Quantcast
Channel: ประชาไท
Viewing all 58377 articles
Browse latest View live

กวีประชาไท: หมุดคณะราษฎร vs หมุดประชาชนสุขสันต์หน้าใส

$
0
0

ความสุขสันต์หน้าใสมาให้พบ     หอมตลบอบอวลยวนยาหยี

อยู่ในซ่องน่าสนุกทุกธานี     โสเภณีระรี้ระริกพลิกน้ำตา

ความสุขสันต์หน้าใสจากในจิต     หล่อนเคยคิดชีวิตด้อยน้อยวาสนา

น้ำตาเคยไหลหลั่งดั่งธารา     อยู่ไปอยู่มาชินชาแล้ง

ความสุขสันต์หน้าใสอยู่ในซ่อง     เหล่านวลน้องประคองกระจกวกวนแป้ง

ปิดรอยเศร้าเหงาหมองซ่องเปลี่ยนแปลง     ชีวิตแห่งเด็กสาวชาวบ้านนา

ประเทศที่มีสิทธิมนุษยชนให้ทนฝัน     มากมายชนวนวัน ๆ ขันอาสา

ไปทำงานให้ผ่านเห็นเป็นสินค้า     เที่ยวไปมาประชาสุขสันต์หน้าใส

 
เป็นเมืองหลวงแห่งเซ็กส์ค้าเด็กสาว     มีไทย-ลาวชาวอาเซียนวนเวียนใกล้

สาวรัสเซียก็เห็นมาพาเพลียไป     ค้ามนุษย์อยู่ตรงไหนใครก็รู้

เป็นดินแดนสุขสันต์หน้าใสไปอีกแห่ง     ภูเก็ตแย่งพัทยาท้าสมสู่

วอร์คกิ้งสตรีทกรีดยิ้มแย้มแจ่มน่าดู     สุขสันต์หน้าใสสู้ๆ อยู่ไปมา

ไปเที่ยวกรุงเทพท้าเมืองฟ้าอมร     สุโขสโมสรไปร่อนหา

เสียวสุขสันต์หน้าใสหน่อยซอยนานา     พัฒน์พงศ์อ้าซ่าคารวะ

ปักหมุดประชาชนสุขสันต์หน้าใสใหม่ให้ปฏิรูป     แถมรสจูบจากพธูผู้เสียสละ

รายได้จากการท่องเที่ยวแลกเสียวซะ     ลืมหมุดคณะราษฎรไปก่อนกาล

                                          ธุลีดาวหาง

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

กวีประชาไท: ราษฎรทั้งหลาย

$
0
0

ราษฎรทั้งหลาย
ในทุกๆความหมายทุกใบหน้า
จากอดีตยาวนานผ่านเวลา
พึงรู้ไว้เถิดว่า เขาหลอกลวง

เขาตกแต่ง แย่งชิง บางสิ่งไป
สร้างบางเรื่องขึ้นใหม่ให้ติดบ่วง
เขากำราบ ให้ซาบซึ้ง ถึงในทรวง
แล้วยังคอย ถามทวง หนี้บุญคุณ

เราเป็นเรา มานาน แต่เริ่มต้น
ในทุกๆความเป็นคน ใช่เป็นฝุ่น
ฝังร่างลงผืนดินเป็นต้นทุน
ไม่มีใครมาเจือจุนลูกหลานเรา

ประวัติศาสตร์บันทึกจากเลือดและเนื้อ
แท้ยิ่งกว่า เรื่องความเชื่อ แผ่นดินเขา
พ้นไปจากราษฎรใต้ร่มเงา
คือเป็นคนในเรื่องเล่าของเราเอง

ย่ำค่ำ

24/6/62

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

กวีประชาไท: เด็กๆ ของวันพรุ่งนี้

$
0
0

 

เด็กๆ ของวันพรุ่งนี้

อาจบางทีก็เหมือนเด็กๆ ของเมื่อวาน

หลุมหล่มที่ต้องก้าวผ่าน

ก่อรูปจากจินตนาการบางแก่ชรา

เด็กๆ ของวันนี้

ที่จะเติบใหญ่ไปข้างหน้า

บนคราบหมองของอัปลักษณ์นานา

บางครั้งช่างสะท้อนใจเกินกว่า

จะเห็นเส้นผมเผือดขาวเป็นเส้นแสงดาวใด

เด็กๆ ที่ไม่สามารถตั้งเข็มนาฬิกาได้เอง

กับเด็กๆ ที่ถูกล่ามไว้

เด็กๆ ที่ต้องมีชีวิตต่อไป

ในโลกที่ผู้ใหญ่สนุกกับการยืมนาฬิกากันฯ

โดย ศรีเปตร
๒๔ มิถุนายน

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

'ฉันบอกเธอ' บทกวีจาก วิสา คัญทัพ

$
0
0

ฉันบอกเธอ ว่าเธอ อย่าสิ้นหวัง

ขณะใจฉันพังสิ้นสลาย

ฉันหมดแรง อ่อนล้า จะท้าทาย

ขณะแสง สุดท้ายใกล้เข้ามา

ฉันอาจไม่ได้ชมได้สมหวัง

แต่เธอยังมีทางไปข้างหน้า

ขอเพียงเธอ ยืนหยัด มั่นศรัทธา

เดินยืดคอตั้งบ่า เชิดหน้าตรง

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

การบ้าน คำถาม และโจทย์หลักสูตรสันติศึกษา มจร.

$
0
0

ก่อนหน้านี้ผมเคยนำเสนอปัญหาของหลักสูตรสันติศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) มาสัปดาห์นี้ เนื่องจากมีความเห็นของนิสิตที่กำลังศึกษาในหลักสูตรดังกล่าว (ปริญญาเอก) มาถึงผม (ผ่านอีเมล์) จึงใคร่ขอนำความเห็นของนิสิตในหลักสูตรสันติศึกษาของ มจร. ในปัจจุบันมานำเสนอเพื่อไม่ให้ขาดตอน นัยหนึ่งเพื่อสื่อถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการหลักสูตรดังกล่าวอีกด้วย อีกนัยหนึ่งการจัดหลักสูตรดังกล่าว อาศัยงบประมาณผ่านกลไกของรัฐซึ่งมีประชาชนอย่างผู้เขียน เราๆ ท่านๆ เป็นผู้สนับสนุน 

อย่างไรก็ตามผู้เขียนจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเก็บชื่อนิสิตคนนี้ไว้เป็นความลับเพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนการศึกษาของเขาในสถาบันแห่งเดียวกันนี้ ผู้เขียนเองต้องขอขอบคุณ นิสิตคนเดียวกันที่กล้าเปิดเผยตนนำเสนอความเห็น เพื่อการพัฒนาสถาบันสันติศึกษา มจร.ให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

ข้อความของท่านนิสิต หลักสูตรสันติศึกษา  มจร. มีดังนี้ครับ  

ผมได้อ่านบทความ 2 เรื่องที่อ่านอาจารย์เขียน คือ

1. ตรรกะวิบัติของสถาบันสันติศึกษาแนวพุทธ (https://siamrath.co.th/n/56943 )

2. สันติศึกษาบนหอคอยชนชั้น (https://prachatai.com/journal/2018/07/77947) ผมเข้าใจความรู้สึกและรับรู้แนวคิดของอาจารย์ได้เป็นอย่างดี เพราะผมเป็นนิสิต ระดับปริญญาเอกคนหนึ่งของหลักสูตรสันติศึกษา มจร.

เหตุผลที่เขียนอีเมลมาครั้งนี้ ไม่มีวัตถุประสงค์ตอบโต้หรือติเตียนแต่อย่างใด ผมกลับเห็นด้วยทุกประการ ผมกับเพื่อน ๆ ที่อายุรุ่นราวคราวเดียวกัน (อายุ 33-37 ปี)

เห็นปัญหาอย่างที่อาจารย์เขียน พวกเราพยายามจะสร้างความเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ให้หลักสูตรอย่ายึดกับอดีตและไม่ดำเนินกิจกรรมให้สอดคล้องกับปัจจุบัน

แต่ผู้จัดการหลักสูตรเพิกเฉยและไม่กล้าจะเปลี่ยน เช่น เมื่อมีคำถามต่าง ๆ ทางวิชาการที่จะต้องถกเถียง ก็มักจะให้นิสิตปริญญาเอกนั่งสมาธิ 1-2 ชั่วโมงหรือแล้วแต่พระจะอิ่มใจ

บางครั้งนั่งตั้งแต่ต้นชั่วโมง 8.00 ถึง 10.00 น. เมื่อเข้าเนื้อหาวิชาก็แทบจะไม่ได้เข้าประเด็นการเรียน พอ 11.00 น. เป็นเวลาฉันเพล จนไม่เกิดประโยชน์ทางวิชาการเท่าที่ควรจะเป็น

ผู้เรียนส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงวัย 50 – 70 ปี มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และคนรุ่นใหม่ ๆ บ้าง ในชั้นเรียนจึงมีการปะทะกันทางความคิดระหว่างคนรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่แถมยังต้องปะทะกับแนวคิดแบบเถรวาทแบบ มจร. ทำให้การเรียนการสอนไม่ได้เป็นไปอย่างที่ผมคาดหวังเอาไว้

อาจารย์เชื่อหรือไม่ว่าผมเรียนมา 2 ปีแล้ว ยังไม่เคยมีการมอบหมายให้อ่าน Journal ใด ๆ เลยสักครั้งเดียว เมื่อมีสถานการณ์ความรุนแรงต่าง ๆ เกิดขึ้น ไม่มีการกล่าวถึงในชั้นเรียน

แม้กระทั่งช่วงหนึ่งนักวิชาการทางสันติศึกษา Prof.Johan Gultung รณรงค์เรื่องการบรรจุคำ Peace building ในพจนานุกรม Oxford ทางหลักสูตรจะไม่มีกิจกรรมอะไรที่เกี่ยวข้อง

เมื่อถามก็จะไม่มีใครทราบเรื่อง

ผมไม่อาจล่วงรู้ได้ว่า เพราะเหตุใด อาจารย์ถึงได้เขียนบทความทั้ง 2 เรื่องนี้ขึ้นมา และมีข้อมูลเชิงลึกได้อย่างไร ผมขอขอบคุณอย่างยิ่งที่บทความของอาจารย์พูดแทนคนภายใน

ปัจจุบันหลักสูตรเพิ่งมีนิสิตจบ ป.เอก ถ้าอาจารย์ได้มีโอกาสอ่านดุษฎีนิพนธ์สักเล่ม ผมเชื่อว่าอาจารย์จะเขียนได้อีกหลายบทความครับ

อย่างไรก็ตาม หากในอนาคตอาจารย์จะมีบทความที่เกี่ยวข้องกับสันติศึกษาอีก ผมยังไม่พร้อมเปิดเผยชื่อ-นามสกุล และรายละเอียดที่สามารถอ้างอิงถึงตัวผมได้เด็ดขาด

ถึงกระนั้น หากมีข้อมูลใด ๆ ที่อาจารย์ประสงค์คุยเพิ่มเติมผมยินดีให้ข้อมูล

ผมอยากให้ มจร. ทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อความเป็นจริงมากกว่าเป็นมายา ผมรู้สึกว่ากิจกรรมหลายอย่างไม่ได้ตอบโจทย์สังคม 

ผมก็หวังว่าอะไรก็จะดีขึ้นและเปลี่ยนแปลง ผมเข้ามาเรียนที่นี่เพราะผมก็พอเข้าใจระบบภายในมาบ้าง และอยากจะให้ความรู้ของ มจร. หรือทางพุทธที่ไร้การแบ่งแยกได้ช่วยสังคม เศรษฐกิจและการเมืองต่อไป

ขอบคุณสำหรับบทความที่ตรงไปตรงมา
 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ:เหลียวหลัง แลหน้าภารกิจ 2475 หนุนประชาธิปไตยไม่เท่ากับล้มเจ้า

$
0
0

ปาฐกถาพิเศษธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พูดเรื่องมรดกการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ชวนดูอดีตเมื่ออีสานตื่นตัวทางประชาธิปไตยไวเสียกว่ากรุงเทพฯ ดูมรดกคณะราษฎรทั้งการสร้างพลเมืองที่เท่ากัน พานแว่นฟ้าที่ไม่ใช่ของศักดิ์สิทธิ์บนหิ้ง และคำอธิบายถึงกระแสการล้มล้างสถาบัน วอน อย่าผูกขาดการรักสถาบันไว้ที่คนหนุนเผด็จการ คนสนับสนุนประชาธิปไตยไม่เท่ากับล้มเจ้า

ซ้ายไปขวา: ปิยบุตร แสงกนกกุล ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

24 มิ.ย. 2562 ที่ห้องประชุมวิทยาลัยปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น จ.ขอนแก่น ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ พร้อมด้วยปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค และพรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรค รวมถึง ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ร่วมกิจกรรมเสวนาหัวข้อ “24 มิถุนา วันประชาธิปไตย และการคืนอำนาจสู่ท้องถิ่น” ท่ามกลางประชาชน นักเรียน นักศึกษาจำนวนมาก เข้าร่วมจนแน่นห้องประชุม

 

ในส่วนนี้จะเป็นคำปาฐกถาของธนาธร ที่พูดถึงมรดกการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎรเมื่อปี 2475 สิ่งที่เปลี่ยนไป สิ่งที่คงเหลือ และอธิบายว่าการสนับสนุนประชาธิปไตยไม่ใช่การล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างที่มีคนป้ายสีพรรคอนาคตใหม่

87 ปีหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทุกท่านในห้องนี้คงเห็นด้วยกับผมว่า 87 ปีของพัฒนาการประชาธิปไตยในไทยยังมีปัญหาอีกเยอะแยะไปหมด เริ่มจากจำนวนของรัฐธรรมนูญ ในรอบ 22 ปีที่ผ่านมาหลังมีรัฐธรรมนูญ 2540 เรามีรัฐธรรมนูญมาแล้ว 5 ฉบับ จนถึงวันนี้ ประชาชนมีความเคลือบแคลงและสงสัยการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระต่างๆ ไปหมดไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ไว้วางใจพรรคการเมืองและนักการเมือง ไม่ไว้วางใจรัฐสภา ประชาชนหมดความหวัง หมดศรัทธากับสถาบันและองค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ การเข้ามาของเทคโนโลยีโซเชียลมีเดียทำให้เกิดความขัดแย้งที่ร้าวลึกลงไปอีก ปัจจัยเหล่านี้เข้ามาพร้อมกับข่าวปลอม ข้อมูลบิดเบือน เฮทสปีช หรือข่าวที่ทำให้สังคมแปลกแยก เกลียดชังกัน ความพอกพูนของสิ่งต่างๆ เลห่านี้ทำให้เห็นประชาธิปไตยของเรายังมีปัญหาอยู่มาก

จะเรียกไทยว่าเป็นประเทศที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตยก็คงไม่ถูกนัก ตอนนี้เองเราก็ยังคิดไม่ออกว่าเราปกครองกันด้วยระบอบอะไรกันแน่ บ้างบอกว่าเรากลับไปเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ บ้างก็บอกว่าเป็นเผด็จการครึ่งใบ บ้างบอกว่าเป็นระบอบเผด็จการที่มีการเลือกตั้ง บ้างก็บอกว่า นี่แหละคือประชาธิปไตยแบบไทยๆ บ้างก็บอกว่าเป็นเผด็จการประชาธิปไตย ตกลงจนถึงตอนนี้เรายังไม่รู้เลยว่าระบอบการปกครองที่มีอยู่คืออะไรกันแน่ แต่ทุกคนคงเห็นพ้องว่ามันไม่ใช่ประชาธิปไตยที่เราต้องการแน่ๆ

ช่วงนี้จึงเป็นช่วงที่ดีที่จะทบทวนการเดินทางของประชาธิปไตยไทยว่าเรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ทราบไหมว่าขอนแก่นมีอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญอยู่ที่สุดถนนข้าวเหนียวของวันสงกรานต์ ติดกับศาลหลักเมือง แต่หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วก็เกิดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หรือบางที่เรียกอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญแพร่หลายในหลายจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอีสาน หลายจังหวัดเกิดก่อนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ราชดำเนินเสียอีก จ.สุรินทร์ในปี 2479 จ.ร้อยเอ็ดในปี 2479 จ.มหาสารคามในปี 2477 ขณะที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ราชดำเนินกรุงเทพฯ สร้างขึ้นในปี 2482 แสดงให้เห็นถึงความตื่นตัว การเฉลิมฉลองอำนาจที่เป็นของประชาชนในอีสานหลังปี 2475 คิดว่าเป็นการชี้วัดประชาธิปไตยได้เป็นอย่างดี

แต่อนุสาวรีย์ที่เกิดขึ้นในหลาย จ.ทั่วไทย ไม่มีการทำนุบำรุงรักษา ปรับปรุง คืนสภาพ ถูกปล่อยให้ผุพัง เสื่อมโทรมไปตามกาลเวลา อย่างในบุรีรัมย์ ในปี 2557 อนุสาวรีย์ถูกทุบไป เทศบาลเมืองตัดสินใจรื้ออนุเสาวรีย์ซึ่งเป็นวงเวียนแล้วแทนที่ด้วยไฟดิจิทัล ทั้งที่อนุสาวรีย์หลายที่เป็นการระดมเงินทำกันเอง ไม่ใช่งบประมาณรัฐสะท้อนถึงการตื่นตัวทางการเมืองครั้งใหญ่ในภาคอีสาน

อีกความหมายของ 2475 คือความเป็นสมัยใหม่ ปี 2475 เป็นปีที่กลุ่มคนชั้นสูง ลูกขุนนางได้เดินทางไปศึกษาในประเทศตะวันตกซึ่งเปลี่ยนสังคมเป็นสมัยใหม่ในแบบที่มนุษย์เปลี่ยนความคิดที่เดิมอยู่ใต้ธรรมชาติไปสู่การควบคุมธรรมชาติด้วยเทคโนโลยี นับถือการใช้หลักเหตุผล ในด้านการเมืองก็เปลี่ยนอำนาจจากจารีตเป็นอำนาจจากพลเมือง เปลี่ยนฐานันดรเป็นความเท่าเทียม เปลี่ยนชีวิตที่เดิมเป็นของเจ้านาย กลายเป็นชีวิตของตัวเอง การเกษตรสู่พาณิชย์และอุตสาหกรรม

ถ้าดูปฏิมากรมหลัง 2475 ก่อนหน้านั้นจะเป็นจั่ว ชั้นสลับซ้อน มีลวดลายแสดงถึงความเป็นเจ้าขุนมูลนายและจารีตนิยม อาคารสมัยหลัง 2475 เป็นอาคารที่ตัดตรง แสดงถึงความเท่าเทียม การสร้างเมืองในแบบเรขาคณิตอย่างสากล แสดงถึงความเสมอภาคและไม่แบ่งชนชั้น การเกิดขึ้นของอนุสาวรีย์ส่วนใหญ่ปรากฏในรูปของงวงเวียนที่มาพร้อมการใช้รถใช้ถนน อีกสิ่งคือรัฐธรรมนูญบนพานแว่นฟ้าที่ไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ประชาชนจับต้องได้ รูปนั้นปรากฏในถ้วยชาม ขัน สมุดนักเรียน โอ่ง ที่เขี่ยบุหรี่ กระดุมเสื้อ

หนึ่งในความตกต่ำของประชาธิปไตยไทยคือวันชาติ ครั้งหนึ่ง ครม. ไทย ตราไว้ว่าวันชาติของประเทศคือ 24 มิ.ย. ของทุกปี ซึ่งมติ ครม. นี้ผ่านครั้งแรกในปี 2481 และบังคับใช้ 2482 เมื่อครั้งคณะราษฎรหมดอำนาจลง อำนาจฝ่ายอนุรักษ์นิยมกลับมามีบทบาทอีกครั้ง วันชาติก็ถูกยกเลิกไปด้วยมติ ครม. 2503 ประวัติศาสตร์การหายไปของการเฉลิมฉลองแสดงถึงความตกต่ำของประชาธิปไตย

ถ้าถามต่อไปว่าปรากฏการณ์เหล่านี้เริ่มขึ้นเมื่อไหร่ หลายคนอาจจะบอกว่า 2549 หรือเปล่า หลายท่านอาจจะบอกว่าเริ่มที่ 2557 หรือเปล่า แต่ในความเป็นจริง หลัง 2490 เป็นต้นมาที่คณะราษฎรปีกพลเรือนแพ้ย่อยยับ การฟื้นฟูอำนาจของประชาชนเป็นใหญ่ไม่เคยถูกสถาปนา อาจมีบางครั้งบางคราวที่มีกระแสสูงในการเรียกร้องอำนาจเป็นของประชาชน อย่างปี 2516 ซึ่งก็ถูกจบลงด้วยการปราบปรามในปี 2519 หรือในปี 2535 หรือ 2553 ที่จบลงด้วยการล้อมปราบ สิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2490 คือการลดอำนาจ ความสำคัญของคำว่าเสมอภาค สิทธิ เสรีภาพและยุติธรรม แล้วไปเพิ่มความสำคัญของคำว่าคุณธรรม สามัคคี ความดี

ในปี 2475 มาตราที่ 1 ของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ตราไว้ว่าอำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของราษฎรทั้งหลาย นี่เป็นการยืนยันหลักการพื้นฐานที่สุดของระบอบประชาธิปไตย สิ่งสำคัญก็คือเป็นหลักยืนยันของการสร้างพลเมืองไทยเป็นครั้งแรก เป็นการยืนยันความสัมพันธ์ระหว่างคนกับรัฐแบบใหม่ ก่อนหน้านี้ไม่มีพลเมืองไทย นี่ถือเป็นการสร้างความสัมพันธ์กับรัฐแบบใหม่ที่ไม่ใช่แบบขุนนางกับไพร่ ขุนนางกับไพร่ถูกกีดกันไม่ให้คบหากันโดยธรรมชาติ ชีวิตไพร่ไม่เท่ากับขุนนาง ชีวิตไพร่คือความลำบาก คือโศกนาฏกรรม 2475 คือการเปลี่ยนความสัมพันธ์แบบนี้แล้วให้ความสำคัญกับคนในประเทศนี้เสียใหม่ ไม่ใช่ไพร่ แต่เป็นพลเมืองที่เป็นเจ้าของประเทศร่วมกัน มีสิทธิเสรีภาพในการเป็นเจ้าของชีวิตตนเอง ได้รับการบริการจากภาครัฐอย่างเท่าเทียมกัน สามารถเข้าถึงยุติธรรอย่างเสมอภาค มีหน้าที่จ่ายภาษี ปกป้องรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยและมีสิทธิ อำนาจในการตรวจสอบผู้ใช้อำนาจในนามของประชาชน แต่ 87 ปีที่ผ่านมา ภารกิจนี้ยังไม่ประสบความสำเร็จ ยังมีฝ่ายหนึ่งที่ยังมีสิทธิพิเสษ มีอำนาจมากกว่าคนอื่น อยู่เหนือกระบวนการยุติธรรม ในขณะที่คนอีกกลุ่มใช้ชีวิตอย่างไร้สิทธิและแสนสาหัส

พลเมืองคือปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศ ถ้าไม่รู้คุณค่าของศักยภาพแล้วจะพัฒนาประเทศอย่างไร แต่ก็ต้องถามด้วยว่าจะพัฒนาประเทศไปทำไมถ้าชีวิตคนในประเทศไม่ดีขึ้น พลเมืองจึงเป็นทั้งเป้าหมายและทรัพยากรในการพัฒนา ในศตวรรษที่ 21 เรากำลังอยู่ในช่วงที่น่าตื่นเต้นที่สุดในประวัติศาสตร์ เทคโนโลยีพัฒนาอย่างรวดเร็ว พร้อมกับการเกิดขึ้นของปัญหาระดับโลกมากมาย เช่นปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือปัญหาที่มาพร้อมกับกระแสโลกาภิวัฒน์ที่จะใช้วิธีเดิมๆ มาแก้ปัญหาไม่ได้ ต้องใช้นวัตกรรมทางนโยบาย อุปกรณ์เข้ามาแก้ปัญหาเหล่านี้ ซึ่งมันจะเกิดได้จากความคิดสร้างสรรค์ เกิดจากสังคมที่ยอมรับความหลากหลาย ที่ได้รับอนุญาตให้คิด มีแต่ประชาธิปไตยเท่านั้นที่พลเมืองจะตระหนักถึงพลังและศักยภาพที่มีอยู่และใช้พลังนั้นมาพัฒนาสังคมที่เสมอภาคกัน สังคมที่พลเมืองสามรถใช้ชีวิตที่เปี่ยมความหมายและคุณค่าได้ และทำให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของกระแสเทคโนโลยีและโลกาภิวัฒน์

ผมอยากจะชวนพวกเราฟื้นฟู พิทักษ์สิทธิพลเมือง ประชาธิปไตย ประวัติศาสตร์ไทยและที่อื่นพิสูจน์มาแล้วว่าคำใหญ่คำโตอย่างคำว่าประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ความเสมอภาค ความเท่าเทียมไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ด้วยตัวเองถ้าประชาชนไม่ไปมัน ตัวอย่างที่ดีที่สุดคือสัปดาห์ที่ผ่านมาที่นักเรียนพยายามแสดงความเห็นผ่านพานไหว้ครู พาเหรด แต่แล้วก็ถูกคุกคาม ถูกห้าม ถูกให้ลบโพสท์ นี่คือผลของการไม่ร่วมกันปกป้องสิ่งต่างๆ เหล่านี้ หน้าที่พลเมืองในสังคมประชาธิปไตยคือต่อต้านการรัฐประหารทุกรูปแบบ รักษาซึ่งประชาธิปไตยและความเสมอภาค

นี่เป็นวันที่ผมเรียกร้องให้เห็นความสำคัญกับวันที่ 24 มิ.ย. อีกครั้ง เมื่อพูดอย่างนี้แล้วก็ต้องพูดต่อไปในเรื่องข้อกล่าวหาที่มีต่อผมและพรรคอนาคตใหม่คนอื่นว่าพรรคอนาคตใหม่มีภารกิจการสร้างประชาธิปไตย ให้อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน พอพูดแบบนี้ไปก็มีคนที่ป้ายสีเราด้วยข้อหาล้มล้างสถาบัน (พระมหากษัตริย์) ผมขอยืนยันอีกครั้งและอ้างอิงแนวคิด ศ.เกษียร เตชะพีระ ว่าการใส่ร้ายป้ายสีให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งว่าเป็นอันตรายต่อสถาบัน เป็นการผลักไสให้ฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยอยู่ตรงข้ามกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และเป็นการปกปิดเนื้อแท้ของฝ่ายที่สนับสนุนเผด็จการ ความจงรักภักดีไม่จำเป็นต้องเท่ากับการสนับสนุนเผด็จการ และการสนับสนุนประชาธิปไตยก็ไม่เท่ากับการล้มล้างสาบัน ภารกิจปี 2475 ไม่ใช่การล้มล้างสถาบัน เรายืนยันอย่างหนักแน่นว่าสถาบันพระมหากษัตริย์จะมั่นคงสถาพรในไทยได้ก็ต่อเมื่อประชาธิปไตยเข้มแข็งมากขึ้นเท่านั้น จนถึงเวลานี้เราก็ยังเชื่อว่าเรายังมีความหวัง เรายังเห็นพี่น้องประชาชนคนไทยที่ตื่นตัวทางการเมือง เห็นพี่น้องประชาชนคนไทยหันมาสนใจการเมืองมากมายมหาศาล ตัวอย่างที่ชัดที่สุดคือวันเปิดประชุมสภาหลังเลือกตั้ง 24 มี.ค. ที่ผ่านมา เราเห็นการติดตามดูไลฟ์สดประชุม ส.ส. มีคนติดตามหลายล้านคนในเวลาเดียวทั่วประเทศ เราเห็นในสถานการศึกษาต่างๆ การตื่นตัวทางกรเมืองดำเนินมาถึงจุดที่เราสนใจการเมืองที่เนื้อหาและสนใจความเป็นไปของบ้านเมือง เพราะอำนาจเป็นของพวกเรา

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

7 พรรคฝ่ายประชาธิปไตยดันแก้ไข รธน. พร้อมรับลูกภาคประชาชนเดินหน้าปลดอาวุธ คสช.

$
0
0

24 มิ.ย. 2562 ที่อาคารไทยซัมมิท ก่อนหน้าที่จะมีการประชุมร่วมกันของ 7 พรรคการเมืองฝ่ายค้าน ซึ่งในครั้งนี้พรรคอนาคตใหม่เป็นเจ้าภาพ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาตติ ในฐานะคณะกรรมการพรรคร่วมฝ่ายค้านและการมีส่วนร่วมภาคประชาชน ได้เปิดเผยก่อนการประชุมว่า ทำงานจะร่วมกันส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และผลักดันให้บ้านเมืองเดินหน้าเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง โดยพรรคร่วมฝ่ายค้านยืนยันจะทำหน้าที่การเมืองอย่างสร้างสรรค์ และอยากให้รัฐบาลนี้ทำงานอยู่ภายใต้หลักนิติธรรม

พ.ต.อ.ทวี ระบุด้วยว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เป็นรัฐธรรมนูญที่ร่างึ้นภายใต้การปกครองโดย คสช. ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ร่างมาเพื่อรับใช้ คสช. มากกว่าประชาชน หน้าที่หลักของพรรคร่วมฝ่ายค้านจึงจำเป็นต้องสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนในหลักของประชาธิปไตย และมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ในส่วนของ ส.ส. จะมีวิปทำงานควบคู่กันไป อาทิ องค์กรภาคประชาสังคมเสนอให้มีการยกเลิกคำสั่งของ คสช. 4-5 ด้าน ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการริดรอนสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน และคำสั่งที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ในส่วนของการรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ พันตำรวจเอกทวี ระบุว่า ในที่ประชุมวันนี้ก็จะมีการหยิบยกเรื่องดังกล่าวขึ้นมาหารือด้วยเช่นกัน พร้อมยืนยันว่าที่ประชุมของคณะทำงานร่วมชุดนี้ไม่มีการครอบงำการทำงานจากพรรคใดพรรคหนึ่ง แต่จะเป็นการมอบหมายบทบาทหน้าที่ให้แต่ละพรรคร่วมฝ่ายค้านได้มีส่วนร่วมกับภาคประชาชน เดินหน้าทำงานนอกสภาร่วมกับนักวิชาการในสาขาต่างๆ แก้ไขรัฐธรรมนูญ และตรวจสอบอำนาจรัฐอย่างจริงจัง

หลังจากการประชุมมีการแถลงข่าว ชัยธวัช ตุลาธน รองเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ระบุว่า วันนี้ตัวแทนทั้ง7พรรค ได้หารือแนวทางการทำงานนอกสภาฯ แบบคู่ขนาน เพื่อผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยประเด็นสำคัญยังเน้นไปด้วยเรื่องวิธีการทำงานที่ยึดโยงกับสภาเพื่อเสริมการตั้งกระทู้ปัญหาต่างๆของภาคประชาชน

อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองประธานคณะกรรมการพรรคร่วมฝ่ายค้านและการมีส่วนร่วมของประชาชน พรรคเพื่อไทยกล่าวว่า คณะทำงานได้ข้อสรุป 4 ด้านเร่งด่วนที่ต้องทำ คือ 1.การแก้ไขรัฐธรรมนูญเร่งด่วน 2.การยกเลิกประกาศคำสั่ง คสช. ริดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชน 3.ตรวจสอบธรรมาภิบาลของรัฐบาลก่อนตั้งรัฐบาลและเริ่มเป็นรัฐบาลอย่างเป็นระบบ 4.การสะท้อนปัญหาของประชาชน และสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมและการรับรู้ของประชาชน

พร้อมระบุว่า แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของทั้ง 7 พรรคตรงกันตั้งแต่ต้น ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ชี้ให้เห็นว่ามีความพยายามหนุนให้บางพรรคการเมืองเป็นรัฐบาลอย่างชัดเจน จึงต้องมีการแก้ไขและต้องไม่เป็นรัฐธรรมนูญที่คนบางกลุ่มเขียน เอื้อประโยชน์ ให้กับคนบางกลุ่ม แต่ต้องยึดโยงกับประชาชน อย่างเท่าเทียม และเอื้อประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มกระบวนการฟังเสียงประชาชนบ้างแล้ว โดยเบื้องต้นเชื่อว่า ประชาชนส่วนใหญ่อยากให้แก้รัฐธรรมนูญ หรือมากกว่านั้นอาจจะไปไปถึงการยุบสภา  ส่วนรายละเอียดการดำเนินกิจกรรมจะเป็นลักษณะใด คณะทำงานทั้ง 7 พรรคต้องหารือกันอีกครั้ง

เรียบเรียงจาก: innnews , ไทยรัฐออนไลน์

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

'สมยศ' ขอนักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยให้ความสำคัญ 24 มิ.ย. ทวงคืนหมุดและอนุสาวรีย์พิทักษ์รธน.

$
0
0

แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ชี้ความสำคัญของวันที่ 24 มิถุนา ขอนักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยให้ความสำคัญ ทวงคืนหมุดคณะราษฎรและอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญที่หายไป

24 มิ.ย.2562 เนื่องในวันครบรอบ 87 ปี การเปลี่ยนแปลงการปกครอง สมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ให้สัมภาษณ์ถึงความสำคัญของวันนี้ว่า 24 มิถุนายนเป็นวันการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งแต่เดิมกษัตริย์เป็นผู้ที่อำนาจสูงสุดแต่เพียงผู้เดียวเปลี่ยนเป็นระบอบประชาธิปไตย มีรัฐสภามีตัวแทนของประชาชนไปทำหน้าที่ ด้านนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ซึ่งถือว่า 'อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย' คำนี้จึงมีความหมายของสังคมในยุคปัจจุบันมากมันสะท้อนให้เห็นว่าอำนาจทั้งหมดอยู่ที่ราษฎรโดยผ่านกระบวนการการเลือกตั้ง ถ้าไม่มี 24 มิถุนายน 2475 ก็ไม่มีระบบรัฐสภาวันนี้ จึงอยากจะบอกบรรดาสมาชิกผู้แทนราษฎร นักการเมือง พรรคการเมืองทั้งหมาย ต้องตระหนักถึงคุณค่าของวันที่ 24 มิถุนายน

ประการที่ต่อมา เหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 ได้เปิดศักราชใหม่ของไทยในด้านเศรษฐกิจ ทำให้เกิดเศรษฐกิจเสรีนิยม เมื่อก่อนระบบกษัตริย์ผูกขาดพระคลังสินค้า การค้าระหว่างประเทศ แต่ว่า 24 มิถุนายน 2475ทำให้เรามีระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ทันสมัย ในยุคดิจิตอลปัจจุบันนี้

ด้านการศึกษาก็เปลี่ยนทำให้เกิดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผลงานของ อ.ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งได้ถ่ายทอดประชาธิปไตยผ่านมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นผู้ที่ก่อให้เกิด 14 ตุลา วันประชาธิปไตย ในวันที่ 24 มิถุนายน เคยเป็นวันสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือวันเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญ เป็นวันชาติไทยแต่ถูกยกเลิกไปเมื่อปี 2503 ในยุคเผด็จการ ฉะนั้นประเทศไทยยังไม่มีวันชาติ ประเทศอื่นมีวันชาติหมดเป็นวันที่เกิดจากการเรียกร้องเอกราช เรียกร้องประชาธิปไตย ประเทศไทยเรามีประชาธิปไตยเมื่อ 24 มิถุนายน สมควรที่จะทวงวันชาติกลับมาจะได้ภูมิใจว่าประเทศไทยเราเป็นประชาธิปไตย แต่น่าเสียดายว่ารัฐบาลหลายยุค หลายสมัยไม่เห็นคุณค่า

แม้กระทั้งทำลายหมุดราษฎรหายไปหรือทำลายอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ซึ่งจะทำให้ความทรงจำด้านประวัติศาสตร์ ด้านความภูมิใจ ด้านประชาธิปไตยหายไป อยากจะเรียกร้องในพรรคการเมืองฝั่งประชาธิปไตยในขณะนี้หันไปดูว่าเราจะทวงคืนหมุดคณะราษฎรมาอย่างไร จะทวงคืนอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญที่ถูกรื้อถอนทำลายไปอย่างไร เพื่อแสดงให้เห็นว่าเราอยู่ในยุคประชาธิปไตย วันนี้เราเรียกประชาธิปไตยไม่ได้เด็ดขาดและขอให้พรรคการเมืองที่เรียกตนเองว่าเป็นประชาธิปไตยปฏิบัติการประชาธิปไตยตรงนี้สำคัญมาก ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ทวงคืนหลักฐานทางประวัติศาสตร์ด้านประชาธิปไตยก็ไม่มีความหมาย เราก็จะได้แค่ว่าชิงอำนาจรัฐกันไม่ได้มีอะไรที่บ่งบอกประชาธิปไตยและผมก็หวังว่าคำสั่งเผด็จการจะผูกยกเลิกไปด้วย มาวันนี้ก็ถือเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะยกเลิกคำสั่งเผด็จการทั้งหมดและเข้าสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การเข้าสู่การใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน

การหายไปของหมุดคณะราษฎรและอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ

อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญหรืออนุสาวรีย์ปราบกบฏบวรเดช 2476 เป็นหนึ่งในอนุสรณ์สถานที่เกี่ยวกับคณะราษฎรและการต่อสู้เพื่อการได้มาซึ่งประชาธิปไตย ถูกย้ายออกจากวงเวียนหลักสี่หลังการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว จนถึงขณะนี้ยังไม่ทราบว่าอนุสาวรีย์ดังกล่าวถูกย้ายไปไว้ที่ใด

การย้ายอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญในคืนวันที่ 28 ธ.ค.2561 เป็นที่สนใจของสื่อมวลชนและนักกิจกรรมทางการเมือง เช่นเดียวกับเมื่อตอนที่หมุดคณะราษฎรถูกสับเปลี่ยน อีกทั้งยังมีนักกิจกรรมที่ถ่ายทอดสดการเคลื่อนย้ายอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ถูกเจ้าหน้าที่กักตัวด้วย

ขณะที่ หมุดคณะราษฎร หมุดหมายการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยโดยมี พล.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎรประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 24 มิถุนายน 2475  ซึ่งเคยฝังอยู่ในลานพระบรมรูปทรงม้า

เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2560 มีรายงานว่าหมุดคณะราษฎรได้หายไปโดยมีหมุดหน้าใสเข้ามาแทนที่ มีข้อความว่า “ขอให้ประเทศสยามจงเจริญยั่งยืนตลอดไป ประชาชนสุขสันต์หน้าใส เพื่อเป็นพลังของแผ่นดิน ความนับถือรักใคร่ในพระรัตนตรัยก็ดี ในรัฐของตนก็ดีในวงศ์ตระกูลของตนก็ดี มีจิตซื่อตรงในพระราชาของตนก็ดี ย่อมเป็นเครื่องคำให้รัฐของตนเจริญยิ่ง”

หลังจากที่หมุดคณะราษฎรหายไปก็มีนักกิจกรรมทางการเมืองไปร้องเรียนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อทวงคืนหมุด เช่น 18 เม.ย.2560 ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยได้ยื่นหนังสือต่อศูนย์รับเรื่องร้องเรียนทำเนียบรัฐบาลขอให้มีการติดตามนำหมุดเก่ากลับมาและให้ดำเนินคดีกับผู้ที่นำหมุดไป, 19 เม.ย. 2560 ทรัพย์นภาพันธ์และณัฏฐา มหัทธนา เข้าแจ้งความเหตุหมุดคณะราษฎรหายไปที่สน.ดุสิต อภิสิทธิ์ และเดินทางไปที่ศาลาว่าการกรุงเทพฯ เพื่อขอดูกล้องวงจรปิด และ 24 เม.ย.2560 เอกชัย หงส์กังวาน พยายามนำหมุดคณะราษฎรจำลองไปติดตั้งกลับคืนที่จุดเดิม เป็นต้น ทว่าก็มีไม่มีความคืบหน้าจากเจ้าหน้าที่รัฐ

(ข้อมูลการหายไปของหมุดคณะราษฎรและอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ จากประชาไท 23 มิ.ย.2562, 6 เม.ย.2561 bbc news 31 ธ.ค. 2561 และ voicetv: 29 ธ.ค. 2561)

 

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

เรื่องน่ารู้ 5 ประการ เกี่ยวกับเหตุปราบผู้ชุมนุมฮอนดูรัสครั้งล่าสุด

$
0
0

ในฮอนดูรัสมีเหตุปราบผู้ชุมนุมที่ประท้วงรัฐบาล ฮวน ออร์ลันโด เฮอร์นันเดซ ที่ถูกกล่าวหาว่าโกงการเลือกตั้งและใช้อำนาจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญจนได้เป็นประธานาธิบดีอีกสมัย ผลจากการใช้กำลังทหารปราบปรามทำให้ผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ทว่าวิกฤตการเมืองล่าสุดในฮอนดูรัสมีที่มาจากการรัฐประหารตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว มีเรื่องราวอะไรที่แวดล้อมสถานการณ์เหล่านี้ และสถานการณ์จะคลี่คลายไปในทางใด มีการนำเสนอเรื่องน่ารู้ 5 ประการไว้ในอัลจาซีรา

ธงชาติฮอนดูรัส (ที่มา: Wikipedia)

หลังจากที่ฮอนดูรัสมีการประท้วงใหญ่ต่อต้านประธานาธิบดี ฮวน ออร์ลันโด เฮอร์นันเดซ ตั้งแต่เมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ ในสัปดาห์ที่แล้วรัฐบาลฮอนดูรัสโต้ตอบด้วยการประกาศวางกำลังทหารทั่วประเทศ และมีผู้ชุมนุมบางส่วนถูกปราบปรามจนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 3 รายและบาดเจ็บอีกมากกว่า 20 ราย

การประท้วงดังกล่าวนี้เริ่มต้นมาจากการประท้วงของกลุ่มครูอาจารย์และผู้ทำงานด้านสาธารณสุขที่ประท้วงบนม้องถนนเพื่อต่อต้านการแปรรูปการศึกษาและระบบสาธารณสุขให้เป็นเอกชน อย่างไรก็ตามการประท้วงมีการยกระดับขึ้นกลายเป็นการประท้วงของประชาชนหลายภาคส่วนทั่วประเทศ และมีการเรียกร้องให้ ฮวน ออร์ลันโด เฮอร์นันเดซ ลาออก โดยมีการใช้วลี "Fuera JOH" (JOH ออกไป) ซึ่ง JOH คือชื่อย่อของเฮอร์นันเดซ

รายงานของอัลจาซีราเมื่อ 22 มิ.ย. รวบรวมสรุปเรื่องที่น่ารู้ 5 ประการเกี่ยวกับการประท้วงและการปราบปรามผู้ชุมนุมฮอนดูรัสที่เกิดขึ้นในครั้งนี้

ประการที่ 1 คือ อะไรที่เป็นรากของวิกฤตการเมืองครั้งนี้

ย้อนไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2552 กองทัพฮอนดูรัสทำการก่อรัฐประหารลักพาตัวประธานาธิบดีในยุคนั้นคือมานูเอล เซลายา และนำตัวเขาออกนอกประเทศในช่วง 7 เดือนก่อนที่เขาจะหมดวาระ เซลายาเป็นผู้แทนจากพรรคการเมืองเสรีนิยมฮอนดูรัส ถึงแม้ว่าตัวเขาจะได้รับเลือกตั้งเข้ามาด้วยฐานจากประชานิยมสายกลางแต่เขาก็เริ่มขยับตัวเองไปเป็นฝ่ายซ้ายมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่เขาผูกมิตรกับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมและรัฐบาลฝ่ายซ้ายในลาตินอเมริกา

หลังจากที่มีการรัฐประหารเกิดขึ้นก็มีการประท้วงเกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลาหลายเดือน และในช่วงปีนั้นก็มีการจัดการเลือกตั้งชึ้นแต่เป็นการเลือกตั้งที่ผู้คนส่วนใหญ่มองว่าเป็นการเลือกตั้งแบบที่ไม่ถูกต้องชอบธรรม หลังจากนั้นพรรคเนชันแนลก็ขึ้นสู่อำนาจแทนและเป็นรัฐบาลตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และเฮอร์นันเดซก็ได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีตั้งแต่ในปี 2556

ถึงแม้ว่าในรัฐธรรมนูญฮอนดูรัสจะเขียนระบุห้ามไม่ให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนเดิมกลับเข้ามาอีกครั้ง และไม่สามารถแต่งต้งกลับมาใหม่ได้ผ่านศาลหรือรัฐสภา แต่คำตัดสินของศาลสูงสุดในปี 2558 ที่มีความวกวนและชวนให้เกิดข้อถกเถียงก็กลายเป็นการเปิดทางให้กับเฮอร์นันเดซกลับเข้าสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้งในปี 2560

ในความพยายามหยุดยั้งการครองอำนาจของเฮอร์นันเดซ พรรค LIBRE ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายซ้ายที่เติบโตขึ้นมาจากการต่อต้านรัฐประหารร่วมมือกับพรรคเล็กอย่าง PINU และซัลวาดอร์ นาสรัลลา จัดตั้งสหพันธ์ต่อต้านเผด็จการขึ้น และพวกเขาก็ส่งนาสรัลลา ผู้เคยประท้วงต่อต้านการทุจริตคอร์รับชั่นเป็นตัวแทนในการเลือกตั้งปี 2560

ในการเลือกตั้งปี 2560 นาสรัลลามีคะแนนนำอยู่อย่างเห็นได้ชัดในช่วงที่ผลการเลือกตั้งขั้นต้น เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2560 แต่ในตอนนั้นเกิดเหตุขัดข้องการส่งข้อมูลผลการเลือกตั้งทำให้ต้องออฟไลน์ไปหลายชั่วโมง เมื่อกลับมาออนไลน์อีกครั้งกลับกลายเป็นว่าเฮอร์นันเดซเป็นฝ่ายนำ หลังจากนั้นก็ทำให้เกิดการประท้วงปิดถนนปะทุขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลาหลายเดือน หลังจากนั้นเฮอร์นันเดซก็ประกาศสถานการณ์พิเศษปล่อยให้ทหาร ตำรวจ และกองกำลังผสมทหารตำรวจที่ก่อตั้งโดยเฮอร์นันเดซเองออกปราบปรามผู้ชุมนุม ในตอนนั้นหน่วยงานของสหประชาชาติระบุว่ามีฝ่ายเจ้าหน้าที่สังหารผู้ชุมนุมไปมากกว่า 20 ราย ขณะที่กลุ่มสิทธิมนุษยชนในฮอนดูรัสให้ตัวเลขมากกว่านั้นคือมากกว่า 30 ราย

ทั้งนี้ องค์การรัฐอเมริกัน (OAS) ก็ระบุว่าผลการเลือกตั้งในฮอนดูรัสเชื่อถือไม่ได้และเรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง ทว่ารัฐบาลประเทศสหรัฐฯ ประกาศยอมรับว่าเฮอร์นันเดซเป็นผู้ชนะในอีกหลายสัปดาห์ต่อมา นั่นทำให้วิกฤตการเมืองคุกรุ่นอย่างต่อเนื่องตลอดมารวมถึงมีการประท้วงบ่อยครั้ง

ประการที่ 2 การกระท้วงครั้งล่าสุดเริ่มต้นขึ้นอย่างไร

นับตั้งแต่การรัฐประหารเกิดขึ้น รัฐบาลฮอนดูรัสก็ทำการแปรรูปพลังงาน, โทรคมนาคม ระบบประปาดื่มได้ ทรัพยากรธรรมชาติ และการสาธารณสุข ให้กลายเป็นเอกชนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยที่มาตรการต่างๆ เหล่านี้มาจากการชี้นำของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) 

หลังจากที่กลุ่มครูแและคนทำงานสาธารณสุขรู้เรื่องที่ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติขอองฮฮนดูรัสออกมาตรการเหล่านี้พวกเขาก็พากันเดินขบวนประท้วงในกรุงเตกูซิกัลปาและเมืองอื่นๆ ทั่วประเทศ ตั้งแต่เมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา พวกเขาจัดตั้งขบวนการที่ชื่อว่า "เวทีสำหรับการปกป้องสาธารณสุขและการศึกษาในฮอนดูรัส" เพื่อเป็นขบวนการตั้งเงื่อนไขเจรจารัฐบาลให้ยกเลิกมาตรการแปรรูป แต่ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะยอมยกเลิกการแปรรูปแล้วในที่สุด แต่มันก็สายเกินไปแล้ว ประชาชนก็ไม่เหลือศรัทธาในกระบวนการเจรจาขอองรัฐบาลอีกต่อไป และการเคลื่อนไหวก็ยกระดับกลายเป็นอย่างอื่นนอกเหนือจากการประท้วงของครูและคนทำงานสาธารณสุข

คาร์ลอส อมาดอร์ ครูและนักกิจกรรมที่ทำกิจกรรมมาเป็นเวลานานกล่าวว่า ขบวนการเคลื่อนไหวมีการขยายตัวออกไป "ประชาชนจะไม่ทนอีกต่อไปแล้ว"

ประการที่ 3 การประท้วงยกระดับขึ้นอย่างไร

นอกจากกลุ่มครูและคนทำงานสาธารณสุขแล้วการประท้วงก็ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากที่มีกลุ่มอื่นๆ เข้าร่วมได้แก่ ชุมชนชนบท ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม องค์กรชนพื้นเมือง กลุ่มพื้นที่การมีส่วนร่วมในชุมชน และอีกหลากลายภาคส่วน

ผู้ที่ให้ข้อมูลในเรื่องนี้คือ เยสสิกา ตรินิแดด ผู้ประสานงานของเครือข่ายผู้หญิงผู้คุ้มครองสิทธิมนุษยชนฮอนดูรัส เธอกล่าวว่าผู้คนบนมท้องถนนตะโกนขับไล่เฮอร์นันเดซ เมื่อเริ่มมีภาคส่วนต่างๆ เข้ามาชุมนุมปิดถนนมากขึ้นเรื่อยๆ ประชาชนก็พากันยกระดับข้อเรียกร้องขึ้นเป็นความต้องการให้เฮอร์นันเดซออกจากตำแหน่ง "ผู้คนทนไม่ไหวอีกต่อไปแล้ว พวกเขาเบื่อหน่ายกับการทุจริตคอร์รัปชันอย่างหนัก และเบื่อหน่ายกับการลอยนวลไม่ต้องรับผิดมากมาย" ตรินิแดดกล่่าว

ตรินิแดดยอมรับว่าประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องในเชิงโครงสร้าง แต่สิ่งแรกที่ควรเกิดขึ้นคือการที่เฮอร์นันเดซต้องออกจากตำแหน่ง ฝ่ายเฮอร์นันเดซพยายามเรียกร้องให้มีการเจรจากับภาคส่วนการศึกษาและสาธารณสุขหลายครั้งและมีการจัดกระบวนให้เป็นไปตามแนวทางรัฐบาล แต่ฝ่ายต่อต้านก็ปฏิเสธจะเข้าร่วมและจัดการหารือของตัวเองกับกลุ่มขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม 

ประการที่ 4 รัฐบาลปัจจุบันโต้ตอบอย่างไร

กองกำลังทหารและตำรวจไม่เพียงแค่ใช้แก็สน้ำตาเพื่อสลายการชุมนุมเท่านั้นพวกเขายังใช้กระสุนจริงยิงใส่ผู้ชุมนุมด้วย กลุ่มสิทธิมนุษยชนและสื่อในประเทศระบุว่าในช่วง 7 สัปดาห์ที่ผ่านมามีการใช้กระสุนปืนยิงใส่ผู้ชุมนุมทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายสิบราย รวมถึงมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 3 ราย

ผู้เสียชีวิตรายที่หนึ่งคือ ลูอิซ เอนริค มัลโดนาโด อายุ 29 ปี ถูกยิงที่ศีรษะเสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 มิ.ย. ที่ผ่านมาในกรุงเตกูซิกัลปา รายที่สองคืออิริค เปราลตา อายุ 38 ปี ที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตในคืนวันที่ 19 มิ.ย. รายที่สามคือ เอบลิน โนเอล โคเรีย นักเรียนนักศึกษาอายุ 17 ปี ถูกยิงเสียชีวิตในการประท้วงที่เขตปกครองลาปาซทางตะวันตกเฉียงใต้ของฮอนดูรัส

หน่วยตำรวจกองกำลังพิเศษเริ่มนัดหยุดงานตั้งแต่วันที่ 19 มิ.ย. บอกว่าพวกเขาไม่อยากปราบปรามผู้ชุมนุม หลังจากนั้นก็มีตำรวจระดับประจำการเข้าร่วมด้วย แต่ในคืนวันที่ 20 มิ.ย. ก็มีรัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงมาเจรจาข้อตกลงด้วยจนทำให้พวกเขากลับเข้าประจำการในวันที่ 21 มิ.ย. ทั้งนี้เฮอร์นันเดซก็ประกาศว่าจะให้มีการวางกำลังเจ้าหน้าที่คุ้มกันทรัพย์สินและส่งสัญญาณว่าจะปราบปรามการปิดถนนของผู้ชุมนุม หลังจากที่มีการประชุมฉุกเฉินกับหน่วยงานความมั่นคงใน่ชวงเช้าวันเดียวกันนั้น

ตรินิแดดบอกว่ามีการปราบปรามหนักมาก ผู้คนหวาดกลัว แต่ก็ไม่กลัวถึงระดับที่ทำให้หยุดชะงัก

ประการที่ 5 อะไรน่าจะเกิดขึ้นต่อไป

ฮูโก โนเอ ปิโน นักเศรษฐศาสตร์ผู้เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการคลังในสมัยรัฐบาลเซลายากล่าวว่า อำนาจที่แท้จริงในประเทศฮอนดูรัสไม่มาจากระบบอำนาจรัฐบาล 3 ฝ่ายแบบทั่วไป (นิติบัญญัติ, ตุลาการ, บริหาร)  แต่เฮอร์นันเดซอาศัยอำนาจที่แท้จริงมาจากกองทัพ, สถานทูตสหรัฐฯ และกลุ่มชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ

ปิโนบอกว่าถึงแม้การประท้วงปิดถนนจะทำให้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการส่งออก แต่ภาตส่วนเอกชนก็เสียงแตกในเรื่องการเมือง มีจำนวนมากที่เรียกร้องให้เฮอร์นันเดซลาออก แต่เฮอร์นันเดซก็มีพันธมิตรที่เข้มแข็งในหมู่ชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังไม่สัญญาณว่าสองอำนาจที่เหลือคือกองทัพกับการทูตสหรัฐฯ จะแสดงออกต่อต้านเฮอร์นันเดซแต่อย่างใด ในวันที่ 19 มิ.ย. ที่ผ่านมากองทัพสหรัฐฯ ยังทำพิธีมอบเหรียญรางวัลให้กับทูตสหรัฐฯ ไฮดี ฟูลตัน โดยที่เธอระบุในทวีตเตอร์ว่าชาวฮอนดูรัสจะแก้ไขความขัดแย้งได้ด้วยการเจรจา "อย่างสันติ"

แต่ในสภาพความเป็นจริงการเจรจาเป็นไปได้ยากมาก ความเป็นไปได้มีอยู่แค่สองอย่างคือประชาชนยังคงต้องเผชิญการปราบปรามด้วยความรุนแรงอย่างต่อเนื่องจากวิกฤตการเมืองที่คุกรุ่นมายาวนาน หรือไม่เช่นนั้นเฮอร์นันเดซก็จะถูกบีบให้ออกจากตำแหน่ง ผู้ประท้วงและนักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่าความเป็นไปได้อย่างหลังเริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ มีนักวิเคราะห์บางส่วนและหัวหน้าพรรคเสรีนิยม ลูอิซ เซลายา เรียกร้องให้มีการจัดตั้งรัฐบาลเปลี่ยนผ่านก่อนที่จะมีการเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง

เรียบเรียงจาก

Honduras protest crackdown: Five things to know, Aljazeera, 22-06-2019

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ครป. ประกาศภาระกิจขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการกระจายอำนาจ-แก้ไขรัฐธรรมนูญ 62

$
0
0

ครป. ประกาศภาระกิจ 5 ประการสำหรับ 2 ปี ขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการกระจายอำนาจในเชิงโครงสร้างตามแนวคิดจังหวัดจัดการตนเอง การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2562 การผลักดันประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและรัฐสวัสดิการ ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ นโยบายและการดำเนินการของรัฐในทุกมิติ รวมถึงองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่ไร้ประสิทธิภาพและไม่ตอบสนองต่อภารกิจ

24 มิ.ย.2562 คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) แจ้งว่า จากการประชุมสมัชชา ครป. ประจำปี 2562 ขึ้นระหว่างวันที่ 22-23 มิ.ย.ที่ผ่านมาที่ประชุมสมัชชา  มีมติเลือกให้ รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต เป็นประธาน ครป. อีก 1 สมัย และเลือก เมธา มาสขาว เป็นเลขาธิการ ครป. คนใหม่

นอกจากนี้ ครป. ยังออกแถลงการณ์ กำหนดแนวทางและเป้าหมายที่เราเชื่อว่าจะเป็นจุดคานงัดที่จะทำให้เกิดผลดังกล่าว 5 ประการสำหรับระยะเวลา 2 ปีข้างหน้าคือ การขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการกระจายอำนาจในเชิงโครงสร้างตามแนวคิดจังหวัดจัดการตนเอง  การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2562 การผลักดันประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและรัฐสวัสดิการ เพื่อขจัดปัญหาความเหลื่อมล้ำและทุนผูกขาดในประเทศ รวมทั้งตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ นโยบายและการดำเนินการของรัฐในทุกมิติ รวมถึงองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่ไร้ประสิทธิภาพและไม่ตอบสนองต่อภารกิจ

รายละเอียดแถลงการณ์มีดังนี้ :

แถลงการณ์คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) 1/2562

ตามที่คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย(ครป.) ได้จัดประชุมสมัชชา ครป. ประจำปี 2562 ขึ้นระหว่างวันที่ 22-23 มิถุนายน 2562 ณ จังหวัดกาญจนบุรี โดยมีคณะกรรมการ ครป. และเครือข่ายภาคประชาชนเข้าร่วมประชุมสมัชชาวิเคราะห์สถานการณ์และความเป็นไปทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รวมทั้งวิเคราะห์ ประเมินและทบทวนเป้าหมายและผลการดำเนินภารกิจของครป.ในช่วงเวลาที่ผ่านมา เพื่อกำหนดทิศทาง เป้าหมายและภารกิจระยะต่อไปของครป. ผลการประชุมระดมความคิดร่วมกันปรากฏข้อสรุปสำคัญหลายประการซึ่ง ครป.เห็นว่าควรสื่อสารให้สังคมได้รับรู้ร่วมกัน ครป.เห็นว่า ประเทศไทยยังคงเผชิญปัญหาใหญ่ 5 ประการดังต่อไปนี้

1. เราเห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งมีเหตุปัจจัยระดับรากฐานสำคัญมาจาก “ความเหลื่อมล้ำทางอำนาจ” ระหว่าง (1) ประชาชนกับประชาชนด้วยกันเองแต่สังกัดชนชั้นแตกต่างกัน และ (2) ระหว่างชนชั้นนำที่กุมอำนาจรัฐ และกลุ่มทุนใหญ่ที่สามารถเข้าถึงช่วงใช้หรืออาศัยประโยชน์จากอำนาจรัฐในศูนย์กลางรัฐได้ กับประชาชนทั่วไป ความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงนี้ส่งผลให้ทรัพยากรของสังคมถูกจัดสรรโดยรัฐไปเป็นประโยชน์แก่เจ้าของทุนขนาดใหญ่ในหลายพื้นที่และหลายประเด็น ก่อให้เกิดการผูกขาดทางเศรษฐกิจโดยทุนใหญ่เพียงบางกลุ่มและตัดโอกาสการแข่งขันของทุนเล็กในพื้นที่ท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศ เกิดการละเลยการรักษากติกาการแข่งขันที่เป็นธรรมในระบบเศรษฐกิจ ชุมชนและประชาชนซึ่งยากจนเป็นจำนวนมาก และไร้อำนาจในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ ถูกเบียด-บ่อนเซาะให้สูญเสียวิถีชีวิตและความมั่นคงในชีวิต เกิดการกระจายรัฐสวัสดิการที่ขาดความสมดุล–กลายเป็นการกระจายสวัสดิการตามใจชอบ ขาดความยั่งยืนและเป็นธรรม หรือถูกเบี่ยงเบนเพื่อประโยชน์ทางคะแนนเสียง เป็นต้น

2. เราเห็นปัญหาความแตกแยกที่รุนแรงทางความคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองที่ทำให้เกิดการแยกขั้ว-แบ่งฝ่ายระหว่างประชาชน แต่สังคมไทยยังขาดทั้งหลักคิด แนวทาง กลไกและผู้นำทางความคิดที่จะชี้นำให้เกิดการเชื่อมประสานเพื่อหาทางออกจากปัญหา เราเห็นว่า แม้ธรรมชาติของการเมืองจะหลีกพ้นไปจากความขัดแย้งไม่ได้ แต่ความขัดแย้งนั้นควรอยู่ในระดับที่พอประสานไปด้วยกันได้หรืออย่างน้อยมีกลไก หรือแนวทางที่จะสมานฉันท์ระหว่างประชาชน

3. ปัญหาการขาดเสถียรภาพของรัฐบาลยังเป็นปัญหาที่จะส่งผลกระทบต่อสังคมการเมืองทั้งระบบ ปัญหาการผูกขาดอำนาจของชนชั้นนำ การสร้างประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาและพรรคการเมือง รวมทั้งปัญหาเกี่ยวเนื่องอื่นๆ เราเห็นว่า แม้ปัญหานี้จะมีที่มาจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่มีมาตลอดทศวรรษ จึงมีความจำเป็นที่ต้องนำกติกาทางการเมืองที่เหมาะสมและเป็นธรรม นำกลับมาใช้และต้องทำให้เกิดขึ้นโดยเร็ว 

4. เราเห็นว่า ในภาวะความขัดแย้งของการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศระหว่างชาติมหาอำนาจซึ่งทวีความรุนแรงและซับซ้อนขึ้นโดยลำดับนั้น ได้ส่งผลให้รัฐบาลตัดสินใจรักษาดุลอำนาจไปในทางที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนคนไทยอย่างไม่อาจเหลีกเลี่ยงได้ ประเทศไทยได้กลายเป็นพื้นที่แสวงประโยชน์ของชาติมหาอำนาจทั้งในแง่การใช้เป็นตลาดที่เกินส่วน การฉวยใช้ทรัพยากรของประเทศในระดับที่น่าเป็นห่วงต่อความมั่นคงของชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เป็นต้น

5. เราเห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่ได้เป็นกติกาสูงสุดของประเทศที่จะช่วยบรรเทาหรือป้องกันปัญหาที่กล่าวมา ในขณะที่ไม่ได้ทำหน้าที่พื้นฐานในการเป็นกติกาทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยสำหรับจัดสรรอำนาจ ผลประโยชน์และสิทธิหน้าที่ที่เป็นธรรมระหว่างสมาชิกฝ่ายต่างๆ ของสังคมอย่างเพียงพอ ปัญหาการเปิดพื้นที่ให้ทหารเข้าสู่การเมือง รวมถึงการเข้าสู่อำนาจที่เหมาะสมและเป็นธรรมยังคงเป็นปัญหาในรัฐธรรมนูญ

ต่อปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น ครป. จึงมีความเห็นพ้องกันว่า การลงมือปฎิบัติร่วมกันในแนวทางที่ให้ผลเป็นการออกจากปัญหาดังกล่าวจะเป็นกระบวนการประสานความเข้าใจและสมานความแตกต่างทางความคิดและอุดมการณ์ได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกัน จะเป็นการวางรากฐานที่ถูกต้องสำหรับการก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคง ก่อให้เกิดความสุข และความสงบอย่างยั่งยืนแก่ประเทศและประชาชน ด้วยเหตุนี้ ครป. จึงได้กำหนดแนวทางและเป้าหมายที่เราเชื่อว่าจะเป็นจุดคานงัดที่จะทำให้เกิดผลดังกล่าว 5 ประการสำหรับระยะเวลา 2 ปีข้างหน้าคือ

(1) การขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการกระจายอำนาจในเชิงโครงสร้างตามแนวคิดจังหวัดจัดการตนเอง และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาประชาธิปไตยทั้งในระดับประเทศและในระดับพื้นที่ชุมชน รวมถึงการสร้างนวัตกรรมใหม่ทางการเมืองที่ประชาชนมีส่วนร่วมและมรรคผลจากนโยบายสาธารณะที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและสังคมโดยรวมอย่างเสมอภาค เท่าเทียมและเป็นธรรม

(2) การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2562 ในประเด็นที่ตอบสนองเป้าหมายการแก้ไขปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น รวมถึงการแก้ปัญหาประชาธิปไตยทางการเมืองในระบบรัฐสภาและพรรคการเมือง

(3) การรณรงค์ผลักดันประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและรัฐสวัสดิการ เพื่อขจัดปัญหาความเหลื่อมล้ำและทุนผูกขาดในประเทศไทย และทุนเสริมธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในการพัฒนาที่ยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ Sustainable Development Goals (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ

(4) การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ นโยบายและการดำเนินการของรัฐในทุกมิติ รวมถึงองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่ไร้ประสิทธิภาพและไม่ตอบสนองต่อภารกิจที่มีอยู่ ตามเป้าหมายการปฏิรูปการเมือง

(5) การเชื่อมประสานภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายและโครงการพัฒนาของรัฐ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในระดับนโยบายและกฎหมายอย่างเป็นรูปธรรม และเสริมสร้างความเข้มแข็งภาคประชาชนที่หลากหลายที่ถูกทำลายและแบ่งแยกในปัจจุบัน เพื่อเป็นการเมืองของพลเมืองที่มีคุณภาพในการพัฒนาประชาธิปไตยที่ยั่งยืนร่วมกัน

ด้วยจิตคารวะ สมานฉันท์ และเชื่อมั่นในพลังประชาชน

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)

24 มิถุนายน 2562

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

จวกประชุมอาเซียนสร้างภาพรีไซเคิล ขณะที่ภูมิภาคมีปัญหาเรื่องนำเข้าขยะพลาสติก

$
0
0

ถึงแม้ว่าประเทศไทยและพันธมิตรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะร่วมกันจัดประชุมอาเซียนซัมมิตเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาจะมีการหารือเรื่องต่อต้านขยะในทะเลและการนำเข้าขยะพลาสติก แต่การจัดงานนี้ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยนักสิ่งแวดล้อมว่า ประเทศในอาเซียนยังคงทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลหลายพันล้านกิโลกรัมต่อปี และต้องไม่ลืมว่าประเทศเหล่านี้ต่างก็เผชิญปัญหาแบกรับภาระขยะที่ประเทศโลกที่หนึ่งส่งมาให้อีกทอดหนึ่ง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 ที่โรงแรม ดิ แอทธินี ถนนวิทยุ กรุงเทพฯ เมื่อ 23 มิถุนายน 2562 (ที่มา: เว็บไซต์รัฐบาลไทย)

แชนแนลนิวส์เอเชียของสิงคโปร์ รายงานว่าในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน หรือ "อาเซียนซัมมิต" ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. ที่ผ่านมา มีการจัดหาเก้าอี้ประชุมและสมุดบันทึกที่ทำจากกระดาษรีไซเคิล แต่ประเทศไทยและประเทศพันธมิตรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ยังคงถูกวิจารณ์ว่าพยายามทำการ "สร้างภาพให้ดูรักสิ่งแวดล้อม" (greenwash) โดยมีการกล่าวหาอ้างอิงจากรายงานการอนุรักษ์มหาสมุทรปี 2560 ว่า ประเทศไทย, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, เวียดนาม และจีน ต่างก็นำพลาสติกทิ้งทะเลหลายพันล้านกิโลกรัมต่อปี

ทั้งนี้ประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศที่ส่งผู้นำเข้าร่วมการประชุมอาเซียนซัมมิตที่ไทย ต่างก็ประสบปัญหาจากการแบกรับภาระนำเข้าขยะพลาสติกจากประเทศพัฒนาแล้วมาอีกทอดหนึ่ง

สื่อแชนแนลนิวส์เอเชียรายงานว่าประเทศไทยที่เป็นเจ้าภาพพยายามขายภาพลักษณ์เรื่องความ "รักษ์โลก" ในช่วงตลอดระยะเวลาการประชุม 2 วัน มีการจัดแสดงเสื้อยืดที่ทอมาจากการรีไซเคิลพลาสติก การใช้วัสดุใส่อาหารที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ และมีการสั่งจัดทำเก้าอี้รูปทรงกล่อง 300 ที่ ซึ่งทำมาจากกระดาษรีไซเคิล ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดนี้สั่งทำมาเพื่อใช้กับการประชุมซัมมิตครั้งนี้โดยเฉพาะ

ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการองค์กรกรีนพีซ ประจำประเทศไทย วิจารณ์ถึงความไม่สมเห็นสมผล ที่จะผลิตสิ่งของใหม่ๆ เพื่อใช้ในการประชุมโดยเฉพาะ ขณะที่ในประเทศยังมีการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกต่างๆ ในซูเปอร์มาร์เก็ตและตามร้านขายของรินถนน ธารา วิจารณ์อีกว่าการใช้กระดาษรีไซเคิลก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นการอนุรักษ์ เพราะในเมื่อมีเก้าอี้ของโรงแรมอยู่แล้วทำไมพวกเขาถึงต้องสั่งทำใหม่ขึ้นมาอีก

ฝ่ายผู้จัดงานแถลงว่าเก้าอี้จากกระดาษเหล่านี้จะถูกนำมาใช้อีกครั้งในการประชุมเกี่ยวกับอาเซียนครั้งต่อไปภายในปีนี้

การประชุมอาเซียนซัมมิตในครั้งนี้ยังมีการตกลงมติร่วมกันใน "ปฏิญญากรุงเทพ" ว่าด้วยการต่อต้านขยะทางทะเลรวมถึงมลภาวะจากพลาสติก ซึ่งมีการกำหนดเป้าหมายเอาไว้ภายในปี 2568 อย่างไรก็ตามนักสิ่งแวดล้อมกล่าวว่าปฏิญญาดังกล่าวขาดการวางเป้าหมายอย่างหนักแน่นและไม่มีแผนลำดับเวลาเกี่ยวกับการลดขยะทางน้ำ รวมถึงไม่พูดถึงเรื่องปัญหาการนำเข้าขยะพลาสติกจากต่างประเทศด้วย

ประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มประสบปัญหาการนำเข้าขยะพลาสติกมากขึ้นหลังจากที่จีนซึ่งเป็นผู้นำเข้าขยะพลาสติกรายใหญ่มาโดยตลอดสั่งห้ามไม่ให้นำเข้าขยะเมื่อปีที่แล้วเพื่อพยายามจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมของตัวเอง นั่นทำให้การส่งออกขยะเบนเข็มมาทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แทน ซึ่งประเทศที่ได้รับผลกระทบคือ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

สำหรับกรณีเก้าอี้กระดาษที่ทำมาจากกล่องลังเสริมความแข็งแรงนั้นไม่ได้มีการทำให้ผู้นำอาเซียนเอาไว้นั่งเบียดเสียดกับมันไปด้วย แต่ผู้นำเหล่านี้ได้นั่งเก้าอี้หรูๆ ของโรงแรมแทน กิดากร อังคณารักษ์ ตัวแทนจากเครือซีเมนต์ไทยผู้เป็นสปอนเซอร์จัดงานในครั้งนี้บอกว่า "พวกเขาต้องการเก้าอี้ที่สบายกว่านี้"

เรียบเรียงจาก

Thai summit recycling drive mocked by environmentalists, Channel New Asia, 23-06-2019

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

รองประธานมูลนิธิปรีดีฯ ขอ รบ.ผ่าน ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกคำสั่ง/ประกาศ คสช.ที่ละเมิดต่อหลักการประชาธิปไตย

$
0
0

อนุสรณ์ ธรรมใจ ออกข้อเสนอเพื่อเปลี่ยนผ่านจากระบอบกึ่งประชาธิปไตย สู่ ระบอบประชาธิปไตยเนื่องในโอกาสครบรอบ 87 ปีอภิวัฒน์ประชาธิปไตย 24 มิ.ย. และ แนวคิดภราดรภาพนิยม: ทางออกจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจ

อนุสรณ์ ธรรมใจ รองประธานมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ (แฟ้มภาพ)

24 มิ.ย.2562 เมื่อเวลา 13.00 น. อนุสรณ์ ธรรมใจ รองประธานมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ ได้ออกข้อเสนอเพื่อเปลี่ยนผ่านจากระบอบกึ่งประชาธิปไตย สู่ ระบอบประชาธิปไตยเนื่องในโอกาสครบรอบ 87 ปีอภิวัฒน์ประชาธิปไตย 24 มิ.ย. และ แนวคิดภราดรภาพนิยม: ทางออกจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจ

โดยระบุว่า แม้นว่าประเทศไทยของเราจะเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็น ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขมาเป็นเวลาถึง 87 ปีแล้วก็ตาม แต่ประชาธิปไตยก็ยังไม่ตั้งมั่นและไม่มั่นคง  รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เป็นผลของระบอบกึ่งประชาธิปไตยกึ่งเผด็จการ ซึ่งสังคมไทยต้องร่วมกันรณรงค์ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยยึดหลักภราดรภาพนิยม ยึดแนวทางสันติวิธีและปรองดองสมานฉันท์ ผมจึงขอเสนอข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้

  1. ขอให้รัฐบาลพิจารณาผ่านพระราชบัญญัติยกเลิกคำสั่ง ประกาศ คสช ทั้งหมดที่ละเมิดต่อหลักการประชาธิปไตย ละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ขัดต่อหลักการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดีและก่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อข้าราชการทั้งหลายในช่วงที่ผ่านมา  
  2. ขอให้รัฐสภาตั้ง คณะทำงานพิจารณาคืนความเป็นธรรมให้กับประชาชนทั้งหมดที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมและถูกดำเนินคดีทางการเมืองต่างๆในช่วงรัฐบาล คสช และ พิจารณาชดเชยความเสียหายสำหรับบุคคลเหล่านี้ด้วย
  3. ขอให้ช่วยกันหยุดการสร้างวาทกรรมสร้างความเกลียดชัง หรือ Hate Speech และช่วยกันหยุดยั้งการนำเอาสถาบันพระมหากษัตริย์มาใช้ในการทำลายล้างกันทางการเมืองอันส่งผลกระทบทางลบต่อความมั่นคงและเสถียรภาพของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
  4. ประชาธิปไตย เป็นเรื่องของอารยชนที่ต้องการจะไปให้พ้นจากการตัดสินปัญหากันด้วยกำลังและความรุนแรง ใช้หลักการของเหตุและผล ใช้หลักการเสียงข้างมาก ใช้หลักการมีส่วนร่วม การเห็นคนเท่าเทียมกัน การยอมรับในความแตกต่าง การเคารพสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น และการรับผิดชอบต่อสังคมอันเป็นลักษณะของ “พลเมือง” ในระบอบประชาธิปไตยจึงไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นมาได้เองตามธรรมชาติ จะต้องมีการเรียนรู้และฝึกฝน กระทรวงศึกษาธิการต้องเอาจริงเอาจังในการทำให้เกิด Civic Education  หรือ การศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง และกระทรวงศึกษาธิการ ควรนำเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิ.ย. 2475 การก่อกำเนิดประชาธิปไตยและเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยมาให้เยาวชนและอนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาเป็นบทเรียนด้วย โดยบรรจุไว้ในหลักสูตรและชำระเนื้อหาสาระให้เป็นไปตามข้อเท็จจริง

เนื่องในโอกาสครบรอบ 87 ปีการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนี้ รองประธานมูลนิธิปรีดี กล่าวถึงเมื่อวานนี้ (23 มิ.ย. 2562) ได้มีการจัดงานเสวนาทางวิชาการ เรื่อง “แนวคิดภราดรภาพนิยม: ทางออกจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจ” จัดโดยมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ ที่สมาคมธรรมศาสตร์ ตนได้แสดงความเห็นในเวทีกิจกรรมวิชาการดังกล่าว ดังมีรายละเอียดตามที่สรุปไว้ดังนี้

“ วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตสามารถแก้ไขและบรรเทาลงด้วยแนวคิดภราดรภาพนิยมของท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ วิกฤตการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ในทางเศรษฐกิจประเทศไทยประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ในทางการเมืองมีปัญหาความไม่เป็นประชาธิปไตยซ่อนอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 แม้นเราจะมีการเลือกตั้งแล้วก็ตาม แต่เป็นการเลือกตั้งที่มีคำถามว่ามีการจัดการเลือกตั้งอย่างเสรีและเป็นธรรมหรือไม่ มีข้อสงสัยต่อวิธีการนับคะแนนในระบบบัญชีรายชื่อ  นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้รับผลกระทบจากสงครามทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ความขัดแย้งระหว่างประเทศที่นำมาสู่การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและระบบการค้าโลก การผูกขาดอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ เอารัดเอาเปรียบกันในทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศสั่นคลอนสันติภาพและความสงบสุขของมนุษยชาติ ปัญหาการผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ปัญหาการกระจายรายได้ ปัญหาการกระจุกตัวของความมั่งคั่งและทรัพย์สิน และ ความไม่เสมอภาคในการเข้าถึงปัจจัยการผลิต ความขัดแย้งทางการเมืองภายใต้ระบอบกึ่งประชาธิปไตย ความขัดแย้งระหว่างอำนาจการผูกขาดและการเปิดกว้าง ความขัดแย้งระหว่าง พลังอนุรักษ์นิยม (ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง) และ พลังฝ่ายก้าวหน้า + พลังเสรีนิยม ความขัดแย้งนำไปสู่วาทกรรมปลุกปั่นแบบสร้างความเกลียดชัง หรือ Hate Speech ตลอดจนพฤติกรรมล่าแม่มด เราต้องช่วยกันหยุดยั้งพฤติกรรมเหล่านี้ซึ่งเป็นความเสี่ยงต่อสันติสุขของสังคมไทย

ปัญหาพื้นฐานของสังคมไทย คือ ความเหลื่อมล้ำในโอกาส ช่องว่างระหว่างรายได้และการกระจุกตัวของความมั่งคั่งและทรัพย์สิน โดยสามารถนำ “แนวคิดภราดรภาพนิยม” มาปรับใช้ในปัจจุบันและอนาคตได้ เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองได้ แนวคิดภราดรภาพนิยมเองสอดคล้องกับหลักธรรมะในพุทธศาสนาจึงเป็นแนวคิดที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับสังคมไทยได้โดยไม่แปลกแยก แนวคิดนี้พยายามประสานประโยชน์มากยิ่งกว่าผลประโยชน์ของชนชั้นใดชนชั้นหนึ่ง เป็นแนวคิดที่เลือกทางสายกลาง แนวคิดภราดรภาพนิยม มองว่า มนุษย์เกิดมาต้องเป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้ต่อกัน การที่เราร่ำรวยขึ้นหรือยากจนลงย่อมเป็นผลจากกระทำของผู้อื่น หากยึดถือแนวคิดเช่นนี้ย่อมทำให้เกิดความสมานฉันท์ปรองดองกันและสามารถลดความเหลื่อมล้ำได้ 

แนวคิดภราดรภาพนิยมเชื่อถือว่า มนุษย์ต่างมีหนี้ธรรมจริยาต่อกัน จึงต้องร่วมประกันภัยต่อกันและร่วมกันในการประกอบการเศรษฐกิจ มีเราคิดถึงผู้อื่นและมีภาระที่ต้องช่วยเหลือกันและร่วมกันในการกิจกรรมต่างๆทางเศรษฐกิจ ย่อมก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกันและเป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย  แนวคิดภราดรภาพนิยมนั้นอยู่บนหลักคิดแบบสังคมนิยมที่มิได้ปฏิเสธกลไกตลาดหรือเสรีนิยมอย่างสิ้นเชิง ดังปรากฎในเค้าโครงเศรษฐกิจเขียนไว้ว่า “การปล่อยให้เอกชนต่างคนต่างทำ จะทำให้ใช้แรงงานสิ้นเปลืองกว่าการรวมกันทำ และ หากรัฐประกอบการเศรษฐกิจโดยนำเครื่องจักรกลมาใช้จะส่งผลดีไม่ส่งผลเสีย  ดังเช่น  ให้เอกชนประกอบการ ที่การนำเครื่องจักรกลนำมาใช้จะส่งผลให้คนไม่มีงานทำ หากรัฐประกอบการเอง จะสามารถสร้างงานอื่นให้กับผู้ไม่มีงานทำได้” แนวทางนี้จะสนับสนุนบทบาทของสหกรณ์และบทบาทของรัฐทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเห็นจุดอ่อนและความล้มเหลวของกลไกตลาด เค้าโครงเศรษฐกิจของ ท่านปรีดี พนมยงค์ นั้นเป็นส่วนหนึ่งของแนวความคิดประชาธิปไตยสมบูรณ์ การจะสถาปนาให้เกิดระบอบประชาธิปไตยให้เข้มแข็งมั่นคงได้  ต้องอาศัยการอภิวัฒน์ทางเศรษฐกิจ การอภิวัฒน์เฉพาะทางการเมืองไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนได้อย่างแท้จริง “เค้าโครงเศรษฐกิจสมุดปกเหลือง” จะพบว่า ตั้งอยู่บนรากฐานของความคิดแบบภราดรภาพนิยม แนวความคิดสังคมนิยมประชาธิปไตย (Democratic Socialism) ผสมผสานกับเศรษฐกิจแบบชาตินิยม บวกกับ หลักพุทธธรรมและมนุษยธรรม แนวคิดภราดรภาพนิยม เป็น ส่วนหนึ่งของโครงสร้างทางความคิด สังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยเพื่อชาติและราษฎร”        

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

‘ผสานวัฒนธรรม’ โต้ กสทช. ไม่ได้ระบุต้องลงทะเบียนซิมการ์ดพร้อมถ่ายรูป

$
0
0

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมออกแถลงการณ์กรณีกอ.รมน.ภาค4 ขอให้ผู้ใช้บริการใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ และ 4 อำเภอสงขลา ลงทะเบียนซิมด้วยระบบตรวจสอบใบหน้าและอัตลักษณ์ ชี้ ประกาศ กสทช. ไม่ระบุต้องลงทะเบียนซิมการ์ดพร้อมถ่ายรูป ตั้งข้อสงสัยผู้ให้บริการเครือข่ายรับนโยบายมาจาก กอ.รมน. หรือไม่ พร้อมขอให้ กสทช. ออกมาตรการคุ้มครองผู้ใช้กรณีการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว เสรีภาพในการสื่อสาร และการเลือกปฏิบัติที่อาจเกิดขึ้น

 


ภาพจาก สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

 

25 มิ.ย. 2562 มูลนิธิผสานวัฒนธรรมออกแถลงการณ์กรณี กอ.รมน.ภาค4 ขอให้ผู้ใช้บริการใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ และ 4 อำเภอสงขลา ลงทะเบียนซิมด้วยระบบตรวจสอบใบหน้าและอัตลักษณ์ โดยแถลงการณ์บางส่วนระบุว่า

จากที่ พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้ออกมาชี้แจงว่า คำสั่งดังกล่าวเป็นการบังคับใช้ประกาศของ กสทช. ตามประกาศราชกิจจานุเบกษาลงวันที่ 9 เม.ย 2562 โดยมีจุดประสงค์เพื่อป้องกันการขโมยตัวตนบุคคลอื่นไปทำธุรกรรมทางการเงินหรือก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ นั้น มูลนิธิผสานวัฒนธรรมตรวจสอบและพบว่า

ประกาศดังกล่าวของ กสทช. มิได้ระบุไว้แต่อย่างใดว่า ผู้ใช้บริการที่ลงทะเบียนจำเป็นต้องถ่ายภาพใบหน้าเพื่อยืนยันอัตลักษณ์ตนเอง และไม่ได้กำหนดให้ผู้ที่ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่แล้วจะต้องลงทะเบียนผู้ใช้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวบุคคลใหม่แต่อย่างใด เป็นการกำหนดให้โดยระบบดังกล่าวใช้สำหรับผู้ที่ซื้อซิมการ์ดใหม่เท่านั้น ในประกาศยังระบุว่า หากมีการจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์หรือรูปแบบอื่นใด ผู้ให้บริการต้องมีมาตรการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลเพื่อคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพในการสื่อสารของผู้ใช้บริการ

อีกประการที่เป็นข้อสงสัยคือ ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือยังขาดความโปร่งใสในการแจ้งผู้ใช้โทรศัพท์ในพื้นที่ว่า ระเบียบที่ออกใหม่นี้จะอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลแบบใดในโทรศัพท์ส่วนบุคคลบ้าง ข้อมูลเหล่านี้จะถูกเก็บไว้ที่ไหน โดยใคร มีใครสามารถเข้าถึงได้บ้าง และผู้ใช้บริการสามารถขอลบข้อมูลดังกล่าวได้หรือไม่ อีกทั้งข้อความที่ส่งมาโดยใช้ข้อมูลหมายเลขโทรศัพท์ของบริษัทดังกล่าวปรากฎว่า เป็นคำขอจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอรมน.) ในการจดทะเบียนซิมใหม่ด้วยระบบการใช้รูปถ่ายใบหน้า ทำให้ประชาชนบางส่วนเกิดความสงสัยว่า ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่รับนโยบายในการลงทะเบียนซิมการ์ดโดยการตรวจสอบใบหน้ามาจากหน่วยงานด้านความมั่นคงหรือไม่

ทั้งนี้มูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้ขอให้ กสทช. ออกมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีที่เกิดการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว เสรีภาพในการสื่อสาร และการเลือกปฏิบัติที่อาจจะเกิดขึ้น และรับรอง และทำให้ประชาชนมีความมั่นใจว่า ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ลงทะเบียนใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จะได้รับการเก็บรักษา หรือทำลาย โดยทำให้มั่นใจว่าที่ผู้ไม่มีอำนาจหน้าที่ทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชน ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้หากไม่ได้รับอนุญาตจากศาล

 

อนึ่ง จากกรณีข่าวปลายเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (หรือ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า) เชิญชวนประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยะลา ปัตตานี นราธิวาส) และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา (นาทวี จะนะ เทพา และสะบ้าย้อย) ที่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งระบบจดทะเบียนและเติมเงิน ร่วมลงทะเบียนซิมการ์ดตรวจสอบอัตลักษณ์ ผ่านระบบ 2 แชะอัตลักษณ์ เพื่อปกป้องผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือให้สามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย ป้องกันการปลอมแปลงการลงทะเบียนซิมการ์ดสวมทับสิทธิ์ โดยจะมีการตรวจสอบอัตลักษณ์ของผู้ใช้ซิมการ์ด "ก่อน" การลงทะเบียนและเปิดใช้งาน โดยสามารถไปแสดงตน พร้อมนำบัตรประจำตัวประชาชน และซิมการ์ดเพื่อลงทะเบียนใหม่ได้ ณ ศูนย์บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ให้บริการทุกระบบ ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. - 31 ต.ค.2562 ทั้งนี้หากไม่ดำเนินการตามระยะเวลาที่กำหนดจะไม่สามารถใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลขนั้น ๆ ได้

นโยบายนี้เกิดขึ้นหลังพบว่า มีการขโมยตัวตนบุคคลอื่นไปทำธุรกรรมทางการเงิน หรือใช้บัตรประชาชนคนอื่นไปซื้อซิมการ์ดหรือแจ้งซิมการ์ดหายแล้วขโมยตัวตนบุคคลอื่นไปทำธุรกรรมทางการเงินแทน นอกจากนี้ยังพบว่า มีการสั่งซิมการ์ดผ่านอินเทอร์เน็ตจากนอกพื้นที่และประเทศเพื่อนบ้านมาก่อเหตุระเบิด เช่น เหตุระเบิดรูปปั้นนางเงือกที่แหลมสมิหลา จ.สงขลา เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งผู้ต้องหาสารภาพว่าสั่งซื้อซิมจากอินเทอร์เน็ตจริง และยังพบว่าการก่อเหตุหลายครั้งผู้ก่อเหตุมักใช้ซิมการ์ดด้วยเบอร์ที่จดทะเบียนด้วยบัตรประชาชนผู้อื่น

พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ชี้แจงว่า การลงทะเบียนซิมการ์ดไม่ได้มีการจัดเก็บลายนิ้วมืออย่างที่มีความพยายามของผู้เสียผลประโยชน์ให้ข้อมูล มีเพียงการถ่ายรูปเจ้าของบัตรที่เป็นเจ้าของซิมการ์ดเท่านั้น และไม่ว่าจะเป็นประชาชนทั่วไปทหารและคนอื่นๆ จะต้องอยู่ในระเบียบเดียวกันทั้งหมดยืนยันเป็นการปกป้องสิทธิ์ของผู้บริสุทธิ์จากกลุ่มมิจฉาชีพและกลุ่มก่อเหตุที่ใช้บัตรประชาชนคนอื่นไปซื้อซิมการ์ด ไม่ได้มีเจตนาละเมิดสิทธิแต่อย่างใด

 

 

แถลงการณ์ ขอให้กสทช. ตรวจสอบและชี้แจง

เรื่องการตรวจสอบใบหน้าผู้ใช้โทรศัพท์มือถือในจังหวัดชายแดนใต้

เผยแพร่วันที่ 25 มิถุนายน 2562

เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2562  ประชาชนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ (ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา (จะนะ นาทวี สะบ้าย้อย และเทพา) ได้รับข้อความทางโทรศัพท์มือถือว่า ให้ทุกคนที่ต้องการใช้โทรศัพท์มือถือในพื้นที่ดังกล่าว ไปลงทะเบียนซิมการ์ดโดยวีธีการตรวจสอบใบหน้า (Face Recognition) เพื่อยืนยันอัตลักษณ์ ของตน ภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2562 มิเช่นนั้นจะไม่สามารถใช้โทรศัพท์มือถือของตนได้ โดยข้อความดังต่อไปนี้:

“กอ.รมน.ภาค4 ขอให้ผู้ใช้บริการใน 3จว.ชายแดนใต้+4 อำเภอสงขลา ลงทะเบียนซิมด้วยระบบตรวจสอบใบหน้า/อัตลักษณ์ ภายใน 31ต.ค.62 เช็กสถานะซิม กด*165*5*เลขบัตรปชช.# โทรออก หากไม่ดำเนินการในวันที่กำหนด จะไม่สามารถใช้บริการได้ฟังข้อมูลเพิ่มเติมกด*915653 ภาษายาวีกด*915654”

ทั้งนี้ พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้ออกมาชี้แจงว่า คำสั่งดังกล่าวเป็นการบังคับใช้ประกาศของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตามประกาศราชกิจจานุเบกษาลงวันที่ 9 เม.ย 2562 โดยมีจุดประสงค์เพื่อป้องกันการขโมยตัวตนบุคคลอื่นไปทำธุรกรรมทางการเงินหรือก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้

จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้อง มูลนิธิผสานวัฒนธรรมพบว่า:

  1. ประกาศดังกล่าวของกสทช.เรื่อง “การลงทะเบียนและการจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่” มิได้ระบุไว้แต่อย่างใดว่า ผู้ใช้บริการที่ลงทะเบียนจำเป็นต้องถ่ายภาพใบหน้าเพื่อยืนยันอัตลักษณ์ตนเอง หมวด 3 ข้อ 9 เขียนไว้อย่างชัดเจนว่า ในกรณีของบุคคลธรรมดา ผู้ใช้บริการจำเป็นต้องให้ข้อมูลเพียงแค่เลขบัตรประจำตัวประชาชนหรือหนังสือเดินทาง ชื่อและสกุล ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ วันที่เปิดใช้บริการ และชื่อและสถานที่ตั้งของจุดให้บริการ เท่านั้น
  2. ประกาศดังกล่าวของ กสทช. ไม่ได้กำหนดให้ผู้ที่ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่แล้วจะต้องลงทะเบียนผู้ใช้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวบุคคลใหม่ แต่อย่างใด เป็นการกำหนดให้โดยระบบดังกล่าวใช้สำหรับผู้ที่ซื้อซิมการ์ดใหม่เท่านั้น แต่ในการนำประกาศดังกล่าวไปใช้ในสาม จังหวัดชายแดนใต้และสี่อำเภอในจังหวัดสงขลากลับบังคับให้ทุกคนทั้งผู้ลงทะเบียนใช้บริการเก่าและใหม่ ต้องนำซิมการ์ดไปลงทะเบียนใหม่โดยการตรวจสอบใบหน้า (Face Recognition) เท่านั้น มิเช่นนั้นจะไม่สามารถใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ได้
  3. ข้อ 13 ของประกาศระบุว่า หากมีการจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์หรือรูปแบบอื่นใด ผู้ให้บริการต้องมีมาตรการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลเพื่อคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพในการสื่อสารของผู้ใช้บริการ อย่างไรก็ดี ยังไม่มีผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือใดออกมาชี้แจงมาตรการดังกล่าวอย่างชัดเจน
  4. ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือยังขาดความโปร่งใสในการแจ้งผู้ใช้โทรศัพท์ในพื้นที่ว่า ระเบียบที่ออกใหม่นี้จะอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลแบบใดในโทรศัพท์ส่วนบุคคลบ้าง ข้อมูลเหล่านี้จะถูกเก็บไว้ที่ไหน โดยใคร มีใครสามารถเข้าถึงได้บ้าง และผู้ใช้บริการสามารถขอลบข้อมูลดังกล่าวได้หรือไม่ อีกทั้งข้อความที่ส่งมาโดยใช้ข้อมูลหมายเลขโทรศัพท์ของบริษัทดังกล่าวปรากฎว่า เป็นคำขอจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอรมน.) ในการจดทะเบียนซิมใหม่ด้วยระบบการใช้รูปถ่ายใบหน้า ทำให้ประชาชนบางส่วนเกิดความสงสัยว่า ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่รับนโยบายในการลงทะเบียนซิมการ์ดโดยการตรวจสอบใบหน้ามาจากหน่วยงานด้านความมั่นคงหรือไม่

ข้อเสนอแนะ

  1. ขอให้กสทช. ตรวจสอบว่าผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ปฏิบัติอย่างถูกต้องตามประกาศดังกล่าวของกสทช.เรื่อง “การลงทะเบียนและการจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่” หรือไม่ หรือครอบงำและบงการโดยหน่วยงานรัฐบางหน่วยที่ไม่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับเรื่องนี้หรือไม่ โดยเฉพาะการปฏิบัติของผู้ให้บริการ รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีตรวจจับใบหน้าเพื่อพิสูจน์และรับรองบุคคลนั้นหมิ่นเหม่ต่อการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพในการติดต่อสื่อสารของประชาชนหรือไม่?
  2. ขอให้ กสทช. ออกมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีที่เกิดการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว เสรีภาพในการสื่อสาร และการเลือกปฏิบัติที่อาจจะเกิดขึ้น และรับรอง และทำให้ประชาชนมีความมั่นใจว่า ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ลงทะเบียนใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จะได้รับการเก็บรักษา หรือทำลาย โดยทำให้มั่นใจว่าที่ผู้ไม่มีอำนาจหน้าที่ทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชน ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้หากไม่ได้รับอนุญาตจากศาล
  3. ขอให้บริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์ทบทวนการใช้เทคโนโลยีตรวจจับใบหน้าในการพิสูจน์และรับรองบุคคลเพื่ออนุญาตให้ใช้ซิมโทรศัพท์ แม้เทคโนโลยีดังกล่าวถือเป็นนวัตกรรมที่มีประโยชน์หลายประการ แต่ก็เต็มไปด้วยความเสี่ยง ในปัจจุบัน เทคโนโลยีนี้ยังมีข้อบกพร่องอยู่หลายประการและมีงานวิจัยจำนวนมากชี้ให้เห็นว่า การนำมาใช้ในการหาข้อมูลหรือเก็บหลักฐานประกอบปฏิบัติการข่าวกรองมักนำไปสู่การคัดกรองบุคคลโดยดูจากลักษณะทางเชื้อชาติ (Racial Profiling) หากไม่ใช้อย่างระมัดระวัง อาจทำให้เกิดการจับและลงโทษคนผิด นอกจากจะนับเป็นการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติยังสร้างเงื่อนไขให้ประชาชนขาดความไว้วางใจต่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่เพิ่มขึ้นอีก

 

 

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ศาลอุทธรณ์ชัยภูมิพิพากษาคดี "ทวงคืนผืนป่า" จ.ชัยภูมิ เพิ่มเป็น 9 ราย

$
0
0

ศาลจังหวัดชัยภูมิ อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดี "ทวงคืนผืนป่า" ที่ชาวบ้านชัยภูมิพิพาทกับอุทยานแห่งชาติไทรทองอีก 3 ราย ทำให้ขณะนี้ศาลอุทธรณ์ตัดสินไปแล้ว 9 ราย โดยสั่งจำคุก 8 ราย รอลงอาญา 1 ราย และรอฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อีก 5 ราย

ชาวบ้านในคดีทวงคืนผืนป่า จ.ชัยภูมิ ระหว่างเดินทางมาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ที่ศาลจังหวัดชัยภูมิ เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 62 (ที่มา: สำนักข่าวปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน)

25 มิ.ย. 62 สำนักข่าวปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน รายงาน เวลา 10.00 น. ศาลจังหวัดชัยภูมินัดหมาย ทองปั่น ม่วงกลาง, วันชัย อาภรแก้ว และ สมร สมจิตร ฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีบุกรุกป่า โดยมีรายละเอียด ด้งนี้ 1.ศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุก ทองปั่น ม่วงกลาง 8 เดือน ให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 100,000 บาท 2. ศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุกวันชัย อาภรแก้ว 6 เดือน ให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 860,395 บาท และ 3.ศาลอุทธรณ์พิพากษาสมร สมจิตร จำคุก 1 ปี ให้รอลงอาญาไว้ 3 ปี และให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 366,663 บาท รวมทั้งให้บำเพ็ญประโยชน์เป็นเวลา 1 ปี

โดยจำเลยในคดีรวมทั้งสิ้นจาก 14 คน ศาลอุทธรณ์พิพากษาแล้วจำนวน 9 ราย สั่งจำคุก 8 ราย รอลงอาญา 1 ราย และอีก 5 ราย ศาลชัยภูมิเตรียมนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

สำหรับคดีดังกล่าว เป็นกรณีพิพาทระหว่างอุทยานแห่งชาติไทรทองกับชาวบ้านซับหวาย ต.ห้วยแย้ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ มาตั้งแต่ปี 2534-2535 ในเวลานั้น มีการอพยพชาวบ้านออกจากที่ดินทำกินตามโครงการจัดสรรที่ดินทำกินให้กับราษฏรผู้ยากไร้ (คจก.) และเมื่อรัฐได้สร้างความเดือดร้อนส่งผลกระทบมากมาย ชาวบ้านในภาคอีสานจึงรวมตัวชุมนุมลุกขึ้นสู้เรียกร้อง รัฐบาลจึงมีมติให้ยกเลิกโครงการ คจก. ชาวบ้านผู้เดือดร้อนจึงได้กลับคืนสู่ที่ดินเดิม อย่างไรก็ตาม ที่ดินเดิมถูกประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติไทรทอง ตั้งแต่ปี 2535 ทำให้ชาวบ้านทำกินในที่ดินเดิม

และในปี 2557 รัฐบาลดำเนินนโยบายทวงคืนผืนป่า มีการจับกุมและดำเนินคดีชาวบ้านข้อหาบุกรุกป่า มีผู้ถูกฟ้องดำเนินคดีทั้งสิ้น 14 ราย รวม 19 คดี แม้ชาวบ้านจะมีความพยายามในการหาทางออก โดยผลักดันให้มีกลไกการตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมระหว่างรัฐกับประชาชน และการรับรองแผนการจัดการที่ดินและทรัพยากรที่ยั่งยืนโดยการมีส่วนร่วม กระทั่งที่ประชุมคณะทำงานระดับจังหวัด โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิเป็นประธาน มีมติเห็นชอบแผนดังกล่าว ซึ่งชาวบ้านต่างคาดหวังว่าจะเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่การยุติความขัดแย้ง และปลดล็อกปัญหาคดีความ

ทั้งนี้สำนักข่าวปฏิรูปที่ดินภาคอีสานมีข้อสังเกตเกี่ยวกับข้อเท็จจริงและสถานภาพการทำประโยชน์ที่ดิน เช่น พื้นที่ทำกินบางรายอยู่ในเขตที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฎิรูปที่ดิน บางรายทำประโยชน์ประมาณ 30 ไร่ แต่ถูกฟ้อง 46 ไร่ บางรายใช้ประโยชน์ที่ดิน 6 ไร่ 3 งานเศษ แต่ถูกฟ้อง 12 ไร่ และบางรายเป็นพื้นที่ที่ผ่านการสำรวจตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ซึ่งควรได้รับการผ่อนผัน ตามแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินป่าไม้ของรัฐ ฯลฯ ข้อเท็จจริงเหล่านี้ รวมทั้งความผิดพลาด บกพร่องในการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา ถูกนำเสนอผ่านการประชุมร่วมทุกครั้ง เพื่อกำหนดแนวทางการทำงานร่วม กระทั่งนำมาสู่การสำรวจใหม่ข้อเท็จจริงร่วมกัน โดยมีผู้เดือดร้อนทั้งสิ้น 5 ชุมชน จำนวน 187 ราย เนื้อที่ประมาณ 6,680 ไร่ กระทั่งนำมาสู่การผลักดันแผนการจัดการที่ดินและทรัพยากรที่ยั่งยืน โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน และคณะทำงานจังหวัดได้มีมติเห็นชอบแผนดังกล่าวเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2561

แต่แผนดังกล่าวซึ่งชาวบ้านคาดหวังว่าจะนำไปสู่การยุติความขัดแย้ง กลับไม่มีความคืบหน้า ทำให้ชาวบ้านต้องเข้าสู่กระบวนการของศาลซึ่งดำเนินมาตั้งแต่กรกฎาคม 2559 โดยต่อมาศาลชั้นต้นได้พิพากษาจำคุก พร้อมทั้งปรับเงินและให้ออกจากที่ดินทำกิน โดยชาวบ้านได้ยื่นอุทธรณ์ทั้งหมด 14 ราย

โดยสถานภาพปัจจุบันทางคดี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 9 ราย ดังนี้

1.วันที่ 15 พ.ค. 62 ศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุก นิตยา ม่วงกลาง 4 เดือน ให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 40,000 บาท (คดีที่ 1)

2.วันที่ 4 มิ ย. 62 ศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุก สีนวล พาสังข์ 5 เดือน 10 วัน ให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 150.000 บาท

3.วันที่ 5 มิ.ย. 62 ศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุก นิตยา ม่วงกลาง (คดีที่ 2) 8 เดือน ให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 150,000 บาท

3.วันที่ 12 มิ.ย. 62 ศาลอุทธรณ์นัดจำเลย 3 ราย ฟังคำพิพากษา ดังนี้

3.1) ศาลพิพากษาจำคุก สุนี นาริน 5 เดือน 10 วัน ให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 439,027 บาท
3.2) ศาลพิพากษาจำคุกสุภาพร สีสุข 5 เดือน 10 วัน ให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 380,000 บาท
3.3) ศาลพิพากษาจำคุก ปัทมา โกเม็ด 8 เดือน ให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 200,000 บาท

4. วันที่ 18 มิ.ย.62 ศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุก สากล ประกิจ 4 ปี ให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 1,587,211 บาท

5. วันที่ 25 มิ.ย. 62 ศาลอุทธรณ์นัดจำเลย 3 ราย ฟังคำพิพากษา ดังนี้
5.1) ศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุก ทองปั่น ม่วงกลาง 8 เดือน ให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 100,000 บาท
5.2) ศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุกนายวันชัย อาภรแก้ว 6 เดือน ให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 860,395 บาท 
และ 5.3) ศาลอุทธรณ์พิพากษานายสมร สมจิตร จำคุก 1 ปี ให้รอลงอาญาไว้ 3 ปี และให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 366,663 บาท รวมทั้งให้บำเพ็ญประโยชน์เป็นเวลา 1 ปี

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

สมชาย ปรีชาศิลปกุล ชี้องค์กรตุลาการกำลังทำให้คณะรัฐประหารเป็นองค์กรเหนือกฎหมาย

$
0
0

สมชาย ปรีชาศิลปกุล ชี้หลังศาลปกครองสูงสุดไม่รับคำร้อง กรณี คสช. และพล.อ.ประยุทธ์ ตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว. โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องทางรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องทางปกครอง ระบุนี่คือเรื่องอันตรายสำหรับสังคมไทยหากองค์กรตุลาการไม่สามารถเข้าไปแตะต้องการใช้อำนาจของคณะรัฐประหารได้

25 มิ.ย. 2562 ศาลปกครองกลางมีนัดอ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ 445/2562 ระหว่าง คณะราษฎรไทยแห่งชาติ รวม 34 คน (ผู้ฟ้องคดี) กับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (ผู้ถูกฟ้อง) ซึ่งเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

โดยคณะราษฎรไทยแห่งชาติ กับพวก ฟ้อง คสช. และ นายกรัฐมนตรี กรณีมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยมิชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากมีการแต่งตั้งบุคคล ซึ่งไม่มีความเป็นกลางทางการเมือง เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดี ซึ่งเป็นประชาชนชาวไทยได้รับความเดือดร้อนเสียหาย

วันนี้ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามศาลปกครองกลางคือ ไม่รับคำฟ้องของคณะราษฎรไทยแห่งชาติกับพวกรวม 34 คนโดยศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า การปฏิบัติหน้าที่ของทั้งคสช.และนายกรัฐมนตรีเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญชั่วคราวพ.ศ 2557 โดยมีบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญปี 2560 ให้การรองรับ ซึ่งผู้ถูกร้องทั้งสองถือเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และการตั้งกรรมการสรรหาสว.เป็นการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญโดยตรง เพื่อสรรหาบุคคลไปทำหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติ กรณีนี้จึงไม่ใช่ข้อพิพาทจากการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครอง 

ส่วนที่อ้างว่าศาลปกครองกลางไม่เรียกคำสั่งแต่งตั้งกรรมการสรรหา ส.ว.มาพิจารณาก่อนที่จะมีคำสั่งยกฟ้องนั้น ก็รับฟังไม่ได้ เนื่องจากตามระเบียบที่ประชุมใหญ่ ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2553 ข้อ 54 กำหนดให้ศาลมีอำนาจออกคำสั่งให้หน่วยงานหรือบุคคลส่งเอกสารหลักฐานได้ แต่เป็นดุลพินิจของศาลจะพิจารณาว่ามีความจำเป็นต้องดำเนินการหรือไม่ ซึ่งในกรณีนี้เมื่อศาลไม่รับคำร้องไว้พิจารณาจึงไม่มีเหตุจำเป็นที่ศาลจะต้องเรียกคำสั่งแต่งตั้งกรรมการสรรหาสว.ตามที่ร้องขอ เช่นเดียวกับกรณีที่ขอให้นำเรื่องนี้เสนอต่อประธานศาลปกครองสูงสุดเพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดนั้น ตามพ.ร.บ.จัดตั้ง ศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 กำหนดให้เป็นอำนาจของประธานศาลปกครองสูงสุด ใช้ดุลพินิจว่าจะนำเรื่องใดเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด จึงไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของทั้งตุลาการ และผู้ร้องจะมีสิทธิเสนอต่อประธานศาลปกครองสูงสุดได้

ขณะที่ก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งสไม่รับคำร้องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 231 (1) ว่าคำสั่ง คสช. ที่ 1/2562 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 81 วรรคสอง และมาตรา 269 (1) (ข) และ (ค) หรือไม่ 

มาตรา 81 วรรคสอง

ภายใต้บังคับมาตรา ๑๔๕ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและร่างพระราชบัญญัติ ที่ได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนําขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ ทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้

มาตรา 269

(1)ให้มีคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาคณะหนึ่งซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความรู้และประสบการณ์ในด้านต่าง ๆ และมีความเป็นกลางทางการเมือง จํานวนไม่น้อยกว่าเก้าคนแต่ไม่เกินสิบสองคน มีหน้าที่ดําเนินการสรรหาบุคคลซึ่งสมควรเป็นสมาชิกวุฒิสภา ตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังต่อไปนี้

(ข) ให้คณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา คัดเลือกบุคคลผู้มีความรู้ความสามารถ ที่เหมาะสมในอันจะเป็นประโยชน์แก่การปฏิบัติหน้าที่ของวุฒิสภาและการปฏิรูปประเทศมีจํานวนไม่เกิน สี่ร้อยคน ตามวิธีการที่คณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภากําหนดแล้วนํารายชื่อเสนอต่อคณะรักษา ความสงบแห่งชาติ ทั้งนี้ ต้องดําเนินการให้แล้วเสร็จไม่ช้ากว่าระยะเวลาที่กําหนดตาม (ก)

(ค) ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติคัดเลือกผู้ได้รับเลือกตาม (ก) จากบัญชีรายชื่อ ที่ได้รับจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้ได้จํานวนห้าสิบคน และคัดเลือกรายชื่อสํารองจํานวนห้าสิบคน โดยการคัดเลือกดังกล่าวให้คํานึงถึงบุคคลจากกลุ่มต่างๆ อย่างทั่วถึง และให้คัดเลือกบุคคลจากบัญชีรายชื่อ ที่ได้รับการสรรหาตาม (ข) ให้ได้จํานวนหนึ่งร้อยเก้าสิบสี่คนรวมกับผู้ดํารงตําแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการ ตํารวจแห่งชาติ เป็นสองร้อยห้าสิบคน และคัดเลือกรายชื่อสํารองจากบัญชีรายชื่อที่ได้รับการสรรหาตาม (ข) จํานวนห้าสิบคน ทั้งนี้ ให้แล้วเสร็จภายในสามวันนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามมาตรา 268

โดยศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับดังกล่าวนั้นมีเนื้อสาระสำคัญเพียงเป่นการแต่งตั้งคระกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อทำหน้าที่กลั่นกรองรายชื่อสมาชิกวุฒิสภาตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเท่านั้น มิใช่การออกกฎเกณฑ์ที่มีผลบังคับเป็นการทั่วไป คำสั่งดังกล่าวจึงไม่ถือเป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายตามมาตรา 231 (1) ของรัฐธรรมนูญ จึงไม่สามารถรับคำร้องไว้พิจารณาได้

สมชาย ปรีชาศิลปกุล ให้สัมภาษณ์ประชาไทถึงกรณีนี้ว่า ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาภายใต้การปกครองของคณะรัฐประหาร ไม่มีองค์กรตุลการองค์กรใดสามารถเข้าไปตรวจสอบ หรือแตะต้องคณะรัฐประหาร หรือการใช้อำนาจของคณะรัฐประหารได้ โดยเฉพาะในกรณีการตั้งคณะกรรมการ สรรหา ส.ว. ซึ่งเป็นเรื่องที่ขัดต่อบทบัญญัติกฎหมายแน่นอน แต่กลับไม่มีใครเข้ามาตัดสินหรือวินิจฉัยได้เลย และนี่คือการยกระดับให้คณะรัฐประหารเป็นองค์เหนือกฎหมาย และถ้าการใช้อำนาจของคณะรัฐประหารไม่มีใครสามารถตรวจสอบได้ ในอนาคตข้างหน้าเราก็จะมีโอกาสได้เห็นการทำรัฐประหารอีกแน่นอน

“องค์กรแต่ละองค์กร มีท่าทีที่พยายามดีดเรื่องเหล่านี้ออกไปให้พ้นตัว โดยเฉพาะเมื่อมีความพยายามที่จะผลักดันเรื่องที่เกี่ยวกับ คสช. เข้าสู่กระบวนการของศาลไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง หรือศาลยุติธรรม ท่าทีขององค์กรเหล่านี้คือ ไม่มีใครเข้ามาตรวจสอบการใช้อำนาจของคณะรัฐประหาร และเป็นเรื่องที่อันตรายต่อสังคมไทยอย่างมาก เพราะเท่ากับว่าเรากำลังจัดวางคณะรัฐประหารให้มีสถานะพิเศษที่องค์กรใดๆ ในกระบวนการยุติธรรมไม่เข้าไปแตะต้อง และถ้าเป็นแบบนี้ก็จะยิ่งทำให้การรัฐประหารฝั่งรากลึกลงในสังคมไทย” สมชาย กล่าว

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

รอง หน.อนาคตใหม่ ชี้อำนาจ คสช.ยังแฝงตัวอยู่กับ กอ.รมน. เทียบ 'เกสตาโป-นาซี' เข้าถึงทุกบ้าน

$
0
0

พล.ท.พงศกร รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ชี้อำนาจ คสช.จะยังแฝงตัวอยู่กับ กอ.รมน. เทียบ “เกสตาโป-นาซี” เข้าถึงทุกบ้าน

25 มิ.ย.2562 ทีมสื่อพรรคอนาคตใหม่ รายงานว่า พล.ท.พงศกร รอดชมภู รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่และอดีตรองเลขาธิการผู้บริหารสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)  ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนในประเด็นข้อกังวลเกี่ยวกับบทบาทของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)และ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)ที่จะยังคงมีอำนาจตามประกาศและคำสั่ง คสช.อยู่

พล.ท.พงศกร ระบุว่าแม้ทุกวันนี้เราเชื่อกันว่าเมื่อมีรัฐบาลใหม่แล้ว มาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญและการใช้อำนาจของ คสช.จะหมดไป ทุกคนจะกลับสู่ชีวิตปกติ แต่นั่นไม่เป็นความจริง เพราะจะยังมีกฎหมายต่างๆที่แฝงตัวเข้าไปอยู่ในร่างพระราชบัญญัติและระเบียบต่างๆของทางราชการมากมายไปหมด โดยในวันนี้ขอกล่าวถึงเรื่องของ กอ.รมน.โดยเฉพาะ

พล.ท.พงศกรกล่าวว่าในรอบสองสามวันที่ผ่านมานี้ มีความเคลื่อนไหวในส่วนของ กอ.รมน.ที่มีท่าทีว่าจะรับภารกิจต่อจาก คสช.และมีการเปลี่ยนแปลงเป็นไม่รับในเวลาต่อมา แสดงให้เห็นว่าความเคลื่อนไหวของทหาร โดยเฉพาะใน กอ.รมน.จะยังคงมีบทบาทต่อไปในการควบคุมประชาชน

ส่วนหนึ่งคืออำนาจหน้าที่ๆ กอ.รมน.ได้รับมาจากคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 51/60 ที่ให้อำนาจในการประเมินภัยคุกคามที่อาจจะเกิดขึ้น โดยในมาตรา 11 ที่มีการเพิ่มเติมให้แม่ทัพภาคเป็นผู้นั่งหัวโต๊ะประชุมร่วมกับส่วนราชการต่างๆ เช่นอัยการสูงสุด ตำรวจ ผู้ว่าราชการจังหวัด และข้าราชการพลเรือนจากภาคส่วนต่างๆ ซึ่งมีปัญหามาก เพราะปกติในการดำเนินกระบวนการยุติธรรม อำนาจต่างๆต้องแยกออกจากกัน เมื่อตำรวจและอัยการซึ่งควรจะแยกจากกันเพื่อตรวจสองถ่วงดุล กลับมาอยู่ด้วยกันภายใต้การดูแลของแม่ทัพภาค อาจจะเกิดการรวมศูนย์ความคิดขึ้นมาไปในทิศทางเดียวกัน โดยไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลกัน

“เวลาอยู่ด้วยกันแล้วคนนั่งหัวโต๊ะเป็นแม่ทัพภาค อยู่เหนือผู้ว่าราชการจังหวัด อยู่เหนืออัยการ อยู่เหนือตำรวจ อันนี้ก็เป็นปัญหาแล้ว แต่เดิม เคยมีคณะกรรมการแบบนี้จริงแต่ไม่มีอำนาจมาก คือเป็นเรื่องการขอความร่วมมือ แต่ปัจจุบันนี้เป็นลักษณะการสั่งการ แล้วสิ่งที่มันจะเกิดปัญหาก็คือ ในมาตรา 13 ที่บอกว่าเชิญคนก็ได้เอาวัตถุสิ่งของเอกสารราชการก็ได้ บุคคลทั่วไปก็ได้ แปลว่าประชาชนธรรมดานั่งอยู่กับบ้านก็มีคนมาเยี่ยมได้ ซึ่งจริงๆไม่ควรมีเลย” พล.ท.พงศกรกล่าว

นอกจากนั้นในมาตรา 13 ยังได้ถ่ายอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัด รับมอบนโยบายต่อจากแม่ทัพภาค ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่ภายใต้การควบคุมของส่วนภูมิภาคไปแล้ว จะทำให้ประชาชนไม่มีที่พึ่ง และจะเห็นว่าโครงสร้างเครือข่ายในการควบคุมประชาชน ตั้งแต่รัฐบาล คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เรื่อยลงไปจนถึงประชาชน อยู่ภายใต้การควบคุมของกลไกที่มาจาก คสช.

“ถ้าจะให้ผมนิยามแบบง่ายๆ มันคือเกสตาโปในสมัยนาซี เข้าถึงได้ทุกบ้าน เข้าถึงได้ทุกแห่ง และถ้าประชาชนอยากจะเรียกร้องแก้ไขเปลี่ยนแปลง ก็ต้องไปร้องที่องค์กรอิสระ ซึ่งสุดท้ายองค์กรอิสระก็อยู่ภายใต้การกำกับของ ส.ว.อีกที ซึ่ง คสช.เป็นผู้แต่งตั้งมา ดังนั้นสิ่งต่างๆเหล่านี้คือวงจรของคณะ คสช.ซึ่งไม่หมดไป” พล.ท.พงศกรกล่าว

พล.ท.พงศกรยังระบุต่อว่าในสิ่งที่พรรคอนาคตใหม่กำลังจะทำกับภาคประชาชนก็คือการเสนอกฎหมายที่จะถอนอำนาจ คสช.ร่วมกับพรรคการเมืองอื่นๆนั้น ตนเชื่อว่าในเวลา 3-6 เดือนข้างหน้า ถ้าเราทำได้อย่างแข็งขันจริงและพรรคฝ่ายรัฐบาลเห็นด้วยในฐานะที่เป็นพรรคการเมืองด้วยกัน ในการถอนอำนาจของ คสช.เสีย เราจะทำได้สำเร็จ 

แต่ถ้าขาดความร่วมมือจากประชาชนและการผลักดันร่วมไม้ร่วมมือจากทางภาคการเมือง เรื่องนี้จะไม่สำเร็จ และเราจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดขององค์กรบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นที่ปรารถนา และสุดท้ายสิทธิเสรีภาพของประชาชนจะมีปัญหาในที่สุด

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

อัยการสูงสุด แจงคดีแรมโบ้อีสานขาดอายุความ เผยขอให้ ตร. ตามแล้วแต่ไม่พบตัว

$
0
0

25 มิ.ย. 2562 ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า ประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ได้กล่าวถึงกรณีที่พนักงานอัยการสำนักงานจังหวัดพัทยา ไม่สามารถนำตัว สุภรณ์ อัตถาวงศ์ หรือ แรมโบ้อีสาน มาฟ้องต่อศาลจังหวัดพัทยาในคดีเกิดเหตุความวุ่นวายในการชุมนุมระหว่างประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่พัทยา เมื่อปี 2552 จนคดีขาดอายุความว่า ได้รับชี้แจงข้อมูลจากสำนักงานอัยการจังหวัดพัทยาว่า เดิมเหตุการณ์ในคดีเกิดเมื่อวันที่ 11 เม.ย.52 ซึ่งคดีนี้กลุ่มผู้ต้องหาที่ถูกดำเนินคดีนั้นมีอายุความ 10 ปี และจะหมดอายุความในวันที่ 11 เม.ย.62 ซึ่งคดีนี้พนักงานสอบสวนได้รวบรวมสำนวนพร้อมความเห็นสมควรสั่งฟ้อง ผู้ต้องหาประกอบด้วย วีระกานต์ มุสิกพงศ์, ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, จตุพร พรหมพันธุ์, นพ.เหวง โตจิราการ, จักรภพ เพ็ญแข, อดิศร เพียงเกษ และสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ในความผิดฐานร่วมกันโฆษณา หรือประกาศให้ขัดคำสั่งเจ้าพนักงานซึ่งสั่งให้เลิกการมั่วสุม, ร่วมกันโฆษณาหรือประกาศให้กระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาหรือวิธีอื่นใดเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน มาส่งอัยการในวันที่ 1 ส.ค.60 ในส่วนของจักรภพ ผู้ต้องหาได้มีการหลบหนีออกนอกประเทศ จึงได้มีการขอศาลออกหมายจับตั้งแต่ต้น

โดยหลังจากที่อัยการเจ้าของสำนวนรับสำนวนมา ก็มีการสั่งสอบสวนเพิ่มเติมตามรูปคดี ประกอบกับกลุ่มผู้ต้องหามีการยื่นร้องขอความเป็นธรรมเข้ามา ซึ่งทางอัยการก็ได้มีการพิจารณาระหว่างที่รอผลการสอบสวนเพิ่มเติม จนวันที่ 8 ก.พ. ทางพนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาทุกคน

และได้นัดให้ผู้ต้องหามาวันที่ 25 ก.พ.เพื่อนำตัวยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดพัทยา แต่ปรากฏว่า ผู้ต้องหาทั้งหมดขอเลื่อนการส่งตัวฟ้อง อัยการก็อนุญาตให้เลื่อนเป็นวันที่ 19 มี.ค. แต่ระหว่างที่จะถึงวันนัดฟังคำสั่ง วันที่ 15 มี.ค.สุภรณ์ ก็ได้มาขอเลื่อนนัดฟังคำสั่งโดยอ้างเหตุติดปราศรัยเลือกตั้ง

ส่วน วีระกานต์, ณัฐวุฒิ, จตุพร, นพ.เหวง เดินทางมาตามนัดวันที่ 19 มี.ค. อัยการจึงยื่นฟ้องทั้ง 4 เป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดพัทยา ในวันดังกล่าว จะขาดเพียงอดิศร และนายสุภรณ์ ซึ่งไม่ได้มาโดยอ้างเหตุติดหาเสียงเช่นเดียวกัน

ณัฐวุฒิสังเวชใจ หลังอัยการนำตัวแรมโบ้อีสาน มาฟ้องคดีล้มประชุมอาเชียนปี 52 ไม่ทัน

ทางอัยการ จึงมีคำสั่งให้เลื่อนวันนัดฟังคำสั่งของ 2 ผู้ต้องหา ที่เหลือไปเป็นวันที่ 2 เม.ย. พอถึงวันที่ 2 เม.ย. นายอดิศร เดินมาตามนัด อัยการจึงนำตัวฟ้องศาลตามไปกับจำเลยทั้ง 4 ที่ฟ้องไปก่อนหน้านี้

แต่ในส่วนของสุภรณ์ ก่อนที่จะถึงวันนัดวันที่ 2 เม.ย.นั้นได้มีการส่ง ศุชัยวุฒิ ชาวสวนกล้วย ทนายความ มายื่นคำร้องขอเลื่อนนัดฟังคำสั่งเนื่องจากตัวสุภรณ์ มีอาการหายใจไม่ออก และนอนแอดมิทพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล แต่ทางอัยการพิจารณาแล้วไม่อนุญาตให้เลื่อน

เมื่อถึงเวลานัดไม่มา อัยการจึงได้มีหนังสือด่วนที่สุดถึง ผกก.สภ.เมืองพัทยา และ ผบช.ภ.2 ให้ดำเนินการจับกุมตัวสุภรณ์ มาส่งอัยการฟ้องต่อศาลให้ได้ภายในวันที่ 5 เม.ย.เเต่ทางตำรวจได้แจ้งว่า ยังไม่สามารถนำตัวมาได้ จึงดำเนินการขอศาลจังหวัดพัทยาออกหมายจับ สุภรณ์ วันที่ 4 เม.ย. โดยหลังออกหมายจับ ทางอัยการยังได้มีหนังสือด่วนที่สุด ออกมาอีกส่งถึง ผกก.สภ.พัทยา, ผบช.ภ.2, ผบก.ชลบุรี, นายอำเภอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งดำเนินการจับกุมตัวสุภรณ์ มาให้อัยการฟ้องต่อศาลให้ได้ เนื่องจากคดีของสุภรณ์ จะหมดอายุความในวันที่ 11 เม.ย. โดยในหนังสือที่ส่งถึงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้เน้นย้ำเป็นอักษรดำเข้ม

“ผมขอเรียนว่าเรื่องนี้ทางอัยการไม่ได้มีการปล่อยปละละเลยจากที่ตนได้อธิบายเป็นขั้นตอนจะเห็นได้ว่า ในระหว่างดำเนินการที่เรารับสำนวนมาเป็นช่วงหลังเกิดเหตุถึง 8 ปีกว่า ซึ่งเราจะสั่งคดีเลยก็ไม่ได้ เนื่องจากกลุ่มผู้ต้องหาร้องขอความเป็นธรรม พอเราสั่งเด็ดขาดช่วง ก.พ.62 เราก็มีการเร่งรัดที่จะฟ้องมาตลอดอย่างกรณี ณัฐวุฒิ, จตุพร ก็เลื่อนหลายครั้งจนมาฟ้องชุดแรกได้ 15 มี.ค.62 และชุด 2 ที่อดิศร วันที่ 2 เม.ย. ส่วนแรมโบ้ไม่มาเราก็ดำเนินการตามขั้นตอนอย่างละเอียด เราไม่ได้ปล่อยปละละเลยแน่นอน คดีนี้ที่เราไม่ได้ตัวมาฟ้องจนหมดอายุความก็จะมีสุภรณ์กับจักรภพ ที่หนีไปต่างประเทศ การไปตามจับก็ไม่ใช่หน้าที่อัยการ แต่เราทำตามขั้นตอนทุกอย่าง ส่วนเรื่องจะมีการตั้งสอบอัยการเจ้าของสำนวนหรือไม่ ขณะนี้ยังไม่มีรายงานมา ซึ่งอัยการเจ้าของสำนวนก็ได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่อย่างเต็มที่” รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าว

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ควันหลงวันเลือกนายกฯ

$
0
0

นั่งชมการถ่ายทอดการประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งไม่แปลกประหลาดใจใดๆ กับผลโหวตที่ออกมา ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกฯ ที่ถูกเสนอชื่อโดยพรรคพลังประชารัฐ ชนะด้วยเสียงสนับสนุนจาก ส.ส. และ ส.ว. รวมกัน 500 คะแนนขณะที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แคนดิเดตนายกฯ ฝั่ง 7 พรรคประชาธิปไตย ได้เสียงสนับสนุน 244 คะแนน  และมีสมาชิกรัฐสภางดออกเสียงทั้งหมด 3 คน คือนายชวน หลีกภัย (ประธานรัฐสภา), นายพรเพชร วิชิตชลชัย (รองประธานรัฐสภา) และนายสิริพงษ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีสะเกษ เขต 1 พรรคภูมิใจไทย โดยในการประชุมรัฐสภาครั้งนี้มีสมาชิกเข้าประชุมทั้งหมด 747 คน

สิ่งที่คาดหวังว่าจะได้เห็นจากการประชุมร่วมของสองสภาในครั้งนี้ ไม่ใช่เรื่องผลของการโหวต ที่เชื่อว่าคนไทยทั้งประเทศรู้กันอยู่เต็มอกแล้วล่ะว่าผลจะออกมายังไง แต่เชื่อว่าสิ่งที่สังคมอยากเห็นนั่นคือเนื้อหาในการอภิปรายถึงคุณสมบัติของผู้ที่ถูกเสนอชื่อทั้ง 2 ท่าน ที่แม้จะไม่มีผลในการโหวต แต่ถ้าจะว่าไป ก็น่าจะพิสูจน์ความสามารถ และคุณภาพของสมาชิกรัฐสภาได้เป็นอย่างดี

การทำหน้าที่อภิปรายเรื่องคุณสมบัติของผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรในซีก 7 พรรคฝ่ายประชาธิปไตย ที่เริ่มต้นจากการชี้ให้เห็นว่าคุณสมบัติของ พล.อ.ประยุทธ์ นั้นไม่เหมาะสมที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะเหตุใด ซึ่งก็ถือว่าเริ่มได้ดีพอสมควร แต่เมื่ออภิปรายต่อๆมา ก็สรุปยังคงวนเวียน อยู่แต่ในเรื่องประเด็นเดิมๆ เช่นการไม่ศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย เพราะเป็นผู้ทำรัฐประหาร หรือการขาดคุณสมบัติในเรื่องการเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐหรือไม่ อย่างไร หรือความไม่เหมาะสมเพราะเป็นผู้ที่เลือกวุฒิสมาชิก ให้เข้ามาเลือกตนเองเป็นนายกรัฐมนตรี ฯลฯ เป็นต้น

สิ่งที่แตกต่างกันในการอภิปรายครั้งนี้ก็คือ ลีลาการนำเสนอเท่านั้น แต่ในเรื่องรายละเอียดข้อมูลไม่ได้มีอะไรใหม่ๆ ให้น่าติดตาม หรือต่างไปจากสิ่งที่ปรากฏเป็นข่าวตามหน้าสื่อ ดังนั้นการอภิปรายในวันนั้นของ 7 พรรคที่เรียกตัวเองว่าฝ่ายประชาธิปไตยนั้น ถ้าจะเรียกว่าสอบไม่ผ่าน ก็คงจะไม่เป็นการกล่าวเกินเลย แต่อย่างใด

ขณะที่การอภิปรายของอีกฟากฝั่ง ก็เช่นกันยังคงวนเวียน อยู่แต่ในเรื่องเดิมๆ เฉกเช่นกัน ทำให้การอภิปรายในวันดังกล่าว ประชาชนแทบจะไม่ได้อะไรเลย นอกเหนือจากการที่เคยได้รับจากการเสพข่าวจากสื่อต่างๆ

จริงๆ ถ้ามีการทำการบ้านกันให้ดี มีทีมงานที่คอยพลิกแก้เกมส์กันให้ดี เชื่อว่าจะทำให้การอภิปรายในวันดังกล่าวสร้างสีสันได้มากกว่านี้ หรืออาจจะเป็นการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ได้เลยทีเดียว และหากพิจารณาถึงตัวผู้อภิปรายแล้ว จะเห็นว่า การพูดคำเมืองของคุณศรีนวล บุญลือ ส.ส.เชียงใหม่เขต 8 ของพรรคอนาคตใหม่ที่เสนอชื่อ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ นั้น ยังมีสีสันดีกว่าการอภิปรายในเนื้อหาสาระของสมาชิกรัฐสภาท่านอื่นๆ เสียอีก

ยิ่งการอภิปรายสนับสนุนเผด็จการประชาธิปไตย ที่เป็นระบอบใหม่ของวุฒิสมาชิกบางท่าน ยิ่งทำให้เห็นสภาพบรรยากาศการปกครองของประเทศ จะเดินหน้าไปทิศทางไหนได้อย่างชัดเจน แม้คนไทยทุกคนจะรู้ แต่ก็คงไม่สามารถทำสิ่งใดให้ได้ดีไปกว่านี้อย่างแน่นอน ตราบที่เงื่อนไขของคนในชาติ ยังคงเป็นไปในลักษณะแบ่งแยก แล้วปกครองเช่นปัจจุบัน

ดังนั้นการอภิปรายในวันเลือกนายกฯ ดังกล่าว ควรเป็นการอภิปรายต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ ที่ไม่ได้หวังผล จะดีกว่า การอภิปรายวกไปวนมา ที่ไม่ได้อะไรเลย ซึ่งหากพิจารณากันดีๆ แล้ว ในวันดังกล่าว ถ้าจะให้คะแนนในการอภิปรายแล้ว ขอบอกตามตรงว่า คนที่อภิปรายเรื่องความเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ดีที่สุดคือ คุณวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ เจ้าของคำพูด “รัฐธรรมนูญฉบับปี 60 เขียนมาเพื่อให้พรรคพลังประชารัฐ เท่านั้น เป็นรัฐบาล” นั่นเอง

ซึ่งถ้า 7 พรรคฝ่ายประชาธิปไตย มีทีมงานที่คอยสนับสนุนที่ดีแล้ว งานนี้จะพลิกมิติการอภิปรายได้พอสมควร แม้จะไม่สามารถพลิกมติการลงคะแนนเลือกนายกฯ ได้ก็ตาม เพราะเพียงแค่หลังการอภิปรายของนายวีระกร แล้ว แค่คนต่อๆมาที่จะต้องลุกอภิปรายของ 7 พรรคฝ่ายประชาธิปไตย ควรทำก็คือ การลุกขึ้นตามสิทธิ์อภิปราย แล้วบอกว่า

“ขอสละสิทธิ์การอภิปรายครับ(ค่ะ)ท่านประธาน เพราะว่าสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่มีความเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไปนั้น นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์จากพรรคพลังประชารัฐ ได้พูดอธิบายชัดแจ้งเห็นภาพไปหมดแล้ว”

เพราะไหนๆ ก็รู้กันดีอยู่แล้วว่า ผลโหวตจะออกมาอย่างไร? สู้เอาเอกสิทธิ์ในการอภิปราย มาทำต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ให้ประชาชนเห็นจะดีกว่า และภาพน่าจะออกมาดีกว่าพูดวนไปเวียนมา ส่วนนายวีระกร คำประกอบ อภิปรายในวันที่โหวตเลือกนายกฯ ไว้อย่างไร? นั้น ไม่ขุดคุ้ยหากันเอาเอง ที่แน่ๆ เท่าที่จำได้ และก้องอยู่ในหูคือ

“...ประชาชน จะอดตายกันอยู่แล้ว...”

ไม่รู้ว่านายวีระกร อภิปรายสนับสนุนหรือคัดค้านหลอกด่าใคร? แต่ที่แน่ๆ ประชาชนรู้ว่าไอ้ที่จะอดตายกันอยู่แล้วน่ะ มันเพราะฝีมือใคร? แล้วใคร?ล่ะที่เป็นนายกรัฐมนตรี แล้วยังสมควรให้ไปต่ออีกหรือ?

 

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ใบตองแห้ง: การเมืองดับเศรษฐกิจ

$
0
0

หอการค้าเพิ่งเผยดัชนีความเชื่อมั่น เดือน พ.ค.62 ต่ำสุดในรอบ 15 เดือน ด้วยปัจจัยลบหลายอย่าง นอกจากสงครามการค้า การส่งออกลดลง ข้อสำคัญคือการเมืองยังไม่มีเสถียรภาพ

ข้อหลังดูท่าจะสมหวังได้ยาก แม้ภาคธุรกิจหวังกันว่า การที่สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ กลับมาพร้อมทีมสี่กุมาร จะผลักดันมาตรการกระตุ้นต่าง ๆ แม้ราคาพืชผลการเกษตรจะอยู่ในมือประชาธิปัตย์ แต่ต่างคนต่างก็อยากสร้างผลงาน คงแข่งกันลดแหลกแจกแถมไม่อั้น

นั่นคือฝั่งโลกสวย แต่ความเป็นจริง ปัญหาเสถียรภาพการเมือง ไม่ใช่แค่รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ เรื่องใหญ่กว่านั้นคือปัญหาความชอบธรรม การสืบทอดอำนาจที่ตรงข้ามกับคำว่าสง่างาม ตั้งพวกพ้องญาติพี่น้องมาเป็น 250 ส.ว.โหวตให้ตัวเอง กวาดต้อนนักการเมืองที่พวกตนเคยร้องยี้ มาจัดสรรปันเก้าอี้ ซ้ำการเลือกตั้งที่จัดโดย กกต.ก็ไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชน มีปัญหามากมายตั้งแต่ประกาศผลมาถึงสูตรทศนิยม

นี่ทำให้เกิดแรงต้านกว้างขวาง เกิดวิบัติศรัทธาในตัวผู้นำ ยิ่งกว่ารัฐบาลรัฐประหารด้วยซ้ำไป คนไม่พอใจก็กว้างขึ้น แรงขึ้น คนจำนวนหนึ่งที่เคยยอมรับหรือเฉย ๆ กับข้ออ้างรัฐประหารเพื่อความสงบ ก็เริ่มรับไม่ได้กับการทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองมีอำนาจต่อ

แน่ละว่าแรงต้านยังไม่ถึงขั้นก่อม็อบไล่ คนจำนวนหนึ่งก็ยังอยากให้เวลารัฐบาลบริหารเศรษฐกิจ แต่มันจะไม่ง่าย เพราะคนที่ไม่เชื่อถือก็จะไม่ร่วมมือ แอนตี้ วิพากษ์วิจารณ์ ยกตัวอย่างประยุทธ์จะแนะนำหนังสือ ก็โดนสำนักพิมพ์แอนตี้ โครงการต้องล้มไป ขนาดดาราโพสต์ไม่สนใจการสืบทอดอำนาจ ยังโดนดราม่า หนังเปิดตัวเจ๊งสนิท แม้อาจเจ๊งเพราะเหตุอื่น แต่ต่อไปใครจะร่วมงานอีเวนต์ที่ทำเนียบต้องคิดหนัก

เรื่องต่าง ๆ ที่รัฐบาลรัฐประหารทำไว้ ก็จะผุดกลับมาหลังหมด ม.44 เช่นปัญหาประมง ที่สมาคมจะออกมาเรียกร้องให้แก้ไข ความเดือดร้อนของประชาชนจำนวนมาก จากมาตรการยุค คสช.ซึ่งถูกกลบไว้ เมื่อนายกฯ ยังเป็นคนเดิมก็รับไป

นี่รวมไปถึงวิบัติของระบอบ ความไม่เชื่อถือองค์กรอิสระ อย่าง ป.ป.ช. ซึ่งโดน ส.ส.ถาม ยืมนาฬิกาเพื่อนต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สินหรือไม่ แถมยังตีตกคดีเมียเนวิน ชิดชอบ ใช้เงิน อบจ. 20 ล้าน ขนคนไปเชียร์ทีมบุรีรัมย์ ทั้งที่ สตง.ให้จ่ายเงินคืน

รัฐบาลปกติ ไม่ต้องรับผิดชอบองค์กรอิสระ แต่รัฐบาลนี้ องค์กรอิสระวินิจฉัยอะไรที่เป็นผลดีกับรัฐบาล เป็นผลร้ายกับฝ่ายค้าน ก็จะถูกชี้มาที่ประยุทธ์ทั้งสิ้น เพราะทุกองค์กรแต่งตั้งในยุค คสช. กระทั่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็ยืดอายุโดยคำสั่ง คสช. หลังจากนี้ยิ่งแล้วใหญ่ เพราะสรรหาแต่งตั้งโดย 250 ส.ว.

ขณะที่กองทัพ ก็เป็นเสาค้ำหลักของรัฐบาล 6 ผบ.เหล่าทัพเป็นทั้ง ส.ว.และกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ กอ.รมน.จะเข้ามาเป็นรัฐซ้อนรัฐ คุมความมั่นคง คุมอำนาจปกครอง เมื่อหมด ม.44 ท่าทีของผู้นำเหล่าทัพ ที่ชอบออกมาแข็งกร้าว พฤติกรรมของทหาร ความมีอภิสิทธิ์ งบประมาณ จะมีผลต่อรัฐบาลโดยตรง

รัฐบาลนี้ไม่เพียงเริ่มต้นด้วยเสียงปริ่มน้ำ หากคะแนนนิยมก็ปริ่มจมูก ไม่มีความชอบธรรม เพียงแต่ประชาชนจำใจไม่มีทางเลือก บางคนยังคิดว่าถ้าเศรษฐกิจดีขึ้นจะพอไปรอดได้ แต่การเมืองการยอมรับของประชาชนเป็นปัจจัยสำคัญทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่แมวสีดำหรือสีขาวก็จับหนูได้

แก้เศรษฐกิจได้ดีก็แล้วไป เสมอตัว แต่ย่ำแย่เมื่อไหร่ น่าดู กระแสประชาชนจะสะท้อนกลับสู่ 19 พรรคร่วมรัฐบาล ที่ทางใครทางมันอยู่แล้ว อยู่ร่วมกันด้วยการปั่นค่าตัวเท่านั้น

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน:ข่าวหุ้นธุรกิจ www.kaohoon.com/content/301842

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

กวีประชาไท: กระบวนการยุติ...ธรรม

$
0
0

น่าอนาถ ประเทศชาติ เพ-ลานี้

ความอัปรีย์ ถาโถม โหมเข้าหา

ความยุติธรรม ยังดำมืด บดบังตา

ปวงประชา จะมีหวัง กันยังไง

 

เพียงโผซบ อิงแอบขั้วอำนาจ

สกปรก ก็สะอาด ผุดผ่องใส

มีคดีติดตัว ก็หมดไป

แค่รับใช้ ใกล้ชิด เผด็จการ

 

ความเที่ยงธรรม สะดุด “ยุติ...ธรรม”

กระบวนการ ล้มคว่ำ น่าสงสาร

ทั้งตำรวจ ทั้งศาล อัยการ

ต่างคิดอ่าน เอาตัวรอด เพื่อปลอดภัย

 

เมื่อกลไก เอียงเอน กระเท่เร่

หลักบ้านเมือง ซวนเซ ไม่เอาไหน

เหลือเพียงแต่ พลังของคนไทย

จะเรียกร้อง หรือปล่อยให้ ไปตามกรรม

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai
Viewing all 58377 articles
Browse latest View live


<script src="https://jsc.adskeeper.com/r/s/rssing.com.1596347.js" async> </script>