Quantcast
Channel: ประชาไท
Viewing all 58343 articles
Browse latest View live

ใบตองแห้ง: อย่าใช้จิตทรามป้องศาล

$
0
0

กรณีผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลจังหวัดยะลายิงตัวตาย หลังอ่านคำพิพากษา (หรือมองได้ว่าคำแถลงส่วนตน) บนบัลลังก์ โดยระบุว่าถูกแทรกแซงจากผู้มีตำแหน่งสูงกว่า ให้ลงโทษประหารชีวิตจำเลย ส่งผลสะเทือนความเชื่อมั่นต่อกระบวนยุติธรรมอย่างรุนแรง ทั้งระดับประเทศ และการพิจารณาคดีความมั่นคงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

พูดอีกอย่าง ไม่ต้องมีผู้พิพากษายิงตัวตาย ความเชื่อมั่นก็สั่นคลอนอยู่แล้ว จากการใช้ศาลตัดสินคดีการเมืองมา 13 ปี จากการใช้กฎหมายพิเศษใน 3 จังหวัด ให้อำนาจทหารควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้ 7 วัน โดยไม่ต้องขอหมายค้นหมายจับจากศาล ทำให้เกิดข้อสงสัยเรื่องซ้อมทรมาน อย่างที่เกือบบานปลายมาแล้วในกรณีอับดุลเลาะ อีซอมูซอ สมองตายในค่ายทหาร

นอกจากนี้ยังเคยเกิดกรณี “บ้านพักตุลาการ” ที่ผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ ก็กล่าวถึงในคำแถลง (แต่จะเห็นได้ว่า แม้โลกโซเชียลคล้อยตามหลายเรื่อง ก็มีคนค้านอื้ออึงเรื่องเรียกร้องขึ้นเงินเดือน เพราะเห็นว่าผู้พิพากษาเงินเดือนสูงลิบอยู่แล้ว)

ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้คือ เมื่อผู้พิพากษาเอาชีวิตตัวเองเข้าแลก คนจำนวนมากก็เชื่อว่าสิ่งที่ท่านพูดเป็นเรื่องจริง แต่เมื่อท่านยิงตัวเองแล้วไม่ตาย แล้วมีคนไปไล่ดูเฟซบุ๊กพบว่าท่านแชร์โพสต์ของพรรคอนาคตใหม่ ประกอบกับพรรคอนาคตใหม่เปิดเผยว่าท่านส่งข้อมูลมาร้องเรียน

คนอีกขั้วก็ยัดข้อหาทันทีว่า “จัดฉากยิงตัวเอง” เป็นเครื่องมือของพรรคอนาคตใหม่จ้องโค่นสถาบันศาล

ซึ่งไม่น่าแปลกใจ คนเหล่านี้ถ้าไม่ใช่ IO ก็เป็นขบวนการปกป้องระบอบประยุทธ์หัวชนฝา ที่เห็นว่าใครไม่ชอบรัฐบาลต้องมีเบื้องหลัง ใครเรียกร้องประชาธิปไตย ไม่เอาระบอบหน้าด้านตั้ง 250 ส.ว.มาโหวตให้ตัวเอง เป็นพวกรับจ้างทักษิณหรือไม่ก็ธนาธรล้างสมอง

เพียงแต่ขำ ๆ ที่ครั้งนี้ใช้วิธีปกป้องอำนาจรัฐประหารมาปกป้องอำนาจศาล ไม่ทราบว่าศาลจะรู้สึกอย่างไร ที่ได้รับการปกป้องจากขบวนการ IO จิตใจเยี่ยงนี้

ผมก็ลองไปส่องไทม์ไลน์ผู้พิพากษาคุณากรเช่นกัน พบว่าท่านมีเพื่อน 2,554 คน ไม่มีเพื่อนร่วมกันสักคนเดียว พูดอีกอย่างคือไม่มีคนสนใจการเมือง หลายโพสต์ก็แชร์รายการทีวี บันเทิง มาเริ่มแชร์โพสต์อนาคตใหม่ ในช่วงอับดุลเลาะตาย แชร์ข่าวข้อสงสัยการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ 3 จังหวัดใต้ ตอนหลังก็แชร์โพสต์ “5 ความลับของชีวิตที่คุณควรรู้ก่อนตาย” เพจธรรมนำใจ “ความตาย” แล้วก็โพสต์ภาพตัวเองครั้งเข้าเฝ้าถวายสัตย์ฯ ในหลวง

ดูอย่างคนมีสติ ก็น่าจะเห็นได้ว่า เขาไม่ได้ฝักใฝ่การเมืองมาก่อน แต่น่าจะเครียด กดดัน กับปัญหาชายแดนภาคใต้ กับการพิจารณาคดี ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับความมั่นคง ซึ่งอาจจะมีการโต้แย้งระหว่างความเห็น 2 ฝ่าย ที่มีผลต่อชีวิตคน

ส่วนจะมีการแทรกแซงสั่งการหรือไม่ ขณะนี้ สังคมต้องเปิดใจกว้าง ให้มีการไต่สวน ซึ่งพูดให้ถึงที่สุด บนพื้นฐานความเชื่อมั่นสั่นคลอน การไต่สวนเรื่องนี้ ทำในศาลเท่านั้นคงไม่พอ แม้อำนาจลงโทษวินัยเป็นของ ก.ต. แต่การไต่สวนข้อเท็จจริงต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ

และไม่ว่าผลของกรณีนี้จะออกมาอย่างไรก็ตาม ประเด็นความเป็นอิสระของผู้พิพากษา ก็ควรจะทบทวนร่วมกันในสังคม โดยเฉพาะพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 11 ที่ให้ประธานศาล อธิบดีศาล มีอำนาจตรวจสำนวนคดีแล้วทำความเห็นแย้ง แม้บอกว่าไม่มีอำนาจสั่ง แต่ปฏิเสธได้หรือไม่ว่า ไม่ทำให้เกิดแรงกดดัน

อย่าลืมว่า มาตรานี้ แก้ไขโดย สนช.หลังรัฐประหาร 2549 นี่เอง ยุครัฐธรรมนูญ 2540 ไม่เคยมี

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: ข่าวหุ้นธุรกิจ www.kaohoon.com/content/319817

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

กวีประชาไท: สั่นคลอนอำนาจ

$
0
0

มี“นิติบัญญัติ” รัฐสภาฯ
ทำหน้าที่ มี“ป้ญหา” น่าสงสาร
เพราะว่ามี ตัวแทน เผด็จการ
ใช่ผู้แทน ของชาวบ้าน ทั้งสภาฯ

พอจะมี อำนาจ ฝ่าย“บริหาร”
ก็กลับได้ รัฐบาล ไม่สง่า
ด้วยอำนาจ เผด็จการ สืบทอดมา
เป็น“ป้ญหา” บริหารงานไม่เป็น

หวังจะพึ่ง อำนาจ “ตุลาการ”
มีอำนาจ แทรกแซงศาลฯ กันเห็น ๆ
พิพากษา ในแบบที่ ไม่ควรเป็น
มาตรฐานเน่าเหม็น เป็นพิษภัย

นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ
3 อำนาจ ที่ชาวบ้าน หวังอาศัย
กลับไม่เป็นที่พึ่ง พาอะไร
หรือต้องให้ คนไทย ลุกออกมา

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

การยอมตายเพื่ออุดมการณ์ คือสิ่งที่ตรงกันข้ามอย่างสุดขั้วกับการอยู่เป็น

$
0
0

สังคมไทยรู้จัก "การอยู่เป็น" ดีอยู่แล้ว แต่กับการยอมตายเพื่ออุดมการณ์ เรารู้จักมันดีแค่ไหน เราอินกับมันแค่ไหน...

สมมติในโรงเรียน มีอาจารย์คนนึงทำโทษเพื่อนในห้อง โดยสั่งให้เราถุยน้ำลายใส่หน้าเพื่อนคนนั้น ถ้าเราไม่ทำจะให้เพื่อนในห้องที่เหลือทำกับเราแทน เราจะยอมถุยน้ำลายแล้วไปขอโทษเพื่อนทีหลัง หรือเราจะยืนยันไม่มีส่วนร่วมในการกระทำนั้น แม้อาจจะเดือดร้อนเองในภายหลัง

เราจะมองเหตุการณ์นี้เป็นเรื่องตลกขบขัน พยายามทำไงก็ได้ให้ผ่านไป โดยเจ็บตัวกันให้น้อยที่สุด หรือเราจะมองเหตุการณ์นี้ว่าเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้และต้องเปลี่ยนแปลงมัน...

ผมคิดว่าคนไทยมีแนวโน้มเน้นความตลกขบขันกันมากกว่า ขำๆ หยวนๆ กันไป มองการแกล้ง เหยียด ล้อ ให้เป็นเรื่องเล่นๆ ไม่ซีเรียส ในความไม่ซีเรียส จริงๆ ก็คือความกลัว ที่ไม่อยากให้ความเดือดร้อนแผ่ขยายมาถึงตัวเองมากกว่าที่เป็นอยู่

ทีนี้เวลามีใครสักคนที่ไม่ขำและไม่ยอม มันเลยสร้างแรงสั่นสะเทือน

อันแรกคือสะเทือนใจ

อันที่สองคือสะเทือน status quo

อันหลังนี่น่าสนใจ เพราะหลังๆ เห็นบ่อย เวลาใครก็ตามทำอะไรที่แสดงออกถึงความมีอุดมการณ์ จะถูกโยนคำถามมาให้ทันทีว่า "ใครจ้างมา"

นึกถึงลุงนวมทอง ขับแท็กซี่ชนรถถัง ยอมตายดีกว่าทนอยู่กับรัฐประหารซ้ำซาก ปรากฏแกไม่ตาย มีทหารปรามาสว่า ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้ แกเลยผูกคอตายอีกรอบ บอกว่า ชาติหน้าเกิดมา ขออย่าได้เจอการปฏิวัติรัฐประหารอีก

ผู้พิพากษาคณากร ก็คล้ายๆ กับลุงนวมทอง คือ พอแกไม่ตาย คำปรามาสก็มาทันที "ใครจ้างมา" "จัดฉาก" "ทำไมไม่ยิงที่หัว" "มีวาระซ่อนเร้นอะไรหรือเปล่า"

ทุกวันนี้ อุดมการณ์ กลายเป็นคำแสลงของกลุ่มคนที่ไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลง ต้องการกดประเทศนี้ไว้ให้เป็นแบบที่มันเป็นต่อไป ไม่มีหรอก พลังอำนาจของคนธรรมดาๆ ที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง ไม่มีหรอกการยอมตายเพื่อประชาธิปไตย ไม่มีหรอกประชาชนที่ฉลาด ตื่นตัวทางการเมือง ไม่ยอมให้ใครจูงจมูกง่ายๆ

ดีใจที่ทราบข่าวว่าท่านผู้พิพากษาคณากรปลอดภัยแล้ว

ช่วยกันยืนเคียงบ่าเคียงไหล่ไปกับท่าน ช่วยกันส่งเสียงทวงคืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา ทวงคืนความยุติธรรมให้ประชาชน ไม่ปล่อยให้ท่านหรือผู้พิพากษาคนใด ต้องลั่นไกปลิดชีพตัวเองอีกรอบเพื่อแสดงให้เห็นว่าการยอมตายเพื่อรักษาอุดมการณ์นั้นมีจริง

 

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

หยุดซึมเศร้า แล้วก้าวต่อไป: คำปาฐกฯ รำลึก 43 ปี 6 ตุลา ของ สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี

$
0
0

เรียนท่านอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ญาติวีรชน 6 ตุลา และเพื่อนมิตรผู้รักเสรีภาพและประชาธิปไตย

ชีวิตคนหนุ่มสาวหลายคนเปลี่ยนไปอย่างมากมายเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519

ชีวิตผมก็เช่นกัน

ยามสายวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ผมยืนอยู่นอกกำแพงรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นิ่งงัน งุนงง หันรีหันขวาง ไม่รู้จะทำอย่างไร พยายามบังคับน้ำตาไม่ให้ไหลท้นออกมา ด้วยกลัวว่าจะเป็นเป้าสายตา

เช้าตรู่วันนั้น ผมตกใจตื่นขึ้นมาจากเตียงนอนในหอพักแพทย์รามาธิบดีเพราะพี่ๆ ที่หอพักแพทย์ตะโกนบอกกันเรื่องเหตุนองเลือดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คืนวันที่ 5 ตุลาคม ผมออกจากที่ชุมนุมกลางสนามหญ้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะมีภารกิจที่ต้องกลับมาทำที่ตึกสันทนาการ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ตอนนั้นบรรยากาศเริ่มคุกรุ่นแล้ว แต่ผมไม่สังหรณ์ใจว่า จะเกิดการนองเลือดครั้งใหญ่ คิดเพียงว่า อาจมีความรุนแรงระดับเดียวกับที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งตลอดปี 2519

แม้จะรู้สึกแปลกไปบ้างที่คราวนี้น้ำเสียงวิทยุยานเกราะช่างแข็งกร้าวและหนังสือพิมพ์ดาวสยามช่างปลุกปั่น แต่ด้วยความอ่อนเยาว์ ไม่ประสีประสา จึงคิดไปไม่ถึงว่า จะเกิดอะไรขึ้นในอีก 10 ชั่วโมงข้างหน้า

เมื่อเสร็จภารกิจที่ตึกสันทนาการ ด้วยความอ่อนล้าที่ตรากตรำมาหลายวัน ผมจึงไปค้างนอนกับพี่นักศึกษาแพทย์ ที่หอพักแพทย์รามาธิบดี

ดังนั้น เมื่อตะลีตะลานตื่นขึ้น ผมจึงรีบนั่งรถเมล์จากรามาธิบดีมาถึงสนามหลวง และเห็นคนจำนวนนับร้อยคนมุงกันอยู่ริมสนามหลวง ตรงข้ามมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ไม่มีเสียงปืน ไม่มีการวิ่งหลบวิถีกระสุน มีแต่กลิ่นไหม้ของยางรถยนต์ ซึ่งเมื่อผมเดินเข้าไปใกล้แล้วต้องเบือนหน้าหนี มีร่างของใครสองสามคนอยู่ที่กองยางรถยนต์นั้น

มองไปไกลอีกเล็กน้อย เห็นร่างคนถูกแขวนไว้ที่ต้นมะขาม และคนกลุ่มหนึ่งยังมุงดูกันอยู่ไม่ห่าง

ผมยืนอยู่สักพัก ก็รีบถอยออกมาจากตรงนั้น โดยไม่หันหลังกลับไปดูอีกเลย

เวลา 15 นาทีกลางสนามหลวงในวันนั้น เป็นห้วงเวลาที่ผมยังจำได้ ไม่เคยลืมจนถึงวันนี้

เด็กหนุ่มอายุ 19 ปี กับ ภาพที่จำฝังลึกลงไปสุดใจ ทำให้ผมเปลี่ยนวิธีมองโลกไปตลอดกาล

ความฝันแสนงาม โลกใบที่สดใส และผู้คนที่รักสันติภาพ อยู่ที่ไหนเล่า

ไม่มีหรอก ผมบอกตัวเอง คุณยังไม่รู้อะไรอีกมาก
พอแล้ว ความอ่อนเยาว์ ไม่ประสีประสา

คืนวันนั้น ผมเดินทางกลับบ้านเกิดที่ต่างจังหวัด แล้วหมกตัวอยู่ในห้องแคบๆ ของตนเองเกือบเดือน อาม่าและแม่คอยเฝ้ามาไถ่ถามด้วยความเป็นห่วง

ผมกินข้าวไม่ลง คิดวนไปวนมา ไม่รู้จะทำอะไรต่อไป พยายามติดตามข่าวคราวของเพื่อนมิตรและผู้ร่วมชุมนุมอื่นๆ แต่ก็ถูกปิดกั้นทั้งทางโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ มีแต่ข่าวเรื่องพบอาวุธและอุโมงค์ในธรรมศาสตร์ และการติดตามจับกุมนิสิต นักศึกษา ผู้นำกรรมกร ผู้นำชาวนา นับพันคน

หนึ่งเดือนที่โลกรอบตัวดูเคว้งคว้างและมืดมน

ต้นเดือนพฤศจิกายน มหาวิทยาลัยเปิดเรียน แต่บรรยากาศในมหาวิทยาลัยไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว หม่นหมอง เงียบเหงา ซึมเซา ผ่านไปวันๆ นักศึกษามาเรียนเสร็จก็รีบกลับบ้าน ไม่มีการจับกลุ่มพูดคุยกันอีก

ผมมักนั่งอยู่โดดเดี่ยวที่ม้าหินริมสนามหญ้ากลางแดดอุ่นและลมหนาว ของเดือนพฤศจิกายน ปล่อยความคิดล่องลอยไป ไม่มีจุดหมาย วันคืนผ่านไปช้าๆ ตั้งคำถามกับตนเองว่า จากนี้จะอยู่ต่อไปอย่างไร จะเรียนไปทำไม ภาพกลางสนามหลวงวันนั้น ยังผุดขึ้นมาเป็นครั้งคราว

หลังจากนั้น เริ่มมีรุ่นพี่มาติดต่อว่า อยู่ในเมืองไม่ปลอดภัย จะหลบเข้าไปในป่าเขาไหม ด้วยความคิดที่ถามตนเองมาตลอดว่า จะเรียนต่อไปทำไม ทำให้ตัดสินใจไม่ยากว่า การไปสู่ภูเขาเป็นหนทางเดียวที่เหลืออยู่

ผมเตรียมกาย เตรียมใจ เตรียมความคิด นับเดือนเพื่อให้พร้อมเสมอหากได้รับนัดหมาย ผมได้รับแจ้งว่า ให้ออกเดินทางไปพร้อมเพื่อนนักศึกษาแพทย์ชั้นเดียวกันอีก 1 คน

และเมื่อกำหนดนัดหมายมาถึง คืนก่อนวันนัดหมาย ผมนอนไม่หลับ พลิกตัวไปมาตลอดเวลา

ใจหนึ่งบอกตนเองว่า เราต้องเดินหน้าต่อไป จำภาพกลางสนามหลวงเช้าวันที่ 6 ตุลาไม่ได้หรือ อีกใจหนึ่งก็พะวงว่า เรากำลังตัดสินใจทิ้งครอบครัวไปโดยไม่รู้ว่าจะได้กลับเมื่อไร หรือจะได้กลับไหม

ที่สำคัญคือ อาม่าซึ่งเลี้ยงผมที่เป็นหลานชายคนแรกอย่างถนอมรักมาตั้งแต่แบเบาะ อาม่าจะทำใจได้ไหม ถ้าอาม่าตรอมใจจนป่วย ผมคงไม่สามารถยกโทษให้ตนเองไปตลอดชีวิต

วันรุ่งขึ้นที่นัดพบกัน ผมก้มหน้าอย่างละอายใจ แล้วบอกเพื่อนว่า ผมตัดสินใจไม่ร่วมเดินทางไปกับเขาแล้ว ในใจของผมเตรียมรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์จากเพื่อนอย่างยินยอม เหมือนคนขี้แพ้

ผิดคาด เขากลับบอกผมว่า ไม่เป็นไร เขาเข้าใจ แต่เมื่อตัดสินใจอยู่ในเมืองต่อไป ขออย่างเดียว ขออย่างเดียว อย่าลืมเพื่อนของเราที่เสียชีวิตไปในวันที่ 6 ตุลา

ผมนิ่งงัน นั่งจมอยู่กับที่ มองเพื่อนผู้ตัดสินใจแน่วแน่ เดินคล้อยหลังห่างออกไปทุกที วินาทีนั้น ผมบอกกับตัวเองว่า ชีวิตผมต่อจากนี้ ไม่ใช่ชีวิตผมแบบที่ใช้ชีวิตมา 19 ปีอีกต่อไปแล้ว ความฝันของผมต่อจากนี้ ไม่ใช่ความฝันเดิมที่สวยใส และราบเรียบอีกต่อไปแล้ว

จากนี้ ผมจะไม่ใช่เด็กหนุ่ม อ่อนเยาว์ ไม่ประสีประสาคนเดิม

จากนี้ ผมจะไม่เพียงแค่เรียนหนังสือ แต่ผมจะใช้เวลาที่เหลืออยู่ทำตามความฝัน อย่างมุ่งมั่น มีสติ ด้วยปัญญาที่รู้เท่าทัน

จากนี้ ผมจะหยุดซึมเศร้าแล้วก้าวต่อไป

เมื่อยังอยู่ในเมืองก็ทำตามเงื่อนไขที่อยู่ในเมือง ผมนัดพบพูดคุยกับเพื่อนมิตรที่ยังอยู่ในเมือง นอกมหาวิทยาลัยบ้าง หรือเวียนไปตามบ้านของเพื่อนบ้าง

เราเริ่มเผยแพร่ความจริงของ 6 ตุลาและข้อเขียนของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ด้วยการพิมพ์ลงกระดาษไขแล้วโรเนียวด้วยมือ ทำหนังสือทำมือ ทำหนังสือพิมพ์กำแพง และผลัดกันไปให้กำลังใจผู้ต้องหาคดี 6 ตุลา

เมื่อสถานการณ์เริ่มผ่อนคลายหลังรัฐประหารวันที่ 20 ตุลาคม 2520 เราเริ่มพบปะพูดคุยกันเพื่อฟื้นบทบาทของสโมสรนักศึกษา และเริ่มมีการติดต่อนัดหมายกันกับเพื่อนนักศึกษาระหว่างมหาวิทยาลัย

เมื่อรัฐบาลเปิดให้มีบรรยากาศประชาธิปไตยในมหาวิทยาลัยมากขึ้น ผมและเพื่อนช่วยกันสร้างสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลขึ้นมาใหม่ ส่วนระหว่างมหาวิทยาลัย เรารวมกันเป็นสโมสรนักศึกษา 16 สถาบัน แล้วขยายตัวเป็นสโมสรนักศึกษา 18 สถาบันในเวลาต่อมา

ผมและเพื่อนเรียนไป สร้างกิจกรรมนักศึกษาไป อย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย ท่ามกลางกระแสข่าวที่สับสนเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างเพื่อนมิตรที่อยู่ในป่าเขากับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งส่งต่อผ่านกันมา

แต่ผมไม่สนใจว่า ภายในพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยจะแตกแยกทางความคิดกันอย่างไร

เช่นเดียวกับที่ผมไม่สนใจว่า ประเทศจีนหลังเหมาเจ๋อตงตายวุ่นวายแค่ไหน
จีนทำสงครามสั่งสอนเวียดนามมีความหมายอย่างไรต่อโลกสังคมนิยม
สงครามเย็นระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตจะสิ้นสุดหรือไม่

เพราะสุดท้าย ความใฝ่ฝันของผม กับผองเพื่อน และวีรชน 6 ตุลา คือ

ทำอย่างไร เพื่อให้เพื่อนร่วมสังคมอยู่ดีกินดี มีโอกาสในชีวิตเท่าเทียมกัน มีเสรีภาพในการแสดงความเห็น และเลือกผู้บริหารประเทศด้วยตัวของเราเอง

เมื่อผมจบการศึกษา ผมผ่านประสบการณ์หลากหลาย ออกไปเป็นแพทย์ชนบท กลับมาเป็นอาจารย์แพทย์ เป็นรัฐมนตรี เป็นผู้ต้องขังในเรือนจำ ชีวิตมีขึ้นมีลงหลายครั้ง สูงสุดคืนสู่สามัญ

แต่ผมไม่เคยลืมภาพจำของยามสายวันที่ 6 ตุลาคม 2519

ทุกครั้งที่ความทุกข์ ความเศร้า เข้ามาเกาะกุมจิตใจ ผมไม่เคยยอมแพ้
เพราะเมื่อผมนึกถึงผู้เสียชีวิตในวันที่ 6 ตุลา
นึกถึงเพื่อนผู้ทิ้งชีวิตสบายๆ ในเมืองหลวงไปสู่ป่าเขา และบางคนไม่ได้กลับมา

ผมจะลุกขึ้นแล้วบอกตนเองว่า “หยุดซึมเศร้า แล้วก้าวต่อไป”

แต่การก้าวต่อไปทุกครั้ง ผมก็บอกกับตนเองเช่นกันว่า อย่าไร้เดียงสา ต้องมีสติกำกับเสมอ และมีปัญญารู้เท่าทัน

ผ่านมาถึงวันนี้ หลังการก้าวเดินจากวันที่เปลี่ยนชีวิตผมมา 43 ปี ผมสรุปบทเรียนบอกกับตนเองไว้ 6 ประการดังนี้

1) ไม่มีใครอยากตาย แต่มีบางคนพร้อมเผชิญหน้ากับความตายเพื่อแลกกับอุดมการณ์ที่ตนใฝ่ฝัน

2) จงมีความสุขที่ได้ทำตามความฝัน

อย่ามีความสุขเพราะอยากให้ผู้คนยกย่องจดจำชื่อและตัวตนของเรา
คนอาจจำได้ในสิ่งที่เราทำ โดยไม่ใส่ใจเลยสักนิดว่าใครทำ
เพราะมีเรื่องราวอีกมากมายในประเทศนี้ หรือโลกใบนี้ที่จดจำกันไม่หมด
และ อีก 100 ปี หรือ 1,000 ปีข้างหน้า ก็จะไม่มีใครจดจำรายละเอียดนี้ได้อีก

3) ฝันให้ยิ่งใหญ่ แต่เดินไปทีละก้าว

อย่าโบยตีตัวเองจนหม่นหมองในความทุกข์ ใช้ชีวิตแต่ละวันอย่างมีความสุข ทำตามความฝันไปเรื่อยๆ ไม่หยุด เหนื่อยก็พัก หายเหนื่อยก็ลุกขึ้นมาใหม่

ใครคิดเก่งก็ช่วยคิด ใครพูดเก่งก็ช่วยพูด ใครทำเก่งก็ช่วยทำ ใครถนัดนำก็นำไป ใครถนัดตามก็ตามสนับสนุน ใครมีแรงก็ช่วยแรง ใครมีเงินก็ช่วยเงิน

ระหว่างเดินไปด้วยกัน บ่นกันบ้าง ก็ไม่เป็นไร ตำหนิกันบ้างก็อย่าถือสา หนทางยังอีกยาวไกล อย่างไรก็ต้องกุมมือกันไป กอดคอกันไป

ไม่ชิงดีชิงเด่น ไม่ยึดติดในหัวโขน ไม่หลงใหลในอำนาจ

ใช้ปัญญาในการออกแบบจำลองของความฝัน ทดลองทำ ใช้ไม่ได้ก็ปรับปรุงหรือเปลี่ยนใหม่

ถ้าบรรลุซึ่งความฝันในช่วงชีวิตของเราก็ดี ไม่สำเร็จก็ไม่เป็นไร คนรุ่นหลังเขาคงผลักดันความฝันของเขาเองต่อไป ถ้าคนรุ่นหลังไม่สำเร็จ คนรุ่นต่อไปก็จะมาทำต่ออีก

สักวันหนึ่ง ฝันที่ยิ่งใหญ่ย่อมเป็นจริง ผมเชื่อเช่นนั้น

ไม่ใช่เรื่องที่จะมาตำหนิกันว่า ทำไมคนรุ่นคุณทำไม่สำเร็จ

4) คำถามว่า “โลกพระศรีอาริย์ หรือ ยูโทเปีย เป็นอย่างไร และเป็นไปได้จริงหรือ” ไม่มีผลต่อความใฝ่ฝันของผม

นักวิชาการบางคนเคยบอกว่า ประวัติศาสตร์สิ้นสุดแล้ว เราได้การเมืองประชาธิปไตย เศรษฐกิจเสรี สังคมอุดมคติแล้ว

มาวันนี้ นักวิขาการบางคนกลับบอกว่า ประชาธิปไตยตายแล้ว เสรีนิยมล้มเหลว โลกกำลังเปลี่ยนแกนไปทางอำนาจนิยม

วิกฤตการณ์ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก กำลังท้าทายภูมิปัญญาที่มีอยู่ในปัจจุบัน และต้องการทฤษฎีแบบใหม่

หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ พลังงานสีเขียว และเทคโนโลยีอีกมากมายอาจเข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตของเรา

แต่ไม่ว่าความพลิกผันจะมีมากเพียงใด เมื่อคิดย้อนไปที่จุดตั้งต้น
ความฝันของผมยังคงง่ายเหมือนเดิม คือ

เพื่อนร่วมสังคมอยู่ดีกินดี มีโอกาสในชีวิตเท่าเทียมกัน มีเสรีภาพในการแสดงความเห็น และเลือกผู้บริหารประเทศด้วยตัวของเราเอง

ผมจึงเปิดใจกว้างรับความรู้ใหม่ๆ ทฤษฎีใหม่ๆ ไม่จำกัดเฉพาะความรู้ดั้งเดิมของตนเอง

5) สรรพสิ่งล้วนเป็นอนิจจัง ต้องเปลี่ยนแปลง

เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องหนีไม่พ้น ไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้า

ณ จุดตัดของกาลเวลาหนึ่ง ที่ปัจจัยทุกอย่างพร้อม การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้น

ตัวอย่างเล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่ คือ ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ณ วันที่ 6 มกราคม 2544 ด้วยปัจจัย 5 อย่าง ที่สั่งสมมาทีละเล็กละน้อยจนมาครบถ้วนในวันนั้น นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบบริการสาธารณสุขที่ทะเยอทะยานที่สุดครั้งหนึ่งของมนุษยชาติ

ปัจจัยแรกคือ นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ผู้ศึกษาเรื่องหลักประกันสุขภาพ แล้วเริ่มช่วยสร้างระบบประกันสังคมด้านสุขภาพเมื่อ พ.ศ. 2535

ปัจจัยที่สอง รัฐธรรมนูญฉบับที่ประกาศใช้มาตั้งแต่ พ.ศ.2540 นำไปสู่ระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ที่ทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง รัฐบาลเข้มแข็ง

ปัจจัยที่สาม การเกิดขึ้นของพรรคไทยรักไทย หัวหน้าพรรคไทยรักไทย ดร.ทักษิณ ชินวัตรซึ่งผิดหวังจากการปรับเปลี่ยนพรรคพลังธรรม จึงต้องการสร้างพรรคการเมืองแบบใหม่ที่เน้นนโยบาย และเขายังมีภาวะผู้นำที่สั่งสมมาจากประสบการณ์ทางธุรกิจ

ปัจจัยที่สี่ ระบบราชการในกระทรวงสาธารณสุขที่ปูรากฐานมาตลอด 3 ทศวรรษ บุคลากรส่วนใหญ่มีอุดมการณ์เพื่อผู้ป่วย และ ณ เวลานั้น มีปลัดกระทรวงสาธารณสุขชื่อ นายแพทย์มงคล ณ สงขลา ซึ่งต้องการเปลี่ยนระบบบริการสาธารณสุขครั้งใหญ่ให้สำเร็จก่อนตนเกษียณอายุ

ปัจจัยที่ห้า อาจารย์จอน อึ๊งภากรณ์ บุตรชายอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ สานต่อความฝัน “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ของบิดาด้วยการรวมพลังองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสาธารณสุขต่างๆ เพื่อรณรงค์เรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ทั้งห้าปัจจัยนี้ มาบรรจบตัดกันในวันที่ 6 มกราคม 2544 โดยจุดชี้ขาดที่สำคัญคือ เสียงของประชาชนซึ่งมาลงคะแนนเลือกตั้งในระบบใหม่ตามรัฐธรรมนูญ 2540 ทำให้พรรคไทยรักไทยได้รับเลือกตั้งถึง 248 ที่นั่ง มากเป็นประวัติการณ์ครั้งแรกของการเมืองไทย และได้รับฉันทานุมัติเต็มเปี่ยมในการขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

จากวันนั้น วันที่ 6 มกราคม 2544 การสาธารณสุขไทย และการเมืองไทยก็เปลี่ยนไป ไม่กลับไปเหมือนเดิมได้อีก

ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนอนิจจัง การเปลี่ยนแปลงเป็นนิรันดร์
ดังนั้น ถ้าทุกคนทำในสิ่งที่ตนทำได้ ทำเรื่อยๆ ทำไม่หยุด ทำเสริมซึ่งกันและกัน
ณ จุดตัดของกาลเวลาหนึ่ง ความใฝ่ฝันย่อมเป็นจริง

6) สุภาษิตของทิเบตกล่าวว่า “พรุ่งนี้หรือชาติหน้า ไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะมาก่อน”

วันนี้เรายังลืมตาตื่น แต่พรุ่งนี้เราอาจหลับไปตลอดกาล
วันนี้จีงควรอยู่อย่างมีสติ อยู่อย่างราวกับว่า วันนี้เป็นวันสุดท้ายของชีวิต
ไม่มีอะไรติดค้างใคร ไม่มีอะไรติดค้างในใจ
เพื่อวินาทีที่เราจะจากไป เราบอกกับตัวเองได้ว่า
ฉันได้ใช้ชีวิตอย่างที่ฉันฝันแล้ว

...........................................

เพื่อนมิตรผู้รักเสรีภาพและประชาธิปไตย

เวลา 43 ปี อาจยาวนานสำหรับบางคน
แต่สำหรับเรา ผมเชื่อว่า รู้สึกเหมือนเพิ่งผ่านไปเมื่อวานนี้เอง

เราเสียใจที่วีรชน 6 ตุลา เพื่อนของเราต้องจากไปก่อนเวลาอันควร
เราขอคารวะในความกล้าหาญและเสียสละของเพื่อนผู้จากไป
ขอเพื่อนโปรดรับรู้ว่า เพื่อนยังอยู่ในใจของเรา และเป็นพลังให้เราก้าวเดินต่อมาจนถึงวันนี้

วันนี้ แม้เรายังเดินไปไม่ถึงฝัน เพราะอุปสรรคมากมายที่ผ่านมาแล้ว
และยังมีอีกมากมายที่รออยู่ข้างหน้า

บางครั้งเราเจ็บปวด หลายครั้งที่เราหมดแรง
แต่เราพร้อมจะปาดน้ำตา

หยุดซึมเศร้า แล้วก้าวต่อไป

 

 

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

แก้รัฐธรรมนูญ: รัฐเดี่ยวหรือสหพันธรัฐ

$
0
0

จากคำอภิปรายช่วงหนึ่งของ ดร.ชลิตา ที่มีการพูดเชื่อมโยงไปถึงมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญที่ว่า "ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้” นับเป็นประเด็นที่กระทบต่อรูปแบบของรัฐไทย ในที่นี้ ผมขอแสดงความเห็นเฉพาะเรื่องสัมพันธภาพระหว่างความเป็นรัฐเดี่ยว/สหพันธรัฐกับการแบ่งแยกดินแดน (Unitary State/Federation and Secession) เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจว่าในกรณีประเทศไทย การเปลี่ยนรูปรัฐโดยเฉพาะจากรัฐเดี่ยวไปเป็นสหพันธรัฐสามารถทำได้หรือไม่และการจะเป็นสหพันธรัฐหรือจะเป็นรัฐเดี่ยว ช่วยแก้ปัญหาการแบ่งแยกดินแดนได้จริงหรือไม่

ถอดคำ ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์ ในเวทีเสวนา 7 พรรคฝ่ายค้านสัญจรภาคใต้

บุรินทร์ แจ้งข้อหายุยงปลุกปั่นแกนนำพรรคฝ่ายค้าน ชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์ ม.เกษตรฯ 

รัฐเดี่ยวหรือเอกรัฐคือการมีรัฐอธิปไตยเพียงแห่งเดียวรวมถึงการมีรัฐบาลเดียว แต่รัฐรวมแบบสหพันธรัฐจะต้องมีรัฐหรือรัฐบาลสองระดับขึ้นไป ซึ่งมักเรียกว่า รัฐส่วนกลางหรือรัฐสหพันธ์ (Federal State) กับ มลรัฐ (Constituent States) ประเทศที่ปกครองแบบรัฐเดี่ยว อาทิ ไทย กัมพูชา ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส อิตาลี สหราชอาณาจักร ฯลฯ ส่วนประเทศที่ปกครองแบบสหพันธรัฐ ได้แก่ มาเลเซีย อินเดีย สหรัฐอเมริกา แคนาดา ไนจีเรีย เอธิโอเปีย ฯลฯ สำหรับการสถาปนาสหพันธรัฐจะต้องพุ่งเป้าไปที่การแบ่งอำนาจ (Power Sharing) ระหว่างรัฐส่วนกลางกับมลรัฐโดยให้แต่ละส่วนมีทั้ง "Shared Rule” และ "Self Rule” ซึ่งได้รับการประกันอำนาจไว้ในรัฐธรรมนูญ

สำหรับปัญหาชายแดนใต้ของไทย หากจะแก้ปัญหาโดยใช้รูปสหพันธรัฐ ก็ต้องสร้างมลรัฐขึ้นมาใหม่ นั่นหมายความถึง ต้องมีการจัดกลุ่มและแปลงสภาพจังหวัดต่างๆทั่วประเทศให้เป็นมลรัฐต่างๆ แล้วให้แต่ละมลรัฐมีสถาบันการเมือง เช่น รัฐบาล รัฐสภา เป็นของตนเอง ยิ่งถ้าจะให้เข้ากับหลักสหพันธรัฐนิยมที่แท้จริง แต่ละมลรัฐต้องมีรัฐธรรมนูญเป็นของตนเองด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ มีลักษณะเป็นปัญหาพิเศษเฉพาะพื้นที่ จึงอาจปรับปรุงกลไกการปกครองเฉพาะจุดโดยไม่จำเป็นต้องให้ประเทศไทยทั้งประเทศเปลี่ยนแปลงไปเป็นสหพันธรัฐ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ก็ต้องมีการถกเถียงโต้แย้งกันในเรื่องความจำเป็นของการจัดรูปดินแดน/ประชากรใหม่ภายในรัฐทั้งหมดเสียก่อน แต่ทว่า ในหลายๆพื้นที่ของรัฐไทยซึ่งผู้คนผสมผสานกลมกลืนกันและไม่มีปัญหาการก่อความไม่สงบเหมือนในชายแดนใต้ การสร้างมลรัฐขึ้นมาใหม่ตามกรอบสหพันธรัฐ หรือ การคิดแก้ปัญหาเฉพาะภาคใต้แต่กลับไปคิดเปลี่ยนรูปรัฐทั้งหมดของประเทศ ก็คงไม่มีความจำเป็น

นอกจากนั้น ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 255 ก็ระบุไว้ว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ จะกระทำมิได้ หรือพูดแง่ ก็คือ การเสนอแก้มาตรา 1 เพื่อเปลี่ยนรูปเป็นสหพันธรัฐย่อมทำไม่ได้ ดังนั้น หากจะปรับรูปการปกครองโดยไม่ฝ่าฝืนบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญก็ต้องให้อยู่ใต้โครงสร้างแบบรัฐเดี่ยวเท่านั้น จะเป็นรัฐชนิดอื่นไม่ได้ อย่างไรก็ตาม หากพิจารณากันในกรอบรัฐเดี่ยว ประเด็นแหลมคม คงหนีไม่พ้นเรื่องที่ว่าการเป็นรัฐเดี่ยวรวมศูนย์กับการเป็นรัฐเดี่ยวแบบกระจายอำนาจ แบบไหนจะช่วยแก้ปัญหาชายแดนใต้ได้ดีกว่ากัน ซึ่งในวงวิชาการมีการพูดถึงเรื่อง Devolution หรือ การกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปสู่ภูมิภาค/ท้องถิ่น หรือ การสร้างเขตบริหารปกครองพิเศษ (Autonomous Region) การจัดการปกครองแนวๆนี้ มักเน้นไปที่มีการรัฐและรัฐบาลเพียงแห่งเดียวเท่านั้น หากแต่มีการตอบสนองความหลากหลายทางอัตลักษณ์วัฒนธรรม ภูมิศาสตร์ ฯลฯ ในบางพื้นที่ผ่านกระบวนการกระจายส่งมอบอำนาจหรือการตั้งเขตบริหารปกครองพิเศษ โดยยังคงเป็นรัฐเดี่ยวอยู่ แต่ไม่ใช่รัฐเดี่ยวรวมศูนย์และก็ไม่ต้องเปลี่ยนรูปรัฐไปสู่สหพันธรัฐนั่นเอง

อนึ่ง แนวโน้มการปกครองในโลก สะท้อนให้เห็นว่าการจัดรูปเป็นแบบเอกรัฐและสหพันธรัฐ อาจไม่ใช่สิ่งแปลกปลอมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกันเสมอไป แต่อาจเคลื่อนตัวเข้ามาผสมผสานกันได้ เช่น มีรัฐเดี่ยวจำนวนหนึ่งที่ใช้หลักสหพันธรัฐเข้าไปประยุกต์ใช้อย่างสหราชอาณาจักรที่มีการผลิตสถาบันการเมืองการปกครองให้กับบางหน่วยดินแดนแต่ยังอยู่ใต้โครงสร้างแบบเอกรัฐอยู่ ส่วนในสหพันธรัฐ ได้มีการนำแนวคิดศูนย์กลางนิยม (Centralism) ในระบบเอกรัฐมาปรับใช้เช่นกัน อาทิ การจัดตั้งสำนักงานของรัฐบาลกลางเป็นจำนวนมากในระดับมลรัฐของสหรัฐอเมริกา ฉะนั้น ในกรณีจังหวัดชายแดนใต้ แม้จะอยู่ใต้รูปปกคองรัฐเดี่ยว แต่ก็อาจนำข้อดีของสหพันธรัฐบางประการเข้ามาปรับประยุกต์ใช้ได้โดยไม่ต้องไปเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ

กระนั้นก็ตาม ปัญหาละเอียดอ่อนสำหรับเรื่องชายแดนใต้ คือ การมีอยู่จริงของขบวนการแบ่งแยกดินแดน ฉะนั้น จึงน่าคิดต่อว่า ในทางกฏหมายไทย การที่รัฐธรรมนูญได้ล๊อกรูปแบบรัฐให้อยู่ในรูปแบบรัฐเดี่ยวเท่านั้น จะช่วยบรรเทาปัญหาการแบ่งแยกดินแดนได้หรือไม่ หรือหากใครยังปราถนาจะลองนึกถึงประโยชน์ของเทคนิคปกครองแบบสหพันธรัฐเพื่อดึงมาประยุกต์ใช้ใต้ร่มรัฐเดี่ยว สหพันธรัฐ จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องแบ่งแยกดินแดนได้จริงหรือไม่

ในทางการเมืองการปกครองเปรียบเทียบ ทั้งเอกรัฐและสหพันธรัฐ พบเห็นทั้งกรณีที่สามารถควบรวมรัฐและส่งเสริมการแบ่งแยกดินแดน การล่มสลายของอดีตสหภาพโซเวียต อดีตยูโกสลาเวียและเชคโกสโลวาเกีย แสดงให้เห็นถึงการแตกกระจายออกเป็นรัฐเอกราชอิสระภายใต้รูปสหพันธรัฐ ในขณะที่แคนาดา ซึ่งเป็นสหพันธรัฐแต่ก็ต้องเผชิญกับปัญหาการแยกตัวของควิเบก ส่วนสหราชอาณาจักรซึ่งมีลักษณะเป็นรัฐเดี่ยว แต่ใช้สูตร Devolution ก็ต้องพบกับการเดินสายลงประชามติแยกตัวของสก็อตแลนด์ ส่วนในอินโดนีเซียซึ่งใช้การปกครองแบบรัฐเดี่ยว ก็พบกับการแยกตัวเป็นเอกราชของติมอร์ตะวันออก หากแต่การใช้สูตร Devolution และ Autonomous Region กลับช่วยบรรเทาปัญหาการแยกตัวของอาเจะห์ได้โดยไม่ต้องแปลงรูปไปเป็นสหพันธรัฐ ส่วนในมาเลเซีย การควบรวมบูรณาการหน่วยดินแดน/ประชากรเพื่อสร้างรัฐเอกราชใหม่ มาจากแนวคิดเรื่องสหพันธรัฐ (แม้จะมีการแยกตัวของสิงคโปร์ในระยะต่อมา) จากตัวอย่างดังกล่าว เอกรัฐและสหพันธรัฐในหลายๆที่ทั่วโลก ช่วยชี้ให้เห็นว่ารูปรัฐแต่ละแบบล้วนสัมพันธ์อยู่บ้างกับทั้งการบูรณาการควบรวมรัฐและการแบ่งแยกดินแดน ทว่า สิ่งสำคัญ คือ การมีอยู่จริงของขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่เคลื่อนไหวทางการเมืองการทหารอย่างต่อเนื่องจนมีแนวร่วมและสามารถสร้างพลังต่อรองกับรัฐส่วนกลางได้พร้อมมีวาระที่แน่วแน่ในการแยกตัวออกจากศูนย์กลาง ซึ่งในเงื่อนไขแบบนี้ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปรัฐเดี่ยวแบบมีเขตปกครองพิเศษหรือสหพันธรัฐ ก็ย่อมเกิดการแบ่งแยกดินแดนขึ้นได้ทั้งนั้น แต่กระนั้น รูปแบบรัฐเดี่ยวรวมศูนย์ แม้จะมีการสงวนกระชับอำนาจไว้ที่ส่วนกลางเพื่อป้องกันการแบ่งแยกดินแดน ก็ใช่ว่าจะเป็นรูปรัฐที่แก้ปัญหาการแยกดินแดนได้ถาวร ทั้งนี้ ก็เพราะการก่อตัวของขบวนการแยกรัฐในบางพื้นที่ของรัฐเดี่ยวมักเกิดจากการที่รัฐบาลกลางหวงแหนอำนาจมากไปจนต้องมีการลุกฮือเพื่อขอแยกรัฐออกไปนั่นเอง

เอาเข้าจริง เรื่องรูปแบบรัฐยังมีอะไรที่ต้องถกเถียงอภิปรายกันอีกมาก โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับการแบ่งแยกดินแดน รัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตย ฯลฯ คนบางกลุ่ม อาจมองว่า สหพันธรัฐต้องควบคู่กับประชาธิปไตยและพหุวัฒนธรรม ส่วนรัฐเดี่ยวมักสัมพันธ์กับเผด็จการและการยอมรับวัฒนธรรมจากส่วนกลางเสียมากกว่า ซึ่งตรงนี้ ก็มีทั้งจริงและไม่จริง สวิตเซอร์แลนด์และเบลเยี่ยม เป็นตัวอย่างของสหพันธรัฐประชาธิปไตยพหุวัฒนธรรม แต่สหภาพโซเวียตเป็นสหพันธรัฐแบบเผด็จการที่กดทับความแตกต่างหลากหลายของอัตลักษณ์วัฒนธรรมในหลายดินแดน ส่วนรัสเซียในปัจจุบันซึ่งเป็นรัฐสืบสิทธิจากโซเวียตก็เป็นสหพันธรัฐแบบเผด็จการกึ่งประชาธิปไตย หากแต่ก็ยอมรับเรื่องพหุวัฒนธรรม ขณะที่อินเดียเป็นสหพันธรัฐประชาธิปไตยแต่มีการรวมศูนย์อำนาจมากและมีแต่รัฐธรรมนูญกลาง โดยไม่ปล่อยให้มลรัฐต่างๆมีรัฐธรรมนูญเป็นของตนเอง ส่วน ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น เป็นประชาธิปไตยในรูปแบบรัฐเดี่ยว ไม่ใช่สหพันธรัฐ ขณะที่อินโดนีเซียที่มีระดับพัฒนาประชาธิปไตยมากกว่ามาเลเซีย เป็นรัฐเดี่ยว แต่มาเลเซียที่มีระดับประชาธิปไตยเป็นรองอินโดนีเซียเป็นสหพันธรัฐ

ส่วนการแบ่งแยกดินแดนนั้น หากมีข้อห้ามไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นในรูปรัฐเดี่ยวหรือสหพันธรัฐ หรือในรูประบอบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยหรือไม่ใช่ประชาธิปไตย ก็สามารถช่วยยับยั้งป้องปรามขบวนการแยกรัฐได้ ยกเว้นแต่บางรัฐที่เคยระบุไว้ในรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับสิทธิการถอนตัวออกจากสหภาพ เช่น รัฐธรรมนูญอดีตสหภาพโซเวียตและรัฐธรรมนูญพม่า ค.ศ. 1947 ซึ่งทำให้รัฐเหล่านี้ต้องเผชิญกับการขยายตัวของกระบวนการแยกรัฐออกจากศูนย์กลาง ขณะที่บางประเทศที่ใช้โครงสร้างปกครองแบบรัฐเดี่ยว แต่ก็กลับพบเห็นการกระจายอำนาจระดับสูงในบางหน่วยดินแดน ซึ่งสูงกว่ารูปสหพันธรัฐในบางประเทศด้วยซ้ำ เช่น จีนที่มีลักษณะเป็นเอกรัฐแต่ใช้สูตรหนึ่งประเทศสองระบบกับฮ่องกงและมาเก๊า จนทำให้เกิดรูปเขตหรือภูมิภาคบริหารปกครองพิเศษ (Special Autonomous Regions – SAR) จนนักวิเคราะห์บางส่วนมองว่า ฮ่องกงและมาเก๊ามีอำนาจบริหารจัดการตัวเองเทียบเท่าหรืออาจสูงกว่ามลรัฐในสหพันธรัฐบางแห่ง กระนั้นก็ดี กลับพบเห็นขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านจีนที่เข้มข้นในฮ่องกงมากกว่ามาเก๊า ทั้งๆที่ก็อยู่ใต้รูปแบบ SAR เหมือนๆกัน

จากตัวแบบเปรียบเทียบที่นำแสดงมา ผมจึงเห็นว่า การจะแก้ปัญหาในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งในรัฐๆหนึ่ง จำเป็นต้องคิดพิจารณาให้ถี่ถ้วนรอบคอบพร้อมหาสหสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรให้แน่ชัดก่อน เช่น รัฐที่เป็นประชาธิปไตยอาจมีรูปรัฐเป็นรัฐเดี่ยวหรือสหพันธรัฐก็ได้ หรือ รัฐที่อยู่ในรูปสหพันธรัฐก็อาจมีระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตยหรือไม่ใช่ก็ได้ หรือ รัฐเดี่ยวที่ใช้ระบอบเผด็จการก็อาจมีการกระจายอำนาจในบางพื้นที่ในอัตราที่สูงก็ได้

ส่วนการแก้ปัญหาชายแดนใต้นั้น ถ้ารัฐธรรมนูญยังสงวนรูปแบบรัฐเดี่ยวเอาไว้อยู่โดยห้ามแยกรัฐอย่างเด็ดขาด (ราชอาณาจักรไทยเป็นอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกไม่ได้) อาจวาดรูปรัฐแบบอื่นขึ้นมาได้ (โดยให้อยู่ใต้กรอบรัฐธรรมนูญและไม่แตะมาตรา 1) เช่น “Asymmetric Unitary State with Centralization and Devolution/Decentralization” กล่าวคือ ให้รัฐไทยใช้รูปรัฐเดี่ยวแบบอสมมาตรโดยระบุให้สามสี่จังหวัดชายแดนใต้เป็นพื้นที่ที่ต้องให้ความใส่ใจเป็นพิเศษในแง่การจัดการปกครองมากกว่าพื้นที่อื่นๆ ซึ่งต้องเน้นกระจายอำนาจในยามปกติผ่านการออกแบบสถาบันการเมืองที่มีลักษณะสอดคล้องกับดินแดน/ประชากรในจังหวัดชายแดนใต้ แต่ก็ต้องมีการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางหากเกิดการก่อการร้าย การประท้วงจลาจลที่รุนแรงจนต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องอธิปไตยและกันการแบ่งแยกดินแดนนั่นเอง

 

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

รมว.ดีอี-ปอท. แถลงจับนักกิจกรรมโพสท์โซเชียล ระบุ มีเสรีภาพแต่ต้องใช้วิจารณญาณ

$
0
0

รมว.ดีอี แถลงร่วม ปอท. กรณีจับกาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์ นักกิจกรรมการเมืองโพสท์เรื่องประวัติศาสตร์ต่างประเทศ หมายจับ ผิด พ.ร.บ. คอม นำเข้าข้อมูลผิดเกี่ยวกับความมั่นคง แจง แชร์ต่อก็มีโทษ ให้ร้านกาแฟเก็บล็อกข้อมูลใช้ wi-fi 90 วัน ไม่เช่นนั้นมีความผิดตามกฎหมาย ย้อนดูปฏิบัติการร่วมดีอี-ปอท. เดือนที่แล้วก็มีจับกุมไม่ตามขั้นตอนกฎหมาย ผู้ต้องหาโอด ถูกข่มขู่ให้เซ็นรับทราบข้อกล่าวหา-บอกรหัสเฟสบุ๊ค

ภาพบรรยากาศการแถลงข่าวร่วม(ที่มา:policenews)

8 ต.ค. 2562 ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) พล.ต.ต.ไพบูลย์ น้อยหุ่น ผบก.ปอท. และ พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รอง ผบก.ปอท. แถลงผล "ปฏิบัติการปราบปรามเนื้อหาไม่เหมาะสม สืบสวนปราบปรามผู้ที่เผยแพร่สื่อในเนื้อหาไม่เหมาะสม รวมถึงผู้ร่วมขบวนการบนสื่อออนไลน์และเว็บไซต์ที่มีความเกี่ยวข้อง" โดยมีการจับกุมผู้ต้องหา 1 ราย คือกาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์ นักกิจกรรมการเมือง ตามหมายจับของศาลอาญาที่ 1520/2562 ลงวันที่ 7 ต.ค. 2562 จับกุมที่บ้านพักในซอยอารีย์สัมพันธ์ 3 แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กทม.

ปอท.จับนักกิจกรรมตั้งข้อหาผิด พ.ร.บ.คอมฯ ทนายชี้แค่โพสต์ประวัติศาสตร์ต่างประเทศ

กาณฑ์ถูกหมายจับตามความผิดข้อหาตามมาตรา 14(3) ของพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์) ฐานนำเข้าสู่ระบบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา

ศิริวัฒน์กล่าวว่าความผิดดังกล่าวมีอัตราโทษสูงสุดจำคุก 5 ปี สืบเนื่องจากที่ รมว.ดีอี สั่งการให้ บก.ปอท. สืบสวนติดตาม ขอศาลอาญาอนุมัติออกหมายจับกาณฑ์ หลังจากพบว่าปลายสัปดาห์มีการก่อกระแสข้อความบนสื่อโซเชียล โดยติดแฮชแท็กและโพสท์ข้อความไม่เหมาะสมบนเฟสบุ๊ค อันจะสร้างความเกลียดชัง จนมีผู้ไปคอมเมนท์และแชร์ต่อ ทั้งนี้ กาณฑ์ยอมรับว่าเป็นผู้โพสท์ แต่ไม่มีเจตนากระทำผิด เป็นการภาคเสธ เมื่อตรวจสอบพบว่ากาณฑ์เคยโพสท์เกี่ยวกับความมั่นคงมาแล้วหลายครั้งซึ่งเป็นเรื่องต่างกรรมต่างวาระ

ศิริวัฒน์ยืนยันว่าประเทศไทยมีเสรีภาพในการโพสท์ แชร์ หรือคอมเมนท์ แต่ต้องมีวิจารณญาณว่าเรื่องที่โพสท์เป็นความจริงหรือไม่ และโพสท์ไปจะมีใครเสียหายหรือไม่ จากนี้จะพิจารณาว่าจะเรียกผู้ที่แชร์และคอมเมนท์ในโพสท์ดังกล่าวมาสอบปากคำหรือไม่ และยังเตือนว่าประชาชนที่แชร์ หรือส่งต่อข้อความลักษณะดังกล่าว จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(5) ต้องระวางโทษเท่ากับผู้โพสท์หรือผู้นำเข้าสู่ระบบเช่นกัน

พุฒิพงศ์ตอบคำถามผู้สื่อข่าวเรื่องการจับกาณฑ์แบบไม่มีหมายจับว่า ทั้งหน่วยงานรัฐและตำรวจได้ดำเนินการตามกฎระเบียบและขั้นตอนเพื่อขอศาลออกหมายจับ ยืนยันว่าการจับกุมทุกครั้งต้องดำเนินการภายใต้ข้อมูลและข้อเท็จจริง นอกจากนั้นยังระบุว่า ศูนย์เฟคนิวส์ที่ตั้งขึ้นมามีไว้คัดกรองข่าวที่มีเนื้อหาไม่เป็นความจริง และอาจกระทบต่อสังคมเป็นวงกว้าง เมื่อได้รับแจ้งเบาะแสมาก็จะตรวจสอบภายใน 2 ชั่วโมง ก่อนเผยแพร่ให้ประชาชนทราบต่อไป นอกจากนี้ ขอฝากร้านค้าร้านกาแฟที่เปิดให้ใช้บริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต wi-fi ในร้าน ให้ดำเนินการจัดเก็บข้อมูลการจราจรทางอินเทอร์เน็ตของผู้ที่ลงทะเบียนใช้งานเป็นเวลา 90 วัน เพื่อป้องกัน เมื่อมีเหตุอะไรแล้วเจ้าหน้าที่รัฐจำเป็นต้องขอข้อมูลดังกล่าว อาศัยความตามมาตรา 26 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งดีอีได้หารือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ ปอท. แล้ว หากไม่ปฏิบัติตาม จะมีโทษตามกฎหมาย

มาตรา 26ระบุว่า ผู้ให้บริหารต้องเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ไว้ไม่น้อยกว่า 90 วัน นับแต่วันที่ข้อมูลนั้นเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ เจ้าหน้าที่อาจสั่งให้เก็บไว้นานกว่านั้นได้ แต่ไม่เกิน 1 ปี  เป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย เฉพาะคราวก็ได้ ความในวรรคหนึ่งจะใช้กับผู้บริการประเภทใด อย่างไร เมื่อใด ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรานี้ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5 แสนบาท

เมื่อวานนี้ (7 ต.ค.)  วิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ (สกสส.) เปิดเผยกับประชาไทว่ากาณฑ์ ถูกควบคุมตัวในเวลา 20.00 น. เจ้าหน้าที่ได้ออกหมายจับโดยข้ามขั้นตอนการออกหมายเรียกมารับทราบข้อกล่าวหาก่อน ส่วนสาเหตุของการจับจำกุมตัวนั้น วิญญัติเปิดเผยว่า ปอท. ชี้ว่าคดีนี้เป็นคดีความมั่นคง โดยมีการนำหลักฐานเป็นภาพที่มีการตัดต่อ ว่า บัญชีเฟซบุ๊คชื่อ “กาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์” แสดงความเห็นเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในต่างประเทศ โดยมีลักษณะของการนำไปเสียบประจาน และกล่าวหาว่าเป็นหมิ่นประมาทกษัตริย์ ซึ่งเมื่อตรวจสอบดูแล้วไม่มีการพาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์ไทย

ปฏิบัติการร่วมระหว่าง รมว.ดีอีและ ปอท. ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งนี้เป็นครั้งแรก เมื่อ 10 ก.ย. 2562 ก็มีปฏิบัติการ 09.09.2019 ปฏิบัติการทลายล้างข่าวปลอม ปิดล้อมตรวจค้นเป้าหมาย Fake News 9 คดี 9 จุด โดยที่ หนึ่งในกรณีที่มีการปิดล้อมตรวจค้น ได้แก่ กรณี “เพจเฟซบุ๊ค รับสมัครนักรบล้มล้างการปกครอง”

ศูนย์ทนายสิทธิฯ เผยผู้ต้องหาคดีเพจสมัครนักรบล้มการปกครอง ระบุ จนท.ค้นที่พักไม่มีหมาย

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายานว่า ทางผู้ต้องหาในกรณีข้างต้น ซึ่งปัจจุบันทำอาชีพขายอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เล่าว่า เมื่อเช้าวันพุธที่ 11 ก.ย. 2562 ได้รับการติดต่อทางโทรศัพท์ให้เขาเดินทางไปซ่อมคอมพิวเตอร์ที่อาคารบริเวณย่านเมืองทองธานี จ.นนทบุรี เขาจึงเดินทางไปตามนัด แต่ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบประมาณ 10 นาย เข้าล้อมจับกุม ถูกตรวจค้นรถและให้นำไปตรวจค้นยังห้องพักโดยไม่มีการแสดงหมายค้นและหมายจับแต่ เจ้าหน้าที่ได้ตรวจยึดของกลางเป็นโทรศัพท์มือถือจำนวน 2 เครื่อง และเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวน 3 เครื่อง รวมไปถึงอุปกรณ์อื่น ๆ เช่น แบตเตอรี่ สายชาร์จ โดยกระเป๋าที่เขาถือมาด้วย ถูกเทของออกและถ่ายรูปบันทึกไว้ ก่อนจะถูกนำตัวไป บก.หอท. และถูกแจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ม. 14(3)

ระหว่างที่ถูกควบคุมตัว ผู้ต้องหาเล่าว่า ตนถูกบังคับให้เซ็นเอกสารในบันทึกจับกุมและเอกสารรับทราบข้อกล่าวหา แต่ผู้ต้องหาไม่ยินยอม เพราะยังไม่ทราบข้อกล่าวหา ตำรวจจึงนำหมายจับมาแสดง พร้อมกับข่มขู่ว่าสามารถไปค้นบ้านของตนที่ต่างจังหวัดได้ หากไม่ยินยอมเซ็นเอกสาร เจ้าหน้าที่ยังมีการให้เขาเขียนชื่อผู้ใช้และรหัสผ่านเฟสบุ๊คของเขาให้กับเจ้าหน้าที่ด้วย และยังมีการนำซิมการ์ดไปตรวจสอบ ก่อนจะนำมาคืนให้ โดยกระบวนการที่เกิดขึ้น ไม่ได้มีทนายความร่วมฟังการแจ้งข้อกล่าวหาและร่วมฟังการสอบสวนอยู่ด้วยแต่อย่างใด

ผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันที่ 11 จนถึงเวลาประมาณสองทุ่ม จากนั้นจึงถูกนำตัวไปลงบันทึกประจำวัน ที่สน.ทุ่งสองห้อง และถูกขังที่สถานีตำรวจหนึ่งคืน จนช่วงเช้าวันที่ 12 ก.ย. 2562 เขาได้ถูกนำตัวไปขออำนาจศาลในการฝากขังครั้งที่ 1 ที่ศาลอาญา รัชดาภิเษก เมื่อศาลอนุญาตให้ฝากขัง ผู้ต้องหาได้ทำการเช่าหลักทรัพย์เพื่อยื่นขอประกันตัว และศาลได้อนุญาตให้ประกันตัวด้วยหลักทรัพย์จำนวน 1 แสนบาท โดยศาลอาญาได้นัดให้ผู้ต้องหามารายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 30 ต.ค.นี้

ที่มาข่าว: ข่าวสดมติชน

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

สมัชชาคนจน จี้ รบ.แก้ปัญหาเขื่อนปากมูล - เกษตรกรยาเส้นเพชรบูรณ์เผาหุ่น 'ประยุทธ์' ประท้วง

$
0
0

สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล ร้องรัฐบาลผ่าน จ.อุบลฯ แก้ปัญหาเขื่อนปากมูล - เกษตรกรยาเส้นเพชรบูรณ์เผาหุ่น 'ประยุทธ์' ประท้วง ย้ำว่า “เมื่อรัฐบาลแก้ไขปัญหาให้เกษตรกรไม่ได้ รัฐบาลชุดนี้ก็ควรออกไป”

8 ต.ค.2562 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า วานนี้ (7 ต.ค.62) ตัวแทนสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล ได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านจังหวัดอุบลราชธานี โดยมีมีผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรม จังหวัดอุบลราชธานี และปลัดจังหวัดอุบลราชธานี มาพูดเจรจากับตัวแทนของสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล

ทั้งนี้ สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล ได้ชี้แจงความต้องการ และยื่นหนังสืออย่างเป็นทางการ เรียกร้อง 1. ให้รัฐบาลเร่งรัดการแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ตาม มติ ครม. 28 พ.ค.2556 2. ให้รัฐบาลเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากเขื่อนปากมูล ตามข้อตกลงระหว่างรัฐบาลกับสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล เมื่อปี 2554 คือ ให้มีการเยียวยาความเสียหายตามหลักมนุษยธรรมให้กับชาวบ้านที่สูญเสียอาชีพประมง ครอบครัวละ 310,000 บาท และ ให้ทดลองเปิดประตูเขื่อนปากมูล เป็นเวลา 5 ปี

รวมทั้ง ให้รัฐบาลแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระ ขึ้นมา 1 คณะ เพื่อตรวจสอบการบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูล ในปี 2562โดยคณะกรรมการอิสระฯ นี้ ควรมาจากตัวแทนรัฐบาล นักวิชาการ ผู้ประกอบการ ภาคประชาสังคม โดยมีตัวแทนสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูลร่วมเป็นกรรมการและเป็นเลขานุการ ในคณะกรรมการ ฯ ดังกล่าว ทั้งนี้ ในการคัดเลือกองค์ประกอบของคณะกรรมการ ฯ ดังกล่าว ให้ผู้แทนสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล ร่วมพิจารณาตัดสินใจด้วย

เกษตรกรยาเส้นเพชรบูรณ์เผาหุ่น 'ประยุทธ์'

วันเดียวกัน (7 ต.ค.62) สำนักข่าวไอเอ็นเอ็นรายงานว่า เกษตรกรยาเส้นปักเพชรบูรณ์จำนวนกว่า 2,500 คน หลังปักหลักชุมนุมที่บริเวณศาลากลางจังหวัด เพื่อรอคำตอบจาก รมว.คลัง ยืนยันรับข้อเรียกร้อง และรับปากจะนำเข้า ครม. ในสัปดาห์หน้า แต่หลังเวลาผ่านไปเกือบ 2 ชั่วโมงยังไม่มีคำตอบล่าสุดเมื่อเวลา 18.00 น. ที่ผ่านมา ผู้ชุมนุมเกษตรกรยาเส้นจึงพากันแห่โลงศพและหุ่นฟาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, อุตตม สาวนายน รมว.คลัง และพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต ไปเผาบริเวณลานด้านหลังเต็นท์ชุมนุม ภายในศาลากลางจังหวัดเพชรบูรณ์

อย่างไรก็ตามก่อนจะมีการเริ่มจุดไฟเผาหุ่นฟาง ทางกลุ่มผู้ชุมนุมได้นำดอกหญ้าและฟางใส่เข้าไปในโลงศพ นอกจากนี้ยังพากันแห่ใช้เท้าเหยียบย่ำไปที่รูปภาพด้วยความคับแค้นใจ จากนั้น ยุพราช ได้กล่าวปราศรัยส่งท้ายโดยย้ำว่า “เมื่อรัฐบาลแก้ไขปัญหาให้เกษตรกรไม่ได้ รัฐบาลชุดนี้ก็ควรออกไป”

ยุพราชยังกล่าวปราศัยโดยย้ำว่า “เรื่องนี้ไม่จบและจะติดตามเรื่องนี้ พร้อมจะแจ้งข่าวให้พี่น้องได้ทราบเป็นระยะๆ ส่วนวันนี้ยอมรับทำไม่สำเร็จ ไม่ว่าคนไหนตั้ง 400-500 คน ที่นำเรื่องนี้เข้าไปในสภา ก็ทำไม่สำเร็จ ทุกพรรคการเมืองที่ผมติดต่อไปรวมทั้งพรรคผมก็ไม่สำเร็จ ผมว่าไม่ควรอยู่แล้วรัฐบาลชุดนี้” หลังจากนั้นหลังนายยุพราชได้ร้องตะโกนนำคำว่า “รัฐบาล” ในขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมพากันร้องตะโกนขานรับ “ออกไป” จำนวนหลายครั้ง หลังเสร็จสิ้นม็อบยาเส้นคงพากันสลายการชุมนุมไปในที่สุด

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี : ปาฐกถารำลึก 6 ตุลา "ฝันให้ยิ่งใหญ่ แต่เดินไปทีละก้าว" | 43 ปี 6 ตุลา 19 [คลิป]

$
0
0

 

6 ต.ค. 2562 รำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่ลานประติมานุสรณ์ 6 ตุลาคม 2519 ช่วงเช้า "ปาฐกถารำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519" โดย นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลา โดยตอนหนึ่งกล่าวว่า "ฝันให้ยิ่งใหญ่ แต่เดินไปทีละก้าว" (อ่านปาฐกถาเต็มที่นี่)

ช่วงท้าย นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า สุภาษิตของทิเบตกล่าวว่า “พรุ่งนี้หรือชาติหน้า ไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะมาก่อน” วันนี้เรายังลืมตาตื่น แต่พรุ่งนี้เราอาจหลับไปตลอดกาล วันนี้จีงควรอยู่อย่างมีสติ อยู่อย่างราวกับว่า วันนี้เป็นวันสุดท้ายของชีวิต ไม่มีอะไรติดค้างใคร ไม่มีอะไรติดค้างในใจ เพื่อวินาทีที่เราจะจากไป เราบอกกับตัวเองได้ว่า ฉันได้ใช้ชีวิตอย่างที่ฉันฝันแล้ว

เพื่อนมิตรผู้รักเสรีภาพและประชาธิปไตย

เวลา 43 ปี อาจยาวนานสำหรับบางคน แต่สำหรับเรา ผมเชื่อว่า รู้สึกเหมือนเพิ่งผ่านไปเมื่อวานนี้เอง เราเสียใจที่วีรชน 6 ตุลา เพื่อนของเราต้องจากไปก่อนเวลาอันควร เราขอคารวะในความกล้าหาญและเสียสละของเพื่อนผู้จากไป ขอเพื่อนโปรดรับรู้ว่า เพื่อนยังอยู่ในใจของเรา และเป็นพลังให้เราก้าวเดินต่อมาจนถึงวันนี้

วันนี้ แม้เรายังเดินไปไม่ถึงฝัน เพราะอุปสรรคมากมายที่ผ่านมาแล้ว และยังมีอีกมากมายที่รออยู่ข้างหน้า บางครั้งเราเจ็บปวด หลายครั้งที่เราหมดแรง แต่เราพร้อมจะปาดน้ำตา หยุดซึมเศร้า แล้วก้าวต่อไป

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

วงถกชี้ปัญหาร่างฯ พ.ร.บ. การศึกษา ภาระครู-นักเรียน ชวนคนไปประชาพิจารณ์

$
0
0

วงคุยการศึกษาสะท้อนปัญหาภาระงาน และร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ สิทธิ ประชาธิปไตย ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หายไปจาก พ.ร.บ.การศึกษาฯ ใหม่ บทเรียนจาก พ.ร.บ. การศึกษาฯ ฟินแลนด์ กับสิ่งที่การศึกษาไทยยังไปไม่ถึง ผลสำรวจพบ คนต้องการการศึกษาแก้ความเหลื่อมล้ำ - เป็นประชาธิปไตย นักเรียนเล่า โรงเรียนไม่มีที่ให้คนเก่งไม่ตรงสายการเรียน การชี้วัดส่งผลถึงครอบครัว

ซ้ายไปขวา: ทักษิณ อำพิณ กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ธนวรรธน์ สุวรรณปาล อรรถพล ประภาสโนบล ณัฏฐเมธร์ ดุลคณิต

8 ต.ค. 2562 ที่สยาม อินโนเวชั่น ดิสทริค อาคารสยามวัน มีการจัดงานเสวนา "อนาคตที่อยากเห็น การศึกษาที่อยากเป็น" โดยกลุ่มครูขอสอน มีกุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ หรือครูจุ๊ย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคอนาคตใหม่ ธนวรรธน์ สุวรรณปาล ทักษิณ อำพิณ นักเรียนโรงเรียนมัธยมวัดดุสิตาราม อรรถพล ประภาสโนบล ครูโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ปทุมธานี เป็นผู้ร่วมเสวนา และมีณัฏฐเมธร์ ดุลคณิต ศึกษานิเทศร์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา มัธยมศึกษาเขต 1 เป็นผู้ดำเนินการเสวนา (ดูวิดีโอที่เพจครูขอสอน)

สิทธิ ประชาธิปไตย ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หายไปจาก พ.ร.บ.การศึกษาฯ ใหม่ 

อรรถพลกล่าวว่า สิ่งที่ครูมักพูดเวลาได้รับภาระงานอื่นๆ คือ ขอสอนได้ไหม เพราะว่าเรื่องการสอนถูกทำให้กลายเป็นงานรอง เราอยากให้ครูพัฒนา ครูขอสอนมาจากความอึดอัดจากระบบการศึกษา การเยียวยากันเองคงไม่พอ อยากจะสร้างระบบใหม่ที่จะขอสอนในระบบที่เอื้อให้เราอยากทำงานอย่างเต็มที่ แสดงศักยภาพอย่างเต็มกำลัง ไม่ใช่ระบบที่ไม่อยากไปโรงเรียน ทำให้ครูจากหลายๆ ที่ทั่วภูมิภาค เพื่อหาฉันทามติเรื่องการศึกษาในสาธารณะ เคยจัดเสวนาเรื่อง เมื่อครูไม่ได้ทำหน้าที่ครู จากนั้นมีการเก็บข้อมูลปัญหาต่างๆ ในเรื่องภาระงานของครูในระบบการศึกษา แล้วเปิดให้มีการถกเถียง มีส่วนร่วม

อรรถพลกล่าวอีกว่า พ.ร.บ. เก่าและร่างใหม่เขียนไว้แล้วว่าเพื่อพัฒนาเด็กรอบด้าน แต่ที่ผ่านมาคนกลับรู้สึกว่าการศึกษาไม่ได้นำพาพวกเขาไปสู่สิ่งนั้น เวลาพูดถึงการแก้ปัญหาการศึกษานั้น ไม่สามารถแยกออกจากปัจจัยทางสังคม เศรษฐกิจและการเมืองได้  สังคมถูกออกแบบมาไม่ให้เด็กเดินตามความฝันตัวเอง แต่ให้ดัดแปลงตัวเองเพื่อให้อยู่รอดได้ ทำให้เด็กคิดว่าแค่ไปโรงเรียน จบ มีงานทำ หาเลี้ยงครอบครัว กลายเป็นว่าความฝันของเขาไม่ใช่ของเขาจริงๆ แต่ถูกผูกติดกับเงื่อนไขบางอย่าง

อรรถพลเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงในร่าง พ.ร.บ. การศึกษาฯ ว่า ที่พบคือคำเปลี่ยน เช่น เปลี่ยนชื่อเรียกครูใหญ่ มาเถียงกันที่การใช้คำ แต่ทำไมไม่ตั้งต้นที่นักเรียน ร่างเก่าและใหม่ไม่ได้เริ่มต้นจากการมองเด็กมากเท่าไหร่ พูดถึงสิทธิเด็กน้อยมาก แค่อยากให้เด็กมีทักษะอะไรบ้าง คำว่าความเท่าเทียม สิทธิต่างๆ ถูกทำให้หายไปจาก พ.ร.บ. นี้ เรื่องคุณภาพนักเรียน ระบบสังคมแบบไหนที่จะซัพพอร์ตเขา ไม่เพียงแค่กลไกบริหารงาน แต่เป็นกลไกประกันสิทธิให้กับเด็ก ในร่างใหม่เรื่องนี้ไม่ชัดเจน

พ.ร.บ. การศึกษาฯ ฉบับปี 2542 มีการประนีประนอมว่าการจัดการเรียนการสอนอยู่กับคุณค่าประชาธิปไตย สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ผสมกับคุณค่าแบบไทย สากล และการเรียนรู้ตลอดชีวิต แต่ร่างฯ ฉบับใหม่ ตัดถ้อยคำเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตย ความเสมอภาค มองเห็นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ถูกตัดออกไป เขามุ่งเน้นแค่ให้เด็กมีทักษะต่างๆ ที่จะออกไปเรียนรู้ มีทักษะประกอบอาชีพ มีสำนึกรับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชน สังคม แต่คำว่าสำนึกมันก็ต้องถูกตั้งคำถามว่าเป็นสำนึกแบบไหน ซึ่งร่างฉบับเก่าก็เห็นแล้วว่าสำนึกศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อยู่บนหลักสิทธิ เสรีภาพ เสมอภาค 

ร่างฯ นี้เขียนช่วงวัยไว้ละเอียดมากว่าวัยไหนต้องทำอะไร แต่ไม่ได้บอกว่าแต่ละวัยควรเข้าถึงอะไรอย่างชัดเจน นอกจากนั้น เนื้อหาส่วนเรื่องให้ท้องถิ่นจัดการทำงานร่วมกันเพื่อลดต้นทุน ทำให้สงสัยว่ามองการศึกษาเป็นการลงทุนหรือไม่ ถ้าไม่คุ้มทุนก็จะไม่ลงทุนทำหรือเปล่า อีกเรื่องคือ มีกองทุนเสมอภาคเรื่องการศึกษา แต่วิธีคิดไม่ได้มองว่าเด็กทุกคนมีสิทธิเท่ากัน แต่วางบนหลักสงเคราะห์ ซึ่งเด็กไม่ควรต้องมาขายความจนแล้วได้รับทุน แต่ควรเป็นการเข้าถึงการศึกษาแบบเสมอภาค แบบฟรีๆ ร่างฯ นี้พยายามเอาอำนาจไปให้ผู้ว่าฯ นัดคุยกับคนในจังหวัดเพื่อกำหนดทิศทางการศึกษา แล้วให้ ผอ. เป็นหัวหน้า แต่พอภายใต้ระบบราชการ มันจะเป็นลูปเดิมในระบบราชการหรือไม่

อรรถพลทิ้งท้ายว่า ร่างฯ ฉบับใหม่นี้ถูกเอาไปผูกติดกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งจริงๆ ควรเรียกว่ายุทธศาสตร์ คสช. มากกว่า เพราะร่างตั้งแต่รัฐประหาร ไม่มีเสียงของประชาชน ในช่วงเวลานี้ที่บรรยากาศเปิดขึ้นบ้าง ขอชวนให้คนอ่านร่างฯ  แล้วช่วยกันร่าง พ.ร.บ. ที่เป็นฉันทามติร่วม เป็นฝันที่ทุกคนอยากเห็น เป็นอนาคตที่ทุกคนอยากเดินไป

บทเรียนจาก พ.ร.บ. การศึกษาฯ ฟินแลนด์ กับสิ่งที่การศึกษาไทยยังไปไม่ถึง

กุลธิดาเล่าเรื่องของการศึกษาในฟินแลนด์ว่า ครูในฟินแลนด์สามารถชวนเด็กๆ คิดได้ว่าทักษะใดที่เด็กมีศักยภาพ เช่น วันนี้ช่วยเหลือเพื่อนดีขนาดไหน เด็กได้อยู่กับกระบวนการเหล่านี้ตลอดในห้องเรียน ในระดับประถม ครูไม่สามารถประเมินเรื่องเหล่านี้เป็นตัวเลขได้ ต้องอธิบายอย่างเดียว การประเมินปลายเทอมจะไม่เป็นการยื่นกระดาษให้พ่อแม่ แต่เป็นการประเมินแบบที่ครู เด็ก พ่อแม่ต้องมานั่งคุยกันในห้องเรียนทีละกลุ่ม ว่าเทอมนี้เด็กคนนี้มีพัฒนาการแบบนี้ ชอบทำเรื่องนี้ ไม่ชอบทำเรื่องนั้น และยังต้องถามเด็กด้วยว่าเป็นจริงตามที่ครูพูดหรือไม่ 

สิ่งที่ต่างจากไทยเยอะคือการมีส่วนร่วมของเด็กกับผู้ปกครองที่เยอะมาก เด็กถูกฝึกให้มีความเห็น มีการประเมินตัวเองตลอดเวลา นโยบายบอกว่าต้องสามารถสร้างผู้เรียนที่สร้างกระบวนการเรียนรู้ของตัวเองได้ ในส่วนนี้รวมถึงการที่จะประเมินได้ว่าทำอะไร ชอบอะไร ไม่ต้องการอะไร กระบวนการในห้องเรียนมีเด็กเป็นส่วนประกอบ เมื่อเด็กมีปัญหาต้องคุยกับเด็กก่อน หลักใหญ่ใจความกลับไปสู่กระบวนการในห้องเรียน ระหว่างเด็ก ครูและผู้ปกครองที่พบในปลายเทอม

กุลธิดากล่าวว่า มีคำถามในวงนโยบายของพรรคมาตลอดว่าร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติของไทยที่กำลังทำ ควรเขียนให้กว้างหรือแคบ เพราะบางอย่างในฟินแลนด์เขียนแคบและละเอียดมาก เช่น การให้สิทธิการศึกษาที่เป็นของนักเรียนทุกคน หากนักเรียนคนใดต้องเดินทางมากกว่า 5 กม. รัฐต้องจัดหารถรับส่งให้นักเรียนคนนั้น แต่ในบางเรื่องก็กว้าง อย่างเรื่องสิทธิการเช้าถึงการศึกษา ก็เขียนเป็นหลักการตามสิทธิการเข้าถึงการศึกษาฟรีแบบไม่มีค่าใช้จ่าย

พอมาดูใน พ.ร.บ. การศึกษาฯ ของไทย ตั้งแต่ฉบับปี 2542 ถึงปัจจุบัน เห็นว่ามีความพยายามเขียนด้วยปรัชญาการศึกษาอยู่ แต่ยังนึกไม่ออกว่าจะทำเป็นกฎหมายลูกฉบับต่างๆ ที่จะต้องมีการตีความแล้วจะมีปัญหาแค่ไหน อย่างไร แม้ร่างฯ จะมีการทำประชาพิจารณ์ แต่การเข้าถึงการมีส่วนร่วมยังน้อยไป การเข้าถึงเว็บไซต์สภาการศึกษาก็เข้าถึงยาก หากูเกิ้ลหน้าแรกไม่เจอ เว็บก็ประมวลผลช้า

กุลธิดาเล่าว่า พ.ร.บ. การศึกษาของฟินแลนด์กำหนดบทบาทชัดเจนว่าใครทำอะไร อย่างไร ในขณะที่ของไทยนั้นบทบาทบางอย่างเหลื่อมกันอยู่โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคุ้มครองนักเรียนในสถานศึกษาที่ยังไม่เคลียร์ หลายครั้งที่พอบอกว่าเป็นเรื่องความปลอดภัย สวัสดิภาพของเด็ก ก็จะมีการบอกว่าไปดูที่ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก แต่เมื่อเกิดที่โรงเรียนก็ต้องเอากลับมาดูที่โรงเรียน แล้วถ้าเป็นเด็กในสถานะสงเคราะห์ ก็ให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นผู้รับผิดชอบ คือมีเจ้าภาพเยอะ แต่ไม่ชัดเจนว่าเรื่องที่เกี่ยวโดยตรงกับเด็กในบริบทสถานศึกษาแล้วใครจะเป็นคนรับผิดชอบ ที่ง่ายที่สุดคือให้ผู้บริหารสถานศึกษา คณะกรรมการบริหารสถานศึกษาควรมีบทบาทรับผิดรับชอบ แต่ก็ไม่มีระบุไว้ในกฎหมาย

กุลธิดายังกล่าวว่า กระบวนการเรียนการสอนในห้องเรียนเป็นหนึ่งปัจจัยกำหนดการศึกษาที่มีคุณภาพ ตรงนี้เป็นปัญหาแทบจะสำคัญที่สุดในไทย เพราะไม่ว่าจะออกหลักสูตร นโยบายอะไร ด้วยหลักปรัชญาการศึกษาใด ถ้าห้องเรียนปฏิบัติตามไม่ได้ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดขึ้น

ในฟินแลนก็มี พ.ร.บ. การศึกษา มีหลักสูตรแกนกลาง เพียงแต่โรงเรียน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการร่วมออกแบบหลักสูตรและวิธีการประเมินของตัวเองได้ นั่นทำให้ทิศทางของครู การสอนและกระบวนการการเรียนการสอนไปในทางเดียวกัน  ส่วนประกอบสำคัญที่จะทำให้สามส่วนนี้ทำได้จริง คือความไว้เนื่อเชื่อใจซึ่งกันและกัน ในระบบการศึกษาและระบบราชการไทยเป็นการตามหาคนผิด ทำระเบียบมาควบคุมคนผิดเพียงน้อยนิดแต่ใช้แบบเดียวกันทั้งระบบ แบบนี้ก็ไม่สามารถออกแบบหลักสูตร วิธีการสอนในแบบที่โรงเรียนต่างๆ อยากให้เป็น เพราะถูกควบคุมด้วยกฎและระเบียบต่างๆ มากมาย ระเบียบ กรอบ มีได้ แต่ต้องไม่ขัดขวางการทำงานของครู 

อย่าลืมว่าอาชีพครูคืออาชีพที่ไม่ได้สร้างแค่ปัจจุบันให้นักเรียน แต่สร้างอนาคตให้พวกเขา ทำอย่างไรให้คนโตมาแล้วพร้อมรับโจทย์ทุกโจทย์ที่จะมาถึงเขาในอนาคต เขาจึงต้องการพื้นที่ทำงาน ต้องการคนที่เชื่อมั่นว่าเขาทำงานได้ ฟินแลนด์ทำกันจนเชื่อมต่อกันสนิทแล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในระบบการศึกษาไทยคือไม่เป็นจิ๊กซอว์ด้วยซ้ำ มันหันไปคนละทาง การสื่อสารระหว่างหน่วยงาน องค์กรในระบบราชการการศึกษานั้นมีปัญหาจริงๆ สิ่งที่ยังไม่ค่อยจะเห็นชัดเจนในระดับนโยบายของประเทศไทยคือความรับผิดรับชอบ สิ่งที่ครูทำส่งผลกับเด็ก ถ้าเกิดปัญหากับเด็ก ใครควรเป็นผู้รับผิดรับชอบ ในไทยยังมองไม่เห็น วิธีแก้ปัญหาในโรงเรียนยังไม่เป็นระบบระเบียบและไม่โปร่งใสเพียงพอ ต้องมีระบบที่รับทั้งผิดและรับทั้งชอบตั้งแต่กฎหมายแม่บทลงมาเพื่อให้ระบบการจัดการเป็นไปอย่างโปร่งใสมากขึ้น

ส.ส. พรรคอนาคตใหม่กล่าวอีกว่า กระบวนการร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติยังดำเนินอยู่ แม้เพิ่งปิดรับฟังความเห็นออนไลน์ไปเมื่อ 30 ก.ย แต่เข้าใจว่ายังเปิดในส่วนสภาการศึกษา ขอให้ตื่นตัวในการไปเสนอความคิดเห็น ไม่ต้องคิดว่ารู้กฎหมายหรือมีความรู้ในการเขียน พ.ร.บ. สิ่งที่ต้องบอกไปคือความต้องการของประชาชน ที่อยากเห็นคือการมองเห็น พ.ร.บ. ให้พื้นที่กับนักเรียน กับเด็กที่จริงๆ แล้วคือผ็ใหญ่ 1 คน ในการได้ออกแบบ รับการคุ้มครองในฐานะผู้เรียน ในฐานะที่เราบอกว่าเขาเป็นอนาคตของชาติ อยากให้มีหลักประกันว่าเดฏจะเข้าถึงการศึกษาอย่างเสมอภาค คำว่าฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ขอให้เกิดขึ้นจริง

ทั้งนี้ กุลธิดาเสนอว่าควรให้เรื่องความปลอดภัยและสวัสดิภาพของเด็กในพื้นที่สถานศึกษาทั้งเรื่องการเดินทาง อาหาร ความปลอดภัยในโรงเรียนได้รับการประกันตั้งแต่ระดับ พ.ร.บ. แม่บท เป็นพื้นฐานสำคัญที่โรงเรียนควรมอบให้นักเรียนได้ ไม่อยากได้ยินข่าวเด็กถูกไฟดูด เสียชีวิตจากการจมน้ำในพื้นที่ใกล้ๆ โรงเรียนอีกต่อไปแล้ว หรือรถโรงเรียนที่ไม่ได้มาตรฐานแล้วทำให้นักเรียนต้องเสียชีวิต การต่อยอดเป็นหลักสูตรขั้นสูงยังเป็นเรื่องที่ไกลด้วยซ้ำ

ครูสะท้อนปัญหา ควรมีผู้ช่วยทำงานที่ไม่สอน ผลสำรวจพบ คนต้องการการศึกษาแก้ความเหลื่อมล้ำ - เป็นประชาธิปไตย

ธนวรรธน์ยกตัวอย่างภาวะปัญหาที่ครูเจอว่า สิ่งที่ครูต้องทำคือใบ ปพ. ส่งผลการเรียนเด็ก มีคะแนนเก็บ คะแนนสอบ มีตัวที่ประเมินสมรรถนะผู้เรียนด้านการอ่าน คิด วิเคราะห์ ประเมินคุณลักษณะพึงประสงค์ การจัดการศึกษาไม่ได้เอาแค่ตัวชี้วัดที่เป็นเนื้อหาแต่ละวิชา ครูต้องประเมินด้วยว่าเด็กมีสมรรถนะและทักษะอะไรบ้าง แต่จะมีประเด็นปัญหาอยู่ที่วิธีการประเมินว่าครูได้ประเมินจริงๆ ไหม ในความเป็นจริงครูมีโอกาสสังเกตเด็กทีละคนหรือไม่ ปราณีตได้แค่ไหน เพราะว่ามีปัจจัยเรื่องเววลาทำงานของครูและจำนวนเด็กต่อห้อง บางโรงเรียนมีเด็กห้องละ 40-50 คน ถ้าเราใช้เวลากับเขาสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมงในคาบเรียน 0.5 หน่วยกิต  แถมครูหนึ่งคนก็ต้องสอนมากกว่า 1 ห้องอีก ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะเต็มที่กับเด็ก

ธนวรรธน์พูดถึงผลสำรวจที่กลุ่มครูขอสอนทดลองสอบถาม พบว่าคนอยากเห็นการศึกษาที่เท่าเทียม เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ก้าวทันเทคโนโลยี พัฒนาให้คนไทยสามารถเป็นนวัตกร แต่ข้อที่สำคัญและมีคนเขียนเยอะที่สุดคือเรื่องความเหลื่อมล้ำ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้พูดเรื่องนี้ตั้งแต่ฉบับที่ 2 จนถึงวันนี้เป็นฉบับที่ 12 อีกเรื่องที่เขียนส่งมามากคือการเป็นรัฐสวัสดิการ การศึกษาเป็นสิทธิของทุกคนที่ควรจะได้รับ ตรงนี้เป็นเงื่อนไขหนึ่งที่แสดงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่พ่อแม่ไม่ต้องหาเช้ากินค่ำเพื่อหาค่าเทอมให้ลูก เรื่องเหล่านี้รัฐควรจัดให้การ เรียนฟรีที่ดี มีคุณภาพ ต้องทำให้เกิดขึ้นจริง 

นอกจากนี้ยังอยากให้เป็นประชาธิปไตย สะท้อนว่าทุกวันนี้ยังไม่ใช่ ถึงใช่ก็ไม่จริง การศึกษาในโรงเรียนช่วยส่งเสริมให้เด็กมีความเป็นประชาธิปไตยแล้วหรือยัง ตราบใดที่ยังไม่มองคนเป็นคน มองคนไม่เท่ากัน ประชาธิปไตยก็ไม่เกิด การที่ครูจัดการเรียนการสอนแบบไม่ค่อยรับฟังความเห็นเด็ก กำหนดสิ่งที่ตัวเองคิดแต่ไม่รับฟังความคิดคนอื่นก็คือการไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่เกิดประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เสนอว่า หนึ่ง ครูควรจะมีสายสนับสนุนการสอน จะได้ไม่ต้องไปเป็นหัวหน้างานอื่นนอกจากการสอน เช่น พัสดุ อาคารสถานที่ สอง ทำอย่างไรประชาธิปไตยจะเกิดในระบบราชการ วัฒนธรรมในชั้นเรียน โณงเรียนส่งผลถึงวัฒนธรรมในสังคม

นักเรียนเล่า โรงเรียนไม่มีที่ให้คนเก่งไม่ตรงสายการเรียน การชี้วัดส่งผลถึงครอบครัว

ทักษิณกล่าวว่า จากประสบการณ์ที่โรงเรียน ค่อนข้างจะไม่อำนวยให้คนหลายๆ คนที่มีความสามารถไม่ตรงกับสายการเรียน บางคนเก่งอย่างหนึ่ง แต่ถูกชี้วัดด้วยเกรดว่าไปเรียนต่อที่หนึ่งๆ ไม่ได้ ทำให้เด็กหลายคนรู้สึกว่าไม่เป็นตัวของตัวเอง เหมือนถูกสังคมบังคับว่าถ้าไม่เป็นแบบนี้จะไม่ได้รับการยอมรับ ทำให้เด็กท้อในการเรียน ท้อว่าจะทำอย่างไรต่อ กลายเป็นหุ่นยนตร์ในระบบการศึกษา ส่วนการสอบโอเน็ตเหมือนไม่ยุติธรรม เพราะโรงเรียนมีพื้นฐานไม่เหมือนกัน วิธีสอนไม่เหมือนกัน ไม่ควรใช้ข้อสอบแบบเดียวกันทั้งหมด เด็กบางคนเสียโอกาส และเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ที่จะให้เด็กเก่งในแบบหนึ่งๆ ทุกคน ข้อสอบไม่ค่อยอำนวยกับเด็กทุกคน 

ทักษิณยังเล่าสืบเนื่องจากการคุยกันเรื่องแนวทางประเมินการเรียนของโรงเรียนว่า เคยยื่นใบผลการเรียนให้พ่อแม่ดู ครูบอกว่าเป็นนักเรียนที่ไม่เรียบร้อย พ่อแม่ก็พลอยมองว่าเขาเป็นเด็กไม่ดีแม้ว่าทำได้ดีในวิชาหนึ่ง ทำได้แย่ในอีกวิชาหนึ่ง ใบประเมินลักษณะนี้ทำให้เด็กหลายคนค่อนข้างท้อกับการเรียน บางวิชาเขาไม่ชอบจริงๆ ก็ยังถูกที่บ้านติเตียน บางครอบครัวมีความคาดหวังกับเด็กสูงก็ยิ่งทำให้เรื่องแย่ลงไปอีก

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

'สมัชชาคนจน' ปักหลักเรียกร้องรัฐบาลนั่งหัวโต๊ะเจรจาแก้ปัญหา

$
0
0

รมต.ประจำสำนักนายกฯเข้าคุยสมัชชาคนจน รับหารือ ประยุทธ์ ตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหา หลังปักหลักเรียกร้องรัฐบาลนั่งหัวโต๊ะเจรจาแก้ปัญหา

8 ต.ค.2562 ความคืบหน้าการเคลื่อนไหวของ สมัชชาคนจน ที่ชุมนุมข้างกระทรวงศึกษาธิการ ถนนราชดำเนิน ตั้งแต่วันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมา และเป็นการชุมนุมใหญ่ครั้งแรกในรอบ 5 ปี หลังเหตุการณ์รัฐประหารปี 2557 เพื่อเรียกร้องการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและผลกระทบจากนโยบายรัฐบาล ซึ่งมองว่า การแก้ไขปัญหาไม่เคยได้รับความจริงใจจากแทบทุกรัฐบาล ในครั้งนี้สิ่งที่เรียกร้อง คือ การขอให้มีกลไกการเจรจากับตัวแทนรัฐบาล โดยเสนอให้มี จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน พร้อมด้วย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้อง 13 กระทรวง ร่วมเจรจาแก้ไขปัญหาร่วมกับตัวแทนสมัชชาคนจน แต่กรอบข้อเสนอนี้ไม่เป็นผล ยังไม่มีการเจรจาไม่เกิดขึ้น

วันนี้ (8 ต.ค.62) เมื่อเวลา 15.50 น. กลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนเข้าใกล้ทำเนียบรัฐบาล โดยปิดถนนราชดำเนินบริเวณหน้ากระทรวงศึกษาธิการ 2 ช่องทางจราจร หลังรัฐบาลยังไม่มีคำตอบตามข้อเรียกร้อง ท่ามกลางการดูแลความเรียบร้อยของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ต่อมา เวลา 16.35 น. เทวัญ ลิปตพัลลภ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ สุภรณ์ อัตถาวงศ์ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ได้เดินออกมาพบกับกลุ่มสมัชชาคนจนที่บริเวณที่ขุมนุมข้างกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อพูดคุยทำความเข้าใจในกรณีหารือกับแกนนำกลุ่มสมัชชาคนจนแล้วว่า จะให้มาเป็นประธานแก้ไขปัญหาของกลุ่มสมัชชาคนจน แทน จุรินทร์ ตามที่กลุ่มสมัชชาคนจนร้องขอ

 

เทวัญ กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณที่ไว้วางใจตน ซึ่งตนได้พูดคุยกับจุรินทร์แล้วว่า ทางกลุ่มสมัชชาคนจนอยากให้จุรินทร์มาเป็นประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหา ในฐานะที่กำกับดูแลทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งจุรินทร์บอกว่าตัวเองมีงานในกำกับดูแลจำนวนมากแล้ว จึงกลัวว่าจะแก้ปัญหาให้กลุ่มสมัชชาคนจนไม่ได้ดี จึงขอร้องให้ตนมาช่วย และถ้ามีเรื่องใดส่งไปถึงกระทรวงเกษตรและกระทรวงพาณิชย์ก็จะดูแลให้

สมัชชาคนจน วันนี้ยังออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 ชื่อ "เราต้องการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเสมอหน้า"

โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

ตามที่สมัชชาคนจนได้ยื่นหนังสือถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้เร่งรัดการแก้ไขปัญหาของสมัชชาคนจน และขอนัดหมายการเจรจาการแก้ไขปัญหาในวันที่ 7 ตุลาคม 2562 ซึ่งได้รับการประสานงานจากสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีนัดหมายสมัชชาคนจนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมหารือเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ปรากฏว่าฝ่ายรัฐบาลได้ยื่นข้อเสนอต่อสมัชชาคนจน ให้ใช้กลไกในการแก้ไขปัญหาผ่านคณะกรรมการกำกับติดตามการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของมวลชนที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการฯ

ทางสมัชชาคนจนเล็งเห็นว่ากลไกการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นกลไกโครงสร้าง “แบบเสื้อโหล” ไม่มีรัฐมนตรีจากกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับปัญหามาร่วมเป็นกรรมการ มีแต่ฝ่ายข้าราชการที่เป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงกับสมัชชาคนจน และไม่มีอำนาจในการตัดสินใจเชิงนโยบาย ที่เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม

ดังนั้น ทางสมัชชาคนจนจึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาล ให้มีการเปิดเจรจา “อย่างเสมอหน้า” โดยให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการเจรจา และให้มีอำนาจในการตัดสินใจที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาของสมัชชาคนจนอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ เป็นรองนายกรัฐมนตรี ที่มาจากการเลือกตั้งมีความยึดโยงกับประชาชน และพรรคประชาธิปัตย์ควบคุมดูแลกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับปัญหาของสมัชชาคนจน ด้วยเหตุนี้ ทางสมัชชาคนจนมีความจำเป็นต้องออกมารณรงค์เรียกร้องเพื่อให้เกิดการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเสมอหน้ากันระหว่างสมัชชาคนจนกับรัฐบาลตามข้อเสนอข้างต้น

ประชาธิปไตยที่กินได้ การเมืองที่เห็นหัวคนจน
สมัชชาคนจน
8 ตุลาคม 2562

ไทยพีบีเอสยังได้สรุป 5 กลุ่มปัญหา 37 กรณี ของสมัชชาคนจนที่ออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้ 

5 กลุ่มปัญหา 37 กรณี

สำหรับการออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้ "สมัชชาคนจน" ยังคงเรียกร้องการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากนโยบายรัฐ จำนวน 5 กลุ่มปัญหา 37 กรณี

1.กรณีปัญหาที่สาธารณประโยชน์ ที่ราชพัสดุ พื้นที่ป่าไม้ ป่าสงวนแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อุทยานแห่งชาติ ที่ดินของรัฐประเภทอื่น ๆ และกรณีผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า

1.1 กรณีปัญหาที่สาธารณประโยชน์ ที่ราชพัสดุ
– ดอนหลักดำ ตำบลบ้านโนน อำเภอซาสูง จังหวัดขอนแก่น
– ตำบลหนองยายโต๊ะ อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี
– ดงคัดเค้า ตำบลอุ้มเหม้า อำเภอธาตุพนม และตำบลพุ่มแก อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม
1.2 กรณีปัญหาปัญหาที่ราชพัสดุหนองน้ำขุ่น อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น
1.3 กรณีปัญหาผู้เดือดร้อนจากการประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดิน อำเภอปากน้ำโพ อำเภอพยุหะคีรี อำเภอโกรกพระ จังหวัดนครสวรรค์
1.4 กรณีปัญหาที่สาธารณประโยชน์โคกหนองกุง อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์
1.5 กรณีปัญหาที่สาธารณประโยชน์โคกภูกระแต บ้านไผ่ล้อม ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม
1.6 กรณีปัญหาที่สาธารณประโยชน์กุดทิง อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ
1.7 กรณีปัญหาที่สาธารณประโยชน์บะหนองหล่ม ตำบลท่าสะอาด อำเภอเซกา จังหวัดบึงกาฬ
1.8 กรณีปัญหาที่สาธารณประโยชน์โคกหนองเหล็ก ตำบลแคน อำเภอสนม จังหวัดสุรินทร์
1.9 กรณีผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า
– กรณีปัญหาป่าสงวนแห่งชาติป่าดงใหญ่ (บ้านเก้าบาตร) ตำบลลานางรอง อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์
1.10 กรณีปัญหาการเตรียมประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่ากุดทิง ในที่สาธารณประโยชน์กุดทิง ตำบลโนนสมบูรณ์ ตำบลบึงกาฬ ตำบลโคกก่อง อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ

2.แนวทางการแก้ไขปัญหากรณีปัญหาโครงการก่อสร้างเขื่อน ฝาย และอ่างเก็บน้ำ

2.1 แนวทางการแก้ไขปัญหากรณีปัญหาเขื่อนที่สร้างแล้ว หรืออยู่ระหว่างการก่อสร้าง ประกอบด้วย
1) กรณีปัญหาโครงการก่อสร้างเขื่อนโป่งขุนเพชร
2) กรณีปัญหาเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี
3) กรณีปัญหาเขื่อนปากมูล จ.อุบลราชธานี
4) กรณีปัญหาเขื่อนราษีไศล จ.ศรีสะเกษ จ.ร้อยเอ็ด และจ.สุรินทร์
5) กรณีปัญหาเขื่อนหัวนา จ. ศรีสะเกษ
2.2 แนวทางการแก้ไขปัญหากรณีปัญหาเขื่อนที่ยังไม่สร้าง ประกอบด้วย
1) กรณีปัญหาโครงการก่อสร้างเขื่อนท่าแซะ จังหวัดชุมพร
2) กรณีปัญหาเขื่อนแก่งเสือเต้น จังหวัดแพร่

3.แนวทางการแก้ไขปัญหากรณีปัญหาได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ

3.1 โครงการอุตสาหกรรมบางสะพาน จ.ประจวบคิรีขันธ์
3.2 กรณีปัญหาการเวนคืนที่ดินเพื่อโครงการก่อสร้างถนนเชื่อมศูนย์ซ่อมอากาศยาน – ศูนย์กลางการค้าส่งชายแดนบริเวณสะพานมิตรภาพแห่งที่ 3 (นครพนม-คำม่วน) – ถนนเชื่อมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 212 อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม

4.แนวทางการแก้ไขปัญหาด้านการเกษตร

4.1 กรณีปัญหาราคามะพร้าวตกต่ำของเครือข่ายชาวสวนมะพร้าว จ.ประจวบคิรีขันธ์

5.แนวทางการเจรจาแก้ไขปัญหาด้านแรงงาน

5.1 ปัญหานายจ้างใช้สิทธิปิดงานเฉพาะสมาชิกสหภาพแรงงานเจนเนอรัลมอเตอร์ส ประเทศไทย
5.2 กรณีปัญหาการเลิกจ้างแกนนำในการก่อตั้งสหภาพแรงงาน ซูซูกิ มอเตอร์ ประเทศไทย จำนวน 9 คน ตามคำพิพากษาศาลฎีกา
5.3 ปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานของบริษัท มิกาซ่า อินดัสตรี้ส์ (ไทยแลนด์) จำกัด
5.4 ปัญหาการตรวจพบสารตะกั่วในเลือดพนักงาน บริษัท ไทยหัวเวย แบตเตอรี่ จำกัด สูงกว่าค่าที่กำหนด
5.5 กรณีบริษัท ไอพีบี จำกัด และบริษัท ไทยโควะพรีซีชั่น จำกัด ร่วมกันชดใช่ค่าเสียหายจากการละเมิด และจากการเลิกจ้าง นางสาววิศัลย์ศยา พุ่มเพชรสา ต้องได้รับอุบัติเหตุจากการทำงานลูกกลิ้งเฉือนนิ้วกลางข้างขวาข้อที่สองเกือบขาดต้องหยุดพักรักษานานกว่า 20 วัน และนิ้วไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ
5.6 กรณีปัญหาปิดกิจการและเลิกจ้างพนักงาน
1) กรณีบริษัทซี.ที. ปิโตรแอนด์ทรานส์ จำกัด ปิดกิจการและเลิกจ้างพนักงาน
2) กรณีบริษัท พี ดับบลิวเค จิวเวลลี่ จำกัด ปิดกิจการและเลิกจ้างพนักงาน จำนวน 653 คน
3) กรณีบริษัทโกบอล เซอร์กิต อีเลคทรอนิคส์ (ไทยแลนด์) จำกัด ปิดกิจการและเลิกจ้างพนักงาน จำนวน 145 คน

เรียบเรียงจาก ไทยพีบีเอสข่าวสดออนไลน์และเพจ สมัชชาคนจน Assembly of the Poor

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

พันธมิตรปกป้องแม่น้ำโขงเรียกร้องให้ยกเลิกโครงการเขื่อนหลวงพระบาง

$
0
0

แม่น้ำโขงกำลังเผชิญวิกฤต ทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในแม่น้ำโขงสายประธานและแม่น้ำสาขา ซึ่งทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของกระแสการไหลและระดับน้ำที่ไม่อาจคาดการณ์ได้มากยิ่งขึ้น จากระดับน้ำที่ลดลงเป็นประวัติการณ์เมื่อเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม ไปจนถึงภาวะน้ำท่วมอย่างรุนแรงในที่ราบเมื่อเดือนสิงหาคมและกันยายน เขื่อนผลิตไฟฟ้าทำให้เกิดผลกระทบร้ายแรงยิ่งขึ้นต่อแม่น้ำและประชาชน เขื่อนขนาดใหญ่โดยเฉพาะที่มีแผนการสร้างในแม่น้ำโขงสายประธาน เป็นสาเหตุสำคัญ ไม่ใช่คำตอบของวิกฤตในแม่น้ำโขง

แทนที่จะดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อแก้ไขความเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็วของระบบนิเวศและผลิตภาพของแม่น้ำ ซึ่งเป็นแหล่งทำมาหากินของประชาชนหลายล้านคน เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 รัฐบาลลาวได้แจ้งอย่างเป็นทางการต่อคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ถึงเจตนาที่จะสร้างเขื่อนใหญ่อีกแห่งหนึ่งในแม่น้ำโขงสายประธาน โครงการเขื่อนหลวงพระบาง จะเป็นเขื่อนที่ห้าที่เข้าสู่ขั้นตอนของระเบียบปฏิบัติเรื่องการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้า และข้อตกลง (Procedures for Notification, Prior Consultation, and Agreement - PNPCA)   

พันธมิตรปกป้องแม่น้ำโขง (Save the Mekong) กังวลอย่างยิ่งกับการริเริ่มการปรึกษาหารือล่วงหน้าสำหรับเขื่อนหลวงพระบาง ในขณะที่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาตามข้อกังวลที่ร้ายแรงและเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากผลกระทบของเขื่อนที่มีอยู่แล้ว และเขื่อนที่มีแผนการสร้างในแม่น้ำโขงสายประธาน ซึ่งเป็นข้อกังวลที่มีการเสนอในการปรึกษาหารือล่วงหน้าสำหรับโครงการก่อนหน้านี้

เราจึงเรียกร้องให้ยกเลิกเขื่อนหลวงระบาง และเขื่อนอื่นที่มีแผนการสร้างในแม่น้ำโขงสายประธาน แทนที่จะเดินหน้าตามขั้นตอนการปรึกษาหารือล่วงหน้าที่มีข้อบกพร่องอีกครั้ง เรากระตุ้นให้รัฐบาลประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างและ MRC แก้ไขปัญหาตามข้อกังวลเนื่องจากผลกระทบของเขื่อนในแม่น้ำโขงสายประธานที่มีอยู่ และให้ทำการประเมินทางเลือกอย่างรอบด้าน โดยให้มีการศึกษาทางเลือกอื่น ๆ ด้วย

เขื่อนในแม่น้ำโขงสายประธาน จะเปลี่ยนให้แม่น้ำโขงให้เป็นเพียงอ่างเก็บน้ำ  และสร้างผลกระทบที่รุนแรง

การเริ่มการปรึกษาหารือล่วงหน้าสำหรับเขื่อนหลวงพระบาง เป็นการกระทำที่ไม่คำนึงถึงหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่มากมาย รวมทั้งผลการศึกษาที่ได้รับการเผยแพร่ของ MRC และหน่วยงานอื่น ๆ ซึ่งชี้ให้เห็นถึงผลกระทบระดับลุ่มน้ำที่ไม่อาจแก้ไขเยียวยาได้เนื่องจากเขื่อนในแม่น้ำโขงสายประธาน หากมีการสร้างเขื่อนหลวงพระบางจริง ประกอบกับเขื่อนปากแบง เขื่อนไซยะบุรี และเขื่อนปากลาย ย่อมทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสมบูรณ์ต่อแม่น้ำโขง ซึ่งไหลตามแนวพรมแดนทางตอนเหนือของลาว ทำให้แม่น้ำกลายเป็นทะเลสาบในหลายระดับ ส่งผลให้เกิดความเสียหายที่ร้ายแรงและไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ต่อสุขภาวะและผลิตภาพของแม่น้ำ จะทำให้เกิดการสูญเสียคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างกว้างขวาง ซึ่งเป็นประโยชน์ที่ได้จากแม่น้ำสายนี้ และจะทำให้แม่น้ำกลายเป็นเพียงคลองส่งน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้า ให้ประโยชน์เป็นส่วนใหญ่กับบริษัทไฟฟ้าพลังน้ำเท่านั้น

ข้อกังวลที่มีอยู่ต่อเขื่อนในแม่น้ำโขงสายประธาน เผยให้เห็นข้อบกพร่องในการปรึกษาหารือล่วงหน้า[1]

ผลการปรึกษาหารือล่วงหน้าสำหรับสี่เขื่อนในแม่น้ำโขงสายประธาน ได้แก่ เขื่อนไซยะบุรี (2553-2554) เขื่อนดอนสะโฮง (2557-2558) เขื่อนปากแบง (2559-2560) และเขื่อนปากลาย (2561-2562) จนถึงปัจจุบัน ไม่สามารถแก้ไขตามข้อกังวลเนื่องจากผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้ และยังมีข้อเสนอให้ทำการศึกษาและหาข้อมูลเพิ่มเติม สืบเนื่องจากข้อบกพร่องร้ายแรงของการปรึกษาหารือล่วงหน้าจนถึงปัจจุบัน หากไม่มีการปฏิรูปกระบวนการนี้อย่างจริงจัง ย่อมแทบไม่มีโอกาสที่การปรึกษาหารือล่วงหน้าสำหรับเขื่อนหลวงพระบางจะแตกต่างจากกระบวนการที่เกิดขึ้นในอดีต ทั้งย่อมไม่สามารถประกันให้เกิดความโปร่งใสและความรับผิดตามมาตรฐานขั้นต่ำได้ ยังไม่ต้องพูดถึงการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของชุมชนที่ได้รับผลกระทบ ภาคประชาสังคม และประชาชนทั่วไป

เวียดนามต้องทบทวนการมีส่วนร่วมกับเขื่อนหลวงพระบาง

พีวีพาวเวอร์ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของปิโตรเวียดนาม (PVN) ที่เป็นรัฐวิสาหกิจ เป็นบริษัทซึ่งทำหน้าที่หลักในการพัฒนาโครงการเขื่อนหลวงพระบาง การที่บริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจเวียดนามเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการนี้ ไม่สอดคล้องกับการที่รัฐบาลเวียดนามเคยแสดงข้อกังวลหลายครั้ง ระหว่างที่มีการปรึกษาหารือล่วงหน้าสำหรับเขื่อนในแม่น้ำโขงสายประธานจนถึงปัจจุบัน ก่อนหน้านี้ในระหว่างการปรึกษาหารือล่วงหน้ากรณีเขื่อนไซยะบุรี รัฐบาลเวียดนามอ้างว่ามีข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง และเรียกร้องให้ชะลอการสร้างเขื่อนไซยะบุรีและเขื่อนอื่น ๆ ที่มีการวางแผนสร้างในแม่น้ำโขงสายประธาน “ออกไปเป็นเวลาอย่างน้อย 10 ปี”[2]เมื่อเร็ว ๆ นี้ เวียดนามยังเรียกร้องให้สนับสนุนการสำรวจแหล่งพลังงานทางเลือกอย่างจริงจัง เพื่อทดแทนไฟฟ้าพลังน้ำในลุ่มน้ำโขง ซึ่งย่อมช่วยให้เกิด “การคุ้มครองและการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนของทรัพยากรน้ำในแม่น้ำโขง รวมทั้งป้องกันผลกระทบด้านลบต่อการดำรงชีพของประชาชน”[3]

นอกจากนั้น พีวีพาวเวอร์ยังมีประวัติการดำเนินงานเกี่ยวกับโครงการไฟฟ้าพลังน้ำที่เลวร้ายในลาว โดยแม้จะมีการสร้างจนเสร็จแล้ว แต่เขื่อนเซกะหมาน 1 และ 3 ในลาวตอนใต้ยังไม่สามารถเดินเครื่องได้เป็นปรกติ ทั้งยังส่งผลกระทบรุนแรงต่อชุมชนต่าง ๆ

เนื่องจากเขื่อนหลวงพระบางจะยิ่งเพิ่มผลกระทบต่อแม่น้ำโขงและสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ รัฐบาลเวียดนามจึงต้องทบทวนการมีส่วนร่วมในโครงการนี้

เขื่อนในแม่น้ำโขงสายประธานไม่มีความจำเป็นเพื่อตอบสนองความต้องการด้านพลังงานของภูมิภาค

จากผลการศึกษาของคณะมนตรีแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นการประเมินแผนการพัฒนาที่เป็นอยู่และในอนาคต ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า โครงการสร้างเขื่อนหลายแห่งในแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขา ก่อให้เกิดภัยคุกคามอย่างร้ายแรงต่อความมั่นคงของระบบนิเวศ เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงด้านอาหารในภูมิภาค ในส่วนของเขื่อนในแม่น้ำโขงสายประธาน การศึกษาของคณะมนตรีแม่น้ำโขงพบว่า การพัฒนาความเชื่อมโยงของโครงสร้างพื้นฐานส่งผลกระทบ “ซึ่งมีลักษณะรุนแรงและกว้างขวาง มากกว่าโครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำใด ๆ ที่มีอยู่ในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง”[4]

ข้อเสนอแนะสำคัญอย่างหนึ่งจากการศึกษาของคณะมนตรีแม่น้ำโขง คือการให้รัฐบาลประเทศสมาชิกพิจารณาใช้ทางเลือกพลังงานหมุนเวียนนอกเหนือจากเขื่อนขนาดใหญ่อย่างจริงจัง อย่างไรก็ดี ยังไม่มีแนวโน้มว่ารัฐบาลประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง จะพิจารณาข้อเสนอแนะเหล่านี้ หรือนำข้อมูลมาใช้ประกอบการตัดสินใจเกี่ยวกับแผนการก่อสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงสายประธาน

เขื่อนในแม่น้ำโขงสายประธาน ไม่มีความจำเป็นต่อการตอบสนองความต้องการด้านพลังงานในภูมิภาค จากสรุปรายงานของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงปี 2561 พบว่า ภายในปี 2583 ลาวมีแผนส่งออกไฟฟ้า 11,739 เมกะวัตต์ ไปยังประเทศไทย ส่วนแผนพลังงานของไทยระบุว่าจะนำเข้าไฟฟ้าเพียง 4,274 เมกะวัตต์[5]ความแตกต่างของตัวเลขเกือบ 7,500 เมกะวัตต์ ถือว่ามากกว่ากำลังผลิตติดตั้งรวมกันของเขื่อนในแม่น้ำโขงสายประธานทั้งเจ็ดเขื่อน ทั้งที่อยู่ในแผนและอยู่ระหว่างการก่อสร้างในลาว[6]

ยังคงมีทางเลือกและแนวทางการพัฒนาพลังงานที่ยั่งยืนและเท่าเทียมอื่น ๆ อยู่ ซึ่งอยู่บนพื้นฐานการเคารพชุมชนและสามารถตอบสนองความต้องการด้านน้ำและพลังงานของภูมิภาคได้ เรายังมีศักยภาพมากมายจากประสิทธิภาพการใช้พลังงานและพลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ ที่ไม่ใช่พลังงานน้ำในภูมิภาค การประเมินทางเลือกอย่างรอบด้านย่อมช่วยให้เราสามารถจำแนกทางเลือกและแนวทางการพัฒนาพลังงานที่ยั่งยืนและเท่าเทียมอื่น ๆ ของภูมิภาคได้ โดยไม่จำเป็นต้องดำเนินการตามแผนที่มีการทำลายระบบแม่น้ำ ซึ่งเป็นพื้นฐานการดำรงชีวิตของประชาชนหลายล้านคน

 

[1]สำหรับรายละเอียด โปรดดูแถลงการณ์ฉบับก่อนหน้าของพันธมิตรปกป้องแม่น้ำโขง ที่เผยแพร่เมื่อเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม 2561 เกี่ยวกับการปรึกษาหารือล่วงหน้าของเขื่อนปากลาย

[2]โปรดดู คำตอบอย่างเป็นทางการจากเวียดนาม ในการปรึกษาหารือล่วงหน้ากรณีเขื่อนไซยะบุรี 

[3]โปรดดู คำตอบอย่างเป็นทางการจากเวียดนาม ในการปรึกษาหารือล่วงหน้ากรณีเขื่อนปากลาย

[4]การศึกษาของคณะมนตรีแม่น้ำโขง (2560) MRC (2017) Council Study: ข้อมูลหลักจากการศึกษาการจัดการและการพัฒนาลุ่มน้ำโขงที่ยั่งยืน รวมทั้งผลกระทบจากโครงการไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำโขงสายประธาน น.5

[5] MRC (2018) รายงานเชิงสรุป: การทบทวนและข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำที่ยั่งยืนระดับลุ่มน้ำสำหรับลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ร่างฉบับที่ 1.0 28 สิงหาคม 2561 น. 13-14

[6]เจ็ดเขื่อนในแม่น้ำโขงสายประธานที่สร้างในเขตแดนลาวทั้งหมด ได้แก่ เขื่อนปากแบง, เขื่อนหลวงระบาง, เขื่อนไซยะบุรี, เขื่อนปากลาย, เขื่อนสานะคาม, เขื่อนภูงอย และเขื่อนดอนสะโฮง โดยยังมีแผนก่อสร้างเขื่อนปากชมและเขื่อนบ้านคุมบริเวณพรมแดนไทย-ลาว

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ศูนย์ทนายสิทธิฯ เปิดคำแนะนำกรณีถูกควบคุมตัว ถูกจับกุม หรือได้รับหมายเรียก

$
0
0

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ย้ำผู้ต้องหาในคดีอาญา แม้จะถูกจับกุมหรือกล่าวหาดำเนินคดีแล้ว ยังคงมีสิทธิต่างๆ อยู่ 

8 ต.ค.2562 จากกรณี การควบคุมตัว กาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์ บัณฑิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักกิจกรรมทางการเมือง ตามหมายจับ ฐานกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 ค่ำวานนี้ (7 ต.ค.62) ซึ่ง วิญญัติ ชาติมนตรี ตั้งประเด็นเรื่องการออกหมายจับ โดยข้ามขั้นตอนการออกหมายเรียกมารับทราบข้อกล่าวหาก่อน นั้น 

ล่าสุดวันนี้ (8 ต.ค.62) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้คำแนะนำกรณีถูกควบคุมตัว ถูกจับกุม หรือได้รับหมายเรียก อีกครั้ง โดยระบุว่า ในยุคที่การแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ การโพสต์หรือทวิตข้อความ หรือแม้แต่การแชร์ส่งต่อข้อความโดยไม่ได้แสดงความคิดเห็นใดๆ อาจนำไปสู่การถูกจับกุมดำเนินคดีในข้อหาต่างๆ ได้ ชวนอ่านคำแนะนำเบื้องต้นกรณีถูกเจ้าหน้าที่รัฐควบคุมตัวหรือได้รับหมายเรียก 

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุด้วยว่า ผู้ต้องหาในคดีอาญา แม้จะถูกจับกุมหรือกล่าวหาดำเนินคดีแล้ว ยังคงมีสิทธิต่างๆ อยู่ อาทิเช่น

  • สิทธิที่จะได้รับการแจ้งข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการกระทำที่ถูกกล่าวหาและข้อกล่าวหาก่อนสอบสวน
  • สิทธิที่จะได้พบและปรึกษาทนายความ
  • สิทธิที่จะแจ้งหรือขอให้เจ้าพนักงานแจ้งให้ญาติหรือบุคคลที่ไว้วางใจทราบ ขณะถูกควบคุมตัว
  • สิทธิจะให้การหรือไม่ก็ได้ และไม่ถูกบังคับ ขู่เข็ญ ล่อลวง ให้สัญญา เพื่อให้การ
  • สิทธิที่จะปฏิเสธไม่ยินยอมให้แถลงข่าว
  • สิทธิที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการสอบสวน
  •  สิทธิในการได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์
  • สิทธิไดร้ับการสอบสวนด้วยความรวดเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นธรรม

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://www.tlhr2014.com/?p=11685

กรณีถูกจับกุมดำเนินคดี จากการแสดงความคิดเห็นหรือการแสดงออกทางการเมือง ยังสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือทางกฎหมายเบื้องต้นมาที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ ที่เบอร์โทรศัพท์สายด่วน 092-271-3172 และ 096-789-3173

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

'อนาคตใหม่' เปิดผังห้องพิจารณาคดีนาทีผู้พิพากษายิงตัวเอง ถาม จนท.เข้ามายุ่งโทรศัพท์หรือไม่ จี้เปิดกล้องวงจรปิด

$
0
0

'อนาคตใหม่' เปิดผังห้องพิจารณาคดีนาที #ผู้พิพากษายิงตัวเอง ถามเจ้าหน้าที่ยุ่มย่ามโทรศัพท์ของผู้พิพากษาจริงหรือไม่ ขอให้เปิดกล้องวงจรปิด 'ปิยบุตร' เตรียมส่งข้อมูลเข้าหารือ กมธ. กฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน พุธนี้

8 ต.ค.2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ เฟสบุ๊คแฟนเพจ 'พรรคอนาคตใหม่ - Future Forward Party' เปิดลำดับเหตุการณ์และผังห้องพิจารณาคดีช่วงที่ คณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลา ก่อเหตุใช้อาวุธปืนยิงตัวเองในห้องพิจารณาคดี เมื่อวันที่ 4 ต.ค.ที่ผ่านมา 

โดยระบุว่า 

ข้อมูลจากการสอบถามข้อมูลรายละเอียดจากผู้อยู่ในห้องพิจารณาคดี ศาลจังหวัดยะลาขณะเกิดเหตุ ผู้พิพากษายิงตัวเอง

ลำดับเหตุการณ์ในห้องพิจารณาคดี 4 ศาลจังหวัดยะลา เมื่อศุกร์ที่ 4 ตุลาคม 2562

1. ศาลออกนั่งบัลลังก์ พิจารณาคดีพิพากษาให้ยกฟ้อง แต่ให้ฝากขังระหว่างอุทธรณ์

2. เสร็จกระบวนพิจารณา ผู้พิพากษาในองค์คณะอีกท่านออกจากห้อง (คดีนี้มีองค์คณะสองท่าน โดยคณากรเป็นตุลาการเจ้าของสำนวน)

3. คณากรเอาโทรศัพท์มือถือออกมา 2 เครื่องเพื่อตั้งกล้องถ่ายเฟซบุ๊กไลฟ์ ระหว่างนั้นก็คุยว่า “ขอเวลาอยู่กับผมหน่อยนะ อดทนหน่อย ผมอดทนมานานแล้ว..” จากนั้นล็อคประตูบังลังก์พร้อมกับเอาเก้าอี้ไปดันประตูไว้ เจ้าหน้าที่ตำรวจ(คาดว่าเป็นตำรวจศาล) ลุกไปล็อคประตูทางเข้า

4. คณากรพูดพร้อมกับไลฟ์ไปด้วยผ่านเฟซบุ๊คซึ่งได้แจ้งชื่อกับทุกคน และแจ้งทุกคนในห้องว่าสามารถนำมือถือมาบันทึกเสียงหรือถ่ายได้ (แต่ไม่มีใครลุกไปหยิบมือถือที่ถูกเก็บไว้ก่อนเริ่มกระบวนพิจารณา) และแจกเอกสารประมาณ 6 ชุด เป็นร่างคำพิพากษาแนบบันทึกลับให้กับคนที่อยู่ในห้อง

5. เนื้อความที่คณากรพูดนั้นตรงกับคำแถลงการณ์ 25 หน้า

6. ระหว่างไลฟ์ มีบุลคลนอกเครื่องแบบพยายามจะเข้ามาทางประตูทางเข้า แต่คณากรได้ไล่ให้กลับไป พร้อมบอกว่า “กลับไปเถอะ ผมทำถึงขนาดนี้แล้ว ถ้าผมหยุดที่ทำมาจะสูญเปล่า”

7. คณากรพูดว่าทำไม่ได้หรอก ที่จะเอาคนไม่ผิดมาลงโทษ ผมยอมตายดีกว่าที่จะเป็นผู้พิพากษาที่ไร้เกียรติ อยากจะฝากประโยคนี้ถึงประชาชน “คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน” ซ้ำ 3 ครั้ง ก่อนจะกล่าวถวายสัตย์

8.คณากรลุกขึ้นแล้วหันไปถวายคำนับพระบรมฉายาลักษณ์(ในห้องพิจารณาคดีมีพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวง รัชกาลที่ 9 และ 10) และหันกลับมา เอาปืนพกยิงใต้ราวนมซ้าย (ขณะยิงยังไลฟ์อยู่) แล้วประคองตัวเองนั่งบนเก้าอี้ผู้พิพากษา

9.เจ้าหน้าที่ กอ.รมน. วิ่งขึ้นไปเอาโทรศัพท์ทั้งสองเครื่อง (ผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่า มีการกระทำบางอย่างกับโทรศัพท์ของคณากร ซึ่งเมื่อเขาออกมาจากห้องพิจารณา มาเปิดเฟซบุ๊กพบว่าไลฟ์ของคณากรได้หายไปแล้ว)

10.เจ้าหน้าที่อีกนายเข้าไปปฐมพยาบาลและนำร่างของคณากรออกจากห้องไปยังรถฉุกเฉิน ท่ามกลางความตื่นตะหนกของผู้เห็นเหตุการณ์ บางคนร้องไห้ด้วยความตกใจกลัว

11. ช่วงที่ชุลมุน เจ้าหน้าที่ได้นำตัวจำเลยทั้ง 5 ออกไปแล้ว สรุปจำนวนคนที่อยู่ในห้องพิจารณาคดี

เพจพรรคอนาคตใหม่ ยังย้ำว่า รายละเอียดทั้งหมดนี้ มาจากการให้ข้อมูลที่ตรงกันของผู้ที่อยู่ในห้องพิจารณาขณะเกิดเหตุ แต่ที่สำคัญที่สุด มีกล้องวงจรปิดอย่างน้อย 1 ตัวภายในห้อง ประเด็นที่น่าสนใจคือเจ้าหน้าที่ กอ.รมน. เข้าไปยุ่มย่ามกับโทรศัพท์มือถือของคณากรและลบเฟซบุ๊กไลฟ์รวมทั้งโพสต์ต่างๆ อีกอย่างน้อย 2 โพสต์ที่เกี่ยวกับปัญหาข้อเรียกร้องเรื่องการแทรกแซงกระบวนการพิจารณาคดีจริงหรือไม่ มีเหตุผลจำเป็นอะไร และมีอำนาจตามกฎหมายหรือไม่

เบื้องต้นที่สุด พรรคอนาคตใหม่ เรียกร้องให้เปิดเผยเทปบันทึกกล้องวงจรปิดและเฟซบุ๊กไลฟ์ของคณากรว่าภายในห้องพิจารณาเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นบ้าง

ปิยบุตรเตรียมส่งข้อมูลเกี่ยวเข้าหารือ กมธ. กฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน พุธนี้

ต่อมา ปิยบุตร แสงกนกกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ เปิดเผยว่าในวันพุธที่ 9 ต.ค.นี้ตนจะนำเอกสารและข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับกรณี คุณคณากร เพียรชนะ #ผู้พิพากษายิงตัวเอง ไปหารือกับที่ประชุมคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาต่อไป
โดยเบื้องต้นเห็นว่าข้อร้องเรียนของผู้พิพากษานั้นมีมูลและอาจเป็นปัญหาจริง

นอกจากนี้ยังได้รับข้อร้องเรียนในลักษณะคล้ายกันจากผู้ที่เกี่ยวข้องในหลายกรณีทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ที่อยู่ภายใต้การบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงและกฎหมายหมายพิเศษ

สิ่งที่เตรียมจะนำเข้าหารือกับ กมธ.ยุติธรรมฯ ได้แก่

1. การตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นทั้งหมดว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร

2. พิจารณาข้อเรียกร้องของ ผู้พิพากษา คณากร เพียรชนะ ที่ให้แก้ไขกฎหมาย-กฎระเบียบเกี่ยวกับการพิจารณาคดี เพื่อให้ผู้พิพากษามีความเป็นอิสระจากอิทธิพลและแรงกดดันทั้งภายในและภายนอกองค์กร ในขณะเดียวกันยังต้องรักษาบรรทัดฐานของแนวคำพิพากษาเพื่อให้ประชาชนสามารถไว้วางใจกระบวนการยุติธรรมได้ด้วย

3. การทำข้อเสนอและร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวอันเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

ปิยบุตรย้ำว่า นี่ไม่ใช่การแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม แต่เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาผู้แทนราษฎรอยู่แล้ว การดำเนินงานในเรื่องนี้เป็นความพยายามเพื่อปรับปรุงและรักษาความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรม

และที่สำคัญที่สุด อยากย้ำว่าโปรดอย่าหลงประเด็นที่บางฝ่ายพยายามโหมบิดเบือนว่า ผู้พิพากษา คณากร เพียรชนะ จัดฉากสร้างเรื่อง ฝักใฝ่การเมือง ทำผิดกฎหมาย และกฎระเบียบต่างๆ มากมาย จนทำให้ข้อเรียกร้อง ข้อเท็จจริง และความตั้งใจของคุณคณากรสูญหายไปกับกระแสข่าว

หน้าที่ที่สำคัญที่สุดของทุกคนใน กมธ. คือการพิจารณาข้อร้องเรียนของคุณคณากรอย่างละเอียด และหาหนทางว่าเราจะสามารถร่วมมือกันแก้ไข พัฒนา และทำให้กระบวนการยุติธรรมและองค์กรตุลาการไทยเป็นที่พึงพิงของประชาชนได้อย่างแท้จริงได้อย่างไรบ้าง

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

กษัตริย์สวีเดน ประกาศให้เชื้อพระวงศ์รุ่นหลาน 5 รายออกจากสมาชิกราชสกุลวงศ์

$
0
0

สำนักพระราชวังสวีเดนแถลงในฐานะตัวแทนสมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟ ให้ถอดถอนพระราชนัดดา (หลาน) 5 คนออกจากการเป็นสมาชิกราชสกุลวงศ์ ทำให้ไม่ต้องรับเงิน "รายได้ศักดินา" จากภาษีประชาชน ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติราชกรณียกิจ เรื่องนี้ทำให้มีนักประวัติศาสตร์มองว่าจะทำให้เชื้อพระวงศ์วัยเยาว์ใช้ชีวิตตามปกติของตัวเองได้

สมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟแห่งสวีเดน (ที่มา: Youtube/ Global Child Forum)

9 ต.ค. 2562 เมื่อวันที่ 7 ต.ค. ที่ผ่านมา มีแถลงการณ์จากผู้แทนของสมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟแห่งสวีเดนระบุว่าพระองค์ตัดสินพระทัยให้มีการลดขนาดราชวงศ์โดยการถอดถอนพระราชนัดดา (หลาน) 5 คนของพระองค์ออกจากการเป็นสมาชิกราชสกุลวงศ์

จากการตัดสินใจดังกล่าวนี้ส่งผลให้เจ้าชายอเล็กซานเดอร์ เจ้าชายกาเบรียล เจ้าหญิงเลโอนอเร เจ้าชายนิโคลัสและเจ้าหญิงเอเดรียนน์ ไม่ได้มีตำแหน่งเจ้าฟ้าในราชกสกุลวงศ์อีกต่อไป และไม่จำเป็นต้องมีส่วนในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจใดๆ อย่างไรก็ตามพวกเขายังคงมีตำแหน่งในฐานะดยุกและดัชเชส

แถลงการณ์จากสำนักราชวังสวีเดนระบุว่าการตัดสินใจนี้เป็นไปเพื่อทำให้เกิดการแยกแยะว่าสมาชิกเชื้อพระวงศ์พระองค์ใดจะได้รับความคาดหวังให้ปฏิบัติราชกรณียกิจ ข้อมูลแถลงการณ์ยังระบุอีกว่าเจ้าหญิงเอลเตลล์และเจ้าชายออสการ์ ซึ่งเป็นพระราชโอรสและพระราชธิดาของเจ้าฟ้าหญิงวิกเตอเรียมกุฎราชกุมารีกับเจ้าฟ้าชายแดเนียลจะยังคงสถานะราชสกุลวงศ์ในฐานะรัชทายาทองค์ต่อไป

โดยที่การถอดถอนไม่ต้องให้เชื้อพระวงศ์เหล่านี้ปฏิบัติราชกรณียกิจนั้นยังส่งผลให้พวกเขาที่เป็นเด็กอายุระหว่าง 1-5 ปีไม่มีสิทธิจะได้รับเงินรายปีจากภาษีของประชาชนที่เรียกว่า "รายได้ตามระบบศักดินา" (appanage) ด้วย 

มีผู้สังเกตการณ์แสดงความคิดเห็นถึงเรื่องนี้ว่าเป็นการสะท้อนความต้องการของประชาชนทั่วไปที่ไม่อยากให้มีการจ่ายเงินภาษีของประชาชนให้กับครอบครัวเชื้อพระวงศ์ในการประกอบราชกรณียกิจมากมายขนาดนั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านราชวงศ์ โรเจอร์ ลุนด์เกรนกล่าวว่าการตัดสินพระทัยในครั้งนี้มีขึ้นหลังจากที่มีการใคร่ครวญถึงเรื่องที่มีจำนวนเชื้อพระวงศ์เพิ่มมากขึ้น นั่นทำให้เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมารัฐสภาของสวีเดนประกาศว่าจะพิจารณาถึงหลักการในเรื่องระบอบกษัตริย์หนึ่งในเรื่องที่มีการพิจารณาคือเรื่องขนาดของราชวงศ์

ลุนด์เกรนกล่าวเปรียบเทียบเรื่องนี้กับการที่เจ้าชายชาลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ เคยรับสั่งไว้ว่าจะว่าให้มีการ "ปรับลดขนาดราชตระกูล" ลงด้วย นอกจากนี้ลุนด์เกรนยังกล่าวถึงกรณีที่เชื้อพระวงศ์สวีเดน 5 พระองค์ เช่น เจ้าหญิงเบียทริกซ์ และเจ้าหญิงยูจินี ทรงมีอาชีพเป็นของพระองค์เอง

ดิก แฮร์ริสัน นักประวัติศาสตร์สวีเดนกล่าวว่าการตัดสินใจนี้เป็นได้ว่าเป็นการปรับให้เข้ากับความต้องการของยุคสมัยใหม่เมื่อครอบครัวเชื้อพระวงศ์มีการเติบโตมากขึ้นกว่าเมื่อ 100 ปีก่อน และผู้คนก็คิดว่าไม่ควรจะต้องจ่ายให้กับสมาชิกเชื้อพระวงศ์มากนักและไม่เห็นต้องให้มีการปฏิบัติราชกรณียกิจอะไร นอกจากนี้การให้เชื้อพระวงศ์ที่ยังทรงพระเยาว์ได้ถอดถอนออกจากหน้าที่ราชกรณียกิจนี้ยังทำให้พวกเขาสามารถ "ใช้ชีวิตอย่างปกติ" ได้

เรียบเรียงจาก

Sweden's king removes five of his grandchildren from royal house, Euro news, Oct. 7, 2019

Swedish King Carl Gustaf removes grandchildren from royal house, BBC, Oct. 7, 2019

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

กวีประชาไท: รำลึก...อีกรึ 6 ตุลา!

$
0
0

รำลึก....เดือนตุลา...
รำลึกมาแล้วสี่สิบปีกว่า....ไม่เคยเปลี่ยน
รัฐประหาร. ยังคงแล่นเป็นวงเวียน
ฉีกแล้วเขียน เขียนแล้วแก้....
#โคตรพ่อโคตรแม่...รัฐธรรมนวย...

รำลึกอีกแล้ว.....เดือนตุลา..
ไอ้พวกลอยหน้าลอยตา..ก็ล้วน วีรชนห่วยๆ
ทั้งศิลปิน.. ทั้งกวี .นักคิด....นักวิชากวย
โธ่!!!วีรชนเฮงซวย..เหอะ!!!เลีย - อวย ...รัฐประหาร

อ้างว่าเคยแลกชีวิต กับรัฐธรรมนูญ
แม่ง!!!กลับเสียสูญ เสียความจำ ทำอลหม่าน
เหยียด หมิ่นแคลน หยามประชา ว่าจัณฑาล
หันมาหนุน เผด็จการ...หวังได้ใหญ่โต...

ยังรำลึก...อีกรึ!!!.....ตุลา
เมื่อคนบงการฆ่า!!!ยังอ่าโอ่
ปวงประชา ล้าแรงถอย พลอยเลโล
จึงบางคน ยังแกล้งโง่...ไม่รู้ใครเป็นใคร
....
....

รัฐธรรมนูญ..ฉีกแล้ว!!!เกือบ 20 ฉบับ
ไม่อยากนับ ไม่อยากจำ ทำเป็นใบ้
เมื่อคนดีย์...ที่น่าถีบ..บีบอยู่เหนือคนไทย
เลือกมาแล้ว ไม่ถูกใจ...แม่งงง!!!..ไล่ทุกที

วันนี้...ยังต้องรำลึก.....ตุลา
รำลึก...ท่ามสายตา...ของภูตผี
พูดความจริง ต้องถูกขัง ถูกตรวนตี...
จึงเห็นแต่ความเท็จ - ความถ่อย..ลอยอึงมี่....
....จากก้อนขี้ที่อ้างมา
..... .ว่ากูเพื่อนวีรชน....!!!!
...
...
...

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

กวีประชาไท: เพียงแว่วเพลงแห่งรักหนักแผ่นดิน

$
0
0

เพียงแว่วเพลงหนักแผ่นดินกลิ่นเลือดคลุ้ง
เห็นภาพทุ่งสังหารเมื่อกาลก่อน
จำรอยยิ้มรักชาติของฆาตกร
คล้ายละครฉากเก่าฉายซ้ำวน

เพียงท่อนแรกเพลงล้าหลังเริ่มดังขึ้น
คุไฟฟืนคลั่งบ้าโกลาหล
ปลุกเกลียดชังผู้คิดต่างมิใช่คน
แล้วยกตนขึ้นกดข่มสาสมใจ

“คนเช่นนี้เป็นคนหนักแผ่นดิน”*
คนเช่นนั้นชาชินเสียงร่ำไห้
คนเช่นคุณวิเศษวิโสแต่ปางใด
เฉดหัวคนขับไล่ไม่เหลือดี

มันก็หนักแผ่นดินกันทั้งนั้น
คุณหรือท่าน หรือใครในโลกนี้
กรรมเกิดก่อต่อกรรมเราต่างมี
สิ่งใดเล่าชัดชี้วิถีทาง

ถูกกระทำย่ำยีมากี่ชาติ
แต่งเสริมปาดป้ายสีเป็นผีสาง
ปิดประตูไล่ต้อนมิผ่อนวาง
ประวัติศาสตร์จึงถูกสร้างให้ซ้ำรอย

ภาพเก้าอี้ตีกระหน่ำย้ำบาดแผล
ปลุกกระแสตกค้างคราบด่างพร้อย
ผู้คลั่งชาติพร้อมเพียงเรียงแถวทยอย
ยิ้มรอคอยรับท่อนไม้จากชายลึกลับ

แว่วเพลงรักหนักแผ่นดินคาวกลิ่นเลือด
หยดน้ำตาแห้งเหือดไหลย้อนกลับ
ฟื้นคืนเศร้ารันทดมากดทับ
ระยิบระยับเดือนดาวพราวพรายฟ้า
ฟื้นคืนเศร้ารันทดมากดทับ
ฮัมเพลงซับน้ำตาเย้ยฟ้าดิน

 

(*ท่อนหนึ่งในเนื้อเพลงหนักแผ่นดิน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

268 ชื่อ ขอ ตร.-อัยการยึดหลักเสรีภาพ สั่งไม่ฟ้องคดีที่ กอ.รมน. ยัดข้อหายุยงปลุกปั่นให้วงเสวนานับ 1 รธน.ใหม่

$
0
0

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง พร้อม 268 นักวิชาการและบุคคล เสนอพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการ ยึดหลักเสรีภาพตาม รธน.สั่งไม่ฟ้องคดีที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าแจ้งความฐานยุยงปลุกปั่นแก่นักวิชาการ นักกิจกรรม และแกนนำพรรคฝ่ายค้าน ที่ร่วมการเสวนา “พลวัตแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่นับหนึ่งรัฐธรรมนูญใหม่”


 

9 ต.ค.2562 จากกรณีที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า ได้แจ้งความร้องทุกข์เพื่อให้ดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ฐานยุยงปลุกปั่นแก่นักวิชาการ นักกิจกรรม และแกนนำพรรคฝ่ายค้าน อันเนื่องมาจากการเข้าร่วมการเสวนา “พลวัตแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่นับหนึ่งรัฐธรรมนูญใหม่” ที่บริเวณลานวัฒนธรรมจังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 28 ก.ย.ที่ผ่านมานั้น

วันนี้ (9 ต.ค.62) เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) พร้อมกับนักวิชาการและบุคคลตามรายชื่อแนบท้ายจำนวน 268 คน ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลต่อกรณีดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง และแสดงความเห็นต่อสาธารณชน รวมทั้งข้อเสนอต่อสถาบันในกระบวนการยุติธรรมและสังคมไทยอันเนื่องมาจากกรณีข้างต้นดังนี้

1. องค์กรชั้นต้นในกระบวนการยุติธรรม อันได้แก่พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการ พึงแสดงความกล้าหาญและซื่อสัตย์ต่อหลักวิชาชีพด้วยการทำคดีนี้อย่างซื่อตรงและเป็นอิสระจากการชี้นำของผู้มีอำนาจ โดยยึดหลักเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลอันได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ตลอดจนเจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายอาญาตามมาตรา 116 โดยสั่งไม่ฟ้องคดีนี้ตั้งแต่ในชั้นของพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ เพื่อไม่ให้การฟ้องคดีเพื่อปิดปากประชาชนประสบผลสำเร็จ และเพื่อลดภาระของกระบวนการยุติธรรมในชั้นศาลในการพิจารณาคดีที่มีลักษณะการฟ้องคดีเพื่อปิดปากเช่นนี้

2. สถาบันการศึกษาทางนิติศาสตร์พึงนำกรณีนี้และกรณีอื่นๆ ที่มีลักษณะเป็นการนำกฎหมายปกติที่มีเจตนารมณ์คุ้มครองสังคมมาบิดเบือนในการสร้างความมั่นคงในอำนาจของผู้ปกครองและกำจัดฝ่ายที่เห็นต่าง ซึ่งเกิดขึ้นตลอดระยะเวลา 5 ปีภายใต้ระบอบการปกครองของ คสช. มาเป็นกรณีศึกษาในการเรียนการสอน เพื่อชี้ให้นักศึกษากฎหมายเห็นอันตรายจากการบิดเบือนกฎหมายเพื่อตอบสนองผู้มีอำนาจตามอำเภอใจ อันเป็นอุปสรรคที่ทำให้หลักนิติธรรมไม่อาจตั้งมั่นอยู่ได้ในสังคมไทย

3. สังคมไทยควรตระหนักถึงอันตรายจากการให้สถาบันทางทหารเข้ามาก้าวก่ายในกิจการพลเรือน โดยเฉพาะในพื้นที่ทางการเมืองซึ่งควรเปิดกว้างทางความคิดเห็นและปลอดจากความเกรงกลัวในผลกระทบใดๆ และช่วยกันผลักดันให้ทหารออกไปจากพื้นที่ของพลเรือน กลับไปปฏิบัติภารกิจหลักของตนดังเช่นทหารอาชีพในนานาอารยประเทศที่ยึดมั่นในหลักอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน

 

รายละเอียดและรายชื่อ 268 คน มีดังนี้

แถลงการณ์ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.)
กรณี กอ.รมน. แจ้งความดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 กับผู้เข้าร่วมเสวนาเวทีรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ

ตามที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า ได้แจ้งความร้องทุกข์เพื่อให้ดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ฐานยุยงปลุกปั่นแก่นักวิชาการ นักกิจกรรม และแกนนำพรรคฝ่ายค้าน อันเนื่องมาจากการเข้าร่วมการเสวนา “พลวัตแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่นับหนึ่งรัฐธรรมนูญใหม่” ที่บริเวณลานวัฒนธรรมจังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2562 นั้น เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) มีความกังวลต่อการดำเนินการของ กอ.รมน. ในกรณีดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง จึงขอแสดงความเห็นต่อสาธารณชนและเรียกร้องไปยังองค์กรที่เกี่ยวข้องรวมถึงสังคมไทยดังนี้

1. เป็นที่ทราบกันดีว่ารัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 เป็นรัฐธรรมนูญที่มิได้เกิดเจตจำนงอันเสรีของประชาชน หากแต่เป็นกลไกในการสืบทอดอำนาจของบุคคลบางกลุ่ม ฉะนั้น เมื่อประเทศกลับเข้าสู่สภาวะปกติจึงย่อมมีการเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้อยู่ในครรลองประชาธิปไตยมากขึ้น ในการนี้จึงควรเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกฝ่ายได้เสนอจินตนาการทางการเมืองของตน แม้อาจจะขัดกับระบบการเมืองที่ดำรงอยู่ เพราะมีแต่การให้เสรีภาพทางความคิดและเปิดโอกาสให้มีการอภิปรายด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริงเท่านั้นที่จะสามารถสร้างฉันทามติในการอยู่ร่วมกันได้ และจะทำให้รัฐธรรมนูญมีสถานะเป็น “สัญญาประชาคม” อย่างแท้จริง

2. การอภิปรายเพื่อให้ได้มาซึ่งฉันทามติย่อมครอบคลุมทุกส่วนของรัฐธรรมนูญ ตราบเท่าที่การอภิปรายอยู่ในครรลองของการใช้เสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญรับรองแม้จะเป็นการใช้เสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญก็ตาม เพราะไม่มีหลักการใดสูงส่งกว่าหลักอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน นอกจากนี้ แม้จะเป็นบทบัญญัติที่รัฐธรรมนูญห้ามมิให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงก็สามารถหยิบยกมาอภิปรายได้ ตราบที่มิได้เป็นการกระทำอันผิดกฎหมาย ซึ่งได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 เช่นเดียวกับการอภิปรายในประเด็นอื่นๆ ของรัฐธรรมนูญ

3. เมื่อการอภิปรายเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญเป็นเสรีภาพทางความคิดและได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญ การนำบทบัญญัติของกฎหมายอาญามาจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจึงต้องกระทำอย่างระมัดระวังและไม่ขัดเจตนารมณ์ของกฎหมาย ซึ่งเมื่อพิจารณาบทบัญญัติของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ที่มีขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงปลอดภัยของรัฐจากการกระทำที่มุ่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยใช้กำลังหรือสร้างความปั่นป่วนหรือยุยงให้ประชาชนก่อความไม่สงบอันกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ก็จะเห็นได้ว่าการเสนอให้มีการอภิปรายบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญโดยสันติวิธีเป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและไม่เข้าลักษณะองค์ประกอบความผิดตามมาตราดังกล่าว ฉะนั้น การที่ กอ.รมน. นำประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 มาใช้ดำเนินคดีเอาผิดกับประชาชนจึงเป็นการบิดเบือนการใช้กฎหมายเพื่อสร้างความหวาดกลัวหรือความยุ่งยากให้กับผู้ต้องหาและจำเลย และเป็นการข่มขู่ประชาชนทั่วไปให้รู้สึกไม่ปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็น มีลักษณะเป็นการใช้การฟ้องคดีเพื่อปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น (SLAPP) เช่นเดียวกับที่ดำเนินการกับกลุ่มผู้เห็นต่างทางการเมืองตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการอภิปรายเพื่อหาฉันทามติเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ

4. คนส. เห็นว่าในกรณีนี้ กอ.รมน. ได้ขยายบทบาทของตนเข้าสู่พื้นที่ของพลเรือน โดยทำให้การอภิปรายเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญกลายเป็นประเด็นความมั่นคง เปิดโอกาสให้กองทัพเข้ามาแทรกแซงในประเด็นที่ต้องการได้ สะท้อนให้เห็นอิทธิพลของกองทัพที่มีเหนือการเมืองอีกรูปแบบหนึ่ง นอกจากนี้ ด้วยความที่ กอ.รมน. เป็นองค์กรที่ได้รับประโยชน์จากระบอบอำนาจเบ็ดเสร็จตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาโดยตรง โดยเฉพาะจากคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 51/2560 ซึ่งนอกจากจะทำให้ กอ.รมน. มีอำนาจอย่างกว้างขวางในกิจการด้านความมั่นคงและดำรงอยู่เหนือหน่วยงานฝ่ายพลเรือนแล้ว ยังขยายบทบาทเข้าไปในภารกิจทางพลเรือนอย่างกว้างขวางอีกด้วย จึงอาจตั้งคำถามได้ว่าการดำเนินการของ กอ.รมน. ในกรณีนี้เป็นไปเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐบาลซึ่งมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับ กอ.รมน. หรือไม่

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง พร้อมกับนักวิชาการและบุคคลตามรายชื่อแนบท้ายจำนวน 268 คน จึงมีข้อเสนอต่อสถาบันในกระบวนการยุติธรรมและสังคมไทยอันเนื่องมาจากกรณีข้างต้นดังนี้

1. องค์กรชั้นต้นในกระบวนการยุติธรรม อันได้แก่พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการ พึงแสดงความกล้าหาญและซื่อสัตย์ต่อหลักวิชาชีพด้วยการทำคดีนี้อย่างซื่อตรงและเป็นอิสระจากการชี้นำของผู้มีอำนาจ โดยยึดหลักเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลอันได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ตลอดจนเจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายอาญาตามมาตรา 116 โดยสั่งไม่ฟ้องคดีนี้ตั้งแต่ในชั้นของพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ เพื่อไม่ให้การฟ้องคดีเพื่อปิดปากประชาชนประสบผลสำเร็จ และเพื่อลดภาระของกระบวนการยุติธรรมในชั้นศาลในการพิจารณาคดีที่มีลักษณะการฟ้องคดีเพื่อปิดปากเช่นนี้

2. สถาบันการศึกษาทางนิติศาสตร์พึงนำกรณีนี้และกรณีอื่นๆ ที่มีลักษณะเป็นการนำกฎหมายปกติที่มีเจตนารมณ์คุ้มครองสังคมมาบิดเบือนในการสร้างความมั่นคงในอำนาจของผู้ปกครองและกำจัดฝ่ายที่เห็นต่าง ซึ่งเกิดขึ้นตลอดระยะเวลา 5 ปีภายใต้ระบอบการปกครองของ คสช. มาเป็นกรณีศึกษาในการเรียนการสอน เพื่อชี้ให้นักศึกษากฎหมายเห็นอันตรายจากการบิดเบือนกฎหมายเพื่อตอบสนองผู้มีอำนาจตามอำเภอใจ อันเป็นอุปสรรคที่ทำให้หลักนิติธรรมไม่อาจตั้งมั่นอยู่ได้ในสังคมไทย

3. สังคมไทยควรตระหนักถึงอันตรายจากการให้สถาบันทางทหารเข้ามาก้าวก่ายในกิจการพลเรือน โดยเฉพาะในพื้นที่ทางการเมืองซึ่งควรเปิดกว้างทางความคิดเห็นและปลอดจากความเกรงกลัวในผลกระทบใดๆ และช่วยกันผลักดันให้ทหารออกไปจากพื้นที่ของพลเรือน กลับไปปฏิบัติภารกิจหลักของตนดังเช่นทหารอาชีพในนานาอารยประเทศที่ยึดมั่นในหลักอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน

ด้วยศรัทธาต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนและระบอบประชาธิปไตย

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.)
9 ตุลาคม 2562

รายชื่อแนบท้าย
1. กนกรัตน์ สถิตนิรามัย คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2. กรพนัช ตั้งเขื่อนขันธ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
3. กฤดิกร วงศ์สว่างพาณิช
4. กษมาพร แสงสุระธรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
5. ก่อพงศ์ วิชญาปกรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
6. กิตติ วิสารกาญจน สาขารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี
7. กิตติกาญจน์ หาญกุล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
8. กิตติมา จารีประสิทธิ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
9. กิตติศักดิ์ เจิมสิทธิประเสริฐ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
10. กิติมา ขุนทอง มหาวิทยาลัยนสชภัฏสกลนคร
11. กุสุมา กูใหญ่ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
12. เก่งกิจ กิติเรียงลาภ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
13. เกษม เพ็ญภินันท์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
14. เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
15. เกียรติศักดิ์ บังเพลิง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
16. ขวัญชีวัน บัวแดง สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
17. คณิน เชื้อดวงผุย มหวิทยาลัยนครพนม
18. คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
19. คมลักษณ์ ไชยยะ มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา
20. คารินา โชติรวี ข้าราชการบำนาญ
21. คำแหง วิสุทธางกูร คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
22. เคท ครั้งพิบูลย์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
23. งามศุกร์ รัตนเสถียร สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวอทยาลัยมหิดล
24. จตุรนต์ เอี่ยมโสภา
25. จรัล มานตรี คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
26. จักรกริช สังขมณี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
27. จิราพร เหลาเจริญวงศ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
28. จิราภรณ์ สมิธ
29. เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ ศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
30. เฉลิมพล โตสารเดช วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์
31. ชยันต์ วรรธนะภูติ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
32. ชลัท ศานติวรางคณา มหาวิทยาลัยมหิดล
33. ชัชวาล ปุญปัน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
34. ชัยพงษ์ สำเนียง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
35. ชัยพร สิงห์ดี ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
36. ชาญคณิต อาวรณ์ มหาวิทยาลัยพะเยา
37. ชาญณรงค์ บุญหนุน
38. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
39. ชิงชัย เมธพัฒน์ อดีตอาจารย์ มหาวิทยาลัยบูรพา
40. เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์
41. โช ฟุกุโตมิ Global Initiative Center, Kagoshima University
42. โชคชัย วงษ์ตานี สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
43. ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
44. ไชยันต์ รัชชกูล มหาวิทยาลัยพะเยา
45. ซัมซู สาอุ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
46. ฐิติพล ภักดีวานิช คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
47. ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ
48. ณภัค เสรีรักษ์ นักวิจัยอิสระ
49. ณรงค์ อาจสมิติ มหาวิทยาลัยมหิดล
50. ณรงค์ฤทธิ์ สุมาลี มหาวิทยาลัยนครพนม
51. ณรุจน์ วศินปิยมงคล คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
52. ณัฐกร วิทิตานนท์
53. ณัฐกานต์ อัครพงศ์พิศักดิ์
54. ณัฐดนัย นาจันทร์
55. ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
56. ดวงมน จิตร์จำนงค์ ข้าราชการบำนาญ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
57. ดวงยิหวา อุตรสินธุ์ นักวิชาการอิสระ
58. เดชรัต สุขกำเนิด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
59. เดโชพล เหมนาไลย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
60. ตะวัน วรรณรัตน์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
61. ติณณภพจ์ สินสมบูรณ์ทอง คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
62. ทวีศักดิ์ ปิ
63. ทสิตา สุพัฒนรังสรรค์ สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
64. ทับทิม ทับทิม นักวิจัยอิสระ
65. ทัศนัย เศรษฐเสรี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
66. ทิพย์ตะวัน อุชัย
67. เทวฤทธิ์ มณีฉาย
68. ธนพฤกษ์ ชามะรัตน์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
69. ธนภาษ เดชพาวุฒิกุล สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
70. ธนศักดิ์ สายจำปา สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
71. ธนาวิ โชติประดิษฐ มหาวิทยาลัยศิลปากร
72. ธร ปีติดล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
73. ธวัช มณีผ่อง คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
74. ธาริตา อินทนาม
75. ธิกานต์ ศรีนารา ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
76. ธิดา ผลิตผลการพิมพ์
77. ธิดารัตน์ ศักดิ์วีระกุล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
78. ธีรพจน์ ศิริจันทร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
79. ธีรมล บัวงาม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
80. ธีรวัฒน์ ขวัญใจ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
81. ธีระพล อันมัย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
82. นงเยาว์ เนาวรัตน์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
83. นนทณัฐ ต้องเซ่งกี่
84. นภาพร อติวานิชยพงศ์ วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
85. นภารัตน์ กรรณรัตนสูตร สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
86. นราสิทธิ์ วงษ์ประเสริฐ
87. นฤมล กล้าทุกวัน สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
88. นฤมล ทับจุมพล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
89. นัทมน คงเจริญ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
90. นันท์นภัส แสงฮอง คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
91. นันทวัช สิทธิรักษ์
92. นาตยา อยู่คง มหาวิทยาลัยศิลปากร
93. นิติ ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
94. นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ
95. บดินทร์ สายแสง สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
96. บัณฑิต ไกรวิจิตร คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
97. บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
98. บารมี ชัยรัตน์ สมัชชาคนจน
99. บุญเลิศ วิเศษปรีชา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
100. บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล
101. เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
102. ปฐม ตาคะนานันท์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
103. ปฐวี โชติอนันต์ รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
104. ปรเมศวร์ กาแก้ว มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง
105. ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
106. ประภัสสร์ ชูวิเชียร มหาวิทยาลัยศิลปากร
107. ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์
108. ปราการ กลิ่นฟุ้ง
109. ปราโมทย์ ระวิน
110. ปรารถนา เณรแย้ม
111. ปฤณ เทพนรินทร์
112. ปวินท์ ระมิงค์วงศ์
113. ปาริชาติ ภิญโญศรี วิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
114. ปาริชาติ วลัยเสถียร อดีตอาจารย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
115. ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
116. ปิ่นวดี ศรีสุพรรณ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
117. ปุรินทร์ นาคสิงห์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
118. พงษ์ศักดิ์ รัตนวงศ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
119. พชรวรรณ บุญพร้อมกุล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
120. พนิดา อนันตนาคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
121. พรชัย นาคสีทอง คณะมนุษย์ มหาวิทยาลัยทักษิณ สงขลา
122. พรรณราย โอสถาภิรัตน์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
123. พฤกษพรรณ บรรเทาทุกข์
124. พฤหัส พหลกุลบุตร
125. พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
126. พศุตม์ ลาศุขะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
127. พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
128. พันธุ์พิพิธ พิพิธพันธุ์ รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
129. พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
130. พิชญา พรรคทองสุข คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
131. พิเชฐ แสงทอง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
132. พิพัฒน์ สุยะ มหาวิทยาลัยศิลปากร
133. พิภพ อุดมอิทธิพงศ์
134. พิสิษฏ์ นาสี คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
135. พุทธณี กางกั้น
136. พุทธพล มงคลวรวรรณ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
137. พุทธรักษ์ ปราบนอก คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
138. เพ็ญสุภา สุขคตะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
139. เพียงกมล มานะรัตน์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
140. แพร จิตติพลังศรี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
141. ไพรินทร์ กะทิพรมราช คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
142. ฟรานซีส นันตะสุคนธ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
143. ฟาริส โยธาสมุทร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
144. ฟารีดา ปันจอร์ สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้
145. ภัควดี วีระภาสพงษ์
146. ภัทรภร ภู่ทอง
147. ภาสกร อินทุมาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
148. มนฑิตา โรจน์ทินกร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
149. มนตรา พงษ์นิล คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
150. มิ่ง ปัญหา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
151. มุสตารซีดีน วาบา ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (PermaTamas)
152. มูนีเร๊าะห์ ปอแซ นักศึกษาปริญญาเอก University Malaysia Sabah
153. มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ
154. มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
155. ยาสมิน ซัตตาร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
156. ยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
157. เยาวนิจ กิตติธรกุล สถาบันทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
158. รชฎ สาตราวุธ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
159. รพีพรรณ เจริญวงศ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
160. รอมซี ดอฆอ นักวิชาการอิสระด้านวัฒนธรรมมลายู
161. รอมฎอน ปันจอร์ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
162. รัตนา โตสกุล ข้าราชการบำนาญ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
163. ราม ประสานศักดิ์
164. รามิล กาญจันดา คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน
165. รุ่งทิพย์ จันทร์ธนะกุล คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยศิลปากร
166. รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช
167. ลลิล ก่อวุฒิกุลรังษี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
168. ลักษณ์กมล จ่างกมล คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
169. วรรณภา ลีระศิริ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
170. วรวิทย์ เจริญเลิศ นักวิชาการอิสระ
171. วริตตา ศรีรัตนา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
172. วัชรพล ศิริสุวิไล คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
173. วัชรฤทัย บุญธินันท์ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
174. วัฒนชัย วินิจจะกูล
175. วันพิชิต ศรีสุข มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
176. วาสนา ละอองปลิว มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
177. วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
178. วิกานดา พรหมขุนทอง นักวิชาการอิสระ
179. วิเชียร อันประเสริฐ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
180. วิทยา อาภรณ์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
181. วินัย ผลเจริญ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
182. วิภา ดาวมณี อดีตอาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
183. วิภาวดี พันธุ์ยางน้อย นิสิตปริญญาเอก สาขาการพัฒนาระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
184. วิภาวี พงษ์ปิ่น คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
185. วิศิษย์ ปิ่นทองวิชัยกุล คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม
186. วีรบูรณ์ วิสารทสกุล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
187. วีระ หวังสัจจะโชค มหาวิทยาลัยนเรศวร
188. เวียงรัฐ เนติโพธิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
189. ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
190. ศรัญญู เทพสงเคราะห์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
191. ศรีประภา เพชรมีศรี สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
192. ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
193. ศิบดี นพประเสริฐ มหาวิทยาลัยศิลปากร
194. ศิริจิต สุนันต๊ะ มหาวิทยาลัยมหิดล
195. ศิวพล ชมภูพันธุ์ สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
196. ศิววงศ์ สุขทวี
197. สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
198. สมใจ สังข์แสตมป์
199. สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
200. สมฤทธิ์ ลือชัย นักวิชาการอิสระ
201. สมัชชา นิลปัทม์ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
202. สมิทธิรักษ์ จันทรักษ์ นักวิชาการอิสระ
203. สร้อยมาศ รุ่งมณี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
204. สักรินทร์ แซ่ภู่ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
205. สามชาย ศรีสันต์ วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
206. สามารถ ทองเฝือ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
207. สายชล สัตยานุรักษ์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
208. สาโรจน์ รุจิสรรค์สกุล ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
209. สาวตรี สุขศรี นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
210. สาวิณี โกพลรัตน์ วิทยาลัยการบินนานาชาติ มหาวิทยาลัยนครพนม
211. สาวิตร ประเสริฐพันธุ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
212. สิบปีย์ ชยานุสาสนี จันทร์ดอน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม
213. สิริยาพร สาลีพันธ์ คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม
214. สุชาดา จักรพิสุทธิ์ สื่อมวลชนอิสระ
215. สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
216. สุธิดา วิมุตติโกศล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
217. สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี
218. สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
219. สุภาพร โพธิ์แก้ว สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
220. สุภาสเมต ยุนยะสิทธิ์ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
221. สุรพศ ทวีศักดิ์
222. สุรัช คมพจน์ รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
223. สุรางค์รัตน์ จำเนียรพล สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
224. สุรินทร์ อ้นพรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
225. สุริยาพร เอี่ยมวิจิตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
226. สุไรนี สายนุ้ย คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
227. เสนาะ เจริญพร คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
228. เสาวณิต จุลวงศ์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
229. เสาวนีย์ ตรีรัตน์ อเลกซานเดอร์
230. เสาวนีย์ วงศ์จินดา ศิลปินอิสระ
231. โสรัจจ์ ประวีณวงศ์วุฒิ คณะเกษตรและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนครพนม
232. โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
233. หทยา อนันต์สุชาติกุล มหาวิทยาลัยแม่โจ้
234. หนึ่งนยา ไหลงาม วิทยาการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
235. อนรรฆ พิทักษ์ธานิน
236. อนุชิต สิงห์สุวรรณ
237. อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานสถาบันปรีดี พนมยงค์
238. อนุสรณ์ อุณโณ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
239. อโนชา สุวิชากรพงศ์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
240. อภิชาต สถิตนิรามัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
241. อรชา รักดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
242. อรดี อินทร์คง
243. อรรถจักร สัตยานุรักษ์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
244. อรรถพล อนันตวรสกุล คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
245. อรอนงค์ ทิพย์พิมล คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
246. อลิสา หะสาเมาะ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
247. อัครพงษ์ ค่ำคูณ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
248. อังกูร หงษ์คณานุเคราะห์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
249. อัจฉรา รักยุติธรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร
250. อันธิฌา แสงชัย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
251. อัมพร หมาดเด็น
252. อาจิณโจนาธาน อาจิณกิจ มหาวิทยาลัยราชภัฎราชนครินทร์
253. อาจินต์ ทองอยู่คง คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
254. อาแซ สะยาคะ นักวิชาการอิสระ/อาจารย์พิเศษในประเทศมาเลเซีย
255. อาเต็ฟ โซ๊ะโก
256. อาทิตย์ ศรีจันทร์ นิสิตปริญญาเอก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
257. อานันท์ กาญจนพันธุ์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
258. อาภา หวังเกียรติ มหาวิทยาลัยรังสิต
259. อำพรรณี สะเตาะ
260. อิมรอน ซาเหาะ สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้
261. อุเชนทร์ เชียงเสน สำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
262. อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์
263. เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
264. เอกรินทร์ ต่วนศิริ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
265. เอกฤทัย ฉัตรชัยเดช มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์
266. เอกสิทธิ์ หนุนภักดี สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
267. Gabriel Oak Rabin, Philosophy, NYU Abu Dhabi
268. Tyrell Haberkorn, University of Wisconsin-Madison

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

อนุสาวรีย์ปราบกบฏบวรเดช หายเกือบปี ขณะที่ชื่อ 'บวรวรเดช-ศรีสิทธิสงคราม' โผล่เป็นตึก-ห้องใน ทบ.

$
0
0

พล.อ.ประยุทธ์ เปิดตึกและห้องชื่อ 'ศรีสิทธิสงคราม' และห้อง 'บวรเดช' ภายใน บก.ทบ. ชูทหารสายเจ้าผู้จงรักภักดี ก่อกบฎบวรเดช หวังยึดอำนาจจากรัฐบาล 'คณะราษฎร' ขณะที่ปลายปีที่แล้ว 'อนุสาวรีย์ปราบกบฏบวรเดช' หรือ อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ที่วงเวียนหลักสี่ หายไป ปัจจุบันยังไม่ทราบอยู่ที่ไหน

9 ต.ค.2562 วันนี้ เมื่อเวลา 7.30 น. ที่กองบัญชาการกองทัพบก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เดินทางมาตรวจเยี่ยมกองบัญชาการกองทัพบก โดยมีผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการเหล่าทัพ ประกอบด้วย ผู้บัญชาการทหารบก, ผู้บัญชาการทหารเรือ, ผู้บัญชาการทหารอากาศ และ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้การต้อนรับ

พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้เป็นประธานพิธีเปิดห้องศรีสิทธิสงคราม และห้องบวรเดช ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์กองทัพบกเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งเป็นชื่อของนายทหารผู้ที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันและกองทัพ ภายหลังจากปรับปรุงใหม่แล้วเสร็จ ท่ามกลางมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เป็นไปอย่างเข้มงวดของเจ้าหน้าที่ทหาร ทั้งภายใน บก.ทบ. และรอบพื้นที่ บก.ทบ. โดยอนุญาตให้สื่อมวลชนสามารถทำข่าวและบันทึกภาพได้เฉพาะช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ตรวจแถวทหารกองเกียรติยศเท่านั้น และห้ามไม่ให้เดินไปยังจุดต่างๆ ภายใน บก.ทบ.อย่างเด็ดขาด

วาสนา นาน่วม ผู้สื่อข่าวสายทหารหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ และ โพสต์ทูเดย์ โพสต์ภาพพร้อมรายงาน ผ่านเฟสบุ๊ค 'Wassana Nanuam' ว่าชื่อ ห้องใหม่ 2 ห้อง อาคารปรับปรุงใหม่ ตามไอเดีย พล.อ.ประยุทธ์ อาคารสรรพาวุธ พิพิธภัณฑ์ ทบ. ข้างบนห้อง “บวรเดช” ส่วนข้างล่าง ห้อง “ศรีสิทธิสงคราม”

ทั้งนี้ “บวรเดช” พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม เป็นผู้นำกบฏบวรเดชพยายามยึดอำนาจจากรัฐบาลคณะราษฎร และ พันเอก พระยาศรีสิทธิสงคราม “ดิ่น ท่าราบ “แกนนำกบฏบวรเดชเมื่อปี 2476 พระยาศรีสิทธิสงคราม เป็นพ่อของ อัมโภชน์ ท่าราบ มารดา ของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานท์ องคมนตรี

วาสนา ยังรายงานว่า เหตุที่ ทบ. นำมาเป็นชื่อ ห้องประชุม ที่ปรับปรุงใหม่ ตามไอเดีย พล.อ.ประยุทธ์ ตอนเป็น ผบ.ทบ. นั้น ไม่ได้หมายถึง เหตุกบฎบวรเดช แต่ เพราะ พระยาศรีสิทธิสงคราม เป็นนายทหารที่มีความจงรักภักดี อย่างที่สุด และไม่ได้ร่วมกับ คณะราษฎร ในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เนื่องจากยึดมั่นในคำถวายสัตย์ฯ นั่นเอง

ไม่เพียงชื่อห้องเท่านั้น วาสนา ยังรายงานด้วยว่า ตั้งชื่อ พิพิธภัณฑ์กองทัพบก ส่วนปรับปรุงใหม่ ว่า อาคาร “ศรีสิทธิสงคราม” รำลึกถึง พระยาศรีสิทธิสงคราม “ดิ่น ท่าราบ” คุณตาของ “พล.อ.สุรยุทธ์” ทหารสายเจ้า ผู้จงรักภักดี ก่อกบฎบวรเดช หวัง ยึดอำนาจจากรัฐบาล “คณะราษฎร” ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ได้ เปิดอาคารศรีสิทธิสงคราม พร้อมทั้งลงนามไว้เป็นที่ระลึก โดยอาคารศรีสิทธิสงคราม เป็นอาคารสูง 2 ชั้นก่อสร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิก ถือเป็นอาคารที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ ขณะที่ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ได้มีดำริให้ปรับปรุงอาคาร สำหรับใช้เป็นอาคารอเนกประสงค์ในการจัดประชุมต้อนรับและประกอบพิธีที่สำคัญของกองทัพบกเป็นส่วนรวม

อนุสาวรีย์ปราบกบฏบวรเดช หายไปเกือบปีแล้ว

ผู้สื่อข่าวประชาไทรายงานเพิ่มเติมว่า ขณะที่มีการนำชื่อของผู้นำกลุ่มกบฏบวรเดชมาตั้งเป็นชื่อห้องที่ ทบ. นั้น ด้านหนึ่ง ย้อนกลับไปเมื่อปลายปีที่แล้ว กลางดึกคืนวันที่ 28 ธ.ค.2561 ที่กลางบริเวณวงเวียนหลักสี่ ย่านบางเขน กทม. มีกระบวนการย้ายอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญหรืออนุสาวรีย์ปราบกบฏบวรเดช 2476 ตั้งอยู่ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารควบคุมสถานการณ์บริเวณดังกล่าว พร้อมการกักตัวประชาชนรวมทั้งผู้สื่อข่าวบางสำนักที่พยายามเข้าไปบันทึกเหตุการณ์การย้ายอนุสาวรีย์ฯ ด้วย จนกระทั่งปัจจุบันยังไม่ทราบว่าอนุสาวรีย์ฯ ดังกล่าวไปอยู่ที่ใด เช่นเดียวกับ หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญหรือเรียกโดยทั่วไปว่า หมุดคณะราษฎร ที่เดิมเคยฝังอยู่กับพื้นถนนบนลานพระบรมรูปทรงม้าด้านสนามเสือป่า ณ ตำแหน่งอ่านประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 จนกระทั้ง เมษายน 2560 หมุดดังกล่าวได้หายไป

ก่อนการหายไปของ อนุสาวรีย์ปราบกบฏบวรเดช 1 วัน ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ รายงานก่อนข่าวดังกล่าวจะถูกลบไปในเวลาต่อมาว่า เมื่อคืนวันที่ 23 ธ.ค.ที่ผ่านมากรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ทำพิธีสักการะแบบเงียบๆ เพื่อจะดำเนินการย้ายอนุสาวรีย์แห่งนี้ไปไว้ที่ศูนย์ก่อสร้าง กทม.ย่านหนองบอน อย่างถาวร

อย่างไรก็ตาม 28 ธ.ค.61  วีรนันต์ กัณหา ผู้สื่อข่าวและผู้ประกาศข่าว VoiceTV โพสต์รายงานข่าวกรณีนี้ผ่านเฟสบุ๊คแฟนเพจ วีรนันต์ กัณหา - Weeranan Kanhar ว่า ตนโทรศัพท์สอบถามไปที่ ศักดิ์ชัย บุญมา ผอ.สำนักการโยธา กทม. ได้รับคำยืนยันว่า อนุสาวรีย์ปราบกบฏ ที่ถูกย้ายออกไปเมื่อคืนวันที่ 27 ธ.ค.62 ไม่ได้ถูกนำไปเก็บไว้ที่ ศูนย์ก่อสร้างและบูรณะถนน 3 ย่านหนองบอน ตามที่ 'ประชาชาติธุรกิจ' รายงาน และ กทม. ไม่เคยทราบเรื่องการเคลื่อนย้ายเลย

ศักดิ์ชัย ผอ.สำนักการโยธา กทม. บอกเพิ่มเติมว่า "จริงๆ ก็ย้ายมาหลายครั้งแล้ว ก่อนหน้านี้อยู่กลางวงเวียน พอสร้างอุโมงค์ ก็ย้ายไปมุมตรงข้ามกับ สน.บางเขน แล้วพอสร้างสถานีรถไฟฟ้าสายสีเขียว ก็ย้ายมาอีกมุมหนึ่ง ผมว่ามันเกะกะ ทำไมนักข่าวสนใจ อนุสาวรีย์นี้จัง อยากให้เป็นข่าวเหรอ"

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ รายงานด้วยว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 3 พ.ย.2559 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้สักการะและดำเนินการย้ายอนุสาวรีย์ฯดังกล่าว ไปไว้ทางทิศเหนือ 45 องศา ฝั่งถนนพหลโยธินขาออกมุ่งหน้าสะพานใหม่เพื่อไม่ให้กระทบโครงสร้างสถานีวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร บางเขน ซึ่งเป็น 1 ในสถานีของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต แล้วครั้งหนึ่ง

ที่มาของอนุสาวรีย์ปราบกบฏบวรเดช

ภาพจากเพจ ประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรสยาม 

สำหรับอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญนั้น เพจ 'ประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรสยาม' เล่าถึงที่มาของอนุสาวรีย์ฯนี้ หรืออีกชื่อคือ อนุสาวรีย์ปราบกบฏ โดยอ้างจากบทความของ ศรัญญู เทพสงเคราะห์ ชื่อ“อนุสาวรีย์ปราบกบฏ กับการรำลึกวีรชนผู้พิทักษ์การปฏิวัติ พ.ศ. 2475” ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2556 ที่ระบุว่า

ที่มาของอนุสาวรีย์ฯ สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2476 เมื่อมีบุคคลคณะหนึ่งประกอบด้วยทหารและพลเรือน เรียกตัวเองว่า “คณะกู้บ้านเมือง” มี นายพลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เป็นผู้นำ ได้นำทหารจำนวนมากจากหัวเมือง ทั้งจากอุบลราชธานี นครราชสีมา สระบุรี อยุธยา นครสวรรค์ พิษณุโลก ปราจีนบุรี ราชบุรี และเพชรบุรี มายึดบริเวณดอนเมือง เพื่อบีบบังคับให้รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาลาออกและปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของคณะกู้บ้านเมือง ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลได้ส่งตัวแทนไปเจรจากับคณะกู้บ้านเมืองให้ล้มเลิกความคิดล้มล้างรัฐบาล และถอนทหารกลับสู่ที่ตั้ง​ แต่กลับไม่เป็นผล ดังนั้น พระยาพหลฯ จึงตั้งให้หลวงพิบูลสงครามเป็นแม่ทัพคุมกำลังทหารออกปราบปรามฝ่ายคณะกู้บ้านเมือง โดยมีการปะทะกันที่บางเขนตั้งแต่วันที่ 12 - 16 ต.ค. 2476 ต่อมาฝ่ายคณะกู้บ้านเมืองได้พ่ายแพ้ พระองค์เจ้าบวรเดชทรงลี้ภัยไปอินโดจีน แต่อย่างไรก็ตาม ฝ่ายรัฐบาลได้สูญเสียทหารและตำรวจจำนวน 17 นาย ในการปกป้องกฏหมายรัฐธรรมนูญในครั้งนี้

หลังเหตุการณ์สงบเรียบร้อย รัฐบาลได้นำศพของผู้เสียชีวิตมาทำบุญอุทิศส่วนกุศล ณ วัดราชาธิวาส และได้จัดพิธีฌาปนกิจอย่างยิ่งใหญ่​ ณ​ ท้องสนามหลวงอย่างสมเกียรติในฐานะวีรชนของชาติ ในวันที่ 18 ก.พ.2477

จากนั้นได้บรรจุอัฐิทหารที่เสียชีวินไว้ในปลอกกระสุนปืนใหญ่ทองเหลืองตามประเพณีของทหารและตั้งไว้ที่กรมกองต้นสังกัดของเหล่าทหารและตำรวจทั้ง 17 นาย เป็นเวลา 3 ปี ต่อมาราชการได้สร้างอนุสาวรีย์ปราบกบฏ ที่ตำบลหลักสี่ อำเภอบางเขน จังหวัดพระนคร จึงได้นำอัฐิของวีรชน 17 นาย มาบรรจุไว้ที่อนุสาวรีย์แห่งนี้ 

ภาพจาก เฟสบุ๊ค 'ป. ลครพล'

เฟสบุ๊ค 'ป. ลครพล' ได้โพสต์ภาพพร้อม คำกราบบังคมทูลของ พ.อ.หลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในงานพิธีเปิดอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ตำบลหลักสี่ 15 ต.ค. 2479 ด้วยว่า

"กระทรวงกลาโหมขออุทิศอนุสาวรีย์นี้ให้แก่ชาติไทย เพื่อเป็นเครื่องเตือนสติเตือนใจชาวไทยว่า อย่าแตกความสามัคคีกัน ทั้งการคิด การพูด และการทำ หากแม้ว่าสิ่งระลึกเตือนสติเตือนใจนี้จะเป็นคุณประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองแม้แต่น้อย ก็ขอให้ผลอันนี้ได้ไปเป็นเครื่องประดับวิญญาณแก่สหายที่รักผู้กล้าหาญของเกล้ากระหม่อมทั้ง 17 นายนั้นตลอดไป"

 

เรียบเรียงจาก : ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองทัพบก Army PR Center ผู้จัดการออนไลน์ และเฟสบุ๊ค Wassana Nanuam

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ประจักษ์ I พยาน เสวนาความทรงจำบาดแผลที่รัฐซุกไว้ใต้พรม สู่พิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา

$
0
0

ฟังเรื่องเล่าของญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ 6 ตุลา ร่วมด้วยการทำงานของนักประวัติศาสตร์ศิลปะให้ภาพถ่ายของเหตุการณ์ 6 ตุลาสร้างการรับรู้ต่อคนหลายกลุ่ม ชวนคุยกรณีถังแดง บาดแผลความรุนแรงโดยรัฐที่ยังไม่ถูกสะสาง และฟังคนทำงานพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา “เรื่องเล่าและการพูดคุยของคนในสังคมสำคัญพอๆกับตัวอาคาร”

 


จากซ้ายไปขวา จุฬารัตน์ ดำรงวิธีธรรม, ธนาวิ โชติประดิษฐ, นัดดา เอี่ยมคง, ธนาพล อิ๋วสกุล, กษิดิศ อนันทนาธร

 

7 ต.ค. 2562 เมื่อวันที่ 5 ต.ค. มีงานเสวนา วัตถุพยาน กับความทรงจำบาดแผล เนื่องในโอกาสเปิดนิทรรศการ ประจักษ์ I พยาน ห้อง 401 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เสวนาโดย นัดดา เอี่ยมคง พี่สาว ดนัยศักดิ์ เอี่ยมคง ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลา, ธนาวิ โชติประดิษฐ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, จุฬารัตน์ ดำรงวิธีธรรม ผู้เขียน ถังแดง : การซ่อมสร้างประวัติศาสตร์และความทรงจำหลอนในสังคมไทย, ธนาพล อิ๋วสกุล ผู้จัดการโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา ดำเนินรายการโดย กษิดิศ อนันทนาธร ผู้จัดการโครงการระดมทุนสร้าง "สวนป๋วย" มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

“ไม่เคยลืมไปจากใจเลย ต้องเล่าให้ลูกหลานฟัง” ความทรงจำของพี่สาวถึงน้องชาย

นัดดา เอี่ยมคง พี่สาว ดนัยศักดิ์ เอี่ยมคง ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลา เล่าให้ฟังว่า ครอบครัวตนมี 12 คนพี่น้อง ตนเป็นคนโต ส่วนดนัยศักดิ์หรืออ้อยเป็นคนที่ 5 ตอนที่เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ดนัยศักดิ์ก็ได้ไปร่วมด้วย แต่เขาเอาชีวิตกลับมาได้ พอเขาเรียนรัฐศาสตร์ปี 2 ที่ ม.รามฯ เขาก็ย้ายออกจากบ้าน

“ประมาณวันที่ 2-3 ตุลา 2516 เราได้พบกับดนัยศักดิ์เนื่องจากเพื่อนของเขาถูกยิงเล็กน้อย เขาจึงพาเพื่อนไปที่ รพ.มิชชั่นที่เราทำงาน เขาบอกว่าเขาจะสอบเสร็จแล้วล่ะ สอบเสร็จจะกลับบ้าน (นครศรีธรรมราช) นั้นเป็นวันสุดท้ายที่ได้เจอเขา” นัดดากล่าว  

หลังจากนั้นพอได้ข่าวเหตุการณ์ยิงกันวันที่ 6 ตุล นัดดาเป็นห่วงน้องเพราะรู้ว่าน้องต้องมา แต่ไม่คิดว่าน้องจะเสียชีวิต พอวันที่ 7 เธอเริ่มเอะใจ จึงลางานเพื่อตามหาน้อง แต่ก็ไม่พบ หาจนเหนื่อยใจ

“ประมาณสองทุ่มรอฟังข่าว เราก็รู้ว่าน้องเสียชีวิตอยู่โรงพยาบาลตำรวจ ไปดูศพก็เห็นเขาใส่กางเกงยีนส์ (ตัวที่เอามาจัดแสดงในนิทรรศการอยู่) ไม่สวมเสื้อ แต่เสื้อเขาคลุมอยู่ที่ร่างน้องผู้หญิงอีกคนที่นอนอยู่ติดกัน มารู้ทีหลังเพื่อนเขาเล่าให้ฟังว่า เขาหนีออกมาได้แล้ว แต่มีน้องผู้หญิงโดนยิง เขาเลยไปช่วย แล้วโดนยิงด้วย เสื้อยีนส์เขาถึงคลุมอยู่ที่ร่างน้องผู้หญิง” นัดดาเล่า

นัดดายังเล่าถึงความยากลำบอกในการนำศพมาทำพิธีว่า ถูกไล่ออกจากวัดในกรุงเทพ จึงนั่งรถกลับไปที่นครศรีธรรมราชกลับไปถึงบ้านก็อาบน้ำให้น้อง แต่ต้องตัดกางเกงยีนส์ที่น้องใส่เนื่องจากสภาพศพแข็งทำให้ถอดกางเกงไม่ได้ คืนสุดท้ายก่อนเผาศพ ฝนตกหนัก

“ไม่เคยลืมไปจากใจเลย ถ้าหกตุลาต้องมาร่วมเกือบทุกครั้ง นอกจากไปต่างประเทศ ไม่มีอะไรที่เราจะลืมได้ กางเกงก็อยู่ในตู้ตลอด ต้องเล่าให้ลูกหลานฟัง พูดได้แบบภูมิใจด้วย เขาเสียสละเพื่อคนอื่น เขามีจิตใจบริสุทธิ์ เขาได้เข้าไปอยู่ในส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ ลูกเราสามคน สนิทกับอ้อยมาก น้าอ้อยเสียชีวิต ลูกหลานจะจำได้ว่าเป็นอะไร เพราะอะไร 43 ปี ไม่เคยลืมจากใจ มันฝังอยู่ ความทรงจำ”

“ไม่อยากคิดอะไร ไม่รู้ใครผิดใครถูก ไม่อยากรู้ใครกระทำ เราไม่อยากรู้เลย ซึ่งเรารู้แต่เราไม่อยากพูด แค่เราจำไว้แค่นั้นเองว่า ไอ้คนนี้แหละทำน้องเรา แต่เราจะไม่ประกาศ ไม่พูดออกไป” นัดดากล่าวทิ้งท้าย

 

การแตกตัวสู่กลุ่มคนหลากหลายของภาพถ่าย 6 ตุลาในฐานะความทรงจำและพยานหลักฐาน

ธนาวิ โชติประดิษฐ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เล่าว่า กำลังทำงานวิจัยภาพถ่ายหกตุลา โดยมีชื่อโครงการว่า ”ปริซึมของภาพถ่าย: การแตกตัวขององค์ความรู้และความทรงจำว่าด้วยเหตุการณ์ 6 ตุลา”

ธนาวิอธิบายว่างานส่วนแรก เชิญศิลปินช่างภาพ คือ กรกฤช เจียรพินิจนันท์ มาทำงานร่วม โดยการทำงานแบบนักประวัติศาสตร์ศิลปะจะทำงานกับวัตถุที่เป็นงานศิลปะ หรือวัตถุที่ถูกรับรู้ด้วยสายตา ตนเป็นคนรุ่นหลังที่เกิดไม่ทันที่หันมาสนใจเรื่องนี้ จึงอยากโฟกัสที่ภาพถ่ายซึ่งมีจำนวนมาก

ธนาวิเล่าว่า ตอนแรกเริ่มจากศึกษาภาพถ่ายชุดแขวนคอ ภาพนักศึกษากลางสนามฟุตบอล และอยากศึกษาว่าภาพถ่ายบอกอะไรเราได้บ้าง ปกติภาพถ่ายพวกนี้จะประกอบคำอธิบายเหตุการณ์ อยากทดลองโดยการเปลี่ยนเอาภาพถ่ายเป็นตัวตั้งในการศึกษา แทนที่จะแค่ภาพประกอบข้อความ

“พอเริ่มสำรวจแหล่งข้อมูล เราพบว่ามีภาพถ่ายจำนวนมากที่ไม่ได้เป็นที่คุ้นเคย เลยทำการรวบรวมภาพถ่ายเหล่านี้มาเป็นหนังสือภาพ และมีคำอธิบายสั้นๆว่าเราเอามาจากแหล่งข้อมูลไหน ซึ่งจะรวมถึงภาพที่ประกอบสิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์ อยากพูดไปถึงบริบทการใช้ภาพแบบต่างๆ เช่น ภาพการเล่นละครที่ลานโพ ถูกพาดหัวอธิบายให้เข้าใจไปในทางหนึ่ง ซึ่งกลายเป็นชนวนที่สำคัญในการเกิดเหตุ 6 ตุลา” ธนาวิกล่าว

ตอนนี้เป็นช่วงเริ่มต้นของงานวิจัย เพิ่งเสร็จสิ้นรวมมาเป็นรูปเล่ม ยังต้องใช้อีกปีครึ่งเพื่อศึกษาภาพถ่ายเหล่านี้ในแง่ความทรงจำและพยานหลักฐาน ซึ่งขณะนี้ได้แจกหนังสือภาพถ่ายรวมเหตุการณ์ 6 ตุลา แล้วให้คนเขียนกลับมาว่าการได้ดูภาพถ่ายเหล่านี้ไปกระตุ้นความทรงจำอะไรของเขา ในกรณีเขาเกิดทันเหตุการณ์ หรือหากเกิดไม่ทัน พอดูแล้วรู้สึกอย่างไรกับเหตุการณ์ มีการเปลี่ยนแปลงความรับรู้อย่างไรไหม

“พี่คนหนึ่งซึ่งผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลา ส่งข้อความกลับมาสั้นๆ ว่า เขาไม่อยากจะดูเลย เปิดดูเร็วๆ เพราะทำให้เจ็บปวด เสียใจ แต่รู้สึกดีที่มีหนังสือเล่มนี้ออกมา ขณะที่คนรุ่นใหม่ที่ที่ไม่เคยผ่าน ส่งมา เรื่องเล่าอีกแบบหนึ่ง ซึ่งทั้งหมดเราพยายามทำควมเข้าใจว่าเมื่อเรื่องนี้แตกออกไปสู่กลุ่มคนหลากหลาย มันจะพาไปทางไหนได้บ้าง เพราะเราคงหวังพึ่งแบบเรียนไม่ได้มากนัก ข้อมูลที่เก็บมาได้ก็จะถูกใช้ในการอธิบายต่อไป” ธนาวิกล่าว

นอกจากนี้ธนาวิชี้ว่า ความเป็นภาพถ่ายมีข้อต้องระวัง แง่ที่เรามักคิดภาพถ่ายคือบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ภาพถ่ายจะให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา แต่จริงๆ แล้วภาพถ่ายอาจทำให้เราเข้าใจผิดได้ เคสเล่นละครแขวนคอ ชัดเจนว่าภาพหลอกเราได้ ดังนั้นการจะพูดถึงภาพถ่ายในฐานะพยานหลักฐาน ไม่ใช่ทำไม่ได้ แต่มีโจทย์ที่เราต้องจัดการ

 

หนังสือภาพ ”ปริซึมของภาพถ่าย: การแตกตัวขององค์ความรู้และความทรงจำว่าด้วยเหตุการณ์ 6 ตุลา” พิมพ์ด้วยทุนวิจัย แจกฟรีที่คณะโบราณคดี วังท่าพระ ศิลปากร ชั้น5

 

ถังแดง: บาดแผลความรุนแรงโดยรัฐที่ยังไม่ถูกสะสาง

จุฬารัตน์ ดำรงวิธีธรรม ผู้เขียน ถังแดง : การซ่อมสร้างประวัติศาสตร์และความทรงจำหลอนในสังคมไทย กล่าวว่า ถังแดง ในการรับรู้ของคนในพื้นที่ คือวิธีการจับกุมของเจ้าหน้าที่ช่วงปี 2515-2518 ไม่เฉพาะคนที่ถูกเผาในถังแต่รวมคนถูกยิง ถูกทรมานต่างๆ ในช่วงเหตุการณ์นั้นด้วย

จุฬารัตน์เล่าว่า ช่วงเวลานั้น วิธีการจับผู้ต้องสงสัยว่าเป็นแนวร่วมพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) หรือถูกกล่าวหา สบคบคิด ช่วยเหลือ พคท. ก่อนเข้าป่าจะถูกกวาดจับเอามาอยู่ในค่ายทหาร 3-4 วัน ก่อนจะสอบสวน ระหว่างสอบสวนมีการซ้อม ทำร้ายร่างกาย หรือถูกตีให้สลบ ถูกจับใส่ในถังน้ำมัน ราดน้ำมันลงไป บางครั้งผู้ถูกกระทำยังไม่ได้อยู่ในช่วงถูกเผา บางคนฟื้นขึ้นมาก่อน ก็จะมีเสียงกรีดร้อง จึงต้องสตาร์รถจีเอ็มซีเพื่อจะกลบเสียงนั้น นี่คือเรื่องเล่าที่รู้กันในพื้นที่บริเวณนี้ บางคนเรียกการเผาในถังแบบนี้ว่า มาตรา 20 คือต้องเอาน้ำมันใส่ 20 ลิตรก่อนเผา

จุฬารัตน์กล่าวต่อว่า การจับกุมผู้ต้องสงสัย เป็นการเหวี่ยงแห ชื่อคล้ายกันก็ถูกจับมาหมด คนจำนวนหนึ่งคือญาติพี่น้องของคนที่ทางการสงสัย ไม่ได้เป็นสหายหรือแนวร่วม พคท. ก็ถูกจับมาสอบสวนว่าญาติอยู่ที่ไหน คนที่บอกไม่รู้ไม่เห็น ก็มักเอาไปซ้อมและเผา บางคนอาจเรียกเป็นวิธีการทำลายศพ

โดยตัวเลขที่เก็บรวบรวม ศูนย์กลางนิสิต รายงาน 3,008 ศพ แต่ตัวเลขที่ได้จากการพูดคุยเฉพาะเขตงานที่ตนลงไปคุย มีประมาณ 200 กว่าคน รวมไปถึงคนหายสาบสูญ

จุฬารัตน์เล่าว่า กรณีถังแดง ช่วงปี 2518 มีศูนย์กลางนิสิตลงไปทำงานในพื้นที่ และมีการเชิญคนในพื้นที่มาเล่าให้ฟังที่ท้องสนามหลวง เพราะสื่อไม่ได้ทำข่าวพวกนี้ตั้งแต่แรก ต่อมาจึงมีการลงในหนังสือพิมพ์หลายฉบับ พอเป็นข่าวมากขึ้นก็มีการเอาเข้า ครม. มหาดไทยเป็นเจ้าภาพ ตั้งคณะกรรมการสอบสวน โดยในเวลานั้นมีการออกมายอมรับจากรัฐ ให้เงินเยียวยา แต่ก็ยังให้เหตุผลว่าคนเสียชีวิตไม่ใช่ผู้บริสุทธิ์ และยังกล่าวว่ามีเพียง 50-80 คนเท่านั้นที่เสียชีวิต

“ดังนั้นต่อคำถามว่า รู้ได้ไงถึงแดงมีจริง ก็เพราะรัฐออกมายอมรับเอง แต่การรับรู้เรื่องถังแดงเป็นข่าวสั้นๆ ช่วงนั้น ปัจจุบันชาวบ้านพยายามรื้อฟื้นถังแดง โดยกลุ่มสหายเก่า จ.พัทลุง ประจักษ์พยานปรากฏที่ไหนบ้างในพื้นที่ มีการทำอนุสรณ์สถานถังแดงสร้างขึ้นเมื่อปี 2547 ประจวบกับช่วงนั้นมีการสร้างอนุสรณ์ในหลายพื้นที่ เช่น อนุสรณ์สถานสันติภาพภูพานที่ จ.กาฬสินธุ์ ปี 2537 อนุสรณ์สถานประชาชนอีสานใต้ที่ จ.บุรีรัมย์ ปี 2542 อนุสรณ์สถานบ้านช่องช้าง ที่ จ.สุราษฎร์ธานี ปี 2542 รวมถึงอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ปี 2545” จุฬารัตน์กล่าว

นอกจากนี้เธอชี้ว่าตัวอนุสรณ์ มีความหมายกับคนที่เป็นอดีต พคท. บอกสิ่งที่รัฐกระทำชาวบ้าน แต่อีกทางสำหรับคนถูกกระทำ เขารู้สึกเป็นสัญลักษณ์ทิ่มแทงใจ คนจำนวนหนึ่งไม่ไปงานถังแดง เพราะมีญาติพี่น้องตายเพราะสหาย พคท. แง่หนึ่งจึงเป็นการทำร้ายความรู้สึกของคนเหมือนกัน ดังนั้นคนจัดพยยาามชวนญาติพี่น้องมาร่วมเป็นส่วนหนึ่ง เลือกใช้การจัดงานรำลึกไม่ให้เอียงไปทางประกาศแนวร่วมของ พคท.

นอกจากอนุสรณ์แล้วก็มีงานรำลึกทุกปี เพื่อรำลึกผู้เสียชีวิตและคนที่หายสาบสูญ แต่ด้วยข้อจำกัด ช่วงมีการเมืองเหลืองแดง ก็มีความขลุกขลักในพื้นที่

ด้านความทรงจำของชาวบ้านที่มีต่อเหตุการณ์ จุฬารัตน์เล่าว่า จะมีประเภทที่ลืมไม่ได้จำไม่ลง อยากลืมก็ลืมไม่ได้ ชาวบ้านมั่นใจว่าเรื่องเกิดขึ้นจริง ในพื้นที่มียายคนหนึ่งเชื่อว่าสามีถูกฆ่ายัดถังแดงเป็นคนแรก สามีสูงใหญ่ ถูกจับเข้าค่ายทหาร เขาก็ไปหาสามีที่ค่ายทุกวัน วันที่สองทหารไม่ให้เข้า วันที่สามทหารบอกปล่อยกลับบ้านไปแล้ว แต่เขาก็หาสามีไม่เจอ จนถึงทุกวันนี้ก็หาไม่เจอ แต่ครั้งหนึ่งเขาบังเอิญไปเจอผู้พันจากอีกจังหวัดหนึ่ง เล่าว่าคนนี้น่าจะตายไปแล้ว และเชื่อว่ามีการหั่นศพแล้วใส่ถึงเผา ขณะที่มีโอกาสได้ไปถามยาย ยายมีท่าทีอึกอักไม่อยากเล่าให้ฟัง ใช้เวลานานกว่าจะพูดกับเขาได้ เวลาเห็นข่าวในทีวี เกี่ยวกับเรื่องที่รัฐทำร้ายประชาชน เขาก็จะบ่นพึมพำ คล้ายกับความทรงจำยังวนเวียนกับเขา

หรือความทรงจำอีกรูปแบหนึ่ง เช่น ลุงที่มีอาชีพขับรถในพื้นที่ วันหนึ่งถูกถามเจอคอมมิวนิสต์ไหม แล้วถูกจับเข้าค่าย และเจอการถูกข่มขู่ สุดท้ายถูกปล่อยพร้อมกับมีใบปล่อยตัว ทำให้เขากลัวทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและคอมมิวนิสต์ จนถึงทุกวันนี้เขาก็ยังเก็บใบปล่อยตัวนั้นไว้อยู่

อีกแบบคือไม่อยากพูดถึงแล้ว เพราะคนในพื้นที่นั้นญาติกันหมด คนที่เป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้านซึ่งต้องอยู่ฝ่ายรัฐ ก็เลือกจะไม่พูดถึง ไม่พยายามสะสาง เหตุผลเพราะอะไร อันหนึ่งที่เป็นคำตอบคือ เป็นไปได้หรือไม่ที่เมื่อยังไม่เกิดความเป็นธรรม ไม่รู้ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น จะให้เขามาคุยเรื่องอดีตเขาก็ทำไม่ได้

“ความทรงจำบาดแผลต้องระมัดระวัง แต่ทำอย่างไรให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้ เหตุการณ์แบบนี้ไม่ได้มีแค่ถังแดง การไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐทำให้อึดอัด คับข้อง ทำอย่างไรให้คนเหล่านี้พูด มากกว่าจะกลบไว้ในใต้พรม” จุฬารัตน์กล่าว

 

พิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา ที่กระบวนการและเรื่องเล่าสำคัญพอๆกับการสร้างตัวพิพิธภัณฑ์

ธนาพล อิ๋วสกุล ผู้จัดการโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา เริ่มทำข้อมูลเกี่ยวกับ 6 ตุลา ตอนปี 2539 เทคโนโลยียังไม่ทันสมัย รูปยังเป็นสไลด์ ไม่สามารถนำมาซูมขยายดูผู้เสียชีวิตได้ว่าเป็นใคร ดังนั้นความคิดจะรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นภาพใหญ่จึงยังไม่มี

“ประวัติศาสตร์สำหรับผมไม่ใช่เรื่องในอดีต แต่คือปัจจุบัน อยู่ที่เทคโนโลยี โอกาส และบริบทจะอำนวยให้พูดได้แค่ไหน คุณไม่สามารถพูดถึง 6 ตุลาในปี 2529 ได้ เพราะเป็นยุคของพลเอกเปรม คอมมิวนิสต์ยังกวาดไม่หมด ความหวาดกลัวยังมี พอปี 2539 ผู้ที่รอดจากเหตุการณ์เริ่มจัดงาน ส่วนหนึ่งอาจเพราะมีฐานะดีขึ้น และบาดแผลชอกช้ำเริ่มจาง” ธนาพลกล่าว

สำหรับของที่นำมาจัดแสดงในนิทรรศการ ธนาพลเล่าว่า คิดถึงเรื่องที่คนจะสนใจ ก็คือประตูแดง แล้วมันอยู่ในที่ดินส่วนบุคคลซึ่งต่อไปอาจจะมีการขาย ยังไงก็ต้องเก็บประตูไว้ก่อน วิธีคือขอซื้อแล้วทำใหม่ให้เขา เพราะเราเห็นตัวอย่าง เช่น ศาลาเฉลิมไทย ในยุคคณะราษฎร ก็ถูกทุบด้วยเหตุผลว่าเพื่อเปิดทัศนียภาพแก่โลหะปราสาท (วัดราชนัดดารามวรวิหาร) เมื่อปี 2530 หลังจากนั้นเรามาเจอป้ายศาลาเฉลิมไทยอยู่ในร้านรับซื้อเศษเหล็ก หรือลำโพงที่นำมาจัดแสดงก็อยู่ตึกในกิจกรรม อยู่ในห้องเก็บของ เราเลยถือวิสาสะเอากลับบ้านก่อน

ธนาพลเห็นว่า พิพิธภัณฑ์ 6 ตุลาไม่ใช่การสร้างตึกแน่ๆ มันไม่ใช่หน่วยงานราชการ เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ตั้งคำถามกับรัฐ ยากมากที่จะได้สนับสนุนจากรัฐ พิพิธภัณฑ์จึงคือกระบวนการ เวทีวันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ ได้คุย ได้เรื่องเล่า นิทรรศการนี้เป็นเหมือนแค่น้ำจิ้ม เราหวังถ้าใครมีวัตถุพยาน มีเรื่องเล่า มีเงิน ก็อยากชวนมาร่วมกัน การสร้างตึกต้องทำ แต่กระบวนการทำเราอยากให้คนมีส่วนร่วม ต้องอาศัยความร่วมมือ และเราคิดว่าความล้มเหลวเป็นเรื่องปกติ เพราะเรื่องเล่าและการพูดคุยกันในสังคมที่เกิดขึ้นสำคัญพอๆกับการสร้างตึก

“เราสนใจประเด็นหกตุลาที่เชื่อมโยงกับปัจจุบัน เช่น กรณีของนักศึกษาที่อยู่ในเหตุการณ์ 6 ตุลาในตอนนั้น แต่กลายเป็นรอยัลลิสต์และล่าแม่มดฝั่งตรงข้าม ในฐานะที่วันหนึ่งคุณเคยเป็นเหยื่อแล้วกลายเป็นผู้ล่า ความคิดคนเปลี่ยนได้ ดังนั้น 6 ตุลาไม่ใช่อดีต แต่เป็นเรื่องปัจจุบันด้วย”

 

6 ต.ค. 2519 เหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลาฯ 

เหตุการณ์สังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ สนามหลวง และบริเวณโดยรอบเป็นโศกนาฏกรรมของการฟาดฟันกระแสสังคมนิยมที่เริ่มแพร่หลายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 (จะกล่าวถึงต่อไป) เมื่ออุดมการณ์สังคมนิยมถูกใช้ในการวิพากษ์ระบบชนชั้นที่กดขี่และความไม่เป็นธรรมในสังคมไทย ดังที่เห็นได้จากการพูดถึงในหมู่นักศึกษา แรงงาน ชาวนา ทั้งยังมีพรรคแนวร่วมสังคมนิยมได้รับเลือกตั้งเข้าสภาถึง 3 พรรครวม 37 ที่นั่ง กระแสหวาดกลัวคอมมิวนิสต์และสังคมนิยมในยุคสงครามเย็นทำให้ฝ่ายรัฐสร้างนโยบาย เรื่องเล่า และจัดตั้งกลุ่มประชาชนเพื่อตอบโต้ มีการโจมตีพรรคสังคมนิยม กลุ่มแรงงาน นักศึกษาว่าเป็นพวกขายชาติ หนักแผ่นดิน เป็นสายลับเวียดนาม โซเวียต ฯลฯ 

การกลับมาของจอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกฯ ที่ถูกประชาชนขับไล่ไปเมื่อปี 2516 ในฐานะพระภิกษุในวันที่ 19 ก.ย. 2519 และข้อความของสถานีวิทยุยานเกราะที่บอกว่าการกลับมาไม่มีความมุ่งหมายทางการเมือง ทั้งยังเตือนไม่ให้นักศึกษาก่อความวุ่นวาย ตามมาด้วยการเคลื่อนไหวต่อต้านถนอมของขบวนการนักศึกษาและประชาชนซึ่งถูกตอบโต้จากกลุ่มฝ่ายขวา เหตุการณ์เหล่านี้ดำเนินไปท่ามกลางการลอบฆ่าและลอบทำร้ายผู้นำแรงงาน ชาวนาและนักศึกษา ที่ได้ยินกันบ่อยคือชุมพร ทุมไมย และวิชัย เกษศรีพงศา 2 พนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นครปฐมที่ถูกฆาตกรรมแล้วนำไปแขวนคอที่ประตูทางเข้าที่ดินจัดสรรบริเวณหมู่บ้าน 2 ตำบลพระประโทน

ในวันที่ 4 ต.ค. กลุ่มนักศึกษาใน มธ. รณรงค์ให้นักศึกษางดสอบแล้วมาร่วมประท้วงขับไล่ถนอม ในการรณรงค์มีการแสดงละครที่มีฉากการแขวนคอสะท้องถึงเหตุการณ์ 2 ช่างไฟฟ้าที่นครปฐม ฉากดังกล่าวถูกเผยแพร่ต่อครั้งแรกในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ซึ่งหน้าของผู้ถูกแขวนคอ (อภินันท์ บัวหภักดี) บังเอิญไปคล้ายกับพระบรมโอรสาธิราช จากนั้นหนังสือพิมพ์ดาวสยามจึงได้เผยแพร่ภาพการแขวนคอต่อ พร้อมมีข้อความโจมตีขบวนการนักศึกษาว่าจงใจหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทำลายสถาบันกษัตริย์ เป็นส่วนหนึ่งของแผนการคอมมิวนิสต์ สถานีวิทยุทหารทุกแห่งขยายข้อความด้วยการปลุกระดมให้ทำลายพวกคอมมิวนิสต์ใน มธ. นำมาซึ่งการปิดล้อม มธ. โดยกลุ่มพลังฝ่ายขวาเช่นกลุ่มกระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้าน กลุ่มนวพลในดึกวันที่ 5 ต.ค. ก่อนที่เช้าวันที่ 6 ต.ค. เจ้าหน้าที่ตำรวจเริ่มใช้อาวุธสงครามกับผู้ชุมนุมใน มธ. ตามมาด้วยการปราบปรามใหญ่ด้วยน้ำมือของเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนที่ถูกปลุกระดม (ข้อมูลจากเว็บบันทึก 6 ตุลา)

 

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

Commoner's talk EP.2 ชวนอ่าน "ราษฎรกำแหง" | พิพิธภัณฑ์สามัญชน X ประชาไท

$
0
0

พิพิธภัณฑ์สามัญชน Museum of the Commonners X ประชาไท เสนอ Commoner's talk EP.2 ชวนอ่าน "ราษฎรกำแหง" บันทึกประวัติศาสตร์ของสามัญชนผู้ไม่ยอมจำนนต่อคณะรัฐประหาร

พูดคุยกับคุณภาวิณี ชุมศรี "ทนายแอน" ทนายความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ผู้ผลักดันให้เกิดหนังสือบันทึกประวัติศาสตร์ของสามัญชนในยุคสมัยแห่งการรัฐประหารเล่มนี้ และ คุณอิทธิพล โคตะมี นักเขียนผู้รังสรรค์ผลงานส่วนหนึ่งในเล่ม

ชวนทำความรู้จักหนังสือ "ราษฎรกำแหง" ทำไมทนายความต้องทำหนังสือ? ทำไมต้องชื่อ "ราษฎรกำแหง"? ใครเป็นคนเขียนบ้าง ? มีวิธีเล่าเรื่องอย่างไร? ความท้าทายในการเขียนหนังสือเล่มนี้คืออะไร? และอะไรคือสิ่งที่จะได้รับจากการอ่านหนังสือเล่มนี้

ดูแล้วอยากอ่านต่อแบบเต็มๆ หนังสือมีวางจำหน่ายที่ งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ วันที่ 2-13 ต.ค. 62 ที่ชาเลนเจอร์ฮอลล์ 2 อิมแพค เมืองทองธานี

แผงสำนักพิมพ์อ่าน / สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน A01
แผงสำนักพิมพ์สามัญชน H08
แผงสำนักพิมพ์สมมติ M02
แผงมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ Q04

หรือ
ติดต่อสั่งซื้อที่เพจเฟซบุ๊ก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (จำหน่ายในราคาปก ฟรีค่าจัดส่ง)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai
Viewing all 58343 articles
Browse latest View live


<script src="https://jsc.adskeeper.com/r/s/rssing.com.1596347.js" async> </script>