Quantcast
Channel: ประชาไท
Viewing all 58377 articles
Browse latest View live

ตาก : ศาลฎีกาสั่งเหมืองแร่จ่ายค่าเสียหายผู้ป่วยแคดเมี่ยม

$
0
0

ศาลฎีกาแผนกสิ่งแวดล้อมพิพากษาให้บริษัทเหมืองแร่จ่ายชดเชยค่าเสียหายแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากสารแคดเมี่ยม จ.ตาก

21 มิ.ย. 2562 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจาก สุรพงษ์  กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนาและอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ ว่า เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.ที่ผ่านมา ศาลฎีกาแผนกสิ่งแวดล้อมได้มีคำพิพากษาให้บริษัทผาแดงอินดัสตรี จำกัด(มหาชน) และบริษัทตากไมนิ่ง จำกัด ร่วมกันจ่ายชดเชยค่าเสียหายแก่ชาวบ้านทั้งชาวไทยเชื้อสายไทยและชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง ในตำบลแม่กุ พระธาตุผาแดง และแม่ตาว อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ที่ได้รับความเสียหายเจ็บป่วยจากสารแคดเมี่ยม จากผลกระทบการกระทำเหมืองแร่ของบริษัททั้งสองรวม 20 ราย เป็นเงินตั้งแต่ 20,200 – 104,000 บาท

ชาวบ้านลุ่มน้ำแม่ตาว ประกอบด้วย 3 ตำบล ได้แก่ตำบลแม่กุ พระธาตุผาแดง และแม่ตาว อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก  ที่ได้รับผลกระทบจากการรั่วไหลเนื่องจากกิจกรรมทำแร่สังกะสีของบริษัทผาแดงอินดัสตรี จำกัด(มหาชน) และบริษัทตากไมนิ่ง จำกัด  โดยมีผลการตรวจดิน ข้าว และการตรวจเลือดในร่างกายยืนยัน  ได้ทยอยยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งเรียกค่าเสียหายต่อบริษัททั้งสองตั้งแต่ปีพ.ศ. 2552 รวมทั้งฟ้องร้องหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแลและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมต่อศาลปกครอง

จนวันที่ 14 ส.ค.2556 ศาลปกครองพิษณุโลกได้อ่านคำพิพากษา ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมประกาศกำหนดให้บริเวณลุ่มน้ำแม่ตาว เป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมและกำหนดมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม

ต่อมาในวันที่ 13 พ.ย. 2561 ศาลฎีกาแผนกสิ่งแวดล้อมได้อ่านคำพิพากษา ให้บริษัททั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการทำกิจกรรมเหมืองแร่จำนวน 155 คน  เป็นเงินตั้งแต่ 10,000 – 280,000 บาท แตกต่างกันตามความเสียหายที่สามารถพิสูจน์ได้

สุรพงษ์ ยังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า มีข้อสังเกตว่า เมื่อปี 2561 ศาลฎีกาให้บริษัททั้งสองชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องทุกคนทั้ง 155 คนที่อาศัยอยู่และทำกินบริเวณลำห้วยแม่ตาว  แต่คำพิพากษาศาลฎีกาล่าสุดเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2562  ศาลฎีกาให้ชดใช้ค่าเสียหายเฉพาะผู้ที่มีผลการตรวจและรายงานการรักษาจากโรงพยาบาลเท่านั้น  ทำให้ชาวบ้านได้รับการชดใช้ค่าเสียหายเพียง 20 คน จากผู้ยื่นฟ้อง 84 คน  และแตกต่างจากกรณีการปนเปื้อนสารตะกั่วจากกิจกรรมเหมืองแร่ ที่ลำห้วยคลิตี้ อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ที่ชาวบ้านชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงได้รับการชดใช้ค่าเสียหายทุกคน  และมีจำนวนเงินในแต่ละรายมากกว่ากรณีแคดเมี่ยมที่ลุ่มน้ำแม่ตาวมาก  ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากความยากลำบากในการพิสูจน์ความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อชีวิต ร่างกาย สังคม และสิ่งแวดล้อม

ญาณพัฒน์ ไพรมีทรัพย์ แกนนำชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ

ญาณพัฒน์ ไพรมีทรัพย์ แกนนำชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ กล่าวว่า เงินที่ได้รับจากกระบวนการยุติธรรมเป็นเงินที่มีจำนวนน้อยมาก เฉลี่ยต่อรายเป็นเพียงหลักหมื่น ปัจจุบันชาวบ้านยังมีการเจ็บป่วยอยู่ตลอดมา  บางคนมีอาการทางโรคไต บางคนหลังคู้งอ  มีอาการปวดตามข้อต่างๆ  อีกทั้งการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทั้งในพื้นที่เหมืองแร่เดิมที่ปิดทำการไปแล้ว ในห้วยแม่ตาวตลอดจนในชุมชน ก็ยังไม่เกิดขึ้น  ชาวบ้านยังคงได้รับอันตรายจากสารพิษจนปัจจุบัน

ญาณพัฒน์ กล่าวอีกว่า อยากให้มีการศึกษาจุดรั่วไหลจากเหมืองแร่ให้ชัดเจน จะได้ทราบจุดกำเนิดและทิศทางรั่วไหลแพร่กระจายมลพิษ เพื่อจะได้แก้ไขกำจัดมลพิษและฟื้นฟูได้ถูกจุด  รวมทั้งเร่งประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม  เนื่องจากหลังจากมีคำพิพากษาศาลปกครองในปี 2556 ก็ยังไม่มีประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้พื้นที่ลุ่มน้ำแม่ตาวเป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมออกมาเลย

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ศาลปกครองสูงสุดนัดอ่านคำสั่งปม ‘ประยุทธ์’ และ คสช. ตั้งกรรมสรรหา ส.ว. ขัดกฎหมาย

$
0
0

21 มิ.ย. 2562 ศาลปกครองแจ้งข่าวว่า วันที่ 25 มิ.ย. 2562 เวลา 10.30 น. ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ 445/2562 ระหว่าง คณะราษฎรไทยแห่งชาติ รวม 34 คน (ผู้ฟ้องคดี) กับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (ผู้ถูกฟ้อง) ซึ่งเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

โดยคณะราษฎรไทยแห่งชาติ กับพวก ฟ้อง คสช. และ นายกรัฐมนตรี กรณีมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยมิชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากมีการแต่งตั้งบุคคล ซึ่งไม่มีความเป็นกลางทางการเมือง เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดี ซึ่งเป็นประชาชนชาวไทยได้รับความเดือดร้อนเสียหาย

สำหรับคดีนี้ ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารระบบความ เนื่องจากพิเคราะห์เห็นแล้วว่า การสรรหาส.ว.อันเป็นการปฏิบัติหาที่ของผู้ถูกฟ้อง มิใช่เป็นเรื่องการใช้อำนาจทางการปกครอง หรือ ดำเนินกิจการปกครอง ศาลปกครองจึงไม่อาจรับคำร้องไว้พิจารณา พิพากษาได้

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

'แอมเนสตี้' ร้องประธานอาเซียนคุ้มครองผู้ลี้ภัย สืบสวนการลักพาตัวนักข่าวเวียดนามในไทย

$
0
0

'แอมเนสตี้' เรียกร้องประธานอาเซียนคุ้มครองผู้ลี้ภัย สืบสวนการลักพาตัว 'เจือง ซุย  เญิ๊ต' นักข่าวชาวเวียดนามในไทย ขณะที่ 3 ผู้ลี้ภัยชาวไทยที่มีข่าวถูกส่งตัวจากเวียดนามกว่า 1 เดือนแล้วยังไร้ความคืบหน้าเช่นกัน

เจือง ซุย  เญิ๊ต นักข่าวชาวเวียดนาม ซึ่งมีข่าวว่าถูกลักพาตัวในประเทศไทย

21 มิ.ย.2562 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย แจ้งว่า ในวาระที่มีการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 ระหว่างวันที่ 22-23 มิ.ย.นี้ ที่กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้นำและผู้แทนประเทศอาเซียนเข้าร่วมประชุมถึง 10 ประเทศ และประเทศไทยจะทำหน้าที่เป็นประธานอาเซียนจนถึงสิ้นปีนี้  แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลส่งข้อเรียกร้องถึงทางการไทยสอบสวนกรณีการลักพาตัวเจือง ซุย  เญิ๊ต นักข่าวชาวเวียดนามที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และให้ลงนามพร้อมให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาว่าด้วยสถานะของผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 โดยกำหนดให้การบังคับส่งกลับผู้ลี้ภัยเป็นอาชญากรรม และกำหนดกรอบกฎหมายและระเบียบราชการที่เข้มแข็ง เพื่อคุ้มครองไม่ให้ผู้ลี้ภัยถูกส่งตัวกลับไปเผชิญกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงและอันตรายถึงชีวิตในประเทศต้นทาง

สำนักเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร แถลงเรียกร้องทางการไทยสอบสวนเกี่ยวกับการลักพาตัวนายเจือง ซุย  เญิ๊ต (Truong Duy Nhat) นักข่าวเวียดนามที่หายตัวไปตั้งแต่วันที่ 26 ม.ค.ที่ผ่านมาในประเทศไทย เรียกร้องทางการไทยสอบสวนความเกี่ยวข้องของตำรวจไทยกับการลักพานักข่าวเวียดนามโดยทางการเวียดนาม หากพบว่าเจ้าหน้าที่ไทยรายใดเกี่ยวข้องกับการลักพาตัวครั้งนี้ต้องถูกนำตัวมาลงโทษ

นิโคลัส เบเคลัง ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า  จากเอกสารและข้อมูลที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้รับ ทำให้เกิดคำถามอย่างจริงจังเกี่ยวกับความเกี่ยวข้องของตำรวจไทย ที่มีต่อเหตุการณ์อันนำไปสู่การลักพาตัวของเญิ๊ตที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 26 มกราคม ทางการเวียดนามยอมรับแล้วว่า ในปัจจุบัน เจืองถูกควบคุมตัวอยู่ที่ฮานอย ประเทศเวียดนาม และต้องเข้ารับการไต่สวนในข้อหาทุจริต

 “การลักพาตัวเจือง เป็นส่วนหนึ่งของแนวโน้มที่น่ากังวลอย่างยิ่งในภูมิภาคนี้ในแง่การบังคับส่งกลับผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัย ซึ่งมักเป็นการกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

“หลายประเทศในภูมิภาคกำลังแลกเปลี่ยนตัวบุคคลฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง และบุคคลที่หลบหนีการประหัตประหาร ซึ่งเป็นความร่วมมือที่น่ารังเกียจของรัฐบาลต่างๆ ในภูมิภาค ผู้นำอาเซียนต้องยุติแนวโน้มที่ดิ่งลงเหวเช่นนี้”

หลายประเทศในภูมิภาค โดยเฉพาะไทย เวียดนาม กัมพูชา และมาเลเซีย ต่างแลกเปลี่ยนตัวบุคคลที่เป็นฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองซึ่งเป็นเป้าหมายให้แก่กันและกัน ถือเป็นการละเมิดอย่างชัดเจนต่อกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ ซึ่งคุ้มครองสิทธิของผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัย ในกรณีที่เลวร้ายสุด ดูเหมือนว่าฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองเหล่านี้จะถูก “อุ้มหาย” ไปจากประเทศที่อยู่ระหว่างการขอลี้ภัย และไปปรากฏตัวในอีกประเทศหนึ่งในฐานะผู้ถูกควบคุมตัวไว้ ในเวลาหลายเดือนหรือหลายสัปดาห์ต่อมา

เหตุการณ์ที่เกิดต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ต่อกรณีของเจือง ชี้ให้เห็นความเป็นไปได้ที่จะมีการแลกเปลี่ยนต่างตอบแทนระหว่างประเทศไทยกับเวียดนาม โดย เจืองถูกลักพาตัวและส่งกลับเวียดนามในเดือนมกราคม และอีกสองสามเดือนต่อมาทางการเวียดนามก็ได้ควบคุมฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลที่เป็นชาวไทยเอาไว้ ซึ่งเรายังไม่ทราบชะตากรรมและที่อยู่ของพวกเขา ชายไทยทั้งสามคน ได้แก่ สยาม ธีรวุฒิ ชูชีพ ชีวะสุทธิ์ และกฤษณะ ทัพไทย โดยทั้งหมดถูกสกัดจับโดยทางการเวียดนามที่บริเวณพรมแดนเวียดนาม-ลาวเมื่อต้นปี 2562 และมีรายงานว่า ได้ถูกส่งตัวให้กับประเทศไทย เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2562 

ในวันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล อดีตผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ประกาศที่จะสอบสวนกรณีการหายตัวไปของเจือง แต่ที่ผ่านมายังไม่มีการประกาศความคืบหน้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสอบสวนในกรณีนี้แต่อย่างใด

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องทางการไทยให้ดำเนินการสอบสวนต่อกรณีรายงานการหายตัวไปขอเจืองโดยทันที อย่างมีประสิทธิภาพ รอบด้านและไม่ลำเอียง รวมทั้งความเกี่ยวข้องของตำรวจไทยในกรณีนี้ด้วย หากพบว่าเจ้าหน้าที่รายใดมีส่วนเกี่ยวข้องกับการลักพาตัวครั้งนี้ต้องถูกนำตัวมาลงโทษ

“กรณีของเจือง ซุย  เญิ๊ต ถือเป็นการเหยียดหยามวิสัยทัศน์ของอาเซียน ที่ประกาศว่าจะรวมตัวเป็นภาคีที่ “ไม่ทิ้งใครอยู่ข้างหลัง และมองไปสู่อนาคต” เพราะการปฏิเสธสิทธิของคนบางคน ย่อมเป็นการปฏิเสธอนาคตของพวกเขาด้วย รัฐบาลในอาเซียนควรยุติการสนับสนุนซึ่งกันและกันเพื่อปราบปรามฝ่ายที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล และประกันว่าจะให้ความเคารพอย่างเต็มที่ กับสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนในประเทศตนเอง

“กรณีของเจืองแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เหตุใดประชาคมระหว่างประเทศจึงต้องบัญญัติมาตรฐานระหว่างประเทศ เพื่อคุ้มครองผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัย ประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนจึงควรแสดงความเป็นผู้นำในการบังคับใช้มาตรฐานเหล่านี้ ไม่ใช่ไปละเมิดเสียเอง”

“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องทางการไทยให้การลงนามและให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาว่าด้วยสถานะของผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 โดยกำหนดให้การบังคับส่งกลับผู้ลี้ภัยเป็นอาชญากรรม และกำหนดกรอบกฎหมายและระเบียบราชการที่เข้มแข็ง เพื่อคุ้มครองไม่ให้ผู้ลี้ภัยถูกส่งตัวกลับไปเผชิญกับการประหัตประหาร” นิโคลัส กล่าวทิ้งท้าย

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ท่ามกลางข่าวการลักพาตัวนักข่าวเวียดนามในไทยนั้น ขณะที่ผู้ลี้ภัยของไทยที่ถูกจับกุมในประเทศเวียดนามอย่าง สยาม ธีรวุฒิ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหามาตรา 112 หายตัวไปพร้อมกับ ‘ลุงสนามหลวง’ หรือชูชีพ ชีวะสุทธิ์ และ กฤษณะ ทัพไทย หรือสหายยังบลัด ก็มีข่าวว่าพวกเขาถูกจับกุมตัวที่เวียดนามและถูกส่งตัวกลับไทยแล้วในวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยที่ญาติเดินสายติดตามความคืบหน้าและชัดเจนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ เวลาผ่านไป 1 เดือนกว่ายังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

สุรพศ ทวีศักดิ์: ซากีย์และปัญหาศาสนากับประชาธิปไตย

$
0
0


 “ซากีย์ พิทักษ์คุมพล”

ผมอ่านบทสัมภาษณ์ของมูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรังและเก่งกิจ กิติเรียงลาภ เกี่ยวกับกรณี “ซากีย์ พิทักษ์คุมพล” หนึ่งใน 250 สว.ที่โหวตเลือกประยุทธ์เป็นนายกฯ (ดู https://prachatai.com/journal/2019/06/83035) มีสองประเด็นหลักๆ ที่อยากแลกเปลี่ยน คือประเด็นจุดยืนของผู้ที่ยืนยันเสรีนิยมประชาธิปไตย กับประเด็นศาสนากับประชาธิปไตย ประเด็นหลังนี้ขยายให้เห็นปัญหาแบบเดียวกันของพุทธศาสนาไทยด้วย

ประเด็นแรก ผมเห็นด้วยกับเก่งกิจว่า ซากีย์ขาดความกล้าหาญทางศีลธรรม (moral courage) ในการยืนยันหลักการที่ถูกต้องที่ตนเองนำเสนอสู่สังคม และผมขอเสริมว่า หากคุณเป็นนักวิชาการที่นำเสนอหลักการเสรีนิยมประชาธิปไตยต่อสาธารณะสม่ำเสมอจริง คุณย่อมปฏิเสธตั้งแต่แรกที่ถูกเสนอชื่อเป็น สว.ในฐานะตัวแทนคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยแล้ว 

แต่ถ้าคุณยืนยันว่า คุณไม่สามารถปฏิเสธมติองค์กรศาสนาของตนเองได้ตั้งแต่แรก และเมื่อเป็น สว.ในฐานะตัวแทนองค์กรศาสนานั้นคุณก็ไม่สามารถเลือกลงมติอย่างอิสระตามเจตจำนงของตนเองได้ ก็แปลว่า การนำเสนอหลักการเสรีนิยมสม่ำเสมอของคุณก็ย่อมไร้ความหมายในทางปฏิบัติอย่างสิ้นเชิง หากในทางศาสนาแล้วคุณไม่สามารถจะมีสถานะของ “ปัจเจกบุคคล” ที่เป็นเจ้าของสิทธิและเสรีภาพในการเลือกตามเจตจำนงของตนเองได้เลย 

แต่ในบทสัมภาษณ์ของมูฮัมหมัดอิลยาสยืนยันว่า องค์กรศาสนาอิสลามจำเป็นต้องมีตัวแทนไปนั่งในสภาโดยตำแหน่ง ความจำเป็นนี้มาจากสองเหตุผลคือ อำนาจรัฐกำหนดให้องค์กรศาสนาอิสลามเลือกตัวแทนมาเพราะมีปัญหาภาคใต้ และความจำเป็นหนึ่งมาจากอิสลามมี “ลักษณะพิเศษ” แตกต่างจากศาสนาอื่นๆ ที่จำเป็นต้องมี “ผู้รู้หลักอิสลาม” ไปนั่งในสภาเพื่อจะให้ความเห็นได้ถูกต้องเวลาจะบัญญัติกฎหมายที่กระทบต่อหลักอิสลาม ดังคำให้สัมภาษณ์ของเขาที่ว่า

“โดยประเพณีปฏิบัติเวลาจะกลั่นกรองกฏหมายที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรมาแล้วมายังวุฒิสภา เมื่อมายังวุฒิสภาจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการวุฒิสภา ซึ่งถ้ามันไม่มีมุสลิมเลยนี่ ก็ไม่มีใครสามารถให้ความเห็นชอบ อาจเกิดความลักลั่นขึ้นมาได้ ฉะนั้นมันต้องมีมุสลิมอยู่แล้ว ถามว่ามันจำเป็นไหม ถ้าถามผม ผมว่าด้วยระบบแบบนี้มันจำเป็น เพราะว่ามันไม่มีตัวกรองกฎหมาย”

จากความเห็นนี้แสดงว่ามูฮัมหมัดอิลยาสยืนยัน ความชอบธรรมของการมี “อภิสิทธิ์” ทางศาสนาในตำแหน่งสาธารณะของรัฐเพื่อปกป้องหลักศาสนาของตน ประเด็นของความมีอภิสิทธิ์นี้ไม่เพียงอยู่ที่ว่า ต่อให้ระบบมันไม่ชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตยคุณก็ยืนยันว่าจำเป็นต้องมีตำแหน่ง สว. แต่มันมีประเด็นพื้นฐานกว่านั้นมาก นั่นคือ ต้องมีตำแหน่ง สว.สำหรับดูแลการกรองกฎหมายให้เป็นไปตามหลักอิสลามโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ยืนยันอภิสิทธิ์จากจุดยืนทางศาสนา

การมีอภิสิทธิ์เป็น สว.โดยตำแหน่งในฐานะตัวแทนความเชื่อทางศาสนาเช่นนี้ ไม่เพียงแต่มีอภิสิทธิ์เหนือศาสนาอื่นๆ ที่ไม่มีตำแหน่งเป็นตัวแทนทางศาสนาของตนโดยเฉพาะเท่านั้น ยังเป็นอภิสิทธิ์ที่ไม่เป็นธรรมต่อคนไม่มีศาสนาอีกด้วย เพราะคุณมีตำแหน่งสาธารณะ รับเงินเดือนจากภาษีของคนทุกศาสนาและคนไม่มีศาสนา และใช้อำนาจสาธารณะในการออกกฎหมายบนจุดยืนทางศาสนาของตนเองอันเป็นความเชื่อเฉพาะของคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

จึงทำให้เกิดคำถามตามมาว่า ขณะที่คุณยืนยัน “ความไม่มีอิสระ” ที่จะเลือกไม่โหวตสนับสนุนประยุทธ์เป็นนายกฯ คุณก็ยืนยัน “ความมีอิสระ” ที่จะเลือกโหวตปกป้องหลักศาสนาของคุณไปพร้อมๆ กัน ตกลงคุณมีอิสระหรือไม่มีอิสระในการโหวตกันแน่ หรือมันแปลว่าอะไรล่ะ หากไม่แปลว่าคุณยอมรับความสัมพันธ์เชิงแลกเปลี่ยนแบบ “ยื่นหมู ยื่นแมว” กับเผด็จการ คือคุณยอมสนับสนุนเผด็จการเพื่อที่จะได้ “อภิสิทธิ์” ในการปกป้องหลักศาสนาของตนเอง

มันไม่มีหลักฐาน หรือข้อเท็จจริงใดๆ ยืนยันได้เลยว่า หากไม่มีตำแหน่งตัวแทนองค์กรศาสนาอิสลามในสภาแล้วจะส่งผลเสียหายต่อ “เสรีภาพทางศาสนา” ของชาวมุสลิมในไทยที่ต้องมีได้ในแบบเดียวกับคนศาสนาอื่นๆ 

ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวไม่ได้อย่างสมเหตุสมผลว่า ระบบไม่เป็นประชาธิปไตยบังคับให้คุณไม่มีทางเลือก เพราะที่จริงคุณเองก็เลือกจากจุดยืนทางศาสนาตามที่คุณยกมาอ้าง และถ้าจุดยืนของคุณคือความจำเป็นทางศาสนาดังกล่าว ก็แปลว่า ถึงจะเป็นระบอบประชาธิปไตย คุณก็ยังหาทางที่จะไปมีตำแหน่งในสภาเพื่อ “ใช้อำนาจสาธารณะ” ปกป้องหลักศาสนาอันเป็นความเชื่อส่วนตัวของกลุ่มตนอยู่นั่นเอง โดยไม่สนใจว่าการมีอภิสิทธิ์ทางศาสนาแบบนั้นขัดหลักเสรีนิยมประชาธิปไตยหรือไม่ ยิ่งการยืนยัน “อินโดนีเซียโมเดล” ก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าไม่ใช่การยืนยันหลักการเสรีนิยมประชาธิปไตย

นี่เป็นปัญหาของทุกองค์กรศาสนา หรือกลุ่มบุคคลทางศาสนาที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองบน “จุดยืนทางศาสนา” ของตนเองเป็นสิ่งสำคัญมาก่อน (priority) ดังที่เราเห็นกลุ่มชาวพุทธออกมาผลักดันให้รัฐบาลจากรัฐประหารบัญญัติให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ แม้ไม่สำเร็จ แต่ก็สำเร็จในเรื่องที่ให้ระบุใน รธน.ให้รัฐส่งเสริมพุทธศาสนานิกายเถรวาทดังที่ทราบกัน

ผมเคารพเพื่อนชาวมุสลิม, ชาวพุทธ หรือศาสนิกของศาสนาใดก็แล้วแต่ที่รักศาสนาของตัวเองและต้องการทำสิ่งที่ดีเพื่อศาสนาของตน แต่มัน “ไม่ยุติธรรม” โดยสิ้นเชิงกับผมและประชาชนทุกคนที่ยืนยันเสรีภาพและประชาธิปไตย ที่กลุ่มบุคคลใดๆ จะอ้าง “อภิสิทธิ์” เรื่องทำเพื่อศาสนาของตนเองด้วยการไปเพิ่มน้ำหนักให้กับอำนาจที่เหยียบสิทธิและเสรีภาพทางการเมืองของผมและประชาชนทุกคน

กรณีซากีย์ แม้ผมจะเข้าใจสถานะ เงื่อนไข ความจำเป็นต่างๆ นานาตามที่มูฮัมหมัดอิลยาสพยายามอธิบาย แต่คำอธิบายเหล่านั้นไม่สามารถลบล้างสถานะ อำนาจ การทำหน้าที่ และการรับเงินเดือนจากภาษีประชาชนของซากีย์ ซึ่งถือเป็น “อภิสิทธิ์” ที่ขัดกับความชอบธรรมตามหลักการเสรีประชาธิปไตยที่คุณเสนอ แน่นอนว่าบรรดานักกฎหมาย นักรัฐศาสตร์ และนักอื่นๆ ใน 250 สว.ย่อมขัดกับความชอบธรรมนี้ด้วยเช่นกัน

ประเด็นต่อมาคือ “ปัญหาศาสนากับประชาธิปไตย” ถ้ายืนยันว่า จำเป็นต้องมีตัวแทนขององค์กรอิสลามไปเป็น สว.ในฐานะเป็นปากเสียงแทนชาวมุสลิม แบบนี้จะต่างอะไรกับการยืนยันว่า “ผบ.เหล่าทัพต้องเป็น สว.โดยตำแหน่ง” การยืนยันเช่นนี้คือการยืนยัน “อภิสิทธิ์” บนจุดยืนทางศาสนาที่ขัดกับหลักการเสรีประชาธิปไตยชัดเจน 

เพราะตามหลักการเสรีประชาธิปไตยไม่ว่าจะเป็นชาวพุทธ ชาวมุสลิม หรือศาสนาใดๆ จะใช้อภิสิทธิ์ไปมีตำแหน่งสาธารณะ กินเงินเดือนจากภาษีสาธารณะ ใช้อำนาจสาธารณะออกกฎหมายเพื่อปกป้องหลักศาสนาอันเป็นความเชื่อเฉพาะของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่ได้ ต่อให้คนกลุ่มนั้นเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคมก็ตาม

ดังนั้น การอ้างความจำเป็นทางศาสนาเพื่อเข้าไปมีตำแหน่งในโครงสร้างอำนาจรัฐแบบนี้ ไม่ใช่การอ้าง “สิทธิ” ที่จะมาเรียกร้องให้คนศาสนาอื่นๆ และคนไม่มีศาสนา “เข้าใจ,ยอมรับ และเคารพ” ได้เลย เพราะมันคือการอ้าง “อภิสิทธิ์” อย่างชัดแจ้ง ไม่ต่างจากการอ้างเรื่องบัญญัติในรัฐธรรมนูญให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติด้วยเหตุผลว่าเป็นศาสนาของคนส่วนใหญ่เลย เพราะตามหลักการเสรีประชาธิปไตยไม่ว่าศาสนาของคนส่วนใหญ่หรือคนส่วนน้อยก็ต้องไม่มีอภิสิทธิ์

คำถามต่อองค์กรทางศาสนา กลุ่มบุคคลทางศาสนา หรือบุคคลทางศาสนาก็คือ การที่คุณสนับสนุนเผด็จการขัดกับหลักศาสนาของคุณไหม? หรือการที่คุณยอมสนับสนุนเผด็จการเพื่อจะมีอภิสิทธิ์ไปมีตำแหน่งสาธารณะ ใช้ภาษีสาธารณะ และใช้อำนาจสาธารณะปกป้องศาสนาของตนขัดกับหลักศาสนาของคุณไหม? ถ้าคำตอบคือ “ขัด” แต่คุณยังทำ ก็แปลว่า การกระทำของคุณขัดทั้งหลักการประชาธิปไตยและหลักศาสนาของตนเอง

แต่ถ้าคุณยืนยันว่า การสนับสนุนเผด็จการเพื่อให้ตนมีอภิสิทธิ์ใช้ตำแหน่งและอำนาจสาธารณะปกป้องศาสนาของตน ไม่ขัดหลักศาสนาของคุณเลย ก็แปลว่า หลักศาสนาของคุณไปกันได้ดีกับเผด็จการ มากกว่าที่จะไปกันได้กับการปกป้องเสรีภาพและประชาธิปไตย หรือหลักศาสนาที่ขัดต่อหลักเสรีภาพและประชาธิปไตยนั่นเองที่ให้ความชอบธรรมกับการสนับสนุนเผด็จการของคุณ

ผมเข้าใจหากชาวมุสลิมไม่พอใจถ้ารัฐจะยกพุทธศาสนาให้เป็นศาสนาประจำชาติ หรือให้อภิสิทธิ์แก่พุทธศาสนามากกว่าศาสนาอิสลามและศาสนาอื่นๆ ผมเห็นด้วยว่าชาวมุสลิมและคนศาสนาอื่นๆ ควรต่อต้านการกระทำเช่นนั้น แต่ขณะเดียวกันชาวมุสลิมก็ต้องไม่พยายามที่จะมีอภิสิทธิ์ต่างๆ โดยอ้าง “ลักษณะพิเศษ” ของศาสนาตัวเอง เพราะทุกศาสนาล้วนมีลักษณะพิเศษทั้งนั้น รัฐในฐานะตัวแทนอำนาจประชาชน และต้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคนเสมอกัน มีหน้าที่ตอบสนองลักษณะพิเศษของศาสนาใดๆ ด้วยหรือ

ถ้าเราอ้างเรื่อง “ลักษณะพิเศษ” ของแต่ละศาสนามาพูดคุยกัน ปัญหาไม่จบ เช่น คนที่ยืนยันการสวมฮิญาบเข้าไปในโรงเรียนวัดก็จะอ้างว่าต้องทำ เพราะการแต่งกายแบบนี้เป็นความเชื่อทางศาสนาตนเอง อีกฝ่ายก็จะอ้างว่าเข้ามาในบริเวณวัดต้องเคารพต่อสถานที่ เช่น ถอดหมวก เอาผ้าคลุมศีรษะออก หรืออื่นๆ เพื่อปฏิบัติตามความเชื่อทางศาสนาของเจ้าที่ เถียงกันไปชั่วกัลปาวสานก็ไม่จบ เพราะต่างคนต่างถูกตามความเชื่อของตน แต่ผิดตามความเชื่อของคนอื่น

แต่ถ้าทุกฝ่ายยึด “กติกากลาง” ในการสนทนากัน คือยึดหลักสิทธิและเสรีภาพ ก็ย่อมหาข้อสรุปร่วมกันได้ว่า การแต่งกายแบบไหนก็เป็นสิทธิส่วนบุคคล สวมฮิญาบเข้าไปในวัดถ้าไม่ไปทำลายทรัพย์สินวัด หรือทำร้ายพระ ก็ย่อมไม่ผิด เพราะไม่ได้ละเมิดสิทธิใคร 

ในเรื่องที่รัฐจะออกฎหมายต่างๆ ก็เหมือนกัน ไม่ควรมีศาสนิกของศาสนาใดอ้างอภิสิทธิ์ไปมีตำแหน่งในสภาเพื่อพิจารณากฎหมายนั้นๆ ได้ ในเมื่อคุณลงสมัคร ส.ส.ให้ประชาชนเลือกได้อยู่แล้ว และคุณยังสามารถแสดงออกผ่านสื่อ ภาคประชาชน และช่องทางอื่นๆ ได้อยู่แล้วหากเห็นว่าการออกกฎหมายนั้นๆ ละเมิดเสรีภาพทางศาสนาของคุณ และรัฐเองก็มีหน้าที่เพียงว่าจะออกฎหมายแบบไหนที่ไม่ไปละเมิดเสรีภาพทางศาสนาเท่านั้น ไม่ได้มีหน้าที่ออกกฎหมายให้ถูกตามหลักคำสอนของศาสนาใดๆ หรือเพื่อสิทธิพิเศษและผลประโยชน์ของศาสนาใดๆ

ส่วนที่มูฮัมหมัดอิลยาสบอกว่า “ไม่อยากให้มองการเมืองเป็นสองขั้วขาวดำ หรือแยกฝ่ายเทพฝ่ายมาร” ผมคิดว่าจะเป็นปัญหามาก ถ้าหากกว่าทศวรรษมานี้เราไม่ตระหนักต่อ “ความจริงที่ชัดแจ้ง” ว่าการเมืองที่เราเผชิญอยู่คือการเมืองแบบ “กลับขาวเป็นดำ กลับดำเป็นขาว” ผมคงไม่ต้องยกหลักฐานมาแจกแจงนะครับ เชื่อว่าเราต่างรู้กันอยู่แล้ว

การมีเสรีภาพและประชาธิปไตยต่างหากที่รองรับ “การเมืองสีเทา” ได้จริง เพราะมันเปิดกว้างมากกว่าที่จะให้ฝ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะมีความคิดความเชื่อ อุดมการณ์ ศาสนา หรือภาพลักษณ์แบบไหนเข้ามาต่อสู้ต่อรองภายใต้หลักสิทธิและเสรีภาพที่เท่าเทียม และเป็นการต่อสู้ที่ “แฟร์” มากกว่า เนื่องจากไม่ใช่การต่อสู้บนจุดยืนทางศาสนาใดๆ โดยเฉพาะ แต่เป็นจุดยืนของ “พลเมือง” ที่ต้องการปกป้องเสรีภาพทางศาสนาเสมอไปพร้อมๆ กับไม่ให้อภิสิทธิ์แก่ศาสนาใดๆ เพื่อที่คนทุกศาสนาและคนไม่มีศาสนาจะมีสิทธิและเสรีภาพที่เท่าเทียมในการเลือกสิ่งที่ดีสำหรับชีวิตและเข้าถึงผลประโยชน์พื้นฐานอื่นๆ เช่น การศึกษา อาชีพ รายได้ สุขภาพ การบริการสาธารณะและสวัสดิการอื่นๆ อย่างเป็นธรรมในฐานะคนเท่ากันอย่างแท้จริง

แต่ทว่าการมีเสรีภาพและประชาธิปไตยจำเป็นต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มา คำถามต่อเพื่อนชาวมุสลิมและชาวพุทธที่มีเพียงสองศาสนาซึ่งนำเรื่องศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองก็คือว่า แล้วจุดยืนทางศาสนาของคุณอยู่ตรงไหนในกระบวนการต่อสู้นี้ 

ไม่สู้ไม่ว่ากัน แต่ถ้าไม่สู้แล้วกลับไป “เพิ่มน้ำหนัก” ให้กับอำนาจที่กดทับเสรีภาพและประชาธิปไตยจนบ่าของประชาชนที่ลุกขึ้นสู้ทรุดเซ และหลายคนกลายเป็นศพเห็นๆ ย่อมเป็นการกระทำที่น่าละอาย และไม่น่าที่จะมีหลักศาสนาใดๆ ให้ความชอบธรรมกับการกระทำที่น่าละอายเช่นนี้
 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

พศ.จับมือ สปสช.จัดทำ “ฐานข้อมูลพระภิกษุ-สามเณร” เชื่อมโยงสิทธิบัตรทอง

$
0
0

พศ. - สปสช.ลงนามความร่วมมือ “จัดทำฐานข้อมูลพระภิกษุและสามเณร” เชื่อมโยงข้อมูลสู่ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ขับเคลื่อนการดูแลสุขภาพพระภิกษุและสามเณร เข้าถึงการรักษาและบริการสาธารณสุข โดยมีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติรองรับ 

21 มิ.ย.2562 รายงานข่าวจาก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แจ้งว่า ที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พุทธมณฑล – เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2562 ได้มีพิธีร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่าง สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และ สปสช. โดย นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการ สปสช. เพื่อจัดทำฐานข้อมูลของพระภิกษุและสามเณร ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พร้อมถวายคู่มือการใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แด่พระเดชพระคุณฯ พระพรหมวชิรญาณ เพื่อส่งมอบแด่พระสงฆ์ต่อไป

นพ.ประจักษวิช กล่าวว่า จากการประกาศธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติในปี 2560 นอกจากก่อให้เกิดความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อเพื่อขับเคลื่อนการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ที่เป็นองค์รวมแล้ว ได้นำมาสู่การพัฒนาระบบรองรับเพื่อให้พระสงฆ์เข้าถึงบริการสาธารณสุขและการรักษาในยามจำเป็นภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยมี สปสช.ทำหน้าที่บริหารจัดการระบบ

การลงนามบันทึกความร่วมมือเพื่อ “จัดทำฐานข้อมูลของพระภิกษุและสามเณรในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ในวันนี้ เป็นผลของการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องร่วมกัน ระหว่างสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติและ สปสช. อันนำไปสู่การพัฒนารูปแบบการจัดทำฐานข้อมูลและการจัดเก็บข้อมูลพระภิกษุและสามเณรที่มีประสิทธิภาพ โดยสำนักงานพระพุทธศาสนาจะทำหน้าที่ประสานและอำนวยความสะดวกในการปรับปรุงฐานข้อมูลพระภิกษุและสามเณรให้เป็นปัจจุบัน เพื่อเป็นฐานข้อมูลใช้ร่วมกันในส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐอื่นที่เชื่อมโยงข้อมูลตามระเบียบ สำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการคุ้มครองและจัดการข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎร พ.ศ. 2561 รวมถึงเป็นนายทะเบียนฐานข้อมูลพระภิกษุและสามเณร                    

รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า หลังจากนี้ สปสช.จะได้ประสานและเชื่อมโยงฐานข้อมูลพระภิกษุและสามเณรกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ นำไปสู่การปรับปรุงสิทธิการเข้ารับบริการสาธารณสุขของพระภิกษุและสามเณรให้เป็นไปด้วยความถูกต้องตามกฎหมายและมีประสิทธิภาพตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยใช้ข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎร์ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการคุ้มครองและจัดการข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎร พ.ศ. 2561 พร้อมร่วมมือสร้างเครือข่ายให้ครอบคลุมพื้นที่บริการของหน่วยบริการประจำพระภิกษุและสามเณร ภายหลังจากการเชื่อมโยงข้อมูลและปรับปรุงฐานข้อมูลทะเบียนวัดเสร็จสมบูรณ์

“ความร่วมมือในการจัดทำฐานข้อมูลพระภิกษุสงฆ์และสามเณรในวันนี้ นับเป็นความร่วมมืออันดีระหว่างสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และ สปสช. และเป็นก้าวสำคัญของทั้ง 2 องค์กร เพราะจะเป็นส่วนสำคัญเพื่อร่วมสนับสนุนบทบาทและภารกิจหลักของทั้ง 2 องค์กรให้บรรลุเป้าหมาย” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ศาลปกครองกลางเพิกถอนมติ กสทช.สั่งเพิกถอนใบอนุญาต 'PEACE TV'

$
0
0

ศาลปกครองกลางชี้คำสั่งถอนใบอนุญาตไม่ชอบด้วยกฎหมายสั่งเพิกถอนแต่จำเลยไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหาย

21 มิ.ย.2562 Peace Newsรายงานว่า ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนมติสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่ให้เพิกถอนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และประกอบกิจการโทรทัศน์ฯ ช่องรายการพีซ ทีวี (PEACE TV)

ทั้งนี้ คดีนี้บริษัท พีซ เทเลวิชั่น จำกัด กับพวกรวม 6 คน ได้ยื่นฟ้อง คณะกรรมการ กสทช.คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) และสำนักงาน กสทช. โดยระบุในคำฟ้องว่า บริษัทฯ ได้ออกอากาศรายการมองไกล ทางสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมยูดีดี ช่องรายการพีซทีวี เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2558 หลังมีการออกอากาศรายการดังกล่าว คณะทำงานติดตามสื่อ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีหนังสือแจ้ง กสท.ว่า เนื้อหารายการดังกล่าวมีลักษณะที่ส่อให้เกิดความสับสน ยุยง ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง หรือสร้างความแตกแยกในราชอาณาจักร

ต่อมาคณะกรรมการ กสทช. ได้พิจารณาแล้ว มีมติให้เพิกถอนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล ช่องรายการพีซทีวี ของบริษัทฯ และให้บริษัท วีซายน์ เทเลคอม จำกัด ระงับการให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์แก่บริษัทฯ

ศาลปกครองกลางพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในกระบวนการพิจารณาทางปกครองก่อนมีมติให้เพิกถอนใบอนุญาตฯ ของบริษัทฯ นั้น กสท.และสำนักงาน กสทช.ไม่ได้แจ้งให้บริษัทฯ ทราบถึงคำร้องเรียน และไม่ได้ให้โอกาสบริษัทฯ ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงและแสดงพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง

อีกทั้งในชั้นการรวบรวมข้อเท็จจริงของสำนักงาน กสทช.ก็ไม่ปรากฏว่าได้มีการแจ้งสิทธิและหน้าที่ในกระบวนการพิจารณาทางปกครอง ตลอดจนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องที่ถูกกล่าวหาและพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาให้บริษัทฯ ทราบตามความจำเป็น อันจะทำให้บริษัทฯ มีโอกาสโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานของตน จึงเป็นการรวบรวมข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนหรือวิธีการ อันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้ในประกาศ กสทช.เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการรวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ที่มีโทษทางปกครอง พ.ศ.2556

นอกจากนี้ ข้ออ้างของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 3 ที่ว่า การนำเสนอเนื้อหารายการมองไกล ส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมภายใต้สภาวการณ์ที่รัฐบาลกำลังสร้างความปรองดองสมานฉันท์ จึงอาจเป็นความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประโยชน์สาธารณะได้นั้น

กรณีนี้ไม่ปรากฏว่ามีความเสียหายอย่างร้ายแรงใดเกิดจากการเสนอรายการดังกล่าวที่เข้าลักษณะมีความจำเป็นรีบด่วน หากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือจะกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ อันจะเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 30 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ที่ไม่ต้องให้โอกาสคู่กรณีโต้แย้งแสดงพยานหลักฐาน

ดังนั้น จึงเป็นการพิจารณาทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นผลทำให้มติของคณะกรรมการ กสท.ในการประชุมครั้งที่ 14/2558 เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2558 ที่ให้เพิกถอนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล ช่องรายการพีซทีวี ของบริษัทฯ และให้บริษัท วีซายน์ เทเลคอม จำกัด ระงับการให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์แก่บริษัทฯ เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สำหรับในส่วนที่บริษัทฯ มีคำขอให้สำนักงาน กสทช.ชดใช้ค่าเสียหายนั้น เมื่อศาลยังมิได้วินิจฉัยเนื้อหาแห่งการกระทำความผิดตามที่ถูกร้องเรียนว่า บริษัทฯ กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายและประกาศของคณะกรรมการ กสทช. โดยออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาต้องห้ามตามที่ถูกร้องเรียนหรือไม่

ประกอบกับแม้ศาลจะมีคำพิพากษาให้เพิกถอนมติที่ให้ลงโทษทางปกครองในคดีนี้ แต่ก็ไม่เป็นการตัดอำนาจของคณะกรรมการ กสทช.ที่จะดำเนินกระบวนการพิจารณาทางปกครองแก่บริษัทฯ ให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ ขั้นตอน และวิธีการที่กฎหมายและประกาศที่เกี่ยวข้องกำหนด

กรณีนี้จึงยังไม่อาจถือว่า คณะกรรมการ กสทช.และคณะกรรมการ กสท.กระทำละเมิดให้บริษัทฯ ได้รับความเสียหาย และไม่อาจพิพากษาให้สำนักงาน กสทช.ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัทฯได้

ศาลปกครองกลางจึงพิพากษาให้เพิกถอนมติของคณะกรรมการ กสท.ในการประชุมครั้งที่ 14/2558 เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2558 ที่ให้เพิกถอนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล ช่องรายการ พีซทีวี ของบริษัทฯ และให้บริษัท วีซายน์ เทเลคอม จำกัด ระงับการให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์แก่บริษัทฯ โดยให้มีผลย้อนหลังไปนับแต่วันที่ออกคำสั่ง

ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิที่คณะกรรมการ กสทช.จะดำเนินการสอบสวนใหม่ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก และให้คำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองมีผลต่อไปจนกว่าศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

‘ชาญวิทย์’ ได้ประกันตัวคดีร่วมวางแผนปาระเบิด หลังอยู่คุกกว่า 4 ปีในคดี 112

$
0
0

นักกิจกรรมสูงวัยได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ หลังทนายระดมเงินบริจาค 50,000 ประกันตัวศาลทหาร ชาญวิทย์ถูกจับเดือนมี.ค.58 ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมวางแผนปาระเบิดลานจอดรถศาลอาญา ถูกคุมขังพร้อมจำเลยอีก 10 กว่าคนนานนับปีจนคนอื่นๆ ได้ประกัน ขณะนี้อยู่ระหว่างสืบพยานในศาลทหาร แต่ชาญวิทย์ถูกขังต่อเนื่องจากมีคดี 112 ก่อนหน้านี้ ศาลตัดสินจำคุก 6 ปี 

ชาญวิทย์ จริยานุกูล (คนกลาง) ที่มาภาพ Suwanna Tallek

21 มิ.ย.2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงค่ำวันนี้ เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ปล่อยตัว นายชาญวิทย์ จริยานุกูล นักกิจกรรมวัย 64 ปีจำเลยคดีร่วมวางแผนปาระเบิดลานจอดรถศาลอาญาเมื่อปี 2558 เนื่องจากศาลทหารอนุญาตให้ประกันตัว โดยนายประเวศ ประภานุกูล ทนายความได้นำเงินสดที่ได้รับการบริจาครวม 50,000 บาทวางเป็นหลักทรัพย์

คดีดังกล่าวเกิดขึ้นในคืนวันที่ 7 มี.ค.2558 เป็นเหตุให้บริเวณลานจอดรถและป้อมยามเสียหายเล็กน้อย เจ้าหน้าที่จับกุมผู้กระทำการในที่เกิดเหตุได้ 2 คนและขยายผลจาก LINE ในโทรศัพท์ผู้ต้องหาเพื่อจับกุมผู้ต้องหาอื่นๆ เพิ่มอีก รวมแล้ว 16 คน ชาญวิทย์เป็นหนึ่งในนั้น เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงกล่าวหาว่าเขามีส่วนร่วมกับเรื่องนี้ด้วย เนื่องจากไปเป็นวิทยากรให้กับกลุ่มประชาชนในจังหวัดขอนแก่นก่อนหน้านั้น และการประชุมดังกล่าวเป็นการวางแผนเตรียมการปาระเบิด ขณะที่เขายืนยันว่าเป็นเพียงกลุ่มศึกษาการเมืองซึ่งเขาได้รับเชิญไปพูด และได้ชวนสรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน นักกิจกรรมสูงวัยที่มีอาชีพขับแท็กซี่ไปเป็นวิทยกรด้วย ภายหลังเกิดเหตุ ตัวเขา สรรเสริญ และผู้ประสานงาน รวมถึงวิทยากรอื่นๆ ในงานเสวนาดังกล่าวถูกคุมขังอยู่นานกว่า 2 ปีก่อนได้รับการประกันตัว บางส่วนมีรายงานการถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกายขณะสอบสวนด้วย

ปัจจุบันจำเลยทั้งหมดยกเว้นชาญวิทย์ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวหลังถูกจำคุกอยู่นาน และคดียังอยู่ระหว่างการสืบพยานในศาลทหาร เหตุที่ชาญวิทย์ไม่ได้รับการปล่อยตัวเช่นเดียวกับคนอื่นๆ เนื่องจากหลังถูกจับกุมในคดีปาระเบิดฯ ชาญวิทย์ก็ถูกตัดสินจำคุกในอีกคดีหนึ่งที่เคยหนีคดีอยู่ก่อนแล้ว นั่นคือ คดี 112 ชาญวิทย์อยู่ในเรือนจำจนครบกำหนดโทษคดี 112 ทนายจึงระดมเงินบริจาคมาช่วยประกันตัวในคดีปาระเบิดฯ

ชาญวิทย์ จริยานุกูล ที่มาภาพ Suwanna Tallek

สำหรับคดี 112 นั้นเหตุแห่งคดีเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 พ.ย.2550 เมื่อชาญวิทย์ได้เข้าร่วมการชุมนุมคัดค้านคำพิพากษายุบพรรคไทยรักไทยและจัดทำใบปลิววิเคราะห์การเมืองประเทศไทยในระยะเปลี่ยนผ่านยาวชุดละ 5 หน้าไปแจกจ่ายให้กับประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุมที่ท่าน้ำนนท์ ตำรวจนอกเครื่องแบบที่สังเกตการณ์ชุมนุมเห็นว่าข้อความในใบปลิวเข้าข่ายความผิดจึงตั้งข้อหาตาม ม.112 คดีนี้อัยการโจทก์ฟ้องเป็นความผิด 4 กรรมเนื่องจากเห็นว่ามีข้อความหมิ่นประมาทครอบคลุมถึง 1.พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริษ์แห่งราชอาณาจักรไทย 2.พระบาทสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระราชินี 3.สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร รัชทายาท 4.สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี

หลังจากนั้นเขาได้รับการประกันตัว แต่ไม่มารายงานตัวตามนัดหมายของศาลในปี 2551 โดยในการสืบพยานเขาระบุเหตุผลว่าเป็นเพราะหลังจากประกันตัวแล้วเขาไปแสดงความเห็นในงานเสวนาแห่งหนึ่งจนถูกนายชวน หลีกภัย มอบหมายให้นายเทพไท เสนพงศ์ ไปแจ้งความดำเนินคดีตามมาตรา 112 อีก และตำรวจได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนการประกันตัวเขา ทำให้เขาใช้สำนึกแห่งความเป็นธรรมส่วนตัวตัดสินใจไม่ไปฟังคำสั่งศาลว่าจะถอนประกันหรือไม่ โดยคิดว่าคดีนี้เป็นคดีทางความคิดและต้องการให้เวลาเป็นตัวพิสูจน์ว่าสถานการณ์ต่างๆ ที่เขาทำการประเมินนั้นเป็นจริงหรือไม่

1 ธ.ค.2558 ศาลจังหวัดนนทบุรีมีคำพิพากษาในคดี 112ให้จำคุก 6 ปี ในข้อต่อสู้ของชาญวิทย์มีการตีความเรื่ององค์รัชทายาทซึ่งมาตรา 112 ให้ความคุ้มครองด้วยว่าหมายถึงพระองค์ใด แต่ศาลไม่ได้มีควาวินิจฉัยในกรณีนี้

สำหรับประวัติของชาญวิทย์นั้น ตามคำบอกเล่าของเพื่อนสนิทระบุว่า ชาญวิทย์เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สนใจศึกษาทั้งการเมือง สังคม ศาสนา ปรัชญา วิทยาศาสตร์ ชาญวิทย์เรียนไม่จบและเข้าร่วมกับขบวนนักศึกษา โดยเข้าป่าบริเวณจังหวัด แพร่-น่าน ร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ในช่วงปี 2520-2524 ก่อนหน้าเข้าป่าในปี 2520 ชาญวิทย์ถูกจับและคุมขังในเรือนจำจังหวัดเชียงใหม่ด้วยคดีมีอาวุธปืนสั้นไว้ในครอบครอง จำคุกอยู่ 7 เดือน เหตุที่ชาญวิทย์มีปืนสั้นเนื่องจากเขาทำงานกับบรรดาแกนนำชาวนา ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวมีการสังหารแกนนำชาวนา ชาวไร่และนักเคลื่อนไหวจำนวนมาก จึงต้องมีไว้ป้องกันตัว จากนั้นมาชาญวิทย์ก็ร่วมเคลื่อนไหวกับขบวนสหภาพแรงงาน และมักแจกใบปลิวเพื่อเผยแพร่แนวคิดต่างๆ ในประเด็นต่างๆ เป็นประจำ

“การแจกใบปลิวเป็นปฏิบัติการทางการเมืองอย่างหนึ่ง” “จุดประสงค์ของผมก็คือ ประเมินสถานการณ์ในช่วงเปลี่ยนผ่านเท่านั้น”  “ผมเป็นพลเมืองผมจึงต้องนำเสนอแนวคิดต่อสังคม ไม่อาจนั่งเฉยๆ” ชาญวิทย์เคยให้การต่อศาลในฐานะจำเลยคดีนี้

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

กอ.รมน.ภาค 4 ขอให้ผู้ใช้มือถือ ชายแดนใต้ลงทะเบียนซิม ด้วยระบบตรวจสอบใบหน้า และอัตลักษณ์

$
0
0

กอ.รมน.ภาค 4 ขอให้ผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือค่ายต่างๆ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ลงทะเบียนซิมการ์ด ด้วยระบบตรวจสอบใบหน้า และอัตลักษณ์ ภายในวันที่ 31 ต.ค.นี้

ภาพจาก สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

21 มิ.ย.2562 จากกรณีข่าวปลายเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (หรือ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า) เชิญชวนประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยะลา ปัตตานี นราธิวาส) และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา (นาทวี จะนะ เทพา และสะบ้าย้อย) ที่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งระบบจดทะเบียนและเติมเงิน ร่วมลงทะเบียนซิมการ์ดตรวจสอบอัตลักษณ์ ผ่านระบบ 2 แชะอัตลักษณ์ เพื่อปกป้องผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือให้สามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย ป้องกันการปลอมแปลงการลงทะเบียนซิมการ์ดสวมทับสิทธิ์ โดยจะมีการตรวจสอบอัตลักษณ์ของผู้ใช้ซิมการ์ด "ก่อน" การลงทะเบียนและเปิดใช้งาน โดยสามารถไปแสดงตน พร้อมนำบัตรประจำตัวประชาชน และซิมการ์ดเพื่อลงทะเบียนใหม่ได้ ณ ศูนย์บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ให้บริการทุกระบบ ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. - 31 ต.ค.2562 ทั้งนี้หากไม่ดำเนินการตามระยะเวลาที่กำหนดจะไม่สามารถใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลขนั้น ๆ ได้ 

เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์รายงานเพิ่มเติมเกี่ยวกับ 'ระบบ 2 แชะอัตลักษณ์' นั้น คือ ลงทะเบียนซิมด้วยระบบตรวจสอบใบหน้า

โดยช่วงนั้น มีผู้ใช้โทรศัพท์เครือข่าย True ได้รับข้อความแจ้งเตือนจาก กอ.รมน.ภาค 4  ให้ผู้ใช้งานหมายเลขนี้ที่ต้องการใช้งานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นำซิมและบัตรประชาชนติดต่อ True Shop ทุกสาขา หรือตัวแทนจำหน่าย True Move H ในพื้นที่ชายแดนใต้ เพื่อลงทะเบียนด้ววยระบบดังกล่าว 

รายงานข่าวยังระบุว่า ทางร้าน บอกว่า หลังจากลูกค้าได้รับข้อความก็เดินทางมาลงทะเบียนซิมระบบอัตลักษณ์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งทางร้านได้อำนวยความสะดวกพร้อมทั้งจะพนักงานคอยให้บริการในการลงทะเบียน ส่วนปัญหาที่พบ ลูกค้าบางรายต้องเสียเวลากับการถ่ายรูปไม่ผ่านอยู่หลายครั้ง บางคนหลังจากกดแชะที่ 1 ถ่ายรูปบัตรประชาชน พร้อมทั้งถ่ายรูป ในแชะที่ 2 ระบบจะสแกนให้เลย ส่วนบางคนก็ต้องลงทะเบียน ถ่ายรูป กันถึง 2-20 ครั้ง ถึงจะผ่านก็มี ทำให้เสียเวลามาก เนื่องจากระบบการสแกนจะจับใบหน้าของบุคคล จำนวน 9 จุด แต่อย่างใดก็ตามทางร้านก็จะให้ลูกค้าลงทะเบียนให้ผ่าน ซึ่งหลังจากผ่านลงทะเบียนระบบอัตลักษณ์แล้ว ลูกค้าก็สามารถตรวจสอบการลงทะเบียนผ่านหมายเลขของทาง เครือข่าย True ได้เลย ซึ่งจะมีข้อความ”หมายเลขของคุณได้ลงทะเบียนระบบอัตลักษณ์เรียบร้อยแล้ว ส่วนผู้ที่ซื้อซิมใหม่ ทางร้านก็จะทำการลงทะเบียนระบบอัตลักษณ์ให้กับลูกค้าเลย

ทั้งนี้การลงทะเบียน ซิมการ์ด "2 แชะ อัตลักษณ์" เป็นการรักษาความปลอดภัยให้กับผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ป้องกันการแอบอ้างการลงทะเบียนเปิดใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และการนำไปใช้ประโยชน์ในทางที่ผิด ซึ่งที่ผ่านมาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้ก่อเหตุรุนแรงมักใช้ซิมโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ไม่ได้จดทะเบียน เป็นสัญญาณในการจุดชนวนระเบิด ส่งผลให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินเป็นอย่างมาก ขณะที่การเปิดให้ลงทะเบียน "2 แชะ อัตลักษณ์" ได้เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. - 31 ต.ค.2562 หากเลยห้วงเวลาที่กำหนดประชาชนที่ไม่ได้ลงทะเบียน ก็จะไม่สามารถใช้บริการซิมการ์ดในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ได้

สำหรับการลงทะเบียน "ซิม 2 แชะ อัตลักษณ์" ประชาชนสามารถนำบัตรประชาชน (ตัวจริง) พร้อมเครื่องและซิมการ์ดไปลงทะเบียนด้วยตนเองได้ที่เครือข่ายให้บริการ โทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกระบบ ส่วนของผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่อยู่นอกพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา หากมีความประสงค์จะใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ จะต้องลงทะเบียนซิมการ์ดด้วยระบบตรวจสอบอัตลักษณ์ ณ จุดให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 เป็นต้นไป กรณีไม่ลงทะเบียนตามที่กำหนดผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่จะไม่สามารถนำโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวมาใช้งานได้จนกว่าจะมีการลงทะเบียนด้วยระบบตรวจสอบอัตลักษณ์ให้ถูกต้อง

รายงานข่าวยังระบุอีกว่า ทั้งนี้ กอ.รมน.ภาค 4 ได้อำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา เพื่อให้เข้าถึงการให้บริการโดยง่ายและสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยเพิ่มจุดให้บริการย่อยจากหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือที่เรียกว่า USER ผ่านแอปพลิเคชั่น "2 แชะ อัตลักษณ์" ครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ โดยประชาชนสามารถเข้ารับบริการ ณ จุดให้บริการย่อย ได้ตั้งแต่วันที่ 18 มิ.ย. 2562 เป็นต้นไป โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อสอบถามได้โดยตรงที่ Call Center ของเครือข่ายผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกระบบ

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

'จุลเจิม' ขู่ 'เอกชัย' มีสิทธิตายหรือติดคุก หลังโพสต์ต่อว่า ผบ.ทบ.ไล่คนไม่เอากษัตริย์ออกประเทศ

$
0
0

หลัง 'เอกชัย' นักกิจกรรมผู้ถูกทำร้ายมาเป็น 10 ครั้ง โพสต์ต่อว่า ผบ.ทบ. ว่า "มีสิทธิ์อะไร ไล่คนไม่เอากษัตริย์ ออกนอกประเทศ" ต่อมา ม.จ.จุลเจิม บันทึกโพสต์ของเอกชัย และโพสต์ขู่ว่า "มีสิทธิ ตาย หรือติดคุก ถ้ามึงยังด่ากษัตริย์ ของกู"

 

22 มิ.ย.2562 หลัง วานนี้ (21 มิ.ย.62) พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวกับคณะตัวแทนนักศึกษาวิชาทหาร (นศท.) ตอนหนึ่งโดยอ้างว่าเป็นคำพูดของ นศท.ว่า "ใครก็ตามที่ไม่นึกถึงแผ่นดินเกิด ไม่นึกถึงบุญคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์  ก็ไม่ควรที่จะอยู่ในประเทศ" จนสร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตัว ผบ.ทบ.ในเวลาต่อมานั้น

คนหนึ่งที่ออกมาแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์คือ เอกชัย หงส์กังวาน นักกิจกรรมทางการเมืองที่มีประวัติการถูกทำร้ายร่างกายมาหลังครั้งจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเขา โดย เอกชัย โพสต์เชิงตั้งคำถามว่า "มึงมีสิทธิ์อะไร ไล่คนไม่เอากษัตริย์ ออกนอกประเทศ" 

ที่มา เฟสบุ๊ค 'จุลเจิม ยุคล'

ต่อมาเมื่อเวลา 20.29 น. พล.อ. ม.จ.จุลเจิม ยุคล โพสต์ผ่านเฟสบุ๊ค 'จุลเจิม ยุคล' โดยนำข้อความของเอกชัยมาประกอบโพสต์ของตัวเองว่า "มึงมีสิทธิ ตาย หรือติดคุก ถ้ามึงยังด่ากษัตริย์ ของกู"

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

'สร.รฟท.-สรส.' เรียกร้องรัฐบาลเปิดเผยข้อมูลร่างสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

$
0
0


ที่มาภาพ: สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย

สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) แจ้งข่าวว่าเมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2562 เวลา 10.00 น. ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ สํานักนายกรัฐมนตรี สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) นำโดยนายภิญโญ เรือนเพ็ชร รองประธานฯ ฝ่ายวิชาการ ร่วมกับ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) นำโดย นายพงศ์ฐิติ พงศ์ศิลามณี รองเลขาธิการ สรส. เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านนายสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเผยข้อมูลในสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา)

เนื่องจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินเป็นโครงการขนาดใหญ่ มีมูลค่าโครงการสูงถึง 224,544 ล้านบาท และรัฐร่วมลงทุนถึง 140,000 ล้านบาท จึงสมควรที่จะเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับรู้ร่วมกันตรวจสอบเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายกับรัฐ และเกิดผลกระทบต่อการรถไฟฯในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการเหมือนกับความเสียหายจากโครงการโฮปเวลล์ โดยในขณะนี้มีปัญหาเรื่องการส่งมอบที่ดิน รวมทั้งเรื่องอื่นๆ ซึ่งมีลักษณะเหมือนโครงการโฮปเวลล์ในอดีต จึงขอให้รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปิดเผยสาระสำคัญในร่างสัญญา เพื่อร่วมกันปกป้องรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ ประชาชน

อนึ่ง สร.รฟท.มีหน้าที่ในการดำเนินการและให้ความร่วมมือเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและรักษาผลประโยชน์ของรัฐวิสาหกิจ ตามมาตรา 40 (4) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ภาคประชาชนห่วงการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะการบังคับใช้แรงงานในประเทศไทย

$
0
0

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ออกแถลงการณ์ 'แสดงความกังวลต่อการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะการบังคับใช้แรงงานในประเทศไทย' ชี้ปัญหาการค้ามนุษย์ยังคงไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย การชดใช้เยียวยาผู้เสียหาย 

22 มิ.ย. 2562 มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ได้ออกแถลงการณ์ 'แสดงความกังวลต่อการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะการบังคับใช้แรงงานในประเทศไทย' โดยระบุว่าเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2562 กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา ได้นำเสนอรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (Trafficking in Persons Report : TIP report) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินมาตรฐานการคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ของแต่ละประเทศว่าเป็นไปตามมาตรฐานขั้นต่ำของประเทศสหรัฐอเมริกาหรือไม่ รายงานฉบับนี้ส่งผลต่อการประเมินของประเทศสหรัฐอเมริกาในการสนับสนุนประเทศไทยในด้านต่างๆ โดยในปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับการประเมินให้อยู่ในระดับที่ 2 (Tier 2) กล่าวคือ ประเทศไทยยังมีมาตรการในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ต่ำกว่ามาตรฐานของสหรัฐอเมริกาแต่เห็นได้ชัดว่ามีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหา

ในปีนี้ประเทศไทยได้รับการประเมินให้อยู่ในระดับที่ 2 ดังในปีที่ผ่านมาโดยรายงานระบุว่าประเทศไทยยังคงต้องพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่างๆ อันนำไปสู่การค้ามนุษย์ โดยประเด็นที่น่าสนใจในรายงานมีดังนี้

- เจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ยังคงประสบปัญหาไม่สามารถคัดแยกผู้เสียหายจากกรค้ามนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยพบว่าบางกรณีเจ้าหน้าที่เลือกที่จะไม่ประเมินให้มีบุคคลใดเข้าข่ายเป็นผู้เสียหายเนื่องจากกลัวว่าจะเกิดผลกระทบกับตนเอง

- ในปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายจำนวน 631 คน โดยมีผู้เสียหายจำนวน 149 คนที่ไม่แน่ใจว่าเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ประเภทใด

- สถานคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ของรัฐยังคงมีปัญหาในการดูแลผู้เสียหายในด้านการเยียวยาจิตใจ ขาดล่ามแปลภาษาเพื่อใช้สื่อสารกับผู้เสียหาย  

- แม้ว่าประเทศไทยจะมีพัฒนาการทางกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้เสียหายสามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากผู้กระทำความผิดได้สะดวกยิ่งขึ้น แต่กลับไม่มีรายงานระบุจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่แท้จริงที่ผู้เสียหายได้รับจากผู้กระทำความผิด 

- แม้กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์จะวางหลักให้มีการคุ้มครองผู้ที่ร้องเรียนการค้ามนุษย์ (whistleblower) ต่อเจ้าหน้าที่รัฐก็ตาม แต่ในปีที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่กลับยินยอมให้นายจ้างหรือผู้ประกอบการแจ้งความข้อหาหมิ่นประมาทแก่แรงงานและผู้ที่แจ้งความแก่เจ้าหน้าที่รัฐ

- นอกจากกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์แล้วประเทศไทยยังมีพัฒนาการในกฎหมายคุ้มครองแรงงานและนโยบายการจ้างแรงงานข้ามชาติ ทั้งนี้ในทางปฏิบัติกลับพบว่าแรงงานข้ามชาติยังคงถูกละเมิด อาทิเช่น แรงงานยังคงถูกเรียกเงินจากนายหน้าจัดหางานในราคาที่สูงกว่ามาตรฐาน แรงงานภาคเกษตรยังคงได้ค่าจ้างที่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างที่กฎหมายกำหนด ขาดแนวปฏิบัติที่ชัดเจนในการตรวจสอบเงื่อนไขการทำงานของแรงงานประมง รวมถึงประเทศไทยยังคงจำกัดสิทธิในการรวมกลุ่มของแรงงานข้ามชาติ ซึ่งปัญหาในทางปฏิบัติเหล่านี้เป็นต้นเหตุในการนำไปสู่ปัญหาการค้ามนุษย์ในแรงงานรูปแบบต่างๆ

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มูลนิธิฯ) ในฐานะองค์กรภาคประชาสังคมที่ให้ความช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติและผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์จากการบังคับใช้แรงงาน เห็นว่าแม้รัฐไทยได้มีความพยายามแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์มาตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาหลังจากที่ประเทศไทยถูกประเมินว่าเป็นประเทศที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำ (Tier 3) แต่ปัญหาการค้ามนุษย์ยังคงไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย การชดใช้เยียวยาผู้เสียหาย 

ประเด็นที่ได้ถูกกล่าวขึ้นในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ฉบับนี้ ซึ่งเป็นประเด็นที่ มูลนิธิฯ ได้พยายามนำเสนอต่อรัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตลอดเพื่อส่งเสริมให้แรงงานสามารถเข้าถึงสิทธิอันพึงมีของตนเองและเพื่อขจัดปัจจัยที่นำไปสู่ปัญหาการค้ามนุษย์ด้านการบังคับใช้แรงงานอย่างยั่งยืน ซึ่งมูลนิธิฯ กังวลว่าปัญหาการค้ามนุษย์ยังคงเกิดขึ้นต่อไป หากรัฐไทยไม่สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ ยิ่งไปกว่านั้น มูลนิธิฯ มีความวิตกกังวลมากยิ่งขึ้น จากการแถลงข่าวของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา ว่ารัฐบาลกำลังดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ไข พระราชกำหนดประมง พ.ศ. 2560 ถึง 16 มาตรา โดยขาดการปรึกษาหากับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ซึ่งอาจจะกระทบต่อมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในภาคประมงทะเล 

ดังนั้น เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างยั่งยืน มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา จึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาลดังต่อไปนี้

(1) รัฐไทยควรจัดให้มีหน่วยงานกลางในการตรวจสอบกระบวนการคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ที่ดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น เพื่อให้มั่นใจว่ากระบวนการคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์เป็นไปอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ อีกทั้งควรมีมาตรการส่งเสริมในการให้สิทธิแก่บุคคลที่ได้รับการประเมินว่าเป็นผู้เสียหายและผู้ที่ได้รับการประเมินว่าไม่ใช่ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ แต่เป็นผู้เสียหายตามกฎหมายอื่น ให้สามารถเข้าถึงสิทธิของตนเอง

(2) รัฐไทยต้องเร่งสร้างกลไกและแนวปฏิบัติในการบังคับคดีค้ามนุษย์ รวมถึงสร้างหลักประกันให้แก่ผู้เสียหายว่ารัฐไทยจะให้ความช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้เสียหายอย่างเพียงพอและทันท่วงทีจนกว่าจะได้รับค่าสินไหมทดแทนตามคำพิพากษา

(3) รัฐไทยควรจัดสรรงบประมาณในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างเหมาะสมและครอบคลุมในทุกกระบวนการ เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในการให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ เช่น ล่ามแปลภาษา เป็นต้น

(4) รัฐไทยต้องสร้างหลักประกันว่าเจ้าหน้าที่จะบังคับใช้กฎหมายอย่างถูกต้อง มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน โดยมุ่งเน้นคุ้มครองแรงงานและผู้ที่ให้ความช่วยเหลือแรงงาน

(5) รัฐไทยควรทบทวนความริเริ่มที่จะแก้ไข พระราชกำหนดประมง พ.ศ. 2560  โดยควรจะต้องรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะแรงงาน ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์และองค์การภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง เพราะการแก้ไขในหลายประเด็น เช่นการผ่อนปรนการใช้เครื่องติดตามเรือ เป็นต้น อาจกระทบต่อมาตรการในการป้องกันและช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ในกิจการประมงได้ 

(6) รัฐไทยต้องมีมาตรการที่จริงจังเร่งด่วน เพื่อป้องกันมิให้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญาต่อแรงงงานหรือผู้ให้ข้อมูลโดยสุจริต (Strategic Litigation Against Public Participation : SLAPP) ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับเจตจำนงค์ทางกฎหมายและนโยบายของรัฐในเรื่องการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์และแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน 

(7) รัฐไทยต้องมีนโยบายอย่างป็นรูปธรรมในการจัดให้มีการมีส่วนร่วมระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านการต่อต้านการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงานในการป้องกัน แก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ และปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้เสียหายอย่างจริงจัง

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

เดินหน้าจัดตั้งกองทุนดูแลสุขภาพพระสงฆ์อาพาธและเจ็บป่วยเรื้อรัง

$
0
0

คณะทำงานขับเคลื่อนเข้าถึงบริการสุขภาพของพระ สปสช.เขต 8 อุดรธานี จัดตั้งกองทุนดูแลสุขภาพพระสงฆ์ระดับอำเภอในพื้นที่เขต 8 อุดรธานี เพื่อดูแลพระสงฆ์อาพาธและเจ็บป่วยเรื้อรัง เพื่อให้พระสุขภาพแข็งแรง วัดมั่นคง ชุมชนเป็นสุข

22 มิ.ย. 2562 นพ.ปรีดา วรหาร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเลย ในฐานะประธานคณะทำงานขับเคลื่อนการเข้าถึงบริการสุขภาพพระสงฆ์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 8 อุดรธานี เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2562 ที่ผ่านมา คณะทำงานฯ ได้มีการประชุมหารือเรื่องการจัดตั้งกองทุนดูแลสุขภาพพระสงฆ์ในพื้นที่เขต 8 อุดรธานี เพื่อดูแลพระสงฆ์อาพาธและเจ็บป่วยเรื้อรัง ที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องค่าใช้จ่ายที่ไม่สามารถเบิกจ่ายในชุดสิทธิประโยชน์หลักที่รัฐจัดให้ โดยเห็นชอบให้มีการจัดตั้งกองทุนดูแลสุขภาพพระสงฆ์ที่อาพาธและเจ็บป่วยเรื้อรังระดับอำเภอทั้ง 7 จังหวัดในเขตสุขภาพที่ 8 ได้แก่ อุดรธานี สกลนคร นครพนม เลย หนองบัวลำภู หนองคาย และบึงกาฬ โดยขยายนำร่องระดับจังหวัด 2 แห่งในจังหวัดนครพนมและจังหวัดเลย หลังจากนี้คณะทำงานซึ่งประกอบด้วยทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการออกแบบกลไก ร่างกฎระเบียบการบริหารจัดการกองทุน และเงื่อนไขการเบิกจ่ายเงินกองทุน เพื่อส่งต่อผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไป

ด้าน พระเทพวรมุนี เจ้าคณะจังหวัดนครพนม และเจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อ.ธาตุพนม จ.นครพนม กล่าวในที่ประชุมว่าได้เตรียมการเรื่องการจัดตั้งกองทุนดูแลพระสงฆ์ภาพรวมจังหวัดนครพนม เมื่อปี 2561 เบื้องต้นมีเงิน 100,000 บาท ปัจจุบันมีเงินกองทุน 400,000 บาท ในด้านงบประมาณพระสงฆ์สามารถหนุนช่วยเงินเข้ากองทุน เช่น เงินประจำตำแหน่งพระสังฆาธิการ จัดกองผ้าป่า หรือรับบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา อาตมามีความรู้สึกยินดีที่ทุกภาคส่วนตระหนักและมีส่วนร่วมดูแลสุขภาพพระสงฆ์อย่างจริงจัง เพื่อให้พระสุขภาพแข็งแรง วัดมั่นคง ชุมชนเป็นสุข

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

'ซูซานา ชาปูโตวา' สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีหญิงคนแรกของสโลวาเกีย

$
0
0

ซูซานา ชาปูโตวา ประธานาธิบดีหญิงคนแรกของสโลวาเกียและยุโรป เพิ่งสาบานตนเข้ารับตำแหน่งเมื่อไม่นานนี้ จากที่เธอเคยเป็นนักกิจกรรมและเป็นหนึ่งในผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลมาโดยตลอด มีการตั้งข้อสังเกตว่าในสุนทรพจน์เข้ารับตำแหน่งนั้นชาปูโตวาไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเลย

ซูซานา ชาปูโตวา ประธานาธิบดีหญิงคนแรกของสโลวาเกียและยุโรป แฟ้มภาพ: Wikimedia Commons

เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2562 ที่ผ่านมามีพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีคนใหม่ของประเทศสโลวาเกีย ซูซานา ชาปูโตวา ทนายความด้านสิ่งแวดล้อมที่ชนะการเลือกตั้งจนได้เป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป อย่างไรก็ตามมีการตั้งข้อสังเกตว่าสุนทรพจน์ของเธอไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลแบบที่ทำให้เธอกลายเป็นในช่วงที่มีการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง

ชาปูโตวาเป็นนักกิจกรรมชุมชนและทนายความด้านสิ่งแวดล้อมที่ได้รับฉายาว่า "อีริน บร็อคโควิช แห่งสโลวาเกีย" เธอเคยหาเสียงเลือกตั้งด้วยคำขวัญ "ยืนหยัดต่อสู้กับความชั่วร้าย" โดยที่สื่อ Mail & Guardian ระบุว่าเธอไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมาก่อนก่อนหน้าที่จะลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีสโลวาเกีย ชาปูโตวาชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 58 เมื่อเดือน มี.ค. 2562 ที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งตาสว่างไม่เชื่อใจรัฐบาลเดิมที่เคยก่อเหตุนักข่าวสืบสวนสอบสวนจนทำให้ระเทศตกอยู่ในวิกฤตเมื่อปีที่แล้ว

ประธานาธิบดีหญิงคนใหม่ของสโลวาเกียกล่าวในสุนทรพจน์การสาบานตนเช้ารับตำแหน่งที่กรุงบราติสลาวาว่า "ฉันไม่ได้มาเพื่อปกครอง ฉันมาเพื่อรับใช้พลเมืองและผู้อยู่อาศัยในสโลวาเกีย ... ฉันจะใช้ทั้งความเชี่ยวชาญ ความรู้สึก และวิธีการของนักกิจกรรมในแบบที่ดีต่อสุขภาวะ ดังนั้นฉันขอมอบสมอง หัวใจ และมือของฉัน"

หลังจบพิธีการสาบานตนชาปูโตวาเดินไปที่โบสถ์ใกล้ๆ พร้อมทั้งจับมือผู้คนระหว่างทางก่อนที่จะจัดให้มีการเลี้ยงอาหารกลางวันสำหรับผู้สูงอายุในสโลวาเกีย

มีนักวิเคราะห์ระบุว่าสุนทรพจน์ในการสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของชาปูโตวามีความนุ่มนวลเมื่อเทียบกับในอดีตที่เธอวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล จูราซ มารุเซียก นักวิเคราะห์การเมืองกล่าวให้สัมภาษณ์ต่อสื่อว่าสุนทรพจน์ของชาปูโตวามีลักษณะไม่เน้นเผชิญหน้า มีการพูดในเชิงบวกแบบสูตรสำเร็จ และไม่มีการโจมตีนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม นักวิเคราะห์มองว่านั่นเป็นเพราะชาปูโตวาไม่ต้องการแบ่งแยกแต่ต้องการให้ร่วมกันจากการที่เธอพูดถึงเรื่องจุดเหมือนในด้านแนวทางและผลประโยชน์ของส่วนรวม และมักจะใช้คำว่า "พวกเรา"

หลังจากกรณีการสังหารนักข่าวจอห์น คูเชียก และคู่หมั้นของเขาในเดือน ก.พ. 2561 ก็มีผู้ประท้วงนับแสนคนประท้วง ซึ่งชาปูโตวาก็เข้าร่วมประท้วงด้วย ก่อนที่คูเชียกจะถูกสังหารเขาเผยแพร่รายงานกล่าวหาว่านักการเมืองสโลวาเกียมีส่วนเกี่ยวข้องกับมาเฟียอิตาลี วิกฤตการเมืองในครั้งนี้บีบให้โรเบิร์ต ฟิโก นายกรัฐมนตรีในยุคนั้นลาออก แต่ฟิโกก็ยังคงเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง Smer-SD และเป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันคือปีเตอร์ เปลเลกรินี

เรียบเรียงจาก
Slovakia swears in first woman president Caputova, Mail & Guardian, 18-06-2019
https://mg.co.za/article/2019-06-18-slovakia-swears-in-first-woman-president-caputova

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 16-22 มิ.ย. 2562

$
0
0

ศก.ดิจิทัลดันใช้เทคโนโลยีแทนมนุษย์ คาด 28 ล้านคนในอาเซียนจ่อตกงาน

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดงานสัมมนาระดับนานาชาติ “Symposium on ASEAN Human Empowerment And Development” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน-ประเทศไทย ณ โรงแรมแลนด์มาร์ค กรุงเทพฯว่า ขณะนี้ ระบบเศรษฐกิจโลกกำลังเปลี่ยนไปสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลในยุคอุตสาหกรรม 4.0 หรือยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (4IR) โดยเป็นผลพวงจากการปฏิวัติดิจิทัลผสานการเชื่อมโยงเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อมาทดแทนแรงงานมนุษย์ ถือเป็นการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ ก่อให้เกิดอาชีพที่ใช้ระบบดิจิทัลเป็นพื้นฐาน ช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการจากการเพิ่มผลิตภาพการผลิต

"แต่การทดแทนแรงงานด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ทำให้คาดการณ์ว่าแรงงานประมาณ 375 ล้านคนทั่วโลกอาจต้องเปลี่ยนอาชีพภายในปี 2573 สำหรับอาเซียน ปรากฏการณ์ดังกล่าวอาจกระทบต่ออาชีพประมาณ 28 ล้านคนที่ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไปในอนาคต" ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าว

นายบุณยฤทธิ์ กล่าวด้วยว่า ดังนั้น จำเป็นที่อาเซียนต้องสร้างความตระหนัก รู้เท่าทันแก่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับมือกับ 4IR ที่มีต่อแรงงานและผู้ประกอบวิชาชีพในอาเซียน และต้องหารือกันถึงแนวทางการพัฒนาทักษะแรงงานและผู้ประกอบวิชาชีพ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลง โดยผลที่ได้จากการสัมมนาในครั้งนี้ สภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน-ประเทศไทย จะนำมาใช้ประกอบการจัดทำแนวทางการพัฒนาแรงงานมีทักษะและผู้ประกอบการวิชาชีพอาเซียน เพื่อรับมือกับ 4IR และเสนอให้รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนเห็นชอบและเสนอผู้นำอาเซียนรับทราบต่อไป

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 21/6/2562

ประยุทธ์พอใจหลังสหรัฐคงระดับค้ามนุษย์ไทยปี 2562 ที่ Tier 2 ย้ำเดินหน้าขจัดปัญหาให้หมดไป

พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงความพอใจต่อสถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี 2562 ของไทย ที่อยู่ในระดับ Tier 2 เช่นเดียวกับปีที่แล้ว

อนึ่งกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี 2562 (TIP Report 2019) โดยในปีนี้ ไทยได้รับการจัดระดับให้อยู่ ใน Tier 2 ซึ่งเป็นการคงอันดับเดิมจากปี 2561

"นายกฯ เน้นย้ำว่า การคงระดับของไทยให้อยู่ใน Tier 2 สะท้อนว่า สหรัฐฯ ตระหนักถึงความมุ่งมั่นพยายามของไทย ซึ่งมีความคืบหน้าหลายอย่างที่รัฐบาลและภาคส่วนต่าง ๆ ร่วมมือกันเพื่อป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ทุกรูปแบบ พร้อมทั้งยืนยันว่ารัฐบาลใหม่จะยังเดินหน้าเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศ" พล.ท.วีรชน ระบุ

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณทุกฝ่ายทั้งข้าราชการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน ที่ให้ความสำคัญกับปัญหาค้ามนุษย์ อย่างไรก็ตามรัฐบาลจะต้องทำงานหนักต่อไป ทั้งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงแรงงาน สำนักงานตำรรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด ฯลฯ เพราะบางพื้นที่ยังพบปัญหาดังกล่าวอยู่ รวมทั้งยินดีรับฟังข้อเสนอแนะของสหรัฐฯ และผู้เกี่ยวข้อง เพื่อขจัดการค้ามนุษย์ให้หมดสิ้นไป

รองโฆษกฯ กล่าวว่า ในรายงานของสหรัฐฯ ระบุว่ารัฐบาลมีความพยายามในการระบุผู้ที่ตกเป็นเหยื่อและผู้เสียหายมากขึ้น มีการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดค้ามนุษย์ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐด้วยโทษที่สูงกว่าคนทั่วไป ขณะที่กฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ยังกำหนดโทษอย่างรุนแรงสำหรับการค้ามนุษย์เพื่อการค้าประเวณี บังคับใช้แรงงานหรือบริการ โดยเฉพาะกับผู้เสียหายเป็นเด็ก

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสต์, 21/6/2562

โรงแรมเมืองสงขลาเลิกจ้าง พนักงานนับร้อยกะทันหัน

มีรายงานว่า พนักงานโรงแรมพื้นที่บ้านด่านนอก อ.สะเดา จ.สงขลา กว่า 150 คน รวมตัวกันเพื่อมารับฟังการชี้แจงของนางอรพินทร์ คงพรม หัวหน้าแผนกแม่บ้าน หลังจากที่บริษัทได้ประกาศเลิกจ้างทำงานเมื่อวานนี้ (19 มิถุนายน 2562) ส่งผลให้พนักงานนับร้อยชีวิตต้องตกงานทันที โดยที่พนักงานส่วนใหญ่ไม่รู้ตัวมาก่อนและยังทำใจไม่ได้

นางอรพินทร์ คงพรม เปิดเผยว่าทางบริษัทฯ ไม่ได้มีการบอกล่วงหน้า เมื่อเซ็นยินยอมในหนังสือเลิกจ้างก็มีผลทันทีและได้เงินชดเชยเพียงเดือนเดียวเท่านั้น ซึ่งมันไม่มีความยุติธรรมและเป็นธรรมเลย กลุ่มพนักงานที่ถูกเลิกจ้างทั้งหมดส่วนใหญ่ต่างไม่รู้ตัวมาก่อน บางคนยังไม่ได้เตรียมตัวหางานใหม่เนื่องจากได้ร่วมงานกับบริษัทมานานหลายปี ทำให้ผู้ที่ถูกเลิกจ้างต้องมารวมตัวกันที่สำนักงานคุ้มครองสวัสดิการแรงงานจังหวัดสงขลา เพื่อเรียกร้องสิทธิ์พึงมีที่จะได้รับเงินชดเชยในกรณีที่มีการเลิกจ้างต้องชดเชยตามสิทธิ ตามระยะเวลาที่ทำงานอยู่ไม่ใช่แค่เดือนเดียวทั้งหมด

ขณะเดียวกัน การเลิกจ้างดังกล่าวผู้บริหารในเครือวีเฮชเอ็ม ได้เปิดเผยว่า เป็นเรื่องปกติที่บริษัทประกอบการโรงแรมและที่พัก ที่บ้านด่านนอก ได้ประสบปัญหาการขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง ไม่มีกรุ๊ปทัวร์และนักท่องเที่ยวมาใช้บริการอย่างต่อเนื่องหลายปี บริษัทได้ตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น รวมถึงการเลิกจ้างพนักงานส่วนหนึ่งออก เพื่อประคองให้บริษัทอยู่รอด

ที่มา: คมชัดลึก, 20/6/2562

แมนพาวเวอร์กรุ๊ป แนะแรงงานตื่นตัว รับการเปลี่ยนแปลงใน 2 ปี ผลวิจัยชี้แนวโน้มงานเพิ่มแต่ต้องมีกึ๋น

ในยุคที่มนุษย์ต้องพัฒนาทักษะความสามารถเพื่อการทำงานในแต่ละสายอาชีพ เพื่อรองรับการแข่งขันและทดสอบศักยภาพของตนเอง โดยล่าสุด "แมนพาวเวอร์กรุ๊ป" ได้ทำการวิจัยและเผยถึงแนวโน้มของทักษะมนุษย์ รวมถึงตำแหน่งงานที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นและลดลงของจำนวนพนักงานในอีก 2 ปีข้างหน้า แนะแรงงานปรับตัวเพิ่มทักษะความสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงสอดรับกับยุคดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น ชี้การพัฒนาทักษะมนุษย์ คือ หัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรและธุรกิจ

หากพูดถึงการปฏิวัติทักษะ แรงงานในกลุ่มที่มีทักษะด้านเทคโนโลยีและดิจิทัลจัดอยู่ในอันดับต้นๆที่มีความต้องการเพิ่มสูงขึ้นสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น โดยระบบอัตโนมัติกำลังทำให้ทักษะที่บริษัทต่างๆ ต้องการจากพนักงานเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งความรวดเร็วในการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวแตกต่างกันไปในแต่ละองค์กร

ถ้าหากเจาะสำรวจลงไปในสายงานจะเห็นว่ามีความต้องแรงงานที่มีทักษะด้านไอทีเพิ่มสูงขึ้นและรวดเร็วมาก โดยผลวิจัยระบุว่า 16 เปอร์เซ็นต์ ของบริษัทคาดว่าจะเพิ่มจำนวนพนักงานในสายงานไอทีมากถึง 5 เท่าแทนที่จะลดจำนวนลง ในขณะเดียวกันความพร้อมของผู้มีทักษะความสามารถด้านไอทีกลับหาได้ยากขึ้น การศึกษาและประสบการณ์ที่นายจ้างต้องการดูเหมือนจะตรงกันข้ามกับสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งในสหรัฐอเมริการาว 86 เปอร์เซ็นต์ของตำแหน่งงานว่างในสายงานไอทีกำหนดว่าผู้สมัครต้องจบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ แต่มีพนักงานด้านไอทีเพียง 43 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มีวุฒิการศึกษาดังกล่าว และ 92 เปอร์เซ็นต์ของโฆษณารับสมัครงานระบุว่านักพัฒนาวาจาจะต้องมีใบปริญญาในสาขาดังกล่าว ในขณะที่นักพัฒนามี 48 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มีปริญญาดังกล่าว นอกจากนี้ในสหราชอาณาจักร 25 เปอร์เซ็นต์ของพนักงานไอทีที่มีปริญญา แต่อีก 46 เปอร์เซ็นต์ของตำแหน่งงานที่เปิดรับกำหนดว่าวุฒิปริญญาตรีเป็นคุณสมบัติบังคับที่ผู้สมัครต้องมี

ทางด้านสายงานภาคการผลิตมีการคาดการณ์ว่าความเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปได้มากที่สุด 25 เปอร์เซ็นต์ของนายจ้างระบุว่าจะว่าจ้างพนักงานมากขึ้นในระยะเวลาอันใกล้ ในขณะที่ 20 เปอร์เซ็นต์ระบุว่าจะจ้างพนักงานน้อยลง ทำให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญต่อการเติบโตของงานและทักษะที่สำคัญในอุตสาหกรรม การเติบโตดังกล่าวจะเกิดขึ้นกับพนักงานผู้ปฏิบัติหน้าที่ในส่วนที่ต้องพบปะและดูแลลูกค้า งานวิศวกรรม รวมถึงงานบริหารที่ต้องใช่ทักษะมนุษย์ เช่น การสื่อสารขั้นสูง การเจรจา การเป็นผู้นำ การจัดการและความสามารถในการปรับเปลี่ยน ส่วนในสายงานอื่นๆ เช่น งานธุรการและสำนักงาน จำนวนตำแหน่งงานจะน้อยลง และคาดว่าจำนวนพนักงานในสายงานบุคคลจะยังคงที่

จากผลวิจัยราว 65 เปอร์เซ็นต์ของบริษัทวางแผนที่จะเพิ่มจำนวพนักงานในสายงานไอทีโดยระบุว่า "ทักษะการสื่อสารเป็นทักษะด้านอารมณ์ที่สำคัญที่สุด" อย่างไรก็ตามแมนพาวเวอร์กรุ๊ป กำลังปิดช่องโหว่นี้ จากการทำงานกับลูกค้าอย่างไมโครซอฟท์ทำให้เราต้องประเมินข้อกำหนดสำหรับตำแหน่งงานที่ใกล้เคียง และเพิ่มทักษะให้แก่บุคคลให้สามารถเป็นผู้ทดสอบเกมที่ได้รับการรับรองได้ภายใน 3 เดือน ซึ่งความหลงใหลในการเล่นเกม ทักษะการแก้ปัญหาที่ยอดเยี่ยม และความสามารถในการเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ ซึ่งจนถึงปัจจุบันแมนพาวเวอร์กรุ๊ปได้เพิ่มทักษะที่เป็นที่ต้องการและตอบโจทย์ลูกค้าให้แก่บุคลากรแล้วกว่า 500 คน

ทั้งนี้ เมื่อความต้องการทักษะด้านเทคโนโลยีและดิจิทัลกำลังเติบโตขึ้นในทุกตำแหน่งหน้าที่ แต่นายจ้างให้ความสำคัญกับการเพิ่มมูลค่าของทักษะมนุษย์มากกว่า เนื่องจากระบบอัตโนมัติและเครื่องจักรทำงานประจำวันได้ดีกว่ามนุษย์ แต่ 38 เปอร์เซ็นต์ ขององค์กรระบุว่าการฝึกอบรมทักษะด้านเทคนิคที่เป็นที่ต้องการมีความยากลำบาก และอีก43 เปอร์เซ็นต์ระบุว่าการสอนให้บุคลากรมีทักษะด้านอารมณ์ที่องค์กรต้องการ เช่น การคิดในเชิงวิเคราะห์และการสื่อสารกลับเป็นงานที่ยากกว่า ผู้สมัครที่สามารถแสดงให้เห็นได้ว่ามีทักษะด้านกระบวนการคิด ความคิดสร้างสรรค์ และความสามารถในการประมวลข้อมูลเชิงซ้อน รวมถึงความสามารถในการปรับเปลี่ยนและการเป็นการทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดีจะมีโอกาสประสบความสำเร็จในอาชีพการทำงานมากขึ้น ภายในปี 2573 ความต้องการทักษะของมนุษย์ ซึ่งก็คือทักษะทางสังคมและอารมณ์จะเพิ่มสูงขึ้นในทุกอุตสาหกรรมถึง 26 เปอร์เซ็นต์ในสหรัฐอเมริกาและ 22 เปอร์เซ็นต์ในยุโรป

นอกจากนี้ ยังระบุอีกว่าตำแหน่งงานที่คาดว่าจะการเพิ่มขึ้นและลดลงของจำนวนพนักงานอย่างมากในอีกสองปีข้างหน้า โดยจำแนกเป็นกลุ่มแรงงาน 6 สายงาน ได้แก่ สายงานการเงินและการบัญชี จะมีการเพิ่มจำนวนพนักงาน 4 เปอร์เซ็นต์ และลดจำนวนพนักงานถึง 6 เปอร์เซ็นต์ โดยทักษะการทำงานเดิมจะยืดติดตามกระบวนการและรายละเอียด การปฏิบัติตามข้อกำหนด ซึ่งทักษะในอนาคตการตีความธุรกิจ การนำเสนอและบริการลูกค้า

ส่วนสายงานทางด้านไอทีมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนพนักงานอยู่ที่ 11 เปอร์เซ็นต์ และจะลดจำนวนพนักงานอยู่ 7 เปอร์เซ็นต์ โดยทักษะปัจจุบันจะเป็นด้านการติดตั้งและบำรุงรักษาเทคโนโลยี การใช้การสังเกตและควบคุมเทคโนโลยีทักษะไอทีที่เข้มแข็ง ซึ่งทักษะที่ต้องเพิ่มขึ้นในอนาคต คือ การคิดเชิงวิเคราะห์ การวิเคราะห์และแก้ปัญหา มีความสามารถในการเรียนรู้สูง การออกแบบและพัฒนาเทคโนโลยี

สายงานการผลิตเป็นอีกหนึ่งสายงานที่น่าจับตาเนื่องจากผลวิจัยระบุจะมีการเพิ่มจำนวนพนักงานถึง 25 เปอร์เซ็นต์ และลดจำนวนพนักงานถึง 20 เปอร์เซ็นต์ โดยทักษะการทำงานปัจจุบันเป็นการใช่เครื่องจักร ทักษะด้านการกายภาพ ยืดติดกับกระบวนการและรายละเอียด ส่วนทักษะในอนาคตที่จะเพิ่มขึ้นในสายอาชีพนี้ การจัดการควบคุมเครื่องจักร และมีความสามารถในการเรียนรู้สูง

สายงานด้านการให้บริการข้อมูลและดูแลลูกค้า ฝ่ายต้อนรับ (Frontline &Customer-Facing) เป็นหนึ่งสายงานที่ใช้ทักษะด้านการป้อนข้อมูล ความสามารถในการรู้ภาษา ตัวเลข และการสื่อสารขึ้นพื้นฐาน ซึ่งทักษะที่จะต้องมาเติมในอนาคต การแก้ไขปัญหา การสื่อสารและการสร้างความสัมพันธ์ รวมถึงการจัดการเครื่องจักร ซึ่งจะมีการเพิ่มจำนวนพนักงานราว 16 เปอร์เซ็นต์ แต่จะมีการลดจำนวนพนักงานอยู่ที่ 3 เปอร์เซ็นต์

ในสายงานธุรการและสำนักงาน 9 เปอร์เซ็นต์จำมีการเพิ่มจำนวนพนักงาน และจะลดจำนวนพนักงานลง 18 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทักษะงานในปัจจุบันจะเป็นการเก็บบันทึก การประสานงานและจัดการเวลา รวมถึงตรวจสอบราคาสินค้า แต่ทักษะในอนาคตที่จะต้องเพิ่มขึ้น ด้านการสื่อสารและการสร้างความสัมพันธ์ และยังจะต้องมีการคิดเชิงวิเคราะห์พร้อมทำการวิเคราะห์ด้วย รวมถึงการสร้างเครือข่ายและสร้างแรงจูงใจ

ส่วนสายงานทางด้านทรัพยากรบุคคล หรือ HR ทักษะการทำงานปัจจุบันด้านการสรรหาบุคลากร กฎหมายการจ้างงาน ซึ่งทักษะในอนาคตที่จะต้องเพิ่ม การทำความเข้าใจพฤติกรรมมนุษย์ การวิเคราะห์ข้อมูลและการประเมิน รวมทั้งกลยุทธ์การสร้างบุคลากรที่มีความสามารถสูงและการวางแผนงาน แนวโน้มการเพิ่มจำนวนพนักงานในส่วนนี้อยู่ที่ 3 เปอร์เซ็นต์ และลดจำนวนพนักงานในสัดส่วนเท่ากัน

อย่างไรก็ตาม จากผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่าการพัฒนาและเพิ่มทักษะความสามารถแต่ละสายเป็นหัวใจสำคัญ ซึ่งแรงงานยุคดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่นนี้ ต้องเตรียมความพร้อมและเร่งพัฒนาทักษะหรือ Skill ให้สอดคล้องกับทิศทางความต้องการในแต่ละสายอาชีพและสายงาน เพื่อรองรับการแข่งขันในอนาคตอันใกล้นี้มิฉะนั้นแล้ว คุณอาจจะเป็นแรงงานในเปอร์เซ็นต์ที่บริษัทเลือกลดก็เป็นได้ ทั้งนี้ จากข้อมูลวิจัยสายงานที่มีแนวโน้มความต้องการเพิ่มจำนวนพนักงานมากที่สุดจะเป็นสายงานการผลิต รองลงมาสายงานธุรการ สายงานดูแลและให้ข้อมูลลูกค้า สายงานด้านไอที สายงานด้านการเงินบัญชีและสายงานด้านทรัพยากรมนุษย์ ตามลำดับ ซึ่งส่งผลให้เห็นว่าแรงงานจะต้องมีการตื่นตัวและพัฒนาทักษะ ศักยภาพความสามารถรองรับกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงในสายอาชีพ วันนี้ แมนพาวเวอร์กรุ๊ปในฐานะที่ปรึกษาและผู้เชียวชาญในตลาดแรงงานหวังว่าข้อมูลดังกล่าวจะมาช่วยเป็นแนวทางและกระตุ้นให้ "แรงงาน" เตรียมความพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงนี้ที่จะเกิดขึ้นใน 2 ปีนี้…วันนี้คุณพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงแล้วหรือยัง?

ที่มา: เจพี วันคอนซัลแทนท์, 20/6/2562

ปิดล้อมตรวจค้นสถานศึกษา บริษัท ร้านค้า สถานบริการ ที่อยู่อาศัยและที่พัก 238 จุดทั่วประเทศ จับกุมชาวต่างชาติอยู่ในไทยโดยผิดกฎหมายได้เกือบห้าร้อยราย

19 มิ.ย. 2562 ที่ สน.ชนะสงคราม พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วย ผบ.ตร. พร้อมด้วย พล.ต.ต.อิทธิพล อิทธิสารรณชัย รอง ผบช.สตม. พล.ต.ต.วรพงษ์ ทองไพบูลย์ ผบก.ทท.1 พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจท่องเที่ยว, บช.ปส. ชุดสยบไพรี เจ้าหน้าที่ตำรวจศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) และเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ชนะสงคราม แถลงข่าวนำกำลังเข้าปิดล้อม ตรวจค้นที่พักที่กิน ที่เที่ยว ร.ร.สอนภาษา ร.ร.เอกชน จำนวน 238 จุดทั่วประเทศ โดยเน้นเป้าหมายชาวต่างชาติที่กระทำผิด หลบหนีเข้าเมือง (Overstay) และ พ.ร.ก.การทำงานของคนต่างด้าว

พล.ต.ท.ปิยะกล่าวว่า การแถลงข่าวในครั้งนี้เป็นการกวดขันการจับกุมชาวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทยโดยแต่งตัวเป็นนักท่องเที่ยว เพื่อเข้ามาก่ออาชญากรรมข้ามชาติและอาชญากรรมที่กระทบกับความมั่นคง ซึ่งจะส่งผลต่อภาพลักษณ์และการท่องเที่ยวของประเทศไทย อีกทั้งในช่วงวันที่ 22-23 มิ.ย. ประเทศไทยได้เป็นตัวแทนจัดงานประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 จึงได้เพิ่มมาตรการความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกต่างๆ มากขึ้น

พล.ต.ท.ปิยะกล่าวต่อว่า การเข้าตรวจค้นเป้าหมายทั้งหมด 238 จุด ในการตรวจค้นในครั้งนี้จะเน้นเป้าหมายเป็นสถานศึกษา บริษัท ร้านค้า สถานบริการ ที่อยู่อาศัยและที่พัก โดยสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 478 ราย แบ่งเป็นจับกุมข้อหา “เป็นคนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยการอนุญาตสิ้นสุด” จำนวน 7 ราย จับกุมข้อหา “เป็นคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาต” จำนวน 295 ร้าน จับกุมข้อหาตาม พ.ร.ก.การทำงานของคนต่างด้าว จำนวน 24 ราย จับกุมข้อหา “เป็นผู้ครอบครองเคหสถานรับคนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเข้าพักอาศัยแล้วไม่แจ้งต่อเจ้าพนักงานภายใน 24 ชั่วโมง” จำนวน 98 ราย จับกุมข้อหา “เป็นคนต่างด้าวได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวไม่พักอาศัย ณ ที่ที่ได้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่” จำนวน 26 ราย และข้อหาอื่นๆ อีก 28 ราย

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 20/6/2562

ชมรมนวดไทยเชียงใหม่ยื่นตรวจสอบกรณีแอบถ่ายหนังเอ็กซ์ทำเสียหาย

18 มิ.ย. 2562 ที่ศาลากลาจังหวัดเชียงใหม่ ชมรมผู้ประกอบการนวดไทยล้านนา นำโดยนางนันทวัน ชุติพงษ์วิเวท ประธานชมรมผู้ประกอบการนวดไทยล้านนา ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ขอให้เจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบกรณีข่าวที่มีการเผยแพร่ทาง Social Media เกี่ยวกับการนวดแผนไทยในจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนายวิรุฬ พรรณเทวี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นตัวแทนรับหนังสือดังกล่าว

ทั้งนี้ การยื่นหนังสือดังกล่าวสืบเนื่องมาจากกรณีโซเชียลมีเดียที่มีการเผยแพร่ภาพและข่าวเกี่ยวกับการถ่ายหนังลามกที่ใช้เมืองเชียงใหม่เป็นฉากเดินเรื่องและพาดพิงกับการนวดแผนไทย ซึ่งสร้างความเสื่อมเสียและเสียภาพลักษณ์จังหวัดเชียงใหม่ที่เป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ประกอบกับรัฐบาลกำลังผลักดันให้นวดแผนไทยเป็นมรดกโลก โดยที่ทางชมรมได้ทุ่มเททำงานร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนผลักดันในเรื่องนี้อย่างเต็มที่

โดยหนังสือดังกล่าวระบุว่า เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว การรักษาศิลปวัฒนธรรมจารีตประเพณีของจังหวัดเชียงใหม่ และการผลักดันให้นวดแผนไทยเป็นมรดกโลก ทางชมรมผู้ประกอบการนวดไทยล้านนาจึงขอเรียกร้องให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อภาพที่เผยแพร่ และดำเนินการแก้ไขเพื่อให้ภาพลักษณ์ของการนวดไทยไม่เป็นไปตามภาพที่เผยแพร่ เพราะผลกระทบไม่ตกอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่เพียงอย่างเดียวแต่มีผลกระทบถึงการท่องเที่ยวและผู้ประกอบการพนักงานนวดที่ต้องทำงานเลี้ยงครอบครัว

ขณะเดียวกัน ให้กองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เข้าไปตรวจสอบลงโทษผู้เผยแพร่คลิปเนื่องจากทำลายภาพลักษณ์การนวดแผนไทยและทำลายชื่อเสียงของประเทศไทย ซึ่งจะเป็นการกีดกันการผลักดันการนวดแผนไทยเป็นมรดกโลก และให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น ฝ่ายปกครอง, ตำรวจ, สาธารณสุข ตรวจสอบร้านนวดที่ไม่เข้าเกณฑ์นวดเพื่อสุขภาพโดยเฉพาะการแต่งกายที่ล่อแหลม ด้วยปราบปรามอย่างจริงจัง

นอกจากนี้ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันรณรงค์ให้สถานประกอบการที่ทำธุรกิจกับนักท่องเที่ยวมีจิตสำนึกต่อภาพลักษณ์ของจังหวัดเชียงใหม่และของประเทศไทย พร้อมทั้งให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรวจสอบเข้มงวดต่อการออกใบอนุญาตสถานประกอบการและใบอนุญาตประกอบวิชาชีพนวดแผนไทยอย่างจริงจัง และขอความร่วมมือสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลกับนักท่องเที่ยวและแนะนำให้เห็นถึงสถานประกอบการเพื่อสุขภาพที่ดีเป็นอย่างไร มีคุณภาพและมาตรฐานในระดับใด ซึ่งนอกจากจะให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยวแล้วยังจะช่วยกระตุ้นให้สถานประกอบการพัฒนามากขึ้นด้วย

นายวิรุฬ พรรณเทวี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า เบื้องต้นมอบหมายให้ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ดำเนินการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวรวมทั้งเข้มงวดต่อการออกใบสถานประกอบการและใบอนุญาตประกอบวิชาชีพนวดแผนไทยอย่างจริงจัง ทั้งนี้ พบว่าในจังหวัดเชียงใหม่มีร้านนวดอยู่ประมาณ 1,100 ร้าน มีการลงทะเบียนอย่างถูกต้องเพียง 600 ร้าน อีกทั้งยังให้ช่วยรณรงค์ให้สถานประกอบการที่ทำธุรกิจกับนักท่องเที่ยว พัฒนาให้เป็นไปตามมาตรฐาน “นวดเพื่อสุขภาพ” ส่วนในเรื่องการดำเนินคดีนั้นจะให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนจาก ip addres ของผู้โพสต์และดำเนินการต่อไปแม้จะเป็นการยาก

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 19/6/2562

'ผู้ตรวจแรงงาน' เผยคนงานไทยในอิสราเอล มีความเป็นอยู่ที่ดี รายได้งาม ส่งเงินกลับทุกเดือน

เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2562 นายอภิญญา สุจริตตานันท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายสุวรรณ์ ดวงตา ผู้ตรวจราชการกรม กรมการจัดหางาน นายชาคริตย์ เดชา ผู้ตรวจราชการกรม กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน นางอุดมลักษณ์ สอนสารี ผู้ตรวจราชการกรม กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และนายศักดินาถ สนธิศักดิ์โยธิน อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) เดินทางไปพบปะนายจ้าง 3 ราย และตรวจเยี่ยมแรงงานไทยที่ทำงานในพื้นที่ภาคกลางของอิสราเอล ที่ Moshav Lackish ซึ่งเป็นไร่ปลูกองุ่น มีแรงงานไทย จำนวน 35 คน

ทั้งนี้ คณะผู้ตรวจราชการฯ ได้เน้นย้ำให้ลูกจ้างรู้จักสิทธิและหน้าที่ และระเบียบวินัยในการปฏิบัติงาน รวมทั้งการเปลี่ยนนายจ้างขอให้ปฏิบัติถูกต้องตามกฏหมาย อยู่ในระยะเวลาและเงื่อนไขที่กำหนด ไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ไม่เล่นการพนัน ไม่ทะเลาะวิวาท เพื่อรักษาภาพลักษณ์ของประเทศไทย การใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากการใช้สารเคมีในการฉีดพ่นยาทางการเกษตร และเก็บเกี่ยวประสบการณ์และความรู้ต่างๆ ด้านเทคโนโลยีการเกษตรเพื่อนำมาปรับใช้และต่อยอดในการประกอบอาชีพเมื่อกลับมายังประเทศไทย

นอกจากนี้ คณะผู้ตรวจราชการฯ ได้เยี่ยมแรงงานไทย และให้กำลังใจแก่ผู้ป่วยที่พึ่งผ่าตัดใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ เนื่องจากเกิดภาวะผิดปกติการเต้นของหัวใจ และขอให้แรงงานไทยใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ โดยออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อรักษาสุขภาพ โอกาสนี้ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงานได้มอบอุปกรณ์กีฬาแก่แรงงานไทยอีกด้วย นอกจากนี้ ยังได้กำชับแก่แรงงานไทยกรณีที่มีปัญหาหรือต้องการความช่วยเหลือด้านแรงงาน ขอให้ปรึกษาฝ่ายแรงงาน ประจำสถานเอกอัครราชทูต ต่อไป

ที่มา: คมชัดลึก, 17/6/2562

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

เสนอตั้งกองทุนกลาง 'เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต' สำรองจ่ายกรณีมีข้อพิพาทกับโรงพยาบาลเอกชน

$
0
0

สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ จัดเสวนา "2 ปี UCEP ไทย จะก้าวต่อไปอย่างไร” พร้อมชูเสนอตั้งกองทุนกลางสำรองจ่ายกรณีมีข้อพิพาทกับโรงพยาบาลเอกชน ป้องกันปรากฏการณ์ต่อคิวร้องศาล เตรียมชงเปลี่ยนชื่อ "เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่" เป็น "เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ ใกล้ที่ไหน ไปที่นั่น” เพื่อสร้างความเข้าใจใหม่กับประชาชน พร้อมเตรียมเสนอแก้ไขประกาศกระทรวงสาธารณสุข 3 ฉบับให้รองรับนโยบาย UCEP ได้มากยิ่งขึ้น ด้านภาคประชาชนกระตุ้นรัฐ เร่งยกระดับสถานพยาบาล-รถกู้ชีพ ให้มีศักยภาพ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำ

22 มิ.ย. 2562 ที่โรงแรมรามาการ์เด้น กรุงเทพมหานคร สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หรือ สพฉ. จัดเสวนาและรับฟังความคิดเห็น การดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ “2 ปี UCEP ไทย จะก้าวต่อไปอย่างไร : Next Step for UCEP” โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งนักวิชาการเข้าร่วมเสวนา

นพ.สัญชัย ชาสมบัติ รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่ารัฐบาลได้เริ่มโครงการนี้เมื่อ 1 เม.ย. 2560 และประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีโดยได้ความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชนที่ใช้บริการ โรงพยาบาลเอกชนทั้งประเทศที่ให้บริการ และกองทุนสุขภาพต่าง ๆที่พยายามร่วมผลักดันให้โครงการดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ปัญหาที่พบน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก มีผู้เข้าเกณฑ์ได้ใช้สิทธิในช่วง 2 ปีที่ผ่านมากว่า 4 หมื่นราย มีปัจจัยแห่งความสำเร็จอยู่หลายประการเช่น มีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข 3 ฉบับเพื่อสนับสนุนการดำเนินการในเชิงกฎหมาย มีเกณฑ์กลางเพื่อใช้ในการคัดแยกระดับความรุนแรงของผู้ป่วยฉุกเฉิน มีอัตราและบัญชีจ่ายชดเชยให้กับโรงพยาบาลเอกชนที่ครอบคลุมการรักษาที่จำเป็น มีหน่วยงานกลางรวบรวมและคำนวณค่าใช้จ่ายให้กับกองทุนต่าง ๆ เป็นต้น

“จากข้อมูลพบว่า ผู้ป่วยอาการฉุกเฉิน วิกฤตนี้ซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที่จะเสียชีวิต มีอัตราการรอดชีวิตสูงถึง 88% ณ วันที่ย้ายออกจากโรงพยาบาลแรกไปสู่โรงพยาบาลต้นสังกัดหรือที่โรงพยาบาลรับย้าย และผู้ป่วยสิทธิบัตรทองสามารถเข้าถึงบริการเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน มีผู้ใช้บริการมากในเมืองใหญ่ๆ กรุงเทพมหานครมีผู้ใช้บริการมากที่สุดและมีประมาณ 10 จังหวัดที่ไม่มีผู้ป่วยในโครงการเลย อาการเจ็บป่วยที่เข้าเกณฑ์ที่พบมากได้แก่ หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก หมดสติ อัมพาต และหัวใจหยุดเต้น” 

รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวต่อไปว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ดีมากซึ่งต้องทำให้เกิดความยั่งยืน กุญแจสู่ความยั่งยืนคือ การให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ฝั่งผู้ป่วยก็ใช้สิทธิ์โดยสุจริต โรงพยาบาลก็ให้การดูแลตามมาตรฐานทางการแพทย์ไม่แยกสิทธิหรือสถานการณ์จ่าย อัตราจ่ายชดเชยให้โรงพยาบาลเอกชนก็ต้องเป็นธรรม อาจต้องมีการแก้ไขประกาศกระทรวงสาธารณสุขเพื่อแก้ไขบางประเด็นเช่น คำนิยาม 72 ชม การพ้น วิกฤตเป็นอย่างไร เพิ่มประเด็นใกล้ที่ใหน ไปที่นั่นและอาจต้องมีการตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อทำการบริหาร UCEP เป็นการเฉพาะอีกด้วย

ด้านนายแพทย์การุณย์ คุณติรานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่าปัญหาเรื่อง UCEP สิ่งสำคัญคือแก้ทั้งระบบ ทำอย่างไรให้ภาครัฐ เล็งเห็นปัญหา และทำอย่างไรให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น โดยเฉพาะการใช้บริการนอกเวลาราชการ ทำอย่างไรให้ห้องฉุกเฉินเป็นห้องฉุกเฉินจริงๆ อัตรากำลังคนของโรงพยาบาลมีเพียงพอหรือไม่ จึงเป็นที่มาในการให้ภาคเอกชนมาหนุนเสริม ถัดมาคือเรื่องระบบการส่งต่อผู้ป่วยก่อนถึงโรงพยาบาลเองก็มีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะในเมืองใหญ่กว่าประชาชนจะเข้ามาใช้บริการในระบบได้ต้องใช้ระยะเวลาเนื่องจากมีปัญหาจราจร ที่ผ่านมามีประชาชนใช้บริการ EMS ไม่ถึง 15 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือประชาชนมาเอง ทำอย่างไรให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นตรงนี้เพราะระบบ EMS จะเป็นระบบที่คัดกรองผู้ป่วยฉุกเฉินในเบื้องต้น ในภาวะ วิกฤตหรือไม่ วิกฤต และรถที่ไปให้บริการก็ต้องมีคุณภาพระดับหนึ่ง รวมทั้งต้องมีศูนย์สั่งการที่ชัดเจน นอกจากนี้ การเบิกจ่ายก็สำคัญเป็นสิ่งที่เราต้องทบทวน ขณะที่คุณภาพการให้บริการก็ต้องมาทบทวนเช่นกัน เพราะตั้งแต่มีโครงการนี้มาเราไม่เคยพูดในส่วนนี้เลย ขณะที่การอุทธรณ์กรณีมีข้อพิพาทก็ควรอยู่ในระบบ เปิดโอกาสให้ประชาชนอุทธรณ์และมีระบบการไกล่เกลี่ย สุดท้ายเรื่องศักยภาพของโรงพยาบาลถึงเวลาแล้วที่ต้องให้ความรู้และประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนว่าโรงพยาบาลไหนมีศักยภาพและเชียวชาญในการรักษาโรคอะไร

ขณะที่ นพ.ขวัญประชา เชียงไชยสกุลไทย สำนักวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ กล่าวว่าอัตราค่าบริการที่กำหนดให้จ่ายด้วย Free Schedule ขอเรียนว่าเราสามารถทำเรื่องเบิกจ่ายได้ 49 เปอร์เซ็นต์ของอัตราเรียกเก็บ ค่าบริการที่เราเบิกได้มากสุดคือ ค่ายา ในโรงพยาบาลรัฐบาล และค่าบริการวิชาชีพในโรงพยาบาลเอกชน ส่วนค่ายาในโรงพยาบาลเอกชน การเบิกจ่ายจะแตกต่างกันมาก แต่ราคายาที่เรากำหนดจะอยู่ช่วงราคากลางพอดี โรงพยาบาลเอกชน ประกอบด้วย โรงพยาบาลในตลาดหลักทรัพย์ โรงพยาบาลเอกชนทั่วไป และโรงพยาบาลมูลนิธิ อัตราการเรียกเก็บไม่แตกต่างกัน สิ่งที่เราอยากทำ อยากจ่ายครบถ้วนทุกรายการ ที่ผ่านมากองทุนของเรากังวล จะทำอย่างไรให้อยู่ในรายการเราได้ ถ้ามีรายการไหนเพิ่มก็ขอให้แจ้งมา เราจะทำการเพิ่มเติมเข้าไปให้ อย่างเรื่องการเบิกค่ายา สงสัยว่ามีการฮั้วกับบริษัทยาหรือไม่ อย่างยาพารา 1 เม็ด ราคา ต้องเท่ากันทุกบริษัท เข้าใจว่าเอกชน มียาบางยี่ห้อที่มีราคาแพง เราจึงกำหนดราคาตาม trad name เพื่อให้ใกล้เคียงกับราคากลาง ดังนั้นการปรับปรุงระบบการคิดราคายามีทางเลือกอยู่ 3 ทางคือ 1. กำหนดตาม Generic Name และ Original 2.กำหนดตาม Generic Name + เพิ่มราคาที่สูงขึ้น 3. กำหนดตาม Tradename แต่เพิ่มรายการให้ครอบคลุม

รศ.ดร.นายแพทย์เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่าโรงพยาบาลเอกชนยินดีให้ความร่วมมือในการเข้าร่วมโครงการตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งเป็นโครงการที่มีประโยชน์แก่ประชาชนเป็นอย่างมาก กรณีที่มีการบอกว่าค่ายาเอกชนแพงนั้นตนขอเรียนว่าต้นทุนของแต่ละโรงพยาบาลมีไม่เท่ากัน เพื่อแก้ไขปัญหาส่วนนี้เบื้องต้นควรมีการตั้งคณะกรรมการมาประชุมร่วมกันในการกำหนดราคา โดยประชุมกันทุกปี ซึ่งราคาที่คิดมา ผู้ใช้บริการรับได้ และผู้ให้บริการอยู่ได้ ถัดมาเรื่อง การดูแลก่อนถึงโรงพยาบาลการดูแลอย่างทันท่วงที หรือ pre Hospital Care ถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก ที่ผ่านมา ประชาชนเสียค่ารถมาเองเสียส่วนใหญ่ ต้องมาดูว่า รถพยาบาล ควรอยู่ที่โรงพยาบาลศูนย์ หรืออยู่ตามชุมชนและตัวรถ EMS เอง มีอุปกรณ์ครบได้มาตรฐานหรือไม่ เพื่อสร้างความไว้วางใจให้กับประชาชน ปัญหาที่สำคัญเรื่อง UCEP มีหลายเรื่อง ยกตัวอย่างในหลายกองทุน ไม่สามารถทำการเบิกจ่ายได้ ต้องรีบแก้ไข ไม่ใช่เบิกไม่ได้แล้วรอก่อน ที่ผ่านมาโรงพยาบาลเอกชนเราเคยเสนอให้ สพฉ.มีการตั้งกองทุนในเรื่องนี้โดยเฉพาะ แต่ยังไม่ทราบความก้าวหน้า ฉะนั้นการแก้ไขปัญหา รวมถึงเรื่อง 72 ชั่วโมง การส่งต่อผู้ป่วยถ้าพ้น วิกฤต ไม่จำเป็นต้อง 72 ชั่วโมง ก็สามารถส่งต่อได้ เราไม่ได้มุ่งหวังที่ต้องครบ 72 ชั่วโมง เมื่อส่งต่อแล้วเกิดคำถามว่าโรงพยาบาลภาครัฐเองมีเตียงเพียงพอให้กับคนไข้หรือไม่ เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเร่งทำ จากนี้ต้องดูในภาพใหญ่ โครงการถึงจะยั่งยืน ที่สำคัญนิยามการเจ็บป่วยฉุกเฉินต้องชัดเจน ถ้าไม่ทำตรงนี้ระบบจะรวนมาก 

ด้านนางสาวรุ่งนภา ทองเมือง ผู้แทนสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่าในส่วนของประกันสังคมในการเบิกจ่ายตามนโยนบาย UCEP นั้นเรามีการทำมานานแล้ว และโรงพยาบาลคู่สัญญาของประกันสังคมนั้นมีศักยภาพเพียงพอ แต่ก็ต้องยอมรับว่าในโรงพยาบาลรัฐโดยเฉพาะในต่างจังหวัดอาจมีปัญหาบ้างแต่ก็ไม่มาก ถามว่าช่องทางอื่นที่ไปไหนก็ได้ กรณีฉุกเฉินที่สามารถเบิกจ่ายได้นั้น ทางโรงพยาบาลคู่สัญญามีหน้าที่รับผิดชอบประสานอยู่แล้ว ตรงนี้ไม่ต้องกังวล ส่วนเรื่องค่าใช้จ่าย หากผู้ประกันตนไม่ขอใช้สิทธิ UCEP ผู้ประกันตนสามารถสำรองจ่ายไปก่อน และมาทำเรื่องขอคืนเงินชดเชย โดยเฉพาะในส่วนที่เกิน 72 ชั่วโมงได้ ผ่านกองทุนทดแทน สำหรับโรคที่เกิดภาวะแทรกซ้อน หรือโรคร้ายแรง โดยจะมีหลักเกณฑ์การพิจารณาตามเคสนั้นๆ ส่วนกรณีคนไข้พ้น วิกฤต 72 ชั่วโมง โรงพยาบาลต้นสังกัดไม่เอากลับ รวมทั้งเคสที่เบิกเงินในโครงการ UCEP ล่าช้า 3-6 เดือน ตรงนี้มีการถามเข้ามาเยอะ เบื้องต้น อยากให้มีการร้องเรียนมาเราจะทำการตรวจสอบให้อย่างรวดเร็ว 

ทั้งนี้ภายหลังการเสวนา วงเสวนามีมติเป็นข้อเสนอแนะที่ต้องแก้ไข ประกอบด้วย 1. การแก้ไขประกาศกระทรวงสาธารณสุข 3 ฉบับ ตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉิน วิกฤต มีสิทธิทุกที่เพื่อให้เกิดความชัดเจน และเป็นธรรมกับผู้ป่วยฉุกเฉิน วิกฤต และสถานพยาบาล 2. เร่งรัดการแก้ไขระเบียบให้รองรับการเบิกจ่ายเงินค่ารักษาคืนแก่สถานพยาบาลกองทุนต่างๆ 3. จัดตั้งกองทุนกลางเพื่อเบิกจ่ายให้กับสถานพยาบาลแทนกองทุนที่ไม่มีศักยภาพพอจ่าย 4.พัฒนาเกณฑ์โปรแกรมการคัดแยก ระดับความฉุกเฉิน ให้มีความถูกต้องแม่ยำในการคัดแยก 5. ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมีความเข้าใจในการรับบริการของโครงการ ทั้งในเรื่องของความหมาย ของคำว่า "ภาวะฉุกเฉินวิกฤต" และการรักษาในโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้สุด 6.กำหนดนิยามคำว่า พ้นวิกฤตให้ชัดเจนและเป็นที่ยอมรับ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองสิทธิประชาชน 7.ปรับระบบการคิดราคายาและเวชภัณฑ์ในบัญชีแนบท้าย (Fee Schedule ) ให้เหมาะสมและเป็นที่ยอมรับจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 8. พัฒนาระบบการรับเรื่องร้องเรียนให้ประชาชนเข้าถึงได้สะดวกเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถอุทธรณ์ได้ และควรมีระบบการไกล่เกลี่ย 9.ชื่อโครงการ ควรเปลี่ยนจาก "เจ็บป่วยฉุกเฉิน วิกฤต มีสิทธิทุกที่" เป็น "เจ็บป่วยฉุกเฉิน วิกฤต มีสิทธิทุกที่ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น ทั้ง รพ.รัฐและเอกชน" 10. การออกประกาศ ระเบียบ และการตัดสินใจแก้ไขปัญหาต่างๆ ของภาครัฐควรให้มีตัวแทนผู้บริโภคมามีส่วนร่วมด้วยเพื่อลดความขัดแย้ง และเป็นธรรม11. เร่งรัดให้มีการพัฒนาโรงพยาบาลรัฐ โดยเฉพาะห้องอุบัติเหตุฉุกเฉินในการลดความแออัด และให้บริการอย่างมีมาตรฐาน

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

วิจารณ์ 8 วรรคทองของเสกสรรค์ ที่ BBC ไทยนำมาเผยแพร่

$
0
0

ไม่ทราบแน่ว่าทำไม BBC ไทย ถึงนำส่วนหนึ่งของปาฐกถาเมื่อสองปีที่แล้วของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล มาเผยแพร่ใหม่ ด้วยเหตุผลเพียงแค่มันมาบรรจบวันที่ 19 มิถุนายน อีกครั้ง?

ในครั้งนั้น (ปาฐกถาเต็ม) จำได้ว่า หลายคนรวมทั้งผมได้วิจารณ์เสกสรรค์ค่อนข้างแรง (ในครั้งนี้ BBC ได้สรุปและตัดทอนเนื้อหาหลายส่วนให้ดูเบาลงมาก จนเหมือนเป็นของใหม่)

ผมไม่อยากให้นักวิชาการและผู้คนรุ่นต่อๆ ไปสรุปประวัติศาสตร์ช่วงสำคัญนี้อย่างผิดๆ ไปในทางเดียวกัน เพียงเพราะอิงกับความเป็น big name ของเสกสรรค์ ผมจึงจะแสดงให้เห็นในเชิงวิชาการอย่างย่อๆ ว่า ข้อสรุปการอธิบายโครงสร้างการเมืองและประวัติศาสตร์อย่างของเสกสรรค์ มีปัญหาอะไรแฝงฝังอยู่ ?????

BBC ไทยได้สรุปปาฐกถาออกมาเป็น“8 วรรคทอง” ของเสกสรรค์ผมจะวิจารณ์เฉพาะข้อที่มีปัญหาสำคัญๆ ดังนี้

1. ชูธงความดี

เสกสรรค์เห็นว่า ปรากฎการณ์ “ชูธงความดี” สะท้อนว่า คู่ขัดแย้งคือ “ชนชั้นนำเก่าจากภาครัฐ” ที่กุมกลไกรัฐราชการ กับ “ชนชั้นนำใหม่ที่โตจากภาคเอกชน” แล้วขึ้นสู่อำนาจด้วยการเลือกตั้ง นี่คือความขัดแย้งเชิงโครงสร้าง ไม่ใช่ตัวบุคคล
มีคำอธิบายอีกชุดหนึ่ง ซึ่งอาจมีน้ำหนักพอๆ กัน หรือมีน้ำหนักกว่าในสายตาของชาวบ้านที่เข้าร่วมการต่อสู้โดยตรง สะท้อนออกมาในสื่อทั่วๆ ไปหลายครั้งหลายหน โดยใช้คำที่ชาวบ้านเข้าใจดีเช่น “ชนช้าง” หรือ มหากาพย์ “สงครามเทพ” ประเด็นคือ การที่ส่วนนำหรือส่วนหัวของฝ่ายหนึ่ง ปะทะกับส่วนหัวของอีกฝ่ายนี้ เราจะถือว่า เป็นความขัดแย้งระดับตัวบุคคล (ที่กุมโครงสร้าง) หรือเป็นความขัดแย้งระดับโครงสร้าง นัยของคำอธิบายอย่างหลังคือ มันเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ (เช่นระบอบศักดินา ต้องปะทะหักล้างกับระบอบทุนนิยม) แต่ในคำอธิบายอย่างแรก แม้ว่าผู้นำทั้งสองฝ่ายจะยึดถือค่านิยม (หรือจะเรียกว่า “โครงสร้าง” ก็ได้) คนละชุด เช่นฝ่ายหนึ่งอาจยึดถือแนวคิดอธิปไตยเป็นของปวงชน-กษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด อีกฝ่ายหนึ่งลึกๆ แล้วอาจยึดถือแนวคิดกษัตริย์อยู่ “เหนือ” รัฐธรรมนูญ ซึ่งความจริงก็อาจเป็นเพียงการตีความหรือปรับใช้ประชาธิปไตยแบบอังกฤษในทางหลักการจากมุมมองของพวกเขาอย่างเคร่งครัดเท่านั้นเองด้วยซ้ำ แต่แนวคิดทั้งสองชุดไม่จำเป็นต้องแตกหักกันเสมอไป โดยเฉพาะแนวคิดชุดหลังอยู่กับสังคมไทยในแบบที่ก้ำกึ่งกำกวม ในฐานะที่เป็น “บารมี” (ซึ่งกลายเป็นคำพิเศษที่ใช้กันมากในสังคมไทย) ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายทักษิณ กับฝ่ายที่อ้างว่าทักษิณไม่จงรักภักดี แม้ว่าจะรวมถึงการผูกใจคนชั้นล่าง (ที่อีกฝ่ายเห็นว่าทักษิณทำด้วยวิธี “สกปรก”หรือไม่น่าพอใจและมีแนวโน้มที่จะมีลักษณะกินรวบ) การลดอิทธิพลของระบบราชการ (แต่เพิ่มอิทธิพลของตนเองแทน) แต่ความขัดแย้งแรกเริ่มที่ถูกยกขึ้นมาและเกิดขึ้นต่อมาครั้งแล้วครั้งเล่า ล้วนเป็นเรื่องในระดับ “วัฒนธรรม” ไม่ใช่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

ตัวอย่างเช่น การทำพิธีในวัง การใช้คำพูด การจัดรถไฟขบวนพิเศษ การประชุม ครม.นัดพิเศษในปราสาทพนมรุ้ง และอื่นๆ อีกมากมาย - เราจะไม่รวมเรื่องเหล่านี้ไว้ในประวัติศาสตร์หรือ? หรือทำไมต้องลดทอนมันลงไป ซึ่งความจริงพูดอีกอย่างก็คือ ขยายมันให้กลายเป็นเรื่อง ขาว-ดำ กลายเป็นภาพที่หยาบ (แบบที่เป็นดิจิทัล แทนที่จะเป็นอนาล็อก แบบที่เราเห็นๆ ) กลายเป็นเรื่องของ “ระบอบ” หรือชนชั้นทางเศรษฐกิจ (ถึงมีคำว่าระบอบทักษิณ ซึ่งเป็นคำเฉพาะที่พิเศษมากๆ เพราะที่จริงความขัดแย้งครั้งนี้เป็นเรื่องตัวบุคคลมากกว่าความขัดแย้งเชิงระบอบแท้ๆ – ลองพิจารณาความขัดแย้งรองๆ ระหว่างสนธิกับทักษิณ สุเทพ (รวมถึงปชป.) กับทักษิณด้วยก็ได้) นั่นคือ คุณเพียงรู้จักที่จะใช้คำว่าศักดินา แต่ไม่รู้จักแก่นของวัฒนธรรม “เจ้า” จริงๆ เลย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกับดักความเป็นนักวิชาการ (รวมทั้งความเป็นวีรชนเอกชน) ที่คิดว่าจะต้องทำทุกเรื่องให้เป็นเรื่องทฤษฎีเชิงนามธรรม หรืออะไรบางอย่างที่อธิบายได้ ด้วยกรอบทฤษฎีที่มีๆ กันมา โดยไม่ยอมรับ Real Politik หรือ Common Sense แบบชาวบ้านหรือคนอ่านข่าวทั่วๆ ไป เพราะมันดูไม่แปลก และไม่ขลัง - เหล่านี้ทำให้พวกคุณมองข้ามข้อเท็จจริงทางรัฐศาสตร์ที่สำคัญมากไปข้อหนึ่ง นั่นคือ การโปรดเกล้ารัฐธรรมนูญปี 40 ซึ่งเป็นการยอมรับระบบพรรคการเมืองสองพรรคใหญ่ และเปิดทางให้กลุ่มทุนซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นทักษิณ (แต่บังเอิญเป็น) ก้าวเข้ามามีบทบาทนำในการพัฒนาประเทศต่อไป ประวัติศาสตร์หน้านี้คุณจะอธิบายอย่างไร ???

2. ชนชั้นนำกุมอำนาจยาว

สืบเนื่องจากข้อที่แล้ว การอธิบายอย่างเสกสรรค์ ซ่อนสมมุติฐานการมองกลุ่มชนชั้นนำแบบไม่ต้องจำแนกเอาไว้ สมมุติฐานนี้มองไม่เห็นหรืออย่างน้อยก็ดูเบามิติความเป็นตัวของตัวเอง ผลประโยชน์ส่วนตัว หรือความเป็นนักฉวยโอกาสของกลุ่มทหารที่วางแผนทำรัฐประหาร ในด้านหนึ่งก็เป็นเช่นเดียวกับ “สลิ่ม” ที่เชื่ออย่างสุดจิตสุดใจว่าทหารล้วนเป็นผู้จงรักภักดีและสถาบันกษัตริย์มีบารมีอันหาที่สุดมิได้เสมอไป (จึงเป็นที่มาของการเปิดทางให้ทหารรัฐประหารอย่างไม่กลัวว่าจะ “คุมไม่ได้” และทหารในช่วงเปลี่ยนผ่านอันเปราะบางและได้สั่งสมประสบการณ์อันอุดมนี้แหละที่จะกลายเป็นกลุ่มผลประโยชน์ใหม่ในตัวของมันเอง)

การมองแบบเสกสรรค์ (รวมทั้งสมศักดิ์ฯ) เป็นการมองที่พยายามละเลยความไม่เป็นเอกภาพในหมู่ชนชั้นนำ (ซึ่งจะทำให้มีปัญหาในการมอง Real Politik มากมาย เช่นในระหว่างสถาบันฯกับขุนทหาร และระหว่างขุนทหารด้วยกันเอง ยกตัวอย่างเช่น การล้มเลิก deal ไทยรักษาชาติ หรือแม้แต่เรื่องล่าสุดที่ทำไมประยุทธ์ถึงเลือกเป็นรัฐบาลปริ่มน้ำและตกหลุมมอบชะตากรรมของรัฐบาลตนไว้ในมือของประชาธิปัตย์ แทนที่จะเลือกให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ เพื่อที่จะเป็นรัฐบาลรักษาการที่มี ม.44 อยู่ในมือต่อไป ทั้งยัง “เขี่ย”ประวิตรออกจากโผรัฐมนตรีกลาโหม โดยที่ตัวเองนั่งควบ ฯลฯ) การที่นายมีชัยร่างรัฐธรรมนูญที่อาจทำให้คณะรัฐประหารสืบทอดอำนาจได้ยาวนาน ไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งบอกเหตุเลยว่า รัฐธรรมนูญนี้กระทำในฐานะผลประโยชน์ที่เป็นเอกภาพของทั้งชนชั้น (และการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ทางการเมืองอาจเกิดขึ้นในเวลาอันใกล้อีกก็ได้) นี่อีกเช่นกันที่เป็นภาพที่หยาบ (นอกจากนี้ประวัติศาสตร์ควรจะตราไว้ด้วยว่า ส่วนสำคัญของอำนาจของส.ว.ในรัฐธรรมนูญ เป็นผลมาจากการรณรงค์ที่ผิดพลาดของพรรคเพื่อไทยและปัญญาชนจำนวนหนึ่งเองด้วย เรื่องนี้ก็เช่นกันที่ทำให้คำอธิบายของเสกสรรค์ในข้อ 3 ไม่ซับซ้อนพอ)

3. รัฐธรรมนูญระเบิดเวลา
เสกสรรค์ย้ำว่าคนไม่พอใจรัฐธรรมนูญนี้กันมาก - โปรดหาอ่านจากต้นฉบับ ... เรื่องตัวเลขคนไม่เอาการสืบทอดอำนาจ ตอนทำประชามติ มีคนพูดกันมากแล้ว จึงขอข้ามไป
 

4. มาสเตอร์แพลนชิงมวลชน
เสกสรรค์วิเคราะห์นโยบายไทยแลนด์ 4.0 และ ประชารัฐ ว่าไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจ แต่ตีความใหญ่โตถึงขนาดเป็นมาสเตอร์แพลนเพื่อช่วงชิงมวลชนและสร้างความชอบธรรมใหม่ของชนชั้นนำภาครัฐที่แยบยลมาก ... เป็นการวางแผนที่เป็นระบบ และบูรณาการการโจมตีจากทุกมิติเข้าด้วยกัน! นี่เป็นอีกเรื่องที่ผมเห็นว่าเสกสรรค์มีลักษณะ Exaggerate หรือขยายเกินจริง ผมและคนจำนวนมากมองเห็นความลักลั่นของนโยบายนี้ได้ตั้งแต่แรก ยิ่งผมได้รู้จักคนที่เคยเข้าไปเป็นกลไกสำคัญของนโยบายนี้ตั้งแต่แรก หลายคน ก็ยิ่งมั่นใจว่า นโยบายทั้งสองนี้มีลักษณะ “ด้นสด” มีความกำกวม และมีลักษณะเป็น “ไม้หลักปักขี้เลน” อย่างยิ่ง

เสกสรรค์พยายามมองให้เห็นด้านที่เหนือกว่าคนทั่วๆ ไปที่มองว่าประชารัฐเป็นเพียงการลอกนโยบายประชานิยมจากทักษิณ บวกกับการนำกลุ่มทุนใหญ่ที่ผูกขาดจำนวนหนึ่งมาขับเคลื่อนประเทศอย่างเต็มตัว ซึ่งเศรษฐกิจไทยก็เติบโตมาในแนวนี้หรือกล่าวได้ว่า มี “เงา”ของสิ่งนี้มาตลอดหลายสิบปีแล้ว มันเป็นภาพฝันของนโยบายที่เรียกว่า “Sogo Sosha หรือ Zaibatsu ซึ่งต่อมาเป็น Keiretsu”แบบญี่ปุ่น หรือ “แชบ็อล”แบบเกาหลี แต่ทำแบบลักลั่นและต่างชั้นกันมาก ด้วยการพยายามไปผูกกลุ่มทุนใหญ่ (ซึ่งมีลักษณะดูเชิงและขัดแย้งกันเองในหมู่พวกเขา) กับช่องทางค้าปลีกที่แสนจะอ่อนแอของคนชั้นล่าง (ก่อนหน้านี้เซ็นทรัลและเดอะมอลล์ก็อยากส่งเสริมโอท็อปแทบตายอยู่แล้ว ยังทำไม่ได้เลย - ในทางตรงกันข้าม คนที่เคยเข้าไปช่วยโครงการประชารัฐ เคยยอมรับหรือเห็นด้วยกับผมว่า ถ้าเราเพียงแต่มีเว็บแบบ Alibaba ประชารัฐก็จบ ไม่ต้องไปมองอะไรให้ซับซ้อนเลย) ประชารัฐที่กำลังเดินกันอย่างยักแย่ยักยันจึงเป็นเพียงการสร้างภาพ ซึ่งบัตรประชารัฐหรือบัตรคนจนเท่านั้นที่เป็นรูปธรรม (และความจริงไม่ใช่ไอเดียหลักหรืออาจใช่ตั้งแต่แรกก็ได้-ฮา) แต่ก็เป็นโครงการที่เอาเงินของรัฐ (ที่กำลังถังแตก) มาหาเสียงชั่วคราวเพื่อที่จะสืบทอดอำนาจเท่านั้น ส่วนไทยแลนด์ 4.0 ก็เป็นเพียงวาทกรรม (อย่าให้เปรียบเทียบกับโครงการทำนองนี้ของประเทศอื่นๆ เลย อายเค้า - เรื่องบัตรคนจนผมก็มีประสบการณ์ตรงหลายอย่าง อย่าให้พูดเช่นกัน) การมอบโปรเจคต์ใหญ่ๆ ที่สำคัญๆ ในสภาพที่เอื้ออำนวยจริงๆ อย่างในญี่ปุ่นหรือเกาหลีมีน้อยมาก และไม่สร้างสรรค์เลย ตัวอย่างที่เรานึกออกคือ โครงการกระจอกๆ อย่างศูนย์ประชุมฯให้กลุ่มเบียร์ช้าง รถไฟเชื่อมสามสนามบิน (ซึ่งไม่รู้ว่าจะเชื่อมทำไม) ให้กลุ่มซีพี โครงการลงทุนในนิคม EEC ซึ่งจีน อเมริกา ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ก็แทบไม่สนใจ (แต่ได้สร้างความขัดแย้งในระดับชุมชนอย่างร้าวลึก) ส่งเสริมอุตสาหกรรมโบราณอย่างน้ำตาล ส่งเสริมการถางและเผาป่าอย่างมโหฬารเพื่อปลูกข้าวโพด ฯลฯ สิ่งที่ประยุทธ์ทำเป็นหลักก็เพียงรักษาและเพิ่มพูนสถานะผูกขาดของกลุ่มทุนเหล่านี้ไว้เท่านั้น ไม่ได้ร่วมกับกลุ่มทุนสถาปนาอุตสาหกรรมที่น่าชื่นชมใดๆ ให้กับสังคมไทยเลย

ผมเคยบอกแล้วว่าประหลาดใจมากที่เสกสรรค์มองโครงการฉาบฉวยเหล่านี้ไม่ทะลุเหมือนอย่างที่ชาวบ้านร้านตลาดเขาเห็นกันไปทั่ว (ขอแถมว่า ประชารัฐ เป็นคำสำคัญในเพลงชาติ ซึ่งอาจมีนัยที่กลุ่มสถาบันฯไม่ชอบ เพราะไม่ได้เน้น “ราชอาณาจักร” – กลับไปดูข้อ 2) - อีกอย่าง การมองปัญหาความเหลื่อมล้ำโดยโทษการยึดโยงกับทุนโลกาภิวัฒน์อย่างเป็นสูตรสำเร็จ ก็ทำให้เรามองรากเง่าความเหลื่อมล้ำอย่างตื้นเขิน บางครั้งการมีทุนโลกาภิวัตน์มาแทนทุนชาติที่คับแคบก็ให้ผลดีกว่า แต่ที่สำคัญ ที่ผ่านมาทุนโลกาภิวัฒน์ยังแทบไม่เห็นประยุทธ์อยู่ในสายตาเลยด้วยซ้ำ การครอบงำเศรษฐกิจไทยส่วนใหญ่เป็นเรื่องเดิมๆ และดูเสื่อมทรามลงด้วยซ้ำ (หมายถึงไม่มีมิติใหม่ๆ -ไม่น่าสนใจมากนัก พูดอีกอย่าง เราเป็น “หุ้นส่วนเศรษฐกิจ”ที่กระจอกมากของทุนโลก แม้แต่จะขายแรงงานราคาถูกหรือสินค้าเกษตรราคาถูก ก็ไม่ได้แล้ว)

5. ประชารัฐตัดตอนนักการเมือง
เสกสรรค์มองและให้เครดิตประชารัฐเตลิดไปไกลถึงขั้นที่คิดว่า เป็นการเคลื่อนไหวลงสู่มวลชนระดับฐานรากซึ่งทับซ้อนกับฐานเสียงของนักการเมือง ถ้าเรื่องนี้ทำสำเร็จก็อาจจะส่งผลให้การเมืองภาคตัวแทนกลายเป็น “โมฆะ”ได้! และ .... สิ่งที่เราไม่รู้ คือนโยบายนี้มุ่งลอยแพตัดตอนนักการเมืองมาตั้งแต่แรก ด้วยการทำให้พวกเขาเป็น “คนนอกกระบวนการพัฒนาประเทศ” หรือเป็นแค่ผลพลอยได้ของ “สูตรแก้ปัญหาเศรษฐกิจ” ขนาดนั้นเลย! ยังไม่พอเสกสรรค์ยังส่งท้ายด้วยว่า “แต่ที่แน่ๆ คือ ในทางนโยบายแล้ว มันถูกออกแบบมาหักล้างตอบโต้นโยบายประชานิยมโดยตรง” - ทุกคนในโลกนี้รู้ว่าประชารัฐก็คือการเลียนแบบประชานิยมของทักษิณอย่างโง่เขลาโต้งๆ แต่เสกสรรค์กลับพูดให้แพะเป็นแกะได้อย่างตรงกันข้าม (น่าแปลกด้วยที่คนอ่านจำนวนมากคล้อยตาม อย่างไม่ตั้งคำถาม)

ตอนที่ทักษิณทำตัวเป็นทุนผูกขาดกลุ่มใหม่ ทำโอท็อป ทำประชานิยม เช่น นโยบายหมู่บ้านละล้านฯลฯ ที่เป็นการส่งเงินหรือผลประโยชน์ลงสู่ชาวบ้านโดยตรงโดยไม่ผ่าน ส.ส.นั้น ทำไมเสกสรรค์ถึงไม่คิดที่จะบอกว่าเป็นการทำให้ ส.ส.เป็นคนนอกกระบวนการพัฒนาประเทศหรือสูตรแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่สำคัญยิ่งของประเทศ นอกจากนี้ ผมสงสัยว่าการเลือกตั้งที่เพิ่งผ่านไปที่มีการเสนอและถกเถียงถึงนโยบายใหม่ๆ หลากหลาย (เกินกว่าที่เผด็จการจะคิดได้) จากนักการเมืองต่างๆ อย่างเผ็ดร้อน จะทำให้เสกสรรค์เปลี่ยนความคิดไปบ้างหรือไม่?

6. เกิดระบอบ “เกี้ยซิยาธิปไตย”
เสกสรรค์บอกว่า การเมืองในยุคไทยแลนด์ 4.0 มีแนวโน้มจะไปได้ 2 ทาง ทางแรก นักการเมืองเล่นบท “หางเครื่อง” ทางที่สอง พรรคการเมืองส่วนใหญ่ผนึกกำลังกันทำหน้าที่ฝ่ายค้านที่สร้างสรรค์ ที่จริงคำว่าพรรคการเมืองส่วนใหญ่ผนึกกำลังกันแต่เป็นฝ่ายค้านนี่เป็นเรื่องที่ขัดแย้งกันในตัวนะครับ (เสกสรรค์น่าจะหมายถึงว่าเขาอยากให้พรรคประชาธิปัตย์ผสมพันธุ์กับขั้วพรรคเพื่อไทยฯลฯเพื่อตั้งรัฐบาลมากกว่า) ตอนนี้ตลกไหมละครับที่ มันเกิดภาพการเมืองทั้งสองทางพร้อมๆ กัน คือ พรรคการเมืองผนึกกำลังกันเป็นฝ่ายค้านแบบเฉียดฉิวถึงครึ่งสภา ในทางตรงกันข้าม นักการเมืองร้อยพ่อพันแม่ที่ไปค้ำบัลลังก์ให้ประยุทธ์อย่างเฉียดฉิวนั่นแหละกลับมีศักยภาพที่จะเป็นตัวฉุดให้“เผด็จการประชาธิปไตย”ล่มจม แม้ว่าเราจะมองภาพนี้ได้ไม่ง่ายนัก และยังเป็นแค่ “ความเป็นไปได้” แต่ไม่มีทางที่การวิเคราะห์ในแนวของเสกสรรค์จะเปิดทางให้มองเห็นภาพที่ละเอียดอ่อนในแนวนี้ได้เลย

7. ชิงสถาปนารัฐชนชั้นนำ
ก่อนหน้านี้ประยุทธ์ได้ถามคำถาม 4 ข้อ ให้ประชาชนตอบ คำถามเหล่านี้มีนัยในการ discredit นักการเมือง และให้ประชาชนตระหนักว่า “เผด็จการประชาธิปไตย” (พูดตามคำศัพท์ปัจจุบัน) เท่านั้น คือคำตอบหรือทางออกที่ดีที่สุดของประเทศ มันก็ไม่ต่างกับการแนะนำหนังสือ Animal Farm ในปัจจุบัน และอื่นๆ ที่ตีความและตอกย้ำมาเป็นระยะๆ ว่า นักการเมืองก็เหมือนสัตว์ที่สร้างความวุ่นวายเละเทะให้กับสังคม ตอกย้ำวาทกรรมที่โยนความผิดบาปทั้งหลายให้ประชาธิปไตยและเคยถูกฝังอยู่ใน DNA ของคนจำนวนมากที่ไม่เคยมีความรู้หรือสนใจการเมืองมาก่อนแต่ออกมาโค่นทักษิณ เสกสรรค์บอกว่าเรื่องทำนองนี้ไม่ใช่ความเคลื่อนไหวในระดับบุคคล หรือเผด็จการคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นของ “State Elites” (รัฐชนชั้นนำ) ทั้งหมด

เรื่องนี้คนในวงการก็เห็นเค้าลางอยู่ไม่น้อย ตั้งแต่เรื่องหมุดคณะราษฎร จนถึงเรื่องอื่นๆ ที่พูดอย่างชัดเจนไม่ได้ รวมทั้งข่าวลือเรื่องรัฐบาลแห่งชาติ ครั้งแล้วครั้งเล่า (ส่วนหนึ่งกลายเป็นความหวังของคนเสื้อแดงจำนวนไม่น้อย) แต่เราควรมองให้เห็นมิติที่ซับซ้อนของการเมืองไทยด้วย (ดังในข้อ 2) ตัวอย่างที่สำคัญคือ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้สร้างความพอใจให้กับฝ่าย Royalists ในระดับที่คาดว่าจะเป็น ยังมีหลายมาตราสำคัญที่คนเหล่านี้มองเห็นว่ายังเป็นการ “ลดทอน” พระราชอำนาจ นอกจากนี้เราได้เห็นแล้วว่า แนวคิด “รัฐบาลแห่งชาติ” ไม่เคยปรากฏเป็นจริง หรือจะพูดอีกอย่างก็ได้ว่า พังครืนลงครั้งแล้วครั้งเล่า (สิ่งที่สำคัญที่นักทฤษฎีรัฐศาสตร์ควรตระหนักคือ ครั้งสุดท้ายคนที่อาจเสนอมันขึ้นมา หรือร่วมขบวนด้วยก็คือ ทักษิณ นั่นเอง)

8. เจ้าสำนัก ขาดสำนึก
เสกสรรค์เหน็บถึงปัญญาชนที่จมปลักอยู่ในเฟสบุ๊คหรือโลก Virtual ซึ่งขาดการเคลื่อนไหวรวมตัวด้วยกันเอง หรือรวมกับชาวบ้านในโลกจริง เรื่องนี้ทำให้เสกสรรค์โดนกระหน่ำไปเยอะแล้วว่า เสกสรรค์เองต่างหากที่เลิกอุทิศตัวเข้าหา-รวมกลุ่มกับชาวบ้าน แต่นั่งอยู่บนภูหรือหอคอยงาช้าง คนที่อยู่ในโลก Social ยังทำตัวเป็นประโยชน์กว่า นอกจากนี้ยังมีคนอีกมากทั้งในโลก Social และนอก Social ที่เข้าต่อสู้ และร่วมช่วยเหลือชาวบ้านในโลกจริง ปัญหาคือ ภาววิสัยปัจจุบันต่างหากที่เอื้อให้กับการรวมตัวและการเคลื่อนไหวได้เพียงเท่านี้

ผมอยากจะเพิ่มเติมให้ด้วยว่า เราควรมองตามเนื้อผ้า อย่ามองอะไรที่หวือหวาทางใดทางหนึ่ง การมองบทบาทของโลก Social Network นั้นมองได้ทั้งสองแง่ คือ ในบางภาวการณ์ โลก Social ก็อาจมีผลบั่นทอนหรือชะลอการเคลื่อนไหวได้จริง เพราะคนจำนวนมากรู้สึกว่าได้ระบายความคับข้องส่วนหนึ่งออกไปแล้ว แต่ในบางภาวการณ์ อย่าลืมว่า โลก Social เป็นตัวการ ตัวเร่ง หรือเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพของขบวนการสีเสื้อ (ที่มีทั้งดีและไม่ดี) ที่โค่นล้มรัฐบาลในส่วนต่างๆ ของโลกมาแล้ว โดยเฉพาะในตะวันออกกลางและอาฟริกา หวังว่า เสกสรรค์จะลดความหวือหวาลงให้ได้จริงทั้งกายวาจาใจสมกับที่ตั้งใจว่าจะทบทวนตนเอง เปิดกว้าง และใช้ชีวิตเยี่ยงฤาษีในอาศรมในบั้นปลายของชีวิต เพื่อให้บังเกิดมีสายตาอันคมกล้ายิ่งๆ ขึ้น ทั้งภายนอกและภายใน....เทอญ

ด้วยความปรารถนาดีและระลึกถึงครับ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง: ฺฺBBC Thai เสกสรรค์ ผ่าแผนสถาปนา “รัฐชนชั้นนำ” www.bbc.com/thai/thailand-40324610

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

'ฟอร์ด เส้นทางสีแดง'-คณะ ร้องผู้นำอาเซียนกรณีไทยโกงเลือกตั้ง นักกิจกรรมถูกทำร้าย

$
0
0

อนุรักษ์ เจนตวนิชย์ หรือ ฟอร์ด เส้นทางสีแดง พร้อมคณะ เข้ายื่นหนังสือถึง กต. ฝากต่อให้ผู้นำชาติอาเซียนเรื่องการโกงเลือกตั้งและการทำร้ายนักกิจกรรมในไทย เดิมทีจะชุมนุมแถวที่ประชุมอาเซียนซัมมิต แต่โดนพาเข้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติกว่า 1 ชั่วโมง ย้ำ ให้หยุดคุกคามการแสดงออกใต้กรอบกฎหมาย หาตัวผู้ร้ายมาดำเนินคดีให้ได้ 

ฟอร์ดและคณะแสดงข้อความเรื่องการโกงเลือกตั้งและนักกิจกรรมถูกทำร้ายหลังเข้าพบผู้ช่วยปลัดกระทรวงการต่างประเทศ

22 มิ.ย. 2562 ราว 12.20 น. ที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) อนุรักษ์ เจนตวนิชย์ หรือ 'ฟอร์ด เส้นทางสีแดง' นักกิจกรรมด้านการเมืองและคณะอีกราวสิบคน เข้าพบฉัตรชัย วิริยะเวชกุล ผู้ช่วยปลัด กต. เพื่อยื่นหนังสือเรื่องการทำร้ายนักกิจกรรมและปัญหาการเลือกตั้งในประเทศไทย เป็นจดหมายเปิดผนึกถึงผู้นำชาติสมาชิกอาเซียน ที่มาร่วมการประชุมซัมมิตในวันที่ 20-23 มิ.ย. นี้

เดิม ฟอร์ดและคณะ มีแผนไปชุมนุมที่สี่แยกเพลินจิต ซึ่งเป็นบริเวณที่ประชุมซัมมิต ฟอร์ดกล่าวว่าได้ขอินุญาตชุมนุมไปนัง สน. ปทุมวันแล้ว แต่ได้รับการปฏิเสธในเวลา 10.20 น. ฟอร์ดถูกนำตัวไปยังกองบัญชาการสันติบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติและอยู่ในนั้นเป็นเวลาราวหนึ่งชั่วโมง โดยผู้สื่อข่าวไม่สามารถติดต่อได้ และไม่ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ สตช. ว่ามีการนำตัวฟอร์ดเข้าไป 

หลังจากนั้นฟอร์ดได้โพสท์ในเฟสบุ๊คว่ากำลังเดินทางไปยัง กต. เพื่อยื่นหนังสือ โดยเดินทางไปพร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจ และคณะที่จะมาร่วมชุมนุมก็ปรากฏตัวที่ กต. โดยนั่งรถตู้ของตำรวจมาเช่นกัน ฟอร์ดยืนยันว่าไม่ได้ถูกกระทำความรุนแรงขณะอยู่ในกองบัญชาการสันติบาล

ฟอร์ดนำคณะแถลงข่าวว่า มีสองเรื่องที่อยากให้ผู้นำชาติอาเซียนรับรู้ หนึ่ง การเลือกตั้งในไทยครั้งที่ผ่านมานั้นไม่บริสุทธิ์ ไม่ยุติธรรม มีการโกงทุกขั้นตอน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาไม่ได้เป็นนายกฯ ที่ประชาชนเลือกมา เพราะเสียงส่วนมากเลือกพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยหากแต่ได้รับการสนับสนุนจาก ส.ว. ที่ตั้งมาเอง

สอง ไทยมีการปิดปาก คุกคามประชาชนหลายครั้งและยังไม่เคยจับตัวคนร้ายได้ อย่างตนและเพื่อนที่มาวันนี้นั้น หนึ่งวันหนึ่งคืนที่ผ่านมาก็ถูกตำรวจโทร.ตาม ไปหา ไปเฝ้าถึงบ้าน จึงอยากขอให้ทางการจับตัวคนร้ายให้ได้และไม่ให้มีการคุกคามนักกิจกรรมอีก

ฟอร์ดเป็นหนึ่งในนักกิจกรรมที่ถูกทำร้ายร่างกายจนถึงขั้นบาดเจ็บถึงสองครั้งในช่วงปี 2562 นี้

ข่มขู่ คุกคาม ทำร้ายร่างกายนักกิจกรรม รัฐเมินกวดขันติดตามคดี

ฟอร์ดตอบผู้สื่อข่าวว่าไม่พอใจกับการมายื่นหนังสือที่ กต. เพราะเดิมตั้งใจจะไปแสดงสัญลักษณ์ที่บริเวณแยกเพลินจิต ในเวลาเช่นนี้ ประเทศที่เป็นประชาธิปไตย เช่นสหรัฐฯ จะมีการจัดพื้นที่ให้ประชาชนที่จะชุมนุมออกมาใช้สิทธิ เสรีภาพการแสดงออก แต่ในไทยนั้นไม่ใช่

ด้านฉัตรชัยกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า เอกสารหนังสือที่อนุรักษ์ยื่นมาถึงผู้นำประเทศนั้นจะดำเนินการส่งให้กับกรมอาเซียนประสานงานต่อไป

“ผมมองว่าประเทศที่มีการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย เขาจะอนุญาตให้ประชาชนแสดงความเห็นทางการเมือง ภายใต้กรอบกฎหมาย อเมริกาที่มีประชาธิปไตยก้าวหน้า เขาก็จะมีการจัดพื้นที่ให้กับผู้ชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหน มีความคิดทางการเมืองแบบไหน นี่คือเสรีภาพในการแสดงความเห็น เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย” อนุรักษ์กล่าวระหว่างแถลงข่าว

“แต่ในประเทศไทย ไม่ว่าเราจะพยายามบอกว่ามีประชาธิปไตย แต่สื่อก็เห็นแล้วว่าพวกเราถูกปิดกั้นในการแสดงความคิดเห็น อยากจะไปประชุม ประท้วง ปิดสภาเหรอครับ คุยกันด้วยเหตุด้วยผลไม่ได ต้องให้ผู้ชุมนุมขออนุญาตทุกครั้ง ไม่เป็นไร ส่งคนไปตื้บมันเลย ตีหัวมันเลย เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า”

“วิธีนี้สร้างความเสื่อมเสียให้กับประเทศชาติมาก เจ็บหัวไม่เท่าไหร่ แต่ประเทศเสียหายนี่ใครรับผิดชอบ แผลแตกเย็บแปดเข็ม เดือนเดียวก็หาย แต่ภาพลักษณ์นักกิจกรรมที่ประชาชนถูกทำร้ายร่างกายแล้วใครรับผิดชอบ เผด็จการรับผิดชอบไหม อีกไม่นานคุณก็ตายไป ลูกหลานผม คนรุ่นหลังต้องรับผิดชอบ นักศึกษาต้องรับผิดชอบ” อนุรักษ์กล่าว

“เราต้องการแค่สิทธิของประชาชนที่จะพูด แสดงความเห็นภายใต้กรอบของกฎหมายเรายินดีที่จะให้ความร่วมมือ เราต้องการเรียกร้องเพียงเท่านี้ เรียกร้องความปลอดภัย”

จดหมายเปิดผนึกถึงผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน 
An open Letter for leaders of Members of ASEAN Countries

เรียน ท่านผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน 
To the Honorable Leaders of the Countries of ASEAN :

ประชาชนชาวไทยขอต้อนรับทุกท่านในการร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 34 กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 20-23 มิถุนายน 2562 ด้วยความยินดียิ่ง ปีนี้เป็นโอกาสที่ประเทศไทยได้รับโอกาสเป็นเจ้าภาพ และเป็นปีที่ผู้นำของประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นประธานอาเซียน

With great pleasure, the people of Thailand would like to welcome you to join together in the 34th ASEAN Summit, in Bangkok, July 20-23, 2019. This is the year that Thailand has the opportunity to be the host and the year that that the leader of Thailand has the honor to be President of ASEAN.

แต่ด้วยความเคารพในการปกครองของสมาชิกทุกประเทศในอาเซียน บุคคลที่ทำหน้าที่เป็นประธานในอาเซียนที่ให้การรับรองทุกท่านในวันนี้มิได้มาจากการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์และยุติธรรม การเลือกตั้งของไทยเมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมาได้รับการกล่าวถึงจากผู้เชี่ยวชาญทางการเมืองในต่างประเทศว่าเป็นการเลือกตั้งที่สกปรกที่สุดในประวัติศาสตร์ของไทย มีการทุจริตในทุกระดับของการเลือกตั้งโดยไม่คำนึงถึงวิธี องค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องเช่น คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ให้ความช่วยเหลือพรรคพลังประชารัฐที่คสช.ให้การสนับสนุนชนะการเลือกตั้งโดยไม่คำนึงถึงวิธีการ และแม้จะมีการทุจริตการเลือกตั้งมากเพียงใดพรรคพลังประชารัฐก็มิอาจชนะเลือกตั้ง พวกเขาพ่ายแพ้ให้กับพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย และพรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้งสมควรที่จะได้รับโอกาสในการจัดตั้งรัฐบาล แต่องค์กรอิสระก็ได้บิดเบือนผลการเลือกตั้งโดยการเจตนาจงใจคำนวณคะแนนเลือกตั้งที่ผิดพลาดเพื่อแจกสส.ปาร์ตี้ลิสต์ให้กับพรรคการเมืองขนาดเล็กจำนวน 11 พรรคเพื่อให้พรรคพลังประชารัฐได้รับเสียงสนับสนุนที่เกินกึ่งหนึ่งไปเพียงเล็กน้อยในการจัดตั้งรัฐบาลพรรคพลังประชารัฐเพื่อสืบทอดอำนาจเผด็จการทหาร และผู้ที่โหวทเลือกพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรีก็มิได้มาจากตัวแทนของประชาชนหากแต่เป็นบรรดาวุฒิสมาชิกจำนวน 250 คนที่เป็นคนของคสช.แต่งตั้งกันเองไม่ว่าจะเป็นเพื่อน พี่ น้อง ญาติ อดีตผู้ใต้บังคับบัญชาของเหล่าทหารในกองทัพ ฯลฯ

With all respect to the governments of the member countries of ASEAN, the individual who serves as President of ASEAN, who welcomes everyone today, did not come from a clean and fair election. Rather, the election in Thailand on March 24th of this year, was declared by foreign political experts to be the dirtiest election in the history of Thailand. There was cheating at every stage of the election, with relevant independent organizations having no regard for proper methods. For example, the Election Commission assisted the Palang Pracharat Party, which the junta (or National Council for Peace and Order) supported to win the election, without regard for proper methods. And however huge the cheating, the Palang Pracharat Party was still unable to win the election; they lost to the pro-democracy parties. And the political parties that won the election are supposed to have the opportunity to set up a government. But the independent organization distorted the results of the election, intentionally miscalculating the election scores in order to give so-called “party list” seats in Parliament to 11 small parties. This was done so that Palang Pracharat would receive the supporting votes it needed to ensure the continued rule of the military dictatorship. And the representatives who voted for General Prayut Chan-o-cha to be Prime Minister weren’t representatives of the people. On the contrary, all 250 Senators who voted for him were appointed by the NCPO (the junta) in a casual way––so what if they were friends, relatives, former subordinates in the military, and so forth?

หลังการเลือกตั้งได้มีนักกิจกรรมทางการเมืองหลายคนออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการโกงเลือกตั้งแต่กลับถูกอันธพาลทางการเมืองทำร้ายซ้ำแล้วซ้ำเล่า นักกิจกรรมเช่นคุณเอกชัย หงส์กังวานถูกทำร้ายร่างกาย 9 ครั้ง เผารถยนต์ 2 ครั้ง คุณอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ ถูกทำร้ายร่างกายในบ้านพักยามวิกาล และถูกรุมทำร้ายจากชายฉกรรจ์ 6 คนหน้าป้อมตำรวจในยามเช้าวันที่จัดกิจกรรมประท้วงคัดค้านการเปิดประชุมสภา ทั้งสองคนเป็นแกนนำกลุ่มกิจกรรมของประชาชนที่ได้รณรงค์เลือกตั้งอย่างหนักตลอด 9 เดือนที่ผ่านมา คุณสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ผู้นำนักศึกษาที่จัดกิจกรรมคัดค้านการเลือกนายกรัฐมนตรีถูกรุมทำร้ายร่างกายในย่านชุมชนหลังจากเสร็จจากการทำกิจกรรม ฯลฯ เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นโดยน้ำมือของเผด็จการที่อยู่เบื้องหลัง และเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่เคยจับกุมคนร้ายได้แม้แต่ครั้งเดียว

After the election, there were many activists who came out campaigning against election cheating. But they were physically assaulted by political thugs again and again–-activists like Mr. Ekachai Hongkangwan, who was physically assaulted nine times (and his car was burned two times), Mr Anurak Jeantawanich, who was assaulted one time in his home at night, and another time ambushed and assaulted by six men in front of a police booth (small police station) on a morning that he had planned to protest the opening of Parliament. Both were leaders of a group of activists that had been strenuously calling for elections throughout the past 9 months. Mr. Sirawith Seritiwat, a student leader demonstrating against the election of General Prayut Chan-o-cha as the Prime Minister, was ambushed and assaulted by several men after finishing the protest, etc. These incidents happened at the hands of a dictatorship; they are behind it. And police officers haven’t caught a culprit even once.

เผด็จการทหารได้ทำทุกวิถีทางในการปิดปากนักกิจกรรมซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนมิให้พูดความจริงให้สังคมได้รับรู้ พวกเขาได้กรอกหูซ้ำแล้วซ้ำเล่ากับประชาชนในประเทศนี้ว่าการเลือกตั้งเป็นไปอย่างถูกต้อง และพรรคพลังประชารัฐที่คสช.ให้การสนับสนุนเป็นฝ่ายชนะเลือกตั้ง พวกเขาโกหกอย่างน่าละอาย สร้างความเสื่อมเสียให้กับกองทัพ สร้างความอับอายสู่คนไทยทั้งชาติ นี่คือความจริงที่เกิดขึ้นในประเทศนี้ ประเทศที่ประชาชนต่อสู้กับเผด็จการทหารมาตลอด 5 ปีหลังการรัฐประหาร และพวกเรารอคอยที่จะประกาศชัยชนะของประชาชนอีกครั้งในการเลือกตั้งที่จะมาถึง

The military dictatorship used every method to silence the activists, who are the representatives of the people, not allowing them to speak and make society aware. They have gone on filling the ears of the people of this country with “the election was carried out correctly.” And the Palang Pracharat Party, which the junta supported to win, tells lies shamelessly, creating a bad reputation for the army and embarrassment for Thais through the country. This is the truth of what has happened in this country, a country where the people have struggled continuously against military dictatorship for the whole five years since the coup. And we continue to wait for the announcement of the victory of the people at each election we come to.

ประเทศไทยยินดีต้อนรับทุกท่าน ชาวไทยทุกท่านยินดีต้อนรับท่าน แต่จงได้โปรดรำลึกไว้ว่ารัฐบาลนี้มิใช่ตัวแทนของคนไทย และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาก็มิได้เป็นผู้นำที่ประชาชนชาวไทยเลือกมา

Thailand welcomes you, each one. Every Thai welcomes you! But please remember that this government does not represent the Thai people and that General Prayut Chan-o-cha is not a leader that the citizens have chosen.

ด้วยความเคารพอย่างสูงยิ่ง 
With greatest respect,

นาย​อนุรักษ์​ เจนต​ว​นิชย์​
Anurak Jeantawanich

ตัวแทนกลุ่มประชาชนอยากเลือกตั้ง 
(Representative of Citizens Want Elections Group )

(ที่มา: Facebook/Anurak Jeantawanich)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

'ปรีชา จันทร์โอชา' ชี้แจง 'เสรีพิศุทธ์' เรื่องลูกชายใช้ที่อยู่ในค่ายทหารทำธุรกิจ [คลิป]

$
0
0

ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย ตอนหนึ่ง พล.ต.อ.เสรพิศุทธ์ได้อภิปรายว่าเหตุใด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่สมควรเป็นนายกรัฐมนตรี โดยตอนหนึ่งพาดพิงถึงกรณียืมนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และการตั้งบริษัทโดยใช้ที่อยู่ในค่ายทหารของ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา สมาชิกวุฒิสภาและเป็นน้องชาย พล.อ.ประยุทธ์ โดยเสรีพิศุทธ์พฤติการณ์เหล่านี้อย่าว่าแต่สนับสนุนให้เป็นนายกฯ แม้แต่เป็นยามที่บ้าน เขาก็ไม่เอาเพราะกลัวคนมาด่าเต็มไปหมด

จากนั้น พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ได้ขอใช้สิทธิถูกพาดพิงกรณีการที่บุตรชายตั้งบริษัทในค่ายทหารว่า สมัยที่เป็นแม่ทัพภาค 3 พักอาศัยอยู่ในค่ายทหาร เพราะไม่มีบ้านพักอยู่ภายนอก เมื่อลูกชายตั้งบริษัทตามกฎหมายที่ระบุว่าต้องมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง เมื่อลูกชายอาศัยอยู่กับเขา จึงจำเป็นต้องใช้ที่อยู่บ้านพักในค่ายทหาร และตัวเขาไม่ได้มีส่วนสนับสนุนใดๆ

ที่มาของภาพปก: Benarnews Thailand

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ใต้โต๊ะนักข่าว EP.14 | เกาะติดชีวิตวินมอเตอร์ไซค์ "น้องเคยมาเท่าไหร่?"

$
0
0

ใต้โต๊ะนักข่าว EP.14 คุยกับพี่แกะ วินมอเตอร์ไซค์เขตห้วยขวาง ทำไมชอบถาม 'น้องเคยมาเท่าไหร่' วินชอบตีกันจริงรึเปล่า มีมาเฟียคุมท้องที่ไหม วินกับแกร็บเขม่นกันรึเปล่า จนถึงปัญหาของวิน และนโยบายที่วินอยากให้เกิด

รับฟังใต้โต๊ะนักข่าวย้อนหลัง

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

อาเซียนซัมมิท 2562: 'ประชาชนเป็นศูนย์กลาง' ฝันที่ผู้นำเป็นเจ้าของและเลือกใช้

$
0
0

ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในไทยเริ่มต้นไปแล้ว ผู้นำประเทศและคณะทำงานมีความคืบหน้าหลายเรื่องตามระเบียบ วาระ ในขณะที่ประชาชนถูกกีดกันออกไปให้ห่างสายตา ทั้งผู้ชุมนุม ชาวโรฮิงญาที่จะมายื่นหนังสือ ไปจนถึงภาคประชาสังคมที่ไม่ได้พบหน้าผู้นำตามระเบียบวาระมาแล้วสามปี ชวนดูปัญหาและความคาดหวังว่าอาเซียนที่ 'มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง' ควรจะไปในทิศทางไหน

ธงชาติสมาชิกและธงอาเซียนที่ศูนย์สื่อมวลชนที่โรงแรมแกรนด์ เซ็นเตอร์พอยต์ เพลินจิต

“ทุกประเทศรับรู้และเห็นชอบกับหัวข้อการประชุมของไทยเรื่อง ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือเน้นในเรื่องของความยั่งยืนของสังคม ทางฝ่ายนายกฯ ไทย ก็ยืนยันนโยบายที่ทุกประเทศต้องคิดก็คือการมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

เป็นหนึ่งในคำพูดของ พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในงานแถลงข่าวหลังการประชุมสุดยอดผู้นำสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนแบบเต็มคณะในช่วงค่ำของ 22 มิ.ย. 2562 ระคนไปกับประเด็นเกี่ยวกับอาเซียนสารพัดไม่ว่าจะเป็นการเรื่องการรับมือกับการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 เศรษฐกิจดิจิทัล การเพิ่มพูนขีดความสามารถของทรัพยากรมนุษย์ ทรัพยากรบุคคล ไปจนถึงการให้อาเซียนเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกในอีก 15 ปีข้างหน้า

คำว่า ‘ยั่งยืน’ ‘ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ เป็นคำที่ได้ยินบ่อยในปีที่ไทยเป็นประธานอาเซียนที่มีหัวข้อหลักคือ “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” ส่วนคำว่า ‘อาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง’ นั้นถือเป็นเป้าหมายของอาเซียนนับตั้งแต่มีกฎบัตร

ไม่ใช่เรื่องผิดที่ภูมิภาคที่มีสถิติการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนสารพัด และหลายกรณีก็ลึกลับ จะมีภาพฝันถึงสังคมระดับภูมิภาคที่ดีขึ้น แต่เส้นทางของการทำให้ภาพฝันดังกล่าวเป็นจริงยังคงเต็มไปด้วยประโยคคำถามและความท้าทายต่อคณะทำงาน

เปลี่ยนเพลินจิต-วิทยุ เป็นเขาโอลิมปัสแห่งเอเชียอาคเนย์

แนวกั้นของตำรวจบริเวณสี่แยกเพลินจิต

ถนนวิทยุที่ปกติจะมีการจราจรคับคั่ง ในวันที่ 22-23 มิ.ย. จะเงียบงันเป็นพิเศษ เนื่องจากโรงแรมดิ แอทธินี โฮเทล บนถนนวิทยุถูกใช้เป็นสถานที่สำหรับการประชุมสุดยอดผู้นำ บีบีซีไทยรายงานว่า มีการรักษาความปลอดภัยจากเจ้าหน้าที่ตำรวจถึง 10,000 นาย โดยปิดการจราจรระหว่าง ถ.วิทยุ จากแยกเพลินจิตถึง ถ.สารสินในเวลา 06.00-18.00 น.

บนทางเท้าของถนนวิทยุจะเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเดินลาดตระเวนไปมาเป็นชุดๆ หัวและท้ายถนนที่ถูกปิดมีเจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมโล่ยืนประจำการ ทำให้ถนนวิทยุเป็นพื้นที่ของการประชุมที่ปลอดภัย แม้แต่ผู้สื่อข่าวเองยังถูกจัดให้อยู่ในพื้นที่จำกัด ในโรงแรมแกรนด์ เซนเตอร์ พอยท์ เพลินจิต อีกฝั่งของถนน ห่างออกไปจากดิ แอทธินีราวๆ 100 เมตร

การเปลี่ยนถนนวิทยุเป็นโอลิมปัสทางการเมืองระหว่างประเทศ นัยหนึ่งกลับเป็นการกีดกันประชาชนออกไปจากการมีส่วนร่วมโดยสิ้นเชิง เมื่ออนุรักษ์ เจนตวนิชย์ หรือ 'ฟอร์ด เส้นทางสีแดง' นักกิจกรรมด้านการเมืองและพรรคพวกอีกราว 10 คนนัดเดินทางไปยื่นหนังสือเปิดผนึกถึงผู้นำอาเซียนที่กระทรวงการต่างประเทศในเรื่องปัญหาการโกงการเลือกตั้งและการคุกคามนักกิจกรรมในไทย แต่จะนัดสัมภาษณ์สื่อมวลชนที่สี่แยกเพลินจิตในเวลา 10.00 น.

เจ้าหน้าที่ตำรวจไปรับอนุรักษ์ที่บ้านและเดินทางออกมา แต่ท้ายที่สุดในเวลา 10.20 น. อนุรักษ์ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวไปยังกองบัญชาการสันติบาล ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เขาอยู่ในนั้นเป็นเวลาราวหนึ่งชั่วโมงโดยที่ผู้สื่อข่าวที่พากันไปติดตามข่าวไม่สามารถติดต่อได้เลย การให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่สี่แยกเพลินจิตไม่เคยเกิดขึ้น

'ฟอร์ด เส้นทางสีแดง'-คณะ ร้องผู้นำอาเซียนกรณีไทยโกงเลือกตั้ง นักกิจกรรมถูกทำร้าย

หลังจากนั้นอนุรักษ์ได้โพสท์เฟสบุ๊คว่ากำลังเดินทางไปยัง กต. เพื่อยื่นหนังสือ กิจกรรมแสดงออกทางสัญลักษณ์จึงเกิดขึ้นที่นั่นท่ามกลางเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบในจำนวนที่มากกว่าผู้จัดกิจกรรม หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งว่าจะพาอนุรักษ์และพรรคพวกไปรับประทานปิ้งย่างที่ร้านริมน้ำแห่งหนึ่ง

อนุรักษ์และพรรคพวกที่ กต. ในวันที่ 22 มิ.ย. 2562

ชะตากรรมแบบอนุรักษ์ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน เมื่อซายิด อาลัม ประธานสมาคมชาวโรฮิงญาในประเทศไทยมีแผนจะเดินทางไปยื่นแถลงการณ์เรื่องสถานการณ์และข้อเรียกร้องต่อผู้นำชาติสมาชิกอาเซียนในประเด็นชาวโรฮิงญา ณ ที่ประชุมซัมมิทและกระทรวงการต่างประเทศ แต่เขาได้รับสายโทรศัพท์ห้ามไม่ให้เคลื่อนไหวใดๆ ทั้งสิ้นเมื่อ 2-3 วันที่แล้ว ด้วยความกลัวจึงตัดสินใจไม่เดินทางไปส่งหนังสือสักที่

ซายิดเล่าอีกว่า ตลอด 5-6 เดือนที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงและเจ้าหน้าที่ตำรวจโทรศัพท์มาสอบถามหลายครั้ง บางครั้งก็ไปพบเขาที่บ้านเพื่อสอบถามว่าจะเคลื่อนไหวอะไรหรือไม่ สิ่งเดียวกันเกิดขึ้นกับเพื่อนๆ ชาวโรฮิงญาของซายิดด้วย

ผู้นำพบปะประชาสังคม: วาระประจำปีที่ไม่มีมาแล้วสามปี

การพบปะหารือ (Interface) ระหว่างผู้นำประเทศกับองค์กรระดับอาเซียนต่างๆ เป็นพิธีการที่สะท้อนถึงความพยายามจะรวบรวมเอาทุกคนเข้ามาไว้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระดับภูมิภาคนี้ ในปีนี้มีการพบปะระหว่างผู้นำชาติสมาชิกอาเซียนและกลุ่มเยาวชนอาเซียน (ASEAN Youth) สมัชชารัฐสภาอาเซียน (ASEAN Inter-Parliamentary Association หรือ AIPA) และตัวแทนจากสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจอาเซียน

ทั้งนี้ ไม่มีการพบปะกับภาคประชาสังคม เนื่องจากทางคณะทำงานของรัฐบาลชาติสมาชิกเห็นว่าไม่มีการจัดเวทีภาคประชาสังคม/ประชาชนอาเซียน (ACSC/APF) ได้ทันเวลา จึงมีความเห็นว่ายังไม่มีความพร้อมและตัวแทนประเทศเข้าพบ

ตามปกติ APF จะจัดคู่ขนานไปกับเวทีอาเซียนซัมมิท แล้วจะมีการทำแถลงการณ์และคัดเลือกตัวแทนไปยังงานพบปะระหว่างผู้นำ แต่ปีนี้คณะทำงานที่ประกอบด้วยภาคประชาสังคม ด้วยการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จำนวน 9.8 ล้านบาท ร่วมมือกับภาควิชาการทั้งมหาวิทยาลัยมหิดลและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขาดความพร้อมในการจัดงานตามกำหนดเดิม โดยเลื่อนไปจัดในเดือน ก.ย. ปีนี้แทน ทำให้ยังมีโอกาสการได้พบปะผู้นำในซัมมิทรอบที่สองในเดือน พ.ย.

เมื่อยังไม่มีการพบปะผู้นำเกิดขึ้น เท่ากับว่าอาเซียนไม่ได้พบปะกับภาคประชาสังคมตามระเบียบที่ควรจะเป็นมาแล้วถึงสามปีติดต่อกัน โดยครั้งสุดท้ายที่มีการพบปะเกิดขึ้นในปี 2558 ที่มาเลเซียเป็นเจ้าภาพ ประเทศเดียวกันนี้เป็นประเทศที่จัดเวที APF เป็นครั้งแรกในปี 2548

ในการประชุมภาคประชาสังคมของคณะจัดงานระดับภูมิภาคที่เกิดขึ้นเมื่อ 1-3 พ.ค. 2562 พบว่ามีการพูดคุยเรื่องรายละเอียดงานจำนวนมากตั้งแต่หัวข้อการประชุม วันและสถานที่จัดงานไปจนถึงจำนวนโควตาผู้เข้าร่วมงานจากแต่ละประเทศ ที่ปีนี้เล็งจำนวนผู้เข้าร่วมงานเอาไว้ถึง 1,000 คน สะท้อนว่าภายในเวลาหนึ่งเดือนก่อนซัมมิทนั้นยังเหลืออะไรที่ต้องตกลงกันอีกมาก

ภาคประชาสังคมหลายองค์กรมีความคาดหวังกับการประชุม APF ในไทยว่าจะมีพื้นที่ มีเพดานการแสดงออกถึงปัญหาและเสนอแนวทางแก้ปัญหาได้สูงกว่าปี 2561 ที่สิงคโปร์เป็นเจ้าภาพ ในเวที APF ครั้งนั้นไม่ได้รับการสนับสนุนในทางงบประมาณจากภาครัฐ แถมยังถูกจำกัดพื้นที่ให้อยู่ในสมาคมศิษย์เก่าของวิทยาลัยโปลีเทคนิคสิงคโปร์ มีประชาสังคมร่วมงานราว 200 คน ไม่มีแม้แต่ป้ายบอกทางจากสถานีรถไฟหน้าวิทยาลัย ด้วยหลายเหตุผลทำให้มีหลายองค์กรตัดสินใจคว่ำบาตร ไม่เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว

ตัวแทนจากหลายประเทศมีความเห็นว่าในเดือน มิ.ย. นั้นไม่สามารถจัดการประชุมได้ทัน หนึ่งในเหตุผลคือช่วงเดือน พ.ค. - มิ.ย. เป็นช่วงที่ชาวมุสลิมถือศีลอดและวันอีด ซึ่งตัวแทนประเทศที่มีคนนับถือศาสนาอิสลามจำนวนมากไม่พร้อมที่จะทำงานอย่างเต็มที่

ความเชื่อทางศาสนาไม่ใช่ประเด็นหลักของความไม่พร้อม หากแต่เกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้างในการเตรียมงานและภูมิทัศน์ของภาครัฐและประชาสังคมในอาเซียน ชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ผอ.มูลนิธิศักยภาพชุมชน หนึ่งในคณะเตรียมงานระดับภูมิภาคจากประเทศไทยกล่าวว่า ในฝั่งภาครัฐมีการเตรียมงานรับรองการเป็นประธานอาเซียนถึงสองปี มีการประชุมหลายระดับรวมกันถึง 120 ครั้ง ในขณะที่ภาคประชาสังคมมีงบประมาณพบปะกันได้ครั้งเดียว (1-3 พ.ค.) การพบปะ ตัดสินใจจึงทำได้บนเครือข่ายออนไลน์อย่างสไกป์ แต่เมื่อไม่ได้พบหน้า การหารือก็ลำบาก เมื่อเป็นเช่นนี้การหารือในประเด็นระดับภูมิภาคก็เป็นเรื่องยากมาก

สำหรับมติการให้มีหรือไม่ให้มีการพบปะนั้น ชลิดากล่าวว่าตัวแทนประเทศตัดสินใจบนระบบฉันทามติ และพบว่ามีไทย มาเลเซียและอินโดนีเซียที่สนับสนุนให้มีการพบปะ แต่มีสองประเทศที่ชลิดาไม่อนุญาตให้เอ่ยนาม ไม่เห็นด้วยกับการให้มีการพบปะ และอีกห้าประเทศที่เหลือไม่ได้พูดอะไร ในส่วนเหตุผลเรื่องการขาดตัวแทนนั้น ชลิดาตอบว่าคณะทำงานได้ส่งรายชื่อตัวแทนการเข้าพบปะให้กับเจ้าหน้าที่อาวุโสสำหรับคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (SOCA) แล้ว แต่ว่าไม่ได้มาจากการเลือกในเวที APF เนื่องจากจัดไม่ทัน 

ทางแก้อยู่ที่ปาก แต่อาจไม่ง่ายอย่างที่คิด

ชลิดาให้ความเห็นว่า ภาคประชาสังคมควรต้องปรับยุทธศาสตร์การร่วมงานกับตัวรัฐบาลของชาติสมาชิกเสียใหม่ เพราะภายใต้การเป็นประธานของไทยนั้นพบว่า ไทยมีทัศนคติในการร่วมงานกับประชาสังคมได้ ดังนั้นการเมืองระหว่างประชาสังคมกับรัฐ หากต้องการยกระดับเป็นการต่อรองบนโต๊ะเจรจา จะต้องมีการปรับท่าที

“เราเองอาจต้องเปลี่ยนท่าทีการพบและการเข้าไปคุยกับรัฐ ซึ่งมันไม่ใช่ไปด่าๆๆ ตลอด แต่เรื่องที่เขาไม่สนใจเรา ไม่ให้พบอะไรพวกนี้ก็ต้องพูดพองามโดยหลักการ โดยเหตุผล ซึ่งเป็นข้อเท็จจริง”

“ต้องมาคุยกันในเชิงยุทธศาสตร์ของภาคประชาชนว่า ถ้าได้แปดคน แล้วอีกสองคนมันไม่ใช่เรา เป็นของรัฐแต่งตั้งมา เราจะเจอไหม หรือจะล้ม interface ไม่เอากลไกตัวนี้ ถ้าเราล้มเราก็ถูกกันไว้อยู่ข้างนอก ก็อยู่ข้างถนนตลอดไป ไม่ได้นั่งบนโต๊ะเดียวกัน อันนี้ภาคประชาสังคมก็ต้องมาคุยกัน เป็น diplomat ของพวกเราเองว่าจะเลือกอันไหน จะเอาอะไร” ชลิดากล่าว

การแก้ปัญหาของประชาสังคมกลายเป็นสมการหลายตัวแปรเพราะแต่ละประเทศสมาชิกก็มีภาวะการเผชิญหน้าและความไว้วางใจระหว่างรัฐกับภาคประชาสังคมไม่เท่ากัน แทบทุกประเทศมีมาตรการที่รุนแรงและคุกคามต่อนักกิจกรรมและภาคประชาสังคมเป็นระยะๆ ทั้งในทางร่างกายและกฎหมาย นอกจากนั้น แต่ละรัฐยังมีวิธีการจัดการกับประชาสังคมในเชิงสถาบันไม่เหมือนกัน บางประเทศก็เปิดกว้าง ในขณะที่บางประเทศนั้น ประชาสังคมต้องจดทะเบียนกับรัฐ บางประเทศไปไกลจนถึงสร้างประชาสังคมหรือเอ็นจีโอของรัฐหรือที่เรียกกันในชื่อ ‘กองโก’ (Government-Organized Non-Governmental Organization)

ที่มา สังกัด ภาวะเผชิญหน้าที่ไม่เท่ากันสร้างเฉดของประชาสังคมที่หลากหลาย ความหลากหลายเช่นว่าจึงเป็นทั้งปัญหาและเป็นข้อท้าทายที่ทำให้การเดินหน้าของประชาสังคมในทางยุทธศาสตร์มีความอิหลักอิเหลื่อในหลายประเด็น หนึ่งตัวอย่างที่สะท้อนชัดถึงความหลากหลายเกิดขึ้นที่การประชุม APF ปี 2561 ที่ประเทศฟิลิปปินส์ ในกระบวนการร่างแถลงการณ์ซึ่งเป็นเอกสารที่ออกกันทุกปีเพื่อส่งให้ผู้นำชาติสมาชิกอาเซียน มีตัวแทนจากลาวและเวียดนามบางส่วน ไม่ต้องการให้ใส่ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชาสังคมลงไปในแถลงการณ์ ในส่วนของลาวนั้นชัดเจนกว่า คือไม่ต้องการให้แถลงการณ์มีการกล่าวถึงสมบัด สมพอน นักกิจกรรมด้านการพัฒนาชาวลาวที่ถูกลักพาตัวไปจากกลางกรุงเวียงจันทน์เมื่อปี 2555 โดยทางการลาวปฏิเสธการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปตลอดมา

เมื่อ 18 มิ.ย. 2562 ที่งานเสวนาเรื่องความเห็นและมุมมองประชาสังคมต่อความร่วมมือกับอาเซียน เดบบี้ สโตฮาร์ด จากเครือข่ายอาเซียนทางเลือกสำหรับพม่า เอ็นจีโอที่ทำงานเรื่องประชาธิปไตยในพม่า วิพากษ์วิจารณ์การกีดกันประชาชนของอาเซียน โดยยกตัวอย่างประชาชนเวียดนาม กัมพูชา และที่อื่นๆ ที่ถูกคุกคาม ทำร้ายร่างกายเมื่อพูดถึงโครงการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนในประเทศของเขา ไปจนถึงการเล่นงานคนที่แสดงความเห็นบนอินเทอร์เน็ต

“เราถามรัฐบาลของอาเซียนและเหล่าผู้นำว่า ขอให้ไปดูพจนานุกรมในความหมายของคำว่า ‘การเป็นหุ้นส่วน (partnership)’ เพราะพวกเขา (ชาติสมาชิกอาเซียน) ไม่ได้ทำตัวเป็นหุ้นส่วนกับประชาชนในภูมิภาคเลย” เดบบี้กล่าว

ในเรื่องการสร้างความไว้วางใจ รัฐอาเซียนอาจเริ่มจากการเปิดเพดานให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในทางนโยบายให้มากกว่านี้ได้โดยไม่ต้องเจอการทุบตีหรือการเล่นงานทางกฎหมาย

“อาเซียนพยายามที่จะให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่างที่อยู่ในพิมพ์เขียนอาเซียนปี 2568 แต่ว่าในความเป็นจริง ประชาสังคมหลายองค์กรกำลังเจอการปิดกั้นพื้นที่ในแต่ละประเทศ ทำให้เสียงที่ไม่พอใจเงียบงันลง อย่างไรก็ดี FORUM-ASIA คิดว่าเรื่องจำเป็นคือเราต้องสังเกตการณ์รัฐว่ารับรู้และการันตีสิทธิมนุษยชนของประชาชนในอาเซียนหรือไม่” เรเชล อารินี จูธิสตารี ผู้จัดการโปรแกรมภูมิภาคอาเซียนของ FORUM-ASIA หนึ่งในทีมอำนวยการของผู้จัดงาน APF ปีนี้ กล่าว

“เราต้องทำให้รัฐบาลรับผิดชอบ และประกันว่าพวกเขาให้ความสำคัญกับการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคของเรา”

อาเซียนมีกลไกสิทธิมนุษยชนที่เป็นของอาเซียน มีตัวแทนแต่ละประเทศนั่งเป็นตัวแทนอยู่ คือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนระหว่างรัฐบาลอาเซียน (ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights - AICHR) ปัจจุบันหลายประเทศในอาเซียนใช้เวทีดังกล่าวเป็นพื้นที่แก้ตัวการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศ และในระเบียบเรื่องอำนาจ-หน้าที่ของ AICHR ยังไม่มีอำนาจในการสืบสวนการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอาเซียน มีเพียงหน้าที่การส่งเสริม สนับสนุนประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนเท่านั้น เรเชลเองก็คาดหวังให้ AICHR ทำอะไรได้มากกว่าที่เป็นอยู่

ไม่ผิดเลยที่จะฝันถึงอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ภาคส่วนต่างๆ ในภูมิภาคนี้ต่างมีคณะทำงานภายใต้ฝันใหญ่ๆ ก้อนนี้ทั้งนั้น แม้ไม่ไกลเกินฝันแต่ก็คงยากที่จะทำให้เกิดขึ้นจริง หนึ่งคำถามบนเส้นทางฝันนี้คือ อาเซียนจะมีประชาชนเป็นศูนย์กลางได้อย่างไรถ้าประชาชนไม่มีส่วนร่วมตั้งแต่กระบวนการ

เราจะอยู่กับอาเซียนที่ไม่รู้ว่าเป็นของใครอีกนานแค่ไหน

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai
Viewing all 58377 articles
Browse latest View live