Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live

ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์: สหรัฐฯไม่แต่งตั้งเอกอัครราชทูตประจำไทย สะท้อนอะไร?

$
0
0

นางคริสตี้ เคนนีย์เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยได้ประกาศอำลาตำแหน่งเมื่อวันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมาหลังจากที่ได้อยู่ในตำแหน่งนี้เกินกว่าวาระตามปกติ 3 ปีมาเกือบ 1 ปีแล้วชี้ว่าอาจเป็นปัญหามาจากการเมืองภายในของสหรัฐฯเอง หรือปัญหาความเหมาะสมของบุคลากรที่จะมาดำรงตำแหน่งเป็นผู้แทนทางการทูตของสหรัฐฯ ในประเทศไทย แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้มิได้เกิดขึ้นแค่เพียงกับประเทศไทยเท่านั้นจากการเปิดเผยของแหล่งข่าวในกรุงวอชิงตันดีซีสรุปได้ว่าพันธมิตรของสหรัฐฯอีกหลายสิบประเทศก็ยังคงปราศจากเอกอัครราชทูตซึ่งอาจจะเป็นผลเสียต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้

ในกรณีของไทยนั้น การไม่ส่งเอกอัครราชทูตมาดำรงตำแหน่งต่อจากนางเคนนีย์ทันทีอาจมีนัยยะสำคัญหลายประการ แต่ก่อนอื่นนั้นจำเป็นต้องมีการชี้แจงให้ชัดเจนว่าการที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ จะไม่มีเอกอัครราชทูตมาประจำการในอีกหลายเดือนข้างหน้านี้โดยจะมีอุปทูตเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนั้นมิได้หมายความว่าสหรัฐฯ ลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตต่อไทยแต่อย่างใด

แต่ในทางหลักปฏิบัติทางการทูตนั้น เมื่อใดที่เอกอัครราชทูตไม่ได้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ในสถานเอกอัครราชทูต ก็จะมีการมอบหมายให้อัครราชทูตขึ้นดูแลหน้าที่แทนซึ่งในกรณีนี้อัครราชทูตจะได้รับตำแหน่ง “อุปทูต” แทนชั่วคราวที่มีหน้าที่เฉกเช่นเดียวกับเอกอัครราชทูตนี่คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นปกติกับทุกประเทศแม้แต่ในกรณีของไทย

เมื่อใดก็ตามที่เอกอัครราชทูตคนใหม่ยังไม่สามารถเดินทางไปประจำการในต่างประเทศได้ ก็จะมีการมอบหมายให้อัครราชทูตปฏิบัติหน้าที่เป็นอุปทูตดูแลสถานเอกอัครราชทูตแทนจนกว่าเอกอัครราชทูตจะเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการดังนั้นการที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ จะมีอุปทูตปฏิบัติหน้าที่แทนนั้นจึงเป็นเรื่องของปัญหาทางเทคนิคมากกว่าจะเป็นประเด็นทางการเมืองใดๆ

แต่อย่างที่ผู้เขียนได้เกริ่นก่อนหน้านี้ในกรณีของไทย ณ วันนี้อาจมีการตีความที่แตกต่างไปได้และสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์ทางการเมืองไทยนั่นเอง กล่าวคือนับจากที่ได้มีการทำรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาสหรัฐฯ ได้ถูกข้อจำกัดทางกฎหมายภายในประเทศในการต้องประกาศใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อไทย

เกี่ยวกับเรื่องนี้นายจอห์น แครรี่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯได้ออกมาแสดงความกังวลใจต่อสถานการณ์ทางการเมืองของไทยก่อนหน้านี้ซึ่งต่อมารัฐบาลสหรัฐฯประกาศยุติความช่วยเหลือทางการเงินต่อกองทัพไทยที่มีมูลค่า 4.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯรวมถึงการไม่เชิญกองทัพเรือของไทยเข้าร่วมการประชุม RIMPAC หรือThe Rim of Pacific Exercise ซึ่งเป็นการซ้อมรบร่วมทางทะเลที่สำคัญในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกซึ่งได้มีการจัดและเสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และ ณ จุดนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าการซ้อมรบร่วมภายใต้ชื่อโครงการ Cobra Gold นั้นสหรัฐฯจะยังเชิญไทยเข้าร่วมหรือไม่มี

กระแสข่าวว่าการซ้อมรบ Cobra Gold ปีนี้อาจจะย้ายไปจัดที่ออสเตรเลียแทนซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดายหากไทยไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการฝึกซ้อมรบดังกล่าวเพราะ Cobra Gold ถือว่าเป็นการฝึกซ้อมรบร่วมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและมีความเป็นมายาวนานที่สุดในภูมิภาคนี้โดยเริ่มมาจากความร่วมมือทวิภาคีระหว่างสหรัฐฯและไทย ต่อมาได้มีประเทศใกล้เคียงโดยเฉพาะประเทศที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯได้ขอเข้าร่วมด้วยในฐานะผู้สังเกตการณ์ดังนั้นการไม่เชิญกองทัพไทยเข้าร่วมจึงน่าจะเป็นสัญลักษณ์สำคัญที่สะท้อนถึงความไม่พอใจของสหรัฐฯต่อความล่าช้าด้านการปฏิรูปการเมืองของไทยและอาจต้องการกดดัน คสช. ให้คืนอำนาจสู่ประชาชนโดยเร็ว

จึงอาจเป็นเรื่องไม่แปลกที่หลายคนอาจตีความว่าการที่สหรัฐฯยังไม่ส่งเอกอัครราชทูตมาประจำการที่ไทยต่อจากนางเคนนีย์นั้นอาจเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการลงโทษของสหรัฐฯ ซึ่งอาจฟังดูมีเหตุผล แต่หากพิจารณาในกรอบที่กว้างกว่านั้นโดยเฉพาะจากมุมมองของสหรัฐฯแล้ว การตีความอาจมีความแตกต่างออกไป กล่าวคือในขณะนี้รัฐบาลของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ยังไม่สามารถแต่งตั้งเอกอัครราชทูตเข้าดำรงตำแหน่งในประเทศต่างๆ มากกว่า 50 ประเทศซึ่งรวมถึง ตุรกี เซียร์ราลีโอน และประเทศในยุโรปตะวันออกอีก 9 ประเทศ ปล่อยให้นักการทูตในระดับอัครราชทูตดำรงตำแหน่งอุปทูตต่อไปก่อนซึ่งน่าจะมาจากเหตุผลของภาวะตีบตันทางการเมืองของสหรัฐฯ เอง โดยเฉพาะการที่ปัญหานี้กลายมาเป็นประเด็นทางการเมืองที่พรรครีพับรีกันใช้โจมตีรัฐบาลว่า ได้ใช้ตำแหน่งเอกอัครราชทูตในการปูนบำเหน็ดให้กับบุคคลทางการเมืองที่รัฐบาลสนิทสนม แทนที่จะแต่งตั้งนักการทูตอาชีพให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตซึ่งความไม่สามารถแต่งตั้งผู้แทนทางการทูตโดยเร็วไปประจำการในประเทศต่างๆ นั้นอาจจะส่งผลเสียต่อสหรัฐฯทั้งในแง่การดำเนินนโยบายต่างประเทศและในแง่การกำหนดยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯในประเทศที่มีความสำคัญต่อผลประโยชน์ของแห่งชาติ

สถานการณ์การขาดแคลนเอกอัครราชทูตยังส่งผลกระทบต่อช่วงที่สหรัฐฯ ประสบกับสิ่งท้าทายระหว่างประเทศในเวลานี้สหรัฐฯ กำลังเผชิญหน้ากับภัยคุกคามด้านความมั่นคงจากกลุ่มติดอาวุธนักรบญิฮาด รัฐอิสลาม(ไอเอส) ในอิรักและซีเรีย นอกจากนี้ยังมีปัญหาสงครามกลางเมืองในยูเครนความไม่มั่นคงบนคาบสมุทรเกาหลีการท้าทายอำนาจสหรัฐฯทั้งด้านเศรษฐกิจและทหารจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของจีนรวมถึงปัญหาที่จัดอยู่ในกลุ่ม non-traditional security นั่นคือปัญหาที่มาจากภัยธรรมชาติและโรคระบาด เช่นที่แอฟริกากำลังประสบกับการแพร่ระบาดของเชื้ออีโบลาและอาจแพร่ไปยังภูมิภาคอื่นๆ อีกด้วย

ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น นอกจากไทยแล้วสหรัฐฯ ก็ยังไม่ส่งเอกอัครราชทูตไปประจำการ ณ กรุงฮานอยประเทศเวียดนาม ซึ่งถือว่าเป็นประเทศพันธมิตรใหม่ของสหรัฐฯ ที่มีความสำคัญยิ่งในภูมิภาคนี้

ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเวียดนามนั้นแหล่งข่าวที่สภาคองเกรสของสหรัฐฯเปิดเผยว่า ได้มีความพยายามจากพรรครีพับรีกันในวุฒิสภาที่จะเหนี่ยวรั้งการรับรองนายเท็ด โอซิอัสที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ณ กรุงฮานอยตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาโดยวุฒิสมาชิกจากพรรครีพับรีกันได้กล่าวว่ารัฐบาลโอบามาได้พยายามพัฒนาความสัมพันธ์กับเวียดนามโดยยอมผ่อนคลายการคว่ำบาตรด้านอาวุธที่มีมานานถือว่าเป็นการปฏิเสธหลักการของสหรัฐฯโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจมากเกินไป

นับตั้งแต่ที่นายโอบามาได้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีนั้น ได้มีความพยายามจากทำเนียบขาวในการปรับความสัมพันธ์กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อนหน้านี้ภูมิภาคนี้ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากผู้นำสหรัฐฯนักสะท้อนจากการที่สหรัฐฯ ไม่ให้ความสำคัญกับการส่งผู้นำระดับสูงในการเข้าร่วมการประชุมอาเซียน หรือในบางครั้งไม่ส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุมเลยด้วยซ้ำ

สหรัฐฯยังคงมองว่าผลประโยชน์แห่งชาติที่สำคัญกว่ายังอยู่ที่ภูมิภาคตะวันออกกลางรองลงมาอาจได้แก่ยุโรปหรือถ้าในเอเชียนั้นสหรัฐฯให้ความสนใจต่อเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งรวมถึงจีนญี่ปุ่นและเกาหลี มากกว่าที่จะสนใจความเป็นไปหรือพัฒนาทางการเมืองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แต่นับจากที่จีนเริ่มแผ่อิทธิพลมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และหลังจากเกิดความขัดแย้งบ่อยครั้งในภูมิภาคนี้โดยเฉพาะปัญหาการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อเสรีภาพในการเดินเรือของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้ทำให้สหรัฐฯเริ่มหันมาให้ความสนใจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกับที่รัฐบาลโอบามาได้ประกาศใช้นโยบายใหม่ที่เรียกว่า Pivot to Asia ที่จะเปลี่ยนภูมิภาคเอเชียให้เป็นส่วนหนึ่งของผลประโยชน์หลักของสหรัฐฯ

แนวโน้มนี้เห็นได้จากการที่สหรัฐฯยอมร่วมลงนามในสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือกับอาเซียนในปี ค.ศ.2008เพื่อจะได้มีโอกาสเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการประชุม East Asia Summit ที่มีอาเซียนเป็นแกนนำจากเหตุการณ์นั้นนางฮิลลารี คลินตันรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้นถึงกับผลิตวาทกรรมที่ว่า “สหรัฐฯพร้อมจะหวนคืนสู่แปซิฟิกแล้วเพราะเราคือมหาอำนาจแปซิฟิก”

สุดท้าย เมื่อกลับไปสู่เรื่องการไม่แต่งตั้งเอกอัครราชทูตมาดำรงตำแหน่งในประเทศที่มีความสำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น จึงเป็นเรื่องที่ขัดต่อวิสัยทัศน์ของสหรัฐฯและนโยบาย Pivot to Asiaซึ่งเป็นเรื่องน่าเศร้าและสหรัฐฯอาจจะปล่อยให้จีนรุกคืบขยายเขตอิทธิพลในภูมิภาคนี้ได้ง่ายดายยิ่งขึ้น

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ณัฐนันท์ วรินทรเวช

$
0
0

"ความเห็นของเพื่อนๆ ก็แตกออกเป็นหลายกลุ่ม แต่นักเรียนไทยส่วนใหญ่ปรับตัวง่าย รู้จักเอาตัวรอด ผู้ใหญ่อยากให้ท่องอะไรก็ท่องตามเพราะเขาอยากได้คะแนน เอาเกรดสวยๆ มาข่มกัน มีบ้างที่ตั้งคำถามกับค่านิยม 12 ประการ แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้สนใจกับประเด็นนี้ อาจแค่รู้สึกว่ามีภาระงานเพิ่มอีกหนึ่งอย่างเท่านั้น"

หรือ 'ไนซ์' นักเรียน ม.5 เลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท

Special Report 10 ปี ประชาไท: สถานการณ์แรงงาน

$
0
0

บทวิเคราะห์ขนาดสั้นต่อประเด็นการเมืองในขบวนการแรงงาน, รูปแบบการจ้างงานที่ไม่มั่นคง,  การรณรงค์ให้รัฐไทยรับรองอนุสัญญาไอแอลโอฉบับที่ 87 - 98 และสถานการณ์แรงงานที่น่าสนใจในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา


หลายปีมานี้ ขบวนการแรงงานที่ผูกติดกับอุดมการณ์ทางการเมือง โดยเฉพาะแนวคิดสังคมนิยมตามสูตรสำเร็จ “นักศึกษา-ชาวนา-กรรมกร” เริ่มเลือนหายลงไป สืบเนื่องมาจากแรงงานในภาคการผลิตและภาคบริการเพิ่มจำนวนขึ้น มีรายได้และสวัสดิการที่ดีขึ้น (ในระดับหนึ่ง) และระบบการจ้างงานที่ไม่เอื้อให้คนงานทำกิจกรรมภายนอกโรงงานได้มากนัก บวกกับเสถียรภาพทางการเมืองและความเจริญทางเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2535 – 2540 การฟื้นตัวและขยายตัวหลังปี 2540 เป็นต้นมา ซึ่งแม้จะมีการสะดุดบ้างในช่วงปี 2551-2552 แต่ประเทศไทยที่เป็นประเทศที่มีอัตราการว่างงานต่ำ ไม่เคยเกิดวิกฤตการจ้างงานครั้งใหญ่ จนทำให้คนงานต้องตกอยู่ในสภาพ “หลังพิงฝา” เพราะประเทศไทยยังมีภาคการเกษตรและการประกอบธุรกิจขนาดเล็กคอยดูดซับอยู่เสมอ ประเทศไทยจึงไม่ค่อยมีภาพคนงานออกมาประท้วงบนท้องถนนเป็นแสนเป็นล้านคนเหมือนกับหลายประเทศ

นอกจากนี้อีกปัจจัยที่ทำให้แนวคิดด้านขบวนการแรงงานที่ยึดโยงกับอุดมการณ์สังคมนิยมค่อยๆ เลือนหายไป ก็เนื่องมาจากจำนวนของปัญญาชนนักกิจกรรมฝ่ายซ้ายที่ลดหายไปสวนกระแสกับอุดมการณ์ทุนนิยมที่เฟื่องฟูขึ้นตามลำดับ ทำให้นักกิจกรรมและเอ็นจีโออาชีพที่ดำเนินกิจกรรมภายใต้การกำหนดประเด็นด้านสุขภาพที่มี สสส. เป็นทุนหลักกลับมีบทบาทในด้านการจัดตั้งคนงานแทน

แต่กระนั้นความเคลื่อนไหวทางด้านแรงงานก็มีอยู่อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเจรจาต่อรองระหว่างลูกจ้างกับนายจ้างก็ยังคงมีอยู่ตลอดเวลา ดูได้จากสถิติจำนวนสหภาพแรงงาน ข้อพิพาทแรงงาน และจำนวนคดีในศาลแรงงาน ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในทุกๆ ปี แต่เราอาจจะไม่ค่อยคุ้นชินกับความเคลื่อนไหวเหล่านี้ เนื่องจากข่าวแรงงานก็เป็นข่าวอีกประเภทหนึ่งที่ไม่ได้รับความสนใจจากสังคมไทยมากนัก

ในรายงานชิ้นนี้เป็นบทวิเคราะห์ขนาดสั้นต่อประเด็นการเมืองในขบวนการแรงงาน, รูปแบบการจ้างงานที่ไม่มั่นคง,  การรณรงค์ให้รัฐไทยรับรองอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศหรือไอแอลโอฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98 และสถานการณ์แรงงานที่น่าสนใจในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา

การเมืองในขบวนการแรงงาน
หลายยุคหลายสมัยมาแล้วที่แวดวงแรงงานต้องการองค์กรขับเคลื่อนขบวนแรงงานในระดับชาติที่เป็นเอกภาพ ปกป้องผลประโยชน์ที่แท้จริงให้กับคนงาน และสามารถสร้างแนวร่วมกับภาคประชาชนอื่นๆ ที่เคลื่อนไหวในประเด็นความยุติธรรมทางสังคม ซึ่งองค์กรที่ใกล้เคียงความฝันนี้มากที่สุดก็น่าจะเป็น “คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย”

ผลกระทบจากการตรา พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 ในยุครัฐบาลทหาร ซึ่งเป็นการแบ่งแยกขบวนการแรงงานรัฐวิสาหกิจออกจากเอกชน องค์กรแรงงานภาคเอกชนของฝั่งสภาองค์การลูกจ้างต่างๆ ถูกมองในภาพลบว่าเป็นแหล่งผลประโยชน์ของผู้นำแรงงานไม่กี่คน เล่นการเมืองแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ถูกรัฐและนายจ้างเข้าแทรกแซงและครอบงำอยู่บ่อยครั้ง ทำให้คนในแวดวงแรงงานมองหาองค์กรทางเลือกใหม่ๆ ของขบวนการแรงงาน

ในปี 2544 องค์กรแรงงาน แนวร่วมนักกิจกรรมปัญญาชนและเอ็นจีโอได้จึงได้ก่อตั้ง "คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย" (คสรท.) ขึ้นมาคู่ขนานกับกลุ่มสภาองค์การลูกจ้างต่างๆ เพื่อเป็นทางเลือกในการรวมตัวและแก้ไขปัญหาคนงานในระดับชาติ

ทั้งนี้คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยเห็นว่าการรณรงค์เคลื่อนไหวเรียกร้องและติดตามประเด็นปัญหาแรงงานร่วมกันในขณะนั้นไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากปัญหาความอ่อนแอ ความแตกแยก ความไม่มีเอกภาพของขบวนการแรงงานทำให้การรณรงค์เคลื่อนไหวเรียกร้องของผู้ใช้แรงงานไทยเป็นไปอย่างไม่มีพลังไม่ได้รับพิจารณาจากรัฐหลายครั้งมีแผนงานและข้อเรียกร้องดีๆ ที่ถูกเสนอโดยองค์กรแรงงาน แต่ขาดความเป็นเอกภาพในการทำงาน ขาดการทำงานและติดตามประเด็นปัญหาอย่างต่อเนื่อง และไม่มีการแบ่งงานกันทำที่ชัดเจนทำให้การเคลื่อนไหวของผู้ใช้แรงงานไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ โดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยได้กลายเป็นองค์กรแรงงานที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในช่วงหลังปี 2544 เป็นต้นมา ในการรณรงค์เคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิ แก้ไขปัญหาต่างๆ รวมทั้งเป็นคลังสมองให้กับขบวนการแรงงานไทยโดยตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

ในสมัยรัฐบาลไทยรักไทยที่นำโดย พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ได้เร่งดำเนินการแปรรูปรัฐวิสาหกิจตาม พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 รัฐวิสาหกิจหลายแห่งถูกแปรรูปนำไปขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นการแปรรูปที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างมาก ผู้นำบางส่วนของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยในปีกของสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวทวงคืนรัฐวิสาหกิจจนและต่อต้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และเข้าร่วมชุมนุมเคลื่อนไหวกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในท้ายที่สุด โดยประเด็นหลักที่เข้าร่วม คือ ต่อต้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและเปิดโปงกระบวนการโกงในรัฐวิสาหกิจ

บาดแผลของการเข้าร่วมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย การแตกหน่อออกไปเป็นกลุ่มพรรคการเมืองใหม่  จนมาถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ของแกนนำคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยบางคน ยังคงส่งผลกระทบต่อคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการ “ถอยห่างออกเพื่อรักษาท่าที” ของกลุ่มองค์กรแรงงาน นักสหภาพแรงงาน นักกิจกรรมและปัญญาชนหลายคนที่เคยสนับสนุนคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยมาก่อนหน้านี้ เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับแนวทางของกลุ่มการเมืองที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยมเหล่านั้น

ความล้มเหลวจากการสนับสนุนพรรคการเมืองใหม่ลงเลือกตั้งเมื่อปี 2554 ที่พรรคการเมืองใหม่ได้คะแนนเสียงเพียง 34,883 เสียง ซึ่งในขณะนั้นปีกแรงงานในพรรคการเมืองใหม่ยังไม่แตกหักกับปีกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอย่างสิ้นเชิงเลยทีเดียว คำถามจากสามหมื่นกว่าคะแนนที่พรรคการเมืองใหม่ได้นั้นก็คือเสียงของแรงงานมีเพียงแค่นี้? หรือถามในอีกคำถามที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิงว่าทั้งสามหมื่นกว่าคะแนนนั้นเป็นเสียงของแรงงานจำนวนเท่าใดกันแน่?

ภายหลังความขัดแย้งภายในของพรรคการเมืองใหม่ทำให้ปีกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยถอนตัวออกไป และปีกแรงงานนำโดยสมศักดิ์ โกศัยสุข ที่ช่วงชิงการนำมาได้และเปลี่ยนชื่อเป็น “พรรคสังคมประชาธิปไตยไทย” ในปัจจุบัน ซึ่งคาดว่าจะเป็นพรรคที่มีนโยบายด้านแรงงานที่หวังฐานเสียงจากกลุ่มคนงาน

นอกจากนี้ประเด็นการยอมรับจากฝ่ายที่มีความตื่นตัวในด้านประชาธิปไตยโดยเฉพาะกลุ่มคนเสื้อแดง และกลุ่มแรงงานนอกระบบที่ไม่ได้รับการจัดตั้งจากทั้งเอ็นจีโอและนักสหภาพแรงงาน ที่พวกเขาเหล่านั้นล้วนได้รับประโยชน์จากนโยบายของพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง มากกว่าการขับเคลื่อนของขบวนการแรงงาน และกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์จากพรรคการเมืองดังที่ได้กล่าวไปนั้น มักจะมองว่ากลุ่มขบวนการแรงงานของไทยมีจุดยืนสนับสนุนกลุ่มการเมืองอนุรักษ์นิยมที่ปฏิเสธการเลือกตั้ง

ในขณะเดียวกันองค์กรแรงงานกลุ่มอื่นๆ ที่ได้รับอิทธิพลจากแกนนำที่มีความโน้มเอียงไปทางกลุ่มคนเสื้อแดงและได้ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยนั้น ก็ดูเหมือนแทบจะไม่มีพลังและเป็นปากเสียงของคนงานในระดับชาติได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากไม่มีโครงสร้างการทำงานและการรวมตัวกันที่เป็นระบบเหมือนคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย

แต่ทั้งนี้ในการแก้ไขปัญหาของแรงงานที่ไม่ผูกติดกับเรื่องแนวคิดทางการเมืองมากนัก เช่น ปัญหาการเลิกจ้าง การจัดตั้งสหภาพแรงงาน การต่อรองเรียกร้องกับนายจ้าง ฯลฯ องค์กรแรงงานในพื้นที่ต่างๆ ไม่ว่าจะมีจุดยืนด้านการเมืองในฝั่งไหน ก็ยังคงดำเนินการอย่างแข็งขันตามศักยภาพที่มีอยู่ แม้จะไม่เป็นข่าวตามหน้าสื่อก็ตาม

อนึ่งนี้ในบทวิเคราะห์ในรายงานชิ้นนี้ไม่ได้ตั้งคำถามกับการช่วยเหลือและผลักดันการแก้ไขปัญหาของคนงาน ของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ที่ได้ทำมาอย่างดีตลอดอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่เป็นการตั้งคำถามถึงจุดยืนในทางการเมืองที่ดูมีแนวทางโน้มเอียงไปทางกลุ่มอนุรักษ์นิยมเท่านั้น

รูปแบบการจ้างงานที่ไม่มั่นคง
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ รูปแบบการจ้างงานที่ไม่มั่นคงได้เริ่มคืบคลานและรุกไล่คนงานมาโดยตลอด ซึ่งปัญหานี้เป็นปัญหาในระดับโลก

เหตุผลหลักของการบั่นทอนความมั่นคงของคนงานนั้น เนื่องมาจากความพยายามลดค่าใช้จ่ายขององค์กรต่างๆ ที่เป็นค่าใช้จ่ายผูกพันกับลูกจ้างประจำ เช่น ค่าจ้าง สวัสดิการ ค่ารักษาพยาบาล เงินทุนสำรองเลี้ยงชีพ และอื่นๆ รวมไปถึงการสร้างความยืดหยุ่นในการ “เพิ่ม-ลด” จำนวนพนักงานตามความผันผวนทางเศรษฐกิจ

สำหรับประเทศไทยการจ้างงานแบบ “เหมาช่วง/เหมาค่าแรง” หรือ CAL (ย่อมาจาก Contract and Agency Labour) ซึ่งมีลักษณะเช่น สัญญาจ้างชั่วคราว การจ้างงานระยะสั้น การจ้างงานแบบเหมาที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายประกันสังคมให้กับคนงานและเป็นการจ้างงานที่โอนความเสี่ยงทางธุรกิจให้กับซับคอนแทรค (bogus self-employment) สัญญาจ้างรายบุคคล การจ้างงานตามฤดูกาล การจ้างงานที่ไม่รับประกันว่าจะได้รับมอบหมายงานเมื่อใด และมีการจ่ายค่าจ้างเฉพาะเมื่อได้รับจ่ายงานเท่านั้น งานรับจ้างทั่วไป และการจ้างงานรายวัน และยังครอบคลุมถึงการจ่ายงานออกไปข้างนอก (outsourcing) และการจ้างเหมาช่วง (sub-contracting) ในบางครั้ง อาจจ้างคนงานเป็นรายบุคคลมาทำงานเหมาช่วงจากบริษัทหลัก หรือจ้างคนงานทั้งกลุ่มโดยอีกบริษัทแยกออกไปแต่คนงานก็ทำงานประเภทเดียวกันกับที่คนงานประจำทำอยู่แต่อยู่ในสภาพการจ้างและสภาพการทำงานที่แย่กว่า

ธุรกิจจำนวนมากถูกตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าวนี้ โดยเฉพาะการจัดหาคนงานส่งไปให้บริษัทใดบริษัทหนึ่ง ในหลายกรณี บริษัทจัดหาคนงานดำเนินการอยู่ภายในรั้วเดียวกับบริษัทหลักเดียวกัน และในบางครั้งก็อยู่ภายใต้การควบคุมของผู้บริหารกลุ่มเดียวกันด้วยซ้ำไป

มีตัวอย่างจำนวนมากที่เกิดขึ้นในองค์กรต่างๆ ที่พยายามใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ของกฎหมาย และพบความพยายามอย่างมากของบริษัทที่จะลดข้อผูกมัดด้านการจ้างงานลง วิธีการต่างๆ เช่น

- การจ้างงานผ่านสัญญาระยะสั้นที่ต่ออายุใหม่ไปเรื่อยๆ อาจมีการหยุดพักเพียงช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนที่จะเริ่มสัญญาใหม่ ทำให้บริษัทสามารถหลีกเลี่ยงกฎระเบียบหรือกฎหมายที่กำหนดให้จ้างลูกจ้างชั่วคราวได้เพียงในช่วงเวลาหนึ่ง แต่หลังจากนั้นต้องบรรจุเป็นพนักงานประจำ ในทวีปอเมริกาเหนือ คนงานในลักษณะนี้ถูกเรียกว่า “คนงานชั่วคราวแบบประจำ”
- ให้ทดลองงานยาวนานอย่างโหดร้าย
- ไม่มีการฝึกอบรมทักษะการทำงานในการฝึกงานและการทดลองงาน
- จ้างงาน “ตามฤดูกาล” ตลอดทั้งปี
- การสร้างตัวแทนจัดหาคนงานหรือนายหน้าจ้างเหมาช่วงแบบปลอมๆ หรือบริษัทกำมะลอขึ้นมาเพื่อหลีกเลี่ยงภาระผูกพันต่อคนงาน

หลังการเลิกจ้างครั้งใหญ่ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโลกตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา พบว่าการจ้างงานเหมาช่วง/เหมาค่าแรง ในประเทศไทยมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าใจหาย และคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อขบวนการแรงงาน โดยเฉพาะประเด็นการรวมตัวเพื่อต่อรองกับนายจ้าง เพราะส่วนใหญ่แล้วหากคนงานเหล่านนี้ออกมาเรียกร้องสิทธิหรือเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานนายจ้างก็มักจะไม่ต่อสัญญาจ้างให้

มหากาพย์ไอแอลโอ 87 และ 98
ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาการเรียกร้องให้รัฐไทยรับรองอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศหรือไอแอลโอฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98 มีมาเกือบทุกรัฐบาล โดยเป็นข้อเรียกร้องหลักของขบวนการแรงงานไทยในวันแรงงานอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา

อนุสัญญาฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคม และฉบับที่ 98 ว่าด้วยการรวมตัวและสิทธิในการเจรจาต่อรองร่วมนั้นเป็นอนุสัญญาหลักขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ที่ถือกันว่าเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ทุกประเทศจะต้องเคารพและดูแลให้มีการปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้คนงานจะต้องมีสิทธิขั้นพื้นฐานดังกล่าวก่อนที่จะสามารถเข้าถึงสิทธิอื่นๆ ได้จริง

อนุสัญญาฉบับที่ 87 เสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว มีสาระสำคัญ 3 ประการที่เมื่อให้สัตยาบันแล้วจะทำให้กระบวนการสหภาพแรงงานเติบโตอย่างมาก คือ 1. คนงานและนายจ้างสามารถใช้สิทธิในการรวมตัวได้อย่างเสรีโดยไม่ต้องได้รับอนุญาตล่วงหน้าจากรัฐ 2. เจ้าหน้าที่รัฐต้องละเว้นการแทรกแซงใดๆ ที่จะจำกัดสิทธิในการดำเนินกิจกรรมขององค์กรของทั้งลูกจ้างและนายจ้าง และ 3. องค์กร (สหภาพแรงงาน) มีเสรีภาพในการเข้าร่วมองค์กรใดๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยเสรี

ส่วนอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 98 การรวมตัวและร่วมเจรจาต่อรอง มีเนื้อหาหลักคือ 1. คุ้มครองลูกจ้างจากการกระทำใดๆ อันเป็นการเลือกปฏิบัติด้วยสาเหตุที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน 2. องค์กรลูกจ้างและนายจ้างต้องได้รับการคุ้มครองอย่างเพียงพอจากการแทรกแซงระหว่างกันทั้งในการก่อตั้ง การปฏิบัติ และการบริหาร และการมุ่งสนับสนุนการก่อตั้งองค์กรของคนงานให้อยู่ภายใต้การควบคุมของนายจ้าง และ 3. ส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์จากกลไกการเจรจาโดยสมัครใจทั้งนายจ้างหรือองค์กรนายจ้าง กับองค์กรคนงาน

ซึ่งพันธะของประเทศไทยภายหลังการให้สัตยาบันคือ 1. ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติของอนุสัญญาในทุกมาตรา และในทุกถ้อยคำที่เป็นเงื่อนไข 2. แก้ไขพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 และพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับอนุสัญญา รวมถึงแก้ไขบทบัญญัติในกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับอื่นๆที่ไม่สอดคล้องกับอนุสัญญาดังกล่าว 3. เมื่อมีการแก้ไขกฎหมายตามข้อ 2 แล้ว จะต้องสามารถปฏิบัติได้จริงภายหลังการให้สัตยาบัน เพราะหากปฏิบัติได้ไม่ครบถ้วน ประเทศไทยจะต้องจัดทำรายงานชี้แจงทุกๆ 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ให้สัตยาบัน หรือถูกประณามจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ และประเทศอื่นๆ และ 4. หากมีการให้สัตยาบันไปแล้วจะยังไม่สามารถยกเลิกการให้สัตยาบันได้จนกว่าจะครบ 10 ปี นับแต่วันที่อนุสัญญามีผลบังคับใช้

ทั้งนี้ฝ่ายรัฐมักจะอ้างผลกระทบจากการให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ ในประเด็นความมั่นคง และสิทธิแรงงานข้ามชาติ โดยสรุปคือ 1. การเปิดเสรีให้แรงงานข้ามชาติจัดตั้งองค์กรแรงงานของตนได้ เป็นประเด็นปัญหาความมั่นคงภายในประเทศ จำเป็นต้องมีการศึกษา และพิจารณาร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดความชัดเจนในเชิงนโยบายแห่งรัฐ และการเตรียมมาตรการรองรับปัญหาในสังคมที่อาจตามมา 2. อาจเกิดความขัดแย้งในวงการแรงงานมากขึ้น จากเสรีภาพในการรวมตัวจัดตั้งองค์กร ดังจะเห็นได้ว่า แม้ในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ และมีการควบคุมการจัดตั้งองค์กรด้านแรงงาน โดยการจดทะเบียนองค์การแรงงาน ยังมีการจัดตั้งสภาองค์การแรงงานของทั้งฝ่ายนายจ้างหลายสภาอยู่แล้ว และ 3. การให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ มีผลกระทบ และมีผลผูกพันกับนายจ้าง ลูกจ้าง หน่วยงานภายนอก รวมทั้งองค์กรส่วนท้องถิ่นมากกว่า อนุสัญญาฉบับอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานภายนอกเพียงบางส่วน ดังนั้น การพิจารณาให้สัตยาบัน โดยปราศจากการยอมรับจากหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกระทรวงแรงงาน อาจถูกโต้แย้งคัดค้านได้ ดังนั้น การทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วนในสังคมไทย จำเป็นต้องใช้ระยะเวลา และความรอบคอบ มิฉะนั้นการให้สัตยาบันอนุสัญญาดังกล่าวอาจก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดีแก่สังคม และวงการแรงงานของประเทศ

สำหรับการดำเนินงานเพื่อเตรียมความพร้อมในการให้สัตยาบันทั้ง 2 ฉบับนี้ กระทรวงแรงงานได้มีการจัดจ้างที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาวิจัยข้อเท็จจริงและความพร้อมของประเทศไทยด้านกฎหมาย การบริหารจัดการ แนวทางในการปรับปรุงกฎหมายทุกฉบับที่เกี่ยวข้องรวมทั้งศึกษาทัศนคติ ความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกกลุ่มอาชีพ ตั้งแต่ปี 2546 แต่ผลการวิจัยสรุปว่า ควรชะลอการให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับออกไปก่อนเพื่อให้มีการศึกษาผลดี ผลเสีย และผลกระทบในทุกด้านให้ครอบคลุมอีก รวมถึงมีดำริที่จะเปิดการประชาพิจารณ์ก่อนรับสัตยาบันนี้มาหลายครั้งแล้ว แต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการเสียที

และสถานการณ์ปัจจุบันในประเทศไทยนั้น หลังการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา ประเทศไทยภายใต้การปกครองของคณะทหารได้บังคับใช้กฎอัยการศึก มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างถ้วนหน้า การรับรองอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับนี้ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ยาก ซึ่งหากมีความพยายามผลักดันโดยคณะรัฐบาลทหารให้รับรองอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับนี้ ก็ถือได้ว่าเป็นเรื่องที่น่าขบขันและย้อนแย้งในระดับโลกเลยก็ว่าได้

สถานการณ์แรงงานที่น่าสนใจในช่วงปี 2547-2557


2547
สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เคลื่อนไหวเรียกร้องและทวงสัญญากับรัฐบาลในการยกเลิกกฎหมายขายชาติ 11 ฉบับ
30 มกราคม 2547 สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สสร.) ประมาณ 1,000 คน ได้รวมตัวกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อเรียกร้องและทวงสัญญากับรัฐบาลในการยกเลิกกฎหมาย 11 ฉบับ ที่กลุ่มผู้คัดค้านมองว่าเป็นกฎหมายขายชาติ ซึ่งรัฐบาลเคยประกาศจะยกเลิกกฎหมายดังกล่าวเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2546 ทั้งนี้ ได้จัดไฮด์ปาร์กบนรถบรรทุก 6 ล้อถึงเรื่องดังกล่าว ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนที่สัญจรไปมาในบริเวณสวนอัมพรพอสมควร จากนั้นกลุ่มตัวแทนดังกล่าวได้เคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อรณรงค์เรื่องการยกเลิกกฎหมาย 11 ฉบับ โดยเฉพาะให้ยุติแผนการแปรรูปกิจการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จากรัฐวิสาหกิจ เป็นบริษัทเอกชน ด้วยการแจกเอกสารเชิญชวนให้ประชาชนให้การสนับสนุนในเรื่องดังกล่าว ก่อนที่จะเคลื่อนขบวนไปรณรงค์ต่อที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยซึ่งเป็นจุดสุดท้ายก่อนที่จะสลายตัว

อนึ่งการชุมนุมครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มของการขับไล่รัฐบาลไทยรักไทยโดยขบวนการแรงงาน ซึ่งมีธงสำคัญก็คือการต่อต้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ก่อนที่จะขยับไปยังประเด็นอื่นๆ

เสนอแนวคิดจัดระเบียบแก้สหภาพแรงงานผี
ปลายเดือนมีนาคม 2547 นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ ปลัดกระทรวงแรงงานมอบให้อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.)ไปหาทางปรับบัญชีรายชื่อสภาแรงงานให้มีเลข 13 หลัก แล้วนำเข้าระบบเพื่อตรวจสอบกับระบบประกันสังคมว่าตัวเลขซ้ำกันหรือไม่ ถ้าข้อมูลไม่ตรงกันจะไม่รับจดทะเบียน ทั้งนี้หากใช้ระบบนี้จะทำให้รู้ว่าสหภาพแรงงานนั้นมีตัวตนจริงหรือไม่และจำนวนเท่าไหร่ โดยนายจารุพงศ์ระบุว่าที่ผ่านมามีการนำตัวเลขคนงานมาต่อรอง ทั้งที่จริงๆ แล้วผู้นำแรงงานต้องเป็นที่พึ่งของคนงาน มีหน้าที่เจรจากับนายจ้าง

2548
พรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้งสมัยที่ 2 แต่มีนโยบายด้านแรงงานน้อยที่สุด
ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 สำหรับพรรคการเมืองใหญ่ที่ลงสมัครในการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคมหาชนถือว่าเป็นพรรคที่จัดทำนโยบายแรงงานสอดคล้องกับองค์กรแรงงานมากที่สุด เช่น จะให้ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นไปตามมาตรฐานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ออกกฎหมายคุ้มครองลูกจ้างแบบรับเหมาค่าแรงและรับเหมาช่วงให้มีความมั่นคงในอาชีพ ค่าจ้าง สวัสดิการและสุขภาพความปลอดภัยในการทำงานเทียบเท่าพนักงานประจำ ส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กในเขตย่านอุตสาหกรรม ปฏิรูประบบประกันสังคมให้เกิดความโปร่งใสตรวจสอบได้ มีประสิทธิภาพและยกระดับมาตรฐานการให้บริการ โดยขยายความคุ้มครองประกันสังคมไปยังผู้ใช้แรงงานทุกสาขาอาชีพ จัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เป็นองค์กรอิสระ โดยมีภารกิจในการดูแลด้านสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงานแบบครบวงจรบริหารงานแบบมีส่วนร่วม 5 ฝ่าย คือ ผู้แทนรัฐบาล นายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ป่วยจากการทำงานและผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และจะโอนงานสถาบันความปลอดภัยในการทำงาน และกองทุนเงินทดแทนมาอยู่ในองค์กรใหม่นี้ เป็นต้น น่าเสียดายที่พรรคมหาชนไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เนื่องจากได้คะแนนเพียง 1,346,631 เสียง (คิดเป็นร้อยละ 4.33%) และได้ ส.ส.เขตจำนวน 2 คนเท่านั้น

ส่วนพรรคไทยรักไทยเป็นพรรคที่มีนโยบายด้านแรงงานสอดคล้องกับองค์กรแรงงานน้อยที่สุดกลับได้คะแนนเสียงถล่มทลาย ส.ส.บัญชีรายชื่อ ได้คะแนนถึง 18,993,073 เสียง (คิดเป็นร้อยละ 61.17) และได้ ส.ส.เขตจำนวน 310 คน

นายกทักษิณ เมินข้อเรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำ 233 บาททั่วประเทศ เข้มงวดการจ้างงาน “เอาท์ซอร์ส”
ต้นเดือนพฤษภาคม 2548 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ระบุถึงข้อเรียกร้องขอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเป็น 233 บาทของกลุ่มแรงงานว่าหากขึ้นค่าแรงมากโรงงานก็เจ๊งหมด และคงมีการเลิกจ้างดังนั้นถ้าต้องการได้มากแล้วไม่ได้ กับต้องการได้พอดีๆ แล้วได้ อันไหนจะดีกว่ากัน ต้องคิดคำนึงและคำนวณในจุดนี้ด้วย

พ.ต.ท.ทักษิณ ยังกล่าวด้วยว่าในอนาคตข้างหน้าคนงานไทยจะหากินจากค่าแรงขั้นต่ำอย่างเดียวไม่พอ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการพัฒนาอย่างน้อยให้เป็นแรงงานกึ่งฝีมือ สำหรับเรื่องแรงงานต่างด้าวจะจัดระเบียบให้มีใบอนุญาตทำงานและเสียภาษี แต่ต้องเป็นงานที่คนไทยไม่ทำแล้ว ส่วนกรณีข้อเรียกร้องการจ้างงานแบบเหมาช่วง ซึ่งในโลกยุคใหม่ใช้คำว่า “เอาท์ซอร์ส” วิธีการรับงาน คือ การเหมาช่วงจากนายจ้างอื่น แต่ไม่ใช่ในโรงงานเดียวกัน อย่างนี้เรียกว่าเป็นพวกซิกแซ็ก ต่อไปต้องต้องจับพวกซิกแซ็กยืดเส้นให้ตรง แต่ไม่จำเป็นต้องแก้กฎหมาย เพียงแต่ให้มีการตกลงกัน แต่ถ้าพูดไม่รู้เรื่องก็ต้องจัดการ

2549
รวมพลังสหภาพแรงงานต้านระบอบทักษิณ
24 มีนาคม 2549 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยออกแถลงการณ์ “สมานฉันท์แรงงานไทย ไล่ทักษิณ” ขอให้ผู้ใช้แรงงานรวมแสดงพลังเพื่อสร้างประวัติศาสตร์ในนาม “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” โดยขบวนการแรงงานไทยจึงขอแสดงจุดยืนให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่งทันทีและให้ยุติบทบาททางการเมือง จากนั้นให้มีการปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจ โดยใหมีตัวแทนประชาชนจากทุกสาขาอาชีพอย่างแท้จริง

รัฐประหาร 19 กันยายน และข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยต่อ คมช.
19 กันยายน 2549 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช. ในภายหลัง) ได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพรรคไทยรักไทย

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2549 และยื่นข้อเสนอตอ คมช. เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2549 ข้อเสนอ ทั้งหมดสรุปคือ ให้คณะทหารยุติการปิดกั้นเสรีภาพของประชาชน เร่งดำเนินการตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่นของรัฐบาลเก่า

เสนอผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นผู้มีความชำนาญในปัญหาแรงงานเป็นอย่างดีโดย ครสท. เสนอ 4 รายชื่อประกอบไปด้วย 1) นายสมศักดิ์ โกศัยสุข 2) รองศาสตราจารย์ ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ 3) รองศาสตราจารย์แล ดิลกวิทยรัตน์ 4) นายฐาปบุตร ชมเสวี ให้รัฐบาลประกาศรับรองอนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 ให้รัฐบาลนำร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฉบับผู้ใช้แรงงานเข้าสู่การพิจารณา เพื่อออกเป็นกฎหมายให้รัฐบาล และสำนักงานประกันสังคมเร่งแก้ไขกฎหมายประกันสังคมที่มีปัญหาทั้งฉบับและให้รัฐบาลสนับสนุนประมาณ ในการจดตั้งศูนย์ เลี้ยงเด็กในย่านอุตสาหกรรม และชุมชน

2550
แรงงานรัฐวิสาหกิจยังคงคัดค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
แม้จะเป็นส่วนหนึ่งในการโค่นล้มรัฐบาลไทยรักไทย แต่สมาพันธ์สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ก็ยังคงจุดยืนในการคัดค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจอย่างต่อเนื่อง โดยได้เรียกร้องกับประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (ฉบับปี 2550) ให้ผลักดันการแก้ไขกฎหมายแรงงานและยกเลิก พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ

ภาคอุตสาหกรรมขาดแคลนแรงงานกว่าแสนคน
เดือนพฤษภาคม 2550 สมาคมนิคมอุตสาหกรรมไทยระบุว่าประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงาน ทั้งแรงงานประเภททักษะฝีมือและแรงงานทั่วไป โดยเฉพาะภาคการผลิตในนิคมอุตสาหกรรม 34 แห่งที่กระจายอยู่ 14จังหวัด ทั่วประเทศ รวมถึงภาคการผลิตนอกพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม มีความต้องการแรงงานเพิ่มเติมกว่า 100,000 คน

กระนั้นในปีต่อมา (2551) ประเทศไทยกลับได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก ซึ่งมีการเลิกจ้างคนงานมากที่สุดตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เป็นต้นมา

2551
รัฐบาลไม่ได้ตั้งคณะกรรมการติดตามข้อเรียกร้องวันแรงงาน
รัฐบาลพรรคพลังประชาชนนำโดยนายสมัคร สุนทรเวช ที่ชนะการเลือกตั้งทั่วไปมาเมื่อปลายปี 2550 ไม่ได้ตั้งคณะกรรมการติดตามข้อเรียกร้องที่ยื่นในวันที่ 1 พฤษภาคม 2551 ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า และจัดประชุมชี้แจงตอบข้อเรียกร้องกับผู้แทนสภาองค์การลูกจ้างต่างๆ ทั้งที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลมีการตั้งคณะกรรมกรรมการและตอบข้อเรียกร้องวันแรงงานเป็นหนังสือมาโดยตลอด

คนงานเริ่มได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้างเนื่องวิกฤตซับไพรม์
วิกฤตซับไพรม์ในช่วงปี พ.ศ. 2550 และ พ.ศ. 2551 จุดเด่นของวิกฤตินี้คือการที่ความคล่องตัวของตลาดสินเชื่อทั่วโลกและระบบธนาคารลดลง ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากความซบเซาของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐอเมริกา การกู้ยืมและการให้กู้ยืมที่มีความเสี่ยงสูง และระดับหนี้สินของบริษัทและบุคคลที่สูงเกินไป วิกฤติครั้งนี้มีผลหลายขั้นและค่อย ๆ เผยให้เห็นความอ่อนแอในระบบการเงินและระบบการควบคุมทั่วโลก

วิกฤตนี้เริ่มส่งผลกระทบต่อคนงานไทยในปี 2551 ต่อไปจนถึงปี 2552 มีการเลิกจ้างคนงานในภาคสิ่งทอ, อิเล็กทรอนิกส์ และภาคผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ โดยคนงานที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือคนงานเหมาช่วง/เหมาค่าแรงที่ถูกเลิกจ้างเป็นพวกแรกๆ รวมถึงคนงานที่มีอายุงานมาก นอกจากการเลิกจ้างแล้วนายจ้างยังทำการลดโอที ลดเวลาการทำงานโดยการใช้มาตรการ 75 ทำให้คนงานได้รับรายได้น้อยลง ลดสวัสดิการต่างๆ ซ้ำร้ายกว่านั้นมีหลายโรงงานปิดกิจการและไม่ได้จ่ายค่าจ้าง ค่าชดเชยให้คนงานอีกด้วย

2552
สถานการณ์การเลิกจ้างงานในปี 2552 ปลดคนงานต่อเนื่อง “ลูกจ้างชั่วคราว” เหยื่อกลุ่มแรก
มกราคม 2552 สำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการเกี่ยวกับสถานการณ์จ้างงานในปี 2552 พบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังมีแนวคิดจะปรับลดพนักงานอย่างต่อเนื่องเพื่อพยุงธุรกิจให้อยู่รอด โดยเฉพาะกลุ่มลูกจ้างชั่วคราวจะเป็นเป้าหมายแรกในการถูกเลิกจ้างก่อน ระบุปัญหาเศรษฐกิจจะทำให้ยอดขายและคำสั่งซื้อลดลง กำไรลดลง แม้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังตั้งใจทำธุรกิจตัวเองต่อไป แต่มีบางส่วนเตรียมผันตัวเองไปทำธุรกิจอื่น และบางส่วนจะหยุดกิจการชั่วคราว
นโยบายแจกเงิน 2,000 บาท ช่วยผู้ประกันตนของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์

ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2552 รัฐบาลได้แจกเงิน 2,000 บาทให้กับกลุ่มประชาชนในระบบประกันสังคม (กลุ่มที่อยู่ในประกันสังคมปกติ ตามมาตรา 33 ออกจากงานแต่จ่ายสมทบต่อเนื่องด้วยตัวเอง ตามมาตรา 39 และสุดท้าย คือกลุ่มว่างงาน และยังอยู่ระหว่างรับเงินชดเชยประกันว่างงาน) ที่มีรายได้ไม่เกิน 14,999 บาทต่อเดือน

ตามแนวทางจ่ายเงินช่วยเหลือค่าครองชีพนี้ รัฐบาลที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์คาดหวังว่าจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้กระเตื้องขึ้นได้

2553
เสนอประชาพิจารณ์ก่อนลงสัตยาบันไอแอลโอ 87-98 แต่ท้ายสุดก็ไม่เกิดขึ้น
มกราคม 2553 นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าคณะทำงานประสานการดำเนินงานเพื่อให้สัตยาบันอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ฉบับที่ 87 และ 98 ยังไม่สรุปเพราะมีอีกหลายประเด็นที่ยังไม่ชัดเจน โดยเฉพาะประเด็นเรื่องของความมั่นคง และประเด็นอื่นที่ยังมีข้อสงสัยจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งขั้นตอนจะต้องมีการทำประชาพิจารณ์จากประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ก่อนที่จะนำเสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณา ทั้งนี้การทำประชาพิจารณ์ก็เพื่อตอบคำถามให้ได้ว่าการลงนามในสัตยาบันดังกล่าวมีผลดีผลเสียอย่างไร

แต่กระนั้นในตลอดทั้งปี 2553 ประชาพิจารณ์ที่ว่านั้นก็ไม่ได้เกิดขึ้นจริง

ข้อเสนอหลังวิกฤตเศรษฐกิจ รัฐต้องจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงให้กับลูกจ้าง
บทเรียนจากการเลิกจ้างครั้งใหญ่ตั้งแต่ปี 2551-2552 ทำให้ขบวนการแรงงานมีข้อเสนอสำคัญต่อรัฐบาลในวันแรงงานแห่งชาติเกี่ยวกับมาตรการป้องกันการปิดกิจการแล้วละทิ้งคนงานของภาคเอกชนอีกครั้ง ตัวอย่างข้อเรียกร้องก็มีเช่น รัฐต้องจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงให้กับลูกจ้าง ในกรณีที่สถานประกอบการปิดกิจการ เลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงในการทำงาน เป็นต้น

2554
คนงานเริ่มกลับเข้าโรงงาน พร้อมกับการจ้างงานชั่วคราวที่เพิ่มขึ้น
มกราคม 2554 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่าในปี 2554 กลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์มีแผนจะรับแรงงานเพิ่มอีก 5 หมื่นคน เพื่อรองรับการผลิตรถยนต์ที่ผู้ผลิตตั้งเป้าไว้ไม่ต่ำกว่า 1.8 ล้านคัน ซึ่งเป็นการฟื้นตัวแทบที่จะเรียกได้ว่าเต็มรูปแบบหลังวิกฤตเศรษฐกิจที่เริ่มมาตั้งแค่ปี 2551 เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มีเพียงอุตสาหกรรมสิ่งทอเท่านั้นที่ยังซบเซาต่อเนื่อง นอกจากนี้รูปแบบการจ้างงานแบบประจำก็ลดลงไป ผู้ประกอบการหันมาใช้การจ้างงานชั่วคราวแบบเหมาช่วง/เหมาค่าแรงเพิ่มขึ้น

พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง นโยบายสำคัญคือค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ และเงินเดือนขั้นต่ำวุฒิ ป.ตรี 15,000 บาท
พรรคเพื่อไทย นำโดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มีนโยบายด้านแรงงานที่สำคัญคือการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเป็น 300 บาท และผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีได้เงินเดือนแรกเข้า 15,000 บาทต่อเดือนทุกสาขาอาชีพ ชนะการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 โดยได้คะแนนเสียงแบบปาร์ตี้ลิสต์ถึง 15,744,190 (ร้อยละ 48.41) และ ส.ส.แบบเขต 204 คน

มติ ครม. ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท 7 จังหวัดนำร่อง 1 เม.ย. 55 ทั่วประเทศ 1 ม.ค. 56
พฤศจิกายน 2554 มีมติคณะรัฐมนตรีให้ปรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ใน 7 จังหวัดนำร่อง มีผล 1 เม.ย.2555 โดยรายละเอียดดังนี้

1. ให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดภูเก็ต เพิ่มขึ้น 79บาท จากอัตราวันละ 221 บาท เป็นวันละ 300 บาท หรือเพิ่มขึ้น 35.7% 2. ให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำกรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม เพิ่มขึ้น 85 บาท จากอัตราวันละ 215 บาทเป็นวันละ 300 บาท หรือเพิ่มขึ้น 39.5% 3. ให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดที่เหลือ 70 จังหวัด ปรับเพิ่มขึ้น 39.5% ของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดในปี 2554 4. ให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดที่เหลืออีก 70 จังหวัด ตามข้อ 3 อีกครั้ง เป็นวันละ 300 บาท โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2556 สำหรับจังหวัดภูเก็ต กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม ให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไว้ที่วันละ 300 บาท 5. ในปี 2557 และปี 2558 ให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของทุกจังหวัดไว้ที่วันละ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ

ทั้งนี้หากภาวะเศรษฐกิจของประเทศมีความผันผวนอย่างรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อการครองชีพของลูกจ้าง คณะกรรมการค่าจ้างสามารถพิจารณาทบทวนอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2557 และปี 2558 ได้ตามความเหมาะสม

น้ำท่วมใหญ่กระทบโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม
ในช่วงฤดูฝนปี 2554 ประเทศไทยประสบอุทกภัยครั้งใหญ่ในรอบ 70 ปี ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง การผลิตบางส่วนต้องหยุดชะงักชั่วคราว

โดยอุทกภัยในครั้งนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2554 ในพื้นที่ภาคเหนือ และแผ่ขยายวงกว้างครอบคลุมพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวมทั้งสิ้น 64 จังหวัด โดยสถานการณ์ได้รุนแรงขึ้นตามลำ ดับจนเข้าสู่จุดสูงสุดในเดือนตุลาคม จากเหตุการณ์น้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรมครั้งแรกในประวัติศาสตร์จำนวน 7 แห่งในจังหวัดอยุธยาและปทุมธานี ในเบื้องต้นประเมินว่าความเสียหายของโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมจะอยู่ที่ 2.4 แสนล้านบาท

2555
เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ใน 7 จังหวัดนำร่อง เพิ่ม 39.5% อีก 70 จังหวัด

1 เมษายน 2555 ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทใน 7 จังหวัดนำร่อง และการเพิ่มค่าแรงอีก 39.5% ในอีก 70 จังหวัดที่เหลือมีผลบังคับใช้

โรงงานฟื้นตัวหลังเหตุน้ำท่วมใหญ่ปี 2554
พฤษภาคม 2555 โรงงานในจังหวัดจังหวัดอยุธยาและปทุมธานีที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปี 2554 ที่ผ่านมากว่าร้อยละ 60 กลับมาดำเนินกิจการแล้ว ทำให้ผู้ใช้แรงงานกว่า 40,000 คนได้กลับเข้ามาทำงานตามปรกติและเริ่มมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

2556
ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ
1 มกราคม 2556 อัตราค่าแรงขั้นต่ำจังหวัดที่เหลืออีก 70 จังหวัด วันละ 300 บาท มีผลบังคับใช้
ปัญหานายจ้างตุกติกเลี่ยงปรับค่าแรง 300 บาท

ผลจากการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทเมื่อปี 2555 และ 2556 ที่ผ่านมา ก็พบว่านายจ้างหลายสถานประกอบการใช้เทคนิควิธีการเลี่ยงการปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามที่รัฐบาลกำหนดจริง แต่หันไปปรับลดสวัสดิการอื่นๆ ลงเพื่อทำให้สถานประกอบการจ่ายค่าจ้างได้เท่าเดิม เช่น เอาค่าเช่าบ้าน เบี้ยขยัน เบี้ยเลี้่ยง นำมาคิดรวมกับค่าจ้าง นอกจากนี้ ยังพบวิธีที่นายจ้างบางโรงงานเลี่ยงการปรับค่าจ้างในอัตราที่ประกาศใหม่ โดยใช้วิธีเปลี่ยนการคำนวณค่าจ้างจากรายเดือนที่เอาเงินเดือนหารด้วย 30 วัน ก็เปลี่ยนเป็นรายวันเอา 26 วัน หาร หรือการนำเอาสัญญาจ้างงานฉบับใหม่ไปให้ลูกจ้างเซ็นยินยอม เป็นต้น

2557
รัฐประหารพฤษภาคม 2557
22 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อันมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะ โค่นรัฐบาลรักษาการของนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล นับเป็นรัฐประหารครั้งที่ 13 ในประวัติศาสตร์ไทย

คงค่าจ้างขั้นต่ำ 300 ถึงปี 2558
กันยายน 2557 นายพีรพัฒน์ พรศิริเลิศกิจ รองปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ว่าจากข้อมูลของอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด เห็นว่าควรคงค่าจ้างขั้นต่ำไว้ที่วันละ 300 บาท ไปจนถึงปี 2558 ตามมติของบอร์ดค่าจ้าง เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ และมีการพิจารณาความเป็นไปได้ในการกำหนดโครงสร้างค่าจ้างแยกเป็นรายอาชีพ

ทั้งนี้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ได้รายงานผลการตรวจแรงงานช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคม 2557 พบว่ามีสถานประกอบการผ่านการตรวจ 33,014 แห่ง ลูกจ้าง 1,117,909 คน และสถานประกอบการจ่ายค่าจ้างไม่ถึงวันละ 300 บาท 991 แห่ง ลูกจ้าง 23,414 คน ทั้งนี้ กสร.ได้ออกหนังสือเตือนสถานประกอบการดังกล่าว หากไม่ปฏิบัติตามมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

วาทะเด็ดในรอบ 10 ปี (2547-2557)


"ขอให้เชื่อว่าโรงงานยุคใหม่จะเปลี่ยนไป รัฐบาลจะดูแลเต็มที่ เราเป็นรัฐบาลที่มีเมตตาสูง ประธานสหภาพแรงงานไม่ต้องมีหนวดเคราเพื่อเท่ ก็พูดรู้เรื่อง เพราะนี่ไม่ใช่ยุค เชกูวาร่า"


พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
กล่าวในวันแรงงานแห่งชาติเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2548
 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลทหารไม่ให้ประกันลุงวัย 67 คดี 112 เขียนฝาผนังห้องน้ำห้างดัง

$
0
0

20 ต.ค.2557 ที่กองบังคับการปราบปราม ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนแจ้งว่า พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามได้ทำการสอบสวนนายโอภาส (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องหาคดี 112  ที่ถูกทหารจับกุมตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค.และนำตัวมาแถลงข่าวในวันที่ 17 ต.ค. กรณีที่เขาได้เขียนฝาผนังห้องน้ำในห้างซีคอนสแควร์ โดยพนักงานแจ้งข้อกล่าวหาโอภาสจากการเขียนข้อความ 1 ข้อความ เขารับว่าได้เขียนข้อความดังกล่าวจริง แต่ไม่ได้มีเจตนาหมิ่นเบื้องสูง เพียงแต่ต้องการวิจารณ์คณะรัฐประหาร ทั้งนี้ระหว่างให้ปากคำผู้ต้องหามีทนายความอยู่ในกระบวนการด้วย

จากนั้นเวลาประมาณ 13.00 น. พ.ท.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ พล.ม.2 รอ. พร้อมด้วย ร.ต.ท.จักรี กุลแก้ว พนักงานสอบสวน กก.1 บก.ป.คุมตัว นายโอภาสไปขอฝากขังยังศาลทหารในผลัดแรก 12 วัน ศาลอนุญาตให้ฝากขัง ครอบครัวจำเลยยื่นหลักทรัพย์เป็นโฉนดบ้านมูลค่า 2.5  ล้านเพื่อขอประกันตัว แต่ศาลปฏิเสธ โดยระบุเหตุผลว่า หากปล่อยผู้ต้องหาอาจไปกระทำการใดๆ หรือก่อเหตุประการอื่น หรือผู้ต้องหาอาจหลบหนีได้ จึงไม่อนุญาตให้ประกันตัว จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้นำส่งตัวนายโอภาสไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ข้อมูลว่า ในปัจจุบันคดี 112 มีอยู่เกือบ 20 คดี ผู้ต้องหาเกือบทั้งหมดไม่ได้รับการประกันตัว ในจำนวนนี้มีอยู่ 6 คดีที่ถูกส่งไปดำเนินคดียังศาลทหาร คดีล่าสุดคือคดีของโอภาสนับเป็นคดีที่ 2 ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นการกระทำความผิดหลังรัฐประหาร (คดีทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ที่จังหวัดเชียงรายนับเป็นกรณีแรก) นอกเหนือจากนั้นเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นก่อนการรัฐประหาร

โอภาส เป็นชายวัย 67  ปีชาวกรุงเทพฯ มีอาชีพขายของเบ็ดเตล็ด เขากล่าวว่า ไม่เคยร่วมชุมนุมแต่อย่างใด และเป็นผู้ติดตามการเมืองเพียงห่างๆ จนกระทั่งในราวปี 2552 ได้เจอคลื่นวิทยุชุมชนทั้งฝ่ายเหลืองและฝ่ายแดงโดยบังเอิญจึงรับฟังมานับแต่นั้นมา และพบว่าชอบฟังสถานีของฝ่ายเสื้อแดงมากกว่า แต่ก็จะเลือกฟังเฉพาะดีเจบางคน เขายืนยันว่าไม่ได้ถูกล้างสมองจากวิทยุชุมชนตามที่เจ้าหน้าที่ทหารพยายามแถลงข่าวไปในแนวทางดังกล่าว  (อ่านข่าวเก่าได้ที่นี่)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลนัดสืบพยาน เม.ย.58 ‘ซี’ ผู้ต้องหาหญิงคดีอาวุธ

$
0
0

 

20 ต.ค.2557   รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ศาลอาญา รัชดา ศาลนัดตรวจพยานหลักฐาน สอบคำให้การ คดีที่น.ส.จันทนา หรือ ซี วรากรสกุลกิจ ตกเป็นจำเลยในคดีอาวุธ โดยจำเลยให้การปฏิเสธและต่อสู้คดี ศาลนัดสืบพยานในวันที่ 3,7,8,9,10 เม.ย.2558

ทั้งนี้ จันทนา ถูกจับกุมตั้งแต่วันที่ 21 ต.ค.2557 และถูกคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลางจนปัจจุบัน ในข้อหาร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย ฯ โดยเจ้าหน้าเชื่อมโยงกับเหตุรุนแรงทางการเมือง 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลจังหวัดภูเก็ตไต่สวนมูลฟ้อง คดีชาวบ้านเมืองเลยถูกฟ้องหมิ่นประมาท

$
0
0

ศาลไต่สวน บ.ทุ่งคำ จำกัด ผู้ดำเนินกิจการเหมืองแร่ทองคำสัมปทานในจ.เลย ฟ้องชาวบ้าน จ. เลยที่ศาลภูเก็ต อ้างมีสำนักงานอยู่ที่ภูเก็ต ระบุชาวบ้านให้สัมภาษณ์ TNN24 ทำให้บริษัทเสียหาย

20 ตุลาคม 2557 ศาลจังหวัดภูเก็ต นัดไต่สวนมูลฟ้อง คดีหมายเลขดำที่ 4471/2557 ซึ่งบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ฟ้องหมิ่นประมาท สุรพันธุ์ รุจิชัยวัฒน์ ชาวบ้านจังหวัดเลยที่คัดค้านการทำเหมืองทองคำ จากการที่สำนักข่าว TNN24 รายงานเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2557 ว่านายสุรพันธุ์ ให้สัมภาษณ์เป็นทำนองว่า บริษัททุ่งคำเผาเต้นท์และกระท่อมของพนักงานเพื่อป้ายความผิดให้กับชาวบ้าน ซึ่งโจทก์เห็นว่าการให้สัมภาษณ์เช่นนี้ทำให้บริษัทโจทก์เสียหาย จึงฟ้องคดีฐานหมิ่นประมาท และหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326, 328

นายสุเทพ บุรมาน ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ให้ดำเนินคดีนี้ เดินทางมาศาลพร้อมทนายความโจทก์ ขณะที่ฝ่ายจำเลย ตัวนายสุรพันธุ์ไม่ได้เดินทางมาศาล แต่มีชาวบ้านจากจังหวัดเลยมาศาล 3 คน เพื่อร่วมฟังการพิจารณาคดี พร้อมทนายความ

นายสุเทพ เบิกความตอบคำถามศาลว่า เหตุที่มาฟ้องคดีนี้เนื่องจากจำเลยให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่าโจทก์ให้พนักงานเผากระท่อมและเต้นท์เพื่อป้ายความผิดให้ชาวบ้าน แต่โจทก์ไม่เคยทำเช่นนี้ การให้สัมภาษณ์เช่นนี้ทำให้โจทก์เสียหาย ศาลถามว่าได้ฟ้องคดีนี้ที่อื่นหรือไม่ สุเทพ ตอบว่า ไม่ สาเหตุที่มาฟ้องคดีที่จังหวัดภูเก็ตเพราะบริษัทโจทก์มีสำนักงานสาขาอยู่ในจังหวัดภูเก็ต

นายสุเทพ เบิกความในวันนี้ว่า เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 มีการขนแร่ทองคำโดยรถพ่วงหลายคันโดยผู้ซื้่อแร่เป็นผู้ขน บริษัทโจทก์ไม่ได้เป็นผู้ขน ระหว่างการขนแร่ชาวบ้านก็มาคัดค้าน แต่ไม่ทราบว่าในวันนั้นมีการทำร้ายร่างกายกันหรือไม่ โจทก์กับจำเลยและชาวบ้านในพื้นที่มีความขัดแย้งกันมาก่อน ก่อนหน้านี้โจทก์ฟ้องคดีกลุ่มชาวบ้านที่จังหวัดเลยหลายคดี เท่าที่ทราบฟ้องที่จังหวัดเลยและกรุงเทพมหานคร ส่วนในเทปข่าวของสถานี TNN24 ที่เป็นประเด็นในคดีนี้ไม่มีภาพจำเลย ส่วนข้อความที่อ้างว่าจำเลยพูดนั้นไม่ทราบว่าจำเลยได้พูดจริงหรือไม่ เพราะเป็นเสียงผู้ประกาศข่าวเป็นคนพูด

หลังการสืบพยานปากนี้ ทนายความโจทก์แถลงว่ายังติดใจขอสืบพยานอีกสองปาก คือ นายปรเมศ บัณสิทธิ์ และนายวิชัย เชิดชีวศาสตร์ แต่นายวิชัยติดประชุมไม่สามารถมาในวันนี้ได้ ทนายความจำเลยแถลงคัดค้านเพราะว่าพยานปากนายปรเมศ ไม่ได้ระบุไว้ในบัญชีพยานตั้งแต่แรก ส่วนนายวิชัย เป็นกรรมการของบริษัทโจทก์ เป็นผู้ริเริ่มในการฟ้องคดี จึงควรต้องมาศาล และหากมาเบิกความในประเด็นเดียวกับพยานในวันนี้ จะทำให้จำเลยเสียเปรียบ

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าคดีนี้ศาลนัดล่วงหน้ากว่า 2 เดือน และโจทก์ทราบนัดโดยชอบแล้ว จึงมีเวลาเตรียมการนำพยานมาไต่สวนแล้ว การอ้างว่าติดประชุมเป็นเหตุจำเป็นส่วนตัว ไม่ใช่เหตุสมควรในการขอเลื่อน เพื่อไม่ให้การพิจารณาคดีเป็นไปด้วยความชักช้า

จึงให้งดสืบพยานโจทก์ จึงเสร็จการไต่สวนมูลฟ้อง และนัดฟังคำสั่งว่าจะรับฟ้องคดีนี้หรือไม่ในวันที่ 29 ตุลาคม 2557

หลังเสร็จการพิจารณาคดี นางพรทิพย์ หงชัย ชาวบ้านนาหนองบง ที่เดินทางจากจังหวัดเลยมาร่วมฟังการพิจารณาคดีในวันนี้ กล่าวว่า รู้สึกพอใจกับกระบวนการในคดีวันนี้ เพราะเห็นว่าฝ่ายโจทก์พยายามถ่วงเวลา ประวิงเวลา โดยการอ้างว่าจะสืบพยานอีกสองปาก แต่เมื่อฝ่ายจำเลยคัดค้าน ศาลก็รับฟัง คดีนี้ถ้าต้องต่อสู้ยาวๆ ก็เหนื่อย เพราะต้องเดินทางไกล เสียเวลาในการเดินทางมาก และการเดินทางออกจากพื้นที่ก็ต้องกังวลเรื่องความปลอดภัยด้วย

พรทิพย์ ซึ่งถูกฟ้องหมิ่นประมาทมี่ศาลจังหวัดภูเก็ตในอีกคดีหนึ่ง กล่าวว่า คดีของตนที่ศาลนัดไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2557 นั้นมีข้อเท็จจรืงต่างจากคดีนี้ เพราะคลิปวีดีโอที่ออกข่าวไปไม่เหมือนกัน แต่ก็ยังมีหลักฐานที่จะต่อสู้ในคดีได้ และมั่นใจในทนายความกับพี่น้องชาวบ้านที่มาช่วยกัน โดยเธอกล่าวว่าคดีแบบนี้หากฟ้องที่จังหวัดเลยก็ยังมีเวลาไปทำงานอื่นและมาตามนัดของศาลได้ แต่พอฟ้องจังหวัดไกลๆ แบบนี้คนอื่นในพื้นที่ก็ต้องช่วยกันทำงานทดแทนกัน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสนอเร่งผลักดัน พ.ร.บ. ทวงหนี้ พร้อมเพิ่มมาตรการปกป้องลูกหนี้จากการติดตามทวงหนี้

$
0
0

องค์กรอิสระฯ นักกฎหมาย และตัวแทนลูกหนี้นอกระบบ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เรียกร้องเพิ่มมาตรการเยียวยาลูกหนี้ ใน พ.ร.บ.ทวงหนี้ หวังป้องปรามเจ้าหนี้ใช้วิธีผิดกฎหมาย

20 ต.ค 2557 คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน นักกฎหมาย ตัวแทนลูกหนี้  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และชมรมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล  ได้เข้ายื่นหนังสือต่อนายมนตรี ศรีเอี่ยมสะอาด ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.... เพื่อเสนอความเห็นและข้อเสนอต่อ คณะกรรมาธิการฯ ให้คณะกรรมาธิการฯ พิจารณาแก้ไขบทบัญญัติในกฎหมายเพื่อให้เกิดการคุ้มครองลูกหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบให้ได้รับความเป็นธรรมจากการทวงถามหนี้  ทั้งนี้เสนอให้เพิ่มเติมมาตรการเยียวยาความเสียหายแก่ลูกหนี้  ที่ได้รับผลกระทบจากการทวงหนี้ด้วย  และขอให้เร่งการออกกฎหมายฉบับนี้โดยเร็วเพื่อเป็นมาตรการคุ้มครองลูกหนี้และลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตกับลูกหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ

จากกรณีปัญหาการทวงถามหนี้  ที่เจ้าหนี้และผู้ทวงถามหนี้ใช้วิธีการต่างๆ กับลูกหนี้ เช่น การข่มขู่ให้กลัว   การใช้วาจาหยาบคาย ดูหมิ่น ทำลายทรัพย์สิน   ยึดทรัพย์โดยพลการ หรือการทำร้ายร่างกาย  และการกระทำที่ทำให้ลูกหนี้หลงเชื่อว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ  การที่กล่าวนั้น  กฎหมายอาญาไม่สามารถดำเนินคดีกับผู้ติดตามทวงถามหนี้หรือเจ้าหนี้เหล่านั้น   ทำให้ลูกหนี้หาทางออกวิธีที่ไม่เหมาะสมและไม่เกิดประโยชน์กับลูกหนี้ เช่น กู้เงินนอกระบบมาชำระหนี้ในระบบ,ตัดสินใจออกจากงานทนแรงกดดันไม่ไหว, เลิกกับครอบครัว รวมไปถึงการฆ่าตัวตายดังที่เป็นข่าว

นางสายฝน  ตัวแทนลูกหนี้ กล่าวว่า “อยากเร่งให้กฎหมายฉบับนี้ออกมาบังคับใช้ซะที เพราะสงสารเพื่อนๆ ที่ถูกทวงหนี้ บางคนโดนขู่จนกลัวไม่กล้าไปทำงาน บางคนโดนด่าว่าหยาบคาย ไปแจ้งความตำรวจไม่รับแจ้งความ ไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร เราเป็นหนี้ก็ทราบค่ะว่าต้องใช้หนี้ แต่บางครั้งเราหาเงินมาใช้หนี้ไม่ทัน มาครั้งนี้เพื่อขอให้ทางคณะกรรมาธิการฯ ช่วยแก้กฎหมายให้ครอบคลุมหนี้นอกระบบด้วย”

ด้าน นายชัยรัตน์  แสงอรุณ  ที่ปรึกษานักกฎหมายและทนายความ องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน กล่าวว่า “ กฎหมายฉบับนี้  ควบคุมพฤติกรรมของผู้ทวงหนี้  ที่ดำเนินคดีด้วยกฎหมายอาญาไม่ได้  และบทกำหนดโทษใน พรบ.นี้  สูงกว่ากฎหมายอาญา  ซึ่งน่าจะเป็นมาตรการในการป้องปรามไม่ให้เจ้าหนี้หรือผู้ติดตามหนี้กระทำการที่ผิดกฎหมาย  แต่เมื่อลูกหนี้ได้รับความเสียหายจากการทวงหนี้ควรได้รับการเยียวยาด้วย  เช่น  การทำลายทรัพย์สินของลูกหนี้  เจ้าหนี้ควรต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย เป็นต้น”

ภญ.ชโลม เกตุจินดา  กรรมการและอนุกรรมการด้านการเงินการธนาคาร องค์การอิสระฯ  ให้ความเห็นว่า  การออกกฎหมายแต่ละฉบับนั้นเป็นเรื่องยากจึงเห็นว่า  กฎหมายควรครอบคลุมหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ เนื่องจากคณะกรรมการฯ ได้ทำความเห็นและข้อเสนอแนะต่อกฎหมาย จากการรับฟังปัญหาของประชาชน  การมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายโดยเฉพาะภาคประชาชนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง  ขอเสนอให้กฎหมายฉบับนี้มีคณะกรรมการที่มาจากภาคประชาชนด้วย เช่น สหพันธ์องค์การผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  เป็นต้น

นอกจากนี้ นายชูชาติ บุญยงยศ ประธานชมรมหนี้บัครเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล และอนุกรรมการด้านการเงินการธนาคาร องค์การอิสระฯ กล่าวว่า ที่มายื่นหนังสือในวันนี้เพื่อให้เห็นว่าอะไรมันยังไม่ครอบคลุมเป็นข้อบกพร่อง ในฐานที่เป็นภาคประชาชนเห็นว่ามันยังไม่ครอบคลุมทั้งหมด สิ่งที่อยากให้เพิ่มเติมคือ การบังคับของสถานบันการเงินหรือธนาคารที่ปล่อยบัตรเงินสดหรือสินเชื้อให้กับลูกหนี้ แล้วบังเอิญเป็นธนาคารเดียวกับที่ลูกหนี้เงินได้รับเงินเดือนธนาคารนั้นๆ พอลูกหนี้จ่ายไม่ไหวเขาดูดเงินลูกหนี้ไปใช้หนี้เกลี้ยงทำให้ลูกหนี้ไม่มีเงินใช้ ตรงนี้มันทำไม่ได้มันผิดกฎหมายเพราะการยึดเงินเดือนของลูกหนี้ตามกฎหมายต้องฟ้องศาลก่อน เมื่อศาลมีคำสั่งจึงเข้าสู่กระบวนการอายัดเงินเดือนได้สูงสุด 30% ของเงินเดือน รวมทั้งในกรณีในระหว่างการทวงหนี้ทุกครั้งที่เจ้าหนี้ทวงหนี้ครั้งละ 350 บาท หากเดือนนั้นทวงสองครั้งก็จะเป็นเงิน 700 บาท ซึ่ง 700 บาทนี้นำไปรวมกับเงินต้นแล้วนำมาคิดดอกเบี้ยซ้ำ หากกรณีนี้นำเข้าสู่กระบวนการศาลๆ ไม่ให้ ศาลตัดออกหมด ลูกหนี้ไม่ควรจ่ายค่าทวงหนี้ที่ส่ง sms เพียงข้อความละ 2   บาท แต่คิดเป็นค่าทวง 350 บาทต่อ sms

นายชูชาติ ยังกล่าวถึงว่า ส่วนในกรณีกู้เงินนอกระบบจะมีการยึดบัตรเอทีเอ็มพร้อมสมุดบัญชีไปกดเงินเองไปกดเงินเอง อยากให้กฎหมายตรงนี้เขียนไว้ว่าอย่ายึดบัตรเอทีเอ็มและสมุดบัญชี

อย่างไรก็ตาม นายมนตรี ศรีเอี่ยมสะอาด กล่าวถึงการพิจารณาร่าง พรบ.ทวงถามหนี้ ว่า คณะกรรมาธิการฯ ได้พยายามเร่งรัดให้กฎหมายทวงถามหนี้ออกโดยเร็ว  คาดว่าอีกประมาณ 3-4 อาทิตย์จะพิจารณาแล้วเสร็จ ทั้งนี้จะเร่งพิจารณาให้กฎหมายออกมาบังคับใช้เสร็จภายในสิ้นปีนี้ เพื่อเป็นของขวัญต้อนรับปีใหม่ให้กับผู้บริโภค

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: 14 ตุลากับวัฒนธรรมหนังสือ

$
0
0


 

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมาคณะกรรมการ 14 ตุลาเพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ ได้จัดรายการแนะนำ 100 เล่ม หนังสือดี 14 ตุลา ที่ห้องประชุมมูลนิธิ 14 ตุลา เพื่อเป็นการสรุปโครงการ และหวังที่จะให้หนังสือเหล่านี้เป็นแหล่งสืบค้นหรือข้อมูลอ้างอิงในการเรียนการสอน และจัดกิจกรรมในโรงเรียนหรือห้องสมุด และมากกว่านั้น คือการนำเสนอชักชวนให้สังคมไทยเกิดความสนใจอ่านหนังสือมากขึ้น

ความจริงแล้วโครงการนี้ สอดคล้องอย่างยิ่งกับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของขบวนการ 14 ตุลา เพราะสาเหตุสำคัญของการก่อเกิดขบวนการ 14 ตุลา คือ วัฒนธรรมหนังสือ จากนั้น ขบวนการนักศึกษาไทยก็ก่อเกิดปรากฎการณ์พิเศษของวัฒนธรรมหนังสือ ที่ถือได้ว่าเป็นครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ไทยที่มีลักษณะเช่นนี้

ย้อนหลังกลับไปก่อนหน้าเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ซึ่งเป็นยุคสมัยเผด็จการทหาร สื่อสารสนเทศหลักคือวิทยุเป็นสถานีวิทยุของหน่วยงานกองทัพแทบทั้งหมด ส่วนโทรทัศน์มี 4 ช่อง และอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ ภายใต้ระบอบเช่นนั้น หนังสือกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการเคลื่อนไหวทางความคิดของปัญญาชนต่อต้านเผด็จการ ดังนั้น วารสารเช่น สังคมศาสตร์ปริทัศน์ จึงมีความสำคัญอย่างมากในการให้ข้อมูล และเผยแพร่ความรู้ใหม่นอกกรอบความรู้กระแสหลักของทางราชการ สาระสำคัญของความรู้ที่ถูกนำเสนอ ก็คือ ประชาธิปไตย เช่น เรื่องการต่อสู้ของขบวนการประชาธิปไตยต่างประเทศ เรื่องการต่อต้านคัดค้านจักรพรรดินิยม และแม้แต่เรื่องราวเชิงทฤษฎีการเมืองประชาธิปไตย

หลังการรัฐประหาร พ.ศ.2514 ได้เริ่มมีการนำหนังสือก้าวหน้าช่วงทศวรรษ 2490 กลับมาตีพิมพ์ เช่น เรื่อง ศิลปะเพื่อชีวิต หรือ นวนิยายเรื่อง ความรักของวัลยา ของเสนีย์ เสาวพงศ์ แลไปข้างหน้า และ สงครามชีวิต ของศรีบูรพา เป็นต้น แต่ที่สำคัญ คือ การเกิดของวัฒนธรรมหนังสือเล่มละบาทที่พิมพ์เป็นเล่มเล็ก จำนวนไม่มากนัก เสนอประเด็นเฉพาะเรื่อง และขายในสถาบันการศึกษาหรือหน้าประตูโรงเรียนสำคัญ ซึ่งเป็นการขยายความรู้กระแสรอง ให้กว้างออกไป

หนังสือเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงการขยายความรู้เท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างอุดมการณ์ หรือจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม หนังสือเช่น หนุ่มสาวคือชีวิต ผลงานของ”ศราวก”(อนุช อาภาภิรม) เรื่องโลกของหนูแหวน หรือแม้กระทั่ง นวนิยายเรื่อง เขาชื่อกานต์ ของสุวรรณี สุคนธา ก็มีส่วนอย่างมากในการสร้างแรงบันดาลใจสำหรับเยาวชนคนหนุ่มสาว อันนำมาซึ่งขบวนการ 14 ตุลา

หลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคมผ่านไปด้วยชัยชนะของประชาชน นำมาซึ่งยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน ก็ได้นำมาซึ่งยุคเบ่งบานหรือบูมของตลาดหนังสือด้วย ได้มีการพิมพ์หนังสือใหม่ออกมาเป็นจำนวนมากมายอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ตั้งแต่ พ.ศ.2517 จะเห็นการเฟื่องฟูของหนังสืออย่างชัดเจน หนังสือเหล่านี้เผยแพร่ความรู้ใหม่ ความคิดใหม่ และกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างอุดมการณ์ใหม่ แต่ที่สำคัญคือหนังสือเหล่านี้”ขายได้”หรือเป็นที่ต้องการของตลาด หลายเรื่องขายดีต้องพิมพ์ซ้ำหลายครั้ง นั่นหมายถึงว่า กรณี 14 ตุลาได้สร้างการบูมของการซื้อหนังสือด้วย เงินที่ได้จากการพิมพ์หนังสือเล่มเดิม นำมาสู่การพิมพ์หนังสือเล่มใหม่ ทำให้ความรู้ความคิดใหม่ขยายตัวอย่างมาก และกลายเป็นเรื่องท้าทายสั่นคลอนความรู้กระแสหลักในสังคมไทย

ทั้งนี้คงต้องอธิบายเพิ่มเติมว่า หนังสือใหม่จำนวนมากที่เป็นหนังสือขายดีสำหรับยุคสมัย ก็คือหนังสือสังคมนิยม เพราะในสมัยเผด็จการ ความรู้เรื่องสังคมนิยมเป็นเรื่องต้องห้าม ศึกษาหรือเผยแพร่ได้เพียงด้านเดียว คือ  ด้านที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์เท่านั้น ข้อมูลกระแสหลักถือว่า จีนคอมมิวนิสต์นั้นเป็นศัตรู มีการสร้างภาพเกี่ยวกับความเลวร้ายของคอมมิวนิสต์ โดยยกตัวอย่างด้านลบของคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งจำนวนมากเป็นเรื่องที่บิดเบือนเติมแต่ง สถานะที่เป็นของประเทศจีน ไม่ได้เป็นที่ทราบกันมาก่อน เพราะความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนก็ไม่มี เผด็จการไทยรับรองจีนก๊กมินตั๋งเสมอ ดังนั้น ความรู้ใหม่เกี่ยวกับจีนจึงกลายเป็นเรื่องแรกที่ประชาชนสนใจใคร่รู้ เมื่อองค์การนักศึกษาธรรมศาสตร์ จัดนิทรรศการจีนแดงเมื่อต้นปี พ.ศ.2517 จึงกลายเป็นนิทรรศการที่มีผู้ชมมากมายมหาศาล หนังสือในงานขายหมดจนต้องพิมพ์ซ้ำ และนิทรรศการก็ต้องจัดซ้ำ ความรู้เรื่องจีนจึงเป็นเรื่องใหม่ในความสนใจของประชาชนที่เฟื่องฟูเป็นเรื่องแรก

หลังจากนั้น ก็ได้มีการพัฒนามาสู่การเผยแพร่หนังสือลัทธิมาร์กซ ทฤษฎีสังคมนิยม ประวัติของนักต่อสู้สังคมนิยม เช่น เช กูวารา เหล่านี้ กลายเป็นหนังสือขายดี และนำมาสู่หนังสือด้านอื่น โดยเฉพาะหนังสือที่เสนอข้อมูลเชิงวิพากษ์ ตั้งแต่วิพากษ์การนำเสนอประวัติศาสตร์แบบเดิมที่มุ่งอธิบายบุญญาบารมีของชนชั้นนำ มาสู่กระแสใหม่อันเป็นประวัติศาสตร์เศรษฐกิจสังคม และเป็นประวัติศาสตร์ของประชาชนชนชั้นล่าง กระแสวิพากษ์ความไม่เท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในสังคม วิพากษ์หลักสูตรการศึกษาและวิพากษ์การศึกษาเพื่อผู้กดขี่ นำเสนอปัญหาความไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศ หรือเรื่องการกดขี่สตรี เป็นต้น ซึ่งอาจสรุปได้ว่า วัฒนธรรมหนังสือที่พัฒนาหลัง 14 ตุลา กลายเป็นวัฒนธรรมหนังสือกระแสใหม่ ที่จะมีผลอย่างมากในการเปลี่ยนโครงสร้างทางความคิดของขบวนการนักศึกษา

ในกระบวนการนี้ นวนิยายแบบใหม่ก็ได้เกิดขึ้นและพัฒนาด้วย ซึ่งก็คือการเกิดของนวนิยายเพื่อชีวิต ซึ่งไม่ได้หมายรวมเพียงเรื่องแลไปข้างหน้า หรือ ปีศาจของเสนีย์ เสาวพงศ์เท่านั้น แต่ต้องนับรวมวรรณกรรมต่างประเทศที่สะท้อนสังคม เช่น เรื่องแม่ ของ แมกซิม กอร์กี้ ฉบับแปลของศรีบูรพา ซึ่งมีเพียงครึ่งเรื่องแรก เรื่อง เหยื่ออธรรม ของ จูเลียต ซึ่งมีครึ่งเรื่องเช่นกัน เรื่อง คนขี่เสือ ฉบับแปลของทวีปวร และเมื่อ พ.ศ.2519 เมื่ออุดมการณ์ลัทธิมาร์กซของขบวนการนักศึกษาเข้มข้นมากขึ้น ก็มีการพิมพ์เรื่อง เบ้าหลอมนักปฏิวัติ ซึ่งเรียกร้องวินัยและการเสียสละเพื่ออุดมการณ์ นอกจากนี้ ก็คือการพิมพ์วรรณกรรมแปลจากจีนเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นวรรณกรรมรักชาติและวรรณกรรมปฏิวัติ เช่น เรื่อง พายุ ตะเกียงแดง หญิงผมขาว หรือ หลิวหูหลาน ก็เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี

หนังสือที่นำเสนอในเชิงของชีวทัศน์อย่างเข้มข้นในลักษณะอื่น ก็พิมพ์ออกสู่ตลาดหนังสือมากขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2518 เป็นต้นมา เช่น เสริมทฤษฎี ชีวทัศน์เยาวชน พลังชีวิต ทัศนะความรักที่ก้าวหน้า ฯลฯ หนังสือเหล่านี้กลายเป็นเครื่องมือในการดัดแปลงตนเองของนักศึกษาให้เป็นนักปฏิวัติที่เสียสละเพื่อประชาชน จิตสำนึกเพื่อส่วนรวมที่สร้างขึ้นในช่วงก่อน 14 ตุลา พัฒนามาเป็นจิตใจรับใช้ประชาชน จิตสำนักปฏิวัติโดยผ่านกระบวนการของหนังสือ หรืออธิบายในอีกด้านหนึ่งก็คือ วัฒนธรรมหนังสือมีส่วนสำคัญในการปรับโฉมหน้าของขบวนการ 14 ตุลาไปสู่การกลายเป็นขบวนการปฏิวัติสังคม

อยากจะตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ในท่ามกลางการเฟื่องฟูของหนังสือสังคมนิยม หนังสือต่อต้านคอมมิวนิสต์ก็เฟื่องฟูขึ้นด้วย มีการพิมพ์หนังสือที่มีเนื้อหาต่อต้านคอมมิวนิสต์ออกมาอย่างมากมายเป็นประวัติการเช่นเดียวกัน ในช่วง พ.ศ.2517-2519 แต่หนังสือเหล่านี้กลับไม่เป็นที่นิยม ไม่ครองใจตลาด และยอดขายเทียบไม่ได้เลยกับหนังสือฝ่ายสังคมนิยม

เมื่อเกิดการกวาดล้างในกรณี 6 ตุลา วัฒนธรรมหนังสือลักษณะดังกล่าวก็ปิดฉากลงด้วย แน่นอนว่าระยะตั้งแต่ พ.ศ.2521 มีการรื้อฟื้นการพิมพ์หนังสือสังคมนิยม หรือรื้อฟื้นเอาหนังสือช่วง 14 ตุลากลับมาตีพิมพ์ แต่ไม่เคยบูม ขายดี หรือเฟื่องฟูเท่าช่วงหลัง พ.ศ.2516 อีกเลย ยิ่งหนังสือต่อต้านคอมมิวนิสต์ก็ปิดฉากสมบูรณ์เช่นกัน

นี่ถือว่าเป็นเรื่องเล่าสู่กันฟัง


เผยแพร่ครั้งแรกในโลกวันนี้ วันสุข ฉบับที่ 484 วันที่ 20 ตุลาคม 2557
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โสภณ พรโชคชัย: อย่าสร้างบ้านเอื้ออาทรอีกนะครับ

$
0
0

"โสภณ พรโชคชัย" เสนออย่าสร้าง "บ้านเอื้ออาทร" อีก เหตุเพราะการผลิตที่อยู่อาศัยของภาคเอกชนมีประสิทธิผลสูง จนกระทั่งทำให้ประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มที่ประสบความสำเร็จในการลดปัญหาสลัม นโยบายบ้านเอื้ออาทรจะทำลายระบบตลาด-ทำลายผู้ประกอบการรายย่อยที่สามารถตอบสนองต่อตลาดได้ดีอยู่แล้ว

000

ผมเห็นการเคหะแห่งชาติสร้างบ้านเอื้ออาทรจำนวนมหาศาลแล้ว ท้อใจแทน นี่เป็นหนึ่งในนโยบายในสมัยนายกฯ ทักษิณที่ผมไม่เห็นด้วยมาแต่แรก  แต่ทั้งนี้ท่านอาจหวังดีต่อคนจน และคงได้รับการเพ็ดทูลโดยฝ่ายข้าราชการประจำ วันนี้ผมเลยขอเขียนให้เห็นสักหน่อย เผื่อเกิดรัฐบาลทหารคิดจะทำ "ประชานิยม" ขึ้นมาบ้าง จะได้ไม่นำนโยบายบ้านเอื้ออาทรกลับมาปัดฝุ่นอีก

 

เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2546 ผมทำหนังสือถึงนายกฯ ทักษิณ แจ้งให้ท่านทราบว่าผมไม่เห็นด้วยกับนโยบายบ้านเอื้ออาทร ผมเรียนว่า "ฯพณฯ มีดำริเรื่องนี้จากการไปดูงาน ณ กรุงมอสโก   เมื่อ 3 เดือนก่อน และพบว่าเขาสร้างที่อยู่ให้ประชาชน 4 ล้านตารางเมตรนั้น กระผมขอกราบเรียนข้อเท็จจริงเพื่อ ฯพณฯ ทราบว่า ที่นั่นภาคเอกชนอ่อนแอจนรัฐบาลต้องแบกรับภาระไว้เอง"

"แต่ที่ประเทศไทยของเรา ตลอดเวลาที่ผ่านมารัฐบาลแทบไม่ต้องสร้างบ้านคนจนเลย กระผมได้ค้นพบว่า เฉพาะในช่วงปี 2533-2541 ภาคเอกชนไทยได้สร้างทาวน์เฮาส์และอาคารชุดราคาถูก (หน่วยละไม่เกินสี่แสนบาท) ถึง 226,810 หน่วย รวมพื้นที่ 6-7 ล้านตารางเมตรในเขต กทม.และปริมณฑล การผลิตที่อยู่อาศัยของภาคเอกชนไทยมีประสิทธิผลสูง จนกระทั่งทำให้ประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มที่ประสบความสำเร็จในการลดปัญหาสลัม  นอกจากนี้ค่าเช่าบ้านก็ต่ำมาก เช่น ห้องชุดที่ขายไม่ออกย่านชานเมืองได้ถูกดัดแปลงให้เช่าในอัตราเดือนละ 500-2,000 บาท ซึ่งถูกกว่าค่าเช่าห้องในสลัมย่านใจกลางเมือง"

ผมเสนอท่านว่า การทำบ้านเอื้ออาทรจึงเป็นการใช้เงินงบประมาณโดยผลที่ได้รับอาจไม่คุ้มค่า เนื่องจากเฉพาะในเขต กทม. และปริมณฑลในขณะนั้น ยังมีบ้านที่สร้างเสร็จแต่ไม่มีผู้เข้าอยู่อาศัยในตลาดถึง 340,000 หน่วย นโยบายนี้ยังทำลายระบบตลาดและทำลายผู้ประกอบการรายย่อยที่สามารถตอบสนองต่อตลาดด้วยดีอยู่แล้ว และอีกประการหนึ่งยังขัดต่อ พ.ร.บ.จัดสรรที่ดิน เพราะลดคุณภาพ-มาตรฐานการอยู่อาศัยลง ซึ่งเป็นการสวนทางกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน

สาเหตุหนึ่งที่รัฐบาลขณะนั้นออกนโยบายเรื่องเอื้ออาทร ก็เพราะได้รับข้อมูลคลาดเคลื่อน เช่นว่า ในประเทศไทยมีการบุกรุกที่ดินถึง 5,000 ชุมชน รวม 1.6 ล้านครอบครัว  ซึ่งผมเป็นผู้สำรวจสลัมทั่วประเทศและพบว่าประเทศไทยมีสลัมทั้งหมด 1,589 ชุมชน มีประชากร 1.8 ล้านคน หรือราว 3% ของคนไทยเท่านั้น  และส่วนใหญ่เป็นชุมชนเช่าที่ปลูกบ้านและชุมชนเจ้าของบ้านพร้อมที่ดิน ชุมชนบุกรุกมีเพียงส่วนน้อยมาก  ยิ่งกว่านั้นประชากรสลัมส่วนใหญ่ไม่ใช่คนจน ในประเทศไทยมีคนจน (ผู้ที่อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจนและแทบทั้งหมดอยู่ในชนบท) เพียง 12.5% ซึ่งใกล้เคียงกับในสหรัฐอเมริกา  การนำเสนอตัวเลขที่สูงผิดปกติ อาจเพราะนับรวมชาวเขา สมัชชาคนจน ผู้บุกรุกป่า ฯลฯ เข้าไว้ด้วย จึงทำให้เกิดความสับสน

ความจริงแล้วนโยบายนี้ได้ใช้ดำเนินการสำหรับชาวสลัมไล่รื้อมาตลอด 30 ปีที่ผ่านมา โดยไม่ประสบความสำเร็จ เพราะชาวสลัมส่วนนี้มักจะนำบ้าน ที่ดิน ห้องชุดที่ได้รับไปขายต่อหรือให้เช่าช่วงทั้งเปิดเผยหรือปิดลับ เพื่อทำกำไร และที่ยังไม่ขายก็มีจำนวนมากที่ไม่ยอมผ่อนชำระต่อ กลายเป็นหนี้เสียไปทั้งชุมชนก็มีหลายต่อหลายแห่ง ดังนั้น การขยายมาตรการนี้ออกสู่ตลาดที่อยู่อาศัยทั่วไปอาจจะสร้างผลกระทบทางลบได้เป็นอย่างมาก

หมายเหตุ: ข้อมูลจากรายงานประจำปีล่าสุด พ.ศ.2555 ของการเคหะแห่งชาติ

โครงการนี้แต่แรกจะสร้างถึง 1,000,000 หน่วย แต่ต่อมาลดเหลือ 600,000 หน่วย และ เมื่อพิจารณาจากข้อมูลในรายงานประจำปีฉบับปี 2555 ซึ่งเป็นปีล่าสุดพบว่าการเคหะแห่งชาติสร้างบ้านเอื้ออาทรได้เพียง 264,767 หน่วยเท่านั้น หรือสร้างได้ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของที่วางแผนไว้นั่นเอง  ยิ่งกว่านั้นเมื่อนับจากฐานข้อมูลของการเคหะแห่งชาติ ณ เดือนกันยายน 2557 พบว่า มีบ้านเอื้ออาทรอยู่ 286,517 หน่วย แล้วเสร็จ 282,414 หน่วย หรือ 99% ของทั้งหมด  อย่างไรก็ตามในจำนวนนี้ยังมีบ้านเอื้ออาทรเหลือขายเป็นจำนวนมาก ที่ขายไปแล้วก็ถูกทยอยยึดคืนเดือนละ 300-500 หน่วย  หลายส่วนก็กำลังทยอยขายต่อหรือปล่อยเช่าในท้องตลาดทั่วไป

 

ตารางแสดงจำนวนบ้านเอื้ออาทร ณ เดือนกันยายน 2557

 

ประเภทบ้าน

 สร้างเสร็จ

 %ที่สร้างเสร็จ

 ทั้งหมด

บ้านเดี่ยว

    49,731

98%

    50,916

บ้านแฝด

11,985

90%

    13,274

บ้านแถว

15,551

93%

    16,645

บ้านหลายแบบ

7,803

100%

     7,803

อาคารชุด

197,344

100%

 197,879

รวมทั้งหมด

282,414

99%

 286,517

และโดยที่บ้านเอื้ออาทรมีราคาถูก ค่าดูแลต่างๆ ที่จัดเก็บบ้างก็จัดเก็บไม่ได้ บ้างก็ไม่ค่อยพอเพียงกับค่าใช้จ่าย จึงทำให้สภาพแวดล้อมในการอยู่อาศัยยังต้องมีการปรับปรุงกันตามสมควร กลายเป็นภาระสำคัญของการเคหะแห่งชาติต่อไป  กรณีนี้ควรที่เจ้าของทรัพย์สินจะช่วยกันดูแลโดยการออกค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม แต่ผู้มีรายได้น้อยบางส่วนก็ไม่สามารถจ่ายได้

จะเห็นได้ว่าในรอบเกือบ 40 ปีที่ผ่านมา การเคหะแห่งชาติสร้างที่อยู่อาศัยแบบเคหะชุมชนได้เพียง 141,863 หน่วย ซึ่งสร้างได้รวมมูลค่าน้อยกว่าที่ บมจ.พฤกษาเรียลเอสเตท สร้างเพียงบริษัทเดียวเสียอีก  ดังนั้นนโยบายที่อยู่อาศัยต่อผู้มีรายได้น้อยจึงควรเป็นการส่งเสริมภาคเอกชนให้สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชน (enabling policy) โดยการอำนวยความสะดวกให้กลไกตลาดสามารถจัดหาที่อยู่อาศัยแก่ประชาชนโดยรัฐบาลไม่ต้องแบกรับภาระ บ้าน “เอื้ออาทร” จึงเป็นการใช้เงินงบประมาณโดยผลที่ได้รับอาจไม่คุ้มค่า

นอกจากนี้ทางราชการควรมีการคุ้มครองผู้บริโภค โดยถือว่าผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง (ไม่ใช่ผู้ประกอบการ) เพราะถ้าผู้บริโภคได้รับความคุ้มครอง ก็จะเกิดความมั่นใจต่อตลาดที่อยู่อาศัยส่งผลให้มีการซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น และส่งผลดีต่อผู้ประกอบการ และทุกฝ่ายในที่สุด

การมีองค์กรอิสระเพื่อการสนับสนุนด้านข้อมูลและนโยบาย เช่น การมีคณะกรรมการนโยบายที่อยู่อาศัยที่เป็นอิสระ ไม่ใช่แต่งตั้งตามใจชอบจากฝ่ายการเมืองหรือข้าราชการประจำ การมีศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอิสระโดยไม่ต้องอยู่ใต้อาณัติของผู้มีส่วนได้เสียฝ่ายใดในวงการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ การมีสภาอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นศูนย์รวมผู้เกี่ยวข้องทุกสาขาวิชาชีพอย่างแท้จริง ซึ่งไม่ใช่จำกัด/ขีดวงเฉพาะผู้ประกอบการพัฒนาที่ดิน ก็เป็นสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง

ยิ่งกว่านั้นยังควรสร้างกลไกป้องปรามเพื่อความเป็นธรรม เช่น ในกรณีที่ผู้ซื้อบ้านทำผิดสัญญา ไม่ยอมรับโอนทรัพย์สิน จะต้องถูกยึดเงินดาวน์ ในทางตรงกันข้ามหากเจ้าของโครงการสร้างเสร็จช้ากว่ากำหนดตามสัญญา หรือไม่ปฏิบัติตามสัญญา ก็ต้องถูกปรับในอัตราที่เหมาะสม หรือในกรณีลูกหนี้ไม่อาจชำระหนี้ได้ตามสัญญา จะต้องมีการบังคับคดีและมีกลไกการขายทอดตลาดที่มีประสิทธิภาพ หรือถ้าผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน ดำเนินการประเมินผิดพลาด ก็ต้องจ่ายค่าปรับ (เช่น 20-50 เท่าของค่าจ้าง) หรือถ้านายหน้าฉ้อฉล จะต้องยึดใบอนุญาตเป็นต้น

บทเรียนเรื่องบ้านเอื้ออาทรจึงเป็นบทเรียนราคาแพง ที่แม้จะทำให้หลายต่อหลายคนมีบ้านได้ แต่โดยที่บ้านในตลาดเปิดสามารถขายให้กับประชาชนในราคาถูกได้เช่นกัน การสร้างบ้านแบบนี้จึงอาจไม่จำเป็น สู้นำงบประมาณไปใช้สร้างสรรค์ทางอื่นดีกว่านั่นเอง

 

ผู้แถลง:

ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แอมเนสตี้ฯ ออกแถลงการณ์ย้ำเรียกร้องสอบกรณี ‘บิลลี่’ หายตัว

$
0
0

แอมเนสตี้ฯ ออกแถลงการณ์ครบ 6 เดือน ‘บิลลี่’แกนนำกะเหรี่ยงแก่งกระจานหายตัวลึกลับ เรียกร้องเจ้าหน้าที่รัฐสอบสวนโดยใช้ทุกมาตรการเพื่อนำตัวคนผิดมาลงโทษ

21 ต.ค.2557 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์ย้ำเรียกร้องเจ้าหน้าที่รัฐสอบสวนกรณีนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี หายตัวไปอย่างลึกลับนานกว่า 6 เดือน โดยเรียกร้องให้ใช้มาตรการที่จำเป็นทุกอย่างเพื่อนำตัวผู้ต้องสงสัยมาลงโทษ

นายพอละจี หรือบิลลี่ หายตัวไปตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2557 ที่ผ่านมา ขณะอยู่ระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยก่อนหน้านั้นในเดือนพฤษภาคม 2554 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้ทำการการอพยพ ผลักดัน และจับกุมชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในป่าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยทำการไล่รื้อ จับกุม และเผาทำลายบ้านเรือนและทรัพย์สินของชาวบ้านเสียหายเป็นจำนวนมาก จนนำไปสู่การเคลื่อนไหวต่อสู้และฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญากับหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยบิลลี่เป็นหนึ่งในแกนนำชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ที่ต่อสู้ในประเด็นดังกล่าวก่อนที่จะหายตัวไปอย่างมีเงื่อนงำ โดยที่ก่อนหน้านั้นในเดือนกันยายน 2554 นายทัศน์กมล โอบอ้อม แกนนำปกป้องสิทธิชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจานอีกคนหนึ่ง ถูกมือปืนประกบยิงเสียชีวิตขณะขับรถกลับที่พัก ซึ่งคาดว่าสาเหตุมาจากการเคลื่อนไหวปกป้องสิทธิชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน โดยทั้งนี้กรณีการหายตัวไปของบิลลี่เป็นที่จับตาขององค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศหลายองค์กร

แถลงการณ์มีรายละเอียดดังนี้

 

แอมเนสตี้ฯ ออกแถลงการณ์ครบรอบ 6 เดือนการหายตัวของบิลลี่
หกเดือนผ่านไป ยังไม่ทราบชะตากรรมของนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน

หกเดือนหลังจากคาดว่านายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนได้ตกเป็นเหยื่อการบังคับบุคคลให้สูญหายในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ทางภาคตะวันตกของไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลขอเรียกร้องอีกครั้งให้ทางการสอบสวนเพื่อให้ทราบชะตากรรมและที่อยู่ของเขาโดยเร่งด่วน ทางหน่วยงานยังกระตุ้นให้ทางการประกันที่จะใช้มาตรการที่จำเป็นทุกประการ เพื่อให้นำตัวผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ทำการบังคับบุคคลให้สูญหายมาลงโทษ

คาดการณ์ว่าบิลลี่ อายุ 30 ปี นักเคลื่อนไหวเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมชาวกะเหรี่ยง ซึ่งมีลูกเล็กห้าคน อาจถูกทำให้สูญหาย เนื่องจากพยายามใช้ขั้นตอนเพื่อให้หน่วยงานราชการรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่กระทำต่อชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งเป็นอุทยานแห่งชาติใหญ่สุดของประเทศไทย

การบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายด้าน และเป็นความผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศ ทำให้ผู้สูญหายและครอบครัวต้องตกเป็นเหยื่อ ครอบครัวต้องทนทุกข์ทรมานเฝ้ารอคนที่รักให้กลับคืนมา การบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นสิ่งที่ไม่ชอบธรรมไม่ว่าในพฤติการณ์ใดๆ

มีผู้พบเห็นบิลลี่เป็นครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 ขณะที่เขาถูกควบคุมตัวโดยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและเจ้าหน้าที่อุทยานอีกสามคน ในช่วงที่คาดว่าจะเกิดการบังคับบุคคลให้สูญหาย บิลลี่อยู่ระหว่างเดินทางจากหมู่บ้านไปพบกับพี่น้องชาวกะเหรี่ยง เพื่อปรึกษาเกี่ยวกับการบังคับไล่รื้อและการเผาบ้านเรือนทรัพย์สิน โดยชุมชนชาวกะเหรี่ยงเตรียมฟ้องคดีต่อหัวหน้าอุทยานแห่งชาติ เขาได้นำเอกสารที่เกี่ยวข้องกับคดีติดตัวไปด้วย รวมทั้งฎีการ้องทุกข์ที่เขาเตรียมยื่นต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ในเดือนตุลาคม พนักงานสอบสวนประกาศว่าค้นพบรอยเลือดที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ ซึ่งจากการทดสอบในเบื้องต้นคาดว่าเป็นของผู้ชาย และเป็นรอยเลือดที่พบอยู่ในรถของเจ้าหน้าที่อุทยาน

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติอ้างว่า บิลลี่ถูกจับและได้รับการปล่อยตัวในวันเดียวกัน หลังจากถูกสอบสวนกรณีครอบครองน้ำผึ้งป่า แต่ไม่มีบันทึกการจับกุมหรือควบคุมตัวอย่างเป็นทางการ กรณีของบิลลี่ชี้ให้เห็นความเสี่ยงของนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิชุมชนที่จะตกเป็นเหยื่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นการขัดขวางการดำเนินงานด้วยสันติวิธีเพื่อคุ้มครองชุมชนของตนเอง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลขอกระตุ้นอีกครั้งให้ทางการไทยปฏิบัติตามพันธกรณีที่จะยุติวงจรการลอยนวลพ้นผิดในประเทศ กรณีที่มีผู้ทำร้ายนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและให้คุ้มครองสิทธิด้านสิ่งแวดล้อม และบุคคลที่ปกป้องสิทธิเหล่านี้

ข้อมูลพื้นฐาน
ประเทศไทยลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) เมื่อเดือนมกราคม 2555 และแสดงท่าทีว่าจะมีการให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาดังกล่าว นับแต่ต้นทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา เชื่อว่ามีบุคคลจำนวนมากที่ตกเป็นเหยื่อของการบังคับบุคคลให้สูญหาย

ชาวกะเหรี่ยงซึ่งอยู่อาศัยอยู่ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าเขาในจังหวัดเพชรบุรี พรมแดนติดกับพม่า ได้ตกเป็นเหยื่อการบังคับไล่รื้อและการทำลายทรัพย์สินโดยเจ้าหน้าที่อุทยาน ในบรรดาผู้ได้รับผลกระทบยังรวมถึงคุณปู่อายุ 100 ปีของบิลลี่

นายทัศน์กมล โอบอ้อม อดีตผู้สมัคร สส. และนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมที่เรียกร้องสิทธิของชุมชน ได้ถูกสังหารระหว่างขับรถตอนกลางคืนในเดือนกันยายน 2554 โดยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติได้ถูกตั้งข้อหาว่าเป็นผู้จ้างวานฆ่า และเขาเป็นบุคคลสุดท้ายที่พบเห็นบิลลี่ นายทัศน์กมลซึ่งเป็นสมาชิกเครือข่ายของบิลลี่ ให้ความช่วยเหลือชาวบ้านกะเหรี่ยงในการแจ้งความว่าโดนทำร้าย และเจ้าหน้าที่ตัดไม้เถื่อนและล่าสัตว์อย่างผิดกฎหมาย ศาลจังหวัดเพชรบุรีจะมีคำพิพากษาในคดีนี้ในช่วงปลายเดือน

นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและนักสิ่งแวดล้อมในชุมชนของไทย มักต้องทำงานในสภาพที่เสี่ยงภัยและยุ่งยากเป็นอย่างมาก หลายคนเป็นชาวบ้านอยู่ในชุมชนชนบทหรือกึ่งชนบท ซึ่งต้องเผชิญกับโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ หรือการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และการทำให้เกิดกากมลพิษ สมาชิกในชุมชนรวมทั้งผู้นำมักตกเป็นเหยื่อการคุกคามและการทำร้าย ตั้งแต่ปี 2536 เป็นต้นมา มีนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนหลายคน ได้ถูกสังหารจนเสียชีวิต และผู้จ้างวานฆ่ามักจะไม่ได้ถูกนำตัวมาลงโทษ ส่วนคนอื่นๆ ตกเป็นเหยื่อของการทำร้ายและการข่มขู่ในรูปแบบอื่น

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลทหารสั่งพิจารณาลับ ! คดี 112

$
0
0

 

21 ต.ค.2557  ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ซึ่งเป็นองค์กรที่ติดตามคดีเกี่ยวกับเสรีภาพ เปิดเผยว่า วันนี้ที่ศาลทหาร กรุงเทพฯ มีนัดสอบคำให้การผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 จำนวน 2 ราย รายแรกเป็นชายไม่เปิดเผยชื่อ อีกรายคือ นายคฑาวุธ (สงวนนามสกุล) ดีเจรายการวิทยุทางอินเทอร์เน็ต โดยศาลมีคำสั่งพิจารณาคดีเป็นการลับ และนัดสอบคำให้การนายคฑาวุธในวันที่ 18 พ.ย. สอบคำให้การชายไม่เปิดเผยชื่อในวันที่ 24 พ.ย.

ทั้งนี้ ในวันนี้มีผู้สังเกตการณ์คดีทั้งจากองค์กรข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ(OHCHR) เจ้าหน้าที่จากสหภาพยุโรป (อียู) สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส) และไอลอว์

ยิ่งชีพกล่าวว่า ระหว่างรอฟังการพิจารณาคดีในช่วงสายวันนี้ เจ้าหน้าที่ของศาลทหารได้เข้ามาแจ้งกับผู้สังเกตการณ์คดีว่าศาลมีคำสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับ โดยเป็นอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เมื่อมีการสอบถามถึงเหตุผลเจ้าหน้าที่ไม่สามารถตอบคำถามได้จึงได้เชิญเจ้าหน้าที่ผู้ใหญ่มาชี้แจง จากนั้นมีการอนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์ทั้งหมดเข้าห้องพิจารณาคดีได้เพื่อฟังคำสั่งศาล ในห้องพิจารณา อัยการทหารได้แถลงว่า เนื่องจากคดีนี้เกี่ยวข้องกับความมั่นคง และการดูหมิ่น หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ หากข้อความที่ถูกกล่าวหาเป็นที่ล่วงรู้ไปภายนอกจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน หลังสิ้นสุดการแถลงของอัยการ ศาลได้มีคำสั่งให้การพิจารณาคดีของทั้ง 2 คดีนี้เป็นไปโดยปิดลับ ญาติผู้ต้องหาและผู้สังเกตการณ์ทั้งหมดจึงต้องออกจากห้องพิจารณาคดี

เจ้าหน้าที่จากไอลอว์ระบุด้วยว่า คำสั่งพิจารณาคดีลับนี้ได้รับการบันทึกในรายงานกระบวนพิจารณาคดีด้วย แต่เมื่อทนายจำเลยขอคัดสำเนารายงานดังกล่าว ศาลกลับไม่อนุญาตโดยให้เหตุผลว่าได้อ่านคำสั่งให้ฟังแล้ว

สำหรับคดีของชายผู้ไม่เปิดเผยชื่อ ทนายจำเลยได้ร้องขอต่อศาลให้เลื่อนสอบคำให้การ และศาลนัดใหม่เป็นวันที่ 24 พ.ย. ขณะที่คดีของคฑาวุธ ทนายได้ขอเลื่อนสอบคำให้การเช่นกันและศาลให้เลื่อนเป็นวันที่ 18 พ.ย.

ยิ่งชีพกล่าวอีกว่า วันเดียวกัน ทนายความของนายคฑาวุธได้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวเป็นครั้งที่ 6 โดยใช้เงินสด 800,000 บาท พร้อมทั้งยื่นคำร้องขอให้ศาลเรียกพนักงานสอบสวนมาไต่สวนเกี่ยวกับพฤติการณ์จำเลยด้วย แต่ศาลสั่งยกคำร้อง ไม่อนุญาตให้ประกันตัวโดยระบุเหตุผลว่า

“คดีนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 10 ปี จึงเป็นกรณีที่ศาลต้องถามโจทก์ก่อนว่าจะคัดค้านหรือไม่

โจทก์คัดค้านเนื่องจากเป็นความผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และความมั่นคงของประเทศ เกรงว่าจำเลยจะหลบหนี

พิเคราะห์แล้ว คดีมีอัตราโทษสูง จำเลยอาจหลบหนี ประกอบกับโจทก์คัดค้านจึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว”

ทั้งนี้ ชายไม่เปิดเผยชื่อ ถูกทหารบุกจับกุมที่บ้านพักตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค.2557 และถูกคุมขังในเรือนจำมาจนปัจจุบัน ส่วนคฑาวุธเป็นนักจัดรายการวิทยุ ใช้ชื่อว่า "คฑาวุธ นายแน่มาก" เป็นรายการวิเคราะห์การเมืองเผยแพร่ทางเว็บไซต์ เขาถูกเรียกเข้ารางานตัวตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 44/2557 หลังคุมตัวครบ 7 วัน เขาถูกตั้งข้อหาตามมาตรา 112 โดยเจ้าหน้าที่กล่าวหาว่าคลิปเสียงรายการตอนหนึ่งมีเนื้อหาเข้าข่ายความผิดดังกล่าว จึงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำจนปัจจุบันเช่นเดียวกัน

ผู้สื่อข่ายรายงานเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาคดี 112 ส่วนใหญ่มีการพิจารณาโดยเปิดเผย แต่เบื้องต้นมีอยู่ 2 คดีที่ผู้พิพากษาสั่งพิจารณาคดีลับ คดีแรกคือ คดีของนายบัณฑิต อานียา นักเขียนสูงวัย มีการพิจารณาในศาลชั้นต้นเมื่อปี 2548 อีกคดีหนึ่งคือ คดีของดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือดา ตอร์ปิโดซึ่งกรณีนี้จำเลยได้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความว่าคำสั่งพิจารณาคดีลับขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม ทั้งสองคดีพิจารณาในศาลยุติธรรมปกติ ไม่ใช่ศาลทหาร

 

อ่านรายละเอียดคดีคฑาวุธ
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชมภาพชุด ความเงียบเหงาของปากมูนหลังปิดเขื่อน - การต่อสู้ในภาวะสุญญกาศ

$
0
0

21 ต.ค.2557  เพจร่วมกันเปิดประตูเขื่อนปากมูล ถาวรเผยแพร่รูปเขื่อนปากมูลในวันที่ปิดเขื่อน โดยระบุว่า “ปากมูน เงียบเหงาหลังเขื่อนปากมูลปิดประตูระบายน้ำ คนหาปลาเริ่มละทิ้งลำน้ำ เรือหาปลาถูกเก็บขึ้นฝั่ง ต่อจากนี้ไปงานใหม่คือ การไปรับจ้างต่างถิ่น รอปีหน้าเขื่อนปากมูลเปิดประตูระบายน้ำอีกครั้ง ค่อยกลับมาหาปลาใหม่”

ทั้งนี้ เขื่อนปากมูล เป็นเขื่อนในจังหวัดอุบลราชธานี อยู่ห่างจากลำน้ำมูลและน้ำโขงไปทางตะวันตกประมาณ 5.5 กิโลเมตร ก่อสร้างโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยได้รับการสนับสนุนจากธนาคารโลก โดยมีค่าก่อสร้างทั้งสิ้น 240 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2537

ปัญหาเขื่อนปากมูลอาจเป็นที่คุ้นหูผู้คนมายาวนาน แต่อาจมีคนไม่มากนักที่ะทราบและยังจำได้ว่าว่าเหตุใดผ่านมาหลายรัฐบาลเรื่องราวจึงยังไม่ไปถึงไหนเสียที ในการเปิด-ปิดเขื่อนแห่งนี้ เพราะในขณะที่ชาวบ้านเรียกร้องให้เปิดกฟผ.เจ้าของโครงการก็ต้องการจะปิด

ล่าสุด ปีนี้ก็เป็นอีกปีที่ความขัดแย้งปะทุขึ้น หลังจาก กฟผ.ตัดสินใจปิดประตูระบายน้ำของเขื่อนเมื่อ 13 ต.ค.ที่ผ่านมาโดยอ้างว่าจะต้องเก็บกักน้ำไว้ในในฤดูแล้ง และแทบจะทันทีเช่นกัน ที่กลุ่มสมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูล ประมาณ 30 คน นำโดยนางสมปอง เวียงจันทร์ ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงนายเสริม ไชยณรงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อคัดค้านการปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลทั้ง 8 บานดังกล่าว

“ตอนนี้ทุกอย่างกลับไปสู่สุญญากาศอีกครั้ง” กฤษกร ศิลารักษ์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน กล่าวถึงสภาวะที่ชาวบ้านต้องเริ่มต้นเคลื่อนไหวเรียกร้องกันใหม่แบบแทบจะเริ่มนับศูนย์

ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน เท้าความให้ฟังว่า ข้อขัดแย้งเรื่องนี้มีมาอย่างยาวนาน จนกระทั่งถึงยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ได้มีมติครม.สรุปให้เปิดเขื่อนในช่วงฤดูปลาวางไข่ได้ 4 เดือน หรือที่เรียกกันติดปากว่า ‘เปิด 4 ปิด 8’ โดยอาจเริ่มต้นเปิดตั้งแต่เดือนพฤษภาคม หรือมิถุนายน จากนั้นมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเมื่อถึงยุคของรัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ เนื่องจากปีนั้นระดับน้ำขึ้นสูง รัฐบาลเกรงน้ำจะท่วมเมืองอุบลราชธานี จึงมีมติครม.เปลี่ยนแปลงมติครม.เดิม โดยกำหนดการเปิดเขื่อนเมื่อระดับน้ำเพิ่มสูง ชาวบ้านยังคงไม่พอใจและมีการเรียกร้องต่อรองเรื่อยมา ต่อมาในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงได้มีมติครม.ใหม่ เมื่อวันที่ 28 พ.ค.56 ให้ยกเลิกมติครม.ที่มีอยู่ทั้งหมด และยังให้ยกเลิกคณะกรรมการที่เคยมี แล้วตั้งคณะกรรมการชุดใหม่เพื่อแก้ปัญหา แต่ก็ยังไม่ทันได้มีการตั้งกรรมการชุดใหม่จนกระทั่งเกิดการรัฐประหาร

เขากล่าวต่อว่า นั่นเป็นประเด็นที่ทำให้การปิดเปิดเขื่อนเป็นไปตามวิจารณญาณของคู่ขัดแย้งคือ กฟผ. ซึ่งโดยสรุปแล้ว ในปีนี้เพิ่งเปิดประตูระบายน้ำของเขื่อนได้เพียง 2 เดือนเศษ ไม่ถึง 4 เดือนตามมติครม.เดิมด้วยซ้ำ ในขณะที่ชาวบ้านตีความว่าเมื่อเป็นภาวะสุญญากาศเช่นนี้ก็ควรต้องกลับไปยึดมติครม.เดิม คือ เปิด4 ปิด8

อันที่จริงในยุครัฐประหารครั้งล่าสุด ชาวบ้านก็เดินทางมาเรียกร้องกับคณะรัฐประหารในช่วงที่ยังไม่มีรัฐบาลให้สั่งให้ กฟผ.ดำเนินการเปิดเขื่อนด้วยเช่นกัน ซึ่งในที่สุดก็ยินยอมเปิดเขื่อนในวันที่ 28 ก.ค.ที่ผ่านมา แต่ต่อจากนี้ไป พวกเขายังคงต้องหารือถึงแนวทางการเรียกร้องต่อไป

“ตอนนี้ก็ประชุมกันอยู่ แต่ค่อนข้างเคลื่อนไหวยาก เพราะเข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยว คาดว่าประมาณเดือนมกราคม ชาวบ้านอาจจะมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องได้อีกครั้ง” กฤษกรกล่าว

ขอบคุณภาพจากเพจร่วมกันเปิดประตูเขื่อนปากมูล ถาวร






 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 15 - 21 ตุลาคม 2557

$
0
0

จ้างชาวนาขุดคลอง 1,264 ล้านบาท
 
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากภัยแล้งปี 2557/2558 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ โดย ครม.เห็นชอบให้งดส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปรังในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง และให้มีการออกประกาศทางราชการแจ้งพื้นที่ที่งดการส่งน้ำและงดทำนาปรังในพื้นที่ 26 จังหวัดให้ประชาชนรับทราบ หากเกษตรกรปลูกข้าวนาปรังทั้งลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลองจะไม่ได้รับการช่วยเหลือกรณีเกิดภัยพิบัติด้านการเกษตร
 
ขณะเดียวกันจะมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรในลุ่มแม่น้ำแม่กลองและเจ้าพระยาทั้งในและนอกเขตชลประทานจากการที่ต้องงดทำนาปรังวงเงิน 1,264.43 ล้านบาทจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 ประกอบด้วย มาตรการหลักคือ กรมชลประทานจะจ้างแรงงานเพื่อซ่อมคูคลองในฤดูแล้ง จำนวน 7.54 ล้านแรงคน ครอบคลุมเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการงดปลูกข้าวนาปรังจำนวน 200,000 ราย
 
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการเสริมประกอบด้วยการอบรมและสนับสนุนปัจจัยการผลิตเพื่อส่งเสริมอาชีพด้านประมง 3,574 ราย, การอบรมและสนับสนุนปัจจัยการผลิตเพื่อส่งเสริมอาชีพด้านปศุสัตว์ 13,389 ราย, การฝึกอาชีพในภาคเกษตร โดยกรมส่งเสริมการเกษตรฝึกอาชีพเกษตรกรจำนวน 17,804 ราย สำหรับมาตรการเสริมยังมีการฝึกอาชีพนอกภาคเกษตร โดยสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจำนวน 1,385 ราย และยังสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกพืชปุ๋ยสดในพื้นที่พักนาที่มีความชื้นเพียงพอจำนวน 150,000 ไร่ โดยกรมพัฒนาที่ดิน
 
อย่างไรก็ตาม ทั้งมาตรการหลักและมาตรการเสริม เกษตรกรสามารถเลือกการช่วยเหลือตามความสมัครใจ ซึ่งเมื่อได้รับการช่วยเหลือมาตรการหลักแล้ว สามารถเลือกมาตรการเสริมได้ 1 มาตรการ หรือถ้าไม่เลือกมาตรการหลักก็ยังมีสิทธิ์เลือกมาตรการเสริมได้ ซึ่งจะเลือกได้เพียงมาตรการเดียวเช่นกัน เพื่อกระจายการช่วยเหลือไปให้เกษตรกรรายอื่นๆ อย่างเป็นธรรม โดยกำหนดจะเริ่มมาตรการตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2557-30 เม.ย.2558
 
“กระทรวงเกษตรฯเสนอของบประมาณมาครั้งแรกวงเงิน 2,401.04 ล้านบาท แต่ รมว.เกษตรฯชี้แจงในที่ประชุม ครม.ว่าไม่มั่นใจว่ามาตรการที่เสนอประชาชนจะเห็นพ้องด้วยมากน้อยแค่ไหน ประกอบกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ความเห็นว่า มีคนออกมาท้วงติงว่าการจ้างแรงงานเกษตรไปขุดลอกคูคลอง คนทำนาขณะนี้เป็นคนแก่จะทำไหวหรือไม่ หรือการลดต้นทุนการผลิต ชาวนาที่เป็นคนแก่ก็ต้องจ้างเขาทำจะลดต้นทุนได้อย่างไร กระทรวงเกษตรฯจึงขอปรับลดงบประมาณลงโดยตัดในส่วนที่ขอใช้งบกลางจำนวน 1,136.61 ล้านบาทออกไปก่อน”
 
(ไทยรัฐ, 15-10-2557)
 
เตือนหา “จ๊อบ” ผ่านเน็ตเสี่ยงถูกหลอก 11 เดือนร้องเรียน 472 คน
 
(15 ต.ค.) นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมการจัดหางาน(กกจ.) กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีแรงงานที่ถูกหลอกโดยนายหน้าเถื่อนว่าสามารถช่วยให้ไปทำงานต่างประเทศผ่านเฟซบุ๊กว่า ล่าสุดมีแรงงานที่ถูกหลอกร้องเรียนต่อกรมการจัดหางานแล้ว 27 คนแยกเป็นแรงงานจาก จ.บุรีรัมย์ 6 คน ลำพูน 3 คน มหาสารคาม 3 คน ร้อยเอ็ด 2 คน ขอนแก่น 2 คน สกลนคร 2 คน นครพนม 2 คน พะเยา 2 คน เชียงใหม่ 1 คน แพร่ 1 คน หนองคาย 1 คน ฉะเชิงเทรา 1 คน บึงกาฬ 1 คน ซึ่งได้ไปแจ้งความดำเนินคดีกับนายหน้าเถื่อนแล้วที่สถานีตำรวจนครบาล (สน.) หัวหมาก กรุงเทพฯ และกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ (ปคม.) โดยเอาผิดโทษฐานหลอกลวงคนไปทำงานต่างประเทศ ตามมาตรา 91 ของพ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มีโทษปรับ 60,000 - 200,000 บาท จำคุก 3 - 10 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับต่อการหลอกลวงหนึ่งครั้ง
       
อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวอีกว่า ช่วงตั้งแต่เดือน ต.ค. 2556 - ก.ย. 2557 มีแรงงานที่ต้องการไปทำงานต่างประเทศร้องทุกข์กับกรมการจัดหางานรวม 472 คนแยกเป็นร้องทุกข์กรณีบริษัทจัดหางาน 142 คน สาย/นายหน้าเถื่อน 330 คน ขณะที่ในปี 2556 มีแรงงานร้องทุกข์ 955 คนแยกเป็นร้องทุกข์กรณีบริษัทจัดหางาน 427 คน และกรณีสาย/นายหน้าเถื่อน 528 คน โดยช่วง 2 ปีงบประมาณที่ผ่านมาสามารถช่วยเหลือแรงงานที่มาร้องทุกข์ได้ 1,473 คน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นแรงงานที่เคยมาร้องทุกข์ไว้แต่ตกค้างยังไม่ได้รับความช่วยเหลือภายในปีงบประมาณที่มาร้องทุกข์
       
ทั้งนี้ สาเหตุที่แรงงานร้องทุกข์กรณีบริษัทจัดหางาน เนื่องจากเก็บเงินค่าบริการหรือค่าใช้จ่ายแล้วไม่สามารถจัดส่งแรงงานไปทำงานต่างประเทศได้ เดินทางแล้วประสบปัญหาไม่สามารถทำงานได้ เมื่อกลับมาจึงต้องร้องทุกข์ขอค่าบริการและค่าใช้จ่ายคืน รวมทั้งเดินทางไปทำงานต่างประเทศแล้วนายจ้างไม่ปฏิบัติตามสัญญา เช่น ให้ทำงานไม่ตรงกับตำแหน่ง ได้รับค่าจ้างน้อยกว่าในสัญญาจ้าง ไม่มีสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์ตรงกับสัญญาจ้าง
       
ส่วนการร้องทุกข์กรณีสาย/นายหน้าเถื่อนนั้น เนื่องจากถูกหลอกเก็บเงินค่าบริการหรือค่าใช้จ่ายแล้วไม่สามารถจัดส่งแรงงานไปทำงานได้ จัดส่งแรงงานไปทำงานแบบผิดกฎหมายหรือไม่มีงานทำ รวมทั้งกรณีเก็บค่าใช้จ่ายไปแล้วมีการจัดส่งไปทำงาน ปล่อยทิ้งให้แรงงานหาทางกลับประเทศไทยเอง ทั้งนี้ จึงขอเตือนผู้ที่ต้องการจะเดินทางไปทำงานต่างประเทศให้ระมัดระวังในการหางานเพื่อไปทำงานต่างประเทศโดยเฉพาะทางสื่อออนไลน์ โดยขอให้ติดต่อสอบถามข้อมูลกับกรมการจัดหางานได้ที่สายด่วน 1694 หรือที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศ
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 15-10-2557)
 
ไอแอลโอ แนะตรวจสอบ ย้ายถิ่น แรงงาน
 
(15 ต.ค.) นายมอริซิโอ บุซซี่ (Mr.Maurizio Bussi) รักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ประจำประเทศไทย กล่าวในการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาแผนปฏิบัติการแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (GLP Roadmap Workshop) โดยมีผู้เข้าร่วมจากหลายภาคส่วน เช่น กรมประมง นายจ้างและสมาคมอุตสาหกรรม องค์การช่วยเหลือเด็กเข้าร่วมเป็นต้นว่า ต้องการเน้น GLP ที่โปร่งใส ซึ่งการร่วมกันทุกฝ่ายถือเป็นแนวทางที่ถูกต้อง การมีโรดแมปของ GLP นั้นถือเป็นจุดเริ่มต้น แต่ GLP นั้นไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง จะต้อง เพิ่มความเข้มแข็งในการตรวจแรงงาน การย้ายถิ่นที่มีความยุติธรรม การเคารพลูกจ้างอย่างเท่าเทียม
       
ด้านนายสนาน บุญงอก ประธานคณะกรรมการประสานงานสหพันธ์แรงงานขนส่งแห่งประเทศ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ต้องทำให้นายจ้างปฏิบัติตาม GLP และควรจูงใจให้เลิกรูปแบบการจ้างแบบเหมาเพราะทำให้แรงงานมักไม่ได้รับการคุ้มครอง ควรบังคับให้นายจ้างปฏิบัติตาม GLP มากกว่าใช้ระบบสมัครใจ เพราะมีกฎหมายด้านนี้อยู่แล้ว
       
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานสมาพันธ์ผู้ผลิตสินค้าประมงไทย กล่าวว่า หากประเทศไทยส่งเสริมการปฏิบัติตาม GLP จะทำให้แรงงานข้ามชาติสนใจมาทำงานในไทยมากขึ้น เพราะนอกจากค่าจ้างที่ดีแล้วก็ต้องมีเรื่องการใช้แรงงานที่ดีด้วย ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่สะสมมานาน
       
ด้านนางสาวกนกวรรณ โมรัฐเสถียร หัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองเด็ก มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก กล่าวว่า ควรมีการควบคุมไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ทำงานโดยเด็ดขาด รวมถึงมีการควบคุมเรื่องลักษณะการทำงานและช่วงเวลาพักผ่อนของเด็กที่ทำงานซึ่งมีอายุระหว่าง 16 - 18 ปี
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 15-10-2557)
 
รมว.แรงงาน เผยกัมพูชาขอชะลอส่งเจ้าหน้าที่ร่วมพิสูจน์สัญชาติแรงงาน เหตุการประสานงานภายในประเทศยังไม่ลงตัว 
 
(16 ต.ค.) พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังนางอีต โซเฟีย เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรกัมพูชาประจำประเทศไทย เข้าหารือเกี่ยวกับการพิสูจน์สัญชาติแรงงานกัมพูชา ว่า ที่ผ่านมา ทางกัมพูชาได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาทดลองระบบการพิสูจน์สัญชาติเพื่อคำนวณว่าจะสามารถดำเนินการได้วันละกี่ราย โดยทางการกัมพูชามีปัญหาการดำเนินการระหว่างหน่วยงานของตนเอง จึงได้เดินทางกลับประเทศ และยังไม่ได้เริ่มพิสูจน์สัญชาติแรงงานกัมพูชาที่จดทะเบียน ซึ่งทางการกัมพูชาจะจัดส่งเจ้าหน้าที่กลับมาดำเนินการภายหลัง
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 16-10-2557)
 
ทอท.หั่นโบนัสพนักงาน ไม่มีปัญหาขาดสภาพคล่อง
 
ที่ประชุม บอร์ด ทอท. มีมติปรับลดโบนัสพนักงานจาก 11 เดือน เหลือ 6.5 เดือน เหตุกันเงินเพื่อนำมาลงทุน ยัน ไม่มีปัญหาขาดสภาพคล่อง
 
นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร ในฐานะประธานคณะกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ที่ประชุมมิมติจ่ายเงินโบนัสพนักงาน 6.5 เดือนจาก 11เดือน สาเหตุที่ปรับลดลงเนื่องจากได้กันเงินจากผลกำไรไว้มากกว่า ร้อยละ 50 ของกำไร เพื่อใช้ในการลงทุนของบริษัทฯ ในอนาคต ทั้งนี้ สำหรับสาเหตุการปรับลดการจ่ายเงินโบนัสพนักงานลงนั้น ทางบริษัทฯ ได้มีการชี้แจงทำความเข้าใจกับทางพนักงานแล้ว
 
อย่างไรก็ตาม สำหรับโครงการพัฒนาต่าง ๆ ของบริษัทตั้งแต่ปี 2558-2562 ทางบริษัทฯ จะไม่มีปัญหาในการขาดสภาพคล่อง
ในการนำเงินมาลงทุนโครงการ เนื่องจากบริษัทฯ ได้มีการควบคุมรายจ่ายภายในและการกันเงิรจากผลกำไร ร้อยละ 50 ของกำไรทั้งหมด เพื่อใช้เป็นงบเป็นงบประมาณในดำเนินโครงการอยู่แล้ว โดยปัจจุบันขณะนี้ บริษัทฯ มีกระแสเงินสดอยู่ 44,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าการลงทุนในโครงการแต่ละโครงการจะไม่มีปัญหาเรื่องงบประมาณในการดำเนินโครงการแน่นอน
 
(ไอเอ็นเอ็น, 16-10-2557)
 
รุกจัดระเบียบแรงงานเรือประมง นำร่องดันผู้ประกอบการ 500 รายใช้ GLP สกัดค้ามนุษย์
 
ดร.จุมพล สงวนสิน อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า กรมประมงให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาแรงงานภาคการประมงทั้งระบบให้เห็นผลเป็นรูปธรรม โดยที่ผ่านมาได้ร่วมกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานภายใต้การสนับสนุนจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) จัดทำแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (Good Labour Practices : GLP) เพื่อปรับปรุงสภาพการทำงานในสถานประกอบการในภาคการประมง ซึ่งมี GLP 4 ฉบับ ได้แก่ 1.สำหรับสถานประกอบการแปรรูปสัตว์น้ำเบื้องต้น (ล้ง) 2.สำหรับโรงงานแปรรูปกุ้งและอาหารทะเล 3.สำหรับฟาร์มเพาะเลี้ยงกุ้ง และ 4.สำหรับเรือประมง
 
โดยในส่วนของ GLP สำหรับผู้ประกอบการแปรรูปกุ้งและอาหารทะเล หลังจากที่ได้ลงนามแสดงเจตจำนงในการเข้าร่วมแนวปฏิบัติตั้งแต่กลางเดือนกันยายน 2556 มีผู้ประกอบการประสงค์เข้าร่วมจำนวน 178 ราย และมีการดำเนินการที่คืบหน้าไปมาก โดยผู้ประกอบการดังกล่าวได้ผ่านการฝึกอบรมไปแล้ว 81 ล้ง 73 โรงงาน รวมเป็น 154 ราย ซึ่งได้ผ่านระบบการติดตามการดำเนินการปรับปรุงสภาพการทำงานของสถานประกอบการดังกล่าวแล้วอีกด้วย
 
นอกจากนี้ กรมประมงยังเร่งขับเคลื่อนการทดสอบความเหมาะสมในการนำ GLP สำหรับฟาร์มเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล ไปใช้กับกิจการเพาะเลี้ยงกุ้งของไทย โดยมีกำหนดจะดำเนินการร่วมกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และ ILO ในเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากเกษตรกรและผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล จากนั้นจะนำมาปรับปรุง GLP สำหรับฟาร์มเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล เพื่อให้ผู้ประกอบการนำไปปฏิบัติใช้อย่างแพร่หลายต่อไป
 
สำหรับ GLP เรือประมง ซึ่งเป็น GLP ที่กรมประมงให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยมีการร่างแล้วเสร็จมาตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา มีเนื้อหาที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปรับปรุงสภาพการทำงานในกิจการทำการประมง โดยกรมประมงจะนำไปใช้กับผู้ประกอบการเรือประมง เพื่อให้เกิดผลการพัฒนาและแก้ไขปัญหาแรงงานบนเรือประมงได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยในปีนี้ได้จัดสรรงบประมาณให้มีการฝึกอบรมผู้ประกอบการเรือประมง 500 ราย ให้ได้รับทราบแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดีเพื่อนำไปปฏิบัติ
 
ดังนั้นการเร่งดำเนินการทดสอบความเหมาะสมในการใช้ GLP สำหรับเรือประมงกับผู้ประกอบการในกลุ่มชาวประมง หรือสมาคมท้องถิ่นต่างๆ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพื่อให้ผู้ประกอบการประมงสามารถนำไปใช้ได้อย่างแพร่หลาย อันจะเป็นการช่วยแก้ปัญหาสำคัญของแรงงานในเรือประมงได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
 
(แนวหน้า, 17-10-2557)
 
เครือข่ายแรงงาน ชู 4 ข้อเรียกร้องปฏิรูปประกันสังคม
 
(17 ต.ค.) ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ กรุงเทพฯ เครือข่ายประกันสังคมทำงาน (คปค.) 14 องค์กร นำโดยนายมนัส โกศล ประธานองค์การแรงงานแห่งประเทศไทย น.ส.อรุณี ศรีโต ประธานศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งชาติ และ น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) แถลงข่าวและประกาศเจตนารมณ์ปฏิรูปประกันสังคมคนทำงานถ้วนหน้า เท่าเทียม และเป็นธรรมโดยเรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบประกันสังคมเพื่อคุ้มครองคนทำงานที่มีรายได้ทุกคน ป้องกัน หรือลดการทุจริตที่อาจเกิดจากการบริหารจัดการกองทุนที่ขาดการมีส่วนร่วมและความโปร่งใส ลดความเหลื่อมล้ำ และความไม่เป็นธรรมในการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานและสิทธิที่ควรพึงได้รับจากการร่วมจ่ายในระบบสวัสดิการต่างๆ และลดภาระการเงินการคลังที่รัฐจะต้องแบกรับในอนาคตจากการที่ประเทศไทยจะต้องเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในปี 2558
       
การขอให้ปฏิรูปประกันสังคมโดยยึดหลัก 4 ข้อ ได้แก่ 1. หลักความครอบคลุม ผู้ทำงานทุกคนทุกอาชีพทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป จะต้องได้รับประโยชน์ทดแทนเหมือนกัน แต่ไม่จำเป็นต้องได้เท่ากันหรือแบบเดียวกัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความสามารถในการจ่ายเงินสมทบ 2. หลักความเป็นอิสระในการบริหารจัดการแบบกระจายอำนาจและยึดหลักธรรมาภิบาลโดยต้องบูรณาการเพื่อประสานสิทธิประโยชน์และการบริหารจัดการที่เชื่อมโยงร่วมกับสวัสดิการอื่นๆ เช่น ระบบสุขภาพ ระบบประกันชราภาพ 3. หลักการความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของผู้ประกันตนทุกระบบมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการกองทุนทุกระดับ เช่น มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งและใช้สิทธิเลือกตั้งกรรมการประกันสังคมโดยตรง มีสิทธิเข้าชื่อถอดถอนกรรมการประกันสังคม รวมทั้งมีระบบตรวจสอบเพื่อความโปร่งใส และ 4. หลักยืดหยุ่นเป็นธรรม สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจและสังคมเพื่อสามารถออกแบบและปรับปรุงให้เหมาะสม เช่น การจ่ายเงินสมทบที่สัมพันธ์กับฐานรายได้ การปรับปรุงเกณฑ์ เงื่อนไขอัตราเงินสมทบและการบริการ ระยะเวลาได้รับสิทธิประโยชน์เร็วขึ้น
       
นายมนัส กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับกระทรวงแรงงานเป็น 1 ใน 38 ร่างกฎหมายเร่งด่วนที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่ขาดการมีส่วนร่วมและการบูรณาการข้อเรียกร้องของเครือข่ายแรงงาน จึงได้ไปยื่นหนังสือต่อประธาน สนช. ขอให้ชะลอการนำร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับกระทรวงแรงงานเข้าสู่การพิจารณาเพื่อให้นำ 4 ประเด็นหลักข้อเรียกร้องของผู้ใช้แรงงานไปบูรณาการบรรจุไว้ในร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับกระทรวงแรงงานก่อนเสนอต่อ สนช. และได้นำข้อเรียกร้องข้างต้นไปเสนอต่อ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานด้วย
       
“หากกระทรวงแรงงานไม่นำข้อเรียกร้องทั้ง 4 ของเครือข่ายแรงงานไปบรรจุไว้ในร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับกระทรวงแรงงานภายใน 1 เดือน ทางเครือข่ายแรงงานจะตั้งโต๊ะล่ารายชื่อแรงงานทั่วประเทศรวบรวมรายชื่อ พร้อมนำข้อเรียกร้องไปยื่นต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายมนัส กล่าว
       
ด้าน น.ส.วิไลวรรณ กล่าวว่า ช่วง 24 ปี ที่ผ่านมา ระบบประกันสังคมพัฒนาไปไม่มากนัก และขาดการมีส่วนร่วมไม่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้แรงงาน เครือข่ายจึงได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับผู้ใช้แรงงานมาอย่างต่อเนื่อง แต่ เมื่อเกิดสถานการณ์ทางการเมือง ทำให้ทหารต้องเข้ามาบริหารประเทศและรัฐธรรมนูญปี 2550 ถูกยกเลิกไป เครือข่ายแรงงานไม่สามารถเสนอร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับผู้ใช้แรงงานต่อ สนช. จึงใช้วิธีเสนอ 4 ประเด็นหลัก ในการปฏิรูประบบประกันสังคมตามข้อเรียกร้องของผู้ใช้แรงงานให้รัฐบาลและกระทรวงแรงงานบรรจุไว้ในร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับกระทรวงแรงงาน ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ คสรท. ได้เข้าพบ รมว.แรงงาน เพื่อเสนอข้อเรียกร้องดังกล่าว รวมทั้งเสนอให้ปฏิรูปสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ให้เป็นองค์กรอิสระและตรวจสอบการใช้เงินของ สปส. ซึ่ง รมว.แรงงาน เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องแต่ในส่วนของการปฏิรูปให้ สปส. เป็นองค์กรอิสระนั้นขอเวลาศึกษาก่อนว่าควรดำเนินการอย่างไร
       
ด้านนายอารักษ์ พรหมณี รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า จะรับข้อเรียกร้องของเครือข่ายแรงงานเพื่อนำไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เพื่อพิจารณาทบทวนร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว หลังจากนั้น จะเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจาก 3 ฝ่ายทั้งภาครัฐ นายจ้างและลูกจ้างเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมและสอดคล้องกับความต้องการของแรงงาน
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 17-10-2557)
 
โฆษกกต.ไทยโต้ BBC ยันช่วยโรฮิงญาเหยื่อค้ามนุษย์
 
นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์กรณีสำนักข่าว บีบีซี นำเสนอรายงานระบุไทยยังเต็มไปด้วยปัญหาการค้ามนุษย์ว่า ข่าวที่ปรากฏเป็นการนำเอาเหตุการณ์จับกุมชาวโรฮิงญาในหลายครั้งที่ จ.พังงา นับตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยผู้อพยพกลุ่มแรกได้รับการยืนยันว่าเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์และได้รับการช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม ขณะที่กลุ่มอื่น ๆ ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ โดยมีชายไทย 2 คนที่ถูกจับกุมพร้อมกับผู้อพยพและถูกตั้งข้อหาแล้ว
 
นายเสข กล่าวว่า การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย ทำให้มีผู้อพยพจากประเทศเพื่อนบ้านเดินทางเข้าไทยอย่างต่อเนื่องผ่านพรมแดนทางบกของไทย ระยะกว่า 5,000 กิโลเมตร ทั้งนี้ ยืนยันว่ารัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นกับปัญหานี้ หน่วยงานราชการไทยและภาคเอกชนร่วมกันทำงานอย่างหนัก เริ่มด้วยการเปิดให้มีการลงทะเบียนแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน กว่า 1 ล้านคน เพื่อให้คนกลุ่มนี้ได้รับความคุ้มครองภายใต้กฎหมายไทย และขจัดการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมหรือถูกเอารัดเอาเปรียบ
 
นอกจากนี้ยังทำงานร่วมกับรัฐบาลพม่า ลาว กัมพูชาเพื่อหาทางออกที่ปฏิบัติได้จริงและแก้ไขปัญหาได้ในระยะยาว โดยยึดหลักปฏิบัติและกฎเกณฑ์ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและตลาดแรงงานสากล
 
(ไอเอ็นเอ็น, 21-10-2557)
 
จบ ป.ตรีเตะฝุ่นกว่า 1 แสนคน พบสายสังคมมากสุด
 
(21 ต.ค.) นายธนิช นุ่มน้อย รองอธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงผลสำรวจการมีงานทำของสำนักงานสถิติแห่งชาติเดือนก.ย.2557 ซึ่งพบว่ามีผู้ว่างงานกว่า 3.1 แสนคน โดยในจำนวนนี้เป็นผู้ที่เรียนจบอุดมศึกษากว่า 1 แสนคน ว่า เชื่อว่า ผู้ว่างงานระดับปริญญาตรีส่วนใหญ่จะเป็นผู้จบปริญญาตรีสายสังคมศาสตร์ เนื่องจากมีงานรองรับน้อยแต่มีคนเรียนจบสายนี้มาก ตรงข้ามกับผู้ที่จบสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีงานรองรับมากแต่มีคนเรียนด้านนี้น้อย 
       
ทั้งนี้ กกจ. มีแนวทางช่วยเหลือผู้ที่เรียนจบสายสังคมศาสตร์แล้วยังว่างงานโดยขอให้มาลงทะเบียนหางานทำได้ที่เว็บไซต์ www.doe.go.th ของ กกจ. หรือสอบถามสายด่วน โทร. 1694 คาดว่ามีตำแหน่งงานรองรับได้ 3-4 พันอัตรา ส่วนผู้มาลงทะเบียนที่เหลือจะคัดเลือกผู้ที่เคยเรียนด้านอาชีวะระดับ ปวส. หรือเรียนจบในสาขาที่สามารถต่อยอดพัฒนาทักษะวิชาชีพ หรือทักษะภาษาอังกฤษได้ ก็จะอบรมเพิ่มเติมและหางานตำแหน่งงานรองรับ เช่น ช่างฝีมือ พนักงานต้อนรับในโรงแรม โดยเฉพาะขณะนี้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัวแล้วมีต้องการแรงงานจำนวนมาก และหากต้องการประกอบอาชีพอิสระจะอบรมวิชาชีพและหากองทุนให้กู้ยืม
       
รองอธิบดี กกจ. กล่าวอีกว่า กกจ. จะให้บัณฑิตอาสาสมัครของกระทรวงแรงงานในแต่ละหมู่บ้านช่วยสำรวจว่าในหมู่บ้านมีแรงงานว่างงานจำนวนเท่าใด เพื่อจัดหาตำแหน่งงานรองรับและอบรมความรู้ด้านวิชาชีพให้เพิ่มเติม ส่วนมาตรการระยะยาวนั้น กกจ. ตั้งเป้าหมายจะจัดโครงการแนะแนวอาชีพให้กับเด็ก ม.ต้น ทั่วประเทศ เพื่อให้เด็กรู้ถึงความชอบและความถนัดด้านอาชีพของตนเองเพื่อเลือกเรียนได้อย่างเหมาะสมและมีงานทำ นอกจากนี้ กกจ.จะร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สมาคมวิชาชีพต่างๆ สำรวจความต้องการแรงงานในสาขาต่างๆ ในช่วง 5 ปี ตั้งแต่ปี 2558 - 2562 และเสนอข้อมูลต่อรัฐบาลเพื่อจะได้ผลิตกำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ เมื่อเรียนจบแล้วมีงานทำ
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พล.อ.ประยุทธ์ ระบุจะใช้ความดี-ความตั้งใจแก้ไขปัญหา

$
0
0

นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ชี้แจง "ยิ่งลักษณ์" ไปญี่ปุ่นได้ขออนุญาต คสช. ตามขั้นตอนแล้ว ส่วนเรื่องคลื่นใต้น้ำ จะใช้ความดี-ความตั้งใจแก้ไขปัญหาประเทศต่อสู้กับกลุ่มไม่หวังดี

21 ต.ค. 2557 - เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลรายงานว่า วันนี้ (21 ต.ค.57) เวลา 13.20 น. ณ บริเวณทางเชื่อมตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีถึงกรณี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางไปประเทศญี่ปุ่น ว่า ได้มีการขออนุญาตตามขั้นตอน ซึ่งนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติได้อนุมัติให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เดินทางไปประเทศญี่ปุ่น โดยต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่กำหนดไว้

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปถึงการรายงานกรณีคลื่นใต้น้ำ ว่า มีกลุ่มคลื่นใต้น้ำจริง พร้อมกล่าวยืนยันว่าจะใช้ความดี การทำความเข้าใจกับประชาชน และความตั้งมั่นแก้ไขปัญหาประเทศเข้าต่อสู้กับกลุ่มคลื่นใต้น้ำที่ไม่หวังดี ถ้าใครออกมาสร้างสถานการณ์ สร้างความวุ่นวายตอนนี้ถือว่าอันตราย เพราะทั่วโลกจับตามองสถานการณ์ภายในประเทศอยู่

พล.อ.ประยุทธ์ อ้างว่า จากการประชุมหารือกับผู้นำ 50 กว่าประเทศ ต่างกล่าวชื่นชมถึงพัฒนาการที่ดีของประเทศ ไม่มีการติติงเลย พร้อมกล่าวว่า พร้อมเดินทางไปชี้แจงความเข้าใจกับผู้นำประเทศต่างๆ ตามคำเชิญ ทั้งนี้ ต้องดูสถานการณ์ในประเทศว่าเป็นอย่างไร และต้องดูว่าไปแล้วจะได้ประโยชน์หรือไม่

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชี้ผู้บริโภคยกเลิกสัญญาใช้เน็ตก่อนกำหนดได้ ไม่ต้องเสียค่าปรับ

$
0
0

คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม กสทช. ชี้ผู้บริโภคมีสิทธิยกเลิกสัญญาใช้บริการอินเทอร์เน็ตก่อนกำหนดได้ โดยไม่เสียค่าปรับ ระบุ กสทช.ยังไม่เคยเห็นชอบสัญญาให้บริการอินเทอร์เน็ตของผู้ให้บริการรายใด

21 ต.ค.2557 วานนี้ ที่สำนักรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม แถลงข่าวกรณี “ยกเลิกบริการอินเทอร์เน็ตไม่ได้เพราะสัญญาไม่เป็นธรรม” โดยระบุว่า ในการประชุมคณะอนุกรรมการฯ ครั้งที่ผ่านมา มีการหยิบยกประเด็นปัญหาการยกเลิกบริการอินเทอร์เน็ตหารือในที่ประชุม เนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากผู้ใช้บริการในหลายพื้นที่ ที่ประชุมจึงขอให้สำนักงาน กสทช. รายงานสถิติเรื่องร้องเรียนของผู้ใช้บริการ โดยพบว่านับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 จนถึงปัจจุบัน มีการร้องเรียนกรณีประสบปัญหาผู้ประกอบการโทรคมนาคมคิดค่าปรับ ค่าธรรมเนียม หรือค่าใช้จ่ายอื่นใด เมื่อผู้ใช้บริการต้องการยกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีเรื่องร้องเรียนทั้งหมด 757 กรณี และมีข้อเท็จจริงปรากฏชัดว่าผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมหลายรายมีการใช้แบบสัญญาซึ่งมีข้อกำหนดที่ขัดต่อกฎหมายและเป็นข้อสัญญาที่มิได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ
 
ทั้งนี้สำนักกฎหมายโทรคมนาคม สำนักงาน กสทช. ได้ตรวจสอบข้อมูลการให้ความเห็นชอบสัญญาให้บริการโทรคมนาคมที่ผ่านมา ก็พบว่า ไม่ปรากฏว่า กทช. หรือ กสทช. เคยได้ให้ความเห็นชอบสัญญาให้บริการอินเทอร์เน็ตของผู้ให้บริการรายใด ดังนั้นเมื่อ กทช. หรือ กสทช. ยังไม่ได้ให้ความเห็นชอบ ผู้ให้บริการย่อมไม่มีสิทธินำสัญญาหรือเงื่อนไขนั้นไปใช้กับผู้ใช้บริการได้

นอกจากนี้ที่ผ่านมา กทค. ได้เคยพิจารณาเงื่อนไขในลักษณะเช่นเดียวกันนี้ โดยมีความเห็นให้ตัดเงื่อนไขดังกล่าวออก เนื่องจากการกำหนดให้ผู้ใช้บริการจะต้องชำระเงินค่าใช้บริการที่เป็นส่วนลดพิเศษ พร้อมทั้งค่าติดตั้งและค่าลงทะเบียนที่ได้รับยกเว้นให้แก่ผู้ให้บริการ หากเลิกสัญญาก่อนระยะเวลาที่กำหนด ถือเป็นข้อสัญญาที่มีลักษณะเป็นการลงโทษ (penalty clause) แก่ผู้ใช้บริการ นอกจากนี้ การกำหนดข้อสัญญาในลักษณะดังกล่าวเป็นการบังคับให้ลูกค้าไม่สามารถยกเลิกสัญญาก่อนระยะเวลาที่กำหนดได้ มิฉะนั้นจะต้องเสียค่าใช้จ่ายหรือก่อให้เกิดภาระอย่างหนึ่งอย่างใดเข้าข่ายเป็น tie-in-contact ซึ่งขัดต่อหลักกฎหมายแข่งขันทางการค้า หลักกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค และหลักการส่งเสริมการแข่งขันอันเป็นการปิดกั้นสิทธิและทางเลือกของผู้บริโภคในการเลือกรับบริการ ยกเลิกบริการ หรือเปลี่ยนแปลง  ผู้ให้บริการ
 
ดังนั้นการที่ผู้ประกอบการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม หรือค่าติดตั้งแรกเข้ากับผู้บริโภคหากยกเลิกบริการก่อนกำหนด จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อมาตรา 51 วรรคสามแห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ที่กำหนดว่า เมื่อผู้รับใบอนุญาตได้รับความเห็นชอบในสัญญาหรือเงื่อนไขใดๆ แล้ว ให้ผู้รับใบอนุญาตมีสิทธินำสัญญาหรือเงื่อนไขนั้นไปใช้กับผู้ใช้บริการได้ และข้อสัญญาลักษณะดังกล่าวยังขัดต่อข้อ 15 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ซึ่งห้ามบริษัท ผู้ให้บริการคิดค่าปรับ หรือค่าเสียหายจากการที่ผู้ใช้บริการยกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนด
 
จากข้อเท็จจริงดังกล่าว ผู้บริโภคทุกรายจึงมีสิทธิยกเลิกสัญญาใช้บริการอินเทอร์เน็ตกับผู้ให้บริการได้ โดยผู้ให้บริการไม่มีสิทธิคิดค่าติดตั้งแรกเข้าหรือค่าธรรมเนียมใดๆ เพราะคณะกรรมการ กสทช. ยังมิได้พิจารณาให้ความเห็นชอบเงื่อนไข สัญญา ของผู้ประกอบการ  แบบหรือเงื่อนไขสัญญาดังกล่าว จึงไม่มีผลผูกพันผู้ใช้บริการ
 
เนื่องจากการดำเนินการดังกล่าวของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต เป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายโทรคมนาคม ที่ประชุมคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคมจึงมีมติดังนี้

1) ขอให้กสทช. แจ้งให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมยุติการกระทำที่ผิดกฎหมายในการคิดค่าปรับ ค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายอื่นใดกับผู้ให้บริการ หากผู้ใช้บริการยกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนด

2) ให้มีการดำเนินการเพื่อสั่งปรับทางปกครองตามกฎหมายกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตทุกราย ซึ่งกระทำความผิดตามมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549  และข้อ 15 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549

3) ขอให้ กสทช. สั่งให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมทุกรายคืนเงินให้แก่ผู้ใช้บริการ กรณีเรียกเก็บค่าธรรมเนียม หรือค่าใช้จ่ายอื่นใดที่ได้เก็บจากผู้ใช้บริการเพราะเหตุยกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนด

4) ขอให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการประชาสัมพันธ์ ให้ผู้บริโภครับทราบ ถึงสิทธิของผู้ใช้บริการ โดยผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไม่สามารถเรียกเก็บค่าใช้จ่ายอื่นใดจากผู้ใช้บริการได้เพราะเหตุยกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนด

ตย. แบบสัญญาที่ขัดต่อประกาศ กสทช.
  เงื่อนไขสัญญาว่า “1.1.1 กรณีลูกค้าผู้สมัครใช้บริการ UTRA hi- speed Internet xDSL ยกเลิกก่อนกำหนด ผู้ใช้บริการยินดีชำระค่าธรรมเนียมแรกเข้าคืนให้แก่บริษัทเป็นเงินจำนวน 2,000 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) พร้อมคืนอุปกรณ์ตามเงื่อนไข” และ “1.1.2 กรณีลูกค้าผู้สมัครใช้บริการ UTRA hi- speed Internet DOCSIS และ FTTH ยกเลิกก่อนกำหนด ผู้ใช้บริการยินดีชำระค่าธรรมเนียมแรกเข้าคืนให้แก่บริษัทเป็นเงินจำนวน 2,000 บาท และค่าติดตั้งอุปกรณ์ และค่าเดินสาย Coaxial Cable ให้แก่บริษัทเป็นเงินจำนวน 4,600 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) พร้อมคืนอุปกรณ์ ตามเงื่อนไข”

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสม.ชี้ โครงการเขตเศรษฐกิจฯทวาย ละเมิดสิทธิฯแบบข้ามพรมแดน

$
0
0

กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขตเศรษฐกิจฯทวาย เข้าให้ข้อมูลคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ สะท้อนภาพรวมของผลกระทบ ที่ยังไม่ได้แก้ไข ภายใต้การผลักดันโครงการครั้งใหม่ของรัฐบาลไทย-พม่า ด้าน‘หมอนิรันดร์’ ชี้ละเมิดสิทธิมนุษยชนแบบข้ามพรมแดน

21 ต.ค. 57 ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตัวแทนชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย(Dawei Special Economic Zone – DSEZ) พร้อมตัวแทนภาคประชาสังคม เดินทางให้ข้อมูลกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และเสนอข้อกังวลเกี่ยวกับโครงการที่กำลังจะเดินหน้าอีกครั้ง หลังจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้เดินทางเยือนสาธารณรัฐแห่งสภาพพม่าอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 9 –10 ตุลาคม ที่ผ่านมา (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ตัวแทนจากสมาคมพัฒนาทวาย(Dewei Development Association – DDA) เปิดรายงานฉบับใหม่ที่ชื่อว่า “เสียงจากชุมชน: ข้อกังวลต่อโครงการเศรษฐกิจพิเศษทวายและโครงการที่เกี่ยวข้อง” โดยเป็นการรวบรวมข้อมูลผลกระทบและข้อกังวลของคนในชุมชน เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ในรายงานฉบับดังกล่าวระบุถึงปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชุมชนในเขตโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย โดยประเด็นที่สำคัญที่สุดและเป็นที่มาของปัญหาอื่นๆ คือ ในการดำเนินโครงการที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นการสร้างท่าเรือขนาดเล็กซึ่งปัจจุบันได้สร้างเสร็จแล้ว การสร้างถนนเพื่อใช้เป็นเส้นทางเข้าออก และกิจกรรมอื่นๆ ที่กำลังจากเกิดขึ้น ข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ ไม่ได้มีการแจ้งให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบทราบอย่างทั่วถึง ชาวบ้านโดยส่วนมากได้รับข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการจากการบอกเล่าปากต้องปาก ซ้ำยังไม่เข้าใจรายละเอียดของโครงการว่าเกี่ยวข้องกับอะไร เพราะไม่ได้มีการแจ้งรายละเอียดใดๆให้ทราบ

รายงานฉบับนี้ยังระบุถึงกระบวนการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้าน ด้วยว่า เป็นเพียงการเรียกเชิญเฉพาะบุคคลที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินโครงการ หรือเป็นบุคคลที่เห็นด้วยกับโครงการเท่านั้น อย่างไรก็ตามแม้จะมีการเข้ามาพูดคุยของเจ้าหน้าที่รัฐ(พม่า)กับชาวบ้านอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้เป็นการรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านและชุมชนแต่อย่างใด ทว่าเป็นเพียงการเข้ามาบอกข้อเสนอข้อรัฐเท่านั้น

สิ่งที่เป็นปัญหาอีกประการหนึ่งคือ การยึดคืนที่ดินที่ทำกินของชาวบ้านซึ่งส่วนมากประมากประมาณร้อย 71 ประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีกระบวนการที่ไม่เป็นธรรม ขาดการตกลงระหว่างรัฐกับชุมชน และมีการจ่ายค่าชดเชยที่ไม่ถูกต้อง

“ชาวบ้านอย่างเราไม่รู้ข้อมูลอะไรมาก เจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาบอกว่าจะต้องใช้พื้นที่ตรงนี้ก่อสร้างโครงการ แล้วให้เราเซ็นรับเงินชดเชย ซึ่งถึงว่าน้อยมากไม่เพียงพอที่จะย้ายออกไปหาที่ทำกินใหม่ แต่เราก็ต้องรับ เพราะเขาขู่ว่าถ้าไม่เซ็นรับจะไม่ได้อะไรเลย” ชาวบ้านจากทวายกล่าว

“เมื่อสองปีก่อน มีการสร้างถนนและท่าเรือน้ำลึก สิ่งที่เกิดขึ้นคือมีชาวบ้านในหมู่บ้านมูดู 16 คนสูญเสียที่ทำกินของตัวเอง จนกระทั้งวันนี้ยังไม่ได้รับเงินชดเชยใดๆ เลย” U Aung Myint ชาวบ้านหมู่บ้านมูดูกล่าว

ขณะที่ Saw Keh Doh ชาวบ้านจากหมู่บ้านตะบิวซองได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่เริ่มโครงการและมีการสร้างถนนเข้ามาในหมู่บ้าน ทำให้ตนและคนในหมู่บ้าน สูญเสียทั้งที่ดินที่ทำกิน น้ำสะอาด และอาชีพ แต่กลับไม่ได้รับการชดเชยอะไร ไม่มีการแจ้งข้อมูลหรือปัญหาที่จะเกิดขึ้นพร้อมกับโครงการนี้

ในส่วนของการโยกย้ายชาวบ้านออกจากพื้นที่ ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการได้เล่าว่า ได้มีการโยกย้ายชาวบ้านออกจากพื้นที่นาบูเล่ เพื่อที่จะพัฒนาให้เกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่สิ่งที่ยังเป็นที่กังวลคือ บ้านที่รัฐได้สร้างให้ไม่ได้มีโครงสร้างที่มั่นคง และที่สำคัญคือ ชาวบ้านกว่า 32,000 คนที่จะถูกย้ายออกไปส่วนมากประกอบอาชีพเกษตรกรรม แต่พื้นที่ที่จะต้องไปอยู่นั้นไม่มีพื้นที่เพียงพอสำหรับทำการเกษตร ทั้งนี้ยังย้ำว่าหากจะให้ชาวบ้านออกจากพื้นรัฐจะต้องมีหลักประกันว่า คุณภาพชีวิตของพวกเขาจะต้องไม่แย่ลงกว่าเดิม

ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ

“ที่มาวันนี้เพราะเราต้องการรู้ว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งการให้ข้อมูลครั้งนี้ทางคณะกรรมการสิทธิฯได้เชิญ บริษัท อิตาเลียนไทย ซึ่งเคยเป็นผู้ลงทุนหลักในโครงการ ก่อนจะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นการร่วมมือระหว่างรัฐไทยกับพม่า แต่น่าเสียดายที่ทางบริษัทปฏิเสธไม่ร่วมงานครั้งนี้ โดยให้เหตุผลว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการนี้แล้ว และยิ่งตอนนี้กำลังจะมีการผลักดันโครงการนี้อีกครั้ง คำถามที่เราต้องการคือใครกันจะเป็นผู้รับผิดชอบผลกระทบที่เกิด ทั้งที่เกิดขึ้นแล้วและกำลังจะเกิดขึ้นอีก”ตัวแทนจากกลุ่มประชาสังคมชุมชนกระเหรี่ยงกล่าว

ด้าน นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงการศึกษารายละเอียดกรณีโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายว่า มีการกระบวนดำเนินการที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนแบบข้ามพรมแดน ซึ่งปัจจุบันแม้ว่าการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจจะมีความสำคัญอย่างมากต่อภูมิภาคอาเซียน แต่ก็ไม่สามารถที่จะละเลยเรื่องของสิทธิมนุษยชนได้ อย่างไรก็ตามภายใต้การร่วมในนามกลุ่มประเทศอาเซียนไม่ได้มีเพียงการร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียวเท่า แต่ยังมีข้อตกลงร่วมกันในเรื่องสิทธิมนุษยชน และมีกลไกพิทักษ์สิทธิมนุษยชนในภูมิภาคด้วย

“แน่นอนผมเองก็เห็นด้วยกับการพัฒนา แต่ประเด็นสำคัญคือเราจะพัฒนาอย่างไรไม่ให้เกิดการทำร้ายประชาชน” นิรันดร์กล่าว

ขณะที่แนวทางที่คณะกรรมการสิทธิฯ กำลังเร่งดำเนินการคือ จะมีการเชิญตัวแทนจากรัฐบาลไทยและหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งบริษัทอิตาเลียนไทย เข้ามารับฟังข้อมูลและข้อกังวลจากรายงานพิเศษที่ทางสมาคมพัฒนาทวายได้ทำขึ้น พร้อมทั้งจะเสนอคำแนะนำให้การดำเนินการต่างๆต้องมีความเป็นธรรมต่อคนทุกกลุ่ม โดยจะต้องยึดสิทธิมนุษยชนเป็นหลักการในการดำเนินงาน ซึ่งภายใน 1-2 สัปดาห์จะมีข้อมูลและหนังสือเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาร่วมรับฟังปัญหา คาดว่าประมาณต้นเดือนพฤศจิกายน จะได้มีการพูดคุยร่วมกันระหว่างคณะกรรมการสิทธิฯ ตัวแทนจากรัฐบาล และผู้ที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไทยพลาดที่นั่งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

$
0
0

ไทยได้คะแนนน้อยสุดในบรรดา 5 ชาติเอเชียที่ลงชิงที่นั่งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนยูเอ็น ชาติที่ได้รับเลือกคือกาตาร์ บังกลาเทศ อินโดนีเซีย อินเดีย ขณะที่ฮิวแมนไรท์ วอทช์ ส่งหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ให้เลิก คสช.-กฎอัยการศึก ปรับปรุงสิทธิมนุษยชนให้มีมาตรฐานก่อนไปเสนอตัวชิงที่นั่งยูเอ็น

22 ต.ค. 2557 - เมื่อวันที่ 21 ต.ค. ที่ผ่านมา ที่ประชุมสมัชชาใหญ่ แห่งองค์การสหประชาชาติ มีการเลือกตั้งสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council) หรือ UNHRC จำนวน 15 ที่นั่ง หลังสมาชิกคณะมนตรีของ UNHRC ชุดเก่าหมดวาระ

สำหรับคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติชุดใหม่จะเริ่มทำงานวันที่ 1 ม.ค. 2558 มีวาระทำงาน 3 ปี

โดยสมาชิกในทวีปเอเชีย มีโควตาที่จะได้รับเลือกเข้าไปเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ จำนวน 4 ชาติ จากทั้งหมด 15 ที่นั่ง โดยมีชาติที่สมัคร 5 ชาติ ได้แก่ กาตาร์ บังกลาเทศ อินเดีย อินโดนีเซีย และไทย

ผลการลงมติโดยสมาชิกในที่ประชุมสมัชชาใหญ่ แห่งองค์การสหประชาชาติ ซึ่งชาติที่จะผ่านการรับรองต้องได้เสียงอย่างน้อยเกินกึ่งหนึ่งหรือ 97 เสียง ผลปรากฏว่า อินเดีย ได้รับการรับรอง 162 เสียง อินโดนีเซีย 152 เสียง บังกลาเทศ 149 เสียง กาตาร์ 142 เสียง จึงได้รับเลือกเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ส่วนไทยได้รับการรับรอง 136 เสียง จึงไม่ได้รับเลือกเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2553 มีการเลือกตั้งสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council - UNHRC) วาระปี พ.ศ.2553-2556 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก จำนวน 14 ที่นั่ง ผลการเลือกตั้งปรากฎว่าไทยได้รับคะแนนเสียง 182 เสียงเป็นอันดับ 2 จาก 14 ประเทศ รองจากมัลดีฟส์ ซึ่งได้ 185 เสียง ทำให้ไทยได้เข้าเป็นสมาชิก UNHRC เป็นครั้งแรก นับตั้งแต่มีการจัดตั้ง UNHRC เมื่อปี พ.ศ. 2549

ขณะที่อินเดีย และอินโดนีเซีย ถือเป็นชาติที่ได้รับเลือกกลับเข้ามาเป็นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเป็นวาระที่สองติดต่อกัน

อนึ่ง ก่อนมีการลงมติในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติ ฮิวแมน ไรท์ วอทช์ โดยแบรด อดัม ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียของฮิวแมน ไรท์ วอทช์ ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้ไทยปฏิบัติตามพันธะกรณีระหว่างประเทศ ให้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน ก่อนที่จะเข้ารับเลือกเป็นสมาชิกในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติอีกสมัย

โดยข้อเสนอของฮิวแมน ไรท์ วอทซ์ รวมไปถึงเรื่อง ยกเลิกกฎอัยการศึก ยกเลิก คสช. ยุติการเซ็นเซอร์ เปิดกว้างด้านเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ยุติการทรมานและควบคุมตัวบุคคลโดยไม่เปิดเผย การมีความรับผิดชอบต่อสถานการณ์รุนแรงทางการเมืองและเหตุการละเมิดสิทธิ รวมทั้งเหตุการณ์ความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ชายแดนใต้ คุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ปกป้องสิทธิผู้ลี้ภัย แรงงานข้ามชาติ และไม่ใช้วิธีปราบปรามยาเสพย์ติดที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ครม.เห็นชอบแผนสร้างรถไฟทางคู่ 903 กม.-รถไฟฟ้า 4 สาย-ศึกษารางมาตรฐาน

$
0
0

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแผนลงทุนคมนาคม งบปี'58-สร้างรถไฟทางคู่ ราง 1 เมตร 6 สายรวม 903 กม.-ทำ EIA รางมาตรฐาน 1.435 เมตร กทม.-โคราช-มาบตาพุด, กทม.-ระยอง, โคราช-หนองคาย รวม 1,060 กม.-สร้างรถไฟฟ้า 4 สาย ประกวดราคา 7 สาย-ศึกษาเส้นทาง 1 สาย - มอเตอร์เวย์พัทยา-มาบตาพุด ขยายถนน 4 เลน 5 สาย-ทางหลวงระหว่างประเทศ 4 สาย ฯลฯ

สถานีรถไฟชุมทางบางซื่อ เป็นสถานีชุมทางของรถไฟสายใต้ สายเหนือ และสายตะวันออกเฉียงเหนือ (แฟ้มภาพ/ประชาไท)

 

22 .. 2557 - ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประจำวันที่ 21 .. 2557 ครม. มีการเสนอแผนการดำเนินงานรถไฟทางคู่ ประจำปีงบประมาณ พ.. 2558 และ แผนการดำเนินงานโครงการลงทุนพัฒนาด้านคมนาคมขนส่งปี.. 2558 โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ในเรื่อง แผนการดำเนินโครงการรถไฟทางคู่ปีงบประมาณ.. 2558 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบแผนการดำเนินโครงการรถไฟทางคู่ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 ตามที่กระทรวงคมนาคม (กระทรวงคมนาคม) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

1. กระทรวงคมนาคม ได้ดำเนินการประเมินสถานการณ์ด้านคมนาคมขนส่งในปัจจุบันแล้วพบว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องพัฒนาโครงข่ายคมนาคม เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชน การท่องเที่ยว การขนส่งสินค้าชายแดน และรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน กระทรวงคมนาคม จึงได้จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565 ซึ่งมีเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ 4 เป้าหมาย ประกอบด้วย 1) เสริมสร้างรากฐานความมั่นคงทางสังคม 2) เสริมสร้างรากฐานความมั่นคงทางเศรษฐกิจ 3) เสริมสร้างความมั่นคง ความปลอดภัย และ 4) สร้างโอกาสสำหรับการแข่งขันและให้ประเทศได้ประโยชน์สูงสุดจากการเป็นประชาคมอาเซียน และ 5 แผนงาน ประกอบด้วย 1) การพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง 2) การพัฒนาโครงข่ายขนส่งสาธารณะเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 3) การเพิ่มขีดความสามารถทางหลวงเพื่อเชื่อมโยงฐานการผลิตที่สำคัญของประเทศ และเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน 4) การพัฒนาโครงข่ายการขนส่งทางน้ำ และ 5) การเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการขนส่งทางอากาศ

2. กระทรวงคมนาคม ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดเพื่อแก้ไข

ปัญหาด้านการขนส่งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ระหว่างวันที่ 27 กันยายน – 11 ตุลาคม 2557 โดยได้จัดทำรายละเอียดแผนปฏิบัติการ (Action Plan) สำหรับโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งทางรถไฟประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 ซึ่งสถานะในการดำเนินงานโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ขนาดความกว้าง 1.00 เมตร และรถไฟทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน 1.435 เมตร มีดังนี้

2.1 สถานะรถไฟทางคู่ขนาดความกว้าง1.00 เมตร(Meter Gauge) ในปัจจุบัน

ปัจจุบันประเทศไทยมีโครงข่ายทางรถไฟระยะทาง 4,043 กิโลเมตร ให้บริการครอบคลุมเพียง 47 จังหวัด ประกอบด้วย ทางเดี่ยว ระยะทาง 3,685 กิโลเมตร หรือร้อยละ 91.1 ทาง สามระยะทาง 107 กิโลเมตร หรือร้อยละ 2.7 (ช่วงรังสิต-ชุมทางบ้านภาชี) ระยะทาง 61 กิโลเมตร และช่วงหัวหมาก – ฉะเชิงเทรา ระยะทาง 46 กิโลเมตร) ที่เหลือเป็นทางคู่ระยะทาง251 กิโลเมตรหรือร้อยละ6.2 ประกอบด้วย

2.2 แผนการดำเนินการในปีงบประมาณ2558 ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ฯ

2.2.1 โครงการที่พร้อมดำเนินการก่อสร้าง 1 โครงการ คือ โครงการ

รถไฟทางคู่ ช่วงฉะเชิงเทรา – คลองสิบเก้า – แก่งคอย ระยะทาง 106 กิโลเมตร ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างประกวดราคา [ได้รับความเห็นชอบรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และร่างพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินแล้ว]

2.2.2 โครงการที่อยู่ระหว่างนำเสนอขออนุมัติโครงการ [ได้รับความเห็นชอบรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และร่างพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินแล้ว] จำนวน 2 โครงการ ได้แก่

1. โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ – ขอนแก่น - ระยะทาง 185 กิโลเมตร อยู่ระหว่างนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติโครงการคาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาได้ในไตรมาสที่ 1 และประกวดราคาได้ในไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2558

2. โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงประจวบคีรีขันธ์ – ชุมพร ระยะทาง 167 กิโลเมตร เตรียมนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติโครงการในไตรมาสที่ 2 และประกวดราคาได้ ในไตรมาสที่ 3 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2558

2.2.3 โครงการอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ พิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านคมนาคมของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือโครงการร่วมกับเอกชน ภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ จำนวน 3 โครงการ ได้แก่

1. ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กิโลเมตร
2. ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กิโลเมตร
3. ช่วงนครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 165 กิโลเมตร

โดยคาดว่าจะพิจารณาแล้วเสร็จประมาณปลายปี 2557 ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติโครงการเพื่อการประกวดราคาต่อไป ทั้งนี้ ภายหลังดำเนินโครงการรถไฟทางคู่แล้วเสร็จ จำนวน 6 เส้นทางดังกล่าว จะทำให้มีโครงข่ายรถไฟทางคู่เพิ่มขึ้นระยะทาง 903 กิโลเมตร อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาการเดินรถที่คับคั่งและรองรับการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ของประเทศ ลดระยะเวลาการเดินทาง ลดอุบัติเหตุ เพิ่มความปลอดภัยและเพิ่มคุณภาพชีวิตในการเดินทางของประชาชนทั่วประเทศ

2.2.4 ดำเนินการศึกษาและออกแบบรายละเอียดในปีงบประมาณ 2558 จำนวน 8 เส้นทางได้แก่

1. หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ 90
2. ปากน้ำโพ-เด่นชัย 285
3. ชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี 309
4. ขอนแก่น-หนองคาย 174
5. ชุมพร-สุราษฎร์ธานี 167
6. สุราษฎร์ธานี-สงขลา 339
7. หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ 45
8. เด่นชัย-เชียงใหม่ 217

โดยเส้นทางทั้งหมดอยู่ระหว่างการศึกษาออกแบบรายละเอียดและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม คาดว่าจะพิจารณาแล้วเสร็จประมาณปลายปี พ.ศ. 2558 ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติโครงการเพื่อการประกวดราคาต่อไป

2.3 การพัฒนาโครงข่ายรถไฟทางคู่ขนาดความกว้าง1.435 เมตร(Standard Gauge)

2.3.1 สถานะรถไฟทางคู่ขนาดความกว้าง 1.435 เมตร (Standard Gauge) ในปัจจุบันยังไม่มีโครงข่ายทางรถไฟขนาดทางมาตรฐาน

2.3.2 แผนการพัฒนาโครงข่ายรถไฟทางคู่ขนาดความกว้าง 1.435 เมตร

กระทรวงคมนคม ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลตามกรอบยุทธศาสตร์ฯ ในการพัฒนาโครงข่ายรถไฟทางคู่ ขนาดทางมาตรฐาน เส้นทางหนองคาย-นครราชสีมา-ท่าเรือแหลมฉบัง ดังนี้

1. ช่วงกรุงเทพฯ นครราชสีมา และนครราชสีมา-มาบตาพุด ระยะทาง 512 กิโลเมตร อยู่ระหว่างเตรียมการศึกษาทบทวนปรับแบบกรอบรายละเอียด รวมทั้งเสนอขออนุมัติเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ระยะเวลาดำเนินการ 12 เดือน

2. ช่วงกรุงเทพฯ –ระยอง ระยะทาง 193 กิโลเมตร ได้ศึกษาและออกแบบแล้วเสร็จอยู่ระหว่างดำเนินการขออนุมัติเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม

3. ช่วงนครราชสีมา- หนองคาย ระยะทาง 355 กิโลเมตร อยู่ระหว่างศึกษา ออกแบบกรอบรายละเอียด รวมทั้งเสนอขออนุมัติเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ระยะเวลาดำเนินการ 14 เดือน

ทั้งนี้ เมื่อการศึกษาออกแบบกรอบรายละเอียดแล้วเสร็จ ผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินเพื่อนำไปสู่การขออนุมัติโครงการและก่อสร้าง ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2562 – 2563 ตามลำดับ จะทำให้ประเทศไทยมีโครงข่ายรถไฟทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน ระยะทาง 1,060 กิโลเมตร

2.4 ภาพรวมการพัฒนารถไฟทั้งระบบ

เมื่อดำเนินโครงการรถไฟทางคู่ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565 แล้วเสร็จ จะทำให้โครงข่ายทางรถไฟทางคู่ เพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีระยะทางเพียง 251 กิโลเมตร เพิ่มขึ้นเป็นระยะทาง 3,589 กิโลเมตร

000

ส่วนเรื่องแผนการดำเนินงานโครงการลงทุนพัฒนาด้านคมนาคมขนส่งปี.. 2558 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบแผนการดำเนินงานโครงการลงทุนพัฒนาด้านคมนาคมขนส่ง ปี พ.ศ. 2558 ตามที่ กระทรวงคมนาคม เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

1. กระทรวงคมนาคม ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดเพื่อแก้ไขปัญหาด้านการขนส่งทางบกทางน้ำ และทางอากาศ ระหว่างวันที่ 27 กันยายน-11 ตุลาคม 2557 และได้จัดทำ สรุปแผนการดำเนินงานโครงการลงทุนพัฒนาด้านคมนาคมขนส่งที่สำคัญในปี พ.ศ. 2558 อันจะแสดงให้เห็นถึงการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมในการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของประเทศในภาพรวม โดยสรุปได้ ดังนี้

1.1 การพัฒนารถไฟทางคู่

กระทรวงคมนาคมโดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้เตรียมการสำหรับการก่อสร้างรถไฟทางคู่ขนาดความกว้าง 1 เมตร และขนาดทางมาตรฐาน 1.435 เมตร ทั้งในเรื่องการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบรายละเอียด การประกวดราคา การจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และการก่อสร้าง โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1.1.1. รถไฟทางคู่ขนาดความกว้าง1 เมตร (Meter Gauge)

(1) ประกวดราคา 3 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย ระยะทาง 106 กิโลเมตร ชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 185 กิโลเมตร และประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กิโลเมตร

(2) รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม 3 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กิโลเมตร มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กิโลเมตร และนครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 165 กิโลเมตร

(3) ศึกษาออกแบบรายละเอียด 8 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 90 กิโลเมตร ปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 285 กิโลเมตร ชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 309 กิโลเมตร ขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 174 กิโลเมตร ชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 167 กิโลเมตร สุราษฎร์ธานี-สงขลา ระยะทาง 339 กิโลเมตร หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กิโลเมตร และเด่นชัย-เชียงใหม่ ระยะทาง 217 กิโลเมตร

1.1.2 การพัฒนาโครงข่ายรถไฟทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน1.435 เมตร (Standard Gauge) ได้ดำเนินการศึกษาทบทวน ออกแบบกรอบรายละเอียด และรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เส้นทางหนองคาย-ขอนแก่น-นครราชสีมา-แก่งคอย-ฉะเชิงเทรา-แหลมฉบัง-มาบตาพุด ประกอบด้วย

(1) เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา และนครราชสีมา-มาบตาพุด ศึกษาทบทวน ปรับแบบกรอบรายละเอียด รวมทั้งรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ระยะเวลาดำเนินการ 12 เดือน

(2) เส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง ขออนุมัติเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ระยะทาง 193 กิโลเมตร

(3) เส้นทางนครราชสีมา-หนองคาย ศึกษาออกแบบกรอบรายละเอียด ระยะเวลาดำเนินการศึกษา 14 เดือน

1.2 การพัฒนารถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

1.2.1 เร่งรัดก่อสร้าง4 เส้นทางได้แก่ เส้นทาง (1) รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ ระยะทาง 23 กิโลเมตร (2) รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ- ท่าพระ ระยะทาง 27 กิโลเมตร (3) รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ระยะทาง 12.80 กิโลเมตร และ (4) รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26 กิโลเมตร

1.2.2ประกวดราคา1 เส้นทางคือ เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต –สะพานใหม่ – คูคต ระยะทาง 18.40 กิโลเมตร

1.2.3 โครงการและเตรียมการประกวดราคา6 เส้นทางได้แก่ เส้นทาง (1) รถไฟฟ้าสาย สีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี ระยะทาง 21.2 กิโลเมตร (2) รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร (3) รถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว – สำโรง ระยะทาง 29.1 กิโลเมตร (4) รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ช่วงดอนเมือง – บางซื่อ – พญาไท ระยะทาง 21.8 กิโลเมตร (5) รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ – พญาไท – มักกะสัน – หัวหมาก และสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ – หัวลำโพง ระยะทาง 25.5 กิโลเมตร และ (6) รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต – มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต ระยะทาง 10 กิโลเมตร

1.2.4 ศึกษาออกแบบรายละเอียด1 เส้นทางคือ เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางแค – พุทธมณฑลสาย 4 ระยะทาง 8 กิโลเมตร

1.3 การพัฒนาทางหลวงสายหลัก

1.3.1 จัดกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง(Motorway) สายพัทยามาบตาพุดระยะทาง 32 กิโลเมตร ซึ่งได้รับงบประมาณปี 2558

1.3.2 เร่งรัดก่อสร้างขยายทางหลวง4 ช่องจราจรประกอบด้วย 5 เส้นทางสำคัญ ซึ่งสามารถเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 2558 ได้แก่ เส้นทาง (1) ทล.304 อำเภอกบินทร์บุรี – อำเภอวังน้ำเขียว ตอน 3 ระยะทาง 15.51 กิโลเมตร (2) ทล.304 กบินทร์บุรี – อำเภอปักธงชัย (ทางเชื่อมผืนป่า) ระยะทาง 3 กิโลเมตร (3) ทล.4 กระบี่ – อำเภอห้วยยอด ระยะทาง 16.45 กิโลเมตร (4) ทล.3138 อำเภอบ้านบึง – อำเภอบ้านค่าย ตอน 3 ระยะทาง 18.23 กิโลเมตร และ (5) ทล.314 อำเภอบางปะกง – ฉะเชิงเทรา ตอน 2 ระยะทาง 3.25 กิโลเมตร

1.3.3 ก่อสร้างโครงข่ายทางหลวงเชื่อมโยงระหว่างประเทศประกอบด้วย 4 เส้นทางสำคัญ ซึ่งสามารถเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 2558 ได้แก่ เส้นทาง (1) ทล.212 อำเภอโพนพิสัย – บึงกาฬ ตอน 1 ระยะทาง 30 กิโลเมตร (2) ทล.12 ตาก – แม่สอด ตอน 3 ระยะทาง 25.50 กิโลเมตร (3) ทล.12 กาฬสินธุ์ – อำเภอสมเด็จ ตอน 2 ระยะทาง 11.00 กิโลเมตร และ (4) ทล. 3 ตราด – หาดเล็ก ตอน 2 จังหวัดตราด ระยะทาง 35 กิโลเมตร

1.4 การพัฒนาโครงข่ายการขนส่งทางน้ำ

1.4.1 เสนอคณะรัฐมนตรีขออนุมัติโครงการ2 โครงการได้แก่ (1) การก่อสร้างท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ที่ท่าเรือแหลมฉบัง และ (2) การก่อสร้างศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง (SRTO) (ระยะที่ 1)

1.4.2 ดำเนินการก่อสร้างระบบป้องกันตลิ่งเพื่อพัฒนาร่องน้ำทางเรือเดิน (ระยะที่ 1) ในแม่น้ำป่าสัก

1.5 การเพิ่มขีดความสามารถการให้บริการขนส่งทางอากาศ

1.5.1 ทบทวนสำรวจออกแบบและก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

(1) ทางวิ่งสำรองด้านทิศตะวันตกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะดำเนินการสำรวจออกแบบเพื่อรองรับการขึ้น – ลงของอากาศยานในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน หรือทางวิ่งเส้นที่ 1 หรือเส้นที่ 2 ปิดทำการซ่อมบำรุง

(2) งานระบบพื้นที่ปฏิบัติการด้านการบิน(Airside) จะดำเนินการทบทวนวงเงินงบประมาณให้มีความเหมาะสม ตามความจำเป็นต่อการใช้งาน โดยคาดว่าจะสามารถก่อสร้างได้ภายในปี 2558

(3) งานอาคารที่พักผู้โดยสารอเนกประสงค์(Multi – Terminal) ด้านทิศเหนือ พร้อมสะพานเทียบเครื่องบิน ลานจอดอากาศยาน ระบบขนส่งผู้โดยสารเพื่อเชื่อมกับอาคารผู้โดยสารหลัก (Main Terminal) รวมทั้งที่จอดรถยนต์ ทั้งนี้ เป็นการก่อสร้างเพื่อทดแทนการขยายอาคารผู้โดยสารหลัก ไม่ให้กระทบต่อการบริการประชาชน

(4) งานระบบสาธารณูปโภค (ระบบไฟฟ้า ประปา และระบบบำบัดน้ำเสีย) จะดำเนินการทบทวนวงเงินงบประมาณให้มีความเหมาะสมตามความจำเป็นต่อการใช้งาน เพื่อเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 2558

1.5.2 ดำเนินการก่อสร้างขยายท่าอากาศยานภูเก็ตเพื่อรองรับผู้โดยสารจาก 8 ล้านคน เป็น 12.5 ล้านคนต่อปี และเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกให้บริการแก่ผู้โดยสาร

1.5.3 ท่าอากาศยานอู่ตะเภากระทรวงคมนาคม ได้จัดให้มีคณะทำงานโดยมีปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน และมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง [สนข. กรมการบินพลเรือน บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด และ รฟท.] เป็นคณะทำงาน โดยคณะทำงานได้หารือร่วมกับกองทัพเรือในการเตรียมการวางแผนพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาให้เป็นท่าอากาศยานพาณิชย์แห่งที่3 เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าผู้โดยสารรวมทั้งวางแผนการเชื่อมโยงโครงข่ายระหว่างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิกับท่าอากาศยานอู่ตะเภาซึ่งคาดว่าจะได้สรุปแผนการดำเนินงานและแผนการเตรียมการในส่วนที่เกี่ยวข้องแต่ละหน่วยงานในเดือนกุมภาพันธ์ 2558

1.6 การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ

เร่งรัดจัดซื้อรถโดยสารประจำทางใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติNGV จำนวน3,183 คันโดยคาดว่าจะสามารถส่งมอบรถปรับอากาศ 5 คันแรกภายในเดือนมกราคม 2558 เพื่อทดลองวิ่งดำเนินการ และภายในเดือนมีนาคม 2558 จะได้รับมอบรถตามสัญญาจำนวน 489 คัน ส่วนที่เหลือ 2,694 คัน ได้รับมอบภายในปี 2558

2. ขณะนี้กระทรวงคมนาคม อยู่ระหว่างการประมวลสรุปผลการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2557 วันที่ 4 ตุลาคม 2557 และวันที่ 11 ตุลาคม 2557 และคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อจัดทำเป็นแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย.. 2558-2567 (ระยะ10 ปี)รวมทั้งจัดทำแผนปฏิบัติการระยะเร่งด่วน.. 2558 (Action Plan) เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการของแผนพัฒนาโครงการพื้นฐานฯและแผนปฏิบัติการระยะเร่งด่วนฯดังกล่าวข้างต้นในโอกาสต่อไปเพื่อหน่วยงานได้ใช้เป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

สำหรับผลการประชุม ครม. ประจำวันที่ 21 .. เรื่องอื่นๆ สามารถติดตามได้ที่นี่

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สั่งจัดระเบียบรอบ 2 จยย.รับจ้าง-รถตู้-ชายหาด หลังกลับสู่ความไม่เป็นระเบียบ

$
0
0

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเผย คสช. และ ครม. จะประชุมร่วม 4 พ.ย. - ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวในที่ประชุม ครม. ว่ารถตู้ จักรยานยนต์รับจ้าง ชายหาด เมื่อเวลาผ่านไปเริ่มกลับสู่ความไม่เป็นระเบียบ จึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปจัดระเบียบอีกรอบ และจะหาทางช่วยผู้ประกอบการด้วย

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. หลังการประชุม ครม. เมื่อ 21 ต.ค. 2557 (ที่มา: ศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาล)

22 ต.ค. 2557 - เมื่อวานนี้ เวลา 14.30 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)  ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  เป็นประธาน ร.อ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงผลการประชุมฯ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า การประชุม ครม. วันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้มีการกำหนดการประชุมร่วมกันระหว่าง ครม.กับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2557 ซึ่งการประชุมร่วมกันครั้งนี้ จะมีการหารือและพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องของคณะกรรมาธิการในสัดส่วนของ คสช. และครม. ด้วย เพราะในส่วนของ คสช. คือ 5 บวก 1 และ ครม. คือ 5

ขณะที่นายกรัฐมนตรี ได้ปรารภถึงเรื่องของการจัดระเบียบพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรถตู้ มอเตอร์ไซค์ ชายหาด ซึ่งการจัดระเบียบเบื้องต้นในบางกรณี ถือว่าลงตัวและเรียบร้อยดี แต่เมื่อเวลาผ่านไปสักพักหนึ่ง ปรากฏว่าเริ่มกลับไปสู่ความไม่เป็นระเบียบอีกแล้ว จึงได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไปดำเนินการจัดระเบียบพื้นที่ใหม่อีกครั้ง

อย่างไรก็ตามนายกรัฐมนตรี ยังคำนึงถึงความเดือดร้อนของผู้ประกอบการซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่มีการจัดระเบียบ โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ไปดำเนินการจัดระเบียบพื้นที่ได้กำหนดมาตรการหรือหามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการดังกล่าว เพื่อแบ่งเบาความเดือดร้อนเหล่านั้นด้วย

ส่วนมาตรการในการรักษาความปลอดภัยโดยเฉพาะเรื่องของการท่องเที่ยวเพื่อป้องกันเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยว ทั้งความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน หรือในระหว่างการขนส่งและการเดินทางท่องเที่ยวนั้น นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานกับผู้ประกอบการให้ดำเนินการควบคุมมาตรการในเรื่องการรักษาความปลอดภัยให้เป็นรูปธรรม และอาจต้องมีการกำหนดบทลงโทษหากมาตรการในเรื่องดังกล่าวยังหละหลวม เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจมากยิ่งขึ้น ให้กับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย และเป็นประโยชน์โดยรวมต่อการท่องเที่ยวอีกด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

180 วัน ‘คิดถึงบิลลี่’ กับ ‘คังด้ง’ 1,000 ใย

$
0
0

กิจกรรม 180 วัน คิดถึงบิลลี่กับคังด้ง 1,000 ใย จึงไม่ได้เป็นเพียงพิธีเรียกขวัญบิลลี่เท่านั้นแต่ยังเป็นการปลอบขวัญชาวบ้านบางกลอย นำกำลังใจจากคนเมืองที่สนใจอยากให้ความช่วยเหลือไปสู่ชาวบ้านซึ่งกิจกรรมลำดับถัดไปกลุ่มดินสอสีได้จัดตั้งกองทุนบิลลี่เพื่อครอบครัวและต่อสู้คดีอีกด้วย

ที่มาของภาพ: กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์

คังด้งหรือใยแมงมุม 1,000 ใย ที่ทางกลุ่มดินสอสีและประชาชนผู้เข้าร่วมกิจกรรม "เราทุกคน คือ บิลลี่" ร่วมกันทำขึ้น (ครั้งที่1 ‘WE ALL BILLY’ วันอาทิตย์ที่ 11 พฤษภาคม 2557 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ, ครั้งที่ 2 วันเสาร์ที่ 18 ตุลาคม 2557 ณ สยามสมาคม สุขุมวิท 21) ถูกนำออกมาแจกจ่ายให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรมเรียกขวัญบิลลี่ ที่สะพานแขวนระหว่างหมู่บ้านโป่งลึก-บางกลอย ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี วันที่ 19-20 ตุลาคม 2557 นำไปแขวนไว้ที่ราวสะพาน ตามความเชื่อของชาวกะเหรี่ยง เรียกขวัญบิลลี่ที่หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย ถึง 6 เดือน (180 วัน) ให้กลับบ้าน โดย มีปู่คออี้ มิมี ผู้เฒ่าชาวกะเหรี่ยง วัย 105 ปี เป็นผู้ประกอบพิธีกรรม การประกอบพิธีกรรมเป็นไปอย่างเรียบง่ายโดยการนำคังด้งตบลงกับพื้นบริเวณสะพานและระหว่างประกอบพิธีห้ามผู้คนสัญจรผ่าน

กิจกรรมครั้งนี้ นำโดย กลุ่มดินสอสี เครือข่ายกระเหรี่ยงภาคตะวันออกและภาคเหนือกับชาวบ้านบางกลอย นักข่าวและช่างภาพจากหลายสำนัก รวมทั้งองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนหลายองค์กร เช่น แอมเนสตี้-ไทย รวมแล้วเกือบ 100 คน แม้ว่า ฝนจะตกแต่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมต่างออกไปผูกคังด้งกับราวสะพานแขวนท่ามกลางสายฝนกระหน่ำ

“เมื่อกลไกรัฐทำงานล่าช้า เราต้องใช้วิธีนี้” ตัวแทนชาวกะเหรี่ยงกล่าว คังด้ง เป็นสัญลักษณ์ของใยแมงมุมซึ่งตามความเชื่อของชาวกะเหรี่ยงมีไว้สำหรับประกอบพิธีกรรมในงานบุญต่างๆ เรียกขวัญหรือวิญญาณให้มาอยู่ในคังด้ง มักติดเอาไว้ตามบ้านเพื่อเป็นเครื่องหมายนำทางให้ขวัญหรือวิญญาณกลับบ้าน คังด้งใช้เชือกไหมพรมหลายสีม้วนพันไว้บนไม้รูปกากบาทสี่แฉกหรือหกแฉกแล้วทำเป็นตุ้มสำหรับแขวน ทั้งนี้ นอกจากเรียกขวัญบิลลี่กลับบ้านยังเป็นการให้กำลังใจชาวบ้านบางกลอยซึ่งถูกอพยพโยกย้ายจากบางกลอยบนลงมาที่หมู่บ้านโป่งลึกในปัจจุบัน

ที่มาของภาพ: กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์

ปัญหาอพยพโยกย้ายชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน ปี 2554 กลายเป็นข่าวโด่งดังและยังเป็นคดีความในชั้นศาล เมื่อพบว่า มีการเผาไล่รื้อบ้านและฉางข้าวของพวกเขาเพื่อให้ออกมานอกเขตป่าแก่งกระจานที่กำลังถูกเสนอชื่อเป็นมรดกโลกและบิลลี่เป็นหนึ่งในผู้เรียกร้องความเป็นธรรมก่อนจะหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 จนถึงวันนี้ เป็นเวลา 6 เดือน

ตัวแทนชาวกะเหรี่ยงขยายความต่อไปว่า บิลลี่เป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ตามกฏหมายองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ระบุว่าบุคคลที่รับราชการหรือเป็นพนักงานของรัฐไม่ปรากฏตัวอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบงานเกินกว่า 180 วัน ให้หมดสิทธิ์ในหน้าที่ราชการทันที ตัวแทนชาวกะเหรี่ยง ชี้ว่า สิ่งที่น่าสนใจ คือ คนของรัฐหายตัวไปอย่างไร้ร่อรอย ต้นสังกัดนิ่งเฉยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างไร ?

ลำดับต่อมาในช่วงเย็นเป็นพิธีการให้กำลังใจครอบครัวของบิลลี่ด้วยการจุดเทียนรำลึกถึงผู้หายไปพร้อมกับบทเพลงให้กำลังใจชาวบ้านและการแสดงเตหน่าของหญิงชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย โดย ลูกสาวของบิลลี่ร่วมจุดเทียนรำลึกถึงพ่อของเธอด้วย ต่อกรณีของบิลลี่ นับเป็นการบังคับให้สูญหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐเพราะมีหลักฐานปรากฏเป็นที่ชัดเจนว่า ก่อนจะหายไปอย่างไร้ร่องรอย บิลลี่ถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ซึ่งขณะนี้มีการดำเนินการสอบสวนในชั้นศาล

กิจกรรม 180 วัน คิดถึงบิลลี่กับคังด้ง 1,000 ใย จึงไม่ได้เป็นเพียงพิธีเรียกขวัญบิลลี่เท่านั้นแต่ยังเป็นการปลอบขวัญชาวบ้านบางกลอย นำกำลังใจจากคนเมืองที่สนใจอยากให้ความช่วยเหลือไปสู่ชาวบ้านซึ่งกิจกรรมลำดับถัดไปกลุ่มดินสอสีได้จัดตั้งกองทุนบิลลี่เพื่อครอบครัวและต่อสู้คดีอีกด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live




Latest Images