Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live

ขสมก. ปรับเปลี่ยนเส้นทางเดินรถหลีกเลี่ยงเส้นทางปั่นจักรยานกิจกรรม Bike For Mom ปั่นเพื่อแม่

$
0
0
องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ปรับเปลี่ยนเส้นทางเดินรถหลีกเลี่ยงเส้นทางปั่นจักรยานกิจกรรม Bike For Mom ปั่นเพื่อแม่ ทั้งในวันซ้อมใหญ่ วันอาทิตย์ที่ 2 สิงหาคม และวันที่ 16 สิงหาคมนี้

 
 
1 ส.ค. 2558 สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย รายงานว่าองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. แจ้งว่า ตามที่รัฐบาลกำหนดจัดกิจกรรมจักรยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนารถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 83 พรรษา 12 สิงหาคม 2558 กิจกรรมดังกล่าวจะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม 2558 โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ ทรงเป็นประธาน ทรงปั่นจักรยานนำขบวนจักรยานประชาชน เส้นทางจากพระลานพระราชวังดุสิต ถึงกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมถวายความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกการจราจรเป็นไปอย่างสมพระเกียรติ และเกิดความปลอดภัยสูงสุด ซึ่งในการจัดกิจกรรมดังกล่าว จะมีการปิดการจราจรในถนนสายหลักจำนวน 6 สาย คือ ถนนศรีอยุธยา ถนนพญาไท ถนนราชวิถี ถนนดินแดง ถนนวิภาวดีรังสิต ถนนพหลโยธิน และจุดเชื่อมต่อรวมทั้งถนนที่เกี่ยวเนื่องในเส้นทางจักรยาน ดังนั้น เพื่อให้การจัดการเดินรถเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ขสมก. จึงจัดทำแผนปรับเปลี่ยนเส้นทาง เพื่อหลีกเลี่ยงเส้นทางปั่นจักรยาน
 
โดยในวันซ้อมใหญ่ วันอาทิตย์ที่ 2 สิงหาคม ตั้งแต่เวลา 06.00 - 12.00 น. ปิดการจราจรตั้งแต่บริเวณพระลานพระราชวังดุสิต ถึงกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ (ร.1 รอ.) ระยะทางรวม 7 กิโลเมตร และในวันจริง วันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม ตั้งแต่เวลา 12.00 - 21.00 น. สำหรับบริเวณพระลานพระราชวังดุสิต จะปิดตั้งแต่เวลา 09.00 - 21.00 น.
 
นอกจากนี้ ขสมก. ได้จัดตั้งศูนย์ประสานงาน BIKE FOR MOM ปั่นเพื่อแม่ ณ สำนักงานใหญ่ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และกำชับพนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสาร ช่วยดูแลอำนวยความสะดวกในการขึ้นลงรถเมล์แก่ผู้ใช้บริการเป็นกรณีพิเศษ รวมถึงจัดกำลังพนักงานสายตรวจพิเศษ นายตรวจ ช่วยอำนวยความสะดวกการจราจรตามป้ายหยุดรถที่มีผู้ใช้บริการหนาแน่นอีกด้วย
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รับน้องสร้างสรรค์ด้วยวัฒนธรรมแห่งความอดกลั้น

$
0
0

รวมวาทกรรมยอดฮิตที่ไม่มีทางออกและเส้นทางที่นำไปสู่จุดเริ่มต้นของความสร้างสรรค์ด้วยวัฒนธรรมแห่งความอดทนอดกลั้น (Culture of Tolerance)

เมื่อถึงช่วงเวลาเปิดเทอมปีการศึกษาใหม่ของระดับชั้นอุดมศึกษาในทุกปี ประเพณีการรับน้องใหม่และประชุมเชียร์ก็จะถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันอยู่เสมอ ไม่ว่าจะการรับน้องรุนแรงจนเป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ หรือกระแสการพูดคุยวิพากษ์วิจารณ์ใน Social Network ซึ่งกระบวนการรับน้องก็มีจุดประสงค์และวิธีการที่หลากหลายไปตามแต่ละคณะและมหาวิทยาลัย ซึ่งก็เป็นเพราะสิ่งแวดล้อมและรูปแบบสังคมที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ดี วาทกรรมที่ถูกนำมาใช้กลับมีประเด็นที่เป็นจุดร่วมกัน  ดังนี้

ฝ่ายที่สนับสนุนการมีกิจกรรมรับน้องมักให้คุณค่ากับความเป็นสังคม วาทกรรมที่กลุ่มนี้มักใช้อ้างอิงจะเป็นเรื่องของการส่งต่อคุณค่าและอัตลักษณ์ของสังคม กระบวนการรับน้องมีประโยชน์ในการสร้างวัฒนธรรมองค์กรและขัดเกลาให้น้องใหม่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนั้นๆ เช่น การสอนร้องเพลงของคณะและเพลงเชียร์ ในหลายแห่งที่ห้องเชียร์พูดถึงประวัติศาสตร์ของคณะนั้นๆ ให้น้องได้ซาบซึ้ง นอกจากนี้ยังเป็นกิจกรรมละลายพฤติกรรม เชื่อมความสัมพันธ์ ทำให้น้องได้รู้จักกัน ได้รู้จักกับรุ่นพี่ เสริมสร้างความสัมพันธ์ในหมู่คณะในเวลาอันรวดเร็ว ไม่ว่าจะด้วยระบบแขวนป้ายชื่อ ขอชื่อ เป็นต้น

อีกวาทกรรมหนึ่งที่มักพบก็คือ กิจกรรมเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับน้องในการเข้าสู่โลกของการใช้ชีวิตจริงทั้งการรับมือกับความกดดัน ฝึกความอดทน ฝึกการทำงานร่วมกัน ในหลายคณะศิลปะที่ใช้การทำอุปกรณ์เชียร์เพื่อเป็นการฝึกทักษะในการทำงานจริง

ทั้งนี้ ในกลุ่มผู้มีความเห็นสนับสนุนกิจกรรมรับน้องก็ไม่ได้สนับสนุนการว้าก การกดดันหรือใช้ความรุนแรงเสมอไป

ในขณะที่ฝ่ายต่อต้านกิจกรรมรับน้องจะเป็นกลุ่มที่ให้คุณค่ากับความเป็นปัจเจกมักใช้วาทกรรมตอบโต้ โดยมุ่งไปที่วิธีการและรูปแบบของกิจกรรมที่มีความรุนแรง ไม่ว่าจะการว้ากหรือตะโกนเพื่อกดดัน การบังคับให้น้องต้องยืนนิ่ง ก้มหน้า  ซึ่งมักอ้างอิงหลักการสิทธิมนุษยชน สิทธิในร่างกาย การละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นไปจนถึงกระทั่ง “ถ้าน้องตายจะทำยังไง?”

อีกประเด็นหนึ่งที่ถูกยกมาคือคุณค่าของวัฒนธรรมประเพณี มักถูกโจมตีในฐานะสิ่งล้าหลัง หัวโบราณ วัฒนธรรมที่ตกเป็นเป้าคือ SOTUS  แต่เดิมเป็นคุณค่า 5 ข้อที่นิยมปลูกฝังให้กับน้องใหม่ ย่อมาจาก Seniority เคารพพี่ , Order มีระเบียบวินัย, Tradition วัฒนธรรมประเพณี, Unity มีเอกภาพ, Spirit มีน้ำใจ แต่ปัจจุบันถูกนำไปสร้างเป็นวาทกรรมว่าโซตัสคือการว้าก และตั้งคำถามกับคุณค่าต่างๆเช่น พี่เหนือกว่าน้องจริงหรือ? เข้ามาเรียนจำเป็นต้องมีเอกภาพ มีความเป็นรุ่นจริงหรือ?  นอกจากนี้ยังมีกระแสที่ตั้งคำถามกับวัฒนธรรมองค์กร เช่นการสร้างความสัมพันธ์ว่าเป็นการสร้างระบบอุปถัมภ์  หรือตั้งคำถามกับกิจกรรมสันทนาการว่าไม่มีสาระ เป็นต้น

ประเด็นการรับน้องนี้เป็นที่ถกเถียงกันมานานโดยยังหาข้อสรุปไม่ได้ แม้ว่ากระแสการตั้งคำถามจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบกิจกรรมในหลายๆมหาวิทยาลัย  ขณะเดียวกัน บนโลก Social Network กลายเป็นพื้นที่ของการปะทะ โดยมีทั้งการอ้างเหตุผลดังที่กล่าวมา  แต่นอกจากนั้นก็มีการใช้ Hate speechเข้าโจมตีกัน กลุ่มที่สนับสนุนการรับน้องก็จะถูกโจมตีว่าเป็นพวกโง่ หัวเก่า ดักดาน ในขณะที่กลุ่มผู้ต่อต้านการรับน้องก็จะถูกหาว่าเป็นพวกโลกสวย เอียงซ้าย เป็นต้น  ซึ่งในช่วง 2 – 3ปีที่ผ่านมาสามารถเห็นได้ชัดขึ้นจากการมี page ที่ตั้งขึ้นเพื่อโจมตีกิจกรรมรับน้องเช่น Anti – SOTUS, รับน้องสร้างสรรค์ เป็นต้น ความแตกต่างทางความคิดและการถกเถียงกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุดนี้ อาจทำให้เราต้องกลับมาตั้งคำถามว่า แล้วเราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร

เพจรับน้องสร้างสรรค์

เพจ ANTI SOTUS

พรรณพิมล นาคนาวาอาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พูดถึงความแตกต่างและวัฒนธรรมแห่งความอดกลั้น (Culture of Tolerance) ว่าความแตกต่างนั้นก็มีหลายระดับ ตั้งแต่ระดับชาติพันธ์ ศาสนา มาจนถึงเรื่องความคิดความเชื่อ อุดมการณ์และวิธีการมองโลก แต่ในขณะที่ศาสนาเป็นเรื่องที่ปลูกฝังในระดับลึก เป็นเรื่องของสิทธิ อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ยาก ความคิดความเชื่อเกี่ยวกับการรับน้องเป็นอุดมการณ์ที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ มีโอกาสลื่นไหลได้มากกว่า

แต่สิ่งที่ต้องคำนึงเป็นลำดับแรกคือ การยอมรับว่าความแตกต่างมีอยู่จริง และต้องเคารพซึ่งกันและกัน เคารพในความคิดและความเชื่อของอีกฝ่ายก่อนจะนำไปสู่การเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

อย่างไรก็ดี การอดกลั้นหรือการเคารพความคิดความเชื่อของอีกฝ่ายไม่ได้แปลว่าเงียบ ไม่ตั้งคำถาม  แต่ในการวิพากษ์ก็ต้องรู้ก่อนว่าอีกฝ่ายนั้นมีวิธีคิดแบบใดบ้าง และวิธีคิดแบบไหนที่เราไม่เห็นด้วย วิธีคิดแบบไหนที่อาจนำไปสู่การใช้อำนาจ  และหากเราต้องการที่จะตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์ ก็ต้องมียุทธวิธีที่จะนำไปสู่การอยู่ร่วมกัน  ต้องมีการแลกเปลี่ยน ไม่ใช่พูดฝ่ายเดียวไม่เปิดให้อีกฝ่ายได้พูดได้นำเสนอ  ไปจนถึงภาษา วิธีการพูด หากมีการใช้ภาษาที่ทำให้รู้สึกว่าอีกฝ่ายเป็นศัตรู ก็ถือว่าเป็นยุทธวิธีที่ล้มเหลว

พรรณพิมล กล่าวว่า การรับน้องปัจจุบันเป็นสิ่งที่ถูกเหมารวม จริงๆ ก็มีสถาบันที่การรับน้องไม่มีปัญหา แต่ในบางแห่งที่มีความเป็นอำนาจนิยม ก็เป็นสิ่งที่ต้องกลับมาทบทวนว่ามันไม่สัมพันธ์กับบริบทของสังคมโลกในปัจจุบันแล้ว  และเชื่อว่าเพจเช่นเพจรับน้องสร้างสรรค์ ที่มีลักษณะตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์กับการรับน้อง แม้ว่าในบางโพสต์จะมีตรรกะที่ไม่สัมพันธ์ แต่โดยรวมมุ่งเป้าไปที่ความเป็นอำนาจนิยม ซึ่งเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับคนที่เห็นต่างและไม่เห็นด้วยกับอำนาจนิยมให้ได้แสดงออก และได้สะท้อนให้เห็นถึงความจริงของการรับน้องที่ใช้อำนาจ ที่ใช้ความรุนแรงที่ยังมีอยู่

และฝ่ายที่ถูกตั้งคำถามก็ต้องกลับมาทบทวน และคิดว่าจะตอบโต้หรือแก้ไขปัญหาอย่างไรให้ทันโลก กรอบของโลกสมัยใหม่อยู่ในกระแสของสิทธิมนุษยชนและสันติวิธี เช่นเดียวกับแอดมินของเพจเหล่านี้ที่ก็ต้องกลับมาทบทวน แม้ว่าเพจเหล่านี้จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้จริงๆ แต่อย่างน้อยก็ทำให้เกิดปฏิกิริยา เกิดการพูดคุยขึ้น

และสิ่งต่อจากนั้น คือการยกระดับความขัดแย้ง ขณะที่ปัจจุบันเป็นการถกเถียงที่ไม่มีสิ้นสุด ใช้ตรรกะวิบัติและหาประเด็นไม่ได้   แต่ถ้าเราอยู่ในโลกเสรี ต่างฝ่ายต่างโยนความคิดและเหตุผลขึ้นมา เคารพและรับฟังเหตุผลของกันและกัน เพื่อก่อให้เกิดการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงขึ้น นี่คือสิ่งที่คนในสังคม ครูบาอาจารย์ นิสิตนักศึกษา รวมถึงสื่อมวลชนควรกระทำ ให้ความขัดแย้งมีคุณภาพ นอกจากนี้การมาพูดคุยและรับฟังกัน เพื่อหาวิธีที่สร้างสรรค์จริงๆ ก็เป็นการท้าทายความเป็นปัญญาชนของนิสิตนักศึกษาในระดับชั้นมหาวิทยาลัยอีกด้วย พรรณพิมลสรุป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'วินธัย' เผย คสช. ไฟเขียวให้ นปช. แถลงข่าวสถานการณ์นกกรงหัวจุก

$
0
0
โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุยังไม่เห็นหนังสือขออนุญาตจัดแถลงข่าวของนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แต่ย้ำว่าหากเนื้อหาสร้างสรรค์ไม่ขัดกับหลักความสงบก็สามารถทำได้

 
1 ส.ค. 2558 ThaiPBSรายงานว่า พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก คสช.กล่าวถึงกรณีที่สื่อมวลชนรายงานข่าวว่านายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตแกนนำ นปช.จะขอจัดแถลงข่าวเรื่องสถานการณ์นกกรงหัวจุกในประเทศไทยนั้น ขณะนี้ตนยังไม่เห็นหนังสือขอจัดแถลงข่าวดังกล่าว แต่หากนายณัฐวุฒิทำหนังสือมาและเนื้อหาของการแถลงข่าวเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ ไม่ขัดกับหลักความสงบก็สามารถดำเนินการได้
 
ทั้งนี้นายณัฐวุฒิระบุว่าเตรียมจะให้แกนนำนปช.เปิดแถลงข่าวบ้างหลังจากที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำกปปส.แถลงข่าวเปิดตัวมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศเมื่อวันที่ 30 ก.ค.2558 ภายหลังจากที่สึกจากพระเมื่อวันที่ 28 ก.ค. โดยในการแถลงข่าวนั้นนายสุเทพและผู้ร่วมแถลงข่าวได้ติดสัญลักษณ์ธงชาติบนเสื้อ ซึ่งคล้ายกับสัญลักษณ์ที่ใช้ขณะเคลื่อนไหวทางการเมืองของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ก่อนเกิดการรัฐประหาร
 
พ.อ.วินธัยกล่าวถึงการแถลงข่าวของนายสุเทพว่า นายสุเทพได้ทำหนังสือขออนุญาตอย่างถูกต้อง แต่หากใครเห็นว่ามีเนื้อหาที่ขัดกับแนวทางของคสช.ก็สามารถร้องเรียนเข้ามาได้ ขณะที่พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข รองเลขาธิการ คสช. ระบุว่าต้องรอให้เจ้าหน้าที่ ที่ไปสังเกตุการณ์สรุปเนื้อหาส่งมาให้ คสช.พิจารณาก่อน ส่วนกรณีการเตรียมแถลงข่าวของนายณัฐวุฒิ เบื้องต้นยังเชื่อว่าเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นเท่านั้น
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พม่าเกิดน้ำท่วมใหญ่-แม่น้ำ 5 สายวิกฤต-พื้นที่เกษตรเสียหาย 1.32 ล้านไร่

$
0
0

ผลจากฝนตกหนักตลอดทั้งเดือนและพายุไซโคลน ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำ 5 สายของพม่าได้แก่ อิระวดี ชินด์วิน สาละวิน สะโตง งาหวุ่น อยู่ในระดับวิกฤต เอ่อล้นตลิ่งหลายพื้นที่ นอกจากนี้ยังเกิดดินถล่มในรัฐชิน บ้านเรือนได้รับความเสียหาย ขณะที่ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ประกาศให้รัฐชิน ยะไข่ ภาคสะกาย มะกเว เป็นพื้นที่ประสบภัย

ภาพจากหนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ ฉบับวันที่ 1 ส.ค. 2558 ระบุว่าผู้ประสบภัยน้ำท่วมอพยพไปยังศูนย์บรรเทาทุกข์ที่อำเภอพวินบยู ภาคมะกเว

1 ส.ค. 2558 - พายุไซโคลนโกเมนซึ่งขณะนี้ได้อ่อนกำลังลงแล้วนั้น ได้พาดผ่านจิตตะกอง ของบังกลาเทศ เข้าสู่ด้านตะวันตกเฉียงเหนือของพม่าเมื่อคืนวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (30 ก.ค.) มีผลทำให้เกิดฝนตกหนัก รวมทั้งลมพายุที่มีความเร็วลมกว่า 128 กม. ต่อชั่วโมง

โดยหนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ ของรัฐบาลพม่า ฉบับวันที่ 1 ส.ค. ลงคำประกาศของประธานาธิบดีเต็ง เส่งของพม่า ที่ระบุว่า รัฐชิน รัฐยะไข่ รวมทั้งภาคสะกาย ภาคมะกเว เป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบหนักจากน้ำท่วม และเผชิญความยากลำบากที่จะฟื้นฟูเข้าสู่สภาพปกติ ขณะเดียวกัน คณะกรรมการรับมือภัยพิบัติแห่งชาติ ได้จัดให้มีการอพยพและโยกย้ายประชากรในภาคอิระวดี ภาคพะโค รวมถึงรัฐมอญ และรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งประสบอุทกภัยเช่นกัน ทั้งนี้ฝนตกหนักในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคมได้ทำให้เกิดน้ำท่วมและดินถล่มหลายพื้นที่ของพม่า

นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ ยังรายงานข่าวการแจ้งเตือนโดยกรมอุตุนิยมวิทยาพม่า ระบุว่าระดับน้ำในแม่น้ำสายหลักได้แก่ อิระวดี ชินด์วิน สาละวิน สะโตง และงาหวุ่น เพิ่มสูงขึ้น และมีแนวโน้มจะเอ่อล้นระดับวิกฤตภายใน 3 วัน ทั้งนี้แม่น้ำอิระวดี ช่วงที่ไหลผ่านภาคอิระวดีที่อำเภอฮิงทาดา เมื่อวันศุกร์ที่ 31 ก.ค. เวลา 12.30 น. ระดับน้ำได้ล้นระดับวิกฤตมา 10 เซนติเมตร ขณะที่แม่น้ำอิระวดี ช่วงที่ไหลผ่านเมืองสะกาย ภาคสะกาย ระดับอยู่ห่างจากระดับวิกฤตอีก 71 เซนติเมตร โดยกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าจะถึงระดับวิกฤตในอีก 2 วันข้างหน้า

ขณะที่แม่น้ำชินด์วินที่เมืองกะเลวะ ภาคสะกาย จะยังคงล้นตลิ่งต่อไปในอีก 3 วัน ทั้งนี้ระดับน้ำเลยจุดวิกฤตมาแล้ว 143 เซนติเมตรตั้งแต่บ่ายวันศุกร์ที่ 31 ก.ค. ขณะที่แม่น้ำสาละวินที่เมืองผาอัน เมืองหลวงของรัฐกะเหรี่ยง ระดับน้ำได้เลยจุดวิกฤตมาแล้ว และจะเอ่อท่วมต่อไปอีก 3 วัน

เช่นเดียวกับที่แม่น้ำสะโตง และแม่น้ำงาหวุ่น มีแนวโน้มที่จะล้นตลิ่งในอีก 3 วันข้างหน้า โดยระดับน้ำในแม่น้ำสะโตง ที่อำเภอมะเดาก์ ภาคพะโค ล้นจุดเฝ้าระวังมาแล้ว 115 เซนติเมตร ขณะที่ระดับน้ำในแม่น้ำงาหวุ่น ที่งาเทงเชาก์ ภาคอิระวดี ล้นจุดเฝ้าระวังมาแล้ว 57 เซนติเมตร

โดยกรมอุตุนิยมวิทยาพม่า ได้แจ้งเตือนว่าจะมีฝนตกหนักที่ภาคมะกเว ภาคสะกาย, ภาคพะโค, ภาคตะนาวศรี และภาคย่างกุ้ง รวมทั้งรัฐยะไข่ รัฐชิน เนื่องจากพายุที่พัดผ่านประเทศบังกลาเทศในเวลานี้

นอกจากนี้กระทรวงเกษตรและชลประทานพม่า ระบุว่า มีพื้นที่เกษตรกรรมทั่วประเทศได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม 5.23 แสนเอเคอร์ หรือ 1.32 ล้านไร่ ในจำนวนนี้มีพื้นที่ราว 1.22 แสนเอเคอร์ หรือ 3.08 แสนไร่ ที่ระดับน้ำเริ่มลดลงแล้ว และเตรียมที่จะเพาะปลูกในพื้นที่ซึ่งได้รับการฟื้นฟูในเร็วๆ นี้

นอกจากนี้ในรายงานของ เว็บไซต์อิระวดีระบุด้วยว่า ฝนที่ตกหนักได้ทำให้เกิดดินถล่มที่เมืองฮากา เมืองหลวงของรัฐชิน ทำให้บ้านเรือนได้รับความเสียหาย นอกจากนี้ดินถล่มยังปิดกั้นถนนที่จะเข้ามาในเมืองซึ่งอยู่เหนือระดับน้ำทะเลกว่า 6,000 ฟุตแห่งนี้ จนเกรงว่าจะเกิดภาวะขาดแคลนอาหารในพื้นที่รัฐชิน โดยอิระวดีอ้างข้อมูลของเจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์ในพื้นที่ซึ่งประเมินว่ามีบ้านเรือนอย่างน้อย 100 หลังที่ได้รับความเสียหายจากดินถล่ม ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมากไปอาศัยชั่วคราวในบ้านของญาติ ขณะที่มีประชาชน 150 คนจาก 33 หลังคาเรือนไปอาศัยพักพิงอยู่ในศาลาว่าการเมือง

ทั้งนี้จากข้อมูลเมื่อวันที่ 30 ก.ค.สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ ได้อ้างสถิติของรัฐบาลพม่าระบุว่ามีประชาชนกว่า 110,000 คนได้รับผลกระทบจากอุทกภัยที่เกิดขึ้นในพม่า มีผู้เสียชีวิตแล้ว 21 ราย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บทความแปล: การผลิดอกของขบวนการประชาธิปไตยในประเทศไทย

$
0
0



เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ทันทีที่นักศึกษาและบัณฑิตทั้ง 14 คนเดินออกมาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ พวกเขาก็ประกาศว่าจะเดินหน้าต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาต่อไป “นักศึกษา 14 คน” เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะสมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (New Democracy Movement) พวกเขาถูกจับกุม และจองจำในห้องขังเป็นเวลา 12 วัน จากคำตัดสินของศาลทหารต่อการประท้วงต่อต้านรัฐบาลเผด็จการอย่างสันติของพวกเขา การปล่อยตัวดังกล่าวบ่งชี้ว่าเป็นการพักยกเพียงชั่วคราวมากกว่ารอดพ้นจากการลงโทษอย่างถาวร เนื่องจากพวกเขามีโอกาสต้องโทษจำคุกถึง 6 เดือนจากการประท้วงครั้งนั้น และอีก 7 ปี สำหรับข้อกล่าวหาที่คลุมเครือในการปลุกระดม ซึ่งรัฐบาลสามารถจะเลือกดำเนินคดีแก่พวกเขาในเวลาใดก็ได้

การรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาและกองทัพ ในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นการ “ทำสำเร็จ” ครั้งที่ 12 นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 

ในห้วง 83 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องประสบกับทั้งเผด็จการเบ็ดเสร็จ, ประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง และการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยๆเป็นค่อยไป อย่างไรก็ดี "ประชาชนไทยและผู้ปกครองก็ยังถูกขังอยู่ในกับดักการต่อสู้เพื่อช่วงชิงอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ หรืออำนาจอธิปไตย ในขณะที่ประเทศนี้มีรัฐธรรมนูญถึง 19 ฉบับ (ฉบับที่ 20 กำลังถูกร่างฯ) ทุกฉบับยืนยันว่าอำนาจอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน แต่ประวัติศาสตร์การรัฐประหารอันยาวนานแสดงให้เห็นว่าเป็นอย่างอื่น จนถึงปัจจุบันรัฐบาลเผด็จการทหารไม่เคยถูกดำเนินคดีจากการยึดอำนาจเลย ในทางกลับกัน การรัฐประหารอย่างต่อเนื่องทำให้การฉีกรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องง่ายเหลือเกินสำหรับคณะทหารผู้ยึดอำนาจ และปล่อยให้ภาระหนักอึ้งในการดิ้นรนต่อสู้เพื่อกอบกู้ประชาธิปไตยตกอยู่บนบ่าของประชาชน

ในช่วงเวลานับตั้งแต่รัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ซึ่งโค่นล้ม พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จวบจนกระทั่งรัฐประหารครั้งล่าสุด ความขัดแย้งมีลักษณะเป็นการแบ่งแยกทางการเมืองระหว่างสีเสื้อ ระหว่างกลุ่มนิยมกษัตริย์-ชาตินิยมในนามเสื้อเหลือง ผู้ชื่นชอบการปกครองโดยศีลธรรมของคนส่วนน้อย กับ ฝ่ายมวลชนประชาธิปไตย-เสื้อแดง ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้สนับสนุนทักษิณ และพวกเขาชื่นชอบระบอบประชาธิปไตย ทั้ง 2 ฝ่ายทั้งเหลืองและแดง ได้แสดงให้เห็นการแตกหักที่เยื้อเยื้อยาวนาน ระหว่างความเป็นเมืองที่มั่งคั่งและชนบทที่แร้นแค้น โดยความมั่งมี, โอกาสทางการศึกษาและการจ้างแรงงานกระจุกตัวอยู่ในเมืองอย่างเข้มข้น ทั้งที่ในความเป็นจริงประชากรกว่าครึ่งนั้นอยู่ในภาคชนบท

ถึงแม้ว่าข้อมูลทางสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ได้แสดงให้เห็นความเสื่อมถอยเช่นกันในระหว่างที่ทักษิณ ชินวัตรครองอำนาจ (2544-2549) นักสิทธิมนุษยชนถูกลอบสังหารและถูกทำให้สูญหาย ประชาชนกว่า 2,800 คนถูกสังหาร ภายใต้นโยบายที่เรียกว่า “การประกาศสงครามกับยาเสพติด” อย่างไรก็ดีทักษิณก็ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนจำนวนมากในชนบท อันเป็นผลมาจากการริเริ่มทำนโยบายยกระดับชีวิตที่เป็นรูปธรรมให้กับฐานเสียงเขา ทักษิณขายนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย และจัดตั้งกองทุนหมู่บ้าน เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่น่าสะพรึงกลัวในสายตาชนชั้นนำจากการบริหารประเทศของทักษิณก็คือ ทักษิณปฏิบัติต่อฐานเสียงชนบทที่เลือกเขาเยี่ยงพลเมืองที่แท้จริง ซึ่งเป็นสิ่งที่นักการเมืองไทยไม่เคยทำมาก่อน

นับตั้งแต่ปี 2548 ที่มีการก่อตัวของขบวนการเสื้อเหลืองขับไล่ทักษิณ พวกเขาได้อ้างว่าทักษิณและพวกพ้องกระทำการทุจริต คอร์รัปชั่น และมีความจำเป็นที่ประเทศจะต้องมีผู้ปกครองที่มีจริยธรรม แม้ว่าวิธีการนี้ ผู้ดำรงตำแหน่งจะถูกแต่งตั้งโดยกษัตริย์หรือทหารแทนการได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนก็ตาม ด้วยเหตุนี้ ขณะที่ขบวนการเสื้อเหลืองอ้างอย่างเปิดเผยว่าพวกเขาต่อต้านทักษิณ พวกเขาก็ต่อต้านประชาชนเพื่อนร่วมชาติของพวกเขาเองด้วย พวกเขากังขาว่าคนจำนวนมากเหล่านี้ยังไร้ศักยภาพที่จะเลือกผู้แทนที่เหมาะสม

การต่อสู้ระหว่างเสื้อแดง-เสื้อเหลืองดังกล่าว ขยายตัว ก้าวร้าวรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปราบปรามคนเสื้อแดงผู้เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งโดยรัฐบาลที่มีคนเสื้อเหลืองหนุนหลัง ในปี 2553 ผลที่ตามมามีผู้เสียชีวิตกว่า 94 คน และบาดเจ็บกว่า 2,000 คน และนี่คือบริบทที่นำมาสู่ข้ออ้างในการทำรัฐประหาร ปี 2557 เพื่อสร้างระบอบที่จำกัดเสรีภาพในทางการเมือง

ในช่วง 1 ปีแรกหลังการรัฐประหาร การประท้วงต่อต้านถูกกำราบอย่างรวดเร็ว มีการจับกุมคุมขังพลเมืองโดยพลการ มีการซ้อมทรมาน และมีการไล่ล่าทางการเมืองในระดับที่อาจไม่ได้พบมาตั้งแต่เมื่อครั้งการสังหารหมู่ประชาชนโดยเผด็จการต่อต้านคอมมิวนิสต์ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และตามมาด้วยการรัฐประหาร    

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนไทย เปิดเผยว่าในเวลา 1 ปีหลังการรัฐประหารในปี 2557 มีนักโทษการการเมืองอย่างน้อย 751 ถูกกักตัวและ 428 คนถูกจับกุม (เกือบ 1 ใน 4 นั้นถูกจับกุมจากการประท้วงอย่างสันติ)  สรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน อดีตสหายของพคท. และสมาชิกของขบวนการคนเสื้อแดงถูกกล่าวหาว่ามีส่วนในการลอบวางระเบิด รายงานของประชาไทเปิดเผยว่าเขาถูกซ้อมทรมาน ถูกทำร้ายและช็อตไฟฟ้ากว่า 40 ครั้ง (โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิเสธข้อกล่าวหาของเขาว่า “ไม่มีมูลความจริง”)

ศาลทหารที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อตัดสินพลเรือนเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 1970 และมีพลเรือนต้องขึ้นศาลจำนวน 143 คน นอกเหนือจาก 14 นักศึกษาและนักกิจกรรมที่กล่าวไปแล้ว พวกเขาเหล่านี้ถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐและการหมิ่นฯกษัตริย์ คำตัดสินนี้มีตั้งแต่จำคุก 3 ปี จากการขีดเขียนกราฟฟิตี้ต่อต้านกษัตริย์ ไปจนถึง จำคุก 50 ปี จากการโพสต์ข้อความในเฟสบุ๊ค หรือการเผยแพร่ใบปลิวต่อต้านรัฐประหารก็เพียงพอที่จะถูกดำเนินคดีในการปลุกระดม ในข้อหาเดียวกับนักศึกษา 14 คน ที่เป็นไปได้ว่าจะถูกดำเนินคดีเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การต่อต้านคำสั่งของรัฐบาลทหารในรูปแบบการชุมนุมสาธารณะก็ยังเกิดขึ้น นักศึกษาที่กรุงเทพฯ และที่ขอนแก่น ในภาคอีสานได้มีการจัดกิจกรรมต่อต้านรัฐประหารอย่างสงบเนื่องในวาระครบรอบ 1 การรัฐประหาร พวกเขาถูกควบคุมตัวแล้วปล่อยตัวไป แต่ก็ถูกเรียกให้ไปรายงานตัวอีกครั้ง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2558 โดยทั้ง 14 คนได้ไปที่หน้าสถานีตำรวจ ใจกลางกรุงเทพมหานคร แต่แทนที่พวกเขาจะเข้าไปรายงานตัว พวกเขากลับแจ้งความกลับแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ใช้ความรุนแรงในการจับกุมพวกเขาในเดือนก่อน พวกเขาถูกปฏิเสธให้เข้าไปในพื้นที่ สน. ดังนั้นพวกเขาและผู้สนับสนุนนับร้อยจึงตั้งเวทีประท้วงอย่างสันติหน้า สน.

ก่อนการชุมนุมจะสิ้นสุด พวกเขาประกาศหลักการ 5 ข้อเป็นแนวทางในการต่อสู้ คือ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม การมีส่วนร่วม และสันติวิธี ขบวนการประชาธิปไตยใหม่จึงเกิดขึ้น วันต่อมาพวกเขาได้จัดการประท้วงขึ้นอีก หลังจากนั้น 1 วัน พวกเขาถูกควบคุมและจับขังคุก

ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ไม่เพียงแต่เป็นภาพสะท้อนขบวนการประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหารที่โดดเด่นที่สุด ทว่ายังสะท้อนความเป็นไปได้ที่เป็นรูปธรรมมากที่สุดในการจะปลดเงื่อนตายที่ครอบงำการเมืองไทยมาตั้งแต่หลังการรัฐประหารในเดือนกันยายน ปี 2549

เหตุผลหนึ่งก็คือ ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ นั้นอาจจะสามารถเป็นสะพานเชื่อม ช่องว่างความไม่เท่าเทียมกันทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ระหว่างประชาชนชาวเมืองและชนบท ดังที่ 7 คน ใน ขบวนการนั้น คือสมาชิกกลุ่มดาวดิน ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาที่ทำกิจกรรมบนฐานประเด็นสิทธิของทรัพยากรธรรมชาติ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และอีก 7 คนคือนักกิจกรรมจากกรุงเทพฯ

อีกเหตุผลหนึ่งคือ ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ไม่ได้มีความเชื่อมโยงกับพรรคหรือบุคคลทางการเมือง พวกเขายืนอยู่นอกการเมืองสีเสื้อซึ่งยืดเยื้อมาเป็นเวลา 8 ปี ขบวนการประชาธิปไตยใหม่เพียงแค่เรียกร้องให้มีการยุติการปกครองโดยเผด็จการและให้มีการปกครองที่อยู่ภายใต้หลักการนิติรัฐ โดยที่กฎหมายต้องไม่เพียงบังคับใช้กับทุกคนอย่างเท่าเทียม หากแต่ต้องมีความเป็นธรรมด้วย    

ประเด็นที่ไม่ควรมองข้ามอีกประเด็นหนึ่งก็คือ การปล่อยตัวสมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ เกิดขึ้นภายหลังจากการประณามจากนานาชาติอย่างรุนแรง รวมไปถึงการขยายตัวของกลุ่มผู้ออกมาคัดค้านรัฐบาลทหารภายในประเทศ ซึ่งอย่างหลังนำไปสู่การสั่นคลอนอำนาจรัฐบาลทหารมากขึ้นเรื่อยๆ คลื่นการต่อต้านเริ่มจากการที่กลุ่มคณาจารย์และผู้ปกครองได้ไปเยี่ยมนักศึกษาทุกๆวัน และประชาชนจัดกิจกรรมจุดเทียนในยามค่ำคืนตรงหน้าเรือนจำนั้น

ธิกานต์ ศรีนารา นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินวิโรฒ เดินทางไปเยี่ยมลูกศิษย์ของเขาเป็นประจำ คือ ชลธิชา แจ้งเร็ว เธอเป็นเพียงผู้หญิงคนเดียวใน นศ. จำนวน 14 คน ธิกานต์เขียนบทความตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์สำนักข่าวอิสระประชาไท บอกเล่าเรื่องราวของชลธิชา ในการลงทะเบียนเรียนวิชาประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัยของเขา และแสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของเธอจากนักศึกษาธรรมดากลายเป็นผู้ต่อต้าน ย้อนกลับไปก่อนรัฐประหาร เมื่อเธอได้พบกับเพื่อนนักศึกษา ต่างมหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรก ธิกานต์เขียนว่า “เธอยิ้มยกมือไหว้กล่าวลา แล้วหันไปคุยกับเพื่อนๆหัวเราะร่าเริง ผมยืนมองจนกระทั่งพวกเขาเดินลับหายเข้าไปในเงามืด ลมเย็นพัดผ่านมาเบาๆ ผมรู้สึกมีความหวัง”

ผู้คนต่างเดินทางมาชุมนุมประท้วงในคืนก่อนที่ศาลทหารจะพิจารณาคดีนักศึกษา ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์กลางทางประวัติศาสตร์การต่อสู้ของขบวนการนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของนักศึกษา ในการเดินนำขบวนปิดฉากระบอบเผด็จการที่ยาวนานกว่า 15 ปี  มีคน 500-600 คนพับนกกระดาษ ร้องเพลงที่แสดงความเป็นหนึ่งเดียวกัน และแสดงข้อความเพื่อสนับสนุนนักศึกษา ผู้ร่วมกิจกรรมประกอบไปด้วย นักศึกษาในปัจจุบัน นักกิจกรรม อาจารย์หัวก้าวหน้า นักพัฒนาเอกชน สื่อมวลชน และประชาชนทุกเพศทุกวัย ในขณะที่ทหารและตำรวจส่งเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเข้ามาสังเกตการณ์ กระนั้นพวกเขาก็ไม่ได้สั่งระงับกิจกรรม แม้ว่ากฎการห้ามชุมนุมเกิน 5 คน จะยังคงบังคับใช้ และการชุมนุมต้องขออนุญาตจากคณะรัฐประหาร การตัดสินใจอนุญาตให้มีการชุมนุมได้สะท้อนให้เห็นพลังของการต่อต้านที่เพิ่มสูงขึ้น ต้นทุนของการอนุญาตให้ประท้วงนั้นต่ำกว่าต้นทุนความเสี่ยงที่ผู้ต่อต้านจะเพิ่มมากขึ้นหากผู้เข้าร่วมกิจกรรมถูกจับในวันนั้น ถึงแม้จะมีฝนกระหน่ำลงมาอย่างหนัก ฝูงชนที่เข้าร่วมกิจกรรมต่างวิ่งหาที่บังฝนตามอาคารใกล้เคียง และไม่ได้แยกย้ายสลายตัว เช้าวันรุ่งขึ้นผู้สนับสนุนนักศึกษารวมตัวกันนอกศาลทหารและเพื่อให้กำลังใจนักศึกษา เสียงโห่ร้องด้วยความยินดีดังขึ้นหลังศาลคัดค้านการฝากขังนักศึกษาผลัดที่สอง
 
เมื่อนักศึกษาถูกปล่อยตัว พวกเขาเดินออกจากกรงขังด้วยเจตนารมณ์ที่จะขับเคลื่อนขบวนการประชาธิปไตยใหม่ไปข้างหน้า แม้ว่าข้อกล่าวหาและการไล่ล่าโดยผู้มีอำนาจจะยังคงตามหลอกหลอนเป็นกระดูกชิ้นโตขัดขวางพวกเขา แต่ดูเหมือนว่าสิ่งเหล่านี้จะไม่สามารถหยุดพวกเขาได้ เมื่อมีการถามเกี่ยวกับประสบการณ์ในคุก

จตุรภัทร บุญภัทรรักษา สมาชิกกลุ่มดาวดิน กล่าวว่า “คุกไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว มันแค่น่าเบื่อ เพราะฉะนั้นอย่าไปกลัวคุก อยากให้ทุกคนมาลองติดกัน คือมันเป็นแค่เงื่อนไขสำหรับสิ่งที่มันถูกต้องที่เราจะสู้กับ คสช. เราสู้แล้วเราต้องติดคุก มันก็ไม่ได้น่ากลัวอะไรเลย แต่ถ้าเราปล่อยให้เผด็จการยังคงดำรงอยู่ในสังคมไทยได้ วัฒนธรรมเหล่านี้ยังคงอยู่ในสังคมไทยได้ อันนี้ต่างหากคือสิ่งที่น่ากลัว”

มีเจ้าหน้าที่ทหารไปเยี่ยมเยือนคณาจารย์ระดับมหาวิทยาลัยบางคน จากจำนวน 281 คน ที่ลงนามท้ายแถลงการณ์ให้ปล่อยตัวนักศึกษา กระนั้นพวกเขายังดำเนินการเปิดโครงการชุด “ห้องเรียนสาธารณะ”เพื่อนำนักศึกษา นักวิชาการ ประชาชนมาแบ่งปันความคิดในประเด็นเรื่องสิทธิและกฎหมาย

กว่า 1 ปีที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาและ คสช. ประกาศยึดอำนาจภายใต้คำขวัญ “คืนความสุข” เพื่อคนไทย บางทีการขัดขืนเมื่อเผชิญกับการกดขี่ ความกล้าหาญเมื่อเผชิญกับภยันตราย และสัจจะความจริงเมื่อเผชิญกับความกลัว ที่กำลังก่อตัวขึ้นนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นแห่งจุดจบของรัฐบาลเผด็จการทหารก็เป็นได้
 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาการเปลี่ยนทางการเมืองและสังคม มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (ANU) 

ที่มา: dissentmagazine.org/blog/new-democracy-movement-thailand

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์: “แม่น้ำ 5 สาย” ของขบวนการประชาธิปไตยใหม่

$
0
0

 

ขบวนการประชาธิปไตยใหม่เริ่มกำเนิดขึ้นมาจากนิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยในต่างจังหวัด ร่วมกับประชาชนชาวบ้านในชนบท และต่อมาได้ร่วมกับนิสิตนักศึกษาในกรุงเทพฯอีกจำนวนหนึ่ง เคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย จนเกิดกรณีการจับกุมคุมขังนักศึกษา 14 คน นำไปสู่การเคลื่อนไหวของนักวิชาการและประชาชนให้ปล่อยตัวนักศึกษาทั้งหมดจนเป็นผลสำเร็จ

ความคิดที่เป็นธงนำของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ก็คือ หลักการกำปั้น 5 ข้อ ได้แก่ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม การมีส่วนร่วม และสันติวิธี มีสัญลักษณ์เป็นกำปั้น โดยทั้งห้านิ้วมือสะท้อนหลักการ 5 ข้อ เป็นการสรุปรวบยอดความคิดจากบทเรียนและประสบการณ์ในการเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษาเหล่านี้ที่หนุนช่วยประชาชนที่เดือดร้อนจากโครงการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติโดยรัฐและเอกชนตลอดสิบปีมานี้

แนวทางการเคลื่อนไหวเพื่อให้บรรลุหลักการกำปั้นทั้ง 5 ข้อคือ การร่วมกับประชาชนทุกหมู่เหล่า ทุกกลุ่ม ยุติความขัดแย้งกันเองในหมู่ประชาชน สามัคคีกันไปเผชิญกับปัญหาเฉพาะหน้าคือ ความไม่เป็นประชาธิปไตย ไร้สิทธิมนุษยชน ปราศจากความยุติธรรม กีดกันประชาชนออกไปจากกระบวนการทางการเมือง และใช้ความรุนแรงกับประชาชน

การสามัคคีประชาชนทุกหมู่เหล่าภายใต้แนวทาง “ยกเลิกขั้ว สลายสี” ดังกล่าว เป็นสิ่งที่ทำได้ยากยิ่งในภาวะการณ์ปัจจุบัน เพราะความขัดแย้งระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ในหมู่ประชาชนที่ยาวนานนี้ ยังร้าวลึกไปด้วยความทรงจำและเจ็บช้ำในอดีต แต่ก็เป็นภารกิจเดียวที่ผู้ที่ต้องการประชาธิปไตยในวันนี้จะต้องฝ่าฟันไปให้จงได้

อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ เรียกร้องให้ปล่อยตัวนิสิตนักศึกษาทั้ง 14 คนในช่วงปลายมิถุนายน-ต้นกรกฎาคนที่ผ่านมาก็มี “สัญญาณเริ่มต้น” ของการ “ยกเลิกขั้ว สลายสี” ดังกล่าวอย่างชัดเจน ดังจะเห็นได้ว่า นี่เป็นครั้งแรกนับแต่รัฐประหาร 2557 ที่ได้เกิดการเคลื่อนไหวร่วมมือประสานกันอย่างเป็นไปเองจากประชาชน 5 กลุ่ม จนอาจกล่าวได้ว่า เป็นจุดเริ่มต้นของ “แม่น้ำ 5 สาย” ของขบวนการประชาธิปไตยใหม่

แม่น้ำสายหนึ่งคือ นักเรียนนิสิตนักศึกษา ซึ่งมีหัวหอกสำคัญคือ นักศึกษามหาวิทยาลัยภูธรร่วมกับนิสิตนักศึกษากรุงเทพฯ จำนวนหนึ่ง ปัจจุบันยังมีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับนักเรียนนักศึกษาทั้งหมด แต่ก็เป็นกลุ่มที่เต็มไปด้วยอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตยอันร้อนแรง มีจิตใจเข้มแข็ง ทุ่มเทเสียสละและเอาการเอางานที่สุด

แต่เราไม่สามารถนำพวกเขาไปเปรียบเทียบกับขบวนการนิสิตนักศึกษายุค 2516-19 ได้ด้วยปริบททางการเมืองและสังคมที่แตกต่างกัน ในเวลานั้น นิสิตนักศึกษาได้รับอิทธิพลทางความคิดจากลัทธิสังคมนิยม เคลื่อนไหวในปริบทที่พวกจารีตนิยมเข้มแข็งและได้รับการสนับสนุนจากมหาอำนาจสากลที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์ยุคสงครามเย็น ส่วนรูปแบบการเคลื่อนไหวคือ การชุมนุมเดินขบวนแสดงกำลังในประเด็นการเมืองต่าง ๆ

ขบวนนิสิตนักศึกษาในวันนี้พัฒนาและเคลื่อนไหวในปริบทที่พวกจารีตนิยมได้เข้าสู่สภาวะเสื่อมโทรม โดดเดี่ยวและถูกต่อต้านจากนานาชาติ การเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษาในปัจจุบันจึงได้รับการสนับสนุนจากโลกเสรีประชาธิปไตย แต่อุปสรรคสำคัญของนิสิตนักศึกษาในปัจจุบันกลับเป็นความเฉื่อยเนือยและมึนชาของนิสิตนักศึกษาส่วนใหญ่อันเป็นผลจากการครอบงำทางความคิดจากผู้ปกครองมายาวนาน ภารกิจเฉพาะหน้าของนิสิตนักศึกษาที่เป็นกองหน้าในวันนี้จึงเป็นการไปสัมพันธ์กับ “มวลชน” ซึ่งประกอบด้วยสองส่วนคือ “มวลชน” ประชาชนที่เคลื่อนไหวในเรื่องสิทธิและความเป็นธรรมเฉพาะของตน และ “มวลชน” นิสิตนักศึกษาทั่วไป ให้พวกเขาตื่นตัว สนับสนุน และร่วมการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย

แม่น้ำสายที่สองคือ อาจารย์นักวิชาการ ทั้งในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เป็นกลุ่มคนที่มีสถานะเฉพาะในสังคมไทย พวกเขามี “พื้นที่ในการแสดงความคิดเห็น” ที่เปิดกว้างยิ่งกว่าประชาชนทั่วไป ที่ผ่านมา อาจารย์นักวิชาการก็มีสภาพคล้ายคลึงกับนิสิตนักศึกษาส่วนข้างมากคือ ถูกจำกัดบทบาททางความคิด เกิดความเฉื่อยชาทางการเมือง กระทั่งบางส่วนกลายเป็นผู้สนับสนุนและรับใช้พวกอำนาจนิยมอย่างสุดตัว

แต่รัฐประหาร 2557 นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่กระตุ้นให้นิสิตนักศึกษาและอาจารย์นักวิชาการจำนวนมากขึ้นมองเห็นปัญหาที่แท้จริงของระบอบปกครองไทย และเกิดการตื่นตัวทางประชาธิปไตยอย่างชัดเจน จนกล่าวได้ว่า ในการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ปล่อยตัว 14 นักศึกษาที่ผ่านมานั้น นิสิตนักศึกษาและอาจารย์นักวิชาการเป็นกองหน้าในการเรียกร้องต่อผู้ปกครองอย่างชัดเจน

แม่น้ำสายที่สามคือ นักคิด นักเขียน กวี นักแปล ศิลปิน สื่อมวลชน ซึ่งจำนวนมากได้แสดงท่าทีปฏิเสธรัฐประหาร 2557 มาก่อนแล้ว และในครั้งนี้ ก็สามารถรวมตัวกันเคลื่อนไหวสนับสนุนนิสิตนักศึกษา ประสานกับอาจารย์นักวิชาการได้อย่างมีพลังเป็นครั้งแรก

แม่น้ำสายที่สี่คือ ประชาชนทั้งรากหญ้าในชนบทและคนชั้นกลางในเมือง มวลชนที่สนับสนุนนักศึกษาแม้จะยังมีจำนวนน้อย แต่ก็เป็นกลุ่มที่ได้สะสมประสบการณ์และบทเรียนในการเรียกร้องสิทธิและความเป็นธรรมมายาวนาน ทั้งประชาชนในชนบทที่ถูกกระทบจากโครงการทรัพยากรของรัฐและเอกชนโดยเคลื่อนไหวร่วมกับนิสิตนักศึกษาภูธรมาก่อน และก็มีมวลชนชั้นกลางในเมืองที่เป็นอดีตคนเสื้อแดงกลุ่มที่ปฏิเสธนิรโทษกรรมเหมาเข่ง

แม่น้ำสายที่ห้าคือ องค์กรพัฒนาเอกชนที่เคลื่อนไหวหนุนช่วยประชาชนชนบทที่ถูกกระทบจากโครงการทรัพยากรของรัฐและเอกชนมายาวนาน แม้ว่าในระยะ 20 ปีมานี้ องค์กรพัฒนาเอกชนจำนวนมากได้รับการเลี้ยงดูอย่างอิ่มหมีพีมันผ่านงบประมาณของรัฐ จนกลายเป็นหางเครื่องสนับสนุนเผด็จการอำนาจนิยมมาโดยตลอด แต่ก็ยังมีองค์กรพัฒนาเอกชนอีกจำนวนหนึ่งที่มิได้ตกลงไปในเครือข่ายจารีตนิยมและยังคงเคลื่อนไหวหนุนช่วยประชาชนในประเด็นสิทธิและความเป็นธรรม พวกเขาปฏิเสธรัฐประหาร 2557 ที่ทำให้การละเมิดสิทธิของประชาชนยิ่งเลวร้าย รัฐประหารได้ทำให้สิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยกลายเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นของพวกเขาในการหนุนช่วยประชาชนในพื้นที่

ข้อสังเกตคือ ผู้คนที่ประกอบเป็น “แม่น้ำห้าสาย” ดังกล่าว มีพื้นภูมิหลังทางการเมืองก่อนรัฐประหาร 2557 ที่แตกต่างกันอย่างมาก กระทั่งเคยขัดแย้งต่อสู้กันเอง มีทั้งอดีตที่เคยสนับสนุนการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย และก็มีอดีตคนเสื้อแดงที่เคยสนับสนุนพรรคเพื่อไทย รวมทั้งมวลชนที่มิได้สนใจปัญหาการเมืองระดับประเทศมาก่อน

รัฐประหาร 2557 นับเป็นจุดเปลี่ยนทางการเมืองที่สำคัญ เพราะได้ทำให้ผู้คนเหล่านี้ ทั้งนิสิตนักศึกษา อาจารย์นักวิชาการ นักคิดนักเขียน นักแปล กวี ศิลปิน สื่อมวลชน ประชาชน และองค์กรพัฒนาเอกชน ที่มีพื้นภูมิหลังทางการเมืองที่เคยแตกต่างและขัดแย้งกัน บัดนี้ ได้ยุติความขัดแย้ง ยอมรับความแตกต่าง ร่วมมือสามัคคี เคลื่อนไหวหนุนช่วยซึ่งกันและกันในการเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตย

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Soundtrack of Life : บทเพลงแห่งความหลากหลายทางเพศ

$
0
0

จากนิยามตัวตนผ่าน ‘ความจริง-ความปลอม’ ใน ‘เพลงสุดท้าย’ สู่การเรียกร้องให้ยอมรับในฐานะ ‘ผู้หญิงคนหนึ่ง’ ผ่านเพลง ‘ฉันก็เป็นผู้หญิงคนหนึ่ง’ แถมด้วยเพลงที่สะท้อนอคติของสังคมในเพลง ‘เกลียดตุ๊ด’

Soundtrack of Life ตอนนี้ ‘ดีเจเดน’ รัชพงศ์ โอชาพงศ์ และ ‘ปลา’ มุทิตา เชื้อชั่ง ได้นำบทเพลงเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ 3 บทเพลงมาพูดคุยกันที่แสดงให้เห็นการนิยามตัวตนของผู้มีความหลากหลายทางเพศในแต่ละยุค รวมทั้งเพลงที่แสดงอคติทางเพศอย่างตรงไปตรงมา

โดยเริ่มจาก ‘เพลงสุดท้าย’ ขับร้องโดย สุดา ชื่นบาน และแต่งโดย จิตนาถ วัชรเสถียร เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง ‘เพลงสุดท้าย’ ชื่อเดียวกับชื่อเพลง ภาพยนตร์ดังกล่าวสร้างจากบทประพันธ์เรื่องของ วรรณิศา กำกับโดย พิศาล อัครเศรณี เข้าฉาย 8 พ.ย.2528 นำแสดงโดย ‘สมหญิง ดาวราย’ กระเทยนางโชว์ดาวเด่นชื่อดังจากทิฟฟานีโชว์ พัทยา เนื่องเรื่องเป็นความผิดหวังในความรักของสมหญิง โดยมีฉากสุดท้ายของเรื่องที่เป็นที่จดจำและเป็นฉากที่สมหญิงแสดงโชว์พร้อม ‘เพลงสุดท้าย’ โดยจบด้วยการฆ่าตัวตายของสมหญิง โดยที่ผู้ชมคิดว่าเป็นส่วนหนึ่งของการแสดง พร้อมปรบมือแสดงความชื่นชม

ส่วนเพลงสุดท้ายเป็นการพูดในประเด็นความจริงและความปลอม เช่นท่อนที่ว่า “แม้ว่ากายฉันมันจะปลอม แต่ฉันไม่ยอมปลอมใจ” ซึ่งแสดงให้เห็นการนิยามตนเองของกลุ่มความหลากหลายทางเพศตามเนื้อเพลงว่ายังมองเป็นสิ่งปลอม แต่อย่างไรความรักและจิตใจก็มีเฉกเช่นเดียวกับความรักของเพศอื่นๆ เช่นกัน

เพลงต่อมาคือเพลง ‘ฉันก็เป็นผู้หญิงคนหนึ่ง’ ขับร้องโดย เจินเจิน บุญสูงเนิน ซึ่งเป็นเพลงที่ชื่อเดียวกับอัลบั้มแรกของเจินเจินในปี พ.ศ. 2533 เป็นอีก 1 เพลงที่พูดถึงความหลากหลายทางเพศที่ได้รับความนิยม ซึ่งเป็นการบอกให้สังคมยอมรับพวกเขาในฐาน ‘ผู้หญิงคนหนึ่ง’ โดยเฉพาะท่อนสำคัญอย่าง “เป็นฉัน มันผิดตรงไหน ชีวิตฉัน ใครกำกับ เป็นฉัน ใครจะยอมรับ บทบาทให้ความสำคัญ ต่างกันแค่เพียงร่างกาย แต่ใจเราก็เหมือนเหมือนกัน ฉันก็เป็นผู้หญิงคนหนึ่ง”

ขณะที่อีกเพลงคือเพลง ‘เกลียดตุ๊ด’ ของวง Sepia ในปี 2537 เป็นเพลงใต้ดินที่สะท้อนอคติของสังคมที่มีต่อกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ซึ่งขณะนั้นจะเน้นไปที่ตุ๊ด 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

การประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz และ 900 MHz กำลังจะทำให้ยุคสัญญาสัมปทานปิดฉากแบบไม่สวยงาม

$
0
0

ท่านที่ติดตามข่าวการจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz คงรู้สึกยินดีและโล่งใจเหมือนผู้เขียนเมื่อ กสทช.ยืนยันจะจัดประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๘ นี้ เพราะเรื่องนี้ได้สร้างความอึดอัดคับข้องใจให้กับผู้มีส่วนได้เสียและเป็นที่คาใจของประชาชนมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๖ หลายคนยังคงจดจำผลงานของ กสทช.เกี่ยวกับประกาศเรื่องมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ.๒๕๕๖ หรือที่เรียกสั้นๆว่า “ประกาศฯ ห้ามซิมดับ” ได้ดี ผลงานของ กสทช.เรื่องนี้ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางทั้งจากผู้บริโภค นักวิชาการ สื่อมวลชน รวมถึงกรรมการ กสทช.เอง(เสียงข้างน้อย) ส่วนฝ่าย Operator นั้นแม้ในใจอยากอุทธรณ์เพียงใดก็ตาม แต่เป็นที่รู้กันว่าในสังคมไทยนิ่งเสียตำลึงทอง

ผลงานของ กสทช.ครั้งนั้นจบลงด้วยการฟ้องคดี ๒ คดี คดีแรก กสทช. โดย กทค.เสียงข้างมากฟ้องหมิ่นประมาทนักวิชาการคือ ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ฐานที่วิพากษ์วิจารณ์ความล่าช้าในการจัดประมูลคลื่น 1800 MHz และคดีที่สอง สมาคมเพื่อผู้บริโภคแห่งหนึ่งยื่นฟ้อง กสทช. ฐานออกประกาศฯ ฉบับที่เรียกว่าประกาศฯห้ามซิมดับโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย น่าเสียดายยิ่งที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องด้วยเหตุผลว่าผู้ฟ้องคดีไม่มีอำนาจฟ้อง และสมาคมเพื่อผู้บริโภคแห่งนั้นก็มิได้อุทธรณ์คำสั่งศาลดังกล่าว จึงเป็นที่น่าเสียดายว่าสังคมไม่มีโอกาสได้พิสูจน์ว่าการใช้อำนาจในการออกประกาศฯ ที่มีเนื้อหาเข้าลักษณะเป็นการจัดสรรคลื่นความถี่ 1800 MHz โดยไม่ผ่านการประมูลนั้นทำได้หรือไม่ เพียงใด นอกจากนี้ สมควรบันทึกไว้ด้วยว่าประกาศฯห้ามซิมดับฉบับนี้ภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ คณะ คสช.ได้ออกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๙๔/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๗ ให้ กสทช. ชะลอการประมูลคลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคมออกไป และให้ขยายระยะเวลาการปฏิบัติตามประกาศฯห้ามซิมดับออกไปเป็นระยะเวลาอีก ๑ ปี สำหรับผู้ประกอบการโทรคมนาคมทั้งสองรายที่ต้องคืนคลื่นความถี่ 1800 MHz เนื่องจากสัญญาสัมปทานให้ใช้คลื่นหมดอายุลงตั้งแต่เดือนกันยายน ๒๕๕๖ และควรที่จะเปิดประมูลหาผู้รับอนุญาตรายใหม่ตั้งแต่ปลายปี ๒๕๕๖ นั้น เป็นอันว่าได้ใช้คลื่นดังกล่าวฟรีๆโดยไม่ต้องจ่ายเงินค่าใช้คลื่นให้แก่รัฐเป็นเวลา ๒ ปีเศษ โดยที่ผู้บริโภคก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรเพิ่มขึ้น ส่วนมูลค่าการได้ประโยชน์จากการใช้คลื่นแบบได้เปล่าในช่วง ๒ ปีนี้เฉพาะที่คิดเป็นตัวเงินอย่างต่ำก็ราวๆ ๑,๐๐๐ ล้านบาท (ถือตัวเลขมูลค่าคลื่นจากร่างประกาศฯ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz ข้อ ๘ (๒)) โดยไม่จำต้องคิดถึงราคาของค่าโอกาสที่ผู้ถือคลื่นจะได้ทำตลาด 4G ก่อนรายอื่นในตลาด

ที่เกริ่นมาค่อนข้างยืดยาวก็เพื่อให้ท่านผู้อ่านเข้าใจที่มาที่ไปของสาเหตุความอึดอัดของผู้มีส่วนได้เสียในเรื่องนี้ ดังนั้น เมื่อมีข่าวว่า กสทช.จะเปิดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ปลายปีนี้พร้อมๆกับการเปิดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz จึงเป็นเรื่องน่ายินดี ประการแรกยินดีที่ความไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งหลายที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี ๒๕๕๖ จะได้ยุติลงเสียที ประการที่สองเพราะเหตุว่าคลื่นความถี่ทั้ง ๒ ย่านนี้เหมาะสมอย่างยิ่งในการให้บริการในระบบ 4G LTE การเปิดประมูลเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าประชาชนไทยจะได้ใช้บริการโทรคมนาคมที่มีประสิทธิภาพและความเร็วสูงเหมือนกับประเทศอื่นๆในกลุ่มอาเซียนในอนาคตอันใกล้นี้ เพราะแม้แต่ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างลาวก็มี 4G มาหลายปีแล้ว

แต่เมื่อได้อ่านร่างประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz และร่างประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 900 MHz ซึ่งต่อไปจะเรียกว่า “ร่างประกาศประมูลคลื่นฯ” ผู้เขียนพบว่าร่างประกาศ กสทช. ทั้ง ๒ ฉบับกำลังจะทำให้การเปลี่ยนผ่านจากยุคสัญญาสัมปทานไปสู่ยุคใบอนุญาตนั้นเป็นไปแบบทิ้งร่องรอยความแตกแยกให้เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมโทรคมนาคมเคลื่อนที่ของไทย เพราะประวัติศาสตร์กำลังจะซ้ำรอยเหตุการณ์ในปี ๒๕๕๖ อีกครั้งหนึ่ง

ร่างประกาศฯ ประมูลคลื่น 1800 และ 900 MHz นั้นมีข้อความหลักๆ เหมือนกันเกือบทุกประการ แตกต่างกันบ้างตรงที่เงื่อนไขราคาและระยะเวลาการอนุญาตให้ใช้คลื่นของสองกลุ่มนี้ไม่เท่ากัน แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา ในความเห็นของผู้เขียนเห็นว่าในร่างประกาศประมูลคลื่นฯ มีข้อความบางข้อซึ่งมีปัญหาข้อกฎหมายที่สมควรกล่าวถึง ๔ ประเด็น คือ

ประเด็นที่ ๑.ร่างประกาศประมูลคลื่นฯ ข้อ ๒๐ วางเงื่อนไขเรื่องการจำกัดการถือครองคลื่นความถี่ (spectrum cap) ไว้ว่าผู้ขอรับใบอนุญาตแต่ละรายสามารถถือครองคลื่นความถี่ทุกคลื่นความถี่สำหรับการให้บริการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สูงสุดไม่เกิน ๖๐ MHz ข้อ ๒๐ (๓) ว่าในกรณีที่ผู้ขอรับใบอนุญาตมีการถือครองคลื่นความถี่ทุกคลื่นความถี่สำหรับการให้บริการโทรคมนาคมเคลื่อนที่เกินกว่า ๖๐ MHz อยู่ก่อนเข้าร่วมประมูล ภายหลังจากที่ผู้ขอรับใบอนุญาตดังกล่าวชนะการประมูลและได้รับใบอนุญาตแล้ว ต้องคืนคลื่นความถี่ที่ถือครองอยู่ในปริมาณไม่น้อยกว่าปริมาณคลื่นความถี่ที่ได้รับอนุญาตครั้งนี้

อ่านมาถึงตรงนี้เกิดคำถามขึ้นทันทีว่าการกำหนดเงื่อนไขเรื่องข้อจำกัดการถือครองคลื่นความถี่ (spectrum cap) ของผู้รับใบอนุญาต สามารถกำหนดอยู่ในร่างประกาศประมูลคลื่น 1800 และ 900 MHz ในฐานะที่เป็นเงื่อนไขการประมูลได้หรือไม่ หรือควรบัญญัติไว้ในประกาศเกี่ยวกับการกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคมที่มีผลบังคับเป็นการทั่วไปซึ่งเกี่ยวกับการแข่งขันที่เป็นธรรมในการประกอบกิจการหรือมีผลกระทบต่อประชาชนร่างประกาศประมูลคลื่นฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อวางเงื่อนไขกติกาสำหรับการประมูลและบอกถึงกระบวนการต่างๆที่จะเกิดขึ้นในการประมูลครั้งนั้นๆเท่านั้น เมื่อการประมูลเสร็จสิ้นลง ประกาศฉบับนั้นก็ไม่มีผลใช้บังคับต่อไปในอนาคต เว้นแต่เรื่องที่จะต้องดำเนินการภายหลังการประมูลเท่านั้น เช่นการคืนหนังสือค้ำประกันแก่ผู้เข้าประมูล ร่างประกาศประมูลคลื่นฯ จึงเป็นขั้นตอนการดำเนินการของ กสทช.เพื่อจัดให้มีคำสั่งทางปกครองคือประกาศผลการประมูลคลื่นความถี่ แต่มิได้มีวัตถุประสงค์ให้มีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไปแบบกฎ ในขณะที่การวางเงื่อนไขการจำกัดการถือครองคลื่นความถี่ของผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมว่าควรมีหรือไม่ ถ้าหากมี ควรกำหนดที่จำนวนปริมาณเท่าใดนั้น ควรมีสถานะเป็นบทบังคับทั่วไปไม่ผันแปรไปตามการประมูลแต่ละครั้ง จึงต้องบัญญัติไว้ในรูปของกฎ เพื่อเป็นฐานอำนาจที่ กสทช.จะใช้ในการกำหนดเงื่อนไขประกอบการออกใบอนุญาตต่อไป

ประเด็นที่ ๒.ร่างประกาศประมูลคลื่นฯ ข้อ ๒๐ (๑) กำหนดถึงแนวทางการคำนวณปริมาณการถือครองคลื่นความถี่ว่า ให้รวมปริมาณคลื่นความถี่ที่ผู้รับใบอนุญาตได้รับจาก กสทช. (ขอเรียกว่าระบบใบอนุญาต) และคลื่นความถี่ที่ผู้รับใบอนุญาตมีสิทธิใช้งานภายใต้การอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาตามมาตรา ๘๐ พระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ (ขอเรียกว่าระบบสัมปทาน) ด้วย

ข้อความส่วนนี้น่าจะก่อให้เกิดปัญหากฎหมายตามมาสำหรับผู้ขอรับใบอนุญาตที่มีการถือครองคลื่นความถี่ทุกคลื่นความถี่ในกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่เกินกว่า ๖๐ MHz อยู่ก่อนวันที่เข้าร่วมการประมูล จริงอยู่ที่การกำหนดปริมาณสูงสุดนี้เป็นเงื่อนไขบังคับภายหลังจากที่ผู้ขอรับใบอนุญาตดังกล่าวชนะการประมูลแล้วในอันที่จะต้องคืนคลื่นความถี่ที่ถือครองอยู่เดิมในปริมาณไม่น้อยกว่าปริมาณคลื่นความถี่ที่ประมูลได้ในครั้งนี้ แต่เงื่อนไขนี้มิได้ถูกประกาศให้ทราบล่วงหน้ามาก่อนในระยะเวลาอันสมควรเพียงพอที่ผู้ประกอบกิจการจะวางแผนธุรกิจของตนได้ และมิได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียก่อนที่จะบรรจุเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่ครั้งนี้ ข้อสำคัญคือร่างประกาศฯประมูลคลื่นทั้งสองฉบับไปกำหนดให้คลื่นความถี่ที่ต้องส่งคืนรวมไปถึงคลื่นความถี่ที่ผู้รับใบอนุญาตยังมีสิทธิใช้ประโยชน์ภายใต้ระบบสัมปทานซึ่งได้รับความคุ้มครองตามมาตรา ๘๐ พระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ ด้วย มาตรา ๘๐ นี้เป็นบทเฉพาะการของพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคมฯ ถูกเขียนขึ้นเพื่อรองรับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.๒๕๔๐ และรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.๒๕๕๐ ซึ่งมีเจตนารมณ์ให้กระบวนการเปลี่ยนผ่านกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่ของประเทศไทยเปลี่ยนจากระบบสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาตอย่างเรียบร้อย เกิดความเป็นธรรม และเพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเสมอภาค จึงได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า “ในการประกอบกิจการโทรคมนาคมของการสื่อสารแห่งประเทศไทยหรือองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (...) ถ้าหน่วยงานดังกล่าวได้มีการให้อนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาแก่ผู้ใดเป็นผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมอยู่แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาผู้นั้นยังคงมีสิทธิประกอบกิจการโทรคมนาคมตามขอบเขตและสิทธิที่มีอยู่เดิมตามที่ได้รับอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญานั้นต่อไป จนกว่าการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาดังกล่าวจะสิ้นสุดลง” วรรคสามบัญญัติว่า ในกรณีที่จะมีการทำความตกลงเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญา มาตรา ๘๐ วรรคสาม อนุญาตให้กระทำได้ แต่ต้องมิใช่เป็นการลดหรือจำกัดสิทธิในการประกอบกิจการโทรคมนาคมตามระยะเวลาที่เหลืออยู่ของการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญานั้น และวรรคสี่ว่าในกรณีที่ผู้รับอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญารายใดทำความตกลงกับผู้ให้สัมปทาน เพื่อเปลี่ยนการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญานั้นเป็นการได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ กสทช.ดำเนินการออกใบอนุญาตให้กับผู้รับอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญานั้น โดยให้ได้รับสิทธิประกอบกิจการโทรคมนาคมตามขอบเขตการให้บริการเดิมที่คู่กรณีได้ตกลงกันและตามระยะเวลาที่เหลืออยู่ของการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญานั้น ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้

ผู้เขียนเห็นว่าเงื่อนไขที่กำหนดในข้อ ๒๐ (๑) ของร่างประกาศประมูลคลื่นฯที่กล่าวมามีผลเป็นการรอนสิทธิในทรัพย์สินเอกชนคือประโยชน์จากการใช้คลื่นความถี่ที่ผู้ขอรับใบอนุญาตถือครองอยู่ตามระบบสัมปทานและมีสิทธิใช้คลื่นความถี่นั้นตามระยะเวลาที่เหลืออยู่ของสัมปทานในปริมาณที่เท่ากับปริมาณคลื่นความถี่ที่ผู้ขอรับใบอนุญาตประมูลได้ เพราะการกำหนดให้ต้องคืนคลื่นความถี่ในจำนวนเท่ากับที่ได้รับจัดสรรใหม่ แท้จริงแล้วก็คือการบังคับให้ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องสละสิทธิในการประกอบกิจการบนคลื่นความถี่ที่มีอยู่ตามระยะเวลาของสัมปทานเดิมนั่นเอง ซึ่งเงื่อนไขเรื่องระยะเวลาที่เหลืออยู่ของสัมปทานถือเป็นสาระสำคัญของสัญญาและเป็นหัวใจที่กฎหมายมุ่งคุ้มครองผู้ประกอบกิจการฝ่ายที่มิใช่รัฐ ดังจะเห็นว่าในกรณีที่มีการทำความตกลงเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาของคู่สัญญา การทำความตกลงที่เป็นการลดหรือจำกัดระยะเวลาตามสัญญาสัมปทานนั้นต้องห้ามมิให้กระทำ

ประเด็นที่ ๓ เมื่อมองภาพรวมของข้อความในข้อ ๒๐ แล้ว มีข้อชวนให้คิดว่าเงื่อนไขข้อนี้จะเข้าลักษณะเป็นการตรากฎให้มีผลย้อนหลังในทางที่เป็นผลร้ายต่อผู้ขอรับใบอนุญาตหรือไม่หลักกฎหมายปกครองซึ่งใช้ควบคุมตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำของฝ่ายปกครองมีหลักการสำคัญที่เรียกว่า “หลักห้ามมีผลย้อนหลังในการกระทำที่เป็นผลร้ายต่อบุคคล” ฝ่ายปกครองจะถูกห้ามมิให้ใช้มาตรการที่ออกใหม่ย้อนหลังไปในเหตุการณ์ในอดีต หากการใช้มาตรการใหม่นั้นจะทำให้เอกชนสูญเสียหรือทำลายความแน่นอนแห่งนิติฐานะของเอกชนที่มีมาแต่เดิมในเรื่องนั้น นอกจากนี้ กฎหมายยังให้ความคุ้มครองความเชื่อถือไว้วางใจโดยสุจริตที่บุคคลมีต่อรัฐโดยการห้ามมิให้รัฐตรากฎหมายเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญที่ตรงกันข้ามกับในกฎหมายเดิมและเป็นผลร้ายต่อบุคคลโดยไม่มีบทเฉพาะกาลรองรับ อนึ่ง นอกจากกฎหมายจะห้ามมิให้เจ้าหน้าที่รัฐตรากฎหรือออกมาตรการที่มีผลย้อนหลังในทางที่เป็นผลร้ายต่อบุคคลแล้ว ในพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ มาตรา ๒๗ วรรคสาม ยังได้บัญญัติไว้ชัดแจ้งว่า การใช้อำนาจหน้าที่ของ กสทช. ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการโทรคมนาคมด้วย ดังนั้น เงื่อนไขตามข้อ ๒๐ นี้จึงควรพิจารณาทบทวนมิให้รวมไปถึงคลื่นความถี่ที่ผู้รับใบอนุญาตมีสิทธิใช้งานภายใต้ระบบสัมปทานตามมาตรา ๘๐ พระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔

ประเด็นสุดท้าย ร่างประกาศประมูลคลื่นฯ ข้อ ๒๐ (๓) ก. กำหนดว่าหากคลื่นความถี่ที่ผู้รับใบอนุญาตมีสิทธิใช้งานเป็นคลื่นความถี่ภายใต้การอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาตามมาตรา ๘๐ พระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ ให้ผู้รับใบอนุญาตคืนคลื่นความถี่ดังกล่าวให้แก่ผู้ให้อนุญาต สัมปทาน หรือสัญญานั้น

ผู้เขียนยอมรับว่ารู้สึกแปลกใจกับความในข้อนี้อย่างมากและรู้สึกแย่ยิ่งขึ้นเมื่อคิดไม่ออกว่า กสทช.มีเหตุผลที่น่ารับฟังใดจึงกำหนดเงื่อนไขไว้เช่นนี้ ถึงวันนี้ผู้เขียนมั่นใจว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่ได้รับทราบและเข้าใจตรงกันทั้งหมดว่าประเทศไทยจะเข้าสู่ระบบใบอนุญาตซึ่งมี กสทช.เป็นผู้รวบรวมและจัดสรรคลื่นความถี่ทั้งหมดตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๖๑ เป็นต้นไป จะไม่มีคลื่นความถี่เพื่อการพาณิชย์ใดที่ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่การจัดสรรของ กสทช.อีก และการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคมก็จะเป็นไปอย่างเสรี เสมอภาค เป็นธรรมอย่างแท้จริง

แต่ปรากฏว่าร่างประกาศประมูลคลื่นฯ ฉบับนี้นอกจากไม่คุ้มครองความแน่นอนแห่งนิติฐานะของเอกชนที่มีมาแต่เดิมและความเชื่อถือไว้วางใจโดยสุจริตที่บุคคลมีต่อรัฐแล้ว ยังทำลายเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฯและพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.๒๕๔๔ ที่ต้องการให้ประเทศไทยเข้าสู่ระบบใบอนุญาตภายหลังสัญญาสัมปทานสิ้นสุดอีกด้วย การที่ร่างประกาศฯ กำหนดให้โอนคลื่นความถี่คืนกลับไปให้แก่ผู้ให้สัมปทานอีกครั้งหนึ่งโดยที่ไม่มีหลักประกันว่าผู้รับคืนคลื่นความถี่ไปนั้นจะต้องส่งมอบคลื่นดังกล่าวแก่ กสทช.เพื่อไปจัดสรรใหม่เมื่อใด เท่ากับยอมให้มีข้อระแวงสงสัยว่าระบบสัมปทานดำรงอยู่ต่อไปในรูปแบบจำแลง

ผู้เขียนพยายามคิดว่า กสทช.อาจจะตีความการคุ้มครองสิทธิตามมาตรา ๘๐ พระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคมฯ ว่ารวมไปถึงฝ่ายผู้ให้สัมปทานด้วย แต่ถ้อยคำในมาตรา ๘๐ ก็ชัดเจนเพียงพอที่จะไม่เข้าใจไขว้เขวไปเป็นอย่างอื่นได้ เพราะใช้ถ้อยคำว่า “....ให้ผู้ได้รับใบอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาผู้นั้นยังคงมีสิทธิประกอบกิจการโทรคมนาคมตามขอบเขตและสิทธิที่มีอยู่เดิมตามที่ได้รับอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญานั้นต่อไป จนกว่าการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาดังกล่าวจะสิ้นสุดลง” ซึ่งหมายความว่ากฎหมายคุ้มครองเฉพาะฝ่ายผู้รับสัมปทานเท่านั้น ดังนั้น หากจะมีกรณีที่ผู้รับสัมปทานรายใดแสดงเจตนาสละสิทธิ์การถือครองคลื่นความถี่ตามสัญญาสัมปทานฉบับใด ย่อมต้องตีความว่าสัญญาสัมปทานฉบับนั้นสิ้นสุดลง คลื่นความถี่นั้นย่อมต้องถูกส่งคืนไปยัง กสทช.ในฐานะองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการรวบรวมและจัดสรรคลื่นความถี่ กรณีไม่อาจตีความได้เลยว่าเมื่อเอกชนสละสิทธิ์แล้ว สิทธิในการประกอบกิจการและสิทธิในการใช้คลื่นความถี่ตามสัญญาสัมปทานฉบับนั้นของฝ่ายผู้ให้สัมปทานจะยังคงอยู่ดังนั้น ร่างประกาศประมูลคลื่นฯ ข้อ ๒๐ (๓) ก. จึงขัดแย้งกับมาตรา ๘๐ ของพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.๒๕๔๔และพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมพ.ศ. ๒๕๕๓

โดยสรุปในโอกาสที่ กสทช.เปิดรับฟังความคิดเห็นจากสังคมเกี่ยวกับร่างประกาศฯ ประมูลคลื่น 1800 และ 900 MHz ทั้งสองฉบับ ผู้เขียนขอเสนอให้ กสทช.ดึงเอาเงื่อนไขการจำกัดการถือครองคลื่นความถี่ (spectrum cap) ตามข้อ ๒๐ ออกไปจากร่างประกาศฯ ประมูลคลื่น 1800 และ 900 MHz เพื่อนำไปบัญญัติในประกาศซึ่งมีสภาพเป็นกฎที่มีผลบังคับโดยทั่วไปแทน และการมีเงื่อนไข spectrum cap ไม่ควรรวมไปถึงคลื่นความถี่ที่ผู้รับใบอนุญาตมีสิทธิใช้งานภายใต้ระบบสัมปทานตามมาตรา ๘๐ พระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ ซึ่งสัญญาฉบับสุดท้ายกำลังจะหมดอายุในปี พ.ศ.๒๕๖๑ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการตรากฎหรือออกมาตรการที่มีผลย้อนหลังในทางที่เป็นผลร้ายต่อผู้ประกอบการ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กสทช.ไม่ควรตรากฎหรือคำสั่งใดๆ ที่จะส่งผลให้คลื่นความถี่กลับไปอยู่ในมือของผู้ให้สัมปทาน หรือหน่วยงานของรัฐ หรือบุคคลใดๆ อีกที่มิใช่ กสทช. เพื่อให้ยุคสัญญาสัมปทานปิดฉากลงได้เสียที

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รอบโลกแรงงานกรกฎาคม 2015

$
0
0
 
คนงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปกัมพูชาเกือบ 200 คน เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลหลังเป็นลมหมู่ตามโรงงานแห่งต่างๆ
 
2 ก.ค. 2015 เจ้าหน้าที่กัมพูชาเปิดเผยว่า ในช่วงสัปดาห์นี้มีคนงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปกัมพูชาเกือบ 200 คน เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลหลังเป็นลมหมู่ตามโรงงานแห่งต่างๆ ก่อให้เกิดความวิตกกังวลครั้งใหม่เกี่ยวกับสภาพการทำงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอที่สำคัญของประเทศ คนงานอย่างน้อย 61 คน ของโรงงานใน จ.ตาแก้ว ทางภาคใต้ เป็นลมล้มป่วยเมื่อวันพุธ (1 ก.ค. ) ตามการเปิดเผยของ นายเจียว บุนริธ โฆษกกองทุนประกันสังคมแห่งชาติ (NSSF) เหตุล้มป่วยนี้เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์พนักงาน 89 คน ของโรงงานใน จ.กันดาล เป็นลมช่วงระหว่างวันจันทร์ (29 มิ.ย.) และวันอังคาร (30 มิ.ย.) และมีคนงาน 36 คน ของโรงงานที่ตั้งอยู่ชานกรุงพนมเปญอีกแห่งหนึ่ง เป็นลมหมู่ในเช้าวันอังคาร (30 มิ.ย.) บุนริธ กล่าว
 
เจีย มุนี หัวหน้าสหภาพแรงงานเสรีในราชอาณาจักรกัมพูชา กล่าวว่า คนงาน 61 คน ของโรงงานใน จ.ตาแก้ว มีอาการปวดหัว เวียนศีรษะ และเป็นลมหลังทานอาหารปนเปื้อนที่ขายอยู่นอกโรงงานในช่วงพักกลางวัน โดยคนงานทั้งหมดถูกส่งไปรักษาที่โรงพยาบาล คนงานกัมพูชาประมาณ 700,000 คน เป็นกระดูกสันหลังของอุตสหากรรมตัดเย็บเสื้อผ้ามูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ของประเทศ ที่จัดส่งสินค้าให้แก่แบรนด์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Gap Nike และ H&M และยังเป็นแหล่งรายได้จากต่างชาติแหล่งสำคัญ และตามการรายงานของกระทรวงแรงงานระบุว่า ภาคส่วนนี้ส่งออกผลิตภัณฑ์ประมาณ 6,200 ล้านดอลลาร์ในปีก่อน คิดเป็น 80.5% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของประเทศ
 
เหตุเป็นลมหมู่ที่เกิดขึ้นนี้มักกล่าวโทษว่า มีสาเหตุมาจากสุขภาพที่ย่ำแย่ สภาพการทำงานที่ไม่ดี การระบายอากาศไม่ดี หรือการสัมผัสต่อสารเคมีอันตราย ขณะเดียวกัน นักจิตวิทยาระบุว่า อุปทานหมู่สามารถติดต่อกันได้ ที่กลุ่มคนจำนวนมากอยู่ๆ ก็รู้สึกเจ็บป่วยเมื่อบางคนเริ่มแสดงอาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพวกเขาทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีความกดดันสูง ด้านกลุ่มสหภาพแรงงานกัมพูชา ระบุว่า สภาพการทำงานของแรงงานจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงอีกมาก
 
“เหตุเป็นลมของบรรดาแรงงานในที่ทำงานยังคงเป็นเรื่องที่น่าวิตก รัฐบาล และนายจ้างล้มเหลวที่จะดูแลสุขภาพของแรงงาน” เจีย มุนี หัวหน้าสหภาพแรงงานเสรีในราชอาณาจักรกัมพูชา กล่าว
ข้อพิพาทขัดแย้งเกี่ยวกับค่าแรง ความปลอดภัย และสภาพการทำงานในอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปของกัมพูชามักเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และบางครั้งกลายเป็นความรุนแรง.
 
อัตราว่างงานสหรัฐลดลงต่ำสุดในรอบ 7 ปี
 
3 ก.ค. 2015 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 2 ก.ค. ว่า กระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกา เผยรายงานเมื่อวันพฤหัสบดี ว่าเศรษฐกิจสหรัฐเพิ่มงานใหม่อีก 223,000 ตำแหน่งในเดือน มิ.ย. ขณะที่อัตราว่างงานลดลงจากร้อยละ 5.5 ในเดือน พ.ค. สู่ระดับร้อยละ 5.3 ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 2008 แต่การจ้างงานในช่วง 2 เดือน เม.ย. - พ.ค. ถูกปรับลดลง 60,000 ตำแหน่ง จากการประเมินของรัฐบาลก่อนหน้านี้ แสดงให้เห็นถึงการจ้างงานใหม่ ทั้งในภาคธุรกิจเอกชนและรัฐบาลสหรัฐ ยังเป็นไปอย่างพอประมาณมากกว่าที่คิด รายงานระบุอีกว่า ยังไม่มีความเคลื่อนไหวในทางบวก สำหรับอัตราค่าจ้างแรงงาน โดยค่าจ้างโดยเฉลี่ยยังอยู่ที่ชั่วโมงละ 24.95 ดอลลาร์ เท่ากับเดือน พ.ค. แต่สูงขึ้นร้อยละ 2.0 เมื่อเทียบอัตราปีต่อปี อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการจ้างงานใหม่ และอัตราว่างงานล่าสุดตามที่ประกาศ แสดงให้เห็นว่า ตลาดแรงงานของสหรัฐกำลังเคลื่อนเข้าใกล้ภาวะสมบูรณ์เต็มที่ และทำให้เกิดกระแสคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อย่างเร็วที่สุดในเดือน ก.ย.
 
"บีบีซี" ปลดพนักงานกว่าพันตำแหน่ง
 
3 ก.ค. 2015 บรรษัทแพร่ภาพกระจายเสียงอังกฤษหรือบีบีซี สถานีโทรทัศน์ชื่อดัง ประกาศแผนลดพนักงานมากกว่า 1,000 ตำแหน่ง เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามลดค่าใช้จ่ายระยะยาวเพราะรายได้ลดลง เนื่องจากพฤติกรรมคนดูที่เปลี่ยนไป ทั้งนี้บีบีซีเป็นสำนักข่าวของอังกฤษที่มีอายุเกือบ 100 ปี และได้รับการสนับสนุนจากเงินภาษีของประชาชน ทุกครัวเรือนที่มีการรับชมรายการทางโทรทัศน์ จะต้องจ่ายเงินค่าธรรมเนียมรับชมโทรทัศน์ประจำปีเป็นจำนวนเงิน 145.50 ปอนด์ ประมาณ 227 ดอลลาร์
 
แต่เนื่องจากปัจจุบัน ประชาชนหันไปรับชมรายการต่างๆทางออนไลน์มากขึ้น ทำให้มีจำนวนครัวเรือนที่ควักกระเป๋าจ่ายค่ายบริการเพื่อรับชมรายการต่างๆของบีบีซีทางโทรทัศน์ลดลงมากกว่าคาด จึงประมาณการณ์ว่าบีบีซี จะมีรายได้เพียง 150 ล้านปอนด์ จากการเก็บค่าธรรมเนียมในปีงบการเงิน 2016/2017 น้อยกว่าจากที่คาดหมายไว้เมื่อ 4 ปีก่อน
 
ผู้อำนวยการของบีบีซี นายโทนี ฮอล์ ระบุว่า บีบีซี ได้รวมแผนกต่างๆ ปรับลดพนักงาน ส่วนใหญ่เป็นด้านผู้เชี่ยวชาญและสนับสนุนปฏิบัติการ ขณะเดียวกัน ก็จะมีการปรับปรุงโครงสร้างด้านบริหารจัดการให้คล่องตัวขึ้น ซึ่งการปรับลดพนักงาน 1,000 ตำแหน่ง จะช่วยประหยัดงบประมาณให้บริษัทได้ 50 ล้านปอนด์ต่อปี ก่อนหน้านี้ บีบีซี เคยปรับลดพนักงานมาแล้ว 2,000 ตำแหน่งในเดือนพฤศจิกายน 2011 แต่ต่อมาได้มีการพิจารณาใหม่และปรับลดพนักงานแค่ 580 ตำแหน่ง
 
สหพันธ์แรงงานเมียนมาร์ยอมรับค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาลที่ 3,600 จ๊าด
 
3 ก.ค. 2015 สหพันธ์แรงงาน 5 แห่งของเมียนมาร์ในกรุงย่างกุ้งลงมติยอมรับการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำของทางรัฐบาลในการเจรจาขั้นสุดท้าย และระบุว่าจะไม่มีการเจรจาในประเด็นนี้ต่อไปอีก ก่อนหน้านี้ ในวันที่ 29 มิ.ย. รัฐบาลเมียนมาร์กำหนดค่าแรงขั้นต่ำที่ระดับ 3,600 จ๊าด (3.27 ดอลลาร์) หรือราว 111 บาท สำหรับแรงงานทั่วประเทศ หลังการเจรจาระหว่างฝ่ายรัฐบาล นายจ้าง และแรงงานเป็นเวลา 1 ปี นอกจากนี้ สหพันธ์แรงงานทั้ง 5 ยังย้ำความจำเป็นในการจัดตั้งคณะกรรมการฝ่ายเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งประกอบด้วยฝ่ายรัฐบาล นายจ้าง และแรงงาน
 
คำสั่งให้โรงงานหยุดกิจการทำให้คนงานจีนตกงานราว 60,000 คน
 
4 ก.ค. 2015 สื่อจีนรายงานว่าการประกาศสงครามกับมลภาวะในประเทศจีน นำไปสู่การสั่งปิดโรงงานที่ก่อปัญหามลภาวะหลายแห่งในมณฑลซันตง ทำให้โรงงานเหล่านั้นไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้ของตน และส่งผลให้บรรดาคนงานพากันตกงาน หลังจากที่ ผู้ว่าราชการจังหวัดหลินอี๋ ถูกกระทรวงพิทักษ์สิ่งแวดล้อมเรียกให้เข้าพบ เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับปัญหามลภาวะท้องถิ่นในหลินอี๋ รัฐบาลท้องถิ่นก็ได้สั่งให้โรงงานต่างๆ จำนวน 57 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่ผลิตเหล็ก เซรามิค แก้ว และถ่านหินโค๊ก หยุดกิจการตั้งแต่เดือน มี.ค. ที่ผ่านมา โดยหลังจากที่โรงงานเหล่านั้นหยุดการผลิต ก็พบว่าคุณภาพอากาศในเมืองพัฒนาขึ้นอย่างมาก ผลการสำรวจชี้ว่าระดับ PM2.5 ลดลงถึง 24.3 เปอร์เซ็นต์
 
อย่างไรก็ตาม สื่อท้องถิ่นรายงานว่า คำสั่งดังกล่าวทำให้คนงานตกงานราว 60,000 คน นอกจากนี้ ทางตำรวจเปิดเผยว่า หลายเดือนที่ผ่านมา มีคดีอาชญากรรม ลักทรัพย์ ชิงทรัพย์มากขึ้นกว่าปกติ
 
ด้านโรงงานต่างๆก็ไม่สามารถจำหน่ายสินค้า เพื่อนำเงินมาชำระหนี้ได้ รายงานระบุว่า รัฐบาลท้องถิ่นหลินอี๋พยายามบรรเทาผลกระทบจากคำสั่งฯ โดยได้อัดฉีดเงิน 70 ล้านหยวน หรือราว 350 ล้านบาทให้แก่บริษัทเอกชนแห่งใหญ่รายหนึ่งในเดือนที่แล้ว เพื่อให้นำไปชำระหนี้ซึ่งครบกำหนดชำระ โรงงานหลายแห่งร้องเรียนว่าคำสั่งปิดโรงงานกระทันหันเกินไป ก่อให้เกิดความเสียหายต่ออุปกรณ์การผลิตต่างๆ โดยโรงงานผลิตกระจกแห่งหนึ่งถูกตัดไฟ ขณะกำลังหลอมแก้วและดีบุก ราว 2,000 ตันในเตาหลอม ส่วนโรงงานผลิตแก้วอีกแห่งหนึ่งเปิดเผยว่า จำเป็นต้องใช้เงินทุนจำนวนมหาศาล เพื่อที่จะจุดเตาหลอมใหม่อีกครั้งหนึ่ง
 
สื่อจีนระบุว่าบรรดาสินค้าที่อยู่ในเมืองหลินอี๋ มูลค่านับ 3 แสนล้านหยวนหรือราว 1.5 ล้านล้านบาท มีสินค้ามูลค่าราวแสนล้านหยวน หรือราว 5 แสนล้านบาทมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับโรงงานที่ถูกสั่งหยุดดำเนินกิจการ ซึ่งหากโรงงานเหล่านี้ไม่สามารถปฎิบัติตามสัญญาได้ อาจเกิดปัญหาขาดแคลนสินค้าในไม่ช้า รายงานระบุว่า โรงงานส่วนใหญ่ไม่ได้ผ่านการตรวจสอบผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก่อนที่จะเปิดดำเนินการ เนื่องจาก รัฐบาลท้องถิ่นซึ่งชักชวนให้พวกเขาเข้ามาลงทุนในเมืองหลินอี๋ รับปากว่าจะจัดการ “งานเอกสาร” ต่างๆให้ โรงงานบางแห่งเปิดใจว่ารู้สึกเหมือนถูกรัฐบาลท้องถิ่นหักหลัง
 
ชาวเน็ตด่ายับ บริษัทจีนห้ามพนักงาน 'ตั้งครรภ์' นอกเวลาที่กำหนด
 
6 ก.ค. 2015 บริษัทเงินกู้แห่งหนึ่งในเมืองซันหยัง มณฑลเหอหนัน โดนชาวเน็ตจีนจวกยับหลังตั้งกฎโหด "ห้ามพนักงานตั้งครรภ์นอกเวลาที่บริษัทอนุญาต" กฎดังกล่าวระบุไว้ว่า พนักงานหญิงที่สมรสแล้วและเข้าทำงานมาครบหนึ่งปี สามารถยื่นคำร้องขอตั้งครรภ์ต่อบริษัท โดยบริษัทจะจัดสรรช่วงเวลาที่เหมาะสมและกำหนดให้เป็นช่วงเวลาที่ลูกจ้างสามารถตั้งครรภ์ได้ พนักงานที่ตั้งครรภ์นอกช่วงเวลาที่บริษัทฯ กำหนด จะถูกปรับเป็นเงิน 1,000 หยวน หรือราว 5,000 บาท และจะไม่ได้รับพิจารณาเลื่อนตำแหน่ง นอกจากนี้ในกรณีที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อหน้าที่ อาจถูกลดเงินเดือนและหักเงินโบนัสปลายปีอีกด้วย พนักงานหญิงในบริษัทฯ เปิดใจว่าพนักงานหลายคนไม่มีทางเลือก เนื่องจากไม่ต้องการหางานใหม่ จึงจำต้องก้มหน้ายอมรับข้อบังคับที่บริษัทฯ กำหนด ซึ่งหลังจากข้อบังคับของบริษัทดังกล่าวแพร่สะพัดออกไป กฎดังกล่าวก็ได้กลายเป็นประเด็นในการวิพากษ์วิจารณ์ของชาวเน็ตแดนมังกรอย่างกว้างขวาง
 
ทางฝ่ายบริษัทฯ ได้ออกโรงชี้แจงว่า กฎดังกล่าวเป็นประโยชน์ในการบริหารทรัพยากรบุคคลของบริษัท เป็นการป้องกันการขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากพนักงานหญิงจำนวนมากลาคลอดพร้อมๆ กัน ขณะนี้บริษัทฯยังไม่ได้บังคับใช้กฎดังกล่าว โดยบริษัทฯกำลังรับฟังความคิดเห็นของพนักงาน และในกรณีที่พนักงานส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยก็จะไม่นำกฎดังกล่าวมาใช้ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานควบคุมประชากร ชี้ว่าข้อบังคับดังกล่าวไม่สมเหตุผลและขัดต่อกฎหมายอีกด้วย
 
โรงงานผลิตรองเท้าจีนถล่ม ตายอย่างน้อย 11 ราย
 
7 ก.ค. 2015 จากรายงานสำนักข่าวเอเอฟพี เมื่อวันอาทิตย์ที่ (6 ก.ค.) ผ่านมา ในเมืองเวิ่นหลิง ของมณฑลเจ้อเจียง ประเทศจีน เกิดเหตุโรงงานผลิตรองเท้าแห่งหนึ่งถล่ม เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 11 ราย รายงานระบุว่า ช่วงเวลาดังกล่าวมีพนักงานทำงานอยู่มากกว่า 50 คน ซึ่งมีพนักงานมากกว่า 40 คน ถูกช่วยชีวิต หรือวิ่งหนีออกมาได้ทัน ขณะที่มีผู้บาดเจ็บทั้งหมด 33 คน ในจำนวนดังกล่าว 4 คน ได้รับบาดเจ็บสาหัส นอกจากนี้ ยังมีคนหายสาบสูญอีก 3 คน ขณะที่สำนักข่าวซินหัวของจีนเผยว่า สาเหตุของเหตุการณ์ครั้งนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบ สำหรับเหตุการณ์ตึกถล่มและอุบัติเหตุในโรงงานนั้น ถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในเมืองจีน เนื่องจากโครงสร้างและสิ่งอำนวยความสะดวกหลายแห่งค่อนข้างมีอายุ ประกอบกับปัญหาความหย่อนยานของระบบป้องกันภัย
 
"สหรัฐฯ" เตรียมลดกำลังพลทหารต่ำสุดในรอบ 75 ปี
 
8 ก.ค. 2015 ผู้สื่อข่าวรายงานว่ากองทัพสหรัฐอเมริกาเตรียมปรับลดกำลังพลทหาร 40,000 นาย ออกจากกองทัพในเวลา 2 ปี พร้อมประมาณตัดงบประมาณกองทัพและเตรียมเลิกจ้างพนักงานพลเรือนในกองทัพอีก 17,000 ตำแหน่งด้วย แผนดังกล่าวจะถูกประกาศอย่างเป็นทางการในช่วงปลายสัปดาห์นี้ ซึ่งภายในปี 2017 กองทัพสหรัฐฯจะเหลือทหารทั้งหมด 450,000 นาย
รายงานระบุอีกว่า เมื่อปี 2012 ในช่วงความขัดแย้งระหว่างประเทศอิรักและอัฟกานิสถานนั้น สหรัฐอเมริกามีกำลังพลทั้งหมด 570,000 ก่อนทยอยถอนกำลังออกจากประเทศดังกล่าวเรื่อย ๆ ซึ่งปัจจุบันมีทหารประจำการในอัฟกานิสถาน 10,000 นาย เพื่อช่วยเหลือและต่อสู้กับกองกำลังตาลีบัน หลังแผนถอนกำลังออกจากประเทศถูกเลื่อนให้มีผลบังคับในปีหน้า ขณะเดียวกัน ยังมีทหารสหรัฐฯ ในอิรัก อีก 3,500 นาย เพื่อช่วยกองทัพอิรักต่อสู้กับกองกำลังรัฐอิสลามแห่งอิรักและซีเรีย
 
ทั้งนี้แผนปรับลดกำลังพลครั้งนี้ ทำให้สหรัฐฯมีทหารในกองทัพน้อยที่สุด นับตั้งแต่ปี 1940 หนึ่งปีก่อนการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 ของสหรัฐฯ ซึ่งในขณะนั้นมีทหารประจำการทั้งหมด 270,000 นาย
 
สิงคโปร์กระตุ้นการจ้างงานประชากรของประเทศ
 
8 ก.ค. 2015 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากประเทศสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 8 ก.ค. ว่า กระทรวงแรงงานสิงคโปร์แถลงนโยบายเพื่อเพิ่มโอกาสการจ้างงานในประเทศแก่ชาวสิงคโปร์ โดยนับแต่วันที่ 1 ต.ค. เป็นต้นไป รัฐบาลจะจ่ายเงินอุดหนุนให้แก่นายจ้างร้อยละ 10 - 40 ของรายได้ต่อเดือน แต่ไม่เกิน 2,800 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 70,000 บาท) เพื่อให้จ้างพนักงานระดับผู้จัดการหรือผู้เชี่ยวชาญในวิชาชีพของงานระดับกลางที่เป็นคนท้องถิ่น และต้องจ่ายค่าจ้างให้อย่างน้อย 4,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 100,000 บาท) ต่อเดือน หากผู้นั้นมีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป และว่างงานมาอย่างน้อย 6 เดือน รัฐบาลเรียกร้องให้นายจ้างลงประกาศหางานในแหล่งที่ชาวสิงคโปร์สามารถเข้าถึงได้ และให้พิจารณาผู้สมัครที่เป็นชาวสิงคโปร์ก่อนชาวต่างชาติ นอกจากส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานในท้องถิ่นแล้ว รัฐบาลยังมีแผนคุมเข้มมาตรการจ้างงานชาวต่างชาติ ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นประเด็นที่สร้างความไม่พอใจให้แก่ประชาชนอย่างมาก เพราะพวกเขารู้สึกว่าตลาดงานในประเทศกำลังถูกครอบครองโดยชาวต่างชาติ โดยตัวเลขการว่างงานของสิงคโปร์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา วนเวียนอยู่ที่ประมาณร้อยละ 2
 
ไมโครซอฟท์สุดอ่วม ประกาศโละพนง.7,800 ตำแหน่ง หลังลงทุนสมาร์ทโฟนขาดทุน
 
9 ก.ค. 2015 สำนักข่าวเทเลกราฟรายงานว่าบริษัทไมโครซอฟท์เตรียมปลดพนักงานกว่า 7,800 ตำแหน่งของโนเกีย ซึ่งไมโครซอฟท์ได้ซื้อกิจการมาเมื่อ 2 ปีที่แล้ว รวมถึงจะลดมูลค่าในธุรกิจโทรศัพท์โนเกียราว 7.6 พันล้านดอลลาร์อีกด้วย รายงานระบุว่า นายสัตยา นาเดลลา ผู้บริหารบริษัทไมโครซอฟท์คนที่ 3 วัย 47 ปี เตรียมปลดพนักงานครั้งใหญ่ในอีกหลายเดือนข้างหน้า ซึ่งนับป็นการปลดพนักงานครั้งที่ 2 ในรอบ 17 เดือนตั้งแต่นายนาเดลลาเข้ารับตำแหน่ง หลังจากที่มีการปลดพนักงาน 18,000 ตำแหน่งเมื่อปีที่แล้ว โดยการเลิกจ้างส่วนใหญ่จะเป็นพนักงานของโนเกีย ซึ่งมีประมาณ 6.5 เปอร์เซ็นต์ของพนักงานทั้งหมดราว 120,000 คน
 
ขณะที่สาเหตุการปลดพนักงานครั้งนี้มาจากการที่ธุรกิจโทรศัพท์มือถือของไมโครซอฟท์ที่ซื้อกิจการของโนเกียเพื่อผลิตสมาร์ทโฟน ไม่ประสบความสำเร็จตามที่คาดหวัง โดยก่อนหน้านี้นายสตีฟ บัลเมอร์ อดีตผู้บริหารไมโครซอฟท์ ได้ใช้เงินกว่า 9.5 พันล้านดอลลาร์ในการซื้อกิจการของโนเกียเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เพื่อที่จะแข่งขันกับแอปเปิลและกูเกิลที่ครองตลาดอยู่ หรือเป็นการลดลง 80 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าธุรกิจในโทรศัพท์โนเกีย
 
ด้านนายนาเดลลาได้กล่าวว่า แม้ว่าจะมีการปลดพนักงานครั้งใหญ่ แต่ธุรกิจโทรศัพท์มือถือของไมโครซอฟท์นั้นยังคงมีอยู่ และมีความจำเป็นที่จะต้องมีขนาดเล็กลงและไม่ทะเยอทะยานเกินตัว รวมถึงจะต้องทำงานร่วมกับส่วนอื่นๆของบริษัทได้อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้จะมีการเน้นไปที่ยอดขายของซอฟท์แวร์มากกว่า โดยเฉพาะโปรแกรมที่จะสามารถใช้ได้ในอุปกรณ์ของคู่แข่งได้ ทั้งนี้ในช่วงสิ้นเดือนนี้ ไมโครซอฟท์จะเปิดตัว "วินโดว์10" ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ใหม่ล่าสุดตั้งแต่ปี 2012
 
นักข่าว "AFP" สื่อฝรั่งเศสนัดหยุดงานประท้วงนายจ้างยกเลิกข้อตกลงร่วม
 
10 ก.ค. 2015 สมาคมนักข่าวแห่งยุโรป (EFJ) เผยแพร่รายงานการนัดหยุดงานของนักข่าวของสำนักข่าว AFP สื่อดังของฝรั่งเศส และเป็นสำนักข่าวหลักแห่งหนึ่งของโลก เพื่อประท้วงบริษัทที่ตัดสินใจยกเลิกข้อตกลงร่วมระหว่างฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างรวม 117 ฉบับ และสัญญาทางธุรกิจอื่นๆ EFJ และ สมาคมนักข่าวนานาชาติ (IFJ) ได้ร่วมกันเรียกร้องให้นายเอ็มมานูเอล ฮุก ผู้บริหารสูงสุดของ AFP เพิกถอนการตัดสินใจยกเลิกข้อตกลงร่วมดังกล่าว โดยกล่าวว่า โครงสร้างความสัมพันธ์ของลูกจ้างและนายจ้างของเอเอฟพีซึ่งใช้มาหลายสิบปีได้ให้ความคุ้มครองที่จำเป็นต่อนักข่าว และพนักงานของสำนักข่าวแห่งนี้ อันเป็นหัวใจสำคัญขององค์กรวิชาชีพสื่อที่จะต้องให้ความคุ้มครองโครงสร้างดังกล่าว ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากทั้ง IFJ และ EFJ ทั้งนี้พนักงานของเอเอฟพีเริ่มหยุดงานตั้งแต่วันอังคารที่ผ่านมา และเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาทางสหภาพได้ลงมติยืดระยะเวลาการหยุดงานออกไปอีกจนถึงเที่ยงของวันศุกร์นี้ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งจะมีการลงมติอีกครั้ง
 
แรงงานพม่าเรียกร้องปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำในบริเวณย่านชานเมืองของนครย่างกุ้ง
 
12 ก.ค. 2015 คนงานโรงงานราว 250 คนในพม่าจัดชุมนุมประท้วงอย่างสันติที่ย่านชานเมืองของนครย่างกุ้งวานนี้ เพื่อเรียกร้องปรับเพิ่มค่าแรงรายวันขั้นต่ำให้สูงกว่าที่ทางการเสนอ โดยต้องการให้ทางการปรับเพิ่มค่าแรงรายวันขั้นต่ำเป็น 4,000 จ๊าต หรือราว 120 บาท จากเดิม 3,600 จ๊าต หรือราว 108 บาท ที่คณะกรรมการค่าแรงขั้นต่ำแห่งชาติได้เสนอไว้เมื่อเดือนก่อนหลังเจรจาต่อรองกันยาวนานระหว่างรัฐบาล ลูกจ้าง และนายจ้าง ค่าแรงรายวันขั้นต่ำในปัจจุบันอยู่ที่ 3,000 จ๊าต หรือราว 90 บาท ซึ่งธุรกิจขนาดเล็กที่จ้างคนงานน้อยกว่า 15 คน ไม่ได้รับผลกระทบ แต่เจ้าของโรงงานระบุว่า การปรับเพิ่มค่าแรงจะกระทบต่อประสิทธิภาพในการดำเนินการ และโรงงานสิ่งทอที่มีเจ้าของเป็นชาวจีน หรือเกาหลีได้ขู่ว่าจะปิดตัวหากให้มีการดำเนินการตามข้อเรียกร้องนี้
 
สิงคโปร์ออกกฎจ้างคนในประเทศ
 
13 ก.ค. 2015 สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีนโยบายเปิดรับชาวต่างชาติเข้าไปทำงาน โดยเฉพาะผู้ที่มีฝีมือ มีทักษะ และมีความสามารถสูง ก็จะได้รับรายได้ที่ล่อใจอยากให้เข้าไปทำงานในสิงคโปร์ แต่ก็ทำให้คนสิงคโปร์มีอัตราว่างงานที่ร้อยละ 2 รัฐจึงต้องมีระเบียบส่งเสริมการจ้างงานแรงงานในประเทศมากขึ้น เพื่อลดสัดส่วนลูกจ้างที่เป็นชาวต่างชาติ กระทรวงแรงงานสิงคโปร์แถลงนโยบายใหม่ที่จะเพิ่มโอกาสการจ้างงานในประเทศแก่ชาวสิงคโปร์ โดยนับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป รัฐบาลจะจ่ายเงินอุดหนุนให้แก่นายจ้างร้อยละ 10 - 40 ของรายได้ต่อเดือน แต่ไม่เกิน 2,800 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 70,000 บาท) เพื่อให้จ้างพนักงาน
 
ระดับผู้จัดการหรือผู้เชี่ยวชาญในวิชาชีพของงานระดับกลางที่เป็นคนท้องถิ่น และต้องจ่ายค่าจ้างให้อย่างน้อย 4,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 100,000 บาท) ต่อเดือน หากผู้นั้นมีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป และว่างงานมาอย่างน้อย 6 เดือน รัฐบาลยังเรียกร้องให้นายจ้างต้องลงประกาศหางานในแหล่งที่ชาวสิงคโปร์สามารถเข้าถึงได้ และให้พิจารณาผู้สมัครที่เป็นชาวสิงคโปร์ก่อนชาวต่างชาติ นอกจากส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานในท้องถิ่นแล้ว รัฐบาลยังมีแผนคุมเข้มมาตรการจ้างงานชาวต่างชาติ ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นประเด็นที่สร้างความไม่พอใจให้แก่ประชาชนอย่างมาก เพราะคนสิงคโปร์รู้สึกว่าตลาดงานในประเทศกำลังถูกครอบครองโดยชาวต่างชาติ โดยตัวเลขการว่างงานของสิงคโปร์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา วนเวียนอยู่ที่ประมาณร้อยละ 2 มาตรการนี้ก็หวังจะเอื้อให้คนสิงคโปร์ว่างงานลดลงและลดกระแสไม่พอใจรัฐบาล
 
อังกฤษจ่อออกกฎเข้มห้าม นศ.ต่างชาติทำงานระหว่างเรียน
 
13 ก.ค. 2915 เว็บไซต์ข่าว 'อินดิเพนเดน' รายงานว่า สหราชอาณาจักรเตรียมออกกฎห้ามนักศึกษาต่างชาติทำงานระหว่างเรียน ป้องกันไม่ให้นักศึกษาต่างชาติเข้ามาแทรกในตลาดแรงงานของประเทศ โดยมีผลบังคับใช้ภายในเดือนสิงหาคม ทั้งนี้ทางยังนโยบายว่า หากนักศึกษาเรียนจบหลักสูตรเมื่อใด จะบังคับให้กลับประเทศให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อป้องกันไม่ให้นักศึกษาเหล่านี้ปักหลักทำงานในสหราชอาณาจักร โดยหากประสงค์จะทำงานหรืออาศัยอยู่ต่อที่สหราชอาณาจักร ก็ต้องดำเนินการยื่นวีซ่าทำงานจากประเทศบ้านเกิด ข้อบังคับนี้จะเตรียมเสนอต่อสมาชิกรัฐสภาภายในสัปดาห์หน้า หากได้รับการอนุมัติจะมีผลบังคับใช้ภายในสิงหาคมนี้
 
บริษัทนมรายใหญ่นิวซีแลนด์จะลดพนักงาน
 
16 ก.ค. 2015 บริษัทฟอนเทียร่า ผู้ผลิตนมรายใหญ่ของนิวซีแลนด์แถลงวันนี้ว่า บริษัทจะลดตำแหน่งงานลง 523 อัตรา ท่ามกลางภาวะราคาผลิตภัณฑ์นมลดลงในตลาดโภคภัณฑ์ต่างประเทศ นายธีโอ สปีริงส์ ประธานคณะบริหารฟอนเทียร่า ซึ่งเป็นบริษัทแปรรูปผลิตภัณฑ์นมรายใหญ่ที่สุดในโลกแถลงว่า บริษัทกำลังดำเนินการทบทวนแผนธุรกิจทั่วองค์กร ซึ่งจะส่งผลให้ต้องลดพนักงาน 523 อัตรา คาดว่าจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ปีละ 55-60 ล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ และว่า การลดจำนวนพนักงานเป็นเรื่องของการพัฒนาภาคประกอบการให้ดีขึ้น เวบไซต์บริษัทฟอนเทียร่าระบุว่า มีพนักงานจำนวน 16,800 คน ราว 2 ใน 3 อยู่ที่นิวซีแลนด์ แต่ไม่ได้ระบุว่าการลดพนักงานจะมีที่ใดบ้าง
 
เหมืองถ่านหินถล่มในฟิลิปปินส์ มีผู้เสียชีวิต 9 ราย
 
17 ก.ค. 2015 นางโรโดรา คาเดียโอ ผู้ว่าการจังหวัดแอนทีค ในภาคกลางของฟิลิปปินส์กล่าววันนี้ว่า เกิดเหตุเหมืองถ่านหินบนเกาะที่อยู่ห่างไกลพังถล่มเป็นบางส่วน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 5 คน ส่วนอีก 4 คน คาดว่าจะเสียชีวิตด้วยเช่นกัน คนงานเหมืองถ่านหินกำลังใช้เครื่องมือหนักในการสูบน้ำทะเลออกจากเหมืองเปิดก่อนที่กำแพงจะพังลงมาและฝังพวกเขาไว้ นอกจากนั้นยังเกิดฝนตกหนักในบริเวณดังกล่าวด้วย นางคาเดียโอ กล่าวว่า คนงานถูกฝั่งด้วยโคลนและน้ำและผู้ที่สูญหายไป 4 คน คาดว่าจะเสียชีวิตแล้ว เหมืองได้หยุดดำเนินการหลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวและขณะนี้ได้เริ่มการสอบสวนหาสาเหตุแล้ว คนงาน 8 คนที่รอดชีวิตเปิดเผยว่า น้ำทะเลได้เริ่มซึมเข้ามาในเหมืองมานานหลายเดือนแล้ว
 
ครึ่งแรกปีนี้กัมพูชาให้ใบอนุญาตทำงานแก่คนต่างชาติ 25,000 คน
 
17 ก.ค. 2015 หนังสือพิมพ์พนมเปญโพสต์ในกัมพูชารายงานว่า ช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้กระทรวงแรงงานออกใบอนุญาตทำงานให้แก่ชาวต่างชาติแล้ว 25,000 ใบ มากกว่าปีที่แล้วทั้งปี 5,000 ใบ เป็นผลจากความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย รายงานอ้างนายอิธ สัมเฮง รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานว่า มีชาวต่างชาติยื่นขอใบอนุญาตทำงานมากขึ้นในปีนี้ เป็นผลจากความร่วมมือระหว่างกระทรวงแรงงานกับกระทรวงมหาดไทย ขณะที่นายสก พาล อธิบดีสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองกล่าวว่า กำลังดำเนินการปราบปรามการทำผิดกฎหมายเรื่องใบอนุญาตทำงานและเอกสารอื่น ๆ โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ได้เนรเทศชาวต่างชาติ 1,600 คน ที่กระทำความผิดด้านเอกสาร เกือบทั้งหมดเป็นชาวเวียดนาม พร้อมกับย้ำว่า ชาวต่างชาติและนักลงทุนไม่สามารถทำงานในกัมพูชาได้โดยไม่มีใบอนุญาต ผู้ฝ่าฝืนจะถูกปรับ 125 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4,270 บาท) และหากยังทำผิดซ้ำ จะถูกจำคุก 3 ปี แล้วเนรเทศกลับประเทศ
 
นิวยอร์กปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
 
24 ก.ค. 2015 คณะกรรมการค่าแรงรัฐนิวยอร์กในสหรัฐ มีมติปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำพนักงานร้านฟาสต์ฟู้ดเป็น 15 ดอลลาร์ หรือราว 506 บาทต่อชั่วโมงภายในสิ้นปี 2018 สำหรับนครนิวยอร์ก และภายในกลางปี 2021 สำหรับเมืองที่เหลือของรัฐ ซึ่งจะทำให้แรงงานในอุตสาหกรรมดังกล่าวทั่วรัฐนิวยอร์กราว 180,000 คนได้รับประโยชน์ ในขณะที่กลุ่มธุรกิจและนักวิจารณ์ชี้ว่า นโยบายดังกล่าวเป็นการเลือกปฏิบัติ เนื่องจากให้ความสนใจอุตสาหกรรมประเภทเดียว รวมถึงเจ้าของกิจการแห่งหนึ่งยังกล่าวว่า รัฐบาลควรออกมาตรการอุดหนุนการศึกษาเพื่อยกระดับแรงงาน แทนการอุดหนุนแรงงานไร้ฝีมือด้วยค่าแรงขั้นต่ำ
 
เรือยางขนแรงงานแอฟริกันล่มชายฝั่งลิเบีย คาด ดับ 40 ขณะอีก 80 คน ทางการเยอรมันช่วยสำเร็จ
 
24 ก.ค. 2015 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่าผู้อพยพชาวแอฟริกัน ราว 40 คน อาจจมน้ำตาย หลังเรือยางที่โดยสารมา ล่มในเขตชายฝั่งประเทศลิบีย โดยผู้รอดชีวิตให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ วานนี้ หลังสามารถเข้ามายังประเทศอิตาลีได้สำเร็จ กลุ่มผู้รอดชีวิตที่เป็นเด็ก ราว 80 คน ได้รับความช่วยเหลือจากกองทัพเรือเยอรมัน ที่ลาดตระเวนอยู่ในน่านน้ำดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ปัญหาผู้ลี้ภัย กำลังเป็นปัญหาใหญ่ในภูมิภาคยุโรป หลังมีการอพยพจากแอฟริกาและจากเขตอาหรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะใน อิตาลี ซึ่งปัญหาดังกล่าว สหภาพยุโรป กำลังหารือแก้ปัญหาร่วมกัน
 
หัวหน้าพนักงานต้อนรับโคเรียนแอร์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากบุตรสาวซีอีโอ
 
24 ก.ค. 2015 สำนักข่าวเอเอฟพีอ้างคำฟ้องที่นายปัก ชางจินยื่นต่อศาลสหรัฐเมื่อวันพุธโดยระบุชื่อนางโช ฮยอนอาเป็นจำเลยเพียงคนเดียวว่า นางโชซึ่งขณะนั้นยังดำรงตำแหน่งรองประธานโคเรียนแอร์ได้ทุบตีเขาจนเลือดออก ฟกช้ำและเกิดความเสียหายทางจิตใจอย่างร้ายแรงเพราะไม่พอใจเรื่องถั่วที่พนักงานเสิร์ฟบนเที่ยวบินที่กำลังจะเดินทางออกจากนครนิวยอร์กของสหรัฐไปกรุงโซลของเกาหลีใต้เมื่อวันที่ 5 ธันวาคมปีก่อน เธอไม่หยุดทุบตีทั้งที่เขาขอร้องและไล่เขาลงจากเครื่อง แพทย์ที่รักษานายปักระบุว่าเขามีอาการตกใจกลัวอย่างรุนแรงและต้องรับการเยียวยาไม่ต่ำกว่า 1 ปี สำนักงานบริการสวัสดิการและการชดเชยแรงงานเกาหลีให้การรับรองแล้วว่าคดีของเขาเป็นการบาดเจ็บจากการทำงาน ส่วนพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินที่เสิร์ฟถั่วให้นางโชได้ยื่นฟ้องคดีแพ่งต่อศาลนิวยอร์กไปแล้วเช่นกันโดยกล่าวหานางโชว่า ทำร้ายร่างกาย ข่มขู่และโวยวายถ้อยคำหยาบคายใส่เธอ นอกจากนี้ยังกดดันให้ปกปิดเรื่องที่เกิดขึ้นด้วยการโกหกต่อเจ้าหน้าที่
 
มิตซูบิชิ มอเตอร์สจะยุติการผลิตรถยนต์ในสหรัฐ
 
24 ก.ค. 2015 หนังสือพิมพ์นิกเคอิรายงานวันนี้ว่า มิตซูบิชิจะหยุดการผลิตรถยนต์อเนกประสงค์เอสยูวี รุ่นเอาท์แลนเดอร์ ที่โรงงานในรัฐอิลลินอยส์และอาจจะขายโรงงานให้แก่ผู้ผลิตรถยนต์ค่ายอื่น มิตซูบิชิจะแถลงรายละเอียดเพิ่มเติมในภายหลัง โรงงานผลิตรถยนต์ที่รัฐอิลลินอยส์เริ่มการผลิตในปี 1998 มีลูกจ้าง 1,250 คน แต่ทางบริษัทมิได้ยืนยันเรื่องการปิดโรงงานในรัฐอิลลินอยส์แต่อย่างใด บรรษัทกระจายเสียงญี่ปุ่น หรือเอ็นเอชเครายงานว่า มิตซูบิชิได้รับผลกระทบจากยอดจำหน่ายรถยนต์ในสหรัฐลดลงและโรงงานผลิตรถยนต์ปีละ 60,000 คันเท่านั้น ซึ่งเท่ากับประมาณครึ่งหนึ่งของกำลังการผลิต มิตซูบิชิ ซึ่งถอนตัวจากการผลิตในยุโรปเมื่อ 3 ปีก่อน จะเป็นบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นรายแรกที่ยุติการผลิตรถยนต์ทั้งในสหรัฐและยุโรป ในขณะที่มิตซูบิชิ ยังคงลงทุนอย่างแข็งขันในเอเชียโดยสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ในไทยและซื้อโรงงานในฟิลิปปินส์จากบริษัทฟอร์ด
 
จีนระบุอัตราว่างงานลดลงอยู่ที่ 4.04% โดยรัฐบาลตั้งเป้าสร้างงานให้ได้อย่างน้อย 10 ล้านตำแหน่งภายในปีนี้ และรักษาอัตราว่างงานให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 4.5%
 
24 ก.ค. 2015 กระทรวงทรัพยากรมนุษย์และสวัสดิการสังคมของจีน ระบุอัตราว่างงานของจีนในเดือนมิถุนายน อยู่ที่ร้อยละ 4.04 ลดลงจากเดือนมีนาคม ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 4.05 ขณะที่ในช่วงครึ่งปีแรกมีการสร้างงานใหม่ทั้งสิ้น 7.18 ล้านตำแหน่ง ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่ 190,000 ตำแหน่ง ทั้งนี้ รัฐบาลจีนตั้งเป้าสร้างงานให้ได้อย่างน้อย 10 ล้านตำแหน่งภายในปีนี้ และพยายามจะรักษาอัตราการว่างงานให้อยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละ 4.5
 
พีเอ็มไอจีนเดือนนี้ต่ำสุดในรอบ 15 เดือน
 
24 ก.ค. 2015 ผลสำรวจอิสระพบว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (พีเอ็มไอ) ประจำเดือนกรกฎาคมของจีนในเบื้องต้นต่ำที่สุดในรอบ 15 เดือน สะท้อนว่าเศรษฐกิจใหญ่อันดับสองของโลกแห่งนี้ยังคงขยายตัวอย่างซบเซา ไกซินซึ่งเป็นกลุ่มสื่อด้านธุรกิจและการเงินในจีนเผยแพร่พีเอ็มไอจีนเดือนนี้จากเดิมที่เป็นหน้าที่ของธนาคารเอชเอสบีซี โดยมอบหมายให้มาร์กิต ผู้ให้บริการข้อมูลการเงินสำรวจกิจกรรมของโรงงานในจีนพบว่า พีเอ็มไอจีนเดือนนี้อยู่ที่ 48.2 จุด ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนเมษายนปีก่อนซึ่งครั้งนั้นอยู่ที่ 48.1 จุด ดัชนีต่ำกว่า 50 จุดบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจหดตัว
 
เศรษฐกรของธนาคารบีเอ็นพีปาริบาส์ในจีนมองว่า ภาคการผลิตของจีนชะลอตัวอย่างรุนแรงหรือเข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว เนื่องจากความต้องการในต่างประเทศยังคงซบเซา ประกอบกับผู้ส่งออกของจีนมีความสามารถในการแข่งขันน้อยกว่าผู้ส่งออกในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ และการบริโภคในประเทศเองก็ยังไม่ดีขึ้น ขณะที่นักวิเคราะห์ของแคปิตัลอีโคโนมิกส์ชี้ว่า การผ่อนคลายนโยบายเมื่อไม่นานมานี้ยังไม่สามารถกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่ คาดว่าทางการจีนจะต้องเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกเพื่อสกัดไม่ให้การขยายตัวร่วงลงไปอีก แต่เศรษฐกรของโนมูระมองว่า พีเอ็มไอเดือนนี้ลดลงเพราะผลกระทบระยะสั้นจากตลาดหลักทรัพย์จีนผันผวนเมื่อเร็ว ๆ นี้ เชื่อว่าเมื่อตลาดมีเสถียรภาพ เศรษฐกิจจีนจะกลับมาเติบโตอีกครั้ง
 
"แองโกล อเมริกัน" ขาดทุนหนัก-จ่อปลด พนง.6 พันคน
 
25 ก.ค. 2015 "แองโกล อเมริกัน" หนึ่งในบริษัทเหมืองแร่รายใหญ่ที่สุดของโลก รายงานการขาดทุนอย่างหนัก 3,015 ล้านดอลลาร์ หรือราว 101,907 ล้านบาทในช่วงครึ่งปีแรก เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วซึ่งมีกำไร 1,464 ล้านดอลลาร์ หรือราว 49,483 ล้านบาท เนื่องจากได้รับผลกระทบจากราคาแร่เหล็กตกต่ำ นอกจากนี้ยังประกาศว่าจะลดพนักงานจำนวน 6,000 คน หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหาร หรือซีอีโอของแองโกล อเมริกัน นายมาร์ค คูติฟานี กล่าวว่า ช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ราคาแร่เหล็กลดลงอย่างหนัก ท่ามกลางสภาพแวดล้อมของตลาดที่ผันผวน และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจในตลาดสำคัญแต่ละแห่ง และกล่าวว่าบริษัทตั้งเป้าจะประหยัดค่าใช้จ่ายรวม 500 ล้านดอลลาร์ หรือราว 17,481 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้ 300 ล้านดอลลาร์ หรือราว 10,488 ล้านบาท จะมาจากธุรกิจหลักในปัจจุบันของบริษัท ผ่านการลดพนักงานตำแหน่งระดับหัวหน้าและตำแหน่งอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงอีก 6,000 คน รวมถึงการโอนย้ายตำแหน่งในธุรกิจที่บริษัทเตรียมขายกิจการ
 
โรงงานพลุอิตาลีระเบิด-เสียชีวิต 7 ราย
 
25 ก.ค. 2015 เกิดเหตุระเบิดรุนแรงในโรงงานผลิตพลุไฟดอกไม้เพลิงชื่อ บรุสเซลลา ในเมืองมาดูโญ เมืองเล็กๆทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของอิตาลี ก่อนจะเกิดเพลิงไหม้ และไฟลุกลามออกไปยังป่าที่อยู่รอบโรงงาน เบื้องต้นมีรายงานว่าพบศพผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 7 ราย มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 ราย และคาดว่าตัวเลขอาจสูงกว่านี้ เมื่อหน่วยกู้ภัยสามารถเข้าถึงสถานที่เกิดเหตุได้ทั่วทุกจุด อย่างไรก็ตาม ทางการได้ส่งเครื่องบินดับเพลิงคานาแดร์ 2 ลำ บินเหนือที่เกิดเหตุ เพื่อดับไฟที่ไหม้ลามป่า และเจ้าหน้าที่กำลังเร่งสอบสวนหาสาเหตุของการระเบิดในครั้งนี้
 
ลอนมิน เตรียมปลดพนักงาน 6,000 ราย หลังขาดทุนเหตุราคาพลาตินัมร่วง
 
27 ก.ค. 2015 ลอนมินผู้ผลิตพลาตินัมรายใหญ่ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหุ้นลอนดอนเปิดเผยว่า บริษัทมีแผนจะปรับลดจำนวนพนักงานลง 6,000 ราย รวมทั้งปิดธุรกิจบางแห่งและพิจารณาว่าจะเพิ่มทุนหรือไม่ เนื่องจากราคาพลาตินัมที่ย่ำแย่ส่งผลให้บริษัทเผชิญกับภาวะขาดทุน ซึ่งตอกย้ำถึงปัญหาที่กำลังส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม ลอนมินระบุว่า บริษัทจะปิดเหมืองหลายแห่ง เพื่อลดต้นทุนลงท่ามกลางการร่วงลงของราคาพลาตินัม
 
Qualcomm มีแผนจะปลดพนักงานบริษัทออกจากงานกว่า 4,500 อัตราเพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายของบริษัทลงประมาณ 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ
 
27 ก.ค. 2015 เพื่อที่จะลดค่าใช้จ่ายของบริษัทฯลงประมาณ 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ Qualcomm มีแผนที่จะปลดพนักงงานออก 15% หรือประมาณ 4,500 อัตราได้ ซึ่งทางบริษัทฯได้ทำการประกาศเรื่องนี้พร้อมๆกับการประกาศผลการดำเนินงานของไตรมาสล่าสุด Qualcomm ประกาศว่าบริษัทฯมีกำไร 99 เซนต์ต่อหุ้น และมีรายได้รวม 5.83 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ซึ่งกำไรต่อหุ้นนั้น ทำออกมาได้ดีกว่าที่คาดการไว้ที่ 95 เซนต์ต่อหุ้น)
 
โดยที่ทาง Steve Molenkampf (CEO ของ Qualcomm) ออกมาพูดเรื่องการปลดพนักงานออก เพื่อเป็นการสร้างกำไรที่ดีขึ้นให้กับบริษัทฯ โดยเป็นการปรับขนาดขององค์กรให้เหมาะสมกับโครงสร้างบริษัทฯ และต่อไปทางบริษัทฯจะโฟกัสไปที่การลงทุนที่ให้โอกาส และผลตอบแทนที่สูงที่สุด Qulacomm ยังได้กล่าวอีกว่า บริษัทฯมีแผนที่จะลดต้นทุนใหม่ที่นอกเหนือจากการปลดพนักงาน ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้บริษัทฯลดค่าใช้จ่ายได้อีกประมาณ 1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ
 
รัสเซียเตรียมเลิกจ้างข้าราชการกว่า 1.1 แสนราย
 
27 ก.ค. 2015 ซีเอ็นเอ็นมันนี รายงานว่า ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ลงนามในกฎหมายเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อจำกัดจำนวนข้าราชการกระทรวงมหาดไทยรัสเซียซึ่งปัจจุบันมีอยู่กว่า 1 ล้านคน ความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะส่งผลให้มีการเลิกจ้างข้าราชการกว่า 1.1 แสนราย หรือราว 10% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ หน่วยงานกึ่งทหาร และหน่วยงานรักษาความปลอดภัย รัสเซียคาดว่า มาตรการดังกล่าวจะช่วยตัดรายจ่ายได้ราว 10% ของงบประมาณในปีนี้ หลังจากที่ประเทศต้องเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่แล้ว ทั้งนี้ เศรษฐกิจรัสเซียเมื่อไตรมาสแรกที่ผ่านมาหดตัวอยู่ที่ 2.2% และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจรัสเซียจะหดตัวราว 3.8% ในปีนี้และ 1% ในปี 2016 ก่อนหน้านี้ประธานาธิบดี ปูตินได้ปรับลดรายจ่ายลงแล้ว 10% ด้วยการสั่งให้ทุกกระทรวงยกเว้นกลาโหมปรับลดค่าใช้จ่าย ด้านอัตราว่างงานในรัสเซียปรับสูงขึ้นอยู่ที่ 5.4% เมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่าน จากเดิมเทื่อช่วยเดียวกันของปีที่แล้วที่ 4.8%
 
เบอร์ลินฝึกอบรมผู้อพยพดันเข้าตลาดแรงงาน
 
29 ก.ค. 2015 ส่วนปกครองท่องถิ่น และสภาช่างฝีมือของกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี จัดทำโครงการชื่ออาร์ไรโว เบอร์ลิน หรือ“มาถึงเบอร์ลิน”โดยร่วมมือกับบริษัทต่างๆ ที่มองหาเจ้าหน้าที่ฝึกหัด หรือลูกจ้างตำแหน่งต่างๆพิจารณาวางตำแหน่งงาน รวมถึงร่วมจัดฝึกอบรม และจัดโครงการสอนภาษา ให้แก่ผู้อพยพ เพื่อให้ผู้อพยพได้พัฒนา จนมีความสามารถตรงกับมาตรฐานของตลาดแรงงานเยอรมนี และปรับตัวเข้ากับการทำงานในเยอรมนีได้ อีกทั้งยังอาจมีโอกาสได้รับเลือกให้เข้าทำงานกับบริษัทที่ร่วมโครงการเหล่านี้ด้วย หัวหน้าโครงการอาร์ไรโว เบอร์ลิน กล่าวว่า โครงการฝึกอบรมผู้อพยพให้ได้มาตรฐานเยอรมนีนั้นจะส่งผลดีต่อประเทศที่มีตัวเลขประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นแห่งนี้ โดยเฉพาะในกรุงเบอร์ลินที่ขาดแคลนแรงงานมีฝีมือ ซึ่งโครงการดังกล่าวจะช่วยให้ผู้อพยพเข้ามาเติมเต็มช่องว่างในส่วนนี้ได้ อย่างไรก็ตามความเป็นไปได้ที่รัฐบาลเยอรมนีจะส่งตัวผู้อพยพกลับยังคงเป็นปัญหาใหญ่สำหรับบริษัทที่ลงทุนฝึกอบรมผู้อพยพและตัวผู้อพยพเอง
 
เยอรมนีเผยจำนวนคนว่างงานปรับตัวขึ้นในเดือนก.ค. ขณะอัตราว่างงานทรงตัว
 
30 ก.ค. 2015 สำนักงานแรงงงานของเยอรมนีเปิดเผยว่า จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานเดือนก.ค. ปรับตัวขึ้น 9,000 ราย จากเดือนมิ.ย. สู่ระดับ 2.8 ล้านราย ซึ่งสวนทางกับการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ที่คาดว่าจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานจะลดลง 5,000 ราย จำนวนคนว่างงานที่เพิ่มขึ้นในเดือนก.ค.ส่งสัญญาณว่า ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับวิกฤตหนี้กรีซและอนาคตของยูโรอาจเริ่มส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี สำนักงานแรงงานมองว่า ตลาดแรงงานเยอรมนียังคงอยู่ในสภาพที่ดี ส่วนอัตราว่างงานของเยอรมนีในเดือน ก.ค.ยังคงอยู่ที่ 6.4% เป็นเดือนที่สี่ติดต่อกัน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
 
สิงคโปร์เผยอัตราว่างงานไตรมาส 2 เพิ่มขึ้น
 
30 ก.ค. 2015 กระทรวงแรงงานของสิงคโปร์ รายงานว่า อัตราว่างงานในไตรมาสสองปรับตัวขึ้นแตะ 2.0% จากระดับ 1.8% ในไตรมาสแรก ซึ่งบ่งชี้ถึงสภาพเศรษฐกิจของประเทศที่อ่อนแอลง ทั้งนี้ อัตราว่างงานไตรมาสสอง กลับมาดีดตัวขึ้นหลังจากที่ปรับตัวลงในช่วงสี่ไตรมาสที่ผ่านมา โดยอัตราว่างงานสำหรับผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศปรับตัวขึ้นแตะ 2.8% ในไตรมาสสอง จาก 2.5% ในไตรมาสแรก ขณะที่อัตราว่างงานสำหรับพลเมืองสิงคโปร์อยู่ที่ 2.9% เพิ่มขึ้นจาก 2.6%
 
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขจ้างงานโดยรวมเพิ่มขึ้น 15,700 ตำแหน่งในไตรมาสสอง เพราะได้ปัจจัยหนุนจากการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นในภาคการก่อสร้างและภาคบริการ เทียบกับไตรมาสแรกที่ลดลง 6,100 ตำแหน่ง ส่งผลให้ในปัจจุบัน จำนวนผู้มีงานทำในสิงคโปร์อยู่ที่ 3,633,500 ล้านคน จากประชากรประมาณ 5.5 ล้านคน ขณะที่จำนวนพนักงานที่ถูกเลิกจ้างอยู่ที่ 3,100 คน เทียบกับ 3,500 คนในไตรมาสก่อน
 
เจ้านายตุรกีใจป้ำให้โบนัส พนง.เฉลี่ยคนละ 8 ล้าน
 
31 ก.ค. 2015 สำนักข่าว 'เดลิเมล์' รายงานชวนพนักงานเงินเดือนทั้งหลายอิจฉาตาร้อน เมื่อนาย'เนฟเซต ไอดีน' ประธานบริษัทธุรกิจจัดส่งอาหารทั่วประเทศตุรกี Yemeksepeti ได้ตัดสินใจขายธุรกิจ ก่อนจะเจียดเงินจำนวนถึง 17 ล้านปอนด์หรือประมาณ 920 ล้านบาทมาให้เป็นเงินโบนัส รายงานระบุว่า นายเนฟเซตซึ่งเป็นหนึ่งในนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จที่สุดในตุรกีสามารถได้กำไรมากถึง 378 ล้านปอนด์ (ราว 2 หมื่นล้านบาท) เขาจึงแจกแจงแบ่งให้พนักงานทั้งหมด 114 คน เฉลี่ยคนละ 152,000 ปอนด์หรือประมาณ 8.2 ล้านบาทเลยทีเดียว นายเนฟเซตกล่าวว่า ทำแบบนี้เพราะว่าในเมื่อเราประสบความสำเร็จ เราก็ต้องสำเร็จไปด้วยกัน และเขาก็สามารถนำเงินพวกนี้ไปซื้อบ้านซื้อรถเป็นของตัวเองได้ ซึ่งเขาไม่ได้สามารถทำได้จากการรับเงินเดือนที่ไม่มากมาย
 
"ผมอยากให้พวกเขามากกว่านี้เสียด้วยซ้ำ" นายเนฟเซตกล่าว
 
จีนอัดฉีดเงินลงทุนเพิ่มในภาคการผลิต 6 ประเภท มุ่งหนุนเศรษฐกิจเติบโต
 
31 ก.ค. 2015 นายจ้าว เฉินซิน รองผู้อำนวยการคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติของจีน (NDRC) เปิดเผยว่า รัฐบาลจีนจะกระตุ้นการลงทุนเพื่อเพื่อการพัฒนาด้านเทคโนโลยีในภาคอุตสาหกรรมการผลิต 6 ประเภทในช่วงปี 2558-2560 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อการยกระดับภาคการผลิตและกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ นายจ้าวกล่าวว่า อุตสาหกรรมในภาคการผลิตทั้ง 6 ประเภทนี้ประกอบด้วย อุปกรณ์สร้างรางรถไฟ เครื่องมือวิศวกรรมทางทะเล หุ่นยนต์ในโรงงาน ยานพาหนะซึ่งใช้พลังงานใหม่ เครื่องจักรด้านการเกษตรแบบทันสมัย และอุปกรณ์การแพทย์ การลงทุนดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนเชิงรุกของจีนในการเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันในภาคการผลิตของประเทศ โดยการสนับสนุนด้านนวัตกรรมเพื่อที่จะยกระดับการเติบโตของเศรษฐกิจ
 
เอกสารฉบับร่างที่มีหัวเรื่อง "Made in China 2025" ได้รับการตีพิมพ์ขึ้นในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมจีนกำลังเผชิญกับความต้องการตลาดที่ต่ำลง คู่แข่งที่เพิ่มขึ้นจากประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ และเศรษฐกิจภายในประเทศที่มีการชะลอตัว นอกจากนี้ นายจ้าวกล่าวว่าในการยกระดับการลงทุนครั้งนี้ NDRC ได้ให้คำมั่นว่าจะเร่งดำเนินการก่อสร้างโครงการใหญ่ทั้ง 7 โครงการ เช่น ระบบสายส่งไฟฟ้า การคมนาคม การอนุรักษ์น้ำ และการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งยอดการลงทุนดังกล่าวในช่วงสิ้นเดือน มิ.ย. อยู่ที่ 3.3 ล้านล้านหยวน (5.392 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) สำนักข่าวซินหัวรายงาน
 
บริษัทรอยัลดัตช์เชลล์เตรียมปลดพนักงาน 6,500 คน ตามแผนลดค่าใช้จ่ายเพื่อรองรับราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง
 
31 ก.ค. 2015 สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า บริษัทรอยัลดัตช์เชลล์ บริษัทน้ำมันรายใหญ่ของโลกเตรียมปลดพนักงานจำนวน 6,500 ตำแหน่ง ตามแผนลดค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบของบริษัทหลังมีกำไรลดน้อยลงในช่วงที่ราคาน้ำมันปรับตัวลดลง โดยบริษัทได้เปิดเผยผลกำไรในช่วง3 เดือนที่สิ้นสุดในวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า มีกำไรอยู่ที่ประมาณ 3,400 ล้านดอลลาร์หรือประมาณ 119,000 ล้านบาท ลดลง 35% เมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่นายเบน วาน เบอร์เดน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสูงสุดของบริษัทกล่าวว่า ′เรากำลังวางแผนสำหรับรับมือการชะลอตัวของราคาน้ำในตลาดโลก ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะยืดเยื้อต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง′ นอกจากนี้ทางบริษัทยังได้ขายหุ้นจำนวน 33% ที่ถือครองอยู่ในบริษัทด้านพลังงาน ′โชวะ′ ให้กับกลุ่มบริษัทด้านปิโตรเคมี ′อิเดมิตสึ′ ในมูลค่าราว 1,400 ล้านดอลลาร์หรือประมาณ 49,000 ล้านบาท
 
สหรัฐเผยดัชนีต้นทุนการจ้างงานเพิ่มขึ้นน้อยที่สุดในรอบกว่า 30 ปี
 
31 ก.ค. 2015 กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยในวันนี้ว่า ดัชนีต้นทุนการจ้างงาน (ECI) ซึ่งเป็นมาตรวัดต้นทุนแรงงานที่กว้างที่สุด ขยับขึ้นเพียง 0.2% ในไตรมาส 2 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นน้อยที่สุดในรอบ 33 ปี หรือนับตั้งแต่เริ่มมีการจัดเก็บข้อมูลดังกล่าวในไตรมาส 2 ของปี 1982 นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า ดัชนี ECI จะเพิ่มขึ้น 0.6% ในไตรมาส 2 หลังจากที่เพิ่มขึ้น 0.7% ในไตรมาส 1 อย่างไรก็ดี คาดว่าดัชนี ECI จะดีดตัวขึ้นในไตรมาสต่อไป เนื่องจากตลาดแรงงานจะตึงตัวขึ้น จากการจ้างงานที่สดใสในสหรัฐ และกดดันให้ค่าจ้างปรับตัวขึ้น ทั้งนี้ ดัชนี ECI ถือเป็นมาตรวัดที่น่าเชื่อถือสำหรับภาวะตลาดแรงงาน และเป็นตัวคาดการณ์ที่ดีสำหรับอัตราเงินเฟ้อ
 
ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: ประชาไท, ครอบครัวข่าว, ASTV ผู้จัดการออนไลน์, สำนักข่าวไทย, กรุงเทพธุรกิจ, ไทยรัฐออนไลน์, เดลินิวส์, สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, โพสต์ทูเดย์, VOA
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หมายเหตุประเพทไทย : เพศสัมพันธ์ระหว่างคนกับสัตว์

$
0
0

 

 

หมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้ นำเสนอประเด็นแลกเปลี่ยนเรื่องการเพศสัมพันธ์ระหว่างคนกับสัตว์ ซึ่งถูกต่อต้านทั้งในสังคมสมัยใหม่และสังคมโบราณ แต่ขณะเดียวกันในทางประวัติศาสตร์ก็มีการกล่าวถึงการที่คนมีกิจกรรมทางเพศกับสัตว์มาตั้งยุคโรมัน หรือแม้แต่ในตำนานโบราณของอุษาคเนย์ เช่น ผู้ปกครองรัฐมีกิจกรรมทางเพศกับสัตว์ เช่น งูใหญ่ เพื่อรักษาความอุดมสมบูรณ์ของอาณาจักร หรือกระทั่งการที่ผู้ปกครองนครรัฐที่มีอิทธิ์ฤทธิ์เหนือมนุษย์กำเนิดมาจากการที่มนุษย์มีความสัมพันธ์กับสัตว์ หรือบทประพันธ์อย่าง พระอภัยมณีซึ่งมีภรรยาเป็นนางเงือกและผีเสื้อสมุทร เป็นต้น รวมถึงบันทึกคดีความที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกามีการตัดสินประหารชีวิตคนที่มีเพศสัมพันธ์ไปพร้อมกับสัตว์เหล่านั้นด้วย

ปัจจุบัน ความสัมพันธ์ของคนกับสัตว์เปลี่ยนไป โดยสัตว์เลี้ยงถูกทำให้เป็นประหนึ่งสมาชิกของครอบครัวมนุษย์ที่ต้องการการปกป้องดูแล และยังมีกฎหมายคุ้มครองสิทธิสัตว์ด้วย ซึ่งต่างจากยุคก่อนที่สัตว์อาจเป็นเพียงเครื่องตอบสนองความต้องการทางเพศของบางคน แต่โดยทั้งหมดนี้ การนำเสนอประเด็นดังกล่าวไม่ได้มีความมุ่งหมายที่จะสนับสนุนให้คนมีเพศสัมพันธ์กับสัตว์แต่อย่างใด 

พบกับ คำ ผกา และชานันท์ ยอดหงส์ นักศึกษาปริญญาเอกภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้เขียนหนังสือ ‘นายใน’

คลิกไลค์เพื่อติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวของรายการได้ที่ facebook.com/maihetpraphetthai

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

$
0
0

"ทุกอย่างอยู่ที่ความจำเป็น ถ้าสมมติว่ามันเห็นได้ชัดว่าเพื่อให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย เพื่อให้การเลือกตั้งมีความเป็นธรรมเป็นที่ยอมรับมากขึ้น ถ้ามันมีประเด็นอะไรเสนอมาต่อสังคม ผมคิดว่าสังคมก็ไม่ได้แข็งตัวเกินจนบอกว่าเปลี่ยนว่าเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ เพราะฉะนั้นผมคิดว่าดีที่สุดคือทำให้ทุกอย่างมันชัดเจน”

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกระแสการเรียกร้องให้ขยายเวลาการปฏิรูป

'กูเกิล' เตรียมทำแผนที่มลภาวะด้วยวิธีเดียวกับ 'กูเกิลสตรีทวิว'

$
0
0

กูเกิลร่วมกับบริษัทสำรวจด้านสิ่งแวดล้อมประกาศใช้เทคโนโลยีของพวกเขาในการเก็บข้อมูลมลภาวะตามสถานที่ต่างๆ ด้วยวิธีการใช้เซนเซอร์ตรวจวัดสารเคมีชนิดต่างๆ ในอากาศร่วมกับระบบของกูเกิลที่ใช้เก็บข้อมูล 'สตรีทวิว'

2 ส.ค. 2558 เว็บไซต์ป๊อบปูลาร์ไซเอนซ์รายงานว่ากูเกิลกำลังจะนำรถยนต์ที่เคยใช้ในการทำภาพถ่ายแผนที่ถนนหนทางที่เรียกว่า 'กูเกิลสตรีทวิว' (Google's Street View) มาใช้ประโยชน์ในทางสิ่งแวดล้อมคือการสำรวจมลภาวะในพื้นที่ต่างๆ

โครงการนี้กูเกิลร่วมมือกับบริษัทอะคลิมา (Aclima) ซึ่งเป็นบริษัทสำรวจด้านสิ่งแวดล้อม โดยที่กูเกิลจะใช้ระบบเซนเซอร์ตรวจวัดที่ผลิตโดยอะคลิมาในการวัดฝุ่นละอองหรือธาตุต่างๆ ภายในอากาศเช่น ไนโตรเจนไดออกไซด์, คาร์บอน หรือโอโซน ซึ่งจะมีการเผยแพร่ข้อมูลเหล่านี้ทางกูเกิลเอิร์ธ (Google Earth) และบริการอื่นๆ ในอนาคต

ทั้งสองบริษัททำการทดสอบในชั้นแรกมาตั้งแต่เดือน ส.ค. ปีที่แล้ว (2557) โดยการใช้รถของกูเกิล 3 คันเก็บข้อมูลเพื่อการวิจัยขององค์การนาซาและองค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อม รถทั้ง 3 คันใช้เวลาเก็บข้อมูลรวมแล้ว 750 ชั่วโมงโดยมีการเก็บข้อมูล 150 ล้านชุด พวกเขาเก็บข้อมูลของสารเคมีอย่างคาร์บอนไดออกไซต์, คาร์บอนมอนออกไซด์, ไนตริกออกไซด์ และมีเทน หลังจากนั้นอะคลิมาก็รวบรวมข้อมูลแล้วทำการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับมลภาวะในเมืองเดนเวอร์ช่วงเวลากลางวัน พวกเขามีแผนการทดสอบครั้งต่อไปในย่านอ่าวซานฟรานซิสโก

เว็บไซต์ป๊อบปูลาร์ไซเอนซ์ระบุอีกว่าก่อนหน้านี้กูเกิลเคยใช้บริการอะคลิมาในการติดตั้งระบบตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมภายในอาคาร โดยมีการติดตั้งระบบตรวจวัด 500 ล้านชุด ในสำนักงานของกูเกิล 21 แห่ง

แผนการสำรวจมลภาวะล่าสุดนี้มาจากการที่กูเกิลเป็นหนึ่งในบริษัทอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ 13 แห่ง ที่ร่วมลงนาม 'รัฐบัญญัติธุรกิจอเมริกันว่าด้วยพันธสัญญาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ' (American Business Act on Climate Pledge) เมื่อวันที่ 27 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยกูเกิลยังให้คำมั่นด้วยว่าจะเปลี่ยนแปลงสำนักงานในย่านอ่าวซานฟรานซิสโกให้ใช้พลังงานหมุนเวียนทั้งหมดและลดการใช้น้ำลง


เรียบเรียงจาก

GOOGLE WILL START MAPPING POLLUTION THE SAME WAY THEY MAP STREETS, Popsci, 31-07-2015
http://www.popsci.com/google-will-start-mapping-pollution-same-way-they-map-streets

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชาวแคนาดาหลายร้อยเปลือยท่อนบนประท้วง ย้ำสิทธิ 'เปลือยอก' ในรัฐออนแทริโอ

$
0
0

ในรัฐออนแทริโอของแคดานา ที่ระบุให้การเปลือยท่อนบนของผู้หญิงเป็นเรื่องถูกกฎหมาย มีประชาชนหลายร้อยคนร่วมชุมนุมแสดงออกด้วยการเปลือยท่อนบนหลังเกิดกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกตรวจพี่น้องผู้หญิง 3 คนผู้ปั่นจักรยานโดยไม่สวมท่อนบนเพราะอากาศร้อน

2 ส.ค. 2558 ผู้ประท้วงชาวแคนาดาหลายร้อยคนพากันเปลือยท่อนบนประท้วงหลังจากที่มีกรณีพี่น้องผู้หญิง 3 คนถูกตำรวจสั่งหยุดเพราะพวกเธอขี่จักรยานโดยไม่ได้สวมเสื้อผ้าท่อนบน

ผู้ประท้วงราว 300 คน แสดงออกด้วยการเปลือยท่อนบนแล้วเดินขบวนในการประท้วงที่ชื่อว่า "เปลือยกับพวกเรา" (Bare with Us) จัดขึ้นในเมืองวอเตอร์ลู รัฐออนแทริโอ โดยมีการถือป้ายประท้วงระบุว่า "ใจเย็นๆ พวกมันคือหน้าอกไม่ใช่ระเบิด" และ "การเปลือยกายไม่ใช่เรื่องทางเพศ"

กฎหมายของรัฐออนแทริโอระบุว่าการเปลือยท่อนบนสำหรับผู้หญิงถือเป็นเรื่องถูกกฎหมายหลังจากที่มีคำตัดสินในกรณีนี้เมื่อปี 2539

โดยในกรณีล่าสุดที่เป็นแรงจูงใจให้เกิดการประท้วงในครั้งนี้คือกรณีของสามพี่น้องนามสกุลโมฮาเหม็ดชื่อ ทามีรา, นาเดีย และอลีชา ทั้งสามคนปั่นจักรยานโดยเปลือยท่อนบนเพราะพวกเธอบอกว่ามันเป็นวันที่อากาศร้อน พวกเธอถูกตำรวจเข้ามาบอกให้แต่งกายปกปิดท่อนบนแต่พวกเธอก็พยายามโต้แย้งกับเจ้าหน้าที่ และเมื่อมีการเปิดกล้องตอนพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ ฝ่ายตำรวจก็หันมาบอกว่าเรียกให้จักรยานของพวกเธอหยุดเพราะเหตุผลเรื่องความปลอดภัยอย่างเรื่องไฟหรือกระดิ่งรถจักรยาน

อลิชา หนึ่งในพี่น้องผู้ถูกสั่งหยุดจักรยานให้สัมภาษณ์ต่อสื่อว่าเธอไม่คิดว่าจะมีคนที่รู้สึกวิตกกับหน้าอกของผู้หญิงขนาดนี้ และบอกอีกว่าพวกเธอต้องการเรียกร้องให้ประชาชนเห็นว่าพวกเขามีสิทธิในการเปลือยหน้าอก

อลิชา โมฮาเหม็ด เป็นนักร้องผู้มีชื่อเข้าชิงรางวัลในแคนาดาผู้มีอีกชื่อหนึ่งคืออลิชา บริลเลีย เธอบอกว่าการประท้วงเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ใจและทำให้รู้สึกมีกำลังใจมาก ทางด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องถิ่นในวอเตอร์ลูเปิดเผยว่าการประท้วงดังกล่าวเป็นไปอย่างสันติและเคารพต่อกฎหมาย

หนึ่งในผู้เข้าร่วมประท้วงคือ เกวน เจคอบส์ ผู้หญิงที่เคยถูกฟ้องร้องกรณีที่เธอเปลือยท่อนบน ซึ่งต่อมาศาลอุทธรณ์ตัดสินเมื่อปี 2539 ว่าการเปลือยท่อนบนของเธอ "ไม่ถือเป็นการเสื่อมเสียหรือลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์" จนทำให้มีการยืนยันสิทธิตามกฎหมายให้ผู้หญิงสามารถเปลือยท่อนบนได้ในรัฐออนแทริโอนับแต่นั้นเป็นต้นมา


เรียบเรียงจาก

Topless 'Bare with us' protest rally in Canada, BBC, 02-08-2015
http://www.bbc.com/news/world-us-canada-33750417

Kitchener sisters hold rally for women's topless rights, CBC News, 01-08-2015
http://www.cbc.ca/news/canada/kitchener-sisters-hold-rally-for-women-s-topless-rights-1.3176750

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เพราะประวัติศาสตร์ “ปาตานียุคใหม่” เริ่มต้นที่นี่? จึงต้องบูรณะบ้าน-สุเหร่า “หะยีสุหลง โต๊ะมีนา”

$
0
0

บูรณะบ้านและสุเหร่า “หะยีสุหลง” สร้างศูนย์เรียนรู้จุดเริ่มต้นประวัติศาสตร์ปาตานียุคใหม่ ศอ.บต.ทุ่มงบ 7.7 ล้านซ่อมใหม่ให้เหมือนเดิมแต่ยังให้ครอบครัวโต๊ะมีนาดูแล ทายาทย้ำเป็นเจตนาเดิมของวงศ์ตระกูล เพื่อสร้างความเข้าใจใหม่แต่ไม่หนุนความรุนแรง ถามกระบวนการพูดคุยจะหยิบยกบุคคลสำคัญนี้มาสร้างจุดเปลี่ยนให้กลายเป็นความหวังต่อสันติภาพได้อย่างไร


ภาพถ่ายหะยีสุหลงถ่ายรูปร่วมกับนายปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
หน้าโรงเรียนที่หะยีสุหลงสร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ.2488 ต่อมากลายเป็นสุเหร่า



สภาพสุเหร่าหะยีสุหลงปัจจุบัน
 

7.7ล้าน บูรณะบ้าน-สุเหร่า“หะยีสุหลง โต๊ะมีนา”

ในซอยเล็กๆ ริมถนนรามโกมุทในตัวเมืองปัตตานีใกล้คิวรถบัสสายปัตตานี-นราธิวาส เป็นที่ตั้งบ้านพัก “ตระกูลโต๊ะมีนา” และเป็นที่พำนักของ “หะยีสุหลง อับดุลกอเดร์ โต๊ะมีนา” ซึ่งถือได้ว่าเป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของปาตานี/ชายแดนใต้ ที่ถูกอุ้มหายไปจวนจะครบ 61 ปีเต็มในอีกไม่กี่วัน


สภาพบ้านพักหะยีสุหลงที่กำลังรื้อเพื่อบูรณะ

ปัจจุบันทั้งบ้านพักและสุเหร่าที่หะยีสุหลงเคยใช้สอนหนังสือมีสภาพทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ขณะนี้กำลังได้รับการบูรณะขึ้นมาใหม่ โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นเงิน 7,700,000 บาท

หลังจากบูรณะเสร็จ ทางทายาทตระกูลโต๊ะมีนาจะทำเป็นศูนย์การเรียนรู้ของจังหวัดปัตตานี ให้เหมือนเป็นพิพิธภัณฑ์หะยีสุหลง โดยรวบรวมสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ รวมทั้งตำราของหะยีสุหลงเท่าที่มีอยู่มาเก็บรวบรวมไว้ให้คนที่สนใจได้มาเรียนรู้ผลงานและประวัติหะยีสุหลง

การบูรณะเริ่มตั้งแต่ 31 มีนาคม 2558 กำหนดเสร็จ 31 กันยายน 2558 แต่อาจยืดเวลาออกไปอีกประมาณ 1 ปี เนื่องจากต้องใช้ความประณีตในการซ่อมแซมเพื่อให้ออกมาเหมือนเดิมมากที่สุด

บ้านพักหะยีสุหลงถูกทิ้งร้างมานานจนทรุดโทรมลงไปมาก ต่างอาคารสุเหร่าที่ยังไม่ทรุดโทรมมากนัก เพราะมีการใช้เป็นที่ละหมาดมาต่อเนื่องจนปัจจุบัน ทั้งบ้านพักและสุเหร่าเป็นอาคารไม้ 2 ชั้นมีเอกลักษณ์สวยงามตามรูปทรงบ้านมลายู

ทั้งบ้านพักและสุเหร่าสร้างขึ้นในเวลาใกล้เคียงกันราวปี พ.ศ.2470 โดยสุเหร่าหลังนี้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญๆ ทางประวัติศาสตร์หลายอย่าง โดยเฉพาะการจัดทำข้อเสนอ 7 ข้อเกี่ยวกับสิทธิในการปกครองและสิทธิทางศาสนาในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้


7 ข้อหะยีสุหลงจัดทำขึ้นที่นี่

เฉลิมเกียรติ ขุนทองเพชร อดีตผู้ตรวจราชการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสตูล ได้เขียนในหนังสือชื่อ “หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ กบฏ...หรือวีรบุรุษแห่งสี่จังหวัดภาคใต้” ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคม 2547 ระบุว่า 7 ข้อเสนอดังกล่าวมีขึ้นจากการที่หะยีสุหลงจัดประชุมผู้นำศาสนาในพื้นที่เพื่อทำข้อเสนอต่อรัฐบาล เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2490 เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งอันเนื่องมาจากรัฐบาลใช้นโยบายรัฐไทยนิยม บังคับให้คนไทยแต่งกายเหมือนตะวันตก รวมถึงปัญหาความขัดแย้งที่เกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการต่างๆต่อคนในพื้นที่จนเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรง

แต่ข้อเสนอทั้งหมด ถูกรัฐบาลของพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีสมัยนั้นมีมติไม่รับเพราะมองว่าจะเป็นการแบ่งแยกดินแดน ทำให้ต่อมาหะยีสุหลงถูกเพ่งเล็งจากทางการมากขึ้น จนกระทั่งนำไปสู่การถูกจับกุมข้อหากบฏ ถูกพิพากษาจำคุกหลายปี สุดท้ายเขาก็หายตัวไปพร้อมผู้ติดตามในวันที่ 13 สิงหาคม 2497 โดยเชื่อว่าถูกอุ้มหายไป


จุดเริ่มต้นบูรณะบ้าน-สุเหร่าหะยีสุหลง


จตุรนณ์ เอี่ยมโสภา

“จตุรนณ์ เอี่ยมโสภา” ทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูลโต๊ะมีนา ผู้ดูแลบ้านพักและสุเหร่าหะยีสุหลงได้เล่าถึงที่มาของการบูรณะบ้านพักและสุเหร่าหะยีสุหลงว่า เกิดขึ้นเมื่อ 2 ปีที่แล้วในงานแต่งงานของคุณซารฟาน โต๊ะมีนา ลูกชายนายอัศมี โต๊ะมีนา หลานคนหนึ่งของหะยีสุหลง ที่มีพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อดีตเลขาธิการ ศอ.บต.มาร่วมงานด้วย โดย พ.ต.อ.ทวีได้ถามถึงอาคารเก่าสองหลังนี้จนทราบเป็นของหะยีสุหลง


เด่น โต๊ะมีนา

ครั้งนั้นคุณเด่น โต๊ะมีนา ลูกชายหะยีสุหลง อธิบายว่า สุเหร่าหลังนี้สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2470 ใช้งบประมาณ 7,200 บาท โดยรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีสมัยนั้นบริจาคให้ 3,200 บาท เอามารวมกับเงินบริจาคของประชาชนและเงินส่วนตัวของหะยีสุหลงอีก 4,200 บาท

สุเหร่าหลังนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามให้คนในพื้นที่ ชื่อ มัดรอซะห์ดารุลมาอาเรฟอัล-ฟอตอนียะห์ เป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามแห่งแรกในประเทศไทย และยังใช้เป็นสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานีด้วย ซึ่งเป็นสำนักงานคณะกรรมการอิสลามแห่งแรกในประเทศไทยด้วยเช่นกัน


เจตนาเดิมของครอบครัวโต๊ะมีนา

“จากนั้น พ.ต.อ.ทวี จึงเชิญผมกับหมอเพชรดาว โต๊ะมีนา ลูกสาวคุณเด่นไปร่วมประชุมโครงการเส้นทางอุลามะห์ปัตตานีที่ศาลากลางจังหวัด โดยที่ประชุมมีข้อสรุปว่า รัฐบาลจะสนับสนุนงบประมาณให้โครงการนี้ 4 ส่วน คือ 1.มอบให้มัสยิดกลางปัตตานี 2.ซ่อมแซมบ้านพักและสุเหร่าหะยีสุหลง 3.บูรณะบ่อน้ำเชคดาวูดอัล-ฟาฏอนี อ.เมือง จ.ปัตตานี และ 4.ปรับปรุงภูมิทัศน์มัสยิดตะโละมาแนะ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส

แต่ที่ประชุมมีเงื่อนไขว่า เมื่อซ่อมแซมบ้านและสุเหร่าหะยีสุหลงเสร็จแล้วทางครอบครัวโต๊ะมีนาต้องมอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดูแล อาจจะเป็นเทศบาลเมืองปัตตานีหรือองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี แต่ทางครอบครัวโต๊ะมีนาไม่ยินยอม เพราะในบริเวณบ้านพักและสุเหร่ายังมีคนอาศัยอยู่ จึงปฏิเสธที่จะให้ศอ.บต.ซ่อมแซมให้ แต่ต้องการจะซ่อมแซมเอง เพราะเป็นเจตนาเดิมของครอบครัวโต๊ะมีนาอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม พ.ต.อ.ทวีต้องการให้มีการซ่อมแซมให้ได้เพราะสามารถเป็นศูนย์การเรียนรู้ของจังหวัด จึงนัดประชุมอีกครั้งที่ห้องประชุมบริษัท ขนส่งปัตตานี จำกัด จนได้ข้อสรุปว่าทางศอ.บต.จะให้งบประมาณซ่อมแซมจนเสร็จ จากนั้นทางครอบครัวโต๊ะมีนาต้องดูแลรักษาเอง ทางครอบครัวโต๊ะมีนาจึงตอบตกลง

ตอนนั้น พ.ต.อ.ทวี กำหนดงบประมาณซ่อมแซม 11 ล้านบาท แต่หลังจาก พ.ต.อ.ทวีถูกย้ายไป นายภาณุ อุทัยรัตน์ มารับตำแหน่งนี้ต่อก็ได้สานต่อโครงการนี้แต่ปรับลดงบประมาณลงเหลือ 7,700,000 บาท หลังจากพิจารณาความเหมาะสมตามระเบียบของสำนักงบประมาณ


ตั้งศูนย์เรียนรู้ “หะยีสุหลง”

จตุรนณ์ พูดถึงการซ่อมแซมว่า ตัวบ้านพักจะต้องเปลี่ยนทั้งพื้น ฝ้า เพดาน กระเบื้องมุงหลังคาใหม่ทั้งหมด ส่วนอาหารสุเหร่าเปลี่ยนเฉพาะกระเบื้องมุงหลังคา หลังบูรณะเสร็จทางครอบครัวโต๊ะมีนาจะนำสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ของหะยีสุหลงมาตั้งไว้ให้เหมือนสมัยหะยีสุหลงยังอยู่ ส่วนสุเหร่าชั้นล่างจะทำเป็นห้องสมุดซึ่งจะมีหนังสือของคุณเด่น และเอกสารเก่าๆ ของหะยีสุหลงมาจัดแสดงด้วย

 
หนังสือ “หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ กบฏ...หรือวีรบุรุษแห่งสี่จังหวัดภาคใต้”

“เสียดายที่เอกสารของหะยีสุหลงเหลือน้อยมาก เพราะหลังจากหะยีสุหลงถูกอุ้มหายและคุณอามีน โต๊ะมีนา ลูกชายอีกคนถูกดำเนินคดีข้อหากบฏ ทางเจ้าหน้าที่มาค้นบ้านแล้วยึดหนังสือดีๆไป บางส่วนทราบว่าเอาไปเผาทิ้ง จึงขอฝากหน่วยงานรัฐที่ยังเก็บหนังสือของหะยีสุหลงไว้ทางครอบครัวโต๊ะนาขอคืน เพราะเป็นเอกสารประวัติศาสตร์ และมันล้าหลังไปแล้วที่จะบอกว่าเป็นเอกสารที่สามารถล้มล้างรัฐบาลได้”


จัดงานเปิดบ้านสร้างความเข้าใจใหม่

จตุรนณ์ บอกว่า ที่ผ่านมาไม่เคยปิดบ้านและสุเหร่า เพียงแต่ไม่ได้ประชาสัมพันธ์ให้สาธารณะทราบ เพราะกลัวคนที่มาเยี่ยมบ้านหะยีสุหลงจะถูกฝ่ายความมั่นคงเพ่งเล็งไปด้วย ส่วนครอบครัวโต๊ะมีนาไม่เป็นไร โดนมาเยอะแล้วตั้งแต่คุณปู่ คุณลุงและคนครอบครัวโต๊ะมีนา

ปีที่แล้ว เริ่มจัดงานเปิดบ้านหะยีสุหลงอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2557 จึงนัดรวมญาติกระกูลต่วนมีนาลย์ (Tuan Minal) กว่า 300 คน ใช้ชื่องานว่า “สานสัมพันธ์ลูกหลานต่วนมีนาลย์”

ต่วนมีนาลย์คือปู่ของหะยีสุหลง เป็นผู้รู้ศาสนาที่มีชื่อเสียงในอดีต ส่วนพ่อของหะยีสุหลงชื่อหะยีอับดุลกอเดร์ ดังนั้นต้นกระกูลของโต๊ะมีนาในปัจจุบันก็มาจากต่วนมีนาลย์นี้เอง

บางคนคิดว่า หะยีสุหลงเป็นลูกหลานของเต็งกูอับดุลกอเดร์ กามารูดดีน อดีตเจ้าเมืองปัตตานี แต่ในความเป็นจริงหะยีสุหลงไม่เกี่ยวข้องใดๆกับเต็งกูอับดุลกอเดร์ และไม่ได้สืบเชื้อสายมาจากอดีตเจ้าเมืองปัตตานี

“อีกเหตุผลหนึ่งที่ต้องการเปิดบ้านหะยีสุหลงเป็นศูนย์การเรียนรู้จังหวัดปัตตานี เพราะที่ผ่านมาครอบครัวโต๊ะมีนาถูกใส่ร้ายมาตลอดว่าต้องการแบ่งแยกดินแดนหรือเป็นกบฏ การเปิดบ้านหะยีสุหลงก็เพื่อให้คนนอกที่ไม่เข้าใจ ได้มาดูบ้าน ดูเอกสารของหะยีสุหลง จะได้รู้ว่าเราอยู่กันอย่างไร มีข้อสงสัยก็ถามได้เลย”

คนรุ่นใหม่ในพื้นที่ส่วนใหญ่รู้จักหะยีสุหลงกับคุณเด่น แต่ไม่รู้ว่าบ้านพักและสุเหร่าหะยีสุหลงยังอยู่ บางคนมาละหมาดที่สุเหร่านี้เป็นประจำแต่ไม่รู้ว่าเป็นของหะยีสุหลง

ปีที่แล้ว หลังจัดงาน “วันครบรอบ 60 ปี การสูญหายหะยีสุหลง” เมื่อเดือนสิงหาคม 2557 ทำให้มีคนมาเยี่ยมบ้านพักหะยีสุหลงมากขึ้น โดยเฉพาะจากประเทศมาเลเซียและตุรกี


เพราะประวัติศาสตร์ปาตานียุคใหม่เริ่มที่นี่

จตุรนณ์ บอกว่า สุเหร่าหะยีสุหลงมีความสำคัญกว่าบ้านพัก เพราะข้อเรียกร้อง 7 ข้อของหะยีสุหลงเขียนและพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ดีดที่สุเหร่านี้ ดังนั้นประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของปาตานีจึงเกิดขึ้นที่นี่ จึงอยากให้ประชาชนได้มาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ปาตานีจากที่นี้ แต่ไม่ใช่เรียนรู้เพื่อไปใช้ความรุนแรง แต่เพื่อเรียนรู้ปัจจุบันและอนาคตว่าจะไปอย่างไร

“อยากให้ทุกคนเข้ามา แล้วกลับไปด้วยความเข้าใจ”

จตุรนณ์ได้ยกตัวอย่างเหตุการณ์หนึ่งเป็นการทิ้งท้ายว่า มีนายทหารคนหนึ่งมารับราชการในพื้นที่ตั้งแต่ปี 2547 ทหารคนนี้เกลียดคุณเด่นมาก แต่ด้วยความประสงค์ของพระเจ้าที่ให้เขาได้รู้จักผม เมื่อเขารู้ว่าผมเป็นหลานคุณเด่นจึงขอนัดเจอคุณเด่น หลังจากเขาได้คุยกับคุณเด่นไป 3 ชั่วโมง สุดท้ายก่อนกลับเขาได้กราบขอโทษคุณเด่น เพราะเข้าใจผิดคุณเด่นมาตลอด

“คุณเด่น พูดตลอดเวลาคนเราต้องมีการพูดคุยกัน เพราะจะทำให้เราเข้าใจกัน หากไม่พูดคุยกัน เราก็จะไม่วันเข้าใจกัน ความเข้าใจผิดเป็นชุดความคิดหนึ่งของฝ่ายความมั่นคงที่ยังมีอยู่ตลอด จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ครอบครัวโต๊ะมีนาต้องเปิดบ้านหะยีสุหลงให้สาธารณะได้รับรู้”


ย้อนรอยข้อเสนอ 7 ข้อหะยีสุหลง

เฉลิมเกียรติ ขุนทองเพชร ได้เขียนในหนังสือ “หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ กบฏ...หรือวีรบุรุษแห่งสี่จังหวัดภาคใต้” ไว้ว่า หะยีสุหลง โต๊ะมีนา มีชีวิตระหว่าง ปีพ.ศ.2438 – 2497 เขามีบทบาทสำคัญในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะด้านศาสนา มีตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี เป็นโต๊ะกอฎี (ผู้ตัดสินความทางศาสนาอิสลาม) เป็นคนที่ประชาชนในพื้นที่เคารพนับถือ

หะยีสุหลงตัดสินใจสร้างโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามหลังจากกลับจากเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบียที่เขาไปเรียนและอาศัยที่นั่นนานถึง 20 ปี เขาต้องการยกระดับการศึกษาศาสนาของคนปัตตานี โดยเชิญพระยาพหลพลพยุหเสนานายกรัฐมนตรีมาทำพิธีเปิดโรงเรียนอย่างเป็นทางการ ต่อมานายปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก็ได้มาเยี่ยมโรงเรียนแห่งนี้ด้วย ซึ่งอาคารเรียนหลังนี้ก็คือสุเหร่าที่กำลังจะมีการบูรณะนั่นเอง

หะยีสุหลงกลับมาในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ในช่วงนั้นก็มีความเคลื่อนไหวของกลุ่มชาตินิยมมลายูอย่างเข้มข้น ซึ่งรัฐบาลไทยในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามได้ใช้นโยบายการดูดกลืนด้วยการบีบบังคับ แต่รัฐบาลต่อมาก็พยายามใช้นโยบายประนีประนอมโดยตั้งคณะกรรมการสอบสวนความไม่สงบในภาคใต้ เพื่อรับเรื่องราวร้องทุกข์ต่างๆ ซึ่งเป็นที่มาของการจัดทำข้อเสนอ 7 ข้อของหะยีสุหลงด้วย


กับสันติภาพที่ต้องเดินไปข้างหน้า

แม้การหายตัวไปของหะยีสุหลงพร้อมคณะรวม 4 คนจะล่วงเลยมานานแล้ว แต่ความขับข้องใจของชาวมลายูยังไม่ได้หายไป ช่วงหลังการหายตัวไปของเขาได้ก่อเกิดขบวนการปฏิวัติมลายูอิสลามปาตานีหลายกลุ่มทั้งที่คุ้นหูและไม่คุ้นหู โดยมีเป้าหมายที่ไกลกว่าของหะยีสุหลง นั่นคือเพื่อเอกราช เช่น ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani : BRN) ก่อตั้งเมื่อ 13 มีนาคม 2503, องค์กรปลดปล่อยสหปาตานี (Patani United Liberation Organization: PULO) ก่อตั้งเมื่อ 22 มกราคม 2511, ขบวนการแนวร่วมปลดแอกแห่งชาติปาตานี (Barisan Nasional Pembebasan Patani: BNPP) ก่อตั้งระหว่างปี 2502 –2514 ต่อมาเปลี่ยนเป็น BIPP, ขบวนการร่วมเพื่อเอกราชปาตานี ก่อตั้งวันที่ 31 สิงหาคม 2503

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มที่ก่อตั้งขึ้นมาในช่วงหลังๆ มานี้ได้แก่ คณะทำงานเพื่อเอกราชปาตานี (Komiti Bertindak Kemerdekaan Patani: KBKP) ก่อตั้งเดือนกรกฎาคม 2538, ขบวนการมูจาฮีดีนอิสลามปาตานี (Gorakan Mujahideen Islam Patani: GMIP) ก่อตั้งปี 2538, สมัชชาประชาชาติมลายูปาตานี (Majis Permesyunatan Rakyat MelayuPatani: MPRMP) ก่อตั้ง 15 มิถุนายน 2540, องค์กรเยาวชนกู้ชาติปาตานี (Penya Merdaka Patani) ก่อตั้งเมื่อปี 2544 เป็นต้น (ที่มา รายชื่อขบวนการแบ่งแยกดินแดนปัตตานี)

แม้ว่าหลายองค์กรอาจหยุดความเคลื่อนไหวไปนานแล้ว และการเกิดขึ้นของขบวนการต่างๆ เหล่านั้นจะเป็นผลมาจากการหายตัวไปของหะยีสุหลงหรือไม่ก็ตาม แต่ก็นับได้ว่าการหายตัวไปของหะยีสุหลงสามารถนับเป็นจุดเปลี่ยนหนึ่งของสถานการณ์ในพื้นที่ที่ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ปาตานียุคใหม่ได้

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาสถานการณ์ปัจจุบันจะพบว่า หลายข้อเสนอใน 7 ข้อของหะยีสุหลงได้ถูกตอบรับหรือถูกปฏิบัติไปเกือบหมดแล้ว ถึงกระนั้นการส่งต่อข้อมูลและอารมณ์ความรู้สึกไม่พอใจก็ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ถามว่ากระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพที่จะมีขึ้นต่อไปนั้นจะนำเรื่องราวของเขาไปใช้อย่างไร จะสามารถปรับเปลี่ยนการส่งต่ออารมณ์ความรู้สึกไม่พอใจให้กลายเป็นความหวังต่อสันติภาพปาตานีต่อไปได้อย่างไร การบูรณะบ้านและสุเหร่าหะยีสุหลงครั้งนี้ ก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความหวังนั้น 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

4 องค์กรรัฐจับมือบริหารยาบัตรทอง ชี้ประหยัดงบ 2.2 หมื่นล้านบาท หนุนผู้ป่วยเข้าถึงยาจำเป็น

$
0
0

2 สิงหาคม 2558 สปสช.เผยผลงานร่วมกับ สธ. อภ. สภากาชาดไทย และหน่วยงานเกี่ยวข้อง บริหารจัดการกองทุนยาและเวชภัณฑ์ ใน 6 ปีที่ผ่านมา ช่วยรัฐประหยัดค่ายาได้กว่า 2.2 หมื่นล้านบาท ทั้งกลุ่มบัญชียา จ.(2) กลุ่มยากำพร้าและเซรุ่มต้านพิษ และกลุ่มยาซีแอล สามารถช่วยผู้ป่วยทุกระบบเข้าถึงการรักษา ลดอัตราการตายจากการเข้าไม่ถึงยา พร้อมจัดระบบส่งตรวจซ้ำเพื่อยืนยันคุณภาพยา ชี้ตั้งแต่ปี 52 มีผู้ป่วยรับยาแพงจากบัญชี จ.(2) เกือบ 4.2 หมื่นราย และผู้ป่วยเข้าถึงยากำพร้าและยาต้านพิษกว่า 5,000 ราย

ภญ.เนตรนภิส สุชนวนิช รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ยาถือเป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาโรค ก่อนมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่ต้องเสียชีวิตลง จากปัญหาการเข้าไม่ถึงยาด้วยข้อจำกัดของราคายาที่แพงมาก ปัญหาการสำรองยาในระบบบริการ โดยเฉพาะกลุ่มยากำพร้าและยาต้านพิษ (Orphan and Antidote drug) ที่มีอัตราการใช้ต่ำ ไม่แน่นอน ยากต่อการประมาณการจำนวนผู้ป่วย ทำให้บริษัทยาส่วนใหญ่ไม่อยากนำเข้าหรือลงทุนผลิตยาในกลุ่มนี้ ทำให้ผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษในอดีตมักต้องเสียชีวิตเนื่องจากไม่มียารักษา ด้วยเหตุนี้ สปสช.จึงได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) องค์การเภสัชกรรม (อภ.) สภากาชาดไทย และหน่วยงานเกี่ยวข้องพัฒนาระบบการเข้าถึงยาที่มีปัญหาการเข้าถึง ทั้งในกลุ่มยาแพงตามบัญชี จ.(2) กลุ่มยากำพร้าและยาต้านพิษ

ภญ.เนตรนภิส กล่าวว่า จากที่เริ่มดำเนินการในปี 2552 ได้มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านยาต่อเนื่องเพื่อให้ครอบคลุมการรักษา โดยปี 2557 มียาบัญชี จ.(2) รวมทั้งสิ้น 14 รายการ และต่อมาในปี 2558 นี้ได้เพิ่มเติมอีก 3 รายการ รวมเป็น 17 รายการ และยังได้บริหารจัดการกลุ่มยากำพร้าในกลุ่มยาต้านพิษและเซรุ่มอีก 17 รายการ ที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องเข้าถึง โดยได้จัดทำระบบตั้งแต่การจัดหายา กระจายยาเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงทันเวลาในภาวะที่จำเป็น ผ่านระบบ VMI ของ อภ.

“สำหรับมูลค่าประหยัดงบประมาณด้านยาได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ได้มีการบริหารกองทุนยาและเวชภัณฑ์วัคซีนที่เริ่มในปี 2552 จนถึงปัจจุบันสามารถช่วยประเทศประหยัดค่ายาลงได้ถึง 22,590 ล้านบาท และเพื่อประกันคุณภาพยาที่มีการจัดซื้อแบบรวมศูนย์  สปสช.ร่วมกับอภ.จัดระบบการตรวจวิเคราะห์ซ้ำเพื่อยืนยันผลการตรวจวิเคราะห์จากบริษัทที่นำเข้า โดยส่งตัวอย่างตรวจวิเคราะห์ ณ ห้องตรวจวิเคราะห์คุณภาพยาอื่นที่เป็นที่ยอมรับว่าได้มาตรฐานเพื่อเกิดความมั่นใจให้กับผู้บริโภค เช่น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะตรวจวิเคราะห์ยาโคลพิโดเกรล (clopidogrel) สำหรับยามะเร็งที่มีการทำซีแอลจะส่งตรวจที่ห้องแล็บในเบลเยี่ยม หากยาล๊อตใดไม่ผ่านการตรวจยืนยัน จะไม่มีการจัดซื้อเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพ” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว

ภญ.เนตรนภิส กล่าวว่า จากการจัดการบัญชียา จ.2 ตั้งแต่ปี 2552 ได้ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับยาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบัน มีผู้ได้รับยาบัญชี จ.(2) ถึง 41,837 ราย ขณะที่กลุ่มยากำพร้าในกลุ่มยาต้านพิษและเซรุ่มนั้น ปี 2557 มีการเบิกจ่ายยากลุ่มนี้เพื่อใช้รักษาผู้ป่วย 5,432 ราย ซึ่งในผู้ป่วยที่ได้รับยากำพร้าและยาต้านพิษมีจำนวนที่หายเป็นปกติโดยไม่มีรอยโรคสูงถึงร้อยละ 94.29 และ 87.50 ตามลำดับ ถือเป็นการรักษาที่คุ้มค่ามาก

ทั้งนี้ รายการยาในบัญชียา จ.(2) ที่ได้บริหารจัดการ 17 รายการได้แก่ 1.ยาเลโทรโซล (Letrozole) รักษามะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจาย 2.ยาโดซีแทกเซล (docetaxel) รักษามะเร็งปอดระยะลุกลาม และมะเร็งต่อมลูกหมากที่ดื้อต่อยาฮอร์โมน 3.ยา ไอวีไอจี (IVIG) แบบฉีดมีหลายข้อบ่งใช้ เช่น โรคที่อันตรายถึงชีวิต (life-threatening) และไม่ตอบสนองต่อการรักษาต่อยาอื่น (refractory) เช่น SLE, vasculitis เป็นต้น ส่วนใหญ่พบเป็นโรคคาวาซากิชนิดเฉียบพลันมากที่สุด 4.ยาโบทูลินัมท็อกซิน สายพันธุ์เอ (Botulinum toxin type A) รักษาโรคบิดเกร็งของใบหน้า 5.ยาลิวโพรรีลิน (Leuprorelin) รักษาอาการเจริญพันธุ์ก่อนวัยในเด็ก 6. ยาไลโปโซมอล แอมโฟเทอริซิน บี (Liposomal amphotericin B) สำหรับการติดเชื้อราที่รุนแรง 7.ยาเวอทิพอร์ฟิน (Verteporfin) รักษาโรคจอประสาทตาเสื่อม 8.ยาบีวาซิแมบ (Bevacixumab) รักษาภาวะจอประสาทตาเสื่อมและภาวะจอตาบวมในผู้ป่วยโรคเบาหวาน 9.ยาโวริโคนาโซล (Voriconazole tab, inj) รักษาภาวะติดเชื้อราในกลุ่มแอสเปอร์จิลลัส (aspergillus) 10.Thyrotropin alfa inj ยาไทโรโทรพิน สำหรับรักษาโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์
11.ยาเพกินเทอเฟอรอน (Peginterferon alfa 2a และ alfa 2b) รักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี 12.ATG ยาเอทีจีสำหรับรักษาภาวะไขกระดูกฝ่อที่มีอาการรุนแรงมาก 13.ยาไลเนโซลิด (Linezolid) รักษาเชื้อดื้อยากลุ่ม MRSA ที่ไม่สามารถใช้ยาแวนโคมายซิน  (vancomyci) หรือยาปฏิชีวนะใช้รักษาอาการติดเชื้อแบคทีเรีย 14.ยาอิมิกลูเซเรส (Imiglucerase) รักษาเด็กที่มีภาวะการสะสมไขมันผิดปกติ และในปี 2558 ได้เพิ่มยาบัญชี จ.(2) อีก 3 รายการ คือ 15.ยาทราสทูซูแมบ (Trastuzumab) รักษามะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้น 16.ยานิโลทินิบ (Nilotinib) รักษาผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดมัยอีลอยด์ ในกรณีที่ไม่สามารถใช้ยาอิมาทินิบ (Imatinib) และ 17.ยาดาซาทินิบ (Dasatinib) รักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวในรายที่ไม่สามารถใช้ยาอิมาทินิบและยานิโลทินิบได้

ส่วนกลุ่มยากำพร้าและยาต้านพิษ ได้แก่, Sodium nitrite inj., Sodium thiosulfate inj. ,Methelene blue inj. และ diphenhydramine inj. ได้รับการสนับสนุนการผลิตจากสภากาชาดไทย  ยา Dimercaprol, Succimer cap.(DMSA), Diptheria antitoxin, Botulinium antitoxin, Calcium disodium edentate,  เซรุ่มต้านพิษงู เซรุ่มต้านพิษงูเขียงหางไหม้, เซรุ่มต้านพิษงูแมวเซา, เซรุ่มต้านพิษงูกะปะ, เซรุ่มต้านพิษงูทับสมิงคลา, เซรุ่มรวมระบบเลือด, เซรุ่มรวมระบบประสาท และ Esmolol.

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยูเอ็น เตรียมแผนส่งกลับผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาร์ ด้านผู้ลี้ภัยหวั่นสวัสดิภาพระบุกระบวนการขาดการมีส่วนร่วม

$
0
0

เฟซบุ๊ก แฟนเพจ บีบีซีไทย - BBC Thai รายงานว่า สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็นเอชซีอาร์ (UNHCR)ได้จัดการประชุมร่วมกับผู้นำค่ายผู้ลี้ภัยและองค์กรพัฒนาเอกชนที่เกี่ยวข้องราว 70 คน ถึงร่างแผนการส่งกลับผู้ลี้ภัยตามแนวชายแดนไทย-เมียนมาร์ ซึ่งจะใช้หลักการสมัครใจเดินทางกลับ ขณะที่ตัวแทนผู้ลี้ภัยยังคงแสดงความกังวลว่า แผนการดังกล่าวเกิดขึ้นเร็วเกินไป และยังไม่ต้องการให้มีการผลักดันผู้ลี้ภัยกลับประเทศ

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีผู้ลี้ภัยจากเมียนมาร์ พำนักอยู่มากกว่า 110,000 คน กระจายอยู่ตามค่ายผู้ลี้ภัย 9 แห่งตามแนวชายแดน โดยค่ายเหล่านี้เปิดมานานกว่า 30 ปีแล้ว โดยการเจรจาเรื่องการส่งกลับ ได้สร้างความวิตกกังวลให้กับบรรดาผู้ลี้ภัย เนื่องจากยังคงรู้สึกไม่แน่ใจในรัฐบาลพลเรือนของเมียนมาร์ และ ขณะเดียวกันยังคงมีรายงานการปะทะในหลายพื้นที่ของเมียนมาร์ รวมถึงในรัฐกะเหรี่ยงซึ่งเป็นภูมิลำเนาของประชากรส่วนใหญ่ในค่ายผู้อพยพ

ทั้งนี้ ร่างแผนการดังกล่าวใช้ชื่อว่า “แผนปฏิบัติการสำหรับผู้ลี้ภัยที่สมัครใจกลับประเทศ” โดยนาย เอียน ฮอลล์ ผู้ประสานงานอาวุโสประจำยูเอ็นเอชซีอาร์ ได้นำเสนอแผนดังกล่าวในการประชุมร่วมกับผู้นำค่ายผู้ลี้ภัยและองค์กรพัฒนาเอกชนที่เกี่ยวข้อง โดยระบุถึงรายละเอียดในเรื่องการอำนวยการในกระบวนการส่งกลับ เช่น รายละเอียดเกี่ยวกับการเดินทาง การช่วยเหลือผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ เช่น เด็ก คนชรา หรือผู้พิการ และการรับรองความมั่นใจให้กับผู้ลี้ภัยในเรื่องความสมัครใจเดินทางกลับ

บลูมมิ่ง ไนท์ ซาน เลขาธิการร่วม คณะกรรมการผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยง ซึ่งดูแลการจัดการค่ายผู้อพยพ 7 แห่งตามแนวชายแดน ระบุว่าคณะกรรมการผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยง ไม่ประสงค์จะร่วมมือกับยูเอ็นเอชซีอาร์ในการดำเนินตามแผนการดังกล่าว โดยเหตุผลหลักคือ คณะกรรมการผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงไม่ได้มีส่วนรวมหรือเกี่ยวข้องกับแผนการนี้มาแต่ต้น และไม่ใช่แผนของพวกเขา

บเว เซ เลขาธิการคนที่หนึ่ง คณะกรรมการผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยง แสดงความไม่เห็นด้วยโดยเน้นย้ำแนวทางของคณะกรรมการผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงว่า การส่งตัวกลับจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการลงนามข้อตกลงหยุดยิง และมี “สันติภาพที่แท้จริง” อย่างไรก็ตาม เขายังเชื่อมั่นในยูเอ็นเอชซีอาร์ เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องรู้ว่าพวกตนจะไปที่ไหนและอนาคตจะเป็นอย่างไร

ลูอิซ เคย์โป เลขาธิการคนที่หนึ่ง คณะกรรมการผู้ลี้ภัยชาวคะเรนนี ซึ่งดูแลค่ายผู้อพยพชาวคะเรนนี สอง ค่ายใน จ.แม่ฮ่องสอน ระบุว่าเห็นด้วยต่อแผนการดังกล่าว แต่ก็รู้สึกว่าค่อนข้างจะเร็วเกินไป และเห็นว่าทางยูเอ็นเอชซีอาร์ได้ดำเนินการตามแผนของรัฐบาลไทยและเมียนมาร์ ซึ่งอาจจะรอจังหวะหลังการเลือกตั้งทั่วไปในเมียนมาร์ ในวันที่ 8 พ.ย.นี้ และหลังจากนั้นอาจจะมีสัญญาณไฟเขียวให้ผู้อพยพเดินทางกลับ

นายเอียน ฮอลล์ ซึ่งเป็นผู้นำเสนอร่างแผนการดังกล่าวอธิบายว่า แผนนี้เกิดขึ้น เนื่องจากทางยูเอ็นเอชซีอาร์จำเป็นต้องหาแนวทางเตรียมไว้ว่า จะทำอย่างไรหากผู้อพยพสมัครใจเดินทางกลับประเทศ โดยยืนยันว่านี่เป็นเพียงแค่ร่างแรก และหากผู้ลี้ภัยรู้สึกไม่สบายใจกับแผนดังกล่าว ก็จะหยุดดำเนินการ ทั้งนี้ แม้ว่าการจัดทำร่างแผนการจะเสร็จสมบูรณ์ภายใน 6 เดือนข้างหน้า แต่ผู้ลี้ภัยอาจจะได้กลับบ้านในอีก 6 ปีก็เป็นได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานการณ์ว่าเมียนมาร์ต้องมีสันติภาพและการเมืองคลี่คลายด้วย

 

ที่มา: https://www.facebook.com/BBCThai/photos/np.1438563614506391.100001024807284/1682101905344176/?type=1&notif_t=notify_me_page

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักเศรษฐศาสตร์ คาดปรับค่าแรงขั้นต่ำ ส่งผลดีต่อการบริโภค-การลงทุนในประเทศ

$
0
0

ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต หนุนปรับค่าแรงขั้นต่ำในปีหน้าว่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ การบริโภคและการลงทุนในประเทศ ชี้การขึ้นค่าแรงย่อมกระตุ้นอำนาจซื้อการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคและการลงทุนที่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก ระบุกำลังซื้อของเศรษฐกิจภายในของไทยร้อยละ 42 มาจากเงินเดือนและค่าจ้าง หากยกระดับกำลังซื้อนี้ด้วยการเพิ่มค่าแรง จะส่งผลต่อแรงงานนอกระบบให้มีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย การกำหนดนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำต้องพิจารณาให้เกิดดุลยภาพระหว่าง “ความสามารถในการแข่งขัน" และ “ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ"

 
10.30 น.วันที่  2 สิงหาคม 2558  คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ระบุ ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ต้องอาศัยทั้ง “ลูกจ้าง” และ “นายจ้าง” ในการขับเคลื่อนการผลิต ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ไม่มี “แรงงาน” ย่อมไม่มีสิ่งต่างๆที่เราเห็นอยู่ในโลกใบนี้เกิดขึ้น เพราะสิ่งต่างๆเกิดขึ้นด้วยการสร้างสรรค์จากแรงงานทั้งสิ้น ขณะเดียวกัน หากปราศจากซึ่ง “ผู้ประกอบการ” ที่เข้มแข็งและแข่งขันได้ เศรษฐกิจย่อมไม่พัฒนาเติบโต “ลูกจ้าง” และ “นายจ้าง” จึงเปรียบเหมือน “แขนขวา” และ “แขนซ้าย” ของระบบเศรษฐกิจ

การเพิ่มค่าจ้างโดยเฉพาะค่าแรงขั้นต่ำ (ซึ่งจ่ายให้แรงงานแรกเข้าไม่มีทักษะ) ก็ต้องพิจารณาหลายมิติ ทั้ง ความจำเป็นต่อการดำรงชีพ การคุ้มครองแรงงาน ค่าตอบแทนฝีมือการทำงาน ความสามารถในการจ่ายของนายจ้างและผลที่มีต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจ การปรับฐานค่าจ้างให้เป็นธรรม ต้องทำในระยะที่เศรษฐกิจเติบโตดีและอัตราการว่างงานต่ำ การผลักดันให้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำปรับเพิ่มขึ้นในอัตราก้าวหน้าเป็นแนวทางที่ถูกต้องในช่วงเศรษฐกิจขยายตัวดี อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เศรษฐกิจซบเซาจึงต้องดูผลกระทบต่อผู้ประกอบการขนาดเล็กด้วย ขณะนี้ได้มีการดำเนินการผ่านอนุกรรมการค่าจ้างไตรภาคีประจำจังหวัดปรากฏว่า อาจไม่มีการขึ้นค่าจ้างในหลายพื้นที่ ซึ่งตนเห็นว่าควรปรับขึ้นอย่างน้อย 12-20 บาทเป็นค่าจ้างขั้นต่ำพื้นฐานอัตรา

เดียวทั่วประเทศ หลังจากนั้นจึงค่อยดูอุปสงค์อุปทานตลาดแรงงานในแต่ละพื้นที่ พิจารณาดูค่าครองชีพ พิจารณาความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง ในบางพื้นที่ เช่น กรุงเทพฯและปริมณฑลเขตอุตสาหกรรมภาคตะวันออก เมืองศูนย์กลางท่องเที่ยว ควรจ่ายตามที่ฝ่ายองค์กรลูกจ้าง (คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงาน) ร้องขอที่ 360 บาท ตนเสนอให้พบกันครึ่งทางระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง มีค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำสองระดับ ระดับแรก เป็นค่าจ้างแรงงงานขั้นต่ำพื้นฐาน ปรับขึ้น 12-20 บาททั่วประเทศเท่ากัน หลังจากนั้นมาดูตามพื้นที่ต่างๆว่าควรปรับเพิ่มให้อีกเท่าไหร่จากค่าจ้างขั้นต่ำพื้นฐานเพื่อให้เพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างมีคุณภาพและมีเงินออมบ้าง มีเงินดูแลครอบครับบ้าง จึงเสนอให้ปรับเพิ่มค่าแรงขึ้นต่ำในช่วงระหว่าง 12-60 บาทเนื่องจากไม่ได้มีการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำมาเกือบ 3 ปีแล้ว

ค่าจ้างลอยตัวไม่ควรใช้กับระบบค่าแรงขั้นต่ำแต่ควรใช้กับระบบค่าจ้างทั่วไป ซึ่งระบบค่าจ้างทั่วไปขึ้นกับกลไกตลาดเป็นแบบลอยตัวอยู่แล้ว หากนำระบบลอยตัวมาใช้กับระบบค่าแรงขั้นต่ำจะเพิ่มความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมากขึ้น ระบบค่าจ้างลอยตัวที่ต้องการให้นายจ้างแข่งขันกันเสนอราคาและลูกจ้างจะสามารถเลือกนายจ้างที่ตนเองพอใจทำงานด้วยเป็นแนวคิดที่อยู่บนพื้นฐานตลาดแรงงานเสรีซึ่งเหมาะสมกับระบบการกำหนดค่าจ้างทั่วไป ไม่ใช่ค่าแรงงานขั้นต่ำ เพราะหลักคิดของระบบค่าแรงขั้นต่ำต้องการคุ้มครองแรงงาน เพราะแรงงานแตกต่างจากสินค้าอื่นๆในระบบเศรษฐกิจ และเกี่ยวกับความอยู่รอดและคุณภาพของชีวิตของคนงานและครอบครับ การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมทางสังคมด้วยไม่สามารถกำหนดจากอุปสงค์อุปทานในตลาดแรงงานอย่างเดียว อีกประการหนึ่งลูกจ้างมีอำนาจต่อรองน้อย และอัตราการรวมตัวของลูกจ้างเป็นสหภาพแรงงานในประเทศไทยต่ำมาเพียงแค่ 1.5% ของกำลังแรงงาน สะท้อน ระดับความเป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและสถานประกอบการยังอยู่ในระดับต่ำ เพื่อให้เกิดประชาธิปไตยในสถานประกอบการมากขึ้น รัฐบาลไทยควรทำสัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98

ดร. อนุสรณ์ ยังได้กล่าวถึงสถานการณ์การจ้างงานและเลิกจ้างจากการวิเคราะห์ข้อมูลของศูนย์ข้อมูลเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ว่า แม้นมีสถานการณ์เลิกจ้างเพิ่มขึ้นในบางอุตสาหกรรมช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาอันเป็นผลจากอัตราการขยายตัวติดลบภาคส่งออก แต่แรงงานส่วนใหญ่โดยเฉพาะแรงงานมีทักษะยังคงหางานใหม่ทำได้เนื่องจากอัตราการว่างงานโดยรวมยังต่ำ และคาดว่าการปรับค่าแรงงานขั้นต่ำปีหน้าหากปรับในระดับที่นายจ้างมีศักยภาพจ่ายได้จะไม่มีผลต่อการจ้างงานในระยะสั้นและไม่มีผลกระทบให้มีการเลิกจ้างเพิ่มขึ้น ประเด็นเรื่องการเลิกจ้างหรือว่างงานจะเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจซบเซามากกว่า

ในระยะยาว โครงสร้างภาคการผลิตไทยจะใช้แรงงานลดลง อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นลดลง จะมีการใช้เทคโนโลยี ระบบไอทีเครื่องจักรเข้ามาแทนที่ ทำให้ขีดความสามารถของกิจการดีขึ้นและต้องปรับเปลี่ยนคนงานให้เป็น คนงานที่มีความรู้สูงขึ้น (Knowledge Worker) มีผลิตภาพสูงขึ้น (Higher Productivity) มีมาตรฐานแรงงานดีขึ้น (Better Labour Standard) และ คุณภาพชีวิตดีขึ้น (Better Quality of Life)  

ผศ. ดร. อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า อุตสาหกรรมที่ต้องเฝ้าติดตามปัญหาการเลิกจ้างมากเป็นพิเศษในช่วงนี้ ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมเครื่องประดับ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมอิเลคทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมสิ่งทอผู้ว่างงานกรณีถูกเลิกจ้างขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 เนื่องจากโรงงาน ปั่นด้ายเคหะสิ่งทอปิดตัวลง 6 โรง เพราะคำสั่งซื้อลดลงจากประเทศที่เคยสั่งซื้อ เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย อินเดีย ตุรกี และซาอุดิอาระเบีย และโดนเวียดนามแย่งตลาดไปหมด ส่วนภาพรวมการเลิกจ้างพบสถานการณ์เลิกจ้างยังไม่ถึงเกิดวิกฤติเลิกจ้างแต่ต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อก่อให้เกิดการขยายตัวของการจ้างงาน

อุตสาหกรรมสิ่งทอในเดือนมิถุนายน มีการว่างงานขยายตัวร้อยละ 23.27 และการเลิกจ้างขยายตัวร้อยละ 135.19 เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว เนื่องจากกลุ่มสิ่งทอมีการจำหน่ายชะลอตัวตามการผลิตในกลุ่มปลายน้ำ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เส้นใยฯ และผ้าผืน จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ประกอบกับเวียดนามลดการนำเข้าผ้าผืนจากไทย

อุตสาหกรรมเครื่องประดับมีการการเลิกจ้างขยายตัวร้อยละ 28.24 ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาเทียบกับระยะเวลาเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว อย่างไรก็ตามแม้นมีการเลิกจ้างในอัตราสูง แต่ก็มีการขยายตัวของการจ้างด้วยทำให้โดยภาพรวมสามารถดูดซับแรงงานที่ถูกเลิกจ้างได้ เนื่องจากการส่งออกไปยังตลาดหลักยังขยายตัวได้ดีไม่ว่าจะเป็นฮ่องกง สหรัฐอเมริกา รวมถึงตลาดอาเซียนบางประเทศ

อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า มีการจ้างงานจำนวน 115,195 คน จากข้อมูลศูนย์ข้อมูลเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ณ เดือนมิถุนายน 2558 สถานการณ์การเลิกจ้างโดยภาพรวม ณ. เดือนมิถุนายน พบว่า มีผู้ถูกเลิกจ้างในระบบประกันสังคมจำนวน 6,340 คน (มีอัตราขยายตัวอยู่ที่ 9.86%) เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (มิถุนายน 2557) มีอัตรา 5,771 คน ดังนั้น ณ เดือนมิถุนายน 2558 สถานการณ์เลิกจ้างยังไม่น่าเป็นห่วงและถือว่าการเลิกจ้างอยู่ในระดับที่ต่ำ เนื่องจากการ เลิกจ้างมีอัตราการเติบโต 9.86% ยังต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย และแรงงานที่ถูกเลิกจ้างก็สามารถหางานได้ในเวลาไม่นานนักเนื่องจากอัตราการว่างงานโดยรวมของประเทศยังอยู่ในระดับต่ำมากไม่ถึง  2%

อนุสรณ์ ยังได้วิเคราะห์ถึงกรณีที่ไทยยังถูกจัดชั้นเรื่องปัญหาเรื่องแรงงานทาสและการค้ามนุษย์ให้อยู่ในระดับ Tier3 โดยสหรัฐอเมริกา ว่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยและภาพลักษณ์ของประเทศนำมาสู่การไม่สั่งสินค้าและคว่ำบาตรสินค้าไทยได้ จึงต้องเร่งชี้แจงให้ดี อาจทำให้การส่งออกปีนี้ติดลบมากกว่า 3% ฉะนั้นต้องเร่งปรับปรุงแก้ไขให้เป็นไปตามมาตรฐานแรงงานสากล การรณรงค์ตอบโต้โดยการไม่ซื้อสินค้าสหรัฐอเมริกาจากกรณีดังกล่าวจะทำให้ปัญหาซับซ้อนและลุกลามมากขึ้นและเป็นการเคลื่อนไหวที่ไม่ตรงประเด็น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากรัฐบาลไทยได้พยายามแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานทาสอย่างเต็มที่ในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้หากสามารถกลับคืนสู่ประชาธิปไตยในปีหน้าได้ คาดว่าในปีหน้าประเทศไทยของเราน่าจะถูกยกอันดับให้ดีขึ้นอันเป็นผลบวกต่อสินค้าส่งออกของไทยและเศรษฐกิจโดยภาพรวม  

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปชช.กว่า 50,000 ได้สิทธิเลือกสัญชาติ หลังปัญหาดินแดนเหลื่อมล้ำอินเดีย-บังกลาเทศยุติ

$
0
0

ข้อตกลงแลกเปลี่ยนดินแดนแทรกในเขตชายแดนร่วมอินเดีย – บังกลาเทศมีผลบังคับใช้ ส่งผลให้ประชาชนราว 50,000 คนในพื้นที่ได้มีสิทธิเลือกสัญชาติ หลังอยู่ในสภาพไร้รัฐมากว่า 68 ปี

2 ส.ค. 2558 สำนักข่าวดิอินดิเพนเดนท์รายงานว่า ข้อตกลงแลกเปลี่ยนดินแดนแทรก ในเขตพื้นที่ชายแดนร่วมของอินเดีย – บังกลาเทศได้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ส.ค. เวลาเที่ยงคืนตามเวลาท้องถิ่น โดยดินแดนแทรก 111 แห่งของอินเดียในบังกลาเทศ และดินแดนแทรก 51 แห่งของบังกลาเทศในอินเดีย จะถูกส่งคืนให้กับประเทศที่ดินแดนนั้นอยู่ ส่งผลให้ประชาชนกว่า 50,000 คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวสามารถเลือกรับสัญชาติของตัวเองได้

โดยมีประชาชน 979 คนในดินแดนแทรกของอินเดียในบังกลาเทศได้ยื่นขอสัญชาติอินเดีย จากทั้งหมดราว 37,000 คน ในขณะที่ประชาชนกว่า 14,000 คนในดินแดนแทรกของบังกลาเทศในอินเดียขอรับสัญชาติอินเดียทั้งหมด

ดิอินดิเพนเดนท์รายงานด้วยว่า ในพื้นที่ที่กลายเป็นดินแดนของอินเดีย มีการเฉลิมฉลองด้วยประทัดและการชักธงชาติอินเดียสู่ยอดเสา ในขณะที่ในบังกลาเทศก็มีการแสดงความยินดี และร้องตะโกน "บังกลาเทศ" ซ้ำไปซ้ำมา มีการปล่อยลูกโป่ง 68 ลูกและจุดเทียน 68 เล่มเพื่อรำลึกถึงจำนวนปีที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งดินแดนนี้

ปัญหาข้อขัดแย้งนี้ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1947 ที่จักรวรรดิอังกฤษแบ่งแยกดินแดนปากีสถานออกจากอินเดีย และให้เอกราชแก่ทั้งสองประเทศ จากนั้นจึงเกิดสงครามแบ่งแยกบังกลาเทศออกจากปากีสถาน แม้ว่าทั้งสองประเทศจะมีการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหานี้แล้วในปีค.ศ. 1950 แต่การเจรจาขั้นสุดท้ายเพิ่งบรรลุเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยการให้สัญชาติและการย้ายถิ่นฐานจากบังกลาเทศมาสู่อินเดียคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายนปีนี้

ข้อตกลงดินแดนนี้ทำให้อินเดียสูญเสียพื้นที่ให้กับบังกลาเทศราว 40 ตารางกิโลเมตร

 

เรียบเรียงจาก:
Tens of thousands able to choose their citizenship after border resolution between India and Bangladesh
http://www.independent.co.uk/news/world/asia/tens-of-thousands-able-to-choose-their-citizenship-after-border-resolution-between-india-and-bangladesh-10433138.html
ข้อมูลเพิ่มเติมจาก:
https://en.wikipedia.org/wiki/India%E2%80%93Bangladesh_enclaves

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผู้กองยอดรัก: ละครรักกุ๊กกิ๊กเกี่ยวกับทหารที่ถูกสร้างใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่รัฐประหาร ตั้งแต่ทศวรรษ 1970

$
0
0
 
 
ภาพโปรโมทละคร ผู้กองยอดรัก เวอร์ชั่นล่า  กับภาพถ่ายทหารกับชาวบ้านที่ประท้วงการสำรวจปิโตเลียมที่ขอนแก่น หลังการรัฐประหาร 2557
 
นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 ประเทศไทยเผชิญกับห้วงเวลาของการผลิตซ้ำละครเกี่ยวกับกองทัพแนวโรแมนติก คอมมาดี้ มาถึง9 ครั้งแล้ว และมักจะเผยแพร่หลังจากการรัฐประหาร ซึ่งบทละครจะนำเสนอเพื่อสร้างความชอบธรรมและภาพชวนฝันให้กับทหาร
 
เห็นได้ชัดเจนว่าคนไทยอย่างน้อยต้องเคยดูการผลิตซ้ำของละครผู้กองยอดรักอย่างน้อยหนึ่งเวอร์ชัน จากทั้งหมด 9 เวอร์ชัน ซึ่งผู้กองยอดรักนั้นมาจากนิยายของ กาญจนา นาคนันทน์ เป็นนามปากกาของ นงไฉน ปริญญาธวัช ผลงานของเธอถูกนำมาเป็นทำเป็นภาพยนตร์สองครั้งในปี พ.ศ.2516  และ พ.ศ.2524 นำมาทำเป็นละครโอเปร่า 7 ครั้ง ในปี พ.ศ.2515พ.ศ.2522 พ.ศ.2531 พ.ศ. 2049 พ.ศ.2545 และพ.ศ. 2550 และในครั้งล่าสุดนี้ การเผยแพร่ในเวอร์ชันปี พ.ศ.2558  ที่ออกอากาศทางช่อง 3 ทุกวัน ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์
สิ่งที่น่าพิจารณาเป็นอย่างยิ่งคือ การผลิตซ้ำของละครผู้กองยอดรักนั้นมักทำในปีถัดมาภายหลังการรัฐประหาร
 
 
การประชาสัมพันธ์ให้ทหารที่ต้องมี
 
ชานันท์ ยอดหงษ์ นักประวัติศาสตร์ และนักเขียนเรื่องนายใน  กล่าวว่า นวนิยาของ กาญจนา เช่น ผู้กองยอดรัก ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามสร้างสำนึกรักแผ่นดินบ้านเกิด ผ่านการสร้างสัญลักษณ์คู่ตรงข้ามระหว่างสังคมเกษตรกรรมในชนบทกับความสมัยใหม่ในสังคมเมือง และความเหลื่อมล้ำระหว่างสถานภาพทางเศรษฐกิจสังคม
 
ชานันท์กล่าวต่อไปว่า แต่ละครั้งที่ผลิตก็มีเงื่อนไขและบริบททางการเมืองสังคมแตกต่างกัน หรือมีนัยยะซ่อนเร้นที่ต่างกัน เช่น ผู้กองยอดรัก เผยแพร่ในรูปแบบละครครั้งแรกในช่องสี่บางขุนพรมปี พ.ศ. 2515 ภายหลังหลังการรัฐประหารปี พ.ศ.2514 โดยจอมพลถนอม กิตติขจร  ต่อมาที่มีการรัฐประหารโดยพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้าคณะในปีพ.ศ.2549  ผู้กองยอดรักก็ถูกนำมาผลิตซ้ำอีกครั้งในรูปแบบละครฉายช่องไอทีวีในปีถัดมาคือปีพ.ศ. 2550 และในลักษณะเดียวกันหลัง รัฐประหารปี พ.ศ. 2557 โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ละครผู้กองยอดรักก็ผลิตซ้ำอีกครั้งในพ.ศ. 2558 โดยช่อง 3 ซึ่งมักผลิตละครสนับสนุนอุดมการณ์ผ่ายขวาจัดอย่างชัดเจนอยู่สม่ำเสมอ 
 
ชานันท์กล่าวว่า “หนึ่ง ในอุดมการณ์นั้นก็คือ ทหารเป็นที่พึ่งพิงของประชาชน”  
 
“ในเนื้อเรื่อง ตัวละครทหารจึงมีหน้าที่รักษาพยาบาล เยียวยาความเจ็บป่วยประชาชนและเป็นผู้เสียสละจับอาวุธใช้ความรุนแรงปราบปราม ”ศัตรู” เพื่อรักษาความมั่นคงของชาติ” ชานันท์กล่าว
 
การผลิตซ้ำละครผู้กองยอดรักครั้งล่าสุด ที่นำแสดงโดย ฉันทวิชช์ ธนะเสวี และ  มาร์กี้ ราศรี บาเล็นซิเอก้า  ตอกย้ำภาพลักษณ์ของทหาร และระบอบเผด็จการทหารว่า ลึกๆ แล้วเป็นคนดี มีความเป็นผู้ดี ตลก และ โรแมนติกอีกด้วย ละครยังพยายามทำให้แนวคิดแบบขวาจัดที่ว่า การที่ทหารมีอำนาจเป็นเรื่องปกติ และเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ
 
ในทุกเวอร์ชันของละครผู้กองยอดรักจะมีเนื้อเรื่องเหมือนกันคือ พัน น้ำสุพรรณ เด็กหนุ่มบ้านนอกจากจังหวัดสุพรรณบุรี ที่มีสำเนียงเหน่อสุพรรณ ซึ่งภาษาพูดของพันทำให้เขาดูตลก และ ไร้เดียงสา พัน สมัครใจเป็นทหารและตามจีบ ผู้กอง ฉวีผ่อง ลูกสาวของ พันเอกผวน โดยพันเลือกสมัครเป็นทหารเกณฑ์แทนการจับใบดำ ใบแดง แสดงให้เห็นแล้วเห็นเล่าว่าเป็นหน้าที่ พันและพระในหมู่บ้าน บอกพ่อแม่ที่ไม่อยากให้พันไปเป็นทหารเกณฑ์ว่า “การรับใช้ประเทศชาติคือหน้าที่ของลูกผู้ชายที่สมบูรณ์แบบ”
 
ชานันท์กล่าวว่า “ละครล้มเหลวที่ไม่ได้ตั้งคำถามว่าจำเป็นหรือไม่ที่ยังจะต้องมีการเกณฑ์ทหารอยู่”
 
ภาพของ "ลูกผู้ชายตัวจริง" กลายเป็นการทำงานรับใช้ในบ้าน และการคลานเข่ากับพื้น ในฉากนี้ ผู้บังคับบัญชาของเหล่าพลทหารใหม่จากสุพรรณบุรี สั่งให้ทุกคนคลานกับพื้นไปที่ค่าย ในขณะที่ตัวเขาเองนั่งรถบัสว่างๆ กลับค่าย 
 
พันกับเพื่อนทหารเกณฑ์ อ่ำ ซึ่งมาทำงานเป็นทหารรับใช้ให้พันเอกผวน
 
พันเอกผวนและครอบครัวของเขามีทหารเกณฑ์มาช่วยในส่วนงานบ้านซึ่งในละครพันก็ทำหน้าที่นี้  ด้วยลักษณะนิสัยที่ไม่ถือตัวของพัน เขาจึงยินดีต่อรองซื้อขายในราคาถูก  นวดขาให้ภรรยาของผู้พัน และ ทำงานบ้านสารพัด
 
พันเอกผวนมักขู่ว่าจะจับพันไป “ขังลืม”
 
พันอกผวนกลั่นแกล้งพันและพวกโดยขู่ว่าจะจับขังลืม ซึ่งในตอนที่ 8 ของละครเรื่องนี้ ผู้พันผวนจับพัน “ขังลืม” โดยให้เหตุผลว่าจะได้ไม่ต้อมาสร้างความยุ่งยากให้ตน
 
พัน กราบภรรยาพันเอกผวน
 
ประชาไทสัมภาษณ์นายทหาร ยศพันเอกคนหนึ่ง ถึงความสมจริงของละครเรื่องนี้ พันเอกท่านนี้เล่าว่า ละครเป็นสิ่งที่ไม่เป็นความจริงโดยสิ้นเชิง เนื่องจากมีเพียงแค่นายทหารชั้นสูงเท่านั้นที่จะมีทหารรับใช้ได้ และเป็นไปไม่ได้ที่แพทย์ทหารจะมีทหารรับใช้มาเป็นคนขับรถ
 
“ผมคิดว่าละครมุ่งเสนอแต่เรื่องการที่ทหารเกณฑ์ต้องมาเป็นทหารรับใช้เกินไป ซึ่งมันสร้างภาพที่ไม่ดีให้กองทัพ ที่ว่าผู้ชมจะคิดว่า นี้คือสิ่งที่พวกทหารทำกับทหารใหม่”
 
พันเอกท่านนี้อธิบายต่อไปว่า งานของทหารใหม่ร้อยละ 95 คือการลาดตระเวนชายแดน และปกป้องด่านหน้า ซึ่งแน่นอนเป็นงานที่ไม่สบาย และอีกร้อยละห้านั้นส่วนใหญ่จะเป็นทหารใหม่ที่มีการศึกษา ซึ่งจะได้ทำงานเป็นเลขานุการ ทำงานนั่งโต๊ะกับคอมพิวเตอร์ เช่น การพิมพ์เอกสารใน Word หรือ PowerPoint หรือแล้วแต่งานที่ผู้คุมจะสั่ง
 
“ซึ่งแน่นอนว่าทหารผู้ช่วยเหล่านี้ต้องไปจ่ายตลาดให้ผู้คุม และ งานในส่วนงานบ้านนั้นก็จะทำให้ในของกองทัพเท่านั้น ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมทหาร” พันเอกท่านหนึ่งกล่าว
 
“แต่ไม่มีทหารใหม่คนไหนต้องเอาหินไปดองเกลือ”  ซึ่งมีตอนหนึ่งในละครที่พันทำแบบนี้ให้กับภรรยาของผู้พันผวน  “ เป็นเรื่องตลกที่ละครมีเรื่องแบบนี้ ในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีทหารเกณฑ์คนไหนจะสบายอย่างพันในเรื่องเลย ” พันเอกท่านหนึ่งกล่าว
 
ด้านชานันท์ กล่าวถึงทหารรับใช้ว่า ละครล้มเหลวตรงที่ไม่ได้ตั้งคำถามกับการใช้ทหารรับใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวทั้งที่งบของทหารรับใช้มาจากภาษีของประชาชน 
 
ลบภาพเก่า สร้างภาพชวนฝันของทหาร
 
ชานันท์กล่าวว่า ละครและภาพยนตร์ที่ว่าด้วยทหารมีทั้งตลก สงคราม ดราม่า เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งสามอย่างหลังมักได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างมหาศาล  หรือมักถูกผลิตขึ้นเมื่อรัฐรู้สึกไม่มั่นคง  เช่นเดียวกับ ผู้กองยอดรัก ที่ทำหน้าที่ ลบภาพความเป็นเผด็จการ ล้าหลัง ป่าเถื่อน หยาบคาย ใช้ความรุนแรง ละเมิดสิทธิมนุษยชนของหทาร มาตลอด ละครที่เต็มไปด้วย รักโรแมนติก อารมณ์ขัน ตลกโปกฮา  ความมีชีวิตชีวาของตัวละครที่เป็นทหาร
 
ซึ่งชานันท์ได้เปรียบเทียบละครผู้กองยอดรักกับ “คู่กรรม” นิยายที่ถูกทำเป็นละครและภาพยนตร์รวม 10 ครั้ง ละครเวทีอีกสองครั้ง ซึ่งเรื่องราว รักโรมแมนติก ระหว่างทหารญี่ปุ่นกับสาวไทย ได้สร้างความทรงจำใหม่เกี่ยวกับการรุกรานอาณานิคมของชาติตะวันตกของกองทัพญี่ปุ่นในภาคพื้นเอเชียและมหาสมุทรแปซิฟิก ในสงครามมหาเอเชียบูรพา ( Greater East Asia War) จากความรุนแรงอำมหิตกลายเป็นความรักระหว่างรบของหนุ่มสาว
 
ชานันท์กล่าวต่อไปว่า อารมณ์ขันและความรักเป็นทั้งสิ่งที่เผยให้เห็นความเป็นมนุษย์ และสิ่งประกอบสร้างทางสังคมที่ต้องอิงกับแต่ละบริบทของสังคม  ซึ่งในกรณีของละครภาพยนตร์โรแมนติก คอมมาดี้ เกี่ยวกับทหาร มักกล่าวถึง ความรักข้ามสถานะทางสังคมระหว่างทหารเกณฑ์ กับทหารหญิงหรือลูกสาวทหารที่ตำแหน่งสูงกว่า เพราะมันช่วยทลายการจัดระเบียบช่วงชั้นทางสังคมในองค์กรทหาร ที่เป็นอำนาจนิยมและเต็มไปด้วยการถือยศตำแหน่งและช่วยให้การฝึกหัดทหารที่ไร้มนุษยธรรมแลดูมีความเป็นมนุษย์มากขึ้นด้วยความรักใคร่และความตลกโปกฮา  และลดภาพขึงขังดุดัน เหี้ยมเกรียมให้ดูอ่อนโยน เป็นมิตรและไร้ความรุนแรง
 
ในละครตอนแรก พันคิดเพ้อฝันว่าจะได้แต่งกับผู้กอง 
 
พลทหารพันตกหลุมรักแพทย์ทหารหญิงผู้กอง ฉวีผ่อง ผู้กองแสนสวยลูกสาวของพันเอกผวน โดยผู้พันเอกผวนจะเตือนพันตลอดว่าไม่สมควรที่จะมารักลูกสาวตนเพราะพันมีฐานนะที่ด้อยกว่าลูกสาวตน
 
แต่เมื่อผู้พันได้รูความจริงทีหลังว่าพันโกหกถึงความเป็นมาของตนที่จริงแล้วพันนั้นเรียนจบกฎหมาย ผู้พันผวนจึงพูดว่า การกระทำของพันคือการปิดทองหลังพระ ซึ่งสื่อถึงอุดมคติของประชาชนที่อยู่ภายใต้การปกครองของทหาร คือ ง่ายต่อการสั่ง เก่งแต่ยากจน และ ถ่อมตน
 
เพื่อนทหารเกณฑ์คนหนึ่งของพัน
 
“การฝึกหัดทหารที่ไร้มนุษยธรรมแลดูมีความเป็นมนุษย์มากขึ้นด้วยความรักใคร่และความตลกโปกฮา  และลดภาพขึงขังดุดัน เหี้ยมเกรียมให้ดูอ่อนโยน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไร้ความรุนแรง” ชานันท์กล่าว
 
ชานันท์ กล่าวว่า อารมณ์ขันในละคร ยังเป็นทั้งเครื่องมือทลายกำแพงชนชั้น ลดทอนความสูงส่ง และศักดิ์สิทธิ์ของบุคคลได้ เห็นได้จากการล้อเลียน ทำให้บุคคลที่มีอำนาจ เกียรติยศหรือถูกสถาปนาให้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ กลายเป็นตัวตลก
 
“ถ้าในชีวิตจริงทหารใหม่เล่นหัวเล่นหางผู้คุมแบบนั้น พวกเขาถูกจับขังคุกทันทีแน่นอน”
แต่นี่คือละครคอมมาดี้ดังนั้นนักแสดงก็ไม่ได้ทำตามกฎในชีวิตจริง
 
ความคิดเห็นในกระทู้พันทิป จากหัวข้อ  “ผู้กองยอดรัก กับภาพลักษณ์ ทหาร” เล่าว่า การสร้างมุขตลกโดยตัวละครที่เป็นทหารเพื่อจะทำให้ทหารดูเป็นมิตร ง่ายต่อการเข้าถึง แต่กลับจะเป็นการสร้างภาพให้ทหารดูโง่ซะมากกว่า
 
จาก15 ความคิดเห็นมีสองความคิดเห็นที่บอกความรู้สึกกับละครเรื่องนี้ว่า “ปัญญาอ่อน”
แต่อีก 5 ความคิดเห็น บอกว่าอย่าไปจริงจังกับละครมาก ให้ดูเพื่อคลายเครียด
 
 “จะเอาอะไรมากกับละคร เค้าทำเพื่อความสนุกสนาน ถ้าเครียดกับเรื่องนี้มากก็ปิดไฟนอนซะ”
 
ส่วนความคิดเห็นที่ถูกลบ กล่าวพาดพิงถึงละครกับเผด็จการทหาร และเล่าว่าละครนำเสนอความโง่ ความคิดที่ไม่จริง และทำให้ภาพลักษณ์ของทหารใหม่ดูไม่ดี จากผลสำรวจนี้แสดงให้เห็นว่าคนไทยปฏิเสธที่จะจริงจังกับละครในขณะคนประเทศอื่นนำสิ่งที่เห็นในละครมาวิพากษ์วิจารณ์ต่อ
 
โง่ จน เจ็บ
 
ชานันท์ กล่าวว่า “โฆษณาชวนเชื่อมักจะมาในรูปแบบละครหรือภาพยนตร์ เพื่อประโยชน์ในการสร้างภาพจำให้กับกลุ่มอัตลักษณ์”
 
ชานันท์ กล่าวต่อไปว่า ในสื่อประเภทนี้ เราจึงไม่เห็นภาพของทหารจับอาวุธปราบปราม ทำร้ายหรือฆ่าผู้ที่ชุมนุมทางการเมือง ข่มขู่คุกคามครอบครัวของนักเคลื่อนไหว ในฐานะเครื่องมือรักษาระบอบเผด็จการ เป็นแต่จะเห็นภาพของทหารเข้าไปรักษาโรคพยาธิตามชุมชนต่างๆในชนบท ซึ่งเท่ากับว่ายังมอง "ชนบท" แบบวาทกรรม "โง่จนเจ็บ" อยู่ ว่าไม่รู้สุขอนามัย กินสกปรก ไม่มีเงินกินอาหารดีๆ จนต้องป่วยพิกลพิการ
 
ซึ่งในตอนที่เก้าของละครผู้กองยอดรักนั้น ทหารใหม่ต้องไปเดินทางไปดอยเพื่อขุดฝายป้องกันน้ำท้วมให้ชาวเขา ซึ่งในตอนแรกที่พันไปถึงก็ได้ช่วยชาวเขาคนหนึ่งจากอาการที่เชื่อว่าถูกวิญญาณสิง แต่ที่จริงเป็นแค่อาการข้างเคียงจากการกินอาหารสุกๆ ดิบๆ
 
นอกจากนี้พลทหารพันสอนชาวเขาเรื่องสุขลักษณะซึ่งเป็นสิ่งที่รู้กันอยู่แล้วผ่านเพลงที่มีเนื้อหาตลกขบขันโดยมีท่าประกอบโดยใช้มือ  ซึ่งเพลงนี้ทำนองเดียวกับเพลงเพลงช้าง ซึ้งเนื้อร้องประกอบไปด้วย ล้างๆๆๆๆล้างมือสะอาดดีหรือเปล่า หนาวๆๆๆๆ ร่างกายอุ่นพอเหรือเปล่าซึ่งในส่วนนี้ประชาไททำใจเชื่อได้ยากว่าชาวดอยจะเป็นเหมือนเด็กที่ต้องให้ทหารมาบอกพวกเขาว่าจะต้องใส่เสื้อกันหนาวเมื่ออากาศเย็น
 
ผู้กองฉวีผ่องสอน "ชาวเขา" ล้างมือ และใส่เสื้อผ้าให้ร่างกายอบอุ่น (เริ่มนาทีที่ 32.22)
 
พันสอนชาวเขาใช้ช้อนกลาง
 
การสร้างภาพชวนฝันของทหารไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่หรือเป็นปรากฏการณ์ที่นานๆครั้งจะเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง
 
ผู้กองยอดรักไม่ใช่โฆษณาชวนเชื่อของภาพลักษณ์ชวนฝันของทหารเพียงแค่อันเดียวเพลงยอดนิยมที่ติดหูคนไทยมากมายก็สร้างภาพลักษณ์ชวนฝันของทหารเช่นกัน เช่น เพลง “ลาสาวแม่กลอง” ของ โจ้ อัมรินทร์ และยังมีเพลง “ทหารใหม่ไปกอง” ของ ยอดรัก สลักใจ ที่พูดถึงทหารใหม่ถูกส่งไปประจำการห่างไกลจากคนรักซึ่งเป็นธีมเดียวกับเพลง “แนวหน้าลาแฟน” ของ หนู มิเตอร์ และร้องแก้โดย ดาว มยุรี เพลง “แนวหลังยังคอย”
 
แต่ไม่ใช่ภาพของทหารในเพลงจะมีแต่การต้องจากคนรักไปไกลเท่านั้น ยังได้ไปพบรักใหม่ระหว่างประจำการด้วย อย่างเพลง ทบ. 2 ลูกอีสาน ของไผ่ พงศธร ที่พูดถึงทหารเกณฑ์จากภาคอีสานต้องไปประจำการที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้  ซึ่งตอนหนึ่งของเพลงร้องว่า
 
 “ในวันดีๆ ที่ไม่มีสถานการณ์ สาวเว้ายาวีกับบ่าวอีสาน เคยยิ้มให้กันแบ่งปันน้ำใจ
ต่างภูมิลำเนา แต่ว่าเฮาก็เป็นคนไทยปลดประจำการกลับบ้านเมื่อไหร่ เบอร์ที่น้องให้จะหมั่นโทรมา”
 
ทหารสานสัมพันธ์กับสาวมุสลิม ในมิวสิควิดิโอ ทบ.2 ลูกอีสาน
 
เป็นที่น่าสนใจว่าเพลงนี้อาจจะเป็นเพลงโปรดของพลตรีสรรเสริญ แก้วกำเนิด หรือ ไก่อู รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และโฆษก คสช. คนปัจจุบันก็ได้ เพราะพลตรีไก่อูก็เคยร้องเพลงนี้ในงานเลี้ยงสังสรรค์
 
ภายหลังได้ดูละครที่ผลิตซ้ำในธีมทหารที่น่ารักซึ่งเป็นการสร้างภาพชาตินิยมมากกว่าการความเป็นจริง
การผลิตซ้ำแล้วซ้ำอีกของละครผู้กองยอดรักในช่วงเวลาที่เหมาะเจาะเช่นนี้ถือเป็นชั่วโมงของการฉายภาพ "อุดมการณ์ชาตินิยม” อย่างแท้จริง
 
บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกเป็นภาษาอังกฤษ บน Prachatai English ชื่อ Romancing the tanks: how military rom-com’s constant remakes since the ʼ70s legitimize coups
แปลเป็นภาษาไทยโดย ปณิดา ดำริห์
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือข่ายปฏิรูปรับน้องฯ เสนอ 5 ประการ ยึดหลักสิทธิมนุษยชน

$
0
0

ยื่นหนังสือ รมว.ศึกษาฯ ปฏิรูปรับน้องยึดหลัก 5 ประการ ไม่ละเมิด, ไม่บังคับ, รับผิดชอบ, เท่าเทียม และ เปิดเผย โปร่งใส

3 ส.ค.2558 เครือข่ายปฏิรูปรับน้องประชุมเชียร์เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้มีหลักรับน้อง 5 ประการ โดยเน้น 'หลักสิทธิมนุษยชน' เป็นเรื่องสำคัญ

โดย เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘ANTI SOTUS’ แผยแพร่แถลงการณ์เครือข่ายปฏิรูปรับน้องประชุมเชียร์เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ระบุ ถึง กระทรวงศึกษาธิการ, สำนักงานการอุดมศึกษา, สถาบันอุดมศึกษา, โรงเรียน นักศึกษาปี 1 รุ่นพี่และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั่วประเทศ เรื่อง นำเสนอหลักการรับน้อง 5 ประการ ในโอกาสเปิดภาคการศึกษาปี 2558

ซึ่งมีเนื้อหาดังนี้

ในวาระเข้าสู่ปีการศึกษาใหม่ เป็นช่วงเวลาที่เยาวชนไทยจำนวนนับแสนคนทั่วประเทศ ก้าวเข้าสู่ชีวิตใหม่ในสถานศึกษาระดับสูงทั่วประเทศ ไม่ว่าจะมหาวิทยาลัย, วิทยาลัย, สถาบันราชภัฏ หรือสถาบันการศึกษาในรูปแบบต่างๆ เพื่อนเยาวชนของเราเหล่านั้น แบกความหวังความฝันทั้งของตนและครอบครัว เข้าสู่รั้วสถาบันใหม่ ที่จะขัดเกลาบ่มเพาะความคิดพวกเขาต่อไปอีกหลายปี

และเป็นประจำทุกปีเช่นกัน ที่แทบทุกสถาบัน จะต้องมีต้อนรับน้องใหม่ รับน้อง, ซ่อมน้อง, ประชุมเชียร์ และอีกมากมายในชื่อเรียกที่แตกต่างกัน แต่แทบทุกแบบจะมีจุดร่วมเดียวกันคือ รูปแบบที่เรียกว่าระบบ SOTUS หรือรูปแบบของอำนาจนิยม โดยรุ่นพี่คือผู้มีอำนาจในการสั่งการ มีการว้าก กดดันลงโทษ ละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ออกคำสั่งบีบบังคับให้ทำกิจกรรมที่รุนแรง ไม่ว่าจะทางกาย วาจา หรือทางใจ ส่งผลให้เกิดการกดดันทางสังคม เกิดปัญหาทางการเงิน ส่งผลต่อสุขภาพจิตของนักศึกษาใหม่ เกิดการย้ายคณะ ย้ายสถาบัน และในหลายกรณี ก็นำไปสู่การบาดเจ็บ หรือสูญเสียชีวิต ดังที่เป็นข่าวอยู่เสมอมา

ที่สำคัญไปกว่านั้น ระบบรับน้องใหม่ชนิดนี้ เป็นการปลูกฝังวิธีคิดแบบ “อำนาจนิยม” คือการใช้อำนาจจากการเป็นรุ่นพี่ออกคำสั่ง มีการลงโทษและทำตามคำสั่งที่ไร้เหตุผล อันเป็นคุณค่าที่ขัดแย้งอย่างยิ่งต่อการศึกษาในโลกสมัยใหม่ ที่เน้นให้ผู้เรียนมีความคิดเชิงวิพากษ์(Critical Thinking) ตั้งคำถาม และใช้สติปัญญาและเหตุผล

กิจกรรมรับน้องแบบอำนาจนิยม SOTUS จึงไม่เพียงแต่สร้างบาดแผลทางกาย แต่ยังทิ้ง “บาดแผลทางความคิด” แก่เยาวชนของชาติ ซึ่งท้ายที่สุดก็จะส่งผลอย่างลึกซึ้งต่อสังคมไทยต่อไป

เครือข่ายปฏิรูปรับน้องประชุมเชียร์เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อันเป็นการรวมตัวกันของเครือข่ายนักศึกษาและประชาชนหลากหลายสถาบัน จึงขอเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการ, มหาวิทยาลัย, โรงเรียน, สถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้อง ให้พิจารณายกเลิกกิจกรรมรับน้องแบบอำนาจนิยม SOTUS และพิจารณานำหลักการรับน้องในลักษณะสร้างสรรค์ 5 ประการไปปรับใช้

ซึ่งหลักรับน้อง 5 ประการ มีดังนี้

1. Non-Violence ไม่ละเมิด : ไม่ละเมิดกฏหมาย ปราศจากความรุนแรงทั้งกายวาจาและใจ ไม่มีการว้าก ลงโทษ หรือออกคำสั่งที่ขัดต่อหลักสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน

2. Freedom ไม่บังคับ : เป็นกิจกรรมทางเลือก เข้าหรือไม่เข้าก็ได้ ไม่มีกลไกกดดันบังคับไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม

3. Responsibility รับผิดชอบ : มีกลไกรับผิดชอบที่ชัดเจน เช่น มีหน่วยงานทางการ หรืออาจารย์ควบคุมดูเล จัดในมหาวิทยาลัย ไม่กระทบการเรียนการสอน

4. Equality เท่าเทียม : ปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียม ไม่ใช้ความเป็นอาวุโสเป็นข้ออ้างใช้อำนาจในการข่มขู่ออกคำสั่ง

5. Transparency เปิดเผย โปร่งใส : กิจกรรมเปิดเผยต่อสาธารณะ ไม่เป็นความลับ ผู้ปกครองหรือหน่วยงานต่างๆเข้าตรวจสอบได้

หลักการทั้ง 5 ข้อนี้ จะเป็นหลักอันสำคัญในการกำกับและพิจารณากิจกรรมการรับน้องที่สร้างสรรค์ และที่สำคัญหลักการเหล่านี้ก็มีอยู่ในข้อบังคับในประกาศกระทรวงอยู่แต่เดิมแล้ว แต่ไม่มีการนำไปบังคับใช้ปฏิบัติอย่างจริงจังเท่าที่ควร

เครือข่ายปฏิรูปรับน้องประชุมเชียร์เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งชาติหวังว่า การนำเสนอครั้งนี้ จะนำไปสู่การลงมือปฏิบัติจริง และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของสังคมการศึกษาไทยในทิศทางที่สร้างสรรค์ต่อไป

ดังสุภาษิตที่ว่า “หว่านพืชใด ย่อมได้ผลนั้น” หากเราหว่านพืชอำนาจนิยม SOTUS ให้กับเยาวชน อนาคตเราย่อมได้บุคลากรของชาติที่นิยมการว้ากแทนการใช้เหตุผล นิยมการปฏิบัติตามคำสั่งอันไร้สาระแทนการคิดวิเคราะห์ตั้งคำถาม การบ่มเพาะขัดเกลาเยาวชนของชาติผ่านกิจกรรมรับน้องในวันนี้ จึงหมายถึงอนาคตของสังคมไทยในวันหน้า

เราจึงขอเรียกร้องให้สถาบันการศึกษาและอาจารย์ รุ่นพี่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมรับน้องทั่วประเทศ ร่วมกันหว่านพืชทางความคิดที่สร้างสรรค์ เพื่ออนาคตของชาติที่ดีต่อไป

Voice TVรายงานด้วยว่า ชวิศ วรสันต์ ตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปรับน้องประชุมเชียร์เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีการรับน้องแบบ SOTUS  หรืออำนาจนิยม ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งทางด้านกาย วาจาใจ  รวมทั้งยังทำให้เกิดการสูญเสีย และมีการใช้อำนาจจากรุ่นพี่

ดังนั้นจึงเข้ายื่นหนังสือเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และมหาวิทยาลัย รวมทั้งโรงเรียนต่างๆ ยกเลิกการรับน้องแบบโซตัส โดยใช้หลัก 5 ประการ คือ ไม่ละเมิด  ไม่บังคับ มีความรับผิดชอบจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง  มีความเท่าเทียมกัน และรับน้องอย่างเปิดเผย ตรวจสอบได้

ด้าน นงศิลินี โมสิกะ ผู้เชี่ยวชาญสำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งรับมอบหนังสือจากตัวแทนเครือข่ายฯ กล่าวว่า จะนำหลักการรับน้อง 5 ประการ เสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

อย่างไรก็ตาม ในปีที่ผ่านมาทางกระทรวงศึกษาธิการ มีความเข้มงวดต่อกิจกรรมรับน้อง โดยไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิ และความรุนแรงอยู่แล้ว

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live




Latest Images