Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live

พฤกษ์ เถาถวิล: เชื้อเพลิงชีวภาพกับสังคมเกษตรกรรม

$
0
0

ตอนแรกของบทความชุดนี้ผู้เขียนได้กล่าวถึง “คำถามว่าด้วยสังคมเกษตรกรรม” (Agrarian Questions) (http://prachatai.com/journal/2013/04/46329)  ซึ่งเป็นการพิจารณาว่า ระบบทุนนิยมได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมเกษตรกรรมอย่างไร  

เมื่อกล่าวถึงอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ (biofuel) ซึ่งทำให้เกิดการขยายตัวอย่างรวดเร็วทุกมุมโลกของพืชพลังงาน อาจกล่าวได้ว่าเรื่องเชื้อเพลิงชีวภาพ/พืชพลังงาน เป็นกรณีดีที่สุดที่จะแสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงสังคมเกษตรกรรมในยุคโลกาภิวัตน์    

ในตอนนี้จะกล่าวถึง การขยายตัวของพืชพลังงาน เพื่อสะท้อนการเปลี่ยนแปลงสังคมเกษตรกรรม โดยนำเสนอกรณีศึกษาจากประเทศผู้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพระดับนำของโลกคือ ประเทศอินโดนิเซียและบราซิล เนื้อหาต่อไปนี้เรียบเรียงจากบทความที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Journal of Peasant Studiesฉบับพิเศษ (Vol.37, No.4. October 2010) วารสารฉบับนี้ตีพิมพ์ชุดบทความเกี่ยวกับผลกระทบจากเชื้อเพลิงชีวภาพ  ซึ่งได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางในวงวิชาการ  

บทความนี้จะนำเสนอกรณีศึกษา ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยที่กำลังไต่อันดับขึ้นเป็นผู้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพรายสำคัญของเอเชีย การนำเสนอในบทความนี้ต่อเนื่องจากชิ้นก่อนหน้านี้ (http://prachatai.com/journal/2013/08/47977) ในประเด็นผลกระทบต่อเกษตรกร ซึ่งได้กล่าวมาแล้วว่ามีแนวโน้มทางลบมากกว่าบวก แต่จะแสดงให้เห็นว่า ภายใต้แนวโน้มยังมีผลลัพธ์ที่หลากหลาย  ไม่เพียงมีเกษตรกรได้รับความเดือดร้อนและต่อต้าน แต่ยังมีกรณีที่ได้ประโยชน์และสนับสนุนเชื้อเพลิงชีวภาพด้วย

 

การทำสวนปาล์มน้ำมันที่รุกเข้าไปในพื้นที่ป่า ในประเทศอินโดนิเซีย 
ที่มาภาพ
http://news.mongabay.com

อินโดนิเซีย[1]

อินโดนิเซียเป็นประเทศอันดับหนึ่งของผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน (oil palm) สำหรับรัฐบาลอินโดนิเซียปาล์มน้ำมันคือโอกาสทางเศรษฐกิจ และหัวใจของการพัฒนาภาคเกษตร ในปี ค.ศ. 1996 รัฐบาลซูฮาร์โต วางแผนให้อินโดนิเซียขึ้นเป็นผู้ผลิตปาล์มน้ำมันอันดับหนึ่งของโลกแทนที่มาเลเซีย  โดยกำหนดว่าจะมีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน 5.5 ล้านเฮกตาร์ในปี  2000 ในปี 2007 บริษัทด้านพลังงาน 59 แห่งมีข้อตกลงจะลงทุนในกิจการเชื้อเพลิงชีวภาพ 12.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ และในปีนั้นรัฐบาลอินโดนิเซียประกาศว่าได้เตรียมพื้นที่ “ว่างเปล่า” จำนวน  6.5 ล้านเฮกตาร์เพื่อรองรับการปลูกพืชพลังงาน  ในจำนวนนี้มีพื้นที่ 3 ล้านเฮกตาร์สำหรับปาล์มน้ำมัน และนับจากปี 2008 เป็นต้นมา อินโดนิเซียได้ขึ้นแท่นผู้ปลูกปาล์มน้ำมันอันดับหนึ่งของโลก

การส่งเสริมปาล์มน้ำมันของรัฐบาลอินโดนิเซีย เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาภาคเกษตร/ชนบท  ก่อนปาล์มน้ำมันก็มีการส่งเสริมพืชอื่นๆมาก่อน เช่น ยางพารา การส่งเสริมพืชเศรษฐกิจในอินโดนิเซีย เป็นไปในทำนองเดียวกับประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย ตามทฤษฎีที่ว่า การปลูกพืชเศรษฐกิจเป็นการนำเกษตรกรเข้าสู่ตลาด ซึ่งตลาดเป็นกลไกที่ให้โอกาสเกษตรกรยกระดับฐานะความเป็นอยู่ และเป็นช่องทางถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยี และข่าวสารที่เป็นประโยชน์

การพัฒนาภาคเกษตรของอินโดนิเซีย ยังมีส่วนคล้ายคลึงกับประเทศอื่นๆ คือ เริ่มจากการที่รัฐมีบทบาทและทุ่มงบประมาณสนับสนุนเต็มตัว จากนั้นภายใต้อิทธิพลของแนวคิดเสรีนิยมใหม่ นับจากทศวรรษ 1990 โดยประมาณ  รัฐถูกตีกรอบให้ลดบทบาทและงบประมาณ เปิดให้ภาคเอกชนเป็นฝ่ายนำ  และปล่อยให้ตลาดทำงานอิสระ

กรณีศึกษาของเรา จะกล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงในสุมาตรา ซึ่งเป็นศูนย์กลางการปลูกปาล์มน้ำมันของอินโดนิเซีย  โดยมุ่งไปที่จังหวัดจัมไบ (Jambi) ทางชายฝั่งตะวันออกของเกาะสุมาตรา พื้นที่นี้เป็นแหล่งปลูกปาล์มน้ำมันที่สำคัญ ในปี 2009 จังหวัดนี้มีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน 452,960 เฮกตาร์ (1 เฮกตาร์ = 2.5 ไร่) และมีแผนที่ได้รับอนุมัติแล้วและเพิ่งอนุมัติปลูกปาล์มน้ำมันอีกรวม  1,588,454 เฮกตาร์ การนำเสนอต่อไปนี้จะลำดับเวลาการส่งเสริมของรัฐซึ่งแบ่งเป็น 3 ช่วง และกล่าวถึงกรณีศึกษาหมู่บ้านจำนวนหนึ่ง เพื่อเปรียบเทียบผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น


ช่วงแรกเป็นช่วงที่รัฐมีบทบาทโดยตรงในการสนับสนุนภาคเกษตร  ซึ่งอยู่ภายใต้ระบอบอำนาจนิยมของซูฮาร์โต (ค.ศ.1966—1998) นโยบายการเกษตรที่รัฐส่งเสริมธุรกิจการเกษตร (state agribusiness-driven) ในช่วงนี้ได้เปลี่ยนภูมิทัศน์และชีวิตชนบทในสุมาตราและในพื้นที่อื่นในอินโดนิเซียอย่างมาก มีธุรกิจการเกษตรที่รัฐลงทุนเป็นเจ้าของ และที่ร่วมทุนกับเอกชนเกิดขึ้นแพร่หลาย ในช่วงเวลาดังกล่าวเพื่อเร่งรัดการเติบโตของปาล์มน้ำมัน  ได้เกิดโครงการพิเศษส่งเสริมให้บริษัทเอกชนลงทุนทำสวนปาล์มน้ำมัน  

โคร่งการพิเศษฯ (ชื่อย่อว่า PIR-Trans) ดำเนินการระหว่างปี 1986 – 1994 ได้จัดเตรียมพื้นที่การเกษตรสำหรับนักลงทุน ได้แก่พื้นที่ที่เคยให้สัมปทานไม้ และเคยให้เช่าทำนิคมเกษตรกรรม (plantation) มาก่อน ซึ่งรัฐถือว่าเป็นที่ “ว่างเปล่า” พร้อมกันนั้นนักลงทุนจะได้รับสนับสนุนสินเชื่อ และรัฐจะทำการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น โครงการนี้ยังเกิดขึ้นพร้อมกับนโยบายส่งเสริมการย้ายถิ่นของชาวบ้านจากเกาะชวา เพื่อมาเป็นแรงงานในนิคมเกษตรกรรม  สำหรับชาวบ้านในท้องถิ่นผู้เป็นเจ้าของที่ดินหากต้องการเข้าร่วมโครงการก็สามารถทำได้ โดยจะได้รับสินเชื่อและการสนับสนุนในทำนองเดียวกัน   

ในขณะเดียวกัน เพื่อเตรียมที่ดินเพาะปลูก รัฐบาลได้ดำเนินโครงการจัดสรรที่ดินซึ่งเคยใช้กันบางแห่งในประเทศกำลังพัฒนาที่เรียกว่า “Nucleus Estate Schemes” โครงการนี้เป็นการสร้างแรงจูงใจแก่เกษตรกร (เพราะราคาปาล์มน้ำมันยังไม่สูงมาก และชาวบ้านยังมีพืชชนิดอื่นเป็นรายได้) โดยใช้พื้นที่ ”ว่างเปล่า” ของรัฐ  ซึ่งที่จริงคือพื้นที่ที่ชาวบ้านใช้และถือครองตามประเพณี เป็นพื้นที่จัดสรรให้แก่นักลงทุน (ที่ดินนี้เรียกว่า nuclease) ชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการจัดสรรที่ดิน 2 เฮกตาร์ (เรียกว่า plasma) โดยมอบให้เป็นกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล และได้รับการสนับสนุนปัจจัยการผลิตและสินเชื่อสำหรับปลูกปาล์มน้ำมันของตน แต่มีเงื่อนไขว่าต้องเข้าเป็นแรงงานใน nuclease ด้วย สำหรับรัฐบาลโครงการนี้ให้ประโยชน์แก่นักลงทุนและชาวบ้าน แต่นักวิชาการบางคนเห็นว่ามันคือ “การแย่งยึดที่ดินสาธารณะไปให้แก่นายทุน”[2]นั่นเอง

ผลลัพธ์ในช่วงนี้คือ เกิดการขยายพื้นที่สวนปาล์มอย่างรวดเร็ว นักลงทุนได้ประโยชน์เป็นกอบเป็นกำ โครงการ PIR-Trans ถูกวิจารณ์ว่าเบื้องหลังคือผลประโยชน์ร่วมระหว่างนักลงทุนชาวอินโดนิเซียเชื้อสายจีน (Sino-Indonesians) กับข้าราชการและนักการเมืองระดับสูง  แต่สำหรับชาวบ้าน ผู้ร่วมโครงการฯจำนวนมากไม่ประสบความสำเร็จ บางคนกล่าวว่าการทำงานใน nuclease ได้ค่าแรงต่ำมากจนอยู่ไม่ได้ (0.6 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน) หลายคนไม่สามารถรอจนถึงเวลาที่ปาล์มในแปลงของตนให้ผลผลิตจึงผละจากโครงการ บางคนขายที่ดินให้แก่คนมั่งมีในหมู่บ้าน ซึ่งได้แก่บรรดาชนชั้นนำในหมู่บ้าน เจ้าหน้าที่รัฐในท้องถิ่น พ่อค้า ครู โครงการนี้จึงมีส่วนทำให้เกิดการแบ่งชนชั้นและความแตกต่างทางเศรษฐกิจมากขึ้น        


ช่วงที่ 2อยู่ระหว่างช่วงทศวรรษ 1990 โดยประมาณ รัฐเริ่มลดบทบาทนักพัฒนา ตามกระแสเสรีนิยมใหม่ บวกกับต้องการประหยัดงบประมาณ นโยบายในช่วงนี้คือสนับสนุนให้ภาคเอกชนมีบทบาทนำ ส่วนรัฐถอยไปสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ช่วงนี้ได้เกิดโครงการใหม่คือ “โครงการความร่วมมือเอกชน-ชุมชน”  โดยเปิดให้นักลงทุนทำความร่วมมือกับชุมชนเพื่อทำสวนปาล์ม (ชื่อย่อ KKPA) รัฐมีบทบาทสนับสนุนด้วยการให้สินเชื่อแก่นักลงทุนผ่านธนาคาร นักลงทุนสนับสนุนทุนและปัจจัยการผลิตแก่ชุมชน  ชุมชนเตรียมที่ดินและแรงงาน เมื่อได้ผลผลิตเกษตรกรขายผลผลิตแก่นักลงทุน ส่วนรัฐจะให้คำปรึกษาด้านเทคนิคการผลิตแก่เกษตรกร โครงการนี้อาจจัดเป็นระบบเกษตรแบบพันธะสัญญาประเภทหนึ่ง การดำเนินการช่วงนี้ต่างจากช่วงแรก เพราะราคาปาล์มน้ำมันกำลังพุ่งสูงขึ้น จึงได้รับความสนใจจากเกษตรกรเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก  

ในแง่แนวคิด โครงการดูเหมือนจะเป็นไปง่ายๆ แต่ทางปฏิบัติกลับเป็นไปอย่างซับซ้อน  เพราะที่ดินในชุมชนมีการถือครองเหลื่อมซ้อนกันหลายระบบ ชุมชนมักถือครองที่ดินตามระบบประเพณี  ชาวบ้านส่วนใหญ่มีที่ทำกินคือ สวนยางพาราในเขตป่า และที่ทำไร่หมุนเวียน และชุมชนยังมีพื้นที่ป่าหรือที่สาธารณะของส่วนรวม พื้นที่เหล่านี้มักไม่ได้รับการรับรองสิทธิจากรัฐ ในบางชุมชนยังมีพื้นที่สัมปทานป่าของรัฐ และที่ดินที่ให้เอกชนเช่าทำนิคมเกษตรกรรม และบางชุมชนยังมีพื้นที่ตามโครงการ  “Nucleus Estate Schemes” ที่ดำเนินมาก่อน  ขณะที่ในชาวชุมชนก็มีฐานะแตกต่างกัน  มีทั้งกลุ่มชนชั้นนำของชุมชน เกษตรกรร่ำรวย ปานกลาง ยากจน แรงงานรับจ้าง มีทั้งกลุ่มชนพื้นเมืองดั้งเดิม และกลุ่มที่ย้ายเข้ามาใหม่ตามโครงการส่งเสริมของรัฐ 

 ในการดำเนินการ นักลงทุน/บริษัทจะติดต่อกับผู้นำชุมชนให้เป็นตัวแทนจัดหาผู้ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการ  ตัวแทนชุมชนก็คือบรรดาผู้นำ ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นผู้มีฐานะดี ตัวแทนชุมชนจะถูกจัดตั้งเป็นกรรมการ ทำหน้าที่สำรวจที่ดิน เพื่อรวบรวมที่ดินและรายชื่อผู้ประสงค์จะเข้าร่วม แต่ปัญหาก็คือ ตัวแทนชุมชนซึ่งมีฐานะดีมักกระตือรือร้นจะเข้าร่วมโครงการ และมีผลประโยชน์กับโครงการ จึงเกิดการกระตุ้น หว่านล้อม ให้ชาวบ้านเข้าร่วมมากๆ หรือบางกรณีมีการนำพื้นที่สาธารณะของชุมชนมาเข้าโครงการ บางพื้นที่เกิดความขัดแย้งจากการอ้างพื้นที่ส่วนรวมเป็นของส่วนตัว และเกิดการอ้างระบบกรรมสิทธิ์แตกต่างกัน ปัญหายิ่งแย่ลงไปอีก เมื่อหน่วยงานรัฐสงวนท่าทีที่จะเข้ามาให้คำปรึกษา ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ การขยายตัวของสวนปาล์มท่ามกลางความปั่นป่วนและขัดแย้งในชุมชน

อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นมีหลากหลาย ขึ้นกับตัวแปรหลายประการ ในหมู่บ้านแห่งที่ 1 ท่ามกลางความปั่นป่วนและขัดแย้ง แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ประสบความสำเร็จในการทำสวนปาล์ม สามารถยกฐานะมีเงินทองร่ำรวยขึ้น หมู่บ้านแห่งนี้มีทำเลติดกับเส้นทางคมนาคมสายหลัก มีการปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นมาก่อน และชาวบ้านจำนวนหนึ่งก็ได้เข้าโครงการ PIR-Trans มาก่อน ชาวบ้านมีความเท่าทันและมีอำนาจต่อรองกับคณะกรรมการสำรวจที่ดินชุมชน มีเจ้าหน้าที่รัฐบางคนเข้ามาให้คำปรึกษาและแก้ไขปัญหา การติดถนนใหญ่ทำให้มีแรงงานรับจ้างเข้ามาเป็นแรงงานในสวนปาล์ม  ชาวบ้านค้าขายพืชผลและติดต่อสัมพันธ์กับในเมืองมาก่อน ทำให้เข้าถึงข่าวสาร และมีเครือข่ายทางสังคมเป็นปัจจัยสนับสนุนการปรับตัว

หมู่บ้านแห่งที่ 2 ซึ่งอยู่ห่างถนนใหญ่ออกมา ผลลัพธ์เป็นแบบผสมผสาน คือมีทั้งคนที่ประสบความสำเร็จ  และไม่ประสบความสำเร็จ คือทำแล้วไปไม่รอดต้องขายกิจการต่อให้กับคนรวย และมีทั้งกรณีที่ไม่ได้ทำสวนปาล์ม แต่ขายที่ดิน และกลายเป็นแรงงานรับจ้าง หมู่บ้านแห่งที่ 3 อยู่ในเขตป่าลึก ชาวบ้านส่วนใหญ่ยากจน เข้าไม่ถึงข้อมูล แต่มีนายหน้าในหมู่บ้าน ทำงานรวมกับเกษตรกรฐานะดีจากหมู่บ้านอื่น มากว้านซื้อที่ดิน ที่ดินของชุมชนกลายเป็นพื้นที่สวนปาล์มของคนภายนอก ส่วนชาวบ้านจำนวนมากกลายเป็นแรงงานรับจ้างไร้ที่ดิน   


ช่วงที่ 3ปลายทศวรรษ 1990 อินโดนิเซียเข้าสู่การเป็น “รัฐเสรีนิยมใหม่” (Neoliberal State)[3]เต็มตัว โดยหลักการคือ รัฐลดบทบาทนักพัฒนา และหันไปสร้างความเข้มแข็งทางสถาบันเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจเสรีนิยม ภารกิจที่เด่นชัดคือ การสร้างความเข้มแข็งแก่ระบบกรรมสิทธิ์เอกชน การทำให้ทรัพยากรธรรมชาติและการบริการสาธารณะเข้าสู่ตลาด และส่งเสริมบทบาททางเศรษฐกิจของภาคเอกชน ในช่วงเดียวกันนี้การเมืองการปกครองของอินโดนนิเซีย เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และได้ปฏิรูปไปสู่การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ในการพัฒนาภาคเกษตรอาจนับได้ว่ารัฐส่วนกลางได้ถอนตัวออกจากภารกิจ รวมทั้งในกรณีปาล์มน้ำมันด้วย

การศึกษาในหมู่บ้านแห่งที่ 4 ซึ่งอยู่ไกลออกไปในพื้นที่ป่า พบผลลัพธ์ที่แตกต่างออกไป หมู่บ้านแห่งนี้ไม่ได้เข้าโครงการ PIR-Trans และ KKPA มาก่อน กระนั้นมีชาวบ้านจำนวนหนึ่งทำสวนปาล์มมาก่อน ในช่วงนี้ราคาปาล์มน้ำมันพุ่งสูงขึ้นอีก (โดยเฉพาะปี 2008 ราคาสูงเป็นประวัติการณ์)  ได้เกิดการตื่นตัวของตลาดซื้อขายที่ดินเพื่อปลูกปาล์มน้ำมัน  ฝ่ายผู้ซื้อก็คือบรรดาชาวบ้านฐานะดีจากหมู่บ้านอื่นๆที่ประสบความสำเร็จจากการทำสวนปาล์มน้ำมันในช่วงก่อนหน้านั้น หรือผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นที่สะสมทุนมาจากการค้าไม้เถื่อน ร่วมกับนายหน้าในหมู่บ้าน ฝ่ายผู้ขายก็คือชาวบ้านฐานะยากจน    

การซื้อขายที่ดินเกิดขึ้นบนระบบกรรมสิทธิ์ที่ดินตามประเพณีของชุมชน โดยปกติชาวบ้านมีการซื้อขายในรูปการ “ขายสิทธิ” แต่ในกรณีสวนปาล์มผู้ซื้อต้องการกรรมสิทธิ์ที่ดินตามกฎหมายเพื่อความมั่นคงในการถือครอง ในทางปฏิบัติชาวบ้านสามารถร้องขอให้ทางการออกเอกสารรับรองกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ โดยการขอออกเอกสารสิทธิ์ ต้องให้ผู้ใหญ่บ้าน และเจ้าหน้าที่ระดับอำเภอเป็นผู้รับรอง สถานการณ์นี้ทำให้ผู้ใหญ่บ้าน และเจ้าหน้าที่ระดับอำเภอกลายเป็นผู้มีอำนาจ และสามารถมีผลประโยชน์จากกระบวนการออกเอกสารสิทธิ์ และในภาวะที่รัฐส่วนกลางมอบอำนาจแก่ท้องถิ่น ทำให้กลุ่มราชการท้องถิ่นกลายเป็นศูนย์รวมผลประโยชน์เรื่องที่ดิน

ผลลัพธ์ในหมู่บ้านนี้คือ เกิดกระบวนการเปลี่ยนมือที่ดินไปสู่คนนอกชุมชน ชาวบ้านยากจนขายที่ดินของครอบครัว พื้นที่สาธารณะถูกอ้างเป็นของส่วนตัวเพื่อออกเอกสารสิทธิ์ ทำให้พื้นที่สาธารณะของชุมชนลดลง กระทบต่อการยังชีพของกลุ่มคนจน เกิดแรงงานรับจ้าง และแรงงานรับจ้างไร้ที่ดิน เกิดเจ้าของสวนปาล์มรวย และยากจน เนื่องจากการทำสวนปาล์มต้องลงทุนสูง ด้านปัจจัยการผลิต และการดูแลรักษา เกษตรกรที่มีเงินทุนมาก เข้าถึงสินเชื่อได้ มีเครือข่ายทางสังคมกว้างขวาง จะสามารถพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต ทำให้ได้ประโยชน์จากตลาด แต่เกษตรกรที่ขาดความพร้อม  จะเผชิญปัญหาการผลิต  ขาดทุน เป็นหนี้ หรือต้องขายสวนปาล์มในที่สุด         

กล่าวโดยสรุป กรณีของอินโดนิเซียแสดงให้เห็น การขยายตัวของตลาดเสรี และการผนวก(inclusion) ชาวบ้านเข้าสู่ตลาด กระบวนการนี้มีความแยกแย้ง (paradox) ในตัวเอง ในด้านหนึ่ง เราคงไม่ปฏิเสธว่าชาวบ้านบางส่วนมั่งมีขึ้น และตลาดได้นำความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆมาสู่ชีวิต แต่สำหรับชาวบ้านบางส่วนการเข้าสู่ตลาด คือการสูญเสียที่ดิน หนี้สิน และเป็นแรงงานราคาถูก แต่ในอีกด้านหนึ่ง สำหรับชาวบ้านที่ไม่สามารถเข้าสู่ตลาด หรือถูกกีดกันจากตลาด (exclusion) ก็ตกอยู่ในภาวะย่ำแย่ ไม่มีโอกาสพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ตัวเอง  ซึ่งไม่มีใครสมควรจะถูกทอดทิ้งเช่นนั้น

แต่การผนวกชาวบ้านเข้าสู่ตลาดก็ยังมีปัญหาอีกระดับคือ ความร่ำรวยของคนส่วนหนึ่งในชุมชน ต้องแลกกับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น รวมทั้งการทำลายผืนป่า และการสูญเสียที่ดินของชุมชน หรืออาจเรียกว่าเป็นกระบวนการ “แย่งยึดที่ดิน” (land grabbing) ซึ่งตลาดทำหน้าที่ “ฟอก” ผืนป่าธรรมชาติ และที่ดินของคนจน ไปสู่มือของคนมั่งมีอย่างชอบธรรม

 

ขบวนการเกษตรกรปกป้องที่ดินทำกินในบราซิล
ที่มาภาพhttp://www.waronwant.org/

บราซิล[4]

บราซิลเป็นประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคเชื้อเพลิงชีวภาพรายใหญ่ของโลก (อันดับ 2 รองจากสหรัฐอเมริกา) เศรษฐกิจของบราซิลอยู่บนฐานการเกษตรซึ่งมีขนาดใหญ่ และมีการเกษตรในรูปแบบนิคมการเกษตรขนาดใหญ่ (plantation) มานาน บราซิลยังเป็นประเทศที่มีขบวนการมวลชน โดยเฉพาะเกษตรกรและแรงงานไร้ที่ดิน ที่เข้มแข็งมีชื่อเสียงระดับโลกด้วย

กรณีศึกษาต่อไปนี้จะกล่าวถึงเหตุการณ์ใน รัฐ เซา เปาโล (Sao Paulo State) ซึ่งเป็นพื้นที่การเกษตรที่สำคัญของประเทศ และได้กลายเป็นแหล่งปลูกพืชพลังงานป้อนอุตสาหกรรมเอทานอล และไบโอดีเซลที่คึกคักอย่างมาก กรณีศึกษามุ่งไปที่อำเภอพอนทอล (Pontal Region) ซึ่งเกิดการขยายตัวของพืชพลังงานภายใต้การส่งเสริมของบริษัทเชื้อเพลิงชีวภาพ ในขณะที่พื้นที่ส่วนหนึ่งในอำเภอนี้เป็นเขตปฏิรูปที่ดินสำหรับเกษตรกรยากจน กระแสพืชพลังงานได้ทำให้เกิดการเผชิญหน้า ระหว่างบริษัทฯ กับชาวบ้านในโครงการปฏิรูปที่ดิน ฝ่ายแรกต้องการขยายพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวป้อนอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ แต่ฝ่ายหลังให้ความสำคัญกับการผลิตพืชอาหารหลากหลายชนิด

ท่ามกลางความขัดแย้ง ในปี ค.ศ. 1995 บริษัทเอกชนรายใหญ่แห่งหนึ่ง ได้เสนอโครงการพัฒนาการเกษตร เพื่อขอการสนับสนุนจากรัฐบาล  โครงการมีแนวคิดสร้างความร่วมมือระหว่างบริษัทกับเกษตรกรในโครงการปฏิรูปที่ดิน ให้เกษตรกรใช้ที่ดินของตนปลูกอ้อยให้แก่บริษัทเพื่อใช้ผลิตเอทานอล ซึ่งต่อมาโครงการได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เนื่องรัฐบาลจากเห็นว่าโครงการจะสร้างงานสร้างรายได้แก่เกษตรกร เกษตรกรมีโอกาสเข้าถึงปัจจัยการผลิต และยังได้รับการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆที่เป็นประโยชน์ รัฐบาลให้การสนับสนุนโครงการนี้ โดยสนับสนุนให้เกษตรกรในโครงการปฏิรูปที่ดินเข้าร่วมโครงการ และให้สินเชื่อผ่านธนาคารแก่เกษตรกร แน่นอนว่าโครงการนี้ถูกต่อต้านจากเกษตรกรในโครงการปฏิรูปที่ดิน อย่างไรก็ตามมีเกษตรกรจำนวนหนึ่งตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ  รัฐบาลประเมินว่าโครงการนี้ประสบความสำเร็จอย่างดี

ในปี 2002 ในขณะที่รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนเชื้อเพลิงชีวภาพ และตลาดมีความต้องการพืชพลังงานมากขึ้น รัฐบาลได้ผลักดันโครงการในลักษณะเดียวกันอย่างจริงจังมากขึ้น ปรากฏว่าในระดับรัฐเซา เปาโล มีเกษตรกรในโครงการปฏิรูปที่ดินเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก ในทำนองเดียวกับโครงการที่ผ่านมา รัฐบาลจะประเมินว่าโครงการประสบความสำเร็จ แต่การสำรวจข้อมูลจากชาวบ้านผู้เข้าร่วมโครงการ  ชาวบ้านจำนวนมากที่แสดงความไม่พอใจว่า ได้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่า เกษตรกรไม่มีโอกาสถือเงินกู้ที่ได้รับการสนับสนุน เพราะบริษัทเป็นผู้บริหารจัดการ ในบางกรณีบริษัทไม่ทำตามข้อตกลง ผัดผ่อน หรือให้ราคาไม่ตรงกับที่ตกลงไว้ ในขณะที่ต้องใช้สารเคมีจำนวนมากขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และดินเสื่อมเต็มไปด้วยมลพิษ         

สถานการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นทั่วไปในอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพของบราซิล แต่กรณีศึกษาในประเทศนี้มีประเด็นน่าสนใจคือ ปฏิกิริยาอันหลากหลายของขบวนการมวลชน คือแทนที่เราจะพบกับเรื่องราวแบบขาว-ดำ ที่ว่าเกษตรกรต้องต่อต้านทุนนิยมเสมอไป เรากลับพบว่าขบวนการมวลชนมีปฏิกิริยาทั้งในด้านที่ต่อต้าน ไปจนถึงสนับสนุน เข้าร่วม ใช้ประโยชน์ และต่อรองกับทุน      

สำหรับ  Via Campesina – Brazil ซึ่งเป็นองค์กรนำของเครือข่ายมวลชน (เกษตรกร แรงงาน แรงงาน คนจน) ที่รู้จักกันในระดับสากล มีจุดยืนคือคัดค้านอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ แต่ก็น่าสนใจว่า  Via Campesina ไม่ได้คัดค้านอย่างปิดตาย  พวกเขาเห็นว่า แม้เชื้อเพลิงชีวภาพจะเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิล แต่การผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ เป็นไปภายใต้ระบบอุตสาหกรรมที่ควบคุมโดยบรรษัทข้ามชาติ เพื่อสนับสนุนระบบบริโภคนิยม และปัจเจกชนนิยม และ ยังส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร ขูดรีดเกษตรกร และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม องค์กรเห็นว่าเชื้อเพลิงชีวภาพเป็นสิ่งจำเป็น แต่ระบบการผลิตควรเป็นไปอย่างอย่างยืน และให้ประโยชน์แก่เกษตรกร ดังนั้นเมื่อพิจารณาให้ดีจะพบว่า Via Campesina ไม่ได้คัดค้านตัวเชื้อเพลิงชีวภาพ แต่คัดค้านระบบอุตสาหกรรมที่เป็นอยู่

ภายใต้ร่มธงนี้ ยังมีปฏิกิริยาที่แตกต่างออกไป ดังกรณีสมาพันธ์แรงงานภาคเกษตรแห่งชาติ (National Confederation of Agricultural Workers – CONTAG[5]) ซึ่งเป็นองค์กรดั้งเดิมระดับชาติของ แรงงานรับจ้างภาคเกษตร และเกษตรกรรายย่อย ในฐานะองค์กรที่มีบทบาทต่อรองและมีอิทธิพลสูงต่อการกำหนดนโยบายของรัฐ องค์กรสนับสนุนอย่างเต็มตัวต่อโครงการเชื้อเพลิงชีวภาพ โดยเห็นว่าโครงการดังกล่าวคือโอกาสที่ดีของเกษตรกร ที่จะยกระดับราคาผลผลิต และมีรายได้จากการจ้างแรงงาน เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ จะได้รับการดูแลจากองค์กรที่ทำหน้าที่เจรจาต่อรองกับรัฐให้ดูแลสภาพการจ้างและการทำตามสัญญาของบริษัทตามเงื่อนไขอย่างเป็นธรรม

กรณีสมาคมสมาพันธ์ครัวเรือนเกษตรกรในนิคมแห่งรัฐเซา เปาโลตะวันตก (Association  of Settled  Family Farmers Federation in Western Sao Paulo State – FAAFOP) เป็นอีกกรณีที่น่าสนใจ  องค์กรนี้ก่อตั้งโดย Jose Rainha Junior อดีตแกนนำคนสำคัญของขบวนการแรงงานไร้ที่ดิน (Landless Worker Movement – MST ซึ่งเป็นแนวร่วมสำคัญของ Via Campesina) Rainha  ขัดแย้งกับองค์กรเดิมจึงแยกตัวออกมาตั้งองค์กรใหม่  FAAFOP ได้ก่อตั้งสหกรณ์ผู้ผลิตไบโอดีเซล และมีเกษตรกรเข้าร่วมค่อนข้างกว้างขวาง ในปี 2008 สหกรณ์ได้รวมกลุ่มขายวัตถุดิบแก่บริษัทผู้ผลิตไบโอดีเซลแห่งหนึ่ง  และสหกรณ์ประสบความสำเร็จในการต่อรองราคาผลผลิตและการสนับสนุนปัจจัยการผลิตจากบริษัท ในปี 2010 สหกรณ์มีโครงการที่จะใช้ผลผลิตวัตถุดิบจำนวนครึ่งหนึ่งของที่สมาชิกผลิตได้แปรรูปไบโอดีเซล โดยโรงงานขนาดเล็กในท้องถิ่นจะเป็นการร่วมหุ้นของสหกรณ์กับบริษัท ความฝันของ Rainha คือการที่สหกรณ์สามารถเป็นหุ้นส่วนกับบริษัทข้ามชาติและรัฐบาล พร้อมกับความสามารถในการพึ่งตัวเอง ในพื้นที่การผลิตของเกษตรกรจะแบ่งพื้นที่ทำการผลิตพืชอาหารหลายชนิด สำหรับไบโอดีเซลที่ผลิตได้ส่วนหนึ่งจะใช้สำหรับเครื่องจักรกลการเกษตรในฟาร์มของเกษตรกร ถึงแม้ว่าโครงการหุ้นส่วนกับบริษัทข้ามชาติจะยังห่างไกลความสำเร็จ แต่กิจการในด้านอื่นๆก็ก้าวหน้าไปไม่น้อย

อีกกรณีหนึ่งคือ ขบวนการเคลื่อนไหวของเกษตรกรรายย่อย (Movement of Small Farmers – MPA) ซึ่งแยกตัวออกมาจาก  MST เช่นกัน  การเคลื่อนไหวของ MPA ได้รับอิทธิพลแนวคิดสหกรณ์ตามแบบ  Rainha  จุดเน้นของกลุ่มคือการสร้างสมดุลระหว่างพืชอาหารและพืชพลังงาน เพื่อความยั่งยืนของชุมชน  สหกรณ์ของ MPA ขายวัตถุดิบแก่บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง และสามารถต่อรองให้บริษัทสนับสนุนการผลิตของสหกรณ์ได้ MPA ได้สร้างตัวแบบอุตสาหกรรมการเกษตรของสหกรณ์  โดยการผลิตอาหารควบคู่กับพลังงานจากพืชหลายชนิด ได้แก่ อ้อย มะเขือเทศ มันสำปะหลัง ข้าวฟ่าง สหกรณ์ผลิตสินค้าหลายอย่างเช่น น้ำตาล กากน้ำตาล(ทำปุ๋ยหรือทำเอทานอล) ขนมหวาน  สุรา อาหารสัตว์ ปุ๋ย และเอทานอล  สหกรณ์นำเสนอตัวตนในฐานะ องค์กรที่ก่อตั้งและควบคุมโดยกลุ่มครัวเรือนชาวนาระดับกลาง สมาชิกมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการแบบประชาธิปไตย ในทุกขั้นตอนตั้งแต่แปลงการผลิตจนถึงตลาด สหกรณ์มีสาขาหลายแห่งกระจายในพื้นที่ของสมาชิก รับซื้อวัตถุดิบ และแปรรูปผลผลิตหลายอย่าง สมาชิกได้รับเงินปันผล และมีการจ้างงานสมาชิกด้วยกันหลายร้อยอัตรา 

สำหรับฝ่ายที่ยืนหยัดต่อต้านเชื้อเพลิงชีวภาพตามจุดยืนของ Via Campesina ได้แก่ MST ซึ่งเป็นเครือข่ายใหญ่ที่มีบทบาทสูง นอกจากนั้นยังมีกลุ่มย่อย เช่น ขบวนการเคลื่อนไหวชาวนาประชานิยม (Popular Peasant Movement – MCP) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับ MPA และแตกตัวออกมาคัดค้านเชื้อเพลิงชีวภาพ  

ส่วน Via Campesina ในปี 2008 ด้วยการมุ่งมันคัดค้านอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ ภายใต้คำประกาศ “ชาวนาผลิตอาหาร แต่เชื้อเพลิงชีวภาพให้ความหิวโหยและยากจน” ทว่าด้วยความตระหนักว่าเครือข่ายสมาชิกจำนวนหนึ่งผลิตพืชพลังงาน/เชื้อเพลิงชีวภาพ   Via Campesina ได้นำเสนอคำประกาศอย่างเป็นทางการว่าด้วย “แนวทางที่สมควรกระทำในการเข้าร่วมกับอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ” เป็นโครงการทดลอง 5 ปี ซึ่งนักวิชาการเห็นว่าคำประกาศนี้สะท้อนให้เห็นการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของขบวนการไปสู่การประนีประนอมกับระบบทุนนิยม แต่ก็ยังคงสาระสำคัญของการปฏิวัติสังคม คำประกาศมีหลักการสำคัญ 6 ประการประกอบด้วย

(1) ในระหว่างที่เกษตรกรเข้าร่วมโครงการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ จะต้องได้รับการผัดผ่อนการชำระหนี้ที่เกิดจากการลงทุนเป็นเวลา 5 ปี (2) ต้องประเมินผลกระทบจากเชื้อเพลิงชีวภาพต่อ ดิน และน้ำ และความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและสังคมตลอดโครงการ (3) การลงทุนจะต้องนำไปสู่การพัฒนาระบบเกษตรกรรมของชาวนา สนับสนุนเครือข่ายทางสังคม และลดการบริโภคนิยม (4) องค์กรชาวนาจะสนับสนุนรัฐบาลและสถาบัน ที่ส่งเสริมการผลิตและการกระจายอาหารที่ช่วยลด carbon footprint, ทำให้เกิดการจ้างแรงงาน, เคารพธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางวัฒนธรรม และช่วยแกไขปัญหาโลกร้อน (5) นโยบายการเกษตรของรัฐควรมุ่งไปสู่การสร้างความยั่งยืนของชุมชน และวิถีชีวิต บนพื้นฐานของอธิปไตยทางอาหาร และการปฏิรูปที่ดินในความหมายที่แท้จริง (6) รูปแบบการพัฒนาและการบริโภคที่มีความรับผิดชอบควรได้รับการส่งเสริมให้ทั่วถึง.

 

การเปลี่ยนผ่านสังคมเกษตรกรรม ?

ในวงวิชาการและวงการพัฒนามีข้อถกเถียงระหว่างสองกระบวนทัศน์ซึ่งไม่เคยลดละ ฝ่ายหนึ่งคือ กระบวนทัศน์ทุนนิยมภาคเกษตร (agrarian capitalist paradigm) อีกฝ่ายคือ กระบวนทัศน์         คำถามว่าด้วยสังคมเกษตรกรรม (agrarian question paradigm) ฝ่ายแรกเห็นว่า การพัฒนาภาคเกษตรก็คือการพัฒนาไปสู่ระบบทุนนิยม โดยการผนวก (inclusion) เกษตรกรเข้าสู่ตลาด ตลาดคือสถาบัน/กลไกที่จะเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพการผลิต ชาวนาควรเปลี่ยนตัวเองไปสู่การเป็นเกษตรกร ทำการผลิตในระบบฟาร์ม ในฐานะผู้ประกอบการการเกษตร ใช้ความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ในทุกสังคมจะมีช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นทุนนิยมการเกษตร ซึ่งอาจเกิดปัญหาไม่พึงประสงค์ แต่จะไปถึงจุดที่ก้าวหน้าได้ในที่สุด แต่ฝ่ายหลังซึ่งเป็นนักคิดเชิงวิพากษ์ กลับตั้งข้อสงสัยกับความเปลี่ยนแปลง โดยสนใจปัญหาความเหลื่อมล้ำและความเป็นธรรมทางสังคมมากกว่า  เพราะเราไม่อาจบอกได้ว่าช่วงเปลี่ยนผ่านจะสิ้นสุดเมื่อใด ดังนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน  จึงสำคัญไม่น้อยกว่าปลายทางที่ต้องการไปให้ถึง 

กรณีศึกษาอินโดนิเซียและบราซิล มีจุดร่วมกันในประเด็นข้อถกเถียงระหว่าง 2 กระบวนทัศน์ โดยมีเชื้อเพลิงชีวภาพ/พืชพลังงานเป็นสื่อกลาง  และสถานการณ์ที่ร่วมกันอีกก็คือ การขยายตัวของอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพภายใต้ระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์ ที่แผ่ขยายจากประเทศทุนนิยมศูนย์กลางแทรกซอนออกไปแสวงหาทรัพยากรและแรงงานราคาถูก ภายใต้ลัทธิเสรีนิยมใหม่ และการอำนวยความสะดวกของรัฐประเทศกำลังพัฒนา แต่ในกรณีศึกษานี้ยังมีข้อค้นพบที่น่าสนใจมากกว่านั้นด้วย

กรณีอินโดนิเซีย การศึกษาทั้งสนับสนุนและล้มล้างสมมุติฐานว่าด้วยบทบาทของตลาด ของฝ่าย agrarian capitalist paradigm ในด้านสนับสนุน การศึกษาแสดงให้เห็นว่า การไม่สามารถเข้าร่วมหรือถูกีดกันจากตลาด (exclusion) ทำให้เกษตรกรไม่สามารถพัฒนาการผลิตและยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ได้  แต่ในด้านที่คัดค้านสมมุติฐานก็คือ การเข้าร่วม (inclusion) กับตลาดไม่จำเป็นว่าจะทำให้ชีวิตชาวบ้านดีขึ้นเสมอไป หากแต่สิ่งที่เกิดขึ้นอาจเป็น การแบ่งแยกทางชนชั้น ความยากจน และการเสื่อมโทรมของทรัพยากร อย่างฉับพลัน

หากวิเคราะห์สาเหตุที่ทำให้การเข้าร่วมกับตลาดเป็นปัญหาอาจกล่าวได้ว่า  ในกรณีของหมู่บ้านศึกษาคือ ปัญหาความเข็มแข็งเชิงสถาบัน (institution) ดังที่ที่ดินของชุมชนได้หลุดจากการควบคุมตามประเพณี  กลายเป็น “สินค้า” ที่ถูกซื้อได้ด้วยเงินโดยไม่มีกฎเกณฑ์กำกับควบคุม การไม่สามารถปรับตัวเชิงสถาบัน อาจเกิดจากสาเหตุแตกต่างกันในแต่ละชุมชน และการไม่สามารถปรับตัวจะเลวร้ายมากขึ้นอีก ในเงื่อนไขที่รัฐไม่รับรองระบบกรรมสิทธิ์ตามประเพณี และการกระแทกเข้ามาอย่างรวดเร็วของตลาดที่ดิน ในกรณีชุมชนตัวอย่างยังเห็นอีกด้วยว่า ตัวแปรสำคัญที่ทำให้สถานการณ์แย่ลงก็คือ ชนชั้นนำในชุมชน ซึ่งแทนที่จะมีบทบาทสร้างความเข้มแข็งทางสถาบัน กลับกลายเป็นผู้หาประโยชน์จากตลาด       

กรณีของบราซิล  การต่อสู้ระหว่าง 2 กระบวนทัศน์สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจน  ในประเทศเกษตรกรรมขนาดใหญ่อย่างบราซิล สำหรับรัฐ การพัฒนาทุนนิยมภาคเกษตร คือคำตอบของการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ในขณะที่ฝ่ายขบวนการเกษตรกรที่ผ่านประสบการณ์ และมีการรวมกลุ่มที่เข้มแข็ง ก็ยืนหยัดวิพากษ์วิจารณ์และต่อรองเชิงนโยบายกับรัฐมานาน การต่อสู้ระหว่างสองกระบวนทัศน์สะท้อนให้เห็นเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน ผ่านการต่อสู้เรื่องอาณาเขตที่ดินระหว่างการใช้ที่ดินเพื่อผลิตพืชเชิงเดี่ยวป้อนอุตสาหกรรมเกษตร กับที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อการยังชีพ และการผลิตที่หลากหลายของเกษตรกร กล่าวในเชิงทฤษฎี กระบวนการลบล้าง – สร้างใหม่ของเขตแดน (de and re – territorialization) เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายและมีพลวัตในชนบท พร้อมกับกระบวนการสูญหาย – เกิดใหม่ของเกษตรกร (de and re – agrarianization) กระบวนทัศน์ที่ต่างกัน ทำให้ต่างฝ่ายต่างคิด กระทำการ สร้างความหมาย  และต่อสู้ในแนวทางที่ต่างกัน    

การต่อสู้ของขบวนการมวลชนยังทำให้เราเห็นอีกว่า สำหรับเกษตรกรในฐานะผู้กระทำการทางสังคม ก็มีความเห็นแตกต่างหลากหลาย และไม่ได้เป็นขบวนการต่อต้านโลกาภิวัตน์ที่เหมือนๆกันไปหมด พวกเขาบางกลุ่มไม่ได้เลือกระหว่างสองขั้วของสองกระบวนทัศน์ แต่พวกเขาสร้างพื้นที่ระหว่างกลางขึ้นมา และพยายามปรับตัวและต่อรองอย่างน่าสนใจ 

ประสบการณ์ทั้งหมดนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทย ที่กำลังถีบตัวขึ้นมาเป็นผู้บริโภคและผู้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพรายสำคัญ.

 




[1]หัวข้อนี้เรียบเรียงจาก  McCarthy, John F., 2010. Process of inclusion and adverse incorporation : oil palm and agrarian change in Sumatra, Indonesia . The  Journal of Peasant Studies. Vol.37, No4. October. Pp. 821-850.  ในกรณีที่มีการอ้างอิงเพิ่มเติม ผู้เขียนต้องการเน้นให้เห็นแหล่งอ้างอิงที่สำคัญ เพื่อประโยชน์สำหรับการค้นคว้าต่อไป

[2]“primitive accumulation by enclosure” Nevins, S. and N.L Peluso. 2008 Taking Southeast Asia to the market : communities, nature, and people in neoliberal age. Cornell University Press. Cited in McCarthy, John F., 2010 pp. 829.

[3] Harvey, D. 2005, A short history of neoliberalism. Oxford : Oxford University Press. pp 64 Cited in  McCarthy, John F., 2010.pp. 839.

[4]หัวข้อนี้เรียบเรียงจาก Fernandes, Bernado Mancano, Clifford Andrew Welch and Elienai Constantino Goncalves. 2010. Agrofuel policys in Brazil : paradamatic and territorial disputes. The  Journal of Peasant Studies. Vol.37, No4. October. Pp 793-819.

[5]อักษรย่อนี้และต่อไปข้างหน้า เป็นอักษรย่อตามภาษาโปรตุเกสซึ่งเป็นภาษาทางการของบราซิล   

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลฎีกาให้ชาวบ้านในพื้นที่โฉนดชุมชนบ้านพรสวรรค์ออกจากเขตป่าสงวน

$
0
0

กรณีชาวบ้านพรสวรรค์ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้ฟ้องข้อหาบุกรุกป่าเมื่อปี 2539 ล่าสุดคดีถึงชั้นศาลฎีกา ศาลมีคำสั่งให้ชาวบ้าน 1 รายออกจากพื้นที่ป่าสงวน ทั้งที่พื้นที่หมู่บ้านอยู่ในขั้นตอนออกโฉนดชุมชน โดนหลังศาลตัดสิน ชาวบ้านได้ยื่นหนังสือขอความช่วยเหลือจากผู้ว่าฯ แล้ว

ที่มาของภาพ: สำนักข่าวประชาธรรม

 

สำนักข่าวประชาธรรม รายงานว่า เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 56 เวลา 10.00 น. ศาลฎีกานัดฟังคำพิจารณาคดีนายมานิตย์ อินตา ชาวบ้านพรสวรรค์ ต.ข่วงเปา อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่กรณีบุกรุกที่ดินตัดฟันโค่นต้นไม้ตามพระราชบัญญัติป่าไม้และพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติณศาลจังหวัดเชียงใหม่ โดยศาลฎีกายืนยันให้นายมานิตย์ อินตา ออกจากพื้นที่เขตป่าสงวน

สำหรับคดีดังกล่าวสืบเนื่องจาก ปี 2539 ชาวบ้านพรสวรรค์กว่า 40 คนถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้ควบคุมตัว และส่งสำนวนฟ้องศาลจังหวัดเชียงใหม่ในข้อหาบุกรุกก่อสร้าง แผ้วถาง ตัดฟันโค่นต้นไม้ในป่าจอมทองและแยกสำนวนการพิจารณาเป็นรายๆ ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาว่าชาวบ้านมีความผิดจริงให้จำคุกทั้ง 40 ราย 6 เดือน แต่มีเหตุให้บรรเทาโทษลดโทษให้เหลือรอลงอาญาไว้ ปี 2542 ชาวบ้านได้เรียกร้องให้กรมป่าไม้จัดสรรพื้นที่ให้ทั้งนี้ ชาวบ้านไม่พอใจในการแก้ไขปัญหาล่าช้าและไม่มีความชัดเจนในการไขปัญหา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าชาวบ้านที่โดนฟ้องร้องคดีมีจำนวน 47 ราย แต่เสียชีวิตแล้ว 12 ราย เหลือ 35 รายล่าสุดวันนี้ศาลฎีกาได้นัดฟังคำพิจารณาคดีห้องพิจารณาคดีที่ 8 ศาลจังหวัดเชียงใหม่ จำเลยนายมานิตย์ อินตา ชาวบ้าน 1 ใน 35 รายที่ยังมีชีวิตศาลพิจารณาตัดสินให้นายมานิตย์ อินตาออกจากพื้นที่บ้านพรสวรรค์ ต.ข่วงเปา อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่

นางคำใส ปัญญามี ประธานโฉนดชุมชนบ้านพรสวรรค์ กล่าวว่า "ตนเป็นบุคคลที่สองที่ศาลจะนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 16 สิงหาคมนี้ตนไม่รู้จะทำอย่างไรหากศาลตัดสินให้ออกจากพื้นที่ไม่รู้ว่าจะย้ายไปอยู่ไหนไม่มีที่ไปเพราะตนอยู่ในหมู่บ้านพรสวรรค์มาตั้งแต่เกิดไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็พร้อมจะสู้ให้ถึงที่สุด"

ทั้งนี้ชาวบ้านประมาณ 50 คนได้ยื่นหนังสือเรียกร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ช่วยประสานงานและสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ชะลอและยุติการดำเนินการใดๆ ในพื้นที่บ้านพรสวรรค์หมู่ที่ 14 ต.ข่วงเปา อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่โดยมีนายเจริญฤทธิ์ สงวนศักดิ์รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เป็นตัวแทนรับมอบหนังสือและรับปากจะดำเนินการช่วยเหลือชาวบ้านต่อไป

สำหรับบ้านพรสวรรค์ ม.14 ต.ข่วงเปา อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ทิศเหนือติดกับ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ทิศใต้ติดกับ บ้านอังครักษ์ ม.14 ต.ข่วงเปา อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ทิศตะวันออกติดกับ ป่าสงวนแห่งชาติแม่วาง ทิศตะวันตกติดกับ บ้านอังครักษ์ (ใหม่) ม.15 ต.ข่วงเปา อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่

ชาวบ้านได้เริ่มเข้ามาแพ้วถางครั้งแรก 5 ครัวเรือน เมื่อปี พ.ศ.2517 จากนั้นก็มีครอบครัวในหมู่บ้านใกล้เคียงที่ไม่มีที่ดินหรือมีที่ดินไม่เพียงพอเข้ามาอยู่อีก 42 ครัวเรือน รวมเป็น 47 ครัวเรือนในปี 2526 ปัจจุบันมีทั้งหมด 62 ครัวเรือน เริ่มแรกชื่อบ้าน "ห้วยทางเลี้ยว" จากนั้นปี พ.ศ.2539 เปลี่ยนเป็นชื่อ "บ้าน 47 ราย" เนื่องจากในปีนี้ชาวบ้านทั้งหมดในหมู่บ้านทั้ง 47 ครัวเรือนถูกจับดำเนินคดีในข้อหาบุกรุก จากนั้นในปี พ.ศ.2542 ได้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านเป็น "บ้านพรสวรรค์" และได้ทะเบียนบ้านชั่วคราวเมื่อปี พ.ศ. 2549 ในการเข้ามาแผ่วถางครั้งแรกนั้นเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติที่มีลักษณะเป็นป่าเสื่อมโทรม มีลักษณะเป็นที่รกร้าง ไม่มีต้นไม้ใหญ่ปกคลุม ชาวบ้านที่เข้ามาครอบครัวแรกๆ นั้น เข้ามาแผ่วถางเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยและปลูกพืชผักล้มลุก เช่น กล้วย พริก ฝ้าย ถั่วลิสง เป็นต้น โดยอาศัยน้ำฝน พอช่วงฤดูแล้งก็จะหยุดทำ

โดยปัจจุบันหมู่บ้านดังกล่าว อยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหาด้วยการดำเนินการตามนโยบายโฉนดชุมชน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผบช.น. เปิดเผยว่าได้เข้าเฝ้าฯ ถวายรายงาน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ

$
0
0

"พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง" เผย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ รับสั่งให้ ผบ.ตร. และ ผบช.น. ได้เข้าเฝ้าฯ ถวายรายงานสถานการณ์ เนื่องจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถานซึ่งมีอาณาบริเวณติดกับรัฐสภา

เอเอสทีวี ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า เมื่อวานนี้ (6 ส.ค.) เมื่อเวลา 21.15 น. ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ช่วงหัวค่ำที่ผ่านมา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงรับสั่งให้ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. ตน และ พล.ต.ต.ฉันทวิทย์ รามสูต รอง ผบช.น. ที่รับผิดชอบด้านการวางกำลัง เข้าเฝ้าฯ และถวายรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์ต่างๆ เนื่องจากปัจจุบันสมเด็จพระบรมโอสาธิราชฯ ประทับอยู่ ณ พระที่นั่งอัมพรสถานซึ่งมีอาณาบริเวณติดกับรัฐสภา

โดย ผบช.น. เปิดเผยว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงเป็นห่วง ทั้งยังมีพระเมตตาแนะนำแนวทางการปฏิบัติ โดยทรงเป็นห่วงเจ้าหน้าที่ที่ได้ทำปฏิบัติหน้าที่อยู่บริเวณดังกล่าว รวมถึงประชาชนผู้เข้าร่วมชุมนุม

"เนื่องจากใกล้บริเวณที่พระองค์ท่านประทับอยู่ แล้วก็พระองค์ท่านก็จะออกมาทรงจักรยานออกกำลังพระวรกาย ซึ่งเราก็ยืนยันไปแล้วว่าทุกอย่าง ในส่วนของเจ้าหน้าที่ทั้งหมดจะไม่ทำให้ทุกอย่างระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท หากเกิดเหตุรุนแรง ยืนยันว่าไม่ได้เกิดจากตำรวจอย่างแน่นอน ทุกอย่างจะต้องจบด้วยการเจรจา" ผบช.น. ระบุ

เมื่อผู้สื่อข่าวถาม ผบช.น. ว่า พระองค์ท่านทรงตรัสแสดงกังวลเรื่องเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองหรือไม่ ผบช.น. ตอบว่า พระองค์ท่านทรงห่วงใย หากเกิดการกระทบกระทั่งเกิดขึ้น พระองค์จะไม่สบายพระหฤทัย

นอกจากรายงานของเอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ แล้ว เดลินิวส์ก็รายงานข่าวดังกล่าวเช่นกัน โดยรายงานคำพูดของ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ที่กล่าวว่า พระองค์ท่านทรงห่วงใย หากเกิดการกระทบกระทั่งเกิดขึ้น พระองค์จะไม่สบายพระหฤทัย และขอทุกอย่างจบด้วยการพูดคุยกัน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: กาฬปทุม

$
0
0

 

๐ ปทุมฯแดนพุทธถ้วน....พิงธรรม

อภัยทานเขตคำ............กล่าวเน้น

พุทธชนปฏิบัตินำ...........ยึดเหนี่ยว

ศานติสุขทุกข์เร้น...........ร่วมล้วนธรรมสถาน

 

๐ ใดหาญใดโหดเหี้ยม....ใดหา

ปืนส่องยิงประชา............ส่ำผู้

กากเดนนรกระอา...........สวรรค์โอด

ใครสั่งใครรับ,รู้..............นั่นแล้วทำไฉน

 

๐ อภัยเพียงเพราะพ้อง....ภัยเมือง

การณ์จบยุติเคือง...........ขุ่นแค้น

นำชาติจรุงเรือง.............คืนเหล่า

ยังสยามแสยะแม้น.........มากม้วยโดยประหาร

 

๐ หลักฐานมัดแน่นแท้.....ทหารยิง-

หกศพ,วันโหดสิง...........ห่าซ้ำ

ผิดบาป บ่ มีจริง.............จึงนิร- โทษฤา

ยุติธรรมยุติ,ย้ำ..............อยู่ใต้เมืองมาร ฯ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดคำสั่งศาลโดยย่อ ทำไม ‘6 ศพวัดปทุมฯ เสียชีวิตจากทหาร’

$
0
0

ชวนอ่านคำสั่งศาลคดี 6 ศพ วัดปทุมโดยย่อ แสดงเหตุผลว่าทำไมทั้ง 6 เสียชีวิตจากทหาร ในมือของทั้ง 6 ไม่มีเขม่าดินปืน ไม่เชื่อว่ามีการตรวจยึดอาวุธในวัดปทุมฯจริง และไม่มีชุดดำ ในคำสั่งศาลคดีดังกล่าว 

6 ส.ค.56 เวลา 9.30 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้ อ่านคำสั่งในคดีหมายเลขดำที่ ช.5/2555 ณ วันที่ 6 สิงหาคม 2556 ที่อัยการได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลทำการไต่สวนการตายของ นายสุวัน ศรีรักษา ผู้ตายที่ 1 นายอัฒชัย ชุมจันทร์ ผู้ตายที่ 2 นายมงคล เข็มทอง ผู้ตายที่ 3 นายรพ สุขสถิต ผู้ตายที่ 4 นางสาวกมนเกด อัคฮาด ผู้ตายที่ 5 นายอัครเดช ขันแก้ว ผู้ตายที่ 6 ศาลได้ประกาศไต่สวนตามระเบียบแล้วนับแต่ญาติของผู้ตายได้ยื่นคำร้องขออนุญาตซักถามและขอนำพยานนำสืบ โดยประชาไทสรุปคำสั่งที่ศาลได้อ่านในวันนี้เพื่อหาเหตุผลที่ศาลมีคำสั่งว่าผู้ตายทั้ง 6 เสียชีวิตเนื่องมาจากถูกยิงด้วยกระสุนปืนขนาด .223 หรือ 5.56 มม. ซึ่งวิถีกระสุนปืนยิงมาจากเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยอยู่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส หน้าวัดปทุมวนารามราชวรวิหารและบริเวณถนนพระรามที่ 1 ซึ่งเข้าควบคุมพื้นที่บริเวณแยกราชประสงค์ตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ.

รวมไปถึงข้อสรุปของศาลที่ว่า ผู้ตายทั้ง 6 ไม่มีคราบเขม่าดินปืนที่มือทั้งสองข้าง แสดงว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธปืนมาก่อนการเสียชีวิต การตรวจยึดอาวุธในวัดปทุมวนาราม ไม่น่าเชื่อว่ามีการตรวจยึดจริง และ กรณีชายชุดดำ ไม่ปรากฏว่ามีชายชุดดำอยู่ในบริเวณดังกล่าว ดังนี้

 

กว่าจะถึง 19 พ.ค. 53 ที่วัดปทุมฯ

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานของผู้ร้องและญาติของผู้ร้องโดยตลอดแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นที่ยุติว่า เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2553 ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 มีการชุมนุมทางการเมืองของประชาชนเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ใช้ชื่อว่า กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ได้มีการจัดชุมนุมทางการเมืองอย่างต่อเนื่องและได้มีการขยายบริเวณการชุมนุมตั้งแต่สะพานผ่านฟ้าลีลาศไปถึงบริเวณสี่แยกราชประสงค์ ถนนเพลินจิต ถนนพระราม 1 ถนนพระราม 4 เพื่อเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ ในขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรและให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยวันที่ 7 เมษายน 2553 นายกฯ ได้ประกาศภาวะฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี จังหวัดสมุทรปราการ ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอบางพลี อำเภอพระประแดง อำเภอพระสมุทรเจดีย์ อำเภอบางบ่อ อำเภอบางเสาธง จังหวัดปทุมธานี อำเภอธัญบุรี อำเภอลาดหลุมแก้ว อำเภอสามโคก อำเภอลำลูกกา อำเภอคลองหลวง จังหวัดนครปฐม อำเภอพุทธมณฑล และ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อำเภอวังน้อย อำเภอบางปะอิน อำเภอบางไทร อำเภอลาดบัวหลวง ทั้งยังออกคำสั่งจัดตั้งศูนย์อำนวยการเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองนายกฯ เป็นผู้อำนวยการ และมีข้าราชการทหาร ตำรวจ และพลเรือนเป็นผู้ช่วย และยังแต่งตั้งนายสุเทพ เป็นผู้อำนวยการปฏิบัติการ และหัวหน้าผู้รับผิดชอบ

ปัญหาจะต้องวินิจฉัยประการแรกว่า ผู้ตายทั้ง 6 คือใคร ได้ความจากญาติของผู้ตายทั้ง 6 ได้มีการนำสืบจากเอกสารใบมรณบัตร ประกอบกับการไต่สวน คดีจึงฟังได้ว่า ผู้ตายที่ 6 ชื่อนายสุวัน ศรีรักษา ผู้ตายที่2 ชื่อนายอัฒชัย ชุมจันทร์ ผู้ตายที่ 3 ชื่อนายมงคล เข็มทอง ผู้ตายที่ 4 ชื่อนายรพ สุขสถิต ผู้ตายที่ 5 ชื่อนางสาวกมนเกด อัคฮาด ผู้ตายที่ 6 อ นายอัครเดช ขันแก้ว

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า ผู้ตายทั้ง 6 ตายที่ไหน เมื่อไร อย่างไร เหตุการณ์ที่ตายเป็นอย่างไร ใครเป็นผู้กระทำร้ายผู้ตายเท่าที่จะทราบได้ ตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 วรรค 5

 

ร่องรอย บาดแผล คราบเลือด วิถีกระสุน

สำหรับผู้ตายที่ 1, 3 ,4 ,5 ,6 ได้ความจากพยานหลายปาก รวมทั้งพยานผู้เชี่ยวชาญหลายปากเห็นว่า แม้ผู้ร้องและญาติของผู้ตายที่ 1,3 ถึงที่ 6 จะไม่ประจักษ์พยานในขณะที่ผู้ตายที่ 1,3 ที่ 6 ถูกกระสุนจากอาวุธจากผู้ใด แต่ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางวัน และผู้ร้องมีพยานทุกปากซึ่งเป็นประจักษ์พยานเบิกความยืนยันถึงรายละเอียดของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการตายของผู้ตายที่ 1,3 ถึงผู้ตายที่ 6 อย่างละเอียดทุกขั้นตอน ได้อย่างสอดคล้องต้องกัน เริ่มตั้งแต่จุดตำแหน่งของพยานแต่ละคนที่เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อมทั้งได้ยินเสียงปืนดังขึ้นมาบนรางรถไฟฟ้าบีทีเอสหน้าวัดปทุมฯ กระทั่งจุดตำแหน่งของผู้ตายที่ 1 และผู้ตายที่ 3 ถูกยิง โดยเฉพาะพยานปากสำคัญ นายธวัช แสงทน และนายศักดิ์ชาย แซ่ลี้ ที่เข้าไปช่วยนำพผู้ตายที่ 1 และ 2 ตามลำดับ เข้ามาปฐมพยาบาลในเต็นท์ตามแผนที่เกิดเหตุในเอกสาร ส่วนพยานปากนางสาวนัฏธิดาและผู้ตายที่ 3 ได้ช่วยกันปฐมพยาบาลผู้ตายที่ 2 ก่อนถึงแก่ความตายภายในเต็นท์พยาบาล โดยจุดตำแหน่งที่ผู้ตายที่ 1, 3 ถึงผู้ตายที่ 6 ถูกยิงตามที่พยานทุกปากยืนยันสอดคล้องกับรายงานผลการตรวจที่เกิดเหตุของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เมื่อวันที่  20 พ.ค. พบคราบเลือดบนพื้นปูนซีเมนต์ด้านหลังสหกรณ์และบนพื้นใกล้ประตูทางออก  จากการตรวจพิสูจน์พบว่า คราบโลหิตดังกล่าวเป็นของผู้ตายที่ 4 กับคราบโลหิตบนฟูกนอนสีชมพู และคราบโลหิตติดอยู่ที่โทรโข่งบนโต๊ะสีขาวภายในเต็นท์ผ้าใบสีขาว จากการตรวจพิสูจน์พบว่า คราบโลหิตดังกล่าวเป็นของผู้ตายที่ 6 กับคราบโลหิตบนพื้นใกล้โต๊ะสีขาว ภายในเต็นท์ จากการตรวจพิสูจน์พบว่าคราบโลหิตดังกล่าวเป็นของผู้ตายที่ 3

นอกจากนี้เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ออกไปตรวจที่เกิดเหตุคือวัดปทุมวนารามเมื่อวันที่ 21 พ.ค.53 พบคราบโลหิตมนุษย์บริเวณถนนทางออกด้านหน้าวัด จำนวน 2 จุด แต่ละจุดห่างจากกำแพงแนววัด 5.3 และ 6.7 เมตรตามลำดับ และห่างจากแนวอาคารสหกรณ์ประมาณ 5.2 และ 3.2 เมตรตามลำดับ  กับพื้นที่เกิดเหตุด้านหลังสหกรณ์ใกล้ประตูทางออกด้านหน้าวัดจำนวน 1 จุด ห่างจากแนวรั้วกำแพงประมาณ 8 เมตร กับบริเวณพื้นขั้นบันไดคอนกรีตทางขึ้นสหกรณ์ใกล้ประตูทางออกหน้าวัดอีก 1 จุด ห่างจากแนวกำแพงหน้าวัดประมาณ 8 เมตร จุดตำแหน่งเหล่าตรงกับถ้อยคำของพยานผู้ร้องที่ยืนยันว่าผู้ตายถูกยิง ด้วยผลการตรวจคราบโลหิตของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์แล้วเชื่อว่าผู้ร้อง พยานผู้ร้องทั้ง 6 ปากเห็นเหตุการณ์ในขณะที่ผู้ตายที่ 1,3 ถึงผู้ตายที่ 6 ถูกยิงจริง ส่วนทิศทางของวิถีกระสุนปืนที่ยิงผู้ตายที่ 1, 3 ถึงผู้ตายที่ 6 นั้น ได้ความจากพยานปาก พล.ต.ต.นพ.พรชัย สุธีรคุณสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เบิกความว่า พยานเป็นแพทย์ผู้ทำการผ่าพิสูจน์ศพผู้ตายที่ 3 ถึงที่ 6 เพื่อทำการหาสาเหตุการตาย ผลจากการตรวจพิสูจน์พบว่า

ผู้ตายที่ 3 มีบาดแผลฉีกขาดเป็นรูปทรงกลมบริเวณต้นแขนซ้าย 2 แห่ง ขนาด 1x2.5 ซม. และขนาด 0.8x0.5 ซม. บาดแผลทะลุผิวหนังบริเวณทรวงอกด้านซ้าย ขนาด 3.2x1 ซม. สาเหตุการตายเกิดจากบาดแผลกระสุนปืนทำลายปอด หัวใจ และตับ พบเศษทองแดงในเสื้อ เศษตะกั่วเล็กๆ ในปอดและหัวใจ ทิศทางมาทางซ้ายไปขวา หน้าไปหลัง บนลงล่าง

ผู้ตายที่ 4 มีบาดแผลผิวหนังทะลุบริเวณต้นแขนขวาด้านนอก รูปลี ขนาด 0.6x5 ซม. ต่ำจากบ่า 17 ซม. บาดแผลต้นแขนขวาด้านใน และบาดแผลผิวหนังทะลุบริเวณทรวงอกด้านขวา ขนาด 3.5x2.5 ซม. ต่ำจากบ่า 21 ซม. บาดแผลถลอกบริเวณกว้างหน้าท้องด้านขวา โหนกแก้มขวา ใต้คางขวา ริมฝีปากซ้าย สาเหตุการตายเกิดจากบาดแผลกระสุนปืนทำลายปอด ตับ พบเศษทองแดง 2 ชิ้นบริเวณขั้วลิ้นลำไส้ ทิศทางขวาไปซ้าย หน้าไปหลัง บนลงล่าง

ผู้ตายที่ 6 มีบาดแผลผิวหนังทะลุบริเวณก้นด้านขวา 2 แห่งทะลุถึงกัน ขนาด 0.8x0.5 ซม.  และ 0.9x0.7 ซม. บาดแผลทะลุบริเวณก้นด้านซ้ายขนาด 0.8x0.4 ซม. บาดแผลผิวหนังทะลุหลังด้านซ้ายส่วนล่าง 2 แห่ง 0.7x 1.2 ซม. บาดแผลผิวหนังทะลุบริเวณต้นแขน ขวาด้านนอก ขนาด 1x0.5 ซม. บาดแผลฉีกขาดบริเวณไหล่ขวา 4.5x3 ซม. บาดแผลฉีกขาดบริเวณใบหน้าด้านขวาขนาด 5.3 ซม. บาดแผลฉีกขาดบริเวณโคนนิ้วชี้ซ้าย สาเหตุการตายเกิดจากเลือดออกใต้เยื้อหุ้มสมองชั้นนอก เนื้อสมองช้ำ  จากการถูกแรงกระแทกเกิดจากบาดแผลกระสุนปืนทะลุเข้าไปในช่องปาก ถูกยิง 2 นัด

และได้ความจากพยานปากแพทย์สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ พ.ต.ท.นพ.ปกรณ์ วะศินรัตน์ ที่พิสูจน์ศพผู้ตายที่ 1 และ 5 พบว่า

ผู้ตายที่ 1 มีบาดแผลฉีกขาดรูปวงลี ขนาด .7x.5ซม. บริเวณไหล่ซ้ายด้านหน้า บาดแผลฉีกขาดรูปวงกลมขนาด .5 ซม.  บริเวณสะโพกด้านซ้าย บาดแผลฉีกขาดขอบไม่เรียบใกล้กับรูทวารหนักขนาด 1.7x0.5 ซม. บาดแผลฉีกขาดขนาด 0.7x0.5 ซม. บริเวณต้นขาซ้ายด้านนอก บาดแผลฉีกขาดขนาด 0.8x0.5 ซม. บริเวณขาหนีบด้านซ้าย บาดแผลฉีกขาดรูปขนาด ขนาด 4.3 ซม. บริเวณโคนอวัยวะเพศ และบาดแผลฉีกขาดรูปวงรีบริเวณโคนข้อเท้าขวาด้านในและด้านนอก และหลังเท้า สาเหตุการตายเกิดจากบาดแผลกระสุนปืนทะลุปอดและหัวใจ เสียโลหิตปริมาณมาก พบเศษโลหะคล้ายหัวกระสุนปืนทองแดงบริเวณกล้ามเนื้อชายโครงด้านขวา ทิศทางซ้ายไปขวา บนลงล่าง  หลังไปหน้าเล็กน้อย

ผู้ตายที่ 5 มีบาดแผลฉีกขาด ขนาด 0.7x0.5 ซม. บริเวณหลังด้านขวา บาดแผลฉีกขาดรูปวงรีขนาด 0.7x0.5 ซม. บริเวณสีข้างด้านขวา สาเหตุการตายเกิดจากบาดแผลกระสุนปืนทำลายสมองและบริเวณศีรษะ ตรงฐานกระดูกด้านซ้ายมีรูแตก ทะลุสมองฉีกขาดเล็กน้อยและสมองใหญ่ซีกซ้ายมีเลือดออกเป็นแผล พบชิ้นส่วนโลหะคล้ายลูกกระสุนปืนลูกทองแดง ในกระโหลกศีรษะด้านขวา ทิศทางจากล่างขึ้นบน หลังไปหน้า

ประเด็นเกี่ยวกับวิถีกระสุนนี้ได้ความจากพยานปาก พ.ต.ท.สุรนาท วงศ์พรหมชัย กลุ่มงานตรวจสถานที่เกิดเหตุ กองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เบิกความว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 21-29 พ.ค.53 พยานได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่กลุ่มงานตรวจสถานที่เกิดเหตุ ในวัดปทุมวนาราม พร้อมทั้งบริเวณด้านหน้าวัด พบรอยลักษณะคล้ายถูกยิงด้วยลูกกระสุนปืนบริเวณพื้นถนนทางออกและทางเข้าหน้าวัดจำนวนมาก

พ.ต.ท.ธีรนันท์ นคินทร์พงษ์ เจ้าหน้าที่กลุ่มงานตรวจอาวุธและกระสุนปืน กองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เบิกความโดยสรุปว่าได้ตรวจรอยกระเทาะที่พื้นถนนดังกล่าว เชื่อว่ารอยทั้งหมดถูกยิงด้วยกระสุนปืนไม่ทราบชนิด จากด้านหน้าไปด้านหลัง จากขวาไปซ้าย ทำมุมกดลง ส่วนรอยถูกยิงที่บริเวณอาคารมูลนิธิสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร เชื่อว่า ถูกยิงด้วยกระสุนปืนไม่ทราบชนิด จำนวน 2 นัด โดยยิงจากภายนอกเข้าสู่ภายในวัด จากด้านหน้าไปด้านหลัง 

จากการตรวจสถานที่เกิดเหตุทั้งภายในวัดและบริเวณด้านนอกจนถึงบริเวณรถไฟฟ้าบีทีเอส พบว่าภายในวัดมีร่องรอยกระสุนปืน 23 รอย ร่องรอยกระสุนปืนบริเวณประตูทางออกวัดจำนวน 10 รอย ประตูทางเข้า 2 รอย บริเวณแผ่นป้ายโฆษณา 3 รอย ทั้งนี้ 15 รอยนั้น เกิดจากแนววิถีกระสุนที่ยิงมาจากบนลงล่าง  พยานยืนยันว่าน่าจะยิงลงมาจากบริเวณรถไฟฟ้าบีทีเอส ชั้นที่ 1 หรือ ชั้นที่ 2 ด้านหน้าวัด

เมื่อพิจารณาจากผลการผ่าพิสูจน์ศพผู้ตายของแพทย์ รายงานการตรวจสถานที่เกิดเหตุของผู้เชี่ยวชาญ ประกอบกับได้ความว่าด้านหลังของรางรถไฟฟ้าบีทีเอสตรงข้ามกับวัดนั้น มีอาคารของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพียงอาคารเดียว และอยู่ห่างจากรถไฟฟ้าดังกล่าวประมาณ 100 เมตรเศษ จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีบุคคลใดใช้อาวุธปืนยิงจากอาคารสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มายังที่เกิดเหตุภายในวัดปทุมฯ เนื่องจากหากยิงมาจากอาคารดังกล่าว วิถีกระสุนจะต้องผ่านรถไฟฟ้าบีทีเอส จึงเชื่อว่า ทิศทางของแนววิถีกระสุนที่ยิงผู้ตายที่ 1 ผู้ตายที่ 3-6  ยิงมาจากบนรางรถไฟฟ้าบีทีเอสหน้าวัดปทุมฯ ส่วนผู้ตายที่ 5-6 แม้แพทย์ผู้ผ่าพิสูจน์จะลงความเห็นว่า บาดแผลของผู้ตายที่ 5 มาจากทิศทางล่างขึ้นบน หลังไปหน้า บาดแผลของผู้ตายที่  6 ไม่สามารถระบุถึงทิศทางกระสุนปืนที่ยิงได้ก็ตาม เนื่องจากทางเข้าของกระสุนรวมถึงตำแหน่งพบตะกั่วในร่างกายสั้นมากก็ตาม

แต่เมื่อพิจารณาจากภาพถ่าย จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าในขณะที่ผู้ตายที่ 5 และ 6 ถูกยิงนั้น ผู้ตายที่ 5 และ 6 กำลังคุกเข่า ก้มลงกับพื้นโดยหันหน้าเข้าไปในวัด จึงเป็นเหตุให้ดูเสมือนหนึ่งว่าทิศทางวิถีกระสุนที่ยิงมายังผู้ตายที่ 5 และ 6 นั้น ยิงมาจากล่างขึ้นบน  และหลังไปหน้า

 

เสียงปืนดังตรงจุดที่เจ้าพนักงานอยู่บนรางรถไฟฟ้า และไม่มีท่าทีหลบกระสุน

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า บุคคลใดที่อยู่บนรางรถไฟฟ้าหน้าวัดปทุมฯ ประเด็นนี้ได้ความจากพยานปาก   ส.ต.ท.อดุลย์ พรหมนอก เจ้าหน้าที่ตำรวจสังกัดกองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 2 สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ด.ต.สุชาติ ขอมปวน เจ้าพนักงานตำรวจสังกัดกลุ่มงานบริหารจัดการระบบคอมพิวเตอร์หรือเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ด.ต.อานนท์ ใจก้อนแก้ว เจ้าพนักงานตำรวจ กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน 31 พิษณุโลก เป็นพยานเบิกความทำนองเดียวกันว่า เมื่อวันที่ 19 พ.ค.53 พยานได้รับคำสั่งปฏิบัติหน้าที่เป็นหน่วยปราบจลาจล  กองกำลังสนับสนุน ขณะนั้นเวลา 17.30น. พยานทั้งสามอยู่ภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชั้นที่ 12 อาคาร 19 ในส่วนดาดฟ้า พยานทั้งสามเห็นเหตุเกิดเพลิงไหม้ที่ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ พร้อมทั้งได้ยินเสียงปืนดังขึ้นเป็นระยะบริเวณหน้าวัดปทุมฯ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พยานได้ใช้กล้องถ่ายรูปบริเวณรางรถไฟฟ้าบีทีเอสชั้น 1 และชั้น 2 บริเวณหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติและหน้าวัดปทุมฯ เห็นเจ้าพนักงานบนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส ซึ่งต่อมาใช้อาวุธปืนเล็งไปภายในวัด ในลักษณะเตรียมยิง โดยไม่มีเหตุการณ์ต่อสู้กับบุคคลใดๆ จากนั้น พยานทั้งสามได้ยินเสียงปืนดังตรงจุดที่เจ้าพนักงานอยู่บนรางรถไฟฟ้า และไม่มีท่าทีหลบกระสุน

 

ทหารบนราง BTS เบิกความรับยิงไปบริเวณวัดปทุมฯ

ประเด็นนี้ พยาน  พ.ท.นิมิตร วีระพงษ์  จ.ส.อ.สมยศ ร่มจำปา ส.อ.เดชาธร มาขุนทด  ส.อ.ภัทรนนท์ มีแสง ส.อ.สุนทร จันทร์งาม ส.อ.ญ.สาวตรี สีนวล  ส.อ.ชัยวิชิต สิทธิวงษา ส.อ.วิทูรย์ อินทำ  เจ้าพนักงานซึ่งเป็นทหารสังกัดกองพันจู่โจม กรมรบพิเศษ 3 ค่ายเอราวัณ จ.ลพบุรี เบิกความว่า เมื่อวันที่ 19 พ.ค.53 พยานกับผู้ใต้บังคับบัญชาทั้ง 8 รายได้รับคำสั่งจาก ศอฉ.ให้ไปประจำบนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส หน้าสนามกีฬาแห่งชาติ โดยมีหน้าที่ระวังคุ้มกันเจ้าพนักงานซึ่งเป็นทหารสังกัดกรมทหารราบที่ 31 กองพันที่ 2 รักษาพระองค์ ประจำบริเวณพื้นถนนพระรามที่ 1 พ.ท.นิมิตร เป็นหัวหน้าชุดใช้อาวุธปืน M16A4 เป็นอาวุธประจำกาย ส่วนผู้ใต้บังคับบัญชา ใช้อาวุธปืน M16A2 พ.ท.นิมิตรกับผู้ใต้บังคับบัญชาอีกหนึ่งนายประจำอยู่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอสชั้นที่ 2 ส่วนผู้ใต้บังคับบัญชา ประกอบด้วย  จ.ส.อ.สมยศ  ส.อ.เดชาธร  ส.อ.ภัทรนนท์  ส.อ.สุนทร   ส.อ.เกรียงศักดิ์  ส.อ.ชัยวิชิต  ส.อ.วิทูรย์  ประจำอยู่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอสชั้นที่ 1 ตั้งแต่สถานีรถไฟฟ้าหน้าสนามกีฬาแห่งชาติถึงหน้าวัดปทุมวนารามด้วย กระทั่งเมื่อเวลา 15.00น. พ.ท.นิมิตรกับผู้ใต้บังคับบัญชาได้ร่วมปฏิบัติหน้าที่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอสชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 บริเวณแยกปทุมวัน มุ่งหน้าสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสยาม ขณะนั้นมีชาย 2 คนใช้อาวุธปืนยิงใส่เจ้าพนักงานชุดของพยานโดยแจ้งว่า ทั้งสองคนยืนตรงแยกเฉลิมเผ่า ผู้ใต้บังคับบัญชาได้ใช้อาวุธปืนประจำกายยิงไปที่รถ 6 ล้อ ที่จอดอยู่ที่แยกเฉลิมเผ่าและบริเวณตอม่อเสารถไฟฟ้าบีทีเอสแยกเฉลิมเผ่า  เกาะกลางถนนพระรามที่ 1 ขณะนั้น เจ้าพนักงานซึ่งเป็นทหารสังกัดกรมทหารราบที่ 31 กองพันที่ 2  ประจำการอยู่ที่แยกปทุมวัน ถ.พระราม 1 ได้เคลื่อนกำลังพร้อมกับเจ้าหน้าที่ทหารหน่วยของพยานบนพื้นถนนพระรามที่ 1 ในลักษณะพร้อมกัน

จนกระทั่งเวลา 18.00 พยานกับผู้ใต้บังคับบัญชาได้เคลื่อนกำลังจากสถานีรถไฟฟ้าสยามเรื่อยไปจนบริเวณลานรถไฟฟ้าบีทีเอสหน้าวัดปทุมฯ ผู้ใต้บังคับบัญชาของพยานจำนวน 7 นาย ประจำการอยู่บนรถไฟฟ้าบีทีเอสชั้นที่ 1 หน้าวัดปทุม จ.ส.อ.สมยศ ได้ใช้อาวุธปืนประจำกายยิงไปที่บริเวณตอม่อรถไฟฟ้าบีทีเอส ตรงเกาะกลางถนนพระราม 1 จำนวน 4-5 นัด และบริเวณกำแพงด้านนอกวัดปทุม 1 นัด โดยอ้างว่าเห็นชายชุดดำบริเวณดังกล่าว ส.อ.เกรียงศักดิ์ ใช้อาวุธปืนประจำกายยิงไปที่บริเวณที่สังเกตเห็นชายชุดดำยืนอยู่ จำนวน 14 นัด ส.อ.ชัยวิชิต ได้ใช้อาวุธปืนประจำกายยิงขึ้นฟ้าจำนวน 4 นัด ส.อ.วิทูรย์ ได้ใช้อาวุธปืนประจำกายยิงที่บริเวณตอม่อเสารถไฟฟ้าบีทีเอสหน้าวัดปทุมฯ 4-5 นัดและบริเวณท้ายรถยนต์ซึ่งจอดที่บริเวณลานจอดรถของวัด 1-2 นัด พร้อมทั้งตะโกนให้ออกมาจากใต้รถและถอดเสื้อ ส.อ.ภัทรนนท์ได้ใช้อาวุธปืนยิงที่บริเวณกำแพงด้านนอกของวัด ส.อ.เกรียงศักดิ์ได้ใช้อาวุธปืนประจำกายยิงที่บริเวณพื้นถนนหน้าวัด 4 นัด

ส.อ.ภัทรนนท์ ได้ใช้อาวุธปืนประจำกายยิงไปที่กำแพงด้านนอกของวัด ส.อ.เกรียงศักดิ์ได้ใช้อาวุธปืนประจำกายยิงไปที่บริเวณพื้นถนนหน้าวัดจำนวน 4 นัด นอกจากนี้เมื่อพิจารณาภาพถ่ายและภาพเคลื่อนไหวแสดงให้เห็นว่าบนรางรถไฟฟ้าบีทีเอสหน้าวัดปทุมวนารามไม่มีบุคคลใดอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวนอกจากเจ้าพนักงานซึ่งเป็นทหารสังกัดกองพันจู่โจม กรมรบพิเศษที่ 3 ค่ายเอราวัณ จ.ลพบุรี โดยมีพ.ท.นิมิตรกับผู้ใต้บังคับบัญชาเท่านั้น เชื่อว่าพ.ท.นิมิตร วีระพงษ์ ประจำการอยู่บนรถไฟฟ้าชั้นที่สอง โดยมีส.อ.สมยศ ร่มจำปา ส.อ.เดชาธร มาขุนทด ส.อ.ภัทรนนท์ มีแสง ส.อ.สุนทร จันทร์งาม ส.อ.เกรียงศักดิ์ สีบุ ส.อ.ชัยวิชิต สิทธิวงษา ส.อ.วิทูรย์ อินทำ ประจำการอยู่บนรถไฟฟ้าบีทีเอสชั้นที่หนึ่งตั้งแต่สถานีรถไฟฟ้าสนามกีฬาแห่งชาติ สถานีรถไฟฟ้าสยาม แยกเฉลิมเผ่าจนถึงหน้าวัดปทุมวนาราม รวมทั้งสะพานลอยทางเดินสกายวอล์คด้านล่างตั้งแต่รถไฟฟ้าบีทีเอสสยามเรื่อยมาจนถึงหน้าวัดปทุมวนารามเท่านั้น

 

ผ่าศพพบ เศษกระสุนปืนเล็กกลขนาด.223 หรือ 5.56 มม.

และเมื่อพิจารณาประกอบกับของกลางที่ได้มาจากการผ่าพิสูจน์ศพผู้ตายที่1 ผู้ตายที่ 3-5 ของแพทย์ผู้ผ่าพิสูจน์ศพ โดยพนักงานสอบสวนได้ส่งไปตรวจพิสูจน์ที่กองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผลการตรวจพิสูจน์พบว่าวัตถุของกลางเป็นเครื่องกระสุนปืนโดยเป็นเศษรองกระสุนปืนเล็กกลหุ้มทองแดง ขนาด.223 หรือ 5.56 มม. เศษกระสุนปืนเล็กกลทองแดงหุ้มเหล็กและตะกั่วขนาด.223 หรือ 5.56 มม. สามารถใช้ยิงทำอันตรายแก่ชีวิตผู้อื่นและวัตถุได้

ประเด็นนี้ได้ความจากพ.ต.ท.ไพชยนต์ สุขเกษม สังกัดกองสรรพาวุธ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธปืนได้เบิกความว่า อาวุธปืนเอ็ม16 ทุกรูปแบบอาทิเช่น เอ็ม16 เอ1-เอ4 และเอ็ม4จะต้องใช้กระสุนปืนขนาด.223 หรือ 5.6 มม. เศษรองกระสุนปืนและลูกกระสุนปืนตามภาพถ่ายนั้นเป็นเศษรองกระสุนปืนและเศษของกระสุนปืนเอ็ม16 เอ1-เอ4 เป็นอาวุธปืนที่ใช้ในราชการสงครามที่มีอำนาจทะลุทะลวงสูงและเป็นอาวุธประจำกายของเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐ อาทิเช่น เจ้าพนักงานทหาร เจ้าพนักงานตำรวจเท่านั้น

เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงแล้วว่าเมื่อเจ้าพนักงานซึ่งเป็นทหารสังกัดกองพันชุดจู่โจม กรมรบพิเศษที่ 3 ค่ายเอราวัณ จ.ลพบุรี ประจำการอยู่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส ด้านหน้าวัดปทุมวนารามได้ใช้ประจำกายคืออาวุธปืนเอ็ม16 เอ2และเอ4 แม้หลังเกิดเหตุกรมสอบสวนคดีพิเศษจะส่งอาวุธปืนเล็กกลจำนวน 4 กระบอก และพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวันจะส่งอาวุธปืนเล็กกลจำนวน 8 กระบอก ให้กองพิสูจน์หลักฐานกลาง สตช. ทำการตรวจพิสูจน์เปรียบเทียบเศษรองกระสุนและลูกกระสุนปืน ผลจากการตรวจพิสูจน์พบว่าเศษรองกระสุนและลูกกระสุนไม่ได้ใช้ยิงมาจากอาวุธปืนเล็กกลทั้ง 12 กระบอกก็ตาม ปรากฎว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษ และพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวันได้จัดส่งอาวุธปืนเล็กกลดังกล่าวไปตรวจพิสูจน์ที่กองพิสูจน์หลักฐานกลาง สตช. เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2553 และ 14 มี.ค. 2554 ซึ่งเป็นวันหลังจากเกิดเหตุเป็นระยะเวลานาน  ในประเด็นนี้ได้ความจาก พ.ต.อ.พิภพและพ.ต.ท.ไพชยนต์ ผู้เชี่ยวชาญอาวุธปืนสงครามยืนยันว่าอาวุธปืนเล็กกลนี้สามารถถอดประกอบชิ้นส่วนได้อาทิเช่นลำกล้อง ลูกเลื่อน เครื่องลั่นไก หากมีการถอดชิ้นส่วนดังกล่าวก่อนส่งไปตรวจพิสูจน์ก็ไม่สามารถตรวจเปรียบเทียบกับเศษรองกระสุนและลูกกระสุนปืน  ทั้งนี้ตามระเบียบการทำความสะอาดก่อนจะทำการเก็บทำความสะอาดอาวุธปืนที่ใช้  หลังจากการยิงอาวุธปืนที่ใช้หลังจากยิงทุกครั้งไม่ว่าจากการฝึกยิงหรือยิงในราชการอื่นใดจะต้องทำความสะอาดอาวุธปืนดังกล่าวทุกครั้ง การทำความสะอาดแต่ละครั้งย่อมทำให้ร่องรอยพยานหลักฐานอาวุธปืนกระบอกนั้นๆ เปลี่ยนแปลงไปได้ ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้ไม่สามารถทำการตรวจพิสูจน์อาวุธปืนเล็กกลทั้ง 12 กระบอก เปรียบเทียบกับเศษรองกระสุนปืนและลูกกระสุนปืนตรงกับความเป็นจริงได้

 

ไม่มีน้ำหนักที่จะเชื่อถือได้ว่ามีชายชุดดำหรือเสื้อขาวถือ M16

และเมื่อพิจารณาจากจุดตำแหน่งเจ้าพนักงานซึ่งเป็นหน่วยทหารนี้ได้ใช้อาวุธปืนประจำกายยิงไปที่ประตูทางออกด้านในวัด บริเวณเต็นท์ด้านในวัด บริเวณกุฏิพระภายในวัดและกำแพงรั้วด้านนอกวัดบริเวณดังกล่าวอยู่ใกล้กับแนววิถีกระสุน  ซึ่งผู้ตายที่  1 ผู้ตายที่ 3-6 ถูกอาวุธปืนยิงถึงแก่ความตาย  ส่วนจ.ส.อ.สมยศ  ส.อ.เกรียงศักดิ์ ส.อ.ชัยวิชิต ส.อ.วิทูรย์ ส.อ.ภัทรนนท์ เบิกความว่ามีชาย 4 คนสวมชุดดำ ถืออาวุธปืนยาวบริเวณเสาตอม่อรถไฟฟ้าบีทีเอสด้านหน้าวัดปทุมฯ ยิงมายังเจ้าพนักงาน และมีชายสวมเสื้อสีขาวกางเกงลายพรางสวมหมวกไหมพรมถืออาวุธเอ็ม 16 หลบอยู่ข้างกุฏิวัดภายในวัด พร้อมเล็งมายังเจ้าพนักงานบนรางรถไฟฟ้าดังกล่าว จึงเห็นว่าขณะเกิดเป็นเวลากลางวันและบริเวณดังกล่าวมีผู้สื่อข่าวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศมาทำข่าวและบันทึกภาพเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก  แต่กลับไม่ภาพถ่ายของชายชุดดำหรือบุคคลดังกล่าวมาแสดงแม้แต่ภาพเดียว ทั้งไม่ปรากฏว่ามีเจ้าพนักงานได้รับบาดเจ็บหรือถึงแก่ความตายจากการยิงต่อสู้

นอกจากนี้ยังได้ความจากปากส.อ.สุนทร จันทร์งามและส.อ.เดชาธร มาขุนทด เจ้าพนักงานทหารสังกัดกองพันจู่โจม กรมรบพิเศษที่ 3 ค่ายเอราวัณ เบิกความว่าในวันที่เกิดเหตุประจำการอยู่ที่รถไฟฟ้าบีทีเอสชั้นที่หนึ่ง หน้าวัดปทุม ได้ตอบทนายญาติผู้ตายที่ 1,4 ว่า ขณะที่พยานปฏิบัติหน้าที่ที่บริเวณดังกล่าวไม่มีภัยคุกคามเกิดขึ้นภายในวัดปทุมพยานจึงไม่ได้ใช้อาวุธปืนประจำกายยิง แสดงให้เห็นว่าถอยคำของเจ้าพนักงานทหารขัดแย้งกันเองทั้งที่ประจำการอยู่ในตำแหน่งเดียวกัน ข้อกล่าวหานี้จึงไม่มีน้ำหนักที่จะเชื่อถือได้ว่ามีข้อเท็จจริงเช่นว่านั้น 

 

ช่างทำบั้งไฟปากคำไม่มีน้ำหนักเนื่องจากถูกจูงใจจากทหาร

แม้พยานปากนายอภิสิทธิ์ แสงแก้วจะเบิกความว่าพยานได้ถูกว่าจ้างให้มาทำบั้งไฟในบริเวณสี่แยกราชประสงค์  ขณะเกิดเหตุได้หลบภายในวัดปทุมวนาราม เห็นปากกระบอกปืนโผล่ออกมาจากกุฏิวัดภายในวัดและยิงไปยังเจ้าพนักงานทหารซึ่งประจำการอยู่บริเวณรางรถไฟฟ้าบีทีเอสหน้าวัด โดยมีการยิงตอบโต้ซึ่งกันและกัน ปรากฎว่าพยานปากนี้คำถามญาติผู้ตายที่ 1, 3, 4 ว่า ก่อนที่เจ้าพนักงานทหารจะนำตัวไปให้พนักงานสอบสวน สน.ทุ่งมหาเมฆทำการสอบปากคำ พยานถูกเจ้าพนักงานพาไปที่ค่ายทหารและรับเงินเจ้าพนักงานทหารเป็นค่าใช้จ่าย กรณีนี้ถือได้ว่าเจ้าพนักงานทหารเป็นผู้นำพยานไปให้พนักงานสอบสวนทำการสอบปากคำ มิใช่เป็นความสมัครใจของพยาน ทั้งที่เจ้าพนักงานที่ถูกกล่าวหาก่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และการให้เงินพยานปากนี้ก็มีลักษณะเพื่อที่จะจูงใจดังนั้นถ้อยคำของพยานปากนี้จึงไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟัง

 

ผู้ตายที่ 1, 3-6 ถูกกระสุนจาก ทหารสังกัดกองพันจู่โจม กรมรบพิเศษที่ 3 ค่ายเอราวัณ บน BTS

ข้อเท็จจริงที่เจ้าพนักงานนำสืบว่ามีชายชุดดำถืออาวุธปืนยาวอยู่ภายในวัดปทุมฯแล้วใช้อาวุธปืนยิงมายังเจ้าพนักงานจึงไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ  ด้วยพยานหลักฐานของผู้ร้องประกอบด้วยประจักษ์พยาน พยานแวดล้อมกรณี ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง พนักงานสอบสวน ภาพถ่ายและภาพเคลื่อนไหว เชื่อว่าผู้ตายที่ 1, 3-6 ถึงแก่ความตายเพราะถูกกระสุนปืนของอาวุธปืนความเร็วสูงขนาด .223 หรือ 5.56 มม. จากเจ้าพนักงานซึ่งเป็นทหารสังกัดกองพันจู่โจม กรมรบพิเศษที่ 3 ค่ายเอราวัณ ที่ประจำการอยู่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอสชั้นที่ 1 หน้าวัดปทุมวนาราม

ส่วนผู้ตายที่ 2 ได้ความจากพยานยืนยันทำนองเดียวกันว่าพยานได้เข้าไปร่วมชุมนุมตั้งแต่มี.ค. 2553 – 19 พ.ค. 2553 เวลา 13.00 น. แกนนำได้ประกาศยุติการชุมนุม ได้มีการสั่งให้ผู้ชุมนุมเดินทางไปสนามกีฬาแห่งชาติเพื่อขึ้นรถโดยสารประจำทางกลับภูมิลำเนา โดยให้เด็กและคนชราเข้าไปพักในวัดปทุมวนาราม ในขณะนั้นพยานทั้งสามได้เห็นผู้ตายที่ 2 ได้ถูกอาวุธปืนยิง โดยทิศทางกระสุนมาจากบริเวณ ถ.พระราม 1 ทางด้านห้างสรรพพสินค้าสยามพารากอน

แล้วศาลก็ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า แม้นผู้ร้องและญาติผู้ตายที่ 2 จะไม่มีประจักษ์พยานที่เห็นเหตุการณ์ขณะที่ผู้ตายที่ 2 ถูกยิงด้วยกระสุนปืนจากผู้ใด แต่ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางวัน รวมทั้งประจักษ์พยานยืนยันถึงรายละเอียดของเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นที่เกี่ยวกับการตายของผู้ตายที่ 2 อย่างละเอียดทุกขั้นตอนได้อย่างสอดคล้องต้องกัน  โดยเริ่มตั้งแต่จุดที่พยานแต่ละคนเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งได้ยินเสียงปืนจากทิศทางแยกเฉลิมเผ่า บนถ.พระราม 1 หน้าห้างสรรพสินค้าสยามพารากอนกระทั่งถึงตำแหน่งที่ผู้ตายที่ 2 ถูกยิง โดยพยานทุกปากได้เข้าไปช่วยนำผู้ตายที่ 2 เข้าปฐมพยาบาลภายในเต็นท์ โดยเฉพาะพยานปากน.ส.ณัฎฐธิดา ผู้ตายที่ 3 และผู้ตายที่ 6 ช่วยกันปฐมพยาบาลด้วยการปั๊มหัวใจให้กับผู้ตายที่ 2 ก่อนสิ้นใจตายในเต็นท์พยาบาล

ประกอบกับได้ความจากพยานร.ท.พิษณุ ทัดแก้ว เจ้าพนักงานซึ่งเป็นทหารจากสังกัดกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหาราบที่ 31 รักษาพระองค์ เบิกความว่า 19 พ.ค. 2553 เวลาประมาณ 13.00 น. เจ้าพนักงานซึ่งเป็นทหารสังกัด กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ นำโดยพ.ท.ยอดอาวุธ พึ่งพักตร์ ได้รับคำสั่งจาก ศอฉ.  ให้เคลื่อนกำลังประมาณ 500 นาย จากแยกปทุมวัน เพื่อกระชับพื้นที่บริเวณแยกราชประสงค์โดยมาตามถ.พระราม 1 ทั้งฝั่งซ้ายและขวา พยานได้ใช้ปืนเล็กยาวทาโวร์ เป็นอาวุธปืนประจำกายพร้อมด้วยกระสุนปืนขนาด 5.56 มม.

จนกระทั่งเวลา 17.30 น. ของวันดังกล่าวขณะที่พยานประจำตำแหน่งอยู่เห็นชาย 2 คน ยืนอยู่ที่บริเวณขอบปูนกั้นเสาตอม่อรถไฟฟ้าบีทีเอสแยกเฉลิมเผ่า บุคคลดังกล่าวได้ใช้อาวุธปืนเอ็ม 16 ยิงมาที่พยาน พยานจึงได้ใช้อาวุธปืนต่อสู้กับชายคนดังกล่าวจำนวน 10 นัด กระสุนปืนถูกที่ขอบปูนกั้น

 

หน้าวัดปทุมฯ เจ้าพนักงานควบคุมพื้นที่ไว้แล้วทั้งหมด

เมื่อพิจารณาตำแหน่งที่ ร.ท.พิษณุกับ พลฯสมรักษ์ ส.อ.โสพล  ธีระวัฒน์ พลฯไกรสร เชื้อวัฒน์ ประจำการอยู่กับตำแหน่งที่ผู้ตายที่ 2 ถูกยิง และแนวกระสุนที่ ร.ท.พิษณุยิงไปที่บริเวณขอบกั้นเสาตอม่อรถไฟฟ้าบีทีเอสแยกเฉลิมเผ่า แล้วจะเห็นได้ว่าจุดที่ร.ท.พิษณุกับพวกอีกสามนายประจำการอยู่บนถ.พระราม 1 นั้น เป็นฝั่งเดียวกับผู้ตายที่ 2 ถูกยิง และแนววิถีกระสุนที่ร.ท.พิษณุยิงไปก็อยู่ในแนวระนาบกับแนววิถีกระสุนปืนซึ่งผู้ตายที่ 2 ถูกยิง  ซึ่งแนววิถีกระสุนนี้จากผลการตรวจศพของผู้ตายที่ 2 ตามรายงานการตรวจศพของแพทย์ผู้ผ่าพิสูจน์ ว่ามีบาดแผลผิวหนังทะลุบริเวณทรวงอกด้านซ้ายส่วนบนเกิดจากกระสุนปืน ทิศทางหลังไปหน้า แนวตรง แนวระดับ  โดยเฉพาะพื้นที่ถ.พระราม 1 นั้นทั้งด้านซ้ายและด้านขวาตั้งแต่สนามกีฬาแห่งชาติจนถึงหน้าห้างสรรพสินค้าสยามพารากอนไม่ปรากฎว่ามีบุคคลใดนอกจากเจ้าพนักงานซึ่งเป็นทหารหน่วยนี้ประจำการและเข้าไปควบคุมพื้นที่ถ.พระราม 1 ไว้ทั้งหมดแล้ว

ประกอบกับได้ความจาก น.ส.ผุสดี งามขำ พยานญาติผู้ตายที่ 2  ร่วมเบิกความสนับสนุนว่า ได้เข้ารวมชุมนุมกับกลุ่ม นปช. ตั้งแต่วันที่ 13 มี.ค.- 19 พ.ค. 2553 ณ เวทีสะพานผ่านฟ้าลีลาศจนถึงเวทีแยกราชประสงค์ จนกระทั่งถึงเวลา 13.00 น. ของวันที่ 19 พ.ค.2553 กลุ่ม นปช. ได้ประกาศยุติการชุมนุมบริเวณแยกราชประสงค์และได้แจ้งให้ผู้ชุมนุมไปขึ้นรถโดยสารประจำทางที่สนามกีฬาแห่งชาติเพื่อกลับภูมิลำเนา ส่วนหนึ่งให้เข้าไปพักที่วัดปทุมวนารามซึ่งได้ประกาศเป็นเขตอภัยทาน พยานยังคงนั่งอยู่ที่หน้าเวทีและเดินรอบเวทีปราศรัย รวมทั้งเส้นทางของถ.พระราม 1 ขณะนั้นเวลาประมาณ 15.00 น. เศษ พยานได้เห็นเจ้าพนักงานเข้าควบคุมพื้นที่ทั้ง 4 ด้านล้อมรอบแยกราชประสงค์ไว้หมดแล้ว โดยเฉพาะบริเวณถ.พระราม 1 หน้าวัดปทุมวนารามเจ้าพนักงานได้เข้าควบคุมพื้นที่บริเวณดังกล่าวไว้แล้วทั้งหมดเช่นเดียวกัน 

 

ผู้ตายที่ 2 ตายจากกระสุนปืนของทหาร ร.31 พัน.2 รอ.

ส่วนร.ท.พิษณุเบิกความว่าเห็นชายสองคนอยู่บริเวรขอบปูนกั้นของตอม่อรถไฟฟ้าบีทีเอสแยกเฉลิมเผ่าได้ใช้อาวุธปืนเอ็ม 16 ยิงมาจุดที่พยานประจำการนั้นเห็นว่าขณะเกิดเป็นเวลากลางวันและมีผู้สื่อข่าวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเข้าไปทำข่าวเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่กลับไม่ไม่บันทึกภาพถ่ายของชายคนดังกล่าวมาแสดงซึ่งเป็นข้อพิรุธและสงสัย อีกทั้งถ้อยคำของ ร.ท.พิษณุ  ยังขัดแย้งกับเจ้าพนังงานทหารในหน่วยเดียวกันและประจำจุดเดียวกันและไม่ไกลกัน ตามแผนที่ในแผนผังประกอบการพิจารณา (หมาย ร.97)โดยเฉพาะ ส.อ.สมพงษ์ จินดาวัตน์ ซึ่งประจำการอยู่ใกล้กับ ร.ท.พิษณุ ตามปรากฏในแผนผังประกอบการพิจารณา กล่าวเบิกความว่าไม่มีบุคคลใดเคลื่อนไหวอยู่ที่บริเวณดังกล่าวแล้วไม่มีปลายกระบอกปืนพาดกับขอบตอหม้อรถไฟฟ้า BTS ตามภาพถ่ายเอกสารหมาย ร.100 พยานทั้ง 3 จึงไม่ได้ใช้อาวุธปืนประจำกายยิงไปที่จบริเวณดังกล่าว หากชาย 2 คนบริเวณดังกล่าวใช้อาวุธปืนยิงต่อสู้กับ ร.ท.พิษณุ ทัสแก้ว เจ้าพนักงานนายอื่นที่บริเวณดังกล่าวคงไม่ปล่อยให้ ร.ท.พิษณุ ใช้อาวุธปืนเพียงลำพังเพียงคนเดียวนานถึง 40 นาที

ด้วยพยานหลักฐานของผู้ร้องและญาติของผู้ตาย ประกอบกับประจักษ์พยายาน พยานแวดล้อมที่เกี่ยวข้องการตาย เชื่อว่าผู้ตายที่ 2 ถึงแก่ความตายเพราะถูกกระสุนปืนความเร็วสูงขนาด .223 ของเจ้าพนักงานซึ่งเป็นทหารสังกัดกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ ที่ประจำการอยู่ถนนพระรามที่ 1 หน้าห้างสรรพสินค้าพารากอน

 

ผู้ตายทั้ง 6 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธปืน

สำหรับการตรวจหาคลาบเขม่าดินปืนของมือผู้ตายทั้ง 6 ของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม กับการตรวจของกองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ความจาก พ.ต.ท.วัชรัศมิ์ เฉลิมสุขสันต์ เจ้าหน้าที่ตรวจสถานที่เกิดเหตุ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม เบิกความยืนยันว่า เมื่อวันที่ 20 พ.ค.53 กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ประสานมายังสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ให้มาดูสถานที่เกิดเหตุภายในวัดปทุมฯ แพทย์หญิง คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์กับเจ้าหน้าที่สถาบันฯ ได้เดินทางไปยังวัดปทุมฯ ขณะไปถึงเวลา 8.00 น. เศษ พบศพทั้ง 6 ศพ นอนเรียงอยู่ใกล้ศาลา แต่ละศพมีเสื่อคลุม พยานตรวจสถานที่เกิดเหตุ คลาบโลหิต รวมทั้งตรวจมือของผู้ตายทั้ง 6 เพื่อหาอนุภาคที่มาจากการยิงปืน ซึ่งผลการตรวจนั้นไม่พบอนุภาคที่มาจากการยิงปืนทั้ง 6 ศพ ตามรายงานการตรวจสถานที่เกิดเหตุ และรายงานการตรวจพิสูจน์เอกสาร สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เป็นหน่วยงานราชการหน่วยแรกที่ตรวจสถานที่เกิดเหตุ ตรวจสภาพศพทั้ง 6 ศพ รวมทั้งจัดเก็บหลักฐานการตรวจเม่าดินปืนบริเวณมือทั้ง 2 ข้างของผู้ตายทั้ง 6 ก่อนหน่วยงานอื่น โดยแสดงถึงวิธีการ จัดเก็บหลักฐานคลาบเขม่าดินปืนดังกล่าวตามหลักการวิทยาศาสตร์ไว้อย่างละเอียด ดังนั้นผลของการตรวจเขม่าดินปืนที่มือของผู้ตายทั้ง 6 ศพ ของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ด้วยหลักฐานจึงเชื่อว่ามือทั้ง 2 ข้างของผู้ตายทั้ง 6 ไม่มีเขม่าดินปืน แสดงว่าผู้ตายทั้ง 6 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธปืน

 

ไม่น่าเชื่อว่ามีการตรวจค้นอาวุธของกลางภายในวัดปทุมและพื้นที่บนถนนพระรามที่ 1

สำหรับอาวุธปืน กระสุนปืน และปลอกกระสุนปืน ลูกระเบิดชนิดต่างๆ ที่ตรวจยึด เห็นว่าหลังจากการตรวจยึดอาวุธปืนขอกางดังกล่าวแล้ว ไม่ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่หน่วยงานใดได้ส่งอาวุธของกลางไปส่งพิสูจน์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่น สถาบันนิติวิทยาศาสตร์หรือกองพิสูจน์หลักฐานกลางของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อตวรจหาลายนิ้วมือแฝงและสายพันธุกรรมดีเอ็นเอ ในการสืบหาคนร้ายที่ครอบครองของกลางดังกล่าว แม้กระทั้งปัจจุบันก็ไม่พบว่าบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่เกี่ยวกับของกลาง อีกทั้งของกลางดังกล่าวก็ไม่ได้ตรวจยึดในวันเกิดเหตุ คือวันี่ 19 พ.ค.53 ทันที ขณะนั้นเจ้าพนักงานทหารได้ควบคุมพื้นที่ด้านภายในวัดปทุมฯ และถนนพระรามที่ 1 ไว้หมดแล้ว ก่อนที่เจ้าหน้าที่กลุ่มงานกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด กองบัญชาการตำรวจนครบาล ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เข้าไปตรวจที่เกิดเหตุ อีกทั้งการตรวจยึดของกลางก็ตรวจยึดหลังจากเกิดเหตุแล้วเป็นเวลาหลายเดือน การตรวจยึดของกลางดังกล่าวนั้นจึงมีข้อพิรุธ

ประกอบกับได้ความจากนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ขณะนั้นดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการ ศอฉ. และ พ.ต.อ. ปรีชา เบิกความทำนองเดียวกันว่า เมื่อวันที่ 26 เม.ย.53 ศอฉ. ได้มีคำสั่งจัดตั้งด่านแข็งแรงรอบพื้นที่การชุมนุมสี่แยกราชประสงค์ จำนวน 6 จุด ต่อมาวันที่ 13 พ.ค.53 พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินได้ออกประกาศ ศอฉ. ห้ามใช้เส้นทางเข้าหรือออกเส้นทางที่กำหนดเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 13 พ.ค.53 เป็นต้นไป ในวันดังกล่าว พล.อ.อนุพงษ์ ได้ออกคำสั่งระงับการให้บริการเส้นทางคมนาคมทางน้ำ และในวันดังกล่าว พล.อ.อนุพงษ์ ได้ออกคำสั่งให้งดบริการรถไฟฟ้าสถานีราชดำริ สยาม ชิดลม รวมทั้งรถไฟฟ้าใต้ดินในสถานีสีลม สถานีลุมพินี ตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันที่ 13 พ.ค.53 เป็นต้นไป นอกจากนี้วันที่ 13 พ.ค.53 กองบังคับการตำรวจนครบาลได้ออกคำสั่งกำหนดจุด 13 จุด โดยเริ่มปฏิบัติตั้งแต่วันที่ 13 พ.ค.53 เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป จนกว่าจะเสร็จภารกิจ เจ้าหน้าที่หน่วยประจำหลักพกปืนพกประจำกาย การตั้งด่านดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ต้องการจัดการคนเข้าและออกในพื้นที่ดังกล่าวโดยห้ามไม่ให้บุคคลนำอาวุธเข้าไปในพื้นที่ชุมนุมแยกราชประสงค์ รวมทั้งพื้นที่โดยรอบ แสดงให้เห็นว่าการตั้งด่านเข้มแข็งของเจ้าพนักงานในพื้นที่ดังกล่าวย่อมเป็นการยากที่บุคคลใดจะนำอาวุธเข้าไปในพื้นที่วัดปทุมฯ และพื้นที่ถนนพระราม 1 รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่ควบคุมได้เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานซึ่งเป็นทหาร จากพยานหลักฐานและเหตุผลดังกล่าวจึงไม่น่าเชื่อว่ามีการตรวจค้นอาวุธของกลางภายในวัดปทุมและพื้นที่บนถนนพระรามที่ 1

จึงมีคำสั่งว่าผู้ตายที่ 1 คือนายสุวัน ศรีรักษา ผู้ตายที่ 2 คือนายอัฐชัย ชุมจันทร์ ผู้ตายที่ 3 คือนายมงคล เข็มทอง ผู้ตายที่ 4 คือนายรพ สุขสถิต ผู้ตายที่ 5 คือ น.ส.กมนเกด อัคฮาด  ผู้ตายที่ 6 คือนายอัครเดช ขันแก้ว ถึงแก่ความตายภายในวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553 เวลากลางวัน เหตุและพฤติการณ์การตาย สืบเนื่องมาจากถูกยิงด้วยกระสุนปืนขนาด .223 หรือ 5.56 มม. ซึ่งวิถีกระสุนปืนยิงมาจากเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยอยู่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส หน้าวัดปทุมวนารามราชวรวิหารและบริเวณถนนพระรามที่ 1 ซึ่งเข้าควบคุมพื้นที่บริเวณแยกราชประสงค์ตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. เป็นเหตุให้ผู้ตายที่ 1 มีบาดแผลกระสุนปืนทะลุปอดและหัวใจ เสียโลหิตปริมาณมาก ผู้ตายที่ 2 มีบาดแผลกระสุนปืนทำลายปอด ผู้ตายที่ 3 มีบาดแผลกระสุนปืนทำลายปอด หัวใจ ตับ ผู้ตายที่ 4 มีบาดแผลกระสุนปืนทำลายปอด ตับ ผู้ตายที่ 5 มีบาดแผลกระสุนปืนทำลายสมอง ผู้ตายที่ 6 มีบาดแผลกระสุนปืนทะลุเข้าไปในช่องปาก โดยยังไม่ทราบแน่ชัดว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการอ่านคำสั่ง ศาลกล่าวสรุปประเด็นให้ผู้ที่เข้าร่วมฟังด้วยว่า 1.เกิดจากการกระทำของเจ้าพนักงานทหาร 2.ผู้ตายทั้ง 6 ไม่มีคราบเขม่าดินปืนที่มือทั้งสองข้าง แสดงว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธปืนมาก่อน 3.การตรวจยึดอาวุธในวัดปทุมวนาราม ไม่น่าเชื่อว่ามีการตรวจยึดจริง และ 4.กรณีชายชุดดำ ไม่ปรากฏว่ามีชายชุดดำอยู่ในบริเวณดังกล่าว โดยศาลมีคำสั่งให้นำคำสั่งนี้ส่งต่อให้พนักงานอัยการ เพื่อดำเนินการต่อไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แคมเปญออนไลน์ - ล่าชื่อตั้งคณะกรรมการอิสระสอบน้ำมันรั่ว ปตท.

$
0
0

กลุ่ม "PTT Oil Spill Watch"  เปิดแคมเปญล่ารายชื่อ เสนอตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบเหตุน้ำมันรั่วของ ปตท. ในอ่าวระยอง ล่าสุดได้กว่าพันรายชื่อแล้ว 

ในเว็บไซต์ change.org กลุ่ม "PTT Oil Spill Watch" หรือ "กลุ่มติดตามน้ำมัน ปตท. รั่ว" ได้มีการตั้ง แคมเปญรณรงค์ออนไลน์เพื่อเรียกร้องนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงผู้บริหารบริษัท ปตท. ให้มีการตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบกรณีน้ำมันดิบของบริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ไหลลงสู่อ่าวไทย โดยระบุให้มีองค์ประกอบในคณะกรรมการ ประกอบด้วยตัวแทนอย่างน้อยจาก 5 ฝ่าย ได้แก่ ภาครัฐ เอกชน ภาควิชาการ ภาคกกฎหมาย และภาคประชาชน โดยชี้ว่า คณะกรรมการตรวจสอบที่พีทีทีจีซีตั้งขึ้นมาเองนั้น อาจไม่สามารถสร้างความกระจ่างในกรณีนี้ได้ เนื่องจากเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง  (อ่านต่อ)

ล่าสุด เวลา 13.50 น. วันนี้ (7 ส.ค.) การรณรงค์ดังกล่าว มีคนร่วมลงชื่อกว่า 1,440 รายชื่อแล้ว

000

ตั้งกรรมการอิสระตรวจน้ำมันรั่ว ปตท.

ถึง: 

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร, นายกรัฐมนตรี 
นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย 
นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 
นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน 
นายวิชิต ชาตไพสิฐ, ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง 
นายวิชัย พรกีรติวัฒน์, ประธานเจ้าหน้าที่บริหารปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้น และก๊าซธรรมชาติ 
นายชาครีย์ บูรณกานนท์, ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ รักษาการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ 
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร, ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ 
นายณัฐชาติ จารุจินดา, ประธานเจ้าหน้าที่บริหารปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย 
นายสุรงค์ บูลกุล, ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน 
นายสรัญ รังคสิริ, รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจน้ำมัน 
นายสรากร กุลธรรม, รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ 
นายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ, รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น 
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์, รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลยุทธ์องค์กร 
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม 

 

น้ำมันดิบของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (พีทีทีจีซี) จำนวนมหาศาลที่รั่วไหลสู่อ่าวไทย  ได้ทิ้งคราบปนเปื้อนบนเกาะเสม็ดโดยเฉพาะอ่าวพร้าว รวมถึงชายฝั่งของระยองมานานกว่า 1สัปดาห์ กำลังค่อยๆ จางหายไปพร้อมไปกับความจริงและสาเหตุของเรื่องราวที่เกิดขึ้น

หายนะครั้งนี้ไม่ได้สร้างความเสียหายต่อธุรกิจการท่องเที่ยวเท่านั้น  แต่ยังก่อความเสียหายอย่างรุนแรงต่อสภาพแวดล้อม แหล่งอาหาร ทรัพยากร และระบบนิเวศในทะเลอ่าวไทย ไปอีกอย่างน้อยหลายสิบปี

พีทีทีจีซี และ ปตท. ยืนยันจะรับผิดชอบต่อความเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้น แต่ความเสียหายทั้งหมดที่แท้จริงซึ่งผู้ก่อมลพิษจะต้องรับผิดชอบคือเท่าไหร่กันแน่

การนำเสนอข่าวสารจากพีทีทีจีซี และ ปตท. สร้างความสับสน  ข้อมูลจำนวนมากยังคงถูกตั้งคำถามจากหลายฝ่าย  อาทิ ปริมาณที่แท้จริงของน้ำมันดิบที่รั่วไหลสู่ทะเล ชนิดและปริมาณของสารเคมีที่ใช้ในการสลายคราบน้ำมัน ผลกระทบและอันตรายทั้งจากน้ำมันดิบที่รั่วไหลและสารเคมีที่นำมาใช้ ขั้นตอนในการป้องกันและระงับเหตุเพื่อลดผลกระทบ เป็นต้น

ด้วยเหตุดังที่กล่าวมา กลุ่มเครือข่ายประชาสังคมและประชาชน จึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการแต่งตั้ง “คณะกรรมการอิสระเพื่อสอบสวนข้อเท็จจริง” อย่างเร่งด่วน

คณะกรรมการตรวจสอบที่แต่งตั้งเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม โดย พีทีทีจีซี ซึ่งเป็นทั้งผู้ก่อเหตุเองและมีส่วนได้เสียโดยตรง จะไม่สามารถสร้างความกระจ่างให้กับเรื่องนี้ได้ พวกเราจึงเรียกร้องให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระที่มีการดำเนินงานที่เปิดเผยโปร่งใสตรวจสอบได้ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน เข้ามาดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริง องค์กระกอบของคณะกรรมการจะต้องมีตัวแทนจากอย่างน้อยจาก 5 ฝ่าย ได้แก่ ภาครัฐ เอกชน ภาควิชาการ ภาคกฎหมาย และภาคประชาชน

เมื่อปี 2552 ปตท. สผ. ออสตราเลเซีย ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ปตท. เป็นต้นเหตุของการเกิดน้ำมันรั่วจากหลุมขุดเจาะที่แหล่งมอนทารา นานกว่า 74วัน เป็นการรั่วไหลของน้ำมันดิบจากแท่นขุดเจาะกลางทะเลครั้งใหญ่ที่สุดของออสเตรเลีย เป็นเหตุให้ศาลของออสเตรเลียสั่งปรับไปกว่า 8,946ล้าน บาท รวมทั้งเซ็นสัญญาให้เงินสนับสนุนการวิจัยเพื่อติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมหลังจากเกิดเหตุแก่คณะนักวิทยาศาตร์อิสระที่มอบหมายโดยรัฐบาลออสเตรเลียอย่างต่อเนื่องอีก 2 – 5 ปี

ในครั้งนั้น ปตท. ประเมินว่ามีการรั่วไหลเพียง 4.5ล้านลิตร แต่รัฐบาลออสเตรเลียได้ตั้งคณะกรรมอิสระขึ้นมาสืบสวนข้อเท็จจริง และประเมินว่าอาจมีน้ำมันรั่วถึง 34ล้านลิตร คณะกรรมการอิสระชุดนี้มีส่วนทำให้ ปตท. ต้องเสียค่าปรับ และจ่ายค่าทำความสะอาดเหมาะสมตามความเป็นจริง

เหตุการณ์น้ำมันรั่วครั้งเดียวกันนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อนิเวศน์ทางทะเลและชาวประมงในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งทางรัฐบาลอินโดนีเซียเรียกร้องค่าชดเชยเป็นเงิน 75,000 ล้านบาท แต่เนื่องจากไม่มีกลไกอิสระในการสืบสวน ทำให้ ปตท. สผ. ออสตราเลเซีย ออกมาปฏิเสธความรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นในน่านน้ำอินโดนีเซีย และจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการจ่ายค่าชดเชยใดๆ  

เป็นบทเรียนที่ทำให้เราเห็นความสำคัญของการมีคณะกรรมการที่เป็นอิสระเพื่อสืบสวนข้อเท็จจริง

มีเหตุการณ์น้ำมันรั่วในประเทศไทยที่ประชาชนไม่ทราบ หรือไม่ได้เป็นข่าวนับครั้งไม่ถ้วน ขอให้ครั้งนี้เป็นสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ร่วมกันเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่งตั้งคณะกรรมการอิสระที่ปลอดพ้นจากผลประโยชน์ทับซ้อน และเป็นผู้มีความรู้ความสามารถเข้ามาร่วมดำเนินการหาความจริง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

6 ศพวัดปทุม 'อภิสิทธิ์' ระบุกระสุนมาจากฝั่งทหาร แต่ไม่แน่ชัดว่าเป็นฝีมือใคร

$
0
0

หลังศาลตัดสินผู้เสียชีวิต 6 ราย ที่วัดปทุมฯ 19 พ.ค. 53 เสียชีวิตจากกระสุนทหารบนราง BTS นั้น ล่าสุด "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ตอบกระสุนปืนมาจากฝั่งทหาร แต่ไม่แน่ชัดว่าเป็นฝีมือใคร ด้าน "ธาริต เพ็งดิษฐ์" เล็งฟ้องอภิสิทธิ์-สุเทพ ข้อหาสั่งฆ่าคนตายเจตนาเล็งเห็นผล

ทหารบนรางรถไฟฟ้า BTS ใกล้สถานีสยาม เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 (คลิกเพื่อชมภาพชุด)

จากกรณีที่ศาลอาญากรุงเทพฯ ใต้ มีคำสั่งกรณีไต่สวนคําร้องชันสูตรการเสียชีวิต ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ยื่นคําร้องให้ศาลไต่สวนการเสียชีวิตของ นายสุวัน ศรีรักษา นายอัฐชัย ชุมจันทร์ นายมงคล เข็มทอง นายรพ สุขสถิต น.ส.กมนเกด ฮัคอาด และนายอัครเดช ขันแก้ว ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตที่วัดปทุมวนาราม เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553 และศาลมีคำสั่งว่าผู้ตายทั้ง 6 เสียชีวิตเนื่องมาจากถูกยิงด้วยกระสุนปืนขนาด .223 หรือ 5.56 มม. ซึ่งวิถีกระสุนปืนยิงมาจากเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยอยู่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส หน้าวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร และบริเวณถนนพระรามที่ 1 ซึ่งเข้าควบคุมพื้นที่บริเวณแยกราชประสงค์ตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. นั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

 

อภิสิทธิ์ระบุ ยังไม่ยืนยันแน่ชัดว่าเป็นฝีมือใคร

ขณะเดียวกันเมื่อวานนี้ (6 ส.ค.) ที่ศาลอาญากรุงเทพฯ ใต้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีนัดไต่สวนชันสูตรพลิกศพ คดีหมายเลขดำ ช.1/2555 ไต่สวนการเสียชีวิตของนายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ, นายวสันต์ ภู่ทอง และนายทศชัย เมฆงามฟ้า ซึ่งเสียชีวิตหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ถนนดินสอ เมื่อวันที่ 10 เม.ย.53 นั้น ภายหลังการนัดไต่สวน ไทยโพสต์ได้เผยแพร่คำให้สัมภาษณ์ของนายอภิสิทธิ์ ซึ่งกล่าวถึงคำสั่งของศาลดังกล่าวว่า "กระสุนปืนมาจากฝั่งเจ้าหน้าที่ทหาร แต่ยังไม่ยืนยันแน่ชัดว่าเป็นฝีมือของใคร"

นอกจากนี้มีรายงานด้วยว่า นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ระบุว่า ดีเอสไอจะทำการสอบสวนคดีดังกล่าวเพื่อหาผู้กระทำความผิด และมีแนวโน้มว่าจะแจ้งข้อกล่าวหากับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีเพิ่มเติมในฐานะผู้ออกคำสั่งแก่เจ้าหน้าที่ ในข้อหาร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล เมื่อแจ้งข้อกล่าวหาแล้วก็จะมีความเห็นควรสั่งฟ้องส่งอัยการเช่นเดียวกับคดีการเสียชีวิตของรายอื่นๆ ที่ศาลไต่สวนแล้วว่าเป็นการกระทำจากทหาร

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วิกิพีเดียวางแผนเสริมระบบความปลอดภัยหลังโปรแกรม XKeyscore ถูกเปิดโปง

$
0
0

วิกิพีเดีย และกลุ่มด้านสิทธิทางอินเทอร์เน็ตสนับสนุนให้เว็บไซต์ต่างๆ เปลี่ยนระบบเป็น HTTPS ซึ่งมีการเข้ารหัสข้อมูลทำให้มีการสอดแนมข้อมูลยากขึ้นและกล่าวอ้างว่าระบบของ XKeyscore ที่สามารถสอดแนมได้สารพัดกิจกรรมบนอินเทอร์เน็ตมีการตั้งเป้าที่วิกิพีเดียโดยเฉพาะ

เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2013 เว็บไซต์ Commondreams เปิดเผยว่า มูลนิธิวิกิมีเดียได้ประกาศเปลี่ยนแปลงระบบเพื่อป้องกันไม่ให้สภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NSA) แอบสอดแนมผู้ใช้เว็บ รวมถึงมีการปรับโครงสร้างของเว็บเพื่อรับกับระบบที่มีความปลอดภัยมากขึ้นอย่าง 'HTTP Secure' (HTTPS) หลังจากที่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีการเปิดโปงเรื่องโปรแกรม XKeyscore ซึ่งทางวิกิมีเดียบอกว่าเน้นตั้งเป้าที่ผู้ใช้วิกิพีเดียโดยเฉพาะ

ทางวิกิมีเดียยังได้เข้าร่วมกับกลุ่มรณรงค์สนับสนุนสิทธิความเป็นส่วนตัวบนอินเทอร์เน็ต เช่น โครงการ Tor และ กลุ่ม Electronic Frontier Foundation (EFF) ซึ่งสนับสนุนผลักดันให้เว็บไซต์ต่างๆ ให้มาใช้ระบบ HTTPS ซึ่งเป็นโปรโตคอลอินเทอร์เน็ตที่ทำให้มีการเข้ารหัสข้อมูล (encryption) ทำให้ข้อมูลมีความปลอดภัยมากขึ้น

โดยก่อนหน้านี้เว็บไซต์เดอะ การ์เดียนได้เปิดโปงเอกสารที่ได้รับจากเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน อดีตคนทำงานด้านข่าวกรองให้ทางการสหรัฐฯ ซึ่งมีการกล่าวถึงโปรแกรม XKeyscore ที่อ้างสรรพคุณว่ามีความสามารถในการสืบค้นข้อมูลและกิจกรรมของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตได้แทบทุกอย่าง

"มูลนิธิวิกิมีเดียมีความศรัทธาอย่างหนักแน่นในเรื่องการปกป้องสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้อ่านและผู้เขียนบทความ" ไรอัน เลน วิศวกรปฏิบัติการประจำมูลนิธิวิกิมีเดียกล่าว "ข้อมูลที่รั่วไหลออกมาล่าสุดเกี่ยวกับโปรแกรม XKeyscore ของ NSA ยิ่งทำให้ประชาคมของเราผลักดันให้มีการใช้ระบบ HTTPS เป็นค่าตั้งต้นกับโครงการในเครือวิกิมีเดีย"

พาร์กเกอร์ ฮิกกินส์ จากองค์กร EFF กล่าวว่าหาก NSA มีช่องทางมากมายที่จะได้รับข้อมูล การปรับโครงสร้างของวิกิมีเดียจะทำให้ NSA ได้รับข้อมูลยากขึ้นอีกเล็กน้อย

"การที่เรื่องนี้ถูกเปิดโปงทำให้คนจำนวนมากเริ่มให้ความสำคัญกับสิทธิความเป็นส่วนตัวมาเป็นอันดับหนึ่ง" พาร์กเกอร์กล่าว "ในตอนนี้เป็นเวลาที่ดีที่จะมีปฏิบัติการ และเป็นเรื่องดีที่ได้เห็นเว็บไซต์ใหญ่ๆ อย่างวิกิพีเดียเป็นผู้นำในเรื่องนี้"

วิกิพีเดียกำลังอยู่ระหว่างเริ่มดำเนินการเปลี่ยนแปลงระบบให้เป็น HTTPS อยู่แล้ว ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การรับทราบเรื่องโปรแกรม XKeyscore ที่ทำให้ NSA สามารถค้นข้อมูลได้ทั้งประวัติการเข้าเว็บ อีเมล และกิจกรรมบนโซเชียลมีเดีย ของคนนับล้านก็ย้ำให้วิกิพีเดียต้องเร่งการดำเนินการ

วิกิพีเดียเป็นเว็บไซต์สารานุกรมออนไลน์ในเครือของมูลนิธิวิกิมีเดียซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร เป็นหนึ่งในเว็บที่มียอดผู้เข้าชมมากที่สุดของโลก โดยมีผู้เข้าชมราว 520 ล้านคนต่อเดือน โดยผู้เข้าใช้สามารถมีส่วนร่วมในการค้นคว้าและเขียนข้อมูลของเว็บไซต์

เมื่อวันที่ 2 ส.ค. ที่ผ่านมา จิมมี่ เวลส์ ผู้ร่วมก่อตั้งวิกิพีเดีย เรียกร้องให้องค์กรธุรกิจอื่นๆ ในโลกอินเทอร์เน็ตร่วมมือกับพวกเขา "การเข้ารหัสข้อมูลถือเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน" จิมมี่กล่าว


 

แปลและเรียบเรียงจาก

Rejecting NSA Spying, Wikipedia Boosts Security after XKeyscore Revelations, CommonDreams, 05-08-2013
http://www.commondreams.org/headline/2013/08/05-2

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เวียดนามประหารชีวิตนักโทษคนแรกในรอบ 18 เดือน

$
0
0
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลออกแถลงการณ์ระบุว่าการประหารชีวิตครั้งแรกในเวียดนามในรอบ18 เดือน เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2556 เป็นสิ่งที่น่าเสียใจอย่างยิ่ง และเป็นเหตุให้นักโทษในแดนประหารอีกหลายร้อยคนต้องตกอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะถูกประหารเช่นกัน 
 
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลออกแถลงการณ์ระบุว่าการประหารชีวิตครั้งแรกในเวียดนามในรอบ18 เดือน เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2556 เป็นสิ่งที่น่าเสียใจอย่างยิ่ง และเป็นเหตุให้นักโทษในแดนประหารอีกหลายร้อยคนต้องตกอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะถูกประหารเช่นกัน 
                
เหงียนอานตวน (Nguyen Anh Tuan) ต้องโทษประหารชีวิตจากคดีฆาตกรรมเมื่อปี พ.ศ. 2553 มีรายงานข่าวว่าเขาได้ถูกประหารชีวิตที่เรือนจำตำรวจกรุงฮานอย โดยใช้วิธีฉีดยา เป็นการประหารชีวิตครั้งแรกในประเทศนับแต่เดือนมกราคม 2555
                
จากระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้นของสหภาพยุโรปเกี่ยวกับการส่งออกยาที่ใช้ฉีดเพื่อประหารชีวิต เป็นเหตุให้ในช่วงที่ผ่านมาไม่มีการประหารชีวิตในเวียดนาม แต่เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2556 กฎหมายใหม่ของเวียดนามมีผลบังคับใช้ เป็นเหตุให้ในปัจจุบันเวียดนามสามารถใช้ยาที่ผลิตนอกสหภาพยุโรปหรือผลิตในประเทศเพื่อฉีดนักโทษประหารชีวิตได้
                
อิสเบล อาร์ราดอน (Isabelle Arradon) รองผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า เป็นเรื่องน่าเสียใจที่เวียดนามรื้อฟื้นการประหารชีวิต และสะท้อนถึงความมุ่งมั่นที่โหดร้ายของทางการที่จะยังคงใช้โทษประหารต่อไป
                
“การประหารชีวิตที่เป็นการลงโทษจากรัฐต้องยุติลง รัฐบาลเวียดนามควรใช้ช่วงเวลาที่พักการประหารชีวิต (ไม่มีการประหารชีวิต) อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงระเบียบการส่งออกของสหภาพยุโรป เพื่อทบทวนการใช้โทษประหารชีวิต และหาทางยกเลิกให้ได้ในที่สุด” 
                
ตามรายงานข่าวของสื่อมวลชน ปัจจุบันมีนักโทษประหารชีวิตในเวียดนาม 586 คน และมีอย่างน้อย 116 คนที่ผ่านขั้นตอนการอุทธรณ์คดีในขั้นสุดท้ายมาแล้ว  ในขณะที่มีนักโทษจำนวนไม่น้อยที่กำลังตกอยู่ในภาวะเสี่ยงและอาจถูกประหารชีวิตในเร็ว ๆ นี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องรัฐบาลเวียดนามต้องยุติแผนการที่จะประหารชีวิตนักโทษเหล่านั้นทันที
                
“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเห็นใจเหยื่ออาชญากรรมร้ายแรงเป็นอย่างมาก พวกเขาจะต้องได้รับความยุติธรรมเช่นกัน แต่ไม่มีหลักฐานใดที่แสดงให้เห็นว่าโทษประหารชีวิตเป็นมาตรการป้องปรามไม่ให้เกิดเหตุเช่นนั้นขึ้นอีก อีกทั้งโทษประหารชีวิตเป็นรูปแบบการลงโทษที่โหดร้ายและไร้ซึ่งมนุษยธรรมมากที่สุด และเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน”
                
“เวียดนามกำลังปฏิบัติตนแตกต่างไปจากประเทศส่วนใหญ่ในโลก ในกรณีที่นำการประหารชีวิตกลับมาใช้อีกครั้ง เพราะในปี พ.ศ. 2555 มีเพียง 21 ประเทศที่ยังคงประหารชีวิตบุคคล และประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พากันทบทวนกฎหมายเกี่ยวกับการประหารชีวิต และจำกัดการใช้โทษประหารชีวิต เวียดนามจึงควรพิจารณาทางเลือกเหล่านี้ แทนที่จะมุ่งประหารชีวิตชายและหญิงอีกหลายร้อยคน” อิสเบล อาร์ราดอนกล่าว
                
แอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนล คัดค้านโทษประหารชีวิตทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นความผิดทางอาญาประเภทใด ไม่ว่าผู้กระทำผิดจะมีบุคลิกลักษณะใด หรือไม่ว่าทางการจะใช้วิธีประหารชีวิตแบบใดก็ตาม
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สภาฯ ป่วน ถก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

$
0
0

ประธานฯ ยันไม่ใช่กฎหมายการเงิน  ฝ่ายค้านจัดหนักไม่ให้เข้าสู่วาระ ด้าน "จ่าประสิทธิ์" ชูรองเท้าใส่ฝั่ง ปชป. "ขุนค้อน" ต้องพักประชุม  ยกสองรอบเย็น ผู้นำฝ่ายค้านเสนอเลื่อนประชุม ส.ส.โหวตเดินหน้าประชุมต่อ

เมื่อวันที่ 7 ส.ค. เมื่อเวลา 13.00 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แก่ผู้ซึ่งกระทำ ความผิด เนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ฉบับ นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย และคณะ เป็นผู้เสนอ

ทันทีที่เปิดประชุม นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้พยายามตัดบทเข้าสู่วาระทันที แต่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ พากันประท้วงเกี่ยวกับอุปสรรคของส.ส.ที่จะเดินทางเข้ามายังสภา โดย นายสาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง กล่าวว่าตำรวจ และเจ้าหน้าที่ได้กีดกันผู้ช่วยส.ส.ฝ่ายค้าน ไม่ให้เข้ามา ขณะที่การถ่ายทอดสด ก็ไม่สามารถทำได้ ขณะที่นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวานิช ส.ส.เพื่อไทย ระบุว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้กีดกันผู้ช่วยส.ส.ไม่ให้เข้าสภาแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องแสดงบัตรให้ชัด จึงจะเข้ามาได้

นอกจากนี้ยังมีการถกเถียงกันเกี่ยวกับการถ่ายทอดสด โดยนายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.ประชาธิปัตย์ ที่ระบุ มีสื่อมวลชนจำนวนมากอยู่ที่เขาดินก็เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ พร้อมตั้งคำถามว่าทำไมจึงไม่อนุญาตให้ถ่ายทอดสดผ่านไทยพีบีเอส และช่อง 11 ส่วนนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า ได้ทำหนังสือถึงประธานฯ โดยตรงขอให้มีการถ่ายทอดสดทาง ช่อง 11 และวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์อย่างทั่วถึง ขณะที่นายอำนวย คลังผา ส.ส.ลพบุรี ประธานวิปรัฐบาล ชี้แจงว่า ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ช่อง 11 ว่าที่ไม่สามารถถ่ายทอดสดวันนี้ได้ เพราะมีผังรายการของช่องอยู่ โดยติดถ่ายทอดพระราชกรณียกิจพระบรมวงศานุวงศ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ จึงไม่สามารถตัดสัญญาณมาถ่ายทอดสดการประชุมสภาฯ วันนี้ได้

จากนั้นนายสมศักดิ์พยายามนำเข้าสู่วาระ แต่เมื่อนายวรชัยเริ่มนำเสนอร่าง พ.ร.บ.ฯ กลับถูก ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์โห่ฮา อ้างว่าหลักปฏิบัติที่ผ่านมา ประธานฯ ต้องให้ ส.ส.หารือถึงความเดือดร้อนประชาชนก่อน ท้ายที่สุดนายสมศักดิ์ก็ยินยอมและเปิดให้อภิปรายไปอีกกว่า 1 ชั่วโมง

นายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ขู่ว่าหากยังเดินหน้าพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ต่อไปตนก็คงต้องยื่นถอดถอนประธานฯ หลังจากก่อนหน้านี้ เคยยื่นไปแล้ว 2 เรื่อง เพราะเห็นว่าเป็นร่างกฎหมายนิรโทษกรรมนั้นที่เกี่ยวข้องกับการเงิน เนื่องจากหากมีการนิรโทษกรรม รัฐบาลต้องนำเงินหลวงจ่ายคืนค่าปรับ รวมถึงรัฐบาลจะต้องเสียเงินเพื่อสร้างศาลากลางประจำจังหวัด โดยไม่สามารถฟ้องร้องเรียกเงินทางแพ่งจากผู้ที่กระทำผิดได้ ดังนั้นควรผ่านให้นายกรัฐมนตรี ลงนามก่อน ด้านประธานสภาผู้แทนราษฎร ชี้แจงต่อที่ประชุมฯ ว่า ฝ่ายกฎหมายของสภาฯ ได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้วว่าร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ไม่ใช่เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการเงิน แต่หากนายถาวรยังเห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว อาจเข้าข่ายก็สามารถยื่นให้กรรมาธิการสามัญ 35 คณะพิจารณาได้ทันที

นายพีรพันธ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย ชี้แจงประเด็นที่ฝ่ายค้านทักท้วงว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ เข้าข่ายเป็นกฎหมายการเงินตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 143 หรือไม่ว่า การพิจารณาว่าร่างกฎหมายใดเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงินหรือไม่ ผู้ใช้อำนาจวินิจฉัยคือประธานสภาฯ เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมสภาฯ แต่หากมีข้อขัดแย้งหรือสงสัยต้องอ้างอิงสาระของรัฐธรรมนูญ มาตรา 143 ทั้งนี้มีถ้อยคำระบุว่าหากมีเหตุที่สงสัยในที่นี้ คือ ประธานสภาฯ ดังนั้นหากประธานสภาฯ ไม่สงสัย ส.ส.จะบังคับให้สงสัยไม่ได้ อย่างไรก็ตามหากท้ายสุดผลของกฎหมายดังกล่าวจะมีความเกี่ยวข้องกับการเงิน ต้องใช้กฎหมายอื่นมาเทียบเคียง

ขณะที่นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายทักท้วงว่า ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมของนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย จะมีผลนิรโทษกรรมให้กับผู้มีความผิดในกรณีเผาศาลากลางจ.อุดรธานีด้วย และเมื่อพิจารณาในคำสั่งศาลต่อคดีดังกล่าว เมื่อเดือนตุลาคม 2555 จะพบว่าศาลมีคำสั่งตัดสินจำคุกและสั่งให้ชดใช้เงินค่าเสียหายจากผู้ที่มี ความผิด จำนวน 5 คน ได้แก่นายอาทิตย์ ทองสาย ถูกจำคุก 2 ปี 6 เดือน, นายเดชา คมขำ ถูกจำคุก 20 ปี 6 เดือน และ นายบัวเรียน แพงสา สั่งจำคุก 20 ปี 6 เดือน ศาลสั่งให้ชดใช้เงินรวม 143 ล้านบาท บวกดอกเบี้ยร้อยละ 7.5, นายกิติพงษ์ ชัยกังจำคุก 11 ปี 3 เดือน และ นายวันชัย รักษาสงวนศิลป์ ถูกสั่งลงโทษจำคุก 20 ปี 6 เดือน รวมถึงให้ชดใช้ 57.7 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย 7.5 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นรัฐต้องติดตามเอาคืนกับบุคลเหล่านี้ จึงถือว่าเข้าข่ายเป็นกฎหมายการเงินที่ชัดเจน ดังนั้นตนขอให้นายสมศักดิ์วินิจฉัยให้ถูกต้อง ไม่เช่นนั้นหากพิจารณาผิดเรื่องอาจถึงศาลรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ได้อภิปรายซักถามในประเด็นดังกล่าวด้วย

ขณะที่ นายประเสริฐพงษ์ สุวรรณศิริ ส.ส.ยะลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้ลุกขึ้นเสนอญัตติขอเลื่อนวาระการประชุม โดยนำร่าง พ.ร.บ.ตรวจเงินแผ่นดิน ที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว ขึ้นมาแทน แต่นายสมศักดิ์ไม่อนุญาต เพราะเข้าสู่วาระไปแล้ว และตัดบทให้นายวรชัย นำเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมอีกครั้ง นายสมบูรณ์จึงตะโกนคำว่า “สภาขี้ข้า” อยู่หลายรอบ และนายบุญยอด สุขถิ่นไทย ได้ชี้หน้าไปทางประธานฯ พร้อมพูดว่า “ขี้ข้า” ท่ามกลางเสียงโห่ฮาของ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ รบกวนการอภิปรายของนายวรชัย ขณะที่ จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ได้ยกรองเท้าชูขึ้นมาเป็นการตอบโต้ ทำให้บรรยากาศในห้องตึงเครียดขึ้น จนนายสมศักดิ์ต้องสั่งพักประชุม และเริ่มประชุมอีกครั้งราว 18.15 น.โดยนายอภิสิทธิ์ ผู้นำฝ่ายค้านได้ขอให้เลื่อนการประชุมครั้งนี้เนื่องจากนายกฯ ไม่ได้เข้าร่วมรับฟังการอภิปราย

ทั้งนี้ ที่ด้านห้องโถงรัฐสภา นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ได้ออกไปรับหนังสือจากนายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ซึ่งออกหนังสือแถลงการณ์ร่วมองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ขอให้สภาดำเนินการถ่ายทอดสดการประชุมสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ผ่านทางช่องฟรีทีวี เนื่องจากสื่อมวลชนลงพื้นที่ปฏิบัติงานท่ามกลางความขัดแข้งทางการเมืองหลายปีและเห็นว่าการปิดกั้นข้อมูลข่าวสารไม่ให้ประชาชนได้รับข้อเท็จจริงในประเด็นสำคัญ ย่อมเป็นผลเสียมากกว่าผลดี รวมถึงร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ได้สร้างความขัดแย้งและความแตกแยกในวงกว้าง ดังนั้น เพื่อป้องกันข้อมูลที่คลาดเคลื่อนหรือก่อให้เกิดความสับสนในสังคม จึงขอให้มีการถ่ายทอดสดการอภิปรายสื่อสารไปยังประชาชนโดยตรง โดยขอให้สภาประสานกับรัฐบาลเพื่อถ่ายทอดสดทางฟรีทีวีโดยด่วน ขณะที่นายวิสุทธิ์กล่าวยืนยันว่า สถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีสามารถถ่ายทอดสัญญาณได้ตามปกติ ถ้าช่องไหนเกี่ยวสัญญาณถ่ายทอดสดห้องประชุมไม่ได้ ให้แจ้งตน ก็จะอำนวยความสะดวกให้เต็มที่

ในช่วงเย็น หลังมีการเปิดอภิปรายอีกครั้ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เสนอให้ที่ประชุมลงมติเลื่อนการพิจารณากฎหมายนี้ โดยให้เหตุผลอ้างอิงคำแถลงของข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนและฮิวแมนไรท์วอทช์ที่แสดงความกังวลเกี่ยวกับร่างกฎหมายนี้นอกจากนี้หลายภาคส่วนยังกังวลว่าเรื่องนี้จะนำไปสู่ความรุนแรง

“การปรองดองไม่อาจเกิดขึ้นจากการที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดยัดเยียดแนวคิดให้แล้วลงมติด้วยเสียงข้างมาก” นายอภิสิทธิกล่าวและว่าพร้อมจะหาหรือพูดคุยหาทางออกประเทศทันทีหากถอนการพิจารณากฎหมายนี้ และหากรัฐบาลไม่ถอยก็สะท้อนถึงความไม่จริงใจในการตั้งโต๊ะปฏิรูป

สุนัย จุลพงศธร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ยืนยันว่า ร่างกฎหมายนี้ไม่ใช่มีคนกลุ่มเดียวที่ได้ประโยชน์ แต่ประชาชนและผู้ไม่เกี่ยวข้องก็ได้ประโยชน์ การเสนอกฎหมายนี้เป็นสัญญาประชาคมอย่างหนึ่งเนื่องจากมีการนำเสนอในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง และพรรคเพื่อไทยได้รับเสียงเกินครึ่ง  นอกจากนี้ยังโต้แย้งนายอภิสิทธิเรื่องคำแถลงขององค์กรระหว่างประเทศโดยระบุว่า เขาไม่ใช่ไม่เห็นด้วยกับการปรองดองแต่วิตกว่าจะละเว้นการลงโทษผู้ที่เข่นฆ่าประชาชน

นอกจากนี้สุนัยยัง ยกประวัติศาสตร์ว่าเคยมีการเขียนกฎหมายนิรโทษกรรม เช่น ใน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ปี 2490 ที่ระบุให้มีคณะกรรมการพิจารณาคดีที่ศาลพิพากษาแล้วหรืออยู่ระหว่างพิจารณาเพื่อให้ศาลสั่งปล่อยหรือถอนฟ้อง รวมถึง ในปี 2524 พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ยังเคยลงนามในพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อความไม่สงบเพื่อยึดอำนาจปกครองแผ่นดิน จากเหตุการณ์ที่มีการนำรถถังออกมายิงกองพล 1 มีนักข่าวบาดเจ็บ และมีคนเสียชีวิต แต่มาตรา 3 วรรค 2 ระบุว่าไม่นิรโทษกรรมแก่คนที่ไม่มารายงานตัว หลังจากนั้นมี พ.ร.บ.เพื่อยกเลิกวรรค 2 ดังกล่าว รวมไปถึงการหยิบยกนโยบาย 66/23 โดยพล.อ.เปรม ซึ่งไม่ใช่การออกกฎหมายแต่เป็นเพียงการออกนโยบายเท่านั้น รูปแบบเหล่านี้เคยเกิดขึ้นแล้วเพื่อทำให้สังคมที่แตกแยกหนักมีการเข่นฆ่ากันกลับมาปรองดองกัน

เวลา 19.40 น. ประธานที่ประชุมได้เรียกสมาชิกเข้าห้องประชุมเพื่อลงมติว่าจะเลื่อนการพิจารณาพ.ร.บ.นี้หรือไม่  ผลการลงคะแนนปรากฏว่ามีส.ส.เห็นควรเลื่อนพิจารณา 160 คน  ไม่เห็นควรให้เลื่อน 301 คน งดออกเสียง 1 คน ไม่ลงคะแนน 1 คน จึงมีการประชุมต่อ

จากนั้นมีการอภิปรายกันอีกโดยนายจุรินทร์ ลักษณพิศิษฏ์ ได้กล่าวถึงเหตุผลที่ไม่รับหลักการ่างพ.ร.บ.ฉบับนี้เพราะมีการหมกเม็ดให้กับคดีอุจฉกรรก์ เผาฆ่า ก่อการร้ายซึ่งรวมคนในต่างประเทศ และมาตรา 112  ขณะที่ นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.เพื่อไทยยืนยันว่าร่างพ.ร.บ.นี้ไม่รวมมาตรา 112 แน่นอนเนื่องจากเป็นกฎหมายพิเศษ คุ้มครองพระมหากษัตริย์ อย่างไรก็ตาม กฎหมายนิรโทษกรรมจะช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งในจริง โดยยกตัวอย่างว่าอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อย่างนาย ควง อภัยวงศ์ ก็เคยลงนามในกฎหมายนิรโทษกรรมมาแล้ว 2 ฉบับ รวมถึง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก็เคยมีนโยบาย 66/23 จากนั้นนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.ประชาธิปัตย์ แย้งว่าจะดูตัวอย่างในอดีตไม่ได้ เนื่องจากเหตุการณ์ในอดีตเป็นความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐ แต่ปัจจุบันเป็นความขัดแย้งระหวางประชาชนด้วยกันเอง พร้อมหยิบยกประเด็นการตีดความคำว่า "คดีการเมือง" โดยระบุว่า คนที่อธิบายเรื่องนี้มีคนเดียวคือ อ.จิตติ ติงศภัทิย์ ซึ่งอธิบายว่า ความผิดทางการเมืองคือความผิดที่ทำต่อองค์กรของรัฐหรือองค์การทางการเมือง ดังนั้น ใครล้อมทำเนียบฯ ใครปิดสนามบิน ใครล้อมรัฐสภา ตนพร้อมจะนิรโทษกรรมให้ แต่คนเห็นต่างไม่มีสิทธิทำร้ายนายกฯ ไม่มีสิทธิกระทบเนื้อตัวร่างกายของมนุษย์ นั่นเป็นความผิดทางอาญา

การอภิปรายดำเนินไปจนกระทั่งเวลาราว 22.40 น.จึงมีมติปิดการประชุมและดำเนินการประชุมต่อในวันพรุ่งนี้ เวลา 10.00 น.เป็นต้นไป
 



เรียบเรียงจาก เว็บไซต์วิทยุรัฐสภา (ถ่ายทอดสด), เว็บไซต์ไทยรัฐ, เว็บไซต์ข่าวรัฐสภา, เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ

หมายเหตุ มีการเพิ่มเติมเนื้อหา (23.00 น. -7 ส.ค.)
======================

 

รายละเอียด ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับนาย วรชัย เหมะ

 

 หลักการ

ให้มีกฎหมายว่าด้วยนิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุม ทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ระหว่างวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2554

เหตุผล

เนื่องจากสังคมไทยที่ผ่านมาอยู่ในสภาวะที่สร้างความแตกแยกทางความคิดมี การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายให้แก่ชาติบ้านเมืองจนปัจจุบัน ด้วยสืบเนื่องจากสถานการณ์บ้านเมืองตกอยู่ในความคิดที่ไม่เคารพในระบอบ ประชาธิปไตย มีการชุมนุมประท้วงรัฐบาลจนนำไปสู้การยึดอำนาจการปกครอง เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เหตุการณ์นี้สร้างความขัดแย้งทางการเมืองและทางสังคมที่รุนแรงอย่างที่ไม่ เคยปรากฏมาก่อนทำให้เกิดการใช้บังคับกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมสร้างความรู้สึก สับสนและไม่เท่าเทียม การเลือกปฏิบัติเกิดขึ้นในทางความคิดทางการเมืองของประชาชนเป็นวงกว้างจึงมี การชุมนุมประท้วงทางการเมืองของประชาชนจนเกิดการกระทำผิดต่อกฎหมายบ้านเมือง อันนำไปสู่การกล่าวหาและมีการดำเนินคดีกับผู้ที่เข้าร่วมการชุมนุมจำนวนมาก ทำให้ถูกจำกัดเสรีภาพและอิสรภาพในระหว่างการถูกกล่าวหาทางอาญา อันเป็นผลมาจากภาครัฐได้ประกาศและบังคับใช้กฎหมายที่เคร่งครัดและขาดความ ยืดหยุ่นจนเกินความจำเป็น ซึ่งสภาพปัญหาดังกล่าวได้เกิดเป็นปัญหาร้าวลึกลงไปสู้สังคมไทยในทุกระดับและ นำมาซึ่งความหวั่นไหวขาดความเชื่อมั่นในการดำเนินชีวิตให้เป็นปกติสุขของ ประชาชนทั่วไป ปรากฏการณ์ดังกล่าวสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประเทศชาติทั้งทางด้าน ความมั่นคง การเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมอันดีงามของสังคมไทย ทั้งนี้ เมื่อได้คำนึงว่าบรรดาการกระทำต่างๆ ของประชาชนที่ได้กระทำไปเพื่อแสดงออกซึ่งความคิดทางการเมืองของประชาชน ซึ่งมีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองที่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับความขัดแย้งในทาง การเมืองอันเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ จึงสมควรให้มีการนิรโทษกรรมแก่ประชาชนในกรณีดังกล่าวเพื่อเป็นการให้โอกาส แก่ประชาชนซึ่งเป็นพลเมืองของประเทศและเป็นการรักษาคุ้มครองศักดิ์ศรีความ เป็นมนุษย์ทั้งเพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมืองตามระบอบ ประชาธิปไตยโดยใช้หลักนิติธรรม อันจะเป็นรากฐานที่ดีต่อการลดความขัดแย้ง และสร้างความปรองดองของคนในชาติ โดยต้องคำนึงถึงมูลเหตุจูงใจของการกระทำที่ประชาชนได้แสดงออกทางการเมือง เพื่อจะทำให้สังคมไทยและประเทศชาติกลับมาสู่ความสงบสุขเรียบร้อยมีความสมัคร สมานสามัคคีร่วงแรงร่วมใจกันพัฒนาประเทศให้มีความมั่นคงและเข้มแข็งอย่าง ยั่งยืนต่อไป จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการ เมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. ..."

มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 ให้บรรดาการกระทำใดๆ ของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมือง หรือบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง แต่กระทำการนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการ เมือง โดยการกล่าวด้วยวาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีการใด เพื่อเรียกร้องหรือให้มีการต่อต้านรัฐ การป้องกันตน การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือการชุมนุม การประท้วงหรือการแสดงออกด้วยวิธีการใดๆ อันอาจเป็นการกระทบต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของบุคคลอื่น ซึ่งเป็นเหตุการณ์สืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2554 ไม่เป็นความผิดต่อไปและให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดและ ความรับผิดโดยสิ้นเชิง

การกระทำในวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงการกระทำใดๆ ของบรรดาผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจ หรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในห้วงระยะเวลาดังกล่าว

มาตรา 4 เมื่อพระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับแล้ว ถ้าผู้กระทำการตามมาตรา 3 วรรคหนึ่งยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาลหรืออยู่ในระหว่างการสอบสวน ให้พนักงานสอบสวนผู้ซึ่งมีอำนาจสอบสวน หรือพนักงานอัยการระงับการสอบสวนหรือการฟ้องร้อง หากถูกฟ้องต่อศาลแล้วให้พนักงานอัยการ หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องระงับการฟ้องหรือให้ถอนฟ้อง ถ้าผู้นั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีไม่ว่าจำเลยร้องขอหรือศาลเห็นเอง ให้ศาลพิพากษายกฟ้องหรือมีคำสั่งจำหน่ายคดี ในกรณีที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษบุคคลใดก่อนวันที่พระราชบัญญัติ นี้มีผลใช้บังคับ ให้ถือว่าบุคคลนั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิด ถ้าผู้นั้นอยู่ระหว่างการรับโทษให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลงและปล่อยตัวผู้นั้น

มาตรา 5 การนิรโทษกรรมตามพระราชบัญบัตินี้ ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ได้รับนิรโทษกรรมในอันที่จะเรียกร้องสิทธิ หรือประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น

มาตรา 6 การดำเนินการใดๆ ตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่เป็นการตัดสิทธิของบุคคลซึ่งไม่ใช่องค์กรหรือหน่วยงานของรัฐในการเรียก ร้องค่าเสียหายในทางแพ่ง จากการกระทำของบุคคลใดซึ่งพ้นจากความรับผิดตามพระราชบัญญัตินี้ และทำให้ตนต้องได้รับความเสียหาย

มาตรา 7 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

นายกรัฐมนตรี

 

ดูฉบับเต็มได้ที่
http://ilaw.or.th/sites/default/files/%E0%B8%A3.%E0%B8%9A.%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B9%82%E0%B8%97%E0%B8%A9%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%20%E0%B9%82%E0%B8%94%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B8%A2%20%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B0.pdf

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาล รธน. ยกคำร้อง "สมาน ศรีงาม" ขอยกเลิก พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ

$
0
0

ศาลรัฐธรรมนูญระบุการใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เป็นการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารจึงยกคำร้อง ขณะเดียวกันได้ยกคำร้องกลุ่ม กวป. ที่ฟ้องว่าการชุมนุมของ "กองทัพประชาชนฯ" ไม่ชอบรัฐธรรมนูญ โดยเห็นว่ายังไม่ปรากฏการกระทำเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ด้าน "ถาวร เสนเนียม" เล็งฟ้องศาลแพ่งให้เลิก พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ระบุทำให้การสัญจรติดขัด ปิดกั้นสิทธิการเข้าฟังประชุมสภา

กรณีที่นายมาลัยรักษ์ ทองชัย แกนนำกลุ่มวิทยุสื่อประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ กวป. ยื่นร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตามมาตรา 68 เกี่ยวกับการชุมนุมของ "กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.)"  ว่าเป็นการชุมเพื่อล้มล้างการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ เนื่องจากมีความพยายามเคลื่อนไหวไม่ให้มีการใช้อำนาจในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ เกิดขึ้น และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว และให้มีการยุติการชุมนุมนั้น

ล่าสุดวันนี้ (7 ส.ค. 56) สำนักข่าวไทยรายงานการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเห็นว่า การชุมนุมดังกล่าวของผู้ถูกร้องเป็นไปตามสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุม ตามรัฐธรรมนูญ และยังไม่ปรากฏว่าการกระทำดังกล่าวเพื่อเป็นการล้มล้างการปกครอง หรือการให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครอง โดยมิได้เป็นไปตามวิถีทางแห่งบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคหนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย

ขณะเดียวกันกรณีที่นายสมาน ศรีงาม แกนนำกลุ่มสภาประชาชนแห่งชาติและคณะ ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 กรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และคณะรัฐมนตรี ประกาศใช้ พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร 2551 ในพื้นที่กรุงเทพฯ บางส่วนตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. จนถึงวันที่ 10 ส.ค. ว่า เป็นการทำลายเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 และเป็นการข่มขู่คุกคามประชาชนให้กลัวจนไม่อาจจะใช้สิทธิเสรีภาพของบุคคลได้ต่อไป และขอให้ยกเลิก พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงฯ เพิกถอนสิทธิทางการเมืองของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเป็นเวลา 5 ปี รวมทั้งยุบพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลที่ได้ร่วมกันประกาศใช้ พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงฯ ดังกล่าวนั้น

ล่าสุด สำนักข่าวไทยรายงานวันนี้ (7 ส.ค. 56) ว่าศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเห็นว่า การใช้อำนาจของคณะรัฐมนตรี เป็นการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงฯ และการขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยกเลิก พ.ร.บ.ดังกล่าวนั้น ไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคสอง จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย

ด้านนายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์เตรียมฟ้องศาลแพ่ง ในวันพรุ่งนี้ (8 ส.ค.) เพื่อฟ้องคณะรัฐมนตรีและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้ยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง เนื่องจากเห็นว่าการออกกฎหมายดังกล่าวมีผลทำให้การเดินทางสัญจรไปมาของประชาชนเดือนร้อน ติดขัด อีกทั้งปิดกั้นสิทธิในการเข้ารับฟังประชุมของรัฐสภา และยังไม่เปิดให้มีการถ่ายทอดสดการประชุม ถือว่าการเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ใบตองแห้ง: นิรโทษ “เอาชนะทางการเมือง”

$
0
0

พรรคเพื่อไทยและรัฐบาลจะต้องผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับวรชัย เหมะ ให้ผ่านวาระแรก และวาระแปรญัตติให้เร็วที่สุดเท่าจะทำได้ ไม่ว่าจะมีการต่อต้านคัดค้านรุนแรงสักเพียงใด โดยต้องยืนหยัดในหลักการ “นิรโทษเฉพาะประชาชน”

กระแสต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษในขณะนี้ มุ่งไปที่การนิรโทษทักษิณ นิรโทษเหมาเข่ง ซึ่งเป็นการ “มองข้ามช็อต” ไปจากตัวร่าง พ.ร.บ.ที่นิรโทษเฉพาะประชาชน
 
แน่นอน ผู้ที่หวาดระแวงก็ไม่ได้มองเกินเหตุ เพราะทักษิณแสดงเจตนาชัดเจน ทั้งร่างปรองดองและคลิปลับ ถ้ามีโอกาส ก็จะเหมารวมตัวเองเข้าด้วย แต่ในสถานการณ์ที่มีแรงต้านหนักหน่วงเช่นนี้ “โอกาส” ที่ว่าหมดไปแล้ว หากยังดึงดันก็เอากับเอาเสถียรภาพรัฐบาลไปเสี่ยง
 
ตรงกันข้าม หากพรรคเพื่อไทยยืนหยัดหลักการนิรโทษเฉพาะประชาชน ผลักดันร่างวรชัยผ่านวาระแรก โดยยืนยันว่าไม่เอา “ปรองดอง” มาแทรก กระแสต้านก็จะลดลง ถ้าแปรญัตติให้เร็ว โดยที่พรรคเพื่อไทยไม่แปรญัตติไปสู่ทักษิณเลย เมื่อนำกลับเข้าสภาในวาระ 2 และ 3 เสถียรภาพรัฐบาลจะกลับมา โดยฝ่ายค้านจะเสียหายด้วยซ้ำ เพราะคัดค้านการนิรโทษคนยากคนจนตาดำๆ ที่รัฐบาลตัวเองกวาดจับ
 
ที่เทพเทือกประกาศจะนำม็อบต้าน พ.ร.บ.นิรโทษหลังผ่านวาระ 3 ทำได้อย่างเดียวเท่านั้นคือนิรโทษทักษิณด้วย ถ้าไม่นิรโทษทักษิณ นิรโทษเฉพาะประชาชน 2 ฝ่าย เทพเทือกจะนำม็อบต้านได้ไง มีแต่เสียหาย กลายเป็นผมหยิก หน้ากร้อ คอสั้น ตัวดำ แล้วยังใจดำ
 
ปชป.จึงต้องพลิกเกมมาต้าน พ.ร.บ.นิรโทษตั้งแต่ก่อนวาระแรก
 
อันที่จริง การต่อสู้ทางการเมืองเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษ พรรคเพื่อไทยจะต้องดึงสังคมออกจาก “ทักษิณ” มาถกเถียงกันว่า สมควรนิรโทษให้มวลชนทั้งสองฝ่ายหรือไม่ โดดเดี่ยวผู้คัดค้านให้กลายเป็นพวก “ใจดำ”
 
อันที่จริง ที่ฝ่ายค้านเรียกร้องให้ถ่ายทอดสด พรรคเพื่อไทยก็ไม่เห็นต้องกลัวอะไร เพราะเป็นโอกาสให้อภิปรายถึงคดีความ ที่ศาลชี้ว่ามวลชนเสื้อแดงตายจากกระสุนทหาร สดๆ ร้อนๆ ก็คดี 6 ศพ อภิปรายถึงมวลชนแต่ละคนที่ติดคุก ที่ไม่ได้รับความยุติธรรม อภิปรายถึงคดีที่ศาลชี้แล้วว่ามวลชนเสื้อแดงไม่ได้ “เผาบ้านเผาเมือง” อภิปรายถึงคดีที่มีการกวาดจับมั่ว อภิปรายถึงความเลวร้ายสมัยรัฐบาล ปชป.จับกุมมวลชนใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้วไม่ให้ประกัน อย่างน้อยก็จำต้องรับสารภาพความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จำคุก 6 เดือน-1 ปี ฯลฯ
 
ถ้าไม่สันหลังหวะ คิดแต่จะสอดไส้ “ปรองดอง” ก็ไม่ต้องกลัวอะไร
 
ถ้าพรรคเพื่อไทยผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้ผ่านวาระ 3 โดยไม่แปรเนื้อหา นิรโทษเฉพาะประชาชน วุฒิสภาจะเอาอะไรมาค้าน ในเมื่อกระแสสังคมเช่นผลสำรวจดุสิตโพลล์ก็เห็นพ้อง (ให้นิรโทษเหมาเข่งด้วยซ้ำ) ไม่ต้องกลัวว่าจะมีใครร้องศาลรัฐธรรมนูญ คัดค้านว่าขัดรัฐธรรมนูญ เพราะถ้าเป็นฉันทามติของสังคม ศาลก็ต้องดูว่า “บ้านเมืองเดินต่อไปได้ไหม” เหมือนที่วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ พูดไว้
 
ทั้งหมดนี้อยู่ที่พรรคเพื่อไทยจะเข้าใจสถานการณ์และตัดสินใจได้มั่นคงแน่วแน่แค่ไหน เพราะถ้าแน่วแน่ ถอนร่างปรองดองออกไปแต่แรก ก็น่าจะทำความเข้าใจสังคมได้มากกว่านี้
 
ถ้ามั่นคง ตรงดิ่งไปสู่การนิรโทษเฉพาะมวลชน วิกฤติยังสามารถแปรเป็นโอกาส ทำให้เห็นว่าขบวนการจ้องล้มรัฐบาลไม่มีเหตุผล อย่าลืมว่านี่คือ “ยกแรก” ของการเปิดสมัยประชุม ซึ่งยังต้องเจอศึกหนักอีกเยอะ รวมทั้งเรื่องที่รัฐบาลทำอะไรแย่ๆ ไว้ยังจะตามมาอีกเยอะ ถ้า “เอาชนะทางการเมือง” ในเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษได้ ก็จะส่งผลถึงบประมาณ และเงินกู้ 2.2 ล้านล้าน ให้พวกต่อต้านเสียรังวัด
 
“โอกาส” ที่พูดถึงไม่ใช่แค่โอกาสของรัฐบาลเพื่อไทย แต่เป็นโอกาสของประชาธิปไตย เพราะถ้าพูดตามเนื้อหา “ม็อบแช่แข็งปี 2” หือขึ้นมาได้ด้วยความห่วยแตกของรัฐบาลเอง การบริหารขาดประสิทธิภาพ กลุ่มก๊วนการเมืองฉายโอกาสฉ้อฉล ความล้มเหลวเชิงนโยบาย ทำให้คะแนนตก
 
กระนั้น ม็อบแช่แข็งรอบ 2 ก็ยังจุดไม่ติด มีคนมาพีคสุดแค่ 4 พัน กิ๊กก๊อกกว่าม็อบเสธอ้าย กระจอกกว่าพันธมิตรหลายเท่า สะท้อนว่ากระแสสังคมไม่เอาพวกสุดขั้วสุดโต่ง ที่อะไรก็เรียกหารัฐประหาร หรือการเปลี่ยนแปลงนอกวิถี
 
เพียงแต่คนจำนวนมากก็เห็นว่ารัฐบาลไม่เอาไหน
 
ทั้งสองกระแสที่ดำรงอยู่เป็นนิมิตหมายอันดีของประชาธิปไตย เบื่อหน่ายเพื่อไทย สังเวชประชาธิปัตย์ ไม่เอารัฐประหาร ไม่เอาตุลาการภิวัตน์ล้มรัฐบาลอีก สังคมไทยกำลังจะตื่นตัวเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น และยึดมั่นวิถีประชาธิปไตยมากขึ้น
 
ถ้าครั้งนี้กระแสสังคมสามารถ “ล้อมปราบทางการเมือง” พวกแช่แข็งไปได้ ทำลายความหวังของพวกสุดขั้วสุดโต่งที่อยากเห็นรัฐประหาร ศาลยุบพรรค ปปช.ถอดนายกฯ ฯลฯ ทำให้พวกนี้พ่ายแพ้และฝ่อไป การต่อสู้ทางการเมืองก็จะกลับสู่วิถี การตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาลจะกลับสู่ความมีเหตุมีผลและมีน้ำหนักมากขึ้น
 
พูดง่ายๆ ว่าตราบใดที่พวกนี้ยังเป่านกหวีดปี๊ดๆ อยู่ การ Repositioning อย่างที่เกษียร เตชะพีระ เรียกร้อง ไม่มีทางเกิดขึ้นได้
 
ปัจจัยสำคัญยิ่ง คือพรรคเพื่อไทยอย่าทำลายตัวเองก็แล้วกัน อย่าสอดไส้เรื่องทักษิณ ขืนยึกยัก นิดเดียวเท่านั้น เสียทั้งกระบวน
 
                                                                                    ใบตองแห้ง
                                                                                    7 สิงหาคม 2556
.............................................
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

TDRI เสนอพัฒนารูปแบบเตือนภัยหนีน้ำป่าไหลหลาก-น้ำท่วมฉับพลัน

$
0
0
นักวิชาการทีดีอาร์ไอเผยผลการสำรวจรูปแบบการเตือนภัยและพฤติกรรมของผู้ได้รับการเตือนภัยน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลัน พบว่า การได้รับการเตือนภัยไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่มีผลต่อการตัดสินใจอพยพหนีภัยน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลัน แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่สำคัญประกอบด้วย ได้แก่ ข้อมูลเกี่ยวกับเส้นทางการอพยพไปยังสถานที่ปลอดภัย สถานที่รองรับผู้อพยพในชุมชน ลักษณะทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น เพศ รายได้ ในขณะที่วิทยุสื่อสารเป็นสื่อเตือนภัยที่มีอิทธิพลต่อการอพยพของประชาชนในพื้นที่โดยเฉพาะในภาวะที่เกิดเหตุการณ์กระชั้นชิด ในส่วนของการตัดสินใจอพยพ ผู้หญิงมีโอกาสตัดสินใจอพยพมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากมีภาระหน้าที่ในการดูแลความปลอดภัยของบุตรหลาน
 
ดร.กรรณิการ์  ธรรมพานิชวงศ์ นักวิชาการ ฝ่ายการวิจัยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า  เหตุการณ์น้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลันเกิดขึ้นบ่อยครั้งและดูเหมือนจะทวีความรุนแรงขึ้นทุกปีในหลายพื้นที่  ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการบุกรุกป่าเพื่อทำการเกษตรและการที่มนุษย์ปลูกสิ่งก่อสร้างขวางทางน้ำ เนื่องด้วยเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลันเป็นภัยที่เกิดขึ้นโดยกระทันหันและรวดเร็ว การเตือนภัยจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง  แม้ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามดำเนินการเตือนภัยในรูปแบบต่างๆ แต่ยังต้องมีการพัฒนารูปแบบการเตือนภัยที่สามารถเข้าถึงประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยจะต้องคำนึงถึงลักษณะพื้นที่ประสบภัยที่แตกต่างกัน เพื่อนำไปสู่การอพยพออกจากพื้นที่อย่างปลอดภัย

ดร.กรรณิการ์  ธรรมพานิชวงศ์ 

ทีดีอาร์ไอโดยการสนับสนุนทุนวิจัยจาก Economy and Environment Program for Southeast Asia (EEPSEA) ทำการศึกษาปัจจัยและรูปแบบการเตือนภัยที่มีผลต่อการตัดสินใจอพยพของประชาชนในพื้นที่น้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลัน โดยถอดบทเรียนจากเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลันที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน 2554 ซึ่งส่งผลกระทบต่อพื้นที่ใน 10 จังหวัดภาคใต้ โดยเลือกพื้นที่ในจังหวัดนครศรีธรรมราชที่ได้รับผลกระทบรุนแรงเป็นพื้นที่กรณีศึกษา ประกอบด้วย 6 หมู่บ้าน ใน 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอนบพิตำ อำเภอสิชล และอำเภอท่าศาลา ข้อมูลที่ใช้ในการศึกษามาจากการจัดประชุมกลุ่มย่อยและเก็บแบบสอบถามจากประชาชนในพื้นที่

การสำรวจข้อมูลจากแบบสอบถามแบ่งออกเป็นสองส่วนหลัก ส่วนแรก ถามเกี่ยวกับปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจอพยพ  และส่วนที่สอง ถามเกี่ยวกับรูปแบบสื่อเตือนภัยที่ทำให้ตัดสินใจอพยพไปยังพื้นที่ปลอดภัย มีจำนวนตัวอย่างที่สำรวจรวมทั้งสิ้น 332 คน จาก 166 ครัวเรือน แยกเป็นผู้ประสบภัยในอำเภอท่าศาลา 120 คน อำเภอสิชล 122 คน และ อำเภอนบพิตำ 90 คน แบ่งตามสัดส่วนของประชากรในแต่ละพื้นที่

ผลการสำรวจพบว่า ร้อยละ 43 (144 คน) ของกลุ่มตัวอย่างตัดสินใจอพยพ โดยเหตุผลของการตัดสินใจไม่อพยพออกจากพื้นที่ประสบภัยได้แก่ เชื่อว่าอาศัยอยู่ในที่ที่ปลอดภัย เป็นห่วงที่อยู่อาศัยและทรัพย์สินว่าจะถูกโจรกรรม ถนนถูกตัดขาด ไม่มีพาหนะในการอพยพ มีเด็กและผู้สูงอายุที่ต้องดูแล อยู่ช่วยเหลือเพื่อนบ้านที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เป็นต้น จากการวิเคราะห์ทางเศรษฐมิติ แสดงให้เห็นว่าปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจอพยพประกอบด้วย การได้รับการเตือนภัย การมีสถานที่ที่ปลอดภัยเพื่อรองรับผู้อพยพ  เพศ และ รายได้  โดยกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับการเตือนภัย  กลุ่มตัวอย่างที่ได้รับทราบข้อมูลของตำแหน่งและเส้นทางในการอพยพไปยังพื้นที่ที่ปลอดภัย หรือกลุ่มตัวอย่างที่เป็นเพศหญิง  มีโอกาสที่จะตัดสินใจอพยพมากกว่ากลุ่มตัวอย่างอื่นๆ เนื่องจากการเตือนภัยจะทำให้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับระยะเวลาและความรุนแรงของภัยที่จะเกิดขึ้น และการได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่ที่ปลอดภัยทำให้กลุ่มตัวอย่างมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการอพยพ ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่เป็นเพศหญิง มีโอกาสตัดสินใจอพยพมากกว่าเพศชายเนื่องจากมีภาระหน้าที่ในการดูแลความปลอดภัยของบุตรหลาน ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างผู้มีรายได้สูง มีโอกาสตัดสินใจที่จะไม่อพยพออกจากพื้นที่มากกว่ากลุ่มตัวอย่างที่มีรายได้ต่ำ ทั้งนี้ เนื่องจากมีความกังวลว่าบ้านและทรัพย์สินจะถูกโจรกรรมในระหว่างที่อพยพ

การศึกษานี้ยังชี้ให้เห็นว่า การได้รับการเตือนภัยผ่านสื่อเตือนภัยต่างๆ มีความสำคัญแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความกระชั้นชิดของภัยที่เกิดขึ้นและปัจจัยอื่นๆ  โดยในระยะเวลากระชั้นชิดที่มีเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลันเกิดขึ้นนั้น สื่อเตือนภัยที่กลุ่มตัวอย่างคิดว่ามีอิทธิพลต่อการตัดสินใจอพยพไปยังพื้นที่ที่ปลอดภัยมากที่สุดคือ วิทยุสื่อสาร เนื่องจากก่อนเกิดเหตุการณ์มักจะมีฝนตกหนักและไฟฟ้าดับร่วมด้วย  ประชาชนในพื้นที่ประสบภัยจึงไม่สามารถรับการแจ้งเตือนทางโทรทัศน์หรือวิทยุได้ นอกจากนี้ ในบางพื้นที่ สัญญาณโทรศัพท์มือถืออาจล่ม ติดต่อไม่ได้ และไม่สามารถชาร์ตแบตเตอรี่ได้  ดังนั้น สื่อเตือนภัยที่ดีที่สุด  ณ ขณะนั้น คือ วิทยุสื่อสาร ซึ่งการชาร์ตแบตเตอรี่แต่ละครั้งสามารถใช้ได้หลายวัน  อย่างไรก็ตาม ในยามฉุกเฉิน “เพื่อนบ้านหรือสมาชิกในครอบครัว” เป็นสื่อกระจายข่าวที่สำคัญเนื่องจากสามารถเข้าถึงตัวผู้รับการเตือนภัยได้ดีโดยเฉพาะกลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้พิการ สำหรับการเตือนภัยผ่านทางโทรทัศน์หรือวิทยุนั้น พบว่ามีความเหมาะสมในกรณีที่เหตุการณ์ไม่กระชั้นชิด เป็นการเตือนภัยเพื่อให้ผู้ได้รับการเตือนภัยสามารถเตรียมตัวรับมือได้ล่วงหน้า เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบและความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก

นอกจากนี้ จากการศึกษาพบว่าสิ่งที่ผู้ประสบภัยน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลันต้องการในการอพยพประกอบด้วย เชือก เสื้อชูชีพ และอาสาสมัครประจำหมู่บ้านที่ให้การช่วยเหลือเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้พิการ โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องข้ามลำคลองขณะที่อพยพไปยังพื้นที่ที่ปลอดภัย สำหรับพื้นที่ที่ถนนหรือเส้นทางถูกตัดขาดซึ่งส่งผลให้ประชาชนไม่สามารถอพยพออกจากที่อยู่อาศัยได้ การเตรียมความพร้อมทางด้านเสบียงอาหารมีความสำคัญ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้มีบางหมู่บ้านเริ่มมีการจัดตั้งธนาคารอาหารประจำหมู่บ้าน

อย่างไรก็ตาม การศึกษาได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ดังนี้ ภาครัฐต้องมีช่องทางการในการให้ข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัยแก่ชุมชนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย และควรมีบทบาทในการจัดหาสถานที่รองรับผู้อพยพที่เหมาะสม ปลอดภัย และเพียงพอเพื่อรองรับผู้อพยพในกรณีที่เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน และเป็นสถานที่ที่คนในพื้นที่รู้จัก อาทิ โรงเรียน วัด ศาลาชุมชน ฯลฯ โดยจะต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้คนในชุมชนรับทราบโดยทั่วกัน และควรคำนึงถึงความสะอาดและความเพียงพอของเครื่องอุปโภคบริโภค และยารักษาโรค หน่วยงานภาครัฐควรให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่ชุมชนต้องเผชิญ ถ้าเป็นไปได้ควรสนับสนุนและจัดเวทีให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการทำแผนการอพยพของชุมชน เตรียมแผนปฏิบัติการในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นในชุมชน มีการซักซ้อมแผนอพยพเป็นระยะอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภัยพิบัติขึ้นในพื้นที่  นอกจากนี้ ควรมีทางออกเพื่อลดข้อกังวลเกี่ยวกับทรัพย์สินและสัตว์เลี้ยงของชาวบ้าน เช่น ให้คำแนะนำเกี่ยวกับสถานที่ฝากสัตว์เลี้ยง และการจัดตำรวจออกตรวจพื้นที่เพื่อป้องกันปัญหาอาชญากรรม ซึ่งจะทำให้ผู้ประสบภัยมั่นใจและยอมอพยพออกจากที่อยู่อาศัย   ควรมีการปรับปรุงประสิทธิภาพสื่อเตือนภัย ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ และวิทยุสื่อสาร  โดยเฉพาะบทบาทการให้ข้อมูลที่สร้างองค์ความรู้ให้ผู้รับสารสามารถนำข้อมูลไปใช้เพื่อช่วยเหลือตนเองและคนรอบข้างได้ในกรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน  สำหรับวิทยุสื่อสารซึ่งเป็นสื่อที่ผู้ประสบภัยต้องการมากที่สุดในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน ควรมีการกำกับดูแลให้ใช้งานได้อย่างถูกต้องและเกิดประโยชน์สูงสุดจริงๆ  ซึ่งผู้ใช้ต้องผ่านการอบรมและมีใบอนุญาต

น้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลันเป็นภัยที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และก่อให้เกิดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมาก แต่หากมีระบบการเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพก็จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและความเสียหายลงได้  แต่สิ่งสำคัญคือหลังจากภัยนั้นผ่านไปแล้ว  ควรมีแผนฟื้นฟูและเตรียมพร้อมหากอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งปัจจัยแห่งความสำเร็จที่สำคัญอย่างยิ่งคือความเข้มแข็งของชุมชนและการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในชุมชน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชุมนุมส่ง ส.ส.ประชาธิปัตย์เข้าสภา 'สุเทพ' บอก - ขอให้รอ "วาระ 3"

$
0
0

รวมตัวส่ง 'ชวน - สุเทพ - อภิสิทธิ์' เข้าสภา ด้าน ส.ส.ประชาธิปัตย์ขอผู้สนับสนุนกลับไปรอที่บ้าน ไม่ต้องรวมตัวรอจนประชุมสภาเสร็จ ด้าน "สุเทพ เทือกสุบรรณ" ขอให้รอ "วาระ 3" ส่วน "ผู้กองปูเค็ม" ถูกส่งไปควบคุมตัวที่ ตชด.ภาค 1 จ.ปทุมธานี หลังผลักดันกับตำรวจปราบจลาจล โดยโพสต์ส่งท้ายเรียกร้องนักรบนิรนาม "โค่นล้มระบอบทักษิณให้จงได้"

ที่มาของภาพ: เพจ Abhisit Vejjajiva

ที่แยกราชวิถีเช้าวันนี้ (7 ส.ค.) ผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งปักหลักชุมนุมที่ใต้ทางด่วนอุรุพงษ์ มาตั้งแต่เมื่อคืนวานนั้น ได้เคลื่อนขบวนมาส่ง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์เพื่อร่วมประชุมคัดค้านการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยแกนนำ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ประกอบด้วย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร  ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เช่น นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และนายชวน หลีกภัย รวมทั้งคณะ ส.ส. ได้ทยอยเดินทางเข้ามาบนถนนราชวิถี เพื่อเข้าประชุมสภา

ทั้งนี้ทาง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้ขอบคุณผู้ชุมนุมที่มาส่ง และประกาศให้ผู้ชุมนุมเดินทางกลับบ้าน โดยไม่ต้องรวมตัวรอจนประชุมสภาเสร็จ ขณะที่นายสุเทพ ได้ปราศรัยว่า "นี่ไม่ใช่นัดตัดเชือก รอผ่านวาระ 3 ก่อน" โดยขอให้ผู้ชุมนุมกลับบ้านไปรอฟังข่าว

อย่างไรก็ตาม ร.อ.ทรงกลด ชื่นชูผล หรือ "ผู้กองปูเค็ม" อดีตนายทหารนอกราชการ ได้นำมวลชนผลักดันแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ เพื่อนำมวลชนฝ่าเข้าไป ทำให้ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว ร.อ.ทรงกลด กับการ์ดผู้ชุมนุมอีก 4 คน ไปควบคุมไว้ที่ ตชด.ภาค 1 จ.ปทุมธานี

โดย ร.อ.ทรงกลด ได้โพสต์สเตตัส ก่อนที่จะมอบเครื่องโทรศัพท์ให้ตำรวจว่า "นักรบนิรนามจงฟัง.. พี่น้องเสื้อแดงคือเพื่อนร่วมชาติของเรา..จงมอบความรัก ความเข้าใจให้กับพวกเขา.. แต่..จงปฏิบัติการ "รุก" ต่อสมุนทักษิณ ได้แก่ สส.พรรคเพื่อไทย โฆษกรัฐบาลพรรคเพื่อไทย และแกนนำแดง.. นับแต่บัดนี้..เป็นต้นไป..จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง.."

และส่งท้ายยังโพสต์ด้วยว่า "ต้องฝากโทรศัพท์ให้กับตำรวจแล้ว.. เราจะขาดการติดต่อสื่อสาร.. ขอให้นักรบนิรนามจงดำรงความมุ่งหมาย..จนกว่าจะถึงเป้าหมายของเรา..โค่นล้มระบอบทักษิณให้จงได้.."

ส่วนเวทีการชุมนุมของ "กองทัพประชาชนโค่นล้มระบอบทักษิณ" ที่สวนลุมพินีนั้น เมื่อเวลา 19.23 น. วอยซ์ทีวีรายงานว่า คณะเสนาธิการร่วมกองทัพประชาชนฯ ได้กล่าวกับผู้ชุมนุม ขอให้มวลชนทุกคนอดทนรอคอยเวลาในการเคลื่อนออกจากพื้นที่ โดยระบุว่าเป็นการคำนึงถึงยุทธวิธีในการเคลื่อนไหว เพื่อให้บรรลุชัยชนะในที่สุด โดยมั่นใจว่าจะมีกำลังมวลชนมาเสริมสมทบอย่างแน่นอน

 

คุมเข้มรอบทำเนียบรัฐบาล ติดป้าย "ผู้กองปูเค็ม" บุคคลต้องห้าม

ขณะที่สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ รายงานด้วยว่า การรักษาความปลอดภัยโดยรอบพื้นที่ทำเนียบรัฐบาลช่วงค่ำวันนี้ (7 ส.ค.) เป็นต้นไป เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้มาตรการรักษาความสงบเรียบร้อยรอบพื้นที่อย่างเข้มงวดขั้นสูงสุด เนื่องจากเป็นสถานที่ราชการสำคัญ และในสภามีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ที่รัฐสภา จำเป็นต้องตรึงกำลังเจ้าหน้าที่อย่างเข้มงวดมากกว่าทุกวันที่ผ่านมา หลังจากที่รัฐบาลประกาศใช้มาตรการตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 เป็นพื้นที่หวงห้าม โดยเน้นตรวจสอบบุคคลและรถยนต์ที่เข้า-ออกทำเนียบรัฐบาลตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งเปิดให้บุคคลหรือเจ้าหน้าที่ทำเนียบรัฐบาลเดินทางเข้า-ออก ได้ 2 ทาง คือ ประตู 1 บริเวณสะพานอรทัย และประตู 5 , ประตูบริเวณน้ำพุ ขณะที่รถยนต์จะให้เข้า-ออกได้เพียงประตูเดียว คือประตู 1 บริเวณสะพานอรทัยเท่านั้น ยกเว้นบุคคลและรถยนต์ที่ไม่มีบัตร หรือสติ๊กเกอร์ห้ามเข้าโดยเด็ดขาด ต้องได้รับการตรวจตราและแลกบัตรเข้าพื้นที่ภายในทำเนียบรัฐบาลจากเจ้าหน้าที่ตำรวจก่อนทุกครั้ง ส่วนบริเวณรอบนอกทำเนียบรัฐบาลที่มีการปิดถนน ตำรวจ ได้นำแท่งคอนกรีต และรั้วลวดหนามมาวางไว้ และติดป้ายประกาศ "ทำเนียบรัฐบาลเป็นพื้นที่หวงห้ามเด็ดขาด"

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ รายงานด้วยว่า ทุกวันจะมีการสับเปลี่ยนกำลังตำรวจที่รักษาความปลอดภัยโดยรอบพื้นที่อยู่ตลอดเวลา กรณีมีเหตุฉุกเฉินที่จุดใดตำรวจทุกนายที่สับเปลี่ยนกำลังต้องกลับมาประจำการตามจุดได้ทันทีภายในเวลา 30 นาที ซึ่งภาพรวมพื้นที่รอบทำเนียบรัฐบาลมีตำรวจจากหน่วยต่าง ๆ มาปฏิบัติหน้าที่ 12 กองร้อย หรือประมาณ 1,800 นาย โดยกรณีมีกลุ่มผู้ชุมนุมที่ติดตามการพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ไม่พอใจการลงมติรับหลักการร่างฉบับดังกล่าว อาจมีการเคลื่อนขบวนมวลชนเข้ามาในพื้นที่หวงห้ามได้ เช่น รัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล กำลังสำรองทั้งหมดในพื้นที่ใกล้เคียงกรุงเทพมหานคร เช่น นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา นครปฐม ปทุมธานี เมื่อมีการเรียกกำลังเสริมสามารถเสริมกำลังได้เร็วที่สุด ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้ติดรูป "ผู้กองปูเค็ม" เป็นบุคคลต้องห้ามเข้าพื้นที่หวงห้ามตามที่รัฐบาลประกาศใช้อยู่ในขณะนี้ด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรรมการสิทธิฯ ชี้แจงไม่ได้ถูกล็อกคอ-ไม่ได้ขึ้นปราศรัยที่สวนลุมพินี

$
0
0

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ชี้แจงว่าได้ไปตรวจพื้นที่ชุมนุมสวนลุมพินีเมื่อ 5 ส.ค. จริง ตามที่ได้รับการร้องเรียน แต่ไม่ได้ขึ้นปราศรัยและถูกชายสวมเสื้อขาวล็อกคอตามที่ปรากฏเป็นข่าว

ตามที่สื่อบางฉบับ รายงานเมื่อวันที่ 5 ส.ค. ว่า เกิดเหตุ นายสุพรรณ ก้อนหิน อายุ 23 ปี ขึ้นไปล็อกคอ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่กำลังปราศรัยบนเวที "กองทัพประชาชนโค่นล้มระบอบทักษิณ" ที่สวนลุมพินี จนเกิดการกอดปล้ำกัน ทำให้บรรดาการ์ดและผู้ร่วมชุมนุมตกใจกรูเข้าไปทำร้ายและพยายามจับตัว แต่ชายคนดังกล่าวกลับอาศัยความไวมุดลอดใต้เวทีวิ่งออกจากพื้นที่ชุมนุมหลบหนีเข้าไปในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ลุมพินี สามารถติดตามไปควบคุมตัวไว้ได้นั้น

ล่าสุด นพ.นิรันดร์ ได้เผยแพร่แถลงการณ์ปฏิเสธข่าวดังกล่าว โดยชี้แจงว่า ได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบสภาพความเป็นจริงในพื้นที่การชุมนุม ตามที่มีการร้องเรียนมาว่่ามีการประกาศใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงฯ เป็นการละเมิดเสรีภาพการแสดงความคิดตามรัฐธรรมนูญ และไม่ได้ขึ้นไปบนเวทีปราศรัย โดยรายละเอียดของการชี้แจงมีดังนี้

"1. การลงพื้นที่การชุมนุมที่สวนลุมพินี เป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ รับผิดชอบกรณีร้องเรียนของกลุ่มกองทัพประชาชนโค่นล้มระบอบทักษิณที่ได้มาร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในกรณีภาคประชาชนคัดค้านการประกาศและบังคับใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ในเขตพื้นที่เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2556 ซึ่งการตรวจสอบสภาพความเป็นจริงในพื้นที่การชุมนุมและรับฟังความเห็นจากประชาชน เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงและเพื่อการประสานงานหน่วยงานแห่งรัฐในการคุ้มครองสิทธิของประชาชน"

"2. ผมไม่ได้ขึ้นไปปราศรัยบนเวทีการชุมนุม และมิได้ถูกชายสวมเสื้อขาวกางเกงขายาวสีดำล็อกคออย่างที่สื่อฉบับหนึ่งรายงานข่าวแต่อย่างใด โดยขณะเกิดเหตุชุลมุนอยู่นั้น ผมกำลังพูดคุยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวในเต๊นท์สื่อมวลชนซึ่งตั้งอยู่ห่างจากเวทีประมาณ 100 เมตร"

"ผมต้องขอแจ้งให้ทราบตรงตามความเป็นจริง และขอบคุณหลายภาคส่วนที่สอบถามมาด้วยความเป็นห่วง จึงเรียนมาเพื่อทราบและมีความเข้าใจที่ถูกต้อง" คำแถลงของ นพ.นิรันดร์ ระบุ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จับประเด็นอภิปราย: 7 ข้อไม่รับหลักการ VS 3 ข้อรับหลักการ (ร่างนิรโทษกรรม)

$
0
0

 

7 ส.ค.56 ในช่วงค่ำหลังการโหวตเดินหน้าอภิปรายร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับที่เสนอโดยนายวรชัย เหมะ (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)  มีการอภิปรายในเนื้อหาสาระร่างดังกล่าว ในส่วนที่โดดเด่นดูเหมือนจะเป็นการนำเสนอเหตุผลตัวแทนฝ่ายค้าน “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์”  และฝ่ายรัฐบาล “ชาวลิต วิชยสุทธิ์”  

โดยนายจุรินทร์หยิบยกเหตุผล 7 ประการที่ไม่รับหลักการร่างกฎหมายนี้ และนายชาวลิตหยิบยก 3 เหตุผลที่รับหลักการร่างกฎหมายนี้

 

รายละเอียดโดยสรุปมีดังนี้

 

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์  กล่าวถึง เหตุผล 7 ประการที่จะขอไม่รับหลักการร่างพ.ร.บ.นี้  

ประการที่ 1กฎหมายนี้มีเจตนาบิดเบือนข้อเท็จจริง โดยการระบุรายละเอียดในเหตุผลและวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.นี้ มีการบิดเบือนข้อเท็จจริงอย่างน้อย 2 ประการ คือ

1. เหตุผลการร่างกฎหมายที่ระบุว่า เนื่องจากสังคมไทยที่ผ่านมาอยู่ในสภาวะแตกแยกทางความคิด มีการแบ่งฝักฝ่ายในบ้านเมือง ไม่เคารพระบอบประชาธิปไตย มีการประท้วงรัฐบาลจนนำไปสู่การยึดอำนาจการปกครองเมื่อวันที่ 19 ก.ย.49 นั้นเป็นการบิดเบือนกล่าวข้อเท็จจริงไม่ครบถ้วน การประท้วงก่อนการรัฐประหารไม่ได้เกิดจากการไม่เคารพประชาธิปไตยแต่ประท้วงการบริหารของรัฐบาลทักษิณ โดยผู้ยึดอำนาจอ้างเหตุผล 4 ประการคือ 1) สังคมแตกแยก มีการแบ่งฝ่ายรุนแรง 2) มีการทุจริต คอรัปชั่นในคณะรัฐบาล 3) การบริหารราชการแผ่นดินมีการแทรกแซงทุกองค์กร 4) มีการปล่อยให้เกิดการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างกว้างขวาง

2.เหตุผลในร่างพ.ร.บ.นี้ยังระบุอีกว่า จึงสมควรให้มีการนิรโทษกรรมแก่ประชาชนในกรณีดังกล่าว เพื่อการให้โอกาสแก่ประชาชนซึ่งเป็นพลเมืองของประเทศ เพื่อรักษาศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยโดยใช้หลักนิติธรรมอันเป็นรากฐานที่ดีต่อการลดความขัดแย้ง เนื้อหาดังกล่าวแปลความได้ว่า มีการอ้างเหตุผลนิรโทษกรรมเพื่อธำรงไว้ซึ่งหลักนิติธรรมและสร้างความปรองดอง ทั้งที่การออกกฎหมายนี้ตรงข้ามกับเหตุผลที่กล่าวอ้างทั้งหมด

ประการที่ 2มีการเขียน “หลักการ” หมกเม็ดอย่างน้อย 2 ประการ หมกเม็ดอันแรก ดูจากชื่อร่างกฎหมายเขียนว่า ร่างนิรโทษสำหรับผู้กระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน หลักการก็เขียนล้อไปเช่นนั้น แต่เมื่อพิจารณาที่เนื้อหากลับพบการหมกเม็ด เพราะรวมคดีก่อการร้าย โดยเฉพาะคดีก่อการร้ายที่มีบุคคลที่อยู่นอกประเทศเป็นผู้ต้องหารวมอยู่ด้วย อัยการได้สั่งฟ้องแล้วทั้งหมด 26 ราย จำเลยที่ 1 คือ บุคคลที่อยู่นอกประเทศกับพวกอีก 25 คน และมาตรา 3 ในร่าง พ.ร.บ.นี้ เขียนครอบคลุมถึงบุคคลที่ไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง ถือว่าได้รับการนิรโทษกรรมด้วย บุคคลที่ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองที่ถูกส่งฟ้องก็คือ คนที่อยู่ต่างประเทศ

หมกเม็ดอันที่ 2 ผู้ไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองนั้น มีอยู่จำนวนหนึ่งที่ทำผิดตามมาตรา 112 ไม่ได้มาชุมนุมแต่กล่าวด้วยวาจา ตามมาตรา 3 ของกฎหมายนี้แปลความได้ว่าบุคคลเหล่านี้เข้าข่ายการนิรโทษกรรมด้วย

ต่อไปหากไม่เข้าร่วมชุมนุมแต่ทำผิดตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ เช่น โพสต์โจมตีสถาบัน คนเหล่านี้ก็ได้รับผลพวงจากกฎหมายนี้ด้วย ซึ่งอย่างน้อยที่สุดมี 4-5 คนที่ยังถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

ประการที่ 3กฎหมายฉบับนี้ส่อขัดรัฐธรรมนูญหลายมาตรา ยกตัวอย่าง มาตรา 30 ที่ระบุว่าบุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งความแตกต่างทางการเมืองจะกระทำไม่ได้ แต่กฎหมายฉบับนี้เลือกปฏิบัติ เพราะระบุเงื่อนเวลาในการนิรโทษกรรมไว้ชัดเจนว่า 19 ก.ย.2549 ถึงวันที่ 10 พ.ค.2554 เท่านั้น เพราะต้องการกีดกันบางคดีที่มีลักษณะทำนองเดียวกันออกไปเช่น กรณีม็อบเสธ.อ้าย ถือเป็นการเลือกปฏิบัติ

มาตรา 122 เรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ระบุว่า ส.ส.ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวม โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ แต่กฎหมายฉบับนี้มีการขัดกันหลายกรณี เช่น ในบรรดาส.ส.ที่ลงชื่อเสนอร่างนี้ ปรากฏว่ามี 5 คนที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน เช่น ก่อแก้ว พิกุลทอง, พายัพ ปั้นเกตุ นอกจากนั้นยังมีผู้มีตำแหน่งทางการเมืองอีกราว 10 คนตั้งแต่รมต. ส.ส. เลขา รมต. ที่จะได้รับผลพวงจากการนิรโทษกรรมรวมถึงคนนอกประเทศ

มาตรา 143 ของรัฐธรรมนูญเป็นการกำหนดเกณฑ์กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงินว่า ต้องมีการขอคำรับรองจากนายกรัฐมนตรีก่อน กฎหมายนี้ฝ่ายค้านวินิจฉัยเบื้องต้นว่าน่าจะเกี่ยวกับการเงิน เนื่องจากจะมีผลนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดเผาทรัพย์สินราชการ เช่น เผาศาลากลาง ซึ่งศาลพิพากษาจำคุกและปรับเป็นจำนวนเงินนับร้อยล้านบาท หากมีการนิรโทษจะกระทบทางการเงินของรัฐซึ่งเข้าข่าย ม.143  

ประการที่ 4กฎหมายนี้ขัดหลักนิติรัฐ ซึ่งมีหลักการว่าใครผิดต้องได้รับโทษ กฎหมายนี้กำลังทำให้คนทำผิดคดีอาญาโทษอุจฉกรรจ์กำลังจะได้ล้างผิด ฐานความผิดที่ครอบคลุมการล้างผิดตามกฎหมายนี้คือ คดีฆ่า คดีเผาทั้งทรัพย์ราชการและเอกชน คดีก่อการร้าย คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทั้งที่เขียนเปิดเผยและหมดเม็ด นอกจากนี้กฎหมายนี้ยังขัดหลักสิทธิมนุษยชนตามที่องค์กรระหว่างประเทศบางแห่งออกมาตั้งข้อสังเกต

ประการที่ 5กฎหมายนี้ไม่ได้นิรโทษกรรมคนจำนวนมากเรือนหมื่นเรือนแสนดังกล่าวอ้าง เพราะตัวเลขจริงๆ มีไม่เท่าไร และเป็นเรื่องคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นการเฉพาะ เช่น ข้อมูลของ ปคอป. ระบุว่า นปช.ที่ถูกดำเนินคดีและอยู่ในชั้นอัยการและชั้นศาลมีทั้งหมด 124 คดี , ศูนย์ประสานงานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ระบุ จำนวนนักโทษการเมืองมีประมาณ 30 คน

ประการที่ 6หากมีการรับหลักการกฎหมายนี้ สุดท้ายจะกลายเป็นหัวเชื้อหรือบันไดขั้นแรกที่จะ “ล้างผิดคนโกงเต็มรูป” แบบในอนาคต สิ่งที่กังวลและไม่เห็นด้วยตั้งแต่นับหนึ่งเพราะไม่มีหลักประกันใดว่าถ้ารับหลักการในวาระหนึ่ง แล้วขั้นแปรญัตติวาระสองจะไม่มีความพยายามเปลี่ยนกฎหมายฉบับนี้ ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อนายกรัฐมนตรีออกมาประกาศเรียกร้องให้จัดตั้งสภาปฏิรูปจึงยิ่งเห็นชัดถึงเจตนาว่าสุดท้ายการประกาศตั้งสภาปฏิรูปเพื่อเดินคู่ขนานกับการออกกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อจะล้างผิดยกเข่ง นอกนากนี้อดีตสอนเราว่าปฏิรูปการเมืองกี่ครั้งๆ ก็จบลงด้วยการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ หรือแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และมาตรา 309 ที่เป็นก้างขวางคอการล้างผิดก็จะหายไป

ประการที่ 7กฎหมายนี้ไม่ได้นำไปสู่การสร้างความปรองดองอย่างที่โฆษณาชวนเชื่อในทางการเมือง เพราะแค่นับหนึ่งก็ถึงขั้นต้องประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง  สะท้อนให้เห็นว่าสุ่มเสี่ยงจะเป็นการเดินหน้าไปสู่วิกฤตรอบใหม่  

นอกจากนี้รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้ปฏิบัติตามคำสัญญาหรือแนวทางที่ประกาศไว้ อย่างน้อยประกาศว่าจะปฏิบัติตามแนวทาง คอป.และสัญญากับสภาว่าจะปฏิบัติตามข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้า

สุรพงษ์ โตวิจักษ์ชัยกุล รองนายกฯ ชี้แจงว่านายกฯ มาตั้งแต่เช้าจนเที่ยง เมื่อยังมีการโต้แย้งไม่มีการอภิปรายจึงออกไปปฏิบัติราชการและส่งตนมาเป็นตัวแทน นอกจากนี้คดีการก่อการร้ายนั้นที่อ้างว่าอัยการฟ้องอดีตนายกฯ ทักษิณนั้น อัยการยังไม่มีคำสั่งฟ้องใดๆ

 

นายชวลิตวิชยสุทธิ์ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย จังหวัดนครพนม กล่าวให้เหตุผลในการสนับสนุนร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ใน 3 ประเด็น คือ ตัวอย่างการนิรโทษในอดีต , ตัวอย่างจากต่างประเทศและการประยุกต์กับสถานการณ์ปัจจุบัน, การเสนอทางออกของแต่ละองค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

ประเด็นแรกตัวอย่างในอดีตจะเห็นว่าตั้งแต่ปี 2475 ออกกฎหมายนิรโทษกรรม 22 ฉบับ ในจำนวนนี้ออกเป็น พ.ร.ก.4 ฉบับ และไม่นับรวมพ.ร.บ.ล้างมลทิน 8 ฉบับรวมถึงการพระราชทานอภัยโทษ เหตุผลของทั้ง 22 ฉบับเกือบทั้งหมดระบุว่าต้องการธำรงความสามัคคีของคนในชาติและระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ทั้ง 22 ฉบับ แบ่งเป็นการนิรโทษกรรมให้ตนเองและพวกพ้อง ส่วนใหญ่เป็นพวกทำรัฐประหารกว่าครึ่งหนึ่ง อีกส่วนเป็นการนิรโทษกรรมเหตุการณ์ให้ครอบคลุมประชาชน นิสิตนักศึกษา เห็นชัดเจนในสมัยนายกฯ พระราชทาน สัญญา ธรรมศักดิ์ ที่มีการนิรโทษกรรมในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และพล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้นักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519  ซึ่งในเหตุการณ์ดังกล่าวมีการบาดเจ็บล้มตาย เผาสน.นางเลิ้ง เผากรมประชาสัมพันธ์ เพราะพวกเขาไม่ได้มีเถยจิตเป็นโจร พวกเขาต้องการประชาธิปไตย ต้องการรัฐธรรมนูญ แต่เหตุการณ์เกิดจากแรงกดดันจากการถูกปราบ

จากการตรวจสอบการตรากฎหมายนิรโทษกรรมทั้งหมด พบว่า มีหัวหน้าพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ตรา พ.ร.บ./ พ.ร.ก.นิรโทษกรรม โดยมีเหตุผลเพื่อสร้างความสามัคคีคนในชาติดังกล่าวคือ  1.พ.ร.ก.นิรโทษกรรมฐานกบฏและจลาจล ปี 2488, พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ทำการรัฐประหาร ปี 2490  ผู้ที่ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการทั้ง 2 ครั้งคือ นายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้นและเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์  

แถลงการณ์วันที่ 9 พ.ค.2488 ของกรมโฆษณาการระบุเหตุผลการออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรมปี 2488 ระบุว่า เป็นไปเพื่อส่งเสริมการปกครองแผ่นดินตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขให้ถาวรและเพื่อความสามัคคีของคนในชาติ  ส่วน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมปี 2490 นั้น เนื่องจากมีกลุ่มทหารนอกราชการนำโดย พ.ท.ผิน ชุณหะวัณ ทำการรัฐประหารัฐบาลของ พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ แล้วให้นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกฯ แทน ในพ.ร.บ.นิรโทษกรรมดังกล่าวระบุชัดเจนว่ารัฐประหารครั้งนี้คณะผู้ก่อการมิได้ปรารถนาเป็นอย่างอื่น นอกจากขจัดแก้ไขความเสื่อมโทรมของชาติ ขจัดความเดือดร้อนของประชาชน จึงเห็นเป็นการสมควรให้มีการนิรโทษกรรม  

อย่างไรก็ตาม ยังมีการนิรโทษกรรมครั้งสำคัญอีก 2 ครั้ง แต่เจ้าหน้าที่มิได้รวมไว้เนื่องเพราะคงเห็นว่าไม่ได้ออกเป็นกฎหมาย แต่นับเป็นการนิรโทษกรรมครั้งสำคัญของไทย นั่นคือ คำสั่งสำนักนายกฯ ที่ 66/23 นโยบายต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ ลงนามโดยพล.อ.เปรม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นการยุติสงครามกลางเมืองครั้งยิ่งใหญ่ หลักคิดของคำสั่งนี้คือปัญหาการเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง หากดำเนินการแบบนั้นในสมัยนี้คงมีผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเต็มไปหมด ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์อ้างไว้อย่างสวยหรูในรายงาน คอป. เหตุใดจึงไม่เอามาใช้แก้ปัญหาบ้านเมือง ผลพวงคำสั่งนี้ทำให้มีคนดีมีคุณภาพออกมาจากป่ามาประกอบสัมมาอาชีพ หลายคนเป็น ส.ส. ส.ว. รมต. รองนายกฯ

อีกฉบับคือ รัฐธรรมนูญปี 2550 นี้เอง โดยมาตรา 309 ที่ประชาชนทั่วไปทราบดีว่าเป็นการนิรโทษกรรมให้กับคณะรัฐประหารเองและพวกพ้องตั้งแต่อดีต ปัจจุบันและรวมไปถึงอนาคต ซึ่งขัดกับหลักนิติรัฐ นิติธรรม เรื่องนี้จะหาทางออกได้แน่ถ้ายอมรับความจริงซึ่งกันและกัน

ประเด็นที่สองการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในต่างประเทศจะสามารถประยุกต์ใช้กับไทยได้อย่างไร จากที่เป็น กมธ.วิสามัญศึกษาแนวทางสร้างความปรองดองแห่งชาติได้ศึกษาตัวอย่างหลายประเทศ ยกตัวอย่าง กรณีของเนลสัน แมนเดลลา การให้อภัยของท่านทำให้แอฟริกาใต้สงบสุขมาถึงทุกวันนี้ มีการตั้งคณะกรรมการฟื้นฟูเยียวยา กรณีอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย มีการปล่อยตัวนักโทษการเมืองมีการตั้งองค์กรฟื้นฟูเยียวยา, กรณีไอร์แลนด์เหนือ มีการปล่อยตัวนักโทษการเมืองที่ถูกจำคุกคดีก่อการร้าย มีการฟื้นฟูเยียวยาทั้งตัวเงินและการฟื้นฟูอาชีพ ที่สำคัญ รัฐบาลสหราชอาณาจักรได้ออกมาขอโทษต่อเหตุการณ์ “อาทิตย์เลือด” อย่างเป็นทางการและสังคมก็ให้อภัย, กรณีประเทศรวันดา มีการสร้างกระบวนการทางวัฒนธรรมเพื่อรำลึกถึงการสูญเสียจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แลเพื่อไม่ให้ความรุนแรงหวนคืน อาทิ สร้างอนุสรณ์สถาน พิพิธภัณฑ์ การประกาศวันหยุดแห่งชาติ มีการเยียวยาผู้เสียหาย

ประเด็นที่สามบทบาทของแต่ละองค์กร จะเห็นว่าในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีการตั้ง คอป.ขึ้น และออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดอง ลงวันที่ 15 ก.ค.53 ระเบียบนี้มีถ้อยคำที่น่าสนใจต่อการแก้ปัญหาความขัดแย้งเพียงแต่เรายังไม่นำมาปฏิบัติ นั่นคือการระบุว่า ต้องมุ่งเน้นการใช้มาตรการเชิงสมานฉันท์รวมทั้งความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์และความยุติธรรมทางสังคม กานฟื้นฟูและเยียวยาเหยื่อและผู้เสียหายเพื่อสมานบาดแผลทางสังคมและสร้างวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และยอมรับความแตกตางทางความคิดเพื่อส่งเสริมให้เกิดความปรองดองในประเทศไทย

หวังว่าเวทีปฏิรูปประเทศไทยของนายกฯ ยิ่งลักษณ์อาจจำแนวคิดนี้ไปดำเนินการเพื่อให้เกิดความปรองดองต่อไป อย่างไรก็ตาม ในระเบียบดังกล่าวมีศัพท์กฎหมาย 2 คำ คือ ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ และ ความยุติธรรมทางอาญา ทั้งสองหลักมีมาตรการลงโทษต่างกัน ผู้กระทำความผิดที่มีเหตุจูงใจทางการเมืองหากนำหลักยุติธรรมทางอาญาที่ลงโทษแต่เพียงอย่างเดียวมาใช้แก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองคงไม่สอดคล้องต่อปรัชญาในการลงโทษและไม่ก่อให้เกิดความยุติธรรม ไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้ การให้ความยุติธรรมทางกฎหมายต่อทุกฝ่ายอย่างเหมาะสมนั้นรวมถึงการนำหลักวิชาเกี่ยวกับความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาศึกษาและปรับใช้ให้เหมาะกับสถานการณ์ในไทย โดยใช้หลักเมตตาธรรมให้โอกาสทุกฝ่ายในวิถีทางการเมืองระบอบประชาธิปไตย

ในอดีตเคยมีการใช้หลักความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ที่ชัดเจนคือ คำสั่ง 66/23 และพ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหตุการณ์ปี  2516

มีการวิพากษ์กว้างขวางว่า ร่างกฎหมายนี้จะทำให้คดีตามมาตรา 112 จะหลุดไหม อยากทำความเข้าใจกับเพื่อนสมาชิกว่า มาตรา 112 เป็นกฎหมายพิเศษที่บัญญัติเพื่อปกป้องสถาบันหลัก กฎหมายนิรโทษกรรมไม่อาจครอบคุลมถึงมาตรา 112 ส่วนการจะขอพระราชทานอภัยโทษนั้นก็เป็นอีกกรณีหนึ่ง ในการเสนอให้มี กมธ.ศึกษาการปรองดองแห่งชาติ แต่ละพรรคการเมืองในขณะนั้นรวมถึงพรรคเพื่อไทยประกาศชัดเจนว่าจงรักภักดีต่อพรรคมหากษัตริย์ พรรคยืนยันชัดเจนว่าร่างกฎหมายนิรโทษกรรมนี้ไม่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 

หากดูบทบาทของรัฐบาล ในสมัยนายกฯ อภิสิทธิ์ตั้ง คอป.มาถึงสมัยยิ่งลักษณ์ก็ยอมรับการดำเนินการของคอป.ซึ่งมีจัดทำรายงานผลการศึกษาแยกได้ 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นการค้นหาความจริง เม.ย.-พ.ค.53 ส่วนที่สองเป็นรายงานสาเหตุแห่งความขัดแย้งและข้อเสนอแนะเพื่อสร้างความปรองดอง มีข้อสังเกตในรายงานของคอป.ที่คนไม่กล่าวถึงมากนัก คือ การวิเคราะห์สาเหตุความขัดแย้งทางการเมืองว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างมิใช่ของบุคคลใด และระบุสาเหตุประการหนึ่งคือ การละเมิดหลักนิติธรรมทั้งก่อนและหลังรัฐประหร คอป.เสนอให้มีการเยียวยาอย่างทั่วถึง คืนความชอบธรรมให้ผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำอันขัดหลักนิติธรรม และเสนอแนะให้รัฐบาลออกมาขอโทษประชาชนที่เกิดเหตุการณ์บาดเจ็บล้มตายและจัดการความขัดแย้งโดยสันติวิธี

รัฐบาลยิ่งลักษณ์ตั้ง ปคอป.ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ คอป. และสถาบันพระปกเกล้า จัดให้มีเวทีสานเสวนาหาทางออกประเทศไทย 108 เวที

สำหรับสภาผู้แทนราษฎรเองได้เห็นชอบให้มีการตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ มี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นประธาน ผลการศึกษาได้รายงานสภาและครม.แล้ว  โดย กมธ.ฯ ได้รับความร่วมมือจากสถาบันพระปกเกล้ารับไปศึกษาในหัวข้อ อะไรคือ รากเหง้าความขัดแย้งในปัจจุบันและมีกระบวนการใดที่จะทำให้คนกลับมาอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้ สถาบันพระปกเกล้าก็เสนอในระยะสั้นว่า ให้มีการจัดการความจริงของเหตุการณ์รุนแรง การให้อภัยแก่การกระทำที่เกี่ยวข้องผ่านการนิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุม การเสริมสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม และนำรายงานของสถาบันไปจัดพูดคุยหาทางออกอย่างกว้างขวาง วันที่ 10 เม.ย.55 ครม.ก็รับไปดำเนินการต่อ โดยมีมติให้ ปคอป.ดำเนินการสานเสวนาหาทางออกประเทศไทย และปคอป.ได้มอบต่อให้สถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งไป ระหว่าง 10 มิ.ย.-28 ก.ค.56  มีเข้าร่วมเวทีทั่วประเทศ 101,683 คน เท่าที่สังเกตการณ์ไม่มีการแทรกแซงจากฝ่ายอื่น ดำเนินการตามหลักวิธีวิจัย ผลการสานเสวนามีเรื่องที่น่าอัศจรรย์ ข้อหนึ่งในหลายข้อ คือ ประชาชน 93.39% ขอให้คนไทยมีเมตตา ให้อภัย และปรารถนาดีต่อกันตามพระราชดำรัสของในหลวง

นอกจากนี้ชวลิตยังมีการหยิบยกคำพูดของผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่ระบุถึงความต้องการให้บ้านเมืองสงบ รวมไปถึงศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย ที่ระบุว่าการชุมนุมส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ  

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กลุ่มสวัสดิภาพสัตว์จัดตั้งพันธมิตรนานาชาติยุติการค้าสุนัขในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์

$
0
0

ชี้การค้าสุนัขกระตุ้นความเสี่ยงต่อสุขภาพคนทั่วภูมิภาคเอเชียควรออกกฎหมายบังคับใช้ในวงกว้าง ระบุองค์การอนามัยโลกเผยถึงการค้าสุนัขเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศอินโดนีเซีย รวมถึงอหิวาตกโรคในประเทศเวียดนาม

7 ส.ค. 56 องค์กรพิทักษ์สัตว์ได้ก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรพิทักษ์สุนัขเอเชีย (Asia Canine Protection Alliance - ACPA) เพื่อยุติการค้าสุนัขอย่างโหดร้ายทารุณ ซึ่งมีสุนัขที่ต้องถูกสังเวยเป็นจำนวนกว่า 5 ล้านตัวต่อปี อีกทั้งยังก่อให้เกิดความเสี่ยงและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทั้งนี้กลุ่มพันธมิตรฯมุ่งเน้นไปที่ประเด็นการค้าสุนัขระดับโลก ที่มีการลักลอบขนส่งข้ามแดนจากประเทศไทย กัมพูชา และลาวไปยังประเทศเวียดนามเพื่อการบริโภคเนื้อสุนัข

ทั้งนี้ กลุ่มพันธมิตรฯ ดังกล่าว ประกอบด้วย มูลนิธิการเปลี่ยนแปลงเพื่อสัตว์  สมาคมมนุษยธรรมนานาชาติ มูลนิธิเพื่อสัตว์ประจำภูมิภาคเอเชีย มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย ร่วมผนึกกำลังปฏิบัติการครอบคลุมทั้งในระดับภูมิภาคเอเชียและในระดับนานาชาติ โดยระบุว่าการผลิตเนื้อสุนัขเริ่มมาจากการค้าขนาดเล็กในระดับครัวเรือน สู่การเป็นอุตสาหกรรมค้าสุนัขผิดกฎหมายที่มีมูลค่าหลายล้านดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบัน และยังมีความเกี่ยวพันถึงการติดต่อแพร่กระจายของโรคพยาธิทริคิโนซิส อหิวาตกโรค รวมถึงโรคพิษสุนัขบ้า ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกเผยถึงการค้าสุนัขเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศอินโดนีเซีย รวมถึงอหิวาตกโรคในประเทศเวียดนาม การค้าสุนัขเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายในประเทศไทย ซึ่งเจ้าหน้าที่ของทางการไทยก็มีการเข้มงวดตรวจตรามากขึ้น อีกทั้งกลุ่มพันธมิตรฯ จะร่วมทำงานกับรัฐบาลไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ในการปรับปรุงพัฒนาบทบัญญัติทางกฎหมายในแต่ละประเทศ เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า นอกจากนี้การประชุมที่กำลังจะจัดขึ้นในเดือนสิงหาคมนี้ จะมีสมาชิกจากกลุ่มพันธมิตรฯเข้าร่วมกับเจ้าหน้าที่ของทางการและองค์กรอื่นๆ ร่วมปรึกษาหารือถึงแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าว

โลล่า เว็บเบอร์ ประธานโครงการของมูลนิธิการเปลี่ยนแปลงเพื่อสัตว์ กล่าวว่า “เมื่อก่อนการบริโภคสุนัขมีสาเหตุอันเนื่องมาจากความยากจน แต่ปัจจุบันสุนัขได้กลายมาเป็นอาหารจานเด็ดที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ บ่อยครั้งที่มีการบริโภคด้วยความเชื่อกันว่ามีสรรพคุณทางยา อย่างไรก็ตามการค้าสุนัขเพื่อการบริโภคก็เป็นความจริงที่เกิดขึ้นแล้วในภูมิภาคเอเชีย ทั้งยังเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและไม่มีการควบคุม ซึ่งเป็นบ่อเกิดความเสี่ยงที่สำคัญต่อสุขภาพร่างกายและสวัสดิภาพสัตว์”

เคลลี่ โอ เมียร่า ผู้อำนวยการฝ่ายสัตว์เลี้ยงและการถือครองแห่งสมาคมมนุษยธรรมนานาชาติ กล่าวว่า “การสืบสวนสอบสวนทั่วทั้งภูมิภาคเอเชีย มีหลักฐานที่ยืนยันได้ถึงความโหดร้ายในทุกขั้นตอนของการค้าสุนัข เริ่มตั้งแต่การต้อนจับ การขนส่ง การขาย และการฆ่าอย่างทรมาน บ่อยครั้งที่มีการเข้าใจผิดว่าการค้าสุนัขนั้นเป็นวิธีที่จะสามารถควบคุมปริมาณของสุนัขจรจัด กลุ่มพันธมิตรใหม่นี้จะช่วยสร้างความเข้าใจให้กับคนทั่วไปและรัฐบาล ถึงการค้าและการทำงานที่อันตรายในการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าและโรคติดต่อชนิดอื่นๆที่สามารถถ่ายทอดมาสู่มนุษย์ได้”

การค้าสุนัขที่เกิดขึ้นในทั่วทั้งภูมิภาคเอเชีย เนื่องมาจากการที่หลายประเทศนั้นกำลังล้มเหลวจากการโอนอ่อนกับมาตรการป้องกันโรคจากสัตว์ระดับชาติ และไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำสำหรับการควบคุมและการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้า จากองค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น องค์การอนามัยโลก และองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ

ต๋วน เบนดิกเซน ผู้อำนวยการมูลนิธิสัตว์แห่งเอเชียประจำประเทศเวียดนาม กล่าวว่า “การค้าสุนัขเพื่อการบริโภคสามารถกระตุ้นธุรกิจให้มีขนาดใหญ่ขึ้นและการขนส่งสุนัขที่มีการติดเชื้อและการฉีดวัคซีนที่ผิดกฏหมาย และขัดขวางความพยายามที่จะกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปในภูมิภาค ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญในการทำปฏิญญาซึ่ง ระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแห่งภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ในการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดสิ้นในปี พ.ศ. 2563 ความพยายามในการควบคุมและกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าจะสำเร็จได้ หากปราศจากการค้าสุนัขเพื่อการบริโภคของมนุษย์”

จอห์น แดลลีย์ รองประธานมูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย กล่าวว่า “มันเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องหยุดยั้งทั้งอุปทานและอุปสงค์ในการบริโภคเนื้อสุนัข ดังนั้นเพื่อที่จะหยุดกระบวนการดังกล่าวต้องมีการจับกุมผู้ลักลอบค้าสุนัขให้ได้ การแก้ไขปัญหาการจัดการประชากรสุนัขอย่างมีมนุษยธรรมและยั่งยืน พร้อมกับการส่งเสริมความแข็งแกร่งให้กับบทลงโทษและความรับผิดชอบต่อเจ้าของสัตว์เลี้ยงในปัจจุบัน เราสามารถจะยุติการค้าสุนัขอันเป็นสาเหตุของความทรมานของสุนัขที่ต้องสังเวยชีวิตกว่าหลายล้านตัวในแต่ละปี อีกทั้งยังเป็นพาหะนำโรคติดต่อที่อันตรายมาสู่มนุษย์อีกด้วย”

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บันทึกลับเรื่อง "ศรีบูรพา" ครึ่งศตวรรษในจีน (2)

$
0
0

อีสาน : ดินแดนแห่งเลือดและน้ำตา

หลักฐานความเป็นมิตรน้ำหมึกที่ดีอย่างหนึ่งก่อนศรีบูรพาเดินทางไปจีนพร้อม สุชาติ ภูมิบริรักษ์ ก็คือข้อเขียนของศรีบูรพาที่ได้เขียน "คำนิยม" ให้แก่ สุชาติ ภูมิบริรักษ์ ในหนังสือชื่อ "อีสาน : ดินแดนแห่งเลือดและน้ำตา" ซึ่งนับเป็นผลงานเด่นเล่มหนึ่งของ สุชาติ ภูมิบริรักษ์

ศรีบูรพาได้กล่าวถึงผู้เขียนคือ สุชาติ ภูมิบริรักษ์ และหนังสือเล่มดังกล่าวว่า

"ผู้เขียนหนังสือเรื่อง "อีสาน - ดินแดนแห่งเลือดและน้ำตา" ที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้เป็นนักหนังสือพิมพ์ และได้ถูกจับกุมคุมขังในคดีที่ตำรวจในสมัยรัฐบาลจอมพลพิบูลสงครามได้ถือเอาว่า การแสดงความรักสันติภาพและการดำเนินการเรียกร้องสันติภาพ และการสงเคราะห์ประชาชนอีสานเป็นการประกอบอาชญากรรมอย่างหนึ่ง อันสมควรนำบุคคลผู้ประพฤติเช่นนั้นไปคุมขังไว้ในคุกให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ และไม่ยอมให้มีประกันตัวในระหว่างการดำเนินคดี อันกินเวลายืดยาวแรมปีในระหว่างที่ต้องคุมขังเป็นเวลาราวสี่ปีครึ่ง ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ได้เผชิญกับความทุกข์ยากของชีวิตในคุกอย่างเห็นเป็นของธรรมดาและไม่เคยปริปากบ่นถึงความทุกข์ยาก แม้ว่าชีวิตในคุกตะรางจะมิใช่ชีวิตอันผาสุก แต่ก็มิใช่ชีวิตที่ปราศจากคุณค่าอันสูงหากว่ารู้จักใช้ ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เป็นผู้หนึ่งที่ได้ใช้เวลาในคุกให้เป็นประโยชน์แก่การศึกษา สิ่งที่ควรศึกษาและได้รับเอาความทุกข์ยากมาเป็นบทเรียนแก้ไขทรรศนะที่มีต่อชีวิตให้ถูกต้องยิ่งขึ้น และเพิ่มเติมคุณค่าให้แก่ชีวิตยิ่งขึ้น ด้วยประการฉะนี้สี่ปีครึ่งในคุกตะรางของเขาจึงมิใช่ชีวิตที่ไร้ความหมาย หากเต็มไปด้วยความหมาย"

ศรีบูรพายังกล่าวถึง สุชาติ ภูมิบริรักษ์ เป็นการปิดท้ายว่า

"ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เป็นชาวอีสานโดยเลือดเนื้อเชื้อไข หลังจากได้รับอิสรภาพในปี พ.ศ.2500 ด้วยจิตใจที่มุ่งจะทำงานรับใช้พี่น้องชาวอีสานของเขา และประชาชนไทยทั่วไป เขาได้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรในจังหวัดชัยภูมิอันเป็นบ้านเกิดของเขา แม้ว่าเขาจะมิได้รับเลือกในสมัยการเลือกตั้งเดือนธันวาคม แต่จิตใจที่มุ่งรับใช้พี่น้องชาวอีสานของเขาก็ยังคงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง หนังสือเรื่อง "อีสาน : ดินแดนแห่งเลือดและน้ำตา" เป็นพยานอันหนึ่งที่แสดงถึงความคิดคำนึงและความเห็นอกเห็นใจที่เขามีต่อพี่น้องชาวอีสานอยู่เป็นนิจ"

และยังมีหลักฐานเอกสารจากหนังสือพิมพ์อีกจำนวนหนึ่งในเวลานั้นที่สะท้อนความเป็น "มิตร" ร่วมต่อสู้ในหนทางแห่งสันติภาพระหว่างศรีบูรพากับ สุชาติ ภูมิบริรักษ์ ก็คือ กระแสข่าวจากหนังสือพิมพ์ไทยหลายฉลับที่โหมประโคมข่าวช่วงที่ทั้งสองท่านและคณะนักเขียนนักหนังสือพิมพ์ไทยกลุ่มหนึ่งได้ไปเยือนจีนในระหว่างนั้น

คณะส่งเสริมวัฒนธรรมไทย ซึ่งประกอบด้วยนักประพันธ์ นักหนังสือพิมพ์ อาจารย์มหาวิทยาลัย และนักเคลื่อนไหวทางสังคม มีจำนวน 12 คน ดังนี้
 

1. นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ นักประพันธ์ หัวหน้าคณะ

2. นายบรรจบ ชุวานนท์ อดีตบรรณาธิการ "สยามนิกร" รองหัวหน้าคณะ

3. นายสุชาติ ภูมิบริรักษ์ อดีตบรรณาธิการ "อิสรภาพ" เลขานุการคณะ

4. นายทองใบ ทองเปาด์ นักหนังสือพิมพ์และนักกฎหมาย สมาชิกคณะ

5. นางอำพัน ไชยวรศิลป์ (อ. ไชยวรศิลป์) นักประพันธ์ สมาชิกคณะ

6. นางถวัลย์ วรดิลก นักประพันธ์ สมาชิกคณะ

7. นางเจือจันทร์ ฐาปโนสถ อาจารย์ศิลปากร สมาชิกคณะ

8. นายสมาน คำพิมาน นักหนังสือพิมพ์ สมาชิกคณะ

9. นายชวน รัตนวราหะ นักเคลื่อนไหว สมาชิกคณะ

10. นายประเวศ บูรณกิจ (เวศ บูรณะ) นักประพันธ์ สมาชิกคณะ

11. นายเฉลิม คล้ายนาก นักหนังสือพิมพ์ สมาชิกคณะ

12. นายสุธน ธีรพงศ์ นักแปลและนักหนังสือพิมพ์ สมาชิกคณะ

กระแสข่าวที่เกี่ยวข้องกับ สุชาติ ภูมิบริรักษ์ บรรณาธิการ นักหนังสือพิมพ์ผู้ไปในนามของเลขานุการของคณะดังกล่าวนั้น นับว่าเป็นข่าวเกรียวกราวในประเทศไทยในเวลานั้นไม่น้อยทีเดียว ในฐานะที่เขาเพิ่งมีผลงาน "อีสาน : ดินแดนแห่งเลือดและน้ำตา"

ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นหนังสือ "ต้องห้าม" เล่มหนึ่ง



สืบประวัติชาติไทย : น่านเจ้า อาณาจักรของใคร

นอกจากนี้ สุชาติ ภูมิบริรักษ์ ยังเขียน "เกิดจากปัญญาของจีน" แปลจาก "THE WISDOM OF CHINA" ขณะอยู่ในคุกบางขวาง

โดยเฉพาะผลงานเล่มถัดมาของเขาคือ "สืบประวัติชาติไทย : น่านเจ้า อาณาจักรของใคร" ซึ่งเขียนขึ้นในระหว่างใช้ชีวิตในจีนนั้นยิ่งสร้างกระแสให้ สุชาติ ภูมิบริรักษ์ เป็นที่กล่าวถึงมากยิ่งขึ้นในประเทศไทยในช่วงนั้น และอาจเรียกได้ว่าเป็นช่วงที่ชื่อเสียงของเขาได้รับการกล่าวขวัญถึงมากที่สุดตั้งแต่ที่ไปเยือนประเทศจีนเป็นต้นมา
 


แถลงการณ์ว่าด้วยการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการฑูตระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนกับไทย เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2518 โดยมี นายโจวเอินไหล นายกรัฐมนตรีจีนกับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีไทย ร่วมลงนาม
 

จากหนังสือพิมพ์เริงสาร ไม่ระบุนามผู้เขียน ฉบับปีที่ 9 ฉบับที่ 232 ประจำวันที่ 1-5 กรกฎาคม 2525 ได้กล่าวถึง สุชาติ ภูมิบริรักษ์ ไว้ว่า

"ไปติดค้างอยู่จีน ตั้งแต่สมัยสฤษดิ์ปฏิวัติ ปี 2503 พร้อม "ศรีบูรพา" หรือ กุหลาบ สายประดิษฐ์ นั่นคือ สุชาติ ภูมิบริรักษ์ นักหนังสือพิมพ์เก่า ซึ่ง สุวัฒน์ วรดิลก เปิดเผยว่า สุชาติได้ใช้เวลาศึกษาภาษาจีนและอังกฤษจนแตกฉาน โดยเฉพาะภาษาจีนนั้นทำให้เขาได้หนังสือเกี่ยวกับเรื่องของคนไทยในเมืองจีนซึ่งคนไทยควรทราบกันอย่างยิ่งคือ "สืบประวัติชาติไทย : น่านเจ้า อาณาจักรของใคร..."

จากหนังสือพิมพ์สยามรัฐ โดย "กระชุ" ฉบับที่ 1 ปีที่ยี่สิบเก้า วันอาทิตย์ที่ 27 มิถุนายน 2525 รายงานว่า

"เขาคือผู้ที่เราต้องการ" คือคำนำที่ "สุวัฒน์ วรดิลก" เขียนให้กับ สุชาติ ภูมิบริรักษ์" ผู้เขียนหนังสือ "สืบประวัติชาติไทย : น่านเจ้า อาณาจักรของใคร..."

ผู้เขียนเป็นนักหนังสือพิมพ์คนหนึ่งที่เดินทางไปประเทศจีนในยุคสมัยที่จอมพลสฤษดิ์เรืองอำนาจและก็เลยไม่กลับมา เพราะนักหนังสือพิมพ์ที่ร่วมเดินทางไปด้วยกันครั้งนั้นที่กลับมาถูกย้ายบ้านเข้าไปอยู่ในคุก และผลงานการค้นคว้าก็เกิดหนังสือเล่มนี้ขึ้น...

ตลอดเวลากว่า 20 ปีที่เขาใช้ชีวิตอยู่บนผืนแผ่นดินใหญ่ของจีน ส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ที่การทำงานรับใช้ประชาจนจีน หากอยู่ที่การทุ่มเทเวลาศึกษาค้นหาความจริงแท้ทางประวัติศาสตร์ของชนชาติไทยเพื่อแสดงออกซึ่งความรักชาติที่เขามีอยู่เปี่ยมล้น โดยไม่จำเป็นต้องยืนระวังตรงเคารพธงชาติกันกลางถนนหนทาง...


ครั้งพำนักอยู่กรุงปักกิ่ง ผู้ใกล้ชิดเล่าว่า"ศรีบูรพา"ทำงานเขียนตลอดเวลา
ขณะที่ในไทยกลับไร้ร่องรอยข่าวสารจากเขา

 

สุวัฒน์ วรดิลก หรือนักประพันธ์นาม "รพีพร" ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ซึ่งเพิ่งล่วงลับเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2550 และเป็นหนึ่งในอดีตนักโทษการเมือง ถูกจับเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2501 เป็นเวลา 4 ปี ได้กล่าวถึง สุชาติ ภูมิบริรักษ์ ไว้ก่อนที่จะจบคำนำของเขาบทนั้นว่า "ผมคงคิดไม่ผิดที่จะกล่าวว่า สุชาติ ภูมิบริรักษ์ คือคนที่เราต้องการ"

จากหนังสือ "บางกอกรายสัปดาห์" ฉบับปีที่ 25 ฉบับที่ 1261 ประจำวันที่ 19 กรกฎาคม 2525 ได้กล่าวถึง สุชาติ ภูมิบริรักษ์ ไว้เกี่ยวกับผลงานที่เขาเขียนจากประเทศจีนแล้วส่งไปพิมพ์ในประเทศไทยจนก่อกระแสตอบรับและวิพากษ์วิจารณ์กันในวงกว้างเวลานั้นว่า

"สืบประวัติชาติไทย : น่านเจ้า อาณาจักรของใคร" โดย สุชาติ ภูมิบริรักษ์ ผู้เขียนเป็นนักเขียนนักหนังสือพิมพ์หัวเห็ดที่ต่อสู้ชีวิตมาอย่างโชกโชน ซึ่ง สุวัฒน์ วรดิลก เขียนคำนำและแนะนำตัวเขาไว้อย่างแจ่มชัดในหนังสือเล่มนี้และสรุปว่า สุชาติ ภูมิบริรักษ์ คือ "คนที่เราต้องการ"

เราเชื่อกันมานานเต็มทีแล้วว่า น่านเจ้าเป็นอาณาจักรของชนชาติไทยแต่โบราณ และ "เบ้งเฮ็ก" คือคนไทย สุชาติ ภูมิบริรักษ์ ไปน่านเจ้ามาด้วยตนเอง สอบหลักฐานมาอย่างแน่แก่ใจ แล้วจึงนำมาเขียน ในเล่มนี้ประกอบด้วยเรื่อง "น่านเจ้า : เป็นอาณาจักรของชนชาติไทยเราหรือ" ไปตรวจสอบหลักฐานประวัติศาสตร์ "น่านเจ้า", "เบ้งเฮ็กไม่ใช่คนไทย", จูกัดเหลียง(ขงเบ้ง)ไม่ใช่สกุล "จูกัด", ชนชาติไตเผ่าต่างๆ ในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีน", "ประเพณีการตั้งชื่อของไตลื้อ" เป็นต้น...

ถ้าคุณจะถามว่าแล้วรู้อย่างไรว่า สุชาติ ภูมิบริรักษ์ รู้เรื่องนี้ดี เขียนเรื่องนี้ได้ถูกต้อง

คำตอบมีอยู่ในหนังสือเล่มนี้อีกเช่นกัน เพราะเขาไม่ได้ไปเมืองจีนมาเพียงไม่กี่วัน เขาอยู่เมืองจีนมาแล้วกว่า 20 ปี (นับถึงปัจจุบันเป็นเวลา 50 ปี -ผู้เขียน) และศึกษาประวัติศาสตร์ หาหลักฐานต่างๆ มายันข้อเขียนของเขาอย่างละเอียดยิบ...

เขาคือผู้ที่เราต้องการ

จากหลักฐานบนหน้าหนังสือพิมพ์ไทยจำนวนหนึ่งเวลานั้น คงพอแนะนำภาพของนักหนังสือพิมพ์ไทยอีกผู้หนึ่งในยุคนั้นคือ "สุชาติ ภูมิบริรักษ์" ได้ว่า เหตุใดเขาจึงได้รับการคัดเลือกให้ร่วมคณะส่งเสริมวัฒนธรรมไปศึกษางานในประเทศจีนภายใต้การนำของศรีบูรพา

 

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน มติชนสุดสัปดาห์

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ฮัสซันยันBRNไม่ทำลายเป้าอ่อนและพื้นที่เศรษฐกิจ คลิปปริศนาโผล่ล้มโต๊ะเจรจา

$
0
0

ฮัสซัน ตอยิบยืนยันการพูดคุยสันติภาพเดินทางหน้าต่อ ขอให้รัฐไทยและมาเลเซียจริงใจ ยืนยันบีอาร์เอ็นไม่ปฏิบัติการต่อเป้าอ่อนและพื้นที่เศรษฐกิจ หากได้อำนาจปกครองก็พร้อมเคารพความหลายทางวัฒนธรรมและศาสนาในพื้นที่ คลิปปริศนาโผล่ล้มโต๊ะเจรจา

เมื่อเวลา 22.00 น. วันที่ 6 สิงหาคม 2556 รายการโลกวันนี้ของสถานีวิทยุร่วมก้นช่วยกันสลาตัน (มีเดียสลาตัน) ออกอากาศในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คลื่น 91.50 MHz ถ่ายทอดเสียงสัมภาษณ์บางส่วนของฮัสซัน ตอยิบ แกนนำขบวนการบีอารเอ็น (BRN) ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติภาพกับตัวแทนฝ่ายรัฐบาลไทย เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2556 ที่ประเทศมาเลเซีย

โดยเป็นเสียงสัมภาษณ์ภาษามลายูใน 3 ประเด็น สรุปเป็นภาษาไทยได้ดังนี้ ประเด็นที่ 1 นายฮัสซัน ตอยิบ ยืนยันว่า สนับสนุนการพูดคุยสันติภาพและพร้อมจะเดินหน้าต่อไป เนื่องจากขบวนการบีอาร์เอ็นมีความเชื่อมั่นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในพึ้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องจบลงบนโต๊ะเจรจานอกจากนี้รัฐบาลไทย และมาเลเซียจะต้องมีความจริงใจจต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพในครั้งนี้ด้วย

ประเด็นที่ 2 นายฮัสซัน ตอยิบ ยืนยันว่า ขบวนการบีอาร์เอ็นจะปฏิบัติการต่อบุคคลที่ถือว่าอาวุธเท่านั้นหรือเป้าแข็ง เช่น ตำรวจ ทหาร อาสาสมัครรักษาดินแดน เป็นต้น ขบวนการบีอาร์เอ็นจะไม่ปฏิบัติการต่อเป้าอ่อน เช่น โต๊ะอิหม่าม ครู ครูตาดีกา และสถานที่ทางเศรษฐกิจในพื้นที่ เป็นต้น ทั้งนี้ขบวนการบีอาร์เอ็นคิดว่าจะต้องมีการสืบสวนต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเป้าอ่อนด้วย

“นอกจากนี้ทางขบวนการบีอาร์เอ็นขอแสดงความเสียใจต่อการเสียชีวิตของนายยะโก๊ป หร่ายมณี อิหม่ามประจำมัสยิดกลางปัตตานีที่ถูกคนร้ายยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2556”

ประเด็นที่ 3 ขบวนการบีอาร์เอ็นมีเชื่อมั่นในความหลากหลาย การปกครองที่ยุติธรรม และยอมรับการเคารพผู้ที่นับถือศาสนาอื่น และอัตลักษณ์ในพื้นที่ ดังนั้นหากขบวนการบีอาร์เอ็นได้อำนาจการปกครองจากรัฐบาลไทย ขบวนการบีอาร์เอ็นจะปกครองในพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางศาสนาและวัฒนธรรมด้วยความยุติธรรม ความเคารพในความหลากหลาย

“เราจะปกครองเหมือนกับครอบครัวของเรา เพราะฉะนั้นคนไทยพุทธและคนจีนในพื้นที่ อย่าได้กังวลขบวนการบีอาร์เอ็น ดังตัวอย่างประเทศมาเลเซียที่สามารถปกครองประชาชนของเขาที่มีความหลากหลายได้อย่างลงตัว”

ทั้งนี้ ผู้ดำเนินรายการโลกวันนี้ แจ้งด้วยว่า ทางสถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกันสลาตันจะถ่ายทอดเสียงสัมภาษณ์นายฮัสซัน ตอยิบ ฉบับเต็มความยาวประมาณ 1 ชั่วโมง ในรายการโลกวันนี้ในวันที่ 7 สิงหาคม 2556 เวลาประมาณ 22.00 น. – 24.00 น. และทางเว็บไซต์ www.rdselatan.com

 

คลิปปริศนาโผล่ล้มโต๊ะเจรจา

วันเดียวกันมีผู้โพสต์คลิปวิดีโอที่ชื่อ Pengistiharan keputusan Majlis Thura BRN แปลว่า ประกาศมติสภาชูรอ (ที่ปรึกษา) BRN บนเว็บไซต์ยูทูป โดยผู้โพสต์ระบุชื่อว่า Angkatan Bersenjata-BRN แปลว่า ฝ่ายทหาร-บีอาร์เอ็น โดยในคลิปเป็นภาพที่ค่อนข้างมืดมาก มองเห็นลางๆ เป็นภาพชายฉกรรจ์ 3 คน สวมหมวกไหมพรม โดย 2 คนที่อยู่ด้านข้างถืออาวุธปืนยาว

ส่วนคนกลางได้อ่านข้อความเป็นภาษามลายู มีเนื้อหาสรุปว่า BRN คือขบวนการหนึ่งที่ต้องการปลดปล่อยชาวปาตานีจากการกดขี่ของนักล่าอาณานิคมสยาม มีเป้าหมายที่จะสถาปนาความยุติธรรม สันติภาพ และความสงบสุขแก่ชาวปาตานีในความหมายที่ว่า แผ่นดินที่ดีและได้รับความโปรดปรานจากพระเจ้า

“เมื่อพิจารณาข้อเสนอ  5 ข้อแรกและเงื่อนไข 7 ข้อหลัง เพื่อบรรลุข้อตกลง 30 วันเดือนรอมฎอน และ 10 วันเดือนเซาวาลพบว่า นักล่าอาณานิคมสยามมิได้ปฏิบัติตามเลยแม้แต่ข้อเดียว ในทางกลับกันนักล่าอาณานิคมสยามทำการบ่อนทำลาย โกหกและยังคงเผยแผ่การใส่ร้ายกับชาวปาตานี”

ดังนั้นเมื่อพิจารณาตามมติสภาชูรอ (ที่ปรึกษา) BRN ตราบใดที่นักล่าอาณานิคมสยามยังมีจุดยืนดังกล่าว ดังนั้นนักล่าอาณานินิคมสยามไม่มีสิทธิที่สานต่อการสานเสวนาสันติภาพและไม่มีสิทธิอยู่ในพื้นแผ่นดินปาตานีและจะไม่มีตัวแทน BRN ในการสานเสวนาสันติภาพกับตัวแทนนักล่าอาณานิคมสยามตลอดไป

จากนั้นเสียงในคลิปส่งท้ายด้วยคำว่า สุขสันต์วันตรุษอีดิ้ลฟิฏรฺ เอกราช เอกราช เอกราช!

อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบคลิปวิดีโอนี้ กับคลิปวิดีโอของขบวนการบีอาร์เอ็นในช่วงที่ผ่านมา พบความแตกต่างหลายประการตามที่มีหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตไว้ เช่น ทำไมต้องปิดหน้า ทำไมภาพค่อนข้างมืด ทำไมต้องใช้ชื่อผู้โพสต์ว่าเป็นฝ่ายทหาร ที่สำคัญมีเนื้อหาที่สวนทางกับสิ่งที่นายฮัสซันยืนยันว่า การพูดคุยสันติภาพต้องเดินหน้าต่อไป และคลิปที่ผ่านมาไม่ปรากฏคำว่า Merdeka ที่แปลว่าเอกราช 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประมวลภาพ: อ่าวพร้าว เสม็ด (ทำความสะอาด) จะเสร็จแล้ว!?!

$
0
0
 
กว่า 10 วันหลังเหตุการณ์น้ำมันดิบถูกพัดเข้าสู่อ่าวพร้าว เกาะเสม็ด จากกรณีที่ท่อน้ำมันดิบกลางทะเลของ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ พีทีทีซีจี หนึ่งในบริษัทลูกของบริษัท ปตท.รั่วไหล จนต้องระดมกำลังเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครมาช่วยกันเคลียร์พื้นที่ สถานการณ์หน้าหาดเริ่มดีวันดีคืน คราบน้ำมันดำเคลือบผิวน้ำทะเลได้หายไปแล้ว
 
อ่าวพร้าวเมื่อมองจากบนเรือ
วันที่ 6 ส.ค.56
 
ทหารและอาสาสมัครกำลังทำความสะอาดหาดทราย
วันที่ 6 ส.ค.56
 
ทางรถเข้าอ่าวพร้าวเป็นช่องเขามีเพียงเส้นทางเดียว ถูกขึ้นป้าย "เขตพื้นที่ควบคุม"
วันที่ 6 ส.ค.56
 
ภาพของอ่าวพร้าว ซึ่งได้รับผลกระทบจากน้ำมันดิบทั้งในส่วนชายหาด และโขดหินทั้งสองฝั่ง
วันที่ 6 ส.ค.56
 
 
ความพยายามกำจัดคราบน้ำมันที่ผ่านมา ประสบผลดีเพียงพอที่คณะผู้บริหาร บริษัท ปตท.จะพาสื่อมวลชนกลุ่มใหญ่ลงพื้นที่อ่าวพร้าว เมื่อวันที่ 6 ส.ค.ที่ผ่านมา พร้อมให้สัมภาษณ์ท่ามกลางสภาพผืนทรายที่ถูกขุดราวถูกไถพรวน โดยระบุว่าขณะนี้อ่าวพร้าวค่อนข้างกลับสู่สภาวะเดิมแล้ว เหลือเพียงคราบน้ำมันที่อยู่ในชั้นทราย ซึ่ง ปตท.ใช้การบำบัดโดยธรรมชาติ โดยวิธีขุดรื้อหน้าทรายเพื่อให้น้ำทะเลชะล้างคราบน้ำมันให้ลอยตัวขึ้นมาแล้วซับคราบน้ำมันออก
 
เบื้องต้นคาดว่าต้องรื้อหน้าทราย 4 ครั้งตามหลักมาตรฐานโลก โดยดำเนินการวันละ 1 ครั้ง แต่หากยังเหลือคราบน้ำมันอยู่ก็จะดำเนินการต่อไปจนกว่าคราบน้ำมันหมด
 

 

 

 

 

 

 
พลิกทรายทั่วทั้งชายหาดขึ้นมา เพื่อใช้แผ่นซับน้ำมัน (Absorbant sheet)
ดูดซับน้ำมันที่ปนเปื้อนออกไปเป็นวันที่ 2 ต่อจากเมื่อวานนี้
วันที่ 7 ส.ค.56
 
นอกจากนั้น ในวันที่ 6 ส.ค.เช่นเดียวกัน นายศรศักดิ์ แสนสมบัติ อธิบดีกรมเจ้าท่า ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน (กปน.) นำคณะอนุกรรมการฟื้นฟูและประเมินค่าความเสียหายต่อสภาพแวดล้อมอันเนื่องมาจากน้ำมันลงพื้นที่อ่าวพร้าว และร่วมพูดคุยกับผู้ประกอบการรีสอร์ทในอ่าวพร้าว 2 ราย ผู้แทนจาก ปตท. รวมทั้งองค์การบริหารส่วนตำบลเสม็ด และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ถึงแนวทางฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและการเยียวยาพื้นที่อ่าวพร้าว
 
ประชุมร่วม กรมเจ้าท่า ปตท. ผู้ประกอบการรีสอร์ท และหน่วยราชการต่างๆ
วันที่ 6 ส.ค.56
 
ประเด็นหลักที่ผู้ประกอบการกังวลใจคือสภาพอ่าวพร้าวที่จะกลับมาสวยงามดังเดิมได้หรือไม่และความปลอดภัยจากคราบน้ำมันและสารเคมีที่ปนเปื้อนในน้ำทะเล ซึ่งนายศรศักดิ์ให้ข้อมูลว่าในสัปดาห์หน้ากรมควบคุมมลพิษตรวจสอบคุณภาพน้ำ รวมทั้งหาดทรายอีกครั้ง เพื่อประกอบการพิจารณาว่าจะเสนอให้กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดอ่าวพร้าวให้ลงเล่นน้ำได้ตามปกติหรือไม่ แต่หากยังไม่เหมาะสมก็จะเลื่อนออกไปอีกประมาณ 1 สัปดาห์ แต่มั่นใจว่าจะฟื้นฟูอ่าวพร้าวให้กลับสู่สภาพเดิมและเปิดให้เล่นน้ำตามปกติก่อนเข้าสู่ช่วงฤดูท่องเที่ยวในเดือน พ.ย.นี้
 
 อธิบดีกรมเจ้าท่าชี้แจงข้อมูล
วันที่ 6 ส.ค.56
 
นอกจากนั้น หากผลตรวจต่างๆ ของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง พบว่าไม่มีสารปนเปื้อน ทั้งในน้ำทะเล และอาหารทะเล กปน.จะออกหนังสือ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำไปโปรโมตการท่องเที่ยวช่วงไฮซีซั่น เรียกความเชื่อมั่นจากนักท่องเที่ยวกลับคืนมาอีกทางหนึ่ง สร้างความพึงพอใจแก่ผู้ประกอบการรีสอร์ทในระดับหนึ่ง
 

 
นั่งเรือสำรวจรอบเกาะเสม็ด บริเวณพื้นที่ชายฝั่งตะวันออกยังคงมีนักท่องเที่ยวมาใช้บริการอยู่บ้างบางส่วน
วันที่ 6 ส.ค.56
 
อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามผู้ประกอบการธุรกิจรายย่อยในเกาะเสม็ดซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ทั้งร้านอาหาร บาร์ เกสเฮาส์ รีสอร์ท หาบเร่แผงลอย รถเช่า ประมงชายฝั่ง ฯลฯ ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าได้รับผลกระทบอย่างหนักจากเหตุการณ์น้ำมันดิบเข้าอ่าวพร้าว แม้ว่าจะคิดเป็นพื้นที่เพียง 5 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด แต่การตีข่าวของสื่อมวลชนทำให้เกาะเสม็ดมีภาพเป็นพื้นที่อันตราย กระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
 
ดังนั้น ความเสียหายที่เกิดขึ้น จึงไม่ใช่เฉพาะในพื้นที่อ่าวพร้าว และ ปตท.จะต้องชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อพวกเขาด้วย
 
บาร์ ร้านเครื่องดื่มกลางคืนหงอยเหงา บางร้านปิดตั้งแต่ 3 ทุ่มเพราะไม่มีลูกค้า
วันที่ 6 ส.ค.56
 
ร้านค้าบริเวณหน้าสถานีอนามัยเกาะเสม็ดผู้คน-นักท่องเที่ยวไม่คึกคัก
วันที่ 7 ส.ค.56
 
แม่ค้าร้านอาหารทะเลโชว์เทียบกุ้งที่กำลังจะเน่ากับกุ้งที่สั่งมาขายใหม่
พร้อมระบุตั้งแต่เกิดเหตุการณ์คราบน้ำมัน ทั้งนักท่องเที่ยวและร้านอาหารไม่บริโภคอาหารทะเล
จนทั้งปลา กุ้ง ปูขายไปออกและเน่าเสียจนต้องทิ้ง
ส่วนหอยไม่นำมาขายตั้งแต่ต้นๆ ที่เกิดเหตุการณ์ เพราะหวั่นสารตกค้างเช่นเดียวกัน
วันที่ 7 ส.ค.56
 
 
เจ้าของกิจการคนหนึ่งโชวภาพถ่ายรีสอร์ทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเอกสารที่จะนำไปยื่นเรียกร้องค่าเสียหายจาก ปตท.
วันนี้ 7 ส.ค.56
 
อ่าวพร้าวยามเย็น น้ำเริ่มขึ้น
6  ส.ค.56
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live




Latest Images