Quantcast
Channel: ประชาไท
Viewing all 58345 articles
Browse latest View live

กะเทยเป็นเหตุ และ INSECTS IN THE BACKYARD ขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ไทย

$
0
0

2 ภาพยนตร์พูดประเด็นความหลากหลายทางเพศ กะเทยเป็นเหตุ และ INSECTS IN THE BACKYARD ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ ครั้งที่ 9 ประจำปี พ.ศ. 2562 โดยทางหอภาพยนตร์ระบุว่า ‘กะเทยเป็นเหตุ’ มีการนำเสนอที่ก้าวหน้า ขณะที่ INSECTS IN THE BACKYARD เปิดประเด็นทางเพศปะทะกับสังคมที่ถูกครอบงำด้วยมายาคติและอคติ

9 ต.ค. 2562 เมื่อวันที่ 4 ต.ค. ที่ผ่านมา เฟสบุ๊คแฟนเพจ หอภาพยนตร์ Thai Film Archiveได้รายงานว่า อิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งกำกับดูแลหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ได้ประกาศรายชื่อภาพยนตร์ 15 เรื่องขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ ครั้งที่ 9 ประจำปี พ.ศ. 2562 เนื่องในวันอนุรักษ์ภาพยนตร์ไทย (4 ตุลาคม) ดังนี้

1. พระบาทสมเดจพระเจ้าอยู่หัวเสดจฯ เลียบมณฑลฝ่ายเหนือ พ.ศ. ๒๔๖๙ (2469)

2. [การเสด็จเลียบเมืองเหนือ ROYAL TOUR IN NORTHERN SIAM] (ส่วนที่ไม่ได้ใช้) (2470)

3. ชมสยาม SEE SIAM (ไม่สมบูรณ์) (2473)

4. เลือดชาวนา (เศษที่เหลืออยู่) (2479)

5. ปิดทองหลังพระ (เศษที่เหลืออยู่) (2482)

6. กะเทยเป็นเหตุ [2497]

7. BANGKOK METROPOLITAN BUSES AND TRUCKS [2501]

8. มวยไทย (2506)

9. นางสาวโพระดก (2508)

10. “ฟ้าเมืองไทย” ฉลองขึ้นปีที่ 8 พุธ 7 เมษา 19 (2519)

11. ลูกบ้าเที่ยวล่าสุด CRAZY ME (2536)

12. ฝัน บ้า คาราโอเกะ FUN BAR KARAOKE (2540)

13. พี่มาก..พระโขนง PEE MAK (2556)

14. อาปัติ KARMA (2558)

15. INSECTS IN THE BACKYARD แมลงรักในสวนหลังบ้าน (2560)

ในปีนี้ การคัดเลือกนั้นส่วนหนึ่งมาจากประชาชนกว่า 800 คน ได้ร่วมเสนอรายชื่อภาพยนตร์กว่า 250 เรื่อง นำมาคัดเลือกรวมกับภาพยนตร์ที่หอภาพยนตร์ได้ทำการอนุรักษ์ไว้ จากคณะกรรมการหลากหลายสาขาอาชีพ ได้แก่ นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ นักสื่อสารมวลชน, ลลิตา หาญวงษ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์, พรชัย วิริยะประภานนท์ นักวิจารณ์ภาพยนตร์, โสภิต หวังวิวัฒนา นักจัดรายการวิทยุ โดยมี กิตติศักดิ์ สุวรรณโภคิน ที่ปรึกษากรรมการบริหารหอภาพยนตร์เป็นประธานคณะกรรมการ

ทั้งนี้มีภาพยนตร์ 2 ใน 15 เรื่องที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับกลุ่มความหลากหลายทางเพศ ได้แก่ กะเทยเป็นเหตุ และ INSECTS IN THE BACKYARD แมลงรักในสวนหลังบ้าน


กะเทยเป็นเหตุ

กะเทยเป็นเหตุ (2497) ผลงานของคณะ LEDGER ธนาคารมณฑล เล่าเรื่องราวตลกชุลมุนวุ่นรักของกระเทยที่มีคู่หมั้นเป็นชาย และมีชายอื่นมาหมายปอง เป็นภาพยนตร์ไทยที่นำเสนอเรื่องกะเทยและใช้เป็นตัวละครหลักที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่มีการค้นพบ

แม้จะทำออกมาให้ดูตลกขบขันอย่างที่พบกันได้กลาดเกลื่อนจากสื่อบันเทิงไทยทั่วไปมายาวนาน แต่การมีอยู่ของภาพยนตร์สมัครเล่นเรื่องนี้ได้ทำให้เห็นว่า กะเทยได้รับการยอมรับในสังคมไทยว่า “สวยเหมือน” หรือ “สวยกว่า” ผู้หญิงมาแล้วไม่น้อยกว่า 60 ปี จนกลายเป็นศึกชิงนางอันชุลมุนในเรื่อง และที่สำคัญ ความสัมพันธ์ของชายหนุ่มกับกะเทยที่มีสถานะเป็นถึง “คู่หมั้น” นั้น ยังเป็นการนำเสนอที่ “ก้าวหน้า” อย่างที่แม้แต่ภาพยนตร์ไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบันยังไม่สามารถไปถึง

นอกจากจะเป็นหนึ่งใน “หนังสั้น” ของคนไทยยุคก่อน พ.ศ. ๒๕๐๐ เพียงไม่กี่เรื่องที่ยังคงหลงเหลืออยู่ กะเทยเป็นเหตุ จึงเป็นหลักฐานสำคัญที่คนรุ่นหลังไม่อาจละเลย ในการสำรวจความเข้าใจและทัศนคติของสังคมไทยที่มีต่อความหลากหลายทางเพศ


INSECTS IN THE BACKYARD

INSECTS IN THE BACKYARD แมลงรักในสวนหลังบ้าน (2560) ผลงานของ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ผู้กำกับและ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างเสร็จตั้งแต่ปี 2553 แต่ถูกแบนจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ เนื่องจาก “มีเนื้อหาขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน” หลังต่อสู้ในชั้นศาลนานเกือบ 7 ปี จึงได้ออกฉาย โดยตัดภาพที่ถูกตัดสินว่าลามกอนาจาร 3 วินาทีออกไป

INSECTS IN THE BACKYARD ถือเป็นหนังไทยอิสระขนาดยาวเรื่องแรก ๆ ที่เปิดประเด็นปะทะกับขนบธรรมเนียมของสังคมที่ไม่กล้าพูดความจริงซึ่งหน้า สังคมที่ถูกครอบงำด้วยมายาคติและอคติ ภาพยนตร์ของธัญญ์วารินนำเสนอเนื้อหาอย่างตรงไปตรงมา ทั้งเรื่องเพศสภาพของพ่อแม่ผู้ปกครอง และการแสวงหาตัวตนของวัยรุ่นในสังคมปัจจุบัน ที่เต็มไปด้วยสถานะทางเพศอันมีทางเลือกได้หลากหลายกว่าชายหญิง และปัจจุบัน ธัญญ์วารินได้เพิ่มสถานะของตนเองด้วยการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นกะเทยแต่งหญิงคนแรกในรัฐสภาไทย และยังคงบทบาทนักรณรงค์ต่อสู้ให้สังคมไทยหันมาเรียนรู้และเข้าใจในประเด็นเรื่องสิทธิความหลากหลายและเท่าเทียมกันทางเพศอย่างต่อเนื่อง

 

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

สป.ยธ. เสนอ รบ.เพิ่มบทบาท 'อัยการ' เร่งปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

$
0
0

สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เสนอ รบ.เร่งปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เพิ่มบทบาท 'อัยการ' ตั้งแต่ตรวจที่เกิดเหตุ หรือสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานหากคดีโทษสูง บันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในการสอบปากคำ การออกหมายเรียกบุคคลเป็นผู้ต้องหาหรือเสนอศาลออกหมายจับ ต้องได้รับความเห็นชอบจากพนักงานอัยการ

9 ต.ค.2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) ออกแถลงการณ์ เรื่อง เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล

โดยมีรายละเอียดดังนี้

แถลงการณ์ สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.)

เรื่อง  เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล

กรณีที่ได้เกิดเหตุการณ์ คณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาศาลประจำจังหวัดยะลาพยายามกระทำอัตวินิบาตกรรมด้วยการใช้อาวุธปืนยิงที่หน้าอกด้านซ้ายข้างบัลลังค์หลังจากอ่านคำพิพากษายกฟ้องจำเลย 5 คนในคดีฆ่าผู้อื่นถึงแก่ความตายรวม 5 ศพ โดยออกแถลงการณ์เผยแพร่ไปล่วงหน้าว่า เนื่องจากถูกอธิบดีผู้พากษาภาค 9 พยายามแทรกแซงการวินิจฉัย  โดยให้ลงโทษประหารชีวิตและตลอดชีวิตจำเลยทั้งห้า  ซึ่งเห็นว่าไม่เป็นธรรม  และเมื่อไม่ได้ปฏิบัติตาม  โดยอ่านคำพิพากษายกฟ้อง   ก็อาจส่งผลกระทบต่อชีวิตราชการของตนเอง  ขอให้รัฐบาลเร่งแก้ไขให้ผู้พิพากษามีอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดีอย่างแท้จริงนั้น

สป.ยธ. เห็นว่า  เหตุการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลสั่นคลอนความเชื่อถือเชื่อมั่นของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรมชั้นศาลอย่างร้ายแรงยิ่ง  ซึ่งควรที่ประธานศาลฎีกาและคณะกรรมการตุลาการจะได้เร่งตรวจสอบค้นหาความจริงว่า การปฏิบัติของอธิบดีศาลในการตรวจร่างคำพิพากษาและระเบียบดังกล่าว  ถือว่าเป็นการแทรกแซงความเป็นอิสระของผู้พิพากษา ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 188 วรรคสองหรือไม่ และหากเป็นความจริง จะแก้ไขอย่างไร รีบชี้แจงให้ประชาชนทราบโดยเร็วที่สุด

นอกจากนั้น การที่ศาลพิพากษายกฟ้องคดีดังกล่าว แม้จะยังไม่ใช่คำพิพากษาถึงที่สุด แต่ก็แสดงว่าพนักงานอัยการผู้ฟ้องคดีไม่สามารถแสดงพยานหลักฐานพิสูจน์ความผิดของจำเลยให้ศาลรับฟังและเชื่ออย่างปราศจากข้อสงสัยได้ ซึ่งแม้จะถือว่าทุกคนได้รับความยุติธรรม  ไม่ถูกศาลพิพากษาลงโทษโดยไม่ได้กระทำผิด หรือพยานหลักฐานไม่สิ้นสงสัย แต่อีกด้านหนึ่งก็ได้ส่งผลกระทบทั้งต่อรัฐและผู้เสียหายอย่างร้ายแรงยิ่ง คือรัฐไม่สามารถนำตัวผู้ก่ออาชญากรรมร้ายแรงมาลงโทษได้ ส่วนญาติพี่น้องของผู้ถูกฆ่าก็เกิดความคับแค้นใจ และไม่ได้รับการชดใช้ทางแพ่งใดๆ จากผู้กระทำผิดหากคำพิพากษาถึงที่สุด

ปัญหาในลักษณะดังกล่าวและที่เกิดขึ้นทั่วประเทศอีกมากมายที่ศาลพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากพยานหลักฐานจากการสอบสวนไม่ชัดเจนแต่พนักงานอัยการก็จำเป็นต้องสั่งฟ้องไปเท่าที่ปรากฎเช่นนี้ เป็นปัญหาที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขและปฏิรูปโดยเร็ว เพื่อทำให้ระบบการสอบสวนคดีอาญาของประเทศมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นและสอดคล้องมาตรฐานสากล  โดยแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาให้มีบทบัญญัติที่สำคัญเกี่ยวกับการสอบสวนดังนี้

1. เมื่อเกิดคดีอาญาที่มีโทษจำคุกสิบปีขึ้นไป ให้พนักงานสอบสวนรายงานให้พนักงานอัยการทราบทันที  ซึ่งพนักงานอัยการอาจเข้าตรวจที่เกิดเหตุ หรือตรวจสอบสั่งการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานตามที่เห็นว่าจำเป็นต่อการฟ้องคดีได้

2. เมื่อเกิดคดีฆ่าผู้อื่น ให้พนักงานสอบสวนรายงานให้พนักงานอัยการและนายอำเภอทราบทันที  และให้ร่วมตรวจสถานที่เกิดเหตุพร้อมกันทั้งสามฝ่าย โดยทุกฝ่ายต้องบันทึกภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวเก็บเป็นหลักฐานไว้

3. การสอบปากคำผู้กล่าวหา ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา และประจักษ์พยาน ต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องเป็นหลักฐานเพื่อให้อัยการและศาลเรียกตรวจสอบได้เมื่อจำเป็นทุกคดี

4. กรณีที่มีผู้ร้องเรียนต่อพนักงานอัยการว่า พนักงานสอบสวนไม่รับคำร้องทุกข์  หรือไม่ได้ดำเนินการสอบสวนให้เป็นไปตามกฎหมาย หรือไม่ได้รับความยุติธรรม ให้พนักงานอัยการมีอำนาจแจ้งให้หัวหน้าพนักงานสอบสวนส่งสำนวนมาตรวจสอบ หรือเข้าควบคุมสั่งการสอบสวนให้เป็นไปตามกฎหมายโดยเร็ว

5. การออกหมายเรียกบุคคลเป็นผู้ต้องหาหรือเสนอศาลออกหมายจับ ต้องได้รับความเห็นชอบจากพนักงานอัยการ โดยอัยการต้องมั่นใจว่า  เมื่อแจ้งข้อหาหรือจับตัวบุคคลใดมาแล้ว  จะสามารถสั่งฟ้องแสดงพยานหลักฐานพิสูจน์ความผิดต่อศาลให้พิพากษาลงโทษได้เท่านั้น   

สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.)

9 ตุลาคม 2562  

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

กสม.หนุนหนุนรัฐแก้ปัญหาสารพิษอย่างยั่งยืน - ส.ชาวสวนปาล์มฯ ค้านมติแบนพาราควอต 

$
0
0

กสม. ประกายรัตน์ หนุน 'ครม.-กระทรวงเกษตรฯ-คณะกรรมการวัตถุอันตราย' แก้ปัญหาพาราควอต-คลอร์ไพริฟอส-ไกลโฟเซต อย่างเป็นระบบและยั่งยืน เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและเพื่อประโยชน์สาธารณะ ชม 'ภาคประชาสังคมและสาธารณสุข' ทำหน้าที่เข้มแข็ง ขณะที่ สมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันฯ ค้านมติแบนพาราควอต เตือนผู้บริโภคเตรียมรับภาระราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้น 

ภาพซ้าย ประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิฯ ภาพขวา สมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย 

9 ต.ค.2562 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รายงานว่า ประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยกรณีที่มีกระแสเรียกร้องในวงกว้างให้มีการยกเลิกการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมว่า ตนเห็นด้วยที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้และได้สั่งการให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายเร่งหารือผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง 4 ฝ่าย คือ รัฐ ผู้นำเข้า เกษตรกร ผู้บริโภคเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวภายใน 60 วัน ขณะที่รัฐมนตรี 3 กระทรวงที่เกี่ยวข้องได้มีท่าทีชัดเจนในการคำนึงถึงสุขภาพของประชาชนเป็นสำคัญ ซึ่งการเคลื่อนไหวในเรื่องดังกล่าวยังแสดงถึงการตื่นตัวของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคประชาสังคมที่ช่วยกันติดตามและนำเสนอประเด็นนโยบายของรัฐอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง

ประกายรัตน์ กล่าวว่า อย่างไรก็ดีก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 6 ก.พ.ที่ผ่านมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้มีมติเห็นชอบรายงานผลการตรวจสอบที่ 31/2562 เรื่องสิทธิในชีวิตและร่างกาย อันเกี่ยวเนื่องกับสิทธิผู้บริโภค กรณีคัดค้านการต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายพาราควอตของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งการตรวจสอบของ กสม. ได้พิจารณาข้อมูลอย่างรอบด้านโดยเฉพาะด้านพิษวิทยาที่มีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน ปริมาณสารพิษตกค้างในสินค้าเกษตร รวมถึงผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมกันนี้ กสม. ได้มีข้อเสนอแนะไปยังคณะรัฐมนตรี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อให้ดำเนินมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ตลอดทั้งแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใด ๆ ให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน

ประกายรัตน์ กล่าวต่อว่า ข้อเสนอแนะของ กสม. ที่มีถึง 3 หน่วยงานมีดังนี้ 1. คณะกรรมการวัตถุอันตราย ควรกำหนดให้พาราควอตเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตรายปี 2535 มาตรา 18 โดยห้ามมิให้มีการผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครอง 2. กระทรวงเกษตรฯ ควรแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีทางการเกษตรทุกชนิดในระยะยาว ขณะเดียวกันจะต้องพัฒนาทางเลือกด้านสารชีวภาพและเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อการเกษตรที่ยั่งยืนสำหรับเกษตรกรอย่างเป็นระบบและจริงจัง และ 3. คณะรัฐมนตรีควรจัดให้มีกฎหมายว่าด้วยการควบคุมสารเคมีทางการเกษตร เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน โดยพิจารณาจากร่างกฎหมายที่เสนอโดยภาคประชาสังคม-สาธารณสุข

“กสม. ยังรอคอยความหวังว่า ทั้งสามหน่วยงานจะปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของ กสม. อย่างครบถ้วน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาการใช้พาราควอต รวมทั้งสารเคมีการเกษตรตัวอื่น ๆ ในภาคการเกษตรที่มีอันตรายสูงต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม เช่น คลอร์ไพริฟอส ไกลโฟเซต เป็นไปอย่างเป็นระบบและยั่งยืนในทุกมิติตามที่รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 55 ได้บัญญัติให้รัฐต้องดูแลและส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี อันสอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ข้อ 12 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดให้รัฐภาคีแห่งกติกานี้รับรองสิทธิของทุกคนที่จะมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตตามมาตรฐานสูงสุดเท่าที่เป็นได้ ดังนั้น รัฐไทยจึงควรดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 40 วรรคสอง เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคและเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง” กสม. ประกายรัตน์ ระบุ

ส.ชาวสวนปาล์มฯ ค้านมติแบนพาราควอตกระทรวงเกษตรฯ 

มนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เกษตรกรกว่า 500,000 ราย ขอประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันขอยืนยันมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายเดิม “อนุญาตให้ใช้พาราควอต” ภายใต้มาตรการจำกัดการใช้ฯ เนื่องจากตลอดสองปีกว่าที่ผ่าน เกษตรกรเป็นผู้รับเคราะห์มาโดยตลอด มีการจัดตั้งคณะทำงานหลายชุดตามข้อเสนอแบนสารเคมีของกระทรวงสาธารณสุข องค์กรอิสระ เอ็นจีโอ ท้ายที่สุดมติจากคณะกรรมการวัตถุอันตรายก็ระบุชัดว่า “ข้อมูลต่าง ๆ ของฝ่ายแบนนั้น หลักฐานไม่เพียงพอ” แสดงให้เห็นว่า “ข้อมูลเหล่านั้นไม่มีน้ำหนัก ขาดความน่าเชื่อถือมาโดยตลอด” แต่ฝ่ายเสนอแบนไม่เคยยอมรับมติ เผยแพร่ข้อมูลที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อตัวเกษตรกร ต้นทุนพุ่ง กระทบต่อเศรษฐกิจการเกษตร สินค้าปลอมและสารเคมีนำเข้าผิดกฎหมายเกลื่อน ไทยสูญเสียความน่าเชื่อถือในการส่งออก ที่บอกว่าปาล์มน้ำมันทั่วโลกเลิกใช้พาราควอต เป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้องจริง ๆ แล้ว มาตรฐาน RSPO เป็นมาตรฐานสมัครใจ  ก็ยังให้ใช้พาราควอตตามเงื่อนที่จำเป็น และเป็นไปตามกฏระเบียบของประเทศ เกษตรกรที่เข้ามาตรฐาน RSPO มีกี่รายที่ทำได้ ตอนนี้อินโดนีเซียเองก็ยังออกจากมาตรฐาน RSPO มาใช้มาตรฐานของตนเอง 

รวมทั้ง คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการควบคุมวัตถุอันตรายฯ เคยรายงานต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายแล้วว่า ไม่มีข้อมูลที่สามารถเชื่อมโยงได้อย่างชัดเจนกับข้อกล่าวอ้างว่าพาราควอตเป็นสารก่อมะเร็ง โรคผิวหนังอักเสบเนื้อเน่า การถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกนั้น ล้วนแต่ขาดความชัดเจนของข้อมูล อย่างโรคมะเร็งจากบุหรี่ในปีหนึ่งๆ ห้าหมื่นกว่าคน ทำไมไม่แบนบุหรี่ 

วราวุธ ชูธรรมธัช รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า “ประเทศไทยจะเพิ่งเกษตรอินทรีย์ทั้งหมดไม่ได้ ต้องพึ่งเกษครเคมีด้วย ดังนั้นใครถนัดวิถีไหน ก็ทำไป และเป็นเรื่องที่ดีที่เกษตรกรออกมาให้ข้อมูล จะได้เป็นการให้ข้อมูลทั้งสองด้าน ไม่ใช่ให้ข้อมูลแต่เพียงด้านเดียว เป็นการโฆษณาชวนเชื่อ หากมีการแบน ต้นทุนเพิ่มขึ้น ผู้บริโภคก็ต้องรับภาระราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้น”

สิ่งที่เกษตรกรสงสัยที่สุด ตอนนี้ คือ ความพยายาม “แบนพาราควอต” อย่างรุนแรง และไม่มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ ควบคู่ไปกับ ความพยายาม “ผลักดันสารเคมีทดแทนตัวใหม่” ที่ราคาแพงกว่าหลายเท่า แถมสารที่แนะนำ เอ็นจีโอที่อังกฤษ บอกว่าก่อมะเร็งและทำลายระบบประสาท สามารถตกค้างในสิ่งแวดล้อม ซึ่งสารทดแทนที่แนะนำนี้ ขายในไทยมานานแล้ว แต่เกษตรกรไม่ใช้เหตุเพราะแพงและอันตรายกว่า งานนี้ อาจมีเบื้องหลังจากกลุ่มทุนรายใหญ่ร่วมแบน “หากพาราควอตยังอยู่ ตัวนี้ก็ขายไม่ได้” ท้ายสุด เกษตรกรก็รับเคราะห์เหมือนเดิม 

“เกษตรกร 500,000 ราย อยากร้องขอ “นายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา” และ “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน” ที่ได้รับเสียงเลือกตั้งส่วนใหญ่จากเกษตรกร “คณะกรรมการวัตถุอันตราย” “กรมวิชาการเกษตร” พิจารณาจากข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ ไม่ตามกระแสสังคม เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นประเทศชาติเสียหาย ประชาชนเดือดร้อน ต้องนำภาษีประชาชนมาใช้อีกกี่แสนล้านบาท “อย่าใช้เกษตรกรเล่นเกมการเมือง” และ “เอื้อประโยชน์นายทุนที่อยู่เบื้องหลังการแบน” มนัส กล่าว

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ทีมทนายความ-เอ็นจีโอ ดันกฎหมายสมรสเพศเดียวกัน ยื่นคำร้องต่อศาล รธน. วินิจฉัย ม. 1448

$
0
0

ทีมทนายความสำนักกฎหมายเอ็นเอสพี-มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ เดินหน้าดนแก้กฎหมายสมรสเพศเดียวกัน ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1448 (สมรสเฉพาะระหว่างชายหญิง) ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 27 (บุคคลย่อมเสมอกันในทางกฎหมาย)


ภาพจากเพจ NSP LEGAL Office

9 ต.ค. 2562 วันนี้เฟซบุ๊คแฟนเพจ NSP LEGAL Officeรายงานว่า ทีมทนายความสำนักกฎหมายเอ็นเอสพี ร่วมกับมูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ จัดทำคำร้องยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 27

เนื่องจากคู่รักเพศเดียวกันถูกปฏิเสธการจดทะเบียนสมรสและได้ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อพิจารณาเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครอง กรณีประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 27 โดยผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีคำวินิจฉัยว่า ตาม ป.พ พ. มาตรา 1448 เป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับเฉพาะคู่สมรสและกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการสมรสให้สามารถกระทำได้ระหว่างเพศชายและเพศหญิงจำเป็นต้องพิจารณาถึงเพศสภาพตามธรรมชาติของบุคคล จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลด้วยเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องเพศอันมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะพิจารณาเสนอเรื่องพร้อมทำความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ

นอกจากนั้นตรวจสอบพบว่ากรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรมอยู่ระหว่างการพิจารณา ศึกษาและจัดทำร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิต พ.ศ... เพื่อคุ้มครองและรับรองสิทธิของคู่รักเพศเดียวกันให้มีสิทธิเท่าเทียมกับคู่สมรสต่างเพศแล้ว จึงวินิจฉัยให้ยุติเรื่องร้องเรียนของผู้ร้องเรียน

คู่รักเพศเดียวกันจึงประสงค์ใช้สิทธิดำเนินการยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ภายในเก้าสิบวันนับแต่ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ

 

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน คืนสันติภาพให้จังหวัดชายแดนใต้

$
0
0

คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา

กรณีผู้พิพากษาคณากรยิงตัวเอง ทำให้เกิดประเด็นถกเถียงกันอย่างกว้างความถึงความเป็นอิสระของผู้พิพากษาซึ่งได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญ ทว่าก็คงต้องรอฟังข้อเท็จจริงจากอนุกรรมการ ก.ต.วิสามัญ ที่จะทำหน้าที่สอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นว่าเป็นอย่างไร

การตรวจร่างคำพิพากษามีข้อดีในแง่ที่ทำให้การพิพากษาคดีเป็นไปด้วยความละเอียดรอบคอบยิ่งขึ้น มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนใต้ มีการใช้กฎหมายความมั่นคงในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน กระบวนการยุติธรรมย่อมมีส่วนสำคัญในการตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐว่าเป็นไปภายในขอบเขตที่กฎหมายให้อำนาจหรือไม่ ซึ่งย่อมส่งผลดีต่อประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมโดยรวม

สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นนี้ ศาลยุติธรรมคงต้องสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นให้ได้ความกระจ่างชัดและตอบข้อสงสัยของสังคมได้ว่ามีการแทรกแซงการตัดสินคดีเกิดขึ้นจริงหรือไม่
แต่ไม่เพียงแค่นั้น สิ่งที่ศาลยุติธรรมควรต้องตอบให้ชัดเจนด้วยก็คือเส้นแบ่งระหว่างการตรวจร่างคำพิพากษากับการแทรกแซงการตัดสินคดีอยู่ที่ใด

กฎระเบียบในเรื่องที่เกี่ยวกับการตรวจร่างคำพิพากษาที่สำคัญ คือ มาตรา 11 (1) ประกอบมาตรา 14 วรรคหนึ่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ที่ให้อำนาจอธิบดีผู้พิพากษาภาคตรวจสำนวนและมีความเห็นแย้งได้ในคดีบางประเภทนั้น เพิ่งจะมีขึ้นภายหลังจากมีการแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรมในปี 2551 ซึ่งเหตุผลในการแก้ไขระบุว่า “โดยที่การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีของศาลยุติธรรมเป็นงานที่ต้องใช้ความละเอียดรอบคอบและการกลั่นกรองจากผู้พิพากษาที่มีประสบการณ์ สมควรกำหนดให้ประธานศาลฎีกามีอำนาจให้คำแนะนำแก่ข้าราชการตุลาการ และให้ผู้ที่รับผิดชอบการบริหารงานของศาลมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสำนวนและทำความเห็นแย้ง”

โดยมีการกำหนดรายละเอียดเพิ่มเติมในกรณีนี้ ตามระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยการรายงานคดีสำคัญในศาลชั้นต้นและศาลชั้นอุทธรณ์ต่อประธานศาลฎีกาและการรายงานคดีและการตรวจสำนวนคดีในสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค พ.ศ. 2562 ข้อ 9 ซึ่งกำหนดให้คดีที่ต้องรายงานต่อสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค (หมวด 2) เป็นคดีที่จะต้องส่งสำนวนและร่างคำพิพากษาหรือคำสั่งให้อธิบดีผู้พิพากษาภาคตรวจ เมื่ออ่านระเบียบข้างต้นแล้วทำให้เข้าใจไปได้ว่าร่างคำพิพากษาต้องได้รับความเห็นชอบจากอธิบดีหรือรองอธิบดีผู้พิพากษาภาคก่อน โดยไม่ได้กล่าวถึงการทำความเห็นแย้งติดสำนวนไว้ดังที่ปรากฎในพระธรรมนูญศาลยุติธรรม จึงทำให้เกิดข้อสงสัยได้ว่าระเบียบดังกล่าวขัดกับมาตรา 11 (1) พระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่

นอกจากการกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับประเภทคดีที่ต้องส่งให้ตรวจ และกำหนดผู้มีอำนาจในการตรวจร่างคำพิพากษาแล้ว ระเบียบดังกล่าวได้กำหนดรายละเอียดในเชิงเนื้อหาในการตรวจร่างคำพิพากษาเอาไว้ในข้อ 14 ซึ่งกำหนดว่า “การตรวจร่างคำพิพากษาหรือคำสั่งตามข้อ 13 ให้ดำเนินการเพื่อรักษาแนวบรรทัดฐานของคำพิพากษาหรือคำสั่ง และให้การใช้ดุลพินิจของศาลเป็นไปโดยถูกต้องในแนวทางเดียวกัน ในกรณีที่ต่างไปจากแนวบรรทัดฐาน ควรมีเหตุผลพิเศษ และให้แสดงไว้ในร่างคำพิพากษาหรือคำสั่งด้วย ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม” จะเห็นได้ว่าระเบียบดังกล่าวได้กำหนดเกณฑ์ในเชิงเนื้อหาของการตรวจร่างคำพิพากษาเอาไว้อย่างหลวม ๆ ทำให้เส้นแบ่งระหว่างการตรวจร่างคำพิพากษาและการแทรกแซงการตัดสินคดีมีความพร่าเลือน

จากกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นจึงถือเป็นโอกาสอันดีที่ศาลยุติธรรมจะได้นำระเบียบดังกล่าวมาพิจารณาปรับปรุงเพื่อเป็นแนวปฏิบัติในการตรวจร่างคำพิพากษาที่ชัดเจน และไม่เป็นการแทรกแซงความเป็นอิสระของผู้พิพากษา

คืนความยุติธรรมให้ประชาชน

จากกรณีที่เกิดขึ้นนี้ สิ่งที่ถูกตั้งคำถามมิได้มีเพียงเรื่องความเป็นอิสระขององค์กรตุลาการเท่านั้น หากแต่มีปัญหาในกระบวนการยุติธรรมในจังหวัดชายแดนใต้ที่เราไม่อาจเพิกเฉยได้อีกต่อไป ก็คือ ปัญหาการใช้กฎหมายความมั่นคงในพื้นที่ กล่าวโดยเฉพาะคือ กฎอัยการศึกฯ และ พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือในการข่าว การป้องกันหรือบรรเทาเหตุรุนแรงอันเป็นปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐที่มีความร้ายแรงจนอาจกระทบต่อเอกราชและบูรณภาพแห่งอาณาเขต และก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในประเทศ รวมทั้งทำให้ประชาชนได้รับอันตรายหรือเดือดร้อนจนไม่อาจใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติสุขแต่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่กฎหมายความมั่นคงทั้งสองฉบับนี้ได้ถูกใช้เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นจากการกระทำความผิดในคดีความมั่นคง โดยที่กฎหมายดังกล่าวมีมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมต่ำกว่ากลไกของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาปกติ ข้อมูลในชั้นซักถามในขั้นตอนการใช้อำนาจตามกฎหมายความมั่นคงจึงเป็นสิ่งที่ปรากฏเป็นปกติในสำนวนการสอบสวนและสำนวนคดีที่เกี่ยวกับความมั่นคงในจังหวัดชายแดนใต้ และกลายเป็นพยานหลักฐานชิ้นสำคัญ โดยที่เราไม่อาจทราบได้เลยว่าในขั้นตอนดังกล่าวเกิดอะไรขึ้นบ้าง แตกต่างจากกระบวนการสอบสวนในกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่ผู้ต้องหามีสิทธิมีทนายความหรือบุคคลที่ตนไว้วางใจอยู่ในกระบวนการสอบสวนด้วย

น่าประหลาดที่สิทธิของผู้ต้องสงสัยในชั้นของการใช้อำนาจตามกฎหมายความมั่นคง ซึ่งเขายังเป็นเพียงผู้ต้องสงสัยกลับมีสิทธิด้อยกว่าผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาซึ่งมีการแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว (ผู้พิพากษาคณากรใช้คำว่า “โดยผมตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ต้องสงสัยนี้ มีศักดิ์ของความเป็นผู้บริสุทธิ์เหนือกว่าผู้ต้องหา แต่กลับมีสิทธิทางกฎหมายด้อยกว่าผู้ต้องหา)

กรณีที่เกิดขึ้นจึงควรจะกระตุ้นสังคมให้กลับมามองปัญหาการใช้กฎหมายความมั่นคงในพื้นที่มากยิ่งขึ้น จะยกเลิกการใช้กฎหมายความมั่นคงในพื้นที่ไปเลย หรือหากยังเห็นว่ากฎหมายความมั่นคงยังมีความจำเป็นที่จะต้องใช้อยู่แต่ควรมีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายดังกล่าว โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการรับรองสิทธิเสรีภาพของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมากยิ่งขึ้น เช่น สิทธิในการมีทนายความ การขอขยายระยะเวลาการควบคุมตัวจะต้องนำตัวมาให้ศาลเห็นเนื้อเห็นตัว เป็นต้น กรณีที่เกิดขึ้นควรที่จะนำไปสู่การถกเถียงในเรื่องเหล่านี้ด้วย

ภายใต้บริบทของการใช้อำนาจกฎหมายความมั่นคงในพื้นที่ ศาลควรมีบทบาทในการตรวจสอบการใช้อำนาจตาม กฎหมายความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้น ในแง่นี้ศาลยุติธรรมจึงเป็นที่พึ่งสุดท้ายในการคืนความยุติธรรมให้กับประชาชน และด้วยเหตุดังกล่าวสังคมจึงคาดหวังกับองค์กรตุลาการมากกว่าองค์กรอื่น ๆ
 

คืนสันติภาพให้จังหวัดชายแดนใต้

กรณีที่เกิดขึ้นควรทำให้สังคมตระหนักว่ากระบวนการยุติธรรมเป็นส่วนสำคัญในการอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้น และมิใช่เพียงแค่การดำเนินการตามขั้นตอนที่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้นที่จะเป็นหลักประกันความยุติธรรม หากแต่จะต้องสร้างความเชื่อมั่นและไว้วางใจในกระบวนการยุติธรรมให้เกิดขึ้นในใจของประชาชนด้วย

โดยเฉพาะในพื้นที่ความขัดแย้งอย่างกรณีจังหวัดชายแดนใต้นั้น กระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพย่อมเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้ความรุนแรงไม่บานปลาย คำว่า “ประสิทธิภาพ” ในที่นี้คงไม่ได้หมายถึงสถิติการลงโทษหรือยกฟ้องคดี หากแต่หมายถึงการนำตัวผู้กระทำความผิดที่แท้จริงมาลงโทษได้โดยอาศัยพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ และให้หลักประกันได้ว่าสิทธิเสรีภาพของผู้ที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมจะไม่ถูกจำกัดเกินกว่ากรณีที่จำเป็นสำหรับการรวบรวมพยานหลักฐาน นอกจากนี้ต้องทำให้กระบวนการยุติธรรมได้รับการยอมรับจากประชาชนอีกด้วย กระบวนการยุติธรรมที่ไม่มีประสิทธิภาพและไม่ได้รับการยอมรับย่อมเป็นเงื่อนไขสำคัญในการสร้างแนวร่วมและความรุนแรงไม่รู้จบ และสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย

ในพื้นที่ความขัดแย้งกันอย่างในกรณีจังหวัดชายแดนใต้นี้ หลักการพื้นฐานที่สำคัญของกระบวนการยุติธรรมจำเป็นต้องได้รับการยืนยันอย่างหนักแน่นยิ่งกว่าในพื้นที่อื่นใด ในจังหวัดชายแดนใต้ หลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ และหลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน จะต้องได้รับการยึดถือและปฏิบัติตาม ด้วยการยึดมั่นในหลักการพื้นฐานทางกฎหมายอย่างแน่วแน่เท่านั้นที่จะทำให้คนในพื้นที่รับรู้ได้ถึงความเป็นธรรมที่รัฐได้มอบให้

กรณีผู้พิพากษาคณากรที่เกิดขึ้นนั้น จึงไม่ได้เป็นเพียงแค่เรียกร้องให้ “คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา” “คืนความยุติธรรมให้ประชาชน” หากแต่ต้อง “คืนสันติภาพให้จังหวัดชายแดนใต้” ด้วย

 

ป.ล. ขอขอบคุณผู้ที่ร่วมถกเถียงในประเด็นนี้ ทำให้เกิดแง่คิดในหลายประการ หากแต่ผมไม่สามารถเอ่ยนามเขาในที่นี้ได้และเขาคงไม่ปรารถนาที่จะให้ผมทำเช่นนั้นเช่นกัน

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน:Facebook Patani Note

ที่มาภาพ: วิสุทธ์ บินล่าเต๊ะ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงาน สำนักจุฬาราชมนตรีประจำภาคใต้เข้าเยี่ยมนายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้น ศาลจังหวัดยะลา ที่นอนรักษาตัวในโรงพยาบาลหลังจากที่บาดเจ็บเพราะยิงตัวเอง

 

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

แก้รัฐธรรมนูญ: "มาตรา 1" ข้อจำกัดใหญ่ของการกระจายอำนาจรูปแบบพิเศษ

$
0
0

รัฐธรรมนูญมาตรา 1 บัญญัติว่า "ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้"

แม้การเสนอแก้ไขมาตรานี้จะเป็นประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนโดยเฉพาะในสังคมที่มีความขัดแย้งและอุมดมการณ์ชาตินิยมยังมีบทบาทสำคัญ แต่มาตรา 1 ก็เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอยู่บ่อยครั้งในวงวิชาการ โดยข้อเสนอดังกล่าวถูกโจมตีด้วยกระแสของคนกลุ่มหนึ่ง หลังจากที่ ผศ.ดร.ชลิตา บัญฑุวงศ์ อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้กล่าวถึงการแก้ไขมาตราดังกล่าวในฐานะ 'ทางเลือกหนึ่ง' ของการแก้ข้อจำกัดของโครงสร้างรัฐที่กดทับคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

อย่างไรก็ดี ในงานศึกษาทางวิชาการและความเห็นของนักวิชาการ อย่าง รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่างเห็นตรงกันว่า โครงสร้างของรัฐมีผลต่อการรักษาไว้ซึ่งความหลากหลาย จึงจำเป็นต้องมีการจัดวางโครงสร้างเสียใหม่ แต่ทว่า "มาตรา 1"ของรัฐธรรมนูญก็ทำลายจินตนาการต่อรูปแบบโครงสร้างของรัฐที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่

ที่ผ่านมาจะมีผู้เสนอรูปแบบการปกครองใหม่ ที่ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า "มาตรา 1" เป็นข้อท้าทายอย่างหนึ่งของการแก้ปัญหาความขัดแย้งพื้นที่ชายแดนใต้

รัฐไทยไม่ยืดหยุ่นต่อความแตกต่างทางชาติพันธ์ุ-ศาสนา

รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้เขียนหนังสือ “We Love Mr.King: Malay Muslims of Southern Thailand in the Wake of Unrest” กล่าวว่า ปัญหาชายแดนใต้เป็นปัญหาของอำนาจอธิปไตยที่มันจัดการไม่ได้ หลังสยามกลายเป็นรัฐสมัยใหม่และผนวกเอาหัวเมืองมลายูเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง ทำให้ตัวตนของคนในพื้นที่มีปัญหา เนื่องจากอุดมการณ์ของรัฐไทย ที่มีชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์เป็นตัวตั้ง ไปผูกอยู่กับชาติพันธุ์ไทยและศาสนาพุทธ ขณะที่คนในพื้นที่เป็นคนมลายูและนับถือศาสนาอิสลาม จึงเกิดวิกฤตของอำนาจอธิปไตย ตัวตนของคนในพื้นที่จึงขัดแย้งกับตัวตนของประชาชนที่รัฐไทยอยากให้เป็น และปัญหานี้ก็ยิ่งลุกลามบานปลายมากขึ้น เพราะรัฐไทยมีลักษณะเป็นรัฐรวมศูนย์

โดย รศ.ดร.อนุสรณ์ ยกตัวอย่างกรณีงานกีฬาสีระหว่างโรงเรียนตาดีกา หรือ ศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิดในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ สำหรับเด็กอายุระหว่าง 5-12 ปี ซึ่งเดิมทีตาดีกาสัมพันธ์จะจัดโดยตาดีกาของแต่ละตำบล เป็นเจ้าภาพและแข่งกันเองระดับตำบล แต่ต่อมาทางอำเภอกับปลัดอำเภอมาแจ้งว่า ต่อไปนี้ให้งานตาดีกาสัมพันธ์ไม่ต้องจัดระดับตำบลแล้ว แต่ให้มาจัดร่วมกันระดับอำเภอ โดยอ้างว่า ต้องการลดภาระค่าใข้จ่ายให้กับตาดีกา แต่คนในตาดีการู้ดีว่า สาเหตุ จริงๆ ไม่ใช่ต้องการลดค่าใช้จ่าย เพราะในความเป็นจริงทางอำเภอก็ไม่เคยช่วยค่าใช้จ่ายอะไรเลย แต่เหตุผลจริงๆ คือ ต้องการจะมาสอดส่งตรวจตราทุกๆ กิจกรรมของตาดีกา คล้ายๆ กับที่เข้าไปสอดส่องปอเนาะ หรือ สถานการศึกษาของครูสอนศาสนาอิสลาม เพราะคิดว่า เป็นแหล่งบ่มเพาะแนวคิดอิสลามสุดขั้ว ที่เขาเชื่อว่า เป็นเหตุประการหนึ่งที่ทำให้เหตุการณ์ความไม่สงบมันปะทุขึ้นมา เขาจึงต้องการสอดส่องทุกอย่าง ซึ่งคนในพื้นที่ก็ไม่มีทางเลือก ไม่งั้นจะถูกกล่าวหาว่า ต่อต้านรัฐหรือฝักใฝ่เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหว

ผลสุดท้ายแล้ว สิ่งเกาะเกี่ยวระหว่างรัฐไทยและคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภายใต้ จึงเป็นการแสดงออกถึงความเป็นพสกนิกรที่จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ เพื่อสะท้อนถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของชาติ แต่ รศ.ดร.อนุสรณ์ ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า วิธีการดังกล่าวไม่มั่นคงพอเนื่องจากพึ่งพาแต่พระบารมีของสถาบันกษัตริย์ ไม่ใช่การจัดวางตัวรัฐให้มีความยืดหยุ่น เข้าใจปัญหาและสามารถจะแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเอง 

มาตรา 1 ทำให้รัฐไทยขาดจินตนาการทางการเมืองใหม่ๆ

โจทย์ในการจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภายใต้ไม่ใช่เรื่องง่าย หลายปีที่ผ่านมามีความพยายามเสนอให้จัดโครงสร้างรัฐใหม่ เช่น ข้อเสนอเรื่องเขตการปกครองพิเศษ หรือ จังหวัดจัดการตนเอง แต่ก็ถูกตั้งข้อครหาว่าเป็น "แยกตัวตั้งรัฐใหม่" และรัฐธรรมนูญมาตรา 1 ที่ระบุว่า ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้ ก็ถูกยกขึ้นมาอ้างเป็นข้อจำกัดใหญ่สำหรับการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจรัฐให้สอดคล้องกับความต้องการในแต่ละท้องที่

สอดคล้องกับความเห็นของ ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่กล่าวปาฐกถาในเวทีฟื้นฟูพลังท้องถิ่นสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทย เมื่อปี 2555 ว่า ไทยเป็นรัฐรวมศูนย์ที่เข้มข้นที่สุดรัฐหนึ่งในโลก เรามีส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคเป็นพระเอก เราเน้น “เอกนิยม” เป็นหลักคิด คือ มีชาติเดียว ภาษาเดียว อำนาจรัฐเดียว เป็นรัฐเดี่ยว และเป็นรัฐเดี่ยวที่ค่อนข้างจะเถรตรง อำนาจสาธารณะอยู่กับรัฐแต่ผู้เดียว รัฐของเราแม้จะมีความตั้งใจดีแต่ผูกขาดการแก้ปัญหา ผูกขาดการจัดการ การบริหาร การดูแลสังคมและประเทศ ไม่ค่อยมีที่ทางให้ความคิดหลายมิติ ความคิดหลายระดับ ในประเทศไทยมีรัฐย่อยไม่ได้ ข้อเสนอเรื่องปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษที่สามจังหวัดภาคใต้ก็มีคนไม่เห็นด้วย

ศ.ดร.เอนก ยังกล่าวในช่วงที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อปี 2555 ด้วยว่า ประเด็นที่น่าคิดก็คือ อย่าแก้มาตราอื่นๆ แล้วปล่อยมาตราที่ว่ารัฐไทยเป็นรัฐเดี่ยว คิดจะแบ่งแยกไม่ได้ น่าจะต้องอธิบายด้วยว่า ถ้าจะเป็นรัฐเดี่ยว ต้องเป็นพหุนิยมมากกว่านี้ ต้องปลดปล่อยพลังของท้องถิ่น ชุมชน พลังสังคม ดังที่รัฐสมัยหนึ่งได้ปลดปล่อยพลังภาคธุรกิจเอกชนมาแล้ว

จัดโครงสร้างรัฐใหม่ ไม่ใช่การแบ่งแยกดินแดน

อย่างไรก็ดี ในปัญหาความขัดแย้งและไม่สงบในชายแดนภาคใต้ มีนักวิชาการจำนวนไม่น้อยที่พยายามเสนอวิธีแก้ปัญหาโดยการปรับโครงสร้างของรัฐให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์และความต้องการของคนในพื้นที่ ในขณะเดียวกันก็ต้องพยายามหลีกเลี่ยงข้อครหาว่า ก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบของรัฐที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ

ยกตัวอย่างเช่น งานวิจัยของ ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ร่วมกับ อาจารย์สุกรี หลังปูเต๊ะ จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา ที่เสนอเรื่อง "การปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้" โดยเสนอให้มี "ทบวงการบริหารการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้” (Southern Border Provinces Development Administration Bureau - SBPAB) ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี มีรัฐมนตรีทบวงเป็นผู้ดูแลนโยบาย และเสนอให้มี "สมัชชาประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้” (Chamber of Southern Border Provinces-CSBP) โดยกำหนดให้เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่เป็นสภาประชาชนในพื้นที่ คล้ายสภาที่ปรึกษาเพื่อกลั่นกรองนโยบายจากภาคประชาชน และมี "องค์กรสภาผู้รู้ทางศาสนาในระดับตำบล" เพื่อถ่วงดุลการบริหารงานของผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

หรือ ในข้อเสนอของ รศ.ดร.โคทม อารียา ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เสนอให้ผนวกจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา และ 4 อำเภอของสงขลา ได้แก่ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย เข้าเป็นจังหวัดชายแดนภาคใต้ และให้มีการปกครองส่วนท้องถิ่นใน 3 ระดับ คือ ระดับภูมิภาคที่รวมจังหวัดชายแดนใต้เป็นหนึ่งภูมิภาค และให้มีระดับจังหวัดแต่ละจังหวัด ส่วนระดับท้องถิ่นให้มีการควบรวมองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นเข้าเป็นเทศบาลนคร เทศบาลเมือง และเทศบาลตำบล ตามลำดับ และให้ราชการส่วนกลางคงอำนาจไว้เฉพาะการศาล การป้องกันประเทศ การต่างประเทศ การคลัง การงบประมาณ เป็นต้น นอกจากนี้ ให้การบริการสาธารณะ เช่น การศึกษา สาธารณสุข ตำรวจ อยู่ในความรับผิดชอบร่วมระหว่างการปกครองส่วนกลางและการปกครองส่วนภูมิภาค

เผยแพร่ครั้งแรกใน: โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)

  

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

กลุ่ม 24 มิถุนาฯ จ่อร้อง สตช. ตามความคืบหน้าคดี 8 ผู้ลี้ภัยการเมืองไทยตาย-สูญหาย

$
0
0

สมยศ พฤกษาเกษมสุข เผย 10 ต.ค.นี้ เวลา 10.30 น.กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย และครอบครัวผู้ลี้ภัยการเมืองไทยที่ตาย-สูญหาย จะเข้าติดตามคดีที่ สตช. ขณะที่ 'เอกชัย' ร้อง กมธ.กฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชนของสภาฯ ติดตามคดีการทำร้ายนักกิจกรรม

ที่มาภาพ เฟสบุ๊ค Somyot Pruksakasemsuk 

10 ต.ค.2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 8 ต.ค.ที่ผ่านมา สมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊ค Somyot Pruksakasemsukแจ้งว่า กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตยและครอบครัวผู้ถูกอุ้มฆ่า จะได้นำเรื่องราวการอุ้มฆ่าหายตัวไปของผู้ลี้ภัยทางการเมืองทั้ง 8 คน เพื่อให้ตำรวจติดตามคดีเหล่านี้ให้เกิดความกระจ่างเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมกันต่อไป ใน 10 ต.ค.นี้ เวลา 10.30 น. ที่บริเวณอนุสาวรีย์ตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)

สำหรับ ผู้ลี้ภัยการเมืองไทยที่ถูกอุ้มหาย อุ้มฆ่า และสูญหายไปจากประเทศลาว ตั้งแต่ปี 2559 ประกอบด้วย วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือ ‘โกตี๋’, อิทธิพล สุขแป้น หรือ ดีเจเบียร์ หรือ ดีเจซุนโฮ, สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือ สุรชัย แซ่ด่าน, ภูชนะ, สหายกาสะลอง,  ‘ลุงสนามหลวง’ หรือชูชีพ ชีวะสุทธิ์, สยาม ธีรวุฒิ และ กฤษณะ ทัพไทย หรือสหายยังบลัด

Banrasdr Photoรายงานด้วยว่า เมื่อวันที่ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่รัฐสภา เอกชัย หงส์กังวาน และสิรวิทย์ ช่วงเสน เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน เรียกร้องให้มีการติดตามคดีการทำร้ายนักกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยมีพรรณณิการ์ วานิช รองประธานกรรมาธิการกฎหมาย เป็นผู้รับหนังสือ

เอกชัย ระบุว่าในปีนี้มีการทำร้ายร่างกายนักกิจกรรมรวม 9 คดี แต่ยังไม่มีความคืบหน้าทางคดีใดๆเลย ตนจึงขอเรียกร้องให้มีการตั้งชุดสอบสวนพิเศษเพื่อหาผู้กระทำผิด ขอให้คุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินของนักกิจกรรมทางการเมือง และขอให้กำหนดโทษสถานหนักหากเจ้าหน้าที่บกพร่องในการคุ้มครองรักษาความปลอดภัย เอกชัยระบุต่อว่าข้อเรียกร้องทั้งหมดนี้เป็นเรืองที่จำเป็นและสำคัญ เพราะนอกจากคดียังไม่มีความคืบหน้าแล้วยังมีการข่มขู่นักกิจกรรมทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

มโนทัศน์เบื้องหลังการไม่กลายเป็นวีรชนในวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด

$
0
0

บทความย่อประเด็นมาจาก
ธนัชชนม์ ธนาธิป-ปริพัฒน์. (2562). “มโนทัศน์เรื่องการ (ไม่) กลายเป็นวีรชนของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ทางการเมืองไทยร่วมสมัย” ใน การประชุมวิชาการระดับชาติ ธีรทัศน์เชิงมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ (น.858-875). กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย. 

เกริ่นนำ

อาจเจ็บปวดอยู่สักหน่อยหากต้องกล่าวว่า ปฏิบัติการในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2549 ของ ลุงนวมทอง ไพรวัลย์ เพิ่งครบรอบ 13 ปี ไปอย่างเงียบเชียบเหมือนกับทุกปีที่ผ่านมา อาจเพราะกระแสสังคมที่นับวันยิ่งตื่นตัวไปกับปรากฏการณ์รายวันซึ่งชี้ชวนให้รู้สึกว่าน่าสนใจกว่า นั่นคือเหตุโดยบังเอิญที่ข่าวสารมากมายทำหน้าที่กลบฝังและฉกฉวยการมีตัวตนอยู่ของวีรชนผู้นี้ ทั้งที่ ลุงนวมทอง เป็นบุคคลร่วมสมัยแทบจะเป็นคนเดียวที่สู้อุตส่าห์แสดงเจตนาเพื่อที่จะลบล้างคำสบประมาทของนายทหารผู้หนึ่งที่ว่า “...ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้...”[1]ทั้งลุงนวมทองก็มิได้กระทำตนในลักษณะของการปลุกระดม มิได้สร้างเหตุการณ์อาศัยมวลชน หรือมิได้กล่าวสุนทรพจน์หรือปราศรัยให้ใครต้องแสดงความนับถือในปณิธานของตน ลุงนวมทองเลือกที่จะพลีชีวิตของตนเป็น “มรณสักขี” (Martyr) อย่างเงียบๆ ด้วยการผูกคอตายราวกับจะเยาะเย้ยว่า ความตายไม่อาจเปลี่ยนความจริงในใจของตนได้ ก็สมตามที่ เกษียร เตชะพีระ ได้หยิบยืมคำนี้มายกย่อง [2] 

ที่น่าเศร้าคือ ความตายของลุงนวมทองจัดประเภทไม่ได้ เพราะ เป็นการฆ่าตัวตาย รัฐมิได้อยู่ในฐานะจำเลยโดยตรงที่กระทำให้ตาย ซ้ำร้าย ลุงนวมทอง มิใช่บุคคลที่มีชื่อเสียง เป็นเพียงคนธรรมดาคนหนึ่ง นั่นยิ่งทำให้ ลุงนวมทองผู้สมควรเป็นวีรชนร่วมสมัย มิอาจเป็นแรงบันดาลใจที่ลึกซึ้งให้กับผู้ใดได้ เหตุว่า โลกทุนนิยมไม่พร้อมที่จะผลิตซ้ำสินค้าที่ขายไม่ได้ดังเช่นลุงนวมทอง ชายแก่นิรนามที่ผ่านมาและผ่านไป และเมื่อสืบค้นลงไปในอดีต ก็ยิ่งพบอีกว่า มีบุคคลนิรนามเช่นนี้อีกมากที่ถูกลืมเลือน ตัวอย่างหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ เช่น กรณีของ ธนาวุฒิ คลิ้งเชื้อในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2533  ผู้เผาตัวตายไม่ต่างจากชาวทิเบตที่แสดงสัญลักษณ์ต่อรัฐบาลจีน แต่วีรกรรมที่หนักแน่นดังกล่าวกลายกลับเป็นเรื่องที่ผู้คนกลับลืมเสียสิ้น ข้อความนี้ ผู้อ่านพิสูจน์ได้จากการสืบค้นข่าวดังกล่าวด้วยตนเอง 

ความแปลกประหลาดเช่นนี้ จึงเป็นที่มาของความสงสัยที่ว่า มีมโนทัศน์อะไรที่แฝงฝังอย่างแนบเนียนอยู่ในสังคมไทยหรือไม่ ซึ่งมโนทัศน์ดังกล่าวยังผลให้ทุกชีวิตที่ล้วนตายจากเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองไม่อาจกลายเป็นวีรชนได้ตามความหมายของวีรชนเลย มิพักต้องพูดถึง ความตายที่มีเงื่อนงำของนักเคลื่อนไหวหลายคนที่ยังคงหายสาบสูญ  หรือแม้กระทั่งกรณีของ“บิลลี่”ผู้เสียชีวิตในลักษณะไม่ต่างจากมรณสักขีในยุคเริ่มต้นของศาสนจักร กล่าวคือ การถูกเผา ในท่ามกลางความเงียบของวันที่สัตว์อย่างเสือดำมีแนวโน้มว่าจะตายฟรีเสียแล้ว เพราะแม้แต่คนเองยังตายฟรี ความเงียบที่ปรากฏตัวสม่ำเสมอกว่าความกล้าหาญนี้ คงเคียงข้างความตายของลุงนวมทองในเส้นเชือกที่ใช้ปลิดชีวิตวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2549 ในความเงียบ และในการไม่กลายเป็นวีรชน

เพราะฟันเฟืองนิรนามมิได้ถูกทำให้ขับเคลื่อนสิ่งใด

มีอะไรบางอย่างทำให้ ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ทางการเมืองคงเป็นเพียงฟันเฟืองนิรนามที่มิได้ขับเคลื่อนสิ่งใด แม้ว่า พวงทอง ภวัครพันธุ์ และ ธงชัย วินิจจะกูล (2561) พยายามอย่างน่านับถือที่จะคืนชื่อเสียงเรียงนามให้กับผู้ที่ตายนั้น  และในความพยายามหลายปีของพวงทองนี้เอง เธอตั้งข้อสังเกตว่า มีวัฒนธรรมบางอย่างฝังรากลึกในระบบความคิดของผู้คน ซึ่งในบรรดายอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่ขึ้นมานั้น เธอเรียกวัฒนธรรมที่เป็นปรากฏการณ์ในสังคมไทยนั้นว่า “วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด” (impunity) [3] (พวงทอง ภวัครพันธุ์ ใน กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล, 2560, น.74-92)

เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ยิ่งชัดเจนในตัวเองว่า ฟันเฟืองนิรนามจะยังไม่ถูกรับเข้าสู่กระบวนการใดๆ ด้วยว่า การเข้าสู่กระบวนการจะเป็นการลากจูงฉุดรั้งให้มีคนต้องรับผิด มากยิ่งไปกว่านั้น หากเปรียบเทียบระหว่าง 2 เหตุการณ์ที่มีชื่อเสียงในเดือนตุลา คือ 6 และ 14 เหตุการณ์ที่ชื่อว่าป่าเถื่อนไร้มนุษยธรรมมากที่สุดอย่าง 6 ตุลา กลับยิ่งไม่ถูกพูดถึง จะเห็นว่า ญาติมิตรของผู้ตาย รวมถึง อดีตนักเคลื่อนไหวถูกบังคับให้ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง นั่นเองขบวนการฟื้นฟูความทรงจำเดือนตุลาจึงจำกัดวงชัดอยู่แต่เหตุการณ์ 14 ตุลา เท่านั้น [4]

ข้อจำกัดนี้ เป็นบทพิสูจน์ว่า ฟันเฟืองนิรนามเหล่านี้ยังไม่ได้ทำหน้าที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คนในสังคม จะคงเหลือไว้ก็แต่การทำบุญอุทิศส่วนกุศลตามวาระเท่านั้น ขณะที่การสรรเสริญว่าเป็น “...วีรชน...” เป็นการให้เกียรติที่ดูเหมือนจะไม่มีผลในทางปฏิบัติ

วีรชนในมโนทัศน์ตะวันตกที่จุดไม่ติดในประเทศไทย

สาเหตุที่คนเล็กน้อย ผู้ซึ่งตายเพื่อยืนหยัดอุดมการณ์อันยิ่งใหญ่ ยิ่งทียิ่งเงียบหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ ถึงแม้จะมีการสรรเสริญพวกเขาอยู่บ้างก็ตาม ไม่เหมือนกับความตายของคนเล็กน้อยในมโนทัศน์ตะวันตก ด้วยว่า ความตายในโลกทัศน์ตะวันตกมีรากฐานมั่นคงมาจากปฏิสัมพันธ์ที่สังคมมีต่อคริสต์ศาสนา ไม่ว่าผู้นั้นจะยังคงนับถือหรือเลิกนับถือคริสต์ศาสนาไปแล้วก็ตาม จึงมโนทัศน์ที่หยั่งรากลึกมายาวนานยังขับเคลื่อนผู้คนให้ใส่ใจต่อความตายของคนเล็กน้อยที่กล้าเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ด้วยอุดมการณ์ เช่น คำกล่าวต้นฉบับของแตร์ตูเลียนซึ่งได้ประกาศไว้ตั้งแต่ต้นคริสตวรรษที่ว่า “...ยิ่งฆ่าพวกเราก็ยิ่งทวีคูณ เลือดของมรณสักขีคือเมล็ดพันธุ์ของคริสตชน...” (Plures efficimur quotiens metimur a vobis: semen est sanguis Christianorum) ยังคงเป็นที่มาของข้อความสร้างแรงบันดาลใจในทำนองเดียวกันนี้อีกมากมาย และน่าสังเกตว่า คนไทยก็เคยหยิบยกมาใช้ด้วยซ้ำในการปราศรัย แต่แน่นอนที่สุด ความคิดเช่นนี้มิได้เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย เรามีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ทางการเมืองไม่น้อยแล้วที่ถูกฆ่าอย่างอำมหิตแต่ก็กลับเงียบเชียบที่สุด ความกลัวปกคลุมไปในสังคมไม่ต่างจากสมัยที่คริสตชนหวาดกลัวการเบียดเบียนของชาวโรมัน แต่ทว่า จำนวนผู้เสียชีวิตและหายสาบสูญที่มากและไร้เหตุผลขึ้นเรื่อยๆ มิได้ทำให้เกิดการทวีคูณหรือกลายเป็นเมล็ดพันธุ์

น่าสันนิษฐานว่า มโนทัศน์ที่สังคมไทยมีอยู่คงเป็นคนละรูปแบบกับการยอมตายแบบมรณสักขีของคริสต์ศาสนา เช่น ตัวอย่างจากความคิดแบบอนุรักษ์นิยมขวาจัดซึ่งมักคิดว่า บุคคลที่หยัดยืนในอุดมการณ์นั้น รนหาที่ / บังเอิญตาย / ทำเพื่อผลประโยชน์ที่หยาบ  (การรับเงินมาจากผู้ไม่ประสงค์ดีต่อรัฐ) ทัศนคติเช่นนี้ โถมทับให้การเคลื่อนไหวเพื่ออุดมการณ์ในสังคมไทยต้องไม่มีลักษณะรนหาที่ นั่นเองทำให้การเคลื่อนไหวยิ่งตีบแคบในตัวมันเอง นักเคลื่อนไหวหลายคน รวมถึง คนเดือนตุลาฯด้วย เปลี่ยนแปลงวิธีการไปไม่น้อย อีกทั้ง ผู้มีอำนาจซึ่งเห็นประโยชน์จากความไม่พร้อมยอมเป็นวีรชนนี้ ย่อมจะทำให้แน่ใจว่าความสงบราบคาบแบบ
กดบังคับจะเกิดขึ้นได้จริงและคงอยู่ตลอดไป โดยวาดภาพให้ความตายรออยู่ในมุมมืด เช่น การบังคับให้หายสาบสูญ ซึ่งเหตุการณ์ดิบเถื่อนนี้ล้นออกมาจากมุมมืดจนเห็นได้ชัดในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2519 ธงชัย วินิจจะกูล (2553) เรียกว่า จากชัยชนะสู่ความเงียบแต่ยังชนะอยู่ดี [5]และอย่าว่าแต่เหตุการณ์เดือนตุลาคม พ.ศ. 2519 เลย แม้กระทั่งความตายของมรณสักขีชาวคริสต์ในช่วงสงครามอินโดจีน ก็ไม่เป็นที่รู้จักหรือถูกอ้างถึงในการวิชาการทางรัฐศาสตร์ของประเทศไทยสักเท่าไร

พุทธศาสนาเถรวาทแบบไทย : การทำให้วีรชนในมโนทัศน์ตะวันตกไม่ปรากฏ

ถ้าไม่ใช่คนอย่าง เกษียร เตชะพีชะ จรดปากกายกย่อง นวมทอง ไพรวัลย์ ใครกันจะกล้าใช้คำใหญ่เช่นนี้เพื่อยอมรับว่า ชายแก่ที่กระทำอัตนิวิบากกรรมคนนี้เป็น “...มรณสักขี...” เพราะต่อให้คนเล็กน้อยยกย่องกันเองโดยใช้คำใหญ่ทุกอย่างก็ย่อมลับเลือนหายไปจนอาจสืบค้นไม่ได้ เราอาจแสดงปรากฏการณ์ที่กลบฝังกรณีลุงนวมทองได้ 2 ชั้น ได้แก่

(1) พฤติกรรมรนหาที่ตายจากความคิดของอนุรักษ์นิยมขวาจัดที่ดูแคลนผู้ที่คิดต่างมาโดยตลอด ดังนั้น ใครที่เข้าข่ายรนหาที่ตาย บุคคลนั้นกลายเป็น คนไร้ค่า (ฟันเฟืองนิรนาม) ที่ต้องไม่ถูกพูดถึงทันที ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลเรื่องความหวาดกลัวที่จะต้องรับผิด (วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด) หรืออะไรก็ตาม คำสอนที่เข้ามาสอดรับกับเรื่องนี้ ได้แก่ กรรมชั่วที่ทำให้บุคคลนั้นรนหาที่ตาย, ความโง่เขลาอวิชชา

(2) พฤติกรรมฆ่าตัวตาย เป็นการรนหาที่ตายที่ซับซ้อนไปกว่าเพราะมิได้รบกวนแต่ความคิดของอนุรักษ์นิยม และยังท้าทายมโนสำนึกของญาติมิตรพวกเดียวกันอีกด้วย กล่าวคือ ต้องยอมรับการฆ่าตัวตายหรือไม่? เพราะคำสอนที่เข้ามาสอดรับกับเรื่องนี้ ได้แก่ การฆ่าตัวตายเป็นการกระทำที่สูญเปล่า เป็นการกระทำที่เป็นบาป

เป็นที่น่าสังเกตว่า กรณีฆ่าตัวตายบีบบังคับอย่างหนักหน่วงให้ไม่เกิดทางออกทางจริยศาสตร์ที่เหมาะสม ด้วยว่าคำสอนในพุทธศาสนาเถรวาทของสังคมไทยไม่มีที่ทางให้ปรากฏการณ์นี้อยู่ก่อน กล่าวคือ ญาติมิตรพวกเดียวกันควรจะสรรเสริญยกย่องดังเช่นที่ชาวคริสต์ยกย่องมรณสักขีของตนหรือไม่? หรืออีกแง่คำสอนที่ไหลเวียนอยู่ในสังคมไทยที่ว่า“การฆ่าตัวตาย”เป็นบาปหนักก็หลอกหลอนและรบกวนมโนสำนึกอยู่ตลอดเช่นกัน จึงทำให้เกิดความคลางแคลงว่า จะต้องยกย่องวีรชนผู้สมัครใจที่จะตายเช่นนี้ (Voluntary martyr) ในระดับใดจึงจะไม่เป็นการส่งเสริมให้เกิดการเลียนแบบฆ่าตัวตาย หรือหนักไปกว่านั้น คือ กลับมองว่าความตายอันมีคุณค่านี้เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ไม่ควรให้เกิดขึ้น โดยมิได้ แยกแยะระหว่างความรู้สึกส่วนตัวที่มีต่อความตายที่ยังไม่เกิด กับ ความตายที่เกิดขึ้นไปแล้ว ความสับสนดังกล่าวนำไปสู่ “...ความเงียบ...” กล่าวคือ คงดีกว่าถ้าจะปล่อยให้การสร้างแรงบันดาลใจเป็นหน้าที่ของบุคคลที่มีชื่อเสียงประกอบสร้างขึ้นมา ขณะที่ ญาติมิตรพวกเดียวกันทำได้อย่างที่ดีที่สุด คือ การอุทิศส่วนกุศลในตามวาระ

ลักษณะนี้ตอกย้ำว่า วีรชนไม่ใช่เรา นั่นหมายความว่า เราจะไม่ยอมตายแบบวีรชน อีกด้วย ความตายของวีรชนจึงกลายเป็นบทเรียนที่ห้ามทุกคนไม่ให้กล้าหาญที่จะตาย

“...กรรม...” ในฐานะสูตรสำเร็จของวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดและการไม่กลายเป็นวีรชน

สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความเชื่อสับสนในเรื่องของกรรม แต่ในความสับสนนั้นบ่อยครั้งที่ “...กรรม...” กลายเป็นสูตรสำเร็จในการตอบคำถามที่ถูกยกเว้น (Unspeakable) และการอ้างเหตุผลเช่นนี้ สัมพันธ์กับวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด 

กล่าวคือ เมื่อไม่รู้จะให้เหตุผลอย่างอารยะรูปแบบไหนแล้ว ก็โพล่งใช้เหตุผลเรื่อง “...กรรม...” เพื่อลอยตัวเหนือภาวะที่ตนเองต้องรับผิดชอบ ดังเห็นได้จาก คำพิพากษาคดีพระพิมลธรรม วันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2509 ซึ่งมีเนื้อหาพิลึกพิลั่นว่า “...ไม่ใช่ความผิดของผู้ใด แต่เป็นความผิดของสังสารวัฏเอง...”และเมื่อผู้มีอำนาจโยนภาระต้องรับผิดให้เป็นเรื่องของนามธรรมเช่นนี้ ทุกอย่างที่ถูกยกเว้น หรือ ห้ามพูดก็จะกลายเป็นเพียงอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝันและไม่มีใครอยากให้เกิดบ้าง หรือเป็นความบังเอิญของเหตุการณ์ที่น่าเห็นอกเห็นใจบ้าง จนที่สุด ย่อมลงท้ายด้วยการเสแสร้งและปลอบใจด้วยคำว่า “...คงเป็นกรรมเก่า...”มุมมองเช่นนี้แฝงในนัยยะของการเหยียดหยามผู้ตายด้วยว่า พวกเขาเสวยวิบากชั่ว เป็นทุคติ ซึ่งข้อนี้แตกต่างอย่างรุนแรงกับมโนทัศน์แบบตะวันตกที่ชี้ว่า ความทุกข์อันเกิดจากการถูกเบียดเบียนเพราะความชอบธรรมเป็นหนทางสู่สุคติ ทั้งยังเป็นการบำเพ็ญตบะแบบที่พระเยซูได้กระทำ อันที่จริง แนวคิดเช่นนี้มีปรากฏในพุทธศาสนาแบบทิเบตและพระสูตรมหายาน จึงควรกล่าวให้ชัดว่า คงเป็นพุทธศาสนารูปแบบเฉพาะของประเทศไทย

ก็ในเมื่อ ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ทางการเมืองทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น ฟันเฟืองนิรนาม, นวมทอง ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ทางการเมืองจากความขัดแย้งที่ปะทุตั้งแต่ พ.ศ. 2549 เป็น “...ผู้ได้รับผลกรรม...” ต้องลำบาก ต้องตาย ต้องถึงแก่กรรมในลักษณะอย่างทุคติ ก็ด้วยเพราะกรรมชั่วที่ตนเคยทำมาทั้งในอดีตชาติและปัจจุบันชาติ เมื่ออธิบายกันเช่นนี้ หากพูดกันจนถึงที่สุด ผู้ตายจะถูกยกย่องสรรเสริญให้กลายเป็น วีรชน / มรณสักขี ที่จะกลายเป็นสัญลักษณ์ของแรงบันดาลใจได้อย่างไร ในเมื่อมโนทัศน์เบื้องลึกเต็มไปด้วยความกลัว เป็นมโนทัศน์เชิงลบ เมื่อยกตัวอย่างมโนทัศน์อื่น เช่น แรงบันดาลใจของชาวทิเบตที่ออกมาเผาตัวเองอย่างไม่รู้จักความหวาดกลัว ย่อมแน่ชัดว่ามิได้ถือกำเนิดขึ้นจากการมองตนเองติดลบเช่นนี้ และยิ่งทำให้เกิดข้อสงสัยขึ้นอีกประการหนึ่งนั่นคือ“...หรือความเป็นวีรชนนั้นเป็นสิ่งที่ถูกสงวนไว้...”มีเพียงบางคนที่สามารถเป็นวีรชน ไม่ใช่ ทุกคนที่สามารถเป็นวีรชน

ไม่เพียงแต่รัฐหรือผู้มีอำนาจที่พยายามกดบังคับให้ประชาชนเชื่อและคิดเช่นนั้น แต่เป็นประชาชนเองด้วยที่ช่วยกันเชื่อและเชื่องต่อมโนทัศน์ดังกล่าวนี้ พุทธศาสนาถูกแบ่งแยกให้กลายเป็น พุทธศาสนาแบบชาวบ้าน ผู้เต็มไปด้วยความไม่รู้ เจือปนเรื่องผี และพระภิกษุสงฆ์ที่ไม่เคร่งครัดพระธรรมวินัย กับ พุทธศาสนาแบบผู้รู้ ซึ่งมีขั้นตอนการเลือกเฟ้น แต่ละสิ่งที่ส่งเสริมศรัทธาอย่างมีเหตุผลและพิถีพิถัน

ปรากฏการณ์นี้โดยตัวมันเองกีดกันและก่อให้เกิดมโนทัศน์ว่า จะมีเพียงบางคนเท่านั้นที่จะถูกอนุญาติให้เข้าไปสู่ปริมณฑลของพุทธศาสนาแบบผู้รู้ และเมื่อประกอบกับคำอธิบายว่า พระพุทธเจ้าคือเอกะ คือ บุคคลผู้เลิศในโลก ซึ่งมีน้ำเสียงเน้นชัดไปในทำนองว่า ไม่ใช่แค่บางคน แต่เป็นเพียงคนเดียว (unique one) ยิ่งผลักไสโพธิญาณให้มิใช่เรื่องของทุกคนแต่อย่างใด แตกต่างจากคำสอนของมหายานที่วางฐานความเชื่อไว้ว่า ทุกคนมีโพธิจิตเป็นเมล็ดพันธุ์แห่งการตรัสรู้อยู่ การแบ่งแยกอย่างชัดซึ่งสามารถสอบทานได้จากปรากฏการณ์ในสังคมไทยที่มีตัวอย่างมากมายจนยกกันได้เองนี้ ทำให้เกิดการขีดเส้นใต้ว่า “...มีเพียงบางคนที่สามารถเป็นวีรชน...”

ความรู้สึกเช่นนี้ เป็นการแสดงออกที่สะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนถูกกดบังคับจนรู้สึกด้อยคุณค่าเพียงใด 
เมื่อประชาชนไม่ตระหนักเลยว่า ตนเองเป็นส่วนหนึ่งของพลังที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทางบวกโดยธรรมชาติ ประชาชนก็ย่อมที่จะสยบยอมและเพิกเฉยต่อความอยุติธรรมภายใต้ชุดคำอธิบายต่างๆ และในเมื่อธรรมชาติของสังคมถึงแม้จะกดบังคับ หรือ ฝืนธรรมชาติเพียงใด ก็ยังก่อเกิด “...บางคน...”ที่จะพร้อมจะลุกขึ้นมาด้วยความเชื่อว่า ตนมีพลังที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมจนได้ แต่บุคคลเหล่านั้นมักมีตัวตนอยู่และจากไปอย่างรวดเร็ว โดยไม่ทันระมัดระวังตัว ในมุมมืด ในความกลัว ในการคุกคามของผู้มีอำนาจ จนที่สุด ประชาชนพร้อมจะรู้สึกว่า ตนไม่สามารถเป็นวีรชน ด้วยว่า บุญญาบารมีอาจไม่ถึงขีดขั้น จึงพาลคิดว่าการเป็นวีรชนคือคนอื่นที่ไม่ใช่ตนเสมอ ทำให้เมื่อเกิดคนอย่างนวมทองขึ้นมาความสับสนอลหม่านทางจริยศาสตร์จึงเกิดขึ้น เช่น “...นวมทองควรเป็นมรณสักขี...” หรือไม่? ควรปฏิบัติอย่างไร?

จะมีวีรชนในวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดได้หรือไม่? 

ขณะที่ วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด ยังคงอยู่ จะมี “...วีรชน...” ได้หรือไม่ ? คำตอบคือ มีได้ เห็นได้จากความพยายามที่น่านับถือของนักวิชาการในความพยายามที่จะไม่ลืม “...ฟันเฟืองนิรนาม...”(โปรดดูใน doct6.com) อย่างไรก็ตาม แก่นรากของการไม่กลายเป็นวีรชนอยู่ที่มโนทัศน์ของผู้คนในสังคมเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บุคคลใกล้ตัว ญาติมิตรหรือเพื่อนร่วมอุดมการณ์ ที่จะหลงลืมลดคุณค่าของผู้ตายและของตนจนกลายเป็นผู้รอให้ถูกกระทำอยู่ตลอดเวลา ทั้งที่ การศึกษาเหตุการณ์ความสูญเสียซึ่งทำให้สังคมไทยมี “...วีรชน...” ในทุกปีนั้น ควรทำให้เกิดความตระหนักรู้ว่า เกิดอะไรขึ้นกับตนเองในฐานะสิ่งมีชีวิตที่ถูกกดบังคับภายใต้รัฐผ่านความตายของผู้กล้าหาญซึ่งล่วงหน้าไปแล้วคนนั้น

อีกประการหนึ่งคือ พุทธศาสนาก็มิใช่จำเลยที่กีดกันไม่ให้เกิดวีรชนด้วย แต่เป็นบางส่วนในพุทธศาสนาเถรวาทของไทยต่างหากที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์เช่นนั้น ซึ่งสมควรจะทำการวิจัยเพื่อให้เชื่อมโยงกับข้อสังเกตของนักวิชาการทางประวัติศาสตร์ต่อไป และคงจะมีแต่ความรู้จักตนก่อนเท่านั้น ที่จะนำไปสู่การขยับขับเคลื่อนของความรู้จักคุณค่าในตนเองจนกระจ่างแก่ใจว่า “...การเป็นวีรชนเป็นเรื่องของทุกคน ผู้หยัดยืนเพื่ออุดมการณ์อย่างน่านับถือนั้น ย่อมเสมือนเป็นตัวเราคนหนึ่งด้วย ความกล้าหาญของวีรชนผู้ล่วงหน้าเราไปแล้ว เป็นแบบอย่างและพลังใจให้เราสามารถยืนหยัดต่อสู้กับความอยุติธรรมได้จนถึงที่สุด...” 

เช่นนี้ คำกล่าวที่ตกทอดมาว่า... “...ยิ่งฆ่าพวกเราก็ยิ่งทวีคูณ เลือดของเราคือเมล็ดพันธุ์...”  จึงจะเป็นจริง

เพื่อที่จะมีวีรชนให้สมกับการประดับคำว่าวีรชนตามโอกาส ก็ควรยิ่งที่จะยอมรับเสียก่อนว่า สังคมไทยยังไม่ถึงขั้นที่ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ทางการเมืองจะมีอิทธิพลในฐานะแรงบันดาลใจจนถึงขั้นเป็นวีรชน

แม้จะน่าเศร้า และขมขื่น แต่ความจริงจะทำให้เราเป็นอิสระ

เพื่อ วันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2562 ของลุงนวมทอง จะไม่เงียบอีกต่อไป

อ้างอิง
[1]ประชาไท. (2007, ตุลาคม 31). ครบรอบปี คลี่จดหมายลายมือ “ลุงนวมทอง” มาอ่านอีกครั้ง “ชาติหน้าเกิดมา คงไม่พบเจอการปฏิวัติอีก”. Retrieved from https://prachatai.com/journal/2007/10/14666
[2]เกษียร เตชะพีระ. (2549). “แด่นวมทองไพรวัลย์:มรณสักขีเพื่อประชาธิปไตย”. มติชนรายวัน, ปี 29, ฉ.1047, วันที่ 10 พ.ย. 2549, น.6
[3]โปรดดูใน พวงทอง ภวัครพันธุ์. (2560). วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด ใน กฤษฎา ศุภวรรณธนะกุล (บรรณาธิการ). 
แผ่นดินจึงดาล การเปลี่ยนผ่านในสภาพบังคับ. กรุงเทพฯ: มาตาการพิมพ์. น. 74-92
[4]ดูข้อสังเกตที่น่าสนใจของกนกรัตน์ เพิ่มเติมใน กนกรัตน์ เลิศชูสกุล. (2561). “การรื้อฟื้นและการก่อร่างสร้างตัวของความเป็นคนเดือนตุลาฯจากนักศึกษาฝ่ายซ้ายผู้พ่ายแพ้สู่คนเดือนตุลาฯนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยแห่งทศวรรษ 2510” . ใน ไชยันต์ ไชยพร (บรรณาธิการ). พินิจการเมืองไทย ปัจจุบัน และอนาคต. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
[5]ธงชัย วินิจจะกูล. (2553). “6 ตุลาในความทรงจำของฝ่ายขวา 2519-2549: จากชัยชนะสู่ความเงียบ (แต่ยังชนะอยู่ดี)” ใน ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ (บรรณาธิการ). ความรุนแรงซ่อน/หาในสังคมไทย. กรุงเทพฯ:มติชน.หน้า 61-62.
 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ชาวพุทธกับพระพุทธปฏิมา 3 : การเมืองและความเป็นไทยในพระปฏิมา

$
0
0

ตอนที่ 3 จะยังคงกล่าวถึงพระพุทธรูปในวัฒนธรรมไทย หากแต่ลงรายละเอียดในบางประการ โดยเฉพาะเรื่องการสร้างพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ในสังคมไทย และบริบททางสังคมการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดคุณค่าและความหมายของพระพุทธรูป


พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร ทรงเครื่องจักรพรรดิ์ วัดอรุณราชวราราม (พ.ศ.2539)
เครดิตภาพ
http://www.mingmongkolstore.com/product/251

พระพุทธรูปปางที่ชาวพุทธไทยนิยมสร้างขึ้นสักการบูชานั้นว่าโดยแนวคิดไม่แตกต่างจากจารีตในศิลปะอินเดีย ตรงที่ปางต่าง ๆ จะประกอบด้วยอิริยาบถหลัก 4 ประการ นอกเหนือจากนั้นแม้จะมีการคิดพระพุทธรูปปางต่างๆ ออกมามากมายเพียงใด ความแตกต่างนั้นก็เป็นเพียงอากัปกิริยาและมุทราที่ปรากฏเป็นท่วงท่าออกมาให้เห็น อากัปกิริยาและมุทราเป็นส่วนประกอบของพระปฏิมาที่บอกเล่าเหตุการณ์ซึ่งเป็นลักษณะที่จะช่วยให้เราเข้าใจได้ว่าพระพุทธรูปปางดังกล่าวต้องการสื่อถึงเรื่องอะไรหรือแสดงพุทธประวัติตอนไหน 

ตามข้อมูลในหนังสือเกี่ยวกับประวัติการสร้างพระพุทธรูป เห็นได้ชัดว่า พระพุทธรูปปางต่าง ๆ ถูกสร้างสรรค์ขึ้นตามจริยาวัตรของพระพุทธเจ้าที่ปรากฏในพุทธประวัติ โดยประมวลจริยาวัตรของพระพุทธเจ้าไว้ 3 ประการด้วยกัน คือ (1) พุทธจริยาในเวลาที่ทรงบำเพ็ญเพียรเพื่อตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ตั้งแต่แรกเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์จึงถึงเวลาตรัสรู้และเวลาเสวยวิมุตติสุข กินระยะเวลานาน 6 ปี เรียกว่า “อัตตัตถจริยา” (2) พุทธจริยาที่ทรงบำเพ็ญเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่พระญาติ (ญาตัตถจริยา) และ (3) พุทธจริยาเพื่อบำเพ็ญประโยชน์เกื้อกูลแก่มหาชนทั่วไป (โลกัตถจริยา)[1]

ในการสร้างพระปฏิมานั้น ท่านกำหนดเอาช่วงเวลาตั้งแต่เสด็จออกผนวช ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และปรินิพพาน ในแต่ละช่วงเวลา ก็จะมีการสร้างพระพุทธรูปขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์นั้น ๆ เฉพาะช่วงสำคัญคือ ก่อนจะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและหลังเหตุการณ์ตรัสรู้ ได้แก่ ช่วงเวลาที่พระพุทธเจ้าเสวยวิมุตติสุข รอบ ๆ บริเวณที่ตรัสรู้นั้นจะมีการสร้างพระพุทธรูปที่เกี่ยวข้องค่อนข้างมากเป็นพิเศษ พระพุทธรูปปางสำคัญที่เหตุการณ์ช่วงนี้ประกอบด้วยปางบำเพ็ญทุกรกิริยา ปางมารวิชัย ปางสมาธิหรือปางตรัสรู้ ปางนาคปรก ปางปฐมเทศนา ปางลีลา ปางไสยาสน์ เหตุที่มีการสร้างพระพุทธรูปแสดงเหตุการณ์ช่วงเวลานี้มาก ผู้เขียนสันนิษฐานว่า อาจมาจากความประสงค์ที่จะแสดงให้เห็นความเป็นพุทธะของพระพุทธเจ้า หรือไม่ก็เพราะเหตุที่ชาวพุทธโดยทั่วไปถือว่าช่วงเวลาแห่งการตรัสรู้คือจุดเริ่มต้นของพระพุทธศาสนา ด้านหนึ่งแสดงให้เห็นถึงการใส่ใจต่อคติการแสวงหาความรู้ของพระพุทธเจ้า ด้านหนึ่งก็แสดงก็เหมือนต้องการร้องให้ผู้คนศรัทธาแสวงหาสัจธรรมในพระพุทธองค์ เนื่องจากยังไม่ได้มีการศึกษาวิจัยจึงได้แต่สันนิษฐานไว้เป็นเบื้องต้น

พระพุทธรูปปางต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยคันธาระของอินเดีย จนสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ได้แก่ ปางสมาธิ ปางมารวิชัย ปางปฐมเทศนา ปางอุ้มบาตร ปางประทานอภัย ปางประทานพร ปางยมกปาฏิหาริย์ ปางปรินิพพาน ปางลีลา ปางทรมานพญาวานร ปางเสด็จจากดาวดึงส์ ปางทรมานช้างนาฬาคีรี ปางรำพึง ปางโปรดสัตว์ ปางนาคปรก ปางอุ้มบาตร ปางประดิษฐานรอยพระบาท ปางเปิดโลก ปางประทับยืน ปางถวายเนตร ปางไสยาสน์ ปางป่าเลไลยก์ ปางขอฝน[2]ปางที่นิยมสร้างมากที่สุด ได้แก่ ปางมารวิชัย (ทรงชำนะมาร) ปางสมาธิ และปางนาคปรก อันเป็นปางสำคัญที่แสดงเหตุการณ์ในช่วงเวลาแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ปางทั้งสามนี้ไม่เพียงแต่จะมีนัยในทางธรรม หากแต่มีนัยในเชิงไสยศาสตร์ (การปกป้องคุ้มครอง) ด้วย

จำนวนปางของพระพุทธรูปในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในระยะที่สังคมไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่สมัยใหม่โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 3 ปางของพระพุทธรูปเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุว่าเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ที่จะบำเพ็ญราชกุศลให้เหมือนอย่างโบราณกษัตริย์ครั้งกรุงศรีอยุธยา จึงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงคัดเลือกพุทธจริยาอิริยาบถต่าง ๆ ตามเรื่องที่มีในพุทธประวัติแล้วโปรดเกล้าฯให้สร้างพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ขึ้นเพิ่มเติม จากนั้นจึงโปรดให้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้ในหอราชกรมานุสรณ์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระพุทธรูปปางต่าง ๆ ที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสทรงศึกษาและคัดเลือกถวายรัชกาลที่ 3 มีทั้งสิ้น 40 ปาง นับตั้งแต่ปางบำเพ็ญทุกรกิริยาจนกระทั่งปางไสยาสน์ ที่เพิ่มมากขึ้นก็เพราะมีปางที่แสดงเหตุการณ์ต่าง ๆ ละเอียดลงไป เช่น ปางรับผลมะม่วง ปางขับพระวักกลิ ปางสนเข็ม ปางสรงน้ำ ปางสำแดงชราธรรม เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีปางต่าง ๆ ที่แสดงเหตุการณ์และอิริยาบถของพระพุทธเจ้าหลังการตรัสรู้ (สัตตมหาสถาน) เช่น ปางถวายเนตรบูชาพระศรีมหาโพธิ ปางพิจารณาพระไตรปิฎกในเรือนแก้ว ปางเสด็จอยู่ร่มไม้เกตพระอินทร์ถวายสมอท้าวจตุโลกบาลถวายบาตร เป็นต้น[3]

พระพุทธรูปแต่ละปางมีพุทธปกรณัม (Mythology) ที่อ้างอิงจากพุทธประวัติโดยเฉพาะ พุทธประวัติที่รจนาขึ้นใหม่ในสมัยหลังพุทธกาลตลอดจนพุทธประวัติตามแนว ปฐมสมโพธิกถา อันเป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ยิ่งมีเรื่องเล่าละเอียดลออเพียงใดก็อาจสร้างพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ขึ้นตามได้มากขึ้นเพียงนั้น ดังจะเห็นว่า พระพุทธรูปที่ปรากฏในตำราต่าง ๆ ที่รวบรวมขึ้นภายหลังสมัยรัชกาลที่ 3 จนปัจจุบัน มีมากกว่า 40 ปาง เช่น ในหนังสือ ตำนานพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ของพระพิมลธรรม ราชบัณฑิต (ชอบ อนุจารีมหาเถระ) มีพระพุทธรูปปางต่าง ๆ จำนวน 66 ปาง ในหนังสือ ประวัติพระพุทธรูปปางต่าง ๆ รวบรวมโดย พิทูร มลิวัลย์ และไสว มาลาทอง จัดพิมพ์โดยกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ มีพระพุทธปางต่าง ๆ ถึง 72 ปาง[4]สิ่งที่รองรับการสร้างปางต่าง ๆ ของพระพุทธรูปก็คือเรื่องเล่าในพุทธประวัติ แต่บางครั้งก็อาจมีบริบททางการเมืองเป็นแรงกระตุ้นด้วย

โดยทั่วไป ถ้าเรานำพระพุทธรูปมาประดิษฐานตามลำดับเหตุการณ์ในชีวิตของพระพุทธเจ้า เราก็จะได้รับรู้เรื่องราวตั้งแต่เสด็จออกบวชคือปางอธิษฐานเพศบรรพชิตเป็นต้นไปจนถึงพุทธปรินิพพาน แต่หนังสือที่จัดพิมพ์โดยกรมการศาสนา (พ.ศ.2525) ได้พูดถึงปางก่อนออกบรรพชาคือปางประสูติด้วย การสร้างพระปฏิมาแทนองค์พระพุทธเจ้าจึงอาจเพิ่มขึ้นได้เรื่อย ๆ ตามความนิยมนับถือของผู้คนในสังคม ดังปัจจุบันจะพบว่า ที่วัดพระปฐมเจดีย์ พระพุทธรูปหล่อด้วยสำริดประดิษฐานที่ระเบียงรอบองค์พระปฐมเจดีย์มีจำนวนทั้งสิ้น 80 องค์ สร้างขึ้นจากศรัทธาบริจาคของพุทธศาสนิกชนระหว่าง พ.ศ.2526 - 2527 กล่าวได้ว่าเป็นการสร้างพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ชุดใหญ่ที่สุดที่เคยสร้างมาจนถึงปัจจุบัน  ในจำนวนพระพุทธรูป 80 องค์ จำนวน 66 องค์เป็นพระพุทธรูปตามเรื่องราวในพุทธประวัติ อีก 8 องค์เป็นพระประจำวันเกิด และเนื่องจากพระประจำวันพุธ มี 2 ปาง คือพระกลางวันและพระกลางคืน อย่างละ 1 องค์ อีก 6 องค์เป็นพระเกตุ 1 องค์ พระศรีอารยเมตไตรย (อนาคตพุทธเจ้า) 1 องค์ พระพุทธรูปแบบสุโขทัย 1 องค์ พระพุทธรูปปางเสด็จลงจากดาวดึงส์อีก 2 องค์ พระปฏิมาชัยวัฒน์ (พระประจำพระองค์รัชกาลที่ 6) 1 องค์ ไขศรี ศรีอรุณ สันนิษฐานว่า พระพุทธรูป 80 องค์นี้น่าจะหมายถึงจำนวนพระชนมายุของพระพุทธเจ้า อย่างไรก็ตาม พระพุทธรูปเหล่านี้แม้จะสร้างขึ้นในสมัยปัจจุบันแต่ลักษณะทางศิลปะล้วนได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปะสุโขทัย[5]

อาจกล่าวได้ว่าแบบแผนการคิดปางต่าง ๆ ของพระพุทธรูปในประเทศไทยอิงอยู่กับรายละเอียดของเหตุการณ์ในพุทธประวัติรวมทั้งตำนานอื่น ๆ ที่อยู่นอกเหนือคัมภีร์พระไตรปิฎกด้วย เมื่อพิจารณาพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ตามที่จัดเรียงไว้ที่ระเบียงรอบองค์พระปฐมเจดีย์ จุดประสงค์สำคัญของการสร้างพระพุทธรูปก็เพื่อเป็นสื่อธรรมโดยเฉพาะเรื่องราวของพระพุทธเจ้าตั้งแต่ต้นจนจบ หากพุทธศาสนิกชนเดินดูรอบ ๆ องค์พระปฐมเจดีย์และทำความเข้าใจไปเรื่อย ๆ ก็จะสามารถเรียนรู้และทำความเข้าใจพุทธศาสนาได้ในระดับหนึ่ง 

เฉพาะองค์พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นแต่ละปางนั้นจะซ่อนปริศนาธรรมสำคัญ ที่เป็นเช่นนี้เพราะเป็นวัฒนธรรมความคิดที่มีมาตั้งแต่แรกสร้างพระพุทธรูปนั่นเองที่ต้องการจะให้พระพุทธรูปแสดงเหตุการณ์สำคัญทางพุทธศาสนาในพุทธประวัติและสื่อนัยทางธรรมด้วย ตัวอย่างเช่น ปางมารวิชัย (หรือภูมิสปรรศมุทรา) เป็นพระพุทธรูปที่แสดงถึงช่วงเวลาที่พระพุทธเจ้าทรงต่อสู้กับมารและเสนามารที่ยกทัพมาขัดขวางการตรัสรู้ของพระองค์ โดยตั้งใจขับพระองค์ออกจากโพธิบัลลังก์แห่งการตรัสรู้ พระพุทธองค์ทรงยืนยันว่าการครอบครองบัลลังก์นี้เป็นสิทธิอันชอบธรรมของพระองค์ เนื่องจากบัลลังก์นี้เกิดจากการสั่งสมบุญบารมีของพระองค์ที่ดำเนินไปแล้วเป็นอเนกชาติ เมื่อพญามารเรียกร้องให้แสดงพยานหลักฐาน พระพุทธองค์ทรงชี้พระหัตถ์ลงไปยังพื้นปฐพีอ้างแม่พระธรณีเป็นพยาน แม่พระธรณีจึงปรากฏขึ้นมาบีบน้ำออกจากมวยผมขับไล่บรรดามารและเสนามารหนีไปสิ้น[6]

เมื่อตีความสารที่สื่อความออกจากพระพุทธรูปปางนี้จะพบว่ามีประเด็นมากมายที่อาจนำมาพิจารณาหาความหมายได้ เช่น มารและเสนามาร เป็นเพียงบุคลาธิษฐานของความชั่วร้าย ความโลภ ความโกรธ และความหลง ที่ผุดเกิดขึ้นในจิตใจของมหาบุรุษ (นักบวชสิทธัตถะ) ในวินาทีสุดท้ายก่อนการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เรื่องราวนี้อาจแฝงปริศนาธรรมเกี่ยวกับการเอาชนะความชั่วร้ายที่เกิดขึ้นภายในใจของเรา ขณะเดียวกันก็หลอมสร้างวิถีปฏิบัติทางศาสนาบางอย่างที่ชาวพุทธปัจจุบันได้ปฏิบัติทุกครั้งที่มีการบำเพ็ญกุศลตามหลักศาสนาคือ การกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล เนื่องจากมีเรื่องเล่าว่า ขณะที่พญามารพ่นเปลวไฟหวังทำลายพระพุทธเจ้าที่ประทับนั่งบนโพธิบัลลังก์นั้น แม่พระธรณีก็ใช้น้ำจากมวยผมดับทำลายความเร่าร้อนทั้งปวงจนหมดสิ้น กุศลที่มนุษย์บำเพ็ญเปรียบเสมือนน้ำ ขณะที่ความโลภ ความโกรธและความหลงเปรียบเสมือนไฟ นี่เป็นตัวอย่างของปริศนาธรรมที่ผู้สร้างต้องการให้ผู้กราบไหว้บูชาได้มองเห็นและนำมาอบรมตน แต่มักไม่ประสบผลสำเร็จมากนัก คนทั่วไปกราบไหว้พระพุทธรูปก็มักจะต้องการผลสำเร็จในเชิงไสยศาสตร์ (พลังในการรักษาคุ้มครอง) มากกว่าการทำความเข้าใจปรัชญาที่ซ่อนอยู่ในศาสนาวัตถุดังกล่าว

พระพุทธรูปในวัฒนธรรมไทย นอกจากจะสร้างขึ้นเพื่อสื่อสารธรรมผ่านพุทธประวัติแล้ว พระพุทธรูปบางปางยังอาจถูกสร้างขึ้นเพื่อสื่อสารนัยทางการเมืองของผู้ปกครองด้วย เช่น ประวัติการสร้างพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร (หรือปางห้ามพระญาติ) ในสมัยรัชกาลที่ 3 หลังจากการสร้างพระพุทธรูปปางนี้ ผู้ศึกษาเรื่องพระพุทธรูปดูจะยังมีความเห็นขัดแย้งกันอยู่ว่าควรจะเรียกชื่อปางนี้ว่าอะไรแน่ จะเรียกปางห้ามสมุทรหรือปางห้ามพระญาติกันดี ชื่อที่ตั้งให้พระพุทธรูปนั้นมุ่งจะสื่อสารเหตุการณ์ในพุทธประวัติตอนใดตอนหนึ่งเป็นหลัก หากเข้าใจสับสนก็ยากจะกำหนดจุดประสงค์ของการสักการบูชาได้ชัดเจน พระพุทธรูปดังกล่าวนี้เป็นพระพุทธรูปอิริยาบถยืน พระหัตถ์สองข้างยกขึ้นเสมอพระอุระ (อก) ตั้งฝ่าพระหัตถ์ยื่นออกไปข้างหน้า เป็นกิริยาห้าม เป็นแบบพระทรงเครื่องก็มี ตำราบางเล่มเรียกปางนี้ว่า “พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร” และบางเล่มเรียก “ปางห้ามพระญาติ” พระพิมลธรรม ราชบัณฑิต (ชอบ อนุจารีมหาเถระ) ซึ่งรจนาเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธรูปเห็นว่าเรื่องนี้มีปัญหา จึงได้เสนอให้เรียกรวมกันว่า “ปางห้ามพระญาติแย่งน้ำในสมุทร”[7]ประเด็นน่าสนใจไม่ใช่ชื่อปาง แต่อยู่ในเหตุผล (คำอธิบาย) ที่รองรับการวินิจฉัยของพระพิมลธรรมมากกว่ากล่าวคือ

เพื่อจะวินิจฉัยชื่อปางของพระพุทธรูปที่ตั้งชื่อกันอย่างสับสนนั้น พระพิมลธรรม (ชอบ อนุจารีมหาเถระ) ได้ชี้ว่ามีเรื่องราวเหตุการณ์ 2 เหตุการณ์ที่อาจใช้เป็นจุดอ้างอิงเกี่ยวกับพระพุทธปางนี้ คือ

(1) เหตุการณ์ที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดชฎิลชื่อว่าอุรุเวลกัสสปะ ชฎิลต้องการทดสอบความสามารถของพระพุทธเจ้าจึงบอกให้ไปประทับพักแรมที่โรงบูชาไฟที่มีพญานาคอาศัยอยู่ พระพุทธเจ้าทรงแสดงปาฏิหาริย์นานาประการเพื่อทรมานพญานาคผู้เกรี้ยวกราด สุดท้ายพญานาคทำให้คลื่นน้ำไหลบ่ามาจากทุกทิศทุกทางเพื่อทำร้ายพระพุทธเจ้า แต่พระพุทธเจ้าทรงใช้อานุภาพบังคับให้น้ำหมุนวนเป็นช่องล้อมรอบวรกายของพระองค์อยู่ แล้วพระองค์เสด็จจงกรมในวงล้อมของน้ำที่ท่วมท้นเป็นกำแพงล้อมรอบจนพญานาคยอมจำนน

(2) เหตุการณ์ที่สองเป็นเหตุการณ์ที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปห้ามสงครามแย่งน้ำในแม่น้ำโรหิณีระหว่างพระญาติฝ่ายศากยะฝ่ายพระบิดาและเทวทหะฝ่ายพระมารดา เหตุการณ์เกิดจากชาวนาของทั้งสองฝั่งต้องการผันน้ำเข้านาของตนเอง แต่เนื่องจากฝนตกน้อย น้ำในแม่น้ำจึงเหือดแห้ง ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมกัน ทะเลาะถกเถียงกันจนถึงขั้นลงมือ ลุกลามไปเป็นความขัดแย้งระหว่างเมือง ทั้งสองฝ่ายยกทัพเตรียมทำศึกกันเพื่อรักษาศักดิ์ศรีของตน (ประเด็นความขัดแย้งไม่ใช่เรื่องการแย่งน้ำอีกต่อไปแต่เป็นเรื่องการเหยียดหยามศักดิ์ศรีของตระกูล) พระพุทธเจ้าเสด็จไปห้ามทัพขณะทั้งสองฝ่ายเผชิญหน้ากัน ตรัสถามถึงสาเหตุของความขัดแย้ง ไล่ตั้งแต่ระดับแม่ทัพลงไปแต่ไม่มีใครทราบสาเหตุของความขัดแย้ง ในที่สุดเมื่อสาวไปเรื่อย ๆ จึงรู้ว่ามีต้นเหตุจากการปันน้ำของเหล่าเกษตรกร พระพุทธเจ้าทรงชี้ให้เห็นความสำคัญของชีวิตและเลือดเนื้อของบรรดาญาติพี่น้องเมื่อเทียบกับความสำคัญของน้ำที่ใช้ทำเกษตรกรรม และให้ทุกคนมองเห็นคุณค่าของสันติธรรม

เป็นไปได้ว่าในช่วงเวลาที่พระพิมลธรรมรจนาหนังสือ ตำนานพระพุทธรูปปางต่างๆ คือราว พ.ศ.2522 ยังมีความเห็นไม่ลงรอยกันนักเกี่ยวกับชื่อเรียกพระพุทธรูปปางนี้ พระพิมลธรรม (ชอบ อนุจารีมหาเถระ) จึงค้นคว้าศึกษาตำนานต่าง ๆ แล้วลงความเห็นว่า พระพุทธรูปปางนี้สร้างขึ้นโดยหมายเอาเหตุการณ์ที่สองไม่ใช่เหตุการณ์แรก โดยอ้างถึงพระพุทธรูปปางห้ามพระญาติที่ประดิษฐานในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 3 ทรงพระดำริให้สร้างขึ้น พระพิมลธรรมอ้างว่า รัชกาลที่ 3 โดยที่พระองค์ทรงเป็นปราชญ์ย่อมทรงทราบความหมายของปางพระพุทธรูปที่ทรงประสงค์จะให้สร้างขึ้นนี้เป็นอย่างดี ชื่อของปางนี้จึงควรเป็นไปตามนัยที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น พระพิมลธรรมเขียนไว้ว่า

“ข้าพเจ้าเข้าใจว่า การที่สมเด็จพระนั่งเกล้าฯ องค์เอกอัครศาสนูปถัมภก รัชกาลที่ 3 ทรงสร้างขึ้น คงจะมีพระราชประสงค์ไม่เพียงเป็นที่สักการบูชาเท่านั้นเพราะเพียงเป็นที่สักการบูชาอย่างเดียวแล้ว เฉพาะพระแก้วมรกตก็น่าจะพอพระหฤทัย จุใจมหาชนชาวไทยดีแล้ว ถ้าไม่อย่างนั้นก็น่าจะทรงสร้างไว้หลาย ๆ ปาง และก็จะคงไม่ทรงสร้างเพื่อแสดงว่า พระพุทธเจ้าทรงทำปาฏิหาริย์ห้ามน้ำอันจะไหลมาท่วมพระองค์เป็นแน่ ข้าพเจ้าเข้าใจว่า สมเด็จพระนั่งเกล้าฯจะต้องแน่พระทัยว่า พระปางนี้จะต้องเป็นปางห้ามพระญาติแย่งน้ำในสมุทร ดังที่ปรากฏในทางตำนาน และแม้พระบรมวงศานุวงศ์ตลอดจนเสนาอำมาตย์ ทั้งนักปราชญ์ราชกวีในสมัยนั้น ส่วนมากคงจะต้องมีความเข้าใจอย่างนี้
เมื่อแน่ใจว่าสมเด็จพระนั่งเกล้าฯทรงเข้าพระทัยว่า พระพุทธรูปที่ยกพระหัตถ์ทั้งสองข้างขึ้นเป็นกิริยาทรงห้ามนั้น เป็นพระพุทธรูปปางห้ามพระญาติแย่งน้ำในสมุทรแล้ว คราวนี้ก็มาถึงวัตถุประสงค์ของการสร้างต่อไปว่า พระองค์ทรงมีพระประสงค์อะไร?
ข้าพเจ้าเข้าใจว่า สมเด็จพระนั่งเกล้าฯน่าจะทรงมีพระประสงค์จะทรงฝากคติธรรมสำหรับเตือนพระบรมวงศานุวงศ์ ที่เสด็จเข้าไปนมัสการพระพุทธรูปในโบสถ์พระแก้วเนือง ๆ ว่า “พระบรมวงศานุวงศ์อย่าทรงวิวาทแย่งสมบัติกันเลย” จะถึงย่อยยับอย่างกษัตริย์ในสมัยอยุธยา โดยทรงขอเอาอานุภาพของพระพุทธเจ้า ซึ่งปรากฏอยู่ในพระพุทธรูปปางนี้ช่วยทรงเตือน ช่วยทรงห้าม ด้วยทรงหวั่นพระทัยอยู่มากว่า พระบรมวงศานุวงศ์จะเบาพระทัยก่อการวิวาทเรื่องราชสมบัติขึ้น ในเมื่อพระองค์สวรรคตแล้ว เพราะในเวลานั้น สมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 ซึ่งสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงมีพระทัยมั่นหมายจะให้เสวยราชสมบัติสืบพระราชสันตติวงศ์ก็ยังทรงผนวชอยู่”[8]

ถ้าหากเป็นจริงตามเหตุผลที่พระพิมลธรรมยกมาแสดง เราก็จะได้เห็นบรรยากาศทางการเมืองเบื้องหลังการสร้างพระพุทธรูปปางนี้ในช่วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ โปรดให้สร้างพระพุทธรูปปางนี้ขึ้น ไม่ว่าคำวินิจฉัยในกรณีนี้ของพระพิมลธรรมจะถูกต้องหรือไม่ก็ตาม แต่นัยทางการเมืองที่ซ่อนไว้ในองค์พระพุทธรูปบางปางนั้นมีมานานแล้ว เช่น พระพุทธรูปปรลัมพปาทาสนะหรือภัทราสนะ (พระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาท) ในศิลปะวกาฏกะ-จาลุกยะตะวันตกระยะแรก และในศิลปะปาละที่ตกทอดความนิยมมาถึงศิลปะสมัยทวารวดี ซึ่งเป็นพระพุทธรูปแสดงท่านั่งเหมือนท่านั่งของของกษัตริย์แห่งราชวงศ์กุษาณะ เป็นพระพุทธรูปที่เน้นย้ำคติที่ว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นจักรวรรติน คติดังกล่าวนี้เป็นการผสมผสานพุทธศาสนาเข้ากับวัฒนธรรมที่ยอมรับสถานภาพของกษัตริย์ในท้องถิ่นต่าง ๆ ที่พุทธศาสนาแผ่ไปถึง ในกรณีตัวอย่างของไทย พระพุทธรูปฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 คือ “พระพุทธวชิรญาณ” (ปางห้ามสมุทร) ที่ประดิษฐานในวิหารเก๋งริมวัดบวรนิเวศวิหารก็เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องอย่างจักรพรรดิราช พระพุทธรูปปางนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อเตือนให้ทราบว่า ชาวพุทธย่อมมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะยอมรับสถานภาพอันสูงส่งของพระมหากษัตริย์เพราะแม้พระพุทธเจ้าเองก็ยังทรงเป็นจักรวรรติน พระพุทธรูปจึงมีความหมายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์มากเป็นพิเศษ นอกจากเป็นเครื่องมือสำคัญที่แสดงพระราชกรณียกิจตามหลักศาสนา แสดงถึงการเป็นธรรมราชาผู้อุปถัมภ์บำรุงพุทธศาสนา กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้วยังเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับชี้ให้เห็นสถานภาพอันสูงส่งเทียบเท่าพระพุทธเจ้าของพระมหากษัตริย์ไทยอีกด้วย วิธีแสดงนัยดังกล่าวอีกแบบหนึ่งก็คือการสร้างพระพุทธรูปประจำพระองค์นั่นเอง (เรื่องนี้จะกล่าวถึงในตอนที่ 4)

ในบางยุคสมัย พระพุทธรูปยังถูกใช้เป็นเครื่งอมือสำคัญในการสร้างชาติและอัตลักษณ์ของความเป็นไทยอีกด้วย เรื่องนี้เห็นได้จากการศึกษาเรื่อง พระพุทธชินราชในประวัติศาสตร์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ของชาตรี ประกิตนนทการ ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อแนวคิดเกี่ยวกับรัฐไทยเปลี่ยนไปนั้น ชนชั้นนำปัญญาชนสยามได้พยายามใช้ความรู้ทางโบราณคดีอธิบายความเป็นหนึ่งเดียวของอาณาจักรสยามโดยดึงเอาการดำรงอยู่ของรัฐต่าง ๆ ที่มีอยู่ก่อนการสถาปนารัฐสมัยใหม่เข้าเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรสยาม วัดเบญจมบพิตรสถิตมหาสีมารามราชวรวิหารถูกสร้างขึ้น และมีการรวบรวมพระพุทธรูปทั้งองค์จริงและจำลองพระพุทธรูปสำคัญทั่วประเทศมารวมไว้ภายในวิหารคดรอบพระอุโบสถ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงใช้ความรู้ทางโบราณคดีต่าง ๆ รวมทั้งพระพุทธรูป แล้วทรงสร้างกรอบอธิบายว่า โบราณวัตถุต่าง ๆ และพระพุทธรูปที่รวบรวมไว้ ณ วัดเบญจมบพิตรนั้นได้สะท้อนให้เห็นความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชนชาติสยามซึ่งมีรากเหง้าอันเดียวกัน และมีอารยธรรมยาวนานย้อนกลับไปถึงสมัยอาณาจักรเชียงแสนและสุโขทัย มีประวัติศาสตร์วัฒนธรรมอันสืบเนื่องสืบทอดเป็นสายโซ่ทางประวัติศาสตร์เดียวกัน[9]

ภายใต้แนวคิดที่ต้องการรวมชาติเป็นหนึ่งเดียวโดยมีศูนย์กลางอำนาจที่กรุงเทพฯ พระพุทธชินราช (ปัจจุบันประดิษฐาน ณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก สันนิษฐานว่าสร้างขึ้น ประมาณ พ.ศ.1900) ซึ่งพงศาวดารเหนือกล่าวว่าสร้างขึ้นโดยพระศรีธรรมปิฎกแห่งอาณาจักรเชียงแสน ถูกชนชั้นนำสมัยรัชกาลที่ 5 อธิบายใหม่ว่าเป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นโดยบรรพบุรุษของชาวสยามโดยแท้ ทั้งนี้เพราะพระพุทธชินราชมีคุณสมบัติทางประวัติศาสตร์เหนือกว่าพระพุทธรูปทั้งปวง เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะนำมาประดิษฐานเป็นศูนย์กลางของพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรอันมีความหมายเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจของราชอาณาจักรสยาม โดยที่แม้แต่พระแก้วมรกตก็ไม่มีคุณสมบัติที่จะทำได้เช่นนั้น 

“[...]พระพุทธชินราชได้ถูกสร้างความหมายว่าเป็นพระพุทธรูปของชาวสยามโดยตรง สามารถเชื่อมโยงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับโครงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของรัฐสยามที่เก่าแก่ยาวนาน เสมือนเป็น “พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง” ของคนไทยมาตั้งแต่สมัยเริ่มมีรัฐไทยแห่งแรก (เชียงแสน) ซึ่งคุณสมบัติเช่นนี้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการก่อตัวของรัฐสมัยใหม่เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งองค์พระพุทธชินราชก็ได้ทำหน้าที่ในเชิงความหมายดังกล่าวอย่างสมบูรณ์มากกว่าพระพุทธรูปองค์ใด ๆ ในสยาม เป็นส่วนหนึ่งของการสร้าง “ตัวตนทางประวัติศาสตร์” ของรัฐสยามสมัยใหม่”[10] 

หลังการสถาปนารัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของสยาม พระพุทธชินราชก็ได้ถูกนิยามว่า “มีความงามเหนือพระพุทธรูปองค์ใดในสยาม” และกลายเป็นพระพุทธรูปที่มีการจำลองมากที่สุดกว่าพระพุทธรูปองค์ใด ชาตรี ประกิตนนทการ ชี้ว่า สาเหตุสำคัญก็เนื่องจากชนชั้นนำต้องการสร้างอัตลักษณ์ “ความเป็นไทย” ว่าเป็นชนชาติที่มีอารยธรรมสูงเพื่อต่อสู้กับการดูถูกของชาวยุโรปเป็นด้านหลัก พระพุทธชินราชถูกอธิบายให้เป็นศิลปะสุโขทัยซึ่งเป็นยุคคลาสสิกของไทยในระดับที่เท่าเทียมเสมอหน้ากับศิลปะทั่วโลก นักวิชาการบางคนจึงยกย่องพระพุทธรูปในหมวดพระพุทธชินราชว่าสวยกว่าหมวดอื่น ๆ ทั้งหมด จนถึงกับเป็นพระพุทธรูปที่สวยงามที่สุดในโลก

 “ทำไม พระพุทธชินราชในบริบทของสังคมไทยร่วมสมัยจึงได้ถูกจำลองขึ้นใหม่มากที่สุดในสังคมไทย และที่สำคัญคือถูกเลือกให้เป็นพระประธานของวัดไทยในต่างประเทศมากที่สุดกว่าพระพุทธรูปทุกแบบ คำตอบที่ได้จากการศึกษาก็คือ พระพุทธชินราชได้ถูกนิยามบทบาทและความหมายอีกประการหนึ่งนอกเหนือจากการเป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองในประวัติศาสตร์รัฐสยามสมัยใหม่ นั่นก็คือบทบาทความหมายที่เป็น “สัญลักษณ์แห่งความเป็นไทย” อันเป็นตัวแทนภาพความเจริญทางวัฒนธรรมไทยที่สามารถนำออกมาอวดชาวโลกได้ในระดับทัดเทียมเสมอหน้าไม่แพ้ชาติใดได้”[11]

พระพุทธรูปจึงไม่ได้มีความหมายเฉพาะในเชิงศาสนธรรมเท่านั้น เมื่อถูกใช้ในเชิงการเมืองการปกคอง พระพุทธรูปกลายเป็นเครื่องเชิดชูความเป็นชาติหรือความเป็นไทย หรือแม้กระทั่งเป็นเครื่องมือสำหรับดำรงสถานภาพของชนชั้นปกครองของไทยด้วยก็มี การเสริมแต่งคุณค่าให้กับพระพุทธรูปดูจะเป็นเรื่องปกติของสังคมไทยนับแต่อดีตจนปัจจุบัน พระพุทธรูปซึ่งสร้างขึ้นมาเพื่อสื่อสารธรรมประวัติของพระพุทธเจ้า เมื่อมาถึงยุคสมัยหนึ่งก็อาจกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างอัตลักษณ์และชาตินิยมของชาวไทย พูดด้วยภาษาวิชาการที่ให้ดูเท่กว่านี้หน่อยก็อาจกล่าวได้ว่า ความหมายของพระพุทธรูปเลื่อนไหลไปตามบริบทของสังคม สิ่งที่กำหนดความหมายให้แก่พระพุทธรูปไม่ใช่เรื่องเล่าในพระพุทธประวัติเพียงอย่างเดียว หากเรื่องเล่าที่สร้างขึ้นภายใต้บริบททางการเมืองและจารีตทางวัฒนธรรมของสังคมของผู้คนในสมัยนั้นๆ ด้วย

 

รายการอ้างอิง
 [1]กระทรวงศึกษาธิการ, กรมการศาสนา, ประวัติพระพุทธรูปปางต่าง ๆ, หน้า 12 - 13.
 [2]เรื่องเดียวกัน, หน้า 13 - 15.
 [3]ดู เสาวณิต วิงวอน, บรรณาธิการ, ตำราพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ตามพระมติสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส, หน้า 56 - 116.
 [4]ดู พระพิมลธรรม ราชบัณฑิต (ชอบ อนุจารีมหาเถระ), ตำนานพระพุทธรูปปางต่าง ๆ (ม.ป.ท.: โครงการมูลนิธิหอไตร, 2533). และ กระทรวงศึกษาธิการ, กรมการศาสนา, ประวัติพระพุทธรูปปางต่าง ๆ, และภาคผนวก ข. (จำนวนและลำดับปางของพระพุทธรูปจากเอกสารต่างๆ) รวบรวมสรุปโดย ไขศรี ศรีอรุณ, พระพุทธรูปปางต่าง ๆ ในสยามประเทศ, หน้า 60 - 68.
[5]ไขศรี ศรีอรุณ, พระพุทธรูปปางต่าง ๆ ในสยามประเทศ, หน้า 16 - 17.
[6]พระพิมลธรรม ราชบัณฑิต (ชอบ อนุจารีมหาเถระ), ตำนานพระพุทธรูปปางต่าง ๆ, หน้า 37 - 41.
[7]เรื่องเดียวกัน, หน้า 97.
[8]เรื่องเดียวกัน, หน้า 92 - 93.
[9]ชาตรี ประกิตนนทการ, พระพุทธชินราชในประวัติศาสตร์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ (กรุงเทพฯ: มติชน, 2551), หน้า 45 - 48.
[10]เรื่องเดียวกัน, หน้า 86.
[11]เรื่องเดียวกัน, หน้า 96 - 98.

 

อ่านตอนก่อนหน้าได้ที่
ชาวพุทธกับพระพุทธปฏิมา1: กำเนิดพระพุทธรูป
ชาวพุทธกับพระพุทธปฏิมา 2: พระพุทธรูปในวัฒนธรรมไทย

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ผู้นำ IMF คนใหม่แถลง สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ทำ ศก. โลกชะลอตัวพร้อมกัน

$
0
0

คริสตาลินา จอร์เจียวา ผู้อำนวยการบริหารคนใหม่ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กล่าวสุนทรพจน์เข้ารับตำแหน่งว่าสงครามการค้า กำแพงภาษีของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์และวิธีทำการค้าของจีน ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวพร้อมกันทั่วโลก ย้ำ ต้องมีการแก้ปัญหาและทำให้เกิดความยั่งยืนมากขึ้น

คริสตาลินา จอร์เจียวา (ที่มา: วิกิพีเดีย)

10 ต.ค. 2562 คริสตาลินา จอร์เจียวา ผู้อำนวยการบริหารคนใหม่ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ (IMF) แถลงเมื่อวันที่ 8 ต.ค. ที่ผ่านมาเตือนเกี่ยวกับสภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกปัจจุบันโดยระบุว่าความขัดแย้งทางการค้าทำให้เกิด "การชะลอตัวทางเศรษฐกิจพร้อมกัน" ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข

จอร์เจียวา กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้สุนทรพจน์เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ หลังจากที่เธอได้รับตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. จอร์เจียวากล่าวว่าเธอจะเปิดเผยงานวิจัยใหม่ของไอเอ็มเอฟที่แสดงให้เห็นผลกระทบสะสมของความขัดแย้งด้านการค้าที่อาจจะทำให้ระดับจีดีพีของโลกลดลงถึง 700,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2563 คิดเป็นราวร้อยละ 0.8

งานวิจัยของไอเอ็มเอฟระบุถึงเรื่องที่รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ประกาศแผนขึ้นภาษีศุลกากรสินค้านำเข้าจากจีนซึ่งคิดเป็นสินค้ารวมแล้วมูลค่า 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การสูญเสียจีดีพีนี้จะมาจากการสูญเสียความเชื่อมั่นทางธุรกิจและปฏิกิริยาทางลบจากตลาด

จอร์เจียวากล่าวว่า "ในปี 2562 นี้ พวกเราคาดการณ์ไว้ว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตลดลงเกือบร้อยละ 90 เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงที่ชะลอตัวอย่างพร้อมเพรียงกัน นั่นหมายความว่าในปีนี้การเติบโตทางเศรษฐกิจจะอยู่ที่จุดต่ำสุดนับตั้งแต่เริ่มต้นทศวรรษนี้"

จอร์เจียวาเป็นนักเศรษฐศาสตร์ชาวบัลแกเรีย เธอเคยดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่สหภาพยุโรป และเคยดำรงตำแหน่งรองประธานธนาคารโลก เธอบอกว่าการค้าโลกในตอนนี้ "มาถึงจุดที่แทบจะหยุดชะงัก" เธอเตือนว่าความเปราะบางทางด้านการค้าอาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงซึ่งส่งผลเทียบเท่าเวลาของคนรุ่นหนึ่งได้

ผลกระทบที่จอร์เจียวากล่าวถึงได้แก่ ห่วงโซ่อุปทานที่ขาดแหว่ง การกักตุนในภาคส่วนทางค้า และ "กำแพงเบอร์ลินดิจิทัล" ที่บีบให้ประเทศต่างๆ ต้องเลือกว่าจะใช้เทคโนโลยีไหน

จอร์เจียวาเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ร่วมมือกันในการแก้ไขกฎการค้าเพื่อทำให้เกิดความยั่งยืนมากขึ้น ในสุนทรพจน์ของเธอมีหลายครั้งที่เธอวิจารณ์วิธีการทำการค้าของจีนโดยที่ไม่ได้ระบุชื่อประเทศชัดเจน นอกจากนี้ยังกล่าวถึงเรื่องการจัดการระบบการให้เงินอุดหนุนจากภาครัฐ เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา การเคลื่อนย้ายเทคโนโลยี และเสนอให้มีการทำระบบการค้าเป็นสมัยใหม่มากขึ้นเพื่อปลดล็อกประสิทธิภาพในด้านบริการและอีคอมเมิร์ซ

เรียบเรียงจาก

IMF’s new chief Georgieva warns of ‘synchronized slowdown’ in global growth, CNBC, Oct. 8, 2019

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ค่ายเกมบลิซซาร์ดแบนนักกีฬา Esport ที่พูดสนับสนุนการประท้วงในฮ่องกง

$
0
0

การประท้วงในฮ่องกงกลายเป็นดราม่าในวงการวิดีโอเกม เมื่อนักกีฬา Esport ชาวฮ่องกง จุงเอ็งไว หรือ "blitzchung" ให้สัมภาษณ์หลังเล่นการแข่งขันเกม Hearthstone พูดสนับสนุนการประท้วงในฮ่องกงทำให้เขาถูกสั่งลงโทษถอดถอนออกจากการแข่งขัน ทำให้เกิดกระแสต่อต้านจากเกมเมอร์ให้บอยคอตต์ค่ายเกมแอ็กทิวิชันบลิซซาร์ด

ภาพของ blitzchung (ขวา) ขณะแข่งขันและกำลังสวมหน้ากากกันแก๊ส (ที่มา: Youtube/ SlickShotGames)

10 ต.ค. 2562 แฟนเกมค่ายแอ็กทิวิชั่นบลิซซาร์ดไม่พอใจหลังมีการสั่งแบนนักกีฬา Esport ที่พูดสนับสนุนการเคลื่อนไหวต่อต้านกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนจีนและเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงโดยเสนอตามสื่อโซเชียลมีเดียให้มีการบอยคอตต์บริษัทนี้

เหตุการณ์เริ่มต้นมาจากการที่ จุงเอ็งไว หรือ "blitzchung" นักกีฬาเกม Hearthstone กล่าวในการให้สัมภาษณ์หลังการแข่งขันแกรนมาสเตอร์ในไต้หวันเมื่อวันที่ 6 ต.ค. ที่ผ่านมา เขาพูดแสดงการสนับสนุนการประท้วงของชาวฮ่องกงพร้อมทั้งสวมหน้ากากกันแก๊สน้ำตาว่า "ปลดปล่อยฮ่องกง การปฏิวัติในช่วงเวลาของพวกเรา" ซึ่งเป็นคำขวัญของการประท้วง

หลังจากที่จุงพูดถึงเรื่องนี้ ก็มีการตัดการถ่ายทอดสดการสัมภาษณ์โดยทันที และในเวลาต่อมาก็มีการถอดวิดีโอสตรีมมิงออก ถึงแม้ว่าบันทึกการถ่ายทอดการแข่งขัน Hearthstone ระหว่างจุงกับคู่แข่งชาวเกาหลีใต้จะยังคงมีอยู่เป็นภาษาอังกฤษแต่ก็มีการตัดช่วงสัมภาษณ์ผู้เล่นท้ายเกมออกไป

ทางบลิซซาร์ดออกแถลงการณ์ในเรื่องนี้เมื่อวันที่ 8 ต.ค. ที่ผ่านมาให้เหตุผลของการสั่งระงับเงินรางวัลและแบนจุงออกจากการแข่งขัน 1 ปีว่าเป็นเพราะจุงละเมิดกฎของการแข่งขัน กฎดังกล่าวระบุห้ามไม่ให้ผู้เล่น "นำตัวเองไปสู่ชื่อเสียงในทางไม่ดี สร้างความขุ่นเคืองให้กับผู้คนบางส่วนหรือกลุ่มคนหรือสร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของบลิซซาร์ด"

ถ้อยแถลงของบลิซซาร์ดระบุว่า "ในขณะที่พวกเราส่งเสริมจุดยืนในเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นส่วนบุคคล แต่ผู้เล่นและผู้เข้าร่วมอื่นๆ ที่ถูกเลือกให้เข้าร่วมการแข่งขัน Esports ของพวกเราจะต้องปฏิบัติตามกฎการแข่งขันอย่างเป็นทางการ"

จุงกล่าวว่าการกระทำของเขาจะทำให้เกิดผลทางลบกับตัวเขาเองเพราะมีชาวเน็ตในจีนเรียกร้องให้บลิซซาร์ดลงโทษเขา แต่เขาก็ยังยืนยันจะแสดงความคิดเห็นนี้เพื่อมีส่วนร่วมกับการประท้วงในฮ่องกง ซึ่งไม่ใช่แค่ต้องการให้พวกเขาได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นเท่านั้นแต่เพื่อบอกกับผู้ประท้วงชาวฮ่องกงบางส่วนที่ชมรายการอยู่ว่าเขาอยู่ข้างเดียวกับพวกเขา ซึ่งถึงแม้ว่าเขาจะโดนลงโทษแต่เขาก็ได้รับข้อความสนับสนุนจากชุมชนในฮ่องกง "ผมดีใจที่ข้อความของผมกลายเป็นพลังให้กับพวกเขา" จุงกล่าว

หลังเหตุการณ์ดังกล่าว แฟนเกมของบลิซซาร์ด ค่ายเกมเจ้าของเกมดังๆ อย่าง World of Warcraft, Overwatch และ Hearthstone ก็แสดงการโต้ตอบด้วยการบอยคอตต์ ในทวิตเตอร์มีแคมเปญ #BoycottBlizzard เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ผู้ใช้ทวิตเตอร์ที่ชื่อ Kristopher Lad วิจารณ์ว่าบลิซซาร์ดควรจะมีจุดยืนร่วมสนับสนุนประชาธิปไตย ผู้คนควรจะพูดอะไรก็ได้โดยเฉพาะการเรียกร้องให้ฮ่องกงเป็นอิสระ ผู้ใช้ทวิตเตอร์อีกรายที่ชื่อ Nick Hawkins กล่าวหาว่าบลิซซาร์ดเป็น "พวกไม่มีกระดูกสันหลัง" ที่ "เป็นผู้แก้ต่างให้กับเผด็จการเบ็ดเสร็จ"

ในช่วงเดียวกันนั้น บริษัทเกมอีกแห่งหนึ่งคือ Epic Games ก็ออกมาแถลงว่าพวกเขาจะไม่สั่งแบนผู้เล่นหรือผู้ผลิตเนื้อหาในการพูดเรื่องการเมือง โดยที่โฆษกของ Epic Games ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อ The Verge ว่า "ทาง Epic สนับสนุนสิทธิของทุกคนในการแสดงความคิดเห็นของตัวเองในเรื่องการเมืองและสิทธิมนุษยชน พวกเราจะไม่สั่งแบนหรือลงโทษผู้เล่นเกม Fortnite หรือผู้ผลิตเนื้อหาที่พูดเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้"

เรียบเรียงจาก

Blizzard suspends Hearthstone player for ‘liberate Hong Kong’ statement, Polygon,  Oct. 8, 2019

After Hearthstone player’s ban, fans call for a Blizzard boycott, Polygon, Oct. 8, 2019

Unlike Blizzard, Epic Games says it won’t ban players for political speech, The Verge, Oct. 9, 2019

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

สหภาพแรงงานภาคการดูแลด้านสุขภาพเรียกร้องสภาพการทำงานที่ดี

$
0
0

UNICARE สหภาพแรงงานภาคการดูแลด้านสุขภาพ เรียกร้องให้รัฐบาลในแต่ละประเทศ และบรรษัทข้ามชาติลงทุนด้านสาธารณสุขเพิ่ม ปรับปรุงสภาพการจ้าง ให้ความเคารพและคุ้มครองคนทำงานภาคการดูแลด้านสุขภาพ

10 ต.ค. 2562 ในช่วงการรณรงค์ 'วันงานที่มีคุณค่าสากล' (World Day of Decent) เมื่อช่วงต้นเดือน ต.ค. 2562 ที่ผ่านมา UNICARE สหภาพแรงงานภาคการดูแลด้านสุขภาพ ที่มีสมาชิกอยู่ทั่วโลก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรแรงงานนานาชาติอย่างสหพันธ์แรงงานฝีมือภาคบริการระหว่างประเทศ (UNI Global Union) ได้เรียกร้องให้รัฐบาลและบรรษัทข้ามชาติ ลงทุนในภาคสาธารณสุขเพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับผู้ป่วยและให้สร้างสภาพการทำงานที่ดีให้กับบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมนี้

UNI ระบุว่ากำลังผลักดันให้นายจ้างตระหนักถึงสภาพการทำงานที่ดี ค่าจ้างที่ดี และการต่อรองร่วมกัน สำหรับคนทำงานในภาคนี้ UNI ต้องการให้นายจ้างจัดหาพนักงานและมีการฝึกอบรมที่เพียงพอ เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ดูแลผู้ป่วยจะสามารถทำงานได้อย่างปลอดภัย

สำหรับการเรียกร้องต่อบรรษัทข้ามชาตินั้น UNI มุ่งเป้าการเรียกร้องไปที่ 2 ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมอย่าง Fresenius (บรรษัทข้ามชาติด้านการดูแลรักษาสุขภาพ ที่เชี่ยวชาญด้านยาเพื่อช่วยชีวิตและเทคโนโลยีสำหรับการให้ยาทางหลอดเลือดดำ การถ่ายเลือด และโภชนาการทางคลินิก รวมทั้งให้บริการช่วยรักษาและดูแลผู้ป่วยวิกฤตและโรคเรื้อรัง) และ ORPEA (บรรษัทข้ามชาติด้านการให้ดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ) โดย UNI ระบุว่าต้องการให้ 2 บรรษัทนี้รับประกันว่าคนทำงานหน้าผู้ดูแลทุกคนของบรรษัทและที่เกี่ยวข้องกับบรรษัท จะต้องได้รับการปฏิบัติอย่างมีศักดิ์ศรีและความเคารพ

ส่วน UNICARE ระบุว่าอุตสาหกรรมภาคการดูแลคนในครอบครัว (Homecare) เป็นอุตสาหกรรมภาคที่เติบโตเร็วที่สุดในเศรษฐกิจโลก และเราต้องทำให้แน่ใจว่าคนที่ทำงานในภาคนี้ซึ่งกำลังดูแลผู้ที่อ่อนแอที่สุดในสังคม จะสามารถรักษาสภาพการทำงานที่เหมาะสมผ่านการรวมกลุ่มและการต่อรองกับนายจ้างได้

ทั้งนี้ UNI ระบุว่ามีการชุมนุมรณรงค์เรียกร้องโดยสหภาพแรงงานภาคการดูแลด้านสุขภาพต่างๆ ทั่วโลก เช่นที่แอฟริกาใต้ สหภาพแรงงาน UGTT ได้ออกมาเรียกร้องที่โรงพยาบาลและสถานพยาบาลหลายแห่งทั่วประเทศ, ในยุโรป กลุ่มสหภาพแรงงานในโปแลนด์ สาธารณรัฐเช็ก ออสเตรีย เบลเยียม และสเปน ได้ออกมารณรงค์เน้นย้ำถึงการทำงานที่มั่นคง, ที่อาร์เจนตินา กลุ่มสหภาพแรงงานได้ออกมาเรียกร้องให้มีการฝึกอบรมและสิทธิการต่อรองร่วม นอกจากนี้ยังการชุมนุมรณรงค์เรียกร้องโดยสหภาพแรงงานภาคการดูแลด้านสุขภาพใน นิวซีแลนด์ อินเดีย และเนปาล อีกด้วย

ที่มา
Care workers demand better conditions on World Day of Decent Work (Uni Global Union, 4/10/2019)
 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

'สมัชชาคนจน' หวังรัฐแก้ปัญหาอย่างเสมอหน้า 'เทวัญ' เล็งหาคนมีความรู้เข้ามาแก้

$
0
0

สมัชชาคนจน หวังรัฐแก้ปัญหาอย่างเสมอหน้า 'เทวัญ' เผยผลหารือน่าพอใจ เล็งหาคนมีความรู้เข้ามาทำงานเพื่อแก้ไขปัญหา

10 ต.ค.2562 ความคืบหน้าการเคลื่อนไหวของ สมัชชาคนจน ที่ชุมนุมข้างกระทรวงศึกษาธิการ ถนนราชดำเนิน ตั้งแต่วันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมา และเป็นการชุมนุมใหญ่ครั้งแรกในรอบ 5 ปี หลังเหตุการณ์รัฐประหารปี 2557 เพื่อเรียกร้องการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและผลกระทบจากนโยบายรัฐบาล โดยเรียกร้องให้ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้เป็นประธานการแก้ไขปัญหา นั้น

ล่าสุดวันนี้ (10 ต.ค.62) มติชนออนไลน์รายงานว่า ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 13.00 น. สุภรณ์ อัตถาวงศ์ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ไปพบปะกับกลุ่มดังกล่าว เพื่อชี้แจงให้ผู้ชุมนุมทราบว่า ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (กห.) ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้ง เทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการในการเจรจาในการแก้ไขปัญหาของสมัชชาคนจนแล้ว พร้อมกับนำสำเนาหนังสือคำสั่งดังกล่าวมาแสดงต่อผู้ชุมนุมด้วย และยังระบุว่าเทวัญได้เรียกประชุมคณะกรรมการดังกล่าวทันทีในวันนี้ (10 ต.ค.) เวลา 13.30 น. ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล

จากนั้นเวลา 13.30 น. เทวัญ ลิปตพัลลภ สุภรณ์ อัตถาวงศ์ ธงชัย ลืออดุลย์ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประทีป กีรติเรขา รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และ สุรศักดิ์ เรียงเครือ รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ประชุมร่วมกับตัวแทนของสมัชชาคนจน ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ เพื่อหารือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของสมัชชาคนจน โดยจะได้สรุปแผนดำเนินการและความคืบหน้าการแก้ไขรายกรณีปัญหาทั้ง 35 กรณีปัญหาของกลุ่มดังกล่าว รวมถึงแนวทางการดำเนินการปัญหาความเดือดร้อนและข้อเสนอของสมัชชาคนจน

มติชนออนไลน์ รายงานต่อว่า อย่างไรก็ตาม สำหรับ 35 กรณีปัญหาแยกได้เป็น 5 กลุ่ม คือ 1.กรณีราษฎรได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน ฝาย และอ่างเก็บน้ำ เช่น เขื่อนปากมูล เขื่อนสิรินธร เขื่อนแก่งเสือเต้น ฝายราษีไศล 2.กรณีมะพร้าวราคาตกต่ำ 3.กรณีราษฎรได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ ทั้งด้านอุตสาหกรรมและคมนาคม 4.กรณีปัญหาที่ทำกินและที่อยู่อาศัย และ 5.กรณีปัญหาแรงงาน

นอกจากนี้ ส่วนข้อเสนอแนะเชิงนโยบายนั้น จะมีการเสนอด้านระบบสวัสดิการของรัฐและคุณภาพชีวิตประชาชน เสนอเชิงนโยบายด้านกระบวนการยุติธรรม ด้านกฎหมาย และเรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของสมัชชาคนจน เพื่อเตรียมหารือร่วมกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เนื่องจาก สปน.เห็นว่าข้อเรียกร้องของสมัชชาคนจนมีรายละเอียดจำนวนมาก รวมถึงเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวงและหลายหน่วยงาน จึงจำเป็นต้องใช้ระยะเวลา ดังนั้น อาจต้องเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาดำเนินการเป็นรายกรณี

'เทวัญ' เผยผลหารือน่าพอใจ เล็งหาคนมีความรู้เข้ามาทำงานเพื่อแก้ไขปัญหา

ทั้งนี้ สำนักข่าวไอเอ็นเอ็นรายงานว่า เทวัญ กล่าวภายหลังการหารือในกรอบกับคณะซึ่งสามารถสรุปรวมได้ 9 กลุ่ม ซึ่งต้องดูว่าแต่ละกลุ่มเชื่อมโยงกับกระทรวงใดบ้าง ซึ่งกรอบการทำงานจะมีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมพูดคุยหารือถึงแนวทางแก้ไขปัญหา โดยการหารือในวันนี้กลุ่มสมัชชาคนจนมีความพึงใจ ซึ่งภายหลังจากนี้จะมีการเดินหน้าการทำงานในลักษณะดังกล่าว พร้อมมอบหมาย ให้ รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้จัดกรอบเวลาของแต่ละกลุ่ม ซึ่งจากการที่ตนได้ฟังเสียงของกลุ่มสมัชชาพบว่าต้องการคนที่มีความรู้เข้ามาทำงานเพื่อแก้ไขปัญหา

ส่วนที่กรณีผู้ชุมนุมเรียกร้องให้ จุรินทร์เป็นประธานการแก้ไขปัญหา นั้นต้นเป็นเพียงประธานเจรจาในเบื้องต้นไม่ใช่ประธานแก้ไขปัญหา หากได้ข้อสรุปจึงมาตั้งประธานแก้ไขปัญหาอีกรอบนึงส่วนจุรินทร์จะนั่งเป็นประธานแก้ไขปัญหาหรือไม่ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ตัดสินใจ

สมัชชาคนจน หวังรัฐแก้ปัญหาอย่างเสมอหน้า

ก่อนหารือวันนี้ สมัชชาคนจน ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 4 เรื่องการประชุมเจรจากับรัฐบาล โดยระบุว่า ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งและมอบหมายให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หรือ เทวัญ เป็นผู้ทำหน้าที่เจรจาแก้ไขปัญหาของสมัชชาคนจนแทนนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ได้ข้อยุติในการแก้ไขปัญหารายกรณีและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาเชิงนโยบายให้เกิดเป็นรูปธรรม ซึ่งมีการนัดหมายประชุมเจรจาในวันที่ 10 ต.ค.นี้ เวลา 12.30 น. ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 2 อาคารสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.) 

สมัชชาคนจน ได้เห็นถึงความจริงใจของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการเจรจาแก้ไขปัญหารายกรณีของสมัชชาคนจน “อย่างเสมอหน้า” จะดำเนินการไปได้ด้วยดี ภายในกรอบที่สมัชชาคนจนกำหนด คือ (1) รัฐบาลต้องเปิดการเจรจาแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจน โดยมีองค์ประกอบด้วย ผู้แทนฝ่ายรัฐบาลกับผู้แทนสมัชชาคนจน (2) ให้มีการเจรจาแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจนเป็นรายกรณีปัญหาตามที่สมัชชาคนจนเสนอ (3) ให้ส่งผลการเจรจาตามข้อ (2) เสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ภรรยา 'สุรชัย แซ่ด่าน' ร้อง ผบ.ตร.ทวงความคืบหน้า คดีสามีถูกอุ้มหาย กว่า 10 เดือนแล้ว 

$
0
0

กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย และภรรยา 'สุรชัย แซ่ด่าน' ร้องผบ.ตร.ทวงความคืบหน้า คดี 8 ผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่สูญหาย-ตาย สงสัยเป็นการฆาตกรรมโดยคนกลุ่มเดียวกันและเป็นปฏิบัติการทหารนอกระบบที่อาจจะสัมพันธ์เชื่อมโยงกับการใช้งบฯลับ

ที่มาภาพ Banrasdr Photo

10 ต.ค.2562 จากกรณีที่ สมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย เปิดเผยว่า กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตยและครอบครัวผู้ถูกอุ้มฆ่า จะได้นำเรื่องราวการอุ้มฆ่าหายตัวไปของผู้ลี้ภัยทางการเมืองทั้ง 8 คน เพื่อให้ตำรวจติดตามคดีเหล่านี้ให้เกิดความกระจ่างเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมกันต่อไป ใน 10 ต.ค.นี้ เวลา 10.30 น. ที่บริเวณอนุสาวรีย์ตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) นั้น

ล่าสุดวันนี้ (10 ต.ค.62) ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า ที่ สตช. ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ อายุ 62 ปี ภรรยาของ สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือสุรชัย แซ่ด่าน พร้อมกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ประมาณ 20 คน เดินทางมายื่นหนังสือถึง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เรียกร้องให้สืบสวนสอบสวนกรณีการหายตัวไปของสุรชัย พร้อมนักกิจกรรมนักเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายคน

ปราณี เปิดเผยว่า วันนี้มาร้องทุกข์กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอความเป็นธรรม ให้ช่วยตามหา สุรชัย ผู้เป็นสามี ที่ถูกอุ้มหายเป็นเวลานานกว่า 10 เดือนแล้ว ซึ่งขณะนี้ไม่มีความคืบหน้า จึงเรียกร้องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติสืบสวนสอบอย่างจริงจังเพื่อให้เกิดความกระจ่าง โดยสามีของตนหายสาบสูญไปพร้อมกับทีมงาน 2 คน คือ สหายกาสะลอง และสหายภูชนะ ภายหลังพบว่าทั้ง 2 คนเป็นศพที่แม่น้ำโขง จ.นครพนม ที่ผ่านมามีการติดต่อไปหาญาติใกล้ชิดที่คาดว่าสามีจะไปอยู่ที่นั่นที่นี่ แต่ก็ไม่มีใครพบ ส่วนตัวเชื่อว่าสามีน่าจะเสียชีวิตแล้ว แต่ก็อยากจะพบร่างของสามีเพื่อความแน่ใจ ก่อนหายสาบสูญ ตนสามารถติดต่อสามีได้ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2561

ด้าน สมยศ พฤกษาเกษมสุข เปิดเผยด้วยว่า กรณีผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่สูญหายทั้ง 8 คนนั้น สงสัยว่าจะเป็นการฆาตกรรมโดยคนกลุ่มเดียวกันและเป็นปฏิบัติการทหารนอกระบบที่อาจจะสัมพันธ์เชื่อมโยงกับการใช้งบประมาณลับทางการทหารในการอุ้มฆ่าเพื่อทำลายคู่ปรปักษ์ทางการเมือง และเชื่อว่าบุคคลทั้งสาม คือ สุรชัย สหายกาสะลอง และสหายภูชนะ ถูกฆาตกรรมในประเทศไทย

สำหรับผู้ลี้ภัยการเมืองไทยที่ถูกอุ้มหาย อุ้มฆ่า และสูญหายไปจากประเทศลาว ตั้งแต่ปี 2559 ประกอบด้วย วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือ ‘โกตี๋’, อิทธิพล สุขแป้น หรือ ดีเจเบียร์ หรือ ดีเจซุนโฮ, สุรชัย แซ่ด่าน, ภูชนะ, สหายกาสะลอง,  ‘ลุงสนามหลวง’ หรือชูชีพ ชีวะสุทธิ์, สยาม ธีรวุฒิ และ กฤษณะ ทัพไทย หรือสหายยังบลัด 

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

GE แช่แข็งบำนาญลูกจ้าง แต่ CEO มีเงินเดือนสูงกว่าค่าเฉลี่ยกลาง 345 เท่า

$
0
0

บรรษัทยักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกัน เจเนอรัลอิเล็กทริกประกาศตรึงเงินบำนาญลูกจ้าง 20,000 ชีวิต ทำให้พวกเขาไม่มีสิทธิได้รับสวัสดิการเพิ่มเติมหลังเกษียณอายุ แต่ก็มีข้อวิจารณ์จากองค์กรแรงงาน Labor411 และสื่ออื่นๆ ว่าทางบริษัทประกาศแช่แข็งสวัสดิการหลังเกษียณกับลูกจ้างตัวเองในขณะที่เหล่าผู้บริหารระดับสูงมีเงินเดือนรวมราว 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี

ออฟฟิศเจเนรัล อิเล็คทริค นิวยอร์ก (ที่มา: flickr/rik-shaw)

10 ต.ค. 2562 บรรษัทเจเนอรัลอิเล็กทริก (GE) ประกาศเมื่อวันที่ 7 ต.ค. ที่ผ่านมาว่าจะให้มีการตรึงเงินบำนาญเกษียณอายุของลูกจ้าง 20,000 คน โดยที่ถึงแม้ว่าลูกจ้างเหล่านี้จะยังคงได้รับเงินในส่วนที่มีการสะสมไว้ก่อนหน้านี้จากส่วนของภาครัฐ แต่พวกเขาจะไม่ได้รับเพิ่มเติมและต้องดิ้นรนหาแผนการในการที่จะมีรายได้มากพอหลังเกษียณเอาเอง

GE แถลงว่าสาเหตุที่พวกเขามีมาตรการตรึงเงินบำนาญเกษียณอายุในครั้งนี้เพื่อต้องการลดการขาดดุลบำนาญ 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้พวกเขายังมีแผนการจะตรึงระบบบำนาญเสริมที่จะเป็นสวัสดิการของคนงาน 700 ชีวิต สำหรับผู้ที่เกษียณอายุแล้วในปัจจุบันจะไม่ได้รับผลกระทบจากการตรึงบำนาญในครั้งนี้ ขณะที่ลูกจ้างใหม่ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมาก็ไม่ได้อยู่ในระบบบำนาญนี้

เรื่องนี้ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์จาก เทเรซา กิลาร์ดุซซี นักเศรษฐศาสตร์แรงงานและผู้อำนวยการศูนย์วิเคราะห์นโยบายเศรษฐกิจชวาร์ตซแห่งเดอะนิวสคูล กิลาร์ดุชชีกล่าวว่าทุกครั้งที่พวกเขาเห็นคนสูญเสียสวัสดิการแบบแผนกำหนดประโยชน์ทดแทน (defined-benefit plans) พวกเขาเล็งเห็นว่าคนเหล่านั้นต้องสูญเสียทุกอย่างที่พวกเขาเสียสละให้ เนื่องจากคนงานในแผนการสวัสดิการหลังเกษียณแบบหนดประโยชน์ทดแทนนี้ได้สละการขึ้นค่าแรงจำนวนมากแต่พวกเขากลับต้องสูญเสียรายได้ที่ถูกรับรองไว้ไปตลอดชีวิต รวมถึงสูญเสียเงินรายได้ในอดีตที่พวกเขาต้องจ่ายให้กับระบบสวัสดิการนี้ไปด้วย

เควิน คอกซ์ หัวหน้าแผนกทรัพยากรบุคคลของ GE กล่าวว่า "การจะทำให้ GE กลับสู่จุดที่เข้มแข็งได้นั้นต้องมีการตัดสินใจในเรื่องที่ยากจะตัดสินใจหลายเรื่อง และการตัดสินใจตรึงสวัสดิการบำนาญก็ไม่เป็นข้อยกเว้น"

ทั้งนี้ GM เคยกล่าวไว้เมื่อเดือนที่แล้วว่าพวกเขาจะใช้เงิน 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในการชำระหนี้สิน แต่นักวิเคราะห์ก็มองว่าการพยายามลดหนี้ของบริษัทก็กลับทำให้เกิดความเสียหายต่อขวัญกำลังใจของคนทำงาน และในขณะที่ลูกจ้างบริษัทต้องถูกตัดสวัสดิการ ซีอีโอของบริษัทอย่างเอช ลอว์เรน คัลป์ จูเนียร์ ก็มีเงินเดือนรวมแล้วถึง 15,312,165 ในปี 2562 (ราว 466 ล้านบาท) ซึ่งถือเป็นราว 345 เท่าของเงินเดือนโดยเฉลี่ยกึ่งกลางของคนงาน GE จากข้อมูลของบริษัทวิเคราะห์ข้อมูล Equilar Inc.

เรียบเรียงจาก

GE, Who Paid Its CEO $15 Million Last Year, Just Froze Workers’ Pensions, Labor 411, Oct. 7, 2019

General Electric freezing pension plan for 20,000 of its U.S. employees, CBS News, Oct. 8, 2019

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

เครือข่ายยุติโทษประหารฯ เสนอใช้จำคุกตลอดชีวิตแทนและหาทางเยียวยาผู้เสียหาย

$
0
0

เครือข่ายยุติโทษประหารชีวิต ร้องขอให้มีการศึกษาเรื่องบทลงโทษทางอาญา วิธีการป้องกันอาชญากรรม และการเยียวยาผู้เสียหายจากอาชญากรรมร้ายแรง พิจารณายุติโทษประหารชีวิตซึ่งจะแทนที่ด้วยโทษจำคุกตลอดชีวิต  ระหว่างที่ยังไม่มีการแก้ไขกฎหมายในเรื่องนี้ ขอให้พักการบังคับโทษประหารชีวิต ขณะที่ 'โรม' ชี้ประสบการณ์จากต่างประเทศ โทษประหารไม่ได้ทำให้คดีอาญาลดลง

ที่มา เว็บไซต์แอมเนสตี้ฯ

10 ต.ค.2562 เนื่องในวันยุติโทษประหารชีวิต แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย รายงานว่า วันนี้ (10 ต.ค.62) เวลา 13.00 น. ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เครือข่ายยุติโทษประหารชีวิต ประกอบด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิสันติภาพและวัฒนธรรม สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน สมาคมแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลประเทศไทย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม จัดงานเสวนาเพื่อยุติโทษประหารชีวิตในประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนจากสถานทูตฝรั่งเศส

ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ ผู้แทนเครือข่ายยุติโทษประหารชีวิต กล่าวว่า ประเทศไทยคุ้นเคยกับโทษประหารชีวิต ที่เป็นบทลงโทษทางกฎหมายในระบบยุติธรรมของไทยมานานหลายศตวรรษ จนกลายเป็นความเชื่อ ค่านิยม และบรรทัดฐานทางสังคม แต่มีองค์กรหลายแห่งเรียกร้องให้ยกเลิกโทษประหารชีวิต ทั้งในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนจำนวนมากต้องการเห็นโทษประหารชีวิตสิ้นสุดลง และแทนที่ด้วยโทษจำคุกตลอดชีวิต วันที่ 10 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันต่อต้านโทษประหารชีวิตแห่งโลก เครือข่ายยุติโทษประหารชีวิต จึงจัดงานเสวนายุติโทษประหารชีวิต เพื่อเปิดพื้นที่ให้เกิดการเรียนรู้เรื่องโทษประหารชีวิตในประเทศอาเซียนและประเทศไทย รวมถึงการสร้างความตระหนักรู้ถึงความเหมาะสมในการยุติโทษประหารชีวิต

ฌัก ลาปูฌ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย กล่าวว่า หลายประเทศยังมีการใช้โทษประหารโดยปราศจากการอภิปรายในที่สาธารณะ ซึ่งบางครั้งเพราะขาดประชาธิปไตย ขณะที่ผู้เกี่ยวข้องทางการเมืองยังนำโทษประหารมาใช้อย่างสม่ำเสมอ ฝรั่งเศสต่อต้านการนำโทษประหารมาใช้ทุกวาระเป็นพันธกิจแน่วแน่และต่อเนื่องของเรา การต่อต้านโทษประหารชีวิตเป็นภารกิจทางอารยธรรมที่เกี่ยวข้องกับพวกเราทั้งหมด ขอยืนยันว่าโทษประหารชีวิตเป็นการกระทำอมนุษย์ แทนที่จะมีการปกปักรักษาชีวิตมนุษย์ วิคเตอร์ อูโก กล่าวไว้ว่า “ไม่มีอะไรท้าทายกว่าความคิดที่มาถึงแล้ว” วันนี้ทางเลือกของพวกท่านมาถึงแล้วขออย่ารีรอที่จะต่อสู้

โคทม อารียา อ่านถ้อยแถลงของเครือข่ายยุติโทษประหารชีวิต ระบุว่า ด้วยเหตุที่มีความจำเป็นที่จะปกป้องสังคมจากอาชญากรรมร้ายแรง ตลอดจนเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอาชญากรรมต่างๆ สังคมจึงมีกระบวนการยุติธรรมเชิงโทษทัณฑ์ (retributive justice) ได้แก่ การตัดสินโทษทางอาญา การราชทัณฑ์ เป็นต้น และมีกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (restorative justice) ได้แก่ การชดเชยผู้เสียหายและการคืนความสมานฉันท์สู่สังคม

“โทษสูงสุดและเด็ดขาดทางอาญาคือโทษประหารชีวิต แต่มีข้อศึกษาทางอาชญาวิทยาว่า โทษประหารชีวิตไม่ใช่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการป้องกันอาชญากรรมและป้องปรามผู้ที่จะกระทำความผิดให้ยับยั้งชั่งใจก่อนลงมือกระทำการ ประเทศส่วนใหญ่  (ประมาณ 106 ประเทศ) ได้ยุติโทษประหารชีวิต อีกหลายประเทศ (ประมาณ 28 ประเทศ) มีการตัดสินลงโทษแต่ไม่มีการบังคับโทษประหารชีวิต (moratorium) โดยที่สถิติอาชญากรรมร้ายแรงในประเทศเหล่านี้ไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ประเทศที่เหลือ (ประมาณ 56 ประเทศ) มีการตัดสินและการบังคับโทษประหารชีวิต

“การลงโทษประหารชีวิตไม่เปิดโอกาสการกลับตัวกลับใจของผู้ถูกลงโทษ อีกทั้งกรณีการตัดสินคดีที่มีข้อผิดพลาดด้านพยานหลักฐานก็ไม่สามารถคืนความยุติธรรมได้ ในประการสำคัญการประหารชีวิตเป็นการลิดรอนสิทธิในชีวิตซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ และการปลิดปลงชีวิตน่าจะขัดกับหลักคำสอนของหลายศาสนา” โคทม กล่าว พร้อมระบุว่า ทางเครือข่ายมีข้อเรียกร้องต่อผู้มีอำนาจหน้าที่และต่อสังคมดังนี้

1. ขอให้มีการศึกษาเรื่องบทลงโทษทางอาญา (โดยเฉพาะโทษจำคุกตลอดชีวิตและโทษประหารชีวิต) วิธีการป้องกันอาชญากรรม และการเยียวยาผู้เสียหายจากอาชญากรรมร้ายแรง

2. ขอให้พิจารณายุติโทษประหารชีวิตซึ่งจะแทนที่ด้วยโทษจำคุกตลอดชีวิต โดยแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาหมวดโทษ มาตรา 18 เป็น “โทษสำหรับลงแก่ผู้กระทำความผิดมีดังนี้ 1. จำคุก 2. กักขัง 3. ปรับ 4. ริบทรัพย์สิน” และขอให้ยกเลิกข้อความในมาตรา19 “ผู้ใดต้องโทษประหารชีวิต ให้ดำเนินการด้วยวิธีฉีดยาหรือสารพิษให้ตาย”

3. ในระหว่างที่ยังไม่มีการแก้ไขกฎหมายในเรื่องนี้ ขอให้พักการบังคับโทษประหารชีวิต

'โรม' ชี้ประสบการณ์จากต่างประเทศ โทษประหารไม่ได้ทำให้คดีอาญาลดลง

ขณะที่วานนี้ (9 ต.ค.62) รังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ในฐานะโฆษกกรรมาธิการกฎหมายการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊คแฟนเพจ 'Rangsiman Rome - รังสิมันต์ โรม' ว่า กรรมาธิการฯได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนกับสถานทูตและเอ็นจีโอด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่กรรมาธิการได้แลกเปลี่ยนในประเด็นการยกเลิกประหารชีวิต

ประเด็นหนึ่งที่ได้มีการแลกเปลี่ยนคือเรื่องโทษประหารชีวิตไม่ได้ทำให้คดีอาญาลดลง เรื่องนี้สะท้อนผ่านประสบการณ์และสถิติในต่างประเทศ ผมคิดว่าเราสามารถเรียนรู้ประสบการณ์จากต่างประเทศได้ว่าพวกเขาซึ่งมีบทเรียนและประสบการณ์ทำอย่างไรจึงทำให้คนในประเทศเห็นด้วยกับการไม่ใช้โทษประหารชีวิตอีกต่อไป

รังสิมันต์ กล่าวต่อว่า มีคำพูดหนึ่งที่ผมชอบมากๆ จากการสนทนาในวันนี้ “ในประเทศนอเวย์ได้มีชายคนหนึ่งทำการกราดยิงพลเรือน ชายคนนั้นเรียกร้องให้มีการใช้โทษประหารชีวิตกับตัวเขา ปรากฏว่ากระแสสังคมไม่เห็นด้วย และบอกกับชายคนนั้นว่า เราไม่ใช่ฆาตกร และเราจะไม่ใช้โทษประหารเพื่อทำให้คุณได้กลายเป็นฮีโร่” 

ที่ผ่านมานับตั้งแต่ปี 2552 ประเทศไทยไม่ได้มีการใช้โทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติจนถึงปี 2561 ที่ได้มีการบังคับใช้อีกครั้งต่อกรณีนักโทษคดีฆ่าชิงทรัพย์รายหนึ่ง เป็นเวลา 9 ปีที่ประเทศไทยไม่ได้บังคับใช้โทษประหารชีวิต ขาดอีกแค่ 1 ปี คือเดือนสิงหาคม 2562 ประเทศไทยจะถือได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตโดยปริยาย (หากประเทศใดไม่มีการประหารชีวิตเกิน 10 ปี สหประชาชาติถือว่าประเทศนั้นเป็นประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ) น่าเสียดายที่ประเทศไทยต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่อีกครั้งในเรื่องนี้น่าเสียดายที่ประเทศไทยต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่อีกครั้งในเรื่องนี้

"ส่วนตัวผมมีจุดยืนในการต่อต้านโทษประหารและรู้สึกขอบคุณที่วันนี้ได้ร่วมแชร์ประสบการณ์โดยเฉพาะกับสถานทูตต่างประเทศ หวังว่าวันนึงประเทศไทยจะไม่มีโทษประหารอีกต่อไปครับ" รังสิมันต์ กล่าวทิ้งท้าย

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ศาล รธน. ระบุ 'โกวิท' ชี้แจงข้อเท็จจริงและขออภัยต่อศาลฯ ปมทวีตวิจารณ์ไม่สั่ง 32 ส.ส.รัฐบาลหยุดปฏิบัติหน้าที่

$
0
0

ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (เชิงบริหาร) ระบุ โกวิท ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงและขออภัยต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้ว หลังถูกแจ้งละเมิดอำนาจศาล กรณีการวิจารณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยที่ไม่สั่ง 32 ส.ส.รัฐบาลหยุดปฏิบัติหน้าที่

10 ต.ค.2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ ข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่ ผลการพิจารณากรณีที่ รศ.ดร.โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ อดีตอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความวิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญ ผ่านทางทวิตเตอร์ @kovitw1 เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ที่ผ่านมา เรื่อง  คำสั่งรับคำร้องขอให้วินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกส.ส. 41 คน สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ ทั้งนี้ โกวิท ได้มาพบเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ถ้อยคำชี้แจงข้อเท็จจริงเมื่อวันที่ 30 ส.ค.2562 โดยคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มอบหมายให้เลขาธิการฯดำเนินการรวบรวมข้อเท็จจริงเสนอให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ซึ่งเลขาธิการฯได้ให้นายโกวิท พิจารณาเอกสารเผยแพร่ของศาลรัฐธรรมนูญ ข่าวที่ 10/2562 และข่าวที่ 11/2562 ถึงผลต่างกันในข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงและกระบวนการที่ได้มาในข้อเท็จจริงที่แตกต่างกันเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง

ข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ รายงานต่อว่า โกวิท ได้เข้าใจและขออภัยต่อศาลและจะเยียวยาหรืออธิบายข้อเท็จจริงความเห็นในทวิตเตอร์ เพื่อให้ประชาชนเข้าใจในเนื้อหาของการชี้แจงถึงความแตกต่างในคดีของหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่กับ 32 ส.ส. เนื่องจากคดีหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กกต.ได้ทำการสืบสวนมาพอสมควรแล้วและมีเอกสารหลักฐานจากกระทรวงพาณิชย์เกี่ยวกับบริษัทดังกล่าวแตกต่างจากคดีของ 32 ส.ส.

ที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (เชิงบริหาร) ได้ประชุมหารือและพิจารณาถึงข้อมูลข้อเท็จจริงทั้งในส่วนของการบันทึกถ้อยคำของ โกวิท และข้อความในทวิตเตอร์ เมื่อวันที่ 13 ก.ย.2562 ที่ชี้แจงต่อประชาชนถึงเหตุผลในการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้แล้ว เห็นว่า ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล กรณีการวิจารณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยที่มิได้กระทำโดยสุจริตโดยใช้ถ้อยคำที่มีความหมายหยาบคาย เสียดสี หรืออาฆาตมาดร้าย ตามมาตรา 38 พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 นั้น โกวิท ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงและขออภัยต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้ว

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

โฆษกสถานทูตจีนฯ เตือนนักการเมืองไทยหนุนผู้ประท้วงที่ฮ่องกงระวังกระทบมิตรภาพ - 'โจชัว หว่อง' โพสต์ภาพคู่ 'ธนาธร'

$
0
0

โฆษกสถานทูตจีนฯ เตือนนักการเมืองไทยบางคน อ้างมีท่าทีเชิงสนับสนุนกลุ่มที่คิดจะแบ่งแยกฮ่องกงออกจากจีน ระวังกระทบมิตรภาพจีน-ไทย ขณะที่ก่อนหน้านั้น 'โจชัว หว่อง' แกนนำผู้ประท้วงชาวฮ่องกง เพิ่งโพสต์ภาพคู่ 'ธนาธร' ด้าน 'ธนาธร' เผย 'ฮ่องกง' คือแรงบันดาลใจตั้งพรรคอนาคตใหม่

10 ต.ค. 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้เมื่อเวลา 16.54 น. เฟสบุ๊คแฟนเพจ 'Chinese Embassy in Bangkok เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย' เผยแพร่ข้อความระบุว่า โฆษกสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยให้ความเห็นเกี่ยวกับ "กฎบังคับในเรื่องห้ามสวมหน้ากาก" และสถานการณ์ล่าสุดในฮ่องกง โดยระบุว่า 

เมื่อวันที่ 4 เดือนตุลาคม รัฐบาลเขตปกครองพิเศษฮ่องกงได้ประกาศ "กฎบังคับในเรื่องห้ามสวมหน้ากาก" โดยอาศัยอำนาจจาก “กฎระเบียบในวาระฉุกเฉิน” มีผลตั้งแต่วันที่ 5 เดือนตุลาคม กฎบังคับดังกล่าวห้ามผู้ชุมนุมสวมใส่หน้ากาก ซึ่งจะเป็นอุปสรรคในการระบุตัวตนสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้ละเมิดถือว่าทำผิดกฎหมาย

ความรุนแรงในฮ่องกงยืดยาวมาเป็นเวลามากกว่า 4 เดือน วันที่ 1 เดือนตุลาคม กลุ่มคนใช้ความรุนแรงที่สวมหน้ากากได้รวมตัวกันอย่างผิดกฎหมายในพื้นที่ต่างๆ ของฮ่องกง ปิดกั้นการจราจรในบริเวณกว้าง ทำลายร้านค้า รถไฟใต้ดินและสาธารณูปโภคอื่นๆ อีกทั้งได้จุดไฟเผา โยนระเบิดขวดจำนวนมาก โจมตีสถานที่ราชการและสถานีตำรวจ ทำร้ายเจ้าหน้าตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่อย่างบ้าคลั่ง ทำร้ายประชาชนทั่วไปอย่างไม่เลือกหน้า พวกเขาจงใจสร้างเหตุการณ์นองเลือดขึ้นมา

ความรุนแรงได้ยกระดับขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นการท้าทายกฎหมายอย่างรุนแรง ทำลายความสงบสุขของสังคมฮ่องกง และเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตของเจ้าหน้าที่ตำรวจและประชาชนทั่วไป

ในปัจจุบัน ความอันตรายที่ใหญ่ที่สุดที่ฮ่องกงกำลังเผชิญอยู่ก็คือ การใช้ความรุนแรงและการไม่เคารพกฎหมาย ถึงเวลาแล้วที่ต้องยุติความรุนแรงและความวุ่นวายด้วยท่าทีที่ชัดเจนมากขึ้นและวิธีการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ในสถานการณ์อย่างนี้ รัฐบาลเขตปกครองพิเศษได้บังคับใช้ "กฎบังคับในเรื่องห้ามสวมหน้ากาก" เป็นมาตรการที่ชอบด้วยกฏหมาย ชอบธรรมและมีความจำเป็นอย่างยิ่ง หลายประเทศในโลกก็ได้บังคับใช้กฎหมายห้ามปิดบังใบหน้าเช่นกัน การบังคับใช้กฎบังคับดังกล่าวในฮ่องกง มิได้ส่งผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของชาวฮ่องกง รวมทั้งสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมด้วย

รัฐบาลส่วนกลางของประเทศจีนสนับสนุน แคร์รี หลั่ม ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง รัฐบาลเขตปกครองพิเศษฮ่องกง เจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานตุลาการในการดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพื่อลงโทษผู้กระทำผิดใช้ความรุนแรงทั้งปวง โดยเฉพาะแกนนำกลุ่มผู้ใช้ความรุนแรง ตลอดจนผู้วางแผนและสั่งการที่อยู่เบื้องหลัง

เป็นที่ต้องชี้ให้ทราบว่า ความผันผวนที่มาจากการต่อต้านการแก้ไขกฎหมายในฮ่องกงได้เปลี่ยนตัวไปอย่างสิ้นเชิง กำลังพัฒนาเป็น "การปฏิวัติสี" โดยได้รับการแทรกแซงจากกลุ่มอิทธิพลภายนอก กลุ่มที่คิดจะแบ่งแยกฮ่องกงออกจากประเทศจีน ได้ใช้ประชาธิปไตยและเสรีภาพเป็นข้ออ้าง เพื่อทำลายหลักการพื้นฐานของ "หนึ่งประเทศสองระบบ" บ่อนทำลายอธิปไตยและความบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศจีน ซึ่งฝ่ายจีนคัดค้านอย่างเด็ดขาด

กลุ่มที่คิดจะแบ่งแยกฮ่องกงออกจากประเทศจีนยังได้สมคบกับกลุ่มอิทธิพลภายนอก เผยแพร่ข่างลือ บิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อวัตถุประสงค์ที่มิอาจเปิดเผยของตน นักการเมืองประเทศไทยบางคนมีการติดต่อกับกลุ่มที่คิดจะแบ่งแยกฮ่องกงออกจากประเทศจีนโดยมีท่าทีเชิงสนับสนุน ซึ่ง เป็นการกระทำที่ผิดอย่างร้ายแรงและไร้ความรับผิดชอบ ฝ่ายจีนหวังว่าบุคคลที่เกี่ยวข้องสามารถรับรู้ข้อเท็จจริงของปัญหาฮ่องกง ใช้ความระมัดระวัง ทำในเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อมิตรภาพจีน-ไทย

โจชัว หว่อง แกนนำผู้ประท้วงชาวฮ่องกง เพิ่งโพสต์ภาพคู่ 'ธนาธร'

ขณะที่เมื่อวันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมา โจชัว หว่อง นักการเมืองเยาวชนชาวฮ่องกง ได้โพสต์บนเฟซบุ๊ก 黃之鋒 Joshua Wong  เป็นภาพที่ถ่ายคู่กับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเป็นการพบกันในงาน โอเพ่น ฟิวเจอร์ ฟอรั่ม ที่นิตยสารดิอีโคโนมิสต์ จัดขึ้นที่ฮ่องกง เมื่อวันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมา

โดย มติชนสุดสัปดาห์แปลข้อความดังกล่าวและรายงานว่า โจชัว หว่อง ได้โพสต์เกี่ยวกับ ธนาธรว่า เป็นผู้นำพรรคอนาคตใหม่ ผู้ที่สนับสนุนเรื่องความเท่าเทียมกันทางเพศและการกระจายความมั่งคั่ง และสนับสนุนการไม่ให้ทหารยุ่งกับการเมืองไทย และนำปัญญาชนกลับมาเป็นรัฐบาล

นอกจากนี้ โจชัว หว่อง ยังระบุด้วยว่า ในการเลือกตั้งครั้งแรกของพรรคอนาคตใหม่ ยังสามารถกวาดที่นั่งไปได้กว่า 80 ที่นั่ง แต่ขณะเดียวกัน ก็ต้องถูกรัฐบาลทหารฟ้องร้องข้อหาก่อความไม่สงบ จนทำให้อาจจะต้องโทษจำคุกสูงถึง 9 ปี

โจชัว หว่อง ระบุว่า ตนได้พูดกับธนาธรถึงตอนที่ถูกรัฐบาลไทยจับตนขังอยู่ที่สนามบินกรุงเทพฯนาน 12 ชั่วโมง เมื่อ 4 ปีก่อน หลังจากนั้นก็ได้รับแจ้งเรื่องการขึ้นบัญชีดำและการส่งกลับประเทศ แม้ว่าจะไม่รู้ว่าจะมีโอกาสได้กลับไปประเทศไทยอีกเมื่อไหร่ และไม่รู้ว่าจะถูกปฏิเสธการเข้าประเทศอีกหรือไม่ในอนาคต

“แต่หวังว่าขณะที่กองกำลังของกลุ่มคนอนุรักษนิยมหรือลัทธิอำนาจนิยมกำลังแผ่ขยายไปทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เราจะยังคงเดินหน้าสนับสนุนการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมประชาธิปไตยในเอเชียตะวันออกได้ต่อไป” โจชัว หว่อง โพสต์

'ธนาธร' เผย 'ฮ่องกง' คือแรงบันดาลใจตั้งพรรคอนาคตใหม่

เมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา ผู้จัดการออนไลน์รายงานด้วยว่า ธนาธร ได้รับเชิญเข้าร่วมงาน Open Future Forum ที่จัดขึ้นโดยนิตยสารดิอีโคโนมิสต์ที่เกาะฮ่องกงเมื่อวันเสาร์ที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยเวทีดังกล่าวมีการถ่ายทอดสดผ่านทางยูทูป WithTheEconomist ด้วย ในเวทีดังกล่าว ธนาธร ขึ้นเสวนาบนเวที ซึ่ง มิแรนดา จอห์นสัน ผู้ดำเนินการเสวนา ถามความเห็นของธนาธรเกี่ยวกับสถานการณ์ในฮ่องกง

ซึ่ง ธนาธร ตอบว่า จริงๆ แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาในฮ่องกงนั้นสร้างแรงบันดาลให้กับเรา ขอตนพาคุณย้อนกลับไปในปี 2561 ตอนที่เรากำลังจะตัดสินใจว่าเราจะจัดตั้งพรรคการเมือง จริงๆ ตอนนั้นมีสองทางเลือกให้เราว่าเราควรจะสร้างการเคลื่อนไหวหรือการตั้งพรรคการเมือง คุณรู้ไหมว่ามันมีการถกเถียงกันครั้งใหญ่ภายในหมู่สมาชิกผู้ก่อตั้งพรรค (อนาคตใหม่) ว่าเราควรจะจัดตั้งการเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือเราจะตั้งพรรคการเมืองดี และสุดท้ายเราก็ตัดสินใจตั้งพรรคการเมือง เพราะบาดแผลที่เกิดขึ้นจากการเข้าปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมในปี 2553 ยังคงเป็นบาดแผลสดอยู่ โดยในปี 2553 การเข้าปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุม (เสื้อแดง) ของทางทหารทำให้มีผู้เสียชีวิตจากการถูกยิงมากกว่า 100 คน และมีมากกว่า 1,000 คนที่ได้รับบาดเจ็บ และเรารู้ดีว่าพวกเขา (ทหาร) พร้อมที่จะทำทุกอย่างกับอำนาจที่เขามีในการรักษาสถานภาพเอาไว้ ดังนั้นเราเลยรู้สึกว่ามวลชนยังไม่พร้อมที่จะมีการเคลื่อนไหวใหญ่ ความกลัวยังอยู่ในใจและความนึกคิดของผู้คน ดังนั้นเราเลยสรุปกันว่าถ้าเราดำเนินการเคลื่อนไหวไม่ได้ ทางเลือกเดียวที่เหลืออยู่ก็คือการตั้งพรรคการเมือง ดังนั้นตนจึงคิดว่าในทางหนึ่งฮ่องกงก็สร้างแรงบันดาลใจให้กับเรา

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

เสวนา: คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน | 11 ต.ค. 62 [คลิป]

$
0
0

คลิปจากวงเสวนาทางกฎหมาย เรื่อง“คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน” วันที่ 11 ตุลาคม 2562 เวลา 13.00 น. จากห้องจิตติ ติงศภัทย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดโดยสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CRCF) และ iLaw

"ตามที่มีเหตุการณ์เผยแพร่คำแถลงการณ์ของนายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลา โดยมีเนื้อหาสำคัญกล่าวถึงการถูกแทรกแซงกระบวนการพิจารณาพิพากษาคดี รวมไปถึงการกล่าวถึงสภาวะการณ์ที่เกิดขึ้นจากการพิจารณาพิพากษาคดีและการรับฟังพยานหลักฐานของศาล จากพยานหลักฐานหรือการรับสารภาพของจำเลยที่เกิดขึ้นขณะที่จำเลยถูกควบคุมตัวเป็นระยะเวลานานภายใต้กฎหมายพิเศษ"

"จากเหตุการณ์ดังกล่าว เป็นเหตุการณ์ที่ประชาชนให้ความสนใจ และเกิดการตั้งคำถามถึงเรื่องความเป็นอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดีของผู้พิพากษา การรับฟังพยานหลักฐานและการพิพากษาคดีของศาลในพื้นที่ที่อยู่ภายใต้กฎหมายพิเศษ และการตั้งคำถามถึงเรื่องการใช้อำนาจพิเศษของเจ้าหน้าที่รัฐด้วย" กำหนดการของผู้จัดเสวนาระบุ

โดยกำหนดการประกอบด้วย การกล่าวเปิดงานและชี้แจงวัตถุประสงค์ โดย พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CRCF)

ข้อเสนอแนะจากภาคประชาสังคมต่อปัญหาที่สะท้อนจากคำแถลงการณ์ของคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลา โดย ณัฐาศิริ เบิร์กแมน ผู้อำนวยการสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)

และเสวนาเรื่อง “คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน” ดำเนินรายการโดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ประกอบด้วย (1) ข้อเท็จจริงในคดีและประสบการณ์การต่อสู้ “คดีสำคัญ” ในพื้นที่ขัดแย้ง โดย อับดุลเลาะห์ หะยีอาบู ทนายความจำเลยคดีหมายเลขดำที่ 3428/2561 ศาลจังหวัดยะลา

(2) หลักความเป็นอิสระของตุลาการในทางสากล โดย สัณหวรรณ ศรีสด จากคณะกรรมการนิติศาสตร์สากล (ICJ)

(3) พระธรรมนูญศาลยุติธรรม กับระเบียบการส่งร่างคำพิพากษาให้อธิบดีผู้พิพากษาภาคตรวจ โดย สมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา

(4) หลักการรับฟังพยานหลักฐานของผู้พิพากษาในคดีอาญา โดย ผศ.ดร.รณกรณ์ บุญมี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

(5) ภาพรวมสถานการณ์กฎหมายพิเศษ กับกระบวนการยุติธรรมในจังหวัดชายแดนใต้ โดย อับดุลกอฮาร์ แอเวบูเต๊ะ ทนายความ มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

คดีละเมิดอำนาจศาล ‘สฤณี’ ยื่นแถลงขอโทษ ตัดคำไม่เหมาะสมแต่เนื้อหาคงเดิม นัดฟังผล 22 ต.ค.นี้

$
0
0

คดีละเมิดอำนาจศาลจากการเขียนบทความของ ‘สฤณี อาชวานันทกุล’ มีแนวโน้มตกลงกันได้ โดยสฤณียื่นคำแถลงการณ์ขอโทษพร้อมเผยแพร่ผ่านบล็อกและเฟสบุ๊ค ยอมรับใช้คำไม่เหมาะสม คือ “มักง่าย” และ “ตะพึดตะพือ” และได้ตัด 2 คำดังกล่าวออกแล้ว แต่เนื้อหาอื่นยังคงเดิม ศาลนัดฟังผลการดำเนินการวันที่ 22 ต.ค. 62


ภาพจากเฟสบุ๊คแฟนเพจ Sarinee Achavanuntakul - สฤณี อาชวานันทกุล

11 ต.ค. 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงสาย วันนี้(11 ต.ค.62) ที่ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ศาลนัดพิจารณาคดีที่ สฤณี อาชวานันทกุล  และยุทธนา นวลจรัส บรรณาธิการหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ถูกตั้งข้อกล่าวหาว่า ละเมิดอำนาจศาล จากการเขียนบทความวิจารณ์คำวินิจฉัยของศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ซึ่งคดีมีแนวโน้มว่าจะตกลงกันได้ ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองมาศาลและแถลงต่อศาลไว้แล้วว่า พร้อมจะขอโทษต่อศาล และได้ส่งร่างคำแถลงการณ์ให้ศาลพิจารณาเนื้อหาล่วงหน้าแล้ว

เมื่อผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองเข้ามาถึงในห้องพิจารณาคดี ผู้กล่าวหาคือ สุประดิษฐ์ จีนเสวก เลขานุการของแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกา แจ้งว่า ขอให้ตัดบางส่วนของคำแถลงการณ์ออกซึ่งผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองยินดี

เวลาประมาณ 10.00 น. ศาลอ่านรายงานกระบวนพิจารณาระบุว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองยื่นคำแถลงการณ์ขอโทษต่อศาล โดยผู้กล่าวหาขอให้ตัดข้อความบางส่วนออก และตกลงกันได้ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ขอยอมรับความผิดพลาดและขอโทษในการใช้ถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม และจะลงแถลงการณ์ขอโทษทางสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศของตัวเอง

ด้านผู้ถูกกล่าวหาที่สองก็ขอโทษและพร้อมรับผิดชอบโดยการลงประกาศแถลงการณ์ในหนังสือพิมพ์รายวันของกรุงเทพธุรกิจ เป็นเวลา 3 วัน และบนเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ เป็นเวลา 7 วัน ด้านฝ่ายผู้กล่าวหาแถลงต่อศาลว่า ถ้าหากผู้ถูกกล่าวหาดำเนินการข้างต้นแล้วก็พอใจส่วนการดำเนินคดีนี้ต่อไปจะเป็นอย่างไร ให้เป็นดุลพินิจของศาล

เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองยังไม่ได้ลงแถลงการณ์ตามที่ตกลงกัน ศาลจึงกำหนดวันนัดพร้อมเพื่อรอฟังผลการดำเนินการอีกครั้งในวันที่ 22 ตุลาคม 2562

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ต่อมาในเวลา 12.20 น. วันนี้ (11 ต.ค.62) สฤณี โพสต์คำแถลงการณ์ที่ตกลงกับทางศาลบนบล็อกของตัวเองและโพสต์บนเฟซบุ๊ก สรุปใจความได้ว่า

สฤณียอมรับว่า ใช้คำว่า “มักง่าย” และ “ตะพึดตะพือ” ในการบรรยายลักษณะคำวินิจฉัย ในส่วนแรกของบทความ เมื่อได้รับหมายเรียกของศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งในคดีนี้ ส่งผลให้ตระหนักว่าถ้อยคำดังกล่าวเป็นคำที่ไม่เหมาะสมและไม่จำเป็น ทำให้ผู้อ่านอาจเกิดความเข้าใจผิดในเจตนา ทั้งที่มิได้มีเจตนาที่จะก้าวล่วง ดูหมิ่น หรือโจมตีสถาบันศาล หรือตุลาการท่านใดเป็นการส่วนตัวแต่อย่างใด และหากถอนคำดังกล่าวออกจากบทความแล้ว สาระสำคัญก็จะยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ในฐานะผู้เขียนบทความซึ่งมิได้มีเจตนาที่จะทำให้ผู้ใดหรือสถาบันศาลเสียหาย จึงขอแสดงความเสียใจและขอประทานโทษต่อศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งที่ใช้ถ้อยคำไม่เหมาะสมในการวิจารณ์ และประสงค์จะถอนคำว่า “มักง่าย” และ “ตะพึดตะพือ” ออกจากบทความดังกล่าว

 

อนึ่ง เหตุของการออกหมายเรียกครั้งนี้มาจากบทความเรื่อง “อันตรายของภาวะ “นิติศาสตร์นิยมล้นเกิน” (อีกที) กรณีหุ้นสื่อของผู้สมัคร ส.ส.” เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2562 ซึ่งเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งที่มีคำสั่งตัดสิทธิผู้สมัคร ส.ส. ปมถือหุ้นสื่อ หลังจากนั้น สุประดิษฐ์ จีนเสวก เลขานุการแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกาคือ ผู้กล่าวหาในกรณีนี้ได้ทำหนังสือบันทึกข้อความ ลงวันที่ 16 ส.ค. 2562 ถึงประธานแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกา เพื่อชี้ให้เห็นว่าบทความดังกล่าวของสฤณี มีลักษณะที่เป็นการพาดพิงแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกา โดยในบันทึกข้อความ สุประดิษฐ์ ได้ยกเอาความหมายของคำว่า “มักง่าย” และ “ตะพึดตะพือ” ตามพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 มาประกอบการให้เหตุผลด้วย และในบันทึกข้อความได้ระบุถึง ยุทธนา นวลจรัส บรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจว่าเป็นผู้ร่วมกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 ด้วย ส่วนกรณีของ สฤณี นั้นเห็นว่า เข้าข่ายความผิดฐานละเมิดกอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 32 (2)

 

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai
Viewing all 58345 articles
Browse latest View live


<script src="https://jsc.adskeeper.com/r/s/rssing.com.1596347.js" async> </script>