Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live

ชีวิตผู้ลี้ภัยการเมืองในต่างแดน: อั้ม เนโกะ ณ ฝรั่งเศส

$
0
0
ตั้งแต่การรัฐประหารยึดอำนาจโดย คสช. นำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 จนถึงวันนี้ มีนักกิจกรรมหนีออกไปจากประเทศไทยประมาณร้อยคนแล้ว จำนวนมากเป็นนักกิจกรรมเสื้อแดง จำนวนมากในนั้นถูก คสช.เรียกรายตัว หลายๆ คนก็ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 ยิ่งต้องตัดสินใจหนี เมื่อเห็นศาลทหารพิพากษาลงโทษจำเลยคดีหมิ่่นพระบรมเดชานุภาพอย่างหนัก โดยไม่มีสิทธิอุทธรณ์อีกด้วย อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจทิ้งชีวิตในประเทศไทย ทิ้งการศึกษา การเงิน ทรัพย์สิน และคนที่พวกเขารัก และเริ่มต้นชีวิตใหม่ในต่างแดนก็ไม่ใช่เรื่องง่าย 
 
เหล่าผู้ลี้ภัยไปยังหลายประเทศ ส่วนใหญ่คือ ประเทศเพื่อนบ้าน ยุโรป และ อเมริกา ฝรั่งเศสเป็นหนึ่งในนั้น ในตอนแรกของซีรียส์ผู้ลี้ภัยในต่างแดน ผู้สื่อข่าวประชาไทเล่าชีวิตของนักกิจกรรมข้ามเพศ ซึ่งใช้นามว่า อั้ม เนโกะ นักข่าวประชาไทได้ไปเยี่ยมอั้มที่เมืองเมืองหนึ่งในฝรั่งเศส (อั้มขอไม่ให้เปิดเผยว่า เธออาศัยอยู่ในเมืองใด เพื่อความปลอดภัยของเธอ) ในช่วงเดือนเมษายน พร้อมๆ กับผู้ลี้ภัยอีกสองคน คือ นักกิจกรรมฝ่ายซ้าย จรัล ดิษฐาอภิชัย และ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์ประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คุณสามารถชมวิดิโอสัมภาษณ์ได้ด้านล่าง 
 
 
-------------------
 
ชื่อจริงของอั้มคือ ศรันย์ ฉุยฉาย ชื่อผู้ชายที่เธอไม่ภูมิใจนัก เฟซบุ๊ก “อั้ม เนโกะ” ของเธอถูกเฟซบุ๊กปิดไปหลังจากตรวจพบว่า ไม่ใช่ชื่อจริง อั้มปฏิเสธที่จะใช้ชื่อจริงของเธอจึงสร้างบัญชีเฟซบุ๊กขึ้นใหม่ แต่ก็ไม่สามารถเปิดเผยที่นี่ได้ด้วยข้อจำกัดจากกฎหมาย มาตรา 112 
 
อั้มเริ่มเป็นที่รู้จักต่อสาธารณะในปี 2555 หลังจากที่เธอโพสต์รูปภาพที่เธอทำท่ายั่วยวนกับรูปปั้น ปรีดี พนมยงค์ พร้อมข้อความว่า ความรัก ความคลั่งคืออะไร แต่ประเทศไทยก็ไม่มีกฎหมายหมิ่นท่านปรีดี เพราะเราทุกคนเท่ากัน" รูปภาพดังกล่าวทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อั้ม และเริ่มมีกระแสต่อต้านจากประชาคมธรรมศาสตร์ เธอทำให้เกิดกระแสอีกครั้งในเดือน ก.ย. 2556 ด้วยการแปะโปสเตอร์รณรงค์ยกเลิกการบังคับใส่ชุดนักศึกษา ซึ่งแสดงรูปชายหญิงแต่งชุดนักศึกษาทำกริยาเหมือนกำลังร่วมรัก 
 
อั้มโพสต์ท่ากับรูปปั้น ปรีดี พนงยงค์ 
 
ด้วยเพศสภาพที่เธอเลือกไม่ตรงกับเพศกำเนิด อั้มถูกบังคับให้ใส่ชุดนักเรียนชายมาเกือบทั้งชีวิตนักเรียน ที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพศสภาพของเธอถูกมองว่า ไม่เหมาะสมกับผู้ที่จะเป็นครูในอนาคต การที่เธอถูกบังคับให้แต่งชุดนิสิตชาย เธอจึงลาออกและสอบเข้าที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เอกภาษาเยอรมัน ที่ธรรมศาสตร์เธอก็ยังหนีไม่พ้นการบังคับให้แต่งชุดนักศึกษาชายในบางครั้ง (เช่น ถ่ายรูปติดบัตรนักศึกษา) และการบังคับให้แต่งชุดนักศึกษา (หญิง) ในหลายกรณี เช่น เมื่อเข้าสอบ อั้มท้าทายเหล่าอนุรักษ์นิยม ด้วยการแต่งตัววาบหวิว เช่น กางเกงสั้นเท่าหู และบราเกาะอกไปมหาวิทยาลัย 
 
โปสเตอร์ที่อั้มอยู่เบื้องหลัง เพื่อรณรงค์ยกเลิกการบังคับใส่ชุดนักศึกษา 
 
ด้วยการแต่งตัววาบหวิวและการแสดงความคิดทางการเมืองที่ดุดัน มีการล่าชื่อภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อขับไล่เธอ ฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้มหาวิทยาลัยตั้งกรรมการสอบเธอและมีมติลงโทษก็คือ กิจกรรมที่เธอพยายามชักธงดำขึ้นที่ตึกโดมแทนธงชาติ เพื่อประท้วงท่าทีของอธฺิการบดีสมคิด เลิศไพฑูรย์ ที่ดูจะสนับสนุนกลุ่ม กปปส. มหาวิทยาลัยมีมติพักการเรียนอั้มสองปี  
 
อั้มกับ “จ่านิว” ไปชักธงดำขึ้นยอดโดมแทนธงชาติ เพื่อประทวงอธิการบดีสมคิด
 
นอกห้องเรียน อั้มเป็นนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย และการยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในปี 2556 เธอถูกฟ้องด้วยมาตรา 112 หลังไปบันทึกเทปรายการโทรทัศน์รายการหนึ่ง
 
หลังการรัฐประหาร คสช. เรียกเธอมารายงานตัวในวันที่ 9 มิ.ย. 2556 พร้อมๆ กับนักกิจกรรมเสื้อแดงอีกหลายคนที่เข้าข่ายถูกจับตาในประเด็นสถาบันกษัตริย์ ซึ่งพวกเขาส่วนใหญ่ก็ลี้ภัยอยู่ด้วยเช่นกันในตอนนี้ ความเสี่ยงที่ศาลทหารจะพิพากษาให้รับโทษจำคุกหลายปีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และจะต้องไปอยู่ในคุกชายทำให้เธอตัดสินใจหนีออกนอกประเทศ นี่เป็นการตัดสินใจที่ยากสำหรับอั้ม เพราะอั้มต้องทิ้งการเรียนปริญญาตรีที่อีกปีการศึกษาเดียวก็จะสำเร็จเป็นบัณฑิตจากรั้วธรรมศาสตร์ 
 
อั้มประทวงการประกาศใช้กฎอัยการศึก วันที่ 20 พ.ค. 2557 หน้าหอศิลป์ฯ กรุงเทพฯ
 
ตำรวจออกหมายจับในข้อหาไม่รายงานตัวเมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2556 
 
อั้มหนีไปประเทศเพื่อนบ้านและนั่งเครื่องบินมายังฝรั่งเศสในช่วงปลายเดือนตุลาคม ระหว่างการเปลี่ยนเครื่องบินที่กรุงโซล เกาหลีใต้ อั้มเล่าว่า ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองเกาหลีใต้มารอเธอถึงงวงเครื่องบิน และบอกว่า เธออยู่ในรายชื่อ “อาชญากร” ที่ทางการไทยส่งมา อั้มแอบเห็นชื่อของคนอื่นๆ ที่ชื่อภาษาอังกฤษขึ้นต้นด้วยตัว S เหมือนกันว่ามีชื่อ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และ สุดา รังกุพันธุ์อยู่ด้วย 
 
อั้มว่า เธออธิบายให้ตำรวจเกาหลีฟังว่า เธอเป็นเพียงผู้เห็นต่างจากรัฐ และตอนนี้ประเทศไทยก็อยู่ใต้เผด็จการเหมือนกับประเทศเกาหลีเหนือ ตำรวจเกาหลีก็ปล่อยให้เธอขึ้นเครื่องต่อมายังฝรั่งเศส 
 
อั้มร่วมกระเดินขบวนวันสตรีสากลที่กรุงปารีส วันที่ 8 มี.ค. 2558 ป้ายของอั้มเขียนว่า "เฟมินิสต์ต่อต้านเผด็จการไทย"
 
หลังจากอั้มมาถึงฝรั่งเศสอย่างปลอดภัย อั้มได้ผลิตคลิปวิดิโอโจมตีราชวงศ์ไทยหลายคลิป ในคลิปๆ หนึ่งอั้มทำการ “หมิ่น” ที่จุดที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และพระนางมารีอังตัวเนตถูกประหารชีวิตโดนกิโยติน ณ จตุรัสคองคอร์ด กรุงปารีส คลิปดังกล่าวทำให้เธอโต้เถียงกับนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยไปทั่ว พวกเขาต่อว่าเธอว่า ทำอะไรอย่างสะใจ โดยไม่คิดถึงผลต่อขบวนการในระยะยาว อั้มว่า การแสดงออกดังกล่าวเป็นสิ่งที่เธอมีสิทธิจะทำได้ และไม่ได้เป็นการละเมิดความเป็นมนุษย์ของใคร เธอยอมรับว่า คลิปนั้นไม่มีผลต่อการเปลี่ยนความคิดของใครแน่นอน แต่เธอเหนื่อย และขี้เกียจเกินไปที่จะคิดทำอะไรสวยๆ น่ารักๆ ตอนนี้
 
อั้มมักจะมีข้อสังเกตเรื่องเพศต่อเหตุการณ์ต่างๆ เสมอ บุคลิกการถกเถียงที่ดุดันทำให้เธอทะเลาะกับคนไปทั่วอีกเช่นกันในเฟซบุ๊ก ฉันก็ไม่รู้ว่าใครผิดใครถูก และไม่เคยไปตามอ่านการถกเถียงเหล่านั้น แต่มารู้อีกทีคือ มีการล้อเลียนอั้มเกี่ยวกับเพศสภาพของเธอไปทั่ว และกลายเป็นมีมอินเทอร์เน็ตด้วย เช่น วลี “มองซิเออศรัณย์ ฉุยฉาย” และ "ถ้ามาทำแบบนี้ที่ฝรั่งเศส ดิฉันจะแจ้งตำรวจจับแน่ค่ะ" ก็กลายเป็นชื่อเพจเฟซบุ๊กเลยทีเดียว (อ่านสัมภาษณ์อั้มเรื่องการถูกล้อเลียนและทำเป็นมีมด้านล้าง)
 
เรื่องนี้ทำให้ฉันรู้สึกหวั่นๆ เล็กน้อย ก่อนจะพบและสัมภาษณ์เธอ ฉันไม่เคยรู้จักเธอเป็นการส่วนตัวมาก่อนเลย ได้ยินแต่ชื่อเสียงของความดุดันของเธอเมื่อเธอปรากฏในสื่อและโพสต์เฟซบุ๊ก อย่างไรก็ตาม นั่นเพียงเป็นแค่บุคลิกของเธอเมื่ออยู่หน้าสื่อ เมื่อไม่ได้ออกสื่อ อั้มกลายเป็นคนที่สุภาพและอ่อนหวานมาก ช่างเป็นภาพที่แตกต่างอย่างสุดขั้ว ฉันคงบอกไม่ได้ว่า อันไหนคือ “ตัวจริง” ของเธอกันแน่ ซึ่งคนๆ หนึ่งจะมีทั้งสองด้านก็ไม่แปลก
 
อุปสรรคใหญ่ๆ ของการลี้ภัยในฝรั่งเศส คือภาษาฝรั่งเศส ถ้าคุณพูดฝรั่งเศสไม่ได้ คุณจะอยู่ที่นั่นอย่างลำบากมาก เพราะคนฝรั่งเศสไม่สนใจที่จะพูดภาษาอังกฤษ ป้ายตามถนน หนทาง รถไฟฟ้า ก็ล้วนเป็นภาษาฝรั่งเศส การติดต่อราชการฝรั้่งเศสเพื่อดำเนินเรื่องการลี้ภัย ก็ต้องใช้ภาษาฝรั่งเศส แต่การฝึกฝนภาษาฝรั่งเศสไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับอดีตนักเรียนภาษา จากรั้วแม่โดมอย่างอั้ม เพียงไม่กี่เดือน อั้มสามารถพูดภาษาฝรั่งเศสระดับชีวิตประจำวันได้แล้ว 
 
นอกจากเรื่องภาษา อั้มปรับตัวกับชีวิตในฝรั่งเศสได้เป็นอย่างดี เธอเป็นผู้เชียวชาญเรื่องขนส่งมวลชนสาธารณะและเส้นทางต่างๆ ของเมืองที่เธออยู่ มีครั้งหนึ่งที่มีครอบครัวชาวฝรั่งเศสจากต่างเมือง มาถามทางเธอ ซึ่งเธอก็บอกทางพวกเขาเป็นภาษาฝรั่งเศสได้
 
อั้มให้ความสำคัญกับการเรียนภาษามาเป็นอันดับหนึ่ง แม้ว่าเธอจะใช้ชีวิตด้วยเงินอันน้อยนิด และต้องคิดถึงทุกยูโรที่ใช้ แต่เธอเลือกที่ลงทุนกับการเรียนภาษา เพราะทักษะภาษาฝรั่งเศสของเธอจะเป็นตัวกำหนดอนาคตในการศึกษาและการงานหลังจากนี้ อั้มเรียนภาษาฝรั่งเศสทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ในช่วงเช้า และยังเรียนภาษาเยอรมันในตอนบ่ายบางวันอีกด้วย ตอนนี้อั้มกำลังเรียนภาษาฝรั่งเศสในระดับ A2 (ระดับพื้นฐาน) และเรียนภาษาเยอรมันในระดับ C1 (ระดับสูง)
 
นอกจากนี้ อั้มยังดูมีความรื่นรมย์กับการใช้ชีวิตในประเทศที่มีชื่อเสียงเรื่องการเดินขบวนประท้วงยิ่งนัก แถมยังเป็นที่ตั้งของกลุ่มนักกิจกรรมต่างๆ อีกด้วย อั้มเล่าให้ฉันฟังถึงการเมืองฝรั่งเศสและกิจกรรมเดินขบวนต่างๆ ที่เธอไม่ร่วมมาอย่างกระตือรือร้น ประเด็นที่อั้มแอคทีฟที่สุดในการไปร่วมกิจกรรมที่ฝรั่งเศสคือ กิจกรรมประเด็นผู้อพยพ สิทธิผู้หญิง และ LGBT อั้มยังเข้าร่วมกับกลุ่ม FEMEN ซึ่งเป็นกลุ่มเฟมินิสต์ที่มีชื่อเสียงจากการชอบเปลืออกประท้วงอีกด้วย 
 
อั้มถ่ายรูปประท้วงเปลือยออกแบบ FEMEN
 
อย่างไรก็ตาม อั้มมีความเป็นอยู่ที่ค่อนข้างลำบาก อั้มเป็นคนที่ต้องยืนอยู่บนลำแข้งของตัวเอง เธอไม่ได้ติดต่อกับครอบครัวของเธอที่กรุงเทพบ่อยนักเพราะเป็นห่วงความปลอดภัยของพวกเขา เมื่อมาถึงฝรั่งเศสแรกๆ จรัลได้ช่วยประสานกับกลุ่มคนเสื้อแดงที่นั่น ที่มีน้ำใจให้อั้มพักอยู่ฟรีๆ อั้มต้องย้ายจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งเรื่อยๆ โดยอยู่ที่ละเดือนสองเดือน อั้มต้องทำงานอย่างหนัก เช่น การเป็นพี่เลี้ยงเด็ก เพื่อหาเงินเลี้ยงตัวเอง 
 
อั้มเข็มงวดกับการใช้เงินมาก เธอจะกินแต่แมคโดนัลด์ และขนมปังฝรั่งเศสที่รวมแล้วตกมื้อละไม่เกินสามยูโร “อั้มชอบแมคโด” (คนฝรั่งเศสเรียกแมคโดนัลด์ว่า “แมคโด”) เธอบอกฉันเมื่อฉันถามเธอว่า เธอไม่เบื่อกับการกินจังก์ฟู้ดบ้างหรอ เธอบอกว่า เธอเป็นคนกินง่าย กินอะไรก็ได้ และชอบจังก์ฟู้ดอยู่แล้ว แต่จริงๆ ฉันคิดว่า เธอพยายามประหยัดมากกว่า 
 
ตอนที่ฉันไปถึง เธอเพิ่งย้ายไปอพาร์ทเมนต์ใหม่ซึ่งแชร์กับเพื่อนนักกิจกรรมคนหนึ่ง และจึงเพิ่งได้ฤกษ์ฝึกทำอาหาร เธอบอกฉันว่า เธอลองทำไข่เจียวที่อพาร์ทเมนต์และนั่นช่วยให้เธอประหยัดเงินได้มากเลย
 
หลังจากฉันใช้เวลากับอั้มพอสมควร ฉันพบว่า อั้มมีเสน่ห์ต่อผู้ชายฝรั่งเศสไม่น้อยเลยทีเดียว มีอยู่สองครั้งที่หนุ่มบริกรฝรั่งเศสเดินเข้ามาจีบเธอ และครั้งหนึ่งขอเบอร์เธอด้วย อั้มจะบอกพวกเขาว่าเธอชื่อ “มีมี่” เพราะว่า “อั้ม” น่าจะออกเสียงยากเกินไปสำหรับชาวฝรั่งเศส เธอบอกว่า Mimi ย่อมากจาก Mignon (มิยง) ที่แปลว่า น่ารัก ภาษาฝรั่งเศส 
 
ในขณะที่ชายไทยคงสามารถบอกว่าเธอเป็นกะเทยได้ไม่ยาก และปฏิบัติกับเธอในฐานะที่เธอเป็นกะเทย แต่ชายฝรั่งเศสไม่น่าจะดูออก และปฏิบัติกับเธอเหมือนที่เธอเป็นผู้หญิงคนหนึ่ง ฉันคิดว่า มีบางอย่างเกี่ยวกับบุคลิกของอั้มที่ถูกใจหนุ่มฝรั่งเศส แต่ฉันอยู่ฝรั่งเศสสั้นเกินไปที่จะรับรู้ได้  
 
อั้มกับจรัลไปร่วมเดินขบวนวันแรงงานที่กรุงปารีส 1 พ.ค. 2558 ป้ายของอั้ม (ขวาสุด) เขียนว่า "ปล่อย สมยศ พฤกษาเกษมสุข และนักโทษข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" ส่วนป้ายของจรัล (ที่สองจากซ้าย) เขียนว่า "SOS โปรดช่วยคนงานในประเทศไทยจากเผด็จการทหาร" 
 
แม้ว่าอั้มจะไม่ได้อยู่อย่างสบาย เธอกลับดูร่าเริงและมีกำลังใจดีตลอดเวลาที่เราอยู่ด้วยกัน เธอยังคงคอนเซปต์ “อั้ม เนโกะ” โดยการทำท่าแมวกวักและร้อง “เมี้ยวๆ” เรื่อยๆ โดยเฉพาะเวลาเธอกำลังมีความสุข “เมี้ยวๆ” แม้กระทั่งเวลาโดยสารรถไฟใต้ดิน
 
อั้มดูผอมมาก และผิวก็แห้งมาก ฉันเกรงว่าเธอประหยัดเกินไปจนไม่ยอมซื้อโลชั่นมาทาหรือเปล่า จึงให้โลชั่นเธอไปกระปุกหนึ่ง แม้ว่าอากาศในช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิจะหนาว อั้มก็ยังแต่งตัวค่อนข้างเปิดเผย (แต่เปิดเผยน้อยกว่าตอนอยู่กรุงเทพมาก) ในบางคืน แม้ว่าเธอจะหนาวจนตัวสั่น ก็ยังเดินมาส่งฉันถึงที่โรงแรม 
 
อั้มเปิดเผยต่อสาธารณะว่าเป็นผู้นิยมระบอบสาธารณรัฐ เมื่อออกจากประเทศไทยแล้ว อย่างไรก็ตาม เธอไม่ได้มีความหวังสูงนักต่ออนาคตของการเมืองไทย เธอเพียงหวังว่า สังคมไทยจะมีความอดทนอดกลั้นต่อความคิดเรื่องสาธารณรัฐมากขึ้น เหมือนในประเทศอังกฤษที่ซึ่งกลุ่มนิยมสถาบันกษัตริย์สามารถอยู่ร่วมกับกลุ่มนิยมสาธารณรัฐได้อย่างสันติ และประชาชนก็มีเสรีภาพถึงการพูดคุยเรื่องระบอบสาธารณรัฐโดยไม่ต้องติดคุก ฉันถามเธอว่า เธอเริ่มสนใจเรื่องสาธารณรัฐตั้งแต่เมื่อไหร่ อั้มว่า ตั้งแต่เธอเรียนปีหนึ่งที่จุฬา เมื่อลงวิชาสถาบันกษัตริย์กับการเมืองไทย สอนโดย ไชยันต์ ไชยพร ซึ่งได้เปิดมุมมองของเธอให้เห็นว่า มีระบอบการปกครองหลายแบบในโลกนี้ รวมถึงระบอบสาธารณรัฐด้วย  
 
อั้มบอกฉันว่า เธอมุ่งมั่นว่า ต้องจบปริญญาตรีที่ฝรั่งเศสเป็นอย่างน้อย และอยากเรียนวรรณคดีฝรั่งเศส ซึ่งต้องใช้ทักษาภาษาฝรั่งเศสระดับสูง เธอเชื่อว่า ทักษะสี่ภาษาของเธอจะทำให้หางานง่ายในฝรั่งเศสเมื่อเธอเรียนจบ 
 
อั้มพูดถึงแผนชีวิตที่ดูเป็นแผนระยะยาวทีเดียว ฉันถามว่า แล้วเธอยังอยากจะกลับไทยไหม เธอว่า เธออาจจะกลับ เมื่อมีการเปลี่ยนผ่านในราชวงศ์ไทย และมีการยกเลิกมาตรา 112 
 
“ไม่คิดถึงบ้านหรอ” ฉันถาม “ไม่อ่ะค่ะ” อั้มตอบ “คิดถูกที่หนีมา เพราะมองว่า การที่อยู่ในสภาพสังคมที่ต้องปิดหูปิดตาตัวเองนั้นอึดอัด และน่าขยะแขยง”
 
 
การสัมภาษณ์เพิ่มเติมทางตัวอักษร
 
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา อั้มถูกล้อเลียน (bully) ในเครือข่ายสังคมออนไลน์เยอะมาก เช่นการเรียกว่า "มองซิเออศรัณย์ ฉุยฉาย" และประโยค "ถ้ามาทำแบบนี้ที่ฝรั่งเศส ดิฉันจะแจ้งตำรวจจับแน่ค่ะ" ซึ่งมีคนเอาไปทำเป็นเพจเฟซบุ๊กเลยทีเดียว อยากทราบว่า 1 คนที่มาล้อเลียนอั้มส่วนใหญ่คือใคร 2 ทำไมถึงคิดว่าโดนแบบนี้ และ 3 รู้สึกอย่างไร
 
ก่อนจะตอบคำถามแรกอั้มคงต้องตอบข้อ 2 กับ 3 ก่อนเพื่อที่จะปูความเป็นมาว่าการ bully เหล่านี้มันมีปัญหาอย่างไร ชัดเจนมากว่านี้คือปัญหาทางวิธีคิดอย่างหนึ่งในขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในไทยที่เรียกได้ว่าเหมือนจะก้าวหน้าแต่ก็ก้าวหน้าไม่ถึงไหน โดยเฉพาะเรื่องของการเมืองเชิงอัตลักษณ์ที่เป็นเรื่องของการเมืองวัฒนธรรม ของประชาชนที่มีอัตลักษณ์ที่แตกต่างหลากหลาย อันเป็นหนึ่งในปัจจัยชี้วัดสำคัญว่าสภาพสังคมและรัฐเหล่านั้นมีความเป็นประชาธิปไตยมากแค่ไหน คือ ถ้าเป็นรัฐที่เคารพหลักการประชาธิปไตยที่เชื่อในความเสมอภาคของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ขั้นพื้นฐานของทุกคนรัฐก็จะมีนโยบายในการยอมรับการมีอยู่ของอัตลักษณ์เหล่านี้ และการคุ้มครองการกดขี่และเลือกปฏิบัติต่อตัวบุคคลด้วยอัตลักษณ์ส่วนบุคคล นี้คือสิ่งที่ขบวนการประชาธิปไตยในไทย "กระแสหลัก" เลือกที่จะผลักประเด็นเหล่านี้ออกไป จะเรียกว่าเป็นประเด็นชายขอบมาตลอดก็ว่าได้  แถมบางส่วนของขบวนการยังแชร์ไอเดียร่วมกันกันฝั่งอนุรักษ์นิยมที่มีความคิดเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน (homophobia) และ เกลียดกลัวคนข้ามเพศ (transphobia) อีกด้วย
 
ดังนั้นเนี่ยเมื่อเราในฐานะที่ติดตามความเคลื่อนไหวจริงๆ จังๆ ของฝากฝั่งประชาธิปไตยในไทยมาตั้งแต่เริ่มเป็นนักศึกษาปีแรกๆ ที่โหนหินปรีดี บอกก่อนว่าตอนนั้นยังไม่รุ้หรอกเฟมินิสม์มีหน้าตาอย่างไร แต่เราตระหนักเสมอว่าความไม่เสมอภาคมีอยู่จริงในฐานะที่เราต่อสู้ในสายคิดของนักมนุษยนิยมทั่วๆ ไป อั้มเองโดน bully ครั้งแรกแบบเป็นทางการคือหลังจากสื่อ matichon online เอาเรื่องเราปีนหินปรีดีคือ ไม่ต้องอัญเชิญเด็จแม่เดอ โบวัว (de Beauvoir มาก็รู้สึกเองได้ค่ะว่าคำพูดที่เขาแทนตนเราตอนนั้นค่อนข้างเหยียดเพศไม่ใช่เรื่องคำนำหน้านะคะ แต่คือการบรรยายอัตลักษณ์ความเป็นคนข้ามเพศเราอะไรแบบนั้น จนเราไปถามพี่ที่รู้จักว่าแบบอ่านข่าวแล้วรู้สึกไม่ดีเลย คือแบบไปบอกใครได้บ้าง พี่คนนั้นจึงให้ส่งข้อความไปหาคนที่ทำงานมติชน ผช คนหนึ่งและได้แก้ตัวข่าวให้
 
นั้นไม่ใช่แค่ครั้งแรกแต่คือการเอาอัตลักษณ์ของเรามาเป็นตลกมุกโง่ๆ เหยียดเพศมีมาเสมอ ในขณะที่นักกิจกรรม และนักวิชาการส่วนมากในขบวนการที่ส่วนมาก perform sexuality แบบผู้ชายเสียส่วนใหญ่กลับไม่ถูกนำมาเหยียดอะไรแบบนี้ เพราะมันชัดเจนแล้วว่า sexuality แบบไหนในสังคมรวมทั้งขบวนการประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่เป็น "ความแปลกแยก" และชัดเจนที่สุดคืออัตลักษณ์ที่ลื่นไหลอย่างการเป็นคนข้ามเพศโดยเฉพาะข้ามมา perform "femininity" นี้จึงเป็นจุดที่ทำให้เราตกเป็นเหยื่อของระบบคิดชายเป็นใหญ่เหล่านี้ที่ครอบอยู่ทั้งในกระแสคิดของฝั่งอนุรักษณ์นิยมและฝั่งประชาธิปไตย แต่ทว่านั้นฝ่ายประชาธิปไตยก็ไม่กล้าที่จะผลักเราออกไปเต็มๆ ตัวเพราะเรายังเป็นเหมือน "ไม้ประดับ" ให้อุดมการณ์ของพวกเขาดูเปิดกว้างทางสังคม ทางเพศ ดูก้าวหน้า ดู international (เบะปากรัวๆๆ)
 
แต่คือหลังจากเราโดนแซะนิดแซะหน่อยมาเรื่อยมาจนคนที่ bully เหล่านั้นคิดว่าการทำสิ่งเหล่านี้คือสิ่งปกติทั่วๆ ไป เราก็ยังทนมาเป็นปีๆ คิดในแง่ดีว่า เขาคงไม่ได้ตั้งใจหรอก ฮาๆ บ้าง แม้ว่าเราจะรับรู้ว่า การสร้างบางสิ่งให้ตลกก็เป็นสิ่งหนึ่งในสร้างความชอบธรรมให้แก่การกดขี่หรือการกดทับทางสังคมให้มันดูเป็นเรื่องเฮฮาปกติไปก็ตาม คือโลกสวยไงคะตอนนั้น จนกระทั่งมาพูดมาเคลื่อนไหวประเด็นความเสมอภาคทางเพศจริงๆ จังๆ เราก็เริ่มไม่เชื่อฟังขบวนการนี้แบบเดิมๆ อีกต่อไป การที่เราออกมายืนยันในหลักการว่าการดูถูกคนเพียงเพราะชาติกำเนิด เพศสภาพ ความพิการ อะไรเหล่านี้คือสิ่งที่ผิดต่อหลักการประชาธิปไตย และย้ำว่าความเสมอภาคทางเพศคือส่วนหนึ่งของขบวนการ ก็กลับกลายเป็นว่าอีพวกที่เคย bully เราเป็นงานปกติโมโหสิคะ เพราะปกติอินี้เชื่องไง ขบวนการก็พร้อมต้อนรับไงได้คนให้กดขี่เล่นในขบวนการตาใสๆ ไม่มีปากเสียง พอมันริมาด่าพวกเดียวกันว่าขบวนการมึงห่วยแตก บุคคลเหล่านี้จึงรับไม่ได้
 
และบุคคลเหล่านี้คือ "ใคร" ??? ?
 
ชัดเจนค่ะว่าคนเหล่านี้ที่มา bully โดยมากกำลังใช้เพศสภาพชายในการแสดงออก และที่สำคัญคือบุคคลที่ใช้เพศสภาพชายเหล่านี้ในสังคม คือ บุคคลที่ได้รับ (male) privilege หรืออภิสิทธิ์ทางสังคมในฐานะของการครอบครองความเป็นชายเอาไว้ การที่สถานะความเป็นชายที่มันถูกประเมินค่าไว้ดีอยู่แล้ว ไม่ได้ถูกกดทับทางอัตลักษณ์ให้ต่ำกว่าเท่ากับอัตลักษณ์อื่นๆ ง่ายๆ คำด่าอิงเพศสภาพชายมีแค่ไม่กี่คำเช่น "หัวควย" แต่คำด่าอิงเพศสภาพหญิงมีมหาศาล "หน้าหี" "เอาผ้าถุงไปใส่" "หน้าตัวเมีย" "อีกากี" "อีแพศยา" "ใจตุ้ด" "กะหรี่" และอีกมากมาย นี้คือสิ่งที่คนที่นิยามตนเป็นชายยากที่จะหันมาเข้าใจเพราะตัวเองไม่ได้คิดว่ามันเป็นปัญหาของตนเพราะทั้งระบบคิดในสังคม ระบบการศึกษา เศรษฐกิจ การเมืองล้วนเอื้อประโยชน์ให้แก่พวกเขาทั้งนั้น การที่เขาจะมาสู้เพื่อให้คนอื่นที่ต่ำกว่าเขามามีสถานะเท่าๆ กันจริงๆ จึงเป็นแค่ "เรื่องตอแหล" เพราะพวกนี้เอาเข้าจริงที่เข้ามาสู้เพื่อสังคมยุติธรรมประชาธิปไตยอะไรพวกนี้จริงๆ ก็แค่อยากถีบตัวเองขึ้นไปเป็นส่วนหนึ่งของฟันเฟืองระบอบทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจแบบเดิมๆ ที่ตัวเองมีโอกาสน้อยกว่า ลูก "ผู้มีอันจะกิน" เช่น ลูกข้าราชการ เด็กเซ่น ลูกท่านหลานเธอบ้าง คือ ง่ายๆ อยากไปอยู่แบบเขาแต่คนเป็น somebody มันถีบตัวเองเข้าสังคมตอแหลยากไง และระบบที่จะทำให้ somebody พวกนี้ถีบตัวเองไปสรรแบ่งอำนาจกับลูกผู้ดีก็คือประชาธิปไตย ดังนั้นคนกลุ่มนี้จึงต้องการประชาธิปไตยแค่เป็นการสรรอำนาจให้ตนได้ไปสวาปามร่วมกับเผด็จการ โดยไม่ได้ใส่ใจประเด็นอื่นๆ ทางสังคมมากจริงๆ ถ้า "ไม่ใช่เรื่องที่พวกเขา (ผู้ชาย) เดือดร้อน
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ไอร์แลนด์' แก้ รธน. ด้วยประชามติไฟเขียวแต่งงานคนรักเพศเดียวกัน

$
0
0

ในการลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญให้อนุญาตการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันฝ่ายสนับสนุนได้รับชัยชนะจากคะแนนสนับสนุนร้อยละ 62.1 ต่อ 37.9 ท่ามกลางบรรยากาศของการเฉลิมฉลองให้กับ "ความเสมอภาค" จากกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน ขณะที่ฝ่ายรณรงค์คัดค้านกล่าวแสดงความยินดีต่อผู้ชนะ

ผลการลงประชามติประกาศผ่านเว็บไซต์ RTE สีเขียวคือคะแนนเสียงสนับสนุน สีแดงคือคะแนนเสียงคัดค้าน
(ที่มา : RTE News)

ภาพจาก แฮชแทก twitter #hometovoteการรณรงค์ให้ผ่านทวิตเตอร์ให้ชาวไอร์แลนด์ที่อยู่นอกประเทศกลับบ้านไปลงประชามติ
 


24 พ.ค. 2558 สาธารณรัฐไอร์แลนด์มีการจัดลงประชามติอนุญาตให้มีการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันได้ โดยผลการลงประชามติปรากฎว่าฝ่ายสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ได้รับชัยชนะ ถือเป็นการลงประชามติครั้งประวัติศาสตร์ทำให้ไอร์แลนด์เป็นประเทศแรกที่ใช้วิธีการโหวตจากประชาชนเพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญให้อนุญาตแต่งงานกับเพศเดียวกันได้

ไอร์แลนด์เปิดให้มีการลงประชามติตั้งแต่วันศุกร์ (22 พ.ค.) ที่ผ่านมา และมีการนับผลคะแนนเมื่อช่วงเช้าของวันเสาร์ (23 พ.ค.) ตามเวลาประเทศไอร์แลนด์ อย่างไรก็ตามการลงประชามติในครั้งนี้ไม่อนุญาตให้มีการโหวตผ่านทางไปรษณีย์ทำให้มีผู้คนจำนวนมากที่อยู่ต่างประเทศเดินทางกลับไอร์แลนด์เพื่อลงคะแนนประชามติในครั้งนี้โดยเฉพาะ อีกทั้งยังมีการร่วมรณรงค์ด้วยแฮชแท็ก #hometovote ผ่านโซเชียลมีเดียเพื่อดึงดูดคนหนุ่มสาวและส่งเสริมให้ชาวไอร์แลนด์ในต่างประเทศกลับไปลงประชามติ

จนกระทั่งในเวลาเกือบ 1 ทุ่มตามเวลาท้องถิ่นก็มีการประกาศผลอย่างเป็นทางการว่าฝ่ายสนับสนุนได้รับชัยชนะ โดยช่องสถานีวิทยุโทรทัศน์ไอร์แลนด์ (RTE) รายงานผลว่ามีผู้โหวตสนับสนุนร้อยละ 62.1 (1,201,607 คน) มีผู้โหวตคัดค้าน ร้อยละ 37.9 (734,300 คน) มีผู้ใช้สิทธิลงประชามติทั้งหมดร้อยละ 60.5 (1,949,725 คน)

ลีโอ วาราดคาร์ รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขของไอร์แลนด์ซึ่งเป็นรัฐมนตรีคนแรกในไอร์แลนด์ที่เปิดเผยว่าตัวเองเป็นคนรักเพศเดียวกันกล่าวว่าการรณรงค์โหวตสนับสนุนประชามติในครั้งนี้ "แทบจะเป็นการปฏิวัติสังคม" และกล่าวอีกว่าการโหวตที่ไม่มีการแบ่งแยกทางวัฒนธรรมระหว่างคนในเมืองกับในชนบทแสดงให้เห็นว่าทั่วไอร์แลนด์ต่างแสดงการสนับสนุนความเสมอภาคในสังคม

จากแผนภาพแสดงผลการเลือกตั้งเผยให้เห็นว่ามีผู้ลงคะแนนสนับสนุนมากกว่าผู้ลงคะแนนคัดค้านในทุกเขตเลือกตั้งยกเว้นแต่เขตรอสคอมมอน-ลิทริมใต้ เขตเดียวที่มีผู้คัดค้านมากกว่า

ทางด้าน เอดดาร์ เคนนี นายกรัฐมนตรีไอร์แลนด์ กล่าวว่าผลการลงประชามติในครั้งนี้ถือเป็นการส่งสารที่ยิ่งใหญ่ในเรื่องความเสมอภาคจากประเทศเล็กๆ ไปสู่ชาวโลก ส่วนไอยอน โอ เรียร์ดัน รัฐมนตรีไอร์แลนด์ผู้ดูแลเรื่องความเสมอภาคในสังคมประกาศผ่านทวิตเตอร์ว่า มีคะแนนของฝ่ายสนับสนุนอย่างท่วมท้นในกรุงดับลินและ "ในวันนี้ผมรู้สึกภูมิใจมากที่ได้เป็นชาวไอร์แลนด์"

สำนักข่าวบีบีซีระบุว่าเมื่อมีการนับคะแนนไปเพียงแค่ 3 ใน 4 ฝ่ายต่อต้านกฎหมายฉบับนี้ก็ประกาศยอมรับความพ่ายแพ้ก่อนล่วงหน้าเดวิด ควินน์ จากสถาบันไอโอนาซึ่งเป็นกลุ่มองค์กรศาสนาผู้พยายามรณรงค์ให้โหวตต่อต้านกฎหมายแต่งงานคนรักเพศเดียวกันกล่าวแสดงความยินดีต่อฝ่ายผู้สนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ที่ "ได้รับชัยชนะอย่างงดงาม" แต่ก็ยังคงยืนยันว่าพวกเขาจะรณรงค์ในเชิงต่อต้านการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันต่อไป

การลงประชามติในครั้งนี้มีขึ้นหลังจากไอร์แลนด์ยกเลิกกฎหมายลงโทษการกระทำในเชิงรักเพศเดียวกันตั้งแต่เมื่อ 22 ปีที่แล้ว ซึ่งในปี 2553 รัฐบาลไอร์แลนด์ก็ออกกฎหมาย 'คู่ชีวิตเพศเดียวกัน' (Civil Partnership) ซึ่งเป็นการยอมรับคู่รักเพศเดียวกันตามกฎหมาย แต่ก็มีความแตกต่างระหว่าง 'คู่แต่งงาน' กับ 'คู่ชีวิตเพศเดียวกัน' ความแตกต่างทีสำคัญที่สุดคือการแต่งงานจะได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญขณะที่คู่ชีวิตเพศเดียวกันไม่ได้รับการคุ้มครอง

โดยในการลงประชามติครั้งนี้จะถามผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนว่าว่าให้มีการเพิ่มวรรค "อนุญาตให้มีการทำสัญญาตกลงเรื่องการสมรสกันได้ตามกฎหมายระหว่างบุคคลสองคนโดยไม่จำเป็นต้องเป็นเพศที่แตกต่างกัน" ลงในรัฐธรรมนูญด้วยหรือไม่ หมายความว่าสถานะของคู่แต่งงานคนรักเพศเดียวกันจะมีสถานะเท่าเทียมกับคู่แต่งงานของชายหญิงรวมถึงได้รับการคุ้มครองภายใต้รัฐธรรมนูญในฐานะเป็นครอบครัว ซึ่งทางรัฐบาลและพรรคการเมืองส่วนใหญ่ในไอร์แลนด์ต่างก็สนับสนุนการโหวตรับรองการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้

สำนักข่าวเดอะการ์เดียนระบุว่าการลงประชามติล่าสุดในไอร์แลนด์มีผู้มาใช้สิทธิ์ลงคะแนนจำนวนมากโดยเฉพาะกลุ่มคนหนุ่มสาวที่ทำให้คะแนนเสียงฝ่ายสนับสนุนมากขึ้น

หลังการประกาศผลมีการเฉลิมฉลองที่ลานหน้าปราสาทดับลินซึ่งเป็นหนึ่งในจุดนับคะแนน มีการประดับโดยรอบบริเวณด้วยสีรุ้งซึ่งเป็นสัญลักษณ์สากลของคนรักเพศเดียวกันและมีนักกิจกรรมคนรักเพศเดียวกัน 2,000 คน ร่วมฉลองชัยชนะในครั้งนี้ โดยคริส บัคเลอร์ นักข่าวบีบีซีระบุว่าบรรยากาศของผู้เฝ้ารอฟังผลเป็นอย่างคึกตักเหมือนงานเทศกาล

 

เรียบเรียงจาก

Same-Sex marriage Referendum : National Summary, RTE News, 24-05-2015
Huge Republic of Ireland vote for gay marriage, BBC, 24-05-2015

Ireland gay marriage vote: 'No' campaign appears to concede amid reports of 'yes' landslide victory, The Independent, 23-05-2015

Ireland same-sex referendum set to approve gay marriage, BBC, 23-05-2015

Ireland becomes first country to legalise gay marriage by popular vote, The Guardian, 23-05-2015

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

http://en.wikipedia.org/wiki/Irish_constitutional_referendums,_2015

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ดุลยภาค ปรีชารัชช: อรรถาธิบายต้นรากชาวโรฮิงญา และประวัติศาสตร์-การเมืองรัฐอาระกัน

$
0
0

เสวนา "โรฮิงญา รัฐ ชาติ ประวัติศาสตร์ และความหวัง" ที่ศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ดุลยภาค ปรีชารัชช อธิบายประวัติศาสตร์การเมืองในรัฐอาระกัน ตั้งแต่ยุคก่อนอาณานิคม ถึงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยชี้ว่าประเด็น “โรฮิงญา” ถูกทำให้เป็นชายขอบของกระแสต่อสู้ในพม่า และถูกจัดลำดับอยู่ในช่วงชั้นล่างสุดในระบบสังคม-การเมืองพม่า

เมื่อเวลา 13.00 น. วันนี้ (24 พ.ค.) ที่ห้อง 301 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการเสวนาหัวข้อ "โรฮิงญา รัฐ ชาติ ประวัติศาสตร์ และความหวัง"วิทยากรประกอบด้วย ดุลยภาค ปรีชารัชช โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ อนุสรณ์ อุณโณ คณบดี คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ อาลี อะหมัดสมาคมโรฮิงญาสากลแห่งประเทศไทย

ดุลยภาค ปรีชารัชชได้อภิปรายด้วยการนำเสนอผ่านบันทึกวิดีโอ โดยผู้จัดงานเปิดเฉพาะช่วง 30 นาทีแรกในส่วนที่เป็นการอธิบายความเป็นมาของกลุ่มชาติพันธุ์ที่เรียกตัวเองว่า “โรฮิงญา” โดยดุลยภาคอภิปรายว่า ที่มาของการอธิบายในทางวิชาการมีอยู่ 3 แนวทาง แนวทางแรก อธิบายว่าชาวโรฮิงญาอยู่ในพื้นที่มาแต่ดั้งเดิม สืบความเป็นมาได้ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 7 โดยชาวโรฮิงญาได้อยู่ในดินแดนจิตตะกอง เบงกอล อาระกัน เป็นนักเดินเรือชาวอาหรับ มาขึ้นบกและตั้งรกรากที่บริเวณที่ปัจจุบันคือรัฐอาระกันหรือยะไข่ นักวิชาการที่เสนอทฤษฎีนี้เช่น อับดุล การีม ซึ่งเป็นวิชาการด้านจิตตะกองศึกษา

ขณะที่นักวิชาการบางราย อธิบายว่าชาวโรฮิงญาเป็นเชื้อเครือวงศ์วานมาจากอินโด-อารยัน หรือนักวิชาการบางรายก็นำเสนอว่าชาวโรฮิงญาเป็นลูกผสม เป็นทั้งชาวเบงกาลี อาหรับ ปาทาน คือมีพื้นเพค่อนไปทางอนุชมพูทวีป

แนวทางที่สอง ระบุว่าชาวโรฮิงญาเข้ามาในรัฐอาระกันในคริสต์ศตวรรษที่ 15 ถึง 17 เดิมเป็นมุสลิมกลุ่มหนึ่งในพม่าที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์กามาน ต่อมาช่วงอาณานิคมอังกฤษ อังกฤษชนะพม่าในสงครามครั้งที่ 1 ใน ค.ศ. 1824 ถึง1826 ทำให้มีคลื่นผู้อพยพมาจากดินแดนจิตตะกอง ซึ่งติดกับรัฐอาระกัน เข้ามาเป็นแรงงาน โดยสะพานด่านหน้าก็คือรัฐอาระกัน โดยนักวิชาการประวัติศาสตร์พม่า ให้น้ำหนักเป็นพิเศษว่าต้นสายของชาวโรฮิงญามาจากภายนอก ขณะที่เมื่อเช็คสำมะโนประชากรที่อังกฤษ ในยุคจักรวรรดินิยมอังกฤษก็มีจำนวนประชากรมุสลิมเข้ามาตั้งถิ่นฐานในรัฐอาระกันในช่วงนี้จำนวนมาก

แนวทางที่สาม อธิบายการอพยพเข้ามาของประชากรราวๆ ค.ศ. 1971 ซึ่งเป็นช่วงแห่งการสถาปนารัฐบังกลาเทศ เลยทำให้มีระลอกคลื่นผู้อพยพเข้ามาในรัฐยะไข่

ดุลยภาคกล่าวด้วยว่า ทั้งนี้การเมืองเรื่องเขียนประวัติศาสตร์อรรถาธิบายความเป็นมาของชาวโรฮิงญาจะให้คำอธิบายต่างกันไป แต่สายที่อธิบายด้วยการใช้สำมะโนประชากร มีน้ำหนักกว่า อย่างไรก็ตาม คำอธิบายเรื่องประวัติศาสตร์การอพยพเช่นนี้มีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศพม่าและบังกลาเทศ

โดยเมื่อย้อนไประหว่าง ค.ศ. 1784 ถึง 1785 ในสมัยพระเจ้าปดุง กษัตริย์พม่าในยุคที่ส่งกองทัพมาทำสงคราม 9 ทัพกับกรุงเทพมหานคร สามารถผนวกอาณาจักรยะไข่ และนำพระพุทธรูป “มหามัยมุนี” จากรัฐอาระกันกลับไปประดิษฐานที่มัณฑะเลย์ ด้วยเหตุนี้ ทำให้ในรัฐอาระกันมีการผสมผสานระหว่างชุมชนพุทธมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการเกณฑ์แรงงานมุสลิมจากรัฐอาระกัน เข้าไปทำงานในพม่าตอนบนด้วย

โดยช่วงเวลานี้เอง ทำให้อาณาจักรยะไข่ มีการผสมปนเประหว่างประชากรที่เป็นชาวพุทธกับประชากรมุสลิม และยังทำให้กองทัพพม่าสามารถขยายอิทธิพลมาถึงดินแดนชายทะเล ซึ่งเราอาจเคยได้ยินวีรกรรมในการทำสงครามของ “มหาพันธุละ” แม่ทัพเอกของพม่า ที่นำกำลังพลข้ามแม่น้ำนัก ไปโจมตีดินแดนอ่าวเบงกอล ถึงค็อกบาซาร์ และจิตตะกอง ซึ่งสร้างความหวั่นไหวให้ชนชั้นนำของเบงกอล และนำมาสู่ชนวนสงครามอังกฤษ-พม่า ครั้งที่ 1 (The First Anglo-Burmese War) ในเวลาต่อมา โดยประวัติศาสตร์ส่วนนี้มีผลบ่มเพาะมูลเหตุชาตินิยม และสร้างความระแวงระหว่างบังกลาเทศและพม่า

ในขณะที่ในยุคประวัติศาสตร์เรียกร้องเอกราช นอกจากขบวนการชาตินิยมของพม่าแล้ว ขบวนการเรียกร้องเอกราชของกลุ่มโรฮิงญาก็ก่อตัวขึ้นตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และดำเนินการมาจนถึงสมัยรัฐบาลนายพลเนวิน ซึ่งความเคลื่อนไหวนี้ส่งผลกระทบต่อโลกทัศน์ชนชั้นนำพม่า หรือรวมทั้งสังคมของชาวพม่า ทำให้เกิดหวาดระแวง

โดยเมื่อย้อนไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่ออังกฤษล่าถอยจากพม่า หลังการบุกของญี่ปุ่น อังกฤษได้เกณฑ์มุสลิมในอาระกันมาเป็นกองกำลังป้องกันพื้นที่ซึ่งกำลังล่าถอย ส่วนส่วนกองทัพญี่ปุ่น ได้จัดตั้งคนยะไข่ ซึ่งนับถือพุทธ ดังนั้นคนทั้งสองกลุ่มจึงเกิดการต่อสู้เพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่มหาอำนาจดังกล่าว และต่อมาจะทำให้เกิดการเข่นฆ่าระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ในช่วงที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2

ทั้งนี้หลังการติดอาวุธ ทำให้เกิดหน่ออ่อนพื้นฐานของพลังปฏิวัติ กินเวลาตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี ค.ศ. 1945 จนถึง ค.ศ. 1988 ในยุคที่ระบอบเนวินล่มสลาย ช่วงเวลานี้เอง เป็นช่วงของการกำเนิดองค์กรการเมืองการทหารของนักรบโรฮิงญา

โดยในรัฐอาระกัน มีการชิงไหวชิงพริบทางการเมืองมากมาย โดยมีทั้งฝ่ายของชาวพุทธและชาวมุสลิม ซึ่งจุดนี้เป็นจุดสำคัญ โดยกลุ่มขั้วทางการเมืองในรัฐยะไข่มีหลายกลุ่ม มีทั้งกลุ่มที่อยากเจรจากับอังกฤษ กลุ่มที่ฝักใฝ่พรรคสันนิบาตต่อต้านฟาสซิสต์ (AFPFL) ของนายพลออง ซาน ผู้เรียกร้องเอกราชของพม่า และบิดาของออง ซาน ซูจี ขณะที่อีกกลุ่มอยากตั้งรัฐอิสระของมุสลิม โดยกลุ่มโรฮิงญาก็อยากเข้าร่วมฝ่ายนี้

โดยการเข้าไปเกี่ยวโยงในขบวนการชาตินิยมพม่า ทำให้มีการขยายฐานเสียงของกลุ่มการเมืองในพม่าเข้ามาในรัฐยะไข่ โดยพม่าในสมัยนั้นก็มีการก่อตัวของพรรคคอมมิวนิสต์พม่า ซึ่งต่อมาแตกออกเป็นสองกลุ่ม คือพรรคคอมมิวนิสต์ธงขาว นำโดยตะขิ่นตันทุน ซึ่งรวมกับพรรค AFPFL ก่อนที่ต่อมาจะแยกตัว และพรรคคอมมิวนิสต์ธงแดงที่แยกออกจากพรรคคอมมิวนิสต์ธงขาว นำโดยตะขิ่นซอ

โดยพรรคคอมมิวนิสต์ธงขาว ต่อมาจะเคลื่อนไหวบริเวณป่าเขาใกล้เทือกเขาพะโค ไปทางตอนบนของพม่า พื้นที่ใกล้ๆ กับเนปิดอว์ปัจจุบัน ส่วนตะขิ่นซอ ซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์ธงแดง สายที่นิยมแนวทางทร็อตสกี้ ได้เคลื่อนไหวอยู่ที่เทือกเขาอาระกัน ซึ่งเป็นพื้นที่ในรัฐอาระกัน จะเห็นได้ว่าเกิดการแตกออกเป็นการเมืองหลายกลุ่ม ในรัฐอาระกันมีการวางกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์พม่า ธงแดง ในพื้นที่เทือกเขารัฐอาระกัน และเทือกเขาจิตตะกอง โดยกลุ่มการเมืองของโรฮิงญาก็เริ่มมีการเคลื่อนไหว

ส่วนชาวยะไข่ ซึ่งนับถือศาสนาพุทธ เดิมก็ต่อต้านรัฐบาลพม่าไม่ต่างจากชาวโรฮิงญา โดยได้รับการฝึกทางทหารจากกองกำลังแห่งอิสรภาพคะฉิ่น ในรัฐคะฉิ่น และกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง ในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยง ส่วนกองกำลังอีกกลุ่มคือชาวโรฮิงญา มีการก่อตัวของกองกำลังติดอาวุธ โดยในวันที่ 20 สิงหาคม ค.ศ. 1947 ถือเป็นวันกำเนิดกองทัพมุสลิมอาระกัน ที่รัฐยะไข่ เป้าหมายคือปฏิวัติเรียกร้องเอกราช ต่อต้านทางการพม่า และต่อต้านชุมชนพุทธในรัฐอาระกัน ผู้นำกลุ่มคือ จาวา ฮุสเซน โดยกลุ่มนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากพรรคคอมมิวนิสต์อินเดียด้วย

ต่อมาพม่าส่งกองกำลังทหารเข้ามาปฏิบัติการ และฝ่ายโรฮิงญาไม่สามารถต้านทานกองทัพพม่าได้ และต่อมามีการตั้งกองกำลังขนาดใหญ่ของชาวโรฮิงญาในปี ค.ศ. 1963 ในนาม “กองกำลังปลดปล่อยโรฮิงญา” มีผู้นำคือ มูฮัมหมัด จาฟา เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยย่างกุ้ง และเคยทำงานที่สถานทูตพม่าประจำอียิปต์ด้วย ถือเป็นปัญญาชนปฏิวัติของขบวนการ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มการเมืองของชาวโรฮิงญาอีก 5-6 กลุ่มด้วย โดยเป้าหมายของแต่ละกลุ่มแตกต่างกัน บ้างอยากปฏิวัติตั้งรัฐอิสลามใหม่ บ้างขอแค่มีเขตปกครองพิเศษ บ้างต้องการสิทธิทางศาสนา

แต่แนวคิดของของกลุ่มการเมืองชาวโรฮิงญาจะเอนเอียงไปทางทิศตะวันตก คือไม่ใช่พม่า แต่เป็นปากีสถาน-บังกลาเทศ โดยเฉพาะในช่วงที่โมฮัมหมัด อาลี จินนา ผู้นำเรียกร้องเอกราชให้กับปากีสถานเคลื่อนไหวเพื่อแยกปากีสถานออกจากอินเดีย ฝ่ายการเมืองของชาวโรฮิงญาก็ไปสานสัมพันธ์ด้วย ขณะที่ไม่ได้เน้นสานสัมพันธ์กับนายพลออง ซาน ทำให้คนพม่าไม่พอใจ

อย่างไรก็ตามจุดเปลี่ยนของการต่อสู้ทางการเมือง เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1978 เมื่อรัฐบาลทหารของนายพลเนวิน ได้เปิดปฏิบัติการ “นาคามิน” หรือนาคราช เพื่อปราบปรามกลุ่มติดอาวุธที่เคลื่อนไหวอยู่บริเวณเทือกเขาอาระกัน และสามารถจับกุมแนวร่วมได้หลายพันคน โดยคนที่ได้รับผลกระทบก็ข้ามไปอยู่ที่ค็อกบาร์ซาร์ ในบังกลาเทศ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การปฏิวัติปลดปล่อยของชาวโรฮิงญาย่นระย่อ แม้ภายหลังจะฟื้นกำลังกลับมา ก็ไม่สามารถมีกองกำลังที่มีขนาดใหญ่เท่า กองทัพรัฐฉาน (SSA) กองกำลังแห่งอิสรภาพคะฉิ่น (KIA) หรือกองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA)

ทั้งนี้นายพลเนวิน ไม่พอใจมุสลิมในรัฐยะไข่ โดยในช่วงเวลาที่นายพลเนวินมีอำนาจ ยังดำเนินนโยบายชาตินิยมขับไล่สิ่งที่เขานิยามว่าเป็น “นายทุนต่างชาติ” คือชาวจีนและชาวอินเดีย แต่ช่วงเวลานั้นการก่อตัวและพัฒนาการของบังกลาเทศ ยังทำให้มีกลุ่มประชากรอพยพเข้ามาในรัฐอาระกัน นอกจากนี้ยังมีการปฏิบัติการของคอมมิวนิสต์ที่ทำให้เนวินหวาดระแวง ดังนั้นในปี ค.ศ. 1962 หลังเนวินทำรัฐประหาร ก็มีข่าวลือว่าจะมีรัฐประหารเนวิน และหาว่าจะเป็นกลุ่มโรฮิงญา ที่สนับสนุนโดยบังกลาเทศ ทำให้นายพลเนวินหวาดระแวงบังกลาเทศ จึงเป็นที่มาของปฏิบัติการนาคามินดังกล่าว

โดยดุลยภาคเสนอข้อคิดว่า กรณีโรฮิงญาในบริบทของการเมืองชาติพันธุ์ และบริบทของแนวคิดสหพันธรัฐนิยมในพม่า ถือว่าประเด็นของโรฮิงญาถูกทำให้เป็นชายขอบของกระแสการต่อสู้ทางการเมืองในพม่า และถูกจัดลำดับอยู่ในช่วงชั้นล่างสุดในระบบสังคม-การเมืองพม่า

(หมายเหตุ: ประชาไทกำลังทยอยนำเสนอของผู้อภิปรายในการเสวนาหัวข้อดังกล่าว)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หมายเหตุประเพทไทย : ท่องเที่ยววิถีไทย ท่องเที่ยววิถีใด ?

$
0
0

 

 

สัปดาห์นี้คุยกันต่อจากตอนที่แล้วในประเด็นการท่องเที่ยวไทยในภาวะซบเซา ว่าจะมีแนวทางหรือวิถีทางใดเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวไทยให้ฟื้นตัวและพัฒนาให้มีคุณภาพสูงขึ้น โดยอาศัยความหลากหลายทางสังคมวัฒนธรรม รวมถึงความเชี่ยวชาญในทักษะงานภาคบริการ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่ดีของไทย ให้สามารถสร้างสรรค์และนำไปสู่การเป็นผู้นำของการท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียน

พบกับ ‘คำ ผกา’ และแขกรับเชิญพิเศษ อดีตหัวหน้าสาขาวิชาการท่องเที่ยว คณะมนุษยศาสตร์และประยุกต์ศิลป์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ‘ดร.ฐิตารีย์ ไชยเศรษฐ’ ปัจจุบันเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาภาษาอังกฤษเพื่อการท่องเที่ยว ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผู้ซึ่งมีประสบการณ์อยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยมาไม่ต่ำกว่า 16 ปี

คลิกไลค์เพื่อติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวของรายการได้ที่ facebook.com/maihetpraphetthai


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เพจ ‘khaosod’ เตรียมดำเนินการทางกม. กับเพจปลอม ตรวจพบเพจลงท้ายด้วย ‘.’ อีกหลายเพจ

$
0
0

เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘khaosod’ ของข่าวสดออนไลน์ เผยเตรียมดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายกับเพจปลอม  เตือนระวัง ‘ไวรัสสแปม’ ตรวจสอบพบเพจลงท้ายด้วยจุด ‘.’ ในลักษณะเดียวกันหลายเพจ มีพฤติกรรมโพสต์ข่าวลิงค์ปลอม

24 พ.ค.2558 เมื่อเวลา 16.50 น. เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘khaosod’ ของข่าวสดออนไลน์ ซึ่งมีผู้กดถูกใจ 5.1 ล้าน โพสต์ข้อความพร้อมภาพ ระบุว่า **ประกาศ** เพจปลอมยังไม่เลิกพฤติกรรม ล่าสุดเพจปลอมแก้ไขลิงก์ข่าวให้คล้ายกับข่าวสด ซึ่งของจริงต้องเป็น "KHAOSOD.CO.TH|โดย บริษัท ข่าวสด จำกัด, ในเครือบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน)" แต่ "ของปลอม" เป็น "KHAOSOD.COD.TH | 999.869 VIEWS VIDEO"

พร้อมประกาศด้วยว่า “ระวังห้ามคลิกลิงก์ของเพจปลอมดังกล่าว เพราะอาจติดไวรัสสแปม”

รวมทั้ง ระบุด้วยว่า ขณะนี้มีผู้ไม่หวังดี ปลอมแปลงเพจ khaosod เพื่อปล่อยสแปมไวรัส แอดมินจึงขอแจ้งเตือนผู้ติดตามข่าวสารทุกท่านให้สังเกตโพสต์ข่าวต่างๆ ให้ดี โดยของปลอมจะแปะลิงก์ข่าวที่ไม่ได้นำมาจากเว็บไซต์ www.khaosod.co.th ขณะที่ชื่อเพจปลอมจะใช้ K ตัวใหญ่ และมีจุด . ต่อท้าย (Khaosod .)

ทั้งนี้ เพจ khaosod อย่างเป็นทางการของนสพ.ข่าวสด นั้น ต้องมีวงกลมสีฟ้า แสดงข้อความ "หน้าที่ได้รับการตรวจสอบแล้วเท่านั้น" หรือสังเกตยอดแฟนเพจจำนวน 5 ล้านกว่าไลค์ สำหรับเพจปลอม ทางเครือมติชนจะดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายต่อไป

พบเพจดังถูกก๊อปภาพและชื่อลงท้ายด้วย ‘.’หลายเพจ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า จากการตรวจสอบพบมีเพจดาราหรือบุคคลสาธารณะอีกหลายเพจที่ถูกนำชื่อไปตั้งเป็นเพจและลงท้ายด้วยจุด “.” พร้อมด้วยมีการนำภาพโปรไฟล์ที่เหมือนกันมาตั้งเป็นรูปโปรไฟล์ในเพจด้วย และจะมีการโพสต์ลิงค์ข่าว ซึ่งเมื่อกดเข้าไปแล้วไม่ตรงกับลิงค์ข่าวที่ปรากฏอยู่ในตัวอย่างของแต่ละโพสต์ และพฤติกรรมการโพสต์ของเพจเหล่านี้จะเหมือนกัน

ตัวอย่างเพจและโพสต์ของเพจที่ลงท้ายด้วย “.”

เพจ ‘khaosod’ ซึ่งมีผู้กดไลค์ 5.1 ล้าน ขณะที่เพจตั้งขึ้นมาเลียนแบบ ‘Khaosod .’ มีผู้ไลค์ 1.1 หมื่น ซึ่งระบุด้วยว่าเพจตัวเองเป็น “Official Khaosod newspaper Fanpage Site. แฟนเพจอย่างเป็นทางการของ นสพ.ข่าวสด” ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 20 พ.ค.ที่ผ่านมา

ตัวอย่างโพสต์ของเพจ ‘Khaosod .’ 

ตัวอย่าง url จริงเมื่อคล๊กเข้าไปตามโพสต์ของเพจเหล่านี้  

เพจ ‘ยิปซี คีรติ’ ซึ่งมีผู้กดไลค์ 3 ล้าน ขณะที่เพจตั้งขึ้นมาเลียนแบบ “ยิปซี คีรติ .” มีผู้ไลค์ 4.6 หมื่น ตั้งเมื่อวันที 16 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยใช้ภาพโปรไฟล์ของเพจเหมือนกัน พร้อมระบุข้อความที่เหมือนกับเพจจริงด้วยว่า “Official Fanpage "ยิปซี คีรติ มหาพฤกษ์พงศ์” For work: 085-199-4804 คุณพ่อ Instagram : gypsykeerati” ส่วนอีกเพจคือ ‘ยิปซี คีรติ .’ มีผู้กดถูกใจ 2.8 หมื่น ตั้งเมื่อวันที่ 17 พ.ค. ที่ผ่านมา และใช้ภาพโปรไฟล์เดียวกับเพจจริงช่นกัน

เพจ ‘ยิปซี คีรติ’ และเพจเลียนแบบ 

เพจ ‘เนย โชติกา’ ซึ่งมีผู้ไลค์ 3.9 ล้าน ขณะที่เพจตั้งขึ้นมาเลียนแบบ ‘เนย โชติกา .’ มีผู้ไลค์ 4.6 หมื่น และ เนย โชติกา .มีผู้ไลค์ 3.9 หมื่น ตั้งเมื่อ 12 พ.ค.ที่ผ่านมา

 

ตัวอย่างโพสต์ของเพจ ‘เนย โชติกา’ 

ตัวอย่างโพสต์ของเพจ  ‘เนย โชติกา .’ 

เพจ ‘Sririta Jensen’ มีผู้กดไลค์ 3 ล้าน พร้อมมีคำบรรยายเพจว่า “คนรักริต้า :: The Official Page of Sririta Jensen for Fanclub :: Thai Actress / Model :: Contract : SriritaJensenOfficial@gmail.com” ขณะที่เพจตั้งขึ้นมาเลียนแบบชื่อ ‘Sririta Jensen Official’ มีผู้กดถูกใจ 1.4 หมื่น

เป็นต้น

ตัวอย่างหน้าเพจ ‘Sririta Jensen’ 

ตัวอย่างหน้าเพจ ‘Sririta Jensen Official’ ซึงมีการโพสต์ข่าวที่มีลิงค์ปลอม

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ราตรีอันแสนยาวนาน: เบื้องหลังการเจรจากรณีการจับกุม นศ.กิจกรรม1ปี รัฐประหาร

$
0
0

วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความจากกลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชน ( กนส.) บันทึกความทรงจำในเหตุการเจรจาต่อรองให้มีการปล่อยตัว 38 นักศึกษาที่ถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่รัฐในเหตุการณ์ชุมนุมครบรอบ 1 ปี รัฐประหาร คสช.

๐๐๐๐

บันทึกนี้เขียนขึ้นจากเหตุการณ์จริงที่ผู้เขียนประสบด้วยตนเอง หากมีข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นนอกเหนือจากนี้  ผู้เขียนขอสงวนไว้สำหรับผู้อื่น  ทั้งนี้ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตั้งแต่เวลา  21 นาฬิกา ของวันที่ 22 พฤษภาคม 58  จนถึงเวลา 6 นาฬิกา 11 นาที ของวันที่ 23พฤษภาคม 58 ”หนึ่งปี ของการรัฐประหาร”


นักศึกษา  38  คน ถูกจับหน้าหอศิลป์

ภายหลังทำกิจส่วนตัวในเวลาเกือบสามทุ่ม ผู้เขียนทราบข่าวจากทางโซเชียลมีเดียว่า นักศึกษาหลายคนที่ไปแสดงออกเชิงสัญญลักษณ์ทางการเมือง ในวาระครบ 1 ปี การทำรัฐประหาร หรือ การยึดอำนาจของ คสช. ที่หน้าหอศิลป์ฯ แยกปทุมวัน ถูกจับกุมหลายสิบคน และมีบางคนได้รับบาดเจ็บ  จึงโทรศัพท์หาทนายรุ่นน้อง คือทนายอานนท์  นำภา  จากศูนย์ทนายความสิทธิมนุษยชน (คนละกลุ่มกับผู้เขียน แต่มีความตั้งใจช่วยเหลือประชาชนตามสิทธิมนุษยชนเหมือนกัน )  แล้วตัดสินใจขับรถไปสน.ปทุมวันทันที   ไปถึงที่นั่น สามทุ่มเศษ ได้พบประชาชนร่วมร้อยคนยืนพูดคุยจับกลุ่มที่ลานหน้า สน.ปทุมวัน  ผมได้พบมิตรสหายในสายสื่อมวลชน ผู้สื่อข่าว  นักสิทธิมนุษยชน เช่น คุณสุณัย ผาสุขนักเคลื่อนไหวทางการเมือง  ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน อาจารย์มหาวิทยาลัยหลายท่าน อาทิ อ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล , อ.ธีระ  สุธีวรางกูร ,อ.ปูนเทพ  ศิริพงษ์, อ.วิโรจน์  อาลี  , อ.อนุสรณ์  อุณโณ, อ.สุดสงวน สุธีสร  อ.สุธาชัย  ยิ้มประเสริฐ และอีกหลายท่านที่มาให้กำลังใจนักศึกษา

ผู้เขียนเริ่มจากการสอบถามว่านักศึกษาหาข้อมูลข้อเท็จจริงเบื้องต้นจากหลายคนที่อยู่ที่นั่น  ทราบว่าถูกจับ และถูกแยกคุมตัวไว้ 3 ห้อง  แยกเป็น ห้องใหญ่  20 คน ห้องขนาดกลาง 11 คน  และห้องขนาดเล็ก 5 คน มีผู้บาดเจ็บถูกส่งตัวไปโรงพยาบาล 2 คน  รวมทั้งสิ้น 38 คน  เข้าใจว่าแยกตามพฤติการณ์จาการทำกิจกรรม  ส่วนห้องที่สี่  คือห้องของพนักงานสอบสวนที่ถูกปิดล็อคด้วยระบบสแกนลายนิ้วมือ  การเข้าออกของผู้ไม่เกี่ยวข้องเป็นไปได้ยาก นอกจากได้รับอนุญาต เนื่องจากในห้องนั้น มีนายตำรวจระดับสูงของนครบาล ผู้กำกับ สารวัตรฯ  นายทหารระดับผู้การคุมเหตุการณ์ นายทหารพระธรรมนูญ จนท.ทหารนอกเครื่องแบบ  และพนักงานสอบสวนอีกหลายสิบนาย เป็นศูนย์ปฏิบัติการในคืนนั้น


กระบวนการทางคดีเริ่มต้นแล้ว

ผู้เขียนทราบว่า มี อ.ปริญญาฯ และ คุณสุณัย ผาสุข ซึ่งอยู่ที่นั่นก่อนที่ผู้เขียนจะไปถึงได้เจรจากับเจ้าหน้าที่และกลุ่มนักศึกษาอยู่ก่อนแล้ว แต่ยังหาข้อยุติไม่ได้ สิ่งที่เกิดขึ้นทราบว่า นักศึกษามีการตกลงกันว่าจะไม่ยอมรับเงื่อนไขใดๆจากฝ่ายเจ้าหน้าที่  แม้กระทั่งการให้ชื่อสกุลของแต่ละคน  และนั่นคือ ความยากที่จะหาข้อยุติ  แต่สิ่งที่หนึ่งที่ดำเนินการไปแล้วคือการคัดแยกบุคคลที่จะต้องถูกดำเนินคดีและแจ้งข้อหาในคืนนั้น 9 คน  จากทั้งหมด  38  คน  อ.ปริญญา ได้แจ้งแก่นักศึกษาทั้งหมดว่า จะมีการขอชื่อที่อยู่ และสอบประวัติไว้ จากนั้นจะดำเนินคดีกับนักศึกษา 9 คน ตามหลักฐานของตำรวจที่ได้รวบรวมไว้ แต่ไม่มีใครรู้ว่า 9  คนนั้นเป็นใครบ้าง  ส่วนที่เหลืออีก 29 คน  จะถูกปล่อยตัวไป นี่คือข้อตกลงที่ผู้เขียนรับทราบจากผู้กำกับฯ สน.ปทุมวัน  

เหตุการณ์ดูเหมือนจะจบลงได้ตามแนวทางที่เจ้าหน้าที่ตั้งใจไว้  มีการเริ่มนำนักศึกษาบางส่วนมาสอบปากคำตามกระบวนการทำประวัติ   แต่เหตุการณ์กลับไม่ง่ายเหมือนที่หวัง เมื่อนักศึกษามีเงื่อนไขว่า ต้องไม่มีการสอบประวัติหรือมีเงื่อนไขว่าจะปล่อยเพียงบางคน และถ้าดำเนินคดีกับบางคน นักศึกษาทั้งหมดจะไม่ยินยอมและจะไม่ยอมกลับบ้าน ทำให้การสอบปากคำที่กำลังเริ่มขึ้นต้องยุติลง เพราะมีกำแพงใจหนามากั้นไว้ เพราะนักศึกษาเชื่อว่าตนเองไม่ได้กระทำความผิด และไม่ควรถูกกระทำจากเจ้าหน้าที่ด้วยการใช้ความรุนแรง 

สิ่งที่อาจเกิดตามมาก็คือการต้องดำเนินคดีกับนักศึกษาทั้งหมด  ตามกฎหมายที่ออกมาควบคุมพิเศษ คือ ตามประกาศ หัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 นั่นเอง นั่นคือ คำยืนยันจากเจ้าหน้าที่ระดับสูง


3 ห้องกับการพูดคุยยกแรก

ผู้เขียนได้พูดคุยกับผู้กำกับ สน.ปทุมวัน ได้แก่ พ.ต.อ.จารุต ศรุตยาพร และเจ้าหน้าที่ที่ทำงานการข่าวบางคน ได้รับแจ้งให้ทราบแนวทางของเจ้าหน้าที่ตำรวจ  และให้โอกาสผู้เขียนได้เข้าพบน้องนักศึกษาทั้ง 3 ห้อง  ผู้เขียนขอเริ่มที่ห้องขนาดกลางก่อน  ผู้เขียนบอกตามตรงว่าไม่เคยรู้จักน้องๆเหล่านี้มาก่อนเป็นการส่วนตัว แต่การทำงานที่ผ่านมาได้ทราบข้อมูลนักศึกษากลุ่มนี้พอสมควร  ความไม่รู้จักกันจึงเป็นเรื่องยากที่จะพูดคุยกับเขาเหล่านั้น  แต่ด้วยเจตนาดีที่อยากช่วยไม่ให้น้องๆต้องถูกดำเนินคดี และต้องการให้พวกเขามีอนาคตต่อไปในทางที่ดี ออกมาสู้ตามวิถีอย่างปัญญาชน  จึงไม่คิดอะไร สิ่งที่เดียวที่คิดคือจะทำให้ดีที่สุด ตามแนวทางของการทำงานของทนายความ 

สิ่งแรกที่ผมพูดกับน้องๆ คือ  ให้กำลังใจและชื่นชมที่แสดงออกทางการเมืองตามสิทธิพลเมือง และเข้าใจถึงการออกมาเคลื่อนไหวแสดงออกในครั้งนี้อย่างดี  สิ่งที่ผู้เขียนมองเห็นขณะนั้น  คือ ความเหนื่อยล้า ความวิตกกังวล ความรู้สึกอื่นๆที่ยากจะรู้ได้อีก  ภาพที่ปรากฎในห้องแรกนี้ คือ มีน้องนักเรียนคน 2 คน อายุน้อยสุด 16  ปี อีกคนสวมชุดนักเรียน  บางคนสวมชุดนักศึกษา  ผู้เขียนรู้สึกทันทีว่า  ต้องช่วยให้ถึงที่สุดเพราะพวกเขายังมีอนาคต  และคำพูดที่ออกไป คือ  "การต่อสู้ของน้องๆยังต้องดำเนินต่อไป  หาใช่จะมีเฉพาะวันนี้  ทำอย่างไรให้ตัวเองมีโอกาสได้ยืนหยัดต่อสู้ได้อีก  และมีอนาคตในทางสังคม เป็นกำลังสำคัญให้กับคนในครอบครัว”   มันเป็นเรื่องยากมากที่จะพูดกับวัยรุ่น กับวัยนักศึกษา เพราะพวกเขามีพลังหนุ่มสาวอยู่เต็มเปี่ยม  เลือดการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและตามวิธีคิดที่พวกเขาเชื่อมีสูงมาก  และดูเหมือนว่า พร้อมกับการที่ต้องแลกด้วยการการต่อสู้ที่อาจเสื่อมเสียอิสระภาพ  การศึกษา  ร่างกาย หรืออาจถึงชีวิต  แต่นั่นมิใช่สิ่งที่ผู้เขียนและหลายคนอยากให้เกิดขึ้น  

ข้อเสนอของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวถูกปฏิเสธในทันที ที่ผู้เขียนได้พูดจบลง น้องๆยืนยันว่า เราต้องไปด้วยกัน เราจะไม่ทิ้งกัน ประโยคนี้สั้นจะได้ใจความ  ผู้เขียนทราบดีถึงความรู้สึกร่วมกันแบบนี้ เพราะเคยผ่านการต่อสู้แบบนี้มา   สถานการณ์ในห้องแรก ทำให้รู้คำตอบอีก 2 แล้ว  แต่ผู้เขียนก็ได้รับโอกาสจากผู้กำกับฯให้พบอีก 2 ห้อง 

ต่อมาเดินมาที่ห้องใหญ่  ผมจึงขออนุญาตผู้กำกับฯ ให้ อ.ธีระฯ ช่วยกันอีกแรงหนึ่ง ห้องนี้ห่างกับห้องกลางประมาณ 50 เมตร เป็นคนละอาคาร ห้องนี้มีนักศึกษาชายอยู่นับสิบคน มีนักศึกษาหญิง 2-3 คน  ทราบว่าเป็นห้องที่ค่อนข้างมีพลังมาก  จึงถูกคุมจากตำรวจและทหารนอกเครื่องแบบหลายสิบนาย  ผมเดินเข้าห้องไป แนะนำตัวและแจ้งแนวทาง และมอบความปราถนาดีให้พวกเขาได้คิด  แต่ก็ถูกปฏิเสธและมีเงื่อนไขใหม่เกิดขึ้นในทันที คือ ขอให้พวกเขาทั้งหมดที่แยกคุมทั้ง 3 ห้อง มารวมตัวและปรึกษากันอีกครั้ง  ผมรู้ทันทีว่า เป็นไปไม่ได้  เพราะนั่นทำให้เจ้าหน้าที่เกิดความลำบากและอาจเกิดสิ่งที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นอีก แต่ผู้เขียนก็รับปากว่าจะไปคุยให้ตามที่ร้องขอ  มาถึงตอนนี้เวลาเดินไปที่เกือบห้าทุ่มแล้ว  การพูดคุยห้องเล็ก ก็ได้รับคำตอบอย่างเดียวกัน แต่ห้องนี้พูดคุยง่ายที่สุด


การเจรจารอบใหม่มีขึ้นอีกครั้ง

จากการพูดคุยทั้งสามห้องพบว่านักศึกษามีจิตใจของนักสู้สูงมาก และเป็นไปในแนวทางเดียวกัน  ผู้เขียนจึงได้ปรึกษากับผู้กำกับฯ และคุณ บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ ว่าขอนำเสนอแนวทางเพื่อไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายและยุติได้ในทางสันติ พูดถึงสถานการณ์ที่อาจบานปลาย และอาจเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ต่อผู้ใช้อำนาจอย่างรุนแรงขึ้นอีก  โดยขอให้ปล่อยตัวนักศึกษาทั้งหมดในคืนนี้ไป โดยจะขอชื่อที่อยู่ไว้ แต่ไม่ควรตั้งข้อหาหรือดำเนินคดี เหตุผลคือ เพราะเห็นว่า การเคลื่อนไหวแสดงออกของนักศึกษามิได้ก่อให้เกิดความวุ่นวาย หากแต่เป็นการแสดงออกเชิงสัญญลักษณ์ทางการเมือง หรือเป็นแสดงออกที่ไม่ถึงขนาดเป็นความผิดนั่นเอง  

ข้อเสนอของผู้เขียนถูกนำไปแจ้งผู้บังคับบัญชาระดับสูงของตำรวจในห้องศูนย์ปฏิบัติการ และก็ได้รับโอกาสให้มีการพูดคุยเจรจากันอีกครั้ง  คราวนี้ นอกจากผู้เขียนแล้ว ยังมีอ.ปริญญา  อ.ธีระ  อ.วิโรจน์  และ อ.อนุสรณ์  อุณโณ   เข้าร่วมการเจรจา  การพูดคุยเริ่มยกข้อเท็จจริงที่พูดคุยกับนักศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการเข้าจับกุม การบาดเจ็บ การดำเนินคดี การปล่อยตัว และการตั้งเงื่อนไข การเจรจาดำเนินไปกว่า 30 นาที ได้ข้อยุติเบื้องต้น คือ เจ้าหน้าที่ยืนยันต้องมีการดำเนินคดีกับนักศึกษาบางคนที่มีประวัติและเคยเคลื่อนไหวมาแล้ว มีพฤติการณ์กระทำความผิดกฎหมายและอาจพิจารณาให้ประกันตัวออกไปในชั้นฝากขังที่ศาลทหารในวันรุ่งขึ้น   ส่วนที่เหลือจะปล่อยตัวไปแบบมีเงื่อนไขว่าห้ามชุมนุมเคลื่อนไหวอีก โดยไม่ตั้งข้อหา  และข้อเรียกร้องของนักศึกษา ที่จะขอรวมตัวกันเพื่อปรึกษาก็ถูกปฏิเสธจากเจ้าหน้าที่อย่างที่คิดไว้   จากนั้นผู้เขียนและคณาจารย์ได้ปรึกษาหารือกัน และมีความเป็นไปได้ที่จะถูกนำตัวไปยังค่ายทหารซึ่งจะทำให้การเข้าไปดูแลเป็นไปด้วยความยากลำบาก    จึงไม่รอช้าที่ว่าจะเริ่มพุดคุยในห้องเล็กก่อน ห้องนี้เริ่มมีคำถามว่า ใครจะเป็นผู้ถูกดำเนินคดี และจะมีหลักประกันใดๆที่ปล่อยตัวไปแล้วจะไม่มีการมาถูกจับดำเนินคดีในภายหลัง การพูดคุยกับนักศึกษาเกิดขึ้นทีละห้องจนครบทั้งสามห้อง ผู้เขียนและคณาจารย์ถูกเร่งเร้าให้ได้รับคำตอบอย่างต่อเนื่อง เพราะผ่านไปหลายชั่วโมงจนดึกไม่มีข้อยุติ
 

สถานการณ์เปลี่ยน

ระหว่างที่นำแนวทางที่เจรจากับเจ้าหน้าที่และให้เวลานักศึกษาปรึกษากันเพื่อให้คำตอบอยู่นั้น เวลาผ่านเข้าสู่วันใหม่อย่างรวดเร็ว  ประมาณ 2 นาฬิกา ห้องใหญ่เกิดปัญหาขึ้น ระหว่างที่ผู้เขียนได้ขออนุญาตเจ้าหน้าที่ให้พานักศึกษา 1-2 คนเพื่อพบและพูดคุยให้ยอมรับเงื่อนไขการปล่อยตัว  ผู้เขียนเดินกลับไปที่ห้องใหญ่อีกครั้งหนึ่ง   สิ่งที่พบคือ นายทหารระดับสูงที่บัญชาการเหตุการณ์พร้อมคณะได้เข้าไปพูดคุยกับนักศึกษาห้องใหญ่ เกิดการโต้เถียงเสียงดัง เล็ดลอดออกมาภายนอกห้อง แต่เราไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปภายในห้องดังกล่าว ได้แต่คอยสังเกตการณ์ว่าจะมีการทำร้ายร่างกายกันหรือไม่   แต่ก็เป็นไปด้วยดีว่ามีไม่การลงมือลงไม้กันเกิดขึ้น 

สิ่งที่ได้รับแจ้งจากจากเจ้าหน้าที่ในเวลาต่อมา   คือ  ถ้านักศึกษาทั้งหมดไม่ยินยอมที่จะให้มีการทำประวัติแจ้งชื่อที่อยู่ไว้ และจะถูกตั้งข้อหาดำเนินคดีฝ่าฝืนประกาศคสช. 9 คน  จะต้องถูกดำเนินคดีทั้ง 38 คน  อย่างไม่มีเงื่อนไขใดๆอีก   และปฏิบัติการนั้นก็ได้เริ่มขึ้นทันที  จากการสังเกตมีการเตรียมคณะทำงานสอบสวนนับสิบนายเพื่อสอบสวนเป็นชุดๆ  และแยกนักศึกษาออกทีละกลุ่ม ผู้เขียนถูกเชิญให้เป็นสักขีพยานว่าเจ้าหน้าที่จะไม่ใช้ความรุนแรงใดๆในการดำเนินการ

ระหว่างนั้นเองผู้เขียนได้พูดคุยกับนายทหารท่านนั้น และนายทหารพระธรรมนูญเป็นการเฉพาะ   มีการนำเสนอเงื่อนไขและขอเวลาเจรจาพูดคุยอีกครั้ง เป็นแนวทางใหม่ว่า  “ทางเจ้าหน้าที่จะขอชื่อที่อยู่ไว้ พร้อมกับรับปากว่าจะไม่เคลื่อนไหวชุมนุมเช่นนี้อีก โดยจะไม่ดำเนินคดีและแจ้งข้อหากับนักศึกษาคนใด”    เพียงเท่านี้ สำหรับผู้เขียนห็นว่าเป็นโอกาสดีที่มีเวลาอีกไม่นานก่อนที่จะเช้า  จึงรีบปรึกษากับคณาจารย์ว่า จะต้องทำให้นักศึกษาเข้าใจบทบาทของการต่อสู้ที่ต้องไม่ตกเป็นผู้ต้องหาโดยไม่จำเป็น และต้องรักษาตัวเองเพื่อให้ไม่มีคดีติดตัว  ประกอบว่ามีนักศึกษาบาคนเหนื่อยล้า อิดโรย และมีความเห็นว่า การที่เจ้าหน้าที่ลดเงื่อนไข และมีมาตรการจากเดิมมาก  จะต้องพิจารณาให้ดีกับอนาคตการศึกษาและแนวทางการต่อสู้ที่ยังต้องดำเนินต่อไป 

ประมาณ 5 นาฬิกา พวกเราผู้ร่วมเจรจา  ต่างก็ตระหนักถึงอนาคตนักศึกษาทั้งหมด  จึงเริ่มจากพูดคุยกับนักศึกษาห้องเล็กอีกครั้ง  เมื่อน้องๆนักศึกษาเห็นด้วยและยอมรับที่จะให้ชื่อที่อยู่ และรับว่าจะไม่เคลื่อนไหวอีก  จึงเริ่มกระบวนการนำกลุ่มแรก 5  คน เข้าพบพนักงานสอบสวน และถ่ายภาพประกอบสำเนาบัตรประชาชนไว้ แต่สถานการณ์มาถึงจุดที่เกิดปัญหาขึ้นอีกครั้งในห้องศูนย์ปฏิบัติการ เมื่อเจ้าหน้าที่เพิ่มวิธิการให้นักศึกษาทุกคน ต้องเขียนสามคำ ด้วยลายมือตนเองว่า  “ไม่เคลื่อนไหว”  ลงในสำเนาบัตรประชาชน แต่นักศึกษาบางคนไม่ยินยอม และเกิดความไม่พอใจที่เหมือนถูกหักหลัง และไม่ยอมรับวิธีการดังกล่าว  เจ้าหน้าที่จึงแยกนักศึกษาคนดังกล่าวออกไปสอบสวนแจ้งหาทันที                  

มาถึงตรงนี้  ผู้เขียนจึงปรึกษากับ อ.ปริญญา เข้าใจความรู้สึกของนักศึกษาดี เพราะอยู่ในเหตุการณ์ตลอด และเจรจากันด้วยตนเอง  แต่เมื่อพิจารณาแล้วกับการที่นักศึกษาทั้ง 38  คน ไม่ต้องถูกดำเนินคดี ไม่ต้องส่งศาลฝากขังและต้องหาหลักทรัพย์ประกันตัว  ต้องมีประวัติถูกดำเนินคดีอาญาติดตัวตลอดไป  กับการเขียนด้วยลายมือตนเอง  มันน่าจะยอมรับได้  จึงได้ต่อรองกับเจ้าหน้าที่กันอีกครั้งว่า ไม่ต้องลงลายมือชื่อไว้ เพื่อให้เกิดเป็นมาตรการที่ทางเจ้าหน้าที่ได้เลือกใช้กับนักศึกษากลุ่มนี้อย่างเหมาะสม น่าจะเป็นการดีต่อทั้งสองฝ่าย     


สุดท้าย

อาจด้วยสถานะของอาจารย์ลูกศิษย์ และสถานการณ์ที่ทอดยาวมาทั้งคืน ทำให้นักศึกษาคิดว่า นั่นเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ ซึ่งผู้เขียนก็เชื่อว่าบางคนหรือทั้งหมดไม่เต็มใจนักกับวิธีการแบบนี้   นักศึกษาถูกทยอยนำตัวมา ห้องปฏิบัติการฯ   และทั้งหมดก็ได้รับการปล่อยตัวอย่างไม่มีคดีหรือต้องตกเป็นผู้ต้องหาทางคดีอาญาจากเหตุการณ์หน้าหอศิลป์ครั้งนี้              

ผู้เขียนได้แต่หวังว่า นักศึกษา ประชาชน ที่ต้องการแสดงออกทางการเมือง ย่อมเป็นสิทธิทางการเมืองของพลเมืองในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย  เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ต้องถูกอำนาจรัฐเข้ามาจัดการต่างๆ พวกเขาเหล่านั้น ควรจะมีแนวทางที่ดีต่ออิสรภาพ  สถานะทางสังคม และความปลอดภัยต่อชีวิตร่างกายอย่างดีที่สุด  และรัฐนั้นจะไม่ใชอำนาจของตนไปอย่างตามอำเภอใจแล้ว   ความสามัคดีของคนในชาติย่อมจะมีอนาคตที่ดีต่อไปได้ และผู้เขียนเองไม่ได้อยากให้การตัดสินใจใดๆของพวกเขาจะส่งผลให้การต่อสู้  หรือแสดงออกตามอุดมการณ์ต้องถูกจำกัดหรือสะดุดหยุดอยู่ด้วยการต้องเป็นเหยื่อทางการเมืองอย่างไม่จำเป็นจากสถานการณ์เช่นนี้  จึงขอให้นักศึกษและประชาชนยืนหยัดเพื่อประชาธิปไตยและความเป็นธรรมต่อไป. 

 

          

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตำรวจ 'บอลติมอร์' ถูกคณะลูกขุนสั่งฟ้องกรณีทำผู้ต้องสงสัยเสียชีวิตขณะจับกุม

$
0
0

ในกรณีของ เฟรดดี เกรย์ คนผิวดำที่เสียชีวิตหลังถูกตำรวจในบอลติมอร์จับกุมและได้รับบาดเจ็บสาหัสขณะโดยสารรถ คณะลูกขุนใหญ่เมืองบอลติมอร์สั่งฟ้อง จนท. ที่เกี่ยวข้องแล้วในหลายข้อหา รวมถึงข้อหากระทำการโดยจงใจไม่คำนึงถึงชีวิตผู้คนจนเป็นเหตุให้เกิดการเสียชีวิต


23 พ.ค. 2558 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (21 พ.ค.) คณะลูกขุนใหญ่เมืองบอลติมอร์สั่งฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจ 6 ที่เกี่ยวข้องกับกรณีการจับกุมตัวชายผิวดำที่ชื่อเฟรดดี้ เกรย์ ผู้เสียชีวิตจากอาการบาดเจ็บหลังถูกจับขึ้นรถตำรวจ หลังจากที่ก่อนหน้านี้มาริลิน มอสบี อัยการมลรัฐประจำเมืองบอลติมอร์ประกาศตั้งข้อหาตำรวจในกรณีดังกล่าว

สำนักข่าวอัลจาซีรารายงานว่าก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ถูกตั้งข้อหากักขังโดยมิชอบด้วยกฎหมายแต่คณะลูกขุนใหญ่เพิกถอนข้อหานี้ อย่างไรก็ตามมีการสั่งฟ้องเพิ่มในข้อหากระทำการโดยประมาทอันส่งผลให้เกิดอันตราย นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่บางคนที่ถูกสั่งฟ้องในข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยไม่ได้เจตนา ข้อหากระทำการโดยจงใจไม่คำนึงถึงชีวิตผู้คนจนเป็นเหตุให้เกิดการเสียชีวิต (second-degree “depraved heart” murder) ข้อหาประพฤติมิชอบในหน้าที่จากการจับกุมอย่างผิดกฎหมาย ข้อหาประพฤติมิชอบในหน้าที่จากการละเลยความปลอดภัยของผู้ต้องขัง และข้อหาทำร้ายร่างกาย

มอสบี เปิดเผยว่าทางอัยการนำเสนอหลักฐานให้กับคณะลูกขุนเมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว และการสั่งฟ้องของคณะลูกขุนในบางข้อหามาจากข้อมูลใหม่เกี่ยวกับคดี

กรณีของเฟรดดี เกรย์ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 12 เม.ย. เขาถูกตำรวจจับกุมและถูกพาขึ้นรถตำรวจ แต่ต่อมาก็พบว่าได้รับบาดเจ็บสาหัสที่คอและถูกนำส่งโรงพยาบาลจนกระทั่งเสียชีวิตในวันที่ 19 เม.ย. ซึ่งเกรย์ถูกจับขึ้นรถโดยเอาถูกใส่กุญแจมือไว้และมีการเอาหัวเข้าไปก่อนอีกทั้งยังไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจคนใดคาดเข็มขัดนิรภัยให้เขาซึ่งถือเป็นการละเมิดนโยบายของตำรวจ นอกจากนี้รถคันดังกล่าวยังมีการหยุดหลายครั้งและรับผู้โดยสารเพิ่มเมื่อรถไปถึงที่สถานีตำรวจเขตตะวันตกของบอลติมอร์ก็พบว่าเกรย์หมดสติแล้ว

หลังการเสียชีวิตของเกรย์มีประชาชนในบอลติมอร์ออกมาประท้วงแสดงความไม่พอใจจนเกิดเหตุการณ์โกลาหล อีกทั้งยังเป็นการจุดชนวนให้เกิดการเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับคนผิวคำที่ถูกใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุอีกครั้งในสหรัฐฯ


เรียบเรียงจาก

Grand jury indicts Baltimore police in death of Freddie Gray, Aljazeera, 21-05-2015
 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

อัยการบอลติมอร์ตั้งข้อหา 6 ตร. คดี 'เฟรดดี เกรย์' หลังการประท้วงต่อเนื่อง
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปากคำนักเรียน ม.4: สิ่งที่พบเห็นในเหตุการณ์จับกุมนักศึกษาที่หอศิลป์

$
0
0

(ชมคลิป) ภูมิวัฒน์ แรงกสิวิทย์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 หนึ่งในผู้ถูกจับกุมในเหตุการณ์ความรุนแรงหน้าหอศิลป์ 22 พฤษภาคม 58 ลำดับเหตุการณ์ชะตากรรมที่เขาเผชิญ หลังจากที่่พวกเขารวมตัวทำกิจกรรมรำลึกหนึ่งปีรัฐประหาร

๐๐๐๐

เนื่องจากในเหตุการณ์การจัดกิจกรรมรำลึกครบรอบ 1 ปีของการรัฐประหารที่เกิดขึ้นในวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 ของนิสิต นักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไป บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพมหานครฯ ได้เกิดเหตุการณ์การปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ทั้งในและนอกเครื่องแบบขึ้นอย่างรุนแรง ซึ่งได้เกิดกระแสข่าวขึ้นมาอย่างมากมาย ทั้งที่ได้รับจากการแถลงการณ์ด้านเดียวของรัฐบาลและจากสำนักข่าวหลายสำนัก ซึ่งอาจก่อให้เกิดความไม่ชอบธรรมแก่ข้อมูลที่บุคคลทั่วไปจะได้รับ การแถลงการณ์ในจดหมายฉบับนี้จึงเขียนขึ้นมาจากนักศึกษาบางส่วนที่ถูกจับกุมจากเหตุการณ์นั้น
        
ในเวลา 18.00 น. มีนักศึกษาบางส่วนได้เข้าไปในพื้นที่ที่ได้มีการเตรียมการนัดไว้ คือบริเวณลานกิจกรรมข้องหน้าหอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพมหานครฯ โดยพื้นที่ดังกล่าวได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารพยายามปิดกั้นไม่ให้ผู้มาร่วมกิจกรรม หรือบุคคลทั่วไปสามารถไปรวมตัวกันได้ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารได้ปิดพื้นที่บริเวณสะพานขาลงไปหน้าลานกิจกรรมดังกล่าว ปิดพื้นที่บริเวณประตูด้านหน้าของหอศิลปวัฒนธรรม อีกทั้งยังมีการตั้งแผงเหล็กกั้นการบุกรุกไว้ที่บริเวณรอบๆ ของลานกิจกรรมดังกล่าว

แต่ถึงอย่างนั้นกลุ่มนักศึกษาก็ยังตัดสินใจที่จะทำกิจกรรมต่อไปโดยสันติวิธี โดยให้ความเคารพแก่เจ้าหน้าที่ เช่นไม่มีการใช้เครื่องขยายเสียง ไม่มีการตะโกนเสียงดัง ไม่มีการยั่วยุเจ้าหน้าที่ ถึงแม้ว่าจะมีเจ้าหน้าที่บางส่วนที่ใช้คำผรุสวาทก่อนก็ตาม ด้วยสภาพของลานกิจกรรมที่มีรั้วปิดกั้นเอาไว้ จึงทำให้กลุ่มนักศึกษาและผู้มาเข้าร่วมดังกล่าวเลือกที่จะทำกิจกรรมรอบนอกรั้ว ซึ่งหลังจากนั้นก็เกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารขึ้น คือการที่กองกำลังทหารและเจ้าหน้าที่พยายามที่จะจับกุมและบุกเข้าชาร์จดึงผู้เข้าร่วมกิจกรรม ให้เข้าไปในพื้นที่รั้ว เพื่อจับกุมนักศึกษาบางคน (แล้วภายหลังนำไปอ้างว่าผู้ร่วมกิจกรรมกลุ่มนั้นได้ใช้กำลังบุกเข้าไปในรั้ว ทั้งที่เจ้าหน้าที่ใช้กำลังแขนดึงกลุ่มนักศึกษาเข้าไปในเขตรั้วเอง)

ถึงแม้สภาพการณ์จะเป็นการที่นักศึกษาพยายามต่อต้านการจับกุมดังกล่าว ในการปะทะครั้งแรกนี้ มีนักศึกษาบางส่วนถูกจับตัวไปมีการใช้กำลังกับนักศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการกระชากผม รัดคอ หรือแม้กระทั่งการจับโยนบก เสียงจากบุคคลทั่วไปบางท่านในขณะนั้นมีการส่งเสียงเชียร์ให้เจ้าหน้าที่ว่า “เจ้าหน้าที่มีปืน ทำไมไม่ใช้ยิงพวกมันเลย” หลังจากการปะทะครั้งแรกนั้น ก็มีการปะทะของเจ้าหน้าที่ในครั้งที่ 2 ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ได้เข้าชาร์จนักศึกษา โดยในตอนแรกอ้างว่า จะให้นักศึกษาออกไปนอกรั้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือเจ้าหน้าที่พยายามที่จะผลักตัวกลุ่มนักศึกษาไปนอกบริเวณฟุตบาทสำหรับเดิน ให้ไปตกที่ถนนใหญ่

กลุ่มนักศึกษาถึงแม้ว่าจะแสดงอาการต่อต้านเจ้าหน้าที่อย่างชัดเจน แต่ก็ยังโต้ตอบด้วยเหตุผล เช่น เราทำอะไรผิดถึงได้จับพวกเรา?, ทำไมเราถึงไม่มีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นทางการเมือง? ฯลฯพร้อมๆกับเวลานั้นมีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ชื่อว่า พ.ต.ต. กิตติศักดิ์ บุญเติม ได้ตะโกนยั่วยุกลุ่มนักศึกษาอยู่ตลอด ซึ่งต่อมาหลังดันนักศึกษาไปจนเกือบถึงถนนใหญ่แล้ว เจ้าหน้าที่คนนั้นก็ยังไม่หยุดยั่วยุนักศึกษา ด้วยการตะโกนออกมาว่า

“น้องเงียบ ฟังพี่นิดนึง ตรงเนี้ยเป็นวังพระเทพฯ ถ้าทำอย่างเนี้ยไม่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์”

ซึ่งทำให้ผู้คนบริเวณนั้นโห่ร้องใส่เจ้าหน้าที่ ด้วยความไม่พอใจที่เจ้าหน้าที่กล่าวพาดพิงสถาบัน เนื่องจากการจัดกิจกรรมครั้งนี้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถาบันเลยสักนิด และพื้นที่นี้ก็เคยถูกกลุ่มการเมืองกลุ่มอื่นๆใช้สำหรับจัดกิจกรรมทางการเมืองที่พาดพิงสถาบันหลายครั้ง แต่เจ้าหน้าที่กลับจะใช้สถาบันเป็นข้ออ้าง ราวกับว่ากิจกรรมของเรานั้นจาบจ้วงพระองค์ท่าน

หลังจากการสลายขบวนของเจ้าหน้าที่ในครั้งที่ 2 นักศึกษายังยืนยันที่จะจัดกิจกรรมกันต่อไป เพราะเห็นว่าเจ้าหน้าที่ไม่มีเหตุผลมากพอที่จะหยุด นักศึกษาทั้งหมดนั่งลงและล้อมวงกันเป็นวงกลม และผลัดกันพูดความในใจ ต่อมาได้มีเจ้าหน้าที่เข้ามาเจรจาขอให้นักศึกษาสลายการทำกิจกรรมแต่นักศึกษาทั้งหมดยืนกรานในสิทธิอันพึงกระทำของพวกเขา อีกทั้งเจ้าหน้าที่ยังขอให้ส่งตัวแทนเข้าไปพูดคุย แต่กลุ่มนักศึกษาไม่มีใครเป็นตัวแทนใครได้ เนื่องจากต่างคนต่างมา บางคนไม่รู้จักกันเลยด้วยซ้ำ (เช่น พี่ปณต ศรีโยธา ที่โดนลากไปทันที เพียงเพราะอยู่ใกล้ๆ โดยไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับกลุ่มนักศึกษากลุ่มใดเลย)

ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีความประสงค์ให้ทางเจ้าหน้าที่มาเจรจากับทางสาธารณะ ต่อมาจึงเกิดการปะทะกันครั้งที่ 3 ขึ้น โดยเจ้าหน้าที่เข้ามาลากตัวผู้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวร่วมๆ 20 คน บางคนไม่ได้เป็นคนของกลุ่มกิจกรรมใด บางคนไม่ได้รู้อิโหน่อิเหน่เลย ซึ่งก่อให้เกิดความโกรธเกรี้ยวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจมากขึ้น ผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่เหลือจึงยืนกรานที่จะทำกิจกรรมกันต่อไป

ในวินาทีที่เพลง แสงดาวแห่งศรัทธา และ เพื่อมวลชน ดังขึ้นนั้น ได้มีกระแสไฟฟ้าช็อตผู้เข้าร่วมกิจกรรมมาจากทางเจ้าหน้าที่อย่างแน่นอน ถึงแม้จะมีข่าวอ้างมาว่าเกิดไฟรั่วขึ้นบริเวณนั้นก็ไม่สามารถเป็นไปได้ในทางเทคนิค ในครั้งนี้มีนักศึกษาถูกรวบตัวไปอีก 11 คน ซึ่งรวมผู้เขียนบทความนี้ด้วย

ในการจับกุมครั้งนี้ มีทั้งการจับนักศึกษาโยนบก การใช้คำขู่สารพัดนานาแก่นักศึกษา นำเข็มขัดมัดมือนักศึกษา และตอนที่กลุ่ม 11 คนเข้าไปในรถตู้ พบเห็นว่านายทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์ หรือ เดฟ หนึ่งในนักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรมถูกทำร้ายร่างกายถึงขั้นชัก หมดสติ  อีกทั้งบางคนพบเห็นว่ามีการซ้อมทำร้ายโดยการโยนบกและเตะที่ชายโครงอีกด้วยต่างหาก ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจทำเพียงถอดเสื้อและเอาน้ำราดไม่มีการประสานงานกับโรงพยาบาลใดๆทั้งสิ้น จนเพื่อนนักศึกษาต้องโทรประสานงานเอง

หลังจากนั้นนักศึกษากลุ่ม 11 คน ถูกควบคุมตัวไปที่ สน.ปทุมวัน ห้องคดีการจราจร ซึ่งหลังจากนั้นเกิดการปะทะครั้งสุดท้ายขึ้น ซึ่งมีคนถูกจับกุมเป็นชุดสุดท้ายจำนวน 5 คน ตามมาในภายหลัง หลังจากนั้นเราจึงทราบว่า มีเพื่อนนักศึกษาอีกคนต้องนำตัวไปที่โรงพยาบาล แต่มีการดำเนินการที่เป็นไปด้วยความล่าช้าเป็นอย่างมากเนื่องจากทางเจ้าหน้าที่ไม่ได้ให้ความสนใจ นักศึกษาคนดังกล่าวต้องรอถึง 2 ชั่วโมง ถึงจะได้รับการนำตัวไปโรงพยาบาล

และในขณะอยู่ในห้องควบคุมของกลุ่ม 11 คน ได้มีนักศึกษาหญิงอีกคนหนึ่งที่มีอาการไม่สบายและโรคหัวใจกำเริบ เจ้าหน้าที่ได้อ้างว่าจะนำตัวส่งพบแพทย์ทันที แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือเจ้าหน้าที่พานักศึกษาหญิงคนนั้นไปไว้ที่ห้องสอบสวนถึง 30 นาที กว่าจะได้ไปโรงพยาบาล ซึ่งต่อมาในเวลาตี 2 ได้นำตัวกลับมาที่ สน.ปทุมวัน ทั้งๆที่ควรจะให้เขาพักตามคำสั่งแพทย์

สิ่งที่แย่ที่สุดในสถานการณ์ตอนนั้น คือเจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่า การดำเนินคดีจะเป็นไปตามกฎหมาย ป.วิ.อาญา ทั่วไป และแต่ละคนยังไม่ทราบข้อกล่าวหาจากทางเจ้าหน้าที่ว่ามีความผิดฐานอะไร การจับตัวมาโดยผิดปรกติ ไม่มีความผิดชัดเจนเช่นนี้ จึงผิดหลักยุติธรรมทั่วไป โดยสุดท้าย ผมได้ถามกับเจ้าหน้าที่ว่า

“ถ้าคุณจะอ้างกฎหมายปกติจริงๆ การที่นักศึกษามารวมตัวกันแสดงความคิดเห็นทางด้านการเมืองนั้นเป็นไปตามกฎหมายปรกติ ถ้าเช่นนั้นแล้วคุณจะมาจับพวกผมทำไม”

เจ้าหน้าที่จึงบอกว่าเป็นเพราะตอนนี้เราต้องใช้มาตรการพิเศษซึ่งมันขัดกับสิ่งที่เขาได้กล่าวไว้ในทีแรกอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากเจ้าหน้าที่บอกว่าจะมีการแจ้งข้อกล่าวหาแก่บุคคล 9 คนในภายหลัง

สถานการณ์ ณ ขณะนั้น มีการแบ่งนักศึกษาและผู้ที่ถูกควบคุมตัวไว้ 3 ห้อง ห้องหนึ่ง 21 คน ห้องหนึ่ง 11 คน ห้องหนึ่ง 5 คน การต่อรองเงื่อนไขของนักศึกษาทั้งหมดคือต้องการให้มีการปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัวทั้งหมดโดยปราศจากเงื่อนไขอันเป็นข้อผูกมัดใดๆทั้งสิ้น เนื่องจากพวกเราไม่ได้ทำอะไรผิด ซึ่งต่อมาทางฝั่งเจ้าหน้าที่ได้ยื่นข้อเสนอแรกกับห้อง 21 ว่าจะมีการขอชื่อและที่อยู่แล้วจะปล่อยตัวทันที แต่ในขณะเดียวกันที่ห้อง 11 คน และห้อง 5 คน กลับได้รับข้อเสนอแรกว่า จะให้มีการสอบถาม ซักประวัติเบื้องต้น แล้วปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไข

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือทางฝั่งเจ้าหน้าที่สร้างเงื่อนไขว่าจะมีบุคคล 9 คน ซึ่งหลังออกไปจาก สน.ปทุมวันแล้ว อาจจะมีการดำเนินคดีย้อนหลัง ซึ่งนักศึกษาทุกคนไม่สามารถยอมรับเงื่อนไขดังกล่าวได้  เพราะการจับตัวมานั้นมันไม่ยุติธรรมตั้งแต่แรก และเราไมจะทิ้งใครคนใดคนหนึ่งไว้เด็ดขาด ถ้าจะไม่ยอมก็จะไม่ยอมกันทั้งหมด

ต่อมากลุ่มนักศึกษาทั้ง 3 ห้อง ยืนยันว่าต้องการประชุมกันทั่วทุกคนเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ตรงกันและเข้าใจกันมากที่สุด แต่ทางเจ้าหน้าที่ไม่ยอมให้นักศึกษาทั้งหมดได้มีโอกาสพบกันด้วยข้อกล่าวอ้างว่าสถานที่คับแคบ และสิ่งที่เราได้ทราบในภายหลังคือเงื่อนไขในการยอมความในแต่ละห้องไม่เหมือนกัน เพราะถ้าเรารวมกลุ่มกันเมื่อไรอาจสร้างเงื่อนไขการต่อรองที่เป็นไปไม่ได้ขึ้นมา เขาต้องการสร้างเงื่อนไขของการแบ่งแยกแล้วปกครอง (Divide and rule) รวมถึงการสร้างสถานการณ์ให้เกิดความเข้าใจผิดซึ่งกันและกันขึ้น

การเจรจาเริ่มตั้งแต่ช่วง 2 ทุ่มจนถึง 6 โมงเช้า จึงได้ยอมรับข้อเสนอที่เหมือนกันทั้งหมด คือการเขียนคำว่า “ไม่เคลื่อนไหว” บนสำเนาบัตรประชาชน หลังจากการเจรจาต่อรองเงื่อนไขหลายรอบและถูกปล่อยตัวมาพบกันทั้งหมด เราจึงทำความเข้าใจว่าที่มีการแตกคอกันเองเป็นเพราะการปลุกปั่นภายในโดยเจ้าหน้าที่ ยกตัวอย่างเช่นทางห้อง 21 คน ได้รับข้อเสนอว่า ไม่ขอชื่อและที่อยู่ใดๆทั้งสิ้น ไม่มีการเซ็นอะไร แค่สัญญาลูกผู้ชายปากเปล่า ในขณะเดียวกัน ห้อง 11 คน กับ 5 คน ดันได้ข้อเสนอว่า ขอชื่อ ที่อยู่ และข้อความเขียนด้วยลายมือว่าจะไม่ทำอีก แล้วจะปล่อยตัวโดยทันที

จะเห็นได้ว่าเงื่อนไขไม่ตรงกัน แถมพอนักศึกษา ห้อง 11 คน ยอมรับเงื่อนไขของเจ้าหน้าที่แล้ว กลับกลายเป็นว่าให้เอาบัตรประชาชนออกมาด้วย และให้เจ้าหน้าที่ถ่ายรูปเก็บไว้อีก ซึ่งไม่ตรงกับเงือนไขที่แจ้งมา แต่เจ้าหน้าที่กลับบอกว่าถ้าไม่เอาก็เข้าคุกทันที รวมถึงมีการสร้างข่าวลวงมาว่ากลุ่ม 5 คน ได้เซ็นชื่อเรียบร้อยแล้ว ซึ่งในความเป็นจริงยังไม่ได้เซ็นอะไรทั้งสิ้น อีกทั้งยังมีการปล่อยข่าวลือไปให้กลุ่มคนที่มารอเราบริเวณหน้า สน.ปทุมวัน อยู่เป็นระยะๆ

หลังจากนักศึกษาทั้งหมดได้รับการปล่อยตัว กลุ่มของผู้เขียนได้รีบหลบหนีไปสถานที่อื่นพักหนึ่งเนื่องจากได้ข่าวมาว่ามีทหารไปตรวจสอบที่อยู่ของพวกเรา และตัดสินใจที่จะเขียนแถลงการณ์ชิ้นนี้ขึ้นเพื่อให้เกิดความเข้าใจแก่ตัวผู้ถูกจับกุมให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้



ลงชื่อ
ภูมิวัฒน์ แรงกสิวิทย์
ผู้ถูกควบคุมตัวในกลุ่ม 11 คน

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุรพงษ์ กองจันทึก: ชี้ “ผลักดัน” เรือชาวโรฮิงญายิ่งเข้าทางขบวนการค้ามนุษย์

$
0
0

ทนายความด้านกฎหมายสัญชาติ-คนเข้าเมือง เสนอทางการไทยยุติ “ผลักดัน” เรือโรฮิงญา ชี้ จนท.ไม่มีอำนาจทำเช่นนั้น แนะให้ควบคุมตัวตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง เพื่อสืบหา-ปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์ และสามารถส่งคนกลับประเทศต้นทางอย่างปลอดภัย ส่วนการประชุม 29 พ.ค. นี้ ทุกชาติควรร่วมมือกัน อย่าผลักภาระให้คนอื่น มิเช่นนั้นประชุมไปก็ไม่เกิดผล

ตามที่เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 24 พ.ค. มีการเสวนาหัวข้อ "โรฮิงญา รัฐ ชาติ ประวัติศาสตร์ และความหวัง" ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดโดย โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสภาหน้าโดม วิทยากรประกอบด้วย ดุลยภาค ปรีชารัชช โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สุรพงษ์ กองจันทึกประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ อนุสรณ์ อุณโณ คณบดี คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ อาลี อะหมัดสมาคมโรฮิงญาสากลแห่งประเทศไทย โดยก่อนหน้านี้ประชาไทนำเสนอการอภิปรายผ่านวิดีโอของดุลยภาคไปแล้วนั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

สุรพงษ์ กองจันทึก (ซ้าย) ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ

ต่อมาในการอภิปรายของ สุรพงษ์ กองจันทึกประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการเก็บข้อมูลผู้อพยพ และผู้ที่เคลื่อนย้ายผ่านประเทศไทยน้อยมาก เราแทบไม่ได้คุยกับพวกเขาเลย ไม่ได้สอบถามอย่างเจาะจงว่าพวกเขาเป็นใคร กรณีของกลุ่มคนที่เราเรียกว่า “โรฮิงญา” นั้น เมื่อก่อนก็เป็นคนที่อยู่ในพม่า ต่อมาหนีการกดขี่มาไทย เชื้อสายเป็นมาอย่างไร เราหาที่มาที่ไป ถอยเวลากลับไปให้มากที่สุดเพื่อหาว่าเขามาจากไหน คำถามก็คือ การค้นหาเช่นนี้จะนำไปสู่การแก้ไขอย่างไร หากเปรียบเทียบกับเรื่องคนไทยมาจากไหน มาจากเทือกเขาอัลไตจริงหรือ เป็นต้น

เรื่องนี้ก็เหมือนกับเรื่องไปหาที่มาว่า บารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา บรรพบุรุษมาจากไหน ใครเป็นคนขนมา เรื่องนี้จึงไม่มีนัยยะที่สำคัญ เท่ากับเรื่องที่ว่า ปัจจุบันนี้ เขามีสภาพเป็นอย่างไร ทั้งนี้ในสังคมไทย เราเรียนรู้เรื่องนี้ตลอดมา สังคมไทยเอาเรื่อง “เชื้อชาติ” ออกจากทะเบียนราษฎร์ไปแล้ว 30 ปี เพราะเชื้อชาติก่อให้เกิดปัญหา ทำให้เกิดความเกลียดกันไม่ชอบกัน หลายประเทศทั่วโลกจึงเอาเรื่อง “เชื้อชาติ” ออกจากระบบทะเบียนราษฎร์ เหมือนกับเรื่องการระบุศาสนาในบัตรประจำตัวประชาชน มีข้อถกเถียงมานาน จนในปัจจุบัน ในบัตรประชาชนเราจะใส่ศาสนาหรือไม่ใส่ก็ได้ ทั้งนี้รัฐต้องการ การอยู่ร่วมกันของคน ไม่ต้องการแบ่งแยก หรือแตกแยกกัน ที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์โลก มีการเข่นฆ่าระหว่างเชื้อชาติเกิดขึ้นตลอด

ในส่วนของข้อเท็จจริง หนึ่ง ถือว่าชาวโรฮิงญาเหล่านี้มาจากทั้งพม่าและบังกลาเทศ จำนวนคร่าวๆ นั้นพอๆ กัน หากพูดถึงต้องพูดถึงทั้งพม่า และบังกลาเทศ ไม่อย่างนั้นจะไม่นำไปสู่การแก้ปัญหา

สอง เรื่องศาสนา ทุกคนเข้าใจว่าผู้ที่อพยพมาเป็นมุสลิม แต่เมื่อเราไปดูค่ายกักกัน ซึ่งขุดเจอหลุมศพ รวมทั้งเจอคนที่รอดชีวิต คนที่ป่วยใกล้ตาย ก็มีการนำตัวมารักษา และพบว่า คนใกล้ตายนับถือศาสนาฮินดู มาจากบังกลาเทศ บ้างก็เป็นชาวยะไข่ที่นับถือศาสนาพุทธ ดังนั้นเรื่องทฤษฎีศาสนาก็ตอบไม่ได้ อย่างไรก็ตามคนที่เป็นผู้นับถือศาสนาอื่นยังถือเป็นส่วนน้อย แต่ผู้ที่อพยพมากับเรือส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะอธิบายไปเลยว่า ผู้ที่มาทางเรือ เป็นเพราะถูกเกลียดชังเรื่องศาสนาอย่างเดียว เพราะไม่อย่างนั้นเราจะหลงทางในการแก้ปัญหา

ส่วนสาเหตุที่ว่าต้องออกจากประเทศ เพราะถูกรัฐบาลกดขี่ หรือเพราะนับถือศาสนาต่างกัน ที่จริงมีสาเหตุมากกว่านั้น บางคนสรุปง่ายๆ ว่าออกมาหางาน แต่ในเรือจะเห็นว่าเขามาทั้งเด็กและผู้หญิง คือมาตามครอบครัว ดังนั้น จึงมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เขาออกมา บางคนระบุว่า เขาสมัครใจมา แต่ก็พบกรณีที่คนที่เดินทางมากับเรือถูกถูกอุ้มมาก็เยอะมาก เช่น มีกรณีที่เด็กอายุ 15-16 ปี ถูกลากขึ้นเรือ และมาแบบไม่ได้จ่ายเงินค่าลงเรือ คือมาแบบไม่ได้สมัครใจ แต่เราจะแยกคนที่เดินทางมากับเรืออย่างไร และจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างไร ดังนั้นจึงต้องไปศึกษา ต้องไปพูดคุยกับพวกเขา

สุรพงษ์ กล่าวต่อไปว่า จากคลิปข่าวที่ฉายก่อนเสวนา ที่ออกข่าวระบุว่า “นายหน้าทิ้งเรือไปแล้ว” หรือ “ผู้ลี้ภัยต้องการไปประเทศที่สาม” คำถามก็คือ จริงหรือไม่ที่นายหน้าจะทิ้งเรือ เพราะเรือที่ใช้บรรทุกคน เป็นเรือสามชั้น มีเรดาร์ มี GPS และมีเครือข่ายแบบเรือแม่-เรือลูก นายหน้าจะทิ้งเรือ ปล่อยให้เรือลอยเท้งเต้งจริงหรือไม่ ทั้งนี้ ถึงนายหน้ารายใหญ่ตัดสินใจทิ้งเรือ แต่นายหน้ารายเล็กๆ ก็คงคุมเรือต่อ เพราะผลประโยชน์มหาศาล ใครจะทิ้งเรือง่ายๆ

ข้อสังเกตจากสุรพงษ์ก็คือ คนที่ให้สัมภาษณ์ตามสื่อต่างๆ อาจเป็นคนคุมเรืออีกทีหนึ่ง เพราะถ้าเป็นเหยื่อ คำถามก็คือ เขาจะกล้าเอ่ยปากหรือไม่ คนที่ลงเรือมาทำงาน จะเป็นคนที่พูดภาษาอังกฤษได้หรือไม่ ดังนั้น เรื่องนี้ต้องศึกษาหาความจริง ที่เขาบอกว่าต้องการไปมาเลเซียนั้น ก็เพราะถ้าไม่ไปมาเลเซีย แต่มาฝั่งไทย เขาก็ต้องถูกจับ และคนนำพาก็มีโทษหนัก ดังนั้น การที่เจ้าหน้าที่ไทยไปผลักดันเรือเหล่านี้ออกไป ก็เป็นเจตนาของคนหรือขบวนการที่นำพาชาวโรฮิงญาเข้ามา จึงเสนอว่า เรื่องนี้ต้องศึกษาให้มากขึ้น และยิ่งนานไป หากมีข้อมูลนี้มากขึ้น หลากหลายขึ้น ก็จะทำให้เข้าใจสภาพปัญหาของคนเหล่านี้

สุรพงษ์อภิปรายต่อไปว่า แม้กระทั่งเรื่อง “ปลายทาง” ข่าวที่ออกมาก่อนหน้านี้ มักพูดว่าไปมาเลเซียหรือประเทศที่ 3 คำถามก็คือ ถ้าจะไปมาเลเซียทำไมต้องลอยลำในไทย โดยสาเหตุเป็นเพราะปลายทางระยะแรกคือประเทศไทย ที่มีปลายทางคือประเทศไทย เพราะเรือพวกนี้เป็นเรือที่จดทะเบียนในไทยไปรับมา กล่าวคือมีกระบวนการไปหลอกชาวโรฮิงญาให้ลงเรือ ถึงในหมู่บ้าน

ส่วนคำถามที่ว่า ทำไมเรือจึงต้องลอยอยู่ในน่านน้ำ 2 เดือน คำตอบก็คือ ในสมัยก่อนเรือลำเล็ก 200 คน จอดรอคนลงเรือไม่นานก็เต็ม แต่ปัจจุบันมีการใช้เรือลำใหญ่ คนทยอยมาลงเรือเรื่อยๆ กว่าจะเต็มต้องรอเป็นเดือน แต่พอมีข่าว เลยต้องรออยู่ในน่านน้ำนานขึ้น เพื่อรอจังหวะที่สามารถขึ้นฝั่งประเทศไทยได้

ส่วนที่ว่า ทำไมไม่ไปมาเลเซียหรืออินโดนีเซีย ก็ไปไม่ได้ เพราะเป็นเรือไทย ถ้าเข้าไปก็กลายเป็นรุกล้ำน่านน้ำ ดังนั้นเรือทีมีชาวโรฮิงญาโดยสารมาเหล่านี้จึงอยู่ในน่านน้ำไทย แต่จะไม่ข้ามไปมาเลเซีย หรืออินโดนีเซีย เพราะไม่มีกระบวนการรอรับ โดยที่กระบวนการรอรับอยู่ฝั่งไทย ต้องรอรับทางบกที่ฝั่งไทย เพื่อส่งคนไปต่อ โดยที่ไม่ไปที่มาเลเซียหรืออินโดนีเซียทีเดียวทั้งที่เรือมีศักยภาพ ซึ่งถ้าเราเข้าใจกระบวนการนี้ ก็จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดขึ้น

ในส่วนที่ว่าไทยควรดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร สุรพงษ์กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา รัฐไทย ดำเนินนโยบายแบบ “ไม่รู้ไม่เห็น” คือเราไม่รู้ว่ามีชาวโรฮิงญาเข้ามาเท่าไหร่ มีใครเข้ามาบ้าง แล้วทางการใช้วิธีผลักดันออก ซึ่งวิธีการการผลักดันเป็นการกระทำที่ไม่มีอำนาจตามกฎหมายให้ทำได้ คือการกระทำที่ผ่านมาผิดกฎหมายทั้งนั้น หากจะกระทำตามกฎหมาย เจ้าหน้าที่ต้องกระทำตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ซึ่งกำหนดให้ “ส่งกลับ” ซึ่งแตกต่างจาก “ผลักดัน” มาก

โดยที่ความหมายของการผลักดันคือ ถ้าเขาจะล้ำเขตแดน ทหารไปเฝ้าแล้วผลักไว้ไม่ให้เข้า แต่การส่งกลับคือเขาทำผิดกฎหมายไทยแล้ว คือล้ำเข้ามาในเขตไทยแล้ว เกือบถึงฝั่ง ก็ต้องให้เป็นหน้าที่ของตำรวจที่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง มีการสอบสวน สืบสวน ทำคดี ส่งให้อัยการฟ้อง ให้ศาลตัดสิน หากตัดสินว่าเข้าเมืองผิดกฎหมาย ก็ให้ส่ง ตม. เพื่อดำเนินการส่งกลับตามกฎหมาย การส่งกลับตามกฎหมาย คือส่งกลับต้องมีประเทศต้นทางเป็นคนรับ บุคคลต้องได้กลับไปบ้านอย่างปลอดภัย ทั้งนี้กระบวนการส่งกลับถูกกำหนดอยู่ในกฎหมายทั่วโลก เพื่อให้บุคคลสามารถกลับภูมิลำเนาได้อย่างปลอดภัย

เจ้าหน้าที่ไทยเคยทำกระบวนการนี้ไหม ที่ผ่านมาเราแทบไม่ได้ทำเลย ทั้งนี้กลุ่มผู้อพยพทางเรือเริ่มเข้ามาตั้งแต่ พ.ศ. 2548 ในปี พ.ศ. 2549 ข้อมูล กอ.รมน.ภาค 4 จ.ระนองบอกว่าจับกุมได้ 1,225 คน ถัดมา พ.ศ. 2550 เพิ่มเป็น 2,763 คน และ พ.ศ. 2551 เพิ่มเป็น 4,886 คน “นโยบายผลักดัน ยิ่งผลัก คนยิ่งมาเรื่อยๆ เพราะพอเราผลักออกแล้ว คนพวกนี้จะเอาเรือเล็กเข้ามาประเทศไทยใหม่ เขาไม่ได้มีจุดมุ่งหมายทางเรือไปมาเลเซีย อินโดนีเซียเลย แต่เขาต้องเข้าไทย เพราะมีเรือเล็กมารับ มีกระบวนการรองรับ”

สถานการณ์เป็นเช่นนี้ จนปลายปี พ.ศ. 2551 ประเทศไทยถูกนำเสนอข่าวว่าผลักดันผู้อพยพทางเรือ และสหรัฐอเมริกาจะประณาม ทำให้ในปี พ.ศ. 2552 เจ้าหน้าที่ไทย ให้เรือที่ขนชาวโรฮิงญาขึ้นบกที่ระนอง จากนั้นให้แพทย์มาตรวจร่างกาย และรุ่งขึ้นฟ้องศาล คือเป็นการใช้กฎหมายคนเข้าเมืองเป็นครั้งแรก โดยนำผู้ที่เข้ามาทางเรือทั้งหมด 78 คน ฟ้องศาล และศาลตัดสินว่าเข้าเมืองผิดกฎหมาย ให้ส่งประเทศต้นทาง โดยหลังจากนั้นสหรัฐอเมริกาตำหนิมาเลเซียว่าค้ามนุษย์โรฮิงญาโดยไม่มีการตำหนิประเทศไทยเลย ผลจากการปฏิบัติครั้งนั้น ทำให้ไม่มีเรือขนชาวโรฮิงญา และชาวบังกลาเทศ เข้ามาในประเทศไทยอีกเลย ลำเดียวก็ไม่มา

โดยสถิติตลอดปี 2552 เหลือคนเข้ามาทางเรือ 92 คน รวมในกลุ่มนี้ด้วยอีกไม่กี่คน กระทั่งมีการออกมาพูดว่า “เราจะเอาจริง เราจะผลักดัน” ผลหลังจากนั้นก็คือเรือขนชาวโรฮิงญาก็เข้ามาเรื่อยๆ เพราะเราไม่จับ เราใช้วิธีผลักดัน ดังนั้นจะแก้ไขอย่างไร ก็ต้องจับ หากไม่จับ ขบวนการเหล่านั้นจะเติบโตเรื่อยๆ หากินด้วยการนำชาวโรฮิงญาเข้ามาเป็นหมื่น แล้วการเรียกค่าไถ่ก็จะเพิ่มขึ้นโดยขบวนการเหล่านี้

“ประเทศไทยต้องใช้กฎหมาย ที่ผ่านมาเราไม่ใช้กฎหมาย การผลักดัน คือการไม่ใช้กฎหมาย เราต้องใช้กฎหมายมาตรวจสอบว่าเขาเป็นใคร ใช้เวลาคุย ที่ผ่านมาในปี 2552 ใช้เวลาพูดคุยสามเดือน โดยไปเยี่ยมทุกวัน โดยผู้ที่เข้ามาทางเรือในจำนวน 78 คนนี้ พบว่า 5-6 คนเป็นคนของนายหน้า คนขับเรือ คนที่พูดเก่งๆ นายหน้าทั้งนั้น เราค่อยๆ แยกคุย พอเขาไว้วางใจเขาเริ่มเล่าให้ฟัง นายหน้าที่เกี่ยวข้องคือใคร ไปมาเลเซียแล้วต้องทำอย่างไร”

สุรพงษ์กล่าวด้วยว่า จากข้อมูลปี 2552 คนที่เข้ามาทางเรือ 78 คน พบว่า 29 คนเป็นบังกลาเทศ เขามีบัตรประจำตัวบังกลาเทศ เราตรวจสอบกลับไปพบว่าใช่จริง สุดท้าย ทั้ง 29 คน ก็สามารถขึ้นเครื่องบินที่สนามบินสุวรรณภูมิกลับประเทศ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 ส่วนชาวโรฮิงญาที่บอกว่ากลับไม่ได้ คือกลับได้ ทางออกมี แม้กระทั่งคนที่มาจากพม่า เราอาจอ้างว่าทางการพม่าไม่รับกลับ แต่ที่ผ่านมากลับไปแล้ว 1 ลำเรือ ตอนประเทศไทยเอาจริง เคยมีเรือลำหนึ่งวิ่งเข้ามาแล้ว ขึ้นฝั่งไทยไม่ได้แน่ จึงลอยลำรอเป็นเดือน โดยที่ไม่รู้จะทำอย่างไร เรือลำที่เข้ามาดังกล่าวจึงมาเบนหัวกลับไปส่งคนที่พม่า กล่าวคือตอนมาใช้วิธีแอบมา ดังนั้นตอนกลับจะแอบกลับ ทำไมจะทำไม่ได้

“คือมีช่องทางจำนวนมากที่จะใช้แก้ไขปัญหา แต่เราต้องมีข้อมูล ถ้าผลักดันแบบไม่รู้ไม่เห็น ก็คือการเอื้อประโยชน์กระบวนการค้ามนุษย์ ถ้าเข้าเมืองประเทศไทยก็ผิดกฎหมาย แต่ถ้าผลักดันออกไป เขาก็ใช้เรือเล็กแล้วพาเข้ามา แล้วเรียกค่าไถ่คนที่เดินทางมา ดังนั้นใช้วิธีผลักดันไม่ได้ต้องใช้กฎหมาย”

ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลไทย มักระบุในแนวนโยบายว่าสิทธิมนุษยชน และความมั่นคงเป็นสิ่งที่อยู่คนละด้าน แต่เมื่อดูประเทศอื่น ที่เขาส่งเสริมทั้ง 2 เรื่อง ไปดูตัวอย่างประเทศสหรัฐอเมริกา หรือญี่ปุ่น เขานิยามสองเรื่องนี้มันเรื่องเดียวกัน ประเทศที่ความมั่นคงดี สิทธิมนุษยชนก็ดีไปด้วย ถ้าแย่ก็แย่ทั้งสองด้าน ดังนั้น ประเทศไทยต้องเข้าใจเรื่องนี้ ถ้าเราจัดการความมั่นคงให้ดีได้ ก็ทำให้สิทธิมนุษยชนดีได้ ถ้าเราเข้าใจว่าเป็นเรื่องเดียวกัน ก็จะแก้ไขปัญหาได้เหมือนกรณีที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2552

ในการเสวนาช่วงท้าย สุรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมถึงกรณีที่เจ้าหน้าที่ตรวจพบสถานที่ควบคุมตัวชาวโรฮิงญาในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ว่า ล่าสุดจะเห็นการเอาจริงเอาจังของเจ้าหน้าที่ต่อขบวนการค้ามนุษย์ จนสามารถตรวจพบสถานที่พักพิงชาวโรฮิงญาบริเวณชายแดน ทำให้สามารถขยายผลไปจับกุมรายที่ใหญ่ขึ้น รัฐสามารถเล่นงานเจ้าหน้าที่ระดับพื้นที่ ซึ่งมีส่วนรู้เห็น รวมทั้งผู้มีอิทธิพลระดับกลางๆ แต่สิ่งที่รอการเปิดเผยคือระดับใหญ่ๆ

อย่างไรก็ตาม หากทางการไทยยังไม่รับชาวโรฮิงญาเข้ามา ขบวนการก็จะยิ่งมีการแอบพาเข้ามา เท่ากับเป็นการสนับสนุนกลุ่มคนที่หากินกับผลประโยชน์แล้วเอาความมั่นคงมาอ้าง แต่ถ้าทางการไทยใช้หลักมนุษยธรรมและกฎหมายควบคู่กัน คำตอบคือ การเข้ามาทางเรือจะไม่มีเลย อย่างไรก็ตาม ปัญหาภายในประเทศพม่า ทางการไทยก็ต้องเข้าไปแก้

โดยการประชุมในวันที่ 29 พ.ค. ที่ชาติที่เกี่ยวข้องจะมาประชุมกันนั้น ขอฝากรัฐบาลต่างๆ ที่จะมาหารือกันว่า การมาคุยกัน ต้องเป็นไปเพื่อถ้าหาทางแก้ร่วมกัน ฝ่ายไทยต้องออกแรงด้วยถึงจะแก้ปัญหาได้ ถ้าเข้ามาคุยกันเพื่อโยนภาระให้คนอื่น ก็จะแก้ไขปัญหาไม่ได้ เพราะตัวเองก็ไม่ร่วมทำด้วย เช่น ไทยบอกเรื่องนี้เป็นเรื่องพม่า ไม่เกี่ยวกับประเทศไทย พม่าก็บอกเอ็งทำสิ ฯลฯ ซึ่งถ้าคุยแบบนี้ไม่เกิดประโยชน์ สุดท้ายก็จะกลายเป็น “ไทยแอบค้า พม่าแอบส่ง” ขบวนการเหล่านี้ก็ดำเนินไปเรื่อยๆ ดังนั้น คนที่พาเข้ามา รัฐบาลต้องจับเลย และถ้าแต่ละประเทศสามารถร่วมมือกันจะนำไปสู่การแก้ไข อย่าผลักภาระให้คนอื่น จะนำมาสู่ทางออก ถ้าผลักภาระ ประชุมไปก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนทำงานเอาไหม? ข้อเสนอตั้ง ‘ธนาคารแรงงาน’ ของ สปช.

$
0
0

เมื่อ สปช. หยิบข้อเสนอเก่ามาปัดฝุ่น ผลักดันการจัดตั้ง “ธนาคารแรงงาน” ส่งเสริมการออมและให้คนงานเข้าถึงแหล่งทุน ลักษณะเป็น “ธนาคารเฉพาะกิจ” ที่ให้ คนงาน รัฐบาล และกองทุนประกันสังคมถือหุ้น

สถาบันที่ตั้งต้นด้วยทุนของคนงานมีให้เห็นอยู่ทั่วโลก เช่น โกลเด้น ไพรด์ เซฟวิง แอนด์ โลน (Golden Pride Savings and Loans) สถาบันการเงินที่มีต้นกำเนิดมาจากสหภาพแรงงานคนงานทำเหมืองในประเทศกานา ส่วนที่ประเทศไทย สปช. เสนอจัดตั้ง “ธนาคารแรงงาน” ส่งเสริมการออมและให้คนงานเข้าถึงแหล่งทุน

ในการประชุมการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ ครั้งที่ 40 วันอังคารที่ 26 พฤษภาคม 2558 ที่จะถึงนี้ จะมีการพิจารณาวาระปฏิรูปที่ 37 : ปฏิรูปแรงงานของ คณะกรรมาธิการปฏิรูปการแรงงาน สภาปฏิรูปแห่งชาติ ซึ่งมีการเสนอเรื่อง "การจัดตั้งธนาคารแรงงาน" อยู่ด้วย

โดยการเสนอให้ดำเนินการจัดตั้งธนาคารแรงงานครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ให้เป็นธนาคารของรัฐแห่งใหม่ให้ เพื่อการส่งเสริมการออมและการพัฒนาตนเองของแรงงานอันจะนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ยังมีการเสนอให้มีการจัดเก็บฐานข้อมูลด้านแรงงานที่ถูกต้องและสมบูรณ์ให้เป็นศูนย์บริการครบวงจรของประเทศที่เป็นระบบและมาตรฐานเดียวกัน

ทั้งนี้ในรายงานของคณะกรรมาธิการปฏิรูปการแรงงาน สภาปฏิรูปแห่งชาติ ระบุว่าแนวคิดในการจัดตั้งธนาคารแรงงานในประเทศไทยเกิดมาจากข้อเสนอและข้อเรียกร้องของคณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร และองค์การแรงงาน เมื่อปี 2548 ซึ่งต่อมาในปี 2549 สำนักงานประกันสังคมได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการจัดตั้งธนาคารแรงงาน โดยบริษัทที่ปรึกษาได้เสนอผลการศึกษาและจากการสำรวจข้อมูลจากผู้ทรงคุณวุฒิสรุปได้ว่า การจัดตั้งธนาคารแรงงานเป็นนโยบายระดับชาติ รัฐบาลควรจัดงบประมาณดำเนินการ ไม่ควรใช้เงินกองทุนประกันสังคมเนื่องจากต้นทุนสูง

ในปี 2550 พบว่าในระดับชุมชนนั้นก็มีการดำเนินงานในรูปแบบของธนาคารแรงงานบ้างแล้วคือ "ธนาคารแรงงานบ้านบัว" ต.บ้านเดื่อ อ.เกษตรสมบูรณ์ จ.ชัยภูมิ แต่เป็นรูปแบบธนาคารแรงงานที่มีการสะสมและแลกเปลี่ยนกำลังแรงงานของสมาชิก โดยพัฒนารูปแบบมาจากประเพณีดั้งเดิมไว้อย่างการแขกเกี่ยวข้าว

 

ธนาคารแรงงาน ต.บ้านบัว อ.เกษตรสมบูรณ์ จ.ชัยภูมิ

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สนับสนุนการวิจัยโครงการโครงการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่สมดุลตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัดชัยภูมิ (พ.ศ.2550-2553) ในพื้นที่ 17 จังหวัด จังหวัดชัยภูมิ เป็นหนึ่งใน 17 จังหวัดซึ่งมีนายสมโภชน์ หมู่หมื่นศรี อดีตผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาอำเภอเมืองชัยภูมิ เป็นหัวหน้าโครงการ กระบวนการทำงานเน้นการจัดการเรียนรู้ของชาวบ้านโดยใช้บัญชีรายรับ-รายจ่ายครัวเรือน การสร้างเศรษฐกิจพอเพียงในระดับหมู่บ้านชุมชน เน้นการผลิตเพื่อการบริโภคภายใน โดยเน้นการพึ่งพาตนเอง เพื่อแก้ปัญหาความยากจน สุขภาวะ และปัญหาอื่นๆ ของพื้นที่

จังหวัดชัยภูมิดำเนินการในพื้นที่ 12 ตำบล โดยบ้านบัว อำเภอเกษตรสมบูรณ์ เป็นหนึ่งในพื้นที่เป้าหมาย ซึ่งมีนวัตกรรมชุมชนเกิดขึ้น จากการต่อยอดการดำเนินการในพื้นที่ นายเสนอ นราพล กำนันตำบลบ้านบัว ผู้ก่อตั้ง “ธนาคารแรงงานบ้านบัวหมู่ที่ 1 ตำบลบ้านบัว” เปิดเผยว่าที่มาของการก่อตั้งธนาคารแรงงาน มีจุดเริ่มต้นจากการเข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งกิจกรรมหลักที่ต้องสนับสนุนให้ชุมชนได้ดำเนินการ คือ การจดบัญชีรับ-จ่าย ครัวเรือน ซึ่งที่บ้านบัว หมู่ 1 เมื่อปี 2550-51 ที่ผ่านมานั้น มีคนจดบัญชีเพียงแค่ 9 รายเท่านั้น แต่ก็เป็น 9 รายที่มีพลังสร้างการเปลี่ยนแปลง เพราะมีการนำข้อมูลค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงานที่สูงขึ้น และแรงงานหายากมาตั้งวงพูดคุยกัน ประกอบกับข้อมูลครัวเรือนของตำบลบ้านบัว จำนวน 600 ราย นั้น ค่าจ้างแรงงานเป็นอันดับที่ 5 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด 22 รายการ จากการหารือ และได้ข้อสรุปว่าจะกลับไปใช้วิธีลงแขกแบบรุ่นพ่อแม่ โดยมาช่วยกันทำงานโดยไม่ต้องจ่ายค่าจ้างแรงงาน แต่ใช้แรงงานของตนแลกเปลี่ยนกัน

ธนาคารแรงงานบ้านบัว จึงเกิดขึ้น โดยมีสมาชิกเริ่มต้น 12 ราย และขยายเป็น 40 รายในปัจจุบัน ระบบการบริหารจัดการของธนาคารแรงงาน มีการสรรหาบุคคลากรมาบริหารจัดการ โดยได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกลงมติให้กำนันเสนอ นายนราพล เป็นประธาน และนางหนูทัด บริบูรณ์ เป็นผู้จัดการ ซึ่งหน้าที่ของผู้จัดการจะต้องเป็นคนวางระบบ จัดสรรแรงงานให้ลงตัวกับวันและเวลาที่กำหนด โดยกิจกรรมจะเกิดขึ้นอยู่ 2 ช่วง คือ ช่วงฤดูดำนำ (เดือนมิถุนายน-กรกฎาคม) และช่วงฤดูเกี่ยวข้าว (เดือนพฤศจิกายน-เดือนธันวาคม) ผู้จัดการธนาคารแรงงานจะมีบทบาทในการวางตัวบุคคลและคอยติดตามประสานงานกับทางสมาชิก เพื่อให้ระบบการวางงานเป็นไปได้โดยไม่ติดขัด

ผลที่ได้รับจากการจัดตั้งธนาคารแรงงาน

- ลดปัญหาขาดแคลนแรงงาน และลดต้นทุนในการจ้างแรงงาน และ สามารถนำผลต่างของการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในส่วนแรงงาน มาปรับลดหนี้สิน ทำให้สมาชิกสามารถทำได้ถึงขั้นการตั้งเป้าการลดหนี้ให้เหลือศูนย์ได้
- ทุกครอบครัวที่เป็นสมาชิกธนาคารแรงงานมีความรักความผูกพันฉันท์ญาติพี่น้อง
- สมาชิกสามารถทำการเกษตรในนาไร่ทันเวลาตามฤดูกาล สมาชิกแต่ละคนมีที่นาเฉลี่ยโดยอยู่ที่ 5-10 ไร่ ต่อ 1 ราย ซึ่งเป็นจำนวนที่ไม่มากนักทำให้การจัดระบบวันและเวลาง่ายในการหมุนเวียนแรงงานมีความง่ายกว่าชุมชนที่มีพื้นที่นาจำนวนมาก

การขยายผล ขณะนี้ได้ขยายธนาคารแรงงานออกไปอีก 2 หมู่บ้าน คือหมู่ที่ 2 และหมู่ที่ 3 ตำบลบ้านบัว อำเภอเกษตรสมบูรณ์ โดยประยุกต์หลักการเป็นแต่ละคนจะได้รับค่าจ้างวันละ 100 บาท โดยแต่ละคนจะห่อข้าวไปกินเอง ในขณะที่ค่าจ้างแรงงานโดยทั่วไปอย่างต่ำวันละ 150 – 250 บาท / วัน จากจุดเริ่มต้นของกลุ่มครัวเรือนเล็กๆ จนมาถึงการก่อตั้งกลุ่มเป็นธนาคารแรงงานของบ้านบัว ทำให้เห็นภาพของการรู้จักตัวตน และเป็นบทพิสูจน์ของการพึ่งพาตนเอง ไม่รอคอยการแก้ไขปัญหาจากภายนอก เป็นการแก้ไขปัญหาของชุมชนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแท้จริง

ที่มาข้อมูล: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

 

ปี 2554 คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) เสนอแนวทางปฏิรูปประเทศว่า "รัฐควรจัดตั้งธนาคารแรงงาน โดยขายพันธบัตรให้แก่กองทุนประกันสังคม และนำเงินมาปล่อยกู้ให้แก่คนงานเพื่อให้แรงงานสามารถกู้ได้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อผ่อนคลายภาระหนี้สินนอกระบบของแรงงานซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยสูง แต่จำกัดวงเงินกู้และมีส่วนบังคับการออมด้วย"

ทั้งนี้คณะกรรมาธิการปฏิรูปการแรงงาน สภาปฏิรูปแห่งชาติ ระบุว่าการพิจารณาศึกษาแนวทางการจัดตั้งธนาคารแรงงานที่สามารถเป็นไปได้ และตรงตามความต้องการของผู้ใช้แรงงานอย่างแท้จริงแล้วนั้น ต้องเป็นธนาคารเฉพาะกิจหรือธนาคารพิเศษเพื่อให้ผู้ใช้แรงงานเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้สะดวก และยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงาน

แนวทางการดำเนินงาน

ในเรื่องแหล่งที่มาของเงินลงทุนของธนาคารนั้นคณะกรรมาธิการฯ ระบุว่าผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายมีจำนวน 39 ล้านคน โดยเป็นแรงงานในระบบ 18 ล้านคนและแรงงานนอกระบบประมาณ 21 ล้านคน ภารกิจหลักของธนาคารแรงงานและโครงสร้างการบริหารเพื่อตอบสนองกลุ่มเป้าหมายจะต้องดำเนินการด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

1. ตราพระราชบัญญัติจัดตั้ง ธนาคารแรงงาน โดยให้เป็นธนาคารแรงงานของรัฐที่ตั้งขึ้นเป็นธนาคารเฉพาะกิจหรือธนาคารพิเศษ เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ง่าย และเพื่อเป็นกลไกในการยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงาน

2. กำหนดจำนวนหุ้นเพื่อการลงทุนในธนาคารแรงงาน โดยกฎหมายบัญญัติให้ผู้ใช้แรงงานมีสิทธิ์ซื้อหุ้นธนาคารแรงงานได้ก่อน โดยมีหน่วยงานภาครัฐ และกองทุนประกันสังคมร่วมลงทุนถือหุ้นในธนาคารแรงงานด้วย

3. จัดโครงการให้บริการสินเชื่อจากธนาคารแรงงาน โดยให้ผู้ใช้แรงงานทั่วไปได้ใช้บริการสินเชื่อตามกรอบวัตถุประสงค์ของธนาคาร ทั้งนี้ให้มีบุคคลร่วมค้ำประกัน 3 คน

4. รายได้จากการให้สินเชื่อ ให้จัดสรรตามกรอบภารกิจของธนาคาร ดังนี้
- จ่ายเป็นผลประโยชน์ตอบแทนผู้ลงทุน
- จ่ายเป็นค่าบริหารจัดการของธนาคาร
- จ่ายค่าบริการให้นายจ้างหักเงิน ณ ที่จ่ายของผู้กู้ส่งธนาคาร

5. ผู้ใช้แรงงานทุกคนสามารถกู้เงินจากธนาคารแรงงานเพื่อใช้ในการพัฒนาทักษะอาชีพ การสร้างอาชีพเสริมให้กับครอบครัวตามเกณฑ์

6. ธนาคารแรงงาน สามารถให้สินเชื่อเพื่อการจัดสร้างฐานเศรษฐกิจอย่างอื่นของผู้ใช้แรงงานได้แก่
- สินเชื่อสนับสนุนสหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบการ
- สินเชื่อเพื่อการศึกษา การเรียนรู้สาขาต่าง ๆ
- สินเชื่อเพื่อการจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กอ่อนก่อนวัยเรียน
- สินเชื่อเพื่อการสร้างศูนย์ประชุมสัมมนาและพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน
- สินเชื่อเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต (ปัจจัย 4) ของผู้ใช้แรงงานและครอบครัว
- สินเชื่อเพื่อการประกอบอาชีพของแรงงานไทย (ก่อนและหลังเกษียณ)

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชุมนุมบทบรรยายแสดงมุทิตาจิต "75 ปีที่ผ่านและวันข้างหน้าของ นิธิ เอียวศรีวงศ์"

$
0
0

งานมุทิตาจิต "75 ปีที่ผ่านและวันข้างหน้าของ นิธิ เอียวศรีวงศ์"โดยมีวรวิทย์ เจริญเลิศ,พวงทอง ภวัครพันธุ์, ภัควดี วีระภาสพงษ์, เก่งกิจ กิตติเรียงลาภ ,ประจักษ์ ก้องกีรติ, ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ผู้กำกับภาพยนตร์ ฯลฯ ร่วมตอบโจทย์ว่าหากมองไปในอนาคต หากมีรัฐบาลประชาธิปไตย คุณจะทำอะไรได้บ้างเพื่อสร้างการเมืองและประชาธิปไตยที่ดี

23 พ.ค.58 - ในงานมุทิตาจิต "75 ปีที่ผ่านและวันข้างหน้าของ นิธิ เอียวศรีวงศ์" ซึ่งจัดเมื่อวันที่ 23 พ.ค. นั้น เดิมมีกำหนดจะจัดงานที่โรงละคร หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่ก่อนหน้างานเพียงหนึ่งวัน ทางคณะวิจิตรศิลป์ได้แจ้งว่าโรงละครกำลังอยู่ในระหว่างการปรับปรุงซ่อมแซม จึงไม่สะดวกให้ใช้สถานที่

ต่อมาทางผู้จัดงานจึงได้ย้ายไปจัดงานในลักษณะปิดในพื้นที่ส่วนตัวแทน โดยรูปแบบงานเป็นการกล่าวบรรยายแสดงมุทิตาจิตในโอกาสอายุครบรอบ 75 ปี ของนิธิ เอียวศรีวงศ์ โดยวิทยากรหลายท่าน เพื่อตอบโจทย์ร่วมกันว่าหากมองไปในอนาคต ถ้าหากมีรัฐบาลประชาธิปไตย คุณจะทำอะไรได้บ้างเพื่อสร้างการเมืองและประชาธิปไตยที่ดี โดยมีเวลากล่าวท่านละ 10 นาที


พวงทอง ภวัครพันธุ์: รัฐบาลจากการเลือกตั้งกับการยุติวัฒนธรรมแห่งการลอยนวล

พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่าวัฒนธรรมแห่งการลอยนวลอยู่กับสังคมไทยมานาน เมื่อผู้มีอำนาจทำผิดต่อชีวิตของประชาชนแล้วไม่ต้องรับผิดชอบ การยุติวัฒนธรรมเรื่องนี้อาจต้องใช้เวลาอีก 20-30 ปี เพราะในหลายประเทศที่เกิดความรุนแรงโดยรัฐก็ใช้เวลารอหลายสิบปีในการเอาผิด แต่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะต้องมีเจตจำนงที่จะทำให้มันยุติลงด้วย

พวงทองกล่าวว่าจุดเปลี่ยนทางการเมืองที่สำคัญที่นำไปสู่การเปิดประตูให้การรัฐประหาร คือการผลักดันการนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งที่ผลักดันโดยพรรคเพื่อไทย เหตุการณ์นี้ยังขมวดปมข้อกล่าวหาต่อประชาชนที่พยายามต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในปี 2553 ว่าพวกเขาถูกหลอกมาตายเพื่อผลประโยชน์ของตระกูลชินวัตร เป็นการตอกย้ำการดูถูกเหยียดหยามที่มวลชนอีกฝ่ายหนึ่งกล่าวหา มันยังส่งผลให้การพิจารณาคดีการสลายการชุมนุมที่ดำเนินมาได้ดีพอสมควร การไต่สวนการตายโดยศาลอาญา 17 ราย ศาลยืนยันว่าเสียชีวิตจากกระสุนที่มาจากฝั่งทหาร สิ่งเหล่านี้ชะงักหยุดลงหลังรัฐประหาร

สามเดือนหลังรัฐประหารเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างสำคัญ ศาลอาญาบอกว่าศาลไม่มีอำนาจในการพิจารณาคดีนี้ โยนเรื่องไปให้ปปช. ซึ่งเป็นระบบที่ปิด ประชาชน-สื่อมวลชนไม่สามารถเข้าไปฟังการพิจารณาได้ และยังไม่รู้ว่าเรื่องนี้จะไปถึงชั้นศาลหรือไม่ หลังรัฐประหารยังเห็นความพยายามทำให้เห็นว่าเหตุการณ์ในปี 53 เป็นฝีมือคนเสื้อแดง เราจะเห็นการจับกุมบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นชายชุดดำ

พวงทองกล่าวว่าการเอาผิดการสลายการชุมนุมปี 53 ต่อให้เริ่มจากการเอาผิดคุณอภิสิทธิ์หรือสุเทพ เพราะในกระบวนการชั้นศาล เราจะได้ข้อเท็จจริงข้อมูลจำนวนมากว่ากระสุนที่ทำให้คนเสียชีวิตบาดเจ็บนั้น มาจากทิศทางไหน กองกำลังทหารไหนที่ตั้งอยู่ เขาได้รับคำสั่งมาอย่างไร จะทำให้เห็นว่ากระบวนการตัดสินใจสลายการชุมนุมนั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเอาผู้นำของกองทัพเข้ามามีส่วนรับผิดชอบด้วย

สิ่งที่ประชาชนจะต้องทำในอนาคต คือเรียกร้องจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ให้ต้องเดินหน้ารื้อฟื้นให้เหตุการณ์ความรุนแรงโดยรัฐ กลับคืนสู่กระบวนการยุติธรรมที่เปิดเผยและโปร่งใสอีกครั้งหนึ่ง อาจจะเป็น 5 ปี 10 ปี 20 ปี เพื่อยุติวัฒนธรรมแห่งการลอยนวลในสังคมไทย เป็นบทเรียนให้คนมีอำนาจว่าคุณไม่สามารถตัดสินใจอย่างง่ายๆ ในการปิดชีวิตประชาชน เพราะเชื่อว่าจะลอยนวลได้เหมือนอดีตที่ผ่านมา

 

เก่งกิจ กิตติเรียงลาภ: ค่าแรงและความมั่นคงในชีวิตของแรงงาน

เก่งกิจ กิตติเรียงลาภ คณะสังคมศาสตร์ ม.เชียงใหม่ กล่าวว่าถ้าดูตัวเลขประกันสังคม คือคนที่ถูกจ้างงานในระบบในภาคอุตสาหกรรมหรือภาคบริการอยู่ที่ 10 ล้านเศษๆ และกำลังแรงงานของประเทศไทยเมื่อต้นปีที่ผ่านมา มีประชากรในวันทำงาน 38 ล้านคน นั่นหมายความว่ามีคนกว่า 28 ล้านคนที่ไม่ถูกจ้างงานในระบบ ถูกกันออกจากเข้าถึงสิทธิต่างๆ ในฐานะคนทำงาน นี่ยังไม่นับรวมแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในประเทศไทย ซึ่งตัวเลขที่จดทะเบียนมีประมาณ 1 ล้านกว่า แต่จริงๆ อาจมีถึง 10 ล้านคนที่ไม่ได้จดทะเบียน

นอกจากนี้ยังมีการแบ่งช่วงชั้นของการใช้แรงงานหลายระดับ เรามักจะบอกว่าแรงงานที่มีฝีมือ มีสกีลสูง คนที่ทำงานที่เรียกว่า Creative Economy ไม่อยู่ในระบบการจ้างงานแบบประกันสังคม รวมถึงในภาคบริการ ก็อยู่ในการจ้างงานแบบพาร์ททาร์ม หรืองานในโรงงานเองก็อยู่ในสัญญาจ้างแบบชั่วคราว หรือบางส่วนก็นำแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านมาทำงานด้วยค่าแรงที่ถูกกว่า เราอยู่ในสังคมอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานราคาถูก และมีการแบ่งช่วงชั้นในตลาดแรงงานสูงมาก

แนวโน้มของรัฐบาลทุกรัฐบาล ไม่ว่าเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยเฉพาะรัฐบาลที่มาเผด็จการทหาร ก็คือการผลักดันนโยบายที่แปรรูปรัฐวิสาหกิจ หรือการลดสวัสดิการสังคมลง นั่นหมายความว่านโยบายที่จะโยนภาระของการดูแลตัวเอง เช่น การศึกษา การสาธารณสุข จะเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่ออยู่ใต้เผด็จการทหาร

เก่งกิจกล่าวว่าสิ่งที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งควรจะทำอย่างเร่งด่วนที่สุด คือ รัฐบาลควรลงนามในอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO 87 และ 98) อนุสัญญา 87 คือสิทธิของการรวมตัวของคนงาน และอนุสัญญา 98 คือการให้สิทธิแรงงานมีอำนาจในการต่อรองได้ในหลายรูปแบบและรัฐต้องคุ้มครอง

ขณะเดียวกัน การเพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับ GDP หรืออัตรากำไรในบริษัทเอกชนทั้งหลาย หรือกรณีแรงงานข้ามชาติซึ่งได้น้อยกว่าแรงงานขั้นต่ำ ราว 160 บาท แต่ก็ต้องช่วยนายจ้างโกหกว่านายจ้างให้ 300 บาท เพราะรัฐมีแนวโน้มที่จะใช้กำลังในการจับกุมตลอดเวลา ความคิดเรื่องชาตินิยมและการรังเกียจแรงงานข้ามชาตินั้น เป็นอาวุธสำคัญของรัฐที่จะใช้แรงงานข้ามชาติ ทั้งที่เราพึ่งพากำลังแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาก

ดังนั้น สถานการณ์แรงงานไทยคือ หนึ่ง เรามีกำลังแรงงานที่เข้าไม่ถึงสวัสดิการสังคมกว่า 70% สอง ความคิดแบบชาตินิยมซึ่งกำลังครอบงำ รวมถึงการที่ไม่ยอมรับสิทธิการรวมตัวของสหภาพแรงงาน และการใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม มาจำกัดสิทธิการชุมนุม ทำให้โอกาสของแรงงานในการต่อรองเพื่อเพิ่มค่าแรงและสวัสดิการสังคมกลับลดต่ำลงเรื่อยๆ ภายใต้บรรยากาศเช่นนี้

เวลาเราพูดถึงอาเซียนของสามัญชน สิ่งหนึ่งที่ไม่ค่อยได้พูดคือการเคลื่อนย้ายของมนุษย์ หรือการเพิ่มสิทธิของแรงงาน เป็นไปได้หรือไม่ที่ประเทศอาเซียนจะพูดเรื่องค่าแรงที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อป้องกันการแบ่งช่วงชั้นในตลาดแรงงาน ที่จะกดขี่แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน คิดว่านี่จะเป็นวาระของรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยจะต้องผลักดัน
 


นพพล ผลอำนวย: การเมืองกับความชอบธรรมทางการเมือง

นพพล ผลอำนวย อดีตนักศึกษาปริญญาโท ม.เชฟฟิลด์ กล่าวว่ารัฐบาลประชาธิปไตยที่ผ่านมาไม่เข้าใจลักษณะของการเมืองไทยสมัยใหม่อย่างหนึ่ง ก็คือเรื่องของความชอบธรรม รัฐบาลจะทำอะไรก็แล้วแต่ จะต้องอ้างความชอบธรรมหรือหาเหตุผลมาสนับสนุนได้ ในทางรัฐศาสตร์คลาสสิกมองแนวคิดความชอบธรรมว่าคือการจัดสรรสิ่งมีคุณค่าโดยสิทธิทางอำนาจ แต่ใครล่ะจะมีความชอบธรรมในการมาจัดสรรสิ่งที่มีคุณค่า แมกซ์ เวเบอร์ นักสังคมวิทยา ได้พยายามแบ่งความชอบธรรมว่ามีที่มาจากสามอย่าง คือประเพณี บุญบารมี และกฎหมาย

เดวิด เบตเทิร์น นักคิดชาวอังกฤษ พยายามอธิบายความชอบธรรมโดยมองถึงสามองค์ประกอบ หนึ่งคืออำนาจจะชอบธรรมหรือไม่ต้องตรงกับกฎเกณฑ์ที่มีอยู่ กฎเกณฑ์นี้ไม่ใช่เพียงกฎหมาย แต่อาจจะหมายถึงประเพณีที่มีอยู่ในสังคม สอง แล้วกฎเกณฑ์เหล่านั้นมันถูกให้คำอธิบายหรือเหตุผลในสังคมนั้นอย่างไร โดยมันจะชอบธรรมเมื่อคนในสังคมนั้นมันเชื่อว่าชอบธรรม คือกฎเกณฑ์นั้นมันต้องสอดคล้องกับความเชื่อในสังคม สามคือเรื่องการยินยอม (Consent) ของประชาชนต่อการใช้อำนาจรัฐของผู้ปกครอง แต่ในเรื่องการยินยอมก็มีปัญหาว่าบางครั้งมันก็วัดไม่ได้ว่าคนมันมีความยินยอมต่ออำนาจของรัฐนั้นมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะรัฐที่มีการใช้ความกลัว ใช้การปิดหูปิดตาประชาชน นำไปสู่ความเงียบ ซึ่งไม่ได้หมายถึงการยอมรับความชอบธรรมก็ได้

นพพลกล่าวว่าประชาธิปไตยไทยมีอายุค่อนข้างสั้นเหมือนเทียบกับระบอบเดิม กฎเกณฑ์ความชอบธรรมแบบประชาธิปไตยยังไม่สามารถสถิตเสถียรลงในสังคม ทั้งยังถูกท้าทายจากความชอบธรรมแบบจารีตตลอดเวลา และรัฐบาลจากประชาธิปไตยยังไม่คำนึงถึงตรงนี้ ไปผลักดันสิ่งที่ไม่สามารถให้เหตุผลความชอบธรรมได้ ทำให้คนเสื่อมศรัทธากับความชอบธรรมแบบประชาธิปไตย โจทย์ของรัฐบาลประชาธิปไตยคือคิดถึงความชอบธรรมที่สมเหตุสมผลสอดคล้องกับประชาธิปไตย
 

ประจักษ์ ก้องกีรติ: กระบวนการและสถาบันการเลือกตั้ง พรรคการเมืองและรัฐสภา

ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่าสถานการณ์วิกฤติในปัจจุบันสืบเนื่องจากเรามีระบอบประชาธิปไตยซึ่งมีความบกพร่อง ไม่ใช่ระบอบที่มีความชอบธรรม แต่ว่าภายใต้กฎกติกาในการขึ้นสู่อำนาจยังอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอยู่ แต่ปรากฏว่าสังคมไทยเลือกใช้วิธีการที่เป็นเผด็จการอำนาจนิยมมาแก้ไขปัญหา ซึ่งเป็นการแก้ไขที่ผิดทางและไม่มีทางออกจากวิกฤตินี้ได้

ถามว่ามันเกิดขึ้นเฉพาะสังคมไทยหรือไม่ คำตอบคือไม่ใช่ ทั่วโลกมีการเปลี่ยนผ่านกลับไปสู่ระบอบเผด็จการ แต่จากการศึกษาก็พบว่าแม้ก่อนหน้านี้คนไม่พอใจประชาธิปไตย เมื่อเผด็จการเข้ามาแล้วใช้อำนาจไปสักพัก คนพบว่าระบอบเผด็จการอำนาจนิยมไม่ได้มีทางเลือกเชิงนโยบาย หรือไม่ได้มีพฤติกรรมการใช้อำนาจที่ดีไปกว่าระบอบประชาธิปไตยบกพร่องเลย นักวิชาการเรียกมันว่าระบอบเผด็จการที่เปลือยเปล่า คือคุณไม่ได้มีความชอบธรรมที่เหนือกว่า ไม่ได้มีทางเลือกเชิงนโยบายให้ ถามว่ามันดำรงอยู่ได้อย่างไร ก็ดำรงอยู่ด้วยเครื่องมือของการใช้ความรุนแรงกับฝ่ายที่เห็นต่าง และผนวกรวมฝ่ายที่ไม่ได้ยึดอุดมการณ์ มาเป็นพวก

กรณีสังคมไทย มีคนสองกลุ่มที่ปฏิเสธระบอบประชาธิปไตย แล้วมีส่วนร่วมในการทำให้ประชาธิปไตยล่มสลาย ก็คือกลุ่มชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมที่เสียอำนาจและผลประโยชน์ กับกลุ่มชนชั้นกลางซึ่งรู้สึกว่าประชาธิปไตยที่มีมาก่อนหน้านี้ ไม่ใช่แบบที่เขาชอบ

ประจักษ์กล่าวว่าตนคิดว่ากลุ่มแรกเปลี่ยนไม่ได้แล้ว เพราะว่ามันเป็นสงครามที่เขาสู้บนเดิมพันสูง คิดว่าไม่สามารถดึงชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมกลับมาสู้ในเกมประชาธิปไตยได้ ต่างจากในฟิลิปปินส์กับอินโดนีเซีย ที่ชนชั้นนำเขาฉลาดพอที่จะสู้ภายใต้ระบบกติกาประชาธิปไตยเพราะเห็นว่ามีประโยชน์กว่า เหนื่อยและเสียหายน้อยกว่า ประชาธิปไตยจึงมีเสถียรภาพระดับหนึ่ง ส่วนที่คิดว่าสามารถดึงกลับมาและต้องทำคือชนชั้นกลาง ทำอย่างไรที่จะทำให้ชนชั้นกลางไม่ว่าจะระดับไหนก็ตาม ยอมหันกลับมาอยู่ภายใต้ประชาธิปไตย เพื่อจะมีประชาธิปไตยในระยะยาว เราไม่สามารถผลักไสชนชั้นกลางออกไปอยู่ข้างนอกกติกาประชาธิปไตยได้ตลอดไป

โจทย์นี้คือการฟื้นฟูคุณภาพประชาธิปไตย โดยภารกิจนี้ไม่สามารถทำได้โดยรัฐบาลเท่านั้น แต่ทุกคนต้องมีส่วนช่วยกัน ยุทธศาสตร์คือเราเปลี่ยนชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมไม่ได้ แต่เราต้องโดดเดี่ยวชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมในทางการเมือง วิธีทางหนึ่งก็คือการฟื้นฟูคุณภาพประชาธิปไตยแบบตัวแทน แบบรัฐสภา โดยเมื่อระบอบเผด็จการมันไม่มีฐานทางสังคมสนับสนุนใดๆ มันจะอยู่ไม่ได้

ประเด็นหนึ่งที่เราคิดและศึกษากันน้อย คือการปฏิรูปพรรคการเมือง ระบบประชาธิปไตยมันดำรงอยู่ไม่ได้ด้วยการมีพรรคการเมืองที่อ่อนแอและนักการเมืองที่ไร้คุณภาพ ต่อให้มีภาคประชาสังคมที่แข็งแรงขนาดไหน แต่ระบบตัวแทนมันห่วยมาก ระบอบก็ขาดความสมดุล ตราบใดที่เราไม่พูดเรื่องปฏิรูปพรรคการเมือง และระบบเลือกตั้ง มันจะทำให้ประเด็นเหล่านี้ตกไปอยู่ในมือของเนติบริกร รัฐศาสตร์บริการซึ่งผูกขาดองค์ความรู้ตรงนี้ แล้วก็มาออกแบบที่ไม่ได้เรื่องให้ทั้งสังคมใช้

และสังคมไทยต้องเปลี่ยนความคิด จากการที่มองนักการเมือง พรรคการเมืองเป็นสิ่งที่ชั่วช้า แต่ต้องมองเป็นเครื่องมือที่เราต้องใช้ในการขับเคลื่อน ผลักดันวาระของภาคประชาชนให้มันเป็นจริง ฉะนั้นจะทำอย่างไรให้ภาคพลเมืองกับภาคการเมืองเชื่อมต่อกัน เพื่อให้พรรคการเมืองไม่ใช่กลุ่มชนชั้นนำที่หลุดลอยไปจากสังคม แต่มีฐานทางสังคมรองรับ
 

ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี: กระบวนการสันติภาพที่ยั่งยืนในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะสร้างขึ้นมาได้อย่างไร

ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี คณะรัฐศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่าความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ เป็นความรุนแรงที่ยืดเยื้อหรือเรื้อรัง รัฐบาลทุกยุคสมัยทั้งประชาธิปไตยและเผด็จการในรอบสิบปีที่ผ่านมา ก็พยายามจะแก้ไข แต่ก็ยังไม่สำเร็จ ตนเห็นว่าปมเงื่อนของการต่อสู้เป็นเรื่องทางการเมือง ดังนั้นวิธีการแก้ปัญหาก็ต้องเป็นวิธีทางการเมือง การต่อสู้ในทางการทหารหรือความรุนแรงไม่สามารถแก้ได้จริงๆ

หลายคนหันมาพูดเรื่องการเปลี่ยนแปลงความขัดแย้ง จากการใช้วิธีที่รุนแรง มาเป็นความขัดแย้งที่ไม่รุนแรง โดยผ่านการพูดคุย การสื่อสารระหว่างฝ่ายที่ต่อสู้กัน กระบวนการสันติภาพที่ผ่านมาก็เริ่มชัดเจนขึ้นสองปีที่ผ่านมา ระหว่างรัฐบาลกับขบวนการ BRN หรือขบวนการอื่นๆ แต่ในอนาคต กระบวนการสันติภาพนี้จะยั่งยืนต่อไปได้อย่างไร

ศรีสมภพนำเสนอว่าข้อเสนอห้าข้อจากสองปีที่แล้ว จากฝ่ายของขบวนการ BRN เป็นข้อเสนอที่น่าสนใจ ที่รัฐบาลประชาธิปไตยในยุคต่อไปต้องนำมาพิจารณา ได้แก่ ประเด็นแรก คือจะต้องยอมรับฝ่ายที่เขาต่อสู้ ยอมรับความเป็นตัวแทนหรือสถานภาพของกลุ่มต่างๆ ที่ต่อสู้ ยอมรับประชาชนที่เข้าไปสู้กระบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิหรือความยุติธรรมให้เข้ามาสู่กระบวนการพูดคุย ข้อที่สอง คือต้องยอมรับว่ากระบวนการสันติภาพ ต้องมีผู้เจรจาไกล่เกลี่ย ผู้ประสาน ซึ่งอาจต้องมีฝ่ายคนกลางเข้ามา ประเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่สามารถเข้ามาช่วยทำให้เกิดการพูดคุยอย่างเป็นระบบได้

ข้อเสนอที่สาม คือต้องมีสักขีพยานจากหลายๆ ฝ่าย ทั้งในและนอกประเทศ มาร่วมในการพูดคุยนี้ ข้อที่สี่ คือต้องยอมรับสิทธิความเป็นเจ้าของ สิทธิความเป็นคนอยู่ในประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอันยาวนานของสามจังหวัดชายแดนใต้ ทั้งของมลายูมุสลิมและคนไทยพุทธ อย่างเท่าเทียมกัน เป็นการยอมรับความแตกต่างในพื้นที่

ข้อสุดท้ายเป็นเรื่องของความยุติธรรม คือเขาต้องการให้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกจับกุมคุมขังในคดีการเมือง ความมั่นคงในจังหวัดภาคใต้โดยไม่มีเงื่อนไข เขาไม่ใช่อาชญากรหรือโจร แต่เป็นนักต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม ความเท่าเทียม โดยคิดถึงการยุติธรรมในกระบวนการเปลี่ยนผ่าน อาจจะต้องมีการจัดการในกระบวนการยุติธรรมที่มันเป็นพิเศษ เพื่อให้แก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยสันติเป็นไปได้ เช่น มีการแสวงหาข้อเท็จจริง ให้มีหลักฐานจากทุกๆ ฝ่าย มีการเยียวยา ถ้าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐก็ต้องเข้าสู่กระบวนการลงโทษ และอาจมีกระบวนการอภัยโทษหรือนิรโทษกรรม

เวียงรัฐ เนติโพธิ์: ระบอบกระจายอำนาจกับรัฐรวมศูนย์

เวียงรัฐ เนติโพธิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่าเมื่อวิเคราะห์เรื่องการกระจายอำนาจของไทยมันมีลักษณะเฉพาะ หรือส่งผลอะไรบางอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จากรัฐธรรมนูญปี 2540 การกระจายอำนาจทำให้รัฐไทยที่มีลักษณะรวมศูนย์หลายประการถูกกัดเซาะหรือเปลี่ยนแปลงไป

ประการแรก รัฐไทยที่มีลักษณะรวมศูนย์มีการครองอำนาจโดยระบบราชการ มีสายการบังคับบัญชารวมศูนย์เข้าสู่ส่วนกลาง แต่การกระจายอำนาจทำให้ข้าราชการถูกแย่งอำนาจ ในการแชร์อำนาจรัฐมาสู่อำนาจของนักการเมือง ซ้ำยังเป็นนักการเมืองในระดับท้องถิ่น พูดง่ายๆ คือไปกัดเซาะอำนาจรัฐที่มีข้าราชการครองอำนาจ

ประการที่สอง การกระจายอำนาจไปกัดเซาะการเป็นรัฐที่อาศัยระบบอุปถัมภ์เป็นตัวกลางในการส่งผ่านอำนาจระหว่างประชาชนกับรัฐ ซึ่งรัฐไทยเริ่มต้นจากการสร้างรัฐด้วยการรวมศูนย์ และมีการอาศัยพึ่งพาเสริมสร้างเครือข่ายผู้มีอิทธิพลให้เข้มแข็ง แล้วก็สร้างการรวมศูนย์ตัวเองด้วยการอาศัยบารมีอิทธิพลของเจ้าพ่อ เพราะตัวเองไม่มีประสิทธิภาพพอ แต่กระจายอำนาจเอาอำนาจไปให้ผู้นำชุมชนท้องถิ่น ทำให้อำนาจที่เป็นทางการมาแทนที่อำนาจที่ไม่เป็นทางการ จากเจ้าพ่อเพียงไม่กี่คนกระจายมาสู่เจ้าพ่อตัวเล็กๆ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าระบบอุปถัมภ์แบบเดิมอ่อนแอลงไป

ประการที่สาม การกระจายอำนาจไปกัดเซาะความเข้าใจว่าเรามี sphere อำนาจอันเดียวกัน ในนามของชาติศาสนา เมื่อประชาชนทุกคนสามารถเลือกผู้ปกครอง สามารถเปลี่ยนผู้ปกครอง และสามารถที่จะบอกได้ว่าใครสร้างถนนหน้าบ้านตัวเอง มันทำให้เกิดคำถามสำคัญคือ ใครเป็นเจ้าของแผ่นดินนี้อย่างแท้จริง นั่นก็เป็นเหตุผลที่ทำให้การกระจายอำนาจถูกท้าทายและกดทับ โดยความพยายามจะดึงอำนาจรวมศูนย์กลับ

ต่อคำถามที่ว่าหากเป็นรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยจะทำอย่างไร คิดว่าคำตอบอยู่ที่กระบวนการกระจายอำนาจ เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ระบอบที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด แต่จะส่งผลเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของรัฐในระยะยาว โดยเห็นว่านักการเมืองในระบอบการเลือกตั้งจำเป็นต้องสร้างพันธมิตรกับนักการเมืองท้องถิ่น แต่ไม่เป็นการสร้างพันธมิตรเพื่อผลประโยชน์ในการได้รับการเลือกตั้งเท่านั้น แต่ต้องจริงใจมุ่งมั่นให้การกระจายอำนาจสัมฤทธิผลที่สุด ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคุณลักษณะของรัฐที่เป็นประชาธิปไตยอย่างยั่งยืน



เสียงของเยาวชนกับการต่อรองอำนาจระบบการศึกษาไทย

เรวดี งามลุน, นันณิชา ศรีวุฒิ และสลิล อาวุธ นักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ ม.เชียงใหม่ กล่าวร่วมกันถึงปัญหาที่นักศึกษาปัจจุบันเจอ คือระบบการจัดการต่างๆ เป็นแบบบนลงล่าง ส่งตรงมาทางเดียว เป็นการจัดการแบบเสร็จสรรพ โดยกว่านักศึกษากว่าจะรู้ว่างบหรือโครงการต่างๆ จะมาถึงโดยผ่านอะไรมาบ้าง โดยไม่มีพื้นที่ในการเสนอความคิดเห็น

ในเรื่องสวัสดิการต่างๆ ที่มหาวิทยาลัยจัดการไว้ ก็ไม่ได้มีการพูดคุยกันมาก่อน บริการต่างๆ ไม่ตรงจุดตรงประเด็น บางครั้งสวัสดิการเราได้รับก็จริง แต่เรากลายเป็นฝ่ายต้องแก้ไขสวัสดิการต่างๆ เหล่านั้นเองด้วยซ้ำ เช่น ตอนอยู่หอใน ก็เผชิญกับการไฟดับ น้ำไม่มา เอารถมาจอดก็ไม่มีที่จอดหรือมีปัญหารถหาย โดยไม่มีบุคลากรเข้ามาดูแลตรงนี้ นักศึกษาก็ทำได้แค่รอ หรือสวัสดิการต่างๆ เองก็มีการแบ่งสำหรับอภิสิทธิ์ชน เช่น ในพื้นที่ห้องสมุดเองกลับมีธุรกิจร้านกาแฟ ที่มีการกั้นพื้นที่ของห้องสมุด คนที่จะเข้าถึงที่นั่งหรือประโยชน์นั้นได้ก็ต้องซื้อกาแฟราคาแพง

ทั้งสามเห็นว่ามหาวิทยาลัยควรจะเปิดเป็นพื้นที่สาธารณะอย่างเต็มตัว โดยเฉพาะการทำให้การเมืองหรือเรื่องในมหาวิทยาลัยออกมาให้คนนอกรับรู้บ้าง ไม่ใช่อยู่เพียงในมือของหน่วยงานที่กุมผลประโยชน์หรือบังคับทิศทางของมหาลัย นักศึกษาควรมีสิทธิในการเฝ้าดูหรือสังเกตการณ์การทำงานของมหาลัย และการทำให้มหาลัยเป็นจุดนัดพบกันของทั้งนักศึกษา อาจารย์ ชุมชนชาวบ้าน ให้มีส่วนรวม ทั้งในแง่ของพื้นที่ทางความคิด และพื้นที่ทางกายภาพ การเปิดพื้นที่ทางความคิดจะนำไปสู่เสรีภาพในความรู้ ซึ่งแหล่งการเรียนรู้สามารถอยู่รอบตัว สามารถดึงทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนต่อการเรียนรู้ในมหาลัย การเปิดเป็นพื้นที่สาธารณะจะทำให้มหาลัยเชื่อมโยงกับชุมชนโดยรอบมากขึ้น ทำให้คนภายในมหาลัยเห็นคนอื่นๆ เท่าเทียมกับเรา
 

ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล: สังคมแห่งความฝัน

ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ผู้กำกับภาพยนตร์ กล่าวว่าอาชีพสื่อมวลชนเกี่ยวข้องอย่างยิ่งในการกำหนดความคิดของคนในสังคม โดยเฉพาะละครหลังข่าวต่างๆ วนเวียนอยู่กับการแย่งผัวเมีย ความดีชนะความชั่ว โลกที่แยกชัดเจนระหว่างขาวกับดำ คนดีก็ดีโดยกำเนิด ชั่วก็ชั่วโดยกำเนิด แล้วระบบสื่อสารมวลชนของไทยอยู่ภายใต้กฎของคณะรัฐประหารมาโดยตลอด

คนที่ทำงานสื่อรู้ดีว่าตนทำอะไรอยู่ ตนได้พูดคุยกับผู้บริหารช่องสถานีหลายช่อง ทุกคนอยากนำเสนอสิ่งใหม่ๆ เข้าสู่วงการ แต่อำนาจของสื่อมวลชนที่ถูกกำหนดมาแสนนาน มันกำหนดความคิดของการชมละคร คนพยายามเปลี่ยนแปลงเนื้อหาละครหลังข่าวก็เป็นเหตุให้เรตติ้งไม่ดี โฆษณาไม่เข้า แต่การเข้ามาของทีวีดิจิตัล ก็นำไปสู่ความพยายามจะนำเสนอสิ่งใหม่ๆ นำสังคมให้เปลี่ยนแปลง สิ่งที่น่าเศร้าคือหลังรัฐประหาร มีความพยายามนำกสทช.เข้าไปอยู่ในการควบคุมของรัฐบาลเผด็จการอีกครั้ง เหมือนกับย้อนหลังกลับไป

ในฐานะคนทำงานเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ เราพบว่าผู้คนในสังคมปัจจุบันอยู่กับความกลัว เราถูกหล่อหลอมให้กลัว กลัวสอบไม่ติด กลัวไม่มีงานทำ กลัวบางอย่างที่จะเกิดขึ้นกับเรา แปลว่าสังคมเรามันไม่มีความแน่นอน ไม่มีความมั่นคง เพราะมันไม่มีความหวังและความฝัน คนถูกขุดความฝันไปตั้งแต่แรกด้วยระบบ censorship แล้วไม่ใช่เซ็นเซอร์แค่ในสื่อ แต่ในความคิดของเราเอง พอมีความคิดอะไรนอกกรอบปรากฏขึ้นมา เราจะถูกอะไรบางอย่างกดดันให้เราไม่คิดไม่ฝันต่อ พอไม่มีความหวังและความฝัน เราเลยดำรงชีวิตโดยความกลัว และดำเนินชีวิตแบบเห็นแก่ตัว มันไม่มีพลังในจิตวิญญาณที่จะลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างเพี่อความฝันของตัวเอง อำนาจนิยมที่อยู่ในสื่อมวลชนมันกำหนดสังคมมาโดยตลอด

ชูเกียรติกล่าวถึงประเด็นว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง คือ อันดับแรก พยายามทำทุกวิถีทางที่จะบอกว่าเรามีสิทธิเสรีภาพที่จะคิดและแสดงออก ที่จะพูดและถกเถียงกันอย่างเป็นคนเท่าๆ กัน ต้องทำให้แนวคิดนี้ต้องเข้าไปอยู่ในสื่อสารมวลชน และสื่อก็ต้องเป็นอิสระจากการครอบงำของรัฐบาล เมื่อสร้างความฝันได้แล้ว รัฐบาลก็ควรจะสร้างโอกาส ที่จะเข้าถึงการศึกษา เข้าถึงเศรษฐกิจให้เท่าเทียมมากขึ้น


วรวิทย์ เจริญเลิศ: ประเทศไทยจำเป็นต้องมีนโยบายรัฐสวัสดิการ

วรวิทย์ เจริญเลิศ คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เชียงใหม่ กล่าวว่าเหตุผลในเรื่องการสนับสนุนรัฐสวัสดิการ ประเด็นแรกคือบริบทโลกมันก็เปลี่ยนไป ทั้งโลกาภิวัตน์สูงและเป็นทุนนิยมการเงิน วิกฤติของทุนนิยมวงรอบมันก็สั้นลง เกิดถี่ขึ้น สองคือปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย ที่อาศัยแรงงานราคาถูก ทำให้ขยับขึ้นไปแข่งขันในตลาดแรงงานคุณภาพที่ดีกว่าไม่ได้ สามคือวิกฤติทางการเมือง รัฐประหารครั้งนี้ดึงสังคมไทยให้ถอยกลับไปสู่หลุมดำ ความอับจนของอำนาจและปัญญา

วิกฤติเหล่านี้ ชนชั้นล่างและแรงงานกลายเป็นผู้รับภาระนี้ จำนวนมากถูกเลิกจ้าง เกิดสภาวะการตกงานถาวร ในสังคมที่มีการแข่งขันสูง แล้วคนก็มีความเสี่ยงสูงขึ้น ทั้งปัญหาสุขภาพ การต้องทำงานอย่างหนัก การถูกจ้างงานแบบชั่วคราว หรือในกลุ่มเกษตรกรเองก็ต้องมาขายแรงงานนอกฤดูเพาะปลูก หรือทำงานรับจ้างต่างๆ ไปด้วยในเวลาเดียวกัน ทำให้เกิดความจำเป็นต้องทำให้คนเหล่านี้มีพื้นที่ยืนในความเสี่ยงเหล่านี้ ระบบสวัสดิการสังคมแบบเบ็ดเสร็จน่าจะเข้ามาตอบโจทย์ตรงนี้

ไทยจำเป็นต้องมีนโยบายรัฐสวัสดิการ รัฐในมิติทางสังคม ไม่ใช่รัฐในมิติของการแข่งขันอย่างเดียว เรามีประกันสังคมครอบคลุมแรงงาน 13 ล้าน ให้สิทธิประโยชน์ 7 อย่าง แต่คนที่เหลืออีกประมาณ 25 ล้านคน เราบอกว่ามีระบบประกันสุขภาพ 30 บาทอยู่ แต่ก็เฉพาะสิทธิในการรักษาพยาบาล ไม่มีอย่างอื่น จะทำอย่างไรให้คนมีสิทธิขั้นต่ำทั้งประกันสังคมและประกันสุขภาพ น่าจะมีการบูรณาการกัน ยังต้องพัฒนาการศึกษาฟรี ที่พักอาศัยฟรี เงินน่าจะมาจากการเก็บภาษี ทั้งภาษีมรดก ภาษีทรัพย์สิน อีกทั้ง รัฐสวัสดิการคงไม่เกิดขึ้นจากการปฏิรูป จำเป็นต้องต่อสู้ในเรื่องประชาธิปไตยและเสรีภาพการแสดงออกด้วย เราถึงจะปฏิรูปในเรื่องนี้ได้
 


จีรนุช เปรมชัยพร: คอร์สติวเข้มสื่อเรื่องเสรีภาพประชาชน

จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการสำนักข่าวประชาไท กล่าวว่าเดิมคิดจะกล่าวในเรื่องการติวสื่อเรื่องเสรีภาพ ซึ่งมาจากความอึดอัดคับข้องใจในฐานะสื่อ ในรอบหลายปีมันมีความรู้สึกกระดากเขินอายที่จะบอกว่าเราเป็นสื่อมวลชน ในทั่วโลก สื่อมวลชนเป็นกลุ่มคนแรกที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้และปกป้องเรื่องเสรีภาพ แม้เสรีภาพสื่อไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกับเสรีภาพประชาชน แต่มันก็ต้องสอดคล้องและสนับสนุนกัน ไม่ใช่ในลักษณะการบอกว่าสถานะเสรีภาพสื่อเหนือกว่าเสรีภาพประชาชน

ความขัดแย้งในสังคมไทยหลายปีที่ผ่านมา กลายเป็นการส่งเสริมและประนีประนอมให้การลิดรอนเสรีภาพของประชาชน การยอมจำนนด้วยการเลือกจะเซ็นเซอร์ตัวเองกลายเป็นเรื่องปกติวิสัย แต่สื่อไทยสมัยก่อนก็ไม่ได้เป็นแบบนี้ สื่อไทยเคยเชิดหน้าชูตาในแถวหน้าของการต่อสู้เพื่อเสรีภาพ เราเคยเห็นความพยายามของพี่น้องสื่อในยุคพฤษภา 35 ที่พยายามรวมตัวกันในการส่งข่าวเล็ดรอดออกมาจากการปิดกั้น แต่ดูเหมือนบทบาทนั้นก็เหมือนจะน้อยลงไปมาก เกียรติภูมิของคนสื่อมันหายไป ความรักหลงใหลในเสรีภาพมันหายไป

สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความคิดอุตริจะพูดในเรื่องสอนสื่อเรื่องเสรีภาพ แต่พอมาคิดก็พบว่าเราสามารถสอนใครเรื่องเสรีภาพได้จริงๆ ไหม เสรีภาพเป็นเรื่องที่สอนกันได้หรือเปล่า แล้วจะสอนกันอย่างไร เสรีภาพเป็นเรื่องที่สอนกันไม่ได้ แต่เป็นเรื่องที่สร้างให้เกิดและเติบโตงอกงามได้ แต่เป็นสภาวะแห่งความเป็นอิสระ สามารถตัดสินใจเองได้ว่าจะทำไม่ทำ ชอบไม่ชอบ รักไม่รัก โดยไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจบังคับหรือความหวาดกลัว สภาวะแห่งเสรีภาพเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าสังคมขาดความสามารถในการเคารพในศักดิ์ศรีและความเท่าเทียมกันของมนุษย์

เสรีภาพเกิดขึ้นได้โดยการส่งเสริมให้คนเรียนรู้และรักในเสรีภาพ การส่งเสริมการเรียนรู้ความหลากหลายของทางเลือก เห็นถึงความอยุติธรรมและความเอารัดเอาเปรียบของโครงสร้างสังคมสูงต่ำ การเปิดประตูแห่งอิสรภาพในการสื่อสารของทั้งสื่อมวลชนและประชาชนคือวิถีทาง ซึ่งไม่มีทางเกิดขึ้นได้ในรัฐบาลเผด็จการทหาร
 

ภัควดี วีระภาสพงษ์: การปฏิรูปกองทัพ

ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลอิสระ มีการนำเสนอในลักษณะการแสดงถึงการไม่สามารถพูดในหัวข้อปฏิรูปกองทัพได้ แต่ได้มีการเปิดให้ดาวน์โหลดข้อเขียนในเรื่องนี้แทน


 

นิธิ เอียวศรีวงศ์: ความพังทลายของการจัดการเวลา

นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้กล่าวปิดงานว่าตนพยายามนึกว่าสิ่งที่ทหารกลัวและทำให้จัดงานนี้ที่หอศิลป์ไม่ได้นั้น เขากลัวอะไรกันแน่ ตนคิดว่าเขากลัวว่าจะไม่สามารถจัดการเวลาได้ โดยในประเทศไทยตั้งแต่ปฏิรูปประเทศรัชกาลที่ 5 มาจนถึงปัจจุบัน ชนชั้นนำของไทยพยายามในการจัดการเวลาของคนไทยเป็นอย่างยิ่ง วิธีในการจัดการเวลาคือจัดการอดีต ให้อดีตเป็นเรื่องเล่าที่เขาเป็นฝ่ายเล่า แล้วบังคับให้ทุกคนจดจำอดีตตามเรื่องเล่าของเขาสืบมา เมื่อไม่นานมานี้ ก็มีนักประวัติศาสตร์ ครูสอนประวัติศาสตร์ ไม่ใช่ตนคนเดียว ที่เริ่มมาตั้งคำถามกับเรื่องเล่าเหล่านั้น ว่ามันเป็นอดีตที่ไม่จริง อดีตที่คับแคบเกินไป ทำให้ทุกคนสูญเสียอดีตที่แท้จริงของตนเอง

เมื่อไรก็ตามที่คุณทำให้ทุกคนมีความทรงจำเกี่ยวกับอดีตอย่างใดอย่างหนึ่งได้ เขาจะไม่มีทางเลือกสำหรับปัจจุบันและอนาคตเลย ฉะนั้นเมื่อไรที่มีคนมาตั้งคำถามว่าอดีตที่เขาเล่ามันไม่จริงหรือคับแคบเกินไป มันคือการท้าทายการจัดเวลา ไม่ใช่อดีตอย่างเดียว แต่การจัดเวลาในปัจจุบันและอนาคตด้วย สิ่งนี้ได้เกิดขึ้นและรุนแรงขึ้น คงจำคำพิพากษาของศาลในกรณีที่มีดีเจกล่าวว่าปัจจุบันเราไม่ได้มีทาสเหมือนรัชกาลที่ 4 ศาลลงโทษว่าบุคคลผู้นี้หมิ่นประมาทรัชกาลที่ 4 นี่เป็นครั้งแรกที่ ม.112 ถูกตีความถึงพระมหากษัตริย์ที่ไม่ได้ปกครองแผ่นดินอยู่ในเวลานี้ มันแปลว่าการท้าทายเรื่องเล่าในอดีต มันรุนแรงจนคุณต้องขยายให้ม.112 ไปครอบคลุมถึงอดีตพระมหากษัตริย์ นี่เป็นคำพิพากษาที่แสดงความตกใจที่คนอื่นๆ แทรกเข้ามาจัดการเวลาด้วย แล้วจากคำพิพากษาก็กลายเป็นการยึดอำนาจบ้านเมือง

รัฐประหารครั้งนี้เป็นความพยายามของชนชั้นปกครองที่จะจัดเวลาอดีต เวลาปัจจุบันก็ใช้กำลังอำนาจยึดอำนาจรัฐ จัดการปัจจุบัน เช่น ไม่ยอมให้จัดเสวนา จัดพูดต่างๆ ซึ่งเท่ากับว่าพยายามจัดการอนาคตไปด้วย แต่บัดนี้กลวิธีที่เคยใช้ได้ผลมาร้อยกว่าปีคือการยึดกุมอดีตมันใช้ไม่ได้แล้ว จึงต้องใช้อำนาจตรงๆ เลยในการเข้ามายึดกุมปัจจุบันและอนาคตด้วย ตนจึงคิดว่าไม่มีครั้งไหนที่บ้านเมืองจะมืดมิดถึงขนาดนี้ แต่เชื่อว่ามันจะไม่มืดสนิทและมีแสงสว่างขึ้นมา
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิด จ.ม.จาก ‘แหวน’ ผู้ต้องหาคดีปาระเบิดลานจอดรถศาลอาญา

$
0
0

25 พ.ค.2558 สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ส่งมอบสำนวนการสอบสวนและความเห็นสมควรสั่งฟ้องแก่อัยการในคดีปาระเบิดใส่ลานจอดรถศาลอาญาเมื่อค่ำวันที่ 7 มี.ค. มีผู้ต้องหารวม 26 คน  แบ่งเป็น 2 สำนวน ซึ่งนายพิบูลย์ จตุพัฒนกุล รองเลขานุการอัยการสูงสุด ระบุว่าจะนำเรื่องเสนอให้อัยการสูงสุด พิจารณามีความเห็นสั่งคดีต่อไป โดยมั่นใจว่าจะมีคำสั่งได้ทันภายในกำหนดระยะฝากขังครั้งสุดท้าย ซึ่งยังเหลือเวลาอีกประมาณ 18 วัน

หนึ่งในผู้ต้องหาคนสำคัญคือ ณัฐฏธิดา มีวังปลา หรือแหวน พยาบาลอาสาผู้เคยเป็นพยานในคดี 6 ศพวัดปทุม เธอถูกแจ้งข้อหาร่วมกันก่อการร้าย, ร่วมกันเป็นอั้งยี่, ร่วมกันเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยมีและใช้เครื่องกระสุนปืนที่ใช้เฉพาะแต่การสงครามที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้และเป็นยุทธภัณฑ์ทางทหารโดยไตร่ตรองไว้ก่อน

แหวนหายตัวไปจากบ้านตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค.จากนั้นทนายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความจากกลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชน (กนส.) ได้ประกาศแจ้งในเฟซบุ๊กว่าเธอถูกทหารในเครื่องแบบ 2 นายควบคุมตัวไป เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ทหารปฏิเสธข่าวดังกล่าว แต่ต่อมาวันที่ 17 มี.ค. พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบกและโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยอมรับว่าทหารได้ควบคุมตัวแหวนไว้จริงเพราะต้องการข้อมูลเชื่อมโยงผู้ต้องหาต่างๆ ในคดีปาระเบิดดังกล่าว จากนั้นเธอถูกแจ้งข้อหาและฝากขังในทัณฑสถานหญิงกลางเรื่อยมาจนปัจจุบัน

วันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา นายวิญญัติ ทนายความของแหวนเปิดเผยว่า แหวนได้ส่งจดหมายชี้แจงเหตุการณ์ทั้งหมด และเขาเตรียมจะนำจดหมายดังกล่าวไปประกอบหนังสือร้องขอความเป็นธรรมยื่นต่ออัยการภายในสัปดาห์นี้ (รายละเอียดของจดหมายอ่านด้านล่าง)

ทั้งนี้สำนวนของตำรวจแบ่งเป็น 2 สำนวนประกอบด้วย

กลุ่มที่หนึ่ง สำนวนคดีอาญาที่ 249/2558 ของสน.พหลโยธิน เหตุเกิดบริเวณ ลานจอดรถศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก แขวงจอมพล เขตจตุจักร กทม. ช่วงเดือน ก.พ. 58 - 8 มี.ค. 2558 ที่มีผู้ต้องหารวม 18 คน โดยถูกกล่าวหากรนะทำผิดกฎหมายรวม 10 ข้อหา ซึ่งสามารถจับกุมได้ 14 คน ประกอบด้วย นายมหาหิน หรือ สายเหยี่ยวแดง ขุนทอง ผู้ต้องหาที่ 1, นายยุทธนา หรือ องค์ดำ เย็นภิญโญ ผู้ต้องหาที่ 2, นางณัฎฐพัชร์ หรือ นัท อ่อนมิ่ง ผู้ต้องหาที่ 3, น.ส.ธัชพรรณ หรือ ไข่มุก ปกครอง ผู้ต้องหาที่ 4, นายวิชัย หรือ สหายตั้ม อยู่สุข ผู้ต้องหาที่ 5, นายนรภัทร หรือ สหายบาส เหลือผล ผู้ต้องหาที่ 6, นายสรรเสริญ หรือ สัน ศรีอุ่นเรือน ผู้ต้องหาที่ 7, นายชาญวิทย์ จริยานุกูล ผู้ต้องหาที่ 8, นางสุภาพร หรือ เดียร์ มิตรอารักษ์ ผู้ต้องหาที่ 9, นางวาสนา บุษดี ผู้ต้องหาที่ 10, นายณเรศ อินทรโสภา ผู้ต้องหาที่ 11, นายวสุ เอี่ยมละออ ผู้ต้องหาที่ 12, นายเจษฎาพงษ์ หรือ เจต วัฒนพรชัยสิริ ผู้ต้องหาที่ 13, นายสมชัย อภินันท์ถาวร ผู้ต้องหาที่ 14 โดยยังมีผู้ต้องหาหลบหนี 4 คนประกอบด้วย นายธนาวุฒิ อภินันท์ถาวร ผู้ต้องหาที่ 15, นาย วิระศักดิ์ หรือ บิ๊ก/ใหญ่ พัทยา โตวังจร ผู้ต้องหาที่ 16, นายมนูญ ชัยชนะ หรือ นายอเนก ซานฟราน ผู้ต้องหาที่ 17 และผู้ต้องหาที่ 18 ซึ่งเป็นเยาวชน อายุ 17 ปี บุตรชายของของนางสุภาพร มิตรอารักษ์
       
กลุ่มที่ 2 สำนวนคดีอาญาเลขที่ 477/2558 สน.โชคชัย เหตุเกิดที่ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น, ต.ลาดสวาย อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี, แขวงจอมพล เขตจตุจักร กทม. และแขวงคลองเจ้าคุณสิงห์ เขตวังทองหลาง กทม. ช่วงเดือน ก.พ. 2558 - วันที่ 5 ก.พ. 2558 ผู้ต้องหารวม 8 คน ซึ่งจับกุมได้ 6 คน ประกอบด้วย นาง สุภาพร หรือ เดียร์ มิตรอารักษ์ ผู้ต้องหาที่ 2 ,นางวาสนา บุษดี ผู้ต้องหาที่ 3, น.ส.ณัฏฐธิดา หรือแหวน มีวังปลา ผู้ต้องหาที่ 4, นายสุรพล เอี่ยมสุวรรณ ผู้ต้องหาที่ 5 ,นายวสุ เอี่ยมละออ ผู้ต้องหาที่ 6 และนาย สมชัย อภินันท์ถาวร ผู้ต้องหาที่ 7 และยังหลบหนีอีก 2 คน ประกอบด้วย นายมนูญ ชัยชนะ หรือ นายอเนก ซานฟราน ผู้ต้องหาที่ 1 และ นายธนาวุฒิ อภินันท์ถาวร ผู้ต้องหาที่ 8 โดยผู้ต้องหาทั้ง แปด ถูกกล่าวหาในข้อหาร่วมกันก่อการร้าย , ร่วมกันเป็นอั้งยี่ , ร่วมกันเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยมีและใช้เครื่องกระสุนปืนที่ใช้เฉพาะแต่การสงครามที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้และเป็นยุทธภัณฑ์ทางทหารโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.135/1, 209, 289 (4), พ.ร.บ.อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน พ.ศ. 2490 ม.4(2), 7, 55, 72 วรรคแรก, 78 วรรคแรก, พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530 ม.4, 15 วรรคแรก, 42, ประกาศกระทรวงกลาโหม เรื่อง กำหนดยุทธภัณฑ์ ที่ต้องขออนุญาต ตาม พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ฯ ลงวันที่ 30 พ.ย. 50 ข้อ 2.1.2 และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 50 พ.ศ. 2557 ลงวันที่ 30 พ.ค. 2557 

 

000000

 

19 พ.ค. 2558

เรียนทนายวิญญัติ ชาติมนตรี

เนื่องจากดิฉัน ขญ.ณัฏฐธิดา มีวังปลา ถูกตั้งข้อหาร่วมกันก่อการร้าย, ร่วมกันเป็นอั้งยี่, มีและใช้อาวุธสงครามที่ใช้แต่การทหารที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้, และพยายามฆ่า ดิฉันขอชี้แจงรายละเอียดดังนี้

ในวันที่ 7 มีนาคม 2558 ดิฉันได้เห็นข่าวการปาระเบิดหน้าศาลอาญารัชดาจากทางทีวี และทางกลุ่มไลน์ข่าวอาสา S.M.A.R.T. ในข่าวดังกล่าวดินฉันเห็นชื่อผู้ต้องหา ที่ใช้นามแฝงว่า “เหยี่ยวแดง” ซึ่งดิฉันไม่เคยรู้จักบุคคลนี้เป็นการส่วนตัว แต่เคยเห็นชื่อนี้ปรากฏในกลุ่มไลน์ชื่อ “กลุ่มภาคีไทยเสรีชน” ที่ดิฉันเคยอยู่ในกลุ่มไลน์นี้เมื่อประมาณเดือนพฤศจิกายน 2557 ถึงประมาณต้นเดือนมกราคม 2558 ดิฉันได้ออกจากกลุ่มไลน์นี้เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับความรุนแรง ดิฉันได้ว่ากล่าวตักเตือนบางคนในกลุ่มแต่เขาไม่ฟัง จนเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวตามข่าวที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ ดิฉันได้นำข่าวนี้พร้อมข้อมูลบางส่วนที่ปรึกษากับทนายที่เคารพและนัดเข้าพบท่านเพื่อชี้แจงข้อมูลเพื่อหาทางป้องกันตนเอง และเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ที่ดิฉันไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ  ดิฉันเป็นเพียงอาสาพยาบาลเบื้องต้น ไม่สามารถฆ่าหรือทำร้ายผู้ใดได้ และที่สำคัญ ดิฉันไม่เห็นด้วยกับความรุนแรงและขอยืนยันว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้นกับคดีนี้ อนึ่งไม่ว่าผู้ใดก็ตามที่กระทำความผิดหรือเข้าข่ายผู้ต้องสงสัยเขาไม่ควรถูกทำร้าย เขาควรถูกไต่สวนตามกระบวนการ ขั้นตอน ที่มีในประเทศไทย ดิฉันอยากเห็นความเป็นธรรมในสังคมไทย เพราะเชื่อว่ากระบวนการยุติธรรมมีอยู่จริง ด้วยเหตุและผลที่ดิฉันมี ดิฉันศรัทธาในความดีและเชื่อว่าคนมีค่าเท่ากับคน สุดท้ายนี้ดิฉันหวังใจเป็นอย่างยิ่งว่าสังคมไทย ประเทศไทย คงมีความเป็นธรรมอยู่บ้าง

ด้วยความเคารพอย่างสูง

ข.ญ.ณัฏฐธิดา มีวังปลา

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ดาวดินออกแถลงการณ์เรียกร้องหยุดสร้างความเกลียดชังคนเห็นต่าง

$
0
0

25 พ.ค. 2558 กลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม หรือ ดาวดิน ออกแถลงการณ์ยันปัญหาสิทธิ เสรีภาพทางการเมืองเชิงโครงสร้างมีความเชื่อมโยงถึงผลกระทบจากนโยบายหรือโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐบาล แจงการต่อสู้ของกลุ่มปราศจากความรุนแรงและอามิสสินจ้างใดๆ และไม่ใช่ฝ่ายการเมืองไหนหรือสีใด เรียกร้องประชาชนกลุ่มที่มุ่งทำลายความชอบธรรมและยุยงส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปเกลียดชังนักศึกษาให้หยุดการกระทำดังกล่าวนั้นทันที พร้อมเรียกร้องถึงรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากประชาชน ขอให้ยกเลิกมาตรา 44 และรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว แล้วเร่งคืนอำนาจอธิปไตย สิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตยให้แก่ประชาชนโดยเร็ว รวมถึงหยุดการคุกคามและทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ปล้นชิงไปจากประชาชน

อนึ่ง สมาชิกกลุ่มดาวดิน 7 คน ถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช. ที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง หลังทำกิจกรรมคัดค้านรัฐประหาร ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จ.ขอนแก่น เมือวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา
 

0000

แถลงการณ์กลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม (ดาวดิน)

จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 เป็นวันครบรอบวันเกิด 1 ปีเผด็จการ ซึ่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจและปล้นชิงอำนาจประชาธิปไตยของประชาชนไป พร้อมกับประกาศใช้กฎอัยการศึกและอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมาตรา 44 และด้วยอำนาจอันยิ่งใหญ่คับฟ้า อดีตผู้บัญชาทหารบกได้แต่งตั้งตนเองเป็นผู้นำและตั้งรัฐบาลที่ไม่มีความชอบธรรมและไม่ใช่รัฐบาลของประชาชนขึ้นมาปกครองประเทศ หลังจากนั้นก็ทำการกวาดล้างประชาชนผู้คิดต่าง ข่มขู่สื่อมวลชนที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลทหาร รวมถึงการต่อสู้ของประชาชนที่อื่นๆ ทั่วประเทศ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ทั้งในเครื่องแบบและนอกเครื่องแบบ ได้ปฏิบัติการลิดรอนสิทธิ เสรีภาพ คุกคามสิทธิมนุษยชน และละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ทั้งการต่อสู้เชิงโครงสร้างเพื่อสิทธิ เสรีภาพทางการเมืองและการต่อสู้ของประชาชนเพื่อปกป้องสิทธิชุมชนและเพื่อกำหนดชะตาชีวิตของตัวเอง

วันที่ 22 พฤษภาคม ที่ผ่านมา พวกเราทั้ง 7 คน จึงไปแสดงจุดยืนของพวกเราคือ “คัดค้านรัฐประหาร” ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จังหวัดขอนแก่น เพื่อต้องการสื่อสารต่อสาธารณะและรัฐบาลถึงปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนที่ปกป้องสิทธิชุมชนเพื่อให้สามารถกำหนดชะตาชีวิตของตัวเองและสิทธิในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชน ซึ่งปัญหาของชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ ล้วนแต่ต่อสู้มาอย่างอาจหาญและยาวนาน แต่เสียงของพวกเขาที่ร้องตะโกนนั้นรัฐบาลไม่เคยสนใจและเอาใจใส่ ไม่ว่ารัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยหรือไม่เป็นประชาธิปไตยก็ตาม แต่ภายใต้สถานการณ์ที่ปืนจ่อหัวอยู่และมนต์สะกดว่าให้มีความสุข ชาวบ้านไม่สามารถออกมาต่อสู้ เรียกร้อง และมีส่วนร่วมตามสิทธิชุมชนที่เคยมีได้ กิจกรรมที่พวกเราทำในวันนั้น จึงเป็นการพูดถึงปัญหาผลกระทบจากการสร้างเขื่อน โครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูน เหมืองแร่ การขุดเจาะปิโตรเลียม เหมืองแร่โปรแตซ การก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม ปัญหาการไล่รื้อที่ทำกินของชาวบ้าน ตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 64/2557 และปัญหาที่ของพี่น้องประชาชนที่เกิดขึ้นในพื้นที่อื่นๆทั่วประเทศ ภายใต้กฎอัยการศึกและมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว อันเป็นเครื่องมือกำราบประชาชนให้อยู่ในความสงบ ห้ามแข็งขืน ปิดหู ปิดตา ปิดปาก ประชาชน ห้ามคิด ห้ามพูด ห้ามแสดงออก ห้ามมีส่วนร่วมทางการเมืองหรือแสดงสิทธิใดๆ นอกจากนี้ พวกเรายังพูดถึงรัฐธรรมนูญฉบับที่ไม่ได้มีส่วนร่วมของประชาชนเพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่เขียนเอง ร่างเอง และลงมติเอง โดยกลุ่มคนที่ คสช. แต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสิทธิ เสรีภาพของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย เพราะพวกเราเชื่อว่าปัญหาสิทธิ เสรีภาพทางการเมืองเชิงโครงสร้างมีความเชื่อมโยงถึงผลกระทบจากนโยบายหรือโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐบาล

หลังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพวกเราทั้ง 7 คน ถูกตั้งข้อหา ”รักประชาธิปไตย” “รักความเท่าเทียมในความเป็นมนุษย์” ทำให้พวกเราถูกจับกุมและขัง วันเดียวกันนั้นเองเพื่อนๆ ของพวกเราที่ออกมาแสดงจุดยืนที่หน้าหอศิลป์ กรุงเทพ ที่แม้จะอยู่ห่างไกลกันก็ตามแต่ก็สู้เพื่อสิ่งที่คิดและเชื่อว่าถูกต้องเหมือนกัน เพื่อนบางคนถูกทำร้ายร่างกายจนได้รับบาดเจ็บ ถูกบีบคอ ถูกดึงผม และนำไปสู่ความรุนแรงและการปะทะระหว่างนักศึกษาและเจ้าหน้าที่ตำรวจ จนสถานการณ์ได้บานปลายมาถึงขั้นล่าแม่มดจากฝ่ายปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย เกิดการตามล่าและใส่ร้ายป้ายสีว่าถูกจ้างมาบ้าง เป็นขบวนการล้มเจ้าบ้าง เพื่อทำลายความชอบธรรมของพลังอันบริสุทธิ์ของนักศึกษาทั่วประเทศ

เนื่องในโอกาสครบครบ 1 ปี เผด็จการทหาร พวกเราในนาม กลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม (ดาวดิน) ขอประกาศถึงพี่น้องนักศึกษา ประชาชน และผู้ที่รักในสิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และความเท่าเทียมทั่วประเทศว่า ขอให้ร่วมกันออกมาแสดงพลังของท่านในวิถีทางที่ทำได้และขอให้ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องหากพวกเราและเพื่อนๆ ทั่วประเทศ ถูกตามล่า ข่มขู่ คุกคาม ด้วยวิธีการอันไม่ชอบธรรมและนอกกฎหมาย พวกเราขอประกาศประชาชนกลุ่มที่มุ่งทำลายความชอบธรรมและยุยงส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปเกลียดชังนักศึกษาว่า ขอให้หยุดการกระทำดังกล่าวนั้นทันที หากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ไม่เคยสอนอะไรพวกท่านเลย กลับพยายามหมุนเข็มนาฬิกากลับไปหาอดีตอันมืดมน แต่สุดท้ายมันจะหมุนกลับมาที่เดิมและตอกย้ำตราบาปที่พวกท่านได้หมุนเข็มนาฬิกากลับไป พวกท่านจะได้ชื่อว่า "คนที่เข่นฆ่าเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเพียงเพราะความคิดต่างทางการเมือง” ตราบเท่าที่ลูกหลานพวกเราจะเติบโตขึ้นมาและรับรู้เรื่องราวในวันนี้ พวกเราขอประกาศถึงขบวนการต่อสู้ในที่อื่นๆ ทั้งประเด็นทางการเมืองและปัญหาปากท้องของชาวบ้านว่า การต่อสู้ของพวกเราปราศจากความรุนแรงและอามิสสินจ้างใดๆ พวกเราไม่ใช่ฝ่ายการเมืองไหนหรือสีใด พวกเราคือ กลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม (ดาวดิน) กลุ่มนักศึกษาที่ลงพื้นที่เรียนรู้ปัญหาและต่อสู้เคียงข้างกลุ่มชาวบ้าน ที่ถูกรัฐและนายทุนละเมิดสิทธิชุมชน สิทธิมนุษยชน และปล้นชิงทรัพยากรธรรมชาติในภาคอีสาน ดังนั้น การต่อสู้ของพวกเราที่ผ่านมาและในอนาคตข้างหน้านั้น เป็นไปด้วยความชอบธรรมและด้วยสันติวิธี และพวกเราขอประกาศถึงรัฐบาลที่ไม่ได้มาประชาชนว่า ขอให้ยกเลิกมาตรา 44 และรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว แล้วเร่งคืนอำนาจอธิปไตย สิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตยให้แก่ประชาชนโดยเร็ว รวมถึงหยุดการคุกคามและทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ปล้นชิงไปจากประชาชน (ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว) และสุดท้ายพวกเราขอประกาศว่า “พอกันที!” กับรัฐบาลเผด็จการทั้งที่ผ่านมาในอดีต ปัจจุบัน และในอนาคตทั้งหลายทั้งปวง และขอให้อำนาจประชาธิปไตยสถิตย์อยู่กับประชาชนตลอดไป

ด้วยจิตคารวะต่อสิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตย ความเท่าเทียม และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

กลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม (ดาวดิน)

25 พฤษภาคม 2558

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปราบดา หยุ่น ได้รับเลือกเป็น ประธานสมาคมผู้จัดพิมพ์ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก

$
0
0

เกาหลีใต้ - ในงานประชุมสามัญประจำปี “สมาคมผู้จัดพิมพ์ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (Asia Pacific Publishers Association : APPA)” นั้น ปราบดา หยุ่น  อุปนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย(PUBAT) ได้รับคัดเลือกด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์จากประเทศสมาชิกทั้ง 17ประเทศ ให้ดำรงตำแหน่งประธานสมาคมผู้จัดพิมพ์ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกคนล่าสุด โดยถือเป็นคนไทยเป็นคนแรกที่ได้รับตำแหน่งนี้

สมาคมผู้จัดพิมพ์ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (Asia Pacific Publishers Association : APPA) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1992 โดยเป็นองค์กรในระดับนานาชาติ ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันอุตสาหกรรมหนังสือให้เติบโตในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยมีสมาชิกจาก 17 ประเทศ คือ บังคลาเทศ บรูไน จีน ติมอร์ตะวันออก อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย มองโกเลีย ปากีสถาน ปาปัวนิวกีนี ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ศรีลังกา เวียดนาม ไต้หวัน และไทย
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มือดีพ่นสีสัญลักษณ์อนาธิปไตยหน้าศาลอาญา วินธัย ระบุ เข้าข่ายผิดกฎหมาย

$
0
0

24 พฤษภาคม 2557 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.พหลโยธิน พร้อมเจ้าหน้าที่ทหารจากกองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ เข้าตรวจสอบบริเวณป้าย ศาลอาญา รัชดาฯ  หลังมีผู้นำสีสเปรย์สีดำ มาฉีดพ่นสัญลักษณ์ อนาธิปไตย(Anarchist symbol)  ที่ป้ายศาล บริเวณด้านหน้าและหลังข้อความ คำว่า ศาลอาญา จำนวน 2 จุด

นายบวรศักดิ์ ทวิพัฒน์ โฆษกสำนักงานศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า ได้รับรายงานเรื่องดังกล่าว และได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สน.พหลโยธินแล้ว ส่วนผู้กระทำจะมีความผิดในข้อหาใดบ้างนั้น ต้องพิจารณาในรายละเอียดก่อน ส่วนจะมีความผิดฐานล่วงละเมิดอำนาจศาลหรือไม่นั้น ศาลอาญาจะเป็นผู้พิจารณา และขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็นการแสดงออกทางการเมืองหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ได้ลบสัญลักษณ์ดังกล่าวออกจากป้ายแล้ว

ด้าน พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีข้างต้นว่า การกระทำลักษณะนี้ถือว่าเข้าข่ายผิดกฎหมาย แต่ต้องรอให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบความชัดเจนอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม คสช.ยังคงมาตรการรักษาความปลอดภัยทุกพื้นที่

บีบีซี แฟนเพจขยายความเพิ่มเติมถึงความเป็นมาของสัญลักษณ์อนาธิปไตยนั้น มีบันทึกถึงการเริ่มใช้เป็นครั้งแรกในขบวนการแรงงานของสเปนในศตวรรษที่ 19 แต่ได้รับความนิยมแพร่หลายในการประท้วงทางการเมืองทั่วโลกในปัจจุบัน หลังการเกิดขึ้นของขบวนการต่อต้านโลกาภิวัตน์เมื่อช่วงต้นสหัสวรรษนี้ โดยตัวอักษร A แทนคำว่า Anarchy หรือ อนาธิปไตย อยู่ในวงกลมซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนตัวอักษร O ใช้แทนคำว่า Order ซึ่งโดยรวมแล้วมีความหมายเชิงต่อต้านอำนาจรัฐ

ในส่วน มติชนออนไลน์ได้ตั้งข้อสังเกตุว่า สัญลักษณ์ดังกล่าวคล้ายกับสัญลักษณ์ที่ใช้ในการต่อสู้ ในภาพยนตร์เรื่องกัปตัน อเมริกา (Captain America) ซึ่งเป็นที่รู้จักและได้รับการตอบรับเป็นอย่างมากในประเทศไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิธิ เอียวศรีวงศ์: เขากลัวว่า เขาจะไม่สามารถจัดการเวลาได้

$
0
0

ในงานมุทิตาจิต "75 ปีที่ผ่านและวันข้างหน้าของ นิธิ เอียวศรีวงศ์" ซึ่งจัดเมื่อวันที่ 23 พ.ค. นั้น เดิมมีกำหนดจะจัดงานที่โรงละคร หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่ก่อนหน้างานเพียงหนึ่งวัน ทางคณะวิจิตรศิลป์ได้แจ้งว่าโรงละครกำลังอยู่ในระหว่างการปรับปรุงซ่อมแซม จึงไม่สะดวกให้ใช้สถานที่ ทำให้ผู้จัดงานย้ายมาจัดงานในพื้นที่เอกชนแทน โดยในงานวิทยากรได้กล่าวคนละ 10 นาที เพื่อตอบโจทย์ว่า "หากมองไปในอนาคต ถ้าหากมีรัฐบาลประชาธิปไตย คุณจะทำอะไรได้บ้างเพื่อสร้างการเมืองและประชาธิปไตยที่ดี" นั้น (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)และจากนั้นมีการร้องเพลง "Do You Hear the People Sing?" แปลเนื้อร้องโดย สุขุม ยังวัน

เพลง Do You Hear the People Sing?

นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวปิดงาน

หลังจบเพลง นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้กล่าวปิดงานว่า พยายามนึกว่าที่ทหารกลัวและทำให้งานนี้จัดที่หอศิลป์ ถ.นิมมานเหมินท์ ไม่ได้นั้น เขากลัวอะไรกันแน่ ทั้งนี้ เขาบอกว่าเขากลัว แต่เขาไม่ได้กลัวผม แต่เขากลัวคนที่มาพูดทั้งหลาย พวกท่านเคยไปทำอะไรไว้ผมก็ไม่ทราบ เขากลัวพวกท่านมากกว่า เขาเห็นชื่อแล้วคงจัดไม่ได้ ผมพยายามจะนึกว่าเขากลัวอะไร ผมก็เลยมานึกออกและอาจจะตอบคำถามนี้ด้วยในตัว คือจริงๆ แล้วเขากลัวว่า เขาจะไม่สามารถจัดการเวลาได้ ในประเทศเป็นเวลาไม่ต่ำกว่าตั้งแต่ปฏิรูปประเทศสมัยรัชกาลที่ 5 สืบมาจนถึงทุกวันนี้ ผมคิดว่าชนชั้นนำหรือชนชั้นปกครองของไทย พยายามในการจัดการเวลาของคนไทยเป็นอย่างยิ่ง วิธีในการที่ชนชั้นปกครองจะจัดการเวลาในประเทศไทยใช้ คือ จัดการอดีต  ให้เป็นเรื่องเล่าที่เขาเป็นฝ่ายเล่า แล้วให้ทุกๆ คน จดจำอดีตของตนเอง ตามเรื่องเล่าของเขา

สืบมาจนกระทั่งถึงเมื่อไม่นานมานี้ ก็มีนักประวัติศาสตร์ ครูสอนประวัติศาสตร์ ไม่ใช่ตนคนเดียว ที่เริ่มมาตั้งคำถามกับเรื่องเล่าเหล่านั้น ว่ามันเป็นอดีตที่ไม่จริง อดีตที่คับแคบเกินไป ทำให้ทุกคนสูญเสียอดีตที่แท้จริงของตนเอง

เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณทำให้ทุกคนมีความทรงจำเกี่ยวกับอดีตอย่างใดอย่างหนึ่งได้ เขาจะไม่มีทางเลือกสำหรับปัจจุบันและอนาคตเลย ฉะนั้นเมื่อไรที่มีคนมาตั้งคำถามว่าอดีตที่เขาเล่ามันไม่จริงหรือคับแคบเกินไป มันคือการท้าทายการจัดเวลา ไม่ใช่อดีตอย่างเดียว แต่การจัดเวลาในปัจจุบันและอนาคตด้วย สิ่งนี้ได้เกิดขึ้นและรุนแรงขึ้น คงจำคำพิพากษาของศาลในกรณีที่มีดีเจกล่าวว่าปัจจุบันเราไม่ได้มีทาสเหมือนรัชกาลที่ 4 ศาลลงโทษว่าบุคคลผู้นี้หมิ่นประมาทรัชกาลที่ 4 นี่เป็นครั้งแรกที่ ม.112 ถูกตีความถึงพระมหากษัตริย์ที่ไม่ได้ปกครองแผ่นดินอยู่ในเวลานี้ มันแปลว่าการท้าทายเรื่องเล่าในอดีต มันรุนแรงจนคุณต้องขยายให้ม.112 ไปครอบคลุมถึงอดีตพระมหากษัตริย์ นี่เป็นคำพิพากษาที่แสดงความตกใจที่คนอื่นๆ แทรกเข้ามาจัดการเวลาด้วย แล้วจากคำพิพากษาก็กลายเป็นการยึดอำนาจบ้านเมือง

รัฐประหารครั้งนี้เป็นความพยายามของชนชั้นปกครองที่จะจัดเวลาอดีต เวลาปัจจุบันก็ใช้กำลังอำนาจยึดอำนาจรัฐ จัดการปัจจุบัน เช่น ไม่ยอมให้จัดเสวนา จัดพูดต่างๆ ซึ่งเท่ากับว่าพยายามจัดการอนาคตไปด้วย แต่บัดนี้กลวิธีที่เคยใช้ได้ผลมาร้อยกว่าปีคือการยึดกุมอดีตมันใช้ไม่ได้แล้ว จึงต้องใช้อำนาจตรงๆ เลยในการเข้ามายึดกุมปัจจุบันและอนาคตด้วย จึงคิดว่าไม่มีครั้งไหนที่บ้านเมืองจะมืดมิดถึงขนาดนี้ แต่เชื่อว่ามันจะไม่มืดสนิทและมีแสงสว่างขึ้นมา

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บวรศักดิ์ ยัน รธน.ใหม่ จะนำชาติสู่สันติ เชื่อ สปช. ไม่คว่ำร่าง

$
0
0

ประธาน กมธ.ยกร่าง รธน. บรรยายให้ความรู้เรื่องร่าง รธน. กับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 องค์กร ชี้ รธน.ใหม่จะชาติสู่สันติ โชว์มาตราการป้องกันทุจริตด้วยสมัชชาคุณธรรม พร้อมเชื่อ สปช. จะไม่คว่ำร่าง อย่างที่มีข่าวลือ

25 พ.ค. 2558 เมื่อวานนี้ เว็บข่าวรัฐสภา รายงานว่า บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวบรรยายให้ความรู้เรื่องร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญ ให้กับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ในโครงการเผยแพร่ความรู้เรื่องร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญ  โดยบวรศักดิ์ อธิบายถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ว่าเป็นฉบับเน้นการปฏิรูปและสร้างความปรองดอง มุ่งแก้ปัญหาในอดีต นำชาติสู่สันติสุข สร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ สร้างการเมืองที่ใสสะอาด ยืนยันว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ร่างขึ้นไม่ได้ลอกเลียนแบบจากต่างชาติ ซึ่งขณะนี้กระบวนการของการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อยู่ระหว่างการรับฟัง ความเห็นจากฝ่ายต่างๆ และทำการแก้ไข โดยจะต้องทำร่างสุดท้ายให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 23 ก.ค. นี้ เพื่อจะเสนอให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ลงมติว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ เว้นแต่รัฐบาลจะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเพื่อขยายเวลาออกไปอีก 1เดือน อย่างไรก็ตามเชื่อว่า สปช. จะไม่คว่ำร่างรัฐธรรมนูญอย่างที่มีกระแสข่าว ซึ่งความเห็นและข้อเสนอของทุกฝ่าย รวมถึง กกร.สามารถเสนอความเห็นมายังกรรมาธิการยกร่างฯได้ เพราะเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจของประเทศ

บวรศักดิ์ ระบุอีกว่า ในรัฐธรรมนูญมาตรา 88 ได้กำหนดให้รัฐต้องยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง และหลักเศรษฐกิจที่เป็นธรรม อย่างมีธรรมาภิบาล และต้องสนับสนุนองค์กรเอกชน เข้ามามีบทบาทในทางเศรษฐกิจทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังได้บัญญัติให้มีหน่วยงานในการควบคุมการใช้งบประมาณของรัฐ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย โดยให้มีแผนกคดีวินัยการคลังและงบประมาณมาควบคุมดูแล ขณะที่มาตรการป้องกันการทุจริตได้มีองค์กรที่ให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบ อาทิ การตั้งสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ สภาตรวจสอบภาคพลเมือง เพื่อขับเคลื่อนกับหน่วยงานภาครัฐในการตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดิน

ขณะที่กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า 3 สิ่งสำคัญในด้านเศรษฐกิจที่จะต้องมีการปฏิรูปเพื่อตอบโจทย์ภาคเอกชนและ ประชาชนให้กับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ขาดประสิทธิภาพที่ทำให้ไม่สามารถแข่งขัน กับต่างชาติได้และปัญหาช่องโหว่ทางการเงินและการคลัง ซึ่งรัฐธรรมนูญที่กำลังจัดทำขึ้นได้วางกรอบในการแก้ปัญหาทั้งการปฏิรูปการเงินการคลังที่มีการกำหนดให้เงินแผ่นดินหมายรวมถึงเงินกู้ที่ต้องตราเป็น พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี การแสดงรายรับรายจ่ายของ พ.ร.บ.งบประมาณ การจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมจากความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ เพื่อสร้างชุมชนที่เข้มแข็งลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการปฏิรูประบบภาษีให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

"เป็นเรื่องดี" เทียนฉาย เผย หากรัฐบาลขยายเวลาปรับแก้เนื้อหา รธน. ออกไปอีก 30 วัน

$
0
0

ประธาน สนช. ชี้เป็นเรื่องที่ดี หากจะมีการปรับขยายเวลาในการแก้ไขร่าง รธน. ออกไปอีก 30 วัน เผย สปช. จะได้มีเวลาพิจารณาแผนปฏิรูปได้มากขึ้น

25 พ.ค. 2558 เว็บรัฐสภา รายงานว่า เทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแ­ห่งชาติ(สปช.) กล่าวถึงกรณีรัฐบาลเตรียมขยายเวลาการปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญหลังการส่งคำขอแก้ไขจาก 60 วันเป็น 90 วัน ว่า หากรัฐบาลขยายเวลาออกไปอีก 30 วันจริง สปช. จะต้องขยายวันลงม­ติในร่างรัฐธรรมนูญออกไปด้วย ซึ่งส่วนตัวเ­ห็นว่าเป็นเรื่องดี เพราะสปช. จะได้มีเวลาใ­นการพิจารณาแผนการปฏิรูปมากขึ้น ขณะที่คณะ­กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะมีเวลาปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญด้วย อย่างไรก็ตาม เห็นว่าขณ­ะนี้เร็วเกินไปที่จะพูดเรื่องการลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะคณะกรรมาธิก­ารยกร่างฯ ยังมีเวลา และอาจปรับแก้ตามข้อเสนอของแ­ต่ละฝ่ายได้

ประธาน สปช. กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ สปช. กำลังเ­ร่งทำแผนปฏิรูป ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในกลางเดือน มิ.ย. โดยวางเป้าหมายว่าแ­ผนปฏิรูปจะต้องเสร็จก่อนรัฐธรรมนูญร่างสุด­ท้ายออกมา ดังนั้นหากรัฐบาลปรับหมวดการปฏิ­รูปในร่างรัฐธรรมนูญให้สั้นลง จะไม่กระทบกับแผนการปฏิรูปที่วางเอาไว้ เพราะการปฏิรู­ปจะทำได้สำเร็จ ขึ้นอยู่กับประชาชน ที่จะเ­ป็นกลไกหลักในการทวงถาม

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พลเมืองโต้กลับ เปิดคำฟ้องเต็ม พล.อ.ประยุทธ์-พวก ข้อหาความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร

$
0
0


25 พ.ค. 2558 เฟซบุ๊กแฟนเพจกลุ่ม ‘พลเมืองโต้กลับ Resistant Citizen’ เผยแพร่คำฟ้องฉบับเต็มระหว่างโจทก์ คือ พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพและพวกรวม 15 คน กับจำเลย คือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาและพวกรวม 5 คน  ประกอบด้วยพลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย, พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง, พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว, พลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ในข้อหาความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร

ทั้งนี้ กลุ่มพลเมืองโต้กลับนำโดย พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ พร้อมด้วย อานนท์ นำภา ทนายความกลุ่ม เดินทางไปศาลอาญา รัชดา เพื่อเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กับพวก รวม 5 คน เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ซึ่งตรงกับวันครบรอบ 1 ปีรัฐประหาร โดยศาลรับคำร้องไว้พิจารณา และนัดฟังคำสั่งว่าจะรับฟ้องหรือไม่ ในวันที่ 29 พ.ค. นี้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประธาน กมธ. ปฏิรูปการเมือง เสนอแก้ ที่มานายกรัฐมนตรี ต้องมาจาก ส.ส. เท่านั้น

$
0
0

‘สมบัติ ธำรงธัญวงศ์’ เสนอแก้ไขร่าง รธน. ปิดโอกาสคนนอกเป็น นายกฯ ขอตัดมาตรา 181-182 ชี้ระบบเลือกตั้งแบบ MMP จะทำให้ระบบรัฐสภาอ่อนแอ ควรใช้ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนคู่ขนาน พร้อมเพิ่มช่องทางตรวจสอบแทน และ ส.ว. ตั้งมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด

ภาพจาก : เว็บข่าวรัฐสภา

25 พ.ค. 2558 เว็บข่าวรัฐสภา รายงานว่า สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปการเมือง แถลงข่าวถึงคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ ในส่วนของกลุ่มการเมืองและกฎหมาย ที่ได้ส่งให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญว่า กมธ.เห็นตรงกันว่า รธน.จะต้องกระชับและไม่ยาวเกินไป จึงขอเสนอแก้ไขทั้งฉบับให้เหลือเพียงร้อยกว่ามาตรา โดยประเด็นสำคัญก็เพื่อต้องการให้ประเทศไทยปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบ รัฐสภาโดยยึดหลักการถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ที่สำคัญจะต้องเชื่อมโยงกับประชาชน กำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) เท่านั้น ไม่เปิดช่องให้คนนอกเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมต้องการให้ตัด มาตรา 181มาตรา 182 ที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีมากจนเกินไปออก เพื่อป้องกันไม่ให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจออกกฎหมายที่จะนำไปสู่ความขัดแย้ง

ด้านระบบการเลือกตั้งเห็นว่าระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม จะทำให้ระบบรัฐสภาอ่อนแอ เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ และจะส่งผลให้เกิดปัญหาต่อการบริหารประเทศในอนาคต โดยเสนอให้เป็นการเลือกตั้งแบบสัดส่วนคู่ขนาน ส.ส. 400คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คนและเพิ่มกลไกในการตรวจสอบรัฐบาล กำหนดให้ สส. สามารถเข้าชื่อเสนอญัตติ ต่อ ส.ว. เพื่อให้พิจารณาสอบสวนการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาล หากพบหลักฐานว่ามีความผิดต้องให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาใช้เสียงเกินขึ้นเป็น ผู้พิจารณาถอดถอน

ส่วนของวุฒิสภา เห็นว่าควรให้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด เนื่องจากร่าง รธน.ที่เขียนขึ้นให้อำนาจ สว. มาก ดังนั้นควรกำหนดมาตรการคุณสมบัติของผู้สมัคร สว. ที่เข้มข้นมากขึ้น และให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง เป็นผู้จัดการเลือกตั้ง มีอำนาจออกใบแดง ใบเหลืองเหมือนเดิมและให้ตัดคณะกรรมการจัดการเลือกตั้ง (กจต.) ออก

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live




Latest Images