Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live

คปก.ค้านตั้งผู้ไต่สวนอิสระ ชี้ขัดหลักการตรวจสอบถ่วงดุล-ซ้ำซ้อนป.ป.ช.

$
0
0

คปก.ชี้ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดให้มีผู้ไต่สวนอิสระเข้ามาทำหน้าที่ในการตรวจสอบและไต่สวนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เนื่องจากในปัจจุบันมีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทำหน้าที่ตรวจสอบและไต่สวนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทุกระดับอยู่แล้ว 

25 พฤษภาคม 2558 - คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) โดยศาสตราจารย์ ดร.คณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย จัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะ เรื่อง “การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” เสนอต่อนายกรัฐมนตรี ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2558 ที่ผ่านมา โดยคปก.มีความเห็นว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดให้มีผู้ไต่สวนอิสระเข้ามาทำหน้าที่ในการตรวจสอบและไต่สวนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เนื่องจากในปัจจุบันมีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทำหน้าที่ตรวจสอบและไต่สวนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทุกระดับอยู่แล้ว หากมีการตั้งองค์กรใหม่ขึ้นมาจะทำให้การตั้งผู้ไต่สวนอิสระมีอำนาจหน้าที่ที่ซ้ำซ้อนกับคณะกรรมการป.ป.ช.

นอกจากนี้ จากบทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 257 ที่กำหนดให้มีผู้ไต่สวนอิสระนั้น คปก.มีความเห็นว่า แม้เจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าวจะเป็นไปเพื่อการเพิ่มกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจของคณะกรรมการป.ป.ช. ในการตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับสูง เช่น นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภา แต่การที่ร่างรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ที่มาของผู้ไต่สวนอิสระมาจากการแต่งตั้งของที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา หากผู้ไต่สวนอิสระดำเนินการไต่สวนและยื่นฟ้องเป็นคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว ศาลฎีกาจะเป็นผู้พิจารณาตัดสินคดีนั้นเอง ซึ่งหากเป็นกรณีที่ผู้มีอำนาจแต่งตั้งผู้ไต่สวนคดีเป็นผู้พิจารณาคดีนั้นเสียเอง ย่อมเป็นการขัดกับหลักการตรวจสอบถ่วงดุล กล่าวคือ องค์กรศาลฎีกาจะเป็นผู้ใช้ทั้งอำนาจบริหารและอำนาจตุลาการในคราวเดียวกัน คปก.จึงมีความเห็นว่า หากมีการปรับปรุงกระบวนการสรร- หากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเพื่อให้ได้บุคคลที่เหมาะสมและปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นกลางและเป็นอิสระแล้วก็ไม่มีความจำเป็นต้องมีผู้ไต่สวนอิสระอีก

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ถ้าข้าพเจ้าเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย ข้าพเจ้าจะปฏิรูปกองทัพ

$
0
0

 

ข้าพเจ้าต้องการปฏิรูปกองทัพเพียงสองประการ ประการแรกคือความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับประชาชน ประการที่สองคือความโปร่งใสและความมีเกียรติของกองทัพ

ในประการแรก กล่าวคือความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับประชาชน  ความขัดแย้ง หวาดระแวง หมางเมิน ที่กองทัพและประชาชนต่างมีต่อกันและกันนั้น เกิดมาจากความห่างเหินและไม่ยึดโยงกัน  ในหลาย ๆ แง่ ทหารนั้นก็เหมือนนักบวช ฝึกฝนอบรมอยู่ในโลกของตนเองจนขาดความเข้าใจต่อโลกภายนอก  ยิ่งกองทัพมีอำนาจ ก็ยิ่งไม่ฟังเสียงประชาชน  ยิ่งกองทัพจมปลักอยู่กับความคิดยุคสงครามเย็น กองทัพก็ตามไม่ทันยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง

การปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับกองทัพให้ดีขึ้น ทหารต้องออกมาคลุกคลีกับประชาชนให้มากขึ้น  นักศึกษาทหารควรออกมาเรียนในมหาวิทยาลัยทั่วไปรวมกับพลเรือน พวกเขาควรได้เรียนรู้แนวคิดทางสังคมศาสตร์ ได้รับรู้แนวคิดที่แตกต่างหลากหลาย ได้เข้าใจว่าคนเราสามารถคิดไม่เหมือนกัน แต่ก็อยู่ร่วมกันได้ ทหารจะได้ไม่ตกใจจนขวัญหนีเมื่อพบว่าพลเรือนมีความคิดแตกต่างจากตน  ทหารควรเข้าใจว่าความขัดแย้งเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่คู่สังคม มันไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องไม่พึงประสงค์ และบางครั้งความขัดแย้งก็เป็นแรงผลักให้สังคมก้าวหน้า ตราบที่การแก้ไขความขัดแย้งไม่ใช้วิธีการรุนแรงและไม่กดปราบมันไว้

หากนักศึกษาทหารได้ออกมาเรียนรู้โลกกว้าง พวกเขาจะเข้าใจว่าความรักชาติรักสถาบันมีหลายแบบ การวิจารณ์ผู้อยู่ในอำนาจและชนชั้นนำไม่จำเป็นต้องนำไปสู่ความเกลียดชังหรือการล้มล้างใด ๆ  อีกทั้งผู้วิจารณ์ก็มีความรักในแบบของเขา  ทหารไม่พึงตั้งตัวเป็นผู้ผูกขาดความรักที่มีต่อชาติและสถาบัน ไม่พึงตั้งตัวเป็นผู้ผูกขาดการนิยามและวิธีแสดงออกของความรัก แล้วผลักคนอื่นที่รักต่างจากตนให้กลายเป็นศัตรู

กองทัพยุคใหม่ควรก้าวพ้นจากแนวคิดแบบสงครามเย็น  กองทัพควรเลิกใช้แนวคิดแบบยุคสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ เลิกหวาดระแวงประชาชน อย่ามองประชาชนเป็นศัตรู อย่ามองประชาชนเป็นเพียงผู้อยู่ใต้อาณัติที่กองทัพต้องคอยชี้ซ้ายชี้ขวา  กองทัพควรเข้าใจแนวคิดของ “รัฐประชาชาติ”  รัฐที่คนทุกคนร่วมกันเป็นเจ้าของ ไม่ว่าคนคนนั้นจะยากดีมีจนแค่ไหน ทุกคนต้องได้เป็นเจ้าของประเทศร่วมกัน มีสิทธิ์มีเสียงมีอำนาจในการกำหนดชะตากรรมตัวเองร่วมกัน กองทัพไม่ควรกีดกันประชาชนจากความเป็นเจ้าของประเทศ ไม่ควรหวงประเทศจากประชาชนของตัวเอง และควรเข้าใจด้วยว่าประเทศชาติใด ๆ ก็มิอาจดำรงอยู่ได้หากประชาชนถูกพรากจากศักดิ์ศรีของความเป็นเจ้าของประเทศ

กองทัพควรเข้าใจด้วยว่าโลกเรานั้นอนุวัตรตามโลกาภิวัตน์มาหลายสิบปีแล้ว  สังคม การเมือง เศรษฐกิจและวัฒนธรรมของประเทศไทยผูกร้อยแน่นแฟ้นกับประเทศเพื่อนบ้านและโลกภายนอก  การปิดประเทศอยู่เพียงลำพังอย่างพอเพียงเป็นแค่ความเพ้อฝันที่ไม่มีทางเป็นจริง  การมองชนชาติอื่นเป็นศัตรูกลับจะยิ่งสร้างภาวะอ่อนแอให้ประเทศไทย  เราจำเป็นต้องพึ่งพิงแรงงานข้ามชาติ เราจำเป็นต้องพึ่งพิงเทคโนโลยีจากโลกตะวันตก เราจำเป็นต้องค้าขายและพึ่งพิงสินค้าจากประเทศอื่น เราจำเป็นต้องเชิดหน้าชูตาได้อย่างมีเกียรติบนเวทีโลก “ความเป็นไทย” ที่อุปโลกน์ขึ้นมาและไม่อนุวัตรตามโลกาภิวัตน์จะไม่ช่วยให้ประเทศของเราอยู่รอด แต่กลับจะเป็นเครื่องถ่วงให้ประเทศของเราล้าหลังและอาจถึงขั้นจมดิ่งอยู่ในปลักตม

กองทัพต้องเลิกผูกความสำคัญของการดำรงอยู่ของกองทัพไว้กับการมีศัตรู  กองทัพควรมีความมั่นใจในตัวเอง  ประชาชนยังต้องการกองทัพเสมอแม้เมื่อไม่มีศัตรูภายในหรือภายนอกบ้านก็ตาม  ประชาชนยังคงต้องหลักประกันความปลอดภัยและความมั่นคงตามชายแดน ความช่วยเหลือยามภัยพิบัติ  ต่อให้โลกนี้ไม่มีสนามรบอีกแล้ว กองทัพก็ยังเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ขาดเสียมิได้ของประเทศอยู่ดี ไม่มีความจำเป็นต้องกุสร้างศัตรูปลอม ๆ ขึ้นมาหลอกหลอนตัวเองและประชาชนเพียงเพื่อสร้างความมั่นคงให้ตัวเอง

กองทัพต้องยอมรับว่า การสั่งสมความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเกี่ยวกับอาวุธยุทโธปกรณ์และพิชัยสงครามย่อมแลกกับการมีความรู้ความเชี่ยวชาญน้อยกว่าพลเรือนในด้านอื่น ๆ เช่น ด้านการบริหารประเทศ การบริหารเศรษฐกิจ ฯลฯ ดังเห็นได้จากตัวอย่างที่มีมากมายว่า รัฐบาลทหารไม่ว่าในประเทศไหน ๆ ก็ไม่สามารถบริหารประเทศชาติให้รุ่งเรืองยั่งยืนได้ แม้กระทั่งองค์กรเล็ก ๆ เช่น รัฐวิสาหกิจ ก็ไม่ปรากฏว่าการมีทหารไปนั่งเป็นกรรมการจะทำให้รัฐวิสาหกิจไหนมีกำไรหรือมีประสิทธิภาพ  การยอมรับความจริงพื้นฐานของชีวิตข้อนี้จะช่วยให้กองทัพสามารถโฟกัสไปที่สิ่งที่ตัวเองควรทำได้ดีที่สุด มิใช่พยายามเข้าไปก้าวก่ายในสิ่งที่ตัวเองแทบไม่มีความรู้ความชำนาญเลย

หากยอมรับความจริงพื้นฐานข้อนี้ได้แล้ว ก็จะทำให้กองทัพยอมรับการยึดโยงกับประชาชนในแง่ที่สำคัญที่สุด นั่นคือ กองทัพควรอยู่ใต้อำนาจของกระทรวงกลาโหมที่มีพลเรือนเป็นรัฐมนตรีภายใต้รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย  การอยู่ใต้อำนาจพลเรือนไม่ใช่การเสื่อมเกียรติ แต่เป็นการสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน  ประชาชนจะไว้วางใจทหารที่ถืออาวุธได้อย่างไรหากไม่มั่นใจว่าทหารจะยึดโยงกับประชาชนเสมอ?  กองทัพไม่ควรหวาดระแวงหรือดูหมิ่นว่าพลเรือนไม่รู้เรื่องการทหาร  การอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือนเป็นเพียงแค่การยอมรับอำนาจชี้นำของประชาชนเกี่ยวกับทิศทางของประเทศในภาพกว้างเท่านั้น  ถึงอย่างไรกองทัพก็ยังเป็นผู้รู้ดีที่สุดเกี่ยวกับการสงครามและการจัดกำลังพล  พลเรือนย่อมเคารพกองทัพในแง่นี้  กองทัพก็ควรเคารพประชาชนในแง่ของการบริหารประเทศเช่นกัน

เมื่อแบ่งงานกันทำแล้ว กองทัพจึงไม่ควรเข้ามายุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมืองและเศรษฐกิจ  ประเด็นนี้ควรบัญญัติไว้เป็นกฎหมาย เพื่อสกัดกั้นความทะเยอทะยานส่วนตัวของนายทหารบางคน  โครงสร้างการวางกองกำลังของกองทัพจึงควรอยู่ภายใต้เงื่อนไขทางภูมิศาสตร์และยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศอย่างเคร่งครัด  กองทัพควรประจำการตามแนวชายแดน อาวุธของทหารควรหันปากกระบอกระวังภัยให้ประชาชน มิใช่หันปากกระบอกมาคุมเชิงประชาชนไว้ กองทัพต้องปฏิบัติตามและอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการยกร่าง การรัฐประหารและฉีกรัฐธรรมนูญถือเป็นกบฏอย่างไม่มีเงื่อนไข

การควบคุมด้านความมั่นคงภายในประเทศ เช่น การปราบจลาจล ฯลฯ ควรเป็นหน้าที่ของตำรวจ (ซึ่งควรถูกปฏิรูปเช่นกัน)  ต้องมีการตรากฎหมายห้ามมิให้ทหารนำอาวุธสงครามเข้ามาในเมือง เพื่อป้องกันการรัฐประหารและสงครามกลางเมือง  กองทัพไม่จำเป็นต้องมีหน่วยงานด้านข่าวกรอง กองทัพถืออาวุธไว้ในมืออยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องหวาดระแวงใครอีก งานข่าวกรองควรอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐบาลพลเรือนที่มาจากประชาชน  ความมั่นคงของชาติควรเป็นสิ่งที่สมาชิกทุกคนในชุมนุมชนรับผิดชอบร่วมกันและตัดสินใจร่วมกันว่าอะไรคือความมั่นคง กองทัพไม่มีสิทธิ์ผูกขาดการกำหนดนิยามความมั่นคงไว้เพียงฝ่ายเดียว

เรื่องสำคัญประการที่สองก็คือ กองทัพต้องมีความโปร่งใสและมีเกียรติ  ความโปร่งใสอันดับแรกสุดก็คือการจัดทำงบประมาณ  รัฐบาลพลเรือนควรมีส่วนร่วมและรับรู้ รวมถึงท้วงติงการจัดทำงบประมาณของกองทัพได้  การจัดซื้อจัดจ้างของกองทัพต้องมีการดำเนินการอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้และมีผู้รับผิดรับชอบ  กองทัพไม่ควรเป็นแดนสนธยาของการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์  กองทัพต้องไม่ครอบครองธุรกิจหรือมีผลประโยชน์ในธุรกิจใด ๆ  การปล่อยให้กองทัพครอบครองคลื่นสัญญาณวิทยุโทรทัศน์มากมายเช่นทุกวันนี้คือช่องทางแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ 

สถาบันกองทัพไม่ใช่ทางผ่านเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวของใคร  กองทัพควรมีแต่ทหารอาชีพ ไม่ใช่บันไดไปสู่การนั่งเป็นกรรมการหน่วยงานรัฐหรือเอกชน  ทหารต้องทำหน้าที่ของทหารเท่านั้น หากต้องการเข้าสู่วงการการเมืองหรือธุรกิจ ก็ต้องลาออกและละทิ้งยศตำแหน่ง เฉกเช่นเดียวกับนักบวชที่ต้องลาสิกขาเมื่อต้องการใช้ชีวิตทางโลกย์

การไต่เต้าในเส้นทางอาชีพของทหารควรตัดสินกันที่ความรู้ความสามารถ ไม่ใช่ที่นามสกุล รุ่น เพื่อนพ้อง เส้นสาย ประทวนหรือสัญญาบัตร  รัฐสภาหรือหน่วยงานอิสระควรเข้ามามีบทบาทในการแต่งตั้งโยกย้ายทหาร มิใช่มองว่าเป็นการล้วงลูก แต่เป็นการดึงคนนอกเข้ามาวัดผลการทำงาน มิใช่ปล่อยให้คนในกองทัพตัดสินกันเองด้วยอคติหรือฉันทาคติ  นี่คือการลดการใช้เส้นสายพวกพ้อง ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กองทัพ  ทุก ๆ ปีมีเยาวชนไทยหัวกะทิเก่ง ๆ จำนวนมากก้าวเข้าสู่กองทัพ อย่าให้กองทัพกลายเป็นหลุมดำที่นำคนเก่ง ๆ เหล่านี้ไปฝังไว้ในระบบที่เทอะทะไร้ประสิทธิภาพ

กองทัพต้องมีความสามัคคี  ในเมื่อเรียกร้องให้ประชาชนสามัคคีกัน แต่เหตุใดกองทัพจึงแบ่งเป็นก๊กเป็นเหล่า เป็นบูรพาพยัคฆ์ เป็นวงศ์เทวัญ เป็นรุ่นเท่านั้นเท่านี้ เป็นคนสนิทของบิ๊กคนนั้นคนนี้  ทหารทุกคนต้องเป็นทหารของชาติของประชาชน ไม่ใช่แบ่งแยกแข่งขันชิงดีชิงเด่นกันเช่นในปัจจุบัน  ประชาชนจะฝากความหวังไว้กับกองทัพที่ไม่มีความสามัคคีกันได้อย่างไร

ทหารทุกคนต้องมีเกียรติ มีศักดิ์ศรีของทหารและมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์  เครื่องแบบทหารจะมีเกียรติได้อย่างไรหากพลทหารกลายเป็นคนรับใช้ตามบ้านของผู้บังคับบัญชา  ทหารควรมีเงินเดือนเพิ่มขึ้นให้เหมาะสมต่อการทำงานเสี่ยงชีวิตเพื่อประชาชน  ชีวิตความเป็นอยู่ของทหารทุกคนควรมีความสุขสบายตามอัตภาพและไม่เหลื่อมล้ำอย่างน่าเกลียดระหว่างทหารชั้นผู้ใหญ่กับทหารชั้นผู้น้อย

การเพิ่มเงินเดือนให้ทหารอย่างเหมาะสมย่อมทำได้หากลดจำนวนทหารลง  ในโลกยุคปัจจุบัน เราสามารถยกเลิกการเกณฑ์ทหารได้แล้ว  หากอาชีพทหารเป็นอาชีพที่มีเกียรติและได้รับค่าตอบแทนมากเพียงพอ เชื่อว่าจะมีประชาชนพร้อมใจกันสมัครเป็นทหารจำนวนมาก การใช้งบประมาณของกองทัพก็จะคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ  เมื่องบประมาณของกองทัพไม่บานปลายมากเกินไป ประเทศก็จะมีงบประมาณมาใช้พัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อตัวทหารเองในฐานะที่เป็นประชาชนของประเทศเช่นกัน

ประเทศไทยผ่านความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับกองทัพมาหลายครั้ง ในช่วงชีวิตเดียวของข้าพเจ้าได้ประสบพบเห็นการสังหารหมู่ประชาชนครั้งใหญ่หลายครั้ง ไม่นับครั้งย่อย ๆ อีกนับไม่ถ้วน  นับตั้งแต่การสังหารหมู่ประชาชนครั้งที่ 1 ใน พ.ศ. 2516 การสังหารหมู่ประชาชนครั้งที่ 2 ใน พ.ศ. 2519 การสังหารหมู่ประชาชนครั้งที่ 3 ใน พ.ศ. 2535 การสังหารหมู่ประชาชนครั้งที่ 4 ใน พ.ศ. 2547 การสังหารหมู่ประชาชนครั้งที่ 5 ใน พ.ศ. 2553  ห้าครั้งก็มากเกินไปแล้วสำหรับชีวิตเดียว  ข้าพเจ้าหวังว่าจะไม่ต้องเห็นครั้งที่ 6 ครั้งที่ 7 ครั้งที่ 8....อีก

ประชาชนไทยอยากได้กองทัพที่สามารถพึ่งพิงได้ในยามทุกข์เข็ญ มิใช่กองทัพที่สร้างความทุกข์เข็ญให้แก่ประชาชน  กองทัพที่สง่าภาคภูมิด้วยความเชื่อมั่นในตัวเอง มิใช่กองทัพที่กระทำการลับ ๆ ล่อ ๆ เพราะหวาดกลัวเพื่อนร่วมชาติ  กองทัพที่รักษาสัตย์เพื่อชาติ มิใช่กองทัพที่ตระบัดสัตย์เพื่ออำนาจของคนไม่กี่คน

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

"นี่ขาวพอสำหรับคุณหรือยัง" 2 โรงเรียนใน 'อัมสเตอร์ดัม' รณรงค์ท้าทายการแบ่งแยกเชื้อชาติ

$
0
0

ถึงแม้ว่ากรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ จะขึ้นชื่อเรื่องความหลากหลายทางชาติพันธุ์ แต่ผู้ปกครองก็ยังแบ่งแยกในเรื่องการให้ลูกหลานเข้าเรียนโดยมองว่า รร.สำหรับ "คนผิวขาว" ดีกว่า รร.ที่มีคนหลากเชื้อชาติ ทำให้รร. 2 แห่ง เปิดประเด็นรณรงค์ท้าทายในเรื่องนี้

25 พ.ค. 2558 สำนักข่าวดิอินดิเพนเดนต์รายงานว่า โรงเรียนประถม 2 แห่งในกรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่มีนักเรียนหลากเชื้อชาติพากันรณรงค์ให้ครอบครัวคนผิวขาวส่งลูกตัวเองเข้าเรียนในโรงเรียนของพวกเขา โดยมีสโลแกนรณรงค์ว่า "นี่ขาวพอสำหรับพวกคุณหรือยัง"

ในโรงเรียนอวองตูแรง (Avonturijn) และโรงเรียนเซนต์ฮู้กดาเลน (St.Hoogdalen) ที่มีนักเรียนมากกว่าร้อยละ 90 มีพื้นเพมาจากชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์และตั้งอยู่ในย่านที่มีประชากรเชื้อชาติผสมอยู่เป็นจำนวนมาก แต่พวกเขากำลังถูกกดดันให้ต้องปิดโรงเรียนถ้าหากไม่สามารถเพิ่มจำนวนนักเรียนที่มีอัตราลดลงเรื่อยๆ ได้ พวกเขาจึงเรียนร้องความสนใจด้วยการท้าทายแนวคิดแบ่งแยกเชื้อชาติ

มีนักเรียนจำนวนมากเข้าร่วมโครงการด้วยการสวมเสื้อยืดเขียนว่า "นี่ขาวพอสำหรับคุณหรือยัง" ในขณะที่ผู้ปกครองเด็กพากันเดินแจกใบปลิวตามบ้านเพื่อให้ทราบว่าโรงเรียนเหล่านี้ต้องการนักเรียนผิวขาว

เมียร์ยัม เลียนเดอร์ส คณะกรรมการโรงเรียนอัสโกกล่าวว่าถึงแม้การรณรงค์นี้จะลักษณะชวนให้เกิดการโต้แย้งแต่โรงเรียนทั้ง 2 โรงเรียนนี้ก็เป็นโรงเรียนที่ดีที่สะท้อนความเป็นย่านของคนที่มีหลายเชื้อสายอยู่ร่วมกัน

มีการแสดงความคิดเห็นในเว็บบล็อก 24Oranges ระบุว่าในขณะที่เมืองอัมสเตอร์ดัมเป็นเมืองที่มีความภาคภูมิใจในการเป็นเมืองที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติแต่ก็ยังคงมีการแบ่งแยกเชื้อชาติเกิดขึ้นในโรงเรียนและพ่อแม่ผู้ปกครองทุกเชื้อชาติต่างก็อยากให้ลูกไปเรียนใน "โรงเรียนคนผิวขาว" โดยมีความเชื่อว่า "โรงเรียนคนผิวดำ" มีการเรียนการสอนไม่ดีเท่า แม้พ่อแม่จะบอกว่าพวกเขาต้องการให้ลูกอยู่ในโรงเรียนที่มีหลายเชื้อชาติเรียนร่วมกันแต่พวกเขาก็มักจะใช้จำนวนเด็กผิวขาวในโรงเรียนเป็นตัวชี้วัดคุณภาพ

ดิอิดิเพนเดนต์ระบุว่า ถึงแม้กรุงอัมสเตอร์ดัมจะมีความเสรีในหลายเรื่องและมีชุมชนหลากหลายเชื้อชาติ แต่ระบบโรงเรียนก็ดูไม่เปิดกว้าง การแบ่งแยกเชื้อชาติถือเป็นประเด็นใหญ่ในเนเธอร์แลนด์ นอกจากเรื่องการแบ่งระหว่าง "โรงเรียนคนผิวขาว" กับ "โรงเรียนคนผิวดำ" แล้ว ยังมีบางคนที่ถึงขั้นแบ่งแยกโรงเรียนเป็นโรงเรียนที่มีเด็ก "ดูเป็นชาวดัทช์" และ "ดูไม่เป็นชาวดัทช์"


เรียบเรียงจาก

'Is this white enough for you?' Dutch primary schools mount integration drive, The Independent, 24-05-2015
http://www.independent.co.uk/news/world/europe/is-this-white-enough-for-you-two-dutch-primary-schools-mount-integration-drive-10272983.html

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โรฮิงญาในชีวิตประจำวัน (ของคุณ)

$
0
0

 

ห้วงเวลานี้ข่าวเกี่ยวกับการอพยพหลบหนีเข้าเมืองของชาวโรฮิงญากลายเป็นเรื่องที่มวลมนุษยชาติทั่วโลกจับตามองมาเป็นอันดับต้นๆ โดยเฉพาะประเทศไทยกับประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถึงเรื่องการอพยพลี้ภัยเข้ามายังอาณาบริเวณดินแดนของประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย เพื่อใช้เป็นทางผ่านรอเวลาข้ามไปยังประเทศที่ 3 ต่อไป จนทุกวันนี้ชาวโรฮิงญาเป็นที่จับตามองและกลายเป็นผู้ต้องหาคดีการหลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายไปเสียแล้ว ซึ่งประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ว่าจะเป็นประเทศไหนต่างก็ไม่ยอมให้ชาวโรฮิงญาเดินทางเข้ามายังอาณาบริเวณประเทศของตน แต่การที่ชาวโรฮิงญาต้องอพยพออกนอกประเทศมันเกิดจากสาเหตุอะไร…..แล้วชีวิตความเป็นอยู่ในฐานะผู้ลี้ภัยผิดกฎหมายของชาวโรฮิงญานั้นสะดวกสบายจริงหรือ…..หรือนั่นเป็นแค่พื้นที่เบลอๆ ที่สร้างขึ้นมาเพื่อใช้กีดกันและผลักดันชาวโรฮิงญาให้กลายเป็นคนชายขอบจากวาทกรรมการพัฒนา (Development discourse) ของประเทศที่ไม่ยอมรับชาวโรฮิงญากันแน่….?

ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกหากจะมีใครสักคนเข้ามานอนหลับ ทำธุระส่วนตัว ทำกับข้าวกินหรือแม้แต่จะเดินไปเดินมาในบ้านของเรา เราเองก็คงไม่ชอบเหมือนกัน ไม่ว่าอะไรก็ตามที่เกิดจากความแปลกแยก (Alienation) จากคนส่วนใหญ่ในสังคม สิ่งเหล่านั้นมักจะถูกมองไปในทางลบทันที ซึ่งในที่นี้หมายถึง ชาวโรฮิงญาที่ใช้เรียกชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ในดินแดนรัฐอาระกันหรือรัฐระคายในปัจจุบันเป็นรัฐชายแดนทางตะวันตกของประเทศพม่าติดชายแดนประเทศบังคลาเทศตั้งแต่แรกเริ่มมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 7

ในอดีตอาณาบริเวณนี้เคยเป็นดินแดนของนักเดินเรือชาวอาหรับและตั้งถิ่นฐานที่เมืองค๊อกซ์บาซาร์ (Cox’s Bazar) มีการก่อตั้งอาณาจักรโบราณที่ชื่อว่า มารุค อุ (Mrauk U) ในดินแดนอาระกันหรือรัฐระคายในปัจจุบันอาจบ่งบอกได้ว่าพวกเขาคือ คนพื้นเมืองบนดินแดนอาระกันเป็นกลุ่มชาติพันธุ์บนดินแดนอาระกันที่นับถืออิสลาม แต่สำหรับพม่า "โรฮิงญา" เป็นคำที่เกิดขึ้นมาใหม่จากนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในพื้นที่ตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐอาระกันที่หมายถึงพวกที่อพยพเข้ามาจากประเทศบังคลาเทศอย่างผิดกฎหมายในห้วงช่วงเวลาที่ประเทศพม่าอยู่ภายใต้อาณานิคมของประเทศอังกฤษ และไม่ว่าชาวโรฮิงญาจะเป็นผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากนักเดินเรือชาวอาหรับหรือผู้อพยพชาวบังคลาเทศที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานบนดินแดนอาระกัน แต่ชาวโรฮิงญาในปัจจุบันก็เป็นคนรุ่นที่สองหรือสามที่ซึ่งเกิดและเติบโตขึ้นมาในดินแดนอาระกัน ซึ่งมีพ่อ แม่หรืออาจรวมถึง ปู่ ย่า ตา ยายที่เกิดและตายบนดินแดนอาระกันแห่งนี้ฉะนั้นหากมองย้อนกลับไปตามประวัติศาสตร์ของชาวโรฮิงญาแล้วจะมีความผูกติดกับดินแดนอาระกันที่ซึ่งมีประวัติเป็นของตนเองและเป็นส่วนหนึ่งของประเทศพม่าในช่วงเวลาไม่นาน

ในช่วงเวลาต่อมาในปี ค.ศ. 1784 หรือ ปี พ.ศ.2327 อาณาจักรพม่าขยายอำนาจเข้าครอบครองดินแดนอาระกันผู้คนจำนวนมากทั้งพุทธและมุสลิมต่างก็อพยพหนีกองภัยสงครามเข้าสู่ดินแดนจิตตะกอง จนกระทั่งในปี ค.ศ.1823 -1828 หรือ ปี พ.ศ.2366 – 2371 อังกฤษเป็นฝ่ายได้ชัยชนะในสงครามกับพม่าทำให้ดินแดนชายฝั่งบริเวณอาระกันตกอยู่ภายใต้การปกครองอาณานิคมของอังกฤษผู้คนจากอินเดียแลบังคลาเทศเคลื่อนย้ายเข้าสู่ดินแดนอาระกัน บางส่วนเป็นชาวอาระกันที่อพยพออกไปหลังกองทัพพม่าเข้ายึดครองอาระกัน บางส่วนก็คือชาวบังคลาเทศจากจิตตะกองหรือคนอินเดียจากพื้นที่ใกล้เคียงต่อมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ปีค.ศ.1939 ถึง ปีค.ศ.1945 หรือ ปี พ.ศ.2482 – ปี พ.ศ.2488 ความสัมพันธ์ระหว่างพม่าและชาวโรฮิงญามีความแตกแยกกันมากขึ้น เนื่องจากในช่วงต้นของสงครามกองกำลังกู้ชาติของพม่าเลือกที่จะสนับสนุนกองทัพญี่ปุ่น ขณะที่กองทัพอังกฤษในพม่าก็ได้กองหนุนจากชาวอินเดียและ ชาวโรฮิงญา จึงส่งผลให้ชาวพม่าต้องเผชิญกับความรุนแรงจากกองกำลังอังกฤษและพันธมิตร แต่ความพ่ายแพ้ของอังกฤษในช่วงสงคราม การถอยทัพอย่างรวดเร็วของอังกฤษได้ทิ้งให้ชาวอินเดีย ชาวโรฮิงญาเผชิญหน้ากับความรุนแรงที่มาพร้อมกับกองทัพญี่ปุ่นและพันธมิตรที่เป็นกองกำลังกู้ชาติของพม่า

เมื่อสถานการณ์ของสงครามโลกครั้งที่ 2  ปี ค.ศ.1939 ถึง ปีค.ศ.1945 หรือ ปี พ.ศ.2482 – ปี พ.ศ.2488 จากความพ่ายแพ้ในสงครามกองกำลังกู้ชาติของพม่าเปลี่ยนการสนับสนุนกองกำลังอังกฤษ ซึ่งแต่ก่อนชาวอินเดีย ชาวโรฮิงญาที่อดีตเป็นพันธมิตรของอังกฤษกลับถูกละเลยและทิ้งให้เผชิญกับชะตากรรมของตนในพม่าเพียงลำพัง จนกระทั่งพม่าได้รับเอกราชบนเงื่อนไขของการยอมรับกลุ่มชาติพันธุ์ตามข้อตกลงปางหลวงโดยให้มีการรวมกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่ามาเป็นพลเมืองของประเทศทั้งหมด แม้ว่าในภายหลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ ชาวโรฮิงญาจะถูกรับรองในความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในสมัยรัฐบาลของนายอูนุ ในการประชุมสภาเมื่อปี ค.ศ.1950 หรือ ปี พ.ศ. 2493 ภายหลังการยึดอำนาจของนายพล เนวิน ในปี ค.ศ. 1978 หรือ ปี พ.ศ. 2521 พร้อมกับการนำสังคมนิยมแบบพม่ามาใช้มีการสร้างความรู้สึกชาตินิยมพม่าพุทธขึ้นมานำไปสู่ความเกลียดชังกลุ่มชาติพันธุ์ที่แตกต่างไปจากพม่าและกลุ่มชาติพันธุ์ที่แตกต่างไปจากพม่ามากที่สุดคือ ผู้คนที่อาศัยอยู่ในดินแดนอาระกันหรือระคายในปัจจุบันที่มีลักษณะภายนอก มีภาษา มีการแต่งกายใกล้เคียงกับผู้คนในบังคลาเทศมากกว่าพม่า มีการนับถือทั้งศาสนาอิสลาม ฮินดู และพุทธ

ในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ปีที่ดินแดนรัฐอาระกันต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารพม่า จึง เป็นเหตุให้ชาวโรฮิงญาถูกปฏิเสธที่จะได้รับสัญชาติพม่าและถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างหนัก มักจะมี  คนเข้าใจผิดว่าชาวอาระกันกับชาวโรฮิงญา คือ คนกลุ่มเดียวกัน แต่จริงๆ แล้วชาวอาระกันกับชาวโรฮิงญาเป็นคนละกลุ่มกัน ชาวอาระกันมาจากรัฐอาระกันหรือรัฐยะไข่ของพม่า ส่วนชาวโรฮิงญานั้นมาจากเมืองจิตตะกองของบังกลาเทศ ทั้งสองกลุ่มเป็นพวกเชื้อสายเดียวกัน พูดภาษาเดียวกัน แยกไม่ออกว่าใครเป็นใครต่างกันที่สัญชาติ เหตุเพราะอยู่คนละประเทศกันความขัดแย้งจึงเกิดขึ้นประจำต่อเนื่อง ส่วนใหญ่ชาวยะไข่ที่นับถือศาสนาพุทธรวมกับชนกลุ่มน้อยที่เป็นชาวโรฮิงญาในบางส่วนเท่านั้น ซึ่งรัฐบาลพม่านับชาวโรฮิงญากลุ่มนี้ว่าเป็นผู้อพยพ จึงทำให้ไม่มีสิทธิ์ที่จะเป็นพลเมืองของประเทศโดยสิ้นเชิงยิ่งไปกว่านั้นประชาชนชาวพม่ามองว่าชาวโรฮิงญาไม่มีความจงรักภักดีต่อตน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะชาวโรฮิงญาบางคนหรือบางกลุ่มต้องการจะสร้างรัฐอิสระขึ้นทางอาระกันตอนเหนือให้ผนวกเข้ากับปากีสถาน

แต่จะว่าไปบนโลกนี้จะมีมนุษย์สักกี่คนที่เดินดินกินข้าวแกงอยากเป็นบุคคลที่พ่วงด้วยคำว่า “อพยพ” ตามหลังนามสกุลของตนเองทั้งๆ ที่ขาทั้ง 2 ข้างยืนอยู่บนแผ่นดินบ้านเกิดของตัวเองในเมื่อชีวิตมันเลือกไม่ได้การเดินทางออกสู่อิสรภาพจึงเป็นตัวเลือกสุดท้ายในชีวิตของพวกเขาในเมื่อกลับประเทศไม่ได้หนทางเดียวคืออยู่และดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดแต่ใครจะไปรู้ว่าชาวโรฮิงญาแท้ที่จริงเข้ามาอาศัยอยู่ประเทศไทยหลายชั่วอายุคนแล้ว บางทีอาจจะเดินทางเข้ามาก่อนแรงงานข้ามชาติจากชาติอื่นๆ ก็เป็นได้นะ……หากเป็นเช่นนั้นก็แสดงว่าชาวโรฮิงญาต้องต่อสู้ดิ้นรนมานานแล้วซิ..…คุณว่าไหม

จะมีใครรู้ว่าชาวโรฮิงญาต้องอยู่กันอย่างยากลำบากขนาดไหนท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงในยุคโลกาภิวัตน์ที่มีการเลื่อนไหลของสังคมและวัฒนธรรมอย่างไม่หยุดนิ่งตลอดเวลา ไม่ว่าจะกินหรือนอนต้องอยู่อย่างต้องหลบๆ ซ่อนๆ เพราะเข้ามาในฐานะแรงงานข้ามชาติที่ถูกจัดลำดับให้อยู่ในระดับล่างสุดของแรงงานที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ไม่มีสิทธิ์แม้กระทั่งทำบัตรประชาชนจากรัฐบาลประเทศต้นทาง ไม่มีแม้กระทั่งได้สิทธิ์ใช้บัตรแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย ยิ่งไปกว่านั้นไม่มีสิทธิ์ในความเป็นพลเมืองของประเทศต้นทางด้วยซ้ำ

เห็นได้ชัดเจนว่าหนึ่งชีวิตที่เกิดมาพร้อมกับต้นทุนชีวิตที่ติดลบไม่มีโอกาสให้เลือกเส้นทางชีวิตเหมือนคนอื่น ฉะนั้นการใช้ชีวิตอยู่ในต่างแดนมีความลำบากมาก บุคคลเหล่านี้จึงกลายเป็นเสมือนวัตถุแห่งการถูกจ้องมองทั้งทางด้านการเมือง ความมั่นคงและด้านสาธารณสุข ซึ่งชาวโรฮิงญาไม่เพียงแต่จะต้องหลีกเร้นจากอำนาจรัฐในการทำงานหรือการใช้ชีวิตในฐานะแรงงานผิดกฎหมาย หากแต่ยังต้องมีการปรับตัวกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจในรูแบบใหม่ๆ อาทิ สภาพการทำงานที่ถูกมองไปเป็นอื่น ความเป็นอยู่ที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะต้องอาศัยอยู่ท่ามกลางคนแปลกหน้าที่ไม่รู้จักใคร และเอาเข้าจริงๆ ก็ไม่มีใครอยากรู้จักด้วยซ้ำ มันน่าสงสารนะ!!! อาจจะเรียกได้ว่าเป็นบุคคลที่ด้อยอำนาจเป็นบุคคลที่คอยเป็นเบี้ยล่างให้กับคนกลุ่มใหญ่ในสังคมเป็นคนยากไร้ และอื่นๆ อีกมากมายที่เสมือนเป็นเงาเฝ้าติดตามตัวพวกเขาไปทุกหนทุกแห่งตลอดเวลา

ลองคิดตามผู้เขียนนะครับ ไม่ใช่พวกเขาเหล่านี้หรอครับ ที่ใช้กำลังแรงกายของตนเองเพื่อแลกกับเงินเพียงไม่กี่บาทและเพื่อแลกกับที่ยืนในสังคมบ้างแม้จะต้องเขย่งพวกเขาเองก็ยอมที่จะทำมันให้ถึงที่สุด เคยสงสัยกันไหมว่า…..?

ใครกันที่คอยเดินเข็นผักตามตลาดยามวิกาลทั้งๆ ที่คนไทยกับนอนหลับสบายอยู่บนที่นอน

ใครกันที่คอยนั่งขอดเกล็ดปลาอย่างเหน็ดเหนื่อยวันละหลายสิบกิโลตลอดทั้งวันทั้งๆ ที่คนไทยกับนอนดมรักแร้อยู่ที่บ้าน

ใครกันที่คอยนั่งขัดหม้อ ไห กระทะ และล้างจานจนมือเปื่อยทั้งๆ ที่คนไทยกับกินกันอย่างอิ่มหนำสำราญใจ

ใครกันนะที่คอยแบกปูน ตักกรวดทรายตอกเสาเข็มกลางวันแสกๆ ทั้งๆ ที่คนไทยกับใช้ชีวิตกันอย่างสบายในห้องแอร์

และที่สำคัญใครกันทำโรตีอร่อยๆ ให้คุณกิน รวมทั้งทำให้โรตีกลายเป็นอาหารอันเลื่องชื่อของไทยในหมู่ฝรั่งต่างชาติไปแล้ว

จะเป็นใครไปไม่ได้หากไม่ใช่ “โรฮิงญา” แรงงานกลุ่มที่ทำงานหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัวซึ่งทำงานกันมานานหลายสิบปีแล้ว

ไม่แน่นะ…..คุณๆ ท่านๆ เวลาเดินทางออกไปข้างนอกลองเหลียวซ้ายแลขวากันดีๆ บางทีคนที่มองไปเห็นอาจจะเป็นแรงงานโรฮิงญาก็ได้ เพราะแรงงานกลุ่มนี้เข้ามาทำหน้าที่รับผิดชอบงานต่างๆ ได้มากกว่าคนไทยเสียอีก

จะว่าไปการอพยพเข้ามาอยู่อาศัยในประเทศไทยของชาวโรฮิงญาก็ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับคนไทยอย่างที่ตกเป็นประเด็นหรอกนะไม่ดีหรือ….ที่พวกเขาเหล่านี้ช่วยแบ่งเบาภาระหน้าที่การทำงานที่คนไทยไม่ทำ เพราะถ้าพวกเขาไม่ทำก็คงจะไม่มีใครทำมันอยู่ดี แต่พวกเขากับเลือกที่จะทำโดยไม่ต้องคิด เพื่อความอยู่รอด คนไทยเองหรือเปล่า…? ที่เป็นผู้กำหนดเป็นผู้สร้างแบ่งแยกพวกเขาออกจากสังคมของการพัฒนาเองทั้งๆ ที่ความเดือดร้อนก็ไม่ได้รับผลกระทบซักหน่อย น่าแปลกจริงๆ ว่าทำไมจริงคิดกันเช่นนั้นพวกคุณๆ ท่านๆ คิดเหมือนกับผู้เขียนไหมครับ

อาจจะจริงที่ชาวโรฮิงญาอพยพเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย จึงทำให้ถูกมองว่าเป็นอื่นในสังคม แต่ชาวโรฮิงญาเองก็พยายามที่จะปรับตัวให้เข้ากับบริบททางสังคมที่พวกเขาอยู่เหมือนกัน เพราะกลับประเทศไม่ได้จึงยอมต่อสู้ดิ้นรนในประเทศไทย ซึ่งชาวโรฮิงญาก็พยายามสร้างพื้นที่ในจินตนาการของตัวเองหรือระหว่างกลุ่มขึ้นมา เพื่อไม่ให้ตัวเองนั้นรู้สึกว่าอยู่โดดเดี่ยวท่ามกลางความเป็นอื่นในสังคมของคนอื่น อย่างไรก็ดีชาวโรฮิงญาก็ไม่ได้ไปรุกล้ำอาณาเขตพื้นที่ของประชาชนไทยแม้แต้น้อย ยิ่งไปกว่านั้นกับถูก กลั่นแกล้งจากคนไทยบางกลุ่มที่ไม่ชอบแรงงานเหล่านี้

ลองคิดดูนะครับ……..หากชาวโรฮิงญาเหล่านี้เดินทางกลับประเทศหรือถูกจับกุมต้องส่งกลับประเทศไป แล้วภาระงานที่จะต้องสานต่อจากพวกเขา ดังที่ผู้เขียนได้กล่าวมาข้างต้นหละ……..ใครผู้ใดจะเป็นคนกระทำ……ต่อจากพวกเขา    

 

 

หมายเหตุ  ผู้เขียนมีความสนใจความเป็นอยู่ของชาวโรฮิงญาที่ประกอบอาชีพอยู่ในประเทศไทย และได้มีโอกาสเข้าไปสัมผัสต้องการให้เห็นอีกมุมหนึ่งของการดำเนินชีวิตประจำวันของชาวโรฮิงญาที่เป็นแรงงานระดับล่างสุดของแรงงานด้วยกันเอง ไม่ได้มีเจตนาสร้างความขัดแย้งหรือบิดเบือนข้อมูลแต่อย่างใด

 

[1]นิสิตปริญญาโท สาขาพัฒนาสังคม คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

 

 




[1]นิสิตปริญญาโท สาขาพัฒนาสังคม คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หลวงพ่อคูณ : พินัยกรรมแห่งสติของสังคม

$
0
0


 

ตามประกาศของโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ฉบับที่ 4 ลงวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 ซึ่งได้รายงานว่าพระเทพวิทยาคม หรือหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ ได้มรณภาพลงแล้วเมื่อเวลา 11.45 น. ทำให้สื่อทุกแขนงภายในประเทศได้นำเสนออกไปอย่างพร้อมเพรียงกัน โดยนำประวัติ คติธรรมคำสอนสำคัญ พร้อมผลงานสาธารณประโยชน์มาเผยแพร่ ทำให้ข่าวอื่น ๆ ลดความสำคัญลงไปโดยอัตโนมัติ 

เห็นได้อย่างชัดเจนว่าการมรณภาพของหลวงพ่อคูณ สามารถหยุดความรู้สึกอันร้อนแรงต่าง ๆ ที่พลุ่งพล่านตามกระแสสื่อทุกวัน และยิ่งทำให้ผู้คนหลากหลายชนชั้น ตั้งแต่ พระสงฆ์ วงการแพทย์ ประชาชน ต่างฉุกคิดติดตามวัตรปฏิบัติของท่านอย่างเป็นอัศจรรย์โดยเฉพาะ “พินัยกรรม” ที่ทำให้กระตุกสติของใครต่อใครได้หันกลับมามอง “ภายใน” ของแต่ละคนอย่างลึกซึ้งมากขึ้น ๆ ความรู้สึกที่เคยมุ่งแต่จะ “เอา” เริ่มคลี่คลายกลายมาเป็น “ผู้ให้” มากขึ้น เมื่อหลวงพ่อคูณได้สะท้อนความเป็นอนิจจังผ่านสรีระร่างกายอันไร้แก่นสารของท่านแต่นั่นกลับเป็น “แก่นสารแห่งปัญญา” และเป็น “สติ” แห่งสังคมอย่างแยบยลเกินกว่าจะคาดเดาภูมิธรรมภายในจิตใจของหลวงพ่อ

ผู้เขียนมีโอกาสได้เข้าพบหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ จำนวน 3 ครั้ง 3 โอกาส ครั้งแรก เมื่อปียี่สิบกว่าปีที่แล้ว (พ.ศ. 2537)  และวาระอื่น ๆ อีก 2 ครั้ง ทุกครั้งก็จะได้มีโอกาสเข้าไปกราบพร้อมกับรับการ “เคาะศีรษะ”ให้หนึ่งที การได้มีโอกาสไปนมัสการก็เพื่อไปทำบุญ และขอความเป็นสิริมงคลแก่ตัวและครอบครัว ไม่ได้ไปหาวัตถุมงคลอะไรเป็นพิเศษ แต่ทุกครั้งที่ได้กราบท่าน จะบังเกิดความรู้สึกอิ่มเอมทางใจ แต่ก็ไม่ได้ระลึกนึกในเชิงนัยยะ หรือความหมายอื่นที่สะท้อนผ่านจากปฏิปทาของท่าน

ครั้นมาถึงวันนี้ วันที่หลวงพ่อปลงสังขารแล้ว ประกอบกับสื่อได้พยายามค้นหาและเสนอโอวาทธรรมคำสอนต่าง ๆ ทำให้ผู้เขียนใคร่จะบูชาปฏิปทาทางธรรมที่ท่านดำเนินมาว่ามีประโยชน์ และคูณปการทั้งทางจิตวิญญาณและประเทศชาติบ้านเมือง ดังพินัยกรรมที่ทำไว้เมื่อท่านอายุได้ 77 ปี ลงวันที่ 25 มิ.ย. 2543  แต่ใจความสำคัญที่ถือว่าเป็นพินัยกรรมแห่งสติ  ถ้อยคำสำคัญซึ่งกลายมาเป็นพินัยกรรมแห่งสติ ผู้เขียนขออนุญาตถอดใจความจากการบันทึกเสียงของหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ หลวงพ่อได้ปรารภว่าการพูดในวันนั้นเป็นหัวข้อสำคัญ และเป็นมหามงคลอันใหญ่หลวงที่ได้พูดหัวข้อ “กเฬวราก-ซากศพ” (อ่านว่า กะ-เล-วะ-ราก) โดยขึ้นต้นด้วยพระบาลีว่า อนิจจา วะตะ สังขารา สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ เกิดขึ้นก็ดับไปเป็นของธรรมดา เป็นข้อธรรมที่แสดงถึงหลักไตรลักษณ์ของสังขารร่างกายที่ต้องตกอยู่ในสภาวะธรรมดาคือ อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตาได้อย่างชัดเจนที่สุด ข้อความมีดังนี้  (ยูทูบ  ที่ https://www.youtube.com/watch?v=D7pVXyWcgPU)

“ ...กูก็นึกได้ว่า อยากจะสร้างบารมีในเรื่องเอาศพไปฝากโรงพยาบาลขอนแก่น นึกได้เมื่อไหร่กูก็ดีใจ จะเป็นฝ่ายบิดาก็ตาม มารดาก็ตาม หรือวงศาคณาญาติทั้งฝ่ายพ่อฝ่ายแม่พี่น้องญาติวงศ์พงศาก็ไม่เคยมีใครไปฝากศพ กูก็มานึกว่าอยากจะสร้างบารมีในเรื่องบริจาคศพ ดีกว่าไปเผาทิ้ง ให้เขาเอาไป เป็นทาน ไปเป็นครูเขา เขาจะได้เอาไปไว้พิจารณาหาเหตุผลในเรื่องแพทย์ กูนึกได้อย่างนั้นกูก็อยากสร้างบารมีของกู พวกลูกหลาน เมื่อเวลากูหมดชีวิตหรือหมดลมหายใจเข้า-ออกแล้ว พวกมึงก็อย่าได้หน่วงเหนี่ยวเลย (ลากเสียง) ให้เขาไปเถอะ มันจะเสียเจตนากู มึงจะเอาไว้ได้ก็อย่าให้เกิน 7 วัน ถ้าเกิน 7 วันไปไม่ได้ดอก อย่างมากที่สุดก็ 7 วันก็พอแล้ว พี่น้องจะมาถวายน้ำสรง หรือจะไม่มา ถ้าไม่มีคนมาก็ส่งไปเสียเลย ถ้ามีคนมาก็ให้รอ 7 วัน แล้วค่อยส่งไป อย่าให้เสียเจตนาของพี่น้องลูกหลาน...กูบริจาคไปพวกมึงก็ควรโมทนาสาธุการกะกู ทำบุญร่วมกับกูเถอะลูกหลานเอ๊ย (ลากเสียง) ของอะไรทุกอย่างเกิดมาแล้วก็ดับไปเป็นธรรมดา มันไม่เที่ยงแท้แน่นอนดอก พวกเพื่อนฝูงญาติมิตรสหาย เมื่อเวลาดับจิตหรือว่าหมดลมหายใจเข้า-ออกแล้วเขาก็ไปส่งได้แค่เมรุเท่านั้นแหละเน้อ (ลากเสียง) ต่อไปเขาก็ไปส่งไม่ได้ดอก (ลากเสียง) จะไปสู่สุคติหรือทุคติ ตัวของตัวเองแหละ...บุญทานการกุศลที่เราได้สร้างได้ทำนี่แหละจะประคับประคองเราไป หมู่พวกเพื่อนฝูงก็ไปส่งได้แค่เมรุ...เราไปเองที่จะสร้างทำเอาไว้นี่แหละตัวสำคัญจินำไปสู่สุคติทุคติ เพราะฉะนั้น พี่น้องลูกหลานพยายามสร้างคุณงามความดี

อย่าเป็นคนเนรคุณต่อประเทศชาติบ้านเมือง คนเราเกิดมาก็มาสร้างของ 2 อย่าง คือ ไม่สร้างความเดือดร้อนวุ่นวายให้แก่ประเทศชาติบ้านเมืองอย่างหนึ่ง (อีกอย่างหนึ่ง) เกิดมาสร้างคุณงามความดีให้ประเทศชาติบ้านเมือง พยายามสร้างคุณงามความดีเอาไว้ ไม่พอร้อยปีเดี๋ยวก็ได้พลัดพรากจากกันไปอีกแล้ว ไม่ได้อยู่นานแค่ไหนดอก (ลากเสียง)”

พระที่มาในงานศพของกู มึงก็รู้อยู่แล้วว่าความตายเป็นของธรรมดา ท่านก็รู้อยู่แล้วเน้อ (ลากเสียง) ญาติโยมพี่น้องที่มาจากใกล้จากไกลก็อย่างไปร้อง ร้องได้ก็ไม่ได้คืน ร้องทำไม ให้ปลงว่าอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาตาม ๆ กันไปเถอะ (ขึ้นเสียงสูง) อย่าได้ไปนั่งร้อง นั่งพิรี้พิไรอยู่อะไรเล่า (ลากเสียง) อย่าไปสงสัยเน้อว่าจิไม่ตาย คนร้องตามกูก็ตาย  !!! ไม่อยู่พอได้ร้อยปีพันปีดอก เดี๋ยวก็จิตายอย่างกูนี่แล้ว....”

จากถ้อยคำสำคัญดังกล่าว จึงกลายเป็นที่มาอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรในรูปของ “พินัยกรรม” เพียงแต่แตกต่างจากพินัยกรรมฉบับอื่น ๆ ที่มุ่งจัดสรรทรัพย์สมบัติให้แก่ลูกหลาน แต่นี่เป็นพินัยกรรมเตือนสติให้แก่ลูกหลานที่เคารพนับถือและศรัทธาในตัวท่าน เตือนสติผ่านคำสอนในหลาย ๆ เรื่อง ในที่นี้จะยกมาเสนอ 4 เรื่อง ได้แก่

1) มรณสติธรรมธรรมคือมรณสตินั้นเป็นสัจธรรมที่สอนให้มนุษย์ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น หลวงพ่อสอนว่าทุกสิ่งมีเกิดต้องมีดับ อย่าได้เสียดายอาลัยอาวรณ์ หรือนั่งร้องไห้พิรี้พิไรรำพัน ท่านยังสอนสวนกลับมาให้มองตัวเองนั่นแหละว่าคนที่นั่งร้องนั่งรำพันก็ต้องตายเหมือนท่าน ทั้งพระทั้งโยมก็ควรหันมาพิจารณาตัวเอง การพูดสอนตัดบทหักมุมอย่างนี้ทำให้สะท้านและทำลายความรักความหลงลงได้

2) จาคธรรม หรือการบริจาคเสียสละของหลวงพ่อคูณนั้น เป็นการแสดงเจตนาอย่างมีจุดมุ่งหมาย การบริจาคสรีระสังขารเป็นการสะท้อนให้เราเห็นว่าคุณธรรมภายในของท่านนั้นไม่ธรรมดา โดยเฉพาะการบริจาคร่างให้เป็นทาน หรือเพื่อให้เป็น “อาจารย์ใหญ่” แก่นักศึกษาแพทย์ย่อมแสดงถึงมุมมองที่กว้างไกลของหลวงพ่อ  นอกจากแพทย์จะใช้ความรู้ด้านกายวิภาคให้เป็นประโยชน์แล้ว ผลจากการศึกษานั้นจะขยายไปสู่ชีวิตของคนเจ็บไข้ได้ป่วยอีกนับไม่ถ้วน และที่สำคัญ “การให้” ครั้งนี้ของหลวงพ่อได้ปรับเปลี่ยนวิธีคิดของผู้คนจำนวนมากที่เคยลังเลสงสัยในการบริจาคศพให้แก่โรงพยาบาลต่าง ๆ โดยหวั่นกลัวว่าชาติหน้าเกิดมาอวัยวะจะไม่ครบสมบูรณ์เพราะร่างกายถูกชำแหละหรือผ่านการศึกษาจากแพทย์  ผู้คนเริ่มมีความมั่นใจในการบริจาคร่างกายให้แพทย์ ด้วยคำพูดที่ว่า “กูก็มานึกว่าอยากจะสร้างบารมีในเรื่องบริจาคศพ ดีกว่าไปเผาทิ้ง ให้เขาเอาไป เป็นทาน ไปเป็นครูเขา”

คำว่า “กูก็มานึกว่าอยากจะสร้างบารมี” ในที่นี้หมายถึง การให้ทานเป็นบารมี ซึ่งในพระพุทธศาสนาจัดแบ่งไว้ 3 ชั้น ชั้นแรกเรียกว่า ทานบารมี ซึ่งหมายถึงการสละให้สิ่งของนอกกายทั่วไป ชั้นที่สองเรียกว่า ทานอุปบารมี หมายถึง การสละให้อวัยวะในตัว เช่น บริจาคดวงตา และชั้นสูงสุดเรียกว่า ทานปรมัตถบารมี หมายถึง การสละชีวิตให้เป็นทาน กรณีของหลวงพ่อคูณจัดอยู่ในทานขั้นที่สองคือ ทานอุปบารมี แต่สิ่งที่สำคัญกว่าลำดับขั้นคือ ลำดับจิตใจของหลวงพ่อคูณ ที่ไม่เพียงเป็นการสร้างบารมีเพื่อตัว แต่เป็นการสร้างสติปัญญาความเข้าใจในทานคือการสละร่างกายให้เป็นทานต่างหาก เพราะการที่คนเราจะ “เป็นผู้ให้” ได้นั้น จิตใจต้องสละได้เสียก่อน ไม่นึกหวงแหน ไม่นึกเสียดาย และที่สำคัญคือนึกถึงประโยชน์ที่คนอื่นจะได้ ประโยชน์ในการศึกษาทางกายวิภาคศาสตร์  หรือแม้กระทั่งเงินทองที่ผู้คนนำมาทำบุญนั้นให้ส่งทอดต่อไปยังโรงพยาบาลสงฆ์ที่นอกเหนือจากโรงพยาบาล สถานศึกษาหรือโรงเรียนที่หลวงพ่อเคยสร้างไว้เมื่อครั้งยังมีชีวิตอีกจำนวนมาก

3) สามัคคีธรรมหลวงพ่อคูณเป็นพระสงฆ์ที่มีความรักประเทศชาติบ้านเมือง พยายามสอนสั่งให้คนที่มาหาท่านในทุกโอกาส มีเลือดคนโคราชเข้มข้นเป็นคนรักชาติบ้านเมือง ดังที่หลวงพ่อสอนว่า “อย่าเป็นคนเนรคุณต่อประเทศชาติบ้านเมือง คนเราเกิดมาก็มาสร้างของ 2 อย่าง คือ ไม่สร้างความเดือดร้อนวุ่นวายให้แก่ประเทศชาติบ้านเมืองอย่างหนึ่ง (อีกอย่างหนึ่ง) เกิดมาสร้างคุณงามความดีให้ประเทศชาติบ้านเมือง”

4) โลกธรรมแม้ธรรมดาของมนุษย์จะยึดฝ่ายลาภ ยศ สรรเสริญ สุข แต่หลวงพ่อคูณได้สอนให้มองกลับบ้านไว้ด้วยสำหรับการใช้ชีวิต คือ ไม่หลงลาภ ยศ สรรเสริญ สุข แม้จะเป็นพระสงฆ์ที่มียศศักดิ์ (สมณศักดิ์ที่ พระเทพวิทยาคม) แต่ก็ขอเป็น “คนธรรมดา” ตามพินัยกรรมว่า “ให้จัดงานแบบเรียบง่าย ละเว้นการพิธีสมโภชน์ใดๆ และห้ามขอพระราชทานเพลิงศพ โกฏิและพระราชพิธีอื่นๆ เป็นกรณีพิเศษเป็นการเฉพาะ”   เป็นการสะท้อนถึงสาระที่แท้จริงของชีวิตในซีกที่ถูกละเลยไป

ทั้งหมดที่กล่าวมา อยากจะชวนให้ผู้อ่านนึกถึงเอกลักษณ์ที่สำคัญของหลวงพ่อคูณเมื่อผู้คนเข้าไปกราบ คือ “การเคาะศีรษะ” นัยว่าเป็นวิชาที่หลวงพ่อได้รับถ่ายทอดมาจากครูบาอาจารย์เมื่อครั้งไปฝึกสมาธิภาวนา  ศีรษะ เป็นผลรวมพลังงานของชีวิตที่รวมเอาพลังงานต่าง ๆ รวมถึงคุณภาพของจิตไว้ด้วย การนึกคิด อารมณ์ต่าง ๆ จะทำงานประสานสัมพันธ์ไปกับเส้นสมองอย่างอัศจรรย์  การเคาะ เหมือนดังการสะกิด กระตุกเตือนให้เราระลึกหรือรู้ตัวในการทำ คำที่พูด จิตที่คิด ตามวินมอเตอร์ไซค์ มักมีแผ่นป้ายที่มีคำสอนหลวงพ่อคูณว่า  “กูห่วงหัวมึง” คือห่วงทั้งความปลอดภัย และ “ให้สติ” ในการประกอบสัมมาชีพ  บางครั้งอาจต้อง “เคาะให้เจ็บ” หรือ “เคาะให้จำ” หรือ “เคาะให้สำนึก” บ้างกับกะโหลกของเรา 

หลังจากดองเก็บสรีระของหลวงพ่อไว้หนึ่งปี อีกสองปีจะเป็นการศึกษาของนักศึกษาแพทย์ เราก็อยากจะทราบเหมือนกันว่าศีรษะของหลวงพ่อคูณนั้นเป็นอย่างไร ทำไมถึงคิดได้สูง ทำได้ประเสริฐ เกิดประโยชน์แก่คนทุกวงการได้ถึงเพียงนี้ การมรณกรรมของหลวงพ่อคูณ จึงเท่ากับเป็นพินัยกรรมแห่งสติของสังคม ความกระด้างกระเดื่อง เย่อหยิ่งผยอง ความอหังการที่เคยมี ได้รับการกำราบลงบ้างแล้ว หรือจิตใจของเราได้อ่อนน้อมลงบ้างแล้วหรือยัง

 


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จับหนุ่มพ่นสเปรย์ศาลอาญา - เหตุทวงคดีทหารยิงรุ่นพี่ไม่คืบ

$
0
0

ตำรวจ สน.พหลโยธิน จับกุมผู้ต้องหาคดีพ่นสเปรย์รูปตัวเอ ที่ป้ายศาลอาญา โดยระบุสาเหตุว่าเป็นเพราะคดีทหารยศสิบตรี ยิงรุ่นพี่เสียชีวิตขณะขับจักรยานยนต์ย่านบางเขนไม่มีความคืบหน้า จึงต้องการเรียกร้องความเป็นธรรม

26 พ.ค. 2558 - ตามที่เมื่อวันที่ 24 พ.ค. เจ้าหน้าที่ทหารจาก ร.11 พัน.1 รอ. ตรวจสอบป้ายศาลอาญา หลังมีผู้พ่นสเปรยตัวอักษรเอ คล้ายสัญลักษณ์ของพวกนิยมอนาธิปไตยนั้น ล่าสุด มติชนออนไลน์รายงานเมื่อวันที่ 26 พ.ค. ว่า ตำรวจฝ่ายสืบสวน สน.พหลโยธิน ได้จับกุม นายณัฐพล อายุ 22 ปี อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง จับกุมได้ที่ จ.นนทบุรี โดยใช้หลักฐานจากกล้องวงจรปิด

จากการสอบสวนเบื้องต้นผู้ต้องหาให้การรับสารภาพว่า เป็นผู้ก่อเหตุพ่นสีสเปรย์จำนวน 2 จุดจริง เนื่องจากต้องการเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับรุ่นพี่ที่ถูกยิงเสียชีวิต ขณะขี่รถจักรยานยนต์ผ่านย่านบางเขน เมื่อคืนวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2558 โดยตำรวจสามารถจับกุม ส.ต.วัชรพงศ์ ชูรัตน์ ทหารสังกัดกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ แต่คดีไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร จึงเกิดความคับแค้นใจ และต้องการเรียกร้องความเป็นธรรม จึงฉีดพ่นสัญลักษณ์ดังกล่าว เพราะเห็นว่าทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน และยอมรับว่าสิ่งที่ทำมีความผิด แต่ต้องการระบายและเรียกร้องความถูกต้องเท่านั้น

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คุยกับนักศึกษานิติศาสตร์ ในวันสืบพยาน ‘วรเจตน์’ ในศาลทหาร

$
0
0
26 พ.ค.2558 ที่ศาลหลักเมืองซึ่งอยู่ใกล้กับศาลทหาร นักศึกษากว่า 20 คนยืนรอมอบมาลัยและภาพวาดเพื่อแสดงมุทิตาจิตและให้กำลังใจ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังเสร็จสิ้นการสืบพยานนัดแรกที่ศาลทหาร คดีขัดคำสั่งเรียกรายงานตัวของคสช. เนื่องจากเจ้าหน้าที่ทหารไม่อนุญาตให้กลุ่มนักศึกษาเข้าไปรอบริเวณศาลทหาร 
ภาพนักศึกษามอบมาลัยและภาพวาดเพื่อแสดงมุทิตาจิตและให้กำลังใจ วรเจตน์ 
ประชาไทคุยกับ คงสัจจา สุวรรณเพ็ชร นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในนักศึกษาที่ร่วมกิจกรรมนี้ถึงเหตุผลเบื้องหลังกิจกรรมและมุมมองของเขาต่อสิ่งที่เกิดขึ้น
 
กิจกรรมวันนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ?
 
คงสัจจา : เป็นการรวมตัวของนักเรียนนิติศาสตร์ชั้นปีที่4 เป็นหลัก เราอยากแสดงมุทิตาจิต ไปรับอาจารย์ที่ศาล ไปให้กำลังใจอาจารย์ที่ศาล เป็นความตั้งใจในฐานะที่เป็นปีสุดท้ายที่ได้เรียนในคณะนี้ มีนักศึกษาปริญญาตรีประมาณ 20 กว่าคน และนักศึกษาปริญญาโทที่เคยเรียนกับอาจารย์อีกจำนวนหนึ่ง
 
พวกเราเดินทางมาจากรังสิตตั้งแต่ 7 โมงเช้า และรออยู่ที่ศาลหลักเมืองจนอาจารย์ได้ออกมาช่วงใกล้เที่ยง เนื่องจากเจ้าหน้าที่ทหารไม่อนุญาตให้กลุ่มนักศึกษาเข้าไปใกล้บริเวณศาลทหาร 
 
ไม่กลัวจะถูกเพ่งเล็งว่าเป็นนักศึกษาที่มาเคลื่อนไหวต่อต้านทหารหรือ ?
ไม่กลัว ผมคิดว่าผมทำในสิ่งที่ถูกต้อง
 
เคยเรียนกับอาจารย์ไหม ? 
เคยเรียนกับอาจารย์ในวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครอง และนิติปรัชญา 
 
มองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับอาจารย์อย่างไร ? 
มองว่าอาจารย์มีเสรีภาพที่จะแสดงความคิดเห็น ในฐานะที่อาจารย์เป็นนักวิชาการ สังคมจะเดินหน้าต่อไปได้ นักวิชาการเป็นกลไกสำคัญ เมื่อเรามีการวิพากษ์วิจารณ์ อะไรดีอะไรไม่ดี เราจะได้แก้ไขสิ่งที่ไม่ดีได้ ฉะนั้น มันน่าจะมีกลไกอะไรบางอย่างที่คุ้มครองอาจารย์ได้มากกว่านี้ มีความคุ้มกันบางอย่างมากกว่านี้
 
หมายถึงมหาวิทยาลัย ?
ไม่ว่ามหาวิทยาลัยหรือภาครัฐก็ตามต้องเคารพเสรีภาพตรงนี้ให้มากกว่านี้ สิ่งที่เป็นอยู่นี้ โอเค อาจจะบอกว่าอาจารย์ขัดคำสั่ง ไม่มารายงานตัว แต่อีกทางหนึ่งเราปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่อาจารย์ต้องไปขึ้นศาลทหาร มันเป็นแรงกดดันอีกทางหนึ่งที่ทำให้อาจารย์ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้เต็มที่ 
 
โดยกระแสภาพรวมของนักศึกษานิติศาสตร์ พวกเขาคิดอย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับวรเจตน์ ? 
จริงๆ ก็เหมือนสังคมไทยทั่วไป มีทั้งที่ชอบและไม่ชอบอาจารย์วรเจตน์ แต่เราต่างกับสังคมทั่วไปนิดหนึ่งคือ เราได้เรียน ได้สัมผัสกับอาจารย์วรเจตน์ บางคนครอบครัวบอกเลยว่าอย่าไปเรียนใน sec พวกนิติราษฎร์ บางคนก็รับไม่ได้ก็มี แต่สำหรับคนที่ลองเรียนจริงๆ จะรู้เลยว่า อาจารย์ไม่ได้ยัดเยียดความคิดอย่างที่คนอื่นว่ากัน อาจารย์สอนตามหลักการทุกอย่าง ท่านเป็นนักวิชาการที่เสมอต้นเสมอปลายมากๆ 
 
อาจารย์สอนสนุกไหม เถียง ไม่เห็นด้วยได้ไหม ถ้าเห็นต่างกับอาจารย์จะสอบตกไหม ?
อาจารย์พูดเสมอว่าไม่ต้องเชื่อที่ผมพูด แต่เมื่อคุณเติบโตขึ้น ไปค้นคว้าเพิ่มจะเห็นต่างจากผมก็ได้ ถ้านักศึกษาไม่เข้าใจหรือคนในสังคมไม่เข้าใจ ท่านจะอธิบายจนกว่าจะเข้าใจ อาจารย์ไม่เคยเหนื่อยกับการอธิบายให้กับนักศึกษาหรือคนภายนอกเข้าใจสิ่งที่อาจารย์จะสื่อ 
ภาพนักศึกษามอบมาลัยและภาพวาดเพื่อแสดงมุทิตาจิตและให้กำลังใจ วรเจตน์ 
ในฐานะนักเรียนกฎหมายมีความหวังไหมกับระบบกฎหมาย การใช้กฎหมายของประเทศนี้? 
(นิ่งไปครู่หนึ่ง) มีความหวังนะ ผมคิดว่าสังคมกว่ามันจะมาถึงจุดที่พัฒนา มันต้องผ่านอะไรมาก่อน สังคมไทยก็เหมือนกัน คงต้องมีจุดเปลี่ยนผ่านและการเรียนรู้ ตอนนี้สังคมอาจจะยังไม่เข้าใจว่าการปกครองด้วยกฎหมายมันดียังไง แต่วันหนึ่งถ้าเราเห็นภัย เราตระหนักถึงภัยของการใช้อำนาจอยู่เหนือกฎหมาย ถ้าเราประสบภัยเมื่อไรเราก็จะเข้าใจเมื่อนั้น 
 
ตอนนี้เราประสบภัยรึยัง ?
จริงๆ เราก็ประสบแล้ว แต่บางคนเขาอาจกระทบน้อย ไม่ว่าสถานะทางการเงิน สถานะทางสังคมทำให้เขาไม่กระทบมาก แต่ประชาชนจำนวนหนึ่งที่มีผลกระทบโดยตรงกับเศรษฐกิจและการกินอยู่ ผมว่าเขารู้ดีว่ามันเป็นยังไง
 
คิดยังไงกับธรรมศาสตร์ ? 
คือต้องแยกตัวบุคคลกับสถาบันออกจากกัน ตอนที่ผมเข้ามาผมก็มีอุดมการณ์บางอย่าง ทุกวันนี้ก็ยังเป็นอยู่ ผมไม่คิดว่าธรรมศาสตร์มันตายแล้วนะ มันยังมีอีกหลายคนที่เข้ามาแล้วอยากให้มันมีชีวิตชีวา ส่วนผู้บริหารหรือใครที่ทำอะไรผิดไปจากเดิม มันเป็นเรื่องตัวบุคคล 
 
สภาพตอนนี้มันผิดไปจากที่คาดหวังไหม? 
พูดตรงๆ ก็ผิดหวังเล็กน้อย เพราะคนที่ออกมาเคลื่อนไหว แสดงความคิดเห็นทางการเมืองก็เป็นส่วนน้อย ไม่ใช่คนส่วนใหญ่
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

“โชว์วิชาการ”สะท้อนวัฒนธรรมการศึกษา

$
0
0


 

ใครว่าในอเมริกาไม่มีโชว์ทางด้านวิชาการ?

มีครับ แถมยังเป็นต้นแบบด้านการทำธุรกิจด้านวิชาการให้กับบุคคลและบางสถาบันในบางประเทศอีกด้วย และผมเชื่อว่าในประเทศไทยอาจกำลังมีโชว์ที่ว่านี้โดยพวกเขาได้แบบ (model) ไปจากอเมริกานั่นแหละ

“โชว์” ที่หมายถึงการแสดง เหมือนกับการแสดงละครอะไรทำนองนี้ โชว์ทางวิชาการจึงหมายถึงการแสดงความเปรื่องทางวิชาการ ผ่านการกระบวนงานวิชาการ เช่น การนำเสนอบทความ การเสนอข้อมูลเชิงวิชาการในงานวิชาการต่างๆ หรือเรียกกันว่า เวทีวิชาการ  แต่ในข้อเท็จจริงก็คือ มันเป็นโชว์ เป็นการเซ็ตฉากการนำเสนองานวิชาการ

ถามว่า ทำไมถึงต้องมีการเซ็ตฉากด้านวิชาการ ให้ได้กลิ่นอายทางวิชาการ หรืออะไรๆ ในรูปแบบวิชาการ คำตอบคือ เพราะผู้เซ็ตฉากต้องให้เกิดบรรยากาศที่ดูดีทางด้านวิชาการ จากตัวอย่างที่เห็นในบางประเทศที่ไม่ใช่อเมริกา เช่น ผู้จัดโชว์วิชาการให้นำเสนอโชว์ (present) เป็นภาษาอังกฤษ หรือจัดที่โรงแรม สถานศึกษาที่มีชื่อเสียง สามารถสร้างเครดิตให้กับโชว์ด้านวิชาการแบบนี้ได้ 

ดังนั้นผู้เข้าร่วมรายการโชว์ก็คือ ผู้อยากได้ใคร่มีชื่อเสียงว่าเป็นนักวิชาการที่ผลงานถูกนำเสนอบนเวทีอินเตอร์ เพราะผู้จัดโชว์วิชาการได้เตรียมตัว ด้วยการจ้างผู้ร่วมงานที่ส่วนใหญ่เป็นฝรั่งมานั่งเป็นสักขีพยาน ไม่ก็นักวิชาการหรือผู้ทรงคุณวุฒิที่มีชื่อเสียง ซึ่งเราอาจเรียกพวกเขาว่าเป็นกรรมการ หรือแขกผู้มีเกียรติของของโชว์ก็ได้ 

วัตถุประสงค์สำคัญและแท้จริงของการจัดโชว์วิชาการที่ว่านี้ คือธุรกิจ เมคมันนี่ !!  และให้เผอิญว่าโชว์วิชาการที่ว่าตรงกับค่านิยมและวัฒนธรรมการอยากได้ใคร่ดี ใคร่มีชื่อเสียงทางด้านวิชาการของคนไทยบางคนหรือบางกลุ่มที่ต้องการแผ่นประกาศเกียรติคุณ “ผลงานวิชาการอันเยี่ยมยอด”ไว้ติดฝาผนังบ้าน โดยเฉพาะห้องรับแขก ซึ่งหากเป็นในอเมริกา เราน่าจะหากันไม่ยาก แต่ที่เมืองไทยมันเป็นธุรกิจใหม่ ที่เปิดดีล (deal opening)  เพื่อหาเครดิตไปที่สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย และองค์กรเอกชนที่มั่งคั่งไปด้วยทรัพยากรทางการเงิน 

ผู้เซ็ตโชว์หรือผู้จัดโชว์ย่อมทราบอุปนิสัยของคนไทยเป็นอย่างดีว่าคนไทยมีวัฒนธรรมขี้โอ่วุฒิการศึกษามากมายขนาดไหน รู้ว่าคนไทยโอ่เห่อฝรั่งอย่างไร รู้ว่าคนไทยนั้นต่อหน้าก็นิยมไทยแต่ใจนิยม(ของ)นอกประมาณไหน รู้วัฒนธรรมจ่ายครบจบแน่มีความหมายอย่างไร รู้“วัฒนธรรมดอกเตอร์”ว่าเป็นกระแสหรือฟีเวอร์ขนาดไหนจากตัวอย่างขนาดผลสะท้อนเกี่ยวกับความร่ำลือถึงมหาวิทยาลัยสันติภาพโลกในช่วงปี พ.ศ.๒๕๕๖

โอกาสของผู้เซ็ตงานสัมมนาวิชาการแบบโชว์วิชาการนี้  เกิดจากความเข้าใจวัฒนธรรมคนไทยว่าเป็นอย่างไร มองมันอย่างแทงทะลุ สมัยก่อนผู้เซ็ตกลุ่มก่อนๆ ขนคนไทยผู้คลั่งไคล้เวทีวิชาการ ประเภท”เสนอบทความ” ไปนำเสนอบนเวทีวิชาการในอเมริกา (แน่นอนล่ะว่ามันถูกเซ็ตโดยกลุ่มทำธุรกิจโชว์วิชาการ และผู้เข้าร่วมงานโชว์จำเป็นต้องจ่าย) สมัยนี้ผู้คลั่งไคล้วิชาการที่อยู่ในวัฒนธรรมดอกเตอร์อาจไม่ต้องไปไกลถึงแดนลุงแซมอีกต่อไป แต่เริ่มมีคนเริ่มธุรกิจประเภทนี้ไปบ้างแล้วโดยอาศัยอเมริกันโมเดล สร้างเวทีขึ้นมาและเก็บเงินคนที่ขึ้นนำเสนอบนเวที

ความจริงโชว์วิชาการแบบนี้ไม่ใช่ไม่มีประโยชน์ โชว์นี้มีประโยชน์ในแง่การสร้างสภาพคล่องให้เกิดขึ้นในวงการการศึกษาของไทย ในยามที่เศรษฐกิจกำลังทรงตัวและส่อเค้าทรุด ซึ่งการทำให้เกิดสภาพเงินหมุนเวียนในประเทศย่อมดีกว่าเงินไหลออกนอกประเทศดังที่เคยทำกันมาในการนำเสนอบทความบนเวทีอินเตอร์อย่างในอเมริกา ทั้งอย่างน้อยก็เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าคนไทยใส่ใจกับงานการศึกษาและงานวิจัยมากมายขนาดไหน

ท่ามกลางบรรยากาศของการศึกษาไทยที่เต็มไปด้วยความกลัว โดยเฉพาะขั้นการศึกษาขั้นอุดมศึกษา ถูกวิจารณ์ว่าผู้เรียนไม่เป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่ ไม่กล้าวิพากษ์อย่างสมเหตุสมผล ผู้เรียนและผู้สอนต่างก็ถูกเงื่อนไขของความกลัวที่แฝงอยู่กับระบบการศึกษาครอบงำ ปราศจากความหาญกล้าทางวิชาการ การนำเสนอความคิดใหม่ที่มาจากการวิพากษ์โต้แย้ง ซึ่งก็คือระบบเผด็จการทางการศึกษา

ขณะที่การศึกษาในสถาบันการศึกษาของไทยโดยมาก เป็นไปในลักษณะที่ทั้งผู้เรียนและผู้สอนต่างมี ความกลัวฝังหัว ไม่กล้าแสดงออกทางความคิดที่ตัวเองคิด

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การนำเสนอข้อมูลทาง วิชาการบางด้านบิดเบือนไปมากก็น้อยโดยเฉพาะวิชาการสายสังคมศาสตร์ (ที่อยู่ฟากตรงกันข้ามกับสายวิทยาศาสตร์)  ยิ่งสถาบันการศึกษาใดเดินอยู่ในแนวทางจารีตนิยมความกลัวในการแสดงออก เชิงการวิพากษ์และการเสนอความเห็นจนเกิดความอึมครึมในสถาบันก็ย่อมมีมากขึ้นเท่านั้น

ผมเคยมีข้อสันนิษฐานถึงสาเหตุของความกลัวต่อการแสดงความเห็นเชิงการวิพากษ์ด้วยเหตุและผล ดังนี้ครับ

1. ผู้เรียนผู้สอนมีความรู้ไม่พอที่จะวิพากษ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ หากผู้เรียนและผู้สอนไม่ พยายามแสวงความรู้ใหม่ๆ อย่างไม่หยุดหย่อน เพราะในโลกนี้มีความรู้เกิดใหม่ตลอดเวลาและเป็นไปอย่าง รวดเร็วเสียด้วย หากสถานการณ์ของผู้เรียนผู้สอนเป็นอย่างนี้ ทั้งผู้เรียนหรือผู้สอน ย่อมจึงเกิดความกลัว ในการแสดงความเห็นต่อสาธารณะการนำเสนองานวิชาการหรืองานวิจารณ์แสดงความเห็นโดยทั่วไปจึง ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่สามารถเข้าถึงความจริงในประเด็นต่างๆ

2. ระบบอุปถัมภ์ภายในสถาบันการศึกษาของไทย เป็นระบบที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงค่อนข้างมาก หมายถึงระบบเส้นสายในสถาบันการศึกษา เครือข่ายอุปถัมภ์ระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน หรือผู้บริหารมหาวิทยาลัย ทั้งสองฝ่ายสามารถอุปถัมภ์ซึ่งกันและกันตามแบบอย่างของ วัฒนธรรมไทยโดยทั่วไป เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้ทั้งผู้เรียน และผู้สอนไม่กล้าแสดงออก โดยเฉพาะการแสดงออกเชิงการวิพากษ์ในแง่มุมวิชาการอย่างเต็มที่ 

3. ปัญหาของผู้เรียนและผู้สอนที่โลกทัศน์แคบ ตีความ วิเคราะห์และขยายความประเด็นทางด้าน วิชาการไม่เป็นซึ่งว่ากันตามจริงแล้วข้อนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากประสบการณ์เชิงประจักษ์ของทั้งผู้เรียนและ ผู้สอนที่มีไม่มากพอ หากผู้สอนมีโลกทัศน์แคบก็พลอยทำให้กรอบ การเรียนการสอนพลอยแคบไปด้วย แม้ว่าผู้เรียนจะมีประสบการณ์เชิงประจักษ์มากมายเพียงใดก็ตาม แต่ก็จะถูกจำกัดการถ่ายทอดความรู้ออกสู่สาธารณะ  เช่น การนำเสนอความเห็นของผู้เรียนที่เกิดความกลัวต่อผู้สอนเนื่องจากความเห็นจากการตีความ การวิเคราะห์ไม่ตรงกัน เพราะผู้สอนคือ ผู้ควบคุมผู้เรียน เช่น ผ่านระบบการออกเกรดหรือให้คะแนน เป็นต้น ความกลัวดังกล่าวให้ความเห็นที่ควรแสดงต่อสาธารณะแม้แต่การแสดงออกในห้องเรียนของผู้เรียนถูกปิดกั้นไปโดยปริยาย

4. อำนาจรัฐก่อให้เกิดความกลัวและความอึมครึมต่อการเรียนการสอนได้มาก โดยเฉพาะอำนาจรัฐที่มีไว้เล่นงานผู้ที่ชอบแสดงความเห็นเชิงวิชาการและวิพากษ์รัฐ หรือแม้แต่การที่รัฐมีกฎหมายป้องกันตัวของรัฐและบุคลของรัฐที่เป็นบุคคลสาธารณะเอง ในบางมาตรา ทำให้การแสดงความเห็นทางวิชาการ ไม่อาจเป็นไปอย่างเต็มที่เพราะลึกๆแล้ว ผู้ที่แสดงความเห็นที่คาบเกี่ยวกับรัฐและสถาบันย่อมมีอาการประหวั่นเกรงกลัวอำนาจ (กฎหมาย) ที่รัฐมีอยู่ในมือและพร้อมที่จะใช้เล่นงานทั้งผู้เรียนและผู้สอนในสถาบันการศึกษาที่แสดงความคิดเห็นไม่ตรงกับรัฐ ซึ่งในประเทศไทยมีกฎหมายบางประเภทและบางมาตราที่ยังมีอิทธิพลครอบงำระบบการเรียนการสอนอยู่

5. ความอึมครึมจากการสุกเอาเผากิน ผู้เรียนหวังแค่ใบปริญญา ไม่ได้หวังความรู้เพื่อให้ใกล้เคียง กับวัตถุประสงค์ของการศึกษาอย่างแท้จริงรวมถึงการใช้เงินปูทางไปสู่วุฒิทางการศึกษา เช่น การบริจาคให้กับสถาบันการศึกษาหรือบริจาคให้กับอาจารย์ผู้สอนในกิจกรรมต่างๆทำให้การแสดงความเห็นทางวิชาการ หรือการแสดงความคิดเห็นเชิงเหตุและผล ไม่สามารถเป็นไปอย่างเสรีหรือเต็มที่ได้ เพราะผู้เรียนไม่ ได้ตั้งความหวังเรื่องความรู้มากนัก ขณะที่การบริจาคเงินและให้ของกำนัลก็มักปิดปากผู้สอนและผู้บริหารให้เงียบสนิท อย่างน้อยผู้สอนและผู้บริหารก็ไม่กล้าวิพากษ์ผู้เรียนอย่างตรงไปตรงมา เกิดการเกรงใจกันแบบไทยๆ ท้ายที่สุดความกลัวก็ยังคงอยู่ในห้องเรียน ในสถาบันการศึกษาเหมือนเดิม

6. กลัวผิดต่อจารีต หรือความกลัวต่อการผิดต่อประเพณีของสถาบันการศึกษาและสถาบันสังคมหมายถึงผู้เรียนหรือผู้สอน ไม่กล้าแสดงออกซึ่งความคิดเห็น เพราะเหตุของความกลัวต่อจารีต ประเพณีของสถาบันการศึกษา บางสถาบันการศึกษาของไทยถึงกับอาศัยพิธีกรรม เพื่อเป็นเครื่องมือในการดึงความสนใจผู้เรียนและบุคลากรของสถาบัน แต่เป็นการสร้างความสนใจที่ผิด เพราะพิธีกรรมหากมีมาก ก็ย่อมลดความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์ลง  และพิธีกรรมได้กลายเป็นเครื่องถ่วงความก้าวหน้าเชิงวิชาการแบบที่เป็นเหตุเป็นผล รวมทั้งได้สร้างความกลัวแบบใหม่ให้เกิดขึ้น คือ ผู้เรียนกลัวว่าพิธีกรรมจะกลายเป็นเครื่องบีบบังคับ ให้ผู้เรียนและผู้สอนต้องใช้เวลามาซูฮกต่อพิธีกรรมดังกล่าวมากขึ้น ขณะที่หน้าที่ของผู้เรียนผู้สอน คืองานแสวงหาความรู้และนวัตกรรมความรู้ พิธีกรรมของสถาบันการศึกษาบางแห่งทำให้ผู้เรียนเสียเวลา และเกิดความกลัวจากการสร้างให้พิธีกรรมและจารีตครอบงำทั้งผู้เรียนและผู้สอน จนเกิดความอึมครึมในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น
 
ผมคิดว่า “โชว์วิชาการ” ที่กำลังก่อตัวขึ้นในเมืองไทยอาจเป็นเครื่องชี้วัดตัวใหม่ ที่จะมาวัดว่าคนไทยนั้นมีความกลัวต่อระบบเผด็จการด้านการศึกษาเพิ่มขึ้นหรือน้อยลง ถ้าผู้เรียนหันไปหาโชว์วิชาการมากขึ้นก็แสดงว่าคนไทยยอมรับวัฒนธรรมการศึกษาแบบเผด็จการ แต่ถ้าผู้เรียนสนใจธุรกิจโชว์วิชาการน้อยก็แสดงให้เห็นว่าคนไทยเริ่มเป็นตัวของตัวเองทางการศึกษามากขึ้น

เพราะการเป็นตัวของตัวเองทางการศึกษาสื่อให้เห็นถึงความกล้าหาญของทั้งผู้เรียนและผู้สอนที่มีเพิ่มมากขึ้น.

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พล.อ.ประยุทธ์จะช่วยโรฮิงญาตามหลักมนุษยธรรม-แต่จะให้อยู่ดีกินดีกว่าคนไทยไม่ได้

$
0
0

นายกรัฐมนตรีแถลงหลังประชุม ครม.นัดพิเศษวาระช่วยชาวโรฮิงญา ยืนยันว่าจะให้กองทัพเรือส่งเรือไปที่รอยต่อของน่านน้ำเพื่อใช้เป็นฐานช่วยเหลือชาวโรฮิงญาก่อนส่งต่อศูนย์อพยพมาเลเซีย-อินโดยีเซีย ย้ำชีวิตทุกคนมีค่าเราต้องช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม แต่จะให้อยู่ดีกินดีกว่าคนไทยไม่ได้

26 พ.ค. 2558 - เว็บไซต์รัฐบาลไทยรายงานว่า เมื่อเวลา 16.30 น. วันที่ 25 พ.ค. ที่บริเวณห้องโถงตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษถึงการบริหารจัดการเพื่อช่วยเหลือชาวโรฮิงญาว่า ในฐานะประเทศไทยเป็นประเทศตรงกลาง จึงต้องพิจารณาปัญหาตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ซึ่งจากการหารือกับรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่รับผิดชอบด้านความมั่นคงจะต้องมีการเพิ่มบทบาทในการดำเนินการเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กองทัพเรือนำเรือขนาดใหญ่ออกไปในทะเลบริเวณเขตรอยต่อของประเทศไทยเพื่อเป็นฐานทัพให้ความช่วยเหลือชาวโรฮิงญาที่ยังอยู่บนเรือบริเวณประเทศไทยและเขตรอยต่อพร้อมด้วยบุคลากรทางการแพทย์ อุปกรณ์การแพทย์ และเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อให้การช่วยเหลือด้านการรักษาพยาบาล รวมไปถึงคัดแยกเก็บประวัติเพื่อส่งต่อไปยังศูนย์พักชั่วคราวประเทศมาเลเซียและประเทศอินโดนีเซีย สำหรับกรณีผู้เจ็บป่วยสาหัสที่จำเป็นต้องรักษาตัวอยู่ในประเทศไทย ก็จะอำนวยความสะดวกให้ แต่ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมายไทย

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า สำหรับกรณีชาวโรฮิงญาที่อยู่ในน่านน้ำนั้น จะเป็นไปตามแนวทางเดิมคือต้องขึ้นอยู่กับใจของเขาว่าจะไปที่ไหน ซึ่งแต่ละประเทศต้องช่วยกันอำนวยความสะดวก อย่างไรก็ตามได้มีความชัดเจนในการลาดตระเวนทางอากาศ ที่ให้ทหารอากาศจัดเครื่องบินลาดตระเวนตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค.แล้ว หากสหรัฐอเมริกาหรือประเทศใดสนใจจะมาร่วมมือก็ต้องมาอยู่ในสายบังคับบัญชากับเรา เพราะเราเป็นเจ้าของพื้นที่ สื่อต้องช่วยกันนำเสนอข่าวในเรื่องนี้ ซื่งที่ผ่านมาประเทศเราช่วยเหลือตลอดในเรื่องการดูแลผู้เจ็บป่วยตามหลักมนุษยธรรม เรามองประเด็นสำคัญคือ ชีวิตทุกชีวิตมีค่า รัฐบาลไทยโดยนายกรัฐมนตรีและคนไทยเป็นคนพุทธ ฉะนั้น ชีวิตคนทุกชีวิตมีค่าเราต้องช่วยเหลือตามมนุษยธรรมก่อนเรื่องอื่น จากนั้นเมื่อเขาเข้มแข็งก็ว่าไปตามความสมัครใจ ถ้าจะมาอยู่ที่ฝั่งไทยต้องยอมรับกติกาของเรา

นายกรัฐมนตรีกล่าว่า “อย่ามาตำหนิรัฐบาล หรือประเทศไทยกันเอง เราทำตามมติของยูเอ็น ซึ่งงบประมาณก็ค่อนข้างจำกัด และลดลงไปเรื่อย ๆ จะให้อยู่ดีกินดีกว่าที่คนไทยอยู่นั้นไม่ได้ ต้องเท่าเทียมกันและแก้ปัญหาทั้งหมด ส่วนปัญหาระยะยาวจะแก้ปัญหากันเอง คุยกับประเทศเพื่อนบ้านกันแล้วว่าขอเวลาเตรียมการหน่อย ไม่ได้มีปัญหาอะไร วันนี้เราต้องลดความขัดแย้งระหว่างเพื่อนบ้าน และใช้ความเป็นมนุษยธรรมซึ่งคิดว่าผู้นำทุกประเทศเข้าใจตรงนี้”

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สืบพยานคดี 'วรเจตน์' นัดแรก จำเลยค้านอัยการฟ้องฝ่าฝืน2 ข้อหา เหตุคสช. เรียก2ครั้ง

$
0
0

26 พ.ค.2558 ที่ศาลทหาร มีการสืบพยานนัดแรกในคดีที่วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ตกเป็นจำเลย ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ไม่มารายงานตัว โดยในวันนี้เป็นการสืบพยานโจทก์คือ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ ซึ่งเป็นผู้นำตัววรเจตน์ไปร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน

ภายในห้องพิจารณาคดีมีผู้สังเกตการณ์จากองค์กรสิทธิ รวมถึงตัวแทนจากสถานทูตเยอรมนีและสหรัฐอเมริกาด้วย ส่วนบุคคลอื่น รวมทั้งนักศึกษานิติศาสตร์ มธ.ที่มาให้กำลังใจวรเจตน์ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาในบริเวณศาล การสืบพยานใช้เวลา 1 ชม.เศษ โดยพ.อ.บุรินทร์ระบุว่า เขารับแจ้งจากผู้การร.11 ว่าวรเจตน์เดินทางไปรักษาตัวต่างประเทศและเดินทางกลับมาแล้ว อยู่ค่ายทหารแห่งหนึ่งมาแล้ว 2 วัน ทางคสช.จึงได้ให้เขาไปรับตัวมาดำเนินคดี ระหว่างร้องทุกข์กล่าวโทษกับพนง.สส. เขาไม่ทราบว่าภรรยาและเพื่อนอาจารย์ของวรเจตน์ได้แจ้งแก่ คสช.แล้วถึงเหตุการไปรักษาตัวยังต่างประเทศนั้น

จากนั้นวรเจตน์ได้เดินออกมาให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวด้านหน้าศาลทหาร โดยระบุว่า ศาลนัดสืบพยานโจทก์ปากที่ 2 ในวันที่ 21 ก.ค.นี้ โดยในวันนี้ศาลไม่ได้ชี้ชัดในประเด็นคำสั่ง คสช.ที่ 5/2557 ว่าอัยการฟ้องชอบหรือไม่ ตามที่จำเลยได้ร้องขอ แต่ให้ดูผลคำพิพากษารวมทีเดียว ทั้งนี้จำเลยถูกเรียกให้รายงานตัว 2 ครั้งในคำสั่ง คสช.ที่ 5/2557 ลงวันที่ 24 พ.ค.2557 และคำสั่งคสช.ที่  57/2257 ลงวันที่ 9 มิ.ย.2557 พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาเดียวโดยอ้างถึงคำสั่งหลังคือ คำสั่ง  ที่ 57/2557  แต่อัยการได้ฟ้อง 2 ข้อหาคือ ขัดคำสั่งทั้งฉบับที่ 5 และ 57 ซึ่งฝ่ายจำเลยไม่เห็นด้วย และเห็นว่าเมื่อมีคำสั่งที่สองแล้วก็ควรมีผลยกเลิกคำสั่งแรก ไม่เช่นนั้นคดีนี้จะนับเป็นสองกรรม โทษจำคุกรวม 4 ปี แทนที่จะเป็น 2 ปี

ระหว่างเดินทางกลับ วรเจตน์ได้แวะที่ศาลหลักเมืองเพื่อรับพวงมาลัยและการให้กำลังใจจากนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มธ.ที่เดินทางมาจากศูนย์รังสิตตั้งแต่เช้าแต่เจ้าหน้าที่ทหารไม่อนุญาตให้เข้ามารอบริเวณศาลทหาร (อ่านรายละเอียด : คุยกับนักศึกษานิติศาสตร์ ในวันสืบพยาน ‘วรเจตน์’ ในศาลทหาร)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อนุสรณ์ อุณโณ: ภาคสนามและ 'เรื่องเล่า' จากรถเข็นโรตีโรฮิงญาชายแดนใต้

$
0
0

เสวนา "โรฮิงญา รัฐ ชาติ ประวัติศาสตร์ และความหวัง" ชาวโรฮิงญาในไทยขอทุกฝ่ายช่วยกดดันพม่าให้ยุติเลือกปฏิบัติ ด้าน 'อนุสรณ์ อุณโณ' ชี้กระแสโซเชียลไม่ให้โรฮิงญาขึ้นฝั่ง ได้เผยด้านอัปลักษณ์ของสังคมไทย ในช่วงเวลาเดียวกับที่อุดมการณ์ชาตินิยมถูกชู พร้อมเรื่องเล่า “ภาคสนาม” ชีวิตชาวโรฮิงญาที่ขายโรตีอยู่ชายแดนใต้และอยู่ร่วมสังคมมลายูในพื้นที่

อนุสรณ์ อุณโณ คณบดี คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

 

เมื่อวันที่ 24 พ.ค. มีการเสวนาหัวข้อ "โรฮิงญา รัฐ ชาติ ประวัติศาสตร์ และความหวัง" ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ วิทยากรประกอบด้วย ดุลยภาค ปรีชารัชช โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานคณะอนุกรรมการด้านผู้อพยพ ไร้สัญชาติ สภาทนายความ อนุสรณ์ อุณโณ คณบดี คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอาลี อะหมัด สมาคมโรฮิงญาสากลแห่งประเทศไทย โดยก่อนหน้านี้ประชาไทนำเสนอการอภิปรายผ่านวิดีโอของดุลยภาค ปรีชารัชช (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)และการนำเสนอขอสุรพงษ์ กองจันทึก (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)ไปแล้วนั้น

 

ชาวโรฮิงญาในประเทศไทย ต้องการให้ทุกฝ่ายช่วยกดดันรัฐบาลพม่าให้ยุติการเลือกปฏิบัติ

โดยถัดจากนั้น อาลี อะหมัดตัวแทนสมาคมโรฮิงญาสากลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า รัฐบาลไทยดำเนินการกับขบวนการค้ามนุษย์ ในนามของสมาคมชาวโรฮิงญา ขอขอบคุณอย่างยิ่ง เขากล่าวต่อไปว่า บ้านของเขาคือเมืองพุทิเดาง์ (Buthidaung) ในรัฐอาระกัน ปัจจุบันเข้ามาอยู่เมืองไทยได้ 7-8 ปีแล้ว ทั้งนี้สมาคมจะคอยช่วยเหลือชาวโรฮิงญาในไทยที่ประสบความเดือดร้อน

อาลีกล่าวถึงปัญหาของชาวโรฮิงญาในพม่าว่า หนึ่ง ไม่ได้รับสิทธิอะไร ทั้งทะเบียนบ้าน บัตรประชาชน ถูกรัฐบาลพม่ายึด รวมถึงเรื่องการเดินทาง การศึกษา และสาธารณสุขที่ถูกจำกัดการเข้าถึง นอกจากนี้รัฐบาลพม่ายังออกบัตรประจำตัวให้เป็นชาวบังกลาเทศ ทั้งๆ ที่เกิดในพม่า อย่างไรก็ตาม ยังให้สิทธิไปเลือกตั้ง ซึ่งก็แปลกใจเหมือนกัน

สอง รัฐบาลพม่าทำให้เกิดความแตกแยกระหว่างชาวยะไข่ กับชาวโรฮิงญา ที่ผ่านมาหลังการจลาจลในปี พ.ศ. 2555 มีการประกาศห้ามออกจากเคหะสถานยามวิกาล หรือเคอร์ฟิว ปิดการปิดมัสยิด ปิดโรงเรียน การเดินทางออกนอกชุมชนต้องขออนุญาตผู้ใหญ่บ้าน กลางคืนไม่สบายก็ไม่สามารถเดินทางไปโรงพยาบาลได้เพราะติดช่วงเคอร์ฟิวที่กินเวลาเป็นปีๆ นอกจากนี้จะแต่งงานก็ต้องขออนุญาต จะไปเรียนมหาวิทยาลัย ก็ไปเรียนไม่ได้เพราะไม่มีเอกสาร

อาลีกล่าวว่า เขาเชื่อว่า รัฐบาลพม่าวางแผนระยะยาว เพื่อทำให้ชาวโรฮิงญาออกไปจากพื้นที่ เพราะอยากได้ทรัพยากรธรรมชาติ จึงทำให้ชาวโรฮิงญาอยู่อย่างลำบากในรัฐอาระกัน เขากล่าวด้วยว่า คนโรฮิงญานี้ก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน แต่รัฐบาลพม่าไม่ได้มองเช่นนั้น ข่มเหงรังแกตลอดเวลา สมัยก่อนที่ชายแดนมีทหารพม่าเข้ามาประจำการจำนวนมาก ก็กินกับโรฮิงญาทั้งนั้น เพราะพืชผลที่เป็นเสบียงก็มาจากโรฮิงญา

ในรัฐอาระกัน คนยะไข่ทำอะไรก็ไม่ผิด แต่คนโรฮิงญาทำอะไรก็เข้าคุกอย่างเดียว ที่หาว่าคนโรฮิงญาคือคนบังกลาเทศ ที่จริงนั้นแค่นับถือศาสนาเหมือนกัน แต่วิถีชีวิตต่างกัน ทั้งนี้ชาวบ้านโรฮิงญาซึ่งอยู่ด้วยความลำบากต้องหนีออกจากประเทศ ชนิดที่ว่าอยากไปที่ไหนก็ไป โดยไม่ได้มาแค่ประเทศไทยเท่านั้น เดินทางไปถึงอินเดียก็มี รวมทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย คือประเทศพม่าไม่มีความยุติธรรมให้ชาวโรฮิงญา จึงอยากขอให้สังคมโลกช่วยกันกดดันผู้นำพม่า ไม่ให้เลือกปฏิบัติกับชาวโรฮิงญา

ในช่วงที่สองของการอภิปรายอาลี กล่าวด้วยว่า มาอยู่ประเทศไทยไม่ได้คิดต่อสู้กับรัฐบาล แต่มาทำมาหากิน มาขายโรตีอย่างเดียว สำหรับรัฐบาลไทยอยากฝากให้ช่วยพิสูจน์สัญชาติโรฮิงญาให้ด้วย ที่ผ่านมา เขากล่าวติดตลกด้วยว่า คนหาว่าเราไม่มีประเทศ สงสัยเราจะมาจากอเมริกาแน่ๆ

สำหรัการประชุมเรื่องผู้อพยพทางเรือวันที่ 29 พ.ค. อาลีฝากว่า อยากให้นานาชาติช่วยถามพม่าดีกว่าว่าจะให้สัญชาติเราเมื่อไหร่ เอาจริงจังกับรัฐบาลพม่า

“ผมไม่อยากให้พวกท่านที่อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เดือดร้อน เพราะทุกวันนี้ผมก็อายมากแล้ว นอกจากนี้ขอให้ปล่อยตัวชาวโรฮิงญาที่ถูก ตม. ควบคุมตัว 800-900 กว่าคน ขอให้ปฏิบัติแบบมนุษย์ เพราะกฎหมายประเทศไทยบอกหลบหนีเข้าเมือง แต่ทำไมขังเป็นปีๆ ถามรัฐบาล รัฐบาลก็บอกว่าส่งไม่ได้เพราะไม่มีที่รับ จึงขังไว้แบบนี้ พวกเราเป็นมนุษย์นะ กินข้าวนะ ท่านคิดดูคุกสถานีตำรวจขังคนได้ 7 คน แต่ต้องนำมาใช้ขังโรฮิงญาเป็น 100 คน นอกจากนี้ อยากให้มีพิสูจน์สัญชาติ ลูกหลานจะได้ไม่เดือดร้อน ไปโรงเรียนได้”

“เราไม่ได้จะพาครอบครัวมาอยู่เมืองไทย ถ้ากลับบ้านได้เราก็อยากกลับ เราไม่ได้อยากได้ความช่วยเหลือเพราะเราทำงานหาเลี้ยงตัวเองได้ ที่ผ่านมา เราอายมากพอแล้ว” อาลีกล่าว

 

อนุสรณ์ อุณโณ ชี้ในยุคประชากรข้ามแดน โรฮิงญาอยู่ในฐานะลำบากเพราะไม่มีสิทธิความเป็นพลเมือง

จากนั้น อนุสรณ์ อุณโณคณบดี คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้อภิปรายในประเด็น “โรฮิงญาในกระแสโลก อาเซียน สังคมไทย และในชีวิตประจำวัน” โดยกล่าวถึง โรฮิงญาในบริบทโลกในทศวรรษที่มีการเคลื่อนย้ายประชากรข้ามแดน และสังคมชาวโรฮิงญาในชุมชนมลายูในพื้นที่ชายแดนใต้

อนุสรณ์กล่าวว่า การเคลื่อนย้ายของประชากรเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานาน แม้แต่หลังยุคที่มีการขีดเส้นเขตแดน แต่ชายแดนก็มีลักษณะพร่าเลือน อย่างเช่นชายแดนไทย-มาเลเซีย ด้านภาคใต้ ที่แม่น้ำโกลกมีระยะห่างแค่ไม่กี่สิบเมตรก็ข้ามอีกฝั่งได้ การไหลไปมาของคนจึงเกิดขึ้นตลอดเวลา ยังไม่นับรวมการย้ายคนตามด่านต่างๆ

ในรอบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ภายใต้การขยายตัวของเสรีนิยมใหม่ ก่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายของผู้คนมหาศาล เกิด “อาณาบริเวณสาธารณะของผู้พลัดถิ่น” มี “นักท่องโลก” เกิดขึ้นเต็มไปหมด ภาวะเช่นนี้คือ Transnationalism และท่ามกลางการเฉลิมฉลองว่าคนมีอิสระในการเคลื่อนย้ายมากขึ้น รัฐควบคุมการเคลื่อนย้ายได้น้อยลง แต่อีกด้านที่เหลือหนึ่งคือ มีผู้คนที่ถูกบังคับ คือ ผู้อพยพหรือผู้ลี้ภัยสงคราม เกิดขึ้นควบคุมไปกับภาวะข้ามชาติ ลอดรัฐ

ล่าสุด อย่างที่เป็นข่าวหน้าหนึ่ง คือในตะวันออกกลาง-แอฟริกาเหนือ ซึ่งมีการสู้รบเกิดขึ้น ทำให้เกิดการอพยพของคนไปอยู่ในเขตแดนเพื่อนบ้าน หรือในแอฟริกามีคนอพยพลงเรือพยายามจะเข้าเกาะซิซิลี ของอิตาลี เพื่อไปยุโรป ทั้งจากการหนีความยากจน และการพาตัวเองข้ามแดน

อีกกลุ่มที่น่าสนใจคือชาวโรฮิงญา ที่อพยพหนีภัยสงครามและความลำบาก แต่มีลักษณะจำเพาะคือ ขณะที่คนกลุ่มต่างๆ มีสถานะความเป็นพลเมืองของชาตินั้นๆ แต่ชาวโรฮิงญาถูกปฏิเสธความเป็นพลเมือง ด้วยเหตุนี้ทำให้สิทธิการเข้าถึงประโยชน์อันพึงมีพึงได้พื้นฐาน ทั้งการศึกษา การครอบครองที่ดิน ไม่นับความขัดแย้งที่ยังดำเนินอยู่ด้วย เป็นเหตุให้คนเหล่านี้พาตัวเองออกมาสู่ประเทศอื่นๆ เดินทางข้ามรัฐที่ตนเองไม่ได้สังกัด ถือเป็นกลุ่มผู้อพยพที่มีชะตากรรมลำเค็ญที่สุด

ส่วนบริบทของรัฐในเอเชียใต้ อุษาคเนย์ และรัฐไทย กล่าวได้ว่า รัฐจำนวนมากเป็นรัฐหลังอาณานิคม เป็นรัฐที่ขาดเสถียรภาพทางการเมือง ในสมัยอาณานิคมก็ถูกเจ้าอาณานิคมไปดึงชาติพันธุ์ใดชาติพันธุ์หนึ่งมาเป็นพวกแล้วเอาไปรบพุ่ง แต่หลังจากนั้นมาความสัมพันธ์ระหว่างคนหลายชาติพันธุ์ในรัฐนั้นก็ไม่ถูกปรับเพื่อทำให้คนในสังคมอยู่ต่อไปหลังอาณานิคม ด้วยเหตุนี้รัฐจึงขาดเสถียรภาพทางการเมืองสูง โดยสิ่งนี้เกิดขึ้นเยอะในภูมิภาคเอเชียใต้ ขณะที่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจจะไม่มากเท่า

นอกจากนี้ยังมีปัญหาความยากจนที่พ่วงมา ทำให้ประเทศเหล่านั้นกลายเป็นประเทศต้นทางของกลุ่มคนชายขอบทั้งทรัพยากรและการเมือง อย่างชาวโรฮิงญาทั้งที่มาจากบังกลาเทศและพม่า

ส่วนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเปรียบเทียบถือว่าประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจ หลายประเทศเป็นสังคมพหุลักษณ์ ส่งผลให้กลายเป็น “ประเทศปลายทาง” ของการอพยพ เช่น มาเลเซีย ที่คนโรฮิงญาอยากจะไปที่มาเลเซีย หรืออินโดนีเซียที่ในระยะหลังจัดการความแตกต่างได้ประสบความสำเร็จ เป็นสังคมพหุลักษณ์ เมื่อเปรียบเทียบแล้ว อินโดนีเซียน่าจะเปิดกว่ามาเลเซีย อย่างเช่นที่มีรายงานว่า เมื่อชาวโรฮิงญาไปถึงอินโดนีเซียก็ได้รับการต้อนรับจากคนท้องถิ่น ก่อนที่รัฐบาลอินโดนีเซียจะประกาศช่วยเหลือ

ส่วนประเทศไทยก็มีความเฉพาะไม่เคยตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก ขณะเดียวกันการจัดการของรัฐไทยกลับใช้วิธีแบบอาณานิคมภายใน เช่น กรุงเทพฯ ที่มีลักษณะจัดการพื้นที่ภายใน ขณะที่เป็นรัฐเดี่ยว สร้างรัฐขึ้นบนฐานของความเป็นชาติ ความเป็นชาติที่ผูกยึดโยงกับกลุ่มชาติพันธุ์หลักคือไทย หรือคนไทยภาคกลาง

ทั้งนี้รัฐไทยมีความหวาดระแวงต่อความแตกต่าง เอาเข้าจริงแล้วไม่ได้เป็นประเทศที่เอื้ออำนวยกับการเข้ามาของคนโรฮิงญา แต่ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์ รวมทั้งมีคนไทย มีเจ้าหน้าที่ไทยเข้ามาเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ แต่โดยสภาพภูมิศาสตร์ก็เป็นประเทศผ่านทาง และเป็นประเทศปลายทางของคนจำนวนหนึ่ง

นอกจากนี้ ยังมีตัวกำกับท่าทีรัฐไทย ที่ยึดโยงกับความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบัน ทั้งนี้อุดมการชาตินิยม สุดขั้ว คลั่งชาติ ถูกหยิบยกขึ้นมาโดยกลุ่มทางการเมืองบางกลุ่ม เช่น มีการอ้างถึงสถาบัน หรือที่ผ่านมาจะเห็นธงชาติไทยโบกสะบัดในกรุงเทพฯ และภาคใต้ ขณะที่มีรัฐบาลทหารที่ระบุว่าต้องการรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นหลัก อย่างเช่น เหตุการณ์เมื่อคืนวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 ที่ผ่านมา เหตุผลที่ทหารเข้ามาเจรจาใน สน.ปทุมวัน กลางดึก คือ “พวกคุณมาสร้างความไม่สงบเรียบร้อย ประเทศเราต้องการความสงบ” นี่เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สังคมมองการทะลักเข้ามาของโรฮิงญา เป็นภัยคุกคาม อาจกล่าวได้ว่าโรฮิงญาถือเป็นเหยื่อที่สมบูรณ์แบบในช่วงที่รัฐไทยเรียกร้องให้มีความสงบเรียบร้อยในประเทศ

“สำหรับการจัดการที่ผ่านมา สำหรับรัฐไทยเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ ว่าเป็นแบบนี้มาแต่ไหนแต่ไร แต่ที่น่าปริวิตกมากกว่าคือสังคมไทย เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เผยด้านอัปลักษณ์ของสังคมไทยที่เราคาดไม่ถึง เรามีระบบค่านิยม 12 ประการ เรามีสื่อสาธารณะ ละคร เพลงปลุกใจ ฯลฯ ที่ถูกปลุกมาขับเน้นในช่วงเวลานี้ กระแสนี้ขึ้นสูงมาก เราพบเรื่องไม่น่าประหลาดใจ แต่น่าปริวิตกได้ คือเรื่องของมนุษย์ปุถุชนธรรมดาที่จะคิดถึงเพื่อนมนุษย์ อย่างเช่น ในโลกโซเชียลมีเดีย เขาให้เหตุผลในการผลักไสคนโรฮิงญา เช่น ยังมีคนไทยที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ หรือนำไปเปรียบเทียบว่าค่าอาหารเลี้ยงเด็กเท่าไหร่ เลี้ยงคนชรา เลี้ยงทหารเกณฑ์เท่าไหร่ คือเอามิติความเป็นไทยเป็นชาติเป็นตัวหลักไปเปรียบเทียบ ซึ่งเป็นเรื่องผิดฝาผิดตัว”

นอกจากกระแสชาตินิยม จะเป็นตัวกำกับสังคมไทยว่าจะมีท่าทีในการรับมือชาวโรฮิงญาอย่างไรแล้ว เรื่องเชื้อชาติและศาสนาก็ถูกนำมาโยงเช่น มีบุคคลมีชื่อเสียงคนหนึ่งบอกว่าเรื่องโรฮิงญาเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ในสามจังหวัดชายแดนใต้ หรือหาว่าจะมายึดแผ่นดิน คือ มีการนำอคติทางศาสนามายึดโยง เหตุผลที่คนกลุ่มหนึ่งในโลกโซเชียลใช้คือ เช่น ในเพจที่แคมเปญว่าจะไม่รับชาวโรฮิงญาเข้าประเทศไทย นอกจากกล่าวหาว่ามุสลิมไม่คุมกำเนิด ฯลฯ แล้ว ในเพจเดียวกันนี้ก็จะเอาเรื่องประปรายในสามจังหวัดชายแดนใต้เข้ามาเกี่ยวข้อง ผลก็คือเกิดการแพร่กระจายข้อมูลที่เป็นด้านลบ โดยที่ผู้รับก็ไม่ได้ตรวจสอบ “ถือเป็นเรื่องน่าวิตกคือสังคมขาดความรอบรู้ในเรื่องที่เกี่ยวข้อง และพร้อมจะรับแนวความคิดสุดขั้วที่มองต่อเรื่องนี้”

ทั้งนี้ แม้จะไม่มีกระแสรณรงค์บริจาคให้ชาวโรฮิงญา เหมือนเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เนปาล แต่ที่น่ายินดีคือมีภาคประชาสังคมหลายแห่ง อย่างเช่นที่ จ.ยะลา ก็ริเริ่มทำกิจกรรมเพื่อระดมการบริจาคให้กับชาวโรฮิงญา

 

เรื่องเล่าภาคสนามจากรถเข็นโรตีโรฮิงญา ในพื้นที่ชายแดนใต้

จากนั้น อนุสรณ์ อภิปรายถึง “เรื่องเล่า” ภาคสนามในเรื่องของชีวิตประจำวันของชาวโรฮิงญา ในชุมชนชาวมลายูใน อ.รามัน จ.ยะลา โดยกล่าวว่า ชุมชนที่นั่นมีโอกาสต้อนรับชาวโรฮิงญาคนหนึ่งคือ “รุสลา” (นามสมมติ)

“รุสลา” เล่าให้ฟังว่า เขาอพยพหลบหนีมาจากรัฐอาระกัน พ่อแม่พี่น้องของเขาเกือบหมดครอบครัวถูกฆ่า เขาอาศัยช่องทางนายหน้าโรฮิงญา โดยเขาจ่ายเงินมา และเลาะชายฝั่งมาเรื่อยๆ จนมาขึ้นฝั่งไทยที่พังงา จากพังงาข้ามมา นครศรีธรรมราช จนมาถึง ยะลา โดยมาตามเส้นทางเส้นทางที่มีเครือข่ายของชาวโรฮิงญามาอาศัยอยู่ก่อนหน้านั้นแล้ว

ตอนแรกรุสลาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านที่ใกล้กับบ้านชาวโรฮิงญาที่มาอยู่เดิมก่อน จากนั้นเขาแต่งงานกับแม่ม่ายในหมู่บ้านที่อยู่ติดกัน แต่งงานได้ลูกมาหนึ่งคน แต่ระหองระแหงกับแม่ยายจึงย้ายมาอยู่ในอีกหมู่บ้านหนึ่ง โดยมีหญิงม่ายอุปการะให้บ้านมาอยู่ อย่างไรก็ตาม บ้านที่เขาอยู่เป็นเส้นทางที่วัยรุ่นในพื้นที่ผ่านไปมาเยอะ และเป็นวัยรุ่นที่ทำกิจกรรมปริ่มกฎหมาย เขาจึงขอย้ายมาอยู่บ้าน “บังเลาะ” ซึ่งเปิดร้านขายของชำซึ่งเปิดเป็นร้านน้ำชาด้วย และมีโรงรถเป็นที่ว่าง จึงไปขออยู่ โดยบังเลาะไม่คิดค่าเช่า แต่คิดค่าน้ำค่าไฟเดือนละ 300 บาท

“รุสลา” ขายโรตีเป็นหลัก โดยขายอยู่กับร้านน้ำชา ที่ขายข้าวยำ และข้าวเกรียบกือโป๊ะ ตกบ่ายเขาไปขายโรตีที่ทางแยก ตอนเย็นก็กลับมาโรตีที่ร้านน้ำชารอบบ่าย โดยทุกวันศุกร์เขาจะหยุดร้าน ก็จะมีเพื่อนชาวโรฮิงญา 7-8 คนมาสังสรรค์กัน ทั้งหมดเป็นญาติกันหรือมาจากหมู่บ้านเดียวกัน ส่วนใหญ่จะขายโรตี อีกส่วนจะรับแหวนจากพม่ามาตระเวนขายในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ โดยขายเงินผ่อน และเงินสด ทั้งนี้เป็นเพราะคนพื้นที่สามจังหวัดชอบใส่แหวน

ต่อมา “รุสลา” ย้ายไปขายอยู่ที่ริมแม่น้ำสายบุรี เพราะมีลูกค้าเยอะกว่า แต่ต่อมาเขาถูกจับกุมที่มาเลเซีย เหตุเป็นเพราะไปต่อทำเรื่องเอกสารบางอย่าง แล้วมีปัญหาจึงถูกจับที่โกตาบารู รัฐกลันตัน ถูกตัดสินจำคุก 6 เดือน เขาติดมาแล้ว 3 เดือนและหลังได้รับการปล่อยตัว เขาจะกลับมาขายโรตีต่อไป

อนุสรณ์ กล่าวด้วยว่า ในกลุ่มของชาวโรฮิงญามีการใช้คนมลายูท้องถิ่นช่วยไกล่เกลี่ยข้อพิพาทต่อกัน เวลามีเรื่องระหองระแหง เช่นยืมเงินแล้วไม่จ่าย สิ่งนี้เหมือนการผสมกลมกลืนตัวเอง หลอมตัวเองเข้าไปในสังคมของสามจังหวัดชายแดนใต้ เขาเคยถามคนมลายูท้องถิ่นว่า ให้ชาวโรฮิงญามาอยู่ในฐานะอะไร คือเขาตอบว่านอกจากความเป็นมุสลิมรวมทั้งเหตุผลเรื่องมนุษยธรรมแล้ว ชาวบ้านท้องถิ่นบอกว่าไม่รู้สึกว่าคนเหล่านี้มีอันตราย

“ในแง่ของชาวโรฮิงญาที่มาทางเรือ ชาวบ้านบอกว่าควรจะรับไว้ก่อน ช่วยเหลือเจือจานกันไป แล้วอย่างไรก็ว่ากันอีกที กล่าวคือ คนในพื้นที่แห่งหนึ่งได้ต้อนรับการเข้ามาของคนโรฮิงญา และอยู่ร่วมกันได้ โอเค ในสามจังหวัดมีลักษณะจำเพาะนอกจากการคล้ายคลึงในศาสนาแล้ว ยังมีเรื่องกฎหมายที่ใช้บังคับไม่ได้ด้วย เพราะในหมู่บ้านไม่มีตำรวจ ร้อยวันพันปีถึงจะสนธิกำลังมากับทหารมาตรวจค้นกันสักที”

ในช่วงท้าย อนุสรณ์ กล่าวถึงข้อพิจารณาต่อสถานการณ์อพยพทางเรือของชาวโรฮิงญาว่า สังคมไทยจะเผชิญหน้ากับสิ่งนี้อย่างเท่าทันโดยไม่สูญเสียความเป็นมนุษย์ได้อย่างไรถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องพิจารณา สำหรับสังคมสามจังหวัดภาคใต้ เขาตอบโจทย์เรื่องนี้ด้วยการช่วยเหลือ ในฐานะที่เป็นเรื่องศาสนา มนุษยธรรม และที่สำคัญ เขาไม่สมาทานอุดมการณ์ของรัฐไทยเต็มที่

อนุสรณ์กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ วิธีคิดเรื่องการช่วยเหลือผู้อพยพ แล้วเอาไปเทียบกับการช่วยเหลือคนทุกข์ยากในสังคม แล้วบอกว่าช่วยผู้อพยพไม่คุ้ม แต่ที่จริงแล้วการอุทิศหรือ Contribution ของคนเหล่านี้ในทางเศรษฐกิจมีนัยยะสำคัญ อย่างศูนย์พักพิงตะเข็บชายแดน กลายเป็นแหล่งจ้างแรงงานของคนในพื้นที่ หรือกรณีที่เกิดภาคเศรษฐกิจไม่เป็นทางการ เช่น คนขายโรตี เป็นต้น ทั้งนี้ เป็นข้อที่สังคมไทยยังเข้าใจคาดเคลื่อนคิดว่าการมีผู้อพยพแล้วเราจะแบกรับภาระ ทั้งที่ส่วนหนึ่งของงบประมาณความช่วยเหลือจะมาจากต่างประเทศ

นอกจากนี้อาจจะต้องกลับมาคิดเรื่องการยอมรับอัตลักษณ์ของผู้คนที่แตกต่าง รวมทั้งต้องเรียกร้องรัฐอีกประเภทหนึ่งด้วย นั่นคือ รัฐที่ยืดหยุ่นแยกย่อย ไม่ใช่รัฐที่คิดแบบปิดประเทศ ทั้งนี้แนวโน้มของรัฐแบบทหาร จะชูแนวคิดชาตินิยม เพราะคิดว่าจะปิดประเทศ จะอยู่ตามลำพัง คิดว่าเรายิ่งใหญ่อยู่ได้ด้วยตนเอง แต่เราก็เห็นท่าทีจากทั้งสหประชาชาติ และสหภาพยุโรปว่าเขาคิดกับเราอย่างไรในเรื่องนี้

ในส่วนของสมาคมอาเซียน อนุสรณ์กล่าวว่า อาเซียนต้องไม่ใช่เป็นแค่สมาคมพ่อค้าที่จ้องจะหากินอย่างเดียว เพราะจะร่วมมือเศรษฐกิจกัน แต่โครงสร้างพื้นฐานระหว่างรัฐ ความสัมพันธ์ต่อกันมันก็ต้องเหมาะควรด้วย ไม่อย่างนั้นจะเป็นความฝันสลายของ AEC ทำอย่างไรเราจะพ้นไปจากความคลั่งชาติ ไปสู่สังคมพหุลักษณ์ที่ยอมรับความแตกต่างหลากหลาย เรื่องโรฮิงญานี้ไม่ต่างจากวิธีคิดต่อสามจังหวัดชายแดนใต้ คือมันมีบางอย่างในวิธีคิดหรือ Mentality ที่ยึดโยงเรื่องนี้ไว้ ทั้งนี้ถ้าสังคมไทยไม่เห็นความสำคัญของพลเมืองและสิทธิความเป็นพลเมือง ก็อย่าได้ฝันว่าเราจะรับมือปัญหาชาวโรฮิงญาได้อย่างรอบด้านและเท่าทัน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อาบูฮาฟิซ อัลฮากีม: MARA PATANI คืออะไร ?

$
0
0

รายงานข่าวของสถาบันข่าวอิศราเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคมและของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมาได้กล่าวถึงการจัดตั้งองค์กรที่มีชื่อว่า Majlis Amanah Rakyat Pataniหรือเรียกชื่อย่อว่า MARA PATANI (มาร่า ปาตานี) ในขณะที่ ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตต์ภิรมย์ศรี นักวิชาการด้านสันติภาพในภาคใต้ก็ได้กล่าวถึง MARA ในรายการโทรทัศน์ผ่านอินเตอร์เน็ต "Thaivoicemedia" เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่าองค์กรดังกล่าวเป็นความพยายามของมาเลเซียในฐานะผู้อำนวยความสะดวกของกระบวนการพูดคุยสันติภาพ โดยรวบรวมกลุ่มองค์กรที่เป็นขบวนการต่อสู้ปาตานีจำนวน 6 กลุ่มให้อยู่ภายใต้องค์กรร่มดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เนื้อหาในรายงานที่กล่าวมานี้ยังมีบางส่วนที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงและยังเกิดข้อสงสัยในรายงานข่าวทั้งหมดที่กล่าวมานั้นด้วย

ก่อนหน้านี้ ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมามีข่าวลือเกี่ยวกับการเกิดขึ้นของ MARA PATANI มากมาย มีทั้งการตั้งสมมติฐานไปต่างๆ นานา มีทั้งการคาดเดา หรือแม้แต่มีการกล่าวหาในเรื่องราวที่เกี่ยวกับ MARA PATANI ด้วยความรู้สึกที่จะต้องรับผิดชอบในการให้ข้อมูลที่แท้จริงจากแหล่งข้อมูลที่ใกล้ชิดและเชื่อถือได้ ข้าพเจ้าจึงใคร่ขอใช้โอกาสนี้เพื่ออธิบายอย่างย่อๆ ในสิ่งข้าพเจ้าเข้าใจเกี่ยวกับ MARA PATANI

เดิม MARA PATANI (Majlis Amanah Rakyat Patani,หรือพอจะแปลได้ว่าสภาอะมานะฮ์แห่งประชาชนปาตานี – กองบรรณาธิการ deepsouthwatch)  เป็นสิ่งที่ริเริ่มโดยสมาชิก BRN (แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ) ที่สนับสนุนการเจรจาต่อรองว่าจะเป็นกระบวนการเชิงรุกหนึ่งที่จะนำไปสู่การพูดคุยเพื่อสันติภาพ องค์กรด้งกล่าวก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2557 โดยกลุ่มสมาชิก BRN ทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ รวมถึงกลุ่มเยาวชน, อุลามาอ์ และกลุ่มติดอาวุธ ซึ่งพวกเขาถือว่าพวกเขาเป็น “คณะผู้ก่อการใน BRN” (Kumpulan Bertindak BRN)  ที่มีแนวโน้มต้องการหาทางแก้ปัญหาทางการเมืองด้วยวิธีการเจรจากับรัฐบาลไทย

แม้จะไม่เป็นที่แน่ชัดว่าพวกเขาได้รับการสนับสนุนจากองค์กรแม่ของ BRN หรือจากกลุ่มติดอาวุธของ BRN มากน้อยเพียงใด แต่กระนั้นพวกเขาก็มองโลกในแง่ดีที่ว่า หากความพยายามของพวกเขาเกิดดอกผลในทางบวก พวกเขาย่อมได้รับการสนับสนุนและความช่วยเหลือจากทั้งสองกลุ่มดังกล่าว รวมไปถึงถึงจากประชาชนโดยรวมอีกด้วย ภาระและความรับผิดชอบของการริเริ่มครั้งนี้ว่าจะได้รับการยอมรับจากองค์กรนำของ BRN หรือไม่นั้นวางอยู่บนบ่าของพวกเขาแล้ว

ในช่วงกลางเดือนมีนาคม 2558 คณะผู้ก่อการใน BRN กลุ่มนี้ได้นำเสนอแนวคิดและเปิดโอกาสให้กลุ่มนักต่อสู้ปาตานีกลุ่มอื่นๆ เข้าร่วมเป็นหนึ่งในองค์กรร่มดังกล่าวนี้และร่วมกันกำหนดแนวทางในการต่อสู้ รวมทั้งกำหนดข้อเรียกร้องร่วมในการเข้าสู่การเจรจาสันติภาพกับฝ่ายรัฐบาลไทย

หลังการเจรจาถกถียงกันอย่างยาวนานเป็นเวลาหลายวัน ท้ายสุดทุกฝ่ายเห็นชอบว่าองค์กรร่มดังกล่าวนี้ต้องมีการปรับโครงสร้างและตกลงกันให้ชื่อเรียกขานใหม่ว่า MAJLIS SYURA PATANIและชื่อย่อขององค์กรยังคงเป็น MARA PATANI (เพื่อเป็นยอมรับการริเริ่มของ BRN) ซึ่งมีชื่อภาษาอังกฤษว่า PATANI CONSULTATIVE COUNCIL (PCC, หรืออาจแปลได้ว่าสภาชูรอแห่งปาตานี – กองบรรณาธิการ deepsouthwatch)โดยมีองค์กรเข้าร่วมที่ประกอบด้วย

            1. แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (คณะผู้ก่อการใน BRN)

            2. แนวร่วมอิสลามปลดปล่อยปาตานี (BIPP)

            3. องค์การปลดปล่อยสหปาตานี (PULO-P4)

            4. องค์การปลดปล่อยสหปาตานี (PULO-dspp)

            5. องค์การปลดปล่อยสหปาตานี (PULO-mkp)

            6. ขบวนการมูญาฮิดีนอิสลามปาตานี (GMIP)

การเข้าร่วมในองค์กร MARA PATANI ของหกองค์กรนักต่อสู้ปาตานีในครั้งนี้ส่งผลให้ MAJLIS SYURA PATANI (MARA PATANI) เป็นองค์กรที่รวมตัวกันของกลุ่มนักต่อสู้เพื่อปาตานีทั้งหมดที่ยังคงทำงานอยู่ในทุกวันนี้ ที่แม้ว่าการริเริ่มขององค์กรนี้เป็นความพยายามเฉพาะของ BRN ก็ตาม แต่จากการยืนยันของแหล่งข่าวภายใน การก่อตัวของ MAJLIS SYURA PATANI ที่เกิดขึ้นใหม่นี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือและความเห็นพ้องต้องกันของทุกองค์กรโดยปราศจากการชี้นำ การหนุนเสริม หรือกดดันจากมาเลเซียในฐานะผู้อำนวยความสะดวกแต่อย่างใด

MARA PATANI ณ ปัจจุบันมีเพียงสมาชิกจากตัวแทนหกองค์กรนักต่อสู่ดังที่กล่าวมาเท่านั้น ในอนาคต MARA PATANI จะเปิดรับบรรดาตัวแทนจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่างๆ ในปาตานีเข้าร่วมในองค์กรร่มดังกล่าวนี้ เพื่อจะได้ร่วมกันพิจารณาถึงแนวทางและเป้าหมายและข้อเรียกร้องทางการเมืองอันเป็นความต้องการที่แท้จริงของประชาชนปาตานี

แม้ว่ากระบวนการก่อตัวของ MARA PATANI จะถูกมองจากบางคนว่าเป็นความพยายามในลักษณะ Top-down หรือจากบนลงล่าง โดยไม่ได้เกิดจากเสียงรากหญ้าในหมู่ประชาชนชาวปาตานี แต่แน่นอนกระบวนการต่อสู้เพื่อเรียกร้องอิสรภาพและเอกราชย่อมไม่เป็นที่สงสัยว่าความพยายามนี้เป็นดอกผลการริเริ่มจากกลุ่มองค์กรนักต่อสู่เหล่านั้นที่ได้ต่อสู้เรียกร้องมากกว่าครึ่งศตวรรษ

เป้าหมายการก่อตั้ง MARA PATANI ไม่ใช่เป็นเพียงการนำพาตนเองเข้าร่วมการเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลไทยเท่านั้น แต่จะมุ่งดำเนินการเพื่อให้ได้รับการยอมรับและสนับสนุนจากนานาชาติในฐานะการต่อสู้ของประชาชนชาวปาตานีในกรอบคิด “สิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง (Right to Self-Determination) อีกด้วย และต้องยืนยันด้วยว่าแม้ว่าองค์กรนักต่อสู่เพื่อปาตานีทั้งหมดต่างเห็นชอบที่จะเข้าร่วมกระบวนการเจรจาสันติภาพ แต่ไม่มีแม้แต่องค์กรใดที่จะละทิ้งข้อเรียกร้องเพื่อเอกราชของปาตานีที่พวกเขาต่อสู้มาอย่างยาวนานแต่อย่างใด

ในฐานะที่เป็นองค์กรร่มที่เกิดขึ้นใหม่ แน่นอนว่า MARA PATANI นั้นไม่ได้ไร้ซึ่งจุดอ่อนและข้อจำกัดในหลายๆ ด้าน แต่ด้วยความตั้งใจและความจริงจังของทุกๆ ฝ่ายที่หนุนเสริมและมีความเห็นพ้องต้องกัน เป็นที่คาดหวังว่า MARA PATANI จะมั่นคงแข็งแรงในอนาคต

เป็นไปได้ว่า MARA PATANI อาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับการบรรลุความมุ่งหวังของชาวปาตานี แต่ ณ วินาทีนี้ MARA PATANI ถือเป็นเสียงของฉันทามติเพียงหนึ่งเดียวที่สามารถจะขับเน้นออกมาเพื่อรับความสนับสนุนจากประชาชนทุกหมู่เหล่า ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมีกระบวนการเจรจาสันติภาพหรือไม่ก็ตาม

มีข้อกังวลประการหนึ่งจากผู้สังเกตการณ์ที่ว่า MARA PATANI จะประสบความล้มเหลวหากว่าสมาชิกของ BRN ที่มีบทบาทภายใน MARA PATANI ซึ่งในที่นี้ก็คือคณะผู้ก่อการใน BRN นั้นไม่ได้เป็นผู้ที่มีฉันทานุมัติ (mandate) จากองค์กร ที่จริงแล้วเรื่องนี้ยังไม่ถึงเวลาที่จะประเมินอย่างเป็นภาวะวิสัยว่า MARA PATANI นั้นจะมีความสามารถที่จะทำอะไรได้อย่างมีประสิทธิผลในกระบวนการพูดคุย องค์กรนี้จะเติบโตและพัฒนาสู่เป้าหมายหรืออาจจะเป็นไปในทางกลับกันยังขึ้นอยู่กับเวลาและสถานการณ์เท่านั้นที่จะเป็นตัวกำหนด

ในช่วงเวลาอันใกล้นี้ กองเลขานุการของ MARA PATANI จะจัดให้มีการประชุมหรือการพบปะกันของสมาชิกใน MAJLIS SYURA PATANI เพื่อยืนยันถึงสถานภาพขององค์กร พร้อมๆ กับร่วมกำหนดแนวทางการต่อสู้และถือเป็นการประกาศเปิดตัวองค์กรอย่างเป็นทางการ

สุดท้ายนี้ แหล่งข่าวใน MARA PATANI ยังได้คาดหวังว่าองค์กรประชาสังคม (CSOs) องค์กรเอกชนนอกภาครัฐ (NGOs) นักเคลื่อนไหว และประชาชนชาวปาตานีที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง ต้องการความยุติธรรม และอิสรภาพ จะให้การสนับสนุน MARA PATANI ในฐานะที่เป็นหนึ่งเสียงและหนึ่งแนวทาง (SATU SUARA dan SATU SALURAN) ที่จะรักษาเจตนารมณ์และความมุ่งมาดปรารถนาของประชาชนมลายูปาตานี นอกจากนี้แล้ว พวกเขายังได้เรียกร้องต่อกลุ่มต่างๆ ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในปาตานีให้ตอบรับข้อเรียกร้องของ MARA PATANI เมื่อยามที่ขอให้มายืนเคียงบ่าเคียงไหล่แบกรับภาระอันหนักอึ้งนี้

พวกเราทุกคนคงต้องรอผลการตอบรับจากทุกๆ ฝ่ายว่าจะเป็นอย่างไรหลังจากที่ MARA PATANI เปิดตัวอย่างเป็นทางการในอีกไม่ช้า

 

อาบูฮาฟิส อัลฮากิม

จากนอกรั้วปาตานี

23 พฤษภาคม 2558


ที่มา เว็บไซต์ deepsouthwatch
 


หมายเหตุกองบรรณาธิการ deepsouthwatch:
บทความชิ้นนี้เขียนโดยอาบูฮาฟิซ อัลฮากีม หนึ่งในบล็อกเกอร์ที่เป็นสมาชิกกลุ่มแนวร่วมอิสลามปลดปล่อยปาตานี (BIPP) เผยแพร่ครั้งแรกในบล็อกของเขาเป็นภาษามลายูและแปลเป็นภาษาอังกฤษกองบรรณาธิการเห็นว่าข้อสงสัยเกี่ยวกับองค์กรที่ชื่อว่า มาร่า ปาตานี นั้นเป็นที่ถกเถียงอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ในขณะเดียวกันการปรากฏตัวขององค์กรร่มที่ว่านี้ยังถือเป็นพัฒนาการใหม่ของกระบวนการสันติภาพที่น่าสนใจ กองบรรณาธิการจึงแปลบทความดังกล่าวเป็นภาษาไทยอีกครั้งเพื่อให้ผู้ที่สนใจได้ติดตามความเคลื่อนไหวครั้งนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เพิกถอนสิทธิการเมือง 'ลีน่า จัง' 5 ปี - เหตุสมัคร ส.ว. แล้วหาเสียงน้ำมันลิตรละ 20 บาท

$
0
0

ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 'ลีน่า จังจรรจา' 5 ปี - โดยผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.บ.เลือกตั้ง ที่ห้ามไม่ให้ผู้สมัคร ส.ว. หาเสียงจูงใจให้มีการลงคะแนน จากกรณีเลือกตั้ง ส.ว. ปี 2557 ที่ 'ลีน่า จัง' ติดป้ายประกาศว่าจะลดกองทุนน้ำมันและน้ำมันเบนซินขายลิตรละ 20 บาท

ลีน่า จังจรรจา (ที่มา: ประชาไท)

วันนี้ (26 พ.ค.) ศาลฎีกา แผนกคดีเลือกตั้ง มีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของ นางลีน่า จังจรรจา 5 ปี ฐานกระทำผิดกระทำการหาเสียงเลือกตั้ง ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. โดยได้อ่านคำสั่งที่ กกต. ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งของ ลีน่า จังจรรจา หรือ ลีน่าจัง อดีตผู้สมัครเลือกตั้ง ส.ว. ในการเลือกตั้ง ส.ว. เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2557 ที่ผ่านมา เนื่องจากกระทำการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งฝ่าฝืน พ.ร.บ. ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ.2550 มาตรา111 และ122 จึงตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี ทั้งนี้ตามรายงานของ วอยซ์ทีวี

ทั้งนี้ในการเลือกตั้ง ส.ว. เมื่อปี 2557 นางลีนา ผู้สมัคร ส.ว. กรุงเทพฯ หมายเลข 3 และติดป้ายประกาศหาเสียงว่าจะลดกองทุนน้ำมันลงและจะประกาศราคาน้ำมันเบนซินลิตรละ 20 บาท

โดยศาลฎีกาฯ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อความโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งนั้น ถือเป็นอำนาจหน้าที่ของฝ่ายบริหารที่เป็นการกำหนดนโยบายของพรรคการเมือง ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานในหน้าที่ของ ส.ว. จึงเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. มาตรา 123 วรรคหนึ่ง เนื่องจากข้อความดังกล่าวเป็นการจูงใจให้มีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ส่วนที่นางลีนา ผู้คัดค้านอ้างว่าข้อความในป้ายโฆษณาไม่มีคำว่า "จะเสนอร่างกฎหมาย" ซึ่งเป็นข้อความที่ตรงกับความต้องการเพื่อหาเสียงนั้น ศาลเห็นว่าเป็นข้อต่อสู้ที่ผู้คัดค้านเพิ่งยกมาต่อสู้ในชั้นศาล ขณะที่ขัดกับคำให้การในชั้นกกต. ข้อต่อสู้ของผู้คัดค้านจึงฟังไม่ขึ้น

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เจรจาเปิดเขื่อนปากมูลเหลวอีก ชาวบ้านเตรียมพบผู้ว่าฯ อุบลซ้ำ

$
0
0

26 พ.ค.2558 ที่ศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้านปากมูน อ.พิบูลย์มังสาหาร จ.อุบลราชธานี ตัวแทนสมัชชาคนจนเจรจาร่วมกับตัวแทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอให้มีการเปิดประตูเขื่อนระบายน้ำปากมูล

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา ตัวแทนชาวบ้านปากมูนประมาณ 100 คน เดินทางเข้าพบนายประทีป กีรติเรขา ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี โดยมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ 1) ขอให้เปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล 2) ให้เร่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล และ 3) คัดค้านการสร้างเขื่อนดอนสะโฮง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการเข้าพบของตัวแทนชาวบ้านปากมูนดังกล่าว ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีแจ้งว่าไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ และกล่าวว่าต้องให้ กฟฝ.เป็นผู้ชี้แจงเรื่องการเปิดปิดประตูเขื่อนปากมูล ซึ่งนำมาสู่การเจรจาในวันต่อมา

นายสฤษดิ์ เสาวรีย์ และนางสมปอง เวียงจันทร์ แกนนำชาวบ้านกล่าวในระหว่างการเจรจาว่า ขณะนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูอพยพของปลาจากแม่น้ำโขงขึ้นมาวางไข่ จึงขอให้เปิดประตูเขื่อนเพื่อประชาชนในพื้นที่ได้ทำการประมงเลี้ยงชีพ และขอให้เปิดประตูระบายน้ำจนกว่าจะมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาฯ จากรัฐบาล ซึ่งอยู่ระหว่างการอนุมัติของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ด้านนายวิชยันต์ บูรณะกิจภิญโญ นายอำเภอโขงเจียม ประธานการประชุม กล่าวว่า มารับฟังปัญหาแต่ไม่มีอำนาจตัดสินใจในเรื่องการเปิดประตูเขื่อน และพร้อมนำข้อเรียกร้องของชาวบ้านเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีต่อไป ขณะที่ตัวแทน กฟผ.ชี้แจงว่า กฟผ.ไม่มีอำนาจในการเปิดปิดประตูเขื่อน เนื่องจากเป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด

ทางด้านสมัชชาคนจนกล่าวว่า การที่ตัวแทน กฟผ.อ้างว่าไม่มีอำนาจตัดสินใจเปิดเขื่อน แต่พยายามอ้างเหตุผลและความจำเป็นในการปิดประตูเขื่อน แสดงให้เห็นถึงความไม่จริงใจในการแก้ไขปัญหา โดยในวันที่ 28 พ.ค.นี้ สมัชชาคนจน จะเดินทางไปพบผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลฯ อีกครั้ง และหากผู้ว่าฯ อ้างว่าไม่มีอำนาจตัดสินใจ ก็จะเดินทางเข้าพบรัฐบาลต่อไป


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รับขวัญนักศึกษาที่ถูกจับหลังชุมนุมรำลึก 1 ปี รัฐประหาร - เกษียรแจกหนังสือปลอบขวัญ

$
0
0

คณาจารย์บายศรีสู่ขวัญศิษย์ 'กรุงเทพฯ-ขอนแก่น' หลังตำรวจจับกุมจากเหตุชุมนุมรำลึก 1 ปี รัฐประหาร - เกษียร เตชะพีระ ห่วงสังคมไทยในรอบ 10 ปีหลังกระหายเลือด และทนทานต่อความรุนแรงน้อยลง ชี้จำกัดสิทธิเสรีภาพด้วยอำนาจพิเศษ จะยิ่งก่อให้เกิดความขัดแย้ง พร้อมชื่นชม ‘ดาวดิน’ สัมผัสทุกข์ชาวบ้านคือทรัพย์สินทางปัญญาที่ใช้ได้ไม่มีวันหมด

26 พ.ค. 2558 - เวลา 16.50 น. ที่คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้มีการจัดงาน "บายศรีสู่ขวัญ เยาวชนประชาธิปไตย" ให้แก่นักศึกษาและนักกิจกรรม ที่ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2558 ทั้งที่บริเวณหน้าหอศิลปฯ กรุงเทพ และที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จังหวัดขอนแก่น โดยมีอาจารย์เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ อาทิ เกษียร เตชะพีระ, อนุสรณ์ อุณโณ, วรเจตน์ ภาคีรัตน์, ธีระ สุธีวรางกูร, ปูนเทพ ศิรินุพงศ์, ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ ฯลฯ ในงานได้มีการกล่าวรับขวัญนักศึกษา และนักกิจกรรม โดยเกษียร เตชะพีระ มีรายละเอียดดังนี้

000

ผมขอกล่าวต้อนรับนักศึกษา นักกิจกรรมทุกคนที่ไปประสบ ไปทำความรู้จักกับรัฐไทยมา ผมคงกล่าวอะไรเล็กๆ น้อยๆ และก็เตรียมคำแถลงมา คืออย่างนี้นะครับ วันนี้งานก็เป็นกันเองจัดแบบบ้านๆ ผมมาถึงแล้วก็เผอิญนึกขึ้นได้ ที่ห้องทำงานผมที่คณะรัฐศาสตร์มีหนังสือเยอะ เพราะมันขายไม่ออก (หัวเราะ) ผมเลยตัดสินใจขนเอามาแจกดีกว่า ถือว่าเป็นการปลอบขวัญนักศึกษาไปด้วย

เรื่องของเรื่องคืออย่างนี้นะครับ ข่าวเองก็ทำให้เกิดความสะเทือนใจ ที่พวกท่านประสบมา มันทำเลยทำให้พวกเราคิดว่าจะทำอะไรบางอย่างขึ้น คือคำพูดของอาจารย์อนุสรณ์ อุณโณ ซึ่งในคืนนั้นเขาก็ไปที่โรงพักปทุมวัน แล้วก็พูด ซึ่งมีรายงานข่าวออกมาว่า “ผมมาตามนักศึกษาของผม” ประโยคนี้กินใจผมมาก มันทำให้ผมนึกอะไรบางอย่างที่เกิดขึ้นมาประมาณ 20 ปี คือตอนนั้นพวกท่านก็คงรู้ดีว่า ผมกับอาจารย์สมศักดิ์ (เจียมธีระสกุล) มีความรักกันมาก (หัวเราะ) คือโดยปกติแล้วก็จะไม่ค่อยติดต่อสื่อสารกันเท่าไหร่ แต่วันมีอยู่คืนหนึ่งประมาณสัก 20 กว่าปีที่แล้ว อาจารย์โทรมาหาผมกลางดึก เพื่อมาถามว่า มีอะไรที่เราจะทำได้ไหม เพื่อจะช่วยนักศึกษาที่ชื่อว่า ประจักษ์ (ก้องกีรติ)

คือตอนนั้นประจักษ์จัดฉายหนังให้นักศึกษา เขาทำกิจกรรมเป็นนักศึกษาอยู่คณะรัฐศาสตร์ ในตอนนั้นมันมีฉากล่อแหลมบางอย่าง แล้วทางมหาวิทยาลัยก็จะเล่นงานประจักษ์ทางวินัย อาจารย์สมศักดิ์ โดยปกติเขาก็ไม่ค่อยติดต่อผมสักเท่าไหร่ แต่ก็โทรมาแล้วก็ถาม เราจะช่วยอาจารย์ประจักษ์ได้อย่างไรบ้าง

มันเป็นความสัมพันธ์บางอย่างที่ในความรู้สึกของผม มันเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ ระหว่างครู กับลูกศิษย์ทั้งหลาย ความสัมพันธ์ระหว่างครู กับลูกศิษย์ในความรู้สึกของผม มันเป็นการให้ที่ไม่มีเงื่อนไข เป็นการให้ที่ไม่หวังผลตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น ให้ความรู้แล้วความคิดอ่านอย่างบริสุทธิ์ใจ ผมมีความรู้สึกว่าหน้าที่ของครู คือการรับผิดชอบ ช่วยเหลืออนาคตของสังคม พ่อแม่เขาฝากฝังลูกหลานให้เราช่วย อบรม ดูแล ให้ข้อคิด ให้ความรู้ให้ความคิดอ่าน โดยความหวังว่าจะประคับประคองพวกเขาให้เป็นอนาคต ให้รับผิดชอบต่อสังคมต่อไปได้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ผมกังวลต่อภาระหน้าที่ของครู ที่มีต่อลูกศิษย์มาก

พูดตรงไปตรงมา ผมรู้สึกว่างหลังจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว มันมีบางอย่างในสังคมไทยที่น่ากลัวมาก ถ้าเราติดตามปฏิกิริยาสาธารณะทั่วไปที่เกิดขึ้น พูดสั้นๆ ความกระหายเลือดมีมากเกินไปในสังคมไทย ขณะเดียวกันความทนทานต่อความรุนแรงมีน้อยลง สองอย่างนี้มันเกิดขึ้นเพราะว่า สังคมไทยผ่านช่วงขัดแย้งทางการเมืองอย่างดุเดือดมาร่วม 10 ปีแล้ว ด้านหนึ่งก็กระหายเลือดมากขึ้น ด้านหนึ่งก็ทนทานต่อความรุนแรงน้อยลง

ข้อที่น่าเป็นห่วงก็คือ ความเป็นสังคม การที่เรามีความเป็นชุมชนเดียวกันมีความรักใคร่ เอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ ให้อภัยกันและกัน และความเป็นรัฐ ที่เราปฏิบัติตามคำสั่งของอำนาจที่ได้มาโดยชอบ โดยไม่ต้องบังคับ ทั้งความเป็นสังคม และความเป็นรัฐ มันรักษาไว้ยาก มันสึกลงไปทุกที ภายใต้ความกระหายเลือดที่มากขึ้น และความทนทานต่อความรุนแรงที่มีน้อยลง เราทำอะไรได้ไม่มาก แต่ผมคิดว่าการยืนยันถึงพันธะหน้าที่ที่ครูต่อลูกศิษย์ อาจจะช่วยให้สังคมไทย ได้ย้ำคิดกับเรื่องนี้บ้าง

อีกอย่างหนึ่งที่ผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญคือ เรื่องเสรีภาพ ในความเข้าใจของผมเท่าที่เรียนรัฐศาสตร์มา เสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยหมายถึงการทำตามกฎหมายที่เราออกเอง หรือออกโดยผู้แทนที่ผ่านการเลือกตั้งโดยชอบของเรา ผมคิดว่า มีวิกฤตจริงต่อเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยในสังคมไทย ก่อนที่จะมีการยึดอำนาจโดย คสช. มันมีวิกฤตของการสิทธิเสรีภาพ กล่าวคือมีการใช้เสรีภาพไปในลักษณะที่บ่อนทำลายกฎหมายโดยชอบที่ออกโดยสังคม ที่ออกโดยประชาชนทั้งหลาย ผมคิดว่าภาวะแบบนี้มันจะหายไปหลังจากที่ คสช. เข้ามายึดอำนาจ แต่ผมรู้สึกวิตกกังวลว่า สิ่งที่เราเจออยู่นี้มันกลับเป็นปัญหาอีกแบบ คือขณะที่ก่อนยึดอำนาจมีความล้มเหลวของการใช้สิทธิเสรีภาพ หลังยึดอำนาจมีความล้มเหลวของการจำกัดสิทธิเสรีภาพ เพราะจำกัดสิทธิเสรีภาพไม่ใช้ด้วยกฎหมายปกติที่ประชาชนออกเอง หรือตัวแทนโดยชอบของประชาชนออก แต่ใช้กฎหมายพิเศษ อำนาจพิเศษ มาจำกัดสิทธิเสรีภาพในชีวิตปกติของประชาชน นี่ไม่ใช่การจำกัดสิทธิเสรีภาพที่จะทำงานได้ นี่เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพที่จะล้มเหลว ที่จะก่อให้เกิดความขัดแย้ง การต่อต้านท้าทาย และอาจจะหลีกเลี่ยงความรุนแรงต่อไปไม่ได้ในอนาคต ผมคิดว่านี้เป็นเรื่องที่สังคมไทยควรจะคิดถึงให้มาก

ทั้งนี้ในงานมีการสนทนาระยะไกลผ่านระบบออนไลน์เพื่อพูดคุยกับตัวแทนกลุ่มดาวดิน ซึ่งเป็นนักศึกษา ม.ขอนแก่นที่เคลื่อนไหวอยู่ในภาคอีสาน นักศึกษากลุ่มดาวดินกล่าวว่า รู้สึกดีใจและชื่นชมเพื่อนๆ ที่ออกมาแสดงออกในสถานการณ์ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย กล้าที่จะตามหาความฝันในการทวงคืนประชาธิปไตย สิ่งที่เราทำเป็นสิ่งเดียวกัน ดาวดินอาจเน้นเรื่องชาวบ้านมากกว่าการเมือง แต่ในสถานการณ์นี้เราต้องสู้ไปด้วยกัน ขอให้ทุกคนรักษาฝันนี้ไว้พร้อมทั้งหลักการประชาธิปไตย และขอขอบคุณอาจารย์ทุกท่าน แม้ไม่ได้เป็นศิษย์โดยตรงแต่ก็ตามอ่านงานวิชาการและบทความของหลายท่านโดยตลอด

"ผมอยากให้คนที่โดนกดขี่ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัวเปิดใจรับฟังสิ่งเหล่านี้ ก้าวข้ามการเมืองเก่าๆ ภาพความคิดเก่าๆ แล้วฟังแต่ละกลุ่มที่ออกมาแสดงความเห็น ความจริงของแต่ละกลุ่ม จริงๆ เราก็มีข้อเท็จจริงอันเป็นผลกระทบจากการรัฐประหาร การรัฐประหารมันเป็นการแย่งชิงทรัพยากรจากประชาชน คุกคามและกดขี่เสียงประชาชน เราจึงต้องมาพูดถึงความจริงที่้เกิดขึ้น" นักศึกษากลุ่มดาวดินกล่าว

ด้านเกษียร กล่าวว่า โดยส่วนตัวชื่นชมกลุ่มดาวดินมาก พวกเขาต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ และมันมีความหมายที่เขื่อมโยงกับชีวิตผู้คน

"ระบบการศึกษาแบบที่เรามีพยายามแยกเราออกจากโลกของชาวบ้าน ยิ่งเราออกห่างเท่าไรยิ่งมีโอกาสได้เอมากเท่านั้น(หัวเราะ)... สิ่งที่ดาวดินพยายามทำคือ พาตัวเองเข้าไปสัมผัสเรียนรู้กับชาวบ้าน เหมือนขบวนนักศึกษาช่วง 14 ตุลา มันเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่ไม่มีทางได้โดยวิธีอื่น และคุณจะได้ใช้โดยไม่มีวันหมด" เกษียรกล่าว

000

แถลงการณ์บายศรีสู่ขวัญเยาวชนประชาธิปไตย
โดยคณาจารย์ผู้ห่วงใยในลูกศิษย์และสังคมไทย

สืบเนื่องจากการเคลื่อนไหวและแสดงออกของนักศึกษา และประชาชนในโอกาสครบรอบปี การยึดและควบคุมอำนาจของ คสช. เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 นำไปสู่การที่เจ้าหน้าที่ใช้กำลังจับกุมคุมตัว ทำให้เกิดการปะทะ มีนักศึกษา และประชาชนถูกจับกุม ตั้งข้อหาด้านความมั่นคงและได้รับบาดเจ็บหลายราย ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดนั้น พวกเราที่เป็นครู อาจารย์ สอนหนังสือตามมหาวิทยาลัย และสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั้งขอแสดงความห่วงใยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และเสนอความคิดเห็นต่อสังคมไทยในกรณีนี้ว่า ในฐานะครู อาจารย์ ความสัมพันธ์ในอุดมคติของเรากับลูกศิษย์ในเรียนการสอนคือมุ่งที่จะให้ ความรู้ความคิดอ่านในแขนงวิชาต่างๆ โดยไม่หวังว่าจะได้อะไรตอบแทน ให้อย่างไม่มีเงื่อนไข โดยสำนึกรับผิดชอบในวิชาชีพ เพราะสังคม และพ่อแม่ ผู้ปกครอง ได้ฝากฝังลูกหลานมาให้เราอบรมดูแล เรามีหน้าที่ช่วยเหลือ เกื้อกูล ถ่ายทอดความรู้ความคิดอ่าน และประคับประคองให้พวกเขาได้เป็นผู้สืบทอด รับผิดชอบสังคมต่อไปในอนาคต

ข้อห่วงใยของเราต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคือ การใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมรังแต่เพิ่มความเกลียดในสังคม ไม่แก้ปัญหา แต่ทำให้ปัญหารุนแรง ซับซ้อน ขยายกว้าง บาดลึกลงไป การจำกัดสิทธิเสรีภาพโดยเฉพาะในสถานการณ์ไม่ปกติเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดได้ในทุกสังคม แต่จะราบลื่นเป็นที่ยอมรับ ต้องจำกัดด้วยกฎหมายที่ประชาชนหรือตัวแทนโดยชอบของประชาชนออกเอง เพราะประชาชนเป็นเจ้าของสิทธิเสรีภาพ หากจำกัดสิทธิเสรีภาพด้วยกฎหมายที่ไม่ได้ออกมาโดยชอบ ผลก็จะไม่เป็นที่ยอมรับ มีการดิ้นรนขัดขืนทำให้ต้องใช้กำลังบังคับ เพิ่มความรุนแรง ความขัดแย้ง เกลียดชังไม่รู้จบสิ้น โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันการยึดและควบคุมอำนาจโดย คสช. ที่ประเด็นสิทธิเสรีภาพมาทับซ้อน กับความขัดแย้งแย่งชิงทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ ที่ดิน น้ำ ทางเท้า สิ่งแวดล้อม ระหว่างชาวบ้านกับรัฐ ชาวบ้านกับทุน ยิ่งน่าวิตกว่าจะบานปลาย ข้อเสนอของเราต่อสังคมและรัฐบาลคือ โปรดระงับยับยั้งการใช้กำลังรุนแรง คืนชีวิตปกติให้นักศึกษาประชาชนได้ใช้สิทธิเสรีภาพในขอบเขตของกฎหมายปกติ ที่ออกโดยผู้แทนโดยชอบของสังคม แทนที่อำนาจพิเศษ และกฎหมายพิเศษทั้งหลาย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คุยกับ ‘แมน-ตาม’ ไล่ทักษิณตั้งแต่ ม.4 ไปหน้าหอศิลป์ฯแค่ 15 นาที ถูกหาว่ารับเงินทักษิณมาป่วน

$
0
0

สัมภาษณ์ ‘แมน-ตาม’ ผู้ถูกรวบกิจกรรมรำลึก1ปีรัฐประหาร จากที่เคยไล่ทักษิณ ประท้วงสมัคร ค้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ จนล่าสุดถูกหาว่า ‘รับเงินทักษิณมาป่วนคสช.’ ชวนทำความรู้จักตัวตนกิจกรรมที่เขาทำและค่ำคืนวันถูกจับ

หลังจากกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่นักศึกษาและประชาชน ร่วมรำลึก 1 ปี รัฐประหาร ที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมทั้งบุคคลนอกเครื่องแบบเข้าสลายกิจกรรม พร้อมควบคุมตัวกว่า 30 คน ไปที่ สน.ปทุมวัน ข้ามคืน (อ่านรายละเอียด) รวมทั้งที่ขอนแก่น นักศึกษากลุ่มดาวดิน ที่ออกมาจัดกิจกรรม “คัดค้านรัฐประหาร” ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จังหวัดขอนแก่น ถูกควบคุมตัวไว้ที่ สภอ.เมืองขอนแก่น พร้อมถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช.ที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง และได้รับการประกันตัวออกมาแล้ว ด้วยวงเงินคนละ 7,500 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 52,500 บาท โดยเงินดังกล่าวได้จากการระดมเงินกัน(อ่านรายละเอียด) นอกจากนี้ในช่วงสายของวันเดียวกันการจัดกิจกรรมเสวนา 1 ปี รัฐประหารของศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย หรือ YPD ก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสั่งให้ยุติ พร้อมเชิญตัวผู้จัดและผู้ร่วมกิจกรรมไปที่ สน.ชนะสงคราม ก่อนปล่อยตัวในเวลาต่อมาโดยไม่ตั้งข้อหา (อ่านรายละเอียด)

อย่างไรก็ตามหลังจากนั้นในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์กอย่างเฟซบุ๊กก็มีการนำรูปของนักศึกษาและประชาชนผู้ร่วมกิจกรรมเหล่านั้นมาเผยแพร่ พร้อมระบุชื่อรวมทั้งเฟซบุ๊กของแต่ละคน เช่น เพจ ‘กบฏ 56 ต้านระบอบทักษิณ’ นอกจากนี้เพจสนับสนุนรัฐบาลทหารหลายเพจ เช่น ทหารปฏิรูปประเทศ เพจรวมมิตรการเมือง ฯลฯ ยังมีการกล่าวหาเพื่อทำลายความชอบธรรมว่าบุคคลเหล่านั้นรับจ้างมาป่วน เป็นควายแดง รับเงินทักษิณ รวมไปถึงการตัดต่อภาพข้อความที่บุคคลเหล่านั้นถือในกิจกรรมว่าเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการล้มเจ้า เป็นต้น 

ภาพที่  ธิวัชร์ ดําแก้ว หรือ ‘ตาม’  ถูกเพจ ‘กบฏ 56 ต้านระบอบทักษิณ’  เสียบประจาน พร้อม url เฟซบุ๊กส่วนตัว

ปกรณ์ อารีกุล หรือ ‘แมน’ ถูกเพจ ‘กบฏ 56 ต้านระบอบทักษิณ’  เสียบประจาน พร้อม url เฟซบุ๊กส่วนตัว

แต่ในความเป็นจริงผู้ชุมนุมในวันนั้นหน้าหอศิลป์ฯ ไม่ได้มีเพียงนักศึกษา แต่ยังมีประชาชนผู้ที่เรียนจบแล้ว รวมทั้งไม่ได้มีกลุ่มความคิดทางการเมืองฝั่งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่มีความหลากหลายอยู่มาก ประชาไทจึงชวนมาพูดคุยถึงที่มาที่ไปของการเข้าไปร่วมกิจกรรมเหล่านั้น โดยเริ่มจาก ปกรณ์ อารีกุล หรือ ‘แมน’ ผู้ที่ทำกิจกรรมเคลื่อนไหวทางสังคมทั้งประเด็นการศึกษาที่เป็นธรรม ประเด็นการปฏิรูปที่ดิน ประเด็นแรงงาน ฯลฯ และ ธิวัชร์ ดําแก้ว หรือ ‘ตาม’ กรรมการกลุ่ม YPD สองเพื่อนสนิทวัยเบญจเพส ซึ่งปัจจุบันทั้งคู่เรียนจบปริญญาตรีแล้ว โดย ‘แมน’ ออกมาทำกิจกรรมทางสังคมเต็มตัว ขณะที่ ‘ตาม’ เรียนต่อระดับปริญญาโททางด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง

‘แมน’ และ ‘ตาม’ เป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่สมัยมัธยมและเข้าเรียนมหาวิทยาลัยตั้งแต่ปี 2551 โดยแมน อยู่มหาวิทยาลัยบูรพา ขณะที่ ‘ตาม’ เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่ปี 2551 ทั้งคู่เคยร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กินนอนอยู่ในทำเนียบรัฐบาลในขณะนั้น หลังจากนั้นได้ร่วมกิจกรรมกับกลุ่มแรงงานเพื่อเรียกร้องสวัสดิการและค่าแรง กลุ่มชาวบ้านเรื่องที่ดินทำกิน และกลุ่มนักศึกษาโดยเฉพาะเรื่องการคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ

สำหรับการเมืองก่อนรัฐประหารปี 2557 นั้น ทั้งคู่เคยร่วมเคลื่อนไหวคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับเหมาเข่ง ขณะที่ ‘แมน’ เห็นว่าควรมีการเลือกตั้ง 2 ก.พ.57 และควรหยุดการเคลื่อนไหวที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประกาศยุบสภา แต่ ‘ตาม’ เห็นว่ารัฐบาลขณะนั้นควรมีความรับผิดชอบทางการเมืองที่มากกว่าการยุบสภา จึงเคลื่อนไหวต่อมาอีก อย่างไรก็ตามทั้งคู่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารเหมือนกัน

จากนี้ประชาไทจะชวนมาทำความเข้าใจถึงที่มาที่ไปของทั้งคู่ เพื่อทำความรู้จักตัวตนของทั้งคู่ เข้าใจเหตุที่พวกเขาร่วมกิจกรรมดังกล่าว บรรยากาศก่อนเจ้าหน้าที่เข้าสลายกิจกรรม และกระบวนการกักตัวที่ สน.ปทุมวัน รวมทั้งภาพฝันของสังคมในอุดมคติของเขา และมุมมองต่อขบวนการนักศึกษา

00000

ตาม (ซ้าย) แมน (ขวา)

“เด็กใต้ก็โตมากับคำว่า “ลูกแม่ถ้วน ชวนหลีกภัย” มันเป็นสิ่งแวดล้อมที่โตมา แต่ด้วยความสนใจทางการเมืองตั้งแต่เด็ก ทำให้เราอาจจะมีโอกาสได้ไปร่วมกิจกรรมค่ายอาสาต่างๆ ทำให้เราถูกตั้งคำถามมาตลอดเวลาตั้งแต่มัธยม คือมีทัศนะทางการเมืองที่ไม่ได้รู้สึกว่าประชาธิปัตย์ต้องถูกเสมอ” แมน กล่าว

ตัวตนและการเคลื่อนไหวทางการเมืองและสังคมก่อนหน้านี้ทั้งคู่คืออะไร?

แมน : ผมกับตามรู้จักกันมาตั้งแต่เด็ก ชอบเรียนวิชาสังคมศึกษา พอมาเรียนมหาวิทยาลัยก็ตั้งความหวังไว้ว่าจะเป็นนักศึกษาที่ทำกิจกรรม

ตาม : ตอนแรกจะเรียนมหาวิทยาลัยบูรพาทั้งคู่ โดยไม่คิดว่าจะติดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เตรียมจะไปเปิดร้านกาแฟกับแมนที่ม.บูรพา แต่เมื่อติดธรรมศาสตร์ จึงเลือกเรียนที่นี่ แมนจะเข้าทำกิจกรรมก่อนผม เพราะตอนเข้าธรรมศาสตร์เทอมแรกยังอกหักกับมหาวิทยาลัยนี้อยู่ จากที่รู้สึกว่าไม่มีใครสนใจทำกิจกรรมทางการเมืองอย่างที่คิดไว้เลย เพราะมีภาพฝันว่าเข้ามาจะได้ทำกิจกรรมทางการเมือง จึงไปปลูกผักเลี้ยงหมู ทำปุ๋ยอยู่ที่โรงขยะหลังมหาวิทยาลัย ฝั่งสะพานสูง จนแมนได้ไปทำกิจกรรมกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

แมน : ผมเรียน พัฒนาชุมชน ม.บูรพา ซึ่งเป็นภาควิชาที่ค่อนข้างให้เราออกไปเรียนรู้ข้างนอกห้องเรียน เมื่อมีกิจกรรมที่องค์กรเอ็นจีโอจัด อาจารย์ก็ชวนไปร่วมกิจกรรมเหล่านั้น เมื่อไปร่วมก็ได้รู้จักกับบรรดานักกิจกรรม จึงได้ชวน ‘ตาม’ ไปร่วมด้วย ในปีที่ผมเข้ามาเรียนปี 1 นั้น เป็นปี 2551 ที่พันธมิตรฯ กำลังก่อหวอดเตรียมเคลื่อนไหวต้านรัฐบาลสมัคร ขณะนั้น

ตาม : วันที่เราจะขึ้นมาเรียนเปิดเทอมปี 1 เป็นวันที่เขาเริ่มรวมตัวที่สนามหลวง เพื่อเคลื่อนขบวนมาสะพานสะพานมัฆวานฯ

แมน : ด้วยความที่เราเป็นเด็กใต้ก็โตมากับนายหัวชวน กับคำว่า “ลูกแม่ถ้วน ชวนหลีกภัย” (พูดพร้อมกัน) มันเป็นสิ่งแวดล้อมที่โตมา แต่ด้วยความสนใจทางการเมืองตั้งแต่เด็ก ทำให้เราอาจจะมีโอกาสได้ไปร่วมกิจกรรมค่ายอาสาต่างๆ ทำให้เราถูกตั้งคำถามมาตลอดเวลาตั้งแต่มัธยม คือมีทัศนะทางการเมืองที่ไม่ได้รู้สึกว่าประชาธิปัตย์ต้องถูกเสมอ

ตาม : หลักกว่านั้นคือตอน ม.3 ผม ไปรื้อบ้านตัวเองเจอหนังสือของ สุพจน์ ด่านตระกูล จึงได้เอามาอ่านกับแมน จำได้เป็นหนังสือ เรื่อง POTATO  เรื่องเหตุเกิดที่ศิริราช พอเราเริ่มอ่านแล้วทำไมเริ่มคุยกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง มันมีอย่างนี้ด้วยเหรอ

แมน : จังหวะช่วง ม.ปลาย ก็มีโอกาสได้อ่านหนังสือ เรียนรู้ความคิดประวัติศาสตร์ที่ไม่ใช่กระแสหลัก กระแสที่ตรวจสอบกระแสหลัก ส่งผลให้มีการวิพากษ์ภายในตัวเองทั้งคู่

ตาม : ผมก็ไปเจอหนังสือที่บ้าน จากการที่พ่อเคยเป็นนักกิจกรรมรุ่นหลังปี 19 ที่บ้านตอนอ่านสมัย ม.5 คือ “วิวัฒนาการของสังคม” ของ เดชา รัตตโยธิน

แมน : เมื่อมาเรียนก็ทำให้มีความคาดหวังบวกกับพื้นฐานทัศนคติ ความคิดทางการเมืองที่คิดว่ามันมีการเห็นต่างได้ หรือว่าความคิดแบบต่างๆ สำหรับคนที่หลากหลายนั้นมันมีอยู่จริง และไม่คิดว่าเป็นเรื่องผิดที่คนคิดไม่เหมือนกัน

ตาม : แต่เราก็มาเจอกับสถานการณ์ที่คิดว่ารุ่นอื่นจะไม่เจอเหมือนรุ่นผม คือรุ่นผมปี 51 ที่เกิดบาดแผลจากปี 49 มาแล้ว ที่นักกิจกรรมทางสังคมแตกความคิดกันหลากหลายความคิด ทำให้เราเติบโตจากการได้ฟังคนทุกด้านทะเราะกัน จึงรู้สึกว่ารุ่นนี้มันเป็นอะไรที่เติบโตมากับความขัดแย้งหนักๆ เพราะปี 1 ก็ปี 51 พอปี 2 ก็ปี 52 แล้ว พอปี 3 หนักเข้าไปอีกเพราะปี 53

ตอนปี 51 ทำไมถึงได้ไปร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรฯ ?

ตาม : สำหรับผมเองก็คือตั้งแต่ ม.4 ซึ่งตอนนั้นปี 48 และตอนนั้น สนธิ ลิ้มทองกุล ไปพูดที่ มอ.หาดใหญ่ ผมเลิกเรียนเสร็จก็ได้ฟังสนธิ พูดที่นั้น จึงทำให้ติดตามสมัยนั้นที่มีการไล่ทักษิณ บวกกับส่วนตัวที่ได้ศึกษาจึงไม่ชอบวิธีการบริหารแบบทักษิณ หรือต่อๆ ก็ไม่ได้นึกจะชอบ เหมือนที่โดนกล่าวหา(รับเงินทักษิณในโซเชียลเน็ตเวิร์ก)

แสดงว่ามองเห็นปัญหาการบริหารในแบบรัฐบาลทักษิณตั้งแต่ก่อนปี 49 และมาถึงปี 51 ที่เป็นรัฐบาลสมัคร ด้วยใช่ไหม?

ตาม : ใช่ครับ ตอน ม.5 ซึ่งมีการรัฐประหาร 49 ซึ่งคนรุ่นพวกเราที่เกิดปี 2533 นั้น ก็จะทัน แต่ยังไม่รู้เรื่องต่อเหตุการณ์ปี 35 ยังไม่รู้ประสีประสาว่ารัฐประหารคืออะไร เราก็เริ่มศึกษา ตอนนั้นรู้สึกว่าเริ่มได้รับความคิดที่เป็นความใหม่ เหมือนกับไม่ใช่กระแสเดียวแล้ว ในตอนปี 49 ซึ่งขณะนั้นยังไม่รู้จักพี่ๆที่เป็นนักกิจกรรม ทำให้ได้แค่อาจจากหนังสือ แล้วรู้สึกว่าเราอ่านหนังสือ “ฟ้าเดียวกัน” เรารู้ว่าเขาด่าทักษิณมาโดยตลอด เขาวิจารณ์นโยบาย แต่ภายหลังมีการต้านรัฐประหาร เราจึงได้เรียนรู้ว่ามันมีอะไรที่อ่านยากๆ ที่เรายังไม่เข้าใจอีก

“เราก็ไม่ชอบทักษิณ เราไม่เคยชอบคุณทักษิณ แต่ไม่ใช่ในความรู้สึกแบบที่คนเกลียดทักษิณว่าเลว แต่เรารู้สึกว่าวิธีการบริหารแบบทักษิณมันไม่ได้ เมื่อเกิดพันธมิตรฯ วันที่ยึดทำเนียบ ผมกับตาม ก็อยู่ตรงนั้น” แมน กล่าว

ภาพแมนและตามขณะร่วมชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลกับกลุ่มพัธมิตรฯ ปี 51

หลังจากเข้ามหาวิทยาลัยเริ่มทีการทำกิจกรรมทางสังคม กับกลุ่มนักศึกษา แรงงาน และชาวบ้านได้อย่างไร?

แมน : พอเข้ามหาวิทยาลัย ด้วยความที่ หนึ่ง เราก็ไม่ชอบทักษิณ เราไม่เคยชอบคุณทักษิณ แต่ไม่ใช่ในความรู้สึกแบบที่คนเกลียดทักษิณว่าเลว แต่เรารู้สึกว่าวิธีการบริหารแบบทักษิณมันไม่ได้ เมื่อเกิดพันธมิตรฯ วันที่ยึดทำเนียบ ผมกับตาม ก็อยู่ตรงนั้น ซึ่งขณะที่ไปถึงเขายึดกันเสร็จแล้ว แต่การยึดทำเนียบ ความรู้สึกตอนนั้นมันเหมือนเป็นการยึดทั้งรัฐบาล คือตอนนี้ถ้านักศึกษายึดทั้งรัฐบาลได้มันคงเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ เมื่อไปและเข้าไปอยู่ในม็อบก็ด้วยความรู้สึกที่อยากเห็นของจริง อยากไปดูว่ามันเป็นอย่างไร ไปอยู่หลังจาก 7 ตุลา แต่เหตุการณ์ 7 ตุลา นั้น เราไม่ได้อยู่ เพราะเป็นช่วงสอบ

ตาม : วันที่ 7 ตุลา 51 นั้นเป็นวันสุดท้ายของการสอบ และเมื่อสอบเสร็จเราก็ย้ายไปกินนอนอยู่ที่ทำเนียบ 1 เดือนเต็มๆ สำหรับผม แต่แมนจะมากกว่า

แมน : เพราะว่าหลังจากนั้นผมก็ดรอปเรียน แต่ไม่ได้หมายความว่าดรอปเพราะพันธมิตรฯ แต่ด้วยเหตุผลอย่าอื่น ประเด็นคือผมกับตามก็คุยกันว่า วันแรกที่พันธมิตรยึดสุวรรณภูมินั้นเรารู้สึกว่าไม่ค่อยเห็นด้วย และรู้สึกว่าตอนนั้นเรื่องที่เราอยากรู้มันเหมือนกับรู้หมดแล้ว จึงคิดว่าออกดีกว่า เป็นความรู้สึกเบื่อม็อบ ยังจำวันที่ได้เลยว่าเป็นวันที่ 28 พ.ย. เพราะว่าหลังจากนั้นก็มีการประกาศการต่อสู้ครั้งสุดท้าย ซึ่งประกาศครั้งสุดท้ายมาหลายครั้งแล้ว

“ความรู้สึกที่ผมออกมาจากม็อบตอนนั้นเพราะต้องไปเรียน บวกกับมันเกิดคำถามว่าอะไรคือชัยชนะของม็อบ สมติว่าถ้าผมโตขึ้นจากม็อบๆหนึ่งแล้วจุดไหนคือทางลงหรือข้อเรียกร้องหรืออะไรที่ดีต่อสังคม จึงเริ่มตั้งคำถาม” ตาม กล่าว

ภาพแมนและตาม (คนที่ 2-3จากขวา) ขณะร่วมชุมนุมกับสมัชชาคนจน 25 พค. 2555 

แล้วกิจกรรมทางสังคมที่เราไปร่วมมามีอะไรบ้าง?

ตาม : หลังจากปี 1 ที่เข้าไปอยู่ที่ทำเนียบ หลังจากนั้นถึงได้มาสัมผัสกับภาคประชาชนจริงๆ

แมน : ได้รู้จักกับผู้ที่ร่วมกิจกรรมกับแอมเนสตี้ฯ จึงรู้ว่ามีคนที่ทำงาน

ตาม : รวมทั้งชุดความเชื่อชุดหนึ่งที่เราไม่ต้องสังกัดกลุ่มความคิดทางการเมืองที่ขัดแย้งกันอยู่ แต่เขามองอะไรที่เป็นหลัก เช่น เรื่องการจัดการทรัพยากรโดยชุมชน เขามองเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องแรงงาน เรื่องความไม่เท่าเทียม ผมก็เลยขยับไปเรียนรู้อีกขั้น

แมน : ผมรู้สึกอกหักจากปี 51 จากพันธมิตร จึงพยายามหาที่ที่ทางที่หากเราอยากทำให้สังคมดีขึ้น เราต้องใช้ชีวิตแบบไหน ทำอะไรแบบไหน ดังนั้นการได้เจอกับพี่ๆ ที่ทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งข้อดีคือมันมีทั้งเอ็นจีโอที่เป็นฝั่งเหลืองฝั่งแดง ผมกับตามได้ไปแจกใบปลิวร่วมกับคนงานตั้งแต่ปี 51 ที่รังสิต ในขณะเดียวกันรุ่งขึ้นก็มีงานปีใหม่ที่สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เราก็ไปร่วมด้วย

คือเอาเป็นประเด็นร่วม แต่ไม่ว่ากลุ่มแรงงานจะสังกัดฝั่งการเมืองไหน แต่ว่ามีเป้าหมายคือให้สังคมดีขึ้น เมื่อสักครู่แมนบอกว่า “อยากให้สังคมดีขึ้น” สิ่งที่เรียกว่าสังคมดีขึ้นของทั้ง 2 คนนี้เป็นอย่างไร?

ตาม : อันดับแรกตอนเด็กๆ เราเป็นเด็กที่ชอบหนีโรงเรียน ชอบไปส่องพระ เมื่อได้เห็นโลกกลางคืนเรารู้สึกว่ามันมีอะไรแปลกๆ ที่เราไม่เคยเห็น เช่น คนนอนอยู่ตามสะพานลอย หรือมีแม้กระทั่งเด็กมาขอเงินไปดมกาว ซึ่งหากผมอยู่บ้านพ่อแม่คงไม่ปล่อยให้ผมไปเจออะไรแบบนั้น ถ้าผมไม่หนีออกมา และเราตั้งคำถามว่าแล้วสังคมที่ดีคืออะไร เริ่มทำความเข้าใจว่าจริงๆ สิทธิทางการเมืองเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าหากเศรษฐกิจมันเหลื่อมล้ำ มันก็จะก่อให้เกิดปัญหาเหล่านั้น มันไม่ได้จนเพราะว่านโยบายรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่งรัฐบาลเดียวหรอก

“เมื่อได้เจอกับพี่ๆ ที่เคลื่อนไหวเอ็นจีโอ เราได้สัมผัสกับปัญหาเชิงโครงสร้างทางสังคม การจัดสรรผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไม่เท่าเทียม ที่ดินหรือเงินหรือทุนที่ไม่ได้รับ เราจึงได้เริ่มขยับสเต็ปขึ้นมาอีกสเต็ป แล้วก็เริ่มหาแนวทางของตัวเอง ผมกับแมนก็ไม่ได้มีแนวทางแบบเดียวกัน และเชื่อว่าคนในโลกนี้ถ้าหากถามสังคมที่ดีงามคืออะไร นิยามพันล้านคนก็เป็นพันล้านนิยามเหมือนกัน” ตาม กล่าว

เมื่อขึ้นปี 2 ก็ได้ไปรู้จักกับกลุ่ม YPD ที่มีแนวคิดแบบซ้ายกลาง เป็นแบบปฏิรูปไม่ได้สังคมนิยมยึดอำนาจรัฐเป็นเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ จึงเริ่มศึกษาแนวคิดนี้เลย ซึ่งเวลาที่เข้ามาใหม่ๆนั้นมีการพูดถึงประเทศแถบสแกนดิเนเวีย พูดถึงรัฐสวัสดิการ จึงได้ศึกษาหาความรู้จึงชอบและตอนปี 2 ได้ไปร่วมงานที่ต่างประเทศจากนั้นกลับมาก็สนใจมากยิ่งขึ้น บวกกับมีกลุ่มศึกษาจึงได้ร่วมเข้าศึกษา ทำให้ปริญญาโทมาเรียนเศรษฐศาสตร์การเมืองเนื่องจากสนใจเรื่องสังคมนิยมในยุโรป เป็นโมเดลอาจจะทำได้ในประเทศไทยหรือไม่ไม่รู้ แต่โลกทัศน์ของผมคือมีประชาธิปไตยและประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจด้วย

ทั้งคู่นั้นเคลื่อนประเด็นแรงงาน เรื่องคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ อยากให้เล่าว่าเป็นมาอย่างไร?

ตาม : ความต่างระหว่างผมกับแมนนั้นคือ เมื่อออกจากม็อบพันธมิตรฯ แล้ว แมนจะเดินทาง ส่วนผมไม่เดินทาง การเดินทางคือดรอปเรียนแล้วไปทำค่ายอาสา

แมน : หลังจากดรอปเรียนได้ไปทุกที่ทีมีปัญหาทาสังคม มีค่ายกิจกรรม

ตาม : พอผมกลับไปเรียนก็อ่านหนังสือ เพราะรู้สึกว่าตัวเองนั้นไม่รู้อะไร ส่วนทีไม่ไปเดินทางเพราะว่าผมไม่กล้าดรอปเรียน แต่ก็ไม่ได้เรียน 100% เพราะได้ไปร่วมกับแมนบ้างในบางครั้ง รวมทั้งมีการแลกเปลี่ยนกันตลอด

การที่ได้ไปเดินทางนั้นได้พบกับอะไรบ้าง?

แมน : พอเดินทางก็ได้คำตอบ แต่ก็ไม่ได้ทั้งหมด คำถามก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่ได้คือวิธีการที่จะตอบคำถามบางคำถาม ต่อให้เรามีคำตอบ แต่ถ้าคนอื่นไม่มีคำตอบหรือว่าเราไม่ฟังคำตอบคนอื่นนั้น คำถามมันก็จะตอบไม่ได้ ปัญหามันก็จะแก้ไม่ได้ จึงคิดว่าต้องกลับมาเรียน ซึ่งเป็นการหักล้างคำทำนายของพี่ๆหลายคนว่าเมื่อดรอปแล้วจะเรียนไม่จบแน่

ระหว่างเดินทางก็ไปพบกับพี่ๆนักกิจกรรม สหพันธ์นิสิตนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ซึ่งตอนนนั้นมีม็อบแรงงานที่สระบุรี สนนท.ก็ทำงานกับแรงงาน ทำให้สอดคล้องกับความรู้สึกของตัวเองที่ไม่สามารถหาได้ในรั้วมหาวิทยาลัย เมื่อมีม็อบแรงงานก็ไปปฏิบัติการเร็ว เช่น ที่หน้า กบข. (อ่านรายละเอียด : ลูกจ้างเหมาค่าแรง รอยัลปอร์ชเลน ร้อง กบข. ผู้ถือหุ้นใหญ่ ถูกเลิกจ้างและได้รับการปฏิบัติไม่เป็นธรรม) ทำให้รู้สึกว่า สนนท. ขณะนั้นเป็นองค์กรนำของนักศึกษา

ตาม : ผมก็รู้สึกเช่นนั้น เพราะว่าไปศึกษาประวัติศาสตร์ก็เห็นว่าหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ก็มีการกดปราบนักศึกษา และมีนักศึกษาตั้งขึ้นมาใหม่จนกลายเป็น สนนท. ปี 26 หรือ 28 นี่ และเห็นว่า สนนท. มีบทบาทนำในเหตุการณ์ปี 35 จึงคิดว่าถ้าหากเราจะสนใจเรื่องการเมืองเราต้องไปทำงานใน สนนท.

แมน : ในตอนนั้น สนนท.จัดกิจกรรมอะไรเราก็ไปหมด พอมีสมัชชาก็ไปร่วม ซึ่งทั้งคู่ต่างถูกเสนอชื่อเป็นกรรมการ สนนท. และได้เป็นกรรมการพร้อมกัน

ตาม : แมน เป็นกรรมการข้อมูล ส่วนผมเป็นกรรมการภาคกลาง ยังจำได้ว่าตอนสมัชชาบนแพที่กาญจนบุรี พอขากลับจากสมัชชาก็ไปม็อบคนงานไทรอัมพ์ฯ ที่บางพลี (อ่านรายละเอียด : การเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ)

แมน : พอมาเป็น สนนท. ก็ได้มารู้จักกับนักศึกษากลุ่มต่างๆ ตอนที่เป็นนั้นผมก็เป็นสโมสรนักศึกษาของคณะที่ ม.บูรพา จึงคิดว่าต้องมีกลุ่มที่ทำงาน จึงร่วมกับเพื่อนๆตั้งกลุ่มลูกชาวบ้าน ม.บูรพา ขึ้นมา ทำกิจกรรมที่จะพานักศึกษาเพื่อไปสัมผัสกับความเป็นจริง ปัญหาจริงๆของชาวบ้าน เพื่อที่จะเอาเรื่องนี้เป็นฐานในการวิเคราะห์ว่าจะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างไร

ตาม : YPD สำหรับผมให้เครดิตว่าเป็นองค์กรที่ให้แนวคิด แต่เมื่อถึงขั้นปฏิบัติการมันเกิดจากการที่ผมจัดกลุ่มคุยในคณะ จึงกลายเป็นกลุ่มสะพานสูง ธรรมศาสตร์ ขึ้นมา และรู้จักกับพี่ที่ ม.เกษตร ก็มีกลุ่มเสรีนนทรี เมื่อเคลื่อนไหวร่วมกันก็กลายเป็นเครือข่ายนักศึกษาคัดค้าน ม.นอกระบบ ขึ้นมา

แมน : ส่วนที่ ม.รามฯ ก็มีซุ้มลาดยาว ซึ่งต่อมาก็เปลี่ยนเป็นซุ้มเหมราช ซึ่งพี่บอย ธัชพงศ์ แกดํา (ที่อยู่ในซุ้มนี้ และถูกจับในวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมาด้วย) ก็เคยร่วมกันตั้งแต่ปี 51 ที่ทำเนียบเช่นกัน

แมนและตาม(คนที่2และ3จากซ้าย) จัดกิจกรรมหน้าสภาฯแก้ผ้า ร้องเลื่อนพิจารณา 'ร่าง พ.ร.บ.ม.นอกระบบ' (ที่มาภาพและอ่านรายละเอียด)

ทำไมถึงทำเรื่องการคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ?

แมน : พอแต่ละคนไปทำกลุ่มกิจกรรมของตัวเอง และได้มาเจอกันก็คุยกันจึงคิดว่าน่าจะเปลี่ยนจากวงสังสรรค์ที่คุยกัน น่าจะพาน้องพาเพื่อนมาเจอกัน เพื่อเป็นอีกพื้นที่หนึ่ง รวมทั้งในกรุงเทพฯ ช่วงนั้นกลุ่มนักศึกษาเป็นช่วงที่มีการจัดเสวนาหรือทำงานทางความคิดเป็นส่วนใหญ่ ไม่ค่อยมีกลุ่มที่ลงพื้นที่ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าการจัดเสวนามีปัญหา แต่คิดว่าน่าจะมีบรรยากาศของการแอ็คชั่นด้วย รวมทั้งผมได้ไปฝึกงานร่วมกับกลุ่มเพื่อนประชาชน(FOP) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ทำงานร่วมกับกลุ่มแรงงาน เกษตรกร ชาวนา เป็นพื้นที่ที่เชื่อมโยงให้แต่ละกลุ่มมาทำงานกัน

มีการร่วมจัดขบวนล้อการเมืองในวันกรรมกรสากล ความพิเศษคือพวกเรามีอิสระทางความคิดเพราะการล้อการเมืองนั้นเราล้อทั้ง 2 ฝ่าย รวมทั้งล้อในเชิงนโยบายและผลงาน

พอมีเรื่อง ม.นอกระบบ จากที่กลุ่มต่างๆค่อนข้างมีรูปธรรมในการเคลื่อนไหว มีทักษะในการเคลื่อนไหวจึงเข้าไปช่วยจัดการกับประเด็นคัดค้าน ม.นอกระบบ

การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบมันไปขัดกับภาพฝันอุดมคติของทั้งคู่อย่างไร?

“การศึกษานั้นผมมองว่ามันเป็นสิทธิที่ประชาชนเข้าถึงให้โดยที่รัฐจัดให้ เราเชื่อว่าคนเป็นทรัพยากรของประเทศที่สำคัญที่สุด หากประเทศไหนให้คนเข้าถึงการศึกษาเราก็จะเป็นประเทศที่มีคุณภาพ เพราะฉะนั้นการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบจึงเป็นการกันคนส่วนหนึ่งไม่ให้เข้าถึงการศึกษา แต่ผมไม่ได้หมายความว่าทุกคนต้องเรียนจบมหาวิทยาลัย แต่หมายถึงว่าใครก็ตามไม่ว่าเขาจะยากจนขนาดไหน ถ้าเขาอยากเรียนเรียนได้ต้องได้เรียน” แมน กล่าว

มันมีโมเดลแบบในสแกนดิเนเวียที่ตามศึกษาด้วยใช่หรือไม่ กับระบบการศึกษาที่เป็นธรรม?

ตาม : พอเราจับประเด็นเรื่อง ม.นอกระบบ ผมก็ไปดูประเทศอื่นๆ เขาดูอย่างไร แนวคิดผมก็คือทั้งระบบ หมายถึงการศึกษาตั้งแต่เด็กๆ ก็เห็นบางประเทศขนาดมีลูกเขายังจ้างให้มีลูก ซึ่งก็เข้าใจว่าเป็นเรื่องของประชากร แต่ผมว่าการที่คนถ้ายังเชื่อตามวิทยาศาสตร์อยู่นั้นมนุษย์ทุกอย่างมันโตและพัฒนาได้หมดแต่สมองมันแค่ 5 ขวบ คราวนี้การได้รับการศึกษาที่จุดสตาร์ทจึงเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าเราให้ทุกคนสตาร์ทจากจุดเดียวกันก็คิดว่าเป็นสิทธิที่ทุกคนได้รับ แต่ถ้าให้บ้านที่รวยสตาร์ทได้ไกลกว่า ขณะที่บ้านคนจนสตาร์ทได้ถอยหลังกว่า มันก็จะผลิตซ้ำความยากจนเหมือนเดิม

จึงมองว่าในกลุ่มแรงงานนั้นมีศูนย์เด็กเล็กไหม เพื่อสร้างเด็กให้มีพัฒนาการให้เท่ากับลูกคนรวย แต่ไม่ได้บอกว่าให้เท่าทุกอย่าง แต่สิ่งที่ควรจะได้นั้นควรมีมาตรฐานเท่ากัน จากที่ได้ไปสัมผัสกลุ่มแรงงานจะพบปัญหาค่าแรงไม่พอ ทำให้ต้องควง 2 กะ แล้วถ้ามีลูกขึ้นมาอีกใครจะเป็นคนดูแลลูก นี่ก็แสดงให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันแล้ว เพราะฉะนั้นรัฐก็ควรมีงบประมาณดูศูนย์เด็กเล็ก

ดังนั้นผมจึงมองทั้งระบบการศึกษาตั้งแต่อนุบาลถึงปริญญาตรี รวมทั้งมองที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานด้วยที่รัฐควรให้งบสนับสนุน จึงร่วมกับกลุ่มที่คัดค้านมหาวิทยาลัยออกนอกระบบเพราะในสังคมนี้การศึกษาระดับมหาวิทยาลัยมันยกระดับชีวิตคนด้วย เป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ เพราะฉะนั้นคนที่ยากจนที่เรียนมาถึง ม.6 แล้ว อีกนิดหนึ่งเขาจะได้เรียนมหาวิทยาลัย ดังนั้นถ้าเขาอยากเรียนเขาต้องได้เรียน เป็นสิทธิที่เท่าเทียมกัน จึงได้เป็นพันธมิตรเคลื่อนไหวเรื่องคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบกัน

“ถ้าเราให้ทุกคนสตาร์ทจากจุดเดียวกันก็คิดว่าเป็นสิทธิที่ทุกคนได้รับ แต่ถ้าให้บ้านที่รวยสตาร์ทได้ไกลกว่า ขณะที่บ้านคนจนสตาร์ทได้ถอยหลังกว่า มันก็จะผลิตซ้ำความยากจนเหมือนเดิม” ตาม กล่าว

เหตุการณ์วันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา ในวันครบรอบ 1 ปี รัฐประหาร ตั้งแต่ช่วงสายที่กลุ่ม YPD จัด และช่วงเย็นถึงค่ำที่หน้าหอศิลป์ฯ มันเกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมทั้ง 2 คนถึงไปร่วมอยู่ในเหตุการณ์นั้น?

ตาม : ผมเป็นกรรมการ YPD ได้คุยกันภายในกลุ่มว่า 1 ปี ไม่ไหวแล้วรัฐประหาร ถ้าเรามองไปทุกเรื่องแม้ไม่ใช่เรื่องการเมือง ไม่ใช่เรื่องว่าใครจะมาได้อำนาจ แต่ชาวบ้านโดนอะไรบ้าง ม.นอกระบบ หันไปมอง สนช.ก็ผ่านทีละ 4 มหาวิทยาลัย โดยมีคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียนั่งพิจารณาใน สนช. ด้วย เรื่องสิทธิเสรีภาพจะจัดหรือพูดอะไรก็ไม่ได้ เป็นสิ่งที่ตระหนักมา 1 ปีแล้ว ซึ่งยอมรับว่าผมยังช้ากว่าแมน จริงๆก็ไม่ใช่เป็นการให้โอกาส คสช.หรอก เพราะตั้งแต่วันรัฐประหารวันแรกผมก็ออกแถลงการณ์ของ YPD คัดค้านรัฐประหาร เพราะมองว่าการรัฐประหารมันจะเป็นการสร้างปัญหาระยะยาว โดยหลักการเราก็ค้านรัฐประหารอยู่แล้ว แต่ผมก็ยังไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวเท่าที่แมนเคลื่อนไหว แต่เมื่อเวลามันครบ 1 ปีแล้ว เราหันมองย้อนกลับไปจึงคิดว่าไม่ได้ 1 ปีที่ผ่านมาสิทธิชุมชนของชาวบ้านก็ถูกไล่รื้อโดยแผนแม่บทป่าไม้ของกระทรวงทรัพย์ฯ สิทธิเสรีภาพในการพูดก็ไม่มี เป็นต้น

จึงอยากจัดเสวนาและเชิญคนรุ่นพวกผม มาคุยกันทุกฝั่งฝ่าย ก็แอบน้อยใจเพราะตอนเคลื่อนไหวคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พอรัฐบาลยิ่งลักษณ์ยุบสภา ในขณะที่แมนนั้นหยุดแล้ว แต่ผมยังรู้สึกเอนเอียงอยู่ ในใจผมคิดว่า “มึงจะไม่รับผิดชอบเลยหรอ มึงจะยุบสภาหนีอย่างงี้หรอ” ผม รู้สึกอย่างนี้ผมก็พูดตรงๆ แต่มันไม่ถึงกับต้องมารัฐประหาร จึงคิดว่ามันไม่ได้ เพราะเราต้องการทำให้ประชาธิปไตยมันดีขึ้น แต่เรากลับเอาอะไรที่มันไม่เป็นประชาธิปไตยมาจัดการกับปัญหามันก็ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหา

ตอนนั้นมีโมเดลไหมว่าถ้าไม่รัฐประหาร จะทำอย่างไร รัฐบาลรับผิดชอบ?

ตาม : จริงๆผมเป็นคนโลกสวยมาก ผมคิดว่าเดี๋ยวยิ่งลักษณ์จะต้องลาออก แล้วก็แถลงอะไรสักอย่างว่าจะหยุดพักทางการเมือง ให้ตรวจสอบคดี คิดว่าเมื่อคนกดดันมากๆ ก็เป็นอย่างนั้น

คือมองว่าถ้าเขายังอยู่ในอำนาจ กระบวนการในการรับผิดชอบและการดำเนินคดีมันจะดำเนินการไม่ได้ใช่ไหม?

มองว่ากระบวนการรับผิดชอบทางการเมืองมันจะไม่เกิดขึ้น มันก็เหมือนกับการตีปิงปองตบไปตบมา แต่ผมก็ไม่ได้ต้องการการรัฐประหาร ผมเคลื่อนไหวเพราะผมอยากกดดันเขา ซึ่งตอนนั้นผมกับแมนก็จะเถียงกันตลอด ไม่ใช่ว่าความเห็นเราจะตรงกัน แต่สิ่งที่เราตรงกันคือรัฐประหารนั้นมันไม่ได้แก้ไขอะไร มันกลับสร้างปัญหา เพราะเราก็เห็นแล้วว่าปี 2549 สร้างอะไร” ตาม กล่าว

ตาม : โมเดลในหัวผมที่คิดมาตลอดก็คือจริงๆ ถ้าไม่มีรัฐประหาร 2549 ประชาธิปไตยจะพัฒนามาก เสื้อเหลืองก็จะไม่โดนด่า เสื้อแดงก็ไม่มี สิ่งที่เกิดขึ้นมันมาจากรัฐประหาร ความชอบธรรมในการล้มทักษิณจะสูงมาก การเปลี่ยนแปลงจากปริมาณมวลชนที่มาชุมนุมจะกลายเป็นคุณภาพจากการที่ขอมีส่วนเรียกร้อง โมเดลของผม ผมคิดว่าจริงๆ ปัญหาหลักที่อยู่แกนกลางซึ่งไม่ว่าพรรคเพื่อไทยก็ไม่เคยพูด ประชาธิปัตย์ก็ไม่เคยพูด หรือทหารเข้ามาก็ไม่เคยทำก็คือทำไมอำนาจของประชาชนในพรรคการเมืองถึงไม่มี และทำไมการที่ประชาชนตั้งพรรคการเมืองของตัวเองถึงไม่โต อันนี้มันอยู่ในใจผมมาก เพราะผมเคยไปเห็นประเทศในยุโรป เขาก็แบ่งแยกกันชัดเจนระหว่างพรรคแรงงานกับพรรคอนุรักษ์นิยม พรรคฝ่ายขวากับพรรคฝ่ายซ้าย ผมกลับมาดูในเมืองไทยพรรคเพื่อไทยเป็นตัวแทนอุดมการณ์อะไร และประชาธิปัตย์มันเป็นตัวแทนอุดมการณ์อะไร ชื่อ Democrat แต่อนุรักษ์นิยม มันก็เกิดความสับสน กลายเป็นตัวแทนของกลุ่มชนชั้นนำทั้งคู่ ชนชั้นนำทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง กลายเป็นบล็อกรวมกัน

ปัญหาของผมมี 2 อย่าง คือ หนึ่ง พวกผู้มีอำนาจไม่ค่อยพูด เรื่องพวกนี้ และ สอง คือคนอย่างเราๆ ที่เคลื่อนไหวทางการเมืองภาคประชาชนพูดแต่ทำไมมันไม่เกิดขึ้นจริง จึงเป็นคำถามอยู่ในใจตลอด

“พรรคเพื่อไทยเป็นตัวแทนอุดมการณ์อะไร และประชาธิปัตย์มันเป็นตัวแทนอุดมการณ์อะไร ชื่อ Democrat แต่อนุรักษ์นิยม มันก็เกิดความสับสน กลายเป็นตัวแทนของกลุ่มชนชั้นนำทั้งคู่ ชนชั้นนำทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง กลายเป็นบล็อกรวมกัน” ตาม กล่าว

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับกลุ่ม YPD ในช่วงสายวันที่ 22 พ.ค.เป็นอย่างไร?

ตาม : เขาเชิญตัว ขึ้นรถตำรวจไป สน.ชนะสงคราม โดยที่เจ้าหน้าที่เขาไม่ให้อยู่ตรงนั้น(อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา) แรกเริ่มคือ ผมจะจัดเสวนา ซึ่งจัดให้ห้องประชุมมูลนิธิ 14 ตุลา แต่เช้าวันนั้นมูลนิธิ14 ตุลา เจ้าหน้าที่โทรมาบอกผมว่าเจ้าหน้าที่โทรมาบอกผมว่าทหารมาขอร้องให้ปิดมูลนิธิ ไม่ให้เปิดและจัดเสวนา ผมก็เลยยืนยันว่าเราจะจัด จึงไปนั่งคุยกันที่หน้าอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา พอไปถึงตำรวจและนักข่าวก็มา จึงเจรจาก่อน และระหว่างที่เจรจาจึงได้บอกให้เลขา YPD อ่านแถลงการณ์ พออ่านจบผมก็เริ่มต้นชวนพูดเสวนาโดยผมเริ่มพูดเป็นคนแรก แต่พูดยังไม่ถึงนาที เจ้าหน้าที่ก็มาจูงแขนไปทั้งหมดเลย ขึ้นรถไป สน.ชนะสงคราม

ไปทำอะไรบ้าง?

ตาม : ตอนแรกเขาก็บอกว่าทำไม่ได้นะ มันผิดกฎหมาย เราก็พยายามถามว่าผิดก็หมายอะไร เจ้าหน้าที่ก็อ้างถึงประกาศ คสช. ที่ไม่ให้จัดกิจกรรมอะไรแบบนี้ ถ้าจัดก็ต้องมาขออนุญาตก่อน มีการสอบสวน แต่ไม่มีการตั้งคดี โดยอ้างว่ากิจกรรมดังกล่าวมันสุ่มเสียง ผมก็เลยบอกไปว่าถ้าพี่ให้จัดกิจกรรมข้างใน(ห้องประชุมตามที่ว่างไว้) ที่มันก็ปิดและไม่สร้างความเดือดร้อน แต่เมื่อที่มันปิดก็ต้องออกมาข้างนอก จึงถามกลับไปว่าแล้วพี่ไปปิดทำไม เพราะผมก็แค่จะพูดว่าที่ผ่านมา 1 ปี รัฐประหารเป็นอย่างไรบ้าง เพราะรัฐบาลก็ยังแถลงผลงานได้ แล้วทำไมผมจะแถลงสิ่งที่ผมเห็นมาในรอบ 1 ปี ไม่ได้ แค่จะทำแค่นั้น ถ้าพี่(เจ้าหน้าที่)ไม่มีปิดผม ผมก็คิดว่าไม่มีคนมาฟังหรอก ก็มีแค่พวกนักศึกษาที่สนใจเท่านั้นล่ะที่มาฟัง แต่เมื่อให้เราออกมาข้างหน้าอนุสรณ์สถาน พออกมาข้างหน้าก็พาเราไป สน.อีก

สุดท้ายเมื่อพอไป สน.แล้วก็มีการสอบสวน และขอจดชื่อที่อยู่และดูบัตรประชาชน และปล่อยตัว

แล้วไปที่หน้าหอศิลป์ฯ ได้อย่างไร?

ตาม : หลังจากนั้นกินข้าวเสร็จ ทราบเรื่องว่ามีการจัดกิจกรรมที่หอศิลป์ฯ จึงเห็นว่าเป็นทางกลับบ้านพอดี จึงมากันหมด พอไปถึงก็เห็นว่าตำรวจมาเยอะมาก ซึ่งกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์มีคนแค่ประมาณ 20 คน แค่คล้องแขนแล้วดูนาฬิกา 3 นาที แต่จุดมันเริ่มจากแต่เริ่มคล้องแขน ซึ่งผมนั่งอยู่ด้วยนั้น ก็มีน้องคนหนึ่งโดนจับตัวไป

พื้นที่หน้าหอศิลป์ฯ ตอนนั้นตำรวจกั้นรั้วโดยรอบ มีพื้นที่เพียง 3-4 เมตร ที่ให้เราได้ทำกิจกรรม เราก็อยู่นอกรั้ว แต่ตำรวจข้ามรั้วมาดึงเอาผู้ที่ทำกิจกรรมไป 1 คน แต่ด้วยความที่คล้องแขน พอถูกจับไป 1 คนมันก็ต้องลุกขึ้นทำให้รั้วพัง           

“ประชาธิปไตยเป็นกระบวนการที่นำไปสู่การแก้ปัญหา ตราบใดที่เราใส่ใจที่กระบวนการแก้ปัญหา แม้เป้าหมายหรือคำตอบมันจะช้าหน่อย แต่ว่ามันเป็นต้นทุนที่ถูก แล้วมันช้าได้มันรอได้ ผมยืนยันว่ามันต้องมีเลือกตั้ง 2 ก.พ.” แมน กล่าว

แล้วแมนมาหน้าหอศิลป์ฯวันนั้นได้อย่างไร?

แมน : วันที่ 22 พ.ค.นั้นทั้งวันผมทำงานตามปกติ และได้คุยกับเพื่อนๆ ด้วยว่า หลังจากนั้นไปร่วมกิจกรรมที่หอศิลป์ฯ เพราะผมไม่ได้เห็นด้วยกับการเข้ามาคืนความสุขอยู่แล้วตั้งแต่ต้น เพราะผมพูดอยู่บ่อยๆว่าประชาธิปไตยเป็นกระบวนการที่นำไปสู่การแก้ปัญหา ตราบใดที่เราใส่ใจที่กระบวนการแก้ปัญหา แม้เป้าหมายหรือคำตอบมันจะช้าหน่อย แต่ว่ามันเป็นต้นทุนที่ถูก แล้วมันช้าได้มันรอได้ ผมยืนยันว่ามันต้องมีเลือกตั้ง 2 ก.พ.นะ แต่มันอาจจะไม่ดีที่สุด อาจไม่จบก็ได้ แต่ว่าต้นทุนที่สังคมจะเสียไปน้อยกว่า พอเกิดเหตุการณ์วันที่ 22 พ.ค.ปีที่แล้วจึงแสดงออกตลอดเวลาว่าไม่เห็นด้วย และคิดว่าอยู่ในจุดยืนที่จะไม่ร่วมกับการปฏิรูปประเทศแบบนี้

ช่วงปลายปีที่แล้วผมก็ถูกปรับทัศนคติไปแล้วครั้งหนึ่ง เพราะว่าจัดงานทอล์คโชว์ เกี่ยวกับปัญหาที่ดิน (อ่านรายละเอียด : ทหารคุมตัว ผู้จัดทอล์คโชว์-คอนเสิร์ต หลังยืนแถลงข่าวเงียบ) เราพยายามที่จะทำให้ปัญหาที่ดินเป็นเรื่องที่คนทั่วไปเข้าใจได้ จึงพยายามจะจัดงานดังกล่าว ตอนนั้นเขาก็ไม่ให้จัดด้วยเหตุผลที่ไม่สบายใจกับแขกรับเชิญบางคน แต่เราก็ยืนยันว่าเราไม่ยอมถอดแขกรับเชิญคนนั้น เขาก็เลยไม่ให้จัด จึงแถลงข่าวว่า คสช.ไม่ให้จัด ก็เลยถูกปรับทัศนคติ

ภาพยืนแถลงข่าวเงียบเมื่อวันที่ 16 พ.ย.57 ภาพโดย Fahroong Srikhao ฟ้ารุ่ง ศรีขาว

หลังจากนั้นในเชิงของการเคลื่อนไหว เรารู้สึกว่าเราน่าจะทำงานเชิงเนื้อหาข้อมูล เนื่องจากแม้เราไม่เอา คสช. แต่ในขณะที่คนกลุ่มหนึ่งยังแฮปปี้กับการคืนความสุข มันอาจจะไม่ได้ทำให้เกิดอะไรเปลี่ยนแปลง แต่จะยิ่งไปสร้างการปะทะ จึงทำแนวนี้มาโดยตลอดตั้งแต่ปลายปีที่แล้วถึงปัจจุบัน พยายามทำงานกับคนที่มีความเห็นทางการเมืองไม่ตรงกันตลอด

ดังนั้นวันที่ 22 พ.ค.นั้น ผมจึงไปด้วยความรู้สึกว่าไปถ่ายรูป แล้วก็น้องๆจัดกันก็รู้จักตามเวทีต่างๆ ทั้งค่ายอาสา กิจกรรม ซึ่งก็ไม่ได้รู้จักเฉพาะมุมที่เขาเคลื่อนไหวทางการเมืองเท่านั้น

แสดงว่าผู้ร่วมกิจกรรมในวันนั้นมีคนที่หลากหลายทางความคิดใช่ไหม?

แมน : ใช่ และตอนที่ผมไปถึงหน้าหอศิลป์ฯ เริ่มมีการดันกันแล้ว ผมก็วิ่งลงจากตุ๊กตุ๊กเพื่อมาถ่าย สุดท้ายการดันกันนั้นมาจบตรงที่ผู้ชุมนุมเริ่มตกถนนและชนตอหม้อบีทีเอส

ตาม : ตอนนั้นก็พยายามเจรจาว่าเจ้าหน้าที่ถอยหน่อยไหม แล้วจะให้น้องถอย เพราะตอนนั้นเป็นกิจกรรมที่น้องเขาคิดและไม่มีแกนนำ คนที่คอยประสานงานนั้นถูกจับไปแล้ว ตอนนั้นจึงคิดกันเฉพาะหน้า ซึ่งผมกับเพื่อนเป็นรุ่นพี่ที่เคยทำงานกิจกรรมแบบนี้มาแล้ว จึงบอกว่าเดี๋ยวมันจะเกิดการปะทะ ซึ่งหลังจากนั้นภาพมันก็ตัด ผมจำอะไรไม่ค่อยได้เท่าไหร่ จำได้เพียงว่าเมื่อมีการล้อมนักศึกษาที่นั่งคุยกันแล้วก็เกิดความวุ่นวายมาก

แมน : ก่อนที่จะล้อมเป็นบรรยากาศที่เริ่มนิ่ง ตำรวจก็เข้าไปในแนวรั้ว นักศึกษาก็อยู่ข้างนอก ผมก็ไม่รู้สึกว่าหากจะมีการจับกุมผมจะต้องถูกจับเลย เพราะผมไม่ได้ลงไปนั่ง เป็นเหมือนประชาชนที่ยกมือถือมาถ่ายรูป ขณะนั้นคิดว่าน้องน่าจะหมดแรงจึงเดินไปซื้อน้ำมาแพ็คหนึ่งและเดินเข้าไปให้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็อาจรู้สึกว่าคนนี้เป็นคนส่งน้ำ แต่ส่งน้ำแล้วก็เดินออกมา

ระหว่างนั้นก็อัพรูป (ขึ้นเฟซบุ๊ก)ไปเรื่อยๆ มีนักข่าวเห็นเขาก็โทรมาถามว่าอยู่ที่หอศิลป์ฯหรือเปล่าจะขอสัมภาษณ์บรรยากาศสดๆว่าเป็นอย่างไรบ้าง แต่ขณะนั้นผมไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะให้สัมภาษณ์ได้ จึงเดินไปหาพี่บอล (ภาคีไนย์) หนึ่งในผู้ที่ถูกจับในเหตุการณ์นี้เช่นกัน ขณะนั้นพี่บอลก็โวยกลับมาว่าจะให้สัมภาษณ์ได้อย่างไร เพราะกำลังวุ่นอยู่ เพราะขณะนั้นนั่งทำกิจกรรมอยู่ด้วย

ช็อตต่อมาน้องก็ร้องเพลงแสงดาวแห่งศรัทธา และต่อด้วยเพลงเพื่อมวลชน ผมก็เข้าไปถ่ายวิดีโอ ตำรวจก็ค่อยๆล้อมเข้ามา จากนั้นมีช่วงที่น้องเขาหยุดร้อง ผมก็ตะโกนว่าร้องต่อๆ เรายืนยันว่าเรามาอย่างสงบ จนพอเริ่มสุดเสียงผมก็เริ่มร้องต่อด้วย

แนวที่ตำรวจล้อมขณะนั้น ผมก็ยืนสุดขอบคนสุดท้ายที่นั่ง ถ้าเขาดันมาขณะนั้นแล้วผมเดินผมก็จะเหยียบน้อง ตอนนั้นก็เลยแข็งตัวเอง แต่ก็ล้มไป เมื่อล้มโดยสัญชาติญาณของเขาก็จะจับคนในวง ตอนนั้นเขาก็ข้ามผมไป บางคนก็เหยียบผมบ้าง เราก็เอามือมาปิดหัว แต่ขณะนั้นได้ยินเสียงตำรวจพูดอยู่ว่า “ระวังเหยียบ เหยียบแล้วบาดเจ็บเดี๋ยวตาย” อะไรประมาณนี้ ตอนนั้นผมหรี่ตามมองก็เห็นรองเท้าคอมแบทข้ามไปเรื่อยๆ ช็อตที่รู้สึกว่าดีใจเพราะว่ามีคนดึงขึ้นมา ขณะนั้นก็คิดว่านึกว่าเป็นเพื่อนๆกันที่มาพยุงขึ้น แต่พอลืมตามาไม่รู้ว่าเป็นใคร ไม่คิดว่าเป็นทหารด้วย เพราะขณะนั้นเขาไม่ได้ใส่เครื่องแบบ

นอกเครื่องแบบก็ดึงผมเข้าไปในแนวรั้ว และพาผมเข้าไปในหอศิลป์ฯ ตอนนั้นผมก็จะกลับบ้าน แต่เขาไม่ให้กลับบอกว่าให้คุยกันก่อน จากนั้นก็ถูกนำตัวเข้าไปในรถตู้ สน.ปทุมวันฯ ซึ่งมีผู้ที่ถูกจับมาก่อนหน้ารออยู่แล้ว

ผมคิดว่าจากเหตุการณ์ดังกล่าว ถ้าจะมีการปิดหอศิลป์ฯ คนที่ปิดคือเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ตำรวจในแง่ที่เขาทำหน้าที่จับเพราะได้รับคำสั่งมาก็ยังโอเคที่แต่งเครื่องแบบ เราอยู่ในกิจกรรมเคลื่อนไหวก็เข้าใจว่าต่างคนต่างทำหน้าที่ แต่ที่มันเกินกว่าเหตุ

โดย แมนและตาม ได้สรุปประเด็นที่มองว่าเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุอยู่ 5 ประเด็น ดังนี้

ประเด็นที่ 1 การจับกุมนี้มันไม่ใช่การเชิญอย่างปกติ แต่มันเป็นการเข้าชาร์จ ฉุดกระชากลาก

ประเด็นที่ 2 คนที่มาชาร์จ ถ้าเป็นผู้หญิงจะถูกจับกุมด้วยตำรวจหญิง แต่ว่าผู้ชายหลายคนถูกชาร์จโดยนอกเครื่องแบบ ซึ่งเราเห็นว่าค่อนข้างสุ่มเสี่ยง เพราะในเหตุการณ์ถ้ามีคนนอกมาผสมโรงด้วย ในที่สุดแล้วเวลาที่เราบอกว่ามีการทำร้ายร่างกายจากคนที่ไม่ได้ใส่เครื่องแบบ ตำรวจก็อ้างได้ว่าไม่ใช่ตำรวจ

ประเด็นที่ 3 แม้แต่การควบคุมฝูงชน ตำรวจไม่ควรทำอย่างนี้ เพราะเราก็เห็นชัดๆ ว่าคนที่ไม่ได้ใส่เครื่องแบบตำรวจ แต่วิ่งผ่านแนวตำรวจมาชาร์จผู้ชุมนุมได้มันผิดปกติ

ประเด็นที่ 4 ช่วงหลังที่มีการควบคุมตัวอีกชุดมันไม่ใช่ความพยายามของนักศึกษาที่จะเข้าไปยังแนวของตำรวจ แต่เป็นการนั่งนิ่งๆ อยู่นอกแนวที่ตำรวจกั้นแล้ว ตำรวจเป็นฝ่ายเข้ามาเคลียร์ และเป็นช่วงเวลาที่มืดแล้ว ซึ่งเป็นยามวิกาลการควบคุมฝูงชนยามวิกาลนั้นผิดหลัก

ประเด็นที่ 5 การสั่งการ เป็นการสั่งการที่เหมือนกับการเคลียร์ให้นิ่ง ซึ่งอาจจะเป็นการเคลียร์ในความรู้สึกของเจ้าหน้าที่ แต่ว่าสำหรับประชาชนมันไม่เหมือนกัน ทั้งที่ช็อตหลังร้องเพลงแสงดาวแห่งศรัทธามันไม่มีอะไรแล้ว ถ้าร้องเพลงจบแล้ก็อาจจะกลับกันแล้ว       หรืออาจจะไปเยี่ยมเพื่อนที่ สน.ปทุมวัน พอเจ้าหน้าที่ตัดสินใจแบบนั้น ตัวเลข 37 คนก็เลยออกมา

ช่วงนั้นไม่มีการสื่อสารระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่หรือ?

แมน : เจ้าหน้าที่เขาเจรจาให้หยุด และเชิญไปที่ สน.ปทุมวันทั้งหมด ส่วนผู้ชุมนุมต้องการให้มีการปล่อยเพื่อนออกมาก่อน บนหลักการที่ว่าถ้าจะมีการจับกุมใครสักคนต้องมีการแจ้งข้อกล่าวหา เพราะตอนนี้ไม่มีกฎอัยการศึกแล้ว ถ้าจะบอกว่าเป็นการแสดงออกที่ขัดคำสั่งของคสช. ก็ต้องบอกว่าขัดอย่างไร แต่ไม่มีการแจ้งว่าขัดอย่างไร ทำให้การเจรจาไม่เป็นผล เมื่อถึง สน.ปทุมวัน มีการคุมตัวตั้งแต่ 19.00-24.00 น. ก็ไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา

ภาพแมนขณะถูกคุมตัวที่สน.ปทุมวัน เมื่อวันที่ 22 พ.ค.58

แล้วมีภาพของคนที่เจ็บป่วยในระหว่างที่มีการควบคุมตัวนั้น เกิดขึ้นได้อย่างไร?

แมน : พอถูกคุมตัวไปแล้ว สิ่งที่เห็นก็คือมีน้องที่เจ็บเพราะถูกทำร้ายร่างกายในระหว่างจับกุม พอไปถึง สน.ปทุมวัน ก็มีน้องนัชชชา กองอุดม ก็นั่งอยู่ที่พื้นและอาเจียนอยู่ตลอดเวลานั่นคือภาพที่ผมเห็น คนที่ไปก่อนก็พยายามจะบอกกับเจ้าหน้าที่ว่าขอให้มีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นหรือเรียกหมอ แต่เจ้าหน้าที่ก็บอกว่าไม่ได้และเขาตัดสินใจไม่ได้ เขาบอกว่าต้องให้นายมาตัดสินใจ จนกระทั่งน้องนอนอยู่บนพื้นในห้องสอบสวนเป็นเวลาน่าจะเกือบ 2 ชั่วโมง กว่าจะมีเจ้าหน้าที่กู้ภัยรับไปโรงพยาบาล

เรื่องเวลานี้ก็เป็นเรื่องที่ผิดหลักการเคารพในสิทธิมนุษยชน เพราะ หนึ่ง น้องเขาไม่ใช่ผู้ต้องหา เรายังไม่ถูกแจ้งข้อหาเลย แล้วทำไมไม่มีการที่รักษาพยาบาล โรม เลือดไหลออกจากหูในระหว่างการจับกุม น้องผู้หญิงอีกคนก็มีแผลถลอก เจ้าหน้าที่ไม่มีความพยายามที่จะปฐมพยาบาลเบื้องต้น

เจ้าหน้าที่ตำรวจก็มีความพยายามที่จะทำข้อมูลส่วนตัว เราไปถึงผมกับตามก็เป็นคนเรียนจบแล้ว ซึ่งในเหตุการณ์ตอนนั้นเราพยายามจำกัดตัวเองไม่ให้เข้าไปมีบทบาทนำนักศึกษา พูดกับเพื่อนๆ ที่ถูกจับซึ่งเรียนจบกันแล้วว่าเราจะไม่ไม่นำ แต่ให้น้องตัดสินใจกันเอง ไม่ว่าน้องจะตัดสินอย่างไรเราก็พร้อมที่จะทำตาม

มีการแบ่งห้องคุมตัว 3 ห้อง ห้องที่ผมอยู่นั้นมี 21 คนในตอนแรก ตอนแรกไม่มีการสอบและไม่มีการสอบตลอดทั้งคืน เราก็ยืนยันกับเจ้าหน้าที่ว่าถ้าเจ้าหน้าที่จะทำประวัติหรือเอาชื่ออะไรจากเราก็ขอให้แจ้งข้อกล่าวหาว่าเราทำผิดในเรื่องอะไร เพราะเรารู้สึกว่าเข้าหน้าที่ทำผิดที่พาเรามาอยู่ที่นี่ ก็ไม่มีการแจ้ง ในระหว่างนั้นก็เป็นแค่ความพยายามของเจ้าหน้าที่ที่จะมาทำประวัติ แต่เราก็ปฏิเสธทุกครั้ง ซึ่งเขาก็เคารพในสิทธิของเราว่าไม่ทำก็ไม่ทำ

ถึงช่วงดึกก็มีข้อเสนอมาจากทหารว่าอยากให้เราเซ็นต์ในใบว่าเรามาเคลื่อนไหวและจะไม่ทำแบบนี้อีก เราก็ปฏิเสธ เพราะข้อเสนอของเราคือปล่อยตัวพวกเราโดยไม่มีเงื่อนไข และให้กลุ่มดาวดินที่ ม.ขอนแก่น ได้รับการประกันตัว เพราะกลุ่มนั้นถูกแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว

และมีข้อเสนอด้วยว่าขอทำประวัติ ขอสอบ ซึ่งคนที่เขาต้องการจริงๆนั้นมีแค่ 9 คน ส่วนที่เหลือก็จะปล่อย เราก็บอกเขาไปว่าแล้ว 9 คนนั้นผิดอะไร ถ้าผิดเพราะว่าวันนี้มาเคลื่อนไหวและละเมิดมาตรา 44 ถ้าเช่นนั้นทุกคนก็ผิดด้วย จึงมีการประสานงานกันว่าทั้ง 3 ห้อง ยอมที่จะถูกแจ้งข้อกล่าวหาทั้ง 37 คน

แล้วสุดท้ายถูกปล่อยตัวได้อย่างไร?

ตาม : ตอนปล่อยตัวออกมาตอนนั้นพระอาทิตย์ขึ้นแล้ว ตอน 6 โมงเช้า

แมน : ไม่มีการตั้งข้อหา หรือ ณ จนถึงวันนี้(25 พ.ค.58) ยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาหรือตามไปที่บ้าน มีเพียงการถ่ายสำเนาบัตรประชาชน และให้เขียนกำกับว่าจะไม่เคลื่อนไหวเท่านั้น แต่ไม่ใช่เป็นการเซ็นชื่อรับรอง

หลังจากนั้นในโซเชียลเน็ตเวิร์กมีการนำรูปนักศึกษา ผู้ที่ร่วมกิจกรรมในวันนั้น ไปเสียบประจาน บอกว่าเป็นควายแดงบ้าง รับเงินทักษิณมาป่วนบ้าง รวมไปถึงตัดต่อภาพว่าเป็นขบวนการล้มเจ้า เป็นต้น มองปรากฏการณ์นี้อย่างไร?

หลายคนเองก็เคยออกไปร่วมกับพี่ๆ ตั้งแต่รัฐบาลทักษิณก็ว่าได้ ออกไปชุมนุมประท้วงมาตลอด หลายคนประท้วงรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ หนักกว่าคนที่มาด่า เพราะฉะนั้นก็อยากจะใช้คำว่าขอความเป็นธรรม” แมน ฝากถึงผู้ที่ไล่ล่าแม่มดอยู่

ตาม : ผมน้อยใจนะ(หัวเราะ) ไปเคลื่อนไหวหน้าหอศิลป์ฯ ไม่ถึงครึ่งชั่วโมง ทำไมต้องผลักผมไปเป็นอีกฝ่ายด้วย แต่ว่าผมก็ไม่ใช่ฝ่ายเดียวกับเขาอยู่แล้วนะ

ผมว่าวุฒิภาวะทางสังคมของเราคนไทยมันอาจจะชีวัดได้จากประเด็นเหล่านี้ หลายคนเขาอาจจะเชียร์ทหารในการทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย ผมก็โอเคในหลักการของคุณ แต่หลักการของผมผมก็มี ผมแค่จะไปนั่งดูนาฬิกาเพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ว่านี่ปีหนึ่งแล้วนะ เราไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร เหมือนที่คุณเห็นด้วย คือความเห็นด้วยกับความไม่เห็นด้วยมันก็คือความเห็นเหมือนกัน ซึ่งทุกคนก็ควรจะมี แล้วสิ่งที่เราทำ ตอนนี้มันไม่มีกฎอัยการศึกแล้วนะ มันไม่รู้จะผิดข้อไหน แล้วผมก็ไม่ได้ไปปิดถนน ไม่ใช่การชุมนุม เพราะผมก็เห็นคนเดินไปเดินมาเต็มไปหมด กับคนแค่ 30 คนดูนาฬิกา แล้วอยู่นอกรั้วที่ตำรวจกั้นโซนไว้ด้วย ผมว่ามันไม่น่ามีอะไรเกิดขึ้น

ตาม สาธิตท่าที่แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในวันนั้น

ผมตั้งข้อสังเกตว่ามันเป็นปฏิบัติการทางข่าวสารมากกว่า เป็นการจุดเพื่อทำลายเครดิตของกลุ่มคนที่เคลื่อนไหว และเป็นการป้องปราม เป็นปฏิบัติการ ปจว. ถ้าเขาจะอยู่ในอำนาจนานๆ เขาก็ต้องสร้างความไม่ชอบธรรมให้กับฝ่ายต่อต้าน

แต่สิ่งที่ผมกังวล ความเห็นต่างเป็นเรื่องธรรมชาติ แล้วถ้ามันดำรงอยู่ก็เป็นแบบนี้ ถ้าไม่มีความรุนแรงก็ไม่มี แต่ถ้าเกิดมีการปฏิบัติการแบบนี้(เสียบประจาน) มันเท่ากับการยุยงปลุกปั่นนะ ถ้าวันดีคืนดี เขาเห็นหน้าผมและเห็นผมเดินอยู่ตามถนนเห็นผมแล้วเข้ามาทำร้าย ใครจะรับผิดชอบ

“ผมนี่เสื้อแดงยังบอกว่าผมเป็นเสื้อเหลืองเลย เสื้อเหลืองก็จะบอกว่าผมเป็นเสื้อแดง แต่เรามีความคิดอิสระของเรา ประเด็นนี้เราเอา ประเด็นนี้เราไม่เอา โลกนี้มันต้องเลือกอย่างเดียวเป็นเซตเหมือน KFC หรือไง ผมอยากกินไก่ อยากกินนักเกตผมก็ซื้อแยก อยากเลือกแบบบุ๊ฟเฟ่ ไม่ใช่ต้องสเตอริโอไทป์ ผมเป็นมนุษย์ที่มีความคิดอิสระ มีวิจารญาณของผม” ตาม กล่าว

ตาม : ที่มันยิ่งกว่านั้นพอไปอ่านความคิดเห็นที่เขาเสียบประจาน เช่น “จำหน้าพวกนี้ไว้นะ ไปสมัครงานที่ไหนอย่าไปรับ มันไม่มีความคิด” รู้ซึ้งเลย

แมน : ถ้าคลิป(บทสัมภาษณ์)นี้ได้มีโอกาสให้แอดมินเพจหรือคนที่ไม่เห็นด้วยกับเรา ก็น่าจะเห็นตั้งแต่ต้นว่าเราเป็นใครมาจากไหน โอเคที่บางช่วงบางตอนที่เราไปร่วมการรำลึกเห็นการผู้เสียชีวิตที่ราชประสงค์ก็เพราะเรารู้สึกว่าไม่น่าจะสูญเสียอะไรแบบนี้ โอเคผมอาจเป็นเหลืองหรือแดงเป็นเรื่องที่ใครๆก็มองได้ แต่ว่าสิ่งหนึ่งที่อาจจะต้องเรียกร้องให้เกิดการทำความเข้าใจก็คือพวกผมยินดีที่จะตอบทุกคำถาม เวลาคุณถามว่าไปเคลื่อนไหวทำไม? ต้องการอะไร? วันนี้ไม่มีความสุขหรอ? ก็คุยกัน ตอนนี้ใน inbox (ทางเฟซบุ๊ก)ก็เริ่มมีตั้งคำถามเข้ามาบ้าง ผมก็เริ่มตอบด้วยประโยคเริ่มต้นว่า “ขอบคุณที่ทักมานะครับ” แล้วก็พยายามอธิบาย

โอเคพี่ๆเหล่านั้นก็มีสิทธิที่จะตั้งคำถามได้ เราก็มีสิทธิที่จะตอบ จริงๆแล้วถ้าการเคลื่อนไหวที่หอศิลป์ฯวันนั้นยอมให้ทำทุกอย่างก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น โอเคถ้าเขาเห็นว่าเราผิดก็แจ้งข้อกล่าวหาเราเราก็พร้อมเดินเข้าสู่กระบวนการที่บ้านเมืองเป็นอยู่ เราไม่ได้บอกว่าเราไม่ผิด เราไม่ได้บอกว่าเราอยู่เหนือกฎหมาย นี่คือสิ่งที่อยากจะสื่อสารกับคนที่อาจจะเห็นไม่ตรงกับเรา ผมคิดว่าผมพร้อมที่จะอยู่ร่วมกันในสังคมได้ เพียงแต่อย่าเริ่มต้นประโยคพูดคุยด้วยการด่ากันเป็นควาย รับเงิน หรือว่าไม่อะไรทำหรืออย่างไร? แบบนั้นก็ได้ถ้าเป็นความรู้สึกอารม เราก็ไปห้ามใครเขาไม่ได้ แต่ก็ควรถามเราบ้าง

ตาม : ผมจะโทษคนที่ปลุกปั่น คุณไม่ควรทำอะไรแบบนี้ เพราะคุณไม่รู้ว่าผลของมันนั้นคนตายขึ้นมาจะทำอย่างไร คุณก็ไม่ได้รับผิดชอบ ดังนั้นการปลุกปั่นยุยงจึงเป็นสิ่งที่ต้องประณาม จะเห็นได้ว่าผมกับแมนก็ไม่ได้ความคิดที่จะตรงกันไปทุกเรื่อง แล้วผมเชื่อว่าคนมีพัฒนาการทางความคิด เราค่อยๆใช้เวลาพูดจาหารือกัน ทำความเข้าใจกัน ดีกว่ามองแบบเหมารวม แล้วก็บอกว่าคนพวกนี้ต้องเป็นแบบนี้ ถ้ามันต้านรัฐประหารมันต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ มันต้องตาย มันต้องรับเงิน นี่ไม่ใช่เหตุใช่ผลแล้ว

แมน : ผมเสนอให้พี่ๆ ที่ตามมาจากเพจที่เสียบประจานนั้นให้ไปดูประวัติของทุกคน คือบางคนมีด้านที่อีกด้านหนึ่งที่คุณอาจจะไม่รู้ พวกผมวันๆไม่ได้จะนั่งคิดว่าจะต่อต้าน คสช. อย่างไงนะ หลายคนเองก็เคยออกไปร่วมกับพี่ๆ ตั้งแต่รัฐบาลทักษิณก็ว่าได้ ออกไปชุมนุมประท้วงมาตลอด หลายคนประท้วงรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ หนักกว่าคนที่มาด่า เพราะฉะนั้นก็อยากจะใช้คำว่าขอความเป็นธรรม

ตาม : ขอความเป็นธรรมให้น้องๆด้วย พวกผมไม่เป็นไรก็โตระดับหนึ่ง แต่ผมชอบที่จะเห็นคนแสดงออกทางความคิด ผมคิดว่าน้องเขาเริ่มที่จะคิด และการไปบอกว่าคนพวกนี้คิดแบบนี้ผิด คุณมีสิทธิอะไรมาพูดอย่างนั้น

แมน : มุมที่น่ารักที่สุดสำหรับผมในค่ำคืนนั้น น้องโรม รังสิมันต์ เอาหนังสือเข้าไปอ่านอยู่ให้ห้องสอบสวน อ่านหนังสือเตรียมสอบ ผมว่ามันน่ารักดี นี่ล่ะมันคือนักศึกษา

“สิ่งที่ผมว่าน่ารักก็คือพี่ๆหลายคนโดนจับวันนั้น เขาก็เคลื่อนไหวกับอีกฝั่งทางการเมือง หรือพูดง่ายๆคือฝั่งที่ต่อต้านคุณยิ่งลักษณ์ กับฝั่งที่สนับสนุนคุณยิ่งลักษณ์ เคยทะเราะกัน ด่ากัน แต่วันนั้นเขาถูกจับด้วยกันแล้วเขาก็ช่วยกัน เขาอยู่ด้วยกัน คิดกัน ช่วยกัน ถ้าเกลียดกันจริงๆ ผมว่ามี 9 คนที่เจ้าหน้าที่ต้องการดำเนินคดี ที่เหลือก็ปล่อยตัว ผมว่าถ้าเกลียดกันจริงๆ เขาคงเลือกให้ 9 คน โดดเดี่ยวโดนจับไป แล้วที่เหลือโดนปล่อยก็ได้ คิดว่านี่เป็นสปิริตที่เห็นได้ยากและมีค่า” ตาม กล่าว

แมน : ในมุมของผลเหตุการณ์ในวันนั้นไม่ได้เป็นภัยต่อความมั่นคง แต่เป็นการทำกิจกรรมปกติ แต่ว่าอย่าทำให้คนเหล่านี้กลายเป็นปีศาจในสังคม

ตาม : ความไม่สงบนี่มันไม่ได้เกิดจากเราหรอก ความไม่สงบมันเกิดจากการที่คุณให้สิทธิคนบางกลุ่มไม่เท่าเทียมกัน อันนั้นเป็นเชื้อไฟของความขัดแย้ง มันไม่ใช่การแสดงออกทางเสรีภาพที่จะทำให้สังคมขัดแย้ง แต่เมื่อไหร่ที่คุณให้อะไรกับคนในสังคมไม่เท่ากัน เช่น ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจหรืออำนาจทางการเมือง วันนั้นล่ะเขาจะลุกขึ้นมาต่อต้าน

ทั้งคู่ผ่านกระบวนการกิจกรรมนักศึกษามาตั้งแต่เรียน และขณะนี้มีการพูดถึงวาทกรรมว่าด้วย “พลังของนักศึกษา” ในมุมมองของทั้งคู่คิดว่ามันจะเป็นความหวังที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงจริงหรือไม่ ไม่ว่าเปลี่ยนไปในทางที่สังคมมีความเป็นธรรมมากขึ้น มีประชาธิปไตยมากขึ้น?

ตาม : ผมจะมองในเชิงความจริงที่ดำรงอยู่และมองเห็นได้ เรื่องจริงที่สุดคือนักศึกษามันเป็นวัยที่ไม่ต้องทำการผลิต ไม่ต้องทำงาน ว่างงาน และไม่มีภาระที่จะรับผิดชอบ มีหน้าที่ให้เรียนหนังสือ แต่การที่จะให้เรียนหนังสือผมว่าเป็นการบอนไซกลไกการขับเคลื่อนไปข้างหน้าของสังคม แต่ด้วยความที่เขาเป็นวัยที่แสวงหา ผมว่าในประวัติศาสตร์โลกนี้คนแก่หรือที่เปลี่ยนแปลงสังคม มันมีแต่วัยนี้ทั้งนั้น และการไปบอนไซเขามันมีแต่ทำให้สังคมไม่ไปข้างหน้า ผมก็เลยมองว่ามันเป็นสัจจะธรรมของโลกที่ยังไงคนรุ่นนี้ในวัยนี้จะเป็นกำลังสำคัญ เพียงแต่ขออย่าให้ผู้ใหญ่ในสังคมอย่าไปบอนไซไปทำลายเด็ก ทำลายจินตนาการ ไปทำลายเสรีภาพของเด็ก ผมเชื่อว่าสังคมไหนที่เด็กถูกทำอย่างนั้นจากผู้ใหญ่ ผมเชื่อว่าไม่มีทางที่ประเทศชาติจะมีอนาคต

แมน : ช่วง 2-3 ปีมานี้มักถูกถามเรื่องคนรุ่นใหม่ ผมก็ต้องบอกว่าผมเชื่อในพลังของคนรุ่นใหม่ พลังของนักศึกษา และเล็กหรือใหญ่มันขึ้นอยู่กับสถานการณ์ แต่มันยังมีปฏิบัติการ การกระทำหรือสิ่งที่เกิดขึ้นเสมอ วันนี้ผมไปจังหวัดไหนที่มีมหาวิทยาลัยผมก็ยังมีข้าวฟรีกินสังสรรค์ คนพวกนั้นและน้องของเพื่อนก็ยังมีอยู่ ผมเชื่อว่าคนใน 37 คนจากหอศิลป์ฯ เป็นพลเมืองกลุ่มหนึ่งที่เขาพร้อมที่เดินไปข้างหน้าได้ แม้ว่าคนที่เดินไปด้วยกันจะไม่เห็นด้วยกันทั้งหมด และในสถานการณ์ตอนนี้ที่ยังมีคนที่กำลังล่าแม่มดน้องๆ ก็อยากให้ลองคุยกับเขาดีๆ ผมเชื่อว่า 37 คนนี้จะแลกเปลี่ยนและคุยกันอย่างมีเหตุผล เพราะที่ผ่านมาเราถูกเบ้าหลอมมาแบบนี้ที่ให้ยอมรับความต่างได้

ตาม : แต่ในเงื่อนไขที่ว่าคนที่กำลังล่าแม่มดอยู่นี่ต้องคุยกับเราด้วย อย่าเปิดฉากมาด้วยการลดทอนความเป็นมนุษย์เรา ไม่ว่าจะด่าเป็นควายบ้าง เป็นสลิ่มบ้าง ฉันมันเป็นคนนะ มาคุยกัน อยากรู้อยากฟังเหตุผลทำไมไม่มีความสุขหรอ คสช.มาเป็นรัฐบาลมาแล้วมึงขี้ไม่ออกหรอ อย่างนี่มาคุยแล้วรับฟังกันก็พร้อมจะคุย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตั้งทีมยุทธศาสตร์เทือกเขาบรรทัดเจรจาทหาร สกัดโค่นสวนยาง หยุดดำเนินคดีชาวบ้าน

$
0
0

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มอบอำนาจให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จัดทำแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้, การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2557 โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาการบุกรุกป่าไม้อย่างต่อเนื่องจนปริมาณลดลงจำนวนมาก ด้วยการวางยุทธศาสตร์ภายใน 10 ปี ต้องทวงคืนพื้นที่ป่าไม้ให้ได้อย่างน้อย 40 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ประเทศไทย

แต่ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาการประกาศเขตป่าสงวนและเขตอุทยานทับที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของประชาชนทั่วประเทศไทยเป็นปัญหาหนึ่งที่เรื้อรังและมีการต่อสู้เรียกร้องมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน มีประชาชนจำนวนมากที่อยู่ในพื้นที่ทับซ้อนกับเขตป่าสงวนและเขตอุทยานแห่งชาติมีฐานะเป็นผู้กระทำผิดกฎหมาย และมีความเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดีจากรัฐได้ทุกเมื่อ

ดังนั้น แผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ฯ ย่อมสร้างความระแวงหวาดกลัวให้กับประชาชนไทยทั่วสารทิศจากภาคเหนือจรดภาคใต้ แม้ ‘ยุทธการทวงคืนผืนป่า’ ของ กอ.รมน. และกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจะพุ่งเป้าเพื่อขจัดกลุ่มนายทุน ผู้มีอิทธิพลบุกรุกป่าก็ตาม

5 จังหวัดรอบเทือกเขาบรรทัดร้อนหารือต่อเนื่อง

ก่อนหน้านี้หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 5 พฤษภาคม 2558 ระบุว่าถึงคิวดาหน้าตัดฟันยางพาราภาคใต้แล้ว และหนึ่งในนั้น คือ อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า จึงสร้างความร้อนรนให้กับประชาชนแนวเขตป่าอนุรักษ์บริเวณเทือกเขาบรรทัด 5 จังหวัดพัทลุง, ตรัง, นครศรีธรรมราช, สงขลา และสตูล และพยายามมีการหารืออย่างต่อเนื่องจากวันที่ 17 พฤษภาคม 2558

วันที่ 23 พฤษภาคม 2558 ณ ห้องประชุมสำนักงานเทศบาลตำบลบ้านนา อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ขบวนแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินเดิมแนวเทือกเขาบรรทัด จ.พัทลุง, ตรัง, นครศรีธรรมราช, สงขลา และสตูล ประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินเขตภูมินิเวศน์เทือกเขาบรรทัด

โดยมีประชาชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายกและสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลจากจังหวัดตรัง,พัทลุง,นครศรีธรรมราช,สงขลาและสตูล รวมถึงเจ้าหน้าที่ของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน-พอช.) เข้าร่วมประมาณ 140 คน

มติรับข้อตกลงร่วมแก้ไขปัญหาที่ดินเดิมด้วยตนเอง

ที่ประชุมมีมติรับบันทึกข้อตกลงร่วม ‘การแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินเดิมและที่อยู่อาศัยการอนุรักษ์ผืนป่าแนวเทือกเขาบรรทัด’ ด้วยหลักการและเหตุผลว่า ร้อยกว่าปีที่ผ่านมารัฐได้ใช้กฎหมายหลายฉบับและกลไกการทำงานของรัฐเป็นหลักในการจัดการทรัพยากรที่ดินและป่าไม้ พิสูจน์ได้ว่าพื้นที่ป่าไม้ลดลงประมาณปีละ 1.3 ล้านไร่ จนถึงขั้นวิกฤตทั่วประเทศ เป็นเหตุผลให้องค์กรชุมชนรวมตัวกันเป็นเครือข่ายจัดการปัญหาที่ดินและทรัพยากรด้วยตนเอง

เทือกเขาบรรทัด เป็นเทือกเขาที่ทอดยาวกั้นแนวฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามันจากจังหวัดนครศรีธรรมราชถึงจังหวัดสตูล คลอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด ครอบคลุม 19 อำเภอ 43 ตำบล โดยแบ่งเป็น 16 ตำบล จาก 6 อำเภอของจังหวัดตรัง 15 ตำบลจาก 6 อำเภอของจังหวัดพัทลุง 3 ตำบลจาก 2 อำเภอของจังหวัดนครศรีธรรมราช 2 ตำบลจาก 1 อำเภอของจังหวัดสงขลา และ 7 ตำบลจาก 4 อำเภอของจังหวัดสตูล

รัฐประกาศเขตป่าอนุรักษ์ทับที่-ปัญหาสารพัด

ในบันทึกข้อตกลงร่วม ‘การแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินเดิมและที่อยู่อาศัยการอนุรักษ์ผืนป่าแนวเทือกเขาบรรทัด’ ระบุถึงปัญหาว่า ถูกรัฐประกาศเขตป่าทับซ้อน 2 ประเภท คือ อุทยานแห่งชาติเขาปู-เขาย่า ประมาณ 433,750 ไร่ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด ประมาณ 791,847 ไร่ ถูก ตรวจยึด จับกุม ดำเนินคดี ฟ้องศาล ยางถูกโค่น จำคุก คดีทางแพ่งปรับกรณีก่อปัญหาโลกร้อน ปัญหาการตัดโค่นยางพาราของเจ้าหน้าที่ การปรับเปลี่ยนพันธุ์พืชไม่ได้ พื้นที่ที่มีเอกสารแสดงสิทธิที่ดิน เช่น นส.3, สค 1, นค1, นค.3, สปก.4-01 ไม่สามารถออกโฉนดได้ และไม่สามารถขอทุนสงเคราะห์ได้ ทั้งที่เดิมเคยขอได้ และการถูกเรียกเก็บเงินจากเจ้าหน้าที่กรณีโค่นยางหมดอายุ การปลูกยาง ถางสวนยาง

คณะทำงานขบวนเขาบรรทัด 22 ตำบลลงชื่อพร้อมร่วมแก้

บันทึกข้อตกลงร่วมขบวนแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินเดิมแนวเทือกเขาบรรทัด พัทลุง, ตรัง, นครศรีธรรมราช, สงขลา และสตูล โดยมีเนื้อหาสาระสำคัญ คือ การมีคณะทำงานขบวนแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินเดิมแนวเทือกเขาบรรทัด โดยให้แต่ละตำบลเสนอตัวแทนตำบลละ 2 คน จาก 5 จังหวัด รวมทั้งสิ้น 76 คน มีกองเลขานุการ 2 คน และที่ปรึกษา จำนวน 5 คน

โดยเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2558 ที่ผ่านมา ตัวแทนประชาชน ตำบลละ 2 คน ซึ่งเป็นคณะทำงานขบวนแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินเดิมแนวเทือกเขาบรรทัด ประกอบด้วย ตำบลบ้านนา ตำบลชุมพล อำเภอศรีนครินทร์ ตำบลตะแพน ตำบลเขาปู่ อำเภอศรีบรรพต ตำบลลานข่อย อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง ตำบลปะเหลียน อำเภอปะเหลียน ตำบลเขาไพร ตำบลหนองบัว อำเภอรัษฏา ตำบลในเตา ตำบลห้วยยอด อำเภอห้วยยอด ตำบลละมอ ตำบลช่อง อำเภอนาโยง ตำบลน้ำผุด อำเภอเมือง จังหวัดตรังตำบลวังอ่าง ตำบลเขาพระทอง อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช ตำบลควนกาหลง อำเภอควนกาหลง ตำบลปาล์มพัฒนา อำเภอมะนัง ตำบลทุ่งหว้า ตำบลป่าแก่บ่อหิน อำเภอทุ่งหว้า ตำบลน้ำผุด อำเภอละงู จังหวัดสตูล ตำบลท่าชะมวง และตำบลเขาพระ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา จำนวน 22 ตำบล จาก 43 ตำบล ใน 5 จังหวัดรอบเทือกเขาบรรทัดและได้ร่วมกันลงชื่อแนบท้ายบันทึกข้อตกลงร่วมขบวนแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินเดิมแนวเทือกเขาบรรทัด

ตั้งทีมยุทธศาสตร์รวมข้อมูล ‘ศึกษากฎหมาย-นโยบาย-สร้างกติการ่วม’

บันทึกข้อตกลงร่วมขบวนแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินเดิมแนวเทือกเขาบรรทัด พัทลุง, ตรัง, นครศรีธรรมราช, สงขลา และสตูล ยังระบุให้มีคณะทำงานยุทธศาสตร์ขบวนแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินเดิมแนวเทือกเขาบรรทัด โดยมาจากจังหวัดตรังและพัทลุง จังหวัดละ 5 คน สตูลและนครศรีธรรมราช จังหวัดละ 3 คน ส่วนจังหวัดสงขลา 2 คน มีกองเลขานุการ 2 คน มีที่ปรึกษา 5 คน รวมเป็น 25 คน และให้มีผู้ประสานงานจังหวัดละ 1 คน

สำหรับคณะทำงานยุทธศาสตร์ฯ ประกอบด้วย นายประสาท ท่องคง นายสุชาติ สงจันทร์ นายขนิฐ คงทอง นายปลอด  ท่องคง นายชำนิ ยอดแก้วเรือง จากจังหวัดพัทลุง นายอานนท์  สีเพ็ญ นายสมศักดิ์ พรมแก้ว นายจีรวัฒน์  ควนวิลัย นายธันวาคม  หนูจันทร์ นางบุญทิพย์ เกตุทอง จากจังหวัดตรัง นายหลั่มหลี อรุณฤกษ์ นายทัน  จีนหวั่น นายสมพร  เกลี้ยงกลม จากจังหวัดสตูล นายจำเนียร  คงขำ นายสุทิน  สุกใส นายเทิดศักดิ์ บุญสุวรรณ จากจังหวัดนครศรีธรรมราช นางสาววรรณณี หลงพัน นายชะหริฟ  หมัดล๊ะ จากจังหวัดสงขลา

โดยมีนายสมปอง บุญรอด จากจังหวัดตรัง และนางนิสรา ละมูลสุข จากจังหวัดสตูล เป็นเลขานุการ ขณะที่ปรึกษาคณะทำงานยุทธศาสตร์ฯ คือ นายกรีฑา ด้วงมณี นายจรูญ ทองบุญแก้ว นายอำนวยโชค ฮุ้ยเคียน และนายสายัญ ทองสม

คณะทำงานยุทธศาสตร์ฯ มีบทบาทหน้าที่ คือ

1. รวบรวมข้อเท็จจริงของพื้นที่ตำบล จังหวัด เป็นข้อมูลระดับเครือข่าย
2. ศึกษาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง พ.ร.บ. มติ ครม. กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง ระเบียบ หลักเกณฑ์ คู่มือการปฏิบัติ  ประกาศจังหวัด อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
3. พัฒนาข้อเสนอการแก้ปัญหาจำแนกตามประเภทปัญหาตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
4. เจรจาการขอมาตรการคุ้มครองชั่วคราวในการแก้ปัญหากับหน่วยงาน ระดับพื้นที่ จังหวัด นโยบาย
5. พัฒนาระเบียบ ข้อตกลง ข้อบัญญัติ เทศบัญญัติ สู่ธรรมนูญเทือกเขาบรรทัด
6. หนุนเสริมพื้นที่ตำบลในภูมินิเวศน์เทือกเขาบรรทัด
7. กรณีตำบลใดหรือจังหวัดใดมีแนวเขตติดต่อเทือกเขาบรรทัดมีระเบียบหรือกฎกติกาเดิมอยู่แล้วให้ใช้หลักเกณฑ์นี้เป็นหลัก

นัดหารืออีกครั้ง 30 พฤษภา พัฒนาข้อมูลเพื่อเจรจา

บันทึกข้อตกลงร่วมขบวนแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินเดิมแนวเทือกเขาบรรทัด พัทลุง, ตรัง, นครศรีธรรมราช, สงขลา และสตูล กำหนดภารกิจเร่งด่วน คือ การรวบรวมข้อเท็จจริง ข้อมูลผู้เดือดร้อน สภาพปัญหาของแต่ละตำบลที่สามารถประสานงานได้จากทั้งหมด 43 ตำบล ใน 19 อำเภอของ 5 จังหวัด เพื่อเจรจากับทหาร รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสกัดก่อนการถูกตัดฟันและยุติการดำเนินคดีกับประชาชน โดยนัดประชุมอีกครั้งในวันที่ 30 พฤษภาคม 2558 ที่องค์การบริหารส่วนตำบลช่อง อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง

ส่วนแนวทางการปฏิบัติการพัฒนาข้อมูลของแต่ละตำบล คือ

1. การทำข้อมูลผู้เดือดร้อน แผนที่ทำมือ สืบค้นประวัติชุมชนและประวัติการถือครองรายแปลง ทำข้อมูลระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) รายแปลงลงในแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศมาตราส่วน 1:4000
2. การจำแนกแนวเขตพื้นที่ชุมชน พื้นที่ป่า จำแนกประเด็นปัญหาที่ดินทับซ้อน ลงในแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศมาตราส่วน 1:4000
3. ดำเนินการจัดทำกติกาของชุมชน ในการดูแลรักษาพื้นที่ป่า การใช้ประโยชน์ที่ดินเสนอเป็นข้อบังคับสภาองค์กรชุมชน และพัฒนาเป็นข้อบัญญัติท้องถิ่นว่าด้วยเรื่องการจัดทรัพยากรดิน น้ำ ป่า และสิ่งแวดล้อม
4. การรับรองข้อมูลการทำกินในที่ดินเดิมผ่านเวทีผู้เดือดร้อน สภาองค์กรชุมชน องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และออกหนังสือรับรองข้อมูลรายชุมชน รายแปลง

ระดมหนุนช่วยพัฒนาข้อมูลตำบลต้นแบบ-แล้วเปิดเจรจา

ขบวนแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินเดิมแนวเทือกเขาบรรทัด พัทลุง, ตรัง, นครศรีธรรมราช, สงขลา และสตูล ได้ให้แต่ละจังหวัดเสนอพื้นที่นำบนต้นแบบที่ได้ทำข้อมูล และมีความพร้อมกว่าตำบลอื่น โดยจังหวัดตรังให้ตำบลช่อง อำเภอนาโยง เป็นตำบลนำร่อง จังหวัดพัทลุงได้เสนอให้ตำบลลานข่อย อำเภอป่าพะยอม เป็นตำบลนำร่อง จังหวัดสตูลให้ตำบลปาล์มพัฒนา อำเภอมะนัง เป็นตำบลนำร่อง จังหวัดสงขลาเสนอให้ตำบลท่าชะมวงเป็นตำบลนำร่อง ส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราชยังไม่พร้อมที่เสนอตำบลใด

ทั้งนี้ในการจะเปิดเจรจากับทหาร รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสกัดก่อนการถูกตัดฟันและยุติการดำเนินคดีกับประชาชนนั้น ขบวนแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินเดิมแนวเทือกเขาบรรทัดย้ำเป็นมั่นเป็นเหมาะว่าข้อมูลต้องพร้อมสมบูรณ์ จึงจำเป็นต้องระดมคณะทำงานยุทธศาสตร์หนุนช่วยตำบลต้นแบบที่แต่ละจังหวัดเสนอก่อน เพื่อเปิดทางนำร่องในการเจรจา

เล็งร่วมเทือกเขาบูโดเจรจาสำนักนายกตอนลงใต้

ในการประชุมหารือขบวนแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินเดิมแนวเทือกเขาบรรทัดเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2558 ที่ผ่านมา มีตัวแทนจากเครือข่ายแก้ปัญหาที่ดินบูโด-สุไหงปาดี ได้มาเล่าถึงสภาพปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาที่ดิน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ในพื้นที่บริเวณอุทยานแห่งชาติ บูโด-สุไหงปาดี และตัวแทนจากเครือข่ายแก้ปัญหาที่ดินบูโด-สุไหงปาดีได้แนะช่องทางหนึ่งเดียวกับที่เทือกเขาบูโดใช้ในการเจรจา คือ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

ขบวนแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินเดิมแนวเทือกเขาบรรทัดก็เห็นด้วยที่จะร่วมเจรจาพร้อมเครือข่ายแก้ปัญหาที่ดินบูโด-สุไหงปาดี กับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีตอนที่ลงมาภาคใต้  แต่ทั้งนี้เบื้องต้นข้อมูลตำบลต้นแบบต้องเสร็จก่อน ส่วนตำบลที่เหลือต้องเร่งทำข้อมูลความเดือดร้อน ถึงจะเปิดเจรจาได้

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เจเจ

$
0
0

"เพราะความเป็นธรรมเฉยๆ เพราะว่าบ้านเมืองทุกวันนี้มันไม่ได้รับความเท่าเทียมในสังคมครับ คนรวยก็อยู่บ้านไม่ต้องติดคุก ทำผิดก็อยู่สบาย ส่วนคนจนก็ต้องติดคุกเพราะไม่มีเงินจะไปสู้คดีกับเขาครับ หลายๆ คดีครับ เห็นตัวอย่าง ทุกคนก็รู้อยู่ ทุกคนก็เป็นสื่ออยู่แล้ว ไม่ต้องพูดดีกว่า"

26 พ.ค.2558 'หนุ่มพั้งค์' มือพ่นสเปรย์สัญลักษณ์อนาคิสต์หน้าศาลอาญา หลังคดีของเพื่อนไม่ได้รับความเป็นธรรม

ยกเลิกหนังสือเดินทางทักษิณ ชินวัตร - บัวแก้วระบุให้สัมภาษณ์หมิ่นเกียรติภูมิชาติ

$
0
0

กรณีให้สัมภาษณ์สื่อเกาหลีใต้ - กระทรวงการต่างประเทศ ประกาศยกเลิกหนังสือเดินทาง 'ทักษิณ ชินวัตร' เนื่องจากคำให้สัมภาษณ์มีผลกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัย ชื่อเสียง เกียรติภูมิของประเทศไทย และกรณีดังกล่าวถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ม.326 ม.327 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี (ที่มาของภาพ: วิกิพีเดีย)

27 พ.ค. 2558 - เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศประกาศเมื่อเวลา 14.39 น. หัวข้อ "การยกเลิกหนังสือเดินทางของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร" โดยระบุว่า "ด้วยฝ่ายความมั่นคงได้เสนอให้กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องภายในอำนาจหน้าที่ เกี่ยวกับเรื่องที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้พิจารณาเห็นว่า ถ้อยคำให้สัมภาษณ์ของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร มีเนื้อหาบางส่วนที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยหรือชื่อเสียงและเกียรติภูมิของประเทศไทย ประกอบกับกรณีดังกล่าวอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนเพื่อดำเนินคดีอาญาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒, ๓๒๖ และ ๓๒๘ และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๑๔ (๓) (๕)"

"​กระทรวงการต่างประเทศได้พิจารณาแล้วเห็นว่า เข้าข่ายที่จะยกเลิกหนังสือเดินทางตามระเบียบกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง พ.ศ. ๒๕๔๘ ข้อ ๒๑ (๔) และข้อ ๒๓ (๒) จึงได้ประกาศยกเลิกหนังสือเดินทาง เลขที่ U957441 และเลขที่ Z530117 ของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ตั้งแต่วันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๘"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มาเลเซียไม่ให้ โจชัว หว่อง นักศึกษาผู้นำการเรียกร้องเลือกตั้งผู้ว่าฯ ฮ่องกงเข้าประเทศ

$
0
0

ผู้นำนักศึกษาฮ่องกง ผู้เรียกร้องการเลือกตั้งโดยตรงผู้ว่าการเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ถูกกักตัวที่ ตม. ปีนัง ก่อนปฏิเสธเข้าประเทศมาเลเซีย

 
27 พ.ค. 2558 เว็บไซต์ asiancorrespondentรายงานว่า โจชัว หว่อง ถูกกักตัวที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองปีนัง ประเทศมาเลเซียเหตุเมื่อเช้าวันอังคารที่ผ่านมา ก่อนถูกปฏิเสธการเดินทางเข้าประเทศ


ทั้งนี้ โจชัวระบุว่าเขาได้รับเชิญจากภาคประชาสังคมในมาเลเซียเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากการชุมนุมครั้งนั้น

โจชัว หว่อง วัย 18 ปี เป็นหนึ่งในผู้นำการชุมนุมครั้งใหญ่ในฮ่องกงเมื่อปลายปีที่แล้วเรียกร้องสิทธิเลือกตั้งโดยตรงผู้ว่าการประจำเขตปกครองพิเศษฮ่องกง หรือที่เรียกกันว่า การปฏิวัติร่ม ในปลายปี 2557 โดยการชุมนุมที่ยาวนานกว่า 79 วัน ถูกจับตาจากสื่อทั่วโลก และได้รับความสนใจและถูกกล่าวถึงเป็นพิเศษในแง่ที่ผู้ร่วมชุมนุมและผู้นำการชุมนุมเป็นคนรุ่นใหม่

ทั้งนี้ ความขัดแย้งเรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าการเขตปกครองพิเศษฮ่องกงที่จะมีขึ้นในปี 2560 มาจากความไม่พอใจของชาวฮ่องกงจำนวนหนึ่งเมื่อทราบว่าทางการจีนซึ่งประกอบด้วยคณะกรรมการจำนวน 1,200 คนจะทำการคัดเลือกผู้ลงชิงชัยในการเลือกตั้งแทนการเปิดรับสมัคร ทำให้เกิดการประท้วงในย่านธุรกิจของฮ่องกงนำโดยกลุ่มนักเรียนนักศึกษา ก่อนที่ต่อมาชนชั้นกรรมาชีพในย่านมงก๊กจะเข้าร่วมชุมนุมด้วย โดยพวกเขามีความไม่พอใจนโยบายการเคหะของรัฐอยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

ฮ่องกงยังติดอยู่ในอันดับต้นๆ ของเขตบริหารที่มีช่องว่างรายได้สูง โดยเมื่อไม่นานมานี้ธนาคารเครดิตสวิสได้รายงานเรื่องความมั่งคั่งของโลกในปี 2557 ซึ่งมีเขตบริหารพิเศษฮ่องกงติดอยู่ในอันดับที่ 3 ของประเทศที่มีการกระจายรายได้อย่างไม่เป็นธรรม วัดจากจำนวนผู้มีความร่ำรวยสูงสุดร้อยละ 10 ของฮ่องกงถือสินทรัพย์อยู่ถึงร้อยละ 77.5 เมื่อเทียบกับสินทรัพย์ของคนทั้งประเทศ ทางด้านประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 6 ผู้มีความร่ำรวยร้อยละ 10 ถือสินทรัพย์ร้อยละ 73.8 เมื่อเทียบกับสินทรัพย์ของคนทั้งประเทศ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live




Latest Images

<script src="https://jsc.adskeeper.com/r/s/rssing.com.1596347.js" async> </script>
<script src="https://jsc.adskeeper.com/r/s/rssing.com.1596344.js" async> </script>