม่นานมานี้ แต่ครั้งที่เราไป ผมเป็นคนโชคร้ายในเรื่องสัตว์ๆ สรุปแล้วเลยไม่เจออะไรยกเว้นนก

ผมกับพี่เล็กรุดหน้ามาก่อน ปล่อยให้ชาวคณะขับรถตู้ตามหลัง เราผ่านเส้นทางลาดยางแต่มีหลุมบ่อ บางหนก็เป็นทางดินเละๆ ที่เขากำลังทำทาง ฝนที่ตกลงมาทำให้ดินลื่นปรู๊ดปร๊าด ถ้าเป็นถนนธรรมดาอย่างดีก็ตกคูข้างทาง แต่ที่นี่ข้างทางคือเหวนรก มองลงไปสูงไม่ต่ำกว่าห้าสิบเมตร ขอบถนนมีต้นหญ้าคาหรอมแหรม ไม่มีที่กั้นใดๆ แม้กระทั่งต้นไม้ ช่วงนี้เลยลุ้นหนักหน่อยกว่าจะตะลุยผ่านมาได้ ทางตรงนั้นยาวแค่ ๒-๓ กิโลเมตร แต่สร้างความหวาดเสียวได้ดีแท้

ในที่สุด เราเริ่มใกล้ยอดเขา ช่องเย็นเป็นจุดสูงสุดของถนนคลองลาน-อุ้มผาง ที่ระดับความสูง ๑,๓๔๐ เมตร สูงกว่าภูกระดึงนิดหน่อย อากาศย่อมเย็นแน่ ผมเปิดหน้าต่างยื่นมือออกไป ยังไม่เท่าไหร่แฮะ มันจะเย็นแค่ไหนเชียว ระดับเราผ่านอินทนนท์มาแล้ว ยอดเขาสุดสูงในนิวซีแลนด์ก็เคยไป ช่องเย็น?...อ่อน!!!

พ้นโค้งขึ้นเนินสุดท้าย ภาพช่องเย็นโผล่มาตรงหน้า ผมจึงเพิ่งรู้ตัวว่า อย่าได้คิดเอายอดดอยอินทนนท์ นิวซีแลนด์ ฯลฯ มาเปรียบเทียบกับช่องเย็นเป็นอันขาด ที่นี่ไม่เหมือนที่ไหน...เพราะเมืองในหมอกของประเทศไทย ไม่ได้มีที่แม่ฮ่องสอนเพียงแห่งเดียว ที่นี่ก็มี และไม่ได้มีเพียงหมอก แถมเมฆให้อีกด้วย

อยากให้คุณหลับตาคิดภาพครับ เทือกเขาสูงเป็นพืดของดินแดนแห่งผืนป่าตะวันตก ถนนสายคลองลาน-อุ้มผางลัดเลาะมาตามหุบเขา จนชนแป้กเข้ากับเขาสูงลูกหนึ่ง ไม่มีหุบผ่าน ถนนเลยต้องตัดขึ้นสู่ยอดเขาที่ลักษณะเป็นเนิน กว้างสักเท่าสนามฟุตบอล ล้อมรอบด้วยหลายยอดเขาที่สูงกว่า เนินนี้แหละครับที่ตั้งของช่องเย็น มองลงไปด้านล่างเป็นหุบเขาสวยเชียว ลมที่พุ่งมาตามหุบเขา เมื่อปะทะกับเนินเขาช่องเย็น จะหลบซ้ายขวาก็มียอดเขาอื่นคอยบังอยู่ ลมเลยถูกบังคับให้พัดผ่านช่องเย็นดังหวือๆ

บังเอิญหน้าฝนไม่ได้มีแต่ลม แต่บนฟ้ามีเมฆด้วย ลมพาเมฆพุ่งขึ้นผ่านช่องเย็น สร้างบรรยากาศเมืองในเมฆตลอดเวลา พอฟ้าโปร่ง เราจะเห็นวิวข้างหน้าสักแป๊บ จากนั้นก็มาแล้ว ลมพัดเมฆลอยมาตามหุบเขาเห็นถนัดตา สักเดี๋ยวลอยหวือขึ้นมาบนช่องเย็น พุ่งผ่านสนามหญ้า รถ ต้นไม้ และบ้านพัก ความชื้นในอากาศแค่ไหนข้าพเจ้าไม่ทราบ แต่ที่ทราบคือสูงปรี๊ด สูงจนเกือบเป็นร้อยเปอร์เซนต์มั้งครับ ขนาดมุ้งลวดที่บ้านพักยังใช้มุ้งลวดพลาสติก มีหยดน้ำเกาะพราว ไถ่ถามเจ้าหน้าที่แล้วได้ความว่ามุ้งลวดธรรมดาใช้ได้ไม่นานสนิมกินพังหมด

รถโฟร์วีลของเราจอดอยู่บนสนามหญ้า เมฆพัดมาเป็นก้อนๆ พี่เล็กไปหาเจ้าหน้าที่เพื่อติดต่อที่พัก ผมก้าวลงมามองบรรยากาศซ้ายขวา เงียบสงบสุดบรรยาย ทั่วช่องเย็นไม่มีใครเลยทั้งที่เป็นวันเสาร์ เสียงนกร้องจิ๊บดังมาจากราวป่าด้านล่าง บรรยากาศตอนนี้สุขสงบแปลกประหลาด จนแทบไม่น่าเชื่อว่าที่นี่คือเมืองไทย จะเปรียบเทียบให้ใกล้เคียง คงเหมือนชนบทประเทศอังกฤษมั้งครับ ชั่วแต่ว่าอากาศเย็นกว่า (เคยไปแล้ว ไม่ใช่ตู่เอา แต่ไปมาเมื่อยี่สิบห้าปีที่แล้ว สมัยนั้นเป็นเด็กเกเร ถูกคุณพ่อส่งไปฝึกงานนานสามเดือน เศร้ามากครับ)

ผมสูดหายใจเข้าปอดเฮือกใหญ่ ชีวิตช่างมีสุข แล้วจะมีสุขมากขึ้นถ้า...ถ้า เสียงหวือๆๆ ดังมาจากด้านหลัง นายกั๊กที่ยืนอยู่ข้างผมร้องออกมา "อาจ้าน!!! นกเงือกคอแดง" ผมหันขวับกลับไป เงาดำสองเงาร่อนผ่านกลางสายหมอก ลงเกาะที่ตอไม้เหนือหลังคาบ้าน ห่างจากจุดที่ผมยืนไปไม่เกินยี่สิบเมตร ขนาดของเงาใหญ่จนหมดสงสัยว่าเป็นตัวอะไร? ทั้งป่านกใหญ่ขนาดนี้นอกจากอีกาห้าตัวบินต่อกันแล้ว คงมีแต่นกเงือกเท่านั้น แล้วกั๊กรู้ได้ไงว่าเป็นนกเงือกคอแดง สุดยอดนกเงือกของเมืองไทยล่ะ?

ช่องเย็นเป็นสถานที่ลือชื่อในการเฝ้าดูนกเงือกคอแดง เรียกว่าเจ๋งสุดในบ้านเราได้แน่ แม้ว่าคอแดงอาจพบในป่าตะวันตกแถวอื่น แต่มีน้อยมากแถมอยู่กลางป่าลึก โอกาสที่คนอย่างเราท่านพบเห็นเป็นศูนย์ แต่ช่องเย็นเป็นจุดที่นักเที่ยวทั่วไปสามารถมาได้ มีรายงานการพบนกเงือกคอแดงสองตัว บางหนอาจเป็นสามตัวถ้าอยู่ในช่วงเลี้ยงลูกที่มีขนาดใหญ่พอติดตามพ่อแม่ไปกินอาหารได้ เป้าหมายของคอแดงคือต้นไม้ที่มีลูกสุกเกือบตลอดเวลา บังเอิญต้นไม้ที่ว่าขึ้นอยู่เลยหน้าผาชมวิวของช่องเย็นไปนิดเดียว

ใครมาที่นี่เลยมีโอกาสเจอคอแดงสูงเชียวล่ะ นั่นคือเหตุผลประการแรก อีกอย่างหรือครับ นกเงือกคอแดงตัวใหญ่มาก นกเงือกอื่นมีขนาดใหญ่ใกล้เคียงกันมีน้อย ต้องเป็นระดับนกกาฮังทำนองนั้น แต่รูปร่างและนิสัยของนกทั้งสองต่างกัน นายกั๊กเป็นประเภทโคตรเซียนดูนกมาแล้วเฉียด ๗๐๐ ชนิด แค่นี้จะไม่รู้เชียวหรือ? ยิ่งใจอยากเห็นคอแดง ตัวอะไรกระพือปีกได้ขนาดใกล้เคียงนกเงือกคอแดง ไงๆ ก็ต้องเดาว่าคอแดงไว้ก่อน

ผมเป็นคนโชคดี เขียนหนังสือก็มีคุณๆ กรุณาตามอ่าน อย่างหนนี้ผมกำลังยืนยิ้มกลางสนามหญ้า ร้อยวันพันปีไม่เคยยืนยิ้มแบบมีกล้องส่องทางไกลห้อยคอ ก็บังเอิญหนนี้ดันมีเพราะอยากทำเท่ว่าตูข้าคือเซียนดูนก เมื่อผมเห็นเป้าหมาย กล้องถูกยกขึ้น ฮ่า...ไม่เห็นอะไรเลยวุ้ย สายหมอกบังไว้จนเห็นแค่เงาดำ ไม่มีหนอกบนหัว เพราะงั้นไม่ใช่นกกาฮังแน่

และแล้ว...ดุจฟ้าปราณี สายหมอกจางหายไปหนึ่งวูบ สิ่งที่ผมเห็นคือนกขนาดใหญ่ ตัวสีดำสนิท ส่วนคอถึงส่วนหัวสีแสด มีเหนียงตรงคอสีแดง รอบตาสีฟ้า ปากสีเหลืองมีบั้งเป็นร่องๆ อยู่ที่จะงอยปากด้านบน ก่อนมาผมดูรูปเจ้าคอแดงไม่รู้กี่สิบครั้ง ดูไปฝันไปว่าเราจะได้เจอบ้าง ครั้งนี้...ได้เจอแล้วครับ

ติ๊ก...ติ๊ก เข็มวินาทีกระดิกสองหน หมอกลอยมาขวางกั้น ภาพนกตรงหน้าหายกลายเป็นเงาดำเหมือนเดิม หวือๆๆ นกทั้งคู่กระพือปีกบินร่อนหายไปในสายหมอก ตั้งแต่เขาและเธอลงเกาะจนถึงบินไป ใช้เวลารวมไม่เกินสิบห้าวินาที เร็วชนิดที่พี่เล็กผู้วิ่งหน้าตั้งมาคว้ากล้องไม่ทัน แต่เห็นด้วยตาก็ถือว่าเห็น แม้จะไม่ได้ดูแบบใกล้ชิด มาถึงช่องเย็นไม่ถึงสิบนาทีได้เห็นนกเงือกคอแดง สุขครับ...สุขมาก ยิ่งสุขใหญ่เมื่อคิดว่าจะได้ทับถมนายตี๋นักดูนก ผู้ยังมาไม่ถึงพร้อมคณะลูกทัวร์

เพียงไม่นาน รถตู้คันใหญ่โผล่ขึ้นมาจากสายหมอก ชาวคณะตามมาถึงแล้ว ตี๋โผล่หน้ามา ตี๋เขินตี๋อาย ตี๋ไม่เคยได้เห็นคอแดง เพราะเกิดมาไม่เคยมาช่องเย็น ตี๋จึงเจ็บแค้นใจ (เหตุผลที่ตี๋ไม่เคยมาทั้งที่เป็นนักดูนกตัวกลั่น ที่นี่โบกรถลำบาก ไม่ค่อยมีรถให้โบก เลยมาทีไรไม่เคยถึงสักที ได้แต่เดินย่ำต๊อกรอรถผ่านอยู่ข้างล่าง รอเท่าไหร่ก็ผิดหวังเหมือนรอรัก ใครที่คิดว่าการดูนกไม่เกี่ยวกับเงินทอง ใช่ครับ...ถ้าเป็นนกกระจิบนกกระจอก แต่ถ้าเป็นราชานก คนจนไม่มีรถย่อมอาภัพจ้ะ)

อากาศปิด มีเมฆอยู่ทั่วไป ไม่ใช่อยู่เพียงบนฟ้า แต่เมฆก้อนหนึ่งเพิ่งลอยเข้าไปในข้าวกล่องของผม ที่ซื้อติดมาจากร้านสวัสดิการข้างล่าง เมฆอีกก้อนลอยเข้าไปในถุงน้ำปลา กรุณาอย่าคิดว่าเว่อร์จนกว่าคุณจะได้ไปช่องเย็นยามหน้าฝน เพราะคุณสามารถกินข้าวโดยไม่ต้องมีแก้วน้ำ แค่อ้าปากให้กว้าง สักเดี๋ยวเมฆก็จะลอยเข้าไป ไอน้ำบริสุทธิ์กลั่นตัวไหลโกร๊กลงมาตามไรฟัน สะอาดกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว

ผมกินข้าวแกล้มเมฆไปเรื่อยๆ สายตาจับจ้องแมลงประหลาดบินไปเกาะหน้านายตี๋ หน้าตาคล้ายแมลงหวี่แฮะ ฮูย...เกาะแล้วดูดเลือดด้วยเนี่ย เห็นเลยว่าตัวพองเป่งขึ้น ดูดนานตั้งนาทีแล้วยังไม่ยอมปล่อย เอ้า...ปล่อยแล้วล่ะ เห็นหยดเลือดเล็กๆ โผล่มาจากบาดแผล เมื่อถึงตอนนั้นผมค่อยบอกตี๋ว่าคุ่นกัด ตี๋เอามือปาดหน้าหัวเราะร่าใช่ที่ไหนครับ นี่มันขี้แมลงวันของผมต่างหาก สามสัปดาห์หลังจากนั้น ผมแอบเห็นตี๋เกาหน้าแกรกๆๆ อยู่หน้าห้องน้ำหญิง ขี้แมลงวันคันได้แปลกดีนะ

กินข้าวเสร็จ โดนคุ่นเจาะเลือดเสร็จ ถึงเวลาเดินดูนก ป่ารอบด้านของช่องเย็นมีนกมากหลาย แต่ละตัวไม่ค่อยได้เห็นง่ายๆ เช่น หัวขวาน แถมยังเชื่องเจาะไม้โป๊กๆ ให้เราชมตั้งนาน แต่อย่างว่า เรื่องนี้ไม่ใช่สารคดีดูนก ผมจะไม่ลงรายชื่อนกโน้นนี้นั้น เพราะมันไม่สมศักดิ์ศรีของนักเขียน เป้าหมายของเราต้องเป็นนกเงือก เมื่อกี้เจอนกเงือกคอแดงไปแล้ว คราวนี้มาดูนกเงือกกรามช้างบ้าง

เราเดินอยู่บนถนนครับ ก่อนชาวคณะรายหนึ่งจะหยุดยืนแล้วชี้โบ๊ชี้เบ๊ขึ้นไปบนอากาศ เจ้าเงาดำที่ร่อนอยู่เป็นฝูงคือนกเงือกกรามช้าง ไม่ได้มีแค่หนึ่ง แต่มาเป็นฝูง แถมยังไม่มีแค่ฝูงเดียว แต่มาหลายฝูง ตั้งแต่ไปยันกลับ ผมนับนกเงือกกรามช้างได้ ๓๒ ตัว มีอยู่หนหนึ่งทั้งฝูงร่อนลงเกาะต้นไม้ ส่องกล้องเห็นชัดเจนจนอยากกรี๊ด แม้นกเงือกกรามช้างหาไม่ยาก ไปแค่เขาใหญ่ก็มีสิทธิเจอ แต่กรามช้างเป็นฝูงหาดูไม่ง่าย ที่เห็นแบบสะดวกสบายทัวร์ คงต้องล่องใต้ไปถึงบาลาจึงจะมีสิทธิเห็นกรามช้างเยอะขนาดนี้

หนึ่งวันผ่านไป ค่ำคืนเข้ามาเยือน พายุพุ่งทะลวงผ่านช่องเย็น ทั้งเมฆทั้งฝนมืดไปหมด เปิดประตูห้องปุ๊บเมฆลอยเข้ามาในห้อง ยิ่งกลางคืนที่ช่องเย็นไม่มีไฟฟ้า เราต้องจุดตะเกียง บรรยากาศยิ่งสุดยอด ชาวคณะรวมกลุ่มกันในห้องพักสร้างไออุ่น ห้องที่นี่ทำไว้ใช้ได้ครับ มีเตียงนอนเรียงกัน ด้านหลังเป็นห้องครัวใช้ประกอบอาหาร แต่คุณต้องนำอุปกรณ์ทุกอย่างรวมทั้งเตาไฟมาเอง เขามีบริการเพียงก๊อกน้ำ ห้องน้ำอยู่ด้านหลังแยกชายหญิง ใช้รวมกันสองห้องนอนต่อห้องน้ำหนึ่งชุด

คืนนั้นที่ช่องเย็นผมขดตัวอยู่ในถุงนอนหลับสบายมาก มีเพียงหนเดียวที่ตื่นมากลางดึกหนหนึ่งรู้สึกฝ่ออยู่นาน ก่อนนอนดันเล่าเรื่องผีตากลวง ยิ่งที่ช่องเย็นมืดตึ๊ดตื๋อ ต้องเดินไปเข้าห้องน้ำข้างนอก ใครชอบดีฝ่อไม่ควรพลาดโอกาสมาเข้าห้องน้ำที่ช่องเย็นกลางดึก
ตื่นเช้ามาฝนจากไปแล้ว ฟ้าแม้ไม่สดใสแต่ถือว่าใช้ได้ เสียงนกร้องลั่นป่า ผมคว้ากล้องส่องทางไกลเดินออกมา ไม่ยอมล้างหน้าแปรงฟันหรือแม้กระทั่งคิดเปลี่ยนชุด เนื่องจากมาดูนกไม่ใช่ไปเดทกับน้องนก ความหอมของร่างกายไม่จำเป็น

พี่เจ้าหน้าที่เค้าบอกว่านกเงือกคอแดงมักมาตอนเช้ากับตอนเย็น ผมเดินออกไปที่สนาม มุ่งหน้าไปจุดชมวิวเพื่อส่องต้นไม้ของนกเงือก ปัญหาคือต้นไม้นี้ถูกต้นไม้อื่นบังไว้ ส่องลอดช่องไปเห็นนิดเดียว มองดูแล้วไม่เจอนกเงือก เลยเดินลัดเลาะไปตามขอบผา กำลังจะลงไปตามทางเพื่อดูนกในป่า ผมได้ยินเสียงบ๊อกๆๆ

เรื่องเสียงนี่ว่ากันลำบาก หูคนฟังเสียงไม่เหมือนกัน บางคนได้ยินคำหวานกลับกลายเป็นคำขม ผมเลยบอกคุณไม่ได้ว่าเสียงที่ได้ยินดังยังไง แต่บอกได้ว่าเคยได้ยินเสียงทำนองนี้ แม้จะไม่เหมือนเปี๊ยบ เสียงที่ผมเคยได้ยินเกิดขึ้นที่ป่าบาลา สมัยไปเฝ้าดูนกเงือก หนนี้ได้ยินแว่วมาจากหน้าผา แปลว่าน่าจะมีนกเงือก ผมเลยเดินย้อนกลับไปที่จุดชมวิว ยืนส่องกล้องแถวนั้น นายตี๋เดินมาเยาะเย้ยว่ารอนกเงือกหรือครับ?

ผมบอกตี๋ว่าได้ยินเสียง ตี๋ก็ไม่ยอมเชื่อ จนเมื่อต้นไม้สั่นไหว ผมมองเห็นนกตัวใหญ่สีดำหางขาวชัดแจ๋ว บินผ่านกิ่งไม้ที่จับตาอยู่แวบหนึ่ง ตี๋ไม่เชื่อก็เรื่องของตี๋ ผมแน่ใจแล้วว่าตรงนั้นมีนกเงือก กล้องในมือถูกยกขึ้นพร้อมๆ กับนกตัวใหญ่สองตัวบินออกมาจากต้นไม้ เมื่อวานเห็นชัดแค่ไหน วันนี้คูณด้วยร้อย นกเงือกทั้งคู่คือนายและนางคอแดงคู่เก่า ใหญ่มากสีสวยมาก ประสบการณ์ครั้งนั้นสุดบรรยาย น่าเสียดายที่มีผม ตี๋ และพี่เล็กเห็นกันอยู่สามคน ส่วนคนอื่นยังไม่ได้เดินออกมาจากห้องพัก เพราะยังเช้าอยู่มากหรือไม่ก็เพราะบุญไม่ถึง ฮ่าๆๆ 
ตลอดทั้งวันจนถึงยามบ่าย พวกเราเฝ้าดูนกอื่น แม้ไม่ได้เห็นนกเงือกคอแดงอีกเลย แต่นกที่พบทั้งหมด ๕๓ ชนิดล้วนติดตาติดใจ จะสวยงามแค่ไหนต้องเชิญให้คุณๆ ไปชมเอง

บทสรุปของช่องเย็น อย่าถามว่าผมจะกลับไปอีกไหม ต้องเปลี่ยนเป็นจะกลับไปเมื่อไหร่? เพราะผมติดอกติดใจที่นั่นมาก ชอบกว่าแก่งกระจานหลายเท่า อาจเป็นเพราะผมโชคดีไปตอนที่ไม่มีคนอื่น เลยมีโอกาสชื่นชมธรรมชาติสมใจอยาก ลองถามพี่เจ้าหน้าที่ เค้าบอกว่าถ้าเป็นหน้าหนาวในช่วงเทศกาล สนามหญ้าไม่พอกางเต็นท์ ต้องลงไปกางข้างล่างแน่ะ

หากคุณๆ สนใจไปช่องเย็น ผมสรุปให้อีกครั้ง ที่นี่บรรยากาศแจ่มมาก แต่เที่ยวตอนหน้าฝนควรโทรไปถามสภาพอากาศด้วย เมื่อถามแล้วควรติดต่อบ้านพักจากกรมป่าไม้ให้เรียบร้อย การกางเต็นท์ช่วงหน้าฝนอาจไม่ค่อยดีนัก เนื่องจากฝนตกกลางคืนเกือบทุกคืน และไม่ใช่ตกเบาๆ แต่เป็นระดับลมพัดหวีดหวิว เช็คพาหนะสักนิด ถ้าเป็นรถเก๋งผมไม่แนะนำ รถกระบะสะดวกกว่า (รถตู้ที่มากับคณะ คนขับสั่นพั่บๆๆ ตลอดทาง ผมถึงไม่นั่งไงครับ) เตรียมอุปกรณ์มาทำอาหารทุกอย่าง เตรียมไฟฉายเสื้อหนาว อากาศประมาณ ๑๐-๑๕ องศากำลังดี ถ้ามาในช่วงหน้าหนาว หลีกหนีช่วงเทศกาล อย่าพยายามมาเป็นเด็ดขาด ควรเลือกมาวันธรรมดา ลางานสักสองวันสุขกายสบายใจกว่าเยอะ

คนที่ชอบเที่ยวโน่นนี่ ไม่สนใจการดูนกหรือดูป่า ทำใจไว้นิด ช่องเย็นไม่มีถ้ำ มีน้ำตกแต่อยู่ไกลมากและไม่ได้สวยเลิศเลอ แต่ถ้าอยากมานอนอยู่ในบรรยากาศป่าที่ผิดจากป่าไทยทั้งหลาย ได้เห็นนกเงือกก็ดี ไม่เห็นก็ไม่เป็นไร นอนบ้างเดินเล่นบ้างแค่นั้นก็พอแล้ว ช่องเย็นเหมาะกับคุณครับ
...
ว่าแต่...อีกไม่นาน จะมีอะไรเหลือที่ช่องเย็น
เขื่อนแม่วงก์กำลังจะถูกสร้าง ป่านับหมื่นไร่จะหายไป
นกกี่ตัว สัตว์กี่ตัว
เคราะห์ดีที่ผมเคยไปช่องเย็น เคยเห็นแม่วงก์
เคราะห์ร้ายที่ผมยังมีความทรงจำถึงที่นั่น
เมื่อคิดถึงแล้ว ใจจะขาด
หากแลกป่า กับความเดือดร้อนจากคนโดนน้ำท่วมหลายล้าน
อาจชั่งใจคิด
แต่จริงหรือที่เป็นเช่นนั้น
เมืองไทยมีกี่เขื่อนแล้ว ???
เรากำลังจะเสียป่าไป
เพื่ออะไร...??? 
ผมคัดค้านเขื่อนแม่วงก์
ผมคัดค้านการนำภาษีของผมไปฆ่านกเงือกคอแดง !

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

‘ธงทอง’ เบิกความคดี ‘สมยศ’ ชี้ไม่ได้ บทความหมิ่นใคร ย้ำม.112 โทษหนักเกิน

$
0
0

24 เม.ย. 55 เวลาประมาณ  9.30 น. การสืบพยานฝ่ายโจทย์ในคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ยังคงดำเนินต่อไป โดยช่วงเช้าวันนี้ก่อนเริ่มต้นการสืบพยาน ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาเพื่อให้ส่งต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ2550 ใน มาตรา 3 วรรคสอง และมาตรา29 หรือไม่

นายสุวิทย์ ทองนวล ทนายจำเลยและผู้ยื่นคำร้องกล่าวว่า การยื่นคำร้องนี้ไม่ได้ทำให้ศาลอาญายุติการสืบพยาน แต่ศาลอาญาไม่มีอำนาจตีความเองว่ามาตรา 112 ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ต้องส่งไปให้รัฐธรรมนูญเป็นผู้ตีความ และแม้ว่าจะสืบพยานเสร็จสิ้นแล้วก็ตามศาลอาญาก็ยังไม่อาจอ่านคำพิพากษาได้ เพราะต้องรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อน ส่วนศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอย่างไรก็เป็นหน้าที่ที่จะต้องชี้แจงเหตุผล การยื่นคำร้องเช่นนี้ไม่เคยปรากฏมาก่อน เพราะจำเลยซึ่งไม่ว่าจะกระทำผิดจริงหรือไม่ก็มักยอมรับผิดแล้วขอพระราชทานอภัยโทษเพื่อให้ไม่ต้องติดคุกนานเกินไป ดังนั้นการยื่นคำร้องในครั้งนี้ต้องศึกษากฎหมายอย่างรอบคอบ และที่สำคัญไม่ใช่เป็นการทำเพื่อตัวจำเลยเพียงคนเดียว เพราะหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มาตรา112 ขัดต่อรัฐธรรมนูญก็จะเป็นผลดีกับจำเลยคนอื่นๆ ในคดีลักษณะเดียวกันด้วย

ส่วนการสืบพยานในวันนี้ ประกอบด้วยพยานทั้งหมด 4 ปาก โดยหนึ่งในนั้นคือศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี พยานปากสำคัญได้เบิกความถึงบทความที่ถูกฟ้องในนิตยสาร Voice of Taksin ว่า มี 2 บทความจาก 2 เล่มที่มีเนื้อหาหมิ่นประมาทตามมาตรา112  พยานเห็นว่าฉบับหนึ่งผู้เขียนตั้งใจเท้าความไปถึงประวัติศาสตร์ช่วงรอยต่อระหว่างธนบุรีและรัตนโกสินทร์ โดยพยานทราบว่าเป็นการหมิ่นประมาทเพราะอาศัยการเทียบเคียงกับความรู้ด้านประวัติศาสตร์ที่มีอยู่ และเทียบเคียงกับพงศาวดารกรุงธนบุรี ของหมอ บลัดเลย์

เมื่อทนายจำเลยถามถึงการบันทึกประวัติศาสตร์แบบอื่นในเรื่องเดียวกัน เช่น ฉบับของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ธงทองตอบว่า ยอมรับว่าประวัติศาสตร์มีหลายฉบับ แต่ประวัติศาสตร์แบบอื่นๆ นั้นไม่ได้ให้น้ำหนัก เพราะถือว่าเป็นการบันทึกแนวหนึ่งที่มีคนส่วนน้อยถกเถียงกันอยู่ ส่วนบทความอีกฉบับหนึ่งที่กล่าวถึง “หลวงนฤบาล” ธงทองระบุว่าไม่สามารถให้ความเห็นได้แน่ชัดว่าผู้เขียนต้องการหมิ่นประมาทหรือกล่าวถึงใคร  

ทนายความถามว่า ในระบอบการปกครองของไทยปัจจุบันพระมหากษัตริย์กับอำนาจรัฐเป็นสิ่งเดียวกันหรือไม่ พยานกล่าวว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ก็อยู่ใต้กฎหมายแต่ยังเกี่ยวข้องกับความมั่นคง พยานจึงไม่สรุปว่าพระมหากษัตริย์แยกออกจากอำนาจรัฐหรือไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพราะยังมีคำว่า “รัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ส่วนมาตรา112 นั้น ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน มีการระวางเพิ่มโทษสูงขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าประเทศไทยจะปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย แต่ในปัจจุบันมาตรานี้กลับมีโทษสูงกว่าในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์เสียอีก พยานเห็นว่าโทษ 3-15 ปีรุนแรงเกินไปและไม่ได้สัดส่วนกับสาระของการกระทำความผิด คำว่า “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น” ในมาตรา112 ควรจะมีความหมายเช่นเดียวการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นบุคคลธรรมดาในมาตรา 326  ซึ่งเมื่อนำมาเปรียบเทียบกันแล้วถือว่าโทษหนักเบาแตกต่างกันมาก นอกจากนี้ยังไม่ให้จำเลยพิสูจน์เหตุยกเว้นโทษหรือยกเว้นความผิดได้ตามมาตรา 329 แต่พยานก็เห็นว่า โดยภาพรวมกฎหมายอาญาจะจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอยู่แล้ว พยานเห็นว่าการที่รัฐธรรมนูญมาตรา 8 บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ทางใดๆ มิได้ หมายความว่าประชาชนไม่สามรถฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ได้ ไม่ว่าจะโดยทางแพ่งหรือทางอาญา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะวิจารณ์พระมหากษัตริย์ไม่ได้ และพยานก็ทราบว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสไว้เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.48 ว่าการวิจารณ์พระองค์นั้นทำได้ แต่พยานก็เห็นว่าการกระทำผิดตามมาตรา 112 นั้น กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ แต่ไม่ถึงกับจะทำให้รัฐไม่ดำรงอยู่เสียทีเดียว

ทนายจำเลยสืบความถึงโทษจำคุกในคดีอาญาอื่นๆ พยานก็เห็นว่าในคดีซึ่งมีการกระทำผิดที่ร้ายแรงกว่านี้กลับมีโทษจำคุกน้อยกว่า นอกจากนี้พยานยังเห็นว่าการแก้ไขให้มาตรา112 ตามแนวทางของกลุ่มนิติราษฎร์จะทำให้รักษาหลักการของมาตรา 112 ที่แท้กว่าการนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม นายสุวิทย์ ทองนวล ทนายจำเลยได้ร้องต่อศาลก่อนที่จะมีการสืบพยานปากนายชนาธิป ชุมเกษียน อดีตลูกจ้างที่ทำงานเป็นช่างภาพให้แก่นิตยสาร Voice of Taksin เนื่องจากนายชนาธิป เคยเข้าฟังการสืบพยานฝ่ายเดียวกันที่จังหวัดเพชรบูรณ์ก่อนหน้านี้  

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พยานโจทก์อีกปากหนึ่งของวันนี้คือนายบวร ยะสินธร เครือข่ายราษฎรอาสาปกป้องสถาบัน ซึ่งระบุว่าได้แจ้งความนายสมยศในคดีหมิ่นฯ ไว้อีกคดีหนึ่งด้วย

ทั้งนี้ การสืบพยานฝ่ายโจทย์ในคดีนี้จะมีไปจนถึงวันที่ 26  เม.ย. 55 และสืบพยานฝ่ายจำเลยจะมีในวันที่ 1-4 พ.ค. 55     

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

'ผสานวัฒนธรรม' แจง กมธ.ทบทวนกฎหมายและสร้างมาตรการป้องเด็กเหยื่อไฟใต้

$
0
0

ผู้แทนมูลนิธิผสานวัฒนธรรม นำเสนอข้อมูลสถานการณ์สิทธิมนุษยชนต่อคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ  ขอให้สภาผู้แทนฯ ทบทวนการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ

และสร้างมาตรการคุ้มครองเด็กในกระบวนการยุติธรรมในจังหวัดชายแดนใต้

24 เมษายน 2555 ผู้แทนมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และนางสาวอัญชนา หีมมิหน๊ะ กลุ่มด้วยใจ ได้เข้าชี้แจงต่อคณะอนุกรรมการชุดที่ 2 ของคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ สภาผู้แทนราษฎร นำโดยประธานอนุกรรมการฯ นายอภิชาต ศักดิ์เศรษฐ์   โดยผู้แทนฯ ได้นำเสนอสถานการณ์สิทธิมนุษยชน ผลกระทบจากความรุนแรงจากการก่อความไม่สงบฯ นโยบายด้านการใช้กำลังทหารและฝ่ายความมั่นคงจำนวนมาก  นโยบายด้านการเยียวยาและการสร้างกระบวนการเจรจาเพื่อสันติภาพ โดยทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและกลุ่มด้วยใจมีความห่วงใยอย่างยิ่งเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายพิเศษที่ส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนในพื้นที่  พร้อมนำเสนอความเป็นมาและสภาพปัญหาของการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ อันได้แก่ พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 (กฎอัยการศึก) และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พรก.ฉุกเฉินฯ) มีผลทำให้บุคคลที่เป็นผู้ต้องสงสัยที่เกี่ยวข้องกับความไม่สงบได้รวมไปถึงผู้ต้องสงสัยที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี ถูกจับและควบคุมตัวภายใต้กฎหมายพิเศษก่อนเข้าสู่มาตรการขั้นตอนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาปกติ

จากการรวบรวมการข้อเท็จจริงในพื้นที่พบว่า ตั้งแต่ 2550-ต้นปี 2555 มีอย่างน้อย 30 กรณีที่เด็กถูกบังคับใช้กฎหมายพิเศษ ในจับและควบคุมตัวนั้นมีสภาพการดำเนินการที่ไม่เหมาะสมกับเด็กและไม่สอดคล้องกับวิธีการสำหรับเด็กที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553  เช่น การจับและควบคุมตัวโดยมิได้แสดงหมายและเหตุแห่งการจับกุม มีการควบคุมตัวเด็กรวมกับผู้ใหญ่ แม้หลังจากที่มีการร้องเรียน การควบคุมตัวเด็กตาม พรก.ฉุกเฉินฯจะได้มีการปรับปรุงระเบียบในการแยกสถานที่ควบคุมตัวเด็กออกจากผู้ใหญ่ แต่การควบคุมตัวภายใต้การบังคับใช้กฎอัยการศึก ยังไม่มีระเบียบในการกำหนดการแยกสถานที่ควบคุมตัวของเด็ก ในการซักถามเด็กก็ไม่ปรากฎว่ามีบุคคลที่เด็กไว้วางใจและมีเจ้าหน้าที่สหวิชาชีพร่วมด้วย ทำให้บางกรณีพบว่าเด็กถูกข่มขู่หรือถูกทำร้ายร่างกายเพื่อให้รับสารภาพ ยิ่งไปกว่านั้นยังพบว่ามีกรณีที่เด็กถูกวิสามัญฆาตกรรมระหว่างการปิดล้อม ตรวจค้น หรือในบางกรณีเจ้าหน้าที่ให้เด็กเข้าร่วมชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านแบบไม่เป็นทางการซึ่งถือว่าเป็นการให้เด็กเข้าร่วมกิจกรรมของความขัดแย้งด้วยอาวุธด้วย เป็นต้น

ทางมูลนิธิฯและองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เห็นว่าสถานการณ์สิทธิมนุษยชนและภาพสะท้อนจากการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในการป้องกันการก่อเหตุและการปราบปรามการก่อความใม่สงบส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของมนุษย์และสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนอย่างมาก จึงได้ขอเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการฯ พิจารณาแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และเพิ่มระบบการติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริงจากพื้นที่ด้วยการรับฟังความเห็นจากภาคประชาชนและภาคประชาสังคม  ทั้งนี้เพื่อการพิจารณาการบังคับใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่ และการประกาศต่ออายุการใช้พรก.ฉุกเฉิน จากข้อเท็จจริงรอบด้าน  รวมทั้งเรียกร้องขอให้ตัวแทนคณะกรรมการธิการได้ใช้อำนาจทางนิติบัญญัติดำเนิการให้รัฐบาลทบทวนการประกาศใช้กฎหมายพิเศษในจังหวัดชายแดนใต้ทั้งระบบ โดยการประกาศใช้หรือขยายระยะเวลาในการประกาศใช้กฎหมายพิเศษ ควรให้มีการอภิปรายอย่างเปิดเผยในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรด้วย มิใช่เป็นการตัดสินใจของคณะรัฐมนตรีเหมือนที่ผ่านมาตลอดระยะเวลา 8 ปีเท่านั้น

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงาน: เริ่มก้าวแรกผลิตนักข่าว 4 ภาษา ค่ายอบรมเด็กปอเนาะชายแดนใต้

$
0
0

 

เปิดค่ายอบรมนักเรียนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในชายแดนใต้ เริ่มก้าวแรกผลิตนักข่าว 4 ภาษา สร้างนักสื่อสารจากคนพื้นที่ ผลิตสื่อไทย-มลายู

 

อบรมเข้ม – นักเรียนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กำลังฝึกการเขียนข่าว ในค่ายฝึกอบรมข่าว ระหว่างวันที่ 1- 10 เมษายน 2555 ณ บ้านพักตากอากาศ อามาน่าแปซิฟิก ตำบลสะกอม อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา

 

 

ปฏิบัติจริง - นางสาวรุสมี โตะอุง จากโรงเรียนมะอาหัดอิสลามียะห์ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ผู้เข้าอบรมโครงการค่ายอบรมข่าวนักเรียนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กำลังสัมภาษณ์นายอัดฮา โล๊ะมะ ครูตาดีกาบ้านปูโปร์ อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกทำข่าว

 

ในห้วงของความโกลาหลหลังจากเหตุคาร์บอมบ์ที่โรงแรมลีการ์เดนส์ พลาซ่า กลางเมืองหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และยะลา เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2555 นักข่าวหลายสำนักมุ่งนำเสนอความเสียหายอย่างเจาะลึก พอๆ กับการมุ่งไล่ล่าคนร้ายของเจ้าหน้าที่

ในห้วงนั้น นักข่าวทางเลือกกลุ่มหนึ่งกำลังง่วนอยู่กับการจัดค่ายฝึกอบรมการทำข่าวให้กับนักเรียนจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยหวังไกลถึงการผลิตนักข่าว 4 ภาษา และปูทางสู่การก่อตั้งสำนักข่าว 4 ภาษา ที่จะเริ่มต้นด้วยภาษามลายูอักษรยาวีควบคู่กับภาษาไทย

ด้วยพื้นฐานสำคัญที่เป็นข้อได้เปรียบทางการศึกษาของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามหรือ เรียกในชื่อเล่นว่า โรงเรียนปอเนาะ ในพื้นที่ คือมีการสอนทั้ง 4 ภาษา เป็นวิชาพื้นฐาน

ทั้ง 4 ภาษา ได้แก่ ภาษามลายู อันเป็นภาษาหลักของพื้นที่ ที่มีทั้งตัวเขียนที่ใช้อักษรโรมันและอักษรยาวี ภาษาไทย คือภาษาราชการของไทยที่ใช้ในการเรียนการสอนในหลักสูตรสามัญทั่วไป ส่วนภาษาอังกฤษ เป็นภาษาที่ใช้สื่อสารกันทั่วโลก และภาษาอาหรับ เป็นภาษาพื้นฐานสำคัญของอิสลามศึกษา

ค่ายฝึกอบรมข่าวนักเรียนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเตรียมคนให้พร้อมก่อนก่อตั้งสำนักข่าว เสมือนหนึ่งการเฟ้นหาเด็กที่สนใจในการฝึกทักษะและเห็นความสำคัญของการสื่อสารในรูปของการนำเสนอข่าว ก่อนนำไปฝึกทักษะอย่างจริงจังต่อไปในอนาคต

เป็นค่ายอบรมที่ดำเนินการโดยโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ซึ่งอยู่ภายใต้ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมในภาคใต้ของประเทศไทย (STEP Project) โดยมีนายมูฮำหมัด ดือราแม ผู้สื่อข่าวประชาไท และผู้ช่วยบรรณาธิการโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ เป็นหัวหน้าโครงการ

ค่ายอบรมซึ่งจัดขึ้นที่บ้านพักตากอากาศ อามาน่าแปซิฟิก 302 หมู่ที่ 1 ตำบลสะกอม อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา มีทีมงานหลักๆ มาจากกลุ่มบูหงารายา กลุ่มซีเระปีแน และวิทยาลัยประชาชน ซึ่งเป็นกลุ่มภาคประชาสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น นายลุกมาน มะ นายแซมซู แยะแยง

มุ่งสู่รากหญ้าพัฒนาคนพื้นที่

ค่ายฝึกอบรมข่าวนักเรียนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดขึ้นภายใต้กรอบแนวคิดและยุทธศาสตร์การสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ในกรอบการทำงานกับระดับรากหญ้า (Track 3)

ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แบ่งกรอบการทำงานตามยุทธศาสตร์ดังกล่าว ออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับบน (Track 1) คือ การทำงานกับรัฐ ขบวนการ คู่ขัดแย้ง ระดับกลาง (Track 2) คือ องค์กรภาคประชาสังคม และ (Track 3) คือ ระดับรากหญ้า หรือระดับท้องถิ่น ซึ่งเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

แนวคิดหลักๆ ของค่ายฝึกอบรมข่าว คือ มุ่งพัฒนาศักยภาพการสื่อสารให้คนชายแดนภาคใต้ ผ่านการฝึกทำข่าวทั้งภาษาไทยและภาษามลายูอักษรยาวี โดยมีช่องทางการเผยแพร่ 2 ทาง ทางแรกสำหรับข่าวภาษาไทย คือ ผ่านเว็บไซด์ต่างๆ ส่วนข่าวภาษามลายูอักษรยาวี คือนำไปผลิตจดหมายข่าวแจกจ่ายไปตามที่ต่างๆ ในพื้นที่

แน่นอนว่า เป้าหมายของผู้เข้าค่ายอบรมในโครงการนี้ จึงต้องเป็นนักเรียนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในฐานะที่เป็นทั้งผู้เรียน ผู้ใช้ ผู้เขียน และผู้อ่านทั้งภาษาไทย และภาษามลายู รวมถึงภาษาอังกฤษและภาษาอาหรับ อันเป็นเป้าหมายต่อไปในการพัฒนาทักษะการเขียนข่าวตามลำดับ

ในการคัดเลือกโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ให้ส่งนักเรียนเข้าร่วมนั้น เกิดจากแนวคิดในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยให้โรงเรียนเป็นผู้คัดเลือกนักเรียนเอง โดยกำหนดคุณสมบัติคร่าวๆ ของนักเรียน คือความสนใจในการพัฒนาทักษะการสื่อสาร และมีความสามารถด้านภาษามลายูอักษรยาวี

โดยกำหนดจำนวนผู้เข้าอบรมรวม 20 คน ระยะเวลาอบรม 10 วัน แบ่งเป็น 2 รุ่น รุ่นละ 10 คน และกำหนดโรงเรียนเป้าหมาย 10 โรงเรียน โรงเรียนละ 2 คน

ทีมงานได้กำหนดโรงเรียนเป้าหมาย ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงระดับหนึ่งในพื้นที่ และโรงเรียนที่มีอุสตาซ หรือครูสอนศาสนาที่เคยเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์ภาษามลายู ชื่อ FAJAR เพื่อให้ง่ายต่อการอธิบายโครงการแก่ผู้บริหารโรงเรียน เนื่องจากมีความเข้าใจในการทำข่าวเป็นอย่างดี

เปิดชื่อโรงเรียนเป้าหมาย

เดิมทีมงานได้กำหนดโรงเรียนเป้าหมาย 10 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนดำรงวิทยา (ปอเนาะบันนังสตา) โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ (ปอเนาะฮายีฮารูน) โรงเรียนมะฮัดอัลอิสลามียะห์ (ปอเนาะบาลอ) วิทยาลัยอิสลามเซคดาวุด (JISDA) จังหวัดยะลา

โรงเรียนนะห์ฏอตุลสูบาน (ปอเนาะปือดอ) โรงเรียนสัมพันธ์วิทยา (ปอเนาะเจาะไอร้อง) จังหวัดนราธิวาส โรงเรียนดารุลมะอาเรฟ (มัจลิสปัตตานี) โรงเรียนดรุนศาสน์(ปอเนาะชอแม) โรงเรียนมูฮำมาดียะห์ จังหวัดปัตตานี และศูนย์ประสานงานโรงเรียนตาดีกาจังหวัดชายแดนภาคใต้

ทว่า ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงโรงเรียนเป้าหมายบางส่วน เนื่องจากความไม่สะดวกของอุสตาซ รวมทั้งตัวนักเรียนที่จะเข้าอบรม

สำหรับค่ายอบรมข่าวรุ่นที่ 1 ผ่านไปแล้ว ระหว่างวันที่ 1 – 10 เมษายน 2555 โดยมีนักเรียนจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าร่วม 9 คน จากโรงเรียนเจริญวิทยานุสรณ์ (ปอเนาะลูโบะสาวอ) อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส โรงเรียนนะห์ฏอตุลสูบาน (ปอเนาะปือดอ) อำเภอรือเสาะ จังหวดนราธิวาส โรงเรียนประทีปวิทยา (ปอเนาะชายา) อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส โรงเรียนสุทธิศาสน์วิทยา (ปอเนาะบ้านแหร) อำเภอธารโต จังหวัดยะลา โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ (ปอเนาะฮายีฮารูน) อำเภอเมือง จังหวัดยะลา และโรงเรียนมะฮัดอัลอิสลามียะห์ (ปอเนาะบาลอ) อำเภอรามัน จังหวัดยะลา

ผลงานข่าวของนักเรียนรุ่นนี้ ได้ถูกนำไปเผยแพร่แล้วตามเว็บไซด์ข่าวต่างๆ แล้ว

ส่วนรุ่นที่ 2 ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ระหว่างวันที่ 21 – 30 เมษายน 2555 มีนักเรียนจาก 4 โรงเรียน และ 2 สถาบัน ที่เข้าร่วม ได้แก่ โรงเรียนวัฒนธรรมอิสลาม (ปอเนาะพ่อมิ่ง) อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี โรงเรียนบากงพิทยา (ปอเนาะตาฆู) อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี โรงเรียนอัครศาสน์ อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส โรงเรียนประทีปวิทยา (ปอเนาะชายา) อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส วิทยาลัยอิสลามเซคดาวุด และศูนย์ประสานงานตาดีกาจังหวัดนราธิวาส (pusaka)

นักเรียนที่ที่เข้าร่วมส่วนใหญ่เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แล้ว แต่กำลังศึกษาในสายศาสนาอย่างเดียวเพื่อให้เรียนจบชั้น 10 ก่อนจะไปศึกษาต่อในระดับสูงต่อไป บางคนกำลังศึกษาชั้นมัธยมปลายควบคู่กับการเรียนในสายศาสนา

เนื้อหาเข้มฝึกปฏิบัติจริง

ตลอดระยะเวลา 10 วันของการอบรม เนื้อหาแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ภาคทฤษฎี เป็นการให้ข้อมูลหรือทำความเข้าใจองค์ประกอบพื้นฐานของข่าว คือ 5W1H หรือ ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหน อย่างไร และทำไม โดยมีวิทยากรหลัก คือ นายสุพจ จริงจิตร บรรณาธิการโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้

ส่วนที่ 2 คือการบรรยายเกี่ยวกับความสำคัญของภาษามลายูอักษรยาวี รวมทั้งประสบการณ์ในการผลิตสื่อภาษามลายูอักษรยาวี โดยวิทยากรซึ่งเป็นอดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาษามลายูอักษรยาวี ได้แก่ นายอับดุลรอมาน หะยีหะสา และนายอุสมาน โตะตาหยง

พร้อมกันนั้น วิทยากรทั้ง 2 คน ได้จัดทำแบบทดสอบความสามารถด้านภาษามลายูของผู้เข้าอบรมแบบง่ายๆ ซึ่งสำหรับรุ่นที่ 1 แล้ว นายอับดุรอมาน ยืนยันว่า ทุกคนสามารถเขียนข่าวภาษามลายูได้

นอกจากนี้ ยังมีวิทยากรคนอื่นๆ ที่มาร่วมให้ความรู้ด้วย เริ่มจากนายมูฮำมัดอายุบ ปาทาน บรรณาธิการอาวุโส ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ บรรยายหัวข้อ “ข่าวอะไรคนชายแดนใต้สนใจ”โดยมีการสอดแทรกเรื่องความจำเป็นที่ต้องมีนักข่าวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ส่วนการบรรยายของนายสมัชชา นิลปัทม์ อาจารย์คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี เป็นเรื่องของ “ช่องทางการสื่อสาร” เพื่อให้ผู้เข้าอบรมทราบว่า มีช่องทางใดบ้างที่สามารถนำเสนอข่าว รวมทั้งยังแนะนำสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่เปิดสอนเกี่ยวกับสื่อมวลชน

การฝึกอบรมส่วนที่ 3 ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการฝึกอบรม ซึ่งเป็นหัวใจของการทำข่าว คือ การประชุมข่าว โดยให้ผู้เข้าอบรมนำเสนอประเด็นที่ตัวเองจะทำข่าว ซึ่งเป็นข่าวที่เกิดขึ้นในชุมชนหมู่บ้านของตัวเอง ในประเด็นง่าย ไม่ซับซ้อนมากนัก

จากนั้นได้ส่งนักเรียนลงพื้นที่ทำข่าวจริงๆ โดยการติดตามของพี่เลี้ยง เป็นเวลา 2 วัน ในช่วงวันที่ 6 – 7 ของการอบรม โดยผู้เข้าอบรมต้องไปหาข้อมูลและสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องตามที่กำหนดไว้ในช่วงการประชุมข่าว จากนั้นพี่เลี้ยงจะเดินทางไปรับนักเรียนถึงบ้าน

กระบวนการหลังจากนั้นคือการตรวจการบ้าน เริ่มจากตรวจดูว่าข่าวที่ได้ ครบองค์ประกอบพื้นฐานของข่าวหรือไม่ คือ 5W1H หากยังไม่ครบผู้เข้าอบรมต้องโทรศัพท์สัมภาษณ์เพิ่มเติม จนได้ข้อมูลครบ จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการตรวจวิธีการเขียน หรือการรีไรต์ จนกระทั่งได้ข่าวของแต่ละคน

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมเพิ่มเติม คือการฝึกถ่ายภาพ โดยให้ผู้เข้าอบรมลงพื้นที่ถ่ายภาพในพื้นที่ชุมชนใกล้ๆ กับสถานที่อบรม จากนั้นให้แต่ละคนเลือกมา 1 รูปเพื่อให้วิทยากรซึ่งเป็นช่างภาพมืออาชีพ คือ นายอิบรอเฮม มาโซะ จากเครือข่ายช่างภาพชายแดนใต้ และกลุ่มบินตัง โฟโต้ วิจารณ์ เพื่อให้ผู้เข้าอบรมสามารถแยกแยะได้ว่า ภาพประเภทใดเป็นภาพข่าว เป็นต้น

ก้าวต่อไปผลิตสื่อ 2 ภาษา

สำหรับก้าวต่อไป หลังการอบรมครั้งนี้ คือ การมอบการบ้านให้ผู้เข้าอบรม แปลข่าวของตัวเองเป็นภาษามลายูอักษรยาวี เพื่อนำมาตีพิมพ์เป็นจดหมายข่าว 2 ภาษา คือ ภาษามลายูอักษรยาวี และภาษาไทย สำหรับแจกจ่ายไปยังสถานที่ต่างๆ โดยจะทยอยตีพิมพ์จดหมายข่าวดังกล่าว เดือนละ 1 ฉบับ เป็นเวลา 1 ปี

นอกจากนั้น ยังกำหนดให้แผนที่จะให้ผู้เข้าอบรมได้นัดหมายพบปะเพื่อประชุมข่าวเดือนละ 1 ครั้ง ในรูปของการประชุมข่าวสัญจรไปตามโรงเรียนหรือชุมชนต่างๆ ของผู้เข้าอบรม เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้นำเสนอประเด็นข่าวที่จะทำต่อไป เพื่อเป็นการต่อยอดหลักการเข้าค่ายฝึกอบรมข่าว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาทักษะการทำข่าวเป็นเวลา 1 ปี ตามแผนที่กำหนดไว้

ส่วนภารกิจต่อไป คือ เส้นทางสู่เป้าหมายในการผลิตนักข่าว 4 ภาษา ซึ่งยังเป็นโจทย์ที่ต้องคบคิดต่อไป สำหรับการพัฒนาศักยภาพบุคคลต้นทุนกลุ่มนี้ รวมทั้งกลุ่มใหม่ๆ ที่จะเข้ามาในอนาคต

วันนี้ แม้ความไม่สงบที่ยังไม่มีทีท่าจะยุติลง ภารกิจของนักข่าวก็ต้องมีต่อไป เช่นเดียวกับการสร้างนักข่าวรุ่นใหม่ในชายแดนใต้ ยิ่งพื้นที่ที่แตกต่างจากสังคมใหญ่ของประเทศ ก็ยิ่งต้องสร้างนักสื่อสารที่มีคุณภาพจากคนในพื้นที่ ซึ่งก้าวแรกได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว

 

 

อ่านข่าวผู้เข้าอบรมรุ่นที่ 1

http://www.deepsouthwatch.org/dsj/3113#en

http://www.deepsouthwatch.org/dsj/3114#en

http://www.deepsouthwatch.org/dsj/3118#en

http://www.deepsouthwatch.org/dsj/3133#en

http://www.deepsouthwatch.org/dsj/3121#en

http://www.deepsouthwatch.org/dsj/3122#en

http://www.deepsouthwatch.org/dsj/3125#en

http://www.deepsouthwatch.org/dsj/3135#en

http://www.deepsouthwatch.org/dsj/3141#en

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คนงานโฮยาร้องสภาหอการค้าอเมริกัน จี้สมาชิกให้โฮยารับคนงานถูกเลิกจ้าง

$
0
0

เมื่อวานนี้ (24 เม.ย.) ที่สภาหอการค้าไทยอเมริกัน เครือข่ายกู้ดอิเล็กทรอนิกส์ประเทศไทยและคนงานที่ถูกเลิกจ้างจากบริษัทโฮยา จ.ลำพูน ได้ยื่นจดหมายให้สภาหอการค้าฯ เพือให้สภาหอการค้าฯ กดดันสมาชิกที่เป็นลูกค้าของโฮยา คือ บริษัทผลิตฮาร์ดดิสก์อย่าง Seagate และ WD ให้เรียกร้องต่อโฮยา เพือให้มีการปฏิบัติต่อคนงานอย่างเป็นธรรมด้วยการรับคนงานที่ถูกเลิกจ้างกลับเข้าทำงาน โดยมีตัวแทนสภาหอการค้าฯ มารับจดหมาย

ทั้งนี้หลังจากการเจรจาที่กรรมาธิการแรงงานรัฐสภาให้มีการเจราจาเพื่อรับคนงานเข้ากลับทำงานเมื่อวันที่ 10 เม.ย. ที่ผ่านมา นั้นปรากฎว่าไม่มีความคืบหน้า และสถานการณืยิ่งเลวร้ายขึ้นไปอีกเพราะหลังจากนั้นทางบริษัทได้มีการเลิกจ้างประธานสหภาพแรงงาน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ปมที่ดินใต้ร้อน ชาวบ้านโร่ร้อง “กรรมการสิทธิฯ-สภาทนายความ” ถูกอุทยานฯ รุกไล่

$
0
0

เครือข่ายที่ดินใต้ร้องถูกอุทยานรุกฟันยาง-รื้อสะพาน-จับกุมในพื้นที่ทับซ้อนที่ทำกินและที่อยู่อาศัย บุกกรุงฯ ยื่นหนังสือกรรมการสิทธิฯ-สภาทนายความ หามาตรการช่วยเหลือ เผยเตรียมพบวุฒิสภา-ประธานรัฐสภา แกนนำจวกรัฐบาลเมินนโยบายโฉนดชุมชน

 
 
 
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 24 เม.ย.55 ที่สำนักงานสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถ.แจ้งวัฒนะ ชาวบ้านเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด จาก จ.ตรัง จ.พัทลุง และจ.ประจวบคีรีขันธ์ ราว 50 คน เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนเรื่องเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ละเมิดสิทธิชุมชนและหามาตรการคุ้มครองพื้นที่การดำเนินการโฉนดชุมชนต่อนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานอนุกรรมการสิทธิชุมชน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะอนุกรรมการ
 
หนังสือดังกล่าว ระบุว่า สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด ได้ฟันทำลายต้นยางพาราและพืชผลเกษตรและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งพยายามจับกุมดำเนินคดีแก่สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัดในเขตพื้นที่ดำเนินการโฉนดชุมชน ดังนี้
 
1.วันที่ 25 มี.ค.55 หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัดได้จับกุมหมากแห้งของสมาชิกองค์กรชุมชนบ้านตระ ต.ปะเหลียน อ.ปะเหลียน จ.ตรัง ส่งสถานีตำรวจภูธรหนองเอื้อง อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง แต่สถานีตำรวจภูธรหนองเอื้องพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นวิถีชีวิตปกติของชาวบ้านจึงดำเนินการเจรจากับทางเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัดขอให้ผ่อนผัน
 
2.วันที่ 30 มี.ค.55 นายสมชัย แสงแก้ว หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า และเจ้าหน้าที่อุทยานฯ 50 นาย บุกฟันทำลายต้นยางพาราและพืชผลเกษตรอื่นๆ ของสมาชิกองค์กรชุมชนบ้านทับเขือ-ปลักหมู จำนวน 2 แปลง 7 ไร่ เป็นสวนยางของนายณรงค์ รอดรักษ์ 3 ไร่ สวนยางของนายเรวัตร รักษ์ทองจันทร์ 4 ไร่
 
3.วันที่ 6 เม.ย.55 นายเกรียงศักดิ์ ดีกล่อม หัวหน้าหน่วยปากแจ่ม อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า พร้อมเจ้าหน้าที่อุทยานฯ และตำรวจตระเวณชายแดน รวมทั้งนายเจิม เส้งเอียด หรือ ไข่หมูก อดีตจอมโจรชื่อดังภาคใต้ ประมาณ 35 นาย พร้อมอาวุธปืนและเลื่อยยนต์ 2 เครื่อง เข้ารื้อถอนสะพานเข้าชุมชนบ้านหาดสูง รอยต่อระหว่าง ต.เขาปูน อ.ห้วยยอด กับ ต.น้ำผุด อ.เมือง จ.ตรัง จำนวน 2 สะพาน
 
4.วันที่ 16 เม.ย.55 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด ได้พยายามจับกุมชาวบ้านที่หาหน่อไม้ เห็ดแครง องค์กรชุมชนบ้านตระ ต.ปะเหลียน อ.ปะเหลียน จ.ตรัง
 
 
คลิปเหตุการณ์โดย bandita92000
 
 
หนังสือดังกล่าว ระบุด้วยว่า จากลำดับเหตุการณ์การปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชได้ทำความเดือดร้อนกับประชาชนส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต ในเขตที่มีพื้นที่ทับซ้อนระหว่างอุทยานฯ กับพี่น้องชาวบ้านทั้งๆ รัฐบาลกำลังดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยยึดหลักสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 66 และมีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยโฉนดชุมชนเป็นแนวทางในการใช้สิทธิชุมชนในขณะนี้ เพื่อขจัดความขัดแย้งระหว่างภาครัฐกับประชาชน โดยให้เป็นไปตามวิถีชีวิตของชุมชน พร้อมกับการปฏิบัติตามกฎ กติกา และแผนการจัดการขององค์กรชุมชนนั้นด้วยดีตลอดมา แต่เหตุการณ์เหล่านี้ยังเกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนซ้ำแล้วซ้ำอีก
 
“ด้วยเหตุการณ์ดังกล่าวทางเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย จึงใคร่ขอให้ดำเนินการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน และหามาตรการคุ้มครองพื้นที่ที่ดำเนินการปฏิบัติการตามแนวทางโฉนดชุมชนภายใต้รัฐธรรมนูญ มาตรา 66 ว่าด้วยสิทธิชุมชนโดยเร่งด่วน” หนังสือดังกล่าว ระบุ
 
 
 
ขณะที่นางสาววัชรี ทองพิทักษ์ เลขานุการเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น จ.สุราษฎร์ธานี  ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนเรื่องขอร้องเรียนให้แก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน ซึ่งอุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็นประกาศทับซ้อนที่ดินทำกินราษฎรต่อนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานอนุกรรมการด้านที่ดินและป่า กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะอนุกรรมการ
 
หนังสือดังกล่าวระบุว่า เนื่องจากการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็นเมื่อวันที่ 31 ธ.ค.34 เป็นการประกาศเขตอุทยานฯ ทับซ้อนที่อาศัย ที่ทำกินของชาวบ้านซึ่งอยู่มาก่อนปี 2500 สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน อ.กาญจนดิฐ อ.นาสาร อ.เวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งราษฎรได้รวมตัวกันเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งปี 2546 ได้มีมติของคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติเห็นชอบให้เพิกถอนพื้นที่เพิ่มเติมจำนวน 28,770 ไร่ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินงานเพื่อเสนอร่างพระราชกฤษฎีกา แต่จนบัดนี้ไม่มีการดำเนินการใดๆ ซ้ำยังมีการจับกุมปรับราษฎรหลายรายในหลายพื้นที่ อันเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนทุกข์ยากให้แก่ราษฎรเป็นอย่างยิ่ง
 
“ขอให้อนุกรรมการด้านที่ดินและป่า ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและหารือกับจังหวัดสุราษฎร์ธานี อุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น และผู้ที่ได้รับผลกระทบอันเป็นการแก้ไขปัญหาระยะยาว ขอให้อุทยานฯ ชะลอการดำเนินการใดๆ ต่อราษฎร ในพื้นที่อุทยานทับซ้อนที่ทำกินและที่อยู่อาศัย และขอให้เร่งรัดการเพิกถอนพื้นที่ประกาศทับซ้อน 28,770 ไร่ ให้แก่ราษฎรที่อาศัยและทำกินมาก่อนการประกาศของอุทยานฯ” หนังสือดังกล่าวระบุ
 
 
ต่อมาเวลา 14.00 น. วันเดียวกัน ที่ห้องชั้น 4 สำนักงานสภาทนายความ ถนนราชดำเนินกลาง ชาวบ้านเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด ร่วมกับเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น จ.สุราษฎร์ธานี และชาวบ้านผู้ประสบปัญหาเรื่องที่ดินจาก จ.ราชบุรี ประมาณ 60 คน ได้เดินทางไปพบนายวสันต์ พานิช ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ
 
เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัดได้ยื่นหนังสือร้องเรียนเรื่องเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ละเมิดสิทธิชุมชนและหามาตรการคุ้มครองพื้นที่การดำเนินการโฉนดชุมชนต่อนายวสันต์ พานิช ขณะที่เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น จ.สุราษฎร์ธานีได้ยื่นร้องเรียนเรื่องขอร้องเรียนให้แก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน ซึ่งอุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็นประกาศทับซ้อนที่ดินทำกินราษฎรต่อนายวสันต์ พานิช โดยหนังสือร้องเรียนมีเนื้อหาเดียวกันกับที่ยื่นต่อนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ
 
 
นายบุญ แซ่จุ่ง ผู้ประสานงานเครือข่ายปฏิรูปเทือกเขาบรรทัด เปิดเผยว่า ในเวลาประมาณ 10.00 น. ของวันที่ 25 เม.ย.55 ชาวบ้านเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น จ.สุราษฎร์ธานี และชาวบ้านผู้ประสบปัญหาเรื่องที่ดินจาก จ.ราชบุรี จะเดินทางไปที่รัฐสภาเพื่อเข้าพบและยื่นหนังสือร้องเรียนกับนายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ตรวจสอบถึงกรณีที่เกิดขึ้น
 
“กรณีที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกหนังสือเลขที่ นร 0118/1699 ลงวันที่ 12 มี.ค.55 เรื่องขอให้ชะลอการทำลายหรือรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างหรือสิ่งอื่นใดที่ไม่ผิดไปจากสภาพเดิมในเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า ลงลายมือชื่อโดยนายจำรัส ศักดิ์จิรพาพงษ์ ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทนปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีนั้น ถือว่าอยู่ในรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ทำไมถึงไม่สามารถใช้กับกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชได้ ทำเป็นไม่ใส่ใจหรือไม่มีอำนาจสั่งการ ทั้งที่เคยประกาศนโยบายโฉนดชุมชนเอาไว้ด้วย” นายบุญ กล่าว
 
สำหรับหนังสือสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เลขที่ นร 0118/1699 ลงวันที่ 12 มี.ค.55 เรื่องขอให้ชะลอการทำลายหรือรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างหรือสิ่งอื่นใดที่ผิดไปจากสภาพเดิมในเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ส่งถึงนายวิลาส สังข์ช่วย ประธานกรรมการชุมชนบ้านหาดสูง ลงลายมือชื่อโดยนายจำรัส ศักดิ์จิรพาพงษ์ ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทนปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุถึงกรณีที่ชุมชนบ้านหาดสูง ได้ยื่นคำขอดำเนินงานโฉนดชุมชนและขอให้ชะลอการทำลายหรือรื้อถอนสะพานข้ามคลองและพืชผลอาสินในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า ลงวันที่ 19 ม.ค.55
 
หนังสือดังกล่าว ระบุว่า สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยสำนักงานโฉนดชุมชน ได้ตรวจสอบคำขอและเอกสารหลักฐานประกอบคำขอในเบื้องต้นแล้ว เห็นสมควรขอเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมตามประกาศคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการดำเนินงานโฉนดชุมชน พ.ศ.2553 เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการ ดังนี้ 1.เอกสารหลักฐานการเข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินไม่น้อยกว่า 3 ปีก่อนระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ.2553 ใช้บังคับ 2.เอกสารแผนที่ที่มีขอบเขตชัดเจน โดยแสดงค่าพิกัดระวางแผนที่ด้วย 3.แนวทางการร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 4.เอกสารรับรองคุณสมบัติของคณะกรรมการชุมชน พร้อมให้ดำเนินการจัดส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมดังกล่าวให้กับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ภายในวันที่ 10 เม.ย.55
 
ส่วนกรณีขอให้ชะลอการทำลายหรือรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างหรือสิ่งอื่นใดที่ผิดไปจากสภาพเดิมในเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า อ.ห้วยยอด จ.ตรัง สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ส่งเรื่องดังกล่าวให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามอำนาจหน้าที่และตามนัยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ.2553 ต่อไปแล้ว
 
อย่างไรก็ตาม ต่อมาได้มีบันทึกข้อความของสำนักอุทยาน กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เลขที่ ทส 0910503/5211 ลงวันที่ 26 มี.ค.55 ลงนามโดยนายเริงชัย ประยูรเวช รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้เจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ออกไปดำเนินการติดตามและเร่งรัดการสำรวจ จัดตั้ง ขยายเขต หรือเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติ การบังคับใช้กฏหมายในอุทยานแห่งชาติ ตรวจสอบการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการอนุญาตการใช้ประโยชน์ในอุทยานแห่งชาติ และติดตามโครงการหรือแผนงานเพื่อพัฒนาการจัดการอุทยานแห่งชาติอย่างมีส่วนร่วม
 
บันทึกข้อความดังกล่าว ส่งถึงรองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชทุกท่านผู้ตรวจราชการกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชผู้อำนวยการสำนักทุกสำนัก ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1-16 ผู้อำนวยการกองทุกกอง ผู้อำนวยการสำนักงานผู้ตรวจราชการกรม หัวหน้ากลุ่มตรวจสอบภายใน หัวหน้ากลุ่มพัฒนาระบบบริหาร
 
“กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ขอส่งสำเนาคำสั่งกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่ 562/2555 ลงวันที่ 26 มี.ค.55 เรื่องให้เจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ออกไปดำเนินการติดตามและเร่งรัดการสำรวจ จัดตั้ง ขยายเขต หรือเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติ การบังคับใช้กฏหมายในอุทยานแห่งชาติ ตรวจสอบการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการอนุญาตการใช้ประโยชน์ในอุทยานแห่งชาติ และติดตามโครงการหรือแผนงานเพื่อพัฒนาการจัดการอุทยานแห่งชาติอย่างมีส่วนร่วม มาเพื่อทราบ และให้สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1-16 แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบและให้ความร่วมมือตามสมควร สำหรับสำนักอุทยานแห่งชาติให้แจ้งผู้มีรายชื่อในคำสั่งทราบและปฏิบัติต่อไป” บันทึกข้อความดังกล่าว ระบุ
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

Silence of the Lamp: อวสานสภาการหนังสือพิมพ์อังกฤษ (2)

$
0
0

 

ประวัติสภาการหนังสือพิมพ์อังกฤษ: 59 ปีของการเปลี่ยนรูปแปลงร่าง

สภาการหนังสือพิมพ์อังกฤษ (The Press Council) ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1953 จากการรวมตัวของนักหนังสือพิมพ์ เพื่อให้เป็นองค์กรวิชาชีพสื่อที่ช่วยกำกับดูแลสื่อสิ่งพิมพ์ของอังกฤษให้ดำรงไว้ซึ่งมาตรฐานสูงสุดของจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน

แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสื่อสิ่งพิมพ์ของอังกฤษหลังการก่อตั้งนั้นกลับตรงกันข้าม หนังสือพิมพ์หลายฉบับไม่ใส่ใจกับจรรยาบรรณสื่อ มีการละเมิดมาตรฐานแห่งวิชาชีพอยู่เสมอจนทำให้สาธารณชน นักการเมือง และรัฐบาลไม่เชื่อมั่นในประสิทธิภาพของสภาการหนังสือพิมพ์ที่จะกำกับดูแลสื่อด้วยกันเอง

อย่างไรก็ตาม สภาการหนังสือพิมพ์อังกฤษจากยุคเริ่มแรกนั้นก็ดำรงอยู่มาได้นานถึงเกือบสามทศวรรษก่อนที่จะมีหน่วยงานรัฐ คือ The Home Office (ปัจจุบันเป็นหน่วยงานสังกัดกระทรวงยุติธรรม) พยายามเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยรัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งขึ้นมาศึกษาว่าควรมีการตั้งองค์กรที่มีอำนาจตามกฎหมายมากำกับดูแลสื่อแทนสภาการหนังสือพิมพ์หรือไม่

ผลการศึกษาของคณะกรรมการชุดนี้ตีพิมพ์เป็นรายงานออกมาในเดือนมิถุนายน 1990 สรุปว่าควรจะให้เวลาสภาการหนังสือพิมพ์ (Press Council) ต่อไปอีก 18 เดือนที่จะพิสูจน์ให้สาธารณชนเห็นว่ามีประสิทธิภาพในการกำกับดูแลสื่อด้วยกันเองได้ แต่ถ้าไม่สามารถพิสูจน์ให้เห็นเช่นนั้นได้ ก็ควรจะมีการจัดตั้งองค์กรที่มีอำนาจตามกฎหมายมากำกับดูแลการทำหน้าที่ของสื่อมิให้ละเมิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ

ผลสรุปดังกล่าวนี้ ทำให้บรรดาองค์กรสื่อรีบเร่งเสนอตั้ง The Press Complaints Commission (PCC) มาแทนที่สภาการหนังสือพิมพ์เดิม เพื่อหลีกเลี่ยงการกำกับดูแลจากภายนอก

องค์กรกำกับดูแลสื่อภายใต้ชื่อใหม่ The Press Complaints Commission (PCC) ก่อตั้งปี 1991 โดยมีการส่งตัวแทนจากหนังสือพิมพ์ต่างๆ มาเป็นคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติวิชาชีพ (Code of Practice) ในสามประเด็นหลัก คือ ความถูกต้องของข้อเท็จจริง, การเคารพความเป็นส่วนตัว และการไม่เลือกปฏิบัติ

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้กำหนดด้วยว่าองค์กรสื่อที่ถูก PCC วิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ปฏิบัติตามตามมาตรฐานวิชาชีพข้อใดก็ตาม จะต้องตีพิมพ์คำแถลงของ PCC ทั้งฉบับด้วย

ประธานคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติวิชาชีพชุดแรกนี้ คือนางแพ็ตซี่ แชบแมน (Patsy Chapman) ซึ่งขณะนั้นมีตำแหน่งเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ The News of the World

ตั้งแต่มีการแปลงร่างเปลี่ยนชื่อจาก The Press Council มาเป็น The Press Complaints Commission (PCC) ได้มีความพยายามปรับปรุงข้อกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติวิชาชีพเพื่อตอบสนองต่อข้อร้องเรียนของสาธารณชน โดยเฉพาะในเรื่องของวิธีการหาข่าว และการเคารพสิทธิและสถานที่ส่วนบุคคล

ทั้งนี้ PCC เน้นย้ำว่านักข่าวต้องไม่หาข่าวด้วยวิธีดักฟังการสนทนาส่วนตัวของบุคคลใด ดักฟังโทรศัพท์ แอบอัดเทปการสนทนา หรือใช้ข้อมูลจากกลไกซ่อนเร้นใดๆ และต้องไม่ล่วงล้ำความเป็นส่วนตัวและสถานที่ส่วนบุคคลซึ่ง PCC นิยาม “สถานที่ส่วนบุคคล” หมายถึง บ้านพักส่วนตัว รวมถึงบริเวณภายนอกอาคาร และสวน (แต่ไม่รวมถึงพื้นที่ติดกัน หรือลานจอดรถ), ห้องพักในโรงแรม (ไม่รวมพื้นที่อื่นๆ ของโรงแรม) และโรงพยาบาล หรือสถานพักรักษาตัวของผู้ป่วย

นอกจากนั้น PCC ยังได้กำหนดไว้ในมาตรฐานการปฏิบัติวิชาชีพว่า การคุกคามของสื่อ มีความหมายรวมถึงการใช้ซูมถ่ายรูปเข้าไปในบริเวณสถานที่ส่วนบุคคลด้วย

กรณีร้องเรียนที่โด่งในช่วงต้นๆ ภายหลังเปลี่ยนชื่อจาก Press Council มาเป็น Press Complaints Commission (PCC) คือ คำร้องเรียนของเจ้าชายแอนดรูว์ ดยุ๊คแห่งยอร์ค (Prince Andrew, Duke of York) ว่านักข่าวละเมิดความเป็นส่วนตัวของพระธิดาทั้งสองของพระองค์

ปี 2006 PCC ได้รับคำร้องเรียนมากกว่า 3,000 เรื่องจากประชาชนผู้บริโภคสื่อ โดยจำนวน 2 ใน 3 ของคำร้องเรียนเป็นเรื่องที่สื่อนำเสนอข่าวคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง, จำนวน 1 ใน 5 ของคำร้องเรียนเกี่ยวข้องกับการละเมิดความเป็นส่วนตัวของบุคคล กรณีอื่นๆ ที่เหลือนั้นรวมไปถึงการไม่ให้โอกาสผู้เสียหายได้ตอบโต้ การคุกคามประชาชน และการซ่อนเร้นอุปกรณ์ในการทำงานเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูล ทั้งนี้ รายงานของ PCC ระบุว่าสามารถดำเนินการต่อข้อร้องเรียนจนเป็นที่พอใจของผู้ร้องเรียนถึงร้อยละ 90

ในปี 2007 PCC ปรับปรุงเพิ่มเติมเนื้อหาในอารัมภบทของข้อกำหนดมาตรฐานวิชาชีพสื่อว่า "นักข่าวทุกคนมีหน้าที่ที่จะต้องรักษามาตรฐานสูงสุดแห่งวิชาชีพ...มาตรฐานทางจริยธรรม ปกป้องสิทธิส่วนบุคคล และสิทธิในการรับรู้ข่าวสารของสาธารณชน"

เดือนตุลาคม 2009 ข้อเขียน Jan Moir ในหนังสือพิมพ์เดลี่ เมล์ (Daily Mail) ที่วิพากษ์วิจารณ์สาเหตุการเสียชีวิตของ Stephen Patrick David Gately นักดนตรีวง Boyzone ว่าเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตแบบรักร่วมเพศของเขานั้น สร้างความไม่พอใจให้กับแฟนเพลงและผู้อ่านทั่วไปอย่างยิ่ง ทั้งนี้ PCC ได้รับคำร้องเรียนจากผู้อ่านมากกว่า 25,000 คน

ต่อกรณีดังกล่าวนี้ บารอนเนส บัสคอม ประธาน PCC ในขณะนั้น ให้สัมภาษณ์กับวิทยุบีบีซีว่า คณะกรรมการสอบสวนของ PCC พบว่าหลายข้อความที่ปรากฏในบทความชิ้นนี้ "น่ารังเกียจอย่างยิ่ง" แต่ถือเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของ Jan Moir

อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมของสื่อที่ปรากฏต่อสายตาสาธารณชน โดยเฉพาะสื่อใหญ่ๆ อย่าง News of the World นั้นสวนทางโดยสิ้นเชิงกับสิ่งที่ PCC ประกาศว่าเป็น “มาตรฐานวิชาชีพ”

นักข่าวของ News of the World กระทำการทุกประการเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่ต้องการ ทั้งดักฟังโทรศัพท์ ทั้งติดสินบนเจ้าพนักงาน ทั้งละเมิดสิทธิส่วนบุคคล รุกล้ำสถานที่ส่วนบุคคล และวิธีการอื่นๆ อีกมากมายที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดมาตรฐานวิชาชีพสื่อ

เมื่อพฤติกรรมดังกล่าวเหล่านี้ถูกเปิดเผยต่อสาธารณชน ทั้งประชาชน นักการเมือง และผู้นำรัฐบาล ต่างออกมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงถึงบทบาทที่ไร้อำนาจของ PCC ต่อพฤติกรรมของนักข่าวของ News of the World จนทำให้บารอนเนส บัสคอม (Baroness Buscombe) ประธาน PCC ต้องแถลงขอโทษต่อสาธารณชนและประกาศลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว

ก่อนหน้านี้ บารอนเนส บัสคอม ยอมรับในการให้สัมภาษณ์กับ Financial Times ว่า PCC ไม่มีอำนาจพอที่จะไปจัดการกับบรรดาหนังสือพิมพ์ที่เป็นผู้สนับสนุนเงินทุนให้ PCC ด้วย

PCC มีกรรมการ 17 คน ส่วนใหญ่มาจากบุคคลภายนอกที่ไม่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องในองค์กรสื่อ ทั้งนี้เพื่อความเป็นอิสระในการทำงาน ประธาน PCC ได้รับการแต่งตั้งจากองค์กรสื่อสิ่งพิมพ์ที่เป็นสมาชิก PCC

ลอร์ด ฮันท์ (Lord Hunt) ผู้มารับตำแหน่งประธานสภาการหนังสือพิมพ์ต่อจากบารอนเนส บัสคอม เป็นนักกฎหมาย นักการเมือง และอดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลของนางมาการ์เร็ต แทตเชอร์ และนายจอห์น เมเยอร์

เขาให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ The Guardian ว่าเขาตัดสินใจมารับตำแหน่งนำในองค์กรที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงนี้ เพราะเขามีความเชื่อมั่นในเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการกำกับดูแลกันเองของสื่อ เขาไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะมีการใช้องค์กรที่มีอำนาจทางกฎหมายมาควบคุมสื่อ

ลอร์ดฮันท์เข้ามารับตำแหน่งประธาน PCC เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว (2011) และประกาศยุติบทบาทของ PCC ในเดือนมีนาคม 2012 ที่ผ่านมา โดยแถลงว่าการยุติบทบาทของ PCC ครั้งนี้ ถือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่การก่อร่างสร้างองค์กรใหม่ที่จะกำกับดูแลสื่อ ทั้งนี้ทรัพย์สินและเจ้าหน้าที่ของ PCC จะถูกโอนย้ายไปอยู่กับองค์กรที่จะเกิดขึ้นใหม่แบบมี “เขี้ยวเล็บ”

แต่คำประกาศและคำมั่นสัญญาของลอร์ดฮันท์นั้นไม่ได้สร้างความตื่นเต้นให้กับสาธารณชน หรือแม้แต่บรรดานักข่าวเลย

สาธารณชนกลับวิพากษ์วิจารณ์ว่าว่า PCC ชิงปิดตัวก่อนที่จะมีคำพิพากษาคดีละเมิดจรรยาบรรณสื่อของ News of the World และการประกาศของ PCC ที่จะเปลี่ยนรูปไปเป็นองค์กรใหม่พร้อมทีมงานชุดเดิมนี้ เป็นการเทเหล้าเก่าลงขวดใหม่

ขณะที่สหภาพนักข่าวแห่งชาติ (National Union of Journalists: NUJ) ซึ่งระบุว่ามีสมาชิก 38,000 คน ออกแถลงการณ์แสดงความเห็นต่อการประกาศเปลี่ยนรูปของ PCC ว่า สหภาพนักข่าวฯ ไม่เชื่อว่าการเปลี่ยนชื่อองค์กรจะทำอะไรได้มากไปกว่าการตอกย้ำความผิดพลาดที่เกิดขึ้นซ้ำซากในอดีต

อย่างไรก็ตาม สหภาพนักข่าวฯ แนะนำว่าองค์กรใหม่ที่จะเปลี่ยนรูปมาจาก PCC นี้ นอกจากต้องปลอดจากการแทรกแซงของอำนาจรัฐ และนักการเมืองแล้ว จะต้องปลอดจากการแทรกแซงของเจ้าของสื่อและบรรณาธิการด้วย

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "โดยประชาชนเพื่อประชาชน"

$
0
0

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "โดยประชาชนเพื่อประชาชน"


กสท.ออกมาตรการชั่วคราว หยุดโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ อาหาร และยาเกินจริง ในทีวีดาวเทียม

$
0
0

วันที่ 24 เม.ย.55 นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิเสรีภาพของประชาชน และนายประเสริฐ อภิปุญญา เลขาธิการฯ ร่วมกันแถลงข่าวการดำเนินการดำเนินการตรวจสอบและยุติการเผยแพร่ภาพทางโทรทัศน์ดาวเทียมต่อโฆษณา อาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย อย. ณ ห้องสื่อมวลชน อาคารอำนวยการ สำนักงาน กสทช.

นางสาวสุภิญญา กล่าวว่า เมื่อวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ได้พิจารณาแนวทางการให้ความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในการตรวจสอบและยุติการเผยแพร่ภาพทางโทรทัศน์ดาวเทียม ซึ่งเสนอโดยคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ผ่านกลุ่มงานรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ กรณีการเผยแพร่ออกอากาศโฆษณาผลิตภัณฑ์เอนไซม์เจนิฟูดส์ ซันคลาร่า และเกร็กคู

ที่ประชุม กสท. ได้พิจารณาแล้ว มีมติว่า ตามที่ได้มีข้อเท็จจริงปรากฏว่า อย. ได้มีข้อสรุปแล้วว่า การโฆษณาออกอากาศโฆษณาผลิตภัณฑ์เอนไซม์เจนิฟู๊ด ซันคลาร่า และเกร็กคู เข้าข่ายโอ้อวดเกินจริง และได้ส่งเรื่องดำเนินคดีพร้อมแจ้งระงับโฆษณาดังกล่าว ในชั้นนี้จึงเห็นสมควรที่จะออกมาตรการชั่วคราวเพื่อเป็นการเยียวยาหรือระงับความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นอีก จึงให้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ให้แจ้งกับสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมทุกช่องเพื่อทำการระงับการเผยแพร่ออกอากาศการโฆษณาดังกล่าว ทั้งนี้ จนกว่าจะมีคำตัดสินถึงที่สุดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

นอกจากนั้น กสท.มีมติเห็นชอบการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) เพื่อกำกับดูแลการโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์ที่อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เนื่องจากที่ผ่านมา อย.ได้เฝ้าระวังการโฆษณาเกินจริงและฝ่าฝืนกฎหมายแพร่ภาพผ่านสัญญาดาวเทียม โดยมีการดำเนินคดีพร้อมแจ้งระงับการโฆษณาแล้วแต่ยังมีการแพร่ภาพรายการดังกล่าวอยู่

นางสาวสุภิญญา กล่าวว่า ในส่วนตัวแทนบริษัทไทยคม จำกัด (มหาชน) ยินดีประสานความร่วมมือในการติดตามและเชื่อมโยงฐานข้อมูลผู้ประกอบการที่ออกอากาศ ส่วนความคืบหน้าในการจัดทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าว กสท.จะนำเข้าพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ในการประชุมครั้งต่อไป (30 เม.ย.55) และหลังจากการประชุม ในช่วงบ่ายจะมีการไปหารือถึงความคืบหน้าในการดำเนินงานกับผู้บริหารบริษัทไทยคม

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา นางสาวสุภิญญาได้เข้าร่วมชุมหารือกับ นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ทก.) พร้อมด้วยผู้บริหารที่เกี่ยวข้องถึงปัญหาโฆษณาอาหาร และยาที่เกิดขึ้น ได้มีข้อสรุปต่อการทำงานร่วมกัน ดังนี้

1.จัดทำข้อมูล ฐานข้อมูล ที่เกี่ยวข้องต่อการใช้งานช่องสัญญาณของดาวเทียมไทยคม โดยมีการขอความร่วมมือไปยังบริษัทไทยคม จำกัด (มหาชน) ในการรวบรวมข้อมูลบัญชีรายชื่อผู้จดทะเบียนเช่าช่องรายการโทรทัศน์ดาวเทียม เพื่อแจ้งให้ อย. รับทราบ และเป็นความร่วมมือในการควบคุมดูแลผู้เผยแพร่รายการหรือโฆษณาไม่ให้ฝ่าฝืนกฎหมาย และขยายผลเชื่อมโยงไปยังเจ้าของผลิตภัณฑ์ เจ้าของโฆษณา บริษัทห้างร้านหรือบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อไป

2.กระทรวงฯ เมื่อได้รับทราบปัญหาในการโฆษณาฯ ผ่านช่องรายการโทรทัศน์ดาวเทียม ที่ผิดกฎหมาย จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทรวงฯ จะได้มีหนังสือสอบถามข้อเท็จจริง ไปยังบริษัทไทยคม จำกัด (มหาชน) โดยมอบหมายสำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ เป็นผู้ประสานงานต่อไป

3.มีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายในโทรทัศน์ดาวเทียม

4.เห็นควรให้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ เข้าร่วมแก้ไขปัญหาร่วมกันในภาพรวมต่อไป อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง เป็นต้น

5.การใช้มาตรการทางกฎหมายและมาตรการทางสังคมแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยเมื่อมีการจับกุมผู้กระทำความผิดในกรณีจำหน่าย หรือโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายควรมีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ ให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึง เพื่อให้เกิดมาตรการทางสังคมลงโทษผู้กระทำความผิด เพื่อให้สังคมเกิดความรู้เท่าทัน ให้ผู้กำลังกระทำหรือคิดจะกระทำความผิดเกรงกลัวและลดจำนวนการกระทำความผิดลง

6.การผลิตสื่อสร้างสรรค์ประชาสัมพันธ์ การสร้างความตระหนัก การให้ความรู้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชน ที่มากขึ้น เพื่อให้สามารถใช้วิจารณญาณในการอุปโภค บริโภค อาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย ลดโอกาสการหลงเชื่อโฆษณาที่หลอกลวง ผิดกฎหมาย

7.การลงนามข้อตกลงความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน เพื่อให้มีการดำเนินงานแก้ไขปัญหาโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายในโทรทัศน์ดาวเทียม อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้สำหรับ ทก.และ กสทช.นั้นมีการลงนามข้อตกลงความร่วมมืออยู่แล้ว

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คณะนิติราษฎร์ประกาศไม่เห็นด้วยสิ้นเชิงต่อแนวทางปรองดองแบบนิรโทษกรรมให้ทุกฝ่าย

$
0
0

แม้จะทำให้ประชาชนที่ร่วมชุมนุมพ้นผิดและความรับผิด แต่ผู้สั่งการและปฏิบัติการสลายการชุมนุมก็จะรอดไปพร้อมกันด้วย จึงไม่เป็นธรรมต่อผู้สูญเสียในเหตุการณ์สลายชุมนุมต่างๆ พร้อมเสนอให้แก้ รธน. ระบุให้การนิรโทษกรรมรัฐประหาร 19 ก.ย. เป็นโมฆะ เพื่อเปิดทางให้บุคคลที่ร่วมทำรัฐประหารตั้งแต่ผู้กระทำการ ผู้ใช้ ยันผู้สนับสนุน เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

หมายเหตุ: วันนี้ (25 เม.ย.) ในเว็บไซต์ของคณะนิติราษฎร์ ได้มีการเผยแพร่ "ประกาศนิติราษฎร์ ฉบับที่ ๓๔" โดยมีเนื้อหายืนยันถึงปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญต่อประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และแสดงจุดยืนสนับสนุนให้คณะ ครก.112 รวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อเสนอแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ต่อสภา นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า "ไม่เห็นด้วยอย่างสิ้นเชิง" ต่อ "แนวทางการปรองดองหรือสมานฉันท์โดยวิธีการตรากฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่บุคคลทุกฝ่าย" ดังที่เคยเกิดขึ้นกับกรณี 6 ต.ค. 2519 และ พฤษภาคม 2535 พร้อมมีข้อเสนอแนวทางการตรากฎหมายเพื่อการขจัดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายภายหลังรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 โดยมีรายละเอียดดังนี้

000

 

จุดยืนคณะนิติราษฎร์

หลังจากที่คณะนิติราษฎร์ได้เสนอให้ลบล้างผลพวงของการรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เสนอแนวทางการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และยกร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ซึ่งต่อมาคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา ๑๑๒ (ครก. ๑๑๒)ได้ดำเนินการรวบรวมรายชื่ออย่าน้อย ๑๐๐๐๐ รายชื่อเพื่อเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ไปยังรัฐสภา กำหนดระยะเวลารณรงค์ ๑๑๒ วัน และการรณรงค์ดังกล่าวจะครบกำหนดในวันที่ ๕ พฤษภาคม ที่จะถึงนี้ มีผู้สอบถามมายังคณะนิติราษฎร์เกี่ยวกับกิจกรรมทางวิชาการและการเคลื่อนไหว ทางความคิดที่จะดำเนินต่อไปในโอกาสครบรอบ ๘๐ ปีของการอภิวัฒน์สยาม ๒๔๗๕ ตลอดจนแนวทางทางกฎหมายในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมไทย คณะนิติราษฎร์เห็นสมควรที่จะได้แสดงจุดยืนและทัศนะต่อประเด็นปัญหาต่างๆ ไว้โดยสังเขป ดังนี้

๑. คณะนิติราษฎร์ยืนยันว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เนื่องจากอัตราโทษที่กำหนดไว้ในปัจจุบันสูงเกินสมควรกว่าเหตุ นอกจากนี้ยังมีปัญหาอื่นๆอีกหลายประการ ดังที่ได้เคยแสดงให้เห็นไว้แล้วในประกาศนิติราษฎร์ฉบับที่  ๑๖ (วันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๕๔) และในข้อเสนอเพื่อการรณรงค์แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้หลายประการ และจะบรรเทาปัญหาบางประการลง คณะนิติราษฎร์จึงยืนยันสนับสนุนกิจกรรมของ ครก.๑๑๒ ในการรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ ตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ไปยังรัฐสภา และให้เป็นหน้าที่ของรัฐสภาในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อไป

๒. คณะนิติราษฎร์ไม่เห็นด้วยอย่างสิ้นเชิงต่อแนวทางการปรองดองหรือสมานฉันท์โดยวิธีการตรากฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่บุคคลทุกฝ่ายดังเช่นการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระหว่างวันที่ ๔ ถึงวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ พ.ศ.๒๕๒๑ (นิรโทษกรรมในเหตุการณ์ ๖ ตุลา ๑๙) หรือการตราพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมกันระหว่างวันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๕ ถึงวันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๕ พ.ศ.๒๕๓๕ (นิรโทษกรรมในเหตุการณ์พฤษภา ๓๕) เนื่องจากการนิรโทษกรรมในลักษณะดังกล่าวแม้จะทำให้ประชาชนผู้เข้าร่วมชุมนุมพ้นจากความผิดและความรับผิด แต่ก็จะมีผลให้บรรดาผู้ที่สั่งการและปฏิบัติการสลายการชุมนุมพ้นจากความผิดไปพร้อมกันด้วย การนิรโทษกรรมในลักษณะดังกล่าวไม่เป็นธรรมอย่างยิ่งต่อผู้ที่สูญเสียในเหตุการณ์สลายการชุมนุมต่างๆที่เกิดขึ้นหลังจากการแย่งชิงอำนาจรัฐเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เป็นต้นมา

๓. คณะนิติราษฎร์เห็นว่าแนวทางการตรากฎหมายเพื่อการขจัดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายภายหลังจากการแย่งชิงอำนาจรัฐเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ควรจะต้องพิจารณาแยกแยะลักษณะการกระทำของบรรดาบุคคลที่เกี่ยวข้องและจัดวางโครงสร้างของกฎหมายโดยมีสาระสำคัญหลัก คือ

ประการที่หนึ่ง ต้องไม่มีการนิรโทษกรรมให้แก่บรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์การชุมนุมประท้วงตลอดจนการสลายการชุมนุมทุกเหตุการณ์ตั้งแต่วันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เป็นต้นมา การกระทำของบรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลที่ถือได้ว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ว่าจะได้กระทำการในฐานะเป็นผู้สั่งการหรือผู้ปฏิบัติการ และไม่ว่าจะกระทำในขั้นตอนใดๆ หากการกระทำนั้นเป็นความผิดตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในเวลานั้น บุคคลนั้นยังคงมีความผิดตามกฎหมายและต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

ประการที่สอง ให้มีการนิรโทษกรรมทันทีแก่ประชาชนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานฝ่าฝืนบรรดากฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉินและกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงที่ได้รับการประกาศใช้ในเหตุการณ์การเดินขบวนและการชุมนุมประท้วงทางการเมืองในพื้นที่ต่างๆตามที่จะได้กำหนดไว้ในประกาศที่ออกตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญในหมวดที่ว่าด้วยการขจัดความขัดแย้งและบรรดาการกระทำต่างๆของผู้เข้าร่วมเดินขบวนและชุมนุมประท้วงทางการเมืองในพื้นที่ต่างๆข้างต้น หากเป็นความผิดลหุโทษ หรือความผิดที่อัตราโทษไม่เกินกว่าที่กำหนดไว้ในบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญในหมวดที่ว่าด้วยการขจัดความขัดแย้ง ก็ให้บุคคลนั้นพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง

ประการที่สาม บรรดาการกระทำทั้งหลายของบุคคลที่เข้าร่วมเดินขบวนและชุมนุมประท้วงทางการเมืองที่ไม่เข้าข่ายที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ เช่น การกระทำที่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่นและไม่ใช่ความผิดลหุโทษหรือความผิดที่อัตราโทษไม่เกินกว่าที่กำหนดไว้ในบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญในหมวดที่ว่าด้วยการขจัดความขัดแย้ง ตลอดจนการกระทำความผิดของบุคคลที่แม้ไม่ได้เข้าร่วมเดินขบวนและชุมนุมประท้วงทางการเมือง แต่มีข้อสงสัยว่ามีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมืองหลังการแย่งชิงอำนาจรัฐเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เป็นต้นมา ให้นำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการขจัดความขัดแย้งซึ่งได้รับการจัดตั้งขึ้นตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในหมวดที่ว่าด้วยการขจัดความขัดแย้ง ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการขจัดความขัดแย้ง จะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่ถูกกล่าวหาไม่ได้ ในกรณีที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีและคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล ไม่ว่าจะเป็นศาลในลำดับชั้นใด ให้ศาลระงับการดำเนินกระบวนพิจารณา และให้ปล่อยตัวผู้ถูกกล่าวหาไปก่อน ในกรณีที่มีข้อสงสัยว่าการกระทำนั้นตกอยู่ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญว่าด้วยการขจัดความขัดแย้งหรือไม่ ให้คณะกรรมการขจัดความขัดแย้งเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยว่าการกระทำใดอยู่ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญในหมวดที่ว่าด้วยการขจัดความขัดแย้งหรือไม่ ให้มีผลผูกพันองค์กรของรัฐทุกองค์กร และไม่อาจเป็นวัตถุในการพิจารณาขององค์กรตุลาการหรือองค์กรอื่นใดได้

ประการที่สี่ ในกรณีที่คณะกรรมการขจัดความขัดแย้งวินิจฉัยว่าการกระทำใดไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญว่าด้วยการขจัดความขัดแย้ง หรือวินิจฉัยว่าการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นในระหว่างการชุมนุมต่างๆ ตลอดจนการกระทำที่มีข้อสงสัยว่ามีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมืองหลังการแย่งชิงอำนาจรัฐเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เป็นต้นมา ไม่เกี่ยวข้องกับมูลเหตุจูงใจหรือแรงจูงใจทางการเมือง ให้ดำเนินการกับบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป ในกรณีที่คณะกรรมการขจัดความขัดแย้งวินิจฉัยว่าการกระทำนั้นเกิดขึ้นจากมูลเหตุจูงใจหรือแรงจูงใจทางการเมืองหลังเหตุการณ์แย่งชิงอำนาจรัฐ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ก็ให้บุคคลที่ถูกกล่าวหาดังกล่าวพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้เท่าที่ไม่ขัดกับพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิก

ประการที่ห้า การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งตามแนวทางที่คณะนิติราษฎร์เสนอไว้เบื้องต้นโดยสังเขปนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแก้ไขเพิ่มรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันโดยเพิ่มบทบัญญัติว่าด้วยการขจัดความขัดแย้งเป็นอีกหมวดหนึ่ง โดยนอกจากบทบัญญัติในหมวดนี้จะกล่าวถึงคณะกรรมการขจัดความขัดแย้ง และกฎเกณฑ์ต่างๆตามแนวทางที่กล่าวถึงข้างต้นแล้ว ยังต้องกล่าวถึงการเยียวยาความเสียหายต่างๆ ด้วย การดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้สามารถทำได้โดยไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการจัดให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และสามารถกระทำได้ทันที

๔. สำหรับกรณีของการลบล้างผลพวงรัฐประหารนั้น คณะนิติราษฎร์เสนอให้บัญญัติเป็นหมวดอีกหมวดหนึ่งในรัฐธรรมนูญฉบับที่จะได้จัดทำขึ้นใหม่ตามที่ได้เคยแถลงต่อสาธารณะไปแล้ว โดยคณะนิติราษฎร์ยืนยันหลักการของการประกาศให้การนิรโทษกรรมการทำรัฐประหารหรือการแย่งชิงอำนาจรัฐเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เป็นโมฆะ เพื่อเปิดทางให้บุคคลที่มีส่วนร่วมในการทำรัฐประหารหรือแย่งชิงอำนาจรัฐเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ไม่ว่าจะเป็นผู้กระทำการเอง ผู้ใช้ ตลอดจนผู้สนับสนุน เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม สำหรับบรรดาคดีซึ่งเกิดขึ้นจากการเริ่มกระบวนการโดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากคณะผู้แย่งชิงอำนาจรัฐนั้น ก็ให้ลบล้างให้สิ้นผลไป ซึ่งไม่ได้หมายถึงการนิรโทษกรรม แต่ให้เริ่มกระบวนการใหม่ให้ถูกต้องเป็นธรรมต่อไป

คณะนิติราษฎร์ขอเรียนให้ผู้ที่ติดตามกิจกรรมทางวิชาการของคณะนิติราษฎร์ทราบว่าในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ คณะนิติราษฎร์จะได้จัดกิจกรรมทางวิชาการที่เกี่ยวเนื่องกับการลบล้างผลพวงรัฐประหาร การขจัดความขัดแย้งในสังคมไทย และวิเคราะห์วิจารณ์ข้อเสนอเกี่ยวกับการปรองดองของบุคคลและสถาบันต่างๆ นอกจากนี้เพื่อให้การเคลื่อนไหวทางความคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยและนิติรัฐดำเนินไปในวงกว้างยิ่งขึ้น คณะนิติราษฎร์จะได้จัดให้มีการเผยแพร่แลกเปลี่ยนความรู้ทางกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายมหาชน ให้แก่ประชาชนทั่วไป รายละเอียดในเรื่องเหล่านี้จะแถลงให้ทราบต่อไป

 

๒๕ เมษายน ๒๕๕๕

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กานดา นาคน้อย: เศรษฐศาสตร์สามัญสำนึก 55 ปีทุนกองทัพไทย (ตอนที่ 2)

$
0
0

ในบทความตอนที่แล้วดิฉันอธิบายความเป็นกลุ่มทุนของกองทัพไทยซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของทุนนิยมแบบไทยๆ บทบาทของธนาคารทหารไทยในฐานะธุรกิจที่สำคัญที่สุดของกองทัพ และการผูกขาดธุรกิจธนาคารพาณิชย์โดยกองทัพและครอบครัวไม่กี่ครอบครัว ในตอนนี้ดิฉันขอเขียนถึงธุรกิจของกองทัพที่สำคัญรองลงมา กล่าวคือ ธุรกิจฟรีทีวีและธุรกิจวิทยุกระจายเสียง

ใครใหญ่กว่ากัน: ไอทีวี vs. ททบ.5 + ช่อง7สี + ทีวีพูล?

ก่อนรัฐประหารปี 2549 สื่อมวลชนและนักวิชาการบางกลุ่มนำเสนอว่าอดีตนายกฯทักษิณมีพฤติกรรม“เผด็จการ”โดยแทรกแซงการทำงานของสื่อมวลชนโดยเฉพาะไอทีวีหลังจากที่ชินคอร์ปเข้าไปถือหุ้นไอทีวี วาทกรรมดังกล่าวพยายามสร้างความชอบธรรมให้รัฐประหารและการยกเลิกสัมปทานไอทีวี ทั้งๆที่จริงแล้วกองทัพบกเป็นเจ้าของฟรีทีวี 2 ช่องมา 55 ปีและแทรกแซงฟรีทีวีทุกช่องด้วยโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจหรือทีวีพูล ถ้าเรานิยามว่า“เผด็จการ”คือผู้นำทางการเมืองที่ถือหุ้นฟรีทีวีและแทรกแซงฟรีทีวี กองทัพบกก็เป็น“เผด็จการ”มา 55 ปี ดังนั้นถ้าเปรียบเผด็จการว่าเป็นปิศาจ ก็แปลว่าสื่อมวลชนและนักวิชาการที่สนับสนุนรัฐประหารชื่นชอบปิศาจหน้าเก่าที่สิงทีวีมา 55 ปีมากกว่าปิศาจหน้าใหม่ที่สิงทีวีมา 7 ปี

ฟรีทีวีคือธุรกิจสำคัญของกองทัพบก

ในปีพศ.2500 ธนาคารทหารไทยเริ่มเปิดทำการด้วยการผลักดันของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในปีเดียวกันกองทัพบกก่อตั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก(ททบ.)เพื่อทำธุรกิจฟรีทีวีซึ่งมีรายได้จากการให้เช่าเวลาแก่ผู้ผลิตรายการและผู้โฆษณาสินค้า รายได้จากธุรกิจฟรีทีวีในปัจจุบันมีมูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านบาทและททบ.ที่กองทัพบกบริหารเองโดยตรงมีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 20% [1] ททบ.มีโครงสร้างผู้ถือหุ้นที่แตกต่างจากธนาคารทหารไทย กล่าวคือ กองทัพบกเป็นเหล่าทัพเดียวที่ถือหุ้นททบ. แต่กองทัพเรือและกองทัพอากาศถือหุ้นธนาคารทหารไทยร่วมกับกองทัพบก แม้ปัจจุบันเอกชนและกระทรวงการคลังร่วมถือหุ้นธนาคารทหารไทยด้วย กองทัพบกก็ยังถือกรรมสิทธิ์ททบ. 5 เพียงผู้เดียวเนื่องจากโครงการถ่ายโอนกรรมสิทธิ์ของททบ.5 ไปให้บริษัทโฮลดิ้งคอมปะนีที่ชื่ออาร์ทีเอ เอ็นเตอร์เทนเมนท์จำกัดโดนระงับไปเมื่อ 2 ปีก่อนรัฐประหารครั้งล่าสุด

สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกและรัฐประหารล้มรัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงคราม

ททบ.ในยุคแรกรู้จักกันทั่วไปว่าททบ.7 เนื่องจากถ่ายทอดรายการผ่านช่อง7 ททบ.7เป็นฟรีทีวีช่องที่2ในไทย ฟรีทีวีช่องแรกคือสถานีไทยทีวีช่อง4ที่ก่อตั้งโดยรัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงคราม (ภายหลังกลายเป็นช่อง9 อสมท.และโมเดิร์นไนน์ทีวีในปัจจุบัน) ไทยทีวีช่อง4เป็นธุรกิจของบริษัทไทยโทรทัศน์ซึ่งถือหุ้นโดยหน่วยราชการหลายแห่งรวมทั้งกรมประชาสัมพันธ์ ไทยทีวีช่อง 4 เริ่มถ่ายทอดรายการตั้งแต่ปีพศ. 2498 เพื่อประชาสัมพันธ์ผลงานรัฐบาลจอมพลป. รวมทั้งถ่ายทอดการประชุมรัฐสภาและงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ จอมพลสฤษดิ์จึงผลักดันให้กองทัพบกก่อตั้งททบ.เพื่อประชาสัมพันธ์กิจกรรมของกองทัพบ้าง ททบ.7เริ่มถ่ายทอดรายการตั้งแต่ปี 2501 หลังจากที่จอมพลสฤษดิ์ทำรัฐประหารล้มรัฐบาลจอมพลป. หน้าที่ของททบ.7คือการประชาสัมพันธ์กิจกรรมของกองทัพ พระราชกรณียกิจ และพระราชพิธีที่รื้อฟื้นมาจากยุคสมบูรณาญาสิทธิราช เพื่อเรียกเรตติ้งททบ.7ยุคแรกนำเสนอความบันเทิงในรูปแบบภาพยนตร์จากต่างประเทศและรายการวาไรตี้ที่จัดโดยนายทหารจากกองทัพบก [2] [3]

สัมปทานฟรีทีวีภายใต้รัฐบาลทหาร

ในปี 2510 กองทัพบกภายใต้การนำของจอมพลประภาส จารุเสถียรในตำแหน่งผบ.ทบ.ให้สัมปทานความถี่บางส่วนแก่บริษัทกรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุของครอบครัวน้องสาวภรรยาผบ.ทบ. น้องสาวภรรยาทบ.ทบ.สมรสกับทายาทสกุลกรรณสูตซึ่งสืบเชื้อสายมาจากเจ้าเมืองสุพรรณบุรีในอดีต สกุลกรรณสูตถือหุ้นบริษัทกรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุร่วมกับสกุลจารุเสถียรและสกุลรัตนรักษ์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นธนาคารกรุงศรีอยุธยา ฟรีทีวีที่กองทัพบกให้สัมปทานคือสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง7หรือช่อง7สี ซึ่งเป็นช่องแรกที่ถ่ายทอดด้วยภาพสี สกุลกรรณสูตและสกุลรัตนรักษ์ได้สัมปทานช่อง7สีจากกองทัพบกเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ในปีเดียวกันรัฐบาลถนอมให้สัมปทานความถี่บางส่วนของบริษัทไทยโทรทัศน์(ซึ่งเป็นเจ้าของไทยทีวีช่อง4)แก่บริษัทของสกุลมาลีนนท์ซึ่งถ่ายทอดทีวีทางช่อง 3 ทำให้จำนวนฟรีทีวีเพิ่มเป็น 4 ช่อง ในปี 2517 ททบ.7 เปลี่ยนชื่อเป็นททบ.5 และหันมาออกอากาศทางช่อง 5 ในขณะที่ไทยทีวีช่อง 4 ก็เปลี่ยนมาออกอากาศช่อง 9 ไม่กี่ปีให้หลังรัฐบาลธานินทร์ยุบบริษัทไทยโทรทัศน์และโอนช่อง 9 ให้องค์การสื่อสารมวลชน(อสมท.) กรมประชาสัมพันธ์ในยุครัฐบาลเปรมจึงจัดตั้งทีวีช่อง11ขึ้นมาแทนเพื่อให้เป็นฟรีทีวีของรัฐบาล

การก่อตั้งและบริหารโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจโดยกองทัพบก

กองทัพบกก่อตั้งโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจหรือทีวีพูลในปี 2511 [2] ทำให้กองทัพบกแทรกแซงฟรีทีวีได้ทุกช่องด้วยการเชื่อมเครือข่ายฟรีทีวีเพื่อประชาสัมพันธ์ลัทธิชาตินิยมและการปกครองแบบรวมศูนย์ เพื่อต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ในรูปแบบต่างๆ อาทิ ถ่ายทอดพระราชกรณียกิจและพระราชพิธีที่รื้อฟื้นมาจากยุคสมบูรณาญาสิทธิราช ถ่ายทอดกิจกรรมของกองทัพ ถ่ายทอดพิธีกรรมทางศาสนา และถ่ายทอดการแข่งขันกีฬานานาชาติที่มีนักกีฬาไทยร่วมแข่งขัน ในระยะหลังทีวีพูลหันมาถ่ายทอดการแข่งขันกีฬาที่นักกีฬาไทยไม่ได้เข้ารอบด้วย เช่น การแข่งขันฟุตบอลโลก

แม้ว่าสงครามเย็นจบไปแล้วกว่า 20 ปี อำนาจของกองทัพบกในการแทรกแซงฟรีทีวีทุกช่องด้วยทีวีพูลไม่ได้ลดลงตามกาลเวลา ประธานกรรมการทีวีพูลคือผู้อำนวยการททบ.5 มาจนถึงปัจจุบัน ทีวีพูลกลายเป็นเครื่องมือทำรัฐประหารและประชาสัมพันธ์ชัยชนะของคณะรัฐประหารมาตลอด หลังจากรัฐประหารล้มรัฐบาลชาติชาติชายเหตุการณ์พฤษภาทมิฬทำให้เห็นชัดเจนว่าฟรีทีวีทุกช่องโดนควบคุมโดยคณะรัฐประหารและไม่รายงานสถานการณ์ตามความจริง ด้วยเหตุนี้จึงเกิดแรงผลักดันให้จัดตั้งฟรีทีวีที่เป็นอิสระซึ่งก็คือไอทีวี หลังรัฐประหารล้มรัฐบาลทักษิณไอทีวีโดนยึดสัมปทานไปให้ทีวีช่องใหม่ที่เรียกกันว่าไทยพีบีเอส แน่นอนว่าไทยพีบีเอสก็โดนแทรกแซงโดยทีวีพูลด้วย ความล่าช้าของฟรีทีวีในการเตือนภัยสึนามิเมื่อวันที่ 11 เมษายนที่ผ่านมาบ่งชี้ชัดว่ากองทัพบกในปัจจุบันยังคงแทรกแซงการทำงานของฟรีทีวีทุกช่องด้วยทีวีพูล ตราบใดที่ยังไม่ยุบทีวีพูลก็ยากที่ไทยจะมีฟรีทีวีที่รายงานข่าวอย่างอิสระ

อิทธิพลของททบ.5 และช่อง7สีต่อดารานักแสดงและนักร้อง

เมื่อวัดด้วยรายได้ททบ.5 มีส่วนแบ่งตลาดฟรีทีวีเป็นอันดับ 3 ส่วนช่อง 7 สีที่กองทัพบกเป็นเจ้าของสัมปทานมีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 2 (อันดับ 1 คือช่อง 3 และอันดับ 4 คือช่อง 9) ส่วนแบ่งตลาดของททบ.5 รวมกับช่อง7สีสูงถึง 43% ถ้าวัดด้วยเรตติ้งอันดับ 1 คือช่อง7สีส่วนททบ.5 ติดอันดับ 3 [4] ด้วยเหตุนี้กองทัพบกจึงมีอิทธิพลต่อวงการบันเทิงผ่านรายการของททบ.5 และช่อง7สีมานานหลายทศวรรษ อาทิ รายการคอนเสิร์ต รายการวาไรตี้ เกมโชว์ ละครหลังข่าว ฯลฯ ทำให้ดารานักแสดงและนักร้องจำนวนมากอยู่ในสภาวะที่ต้องพึ่งพากองทัพบกและมีผลประโยชน์ร่วมกัน จึงไม่น่าแปลกใจที่ดารานักแสดงและนักร้องมากมายกลายเป็นเชียร์ลีดเดอร์ให้คณะรัฐประหาร

ความเกี่ยวข้องของททบ.5กับบริษัทอาร์ทีเอเอ็นเตอร์เทนเม็นท์และธนาคารทหารไทย

ก่อนวิกฤตการเงินในปี 2540 เพียง 3 เดือนกองทัพบกได้จัดตั้งบริษัทโฮลดิ้งคอมปะนีชื่อบริษัทททบ.5จำกัด ในปี 2541 บริษัทททบ.5จำกัดกู้เงินจากสถานีททบ.5 เพื่อนำเงินไปซื้อหุ้นธนาคารทหารไทย กองทัพบกถือหุ้นธนาคารทหารไทย 2 ทาง ทางตรงคือถือหุ้นในนามของกองทัพบกและทางอ้อมคือถือหุ้นผ่านบริษัทโฮลดิ้งคอมปะนี ทำให้กองทัพบกถือหุ้นธนาคารทหารไทยมากกว่าเหล่าทัพอื่นๆ [6] [7] ต่อมาบริษัทโฮลดิ้งคอมปะนีดังกล่าวกู้เงินจากธนาคารทหารไทยไปลงทุนในธุรกิจทีวีดาวเทียม หลังจากนั้นกองทัพบกยินยอมให้เอกชนเข้ามาถือหุ้นบริษัทททบ.5ร่วมกัน ภายหลังกองทัพบกพยายามถ่ายโอนกรรมสิทธิ์คลื่นความถี่ของททบ.5 เพื่อให้บริษัทททบ.5 จำกัดให้สัมปทานคลื่นความถี่แก่เอกชน และเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็นบริษัทอาร์ทีเอเอ็นเตอร์เทนเมนท์จำกัดเพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อระดมทุน [5] แต่การถ่ายโอนกรรมสิทธิ์คลื่นความถี่ของททบ.5 ให้บริษัทอาร์ทีเอฯกลายเป็นประเด็นสาธารณะที่เอ็นจีโอและสื่อมวลชนบางสังกัดคัดค้านอย่างรุนแรงจนรัฐบาลทักษิณต้องระงับไม่ให้บริษัทอาร์ทีเอฯจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ในปี 2547

ความขัดแย้งกรณีบริษัทอาร์ทีเอฯทำให้อดีตนายกฯทักษิณโดนประนามว่าสมคบกับพลเอกชัยสิทธิ์ ชินวัตรผบ.ทบ.ในขณะนั้นเพื่อฮุบทรัพย์สินสาธารณะไปให้พวกพ้อง แม้ว่ามีความเป็นไปได้ว่าอดีตนายกฯทักษิณอาจจะขอแบ่งผลประโยชน์จากบริษัทอาร์ทีเอฯ ที่จริงแล้วบริษัทโฮลดิ้งคอมปะนีดังกล่าวเกิดขึ้นภายใต้การนำของพลเอกแป้ง มาลากุล ณ อยุธยาในฐานะผู้อำนวยการททบ.5 ตั้งแต่ปี 2538 ถึงปี 2542 การวางแผนจัดสรรหุ้นให้เอกชนและคนในกองทัพเข้ามาร่วมลงทุนในโฮลดิ้งคอมปะนีก่อนนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ก็เริ่มต้นมาตั้งแต่ยุคนั้น [8] นอกจากนี้บริษัทนี้เกี่ยวข้องกับปัญหาหนี้เสียของธนาคารทหารไทยมาตั้งแต่ก่อนรัฐบาลทักษิณ ถ้ารัฐบาลทักษิณไม่ระงับการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของบริษัทอาร์ทีเอฯ อดีตนายกฯทักษิณและพวกพ้องจะไม่ได้ประโยชน์จากบริษัทอาร์ทีเอฯเท่ากองทัพบกซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในอาร์ทีเอฯหรือเอกชนที่ร่วมลงทุนกับบริษัทนี้ตราบใดที่กองทัพบกไม่จัดสรรหุ้นบริษัทอาร์ทีเอฯให้อดีตนายกฯทักษิณและพวกพ้องให้มากกว่าสัดส่วนหุ้นของกองทัพบกและพันธมิตรเอกชน

นอกจากฟรีทีวี 2 ช่องกองทัพบกมีสถานีวิทยุ 126 สถานีทั่วประเทศ

นอกจากการจัดตั้งโฮลดิ้งคอมปะนีเพื่อถ่ายโอนกรรมสิทธิ์คลื่นความถี่แล้ว กองทัพบกพยายามปกป้องผลประโยชน์จากคลื่นความถี่อย่างชัดเจนผ่านกระบวนการสรรหากรรมการกสทช.หลังรัฐประหารล้มรัฐบาลทักษิณ กล่าวคือ 2 ใน 5 ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกสทช.คือนายทหารจากกองทัพบก [9] เนื่องจากนโยบายของกสทช.ในอนาคตจะมีผลกระทบต่อกรรมสิทธิ์ของคลื่นความถี่ที่กองทัพถือกรรมสิทธิ์อยู่ในปัจจุบัน นอกจากคลื่นความถี่ของฟรีทีวี 2 ช่องแล้ว กองทัพบกยังเป็นเจ้าของคลื่นความถี่ของสถานีวิทยุ 126 สถานีทั่วประเทศ [10] อาทิ สถานีวิทยุจส. 100 (ให้สัมปทานแก่บริษัทแปซิฟิกคอร์ปอเรชันจำกัดซึ่งมีนายปีย์ มาลากุล ณ อยุธยาเป็นประธานกรรมการ นายปีย์ มาลากุล ณ อยุธยาคือพี่ชายของพลเอกแป้ง มาลากุล ณ อยุธยาอดีตผอ.ททบ.5 ผู้ริเริ่มการจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้งคอมปะนีททบ.5จำกัด) สถานีวิทยุยานเกราะ (ให้สัมปทานคลื่นความถี่บางส่วนแก่บริษัทจีเอ็มเอ็มมีเดียจำกัด(มหาชน)ซึ่งเป็นบริษัทในเครือแกรมมี่) ฯลฯ

ในตอนต่อไปดิฉันจะเขียนถึงกรรมสิทธิ์ที่ดินของกองทัพและการหากำไรจากกรรมสิทธิ์ที่ดินของกองทัพในรูปแบบต่างๆ

 

หมายเหตุ

  1. สถิติรายได้ของช่อง 3 และช่อง 9 มาจากงบการเงินของบริษัทบีซีอีเวิร์ลด์ จำกัด (มหาชน)และบริษัทอสมท.จำกัด(มหาชน)จากตลาดหลักทรัพย์:
    http://www.set.or.th/set/companyhighlight.do?symbol=BEC&language=th&country=TH
    http://www.set.or.th/set/companyhighlight.do?symbol=MCOT&language=th&country=TH
    ส่วนสถิติรายได้ของช่อง 5 และช่อง 7 มาจากการรายงานโดยททบ.5และสื่อมวลชน: http://www.tv5.co.th/news/show2.php?id=2680
    http://www.suthichaiyoon.com/detail/19403
  2. ประวัติของทบบ.5: http://www.tv5.co.th/abhis.html
  3. อนุสรณ์ พ.อ. การุณ เก่งระดมยิ่ง (โฆษกเสียงเสน่ห์และผู้ร่วมขบวนการเสรีไทย):  http://www.lovesiamoldbook.com/product.detail_489893_th_3967526
  4. อสมท.ขึ้นค่าโฆษณา7% มีค.นี้หวังแชร์ตลาดแซงช่อง 5 ปรับผังใหม่เรตติ้งตกยกออก:  http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1330658046&grpid=&catid=05&subcatid=0503
  5. รายงานผลการสอบข้อเท็จจริงกรณีสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 (ททบ.): http://www.ryt9.com/s/cabt/153128
  6. ข้อมูลผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของธนาคารทหารไทยจากธนาคารทหารไทย บริษัทอาร์ทีเอ เอ็นเตอณ์เทนเมนท์ จำกัดในอดีตคือบริษัทททบ.5 จำกัด: http://www.tmbbank.com/ir/share-info/major-shareholders.php
  7. ข้อมูลผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของธนาคารทหารไทยจากตลาดหลักทรัพย์: http://www.set.or.th/set/companyholder.do?symbol=TMB&language=th&country=TH
  8. แป้งปฎิวัติ เงื่อนปมที่รัดแน่น: http://www.gotomanager.com/news/details.aspx?id=1489
  9. คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.): http://nbtc.nbtc.go.th/
  10. รายชื่อสถานีวิทยุในเครือกองทัพบก 126 สถานีทั่วประเทศจากศูนย์ข่าววิทยุกองทัพบก: http://radio.tv5.co.th/radionews/index.php?option=com_content&view=article&id=2&Itemid=4
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ปัญหาคนงานบริดจสโตน อมตะนคร ยังไม่ยุติ หลังสหภาพแจ้งความบริษัทปิดงานโดยมิชอบ

$
0
0
25 เม.ย. 55 - สืบเนื่องจากกรณีที่ผู้บริหารชาวญี่ปุ่น ของบริษัทบริดจสโตน ไทร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตยางรถยนต์ส่งออกทั่วโลก ยี่ห้อบริดจสโตน ซึ่งตั้งอยู่ภายในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร เฟส 7 ตำบลบ้านเก่า อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี ได้สั่งปิดโรงงานแบบกะทันหัน ตั้งแต่ในช่วงเที่ยงคืนของวันที่ 29 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า พร้อมติดป้ายเปิดรับสมัครพนักงานฝ่ายผลิตใหม่ และประกาศให้เงินเดือนสูงกว่าเดิม ในราคาฝึกงาน 300 บาทต่อวัน และหากรับเข้าทำงานใหม่จะได้วันละ 335 บาท ไม่รวมสวัสดิการ ทำให้พนักงานเดิมกว่า 1,400 คน ต้องตกงาน
 
โดยสาเหตุของการเลิกจ้างนั้น มาจากการที่สหภาพแรงงานของบริษัทฯ ได้เป็นตัวแทนพนักงานทั้งหมดยื่นหนังสือเรียกร้องขอให้ผู้บริหาร ยกเลิกระบบการคิดเงินเดือนในอัตราค่าจ้างใหม่ เพราะในช่วงปีที่ผ่านมา โรงงานได้นำระบบกระบอกเงินเดือนแบบโรงงานในประเทศญี่ปุ่นมาใช้ กล่าวคือ เป็นระบบเงินเดือนที่อายุงานยิ่งนาน เงินเดือนยิ่งน้อย และแรงงานที่ทำอยู่จะได้รับค่าจ้างต่ำกว่าที่เคยได้
       
ทางสหภาพจึงเรียกร้องขอให้บริษัทฯ กลับไปใช้ระบบกระบอกเงินเดือนแบบเดิม คือให้เงินค่าจ้างตามอายุงาน และประสิทธิภาพในการทำงาน
       
เมื่อทางสหภาพฯ ได้ทำหนังสือเรียกร้อง และขอให้ไปเจรจากันที่สำนักงานแรงงานจังหวัดชลบุรี ก็ได้มีการเจรจากันถึง 4 ครั้ง กระทั่งในช่วงเที่ยงคืนของวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา ผู้บริหารได้สั่งปิดประตูโรงงาน พร้อมติดป้ายเปิดรับสมัครพนักงานใหม่ ทำให้บรรดาพนักงานต้องไปรวมกันที่หน้าโรงงาน แต่โรงงานกลับส่ง SMS ชักชวนพนักงานให้กลับไปทำงานตามเดิม จนทำให้มีพนักงานบางส่วนยินยอมกลับเข้าทำงาน
 
ทั้งนี้คนงานได้ทำการประท้วงหน้าโรงงาน รวมถึงได้ยื่นหนังสือเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี และทางสหภาพฯ ยังได้ได้เดินทางไปแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรพานทอง เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าของโรงงานในข้อหา “ปิดโรงงานโดยไม่ชอบ” โดยไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้า ทั้งยังลอยแพพนักงาน
 
ล่าสุดในวันที่ 23 เม.ย.  พนักงานที่ได้เดินทางมาหลายร้อยคนเพื่อเป็นกำลังให้ตัวแทนเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับผู้บริหารโรงงานนั้น ได้ร่วมกันกดดันให้เจ้าพนักงานออกหมายเรียกกรรมการผู้จัดการโรงงาน มารับข้อกล่าวหาที่ปิดงานโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"ณัฐวุฒิ" ยันไม่ไปรดน้ำดำหัว พล.อ.เปรม พรุ่งนี้

$
0
0

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ให้สัมภาษณ์ "มติชนออนไลน์" ยืนยันพรุ่งนี้ไม่ไปบ้านสี่เสาฯ นายกฯ กับรองนายกฯ จะเป็นคนไป วอนให้กำลังใจนายกฯ นำประเทศสู่สันติภาพ เชื่อปรองดองไม่ได้แปลว่าทุกคนต้องมารักใคร่กลมเกลียวกัน แต่หมายถึงอยู่กันได้ภายใต้ความแตกต่างทางความคิดไม่ต้องใช้ความรุนแรงทำลายล้างกัน ยืนยันยังคงไม่ยอมรับแนวทางการเมืองฝ่ายตรงข้าม

วันนี้ (25 เม.ย.) "มติชนออนไลน์" เผยแพร่บทสัมภาษณ์นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ แกนนำ นปช. กล่าวถึง การไม่ได้ร่วมคณะกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รดน้ำขอพร พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ว่า ตนเองไม่ได้อยู่ในโปรแกรมดังกล่าว เพราะท่านนายกรัฐมนตรีจะนำรองนายกรัฐมนตรี 3-4 ท่าน เข้าไปรดน้ำ พล.อ.เปรม ส่วนตนเองและรัฐมนตรีคนอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในโปรแกรม จะปฏิบัติหน้าที่ตามปกติในวันนั้น

นายณัฐวุฒิกล่าวกับผู้สื่อข่าวมติชนออนไลน์ด้วยว่าถ้าจะตีความเป็นนัยยะทางการเมืองทุกเรื่อง มันตีความได้หมด แต่ถ้าหาก เราคิดว่าอะไรก็ตามที่เกิดขึ้น มันมีเหตุผล มีมิติ มีที่มา เราจะเข้าใจสิ่งเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตามอยากให้ทุกคนให้กำลังใจนายกรัฐมนตรีในการนำพาประเทศสู่สันติภาพ

"ไม่ได้หมายความว่า ทุกคนจะต้องหันมาผู้สมัครรักใคร่กลมเกลียวกัน แต่หมายถึง เราสามารถอยู่กันได้  ภายใต้ความแตกต่างในสังคมที่ไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรง เพื่อทำลายล้างกัน หรือเพื่อรักษาอำนาจกันอีกต่อไป เรายังคงไม่ยอมรับแนวทางการเมืองของฝ่ายตรงข้าม เรายังคงปฏิเสธอุดมการณ์ทางการเมืองอีกรูปแบบหนึ่ง ที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย ก็ยังเป็นเช่นนั้น การต่อสู้หักล้างทางความคิดยังคงดำรงอยู่ แต่จะต้องลดความสุ่มเสี่ยง ที่จะนำไปสู่ความรุนแรง และสูญเสีย นี่คือความหมายของการปรองดองในความคิดของตน" นายณัฐวุฒิกล่าว (อ่านรายงานของมติชนที่นี่)

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live




Latest Images

<script src="https://jsc.adskeeper.com/r/s/rssing.com.1596347.js" async> </script>
<script src="https://jsc.adskeeper.com/r/s/rssing.com.1596344.js" async> </script>