Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live

ดร.โสภณ พรโชคชัย: ต้องปราบการทำลายป่า อย่าปลูกป่าจนชาติวิบัติ

$
0
0
 
ปัญหาหลักของมลพิษทางอากาศในภาคเหนือตอนบนเกิดจากการเผาป่ามากกว่าอย่างอื่น ทั้งนี้ประเด็นสำคัญก็คือชาวบ้านบุกรุกทำลายป่า ซึ่งรัฐบาลควรปราบปรามอย่างจริงจัง และควรเลิกมาตรการส่งเสริมการปลูกป่าเพราะเท่ากับลวงให้สังคมเข้าใจว่านี่คือการแก้ไขปัญหา ทั้งที่เป็นเพียงการลูบหน้าปะจมูกเพื่อซ่อนการทำลายป่า และเมื่อป่าถูกทำลายมากในอนาคตอาจมีการออกเอกสารสิทธิ์ที่ถูกต้องตามกฎหมายให้กับผู้ทำลายป่า
 
ภาพรวมของมลพิษในแม่เมาะนั้น จากการศึกษาพบว่า เกิดจากการเผามวลชีวภาพ หรือการเผาป่าถึง 54% รองลงมาเป็นมลพิษจากรถยนต์ 35% ฝุ่นดินและถนน 1% นอกนั้นเป็นกรณีอื่น ๆ อีก 10% ดังนั้นการเผาป่าจึงเป็นปัญหาสำคัญที่สุดที่ก่อให้เกิดมลภาวะ แต่โดยที่ในท้องที่อำเภอแม่เมาะ เป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าและเหมืองถ่านหิน และเคยเกิดกรณีก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในอดีต จึงเป็นภาพลบที่ชาวบ้านเชื่อว่ามลพิษหลักยังเกิดจากโรงไฟฟ้านั่นเอง
 
การที่มลพิษหลักมาจากการเผาป่าเกิดขึ้นเนื่องจากชาวบ้านต้องการหาของป่า สัตว์ป่า และพืชพันธุ์จากป่าส่วนหนึ่ง แต่เชื่อว่าส่วนสำคัญมาจากการบุกรุกถากถางป่าเพื่อการขายต่อให้ ‘นายทุน’ โดยจากการสัมภาษณ์ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องพบว่า ในระยะหลายปีที่ผ่านมา มีการขยายพื้นที่ปลูกยางพารามากขึ้น จึงมีการบุกรุกทำลายป่าเพื่อนำที่ดินมาปลูกยางพารากันเป็นจำนวนมาก และ ‘นายทุน’ ทางภาคใต้หรือในพื้นที่ก็จะหาซื้อที่ดินที่ได้จากการบุกป่าเพื่อนำไปปลูกยาพาราต่อไป
 
ในโอกาสข้างหน้า ก็มีความเป็นไปได้ที่ทางราชการจะยกเลิกพื้นที่ป่าไม้ และออกเอกสารสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองแก่ผู้บุกรุก ซึ่งเป็นการช่วยเหลือผู้กระทำผิดกฎหมาย เอาป่าซึ่งเป็นสมบัติของแผ่นดินหรือของคนไทยร่วมกันทุกคน มาแบ่งสันปันส่วนให้กับผู้ครอบครอง ปัญหาที่จะตามมาก็คือการสร้างความไม่เท่าเทียมกันระหว่างประชาชนที่อยู่ไกลทรัพยากรแผ่นดินกับประชาชนที่อยู่ใกล้ทรัพยากรแผ่นดินและถือเอาทรัพยากรเหล่านั้นเป็นของตนเองได้ ยิ่งกว่านั้นยังเกิดปัญหาหมอกคัน อุทกภัย ฯลฯ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อมูลค่าของทรัพย์สินเป็นระยะ ๆ อีกด้วย
 
ดังนั้นแนวทางสำคัญในการแก้ไขปัญหามลพิษ และป่าไม้ก็คือ การปราบปรามการบุกรุกทำลายป่าอย่างจริงจังโดยภาคราชการ ส่วนภาคเอกชนก็ควรส่งเสริมการมีองค์กรพัฒนาเอกชน หรือเอ็นจีโอแนวใหม่ที่มาสอดส่องการบุกรุกทำลายป่าเพื่อรายงานทางราชการหรือสื่อมวลชน เพื่อการป้องปรามในอีกทางหนึ่ง ส่วนการปลูกป่า ซึ่งเป็นการทำดีแบบฉาบฉวย ง่าย ๆ น่ารัก ๆ ควรหยุดหรือยกเลิกเป็นเสมือน ‘ทฤษฎีสมคบคิด’ ระหว่างเอ็นจีโอปลูกป่ากับอาชญากรทำลายป่า เพราะเท่ากับหลอกลวงสังคมให้เข้าใจผิดว่า ป่าจะรักษาไว้ได้และเกิดขึ้นใหม่จากการปลูกป่า เพื่อไม่ให้สังคมตระหนักและระดมสรรพกำลังในการปราบปรามการบุกรุกทำลายป่า
 
 
 
คนใหญ่คนโตในสังคมน่าทำท่าขึงขังพูดเรื่องปราบทำลายป่าบ่อย ๆ อย่าเอาแต่เน้นภาพน่ารักให้คนหลงปลูกป่าตาม บิ๊ก ๆ ต้องรณรงค์บ่อยๆ ให้ประชาชนทั่วไทยตื่นขึ้น ต้านการตัดไม้ทำลายป่า ดีกว่าเบื่อเมาให้ประชาชนหลงนึกว่าปลูกป่าจะช่วยชาติได้ ... โปรดอ่าน Credit ภาพ: http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9530000113979

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เสวนา “มาตรา 112 ข้อถกเถียงทางกฎหมายสู่ข้อถกเถียงทางสังคม”

$
0
0

เสวนารำลึก ดร. หยุด แสงอุทัย วรเจตน์ระบุ ปัญหาใหญ่ 112 คือปัญหาอุดมการณ์ที่กำกับการตีความตัวบท และไม่มีบทยกเว้นโทษและยกเว้นความผิด ถาวร เสนเนียม เผย ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอแก้มาตรา 112 โดยเพิ่มโทษ ของพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค สมชาย หอมลออ กรรมการ คอป.ระบุปัญหาการใช้ 112 เป็นอุปสรรค จำกัดเสรีภาพการแสดงความเห็น

วันเสาร์ที่ 28 เมษายน 2555 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดงานวิชาการรำลึก ศาสตราจารย์ ดร. หยุด แสงอุทัย โดยเสวนาวิชาการหัวข้อ “มาตรา 112 ข้อถกเถียงทางกฎหมายสู่ข้อถกเถียงทางสังคม” ที่ห้องจี๊ด เศรษฐบุตร คณะนิติศาสตร์ มธ. ท่าพระจันทร์ ผู้ร่วมอภิปรายประกอบด้วย นายถาวร เสนเนียม รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ภาคใต้ สมชาย หอมลออ กรรมการคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ผศ. ดร. กิตติศักดิ์ ปรกติ รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ดำเนินการโดย สาวตรี สุขศรี หัวหน้าภาควิชากฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มธ.

สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ กล่าวเปิดการเสวนาว่า หัวข้อเสวนานี้ เป็นหัวข้อที่ถกเถียงกันมากและดูเหมือนจะสร้างความร้าวฉาน แต่เป็นหัวข้อที่สำคัญ และอยากให้คิดว่าในบ้านเมืองต้องหลอมรวมความคิดที่แตกต่างกันให้ได้ โดยไม่ใช้ความรุนแรงใดๆ ทั้งนี้ ดร.หยุด แสงอุทัยก็เขียนงานวิชาการแล้วถูกกล่าวหาว่าเขียนบทความที่เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่ข้อเท็จจริงไม่มีการสอบสวนและดำเนินการต่อ

ปูนเทพ ศิรินุพงศ์ อาจารย์ประจำ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายเพิ่มเติมกรณีที่ ดร.หยุด แสงอุทัยถูกร้องทุกข์กล่าวโทษโดย ส.ส. ผู้หนึ่ง จากกรณีที่ ดร.หยุด อ่านบทความผ่านทางสถานีวิทยุประจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันอังคารที่ 7 ก.พ. 2499 โดยข้อความที่ถูกกล่าวหาคือ..”องค์พระมหากษัตริย์ไม่พึงรัสสิ่งใดอันเป็นปัญหาหรือเรื่องราวที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ การเมือง หรือทางสังคมของประเทศ โดยไม่มีรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลเป็นผู้สนองพระบรมราชโองการ” โดยครั้งนั้น ส.ส. คนหนึ่งส่งบันทึกด่วนถึงอธิบดีกรมตำรวจว่า ดร.หยุดไม่มีสิทธิจะวิจารณ์ แต่ตำรวจให้ความเห็นว่า การวิจารณ์ดังกล่าวไม่เป็นการผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพียงแต่แนะประชาชนให้รู้ฐานะของกษัตริย์ไม่บังควรไปรบกวนให้ปฏิบัติการใด ทั้งจอมพล ป. นายกรัฐมนตรีคณะนั้นก็ได้ให้ความเห็นว่า ดร. หยุดไม่ได้ทำผิดด้วย

000

ถาวร เสนเนียม: อยากให้คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้ช่วยขับเคลื่อนผลักดันพฤติกรรมอันน่ารังเกียจของกระบวนการยุติธรรมในสังคมไทย ขณะที่ถ้าจะมีการผลักดันให้มีการแก้มาตรา 112 ก็น่าจะเอามาตราอื่นที่เกี่ยวข้องมาพิจารณา และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนมาพิจารณาประกอบกันด้วย

 

ถาวร เสนเนียม กล่าวว่าตลอดมา ประเทศไทยปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งทุกประเทศต้องมีประมุข แต่แบ่งเป็นสองประเภท คือ เป็นพระมหากษัตริย์กับไม่ใช่กษัตริย์ คือประธานาธิบดี สำหรับมาตรา 8 ของรัฐธรรมนูญ นั้นบัญญัติว่ากษัตริย์ทรงเป็นที่เคารพสักการะ ละเมิดมิได้ ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางไม่แพ้มาตรา 112 ว่าเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือไม่

เขาตั้งประเด็นว่า ปัจจุบันนี้มีการกระทำผิดมาตรา 112 มากกว่าปกติเพราะอะไร ประการต่อไปคือมีการวิพากษ์วิจารณ์ให้แก้ไข 112 ต้องถามว่าบัญญัติไว้เป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ขัดต่อรัฐธรรมนญไหม ขัดขวางในการแสดงความเห็นและขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนหรือไม่

โดยที่มาตราดังกล่าวห้ามดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย ซึ่งการหมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายคนอย่างถาวร เสนเนียม ก็ผิดกฎหมายเช่นกัน

ประเด็นต่อมาคือ การทำผิดที่หลายคนพูดกันติดปากว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้นคือ มีองค์ประกอบความผิด 3 ประการ คือ ห้ามดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย กับคน 3 กลุ่มคือ พระมหากษัตริย์ ราชินี และองค์รัชทายาทนั้น ต้องดูหลักคิดที่นำมาใช้บัญญัติกฎหมายดังกล่าว และเทียบเคียงกับกรณีต่างประเทศด้วยว่ามีกฎหมายลักษณะเช่นเดียวกันหรือไม่ ทั้งนี้เขาระบุว่ากฎหมายนั้นแก้ไขได้ และมาตรา 112 ไม่มีใครห้ามแก้ แต่ต้องดูบรรยากาศที่เกิดขึ้นในสังคม ไม่ใช่แก้ด้วยอารมณ์ต้องแก้ด้วยเหตุผล

เมื่อพูดถึงหลักกฎหมาย มาตรานี้คำนึงถึงหลักนิติธรรม ว่าไม่ต้องการให้เกิดผลร้ายกับผู้เสียหายหรือเหยื่อ ความไม่สงบ ความมั่นคงและเศรษฐกิจของสังคมนั้นๆ ด้วย

ประการต่อมา คือประมุขของรัฐต้องได้รับความคุ้มครองเป็นพิเศษ รัฐไทยก็ได้รับความคุ้มครองเป็นพิเศษเช่นเดียวกับต่างชาติ และประมุขของรัฐนั้นได้รับความคุ้มครองในฐานะที่เป็นสถาบัน ประการหนึ่ง และในฐานะบุคคลอีกประการหนึ่ง ซึ่งไม่แตกต่างกับต่างประเทศมากนัก

ถาวรระบุด้วยว่า กฎหมายอาญามาตรา 113 ยังได้บัญญัติคุ้มครองประมุขต่างประเทศด้วย ขณะที่กฎหมายอาญามาตรา 134 ยังบัญญัติคุ้มครองเป็นพิเศษ ต่อผู้แทนรัฐต่างประเทศจากการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย

เมื่อเป็นเช่นนี้ ถามว่านี่เป็นสิทธิพิเศษเขียนไว้คุ้มครองกษัตริย์ไทยหรือไม่ ก็ต้องตอบว่าไม่เป็นพิเศษ เพราะเป็นไปตามลักษณะวัฒนธรรมไทยและสอดคล้องกับต่างประเทศ

ขณะที่มีผู้อ้างว่ากฎหมายดังกล่าวนั้นขัดกับปฏิญญาสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ แต่ภายใต้ปฏิญญาดังกล่าวก็ยังระบุว่าบุคคลทุกคนย่อมอยู่ภายใต้ข้อจำกัดตามกฎหมาย จึงไม่ใช่ทุกคนจะลุกขึ้นมาหมิ่นประมาทใคร แสดงความอาฆาตมาดร้ายใครก็ทำได้

เขาตั้งคำถามว่า ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีการห้ามหรือการจำกัดสิทธิเสรีภาพในบางเรื่องนั้น ใครถูกใครผิด โดยยกตัวอย่างประเทศมาเลเซีย จะดูหมิ่นพระเจ้า หรือมีพฤติกรรมรักร่วมเพศ ไม่ได้ เป็นความผิด ขณะที่สามารถแสดงพฤติกรรมเช่นนี้ในอเมริกาได้ ดังนั้น ในประเทศประชาธิปไตย การระบุว่าใครถูกใครผิดต้องคำนึงถึงศีลธรรมอันดีและความสงบเรียบร้อยของประเทศนั้นๆ เป็นหลักด้วย

“การจะแก้ไขมาตรา 112 นั้นผมยังไม่เห็นด้วยเพราะส่งผลกระทบไม่ว่าจะต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดี” นายถาวรกล่าวย้ำ จากนั้นได้อ้างถึงพระราชดำรัส “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” และแสดงความเห็นว่า “การจะแก้กฎหมายนั้นยังยืนยันว่าแก้ได้ แต่ต้องคำนึงถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้นในสังคม วัฒนธรรมประเพณี การปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้นถูกจำกัดสิทธิมีในทุกประเทศไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย”

ถาวรกล่าวต่อไปด้วยว่าระหว่างตัวกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายนั้นเราสับสน เช่นกรณียาเสพติด ที่คนมักอ้างว่ากฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์ ทั้งนี้ ดร.คณิต ณ นคร เคยกล่าวว่ากระบวนการยุติธรรมไทยมีพฤติกรรมน่ารังเกียจสามอย่าง ประการแรกคือ มักทำงานสบายๆ ประการที่สอง มักกลัวไปหมดทุกอย่าง วันที่ประชาธิปัตย์ทำงาน ก็กลัวว่าสิ่งนั้นผิดสิ่งนี้ผิด พอวันที่ประชาธิปัตย์ไม่ได้ทำงานสิ่งนั้นไม่ผิดเสียแล้ว ประการที่สามมักจะชอบประจบ

โดยเขากล่าวว่า จากประสบการณ์ของตนเองในฐานะที่เคยเป็นอัยการมาก่อน เขาพบว่าหลักดุลพินิจของอัยการในการสั่งฟ้องสั่งไม่ฟ้องนั้นไม่ค่อยได้ใช้ ดังนั้น กรณีการแก้ไขมาตรา 112 นั้น เป็นเรื่องของการใช้กฎหมายเพื่อตอบเป้าหมายในการทำลายคู่แข่งทางการเมืองหรือไม่

ในส่วนของข้อเสนอของพรรค ปชป. ที่พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นผู้จัดทำและเสนอนั้น ถาวระบุว่า ไม่เห็นด้วยทั้งสองประด็น คือการขยายความคุ้มครองไปยังราชวงศ์และการเพิ่มโทษ ทั้งนี้เขาเห็นว่าแม้จะมีการแก้ไขเพิ่มโทษใน พ.ศ. 2519 แต่ที่ผ่านมา ก็จะเห็นว่ามีการพระราชทานอภัยโทษ ดังนั้นมาตรา 112 ไม่น่าจะเป็นปัญหาของการบัญญัติแต่น่จะเป็นปัญหากระบวนการยุติธรรมของสังคมไทย ดังนั้นก็อยากให้คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้ช่วยขับเคลื่อนผลักดันพฤติกรรมอันน่ารังเกียจของกระบวนการยุติธรรมในสังคมไทย ขณะที่ถ้าจะมีการผลักดันให้มีการแก้มาตรา 112 ก็น่าจะเอามาตราอื่นที่เกี่ยวข้องมาพิจารณา และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนมาพิจารณาประกอบกันด้วย

ทั้งนี้เขาอธิบายว่า ส.ส. มีอิสระที่จะเสนอแก้กฎหมาย ส.ส. คนหนึ่ง รวบรวมคนได้ 20 คน ก็สามารถเสนอแก้ไขกฎหมายได้


สมชาย หอมลออ: ในฐานะนักสิทธิมนุษยชน มาตรา 112 นั้นถูกนำไปใช้และเป็นอุปสรรค จำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นระดับหนึ่ง และในภาวะที่มีความขัดแย้งเป็นขั้วทางการเมืองแล้วก็ถูกนำไปใช้มาก

สมชาย หอมลออ แสดงความเห็นในฐานะกรรมการ คอป. ว่า 112 นี้ตกอยูในสภาวะที่แก้ก็ไม่ได้ ไม่แก้ก็ไม่ได้ เป็นภาวะที่อิหลักอิเหลื่อมาก ประเด็น 112 กลายเป็นประเด็นทางการเมืองและเกือบจะเป็นประเด็นที่จะแบ่งขั้วทางการเมืองของคนในสังคมด้วย ซึ่งหากถูกผลักดันเป็นขั้วขัดแย้งในสังคมแล้วจะลึกและรุนแรงกว่าความขัดแย้งในช่วงที่ผ่านมา แต่หลังจากที่มีคนกลุ่มหนึ่งมีความพยายามที่จะทำอย่างนั้นก็ไม่สำเร็จในการใช้มาตรา 112 มาแบ่งขั้วการเมืองในสังคมไทย แต่ถือเป็นความโชคดีที่ทำไม่สำเร็จ
การถกเถียงทางวิชาการด้วยเหตุด้วยผลจะทำให้การแก้ไขปัญหานี้สามารถทำได้ คือทำให้สภาวะที่แก้ก็ไม่ได้ ไม่แก้ก็ไม่ได้ นั้นหมดไป

ในส่วนของ คอป. นั้นมีภาระหน้าที่ในการตรวจสอบค้นหาความจริงและพยายามเสนอแนะต่อรัฐ สังคมและคู่ขัดแย้งต่างๆ เพื่อจะขจัดขวากหนามหรืออุปสรรคที่จะสร้างความปรองดอง ทำให้ คอป.พบปมขัดแย้งประการหนึ่งที่ดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ คือ คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ที่มีผู้ถูกดำเนินคดีมากขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่ม นปช. หรือกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลในช่วงที่มีการชุมนุมเมื่อปี 2553 ซึ่งเขาเองได้ดูสำนวนคดีหลายสำนวนและพฤติกรรมในการดำเนินคดี ก็พบว่าปัญหา 112 เป็นปัญหาทั้งตัวกฎหมาย การบังคับใช้ และการตีความกฎหมายโดยศาล คือไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะการบังคับใช้ แต่เป็นปัญหาที่ตัวบทกฎหมายด้วย จึงเสนอให้แก้ไขในสองประเด็นคือผู้ฟ้อง (เสนอให้ผู้ฟ้องคือสำนักพระราชวัง) และลดโทษลง

ในฐานะนักสิทธิมนุษยชน มาตรา 112 นั้นถูกนำไปใช้และเป็นอุปสรรค จำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นระดับหนึ่ง และในภาวะที่มีความขัดแย้งเป็นขั้วทางการเมืองแล้วก็ถูกนำไปใช้มาก ในขณะที่หลักสิทธิมนุษยชนนั้น เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นเสรีภาพที่มีความสำคัญมากในสังคมประชาธิปไตย

ทั้งนี้ เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการพูด หรือการโฆษณา นั้นมีความสำคัญมาก และแม้จะสามารถจำกัดได้ ไม่ได้สัมบูรณ์แต่การจำกัดนั้นจะต้องอยู่ในภาวะที่จำเป็นและด้วยเหตุผลบางประการเท่านั้น คือการรักษาดุลยภาพระหว่างสังคมกับบุคคล

แต่เสรีภาพในการแสดงความเห็นนั้นเกี่ยวโยงอย่างชัดเจนและแยกไม่ออกกับเสรีภาพอีกสองประการ คือเสรีภาพทางวิชาการ ถ้ามีการค้นคว้ามากมายแต่เผยแพร่ไม่ได้ ก็เป็นวิชาการแบบสมัยกาลิเลโอ ไม่สามารถพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าได้ และเสรีภาพอีกประการคือ เสรีภาพทางความคิดความเชื่อ ซึ่งยังถูกจำกัดมาก ยกตัวอย่างเช่น การไปจดทะเบียนพรรคการเมืองในปัจจุบันแม้กฎหมายคอมมิวนิสต์จะเลิกไปนานแล้ว แต่ถ้าจะตั้งพรรคสังคมนิยมก็ตั้งไม่ได้ ซึ่งถ้าความคิดของคนไม่สามรารถเผยแพร่ได้เสียแล้ว ความคิดนั้นย่อมจะมืดบอด ตายไปในที่สุด ทั้งนี้เสรีภาพในทางความเชื่อเป็นเสรีภาพที่สัมบูรณ์ห้ามกันไม่ได้

ประการที่สำคัญอีกประการคือ โดยหลักแล้วเราต้องสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออกเพราะในประวัติศาสตร์ได้พิสูจน์แล้วว่าสังคมที่แตกต่างหลากหลายเป็นสังคมที่สามารถพัฒนาเจริญและยั่งยืน ถ้าสังคมนั้นไม่มีพื้นที่สำหรับความแตกต่างแล้ว สังคมนั้น ถ้าจะต้องเปลี่ยนแปลงซึ่งต้องเปลี่ยนแปลงแน่นอนอยู่แล้ว การเปลี่ยนแปลงนั้นจะรุนแรง การจัดพื้นที่ให้ความแตกต่างจะทำให้ความเปลี่ยนแปลงนั้นลดความเจ็บปวดลง ไม่รุนแรงหรือสุดขั้ว

การที่ถูกจำกัดเสรีภาพในการเสนอความคิดเห็นต่อสถาบันต่างๆ นั้นจะทำให้สถาบันไม่สามารถไปได้ตลอดรอดฝั่ง

สำหรับการใช้บังคับมาตรา 112 ในสภาวะปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ หรืออัยการ ก็จะเตะลูกขึ้นไปข้างบนเพราะไม่กล้า ทั้งๆ ที่มีอำนาจทางกฎหมาย เช่นอัยการมีอำนาจหน้าที่ในการกลั่นกรองคดี จะโทษผู้มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายอย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูสังคมด้วย เพราะถ้าบอกว่าไม่ฟ้องโดนแน่ ทั้งการวิพากษ์วิจารณ์และตรวจสอบ พนักงานสอบสวนและอัยการต้องมีความเชื่อมั่นในความเป็นมืออาชีพ แต่ต้องยอมรับว่าแรงกดดันทำให้บุคคลเหล่านี้หวั่นไหวได้ การตีตราก็เกิดตลอดเวลา และเคยเกิดภาวะเช่นนี้เมื่อ 30-40 ปีที่แล้วซึ่งสังคมไทยน่าจะได้เรียนรู้เพื่อไม่ให้เกิดสภาพเช่นนั้นอีก

สมชาย กล่าวต่อไปถึงการตีความว่าคดีดังกล่าวเป็นคดีร้ายแรงแต่เมื่อเทียบกับโทษอื่นๆ เช่นโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต ผู้ถูกกล่าวหากลับได้รับการประกันตัว ขณะที่คดี 112 มีโทษจำคุกสูงสุด 15 ปี เมื่อเทียบแล้วยังเป็นคดีที่ร้ายแรงน้อยกว่า โทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต

กรรมการ คอป. กล่าวถึงกรณี อากง SMS เปรียบเทียบการส่ง SMS กับการออกอากาศทีวี ศาลตัดสินกรณีส่ง SMS ลงโทษจำคุกไม่ต่ำกว่า 3 ปี เพราะกฎหมายกำหนดว่าอย่างต่ำคือ 3 ปี นี่คือตัวอย่างว่ากฎหมายไม่ได้มีช่องว่างให้ศาลใช้ดุลพินิจที่เหมาะสมเลย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงกฎหมายมาตรานี้เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์รุนแรงปี 2519 คอป. จึงเสนอให้แก้ไข ลดจำนวนโทษ และไม่ใช่ใครก็ได้ไปกล่าวหาเป็นความผิด แล้วพนักงานสอบสวนจะไม่ดำเนินการก็ไม่ได้ เพราะการกดดันทางสังคม การวิพากษ์วิจารณ์จับจ้อง ดังนั้นคดีนี้จึงเป็นคดีที่ไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะไปแจ้งความ เพราะลักษณะนี้เป็นผลเสียต่อสังคมและสถาบันด้วย และกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองไป

ส่วนที่กำหนดว่าทำไมต้องเป็นสำนักพระราชวัง เพราะอ้างอิงจากกรณีที่กฎหมายบัญญัติว่าถ้าจะมีการค้นพระราชฐานต้องได้รับความยินยอมจากสำนักพระราชวัง แต่อาจจะมีหน่วยงานอื่นที่มีความเป็นมืออาชีพในการกลั่นกรองก็ได้

กิตติศักดิ์ ปรกติ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เองก็ยังสอนเรื่องเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์น้อยเกินไป และการเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์นั้นควรจะเฉลิมพระเกียรติด้วยความยุติธรรม

กิตติศักดิ์ ปรกติ ระบุว่าปัญหามาตรา 112 นั้นเป็นปัญหาทั้งตัวกฎหมายและการปรับใช้ตัวกฎหมาย แต่เขาไม่เห็นด้วยกับความเห็นของนิติราษฎร์เรื่องการแยกความผิดระหว่างความผิดที่กระทำต่อกษัตริย์กับราชินี

เขากล่าวว่า ปัญหามาตรา 112 หรือความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้นเป็นเส้นแบ่งที่สำคัญระหว่างการคุ้มครององค์พระมหากษัตริย์ในฐานะที่เป็นปัจจัยความมั่นคง ในฐานะเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยกับการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็น

การดูหมิ่นเป็นการแสดงความเห็นล้วนๆ แต่การหมิ่นประมาทเป็นการแสดงความเห็นประกอบการยืนยันข้อเท็จจริง ซึ่งต้องไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของคนอื่นด้วย แต่มันไม่ใช่เส้นแบ่งแค่ความมั่นคงกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โดยเขาเห็นว่า มาตรา 112 ยังเป็นเส้นแบ่งของสถานะพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยด้วย คือจะคุ้มครองกษัตริย์ในฐานะสถาบันทางวัฒนธรรมที่ดำรงอยู่มายาวนาน เป็นคำมั่นสัญญาที่มีมาตั้งแต่ 2475 ว่าจะเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยและมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์กับระบอบประชาธิปไตย เป็นการต่อสู้แสวงหาคำนิยามที่พยายามช่วงชิงกันว่า กษัตริย์จะมีสถานะอย่างไรในระบอบประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ 2475 เป็นต้นมากำหนดชัดแจ้งว่า ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักร และปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยโดยมีกษัตริย์เป็นประมุข

และยังมีการระบุในรัฐธรรมนูญว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย และกษัตริย์ใช้อำนาจนั้นซึ่งต่างกับประเทศอื่นที่ว่า ประชาชนเป็นเจ้าของและเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยนั้น ที่ไทยเขียนแบบนี้ ก็ตอบได้อย่างเดียวว่าเป็นการประนีประนอมระหว่างผู้ถืออำนาจแต่ดั้งเดิมที่เป็นชุมชนทางการเมืองอันประกอบด้วยกษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการ และบรรดาผู้ที่สถาปนาระบอบประชาธิปไตยขึ้น ว่าจะหาทางใช้ระบอบประชาธิปไตยนี้ภายใต้กฎหมายอย่างไร

คำถามคือ ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย แล้วประชาชนให้อำนาจกษัตริย์ใช้อำนาจตั้งแต่เมื่อไหร่ คำตอบคือ ตกลงกันไว้ตั้งแต่ 2475 อย่างไรก็ตาม ชาติกำเนิดไม่ก่อเกิดอภิสิทธิ์ ดังนั้นการคุ้มครองจึงไม่ครอบคลุมถึงราชวงศ์ด้วย การใช้ราชาศัพท์กับพระบรมวงศานุวงศ์นั้นเป็นการแสดงความสุภาพ ดังนั้นหากการแก้มาตรา 112 จึงไม่ควรขยายความคุ้มครองไปยังพระบรมวงศานุวงศ์

กิตติศักดิ์กล่าวต่อไปว่า อีกประเด็นหนึ่งคือ ความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์กับปวงชนชาวไทย ซึ่งปวงชนชาวไทยนั้นมีผู้แทน คือ ส.ส. แต่ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ คือกษัตริย์นั้นเป็นประมุขและเป็นสัญลักษณ์ ขณะที่ผู้แทนปวงชนชาวไทยกลับไม่เป็นที่นิยม

กษัตริย์ในฐานะสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม ในทางข้อเท็จจริง เมื่อมีผู้ทำผิดเกี่ยวกับกษัตริย์ ชาวบ้านก็นินทา แต่นินทาแล้วจะถูกดำเนินคดีหรือไม่ก็อีกเรื่อง ค่านิยมทางวัฒนธรรมนั้นผูกอยู่กับทศพิธราชธรรม คือ ถ้ามีพฤติกรรมที่ขัดกับหลักทศพิธราชธรรมก็จะถูกนินทาเป็นธรรมดา แต่รู้กันว่าจะไม่ทำในที่สาธารณะ เมื่อเกิดการนินทาในทางสาธารณะขณะที่มีความเห็นที่หลากหลาย ก็เกิดความรุนแรงและกระทบต่อความมั่นคงได้ เพราะความเกี่ยวพันระหว่างกษัตริย์ ความเป็นชาติ รัฐ และความมั่นคง ทั้งนี้คำพิพากษาจำนวนไม่น้อยก็โคลงเคลงแกว่งไปมา โดยยกตัวอย่าง นักวิชาการไปกล่าวในวันสิทธิมนุษยชน นักวิชาการกล่าวว่าคนที่เรียกพระเจ้าอยู่หัวเป็นพ่อนั้นไม่ถูกเพราะกษัตริย์ไม่ใช่พ่อ และคนที่กล่าวอ้างนั้นผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเพราะอ้างตัวเป็นพระองค์เจ้า โดยคนที่กล่าวนั้นถูกร้องทุกข์กล่าวโทษ ตำรวจวินิจฉัยว่าการกล่าวเช่นนั้นไม่ผิด ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีของการใช้และการตีความมาตรา 112

กิตติศักดิ์ ระบุว่าถ้าไม่ทำความเข้าใจกันให้ชัดเจนก็จะมีการ “ตู่” กันไปมา อีกประการคือ ความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์กับประชาชน ว่าเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นของปวงชนชาวไทย เขากล่าวว่า กษัตริย์ใช้อำนาจในฐานะที่เป็นองค์กรที่เป็นบูรณาการ ไม่ใช่ทำตามอำเภอใจ ส่วนจะพึงใช้อย่างไรก็เห็นอยู่

กิตติศักดิ์ กล่าวด้วยว่าองค์กรต่างๆ ได้ใช้พระมหากษัตริย์แสวงประโยชน์ส่วนตัวและประโยชน์ทางการเมือง อ้างว่าจงรักภักดี แล้วกล่าวหาคนอื่น ตัวอย่างง่ายๆ ในมหาวิทยาลัย เวลาเสด็จอย่ากราบได้ไหม เพราะตามพระราชบัญญัติสมัย ร. 5 ห้ามกราบ ยังไม่ได้ยกเลิกไป คือห้ามทอดตัวลงบนผืนดินแล้วกราบ เพราะเป็นหลักฐานแสดงการดูถูกเหยียดหยามศักดิ์ศรีของคน แต่ยังมีผู้ไปหูไปนาเอาตาไม่ไร่ มีผู้ทักท้วงว่าอย่าพูดเดี๋ยวจะกลายเป็นไม่จงรักภักดี แต่ผมพูดด้วยความจงรักภักดี กฎหมายเขากำหนดไว้ก็ทำไปตามกฎหมาย ไม่มีข้อที่จะไปกล่าวหาได้ว่าไม่จงรักภักดี

โดยกิตติศักดิ์ ย้ำว่าทุกวันนี้มีคนทำตัวเป็นราชายิ่งกว่าองค์ราชันย์เสียอีก นี่จึงเป็นปัญหาที่ทำให้ต้องแก้มาตรา 112 ทั้งตัวบทและการปรับใช้กฎหมายให้ชอบด้วยเหตุผล และในฐานะที่เป็นมหาวิทยาลัย นายวรเจตน์ได้เสนอแก้กฎหมายแล้ว แม้เขาจะไม่เห็นด้วยบางอย่าง แต่ก็มีประเด็นที่เขาเห็นด้วยคือ ต้องลดโทษลง แต่ตัวเขาเสนอให้กลับไปใช้โทษสมัยสมบูรณาญาสิทธิ์ คือไม่เกิน 3 ปี

กิตติศักดิ์กล่าวในช่วงท้ายว่าประเด็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์นี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เองก็ยังสอนเรื่องเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์น้อยเกินไป และการเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์นั้นควรจะเฉลิมพระเกียรติด้วยความยุติธรรม


วรเจตน์ ภาคีรัตน์: มาตรา 112 นั้นมีปัญหาในหลายระดับทั้งระดับการบังคับใช้ ตัวบท แต่ที่เห็นว่ามีปัญหามากที่สุดคือระดับของอุดมการณ์ที่กำกับการบังคับใช้ตัวบทกฎหมาย

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ระบุว่ามาตรา 112 นั้นมีปัญหาในหลายระดับทั้งระดับการบังคับใช้ ตัวบท แต่ที่เห็นว่ามีปัญหามากที่สุดคือระดับของอุดมการณ์ที่กำกับการบังคับใช้ตัวบทกฎหมาย การแก้ 112 อาจจะไม่ได้แก้ปัญหาทั้งหมด เพียงแต่บรรเทาลง

โดยเขากล่าวถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นว่า เมื่อมีการร้องทุกข์กล่าวโทษ ตำรวจต้องรับเรื่องและทำคดี ไม่สามารถใช้ดุลพินิจ ทุกกระบวนการจะผลักออกจากตัว ในแง่การบังคับใช้กฎหมายนี้มีปัญหาในตัวเอง ไม่ได้เกี่ยวกับตัวบทกฎหมายอย่างเดียว แต่เป็นบรรยากาศ สภาพแวดล้อมทางสังคม

ตัวบทนั้น ใครๆ ก็สามารถจะดำเนินคดี และโทษที่กำหนดไว้นั้นเกินสมควรกว่าเหตุ หลักการนี้เป็นหลักสำคัญในรัฐธรรมนูญ อย่างน้อยที่สุดโทษในมาตรานี้ ขัดกับหลักรัฐธรรมนูญ เพราะการกำหนดโทษไม่สามารถกำหนดโทษได้ตามอำเภอใจของผู้บัญญัติ และปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือโทษที่เป็นผลพวงโดยตรงจากการรัฐประหาร 2519 และไม่ใช่เรื่องนี้เรื่องเดียว แต่ยังพ่วงเรื่องการหมิ่นศาลและดูหมิ่นประมุขของต่างประเทศด้วย ดังนั้นการแก้ 112 ต้องแก้กฎหมายที่เกี่ยวพันกันด้วย เช่น การดูหมิ่นของประมุขของรัฐต่างประเทศ เวลาที่มีการเสนอจึงต้องเป็นไปโดยปริยายในการปรับแก้โทษของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกัน และเป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ

บางคนบอกว่าตัวบทกฎหมายนี้มีมาเป็นสิบๆ ปี ทำไมเพิ่งจะมาแก้กันตอนนี้ ซึ่งเขาเห็นว่ากฎหมายนี้มีปัญหามาตั้งแต่ตอนที่แก้ปี 2519 และมีปัญหามาตั้งแต่มีการบัญญติขึ้นในปี พ.ศ.2500 แต่มันไม่ได้เป็นประเด็นทางสังคม ถ้าพูดก็จะเหมือนกับที่เจอตอนนี้ เพราะมีการรณรงค์บอกว่า แก้ 112 เท่ากับล้มเจ้า ทั้งๆ ที่นี่เป็นตัวบทกฎหมายมาตราหนึ่งเท่านั้น

วรเจตน์กล่าวว่าประเด็นมาตรา 112 ต้องพูดไปอีกหลายเวที และหากทาง คอป. จะจัดการพูดคุยเรื่องนี้ก็จะยินดีอย่างยิ่ง โดยเขาระบุว่า ปัญหาใหญ่ที่สุดของมาตรา 112 คือไม่มีการกำหนดเหตุยกเว้นความผิดหรือเหตุยกเว้นโทษกรณีที่เป็นการติชมโดยสุจริตและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ซึ่งต่างกับกฎหมายหมิ่นทั่วไป การไม่เอาหลักเรื่องนี้มาใช้เป็นผลจาการตีความของศาลด้วย

โดยวรเจตน์ได้ยกเอาคำสอนของอาจารย์กฎหมายรายหนึ่งระบุว่าเมื่อมีการกระทำที่เป็นการหมิ่นประมาทแล้วจะอ้างข้อแก้ตัวตามที่บัญญัติสำหรับคนธรรมดาหาได้ไม่ เพราะกษัตริย์นั้นเป็นที่เคารพสักการะอยู่เหนือการติชม ขณะที่รัชทายาทและราชินีนั้นเป็นเครื่องประกอบ วรเจตน์เห็นว่าการตีความแบบนี้ทำให้ไม่สามารถนำเอาเหตุยกเว้นความผิดหรือยกเว้นโทษได้ วรเจตน์กล่าวว่านี่เป็นการตีความที่เกินตัวบท ดังนั้นหากบุคคลธรรมดาตีความอย่างไร การดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทกษัตริย์ก็ต้องตีความอย่างเดียวกัน ความเข้าใจแบบนี้ ทำให้เกิดการตีความอย่างกว้างและบิดเบือนตัวบท

วรเจตน์ยกตัวอย่างคำพิพากษา จ.นครสวรรค์ อัยการบรรยายฟ้องว่าการหมิ่นพระเทพฯ ผิดตาม 112 ขณะที่ตัวบทคุ้มครอง กษัตริย์ ราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการ โดยศาลชั้นต้น ขยายความคุ้มครองไปถึงพระบรมวงศ์ที่อาจสืบสัตติวงศ์ โดยระบุว่ารัชทายาทแห่งบทบัญญัติมาตรา 112 หมายรวมถึงพระราชโอรส พระราชธิดา ทีอาจสืบสันตติวงศ์ แต่คดีนี้ศาลอุทธรณ์ได้กลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยเห็นว่าพระเทพฯ นั้นไม่ใช่รัชทายาทตามมาตรา 112 เพราะตามกฎมณเฑียรบาลมีตำแหน่งเดียวคือสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช

วรเจตน์กล่าวว่าการตีความตัวบทในกรณีของศาลชั้นต้น จ.นครสวรรค์นี้ ก็น่าสงสัยว่าผู้พิพากษาตีความกฎหมายในระบอบการปกครองใด ในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข การตีความมีเกณฑ์ ผู้พิพากษาจะเอาทัศนะต่างระบอบกันมาตีความไม่ได้

วรเจตน์กล่าวว่า การคุ้มครองสถานะไม่ใช่เรื่องสถาบัน การตีความต้องชัดเจนว่าตำแหน่งกษัตริย์หมายถึงใคร ซึ่งต้องหมายถึงกษัตริย์พระองค์ปัจจุบัน เพราะถ้าไม่ตีความให้ดีก็อาจจะเกินเลยไปถึงกษัตริย์ในประวัติศาสตร์ได้ ดังนั้นการคุ้มครองจึงต้องเป็นกษัตริย์ที่เป็นประมุขของรัฐ และในความเห็นของตนเองเป็นไปไม่ได้ที่จะอธิบายว่ากษัตริย์เป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทย เพราะกษัตริย์เป็นการกำหนดคอนเซ็ปท์รูปของรัฐ ว่าจะเป็นสาธารณรัฐ หรือเป็นราชอาณาจักร เมื่อเราตัดสินใจเป็นราชอาณาจักรก็ให้กษัตริย์เป็นประมุขของประเทศ การคุ้มครองกษัตริย์จึงคุ้มครองในฐานะประมุขไม่ใช่เจ้า

อีกประเด็นที่โยงกับมาตราดังกล่าว คือประเด็นเรื่องความมั่นคง ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง เพราะความมั่นคงนั้นต้องเกี่ยวข้องกับการมีอยู่หรือไม่มีอยู่ของรัฐ และจะดีมากหากอธิบายให้เห็นว่ามันคือความมั่นคงของนิติรัฐ

ข้อโต้แย้งที่ว่าประเทศไทยมีวัฒนธรรมหรือขนบธรรมเนียมเป็นพิเศษ ผมคิดว่าข้อโต้แย้งแบบนี้ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างสูง หากย้อนกลับไปสมัยที่ใช้กฎหมายตราสามดวงอยู่ ท่านก็จะเห็นว่าโทษนั้นมีอย่างไร เช่น การเปิดกะโหลกเอาถ่านร้อนๆ ใส่เข้าไป ท่านจะยอมรับโทษแบบนี้ได้ไหม คือเราอาจจะมีลักษณะบางอย่างที่เป็นคุณค่าเช่น การแต่งกาย อาหารการกิน แต่เรื่องบางเรื่องก็เป็นเรื่องคุณค่าสากล ที่ไม่ควรจะเอาลักษณะเฉพาะไปอ้างให้มีการกดขี่ เช่นการขว้างหินในประเทศอื่นๆ ก็กำลังมีการต่อสู้กันอยู่ ลักษณะเฉพาะเช่นนั้นก็ไม่ใช่ตัวอย่างที่ดีที่จะเอามาอ้างเพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์ การปกป้องกษัตริย์ควรปกป้องด้วยความจริง เพื่อให้สถาบันอยู่กับประเทศไปอย่างยาวนาน

วรเจตน์ กล่าวย้ำถึงประเด็นสำคัญที่เห็นต่างกับกิตติศักดิ์เรื่องกษัตริย์เป็นผู้แทนปวงชน เพราะเขาเห็นว่ากษัตริย์นั้นเป็นผู้แทนรัฐ แต่ไม่สามารถเป็นตัวแทนปวงชนได้ เพราะการใช้อำนาจอธิปไตยคือ ประชาชนใช้อำนาจโดยตรง หรือใช้อำนาจผ่านองค์กรรัฐ การใช้อำนาจโดยตรงคือการเลือกตั้งและการลงประชามติ การเลือกตั้งจึงสำคัญเพราะเป็นวันที่เจ้าของอำนาจใช้อำนาจของตัวเอง องค์กรนิติบัญญัติ หรือบริหารนั้นจะมีความชอบธรรมเพราะเชื่อมโยงกับประชาชน ส่วนองค์กรตุลาการนั้นมีปัญหาความเชื่อมโยงกับประชาชน และกรณีคำพิพากษาศาลนครสวรรค์นั้นควรจะเป็นกรณีใหญ่ แต่สำหรับสังคมไทยกลับเป็นเรื่องที่ลืมๆ กันไป


อภิปรายเพิ่มเติม

ถาวร เสนเนียม กล่าวย้ำว่าปัญหาหลักของมาตรา 112 คือปัญหาการใช้การตีความตัวบทมากกว่า การกล่าวว่าเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยติธรรมต้องผลักประเด็นนี้ต่อไปยังกระบวนการขั้นสูงขึ้นเพราะแรงกดดันทางสังคมนั้นเป็นเพียงข้ออ้างและขาดความกล้าหาญ โดยได้กล่าวตำหนิกลุ่มนิติราษฎร์ว่าการเสนอแก้ไขกฎหมายนั้นต้องเสนอบริบทกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย โดยการแถลงของนิติราษฎร์ในช่วงแรกนั้นไม่ได้เสนอให้รอบด้าน

ถาวรได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของ คอป. ว่าการเสนอให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ฟ้องนั้นจะยิ่งทำให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทเพราะเป็นองค์กรที่ใกล้ชิด และได้เรียกร้องให้คณะนิติราษฎร์ขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลง โดยเขายืนยันว่ากฎหมายแก้ไขได้เสมอ เมื่อไหร่ที่มีความจำเป็นสังคมจะเป็นตัวชี้ตัวกำหนด

วรเจตน์ ตอบถาวรว่า กรณีข้อเสนอของนิติราษฎร์เมื่อ 18 ก.ย. แล้วมาทำเพิ่มเติมทีหลัง คือวันที่18 ก.ย. นั้นเป็นการเสนอเรื่องลบล้างผลพวงการรัฐประหารแต่มีมาตรา 112 พ่วงมาด้วย แต่ข้อเสนอเรื่องมาตรา 112 นั้นนิติราษฎร์ได้เสนอมาก่อนแล้ว

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มธ. กล่าวว่า เวลาที่เราพูดกันเรื่องข้อตกลงระหว่างกษัตริย์กับราษฎร หรือพระมหากษัตริย์มีความรับชอบ การอภิปรายเรื่องนี้เป็นการอภิปรายแบบจอมปลอมเพราะเวลาที่เราพูดเรื่องสัญญาและความรับชอบ โดยพื้นฐานต้องมีคอมมอนเซนส์คือการจะกล่าวหาว่าใครผิดสัญญาด้วย ถ้าคุณสามารถพูดว่ารัฐบาลทำผิดสัญญาอย่างไร แต่พูดอีกกรณีหนึ่งไม่ได้ ยังไงก็พูดไม่ได้ ความตลกของเรื่องนี้ทั้งหมด คือคนอย่างอาจารย์กิตติศักดิ์น่าจะรู้ดี เพราะมันพูดในฝ่ายเดียว เกิดผมจะพูดในทางตรงข้ามออกไปก็โดนจับทันที คือการยกนามธรรมอย่างไรก็ได้ ผมฟังแล้วก็ไม่รู้จะเถียงยังไง เถียงก็โดนจับ

ประเด็นสั้นๆ ที่อาจารย์ธีรยุทธพูดและผมเห็นด้วยคือ 112 ไม่ใช่เรื่อง 112 แต่เป็นเรื่องภาพสถาบันกษัตริย์ แต่ประเด็นใหญ่ที่อยากจะพูดคือ ถึงที่สุดแล้วยังมีประเด็นที่ผมไม่เห็นด้วยกับ 112 เพราะข้อเสนอของผมคือยกเลิกไปเลย แต่หัวใจของเรื่องจริงๆ คือเราต้องตั้งคำถามว่า มันมีความจำเป็นแค่ไหนที่ต้องมีกฎหมายพิเศษที่ต้องคุ้มครองประมุขในกรณีหมิ่นประมาท เหตุผลในการตอบคำถามนี้ตรงกันโดยยกกรณีว่านี่เป็นบรรทัดฐานทั่วไปว่าต้องคุ้มครอง แต่ผมไม่เห็นด้วย คนชอบพูดว่าเป็นมาตรฐานสากล นิติราษฎร์เองก็ยกมาตรฐานสากล แต่การยกเรื่องนั้มันไม่มีความหมาย เพราะถ้ายกตัวอย่างนั้นจริงๆ ตองถามว่าประเทศอื่นเขามีอย่างเราไหม เช่นมีการอนุญาตให้ประมุขพูดสดๆ สามารถควบคุมทรัพย์สินของรัฐเป็นหมื่นๆ ล้านได้ไหม และมีการโปรแกรมด้านดีด้านเดียวของสถาบันกษัตริย์ นี่เป็นประเด็นสำคัญเลยว่ามันชี้ขาดอย่างไร

สอง ญี่ปุ่น อเมริกา สหรัฐ ไม่มีกฎหมายแบบนี้

สาม ไม่ว่าจะมีหรือไม่มี แต่ปัญหาที่ต้องตั้งคำถามคือควรใช้บรรทัดฐานอะไรในการพูดถึงประมุข และถามว่าเอาหลักการมาจากไหน นี่ผมถามอย่างซีเรียส

อย่างการยกกรณีตัวอย่างการขู่ประธานาธิบดีอเมริกา ต้องโทษ 5 ปี แต่ถ้าคุณขู่ FBI ต้องโทษ 10 ปีนะ ฉะนั้นการอ้างประมุขต้องได้รับความคุ้มครองมากกว่าปกติจึงไม่จริงเสมอไป

ที่สุดแล้ว เป็นเรื่องบรรทัดฐานของนักวิชาการ คุณต้องเอาบรรทัดฐานที่แท้จริง คือ ทุกวันนี้ใครเกลียดมาร์คเอารูปมาร์คไปใส่หัวควาย ใครเกลียดทักษิณก็ตัอรูปทักษิณไปใส่หัวหมา ถามว่าแล้วมีใครฟ้องไหม ประเด็นคือ ต้องใช้บรรทัดฐานเดียวกับประชาชนทั่วไป ไม่ใช่บรรทัดฐานของนักวิชาการ

กิตติศักดิ์ ตอบประเด็นของสมศักดิ์ ว่าต้องเสนอไปตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ส่วนกรณีที่เยอรมนีนั้นประธานาธิบดีสามารถพูดได้โดยไม่ต้องให้สภาตรวจสอบก่อน ส่วนการเฉลิมพระเกียรติโดยเกินพอดีนั้นควรแก้ไขไหม ก็ต้องแก้ไขโดยการวิพากษ์วิจารณ์ไปตามขอบเขต

วรเจตน์ ตอบประเด็นสมศักดิ์ ว่าการเทียบประธานาธิบดีกับกษัตริย์อาจจะเทียบได้ลำบากเพราะประธานาธิบดีของเยอรมนีมีความชอบธรรมในทางประชาธิปไตยเพราะมีการเข้าสู่ตำแหน่ง ประธานาธิบดีนั้นมีสายโซ่ทีเชื่อมโยงกับประชาชนไม่ขาดตอน

สำหรับประเด็นการคุ้มครองประมุขของรัฐนั้น เขาเห็นว่า เกณฑ์ในการวิจารณ์ในระบบทั่วไปไม่ยอมให้มีการด่าหยาบคาย ดูหมิ่น แม้แต่บุคคลธรรมดาก็เป็นสิ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถาจะยอมให้มีการดูหมิ่น หมิ่นประมาท ก็ต้องเลิกความผิดต่อบุคคลธรรมดาแล้วเลิกความผิดต่อกษัตริย์

สำหรับกรณีประธานาธิบดีของสหรัฐ เป็นทั้งประมุขของรัฐและฝ่ายบริหาร ดังนั้นการวิจารณ์นั้นแยกยาก และอเมริกาก็เป็นประเทศที่มีความอดทนต่อคำพูดที่ไม่ดีสูงมาก มากกว่าคนอื่นในโลกจนเขาไม่แน่ใจว่าควรจะใช้เกณฑ์ของอเมริกาเป็นมาตรฐานหรือเปล่า

ส่วนกรณีที่คุณทักษิณ หรือมาร์คถูกดูหมิ่นแล้วไม่แจ้งความ “อย่างผมหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งเอาหน้าผมไปใส่หน้าลิง แล้วพาดหัววรเจี๊ยก ลิงหลอกเจ้า ผมก็ไม่ได้ฟ้อง แต่ผมไม่ทำแล้วจะใช้เป็นบรรทัดฐานกับคนทั้งสังคมหรือเปล่า คือเข้าใจว่าควรจะทำเกณฑ์แบบเดียวกันคือเลิกไปเลย แต่ตราบเท่าที่คนในสังคมยังมองเป็นอีกแบบหนึ่ง จะทำอย่างไร”

สำหรับรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น ทำโดยฐานที่ญี่ปุ่นแพ้สงครามแล้วอเมริกาเข้ามาจัดการกฎหมาย ส่วนอังกฤษนั้นเขายอมรับว่ายังไม่ได้ศึกษาให้ชัดเจน

คำถามว่าทำไมประมุขของรัฐถึงถูกคุ้มครองมากกว่าคนธรรมดา เพราะว่าประมุขของรัฐนั้นเป็นตัวแทนรัฐ เป็นสิ่งที่ represent รัฐ ในบริบทของบ้านเราอาจจะมีปัญหาอยู่ แต่ในการทำกฎหมายต้องเอาหลักการเป็นตัวตั้ง

สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ กล่าวปิดงานว่า ความคิดเห็นที่หลากหลายต้องได้รับการรับฟังไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย และวิธีการแสดงออกนั้นต้องเคารพผู้อื่นด้วย ถ้าเราจะมีความคิดเห็นร่วมกันต้องแสวงหาความเห็นที่รับฟังกันด้วย เวทีวิชาการอย่างนี้จะทำให้ได้รับความรู้ วันหนึ่งทุกคนก็จะคิดได้เอง และสังคมเราอ่านน้อย และเขาต่อต้านความรุนแรงส่าด้วยวาจาหรือกำลัง แต่สังคมจะเจริญด้วยวัฒนธรรมพลเมือง

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กลุ่มอนุรักษ์ฯ ชุมนุมหน้าค่าย ตชด. กดดันย้ายสถานที่จัดเวทีเหมืองโปแตช

$
0
0
กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีกว่า 200 คน ชุมนุมหน้าค่าย ตชด. จี้ย้ายสถานที่จัดเวทีเหมืองโปแตช ชี้จัดในสถานที่ราชการไม่เหมาะกับสถานการณ์
 
 
 
เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 55 ที่ผ่านมา เวลา 10.30 น. ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี จำนวนกว่า 200 คน ได้ชุมนุมกันบริเวณหน้ากองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ค่ายเสนีย์รณยุทธ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี  เพื่อขอให้มีการย้ายสถานที่จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย กรณีโครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี ของ บริษัท เอเชีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่ได้ทำการว่าจ้าง บริษัท ทีมคอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์แมเนจเม้นท์ จำกัด ดำเนินการจัดเวทีดังกล่าว ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 24 พฤษภาคม 2555  ด้วยเห็นว่าการจัดเวทีในสถานที่ราชการไม่มีความเหมาะสม เพราะเป็นสถานที่เฉพาะส่วน ชาวบ้านผู้มีส่วนได้เสีย และสาธารณะชนยากต่อการเข้าไปมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น
 
การชุมนุมของกลุ่มชาวบ้านในวันนี้  ได้เคลื่อนขบวนไปรวมตัวกันบริเวณประตูทางเข้าค่ายเสนีย์ฯ มีรถเครื่องเสียงนำขบวน ส่วนชาวบ้านได้พร้อมใจกันสวมเสื้อเขียว และชูธงรณรงค์ประจำกลุ่ม เข้าไปเผชิญหน้ากับกลุ่มตำรวจตระเวนชายแดนนับ 100 นาย  ที่ได้ทำการจัดแถวตั้งรับไม่ให้ชาวบ้านเข้าไปในอาณาบริเวณค่าย  โดยแกนนำชาวบ้านได้ทำการปราศรัยให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการเหมืองแร่โปแตชฯ และเหตุผลที่มาของการชุมนุมในครั้งนี้ แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจนับร้อยนายที่ยืนประจันหน้ากับชาวบ้าน แต่เมื่อชาวบ้านทำการปักหลักชุมนุมไปได้สักพัก จึงได้มีนายตำรวจเข้ามาทำการประสานงานกับกลุ่มชาวบ้าน เพื่อตั้งวงพูดคุยเจรจาสร้างความเข้าใจต่อกัน
 
นางมณี   บุญรอด  แกนนำชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ได้กล่าวถึง การมาชุมนุมของชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีในครั้งนี้ว่า
 
“พอกลุ่มทราบข่าวจากหนังสือที่ส่งไปยังผู้นำชุมชน และ อบต. มาว่า บริษัทจะมีการจัดเวทีรับฟังความเห็นเกี่ยวกับโครงการเหมืองโปแตช  ที่ค่ายเสนีย์ในวันที่ 24 พฤษภานี้  พวกเราจึงได้มีการนัดประชุมแล้วมีความเห็นร่วมกันว่าการใช้สถานที่ของค่ายตำรวจชายแดนจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นโครงการเหมืองโปแตชไม่มีความเหมาะสม เพราะเป็นสถานที่ราชการที่ลักษณะปิดมิดชิด ไม่เป็นพื้นที่สาธารณะ ที่ชาวบ้าน และชาวอุดรที่มีความกังวลใจต่อโครงการเหมืองโปแตชจะสามารถเข้าไปร่วมแสดงความคิดเห็นได้อย่างสะดวก พวกเราจึงมาขอให้ท่านเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิเสธไม่ให้บริษัทเข้ามาใช้สถานที่ แล้วให้ย้ายไปจัดในที่ทุกๆ คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถเข้าไปร่วมได้และต้องเป็นสถานที่ที่เปิดเผยต่อสาธารณะด้วย”
 
ทางด้าน พันตำรวจโท คำสอน  คำจันวงษา รองผู้กำกับการ 4  กองบังคับการฝึกพิเศษ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน  ได้กล่าวถึงกรณีการเข้ามาขอใช้สถานที่ของกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน เพื่อจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อโครงการเหมืองโปแตช จังหวัดอุดรธานีว่า
 
“ได้มีเจ้าหน้าที่บริษัทได้เข้ามาขอติดต่อใช้สถานที่เพื่อจัดเวทีจริง  แต่ว่าสถานที่ของทางกองฝึกไม่ว่างจึงได้มีการทำหนังสือยกเลิก ห้ามไม่ให้บริษัทเข้ามาดำเนินการใดๆ ในสถานที่ของกองฝึก เพราะเห็นว่าพ่อแม่พี่น้องบ้านเราไม่ต้องการ ซึ่ง ตชด. กับพ่อแม่พี่น้องก็เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกันอยู่แล้วจึงมีความเห็นใจซึ่งกันและกัน และทางกองฝึกก็เกรงว่าจะเกิดความขัดแย้งขึ้นมา โดยรายเอียดทั้งหมดได้ทำเป็นหนังสือแจ้งไปยังบริษัทเรียบร้อยแล้ว”
 
ในส่วนของ นายสุวิทย์   กุหลาบวงษ์  ผู้ประสานงานศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ ภาคอีสาน ได้กล่าวถึง การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย กรณีโครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี ว่า เป็นความพยายามปิดกั้นไม่ให้ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีเข้าร่วมในเวที
 
“เห็นได้ว่าทั้ง บริษัท เอพีพีซี และบริษัท ทีม ได้เลือกใช้ค่าย ตชด. เป็นสถานที่จัดเวทีรับฟังความเห็นกรณีเหมืองแร่โปแตชนั้น ได้ส่อเจตนาในการใช้สถานที่ปิด เพื่อที่จะพยายามสกัดกั้นไม่ให้ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ซึ่งเป็นฝ่ายที่คัดค้านโครงการเข้าร่วมประชุมแสดงความเห็นด้วย และถ้าบริษัทมีความจริงใจที่จะจัดเวทีขึ้นมา ก็ไม่ควรประชาสัมพันธ์ผ่านทาง เว็บไซต์ และปิดประกาศตามสถานที่ราชการในท้องถิ่นพียงเท่านั้น  ควรจะเชิญนักวิชาการ และสาธารณชนในวงกว้างที่ความสนใจมาเข้าร่วมแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นกันอย่างเปิดเผย และในครั้งนี้ ต้องขอขอบคุณทาง ตชด. ที่ปฏิเสธไม่ให้บริษัทเข้ามาใช้สถานที่ เพราะว่าเรื่องเหมืองแร่โปแตช มันเป็นเรื่องใหญ่เกินกว่าบทบาทหน้าที่ของ ตชด. และไม่ว่าจะไปจัดที่ไหน กลุ่มชาวบ้านก็ยังคงตามไปคัดค้านอีกต่อไป” สุวิทย์ กล่าว
 
สุวิทย์ ยังได้กล่าวเพิ่มเติม อีกว่า “สิ่งสำคัญที่ทำให้มองเห็นถึงสถานการณ์การคัดค้านโครงการเหมืองแร่โปแตชของชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ที่ดำเนินการภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญเสมอมานั้น แต่บริษัท และกพร. ยังมีความพยายามผลักดันอยู่ตลอด โดยบริษัทมักจะเกณฑ์คนจากนอกพื้นที่ให้มาร่วมเวทีเพื่อสนับสนุนโครงการ ส่วน กพร. กลับเพิกเฉยต่อการคัดค้านโครงการของชาวบ้าน โดยเห็นได้จากการที่ชาวบ้านรวบรวมรายชื่อกว่า 1,500 รายชื่อ ของผู้มีโฉนดที่ดินในพื้นที่ประกาศเขตคำขอประทานบัตรโครงการเหมืองโปแตช และรายชื่อผู้มีส่วนได้เสียอีกกว่า 5,800 รายชื่อ แล้วส่งไปยัง กพร. แต่ผ่านไปนับ 4 เดือน กพร.กลับไม่ตอบคำถามต่อชาวบ้าน แต่กลับจะมาจัดเวที SEA เรื่องเหมืองโปแตช ที่ กพร. ในวันที่ 4 พฤษภาคมที่จะถึง  ซึ่งกลุ่มอนุรักษ์ฯ ก็จะต้องเข้าไปร่วมเพื่อแสดงจุดยืนของการคัดค้านโครงการเหมืองโปแตช” สุวิทย์ กล่าว
 
ทั้งนี้ สุวิทย์ ได้ตั้งข้อสังเกตทิ้งท้ายว่า  การใช้วิธีการเลือกสถานที่จัดเวทีฯ ซึ่งเป็นสถานที่ราชการของ ตำรวจตระเวนชายแดนนั้น เป็นความพยายามของบริษัทโปแตช ที่จะสร้างคู่ขัดแย้งขึ้นมาระหว่างชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ กับตำรวจตระเวนชายแดน
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักกิจกรรมมาเลเซียเรียกร้องให้ปล่อยตัว 'สมยศ' และนักโทษการเมือง

$
0
0
 
เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 55 ที่ผ่านมาคณะตัวแทนนำโดยพรรคสังคมนิยมมาเลเซีย (PSM) และผู้แทนจากกลุ่ม NGO หลายกลุ่ม ได้ทำการประท้วงหน้าสถานทูตไทย ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ และเพื่อแสดงสนับสนุนสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักกิจกรรมแรงงาน ผู้ถูกจับกุมคุมขังจากคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นเวลาเกือบปีแล้ว คณะตัวแทนเหล่านี้ยังเสนอให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองทุกคนในประเทศไทย
 
คณะตัวแทนได้มอบจดหมายประท้วงให้กับ นายทรงศักดิ์ สายเชื้อ อัครราชทูต และรองหัวหน้าผู้ปฏิบัติหน้าที่สถานทูตไทยประจำมาเลเซีย พรรคสังคมนิยมมาเลเซีย ยืนยันว่า กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งถูกนำมาใช้คุกคามนักกิจกรรมเพื่อสังคมชาวไทย เป็นอุปสรรคต่อระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย
 
ผู้มาประท้วงในครั้งนี้ ประกอบไปด้วย S.Arutchelvan (เลขาธิการ พรรคสังคมนิยมมาเลเซีย) Lee Siew Hwa จากกลุ่มมาเลเซียผู้สนับสนุนประชาธิปไตยในประเทศไทย Irene Xavier จากกลุ่มเพื่อนหญิง, ผู้แทนจาก พรรค Suaram และ พรรค PRM 
 
แถลงการณ์ร่วมที่แนบมาด้วยนี้ได้รับความเห็นชอบจากกลุ่มองค์กรต่างๆในมาเลเซียและประเทศต่างๆ
 
 
คำประกาศร่วมกัน
26 เมษายน 2012
ปล่อยสมยศและนักโทษการเมืองทั้งหมดในประเทศไทย
ยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ 

เรา (องค์กรที่ได้ลงชื่อไว้ใต้ล่างนี้) มีความกังวลอย่างยิ่งกับกรณีการคุกคามนักกิจกรรมสังคมจากกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในประเทศไทย เช่น สมยศ พฤกษาเกษมสุข นักกิจกรรมแรงงาน ผู้ถูกจำคุกจากกฎหมายนี้ โดยไม่ให้ประกันตัว ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน ปีที่แล้ว จนบัดนี้


พวกเราเป็นเป็นกังวลที่สมยศต้องถูกจองจำเป็นเวลานาน การเคลื่อนย้ายสมยศไปฝากขัง และการที่สมยศถูกปฏิเสธการประกันตัวหลายครั้ง

เป็นที่รู้จักกันว่า สมยศเป็นนักกิจกรรมเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิแรงงานอย่างไม่ย่อท้อ และได้จัดตั้งสหภาพแรงงานเพื่อประชาธิปไตย ในประเทศไทย ปี2007 เขาได้เป็นบรรณาธิการหนังสือ VOICE OF THAKSIN (ขณะนี้ชื่อว่า Red Power) ซึ่งเป็นนิตยสารทางการเมืองที่มีจุดยืนต่อต้านรัฐประหาร นอกจากนั้น สมยศยังเป็นประธานของสหภาพพันธมิตรแรงงานประชาธิปไตย และผู้นำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ซึ่งเป็นกลุ่มที่ตั้งขึ้นเนื่องจากผลพวงของการรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน ปี 2006 


สมยศถูกจับกุมเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2011 โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือ ดีเอสไอ เขาตั้งข้อหาว่า กระทำผิดในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือคดีอาญามาตรา 112 สมยศถูกจับกุม5วัน หลังการเข้าร่วมการถวายฎีกาให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ซึ่งสมยศระบุว่าเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับประชาธิปไตย และหลักการสิทธิมนุษยชน ตามเอกสารของฝ่ายโจทก์ สมยศถูกกล่าวหาว่า บทความ 2 เรื่องนิตยสารที่เขาเป็นบรรณาธิกา กกล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ในแง่ลบ 
ซึ่งเราเป็นห่วงที่การขอประกันตัวเขา ถูกปฏิเสธ เจ้าหน้าที่ยังให้เหตุผลจะคุมขังเขาอีกนาน พวกเราเชื่อว่า สิ่งดังกล่าวเป็นตัวชี้วัดถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างร้ายแรงที่สุด พวกเราขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทย สั่งการให้ประกันตัวสมยศโดยเร็วที่สุด

สมยศไม่ใช่เหยื่อคนเดียว ที่ถูกคุกคามจากกฎหมายที่รุนแรงนี้ เรากังวลใจอย่างยิ่งว่ามีการใช้กฎหมายนี้มีมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อจัดการปิดปากนักกิจกรรมสังคมและผู้เห็นต่างทางการเมืองในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นับแต่ภายหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา เราเชื่อว่าการคุกคามด้วยการใช้กฏหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนี้เป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง และเป็นอุปสรรคขัดขวางประชาธิปไตยในประเทศไทย จำเป็นต้องมีการทบทวนกฏหมายมาตรานี้ โดยคำนึงถึงมาตรฐานของนานาอารยประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน 

พวกเราขอเรียกร้องต่อผู้มีอำนาจ ดังนี้ :


-ยกเลิกข้อหาที่มีต่อสมยศ และปล่อยตัวเขาอย่างไม่มีเงื่อนไข
-ยกเลิกการกล่าวโทษ จากม.112 ต่อนักกิจกรรม นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ และปัจเจกชนอื่นๆ
-ปล่อยตัวผู้ต้องหาและถูกจองจำจากคดีนี้
-ยกเลิกกฎหมายอาญา ม. 112 เพื่อนำเสรีภาพในการแสดงออก และการแสดงความคิดเห็นกลับมาสู่ประเทศไทยอีกครั้ง 

ผู้ร่วมลงนาม ในประเทศ :

Parti Sosialis Malaysia (PSM)
Jaringan Rakyat Tertindas (JERIT), Malaysia
Suara Rakyat Malaysia (SUARAM), Malaysia
Malaysia Support Group for Democracy in Thailand, Malaysia
Community Action Network, Malaysia
Friends of Women, Malaysia
Labour Resource Centre, Malaysia

ลงนามโดย :

Party of the Labouring Masses (PLM), the Philippines
People’s Liberation Party, Indonesia
Reorganize Committee – Working People Association (KPO-PRP), Indonesia
Confederation of Congress of Indonesian Unions Alliance (KASBI), Indonesia
People’s Democratic Party (PRD), Indonesia
Socialist Alliance, Australia
Labour Party Pakistan
Radical Socialist, India
Communist Party of Bangladesh (M-L), Bangladesh
La Aurora – POR Tendency in Izquierda Unida, Spain
Pioneer, Hong Kong
For further enquiries, please contact Chon Kai at +60-19-5669518, e-mail: int.psm@gmail.com
 
 
(แปลโดย: เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล)
 
 
 
 
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เผย "หน่อคำ" มีแนวโน้มถูกทางการลาวจับตัวจริง

$
0
0

28 เม.ย. 55 - จนถึงขณะนี้แม้จะยังไม่มีการยืนยันถึงการจับกุม "หน่อคำ" หัวหน้ากลุ่มโจรสลัดแม่น้ำโขง เจ้าพ่อยาเสพติดแห่งสามเหลี่ยมทองคำ ที่หลายฝ่ายเชื่ออยู่เบื้องหลังสังหารลูกเรือจีน 13 ศพ อย่างเป็นทางการ แต่จากเปิดเผยหลายฝ่ายเชื่อว่า หน่อคำ น่าจะถูกจับตัวจริง

จาการที่ศูนย์ข่าวคนเครือไท (สำนักข่าวฉาน SHAN) ติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ ล่าสุดยังคงมีกระแสข่าวแพร่หลายซึ่งยังไม่ยืนยันตรงกันว่า นายหน่อคำ หรือ จายหน่อคำ ถูกทางการลาวจับกุมตัวได้ในเขตจังหวัดบ่อแก้ว ของสปป.ลาว เมื่อวันที่ 25 เม.ย. ที่ผ่านมา ขณะที่บางกระแสข่าวระบุว่า เขาถูกจับกุมที่ห้วยทราย ตรงข้ามอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย และแหล่งข่าวอีกด้านบอกว่า เขาถูกจับกุมขณะหลบซ่อนตัวอยู่ที่บ้านภรรยาน้อย ชาวไทลื้อ ในพื้นที่เมืองมอง ของลาว โดยการจับกุมหน่อคำเป็นไปตามการชี้เบาะแสจากทางการจีน

ขณะเดียวกัน แหล่งข่าวในพื้นที่จังหวัดท่าขี้เหล็ก เปิดเผยว่า นายหน่อคำ ถูกจับกุมที่บ่อนคาสิโน คิงโรมัน บ้านต้นผึ้ง (ตรงข้ามอ.เชียงแสน จ.เชียงราย) โดยเมื่อวานนี้ (27 เม.ย.) เขาถูกนำตัวย้ายไปคุมขังที่เมืองหลวงน้ำทา โดยนายหน่อคำ ได้เสนอสินบนแลกการปล่อยให้ทางการลาว จำนวน 20 ล้านบาท ขณะที่ทางการจีน ได้เสนอเงินซื้อตัวเขาจากทางการลาว 2 ล้านหยวน (10 ล้านบาท)

ด้านอดีตนายทหารกองทัพเมืองไตย  MTA ขุนส่า คนหนึ่งซึ่งพำนักอยู่ในอำเภอแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 เม.ย. ซึ่งตรงกับวันทางการไทย โดยร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประกาศตั้งค่าหัวนักค้ายาเสพติด 25 ราย ซึ่งมีหน่อคำด้วยนั้น รองของนายหน่อคำ คือ จายส่างคำ ได้ถูกเจ้าหน้าที่ไทยไม่ทราบหน่วยจับกุมตัวขณะเดินทางจากบ้านเทอดไทย ไปยังอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ โดยอดีตนายทหาร MTA ระบุว่า หากหน่อคำ ถูกจับตัวจริงก็เท่ากับว่า กลุ่มของหน่อคำ น่าจะหมดอิทธิพลอย่างสิ้นเชิง เพราะรองของเขาก็ถูกจับกุมแล้ว

นอกจากนี้ มีรายงานว่า ก่อนหน้านายหน่อคำ ถูกจับกุม มีการเล่าลือกันในพื้นที่เมืองป่าแลว เชียงลาบ ว่า ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน เป็นต้นมา มีกลุ่มติดอาวุธไม่ทราบฝ่าย สวมชุดลายพรางไม่ติดเครื่องหมายระบุเป็นกองกำลังกลุ่มใด แบ่งกำลังออกเป็นกลุ่มๆ ออกติดตามค้นหาตัวหน่อคำ โดยมีการสอบถามถึงนายหน่อคำด้วย

อีกด้านหนึ่ง หนังสือพิมพ์เมียนมาร์อลิน สื่อกระบอกเสียงรัฐบาลพม่า รายงานว่า เมื่อวันที่ 23 เม.ย. ที่ผ่านมา ลูกน้องของนายหน่อคำ จำนวน 8 คน พร้อมด้วยอาวุธปืน 5 กระบอก กระสุน 163 นัด มีนายจายทุน เป็นแกนนำ ได้มอบตัวต่อเจ้าหน้าที่ทางการพม่าในจังหวัดท่าขี้เหล็ก ทั้งนี้ หนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวรายงานด้วยว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม - มษายน 2555 ทหารรัฐบาลพม่าได้ปะทะกับกลุ่มของนายหน่อคำ รวม 3 ครั้ง

ทั้งนี้ การจับกุมนายหน่อคำ เกิดขึ้นหลังเกิดการสังหารลูกเรือจีน 13 ศพ ในแม่น้ำโขง ตอนเหนือของสามเหลี่ยมทองคำ เมื่อ 5 ตุลาคม 2554 ซึ่งเชื่อกันว่าหน่อคำ อยู่เบื้องหลัง และการจับกุมเกิดขึ้นไม่กี่วัน หลังทางการโดยร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดแห่งชาติ (ผอ.ศพส.) แถลงข่าว “ประกาศจับนักค้ายาเสพติดรายสำคัญ” (Most Wanted) จำนวน 25 ราย ตั้งรางวัลนำจับ 12 ล้านบาท ในจำนวนนี้มีชื่อนายหน่อคำ รวมอยู่ด้วย โดยถูกตั้งค่าหัวไว้ 2 ล้านบาท

สำหรับข้อมูลของนายหน่อคำ ที่สำนักข่าวฉาน SHAN ได้รับล่าสุดทราบว่า นายหน่อคำ เป็นคนเชื้อสายไทใหญ่ เกิดเมื่อปีค.ศ. 1969 ที่เมืองต้างยาน รัฐฉานภาคเหนือ (ปัจจุบันอายุ 43 ปี) นายหน่อคำ เป็นเชื้อสายเจ้าฟ้าเมืองไหย๋ โดยบิดาเป็นอำมาตย์ประจำเจ้าฟ้าเมืองไหย๋ ทั้งนี้ นายหน่อคำ ได้เข้าเป็นทหารรับใช้ชาติกอบกู้รัฐฉาน ในกองทัพเมืองไตย MTA ภายใต้การนำของขุนส่า แต่หลังขุึนส่าวางอาวุธให้แก่ทางการพม่าในปี 2539 หน่อคำ ได้รับอนุญาตจัดตั้งกลุ่มอาสาสมัครและประกอบธุรกิจลับอยู่ในจังหวัดท่าขี้เหล็ก

กระทั่งเมื่อปี 2549 นายหน่อคำ ได้ถูกเจ้าหน้าที่ปปส. พม่าเข้าตรวจค้นบ้านพักในหมู่บ้านตอก้อ ฝั่งท่าขี้เหล็ก โดยเจ้าหน้าที่ปปส.พม่าซึ่งได้รับข้อมูลจากทั้งจีนและไทย สามารถตรวจยึดยาบ้านับล้านเม็ด แต่นายหน่อคำ ได้หลบหนีเข้าไทยและเข้าไปกบดานอยู่ในฝั่งลาว จนกระทั่งข่าวคราวเงียบลงจึงกลับเข้าไปเคลื่อนอยู่ในฝั่งพม่า

ทั้งนี้ กลุ่มของนายหน่อคำ มีพฤติกรรมเป็นโจรสลัดเก็บค่าคุ้มครองเรือลำเลียงสินค้าในแม่น้ำโขงและจับ เรียกค่าไถ่ลูกเรือบ่อยครั้ง โดยทางกลุ่มอ้างว่าเป็นการเก็บค่าคุ้มครองผ่านในพื้นที่ นอกนั้นยังคอยจัดเก็บภาษีกลุ่มผู้ค้าสิ่งผิดกฎหมายที่ผ่านเข้าออกในพื้นที่คุ้มครองแถบสามเหลี่ยมทองคำ

มีรายงานล่าสุดด้วยว่า เมื่อเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา พี่ชายของนายหน่อคำ ชื่อ นายจายเมืองไหย๋ หรือ จายละห่าน ถูกมือปืนยิงเสียชีวิต ที่เมืองหมู่แจ้ รัฐฉานภาคเหนือ ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่ทราบผู้ก่อเหตุเป็นใคร

 

ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่ http://www.khonkhurtai.org/
"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เผยผู้ต่อต้านรัฐบาลจีนหนีการกักบริเวณ อยู่ภายใต้ 'การคุ้มครองของสหรัฐฯ' แล้ว

$
0
0
เฉิน กวงเฉิง นักกิจกรรมผู้ต่อต้านนโยบายลูกคนเดียวของรัฐบาลจีน หลบหนีจากการถูกสั่งกักบริเวณภายในบ้าน ล่าสุดเพื่อนนักสิทธิฯ เผยว่าเขาอยู่ในสถานทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงปักกิ่ง โดยอยู่ภายใต้การคุ้มครองของสหรัฐฯ
 
 
28 เม.ย. 55 - กลุ่มสิทธิมนุษยชนของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า เฉิน กวงเฉิง ชายผู้พิการทางสายตาซึ่งเป็นผู้ต่อต้านรัฐบาลจีน ได้หลบหนีออกจากบ้านของตนที่ถูกรัฐบาลสั่งกักบริเวณ และตอนนี้อยู่ภายใต้การคุ้มครองของสหรัฐฯ
 
กลุ่มสิทธิมนุษยชนของสหรัฐฯ ChinaAid บอกอีกว่าเจ้าหน้าที่ทางการสหรัฐฯ และจีน กำลังจะมีการเจรจากันในกลุ่มคนระดับสูงเพื่อตกลงว่าจะดำเนินการกับ เฉิน กวงเฉิงอย่างไร
 
ก่อนหน้านี้ หูเจีย เพื่อนนักกิจกรรมของเฉิน บอกว่า เฉินอยู่ที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ แต่ยังไม่สามารถยืนยันข้อมูลได้
 
การหลบหนีของเฉินอาจเป็นการบั่นทอนการมาเยือนจีนของฮิลลารี่ คลินตัน ในสัปดาห์หน้าได้ เนื่องจากฮิลลารี่เป็นผู้เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวผู้ต่อต้านรัฐบาลเสมอมา
 
จากแถลงการณ์ขององค์กร ChinaAid ระบุว่า พวกเขาทราบสถานการณ์ของเฉิน กวงเฉิง จากแหล่งข่าวที่มีความใกล้ชิดกับตัวเขา ว่าเฉินอยู่ภายใต้การคุ้มครองของสหรัฐฯ
 
กลุ่ม ChinaAid นำทีมโดยบ็อบ ฟู นักสิทธิมนุษยชนชาวสหรัฐฯ ผู้ที่เป็นเพื่อนกับเฉิน
 
วานนี้ (27 เม.ย.) หูเจีย นักสิทธิฯ ผู้มีชื่อเสียงและเป็นเพื่อนอีกคนหนึ่งของเฉิน กล่าวให้ข้อมูลกับสำนักข่าว BBC ว่า เขาได้พบกับเฉินอยู่ในสถานทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงปักกิ่งเมื่อ 72 ชั่วโมงที่ผ่านมา หลังจากที่เฉินหนีออกจากการกักบริเวณอยู่ภายในบ้านในมณฑลซันตง เขาบอกอีกว่า เฉินได้ปีนกำแพงสูงหนีออกมาก่อนที่จะขึ้นรถมายังกรุงปักกิ่งซึ่งห่างออกมาหลายร้อย กม.
 
ต่อมาในวันนี้ (28 เม.ย.) ภรรยาของหูเจีย ได้โพสท์ลงในทวิตเตอร์ของเธอว่า หูถูกตำรวจในท้องที่นำตัวไปสอบปากคำ
 
สวัสดิภาพของเฉินและญาติๆ
 
นักกิจกรรมเปิดเผยว่า เฉินหนีไปตั้งแต่วันอาทิตย์ (22 เม.ย.) ที่ผ่านมา และจากนั้นจึงมีวีดิโอที่ระบุถึงตัวนายกรัฐมนตรี เวิน เจียเป่า รายงานระบุว่า เจ้าหน้าที่เพิ่งทราบเรื่องที่เขาหนีออกจากบ้านเมื่อวันพฤหัส (26 เม.ย.) ที่ผ่านมานี้เอง
 
ภาพวีดิโอที่เฉินกล่าวถึงนายกรัฐมนตรี เวิ่น ถ่ายในห้องมืดสลัว เฉิน ในวีดิโอบอกว่าการใช้ไหวพริบหนีเจ้าหน้าที่ซึ่งคอยเฝ้ามองไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
 
เฉินบอกอีกว่าเจ้าหน้าที่สืบสวนและบังคับคดีของ นายกฯ เวิ่น ได้ทุบตีทำร้ายสมาชิกครอบครัวเขา เขาได้แสดงความเป็นห่วงด้านความปลอดภัยของครอบครัว และยังได้กล่าวถึงปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นในจีนซึ่งควรจะถูกลงโทษตามกฏหมาย
 
มีรายงานว่ามีพี่ชาย หลายชาย และคนอื่นๆ ที่ช่วยเขาหนีออกมา ตอนนี้ถูกตำรวจจับกุมตัวเรียบร้อยแล้ว กลุ่มสิทธิมนุษยชนอ้างแหล่งข่าวบอกว่าหลานชายของเฉิน กวงเฉิง ถูกตำรวจมากกว่า 30 นายมาพาตัวเขาออกจากบ้าน
 
นาวี พิลเลย์ นางนาวี พิลเลย์ ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติกล่าวแสดงความเป็นห่วงต่อสวัสดิภาพของเฉินและครอบครัวเขาที่ยังอยู่ในมณฑล ซันตง นอกจากนี้ยังได้กล่าวแสดงความไม่สบายใจที่ทราบข่าวว่ายาติพี่น้องของเฉินถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวอยู่
 
รัฐบาลจีนถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยนานาชาติจากกรณีการปฏิบัติต่อเฉิน มีครั้งหนึ่งที่ลูกสาวของเฉินถูกสั่งห้ามไปโรงเรียน คนที่เห็นใจเฉินหลายคนพยายามไปเยี่ยมเขาที่บ้านแต่ก็ถูกทุบตี
 
ชีวิตเฉิน กวงเฉิง
 
เฉิน กวงเฉิง เกิดปี 1971 พิการทางสายตามาตั้งแต่เกิด เขาเป็นนักกฏหมายและนักกิจกรรมที่รณรงค์ต่อต้านนโยบายลูกคนเดียวของรัฐบาลจีน เนื่องจากเป้นการละเมิดสิทธิฯ ในการที่ต้องบังคับให้ผู้หญิงต้องทำแทงค์ หรือทำหมัน
 
เฉิน ถูกรัฐบาลจีนขังคุกเป้นเวลา 4 ปี ในข้อหาทำลายทรัพย์สินและปิดกั้นการจราจร เขาถูกปล่อยตัวออกมาในปี 2010 และถูกสั่งกักบริเวณภายในบ้านตั้งแต่นั้นมา
 
 
ที่มา:
 
China dissident Chen Guangcheng 'under US protection' , BBC, 28-04-2012
http://www.bbc.co.uk/news/world-asia-china-17878744
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

Primary Vote: ก้าวย่างสำคัญของพรรคเพื่อไทย

$
0
0

ภายหลังจาก พรรคเพื่อไทย แพ้การเลือกตั้งซ่อมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดปทุมธานี โดยที่มีประเมินกันว่า คนเสื้อแดง ฝ่ายประชาธิปไตยไปใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งนี้น้อย 

สาเหตุสำคัญ เนื่องจากว่า ไม่เห็นด้วยที่สมาชิสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดปทุมธานีได้ลาออก ทั้งที่เพิ่งได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรแล้ว แต่กลับไปลงเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เท่ากับว่า เป็นการดูถูกประชาชนที่ได้เลือกเขาไปแล้ว และไม่เห็นคุณค่าหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงที่ประชาชนเลือก 

นอกจากนี้แล้ว ได้มีการตั้งคำถามกัน ถึง พรรคเพื่อไทยถึงกระบวนการคัดสรรผู้สมัครลงเลือกตั้งอย่างไร ? ว่า มีกระบวนการการตัดสินใจส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง โดยไม่สนใจฟังความคิดเห็นของประชาชน ว่าเขาคิดเช่นไรหรือไม่ ? ประชาชนผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทย อยากเสนอใครลงเลือกตั้งได้หรือไม่ ? อำนาจตัดสินใจไม่ได้อยู่ที่สมาชิกพรรค อย่างที่ควรจะเป็นหรือไม่ ? 

ตามหลักการพรรคของมวลชน พรรคที่เป็นประชาธิปไตยนั้น มวลชนสมาชิกพรรคเป็นผู้เลือกผู้สมัคร พรรคส่งผู้สมัครตามแนวทางสมาชิกมวลชน ซึ่งมิใช่ “พรรคเลือกคน ประชาชนเลือกพรรค” แต่ “ประชาชนมีส่วนในเลือกคน พรรคฟังเสียงของประชาชน”

การเลือกตั้งสมัยที่ผ่านมา มีคนจำนวนไม่น้อยที่สนุบสนุนเลือกพรรคเพื่อไทย แม้ว่า พรรคเพื่อไทยในบางจังหวัด บางพื้นที่ ประชาชนที่เลือกอาจจะไม่นิยมชื่นชมผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยสักเท่าใดนัก เนื่องจากผู้สมัครบางคนไม่ได้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

บางคนยังติดความคิดแบบอำมาตย์ ชอบสั่งการแบบราชการ รวมศูนย์ เผด็จการ ไม่ฟังความคิดเห็นของคนอื่นที่เป็นฝ่ายประชาธิปไตย มองประชาชนเป็นเพียงเครื่องมือสู่อำนาจ

บางคนเป็นพวกฉวยโอกาสตามกระแสประชาธิปไตย ที่ไม่ยอมปรับตัวเป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างแท้จริงก็มีให้เห็น 

แต่คนเสื้อแดงฝ่ายประชาธิปไตยก็ต้องเอาไว้ก่อน เพื่อชนะพรรคฝ่ายอำมาตยาธิปไตย 

ปรากฏการณ์ ดังกล่าว ทำให้ การเลือกตั้งซ่อมจังหวัดเชียงใหม่เขต 3 จะมีขึ้นอีกไม่นานนี้ คนเสื้อแดง เชียงใหม่ ส่วนหนึ่ง ได้เสนอกันว่า พรรคเพื่อไทย ควร มี Primary Vote เพื่อความก้าวหน้าของพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย อย่าให้เหมือนพรรคประชาธิปัตย์ พรรคฝ่ายอำมาตยาธิปไตยที่ครั้งหนึ่งมีการกล่าวกันว่า “พรรคส่งเสาไฟฟ้าลงก็ได้” 

แม้ว่า การพ่ายแพ้การเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทยที่จังหวัดปทุมธานี จะเป็นคนละเรื่องคนละประเด็นกับการถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเชียงใหม่ และแม้ว่า พรรคเพื่อไทย ส่งใครลงที่จังหวัดเชียงใหม่ ผู้เขียนก็เชื่อว่า พรรคเพื่อไทยก็จะได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อยู่เป็นแน่ 

แต่ถ้าคำนึงถึงคุณภาพใหม่ ของพรรคการเมืองฝ่ายก้าวหน้า ฝ่ายประชาธิปไตย ระบบ Primary Vote เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญยิ่ง

Primary Vote นั้นหมายถึง การเลือกตั้งขั้นต้นที่สมาชิกของพรรคทุกคนมีสิทธิลงคะแนนเสียงเพื่อเลือกคน ที่เสนอตัวเป็นผู้สมัคร หรือแคนดิเดตของพรรค ให้ได้รับสิทธิจากชัยชนะ เพื่อไปเป็นตัวแทนในการลงเลือกตั้ง เป็นวิธีการเลือกตั้งขั้นต้นที่นิยมกันมากที่สุด และส่วนใหญ่มักจะเป็นการเลือกตั้งไพรมารี แบบปิด คือ ให้สิทธิสมาชิกพรรคเท่านั้นที่มีสิทธิลงคะแนน

ประกายไฟความคิดของคนเสื้อแดง เชียงใหม่ กลุ่มนี้ ได้ท้าทายพรรคเพื่อไทยยิ่งนัก ซึ่งเป็นพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย จึงควรส่งเสริมประชาธิปไตย มิใช่ปล่อยให้คนไม่กี่คนตัดสินใจในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง และควรเป็นแบบอย่างให้กับการเมืองไทยในอนาคต มิใช่หรือ? 

แม้แต่ พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก็เคยกล่าวไว้ว่า เมื่อปี 2542 ว่าจะนำระบบ Primary Vote มาใช้ 

Primary Vote จึงเป็นก้าวย่างสำคัญของพรรคเพื่อไทย เพื่อสร้างพรรคเป็นพรรคที่มีประชาธิปไตยในองค์กร และสู้เพื่อประชาธิปไตยได้อย่างเข้มแข็ง เพราะมวลสมาชิก เป็นเจ้าของพรรคได้อย่างแท้จริง และยิ่งยุคสมัยปัจจุบันที่มวลสมาชิกล้วน “ตาสว่าง” เติบโตทาง”คุณภาพ” จึงท้าทายยิ่งนัก

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 22 - 28 เม.ย. 2555

$
0
0

แรงงานไทย-ต่างด้าวแห่ย้ายฐาน ไหลเข้า 7 จังหวัดนำร่องค่าแรง 300 บาท / ผู้ใช้แรงงานร้อยละ 39.3 ชี้ค่าจ้าง 300 บาทไม่ช่วยให้ความเป็นอยู่ดีขึ้น / จี้รัฐสภาเร่งพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับคนงาน / อีก 10 ปีผู้ใหญ่คุณภาพต่ำ-แรงงานสตรีค่าแรงต่ำ 

อีก 10 ปีผู้ใหญ่คุณภาพต่ำ-แรงงานสตรีค่าแรงต่ำ

ดร.วิมลทิพย์ มุสิกพันธ์ อาจารย์สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว เปิดเผยผลวิจัยเรื่องสถานการณ์สุขภาวะครอบครัวไทย ปี 2554-2555 พบว่าครอบครัวไทยบกพร่องในการทำหน้าที่สำคัญ คือ การเตรียมบุตรหลานของตนเองให้มีความรู้ความสามารถเพียงพอในการปกป้องดูแลตน เอง

โดยเฉพาะการตั้งรับกับปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมซึ่งกำลังเป็นปัญหาที่ มีความรุนแรง คือ ครอบครัวร้อยละ 10 ไม่มีการเตรียมให้ความรู้กับลูกวัยรุ่นว่าด้วยการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย และการตั้งครรภ์เมื่อพร้อม ครอบครัวไทยร้อยละ 23 กำลังบกพร่องต่อการทำหน้าที่สำคัญ

ดร.วิมลทิพย์ กล่าวอีกว่า ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว ซึ่งการจะเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ มีความสุขและไม่เป็นภาระของลูกหลานขึ้นอยู่กับการเตรียมตัวก่อนเกษียณใน 4 ประเด็นสำคัญ คือ การเตรียมตัวด้านเงินออม การเตรียมตัววางแผนอาชีพ/กิจกรรมหลังเกษียณ การออกกำลังกายเพื่อเตรียมสุขภาพ และการเตรียมตัวเพื่อการพึ่งตนเองด้านที่อยู่อาศัย

โดยข้อค้นพบจากงานวิจัยชิ้นนี้ระบุว่าครอบครัวไทยราวร้อยละ 6.4 แทบจะไม่มีการวางแผนเรื่องเงินออมเลย ในขณะที่ครอบครัวอีกร้อยละ 23.3 ไม่มีการวางแผนเรื่องอาชีพ/กิจกรรมหลังเกษียณ อีกร้อยละ 15.9 ไม่มีการออกกำลังกายเพื่อเตรียมสุขภาพ และอีกร้อยละ 14.4 ยังไม่ได้เตรียมการด้านที่อยู่อาศัยเลย

ดังนั้น ถ้าปัญหานี้ไม่ได้รับการแก้ไขในอีก 10-20 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีทรัพยากรมนุษย์เกิดจากความไม่พร้อม ไม่ตั้งใจนำมาซึ่งโอกาสที่จำกัด และสุดท้ายกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพต่ำ และในเวลาเดียวกันเราจะได้แรงงานสตรีราคาถูกเพราะออกจากระบบการศึกษาก่อน กำหนด ภาครัฐต้องรับภาระผู้สูงอายุจำนวนมหาศาลซึ่งไม่สามารถดูแลตนเองได้ หรือดูแลตนเองได้ในระดับต่ำ ผู้สูงอายุเหล่านี้ไม่มีทั้งเงินออมในการดูแลตนเอง ไม่มีอาชีพ ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง เหล่านี้หมายถึงงบประมาณมหาศาลที่ภาครัฐจะต้องทุ่มลงไป ทั้งๆ ที่หลายประเด็นเป็นเรื่องที่จัดการได้ด้วยระบบและการทำงานที่มีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญกว่านโยบายคือการลงมือทำ ซึ่งหมายถึงทุกหน่วยงานควรร่วมมือกันเพราะเป็นปัญหาระดับโครงสร้างที่ต้อง การการเปลี่ยนวิธีคิดของคนในสังคม หากสังคมไม่น่าอยู่ ท้ายที่สุดพวกเราทุกคนก็ไม่มีใครอยู่ได้อย่างมีความสุข

(กรุงเทพธุรกิจ, 22-4-2555)

แรงงานนอกระบบร้อง คปก.ชงคลอดกฎกระทรวงคุ้มครองสิทธิคนทำงาน

24 เม.ย. 54 สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย - ผู้แทนเครือข่ายแรงงานนอกระบบ  คนทำงานบ้านจากหลายจังหวัด เช่น ขอนแก่นปัตตานี เชียงราย  และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพกว่า 30คน  เข้าพบ คปก. โดยนางสุนี ไชยรส ศ.ดร.เสาวนีย์ อัศวโรจน์  นายชัยสิทธิ์ สุขสมบูรณ์ นายไพโรจน์ พลเพชร และดร.โชคชัย สุทธาเวศ คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านสวัสดิการสังคม  เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2555 ขอให้เร่งรัดกระทรวงแรงงานออกกฎกระทรวงตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2553 ซึ่งกำหนดว่าต้องจัดตั้งคณะกรรมการมากำกับภายใน 120 วัน รวมทั้ง ออกกฎ ระเบียบอีกหลายฉบับ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2555 แต่ไม่มีการดำเนินการใด โดยพ.ร.บ.ประกาศเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2553  มีผลบังคับใช้หลังจากนั้น 180 วัน คือในวันที่ 15 พฤษภาคม 2554

ทั้งนี้ความล่าช้าดังกล่าวส่งผลให้ผู้รับงานไปทำที่บ้านไม่สามารถใช้ สิทธิตามกฎหมายรับรองและคุ้มครอง เช่น   ค่าจ้างขั้นต่ำ ความปลอดภัยในการทำงาน และสุขภาพของแรงงานนอกระบบ ฯลฯ   ทำให้แรงงานนอกระบบไม่สามารถใช้สิทธิ  สูญเสียโอกาสและประโยชน์ที่ควรจะได้รับจากสิทธิที่กฎหมายรับรองและคุ้มครอง แม้พระราชบัญญัติที่มีผลบังคับใช้มากว่าหนึ่งปีแล้ว

นอกจาก แรงงานทำงานบ้านที่ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541ยกเว้นไม่คุ้มครอง  ไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิในกฎหมายประกันสังคม ทั้งที่มีอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 189 ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับแรงงานทำงานบ้าน และข้อเสนอแนะฉบับที่ 201 คนทำงานบ้านยังถูกโกงค่าแรง  ถูกล่วงละเมิดทางเพศจากนายจ้าง บางส่วนปกป้องสิทธิตนเองได้ยากลำบากเพราะกลัวถูกเลิกจ้าง บางรายสะท้อนว่าเมื่อถึงยามอายุมาก ไม่มีใครดูแล ต้องอาศัยพี่น้อง และรับจ้างทำงานเล็กๆน้อยๆ 

อย่างไรก็ตามหลังจากรับฟังแล้วคณะกรรมการฯ จะเชิญผู้แทนจากกระทรวงแรงงาน และผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงการบังคับใช้พ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่ บ้าน สาเหตุของความล่าช้าในการออกกฎกระทรวงต่างๆ เพื่อคุ้มครองสิทธิผู้รับงานไปทำที่บ้านและคนทำงานบ้านตามกฎหมาย ต้นเดือนพฤษภาคมนี้

(ประชาไท, 24-4-2555)

คนงานโฮยาร้องสภาหอการค้าอเมริกัน จี้สมาชิกให้โฮยารับคนงานถูกเลิกจ้าง

24 เม.ย. 55 - ที่สภาหอการค้าไทยอเมริกัน เครือข่ายกู้ดอิเล็กทรอนิกส์ประเทศไทยและคนงานที่ถูกเลิกจ้างจากบริษัทโฮยา จ.ลำพูน ได้ยื่นจดหมายให้สภาหอการค้าฯ เพือให้สภาหอการค้าฯ กดดันสมาชิกที่เป็นลูกค้าของโฮยา คือ บริษัทผลิตฮาร์ดดิสก์อย่าง Seagate และ WD ให้เรียกร้องต่อโฮยา เพือให้มีการปฏิบัติต่อคนงานอย่างเป็นธรรมด้วยการรับคนงานที่ถูกเลิก จ้างกลับเข้าทำงาน โดยมีตัวแทนสภาหอการค้าฯ มารับจดหมาย

ทั้งนี้หลังจากการเจรจาที่กรรมาธิการแรงงานรัฐสภาให้มีการเจราจาเพื่อ รับคนงานเข้ากลับทำงานเมื่อวันที่ 10 เม.ย. ที่ผ่านมา นั้นปรากฎว่าไม่มีความคืบหน้า และสถานการณืยิ่งเลวร้ายขึ้นไปอีกเพราะหลังจากนั้นทางบริษัทได้มีการเลิก จ้างประธานสหภาพแรงงาน

(ประชาไท, 24-4-2555)

พนักงาน ชินเอโคราชบุกศาลากลางฯ ร้องขอความเป็นธรรม-เพิ่มสวัสดิการ

24 เม.ย. 55 - ที่สนามหน้าศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา พนักงาน บริษัท ชินเอ ไฮเทค จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่ ตั้งอยู่ในเขตอุตสาหกรรมสุรนารี เลขที่ 183 หมู่ 3 ราชสีมา-โชคชัย ต.หนองบัวศาลา อ.เมือง จ.นครราชสีมา กว่า 800 คน นำโดย นายสมพร รดจันทร์ รองประธานสหภาพแรงงานชินเอ ไฮเทค เดินทางมาชุมนุมเรียกร้องขอความเป็นธรรมจากผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา หลังคณะกรรมการสหภาพฯ ถูกบริษัทพักงานไปรวม 6 คนจากทั้งหมด 23 คน พร้อมเรียกร้องสวัสดิการจากบริษัทให้แก่พนักงานจำนวน 35 ข้อ
      
นายสมพร รดจันทร์ รองประธานสหภาพแรงงานชินเอ ไฮเทค กล่าวว่า หลังจากสหภาพฯ ได้ยืนข้อเรียกร้อง 35 ข้อ ซึ่งเป็นการเรียกร้องเกี่ยวกับสวัสดิการความปลอดภัยของพนักงาน และการเพิ่มเงินค่าตอบแทนในการทำงาน เช่น การเพิ่มค่ารถจาก 25 บาท เป็น 70 บาท, ขอรถเข็นพยาบาลประจำจุดทำงาน, ขอค่าอาหารกรณีอยู่ทำงานล่วงเวลาเกิน 2 ชั่วโมง, ขอชุดพนักงานที่มีคุณภาพ 4 ชุดต่อปี, ขอรองเท้าเซฟตี้ที่มีคุณภาพ, ขอเพิ่มเงินเดือนร้อยละ 5 ต่อปี, ขอให้บริษัทจ่ายเงินโบนัส 2 ครั้งต่อปี และให้บริษัทปรับปรุงระบบการดูแลเรื่องการเจ็บป่วยจากการทำงาน เป็นต้น
      
ข้อเรียกร้องดังกล่าว ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้กลุ่มสหภาพแรงงานชินเอไฮเทคได้ ประชุมหารือกับทางผู้บริหารบริษัทมาแล้ว 2 ครั้ง แต่ไม่สามารถตกลงหาข้อยุติกันได้ ทางสหภาพฯ จึงยื่นเรื่องให้สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครราชสีมาเป็น ตัวกลางในการเจรจา ซึ่งสำนักงานสวัสดิการฯ ได้เรียกให้บริษัทกับสหภาพฯ ไปพูดคุยกันแล้วแต่ตกลงกันไม่ได้เหมือนเดิม ทางสำนักงานสวัสดิการฯ จึงนัดเจรจาในวันนี้อีกเป็นครั้งที่ 4 ซึ่งได้ส่งตัวแทนฯ ไปเจรจาแต่ก็ไม่เป็นผล
      
นายสมพรกล่าวว่า เฉพาะในเดือนเมษายนผู้บริหารบริษัทได้สั่งพักงานแกนนำสหภาพแรงงานชินเอ ไฮเทค ไปแล้วจำนวน 6 คน แบ่งเป็นทำงานอยู่โรงงานภายในเขตอุตสาหกรรมสุรนารี ต.หนองบัวศาลา 3 คน และโรงงานในนวนคร อ.สูงเนินอีก 3 คน โดยให้เหตุผลว่าแกนนำสหภาพฯ ทั้งหมดสร้างความแตกแยกในองค์กร และล่าสุดเมื่อเช้านี้ (24 เม.ย.) มีพนักงานฝ่ายบุคคลเข้ามาบอกพนักงานที่ทำงานกะเช้ากว่า 500 คนที่เป็นสมาชิกสหภาพฯ ให้หยุดทำงานและออกจากโรงงานไป
      
พนักงานทั้งหมดจึงเดินทางมาร้องขอความเป็นธรรมจากผู้ว่าฯ ในวันนี้ เนื่องจากในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาทางบริษัทได้รับผู้จัดการฝ่ายบุคคลคนใหม่เข้ามาซึ่งมีประวัติ ในการล้มสหภาพฯ ของโรงงานใน จ.สมุทรปราการมาก่อนหน้านี้ และที่ผ่านมาทางสหภาพฯ พูดคุยกับผู้บริหารบริษัทมาด้วยดีตลอด ฉะนั้นเราจึงเป็นกังวลว่าบริษัทมีแผนที่จะล้มสหภาพแรงงานชินเอ ไฮเทคด้วย
      
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในระหว่างการชุมนุม สภ.เมืองนครราชสีมาได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจมาดูแลความสงบเรียบร้อยกว่า 20 นาย โดยมี พ.ต.อ.ชัยเดช ปานรักษา รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมา เดินทางมาตรวจความสงบเรียบร้อย ขณะที่ นายชวน ศิรินันท์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา มีภารกิจเดินทางไปต่างจังหวัด ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมยืนยันที่จะยื่นหนังสือต่อผู้ว่าฯ เพียงคนเดียว โดยจะชุมนุมปักหลักรอที่หน้าศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีสหภาพแรงงานการรถไฟจังหวัดนครราชสีมา และสหภาพแรงงานธนาคารกรุงเทพเข้ามาร่วมชุมนุมด้วย
      
ล่าสุดเวลา 18.00 น.วันเดียวกันนี้ กลุ่มพนักงานบริษัท ชินเอ ไฮเทค จำกัด ยังคงปักหลักชุมนุมอยู่ที่บริเวณศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา และแกนนำประกาศจะชุมนุมค้างคืนที่หน้าศาลากลางฯ เพื่อรอผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมามารับข้อเรียกร้องพร้อมดำเนินการแก้ไข ปัญหาต่อไป

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 24-4-2555)

เครือข่ายแรงงาน ชง สธ.ออกกฎห้ามดื่ม-ขายเหล้า ในโรงงาน

25 เม.ย. 55 - ที่กระทรวงสาธารณสุข นางสาวประนอม เชียงอั๋ง ผู้ประสานงานเครือข่ายโรงงานสีขาว ลด ละ เลิกเหล้า พร้อมด้วย นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ที่ปรึกษาเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร่วมกับเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ เครือข่ายองค์กรงดเหล้า และมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กว่า 30 คน เข้าพบ นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเรียกร้องให้ผลักดันร่างกฎหมายห้ามขาย หรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่ประกอบกิจการโรงงาน พ.ศ... และห้ามขาย ห้ามดื่ม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนรถ ถนน และทางสาธารณะ โดยขอให้เร่งนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แห่งชาติ และมีผลบังคับใช้ทันที
      
นางสาวประนอม กล่าวว่า จากผลสำรวจของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลและเครือข่ายโรงงานฯ ระหว่างวันที่ 16-20 ก.พ.2555 ในประเด็นผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และความคิดเห็นต่อมาตรการห้ามขาย หรือห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในโรงงานจากจำนวนกลุ่มตัวอย่าง 948 ราย แบ่งเป็น ลูกจ้าง 900 ราย และนายจ้าง 48 ราย ทั้งหมด 30 โรงงาน จากพื้นที่จังหวัดลำพูน นนทบุรี สมุทรสาคร นครปฐม พบว่า ลูกจ้าง 95.78% เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว ขณะที่ นายจ้างเห็นด้วย 100% โดยเชื่อว่า จะช่วยลดปัญหาการดื่มเหล้าของคนงานในโรงงานและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 25-4-2555)

ปัญหาคนงานบริดจสโตน อมตะนคร ยังไม่ยุติ หลังสหภาพแจ้งความบริษัทปิดงานโดยมิชอบ

25 เม.ย. 55 - สืบเนื่องจากกรณีที่ผู้บริหารชาวญี่ปุ่น ของบริษัทบริดจสโตน ไทร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตยางรถยนต์ส่งออกทั่วโลก ยี่ห้อบริดจสโตน ซึ่งตั้งอยู่ภายในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร เฟส 7 ตำบลบ้านเก่า อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี ได้สั่งปิดโรงงานแบบกะทันหัน ตั้งแต่ในช่วงเที่ยงคืนของวันที่ 29 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า พร้อมติดป้ายเปิดรับสมัครพนักงานฝ่ายผลิตใหม่ และประกาศให้เงินเดือนสูงกว่าเดิม ในราคาฝึกงาน 300 บาทต่อวัน และหากรับเข้าทำงานใหม่จะได้วันละ 335 บาท ไม่รวมสวัสดิการ ทำให้พนักงานเดิมกว่า 1,400 คน ต้องตกงาน
 
โดยสาเหตุของการเลิกจ้างนั้น มาจากการที่สหภาพแรงงานของบริษัทฯ ได้เป็นตัวแทนพนักงานทั้งหมดยื่นหนังสือเรียกร้องขอให้ผู้บริหาร ยกเลิกระบบการคิดเงินเดือนในอัตราค่าจ้างใหม่ เพราะในช่วงปีที่ผ่านมา โรงงานได้นำระบบกระบอกเงินเดือนแบบโรงงานในประเทศญี่ปุ่นมาใช้ กล่าวคือ เป็นระบบเงินเดือนที่อายุงานยิ่งนาน เงินเดือนยิ่งน้อย และแรงงานที่ทำอยู่จะได้รับค่าจ้างต่ำกว่าที่เคยได้
      
ทางสหภาพจึงเรียกร้องขอให้บริษัทฯ กลับไปใช้ระบบกระบอกเงินเดือนแบบเดิม คือให้เงินค่าจ้างตามอายุงาน และประสิทธิภาพในการทำงาน
      
เมื่อทางสหภาพฯ ได้ทำหนังสือเรียกร้อง และขอให้ไปเจรจากันที่สำนักงานแรงงานจังหวัดชลบุรี ก็ได้มีการเจรจากันถึง 4 ครั้ง กระทั่งในช่วงเที่ยงคืนของวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา ผู้บริหารได้สั่งปิดประตูโรงงาน พร้อมติดป้ายเปิดรับสมัครพนักงานใหม่ ทำให้บรรดาพนักงานต้องไปรวมกันที่หน้าโรงงาน แต่โรงงานกลับส่ง SMS ชักชวนพนักงานให้กลับไปทำงานตามเดิม จนทำให้มีพนักงานบางส่วนยินยอมกลับเข้าทำงาน
 
ทั้งนี้คนงานได้ทำการประท้วงหน้าโรงงาน รวมถึงได้ยื่นหนังสือเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี และทางสหภาพฯ ยังได้ได้เดินทางไปแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรพานทอง เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าของโรงงานในข้อหา ปิดโรงงานโดยไม่ชอบโดยไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้า ทั้งยังลอยแพพนักงาน
 
ล่าสุดในวันที่ 23 เม.ย.  พนักงานที่ได้เดินทางมาหลายร้อยคนเพื่อเป็นกำลังให้ตัวแทนเข้าแจ้งความ ดำเนินคดีกับผู้บริหารโรงงานนั้น ได้ร่วมกันกดดันให้เจ้าพนักงานออกหมายเรียกกรรมการผู้จัดการโรงงาน มารับข้อกล่าวหาที่ปิดงานโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
 
(ประชาไท, 25-4-2555)

นัดฟังคำพิพากษาคนงานถูกฟ้อง พ.ร.บ.คอมฯ 25 พ.ค.นี้

เมื่อวันที่ 24-25 เม.ย. ที่ผ่านมา ที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ มีการสืบพยานโจทก์และจำเลย คดีที่อัยการเป็นโจทก์ฟ้อง นายสงคราม ฉิมเฉิด พนักงานจัดส่งแก๊ส สาขาสมุทรสาคร บริษัท ไทยอินดัสเตรียลแก๊ส จำกัด (มหาชน) (ทีไอจี) ซึ่งเป็นอนุกรรมการสหภาพฯ ในข้อหานำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการ ที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ตามมาตรา 14 (1) ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550

โดยคดีดังกล่าว เป็นคดีที่นางปาริชาติ พลพละ ผู้จัดการสาขาของบริษัทไทยอินดัสเตรียลแก๊ส จำกัด (มหาชน) (ทีไอจี) ฟ้องนายสงคราม ในข้อหาหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326, 328 และ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 11) พ.ศ.2535 มาตรา 3,4 รวมถึงข้อหานำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดย ประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 เนื่องจากมีการส่งอีเมลหนังสือร้องเรียน ซึ่งมีเนื้อหาหมิ่นประมาทไปยังองค์กรต่างๆ ซึ่งที่สุด หลังการเจรจาไกล่เกลี่ย นายจ้างได้ยอมความโดยถอนฟ้องไป แต่ยังคงเหลือข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เพราะเป็นอาญาแผ่นดิน ไม่อาจยอมความได้ ทำให้ต้องต่อสู้คดีต่อไป

โดยในการสืบพยาน ฝ่ายโจทก์นำสืบพยาน 6 ปากได้แก่ นางปาริชาต พนักงานบริษัท 3 คน ผู้แปลเอกสาร 1 คน และพนักงานสอบสวน 1 คน ขณะที่ฝ่ายจำเลย นำสืบเพียงจำเลย ทั้งนี้ ศาลได้นัดฟังคำพิพากษาคดีในวันที่ 25 พ.ค.55 เวลา 10.00น.

ธีรพันธุ์ พันธุ์คีรี ทนายจำเลย กล่าวว่า ในประเด็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยจะก่อความเสียหายต่อผู้ อื่นหรือประชาชน ได้นำสืบโดยชี้ว่า ไม่น่าจะผิดฐานนำเข้าข้อมูลเท็จ เพราะฝ่ายโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าข้อมูลในอีเมลดังกล่าวเป็นเท็จ โดยแม้จะมีพยานคนกลางในที่เกิดเหตุ 1 คนแต่ฝ่ายโจทก์กลับไม่มีการนำสืบ ส่วนการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ได้นำสืบว่า เมื่อสงครามยื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาแล้วก็ส่งแฟกซ์ให้กรรมการ สหภาพแรงงาน เพื่อขอความช่วยเหลือ ซึ่งสงครามไม่รู้ว่าจะมีการเผยแพร่ไหม เพราะเขาเองไม่ได้ใช้อีเมล ขณะที่พยานหลักฐานที่ฝ่ายโจทก์นำสืบ ก็ไม่มีใครยืนยันได้ชัดเจนว่าอีเมลที่ได้รับนั้นใครเป็นผู้ส่ง เพียงแค่คิดว่าเมื่อสงครามเป็นเจ้าของจดหมายก็น่าจะเป็นผู้ส่งหรือให้ใครส่ง ให้

ทั้งนี้ รายงานประจำปีของเครือข่ายพลเมืองเน็ต ชื่อ "เสรีภาพและวัฒนธรรมอินเทอร์เน็ตไทย ปี พ.ศ. 2554" ซึ่งเผยแพร่ทางออนไลน์เมื่อวันที่ 6 เม.ย.55 ตั้งข้อสังเกตว่า ปัญหาของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 มีความซ้ำซ้อนกับกฎหมายหมิ่นประมาท หากแต่มีโทษจำคุกสูงกว่า และยอมความไม่ได้ เพราะถือเป็นความผิดที่เป็นอาญาแผ่นดิน โดยในปี 2554 เป็นปีแรกที่มีบันทึกว่า มีการนำ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 มาใช้ฟ้องร้องระหว่างประชาชนกับประชาชน ในทางที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย ซึ่งมี 3 กรณีด้วยกันที่เป็นที่รับรู้ของสาธารณะได้แก่ คดีของนายสงคราม ฉิมเฉิด คดีของนางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ซึ่งถูกฟ้องโดยแพทย์ว่าเผยแพร่ข้อมูลเท็จ อันได้แก่ข้อมูลคนไข้ที่เสียชีวิตและภาพความผิดพลาดในการรักษา ซึ่งนางปรียนันท์ใช้ในการรณรงค์เพื่อผลักดันร่างกฎหมาย และกรณี น.ส.มัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์แจ้งความต่อทวิตเตอร์แอคเคาท์ @NotMallikaBoon ที่ล้อเลียนทวิตเตอร์ @MallikaBoon ของเธอ ว่าเป็นข้อมูลเท็จซึ่งทำให้คนเข้าใจผิดและเสื่อมเสียชื่อเสียง

โดยเครือข่ายพลเมืองเน็ตแสดงความกังวลเป็นอย่างยิ่งว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จะถูกนำมาใช้เพื่อขัดขวางการรณรงค์เพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนในด้านต่างๆ ในอนาคต เนื่องจากประชาชนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางหลักในการสื่อสารมากขึ้น เรื่อยๆ ทั้งกิจกรรมการรณรงค์ทางการเมือง รณรงค์ด้านสิทธิต่างๆ เช่น สิทธิแรงงาน สิทธิผู้ป่วย ก็ล้วนแล้วแต่ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นสื่อ

มาตรา 14 ผู้ใดกระทําความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
(1) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบาง ส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
(2) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความ ตื่นตระหนกแก่ประชาชน
(3) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการ ก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา
(4) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามก และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้
(5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4)

(ประชาไท, 25-4-2555)

เผดิมชัยอ้างขึ้นค่าแรงพร้อมกันทั่ว ปท.ไม่ได้ เหตุน้ำท่วม นายจ้างขอเลื่อน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมสภาฯ วันนี้ (26 เม.ย.) นายนคร มาฉิม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์กระทู้ถามสดเรื่องการดำเนินการนโยบายของรัฐบาล เรื่องค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท และปริญญาตรี 1.5 หมื่นบาท ขอถามนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน ว่า การประกาศนโยบายดังกล่าวได้สร้างผลกระทบต่อภาคธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง ทันที โดยขณะนี้มีการคาดการณ์ว่าจะมีกิจการปิดตัวลงนับแสนราย เช่นเดียวกับคนตกงานจำนวนมาก เพราะผู้ประกอบการไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นได้ ดังนั้น ต้องการทราบว่ารัฐบาลมีนโยบายเยียวยาในส่วนนี้อย่างไร
      
นโยบายที่ออกมาเป็นเพียงการหวังประโยชน์ทางการเมืองระหว่างการหาเสียง เท่านั้น เพราะไม่สามารถทำได้ทันทีภายใน 1 ปีตามที่ประกาศไว้ หลังจากมีเพียง 7 จังหวัดนำร่องที่ได้รับค่าแรงงานอัตราใหม่ ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 70 จังหวัดต้องชะลอไปก่อน จึงอยากสอบถามว่ารัฐบาลจะแสดงความรับผิดชอบกับการไม่สามารถทำตามที่ประกาศ ต่อสาธารณชนไว้หรือไม่
      
นายเผดิมชัยกล่าวว่า การขึ้นค่าแรง 300 บาทไม่ได้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับรัฐบาลโดยตรง เพราะต้องมาจากการพิจารณาร่วมกันของไตรภาคี ประกอบด้วยคณะกรรมการ 3 ฝ่าย คือ นายจ้าง รัฐบาล และลูกจ้าง ซึ่งไตรภาคีได้มีฉันทานุมัติร่วมกัน ทั้งนี้ ยอมรับว่าการขึ้นค่าแรงงานย่อมเกิดผลกระทบแต่รัฐบาลได้เตรียมมาตรการเอาไว้ คือ การช่วยเหลือผู้ประกอบการผ่านการลดอัตราการเก็บภาษีจาก 30% เหลือ 23% แม้ว่ารัฐบาลจะประกาศขึ้นค่าแรงวันที่ 1 ม.ค. 2555 พร้อมกันทั้งประเทศไม่ได้ แต่รัฐบาลก็มีเหตุผลเพราะไม่รู้ว่าจะมีมหาอุทกภัยเกิดขึ้น ขณะนั้นนายจ้างขอความเห็นใจว่าขอให้เลื่อนออกไปเป็นวันที่ 1 เม.ย. 2556 แทน แต่ยืนยันในวันที่ 1 ม.ค.2556 จะขึ้นค่าแรงทั้งประเทศแน่นอน ดังนั้น ยืนยันได้ว่านโยบายนี้รัฐบาลได้เริ่มภายใน 1 ปีตามเจตนารมณ์

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 26-4-2555)

จี้รัฐสภาเร่งพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับคนงาน

26 เม.ย.55 - เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงสื่อมวลชน เพื่อทวงถามความคืบหน้าในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ....ฉบับที่นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งของนักการเมือง จำนวน 14,264 คน เป็นผู้เสนอ โดยระบุว่า แม้จะมีขยายการประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ พ.ศ. 2555 ออกไปอย่างไม่มีกำหนด โดยให้เหตุผลว่ายังมีร่าง พ.ร.บ.ที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะร่างฯ ที่เสนอผ่านการเข้าชื่อโดยภาคประชาชน แต่กลับปรากฏว่า ยังไม่มีการหยิบยกกฎหมายภาคประชาชนขึ้นมาพิจารณาตามที่อ้างแต่อย่างใด ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้รัฐสภานำร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ขึ้นมาพิจารณาโดยทันทีในสมัยวาระการประชุมนี้ตามที่ได้อ้างถึง เพื่อแสดงความจริงใจและแสดงความรับผิดชอบในฐานะตัวแทนจากประชาชนที่ได้รับ การคัดเลือกเข้าไปทำหน้าที่ในกระบวนการทางนิติบัญญัติ

เนื้อหาจดหมายเปิดผนึกมีดังนี้

ขอเรียกร้องความจริงใจรัฐสภาจากการพิจารณากฎหมายของภาคประชาชน
อย่าเป็นเพียง "ข้ออ้างเพื่อผลประโยชน์"

สืบเนื่องจากการขยายเวลาประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ พ.ศ. 2555 ออกไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2555 เป็นต้นมาจนกว่าจะมีพระราชกฤษฎีกาปิดประชุม และอ้างถึงจดหมายลงวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2555 ของเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน เรื่องขอให้ประธานรัฐสภาเร่งพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ.... ฉบับที่นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 14,264 คน เป็นผู้เสนอ ให้ทันการประชุมสมัยสามัญนิติบัญญัติที่ขยายออกไปโดยยังไม่มีกำหนดปิด
 
นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย  รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย  ในฐานะประธานคณะทำงานผลักดันร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับ 14,624 รายชื่อของผู้ใช้แรงงาน  และเครือข่ายแรงงานได้เดินรณรงค์ไปที่รัฐสภาเพื่อยื่นหนังสือให้มีการหยิบยก ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมของฝ่ายแรงงานเข้าสู่การพิจารณามาแล้ว 3 ครั้ง  เมื่อวันที่ 8, 22 มีนาคม และวันที่ 5 เมษายน นั้น  ถือว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีส่วนในการรับรู้ความต้องการของฝ่ายแรงงานแล้ว  เพราะผู้มารับเรื่องมีทั้งรองประธานสภาฯ  ประธานวิปรัฐบาล  ประธานวิปฝ่ายค้าน  กรรมาธิการการแรงงาน  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน  รวมทั้งหัวหน้าและ ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน   และสื่อมวลชนก็ได้มีการนำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่วันดังกล่าวจวบจนปัจจุบันกลับพบว่า ทางสภาผู้แทนราษฎรยังไม่มีความชัดเจนว่าจะพิจารณาร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวนี้ ในการประชุมครั้งใด แม้ว่าจะมีการบรรจุวาระการประชุมทุกครั้ง และทางรัฐสภาได้ขยายเวลาเปิดสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติออกไปอย่างไม่มี กำหนด โดยให้เหตุผลว่ายังมีร่างพระราชบัญญัติที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาอยู่เป็น จำนวนมาก โดยเฉพาะร่างพระราชบัญญัติที่เสนอผ่านการเข้าชื่อโดยภาคประชาชน

เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน อันประกอบด้วย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่ง ประเทศไทย เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายเกษตรกรพันธสัญญา สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย มูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน มูลนิธิร่วมมิตรไทย-พม่า มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย มีความเห็นร่วมกันว่า

(1) จากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่บัญญัติรับรองและให้ความสำคัญต่อการเสนอร่างพระราชบัญญัติที่เสนอต่อ รัฐสภาโดยประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ถือว่าเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยทางตรงของประชาชน ซึ่งมีความสำคัญไม่น้อยกว่าการใช้สิทธิของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่เป็นการใช้อำนาจอธิปไตยทางอ้อม ดังนั้นจึงเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของประธานรัฐสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทุกคนที่จะต้องแสดงความรับผิดชอบและปฏิบัติให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐ ธรรมนูญดังกล่าว เพราะเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชน อีกทั้งยังถือว่าเป็นการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของ รัฐธรรมนูญ

(2) การที่รัฐสภาอ้างเรื่องการมีกฎหมายในส่วนของภาคประชาชนที่ต้องพิจารณาจำนวน มาก ทำให้มีการขยายการเปิดประชุมรัฐสภาออกไปไม่มีกำหนด แต่อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2555 เป็นต้นมา กลับพบว่าสภาผู้แทนราษฎรไม่มีการหยิบยกกฎหมายภาคประชาชนขึ้นมาพิจารณาตามที่ ได้อ้างแต่อย่างใด นี้เป็นภาพสะท้อนที่สำคัญว่า นักการเมืองได้ใช้ข้ออ้างดังกล่าวเพื่อผลประโยชน์และเป้าหมายทางการเมืองของ ตนมากกว่าผลประโยชน์ของประชาชน

ดังนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทางรัฐสภาจะต้องแสดงความจริงใจและแสดง ความรับผิดชอบในฐานะตัวแทนจากประชาชนที่ได้รับการคัดเลือกเข้าไปทำหน้าที่ใน กระบวนการทางนิติบัญญัติ จึงขอเรียกร้องให้นำร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ....ฉบับที่นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 14,264 คน เป็นผู้เสนอ ขึ้นมาพิจารณาโดยทันทีในสมัยวาระการประชุมนี้ตามที่ได้อ้างถึง

(ประชาไท, 26-4-2555)

ผู้ใช้แรงงานร้อยละ 39.3 ชี้ค่าจ้าง 300 บาทไม่ช่วยให้ความเป็นอยู่ดีขึ้น

ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) สำรวจความคิดเห็นเรื่องชีวิตของแรงงานหลังได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทโดยเก็บข้อมูลจากผู้ใช้แรงงานที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 1,180 คน พบว่าผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ร้อยละ 79.1 ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันแล้ว ขณะที่ร้อยละ 20.9 ยังไม่ได้รับ โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่ากิจการยังไม่อนุมัติปรับขึ้นค่าจ้างให้ เมื่อสอบถามผู้ที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทว่าชีวิตการทำงานมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้ ผู้ใช้แรงงานร้อยละ 82.4 ระบุว่ามีชีวิตการทำงานเหมือนเดิม ขณะที่ร้อยละ 15.4 ระบุว่าต้องทำงานหนักขึ้น มีเพียงร้อยละ 1.3 ที่ระบุว่าทำงานน้อยลง

ผู้ใช้แรงงานเกือบครึ่งหรือร้อยละ 49.9 ไม่เชื่อว่าการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันจะทำให้กิจการที่ทำงานอยู่ต้องประสบกับภาวะขาดทุนหรือเลิกกิจการ ตรงกันข้ามร้อยละ 23.0 เชื่อว่าจะทำให้กิจการมีกำไรจะเพิ่มขึ้น และร้อยละ 26.9 เห็นว่าจะกระทบทำให้กำไรลดลงเท่านั้น มีเพียงร้อยละ 1.4 เห็นว่าขาดทุน และร้อยละ 0.8 เห็นว่าจะเลิกกิจการ

สำหรับความเห็นต่อค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันที่รัฐบาลปรับขึ้น ผู้ใช้แรงงานร้อยละ 39.3 เห็นว่าไม่ช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ในจำนวนนี้ร้อยละ 36.5 เห็นว่าชีวิตความเป็นอยู่จะยังเหมือนเดิม และร้อยละ 2.8 เห็นว่าจะแย่ลง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าราคาสินค้าที่เพิ่มทำให้แรงงานไม่ได้ประโยชน์จากค่าจ้าง ขั้นต่ำ 300 บาทอย่างที่ควรจะเป็น ส่วนร้อยละ 60.7 เห็นว่าชีวิตความเป็นอยู่จะดีขึ้น และเมื่อถามต่อว่าค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้หรือไม่ ร้อยละ 54.9 เห็นว่าจะไม่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ขณะที่ร้อยละ 45.1 เห็นว่าจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ

เมื่อถามว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันทั่วประเทศ ร้อยละ 93.2 ระบุเห็นด้วย ขณะที่ร้อยละ 6.8 ไม่เห็นด้วย นอกจากนี้ พบว่าร้อยละ 51.4 ไม่กังวลว่าแรงงานต่างด้าวจะเข้ามาแย่งงานคนไทย ขณะที่ร้อยละ 31.1 กังวลมากถึงมากที่สุด และร้อยละ 17.5 กังวลน้อยถึงน้อยที่สุด ส่วนเรื่องที่ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาดูแลปรับปรุงแก้ไขมากที่สุดอันดับแรก คือ สวัสดิการร้อยละ 32.3 รองลงมาดูแลให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานร้อยละ 29.7 และดูแลคุณภาพชีวิตร้อยละ 14.9.

(สำนักข่าวไทย, 27-4-2555)

แรงงานไทย-ต่างด้าวแห่ย้ายฐาน ไหลเข้า 7 จังหวัดนำร่องค่าแรง 300 บาท

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จากที่ ส.อ.ท.ได้ติดตามผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรง พบว่ามีสัญญาณชัดเจนว่าลูกจ้างทั้งคนไทยและคนต่างด้าวเริ่มเคลื่อนย้ายเข้า มาทำงานใน 7 จังหวัดที่ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วัน ตั้งแต่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา เบื้องต้นที่ ส.อ.ท.ได้รับรายงาน อาทิ ชัยภูมิ ขอนแก่น สุราษฎร์ธานี ชุมพร สุพรรณบุรี สมุทรสงคราม พระนครศรีอยุธยา ฯลฯ สาเหตุมาจากลูกจ้างเองต้องการค่าจ้างสูงขึ้น ขณะที่พื้นที่ภาคกลาง 6 จังหวัด รวมทั้งจังหวัดภูเก็ตยังขาดแคลนแรงงานสูง

ขณะนี้ ส.อ.ท.ได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาแบบเจาะลึก และเป็นหนึ่งในหลายประเด็นที่จะเสนอให้นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธาน ส.อ.ท.พิจารณา

นายสมมาต ขุนเศษฐ เลขาธิการ ส.อ.ท.กล่าวเพิ่มเติมว่า ส.อ.ท.สำรวจผลกระทบหลังปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท โดยสุ่มสำรวจภาคเหนือพบผู้ประกอบการ 119 รายได้รับผลกระทบรุนแรง 58% ผลกระทบปานกลาง 36% และผลกระทบน้อย 6%

แหล่งข่าวจากสำนักงานแรงงาน จังหวัดสุพรรณบุรี เปิดเผยว่า ยังไม่พบรายงานตัวเลขที่เป็นทางการปัญหาแรงงานย้ายถิ่น หลังเดือน เม.ย.ไปแล้วน่าจะได้รับข้อมูลที่ชัดเจนขึ้น เพราะทางกระทรวงแรงงานสั่งการให้ตั้งวอร์รูมสังเกตการณ์ทุกปัญหาทึ่เป็นผล กระทบจากการปรับค่าจ้างอยู่แล้ว

นายศักดิ์สกล จินดาสวัสดิ์ แรงงานจังหวัดสมุทรสงครามกล่าวว่า ได้เตรียมมาตรการป้องกันการเคลื่อนย้ายแรงงานไว้บางส่วน ซึ่งการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอีก 40% ในจ.สมุทรสงคราม ทำให้ค่าแรงเดิม 172 บาท/วัน เพิ่มเป็น 240 บาท/วัน ก็ทำให้ลูกจ้างบางส่วนยอมรับได้

นาย สุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล เลขาธิการสมาคมส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เปิดเผยว่า การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมาก เพราะต้นทุนสูงขึ้นแต่ไม่สามารถขึ้นราคาสินค้าได้ การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในช่วงนี้ไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม ถ้าแจ้งล่วงหน้าให้ผู้ประกอบการได้เตรียมความพร้อมผลกระทบอาจน้อยกว่านี้ นอกจากนี้การขึ้นค่าแรงฉับพลันทำให้ผู้ประกอบการในหลายจังหวัด อย่างสุพรรณบุรีขาดแคลนแรงงานหนัก เนื่องจากแรงงานบางส่วนย้ายถิ่นฐานไปทำงานใน 7 จังหวัดที่ปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท สิ่งที่คาดหวังคือแรงงานจะต้องมีคุณภาพฝีมือมากกว่านี้ และการขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทในวันที่ 1 ม.ค. 2556 ใน 70 จังหวัดที่เหลือน่าจะเลื่อนออกไป

(ประชาชาติธุรกิจ, 27-4-2555)

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชุมนุม "Bersih 3.0" หนุนเลือกตั้งสะอาด หน้าสถานทูตมาเลเซีย

$
0
0

ชาวมาเลเซียในประเทศไทยชุมนุมหนุนปฏิรูปเลือกตั้ง ไปพร้อมกับการชุมนุมใหญ่ทั่วมาเลเซีย ขณะที่การประท้วงใหญ่วานนี้ที่กัวลาลัมเปอร์ ตำรวจสลายการชุมนุมซ้ำรอบ 3 จับผู้ชุมนุมกว่า 511 คน รวมถึง "ฉัว เทียน ชาง" ส.ส. พรรคฝ่ายค้านที่เคยประท้วงหน้าสถานทูตไทยเรียกร้องให้ปล่อยตัว "สมยศ พฤกษาเกษมสุข" ด้วย

ชาวมาเลเซียในประเทศไทยจัดชุมนุม "Bersih 3.0 Bangkok"
เมื่อ 28 เม.ย. หน้าสถานทูตมาเลเซีย ประจำประเทศไทย ถ.สาทร

คลิปการชุมนุม Bersih 3.0 Bangkok

เมื่อวานนี้ (28 เม.ย.) ชาวมาเลเซียในประเทศไทย จัดการชุมนุม "Bersih 3.0 Bangkok" (เบอเซะ ทรี-พอย-โอ บางกอก) หน้าสถานทูตมาเลเซียประจำประเทศไทย ถ.สาทร เรียกร้องให้ทางการมาเลเซียปฏิรูประเบียบการเลือกตั้ง ก่อนที่จะจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 13 ภายในปี 2556 นี้ ทั้งนี้ผู้ประสานงานชาวมาเลเซียสุภัตรา จายาราช (Subatra Jayaraj) กล่าวว่าการจัดกิจกรรมในวันนี้เพื่อเป็นการสนับสนุนการชุมนุม "Bersih 3.0" ซึ่งจัดใกล้กับจัตุรัสเมอร์เดก้า กัวลาลัมเปอร์

โดยการชุมนุมในกรุงเทพฯ เมื่อวันเสาร์นี้ ชาวมาเลเซียกว่าร้อยคน ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา และชาวมาเลเซียที่ทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ ได้รวมตัวกันที่ประตูทางออกสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินลุมพินี ก่อนเดินไปตาม ถ.สาทร มุ่งไปยังสถานทูตมาเลเซีย โดยที่หน้าสถานทูต ผู้ชุมนุมได้ตะโกนคำขวัญ "Bersih" และสลับกันกล่าวปราศรัยโดยไม่มีการใช้เครื่องขยายเสียง และมีการ "นั่งประท้วง" หรือ "Dudok Bantah" ในภาษามลายู เช่นเดียวกับที่จัดในมาเลเซียด้วย นอกจากนี้มีนักสหภาพแรงงานและกิจกรรมชาวไทยเดินทางมาให้กำลังใจและสนับสนุนผู้ชุมนุมชาวมาเลเซียด้วย โดยกิจกรรมสิ้นสุดด้วยการยื่นหนังสือถึงสถานทูตมาเลเซียในเวลาประมาณ 15.00 น.

ทั้งนี้พันธมิตรเพื่อการเลือกตั้งเสรีและยุติธรรม หรือกลุ่มเบอเซะ (Bersih แปลว่า สะอาด ในภาษามลายู) ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2549 เรียกร้องให้มีการปฏิรูปกระบวนการเลือกตั้งในมาเลเซีย เช่น ให้ชำระระเบียบการเลือกตั้ง ให้ปฏิรูประบบลงคะแนนทางไปรษณีย์ เนื่องจากเกรงว่าจะไม่โปร่งใส เรียกร้องให้ใช้หมึกที่ลบไม่ออกในการลงคะแนน ให้มีการหาเสียงเลือกตั้ง 21 วันเป็นอย่างน้อย และอนุญาตให้ทุกพรรคการเมืองเข้าถึงสื่อสารมวลชน และยุติการเมืองสกปรก

โดยการชุมนุม "Bersih" ครั้งแรกเมื่อ 10 พ.ย. 2550 และการชุมนุม "Bersih 2.0" เมื่อ 9 ก.ค. ปี 2554 จบลงด้วยการสลายการชุมนุมโดยตำรวจมาเลเซีย และมีผู้ถูกจับกุมนับพันคน ขณะที่ในการชุมนุม "Bersih 3.0" ที่จัดขึ้นเมื่อ 28 เม.ย. ที่ผ่านมา ผู้จัดการชุมนุมวางแผนจัดการประท้วงในหลายเมืองในของมาเลเซียได้แก่ กัวลาลัมเปอร์, อิโปห์, ยะโฮร์ บารู, มะละกา, ปีนัง, โกตากินาบาลู, เซเรมบัน, กูชิง, มีรี, ซีบู อย่างไรก็ตาม ศาลมาเลเซียมีคำสั่งห้ามผู้ชุมนุมกลุ่มเบอเซะ ใช้พื้นที่จัตุรัสเมอร์เดก้า หรือจัตุรัสเอกราช เพื่อชุมนุม ขณะที่นายอาหมัด ฟูอัด อิสมาอิล นายกเทศมนตรีกัวลาลัมเปอร์แถลงเมื่อค่ำวันที่ 26 เม.ย. ว่า จะปิดจัตุรัสเมอร์เดกาและถนนทุกสายที่มุ่งไปยังจัตุรัสนี้ตั้งแต่เวลา 06.00 น.วันศุกร์จนถึงเวลา 06.00 น.วันอาทิตย์

โดยการชุมนุมที่กัวลาลัมเปอร์ในวันเสาร์ที่ 28 เม.บ. มีผู้ร่วมชุมนุมกว่าสองหมื่นห้าพันคน ขณะที่ผู้จัดการชุมนุม จบลงด้วยการสลายการชุมนุมด้วยแก๊สและกระบองโดยตำรวจปราบจลาจล มีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก และตำรวจมาเลเซียระบุว่ามีการจับกุมผู้ชุมนุมทั้งสิ้น 512 คน

ทั้งนี้ มีรายงานด้วยว่า ในจำนวนผู้ถูกจับกุมนี้ ยังรวมถึง นายฉัว เทียน ชาง (Chua Tian Chang) ส.ส. และรองประธานพรรคยุติธรรมแห่งชาติ (Parti Keadilan Rakyat - PKR) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านใหญ่สำคัญในมาเลเซีย ซึ่งเมื่อเดือนพฤษภาคมปีก่อน นายฉัว เทียน ชาง ได้ไปประท้วงหน้าสถานทูตไทยในกรุงกัวลาลัมเปอร์ เรียกร้องให้ทางการไทยปล่อยตัวนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักกิจกรรมด้านแรงงาน และบรรณาธิการ Voice of Taksin ด้วย โดยนายฉัว เทียน ชาง ถูกตำรวจจับกุมตั้งแต่บ่ายวันที่ 28 เม.ย. และได้รับการปล่อยตัวเมื่อเวลา 5.00 น. ของวันนี้ (29 เม.ย.)

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

May Day 2012: ชะตากรรมของคนงานในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

$
0
0
 
ปัจจุบันความก้าวหน้าพัฒนาทางเทคโนโลยีและการกระจายสินค้าให้คนทุกภาคส่วนในสังคมทุนนิยม ทำให้เราแต่ละคนล้วนแล้วแต่เข้าไปเกี่ยวข้องกับสินค้าประเภทไอทีที่มีความทันสมัยเพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตบนโลกที่ข้อมูลข่าวสารกลายเป็นปัจจัยดำรงชีพอันใหม่ของมนุษย์ แต่ใครจะรู้บ้างว่าโทรศัพท์มือถือที่คุณใช้ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ไอทีคู่ใจของแต่ละคนนั้น เบื้องหลังล้วนแล้วแต่ถูกผลิตออกมาจากสานพานการขูดรีดแรงงานทาสรุ่นใหม่เกือบทั้งสิ้น
 
ห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เริ่มมีความซับซ้อนมากขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ด้วยการผลักฐานการผลิตสู่ประเทศในแถบเอเชียมากขึ้น หลายปีที่ผ่านมานี้ศูนย์กลางการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ถูกย้ายฐานสู่ประเทศที่มีค่าแรงราคาถูกรองรับกับการขยายตัวของอุตสาหกรรม โดยระหว่างปี ค.ศ. 1995 - 2006 ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีส่วนแบ่งในการเป็นฐานการผลิตสินค้าสูงขึ้นจาก 20% เป็น 42% เมื่อเทียบกับผลผลิตจากยุโรปตะวันตก, อเมริกา และญี่ปุ่น ที่ผลผลิตลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประเทศไทยก็เป็นสำคัญในการเป็นฐานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
 
อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทยนั้น นับว่ามีส่วนสำคัญในการผลักดันการขยายตัวของเศรษฐกิจค่อนข้างมาก  โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกเฉลี่ยมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 16.0 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าไทย โดยเฉพาะในกลุ่มฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ที่ขณะนี้ไทยคือผู้ผลิตอันดับ 1 ของโลก
 
และจากรายงานของกระทรวงพาณิชย์ พบว่า มูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในช่วง 6 เดือนแรก ของปี 2554 มีมูลค่าประมาณ 16,500.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
 
0 0 0
 
 
เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 55 ที่ผ่านมาเครือข่ายกู๊ดอิเล็กทรอนิกส์ ประเทศไทย ได้จัดเวทีนำเสนอผลการศึกษา “ปัญหาและอุปสรรคในการรวมกลุ่มของคนงานในอุตสาหกรรมอิเล็คทรอนิคส์” ณ ห้องประชุมทับทิม โรงแรมรัตนโกสินทร์ กรุงเทพฯ นำเสนองานวิจัยของคนงาน ที่พูดถึงปัญหาของคนงานในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์
 
ในหัวข้อการนำเสนอผลการเก็บข้อมูล “ปัญหาและอุปสรรคในการรวมกลุ่มของคนงานในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์” โดย มณีรัตน์ อาจวิชัย ตัวแทนนักสหภาพจากกลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก
 
มณีรัตน์ อาจวิชัยกล่าวว่าจากการเก็บข้อมูลของคนงานในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ได้พบปัญหาการละเมิดสิทธิของคนงานในที่ทำงานโดยนายจ้าง ได้แก่ ปัญหาในการใช้สิทธิตามกฎหมายในเรื่องสวัสดิการต่างๆ เช่น ปัญหาที่เกิดขึ้นในการใช้สิทธิลาประเภทต่าง ๆ ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นการลากิจ, ลาป่วย, ลาพักร้อน นายจ้างมักจะมีการเลือกปฏิบัติ เช่น คนงานสัญญาจ้างและคนงานจ้างเหมาค่าแรงที่แตกต่างกัน เป็นต้น
 
ปัญหาการบังคับให้คนงานทำงานล่วงเวลา ทำงานในวันหยุด โดยมีการบังคับให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา หรือทำงานในวันหยุดเป็นประจำ บีบบังคับทางเศรษฐกิจโดยบอกว่าบริษัทขอความร่วมมือจากลูกจ้าง หากไม่ยอมทำงานล่วงเวลาหรือทำงานในวันหยุด ก็จะบอกว่าลูกจ้างไม่ให้ความร่วมมือกับบริษัท และลงโทษโดยไม่ให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาหรือทำงานในวันหยุดอีกเป็นระยะเวลาหนึ่ง เป็นต้น
 
ปัญหาการละเมิดสิทธิที่เกิดกับคนงานหญิงที่ตั้งครรภ์ พบว่ายังมีการละเมิดสิทธิคนงานหญิงที่ตั้งครรภ์โดยไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ได้แก่ ไม่มีการจัดสถานที่ทำงานให้กับพนักงานที่ตั้งครรภ์ให้เหมาะสม และให้พนักงานหญิงที่ที่ตั้งครรภ์ทำงานในกะกลางคืนและทำงานล่วงเวลาซึ่งในทางกฎหมายแล้วการที่จะให้คนงานหญิงซึ่งตั้งครรภ์ทำงานในที่ไม่เหมาะสม เช่นทำงานในพื้นที่เสี่ยง หรือที่มีสารเคมี หรือให้ทำงานกะกลางคืน หรือทำงานล่วงเวลา จะไม่สามารถทำได้ แต่ก็ยังมีบางบริษัทที่ปฏิบัติเช่นนั้นอยู่
 
ปัญหารูปแบบการจ้างงานที่หลากหลายเพื่อให้มีความยืดหยุ่น มีการจ้างงานระยะสั้น เหมาค่าแรง รวมถึงการใช้นักศึกษาฝึกงานทำงานในโรงงาน
 
ปัญหาเวลาในการทำงาน ระยะเวลาในการทำงานที่มากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน ที่คนงานถูกบีบบังคับจากเรื่องเศรษฐกิจ ทำให้ต้องทำโอที และการทำงานในวันหยุด
 
ปัญหาการใช้มาตรา 75 ของนายจ้างโดยเมื่อคนงานมีการรวมกลุ่ม นายจ้างจะใช้วิธี ใช้มาตรา 75 หยุดงานบางส่วน เพื่อบีบให้ลูกจ้างยอมหรือลาออก เพื่อเป็นการลดทอนความเข้มแข็งของกลุ่มคนงานหรือสหภาพแรงงาน
 
ปัญหาการเลิกจ้างแกนนำในการก่อตั้งสหภาพแรงงาน ที่นายจ้างใช้ทำลายสหภาพแรงงาน โดยมักจะเลือกจ้างแกนนำก่อน บังคับให้คนงานไปสู้ในด้านกฎหมายที่ใช้ระยะเวลายาวนาน ซึ่งคนงานเสียเปรียบด้านสภาพเศรษฐกิจ
 
ปัญหาคณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบการไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของลูกจ้าง มักจะมาจากหัวหน้างานเป็นส่วนมาก และมีจำนวนไม่น้อยที่ลูกจ้างไม่เคยได้เลือกตั้งตามแบบที่กฎหมายกำหนด บางบริษัทคนงานไม่รู้เลยว่ามีคณะกรรมการสวัสดิการในโรงงาน
 
ในหัวข้อ ‘การร่วมวิเคราะห์ผลการเก็บข้อมูล’ ซึ่งมีวิทยากรคือ เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์ลำปาง, ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระ และเจษฎา โชติกิจภิวาทย์ นักวิชาการอิสระด้านแรงงาน
 
เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจรได้กล่าวถึงระบบการจ้างงานในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่ถือว่าเป็นปัญหาที่ไม่ควรมองข้าม นั่นก็คือระบบการจ้างงานแบบ 2 ชนชั้น การใช้คนงานระยะสั้น คนงานเหมาค่าแรง ซึ่งจะทำให้การรวมตัวกันเพื่อเป็นสหภาพแรงงานทำได้ยากขึ้น ส่งผลให้คนงานไม่มีอำนาจต่อรองกับนายจ้าง
 
ในประเด็นนี้เกรียงศักดิ์ชี้ว่า ส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาก็คือตัวสหภาพแรงงานเองที่ต้องมีการรวบรวมเก็บข้อมูลว่านายจ้างกำลังทำอะไร ถ่ายโอนงานไปที่ไหน และต้องทำการยื่นข้อเรียกร้องในการจำกัดสัดส่วนคนงานระยะสั้นและเหมาค่าแรงกับบริษัท
 
ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ให้มุมมองว่าเมื่อเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมสิ่งทอที่เคยรุ่งเรืองในประเทศไทย แต่ปัจจุบันอยู่ในช่วงขาลงนั้น และอำนาจต่อรองกับนายจ้างแทบจะไม่มีเลย คนงานในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์จะต้องดูไว้เป็นบทเรียนในการกำหนดยุทธศาสตร์ เพราะอุตสาหกรรมใดที่กำลังเติบโตคนงานย่อมมีอำนาจการต่อรองสูง ทั้งนี้ศิโรตม์มองว่าหากคนงานในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ค้นพบยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมแล้วก็จะสามารถต่อรองกับนายจ้างได้ เพราะในสถานการณ์ปัจจุบันอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไม่ได้อยู่ในช่วงตกต่ำเท่ากับอุตสาหกรรมสิ่งทอ
 
ด้านเจษฎา โชติกิจภิวาทย์ กล่าวว่าการรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงาน การเข้มข้นในการทำกิจกรรมของสหภาพแรงงานในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ มักจะมีความเข้มข้นในประเด็นเฉพาะหน้า เช่น ทำเฉพาะในช่วงการยื่นข้อเรียกร้อง ซึ่งเป็นแค่แผนระยะสั้น ทั้งนี้สหภาพแรงงานจะต้องไม่มองแค่เรื่องเฉพาะหน้า จะต้องมีเป้าหมายในระยะยาว มีการทำกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอ ถึงจะสร้างความเข้มแข็งในการต่อรองได้
 
 
วิเคราะห์ผลการเก็บข้อมูลวิจัย
“ปัญหาและอุปสรรคในการรวมกลุ่มของคนงานในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์”
 
สภาพปัญหาการละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้นในการทำงาน
 
จากการเก็บข้อมูลจากทั้ง 3 พื้นที่ พบว่า ในปัจจุบันยังมีปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงาน หรือการที่บริษัทหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานกำหนดไว้ ซึ่งจะนำเสนอเป็นกรณีๆ ไป ดังนี้
 
1. ปัญหาที่เกิดขึ้นในการใช้สิทธิลาประเภทต่าง ๆ ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
 
1.1 การลากิจ
 
ยังมีบริษัทที่ปฏิบัติไม่ถูกต้อง หรือมีการเลือกปฏิบัติอย่างเห็นได้ชัด โดยบางบริษัทได้กำหนดการลากิจระหว่างคนงานประจำ คนงานสัญญาจ้าง และคนงานจ้างเหมาค่าแรงที่แตกต่างกัน มีบริษัทหนึ่งที่เก็บข้อมูล มีกำหนดไว้ว่า คนงานประจำสามารถลาได้ 4 วัน โดยได้รับค่าจ้าง คนงานสัญญาจ้างลาได้ 4 วันเช่นกันแต่ไม่ได้รับค่าจ้าง ส่วนคนงานเหมาค่าแรงลากิจได้ใน 2 กรณี คือ (1) การลากิจทั่วไปต้องแจ้งล่วงหน้า 3 วัน โดยต้องมีหลักฐานเอกสารแนบมาด้วย (2) การลากิจฉุกเฉินต้องแจ้งการลาโดยต้องแจ้งการลาก่อนเข้าทำงาน 3 ชั่วโมง และมีเอกสารหลักฐานในการลา หากคนงานคนใดขาดงานติดต่อกันเกิน 2 วัน โดยไม่แจ้งให้บริษัททราบ พนักงานคนนั้นจะพ้นสภาพจากการเป็นคนงานของบริษัททันที
 
1.2 การลาป่วย
 
กรณีการลาป่วยนี้ก็มีปัญหาในทางปฏิบัติ กล่าวคือ ในกฎหมายคุ้มครองแรงงาน มาตรา 32 บัญญัติไว้ว่า “ให้ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริงการลาป่วยตั้งแต่สามวันทำงานขึ้นไปนายจ้างอาจให้ลูกจ้างแสดงใบรับรองแพทย์...” แต่บริษัทส่วนใหญ่จะมีระเบียบในกรณีที่ลูกจ้างลาป่วย ว่า “ถึงแม้ลาป่วยเพียงวันเดียวก็ต้องมีใบรับรองแพทย์ หากไม่มีใบรับรองแพทย์มาแสดง ให้ถือว่าเป็นการขาดงาน” ทั้ง ๆ ที่ ซึ่งความเป็นจริงแล้วการที่คนงานป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่นปวดหัว บางครั้งไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์ก็ได้ แค่ทานยาและพักผ่อน สัก1 ก็ดีขึ้นไปทำงานได้แล้ว แต่นี้กลายเป็นว่าคนงานต้องไปโรงพยาบาล หรือ คลีนิคเพื่อตรวจรักษาและขอใบรับรองแพทย์มาแสดงกับทางบริษัทให้ได้ ตรงนี้เป็นปัญหาหนึ่งที่คนงานได้รับจากข้อบังคับของนายจ้างที่ไม่สอดคล้องกับกฎหมาย หรือข้อเท็จจริง

 
1.3 การลาพักร้อน
 
กรณีวันหยุดพักผ่อนประจำปีนี้ ถ้าดูตามที่กฎหมายกำหนด น่าจะไม่เกิดปัญหาใด ๆ เนื่องจากเป็นสิทธิที่กำหนดไว้ชัดเจนแล้ว แต่กลายเป็นปัญหาในทางปฏิบัติ คือ การใช้สิทธิในการลาหยุดพักผ่อนประจำปี ของลูกจ้างนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ตามที่เข้าใจว่า หยุดพักผ่อนก็คือหยุดพักผ่อน ไม่ต้องมีเหตุผลอื่น เนื่องจากเวลาที่ลูกจ้างจะใช้สิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปี ลูกจ้างจะต้องหาเหตุผลมา บอกกับนายจ้างว่า จะหยุดไปทำอะไร ถ้าไม่มีเหตุผลเพียงพอนายจ้างก็จะไม่ให้ลูกจ้างใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี ทำให้เกิดคำถามจากลูกจ้าง ว่า “แล้วจะเรียกว่าหยุดพักผ่อนประจำปีไปทำไม่ ในเมื่อเวลาจะลาก็ต้องหาเหตุผลอื่น ๆ ที่น่าเชื่อถือมาอ้างกับบริษัท น่าจะเรียกว่าวันหยุดที่ต้องมีเหตุผลมากกว่า”
 
และที่พบว่ามีการเลือกปฏิบัติคือการที่ลูกจ้างสัญญาจ้าง (4 เดือน ต่อสัญญา 1 ครั้ง) จะไม่ได้สิทธิการลาพักผ่อนประจำปี
 
2. การบังคับให้คนงานทำงานล่วงเวลา ทำงานในวันหยุด
 
ประเด็นเรื่องการทำงานล่วงเวลา และการทำงานในวันหยุดถึงแม้ว่ากฎหมายจะกำหนดไว้ชัดเจน ว่า “การที่จะให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา หรือ ทำงานในวันหยุด ต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างเป็นคราว ๆ ไป” แต่ในทางปฏิบัติแล้วค่อนข้างมีปัญหามาก เนื่องจากสถานประกอบการจะมีการบังคับให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา หรือทำงานในวันหยุดเป็นประจำ โดยใช้วิธีการบังคับทางเศรษฐกิจโดยบอกว่าบริษัทขอความร่วมมือจาก ลูกจ้าง หากลูกจ้างไม่ยอมทำงานล่วงเวลาหรือทำงานในวันหยุด ก็จะบอกว่าลูกจ้างไม่ให้ความร่วมมือกับบริษัท และลงโทษโดยไม่ให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาหรือทำงานในวันหยุดอีกเป็นระยะเวลาหนึ่ง อาจจะหนึ่ง หรือสองสัปดาห์ บางกรณีเป็นเดือน นอกจากนี้ยังมีผลต่อการพิจารณาเงินขึ้นประจำปี และการพิจารณาเงินโบนัสประจำปีของลูกจ้างอีกด้วย
 
ซึ่งตรงนี้ส่งผลกระทบต่อลูกจ้างมาก ลูกจ้างจะปฏิเสธไม่ทำงานล่วงเวลาก็ไม่ได้เพราะถ้าจะปฏิเสธก็จะได้รับผลกระทบทางด้านการเงินทันที เนื่องจากรายได้ของลูกจ้างเกือบครึ่งมาจากการทำงานล่วงเวลาและทำงานในวันหยุด ดังนั้นจึงต้องจำยอมทำงานล่วงเวลาหรือทำงานในวันหยุดตามที่นายจ้างต้องการ และหากลูกจ้างไม่ยอมจะฟ้องร้องว่านายจ้างบังคับให้ทำงานล่วงเวลา หรือทำงานในวันหยุด ก็เป็นเรื่องยากเพราะไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่านายจ้างบังคับให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา
 
3. ปัญหาการละเมิดสิทธิที่เกิดกับคนงานหญิงที่ตั้งครรภ์
 
จากการเก็บข้อมูลพบว่าบางบริษัทยังมีการละเมิดสิทธิคนงานหญิงที่ตั้งครรภ์โดยไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ได้แก่ ไม่มีการจัดสถานที่ทำงานให้กับพนักงานที่ตั้งครรภ์ให้เหมาะสม และให้พนักงานหญิงที่ที่ตั้งครรภ์ทำงานในกะกลางคืนและทำงานล่วงเวลาซึ่งในทางกฎหมายแล้วการที่จะให้คนงานหญิงซึ่งตั้งครรภ์ทำงานในที่ไม่เหมาะสม เช่นทำงานในพื้นที่เสี่ยง หรือที่มีสารเคมี หรือให้ทำงานกะกลางคืน หรือทำงานล่วงเวลา จะไม่สามารถทำได้ แต่ก็ยังมีบางบริษัทที่ปฏิบัติเช่นนั้นอยู่
 
และที่สำคัญพบว่าในบางบริษัทยังมีการเลิกจ้างคนงานหญิงที่ตั้งครรภ์ ทั้งๆที่กฎหมายห้ามมิให้มีการเลิกจ้างแรงงานหญิงที่ตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในระหว่างที่แรงงานหญิงอยู่ในช่วงทดลองงาน คือก่อนที่จะครบ 120 วัน คนงานหญิงคนไหนที่ตั้งครรภ์ หากนายจ้างทราบ จะถูกเลิกจ้างทันที โดยระบุเหตุผลว่าไม่ผ่านทดลองงาน ซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิคนงานอย่างร้ายแรง (แต่กรณีนี้ก็ยังไม่สามารถดำเนินการกับนายจ้างได้ เนื่องจากนายจ้างระบุเหตุในการเลิกจ้างว่าไม่ผ่านทดลองงาน)
 
นอกจากนี้หลายบริษัทมีการใช้มาตรา 75 หยุดงานบางส่วนกับคนงานหญิงที่ตั้งครรภ์ด้วย ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย และขัดต่ออนุสัญญาไอแอลโอ และซีดอร์ด้วย
 
4. การเปลี่ยนแปลงวันหยุดโดยไม่แจ้งล่วงหน้า
 
ปัญหาที่เกิดขึ้นในประเด็นนี้คือ เมื่อนายจ้างได้มีการประกาศกำหนดวันหยุดตามประเพณีแล้ว ตามกฎหมาย หากนายจ้างจะให้ลูกจ้างมาทำงานในวันหยุดดังกล่าว ก็ให้ถือว่าเป็นการมาทำงานในวันหยุด นายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างตามกฎหมายเรื่องการทำงานในวันหยุดและการทำงานล่วงเวลาในวันหยุด ปัญหาคือนายจ้างจะมีการเลื่อนวันหยุดที่ประกาศออกไปเป็นวันอื่นที่ไม่ค่อยมีงาน โดยวันหยุดเดิมที่มีการประกาศนั้น นายจ้างเปลี่ยนให้เป็นการทำงานในวันทำงานปกติ ดังนั้นลูกจ้างจึงเสียเปรียบ เพราะแทนที่จะได้เงินเพิ่มมากขึ้นจากการทำงานในวันหยุด แต่กลายเป็นว่าได้ค่าตอบแทนเท่ากับการทำงานในวันปกติ
 
5. รูปแบบการจ้างงานที่หลากหลาย
 
ปัจจุบันรูปแบบการจ้างงานมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น เช่น การจ้างงานที่มีกำหนดระยะเวลา มีตั้งแต่ 1 เดือน 2 เดือน 3 เดือน การจ้างแรงงานที่เป็นนักศึกษาฝึกงาน เป็นต้น ซึ่งการจ้างงานแบบนี้เป็นการละเมิดสิทธิและเอาเปรียบผู้ใช้แรงงาน เนื่องจากการจ้างงานระยะสั้นและมีกำหนดระยะเวลาแบบนี้ หากนายจ้างเลิกจ้างก็ไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ลูกจ้างก็ไม่ได้ค่าชดเชย เพราะมีเงื่อนไขทางกฎหมายที่ลูกจ้างต้องทำงานติดต่อกันเป็นระยะเวลา 120 วันขึ้นไปจึงจะมีสิทธิได้รับค่าชดเชย รวมถึงการจ้างงานในรูปแบบที่มีการทดลองงานเช่นกัน ถึงแม้ว่ากฎหมายจะกำหนดให้การจ้างงานแบบทดลองงานให้ถือว่าเป็นการจ้างงานที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา ซึ่งหากมีการเลิกจ้าง ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า แต่ในทางปฏิบัติที่พบ นายจ้างจะมีการคำนวณเรื่องระยะเวลาอยู่แล้วว่าไม่ให้เกิน 120 วัน (รวมระยะการบอกกล่าวล่วงหน้า)
 
ดังนั้น การจ้างงานระยะสั้น จึงเป็นข้อจำกัดและมีช่วงว่างที่นายจ้างสามารถเอาเปรียบลูกจ้างได้ด้วยการจ้างงานระยะสั้น ๆ แบบนี้ และทำสัญญาต่อ ๆ กันไปเรื่อย ๆ คนงานบางส่วนบอกว่าทำงานในบริษัทแห่งนี้มากว่าปีแล้ว แต่ก็ยังทำงานสัญญาเป็นระยะสั้น ๆ เช่นนี้ตลอด
 
นอกจากนี้ในบางบริษัทที่ได้เก็บข้อมูล พบว่ามีการใช้แรงงานที่เป็นนักศึกษาฝึกงานจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ที่มีข้อกำหนดว่า ต้องฝึกงาน จึงจะจบการศึกษา บริษัทใช้ประโยชน์ตรงนี้จากการให้นักศึกษาฝึกงานมาทำงานโดยจ่ายค่าจ้าง สวัสดิการ เหมือนกับพนักงาน แต่ก็ไม่ได้เป็นพนักงานโดยตรงที่จะเรียกร้องสวัสดิการต่าง ๆ เพิ่มขึ้นในฐานะของพนักงาน หรือไม่สามารถสมัครเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน เป็นต้น
 
6. เวลาในการทำงาน
 
ปัจจุบันกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่กำหนดเรื่องเวลาในการทำงานได้มีการปรับปรุง และนำมาสู่ปัญหาเนื่องจากหลายบริษัทได้นำมาเป็นข้ออ้าง ในการปรับสภาพการจ้าง โดยอ้างว่าต้องทำตามกฎหมาย ซึ่งจริง ๆ แล้ว เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง โดยปัญหาที่พบมีหลายกรณี เช่น บริษัทแห่งหนึ่งมีการทำงานในวันจันทร์ถึงวันเสาร์ แต่เมื่อมีกฎหมายมาตรานี้ออกมา บริษัทจึงเปลี่ยนเวลาในการทำงานจากเดิม 6 วัน มาเป็นทำงาน 5 วัน คือวันจันทร์ถึงวันศุกร์ โดยหักวันเสาร์ออก และนำเวลาการทำงานของวันเสาร์มารวมกับวันจันทร์ถึงศุกร์ โดยเพิ่มเวลาทำงานอีกวันละ 1 ชม. โดยอ้างว่าทำตามกฎหมาย ที่บอกว่าให้นำวันที่มีเวลาทำงานไม่ถึง 8 ชม.มารวมได้ แต่กรณีนี้นายจ้างยกเอาทั้งวันที่มีเวลาทำงานปกติ 8 ชม.อยู่แล้ว มารวม และที่สำคัญหากเข้าเงื่อนไขทางกฎหมาย และนายจ้างนำเวลามาร่วมกันนั้น กฎหมายก็มีข้อกำหนดว่าหากเกิน 8 ชม. ต้องจ่ายเป็นค่าล่วงเวลา 1.5 เท่า แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือนายจ้างถือว่าเป็นเวลาทำงานปกติ ไม่จ่ายค่าล่วงเวลา
ตรงนี้จึงเป็นปัญหาในทางปฏิบัติที่นายจ้างนำประเด็นทางกฎหมายมาเป็นข้ออ้างในการเปลี่ยนสภาพการจ้าง ทั้ง ๆ ที่ไม่ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด แต่นายจ้างก็ทำไปก่อนโดยอาศัยการที่ลูกจ้างไม่มีความรู้ความเข้าใจในการเอาเปรียบและละเมิดสิทธิแรงงาน
 
7. การใช้มาตรา 75 ของนายจ้าง
 
มาตรา 75 เป็นมาตราที่มีปัญหา ส่งผลกระทบต่อคนงานเป็นอย่างมาก เนื่องจากนายจ้างใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการกับลูกจ้าง คณะกรรมการสหภาพแรงงาน หรือสมาชิกของสหภาพแรงงาน ซึ่งนับตั้งแต่เริ่มมีมาตรา 75 ก็จนถึงปัจจุบัน มีกรณีปัญหาเกิดขึ้นหลายกรณีมาก เช่น มีบริษัทแห่งหนึ่ง จะมีการประกาศใช้มาตรา 75 หยุดงานบางส่วนเป็นประจำทุกปี และส่วนของคนงานที่โดนมาตรา 75 คือคนงานที่มีอายุการทำงานนาน มีค่าจ้างสูง ซึ่งเมื่อคนงานเหล่านั้นต้องหยุดอยู่กับบ้านโดยได้ค่าจ้าง 75% นาน ๆ เข้าก็อยู่ไม่ได้ต้องลาออกไปหางานใหม่ บริษัทก็จะเปิดรับคนงานใหม่เข้ามาทดแทน โดยที่คนงานใหม่ที่เข้ามาบริษัทจ่ายค่าจ้างเท่ากับค่าแรงขั้นต่ำ มีบางบริษัทในขณะที่ใช้มาตรา 75 กับคนงานเก่า ก็จะประกาศรับสมัครพนักงานใหม่ไปด้วย ในเวลาเดียวกัน
 
มีกรณีที่นายจ้างใช้มาตรา 75 ในการจัดการกับรวมกลุ่มของแรงงาน โดยเมื่อคนงานมีการรวมกลุ่ม นายจ้างจะใช้วิธี ใช้มาตรา 75 หยุดงานบางส่วน เพื่อบีบให้ลูกจ้างยอม หรือลาออก เพื่อเป็นการลดทอนความเข้มแข็งของกลุ่มคนงาน หรือสหภาพแรงงาน และล่าสุดมีบริษัทหนึ่งประกาศใช้มาตรา 75 ในช่วงวันหยุดสงกรานต์ ปี 2555 และที่น่าแปลกคือบริษัทนี้ให้พนักงานมาสมัครใจเข้าร่วมการหยุดตามมาตรา 75 ของบริษัท ซึ่งใครจะไม่สมัครเข้าร่วมก็ได้ ก็ต้องมาทำงานปกติหลังงานเปิดจากการปิดงานช่วงสงกรานต์
 
8. การเลิกจ้างแกนนำในการก่อตั้งสหภาพแรงงาน
 
ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่สำคัญมากเนื่องจากพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ไม่ได้คุ้มครองผู้เริ่มก่อการจัดตั้งสหภาพแรงงาน จากการเก็บข้อมูลหลายบริษัทพบว่ามีปัญหาในการรวมกลุ่มของคนงานตลอด กล่าวคือแกนนำสหภาพแรงงานมักจะถูกเลิกจ้าง ถึงจะแค่ตระเตรียมหากถูกนายจ้างทราบก็ถูกเลิกจ้างแล้ว หรือแม้แต่เมื่อตั้งสหภาพแรงงานแล้ว ก็มักจะถูกเลิกจ้างเช่นกัน หรือกระทำด้วยวิธีการต่าง ๆ ที่จะล้มสหภาพแรงงาน หรือทำให้สหภาพแรงงานไม่เข้มแข็ง
 
9. คณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบการไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของลูกจ้าง
 
ปัญหาที่พบในประเด็นนี้ คือ ตัวแทนของลูกจ้างไม่ได้เป็นตัวแทนของลูกจ้างจริง ๆ แต่จะมาจากหัวหน้างานเป็นส่วนมาก และมีจำนวนไม่น้อยที่ลูกจ้างไม่เคยได้เลือกตั้งตามแบบที่กฎหมายกำหนด บางบริษัทคนงานไม่รู้เลยว่ามีคณะกรรมการสวัสดิการในโรงงาน
 
ข้อที่เป็นจุดอ่อนของคณะกรรมการสวัสดิการในโรงงานอีกประการหนึ่งคือ การที่คณะกรรมการสวัสดิการในโรงงานไม่มีอำนาจต่อรองใด ๆ กับนายจ้างเลย มีแค่การเสนอเท่านั้น จึงพบว่ามีปัญหาตามมา คือเมื่อคณะกรรมการสวัสดิการเสนอกับทางฝ่ายบริหารของบริษัทแล้ว ก็ไม่ได้การแก้ไขปัญหา หรือการดำเนินการเรื่องสวัสดิการให้แก่ลูกจ้างแต่ประการใด และคณะกรรมการสวัสดิการก็ไม่สามารถต่อรองกับทางฝ่ายบริหารของบริษัทได้ ดังนั้นทุกเรื่องที่ลูกจ้างเสนอผ่านกับคณะกรรมการสวัสดิการในโรงงาน จึงไม่ได้รับการตอบสนอง หรือการแก้ไขจากทางบริษัท
 
นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่น่าคิดว่า คณะกรรมการสวัสดิการถูกผลักดันให้เกิดขึ้นตามกฎหมาย เพื่อไม่ให้เกิดสหภาพแรงงานขึ้นหรือไม่ เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามให้บทบาทคณะกรรมการสวัสดิการในโรงงานเป็นอย่างมาก ๆ (ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงไม่สามารถแก้ไขปัญหาของแรงงานได้) โดยไม่พูดถึงบทบาทของสหภาพแรงงานเลย
 
ที่มาและปัจจัยที่สนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มของคนงาน
 
จากการเก็บข้อมูลในประเด็น ปัจจัยที่สนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มของคนงานนั้น พบว่ามีเหตุผลประกอบกันหลายประการ ซึ่งสรุปได้ดังนี้
 
1. ความไม่มั่นคงในการทำงาน เป็นปัจจัยแรกของการรวมกลุ่ม เนื่องเพราะเมื่อคนงานเริ่มรู้สึกว่าไม่มั่นคงในการทำงานแล้ว เช่น บริษัทเริ่มมีการบีบคนงานด้วยการลดสวัสดิการ สวัสดิการพนักงานไม่มีการปรับปรุงให้ดีขึ้น ไม่ปรับค่าจ้างประจำปี เปลี่ยนแปลงเวลาทำงานให้มีวันหยุดงานมากขึ้น ประกาศใช้มาตรา 75 โยกย้ายหน้าที่การงานไปในตำแหน่งงานที่ไม่สำคัญ (คนงานที่มีอายุงานมากขึ้น) หรือแม้แต่ ข่าวการขายกิจการ เหล่านี้ ทำให้คนงานเริ่มรู้สึกว่าความมั่นคงในการทำงานลดลง คนงานทุกคนตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน จึงนำมาสู่ความคิดในการรวมกลุ่ม เพื่อให้มีอำนาจในการต่อรองมากขึ้น
 
2. การไม่ได้รับความเป็นธรรมและการถูกเอาเปรียบจากนายจ้างโดยการละเมิดกฎหมาย เช่น การบังคับทางอ้อมให้คนงานทำงานล่วงเวลา และการทำงานในวันหยุด การที่คนงานรู้สึกถูกกดดันจากฝ่ายบริหาร เช่น เรื่องการเปลี่ยนแปลงเวลาทำงาน ทำงานนานขึ้นแต่ได้ชั่วโมงโอทีลดลง การทำงานในวันหยุดนักขัตฤกษ์ การใช้มาตรการบังคับให้ลาพักร้อนโดยให้คนงานใช้พักร้อนให้หมดตามวันที่บริษัทกำหนดให้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อคนงาน คือเมื่อคนงานมีความจำเป็นต้องลางานแต่ไม่มีวันลาพักร้อนให้ลา ต้องใช้การลาป่วย ลากิจโดยไม่ได้รับค่าจ้าง หรือขาดงานแทน ทำให้คนงานต้องสูญเสียรายได้ส่วนนั้นไป
 
3. สวัสดิการพนักงานไม่มีการปรับปรุงให้ดีขึ้นกลับพยายามที่จะตัดลดสวัสดิการของพนักงาน โดยเฉพาะสวัสดิการที่เป็นภาระผูกพันที่บริษัทต้องจ่ายเป็นประจำ บริษัทพยายามที่จะตัดลดลง โดยบางบริษัทก็จะยกเลิกสวัสดิการไปเฉย ๆ บางบริษัทก็ให้พนักงานเซ็นต์ชื่อยอมรับ หรือบางบริษัทใช้วิธีการยื่นข้อเรียกร้องต่อสหภาพแรงงานเพื่อลดสวัสดิการลงซึ่งข้ออ้างก็จะคล้าย ๆ กันคือบริษัทขาดทุน ซึ่งก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าขาดทุนจริงหรือไม่ เพราะในขณะเดียวกันสถานประกอบการมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องบางบริษัทก็ขยายงานที่ไปประเทศอื่น ๆ
 
มีการปรับลดอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (PPE) ซึ่งจริง ๆ แล้วควรที่จะเป็นทางบริษัทได้จัดหาให้กับพนักงานโดยอาจจะเป็นสวัสดิการด้านหนึ่งที่จำเป็นต่อการทำงานของคนงาน และที่สำคัญเป็นเรื่องสุขภาพของคนงานที่ต้องให้ความสำคัญ บางบริษัทบริษัทจะจัดอุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคลให้เฉพาะคนงานประจำ เท่านั้น คนงานเหมาค่าแรงและคนงานสัญญาจ้างต้องซื้อใช้เอง คนงานกลุ่มนี้จึงไม่ซื้อมาสวมใส่เพราะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย เช่น ผ้าปิดจมูก เอียปลั๊ก ถุงมือ หมวก รองเท้าผ้าใบ เป็นต้น ซึ่งการกระทำดังกล่าวของบริษัทอาจจะบอกได้ว่าเป็นการเลือกปฏิบัติต่อคนงาน
 
4. มีการเลือกปฏิบัติระหว่างพนักงานและหัวหน้างานโดยที่หัวหน้างานมีสวัสดิการที่ดีกว่าพนักงาน
 
5. ไม่มีระบบการบริหารงานที่มีมาตรฐานบริษัทเน้นเป้าหมายเพียงเพิ่มเป้าการผลิตแต่ไม่คำนึงถึงความปลอดภัยและสวัสดิการของพนักงาน
 
6. รายได้กับรายจ่ายของคนงานไม่สมดุลย์กัน(ค่าครองชีพสูงขึ้นแต่รายได้ยังคงเหมือนเดิม) กล่าวคือคนงานทำงานมาอย่างยาวนาน ทั้งทำงานล่วงเวลา และทำงานในวันหยุด ก็มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการครองชีพของคนงาน นำมาสู่ความต้องการที่จะให้มีสวัสดิการเพิ่มมากขึ้น จึงต้องมีการรวมกลุ่มเพื่อเรียกร้องสวัสดิการต่าง ๆ ให้มากขึ้นเพื่อให้พอต่อการครองชีพ
 
7. คนงานบางบริษัทมีข้อเปรียบเทียบจากการที่โรงงานใกล้เคียงเมื่อมีการจัดตั้งสหภาพแรงงานแล้วมีสภาพการจ้างงานและสวัสดิการที่ดีขึ้นดังนั้นจึงได้จัดตั้งสหภาพแรงงานในบริษัทของตัวเองขึ้นบ้างเพื่อเรียกร้องให้มีการปรับสวัสดิการให้ดีขึ้น
 
8. การใช้อำนาจที่เกินขอบเขตของหัวหน้างาน เช่น การที่หัวหน้างานตัดสินใจที่จะให้ใครมาทำงานล่วงเวลา หรือทำงานในวันหยุด ซึ่งมักจะเป็นคนงานที่เป็นพวกของหัวหน้างานคนนั้น ๆ เป็นลำดับแรก ๆ ส่วนคนงานอื่น ๆ ที่ไม่ใช่พวกของหัวหน้างานก็จะไม่ได้ถูกเลือก หรือจัดให้มาทำงานล่วงเวลา หรือทำงานในวันหยุด หรือกลับกันอย่างเช่นคนงานที่ไม่ต้องการทำงานล่วงเวลา หรือไม่ต้องการทำงานในวันหยุด ก็มักจะเป็นคนงานที่เป็นพวกของหัวหน้างานที่จะได้รับพิจารณาเป็นลำดับแรก ๆ ที่จะไม่ต้องมาทำงานล่วงเวลา หรือทำงานในวันหยุดก่อนคนงานอื่น ๆ
 
บางบริษัทการปรับค่าจ้างประจำปีไม่มีมาตรฐานที่แน่นอนขึ้นกับความพอใจของหัวหน้างาน เนื่องจากการปรับค่าจ้างเป็นระบบเกรด คือไม่ขาดงาน ลางาน และไม่มาสายเลยจะได้รับการปรับเป็นเกรด A หากลางานและสายหนึ่งวันจะได้เกรด B และเกรด C คือขั้นต่ำสุดที่ทุกคนต้องได้รับการปรับ แต่ในความเป็นจริงแล้วคนงานบางคนมีประวัติการทำงานที่ดีมากไม่เคยขาด ลา มาสายเลยกลับไม่ได้รับการปรับค่าจ้าง บางคนทำงานมานานหลายปียังรับค่าจ้างขั้นต่ำไม่ได้รับการปรับค่าจ้างเลย เนื่องจากขึ้นกับความพอใจของหัวหน้างานโดยไม่คำนึงถึงคุณค่าของคนงานที่ทำงานมายาวนานมีทักษะฝีมือในการทำงาน
 
เหล่านี้เป็นแรงกดดันให้กับพนักงานรู้สึกไม่พอใจต่อการปฏิบัติของหัวหน้างาน และอยากจะแก้ไขปัญหา จึงนำมาสู่การรวมกลุ่มกันของคนงาน
 
9. การที่บริษัทไม่สนใจที่จะแก้ไขปัญหาของคนงาน ถึงแม้ว่าจะมีคณะกรรมการสวัสดิการในโรงงานก็ตาม เพราะเมื่อคนงานเขียนเรื่องร้องเรียน หรือเสนอให้มีการแก้ไข หรือปรับปรุงเรื่องสวัสดิการ ก็ไม่ได้รับการตอบรับจากบริษัทในการแก้ไขปัญหาเลย
 
ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ส่งผลต่อการตัดสินใจที่จะมีการรวมกลุ่มตั้งเป็นสหภาพแรงงานของคนงานเพื่อสร้างอำนาจในการต่อรองเรียกร้องสวัสดิการที่ดีขึ้นเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนงาน รวมถึงเพื่อเป็นองค์กรในการแก้ไขปัญหาในการทำงาน การปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมของนายจ้างหรือหัวหน้างาน เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างมีความสุข
 
ปัญหาและอุปสรรคในการรวมกลุ่ม
 
จากการเก็บข้อมูลพบว่า ปัญหาและอุปสรรคในการรวมกลุ่มของคนงาน นั้นมาจาก 3 ประการหลัก ได้แก่
 
1. ปัญหาที่มาจากนายจ้าง
 
ปัญหาที่มาจากนายจ้างนั้นพบว่าประกอบด้วยเหตุหลายประการ ได้แก่
 
1.1. ทัศนคติของนายจ้างไม่ต้องการให้คนงานมีการรวมกลุ่มเป็นสหภาพแรงงาน เนื่องจากเชื่อว่าหากมีสหภาพแรงงานจะทำให้การดำเนินงานของบริษัท จะเป็นไปอย่างยากลำบากมากขึ้น เพราะเมื่อคนงานมีองค์กรของตนเอง การกระทำที่เอาแต่ใจในฐานะนายจ้างก็จะกระทำไม่ได้เหมือนเดิม เช่น การเอารัดเอาเปรียบแรงงาน การไม่เห็นคุณค่าความสำคัญของแรงงาน การไม่ปรับสวัสดิการเพิ่มให้กับคนงาน ก็จะกระทำไม่ได้เเหมือนเดิม เนื่องจากคนงานจะมีความรู้ความเข้าใจในสิทธิของตนเองมากขึ้น มีตัวแทน มีองค์กร ที่ทำหน้าจัดการกับปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานในโรงงาน หรือยื่นข้อเรียกร้องต่อบริษัทเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างให้ดีขึ้น
 
ดังนั้น เมื่อนายจ้างรู้ว่าคนงานเกิดการวมกลุ่ม หรือเริ่มสงสัยว่าจะมีการรวมกลุ่ม ก็จะสกัดกั้นไว้ก่อน โดยให้หัวหน้างานดำเนินการ โดยเริ่มตั้งแต่การเรียกมาคุยส่วนตัวไม่ให้มารวมกลุ่มกัน พูดจาโน้มน้าวให้เชื่อว่าต้องไม่ทำให้บริษัทเดือดร้อน พูดให้เห็นว่าหากรวมกลุ่มเป็นสหภาพแรงงาน นายจ้างก็จะย้ายฐานการผลิต ทำให้ตกงาน แล้วครอบครัวก็จะเดือดร้อน ซึ่งหากคนงานยังไม่ฟังก็จะมีมาตรการมากขึ้น เช่น เรียกไปขู่ให้ถอนตัว ไม่อย่างนั้นจะถูกเลิกจ้างเป็นต้น อย่างเช่นกรณีของบริษัทแห่งหนึ่งที่นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จังหวัดลำพูน บริษัทจะสั่งห้ามเรื่องการรวมกลุ่ม มีการส่งสายซึ่งเป็นคนงานด้วยกันเข้ามาสืบความเคลื่อนไหวของคนงาน และเมื่อรู้ว่าคนงานจะรวมกลุ่มเป็นสหภาพแรงงานก็เรียกมาพูดคุย ข่มขู่คุกคามให้ลาออก ซึ่งในสภาพความกดดันเช่นนั้นประกอบกับขาดประสบการณ์ในการต่อสู้ คนงานไม่มีทางออกอื่นจึงยอมเซ็นต์ชื่อในใบลาออก ทำให้หมดโอกาสที่จะจัดตั้งสหภาพแรงงาน
 
บางบริษัทบริษัทเมื่อทราบว่าคนงานรวมกลุ่มเป็นสหภาพแรงงานก็จะเลิกจ้างแกนนำคนงานในทันที บางบริษัทเพียงแค่คนงานมีการรวมกลุ่มเตรียมยื่นข้อเรียกร้อง เนื่องจากที่ไม่พอใจที่บริษัทตัดลดสวัสดิการโบนัสประจำปี ก็เลิกจ้างแกนนำคนงานที่ลงร่วมลงลายมือชื่อในข้อเรียกร้องทันที
 
1.2. นายจ้างมีรูปแบบการจ้างงานที่หลากหลาย ทั้งการจ้างงานในรูปแบบสัญญาจ้างงานระยะสั้น เช่น 1 เดือน, 3 เดือน การจ้างงานแบบเหมาค่าแรง หรือการใช้แรงงานที่เป็นนักศึกษาฝึกงานก็เป็นอุปสรรคหนึ่งเช่นกันที่ทำให้การรวมกลุ่มของคนงานเป็นไปได้ยากมากยิ่งขึ้น เพราะการจ้างงานระยะสั้น การจ้างงานแบบเหมาค่าแรงนี้ คนงานมักจะกังวลเรื่องการหารายได้ การหางานใหม่ เท่านั้น ไม่ได้สนใจที่จะเข้ารวมกลุ่มกันเป็นสหภาพแรงงาน เนื่องจากปัญหาส่วนตัวก็ยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ดังนั้นเมื่อถูกชักชวนให้มารวมกลุ่มก็จะไม่เข้ามาร่วม ส่วนการจ้างงานที่เป็นนักศึกษาฝึกงานนั้นก็เป็นข้อจำกัดทางกฎหมายเนื่องจากไม่มีสถานะของคนงานอย่างเต็มตัวจึงไม่สามารถรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานหรือเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานได้
 
1.3. การมีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน วันละไม่น้อยกว่า 12 ชั่วโมง (รวมการทำงานล่วงเวลา) และต้องทำงานในวันหยุดต่าง ๆ ทำให้คนงานอ่อนล้า หรืออยากพักผ่อนมากกว่าที่จะมาร่วมกิจกรรมกับเพื่อน ๆ หรือร่วมกิจกรรมกับสหภาพแรงงาน รวมถึงไม่ต้องการเข้าร่วมการพัฒนาทักษะหรือความรู้ต่าง ๆ อีกแล้ว เนื่องจากทำงานมากจนร่างกาย หรือสมองไม่สามารถที่รองรับได้
 
2. ปัญหาที่มาจากเจ้าหน้าที่รัฐและการบังคับใช้กฎหมาย
 
2.1 จากเจ้าหน้าที่รัฐ
 
เจ้าหน้าที่รัฐยังไม่ให้การสนับสนุนการรวมกลุ่มในการก่อตั้งสหภาพแรงงานอย่างแท้จริง ถึงแม้เจ้าหน้าที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน จะมีหน้าที่โดยตรงในการส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มของคนงาน (ตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์) แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ตัวเจ้าหน้าที่บางส่วนยังมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการรวมกลุ่มของคนงาน โดยมองว่าหากพนักงานมีการรวมกลุ่มเป็นสหภาพแรงงาน จะทำให้ยุ่งยากมากขึ้น ยากลำบากมากขึ้น เพราะมีการเรียกร้อง มีการชุมนุม ทำให้การทำงานยุ่งยากมากขึ้น
 
มีตัวอย่างเกิดขึ้นหลายครั้ง ที่คนงานในบางโรงงานมีการผละงาน หรือชุมนุม เพราะมีปัญหาความไม่เข้าใจ ไม่พอใจกับบริษัทเกี่ยวกับสวัสดิการ หรือสภาพในการทำงาน ซึ่งแทนที่เจ้าหน้าที่ จะเข้าไปพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจกับลูกจ้าง แนะนำให้ถูกวิธี ถูกขั้นตอน (ซึ่งก็ต้องพูดเรื่องการรวมกลุ่ม การยื่นข้อเรียกร้อง) กลับบอกเพียงแค่ว่า “การกระทำของลูกจ้างผิดกฎหมาย ให้กลับเข้าทำงาน หากไม่กลับเข้าทำงานนายจ้างก็จะเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย หากมีเรื่องต้องการให้นายจ้างปรับปรุงก็ให้แจ้งผ่านคณะกรรมการวัสดิการในโรงงาน อย่ามาทำเช่นนี้ ไม่ถูกต้อง” คำแนะนำเช่นนี้อาจจะไม่ผิด แต่ที่ผิดคือทำไมไม่พูดถึงเรื่องการรวมกลุ่ม การยื่นข้อเรียกร้อง การเจรจาต่อรอง ซึ่งจะทำให้คนงานมีความเข้าใจ และเห็นผลดีของการรวมกลุ่มมากขึ้น
 
และที่สำคัญเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่ในการให้ความรู้ความเข้าใจและเห็นถึงความสำคัญของการรวมกลุ่ม แต่ที่ผ่านเจ้าหน้าที่ให้ความรู้เฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับค่าจ้าง เวลาทำงาน หรือเรื่องสิทธิแรงงานทั่ว ๆ ไป ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานเท่านั้น ในขณะที่สิทธิเกี่ยวกับการรวมกลุ่ม การเจรจาต่อรอง การยื่นข้อเรียกร้อง หรือเรื่องอื่น ๆ ที่เป็นการส่งเสริมการรวมกลุ่มนั้น เจ้าหน้าที่ไม่ได้ฝึกอบรมให้กับคนงานเลยก็ว่าได้
 
2.2 จากข้อจำกัดทางกฎหมาย
 
ปัญหาที่เห็นได้ชัดจากข้อจำกัดทางกฎหมายคือ กฎหมายไม่คุ้มครองกรณีที่ลูกจ้างมีการรวมกลุ่มกันเพื่อตั้งสหภาพแรงงาน หรือการรวมกลุ่มเพื่อยื่นข้อเรียกร้อง ดังนั้นเมื่อลูกจ้างมีการรวมกลุ่มกันเข้าชื่อเพื่อยื่นข้อเรียกร้องหรือจัดตั้งสหภาพแรงงาน แกนนำสหภาพแรงงาน หรือแกนนำในการยื่นข้อเรียกร้องมักถูกเลิกจ้าง หรือถูกกลั่นแกล้งจากบริษัท เช่น เปลี่ยนแปลงหน้าที่การทำงาน ไม่มอบหมายงานให้ทำ หรือให้หยุดงานอยู่บ้านแต่ได้รับค่าจ้างปกติ ทำให้ตัวแทนคนงานไม่สามารถสื่อสารกับพนักงานได้ หรือไม่สามารถทนทำงานอยู่ต่อไปได้ เนื่องจากรายได้บางส่วนต้องขาดหายไป หรือบางคนทนรับแรงกดดันไม่ได้ต้องลาออกจากงานไปเอง ซึ่งกระบวนการในการร้องเรียนการกระทำไม่เป็นธรรมของนายจ้างเช่นนี้ ในกฎหมายมีระบุไว้ แต่ในทางปฏิบัติแล้วมีข้อจำกัดต่อการดำเนินการของคนงานมาก เพราะต้องใช้เวลานานมากในการดำเนินการตามกระบวนการขั้นตอนต่างๆ ทั้งการร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่ หรือการดำเนินการทางศาล
 
นอกจากนี้ขั้นตอนในการจดทะเบียนสหภาพแรงงานก็มีความยุ่งยากซับซ้อนพนักงานขาดความเข้าใจ ต้องใช้เอกสารมากมายในการขอจดทะเบียน
 
3. ปัญหาที่มาจากตัวคนงานเอง
 
ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่สำคัญต่อการรวมกลุ่มของคนงานทั้งนี้เนื่องจากข้อจำกัดใน 2 ประเด็นดังกล่าวข้างต้นได้แก่ ปัญหาที่มาจากนายจ้าง และปัญหาที่มาจากเจ้าหน้าที่รัฐ และข้อจำกัดทางกฎหมายส่งผลกระทบอย่างรุนแรง ทำให้คนงานไม่กล้าที่จะดำเนินการรวมกลุ่ม หรือการจัดตั้งสหภาพแรงงาน
 
และนอกจากนี้แล้วในส่วนของตัวคนงานเองก็ยังมีจุดอ่อนที่ทำให้การรวมกลุ่มเป็นได้ยากมากยิ่งขึ้น ได้แก่
 
3.1 ปัญหาด้านเศรษฐกิจ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนงานไม่ค่อยให้ความสนใจที่จะเข้าร่วมกิจกรรมสหภาพแรงงาน หรือเข้าร่วมกลุ่ม หรือศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการรวมกลุ่ม หรือเรื่องสหภาพแรงงาน เพราะคนงานต้องการทำงานให้มากที่สุด เพื่อให้มีรายได้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายของตนเองและครอบครัว จึงต้องทำงานในวันหยุดต้องทำงานล่วงเวลา ไม่มีเวลาคิดเรื่องอื่น
 
3.2 คนงานกลัวที่จะได้รับผลกระทบจากการรวมกลุ่ม เช่น การถูกเลิกจ้าง มีผลต่อการทำงาน โดยพนักงานบางกลุ่มยังมีความเชื่อที่ผิดๆ ว่าเมื่อสมัครเป็นสมาชิกสมาชิกสหภาพแรงงานแล้วไม่สามารถไปสมัครงานที่อื่นได้ เป็นต้น อาจจะได้ยิน ได้ฟังมาจากคนอื่น ๆ หรือได้พบ สัมผัสด้วยตนเอง ทำให้คนงานไม่กล้าที่จะรวมกลุ่มหรือสมัครเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน
 
3.3 ขาดแกนนำ แกนนำคนงานเป็นสิ่งที่จำเป็นมากในการรวมกลุ่ม คนงาน ส่วนใหญ่จะมีลักษณะเอาไหนเอาด้วย พร้อมที่จะเป็นผู้ติดตาม หรือพร้อมที่จะยืนอยู่เฉย ๆ มากกว่า ที่จะโดดเข้ามาเป็นแกนนำในการรวมกลุ่ม ดังนั้น ในหลาย ๆ บริษัทจึงยากมากที่จะมีการรวมกลุ่มจัดตั้งเป็นสหภาพแรงงาน
 
3.4 คนงานขาดความรู้ความเข้าใจในการรวมกลุ่มเพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับนายจ้างเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนให้ดีขึ้น ซึ่งประเด็นนี้เป็นประเด็นที่สำคัญมาก เพราะหากว่าคนงานมีความเข้าใจ และเห็นถึงพลังของการรวมกลุ่มที่ดี ก็จะนำไปสู่ความมั่นใจที่จะรวมกลุ่มกันเป็นสหภาพแรงงานได้ง่ายขึ้น แต่ถ้าหากว่าคนงานไม่เข้าใจสาระสำคัญของการรวมกลุ่มแล้ว คนงานก็จะปฏิเสธการรวมกลุ่มเช่นกัน
 
ปัญหา / อุปสรรคในการดำเนินงานของสหภาพแรงงาน
 
ถึงแม้ว่าในที่สุดคนงานจะสามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานขึ้นมาได้แล้ว แต่ก็ใช่ว่า การดำเนินงานของสหภาพแรงงานจะดำเนินไปได้อย่างราบรื่น ทั้งนี้เนื่องจากมีปัญหาและอุปสรรคหลายประการทำให้การดำเนินงานของสหภาพแรงงานสะดุด ติดขัด หรือแม้แต่ส่งผลให้สหภาพบางแห่งจะอ่อนแอลง หรือท้ายที่สุดก็ต้องยุติบทบาทของสหภาพแรงงานไป ซึ่งขอแยกเป็นปัจจัยภายในของสหภาพแรงงานเอง กับปัจจัยภายนอก ดังนี้
 
ปัจจัยภายในของสหภาพแรงงานเอง
 
ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานของสหภาพแรงงานที่มาจากปัจจัยภายในของสหภาพแรงงานเอง ดังนี้
 
  • สมาชิกสหภาพแรงงานขาดความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของการเป็นสมาชิกเนื่องจากไม่ได้รับการอบรมหรือเรียนรู้เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของสมาชิกสหภาพแรงงาน ซึ่งปัญหานี้มาจากการที่สหภาพแรงงานไม่ได้ดำเนินกิจกรรมที่เป็นการพัฒนาศักยภาพให้กับสมาชิกของสหภาพแรงงานเองเท่าที่ควร
 
  • สมาชิกสหภาพแรงงานไม่ให้ความสำคัญกับการเข้าร่วมกิจกรรมของสหภาพแรงงาน ซึ่งมีสาเหตุมาจากการที่สมาชิกไม่เข้าใจความสำคัญของการมีสหภาพแรงงาน หรือมองว่าแค่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานก็พอแล้วไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมกิจกรรมที่สหภาพแรงงานจัดขึ้น
 
  • สมาชิกสหภาพแรงงานมีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานวันละไม่น้อยกว่า 12 ชั่วโมง (รวมการทำงานล่วงเวลา) และทำงานในวันหยุดต่าง ๆ ทำให้อ่อนล้า หรือยากพักผ่อนมากกว่าที่จะมาร่วมกิจกรรมกับเพื่อน ๆ หรือร่วมกิจกรรมกับสหภาพแรงงาน รวมถึงไม่ต้องการเข้าร่วมการพัฒนาทักษะหรือความรู้ต่าง ๆ อีกแล้ว เนื่องจากทำงานมากจนร่างกาย หรือสมองไม่สามารถที่รองรับ
 
  • ปัญหาด้านเศรษฐกิจเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้คนงานไม่ค่อยได้สนใจที่จะเข้าร่วมกิจกรรมสหภาพแรงงาน หรือเข้าร่วมกลุ่ม หรือศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการรวมกลุ่ม หรือเรื่องสหภาพแรงงาน เพราะคนงานต้องการทำงานให้มากที่สุด เพื่อให้มีรายได้เพียงพอค่าใช้จ่ายของตนเองและครอบครัว
 
  • สหภาพแรงงานจัดเก็บค่าบำรุงได้น้อย เนื่องจากสมาชิกไม่จ่ายค่าบำรุง ซึ่งเป็นเพราะสมาชิกสหภาพแรงงานไม่ได้ใส่ใจกับการเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน หรือสหภาพแรงงานยังไม่สามารถทำงานกับสมาชิกได้อย่างทั่วถึง เช่นการประชาสัมพันธ์ การลงพื้นที่เข้าหาสมาชิก เป็นต้น
 
  • สหภาพแรงงานไม่สามารถขยายฐานสมาชิกได้ เนื่องจากมีการจ้างงานในรูปแบบสัญญาจ้างงานระยะสั้น เช่น 1 เดือน, 3 เดือน เพราะว่าคนงานที่มีระยะเวลาการจ้างงานสั้นแบบนี้ มักจะกังวลเรื่องการหารายได้ การหางานใหม่ เท่านั้น ไม่ได้สนใจที่จะเข้ารวมกลุ่มกันเป็นสหภาพแรงงาน เนื่องจากปัญหาส่วนตัวก็ยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ดังนั้นเมื่อถูกชักชวนให้มารวมกลุ่มก็จะไม่เข้ามาร่วม นอกจากนี้ยังพบว่าการที่สหภาพแรงงานไม่สามารถขยายสมาชิกได้เพราะคนงานบางส่วนกลัวที่จะได้รับผลกระทบจากการมาเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน เช่น การถูกเลิกจ้าง มีผลต่อการทำงาน เป็นต้น อาจจะได้ยิน ได้ฟังมาจากคนอื่น ๆ หรือได้พบ สัมผัสด้วยตนเอง ทำให้คนงานไม่กล้ามาเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ประกอบกับการที่พนักงานบางกลุ่มยังมีความเชื่อที่ผิดๆ ว่าเมื่อสมัครเป็นสมาชิกสมาชิกสหภาพแรงงานแล้วเมื่อถูกเลิกจ้างก็ไม่สามารถไปสมัครงานที่อื่นได้
 
ปัจจัยภายนอก
 
โดยปัจจัยภายนอกสามารถแยกออกเป็นปัจจัยที่มาจากทางบริษัท และปัจจัยที่มาจากเจ้าหน้าที่รัฐและข้อจำกัดทางกฎหมาย
 
ปัจจัยที่มาจากนายจ้าง
 
นายจ้างไม่สนับสนุนให้มีการรวมกลุ่ม ไม่ต้องการให้มีสหภาพแรงงาน ดังนั้นเมื่อเกิดเป็นสหภาพแรงงานขึ้นแล้ว นายจ้างจะมีการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อล้ม หรือทำให้สหภาพแรงงานไม่เข้มแข็ง ซึ่งวิธีการของนายจ้างก็หลากหลาย เช่น
 
  • นายจ้างไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงสภาพการจ้าง ซึ่งตรงนี้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของคนงานที่มีต่อสหภาพแรงงาน เนื่องจากจะเห็นว่าสหภาพแรงงานไม่ได้มีพลังที่จะทำให้นายจ้างปฏิบัติตามข้อตกลงสภาพการจ้างได้เลย
 
  • นายจ้างมีการจ้างแรงงานสัญญาจ้างและเหมาค่าแรงเข้ามาในกระบวนการผลิตซึ่งพนักงานเหล่านี้จะไม่สามารถเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานได้ หรือไม่ก็ไม่ต้องการเป็นเนื่องจากมองว่าจะส่งผลต่อการทำงาน
 
  • นายจ้างกลั่นแกล้งโดยการไม่มอบหมายงานให้แกนนำและกรรมการสหภาพแรงงานทำงานในส่วนงานเดิม มักจะมีการโยกย้ายหน้าที่การของบรรดาแกนนำและกรรมการสหภาพแรงงานไปอยู่รวมกัน และเป็นส่วนหน้าที่การงานที่ไม่สำคัญ และไม่ค่อยได้พบปะกับแรงงานคนอื่น ๆ
 
·        คนงาน ถูกขัดขวางและข่มขู่จากหัวหน้างาน โดยหัวหน้างานจะข่มขู่คนงานในแผนก หรือไลน์การผลิตที่ตนเองเป็นหัวหน้างานอยู่โดยใช้ตำแหน่งผู้บังคับบัญชาในการโน้มน้าวให้คนงานที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน หรือไม่ไห้สมัครเข้าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะยกเรื่องความมั่นคงในการทำงานมาเป็นเครื่องมือในการข่มขู่ เช่น บอกว่า “หากยังเป็นอย่างนี้อีกไม่นานโรงานก็จะย้ายฐานการผลิต พวกเราก็จะตกงาน” หรือบอกว่า “บริษัทให้กับเรามากอยู่แล้วเราจะไปเรียกร้องอีกทำไม” บอกว่า “หากใครไปเข้าร่วมกับสหภาพแรงงานก็เหมือนกับก้าวขาออกไปข้างนอกโรงงานก้าวหนึ่งแล้ว”
 
·         นายจ้างเลิกจ้างแกนนำสหภาพแรงงาน ประเด็นนี้ส่งผลกระทบโดยตรงและรุนแรงต่อสหภาพแรงงาน ทำให้สหภาพแรงงานขาดคนที่จะเข้ามาทำงานบริหารสหภาพแรงงาน รวมถึงส่งผลกระทบต่อสมาชิกสหภาพแรงงาน และคนงานที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน เพราะมองว่า “ขนาดเป็นกรรมการสหภาพแรงงานยังถูกเลิกจ้าง นับประสาอะไรกับการเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน”
 
·         นายจ้างไม่ให้กรรมการสหภาพแรงงานเข้าทำงานในโรงงาน แต่จ่ายค่าจ้างให้ซึ่งเรื่องนี้เป็นประเด็นที่สำคัญประเด็นหนึ่ง ซึ่งการกระทำเช่นนี้นำมาสู่ปัญหาของการดำเนินงานของสหภาพแรงงานเป็นอย่างยิ่ง เพราะคณะกรรมการสหภาพจะเป็นภาพลักษณ์และกำลังสำคัญ และสามารถเข้าถึงสมาชิกสหภาพฯ ในโรงงานได้อย่างกว้างขวาง ดังนั้นเมื่อต้องอยู่นอกโรงงานก็ทำให้การดำเนินงานของสหภาพฯ สะดุด ติดขัด ไม่สามารถที่จะได้พบปะกับสมาชิกและรับเรื่องร้องทุกข์จากสมาชิกได้อย่างทั่วถึงและทันท่วงที และที่สำคัญ การกระทำเช่นนี้ก่อให้เกิดผลทางด้านจิตใจของสมาชิกที่อยู่ในโรงงานด้วย ทำให้เกิดความกลัว และไม่มั่นใจในระบบสหภาพแรงงาน เพราะขนาดกรรมการสหภาพแรงงานยังต้องถูกให้อยู่นอกโรงงาน
 
จากเจ้าหน้าที่รัฐและข้อจำกัดทางกฎหมาย
 
จากการเก็บข้อมูล พบว่าปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานของสหภาพแรงงานส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ และข้อจำกัดทางกฎหมาย ดังนี้
 
จากเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง
 
จากการเก็บข้อมูลพบว่ามีหลายกรณีที่แสดงให้เห็นถึงวิธีปฏิบัติ และการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องที่ไม่เหมาะสมนำมาสู่ปัญหาการดำเนินงานของสหภาพแรงงาน ซึ่งในที่นี้จะขอยกมาเป็นกรณีตัวอย่าง 2 กรณี
 
กรณีที่ 1 การเพิกถอนทะเบียนสหภาพแรงงานของสหภาพแรงงานอิเลครอนิคส์และเครื่องไฟฟ้าสัมพันธ์ โดยนายทะเบียนวินิจฉัยว่าผู้ยื่นขอจดทะเบียนสหภาพแรงงานจำนวนหนึ่งขาดคุณสมบัติเนื่องจากเป็นระดับผู้บังคับบัญชา ไม่สามารถที่จะมายื่นขอจดทะเบียนสหภาพร่วมกับลูกจ้างระดับปฏิบัติการได้ ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงคนงานกลุ่มดังกล่าวไม่ได้เป็นผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจตามที่กฎหมายกำหนด โดยสหภาพได้แสดงหลักฐานต่าง ๆ แล้ว ท้ายที่สุดนายทะเบียนก็ตัดสินใจเพิกถอนทะเบียนสหภาพ สหภาพแรงงานจึงได้ร้องต่อศาลแรงงานเพื่อเพิกถอนคำสั่งนายทะเบียน จนในที่สุดศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งนายทะเบียน ให้สหภาพได้รับทะเบียนสหภาพคืน ซึ่งกรณีนี้ชี้ให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ได้ใช้ดุลยพินิจในฐานะเจ้าหน้าที่โดยไม่เป็นธรรม
 
กรณีที่2 บริษัทโฮย่ากลาสดิสค์(ประเทศไทย) จำกัด ขอให้ พนักงานประนอมพิพาทแรงงาน ทำการตรวจสอบทะเบียนสหภาพแรงงานอิเลคทรอนิคส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าสัมพันธ์ ช่วงที่มีการยื่นข้อเรียกร้อง ปี 2552 ซึ่งหลังการตรวจสอบแล้ว เจ้าหน้าที่ได้มีคำตัดสินว่า สมาชิกสหภาพฯ มีจำนวนไม่ครบ 1ใน 5 เพราะว่า (1)สมาชิกสหภาพฯบางส่วนไม่ปรากฏรายชื่อในทะเบียนลูกจ้างของบริษัทฯ ทั้ง ๆ ที่ลูกจ้างจำนวนนั้นยังทำงานอยู่ในโรงงานและเป็นสมาชิกสหภาพ และทางสหภาพก็ได้แสดงหลักฐานต่อเจ้าหน้าที่แล้ว แต่เจ้าหน้าที่ไม่สนใจ อ้างว่าจะดูเฉพาะส่วนที่มีรายชื่อในทะเบียนของนายจ้างเท่านั้น ไม่มีการตรวจสอบว่าเอกสารทะเบียนรายชื่อที่บริษัทให้เจ้าหน้าที่นั้นถูกต้องหรือไม่ (2)สมาชิกอีกส่วนหนึ่งนั้น ขาดส่งค่าบำรุงติดต่อกัน 3 เดือน เจ้าหน้าที่จึงได้ตัดออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานไป ทั้ง ๆ ที่ตามข้อบังคับของสหภาพฯ จะต้องมีการออกหนังสือเตือนจากนายทะเบียนของสหภาพแรงงานที่ขาดส่งค่าบำรุง และหากสมาชิกยังไม่มาติดต่อ สหภาพจึงจะตัดรายชื่อสมาชิกคนนั้นออก (3) และสมาชิกอีกส่วนหนึ่ง เจ้าหน้าที่ท่านนั้น ชี้ขาดว่า ไม่สามารถเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานได้เนื่องจาก เป็นลูกจ้างระดับผู้บังคับบัญชา มีตำแหน่งเป็น Grouplead และSupervisor โดยที่ไม่มีการตรวจสอบอำนาจผู้บังคับบัญชาเลยว่ามีจริงหรือไม่ การตัดสินของเจ้าหน้าที่ดังนี้มีผลทำให้การยื่นข้อเรียกร้องของสหภาพฯ ต้องตกไป ในกรณีนี้จะเห็นว่า เจ้าหน้าที่ เอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทฯ
 
จากข้อจำกัดทางกฎหมาย
 
จากการเก็บข้อมูลพบว่า ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานของสหภาพแรงงานส่วนหนึ่งมาจากข้อจำกัดทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ที่พบมากที่สุดคือ เมื่อแกนนำหรือกรรมการสหภาพแรงงาน ถูกนายจ้างเลิกจ้าง ซึ่งกรณีนี้ แกนนำคนงานและกรรมการสหภาพแรงงานต้องต่อสู่ทางกระบวนการยุติธรรม คือการยืนฟ้องต่อศาลแรงงาน แต่ในความเป็นจริง การเข้าถึงหรือการดำเนินคดีในศาลแรงงานสำหรับคนงานแล้วเป็นได้ด้วยความยากลำบากและล่าช้า รวมถึงต้องมีค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้นจึงมีแกนนำและกรรมการสหภาพจำนวนไม่น้อยที่จำยอมให้นายจ้างเลิกจ้างโดยไม่ต่อสู้ในศาล หรือต้องยอมรับข้อเสนอของนายจ้างกลางคันในระหว่างการดำเนินคดี
 
ข้อจำกัดทางกฎหมายอีกกรณีหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของสหภาพแรงงาน คือ พนักงานจ้างเหมาค่าแรงไม่สามารถเข้ามาเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานได้ เนื่องจากถูกระบุไว้ในประเภทการจ้าง ตามระเบียบของกระทรวงแรงงานเป็นคนละประเภทกับกิจการปกติที่ทำในโรงงาน ยกตัวอย่างเช่น บริษัทโฮยา กลาสดิสค์ ประเทศไทย จำกัด เป็นบริษัทที่ผลิตชิ้นส่วนอิเลคทรอนิคส์ และสหภาพแรงงานอิเลคทรอนิคส์และอุปกรณ์ฟ้าสัมพันธ์ ก็เปิดรับสมัครสมาชิกที่ทำงานในกิจการประเภทเดียวกัน คือกิจการอิเลคทรอนิคส์และอุปกรณ์ไฟฟ้า แต่คนงานจ้างเหมาค่าแรงในบริษัทโฮยา กลาสดิสก์ เป็นแรงงานที่ถูกกำหนดประเภทว่าเป็นประเภทบริการ ทำให้ไม่สามารถสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานอิเลคทรอนิคส์ฯ ได้
 
ข้อจำกัดทางกฎหมายที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่งคือ การที่นายจ้างให้แกนนำ หรือกรรมการสหภาพแรงงานอยู่นอกโรงงาน โดยจ่ายค่าจ้าง ซึ่งการกระทำเช่นนี้ส่งผลอย่างมากต่อการดำเนินงานของสหภาพแรงงาน แต่นายจ้างสามารถทำได้เพราะไม่มีกฎหมายห้ามนายจ้างกระทำการดังกล่าว
 
 
 
 
 
ข้อเสนอเพื่อการแก้ไขปัญหาหรืออุปสรรค ในการรวมกลุ่มของคนงาน
 
ในปัจจุบันมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานหลายฉบับได้แก่ พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ที่เนื้อหาส่วนใหญ่มุ่งเน้นเกี่ยวกับสภาพการจ้าง การยื่นข้อเรียกร้อง การเจรจาต่อรอง เรื่องการรวมกลุ่มเป็นสหภาพแรงงาน การตั้งคณะกรรมการลูกจ้าง การกระทำไม่เป็นธรรม พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2551 ที่พูดถึงเรื่องงการคุ้มครองแรงงานในประเด็นต่าง ๆ ประราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีแรงงานและการจัดตั้งศาลแรงงาน ที่พูดถึงเรื่องการดำเนินคดีในศาลแรงงาน พระราชบัญญัติประกันสังคม ที่พูดถึงเรื่องการดูแลเมื่อคนงานเจ็บป่วยนอกงาน และพระราชบัญญัติกองทุนเงินทดแทน ที่พูดถึงเรื่องการคุ้มครองกรณีที่คนงานเจ็บป่วยในการทำงาน
 
แต่จากการเก็บข้อมูลที่แสดงให้เห็นในบทที่ผ่านมา เราจะเห็นถึงปัญหาการละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้นกับลูกจ้างก็ยังเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ไม่น้อยลงกว่าเดิม แต่กลับจะมากขึ้นซะด้วยซ้ำ รูปแบบการละเมิดสิทธิแรงงานก็มีความสลับซับซ้อน แยบคาบ มากยิ่งขึ้น ในขณะที่การรวมกลุ่มเป็นสหภาพแรงงานของคนงานก็มีความยากลำบากที่ไม่แตกต่างไปจากเดิม มีข้อจำกัดทั้งที่เป็นตัวบทกฎหมายที่ไม่ได้มีการแก้ไขให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน หรือแก้ไขให้มีการส่งเสริมการรวมกลุ่มของแรงงานมากขึ้น ประกอบกับกฎหมายบางฉบับที่เก่าแก่ล้าสมัยก็ยังเป็นอยู่เช่นเดิม รัฐบาลไม่มีความจริงใจการในการรับรองอนุสัญญาไปแอลโอที่นำมาสู่การปรับปรุงกฎหมายที่เป็นคุณแก่ลูกจ้างมากกว่านี้ ประกอบกับพฤติกรรม หรือทัศนคติของทั้งนายจ้าง และเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่ได้ส่งเสริมการรวมกลุ่มของคนงาน ทำให้การรวมกลุ่มของคนงานเป็นไปได้อย่างยากลำบาก และถึงแม้ว่าคนงานจะมีการรวมกลุ่มเป็นสหภาพแรงงานแล้วก็ตาม แต่ก็ยังพร้อมที่จะถูกจัดการโดยนายจ้างเพื่อทำการล้มสหภาพแรงงาน หรือทำให้สหภาพแรงงานมีความอ่อนแอ
 
จากการสุ่มตัวอย่างคนงานที่ตอบแบบสอบถามและการสนทนากลุ่มทั้งหมดเห็นด้วยกับการมีสหภาพแรงงาน โดยมองว่าการมีองค์กรสหภาพแรงงานจะช่วยเรียกร้องและต่อรองกับนายจ้างในเรื่องค่าจ้างสวัสดิการต่าง ๆ ให้ดีขึ้น รวมถึงการที่จะเข้ามาช่วยเหลือลูกจ้างในกรณีที่นายจ้างละเมิดสิทธิ และเอารัดเอาเปรียบ ซึ่งได้มีข้อเสนอโดยภาพรวมเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาของการรวมกลุ่มเป็นสหภาพแรงงาน โดยแยกเป็นข้อเสนอต่อบริษัทหรือนายจ้าง และข้อเสนอต่อรัฐบาลเพื่อนำมาสู่การปรับปรุงแนวทางในการส่งเสริมระบบอุตสาหกรรมที่เห็นแก่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนงานควบคู่ไปด้วย และเพื่อการพัฒนากฎหมายเพื่อให้ส่งเสริมการรวมกลุ่มของคนงาน ดังนี้
 
1. ให้นายจ้างปฏิบัติตามจรรยาบรรณทางการค้า (Code of Conduct) ปฏิบัติตามกฎบัตรของกลุ่มประเทศ OECD Guind line และอนุสัญญาหลักขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ(Core convention)
 
2. ให้รัฐบาลมีแนวทางที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาการจ้างงานแบบยืดหยุ่น เนื่องจากส่งผลให้เกิดการจ้างงานในรูปแบบที่หลากหลายและเอาเปรียบแรงงานได้ง่ายมากขึ้น โดยอาจให้เริ่มมีการศึกษาอย่างจริงจังถึงผลกระทบจากการจ้างงานในรูปแบบที่หลากหลาย ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในการทำงาน และผลกระทบต่อการรวมกลุ่มของคนงาน
 
3. รัฐบาลต้องให้การรับรองอนุสัญญาฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคม และฉบับที่ 98 ว่าด้วยการรวมตัวและสิทธิในการเจรจาต่อรองร่วม ซึ่งเป็น 2 ใน 8 ของอนุสัญญาหลักของ ILO ที่ถือกันว่าเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ทุกประเทศจะต้องเคารพและดูแลให้ มีการปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพราะสิทธิดังกล่าวเป็นประตูด่านแรกของการที่จะทำให้คนทำงานทั้งหลายสามารถ เข้าถึงสิทธิอื่น ๆ ได้จริง และจะสามารถทำให้สิ่งที่เรียกว่า งานที่มีคุณค่า และเป็นธรรมเกิดขึ้นจริง เพื่อนำมาสู่การแก้ไขกฎหมายเรื่องการรวมกลุ่ม และการเจรจาต่อรองให้สอดคล้องกับสถานการการจ้างงานในปัจจุบันของประเทศไทย และเพื่อแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงาน
 
4. รัฐบาลต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้แรงงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์การจ้างงานในปัจจุบัน โดยกระบวนการแก้ไขกฎหมายต้องเน้นการมีส่วนร่วมจากผู้ใช้แรงงานในทุกระดับ
 
5. รัฐต้องให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานอย่างครอบคลุม ทั่วถึง และในขณะเดียวกันก็ต้องมีมาตรการในการจัดการกับนายจ้างที่อาศัยช่องว่างทางกฎหมาย หรืออาศัยช่องว่างที่ลูกจ้างไม่รู้กฎหมาย มาเป็นเครื่องมือในการเอาเปรียบหรือละเมิดสิทธิผู้ใช้แรงงาน
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เงินเดือน 15,000บาท กับการบริหารบุคลากรของหน่วยงานราชการ

$
0
0

สืบเนื่องจากนโยบายของพรรคเพื่อไทย (พท.) ในเรื่องเงินเดือนข้าราชการบรรจุใหม่ 15,000 บาท เรื่องนี้ผมมีส่วนได้เสียโดยตรง และเมื่ออาทิตย์ที่แล้วเป็นครั้งแรกที่ผมได้เงินเดือนอัตราใหม่ตามที่ พท. ได้หาเสียงเอาไว้คือ 15,000 บาท (ยังไม่หักรายจ่าย) ฟังเผิน ๆ อาจจะน่าดีใจที่ได้รับเงินเดือนเพิ่มจาก 13,500 บาท ปัญหาอยู่ที่ เงินเดือนเท่ากับราชการที่เพิ่งบรรจุใหม่ ทั้งที่ผมบรรจุเข้าทำรับราชการมาแล้ว 12 ปี เรียบจบสูงกว่า และมีประสบการณ์ในการทำงานที่มากกว่า

คำถามคือ พท. คิดอะไรอยู่?

โดยส่วนตัว แม้ผมจะมีส่วนได้ส่วนเสียกับการขึ้นเงินเดือนราชการโดยตรง แต่ผมไม่เคยเห็นด้วยกับการปรับฐานเงินเดือนราชการแบบทีละมาก ๆ เพราะการปรับฐานเงินเดือนลักษณะนี้ ทำให้คุณภาพชีวิตข้าราชการแย่ลง เนื่องจากเราต้องไม่ลืมว่า เงินเดือนข้าราชการเป็นปัจจัยกำหนดค่าเงินที่สำคัญมากปัจจัยหนึ่ง ไม่ต่างกับค่าแรงขั้นต่ำมากนัก การขึ้นอัตราเงินเดือนครั้งละมาก ๆ แม้เงินที่ได้มากขึ้น ทั้งนี้ค่าครองชีพจะถีบตัวสูงขึ้นไปในอัตรที่สูงกว่า ทำให้คุณภาพชีวิตโดยรวมของข้าราชการแย่ลง

วิธีการที่ผมเห็นด้วยคือ ขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ตามอัตราเงินเฟ้อ หรือ เพิ่มเงินหรือสวัสดิการในส่วนอื่นที่นอกเหนือเงินเดือน

แต่วิธีการที่รัฐบาล พท. ตัดสินใจทำ คือสิ่งที่เกือบแย่ที่สุด ทั้งในเรื่องคุณภาพชีวิต และกำลังใจของข้าราชการในการปฏิบัติหน้าที่ ที่แย่กว่านี้มีเพียงอย่างเดียวคือ ขึ้นเงินเดือนให้ข้าราชการบรรจุใหม่ แต่คงเงินเดือนให้ข้าราชการที่บรรจุก่อนหน้า

ปัญหาไม่มีเพียงเท่านั้น

ระบบการบริหารจัดการบุคคลากรของหน่วยงานราชการยังมีปัญหามาก โดยเฉพาะกระบวนการคิดที่พื้นฐานที่สุด นั่นคือ หากคนที่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการแล้ว ต้องเป็นข้าราชการไปจนกว่าจะเกษียณอายุราชการ ป่วย หรือตายไป ซึ่งมีผลอย่างมากต่อแนวทางการบริหารบุคลากรของหน่วยงานราชการ แนวคิดเช่นนี้ทำให้เรามีบุคลากรมากเกินความจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าราชการระดับสูง แล้วก็จะส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน (เมื่อจำนวนผู้บริหารกับผู้ปฏิบัติเท่ากัน หรือบางที่มีผู้บริหารมากกว่า ทำให้การจัดโครงสร้างในรูปพีรามิดฐานกว้างเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้) และสวัสดิการของข้าราชการรายบุคคล

ด้วยอัตราเงินเดือนที่สูงขึ้นตามอายุราชการ ทำให้ข้าราชการระดับสูงที่เป็นส่วนเกินเหล่านี้ เป็นภาระอันหนักอึ้งในการจัดสรรงบประมาณในแต่ละปี (นั่นหมายถึงภาษีของประชาชนนั่นเอง) ในขณะเดียวกัน ข้าราชการระดับล่างก็ได้รับเงินเดือนน้อยกว่าที่ควรจะเป็นมาก หรือแม้แต่ข้าราชการระดับสูงเองก็ตาม ก็ได้เงินเดือนน้อยกว่าที่ควรเป็น เพราะมีตัวหารในปริมาณที่สูงเกินไป

แนวทางที่ประเทศต่าง ๆ ส่วนมากทำกันก็คือ ควรจำหน่ายข้าราชการออกจากราชการตามวาระ โดยให้ค่าตอบแทนที่เหมาะสม และหางานรองรับที่เหมาะสม หลังจากออกจากราชการ (ทำให้ช่วงอายุที่ออกจากราชการจะถูกบีบลงมาที่ 30-45 ปี เพราะไม่เช่นนั้นจะหางานรองรับยาก) วิธีการนี้จะทำให้เม็ดเงินตกถึงข้าราชการแต่ละคนมากขึ้น เกิดการแข่งขันสูงขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของราชการโดยรวมให้ดีขึ้น หรือหากจะตั้งความหวังให้สูงขึ้นไปอีก เงินเดือนราชการอาจจะสูงเทียบเท่าหรือสูงกว่าเงินเดือนพนักงานบริษัทเอกชน โดยที่ไม่ทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงเกินไป และเราอาจจะได้บุคลากรที่มีคุณภาพ (มากขึ้น) มาเป็นข้าราชการก็เป็นได้

เมื่อกลับมาถามว่าสิ่งที่ พท. ทำอยู่ช่วยแก้ปัญหาให้กับเงินเดือนที่ไม่พอใช้ของข้าราชการได้หรือไม่ ก็คงได้เพียงระยะสั้นในช่วงที่ค่าครองชีพยังไม่ถีบตัวขึ้นไปเท่านั้น แต่ในทางกลับกัน นโยบายดังกล่าวกลับทำให้ปัญหายุ่งยากและซับซ้อนขึ้น ทั้งนี้เป็นนโยบายที่ พท. จำเป็นต้องนำไปปฏิบัติ เพราะได้หาเสียงไปแล้ว และเป็นการประนีประนอมกับกลุ่มอำนาจเก่า อย่างข้าราชการประจำได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้แนวคิดเรื่องการจำหน่ายข้าราชการออกจากราชการตามวาระ จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มีเสถียรภาพพอที่จะควบคุมข้าราชการประจำได้ เพราะแน่นอนว่ามีข้าราชการประจำส่วนหนึ่ง (โดยเฉพาะ ข้าราชการระดับสูงประเภทเช้าชามเย็นสองชาม) จะไม่พอใจในแนวทางนี้

ถามว่า พท. ตอนนี้มีเสถียรภาพมากพอหรือไม่ ปั๊ดโธ่..!  มีเสียงในสภาที่มาจากการเลือกตั้งเกินครึ่ง หากไม่ทำตอนนี้จะทำตอนไหน..?

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คอนเสิร์ต ‘Maher Zain’ ส่อเค้าล้ม ‘ศอ.บต.’ ปฏิเสธจ่ายค่าตัว 5 ล้าน

$
0
0

คอนเสิร์ต ‘Maher Zain’ ส่อเค้าล้ม ‘ศอ.บต.’ ปฏิเสธจ่ายค่าตัว 5 ล้าน “ทวี สอดส่อง” ยัน รับปากช่วยแค่ซื้อตั๋วให้เด็กกำพร้าเข้าชมคอนเสิร์ต ผู้เกี่ยวข้องปัดกันวุ่น ไม่มีใครออกมาชี้แจง

ล้ม – ป้ายโฆษณาคอนเสิร์ต Maher Zain นักร้องดังชาวเลบานอน ที่ติดทั่วเมืองยะลาและจังหวัดใกล้เคียง ถึงวันนี้มีแนวโน้มสูงว่าจะถุกยกเลิก เนื่องจากมีปัญหางบประมาณค่าตัวของนักร้องที่สูงลิ่วถึง 5 ล้านบาท

 

 

รายงานข่าวจากจังหวัดยะลาแจ้งว่า เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 24 เมษายน 2555 ห้องประชุมพ่อเมืองยะลา นายเดชรัฐ สิมศิริ ผู้ว่าราชการยะลาเป็นประธานการประชุมสรุปเตรียมงานคอนเสิร์ตอนาซีดการกุศล “Maher Zain Live in Yala: Concert for PEACE” ที่จะมีการแสดงของ Maher Zain นักร้องชื่อดังชาวเลบานอน สัญชาติสวีเดน อายุ 29 ปี ที่สนามกีฬาวิทยาลัยพลศึกษา วิทยาเขตยะลา ในวันที่ 4 พฤษภาคม 2555 ผลจากการประชุมมีแนวโน้มมีแนวโน้มว่า คอนเสิร์ตครั้งนี้ อาจจะไม่มีการจัด หรือจะถูกเลื่อนออกไป เนื่องจากไม่มีงบประมาณจ่ายค่าตัว 5 ล้านบาทให้กับ Maher Zain ขณะที่สถานที่จัดคอนเสิร์ตไม่พร้อม มาตรการรักษาความปลอดภัยยังไม่ชัดเจน

นายสัมพันธุ์ มุซอดี ประชาสัมพันธ์จังหวัดยะลา กล่าวว่า ถ้าต้องการรู้ข้อเท็จจริงกรณีนี้ ให้สอบถามจากนายอีรฟาน สูหลง ผู้ประสานงานการจัดคอนเสิร์ต

เย็นวันที่ 25 เมษายน 2555 นายอีรฟาน ได้โพสต์ข้อความในเว็บไซด์เฟสบุ๊ก Erafarn Sulong ว่า ประชุมสรุป MZ เมื่อวาน ท่านพ่อเมืองยะลา ท่านผู้ว่านำการประชุม พร้อมหัวหน้าส่วนระดับจังหวัดกว่า 30 ท่าน เมื่อเวลาบ่ายสองครึ่ง ก้อจำเป็นต้องนำเรียน ให้ทราบความเคลื่อนไหว ที่มีปัจจัยหลายอย่าง มีคำว่าเลื่อนอยู่หลายครั้ง ผมมีโอกาสได้ชี้แจงเรื่องงบประมาณที่พยามหาให้ครบ สถานที่เป็นประเด็นใหม่ที่จะเปลี่ยนจากสนามกีฬาเปิด มาเป็นสนามปิดพระเศวต เนื่องจากความไม่เเน่นอนของภูมิอากาศ ฝนที่ตกไม่แน่นอนตามมา การเปลี่ยนผังที่นั่ง ส่งผลให้มีการระงับการจำหน่ายบัตร เรื่องเครื่องเสียงของดีที่สุดที่เรามี ไม่ผ่านมาตฐาน Sound Engineer MZ .............

“ผมไม่ดันทุรังครับ ฟังที่ประชุมและการแนะนำของผู้ใหญ่........อะไรจะเกิดขึ้น มันเกินกำลังผมแล้ว ครับ วันนี้ผมต้องไปมาเลเซีย เพื่อแจ้งผลการประชุมดังกล่าวให้ทางคุณ Ridwan ได้เข้าใจอย่างแท้จริง .......”

ต่อมา เย็นวันที่ 27 เมษายน 2555 ผู้สื่อข่าวได้สอบถามนายอีรฟานขณะอยู่ในประเทศมาเลเซีย ทางโทรศัพท์ ถึงความคืบหน้าของการจัดคอนร์เสิร์ต แต่นายอีรฟานปฏิเสธ ขอให้ไปสอบถามกับผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามไปยังนายเดชรัฐกลับได้รับคำตอบว่า ตนไม่มีข้อมูลการจัดงานคอนเสิร์ต ให้ไปสอบถามจากนายอีรฟาน

จากความไม่ชัดเจนดังกล่าว ส่งผลให้ข่าวแพร่กระจายออกไปทั่วจังหวัดยะลาว่า งานคอนเสิร์ตครั้งนี้ส่อเค้าจะถูกล้มเลิก เนื่องจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ปฏิเสธที่จะให้การสนับสนุนค่าตัวของ Maher Zain จำนวน 5 ล้านบาท

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้นายเดชรัฐ ได้ขอให้ ศอ.บต.สนับสนุนการจัดคอนเสิร์ตอนาซีดการกุศล “Maher Zain Live in Yala: Concert for PEACE” โดย ศอ.บต.ยินดีสนับสนุนเงินค่าตั๋วชมคอนเสิร์ตให้แก่เด็กกำพร้าจำนวนหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้รับว่าจะจ่ายค่าตัวนักร้อง Maher Zain ตามที่หลายฝ่ายเข้าใจ

 

 

หมายเหตุ 
โครงการค่ายอบรมข่าวนักเรียนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดำเนินการโดย โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ) สนับสนุนโดย โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมในภาคใต้ของประเทศไทย (STEP Projet)

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เดือนเด่น นิคมบริรักษ์: ธุรกิจโทรคมนาคมไทย: ถอยหลังลงคลอง?

$
0
0

ธุรกิจโทรคมนาคมเป็นเสาหลักของการพัฒนาทางเศรษฐกิจในยุคสารสนเทศที่ความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลและความสามารถในการแพร่กระจายข้อมูลเป็นปัจจัยที่สร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน การมีบริการการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพสูงจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการที่ประเทศไทยก้าวข้ามกับดักของประเทศที่มีรายได้ปานกลาง (middle income trap)  ไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง  แต่ผู้เขียนมองสภาพตลาดโทรคมนาคมในประเทศไทยแล้ว  กลับอยู่ในสภาวะถดถอยเนื่องจากการแข่งขันในตลาดมีจำกัด และยังอาจเกิดการผูกขาดในอนาคตอีกด้วย ผู้ประกอบการต่างชาติไม่สนใจที่จะเข้ามาลงทุนในธุรกิจโทรคมนาคมไทยด้วยเหตุผลดังนี้

ประการแรก การแข่งขันในธุรกิจโทรคมนาคมไทยยังคงจมปลักกับการช่วงชิงความได้เปรียบ เสียเปรียบกันจากระบบสัมปทาน  ดังจะเห็นได้จากการแก้ไขเงื่อนไขในสัญญาสัมปทานหลายฉบับในอดีต และล่าสุดกรณีการทำสัญญาเพื่อให้บริการ 3G ระหว่างกลุ่มทรูกับ กสท.  ที่ถูกมองว่าเป็นสัมปทานจำแลง   การทำสัญญาในลักษณะดังกล่าวมีโอกาสเกิดขึ้นอีกสูง  เนื่องจากผู้ประกอบการที่มีสายสัมพันธ์กับทางการเมืองย่อมเล็งเป้าไปที่การใช้ช่องทางของสัมปทานในการได้มาซึ่งคลื่นความถี่โดยการทำสัญญากับรัฐวิสาหกิจซึ่งอยู่ภายใต้อาณัติของฝ่ายการเมือง   หากเป็นเช่นนั้นแล้ว   ธุรกิจโทรคมนาคมไทยก็ไม่มีวันที่จะพัฒนาได้ เพราะการแข่งขันจะไม่มีวันเสรีและเป็นธรรม  ผู้ประกอบการที่ไม่มีเส้นสายทางการเมืองก็ไม่สามารถสร้างความได้เปรียบจากระบบสัมปทานได้  ทำให้แข่งขันได้ยากและอาจถูกบีบออกจากตลาดในที่สุด

ประการที่สอง กฎ กติกาในการกำกับดูแลไม่คุ้มครองผู้ประกอบการรายย่อย  ในปี พ.ศ. 2553 ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เอกชนรายที่ 4 คือ Hutch ต้องถอนตัวออกไปจากตลาด (ส่งผลให้กลุ่มทรูเข้ามาเทคโอเวอร์)   เนื่องจากประสบผลขาดทุนจากการที่ไม่สามารถเชื่อมต่อโครงข่ายของตนกับโครงข่ายของผู้ให้บริการรายใหญ่ คือ AIS DTAC และ TRUE  ซึ่งเรียกร้องค่าเชื่อมต่อโครงข่ายในอัตราที่สูงมาก คือ 1 บาทต่อนาทีได้ ลูกค้าของ Hutch จึงไม่สามารถติดต่อสื่อสารกับบุคคลอื่นนอกโครงข่าย กว่า กทช.  

[1] จะเข้ามาแก้ไขปัญหาโดยการกำหนดอัตราค่าเชื่อมต่ออ้างอิงที่ 50 สตางค์ต่อนาทีเมื่อกลางปี พ.ศ. 2553 ซึ่งเวลาก็ล่วงเลยไปแล้วกว่า 2 ปี ก็สายเกินไปเสียแล้ว  ตัวอย่างของ Hutch ที่ต้องม้วนเสื่อไปคงทำให้ผู้ประกอบการต่างชาติรายอื่นๆ  รวมทั้งผู้ประกอบการไทยรายใหม่ไม่กล้าเข้ามาในตลาดโทรคมนาคมไทย  เพราะไม่มั่นใจว่า กฎ กติกาในการกำกับดูแลจะให้ความเป็นธรรมแก่เขาได้เพียงใด

ประการที่สาม  กฎ กติกาของ กทช. นอกจากไม่คุ้มครองรายย่อยแล้วยังจำกัดการแข่งขันในตลาดอีกด้วย  ดังจะเห็นได้จาก ประกาศ กทช. ว่าด้วยการกำหนดข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว พ.ศ ๒๕๕๔ ซึ่งได้กำหนดนิยามของคนต่างด้าวที่เข้มงวดกว่าที่ปรากฎอยู่ใน พ.ร.บ. การประกอบกิจการของคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๕๔๒  อย่างมาก  การดำเนินการดังกล่าวมีความผิดปกติอยู่มาก  เนื่องจากมีการเร่งรีบและรวบรัดก่อนที่กรรมการชุดดังกล่าวจะหมดวาระ ทำให้มีการตั้งข้อสงสัยว่า  ทั้งหมดนี้เป็นการดำเนินการเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ผู้ประกอบการรายหนึ่งในตลาดที่มีเส้นสายทางการเมืองแน่นแฟ้นกับรัฐบาลในสมัยนั้นหรือไม่

ผู้เขียนได้ฝากความหวังไว้กับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)  ที่เข้ามารับตำแหน่งใหม่ว่าคงจะปรับปรุงกฎ กติกา ในการกำกับดูแลให้เอื้อต่อการแข่งขันที่เป็นธรรมในตลาดมากกว่าในอดีต   บททดสอบแรก คือ ร่างประกาศฯ ว่าด้วยการกำหนดข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว ฉบับใหม่ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของ กทค. [2] ในเร็ววันนี้  ผู้เขียนได้เห็นร่างที่จะมีการนำเสนอแล้วก็มีความเป็นห่วงอย่างยิ่งว่า  หากมีการเห็นชอบร่างดังกล่าวแล้ว  ตลาดโทรคมนาคมไทยอาจถอยหลังเข้าคลองในอนาคตอันใกล้  ด้วยเหตุผลดังนี้

ประการแรก แม้ร่างดังกล่าวได้ตัดสาระที่เกี่ยวกับความมั่นคงออกไปหมดแล้ว  (ซึ่งผู้เขียนเห็นด้วยว่าการอ้างเรื่องความมั่นคงนั้นเลื่อนลอย)    หากแต่ยังคงบัญชีข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าวทั้ง 8 ข้อ   ซึ่งรวมถึงการครอบงำผ่านแหล่งเงินทุน สัญญาจัดซื้อจัดจ้าง การถ่ายโอนค่าใช้จ่าย การทำสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา  การโอนราคา ฯลฯ การวินิจฉัยว่าการประกอบธุรกรรมกับคนต่างด้าวในลักษณะใดจึงจะถือว่าเป็นการครอบงำนั้นขาดหลักเกณฑ์ หรือวิธีการพิจารณาที่ชัดเจนจึงขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของ กสทช. เป็นหลัก 

ประการที่สอง  ประกาศฉบับนี้ไม่มีเหตุผลรองรับที่ชัดเจนว่าทำไปเพื่ออะไร  ธุรกิจโทรคมนาคมไทยมีปัญหาที่เกี่ยวกับการถูกคนต่างด้าวครอบงำหรือ และการครอบงำดังกล่าวดทำให้ผู้ใช้บริการเสียประโยชน์หรือถ่วงพัฒนาการของธุรกิจโทรคมนาคมไทยอย่างไร จึงต้องมีประกาศฉบับนี้ กรรมการชุดที่แล้วบอกว่าเป็นเรื่องความมั่นคง  กรรมการชุดนี้บอกไม่เกี่ยวกับเรื่องความมั่นคง  แต่ก็ไม่ยกเลิกและไม่สามารถชี้แจงเหตุผลในการออกประกาศฉบับนี้ได้  รวมทั้งไม่มีการทำรายงานที่แสดงผลดี ผลเสียต่อธุรกิจโทรคมนาคม และผู้บริโภคตามข้อกำหนดของ กสทช. เองตามเดิมจากที่ผู้เขียนเคยท้วงติงเมื่อกว่าครึ่งปีที่แล้ว

ประการที่สาม จนบัดนี้แล้ว  กสทช. ก็ยังไม่สามารถชี้แจงได้ว่าประกาศดังกล่าวขัดกับพันธกรณีของประเทศไทยที่ให้ไว้ในองค์การการค้าโลกหรือไม่  เพียงแต่เขียนไว้ในร่างประกาศฉบับใหม่ว่า  ประกาศฉบับนี้สามารถบังคับใช้ได้ “เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับความตกลงหรือสนธิสัญญาที่ประเทศไทยเป็นภาคีหรือมีความผูกพันตามพันธกรณี”  หากเนื้อหาเกี่ยวกับการครอบงำกิจการของคนต่างด้าวทั้งหมดขัดกับพันธกรณีของไทยในองค์การการค้าโลกแล้ว  ประกาศนี้จะเป็นเพียงแค่เศษกระดาษที่แสดงถึงความไม่รอบคอบในการออก กฎ กติกา ของ กสทช. เท่านั้น  เพราะไม่สามารถบังใช้กับนักลงทุนจากประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลก  153 ประเทศได้ แล้วจะออกมาเพื่ออะไร  หรือคิดว่าจะใช้สำหรับนักลงทุนจากประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก เช่น อัฟกานิสถาน ลิเบีย หรือ เกาหลีเหนือ ?

ผู้เขียนเห็นว่า  ประกาศฉบับนี้แท้จริงแล้วไม่ใช่เรื่องของการป้องกันการครอบงำธุรกิจโทรคมนาคมของคนต่างด้าว  หากแต่เป็นการกีดกันผู้ประกอบการรายใหม่ที่อาจสนใจเข้ามาแข่งขันในการประมูลคลื่น 3G และเป็นการเปิดช่องให้การเมืองเข้าครอบงำธุรกิจโทรคมนาคมไทยมากกว่า  เนื่องจากประกาศนี้ทำให้ กสทช. สามารถใช้ดุลยพินิจได้อย่างเต็มที่ในการชี้ว่าผู้ประกอบการรายใดเป็นคนต่างด้าวและรายใดมิใช่คนต่างด้าว  ผู้ประกอบการที่ไร้เส้นสายทางการเมืองอาจถูกบีบให้ออกจากตลาดเหมือนที่ Hutch เคยโดนมาแล้ว  ณ เวลานั้นคนไทยก็คงจะต้องเตรียมควักกระเป๋าสตางค์จ่ายค่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่แพงลิบลิ่วเหมือนในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2543 ที่มีผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (สัญชาติไทยแท้ ณ เวลานั้น) เพียงสองรายในตลาด

แม้ประกาศนี้จะกระตุ้นต่อม “รักชาติ” ของคนไทย  แต่เราต้องไม่ลืมว่าที่ผ่านมานั้น  การครอบงำของการเมืองที่มุ่งแสวงหากำไรจากการผูกขาดได้สร้างความเสียหายให้แก่ประเทศมากกว่าการครอบงำของคนต่างด้าวที่แสวงหากำไรจากการแข่งขันในตลาด

 

................................................

 

[1]  คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม ตาม พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2543 ซึ่งตอนนี้กลายเป็น คณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช) ตาม.  พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553

 

[2]  คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการกิจการ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช)

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เหลียวหลัง-แลหน้า 'สันติวิธีแบบพระ'

$
0
0

เมื่อวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา มีกิจกรรมสันติประชาธรรมเสวนา เรื่อง “สันติวิธี ความเป็นกลาง ธรรมะ และความเป็นธรรม: บทบาทของพุทธศาสนาท่ามกลางวิกฤตทางสังคมและการเมือง ควรเป็นอย่างไร” ที่ “สวนเงินมีมา” มีบางประเด็นที่ค้างคาอยู่ในใจซึ่งผมอยากนำมาเล่าต่อ

คือในช่วงแลกเปลี่ยน มีบางคำถามที่น่าสนใจ เช่น คุณบารมี ชัยรัตน์ ถามว่า “สันติวิธีบ้านเรามักเรียกร้องกับ ‘ฝ่ายผู้ถูกกระทำ’ มากกว่าที่จะเรียกร้องกับ ‘ฝ่ายผู้กระทำ’ อย่างเวลาชาวบ้านชุมนุมต่อต้านการสร้างเขื่อน นักสันติวิธีก็จะเข้าไปบอกชาวบ้านว่าอย่าใช้ความรุนแรงนะ หรือที่เคยมามาชุมนุมแล้วมีเหตุการณ์ทำนองว่าจะยึดทำเนียบ นักสันติวิธีก็เข้ามาเลย เข้ามาเตือน และติวชาวบ้านเลยว่า ทฤษฎีสันติวิธีมีอะไรบ้าง จะต้องปฏิบัติอย่างไร ทำไมนักสันติวิธีไม่เดินนำชาวต่อสู้กับอำนาจรัฐที่กดขี่ชาวบ้านบ้าง ไม่เรียกร้องสันติวิธี และความเป็นธรรมกับฝ่ายผู้มีอำนาจบ้าง?”

หรือที่อาจารย์เฟย์ถามว่า “ท่ามกลางความเป็นจริงของปัญหาขัดแย้งทางสังคมการเมืองที่มันมี imbalance of power หรือมีความไม่สมดุลของอำนาจต่อรองทางการเมืองอย่างชัดเจน บทบาทของนักสันติวิธีควรจะอยู่ตรงไหน จำเป็นต้องอยู่ตรงกลางเท่านั้นหรือ นักสันติวิธีกล้าหรือไม่ที่จะตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์ หรือถือธงนำชาวบ้านต่อสู้กับอำนาจที่กดขี่?”

ผมจึงถามหลวงพี่ไพศาล วิสาโล ต่อว่า “หลวงพี่กล้าหรือเปล่าครับ... ถ้าปี 53 ที่ผ่านมาหลวงพี่ถือธงสันติวิธีนำมวลชนเสื้อแดงต่อสู้กับอำมาตย์ คิดว่าปัญหาขัดแย้งทางสังคมจะเปลี่ยนไปไหม?”

หลวงพี่ไพศาลตอบ (ประมาณ) ว่า

“กล้า...แต่ว่าก็ต้องดูบริบทด้วย กรณีคนเสื้อแดงถ้าอาตมาไปถือธงนำก็ต้องถูก define ว่า เลือกฝ่ายเสื้อแดง ซึ่งเรื่องนี้อาตมามีข้อสงวนส่วนตัวว่าไม่เลือกเพราะไม่ยอมรับแกนนำบางคนและยุทธวิธีบางอย่างที่ไม่ใช่สันติวิธี ในแง่หลักการอาตมาเลือกประชาธิปไตยไม่เอาเผด็จการ สนับสนุนเสรีภาพ และความเป็นธรรม


แต่ฝ่ายทางการเมืองอาตมามีข้อสงวนของตนเองที่จะไม่เลือกฝ่าย และเลือกทำงานสันติวิธีตามแนวทางนี้ ซึ่งก็เป็นสิทธิ์ของอาตมาที่จะเลือกได้ แต่อยากให้มองสันติวิธีกว้างๆ แบบหนูหริ่งก็สันติวิธี แบบนิติราษฎร์ก็สันติวิธี แม้แต่การใช้วิธีเลือกตั้งเพื่อกลับมามีชัยชนะทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยก็เป็นสันติวิธี...ฉะนั้น สันติวิธีหรือการไม่ใช้ความรุนแรงเป็นเรื่องจำเป็นในการต่อสู้ทางการเมืองและความขัดแย้งอื่นๆ”  ย์คิดว่าษ์วิจารณ์หรือถือธงนำชาวบ้านต่อสู้กับอำนาจ่วมต่อสู้กั


ขณะที่ วิจักขณ์ พานิช มองว่า


“สันติวิธีบ้านเรามันเป็น “สันติวิธีแบบพระ” คือเป็นสันติวิธีที่พยายามหาจุดหรือตำแหน่งที่แน่นอนของสิ่งที่เรียกว่า “ความเป็นกลาง” และความเป็นกลางก็มักอ้างอิงความเชื่อเรื่อง “ทางสายกลาง” ของพุทธศาสนาเถรวาทในบ้านเราที่ถือว่าเป็นกลางคือถูกต้อง ไม่เป็นกลางคือผิด จะเห็นได้ตั้งแต่พระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนาแล้วที่ยืนยันว่า มัชฌิมาปฏิปทาหรือทางสายกลางถูก กามสุขัลลิกานุโยค กับอัตตกิลมถานุโยคผิด


แต่ความเป็นกลางแบบมหายานจะไม่แยกถูก-ผิดแบบขาว-ดำเช่นนี้ เช่น เป็นกลางตามหลักปรัชญามาธยมิกจะชวนให้เราคิดเชิงวิพากษ์เลยว่า อย่างนี้ไม่ใช่ อย่างนั้นก็ไม่ใช่ ไม่ใช่ก็ไม่ใช่ หมายความว่า ถ้าคุณบอกว่าปัญหาทั้งหมดมาจากทักษิณคนเดียวมันย่อมไม่ใช่แน่ๆ ถ้าบอกว่ามาจากอำมาตย์ฝ่ายเดียวก็ไม่ใช่อีก หรือจะบอกว่าไม่ใช่ทั้งหมดเลย ปัญหาไม่ได้มาจากทักษิณ อำมาตย์หรือฝ่ายไหนๆ เลย ก็ไม่ใช่อีกนั่นแหละ


ประเด็นคือ หลักความเป็นกลางแบบมาธยมิก มันช่วยให้เราเป็นอิสระที่จะวิเคราะห์เหตุปัจจัยทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นฝักฝ่าย หลักการ และฯลฯ เมื่อเรารู้ว่าความถูกต้องอยู่ตรงไหน อยู่ฝ่ายไหน เราก็สามารถเลือกยืนอยู่ตรงนั้นได้ ไม่จำเป็นต้องอยู่ตรงกลางระหว่างฝ่ายต่างๆ เสมอไป”


ส่วนตัวผมเองมอง (และเพิ่มเติม ณ ที่นี้) ว่า สันติวิธีต้องสนับสนุนสัจจะ เสรีภาพ และความเป็นธรรม แต่สันติวิธีที่พยายาม “เป็นกลาง” ในความขัดแย้งที่ผ่านมา เป็นสันติวิธีที่เรียกร้องกับฝ่ายผู้ถูกกระทำมากกว่า พยายามที่จะเป็นกลางในสถานการณ์ที่อำนาจต่อรองทางการเมืองไม่เท่าเทียมอย่างยิ่ง และเป็น “สันติวิธีแบบพระ” ที่ยังไงก็ต้องเป็นกลางระหว่างฝ่ายต่างๆ คอยเตือนสติฝ่ายต่างๆ ไม่ให้ใช้ความรุนแรงเท่านั้น น่าตั้งคำถามว่าสันติวิธีแบบนี้เป็นสันติวิธีที่สนับสนุนสัจจะ เสรีภาพ และความเป็นธรรมหรือไม่?

เพราะเป็นสันติวิธีที่ไม่ได้ต่อสู้เพื่อสัจจะ เช่น ไม่ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับความจริงเบื้องหลังรัฐประหาร หรือต่อสู้เพื่อให้พูดความจริงดังกล่าวได้ ไม่ใส่ใจความจริงเกี่ยวกับการสลายการชุมนุมเพื่อนำไปสู่ความยุติธรรม ไม่ได้ต่อสู้เพื่อเสรีภาพจากการครอบงำกดขี่ของอำนาจนอกระบบ ไม่ได้เรียกร้องให้เอาผิดใดๆ กับฝ่ายทำรัฐประหาร เป็นต้น


จะว่าไปแล้ว “ความเป็นกลาง” แบบนักสันติวิธี หรือแม้แต่แบบสถาบันวิชาการในบ้านเราล้วนแต่ควรถูกตั้งคำถาม เช่น ล่าสุดรายงานของสถาบันพระปกเกล้าที่มุ่งแสวงหาทางปรองดอง ถูกโจมตีว่า “เป็นเครื่องมือช่วยทักษิณ” ทั้งที่ตามรายงานนั้นมีข้อเสนอให้เอาผิดทักษิณอยู่ด้วย แต่เสนอว่าไม่ควรรื้อฟื้นเอาผิดฝ่ายผู้ก่อรัฐประหาร ไม่ควรพูดเรื่องการแก้ไข ม.112 หรือประเด็นสถาบันโดยอ้างว่าเป็นเรื่อง “ละเอียดอ่อน”

ฉะนั้น รายงานวิจัยนี้จึง “ไม่เป็นกลาง” อยู่แล้ว เพราะเป็นรายงานที่กันฝ่ายทำรัฐประหารให้พ้นผิดไปเลย กันสังคมว่าไม่ควรเรียกร้องอะไรกับฝ่ายอำมาตย์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแก้ไข-เลิก ม.112 หรือเรื่องใดๆ แต่ยังให้เอาผิดกับทักษิณได้ กระนั้น “ความไม่เป็นกลาง” ของรายงานนี้ที่โจมตีกันนั้นกลับหมายถึงการเปิดช่องให้มีทางเลือกในการดำเนินการกับทักษิณได้ว่า จะนิรโทษกรรมหรือให้นำคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมใหม่ ซึ่งเป็นทัศนะที่บิดเบี้ยว

แต่ความเป็นกลางแบบนิติราษฎร์ คือ

1. การยืนยันหลักการที่ถูกต้อง ถ้ายืนยันหลักการที่ถูกต้องแล้ว ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะได้หรือเสียประโยชน์ก็ต้องยืนยัน เพราะความถูกต้องย่อมถูกในตัวมันเองไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายใดจะได้หรือเสียประโยชน์ไปเลย กันสังคมว่าไม่ควรเรียกร้องอะไรกับ


2. เป็นความเป็นกลางที่ยืนยันสัจจะ เสรีภาพ และความเป็นธรรม เช่น การเสนอแก้ ม.112 ก็คือเป็นการเปิดช่องทางให้พูดความจริงได้ มีเสรีภาพมากขึ้น การลบล้างผลพวงรัฐประหารก็คือการยืนยันความเป็นธรรมบน “ความเสมอภาคทางกฎหมาย” อันเป็นหลักสำคัญของนิติรัฐ

แน่นอน ผมเห็นด้วยกับหลวงพี่ไพศาลว่า แนวทางของนิติราษฎร์คือ “แนวทางสันติวิธี” เพราะเป็นการใช้เหตุผลเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางกฎหมายให้เป็นประชาธิปไตย เป็นการกระตุกสังคมให้หันมาถกเถียงปัญหาความไม่เป็นประชาธิปไตยทั้งในระดับตัวบทกฎหมาย และระดับอุดมการณ์


ทว่า “สันติวิธีแบบพระ” เท่าที่เป็นมา กลับไม่ชัดเจนว่ามีเป้าหมายอะไร ไม่ชัดเจนว่าให้ความสำคัญแค่ไหนกับการต่อสู้เพื่อสัจจะ เสรีภาพ และความเป็นธรรม

ซึ่งแน่นอนว่าในอนาคตหาก “สันติวิธีแบบพระ” (ไม่ได้หมายเฉพาะแบบหลวงพี่ไพศาล แต่หมายถึงสันติวิธีที่พยายาม “เป็นกลาง” ในภาวะที่ไม่สมดุลของอำนาจต่อรองทางการเมือง และเน้นการเทศนาเตือนสติเป็นหลัก) ไม่ยอมปรับเปลี่ยนทัศนะ ถ้ามีความขัดแย้งขึ้นอีกเราก็จะเห็นนักสันติวิธีออกมาส่งเสียงว่า “อย่าตีกันๆ” และเป็นซุ่มเสียงที่เรียกร้องกับ “ฝ่ายผู้ถูกกระทำ” มากกว่าอีกตามเคย

สันติวิธีที่ไม่ต่อสู้เพื่อสัจจะ เสรีภาพ และความเป็นธรรมอย่างจริงจังเช่นนี้ ย่อมกลายเป็นแนวร่วมของ “ฝ่ายผู้กดขี่” ไปโดยปริยาย!

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

May Day 2012: แรงงานแตก 2 ขบวน หวั่นนำช้างเดินขบวนอาจตกมัน 'เผดิมชัย' วอนแรงงานเป็นหนึ่งเดียว

$
0
0
ก.แรงงานทุ่ม 5 ล้าน จัดวันแรงงานนำช้าง 9 เชือกเดินเทิดพระเกียรติ พร้อมยื่น 9 ข้อเรียกร้อง จี้รัฐตั้งกองทุนความเสี่ยงเลิกจ้าง ยกเว้นภาษีเงินได้จากค่าชดเชยและลดค่าครองชีพ ด้าน คสรท.แยกจัดอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาแทน ค้านนำช้างเดินวันแรงงาน หวั่นอากาศร้อนทำตกมัน ด้าน 'เผดิมชัย' อยากให้องค์กรแรงงานเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
 
30 เม.ย. 55 - นายชัยพร จันทนา ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานอิสระแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ วันที่ 1 พ.ค. กล่าวว่า การจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ปีนี้กระทรวงแรงงานได้สนับสนุนงบประมาณ 5.1 ล้านบาท ให้กับคณะกรรมการจัดงานที่มีสภาองค์การลูกจ้าง 13 แห่ง และกลุ่มรัฐวิสาหกิจ 2 แห่ง เพื่อนำมาจัดงานเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสพระชนมพรรษา84 พรรษา และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา โดยมีการนำช้างสัญลักษณ์ประจำชาติไทยมาร่วมเดินขบวนด้วย 
 
ทั้งนี้สำหรับกำหนดการจัดงานวันแรงงานวันที่ 1 พ.ค.นั้น ตั้งริ้วขบวนของสภาองค์การลูกจ้าง 13 แห่ง และกลุ่มรัฐวิสาหกิจ 2 แห่ง พร้อมขบวนช้างจากปางช้างอยุธยา แต่งองค์เทิดพระเกียรติในชุดช้างศึกสมเด็จพระนเรศวร 9 เชือก มารวมตัวที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ตั้งแต่เวลา 07.00 น. จากนั้นเวลา 09.00 น. จะเคลื่อนขบวนไปตามถนนราชดำเนินเข้าสู่เวทีกลางที่สนามหลวง ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน  
 
นายชัยพร กล่าวอีกว่า ส่วนข้อเรียกร้องของผู้ใช้แรงงานที่จะยื่นกับนายกฯมีจำนวน 9 ข้อ ได้แก่ 
 
1.ให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 ข้อ 
 
2.ให้รัฐบาลจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงให้กับลูกจ้างในกรณีที่สถานประกอบการปิดกิจการ เลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงในการทำงาน 
 
3.ให้รัฐบาลยกเลิก พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 และยกเลิกการแปลงพ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 และยกเลิกการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจทุกกิจการ 
 
4.ให้รัฐบาลยกเว้นการเก็บภาษีเงินได้ของลูกจ้างและพนักงานรัฐวิสาหกิจ ในกรณีเงินค่าชดเชย และเงินรายได้อื่นซึ่งเป็นเงินงวดสุดท้ายของลูกจ้าง 
 
5.ให้รัฐบาลประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้แรงงานทราบอย่างกว้างขวางและติดตามผลการดำเนินงาน เรื่องความปลอดภัยในวิชาชีพและกรอบสุขภาพในระดับชาติ เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
 
6.ให้รัฐบาลตราพระราชกฤษฎีกาบทบัญญัติว่าด้วยการจัดเก็บเงินสะสมและเงินสมทบเพื่อเป็นกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างในหมวด 13 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 (มาตรา 163) 
 
7.ให้รัฐบาลประกาศพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานให้ทันตามกรอบเวลาและประกาศยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหิน 8.ให้รัฐบาลแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 11
 
8. ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง ซึ่งเลิกจ้างเป็น 2 เท่า จากเดิมที่บัญญัติไว้ 
 
9.ให้รัฐบาลออกกฎหมายจัดตั้งกองทุนสวัสดิการดูแลรักษาสุขภาพพนักงานรัฐวิสาหกิจหลังเกษียณอายุให้เทียบเท่ากับข้าราชการบำนญ หรือภาคเอกชน
 
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยแยกตัวจัด 1 พ.ค. เอง ประกาศเจตนารมย์ 9 ข้อจี้รัฐปฎิรูประบบประกันสังคม
 
นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ระบุว่า หลังรัฐบาลปรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท สถานการณ์แรงงานในปัจจุบันดีขึ้น หากไม่มีการปรับผู้ใช้แรงงานจะถูกกระทำดวยค่าครองชีพที่สูงขึ้น
 
สำหรับในวันพรุ่งนี้ (1พ.ค.) จะไม่ได้เข้าร่วมในงานวันแรงงานแห่งชาติกับสภาแรงงาน เพราะมีการจัดกิจกรรมเองที่จะสะท้อนปัญหาของกลุ่มโดยขบวนของกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยจะเริ่มที่บริเวณหน้ารัฐสภา ไปสิ้นสุดที่แยกคอกวัว เพื่อประกาศเจตนารมณ์หลัก 9 ข้อ และเจตนารมณ์เร่งด่วน 3 ข้อ เรื่องลดค่าครองชีพ เรื่องการปฏิรูประบบประกันสังคม ค่าจ้างที่เป็นธรรม ยกเลิกแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
 
ด้าน น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวถึงการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติที่เวทีท้องสนามหลวง โดยมีนายชัยพร เป็นประธานวันที่ 1 พ.ค.ว่า คสรท.และกลุ่มรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ นักศึกษาจะไม่ไปร่วมด้วย แต่จะแยกจัดกิจกรรมต่างหาก โดยตั้งขบวนที่หน้ารัฐสภาตั้งแต่เช้า จากนั้นเวลา 10.00 น. จะเคลื่อนขบวนไปยังอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ซึ่งจะมีเวทีเสวนาเกี่ยวกับปัญหาแรงงาน โดยพูดถึงความเดือดร้อนของคนงานและสินค้าราคาแพง
 
สำหรับข้อเรียกร้องของ คสรท.ที่สำคัญ ได้แก่
 
1.รัฐต้องมีมาตรการลดค่าครองชีพแก่ประชาชนและผู้ใช้แรงงานโดยเร่งด่วน โดยมีมาตรการควบคุมราคาสินค้า ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแก๊สหุงต้ม รถเมล์ รถไฟ เรือโดยสาร
 
2.รัฐต้องกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน โดยโครงสร้างค่าจ้างของแรงงานให้มีการปรับค่าจ้างทุกปี
 
3.รัฐและรัฐสภาต้องปฏิรูประบบประกันสังคมเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทางสังคม ตรวจสอบได้ และจะต้องเร่งรัดนำ ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับ 14,264 รายชื่อเข้าสู่การพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรโดยเร่งด่วน
 
"คสรท.ไม่เห็นด้วยที่กระทรวงแรงงานจะนำช้างจำนวน 9 เชือกมาร่วมเดินในขบวนวันแรงงาน เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีการนำสัตว์มาร่วมเดินขบวนในวันแรงงาน และขณะนี้สภาพอากาศร้อนจัด และในการจัดงานใช้เครื่องขยายเสียงดิฉันเป็นห่วงว่าช้างอาจจะทนไม่ไหวและตกมัน ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อประชาชนที่มาร่วมงานจำนวนมากได้" น.ส.วิไลวรรณ กล่าว
 
ด้านนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน กล่าวถึงกรณีองค์กรแรงงาน แยกจัดงานวันแรงงาน 2 เวทีเพราะความเห็นไม่ตรงกัน ว่าอยากให้องค์กรแรงงานเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เรื่องนี้เคยพูดกับนายชาลีลอยสูง ประธาน คสรท.แล้ว อยากเห็นผู้นำแรงงานมีความปรองดอง เพื่อให้ประเทศเดินหน้าได้ถ้าต่างฝ่ายต่างเดินคนละทางจะไม่เกิดพลังในการต่อสู้ โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาของผู้ใช้แรงงานส่วนเรื่องการรับข้อเรียกร้องของผู้ใช้แรงงานไปแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมนั้น สิ่งที่สามารถดำเนินการได้ทันทีมี 3-4 ข้อ เช่น การจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงให้กับลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง สำหรับข้อเรียกร้องอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้องกับกระทรวงแรงงานโดยตรงจะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือต่อไป
 
ที่มาเรียบเรียงจาก: ครอบครัวข่าว, โพสต์ทูเดย์, บ้านเมือง
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ขบวนที่ดินชนบทภาคอีสานจัดเวทีถกนโยบายจัดการที่ดิน

$
0
0
 
 
เพื่อเป็นการสรุปบทเรียน และนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาที่ดินและที่ทำกิน ต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงรัฐบาลในชุดปัจจุบัน ให้เป็นไปตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ จึงเป็นที่มาของการจัดงาน “เวทีขบวนที่ดินชนบทภาคอีสาน”
 
เมื่อวันที่ 26 – 27 เม.ย.55 เครือข่ายองค์กรชุมชนแก้ไขปัญหาที่ดินภาคอีสาน (คอป.อ.) จัดเวทีอภิปราย “นโยบายรัฐบาลกับแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินภาคประชาชน” ณ ศาลาเอกนกประสงค์ (ข้างศูนย์เด็กเล็ก) บ้านท่านางแมว ต.ท่านางแมว อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น โดยมีองค์กรภาคประชาชนเข้าร่วม อาทิ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) สถาบันองค์กรชุมชน – องค์การมหาชน (พอช.) เครือข่ายองค์กรประชาชนภาคอีสาน เครือข่ายผู้ไร้สิทธิ์สกลนคร และประชาชนผู้สนใจในพื้นที่ รวมทั้งจากจังหวัดอื่นๆ ทั่วภาคอีสาน กว่า 600 คน
 
นายนิวาส โคตรจันทึก ได้กล่าวถึงปัญหาที่ดินที่ไม่ได้รับการแก้ไขว่า หลักสำคัญคือตัวกฎหมาย และนโยบายต่างๆ ในการจัดการที่ดิน ไม่มีความเป็นธรรมต่อภาคเกษตรกร โดยหลักของกฎหมาย และนโยบายของรัฐบาลที่ออกมานั้น มักเอื้ออำนวยความสะดวก เปิดทางให้แต่ระบบนายทุน โดยการใช้เศรษฐกิจเป็นตัวกดทับชาวเกษตรกร ส่งผลกระทบให้เกษตรกรไม่สามารถรักษาที่ดินในการทำมาหากินได้ เนื่องจากต้องประสบปัญหาต้นทุนการทำเกษตรแพงขึ้น เช่น ปุ๋ย สารเคมี ฯลฯ ทำให้ประสบกับการขาดต้นทุน รายได้ไม่เพียงพอ ไม่สามารถมีทุนมากพอที่จะรักษาที่ดิน ทำให้เกิดการสูญเสียที่ดินไปในที่สุด
 
นอกจากนี้ประชาชนส่วนใหญ่ยังได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตอุทยานต่างๆ ทับที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย ทำให้เกิดปัญหา ในเรื่องการถือครองที่ดินทำกินอีกด้วย
 
“วัตถุประสงค์หลักการเปิดเวที ถือเป็นการมาสรุปบทเรียนร่วมกัน ในการที่จะช่วยกันแก้ไข ร่วมกันสร้างปัญญา ถือเป็นการติดอาวุธความคิดให้กับประชาชนทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดการรวมพลัง ให้มีความเอกภาพและร่วมกันจัดการปัญหาสังคม ให้เกิดความเป็นธรรม รวมทั้งผลักดันให้มีการจัดการที่ดินโดยชุมชนให้ควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบการผลิต และการจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อม อย่างถูกต้อง และยั่งยืน นั่นคือ หัวใจหลักในการจัดงานครั้งนี้” นายนิวาส กล่าว
 
ประยุทธ ชุ่มนาเสียว เครือข่ายประชาชนภาคอีสาน ให้สัมภาษณ์ก่อนเริ่มเปิดเวทีอภิปราย “นโยบายรัฐบาลกับแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินภาคประชาชน” ว่า เครือข่ายองค์กรชุมชนแก้ไขปัญหาที่ดินภาคอีสาน เป็นองค์กรประสานงานกลางของกลุ่ม /องค์กร/เครือข่ายต่างๆ ที่ประสบปัญหาเรื่องที่ดิน และที่ดินทำกินในภาคอีสาน 20 จังหวัด เพื่อให้เกิดมีการจัดการแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดิน โดยชุมชนและภาคีในท้องถิ่น ก่อให้เกิดพลังการขับเคลื่อนชุมชนท้องถิ่นนำไปสู่พลังการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน และเพื่อเป็นการสร้างหลักประกันการถือครองที่ดิน การพัฒนาคุณภาพชีวิตในด้านอื่นๆ ที่ยั่งยืน มั่งคง ภายใต้เจตนารมณ์การพึ่งตนเอง
 
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เวทีขบวนที่ดินชนบทภาคอีสาน มีแนวทางการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาเรื่องสิทธิที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัยโดยชุมชนและท้องถิ่น รวมทั้งการแสวงหาการจัดการที่ดินทางเลือกที่มีความมั่งคงยั่งยืน ให้เกิดเป็นรูปธรรม และมีการเชื่อมโยงภาคี/เครือข่ายองค์กรชุมชนในการแก้ไขปัญหาที่ดินให้เกิดความต่อเนื่อง รวมถึงนำไปสู่การพัฒนาพื้นที่ให้เป็นรูปธรรม ยกระดับเป็นศูนย์การเรียนรู้ เพื่อเป็นแนวทางในการขยายผล และร่วมกันผลักดันการแก้ไขปัญหาไปสู่นโยบายของรัฐ รวมทั้งให้มีการผลักดันตัวกฎหมายนโยบายเชิงโครงสร้างการจัดการที่ดินอย่างถูกต้องและเป็นธรรม
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

May Day 2012: เครือข่ายแรงงานข้ามชาติ จี้รื้อประกันสังคมใหม่ เผยจ่ายเงินแต่ไม่ได้รับการคุ้มครอง

$
0
0

 

เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2555 ณ สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน กรุงเทพฯ เครือข่ายพัฒนารูปแบบและกลไกเพื่อการเข้าถึงหลักประกันทางสังคมสำหรับแรงงานข้ามชาติ ร่วมกับองค์กรด้านแรงงานกว่า 10 องค์กร ประกอบด้วย เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ (Action Network for Migrants-ANM) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (Thai Labour Solidarity Committee - TLSC), มูลนิธิเพื่อนหญิง , มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน, มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน, มูลนิธิร่วมมิตรไทย – พม่า , ศูนย์ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนภาคอีสาน, โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย, กลุ่มเพื่อนประชาชน และศูนย์ข่าวข้ามพรมแดน จัดเวทีแถลงข่าวเนื่องในวันกรรมกรสากลปี 2555

บัณฑิต แป้นวิเศษ กรรมการเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ กล่าวว่า วันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันกรรมกรสากล เป็นวันที่กรรมกรทั้งหลายได้ลุกขึ้นมาเรียกร้องทวงถามสิทธิความเป็นมนุษย์ของตน เรียกร้องให้รัฐและนายจ้างปฏิบัติต่อแรงงานในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจและสังคม เป็นการต่อสู้เรียกร้องเพื่อให้ได้การทำงานที่มีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์มิใช่ถูกใช้แรงงานเยี่ยงเครื่องจักร โดยเรียกร้องให้แรงงานจะต้องได้รับชั่วโมงการทำงาน การพักผ่อน และการศึกษาหาความรู้อย่างละแปดชั่วโมงต่อวัน จนกระทั่งระบบนี้กลายเป็นมาตรฐานด้านสิทธิแรงงานที่ได้รับการยอมรับไปทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม แม้จะผ่านการต่อสู้เรียกร้องของกรรมกรทั่วโลกมาเนิ่นนาน แต่การละเมิดสิทธิแรงงานก็ยังเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยกลุ่มที่ยังเสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิคือ กลุ่มแรงงานข้ามชาติใน 3 สัญชาติ คือ พม่า ลาว และกัมพูชา เนื่องจากแรงงานข้ามชาติไม่สามารถที่จะเข้าถึงกลไกการคุ้มครองสิทธิที่มีอยู่ได้เนื่องมาจากปัจจัยสำคัญโดยเฉพาะในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายแรงงาน การเข้าถึงสวัสดิการ สิทธิ และการช่วยเหลือแรงงานยังมีปัญหา โดยเฉพาะการทำงานของกลไกด้านกฎหมายคุ้มครองแรงงาน รวมทั้งยังพบในเรื่องของการบังคับใช้และการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสมกับแรงงานข้ามชาติ

สมพงษ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน กล่าวว่า นโยบายกระทรวงแรงงานโดยตรงก็ยังขาดความชัดเจนในด้านการจัดการนโยบายแรงงานข้ามชาติในระยะยาว มีแต่แผนระยะสั้นที่ฝ่ายการเมืองและความมั่นคงเป็นผู้กำหนดรายปี ทำให้ไม่มีความสอดคล้องกับความเป็นจริงในการดำเนินการในหลายเรื่อง เช่น การจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติ หรือการพิสูจน์สัญชาติ ที่เป็นนโยบายรายปีหรือเป็นเพียงนโยบายของพรรคการเมืองและนักการเมืองที่มีส่วนได้เสียของการลงทุนและผลประโยชน์เชิงการควบคุม และสร้างเงื่อนไข ระเบียบการจัดการที่ทำให้เกิดช่องว่างการแสวงหาประโยชน์ของเจ้าหน้าที่รัฐบางคน บางหน่วยงาน ซึ่งขัดกับหลักธรรมาภิบาลการบริหารจัดการด้านแรงงาน ทำให้ประเทศไทยขาดความมั่นคงยั่งยืนในการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติที่เป็นระบบและเชื่อมโยงกับลักษณะความเป็นประชากรย้ายถิ่นข้ามชาติ

อารีย์ ฮาซัน ตัวแทนแรงงานข้ามชาติจากชุมชนกทม. กล่าวว่า ทุกวันนี้ในชุมชนแรงงานข้ามชาติหลายชุมชน มีการแสวงหาประโยชน์ด้านแรงงานกับแรงงานข้ามชาติตั้งแต่ต้นทาง ทางผ่านและปลายทาง ส่งผลถึงปัญหาการค้ามนุษย์ การค้าแรงงานจำนวนมากขึ้น และรัฐขาดการตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติมิชอบด้วยกฎหมาย อาศัยดุลพินิจเกินเลยจนแรงงานข้ามชาติถูกคุกคามในชีวิตและทรัพย์สิน โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร ระนอง แม่สอด เป็นต้น

สุรีย์ ไชยกุมาร ตัวแทนแรงงานนอกระบบที่อยู่ในชุมชน กทม. กล่าวว่า ต่อไปเมื่อมีการเปิดเสรีอาเซียนในปี 2558 อยากให้รัฐบาลไทยให้ความสำคัญต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะความไม่มั่นคงในการจ้างงานในอาชีพต่างๆ ช่องว่างทางรายได้ และสวัสดิการระหว่างผู้ใช้แรงงานที่มีระดับฝีมือแตกต่างกัน และระหว่างแรงงานที่อยู่ในอุตสาหกรรมต่างประเภทกัน

ทั้งนี้ เครือข่ายด้านแรงงานข้ามชาติยังได้ชี้ให้เห็นตัวอย่างของการเข้าไม่ถึงสิทธิการคุ้มครองของแรงงานข้ามชาติ 2 กรณีสำคัญ คือ

หนึ่ง-การบังคับใช้พระราชบัญญัติประกันสังคมในเรื่องการส่งเงินสมทบในอัตราเท่ากับแรงงานไทย และการได้รับสิทธิประโยชน์ 7 กรณีตาม มาตรา 33 ซึ่งในความเป็นจริงนโยบายการให้สิทธิอยู่ทำงานตามมติคณะรัฐมนตรี การเข้ามาทำงานตามบันทึกข้อตกลง (MOU) หรือเข้ามาโดยผ่านการพิสูจน์สัญชาติ แรงงานข้ามชาติสามารถทำงานได้เพียง 4 ปี เท่านั้น หลังจากนั้นต้องเดินทางกลับสู่ประเทศต้นทาง 3 ปี จึงจะสามารถเข้ามาทำงานในประเทศไทยใหม่ได้ หรือกรณีการเก็บเงินสมทบลูกจ้างข้ามชาติไปแล้วนายจ้างบางรายไม่นำเงินไปส่ง เมื่อแรงงานเจ็บป่วยและไปใช้สิทธิการรักษาของประกันสังคมกลับถูกปฏิเสธว่าใช้สิทธิไม่ได้ นี้ไม่นับว่าสิทธิด้านเจ็บป่วยยังซ้ำซ้อนกับสิทธิประกันสุขภาพ สิทธิด้านทุพพลภาพ ชราภาพและเสียชีวิต ที่จะต้องจ่ายระยะยาวและจะประสบปัญหากับลูกจ้างที่กลับประเทศหรือต้องค้นหาทายาทเมื่อลูกจ้างเสียชีวิต

สอง-จากประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 6) ได้ระบุไว้ว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำฉบับนี้ไม่มีผลบังคับใช้กับราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ นายจ้างที่จ้างลูกจ้างทำงานเกี่ยวกับงานบ้านอันมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย นายจ้างซึ่งจ้างลูกจ้างทำงานที่มิได้แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ นายจ้างที่จ้างลูกจ้างในงานประมงทะเล นายจ้างที่จ้างลูกจ้างในงานบรรทุกหรือขนถ่ายสินค้าเรือเดินทะเล นายจ้างที่ตกลงจ้างผู้รับงานไปทำที่บ้าน นายจ้างที่จ้างลูกจ้างในงานเกษตรกรรมซึ่งมิได้จ้างลูกจ้างทำงานตลอดปีหรือมิได้ให้ลูกจ้างทำงานในลักษณะที่เป็นงานอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากงานเกษตรกรรม ซึ่งงานที่ระบุมานี้กลุ่มแรงงานข้ามชาติกว่า 80 % เป็นกำลังแรงงานส่วนสำคัญ แต่รัฐบาลกลับหลบเลี่ยงที่จะให้การคุ้มครองเท่าเทียมกับแรงงานที่อยู่ในกิจการจ้างงานกลุ่มอื่นๆ

ดังนั้นจากสถานการณ์ที่กล่าวมา เครือข่ายด้านแรงงานข้ามชาติจึงมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยเนื่องในวันกรรมกรสากล 1 พฤษภาคม 2555 ให้ตระหนักถึงบทบาทสำคัญของแรงงานข้ามชาติที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ และมีความก้าวหน้าในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เรียกร้องให้รัฐบาลต้องมีการพัฒนาให้เกิดกลไกการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสมสำหรับแรงงานข้ามชาติ ตาม พรบ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 และ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ดังนี้

1.สิทธิในการรวมตัว ต่อรองของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยต้องได้รับการเคารพ ส่งเสริมและตระหนักถึงหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐาน ในเรื่องเสรีภาพในการรวมตัวและสมาคม โดยต้องดำเนินการแก้ไขพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ให้แรงงานข้ามชาติสามารถเป็นผู้ก่อตั้ง เป็นกรรมการสหภาพแรงงานได้ ทั้งนี้ขอให้มีการแก้ไขโดยตัดคำว่า สัญชาติไทยออก เพื่อให้มีความเป็นสากลมากขึ้น โดยไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุผลด้านเชื้อชาติ และเป็นการส่งเสริมสิทธิในการรวมตัวและต่อรองของแรงงานทุกคนในประเทศไทย และรัฐบาลต้องลงนามรับรองอนุสัญญาฉบับที่ 87 และ98 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ซึ่งรับรองสิทธิในการรวมกลุ่ม การจัดตั้งสหภาพแรงงาน และการเจรจาต่อรอง

2.รัฐบาลต้องลงนามรับรองอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติและสมาชิกในครอบครัว ค.ศ. 1990 (International Convention on the Protection of the Rights of All Migrant Workers and Member of their Families 1990) เพื่อเป็นบรรทัดฐานในการจัดการ และให้การปกป้องคุ้มครองแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย และแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศ

3.กระทรวงแรงงานต้องจัดตั้งกลไกการคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตาม ซึ่งกลไกดังกล่าวจะต้องเป็นกลไกที่แรงงานข้ามชาติและผู้ติดตามสามารถเข้าถึงได้ง่าย มีความเป็นมิตร รวมทั้งมีการทำงานเชิงรุกในการให้ความรู้สิทธิและความรับผิดชอบต่อแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย รวมทั้งการเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการออกแบบกลไกต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายฉบับต่างๆ เพื่อให้เกิดความเหมาะสม ไม่ลักลั่น หรือเป็นนโยบายที่ทำให้แรงงานข้ามชาติไม่สามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ได้อย่างแท้จริง ดังเช่นที่ปรากฏชัดเจนในเรื่องการเข้าไม่ถึงกองทุนประกันสังคม และกองทุนเงินทดแทนในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ

4. กระทรวงแรงงานต้องเปลี่ยนแปลงมาตรการในการบังคับใช้เรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ครอบคลุมกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในกิจการที่ยังคงได้รับการยกเว้นอยู่ ตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้างเรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 6) เพื่อทำให้แรงงานข้ามชาติต้องได้รับค่าตอบแทนเท่ากับแรงงานไทย เพื่อทำให้เกิดการแข่งขันในการจ้างงานที่ไม่เอาเปรียบซึ่งกันและกันเหมือนในปัจจุบันนี้

5. กระทรวงแรงงานจะต้องออกกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานที่ทำงานรับใช้ในบ้าน ให้ได้รับสิทธิแรงงานในฐานะผู้ใช้แรงงานคนหนึ่งที่พึงได้รับตามสิทธิแรงงาน ทั้งในเรื่องค่าแรง วันหยุด เงินชดเชย สัญญาจ้างงาน และสิทธิอื่นๆ

6. การเปิดประชาคมอาเซียนในปี 2558 แม้เป็นไปเพื่อการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรี แต่ทั้งนี้แรงงานข้ามชาติจะต้องได้รับการปฏิบัติในการจ้างงาน สวัสดิการสังคม และประโยชน์ด้านอื่นที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองเพื่อให้เกิดสิทธิแรงงานที่เท่าเทียมกันกับประชากรชาตินั้นๆ

ทางเครือข่ายแรงงานข้ามชาติได้ร่วมกันยืนยันในหลักการที่ว่ากรรมกรทุกคนไม่ว่าจะทำงานอะไร เป็นใคร มีสถานะทางกฎหมาย หรือทางสังคมอย่างไร ก็คือ กรรมกรที่ต้องมีสิทธิและศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน วันนี้รัฐไม่มีข้ออ้างใดๆ ที่จะไม่คุ้มครองกรรมกรทุกคนต่อภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน สิ่งเดียวที่รัฐต้องตระหนักคือ กรรมกรมิใช่เพียงเครื่องจักรในการผลิตที่เมื่อมีปัญหาก็ทอดทิ้ง กรรมกรเป็นผู้มีศักดิ์ศรีที่ได้มาด้วยการต่อสู้เท่านั้น นับแต่วันนี้ไปกรรมกรต้องมาก่อน

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักวิชาการหวั่น อีก 3 ปีเปิดอาเซียน แรงงานไทยรั้งท้าย จี้เร่งพัฒนาฝีมือ-ปฏิรูปกฎหมาย

$
0
0

 

เมื่อวันที่ 28 เม.ย.55 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สถาบันทรัพยากรมนุษย์ มูลนิธินิคม จันทรวิทุร และมูลนิธิไพศาล ธวัชชัยนันท์ ได้ร่วมกันจัดโครงการสัมมนา เรื่อง “การปฏิรูปกฎหมายแรงงาน และสวัสดิการสังคมไทยสู่รัฐสวัสดิการอาเซียน” เพื่อชี้ให้เห็นถึงปัญหาของกฎหมายแรงงานไทยและผลที่จะเกิดหลังจากมีการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอาเซียน (ASEAN Economics Community) หรือ AEC ในอีก 3 ปีข้างหน้า

อัฏพร คงสุภาพศิริ ผู้อำนวยการหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม เสนอให้ผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์โดยตรงเข้ามาบริหารกองทุนประกันสังคมแทนข้าราชการ โดยให้มีการคัดเลือกมาจากการเลือกตั้ง ทั้งนี้ อัฏพรกล่าวถึงระบบประกันสังคมของไทยที่ต่างจากประเทศอื่นๆ โดยเมื่อไปรักษาฟัน ก็ต้องแยกบิลเป็นสองใบ (เบิกได้ครั้งละ 500 บาท) ทั้งที่ตามความเป็นจริงแล้ว มีเงินอยู่เป็นแสนๆ ล้าน

“ผมถามเลขาธิการประกันสังคม ตอบคำถามผมได้ไหม ทำไมเวลาผู้ใช้แรงงานปวดฟันแล้วจะไปรักษา กลับบอกว่าไม่มีงบให้รักษา แต่อีกซีกหนึ่งบอกจะไปลงทุนต่างประเทศ แล้วเงินคุณมาจากใคร ใครเป็นเจ้าของเงิน ก็มาจากผู้ใช้แรงงาน” อัฏพรกล่าวและชี้ว่า ที่สุด คนที่ออกคำสั่งก็คือข้าราชการ ไม่ใช่แรงงาน

นอกจากนี้อัฏพรยังตั้งคำถามกับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทว่าผู้ใช้แรงงานจะได้ใช้มูลค่าที่เพิ่มมาหรือไม่ เพราะในตอนนี้ค่าครองชีพก็กำลังสูงขึ้น มีการขึ้นค่าไฟ ค่าน้ำ ค่ารถเมล์ หรือแม้กระทั่งค่าอาหาร

ทางด้านไพสิฐ พานิชกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แนะถึงการปฏิรูปกฎหมายแรงงานว่าจะต้องให้ความสำคัญกับการจ้างแรงงานแบบยืดหยุ่น เพราะปัจจุบันทั่วโลกลดจำนวนของการจ้างแรงงานประจำลง แต่กลับจ้างแรงงานยืดหยุ่นหรือแรงงานนอกระบบขึ้น แรงงานในลักษณะนี้จะเป็นการจ้างงานแบบชั่วคราวหรือจ้างตามฤดูกาล ไพสิฐจึงได้ตั้งคำถามว่าจะให้มีการจัดระบบสวัสดิการของแรงงานเหล่านี้อย่างไร และจะให้ความสำคัญกับแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างไร หรือแรงงานของไทยที่จะส่งออกไปนอกประเทศ จะมีนโยบายที่ชัดเจนอย่างไร หรือจะจัดการระบบการศึกษาที่เอื้อต่อคนทำงานที่จะต้องเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อยกระดับตัวเองให้สามารถเข้าไปสู่การจ้างงานแรงงานแบบใหม่ๆ อย่างไรก็ตาม ไพสิฐชี้ว่าการที่จะปฏิรูปกฎหมายแรงงานจะต้องมองในเรื่องของความเป็นธรรมต่างๆ เหล่านี้ด้วย

ด้านโกวิท บุรพธานินทร์ กรรมการมูลนิธินิคม จันทรวิทุร กล่าวว่า เป้าหมายหลัก 4 ข้อของ AEC  ที่ว่า 1.ต้องการที่จะให้มีตลาดการผลิตเพียงหนึ่งเดียว 2.ต้องการให้มีการส่งเสริมให้สมาชิกในกลุ่มอาเซียนมีศักยภาพในการที่จะแข่งขันกันประเทศต่างๆได้ 3.พัฒนาประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน โดยเฉพาะประเทศที่เข้ามาเป็นสมาชิกในภายหลังให้มีศักยภาพไม่แตกต่างกันนัก 4.การเชื่อมโยงเศรษฐกิจของอาเซียนให้สามารถเข้ากับเศรษฐกิจโลกได้ ว่าหลักการทั้ง 4 ข้อนี้เป็นหลักที่เอื้อประโยชน์ให้กับระบบทุนนิยม โดยจะทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่โดยเมื่อมีการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอาเซียนเกิดขึ้นนั้น กลุ่มบุคคลที่จะได้รับประโยชน์มากที่สุดคือบุคคลที่สามารถเข้าถึงโอกาสได้มากที่สุด ได้แก่ 1.ผู้มีการศึกษาสูง 2.ผู้ที่ได้รับการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง 3.บุคคลกลุ่มเล็กซึ่งได้แก่เจ้าของกิจการ (เจ้าของทุน) ส่วนแรงงานรากหญ้าอีกส่วนใหญ่อีกกว่า 50 – 60% นั้นจะไม่ได้รับประโยชน์จากการรวมกลุ่มในส่วนนี้

โกวิทกล่าวว่า ภายใต้กลไกภาครัฐของประเทศไทยที่ยังมีปัญหาอย่างมากมายในปัจจุบันเช่น ปัญหาความไม่มั่นคงในชั่วโมงการทำงาน ค่าจ้าง ค่าชดเชย วันหยุด ลาคลอด และยังรวมไปถึงความไม่มั่นคงของชีวิตหลังการทำงาน และเมื่อเทียบกับ ประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย บรูไน และเวียดนามแล้วประเทศไทยยังไม่มีความพร้อมและประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศอันดับหลังๆ พอๆ กับ ลาว กัมพูชา และพม่าด้วยซ้ำ

โกวิทกล่าวว่าและสิ่งที่จะตามมาเมื่อเกิดรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจกันเกิดขึ้นคือจะมีการเข้ามาลงทุนของบริษัทข้ามชาติ ประเทศไทยก็จะมีนักลงทุนมาตั้งบริษัทประเภทต่างๆ หรือแม้แต่บริษัทไทยที่ไปจะไปลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียน การลงทุนเหล่านี้จะส่งผลให้มีการเคลื่อนย้ายทุนและส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานทางด้านบริการระหว่างประเทศเป็นจำนวนมาก หากมีการเคลื่อนย้ายแรงงานเหล่านี้ บริษัทข้ามชาติต่างๆ ควรจะต้องปฏิบัติตามปฏิญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization) หรือ ILO โกวิทกล่าวว่าปฏิญญาของ ILO มีแนวทางอยู่ 4 เรื่องคือ 1.เรื่องของการจ้างแรงงาน 2.การฝึกอบรม 3.สภาพการทำงาน 4.แรงงานสัมพันธ์ เพราะฉะนั้นไม่ว่าประเทศต่างๆ ในกลุ่มอาเซียนจะมาตั้งบริษัทในประเทศไทย หรือประเทศไทยจะไปลงทุนในประเทศอื่นๆ นักลงทุนก็ควรจะมีน้ำใจใน 4 เรื่องดังกล่าว เช่น การเน้นการฝึกอบรมให้กับแรงงานท้องถิ่น นอกจากนี้ สิ่งที่รัฐบาลไทยควรเร่งแก้ไขก่อนจะมีการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอาเซียน คือ การพัฒนาความสามารถของลูกจ้าง ให้มีทักษะที่จะต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต พร้อมปรับเปลี่ยนและเรียนรู้ตามเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลง แต่ทว่าในปัจจุบันหน่วยงานหลายหน่วยงานยังไม่มีความพร้อมในเรื่องฝึกอบรม โดยการฝึกอบรมต่างๆ ของแรงงานยังไม่มีการพัฒนา หรือกำหนดมาตรฐานคุณสมบัติวิชาชีพแห่งชาติ

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"หลากสี" แนะ "ประท้วงทักษิณออนไลน์" ชี้มีขบวนการแปลี่ยนแปลงการปกครอง

$
0
0
เสวนา"รวมพลังเพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์"  'เสรี วงษ์มณฑา' แนะใช้หลักการตลาด-อัพข้อมูลโซเชี่ยลมีเดียในการต่อสู้ทักษิณ 'สมชาย แสวงการ' ชี้ 'พรรคการเมือง-กลุ่มทุน-นิติราษฎร์' ผนึกกำลังเปลี่ยนแปลงระบบการปกครอง

 

เมื่อวันที่วันที่ 29 เม.ย. 55 ที่ห้องประดิพัทธ์ตึกอำนวยการราชตฤณมัยสมาคม (สนามม้านางเลิ้ง) มีการจัดเสวนา"รวมพลังเพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์" โดยเครือข่ายพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดิน (เสื้อหลากสี)โดยมีวิทยากรร่วมเสวนา อาทิ นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำเสื้อหลากสี นายสมชาย แสวงการ สว.สรรหา นายเสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน เป็นต้น โดยมีผู้เข้าร่วมรับฟังประมาณ 300 คน
 
แจกสติ๊กเกอร์รูปทักษิณกินรธน.
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้ผู้เข้าฟังส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และสวมเสื้อสีชมพูมารับฟังระหว่างการเสวนามีการแจกโปสเตอร์รูป พ.ต.ท.ทักษิณชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กำลังจะกินรัฐธรรมนูญและมีข้อความว่า "รัฐธรรมนูญ รัฐไทยใหม่"และสติ๊กเกอร์ระบุข้อความว่า "แพงทั้งแผ่นดิน"ซึ่งก่อนหน้านี้นายวัชระ เพชรทอง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เคยนำมาแถลงต่อสื่อมวลชนที่รัฐสภาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
 
เปิดโต๊ะล่าชื่อถอดถอนปู-399 สส.
 
นอกจากนี้ในงานเสวนามีการตั้งโต๊ะให้ผู้ร่วมรับฟังเสวนาเข้าชื่อถอดถอนคณะรัฐมนตรีทั้ง 36 คน ซึ่งมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯและ สส.399 คน ออกจากตำแหน่ง เนื่องจากมีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายจากกรณีที่เสนอให้มีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญทำหน้าที่แก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้จะมีการเปิดรับการล่ารายชื่อถึงวันที่ 30 เม.ย.นี้
 
พร้อมผนึกพธม.ต้านกม.ปรองดอง
 
นพ.ตุลย์ กล่าวว่า วันนี้มีการนัดมารวมตัวกันสังสรรค์ เพื่อกำหนดท่าทีว่าภาคประชาชนจะเอาประเด็นไหนที่จะไปบอกกับรัฐบาลว่า ควรทำอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การปรองดองที่ไม่กดหัวประชาชน ซึ่งจะต้องปรองดองอย่างแท้จริงคนทำผิดต้องรับโทษ และหากมีการยื่นพ.ร.บ.ปรองดอง เข้าสภาเมื่อไหร่ ขอยืนยันว่ากลุ่มเสื้อหลากสีจะไปชุมนุมวันนั้นแน่นอนรวมถึงก่อนหน้านี้ทางกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(พธม.) นำโดย พล.ต.จำลองศรีเมือง แกนนำ พธม.ก็ออกมาประกาศจะออกมาเช่นกัน หากมีการออกพ.ร.บ.ปรองดองตรงนี้เป็นสัญญาณที่จะต้องออกมารวมพลังกันเพื่อต่อสู้อีกครั้ง
 
โหนวันแรงงานชุมนุมม็อบหลากสี
 
อย่างไรก็ตามในวันที่ 1 พ.ค.นี้ จะมีการรวมตัวของกลุ่มสมาพันธ์รัฐวิสาหกิจแห่งชาติ จัดกิจกรรมเนื่องในวันแรงงานที่หน้ารัฐสภา ซึ่งทางกลุ่มเสื้อหลากสีอยากจะเชิญชวนกลุ่มภาคประชาชนเข้ามาร่วมงานดังกล่าวโดยในกิจกรรมจะมีการเคลื่อนไหวไปเปิดการปราศรัยที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และจะปิดท้ายที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ แยกคอกวัว
 
นพ.ตุลย์กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่กลุ่มนิติราษฎร์ ยืนยันการแก้ไขมาตรา 112 นั้น ทางกลุ่มก็จะคัดค้านอย่างถึงที่สุดเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ที่ผ่านมาได้ยื่นหนังสือคัดค้านการแก้ไขมาตรา 112 และรายชื่อประชาชน25,000 คน ส่งไปที่รัฐสภาแล้ว
 
ปูพบป๋าแค่การแสดงละคร
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า มองอย่างไรที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าพบขอพร พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ นพ.ตุลย์กล่าวว่าเป็นการแสดงละครบทหนึ่ง ไม่คิดว่าพรรคเพื่อไทย (พท.) และนายกฯ จริงใจกับพล.อ.เปรม เพราะดูจากเหตุการณ์ในอดีตมีการกล่าวหาว่า พล.อ.เปรมเป็นผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญและไม่มีการนำรัฐมนตรีที่เคยมาประท้วงหน้าบ้าน พล.อ.เปรมเข้าไปด้วย
 
"ผมคิดว่าเป็นการแสดงความไม่จริงใจอย่างรุนแรง อย่างไรก็ตามเรื่องนี้สังคมไทยคงรู้ทัน ส่วน พล.อ.เปรม ก็ต้อนรับในฐานะผู้ใหญ่ของบ้านเมืองเท่านั้น แต่คนอื่นจะจริงใจกับท่านกับบ้านเมืองหรือไม่ ตรงนี้ไม่สามารถตอบได้" นพ.ตุลย์ กล่าว
 
'เสรี'อัดแม้วใช้อำนาจย่ำยีชาติ
 
ด้านนายเสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน กล่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณใช้อำนาจย่ำยีประเทศไทย สิ่งที่ประจักษ์ชัด คือคนที่อยู่ข้างเขาได้อะไร อยู่ตรงข้ามแล้วเสียอะไรทำให้คนไทยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม 1.พวกไม่เห็นด้วยแต่แสดงออก 2.พวกไม่เห็นด้วยแต่อยู่เฉยๆ 3.พวกเห็นด้วยและช่วยเหลือ4.พวกเห็นด้วยเพื่อรอผลประโยชน์ โดยพวก2 กลุ่มหลังมีเป็นจำนวนมากในประเทศไทยพร้อมพายเรือให้โจรนั่ง ซึ่งมีแกนนำเสื้อแดงบางคน ที่ได้ขึ้นเป็นรัฐมนตรีช่วย บอกว่าถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องพ้นจากอำมาตย์จะบริหารโดยฟังเสียงส่วนใหญ่ประชาชน ถ้าจะทำได้นั้น คนของเราต้องคิดเป็นไม่เห็นแก่ตัวแต่บ้านเมืองเรามีเสียงส่วนใหญ่ที่เห็นแก่ตัว
 
เตือนสื่อมวลชนกำลังถูกครอบงำ
 
นายเสรี กล่าวต่อว่า ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งที่น่าเสียดาย เนื่องจากเป็นคนเก่ง แต่ทำตัวเป็นคนตีนลอย ไร้จุดยืน กลัวเสียอำนาจ กลัวธุรกิจรับผลกระทบ จึงเลือกไปรับใช้นักโทษชาย ซึ่งเป็นอันตรายมาก โดยสถานการณ์ในขณะนี้ หากใครแสดงจุดยืนเป็นปรปักษ์กับรัฐบาล ชีวิตไม่ต้องได้อะไรแล้ว เพราะบรรดาสส.และสื่อมวลชนในประเทศไทย กำลังถูกครอบงำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และที่ผ่านมาถ้าสังเกตจากการทำงานของรัฐสภา ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีการอภิปรายให้เสียเวลาเนื่องจากมีการใช้เสียงข้างมากลากไป ไม่สนใจเสียงข้างน้อย โดยอาศัยช่องทางการโหวตเป็นการตัดสิน ตรงนี้ไม่แตกต่างอะไรกับคำว่าเผด็จการตัวจริง ที่พร้อมใช้เสียงประชาชน15 ล้านเสียงมาเป็นข้ออ้าง
 
เย้ยปูพัฒนาอย่างเดียวคือแต่งตัว
 
"นักโทษชายย่ำยีประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ออกจากประเทศ ไม่เคยทำตัวสงบเลย รวมถึงทำลายภาพลักษณ์ประเทศอย่างหนัก เพราะเขามีจิตใจที่อยากเอาชนะ โดยใช้เงินซื้อทุกสิ่งทุกอย่าง ก่อนหน้านี้มีคนเคยบอกว่า เมื่อไหร่จะก้าวข้ามทักษิณตรงนี้จะข้ามได้อย่างไร หากทักษิณยังเคลื่อนไหวทั้งการโฟนอินเวทีเสื้อแดง การให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศ หรือกรณีไปประเทศกัมพูชาและลาว ตรงนี้หากอยากให้ก้าวข้ามให้พ้นทักษิณต้องสงบสักที นอกจากนี้ในฐานะพี่ชายคนโตต้องรู้ว่าน้องตัวเองไร้คุณภาพแค่ไหนไม่รู้หรือแต่อุตส่าห์จับมาเป็นหุ่นเชิดเป็นนายกฯ หากมองประเทศไทยศักดิ์สิทธิ์และมีคุณค่าย่อมไม่ทำ โดยเธอเป็นนายกฯมากว่า 7-8 เดือนพัฒนาได้อย่างเดียวคือเสื้อผ้าหน้าผมเหมือนตุ๊กตาบาร์บี้เท่านั้น" นายเสรี กล่าว
 
แฉแผนแยบยลทำลายสถาบัน
 
นายเสรี กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้เรื่องการถวายฎีกาเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ไม่ได้ทำตามกระบวนการแต่เป็นการวางแผนอย่างแยบผลและสัปดนที่สุด โดยการล่ารายชื่อประชาชน ที่สร้างความเข้าใจผิดว่า พ.ต.ท.ทักษิณกลับบ้านไม่ได้เพราะไม่มีพระกรุณาฯ รวมถึงมีความพยายามเชื่อมโยงการกระทำในลักษณะนี้ ถึงวันสำคัญต่างๆ ที่จะมีขึ้นต่อไป อย่างในวันที่ 12 ส.ค.ตรงนี้เป็นการทำลายสถาบันอย่างรุนแรงทั้งที่ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับประเทศไทยวันนี้ก็กลับได้ แต่ พ.ต.ท.ทักษิณไม่อยากเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมาย เนื่องจากกลัวติดคุก แต่กลับยังย่ำยีประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่องโดยพยายามที่แก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้เหลืออำนาจเพียง 2 ขา คือ ให้เหลือฝ่ายบริหารกับนิติบัญญัติ โดยตัดตุลาการออก เพื่อจะได้กลับบ้านอย่างเท่ๆ อย่างที่ ร.ต.อ.เฉลิมอยู่บำรุง รองนายกฯ เคยบอกว่า พ.ต.ท.ทักษิณจะกลับบ้านแบบไร้มลทิน ไม่ต้องติดคุก
 
ปลุกระดมก่อม็อบออนไลน์สู้แม้ว
 
"ส่วนในเรื่องความปรองดองที่รัฐบาลพยายามทำในขณะนี้ เปรียบเสมือนกับเสื้อคลุมเท่านั้น เพราะเมื่อถอดเสื้อคลุมปรองดองออกก็จะพบเนื้อแท้เรื่องการนิรโทษกรรม ที่สอดใส่อยู่ข้างในอย่างแยบยล" นายเสรี กล่าวพร้อมกับฝากให้ทุกคนกลับบ้านไปคุยกับคนอื่นๆอย่างน้อย 1 ต่อ 10 คน และบอกต่อกันไปเรื่อยใช้หลักการตลาด อัพข้อมูลเฟซบุ๊คส่งต่อ โดยใช้โซเชี่ยลมีเดียในการต่อสู้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ
 
ปูดขบวนการแปลี่ยนแปลงการปกครอง
 
ขณะที่นายสมชาย แสวงการ สว.สรรหา กล่าวว่า ที่ผ่านมาพบว่ามีกลุ่มหนึ่งที่ทำงานอยู่บนชั้น 26 บริเวณถนนวิภาวดีใกล้กับห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลลาดพร้าวพยายามวางแผนต่างๆ ก่อนหน้านี้เคยวางแผนเรื่องการขออภัยโทษ แต่กลับไม่สำเร็จ หลังจากนั้นจึงมีการเตรียมการเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญการออก พ.ร.บ.ปรองดอง รวมถึงความพยายามที่จะดึงคนเสื้อแดงให้สู้เพื่อพวกเขาอีกครั้ง โดยการจ่ายเงินเยียวยาจำนวน 7.5 ล้านบาท พร้อมกับการเคลื่อนไหวแบบคู่ขนานทั้งจากฝ่ายพรรคการเมือง กลุ่มทุน รวมถึงกลุ่มนิติราษฎร์ ผนึกกำลังกันเพื่อจะเปลี่ยนแปลงระบบการปกครอง
 
จับตา'ดามาพงศ์'ต่อคิวนั่งนายกฯ
 
นายสมชายกล่าวต่อว่า ขณะนี้คนไทยมีนายกฯ ที่มีนามสกุลร่วมเครือญาติกัน 3 ราย คือ 1.ทักษิณ ชินวัตร 2.สมชายว งศ์สวัสดิ์ 3.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และคนที่เป็นแคนดิเดตนายกฯ คนต่อไป เป็นตำรวจนามสกุลดามาพงศ์ ที่ทาง พ.ต.ท.ทักษิณได้เตรียมการไว้แล้ว เพื่อใช้เครือญาติกินรวบประเทศไทย และอีกไม่นานจะมีเรื่องที่น่าหวั่นกลัว คือ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร จะเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย จากนั้นจะมีการขึ้นภาษี (vat) 8.3 เปอร์เซ็นต์ มีการใช้เงินภาษีประชาชนไปจ่ายเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบ
 
ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญวันนี้จะเป็นการเขียนแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน จากที่รัฐธรรมนูญมีอำนาจ 3 ฝ่าย ก็สามารถเขียนให้เหลือเพียงอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารได้และอาจจะลามถึงการเขียนเปลี่ยนแปลงลงในหมวดที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ก็เป็นได้
 
ที่มาข่าว: หนังสือพิมพ์แนวหน้า
          
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สภาศูนย์กลางแรงงานฯ ออกแถลงการณ์ “รัฐธรรมนูญต้องเป็นประชาธิปไตย สังคมไทยต้องเป็นรัฐสวัสดิการ”

$
0
0
เนื่องในวันแรงงานสากล (1 พ.ค. 55) สภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย, สหพันธ์แรงงานกระดาษและการพิมพ์แห่งประเทศไทย, สหพันธ์แรงงานอาหารและเครื่องดื่มแห่งประเทศไทย และสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์ ประกาศจุดยืน สร้างแนวร่วม เพิ่มพลังให้กรรมกรไทย “รัฐธรรมนูญต้องเป็นประชาธิปไตย สังคมไทยต้องเป็นรัฐสวัสดิการ” โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ ..
 
ประกาศจุดยืน สร้างแนวร่วม เพิ่มพลังให้กรรมกรไทย
“รัฐธรรมนูญต้องเป็นประชาธิปไตย สังคมไทยต้องเป็นรัฐสวัสดิการ”
 
วันกรรมกรสากลหรือวันเมย์เดย์ (May Day) มีจุดกำเนิดมาจากการต่อสู้ของชนชั้นกรรมาชีพในยุโรปและอเมริกา ในยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงจากสังคมเกษตรกรรมไปเป็นแรงงานภาคอุตสาหกรรม ซึ่งผู้ใช้แรงงานต้องประสพกับการถูกกดขี่ขูดรีดจากนายทุนโรงงานอุตสาหกรรมเช่นถูกบังคับให้ใช้แรงงานเยี่ยงทาส ต้องทำงานหนักถึงวันละ 14-16 ชั่วโมงโดยไม่มีวันหยุด รวมทั้งไม่มีสวัสดิการและมาตรฐานคุ้มครองความปลอดภัยในการทำงานแต่อย่างใด เป็นเหตุทำให้ผู้ใช้แรงงานมีการเคลื่อนไหวเพื่อต่อสู้การกดค่าจ้างแรงงานและให้ลดชั่วโมงการทำงานลง ซึ่งแนวความคิดนี้ได้ขยายไปหลายประเทศทั้งยุโรป อเมริกา ละตินอเมริกา ญี่ปุ่นและออสเตรเลีย ช่วงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2429 คนงานแห่งเมืองชิคาโกประเทศอเมริกา ได้นัดหยุดงานครั้งใหญ่และจัดการชุมนุมเดินขบวนเพื่อเรียกร้องระบบสามแปดคือทำงาน 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมงและศึกษาหาความรู้ 8 ชั่วโมง การต่อสู้ครั้งนั้นอำนาจรัฐ นายทุนได้ใช้กำลังเข้าปราบปรามอย่างรุนแรง
 
ต่อมาสหพันธ์คนงานแห่งอเมริกาได้ฟื้นการต่อสู้เรียกร้องระบบสามแปดอีกครั้งโดยมีมติให้เดินขบวนทั่วประเทศเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2433 ขณะเดียวกันในช่วงนั้นก็เริ่มมีแนวคิดที่จะประกาศวันที่ที่แน่นอนให้เป็นวันสามัคคีต่อสู้ของขบวนการกรรมกรทั่วโลก จนกระทั่งพ.ศ.2432 ที่ประชุมของสภาสังคมนิยมสากล ณ กรุงปารีส ฝรั่งเศสได้มีมติให้วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2433 เป็นวันเดินขบวนเรียกร้องให้ลดชั่วโมงทำงานตามที่สหพันธ์คนงานแห่งอเมริกาได้กำหนดไว้ และได้กำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปีเป็น “วันกรรมกรสากล” และเป็นวันเดินขบวนแสดงพลังของชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลก
 
สำหรับประเทศไทยการจัดงานวันกรรมกรสากลในที่สาธารณะอย่างเปิดเผยครั้งแรกมีขึ้นในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2489 ที่สนามหน้าสำนักงานไตรจักร์ (สามล้อ) พระราชวังอุทยานสราญรมย์จัดโดยสมาคมกรรมกรสงเคราะห์กรุงเทพรวมกับสมาคมไตรจักร์ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประมาณสามพันคน ปีต่อมาการชุมนุมวันกรรมกรสากล พ.ศ.2490 มีขึ้นที่ท้องสนามหลวงภายใต้คำขวัญกรรมกรทั้งหลายจงสามัคคีกัน ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นการแสดงพลังความสามัคคีของชนชั้นกรรมกรไทยครั้งใหญ่ที่สุดเป็นประวัติการณ์เพื่อเฉลิมฉลองการจัดตั้งสหพันธ์กรรมกรระดับชาติแห่งแรกในประเทศไทยคือ สมาคมสหอาชีวะกรรมกรแห่งประเทศไทย วันกรรมกรสากลปีนั้นมีผู้เข้าร่วมกว่าแสนคน นับเป็นการจัดงานที่มาจากจิตสำนึกของกรรมกรโดยกรรมกรและเพื่อกรรมกรอย่างแท้จริง
 
แม้ความขัดแย้งหลักในสังคมทุนนิยมจะเป็นความขัดแย้งระหว่างทุนกับกรรมกรก็ตาม แต่เงื่อนไขประวัติศาสตร์ที่เป็นจริงและดำรงอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านสังคมไทย อิทธิพลความคิดอุดมการณ์ศักดินาครอบงำสังคมไทยภายใต้ทุนนิยมล้าหลัง และมีความขัดแย้งระหว่างทุนเสรีนิยมกับทุนสามานย์อำมาตย์ที่เติบโตสะสมทุนผ่านกลไกอำมาตย์แบบอภิสิทธิ์ชนมากกว่าการแข่งขันอย่างเสรีและโปร่งใสสถานการณ์ปัจจุบันความขัดแย้งรองระหว่างทุนเสรีนิยมกับทุนสามานย์เป็นสิ่งที่กรรมกรต้องเลือกว่าจะเป็นแนวร่วมหรือสนับสนุนฝ่ายใด ความขัดแย้งระหว่างระบอบประชาธิปไตยกับระบอบอำมาตยาธิปไตยเป็นสิ่งที่กรรมกรต้องเลือกว่าจะเป็นแนวร่วมหรือสนับสนุนฝ่ายใด ไม่มีความเป็นกลาง สองไม่หรือสองเอา?
 
บทเรียนในประวัติศาสตร์การเมืองไทยได้สอนให้กรรมกรรู้ว่า เมื่อใดก็ตามที่สังคมเป็นประชาธิปไตย นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง เมื่อนั้นกรรมกรย่อมมีเสรีภาพอย่างเต็มที่ในการรวมตัวเคลื่อนไหวเพื่อความเป็นธรรมในสังคมและเพื่อชีวิตที่ดีกว่า เมื่อใดก็ตามที่อำนาจเผด็จการอำมาตย์ ทหารครอบงำสังคมไทย เมื่อนั้นกรรมกรต้องถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพที่พึงมี เช่นภายหลังคณะรัฐประหารรสช.ยึดอำนาจ รัฐบาลอานันท์ ปันยารชุณได้ออกกฎหมายยกเลิกพรบ.รัฐวิสาหกิจเพื่อกีดกันมิให้บทบาทสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจในการหนุนช่วยแรงงานภาคเอกชน และภายหลังรัฐประหาร19 กันยายน 2549 รัฐบาลอำมาตย์ อภิสิทธ์ ผู้ใช้แรงงานจำนวนมากโดยเฉพาะลูกจ้างเหมาค่าแรงที่ถูกเลิกจ้างด้วยข้ออ้างวิกฤตเศรษฐกิจ อีกทั้งยังมีกรณีปล่อยให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้เครื่องกำเนิดเสียงทำลายโสตประสาทต่อผู้ชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรมจากการถูกเลิกจ้างของสหภาพแรงงานไทรอัมพ์
 
ประสบการณ์ของกรรมกรในชีวิตประจำวันนั้น มีกรรมกรจำนวนไม่น้อยได้ตระหนักในสิทธิและได้มีการต่อสู้อย่างต่อเนื่อง ไม่ได้ยอมจำนนแต่อย่างใด มีการรวมกลุ่มเพื่อต่อสู้ในรูปแบบสหภาพแรงงานเหมือนเฉกเช่นชนชั้นนายทุน พวกอำมาตย์ที่รวมตัวในนามสภาอุตสาหกรรม สมาคมนายจ้าง สมาคมธนาคาร สมาคมหอการค้า ฯลฯ
 
ดังนั้น การต่อสู้เรื่องประชาธิปไตยจึงมิใช่เรื่องไกลตัวจากชีวิตกรรมกรแต่อย่างใด เป็นภารกิจทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของกรรมกร มีเพียงสังคมที่เป็นประชาธิปไตยและเสรีภาพเท่านั้นที่เป็นเงื่อนไขสำคัญในการเติบโตของพลังชนชั้นกรรมกรได้อย่างกว้างใหญ่ไพศาลและเข้มแข็งได้ “กรรมกร” จึงต้องรัก ”ประชาธิปไตย” มิใช่สยบยอมเป็นทาสต่อ”อำมาตยาธิปไตย”
 
สถานการณ์ความขัดแย้งในประเทศไทยปัจจุบัน อยู่ในสภาพที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าความแตกแยกระหว่างคนไทยด้วยกันเองจะรุนแรงและลุกลามได้ถึงเพียงนี้ ประชาชนแตกแยกเป็นเสื้อสีแดง สีเหลือง หรือหลากสี ไม่ต้องกล่าวถึงความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เราแทบจะมองไม่เห็นทางกลับคืนสู่ความเป็นชาติที่รักสงบเหมือนที่เคยเป็นมาในอดีต
 
แต่ใช่ว่าจะหมดสิ้นซึ่งทางออก โอกาสที่เราจะกลับคืนสู่ดินแดนแห่งความสงบ มีเอกภาพยังมีความเป็นไปได้ กรณีความมีเอกภาพในความหลากหลาย เป็นสังคมที่คนมีหัวใจแห่งเสรีภาพ เคารพให้เกียรติกัน ยอมรับในความแตกต่าง ทุกกลุ่มมีอิสระในการดำเนินชีวิตตามวิถีของตนโดยไม่ทำให้ใครเดือดร้อน ที่สำคัญคือทุกคนต่างร่วมกันใช้ส่วนที่ดีในความแตกต่างนั้นเป็นพลังขับเคลื่อน เพื่อพัฒนาประเทศอย่างเป็นเอกภาพโดยยึดหลักส่วนตัวขึ้นต่อส่วนรวม ส่วนรวมขึ้นต่อองค์กร
 
ประเทศไทยช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีการยึดอำนาจ ทำลายพรรคการเมือง นักการเมือง จับกุม เข่นฆ่าประชาชน ความขัดแย้งยังดำรงอยู่ ฉะนั้นเพื่อยุติปัญหาและนำพาประเทศเดินหน้าต่อไป ต้องเดินหน้าเข้าสู่การปรองดองด้วยการทำให้การปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยอำนาจอธิปไตยเป็นของราษฎร และสังคมไทยต้องเป็นรัฐสวัสดิการ ดังนี้
 
1) ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้อำนาจอธิปไตยเป็นของราษฎร โดยเลือกตั้งประมุขฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการโดยตรง
 
2) ล้มล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549
 
3) กระบวนยุติธรรมกับผู้ต้องหา ให้สิทธิขั้นพื้นฐานในการประกันตัว และนำคนสั่งฆ่าประชาชนมาลงโทษ 
 
4) นิรโทษกรรมให้กับนักโทษการเมือง
 
5) จัดเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า หลักประกันที่ดินทำกิน หลักประกันที่อยู่อาศัย เรียนฟรีทุกระดับ รพ.พยาบาลประกันสังคม รักษาฟรีทุกโรค และระบบค่าจ้างที่เป็นธรรม
 
เราไม่ได้คาดหวังกับรัฐบาลนี้หรือรัฐบาลไหนที่มาจากนายทุนหรือขุนศึกเพราะเขาเหล่านั้นไม่เข้าใจคำว่ากรรมกรหรือผู้ใช้แรงงานดีพอเท่า ๆ กับการเข้าใจความต้องการของพวกเขาเอง กรรมกรเท่านั้นที่เข้าใจกรรมกรด้วยกัน พร้อมทั้งเข้าใจจุดประสงค์และความต้องการของกรรมกรดี หากเรารวมพลังแรงงานโดยลดความขัดแย้ง ทำในสิ่งที่ดีร่วมกันได้ สงวนจุดต่าง สร้างจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ “ประเทศชาติ ประชาชน” ความสงบสุขย่อมกลับคืนสู่สังคมของเราอย่างแน่นอน
 
สภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย
สหพันธ์แรงงานกระดาษและการพิมพ์แห่งประเทศไทย
สหพันธ์แรงงานอาหารและเครื่องดื่มแห่งประเทศไทย
สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live




Latest Images