Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live

งานวิจัยกับคองเกรส

$
0
0
 
อนุสนธิจากการเดินทางไปดูงานที่แคปิตัลฮิล ซึ่งเป็นที่ตั้งของสภาคองเกรสอเมริกันทำให้ทราบ ถึงกลไกและวิธีการทำงานของสมาชิกสภาคองเกรส (คองเกรสแมน /คองเกรสวูแมน - สส.)  รวมกระทั่งถึง การทำงานของสมาชิก วุฒิสภา(ซีเนเตอร์- สว.) ซึ่งผมใคร่ตั้งข้อสังเกตต่อวิธีการทำงานของนักการเมือง ระดับชาติอเมริกันจากที่เห็น ดังนี้
 
1.การทำงานของนักการเมืองอเมริกันมีลักษณะการทำงานเป็นทีม สส.หรือสว.หนึ่งคนมีสำนัก งาน หรือออฟฟิศเป็นของตนเองอยู่ที่ตึกคองเกรส ในออฟฟิศดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่ประจำแบ่งงานกันทำ เช่น งานด้านนโยบาย  งานด้านกฎหมาย งานด้านสังคม งานด้านต่างด้าว(อิมมิเกรชั่น) เป็นต้น นอกเหนือไปจากการมีสำนักงานท้องถิ่นที่เรียกว่า Local office  ในเขตที่มาของนักการเมืองแต่ละคน  เช่น  สส. Dina Titus(เดโมแครต) นอกเหนือไปจากการมีสำนักงานที่ดี.ซี.แล้ว เธอยังมีสำนักงานที่เมืองลาสเวกัส เขตเลือก ตั้งที่ 1ของรัฐเนวดาอีกด้วย โดยสำนักงานในเขตเลือกตั้งก็มีการแบ่งงานแบบเดียวกันกับสำนัก งานที่ดี.ซี.หรือแคปิตัลฮิล มีเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานตลอด
 
2. มีเจ้าหน้าที่(ทีม)ที่ทำงานด้านข้อมูลข่าวสารโดยเฉพาะแสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับ การติดตามสถานการณ์ข่าวสารในประเด็นต่างๆ ของสมาชิกคองเกรส เนื่องจากการออกกฎหมายซึ่งเป็น หน้าที่ของสมาชิกคองเกรสโดยตรงนั้น สัมพันธ์หรือเกี่ยวข้องกับข่าวสารและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งในและ ต่างประเทศ นอกเหนือไปจากผลต่อกระแสตอบรับหรือความนิยมจากประชาชน โดยเจ้าหน้าที่ด้าน ข้อมูลข่าวสารที่ทำงานให้กับสมาชิกคองเกรสทำหน้าที่ในการวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการออกกฎ หมาย และการวางท่าทีในการแสดงความเห็นหรืออภิปรายของสมาชิกคองเกรสต่อประเด็นปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นๆ  ทำให้สมาชิกคองเกรสสามารถวางตัวอย่างถูกต้อง ส่งผลต่อคะแนนนิยมของ ประชาชน และภาพลักษณ์ของสมาชิกคองเกรสคนนั้นๆ
 
3. งานด้านวิจัยเป็นการทำงานด้านข้อมูลเชิงลึกของสมาชิกคองเกรส และเป็นส่วนหนึ่งของการ แสวงหาข้อมูลเพื่อการอภิปรายและนำเสนอปัญหาหรือข้อเท็จจริง สมาชิกสภาคองเกรสจำนวนไม่น้อยอา ศัยนักวิชาการเพื่อดำเนินการวิจัยประเด็นปัญหาก่อนที่จะนำไปสู่การอภิปรายในสภา หรือก่อนที่จะมีการ โหวตเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายฉบับต่างๆ  โดยหลายครั้งที่ผู้ดำเนินการวิจัยจากสำนักงาน ของสมาชิกคองเกรสต้องลงพื้นที่จริงทั้งในและต่างประเทศเพื่อหาข้อมูลและสรุปผลการวิจัยนั้นเสนอต่อผู้ ว่าจ้างคือ สมาชิกคองเกรส นั่นเอง ดังมีอยู่หลายครั้งที่ผู้วิจัยอเมริกันลงพื้นที่ในเมืองไทย  เพื่อหาข้อมูล ร่วมกับหน่วยงานในต่างประเทศของอเมริกัน เช่น สถานทูตสหรัฐฯ  หน่วยงานสันติภาพอเมริกัน (US Peace Corps)ในไทย เป็นต้น
 
น่าสังเกตว่าในช่วงหลังการแสวงหาข้อมูลของคองเกรสเพื่อการวิจัยของผู้วิจัยคองเกรส เป็นไปแบบคู่ขนาน หรือมี 2 ลักษณะ ได้แก่  หนึ่ง การแสวงหาข้อมูลจากหน่วยงานวิเคราะห์ข้อมูลของรัฐบาลอเมริกันที่มีอยู่แล้ว เช่น หน่วยงาน  Bureau of East Asian and Pacific Affairs ของกระทรวงการต่างประเทศ เป็นต้น และสอง การส่งผู้วิจัยลงพื้นที่โดยตรงเพื่อเจาะปัญหาเชิงลึก ขณะเดียวกันบางครั้ง สมาชิกคองเกรสก็ลงพื้นที่ด้วยตัวเองอีกด้วย เช่น การลงพื้นที่ของสส. และสว.อเมริกันหลายในพื้นที่เขต แดนระหว่างสหรัฐฯกับเม็กซิโก เพื่อทราบปัญหาแรงงานผิดกฎหมายข้ามพรมแดน และปัญหายาเสพติด ตามแนวตะเข็บชายแดนระหว่างสหรัฐฯกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเม็กซิโก
 
ในด้านงบประมาณสำหรับวิจัย  สมาชิกคองเกรสผู้ประสงค์ทำการวิจัยข้อมูลเชิงลึก สามารถดำเนินการได้ใน 3 ระดับ คือ
 
1. ดำเนินการในนามส่วนตัวของสมาชิกคองเกรสผู้นั้น โดยอาศัยงบประมาณจากสภาคองเกรสต่อหนึ่งสมาชิก ที่ได้รับตามปกติ
 
2. สมาชิกสภาคองเกรสทำเรื่องขออนุมัติงบประมาณพิเศษจากสภาคองเกรสในกรณีที่เห็นว่าจำเป็นที่จะต้องดำเนินการวิจัยเพื่อให้มาซึ่งข้อเท็จจริงในบางประเด็น บางปัญหา
 
3. สมาชิกสภาคองเกรส ดำเนินการวิจัยภายใต้ความเห็นชอบของคณะกรรมาธิการชุดต่างๆของ สภา (คองเกรส) ซึ่งก็จะต้องนำเสนอโครงการการวิจัยต่อสภาคองเกรสเพื่ออนุมัติงบประมาณ ก่อนการวิจัยจะเกิดขึ้น
 
ประเด็นสำคัญ คือ อเมริกันคองเกรสให้ความสำคัญต่อการวิจัย เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่เป็น “ข้อเท็จจริง” จากผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆก่อนนำไปอภิปรายหรือลงมติในสภา นอกเหนือไปจากการใช้หลัก เหตุผลเชิงตรรกะ ซึ่งเป็นที่นิยมกันมากในบรรดานักอภิปรายในสภา หรือในบรรดานักการเมืองระบบสภา โดยทั่วไป
 
การวิจัย จึงเป็นการบ้านชิ้นใหญ่ของนักการเมืองอเมริกันที่เลยไปจากการพ่นน้ำลายฉายเหตุผล ทางปากเพียงอย่างเดียว หากมันคือ การนำเสนอข้อเท็จจริงเพื่อยืนยันความเชื่อหรือความเห็นของนักการ เมืองว่าเป็นความจริง พร้อมผลดีผลเสียว่าเป็นอย่างไร เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจต่อประเด็นของเพื่อนสมาชิกคองเกรส
 
ประเด็นที่วิจัยกันส่วนใหญ่เป็นประเด็นที่แหลมคม ส่งผลต่อการจัดสรรงบประมาณและลงมติร่าง กฎหมายของคองเกรส เช่น ประเด็นความมั่นคง  ประเด็นเศรษฐกิจ ประเด็นสังคม เป็นต้น การวิจัยจึงมีส่วนสำคัญอย่างมากในการชี้นำเพื่อการตัดสินใจของสมาชิกคองเกรส โดยเฉพาะการตัดสินใจ ลงมติโดยไม่คำนึงความเป็นพรรคแต่คำนึงถึงผลประโยชน์ต่อส่วนรวมมากกว่า แม้ภาพลักษณ์นักการเมือง อเมริกันเองจะไม่ได้ต่างไปจากภาพลักษณ์ของนักการเมืองของประเทศอื่นมากนักก็ตาม แต่บางครั้ง “ข้อเท็จจริง”จากงานวิจัยที่ถูกนำเสนอ ก็เป็นส่วนหนึ่งของกระแสการรับรู้ของมวลชนหรือประชาชน ซึ่งเสียงของประชาชนเหล่านี้ มีผลต่อท่าทีของนักการเมือง
 
นอกจากนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาในเรื่องการแสวงหาข้อเท็จจริงหรือความจริงในด้านต่างๆ คองเกรสได้จัดตั้งหน่วยงานบริการด้านการวิจัย คือ Congressional Research Service -CRS  เพื่อเป็นหน่วยงานกลางทำหน้าที่ในการวิจัยงานในส่วนของคองเกรสโดยเฉพาะขึ้น ซึ่งตามปกติแล้วหน่วยงานวิจัยแห่งนี้ เป็นหน่วยงานของคองเกรสโดยไม่สังกัดพรรค (ขึ้นกับ The Library of Congress) ทำหน้าที่ในการวิจัยตามปกติอยู่แล้ว แต่หากสมาชิกคองเกรสคนใดต้องการให้วิจัยประเด็น(เรื่อง)ใดเป็นพิเศษก็สามารถทำได้ โดยการเสนอเรื่องไปยังหน่วยงาน CRS  ได้
 
หมายความว่า สมาชิกคองเกรส สามารถทำการวิจัยได้ 2 ทาง  คือ ใช้บริการหน่วยงานวิจัยกลางอย่าง CRS และดำเนินการวิจัยโดยสำนักงานและคณะ(กรรมาธิการ/ทีม)ของตนเอง  เพราะหน่วยงานวิจัย CRS มีข้อจำกัดบางประการ เช่น กระบวนการอนุมัติประเด็นวิจัย กระบวนการเปิดเผยข้อมูล เป็นต้น
 
ปัจจุบัน CRS  มีเจ้าหน้าที่ทำงานประมาณ 600 คน จากหลากหลายผู้เชี่ยวชาญ เช่น นักกฎหมาย นักเศรษฐศาสตร์   นักวิทยาศาสตร์ด้านต่างๆ ในปี 2012 คองเกรสอนุมัติเงินพื่อหน่วยงานแห่งนี้ จำนวน 106.8 ล้านเหรียญ โดย CRS ยังทำงานร่วมกับ สำนักงบประมาณของคองเกรส (The Congressional Budget Office) และ  สำนักงานพิจารณาการงบประมาณของรัฐ(Government Accountability Office)  ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับสมาชิกคองเกรสทางด้านการเงิน หรือการงบประมาณของรัฐ ตรวจสอบระบบบัญชีของรัฐจากโครงการใช้จ่ายในด้านต่างๆ หากรวม 3 หน่วยงานของคองเกรส ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่ร่วมทำงานมากกว่า 4,000  คน
 
บทบาทที่สำคัญอีกประการหนึ่งของ CRS คือ การวิเคราะห์สถานการณ์และประเด็นปัญหาด้าน นโยบายสาธารณะให้กับสมาชิกคองเกรสได้รับทราบเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการอภิปรายในสภา และเพื่อการตัดสินใจในการโหวตแต่ละครั้ง ซึ่งเป็นการวิเคราะห์จากข้อมูลที่ CRS มี อย่างตรงไปตรงมา เพราะอย่างที่บอก คือ หน่วยงานนี้เป็นหน่วยงานวิจัยกลางของคองเกรส ไม่สังกัดพรรคการเมืองใด
 
การวิเคราะห์ของ CRS เองก็ไม่พร่ำเพรื่อ คือ จะให้คำปรึกษาด้านข้อมูลประกอบการตัดสินใจของ สมาชิกคองเกรสกรณีที่ได้รับการร้องขอ ส่วนใหญ่การให้ข้อมูลและคำปรึกษาจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับกระบวน การด้านกฎหมาย กระบวนการด้านงบประมาณ และการทำงานเชื่อมกันระหว่าง 2 สถานที่ของสมาชิกคองเกรส คือ ที่ดี.ซี.และในแต่ละเขตเลือกตั้งของสมาชิกคองเกรส , CRS ยังทำหน้าที่สัมนาสมาชิกคองเกรสหน้าใหม่ เพื่อให้ทราบกฎหมายและเบียบต่างๆของคองเกรสอีกด้วย
 
การจัดตั้งหน่วยงาน CRS ชี้ให้เห็นว่า คองเกรสถืองานวิจัย เป็นเรื่องสำคัญ จึงนำมาสู่กระบวน การแสวงหาข้อมูล ข้อเท็จจริงในด้านต่างๆที่เกี่ยวข้องกับกิจการของคองเกรส ไม่ใช่สักแต่เป็นสส.และสว. แล้ว อภิปรายหรือ ตัดสินใจลงมติแต่เพียงชุ่ยๆเท่านั้น แต่คนเป็นนักการเมืองต้องทำการบ้านด้านข้อมูล ข้อเท็จจริงมาอย่างดิบดี
 
ไม่ใช่มัวแต่ลอกข้อมูล ลอกข่าว จากหนังสือพิมพ์  ตัดคลิปจากอินเตอร์เน็ต หรือจากสื่อต่างๆ ที่นิยมทำกันในบรรดานักการเมืองบางประเทศ
 
พูดก็พูดเถอะครับ กรณีของรัฐสภาไทย มีความพยายามกันอย่างมากในการโปรโมทองค์กรรัฐสภา ซึ่งถือว่าเป็นสถาบันการเมืองสำคัญแห่งหนึ่ง เช่น มีการจัดตั้งสื่อโทรทัศน์เป็นของตัวเอง เป็นต้น  แต่สำหรับหน่วย งานวิจัยเพื่อสนับสนุนการทำงานของ สส./สว.เพื่อให้เข้าถึงข้อเท็จจริงเชิงข้อมูลในด้านต่างๆ ยังไม่เห็นมีใครสนใจเสนอเรื่องนี้กันแต่อย่างใด
 
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เราเป็นคน ความยุติธรรมเราก็ต้องการเหมือนกัน: ญาติเหยื่อปุโละปุโย

$
0
0

บันทึกและข้อสังเกตจากทีมสื่อ FT MEDIA ต่อคำตัดสินกรณีการไต่สวนการตายของชาวบ้านปุโละปุโย ที่ผลการไต่สวนคือเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามหน้าที่ ขณะที่ข้อเท็จจริงจากฝ่ายเจ้าหน้าที่และชาวบ้านขัดกันอย่างสำคัญ

หลังจากกระบวนการทางกฎหมายดำเนินไปอย่างเงียบๆได้ปีครึ่ง บ่ายวันที่ 31 กค.ที่ผ่านมาศาลปัตตานีก็ได้ฤกษ์อ่านคำสั่งไต่สวนการตายกรณีที่เรียกกันว่า “สี่ศพปุโละปุโย”

อ่านจบไปได้สักพัก บรรดาญาติๆที่ร่วมรับฟังคำสั่งก็ยังคงทำหน้างงๆ ทนายความคือภาวิณี ชุมศรีเข้าไปอธิบายให้ฟังซ้ำ แต่ญาติบอกในที่สุดว่า อันที่จริงไม่ใช่ว่าพวกเขาไม่เข้าใจ ทำให้เห็นชัดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นดูเหมือนจะเป็นความงงเพราะปรับความรู้สึกไม่ทันมากกว่า สีหน้าผิดหวังของพวกเขาดูปิดไม่มิด แม้ว่าหลายคนจะแสดงอาการเฉยเมยไร้ความรู้สึก อันเป็นวิธีการแสดงออกของผู้คนในพื้นที่นี้ที่เห็นเป็นประจำในยามที่พวกเขาอึดอัดใจ

คำสั่งศาลที่ยาวเหยียดบ่ายวันนั้นได้รวบรวบเอาคำให้การของทุกฝ่ายเข้าไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นของเจ้าหน้าที่ทหาร ญาติผู้สูญเสีย พยานที่บาดเจ็บ และอื่นๆ  สรุปก็คือ จากคำให้การต่างๆ พบว่า เหตุการณ์ในคืนวันที่ 29 มค.2555 นั้นเกิดขึ้น หลังจากที่มีการยิงระเบิดเข้าใส่ฐานทหารพรานที่4302  ที่บ้านน้ำดำซึ่งอยู่ไม่ไกลออกไปจากที่เกิดเหตุ ซึ่งทำให้จนท.ชุดหนึ่งจากฐานนำรถออกลาดตระเวนจนกระทั่งมาพบกับรถของชาวบ้านทั้งเก้าคนที่กำลังจะไปละหมาดให้กับผู้ตายในพื้นที่ใกล้เคียง การเผชิญหน้ากันสั้นๆกลายเป็นจุดจบของสี่ชีวิตและคนบาดเจ็บอีกห้า นั่นเป็นภูมิหลังของเรื่องและเป็นจุดตั้งต้นของคดีความที่ทำท่าว่าจะยืดเยื้อหาที่ลงไม่ได้อีกราย

สำหรับรายละเอียดของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น แน่นอนว่าต่างฝ่ายต่างก็มีข้อมูลที่แตกต่างกันออกไป และเนื่องจากในที่เกิดเหตุไม่มีพยานอื่น สิ่งที่เกิดขึ้น จึงกลายเป็นการที่จะต้องพิสูจน์คำพูดของจนท. กับคำพูดของชาวบ้านที่รอดชีวิต เท่ากับว่า ทุกฝ่ายฝากความหวังไว้กับกระบวนการสอบสวนของจนท.ตำรวจกับการแสวงหาข้อเท็จจริงในชั้นศาล ว่าความจริงอยู่ที่ไหน 

อย่างไรก็ตามก็มีสิ่งที่ทั้งสองฝ่ายคือฝ่ายชาวบ้านและจนท.ให้การตรงกัน นั่นก็คือ ในการพบกันบนทางเบี่ยงของรถเจ้าหน้าที่และรถชาวบ้านนั้น เจ้าหน้าที่ได้ให้สัญญาณให้รถของชาวบ้านหยุด มีทั้งพูดเป็นภาษาไทย มลายูและทำสัญญาณมือ แม้ว่าฝ่ายชาวบ้านบางคนจะไม่ได้พูดเอาไว้ก็ตาม ในขณะที่คำให้การของซีกชาวบ้านระบุว่า ชาวบ้านเองก็ตะโกนบอกชัดเจนว่าพวกเขาจะไปละหมาด แต่ฝ่ายจนท.ไม่มีใครให้การว่าได้ยินเสียงชาวบ้านแต่อย่างใด สิ่งที่ขัดกันก็คือชาวบ้านให้การว่าถูกจนท.ยิงโดยที่พวกเขาไม่ได้ทำอะไร ขณะที่จนท.บอกว่ามีเสียงปืนดังมาจากรถของชาวบ้านก่อน ฝ่ายตนจึงยิงตอบโต้ และเนื่องจากเห็นคนยิงแล้วกระโดดหนีเข้าราวป่าทั้งยังยิงมาจากราวป่าด้วย จนท.จึงยิงไปทั้งที่รถและที่ราวป่าในเวลาเดียวกัน

ข้อมูลจากการไต่สวนบอกต่อไปว่า หลังจากที่มีการยิงกันไปเรียบร้อยแล้ว ก็มีเจ้าหน้าที่อีกชุดหนึ่งที่ได้รับแจ้งเหตุตามเข้าไปในพื้นที่ เจ้าหน้าที่ชุดหลังนี้ได้สั่งให้จนท.ชุดแรกออกไปรักษาความปลอดภัยห่างออกไปอีกด้านหนึ่งของถนน แล้วกลุ่มที่สองก็เข้าไปตรวจสอบที่เกิดเหตุ 

มีรายละเอียดบางประการจากการให้การที่มีเรื่องราวเพิ่มเติมสำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ซึ่งที่ผ่านมายังไม่ได้มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ นั่นก็คือว่า จากการให้การของจนท. มีคนในกลุ่มของจนท.ชุดหลังนี้ที่อ้างว่า มีผู้เห็นวัตถุต้องสงสัยใต้รถ จึงได้มีการสั่งให้นำรถรีว่า  หรือรถหุ้มเกราะที่จนท.ชุดหลังนำไปด้วย ไปดันรถกระบะของชาวบ้านที่โดนยิงไปแล้วนั้น  จากนั้นมีผู้เห็นว่ามีพานท้ายปืนอันหนึ่งโผล่ออกมาจากบริเวณด้านข้างของคนขับ และพอถอยรถรีว่าขึ้นมาก็พบว่ามีคนวิ่งหนีออกจากทางประตูรถกระบะแล้ววิ่งเข้าไปในแนวป่า แล้วจึงมีเสียงปืนดังขึ้นอีกสองนัด จึงได้มีการยิงตอบโต้กลับไปอีกชุดหนึ่งจากฝ่ายจนท.

หลังจากนั้นจนท.ก็รอจนกระทั่งเมื่อมีรถปั่นไฟเข้าไปในที่เกิดเหตุตอนห้าทุ่มครึ่ง จึงเข้าไปตรวจสอบรถอีกครั้ง จึงได้พบศพผู้ตายและผู้บาดเจ็บจึงได้นำคนเจ็บคนตายส่งโรงพยาบาลต่อไป

คำสั่งศาลตอนหนึ่งจึงสรุปว่า “เมื่อเจ้าหน้าที่มาอีกชุดหนึ่ง ใช้อาวุธยิงที่เดิมอีก (ชาวบ้าน) จึงตาย การกระทำของเจ้าหน้าที่ เป็นการปฏิบัติการตามหน้าที่ในการติดตามจับกุมผู้ต้องสงสัย”

และในตอนท้ายคำสั่งระบุอีก “สรุปว่า ผู้ตายทั้งสี่ถูกกระสุนปืนจากจนท.ทหารที่อ้างว่าปฏิบัติหน้าที่ยิง เป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย”

บนเส้นทางของการต่อสู้ทางคดีที่ยืดเยื้อยาวนาน ข้อมูลแต่ละจุดแต่ละประเด็นดูจะเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งทั้งสำหรับการต่อสู้ต่อไปและต่อความรู้สึกของญาติและสาธารณะ

ย้อนหลังกลับไปเมื่อปีที่แล้วคือปี 2555 หลังจากที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นและมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนักในพื้นที่ แม่ทัพภาคที่ 4 ในขณะนั้น คือ พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นตรวจสอบข้อเท็จจริงชุดหนึ่ง โดยมีประธานกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานี แวดือราแม มะมิงจิ เป็นประธาน มีจนท.ทั้งสามฝ่ายรวมทั้งทนายและตัวแทนญาติเข้าร่วมเป็นกรรมการด้วย คณะกรรมการชุดนั้นก็มีบทสรุปเช่นเดียวกันว่า กรณีสี่ศพปุโละปุโยเป็นการเสียชีวิตของชาวบ้านจากการยิงของจนท. แต่ที่อาจจะทำให้ชาวบ้านมีความรู้สึกว่า ตนเองขยับเข้าใกล้ความเป็นธรรมได้มากกว่า ก็คือการที่คณะกรรมการชุดนั้นสรุปไว้ชัดว่าสถานะของชาวบ้านที่ตายเป็น “ผู้บริสุทธิ์” ขณะที่ในคำสั่งศาลกลับเปิดทางให้มีการสอบกันต่อไปเพราะคำที่ว่า จนท.ติดตามตัว “ผู้ต้องสงสัย”

นอกจากนั้นคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงยังระบุไว้ด้วยว่า ทหารที่ยิงนั้น ยิงเพราะ “สำคัญผิด” ซึ่งญาติกล่าวว่า ในฐานะของผู้สูญเสีย อย่างน้อยยังดีกว่าระดับหนึ่งเพราะถือว่ายอมรับว่าทำ แม้ว่าจะเป็นการกระทำที่ผิดพลาดก็ตาม

สิ่งที่น่าสนใจด้วย ก็คือเรื่องที่คำสั่งการไต่สวนระบุว่า การโดนยิงของชาวบ้าน โดนถึงสองครั้ง ครั้งแรกโดยเจ้าหน้าที่ชุดแรก แต่ต่อมาเมื่อจนท.ชุดที่สองไปถึง ได้ขอให้จนท.ชุดแรกถอยออก เพื่อให้ชุดใหม่เข้าตรวจสอบพื้นที่ ปรากฏว่าในช่วงนี้มีการยิงใส่รถกระบะอีกหน โดยจนท.ชุดที่สองที่อ้างเหมือนกันว่า มีเสียงปืนยิงมาจากรถกระบะมาทางฝั่งจนท.เช่นเดียวกัน จุดนี้น่าจะยิ่งทำให้การหาตัวผู้กระทำเป็นงานหนักเพิ่มขึ้นเพราะมีจนท.ที่เกี่ยวข้องถึงสองชุด นอกจากนี้การที่พบว่ามีอาวุธในรถกระบะยิ่งทำให้เรื่องราวเข้มข้นไปในทิศทางที่พัวพันชาวบ้านทั้งกลุ่มทันที

ประเด็นเหล่านี้น่าจะทำให้ทนายและญาติมีงานหนักมากขึ้น นอกเหนือไปจากความรู้สึกที่ว่า คำสั่งไต่สวนการตายหนนี้ไม่ได้ไปไกลถึงขั้นชี้ชัดว่า จนท.ทำเกินกว่าเหตุหรือไม่ อันเป็นสิ่งที่ชาวบ้านคาดหวัง  

“เรารู้แน่ว่าชาวบ้านซึ่งเป็นพี่น้องเราหมด บริสุทธิ์จริงๆ” อาอีด๊ะ บือราเฮง ญาติรายหนึ่งกล่าว “ในเมื่อรัฐกระทำต่อประชาชน อยากให้มองว่าประชาชนก็มีศักดิ์ศรีความเป็นคน แม้ไม่ได้ทำหน้าที่หน่วยงานรัฐแต่เรายังเป็นคน ความยุติธรรมเราก็ต้องการเหมือนกันว่าความยุติธรรมความเป็นจริงมันอยู่ยังไงตรงไหน”

“ตอนแรกๆก็มีความหวังต้องเอาคนผิดมาลงโทษให้ได้ เงินเจ็ดล้านห้ามันไม่ใช่ค่าของคน ร้อยล้านก็ไม่ใช่”

อาอีด๊ะกล่าวด้วยว่า ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของความเป็นธรรมอย่างเดียว แต่ยังเป็นประเด็นในเรื่องของความปลอดภัย  “ในสามจังหวัดเราต้องการความอยู่รอด ความปลอดภัย เราเองก็สู้ แต่เราไม่ได้ไปยิงใคร แต่อยากให้มีความเสมอภาคของคนทั่วไป เราไม่ได้ว่ารัฐไม่ดี แต่คนที่ทำงานตรงนี้มันจะมีไหม ได้อ่านมาหลายคดีก็เป็นเหมือนกันแบบนี้ ตบท้ายก็อยู่ระดับนี้ จะทำยังไงให้มันกว้างกว่านี้ คนที่ยังไม่โดน ให้คดีของเราเป็นตัวอย่างก็ได้”

“ชาวบ้านน่ะคาดหวังแต่ไม่มีหวัง พวกเราไม่รู้จะพึ่งใคร คนมีหนังสือมีการศึกษาก็ทำอะไรไม่ได้เพราะรัฐอ่อนแอเกิน ก็ไม่ได้โทษว่ารัฐไม่ดีนะ รัฐน่ะดี แต่ทำไมล่ะ คนคนหนึ่งเสียชีวิตแล้วทำเฉยเหรอ มันไม่ใช่ คนอื่นอีกที่ต้องดำเนินชีวิต มันไม่มีหลักประกัน”

หลังฟังคำสั่ง คำถามสำคัญสำหรับพวกเขาก็คือ จะทำอย่างไรต่อ ภาวิณี ชุมศรียอมรับว่าทนายความไม่อาจทำอะไรได้มากนักนอกจากติดตามความคืบหน้าจากเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อไป เพราะพนักงานสอบสวนจะเป็นผู้สานต่อในเรื่องคดีอาญา เส้นทางข้างหน้าคือหากพวกเขาพบว่ามีหลักฐานว่าเจ้าหน้าที่กระทำเกินเหตุก็จะส่งเรื่องไปยังอัยการ – ซึ่งในกรณีนี้ต้องเป็นอัยการทหารเพราะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องแม้จะเป็นทหารพรานแต่ก็ต้องขึ้นศาลทหารตามกฎหมาย ตัวผู้เสียหายไม่มีสิทธิที่จะยื่นฟ้องเอง เธอยอมรับว่า ที่ผ่านมา อย่าว่าแต่ศาลทหาร แม้แต่ศาลพลเรือนปกติ สาธารณะก็ยังไม่ได้เห็นการลงโทษผู้กระทำผิดแม้แต่กรณีเดียว

แต่ภาวิณีกับลูกความของเธอยังคิดว่าจะต่อสู้ต่อไป  อาอีด๊ะยอมรับว่าเธอยังไม่มั่นใจแต่รู้ว่าต้องสู้ต่อ “ยังไม่รู้จะไปซ้ายหรือไปขวาหรือว่าจะเดินตรง ยังคิดอยู่ ตัดสินใจไม่ถูก ความรู้สึกมันท้อ แต่ว่าต้องก้าวไป"

ด้านทนายความภาวิณียอมรับว่าบางครั้งก็มีอาการท้ออยู่บ้าง “เทียบกับที่อื่นที่นี่มันยากจริงๆ อย่างที่กาฬสินธุ์ เราได้เห็นตำรวจถูกลงโทษ แต่ทำไมที่นี่มันไม่เคยเกิดเลยทั้งๆที่เห็นชัดๆว่าใครทำ กลไกมันล็อคไปหมด”

“แต่เราก็ยังไม่หมดหวังเสียทีเดียว เรายังรออยู่ รอวันที่ฟ้าจะสดใส ถึงแม้ว่าวันนี้ฝนจะตก มันต้องมีสักวัน มันต้องมีจังหวะที่มันเปิดบ้าง”

ทว่าในโลกโซเชียลมีเดียที่ข่าวไปเร็ว และปฏิกิริยามาเร็ว ทันทีที่โพสต์บทสรุปจากคำสั่งศาลได้ไม่ถึงสองนาที ก็มีผู้เข้าไปสะท้อนความเห็นทันที หลายเสียงแสดงความเหนื่อยหน่ายต่อกระบวนการยุติธรรมของไทย แต่สิ่งที่น่าสนใจด้วยก็คือปฏิกิริยาของนักกฎหมายด้วยกัน

“กระบวนการยุติธรรมให้ได้แค่นี้จริงๆ” เป็นหนึ่งในความเห็นจากนักกฎหมายที่เคยทำงานในภาคใต้มาก่อนคือเยาวลักษณ์ อนุพันธุ์ “ดังนั้นควรยกเลิกกระบวนการไต่สวนการตายได้แล้ว”  

“ซ้ำซ้อนที่สุด”  

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน Deep South Watch
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตร.แจงยังไม่ได้จับ 'ปูเค็ม' ชุมนุมที่ พท. แค่เชิญมาเจรจาที่ สน.

$
0
0
ตำรวจแจงเชิญตัวผู้กองปูเค็มไปเจรจาที่ สน.มักกะสัน ยังไม่ได้มีการจับกุมหรือควบคุมตัวแต่อย่างใด ด้าน ศอ.รส.เตือนเข้าเขตหวงห้ามฝ่าฝืนโทษ 6 เดือน เผยจับหนุ่มพกมีดเข้าพื้นที่แล้ว 1 ราย ส่งสน.ดุสิตดำเนินคดี

 
3 ส.ค. 56 - พ.ต.อ.กิติ ยุกตานนท์ ผกก.สน.มักกะสัน เปิดเผยถึงกรณี ร.อ.ทรงกลด ชื่นชูผล หรือผู้กองปูเค็ม เดินทางไปชุมนุมที่หน้าพรรคเพื่อไทยว่า ล่าสุดทางตำรวจได้เชิญตัวผู้กองปูเค็มไปเจรจาที่ สน.มักกะสัน ซึ่งไม่ได้มีการจับกุมหรือควบคุมตัวแต่อย่างใด เนื่องจากผู้กองปูเค็มพร้อมด้วยผู้ติดตามอีก 5-6 คน แสดงเจตนาว่าจะปักหลักชุมนุมอยู่หน้าที่ทำการพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นสถานที่ของเอกชน ทางตำรวจเห็นว่า อาจเป็นการไม่เหมาะสมและเกรงว่าจะเข้าข่ายความผิดเรื่องบุกรุกสถานที่ส่วนบุคคล จึงมีการเจรจาโดยผู้กองปูเค็มเองก็ได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี จึงจัดสถานที่เหมาะสมคือที่ สน.มักกะสันในการพูดคุยเจรจา โดยขณะนี้ยังไม่มีการดำเนินการแจ้งข้อหาแต่อย่างใด
 
ก่อนหน้านั้นเมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 3 สิงหาคม ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) กลุ่มประชาชนไม่เอาระบอบทักษิณ นำโดย ร.อ.ทรงกลด ชื่นชูผล หรือผู้กองปูเค็ม ประมาณ 50 คน รวมตัวชุมนุมหน้าสำนักงานใหญ่ พท. เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลถอนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ออกจากการพิจารณาของสภา โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.มักกะสัน ดูแลความเรียบร้อยประมาณ 60 นาย
 
ร.อ.ทรงกลดกล่าวว่า ที่มาในวันนี้เพื่อที่จะมาดูสถานที่ในการชวนมาร่วมชุมนุม พท.มีบรรยากาศที่ร่มรื่น มีร่มเงาให้ผู้ชุมนุม เป็นพรรคการเมืองของประชาชน อีกทั้งไม่อยู่ในเขตที่ประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงและใช้สิทธิชุมนุมตามกรอบของกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งสูงกว่ากฎหมายระดับ พ.ร.บ.และอยากเรียกร้องให้รัฐบาลถอนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมออกจากสภา หากยืนยันจะพิจารณาต่อไป ตนไม่ยอม ขอทำหน้าที่ปกป้องสถาบันตุลาการ จะไม่ยอมให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยย่ำยีอำนาจตุลาการ พร้อมฝากบอกรัฐบาลและ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. ว่าผู้กองปูเค็มพร้อมรบ ซึ่งตนได้เตรียมจัดตั้งนักรบจรยุทธ์ ที่พร้อมจะรบในลักษณะสงครามกองโจร ซึ่งเป้าหมายกำหนดไว้แล้ว แต่ขอไม่บอก
 
เมื่อถามว่า อย่างนี้จะเสี่ยงเกิดความรุนแรงหรือไม่ ร.อ.ทรงกลด กล่าวว่า ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะยอมถอนร่าง พ.ร.บ.นิโทษกรรมหรือไม่ หากถอนไป ก็ไม่เกิดความรุนแรง
 
เมื่อถามว่าร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมมีจุดมุ่งหมายประชาชนทุกสีเสื้อซึ่งกลุ่มเสื้อเหลือง ก็ได้ประโยชน์ ร.อ.ทรงกลดกล่าวว่า ต้องกำหนดให้ชัดว่า ไม่รวมแกนนำ แต่การนิรโทษกรรมนั้น ผู้ทำผิดต้องสำนึกเสียก่อน ผู้เผาศาลากลางรับผิดหรือยัง หรือคนที่บงการสำนึกผิดหรือยัง เพราะเมื่อถึงการชุมนุมจริง รัฐบาลจะรับมือพวกเราไม่ไหว มีตำรวจเพียง 3 หมื่น แต่ประชาชนที่เห็นต่างมีถึง 12 ล้านคน ตำรวจหน้าสภาก็เอาไม่อยู่ สำหรับการที่นายกฯ ออกแถลงการณ์เดินหน้าสร้างปรองดองกับประชาชนทุกกลุ่ม ตนคิดว่าเป็นการซื้อเวลาให้รัฐบาลเท่านั้น แค่คนแรกที่ไปคุยคือนายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ก็ผิดแล้ว เพราะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ไปคุยกัน ก็ไปหารือถึงประโยชน์ของตัวเอง และในขณะนี้ ตนทราบว่า กลุ่มคนเสื้อแดงได้เตรียมมวลชนมาชุมนุม โดยพักอยู่ที่วัดพระธรรมกาย ส่วนแกนนำในเย็นนี้จะไปจัดชุมนุมที่หน้าวิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง แต่ตนยังเชื่อว่า พล.ต.อ.อดุลย์ ในฐานะ ผอ.สอรส. จะไม่ทำร้ายประชาชน เพราะรัฐบาลเป็นผู้ที่กำลังทำให้เกิดสถานการณ์ความรุนแรงเอง
 
ทั้งนี้ กลุ่มผู้ชุมนุมยืนยันจะปักหลักชุมนุมที่ พท. แต่เจ้าหน้าที่ฝ่ายอาคารได้เจรจาขอร้องให้ไปชุมนุมบริเวณนอกอาคารที่ทำการพรรค แต่ ร.อ.ทรงกลดไม่ยอม โดยประกาศจะยืนอยู่บริเวณทางขึ้นหน้าพรรค ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายอาคารจะได้เข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อไป นอกจากนี้ ร.อ.ทรงกลดประกาศจะนอนค้างคืนที่ พท.และในวันที่ 4 สิงหาคมนี้ จะไปจัดกิจกรรมสลายสีเสื้อ ที่ลานพระบรมรูปทรงม้าด้วย
 
 
ศอ.รส.เตือนเข้าเขตหวงห้ามฝ่าฝืนโทษ 6 เดือน
 
ด้าน พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะเลขาธิการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) เปิดเผยกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า กรณีที่กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ ประกาศใช้พื้นที่สวนลุมพินี เป็นพื้นที่การชุมนุมพรุ่งนี้ ถือว่า อยู่นอกเหนือเขตประกาศของ ศอ.รส. เรื่องห้ามบุคคลเข้าหรือต้องออกจากบริเวณพื้นที่ อาคาร หรือสถานที่ ที่กำหนด ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะใช้กำลังเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดมือที่สามมาทำการยั่วยุ หรือใช้กำลังก่อความวุ่นวาย ทั้งนี้กองทัพประชาชนฯ มีสิทธิ์ชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ แต่ต้องอยู่ในความสงบและปราศอาวุธ อย่างไรก็ตาม ห้ามกลุ่มผู้ชุมนุมเดินทางเคลื่อนกำลังคน หรือดาวกระจาย เข้าไปในจุดต่าง ๆ ตามที่ประกาศห้าม หากฝ่าฝืนทาง ศอ.รส. จะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป 
 
"ก็อนุญาต การชุมนุมเป็นสิทธิ์อยู่แล้ว จะเคลื่อนไปก็เคลื่อนได้ แต่ห้ามเข้าไปในเขตที่เราประกาศห้ามไม่ได้" เลขาธิการ ศอ.รส. กล่าว
 
ทั้งนี้ เลขาธิการ ศอ.รส. กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้ หากไม่จำเป็น ประชาชนทั่วไปในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ควรเดินทางออกจากเคหสถาน เนื่องจากจะมีปัญหาในเรื่องการจราจรที่ติดขัด ส่วนกลุ่มผู้ชุมนุม หากฝ่าฝืนเข้าไปในเขตที่ประกาศห้าม จะมีโทษจำคุก 6 เดือน 
 
 
บชน. คุมเข้มพื้นที่ พรบ.มั่นคง เผย จับหนุ่มพกมีดเข้าพื้นที่แล้ว 1 ราย ส่งสน.ดุสิตดำเนินคดี
 
ด้าน พล.ต.ต.ปริญญา จันทร์สุริยา รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวหลังการประชุมติดตามสถานการณ์การชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองของ กลุ่มต่างๆหลังมีการประกาศ พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ ควบคุมพื้นที่ 3 เขต ได้แก่ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตดุสิต และเขตพระนคร ระหว่างวันที่ 1-10 สิงหาคมนี้ ว่าล่าสุดกลุ่มผู้ชุมนุมมีการเตรียมพื้นที่เพื่อรองรับผู้ชุมุนมบริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 6 หรือสวนลวนลุมพินี ซึ่งตำรวจจะมีการใช้กำลังตำรวจพื้นที่และกำลังควบคุมฝูงชนดูแล แต่จะเน้นดูพื้นที่ควบคุม 3 เขตที่ประกาศพรบ. มั่นคงเป็นหลัก ขณะที่การตั้งจุดตรวจพบว่ามีการจับกุมผู้พกพาอาวุธมีดเข้าพื้นที่1 รายยึดมีด 1 เล่มและได้ส่งดำเนินคดีสน.ดุสิตแล้ว ขณะที่การปิดประกาศของศอรส. จะพิจารณาปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์โดยหากไม่มีเหตุการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงก็สามารถเส้นทางได้ปกติ
 
ทั้งนี้หลังการประชุมพลตำรวจตรีปริญญาลงพื้นที่ตรวจสอบและกำชับกำลังพลในพื้นที่ตั้งจุดตรวจที่แยกวัดเบญจมบพิตร ซึ่งกำชับให้กำลังพลให้ตรวจตราพื้นที่อย่างละเอียดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุที่คาดคิด
 
 
ที่มาเรียบเรียงจาก: มติชนออนไลน์, ไอเอ็นเอ็น, โพสต์ทูเดย์
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แกนนำ นปช.ประกาศสถานการณ์บ้านเมืองไม่ปกติ ขอคนเสื้อแดงเตรียมพร้อมในที่ตั้ง

$
0
0
3 ส.ค. 56 - ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่านายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ แกนนำคนเสื้อแดง กล่าวว่าประเทศไทยแตกแยกมานานมากแล้ว หลายคนจึงเสนอแนวคิดในการสร้างความปรองดองด้วยการเสนอกฎหมายต่างๆ ทั้งร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งหมด ล้วนแต่เป็นเจตนาดี ซึ่งไม่ตรงกับความประสงค์ของพรรคฝ่ายค้าน เขาแคลงใจว่า ทั้งหมดทำเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จึงขัดขวางทุกทาง ถึงขนาดฉีกปณิธานของพรรค ที่จะดำเนินการตามระบอบประชาธิปไตย ด้วยการผนึกกำลังนอกสภาฯ ต่อต้านระบอบทักษิณ เราต้องคิดกันให้ดีว่า ระบอบทักษิณมีจริงหรือไม่ การที่คนเสื้อแดงเกิดขึ้น และเติบโตมีเป้าหมายเพื่อต่อต้านเผด็จการ และสถาปนาระบอบประชาธิปไตย ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นคนไทยคนหนึ่งย่อมได้รับสิทธิเหมือนคนไทยทั้งประเทศ  
 
จากนั้นเวลา 14.00 น. นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำคนเสื้อแดง กล่าวว่า ขณะนี้เป็นสถานการณ์ไม่ปกติ มีสภาพเหมือนก่อนเหตุการณ์ 19 ก.ย. 49 การข่าวข้อมูลไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เราเคยโชคร้ายที่เมื่อ 19 ก.ย.49 ไม่มีขบวนการของคนเสื้อแดงมาบอกความจริงเหมือนวันนี้ ไม่เช่นนั้นเหตุการณ์วันที่ 19 ก.ย. จะไม่มีทางเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ฝ่ายตรงข้าม ซึ่งเป็นตัวละครเดิมตั้งแต่ปี 48–49 มีเป้าหมายขับไล่ล้มรัฐบาลที่เขาบอกว่า เป็นระบอบทักษิณ อย่างไม่จำกัดวิธีการ ซึ่งเราไม่พร้อมที่จะอยู่ในฐานะผู้แพ้อีกต่อไป เราต้องสู้เพื่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่ต้องไม่มีระบอบอำมาตยาธิปไตยมาคั้นกลาง ซึ่งความแข็งแรงของรัฐบาล อยู่ที่ความแข็งแรงของประชาชน ไม่ใช่ความเมตตาของอำมาตย์ รัฐบาลต้องรู้ว่า มิตรที่แท้จริงคือ คนเสื้อแดง เท่านั้น รัฐบาลต้องไม่ถูกหลอกซ้ำซาก เราต้องขับเคลื่อนอย่างสุขุม ตนจึงขอให้คนเสื้อแดงอยู่ในที่ตั้ง รอฟังสัญญาณจากแกนนำ
 
“ประชาชนเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กของรัฐบาล จึงขอให้รัฐบาลคิดว่าเขาเป็นหุ้นส่วนของรัฐบาล อย่าผลักไสประชาชน และอย่านำไปสู่เหตุการณ์บาดเจ็บล้มตาย สูญเสียชีวิต และอิสรภาพ คนเสื้อแดงขอพูดในฐานะหุ้นส่วนชีวิตว่า ในสถานการณ์แบบนี้ต้องฟังมิตรมากกว่าศัตรู ถ้าหากฟังศัตรู รัฐบาลจะไปเร็ว ทั้งหมดเป็นความหวังดีของประชาชน” นายจตุพร กล่าว
 
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ กล่าวว่า สถานการณ์ของรัฐบาลช่วงครึ่งปีหลัง (2556) เป็นสถานการณ์ที่ล่อแหลมที่สุด หากรัฐบาลประคับประคองรอดไปได้ รัฐบาลอยู่อีกยาว แต่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลต้องการโค่นล้มให้ได้ภายในปีนี้ รัฐบาลไม่ได้ปกป้องตัวเองโดยไม่ขับเคลื่อนอะไรเลย ตรงกันข้ามรัฐบาลต้องขับเคลื่อนเต็มกำลัง เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งทั้งในระบบและนอกระบบ ซึ่งตนมั่นใจว่าภายใต้สถานการณ์แบบนี้ ภารกิจร่วมคือการผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับของ นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย  
 
นายณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่า ขอฟันธงว่าการชุมนุมของคนพวกหน้ากากขาวและกลุ่มทหารแก่ ไม่มีทางล้มรัฐบาลพรรคเพื่อไทยได้อย่างแน่นอน แต่ที่เรามาประชุมกันในวันนี้ เพราะห่วงปัจจัยอื่น เพราะทางการข่าวมีหลายกระแส ทั้งนี้ ตนเห็นว่า เวลานี้คนเสื้อแดงต้องเป็นเอกภาพ ในระยะต้นระฆัง ยกที่หนึ่ง ดังพรุ่งนี้ ให้เขาเดินไปก่อน เราทำหน้าที่ติดตามดู ไม่ต้องเข้าไปใกล้ หรือสังเกตการณ์ ยกที่สอง หากสถานการณ์ต้องเคลื่อนไหวใดๆ ขอความกรุณาคนเสื้อแดงทุกกลุ่มฟังสัญญาณจากแกนนำส่วนกลางเป็นหลัก ยกที่สามหากถึงสถานการณ์ที่เขาลงมือชัดเจน เช่น องค์กรอิสระลงดาบรัฐบาล หรือมีการลุกขึ้นมาก่อการรัฐประหาร ให้ถือปฏิบัติว่าการต่อต้านรัฐประหาร เป็นหน้าที่ของเสรีชน ไม่ว่าจะใส่เสื้อสีอะไร
 
จากนั้นแกนนำ นปช. ได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์จุดยืนต่อสถานการณ์ทางการเมือง โดยระบุว่า การอ้างเหตุผลในการเคลื่อนไหวนำประชาชนออกมาต่อต้านการเสนอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และชูคำขวัญโค่นล้มระบอบทักษิณ เป็นเรื่องที่ขาดความชอบธรรม เพราะเนื้อหาในร่างกฎหมายดังกล่าว มุ่งนิรโทษกรรมให้กับประชาชนทุกกลุ่ม ยกเว้นแกนนำและผู้สั่งการ ทั้งนี้ เห็นว่าการที่พรรคประชาธิปัตย์และกลุ่มอนุรักษ์สุดขั้ว ที่จัดการเคลื่อนไหวในเวลานี้ ล้วนแสดงออกถึงการไม่ยอมรับกระบวนการทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ไม่ยอมรับการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ ตรงกันข้าม กลับใช้วิธีการอื่นเพื่อล้มล้างกระบวนการในระบอบประชาธิปไตย เพื่อให้กลุ่มตนเองขึ้นสู่อำนาจทางการเมืองการปกครอง
 
โดยสถานการณ์ขณะนี้ นปช.เห็นว่า อาจสุ่มเสี่ยงให้เกิดการรัฐประหารโดยกองทัพ โดยอ้างความไม่สงบจากความความขัดแย้งในประเทศ หรือทำให้เกิดการแทรกแซงและทำลายอำนาจอธิปไตยของประชาชน ด้วยการทำให้อำนาจตุลาการและองค์กรอิสระ ไม่ยึดโยงกับประชาชน อยู่ในฐานะครอบงำและสั่งการ มีบทบาทเหนืออำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร ส่งผลให้ประเทศไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่ง นปช.ยืนยันว่า ประชาชนจะคัดค้านการทำรัฐประหารทุกรูปแบบ ไม่ว่ากองทัพหรือใช้กฎหมายและอำนาจนอกระบบ 
 
อย่างไรก็ตาม จากการประเมินสถานการณ์แล้ว นปช.จะเตรียมพร้อมในที่ตั้งทั่วประเทศ เพื่อประเมินสถานการณ์และรอการนัดหมาย ในสถานการณ์ที่พลิกผัน หรือเกิดความรุนแรง เพื่อล้มรัฐบาล ซึ่งให้ฟังการส่งสัญญาณจาก นปช.ส่วนกลางเท่านั้น โดยระหว่างนี้ จะจัดการปรับปรุงเครือข่ายผู้ประสานงานให้เข้มแข็งทุกระดับ จัดการศึกษาในพื้นที่ ยกระดับการติดต่อสื่อสารระหว่างส่วนกลางและภูมิภาค รวมไปถึงการเตรียมพร้อมบุคลากร สถานที่และมวลชน ให้พร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์ตลอดเวลา
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สรุปเหตุ 4 วัน บึ้มทั่วชายแดนใต้ ตายแล้ว 6 บาดเจ็บ 42

$
0
0
สรุปเหตุการณ์ความไม่สงบ พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ตั้งแต่ 31 ก.ค.2556 ถึง 3 ส.ค.2556 ตาย 6 บาดเจ็บ 42 ราย มีเหตุระเบิดทั่วทั้ง 3 จังหวัด

 
เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 56 ที่ผ่านมา ASTV ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงสรุปเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้ง 4 อำเภอของ จ.สงขลา ซึ่งเกิดเหตุการณ์ไม่สงบต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 31 ก.ค.2556 ถึงวันที่ 3 ส.ค.2556 รวมทั้งสิ้นกว่า 33 เหตุการณ์ มีเจ้าหน้าที่ และประชาชน เสียชีวิต 6 ราย บาดเจ็บอีก 42 ราย ซึ่งเป็นเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นทั่วทั้ง 3 จังหวัด ในช่วงของ 10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน ซึ่งสรุปเหตุการณ์ได้ดังนี้
 
1.วันที่ 31 ก.ค.2556 เวลา 08.05 น. ลอบวางระเบิด ชป.ทพ.4708 เก็บกู้ได้ เพราะพบเห็นผู้ต้องสงสัยก่อน เหตุเกิดในพื้นที่ ม.5 ต.บาโร๊ะ อ.ยะหา จ.ยะลา
       
2.วันที่ 31 ก.ค.2556 เวลา 08.30 น. ลอบวางระเบิดตำรวจ สภ.ลำใหม่ ได้รับบาดเจ็บสาหัส 2 นาย เหตุเกิดในพื้นที่ ม.2 ต.ลำใหม่ อ.เมือง จ.ยะลา
       
3.วันที่ 31 ก.ค.2556 เวลา 10.25 น. ลอบวางระเบิดเจ้าหน้าที่ อส. อ.บันนังสตา ได้รับบาดเจ็บ 2 นาย เหตุเกิดภายในโรงเรียนบ้านเตาปูน อ.บันนังสตา จ.ยะลา
       
4.วันที่ 31 ก.ค.2556 เวลา 14.12 น. ลอบวางระเบิด ชป.ร้อย ทพ.4708 ได้รับบาดเจ็บสาหัส 1 นาย และเสียชีวิตในเวลาต่อมา เหตุเกิดในพื้นที่ บ.ปาจอ อ.ยะหา จ.ยะลา
       
5.วันที่ 31 ก.ค.2556 เวลา 17.00 น. ใช้อาวุธซุ่มยิงเจ้าหน้าที่ทหาร ร้อย ร.1731 ได้รับบาดเจ็บ 3 นาย เหตุเกิดในพื้นที่ บ.กาสังใน ม.6 ต.ตาเนาะปูเต๊ะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา
       
6.วันที่ 31 ก.ค.2556 เวลา 08.25 น. ลอบวางระเบิดเจ้าหน้าที่ทหาร ร้อย ร.1512 ได้รับบาดเจ็บ 2 นาย เหตุเกิดในพื้นที่ ม.2 ต.บาราโฮม อ.เมือง จ.ปัตตานี
       
7.วันที่ 31 ก.ค.2556 เวลา 17.45 น. เกิดเหตุระเบิดบริเวณถนนสายสวนพิธาน พื้นที่ บ.บลูกา ม.1 ต.รือเสาะออก อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตแต่อย่างใด
 
8.วันที่ 1 ส.ค.2556 เวลา 16.00 น. ลอบวางระเบิดเจ้าหน้าที่ทหาร ร้อย ร.1732 ได้รับบาดเจ็บ 5 นาย ราษฎรบาดเจ็บ 1 ราย เหตุเกิดในพื้นที่ ม.1 ต.ตลิ่งชัน อ.บันนังสตา จ.ยะลา
       
9.วันที่ 1 ส.ค.2556 เวลา 16.05 น. ลอบวางระเบิด และซุ่มยิงเจ้าหน้าที่ ตชด.44 เสียชีวิต 2 นาย เหตุเกิดในพื้นที่ บ.จาเราะแป อ.ธารโต จ.ยะลา
       
10.วันที่ 1 ส.ค.2556 เวลา 18.30 น. พบวัตถุต้องสงสัยบริเวณตลาดเมืองใหม่ อ.เมือง จ.ยะลา จำนวน 2 จุด ของจริง 1 ของปลอม 1 เก็บกู้ได้ เหตุเกิดบริเวณตลาดเมืองใหม่ อ.เมือง จ.ยะลา
       
11.วันที่ 1 ส.ค.2556 เวลา 05.10 น. ลอบวางระเบิด ร้อย ทพ.4201 ได้รับบาดเจ็บ 1 นาย เหตุเกิดในพื้นที่ บ.โต๊ะบาลา ม.5 ต.กะดุนง อ.สายบุรี จ.ปัตตานี
       
12.วันที่ 1 ส.ค.2556 เวลา 07.30 น. ลอบวางระเบิด ร้อย ทพ.4205 ได้รับบาดเจ็บ 2 นาย เหตุเกิดในพื้นที่ บ.กะลูบี ม.11 ต.เตราะบอน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี
       
13.วันที่ 1 ส.ค.2556 เวลา 13.00 น. ซุ่มยิง ร้อย ทพ.2204 ได้รับบาดเจ็บ 2 นาย เหตุเกิดในพื้นที่ บ.พงสตา อ.ยะรัง จ.ปัตตานี
       
14.วันที่ 1 ส.ค.2556 เวลา 07.00 น. ลอบวางระเบิด ร้อย ทพ.4516 ได้รับบาดเจ็บ 1 นาย เหตุเกิดในพื้นที่ ม.4 ต.บาโงสะโต อ.ระแงะ จ.นราธิวาส
       
15.วันที่ 1 ส.ค.2556 เวลา 16.00 น. ลอบวางระเบิดเพลิง บริเวณร้านขายอุปกรณ์เครื่องเขียนและร้ายขายของชำ บริเวณเขตเทศบาลตำบลสะบ้าย้อย อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา สามารถเก็บกู้ยิงทำลายไว้ได้โดยปลอดภัย เหตุเกิดบริเวณเขตเทศบาลตำบลสะบ้าย้อย อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา
 
16.วันที่ 2 ส.ค.2556 เกิดเหตุเพลิงไหม้ในเขตพื้นที่ อ.เมือง จ.ยะลา จำนวน 3 จุด ดังนี้
       - เวลา 02.55 น. เพลิงไหม้โรงงานยางไทยปักษ์ใต้ เลขที่ 43 ม.6 ต.ท่าสาป อ.เมือง จ.ยะลาเป็นเหตุให้ตัวอาคารเก็บยางพาราถูกเพลิงไหม้ได้รับความเสียหาย
       - เวลา 03.05 น. เพลิงไหม้เสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ AIS ใกล้สะพานท่าสาป ม.1 ต.ท่าสาป อ.เมือง จ.ยะลา เป็นเหตุให้สายไฟ และอุปกรณ์ถูกเพลิงไหม้ได้รับความเสียหาย
       - เวลา 03.10 น. เพลิงไหม้โรงงานไม้ยาง พีพาราวู๊ด บริเวณถนนสาย 15 ต.สะเตง อ.เมือง จ.ยะลา เป็นเหตุให้ตัวอาคาร และไม้แปรรูปถูกเพลิงไหม้ได้รับความเสียหาย
       
17.วันที่ 2 ส.ค.2556 เวลา 03.20 น. เกิดเหตุเพลิงไหม้ จำนวน 2 จุด ดังนี้
       - หจก.ยูเนียนพลาสติก พื้นที่ ม.6 ต.ลำใหม่ อ.เมือง จ.ยะลา
       - โรงงานผลิตท่อซีเมนต์ยะลาไพบูรณ์กิจ พื้นที่ ม.2 ต.ลิดล อ.เมือง จ.ยะลา ได้รับความเสียบางส่วน และรถบรรทุกสิบล้อ และรถโฟล์คลิฟต์ได้รับความเสียหาย
       
18.วันที่ 2 ส.ค.2556 เวลา 07.29 น. ลอบวางระเบิด ร้อย ทพ.4706 เสียชีวิต 1 นาย เหตุเกิดในพื้นที่ ม.1 ต.บาโงซิแน อ.ยะหา จ.ยะลา
       
19.วันที่ 2 ส.ค.2556 เวลา 14.15 น. ลอบวางระเบิด ร้อย ร.15232 ได้รับบาดเจ็บ 8 นาย เหตุเกิดในพื้นที่ บ.กาลูปัง ม.2 ต.กาลูปัง อ.รามัน จ.ยะลา
       
20.วันที่ 2 ส.ค.2556 เวลา 19.47 น. ลอบวางระเบิด โดยใช้ระเบิดชนิดแสวงเครื่องบรรจุในรถจักรยานยนต์ แล้วจุดชนวนระเบิด เจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ 1 นาย เหตุเกิดหน้าธนาคารอิสลาม สาขาบันนังสตา อ.บันนังสตา จ.ยะลา
 
21.วันที่ 2 ส.ค.2556 เวลาประมาณ 03.15 น. ลอบวางเพลิงเผารถรีไซกิ้ง จำนวน 1 คัน และรถบดถนน จำนวน 1 คัน ซึ่งจอดเรียงกันอยู่ที่บริเวณตรงข้ามสถานีอนามัยบ้านทุ่งนเรนทร์ ม.5 ต.บางเขา อ.หนองจิก จ.ปัตตานี
       
22.วันที่ 2 ส.ค.2556 เวลา 03.20 น. ลอบวางเพลิงในพื้นที่ ต.นาเกตุ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี จำนวน 3 จุด ดังนี้
       - ร้านมินิมาร์ท ของบริษัทศูนย์การค้าไดอาน่าคอมเพล็กซ์ เลขที่ 46 ม.7 ต./อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี
       - ร้านพงศ์ภัทรสปอร์ต เลขที่ 174/7 ร้านโลโก้ เลขที่ 174/8 และ ร้านเสาวดีการค้า เลขที่ 174/15-16 พื้นที่ ม.7 ต./อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี
       - ร้านจำหน่ายรถจักรยานยนต์ บริษัทพิธานพาณิชย์ พื้นที่ ม.1 ต.นาเกตุ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี รถจักรยานยนต์เสียหาย จำนวน 50 คัน และตัวอาคารเสียหาย จำนวน 3 คูหา ค่าเสียหายประมาณ 2 ล้านบาท
       
23.วันที่ 2 ส.ค.2556 เวลา 09.20 น. ลอบวางระเบิด ร้อย ร.15332 ได้รับบาดเจ็บ 1 นาย เหตุเกิดในพื้นที่ ม.7 ต.กะรุบี อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี
       
24.วันที่ 2 ส.ค.2556 เวลา 11.50 น. ตรวจพบระเบิดฝังไว้ใต้ผิวถนน ต่อวงจรลากสายจุดชนวนระเบิด บริเวณพื้นที่ บ.เจาะบองอ ม.5 ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี เก็บกู้ได้
       
25.วันที่ 2 ส.ค.2556 เวลา 17.00 น.ลอบวางระเบิด ร้อย.ทพ.2210 ได้รับบาดเจ็บ 4 นาย เหตุเกิดในพื้นที่ ม.4 ต.เมาะมาวี อ.ยะรัง จ.ปัตตานี
       
26.วันที่ 2 ส.ค.2556 เวลา 17.00 น. ยิง จ.ส.อ.อาหาแซ บาเน็ง สังกัด ร.152 ช่วยราชการที่ค่ายสิรินธร จ.ปัตตานี ทำหน้าที่เป็นวิทยากรเกี่ยวกับยาเสพติดและงานมวลชน เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ เหตุเกิดในพื้นที่ ม.4 ต.ปากู อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี
       
27.วันที่ 2 ส.ค.2556 เวลาประมาณ 07.25 น. ลอบวางระเบิด ร้อย ทพ.4508 ได้รับบาดเจ็บ 1 นาย เหตุเกิดในพื้นที่ บ.เจ๊ะเก ม.2 ต.บาโงสะโต อ.ระแงะ จ.นราธิวาส
       
28.วันที่ 2 ส.ค.2556 เวลา 15.00 น. ลอบยิง อส. เสียชีวิต 2 นาย เหตุเกิดในพื้นที่ ม.2 ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส
       
29.วันที่ 2 ส.ค.2556 เวลา 15.30 น. ลอบวางระเบิด ร้อย ทพ.4510 ได้รับบาดเจ็บ 5 นาย เหตุเกิดถนนสายบ้านมะแกง-บ้านกูดง พื้นที่ บ.แบแร ม.6 ต.บองอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส
       
30.วันที่ 2 ส.ค.2556 ตรวจพบวัตถุระเบิดชนิดแสวงเครื่องแบบเหยียบ บรรจุในกระป๋องผลไม้ ยี่ห้อมาลี น้ำหนักประมาณ 2 กก. บริเวณ บ.ป่าไผ่ ม.5 ต.ตันหยงลิมอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เก็บกู้ได้
       
31.วันที่ 2 ส.ค.2556 เวลา 03.00 น. เกิดเหตุเพลิงไหม้ร้านขายของชำ เลขที่ 79/1 ม.3 ต./อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ได้รับความเสียหาย
       
32.วันที่ 2 ส.ค.2556 เวลา 03.30 น. เกิดเหตุเพลิงไหม้ จำนวน 2 จุด พื้นที่รับผิดชอบ สภ.ห้วยปลิง อ.เทพา จ.สงขลา ดังนี้
       - ร้านเฟอร์นิเจอร์ ตั้งอยู่บริเวณริมถนนสายลำไพล-โคกโพธิ์ พื้นที่ บ.นิคมเทพา ม.3 ต.ท่าม่วง อ.เทพา จ.สงขลา ได้รับความเสียหาย
       - ร้านเฟอร์นิเจอร์ ตั้งอยู่บริเวณริมถนนสายลำไพล-โคกโพธิ์ บ้านเลขที่ 304 บ.ลำไพล ม.3 ต.ลำไพล อ.เทพา จ.สงขลา ได้รับความเสียหาย
       
33.วันที่ 3 ส.ค.2556 เวลา 03.25 น. เกิดเหตุเพลิงไหม้สถานที่รับซื้อของเก่า บริเวณพื้นที่ ม.9 ต.สะเตงนอก อ.เมือง จ.ยะลา สามารถควบคุมเพลิงไว้ได้
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

น้ำบึงเกลือเอ่อล้น ฟื้นวิถีชุมชนดอนฮังเกลือ แต่ชาวบ้านยังหวั่นแล้งซ้ำ

$
0
0
น้ำบึงเกลือเต็มเอ่อหลังฝนตกมาอย่างต่อเนื่อง ด้านชาวบ้านหวั่นหากหน่วยงาน อบต.ยังไม่เร่งดำเนินการบริหารจัดการระบบน้ำ คาดช่วงหน้าแล้งจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่เหมือนที่ผ่านมา
 
ภายหลังประสบปัญหาน้ำในบึงเกลือ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ‘ทะเลอีสาน’ แห้งลงนับแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว ระดับน้ำแห้งจนเห็นเป็นลานดินมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้พืชผักของชาวบ้านที่ปลูกไว้แห้งตายเกือบหมด ทั้งยังกระทบต่อการหาปลา กระทั่งปลายเดือนกรกฎาคมถึงต้นเดือนสิงหาคมฝนได้ตกหนักมาอย่างต่อเนื่องหลายวัน
 
นายบุญตา หมุนวงศ์ ชาวชุมชนดอนฮังเกลือ กล่าวว่า ทุกวันนี้น้ำในบึงเกลือเอ่อล้นขึ้นมาเต็มเปี่ยมอีกครั้ง ทำให้ชาวบ้านทั้งในชุมชนและละแวกใกล้เคียง ได้ฟื้นคืนการทำมาหากินในหนองน้ำใหญ่นี้อีกครั้ง
 
ทั้งนี้ ‘ทะเลอีสาน’ ที่เป็นผืนน้ำกว้างใหญ่กว่า 5 พันไร่ ครอบคลุมพื้นที่ ต.บึงเกลือ อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ที่เป็นทั้งแหล่งท่องเที่ยว แหล่งหาปลา แหล่งน้ำทำเกษตรกรรม หล่อเลี้ยงชีวิตชุมชนมาหลายชั่วอายุคน
 
 
บุญตา กล่าวด้วยว่า โดยปกติวิถีชุมชนหาอยู่หากินโดยพึงพิงธรรมชาติ ภายหลังว่างจากนาหว่านไถ ก็ล่องเรือไปหาจับปลา จับกุ้งตามหนองน้ำ รวมทั้งหาเก็บหอย กบ เขียด เก็บผักบุ้ง หรือสิ่งที่สามารถนำมาเลี้ยงชีวิตประกอบอาหารทำกินกันในครอบครัว โดยไม่จำเป็นต้องใช้เงินไปหาซื้อจับจ่ายในท้องตลาดให้มากนัก ถือเป็นการประหยัดรายจ่ายไปในตัว
 
อีกทั้งส่วนที่เหลือจากการจับมายังนำไปขายเพื่อเป็นรายได้อีกส่วนหนึ่งด้วย เพราะในหนองน้ำนั้นมีความหลากหลาย ถือเป็นโรงครัวใหญ่ ที่ชุมชนสามารถเข้ามาประกอบอาชีพกันได้
 
 
สำหรับกิจกรรมวันนี้ ชาวชุมชนดอนฮังเกลือร่วมกันพายเรือไปกลางโคก หรือที่เรียกว่าเกาะกลางลำคลองบึงเกลือ เพื่อไปหาจับหนูพุก หรือหนูนา ครั้งนี้เป็นวันที่ 4 ทีออกตามจับหนู ตั้งแต่เช้ายันเย็น
 
บุญตาเล่าว่า นอกจากจะนำหนูที่ล่าได้มาประกอบอาหารกินกันในครอบครัวแล้ว ส่วนที่เหลือจากการแบ่งกัน เพราะชุมชนดอนฮังเกลือที่มีสมาชิกอยู่ 19 ครอบครัวนี้ ใช้ชีวิตแบบการมีส่วนร่วมหากินทั้งจับปลารวม รวมทั้งทำนารวม แปลงผักสวนครัวรวมในพื้นที่ราว 30 ไร่
 
หากเหลือจากการปันแบ่งกันก็นำออกไปขาย ในราคากิโลกรัมละ 100 บาท ซึ่งหนู 2 ตัวจะนำหนักประมาณ 1 กิโลกรัม และหาการจับหนูแต่ละครั้งจะได้หนูประมาณ 40 - 50 ตัว
 
 
อย่างไรก็ตาม บุญตายังคงกล่าวถึงความกังวลของเขาและชาวบ้านว่า ในช่วงหน้าแล้งนี้ หาก อบต.หรือหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ยังไม่สามารถลงมือบริหารจัดการน้ำอย่างจริงจังโดยการกักน้ำให้พอใช้ตลอดทั้งปีแล้ว วิถีชุมชนซึ่งมีรายได้จากการหาปลา จับสัตว์น้ำ จับหนู ปลูกพืชผักมาเลี้ยงชีวิตได้ อาชีพของพวกเขาคงหายไปกับสายน้ำที่แห้งขอดลงไปเหมือนที่ผ่านมา
 
บุญตา กล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้แม้ชาวบ้านจะเสนอให้มีการป้องกันภัยแล้งโดยให้มีการยกระดับฝายกั้นน้ำจากเดิมที่มีระดับต่ำมากให้สูงขึ้นเพื่อกักเก็บน้ำไม้ให้ไหลออก และทาง อบต.บึงเกลือก็เคยรับปากจะดำเนินการยกระดับฝายให้สูงขึ้น แต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ
 
ทั้งนี้ ชุมชนดอนฮังเกลือมีความขัดแย้งอยู่กับ อบต.บึงเกลือ เพราะทาง อบต.พยายามขับไล่ชุมชนออกจากพื้นที่ เพื่อจะเนรมิตบึงเกลือทำเป็นแหล่งท่องเที่ยว ชาวชุมชนดอนฮังเกลือจึงลุกขึ้นต่อสู้เรียกร้องสิทธิในที่ดินทำกิน และได้รับการประกาศเป็นพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชน จากการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 30 ธ.ค.2551
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สัมมนา 'กษัตริย์ศึกษาในรัฐไทย'

$
0
0

เมื่อวันที่ 31 ก.ค.56 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการจัดสัมมนาเรื่อง 'กษัตริย์ศึกษาในรัฐไทย รัฐไทยกับการศึกษาสถาบันกษัตริย์' ในโอกาสเปิดตัวหนังสือ  ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ : ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม (พ.ศ. 2475 -2500) ซึ่งเขียนโดย ณัฐพล ใจจริง อาจารย์จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา

ประชาไทขอนำเสนอบางส่วนของงานสัมมนา ซึ่งอภิปรายโดย ณัฐพล ใจจริง, สมศักดิ์ เจียมธรีสกุล จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปิยบุตร แสงกนกกุล จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

ณัฐพล ใจจริง

 

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

 

ปิยบุตร แสงกนกกุล

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วางเกณฑ์ให้นายจ้างต้องทำสัญญาจ้างแรงงานต่างด้าว

$
0
0
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ร่วมกับ กรมการจัดหางาน เดินหน้าแก้ปัญหาค้ามนุษย์แรงงานภาคประมง วางเกณฑ์ให้นายจ้างต้องทำสัญญาจ้างหากไม่ทำจะไม่ออกใบอนุญาตทำงานให้แรงงานต่างด้าว

 
4 ส.ค. 56 - สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยรายงานว่านายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ในกิจการประมง ตามนโยบายของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ว่า กสร.มุ่งแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ เพื่อแก้ปัญหาการหลอกลวงกันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ซึ่งเข้าข่ายการกระทำผิดด้านการค้ามนุษย์ โดยกสร.ร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) กำหนดมาตรการการทำงานและจ้างงานแรงงานภาคประมงโดยล่าสุดกสร.ร่วมกับไอแอลโอล และกรมการจัดหางาน (กกจ.) จัดทำสัญญาจ้างในงานประมงทะเล ซึ่งต้องมีรายละเอียดในหลายกรณี เช่น ชื่อลูกจ้าง นายจ้าง ระยะเวลาการทำงาน ค่าจ้างและค่าเปอร์เซ็นต์ในการขายปลา รวมทั้งสวัสดิการและที่พักอาศัย สาธารณูปโภคบนเรือที่ต้องได้มาตรฐาน และมีการออกเป็นข้อกำหนด หากนายจ้างไม่ทำสัญญากับลูกจ้าง กรมการจัดหางานจะไม่ออกใบอนุญาตทำงานให้แก่ลูกจ้าง เนื่องจากไม่มีสัญญาที่บ่งบอกในเรื่องสภาพการจ้างงานและสวัสดิการต่างๆ ซึ่งขณะนี้กสร.ได้ส่งตัวอย่างสัญญาจ้างในงานประมงทะเลไปให้แก่ศูนย์ประสานแรงงานประมงใน7จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร ระยอง ตราด ชุมพร สงขลา ระนองและสตูลเรียบร้อยแล้ว
 
นายอาทิตย์ กล่าวอีกว่า ในวันที่ 5 สิงหาคมนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จะไปตรวจเยี่ยมกิจการประมง ที่จ.สงขลาด้วย ส่วนกรณีองค์กรต่างประเทศเผยแพร่สารคดีการค้ามนุษย์ในไทย โดยเฉพาะการใช้แรงงานประมงในจังหวัดตรังนั้น กสร.กำลังตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ หากพบว่านายจ้างมีการกระทำผิดจริงก็จะดำเนินการตามกฎหมาย
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จับตาวาระ กสท. : นำวาระคัดค้านร่างประกาศฯ ม.37 ของวิชาชีพสื่อเข้าบอร์ด

$
0
0

ในการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.) ครั้งที่ 28 ในวันจันทร์ที่ 5 ส.ค.นี้ มีวาระน่าสนใจติดตาม เรื่อง การทบทวนพิจารณา“ร่าง ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ...” ออกรับฟังความคิดเห็นสาธารณะอีกครั้งหนึ่งด้วยความรอบคอบ  ตามที่ 4 องค์กรวิชาชีพสื่อได้ยื่นหนังสือคัดค้านกับประธานกสทช.ในช่วงที่ผ่านมา

นอกจากนี้ นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กสทช. ด้านสิทธิเสรีภาพและคุ้มครองผู้บริโภค ได้เสนอวาระ “ขอให้ทบทวนแนวทางการกำกับดูแลกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 37 และ มาตรา 39 – 40 ใน พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551” ซึ่งนางสาวสุภิญญา เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงาน กสทช. โดยกลุ่มงานประธานกรรมการและการประชุม นำเสนอความเห็นคัดค้าน (ร่าง) ประกาศฉบับดังกล่าว มาเพื่อทราบและพิจารณาทบทวนมติให้นำร่างประกาศฯ ดังกล่าว ออกรับฟังความคิดเห็นสาธารณะด้วยความรอบคอบอีกครั้งหนึ่ง ประกอบกับการเข้าร่วมเป็นวิทยากรในเวทีเสวนาเรื่อง “ชำแหละร่างประกาศ กสทช. คุมสื่อละเมิดเสรีภาพประชาชน” เรื่องหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ....เมื่อวันพุธที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา ณ อาคารสมาคมนักข่าวฯ 

ตนได้รับการสอบถามถึงความคืบหน้าของสถานะร่างประกาศฉบับดังกล่าวจากวิทยากร ผู้เข้าร่วมการประชุม และสื่อมวลชน เกี่ยวกับร่างประกาศฉบับนี้ รวมทั้งในสาระสำคัญของการเสวนาดังกล่าวพบว่า วิทยากรและผู้เข้าร่วมเสวนาที่เป็นตัวแทนจากองค์กรวิชาชีพสื่อและนักวิชาการด้านสื่อต่างเห็นตรงกันว่า ร่างประกาศฉบับนี้เข้าข่ายละเมิดสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และมีข้อเสนอให้ กสท. พิจารณาถอนร่างรวมทั้งพิจารณาภาพรวมทั้งหมดของแนวทางในการกำกับดูแลสื่อกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ ตามอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ในมาตรา 37 - 39 ของ พ.ร.บ. การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 และเพื่อป้องกันการเกิดข้อกังขาต่อองค์กรวิชาชีพสื่อ ตลอดจนสาธารณชนในวงกว้าง และเพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลตามอำนาจหน้าที่ของ กสทช. และขอให้กลุ่มงานกฎหมายกระจายเสียงและโทรทัศน์ พิจารณาขอบเขตอำนาจหน้าที่ กสท. ตามมาตรา 37 และมาตรา 39 – 40  ใน พ.ร.บ.การประกอบกิจการฯ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการจัดทำประกาศต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับมาตราดังกล่าว

ส่วนวาระอื่นน่าติดตาม ได้แก่ กสท.เตรียมพิจารณาแนวทางการถอนใบอนุญาตช่องดาวเทียมหลังตรวจสอบพบการออกอากาศรายการหรือโฆษณาที่ละเมิดผู้บริโภคตามกฎหมาย รวมทั้งคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ขอเสนอความเห็นต่อการตรวจสอบรายการการออกอากาศรายการหรือการโฆษณาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ โดยกำหนดรูปแบบ วิธีการ และการเฝ้าระวัง (Monitor) รวมถึงการลงโทษในกรณีที่ออกอากาศไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หากพิจารณาสิ้นสุดแล้วว่าผู้ประกอบกิจการรายใดทำผิดกฎหมาย และกระทำผิดตามประกาศ กสทช. เรื่องการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการบรอดแคส พ.ศ.2555 ส่วนวาระอื่นน่าติดตามเพิ่มเติม การพิจารณาเห็นชอบ(ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การกำหนดหมวดหมู่และการจัดลำดับบริการโทรทัศน์ พ.ศ. .....

 

 
 
หมายเหตุ
               
มาตรา 39 ให้คณะกรรมการดำเนินการส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้รับใบอนุญาต ผู้ผลิตรายการ และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนที่เกี่ยวกับกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เป็นองค์กรในรูปแบบต่างๆ เพื่อทำหน้าที่จัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมของการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพและควบคุมการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพกันเองภายใต้มาตรฐานทางจริยธรรม
การจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมขององค์กรตามวรรคหนึ่ง ต้องคำนึงถึงการคุ้มครองการได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารสาธารณะของประชาชน และการคุ้มครองผู้บริโภคจากการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ รวมทั้งการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้ประกอบอาชีพและวิชาชีพขององค์กร
 
ในการควบคุมการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพขององค์กรตามวรรคหนึ่ง ให้แต่ละองค์กรตามวรรคหนึ่งจัดตั้งคณะกรรมการควบคุมจริยธรรมขึ้นโดยมีองค์ประกอบและให้คำนึงถึงสัดส่วนที่เหมาะสมระหว่างผู้ประกอบอาชีพและวิชาชีพ นักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก

องค์กรตามวรรคหนึ่งที่มีการจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรม คณะกรรมการอาจให้การส่งเสริมจากกองทุนตามมาตรา 52 ก็ได้

มาตรา 40ผู้ที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากรายการที่ออกอากาศเป็นเท็จหรือละเมิดสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัว หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอาจร้องเรียนต่อคณะกรรมการ

ให้คณะกรรมการส่งเรื่องพร้อมความเห็นของคณะกรรมการให้องค์กรควบคุมการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพตามมาตรา 39 เพื่อให้ดำเนินการเยียวยาให้แก่ผู้เสียหายโดยเร็ว และให้คณะกรรมการติดตามผลการดำเนินการขององค์กรควบคุมการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพตามมาตรา 39 เมื่อองค์กรควบคุมการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพตามมาตรา 39 ได้แจ้งผลการดำเนินการให้คณะกรรมการทราบแล้ว ให้แจ้งผู้ร้องเรียนทราบผลการดำเนินการโดยเร็ว
 
ผลการดำเนินการในหมวดนี้ ให้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการตามมาตรา 51 (1) )
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

5 บทเรียนที่ได้จากกรณีทำให้กัญชาถูกกฎหมายในอุรุกวัย

$
0
0

เมื่อวันที่ 1 ส.ค. เว็บไซต์ Globalpost นำเสนอบทวิเคราะห์กรณีการทำให้กัญชาถูกกฎหมายในอุรุกวัย โดยแม้ว่าการทำให้กัญชาถูกกฎหมายจะเคยมีมาก่อนแล้วในบางรัฐของสหรัฐฯ และในประเทศเนเธอร์แลนด์ แต่การปรับเปลี่ยนกฎหมายในกรณีของอุรุกวัยมีความต่างจากการปรับเปลี่ยนกฎหมายในที่อื่นๆ เช่นการที่อุรุกวัยเป็นประเทศแรกที่อนุญาตให้มีทั้งการปลูก การจำหน่าย และการเก็บภาษีกัญชา

สภาอุรุกวัยได้ผ่านร่างกฎหมายการควบคุมดูแลกัญชาเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ซึ่งหากการดำเนินการตามกฎหมายเป็นผลสำเร็จ จะทำให้ประเทศอเมริกาใต้อย่างอุรุกวัยกลายเป็นประเทศผู้นำด้านกฎหมายยาเสพติดที่ก้าวหน้า

Globalpost ระบุว่าสภาล่างของอุรุกวัยคาดว่ากฎหมายที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาสูงคงสามารถผ่านการพิจารณาได้ง่ายๆ และรัฐบาลอุรุกวัยก็มีแผนการทดลองใช้นโยบายนี้ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในระดับชาติ และทั้งโลกก็จับตาดูอยู่

ขณะเดียวกันก็ชวนตั้งคำถามว่าประเทศอุรุกวัยที่มีประชากร 3 ล้านคน จะคิดอย่างไรกับการทดสอบกฎหมายยาเสพติดใหม่ และอะไรที่ทำให้กระบวนการของประเทศอุรุกวัยต่างจากประเทศอื่นๆ อย่างเนเธอร์แลนด์ หรือรัฐโคโลราโดซึ่งให้กัญชาถูกกฎหมายหรือเหมือนกันอย่างไรบ้าง และกฎหมายนี้มีโอกาสสำเร็จหรือไม่


เว็บไซต์ Globalpost สรุปบทเรียนสำคัญของการทำให้กัญชาถูกฏหมาในอุรุกวัยไว้ 5 ข้อ ดังนี้


บทเรียนข้อที่ 1 อุรุกวัยเป็นประเทศแรกที่ให้ทั้งการปลูก จำหน่าย และเสพกัญชาถูกกฎหมาย

สิ่งที่รัฐบาลอุรุกวัยเสนอไปไกลกว่าประเทศอื่นๆ รวมถึงบางรัฐของสหรัฐฯ เพราะแม้ว่าในเนเธอร์แลนด์การเสพกัญชาจะถือเป็นเรื่องที่ถูกกฎหมายมานานแล้ว แต่ก็ยังคงมีการห้ามปลูก แต่ในอุรุกวัยนั้นตรงกันข้ามคือการให้รัฐมีบทบาทในการจัดการให้บริษัทเอกชนเป็นผู้เพาะปลูกและเก็บเกี่ยวกัญชา

รัฐบาลอุรุกวัยมีความต้องการแข่งขันกับการนำเข้ากัญชาอย่างผิดกฎหมายมาจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างปารากวัย ซึ่งแนวคิดนี้ทำให้ผู้บริโภคสามารถซื้อหาสินค้าที่มีราคาถูกกว่า ปลอดภัยกว่า และคุณภาพดีกว่าได้ อีกทั้งยังมีการเก็บภาษีและการควบคุมจัดการเรื่องการบริโภคได้

การที่รัฐบาลอุรุกวัยมีส่วนร่วม ทำให้อุรุกวัยต่างจากรัฐวอชิงตันและโคโลราโด ที่มีการรับรองการเพาะปลูกกัญชาอย่างถูกกฎหมายในจำนวนจำกัดเมื่อปีที่ผ่านมา

"นี่เป็นเรื่องสำคัญมาก" ฮันนาห์ เฮตเซอร์ กล่าว เธอเป็นผู้จัดการด้านนโยบายของกลุ่มสหพันธ์นโยบายยาเสพติด ซึ่งเป็นกลุ่มที่สนับสนุนการดำเนินนโยบายยาเสพติดตามหลักวิทยาศาสตร์ "อุรุกวัยมีประวัติศาสตร์นโยบายยาเสพติดที่ก้าวหน้ามาก่อนแล้ว แต่เรื่องนี้ยิ่งทำให้ไปไกลกว่าประเทศอื่นๆ อีกเป็นสิบก้าว"


บทเรียนข้อที่ 2 มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคง

ขณะที่อุรุกวัยดูก้าวหน้ามากจากการทำให้การแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันถูกกฎหมายและการผ่านร่างกฎหมายการทำแท้งที่ก้าวหน้าที่สุดในประเทศอเมริกาใต้ สมาชิกสภานิติบัญญัติของอุรุกวัยก็ยืนยันว่าการทำให้กัญชาถูกกฎหมายนั้นเป็นเรื่องของความมั่นคงภายในประเทศมากกว่าเรื่องการมีแนวคิดแบบก้าวหน้า

ในการอภิปรายถกเถียงก่อนการลงมติเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ผู้สนับสนุนกฎหมายนี้กลายคนพยายามชี้ให้เห็นว่านโยบาย "สงครามยาเสพติด" เป็นนโยบายที่ล้มเหลว และเน้นย้ำว่าควรมีวิธีการใหม่

ซึ่งความจริงแล้ว กฎหมายการควบคุมดูแลกัญชามาจากนักวางนโยบาย 15 คนในฝ่ายบริหารของประธานาธิบดี โฮเซ มูจิกา เมื่อปีที่แล้วเพื่อตอบโต้กับปัญหาอาชญากรรมที่ทำให้ถึงขนาดมีการยิงกันในร้านฟาสต์ฟู้ด

แม้ว่าประเทศอุรุกวัยจะมีอัตราอาชญากรรมค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน แต่ประชาชนก็กลัวเรื่องที่ว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีอัตราอาชญากรรมสูงขึ้น จากการที่โคเคนเหลวที่เรียกว่า "พาสต้าเบส" เริ่มได้รับความนิยม อัตราอาชญากรรมและการฆาตกรรมก็เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ประเทศที่เคยสงบสุขและปลอดภัยต้องหาวิธีทางแก้

ความกลัวว่าประเทศอุรุกวัยจะเกิดความโกลาหลนี้เองเป็นตัวแปรสำคัญที่เร่งให้เกิดการออกกฎหมายกัญชา

วิธีการของรัฐบาลอุรุกวัยทำให้ผู้ค้ายาเสพติดเสียผลประโยชน์ทั้งจากการแย่งรายได้และการทำให้ผู้ใช้กัญชาได้รับการคุ้มครองทำให้พวกเขาไม่ถูกชักนำไปสู่ "มุมมืดของสังคม" และมีโอกาสลองเสพยาชนิดอื่นอีก


บทเรียนข้อที่ 3 กฎหมายนี้ไม่ได้รับความนิยมมากนัก

จากการสำรวจความคิดเห็นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าชาวอุรุกวัยส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายกัญชา โดยเฉพาะนอกเขตเมืองหลวงมอนเตวิเดโอ ซึ่งมีประชากรอยู่เกือบร้อยละ 50 คนส่วนใหญ่จะมีมุมมองอนุรักษ์นิยมในเรื่องแบบนี้

นักการเมืองพรรคอนุรักษ์นิยม เวโรนิกา อลองโซ ตั้งคำถามว่ารัฐบาลจะจัดการกับกัญชาอย่างไรโดยไม่ทำให้รัฐบาลกลายเป็นอำมาตย์ที่ควบคุมไม่ได้ ขณะที่นักการเมืองคนอื่นๆ แสดงความกังวลเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพที่มาจากการเสพกัญชา

การสำรวจความคิดเห็นเมื่อเดือน เม.ย. 2013 มีผู้ลงความเห็นไม่เห็นด้วยกับกฎหมายกัญชาร้อยละ 66 และมีผู้สนับสนุนเพียงแค่ร้อยละ 25 มีนักการเมืองฝ่ายค้านหลายคนที่ต้องการให้มีการทำประชามติเพื่อยกเลิกกฎหมายนี้ โดยท่ามกลางเสียงวิจารณ์ว่ามีความพยายามบีบบังคับให้มีกฎหมายนี้ออกมา พรรครัฐบาลก็ได้มีการจัดประชุมกับชุมชนทั่วประเทศเพื่อขอความเห็นเรื่องกฎหมายฉบับนี้

ขณะเดียวกันกลุ่มเอ็นจีโอก็มีการช่วยรณรงค์ให้ความรู้เรื่องข้อดีของกฎหมายฉบับนี้ โดยมาร์ติน คอลลาโซ โฆษกของโครงการดังกล่าวบอกว่าการที่คนสนับสนุนน้อยเนื่องจากพวกเขาขาดความเข้าใจว่ากฎหมายนี้จะทำให้เกิดอะไรบ้าง โดยมาร์ตินเชื่อว่าหากผู้คนเข้าใจกฎหมายจริง พวกเขาจะเห็นด้วยกับมัน

ร่างกฎหมายกัญชาของอุรุกวัยซึ่งออกมาเมื่อปีที่แล้วถูกปรับเปลี่ยนให้ดูเบาลงในปัจจุบัน จากเดิมที่รัฐบาลวางแผนเป็นผู้ผูกขาดการเพาะปลูกและจำหน่ายกัญชาแต่เพียงผู้เดียว การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นการทำให้ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลเงียบเสียงลงด้วย

อย่างไรก็ตาม กฎหมายนี้ยังคงมีส่วนที่น่าถกเถียงอยู่จึงเป็นไปได้ที่จะถูกกล่าวโจมตีหากมีการนำเสนอออกมา


บทเรียนข้อที่ 4 เป็นการตอกหน้านโยบายสงครามยาเสพติดของสหรัฐฯ แม้พวกเขาจะไม่จงใจมากนักก็ตาม

สื่อนานาชาติจำนวนมากในช่วงนี้รายงานว่าอุรุกวัยเป็น "ผู้นำ" ด้านประเด็นเรื่องกัญชา ซึ่งโดยรวมแล้วดูเหมือนจะเป็นการที่ประเทศละตินอเมริกาพยายามหาทางเลือกใหม่ๆ นอกจากนโยบายสงครามยาเสพติดที่สหรัฐฯ หนุนหลังอยู่

แต่ ส.ส.อุรุกวัยก็กล่าวย้ำว่าพวกเขาไม่ได้ต้องการทำให้ประเทศสหรัฐฯ ดูเป็นผู้ร้าย แต่พวกเขาแค่ต้องการหาทางออกให้กับปัญหาที่มีลักษณะเฉพาะตัวของอุรุกวัย

เซบาสเตียน ซาบินี หนึ่งในผู้สนับสนุนหลักคนสำคัญของกฎหมายกัญชากล่าวว่า ประเทศอุรุกวัยไม่ได้ต้องการเป็นตัวอย่างให้กับชาวโลก พวกเขาแค่มีปัญหาเรื่องกัญชาและต้องการแก้ปัญหาในแบบของพวกเขาเอง

แต่แล้วกฎหมายใหม่นี้ก็ทำให้อุรุกวัยมีความขัดแย้งกับบุคคลที่ทำงานด้านการควบคุมยาเสพติดในต่างชาติ โดยสำนักงานควบคุมยาเสพติดนานาชาติของสหรัฐฯ ได้กล่าวแสดงความกังวลถึงแนวทางของอุรุกวัยเมื่อวันพฤหัสฯ ที่ผ่านมา โดยออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทางการอุรุกวัยปฏิบัติตามกฎหมายนานาชาติที่มีการจำกัดการใช้ยาเสพติดรวมถึงกัญชา


บทเรียนข้อที่ 5 มีโอกาสสูงมากที่ร่างกฎหมายนี้จะผ่านร่าง

กฎหมายนี้ได้รับการสนับสนุนจากบุคคลที่มีอิทธิพลอย่าง ดาริโอ เปเรซ ส.ส. และแพทย์จากบอร์ด ฟรอนต์ ซึ่งเป็นกลุ่มแนวร่วมพรรครัฐบาลฝ่ายซ้าย สายตาทุกคู่จับจ้องที่เปเรซ ซึ่งเคยแสดงความกังวลเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้ แต่เมื่อเขาแสดงการสนับสนุนเมื่อวันพุธที่ผ่านมาแม้จะมีความกังวลอยู่ ก็มีการประกาศทั่วทวิตเตอร์ว่าร่างกฎหมายนี้ประสบความสำเร็จแล้ว

"เมื่อดาริโอ เปเรซ โหวตสนับสนุน กัญชาก็กลายเป็นสิ่งถูกกฎหมายในอุรุกวัยทันที" นักข่าวท้องถิ่น ปาโบล ซานอคกีกล่าวในช่วงไม่กี่ชั่วโมงก่อนการโหวตเสร็จสิ้น

เมื่อได้รับการสนับสนุนจากเปเรซแล้ว พรรครัฐบาลก็มีคะแนนเสียงมากพอในการผลักดันกฎหมายฉบับนี้ และในกระบวนการผ่านร่างสภาสูงซึ่งมีคนของพรรคแนวร่วมรัฐบาลอยู่เป็นส่วนใหญ่ กฎหมายฉบับนี้คงผ่านออกมาได้โดยง่าย

จากนั้นก็เหลือแค่ลายเซ็นรับรองจากประธานาธิบดีมูจิกา และการที่มูจิกาเป็นคนที่มีเสน่ห์ในการเป็นผู้นำสูง กฎหมายควบคุมดูแลกัญชาจะต้องได้รับการสนับสนุนอย่างมากแน่นอน

 


เรียบเรียงจาก

5 key takeaways from Uruguay's push to legalize marijuana, GlobalPost, 01-08-2013
http://www.globalpost.com/dispatch/news/regions/americas/130801/uruguay-legalize-marijuana-law-takeaways

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คำปราศรัยอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 3 ส.ค. 56 ที่ตลาดปัฐวิกรณ์

$
0
0

อภิสิทธิ์ยืนยันจุดยืนพรรคประชาธิปัตย์เชื่อมั่นในระบบสภา ถ้าติดตามการเคลื่อนไหวของพรรคมาตลอดจะเห็นได้ว่าประชาธิปัตย์ไม่เคยเรียกร้องให้มีการปฏิวัติ รัฐประหาร ล้มล้างรัฐบาล แต่ยืนยันว่าพรรคจะไม่เอากฎหมายล้างผิด 

หมายเหตุ: เว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์ได้เผยแพร่คำปราศรัยของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งได้ปราศรัยบนเวที “หยุดกฎหมายล้างผิดคิดล้มรัฐธรรมนูญ  หยุดเงินกู้ผลาญชาติ  หยุดอำนาจฉ้อฉล” ที่ตลาดปัฐวิกรณ์  เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 56 โดยมีรายละเอียดดังนี้

000

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
3 สิงหาคม 2556 ตลาดปัฐวิกรณ์ บึงกุ่ม

พี่น้องชาวตลาดปัฐวิกรณ์ ชาวบึงกุ่ม พี่น้องชาวกรุงเทพฯ และพี่น้องที่รักความถูกต้องทั้งประเทศ และทั่วโลกครับ สวัสดีครับ ผมต้องขอแสดงความชื่นชม แล้วก็คารวะ น้ำใจของพี่น้องประชาชนที่มาปักหลักที่เวทีผ่าความจริงแห่งนี้ ทั้งๆ ที่ประมาณ 1 ชม. ก่อนหน้านี้ ฝนตกลงมาหนักมาก และต่อเนื่องแต่มีพี่น้องจำนวนมากครับ ตั้งแต่ผมเข้ามา อยู่ในเต้นท์ อยู่ในบริเวณรอบๆ เวทีปราศรัยแห่งนี้ที่สำคัญที่สุด มีพี่น้องจำนวนมากนั่งปักหลักที่นี่ไม่ถอยครับ ขอแสดงความคารวะ ต่อความหนักแน่น มั่นคงของพี่น้องครับ

พี่น้องครับวันนี้สภาผู้แทนราษฎร ได้เปิดสมัยประชุมแล้ว วันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา เป็นวันแรกที่มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในสมัยประชุมใหม่ เดี๋ยวขออนุญาต ท่านที่ยืนข้างหน้านะครับ ถ้าจะยืนข้างหน้ากรุณาหุบร่มนิดนึงครับ เพราะรู้สึกว่าจะเริ่มหงุดหงิดว่าไม่เห็นหน้าผม สภาเปิดประชุม เปิดสมัยประชุมไปแล้ว ประชุมไปแล้ว 1 วัน โชคดีว่าทางประธานสภา รองประธานสภา ไม่บรรจุกฎหมายนิรโทษกรรมเข้าสู่ระเบียบวาระ แล้วก็ไม่มีความพยายามในการที่จะผลักดันกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่การประชุมในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา

แต่วันนี้ครับ ผมเพิ่งได้รับหนังสือจากสภาผู้แทนราษฎร นัดการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งต่อไปคือวันพุธที่ 7 สิงหาคม วันพุธที่จะถึงนี้ครับ เปิดระเบียบวาระออกมาดูเรียบร้อยแล้วครับ ระเบียบวาระที่จะมีเรื่องที่จะเป็นเรื่องพิจารณาเรื่องแรกในการประชุมวันพุธที่จะถึงนี้ คือกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับของนายวรชัย เหมะ และพวก หมายความว่าถ้าการประชุมเป็นไปตามปกติ สิ่งแรกที่สภาจะต้องพิจารณาในวันพุธนี้ คือกฎหมายที่ได้รวบรวมพี่น้องประชาชนมาเกือบจะ 60 เวทีทั่วประเทศ แสดงพลังในการต่อต้าน คัดค้านมาโดยตลอด และเป็นกฎหมายที่พรรคประชาธิปัตย์ ยังยืนยันมั่นคงในจุดยืนเดิมก็คือว่าคัดค้านจนถึงที่สุด

แน่นอนครับ รัฐบาลเองก็ทราบว่า กฎหมายฉบับนี้ กำลังทำให้เกิดความขัดแย้ง มิฉะนั้น ไม่มีเหตุผลใดๆ ทั้งสิ้น ที่รัฐบาลจะต้องประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงครอบคลุม 3 เขตปกครองในกรุงเทพมหานคร ซึ่งก็คือพื้นที่บริเวณทำเนียบรัฐบาล และที่ตั้งของรัฐสภา เพียงเท่านี้ก็ฟ้องไปทั่วโลกแล้วครับว่า กฎหมายฉบับนี้ไม่มีทางที่จะเรียกได้ว่าเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการสมัครสมานสามัคคีของคนในชาติ เพราะถ้าเป็นกฎหมายเรื่องปรองดอง กฎหมายว่าด้วยการสมัครสมานสามัคคีนั่นหมายความว่าทุกคนจะต้องสนับสนุน ทุกคนจะต้องออกไปบอกว่ารีบออกกฎหมายนี้เร็วๆ และจะไม่เป็นเหตุที่เป็นภัยต่อความมั่นคงได้เลย ฉะนั้นรัฐบาลไม่ต้องถามคนอื่น ถามตัวเองว่าที่ต้องออกกฎหมายความมั่นคง หรือประกาศตามกฎหมายความมั่นคง ห้ามสัญจร 12 เส้นทาง เพราะอะไร ใครเป็นคนก่อเหตุ

เมื่อวานนายกรัฐมนตรีอ้างว่า ที่ต้องประกาศมาตรการ พรบ. ความมั่นคงนั้น จำเป็นที่จะต้องทำเพื่อปกป้องและรักษาระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ต้องป้องกันเหตุร้ายความวุ่นวายที่อาจเกิดขึ้น เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน ราชการและเอกชนทั่วไป ตลอดจนผู้ชุมนุม พี่น้องฟังแล้วเชื่อมั้ยครับ เชื่อมั้ยครับ ก็ดูสิครับ ประกาศปั๊บ ขู่สารพัดว่าจะจัดการกับประชาชนอย่างไร แล้วก็เคยทำมาแล้ว เมื่อตอนที่มีการชุมนุมใหญ่ครั้งหนึ่งในรัฐบาลนี้ ตอนนั้นเสธ. อ้าย กับคณะ นำคนมาชุมนุม ก็มีการจัดการกับประชาชน ที่อ้างว่าจากเบาไปหาหนัก พี่น้องก็ทราบดีว่า ไม่เป็นความจริงเพราะเจอแก๊สน้ำตาตั้งแต่เช้ามืด

ผมกราบเรียนว่า ข้ออ้างที่พูดถึงทั้งหมด ฟังไม่ขึ้น คุณบอกคุณมาปกป้องระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่คุณกำลังจะเอาเจ้าหน้าที่ความมั่นคง มาพยายามปราบปรามคนที่เขาบอกว่า อย่าออกกฎหมายล้างความผิดให้กับคนที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ คุณบอกคุณกำลังจะคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สิน ให้ประชาชน แต่คุณกำลังจะออกกฎหมายล้างผิดให้คนที่เอาอาวุธสงครามมาฆ่าประชาชน และเผาทรัพย์สินทั้งของราชการ และของเอกชน มันขัดแย้งโดยสิ้นเชิง และเราก็จึงยืนยันครับว่า เราต้องทำหน้าที่ของเราต่อไปในการคัดค้าน

วันพุธที่ผ่านมา เราปราศรัยที่บริเวณสกายวอร์ค สถานีรถไฟฟ้าช่องนนทรี หลายคนอาจจะไปเขียนวิพากษ์วิจารณ์ ตีความสารพัดว่าที่คุณสุเทพบอกว่า การออกไปต่อสู้ ถึงจุดที่จะเป็นประเด็นการแตกหักคือวาระ 3 มันช้าไปมั้ย หรือมันกลายเป็นเรื่องที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่เอาจริง เอาจังหรือไม่ ผมบอกกับพี่น้องครับ อยากทำความเข้าใจว่า ที่พรรคประชาธิปัตย์แสดงจุดยืนอย่างนั้น เพราะเราบอกว่าเราต้องสู้ ทั้งใน และนอกสภา ถ้าเรากระโดดบอกว่า วันนี้เข้าไปชุมนุมแตกหักนอกสภา แล้วเรายังไม่ได้ทำหน้าที่ในสภา เขาก็จะบิดเบือน เขาก็จะกล่าวหาประชาชน พรรคประชาธิปัตย์ว่าไม่เคารพในกติกาของระบบสภา แต่สิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์จะต้องทำ ก็คือการแสดงออกในเวทีสภาให้เห็นว่ากฎหมายฉบับนี้ เป็นอันตรายต่อประเทศชาติ ต่ออนาคตบ้านเมืองอย่างไร และจะต้องคัดค้านถึงที่สุด และจะต้องเปลี่ยนแปลงสาระของกฎหมาย หรือล้มกฎหมายฉบับนี้ในสภาให้ได้

ผมรู้ว่าเป็นเรื่องยาก แต่ผมจะบอกกับพี่น้องว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา สส. ประชาธิปัตย์ พวกเราหลายคนไปคุยกับสส.พรรคเพื่อไทย ตกใจว่า สส.พรรคเพื่อไทย ยังไม่รู้เลยว่า กฎหมายของนายวรชัยนั้นมันจะมีความหมายอย่างไร เช่น เขาบอกว่า กำลังนิรโทษกรรมคนไม่รู้อิโหน่ อิเหน่ บังเอิญไปติดคุก สส. เราเอารายชื่อคนที่ติดคุกอยู่ไปให้ดู ว่าที่ไม่รู้อิโหน่ อิเหน่นั่นไปยิงวัดพระแก้ว ที่ไม่รู้อิโหน่ อิเหน่นั้น ยิง M79 จนคนตาย ที่ไม่รู้อิโหน่ อิเหน่นั้นคือคนที่เผาศาลากลาง เผาเซนทรัลเวิล์ด เผาสยามสแควร์ เผาเซ็นเตอร์วัน เผาสารพัดเผา แล้วที่ไม่รู้อิโหน่ อิเหน่นั้นคือคนที่ขึ้นเวทีเสื้อแดง หรือสนับสนุนกระบวนการเวทีเสื้อแดง สร้างวาทกรรม เรื่องอำมาตย์ เรื่องไพร่ แล้วก็ลามไปถึงการหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ สส. เพื่อไทยหลายคนไม่รู้ครับ เราก็จะให้รู้ เพราะเดี๋ยวจะอ้างว่า ฟังจากพรรค ฟังจากนายวรชัย ฟังจากแกนนำ ฟังจากฝ่ายกฎหมายมันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ต้องให้เขาได้ยินความจริงจากทุกฝ่าย ได้ยินก่อนจะได้รู้ว่า พวกคุณยืนยันใช่มั้ย ที่จะนิรโทษกรรมให้กับคนเผา คนฆ่า คนหมิ่น คนก่อการร้ายทั้งหลาย

ให้โอกาสพวกคุณก่อนที่จะบอกว่า คุณยืนยันจะทำสิ่งนี้ แล้วถ้าผ่าน เราก็จะพยายามเปลี่ยนครับ ให้กฎหมายนี้เป็นไปตามหลักที่ถูกต้อง แล้วจะได้วัด จะได้เป็นตัวชี้ จะได้ฟ้องว่า สส.ทุกคน ไม่ว่าพรรคไหน คิดอย่างไร กับเรื่องเหล่านี้ ผมจะรอดดูว่า ถ้ามีคนแปรญัตติว่าไม่นิรโทษกรรมให้คนทำผิดมาตรา 112 สส.พรรคเพื่อไทย สส. พรรคไหนก็ตาม คนไหนบ้าง จะแสดงจุดยืนให้ชัดว่าคุณจะปล่อยให้มีการละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ และล้างผิดให้หรือไม่

ต้องทำให้ชัด ให้เป็นที่ปรากฏว่า จุดยืนคืออะไร ขณะเดียวกัน พี่น้องประชาชนที่ไม่เห็นด้วย ไม่มีโอกาสอย่างพวกผมเข้าไปอยู่ในสภา พี่น้องก็มีสิทธิ เสรีภาพเต็มที่ในการชุมนุมภายใต้กรอบของกฎหมาย และพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังเคียงข้างท่านในการทำสิ่งนี้ เราต้องเดินไปอย่างนี้ครับ เพื่อให้เกิดความรัดกุม เราต้องเดินไปอย่างนี้เพื่อพิสูจน์ให้คนที่อาจจะยังไม่รับรู้ รับทราบ คนที่ยังคิดว่ามีพื้นที่ตรงกลาง รอดูสิ่งนั้น สิ่งนี้ ให้ชาวโลกได้รับรู้ รับทราบว่าข้อเท็จจริงมันเป็นอย่างไร แต่ผมเห็นแล้วละครับ ว่าขณะที่เราก็ได้มีการรวบรวมแนวความคิดเผยแพร่ จัดเวที และพี่น้องประชาชนเริ่มแสดงออกมากขึ้น รัฐบาลก็รู้ตัวว่ากำลังทำในสิ่งที่ทำให้ประเทศเข้าสู่ความเสี่ยง จึงต้องประกาศกฎหมายความมั่นคง และเมื่อคืนนายกรัฐมนตรี ก็จึงต้องออกมาปราศรัยกับพี่น้องประชาชน ไม่ทราบใครได้ดูบ้าง โอ้ แฟนๆ นายกฯ เยอะ ผมจำเป็นต้องพูดเรื่องนี้วันนี้ครับ เดี๋ยวมีอีกหลายคนขึ้นมาปราศรัย แต่ผมพูดให้ชัดก่อนว่าที่นายกฯ พูดเมื่อวานนี้ หรือข้างหน้าตะโกนบอกผมว่า ที่อ่านเมื่อวานนี้ ผมต้องทำความเข้าใจ เพราะเจตนาจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ หลายเรื่องนายกฯ ไม่พูดความจริงกับประชาชน ผมขออนุญาตอ่านนะครับ นานๆ จะได้อ่านกับเขาบ้าง

"ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ดิฉันและรัฐบาล ได้ดำเนินการเพื่อให้เกิดการปรองดองขึ้นในชาติ ด้วยความพยายามอย่างจริงใจที่จะเดินหน้า อดทน ไม่ตอบโต้ เพื่อสร้างบรรยากาศแห่งความปรองดอง สร้างสรรค์ และความไว้วางใจ รวมทั้ง รวมทั้งการเปิดพื้นที่ให้กับทุกกลุ่มที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างทางการเมือง"

ท่านนายกฯ ไปอยู่ไหนมาครับ ไปอยู่อาฟริกา หรือไปอยู่ยุโรป หรือไปอยู่ที่ไหนมาครับ ไอ้ที่เปิดพื้นที่ให้ทุกกลุ่มที่มีความคิดเห็นแตกต่างทางการเมือง คือให้คนเอาลูกหิน ลูกแก้วมายิงพวกผมใช่มั้ย ไอ้ที่เปิดพื้นที่ให้กับทุกกลุ่มที่มีความคิดเห็นแตกต่างทางการเมืองคือให้เสื้อแดงมาบอกใช่มั้ยว่านายอภิสิทธิ์ไปไหน จะจับตัวแล้วไม่ให้กลับไปแบบมีชีวิต ผมจึงอยากจะบอกกับนายกรัฐมนตรีครับว่า อย่า อย่าพูดไม่จริงกับประชาชน สู้ สู้ยอมรับความจริงแล้วบอกว่าจะแก้ไข อย่างนั้นสิครับ พวกเราพร้อมจะให้โอกาสเพราะพวกเราเป็นคนใจกว้างพอ

บรรยากาศที่ผ่านมาไม่ได้เป็นอย่างนั้น และผมอยากจะบอกว่าในทางตรงกันข้ามครับ นายกรัฐมนตรีไม่สังเกตเหรอครับว่า ท่านนั้นไปปฏิบัติหน้าที่ได้ทั่วประเทศ เพราะพวกผมไม่เคยคิดจะไปปลุกระดมไปต่อต้าน ภาคใต้ก็ไปได้ จนตั้งจังหวัดใหม่ชื่อ หาดใหญ่ไปแล้ว แล้วจะไปพื้นที่เหล่านี้ที ก็มีลูกน้องนายกฯ นั้นโทรมาขอ โทรมาขอคนของพรรคประชาธิปัตย์ จังหวัดไหน ก็โทรหา สส. จังหวัดนั้น อย่าเอาคนไปต่อต้าน พวกผมก็บอกไปแล้วว่าพวกผมไม่ทำ เพราะไม่มีสันดานเหมือนกับบางพวก ฉะนั้นอย่ามาป้ายสีว่าคนอื่นไม่ปรองดอง พวกผมประกาศมาตลอดว่า เชิญเป็นรัฐบาลให้ครบวาระ แต่เป็นรัฐบาลแล้วมาแก้ปัญหาประชาชน อย่าไปแก้ปัญหาพี่ชาย

โปรดฟังต่อ ที่น่าเสียใจที่สุด คือการที่มีบุคคลบางกลุ่มต้องการการเคลื่อนไหวบนท้องถนน มีท่าทีไม่ยอมรับกติกาของประชาธิปไตย มีการยั่วยุ กระตุ้นเพื่อนำไปสู่การล้มล้างรัฐบาล นี่ถ้าไม่ได้ดูนะ นึกว่ามีคนกำลังพูดถึงเสื้อแดงปี 52 – 53 แล้วก็พอดูแล้วก็ต้องดูอีกครั้งหนึ่งว่า คนที่พูด และอ่านประโยคเมื่อสักครู่นั้น ใส่เสื้อแดงอยู่หลังเวทีหรือเปล่า เมื่อปี 52 – 53 จ่ายสตางค์ให้ด้วยหรือเปล่า ให้เกิดการเคลื่อนไหวอย่างนั้น

ผมอยากจะบอกกับนายกรัฐมนตรีครับว่า พรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันจุดยืนของเราที่เชื่อมั่นในระบบสภา และที่เคลื่อนไหวกันมาทั้งหมดทั้งปี ถ้าจะฟังแม้แต่สัก 1 ชม. จะเข้าใจมาโดยตลอดได้ทันทีว่า ประชาธิปัตย์ไม่เคยเรียกร้องให้มีการปฏิวัติ รัฐประหาร ล้มล้างรัฐบาล แต่ประชาธิปัตย์ไม่เอากฎหมายล้างผิด

แล้วก็ไม่ได้ดื้อดึงครับ ไม่ได้บอกว่าไม่ล้างผิดให้ใครทั้งนั้น เวลาที่มันมีข้อเสนอที่พอสมเหตุ สมผล ก็บอกว่า คุยกันได้ นายกฯ เคยขอความร่วมมือให้พวกผมไปทำเนียบ เรื่องปัญหาภาคใต้ พวกผมก็ไป แล้วผมก็เคยบอกด้วยวันนั้น ไปแล้ว ให้ข้อมูลทุกอย่าง รวมทั้งเตือนแนวคิดของทักษิณ ที่จะไปพูดคุยแบบเปิดเผยกับกลุ่ม BRN แล้ววันนี้ก็พิสูจน์แล้ว เตือนแล้วท่านไม่ฟัง แล้วปัญหาก็ยังลุกลามอยู่ แล้วก็แก้ยากขึ้นแต่พวกผมก็ไม่ได้ว่าอะไรในแง่ที่ว่าท่านเป็นรัฐบาล ท่านมีสิทธิ์ตัดสินใจ นี่พิสูจน์แล้วว่า ประชาธิปัตย์พร้อมจะหาทางออกให้กับประเทศ ทั้งๆ ที่ถูกข่มขู่ คุกคาม รังแก แล้วก็พวกผมก็ถูกไล่เช็คบิลดำเนินคดีสารพัดข้อหา เอาเงินบริจาคให้พรรคตัวเอง บำรุงพรรคตัวเอง ยังเอาผิดเลยนี่ ดีนะไม่ได้ไปช่วยเณรคำ ป่านนี้มันเอาตายเลย

กำลังจะนิรโทษกรรมให้คนหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ใครพูดแตะยิ่งลักษณ์ แตะทักษิณ นู้นมาแล้ว สน.นั้น สน.นี้ หมายเรียกไปแล้ว พยายามเล่นงานสารพัด พวกผมก็อดทน เพราะอยากจะประคับประคองบ้านเมืองให้เดินหน้าไปได้ เพราะฉะนั้นอย่ามาสงสัย ระแวงพวกผมว่าทำให้บ้านเมืองไม่มั่นคง คนที่ทำให้บ้านเมืองไม่มั่นคง คือคนเห็นแก่ตัวที่อยู่เมืองนอก ที่ไม่ยอมหยุดทำร้ายประเทศไทย แล้วก็ไปสร้างปัญหาเอาไว้ ทำความผิดเอาไว้ปี 52 – 53 จนมาขอให้คนไทยล้างความผิดให้

หลักเรื่องนี้ หลายคนพูดครับตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา อดีตประธานรัฐสภา อย่างคุณอุทัย พิมพ์ใจชน มีนักวิชาการ นักกฎหมาย ญาตินายทหารที่เสียชีวิต ออกมาพูดชัดเจนว่า ทุกคนอยากให้ประเทศมีทางออก แต่ไม่ใช่การยัดเยียดทางออกที่ต้องการเพียงแค่ช่วยคนเพียงกลุ่มเดียว แล้วทำลายหลักการของบ้านเมือง

ฉะนั้นที่ท่านนายกฯ พูดเมื่อคืนว่า ในสัปดาห์หน้า รัฐบาลจะเชิญตัวแทนกลุ่มบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และมีความเห็นที่หลากหลายในมุมมองให้มาหารือร่วมกัน บอกว่าจะขอเชิญชวนตัวแทนจากกลุ่มบุคคลทั้งฝ่ายรัฐบาล พรรคการเมือง แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย สมาชิกวุฒิสภา องค์กรอิสระ เอกชน และนักวิชาการ มาร่วมโต๊ะ พูดคุยออกแบบประชาธิปไตยของประเทศไทยเพื่อหาทางออกให้กับอนาคตของเรา ผมเห็นหลายกลุ่มที่เกี่ยวข้องพูดไปบ้างแล้วครับ ก่อนออกมาเห็นมี สว. กลุ่มนึง เขาก็บอก เขาไม่ร่วม แกนนำพันธมิตรบางท่านก็ออกมาบอกว่าไม่ร่วม จนกว่าจะมีการถอนกฎหมายนิรโทษกรรม

ผมก็เรียนว่า ผมเองนั้น เป็นคนที่พยายามหาทางออกให้กับประเทศชาติเสมอ ผมฟังเมื่อคืน ผมก็นั่งคิดในใจว่านายกฯ พูดไป หรืออ่านไปนั้น นายกฯ จะพูดถึงกฎหมายนิรโทษกรรมสักคำมั้ย นายกฯ ไม่รู้จริงๆ เลยเหรอว่า ก่อนจะมาทำเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรมนี้ บ้านเมืองก็สงบเรียบร้อยดี ไม่ได้มีความขัดแย้ง ไม่ได้จะมีการชุมนุมกันแบบนี้ นายกฯ ต้องรู้ครับ ไม่ใช่ไม่รู้ แต่ทำเป็นไม่รู้ แล้วในที่สุด วันนี้พอถูกสัมภาษณ์เรื่องนี้ก็บอกว่า พูดคุย ก็พูดคุยไป กฎหมายนิรโทษกรรมก็ให้สภาว่าไป มันแล้วจะพูดทำ จุด จุด จุด อะไรล่ะ คือบ้านเมืองกำลังขัดแย้งกันเรื่องนี้ คุณก็บอกว่ามาคุยกัน แล้วอย่าทะเลาะกัน แต่เรื่องนี้ทำต่อ ไม่มีความจริงใจ เพียงแต่เอาตัวนี้มาเป็นฉากหน้า แล้วเบื้องหลังก็เดินหน้าทำสิ่งที่มันเป็นปมความขัดแย้ง ที่คนเขาต่อต้านกันต่อไป อย่างนี้ไม่สามารถนำไปสู่การปรองดองได้เด็ดขาด

ต้องตั้งหลักใหม่ ผมก็นึกว่า เอ้า แล้วยังไงล่ะ นายกฯ จะมานั่งหัวโต๊ะ แสดงออกถึงความเป็นผู้นำว่าจะผ่าทางตัน จริงๆ นั้นผมรอว่าเมื่อไหร่จะมาแสดงความเป็นผู้นำ ปลดแอกตัวเองออกจากพี่ชายเสียที ปรากฏว่าสวมบทผู้นำแถลงกับประชาชนทั้งประเทศเสร็จไม่ถึง 1 คืน บอกว่าเรื่องนี้มอบให้ วรเทพ กับพงษ์เทพ ไปทำ ผมก็คิดในใจอีก แล้วอย่างนี้จะคุยกันทำ จุด จุด จุด อะไร ก็ถ้านายกฯ ยืนยันบอกว่า ก้าวก่ายสภาไม่ได้ เป็นเรื่องของสภา แล้วความขัดแย้งมันกำลังอยู่ในสภา จะมาชวนคุยแก้ปัญหาความขัดแย้ง แล้วไม่ยุ่งกับสภา จะคุยไปทำไม

มันถึงเวลาที่นายกฯ ต้องตัดสินใจ จริงๆ ผมถือว่าตัดสินใจไปแล้ว วันที่บอกว่าเป็นเรื่องของสภา วันที่บอกว่ากฎหมายเดินหน้า ตัดสินใจแล้วไงว่า พร้อมที่จะนำบ้านเมืองสู่ความขัดแย้งเพียงเพื่อนิรโทษกรรม ล้างผิดให้กับพรรคพวกตัวเอง

ผมก็ไม่ต้องการให้บ้านเมืองถึงทางตัน ผมก็เสนอกลับไปว่า อยากคุยจริง พวกผมคุยได้ แต่สิ่งแรกต้องพิสูจน์ความจริงใจก่อน คืออย่าให้มีการถกกฎหมายนิรโทษกรรมในสภา วันพุธนี้ ถ้าคุณยังเดินหน้าพูดวันพุธนี้ ผมไม่ต้องไปคุยบนโต๊ะเจรจา หรือโต๊ะปฏิรูป หรือโต๊ะอะไรที่จะจัดขึ้น ผมต้องไปทำอย่างเดียว ผมต้องไปลุยกันในสภา ให้ถึงที่สุด แล้วผมก็จะดูด้วยว่าที่เรียกร้องว่า มีอะไรไปพูดในสภา มีอะไรไปพูดในสภา พวกผมร้อยกว่าคนเตรียมพูดทุกคน ให้ได้พูดทุกคนสิ อย่าปิดอภิปรายนะ อย่าใช้เสียงข้างมากปิดอภิปราย อย่าอ้างว่า หมดเวลาแล้ว อย่าอ้างว่า เวลามีค่า เวลาของประชาชน ไม่ใช่เวลาของคุณ

ผมจึงยืนยันอีกครั้ง ประชาธิปัตย์ไม่ขัดขวาง กระบวนการใดที่จะนำไปสู่ความปรองดอง แต่ต้องมีความจริงใจต่อกัน และต้องเคารพความจริง ถ้าพรุ่งนี้ มะรืนนี้ นายกฯ แถลงบอกว่า เพื่อให้การพูดคุยเริ่มต้นได้ จะให้พรรคเพื่อไทย ชะลอเรื่องนี้ ไม่มีการพิจารณาเรื่องนี้ วันพุธ ผมยืนยัน ประชาธิปัตย์มีคนไปคุยแน่ จุดยืนประชาธิปัตย์ไม่เปลี่ยนแปลง และเป็นจุดยืนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของพวกเรา ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความต้องการจะไปล้มล้างรัฐบาล ประชาธิปไตยอะไรทั้งนั้น แต่เราต้องการให้ระบอบประชาธิปไตย และระบบรัฐสภาคงความศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องมีไว้ เพื่อรับใช้พี่น้องประชาชน และส่วนรวม

ผมพูดชัดๆ ยืนยันตามนี้ รอฟังคำตอบจากรัฐบาล นักข่าวไม่ต้องมาถามผมหลายรอบ ผมน่าเบื่อ ผมตอบทีไร ผมตอบเหมือนเดิม รัฐบาลนั่นแหละ ต้องตอบมาว่าจริงใจในการแก้ปัญหาสังคมมั้ย จริงใจจะเริ่มต้นกระบวนการพูดคุยมั้ย ถ้าจริงใจ หยุดกฎหมายนิรโทษกรรมที่ค้างอยู่ไว้ก่อน แต่ระหว่างนี้ เราก็เดินหน้าผ่าความจริง พรุ่งนี้ก็มี ความจริงพรุ่งนี้ผมจะขึ้นไปแม่สอด เพราะว่าไปดูพี่น้องประชาชนที่ประสบอุทกภัย แล้วก็จะรีบบินกลับมาผ่าความจริงกับพี่น้องที่โรงเรียนประชานิเวศน์ วันจันทร์ วันอังคาร ก็คงจะมีเวทีผ่าความจริงต่อเนื่อง ต่อไป เดี๋ยวสาทิตย์มาประกาศ ผมไม่ไปแย่งงานเขา วันพุธ คงมีผ่าความจริงไม่ได้ ถ้ากฎหมายเข้าสภา เพราะผมตั้งใจพูดกันจนสว่างอย่างน้อย

พี่น้องที่รักชาติทั้งหลาย ก็ยังมีหน้าที่กันครับ ช่วยกับพวกผม บอกต่อความจริง ระดมคนทั่วประเทศ หาวิธีการสะท้อนถึงรัฐบาลว่า การหาทางออกบ้านเมืองไม่ได้ยุ่งยาก ไม่ได้ซับซ้อน แค่ถอนกฎหมายนิรโทษกรรม บ้านเมืองเดินหน้าได้ เราตกลงกันอย่างนี้นะครับ ก่อนที่จะให้คนอื่นขึ้นมาพูดต่อ ก็ต้องขอคำยืนยัน สู้ไม่สู้ (สู้) สู้ไม่สู้ (สู้) สู้ไม่สู้ (สู้) กราบขอบพระคุณครับพี่น้องครับ 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศรัทธาออนไลน์ของคนรุ่นใหม่ต่อพุทธศาสนา

$
0
0


ภาพจาก:  http://mattersindia.com/buddhas-home-in-india-or-nepal

พระพุทธศาสนา หรือ ศาสนาพุทธ เป็นศาสนาที่ประชาชนส่วนหนึ่งในสังคมไทยยึดถือและปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาจากอดีจนถึงปัจจุบัน เป็นที่น่าสนใจว่ากระแสการนับถือศาสนาพุทธมีความเอียงเอนไปในลักษณะไหน ศรัทธายังคงดำรงอยู่และเป็นที่พึ่งให้กับคนรุ่นใหม่ได้หรือศาสนาพุทธกำลังตกอยู่ในวิกฤติขาลง สังคมออนไลน์มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการนับถือศาสนาอย่างไร

สภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงความเจริญทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทำให้เกิดความเป็น “สังคมโลกาภิวัฒน์” สังคมที่มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันมากขึ้น มีความเชื่อมโยงระหว่างปัจเจกบุคคล ชุมชน หน่วยธุรกิจ และรัฐบาล ทั่วทั้งโลก ยุคนี้จึงเป็นยุคแห่งการเคลื่อนไหลของข้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็ว ที่เห็นได้ชัดเจนคือการเชื่อมโยงข้อมูลผ่านสังคมออนไลน์

คนรุ่นใหม่ในช่วงยุคนี้สนใจและอยู่กับสังคมออนไลน์มากพอกับอยู่ในสังคมจริง และเป็นสิ่งที่มิอาจปฏิเสธที่จะอยู่ในกระแสสังคมออนไลน์ เนื่องจากการไม่สนใจหรือใส่ใจสังคมออนไลน์อาจทำให้กลายเป็นคนที่ล้าหลังทางข้อมูลข่าวสาร แม้ในบางครั้งการที่คนรุ่นใหม่ใช้เวลาอยู่ในโลกออนไลน์ทำให้ผู้ใหญ่หลายคนตำหนิถึงการใช้เกินความจำเป็น มองว่าคนรุ่นใหม่หมกมุ่นอยู่ในสังคมเสมือนจริงเกินไป ผู้ใหญ่เป็นห่วงและพยายามเตือนคนรุ่นใหม่ให้สนใจเรื่องเกี่ยวกับศาสนาพุทธ อันจะนำไปสู่การปฏิบัติตนให้เป็นพุทธศาสนิกชนของศาสนา

สังคมออนไลน์เป็นการส่งและรับข้อมูลอย่างรวดเร็ว ข่าวสารเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับศาสนา ถูกแชร์และโพสต์ใน Facebook, Youyube, Twiter ฯลฯ แน่นอนในโลกเสมือนจริงนี้ย่อมมีคนที่หลากหลายทั้งเคารพศรัทธาศาสนาพุทธและไม่ได้สนใจศาสนาพุทธ เมื่อเกิดปรากฏการณ์เกี่ยวกับศาสนาพุทธขึ้นด้วยความเร็วของสังคมออนไลน์ทำให้ปรากฏการณ์เหล่านั้นถูกส่งต่อไปถึงคนรุ่นใหม่ เมื่อได้รับข้อมูลที่รวดเร็วบางครั้งทำให้คนรุ่นใหม่ไม่ทันได้ตั้งคำถามหรือคนหาข้อมูลความจริงแต่เชื่อชุดข้อมูลที่ได้รับ

เมื่อคนรุ่นใหม่รับชุดข้อมูลที่ไม่ทันได้ผ่านกระบวนสืบค้นและวิเคราะห์ข้อเท็จจริงย่อมส่งผลต่อความเชื่อและศรัทธาในพุทศาสนา การล้อกันโดยยกเอาตัวอย่างนักบวชในศาสนาพุทธหรือพระสงฆ์ที่กระทำตัวไม่เหมาะสมและถูกแชร์ในสังคมออนไลน์ทำให้คนรุ่นใหม่เบื่อหน่ายศาสนา กรณีพระขี่เครื่องบินเจ็ท สวมแว่น ใช้แบรนด์เนม พระสะพายย่ามสีชมพู พระตั้งวงดื่มของมึนเมา พระเสพสารเสพติด พระมมั่วสุมกามกับหญิง เป็นต้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่อให้ศาสนาถูกมองว่าเสื่อม พระทำตัวไม่เหมาะกับเป็นผู้ที่สวมผ้าเหลือง คนรุ่นใหม่เสพข้อมูลในลักษณะนี้เป็นจำนวนมากในสังคมออนไลน์ ภาพด้านลบที่มากกว่าด้านบวกทำให้ความรู้สึกศรัทธาของคนรุ่นใหม่ลดลง มองว่าศาสนาพุทธเป็นเพียงเรื่องหนึ่งที่ไม่จำเป็นต้องใส่ใจอะไรมากมาย

การนำภาพที่สื่อไปทางลบมาโพสต์ส่งต่อกัน หรือการตัดตกแต่งภาพพระไปในลักษณะตลกขบขันแสดงถึงอารณ์เยาะเย้ยสนุกสนาน หรือการคอมเม้นด่าเสียดสีกรณีทางศาสนาที่ไม่เหมาะสม กลายเป็นวัฒนธรรมปกติของคนรุ่นใหม่ในสังคมออนไลน์ ภาพพระที่เป็นไปในทางบวกไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่ากับภาพที่ถูกตัดต่อในทางตลกขบขัน พิจารณาจากยอด Like ในหลายแฟนเพจมากมาย เหล่านี้คนรุ่นใหม่อาจมองว่าเป็นเรื่องปกติไม่ได้คิดอะไร แต่ในขณะเดียวกันนั้นได้ทำให้คนรุ่นใหม่เสื่อมศรัทธาพุทธศาสนาจากความคิดของตนเอง บางครั้งการเข้าวัดฟังธรรมกลายเป็นเรื่องที่น่าเบื่อ แต่การเข้าวัดเพื่อเวียนเทียนกับคนรักเป็นสิ่งที่ต้องไปมากกว่า หรือการทำบุญปล่อยสัตว์เป็นการไปเพื่อการถ่ายรูปและแชร์สถานะมากกว่าการศรัทธาในการให้ชีวิตใหม่แก่สัตว์โลก เป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนความเป็นตัวตนของคนรุ่นใหม่

ขณะเดียวกันผู้ใหญ่ก็หาว่าคนรุ่นใหม่ห่างศาสนา อนาคตสังคมต้องประสบกับปัญหาความสงบ ระดับจิตใจของคนรุ่นใหม่จะลดลง หลักคำสอนของศาสนาจะไม่ได้รับความสนใจจากคนรุ่นใหม่อย่างจริงใจ การค้นหาแก่นแท้ของศาสนาจะถูกละเลยและมองข้าม คนรุ่นใหม่จะไม่สามารถอธิบายปรากฏการณ์เกี่ยวกับพุทธศาสนาได้อย่างมีเหตุมีผล

ในกระแสที่เปลี่ยนไปคนรุ่นใหม่ต้องพยายามฝึกตัวเองให้เป็นคนที่ตระหนักถึงการวิเคราห์ข้อมูลอย่างมีเหตุมีผล ออกมาปฏิสัมพันธ์กับโลกสมัยใหม่ พิจารณาหลักคำสอนของพุทธศาสนาหรือศาสนาอื่นในสังคม เพื่อนำหลักการมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตอย่างเข้าใจ แม้คนรุ่นใหม่จะไม่ศรัทธาในพุทธศาสนาก็มิใช่ความผิด แต่อย่าวิพากษ์วิจารณ์โดยที่ไม่เข้าใจในหลักคำสอนของแต่ละศาสนา ให้ค้นหารายละเอียดของแต่ละเรื่องราวที่เกิดขึ้น มิใช่เข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนาเพียงเพราะเป็นกระแสหรือความจำใจเข้าจากการถูกบีบบังคับ ให้ขยับตัวเองเข้าไปเรียนรู้เรื่องราวของศาสนาด้วยความศรัทธา เพราะท้ายที่สุดศาสนาไม่ใช่สิ่งเลวร้าย ศาสนาทุกศาสนามุ่งหวังให้ผู้ที่นับถืออยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข การโพสต์หรือแชร์สถานะเกี่ยวกับศาสนาคนรุ่นใหม่จะต้องตระหนักด้วยว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับชุดความคิดของคนรุ่นใหม่ในสังคมออนไลน์

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: คิดง่ายเกิน..

$
0
0
.............................
 
เมื่อกฎหมายใด ๆ เข้าสภา
กติกา มีวาง ไว้อยู่นั้น
ไม่อาจออก นอกหลักการ ตกลงกัน
รัฐธรรมนูญ ขีดคั่น กำหนดความ
 
ผู้เสนอกฎหมาย มีหลายกลุ่ม
การประชุม จะเข้าฟัง ก็ไม่ห้าม
รัฐธรรมนูญ กำหนดไว้ ในนิยาม
ต้องทำตาม ทุกประการ ลองอ่านกัน
 
เมื่อกฎหมาย เข้าสภา อันทรงเกียรติ
ใช่ยัดเยียด ให้ยอมรับ อย่าประหวั่น
อาจเสนอ กฎหมายเอง มาประชัน
โดยเลือกสรร ข้อดี ที่ตกลง
 
ยี่สิบ ส.ส. เสนอได้
พรรคการเมืองใหญ่ ๆ เรื่องขี้ผง
พรรคเห็นชอบ ในร่างไหน ใจเจาะจง
หนังสือส่ง ร่าง ฯ สู้  สู่ประธานสภา
 
ประชาชน ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ก็มีสิทธิ
รวมเป็นกลุ่ม ร่วมพินิจ คิดค้นหา
เป็นความเห็น กฎหมาย ต่างสภา
เพื่อทายท้า ความเป็นธรรม ที่ต้องการ
 
ทั้งๆ ที่   มีเวที  ให้ได้เล่น
ทุกประเด็น ดี ไม่ดี มีทุกด้าน
แล้วทำไม ไม่ใช้สภา มาทำงาน
ทั้งคัดค้าน สนับสนุน ที่เป็นธรรม
 
จึงสงสัย ใครหนอ ก่อวิกฤต
ทำสิ่งถูก ให้เป็นผิด คิดต่ำ ๆ
ทำสิ่งผิด ให้เป็นถูก ปลูก ระยำ
เพียร คิดคว่ำ ให้เป็นหงาย คิดง่ายเกิน...

 
3 สิงหาคม 2556
 
 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: 108 เหตุผลนิรโทษกรรม

$
0
0

เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมเมษา-พฤษภา 2553 (ศปช.) ได้จัดเสวนาในหัวข้อ 108 เหตุผลทำไมต้องนิรโทษกรรมนักโทษการเมือง โดยชี้ให้เห็นว่า เหตุการณ์ทางการเมืองเมื่อ พ.ศ.2553 นั้น โดย คุณกฤตยา อาชวณิชกุล ประธาน ศปช รายงานว่า เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ประชาชนต้องถูกดำเนินคดีทั้งหมดถึง 1833 คน จนถึงขณะนี้ คดีสิ้นสุด 1644 คน อยู่ระหว่างการถูกจำคุก 5 คน คดีที่ยังไม่สิ้นสุดอีก 150 คดี ไม่ได้ประกันตัวอยู่ในคุกอีก 13 คน และยังมีคดีอื่นเกี่ยวเนื่องอีก 55 คดี ซึ่งกรณีเหล่านี้ คือ การละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยตรง เหตุผลสำคัญที่นำมาสู่กรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนเช่นนี้ มีที่มาจากการประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่เปิดทางให้เจ้าหน้ารัฐใช้อำนาจตามอำเภอใจกับคนเสื้อแดงอย่างไม่เคารพในสิทธิของประชาชน นอกจากนี้ ยังมาจากการที่หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมไม่เอื้ออำนวยให้เกิดความยุติธรรมแก่ประชาชน

ดังนั้น ประธาน  ศปช.จึงสรุปว่า “การผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมจึงเป็นความจำเป็น ไม่ใช่เพื่อลบล้างความผิดให้ผู้ชุมนุมทุกฝ่ายเพื่อให้หันหน้ากลับมาปรองดองกัน แต่เพื่อเป็นการแก้ไขความผิดพลาดของฝ่ายรัฐ และคืนความยุติธรรมให้กับผู้ที่ถูกจับกุมดำเนินคดี” และ ศปช.ยังเห็นว่าในระยะยาว ไม่เพียงแต่ต้องผลักดันให้มีการยกเลิกกฎหมายความมั่นคง แต่ต้องผลักดันให้เกิดการปฏิรูประบบยุติธรรมทั้งหมดอีกด้วย

การเคลื่อนไหวดังกล่าว สอดคล้องกับการที่ สภาผู้แทนราษฎรที่จะเปิดประชุมสมัยสามัญในวันที่ 1 สิงหาคม นี้ ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่า ประเด็นเกี่ยวกับกฎหมายนิรโทษกรรมจะกลายเป็นเรื่องสำคัญในการพิจารณา มีรายงานว่าในขณะนี้ มีกฎหมายนิรโทษกรรมและกฎหมายปรองดองแห่งชาติ รอการพิจารณาอยู่ในรัฐสภาถึง 6 ฉบับตามชื่อผู้เสนอคือ คือ ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ ฉบับ พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน ฉบับนายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ ฉบับนายสามารถ แก้วมีชัย ฉบับนายนิยม วรปัญญา ฉบับนายวรชัย เหมะ และ ฉบับ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง แต่ฉบับที่พรรคเพื่อไทยได้มีมติแล้วว่าจะผลักดันสู่วาระการประชุมเพื่อพิจารณาก่อน ก็คือ ฉบับของนายวรชัย เหมะ ซึ่งมี ส.ส.ผู้สนับสนุน 41 คน โดยจะนำเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภาในวันที่ 7 สิงหาคม นี้

ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนายวรชัย เหมะ มีทั้งหมด 7 มาตรา โดยมีหลักการที่จะนิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง และการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ระหว่างวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2554 ด้วยเหตุผลว่าพฤติกรรมทางการเมืองของประชาชนในช่วงเวลาดังกล่าว เป็นผลจากความขัดแย้งทางการเมือง จึงสมควรให้มีการนิรโทษกรรมแก่ประชาชนเพื่อเป็นการให้โอกาส เป็นการรักษาคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทั้งเพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมืองตามระบอบประชาธิปไตยโดยใช้หลักนิติธรรม อันจะเป็นรากฐานที่ดีต่อการลดความขัดแย้ง และสร้างความปรองดองของคนในชาติ

ดังนั้น ในมาตรา 3 ของร่างกฎหมายนี้จึงระบุให้บรรดาการกระทำใดๆ ของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมือง หรือบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง แต่กระทำการนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง โดยการกล่าวด้วยวาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีการใด เพื่อเรียกร้องหรือให้มีการต่อต้านรัฐ การป้องกันตน การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือการชุมนุม การประท้วงหรือการแสดงออกด้วยวิธีการใดๆ ในระหว่างช่วงเวลาดังกล่าว ไม่เป็นความผิดต่อไปและให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง และถ้าบุคคลนั้นอยู่ในระหว่างการถูกดำเนินคดีไม่ว่าในขั้นตอนใด ให้ถือเป็นการสิ้นสุด

ปรากฏว่าในขณะนี้เมื่อใกล้ถึงวาระการพิจารณาก็ได้เกิดกระแสการต่อต้านคัดค้าน ดังเช่นที่มีมา เช่นพรรคประชาธิปัตย์ ได้เสนอว่า กฎหมายนี้จะนำประเทศไปสู่วิกฤต เพราะจะมีคนออกมาต่อต้าน จึงเสนอให้รัฐบาลถอนร่างกฎหมายออกจากสภา นอกจากนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวว่า ตามร่างกฎหมายของนายวรชัย เหมะ พวกหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา 112 ก็จะได้รับประโยชน์ด้วย จึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง และต่อมา นายอภิสิทธิ์ก็ได้กล่าวเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคมนี้ว่า ตนเชื่อว่าสังคมส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับที่ผู้ก่อเหตุเผาสถานที่ราชการและเอกชน รวมถึงทำผิดกฎหมายอาญาแล้วไม่มีความผิด ซึ่งร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ฉบับนายวรชัย เหมะ ไม่ได้ระบุข้อยกเว้นความผิด ดังนั้น จึงชัดเจนว่า สุดท้ายจะนิรโทษกรรมให้กับผู้กระทำผิดกฎหมายอาญา รวมถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีด้วย กฎหมายนี้จึงเป็นร่างที่ต้องคัดค้าน

แต่ที่น่าตกใจคือท่าทีของนายทวี ประจวบลาภ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ที่ได้กล่าวกับสำนักข่าวทีนิวส์เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคมว่า กรณีสภาผู้แทนราษฎรเตรียมประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ฉบับของนายวรชัย เหมะ ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าวิตก เพราะไม่ได้นิยามว่า เหตุการณ์ทางการเมืองคือ เหตุการณ์อะไรบ้าง และจะรวมมาตรา 112 หรือไม่ และกรณีที่อธิบายว่า จะไม่นิรโทษกรรมผู้สั่งการ แกนนำเสื้อแดงอาจจะอ้างว่า เป็นเพียงผู้สังเกตการณ์จะได้หลุดพ้นจากความผิด “กฎหมายมันก็ยุ่งตายเลย”

สรุปแล้ว อธิบดีศาลวิตกว่า กฎหมายนี้จะนิรโทษพวกมาตรา 112 และจะช่วยแกนนำเสื้อแดงให้พ้นผิด ทั้งที่ยังไม่มีแกนนำคนเสื้อแดงคนใดอ้างตัวเป็นผู้สังเกตการณ์เลย ความวิตกของอธิบดีศาล จึงเป็นคนวิตกที่เกินกว่าข้อมูล แต่ปัญหาหลักในประเทศนี้ที่อธิบดีศาลไม่ได้พูดก็คือ การที่กระบวนการยุติธรรมมีสองมาตรฐานมุ่งเล่นงานแต่คนเสื้อแดงฝ่ายเดียว ดังจะเห็นได้จากเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคมนี้ ศาลได้สั่งเลื่อนการพิจารณาคดีพันธมิตรปิดสนามบินอีกครั้ง ผลจากกรณีนี้คือฝ่ายพันธมิตรยังไม่มีใครถูกลงโทษทั้งที่เหตุการณ์ปิดสนามบินเกิดมาแล้วเกือบ 5 ปี และการที่ผู้ต้องหาฝ่ายพันธมิตร 96 คนทุกคนได้รับการประกันตัว ซึ่งแตกต่างอย่างมากกับผู้ต้องหาฝ่ายคนเสื้อแดงที่ต้องติดคุกล่วงหน้าเพราะไม่ได้รับการประกันตัวเช่นเดียวกัน กรณีเหตุการณ์เข่นฆ่าสังหารกลางเมืองเมื่อ พ.ศ.2553 ที่ผ่านมาแล้ว 3 ปี ฝ่ายคนเสื้อแดงถูกจำกุมลงโทษไปแล้วมากมาย แต่ฝ่ายก่อการเข่นฆ่าสังหาร ทั้ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และ พล.อ.อนุพงศ์ เผ่าจินดา ยังไม่มีใครถูกดำเนินคดีอะไรเลย ความคืบหน้าในขบวนการยุติธรรมในด้านนี้มีน้อยมาก

ยิ่งกว่านั้น การกีดกันผู้ต้องหากรณีมาตรา 112 จากการนิรโทษกรรม ก็เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องอย่างยิ่งเช่นเดียวกัน เพราะผู้ต้องหาตามมาตรา 112 ทุกคนก็เป็นเหยื่อของสถานการณ์ และไม่เคยได้รับความเป็นธรรม การที่ศาลปฏิเสธสิทธิการประกันตัวตั้งแต่แรก ทำให้นักโทษ 112 เช่นคุณดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ถูกจำคุกมาแล้ว 5 ปีในความผิดที่ควรจะเป็นลหุโทษมาก คุณสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ คุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข คุณเอกชัย หงส์กังวาน และ คุณยุทธภูมิ มาตรนอก ที่ยังคงถูกคุมขังอยู่ในขณะนี้ ล้วนแต่ตกเป็นเหยื่อของสถานการณ์ความขัดแย้ง และเป็นผลิตผลจากความอยุติธรรมทั้งสิ้น การช่วยเหลือคนเหล่านี้ให้ออกจากคุก จะก่อให้เกิดวิกฤตภายในชาติได้อย่างไร ส่วนที่อ้างกันว่า กฎหมายนิรโทษกรรมเหล่านี้จะนำไปสู่การนิรโทษกรรม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็ไม่เห็นมีมาตราใดที่จะโยงไปได้เช่นนั้น

กล่าวโดยสรุป การรัฐประหาร การก่อการสังหารหมู่ และความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมไทย คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้ประชาชนคนเสื้อแดงต้องสนับสนุนร่างกฎหมายของนายวรชัย เหมะ เพื่อจะส่งผลในเบื้องแรกให้เกิดการช่วยเหลือพี่น้องที่ยังคงติดอยู่ในคุก และคืนความเป็นธรรมให้พี่น้องประชาชนอีกจำนวนมาก ที่ยังคงอยู่ภายใต้กระบวนการลงโทษภายใต้การใช้กฎหมายอย่างสองมาตรฐาน

ส่วนข้อบกพร่องหรือความไม่ถูกใจในเนื้อหาของกฎหมาย ก็คงจะต้องมีการผลักดันกันต่อไป และถ้าพรรคเพื่อไทยผลักดันกฎหมายนี้ไม่สำเร็จ ก็คงจะต้องถึงเวลาของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่จะต้องออกพระราชกำหนด เพื่อให้เกิดผลในการนิรโทษกรรมโดยทันที เพราะถ้ารัฐบาลไม่สร้างความเป็นธรรมในสังคม และยังปล่อยให้คนเสื้อแดงติดคุกต่อไป ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับคนเสื้อแดงคงจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น ซึ่งไม่น่าจะก่อให้เกิดผลดีแต่อย่างใด

 

 

ที่มา: โลกวันนี้วันสุข 3 สิงหาคม 2556

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ความฝันเล็กๆในการสู้รัฐประหาร

$
0
0

บทบรรณาธิการ เวบไซด์ www.pub-law.netสำหรับวันจันทร์ที่ 29 กรกฎาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 11 สิงหาคม 2556 หัวข้อ วันพิพากษาคดีรถดับเพลิงของ ศ.ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์ ไม่ใช่เรื่องใหม่ หรือประเด็นใหม่ แต่ อาจารย์ นันทวัฒน์ ได้เขียนเรื่องนี้ และ นสพ มติชน ได้นำไปลง(คลิ๊ก) โดยนำไปจากบทบรรณาธิการ ตั้งแต่2 มกราคม พศ 2555 เท่าที่ทราบในแวดวงวิชาการ ก็คงจะมีแค่ อ นันทวัฒน์ และ คณะ นิติราษฎร์ ที่มีข้อเสนอในการ “จัดการ”กับปัญหาการทำรัฐประหารในประเทศไทยผ่าน

กระบวนการยุติธรรมผู้เขียนในฐานะที่เป็นคนไทย1คน  จึงอยากเขียนบทความนี้เพื่อแสดงความเห็นสั้นๆ

คดีรถและเรือดับเพลิงคดีหมายเลขดำที่ อม.5/2554  เป็นคดีทางการเมืองที่พัวพัน หลายพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องกับกิจการ ของ กรุงเทพมหานคร ไล่ตั้งแต่ อดีต ผู้ว่า กทม ที่ ชื่อ สมัคร สุนทรเวช สืบเนื่องมาถึง นาย อภิรักษ์ โกษะโยธิน และเกี่ยวพันกับการปฎิวัติรัฐประหาร 19กันยายน พศ 2549 เนื่องจาก คณะกรรมการ คตส ได้ถูกแต่งตั้ง โดย คณะรัฐประหาร (คมช แล้วแปลงร่างเป็น คปค) ได้มีความเห็นสั่งฟ้องดำเนินคดี กับนักการเมืองและข้าราชการ หลายท่าน เช่น นาย โภคิน พลกุล นาย วัฒนา เมืองสุข นาย ประชา มาลีนนท์ เป็นต้น จนปัจจุบันนี้ รถยนต์ และเรือดับเพลิงที่ได้ซื้อมา ก็ยังไม่มีใครกล้านำมาใช้งาน เพราะเกรงว่าจะผิดกฎหมายเพิ่มเติม

ประเด็นนี้ ได้มีการถกเถียงกันอีกครั้งในวง วิชาการ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พศ 2556 ในงานเสวนาวิชาการ ชื่อ “ หลัก นิติรัฐ นิติธรรม กับ การวางรากฐานประชาธิปไตย” ที่จัดโดยความร่วมมือระหว่าง IDS( Institue of Democratization Studies) และ มูลนิธิ KAS(Konrad-Adenauer-Stiftung e.V.) July 26th 2013, โรงแรม เชอราตัน แกรนด์ สุขุมวิท โดย นาย จาตุรนต์ ฉายแสง (ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่ง รมว ศึกษา) ได้ร่วมรับฟังและกล่าวสรุปในงานครั้งนี้

ศ ดร นันทวัฒน์ บรมานันท์ อภิปรายประเด็นโดยสรุปคร่าวๆโดยผู้เขียนว่า ศาลฎีกา มีโอกาสในการพิจารณาตัดสิน คดีนี้ โดยมีความเห็นว่า การยึดอำนาจ ทำรัฐประหาร โดย คมช เป็นการกระทำ ที่ เป็นกบฎ มีความผิดตาม กฎหมาย อาญา มาตรา 113 ดังนั้น การดำเนิคดีนี้ ผู้ฟ้องจึงไม่มีอำนาจฟ้องตามกฎหมาย และพิพากษายกฟ้อง เพื่อเป็นการไม่รับรองอำนาจรัฐประหาร

ในเรื่องนี้ แนวคำตัดสินของศาลฎีกาที่ผ่านมายึดหลัก ฎีกาเดิม ที่ 1662/2505 กล่าวโดยสรปว่า“เมื่อคณะปฏิวัติได้ทำการยึดอำนาจโดยสำเร็จหัวหน้าคณะปฏิวัติย่อมเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบ้านเมือง ข้อความใดที่หัวหน้าคณะปฏิวัติสั่งบังคับประชาชนก็ต้องถือว่าเป็นกฎหมาย” อ นันทวัฒน์ คาดหวังว่า นี่จะเป็นโอกาสอันดี ว่าศาลจะยืนยันตามหลักการเดิมหรือไม่

อดีต รองประธานศาลฎีกา นายสถิตย์ ไพเราะ ซึ่งเป็นผู้บรรยายร่วมได้ตอบโดยทันพลันว่า “ คือ อ นันทวัฒน์ผิดหวังแน่นอนครับ เพราะอย่างนี้ครับ ปืนมา กฎหมายเงียบครับ...ความคิดอันนี้นี้มีอยู่ตลอดแต่ว่ามันเป็นปัญหาอย่างนี้ครับ คือเกี่ยงกันอยู่ พอปืนมา กฎหมายเงียบ หมายความว่า ศาลก็ต้องปล่อย ต้องถามประชาชนว่าเขาจะเอาอย่างไร เพราะอำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลายเมื่อทหารแย่งอำนาจไปก็เป็นหน้าที่ของประชาชนที่จะต้องแย่งคืน ขอประทานโทษนะครับ ไม่ใช่หน้าที่ของศาลที่จะไปแย่งช่วยประชาชน ”

(credit pitvfanpage ที่ youtube http://youtu.be/aQctQplP6LY 3.47นาที)

โดยสรุป ผู้เขียนมีความประสงค์เพียงเพื่อเป็นส่วนเล็กๆของสังคม ส่งเสียงถ่ายทอดความคิดของบุคคลในวงการกฎหมายในการพยายามหาหนทางหลุดพ้นจากวงจรปฎิวัติ ที่ดูอย่างไรก็ไม่สามารถตีความให้สอดคล้องกับ นิติรัฐ นิติธรรม และประชาธิปไตยได้ เพียงแต่ว่า การตอบคำถามของ อดีตผู้พิพากษา นาย สถิตย์ ไพเราะ(ในฐานะความคิดเห็นส่วนตัว) อาจจะเป็นการดูโลกอันเลวร้ายถ้าประชาชนฝากความหวังไว้ที่ศาลยุติธรรมหรือเป็นการดูโลกอันเป็นจริงที่ถ้าประชาชนชาวไทยเห็นคุณค่าของระบอบประชาธิปไตยที่ทุกคนมี1คะแนนเสียงเท่ากันไม่ว่าจะมีสถานะทางสังคมเพศการนับถือศาสนาหรือการศึกษาอย่างไร นายสถิตย์ได้กระตุ้นให้เราทุกคนออกมาช่วยกันทุกวิถีทางที่จะทำลายรัฐประหาร ให้หมดไปจากเมืองไทย ที่ อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย!

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศอ.รส.เตือนปล่อยข่าวสร้างความวุ่นวายในโซเชียลฯ อาจโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี

$
0
0

เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 56 ที่ผ่านมา ASTV ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่าเมื่อเวลา 11.00 น. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกศูนย์อำนวยการรักษาความสงบ (ศอ.รส.) พร้อมด้วย พ.ต.อ.อนุชา รมยะนันทน์ พ.ต.ท.หญิง อัญชุลี ธีระวงศ์ไพศาล รองโฆษก ศอ.รส. แถลงข่าวภายหลังประชุมสรุปสถานการณ์การชุมนุมและกำชับการปฏิบัติว่า การประชุม ศอ.รส.ได้รายงานสถานการณ์การข่าว โดยสรุปบริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 6 หรือหน้าสวนลุมพินี มีการจัดตั้งเต็นท์เรียบร้อยตั้งเวที ขนาด 7x12 เมตร รถเครื่องเสียง 5 คัน แสดงให้เห็นว่าพร้อมรวมพลกระจายจุดต่างๆ ตอนนี้ทางตำรวจนครบาลรายงานมีจำนวนผู้ชุมนุม บริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 6 จำนวน 300 คนและทยอยเข้ามาเพิ่มเรื่อยๆ ส่วนอีกกลุ่มที่ท้องสนามหลวงประมาณ 80 คน และมีแนวโน้มจะเดินทางกลับ จากการตรวจสอบกับมวลชนที่มาเข้าร่วมชุมนุมพบว่าให้มีการเตรียมสัมภาระสำหรับพักค้างแรม ได้ 2-3 วัน และให้มารับค่าใช้จ่ายในพื้นที่ชุมนุม

พล.ต.ต.ปิยะเผยว่า ในการประชุมข่าวกรองได้นำเสนอข่าวที่ทางกลุ่มผู้ชุมนุม แถลงว่ามีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หลายท่านเข้าร่วมชุมนุมด้วย ขณะนี้หลายท่านได้ปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ส่วนที่เป็นอดีตตำรวจ ทาง ศอ.รส.ได้ตรวจสอบจากท่านที่มีชื่อโดยตรง อย่าง พล.ต.ท.อดิเทพ ปัญจมานนท์ อดีต ผบช.ปส. ที่ได้ทำหนังสือยืนยันถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผอ.ศอ.รส.ว่าไม่ได้เข้าร่วมหรือมีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับกลุ่มกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ และได้ไปลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานที่ สภ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี ส่วน พล.ต.อ.บุญทิน วงศ์รักมิตร ทางลูกชายก็โทร.มาแจ้งว่าไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม แต่อยู่ระหว่างการรักษาสุขภาพร่างกายไม่เกี่ยวข้อง
       
พล.ต.ต.ปิยะกล่าวว่า ที่ประชุม ศอ.รส.ได้ตั้งทีมฝ่ายกฎหมายตรวจสอบข่าวในโซเชียลมีเดีย หากพบว่ามีเจตนาปล่อยข่าวสร้างสถานการณ์วุ่นวาย ให้เข้าใจผิด การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ก่อให้เกิดความตื่นตระหนก และมีการกดไลก์ กดแชร์ ถือว่ามีความผิดอาญาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนหรือทั้งจำทั้งปรับ จากการตรวจสอบของทีมงานพบว่าบางข่าวไม่เป็นความจริง เช่นข้อความที่บอกว่าจะมีการระดมกำลังทหาร จะมีการปฏิวัติ และการแอบอ้างชื่อบุคคลหากบุคคลที่ถูกแอบอ้างไปแจ้งความดำเนินคดี ผู้เผยแพร่ก็จะมีความผิด
       
ขณะนี้ทาง พล.ต.อ.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผบช.น.แจ้งกำลังพลเสริม 11 กองร้อย เข้าพื้นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนกำลังรอบที่ 2 รอติดตามการข่าวว่าจำเป็นต้องเข้ามาหรือไม่ ส่วนทางด้าน พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร.ได้กำชับให้ ผบ.กองกำลังเน้นรักษาสถานที่ และให้ทุกกองบังคับการจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว บก.ละ 1 ชุด หากเกิดสถานการณ์สามารถเคลื่อนเข้ามาสนับสนุนได้ทันที และให้ฝ่ายกฎหมายบันทึกคำชี้แจง คำปราศรัยโดยตลอด ว่ามีข้อความใดผิดกฎหมายหรือไม่ ยืนยันว่าพร้อมดูแลป้องกันไม่ให้เกิดเหตุ ในส่วนของการจราจรทางกองบัญชาการตำรวจนครบาล และกองบังคับการตำรวจจราจร จะตรวจสอบการจราจรโดยตลอดหากจุดไหนมีปัญหาให้รีบชี้แจงและให้จัดชุดคลี่คลายการจราจรลงพื้นที่ การตั้งด่านความมั่นคงภายในพื้นที่ประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ 11 จุดและรอบนอกอีกจำนวนหนึ่ง ยืนยันว่าเป็นการตั้งด่านตามปกติ ไม่ได้มีการสกัดกั้นผู้มาชุมนุมแต่อย่างใด พร้อมปฏิเสธข่าวที่มีสื่อมวลชนบางฉบับลงข่าวว่า มีการใช้งบประมาณจำนวนมากในการอบรมการถ่ายภาพให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า ไม่มีการใช้งบประมาณสูงอย่างที่เป็นข่าว เป็นการให้ผู้เชี่ยวชาญมาอบรมการถ่ายภาพเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถบันทึกภาพเหตุการณ์ได้ถูกวิธีโดยใช้โทรศัพท์และกล้องที่มีอยู่
       
ด้าน พ.ต.อ.อนุชา รมยะนันทน์ รองโฆษก ศอ.รส.กล่าวว่า พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. ได้กำชับการปฏิบัติให้ยึดหลักกฎหมายและเจตนารมณ์ที่ประกาศไป ให้ระมัดวังไม่ประมาท ระวังภัยแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้น ให้ทุกกองบังคับการเตรียมกองร้อยควบคุมฝูงชนสนันสนุนไว้ในที่ตั้ง และให้ทุกระดับมีหน่วยด้านการข่าวทั้งระดับสถานีตำรวจ จนถึงระดับกองบัญชาการ ในส่วนของกองบัญชาการให้รอง ผบช.1 คนรับผิดชอบด้านการข่าวโดยตรง พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบ เนื่องจากตำรวจได้ตั้งด่านรอบพื้นที่กทม. ขออภัยในความไม่สะดวกที่ต้องตรวจอาวุธ เพื่อความปลอดภัยของตัวท่านเอง ในส่วนการจราจรช่วงนี้มีฝนตกการจราจรติดขัดให้ประชาชนติดตามข่าวสารการชุมนุมอยู่ที่บ้านพัก นอกจากนั้นสำนักงานตำวจแห่งชาติได้จัดทีมแพทย์ไว้บริการผู้ชุมนุมที่ไม่สบายไว้ 3 จุด คือ บช.น. ทำเนียบรัฐบาล และรัฐสภา
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วิวาทะว่าด้วย “รัฐไทย” ในหมู่ปัญญาชนฝ่ายซ้ายหลัง “ป่าแตก”

$
0
0

ในวาระครบรอบ “วันเสียงปืนแตก 7 สิงหาคม” นี้ คงเป็นการดียิ่งที่จะกล่าวถึงผลสะเทือนที่เกิดขึ้นจากการล่มสลายของ พคท. ในช่วงปี 2524 เป็นต้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลสะเทือนที่มีต่อความคิดเกี่ยวกับ “รัฐ” ของปัญญาชนฝ่ายซ้ายไทย ซึ่งแสดงออกในลักษณะของการวิวาทะอย่างเปิดเผยระหว่างปัญญาชนฝ่ายซ้ายไทยที่มีชื่อเสียงแห่งยุคสมัย 2 คน นั่นคือ พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ และ เกษียร เตชะพีระ ผ่านทางวารสารเศรษฐศาสตร์การเมือง ซึ่งถือว่าเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่ทรงอิทธิพลมากในช่วงทศวรรษ 2520 ดังที่จะได้เห็นข้างหน้า สิ่งที่อยู่เบื้องหลังของการวิวาทะในหมู่ปัญญาชนฝ่าซ้ายเหล่านี้ ไม่เพียงแต่สะท้อนให้เห็นถึงรูปโฉมของ “รัฐไทย” ที่เปลี่ยนแปลงไปแล้วเท่านั้น หากแต่ยังสะท้อนให้เห็นว่า พวกเขาได้หันเหไปสู่ “ทฤษฎีการเมือง” ชนิดใหม่ที่แตกต่างออกไปจากก่อนหน้านั้นแล้วด้วย ซึ่งในที่นี้ก็คือ ลัทธิมาร์กซคลาสสิค กับ ลัทธิมาร์กซตะวันตก นั่นเอง

กระนั้น วิวาทะว่าด้วย “รัฐไทย” ก็เป็นเพียง “กรณีเล็กๆ” กรณีหนึ่งท่ามกลางหลายหลากกรณีซึ่งเกิดขึ้นในช่วง “รอยต่อ” ของการเปลี่ยนแปลงทางภูมิปัญญาครั้งใหญ่ของปัญญาชนฝ่ายซ้ายไทยภายหลังการล่มสลายของ พคท. เท่านั้น และแน่นอนว่า การเปลี่ยนแปลงทางความคิดครั้งใหญ่นี้จะส่งผลสะเทือนต่อการให้ความหมายและแสดงออกต่อวันที่ “7 สิงหา” อย่างไพศาลด้วย

 

ความรุ่งโรจน์และเสื่อมสลายของกระแส “ลัทธิเหมาเจ๋อตุง” หลังกรณี 14 ตุลาคม 2516

ในช่วงเวลาไม่กี่ปีภายหลังการระเบิดขึ้นของกรณี 14 ตุลาคม 2516 กระแสความคิด “ลัทธิเหมาเจ๋อตุง” ของ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)[๒]ก็ได้เติบโตขึ้นและแผ่ขยายเข้ามามีอิทธิพลในหมู่นักศึกษาและปัญญาชนฝ่ายก้าวหน้าไทยอย่างกว้างขวาง ดังจะเห็นได้จาก การให้ความสนใจอย่างมากต่อ “จีนคอมมิวนิสต์” ผ่านการจัด “นิทรรศการจีนแดง” ของ องค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในต้นปี 2517, การตีพิมพ์หนังสือในแนวสังคมนิยมออกจำหน่ายจำนวนมาก, การตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ทั้งรายวัน รายสัปดาห์ และวารสารในเชิงก้าวหน้าออกมาเป็นจำนวนมาก เช่น ประชาชาติ, ประชาธิปไตย, เสียงใหม่, The Nation,  อธิปัตย์, มหาราษฎร์, จตุรัส, เอเชียวิเคราะห์ข่าว, สังคมศาสตร์ปริทัศน์, ปุถุชนและ อักษรศาสตร์พิจารณ์, การที่หนังสือแนวสังคมนิยมยังคงถูกตีพิมพ์เผยแพร่อย่างต่อเนื่องและครอบครองส่วนใหญ่ของตลาดหนังสือในช่วงระหว่างปี 2518 – 2519, การที่แม้แต่สำนักพิมพ์ทั่วๆ ไปที่ไม่ได้มีหัวก้าวหน้าก็ตีพิมพ์หนังสือซึ่งเสนอความรู้เกี่ยวกับจีนและแนวทางสังคมนิยม, การที่เอกสารภายในของ พคท. หลายชิ้นถูกนำมาตีพิมพ์เผยแพร่อย่างเปิดเผย การที่มีการก่อตั้งพรรคการเมืองแนวสังคมนิยมที่ถูกกฎหมายขึ้น 3 พรรค ได้แก่ พรรคแนวร่วมสังคมนิยม, พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย และพรรคพลังใหม่ ไปจนถึงการที่พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นมีหัวอนุรักษ์นิยมประกาศว่าจะใช้นโยบาย “สังคมนิยมอ่อนๆ”[๓]

ทว่าในช่วงไม่กี่ปีต่อมา กระแสความคิดสังคมนิยมของ พคท. ที่กำลังพุ่งขึ้นสู่กระแสสูงอย่างรวดเร็วก็เกิดวิกฤตการณ์และตกต่ำอย่างรวดเร็ว เมื่อผู้นำนักศึกษาและปัญญาชนฝ่ายค้านไทยที่เคยยืนอยู่แถวหน้าสุดในแนวร่วมซึ่งนำโดย พคท. กลับกลายเป็นผู้ยืนอยู่แถวหน้าสุดในการวิพากษ์วิจารณ์ พคท. อย่างไม่ปราณี บุญส่ง ชเลธร ประกาศ “ลาก่อนแนวทางชนบทล้อมเมืองและยึดเมืองในที่สุด” ยุค ศรีอาริยะ เขียน บันทึกกบฏประกาศว่า “ผมออกมาเพื่อท้าทายความศักดิ์สิทธิ์ของพรรค” และเปิดฉาก “วิพากษ์ยุทธศาสตร์ยุทธวิธีในการปฏิวัติของ พคท.” อย่างรุนแรง แต่ยืนหยัดพิทักษ์ความถูกต้องของลัทธิมาร์กซ์-เลนิน เสกสรรค์ ประเสริฐกุล วิจารณ์ พคท. ว่า “ไม่เป็นประชาธิปไตย” และประกาศว่า “ผมต้องการที่จะเลิกปฏิวัติ” ธีรยุทธ บุญมี ประกาศแยกทางกับ พคท. อย่าง “สุภาพบุรุษ” เกรียงกมล เลาหะไพโรจน์ อนุช อาภาภิรม ชำนิ ศักดิเศรษฐ์, วิสา คัญทัพ พีรพล ตริยะเกษม ชัยวัฒน์ สุรวิชัย และสมาชิกพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยคนอื่นๆ ประกาศตัดความสัมพันธ์ทั้งปวงที่เคยมีกับขบวนการปฏิวัติ ปรีดี บุญซื่อ เสนอว่า ลัทธิมาร์กซ์อับจนแล้วและมิใช่อะไรอื่นนอกจาก ปีศาจวิทยาแห่งการเปลี่ยนแปลงปี 2525 “กลุ่มเพื่อนไทยในยุโรป” ตีพิมพ์ วิกฤตการณ์ฝ่ายก้าวหน้าไทยในปัจจุบันขณะที่ ธิดา ถาวรเศรษฐ์ และ เหวง โตจิราการ ประกาศว่า “ป่าแตก” แล้วในปี 2526 วิกฤตและความขัดแย้งภายในขบวนการฝ่ายซ้ายไทยดังกล่าวนี้ลงเอยด้วยการล่มสลายของ พคท. ในช่วงปี 2525[๔]

การล่มสลายของ พคท. และ “ลัทธิเหมาเจ๋อตุง” ได้เปิดพื้นที่ให้อุดมการณ์ทางการเมืองชนิดอื่น ไม่ว่าจะเป็นความคิดทางการเมืองแบบพุทธศาสนา วัฒนธรรมชุมชน หรือแม้แต่ลัทธิมาร์กซ์ชนิดอื่นที่ไม่ใช่ลัทธิเหมาเจ๋อตุง ได้ก้าวขึ้นมาแสดงบทบาทสำคัญบนเวทีการเมืองแทนที่ ดังที่จะได้เห็นข้างหน้าว่า ในช่วงที่ พคท. กำลังตกต่ำนี้ ก็ได้มีนักศึกษาและปัญญาชนฝ่ายซ้ายส่วนหนึ่งพยายามหันไปรื้อฟื้นเอา “ลัทธิมาร์กซ์คลาสสิค” (Classical Marxism)[๕]ซึ่งปรากฏอยู่ในสังคมไทยมาก่อน 14 ตุลาคม 2516 แล้วกลับมาใช้วิเคราะห์สังคมและการเมืองไทยอีกครั้ง โดยมองว่า “ลัทธิเหมาเจ๋อตุง” ไม่ใช่อันเดียวกันกับ “ลัทธิมาร์กซ์คลาสสิค” ซึ่งเป็นลัทธิมาร์กซ์ที่แท้จริงมากกว่า ขณะเดียวกัน ก็ได้มีปัญญาชนอีกส่วนหนึ่งหันไปหาหยิบฉวยคว้าเอา “ลัทธิมาร์กซ์ตะวันตก” (Western Marxism)[๖]จากต่างประเทศเข้ามาปรับใช้วิเคราะห์สังคมและการเมืองไทยโดยมองว่า “ลัทธิมาร์กซ์คลาสสิค” เก่าแคบจำกัดอยู่แต่เรื่องทางเศรษฐกิจเกินไปจนใช้การไม่ได้แล้ว ขณะที่ “ลัทธิมาร์กซ์ตะวันตก” ซึ่งให้ความสำคัญเรื่องอุดมการณ์ วัฒนธรรม จิตสำนึก น่าจะมีประสิทธิภาพในการวิเคราะห์สังคมการเมืองไทยมากกว่า  

อย่างไรก็ตาม การปรากฏตัวขึ้นของกระแส “ลัทธิมาร์กซ์ตะวันตก” และ “ลัทธิมาร์กซ์คลาสสิค” ในช่วงหลัง “ป่าแตก” ในท้ายที่สุดก็ได้ก่อให้เกิดการวิวาทะครั้งสำคัญขึ้นระหว่าง 2 กระแสคิดนี้ ดังจะเห็นว่า ในช่วงปลายปี 2528 เมื่อ วารสารเศรษฐศาสตร์การเมืองอันโด่งดังได้ตีพิมพ์ฉบับเดือนตุลาคม 2528 – มีนาคม 2529 ออกเผยแพร่ต่อแวดวงวิชาการและคนทั่วไป สิ่งที่ทำให้วารสารเศรษฐศาสตร์การเมืองฉบับนี้เป็นที่สนใจของปัญญาชนไทยในเวลานั้น ก็คือ บทความที่เขียนขึ้นเพื่อเปิดฉากวิวาทะกันโดยตรงระหว่างปัญญาชนฝ่ายซ้ายไทยรุ่นใหม่ 2 คน คนแรกคือ ลิขิต อุดมภักดี ผู้เป็นเจ้าของบทความเรื่อง “รัฐ: สิ่งปฏิกูลทางประวัติศาสตร์” และ “รัฐ: สิ่งปฏิกูลทางประวัติศาสตร์ (อีกครั้ง)” ส่วนคนหลังคือ อาคม ชนางกูร ผู้เป็นเจ้าของบทความเรื่อง “รัฐทุนนิยมระบบราชการไทย: บทเสนอว่าด้วยรัฐกับประชาสังคมในระบบทุนนิยมไทย” และ “รัฐกับประชาสังคมไม่ใช่สิ่งปฏิกูลทางทฤษฎี” โดยที่วิวาทะของทั้งคู่นี้ถูกปิดท้ายด้วย “บันทึกการอภิปราย” เรื่อง วิวาทะว่าด้วย “รัฐไทย” ของปัญญาชนฝ่ายซ้ายที่โด่งดังแห่งยุคอีกจำนวนหนึ่ง[๗]แต่ทว่าการวิวาทะในครั้งนี้ก็หาใช่อะไรอื่นไม่ หากแต่เป็นการวิวาทะกันครั้งสุดท้ายระหว่าง “ลัทธิมาร์กซ์คลาสสิค” และ “ลัทธิมาร์กซ์ตะวันตก” นั่นเอง

เนื่องจากการวิวาทะครั้งนี้มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ความคิดของขบวนการฝ่ายซ้ายไทยอย่างมาก ดังจะเห็นว่า ในปี 2545 เมื่อ นภาพร อติวานิชยพงศ์ เขียนบทความเรื่อง “ภารกิจทางประวัติศาสตร์ของกลุ่มเศรษฐศาสตร์การเมือง” ตีพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือที่จัดพิมพ์ในวาระ 60 ปีของ ฉัตรทิพย์ นาถสุภา เธอเสนอว่า การวิวาทะในครั้งนี้คือ “วิวาทะครั้งสุดท้าย” ของ “วิวาทะทฤษฎีมาร์กซิสต์และแนวคิดสังคมนิยม” เพราะหลังจากนี้ไปแล้ว ก็ “ไม่มีการวิวาทะทางวิชาการเกี่ยวกับการใช้ลัทธิมาร์กซ์และสังคมไทยเกิดขึ้นอีก”[๘]ดังนั้น ในบทความชิ้นนี้ นอกจากผู้เขียนจะพยายามแสดงให้เห็นว่า ทฤษฎีการเมืองที่อยู่เบื้องหลังการวิวาทะว่าด้วย “รัฐ” ระหว่าง ลิขิต อุดมภักดี และ อาคม ชนางกูร นั้นคือการวิวาทะระหว่าง “ลัทธิมาร์กซ์คลาสสิค” และ “ลัทธิมาร์กซ์ตะวันตก” แล้ว ยังจะแสดงให้เห็นว่า การวิวาทะในครั้งนี้ยังได้นำไปสู่ความพ่ายแพ้และอวสานของ “ลัทธิมาร์กซ์คลาสสิค” ในสังคมไทยอีกด้วย

 

การวิพากษ์ “ลัทธิมาร์กซ์คลาสสิค” โดยใช้ “ลัทธิมาร์กซ์ตะวันตก” ของ เกษียร เตชะพีระ

ขณะเดียวกัน เพื่อที่จะทำให้เข้าใจวิวาทะว่าด้วย “รัฐไทย” ระหว่าง ลิขิต อุดมภักดี และ อาคม ชนางกูร ได้แจ่มชัดยิ่งขึ้น ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องย้อนรอยกลับไปสู่เหตุการณ์ทางการเมืองที่เป็นต้นกำเนิดที่แท้จริงของมันด้วยเช่นกัน นั่นก็คือ กรณี “วิกฤตการณ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม 2526 โดยเริ่มต้นจากการที่ “นายทหารกลุ่ม 66/2523” ซึ่งนำโดยพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ผู้บัญชาการทหารบก พลตรีพิจิตร กุลละวาณิชย์ ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 และ พลโทชวลิต ยงใจยุทธ ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายยุทธการได้พยายามเคลื่อนไหวให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 3 ประเด็น คือ ให้ข้าราชการประจำเป็นรัฐมนตรีได้ ให้คงอำนาจของวุฒิสภาเอาไว้ และให้ใช้วิธีการเลือกตั้งแบบเรียงเบอร์ โดยนายทหารกลุ่มนี้ได้ใช้สถานีวิทยุในเครือข่ายกองทัพบกออกอากาศโจมตีพรรคการเมือง และกลุ่มพลังที่คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ออกหนังสือปกขาวแถลงท่าทีและจุดยืนของกองทัพบกในเรื่องนี้ รวมทั้งการแสดงท่าทีต่อสาธารณะของทหารฝ่ายคุมกำลังเพื่อผลักดันให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา โดยอ้างคำสั่งนายกรัฐมนตรีฉบับที่ 66/2523 เป็นเหตุผลในการเคลื่อนไหว แต่พวกเขาก็ต้องประสบกับความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงเมื่อการลงมติของสมาชิกรัฐสภาในวาระที่สามปรากฏผลออกมาว่ามีเสียงรับรองไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด อันมีผลให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวต้องตกไป[๙]

ในเวลาไม่นาน หลังจากเกิดกรณี “วิกฤตการณ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ขึ้น เกษียร เตชะพีระ ก็ได้เขียนบทความขึ้นมาหนึ่งชิ้นชื่อ “ทฤษฎีว่าด้วยรัฐของลัทธิมาร์กซกับพัฒนาของรัฐชนชั้นนายทุนในรอบ 25 ปี” ตีพิมพ์เผยแพร่เป็นครั้งแรกในหนังสือ คลื่นแห่งทศวรรษซึ่งจัดพิมพ์เป็นเล่มเมื่อปี 2526[๑๐]โดยในบทความ เกษียร ได้เปิดฉากวิพากษ์วิจารณ์ทฤษฎีว่าด้วย “รัฐ” ของ “ลัทธิมาร์กซ์คลาสสิค” อย่างรุนแรงว่า “ความเข้าใจเรื่องรัฐของลัทธิมาร์กซ์แบบทางการดั้งเดิม (orthodox marxism) ว่าคือเครื่องมือกดขี่ทางชนชั้นของชนชั้นปกครอง ตำแหน่งในรัฐบาลต้องกุมด้วยสมาชิกของชนชั้นปกครองล้วนๆ หรือที่ว่ารัฐเป็นสิ่งสะท้อนเจตนารมณ์บริสุทธิ์ทางอัตวิสัยของชนชั้นปกครองนั้น ไม่อาจประยุกต์ใช้ได้กับการอธิบายรัฐโดยทั่วไปในยุคทุนนิยมและรัฐไทยในช่วง 25 ปีโดยเฉพาะอย่างน่าพึงพอใจอีกต่อไป” โดยทฤษฎีที่อยู่เบื้องหลังการวิพากษ์ทฤษฎีว่าด้วย “รัฐ” ของ “ลัทธิมาร์กซ์คลาสสิค” ของ เกษียร ดังกล่าว ก็คือ ทฤษฎีว่าด้วยรัฐของ นิคอส ปูแลนท์ซัส (Nicos Poulantzas) ดังที่ เกษียร กล่าวว่า แม้ทฤษฎีว่าด้วยรัฐของ เลออน ทรอตสกี้ (Leon Trotsky) จะสามารถ “ประยุกต์ใช้ได้กับรัฐทุกรัฐ” ก็ตาม[๑๑]แต่ในโลกที่เป็นจริง ทฤษฎีว่าด้วยรัฐของ ปูลานซาส ที่ว่า “รัฐเป็นผลผลิต เป้าหมาย และตัวกำหนดความขัดแย้งทางชนชั้น” และรัฐ “มีอำนาจกำกับตัวเองโดยสัมพัทธ์” ใช้ได้มากกว่า[๑๒]

อย่างไรก็ตาม ในปี 2528 เมื่อ เกษียร เตชะพีระ ภายใต้นามปากกา “ประเสริฐ คงธรรม” นำเสนอบทความเรื่อง “ยุทธศาสตร์เชิงซ้อนในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบปัจจุบัน”[๑๓]แม้เขาจะยังคงวิพากษ์ทฤษฎีว่าด้วยรัฐของ “ลัทธิมาร์กซ์คลาสสิค” ที่มองว่า “รัฐเป็นเครื่องมือของชนชั้นปกครองและถูกกำหนดจากฐานเศรษฐกิจ” อยู่ก็ตาม แต่ เกษียร ก็ได้กล่าวยอมรับอย่างเปิดเผยว่า ทฤษฎีว่าด้วย “รัฐ” ของ นิคอส ปูแลนท์ซัส (Nicos Poulantzas) ที่เขาเห็นดีเห็นงามด้วยในบทความเรื่อง “ทฤษฎีว่าด้วยรัฐของลัทธิมาร์กซกับพัฒนาของรัฐชนชั้นนายทุนในรอบ 25 ปี” นั้น ยังมี “ขีดจำกัด” อยู่บางประการ นั่นคือ “ยังตกอยู่ในความตึงเครียดของคำอธิบายรัฐเชิงอภิทฤษฎีที่แก้ไม่ตกอยู่” ซึ่ง เกษียร มองว่า การที่จะก้าวข้ามขีดจำกัดทางทฤษฎีนี้ไปได้จะต้องนำเอามโนภาพ “ประชาสังคมกระฎุมพี” เข้ามาช่วยอธิบาย[๑๔]เกษียร เปิดเผยว่า เขาได้รับอิทธิพลมาจากความคิด “ประชาสังคม” ของ อันโตนิโอ กรัมชี่, หลุยส์ อัลธูแซร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความคิด “ประชาสังคม” ของ “นักสังคมวิทยามาร์กซิสต์บางคน” ดังที่เขากล่าวว่า

 

มาร์กซิสต์หลังมาร์กซได้รับเอาความคิดเรื่องประชาสังคมไปใช้ในความหมายต่างๆ กันไปเพื่อประกอบการอธิบายรัฐกระฎุมพีสมัยใหม่ เช่น แกรมชี่ อธิบายว่าประชาสังคมหมายถึงสถาบันเอกชนนอกรัฐในโครงสร้างส่วนบน (ยังมีการตีความแย้งกันอยู่ว่า แกรมชี่รับเอาเศรษฐกิจไว้ในมโนภาพประชาสังคมของเขาหรือไม่) ส่วนอัลทุสแซร์อธิบายว่าประชาสังคมของมาร์กซหมายถึงเฉพาะภาคเศรษฐกิจล้วนๆ เท่านั้น (ส่วนโครงสร้างส่วนบนทั้งหมด อัลทุสแซร์จับไปรวมเข้ากับรัฐ) ล่าสุดได้มีนักสังคมวิทยามาร์กซิสต์บางคนพยายามขยายความประชาสังคมไปโดยพิสดารและเราจะขอถือเป็นฐานในการเอามโนภาพประชาสังคม มาประกอบการวิเคราะห์รัฐไทยในที่นี้[๑๕]

 

ดังที่จะได้เห็นต่อไปข้างหน้า “นักสังคมวิทยามาร์กซิสต์บางคน” ที่ เกษียร เตชะพีระ กล่าวถึงข้างต้นนี้ แท้จริงแล้วก็คือ จอห์น ยูร์รี่ (John Urry) “นักสังคมวิทยามาร์กซิสต์” ที่พัฒนามาจากทฤษฎี “ประชาสังคม” ทั้งของ คาร์ล มาร์กซ์ และ “นักลัทธิมาร์กซ์ตะวันตก” คนสำคัญอย่าง อันโตนิโอ กรัมชี่ และ หลุย อัลธูแซร์ นั่นเอง[๑๖]ในงานสัมมนาทางวิชาการที่จัดเมื่อกลางปี 2526 โดย “กลุ่มเศรษฐศาสตร์การเมือง” ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกษียร เตชะพีระ ได้ให้คำอธิบายไว้ว่า “ลัทธิมาร์กซ์ตะวันตก” หมายถึง “งานเขียนและความคิดของลัทธิมาร์กซ์ในภาคพื้นยุโรปตะวันตกรุ่นหลังการปฏิวัติรัสเซียลงมาจนถึงราวปลายทศวรรษ 1960 – ต้นทศวรรษ 1970 เมื่อกระแสการต่อสู้ทางชนชั้นอย่างใหญ่โตของชนชั้นกรรมาชีพยุโรปตะวันตกพลิกฟื้นขึ้นมาใหม่ เช่น กรณีการลุกฮือของนักศึกษาฝรั่งเศสปี 1968 และการนัดหยุดงานทั่วไปของกรรมกรอิตาลี ปี 1969 (ทั้งนี้ยึดตามนิยามของ Perry Anderson ใน Consideration on Western Marxism) นักลัทธิมาร์กซ์คนสำคัญในกลุ่มนี้ก็ เช่น แกรมชี่, เดลลา วอลเป้, คอลเลติ แห่งอิตาลี, มาร์คุส, ฮอร์คไอเมอร์, อาดอร์โน แห่งสำนักแฟรงค์เฟิร์ต, อัลทุสแซร์, บาลิเบอร์ แห่งสำนักลัทธิมาร์กซ์แบบโครงสร้าง เป็นต้น”[๑๗]หากถือเอาตามคำอธิบายของ เกษียร ข้างต้น ก็ไม่ใช่เรื่องเกินเลยไปนักที่จะถือว่า จอห์น ยูร์รี่ ก็คือ “นักลัทธิมาร์กซ์ตะวันตก” อีกคน

 

การตอบโต้ เกษียร เตชะพีระ และการยืนยันในความถูกต้องทฤษฎีว่าด้วย “รัฐ” ของ “ลัทธิมาร์กซ์คลาสสิค” โดย พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ หรือ “ลิขิต อุดมภักดี”

ในช่วงปลายทศวรรษ 2520 หลังจากที่ปล่อยให้ เกษียร เตชะพีระ ภายใต้นามปากกา “อาคม ชนางกูร” เปิดฉากวิพากษ์วิจารณ์ “ลัทธมาร์กซ์คลาสสิค” อย่างรุนแรงมาได้ระยะหนึ่ง ในที่สุด พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ ภายใต้นามปากกา “ลิขิต อุดมภักดี” ก็เปิดฉากตอบโต้กลับทางทฤษฎี ด้วยการนำเสนอบทความ 2 ชิ้นพร้อมกันใน วารสารเศรษฐศาสตร์การเมืองฉบับเดือนตุลาคม 2528 – มีนาคม 2529 นั่นคือ “รัฐ: สิ่งปฏิกูลทางประวัติศาสตร์” และ “รัฐ: สิ่งปฏิกูลทางประวัติศาสตร์ (อีกครั้ง)”[๑๘]โดยในบทความ 2 ชิ้นนี้ พิชิต ได้ประกาศยืนยันความถูกต้องของทฤษฎีว่าด้วย “รัฐ” ของ คาร์ล มาร์กซ์ (Carl Marx) ซึ่งถือได้ว่าเป็นบุคคลต้นตำรับของ “ลัทธมาร์กซ์คลาสสิค” (Classical Marxism) อย่างเปิดเผยว่า ที่ผ่านมา

 

ลัทธิสังคมนิยมนานาสำนักต่างๆ เสนอเหตุและผลมากมายในการสนับสนุนท่าทีดังกล่าวของตนต่อรัฐและต่อระบอบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลในทรัพย์สิน แต่ทว่า มีแต่มาร์กซ์และเองเกลส์ เท่านั้นที่ได้พัฒนา “จิตสำนึก” ขึ้นเป็น “ทฤษฎี”, อรรถาธิบายการปฏิเสธและการสูญสลายของรัฐและระบอบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลในปัจจัยการผลิตบนพื้นฐานของปรัชญาที่คงเส้นคงวา และของการสรุปพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของมนุษย์ ตลอดจนการพัฒนาของความขัดแย้งภายในสังคมปัจจุบันที่นำไปสู่การสูญสลายของรัฐและระบอบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลในปัจจัยการผลิตในที่สุด และเริ่มต้นยุคประวัติศาสตร์ใหม่ของมนุษย์ที่บงการชะตากรรมของตนเองโดยเสรี นี่จึงทำให้ลัทธิสังคมนิยมของมาร์กซ์และเองเกลส์ เป็นทฤษฎีที่ยืนหยัดวิพากษ์รัฐและระบอบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลในปัจจัยการผลิตอย่างถึงที่สุดและอย่างเสมอต้นเสมอปลาย ขณะที่ลัทธิสังคมนิยมอื่นๆ บ้างก็พ่ายแพ้ บ้างก็ยอมจำนนต่อรัฐและทุนนิยมไปแล้ว[๑๙]

 

นอกจากจะออกมาประกาศยืนยันในความถูกต้องของ “ลัทธิสังคมนิยมของมาร์กซ์และเองเกลส์” แล้ว พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ ยังได้ให้คำอธิบายเกี่ยวกับทฤษฎีว่าด้วย “รัฐ” ของ “ลัทธิสังคมนิยมของมาร์กซ์และเองเกลส์” ด้วย ดังจะเห็นว่า ในบทความเรื่อง “รัฐ: สิ่งปฏิกูลทางประวัติศาสตร์ (อีกครั้ง)” นั้น เขาเริ่มต้นด้วยการอธิบายว่า ตามทฤษฎีว่าด้วยรัฐของ คาร์ล มาร์กซ์ นั้น ในเชิงประวัติศาสตร์แล้ว “รัฐ” เป็นผลผลิตโดยตรงของของชนชั้นและการต่อสู้ทางชนชั้น โดยทั่วไปแล้วรัฐคือเครื่องมือแห่งการปกครองของชนชั้น เป็นเครื่องหมายแห่งการแบ่งแยกและขัดแย้งต่อสู้กันเองระหว่างสมาชิกของสังคม ชนชั้นที่เหนือกว่าย่อมมีฐานะครอบงำในรัฐและใช้ประโยชน์ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมจากการปฏิบัติของรัฐในการรักษาปกป้องกรรมสิทธิ์ของตนในปัจจัยการผลิต และทำให้ผู้ใช้แรงงานยอมอยู่อย่างสงบภายในกรอบของความสัมพันธ์ทางการผลิตนั้นๆ ในสังคมทุนนิยมนั้น ด้านหนึ่ง รัฐสมัยใหม่ได้มีการพัฒนาใหญ่โตซับซ้อนและแบ่งงานกันทำอย่างละเอียดได้ขยายบทบาทหน้าที่ของมันออกไปสู่ทุกซอกทุกมุมของสังคม, มีฐานของการผลิตซ้ำตัวมันเองอย่างกว้างขวาง ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ก็มีความไม่สม่ำเสมอของการพัฒนาทุนนิยมและภายในหมู่ชนชั้นนายทุนเอง มีการแข่งขันแก่งแย่งกันเองระหว่างปีกต่างๆ ของชนชั้นนายทุน ซึ่งทำให้สภาพการณ์ที่ “ปีกชนชั้นนายทุน” เข้ากุมรัฐเพื่อปีกของตนเองเกิดขึ้นได้ยากและสภาพการณ์เช่นนี้จะเป็นผลร้ายต่อชนชั้นนายทุนและรัฐโดยรวมในระยะยาว[๒๐]

ไม่เพียงแต่อธิบายสาระสำคัญของทฤษฎีว่าด้วย “รัฐ” ของ คาร์ล มาร์กซ์ ดังข้างต้นเท่านั้น หากแต่ พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ ยังได้ประยุกต์ใช้ทฤษฎีดังกล่าวมาวิเคราะห์ “รัฐไทย” และ “เนื้อแท้แห่งระบอบสภาไทย” ในสมัยที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีด้วย (ปี 2523 – 2528) โดยเขาได้ให้คำอธิบายว่า ในช่วงเวลานี้ ผู้ปกครองได้มีการสรุปบทเรียนและปรับขบวนกันใหม่และนำไปสู่การปรับปรุง “ระบอบอำนาจรัฐ” ในบางส่วน จนทำให้ “รัฐ” ในสมัยที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี มีองค์ประกอบที่สำคัญ 2 ส่วน คือ

 

1) กลไกรัฐเดิม ซึ่งเป็นกลไกแห่งการใช้กำลังรุนแรง อันประกอบด้วยสามขาหยั่ง คือ ระบบราชการ กองทัพกับตำรวจ และระบบศาลคุกตาราง สามขาหยั่งของรัฐเป็นเครื่องมือการใช้กำลังรุนแรงและการกดขี่ที่เปิดเผย แต่รัฐไทยมีลักษณะพิเศษเชิงประวัติศาสตร์ คือการมีธงนำเป็นสถาบันอนุรักษ์ที่มีความยืนยงเป็นอมตะ หน้าที่ในเงื่อนไขประวัติศาสตร์ อย่างน้อยก็ตั้งแต่ยุคจอมพลสฤษดิ์เป็นต้นมาก็คือ ปฏิบัติการเชิงอุดมการณ์แก่รัฐในรูปการที่นุ่มนวล และ ละเอียดอ่อน ละมุนละไมกอร์ปไปด้วย “ความกรุณาปรานีที่หลั่งมาเองเหมือนฝนอันชื่นใจ” สามขาหยั่งใช้ “พระเดช”, ส่วนสถาบันอนุรักษ์ใช้ “พระคุณ” การดุลกันอย่างเหมาะสมที่สุดระหว่างพระเดชกับพระคุณนี้แหละ คือ เคล็ดลับของความแข็งแกร่งที่แท้จริงในรัฐไทยปัจจุบัน 

2) กลไกรัฐสภา นี่เป็นไม้ประดับ เป็นเสื้อคลุมอันงดงาม (ที่สุดเท่าที่พอจะสวมได้ในขณะนี้) โดยเนื้อแท้แล้วมันก็เป็นส่วนหนึ่งของระบอบอำนาจรัฐ มันเป็นเกราะอ่อนนุ่มที่หุ้มห่อกลไกรัฐเดิมไว้, เป็นกันชนที่ลดความรุนแรงจากการปะทะและความขัดแย้ง มันเป็นเวทีที่แต่เดิมชนชั้นนายทุนขุนนางบรรจงสร้างขึ้นให้ชนชั้นนายทุนใหญ่ นายทุนน้อย ปัญญาชน ได้ขึ้นไปแสดงออกเพื่อระบายความเก็บกดทางจิตและภาพมายาว่าอำนาจได้มีการผ่านมือแล้วเป็นบางส่วนไปสู่ชนชั้นนายทุนใหญ่และชนชั้นอื่นๆ แต่โดยเนื้อแท้แล้ว “อำนาจรัฐ” ยังคงอยู่ที่ชนชั้นนายทุนขุนนางที่นำโดยกลุ่มอนุรักษ์ “ธุรกิจที่แท้จริงยังคงตกลงกันใน 2 ส่วน” “ความขัดแย้งและการต่อสู้กันที่สำคัญในสภาและทำเนียบรัฐบาลยังคงไปตัดสินกันใน 2 ส่วน”

กล่าวสั้นๆ, ระบอบรัฐสภาปัจจุบันเป็นรูปการปกครองชนิดหนึ่งของชนชั้นนายทุนขุนนางนั่นเอง, เป็นอาวุธในมือพวกเขาในการต่อกรกับชนชั้นอื่นๆ, เป็นการใช้อาวุธประชาธิปไตยนายทุนไปสู้กับนายทุนเอง[๒๑]

 

จากที่กล่าวมา อาจสรุปได้ว่า ในการเปิดฉากวิวาทะว่าด้วย “รัฐไทย” กับ เกษียร เตชะพีระ หรือ “อาคม ชนางกูร” ซึ่งมีจุดยืนแบบ “ลัทธิมาร์กซ์ตะวันตก” ในช่วงปลายทศวรรษ 2520 นั้น พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ ภายใต้นามปากกา “ลิขิต อุดมภักดี” ได้ใช้ทฤษฎีว่าด้วย “รัฐ” ของของ คาร์ล มาร์กซ์ (Carl Marx) ซึ่งเป็นต้นตำรับของ “ลัทธิมาร์กซ์คลาสสิค” ที่อธิบายว่า ในเชิงประวัติศาสตร์แล้ว “รัฐเป็นผลผลิตโดยตรงของของชนชั้นและการต่อสู้ทางชนชั้น โดยทั่วไปแล้วรัฐคือเครื่องมือแห่งการปกครองของชนชั้น” เป็นทฤษฎีหลัก และนี่ก็คือ เหตุผลสำคัญที่ทำให้ลักษณะของ “รัฐไทย” ตามแนวการวิเคราะห์ พิชิต แตกต่างจาก เกษียร โดยเกือบจะสิ้นเชิง

 

เกษียร เตชะพีระ และการวิพากษ์ทฤษฎีว่าด้วย “รัฐ” ของ “ลัทธิมาร์กซ์คลาสสิค” อีกครั้ง

ไม่นานหลังจากที่ พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ ออกมาตอบโต้เขาด้วยบทความ 2 ชิ้นข้างต้น เกษียร เตชะพีระ ก็ลุกขึ้นมาตอบโต้ พิชิต อีกครั้ง โดยการหยิบเอาบทความเรื่อง “ยุทธศาสตร์เชิงซ้อนในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบปัจจุบัน” มาปรับปรุงและนำมาตีพิมพ์ซ้ำใน วารสารเศรษฐศาสตร์การเมืองฉบับเดือนตุลาคม 2528 – มีนาคม 2529 โดยเปลี่ยนชื่อเป็น “รัฐกับประชาสังคมไม่ใช่สิ่งปฏิกูลทางทฤษฎี”[๒๒]แต่ทว่าในครั้งนี้ เกษียร ได้กล่าวอย่างเปิดเผยว่า แท้จริงแล้ว “นักสังคมวิทยามาร์กซิสต์บางคน” ที่เขาพูดถึงนั้น คือ จอห์น ยูร์รี่ (John Urry) “นักสังคมวิทยามาร์กซิสต์” ที่พัฒนามาจากทฤษฎี “ประชาสังคม” ทั้งของ คาร์ล มาร์กซ์ และ นักลัทธิมาร์กซ์ตะวันตกอย่าง อันโตนิโอ กรัมชี่ และ หลุย อัลธูแซร์[๒๓]

นอกจากนี้ เกษียร เตชะพีระ ยังได้ยอมรับอย่างเปิดเผยด้วยว่า ทฤษฎีที่เขาใช้วิเคราะห์ “รัฐ” ในบทความเรื่อง “รัฐกับประชาสังคมไม่ใช่สิ่งปฏิกูลทางทฤษฎี” นั้น ก็คือทฤษฎี “ประชาสังคมกระฎุมพี” ของ จอห์น ยูร์รี่ อีกเช่นกัน โดยเขาอธิบายว่า สาระสำคัญของทฤษฎี “ประชาสังคมกระฎุมพี” ก็คือ (1) การเกิดขึ้นของประชาสังคม – สังคมการเมือง ในกระบวนการแปลกแยกตัวเอง ออกจากกันของสังคมสมัยก่อน เป็นผลิตผลโดยตรงของการปฏิวัติกระฎุมพี, (2) “ประชาสังคม” ทำหน้าที่เป็น “สื่อประสาน” ระหว่าง “เศรษฐกิจ” กับ “รัฐ” ในสังคมทุนนิยม และ (3) ประชาสังคมประกอบด้วย (ก) ภาคการหมุนเวียน (ข) ภาคการผลิตซ้ำ และ (ค) ภาคการต่อสู้[๒๔]อย่างไรก็ตาม เกษียร เรียกทฤษฎีนี้ในอีกชื่อว่า “องค์รวมของทฤษฎีสังคมทุนนิยม” ซึ่งหมายถึงองค์รวมทางทฤษฎี “เศรษฐกิจ/ประชาสังคม/รัฐ” ส่วน “ประชาสังคม” ที่มีองค์ประกอบ 3 ส่วนนี้ (ก) ภาคหมุนเวียน เป็นตัว “เชื่อมโยงประชาสังคมกับเศรษฐกิจและเป็นส่วนหนึ่งของทั้งเศรษฐกิจและประชาสังคม”, (ข) ภาคการผลิตซ้ำ หมายถึง “การผลิตซ้ำแรงงานในสังคมทุนนิยมขึ้นมาด้วยกลไกการอบรม ขัดเกลาทางสังคมนอกรัฐและเศรษฐกิจรัฐ ซึ่งได้แก่ สถาบันครอบครัว ศาสนา เชื้อชาติ การศึกษา การสันทนาการ ฯลฯ อันเป็นปริมณฑลทางอุดมการณ์และวัฒนธรรม ซึ่งประกอบตัวขึ้นเป็นองค์อัตวิสัยของแรงงาน ทำให้ ‘สัญชาตญาณดิบ’ ของทารกถูกขัดเกลาอบรมเติบใหญ่ขึ้นเป็นอัตตาบุคลากรสังคมผู้ทำหน้าที่อยู่ในโครงสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมด้านด้านต่างๆ ในตำแหน่งต่างๆ” และ (ค) ภาคการต่อสู้ “ซึ่งมีชนชั้นและการต่อสู้ทางชนชั้นเป็นสาระสำคัญ แต่ไม่ใช่มีเพียงเท่านั้น ยังมีการต่อสู้ของกลุ่มทางสังคมที่รวมตัวบนพื้นฐานอื่นๆ อีก เช่น ศาสนา เชื้อชาติ ความเชื่อ วัฒนธรรม ฯลฯ และปฏิสัมพันธ์อันจะมีมากหรือน้อยระหว่างการต่อสู้ของกลุ่มทางสังคมเหล่านี้กับชนชั้นและการต่อสู้ทางชนชั้น”[๒๕]

ไม่เพียงเท่านั้น ในบทความชิ้นเดียวกันนี้ ก่อนที่ เกษียร เตชะพีระ จะใช้ทฤษฎี “ประชาสังคมกระฎุมพี” ของ จอห์น ยูร์รี่ มาวิเคราะห์อธิบาย “รัฐไทย” เขาก็ได้ใช้ทฤษฎีดังกล่าว มาวิพากษ์วิจารณ์ทฤษฎีว่าด้วย “รัฐ” ของ “ลัทธิมาร์กซ์คลาสสิค” ที่ พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ หรือ “ลิขิต อุดมภักดี” นำมาใช้ในการวิเคราะห์ “รัฐไทย” อย่างรุนแรงว่า พิชิต ยังคงหลงติดอยู่ใน “กรอบกระบวนทัศน์ลัทธิมาร์กซ์จารีตกลไก” ตามคำของ เกษียร

 

เมื่อได้อ่านบทวิจารณ์ทั้งบทของผู้วิจารณ์แล้ว ผู้เขียนยังพบว่า กล่าวในเชิงทฤษฎีรัฐ ผู้วิจารณ์ยังคงติดกรอบกระบวนทัศน์เศรษฐกิจกำหนด หรือจะเรียกว่าเศรษฐการปกาศิตนิยมอยู่ไม่หาย ตรรกบทในการคลี่คลายคำอธิบายเรื่องรัฐของผู้วิจารณ์ยังคงเป็นเศรษฐกิจ สะท้อนโดยตรงไปที่ชนชั้นและการต่อสู้ทางชนชั้น สะท้อนโดยตรงไปที่รัฐ เช่นเดิม การทำกับชนชั้นและรัฐ เสมือนหนึ่งว่าเป็นกระจกที่สะท้อนผลประโยชน์และแนวคิดทางเศรษฐกิจขึ้นมาเป็นขั้นๆ (2 ขั้น) นั้น ยังเป็น และยังคงเป็นการมองข้ามละเลย บทบาทที่แทรกแซงและเป็นองค์ประกอบของอุดมการณ์และวัฒนธรรม, ลักษณะอิสระโดยสัมพัทธ์อันเกิดจากวัตถุภาวะอันมิอาจลดทอนได้ของรัฐ อันเป็นเชื้อมูลที่ผู้เขียนพยายามผนวกสังเคราะห์เข้ามาในการเสนอทฤษฎีรัฐ/ประชาสังคมโดยตรง ในบรรดาหลักการของวิภาษวิธีที่สำคัญๆ นั้น หาได้มีแต่เพียงการกำหนด ความขัดแย้ง และการปฏิเสธไม่ หากแต่ยังมี “การสื่อประสาน” ด้วย ข่าวสารที่ผู้เขียนพยายามจนแล้วจนรอดที่จะสื่อถึงผู้อ่านแต่ดูเหมือนว่าผู้วิจารณ์จะละเลยไปเสียก็คือ บทบาทอันเป็นสื่อประสานระหว่างเศรษฐกิจกับรัฐของอุดมการและวัฒนธรรมหนึ่ง และวัตถุภาวะอันมิอาจลดทอนได้ของรัฐอันเป็นฐานที่มาของลักษณะอิสระโดยสัมพัทธ์ของรัฐอีกหนึ่ง เส้นทางเดินจากการกำหนดของเศรษฐกิจมายังปริมณฑลรัฐในสังคมทุนนิยมนั้น มิใช่ทางตรงง่ายๆ ดังที่ลัทธิมาร์กซ์จารีตกลไกเข้าใจเด็ดขาด หากแต่ผ่านบทบาทการสื่อประสานของอุดมการและวัฒนธรรมที่กระทำต่อชนชั้นต่างๆ ของสังคม ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อมาถึงรัฐ รัฐก็มิใช่กระจกกลวงเปล่าที่คอยรับเติมเนื้อหาหรือสดับตรับฟังคำบัญชาจากชนชั้นและดุลกำลังทางชนชั้น หากแต่รัฐ ที่ในรัฐยังมีกลไกรัฐ ระบบราชการ ชนชั้นนำทางการเมือง องค์การจัดตั้งและวิสาหกิจจำนวนมากซึ่งเป็นสถาบันการปฏิบัติที่มีวัตถุภาวะโดยเฉพาะ มีแก่นสารเฉพาะของมันเองด้วย ใช่ทีเดียวรัฐแยกไม่ออกจากเศรษฐกิจและชนชั้น การวิเคราะห์เข้าใจรัฐทั้งในแง่อำนาจรัฐและกลไกรัฐจะแยกขาดจากพื้นฐานการผลิตของสังคมและตัวชนชั้นและการต่อสู้ทางชนชั้นไม่ได้ แต่รัฐก็มีความเป็นองค์ภาวะต่างหาก มีชีวิตของมันต่างหาก ที่จะลดทอนลงมาอธิบายด้วยเศรษฐกิจและชนชั้นล้วนๆ เท่านั้น ไม่ได้เช่นเดียวกัน

การยืนกรานในเศรษฐการปกาศิตนิยมของผู้วิจารณ์สะท้อนให้เห็นว่าผลจากการอ่านบทความทั้งบทของผู้เขียนจากกรอบกระบวนทัศน์ลัทธิมาร์กซ์จารีตกลไกของผู้วิจารณ์ ได้คุมขังความรับรู้ของผู้วิจารณ์ไว้ จนไม่เข้าใจรัฐ ลักษณะอิสระโดยสัมพัทธ์ของรัฐ และประชาสังคม ที่ผู้เขียนพยายามสื่อถึงเลย...[๒๖]   

 

ส่วนรูปโฉมของการเมืองไทยในสมัยที่ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี (ปี 2523 – 2528) ซึ่งเกิดจากการประยุกต์ใช้ทฤษฎี “ประชาสังคมกระฎุมพี” ของ จอห์น ยูร์รี่ นั้น เกษียร เตชะพีระ อธิบายว่า รัฐไทยตั้งแต่ 2475 เป็นต้นมามีบทบาทเอาการเอางานที่เป็นตัวของตัวเองอย่างยิ่งในการแทรกแซงจัดสรรการผลิตทางเศรษฐกิจของสังคม ในกระบวนการนี้ รัฐไทยได้ให้กำเนิด “กลุ่มทุนขุนนาง” ขึ้นจริง แต่ “กลุ่มทุนขุนนาง” ดังกล่าวก็หาได้อยู่คู่กับรัฐไทยอย่างยั่งยืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันชนิดแยกกันไม่ออกไม่ พวกเขาเข้ากุมอำนาจระยะหนึ่งแล้วก็จากไปเมื่อพ้นตำแหน่ง หากแต่ “กลไกรัฐ” ยังคงดำรงอยู่อย่างยั่งยืนโดยมีกลไกมโหฬารของมันทำงานอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน มีผลประโยชน์เฉพาะของมันที่แยกอยู่ต่างหากจาก “กลุ่มทุนขุนนาง” โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 การแยกตัวของ “ทุนขุนนาง” ออกจาก “กลไกรัฐ” โดยการเข้าแทรกแซงควบคุมของ “นายทุนใหญ่” มีลักษณะเป็นระบบมากขึ้นเรื่อยๆ ในกรณีของเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 นั้น แท้จริงแล้วก็คือการที่ “กลไกรัฐ” และ “นายทุนขุนนาง” กลุ่มหนึ่งร่วมมือกันยุติ “ประชาธิปไตยของนายทุนใหญ่” ลงไปโดยที่ “นายทุนใหญ่” ก็เพิกเฉยไม่คัดค้าน เพราะขณะนั้น “เห็นภัยแดงที่อันตรายกว่า” นั่นเอง แต่ทว่าต่อมาตัวแทนทางการเมืองของ “นายทุนใหญ่” และ “กลไกรัฐทหาร” กลุ่มหนึ่งนั่นเองที่เป็นผู้กะเทาะล้วงเอา “รัฐบาลหอย” ของ “กลุ่มทุนขุนนางอนุรักษ์” ทิ้งไป ดังนั้น การเมืองไทยในสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ (2523 – 2528) จึงเป็นภาพของการที่ “ชนชั้นปกครองของไทย” สัมพันธ์กันในลักษณะ “พลังสามเส้า ระหว่าง กลไกรัฐ ระบบราชการ นายทุนขุนนาง และนายทุนใหญ่”[๒๗]    

อย่างไรก็ตาม เกษียร เตชะพีระ ได้ให้คำอธิบายเพิ่มเติมว่า ท่ามกลางความสัมพันธ์ของ “ชนชั้นปกครองของไทย” ในลักษณะ “พลังสามเส้า” ดังกล่าว “ทุนขุนนางอนุรักษ์” เป็น “พันธมิตร” กับ “กลไกรัฐระบบราชการ” ซึ่งเขาอธิบายว่า “เป็นพันธมิตรของพลังการเมือง 2 กลุ่มที่แยกต่างหากจากกัน มีผลประโยชน์เฉพาะและจุดมุ่งหมายทางการเมืองที่ต่างกัน แต่รวมกันในการคะคานอำนาจนำของนายทุนใหญ่ เงื่อนไขของความเป็นพันธมิตร เป็นเงื่อนไขของทุนขุนนางอนุรักษ์ มากกว่าเงื่อนไขของระบบราชการ” ส่วนรูปธรรมของการเมืองไทยภายใต้ความสัมพันธ์ของ “ชนชั้นปกครองของไทย” ในลักษณะดังกล่าว ก็คือ

 

การแสดงออกอย่างรวมศูนย์ของดุลกำลัง 3 เส้านี้ก็คือ คณะรัฐมนตรีและตัวนายกรัฐมนตรี ซึ่งต้องพึ่งพาความเห็นชอบจากกองทัพ พรรคการเมืองชนชั้นนายทุนใหญ่และสถาบันประเพณีหลัก การใช้อำนาจรัฐของพวกเขาในแง่การดำเนินนโยบายจึงลักลั่น และย่อหย่อน เพราะความไม่เด็ดขาดในทางอำนาจนำของกำลังการเมืองแต่ละกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นนายทุนใหญ่ นายทุนขุนนางอนุรักษ์ หรือกลไกรัฐระบบราชการ ในเมื่อชัยชนะทางการเมืองที่เด็ดขาดของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่ปรากฏขึ้น พวกเขาจึงเป็นกรรมการประนีประนอมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจการเมืองของทั้ง 3 ฝ่าย ไม่ทำอะไรให้ชัดเจนเด็ดขาดลงไปเสียที จะพัฒนาประเทศเป็นอุตสาหกรรมใหม่แต่ก็ไม่กล้าปฏิรูประบบราชการอย่างเด็ดเดี่ยว จะแก้ปัญหาดุลการค้าด้วยการลดค่าเงินบาทแต่ก็ต้องออกมาตรการตามหลังเป็นข้อแม้เงื่อนไขมากมายที่สวนทางกับผลลัพธ์ที่คาดหมายของการลดค่าเงินบาทนั้นเอง บ่นไม่ขาดปากเรื่องขาดดุลการค้าและให้ช่วยซื้อสินค้าไทยแต่ก็ต้องให้หลักประกันอย่างมั่นคงกับกองทัพว่าจะเพิ่มงบประมาณการทหารพิเศษให้เพื่อซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากต่างประเทศ ประกาศจะขายรัฐวิสาหกิจให้เอกชนแต่ก็คลุมเครือและลังเลจนไม่มีทีท่าว่าจะทำจริง ฯลฯ ทั้งหมดนี้ทำให้รัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า ขาดเค้าโครงการระยะไกลในการพัฒนาประเทศ ห่วงแต่จะรักษาอำนาจในตำแหน่งไว้ให้นานที่สุด แน่นอนว่ารัฐบาลไม่มีทางทำอะไรมากไปกว่านี้ นอกจากประนีประนอมกับพลังการเมืองทั้ง 3 เส้า เพราะในเมื่อไม่มีพลังการเมืองกลุ่มใดชนะเด็ดขาด โอกาสที่จะอยู่ในอำนาจของพวกเขาจึงขึ้นอยู่กับการต่อรองและเอาใจพลังการเมืองทั้ง 3 ฝ่ายไปวันต่อวัน[๒๘]

 

จากวิวาทะว่าด้วย “รัฐไทย” ระหว่าง พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ และ เกษียร เตชะพีระ ถึง วิวาทะระหว่าง “ลัทธิมาร์กซ์คลาสสิค” และ “ลัทธิมาร์กซ์ตะวันตก” ในปลายทศวรรษ 2520

มาถึงตรงนี้ คงสรุปได้แล้วว่า ทฤษฎีการเมืองที่อยู่เบื้องหลังบทความเรื่อง “รัฐกับประชาสังคมไม่ใช่สิ่งปฏิกูลทางทฤษฎี” ที่ เกษียร เตชะพีระ เขียนขึ้นเพื่อวิวาทะกับบทความเรื่อง “รัฐ: สิ่งปฏิกูลทางประวัติศาสตร์” และ “รัฐ: สิ่งปฏิกูลทางประวัติศาสตร์ (อีกครั้ง)” ของ พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ หรือ “ลิขิต อุดมภักดี” ใน วารสารเศรษฐศาสตร์การเมืองฉบับเดือนตุลาคม 2528 – มีนาคม 2529 นั้น แท้จริงแล้วก็คือ ทฤษฎี “ประชาสังคมกระฎุมพี” ของ จอห์น ยูร์รี่ (John Urry) “นักสังคมวิทยามาร์กซิสต์” ซึ่งพัฒนาความคิด “ประชาสังคม” ต่อจาก “นักลัทธิมาร์กซ์ตะวันตก” คนสำคัญอย่าง อันโตนิโอ กรัมชี่ และ หลุยส์ อัลธูแซร์ นั่นเอง ขณะเดียวกัน ทฤษฎีการเมืองที่อยู่เบื้องหลังบทความทั้ง 2 ชิ้นของ พิชิต ก็คือ ทฤษฎีว่าด้วยรัฐของ คาร์ล มาร์กซ์ ซึ่งถือเป็นต้นตำรับของ “ลัทธิมาร์กซ์คลาสสิค” โดยแท้ ด้วยเหตุนี้ การวิวาทะว่าด้วยรัฐไทยระหว่าง พิชิต หรือ “ลิขิต อุดมภักดี” และ เกษียร หรือ “อาคม ชนางกูร” ที่เกิดขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 2520 จึงไม่ได้มีความหมายแต่เพียงแค่การมองเห็น “รัฐไทย” แตกต่างกันของพวกเขา หรืออาจจะไม่ได้หมายความแต่เพียงว่ามุมมองต่อรัฐที่แตกต่างกันนี้เกิดขึ้นจากการที่ “รัฐไทย” ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วจริงๆ เท่านั้น หากแต่การวิวาทะนี้ ยังสะท้อนเห็นถึง การตกต่ำลงของกระแส “ลัทธิมาร์กซ์คลาสสิค” และการก้าวขึ้นมามีอิทธิพลมากขึ้นของ “ลัทธิมาร์กซ์ตะวันตก” ในหมู่ปัญญาชนฝ่ายซ้ายไทยด้วย ดังนั้น การวิวาทะครั้งนี้ก็มิใช่อะไรอื่น หากแต่เป็นการปะทะกันทางทฤษฎีระหว่าง “ลัทธิมาร์กซ์คลาสสิค” และ “ลัทธิมาร์กซ์ตะวันตก” นั่นเอง

 

 

 




[๑]ตบทความชิ้นนี้ปรับปรุงมาจากบทความที่เคยตีพิมพ์ใน วารสารประวัติศาสตร์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ แต่เนื่องจากวารสารถูกพิมพ์ในจำนวนที่จำกัดและไม่ค่อยแพร่หลายออกนอกมหาวิทยาลัยมากนัก ดังนั้น ผู้เขียน จึงถือโอกาสปรับปรุงบทความชิ้นนี้มาเผยแพร่ในงานสัมมนาของ FOP ที่จัดขึ้นในวาระครบรอบ “วันเสียงปืนแตก” 7 สิงหาคม ซึ่งน่าจะมีประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจเรื่องทำนองนี้มากกว่า

[๒]ต่อไปนี้จะใช้คำว่า “พคท.” แทน “พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย”

[๓]ใจ อึ๊งภากรณ์ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และ คณะ, อาชญากรรมรัฐในวิกฤตการเปลี่ยนแปลง,กรุงเทพฯ: คณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519, 2544, หน้า 63 – 166.

[๔]ธิกานต์ ศรีนารา, หลัง 6 ตุลาฯ : ว่าด้วยความขัดแย้งทางความคิดระหว่างขบวนการนักศึกษากับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย, กรุงเทพฯ: 6 ตุลารำลึก, 2552. 

[๕]อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะอธิบายว่า พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ ใช้ทฤษฎีว่าด้วย “รัฐ” ของ “ลัทธิมาร์กซ์คลาสสิค” (Classical Marxism) เป็นทฤษฎีหลักในการวิเคราะห์ “รัฐไทย” อย่างไรนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะทำความเข้าใจร่วมกันในเบื้องต้นก่อนว่า “ลัทธิมาร์กซ์คลาสสิค” ที่กล่าวถึงในบทความชิ้นนี้ ผู้เขียนถือเอาตามคำนิยามของ เกษียร เตชะพีระ ที่ให้ไว้เมื่อปี 2527 ว่า “ลัทธิมาร์กซ์คลาสสิค หมายถึงนิพนธ์ของมาร์กซ์ เองเกลส์ และนักลัทธิมาร์กซ์ในยุคต่อมาในสากลที่สองและสามซึ่งได้รับการยอมรับทั่วไป” (ดูใน เกษียร เตชะพีระ. “วิกฤตอุดมการสังคมนิยมในหมู่นักศึกษาปัญญาชนไทย” ใน วารสารเศรษฐศาสตร์การเมือง ปีที่ 3 เล่ม 3 มกราคม – มีนาคม, 2527, หน้า 79 – 80)

[๖]เช่นเดียวกันกับกรณี “ลัทธิมาร์กซ์คลาสสิค” ก่อนที่จะอธิบายว่า เกษียร เตชะพีระ ใช้ “ลัทธิมาร์กซ์ตะวันตก” มาวิพากษ์ “ลัทธิมาร์กซ์คลาสสิค” ของ พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อย่างไรนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจร่วมกันก่อนว่า “ลัทธิมาร์กซ์ตะวันตก” (Western Marxism) ที่กล่าวถึงในบทความชิ้นนี้ ผู้เขียนถือเอาตามคำนิยามของ เกษียร เตชะพีระ ที่เคยให้ไว้อย่างเป็นทางการเมื่อกลางปี 2526 ที่ว่า “ลัทธิมาร์กซ์ตะวันตก หมายถึงงานเขียนและความคิดของลัทธิมาร์กซ์ในภาคพื้นยุโรปตะวันตกรุ่นหลังการปฏิวัติรัสเซียลงมาจนถึงราวปลายทศวรรษ 1960 – ต้นทศวรรษ 1970 เมื่อกระแสการต่อสู้ทางชนชั้นอย่างใหญ่โตของชนชั้นกรรมาชีพยุโรปตะวันตกพลิกฟื้นขึ้นมาใหม่ เช่น กรณีการลุกฮือของนักศึกษาฝรั่งเศสปี 1968 และการนัดหยุดงานทั่วไปของกรรมกรอิตาลี ปี 1969 (ทั้งนี้ยึดตามนิยามของ Perry Anderson ใน Consideration on Western Marxism) นักลัทธิมาร์กซ์คนสำคัญในกลุ่มนี้ก็ เช่น แกรมชี่, เดลลา วอลเป้, คอลเลติ แห่งอิตาลี, มาร์คุส, ฮอร์คไอเมอร์, อาดอร์โน แห่งสำนักแฟรงค์เฟิร์ต, อัลทุสแซร์, บาลิเบอร์ แห่งสำนักลัทธิมาร์กซ์แบบโครงสร้าง เป็นต้น (ดูใน เกษียร เตชะพีระ. “วิกฤตอุดมการสังคมนิยมในหมู่นักศึกษาปัญญาชนไทย”  ใน วารสารเศรษฐศาสตร์การเมือง ปีที่ 3 เล่ม 3 มกราคม – มีนาคม, 2527, หน้า 81)

[๗]วารสารเศรษฐศาสตร์การเมืองปีที่ 5 ฉบับที่ 1 – 2 (ตุลาคม 2528 – มีนาคม 2529)

[๘]นภาพร อติวานิชยพงศ์, ประวัติศาสต์ความคิดเศรษฐศาสตร์การเมืองไทย, กรุงเทพฯ: สร้างสรรค์, 2545, หน้า 165 – 166.

[๙]“จงยอมรับกติกาประชาธิปไตย” ใน สยามใหม่ปีที่ 2 ฉบับที่ 71 (มีนาคม 2526) หน้า “บทนำ”

[๑๐]พรรคแสงธรรม อมธ. “ทฤษฎีว่าด้วยรัฐของลัทธิมาร์กซกับพัฒนาของรัฐชนชั้นนายทุนในรอบ 25 ปี” ใน บัณฑิตย์ ธรรมตรีรัตน์ (บรรณาธิการ). คลื่นแห่งทศวรรษ: รวมทัศนะ ความคำนึง และจินตนาการของนักวิชาการ นักการเมืองและนักเขียนร่วมสมัย.กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์เอดิสันเพรส โพดักส์, 2526, หน้า 363 – 371. ต่อมาในปลายปี 2528 บทความชิ้นนี้ก็ได้ถูกนำมาพิมพ์ซ้ำเป็นครั้งที่สองในหนังสือชื่อ วิพากษ์ทรรัฐ ที่ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) และองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) ร่วมกันทำขึ้นในเดือนตุลาคม 2528

[๑๑]พรรคแสงธรรม อมธ. “ทฤษฎีว่าด้วยรัฐของลัทธิมาร์กซกับพัฒนาของรัฐชนชั้นนายทุนในรอบ 25 ปี” ใน บัณฑิตย์ ธรรมตรีรัตน์ (บรรณาธิการ). คลื่นแห่งทศวรรษ: รวมทัศนะ ความคำนึง และจินตนาการของนักวิชาการ นักการเมืองและนักเขียนร่วมสมัย, หน้า 364.

[๑๒]พรรคแสงธรรม อมธ., “ทฤษฎีว่าด้วยรัฐของลัทธิมาร์กซกับพัฒนาของรัฐชนชั้นนายทุนในรอบ 25 ปี”, หน้า 18.

[๑๓]ประเสริฐ คงธรรม (เกษียร เตชะพีระ). “ยุทธศาสตร์เชิงซ้อนในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบปัจจุบัน” ใน ปรีชา ธรรมวินทร (บรรณาธิการ). วิพากษ์ทรรัฐ.กรุงเทพฯ: สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) และองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.), 2528, หน้า 29 – 30.

[๑๔]ประเสริฐ คงธรรม, “ยุทธศาสตร์เชิงซ้อนในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบปัจจุบัน”,หน้า 29 – 31.

[๑๕]ประเสริฐ คงธรรม, “ยุทธศาสตร์เชิงซ้อนในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบปัจจุบัน”,หน้า 34.

[๑๖]ดูคำอธิบายโดยละเอียดเกี่ยวกับทฤษฎี “ประชาสังคม” ทั้งของ เฮเกล และ มาร์กซ์ ได้ใน อาคม ชนางกูร (เกษียร เตชะพีระ). “รัฐทุนนิยมระบบราชการไทย: บทเสนอว่าด้วยรัฐกับประชาสังคมในระบบทุนนิยมไทย”, หน้า 23 – 24.

[๑๗]เกษียร เตชะพีระ. “วิกฤตอุดมการสังคมนิยมในหมู่นักศึกษาปัญญาชนไทย”  ใน วารสารเศรษฐศาสตร์การเมือง ปีที่ 3 เล่ม 3 (มกราคม – มีนาคม, 2527) หน้า 81.

[๑๘]ลิขิต อุดมภักดี. “รัฐ: สิ่งปฏิกูลทางประวัติศาสตร์” ใน วารสารเศรษฐศาสตร์การเมืองปีที่ 5 ฉบับที่ 1 – 2 (ตุลาคม 2528 – มีนาคม 2529) หน้า 1 – 18. และ “รัฐ: สิ่งปฏิกูลทางประวัติศาสตร์ (อีกครั้ง)”, หน้า 32 – 44.

[๑๙]ลิขิต อุดมภักดี. “รัฐ: สิ่งปฏิกูลทางประวัติศาสตร์ (อีกครั้ง)” ใน วารสารเศรษฐศาสตร์การเมืองปีที่ 5 ฉบับที่ 1 – 2 (ตุลาคม 2528 – มีนาคม 2529) หน้า 32 – 33.

[๒๐]ลิขิต อุดมภักดี. “รัฐ: สิ่งปฏิกูลทางประวัติศาสตร์ (อีกครั้ง)” ใน วารสารเศรษฐศาสตร์การเมืองปีที่ 5 ฉบับที่ 1 – 2 (ตุลาคม 2528 – มีนาคม 2529) หน้า 32 – 34.

[๒๑]ลิขิต อุดมภักดี. “รัฐ: สิ่งปฏิกูลทางประวัติศาสตร์ (อีกครั้ง)”, หน้า 39 – 40.

[๒๒]อาคม ชนางกูร (เกษียร เตชะพีระ). “รัฐกับประชาสังคมไม่ใช่สิ่งปฏิกูลทางทฤษฎี” ใน วารสารเศรษฐศาสตร์การเมืองปีที่ 5 ฉบับที่ 1 – 2 (ตุลาคม 2528 – มีนาคม 2529), หน้า 49.

[๒๓]ดูคำอธิบายโดยละเอียดเกี่ยวกับทฤษฎี “ประชาสังคม” ทั้งของ เฮเกล และ มาร์กซ์ ได้ใน อาคม ชนางกูร (เกษียร เตชะพีระ). “รัฐทุนนิยมระบบราชการไทย: บทเสนอว่าด้วยรัฐกับประชาสังคมในระบบทุนนิยมไทย”, หน้า 23 – 24.

[๒๔]อาคม ชนางกูร (เกษียร เตชะพีระ). “รัฐทุนนิยมระบบราชการไทย: บทเสนอว่าด้วยรัฐกับประชาสังคมในระบบทุนนิยมไทย”, หน้า 25.

[๒๕]อาคม ชนางกูร (เกษียร เตชะพีระ). “รัฐกับประชาสังคมไม่ใช่สิ่งปฏิกูลทางทฤษฎี” ใน วารสารเศรษฐศาสตร์การเมืองปีที่ 5 ฉบับที่ 1 – 2 (ตุลาคม 2528 – มีนาคม 2529), หน้า 49.

[๒๖]อาคม ชนางกูร (เกษียร เตชะพีระ). “รัฐกับประชาสังคมไม่ใช่สิ่งปฏิกูลทางทฤษฎี”, หน้า 47.

[๒๗]อาคม ชนางกูร (เกษียร เตชะพีระ). “รัฐกับประชาสังคมไม่ใช่สิ่งปฏิกูลทางทฤษฎี”, หน้า 60.

[๒๘]อาคม ชนางกูร (เกษียร เตชะพีระ). “รัฐกับประชาสังคมไม่ใช่สิ่งปฏิกูลทางทฤษฎี”, หน้า 61 – 62.

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เรียกร้อง กสทช.แก้กฎระเบียบที่สร้างปัญหาก่อนลามถึงดิจิตอลทีวี

$
0
0

ประชาชนและผู้ประกอบการจะประสบปัญหาในยุคทีวีดิจิตอลที่กำลังจะมาถึงในระยะเวลาอันใกล้นี้ หาก กสทช.ไม่ยกเลิกหรือแก้ไขประกาศ 2 ฉบับ คือ must carry และ must have  

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)  กล่าวว่า  ในช่วงการแข่งขันฟุตบอลยูโรปีที่ผ่านมา  ซึ่งบริษัทแกรมมี่ได้รับลิขสิทธิ์ แล้วนำรายการส่วนหนึ่งมาถ่ายทอดทางฟรีทีวี แต่ไม่อนุญาตให้เคเบิ้ลทีวีนำไปถ่ายทอดต่อ จนทำให้เกิดปัญหา “จอดำ” นั้น   กสทช.ได้แก้ปัญหาซึ่งยิ่งทำให้เกิดปัญหามากขึ้นด้วยการออกกฎ  2 ข้อ คือ กฎที่เรียกกันผิดๆ ว่า must carry ซึ่งกำหนดให้ฟรีทีวีต้องเปิดรายการของตนให้ทีวีดาวเทียมและเคเบิ้ลทีวีเอาไปถ่ายทอดต่อ และกฎ must have ที่กำหนดให้กีฬาสำคัญๆ ที่กำหนดไว้ต้องถ่ายทอดผ่านเฉพาะฟรีทีวีเท่านั้น
 
 
กฎ must carry ในต่างประเทศจะกำหนดให้ผู้ให้บริการเคเบิ้ลทีวีและทีวีดาวเทียมรายใหญ่ ต้องรับสัญญาณจากช่องฟรีทีวีที่กำหนดไปถ่ายทอดต่อ แต่กฎที่เรียกว่า must carry ของไทยกลับกำหนดฝ่ายเดียวให้ฟรีทีวีจะต้องยิงสัญญาณไปไว้ที่ทีวีดาวเทียม     แต่ไม่ได้บังคับให้เคเบิ้ลทีวีต้องรับสัญญาณของรายการของทีวีธุรกิจไปถ่ายทอดต่อ   กฎ must carry แบบไทยๆ จึงทำให้เกิดปัญหามากมายคือ  นอกจากไม่สามารถแก้ปัญหาจอดับ-จอดำได้  เพราะขัดกับกฎหมายลิขสิทธิ์แล้ว  ยังทำให้ฟรีทีวีมีต้นทุนสูง โดยในหลายกรณีก็เป็นการลงทุนที่ต้นทุนสูญเปล่า เพราะไม่ได้กำหนดให้เคเบิ้ลทีวีจะต้องนำสัญญาณไปถ่ายทอดต่อ     ปัญหาความสูญเปล่าดังกล่าวจะเกิดขึ้นมากในอนาคตอันใกล้เมื่อเกิดทีวีดิจิตอลธุรกิจจำนวนถึง 24 ช่อง   ในขณะที่ ผู้ที่จะได้รับผลประโยชน์จากกฎดังกล่าวคือผู้ให้บริการดาวเทียมของไทย ซึ่งในปัจจุบันมีอยู่เพียงรายเดียว  
 
ส่วนกฎ  must have ที่กำหนดให้รายการกีฬาสำคัญ ๆ จะต้องถ่ายทอดทางฟรีทีวีเท่านั้น ก็จะทำให้เกิดปัญหาเช่นกัน  เพราะกีฬาต่างๆ ทั้งซีเกมส์ เอเชี่ยนเกมส์ และโอลิมปิก มีรายการกีฬาที่แข่งขันกันจำนวนมาก จนฟรีทีวีไม่สามารถถ่ายทอดได้หมด     การจำกัดให้ถ่ายทอดกีฬาดังกล่าวเฉพาะฟรีทีวีจะทำให้ประชาชนไม่ได้ดูกีฬาเหล่านั้น จากเดิมเคยสามารถดูได้ทางเคเบิ้ลทีวีหรือทีวีดาวเทียม    นอกจากนี้ กฎดังกล่าวยังจะทำให้ทีวีช่องใหม่เกิดขึ้นไม่ได้ เช่น กรณีบริษัทอาร์เอสซึ่งได้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดฟุตบอลโลก และเดิมต้องการที่จะถ่ายทอดทางทีวีดาวเทียมของตน แต่ก็ไม่สามารถทำได้เพราะขัดกับกฎของกสทช.ดังกล่าว จนอาร์เอสก็ต้องล้มเลิกแผนการเดิมของตนและมีปัญหาฟ้องร้องกับ กสทช.อยู่ขณะนี้
 
เท่าที่ศึกษาดูพบว่า ไม่มีประเทศใดในโลกที่มีกฎระเบียบการถ่ายทอดรายการทีวีที่แปลกพิสดารเหมือนกับประเทศไทย   เนื่องจาก หากประเทศใดมีกฎบังคับให้ฟรีทีวีต้องเปิดสัญญาณให้เอารายการของตนไปถ่ายทอดต่อแล้ว ก็จะต้องมีกฎ must carry บังคับให้เคเบิ้ลทีวีและทีวีดาวเทียมมีหน้าที่ต้องนำเอาสัญญาณดังกล่าวไปถ่ายทอดต่อ     นอกจากนี้ ไม่พบว่ามีประเทศใดในโลกที่บังคับให้ถ่ายทอดรายการกีฬาสำคัญ ๆ เฉพาะทางฟรีทีวีอย่างเดียวเท่านั้น   อย่างมากจะกำหนดว่า ถ้ามีการถ่ายทอดรายการกีฬาสำคัญทางเคเบิ้ลหรือทีวีดาวเทียมแล้ว จะต้องยอมให้ถ่ายทอดทางฟรีทีวีด้วย
 
ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า กฎที่กสทช.ออกมาเป็นกฎที่ผิดพลาด ซึ่งจะทำให้ทั้งประชาชนในฐานะผู้ชมและผู้ประกอบการเสียประโยชน์   ข้อเสนอก็คือ ควรยกเลิกประกาศ must carry และ must have ทั้งสองฉบับ   ทั้งนี้ ในระยะยาว ประกาศ must carry ไม่จำเป็นเพราะทีวีดิจิตอลที่จะเกิดขึ้นจะถูก กสทช. กำหนดให้ต้องขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมทั่วประเทศอยู่แล้ว ฉะนั้นจึงไม่มีประโยชน์ที่ไปกำหนดให้รายการของฟรีทีวีจะต้องไปออกเคเบิ้ลทีวีหรือทีวีดาวเทียมอีก  อย่างไรก็ตาม ในช่วงเปลี่ยนผ่าน หากจะมีกฎ must carry ก็สมควรยกร่างให้ถูกต้อง เหมือนในต่างประเทศเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอย่างที่เป็นอยู่
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คปก.ยื่นข้อเสนอนายกฯ แก้ไขรธน.ม.68, ม.237

$
0
0

คณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ทำข้อเสนอหลังศึกษาร่างฯ-ฟังความคิดเห็นประชาชน ชงยกเลิกม.237 ยุบพรรคการเมือง-แก้ไขยื่นเรื่องอสส.ศาลรธน.

5 สิงหาคม 2556 - นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ลงนามในหนังสือบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะคปก. เรื่อง ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช ....(แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 68 และมาตรา 237) เสนอต่อนายกรัฐมนตรี  ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภา เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ หลังจากคปก.ได้พิจารณาศึกษาร่างฯ ทั้งจากข้อมูลทางวิชาการและการรับฟังความคิดเห็นจากหลายภาคส่วน
 
คปก.มีความเห็นว่า ในกรณีที่มีบุคคลหรือพรรคการเมืองกระทำการอันเชื่อว่าเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ตามมาตรา 68 วรรคหนึ่ง ควรกำหนดให้ผู้ที่ทราบการกระทำต้องเสนอเรื่องต่ออัยการสูงสุดให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเสียก่อน แต่หากอัยการสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่เป็นการกระทำที่ต้องห้ามตามมาตรา 68 วรรคหนึ่ง ผู้ทราบการกระทำนั้นย่อมมีสิทธิเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยตรงได้    อย่างไรก็ตามคปก.มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่า ควรกำหนดระยะเวลาในการเสนอเรื่องต่ออัยการสูงสุดเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อเป็นกรอบระยะเวลาในการดำเนินการ โดยขอเสนอให้อัยการสูงสุดต้องพิจารณาและยื่นคำร้องขอต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 30 วันนับแต่วันรับเรื่อง
 
ทั้งนี้ คปก. เห็นชอบกับหลักการที่ให้ยกเลิกวรรคท้ายของมาตรา 68 ที่เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารของพรรคการเมืองที่ถูกยุบ เนื่องจากการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งได้มีบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 มาตรา 103 วรรคห้า และพระราชบัญญัติว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 มาตรา 98  อีกทั้ง คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งอาจกระทบต่อคดีอาญา เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาลและองค์กรอื่น ตามมาตรา 216 วรรคห้าของรัฐธรรมนูญ
 
ขณะเดียวกันคปก.เห็นว่า ควรยกเลิกมาตรา 237 เนื่องจากบทบัญญัติมุ่งลงโทษพรรคการเมืองด้วยเหตุจากการกระทำผิดของผู้สมัครรับเลือกตั้ง หรือหัวหน้าพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารพรรคการเมือง ซึ่งเป็นเพียงกลุ่มบุคคลบางกลุ่มในพรรคการเมืองเท่านั้นการยุบพรรคการเมืองทั้งพรรค มีผลทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรคการเมืองนั้น และประชาชน    ที่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง ต้องพ้นจากสถานภาพของพรรคการเมืองนั้นไปด้วย เป็นการลงโทษคนกลุ่มใหญ่ซึ่งไม่ได้ร่วมรู้เห็นหรือมีส่วนร่วมในการกระทำความผิด บทบัญญัติดังกล่าวจึงไม่เหมาะสมและไม่เป็นไปตามหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนในทางการเมือง
 
อีกทั้ง บทบัญญัติเกี่ยวกับการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ได้กำหนดไว้แล้วในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 มาตรา 103 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 มาตรา 98 จึงไม่จำเป็นต้องกำหนดบทบัญญัติดังกล่าวไว้อีก  คปก. ขอเสนอให้ยกเลิกมาตรา 237 โดยแก้ไขร่างมาตรา4 จาก “ให้ยกเลิกวรรคสองของมาตรา 237 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” เป็น “ให้ยกเลิกมาตรา 237 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย”
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประมวลภาพ: โค่นระบอบทักษิณ 2556

$
0
0

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live




Latest Images