Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live

แอมเนสตี้ระบุ คสช. ยังไม่ยอมให้มีการแสดงความเห็นต่างโดยสงบ

$
0
0
22 พ.ค. 2558 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวในวันนี้ (22 พ.ค.) ว่าการจับกุมนักศึกษาและนักกิจกรรมต่อต้านรัฐประหารโดยพลการ ในเหตุการณ์อย่างน้อยสามครั้งในวันนี้ ทั้งที่กรุงเทพฯ และที่ขอนแก่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นสัญญาณเตือนอย่างชัดเจนว่าระบอบทหารที่ปกครองประเทศมาครบปีแล้วยังไม่ยอมให้มีการแสดงความเห็นต่างโดยสงบ
                
ริชาร์ด เบนเน็ต (Richard Bennett) ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า ครบหนึ่งปีพอดีนับแต่กองทัพไทยประกาศใช้กฎอัยการศึกและยึดอำนาจ เรายังคงเห็นการปราบปรามที่รุนแรงต่อผู้ประท้วงอย่างสงบบนท้องถนน
               
“ต้องไม่มีการจับกุมหรือควบคุมตัวผู้ประท้วงอย่างสงบ เพียงเพราะเขาเสนอความเห็นที่อาจไม่น่ารับฟังหรือท้าทายระบอบทหาร บุคคลที่ชุมนุมอย่างสงบเพื่อใช้สิทธิมนุษยชนที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก ต้องได้รับการปล่อยตัวโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข และต้องยกเลิกข้อกล่าวหาทั้งหมด
                
“ทางการต้องเคารพและต้องคุ้มครองให้มีการแสดงความเห็นต่างอย่างสงบ และให้ยกเลิกมาตรการอย่างเข้มงวดที่ปิดกั้นการแสดงออกและการชุมนุมในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นมาตรการทางกฎหมายหรือทางปฏิบัติ”
                
“ประมาณ 18.20 น.ตามเวลาในประเทศไทย เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวนักศึกษาและนักเคลื่อนไหว 20 คนที่กรุงเทพฯ ช่วงที่กำลังจะประท้วงเชิงสัญลักษณ์อย่างสงบ เพื่อต่อต้านรัฐประหารเมื่อปี 2557 ที่บริเวณหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในสถานที่ที่มีการประท้วงต่อต้านรัฐประหารในช่วงแรก ๆ เมื่อปีที่แล้ว ตำรวจปฏิเสธไม่ให้ผู้ถูกควบคุมตัวได้พบกับทนายความ อ้างว่าต้องรอคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา มีรายงานว่านักกิจกรรมสองคนเป็นอย่างน้อยได้รับบาดเจ็บระหว่างการจับกุมและจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาล
                
ในอีกเหตุการณ์หนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเมื่อตอน 15.00 น.ในวันนี้ที่กรุงเทพฯ เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจจับกุมนักศึกษา นักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยและคนขับแท็กซี่ที่สถานีรถใต้ดิน พวกเขาถูกควบคุมตัวไว้ที่โรงพักและได้รับการปล่อยตัวในเวลาต่อมา
                
บุคคลทั้งสามเป็นสมาชิกกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ซึ่งเป็นกลุ่มประท้วงทางการเมือง และอยู่ระหว่างเดินทางเพื่อยื่นฟ้องต่อศาลอาญาที่กรุงเทพฯ เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯคนปัจจุบันซึ่งทำการรัฐประหารเมื่อปีที่แล้ว ทางกลุ่มแจ้งแผนการต่อสาธารณะหลายวันก่อนจะมีการชุมนุมในโอกาสครบรอบหนึ่งปีรัฐประหาร สมาชิกคนอื่นของกลุ่มเคยถูกควบคุมตัวมาแล้วจากการประท้วงเชิงสัญลักษณ์อย่างสงบในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาอย่างนายสิริวิชญ์ เสรีวิวัฒน์ หรือนายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ ซึ่งลูกชายของเขาถูกทหารฆ่าตายระหว่างการปราบปรามผู้ชุมนุมเมื่อปี 2553 และคนขับแท็กซี่อย่างนายวรรณเกียรติ ชูสุวรรณ
                
ในเหตุการณ์ที่สาม มีผู้ถูกจับกุมอย่างน้อยเจ็ดคนที่จังหวัดขอนแก่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อประมาณ 13.00 น. ผู้ประท้วงทั้งเจ็ดคนได้รวมตัวชุมนุมอย่างสงบเพื่อต่อต้านรัฐประหารและการบังคับไล่รื้อชุมชนในชนบทเพื่อเปิดทางให้กับโครงการขุดเจาะทรัพยากรธรรมชาติและการพัฒนา ผู้ประท้วงเป็นสมาชิกกลุ่มดาวดิน ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาที่เป็นนักกิจกรรม โดยเชื่อว่าบางส่วนเคยถูกจับกุมมาแล้วในเหตุการณ์ชูสามนิ้วจากภาพยนตร์ “ฮังเกอร์เกมส์” ระหว่างที่พลเอกประยุทธ์มากล่าวปาฐกถาที่ขอนแก่นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2557
                
จากภาพข่าว เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบได้บุกเข้าไปสลายการชุมนุมก่อนจะจับกุมนักกิจกรรม ในเบื้องต้นมีการพาตัวสมาชิกกลุ่มดาวดินไปยังค่ายทหาร และในตอนนี้ถูกนำตัวไปที่โรงพักในขอนแก่น
                
“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุดเหล่านี้สะท้อนความพยายามอย่างต่อเนื่องของทางการไทย ในการปราบปรามเสียงที่เห็นต่างของประชาชน โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองอาจต้องเจอกับโทษจำคุก ทางการได้ใช้อำนาจมากมายที่มีอยู่เพื่อจำกัดและปฏิเสธไม่ให้ประชาชนใช้สิทธิของตนโดยอ้างว่าเพื่อความมั่นคงของประเทศ ถึงเวลาแล้วที่พวกเขาต้องอนุญาตให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิในการเห็นต่างได้อย่างสงบ” ริชาร์ด เบนเน็ตกล่าว
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตร.ยอมอ่อน ปล่อยก่อนแจ้งข้อหาทีหลัง หลังนศ.ลั่น ถ้าปล่อยต้องปล่อยหมด

$
0
0

 
ภาพโดย อานนท์ นำภา


ภาพโดย ขวัญระวี วังอุดม


ภาพโดย สรวุฒิ วงศ์ศรานนท์


ภาพโดย สรวุฒิ วงศ์ศรานนท์


ภาพจากเพจพลเมืองโต้กลับ

22 พ.ค. 2558 ความคืบหน้าล่าสุดของกิจกรรมว่า “ศุกร์ 22 มาฉลองกันมะ?” ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นการรำลึก ครบรอบ 1 ปี รัฐประหารนั้น มีผู้ถูกจับกุมไปจำนวนมากตั้งแต่ช่วงเย็น (อ่านข่าวที่นี่) ทั้งหมดยังคงถูกควบคุมตัวที่ สน.ปทุมวันจนย่างเข้าสู่วันใหม่ ท่ามกลางผู้มาให้กำลังใจหน้า สน.ราว 60-70 คน และตำรวจที่ประจำการโดยรอบราว 50 นาย

02.30 น.ที่สน.ปทุมวัน ธีระ สุธีวรางกูร อาจารย์มธ. ออกจากห้องสอบสวนมาแจ้งกับมวชนที่รอด้านหน้าสน.ว่า ตำรวจแจ้งว่าจะเรียกสอบนักศึกษาประชาชนที่ถูกจับกุมทุกคน ทีละคน และจะปล่อยทั้งหมดภายในคืนนี้หลังจากสอบเสร็จ หากพบว่าคนใดเข้าข่ายมีความผิดจะแจ้งข้อหาในภายหลัง ผู้สื่อข่าวรายงานว่านักศึกษายังคงหารือเพื่อให้คำตอบว่าจะให้ความร่วมมือในกรณีนี้หรือไม่

เวลาประมาณ 1.05 น.สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ อมธ. แถลงหน้า สน.ปทุมวัน ขอให้เจ้าหน้าที่ปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัวทั้งหมดออกมาโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ เพราะการกระทำที่หน้าหอศิลป์เป็นสิทธิเสรีภาพที่ประชาชนสามารถกระทำได้

ก่อนหน้านี้เวลาประมาณ 00.50 น. ธีระ สุธีวรางกูล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ. ออกจากห้องสอบสวนแจ้งว่า ขณะนี้ตำรวจสันติบาลได้เสนอให้ผู้ที่ถูกจับกุมทุกคนลงชื่อเพื่อนำรายชื่อไปตรวจสอบประวัติ หากพบว่าไม่มีประวัติประท้วงหรือเคยลงนามข้อตกลงไม่เคลื่อนไหวทางการเมืองมาก่อนก็จะได้รับการปล่อยตัวกลับบ้าน แต่ผู้ที่มีประวัติมาแล้วจะถูกแจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.เรื่องการชุมนุม ซึ่งจะต้องดำเนินการยื่นประกันตัวต่อไป  

จากนั้นตัวแทนนักศึกษาได้เข้าไปพูดคุยกับเพื่อนที่ถูกคุมตัวซึ่งแยกกันเป็น 3 ห้องพร้อมกับนำคำตอบออกมาแจ้งนักศึกษาและประชาชนที่ให้กำลังใจอยู่หน้าสน.ปทุมวันกว่า 60 คนว่า ทุกคนตกลงกันว่า หากจะได้กลับบ้านก็ต้องได้กลับพร้อมกันทุกคน หากไม่ได้กลับก็จะอยู่ด้วยกันที่นี่ทุกคนเช่นกัน และจะยอมถูกแจ้งข้อกล่าวหา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการประมาณการกันว่า คนที่เคยมีประวัติชุมนุมและเคยเซ็นข้อตกลงแล้วมีประมาณ 9 คน หนึ่งในนั้นคือ ณัชชชา กองอุดม นักศึกษาม.กรุงเทพ ซึ่งยังไม่ได้ร่วมกิจกรรมใด เพียงแต่เดินเข้าไปในหอศิลป์

สำหรับผู้ถูกจับกุมทั้งหมด มีประมาณ 34 คน แต่ไม่สามารถยืนยันตัวเลขที่แน่ชัดได้เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่ให้ข้อมูลและไม่อนุญาตให้เข้าไปในห้องสอบสวน ในจำนวนนี้เป็นประชาชนทั่วไปที่ไม่ใช่นักศึกษาราว 10 คน ทั้งหมดถูกจับกุมตัวมาจากหอศิลป์ การจับกุมแบ่งเป็นสองระลอก รอบแรกคือถูกจับ 9 คน ขณะที่รอบหลังเป็นกลุ่มคนที่นั่งล้อมวงกันอยู่ ไม่ยอมกลับ จากนั้นตำรวจได้เข้าจับกุมตัวมาที่ สน.ปทุมวัน

ทั้งนี้เวลา 02.00 น.เศษ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชลธิชา แจ้งเร็ว หรือลูกเกด นักศึกษากลุ่ม ศนปท. หนึ่งในผู้ถูกควบคุมตัวมาตั้งแต่ช่วงเย็นมีอาการเป็นลมอยู่หน้าห้องน้ำ เจ้าหน้าที่นำตัวเข้าห้องสอบสวนก่อนที่อีกราว 30 นาทีต่อมารถพยาบาลจะมารับไปยังรพ.กลาง 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สภานศ.มธ.-ปาตานี-เชียงใหม่-ลูกชาวบ้าน ม.บูรพา วอนปล่อยตัวนักศึกษา-ประชาชนทันที

$
0
0

หลังเหตุควบคุมตัวนักศึกษาและประชาชนที่จัดกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์รัฐประหาร วานนี้(22 พ.ค.58) ทั้งที่บริเวณหน้าหอศิลปะฯ กทม. และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจังหวัดขอนแก่น รวมประมาณ 59 ราย (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม กรณีหน้าหอศิลปะฯกรณีขอนแก่น )

ล่าสุดวันนี้(23 พ.ค.58) สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี (PerMAS) ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัวให้เร็วที่สุดโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ วอนนำบทเรียนการใช้ความรุนแรงของรัฐไทยในอดีตมาเป็นบทเรียน เรียกร้องให้เปิดพื้นที่ทางการเมืองให้โดยเร็วที่สุด และคืนประชาธิปไตยให้กับประชาชนโดยเร็วที่สุด

ขณะที่วานนี้ เมื่อเวลา 22.55 สภานักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ได้โพสต์ภาพการจับกุมนักศึกษาที่จัดกิจกรรมรำลึก 1 ปี การรัฐประหาร บริเวณหน้าหอศิลปฯ กทม.วันนี้ โดยสภาพนักศึกษา มธ. ได้เรียกร้องให้ปล่อยผู้ถูกจับคุมทุกคนโดยไม่มีเงื่อนไข 

รวมทั้งนักศึกษากลุ่มลูกชาวบ้าน ได้โพสต์แถลงการณ์ประณามเหตุการณ์ดังกล่าวเช่นกัน รวมทั้ง สมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ออกแถลงการณ์ "ปล่อยเพื่อนเราโดยไม่มีเงื่อนไข"

เมื่อเวลา 2.00 น. กลุ่มดาวดิน โพสต์ภาพผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘ดาวดิน สังกัดพรรคสามัญชน’ ซึ่งเป็นภาพบริเวณหน้า สภอ.เมืองขอนแก่น ซึ่งเป็นสถานที่ควบคุมตัวนักศึกษา 7 ราย พร้อมข้อความ “เพื่อนนักศึกษาจากสารคามเดินทางมาให้กำลังใจเพื่อนเราทั้ง 7 คน พร้อมแปลอักษรพร้อมกะโตน "ปล่อยเพื่อนเรา" หน้า สภ.เมืองขอนแก่น”

 

 

2.30น. นศ.ขอนแก่น สารคามและชาวบ้านที่มาให้กำลังใจ เข้าเจรจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ปล่อยตัวเพื่อนเราทั้งหมด 7 คนโดยไม่มีเงื่อนไขหากไม่ได้รับคำตอบจะนอนรอในสถานนีตำรวจด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจชี้แจงไม่มีอำนาจตัดสินใจ. #ปล่อยตัวเพื่อนเราโดยไม่มีเงื่อนไข

Posted by ดาวดิน สังกัดพรรคสามัญชน on 22 พฤษภาคม 2015

 

รายละเอียดแถลงการณ์ :

แถลงการณ์ฉบับที่ 1

เรื่อง การควบคุมตัวนักกิจกรรมนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตย

เมื่อเวลาประมาณ 18.00 น. ของวันที่ 22 พฤษภาคม2558 เจ้าหน้าที่ทำการควบคุมตัว นักศึกษานักกิจกรรมเพื่อสันติภาพและประชาธิปไตยที่ร่วมกันจัดกิจกรรมTIME $ SILENCE ครบรอบ 1 ปีการรัฐประหารยึดอำนาจประชาชน ณ หอศิลป์ กรุงเทพมหานครและอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจังหวัดขอนแก่น กิจกรรมในครั้งนี้ได้ถูกยกเลิกโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และได้ทำการควบคุมตัวนักศึกษาที่เข้ามาร่วมกิจกรรมดังกล่าวทั้งหมด 59 คน แบ่งเป็นกรุงเทพมหานคร 39 คน ขอนแก่น 13 คน.   ซึ่งในขณะนี้ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว

สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานีเป็นองค์กรทางการเมืองที่เคลื่อนไหวรณรงค์เพื่อสันติภาพปาตานีซึ่งยึดมั่นในหลักสันติวิธี สิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ขอเสนอความคิดเห็นและเรียกร้องดังต่อไปนี้

1.     รัฐไทยต้องคืนประชาธิปไตยให้กับประชาชนโดยเร็วที่สุด การกดทับเสรีภาพของประชาชนถือเป็นเงื่อนไขที่จะนำมาสู่การใช้ความรุนแรง

2.     การทำร้าย ร่างกาย การซ้อมทรมาน การควบคุม มิใช่แนวทางที่สามารถหยุดหยั่งการเคลื่อนไหวของเหล่านักกิจกรรมนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยและสันติภาพได้  รัฐไทยควรนำบทเรียนการ หนีเข้าป่าจับปืนสู้ ของขบวนนักศึกษาในอดีตมาเป็นบทเรียนและต้องเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้โดยเร็วที่สุด

3.     เราขอเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักศึกษาทั้งหมดที่ถูกควบคุมตัวให้เร็วที่สุดโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ

 

ด้วยจิตรักสันติภาพและประชาธิปไตย

สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี

23 พฤษภาคม 2558

00000

 

แถลงการณ์กลุ่มลูกชาวบ้าน

มารทมิฬกินเมืองเรืองอำนาจเกรี้ยวกราดฟาดงวงงาวางท่าใหญ่ ใช้อำนาจปราบปรามเก่งกว่าใครใจพี่ใหญ่เจ๋งต่อหน้าประชาชน คนมือเปล่าหรือจะสู้ทหารกล้าผู้คอยปราบปวงประชามาแต่หลัง หลบเร้นอยู่ภายในที่กำบังมีกำลังไว้สำหรับปัญญาชน โอ้พี่เอ๋ยสันติบาลทหารกล้ากินภาษีปวงประชามากี่หน เคยหรือไม่สำรวจตรวจสอบสำเหนียกตน ท่านเป็นคนหรือเพียงหุ่นไล่กา

พินิจเถิดถึงเครื่องแบบที่ท่านใส่เงินเดือนให้ท่านใช้แต่ละหน ไม่สำเหนียกสำนึกบุญคุณคน ประชาชนนั้นให้ท่านเสมอมา ยศถาเกียรติศักดิ์ที่ท่านแบกกลับแปลกแยกการกระทำท่านทุกหน ทั้งจับกุมกดขี่ย่ำยีประชาชน ท่านเป็นคนหรือเพียงหมาวิ่งล่ากวาง

กาลเวลาชี้ชัดประจักษ์แล้ว โถทแกล้วรั้วของชาติเก่งหนักหนาเสพอำนาจกร่างใหญ่ในอุราแล้วบีฑาประชาผู้เลี้ยงตน ตรองดูเถิดเกียรติของท่านอยู่หนไหนหรือห่างไกลเกียรติยศและศักศรีมีปัญญาทำได้เพียงย่ำยีแล้วกดขี่ปวงประชาผู้มีคุณ

แม้นท่านขืนใจเราได้ในวันนี้แต่ใช่จะทำได้อีกหลายหนเพราะประชามีขีดความอดทนเมื่ออับจนหนทางจักลุกยืน และเมื่อวันที่ประชาเริ่มหยัดยืนอำนาจปืนก็มิอาจขวางทางคน

“ชื่อของท่านจะจารึกไว้ในสุนัขบัญชี รอวันที่ปวงประชามาเอาคืน”

 

แถลง ณ วันที่

๒๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๘

 

00000

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

7 นักศึกษา 'ดาวดิน' ประกันตัวออกมาแล้ว

$
0
0


ภาพจาก Yuttana Teeb


ชาวบ้านที่มาให้กำลังใจเข้ามาร่วมแสดงความยินดี
ภาพจาก Yuttana Teeb

23 พ.ค. 2558 ที่ขอนแก่น นักศึกษากลุ่มดาวดินทั้ง 7 คนได้รับการประกันตัวออกมาแล้ว ด้วยวงเงินคนละ 7,500 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 52,500 บาท โดยเงินดังกล่าวได้จากการระดมเงินกัน

หลังจากออกมา นักศึกษาทั้ง 7 คนอ่านแถลงการณ์ที่เขียนจากในห้องขัง ระบุหากเผด็จการไม่หยุดดำเนินการในประเด็นปัญหาต่างๆ อาทิ ขุดเจาะปิโตรเลียม/ไล่ที่ดิน/โปรแตส/โรงไฟฟ้า/เหมือง/เขื่อน/อุตสาหกรรม และไม่คืนอำนาจให้ประชาชน พวกเขาก็เป็นปฏิปักษ์ต่อไป ก่อนร่วมกันร้องเพลงบทเพลงของสามัญชน

ด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจนัดรายงานตัว 8 มิ.ย. นี้ โดยระบุว่า จะรีบทำสำนวนให้เสร็จและอาจจะส่งฟ้องเลย

นักศึกษาทั้ง 7 คนถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช.ที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง หลังทำกิจกรรม 1 ปีรัฐประหารวานนี้ที่ขอนแก่น เดิมพวกเขายืนยันไม่ประกันตัว เรียกร้องการปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไข

 

แถลงการณ์จากกลุ่มดาวดิน ซึ่งเขียนขณะอยู่ในห้องขัง

ทหารที่รักทั้งหลาย การที่พวกคุณกักขังเรา มันก็ขังได้แต่ร่างกายเท่านั้น คุณไม่สามารถกักขังหัวใจอันเสรีของเราได้  กรงเหล็กแข็งๆ รึจะสู้หัวใจของเราได้

ม.44 ที่รัก มันก็แค่ตัวอักษรที่เผด็จการเขียนขึ้นมา แล้วมโนเอาว่าเป็นกฎหมาย ในเมื่อกฎหมายบอกว่าเราผิด เราก็ผิดตามกฎหมาย แต่เราไม่เคยผิดต่อสำนึกของหัวใจตัวเอง สำนึกที่รู้ผิดชอบชั่วดี สำนึกในความเท่าเทียมของสิทธิเสรีภาพของสามัญชน และสำนึกถึงความชั่วร้ายของเผด็จการและ ม.44 ที่พวกเรายอมรับไม่ได้

ตราบใดที่เผด็จการยังไม่หยุดขุดเจาะปิโตรเลียม/ไล่ที่ดิน/โปรแตส/โรงไฟฟ้า/เหมือง/เขื่อน/อุตสาหกรรมและยังไม่คืนอำนาจให้ประชาชน พวกเรายืนยันว่าจะเป็นปฏิปักษ์ต่อสิ่งชั่ว เผด็จการอันโสมม

 







ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บอกปล่อยตัวไม่มีเงื่อนไข สุดท้ายถ่ายบัตร ปชช. พร้อมให้เซ็นไม่เคลื่อนไหว

$
0
0


23 พ.ค. 2558 เมื่อเวลา 05.45 น. กลุ่มนักศึกษา ประชาชน ทั้งหมด 37 คน ที่ถูกจับกุมหน้าหอศิลปฯ เมื่อช่วงค่ำวานนี้หลังทำกิจกรรม 1 ปีรัฐประหารได้รับการปล่อยตัวทั้งหมด

โดยในการสืบสวน เจ้าหน้าที่ได้แยกห้องสืบสวนออกเป็น 3 ห้อง และยื่นข้อเสนอให้นักศึกษาแตกต่างกัน โดยบอกกับ 2 ห้องแรกว่า จะปล่อยตัวโดยไม่ตั้งข้อกล่าวหา แต่ขอให้ถ่ายเอกสารบัตรประจำตัวประชาชน พร้อมเขียนกำกับว่า ไม่เคลื่อนไหว ขณะที่ห้องที่ 3 เจ้าหน้าที่บอกว่า ให้ปล่อยตัว โดยให้สัญญาปากเปล่าว่าจะไม่เคลื่อนไหวอีก

อย่างไรก็ตาม เมื่อทั้งหมดตกลง สุดท้ายเจ้าหน้าที่ใช้มาตรการแรกคือ ถ่ายเอกสารบัตรประชาชนเก็บไว้ทุกคน พร้อมเขียนกำกับว่าจะไม่เคลื่อนไหว แล้วจึงปล่อยตัว

ทั้งนี้ ทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์ นักศึกษากลุ่ม ศนปท. หนึ่งในนักศึกษาที่ถูกจับมาด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างรักษาตัวที่ รพ.หัวเฉียวและรอผลตรวจ CT scan โดยระบุว่า ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทำร้ายร่างกายขณะเข้าจับกุม
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เรื่องราวการ 'เดิมพัน' ช่วยผู้แฉสะเทือนโลก 'เชลซี แมนนิง' ให้พ้นโทษ

$
0
0

กลุ่มผู้สนับสนุน เชลซี แมนนิง อดีตทหารสหรัฐฯ ที่ถูกจำคุกเพราะแฉเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในสงครามอิรักกำลังพยายามต่อสู้อย่างแข็งขันเพื่อช่วยเหลือแมนนิงในชั้นศาลอุทธรณ์ ในขณะเดียวกันก็มีความพยายามพลิกคดีด้วยการยืนยันว่า การเปิดโปงของแมนนิงที่เป็นการให้ความรู้ต่อสาธารณะไม่ใช่สิ่งที่ผิด


22 พ.ค. 2558 เว็บไซต์วิเคราะห์นโยบายการต่างประเทศ Foreign Policy In Focus (FPIF) รายงานถึงความพยายามช่วยเหลือให้มีการปล่อยตัว เชลซี แมนนิง อดีตทหารสหรัฐฯ ที่ถูกสั่งจำคุกหลังเปิดโปงการทารุณกรรมโดยกองทัพสหรัฐฯ ผ่านเอกสารที่ส่งให้วิกิลีกส์

ชาร์ลส์ เดวิส นักเขียนและโปรดิวเซอร์ผู้เขียนงานให้กับสื่ออัลจาซีรา เดอะนิวริพับลิค และซาลอน ระบุในบทความว่าเซลซี แมนนิง เป็นผู้รักชาติแบบอเมริกันแท้ในตอนที่เธอร่วมกองทัพสหรัฐฯ ในปี 2550 ในตอนที่กำลังมีกระแสสงครามอิรัก แต่เธอกลับรู้ความจริงว่าประเทศของเธอทำอะไรลงไปในช่วงสงคราม มีการนำตัวชาวมุสลิมนิกายซุนนีในอิรักให้กับกองกำลังนิกายชีอะฮ์ซึ่งรัฐอิรักให้การสนับสนุน ทำให้เธอรู้สึกว่าไม่อยากเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำเช่นนี้ เธอได้แต่มองความอยุติธรรมเกิดขึ้นตรงหน้าโดยไม่สามารถทำอะไรได้

แต่วันหนึ่งแมนนิงก็ตัดสินใจนำข้อมูลหลักฐานการก่ออาชญากรรมสงครามเขียนลงซีดีที่ระบุด้านหน้าเป็นชื่อนักร้อง "เลดี้ กาก้า" ตามการให้ปากคำของเธอ แล้วต่อมาก็มีการเผยแพร่ข้อมูลเหล่านี้ผ่านเว็บไซต์วิกิลีกส์ ทำให้เธอถูกศาลทหารตัดสินให้ต้องรับโทษจำคุก 35 ปีในข้อหาทำให้ข้อมูลที่เป็นความลับรั่วไหล มีการตัดสินโทษนี้ตั้งแต่ปี 2556 ถ้าแมนนิงรับโทษจำคุกรวม 35 ปี เมื่อเธอออกมาเธอก็จะอายุ 60 ปี บทความใน FPIF ระบุว่าแม้เธอจะสามารถได้รับการปล่อยตัวโดยทำทัณฑ์บนได้เมื่อถึงปี 2563 แต่กลุ่มผู้สนับสนุนแมนนิงต้องการให้เธอออกมาจากคุกโดยทันที

แนนซี ฮอลลันเดอร์ หนึ่งในทีมทนายที่ต้องการให้มีการปล่อยตัวแมนนิงกล่าวว่า ทางการสหรัฐฯ มักจะมีการดำเนินคดีแต่กับผู้เปิดโปงที่อยู่ในฐานะนักโทษทางความคิดเช่นกรณีแมนนิงซึ่งถือเป็นการทำร้ายคนที่สมควรถูกลงโทษน้อยที่สุด แต่กลับเพิกเฉยต่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่ปากพล่อยเปิดเผยข้อมูลภายในต่อสื่อ

เดวิส ระบุในบทความว่ามีความแตกต่างระหว่างการกระทำของแมนนิงซึ่งเป็นการเผยแพร่ข้อมูลเพื่อให้ความรู้ต่อสาธารณะที่กลายเป็นปัญหากวนใจฝ่ายความมั่นคงของรัฐ กับการทำข้อมูลรั่วไหลที่เป็นลักษณะการปล่อยข้อมูลเท็จที่มักจะเป็นการกระทำของพวก "ลูกสมุน" ที่ต้องการเอาใจ "ผู้มีอำนาจ"

ข้อมูลที่แมนนิงเปิดโปง มีวิดีโอทหารสหรัฐฯ สังหารประชาชนไม่มีอาวุธในอิรักรวมถึงนักข่าวรอยเตอร์ 2 คน ซึ่งโฆษกกองทัพอ้างว่าทหารที่ระดมยิงชายคนหนึ่งที่กำลังขับรถที่มีเด็กอยู่ในนั้นเป็น "ปฏิบัติการสู้รบต่อกองกำลังข้าศึก" โดยแมนนิงได้พิสูจน์ให้เห็นไปในอีกทาง นอกจากนี้ยังมีการเปิดโปงเรื่องที่อดีตผู้นำเผด็จการของเยเมนเคยร่วมมือกับรัฐบาลโอบามาในการช่วยปกปิดปฏิบัติการโจมตีด้วยเครื่องบิน "โดรน" โดยอ้างว่าเพื่อปราบปรามกลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะฮ์ แต่องค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนลรายงานว่าปฏิบัติการโดรนทำให้มีพลเรือนชาวเยเมนเสียชีวิต 41 คน เป็นเด็ก 21 คน

เดวิสระบุว่าสิ่งที่ทำให้การทำข้อมูลรั่วไหลในแบบของแมนนิงแตกต่างจากของพวกลูกสมุนผู้มีอำนาจคือเจตนาที่ไม่ได้ทำให้ตัวเองดูเป็นคนดีขึ้น แต่เพื่อ "ดับเปลวเพลิงความอยุติธรรมที่หมกไหม้อยู่ในจิตสำนึกของพวกเขา" โดยฮอลลันเดอร์และเพื่อนทนายเธอกำลังจะใช้จุดนี้มาช่วยอุทธรณ์ โดยเธอกล่าวถึงการดำเนินคดีในชั้นศาลว่าไม่มีการอนุญาตให้เชลซีให้การเกี่ยวกับความรู้สึกของเธอที่ได้เปิดโปงการละเมิดสิทธิมนุษยชนเลย

"พวกเราร้องอุทธรณ์ในเรื่องนี้เพื่อตัวพวกเราเอง ...และพวกเราจะต้องหยุดยั้งมันให้ได้เพราะมันทำให้การเปิดโปงข้อมูลที่ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ อับอายกลายเป็นเรื่องผิดกฎหมาย" ฮอลลันเดอร์กล่าว

แต่ความยุติธรรมก็มีราคาแพง มีการใช้เงินกองทุนเพื่อต่อสู้คดีเชลซี แมนนิง ในปี 2557 ไปแล้ว 149,000 ดอลลาร์จากทั้งหมด 247,000 ดอลลาร์ที่มีคนบริจาคให้ ซึ่งเมลิสซา คีธ ผู้ทำงานเครือข่ายสนับสนุนเชลซี แมนนิง กล่าวว่าเงินส่วนที่เหลือนี้จะนำไปใช้ปกป้องการกระทำของแมนนิงโดยให้ความรู้ต่อสาธารณะทั้งโฆษณา การเผยแพร่บทความของแมนนิงผ่านหนังสือพิมพ์ เพื่อสร้างความตระหนักรู้และการเรียนรู้แก่ผู้คน และใช้เป็นเงินทุนเดินทางสำหรับผู้ที่ต้องการเยี่ยมแมนนิงโดยเฉพาะมารดาของเธอและญาติๆ ที่อยู่ในแคว้นเวลส์ และส่วนหนึ่งยังใช้เป็นค่าการศึกษาระดับวิทยาลัยของเธอเลย

บทความจาก FPIF ยังแสดงให้เห็นอีกว่าแม้เชลซี แมนนิง จะอยู่ในคุกที่เรือนจำฟอร์ท ลีเวนเวิร์ธ แต่เธอก็ยังคงพยายามเคลื่อนไหวผ่านโทรศัพท์จากในเรือนจำทหารเพื่อเรียกร้องขอทุนในการต่อสู้คดีและทุนในการส่งเสริมการต่อสู้เพื่อความเชื่อของเธอโดยมีผู้ช่วยดำเนินการคือบริษัทประชาสัมพันธ์ที่โพสต์ขอบริจาคผ่านทวิตเตอร์ของแมนนิง
อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าค่าจ้างทนายและค่าอื่นๆ ที่ใช้ในการต่อสู้คดียังคงเป็นปัญหาที่ฝ่ายผู้สนับสนุนแมนนิงยังต้องดิ้นรนแต่พวกเขาก็บอกว่าจะต้องเดินหน้าต่อไป เพราะจะต้องมีการพิจารณาข้อมูลคดีที่ "มีจำนวนข้อมูลมากที่สุดในประวัติศาสตร์คดีทหารของสหรัฐฯ" และเพื่อที่จะทำให้ข้อถกเถียงของพวกเขานำพาแมนนิงไปสู่ปลายทางของกระบวนการ

ทนายความของแมนนิงเปิดเผยว่าเป็นไปได้ที่จะมีการพิจารณาคดีในศาลทหารชั้นอุทธรณ์ของสหรัฐฯ อีกครั้งภายในปีนี้และถ้าหากการอุทธรณ์ไม่สำเร็จคดีนี้ก็อาจจะถูกนำเข้าสู่ระบบของศาลพลเรือน และเข้าสู่ศาลสูงสุดต่อไป

 

เรียบเรียงจาก

The Gambit to Free Chelsea Manning, Charles Davis, 20-05-2015
http://fpif.org/the-team-working-to-get-chelsea-manning-out-of-prison/

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมเรียกร้องสอบสวนกรณี จนท. ใช้กำลังปราบ นศ.

$
0
0
23 พ.ค. 2558 มูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้ออกแถลงการณ์ขอให้มีการสอบสวนกรณีเจ้าหน้าที่ใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุมโดยสงบในวันครบรอบหนึ่งปี 1 รัฐประหาร โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
 
ขอให้มีการสอบสวนกรณีเจ้าหน้าที่ใช้กำลัง
ปราบปรามผู้ชุมนุมโดยสงบในวันครบรอบหนึ่งปี 1 รัฐประหาร
           
เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 มีการจับกุมนักศึกษาที่ชุมนุมอย่างสงบจำนวนทั้งสิ้น 34 คนหลังการสลายการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่ที่ หอศิลปกรุงเทพ โดยมีการรายงานว่ามีการใช้กำลังจากเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบในการยุติการชุมนุมโดยสงบ การใช้กำลังส่งผลให้มีผู้ชุมนุมอย่างน้อยสองรายถูกส่งตัวไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล  และมีภาพเผยแพร่ทางสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศในลักษณะที่เจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบใช้กำลัง บีบคอ ล๊อคคอ ดึงผม ดึงศีรษะ จับผู้ชุมนุมลากถูไปบนพื้นถนน เป็นต้น
           
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้สัมภาษณ์ผู้ชุมนุมชายอายุ 24 ปีที่ได้รับบาดเจ็บที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งพบว่า ผู้เสียหายถูกทำร้ายร่างกาย โดยการเตะ ต่อย ชกทำร้าย จนมีร่องรอยบาดแผลตามร่างกาย มีการกอดรัดคอและมีเจ้าหน้าที่บางรายใช้หัวเข่ากดกระแทกบริเวณหน้าอก และลากผู้เสียหายรายนี้จากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง มีการข่มขู่ทางวาจาและขณะนั้นก็มีการรุมเตะทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บและสลบไป  เจ้าหน้าที่ได้นำน้ำมาราดที่หน้าจนฟื้นแล้วผู้เสียหายก็มีอาการหายใจไม่ออก จนอาเจียน ต่อมาถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ผู้เสียหายมีบาดแผลบริเวณหน้า คอ แขนทั้งสองข้าง ตาขวาปิดเกือบสนิท มีอาการบาดเจ็บที่ซี่โครงด้านขวา ปัจจุบันยังคงพักรักษาตัวและได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด
 
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมมีความเห็นว่าการชุมนุมเพื่อแสดงออกทางความคิดเห็นอย่างสงบสันติต้องได้รับการเคารพ การกระทำของเจ้าหน้าที่เพื่อยุติการชุมนุมหรือจำกัดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมต้องเป็นไปในลักษณะที่ไม่สมควรกว่าเหตุและได้สัดส่วน  จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแม้ผู้ชุมนุมซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาทั้ง 34 คนได้รับการปล่อยตัวโดยไม่ตั้งข้อหา อย่างไรก็ตาม  สุดท้ายก่อนปล่อยตัวเจ้าหน้าที่ ถ่ายเอกสารบัตรประชาชนพร้อมให้ผู้ชุมนุมทุกรายเขียนกำกับว่าจะไม่เคลื่อนไหว  
 
ในวันเดียวกันมีเหตุการณ์ยุติการชุมนุมที่จังหวัดขอนแก่น มีนักศึกษาจำนวน 7 ราย ถูกจับกุมและควบคุมตัวเป็นเวลาหนึ่งคืน ต่อมาถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช.ที่ 3 /2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง หลังทำกิจกรรม 1 ปีรัฐประหาร โดยล่าสุดเช้านี้  นักศึกษากลุ่มดาวดินทั้ง 7 คนได้รับการประกันตัวออกมาแล้ว ด้วยวงเงินคนละ 7,500 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 52,500 บาท
          
ทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรมมีความห่วงใยต่อการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ปราบปราม จับกุมและตั้งข้อหา การแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิในการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตและปราศจากความรุนแรง  ขอเรียกร้องดังนี้              
 
1) ขอเรียกร้องให้มีการสืบสวนสอบสวนเหตุการณ์โดยทันที อย่างเป็นอิสระ และมีประสิทธิภาพในทุกกรณี เพื่อเป็นมาตรการป้องกันไม่ให้การยุติการชุมนุมเกิดเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นอีก
 
2) การสืบสวนสอบสวนต้องนำมาซึ่งการนำคนผิดมาลงโทษทั้งทางวินัยและกฎหมาย  รวมทั้งการพิจารณาการชดเชย  การชดใช้และการฟื้นฟูเยียวยาต่อผู้ชุมนุมอย่างเหมาะสมและเพียงพอ  และไม่จำกัดสิทธิผู้เสียหายที่จะดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิดตามกฎหมาย   
 
3) ยุติการใช้กำลังที่เกินกว่าเหตุในการปราบปราม ยุติการชุมนุมโดยสงบของประชาชน อันเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนที่รัฐบาลควรเคารพและปกป้องคุ้มครอง
 
4) ขอให้พนักงานสอบสวนพิจารณาการสั่งคดีด้วยความเป็นธรรม การตั้งข้อหาต่อนักศึกษาสมาชิกกลุ่มดาวดิน ที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายที่ขัดต่อหลักการด้านสิทธิมนุษยชนและเป็นการปิดกั้นการแสดงออกทางความคิดเห็นต่อกลุ่มนักศึกษาจนเกิดสมควรไม่เป็นธรรม
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นศ. ยันถูกทำร้ายร่างกายจริง แต่ไม่โดนช็อตไฟฟ้าตามข่าวลือ

$
0
0

ทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยราชมงคลสุวรรณภูมิ ที่ถูกนำส่งโรงพยาบาล ยืนยันว่าถูกทำร้ายร่างกายจริง แต่ไม่ได้โดนช็อตไฟฟ้าตามที่เป็นข่าวลือ 

23 พ.ค. 2558 จากกรณีการสลายการชุมนุมของนักศึกษาที่บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา และมีรายงานว่า ทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์ นักศึกษากลุ่ม ศนปท. ถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกายนั้น

นายณัชปกร นามเมือง เจ้าหน้าที่โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ซึ่งเดินทางไปโรงพยาบาลหัวเฉียวกับทรงธรรม ให้สัมภาษณ์เมื่อเวลา 23.10 น. ของวานนี้ (22 พ.ค.) ว่าก่อนหน้านี้ ทรงธรรมถูกนำตัวส่งห้องตรวจฉุกเฉิน ก่อนที่แพทย์จะส่งตรวจเอ็กซเรย์ และส่งตัวมา CT scan อีกที่หนึ่ง หลังจากนี้คาดว่าจะกลับไปแอดมิดที่ รพ. เพราะเจ้าตัวซึ่งขณะนี้หลับไปแล้ว มีอาการอ่อนเพลียมาก ทั้งนี้ ณัชปกร ระบุว่าทรงธรรมมีรอยถลอกและฟกช้ำตามร่างกาย ตาข้างหนึ่งลืมไม่ขึ้น แพทย์ยังไม่ได้วินิจฉัย แต่ระบุว่าจะให้แพทย์เฉพาะทางมาทำบันทึกแผลโดยละเอียดให้

ล่าสุดวันนี้ (23 พ.ค.) ณัชปกร ได้โพสต์ผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัวว่านายทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยราชมงคลสุวรรณภูมิ ที่ถูกนำส่งโรงพยาบาลนั้น ยืนยันว่าถูกทำร้ายร่างกายจริง แต่ไม่ได้โดนช็อตไฟฟ้าตามที่เป็นข่าวลือ

 

ทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยราชมงคลสุวรรณภูมิ ยิ้มได้ลุกได้ ท่านข้าวได้แล้ว แต่อาการที่ตายังไม่ดีขึ้น รอยฟกช...

Posted by Nutchapakorn Nummueng on 22 พฤษภาคม 2015

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

งาน '75 ปีนิธิ เอียวศรีวงศ์' ยังจัดได้แม้เปลี่ยนสถานที่

$
0
0

งาน '75 ปีที่ผ่านและวันข้างหน้าของ นิธิ เอียวศรีวงศ์' ยังจัดได้ หลังย้ายสถานที่จากโรงละคร หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มช. ที่ปิดปรับปรุง 

23 พ.ค. 2558 เพจพลเมืองเสมอกัน รายงานว่าวันนี้ (23 พ.ค.) สาขาวิชาภาษาญี่ปุ่น คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับกลุ่มพลเมืองเสมอกัน ได้จัดงาน "75 ปีที่ผ่านและวันข้างหน้าของ นิธิ เอียวศรีวงศ์" โดยมีการบรรยายเพื่อแสดงมุทิตาจิตโดยนักวิชาการและนักกิจกรรมทางสังคมหลายท่าน

 

เกือบลืมบุคคลสำคัญในงาน

Posted by We, The People on 22 พฤษภาคม 2015

 

ดูบรรยากาศภายในงานเพิ่มเติมได้ที่:https://www.facebook.com/wetheequalcitizen

 

ย้ายสถานที่หลังโรงละคร หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มช. ปิดปรับปรุง

อนึ่งตามกำหนดการเดิมนั้น งานนี้จะจัดที่โรงละคร หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่เนื่องจากทางคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แจ้งกับทางผู้จัดว่าในส่วนของโรงละครนั้นกำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการปรับปรุงและซ่อมแซม ทางผู้จัดจึงได้เปลี่ยนสถานที่การจัดงาน มาเป็นสถานที่แห่งหนึ่งใน จ.เชียงใหม่แทน

 

(ติดตามรายละเอียดการบรรยายในงานโดยละเอียดที่ประชาไทเร็วๆ นี้)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

องค์กรสิทธิจี้ตรวจสอบการใช้อำนาจคุมตัวประชาชนและนักศึกษา

$
0
0
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม จี้ตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ในการเข้าควบคุมตัวประชาชนและนักศึกษาที่ร่วมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์อย่างสงบและสันติ เพื่อรำลึกเหตุการณ์ครบรอบ 1 ปีรัฐประหาร

 
23 พ.ค. 2015 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมออกแถลงการณ์ขอให้ตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ในการเข้าควบคุมตัวประชาชนและนักศึกษา ที่ร่วมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์อย่างสงบและสันติ เพื่อรำลึกเหตุการณ์ครบรอบ 1 ปีรัฐประหาร โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
 
แถลงการณ์ขอให้ตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ในการเข้าควบคุมตัวประชาชนและนักศึกษา
ที่ร่วมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์อย่างสงบและสันติ เพื่อรำลึกเหตุการณ์ครบรอบ 1 ปีรัฐประหาร
 
จากกรณีที่มีประชาชน นักศึกษา ร่วมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เพื่อรำลึกเหตุการณ์ ครบรอบ 1 ปีรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 ที่ผ่านมา โดยกิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นที่บริเวณหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน กรุงเทพมหานคร และบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จังหวัดขอนแก่น  ปรากฏตามภาพและรายงานของสำนักข่าวต่างๆ ว่า มีเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมและควบคุมตัวประชาชนและนักศึกษาที่ทำกิจกรรมบริเวณดังกล่าวรวม 46 ราย โดยในการเข้าจับกุมและควบคุมตัวโดยไม่สมควรต่อประชาชนและนักศึกษาบางรายจนได้รับบาดเจ็บ และมีการตั้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีกับนักศึกษาที่แสดงออกเชิงสัญลักษณ์บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จังหวัดขอนแก่น จำนวน 7 คน นั้น
 
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)  เห็นว่า การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของประชาชนและนักศึกษาดังกล่าวเป็นการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นโดยสงบ สันติ ปราศจากอาวุธ เป็นสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน การกระทำของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวถือเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก อันเป็นสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐและประชาชนทุกภาคส่วนจำเป็นต้องเคารพเสรีภาพดังกล่าว ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
 
1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 4  ได้รับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกไว้ ว่า “ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทย ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้”
 
2. ตามมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญดังกล่าวรัฐมีหน้าที่ต้องผูกพันตามพันธะกรณีในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ. 1966 ข้อ 19 “บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะมีความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง  บุคคลทุกคนมีเสรีภาพในการแสดงออก...” และข้อ 21 “สิทธิในการชุมนุมโดยสงบย่อมได้รับการคุ้มครอง” โดยการภาคยานุวัติเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2539 และมีผลบังคับใช้กับประเทศไทยเมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ.2540  รัฐบาลไทยจึงมีหน้าที่ต้องปกป้อง คุ้มครองสิทธิ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน ไม่ทำให้ประชาชนเกิดความขยาดหรือความกลัวในการใช้สิทธิ เสรีภาพของประชาชนรัฐบาลจึงมีหน้าที่ในการฟังความคิดเห็นของประชาชนและนำความเห็นดังกล่าวไปพิจารณา ทบทวน และพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาของประชาชน เสรีภาพในการแสดงออกโดยสงบ สันติ ปราศจากอาวุธจึงเป็นเสรีภาพที่สำคัญ  ซึ่งหากรัฐให้ความสำคัญจะทำให้รัฐได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ปกป้อง คุ้มครองสิทธิ เสรีภาพของประชาชนอย่างแท้จริง
 
3. ด้วยเหตุดังกล่าวเจ้าหน้าที่จึงไม่มีอำนาจในการจับกุมและควบคุมตัวประชาชนและนักศึกษาที่ใช้เสรีภาพในการแสดงออกด้วยการชุมนุมโดยสงบและสันติ อีกทั้งไม่อาจใช้อำนาจและกระทำการที่ก่อให้เกิดการกระทบต่อสิทธิในร่างกายและทรัพย์สินของประชาชนแต่อย่างใด
 
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) และองค์กรท้ายแถลงการณ์ฉบับนี้ ขอเรียกร้องแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้
 
1. ยุติการดำเนินคดีกับประชาชน นักศึกษา ที่ใช้สิทธิตามสิทธิขั้นพื้นฐานซึ่งได้รับการรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ และตามพันธกรณีระหว่างประเทศเพื่อแสดงออกซึ่งความคิดเห็นโดยสงบ สันติและปราศจากอาวุธ
 
2. ตั้งคณะกรรมการที่เป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระเพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจในการเข้าควบคุมตัวและจับกุมของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวว่ามีการใช้อำนาจอันส่งผลกระทบต่อสิทธิในร่างกายและทรัพย์สินของประชาชนและนักศึกษา หากการกระทำผิดต้องมีการลงโทษผู้กระทำความผิดและเยียวยาความเสียหายโดยเร็ว                                                              
 
ด้วยความเคารพในสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ILO เผย ‘งานไม่มั่นคง’ คุกคามตลาดแรงงานโลก

$
0
0

พบว่าคนทำงานกว่า 3 ใน 4 ทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาการจ้างงานไม่มั่นคง ไม่ว่าจะเป็นการจ้างด้วยสัญญาระยะสั้น หรือแม้กระทั่งการทำงานที่ไม่มีสัญญาจ้างใด ๆ เลย

 

แผนที่โลกแสดงการจ้างงานคนงานที่ไม่มีสัญญาจ้างที่มั่นคง (permanent contract)ที่มา: ILO

Posted by Workazine on 23 พฤษภาคม 2015

 

23 พ.ค. 2015 องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้เปิดเผยรายงาน World Employment and Social Outlook 2015เมื่อวันที่ 19 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยในรายงานชิ้นนี้ระบุว่าจากฐานข้อมูลของ ILO ที่ครอบคลุมร้อยละ 84 ของคนทำงานทั่วโลกระหว่างปี 2009-2013 พบว่าคนทำงานกว่า 3 ใน 4 ทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาการจ้างงานไม่มั่นคง ไม่ว่าจะเป็นการจ้างด้วยสัญญาระยะสั้น หรือแม้กระทั่งการทำงานที่ไม่มีสัญญาจ้างใด ๆ เลย รวมทั้งการเป็นแรงงานนอกระบบแบบจ้างงานตนเอง (self-employed) และการช่วยเหลือครอบครัวทำงานโดยไม่มีรายได้ในประเทศกำลังพัฒนา

ในรายงานชิ้นนี้ยังระบุว่างานที่มีสัญญาจ้างแบบเต็มเวลาและแบบถาวรลดลง ส่วนงานนอกเวลาและงานที่มีสัญญาจ้างระยะสั้นกลับมีเพิ่มมากขึ้น โดยมีเพียงร้อยละ 42 ของผู้มีรายได้ประจำเท่านั้นที่มีสัญญาการทำงานแบบถาวร ซึ่งลักษณะการจ้างงานที่ไม่มั่นคงนี้มาพร้อมกับปัญหาการว่างงานที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดย ILO ประเมินว่ามีผู้ว่างงานประมาณ 201 ล้านคนในปี 2014 ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 20 ล้านคน จากวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2008 โดยอัตราการจ้างงานเพิ่มขึ้นในระดับต่ำ ภาพรวมการจ้างงานของโลกเพิ่มขึ้นพียงร้อยละ 1.4 ต่อปีมาตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมา

นอกจากนี้ยังพบว่าคนทำงานส่วนใหญ่ ไม่ได้รับบำเหน็จ บำนาญ และสวัสดิการต่าง ๆ ส่วนในประเด็นความเหลื่อมล้ำทางเพศกับการทำงานนั้น พบผู้หญิงประมาณร้อยละ 24 ทำงานไม่เต็มเวลา หรือน้อยกว่า 30 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เมื่อเทียบกับผู้ชายมีเพียงร้อยละ 12.4 เท่านั้นที่ทำงานแบบไม่เต็มเวลา

ที่มาข่าวบางส่วนเรียบเรียงจาก:

ILO warns of widespread insecurity in the global labour market
http://www.ilo.org/global/about-the-ilo/newsroom/news/WCMS_368252/lang--en/index.htm

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คสช.ยันไม่ใช้มาตรการพิเศษกับกลุ่มนักศึกษา

$
0
0
โฆษก คสช.ยันไม่ใช้มาตรการพิเศษกับกลุ่ม นศ.ที่เคลื่อนไหวต้าน คสช. ยัน จนท.ไม่ได้ทำร้าย-ไม่เรียกปรับทัศนคติ ชี้ 'พลเมืองโต้กลับ' ฟ้อง 'ประยุทธ์' และ คสช. ข้อหากบฎ เป็นการดำเนินการในเชิงสัญลักษณ์เพื่อทำกิจกรรม

 
 
23 พ.ค. 2558 สำนักข่าวไทยรายงานว่า พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีที่มีกลุ่มนักศึกษาออกมาเคลื่อนไหวและทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ครบรอบ 1 ปี การทำรัฐประหาร วานนี้ ( 22 พ.ค.) ว่า เจ้าหน้าที่ที่ดูแลในแต่ละพื้นที่ได้พยายามทำความเข้าใจและใช้วิธีการขอความร่วมมือ ซึ่งที่ผ่านมา พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะเลขาธิการ คสช.  เน้นย้ำในส่วนของทหารและตำรวจตลอดว่า การดำเนินการกับนักศึกษาที่ยังเป็นเยาวชนจะต้องใช้วิธีทำความเข้าใจและขอความร่วมมือเป็นหลัก เพราะกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวยังอยู่ในวัยศึกษา ส่วนที่มีการเผยแพร่ภาพทางโซเชียลมีเดียว่าเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกายนักศึกษานั้น ขอยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้ทำร้ายนักศึกษา จึงขอให้ประชาชนระมัดระวังการรับข้อมูลข่าวสารและขอเตือนผู้ไม่หวังดีที่เผยแพร่ภาพและข้อความใส่ร้ายเจ้าหน้าที่ด้วย
 
เมื่อถามว่าคสช.จะใช้มาตรการพิเศษเพื่อดำเนินการกับกลุ่มนักศึกษาที่ยังไม่เข้าใจอย่างไร และจะมีการเชิญตัวมาปรับทัศนคติหรือไม่ พ.อ.วินธัย กล่าวว่า คสช.จะไม่ใช่มาตรการพิเศษ เพราะต้องระมัดระวัง เนื่องจากอาจมีการสร้างเรื่องต่าง ๆ ให้เกิดเป็นประเด็น สำหรับการปรับทัศนคตินั้นคงไม่มี แต่ถ้าบางอย่างผิดกฎหมาย ก็จะต้องเชิญตัวไปโรงพัก เพื่อทำความเข้าใจเพิ่มเติมและขอความร่วมมือ แต่เจ้าหน้าที่จะพยายามไม่ตั้งข้อหา
 
ส่วนกรณีที่ กลุ่มพลเมืองโต้กลับฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. กับพวกรวม 5 คน ในฐานะความผิดเป็นกบฎ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 และมาตรา114 กรณีร่วมกันยึดอำนาจ เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 พ.อ.วินธัย กล่าวว่า เป็นการดำเนินการในเชิงสัญลักษณ์เพื่อทำกิจกรรม สิ่งใดก็ตามที่ผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องดำเนินการ และขออย่ารวมตัวกันเพื่อชุมนุมทางการเมือง และอย่าฝ่าฝืนกฎหมาย มิฉะเช่นนั้นเจ้าหน้าที่จะต้องใช้ดุลยพินิจในการดำเนินการตามขั้น ตอนกรอบกฎหมาย
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

"ประมาณ 20 ชั่วโมงที่อยู่กับอภิชาต พงษ์สวัสดิ์ : จากหอศิลป์ กทม ค่ายทหาร ถึงกองปราบ"

$
0
0

 


แม้จะชอบอ่าน บันทึกของคนอื่น แต่ผมก็มีนิสัยเสียคือการไม่อยากเขียนเรื่องตัวเองลงในที่สาธารณะ เว้นแต่จะคิดว่ามันอาจจะเป็นประโยชน์ต่อคนอื่น ๆ แต่ในโอกาสครบ 1 ปี ของเหตุการณ์สำคัญอันหนึ่งในชีวิตของผมและเพื่อนร่วมชะตากรรมในวันนั้น ผมคิดว่าน่าจะบันทึกไว้ อย่างน้อยก็เอาไว้เป็นข้อมูลเชิงประจักษ์เอาไว้กันลืม

แน่นอนว่าแรงบันดาลใจ มาจาก ข่าวชิ้นนี้

‘อภิชาติ’ สู้คดีฝ่าฝืนคำสั่งคสช. ชุมนุมหน้าหอศิลป์ นัดตรวจพยานหลักฐาน 10 มิ.ย.

ผมจะเขียนบันทึกที่ตัวเองได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับ อภิชาต พงษ์สวัสดิ์ ซึ่งตกเป็นจำเลยในความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศ คสช. 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุม พ.ร.บ คอมพิวเตอร์ รวมทั้งการดำเนินคดีในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในเวลาต่อมาด้วย

…………….


23 พฤษภาคม 2557

ประมาณ 17.00 น.ที่บริเวณลานด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร แยกปทุมวัน กลุ่ม พอกันที หยุดการชุมนุมที่สร้างเงื่อนไขไปสู่ความรุนแรง ซึ่งเป็นเพื่อน ๆ ในแวดวงกิจกรรมนักศึกษาในอดีต ซึ่งเคยจัดกิจกรรมจุดเทียนเพื่อเป็นสัญลักษณ์ ต่อต้านความรุนแรง และรณรงค์ให้ใช้การเลือกตั้ง 2 กุมภา 2557 เป็นหนทางในการสร้างความสงบให้เกิดขึ้น ได้กลับมาจัดกิจกรรมจุดเทียน ขึ้นอีกครั้ง ภายหลังรัฐประหาร 1 วัน ผมในฐานะผู้ปฏิบัติงานคนหนึ่งได้ไปช่วยอำนวยความสะดวก

ผมไปถึงหน้าหอศิลป์ประมาณ 4 โมงเย็นก่อนเวลานัดหมาย 5 โมงเย็น แต่ในวันนั้นแตกต่างจากกิจกรรมที่จัดก่อนรัฐประหารเป็นอย่างมาก เพราะอารมณ์ผู้คนเต็มไปด้วยความโกรธแค้นทหาร มีการจับกลุ่มคุยกัน การเตรียมกระดาษ และแผ่นป้ายในการประณามรัฐประหาร แน่นอนเสียงตะโกนออกมาเป็นระยะด้วยความโกรธแค้น

ในตอนนั้นหน้าหอศิลป์ กทม.มีทหารพร้อมอาวุธครบมือมาตั้งเต็นท์อยู่ประมาณ 10 คน พอถึงเวลา มวลชนรวมตัวกันได้ ก็ได้จัดขบวนกันเองในการผลักดันให้ออกจากบริเวณหน้าหอศิลป์ ในส่วนผู้ปฏิบัติงาน เห็นท่าไม่ดีจึงได้กล้องแขนกันทำกำแพงมนุษย์ แยกระหว่างทหารกับผู้ชุมนุมไม่ให้เผชิญหน้ากันโดยตรง

เมื่อทหาร 10 คนแรก ถอยร่นออกไป รถยีเอ็มซี บรรทุก ทหารอีก 2 คันก็วิ่งมาทางสามย่าน มาสมทบเพิ่มกำลังไปรวมกับทหารที่มีอยู่ก่อนหน้าที่บริเวณตีนสะพานหัวช้างฝั่งวังสระปทุม

กิจกรรมดำเนินไปด้วยความวุ่นวาย แม้ผู้จัดจะเตรียมกิจกรรมจุดเทียน ไว้เช่นเดิม โดยให้นั่งสงบ แต่ทว่ามวลชนไม่สงบด้วย การนั่งอยู่เฉย ๆ ต่อหน้าทหารนั้นเป็นสิ่งที่ฝืนความรู้สึก หน้าที่ของผมและเพื่อน ๆ จึงต้องพาคนเดินวนรอบ ๆ หอศิลป์ รวมทั้งกิจกรรมอื่นเพื่อไม่ให้มวลชนแตกกระจายไปปะทะกับทหาร

กิจกรรมเลิกประมาณ 6 โมง กว่า พระอาทิตย์ยังไม่ทันตกดิน แต่มวลชนยังไม่ยอมกลับ การจัดกลุ่มพูดคุยมีมากขึ้น เป็นกลุ่มย่อย ๆ ขณะที่มีคนจำนวนมากที่ทยอยกันมา

พอเริ่มมืดทีมงานที่เก็บอุปกรณ์ต่าง ๆ เสร็จพากันแยกย้ายไปขึ้นรถ เรานัดไปหาอะไรทานกันก่อนกลับบ้าน

ระหว่างที่คนอื่นเดินไปขึ้นรถพี่เหน่ง พันศักดิ์ ศรีเทพ ที่จอดอยู่สนามศุภชลาศัยนั้น บริเวณบันไดทางเชื่อมกับบีทีเอส ทหารก็ได้จับกุมชายผู้หนึ่ง มาพร้อมกับสื่อมวลชนที่ถ่ายภาพจำนวนมาก และมวลชนที่เดินตามมา และพร้อมที่จะ “ชิงตัว” เพื่อนของเขากลับมาโดยไม่กลัวอาวุธครบมือของฝ่ายทหารแต่อย่างใด

ขบวนดังกล่าวเดินผ่านหน้าผมไป มีเสียงตะโกนถามชื่อว่า ชื่ออะไร เบอร์โทรอะไร เพื่อให้สื่อมวลชนได้จดไว้ เผื่อว่าจะติดตามได้

ชายคนดังกล่าวตอบกลับมาว่า

"ผมชื่ออภิชาต พงษ์สวัสดิ์  เป็นประชาชนที่ไม่ยอมรับอำนาจเถื่อนของคณะรัฐประหาร"

พร้อมกระดาษในมือที่เขียนว่า

ไม่ยอมรับอำนาจเถื่อน


 

เมื่อทหารได้คุมตัว อภิชาต พงษ์สวัสดิ์ เข้าในเขตแนวกั้นของทหาร ที่ตั้งอยู่จุดแรกของกำแพงรั้ววังสระปทุม มวลชนกลับไม่ยอม พยายามเดินน้าไปชิงตัวกลับมา โดยไม่หวาดหวั่นต่ออาวุธสงครามต่อหน้า ระหว่างนั้นอภิชาตถูกนำตัวเข้าไปในรถฮัมวี่ที่จอดรอไว้

ผมคิดว่า ในฐานะผู้ปฏิบัติงานที่พอจะช่วยได้ คือการเข้าไปเจรจากับทหารว่า ขอไปเป็นพยานได้ไหม เพื่อบอกกับมวลชนว่าไม่ต้องเป็นห่วงอภิชาติ ผมจะรายงานว่าเขาไปอยู่ที่ไหน

หลังจากนั้นทหารได้นำผมเข้าไปรถฮัมวี่ที่อภิชาตนั่งอยู่ก่อนหน้าแล้ว ในรถเรานั่งเบาะหลัง ซ้าย ขวา ของเรา มีทหารนั่งอยู่ รวมทั้งด้านหน้าอีก 2 คน คือคนขับ 1 และอีก 1 เป็นคนคุมตัว

เหตุการณ์ที่ผมจำไม่ลืมในคืนนั้น ท่ามกลางอากาศร้อนอบอ้าว รถฮัมวี่คันดังกล่าวกลับปิดกระจกทุกด้าน ผมไม่ทราบว่า เป็นปกติของทหารที่ทนได้หรือไม่ แต่ เราทั้ง 2 คนนั่งในรถด้วยความทรมาน

ที่จำได้แม่นคือวันนั้นผมมีอาการเสมหะติดคอด้วย ยิ่งทำให้หายใจไม่สะดวกเข้าไปใหญ่ ผมพยายามบอกกับทหารที่นั่งในรถว่าให้เปิดกระจกหน่อยได้ไหม ผมหายใจไม่ออก แต่ระบบทหารเท่าที่ผมเรียนรู้ด้วยตนเอง (หลังจากเคยอ่านแต่ในหนังสือ) ว่าอยู่ที่การกำหนดภารกิจที่ชัดเจน ห้ามทำนอกเหนือคำสั่งและหน้าที่ความรับผิดชอบ ทหารทั้ง 4 คนจึงมีสีหน้านิ่งเฉย เมื่อผมขอร้องให้เปิดหน้าต่าง

ผ่านไปเกือบ 20 นาที ผมพยายามเคาะกระจกเมื่อนายทหารเดินผ่าน และเมื่อเขาหันมามอง ก็ขอให้เขาสั่งให้เปิดหน้าต่างให้ด้วย นายทหารท่านดังกล่าว จึงตำหนิทหารที่อยู่ในรถด้วยว่า “ทำไมไม่เปิดหน้าต่างให้”

เหตุการณ์ในวันนั้นทำให้ผมนึกถึงเหตุการณ์ตากใบเมื่อ 10 ปีก่อนหน้านั้น เมื่อ ผู้ต้องหาที่ถูกนำตัวไปค่ายทหารต้องขาดอากาศหายใจเนื่องจากการทับซ้อนกัน ขณะที่พลขับก็มีหน้าที่ขับอย่างเดียว ไม่สามารถทำนอกเหนือจากภารกิจที่รับมอบหมายได้

หลังจารกนั้นผมกับอภิชาต พงษ์สวัสดิ์ ก็เริ่มพูดคุยทักทายกัน ผมเริ่มจากแนะนำตัวว่าชื่ออะไร ทำอะไรอยู่ คุยไปสักพักก็ถามว่าเป้นคนที่ไหน พอเขาบอกว่าเป็นคนนครศรีธรรมราช ผมก็แนะนำว่ามาจากตะกั่วป่า หลังจากนั้นการคุยกันด้วยสำเนียงปักษ์ใต้ทำให้เราสนิทกันมากขึ้น

อภิชาตเล่าว่าเขา เรียนจบคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยรามคำแหง และเรียนที่สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วย อภิชาตทำกิจกรรมมาตั้งแต่เป็นนักเรียน เขาได้รับรางวัลเยาวชนดีเด่นระดับประเทศ ของกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมกับทำงานอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.)

อภิชาตเล่าว่าเขานั่งรถตู้มาจากแจ้งวัฒนะ แล้วมาต่อรถไฟฟ้า โดยกระดาษที่เขาเตรียมมาจากออฟฟิศ เขาเล่าว่าในฐานะนักเรียนกฎหมาย และทำงานเกี่ยวกับกฎหมายเขาไม่อาจยอมรับอำนาจเถื่อนของคณะรัฐประหารได้ เมื่อแนะนำว่าผมทำงานที่ฟ้าเดียวกัน เราก็คุยกันรื่นขึ้น

อภิชาตชื่นชอบนักวิชาการหลายคน รวมทั้ง อ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ และอ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อยู่ในนั้นด้วย

ระหว่างนั้นเราทั้ง 2 ก็เป็นประจักษ์พยานว่ามีการทำร้ายร่างกาย ชายผู้หนึ่ง โดยที่ตอนนั้นเราไม่รู้สาเหตุว่าเกิดอะไรขึ้น และชายคนดังกล่าวคือใคร และมีชะตากรรมเช่นไร

เมื่อรถเคลื่อนออกไปจากบริเวณหน้าวังสระปทุม โดยที่เรายังไม่รู้ว่าจะเดินทางไปยังที่แห่งใด และมีใครตามมาด้วย จนมาถึงบริเวณ สถานีรถไฟฟ้าสนามเป้า ก็เลี้ยวขวาเข้ามาใน กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ สนามเป้า

เมื่อไปถึงเราก็รู้ว่า มีคนที่ถูกจับกุมมาเพิ่มอีก 2 คน คือ วีรยุทธ คงคณาธา และบุณยรักษ์ วัฒนะรัตน์ นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 2

โดยที่ทราบว่าหนึ่งในนั้นชายที่โดนทำร้ายคือคุณวีรยุทธ คงคณาธา แกมาในสภาพที่ไม่มีรองเท้า เนื่องจากหล่นลงขณะที่ถูกทำร้าย ผมเลยเอารองเท้าของผมให้คุณวีรยุทธ ใส่ โดยที่ตัวเองเดินเท้าเปล่าไปพลางก่อน

เราน่าจะเป็นประชาชนชุดแรกที่ถูกนำไปควบคุมตัวเนื่องจากการฝ่าฝืนคำประกาศของ คสช.ฉบับที่ 7 ว่าด้วยการชุมนุม ดังนั้นจึงไม่มีการตระเตรียมสถานที่เพื่อรองรับ มีนายทหารยศร้อยเอก ที่รับผิดชอบตึกที่นำเรามาควบคุมตัวไว้ ถูกเรียกตัวด่วน ผมยังจำได้ว่าเขาบ่นเรื่องการนัดหมายตีกอล์ฟที่เมืองกาญจนบุรีในวันเสาร์ อาทิตย์ ที่จะต้องยกเลิก

เรารอจนกระทั่งมีนายทหารพระธรรมนูญมา ซึ่งในคืนนั้นเองที่ผมได้เจอ พ.ท.บุรินทร์ ทองประไพ เป็นครั้งแรก (และเจอกกันอีกหลายครั้งต่อมา)

หลังจากนั้นได้เริ่มต้นกระบวนการสอบสวน ทำประวัติ โดยผมเป็นคนที่ถูกนำมาทำประวัติคนแรก ในห้องที่ห่างออกมาประมาณ 20 เมตร ระหว่างการให้ข้อมูลอยู่นั้นก็ได้ยินเสียงตะโกน ขึ้นมาดังมาก จากบริเวณที่สอบสวนอภิชาติ ทราบต่อมาว่าอภิชาต ไปทำอะไรที่ถือว่าผิดมารยาททหาร (ซึ่งเป็นปกติของพลเรือน) สักอย่างหนึ่ง จึงเกิดการโวยวายขึ้น

ระหว่างสอบสอนนั้น มีญาติของ บุณยรักษ์ วัฒนะรัตน์ เข้ามาเจรจากับนายทหารด้วย การสอบประวัติเสร็จสิ้นเกือบจะเที่ยงคืนหลังจากนั้น ทางทหารได้นำเราไปเข้าพัก ซึ่งทราบต่อมาว่า ห้องดังกล่าวมีประตูเป็นลูกกรงเหมือนกับคุก

ใช่แล้ว พวกเราเข้าไปในที่เขาเอาไว้ขังทหาร แต่อาจจะถือว่าโชคดี เมื่อเข้าไปด้านซ้าย ก็เป็นห้องขังลูกกรง ที่มีทหารที่ถูกลงโทษ นอนอยู่ในสภาพตีตรวน และนอนกับพื้นซีเมนต์ แต่พวกเราทั้ง 4 โชคดีที่นอนอีกห้องทางด้านขวา ที่เป็นห้องใหญ่กว่ามาก มีติดแอร์และเครื่องนอนไว้ด้วย คาดว่าห้องดังกล่าวนี้คงมิใช่เป็นห้องนักโทษ แต่มาอยู่ในประตูเดียวกัน หรืออีกนัยหนึ่งเรานอนในคุกห้องแอร์

แน่นอนว่าเราทั้ง 4 ยังไม่มีใครนอนหลับ เราได้มานั่ง แนะนำตัว และแลกเปลี่ยนสถานการณ์กัน พร้อมทั้งทำเซนาริโอว่ามันจะเกิดอะไรได้บ้าง แต่วงคุยก็ยุติลงเมื่อนายทหารเข้ามาบอกว่าเราทั้ง 4 คนต้องแยกกันนอน ผมยังอยู่ห้องดังกล่าวคนเดียว

ส่วนอีก 3 คนไปนอนอีกห้องหนึ่ง แต่ให้นอนคนละมุมกัน

คนอื่นไม่ทราบ ผมนอนหลับตามปกติ ตื่นขึ้นมา นายทหารเจ้าของพื้นที่ซื้อ ข้าวมันไก่ น้ำเต้าหู้ ปาท่องโก๋ มาให้ บอกด้วยว่านี่เป็นเจ้าที่อร่อยที่สุดในย่านนี้ นายทหารท่านนั้นบอกว่าต้องควักเงินเอง เพราะภารกิจการคุมตัวพวกเรานี้ ไม่ได้คิดมาก่อน หลังจากนั้น พวกเราก็นั่งในบริเวณใต้ถุนอาคารขนาดยาว และพูดคุยกันเองได้สักพักหนึ่ง ทหารก็ให้แยกออกมา แค้ไม่มีการสอบสวนเพิ่ม

เท่าที่ทหารได้แจ้งกับพวกเราคือ จะมีการปล่อยตัวบุณยรักษ์ วัฒนะรัตน์ ที่ค่ายทหาร ส่วนที่เหลือจะไปปล่อยที่กองปราบ

ตอนนั้นมีการค้นมือถือ และให้โทรไปแจ้งญาติได้ว่าให้ไปรับที่กองปราบ ระหว่างนั้นพี่วีรยุทธก็ได้คุยกับทางบ้านว่าแกโดนทำร้ายร่างกาย

ขณะที่นายทหารได้ยินก็ยืนยันว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ปกติ คำพูดดังกล่าวของพี่วีรยุทธได้สร้างความไม่พอใจให้ทหารพอสมควร จึงมีการเปรยให้ฟังว่า อาจจะมีการเพิ่มข้อหาขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ด้วย

ประมาณ 10 โมงก็มีข่าวโทรทัศน์ออกมาว่ามี คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 5/2558 เรื่องให้บุคคลมารายงานเพิ่มเติมโดยมีรายชื่อผมอยู่ในลำดับที่ 17 (ทราบภายหลังว่ามีการประกาศรายชื่อออกมาตั้งแต่คืนวันที่ 23 พฤษภาคม แล้ว)

ระหว่างนั้นพวก ทั้ง 4 เราคุยกัน ฝากอวยพรน้องนักศึกษาแพทย์คนนั้นด้วย และขอให้น้องเขาเที่ยวญี่ปุ่นด้วยความสนุก

ขณะที่เราทั้ง 3 ขึ้นรถตู้ไปแล้วนั้นจู่ ๆ ก็มีคำสั่งบอกว่าให้ผมลงมาจากรถก่อน แล้วให้ทั้ง 2 ไปกองปราบ ระหว่างนั้นผมก็มานั่งรอ แต่อีกประมาณ 1 ชั่วโมงก็มีคำสั่งใหม่ว่าให้ผมตามไปสมทบที่กองปราบ

เมื่อผมไปถึงกองปราบประมาณบ่ายโมง อภิชาตและพี่วีรยุทธ รออยู่แล้ว พร้อมเพื่อนร่วมงานที่ คปก. ของอภิชาตรวมทั้งทีมทนาย ซึ่งต่อมาได้พัฒนามาเป็นศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนในปัจจุบัน

เมื่อเราไปถึง ได้คุยกันไม่นาน ผมถูกเรียกเข้าไปสอบเพิ่มเติม

แม้การพูดคุยจะเริ่มต้นไปด้วยดี แต่สักพักผมก็เริ่มสังเกตว่า เหตุการณ์ชักไม่ปกติ การปล่อยตัวอาจจะไม่เกิดขึ้นอย่างที่คาดไว้ ผมขอตัวไปเข้าห้องน้ำ ระหว่างเดินผ่านอภิชาติ นี่นั่งรออยู่ข้างนอกนั้นผมได้สะกิดให้เขาเดินตามไปห้องน้ำ ระหว่างนั้นก็พูดกับเขาว่าสถานการณ์ชักไม่ดี ให้เตรียมตัวไว้ เราอาจจะอยู่กันยาว

เมื่อผมเดินทางกลับเขาห้องสอบสวน ไม่นานก็ถูกนำตัวไปหอประชุมกองทัพบก ที่ซึ่งผู้ถูกเรียกไปรายงานตัว ระหว่างเดินผ่านอภิชาตนั้น เราได้จับมืออำลากัน แน่นอนว่าตอนนั้น ผมคิดว่าผมคงต้องโดนหนักกว่าอภิชาติแน่ หลังจากนั้นเครื่องมือสื่อสารผมก็ถูกยึด และไม่ทราบชะตากรรมของเพื่อนที่กองปราบอีกเลย

ประมาณ 5 ทุ่ม ผมและอีก 6 คนที่ถูกเรียกตัวพร้อมกันได้ไปที่ค่ายทหารแห่งหนึ่งในจังหวัดราชบุรี

เป็นอันว่าทั้ง 4 คนที่ถูกคุมตัวไว้ในคืนวันที่ 23 พฤษภาคม 2558 ได้รับการปล่อยตัว 1 คนคือ บุณยรักษ์ วัฒนะรัตน์ ส่วน อภิชาต พงษ์สวัสดิ์ วีรยุทธ คงคณาธา และ ผม ยังถูกคุมตัวต่อไป (ดูทหารเผยปล่อยผู้ชุมนุมหน้าหอศิลป์ 1 รายอีก 3 ยังคุมตัวอยู่)

กว่าที่ผมจะได้สื่อสารกับโลกภายนอกก็วันที่ 25 พฤษภาคม โดยมือถือจากทหารที่ให้เราได้ใช้ ทราบต่อมาว่า อภิชาตแลพี่วีรยุทธ ถูกจำคุกที่กองปราบ 7 วัน เมื่อสอบถามถึงสภาพห้องขังในกองปราบเพื่อนคนหนึ่งบอกว่า มันก็เหมือนกับห้องขังที่โรงพักนั่นแหละ ทำให้ตัวเองคิดว่าโชคดีมากที่ได้มาอยู่ค่ายทหารที่ราชบุรี เพราะเมือเปรียบเทียบทางกายภาพที่ราชบุรีดีกว่ามาก

วันต่อ ๆ มา ก็มีข่าวร้ายเกี่ยวกับปอนด์มาเรื่อย ๆ มีการตั้งข้อหาเพิ่มเติมในมาตรา 112 พร้อม ๆ กับข่าวว่าคดี 112 จะพิจารณาโดยศาลทหาร

30 พฤษภาคม 2558 เป็นวันที่ผมออกจากค่ายทหาร พี่วีรยุทธได้ปล่อยตัวชั่วคราว แต่เป็นวันที่อภิชาตต้องเข้าเรือนจำ เมื่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ฟ้องด้วยข้อหาละเมิดคำ สั่ง คสช. เลขที่ 7/2557, พรบ. คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 วรรค 3 ร่วมกับ ประมวลกฏหมายอาญามาตรา 112, และ ประมวลกฏหมายอาญามาตรา 215 216 และ 368

แม้ อภิชาติ พงษ์สวัสดิ์ ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวโดยใช้ตำแหน่งหน้าที่ราชการเป็นหลักทรัพย์ เพื่อขอปล่อยชั่วคราว แต่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้พิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราวแล้ว พิเคราะห์พฤติการณ์ ประกอบหลักทรัพย์แล้ว เห็นว่า คดีมีอัตราโทษสูง ประกอบกับผู้ต้องหาใช้ตำแหน่งราชการ ซึ่งไม่มีความเกี่ยวพันเป็นญาติ หรือเป็นผู้บังคับบัญชาที่มีความใกล้ชิดเป็นหลักทรัพย์ ขณะที่พนักงานสอบสวนก็ได้คัดค้านการปล่อยชั่วคราวด้วย จึงเกรงว่าหากปล่อยตัวผู้ต้องหาแล้ว อาจจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว มีคำสั่งยกคำร้อง

แต่โชคดีที่คดีของอภิชาติ ยังไม่ต้องขึ้นศาลทหาร

ดู ศาลไม่ให้ประกัน “จ.ส.อ.อภิชาติ” โพสต์หมิ่นเบื้องสูง-ชูป้ายต้าน คสช.

อภิชาตถูกคัดค้านการฝากขังมา 2 ผลัดจนกระทั่ง 24 มิถุนายน 2557 ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 506 ศาลอาญากรุงเทพฯใต้ ศาลได้นัดพิจารณาคดีเรื่อง ไต่สวนคำร้องขอฝากขังผลัดที่ 3 ถึงแม้ พนักงานสอบสวนในฐานะผู้ร้องได้อ้างเหตุจำเป็นในการร้องฝากขังต่อ โดยอ้างเหตุว่าพนักงานสืบสวนสอบสวน ยังอยู่ในขั้นตอนดำเนินการสืบสวน โดยเป็นการส่งหนังสือและหลักฐานดังกล่าวให้คณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่นฯ ซึ่งต้องได้รับการแต่งตั้งจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพื่อให้ดำเนินการพิจารณาและส่งความเห็นกลับมายังพนักงานสืบสวนปองปราบฯ โดยทางพนักงานสืบสวนกำลังรอให้มีการตั้งคณะกรรมการฯ และจำเป็นต้องทำการตรวจสอบลายนิ้วมือและประวัติการโพสต์ทางอินเทอร์เนตของผู้ต้องหาก จากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) รวมถึงต้องการรอความเห็นจากนักวิชาการจาก 4 สถาบันการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนเกี่ยวกับข้อความที่ผู้ต้องหาถูกกล่าวหา ในการช่วยตีความความหมายในการแสดงข้อความของผู้ต้องหา

ขณะที่ทีมทนายผู้ต้องหาได้คัดค้านเหตุจำเป็นในการฝากขังต่อ สามประเด็นหลัก คือ

1.ผู้ต้องหามีภาระจำเป็นทางด้านการศึกษา ซึ่งผู้ต้องหาอยู่ในขั้นตอนการเขียนสารนิพนธ์ ในโครงการประกาศนียบัตรบัณฑิตอาสาสมัคร สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นส่วนสุดท้ายในการสำเร็จการศึกษา ภายหลังจากผู้ต้องหาได้ปฏิบัติงานภาคสนามในพื้นที่เป็นที่เรียบร้อย และผู้ต้องหามีความจำเป็นต้องไปดำเนินการลงทะเบียนเพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาโทด้วยตัวเอง ในสาขาชนบทศึกษาและการพัฒนา ในสถาบันการศึกษาแห่งเดียวกัน ตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย หากไม่สามารถไปดำเนินการได้ก็จะสูญเสียโอกาสในการศึกษาต่อทันทีหลังจากที่ผู้ต้องหาผ่านการสอบคัดเลือกได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

2. ยังไม่มีกระบวนการดำเนินการสืบสวนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับผู้ต้องหา ทนายผู้ต้องหาคัดค้านว่าทั้งหมดเป็นกระบวนการภายในของพนักงานสืบสวนฯ ซึ่งเป็นกระบวนการของผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ต้องหา ดังนั้นไม่มีเหตุจำเป็นที่ต้องฝากขังผู้ต้องหาต่อไป

3. ปัญหาทางครอบครัวที่ผู้ต้องหาต้องดูแลมารดา และการฝากขังต่อไปจะทำให้ถูกระงับค่าตอบแทนจากการทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายต่อไป เนื่องจากไม่ได้ทำงาน แต่อย่างไรก็ตามทางคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายได้เคยรับรองผู้ต้องหาว่าหากได้รับการปล่อยตัวจะดูแลความประพฤติผู้ต้องหาให้อยู่ในวินัยของสำนักงาน

แต่ผิดคาด ศาลได้อ่านคำสั่งฯ โดยมีความเห็นว่า จากที่ผู้ร้อง ได้อ้างว่าอยู่ในกระบวนการส่งหลักฐานให้นักวิชาการ รัฐเอกชน ให้ความเห็นนั้น ศาลมีความเห็นว่า ผู้ต้องหา ได้กำลังศึกษาอยู่และมีภาระในการเขียนสารนิพนธ์ให้เสร็จสิ้นกระบวนการประกอบกับทั้งผู้ต้อง และศาลเห็นว่าผู้ต้องหา มีสถานที่ทำงานที่เป็นหลักแหล่งที่ชัดเจนแน่นอน สามารถติดตามได้ ถ้าหากมีการฝากขังต่อไปก็อาจจะทำให้ผู้ต้องหาเกิดผลกระทบหลายอย่าง อาทิ การต้องถูกเลิกจ้างจนไม่สามารถเลี้ยงดูแม่ มีปัญหาต่อการศึกษาต่อ ซึ่งไม่สามารถทดแทนได้หรือชดเชยได้ในภายหลัง

ถ้าใครตามคดี 112 พบว่าเรื่องดังกล่าวเป็นกรณีพิเศษมากที่ศาลไม่อนุมัติให้ฝากขังต่อ ทั้งที่ได้อยนุมัติมา 2 ครั้งก่อนหน้า

ผมคิดว่าเป็นเพราะมีแถลงการณ์ ของสหภาพยุโรป ในการประณามรัฐประหาร สั่ง รมต.งดเยือน-ระงับการลงนามข้อตกลงความร่วมมือ "อียู-ไทย"(ดู"อียู"ออกแถลงการณ์ประณามไทย ระงับความร่วมมือ)

อภิชาตได้ออกจากเรือนจำในคืนวันนั้นเลย ศาลยกคำร้องฝากขังผลัด3 ปล่อยแล้ว 'อภิชาติ' คดีชูป้ายต้านรัฐประหาร-ม.112

คืนนั้นผมได้ไปรออภิชาตที่หน้าเรือนจำ พร้อมกับญาติของเขา และแม่ที่กำลังเดินทางขึ้นมากรุงเทพในคืนวันนั้นเลย หลังจากออกจากเรือนจำ ผมได้ไปทานข้าวกับครอบครัวอภิชาต

สำหรับผม หลังจากแยกกับอภิชาตในคืนวันที่ 24 มิถุนายน วันที่ 5 กรกฎาคม 2558 ทางทหารได้ชวนไปทายกาแฟ และได้ควบคุมตัวในเวลาต่อมาไปขังไว้ที่กองปราบ 5 วัน โดยไม่ตั้งข้อหา เพียงแต่บอกว่าไม่พอใจที่ผมโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก

เป็นอันว่า ผมได้ตามไปกองปราบ ภายหลัง อภิชาตและพี่วีรยุทธ. ที่โดนจับพร้อมกัน แต่ได้ออกไปก่อนแล้ว

แต่สำหรับอภิชาตแล้ว เขามีคดีที่จะต้องต่อสู้อีกมาก ในคดีต่าง ๆ

1.ฝ่าฝืนกฎอัยการศึก

2.ขัดคำสั่งคสช.7/57

3. ป.อาญา 215 ผู้ใดมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง

4.ป.อาญา 216 ขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน

5.ป.อาญา ม.112
และ
6. ความผิดตาม พ.ร.บ คอมพิวเตอร์

โทษรวมกันกว่า 30 ปี

สำหรับเพื่อนร่วมชะตากรรมเดียวกันเมื่อ 1 ปีที่แล้ว ผมคิดว่า “คำแถลง” ของอภิชาต ข้างล่างนี้เป็น ข้อเขียนที่มีพลังที่สุดชิ้นหนึ่ง ในรอบ 1 ปี หลังรัฐประหาร จึงขอนำมาเผยแพร่ซ้ำอีกครั้ง

ขอแสดงความนับถือ

.................................

 

 

ผมได้เลือกที่จะต่อสู้คดีถึงที่สุด ไม่ยอมรับสารภาพใดๆ และเห็นว่าการกระทำดังกล่าวไม่ผิดกฎหมาย และพร้อมจะต่อสู้ทั้งในด้านวิชาการและหลักกฎหมายตามหลักนิติธรรม ที่หวังว่าจะพอมีอยู่บ้าง แม้ระยะเวลาการต่อสู้ต่อจากนี้จะยาวนานและไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อไร และหากผลการพิพากษาคดีออกมาว่าจำเลยผิดจริง ผมคงได้รับโทษหนักด้วยเหตุที่ไม่ยอมรับสารภาพก็ตาม

แต่การต่อสู้ในทางกฎหมายและหลักวิชาการจะเป็นเครื่องยืนยันและดำรงไว้ซึ่งหลักการว่า "การรัฐประหาร" นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายและหลักนิติรัฐและนิติธรรมทั้งปวง ศาลไม่มีอำนาจพิจารณาหรือใช้อำนาจตามคำสั่งของคณะรัฐประหารมาพิจารณาได้

การดำเนินคดีของผมทั้งในชั้นตำรวจ อัยการ ศาล เป็นไปตามกลไกของกระบวนการยุติธรรมที่ผมยินดีจะเข้าร่วม (เว้นแต่การจับกุมและการปฏิบัติต่อผมไม่เป็นไปตามหลักการยุติธรรมและกฎหมายด้วย คือ ผมไม่สิทธิพบญาติ พบทนายความ แจ้งสถานที่ถูกควบคุมตัว และใช้กิริยาวาจาที่ไม่เหมาะสม แต่ผมได้ให้อภัยเจ้าหน้าที่ทั้งหมดและไม่มุ่งที่โกรธเคืองแต่เห็นว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่ควรทำกับประชาชนไม่ว่าเขาจะอยู่ในสถานะใดแบบนั้นอีก

เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ หากแต่กระบวนการยุติธรรมได้ใช้มาตรฐานที่เป็นหลักนิติรัฐ นิติธรรมฟังความทุกฝ่ายเปิดโอกาสให้จำเลยได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ ปราศจากการแทรกแซงโดยอำนาจทั้งปวงและเคารพในสิทธิของประชาชน ตามหลักการปกครองประชาธิปไตยสากลนั้น ก็ย่อมยอมรับผลการพิจารณาทั้งปวงไม่ว่าผลจะออกมาเช่นไรแต่ยืนยันได้ว่า ไม่ยอมรับคำสั่งใดๆ ที่ออกโดยคณะรัฐประหาร หรือคณะใดๆ ที่ใช้กำลังเพื่อยึดอำนาจอธิปไตยของประชาชน และละเมิดสิทธิของประชาชนอย่างรุนแรง

อีกประการ อย่างที่กล่าวว่ากระผมได้ประกาศอย่างเด่นชัดว่า จะเข้าร่วมกระบวนการยุติธรรมนี้อย่างบริสุทธิ์ใจและเต็มใจ พร้อมจะสู้คดีโดยใช้ทนายความ พยานหลักฐาน หลักการทางกฎหมาย สู้คดีอย่างเต็มที่

องค์กรในกระบวนการยุติธรรม ก็ควรพิสูจน์ให้กระผมและคนในสังคมได้เห็นด้วยว่า ได้ใช้มาตรฐานเดียวในกระบวนการยุติธรรม เพื่อไม่ให้มีข้อสงสัยต่อผลการพิจารณาคดีของกระผมและบุคคลอื่น อีกทั้งยังสร้างความเชื่อมั่นให้องค์กรและบุคคลากรในกระบวนการยุติธรรมสืบต่อไป

ไม่ว่าจะเป็นคดีการปิดสถานที่ราชการ การขัดขวางการเลือกตั้ง การทำลายทรัพย์สินของทางราชการ การบุกยึดสนามบิน การสลายการชุมชนุมจนมีประชาชนเสียชีวิตจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการกระทำของกลุ่มการเมืองใดหรือกลุ่มบุคคลใดก็ตาม

ตอนผมเป็นนักศึกษากฎหมาย ท่านอาจารย์ของผมซึ่งเป็นรองประธานศาลฏีกา ได้บอกกับผมว่า "ผู้พิพากษาที่ปราศจากอคติ ย่อมจะได้รับความชื่นชมและไม่มีวันตาย เพราะคนรุ่นหลังอ่านคำพิพากษาครั้งใด ท่านก็จะกลับฟื้นมีชีวิตมาให้ผู้อ่านได้ชื่นชม ผิดกับ ผู้พิพากษามีอคติ อยู่ก็เหมือนตาย ไปแล้ว"

ผมคิดว่าผู้พิพากษาจะรักษาเกียรติของท่านและองค์กรได้ทั้งในอนาคตและเมื่อท่านจากไปแล้ว

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ประยุทธ์' ชี้คนหมิ่นสถาบันอยู่ในแนวร่วมขบวนการยึดประเทศ

$
0
0
ระบุตนวิเคราะห์มาแล้วคนที่หมิ่นสถาบันอยู่ในขบวนการของผู้ที่ต้องการมีอำนาจ แต่มี 2 อย่างที่เขายังยึดอำนาจไม่ได้ คือทหารและสถาบัน ถ้าทำลายทั้ง 2 อย่างนี้ได้ก็จะยึดประเทศไทยทั้งหมด

 
23 พ.ค. 2558 เนชั่นทันข่าวรายงานว่าเมื่อเวลา 19.00 น.ที่โรงแรมโกลเด้น ทิวลิป ซอฟเฟอริน กรุงเทพฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “นายกฯ พบหอการค้า: รวมพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ตอนหนึ่งว่า สิ่งที่หอการค้าพูดและอ.ธนวรรนธ์ พลวิชัยพูด พูดตรงกันกับตนสองอย่างในเรื่อง ข้อเท็จจริงกับความรู้สึก คนไทยเป็นคนโรแมนติก แต่ส่วนใหญ่ใช้ความรู้สึก รักใคร ชอบใครใช้หัวใจมากแต่ใช้สมองน้อย ตนไม่ได้ดูถูก เพียงแต่ท่านต้องใช้หัวใจและใช้สมองคิดใคร่ครวญว่าใช่หรือไม่ วันนี้สิ่งแรกที่แก้คือ เราต้องมีทั้งความรู้ สติ ความรู้สึกในการดำเนินชีวิต ถ้าประเทศยังเป็นอยู่แบบนี้ใช้ความรู้สึกในการดำเนินชีวิต มันเดินไปไม่ได้ ไม่ว่าอะไรก็ตาม 
 
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า พระมหากษัตริย์ ไม่ได้ต่อสู้กับสงคราม แต่ต่อสู้กับความยากจน แต่คนเลวก็ไปพูดกันกลับไปกลับมาบิดเบือนไปหมด แล้วก็มีคนเชื่อตาม ท่านเคยใช้เงินอะไรหรือเปล่า เคยไปศูนย์การค้าหรือเปล่าก็ไม่เคย เงินที่มีก็เอาไปช่วยตามโครงการหลวงต่าง ๆ เท่านั้น ตอนนี้ท่านมีพระชนม์มายุขนาดนี้แล้วก็ยังไม่มีความสุข คนที่ไม่รู้ ไม่เข้าใจแล้วคล้อยตามมีไม่กี่คนหรอก เพราะตนวิเคราะห์มาแล้วคนที่หมิ่นสถาบัน อยู่ในขบวนการของผู้ที่ต้องการมีอำนาจ เพื่อมีผลประโยชน์ซึ่งประเทศไทย มี 2 อย่างที่เขายังยึดอำนาจไม่ได้ คือทหารและสถาบัน เขาต้องการทำลาย ถ้าทำลายทั้ง 2 อย่างนี้ได้ก็จะยึดประเทศไทยทั้งหมด โดยใครก็ไม่รู้ ซึ่งทุกคนรู้จักกันหมดแต่ตนไม่อยากเอ่ยชื่อ พูดไปก็มีคนมาตอบโต้ เดี๋ยวตนโมโหก็ใช้อำนาจอีก ตนก็ไม่อยากใช้อำนาจ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์: คัดค้านประชามติ คว่ำบาตรทุกอย่างคือ ไม่ทำอะไรสักอย่าง!

$
0
0

 


ถึงวันนี้ เริ่มมีแนวโน้มแล้วว่า อาจจะมีประชามติว่าด้วยร่างรัฐธรรมนูญ 2558 เมื่อทั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ สภาปฏิรูปแห่งชาติ และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ต่างมีความเห็นไปในทางเดียวกันว่า เห็นควรให้มีประชามติ ส่วนคำถามที่ว่า ถ้าผลของประชามติเป็น “ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ” แล้วจะต้องดำเนินการต่อไปอย่างไรนั้น ดูเหมือนจะมี “ทางเลือก” อยู่เพียงสองทางคือ ให้นำเอารัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งในอดีตมาปรับใช้ หรือให้คณะกรรมาธิการทำการยกร่างใหม่ทั้งฉบับอีกรอบหนึ่ง

แต่ยังมีข้อเสนอจากนักการเมืองและประชาชนแยกเป็นสามแนวทางคือ ให้นำรัฐธรรมนูญ 2550  (ข้อเสนอของพรรคประชาธิปัตย์) หรือรัฐธรรมนูญ 2540 (นักการเมืองบางคนในพรรคเพื่อไทย) มาปรับใช้ หรือให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งเพื่อยกร่างใหม่ทั้งฉบับ (ข้อเสนอของกลุ่มเรียกร้องประชามติที่เป็นประชาธิปไตย)

อย่างไรก็ตาม ยังมีคนจำนวนหนึ่งที่ยืนยันให้คว่ำบาตรกระบวนการทั้งหมดของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ซึ่งก็คือ คว่ำบาตรประชามติ คว่ำบาตรรัฐธรรมนูญ และคว่ำบาตรการเลือกตั้ง รวมทั้ง เรียกร้องกดดันให้พรรคการเมืองใหญ่ทั้งสองพรรคร่วมกันคว่ำบาตรกระบวนการข้างต้นทั้งหมดด้วย

เหตุผลของแนวทาง “คว่ำบาตรทุกอย่าง” คือ เป็นการปฏิเสธรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 และผลพวงทั้งหมด ซึ่งก็คือ รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 และกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งกระบวน

แน่นอนว่า ผู้ที่รักประชาธิปไตยจะต้องคัดค้านรัฐประหาร รัฐธรรมนูญชั่วคราวและการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่กำลังกระทำกันอยู่ แต่การ “คว่ำบาตรทุกอย่าง” นั้นก็ไม่ใช่วิธีการที่จะไปบรรลุผลที่เป็นจริงในทางปฏิบัติ

ข้ออ้างที่ว่า “ปฏิเสธรัฐประหารและรัฐธรรมนูญชั่วคราว” ก็เป็นเพียงโวหารที่ว่างเปล่า เพราะความเป็นจริงในชีวิตนั้นเป็นตรงข้ามคือ ทุกคนล้วนได้รับผลกระทบและต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม บางคนต้องหลบหนีไปต่างประเทศ หลายคนถูกเรียกตัว ควบคุมตัว มีคดีในศาล ส่วนใหญ่ต้องปรับเปลี่ยนกิจกรรมที่เคยทำและอยู่อย่างหวาดระแวง นี่คือผลที่เป็นจริงของรัฐประหารและมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว โดยที่ผู้ได้รับผลกระทบก็ต้องจำยอมโดยดุษฎี แม้ปากจะยืนยันว่า “ไม่ยอมรับรัฐประหารและรัฐธรรมนูญชั่วคราว” ก็ตาม!

การเสนอแนวทางแบบสุดโต่งที่ “ปฏิเสธทุกอย่าง คว่ำบาตรทุกอย่าง” นั้น ฟังดูดี “มีหลักการ” และ “ถูกใจ” ผู้คนจำนวนหนึ่งก็เพราะเป็นข้อเสนอที่สอดคล้องกับอารมณ์โกรธและผิดหวังที่แพร่หลายอยู่ในหมู่ผู้รักประชาธิปไตยปัจจุบัน

การ “คว่ำบาตรทุกอย่าง” แม้จะฟังดูดีในทางการเมือง แต่ผลทางปฏิบัติก็คือ การปล่อยให้กระบวนการของรัฐธรรมนูญชั่วคราวดำเนินไปอย่างลื่นไหลจนถึงประกาศใช้รัฐธรรมนูญ มีการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลใหม่โดยไร้อุปสรรคใด ๆ นั่นเอง เพราะภายใต้อำนาจเบ็ดเสร็จของมาตรา 44 การคว่ำบาตรทุกอย่างดังว่าก็คือการที่คนจำนวนหนึ่งบอกกับตัวเองว่า “ไม่ยอมรับรัฐประหาร” แล้วก็ไม่ทำอะไร เป็นการมัดมือมัดเท้าและปิดประตูตัวเองออกไปจากการต่อสู้ทางการเมืองในขณะนั้น ขณะที่ประชาชนส่วนข้างมากไม่ได้รับรู้อะไรนอกจากเฝ้าดูกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่ดำเนินไปเรื่อย ๆ จนมีการเลือกตั้ง

แม้แต่การที่คนกลุ่มนี้ “คว่ำบาตรประชามติ” ด้วยการออกไป “ทำบัตรเสีย” หรือไม่ออกไปใช้สิทธิ์ลงเสียง ก็จะไม่มีผลทางการเมืองใด ๆ เพราะการกระทำดังกล่าวจะถูกนับเป็นจำนวน “บัตรเสีย” และจำนวนคน “นอนหลับทับสิทธิ์” ที่เพิ่มขึ้นเท่านั้นดังเช่นบทเรียนจากการเคลื่อนไหว “โหวตโน” ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในการเลือกตั้งปี 2554 ที่กลายเป็นการละทิ้งเวทีการต่อสู้และทำลายความน่าเชื่อถือของตัวเองไปในที่สุด

ความจริงแล้ว ผู้ที่เสนอให้ “คว่ำบาตรทุกอย่าง” ก็รู้ถึงข้อจำกัดของประชาชนที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวด้วยตัวเองได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน จึงมีข้อเสนอเพื่อแก้เกี้ยวคือ ให้ประชาชน “กดดันพรรคการเมืองมาเป็นด่านหน้าคว่ำบาตรรัฐธรรมนูญ ประชามติ และการเลือกตั้ง” โดยให้เหตุผลว่า ประชาชนไม่ต้องเสี่ยงออกไป “เผชิญหน้า” กับคณะรัฐประหารด้วยตัวเอง แต่ “ดันหลังพรรคการเมืองให้ไปชนกับคณะรัฐประหาร” แทน!

แต่นี่เป็นข้อเสนอที่ไร้เดียงสาทางการเมืองยิ่ง เพราะนักการเมืองย่อมมีผลประโยชน์ของตนเองเป็นสำคัญ ซึ่งก็คือ มีการเลือกตั้ง ได้เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรและจัดตั้งรัฐบาล ประสบการณ์ในช่วงสิบปีมานี้ ยังไม่เพียงพออีกหรือที่จะเรียนรู้ว่า พรรคการเมืองในระบบเลือกตั้งไม่อาจเป็นกองหน้าต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยได้ สิ่งที่พวกเขาทำได้อย่างมากที่สุดคือ การสนับสนุนประชาชนอยู่ข้างหลัง และคอยรับดอกผลจากการต่อสู้ของประชาชนเท่านั้น!

เมื่อพิเคราะห์ให้ถึงที่สุด แนวทาง “คว่ำบาตรทุกอย่าง” ก็คือ การเอา “หลักการสวยหรู” ที่สุดโต่งชุดหนึ่งมาปกปิดอารมณ์พ่ายแพ้และผิดหวังของตนเอง มาเป็นข้ออ้างรองรับการที่จะไม่ทำอะไรทั้งสิ้น ในทางปฏิบัตินี่คือ “การยอมแพ้” ทางการเมืองที่ตกแต่งด้วยโวหารหลักการสวยหรู และด้วยข้ออ้าง “ให้พรรคการเมืองออกหน้า” แทน

การดำเนินงานทางการเมืองจะต้องยึดหลักการและแนวทางใหญ่ไว้ให้มั่น แต่การกระทำทางยุทธวิธีก็ต้องมีความยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ที่เป็นจริงโดยพิจารณาจากผลสะเทือนทางการเมืองในสาธารณะเป็นสำคัญ สถานการณ์ปัจจุบันนั้นยากลำบาก ช่องทางการเมืองก็ตีบตันและอันตราย เราจึงต้องใช้ประโยชน์จากช่องทางทุกด้านเท่าที่จะหาได้ เพื่อส่งผลสะเทือนทางการเมืองไปสู่สาธารณะ ซึ่งในภาวการณ์ปัจจุบันก็คือ การผลักดันให้มีประชามติและให้มีการอภิปรายสาธารณะในประเด็นรัฐธรรมนูญได้ (แม้ว่า อำนาจตาม ม.44 จะยังคงอยู่ก็ตาม)

แน่นอนว่า มีความเป็นไปได้สูงมากที่ผลประชามติจะเป็น “รับร่างรัฐธรรมนูญ” จึงได้มีข้อโต้แย้งอีกข้อหนึ่งคือ นี่มิเท่ากับไปสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐธรรมนูญ 2558 เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญ 2550 ดอกหรือ? คำตอบคือ ประชามติที่ “รับร่างรัฐธรรมนูญ” จะไม่มีผลเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ระยะยาวอย่างมีนัยสำคัญ เช่นเดียวกับที่ประชามติปี 2550 ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงสถานการณ์ส่วนทั้งหมดในขณะนั้น ซึ่งก็คือ แม้มีเลือกตั้ง ความขัดแย้งและวิกฤตการเมืองก็ยังปะทุอยู่ดี จนเกิดรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญในที่สุด! รัฐธรรมนูญ 2558 ที่ผ่านประชามติแล้วก็จะเป็นทำนองเดียวกัน แต่จะให้ผลลัพธ์ที่เลวร้ายกว่าเพราะโครงสร้างอำนาจที่พิกลพิการ แข็งทื่อ ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ของรัฐธรรมนูญ 2558 เอง ในที่สุด ความขัดแย้งก่อนรัฐประหารก็จะปะทุขึ้นมาอีก นำไปสู่การฉีกรัฐธรรมนูญที่รวดเร็วยิ่งกว่ารัฐธรรมนูญ 2550 เสียอีก!

แต่ถ้าผลประชามติเป็น “ไม่ผ่านร่างรัฐธรรมนูญ” แล้วพวกเขายังดึงดันที่จะหวนกลับไปสู่กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญแบบเดิมอีก พวกเขาก็ยากที่จะหาเหตุผลมารองรับ อีกทั้งได้สูญเสียความน่าเชื่อถือทางการเมืองต่อสาธารณะไปแล้ว

ข้อวิจารณ์อีกประการหนึ่งคือ ประชามติเป็นการ “ยืดเวลา” ให้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ รัฐบาล และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ให้คงอยู่ต่อไปอีกหกเดือน ถึงหนึ่งปี คำตอบคือ ในทางกลับกัน การ “คว่ำบาตร” ด้วยการนั่งเฉย (หรือด้วยการกดดันพรรคการเมืองที่ไร้ผล) ให้กระบวนการเดินไปจนมีการเลือกตั้งและรัฐธรรมนูญชั่วคราวสิ้นสุดลง จะเป็นการช่วยเร่งฟื้นประชาธิปไตยที่ตรงไหน? และสถานการณ์ประชาธิปไตยจะดีกว่าปัจจุบันอย่างไร?

ฉะนั้น การเรียกร้องให้มีประชามติร่างรัฐธรรมนูญ และให้มีการอภิปรายสาธารณะในประเด็นดังกล่าวจึงเป็นหนทาง “สายกลาง” เชิงปฏิบัติที่ให้ผลดีมากกว่าผลเสียคือ การอภิปรายสาธารณะว่าด้วย “อำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญ” ตลอดจนข้อบกพร่องของร่างรัฐธรรมนูญนี้ เพื่อส่งผลสะเทือนไปสู่สาธารณะในวงกว้างในที่สุด

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน “โลกวันนี้วันสุข” ฉบับวันศุกร์ที่ 22 พฤษภาคม 2558

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผับ เพศ และพื้นที่ ในประเทศตุรกี

$
0
0

ตอนนี้เป็นเวลาหนึ่งเดือนกว่าที่ฉันเริ่มปรับตัวกับที่นี่ได้ การปรับตัวได้ทำให้ตัวฉันกระเสือกกระสน (struggling) กับชีวิตที่นี่น้อยลง และเมื่อฉันต้องใช้ความพยายามในการใช้ชีวิตที่นี่น้อยลงมันทำให้ฉันมองอะไรรอบตัว สังเกตอะไรรอบๆ ตัว เผื่อจะมีอะไรที่ทำให้ฉันสนใจที่จะลงไปศึกษามันอย่างจริงจังมากขึ้นได้

วันหนึ่งฉันกับเพื่อนร่วมห้องจากราวันด้าตกลงกันว่าเราจะไปกินเบียร์กัน โดยมีเพื่อนซึ่งเป็นผู้หญิงชาวตุรกีไปด้วย เพื่อนชาวตุรกีพูดภาษาอังกฤษได้ดีทำให้ภาษาไม่ได้เป็นอุปสรรคในการสื่อสารมากนัก (แต่อันที่จริงฉันพบว่าพอมีแอลกอฮอล์เข้าเลือดภาษาก็เป็นอุปสรรคน้อยลงอีกเหมือนกัน) เราเริ่มต้นการเดินทางเพื่อหาที่ดื่มอย่างสับสนและไร้ทิศทาง เนื่องจากย่านที่เราอยู่ค่อนข้างจะเป็นย่านที่ Conservative (เอาง่ายๆ ค่อนข้างจะเคร่งทีเดียว แต่อ่านดีๆ นะจ๊ะ conservative ไม่ได้เป็นอันเดียวกับ fundamentalism) เมื่อฉันถามเธอว่าเราจะไปที่ไหน เธอตอบว่ายังไม่รู้ ฉันถามว่าทำไมเราไม่ไปย่าน Aksaray (เป็นย่านการค้าอารมณ์อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิบ้านเรา) เนื่องจากที่นั่นเพื่อนของฉันเคยไปมาก่อนและบอกว่าที่นั่นมีสิ่งที่เรียกว่า “Pub” แต่เธอบอกว่า “ที่นั่นอันตราย” ฉันไม่เข้าใจนักกับคำว่า “อันตราย” ของเธอ เพราะสำหรับฉันแล้วเวลามืดทุกที่ก็อันตรายเหมือนๆ กันหมด

เราเดินไปทางแถวมหาวิทยาลัยซักพักเพื่อรอเพื่อนชาวเกาหลี ระหว่างทางเราแวะซื้อเบียร์ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้ที่กิน (การกินแอลกอฮอล์ในพื้นที่สาธารณะที่นี่ผิดกฎหมายคับ) จริงๆ แล้วเพื่อนสองคนที่ไปด้วยกันอยากจะกินที่สวนซักแห่งแต่ฉันปรามว่าเราทำเช่นนั้นไม่ได้ (อารมณ์แก่ที่สุดในนั้น) แต่สิ่งหนึ่งที่ฉันแปลกใจคือ เมื่อซิ้อเบียร์เธอไม่ยอมพูดภาษาตุรกีกับเจ้าของร้านชายของชำและเธอบอกว่าเธอมาจากออสเตรีย ในเวลานั้นฉันได้เพียงแต่เก็บความสงสัยนี้เอาไว้ และคิดว่าจะถามเธอภายหลัง

ในที่สุดเพื่อนขาวเกาหลีก็มาและฉันพบว่าเพื่อนในหออีกสองซึ่งเป็นคนอังกฤษกับคนมองโกลเลียติดตามมาด้วย ซึ่งสำหรับฉันแล้วคืนนี้คงจะเป็นคืนที่น่าสนุกทีเดียว จนในที่สุดเราตัดสินใจเดินทางไปที่ย่าน Aksaray เราตัดสินใจจะไม่ไป “Pub” เดิมที่เพื่อนฉันเคยไปเราจะไปอีกแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่อีกฝั่งของถนน เมื่อฉันเห็นสถานที่แห่งนั้น “Pub” ในความหมายของคนที่นี่คงไม่ต่างจากความหมายทั่วไปคือ “สถานที่ซึ่งคนเข้ามาดื่มกิน พูดคุย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดื่มแอลกอฮอล์” แต่เป็นที่น่าประหลาดใจ คือ ในสถานที่แห่งนั้นนอกจากบริกรแล้ว ไม่มีเพศ (Sex) หญิงเข้าไปนั่งกินเลย และเพื่อนชาวตุรกีของฉันก็เกิดความรู้สึกกระอักกระอ่วนที่จะเข้าไปอย่างมาก เมื่อเราเข้าไปนั่งได้ซักพักเราตัดสินใจที่จะย้ายร้านไปร้านเดิมเนื่องจากบรรยากาศดีกว่ามาก ระหว่างทางฉันถามเพื่อนชาวตุรกีว่าเธอเป็นอะไร

“ทำไมเธอถึงรู้สึกอึดอัดใจที่จะเข้าไปในร้านนั้นหละ” ฉันถามขณะที่เรากำลังเดินไปเพื่อย้ายร้าน

“โดยปกติแล้วผู้หญิงชาวตุรกีจะไม่เข้าผับ และผู้หญิงที่เข้าผับจะถูกมองว่าเป็นผู้หญิงไม่ดี จะไม่มีใครให้ความเคารพนับถือต่อเธอ เวลาฉันมากับพวกเธอฉันเลยไม่พยายามพูดภาษาตุรกีเพราะฉันไม่อยากให้ใครรู้ว่าฉันเป็นคนตุรกี แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือฉันผมบลอนด์ ซึ่งมันทำให้ฉันเหมือนผู้หญิงรัสเซีย ซึ่งคนตุรกีมองว่าผู้หญิงรัสเซียใจง่ายซึ่งนั่นมันยิ่งเลวร้ายเข้าไปอีกสำหรับฉัน”

เมื่อเราย้ายร้านและไปนั่งในชั้นใต้ดินซึ่งมันทำให้เธอรู้สึกสบายใจมากขึ้น ประกอบกับร้านนั้นบรรยากาศค่อนข้างอบอุ่นฉันก็ถามเธอเกี่ยวกับการที่เธอไม่ยอมพูดตุรกีที่ร้านขายของชำขณะซื้อเบียร์ ก็ได้คำตอบแบบเดียวกันว่าเธอไม่อยากให้ใครรู้ว่าเป็นคนตุรกี เพราะเธอไม่อยากถูกมองว่าเป็นคนไม่ดี และเมื่อย้ายร้านแล้วสิ่งหนึ่งที่ฉันพบคือร้านดังกล่าวก็มีลักษณะคล้ายๆ กันคือ นอกจากบริกรและเพื่อนของฉันแล้วไม่มีผู้หญิงเข้าไปใช้บริการในผับดังกล่าวเลย

การใช้และการเข้าถึงพื้นที่ เป็นประเด็นสำคัญ “เกี่ยวกับมิติเพศภาวะ” เพราะพื้นที่เป็นปัจจัยหนึ่งที่อาจบอกตำแหน่งแห่งที่ของคนในสังคมนั้นๆ ว่าเขาหรือเธอควรจะอยู่ในพื้นที่ไหนและไม่ควรจะอยู่พื้นที่แบบใด และประการสำคัญหากเกิดการละเมิดกติกาทางพื้นที่แล้วมีการลงโทษทางสังคมแบบใด ในมุมมองของฉันจากการสังเกต สังคมรอบๆ และท่าที่ของเพื่อนชาวตุรกีทำให้เห็นการแบ่งแยกพื้นที่ตามเพศสภาพค่อนข้างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเรื่องพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่สาธารณะ

อีกประการหนึ่ง คือ การประกอบสร้างความกลัวเมื่อต้องเข้าไปในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ซึ่งหากจะบอกว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่โดยตัวมันเองมีอันตราย เช่น อาชญากรรม “ความกลัว” นี้ก็ควรจะเกิดกับทุกคนโดยไม่อิงตามเพศสภาพ แต่อะไรที่ทำให้ผู้หญิงเกิดความกลัวที่มากกว่าประเด็นนี้น่าสนใจว่าสังคมแห่งนี้ประกอบสร้างความกลัวสำหรับผู้หญิงขึ้นมาบนฐานคิดแบบใด

แต่การลงโทษทางสังคมในมิตินี้ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าเพื่อนของฉันรู้สึกอึดอัดใจอย่างมากที่จะละเมิดกติกาทางสังคม ซึ่งความอึดอัดใจนี้มีลักษณะที่ซึมซ่านมาจากภายใน ซึ่งทำให้เธอตัดสินใจที่จะไม่เข้าผับ ไม่อยากพูดภาษาตัวเอง และสบายใจมากกว่าที่จะต้องติดต่อสื่อสารกันด้วยภาษาอังกฤษ

แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่ฉันเล่ามาและสรุปในตอนท้ายนั้นเป็นเพียงข้อสันนิษฐานเบื้องต้น ซึ่งฉันอาศัยแต่เพียงการสังเกต พูดคุยกับเพื่อน และวิเคราะห์ตามแนวคิดทฤษฎีที่ร่ำเรียนมา ซึ่งสำหรับฉันแล้วฉันคิดว่าเพียงข้อมูลเท่านี้มันทำให้ข้อสรุปที่ออกมายังดูบี้แบน และไม่เห็นความแตกต่างหลากหลายและการซ้อนทับของอัตลักษณ์ของคนในสังคม ที่ทำให้พวกเขาหรือเธอตัดสินใจที่จะใช้หรือไม่ใช้พื้นที่ซึ่งเรียกว่า “Pub” ในประเทศตุรกี และคำถามต่อมาคือพื้นที่ซึ่งเรียกว่า Pub สามารถเป็นตัวแทนของพื้นที่สาธารณะอื่นๆ ได้ด้วยหรือไม่? คำถามเหล่านี้ฉันอาจต้องทำความเข้าใจมากขึ้น และอ่านให้มากขึ้น (เมื่อเข้าใจภาษาตุรกีดีกว่านี้)

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ผู้เขียนเป็นนักศึกษาปริญญาโทคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: หนึ่งปี เสรีหาย

$
0
0

 

ยี่สิบสี่ พฤษภา เวียนมาถึง
เป็นวันซึ่ง ครบหนึ่งปี ชีวิตเปลี่ยน
เสรีภาพ หายไป ดุจเปลวเทียน
ที่ถูกเฆี่ยน ด้วยลม เผด็จการ
คำสั่งเรียก รายงานตัว ฉบับนั้น
ออกในวัน ที่สอง หลังรัฐประหาร
ดูรายชื่อ แล้วก็มี นักวิชาการ
กับบรรดา เหล่าอาจารย์ ผู้โด่งดัง
สุรชัย สุนัย และสมศักดิ์
จักรพันธ์ บริรักษ์ เกี่ยวตรงไหน
พอไล่เรียง รายชื่อ ค่อยดูไป
โอ้....บรรลัย ผังล้มเจ้า ในตำนาน

ตั้งสติ แล้วคิดหวน ให้ถ้วนถี่
เก็บเสื้อผ้า จรลี..หนีสิทั่น
จะให้ไป รายงานตัว อย่างไรกัน
เรียกเช้านั้น ให้เจอกัน ในตอนเย็น
อยู่เชียงใหม่ ใช่อยู่ แถวสีลม
จะให้ผม เหาะไป หรือไงท่าน
ค่าเครื่องบิน เบิกกับใคร ที่ไหนกัน
คิดเช่นนั้น ไม่ไปเลย เฉยเฉยดี
เก็บกระเป๋า เสื้อผ้า มาตั้งหลัก
ย้ายที่พัก ตะลอนไป ในทุกที่
ที่นั่นวัน...ที่นี่คืน..โอ้ชีวี
อยู่ดีดี ก็ต้องหนี ทำผิดไร

สองเดือนผ่าน พ้นไป แสนลำบาก
เงินทองจาก กระเป๋า ไม่เข้าหา
มิตรสหาย หลายท่าน ช่วยเยียวยา
อนิจจา ยังคงมี เพื่อนที่แท้จริง
เดือนที่สาม อาการ ยิ่งทรุดหนัก
ค่าที่พัก แสนหนัก กระไรนี่
จ่ายเป็นวัน ไม่ไหว ในทันที
คงต้องเปลี่ยน วิธี ลี้สัญจร
ไปอาศัย นอนหลับ พักกับเพื่อน
เป็นบ้านเรือน ที่ทำงาน อาคารสอน
นอนกลางคืน เช้าตรู่ ก็ต้องจร
ก่อนที่เหล่า คนนคร จะทำงาน
ส่วนกลางวัน ไหลหลบ สยบนิ่ง
เข้าแอบอิง ตามร้านเน็ต เช็คข่าวสาร
ความเคลื่อนไหว ของเพื่อนร่วม อุดมการณ์
หวังพบพาน ทางรอด ที่ปลอดภัย

วันผ่านไป หลายข่าว ก็เริ่มโผล่
เผด็จการ โชว์ผลงาน ที่วาดฝัน
รายงานตัว ใช่จะรอด ปลอดชีวัน
โดนลงทันฑ์ ด้วยกฏหมาย ทำลายคน
รุ่งศิลา คฑาวุธ พิสูจน์แล้ว
ว่าไม่แคล้ว ถูกจับ ให้สับสน
อีกน้าทอม ดันดี ช่วยพลีตน
เราหรือพ้น หนทาง แห่งอาญา
นี่มันคือ ประเทศบ้า อะไรนี่
สิทธิ์ เสรีคือสิ่ง ทีโหยหา
อยู่ไม่ได้ เสียแล้ว ต้องขอลา
ขอไปตาย เอาดาบหน้า ค่อยว่ากัน

คนในหมาย หลายคน เริ่มมีข่าว
ไปอยู่ดาว นาเม็ก กันสินั่น
อยู่ที่ไหน ดาวไหน ไม่สำคัญ
ขอฉันนั้น ตามรอย ไปด้วยคน
สิ้นเดือนสาม ประหนึ่ง ใจจะขาด
จะมีไหม โอกาส ไปสักหน
จะอยู่รอด ยังไง ให้เป็นคน
ความอับจน เข้าครอบคลุม ทุกอณู

กริ๊ง กริ๊ง กริ๊ง ดังเสียงโทรศัพท์
เป็นเบอร์ลับ ของใคร โทรมานี่
พอคุยสาย ก็รู้ได้ ในทันที
มิตรสหาย ท่านนี้ มีช่องทาง
ไม่รีรอ ทันใด ได้โอกาส
ไม่ถึงฆาต คงได้กลับ มาอีกหน
จะเดินทาง ไปตามหา ความเป็นคน
ขยายผล ให้โลกรู้ เรื่องทุยแลนด์

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รัฐพล ศุภโสพล

$
0
0

"สิ่งที่ผมและเพื่อนๆหลายๆคน ยังคงอยู่ที่สน. ยืนยันคือ เราไม่ผิด การปล่อยตัวจึงต้องไร้ซึ่งเงื่อนไขใดๆ เพียงการสอบสวนไม่แจ้งข้อกล่าวหา ก็ไม่ต่างกันกับการยอมรับว่าเราเป็นคนผิด เราโดนทำร้ายร่างกายจากการ "เชิญ" ของเจ้าหน้าที่ เราไม่ผิด ทั้งยังโดนกระทำ จึงต้องปล่อยตัวเรากลับ โดยไม่มีเงื่อนไขอย่างแท้จริง สิ่งที่เรายึดถือคือหลักการ และจะยังคงไม่ไปไหน"

23 พ.ค.58 เวลา 3:24 น. โพสต์ขณะที่เขายังถูกกักตัวอยู่ที่ สน.ปทุมวันฯ หลังถูกจับจากหอศิลป์ฯ กทม.เนื่องจากจัดกิจกรรมรำลึก 1 ปีรัฐประหาร

บันทึกนักเรียนคนหนึ่ง "ก่อนถูกควบคุมตัว 10 ชั่วโมงในเหตุการณ์ 22 พฤษภาคม 2558"

$
0
0

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นักเรียนชั้น ม.6 นึ่งในผู้ถูกจับกรณีการชุมนุมรำลึก1ปี รัฐประหาร 2557 ได้เขียนบันทึกความทางจำสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนที่เขาและเพื่อนจะถูกเจ้าหน้าที่เข้าทำการจับกุม

๐๐๐๐
 

วันศุกร์หลังเลิกจากเรียนที่โรงเรียนแล้ว ผมได้ยินข่าวว่ามีกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ครบรอบหนึ่งปีรัฐประหาร ประจวบกับ"สยาม" เป็นเส้นทางไปยังสถานที่ทำงานของผม และที่ติวหนังสือซึ่งผมต้องผ่านที่บีทีเอสตรงนั้น ผมเลยตัดสินใจว่าจะแวะไปดูพวกเขา

ทีแรกแค่จะมาสังเกตการณ์เฉยๆ คิดว่างานนี้ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร (มันมีปัญหาอะไรไม่ได้อยู่แล้ว)

แต่เมื่อผมไปถึงเวลาประมาณหกโมงเย็นกว่าๆ ผมได้รับข้อความจากพี่ชายที่มาสอนหนังสือผม ว่าให้กลับไม่ต้องมา พี่เขาอยู่ที่นั่น และเหตุการณ์ค่อนข้างอันตราย ทำให้ผมรู้สึกเป็นห่วง

ผมเห็นว่าเริ่มมีการล้อมเป็นวงขึ้น และเมื่อผมสอบถามจากคนรอบข้างนั้นคือ พวกเขารวมตัวกันนั่งเป็นวงกลมเพราะว่ามีนักศึกษาบางคนถูกควบคุมตัวไปโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจทหาร ทั้งที่พวกเขามาแสดงออกอย่างสันติวิธี พวกเขาจึงจะนั่งอยู่ตรงนั้นจนกว่าจะมีการปล่อยตัวเพื่อนของพวกเขาและกลุ่มดาวดินที่ขอนแก่นด้วย

ผมตกใจกับเรื่องที่เกิดขึ้น (แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่เล่ามาอีกที) แต่ผมก็ตัดสินใจว่า ผมไม่ไปนั่งคงไม่ได้แล้วอย่างน้อยก็ต้องแสดงพลังเชิงสัญลักษณ์ออกมา แล้วจากนั้นก็มีเจ้าหน้าที่ทางการมาพูดคุยกับทางกลุ่มของเรา อย่างไรก็ตาม การพูดคุยก็ล้มเหลวไป อย่างไรก็ดีผมยังคิดว่าเราต้องมีทางเจรจากันได้แน่

เราได้มีการร้องเพลง "แสงดาวแห่งศรัทธา" (ของจิตร ภูมิศักดิ์) และเพลงเพื่อมวลชน

"ถ้าหากฉันเกิดเป็นนกที่โผบิน ติดปีกบินไปให้ไกลไกลแสนไกล จะขอเป็นนกพิราบขาว เพื่อชี้นำชาวประชาสู่เสรี..."

แต่ยังร้องเพลงเพื่อมวลชนไม่ทันจบด้วยซ้ำ เจ้าหน้าที่ทหารตำรวจก็ได้เปิดรั้วบุกเข้ามาโดยไม่คาดคิด และมีบางคนถูกต่อย ถูกเอาไฟฟ้าช็อตและสี่ห้าคนที่นั่งในวงถูกลากเข้าไปในฝั่งเจ้าหน้าที่โดยทันที

ทันใดนั้นเอง ทหารและตำรวจ กลับไปกระชากตัวพี่ชายผมไป ซึ่งเขาเป็นแค่คนที่ไม่สนใจอะไรเรื่องการเมืองเลยด้วยซ้ำ (คสช. ย่อมาจากอะไรพี่เขายังไม่รู้เลย)

เขากลับถูกลากเข้าไป  จริงๆเขาจะไปซื้อหนังสือกับผมที่สยาม และเขาผ่านไปยืนดูตรงนั้น และเขาพยายามให้ผมออกไปจากที่นั่น พอเหตุการณ์เป็นแบบนี้ ทำให้ผมตัดสินใจที่จะไม่ยอมหยุด เพราะเห็นมันไร้เหตุผลที่สุด   และการไม่ยอมหยุดของเรา ก็ทำแค่นั่งร้องเพลงเฉยๆเท่านั้น !

(ที่ทางเจ้าหน้าก็บอกว่า เพราะเราทำลายกำแพงรั้วเข้ามา นั้นเป็นข้อกล่าวหาที่เพิ่มเข้ามาทีหลัง เพราะมีเจ้าหน้าที่พยายามมาเจรจากับเราหลายรอบแล้ว กลุ่มเราได้ถามมาตลอดว่า "เราทำผิดอะไร" เจ้าหน้าที่ไม่ยอมชี้แจง และไม่ได้พูดเรื่องรั้วใดๆทั้งสิ้น)

สถานการณ์อันไม่น่าคาดคิดเกิดขึ้น พวกเราที่เหลืออยู่ บางคนร้องไห้ คนที่ถูกไฟฟ้าช็อต โกรธและก่นว่า อย่างไรก็ดีเรายังมีสติดีอยู่และเราจะไม่ถอยออกไป เท่าที่สังเกต พวกเราไม่มีใครก่นด่าว่าหยาบคายต่อฝ่ายเจ้าหน้าที่เลย เรารู้ว่ามันคือความไม่เป็นธรรม เราไม่ได้ทำผิดอะไรเรายืนยัน แม้ไม่แน่นอนแต่เรายังจับแขนกันไว้แน่นๆ

เพื่อนบางคนกำลังประเมินสถานการณ์  ส่วนผมและเพื่อนบางคน ร้องเพลง "We Shall Not Be Moved" (เราจะไม่ไปไหน) 

We shall not, we shall not be moved
We shall not, we shall not be moved
Just like a tree that's standing by the water
We shall not be moved

จากนั้นเราทุกคนในวงร่วมร้องเพลง "เพื่อมวลชน"กันอีกรอบ ยังไม่ทันจบดีๆนี่แหละ เจ้าหน้าที่ตำรวจทหารเปิดรั้วของเขาออกมา และปฏิบัติการอย่างรวดเร็ว และทีนี้ก็ถึงตาผม

พวกเขาเข้ามาจับทุกคนในวง ผมกับเพื่อนที่อยู่ติดกันจับมือกันแน่นไม่ปล่อย แต่สุดท้ายเราก็ไม่อาจต้านทานได้ ผมถูกลากตัวเข้าไป รองเท้าข้างหนึ่งของผมหลุดหายไป  บอกว่าจะไม่หนีขอไปเก็บรองเท้าก็ไม่ได้ ผมจึงมีรองเท้าข้างเดียวเหลืออยู่ให้ใส่

เพื่อนผมที่อายุน้อยกว่าผมเรียน กศน. อายุ 16 ปี เจ้าหน้าที่ใช้แขนรัดคอ และลากตัวเข้าไป และยังโยนเขาลงด้วย นักศึกษาธรรมศาสตร์คนหนึ่งถูกรัดคอจนหายใจไม่ออก และเอาเข็มขัดรัดมือ พร้อมทั้งด่าหยาบคาย เราถูกบังคับให้ขึ้นรถตู้ไป สน.ปทุมวัน    คนหนึ่งถูกโยนขึ้นไปด้วย เรารวมกันในรอบนี้ 11 คน เป็นนักศึกษา นักเรียน กศน.  และพี่รุ่นวัยทำงานซึ่งพวกเขามาเห็นความไม่เป็นธรรมจึงเข้าร่วม เราร่วมกันขึ้นรถตู้ไป สน. ปทุมวัน

มีเพื่อนของเราอีกคนชื่อ ทรงธรรม เดฟ เขาเป็นรุ่นพี่ผมไม่กี่ปี ถูกลากตัวมาพร้อมกันกับเรา  แต่เขาไม่ได้ขึ้นรถตู้กับเราหรอกนะครับ เขาถูกเตะ ถูกกระชากลากอย่างรุนแรง จนเขาสลบไป พวกเราโกรธกันมาก

พวกเราบางคนคนตระโกนว่า "พวกมึงฆ่าเพื่อนเรา"

แต่โชคดีไปที่เดฟปลอดภัย เข้าโรงพยาบาลทัน แต่บาดแผลก็ยังมีให้เห็นอยู่ และต้องออกค่าใช้จ่ายเองซึ่งแพงพอสมควรเลย

เรื่อง 10 ชั่วโมงใน สน.เป็นอย่างไรบ้าง ผมอาจจะมาเล่าไว้ในครั้งหน้า แต่คิดว่าข้อมูลส่วนนี้ จะมีหลายคนเขียน เราถูกแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่ม 21 คน 11 คน และ 5 คน แต่ละกลุ่มถูกการเล่นเกมส์ให้เงื่อนไขการปล่อยตัวอะไรที่ต่างกันไป จนวุ่นวายทีเดียว คิดว่าน่าจะมีคนมาเล่าได้ดีกว่าผม

ผมไม่ได้กะว่าจะเคลื่อนไหวอะไรหรอกนะครับงานนี้ จะแค่มาดูตามที่บอกไปแล้ว คิดว่าจะไปซื้อหนังสือ ที่คิโนะคูนิยะ จะผ่านไปสักสิบห้ายี่สิบนาที ผมไม่อยากเชื่อเลยว่า เหตุการณ์มันจะเลวร้ายได้ขนาดนี้ แล้วผมจะทนนิ่งดูดายหรือ

ใครเล่าจะทนกับความป่าเถือนอย่างนี้ได้ ถ้าคนนั้นยังสติดีอยู่ ที่แน่ๆก็คือเรามาอย่างสันติ ทำไมถูกทำร้ายอย่างนี้

ที่ผมเขียนมานี้ เป็นการเล่าเรื่องราวส่วนตัวและอาจจะตอบโต้ข้อกล่าวหามั่วๆที่ปรากฏในอินเทอร์เน็ต เช่น เราถูกจ้างมา เราถูกจัดตั้งมาก็ได้ เราแทบไม่รู้จักกันเลยด้วยซ้ำที่ไปเจอกัน อย่างที่ผมเล่าเรื่องพี่ที่เป็นครูสอนพิเศษผมไม่รู้เรื่องก็ถูกจับไปเหมือนกันอยู่กลุ่ม 21 คน

ที่เขียนมานี้ผมอยากจะเล่าประวัติศาสตร์ของปัจเจกบุคคล และมุมมองหนึ่งของเหตุการณ์ 22 พฤษภาคม 2558 และมันคุ้มค่ามากสำหรับนักเรียนคนหนึ่งที่ได้ทำอะไรอย่างนี้ สิทธิเสรีขั้นพื้นฐานต้องมี

จะรออะไร ทำไมให้ผู้ใหญ่มารังแกเราอยู่ได้ ปากเสียงเราอยู่ไหน ผมดีใจที่ได้ร่วมกับพวกเขาคนหนุ่มสาวเหล่านี้ มันทุกข์ใจไม่น้อยที่ถูกควบคุมตัวอย่างยาวนานและตึงเครียด 

แต่การได้เห็นการตั้งใจดีของพวกเรานักเรียนนักศึกษาคนธรรมดา การเสียสละ การใช้เหตุผลการยืนหยัดในสิทธิความเป็นมนุษย์ มันน่าภูมิใจมิใช่หรือ มันคุ้มแล้วต่อที่จะต้องแลกมิใช่หรือ

 


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ร่างกาย ความรู้สึก และสุขภาพ

$
0
0

     

การขยายตัวของกิจกรรมการออกกำลังกายทวีขึ้นมากในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ทำให้ตลาดของเครื่องมือในการออกกำลังกายขยายตัวอย่างกว้างขวาง (รวมจักรยานด้วย)  ประโยคเด็ดของบรรดาคุณหมอทั้งหลายหลังจากตรวจโรคของคนไข้เสร็จแล้ว ก็คือ “ออกกำลังให้มากขึ้นนะ”  นักศึกษาแพทย์ท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่าหลังจากเธอได้ฟังประโยคเด็ดเช่นนี้ของอาจารย์หมอในห้องตรวจแล้ว  เธอเกิดความงงงวย จึงถามอาจารย์หมอว่าโรคที่คนไข้เป็นนั้นมันเกี่ยวอะไรกับการออกกำลังกาย  อาจารย์หมอท่านหัวเราะแล้วก็บอกว่าไม่เกี่ยวหรอก แต่ไม่เป็นไร การออกกำลังกายเป็นเรื่องดีที่ทุกคนควรทำ  (ฮา)

กิจกรรมการออกกำลังกายที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในสุญญากาศ หากแต่เป็นกระบวนการทางสังคมที่สัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ในหลายมิติและหลายด้านด้วยกัน    ที่สำคัญได้แก่ การขยายตัวของความรู้ทางด้านเวชศาสตร์ป้องกัน (Preventive Medicine) และผลกระทบอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงความหมายและความสำคัญของ “ร่างกาย” (body)   รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงความหมายของความรู้สึกต่อโลกภายนอกร่างกายด้วย

ความรู้ด้านเวชศาสตร์ป้องกันเริ่มต้นในระบบการศึกษาแพทย์ศาสตร์ของสังคมไทยประมาณต้นทศวรรษ ๒๕๐๐ แต่ในช่วงแรกนั้นไม่ได้รับการสนับสนุนมากนัก  สังคมการแพทย์ไทยยังเน้นอยู่ที่การรักษาโรคที่เป็นแล้วให้คนไข้หายจากโรค  จนกระทั่งราวทศวรรษ ๒๕๒๐ จึงได้เริ่มเกิดกระแสการสร้างความรู้ในด้านเวชศาสตร์ป้องกันขึ้นมาใน 2 ลักษณะด้วยกัน ได้แก่การเพิ่มความหมายหรือความสำคัญให้แก่การเรียนรู้ด้านเวชศาสตร์ป้องกันในสถาบันการศึกษาทางการแพทย์   และการส่งเสริมให้เกิดความรู้ทางการแพทย์เชิงป้องกันให้แก่ประชาชนทั่วไป

การให้ความสำคัญมากขึ้นแก่ความรู้ด้านเวชศาสตร์ป้องกันนั้นเห็นได้ชัดจากการขยายตัวของการเรียนการสอนในด้านนี้ของสถาบันการศึกษาทางแพทย์ศาสตร์  ในปี พ.ศ. ๒๕๐๑  ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล  มีแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ป้องกันเพียงสองท่าน และพยาบาลอีกหนึ่งท่าน  จนปลายทศวรรษ ๒๕๑๐ จึงได้ตึกทำงานใหม่ และจำนวนบุคลากรเพิ่มมากขึ้น และมีการปรับเปลี่ยนสถานะขององค์กรจาก “หน่วยวิชาเวชศาสตร์ป้องกัน” มาเป็น “ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม”  จากนั้นการเรียนการสอนด้านเวชศาสตร์ป้องกันก็ได้เริ่มขยายตัวไปยังคณะแพทย์ศาสตร์ของทุกมหาวิทยาลัย และถูกจัดให้เป็นยุทธศาสตร์สาธารณสุขสำคัญในปัจจุบัน

ในอีกด้านหนึ่ง กลุ่มแพทย์ที่สนใจในปัญหาของสังคมนำโดยนายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว และนายแพทย์ประเวศ วะสี ก็ได้สร้างนวัตกรรมทางสังคมที่สำคัญมาก ได้แก่  การสร้างวารสาร “หมอชาวบ้าน” ขึ้นมาในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งต่อมาเมื่อได้รับความสำเร็จก็ได้จัดตั้งมูลนิธิ “หมอชาวบ้าน” ซึ่งหลักการสำคัญที่สุดของการทำงานกลุ่มนี้ ได้แก่  การส่งเสริมให้คนทั่วไปมีศักยภาพในการดูแลตนเองและคนใกล้ชิดด้วยการเผยแพร่ความรู้ทางการแพทย์และสาธารณสุขไปสู่สังคม

การแพทย์ในเชิง “ป้องกันไว้ก่อน” ที่ขยายตัวอย่างมากและกว้างขวางในช่วง 30-40 ปีมานี้ (ปีนี้เป็นปีครบรอบ ๓๖ ปี ของวารสารหมอชาวบ้าน)  ในด้านหนึ่งถือได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง เพราะสามารถคืนการตัดสินใจในการจัดการดูแลสุขภาพและการรักษาอาการเจ็บไข้ได้ป่วยที่ไม่ร้ายแรงของตนเองและสมาชิกในครอบครัวให้แก่คนทั่วไปได้มากกว่าเดิมมาก  รวมทั้งช่วยให้เกิดความตระหนักที่กว้างขวางขึ้นเกี่ยวกับความสำคัญของการเลือกบริโภคอาหารและสิ่งของเครื่องใช้ เช่น เครื่องสำอาง  สารเคมีต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ฯลฯ ที่ปลอดภัยต่อชีวิตและสุขภาพของตนเองและคนในครอบครัว

ความรู้ด้านเวชศาสตร์ป้องกันมีพัฒนาการที่สำคัญ จากในช่วงแรกที่เผยแพร่ความรู้ทางการแพทย์สมัยใหม่ไปสู่ผู้อ่านเพื่อเพิ่มศักยภาพในการดูแลสุขภาพและการตัดสินใจเกี่ยวกับการจัดการปัญหาโรคภัยไข้เจ็บหรือการเข้ารับการรักษาพยาบาลอย่างมีความรู้และความเข้าใจ  เมื่อถึงทศวรรษ ๒๕๓๐ โดยประมาณก็เริ่มเกิดการสร้างและเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจชุดใหม่เกี่ยวกับสมุนไพรไทยและการบริโภคอาหารที่มีค่าในการสร้างสมดุลของร่างกาย

ความรู้ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาและได้รับการเผยแพร่อย่างต่อเนื่องนี้ได้ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของการผลิตหรือการสร้างความคิดว่าการกินผักอะไรหรือผลไม้อะไรจะช่วยป้องกันไม่ให้เป็นโรคนั้นโรคนี้ขึ้น  ดังที่จะเห็นได้ถึงการประกาศสรรพคุณในการป้องกันโรคของพืชผักอาหารสารพัดอย่างในช่วงปัจจุบัน

แม้ว่าความรู้เชิงป้องกันนี้มีความหมายและความสำคัญอย่างยิ่งต่อสังคมไทย  แต่ในขณะเดียวกัน ก็ได้เกิดผลกระทบในด้านที่ “หมอชาวบ้าน” หรือผู้ทำงานด้านเวชศาสตร์ป้องกันไม่ได้คาดคิดเอาไว้ตามมา
ผลกระทบที่ไม่คาดคิดหรือคิดไปไม่ถึง ก็คือ การปลดปล่อยคนทั่วไปไม่ให้ต้องติดอยู่กับหมอและโรงพยาบาลด้วยการเพิ่มศักยภาพให้ปัจเจกชนแสวงหาหนทางดูแลตนเองนั้น   กลับทำให้เกิดการดูแลตนเองอย่างไร้ฐานความรู้ การคิดไตร่ตรอง และความเข้าใจที่แท้จริง ในยุคที่คนในวัยหนุ่มสาวให้ความสำคัญแก่ “ร่างกาย” มากขึ้น ในขณะที่คนสูงวัยมีอายุยืนขึ้นและต้องการมีชีวิตในวัยชราที่ปลอดจากโรคภัยไข้เจ็บ พร้อมๆ กับการโฆษณาเพื่อขายบริการทางสุขภาพและอาหารเสริมที่ขยายตัวจนดาษดื่นไปหมดทั้งในสื่อเก่าและสื่อใหม่ที่แบ่งแยกเพศและวัยของกลุ่มเป้าหมายอย่างละเอียดเพื่อสร้างจุดขายให้แก่สินค้าแต่ละประเภท เช่น  เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพและความงามสำหรับของหญิงวัยรุ่น หญิงวัย 30-40 ปี หญิงวัยเกษียณ ชายวัยรุ่น ชายวัยทำงาน ฯลฯ

การขยายตัวของการดูแลตนเองอย่างไร้ความรู้ความเข้าใจที่แท้จริงเห็นได้ชัดเจนจากการบริโภคอาหารเสริมทางเคมีชีวะที่เพิ่มมากขึ้น เพราะท่ามกลางการทำงานในระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ที่เข้มข้นมากขึ้น การใช้ชีวิตกลางคืนมากขึ้น รวมทั้งชีวิตประจำวันที่ต้องบริโภคอาหารสำเร็จรูปนานาชนิดที่ไม่เพียงแต่จะด้อยคุณค่าทางโภชนาการเท่านั้นแต่ยังอาจเป็นพิษต่อร่างกายในระยะยาวอีกด้วย คนจำนวนมากจึงหันเข้าหาการป้องกันโรคอย่างมักง่ายด้วยการซื้ออาหารเสริมหรือสร้าง “อาหารเสริมวิเศษ” ขึ้นมาใช้ด้วยตนเอง  เช่น ไข่แช่น้ำส้ม เห็ดหูหนูดำต้มกับขิงและพุทราจีน ฯลฯ พร้อมกันนั้นการป้องกันตนเองก็ขยับขยายออกไปสู่การสร้าง “นิยาย”  เกี่ยวกับการบริโภคพืชผักผลไม้นานาชนิด (จนน่าจะครอบคลุมทุกพันธุ์พืชในเมืองไทยแล้ว อาจจะยังเหลือเปลือกไม้ฉำฉากระมัง  (ฮา ) 

ต้องบอกก่อนนะครับว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิดนี้ ไม่ใช่ความผิดของกลุ่มแพทย์ที่ทำงานส่งเสริมให้สังคมมีความรู้ด้านเวชศาสตร์ป้องกันแต่อย่างใด  หากแต่เป็นเพราะคนในสังคมไทยเองต่างหากที่ได้เลือกการตัดสินใจเองในลักษณะที่ไม่มีฐานความรู้และความเข้าใจเพียงพอ  คำถามที่ต้องตอบให้ได้ก็คือ  ทำไมคนจำนวนมากในสังคมไทยจึงเชื่อในเรื่องเหล่านี้

ความรู้เรื่องเวชศาสตร์ป้องกันดำรงอยู่ในสังคมที่คนจำนวนมากรู้สึกว่าตนเองอยู่ในภาวะ “ความเสี่ยงสูง” ต่อการเกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ สภาวะ “ความเสี่ยงสูง “ เกิดขึ้นในส่วนของอารมณ์ความรู้สึกมากกว่าจะเป็นความเสี่ยงจริงๆ ในชีวิตคน   เช่น  ผู้ที่เข้าไปตรวจหาโรคมะเร็งที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติร้อยละ 90 ไม่ได้เป็นมะเร็ง หากแต่เข้าไปตรวจเพราะว่ารู้สึกกลัวว่าจะเป็น ซึ่งความกลัวนี้ก็เกิดขึ้นเพราะความรู้สึกถึงสภาวะ “ความเสี่ยงสูง” นั่นเอง

สภาวะทางอารมณ์ความรู้สึกถึง “ความเสี่ยง” ที่ตนเองจะมีโอกาสเป็นโน่นเป็นนี่  จึงทำให้แม้ไปปรึกษาแพทย์มาแล้วและพบว่าตนเองไม่ได้ป่วยเป็นโรคอะไรทั้งสิ้น แต่ก็ยังกังวลอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น หากเพื่อนบอกข้อมูลหรือไปอ่านพบในอินเตอร์เน็ตว่ากินพืชผักอะไรแล้วจะป้องกันโรคได้หรือกินอาหารเสริมอะไรแล้วจะช่วยให้สุขภาพดีขึ้น คนกลุ่มนี้ก็จะเชื่อ (อาจไม่เชื่อทั้งหมดแต่ก็ “อย่าลบหลู่ “) และร่วมสร้างกระแสการบริโภคพืชผักหรืออาหารเสริมชนิดนั้นทันที ซึ่งสื่อใหม่ต่างๆ หรือโลกออนไลน์ก็มักมีส่วนสำคัญในการทำให้ “กระแส” นิยมพืชผักสมุนไพรบางตัวกระจายออกไปรวดเร็วราวกับไฟไหม้ฟาง

ผลต่อเนื่องจากการขยายตัวของการป้องกันตนเองในลักษณะดังกล่าวนี้ เมื่อประกอบกับเกิดความเปลี่ยนแปลงทางด้านระบอบอารมณ์ความรู้สึกนึกของผู้คนในสังคม รวมทั้งการให้ความสำคัญแก่ “ร่างกาย” มากขึ้น   ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของเวชศาสตร์ป้องกันอีกด้านหนึ่ง นั่นคือ การออกกำลังกายที่ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว

กระบวนการที่ผู้คนรู้สึกว่าตนเองกำลังเผชิญอยู่กับ “ความเสี่ยง” ต่างๆ นานา  พร้อมกับการถูกสร้างให้ “เสรี” ในการตัดสินใจเรื่องสุขภาพมากขึ้นจากความรู้ในด้านเวชศาสตร์ป้องกันที่ได้รับรู้มาในอดีต ในด้านหนึ่งทำให้เกิดการขยายตัวของการสรรหาสิ่งต่างๆ มาบริโภคบนความเชื่อว่ากินแล้วดีต่อสุขภาพดังได้กล่าวมาแล้ว ซึ่งทำให้ธุรกิจอาหารเสริม พืชผักผลไม้ที่ปิดป้าย “สมุนไพร” เติบโตอย่างรวดเร็ว   แต่ในอีกด้านหนึ่ง กระบวนการแสวงหาทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับการป้องกัน “ความเสี่ยง”  ก็ทำให้ผู้คนเห็นความสำคัญของการออกกำลังกาย จนเกิดความนิยมในการออกกำลังกายหลากหลายประเภท ซึ่งทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการออกกำลังกายขยายตัว รวมทั้งธุรกิจประเภท “ฟิตเนส” และธุรกิจโฆษณาสินค้าสำหรับออกกำลังกาย

  การปลดปล่อยการจัดการสุขภาพของตนเองจากกรอบของแพทย์ศาสตร์แบบรักษา (Curative medicine) มาสู่การเพิ่มพูนศักยภาพของปัจเจกชนในการป้องกันโรคและการดูแลสุขภาพของตนเองนี้มีความสำคัญมาก  เพราะเป็นพื้นฐานของการทำให้ผู้คนรู้สึกว่าสามารถจะป้องกัน “ความเสี่ยง” ได้ด้วยตนเอง  ยิ่งเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงความหมายและความสำคัญของ “ร่างกาย” ก็ยิ่งทำให้เกิดความต้องการที่จะทำให้ร่างกายมีความแข็งแรงแบบสวยงามด้วยกล้ามเนื้อ โดยปราศจากไขมันพอกพูนในส่วนต่างๆ ของร่างกาย  มิใช่แข็งแรงแบบที่ร่างกายปราศจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ เท่านั้น

การเปลี่ยนแปลงความหมายและการให้ความสำคัญแก่ร่างกายมากขึ้น ปรากฏอย่างชัดเจนและเข้มข้นมากขึ้นในสังคมไทยราวต้นทศวรรษ ๒๕๔๐ เพราะการขยายตัวของอุตสาหกรรมภาคบริการต่างๆ ได้ทำให้ผู้คนเล็งเห็นว่าร่างกายเป็น “ทุน” ที่สำคัญอย่างหนึ่ง ในชั้นต้นความพอดีของสัดส่วนร่างกายทำให้เกิดโอกาสในการทำมาหากินหรือการประกอบธุรกิจต่างๆ มากขึ้น ในชั้นต่อมา ความพอเหมาะหรือความสมส่วนก็กลายเป็นการวัดระดับของ “ชนชั้น” ว่าเป็นผู้มีการลงทุนในร่างกายได้มากหรือไม่ ชั้นที่ลึกที่สุดแล้ว ความสำนึกเชิงปัจเจกชนที่เข้มข้นมากขึ้นทำให้ผู้คนรู้สึกถึงการเป็น “เจ้าของ” ร่างกายของตนเองแต่เพียงผู้เดียว สามารถใช้ร่างกายของตนไปในทางใดๆ ก็ได้ การให้ความสำคัญต่อ “ร่าง-กาย” จึงเชื่อมต่อเข้ากับการดูแลสุขภาพเพื่อให้ “ร่าง-กาย” พ้นจาก “ความเสี่ยง” และอยู่กับเจ้าของให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้  พร้อมๆ กับการทำให้ร่างกายสวยงามเพื่อจะมีเสน่ห์ในสายตาคนอื่น ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วก็จะนำเอาความสำเร็จมาสู่เจ้าของเรือนร่าง

การขยายตัวของการออกกำลังจึงเพิ่มมากขึ้น สถาน “ ฟิตเนส” ต่างๆ ในเขตเมืองขยายตัวรองรับชนชั้นกลางที่มีเงินที่พร้อมจะเป็นสมาชิกรายละหลายหมื่นบาทต่อปี  ในเขตชานเมืองหรือชนบทหน่อยก็จะมีการรวมกลุ่มกันเต้นแอโรบิค  พร้อมกันนั้น  ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิด “ชนชั้นกลาง” เพิ่มมากขึ้นและเริ่มกลายเป็นชนชั้นกลางหลายระดับในทุกพื้นที่ทั้งในเขตเมืองและชนบท ก็ยิ่งทำให้การออกกำลังกายขยายตัวตามไปด้วย

กล่าวได้ว่าการขยายตัวของการออกกำลังกายที่รองรับความเปลี่ยนแปลงของการให้ความหมายและความสำคัญใหม่แก่ร่างกายเช่นนี้ได้ทวีความซับซ้อนมากขึ้น  เพราะลำดับชั้นทางสังคมได้ทำให้เกิดความจำเป็นในการสร้างกิจกรรมการออกกำลังกายที่แตกต่างกันออกไป  เมื่อเครื่องมือการออกกำลังกายแบบเดียวกับที่มีอยู่ในสถานฟิตเนสนั้น ปรากฏอยู่ทั่วไปตามสวนสาธารณะหรือตามพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  กลุ่มชนชั้นกลางที่มีเงินในเขตเมืองหรือกลุ่มชนชั้นกลางปัญญาชนก็ต้องแสวงหากิจกรรมการออกกำลังกายรูปแบบใหม่ และพาหันมาสู่มีการสร้างกิจกรรมที่มี “คลาส” มากกว่า เช่น ลีลาศ โยคะ เป็นต้น (ธุรกิจการออกกำลังกายจึงเป็นธุรกิจที่มีอนาคตแต่ก็ต้องตระหนักว่าจะต้องปรับเปลี่ยนให้ทันกับความรู้สึกนึกคิดของผู้คนนะครับ)

การออกกำลังด้วยการขี่จักรยานในช่วงหลังมานี้จึงผสมผสานไปกับการแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการครอบครองจักรยานคุณภาพสูง ราคาแพง และชุดแต่งตัวแบรนด์เนมที่ทำให้ร่างกายดูดี  จักรยานแม่บ้านที่ใช้ปั่นไปโน่นมานี่ในชีวิตประจำวันจึงถูกเบียดขับออกไป ไม่สามารถที่จะนำออกมาถีบเพื่อออกกำลังกายได้ ทั้งๆ ที่จะได้ออกกำลังในการถีบมากกว่า  ค่ายมวยไทยก็มองเห็นช่องทางในการทำกำไรจากเรื่องนี้เช่นกัน ค่ายมวยหลายแห่งจึงพยายามขยับตนเองออกมาสู่การเป็นสถานฝึกมวยที่ดูดีเฉกเช่นเดียวกับสถานฝึกเทควันโด เป็นต้น

พร้อมกันไปกับการขยายตัวของกิจกรรมการออกกำลังกายที่มีความหลากหลายมากขึ้น  เวชศาสตร์ป้องกันก็ได้ทำให้ความอ้วนกลายมาเป็น “โรคอ้วน” ซึ่งยิ่งทำให้ความหมายของ “ร่างกาย” ที่เน้นความพอดี/สมส่วนทวีความสำคัญมากขึ้นตามไปด้วย

  จากการเผยแพร่ชุดความรู้แพทย์ศาสตร์ด้านการป้องกันโรค เมื่อประกอบเข้ากับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่ปัจเจกชนสัมพันธ์กับระบบเศรษฐกิจโดยอาศัยปัจเจกลักษณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อร่างกายที่ดูดีมีส่วนสำคัญในการสร้างความประทับใจและอำนาจต่อรอง ก็ยิ่งทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในการให้ความหมายและความสำคัญต่อร่างกายมากขึ้นกว่าเดิมมาก  และกระบวนการทางสังคมที่เกิดขึ้นนี้ได้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงความรู้สึกต่อโลกภายนอกร่างกาย
การเกิดความหลากหลายของกิจกรรมการออกกำลังกายบนพื้นฐานของความหมายและความสำคัญของร่างกายกำลังทำให้สภาวะของสังคมแยกย่อย (fragmented society) ปรากฏชัดเจนมากขึ้น โลกภายนอกถูกตีความและมีความหมายแก่คนแต่ละกลุ่มไม่เหมือนกัน โลกที่หมุนอยู่ในวิถีความรู้สึกของนักปั่นจักรยานย่อมแตกต่างไปจากผู้ที่เล่นโยคะในสถานที่สงบเงียบ ความสัมพันธ์ทางสังคมทั้งหมดถูกจัดเรียงให้สื่อสารกันได้เฉพาะกลุ่มมากขึ้น

การออกกำลังกายก่อให้เกิดสภาวะ “เสพติด” ลักษณะหนึ่ง  การออกกำลังกายกลุ่มก็ก่อให้เกิดสภาวะ “ติดกลุ่ม” แบบหนึ่ง ความสามารถเอาชนะ “ร่างกาย” ของตนเองได้ในกิจกรรมรวมหมู่ยิ่งทำให้เกิดสภาวะของการบรรลุจุดสูงสุดของสำนึกเชิงปัจเจกชนมากขึ้น  “สุขภาพ” ที่ดีขึ้นย่อมมีความหมายทางสังคมที่แตกต่างไปจากสุขภาพที่ดีอย่างที่เราเข้าใจกัน    ซึ่งน่าสนใจอย่างมากว่ากระบวนการที่เกิดการขยายตัวของกลุ่มในลักษณะนี้จะนำไปสู่อะไรในอนาคต

สังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปในทุกมิติ ไม่ใช่เพียงแค่ทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม อย่างที่เข้าใจกัน หากแต่เกิดปรากฏการณ์ใหม่ๆ ที่สะท้อนความเปลี่ยนแปลงที่ลึกลงไปในระบบของอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดที่มีผลต่อความสัมพันธ์ทางสังคมของคนไทยอย่างลึกซึ้ง  เราจึงจำเป็นที่จะต้องเร่งศึกษาหรือสร้างความรู้ทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์กันให้มากขึ้น เพื่อจะรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงที่อย่างไรก็จะมาถึงเราอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ก็ตาม

การเลือกที่จะทำหรือไม่ทำอะไรและอย่างไรบนฐานความรู้ความเข้าใจที่ลึกซึ้งและรอบด้าน ย่อมเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่งในสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและซับซ้อน ทั้งเพื่อลด “ความเสี่ยง” ในชีวิตจริงและลด “ความเสี่ยง” ในจินตนาการของเราให้เหลือน้อยที่สุด มิฉะนั้นเราจะอยู่ในโลกอย่างมีความสุขได้ยาก
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live




Latest Images