Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live

สำรวจทัศนะหลังศาลยกฟ้องคดี ‘อภิสิทธิ์-สุเทพ’ สั่งสลายม็อบ ชี้เป็นอำนาจศาลฎีกาฯนักการเมือง

$
0
0

ทนายความอภิสิทธิ์ เตรียมยื่นฟ้อง ‘ธาริต’ ต่อ ทนายญาติผู้ตายเตรียมยื่นอุทธรณ์ ญาติคนตายเตรียมเคลื่อนร้องความเป็นธรรม นักวิชาการ ยกคดีเทียบเคียง ชี้ นายกไม่มีอำนาจโดยชอบด้วย กม. ในการสั่งฆ่าผู้อื่น เปิดคำสั่งศาลเมื่อต้นเดือน ไม่โอนคดี สลายแดง 53 ให้ ป.ป.ช.

28 ส.ค. 2557 หลังจากที่วันนี้  ศาลอาญามีคำสั่งยกฟ้องคดีหมายเลขดำ อ.4552/2556 และ อ.1375/2557 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80, 83, 84 และ 90 จากกรณีออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่เข้าขอคืนพื้นที่การชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.)เมื่อปี 2553 ทำให้เห็นมีผู้ถึงแก่ความตาย และบาดเจ็บจำนวนมาก

โดยศาลระบุว่ามูลเหตุแห่งคดี เป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวหาจำเลยในฐานะนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และ ผอ.ศอฉ. ซึ่งเป็นความผิดตามอำนาจหน้าที่ราชการ และเป็นการออกคำสั่งโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จึงอยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หาใช่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลอาญาไม่ ศาลอาญาจึงไม่มีอำนาจรับคำฟ้องของโจทก์ทั้ง 2 สำนวน จึงพิพากษายกฟ้องคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้ง 2 และยกฟ้องการขอเป็นโจทก์ร่วม

อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา แย้ง ระบุศาลอาญามีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้

ผู้จัดการออนไลน์รายงานด้วยว่า นายธงชัย เสนามนตรี อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ยังได้มีความเห็นแย้งไว้ในสำนวนด้วย โดยเห็นว่าศาลอาญามีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี และญาติผู้ตายที่เป็นผู้เสียหายไม่อาจเข้าเป็นโจทก์ร่วมได้ เนื่องจากมูลเหตุที่นำมาฟ้องคดีซึ่งเกิดจากการไต่สวนชันสูตรพลิกศพผู้เสียชีวิต ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญาจากเหตุสลายการชุมนุม และพนักงานสอบสวนดีเอสไอได้ดำเนินการสอบสวนมากระทั่งอัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้อง ก็เป็นการปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย ขณะที่ในการฟ้องหากคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็จะมีเฉพาะข้อหากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการเท่านั้น ดังนั้นเมื่อมีการกล่าวหาจำเลยทั้งสองในความผิดอาญาฐานร่วมกันมีเจตนาฆ่าผู้อื่น กรณีจึงไม่ใช่เรื่องศาลทั้งสองมีอำนาจขัดแย้งกัน อีกทั้งปัจจุบันคดีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการกล่าวหาจำเลยทั้งสองก็ยังอยู่ระหว่างการไต่สวนของ ป.ป.ช.ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.มาตรา 66 ซึ่ง ป.ป.ช.ยังไม่ได้มีคำสั่งไปทางหนึ่งทางใด หากไต่สวนได้ข้อยุติว่าไม่มีมูลก็ย่อมมีผลเฉพาะต่อข้อกล่าวหาทำผิดในตำแหน่งหน้าที่ราชการเท่านั้น ไม่ได้มีผลต่อความผิดใช้หรือก่อให้ฆ่าผู้อื่นตามฟ้องอัยการโจทก์นี้ จึงเห็นควรว่าศาลอาญามีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้

ทนายความของอภิสิทธิ์ เตรียมนำคำสั่งยื่นฟ้อง ‘ธาริต’ ปฏิบัติหน้าที่มิชอบต่อ

ภายหลังฟังคำสั่ง นายอภิสิทธิ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และพระสุเทพ ไม่ได้ให้สัมภาษณ์ โดยนายอภิสิทธิ์ได้เดินทางกลับพรรคทันทีเพื่อประชุมหารือกับทีมทนายความ

นายบัณฑิต ศิริพันธุ์ ทนายความของนายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เมื่อศาลมีคำสั่งชี้ว่าคดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจ ตนก็จะนำคำสั่งดังกล่าวไปประกอบเป็นพยานหลักฐานนำสืบคดีที่ได้ยื่นฟ้องนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีต อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กับพวกซึ่งเป็นพนักงานสอบสวน ปฏิบัติหน้าที่มิชอบต่อศาลอาญาด้วย ขณะที่คำสั่งชี้อำนาจฟ้องของโจทก์วันนี้ ฝ่ายอัยการโจทก์ ก็ยังมีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ได้อีกตามขั้นตอนกฎหมาย

นายวันชัย รุจนวงศ์ รักษาการอธิบดีอัยการสำนักงานต่างประเทศ กล่าวว่า กรณีนี้เป็นกรณีใหม่ที่ไม่ค่อยได้เกิด ดังนั้นตนยังกล่าวอะไรไม่ได้ ต้องให้เวลาคณะทำงานอัยการที่รับผิดชอบสำนวนดังกล่าวปรึกษาหารือกันก่อนว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปตามขั้นตอนกฎหมาย หากได้ข้อสรุปตนจะแถลงให้ทราบอีกครั้ง

นายอรรถพล ใหญ่สว่าง ที่ปรึกษาอัยการสูงสุด อดีตอัยการสูงสุด ที่สั่งให้ฟ้องคดีดังกล่าวตามสำนวนการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ปฏิเสธที่จะตอบคำถามเกี่ยวกับคำสั่งศาลดังกล่าว โดยระบุเพียงสั้นๆ ว่าขอให้ไปสอบถามผู้รับผิดชอบสำนวนขณะนี้ดีกว่า

ทนายญาติผู้ตายเตรียมยื่นอุทธรณ์ ชี้การฆ่าคนไม่ใช่หน้าที่ นายกฯ รองนายกฯ

นายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความฝ่ายญาติผู้เสียชีวิตหรือโจทย์ร่วม ปิดเผยว่าจะยื่นอุทธรณ์คดีอย่างแน่นอน โดยมีกำหนดระยะเวลาในการอุทธรณ์ 1 เดือน

นายโชคชัย มองว่า คำสั่งดังกล่าวส่งผลทำให้เกิดความล่าช้าในการสืบพยาน เพราะหากอุทธรณ์ก็ต้องรอฟังผลอีก รวมทั้งยังเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอำนาจสอบสวน เนื่องจากกรณีของโจทย์ร่วมหรือญาติผู้ตายนั้น ต้องอาศัยพยานหลักฐานในชั้นสอบสวน แต่คำสั่งดังกล่าวได้ยกฟ้องการขอเป็นโจทก์ร่วม จึงต้องรอผลการอุทธรณ์ก่อนที่จะสามารถเดินหน้าต่อไปได้ เพราะหากไปดำเนินคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเลย ก็จะติดเรื่องสอบสวน เพราะศาลมองว่ามองว่าเรื่องนี้เป็นอำนาจ ป.ป.ช.ในการสอบสวนเหมือนกัน เนื่องจากที่ผ่านมาสำนวนสอบสวนทั้งหมดกรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นผู้สอบสวนมา ฉะนั้นก็จะมีแง่ทางกฏหมายที่จะต้องพิจารณาต่อไปอีก

นายโชคชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า จากกรณีที่ศาลมองว่าการกระทำของอภิสิทธิ์และสุเทพในคดีเป็นการกระทำในหน้าที่ จึงเป็นอำนาจของ ป.ป.ช.ในการสอบสวน และทั้ง 2 คน เป็นนักการเมืองจึงต้องไปศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ดังนั้น เหตุที่ต้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลนี้ เนื่องจากเห็นว่าเป็นการกระทำที่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ เพราะการฆ่าคนไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของนายกหรือรองนายก หรือ ผอ.ศอฉ. ที่จะทำได้

นายโชคชัย กล่าวว่า ในเหตุการณ์นี้มีการไต่สวนการตายมาแล้ว และเมื่อไต่สวนแล้ว ก็ส่งให้ พนง.สอบสวน สอบสวนต่อและให้อำนาจอัยการในการฟ้องคดี ซึ่งคดีนี้อัยการสูงสุดเป็นผู้สั่งฟ้องตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่อีกมุมหนึ่งที่ศาลยกมาวินิจฉัยเรื่องปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยทั้ง 2 นั้น ทั้งที่ในการฟ้องเราก็ระบุว่าเป็นการกระทำที่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ และต้องเป็นสิ่งที่ต้องฟังข้อเท็จจริงก่อนในกระบวนการพิจารณาคดี ไม่ใช่วินิจฉัยทันที แม้ในขณะเกิดเหตุโจทย์จะเป็นนายกและรองนายก แต่การฆ่าคนก็ไม่ใช่หน้าที่ของทั้ง 2 ตำแหน่งนี้

ญาติคนตาย เตรียมเคลื่อนร้องความเป็นธรรม

นายณัฐภัทร อัคฮาด น้องชาย น.ส.กมลเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาผู้เสียชีวิตในเหตุการสลายการชุมนุม ปี 53 บริเวณวัดปทุมฯ กล่าวถึงความกังวลหนังมีคำสังศาลกรณีนี้ว่า เกรงว่าจากคดีร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาจะกลายเป็นเพียงคดีทาการเมืองไป ทั้งๆที่มีคนจำนวนมากเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ดังนั้นจึงเตรียมปรึกษาหารือกับฝ่ายกฏหมายและญาติผู้เสียชีวิต เพื่อยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี แต่ยื่นในฐานะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันโอชา เคยเป็นคณะกรรมการของ ศอฉ. ที่ย่อมรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง และเชื่อว่าท่านเองก็ต้องการให้ทหารเสียชีวิตในเหตุการณ์นั้นได้รับความเป็นธรรมด้วย

นักวิชาการ ยกคดีเทียบเคียง ชี้ นายกไม่มีอำนาจโดยชอบด้วย กม. ในการสั่งฆ่าผู้อื่น

นายพุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล นักวิชาการด้านกฏหมาย ได้โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘Phuttipong Ponganekgul’ ระบุว่า “กรณีศาลยกฟ้องอภิสิทธิ์-สุเทพ ในฐานความผิดฆ่าผู้อื่น มาตรา 288 ประมวลกฎหมายอาญา ศาลบอกว่าคดีนี้เป็นความผิดต่อหน้าที่ราชการ ต้องขึ้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ก่อนอื่นเราต้องพิเคราะห์ว่า การฆ่าผู้อื่น ไม่ว่าจะในฐานะตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุน ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการหรือไม่ การใช้อำนาจตาม พรก.ฉุกเฉิน ก็เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาในส่วนของการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย แต่การสั่งฆ่าผู้อื่น นั้นเป็นการหน้าที่ตามกฎหมายได้อย่างไร

เคยมีคดีหนึ่ง ตำรวจจับผู้ต้องหาหญิงและควบคุมตัวไว้ ตกกลางคืนตำรวจแอบเข้าไปในห้องขังขึ้นนั่งคร่อมตัว เลิกผ้า จับนม ต่อมาตำรวจถูกดำเนินคดีตามมาตรา 157 ประมวลกฎหมายอาญา แต่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การคร่อมตัวเลิกผ้าจับนมไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจเลย ฉะนั้นจึงไม่เป็นความผิดต่อหน้าที่ราชการหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

หรือตำรวจใส่กุญแจมือไขว้หลังแล้วทำร้ายร่างกายผู้ถูกจับ การทำร้ายร่างกายก็ไม่เกี่ยวกับตำแหน่งหน้าที่ของตำรวจเช่นกัน ไม่เป็นความผิดต่อหน้าที่ราชการ

ในกรณีอภิสิทธิ์-สุเทพ ก็เช่นกัน แม้จะสวมหมวกนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี มีอำนาจในการสั่งสลายการชุมนุม แต่ไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายในการสั่งฆ่าผู้อื่น ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่แต่อย่างใด เสมือนหนึ่งมีอำนาจสั่งสลายการชุมนุม แต่ไปฆ่าคนนั่นเอง เช่นเดียวกับตำรวจมีอำนาจจับกุม แต่กลับไปกระทืบผู้ถูกจับกุม ก็ไม่ใช่เรื่องการกระทำผิดต่อหน้าที่ราชการ เช่นนี้ คดีอภิสิทธิ์-สุเทพ จะเป็นคดีกระทำผิดต่อหน้าที่ราชการของผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้อย่างไร เป็นการตัดสินคดีที่ตลกมาก”

ศาลเคยสั่งเมื่อต้นเดือน ไม่โอนคดี สลายแดง53 ให้ ป.ป.ช.

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 8 ส.ค. ที่ผ่านมา ศาลอาญาได้มีคำสั่งในชั้นไต่สวนมูลฟ้องคดีหมายเลขดำ อ.310/2556  ที่นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ), พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ ในฐานะอดีตหัวหน้าชุดคดีการเสียชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐจากเหตุรุนแรงทางการเมืองปี 2553, พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ และ ร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล ในฐานะพนักงานสอบสวน เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานเป็นร่วมกันเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตและเป็นเจ้าพนักงานสอบสวน กระทำการโดยมีเจตนากลั่นแกล้งให้ผู้อื่นได้รับโทษอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 90, 157, 200 กรณีเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 - 13 ธันวาคม 2555 ได้มีการสรุปสำนวนนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพในข้อหาก่อให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าโดยเจตนาและเล็งเห็นผล จากการที่ออกคำสั่ง ศอฉ.ใช้กำลังเจ้าหน้าที่กระชับพื้นที่การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553 ซึ่งโจทก์เห็นว่าการแจ้งข้อหาบิดเบือนจากข้อเท็จจริง และดีเอสไอไม่มีอำนาจ ต้องเป็นการวินิจฉัยของ ป.ป.ช.

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า  สืบเนื่องจากการชุมนุมของกลุ่มนปช. ระหว่างปี 2551 – 2553  มีผู้เข้าร่วมการชุมนุมหลายหมื่นคน ต่อมามีความรุนแรงขึ้นในหลายพื้นที่ โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีจึงได้ประกาศใช้พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. ต่อมาเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 เจ้าหน้าที่ทหารได้เข้าปฏิบัติการขอคืนพื้นที่บริเวณแยกผ่านฟ้าและถ.ราชดำเนิน จนเกิดการปะทะกับกลุ่มที่อ้างว่าเป็นชายชุดดำ มีเจ้าหน้าที่ทหารและผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต หลังจากนั้นโจทก์ที่ 2 ได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ทหารสามารถใช้อาวุธปืนและจัดให้มีหน่วยพลทหารซุ่มยิงระยะไกลได้  ซึ่งการชุมนุมของกลุ่มนปช.ดำเนินเรื่อยมา และได้ยุติลงเมื่อเหตุการณ์วันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก  ซึ่งบางรายเสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหาร หลังจากนั้นพนักงานอัยการได้ยื่นไต่สวนชันสูตรสาเหตุการตาย

โดยศาลได้มีคำสั่งว่าผู้เสียชีวิตบางราย โดยเฉพาะนายพัน คำกอง ที่เสียชีวิตจากกระสุนปืนความเร็วสูงที่ยิงมาจากฝั่งของเจ้าหน้าที่ทหาร ดังนั้นการกระทำของจำเลยทั้งสี่ จึงเป็นการดำเนินการไปตามพยานหลักฐาน กระทำไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย พยานหลักฐานที่นำสืบของโจทก์จึงยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสี่ มีเจตนาบิดเบือนแจ้งข้อกล่าวหาหรือกลั่นแกล้งโจทก์แต่อย่างใด ส่วนที่โจทก์ระบุว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์ทั้งสองมีตำแหน่งทางการเมือง คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจการสืบสวนสอบสวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปราบการทุจริตแห่งชาติ( ป.ป.ช.)  ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และฉบับแก้ไข นั้นเห็นว่า คดีที่จำเลยได้ดำเนินการทำสำนวนและส่งให้พนักงานอัยการนั้น เป็นคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288  ซึ่งอัยการสูงสุดก็ได้มีคำสั่งให้ฟ้องโจทก์ ดังนั้นการกระทำของจำเลยทั้งสี่จึงเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ไม่ได้บิดเบือนหรือกลั่นแกล้ง จึงพิพากษายกฟ้อง

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คืนความจริงกับอภิชาติพงศ์ : เมื่อสิ้นไร้เสรีภาพ ประเทศนี้ยังมีศิลปินอยู่อีกไหม?

$
0
0

28 ส.ค. 2557 เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘คืนความจริง’ เผยแพร่บทสัมภาษณ์ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับภาพยนตร์ ในชื่อตอน "เมื่อสิ้นไร้เสรีภาพ ประเทศนี้ยังมีศิลปินอยู่อีกไหม?" กับประเด็น ศิลปะมีความสัมพันธ์กับเสรีภาพอย่างไร การแสดงออกทางศิลปะควรถูกจำกัดด้วยกฎหมายหรือไม่ ภายใต้เสรีภาพอันจำกัดเช่นปัจจุบัน ศิลปะควรอยู่ตรงไหน ศิลปินทำอะไรได้บ้าง เป็นต้น

ติดตามบทสัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ของ 'คืนความจริง' ได้ที่นี่ 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ดิเรกฤทธิ์' ฟ้องแพ่ง 'สำนักข่าวอิศรา' เพิ่ม - เรียกค่าเสียหาย 50 ล้าน

$
0
0

28 ส.ค.2557 เมื่อวันที่ 27 ส.ค. นายศิริพัฒน์ บุญมี ทนายความผู้ได้รับมอบหมายจากนายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม เลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้รับมอบหมายจากนายดิเรกฤทธิ์ให้ฟ้องร้องดำเนินคดีทางอาญาต่อ สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันอิศราฯ และนายเสนาะ สุขเจริญ บรรณาธิการสำนักข่าวอิศราฯ ฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จผิดพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 เมื่อวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา จากกรณีที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเสนอข่าวเกี่ยวกับผลการสืบสวนข้อเท็จจริงกรณีนายดิเรกฤทธิ์ถูกกล่าวหาว่าทำบันทึกส่วนตัวไปยังรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เกี่ยวกับการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจรายหนึ่ง ปรากฏว่า จำเลยยังมีพฤติกรรมเช่นเดิม นายดิเรกฤทธิ์จึงได้มอบหมายให้ตนยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง และขอคุ้มครองชั่วคราวมิให้จำเลยกระทำความผิดซ้ำในการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จในส่วนของผลสอบสวนเกี่ยวกับนายดิเรกฤทธิ์อีก

"หลังจากที่ยื่นฟ้องอาญาไป จำเลยยังมีพฤติกรรมเช่นเดิม โดยมีการออกรายการวิทยุต่างๆ และเผยแพร่ซ้ำข้อมูลเดิมที่เป็นเท็จผ่านเว็บไซต์อิศราฯ จึงได้ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งต่อจำเลยทั้งสามเป็นจำนวนเงิน 50 ล้านบาท และขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราวมิให้จำเลยกระทำความผิดซ้ำที่สร้างความเสียหายต่อนายดิเรกฤทธิ์อีก" นายศิริพัฒน์ ระบุ

สำหรับกรณีดังกล่าว สืบเนื่องจากเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา มีการเผยแพร่เอกสารบันทึกข้อความไม่เป็นทางการ ที่ปรากฏชื่อเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง ส่งถึง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รอง ผบ.ตร.ขณะนั้น เพื่อขอให้สนับสนุน รอง ผกก.ป. สน.หัวหมาก ท่านหนึ่ง ขึ้นไปเป็นผู้กำกับการ (ผกก.) โดยให้เหตุผลว่าเป็นเพื่อนสนิทกับหลายชายของนายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด และได้ช่วยดูแลการปฏิบัติภารกิจของประธานศาลปกครองสูงสุดในหลายโอกาส จนทำให้ถูกกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจประจำปี 2556 กระทั่งประธานศาลปกครองสูงสุด ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง

ผลสอบสรุปว่า การกระทำของนายดิเรกฤทธิ์เป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามจริยธรรมข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง โดยมีมูลอันควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง และการกระทำดังกล่าวยังไม่อาจรับฟังได้ว่า ได้รับมอบหมายหรือรู้เห็นเป็นใจจากนายหัสวุฒิ ประธานศาลปกครองสูงสุด

โดยนายวิชัย ชื่นชมพูนุท รองประธานศาลปกครองสูงสุด ปฏิบัติหน้าที่แทน นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด พิจารณาผลการสอบสวนดังกล่าวแล้ว เห็นพ้องว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง จึงเห็นควรลงโทษให้ภาคทัณฑ์ แต่เนื่องจากนายดิเรกฤทธิ์ เลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง ได้ถูกพักงาน นานแล้วเป็นเวลา 2 เดือน และไม่ปรากฏความเสียหายในรูปธรรมที่สำนักงานศาลปกครอง และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จึงให้งดโทษภาคทัณฑ์ แต่ยังให้ว่ากล่าวตักเตือนเป็นลายลักษณ์โดยให้นายดิเรกฤทธิ์ เลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง พึงระมัดระวังในการรักษาชื่อเสียงภาพลักษณ์ และเกียรติภูมิของสำนักงานศาลปกครอง และศาลปกครอง รวมทั้งรักษาชื่อเสียงและเกียรติศักดิ์ตำแหน่งหน้าที่ราชการของตน ไม่ให้เสื่อมเสียง ตลอดจนไม่อาศัยหรือยอมให้ผู้อื่นอาศัยตำแหน่งหน้าที่ราชการของตนหาประโยชน์ให้แก่ตนเอง หรือผู้อื่น โดยให้ปฏิบัติอยู่ในกรอบของจริยธรรม ระเบียบแบบแผนของทางราชการ และวินัยที่กำหนดอย่างเคร่งครัดอยู่เสมอ

ต่อมา วันที่ 25 ส.ค. สื่อต่างๆ รายงานว่า นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม เลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง มอบหมายให้นาย ศิริพัฒน์ บุญมี ทนายความ ฟ้องร้องดำเนินคดีทางอาญาต่อ สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้กำกับดูแลสำนักข่าวอิศรา, นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันอิศราฯ และนายเสนาะ สุขเจริญ บรรณาธิการสำนักข่าวอิศราฯ ฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากกรณีที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเสนอข่าวเมื่อวันที่ 20 ส.ค. 57 ในหัวข้อ "ตุลาการ" โวย สนง.ศาลปกครอง แถลงบิดเบือนผลสอบ จม.น้อยฝาก ตร. และข่าวที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ

สำนักข่าวไอเอ็นเอ็นระบุด้วยว่า นายศิริพัฒน์ อ้างว่าการนำเสนอข่าวดังกล่าว สำนักข่าวอิศรา ระบุข้อความอันเป็นเท็จและขัดกับข้อเท็จจริงในหลายจุด อาทิ ในช่วงโปรยหัวข่าวที่ระบุว่า นายดิเรกฤทธิ์ อาจถึงขั้นทำผิดวินัยร้ายแรง ทั้งที่ความเป็นจริง ผลสอบระบุว่า เป็นการกระทำผิดวินัยไม่ร้ายแรง และให้ลงโทษเพียงการภาคทัณฑ์เท่านั้น รวมถึง เนื้อหาที่อ้างอิงถึง นายวิชัย ชื่นชมพูนุท รองประธานศาลปกครองสูงสุด ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุด ก็มีข้อความอันเป็นเท็จ และก่อให้เกิดความเข้าใจผิดหลายจุดด้วยกัน โดยศาลได้ประทับรับฟ้องเป็นคดีดำที่ 2725/2557


ที่มา:ข่าวสดออนไลน์กรุงเทพธุรกิจออนไลน์และเว็บไซต์ข่าวอิศรา

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แผนแม่บทแก้ปัญหาการทำลายป่าฯ หรือจะเป็นยุทธการรื้อบ้าน ไล่คน อีกครั้ง!

$
0
0
 
สาระสำคัญของแผนแม่บท
 
แผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ถูกจัดทำขึ้นโดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยการมอบหมายจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
 
หน่วยงานผู้จัดทำแผนวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาทรัพยากรป่าไม้ในประเทศไทยว่า พื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทยได้ลดปริมาณลงจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่คงเหลือ 102.1 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 31.57 ของพื้นที่ประเทศ ซึ่งจะมีผลต่อความสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์ป่าไม้ และสถานภาพของพืชและสัตว์หลายชนิด ทั้งนี้ การลดลงของพื้นที่ป่าดังกล่าวข้างต้น มีสาเหตุมาจากการบุกรุกขยายพื้นที่ทำการเกษตร การบุกรุกจับจองพื้นที่ของนายทุน การออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ การขาดจิตสำนึกสาธารณะ และการบริหารจัดการของหน่วยงานที่ขาดประสิทธิภาพ
 
นอกจากนี้ ยังประเมินสถานการณ์ว่าจะมีแนวโน้มความรุนแรงมากขึ้น โดยจัดลำดับความรุนแรงในจังหวัดต่างๆเป็น 3 ระดับ ได้แก่ พื้นที่วิกฤตรุนแรง 12 จังหวัด พื้นที่วิกฤต 33 จังหวัด และพื้นที่อื่นๆ 31 จังหวัด
 
จากสถานการณ์ปัญหาข้างต้น แผนแม่บทดังกล่าวได้กำหนดเป้าหมายคือ การพิทักษ์รักษาป่าไม้ให้มีสภาพสมบูรณ์ให้ได้พื้นที่ป่าไม้อย่างน้อยร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ ภายใน 10 ปี ทั้งนี้ ได้กำหนดวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานเป็น 3 ระยะคือ
 
1.เพื่อหยุดยั้งการตัดไม้ทำลายป่า และทวงคืนผืนป่าจากผู้บุกรุก ครอบครอง ให้ได้ตามที่เป้าหมายกำหนดภายใน 1 ปี
 
2.เพื่อให้มีระบบบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และยั่งยืน ภายใน 2 ปี
 
3.เพื่อฟื้นฟูสภาพป่าในพื้นที่ป่าเป้าหมายทั่วทั้งประเทศให้มีสภาพที่สมบูรณ์ ภายใน 2-10 ปี
 
ในการนี้ แผนแม่บทได้กำหนดกรอบความคิดในการทำงานตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 64/2557 เรื่องการปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ และคำสั่งที่ 66/2557 เรื่องเพิ่มเติมหน่วยงานสำหรับการปราบปราม และหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ และนโยบายปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราวในสภาวการณ์ปัจจุบัน โดยกำหนดรายละเอียดในการปฏิบัติ ดังนี้
 
1.การกระทำใดๆ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมนั้นๆ ก่อนคำสั่ง คสช. ที่ 66/ 2557 มีผลบังคับใช้ ยกเว้นผู้บุกรุกใหม่จะต้องดำเนินการสอบสวน และพิสูจน์ทราบ เพื่อกำหนดวิธีการปฏิบัติที่เหมาะสม และดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
 
2.ดำเนินการเร่งด่วนคือ การป้องกันไม่ให้มีการบุกรุกเพิ่มเติม ด้วยการใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและเด็ดขาด
 
3.การดำเนินการแก้ไขปัญหาที่สั่งสมมาแต่เดิม ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันพิจารณากำหนดมาตรการ และวิธีการอย่างเป็นระบบ เพื่อแก้ไขต่อไป
 
4.กรณีใดๆ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม ให้ดำเนินการต่อไป จนกว่าจะสิ้นสุดกระบวนการที่กำหนด
 
สำหรับแนวทางการดำเนินงาน ให้ใช้แผนที่ภาพถ่ายทางอากาศสี ปี พ.ศ. 2545 เป็นบรรทัดฐานในการตรวจสอบความสมบูรณ์ของสภาพป่า แล้วนำเอาภาพถ่ายทางอากาศสี ปี พ.ศ. 2554 โล่งเตียนไปจากปี พ.ศ. 2545 แสดงว่าเป็นพื้นที่บุกรุกใหม่อย่างแน่นอน ให้ดำเนินการตามกฎหมายได้ทันที
 
พร้อมกันนี้ ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติในการแก้ไขปัญหา ดังนี้
 
1.ต้องไม่มีการบุกรุกเพิ่มเติมอีก นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
 
2.ดำเนินการตามกฎหมายต่อผู้ที่บุกรุกป่าไม้ ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 30 มิถุนายน 2541 และกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้อย่างเคร่งครัด
 
3.จัดลำดับความเร่งด่วนกับนายทุนหรือผู้บุกรุกรายใหญ่ที่บุกรุกป่าไม้เป็นลำดับแรก แล้วดำเนินการกับรายอื่นๆต่อไป
 
4.การดำเนินการใดๆ ต้องไม่กระทบต่อประชาชนที่ใช้ประโยชน์ที่ดินป่าไม้ ในพื้นที่ที่พิสูจน์แล้วควรได้รับสิทธิในที่ดินตามกฎหมาย หรือผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบาย หรือการดำเนินการของภาครัฐ และจะต้องเป็นการแก้ไขปัญหาทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืน
 
ในส่วนยุทธศาสตร์การพิทักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ประกอบด้วย 4 ประเด็นยุทธศาสตร์คือ ยุทธศาสตร์ผนึกกำลังป้องกันและปราบปรามการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ การปลุกจิตสำนึกรักผืนป่าของแผ่นดิน การปฏิรูประบบการพิทักษ์ทรัพยากรป่าไม้ และการฟื้นฟูและดูแลรักษาป่าไม้อย่างยั่งยืน
 
ทั้งนี้ ในประเด็นยุทธศาสตร์แรก ได้กำหนดกลยุทธ์สำคัญคือ การยึดคืนพื้นที่ป่า ยับยั้งการบุกรุกป่า และแก้ปัญหาป่าบุกรุกคน โดยใช้ภาพถ่ายทางอากาศเป็นหลักฐานหลัก ร่วมกับหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องโดยใช้แผนที่ภาพถ่ายสี ปี พ.ศ. 2545 เป็นหลักฐานสภาพป่าไม้ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 30 มิถุนายน 2541 นำไปวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลแนวเขตป่าไม้ที่ปรากฏบนแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศในปัจจุบัน เพื่อสรุปแนวเขตพื้นที่ที่มีการบุกรุกเพิ่มเติมในช่วงเวลาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 เป็นต้นมา ซึ่งต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเฉียบขาด ไม่มีมติหรือระเบียบใดๆ ผ่อนผันให้ทั้งสิ้น
 
ส่วนพื้นที่บุกรุกก่อนปี พ.ศ. 2545 ให้ดำเนินการภายใต้กรอบกฎหมาย มติคณะรัฐมนตรี หรือระเบียบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด หากจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายราษฎรออกจากพื้นที่ อาจมีมาตรการชดเชยที่เหมาะสม และเป็นธรรม และพื้นที่ที่ยึดคืนได้แล้ว ให้เร่งดำเนินการฟื้นฟูตามหลักวิชาการ
 
กรณีการแก้ไขปัญหาป่าบุกรุกคน ในพื้นที่ที่ได้รับการร้องเรียน ซึ่งลิดรอนสิทธิราษฎรที่ทำกินในที่ดินของตนมาช้านาน ก่อนการประกาศเขตป่าไม้ต่างๆ โดยเร่งรัดจัดทำและกำหนดเขตพื้นที่ป่าไม้ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 ให้ชัดเจน โดยใช้แผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ พ.ศ. 2495 – 2499 ร่วมกับแผนที่ภูมิประเทศ มาตราส่วน 1 : 50000 ชุด L 708 จัดทำแปลงที่ดินทำกิน และแปลงที่อยู่อาศัยของราษฎรในพื้นที่ป่าไม้ทั่วประเทศ วิเคราะห์และตรวจสอบร่องรอยการใช้ประโยชน์ในพื้นที่กับแนวเขตป่าไม้ ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 และแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศเก่า และพิสูจน์สิทธิและคืนสิทธิในที่ดินให้กับราษฎร
 
 
ข้อสังเกตบางประการ
 
1.จากสาระสำคัญของแผ่นแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ พบว่าหัวใจสำคัญในการดำเนินการเพื่อให้ได้พื้นที่ป่าไม้อย่างน้อย ร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศตามเป้าหมาย คือ การทวงคืนฝืนป่าจากผู้บุกรุก ครอบครอง ซึ่งกำหนดเวลาภายใน 1 ปี โดยมีมาตรการหลักคือ การใช้แผนที่ภาพถ่ายทางอากาศสี ปี พ.ศ. 2545 ตรวจสอบร่วมกับภาพถ่ายทางอากาศสีของกรมแผนที่ทหาร ปี พ.ศ. 2554 หากพบว่าโล่งเตียนไปจากปี พ.ศ. 2445 ถือเป็นการบุกรุกใหม่ ให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด แล้วนำพื้นที่มาฟื้นฟูสภาพป่าต่อไป
 
การทวงคืนผืนป่า โดยใช้แผนที่ภาพถ่ายทางอากาศเป็นหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบ โดยไม่พิจารณาข้อมูลอื่นๆ ประกอบ อาจกระทบสิทธิต่อประชาชนหลายพื้นที่ที่เคยถือครอง ทำประโยชน์ที่ดินมาก่อน และถูกขับไล่ออกจากพื้นที่เดิมจากเจ้าหน้าที่ราชการ
 
ยกตัวอย่าง การปลูกสร้างสวนป่าคอนสารทับที่ดินทำกินของประชาชน ซึ่งผลการตรวจสอบของคณะกรรมการร่วมระดับพื้นที่ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พบว่า ราษฎรอยู่มาก่อนการปลูกสร้างส่วนป่า ให้ยกเลิกสวนป่า แล้วนำที่ดินมาจัดสรรให้กับราษฎรผู้เดือดร้อน แต่หากใช้แผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ ปี พ.ศ. 2545 ตรวจสอบร่วมกับปี พ.ศ. 2554 จะพบพื้นที่สีเขียวของสวนป่ายูคาลิปตัส ที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) เข้ามาดำเนินการในปี พ.ศ. 2521 ต่อมาเป็นพื้นที่โล่งเตียน เนื่องจากการเข้าพื้นที่ของประชาชนในปี พ.ศ. 2552 เป็นต้นมา ภายหลังมติ ข้อตกลงต่างๆ ไม่มีผลในทางปฏิบัติ
 
ข้อเท็จจริงเช่นกรณีข้างต้น มีอีกเป็นจำนวนมาก ที่รัฐบาลที่ผ่านมาหลายยุคสมัยไม่สามารถดำเนินการให้เป็นที่ยุติได้กระทั่งปัจจุบัน
 
หากแผนแม่บทดังกล่าวดำเนินการกับกลุ่มคนเหล่านี้ โดยไม่พิจารณาประวัติศาสตร์และพัฒนาการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่นั้นๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่ อันเนื่องมาจากนโยบายของรัฐ ย่อมมีผลกระทบต่อสิทธิที่ดิน และต้องถูกดำเนินคดีในฐานะผู้บุกรุกที่ดินของรัฐอย่างแน่นอน
 
2.หลักเกณฑ์ วิธีการตรวจสอบ พิสูจน์สิทธิของแผนแม่บทดังกล่าว มีนัยที่สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 30 มิถุนายน 2541
 
คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการแก้ไขปัญหาพื้นที่ป่าไม้ ตามข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ซึ่งสาระสำคัญของมติดังกล่าว ได้กำหนดพื้นที่ป่าไม้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ ป่าอนุรักษ์ตามกฎหมาย ป่าสงวนแห่งชาติ และพื้นที่ป่าไม้อื่นๆ ที่สงวนไว้เพื่อกิจการป่าไม้ โดยกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาเป็น 3 ส่วนคือ การสำรวจการถือครอง การตรวจสอบพิสูจน์สิทธิ์ และการรับรองสิทธิ์
 
จากการสำรวจข้อมูลการถือครองและทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้โดยกรมป่าไม้ พบว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 462,450 ครัวเรือน เนื้อที่ 8,166,184 ไร่ (ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาพื้นที่ป่าไม้, 2544) ซึ่งการสำรวจดังกล่าวยังไม่ครอบคลุมพื้นที่ป่าไม้ทั้งหมด โดยเฉพาะพื้นที่ป่าอนุรักษ์ตามกฎหมาย ดังนั้นตัวเลขการถือครองทำประโยชน์ในเขตป่าของประชาชนจะมากกว่าเดิม
 
สภาพปัญหาดังกล่าวข้างต้น รัฐได้มีความพยายามในการกำหนดมาตรการแก้ไขมาโดยตลอด ทั้งการวางกรอบนโยบาย แผนงานระดับพื้นที่ รวมถึงการแก้ไขเฉพาะหน้าในรายพื้นที่ เช่น การดำเนินโครงการหมู่บ้านป่าไม้ (ปี พ.ศ. 2518 – 2534) โครงการจัดสรรที่ดินทำกินให้กับราษฎรผู้ยากไร้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเสื่อมโทรม (คจก.) (ปี พ.ศ. 2534 –2535) เป็นต้น
 
อย่างไรก็ตาม บทเรียนสำคัญในการดำเนินการของรัฐ พบว่า ประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง อีกทั้งยังสร้างความขัดแย้งเรื้อรังมาจนกระทั่งปัจจุบัน ทั้งนี้สามารถชี้วัดได้จากปรากฏการณ์ชุมนุม เรียกร้องของชาวบ้านเพื่อคัดค้านโครงการเหล่านี้ของประชาชน เช่น การคัดค้านโครงการ คจก. ของชาวบ้านภาคอีสานในปี พ.ศ. 2534 – 2535 เป็นต้น ทั้งนี้ หากวิเคราะห์ปัญหา สาเหตุแห่งความขัดแย้ง จะพบว่า กรอบความคิด และแนวปฏิบัติของรัฐมุ่งผูกขาดอำนาจการจัดการทรัพยากรป่าไม้ไว้ที่หน่วยงานรัฐเพียงส่วนเดียว รวมทั้งทัศนะในการมองปัญหาว่าการลดลงของพื้นที่ป่าไม้ในประเทศเกิดจากการบุกรุกของราษฎร ทำให้ชาวบ้านกลายเป็นศัตรูและไม่มีความชอบธรรมที่จะอยู่กับป่า หรือมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรป่าไม้
 
หากวิเคราะห์รายละเอียดของแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ฯ จะพบว่ากรอบความคิด และแนวปฏิบัติไม่มีความแตกต่างจากโครงการที่ผ่านมาแต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นความขัดแย้งเกี่ยวกับการจำแนกเขตการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่ป่าไม้ ที่กำหนดแนวทางปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 30 มิถุนายน 2541โดยมีรายละเอียดดังนี้
 
การกำหนดหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบพิสูจน์สิทธิ์ และผลการตรวจสอบพิสูจน์สิทธิ์ สาระสำคัญของมติดังกล่าว มีเจตนาเพื่อจำแนกเขตพื้นที่การใช้ประโยชน์ที่อิงหลักฐานทางราชการเป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพถ่ายทางอากาศของกรมแผนที่ทหาร (หากไม่มีให้ใช้ภาพถ่ายทางดาวเทียม ) ที่ถ่ายไว้เป็นครั้งแรกภายหลังการประกาศสงวนหวงห้ามเป็นพื้นที่ป่าไม้ตามกฎหมายครั้งแรก และตรวจสอบร่องรอยการทำประโยชน์ต่อเนื่องมาก่อนวันสงวนหวงห้ามเป็นพื้นที่ป่าไม้ตามกฎหมายครั้งแรก และพิจารณาร่วมกับหลักฐานอื่นๆ ซึ่งแสดงว่าได้มีการครอบครองทำประโยชน์ต่อเนื่องมาก่อนวันสงวนหวงห้ามนั้นๆ ด้วย ซึ่งในทางข้อเท็จจริง ชาวบ้านส่วนใหญ่จะมีการจำแนกพื้นที่การใช้ประโยชน์ในหลายลักษณะ เช่น การกำหนดพื้นที่เป็นป่าหัวไร่ปลายนา เพื่อเป็นแหล่งไม้ใช้สอยในครัวเรือน การเก็บหาของป่า หรือพื้นที่ทำกินก็ไม่สามารถใช้ประโยชน์ต่อเนื่องด้วยเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจ รายได้ของครัวเรือน เป็นต้น
 
ผลการตรวจพิสูจน์สิทธิ์ พบว่าราษฎรอยู่อาศัยทำกินมาก่อน ให้เจ้าหน้าที่จัดทำขอบเขตบริเวณที่อยู่อาศัย ที่ทำกินให้ชัดเจน ห้ามขยายพื้นที่เพิ่มเติมโดยเด็ดขาด และดำเนินการตามกฎหมายเพื่อให้ราษฎรอยู่อาศัยทำกินตามความจำเป็นเพื่อการครองชีพ แต่ถ้าเป็นพื้นที่ล่อแหลมต่อระบบนิเวศ พื้นที่ที่มีผลกระทบต่อประสิทธิภาพการคุ้มครองดูแลพื้นที่ป่าอนุรักษ์ตามกฎหมายและตามมติคณะรัฐมนตรี ให้พิจารณาจัดหาที่อยู่อาศัย ที่ทำกินแห่งใหม่ หรือดำเนินการเคลื่อนย้ายราษฎรออกจากบริเวณนั้นไปอยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ที่เหมาะสม โดยในพื้นที่รองรับให้มีการสนับสนุนด้านสาธารณูปโภค การพัฒนาคุณภาพชีวิต และส่งเสริมอาชีพทั้งในและนอกภาคเกษตรกรรม พื้นที่ที่ราษฎรเคลื่อนย้ายออกไปแล้วให้ทำการปลูกฟื้นฟูสภาพป่าต่อไป
 
ในกรณีผลการตรวจพิสูจน์พบว่า ราษฎรอยู่อาศัย ทำกินหลังวันประกาศหวงห้ามเป็นพื้นที่ป่าไม้ตามกฎหมายครั้งแรก ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการเคลื่อนย้ายราษฎรออกจากพื้นที่ป่าอนุรักษ์นั้น แล้วทำการปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อม การเคลื่อนย้ายราษฎรให้เตรียมแผนการรองรับในพื้นที่ที่เหมาะสมโดยสนับสนุนด้านการพัฒนาสาธารณูปโภค การพัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพทั้งใน และนอกภาคเกษตรกรรม รวมทั้งการพิจารณารับรองสิทธิตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หากยังไม่สามารถเคลื่อนย้ายราษฎรออกจากพื้นที่ได้ในทันที ให้ดำเนินการควบคุมขอบเขตพื้นที่มิให้ขยายเพิ่มเติมโดยเด็ดขาด และในระหว่างรอการเคลื่อนย้ายให้จัดระเบียบที่อยู่อาศัยที่ทำกินให้พอเพียงกับการดำรงชีพ
 
จากสาระสำคัญของแนวทางตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ซึ่งเสนอโดยคณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ กล่าวได้ว่ามติดังกล่าวสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ผูกขาดอำนาจการจัดการป่า และที่ดินในเขตป่าอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และกล่าวหาชุมชนเป็นผู้ทำลายป่า ขาดความเข้าใจในประวัติศาสตร์และพัฒนาการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน ซึ่งสัมพันธ์กับนโยบายการพัฒนาประเทศ
 
การรับรองสิทธิในที่ดิน การรับรองสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย ที่ทำกินจะดำเนินการในรูปแบบ “แปลงรวม” โดย “ขออนุญาตเข้าทำประโยชน์และอยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ”ตามมาตรา 16 ทวิ และมาตรา 16 ตรี แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ ถ้าเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ตามมติคณะรัฐมนตรี ได้แก่ พื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1 ให้ประมวลเรื่องการขออนุญาตเข้าทำประโยชน์เสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พิจารณาเห็นชอบก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป ในกรณีพื้นที่ป่าอนุรักษ์ตามกฎหมาย ต้องเพิกถอนพื้นที่ตั้งหมู่บ้าน ที่ทำกินและพื้นที่ป่าไม้หมู่บ้านออกจากเขตป่าอนุรักษ์ตามกฎหมายก่อน แล้วจึงขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ต่อไป
 
จากสาระสำคัญข้างต้น สรุปได้ว่า สิทธิที่ราษฎรจะได้รับ คือ สิทธิในการขออนุญาตใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ตามมาตรา 16 ทวิ และ 16 ตรี แห่ง พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ โดยการอยู่อาศัยและประกอบอาชีพเกษตรกรรม อนุญาตในจำนวนพื้นที่แต่ละคำขอไม่เกิน 20 ไร่ และกำหนดระยะเวลาคราวละไม่น้อยกว่า 5 ปี แต่ไม่เกิน 30 ปี แต่ถ้าการขออนุญาตซึ่งเป็นรายใหญ่ ให้อนุญาตในจำนวนพื้นที่แต่ละคำขอตามความจำเป็นและเหมาะสมสำหรับกิจการที่ขออนุญาต โดยมีโครงการเสนอพร้อมคำขอ ทั้งนี้ พื้นที่ที่ขออนุญาตต้องไม่เป็นพื้นที่ป่าที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้าทางวิชาการป่าไม้ ไม่อยู่ในเขตต้นน้ำลำธารชั้น 1 เอ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 28 พฤษภาคม 2528 และวันที่ 21 ตุลาคม 2529
 
การได้สิทธิดังกล่าวจะมีขอบเขตเฉพาะผู้ที่ผ่านการตรวจสอบพิสูจน์สิทธิตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ที่พิสูจน์ได้ว่าอยู่อาศัยและทำกินมาก่อนวันสงวนหวงห้ามเป็นพื้นที่ป่าไม้ตามกฎหมายครั้งแรก และต้องไม่ใช่พื้นที่ที่มีความล่อแหลมต่อระบบนิเวศเท่านั้น ส่วนเฉพาะพื้นที่ป่าอนุรักษ์ตามกฎหมายต้องดำเนินการเพิกถอนพื้นที่อยู่อาศัย ที่ทำกินออกจากเขตป่าอนุรักษ์ก่อนแล้วจึงขอเข้าทำประโยชน์ โดยผู้มีอำนาจอนุมัติการขอใช้ประโยชน์จะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะรัฐมนตรีในกรณีพื้นที่ต้นน้ำลำธาร
 
กล่าวโดยสรุป การรับรองสิทธิดังกล่าว คือการให้อนุญาตตามกฎหมายป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งขั้นตอนกระบวนการ และอำนาจตัดสินใจก่อนการพิจารณารับรองสิทธิ์ ถือเป็นเงื่อนไขจำกัดสิทธิการเข้าถึงทรัพยากรและที่ดินของประชาชน
 
 
ข้อเสนอแนะ
 
1.ควรมีการระงับแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนไว้ก่อน และดำเนินการทบทวน โดยเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการจัดการทรัพยากรป่าไม้ในช่วงที่ผ่านมา
 
2.การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการตรวจสอบ พิสูจน์สิทธิ์ ต้องมีความหลากหลาย ทั้งวัตถุพยาน พยานบุคคล หลักฐานทางราชการ และประวัติศาสตร์ และพัฒนาการใช้ประโยชน์ที่ดิน ที่เปลี่ยนแปลงไปตามนโยบายการพัฒนาของรัฐในแต่ละยุคสมัย ทั้งนี้ ต้องมีลักษณะจำแนกแยกแยะให้ชัดเจน ระหว่างนายทุนที่ถือครองที่ดินในเขตป่า กับชาวบ้านที่มีกรณีพิพาทสิทธิในที่ดินกับรัฐ
 
3.ในกรณีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากแผนแม่บทดังกล่าว เช่น มีประกาศจังหวัดให้ราษฎรออกจากพื้นที่ตามเวลาที่กำหนด ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาท และมีกระบวนการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ให้ยกเลิกประกาศดังกล่าว แล้วกำหนดแนวทาง มาตรการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ต่อไป ทั้งนี้ ให้ถือเป็นกรณีเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการตัดสินใจทางนโยบาย
 
4.หลักการแก้ไขปัญหา ควรคำนึงถึงการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม และการเข้าถึงสิทธิในการใช้ประโยชน์ที่ดินของประชาชน โดยพิจารณามาตรการหลักๆ เพื่อผลักดันให้มีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย เช่น การจัดเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า กองทุนธนาคารที่ดิน และการส่งเสริมสิทธิชุมชนในการบริหารจัดการที่ดิน เป็นต้น
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดผลศึกษา ไม่พบรายการเด็กเล็กในทีวีดิจิตอลช่องเด็ก ไม่ต่างฟรีทีวี 7 ปีก่อน

$
0
0

มีเดียมอนิเตอร์ สำรวจผังรายการ-เนื้อหาทีวีดิจิตอล ช่องเด็ก ระบุไม่พบรายการเรต “ป” (ปฐมวัย) เช่นเดียวกับการศึกษาฟรีทีวี 6 ช่อง “เมื่อ 7 ปี ที่แล้ว”

28 ส.ค. 2557 มีเดียมอนิเตอร์เผยแพร่ผลการศึกษาผังและเนื้อหารายการทีวีดิจิตอล ช่องเด็ก เยาวชน และครอบครัว 3 สถานี ได้แก่ 1) ช่อง 3 Family 2) MCOT Family และ 3) Loca ระหว่างวันที่ 5-12 มิถุนายน 2557 พบรายการสำหรับกลุ่มผู้ชมทั่วไปมากถึง 65% รายการสำหรับเด็กเยาวชน และครอบครัว พบเพียง 35% ไม่พบรายการเรตติ้ง “ป” ในทุกช่องสถานี (“ป” เนื้อหาเหมาะสมสำหรับเด็กปฐมวัย 3-5 ปี) ส่วนเรตติ้ง “ด” พบน้อยมาก (“ด” เนื้อหาเหมาะสมสำหรับเด็กวัย 6-12 ปี) โดยผลการศึกษาครั้งนี้ไม่ต่างจากผลการศึกษาเมื่อปี 2550

มีเดียมอนิเตอร์ระบุต่อว่า ส่วนเนื้อหาที่ส่งเสริมพัฒนาการตามช่วงวัย 4 ด้าน (สังคม – สติปัญญา-จิตใจและอารมณ์-ร่างกาย) นั้น ยังขาดเนื้อหาที่ส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกาย ทั้งพบเนื้อหาที่อาจไม่เหมาะสมในเรื่อง เพศ ภาษา ความรุนแรง การพนัน และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ขณะที่เกณฑ์การจัดระดับเนื้อหาของ กสทช. ยังไม่ครอบคลุมเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมเรื่องการพนัน บริโภคนิยม ศาสนา ความเชื่อ และเรื่องเหนือจริง

ผลการศึกษาจำแนกตามรายสถานี ได้ดังนี้
ช่อง 3 Family จากเวลาออกอากาศทั้งหมด 117.5 ชม./สัปดาห์ พบรายการสำหรับกลุ่มผู้ชมทั่วไปมากที่สุด คือ 67.8% หรือ 79.7 ชม./สัปดาห์ รองลงมาคือ เด็กโต (6 – 12 ปี) พบ 13.9% หรือ 16.3 ชม./สัปดาห์ ครอบครัว พบ 11% หรือ 13 ชม./สัปดาห์ วัยรุ่น (13-18 ปี) พบ 4.3% หรือ 5 ชม./สัปดาห์ ที่พบน้อยที่สุดคือ รายการสำหรับเด็กเล็ก (3 – 5 ปี) มีสัดส่วนเพียง 3% หรือ 3.5 ชม./สัปดาห์

เมื่อวิเคราะห์ตามเกณฑ์เนื้อหาที่ส่งเสริมพัฒนาการตามช่วงวัย พบใน 16 รายการ รูปแบบ ส่วนใหญ่เป็นการ์ตูน และเกมโชว์ ด้านกลุ่มเป้าหมาย พบเป็นรายการสำหรับกลุ่มเด็กโตมากที่สุด คือ 13 รายการ เด็กเล็ก 2 รายการ และวัยรุ่น 1
รายการ ด้านพัฒนาการ พบเนื้อหาส่งเสริมพัฒนาการด้านจิตใจและอารมณ์มากที่สุด คือ 12 รายการ (1 รายการ พบได้มากกว่า 1 พัฒนาการ) รองลงมา คือพัฒนาการด้านสติปัญญาพบ 9 รายการ ส่วนพัฒนาการด้านสังคมพบ 3 รายการ ด้านร่างกายพบเพียง 2 รายการตามลำดับ

ช่อง MCOT Familyจากเวลาออกอากาศทั้งหมด 168 ชม./สัปดาห์ พบรายการสำหรับกลุ่มผู้ชมทั่วไปมากที่สุด คือ 74.2% หรือ 124.8 ชม./สัปดาห์ รองลงมา คือ เด็กโต (6 – 12 ปี) พบ 21.5% หรือ 36.1 ชม./สัปดาห์) วัยรุ่น (13-18 ปี) พบ 2.5% หรือ 4.2ชม./สัปดาห์ ครอบครัวพบ1.8% หรือ 3 ชม./สัปดาห์ ไม่พบรายการสำหรับกลุ่มเด็กเล็ก

เมื่อวิเคราะห์ตามเกณฑ์เนื้อหาที่ส่งเสริมพัฒนาการตามช่วงวัย พบ 19 รายการ รูปแบบส่วนใหญ่เป็นการ์ตูนและวาไรตี้ด้านกลุ่มเป้าหมายพบเป็นรายการสำหรับเด็กโตมากที่สุด คือ 15 รายการ สำหรับวัยรุ่น 4 รายการ ไม่พบรายการสำหรับกลุ่มเด็กเล็ก ด้านพัฒนาการ พบเนื้อหาส่งเสริมพัฒนาการด้านสังคมมากที่สุด คือ14 รายการ รองลงมาคือด้านสติปัญญา 12 รายการ ด้านจิตใจและอารมณ์ 10 รายการ ส่วนพัฒนาการด้านร่างกายพบเพียง 2 รายการ

ช่อง Loca จากเวลาออกอากาศทั้งหมด 168 ชม./สัปดาห์ พบรายการสำหรับกลุ่มผู้ชมทั่วไปมากที่สุด คือ 53.8% หรือ 90.4 ชม./สัปดาห์ รองลงมาคือ วัยรุ่น (13-18 ปี) พบ 27.5% หรือ 46.1 ชม./สัปดาห์เด็กโต (6 – 12 ปี) พบ 13.9% หรือ 23.3 ชม./สัปดาห์ เด็กเล็ก (3 – 5 ปี) พบ 4% หรือ 6.7 ชม./สัปดาห์ที่พบน้อยที่สุด คือ รายการสำหรับครอบครัว พบเพียง 0.9% หรือ 1.5 ชม./สัปดาห์

เมื่อวิเคราะห์ตามเกณฑ์เนื้อหาที่ส่งเสริมพัฒนาการตามช่วงวัย พบ 16 รายการ รูปแบบรายการส่วนใหญ่เป็นการ์ตูนและเรียลลิตี้ ด้านกลุ่มเป้าหมาย พบรายการสำหรับเด็กโตมากที่สุด คือ 9 รายการ วัยรุ่น 5 รายการ และเด็กเล็กมีเพียง 2 รายการ ส่วนด้านพัฒนาการ พบการส่งเสริมด้านสติปัญญามากที่สุด คือ 11 รายการ รองลงมาเป็นพัฒนาการด้านสังคม 9 รายการ พัฒนาการด้านจิตใจและอารมณ์ 3 รายการ ส่วนด้านร่างกาย พบเพียง 2 รายการ

มีเดียมอนิเตอร์ เสนอด้วยว่า พบการนำเสนอเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม เรื่องเพศ ภาษา ความรุนแรง การพนัน และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดังนี้

ช่อง 3 Family พบ 1 รายการ เป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในเรื่องการพนัน ได้แก่ ฉากตัวละครชายนั่งล้อมวงเล่นไพ่โดยซูมให้เห็นอย่างชัดเจน และไม่แสดงคำเตือน

ช่อง MCOT Family พบ 12 รายการ เป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในเรื่องเพศมากที่สุด รองลงมาคือ ความรุนแรง เช่น เนื้อหาเพลงฉ่อยที่สื่อเรื่องเพศ ตัวการ์ตูนผู้ใหญ่ตบหน้าเด็กก่อนจะให้ข้อคิดและเตือนสติ

ช่อง LOCA พบ 5 รายการ เป็นเรื่องเพศมากที่สุด รองลงมาคือ การใช้ภาษา และปรากฏภาพเครื่องดื่ม
แอลกอฮอล์เช่น มิวสิควิดีโอเสนอภาพตัวละครหญิงสวมเครื่องแต่งกายน้อยชิ้น มีฉากตัวละครถือแก้วเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และในรายการละครมีตัวละครชายใช้สรรพนามเรียกตัวละครหญิงว่า "มึง"

มีเดียมอนิเตอร์ ระบุว่า เมื่อพิจารณาตามแนวทางการจัดระดับความเหมาะสมของโทรทัศน์ตามประกาศ กสทช. ควบคู่กับหลักเกณฑ์ของ Ofcom องค์กรจัดสรรและกำกับดูแลสื่อของสหราชอาณาจักร พบว่า ประกาศของ กสทช. ยังไม่ครอบคลุมเนื้อหาที่ห้ามนำเสนอในรายการสำหรับเด็กและเยาวชน หรือผู้ชมที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ตามหลักเกณฑ์ของ Ofcom กล่าวคือ

1) ความเชื่อเรื่องผีสาง คาถาอาคม และเรื่องเหนือจริง
2) เนื้อหาที่ขัดต่อสวัสดิภาพทางร่างกายจิตใจและศักดิ์ศรีของผู้ร่วมรายการที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี
3) กรรมวิธีประกอบอาชญากรรมที่นำมาเป็นตัวอย่างได้
4) รายการทางศาสนาที่แสวงหาผลประโยชน์จากความอ่อนไหวของผู้ชม

ส่วนพฤติกรรมที่สนับสนุนการพนัน พบว่า ในประกาศ กสทช. เรื่อง การจัดระดับความเหมาะสมของเนื้อหารายการ ไม่ได้ระบุถึงการห้ามเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับการพนันในรายการสำหรับกลุ่มเด็กเยาวชน (ป, ด) และกลุ่มทั่วไป (ท) แต่ระบุว่า “การชี้นำหรือให้ข้อมูลหรือแสดงออกเพื่อจูงใจหรือสนับสนุนให้เกิดการเล่นการพนัน ให้จัดไว้ในระดับ “ฉ” คือ ให้ออกอากาศในช่วงเวลา 24.00-05.00 น.ของวันถัดไป

เมื่อเปรียบเทียบกับผลการศึกษาของมีเดียมอนิเตอร์ เรื่อง “เรตติ้งรายการโทรทัศน์ : ประสิทธิภาพและข้อจำกัด (ในฟรีทีวี 3, 5, 7, 9, 11 และ TITV เมื่อ 1-7 ตุลาคม 2550) ที่พบว่า ทุกช่องสถานีที่ศึกษา ไม่มีรายการเรตติ้ง “ป” ส่วนเรตติ้ง “ด” มีสัดส่วนน้อยมาก ถึง “ไม่มีเลย” ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษา ครั้งนี้ จึงสรุปได้ว่า แม้จะมีการจัดให้มีช่องทีวี "สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว" แต่ช่องทีวีเหล่านี้กลับไม่ทำตามพันธกิจในการนำเสนอเนื้อหาที่เหมาะสมสำหรับเด็กโดยเฉพาะวัยปฐมวัย (3-5 ปี) และให้ความสำคัญน้อยมากในการนำเสนอเนื้อหาที่เหมาะสมสำหรับเด็กวัย 6-12 ปี

ทั้งนี้ มีเดียมอนิเตอร์ ระบุข้อเสนอจากงานศึกษา ดังนี้

1. ข้อเสนอแนะต่อสถานี
- ควรนำเสนอรายการที่มีการส่งเสริมพัฒนาการให้ครอบคลุมทุกด้านและทุกกลุ่มเป้าหมายผู้ชม อย่างคำนึงถึงความเท่าเทียมและโอกาสของเด็กและเยาวชนทุกกลุ่มในสังคม เช่น กลุ่มคนพิการ กลุ่มชาติพันธุ์
- ควรระมัดระวังเนื้อหาที่แสดงออกถึงความรุนแรง ผิดศีลธรรม ผิดกฎหมาย หรือใช้ภาษาที่หยาบคาย

2. ข้อเสนอแนะต่อ กสทช.
- ควรเปิดเผยข้อมูลผังรายการของแต่ละสถานี โดยเฉพาะในส่วนที่แสดงรายละเอียดสำคัญ เช่น กลุ่มเป้าหมาย เนื้อหา และรูปแบบรายการ
- ควรออกระเบียบเกี่ยวกับแนวทางในการผลิตรายการ คือ 1) ให้มีเนื้อหาพัฒนาการตามช่วงวัยของเด็กและเยาวชน ที่ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย 2) นำเสนอเนื้อหาให้คำนึงถึงความเท่าเทียมของเด็กทุกกลุ่มในสังคม
-กำหนดแนวปฏิบัติในส่วนของเนื้อหาที่อาจไม่เหมาะสม เพิ่มเติมจาก เรื่องเพศ ภาษาและความรุนแรง ให้ครอบคลุมเนื้อหาเกี่ยวกับ การพนัน อบายมุข เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ค่านิยมการบริโภคนิยม

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คสช.เบรกแต่งตั้งตำรวจ สั่งรอ ครม.

$
0
0

คสช. สั่งเบรกแต่งตั้งข้าราชการตำรวจทุกตำแหน่ง จนกว่าจะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งครม.ชุดใหม่แล้วเสร็จ

28 ส.ค. 2557 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) รายงานข่าวแจ้งว่า นายอำพล กิตติอำพล เลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้มีหนังสือด่วนที่สุดที่ นร 0506/ว 78 เรื่อง การชะลอการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ถึง พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ รรท.ผบ.ตร. โดยในหนังสือดังกล่าวระบุว่า ตามที่ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 ส.ค.2557 นั้น เพื่อให้การบริหารบุคลากรภาครัฐเป็นไปอย่างโปร่งใส สอดคล้องหลักธรรมาภิบาล พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช.จึงสั่งการให้ทุกส่วนราชการชะลอการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจและเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกระดับออกไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะเข้ารับหน้าที่และกำหนดนโยบายการบริหารราชการแผ่นดิน

ขณะที่มีรายงานว่าสำหรับการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับผู้บังคับการขึ้นไปถึงรอง ผบ.ตร.นั้น ตามกฎคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ต้องแล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม แต่ล่าสุดมีการขออนุมัติ ก.ตร.ขยายเวลาการแต่งตั้งออกไปให้เสร็จสิ้นภายในเดือนกันยายน ทั้งนี้หากมีครม.ล่าช้า ก็อาจต้องขออนุมัติ ก.ตร.เพื่อขยายเวลาการแต่งตั้ง ผบก.ขึ้นไปออกไปอีก

อย่างไรก็ตามหลังแต่งตั้ง พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง เป็น ผบ.ตร.แล้วทำให้เหล่าข้าราชการตำรวจตั้งตารอการแต่งตั้งระดับนายพลตำรวจวาระนี้ ที่คาดว่าจะมีการโยกย้ายสับเปลี่ยนจำนวนมาก เนื่องจากเป็นการแต่งตั้งในวาระครั้งแรกหลังจากมี คสช.และในวาระแต่งตั้งนายพลประจำปีนี้มีตำแหน่งว่างจำนวนมาก ดังนั้น หลังมีคำสั่งชะลอการแต่งตั้งทำให้เหล่าข้าราชการตำรวจที่กำลังลุ้นผลการแต่งตั้งรอเก้อ

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สาวเกาหลีเหนือรับ 'ตาสว่าง' หลังลอบดู 'ไททานิก'

$
0
0

ปาร์กยอนมี ผู้หลบหนีจากประเทศเผด็จการเกาหลีเหนือเปิดเผยว่าท่ามกลางการพยายามปิดกั้นสื่อและแม้กระทั่งปิดกั้นความรักแบบหนุ่มสาว ภาพยนตร์เรื่อง 'ไททานิก' ซึ่งเธอลักลอบชมทำให้เธอได้เปิดหน้าต่างเห็น 'โลกภายนอก' และพบว่าประเทศของเธอมีอะไรผิดแปลกไป

28 ส.ค. 2557 สำนักข่าวเดอะการ์เดียนนำเสนอเรื่องราวของผู้ที่หลบหนีออกมาจากประเทศเกาหลีเหนือ ซึ่งบอกว่าภาพยนตร์ตะวันตกอย่างเรื่อง 'ไททานิก' ทำให้เธอได้เห็นโลกภายนอกประเทศซึ่งไม่ถูกจำกัดอยู่ภายใต้รัฐบาลเผด็จการเกาหลีเหนือ

ปาร์กยอนมีเป็นชาวเกาหลีเหนือซึ่งเติบโตมาในช่วงที่การค้าขายในตลาดมืดกำลังเบ่งบาน แม้ว่าทางการเกาหลีเหนือจะพยายามให้ประชาชนปฏิบัติตามหลักการแบบคอมมิวนิสต์ แต่ประชาชนชาวเกาหลีเหนือจำนวนมากมีความชื่นชมต่อระบอบทุนนิยมอย่างลับๆ เนื่องจากระบอบเศรษฐกิจของทางการเกาหลีเหนือทำให้มีผู้คนอดอยากล้มตายจำนวนมากในช่วงภาวะวิกฤติความขาดแคลนในปี 2537-2541 (Arduous March)

สำหรับปาร์กยอนมี ผู้หลบหนีออกจากประเทศพร้อมกับครอบครัวในปี 2550 ไม่เพียงแค่การค้าเสรีเท่านั้นที่เป็นการเปิดหูเปิดตาเธอให้เห็นโลก แต่ภาพยนตร์ฮอลลิวูดเรื่อง 'ไททานิก' ฉบับไพเรทก็ทำให้เธอได้เห็นโลกที่กว้างขึ้นมากกว่าในประเทศเกาหลีเหนือ

ปาร์กยอนมีเล่าถึงความโหดร้ายของรัฐบาลเผด็จการว่าเมื่อเธออายุได้ 9 ปี เธอถูกบังคับให้ไปดูการประหารชีวิตมารดาของเพื่อนร่วมชั้นซึ่งมีความผิดฐานให้เพื่อนยืมภาพยนตร์ที่มาจากเกาหลีใต้ ในการประหารมีการให้ชาวเมืองเข้าไปดูในสนามกีฬาขนาดใหญ่

"เธอถูกสังหารต่อหน้าพวกเรา" ปาร์กยอนมีกล่าว ตอนนี้เธออายุได้ 20 ปีแล้ว "ในตอนนั้นฉันยืนอยู่ข้างลูกสาวของเธอ โรงเรียนของพวกเราต้องไปเข้าร่วมหมดทุกคน"

ปัจจุบันปาร์กยอนมีทำงานในบริษัทฟรีดอม แฟคตอรี่ ที่กรุงโซล เกาหลีใต้ ซึ่งเป็นบริษัทด้านวิชาการที่พยายามให้ความรู้เกี่ยวกับความยากลำบากของประชาชนที่อยู่ในเกาหลีเหนือ

แม้ว่าการชมสื่อต่างประเทศในเกาหลีเหนือจะถือเป็นอาชญากรรมต่อรัฐที่มีบทลงโทษตั้งแต่บังคับใช้แรงงาน จับเข้าคุก หรือแม้กระทั่งประหารชีวิต แต่ในเกาหลีเหนือก็ยังนิยมการชมภาพยนตร์หรือรายการโทรทัศน์ของต่างชาติที่ถูกลักลอบนำข้ามแดนเข้าไปผ่านซีดี หรืออุปกรณ์เก็บข้อมูลแบบพกพา (USB sticks) ซึ่งมีขายในตลาดมืดซึ่งเติบโตเร็วมาก

เธอเปิดเผยว่าบทลงโทษผู้กระทำผิดขึ้นอยู่กับที่มาของสื่อต่างประเทศที่นำเข้าไป เช่น ถ้าเป็นสื่อภาพยนตร์ 'บอลลิวูด' จากอินเดีย หรือภาพยนตร์รัสเซียจะลงโทษด้วยการให้จำคุก 3 ปี แต่ถ้าเป็นสื่อที่มาจากเกาหลีใต้หรือสหรัฐฯ จะต้องโทษประหารชีวิต

แม้ว่าจะมีการพยายามสร้างความหวาดกลัวด้วยการให้ดูการประหารแต่ปาร์กยอนมีและเพื่อนๆ ของเธอก็ยังคงไม่เลิกชมสื่อจากต่างประเทศที่เธอบอกว่าได้ "เปิดหน้าต่างให้พวกเราได้เห็นโลกภายนอก" ซึ่งเธอบอกว่าภาพยนตร์ที่เธอชื่นชอบคือเรื่อง 'ไททานิก' 'เจมส์ บอนด์' และ 'พริตตี้ วูแมน' ซึ่งถูกลักลอบนำเข้าไปในประเทศในฉบับไพเรทจากจีน

ปาร์กบอกว่าดีวีดีหนึ่งแผ่นในเกาหลีเหนือมีราคาเท่ากับข้าวสาร 2 กิโลกรัม ทำให้ผู้คนต่างใช้วิธีการแลกเปลี่ยนให้ยืมสื่อบันเทิงกัน และสื่อบันเทิงเหล่านี้ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่นำพาเสรีภาพไปสู่ชาวเกาหลีเหนือ แม้ว่าเธอเสี่ยงที่จะถูกจับกุมจากการแลกเปลี่ยนสื่อต่างชาติเธอก็ไม่ยอมหยุดเพราะเธอบอกว่าเกาหลีเหนือไม่มีอะไรที่ 'สนุก' เลย ทุกอย่างดูเรียบๆ ไปหมด

"เมื่อฉันได้ชมสื่อบันเทิงเหล่านั้น ฉันก็เห็นสิ่งใหม่ๆ และรู้สึกว่ามีความหวัง ความกลัวไม่อาจหยุดฉันได้ แล้วก็ไม่อาจหยุดคนอื่นๆ ได้" เธอกล่าว

เมื่อไม่นานมานี้องค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนจากสหรัฐฯ ได้จัดงาน 'แฮ็กกาธอน' (Hackathon) สำหรับเกาหลีเหนือซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้สามารถนำข้อมูลเข้าสู่ประเทศเกาหลีเหนือได้มากยิ่งขึ้น การจัดงานนี้ถูกโจมตีโดยสื่อรัฐเกาหลีเหนือว่าเป็นความพยายามเอาชนะการควบคุมอย่างเข้มงวดด้านข้อมูล และเป็นความพยายามที่ "สูญเปล่า" ในการ "ล้างสมอง" ชาวเกาหลีเหนือ

มีงานวิจัยจากองค์กรอินเตอร์มีเดียระบุว่าความสามารถเข้าถึงสื่อจากต่างประเทศเป็นการลดทอนอำนาจการควบคุมจากรัฐได้ในหลายระดับ โดยงานวิจัยชิ้นนี้ได้รับการจ้างวานจากกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ ในงานวิจัยระบุอีกว่าความสามารถเข้าถึงข้อมูลยังทำให้ชาวเกาหลีเหนือมีความไว้ใจแลกเปลี่ยนข้อมูลกันมากขึ้นและมีการรายงานพฤติกรรมคนอื่นให้รัฐได้ทราบลดลง

เคซี ลาร์ติค เพื่อนร่วมงานจองปาร์กในบริษัทฟรีดอมแฟคตอรีกล่าวว่าข้อมูลสื่อจากต่างประเทศถือเป็นทางเลือกสำคัญนอกเหนือจากโฆษณาชวนเชื่อของรัฐ ลาร์ติคกล่าวอีกว่าชาวเกาหลีเหนือถูกล้างสมองตั้งแต่เกิดให้เชื่อว่าพวกเขาไม่ต้องอิจฉาชาติอื่น แต่สื่อจากต่างชาติจะทำให้ชาวเกาหลีเหนือได้ทราบว่าโลกภายนอกจริงๆ เป็นอย่างไร

ปาร์กยอนมีบอกว่าในช่วงที่เธอเป็นวัยรุ่นเรื่องราวความรักในภาพยนตร์ฮอลลิวูดมีอิทธิพลต่อตัวเธอมาก ขณะที่ในเกาหลีเหนือทุกสิ่งทุกอย่างดูเหมือนจะเกี่ยวกับตัวผู้นำไปหมดไม่ว่าจะเป็นหนังสือทุกเล่ม เพลงทุกเพลง หรือสื่อโทรทัศน์ทั้งหมด

"ฉันถึงรู้สึกแปลกใจมากเมื่อได้ชมไททานิกแล้วเห็นว่ามีชายคนหนึ่งยอมสละชีวิตเพื่อผู้หญิงคนหนึ่งแทนที่จะเป็นเพื่อประเทศชาติ ในตอนนั้นฉันไม่สามารถเข้าใจความคิดแบบนี้ได้" ปาร์กกล่าว

ปาร์กยอนมีกล่าวอีกว่าในเกาหลีเหนือความรักต่อสิ่งอื่นที่นอกเหนือจากผู้นำเกาหลีเหนือซึ่งในขณะนั้นคือคิมจองอิลจะถูกปราบปรามหมด ในเกาหลีเหนือ ความรักถือเป็นเรื่องน่าอายและไม่มีใครพูดถึงเรื่องนี้ในที่สาธารณะ รัฐบาลเกาหลีเหนือไม่สนใจในเรื่องความปรารถนาของมนุษย์ เรื่องราวแนวรักๆ ใคร่ๆ จึงถูกสั่งแบน

"ในตอนนั้นฉันถึงรู้ว่ามีอะไรผิดแปลกไป คนทุกคนไม่ว่าจะมีผิวสีไหน วัฒนธรรมไหน หรือใช้ภาษาอะไร ต่างก็สนใจในเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ซึ่งต่างจากพวกเรา ทำไมรัฐบาลถึงไม่ยอมให้พวกเราแสดงออกในเรื่องนี้" เธอกล่าว

ในกรณีของปาร์กยอนมี แม้ว่าการได้ชมสื่อต่างประเทศจะทำให้เธอตั้งคำถามจำนวนมาก แต่หลังจากที่พ่อของเธอถูกสั่งจำคุกด้วยข้อหาค้าเหล็กให้กับผู้รับซื้อในจีน จนกระทั่งเธอและครอบครัวสามารถหลบหนีข้ามชายแดนไปยังฝั่งจีนได้ แต่พวกเธอก็ยังไม่ปลอดภัยในจีน เพราะเสี่ยงต่อการถูกทางการจีนจับกุมและส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับ ทำให้ครอบครัวเธอต้องหลบอยู่แต่ในที่พักเป็นเวลา 18 เดือนก่อนที่จะเดินทางไปมองโกเลียจนได้รับความช่วยเหลือให้ถูกส่งตัวไปที่เกาหลีใต้สำเร็จ

ปาร์กยอนมีเชื่อว่าสักวันหนึ่งคนหนุ่มสาวในเกาหลีเหนือจะสามารถนำความเปลี่ยนแปลงสู่ประเทศของพวกเขาได้ โดยทำให้ประเทศไปสู่ความมั่งคั่ง มีเสรีภาพและความรัก

 


เรียบเรียงจาก

'Watching Titanic made me realise something was wrong in my country,' says North Korean defector, The Guardian, 26-08-2014
http://www.theguardian.com/world/2014/aug/26/north-korea-defector-titanic

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ชี้คดี ‘อภิสิทธิ์-สุเทพ’ สลายแดง ศาลอาญามีอำนาจพิจารณาพิพากษา

$
0
0

28 ส.ค. 2557 หลังจากที่วันนี้  ศาลอาญามีคำสั่งยกฟ้องคดีหมายเลขดำ อ.4552/2556 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80, 83, 84 และ 90 จากกรณีออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่เข้าขอคืนพื้นที่การชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.)เมื่อปี 2553 ทำให้เห็นมีผู้ถึงแก่ความตาย และบาดเจ็บจำนวนมาก

โดยศาลระบุว่ามูลเหตุแห่งคดี เป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวหาจำเลยในฐานะนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และ ผอ.ศอฉ. ซึ่งเป็นความผิดตามอำนาจหน้าที่ราชการ และเป็นการออกคำสั่งโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จึงอยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หาใช่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลอาญาไม่ ศาลอาญาจึงไม่มีอำนาจรับคำฟ้องของโจทก์ทั้ง 2 สำนวน จึงพิพากษายกฟ้องคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้ง 2 และยกฟ้องการขอเป็นโจทก์ร่วม

อย่างไรก็ตาม ข่าวสดออนไลน์รายงานด้วยว่า นายธงชัย เสนามนตรี อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ได้มีความเห็นแย้งไว้ในสำนวนด้วยว่า 

ก่อนฟ้องคดีนี้ได้มีการขอให้ศาลไต่สวนชันสูตรพลิกศพผู้เสียชีวิตตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 ศาลอาญามีคำสั่งว่าผู้ตายถูกกระสุนปืนความเร็วสูงของเจ้าหน้าที่ทหารหรือกระสุนปืนยิงมาจากฝั่งของเจ้าพนักงาน ซึ่งศาลก็ได้ส่งสำนวนการไต่สวนไปยังอัยการเพื่อส่งให้พนักงานสอบสวน ดำเนินการต่อไป ตาม ป.อาญา มาตรา 150 วรรค 10 เมื่อศาลชี้ขาดว่าเจ้าพนักงานเป็นผู้ใช้อาวุธปืนยิงหรือยิงมาจากเจ้าพนักงาน พนักงานอัยการมีหน้าที่ต้องส่งสำนวนการไต่สวนให้แก่พนักงานสอบสวนดำเนินการต่อไป เพื่อสอบสวนหาผู้กระทำผิด ซึ่งกรณีดังกล่าวอัยการส่งสำนวนให้พนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นผู้สอบสวนตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547

ต่อมาพนักงานดีเอสไอได้เสนอความเห็นสมควรสั่งฟ้องจำเลยทั้งสองแล้ว โดยอัยการสูงสุดสั่งฟ้องจำเลยทั้ง 2 ตาม ป.วิอาญา มาตรา 143 ที่ระบุว่า “คดีฆาตกรรม” ซึ่งผู้ตายถูกเจ้าพนักงานที่อ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ฆ่าตาย อธิบดีกรมอัยการมีอำนาจออกคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง คดีนี้อัยการสูงสุดจึงสั่งฟ้องจำเลยทั้งสองข้อหาฆาตกรรม ตาม ป.อาญา 288 ประกอบมาตรา 84 สืบเนื่องจากการไต่สวนชันสูตรพลิกศพดังกล่าว โจทก์จึงยื่นฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองรับโทษฐานเป็นผู้ก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิด ข้อหาฆ่าคนตายตาม ป.อาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 83, 84 ไม่ใช่ขอให้ลงโทษในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ 

แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องในตอนแรกว่าจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าพนักงาน แต่ก็เป็นเพียงคำบรรยายเพื่อให้ปรากฏที่มา ของการใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดเท่านั้น การที่เจ้าพนักงานใช้อาวุธสงครามยิงผู้ตาย ย่อมเป็นการกระทำนอกเหนือตำแหน่งหน้าที่ราชการของจำเลยทั้งสอง โดยคำฟ้องระบุว่าจำเลยที่ 2 มีคำสั่งอนุมัติใช้อาวุธและกระสุนจริง รวมทั้งพลแม่นปืนปฏิบัติหน้าที่ จำเลยทั้งสองมีเจตนาเล็งเห็นผลว่าเจ้าพนักงานจะใช้อาวุธสงครามยิงประชาชนได้ จึงเป็นเรื่องการกระทำนอกเหนือตำแหน่งราชการ เป็นการก่อหรือใช้ให้เจ้าพนักงานกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ส่วนพยานหลักฐานจะรับฟังได้หรือไม่เพียงใดก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง 

นอกจากนี้ความผิดฐานก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นฆ่าคนตายตามมาตรา 288 ประกอบมาตรา 84 ต้องระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 15-20 ปี แต่คดีที่ ป.ป.ช.มีอำนาจไต่สวนนั้น เป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000-20,000 บาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ

ดังนั้น ความผิดที่โจทก์ฟ้องฐานใช้หรือก่อให้ฆ่าผู้อื่น จึงเป็นบทหนัก โทษสูงกว่าความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการอย่างมาก  พ.ร.บ. ว่าด้วย ป.ป.ช. มาตรา 66 จึงได้บัญญัติให้ ป.ป.ช.มีอำนาจไต่สวนการกระทำความผิดต่อหน้าที่ราชการของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเท่านั้น ไม่ได้มุ่งหวังให้ดำเนินการไต่สวนความผิดฐานอื่น โดยเฉพาะความาผิดฐานฆ่าผู้อื่นซึ่งเป็นความผิดร้ายแรง ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ราชการ เนื่องจากเป็นคดีอาญาแผ่นดิน ที่พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการต้องดำเนินการตาม ป.วิอาญา อยู่แล้ว 

แม้ ป.ป.ช.จะเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ใช่องค์กรศาล ไม่มีอำนาจชี้ขาดหรือพิพากษาลงโทษผู้ใดได้ เพียงแต่ให้อำนาจตามมาตรา 66 ในการใช้ดุลพินิจว่าสมควรไต่สวนหรือไม่เท่านั้น ซึ่งความผิดฐานฆ่าผู้อื่นดังกล่าวก็สืบเนื่องมาจากการไต่สวนชันสูตรพลิกศพ  แล้วฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่าเจ้าพนักงานเป็นผู้ใช้อาวุธปืนสงครามยิงผู้ตายโดยจำเลยทั้ง 2 เป็นผู้ก่อหรือใช้ให้กระทำความผิด จึงเป็นความผิดคนละฐานและแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง หาก ป.ป.ช.เห็นว่าความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการไม่มีมูล ก็ย่อมทำให้ความผิดฐานก่อหรือใช้ให้ฆ่าผู้อื่นยุติไปด้วย หากเป็นเช่นนั้นก็เท่ากับ ป.ป.ช.ทำหน้าที่ศาลในเวลาเดียวกันด้วย ซึ่งไม่ใช่ความมุ่งหมายของกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 66

นอกจากนั้นยังเป็นการตัดสิทธิผู้เสียหายซึ่งเป็นญาติผู้ตาย ตาม ป.วิอาญา มาตรา 150 วรรค 10 อีกด้วย หากอำนาจชี้ขาดไปอยู่ที่ ป.ป.ช. ตามคำพิพากษาขององค์คณะที่วินิจฉัยมาย่อมเป็นการตัดสิทธิของผู้เสียหาย จะเป็นการแปลความกฎหมายที่ปราศจากความยุติธรรมและขัดต่อหลักกฎหมาย เมื่อจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำผิด ก็ควรเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อให้คดีถึงที่สิ้นสุด เพื่อให้ยุติธรรมทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่วินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายตัดสิทธิฟ้องของโจทก์และผู้เสียหายเช่นนี้

นอกจากนั้นแม้การกระทำดังกล่าวจะเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียว ระหว่างความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และข้อหาก่อหรือใช้ให้ฆ่าผู้อื่น แต่ก็ไม่มีกฎหมายใดบัญญัติให้ความผิดกรรมเดียว ซึ่งเป็นบทเบา ระงับแล้วมีผลให้ความผิดบทหนักต้องระงับหรือยุติไปด้วย และปัจจุบันคดีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการยังอยู่ในระหว่างการไต่สวนของ ป.ป.ช. โดยยังไม่มีคำสั่งทางใดทางหนึ่ง หากผลการไต่สวนได้ข้อยุติว่าไม่มีมูล ย่อมมีผลเฉพาะข้อหาความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการเท่านั้น ไม่มีผลต่อความผิดฐานก่อหรือใช้ให้ฆ่าผู้อื่น ซึ่งเป็นความผิดที่โจทก์ฟ้องนี้แต่อย่างใด

แต่หาก ป.ป.ช.มีมติว่าข้อกล่าวหานั้นมีมูล ตามมาตรา 66 กระทั่งมีการยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีผู้ดำรงตำแหน่งทางอาญาของนักการเมืองตามมาตรา 70 แล้ว ศาลก็จะรับฟ้องไว้เฉพาะข้อหาความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการเท่านั้น ศาลอาญายังคงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาความผิดฐานก่อหรือใช้ให้ฆ่าผู้อื่นต่อไป แต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าการกระทำเป็นความผิดกรรมเดียวกัน เป็นเรื่องที่ศาล โจทก์ และจำเลยทั้งสองจะแถลงต่อศาลว่าเป็นการกระทำผิดกรรมเดียว สมควรรวมการพิจารณาเข้าด้วยกัน ซึ่งศาลฎีกาเป็นศาลสูงสุดมีอำนาจสั่งให้โอนสำนวนมาพิจาณาหรือมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งได้อยู่แล้ว จึงไม่ใช่กรณีที่ศาลทั้งสองมีอำนาจขัดแย้งกัน ดังนั้น เมื่อ ป.ป.ช.ยังไม่ชี้มูลก็ไม่มีเหตุที่จะคาดการณ์ล่วงหน้า แล้ววินิจฉัยว่าศาลอาญาไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ โดยยกอำนาจเด็ดขาดของศาลไปให้ ป.ป.ช. ชี้ขาดเสียเอง

จึงมีความเห็นแย้งว่า การสอบสวนของพนักงานสอบสวนดีเอสไอที่สืบเนื่องมาจากการไต่สวนชันสูตรพลิกศพตาม ป.วิอาญา มาตรา 150  ต่อมาอัยการสูงสุดได้มีความเห็นสั่งฟ้องต่อจำเลยทั้งสองต่อศาลอาญาในความผิดดังกล่าวนั้นถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นอำนาจของศาลอาญาที่จะพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวได้ จึงไม่เห็นชอบต่อคำพิพากษาดังกล่าว แต่เห็นควรว่าศาลอาญามีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ และญาติผู้ตายที่เป็นผู้เสียหายมีสิทธิเข้าเป็นโจทก์ร่วม แล้วให้ดำเนินกระบวนการพิจารณาพิพากษาต่อไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กมธ.งบประมาณ ตัดงบกระทรวงกลาโหม 45 ล้านบาท-ตั้ง 3 ข้อสังเกต

$
0
0

28 ส.ค.2557 ที่รัฐสภา ในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2558 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ประธาน กมธ.ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ซึ่งพิจารณากระทรวงกลาโหม วงเงิน 193,499,805,500 บาท ปรากฏว่ามีการปรับลด 2 หน่วยงานคือ กองทัพเรือ ที่เสนอเข้ามา 37,587,312,500 บาท ปรับลด 20,442,500 บาท กองบัญชาการกองทัพไทย เสนอเข้ามา 14,811,976,600 บาท ปรับลด 25,310,000 บาท คิดเป็นยอดปรับลดทั้งสิ้น 45,752,500 บาท

ทั้งนี้ กมธ.ได้ตั้งข้อสังเกตในส่วนกระทรวงกลาโหม 3 ข้อ ดังนี้

1.กองทัพควรจัดสรรงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนาด้านอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อพัฒนาศักยภาพของกองทัพในการป้องกันประเทศ โดยการนำเทคโนโลยีระดับสูงมาใช้พัฒนาพร้อมกับบูรณาการความร่วมมือระหว่างกระทรวงกลาโหมกับสถาบันทางการศึกษาต่างๆ เพื่อต่อยอดผลการวิจัยหรือนวัตกรรมใหม่ สู่การผลิตยุทโธปกรณ์ที่มีความทันสมัย พร้อมกับการจัดการอาวุธที่มีความทันสมัยทดแทนให้เหมาะสมต่อภารกิจเพื่อให้ทันต่อสภาวการณ์ความเปลี่ยนแปลงของโลกที่ต้องเผชิญกับภัยคุกคามด้านความมั่นคงหลากหลายรูปแบบ และซับซ้อนมากขึ้น รวมทั้งเพื่อสร้างหลักประกันความมั่นคงธำรงไว้ซึ่งเอกราชของประเทศ

2. กองทัพควรต่อยอดการพัฒนาเทคโนโลนีด้านดาวเทียมให้ทันสมัย และสามารถสนับสนุนภารกิจตามแผนป้องกันประเทศ การรักษาความมั่นคงภายใน การรักษาความสงบเรียบร้อยภายใน และการปฏิบัติภารกิจอื่นๆ ในด้านการสื่อสารและภูมิศาสตร์ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในกิจการด้านความมั่นคง และสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศ และการวางแผนป้องกันประเทศต่อไป

3.ควรบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างกองทัพเพื่อให้เกิดการปกป้องผลประโยชน์ความมั่นคงของประเทศ จากภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ โดยการบริหารจัดการ และกำกับดูแล งานในแต่ละสายงานให้มีความรวดเร็ว มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยใช้กฎระเบียบ งบประมาณและแผนงานที่มีอยู่แล้ว ให้บังเกิดเป็นผลสัมฤทธิ์ที่จับต้องได้ พร้อมกับการเพิ่มขีดความสามารถในการปกป้องอธิปไตยตามแนวชายแดน การรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ และการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาภัยพิบัติได้อย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ กมธ.ยังมีความเห็นและข้อห่วงใยเกี่ยวกับการใช้จ่ายงบประมาณในการเดินทางศึกษาดูงานต่างประเทศ โดยให้พิจารณาการเดินทางเฉพาะประเทศที่ได้มีพันธสัญญาเท่านั้น พร้อมทั้งมีข้อห่วงใยเกี่ยวกับการพัฒนาด้านการข่าว ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อนำไปใช้ในการแก้ไขสถานการณ์แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 27 ส.ค. พล.ท.ชาตอุดม ติตถะสิริ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 แถลงผลการประชุมคณะกรรมาธิการฯ ว่า ที่ประชุมได้พิจารณางบประมาณกระทรวงศึกษาธิการ วงเงิน 520,000 ล้านบาท โดยร้อยละ 67 เป็นงบของครูและบุคลากร ร้อยละ 10 เป็นงบครุภัณฑ์ ขณะที่งบของเด็กมีเพียงร้อยละ 3

พล.ท.ชาตอุดม กล่าวว่า คณะกรรมาธิการฯ ได้ปรับลดงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการลง 396 ล้านบาท เป็นงบประมาณของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 59 ล้านบาท สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา 66 ล้านบาท ที่เหลือเป็นของสำนักงานปลัดกระทรวงฯ และหน่วยงานอื่นๆ ส่วนใหญ่เป็นงบลงทุนค่าที่ดินที่ยังไม่มีความพร้อม จึงได้ตัดออกไป

สำหรับงบประมาณของสภากาชาดไทยนั้น พล.ท.ชาตอุดม กล่าวว่า คณะกรรมาธิการฯ เห็นว่า เป็นองค์กรพิเศษอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ และตอบสนองความต้องการของประชาชน มีเงินสนับสนุน 5,900 ล้านบาท ที่ประชุมจึงเพียงรับทราบ ไม่มีการปรับลด เพียงแต่เพิ่มข้อเสนอแนะเรื่องศักดิ์ศรีของมนุษย์ และการใช้ยุวกาชาดให้เป็นประโยชน์ในด้านจิตอาสา


ที่มา:มติชนออนไลน์และสำนักข่าวไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ขสมก.เล็งโละ พนง.-ใช้อีทิกเก็ต-ขึ้นค่าตั๋ว-ลดเส้นทาง

$
0
0

28 ส.ค. 2557 ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รอง ผบ.ตร. ในฐานะประธานคณะกรรมการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กล่าวหลังการประชุมบอร์ด ขสมก.ว่า ที่ประชุมมีการพิจารณาปรับปรุงแผนฟื้นฟู ขสมก. เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการจัดหารถเมล์เอ็นจีวี 3,183 คัน ซึ่งจะสรุปรายละเอียดเสนอมายังกระทรวงคมนาคม ก่อนที่จะเสนอไปยังคณะอนุกรรมการกลั่นกรองของคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ภายใน 15 วัน

ด้านนางปราณี ศุกระศร กรรมการ ในฐานะโฆษกคณะกรรมการ ขสมก. กล่าวว่า แผนฟื้นฟู ขสมก. เป็นแผนระยะ 10 ปี รวม 13 โครงการ ซึ่งเป็นการปรับการบริหารจัดการทั้งระบบ ทั้งการจัดหารถเมล์ใหม่ การปรับลดเส้นทางรถเมล์ ปรับลดจำนวนบุคลากร

"ส่วนหนี้สินสะสมที่มีอยู่ 90,000 ล้านบาท จะเสนอให้รัฐบาลพิจารณาหาทางช่วยเหลือเพราะมีผลต่อภาระดอกเบี้ยที่ ขสมก.แบกรับปีละกว่า 240 ล้านบาท ส่วนแผนดำเนินการนั้นเบื้องต้น ขสมก.มีการเสนอขอปรับค่าโดยสารในปี 2561 สำหรับรถธรรมดา (รถร้อน) และรถปรับอากาศ ปรับเพิ่มขึ้นอีก 1 บาท เพื่อให้ ขสมก.สามารถที่จะเลี้ยงตัวเองได้"

สำหรับแผนดำเนินการทั้ง 13 โครงการ อาทิ การจัดหารถเมล์ใหม่ ลดต้นทุนดำเนินการได้มากถึง 2 ใน 3 โดยเฉพาะต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ภาระการซ่อมบำรุงรถ ส่วนการปรับโครงสร้างองค์กรและปรับลดพนักงานเพราะนำระบบการจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ (อี-ทิกเก็ต) เข้ามาใช้ จะลดพนักงานเก็บค่าโดยสารได้ประมาณ 6,000 คน

นอกจากนี้จะยกเลิกเช่าอู่จอดรถเปลี่ยนเป็นมาขอใช้ พื้นที่ส่วนราชการ รวมทั้งการปรับลดเส้นทางรถเมล์ใหม่เพื่อให้วิ่งในช่วงที่สั้นลง ลดความซ้ำซ้อน แผนทั้งหมดนี้จะทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายลดลงได้มากกว่า 50%

"ตามแผนฟื้นฟู ขสมก. เป็นแผนระยะ 10 ปี จะเริ่มเห็นความชัดเจนได้หลังจากมีการเปลี่ยนรถเมล์ใหม่ทั้งหมด ปรับปรุงเส้นทางรถเมล์และใช้ระบบอี-ทิกเก็ต จะทำให้ภาระค่าใช้จ่ายลดลงได้มาก ซึ่งเมื่อครบ 10 ปี ก็อาจจะเห็น ขสมก. มีรายได้และรายจ่ายที่ใกล้เคียงกันเท่านั้น" นางปราณีกล่าว

ส่วนการปรับลดพนักงานนั้น นางปราณีกล่าวว่า มี 2 ส่วน ส่วนที่เป็นพนักงานที่เกษียณในแต่ละปีประมาณ 200-300 คน หากเป็นพนักงานประจำสำนักงานจะไม่รับเพิ่ม ส่วนพนักงานเก็บค่าโดยสารหากใช้ระบบการจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ จะให้ไปทำหน้าที่อื่นแทน คาดว่าจะลดพนักงานได้ 6,000-8,000 คน จากปัจจุบันมีพนักงานทั้งสิ้น 13,000 คน
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เอ็นจีโอ-ชาวบ้าน ถกทิศทางปฏิรูปป่าไม้-ที่ดิน ยุค คสช. จี้ทบทวนแผนแม่บทป่าไม้ฯ

$
0
0
ชาวบ้านร้องชะลอการไล่รื้อโดยอ้างคำสั่ง คสช. หันหน้าคุยหาทางออกร่วม ทวงคืน ‘สิทธิชุมชน’ ในรัฐธรรมนูญ หวังเป็นเครื่องมือสู้ ‘ประยงค์ ดอกลำไย’ แจงแผนแม่บทแก้ปัญหาทำลายป่าฯ สร้างปัญหาเพิ่ม จี้ทบทวน
 
 
28 ส.ค. 2557 ที่มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม คณะกรรมการประสานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) จัดสัมมนา เวทีทิศทางปฏิรูปประเทศไทย ครั้งที่ 1 ประเด็น ‘ปัญหา ป่าไม้ ที่ดิน ทางออกในยุค คสช.’ โดยมีผู้แทนกรณีปัญหาป่าไม้ ที่ดิน จากภาคต่างๆ มาร่วมบอกเล่าสภาพปัญหาในพื้นที่
 
สืบเนื่องจาก กรณีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไล่รื้อ ทำลายทรัพย์สินของชาวบ้าน และในหลายแห่งมีการติดประกาศขับไล่ให้ออกจากพื้นที่ โดยอ้างคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 64/2557 เรื่อง การปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้และ คำสั่งที่ 66/ 2557 เรื่อง เพิ่มเติมหน่วยงานสำหรับการปราบปราม หยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ และนโยบายการปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราวในสภาวการณ์ปัจจุบันรวมถึงแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ และก่อให้เกิดคำถามต่อแนวทางการแก้ปัญหาป่าไม้ ที่ดิน ของรัฐบาลปัจจุบัน
 
 
เผยสถานการณ์หลายพื้นที่เดือดร้อนหนัก ถูกไล่รื้อ
 
เด่น คำแหล้ ชาวบ้านโคกใหญ่ ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ผู้ที่ได้รับผลกระทบ เล่าถึงสถานการณ์ในพื้นที่ว่า มีการติดป้ายจากเจ้าหน้าที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ชาวบ้านออกจากชุมชนภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ 21 ส.ค 57 ที่มีการติดป้ายประกาศโดยไม่มีการตักเตือนและแจ้งล่วงหน้าก่อน
 
จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ป่าไม้ทำไมถึงมีการมาไล่ชาวบ้านออกจากชุมชน ได้คำตอบจากปากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ว่า “ทหารสั่งเจ้าที่ป่าไม้ก็ต้องทำ” ทำให้ชาวบ้านหลายคนวิตกกังวลกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างมาก
 
“อยากให้เจ้าหน้าที่มีการชะลอหรือยกป้ายคำสั่งออกจากชุมชน ตอนนี้ชาวบ้านหลายคนในพื้นที่ไม่กล้าเข้าพื้นที่ เพราะกลัวว่าจะมีการจับกุม อยากให้มีเจ้าหน้าที่เข้ามาทำความเข้าใจกับชาวบ้าน และหาทางออกร่วมกัน ตอนนี้ถ้าเกิดออกนอกพื้นที่ ชาวบ้านก็ไม่รู้จะไปอยู่ไหน ตอนนี้ก็ได้แต่อยากให้ยับยั้งคำสั่งไว้ก่อน จะเอายังไงต่อไปก็อยากให้มีการเข้ามาคุยกันก่อน” ชาวบ้านโคกใหญ่กล่าว
 
ขณะที่ อรนุช ผลภิญโญ ตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน ให้ข้อมูลว่า หลังจากมีคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 64 และ 66 พื้นที่แรกที่มีการอพยพคือที่บ้านโนนดินแดง จ.บุรีรัมย์โดยทหารและเจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้เข้าไปกดดันในพื้นที่และกล่าวหาว่าชาวบ้านบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติดงใหญ่
 
ขณะนี้ปัญหาชาวบ้านถูกกดดันให้อพยพออกจากที่ดินทำกินเกิดขึ้นหลายจังหวัดในภาคอีสาน ได้แก่ ชัยภูมิ สกลนคร อุดรธานี กาฬสินธุ์ โดยเจ้าหน้าที่รัฐอ้างคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 64 และ 66 และบางจังหวัดมีประกาศคำสั่งทางปกครองขับไล่ชาวบ้านให้ออกจากพื้นที่ อีกทั้งยังพบว่ามีชาวบ้านบางส่วนถูกเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีไปแล้ว
 
สำหรับข้อเสนอ อรนุช กล่าวว่า ในระยะสั้น อยากให้ยุติการไล่รื้อและตัดฟันทรัพย์สินของชาวบ้าน และยกเลิกประกาศขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ แล้วกำหนดแนวทางมาตรการแก้ไขปัญหาร่วมกัน
 
อีกทั้ง ควรมีการระงับแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ฯ ไว้ก่อน และทบทวน โดยเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ส่วนการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการตรวจสอบ พิสูจน์สิทธิ์ ต้องมีความหลากหลาย ทั้งวัตถุพยาน พยานบุคคล หลักฐานทางราชการ ประวัติศาสตร์ และพัฒนาการใช้ประโยชน์ที่ดิน นอกเหนือไปจากการใช่ภาพถ่ายทางอากาศดังเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
 
นอกจากนี้ การแก้ไขปัญหา ควรยึดถือเรื่องการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม และการเข้าถึงสิทธิในการใช้ประโยชน์ที่ดินของประชาชนร่วมด้วย
 
ส่วนบุญ แซ่จุง ตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด กล่าวถึงข้อเรียกร้องว่า ต้องการให้มีการเดินหน้ากฎหมายธนาคารที่ดิน ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า และนโยบายโฉนดชุมชนอย่างเร่งด่วน
 
 
ร้องคืน ‘สิทธิชุมชน’ ในรัฐธรรมนูญ หวังเป็นเครื่องมือสู้
 
ด้านเดโช ไชยทัพ รองเลขาธิการ กป.อพช. ภาคเหนือ กล่าวว่า การแก้ปัญหาป่าไม้ที่ดิน ควรดูต้นทุนความสำเร็จที่เคยทำกันมาแล้วด้วย ทั้งนี้ที่ผ่านมาชาวบ้านได้ลุกขึ้นมาจัดการสำรวจแนวเขตพื้นที่ด้วยตนเองเนื่องจากกระบวนการทำงานของหน่วยงานรัฐล่าช้า โดยอาศัยสิทธิชุมชนตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญมาทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และขับเคลื่อนกันจนมีเทศบัญญัติท้องถิ่นและข้อบัญญัติตำบลเกิดขึ้น
 
ดังนั้นข้อเสนอคือสิทธิชุมชนในกฎหมายต้องกลับมาอยู่ในรัฐธรรมนูญ จากที่ปัจจุบันรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวไม่มีการระบุเรื่องสิทธิชุมชน ไม่เช่นนั้นประชาชนจะไม่มีเครื่องมือในการแก้ไขปัญหา และควรมีการกระจายอำนาจให้ชุมชนท้องถิ่นร่วมจัดการทรัพยากร ส่วนสภาปฏิรูปแห่งชาติภาคประชาชนควรผลักดันเสนอการแก้ไขปัญหาโดยใช้เครื่องมือสิทธิชุมชนให้เป็นจริง และ คสช.อย่ามองแต่แง่ดีของนโยบาย ควรมองถึงปัญหาที่ตามมาด้วย
 
 
แจงปัญหาแผนแม่บทแก้ปัญหาทำลายป่าฯ จี้ทบทวน
 
ประยงค์ ดอกลำไย ที่ปรึกษาเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การออกคำสั่ง คสช.เพื่อการปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่ต่างๆ ไม่ใช่ทางออกของปัญหา อีกทั้งคำสั่งนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากการทำงานของรัฐไม่มีการประสานความร่วมมือกับชาวบ้าน เพราะปัญหาที่ดินเป็นปัญหาที่สั่งสมมานาน ต้องใช้ความร่วมมือกันของทุกฝ่าย 
 
ประยงค์ กล่าวต่อมาถึงปัญหาของแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ฯ ว่า ในการจัดทำนั้น กอ.รมน.ไม่มีการทำประชาพิจารณ์เปิดให้ภาคประชนเข้าไปมีส่วนร่วม โดยกระบวนการเริ่มจาก คสช.วางนโยบายให้ กอ.รมน.และกระทรวงทรัพยากรฯ จัดทำแนวทางแก้ไขปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า การบุกรุกที่ดินของรัฐฯ จนได้วางแผนยุทธศาสตร์เพื่อให้หน่วยงานและเจ้าหน้ารัฐนำไปปฏิบัติ ต่อมาคณะทำงานได้ปรับแก้ครั้งสุดท้าย โดยนำเอาแผนแม่บท คณะวนศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ มาเพิ่มเติมในส่วนที่ขาดความสมบูรณ์ ดังนั้นจึงควรมีการทบทวนเกี่ยวกับแผนแม่บทฉบับนี้
 
นอกจากนี้แผนแม่บทดังกล่าวยังใช้วิธีเดิมๆ ในการทวงคืนผืนป่า คือการมากดดันเอากับคนตัวเล็กตัวน้อย ซึ่งการดำเนินการมาหลายสิบปีได้พิสูจน์แล้วว่าไม่ประสบผลสำเร็จ อีกทั้งจะเห็นได้ว่าหน่วยงานที่มาดำเนินการก็เป็นคู่ขัดแย้งกับชาวบ้านอยู่ก่อนแล้ว
 
ที่ปรึกษาเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย กล่าวด้วยว่า ปัญหาที่ดิน ป่าไม้หากวางแผนการทำงานไม่ดี อาจส่งผลกระทบกับการปฏิบัติหน้าที่ของ คสช.ในอนาคต เพราะมีประชาชนจำนวนมากต้องได้รับผลกระทบจากแผนแม่บทฉบับนี้
 
ศยามล ไกยูรวงศ์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวเพิ่มเติมว่า อยากให้มีการทบทวนแผนแม่บทฯ ถ้าจะมีการจัดการกับปัญหาการบุกรุกที่ดิน หน่วยงานรัฐที่ดูแลต้องมีการเปิดเผยฐานข้อมูลการถือครองที่ดินทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งหมู่บ้าน รีสอร์ท ที่ดินของนักการเมือง หรือของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่มีการบุกรุกพื้นที่อย่างผิดกฎหมาย โดยไม่ละเว้นว่าจะเป็นชาวบ้านหรือคนมีสี สิ่งที่อยากเสนอคือ ห้ามไม่ให้มีการจัดทำโครงการในพื้นที่หวงห้ามทั้งหมด เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเท่าเทียมในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ
 
ทั้งนี้ นายศรีสุวรรณ ควรขจร ประธาน กป.อพช. ระบุว่าการพูดคุยและข้อเสนอในวันนี้จะมีการประมวลเพื่อส่งมอบให้แก่ คสช.ต่อไป 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สพฐ.ออกมาตรการควบคุมการบ้าน

$
0
0
สพฐ.สนอง นายกฯ คนใหม่ ร่อนหนังสือถึงโรงเรียนทั่วประเทศ กำชับครูให้การบ้านเด็กอย่างเหมาะสม อย่ายาก อย่าเยอะ หากพบจ้างทำการบ้าน ลงโทษสถานศึกษา
 
28 ส.ค. 2557 นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่าได้ลงนามคำสั่งเรื่องแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการให้การบ้านนักเรียน แจ้งไปยังผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศแล้ว เพื่อให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากำชับไปยังสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทุกแห่ง และขอให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาดำเนินการตามอย่างเคร่งครัดตาม แนวปฏิบัติที่กำหนดไว้ ดังนี้
 
1.ให้ครูพิจารณามอบหมายการบ้านให้นักเรียนอย่างเหมาะสม ไม่ยากเกินไป ไม่มากเกินไป ควรมอบหมายให้นักเรียนทำงานเป็นกลุ่มมากขึ้น เช่น โครงงานต่างๆ เพื่อให้นักเรียนได้มีโอกาสทำงานแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและความรู้ในแง่มุมต่างๆ ซึ่งจะสอดคล้องกับการดำเนินชีวิตจริงมากกว่า
 
2.ให้ผู้บริหารสถานศึกษานิเทศติดตามการจัดการเรียนการสอนและการให้การบ้านของครูให้เหมาะสม และหากพบว่า นักเรียนมีการลอกหรือจ้างทำการบ้านกันจริง ให้พิจารณาโทษตามระเบียบที่สถานศึกษากำหนดอย่างจริงจัง 

3.ให้ผู้บริหารสถานศึกษาจัดให้มีการสอนเสริมแก่นักเรียนนอกเวลาโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายและใช้เวลาว่างตามความเหมาะสม เพื่อช่วยเหลือนักเรียนที่เรียนช้ากว่าเพื่อน หรืออาจจัดให้มีคลินิกเพื่อนช่วยเพื่อนเรียน หรือกิจกรรมอื่นๆ ที่จะช่วยนักเรียนให้ได้บรรลุผลตามหลักสูตร
 
และ4.ให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขต พื้นที่การศึกษากำชับผู้บริหารสถานศึกษาให้ติดตามสอดส่องการให้การบ้านของ นักเรียนอย่างใกล้ชิด 

นายกมล กล่าวว่า การให้การบ้านมีข้อดีตามที่นักวิชาการได้วิเคราะห์ไว้เพราะจะทำให้เด็กได้ ทบทวนทักษะ การฝึกความรับผิดชอบและการฝึกวินัย แต่การให้การบ้านที่มากไปจะทำให้เด็กต้องใช้เวลาทำการบ้านมาก ส่วนตัวเห็นว่าเด็กไม่ควรทำการบ้านไม่เกินชั่วโมงต่อวัน ดังนั้นจำนวนข้อต้องลดลงโดยอาจารย์รายระดับชั้นต้องมาพูดคุยกันในแต่ละวิชา เพื่อตกลงกันในการที่จะให้การบ้านเด็กไม่มากเกินไป อีกทั้งการบ้านต้องไม่ยากเกินไปจนเด็กต้องไปจ้างคนอื่นทำ
 
นายกมล กล่าวด้วยว่า แนวปฏิบัติที่กำหนดออกมา สพฐ.เป็นการกลั่นกรองมาจากข้อเสนอแนะของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตลอดจนความเห็นของบุคคลต่างๆ ในสังคม ซึ่งการรับจ้างทำการบ้านเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมและจะมีผลต่อการทำลายคุณภาพ การศึกษาของประเทศในอนาคตโดยอาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘พ.อ.วินธัย’ ยันยังไม่มีคำพิพากษาคดี ‘ขอนแก่นโมเดล’

$
0
0
รองโฆษก คสช. แจงยังไม่มีการพิพากษาประหารชีวิต 26 นปช.ที่ขอนแก่น ตามที่มีการปล่อยข่าวในสังคมออนไลน์
 
28 ส.ค. 2557 จากกรณีที่มีการปล่อยข่าวในสังคมออนไลน์ โดยผู้ใช้ชื่อว่า “เสธ น้ำเงิน 2” ได้เขียนข้อความระบุว่า
 
“วันที่ 27 สิงหาคม 2557 ศาลทหารพิพากษาประหารเสื้อแดง นปช. 26 รายรวด จากกรณีผู้ต้องหากลุ่มติดอาวุธแดง นปช.แก๊ง “ขอนแก่นโมเดล” ที่ถูกทหารจับได้ พร้อมกับคลังอาวุธสงครามมหาศาล ขนาดที่จะสร้างความเสียหายกับชาติและประชาชนได้อย่างรุนแรง โดยกลุ่มนี้รับงานตรงทางไลน์มาจากคนแดนไกล และฝึกอาวุธโดยเครือข่ายแรมโบ้อีสาน อาวุธจัดหามาจากเจ้านายของสุดา สหายสุดซอย ที่เป็นคนสนิทคนแดนไกล พวกกลุ่มติดอาวุธแดง นปช.ที่ถูกจับพร้อมอาวุธอีกราว 1,000 ราย คงรู้แล้วใช่ไหม? ว่าศาลทหารมีฤทธิ์เดชขนาดไหน และรู้หรือยังว่าทำไมยังไม่ยกเลิกกฎอัยการศึก?”
 
พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก และทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ชี้แจงว่า คดีดังกล่าวเพิ่งเริ่มต้นเข้าสู่กระบวนการของศาล ยังไม่มีคำพิพากษาใดๆ อย่างที่มีการลือกัน โดยในลำดับแรกจะมีการนัดถามคำให้การนัดแรกในวันที่ 21 ตุลาคมนี้
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'อานดี้ ฮอลล์' ทำหนังสือชี้แจงการรณรงค์ต่อสมาคมสัปปะรด

$
0
0
นักสิทธิแรงงาน 'อานดี้ ฮอลล์' ทำหนังสือชี้แจงและแสดงความคิดเห็นต่อหนังสือของสมาคมอุตสาหกรรมสับปะรดไทย เรียกร้องให้สมาคมฯ และบริษัท เนเชอรัลฟรุต จำกัด ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิแรงงาน

 
 
 
 
 
หนังสือสมาคมอุตสาหกรรมสับปะรดไทย ที่ TPIA 29/2557 ลงวันที่ 13 สิงหาคม 2557
 
เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2557 อานดี้ ฮอลล์ นักสิทธิแรงงาน ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงสมาคมอุตสาหกรรมสับปะรดไทย เรื่อง ขอชี้แจงและแสดงความคิดเห็นต่อหนังสือของสมาคมอุตสาหกรรมสับปะรดไทย ต่อกรณีที่สมาคมฯ ได้ออกหนังสือสมาคมอุตสาหกรรมสับปะรดไทย ที่ TPIA 29/2557 ลงวันที่ 13 สิงหาคม 2557 โดยมีรายละเอียดทั้งหมดดังต่อไปนี้
 
 
28 สิงหาคม 2557
 
เรื่อง ขอชี้แจงและแสดงความคิดเห็นต่อหนังสือของสมาคมอุตสาหกรรมสับปะรดไทย
เรียน คุณนิรุติ รูปเล็ก
เลขาธิการ สมาคมอุตสาหกรรมสับปะรดไทย 
 
อ้างถึง หนังสือสมาคมอุตสาหกรรมสับปะรดไทย ที่ TPIA 29/2557 ลงวันที่ 13 สิงหาคม 2557
 
ตามหนังสือที่อ้างถึง ท่านได้ส่งให้ข้าพเจ้าผ่านสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) โดยแจ้งว่า การรณรงค์แสดงพลังสนับสนุนระหว่างประเทศในรูปแบบของหนังสือลงวันที่ 8 สิงหาคม 2557 โดยมีรายชื่อผู้รับผิดชอบการออกหนังสือ ทั้งที่เป็นบุคคลและองค์กรมากกว่า 100 ราย ซึ่งกล่าวถึงสมาคมฯ ของท่านและนายวิรัช ปิยพรไพบูลย์ หรือบริษัท เนเชอรัลฟรุต จำกัดเกี่ยวกับการดำเนินคดีข้าพเจ้า ทั้งในทางแพ่งและอาญาหลายคดี ดังความละเอียดแจ้งแล้วนั้น
 
ข้าพเจ้าขอเรียนว่า การรณรงค์ดังกล่าวเป็นการดำเนินการโดยอิสระของบุคคลที่ปรากฏชื่อ ซึ่งข้าพเจ้าไม่ได้เกี่ยวข้องด้วยเลย กล่าวคือ เป็นการรณรงค์ระหว่างประเทศขององค์กรที่ให้การสนับสนุนข้าพเจ้าด้วยหลักการของแต่ละองค์กรที่มีร่วมกัน อันมีความสำคัญต่อประชาคมสิทธิมนุษยชนและแรงงานระหว่างประเทศ และการรณรงค์นี้ไม่ได้เกิดจากการยุยงของข้าพเจ้า เพราะแต่ละองค์มีความสามารถในการตัดสินใจกันเอง ส่วนการที่ระบุถึงผู้มีชื่อในหนังสือดังกล่าวว่า ‘เกี่ยวข้องกับอานดี้ ฮอลล์’ นั้น ถือเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง และเป็นถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม 
 
ประกอบกับเรื่องบริษัท เนเชอรัลฟรุต จำกัดดำเนินคดีข้าพเจ้า ก็มีผลให้เกิดความเสียหายแก่ชื่อเสียงของบริษัทฯ เอง เพราะแสดงถึงการคุกคามนักกิจกรรมที่ทำงานเกี่ยวกับสิทธิแรงงานข้ามชาติโดยทั่วไป และทำให้มีผลไปถึงสมาคมฯ ท่าน กลุ่มอุตสาหกรรมสับปะรดไทย อุตสาหกรรมส่งออกโดยรวมของประเทศไทย รัฐบาลและสังคมไทย เพราะโดยปกติสมาคมฯ ท่านย่อมมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความสำเร็จของอุตสาหกรรมสับปะรดไทยโดยรวม และไม่ปกป้องหรือส่งเสริมผลประโยชน์เฉพาะสมาชิกบางรายที่กระทำการไม่ถูกต้อง ดังเช่นในกรณีนี้ที่สมาคมฯ ท่านควรไตร่ตรองให้ชัดเจนว่า สมาคมฯ ท่านและเศรษฐกิจของประเทศไทยจะได้รับประโยชน์อะไรจากการกระทำของประธานสมาคมฯ นายวิรัช ปิยพรไพบูลย์ และบริษัท เนเชอรัลฟรุต จำกัดในการดำเนินคดีข้าพเจ้า ซึ่งเป็นเพียงบุคคลที่พยายามต่อสู้เพื่อสิทธิของแรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม จนทำให้ข้อพิพาททางคดียกระดับเป็นประเด็นสาธารณะ และเป็นที่รับรู้กันในระดับระหว่างประเทศทั่วโลกแล้ว ทำให้มิใช่เป็นเรื่องส่วนตัวระหว่างนายวิรัช ปิยพรไพบูลย์ และบริษัท เนเชอรัลฟรุต จำกัด กับตัวข้าพเจ้า อีกต่อไป 
 
ยิ่งไปกว่านั้น การกล่าวหาข้าพเจ้าโดยการกล่าวถึงบุคลิกส่วนตัวและแรงจูงใจไปในเชิงที่เสียหายในหนังสือของสมาคมอุตสาหกรรมสับปะรดไทย ย่อมทำให้ข้าพเจ้าได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะต่อชื่อเสียงและการทำงานทางวิชาชีพระหว่างประเทศ โดยกระทบต่อความน่าเชื่อถือในหมู่เพื่อนร่วมงานของข้าพเจ้าและองค์กรต่างประเทศต่างๆ อย่างกว้างขวาง รวมทั้งในแวดวงธุรกิจในประเทศไทย โดยท่านสามารถพิจารณาประวัติการทำงานของข้าพเจ้าโดยละเอียดได้ในบล็อก www.andyjhall.wordpress.com ซึ่งมีข้อมูลดังนี้ คือ
 
1. ข้าพเจ้าทำงานมานานเป็นเวลากว่าหนึ่งทศวรรษในการส่งเสริมและปกป้องสิทธิของแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะจากประเทศเมียนมาร์ แม้ข้าพเจ้าจะเรียนจบด้านกฎหมายโดยได้รับปริญญาเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง และเรียนปริญญาเอกจากประเทศออสเตรเลียและอังกฤษ แต่ข้าพเจ้าก็ยินดีทำงานโดยได้รับค่าตอบแทนจำนวนไม่มาก เพื่อทุ่มเทอุทิศตนในการสร้างโครงการสิทธิแรงงานข้ามชาติ ที่ประสบความสำเร็จและได้รับการยอมรับในประเทศไทย โดยทำงานด้วยเจตนาที่จะผลักดันให้มีการส่งเสริมสิทธิของแรงงานข้ามชาติเพียงประการเดียว เท่านั้น
 
2. ที่ผ่านมา แม้ข้าพเจ้ามักจะมีปัญหาพิพาทกับบุคคล บริษัทหรือเจ้าหน้าที่ที่ละเมิดสิทธิของแรงงานข้ามชาติ อยู่บ่อยครั้ง แต่ก็เป็นเรื่องที่จำเป็นเพราะเป็นเรื่องที่พิพาทกันในประเด็นสาธารณะ ไม่ใช่เป็นเรื่องการเจรจาเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว ที่อาจไม่ทำให้เกิดการปรับปรุงสภาพการทำงานของแรงงานข้ามชาติโดยรวม การเปิดปัญหาสู่สาธารณะจะทำให้เกิดการแก้ปัญหาและการปรับปรุงสภาพการทำงานของแรงงานข้ามชาติให้ดีขึ้น เป็นอย่างมาก เพราะทำให้ผู้ที่รับผิดชอบและเกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหานี้ หันมาเอาใจใส่และจริงจังในการแก้ปัญหามากขึ้น
 
3. เป้าหมายหลักในการทำงานของข้าพเจ้าตลอดมา คือ การส่งเสริมและปกป้องสิทธิของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย ซึ่งข้าพเจ้าถือว่า เป็นประโยชน์ต่อความยั่งยืนทางธุรกิจที่จะส่งผลต่อการมีกำไร และความสำเร็จของเศรษฐกิจในประเทศไทย งานของข้าพเจ้าจึงมุ่งที่จะจรรโลงให้เกิดสังคมประชาธิปไตยที่รุ่งเรืองในประเทศไทยบนฐานของความมั่นคงของมนุษย์ เศรษฐกิจและชาติ ที่มีการเคารพหลักกฎหมายและมีการใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมสำหรับทุกคน โดยไม่จำกัดสัญชาติ เชื้อชาติหรือสถานะทางสังคมหรือเศรษฐกิจ ข้าพเจ้าทำงานหนักที่จะให้คำแนะนำแก่รัฐบาลไทยและเมียนมาร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านทางภาคอุตสาหกรรม และอาศัยการรณรงค์และการเตรียมการและความมุ่งมั่นในทางวิชาการและงานวิจัยที่จะพัฒนานโยบายแรงงานข้ามชาติที่เป็นจริงและเป็นธรรม ที่ส่งเสริมความมั่นคงของชาติ เศรษฐกิจและมนุษย์อย่างเท่าเทียมในประเทศไทย ตลอดจนธุรกิจและแรงงานข้ามชาติด้วย
 
4. ข้าพเจ้าทำงานอย่างใกล้ชิดและสร้างสรรค์มากขึ้นเรื่อยๆ กับสมาคมอุตสาหกรรมหลายองค์กรในประเทศไทย โดยรวมถึง นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป คนปัจจุบัน คือ คุณกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ด้วย ซึ่งอยู่ในฐานะทั้งนายกสมาคมและผู้ถือหุ้นคนสำคัญใน SAICO ซึ่งเป็นบริษัทแปรรูปสับปะรดชั้นนำของไทย โดยเป็นการทำงานเพื่อจัดการปัญหาเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติที่อุตสาหกรรมสับปะรดของไทยกำลังเผชิญอยู่ และเมื่อเร็วๆ นี้ ข้าพเจ้าได้ร่วมการสนทนาแลกเปลี่ยนอย่างสร้างสรรค์ (พร้อมด้วยฟินน์ว็อทช์) กับ Vita Food และเจ้าของ คือ ดร.สิงห์ ตั้งเจริญชัยชนะ เพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติที่บริษัทส่งออกสับปะรดแห่งนี้เผชิญอยู่ ด้วยเป็นผลจากความตั้งใจและความมุ่งมั่นในทางบวกที่ข้าพเจ้าแสดงออก ในการร่วมแลกเปลี่ยนกับภาคอุตสาหกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติ และข้าพเจ้ายังทำงานอย่างใกล้ชิดต่อไป ซึ่งไม่เพียงแต่กับสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เท่านั้น แต่ยังรวมถึงสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทยและสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย อีกด้วย โดยทั้งสองสมาคมนี้สนับสนุนเงินประกันตัวให้ข้าพเจ้าในคดีที่บริษัท เนเชอรัลฟรุต จำกัดดำเนินคดีต่อตัวข้าพเจ้า และปัจจุบันข้าพเจ้าเป็นที่ปรึกษาให้กับโรงงานต่างๆ ในประเทศไทยและทำงานช่วยเหลือโรงงานเหล่านี้ในการปรับปรุงสภาพการทำงานของแรงงานข้ามชาติ
 
5. การที่สื่อมวลชนรายงานข่าวเกี่ยวกับการดำเนินคดีของบริษัท เนเชอรัลฟรุต จำกัดเพิ่มมากขึ้น นั้นเป็นผลมาจากการให้ความสนใจและความกังวลของประชาคมระหว่างประเทศต่อประเด็นของการปกป้องนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ปัญหาสิทธิแรงงานข้ามชาติและการดำเนินคดีอาญาที่น่าจะมีเจตนาเพียงเพื่อที่จะปิดปาก หรือสกัดกั้นผู้ที่พยายามส่งเสริมสิทธิด้านแรงงานและตั้งคำถามถึงความรับผิดชอบของบรรษัท ซึ่งสื่อมวลชนมีสิทธิและหน้าที่ที่จะรายงานเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ดังกล่าว และข้าพเจ้าก็มักจะตอบสนองในทางบวกต่อการขอสัมภาษณ์จากสื่อ ไม่ว่าพวกเขาจะเห็นอกเห็นใจหรือสนับสนุนงานของข้าพเจ้าหรือไม่ ก็ตาม
 
สำหรับข่าวหรือข้อมูลทั้งหมดที่เผยแพร่โดยข้าพเจ้าผ่านเครือข่ายสื่อต่างๆ หรือโดยฟินน์ว็อทช์ในรายงานหลายฉบับหรือโดยพันธมิตรอื่นๆ ในประชาคมระหว่างประเทศเกี่ยวกับสภาพการทำงานของคนงานในโรงงานของบริษัท เนเชอรัลฟรุต จำกัดในประเทศไทย หรือในโรงงานอื่นๆ ของสมาชิกของสมาคมอุตสาหกรรมสับปะรดไทย ล้วนมีที่มาจากการสัมภาษณ์จริงที่ดำเนินการอย่างถูกต้องตามหลักจรรยาบรรณการวิจัยกับแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในโรงงาน แต่ด้วยเหตุผลของความปลอดภัยและเพื่อความน่าเชื่อถือของข้อมูล การสัมภาษณ์เหล่านี้ จึงมีการดำเนินการอย่างเป็นความลับในตอนแรก 
 
อย่างไรก็ตาม ในกรณีการวิจัยบริษัท เนเชอรัลฟรุต จำกัด หลังจากเสร็จสิ้นขั้นตอนเก็บข้อมูลขั้นต้นแล้ว บริษัท เนเชอรัลฟรุต จำกัด ยังได้รับโอกาส ทั้งในด้านเวลาและพื้นที่ที่สามารถจะอธิบายและชี้แจงตอบข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการละเมิดต่างๆ ในโรงงาน ด้วยการยอมให้ฟินน์ว็อทช์ นักวิจัย หรือสื่อเข้าไปในโรงงานและตรวจสอบสภาพการทำงานหรือสัมภาษณ์คนงานเกี่ยวกับข้อกล่าวหาเหล่านั้น กล่าวโดยทั่วไปแล้ว บริษัท เนเชอรัลฟรุต จำกัด (ต่างจากบริษัทอื่นๆ ทั้งหมดที่ข้าพเจ้าได้ร่วมแลกเปลี่ยนมาในประเทศไทย) ไม่ได้เลือกแนวทางดังกล่าวเพื่อแสดงให้เห็นว่า ตนปฏิบัติตามกฎหมายหรือแสดงหลักฐานโต้แย้งข้อกล่าวหาแก่ข้าพเจ้าหรือผู้อื่นอย่างเช่นฟินน์ว็อทช์ ซึ่งนี่เป็นแนวทางปฏิบัติที่บริษัทฯ ยังสามารถเลือกทำได้อยู่
 
นอกจากนี้ ข้าพเจ้าใคร่ขอให้สมาชิกของสมาคมอุตสาหกรรมสับปะรดไทยให้ความสนใจกับรายงานการตรวจสอบอย่างเป็นทางการของกระทรวงแรงงานที่เกี่ยวกับบริษัท เนเชอรัลฟรุต จำกัด เพราะข้าพเจ้าเข้าใจว่า มีข้อมูลการปฏิบัติตามกฎหมายที่ไม่ครบถ้วนอยู่หลายรายการ ภายในโรงงานของบริษัท เนเชอรัลฟรุต จำกัด ซึ่งสนับสนุนการค้นพบข้อมูลนี้ในรายงานของฟินน์ว็อทช์ และในประเด็นเหล่านี้ยังมีนักข่าวฟินแลนด์และระหว่างประเทศจำนวนมากได้สืบสวนสภาพการทำงานในโรงงานของเนเชอรัลฟรุต และรายงานว่า มีการละเมิดสิทธิต่างๆ เกิดขึ้นในโรงงานฟินน์ว็อทช์ โดยได้เผยแพร่รายงานมาอย่างต่อเนื่อง ในปี 2557 เกี่ยวกับสภาพการทำงานในโรงงานของเนเชอรัลฟรุต โดยใช้นักวิจัยบุคคลที่สาม ที่พบว่า ยังคงมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนและแรงงานอยู่ต่อไปในโรงงานดังกล่าว
 
ในประเด็นที่กล่าวถึงเจตนาไม่บริสุทธิ์ของข้าพเจ้าในการชักชวนให้บุคคลมาลงชื่อในการรณรงค์ระหว่างประเทศเกี่ยวกับด้วยการทำหนังสือที่ส่งผลกระทบในทางลบต่อสมาคมอุตสาหกรรมสับปะรดไทย และบริษัท เนเชอรัลฟรุต จำกัด นั้น ขอเรียนว่า องค์กรเหล่านั้นเป็นองค์กรที่ได้รับการยอมรับนับถือในระดับนานาชาติและมีข้อมูลที่แน่นอน โดยได้มีการไตร่ตรองเนื้อหาในเอกสารการรณรงค์ที่จัดทำขึ้นอย่างเป็นอิสระอย่างรอบคอบแล้ว และมีการตัดสินใจที่จะใส่ชื่อไว้ในหนังสืออย่างสมัครใจ เนื่องจากองค์กรเหล่านี้มีชื่อเสียงในด้านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และข้าพเจ้าเห็นว่า หนังสือนี้เป็นเพียงแค่การเรียกร้องให้สมาคมอุตสาหกรรมสับปะรดไทยและบริษัท เนเชอรัลฟรุต จำกัด ให้ความร่วมมือกับผู้ที่พยายามยุติการดำเนินการในทางลบของบริษัท เนเชอรัลฟรุต จำกัด ที่มีต่อนักปกป้องสิทธิของคนงาน และเห็นว่าการรณรงค์นี้มีจุดมุ่งหมายอยู่ที่ต้องการให้มีการสร้างการสนทนาแลกเปลี่ยนในเชิงบวกกับบริษัท เนเชอรัลฟรุต จำกัดและสมาคมอุตสาหกรรมสับปะรดไทย เพื่อส่งเสริมสิทธิของแรงงานข้ามชาติและผู้ที่ทำงานส่งเสริมและปกป้องสิทธิของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย เท่านั้น 
 
ข้าพเจ้าขอส่งหนังสือนี้ให้แก่สมาคมอุตสาหกรรมสับปะรดไทย ด้วยเจตนาบริสุทธิ์และเพื่อให้เป็นข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้มีการพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบในการดำเนินการ ต่อไป
 
จึงเรียนมาเพื่อทราบ
ขอแสดงความนับถือ
นายอานดี้ ฮอลล์
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชัชชาติแนะทบทวนรถไฟรางคู่ 160 กม./ชม.-ชี้ไม่คุ้ม-ช้าเกินแข่งโลวคอสต์

$
0
0

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กล่าวในงาน "มติชนอะคาเดมี" ชี้แผนพัฒนารถไฟรางคู่มาตรฐาน 7 แสนล้านอาจไม่คุ้มค่าเพราะทำความเร็วแค่ 160 กม./ชม. อาจเน้นใช้ขนสินค้าจีนผ่านไทย แต่ไม่มีผลกระตุ้นเศรษฐกิจ ต่างจากรถไฟความเร็ว 250 กม./ชม. ใช้ขนคนมีผลต่อเศรษฐกิจมากกว่า

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ (แฟ้มภาพ/เพจชัชชาติ สิทธิพันธุ์)

29 ส.ค. 2557 - ข่าวสดออนไลน์รายงานว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรมว.คมนาคม กล่าวในงานเสวนาเรื่องแผนที่โครงการรถไฟสมัยรัชกาลที่ 5 กับการพัฒนาเมกะโปรเจ็กต์ของไทยปัจจุบัน ซึ่งจัดขึ้นโดย กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม ที่มติชนอคาเดมี เมื่อวันที่ 28 ส.ค. โดยกล่าวถึงแผนของ คสช. ที่จะพัฒนาระบบรางและเดินหน้าโครงการรถไฟทางคู่ต่อว่า มีความยินดีเพราะเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำเพื่อปรับระบบขนส่งจากทางถนนมาสู่ระบบรางเพื่อลดต้นทุนขนส่งคนและสินค้า

ส่วนโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน 1.43 เมตร ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า 2 เส้นทาง คือหนองคาย-โคราช-สระบุรี-แหลมฉบัง-มาบตาพุด ระยะทาง 737 ก.ม. วงเงิน 392,570 ล้านบาท และเชียงของ-เด่นชัย-บ้านภาชี ระยะทาง 655 ก.ม. วงเงิน 348,890 ล้านบาทนั้น ต้องวางเป้าหมายให้ชัดว่าจะสร้างเพื่อวัตถุประสงค์อะไร

"ต้องอธิบายให้ประชาชนเข้าใจว่าจะเกิดประโยชน์และคุ้มค่ามากกว่าการสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงหรือ ไฮสปีดเทรน ที่วิ่งด้วยความเร็วมากกว่า 250 ก.ม. ต่อชั่วโมงอย่างไร จริงๆ ไม่ใช่เรื่องผิดหากผู้นำยุคนี้จะคิดต่าง และจะเน้นสร้างรถไฟเพื่อขนส่งสินค้าที่ไม่จำเป็นต้องใช้ความเร็วมาก ขณะที่รัฐบาลก่อนสร้างไฮสปีดเทรนเน้นขนส่งคนภายในประเทศ เพราะผมมองว่าไฮสปีดเทรนจะช่วยสร้างเมืองใหม่ ทำให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวเกิดประโยชน์ต่อภาพรวม"

อดีต รมว.คมนาคม ระบุว่า หากดูแนวเส้นทางที่กำลังจะสร้างขณะนี้จะเห็นว่าเน้นขนสินค้าจากจีนมายังไทย ผ่านออกไปต่างประเทศที่ท่าเรือแหลมฉบัง ไทยเป็นเพียงแค่ทางผ่านมีรายได้แค่ค่าผ่านทางเท่านั้น จึงต้องคิดให้รอบคอบว่ารถไฟที่วิ่งด้วยความเร็วแค่ 160 ก.ม. ต่อ ชั่วโมง ช้าเกินไปหรือไม่ถ้าจะขนส่งคนแข่งขันกับเครื่องบินโลว์คอสต์

ส่วนกรณีที่รัฐบาลระบุว่าในอนาคตสามารถจะอัพเกรดเป็นไฮสปีดเทรนได้นั้น มองว่าหากจะมีการอัพเกรดรางหรือระบบเทคนิคใหม่อีกครั้ง จะถือว่าเป็นการลงทุน 2 ครั้ง ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหาขาดทุนสะสมของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นั้น รฟท. ควรเร่งปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารการเดินรถ ส่วนงานบริหารรายได้จากสินทรัพย์ควรให้กระทรวงการคลังเข้ามาทำแทน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สนช.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ด่วน 4 ฉบับ-วานนี้รับหลักการแล้ว 5 ฉบับ

$
0
0

สนช. เตรียมพิจารณาร่างกฎหมายเร่งด่วน ที่ หน.คสช.เสนอ 4 ฉบับ ในเช้าวันนี้ ขณะที่เมื่อ 28 ส.ค. มีมติรับหลักการแล้ว 5 ฉบับ ส่วน พ.ร.บ.ทวงหนี้เลื่อนไปสัปดาห์หน้า ต้องศึกษาเรื่องเจ้าหนี้-ลูกหนี้-วิธีทวงหนี้

29 ส.ค. 2557 - สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยรายงานว่า ในการประชุมสภานิติบัญญัติ วันนี้ (29 ส.ค. 2557) กำหนดเริ่มในเวลา 10.00 น. โดยมีวาระการพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติเร่งด่วน ที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เสนอ จำนวน 4 ฉบับ ประกอบด้วย

ร่าง พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ
ร่าง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
ร่าง พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย และร่าง พ.ร.บ.ประกันชีวิต

ขณะที่การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ วานนี้ (28 ส.ค.) ที่ประชุมมีมติรับหลักวาระแรก ร่างพระราชบัญญัติเร่งด่วนที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เสนอ จำนวน 5 ฉบับ ประกอบด้วย

ร่าง พ.ร.บ.การถวายความปลอดภัย
ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ร่าง พ.ร.บ.ศุลกากร
ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร
และร่าง พ.ร.บ.การกลับไปใช้สิทธิบำเหน็จบำนาญตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494

โดยทุกฉบับกำหนดให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ พิจารณา จำนวน 15 คน กำหนดแปรญัตติภายใน 7 วัน ยกเว้น ร่างพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ ที่เลื่อนการพิจารณาไปสัปดาห์หน้า เพราะต้องศึกษารายละเอียดข้อบัญญัติให้รอบด้านทั้งในส่วนของลูกหนี้ เจ้าหนี้ และวิธีการทวงถามหนี้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กฎอัยการศึก และ ISDS การผนึกกำลังเพื่อขนแร่ที่เหมืองทองเลย

$
0
0

 

หลังรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557  ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)  ได้รับแจ้งจากบริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด (มหาชน) (“ทุ่งคาฯ”)  เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2557[1]  ว่าบริษัท ทุ่งคำ จำกัด (“ทุ่งคำ”)  บริษัทลูกซึ่งเป็นเจ้าของเหมืองทองคำในเขตท้องที่ตำบลเขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย  ตามสัญญาให้สิทธิสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ แปลงที่สี่ พื้นที่น้ำคิว - ภูขุมทอง  ขอหยุดกิจการชั่วคราวเป็นระยะเวลา 90 วัน นับแต่วันที่ 3 มิถุนายน 2557  เป็นต้นไป  โดยอ้างเหตุการณ์คัดค้านการทำเหมืองของชาวบ้าน 6 หมู่บ้าน  ที่จัดสร้างสิ่งกีดขวางทางเข้าออกเหมือง  ทำให้พนักงาน  ลูกจ้าง และคู่ค้าไม่สามารถเข้าไปปฏิบัติงานภายในเหมืองได้

วันที่ 4 มิถุนายน 2557  กองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 8 ค่ายศรีสองรักจากจังหวัดเลย  ส่งหน่วยเฉพาะกิจเขาหลวงมาปฏิบัติภารกิจในการรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ตำบลเขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย  เพื่อแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างชุมชน 6 หมู่บ้าน (บ้านห้วยผุก  บ้านกกสะทอน  บ้านนาหนองบง  บ้านแก่งหิน  บ้านภูทับฟ้า  และบ้านโนนผาพุง)  กับเหมืองแร่ทองคำของทุ่งคำทันที

ช่วงเวลาที่สอดคล้องกันเช่นนี้ ถ้าไม่เป็นความบังเอิญ ก็เป็นการสมคบคิดกันระหว่างทหารกับทุ่งคาฯ และทุ่งคำ  เพราะมีข่าวความเคลื่อนไหวในพื้นที่ว่า หน่วยเฉพาะกิจเขาหลวงจะเข้ามาจัดการแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างชุมชนกับเหมืองแร่ทองคำให้ได้ภายในสามเดือน นับแต่วันที่เข้ามาปฏิบัติภารกิจ

หลังรัฐประหารอีกเช่นกัน  ข่าวที่ถูกปิดเงียบในเดือนกรกฎาคม 2557  มีความเคลื่อนไหวที่ปิดลับสุดขีดภายในสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)  ว่า ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของทุ่งคาฯ  คือ นางสาว Regina Wen Li Ng  ใช้กลไก ISDS ฟ้องรัฐบาลไทยต่อ UNCITRAL โดยใช้ผ่าน BIT ไทย - ฮ่องกง[2]  โดยอ้างว่าทุ่งคำไม่สามารถขนแร่ทองคำออกมาจากเหมืองได้ เพราะชาวบ้านต่อต้านจากเหตุที่ได้รับผลกระทบจากสารเคมีที่ใช้ในกระบวนการผลิตทองคำเกิดการรั่วไหล จนเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนในชุมชน ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจ

จนเวลาล่วงเลยมาได้เดือนกว่า  ความลับที่ถูกปิดไว้ที่ ก.ล.ต. ก็ถูกเปิดเผยโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 21 – วันอาทิตย์ที่ 24 สิงหาคม 2557

ทั้งนี้ ISDS เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย หรือยกเลิกนโยบายสาธารณะของประเทศนั้นๆ ได้ หากพบว่าไปขัดขวางการดำเนินกิจการของเอกชน หรือทำให้กำไรของเอกชนที่คาดว่าจะได้ลดลง

ในเว็บไซต์ FTA Watch  ได้เผยแพร่ข้อมูลเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจต่อสาธารณชนเกี่ยวกับ ISDS ไว้น่าสนใจ  ยกตัวอย่างเช่น นักลงทุนจากประเทศหนึ่งหอบเงินลงทุนมาตั้งโรงงานในประเทศไทย ถ้าอยู่ๆ รัฐบาลไปยึดที่ดินเขา เขาก็ฟ้องร้องต่อศาลไทยได้  แต่นักลงทุนอาจจะไม่มั่นใจในกระบวนการยุติธรรมของเรา  รวมถึงไม่อยากให้คดีล่าช้า  อยากให้เรื่องจบเร็วๆ ก็ไปฟ้องผ่านกลไก ISDS  เพราะการไปฟ้องผ่านกลไก ISDS ไม่ต้องผ่านศาลไทย ซึ่งใช้เวลานานกว่าคดีความในศาลชั้นต้นจะถึงที่สุดในชั้นศาลฎีกา

โดย ISDS จะใช้ระบบอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศในการพิจารณาและตัดสินคดี  โดยระบบของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศตามกลไก ISDS จะเป็นการพิจารณาข้อพิพาทของคน 3 คน คือ หนึ่ง - ตัวแทนนักลงทุน  สอง - ตัวแทนรัฐบาล  สาม - คนที่ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน  โดยสามคนนี้ไปประชุมกัน ศึกษาตัวสัญญา แล้วมีอำนาจตัดสินได้เลยว่า รัฐบาลผิดหรือไม่ ถ้าผิดแล้วจะต้องถูกลงโทษอย่างไร จ่ายค่าเสียหายเท่าไหร่ เป็นต้น

ทหารกับการระงับข้อพิพาทนอกศาลก่อนกระบวนการอนุญาโตตุลาการ

พันเอกสวราชย์ แสงผล  รองผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 8  และในฐานะผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจเขาหลวง  ได้กล่าวเอาไว้เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2557  ในการเจรจาครั้งแรกกับราษฎรกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดที่ต่อสู้คัดค้านการทำเหมืองแร่ทองคำว่า “พร้อมใช้กฎอัยการศึกเปิดทางเข้าเหมือง”[3]  เพื่อขนแร่ทองคำและแร่พลอยได้อื่นออกมา  ในครั้งนั้นถึงกับทำให้ชาวบ้านกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่  เพราะสับสนกับท่าทีแข็งกร้าวของนายทหารระดับผู้บังคับบัญชาหน่วยเฉพาะกิจตั้งแต่การเจอกันครั้งแรกว่า มาเจรจาช่วยเหลือชาวบ้านจากเหตุการณ์ถูกทำร้ายร่างกายในคืนวันที่ 15 ต่อเนื่องจนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 16 พฤษภาคม 2557  โดยชายฉกรรจ์อำพรางใบหน้า 300 นาย ใช้กำลังประทุษร้ายชาวบ้าน เพื่อขนแร่ทองแดงผสมทองคำและเงินออกไปจากเหมืองแร่  หรือมาเจรจาเพื่อขนแร่รอบใหม่ให้ทุ่งคำ

แต่การขนแร่รอบใหม่โดยกฎอัยการศึกก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด  เพราะทหารระดับปฏิบัติการในพื้นที่กับทหารระดับนโยบายในกรุงเทพฯ ไม่ได้เห็นคล้อยตามกันในกรณีนี้เสียทีเดียว  เนื่องจากพื้นที่นี้มีการจับจ้อง สอดส่องจากสื่อมวลชนอย่างเกาะติด ต่อเนื่อง และถี่ยิบ  รวมถึงความพัวพันของคดีความต่างๆ ที่ทุ่งคำฟ้องต่อชาวบ้านถึง 6 คดี  รวมคดีที่ทุ่งคำกดดันให้นายก อบต. เขาหลวงเป็นฝ่ายฟ้องชาวบ้านอีก 1 คดี  เป็น 7 คดี ซึ่งล้วนเกิดขึ้นจากเหตุแห่งการสร้างสิ่งกีดขวางจนไม่สามารถขนแร่ได้ทั้งสิ้น 

ดังนั้น หากพันเอกสวราชย์ แสงผล จะขนแร่รอบใหม่ออกจากเหมืองทองคำจริงตามที่ขู่ไว้  ก็จะกลายเป็นว่า ข้ออ้างใช้กฎอัยการศึกครั้งนี้มีเหตุตรงกันกับเหตุแห่งคดีความทั้ง 7 คดี มากเกินไป

รวมถึงสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อคืนวันที่ 15 ต่อเนื่องจนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 16 พฤษภาคม 2557  ยังค้างคาใจ และอยู่ในความสนใจของชาวบ้านและสาธารณชนตลอดมา  เพราะจนถึงวันนี้ทหาร ตำรวจ และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องก็ยังไม่สามารถตามจับกุมผู้ก่อเหตุได้สักคนเดียว  แม้จะสามารถชี้ชัดจากหลักฐานต่างๆ ที่ปรากฏให้เห็นหลังคืนเกิดเหตุได้แล้วว่า หัวหน้ากองกำลังอำพรางใบหน้า 300 นาย นำโดยพลโทปรเมษฐ์ ป้อมนาค  และลูกชาย คือ พันโทปรมินทร์ ป้อมนาค  ก็ตาม

เหตุการณ์ประจวบเหมาะที่อาจจะเป็นเรื่องบังเอิญ หรือไม่ก็สมคบคิดกันก็บังเกิดอีกครั้ง  ก่อนเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการตามกลไก ISDS นั้น  มีแนวทางใหม่ที่ถูกนำมาปฏิบัติใช้  นั่นก็คือ  กระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือก (Alternative Dispute Resolutions – ADR)  ซึ่งก็คือ การระงับข้อพิพาทนอกศาลนั่นเอง 

จากความพยายามของทหารในพื้นที่ตลอดสองเดือนกว่าที่ผ่านมา  ที่พยายามเจรจา  หารือ และไกล่เกลี่ยด้วยท่าทีแข็งกร้าวกับชาวบ้าน  จนถึงขั้นบีบบังคับให้ผู้ใหญ่บ้านทั้ง 6 หมู่บ้าน  ลงนามในบันทึกข้อตกลงเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติ ระหว่างชุมชน 6 หมู่บ้าน กับเหมืองทองทุ่งคำ ในวันที่ 25 สิงหาคม 2557 ที่ผ่านมา (สถานการณ์ล่าสุด  ทราบข่าวว่าการทำบันทึกข้อตกลงในวันดังกล่าวถูกเลื่อนออกไปก่อน) เริ่มมีการตั้งคำถามจากพื้นที่แล้วว่า ความพยายามของทหารตลอดสองเดือนกว่าที่ผ่านมานั้นเป็นการดำเนินการที่เป็นไปตามการระงับข้อพิพาทนอกศาลตามกลไก ISDS หรือไม่ อย่างไร? 

บันทึกข้อตกลงเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติระหว่างชุมชน 6 หมู่บ้าน กับเหมืองทองทุ่งคำ  ที่ทหารพยายามบีบบังคับให้ผู้ใหญ่บ้านทั้ง 6 หมู่บ้าน ทำการลงนาม มีเป้าหมายที่ชัดเจนอยู่ที่ขอขนแร่ออกจากเหมืองทองคำก่อน  แล้วจึงค่อยทำการปิดเหมืองชั่วคราว  ฟื้นฟู และเยียวยาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพ ให้กับชุมชน 6 หมู่บ้าน  ในภายหลัง

คำถามที่ง่ายและพื้นฐานที่สุดต่อกรณีนี้ คือ 

หนึ่ง - หากขนแร่ออกไปแล้ว  จะมีหลักประกันใดว่า ทุ่งคำและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะทำการปิดเหมืองชั่วคราว  ฟื้นฟู และเยียวยาให้กับชุมชน 6 หมู่บ้าน  ตามที่ได้ตกลงกันไว้ในบันทึกข้อตกลงฯ 

สอง - ลำพังเพียงลายมือชื่อของพลตรีวรทัต สุพัฒนานนท์  ผู้บังคับการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดเลย  พันเอกสวราชย์ แสงผล รองผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 8  ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย  ตัวแทนทุ่งคาฯ และทุ่งคำ  และส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวข้อง  ที่ลงนามในบันทึกข้อตกลงฯ  จะส่งผลให้บันทึกข้อตกลงฯ มีสถานะที่จะต้องนำไปปฏิบัติอย่างเคร่งครัดได้หรือไม่ อย่างไร 

สาม - หากปล่อยปละละเลย เพิกเฉย ไม่นำข้อตกลงที่อยู่ในบันทึกข้อตกลงฯ ไปปฏิบัติอย่างเคร่งครัด  จะมีผลทางกฎหมายที่สามารถเอาผิดต่อผู้ลงนามในบันทึกข้อตกลงได้หรือไม่ อย่างไร

ในเมื่อไม่สามารถตอบคำถามทั้งสามข้อนี้ได้  จึงเห็นว่า บันทึกข้อตกลงฯ มีความหละหลวม  มีลักษณะลวงให้เชื่อว่า ทหารจริงใจแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้าน  จึงเป็นเหตุให้ราษฎรกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน  ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.  รวมทั้งส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวข้องว่า ไม่ยอมรับบันทึกข้อตกลงฯ เนื่องจากเห็นว่า ทหารกำลังลับ ลวง พราง  กับชาวบ้าน  ไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหา  จนเป็นเหตุให้ทหารต้องเลื่อนการเจรจาลงนามในบันทึกข้อตกลงฯ ที่กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 25 สิงหาคม 2557 ออกไปก่อน

อะไรคือแรงจูงใจ

หนึ่ง - ลำพังเพียงแค่ทหารใช้กฎอัยการศึกก็สามารถขนแร่ออกไปได้  เหมือนกับกรณีอื่นๆ ที่ทหารแสดงพฤติกรรมแข็งกร้าวกับประชาชนเสมอ  เช่น กรณีบังคับย้ายชาวบ้านออกจากสวนป่าโนนดินแดง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์  แต่สำหรับกรณีนี้  ทหารเรียนรู้การประสานผลประโยชน์  ในเมื่อนางสาว Regina Wen Li Ng  ฟ้องตามกลไก ISDS  โดยใช้องค์กร กฎระเบียบ และวิธีการที่กำหนดใน UNCITRAL Arbitration Rules  ของสหประชาชาติ  เรื่องนี้ก็กลายเป็นปัญหาระหว่างประเทศ

และเรื่องนี้ทหารใช้สร้างภาพต่อนักลงทุนได้  และเป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ของประเทศ  ด้วยแนวคิดที่ว่า ไม่ว่าการเมืองจะอยู่ในระบอบใด เช่นในระดับที่เลวร้ายที่สุดอย่างรัฐประหาร รัฐบาลไทยก็มุ่งมั่นที่จะคุ้มครองผลประโยชน์ของนักลงทุน  ถ้าหากสามารถเจรจาไกล่เกลี่ยจนถึงขั้นประนีประนอมยอมความนอกศาลได้ ก็จะทำให้กรณีพิพาทนี้ไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการเหมือนกรณีค่าโง่ทางด่วนในอดีต

สอง - หากแม้ไม่สามารถระงับข้อพิพาทนอกศาลได้  จนทำให้กรณีนี้ต้องเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ  การที่ต้องขนแร่ออกจากเหมืองทองทุ่งคำด้วยคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการจะส่งผลดีต่อทหารมากกว่าที่จะขนแร่ด้วยการบังคับใช้กฎอัยการศึกแต่เพียงอย่างเดียว

สาม - เป็นที่น่าสังเกตว่านางสาว Regina Wen Li Ng  ที่ถือหุ้นทุ่งคาฯ ไว้ทั้งหมด 40,318,300 หุ้น  คิดเป็นร้อยละ 5.33  เป็นลูกสาวของนายโรนัลด์ อึ้ง วาย ชอย  อดีตกรรมการผู้จัดการทุ่งคาฯ (ปัจจุบันนายโรนัลด์  ครอบครองหุ้นของทุ่งคาฯ จำนวน 4,517,441 หุ้น  คิดเป็นร้อยละ 0.60)  ซึ่งทุ่งคาฯ ได้เคยฟ้องคดีต่อนายโรนัลด์ กับพวกรวม 7 คน  เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2555  เพื่อขอให้ศาลแพ่งเพิกถอนสัญญาเงินกู้ที่นายโรนัลด์ทำกับบริษัท สินธนาโฮลดิ้งส์ จำกัด  และบริษัท ซิโนแพค ดีเวลอปเมนท์ (ประเทศไทย) จำกัด  ให้ตกเป็นโมฆะ  ปัจจุบันไม่ทราบว่าคดีดังกล่าวสิ้นสุดแล้วหรือไม่

ในวันเดียวกันกับที่หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจฉบับวันพฤหัสบดีที่ 21 – วันอาทิตย์ที่ 24 สิงหาคม 2557 ออกจำหน่ายเป็นวันแรก ทุ่งคาฯ ได้ทำหนังสือแจ้งต่อ ตลท.[4] ว่าตามที่ปรากฏข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ว่าผู้ถือหุ้นทุ่งคาฯ ยื่นฟ้องรัฐบาลไทยนั้น  กรณีดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิของผู้ถือหุ้นชาวต่างชาติ  ส่วนในกรณีที่ว่าทุ่งคำซึ่งเป็นบริษัทในเครือของทุ่งคาฯ ได้รับประทานบัตรทำเหมืองทองคำแต่ไม่สามารถขนแร่ออกจากพื้นที่ได้  เพราะชาวบ้านต่อต้านจนส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจนั้น  ขณะนี้ทางทุ่งคาฯ และทุ่งคำอยู่ในระหว่างการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ทั้งนี้ กรณีที่ผู้ถือหุ้นชาวต่างชาติได้ใช้สิทธิดังกล่าวนั้น เป็นการใช้สิทธิที่มิได้รับทราบถึงปัญหาและไม่สอดคล้องกับแนวทางในการแก้ไขปัญหาของทางทุ่งคาฯ และทุ่งคำ

ต่อเหตุการณ์นี้  อาจจะเป็นไปได้ว่านายโรนัลด์มีความขัดแย้งจริงกับทุ่งคาฯ  จนเป็นเหตุให้นางสาว Regina ซึ่งเป็นลูกสาวต้องทวงแค้นคืน  แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็อาจเป็นความลวงต่อสาธารณชนได้  เพราะมีอยู่มากมายหลายกรณีที่ความขัดแย้งของผลประโยชน์เป็นละครตบตาคนดู  จะเห็นได้ว่านายโรนัลด์เองก็ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ในทุ่งคาฯ ซึ่งอยู่ในกลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่  โดยไม่สะทกสะท้านต่อความขัดแย้งที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด

ข้อเตือนสติ

หนึ่ง - เหตุแห่งการฟ้องคดีตามกลไก ISDS ของนางสาว Regina Wen Li Ng  คือ เหตุแห่งการสร้างสิ่งกีดขวางจนไม่สามารถขนแร่ได้นั้น  เป็นเหตุเดียวกันกับคดีความต่างๆ ที่ทุ่งคำฟ้องต่อชาวบ้านถึง 6 คดี  รวมคดีที่ทุ่งคำกดดันให้นายก อบต. เขาหลวงเป็นฝ่ายฟ้องชาวบ้านอีก 1 คดี เป็น 7 คดี  ดังนั้น คดีความตามกลไก ISDS ที่ต้องใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศตัดสินคดี  และคดีทั้ง 7 คดี ตามกระบวนการยุติธรรมของระบบศาลไทยจึงซ้อนทับกัน

ถึงแม้กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศตามกลไก ISDS จะเปิดโอกาสให้ข้ามหัวกระบวนการยุติธรรมของระบบศาลไทยได้  ซึ่งก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงว่า แท้จริงแล้ว กลไก ISDS สามารถข้ามหัวกระบวนการยุติธรรมของระบบศาลไทยได้จริงหรือไม่ แค่ไหน อย่างไร  แต่อย่างไรก็ตาม  หากรัฐบาลทหาร คสช. ปล่อยให้กลไก ISDS ข้ามหัวกระบวนการยุติธรรมของระบบศาลไทยได้ ก็จะเป็นบทเรียนที่สร้างความถดถอยให้กับการปกครองของรัฐบาลทหาร คสช. ที่ให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองผลประโยชน์นักลงทุน มากกว่าความเจ็บไข้ได้ป่วยที่ประชาชนในประเทศนี้ได้รับจากการทำเหมืองทองทุ่งคำ

สอง - ถึงแม้การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน (Investor - State Dispute Settlement – ISDS)  อันเป็นกลไกภายใต้ความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (Bilateral Investment Treaties – BITs)  หรือความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreements – FTAs)  กับรัฐบาลของประเทศที่ตนเข้าไปลงทุน  จะเปิดโอกาสให้ข้ามหัวกระบวนการยุติธรรมของระบบศาลไทยได้  แต่ ISDS ก็ยังต้องคำนึงถึงการให้ความคุ้มครองนักลงทุนเพียงแค่ผลกระทบจาก ‘มาตรการที่ออกโดยรัฐ’ เท่านั้น  โดยไม่คุ้มครองนักลงทุนจาก ‘ความเสี่ยงที่เกิดจากการประกอบธุรกิจตามปกติ’แต่อย่างใด 

แต่ความเจ็บไข้ได้ป่วยของประชาชนในชุมชนทั้ง 6 หมู่บ้าน รอบเหมืองทองทุ่งคำเกิดจากความอ่อนแอ และอ่อนด้อยประสิทธิภาพของมาตรการที่ออกโดยรัฐ จนเป็นเหตุให้ประชาชนต้องเผชิญความเสี่ยงที่เกิดจากการประกอบธุรกิจตามปกติของเหมืองทองทุ่งคำต่างหาก

 

 

อ้างอิง

[1]หนังสือบริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด (มหาชน)  ที่ ทค. 151-081/6/2557  ลงวันที่ 9 มิถุนายน 2557

[2]การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน (Investor - State Dispute Settlement – ISDS)  เป็นกลไกภายใต้ความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (Bilateral Investment Treaties – BITs)  หรือความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreements – FTAs)  กับรัฐบาลของประเทศที่ตนเข้าไปลงทุน เช่น หากรัฐภาคีละเมิดพันธกรณีตามที่กำหนดในความตกลงฯ และส่งผลให้การลงทุนของนักลงทุนได้รับความเสียหายอย่างแท้จริง นักลงทุนก็จะมีสิทธิใช้กลไก ISDS ในการระงับข้อพิพาท ซึ่งได้แก่ กระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือก (Alternative Dispute Resolutions)  และกระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ (International Arbitration)  ภายใต้องค์กร กฎระเบียบ และวิธีดำเนินการที่กำหนดในความตกลงฯ เช่น UNCITRAL Arbitration Rules ของสหประชาชาติ หรือ ICSID Additional Facility ของธนาคารโลก

          ในส่วนของกระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือก (Alternative Dispute Resolutions – ADR)  คือการระงับข้อพิพาทนอกศาล โดยอาจใช้วิธีการเจรจาและการหารือ (Consultation and Negotiation)  การไกล่เกลี่ย (Mediation)  และการประนีประนอมยอมความ (Conciliation)  เช่น การระบุให้มีบุคคลที่สามเข้ามาช่วยไกล่เกลี่ยและระงับข้อพิพาท โดยใช้วิธีการเชิงปฏิบัติการที่เหมาะสมและเป็นธรรมต่อคู่กรณีทั้งสองฝ่าย มากกว่าการใช้ข้อบทกฎหมาย  การใช้วิธีการระงับข้อพิพาทนอกศาลเป็นแนวทางใหม่ในการบังคับใช้พันธกรณีการคุ้มครองการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ  รวดเร็ว  ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการระงับข้อพิพาท  และทำให้ได้รับความนิยมมากขึ้น  เนื่องจากเป็นกลไกที่นักลงทุนและรัฐผู้รับการลงทุนชะลอการใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศได้; คัดลอกจากแผ่นพับเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ "การคุ้มครองการลงทุนและการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน"  จัดทำโดย กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ  กระทรวงการต่างประเทศ. 5/28/14.  คัดลอกเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2557; สืบค้นข้อมูลได้ที่  ศูนย์บริการข้อมูลเศรษฐกิจระหว่างประเทศ   

[3]น.ส.พ.เลยไทม์ออนไลน์  สืบค้นเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2557; ข้อความ “พร้อมใช้กฎอัยการศึกเปิดทางเข้าเหมือง”  ใส่เครื่องหมายคำพูดโดยผู้เขียน

[4]หนังสือบริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด (มหาชน)  ที่ ทค.151-028/8/2557  ลงวันที่ 21 สิงหาคม 2557

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ขยาย-ปรับปรุง รถไฟเพื่อมวลชน..

$
0
0

              

รถไฟ เป็นอีกตัวอย่างที่รากหญ้าหรือคนรายได้น้อยถูกละเลย ไม่ได้รับการสนับสนุน หรือไม่ได้รับความเป็นธรรม เฉกเช่น กองทุนหมู่บ้านที่ให้กู้กับชาวบ้านทั่วประเทศรายละหมื่น สองหมื่นบาท ยอดรวมก็ไม่กี่หมื่นล้านบาท แต่ได้รับการโจมตีว่าทำให้ชาวบ้านฟุ่มเฟือย โครงการเสียหาย เมื่อผลงานพิสูจน์ตัวเองนั่นแหละ เสียงวิจารณ์ถึงเงียบลง

ต่างกับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินที่ไปช่วยนายธนาคาร พ่อค้า ที่ทำความเสียหาย จนต้องตั้งองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) มาขายทรัพย์สิน ความเสียหายร่วม 6 แสนล้านบาท กลับไม่ถูกโจมตี  ป.ป.ช. ก็ไม่เร่งรัดคดี 

เฉกเช่นทางเดินลอยฟ้าที่เชื่อมต่อรถไฟฟ้าและตึกต่างๆ ในกรุงเทพฯ กิโลเมตรละหลายร้อยล้านบาท ให้คนกรุงเทพฯ สุขสบายไม่ต้องขี้นลงบันได ไม่มีใครวิจารณ์ แต่ถนนไร้ฝุ่น ก็แค่ลาดยางบนถนนลูกรังในชนบท เพื่อไม่ให้คนชนบทต้องทุกข์กับฝุ่น กิโลเมตรละไม่ถึงล้านบาท ถูกวิจารณ์อย่างเสียหาย ว่าคอร์รัปชั่น ได้ไม่คุ้ม (แต่เมื่อจะปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทั่วประเทศ ดันเอามาอ้าง) หรือเมื่อ คสช. มีนโยบายเพิ่มเบี้ยหวัด บำนาญทหาร เพิ่มเงินเดือนข้าราชการ เสียงวิจารณ์เงียบกริบ ไม่มีใครบอกเป็นประชานิยม แต่ขึ้นค่าแรง 300 บาท เงินเดือนเริ่มต้น 15,000 บาท เสียงก่นด่าดังลั่น หรือเมื่อจะโจมตีการค้าข้าว ก็บอกชาวนาต้องขยัน อยากได้กำไรมากต้องลดต้นทุน  แต่ไม่วิจารณ์พ่อค้าส่งออกให้พยายามขายให้ได้ราคาสูง ดูการประมูลขายข้าวของ คสช. ล่าสุด พ่อค้าที่เข้าร่วมประมูลทั้งหมด ล้วนให้ราคาต่ำกว่าราคากลางของ คสช.

รถไฟก็เช่นกัน ใครก็รู้ว่าเริ่มมากว่าร้อยปี ตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ใครที่อายุสูงพอคงจำได้ว่า มีสถานีรถไฟสำคัญอยู่สองแห่ง คือสถานีกรุงเทพหรือหัวลำโพง และสถานีกรุงธนบุรีหรือบางกอกน้อย รถไฟเป็นช่องทางคมนาคมระหว่างเมืองหลวงกับต่างจังหวัด ก่อนรถยนต์ (ทางหลวง) และเครื่องบิน (สนามบิน) แต่เมื่อประเทศพัฒนามาถึงระดับนี้ กลายเป็นว่า ในกรุงเทพฯ มีสนามบินทันสมัยถึงสองแห่ง ทางหลวงมีมากมาย สถานีรถขนส่งหรือรถประจำทางต่างจังหวัดก็มีถึงสามแห่ง คือ สายเหนือและอีสาน สายใต้ และสายตะวันออก  โยกย้ายและขยายหลายครั้ง ตรงข้ามกับรถไฟ ซึ่งไม่มีการขยับขยายเลย สถานีบางกอกน้อยซื่งเป็นเส้นทางสายใต้ก็ไม่มีใครใช้บริการ ในที่สุดได้มอบที่ดินให้โรงพยาบาลศิริราชไป ใครจะเดินทางไปต่างจังหวัดทั่วประเทศ จะเหนือ อีสาน หรือใต้ ต้องมาเริ่มที่หัวลำโพง ซึงพื้นที่บริการเคยมีอย่างไรเมื่อร้อยกว่าปี ก็มีเท่าเดิม ความสะดวกสบายในการจองตั๋ว ที่จอดรถเมื่อไปรับส่ง ความรู้สึกปลอดภัยของคนที่จะใช้บริการก็ไม่มี ความเร็วหรือระยะเวลาที่ต้องใช้ในการเดินทางก็ยาวนาน แถมยังมีข่าวตกรางอยู่บ่อยๆ

ข่าวการข่มขืนและการโจรกรรมบนขบวนรถ สะท้อนถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการบริหารจัดการ ทั้งบนขบวนรถและที่สถานีรถไฟ ปัจจุบันขบวนรถหรือตู้นอนนั้น มีทางเดินอยู่ตรงกลาง ซ้ายขวาเป็นที่นั่ง ปรับนอนได้เป็นสองชั้น ช่วงกลางวันก็ปรับเป็นที่นั่ง ตั้งโต๊ะอาหารกินเหล้าได้ แต่เล่นเน็ตบนรถไฟไม่ได้ เมื่อปรับเป็นที่นอนมีม่านปิดทั้งสองชั้น ชั้นล่างตรงกับหน้าต่าง ฆ่าข่มขืนเสร็จก็โยนศพออกทางหน้าต่างได้ ที่วางกระเป๋าอยู่นอกม่าน และมีราวบันไดขึ้นไปที่นอนชั้นบน กระเป๋าสัมภาระที่อยู่ริมทางเดินก็ยอมเสี่ยงต่อโจรใจถึง

ผู้เขียนเคยเดินทางโดยรถไฟสายธรรมดา ระหว่างอู่ฮั่น - เซี่ยงไฮ้ ซึ่งยาวกว่า กรุงเทพฯ - หาดใหญ่ ประมาณ 90 กิโลเมตร บนขบวนรถ ซีกหนึ่งเป็นทางเดินปรับให้มานั่งอ่านหนังสือ เล่นเน็ตได้ ไม่มีที่นั่งกินเหล้า อีกซีกหนึ่งแบ่งเป็นห้องนอน ห้องละ 6 เตียง ในห้องแบ่งเป็นสองซีก เตียงมีสามชั้น ใต้ที่นอนชั้นล่างเป็นที่เก็บกระเป๋า ไม่มีการปิดม่าน ท้ายขบวนมีห้องเล็กสำหรับพนักงานประจำขบวน แต่ของเราไม่มี

การจัดการที่สถานีก็เช่นกัน ของเราเมื่อมีตั๋ว ก็เดินไปขี้นรถเอง กว่าพนักงานจะมาตรวจตั๋ว บางครั้งรถก็วิ่งไปไกลแล้ว เปิดโอกาสให้มิจฉาชีพขึ้นมาได้ ที่สถานีรถไฟเซี่ยงไฮ้ ผู้โดยสารต้องมารอแบบเดียวกับเครืองบิน และจะเปิดให้ขึ้นรถไฟผ่านการตรวจตั๋วพร้อมๆ กัน ก่อนรถออกประมาณ15 นาที

เมื่อ คสช. เข้าบริหารประเทศ ได้อนุมัติการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้วยจำนวนเงินมากกว่า 2.2 ล้านล้านบาท กำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 8 ปี ใกล้เคียงกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์  ด้วยจำนวนเงินมากกว่า ระยะเวลาใกล้เคียงกัน ก็คงต้องกู้มาทำเช่นเดียวกัน แต่แปลกที่ไม่มีใครวิจารณ์ว่าจะสร้างหนี้ให้ลูกหลาน ในส่วนของรถไฟ กำหนดว่าจะสร้างรถไฟรางคู่ขนาดราง 1 เมตร 6 เส้นทาง ใช้งบประมาณ 1.2 แสนล้านบาท และจะสร้างรถไฟรางคู่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า แบบเดียวกับไฮสปีด ขนาดราง 1.435 เมตร ความเร็วที่ 160 กม./ชม. จำนวน 2 เส้นทาง ใช้งบราว 7.4 แสนล้านบาท ทั้ง 8 เส้นทางไม่มีเริ่มต้นที่กรุงเทพฯ เลย

สำหรับสายความเร็วสูง 2 สาย คือ เส้นทาง หนองคาย-นครราชสีมา-แหลมฉบัง และ เชียงของ-เด่นชัย-บ้านภาชี โดยสายนี้ไปเชื่อมต่อกับลาวที่เชียงของ (เชียงราย) ปัจจุบัน เดินทางจากเชียงของต่อไปสิบสองปันนา-เชียงรุ้งของจีน โดยรถโดยสารสาธารณะหรือรถตู้ได้ แต่ทางในลาวเป็นถนนสองเลนโค้งไปมาตามไหล่เขา แต่เมื่อเข้าเขตจีนทางจะดีมาก สภาพปัจจุบันไม่เอื้อต่อการขนส่งสินค้าจากจีน หรือสินค้าที่จีนลงทุนในลาว เช่น ยางพารา กล้วย หรือการเดินทางท่องเที่ยว  เว้นแต่มีการสร้างรถไฟความเร็วสูงจากจีนมาเชื่อมต่อไทย และรถไฟจากชายแดนเข้าไทย เมื่อดูจากรายละเอียดของโครงการในปัจจุบัน มีข้อขบคิดดังนี้

1. เป้าหมายหลักอยู่ที่การขนสินค้า เพราะไม่มีปลายทางเข้ามาในกรุงเทพฯ ซึ่งแม้การขนส่งเป็นเรื่องสำคัญ แต่เป้าหมายหลักควรเป็นช่องทางการเดินทางสำหรับประชาชน รถไฟควรเป็นช่องทางการเดินทางสำหรับมวลชนส่วนใหญ่ ซึ่งจะช่วยลดช่องว่างทางรายได้และค่านิยม  รถไฟความเร็วสูงจะทำให้เราเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของอาเซียน มากรุงเทพฯ แล้วเดินทางต่อไปจุดต่างๆ ในประเทศเพื่อนบ้านได้ ปัจจุบัน นักท่องเที่ยวเดินทางด้วยตัวเองมากขี้น เช่น ไม่จำเป็นต้องซื้อทัวร์ประเภทวันเดียวในเมืองใหญ่ เพราะไปตามจุดต่างๆ ได้เองโดยรถไฟใต้ดิน

2. ไม่มีรายละเอียดของการสร้างและปรับปรุงสถานีรถไฟ ซึ่งปัจจุบันมีเพียงแห่งเดียวคือ หัวลำโพง ควรมีสถานีรถไฟสำหรับสายเหนือ อีสาน และสายใต้แยกจากกัน พื้นที่มักกะสันอาจทำเป็นสถานีรถไฟสายตะวันออก ทำสถานีให้ดี ให้ทันสมัย เชื่อมต่อรถใต้ดินได้ จะทำให้คนใช้บริการรถไฟมากขี้น เป็นการพัฒนาที่ดินการรถไฟไปพร้อมกัน

3. รถไฟจากเชียงของและหนองคาย ควรมาสิ้นสุดหรือเริ่มต้นที่กรุงเทพฯ  เพื่อให้คนไทยและนักท่องเที่ยวได้ใช้ประโยชน์ แต่จะให้ผ่านบ้านภาชีหรือแหลมฉบังก็ไม่เป็นไร

4. ที่บอกว่าความเร็ว 160 กม./ชม. นั้นเป็นความเร็วระดับสูงสุด เมื่อวิ่งจริงความเร็วเฉลี่ยอาจเหลือเพียง 120 กม./ชม. และยังต้องนึกถึงเวลาจอดตามสถานีด้วย หากคนไม่ใช้บริการจะเป็นการสูญเสียที่แพงมาก การปรับเปลี่ยนเพิ่มความเร็วทีหลังจะเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มอีก หากคำนึงถึงเทคโนโลยี่ที่เปลี่ยนเร็วและการแข่งขันกับเพื่อนบ้าน ควรเริ่มต้นที่ระดับความเร็ว 250 กม./ชม. ซึ่งเมื่อวิ่งจริงจะใช้ที่ความเร็ว 160 กม. หรือ 200 กม./ชม. ก็ได้

5. ศึกษาดูของจริงจากญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน ไม่ต้องอายหากจะเหมือนยิ่งลักษณ์ ระวังความผิดพลาดและปัญหาแบบ โฮปเวลล์ แอร์พอร์ตลิ้งค์ และสถานีรถไฟฟ้าตากสิน ประเทศที่เจริญแล้วระบบขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะรถไฟและรถไฟฟ้าเพื่อบริการมวลชน ยังสามารถแก้ปัญหาการใช้รถยนต์ส่วนตัวได้เป็นอย่างมาก

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน:โลกวันนี้วันสุข ปีที่ 10 ฉบับที่ 478 (วันที่ 23 - 29 สิงหาคม 2557)

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทูตอังกฤษ เปิดบล็อกส่วนตัว เพื่อสนับสนุนการแสดงออกในไทย

$
0
0
28 สิงหาคม 2557 มาร์ค เคนท์ เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักร ประจำประเทศไทย แถลงข่าวเปิดบล็อกส่วนตัว ณ ทำเนียบทูตอังกฤษ ที่จะเขียนถึงมุมมองของตัวเองที่มีต่อประเทศไทย และความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักร และยังได้กล่าวสนับสนุนการทำงานของสื่อมวลชนในกรตรวจสอบผู้มีอำนาจ 
 
บล็อกของ มาร์ค เคนท์ กับโพสต์แรกหลังจากไม่ได้บล็อกมานานถึงสี่ปี
 
“บล็อกของผมเสนอความคิดเห็นและมุมมองส่วนตัวของผม ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเป็นความเห็นของรัฐบาลอังกฤษ ผมจะพยายามอธิบายถึงนโยบายของสหราชอาณาจักรอย่างที่ที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเน้นที่ประเทศไทยและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับสหราชอาณาจักร ผมจะเขีนถึงประเด็นต่างๆ ได้แก่ ด้านสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้านประชาธิปไตย ด้านหลักนิติธรรม ความเสมอภาค และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น” เคนท์กล่าว
 
โดยเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรยังกล่าวอีกว่า ก่อนที่จะมาประจำที่ประเทศไทยเคยเป็นเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่ประชาชนไม่ค่อยมีเสรีภาพในการแสดงออก เขาก็ได้เปิดบล็อกลักษณะเดียวกัน
 
เคนท์ยังได้กล่าวสนับสนุนสื่อมวลชนไทย ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทในการตรวจสอบผู้ที่อยู่ในอำนาจ และเห็นว่า เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากๆ ในสังคมประชาธิปไตย  
 
โดยในโพสต์แรกของบล็อก ซึ่งเผยแพร่เมื่อ 27 ส.ค. 57 เคนท์ได้เขียนแนะนำถึงความเป็นมาของตนเอง และแนะนำหัวข้อที่เขาจะพูดถึงต่อๆ ไปในบล็อก เชน ราชวงศ์อังกฤษ ประชาธิปไตย เสรีภาพในการแสดงออก และยังเขียนด้วยว่า เขาเป็นแฟนของสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอล 
 
อนึ่ง การเขียนบล็อกดังกล่าว มาจากความคิดริเริ่มของเคนท์เอง 
 
บล็อกของ เคนท์ สามารถเข้าดูได้ที่ http://blogs.fco.gov.uk/markkent 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ผู้ต้องหายิงสุทิน' ตายปริศนาในคุก แม่สงสัยอาจโดนซ้อมเพราะเป็นเสื้อแดง

$
0
0
28 สิงหาคม 2557 นายสุรกริช ชัยมงคล ผู้ต้องหายิงแกนนำ กปท. เสียชีวิต ได้เสียชีวิตระหว่างถูกฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ในขณะที่กรมราชทัณฑ์เปิดเผยว่า สุรกริชเสียชีวิตเพราะโรคประจำตัว มารดาของนายสุรกริชยืนยันว่า ลูกชายของตนสุขภาพดี และเชื่อว่าน่าจะถูกซ้อมจนตายมากกว่า
 
นายสุรกริช ชัยมงคล อายุ 36 ปี เป็นผู้ต้องหาในกรณียิง นาย สุทิน ธราทิน แกนนำ กปท. เสียชีวิตที่วัดศรีเอี่ยม เมื่อวันที่ 26 ม.ค 57 (รายละเอียด) ถูกจับกุมจากเจ้าหน้าที่ทหารที่บ้านโดยอ้างกฎอัยการศึกในวันที่ 8 ก.ค 57 และวันที่ 29 ส.ค 57 มารดาผู้ต้องหาได้รับแจ้งการเสียชีวิต ซึ่งมูลเหตุของการเสียชีวิต ยังอยู่ในระหว่างการส่งชันสูตรศพ ซึ่งจะมีการชันสูตรศพที่โรงพยาบาลตำรวจในบ่ายวันนี้ 
 
นางอารีย์ ชัยมงคล มารดาผู้เสียชีวิต กล่าวว่า วันที่ 8 ก.ค 57 ทหารหนึ่งกองร้อยได้บุกมาที่บ้าน และจับกุมลูกชายของตน โดยใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก หลังการจับกุม นายสุรกริชถูกนำไปควบคุมตัว สน.บางนา 1 คืน ต่อมาถูกย้ายควบคุมที่ศาลพระโขนง 1 คืน  และถูกนำตัวไปฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ 
 
นางอารีย์กล่าวว่า เมื่อแรกเข้าไปในเรือนจำ นายสุรกริชถูกจองจำอยู่ที่แดนหนึ่ง และได้รับการดูแลจากนักโทษการเมืองเสื้อแดงอื่นๆ เช่น  ทอม ดันดี และ เจ๋ง ดอกจิก ในช่วงแรกของการเข้าเยี่ยม พบว่าลูกชายดูมีกำลังใจดี ร่างกายแข็งแรง ซึ่งตนนั้นได้เข้าไปเยี่ยมในช่วงแรกอาทิตย์ละ2ครั้ง
 
ต่อมาเมื่อ2อาทิตย์ทีผ่านมา เรือนจำได้ย้ายนายสุรกริช ไปอยู่แดนสี่ โดยไม่ให้เหตุผล โดยในการเข้าเยี่ยมครั้งสุดท้าย คือเมื่อวันที่ 21 ส.ค 57 นายสุรกริชบอกกับมารดาว่า อยู่ที่แดนสี่นั้น “คงไม่รอด ตายแน่”  เพราะโดนซ้อมในมุมมืดของเรือนจำ จึงไม่สามารถระบุว่าใครเป็นผู้ซ้อม ได้ยินแต่เสียงว่า “ใครเป็นเสื้อแดงจะฆ่าให้หมด”
 
เขายังได้เล่าให้มารดาฟังอีกว่า เคยมีนักโทษการเมืองเสื้อแดงโดนซ้อมเสียชีวิต แต่ไม่ได้ระบุว่าแดนไหน 
มารดาของเขาสังเกตว่า เมื่อย้ายมาอยู่แดนสี่ เขายังดูร่างกายแข็งแรงดี ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ยกเว้นแต่ร่องรอยการถูกซ้อมบ้าง และสภาพที่ดูผอมไปบ้างเล็กน้อย ซึ่งทุกครั้งที่ตนไปเยี่ยม จะฝากเงินและอาหาร ให้ตลอด  
 
เมื่อเช้านี้ นางอารีย์ได้รับแจ้งจากพยาบาลโรงพยาบาลกรมราชทัณฑ์ว่า ลูกชายเสียชีวิตแล้ว จากคำบอกเล่าของ นางพยาบาล บอกว่า นายสุรกริชเสียชีวิต หลังจากถูกพาตัวมาโรงพยาบาลเพียง 10นาทีพบแผลพกช้ำที่แขนซ้าย และมีเลือดตกในช่องท้อง 
 
“เราได้ยินแล้วก็ไม่อยากเชื่อว่าจะถูกซ้อมเพียงแค่วันเดียว” นางอารีย์กล่าว และว่า นายสุรกริชคงถูกซ้อมสะสมมาหลายวัน 
นาง อารีย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ก่อนที่จะถูกกล่าวหาในคดียิงนาย สุทิน ธราทิน เขาได้ถูกจับข้อหาพกพาอาวุธปืนในที่สาธารณะ ซึ่งศาลจังหวัดสมุทรปราการ ตัดสินเมื่อวันที่ 21 ส.ค. ว่ามีความผิด และให้เสียค่าปรับ 3,500 บาท ก็มีการจ่ายค่าปรับ แต่ต่อมา ตำรวจกลับกล่าวหาว่า ปืนกระบอกนั้นเป็นกระบอกเดียวกันที่ใช้ยิง นาย สุทิน ธรทิน แกนนำ กปท.เสียชีวิตที่วันศรีเอี่ยม
“ลูกเราไม่ได้ทำ รับสารภาพไม่ได้หรอก ต้องให้ความจริงปรากฎ” มารดาผู้เสียชีวิตกล่าว
 
ทั้งนี้ นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ได้ให้ข่าวกับสำนักข่าวไทยว่า ผู้ต้องหามีอาการป่วยโรคหอบหืด หายใจไม่ออก เรือนจำจึงนำตัวไปส่งที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ แต่นายสุกริชเสียชีวิตในช่วงเย็นวันเดียวกัน ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้ต้องหามีโรคประจำตัว คือ เบาหวานและหอบหืดอยู่แล้ว ยืนยันว่าไม่ได้ถูกทำร้ายร่างกาย
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live




Latest Images