Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live

ร้องผู้ว่าฯ ตรัง กำกับป่าไม้หยุดคุกคามพื้นที่โฉนดชุมชน

$
0
0

เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด รวมตัวหน้าศาลากลางจังหวัดตรัง ยื่นผู้ว่าฯ เรียกร้องให้กำกับหน่วยงานป่าไม้และหน่วยงานอื่นภายใต้การดูแล หยุดคุกคามชาวบ้านพื้นที่โฉนดชุมชน หันไปปราบปรามผู้บุกรุกป่าตัวจริง

 
 
เมื่อเวลาประมาณ 14.30 น. วันที่ 3 เม.ย.55 เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด กว่า 200 คน เดินทางไปรวมตัวกันบริเวณด้านหน้าศาลากลางจังหวัดตรัง ท่ามกลางสายฝนโปรยปราย เพื่อยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เรียกร้องให้กำกับหน่วยงานป่าไม้และหน่วยงานอื่น ภายใต้การบริหารงานของจังหวัดตรัง เพื่อให้เกิดการปราบปรามผู้บุกรุกป่าตัวจริง และยุติการกลั่นแกล้ง ข่มขู่คุกคามดำเนินคดีกับเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่ชุมชนดั้งเดิม
 
นายชัยยศ ธงไชย รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ได้เป็นตัวแทนรับหนังสือของเครือข่ายฯ พร้อมรับปากจะส่งต่อข้อเสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อเร่งแก้ปัญหา
 
นอกจากนั้น ทางเครือข่ายฯ ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านรองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เรียกร้องให้รัฐบาลสานต่อนโยบายโฉนดชุมชน โดยให้นายกรัฐมนตรีมอบหมายนโยบายที่ชัดเจนเรื่องโฉนดชุมชนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยการทำหนังสือเวียนถึงส่วนราชการต่างๆ เพื่อให้มีการปฏิบัติตามนโยบายและแนวทางโฉนดชุมชน ซึ่งจะต้องมีการคุ้มครองพื้นที่และรับรองสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร ทั้งในส่วนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกระทรวงอื่นๆ พร้อมกันนั้น ทางเครือข่ายฯ ได้ยื่นหนังสือถึงกองทัพภาคที่ 4 ผ่านตัวแทน กอ.รมน. จ.ตรัง ด้วย
 
 
นายสมนึก พุฒนวล กรรมการเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด กล่าวว่า ทางเครือข่ายฯ มายื่นหนังสือครั้งนี้ เนื่องจากเมื่อวันที่ 30 มี.ค.ที่ผ่านมา นายสมชัย แสงแก้ว หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่ป่าไม้ จำนวน 50 นาย เข้าไปตัดฟันสวนยางของชาวบ้านจำนวน 3 แปลง เนื้อที่ 8 ไร่ ในพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชนบ้านทับเขือ-ปลักหมู ม.1 ต.ช่อง อ.นาโยง จ.ตรัง ทั้งๆ ที่หัวหน้าอุทยานฯ ได้มาเดินแนวเขตโฉนดชุมชนร่วมกับชาวบ้าน และสัญญาว่าจะไม่เข้ามาตัดฟันต้นยางในพื้นที่โฉนดชุมชนบ้านทับเขือ-ปลักหมู แต่เขาก็ทำผิดสัญญา
 
“นโยบายของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชเน้นการปราบปรามชุมชนในเขตป่า โดยไม่ได้แยกแยะพิจารณาข้อเท็จจริงว่าชุมชนอยู่อาศัยและทำกินมาก่อนการประกาศเขตป่า เราขอเรียกร้องให้กรมอุทยานฯ หยุดการกระทำที่มีเจตนาแอบแฝง และหันกลับมาร่วมมือกับชุมชนในการรักษาป่า โดยเคารพสิทธิของชุมชนท้องถิ่นในการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติร่วมกับรัฐ ตามแนวทางโฉนดชุมชนและสิทธิชุมชนมาตรา 66 ในรัฐธรรมนูญ” นายสมนึก กล่าว
 
ด้านนางกันยา ปันกิติ กรรมการเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด กล่าวเสริมว่า รัฐบาลพูดเรื่องการปรองดอง แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่ได้ปรองดองกับคนยากจน น่าสังเกตว่ารัฐบาลกำลังใช้เกษตรกรรายย่อย และปัญหาที่ดินทำกินเป็นหมากในเกมการเมืองระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้าน ทั้งที่นโยบายโฉนดชุมชนเป็นนโยบายของภาคประชาชน ซึ่งเราได้นำเสนอต่อพรรคการเมืองทุกพรรค รวมทั้งพรรคไทยรักไทย ในปี พ.ศ.2550
 
“รัฐบาลต้องสานต่อนโยบายโฉนดชุมชน ขอให้นายกรัฐมนตรีควรมอบหมายนโยบายที่ชัดเจนเรื่องโฉนดชุมชนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยการทำหนังสือเวียนถึงส่วนราชการต่างๆ เพื่อให้มีการปฏิบัติตามนโยบายและแนวทางโฉนดชุมชน ซึ่งจะต้องมีการคุ้มครองพื้นที่และรับรองสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร ทั้งในส่วนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกระทรวงอื่นๆ” นางกันยา กล่าว
 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวแทนเครือข่ายฯ ได้เข้าไปประชุมกับรองผู้ว่าราชการจังหวัดตรังประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง แล้วแยกย้ายกันกลับเมื่อเวลา 16.30 น.
 
ทั้งนี้ ทางเครือข่ายฯ ได้ปิดถนนหน้าศาลากลาง 1 ช่องจราจร เนื่องจากมีกลุ่มผู้เดือดร้อนเรื่องการยื่นคำขอออกโฉนดพร้อมชำระค่ารังวัดที่ดินไปเมื่อปี พ.ศ.2543 จนถึงปัจจุบันยังไม่ได้รับโฉนดที่ดิน ในพื้นที่ ต.โคกสะบ้า อ.นาโยง กว่า 200 คน ได้ชุมนุมอยู่หน้าศาลากลางจังหวัดตรัง ตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 เม.ย.55 และจะชุมนุมยืดเยื้อจนกว่าจะได้รับคำตอบจากรัฐบาล
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ตุลย์ สิทธิสมวงศ์: ข้อเสนอต่อสถาบันพระปกเกล้า บทสรุปทักษิณดีหรือเลว?

$
0
0

ชื่อบทความเดิม: ความสงบที่คนไทยโหยหา

ช่วงนี้คนไทยจะได้ยินแต่เสียงเรียกร้องให้เกิดความปรองดองของคนในชาติ ซึ่งส่วนใหญ่จะดังมาจากคนใกล้ชิดทักษิณในพรรคเพื่อไทยเป็นส่วนมาก ผู้เฒ่าผู้แก่ที่ควรจะเลิกเล่นการเมืองไปเลี้ยงหลานได้แล้ว ยังออกมาขยับปากเรียกร้องปรองดองกันใหญ่ ทั้งบิ๊กจิ๋ว บิ๊กหนั่น และที่แปลกมากคือคนที่ทำการปฏิวัติรัฐประหารยึดอำนาจมาจากทักษิณ คือ พลเอก สนธิ บุญรัตกลิน ดูเหมือนจะกลับตัวกลับใจ กลืนน้ำลายตัวเอง ลืมข้ออ้างในการทำรัฐประหาร 4 ข้อเสียสิ้น ทำเป็นสำนึกผิด เรียกร้องให้นิรโทษกรรมพวกเสื้อแดงที่ชุมนุมเผาบ้านเผาเมือง และให้ยกเลิกคดีคอร์รัปชั่นทั้งหมดที่ คตส.ได้ตรวจสอบ ส่งฟ้องไว้ ทั้งๆที่พลเอกสนธิเป็นคนลงนามแต่งตั้งคตส.เอง และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็ได้พิพากษาลงโทษจำคุก 1 คดี และยึดทรัพย์ 4 หมื่น 6 พันล้าน อีก 1 คดี แถมรอพิพากษาคดีอาญาอีกด้วย ที่แปลกไปใหญ่ก็คือ ญาติคนเสื้อแดงที่เสียชีวิตไปในเหตุการณ์ชุมนุมเมื่อปีพ.ศ. 2553 ออกมาประกาศไม่เอาด้วยกับกระบวนการปรองดองโดยไม่ไต่สวนหาผู้กระทำผิด (แต่หลายคนขอรับเงิน 7.75 ล้าน แปลกดีนะ) อีกทั้งคนไทยที่รู้ทันทักษิณก็ออกมาคัดค้านการนิรโทษกรรมให้กับทักษิณและเสื้อแดงทีเผาบ้านเผาเมือง ไม่เห็นด้วยกับการรวบรัดปรองดองแต่ทักษิณได้ประโยชน์ไปเต็มๆ แล้วอย่างนี้มันจะปรองดองกันได้หรือ

ก่อนที่เมืองไทยจะเข้าสู่ยุคทักษิณครองเมือง รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยก็ถูกกล่าวหาว่ามีการคอร์รัปชั่น กันทุกรัฐบาล แต่ไม่เคยมีสมัยใดเลยที่คนไทยจะแตกแยกแบ่งเป็นฝักฝ่ายประจันหน้ากันขนาดนี้ เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ประชาชนก็เป็นหนึ่งอันเดียวกันต่อต้านรัฐบาลสุจินดาที่อ้างว่าเสียสัตย์เพื่อชาติ แม้จะเกิดนองเลือด แต่ก็สงบลงด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่เมื่อเข้าสู่ยุคทักษิณก่อตั้งพรรคไทยรักไทย และชนะการเลือกตั้ง (อย่างใสสะอาด?) จนได้เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้แสดงการแทรกแซงครอบงำศาลรัฐธรรมนูญจนพ้นผิดคดีซุกหุ้นอย่างขะมุกขะมอม แต่เขาก็ซ่อนหุ้น ใช้อำนาจหน้าที่หาผลประโยชน์ด้วยการแปลงสัมปทานต่างๆของบริษัทชินคอร์ปฯ จนได้ประโยชน์เข้าตัวมหาศาล ในขณะเดียวกันก็แต่งตั้งโยกย้ายเอาคนของตัวมาดำรงตำแหน่งสำคัญๆ แม้แต่กองสลากก็ไม่เว้น มีการออกนโยบายประชานิยมจนเป็นที่ชื่นชอบของชาวบ้าน แต่ที่ชอบที่สุดคือกองทุนหมู่บ้าน ที่กลายเป็นนโยบายหาเสียงว่า ถ้าไม่เลือกพรรคของทักษิณ กองทุนหมู่บ้านจะถูกยุบ เรียกเงินคืน ชาวบ้านก็เลยต้องเลือกพรรคไทยรักไทยอยู่ร่ำไป ทักษิณเองถึงกับหลุดปากว่า พื้นที่ใดเลือกพรรคไทยรักไทย เขาจะดูแลก่อนเป็นพิเศษ

เมื่อถูกปฏิวัติรัฐประหาร ทักษิณก็ได้ใช้แกนนำวีระ จตุพร ณัฐวุฒิ เหวง กี้ร์ ฯลฯก่อการชุมนุมบุกบ้านสี่เสา ในยุครัฐบาลสุรยุทธ เมื่อพันธมิตรบุกทำเนียบ เสื้อแดงก็ออกมาโจมตีปะทะกันจนบาดเจ็บ มีการยิง M 79 ใส่พันธมิตรหลายครั้ง จนมีคนบาดเจ็บล้มตาย เมื่อสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ในปีพ.ศ. 2552 ทักษิณก็ได้สั่งการให้แกนนำเสื้อแดงชุมนุมด้วยความรุนแรง บุกทำลายการประชุมอาเซียนที่พัทยา มีการบุกไปทำร้ายทุบรถนายกฯอภิสิทธิ์ที่กระทรวงมหาดไทย จนเลขาธิการนายกรัฐมนตรีบาดเจ็บ แต่ทหารก็ควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ โดยไม่มีคนตาย ในปีพ.ศ. 2553 ทักษิณจึงให้แกนนำเสื้อแดงจัดการชุมนุมอีก คราวนี้มีการใช้กลุ่มติดอาวุธฝึกโดยเสธ.แดง สนับสนุน จนมีการยิงอาวุธสงครามใส่ทหารจนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2553 ที่บริเวณสี่แยกคอกวัว มีนักข่าวญี่ปุ่นและคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่ง ล้มตาย ซึ่งเข้าทางทักษิณและแกนนำเสื้อแดงกล่าวหาว่า รัฐบาลและทหารเข่นฆ่าผู้ชุมนุม ซึ่งจากภาพข่าวที่ปรากฏไปทั่วโลกมันตรงกันข้าม เมื่อนักข่าวต่างประเทศสัมภาษณ์ทักษิณ ว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการชุมนุมด้วยความรุนแรงนี้ใช่หรือไม่ ทักษิณถึงกับตอบปฏิเสธอย่างตะกุกตะกัก ว่าเขาไม่ได้อยู่เบื้องหลัง แต่ความจริงก็คือความจริงวันยังค่ำ  เพราะภาพวีดิโอลิงก์ ที่ทักษิณประกาศกับคนเสื้อแดงอย่างชัดเจนว่า หากมีเสียงปืนแตกเมื่อใด เขาจะมานำหน้าประชาชนเสื้อแดงต่อสู้ (ซึ่งแม้จะมีการยิงกัน เสื้อแดงล้มตาย แต่ทักษิณก็ไม่ได้ทำตามที่พูด แกนนำก็ไม่มีใครบาดเจ็บล้มตาย ได้เป็นใหญ่เป็นโต เสวยสุขเป็นอำมาตย์ จนปัจจุบัน)

ผมจึงสรุปได้ว่า “ความแตกแยกที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในขณะนี้ เกิดจากความต้องการที่จะพ้นผิด กลับมามีอำนาจของทักษิณ ชินวัตร แล้วใช้อำนาจเงินปลุกระดมคนเสื้อแดง ให้ออกมาชุมนุมด้วยความรุนแรง ปะทะต่อสู้กับคนที่ต่อต้านทักษิณ  เสมือนกับเกราะป้องกันทักษิณ และเป็นอาวุธทำลายและข่มขู่คนที่ต่อต้านทักษิณ”

นี่คือสิ่งที่ผมให้สัมภาษณ์กับนักวิจัยของสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งผมได้อ่านรายงานการวิจัยฯแล้ว รายงานที่ออกมาดูเหมือนว่าไม่เคยได้สัมภาษณ์ผมเลย กลับมีข้อเสนอให้ไปพูดคุยกันว่าจะยกโทษให้ทักษิณ โดยการยกเลิกคดีที่คตส.ทำไว้ โดยอ้างโน่นนี่นั่น (ซึ่งข้อเสนอนี้น่าจะมาจากทักษิณ หรือ ลิ่วล้อที่ถูกสัมภาษณ์ด้วย) พลเอกชวลิต ถึงกับบอกว่าต้องยกเลิกคดี เพราะคตส.ตั้งกฎภายหลังการทำผิด หรือพูดเหมือนกับว่าคตส.ซึ่งเป็นปฏิปักษ์กับทักษิณตัดสินคดีเองอย่างมีอคติ ซึ่งเป็นการหลงผิดอย่างสิ้นเชิง (สมกับความเป็นอัลไซเมอร์)

คนในสถาบันพระปกเกล้าคลุกคลีกับคนในวงการเมืองมานาน ก็น่าจะรู้ทันว่าการขอให้สถาบันพระปกเกล้าทำการวิจัยครั้งนี้ เป็นเพียงการหาตัวช่วยทางการเมือง สร้างความชอบธรรม เป็นข้ออ้างในการออกพรบ.ปรองดอง หรือนิรโทษกรรมทักษิณเท่านั้น แม้รายงานจะระบุว่า เป็นเพียงหัวข้อให้นำไปพูดคุยอภิปรายจนได้ข้อสรุปในหมู่ประชาชน ความปรองดองจึงจะเกิดขึ้น แต่คณะกรรมาธิการปรองดอง ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ก็มาจากพรรคเพื่อทักษิณก็ไม่สนใจใจความสำคัญของรายงานวิจัยดังกล่าว เลือกแต่จุดที่ทักษิณได้ประโยชน์ เมื่อถูกทักท้วงหนักๆ เข้า พลเอกสนธิ ประธานคณะกรรมาธิการปรองดอง ถึงกับบอกว่าให้ลืมๆ อดีตไปเสีย ให้อภัยทักษิณ ทั้งๆ ที่ทักษิณไม่เคยสำนึกผิด บอกว่าตัวเองไม่มีความผิด  แล้วคนที่เขารักความเป็นธรรมเขาจะยอมได้อย่างไร

ในสัปดาห์นี้ ( 3 เม.ย. 55) สภาสถาบันพระปกเกล้าจะประชุมกันเรื่องรายงานวิจัยปรองดองนี้ ก็หวังว่า คณะกรรมการบริหารของสถาบันตลอดจนคณะผู้วิจัย จะได้หามาตรการที่เหมาะสมที่จะดำเนินการกับการนำผลการวิจัยของสถาบันไปใช้อย่างผิดๆ อย่างน้อยทางคณะผู้วิจัยจะต้องเปิดเผยต่อสังคมว่าเจตนารมณ์ที่แท้จริงของรายงานการวิจัยฉบับนี้เป็นอย่างไร เพราะคนจำนวนมากยังไม่ทราบข้อเท็จจริงว่าคณะกรรมาธิการปรองดองได้บิดเบือนเอาผลการวิจัยของสถาบันฯไปใช้อย่างผิดเจตนารมณ์เช่นไร และผลของการบิดเบือนนั้นจะนำมาสู่การนิรโทษกรรมให้กับนักโทษหนีคุก (The Fugitive) ทักษิณ อันเป็นการปล่อยให้คนชั่วคนโกงลอยนวล ไม่ต้องรับโทษ นำไปสู่ความแตกแยกในสังคมไทยอย่างรุนแรง ซึ่งคงไม่ใช่วัตถุประสงค์ของสถาบันพระปกเกล้าและคณะผู้วิจัยเป็นแน่แท้ การที่หัวหน้าคณะผู้วิจัยใช้คำว่า ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรแล้ว อะไรจะเกิดก็ต้องให้มันเกิด คงเป็นการปัดความรับผิดชอบต่อความแตกแยกที่จะเกิดขึ้นในสังคมไทย อันเนื่องมาจากการอ้างรายงานการวิจัย เพียงเพื่อช่วยทักษิณให้พ้นโทษ

ผมขอเรียกร้องให้ผู้เกี่ยวข้องกับรายงานการวิจัยเรื่องการปรองดองของสถาบันพระปกเกล้าทุกระดับ ตระหนักถึงความสำคัญของการค้นหาความจริง ต้นเหตุที่แท้จริงของความแตกแยกในสังคมไทย ควรเป็นผู้จัดการสานเสวนา ในหัวข้อต่างๆ ตามข้อเสนอในรายงานวิจัย เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันในสังคมไทย การที่คนไทยสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งรู้ทันการโกงของทักษิณ เรียกร้องให้มีการจับกุมคนโกงมาลงโทษทั้งข้อหาคอร์รัปชั่น และข้อหาสนับสนุนให้เกิดการก่อการร้าย กับอีกฝ่ายหนึ่งที่เห็นทักษิณเป็นเทวดามาโปรด ทั้งๆ ที่เงินที่เอาไปใช้ในโครงการประชานิยมต่างๆ ก็ไม่ใช่เงินทักษิณ แต่ในขณะเดียวกันทักษิณก็กอบโกยผลประโยชน์เข้าตัวอย่างมหาศาล (ขนาดถูกยึดทรัพย์ 4 หมื่น 6 พันล้าน ยังมีเงินทองใช้สอยในต่างประเทศอย่างสุขสบาย แสดงว่าตอนเป็นนายกฯ ซุกซ่อนทรัพย์สิน ไม่แจ้งรายการให้ ปปช.ทราบมากมายขนาดไหน) ในช่วงเวลาที่องค์กรต่างๆ ตกอยู่ใต้อำนาจเงินของทักษิณหมดแล้ว ไม่เว้นแม้แต่สื่อมวลชนจำนวนมาก หากสถาบันพระปกเกล้าจะมีความรับผิดชอบต่อแผ่นดินไทย ทำความจริงให้กระจ่างว่าทักษิณดีหรือเลว สุจริตหรือคดโกงกันแน่ เมื่อคนไทยทั้งสองฝ่ายเข้าใจตรงกัน ความแตกแยกก็จะหมดสิ้นไป ความสงบสุขที่หายไปจากแผ่นดินไทยมานานจะได้กลับคืนมา ไม่ต้องจำใจทำเป็นแกล้งลืมความเลวความชั่วที่ทักษิณทำไว้ อย่างที่พลเอกสนธิ ประธาน คชม. (คนช่วยแม้ว) บอกให้เราลืม คนไทยที่รักความเป็นธรรมเขาประกาศก้องแล้วว่า เราไม่ยกโทษให้คนโกงชาติ สร้างความแตกแยก อย่างเด็ดขาด

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

หนัง ‘เชคสเปียร์ต้องตาย’ โดนแบน อ้างก่อความแตกแยก

$
0
0

 

3 เม.ย.55 คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์(กองเซ็นเซอร์) ในกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม มีมติสั่งห้ามฉาย ‘เชคสเปียร์ต้องตาย’ ภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายที่ได้รับทุนสร้างจากกองทุนส่งเสริมภาพยนตร์ของ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม ภายใต้โครงการไทยเข้มแข็งของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในปี 2553 ซึ่งเพิ่งสร้างเสร็จและเข้าตรวจพิจารณาปีนี้

ตามเอกสารบันทึกการตรวจพิจารณาภาพยนตร์ระบุว่า “คณะกรรมการฯ พิจารณาเห็นว่า ภาพยนตร์เรื่องเชคสเปียร์ต้องตาย (Shakespeare Must Die) มีเนื้อหาที่ก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติ ตามกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของประเภทภาพยนตร์ และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2552 ข้อ 7 (3) จึงมีมติไม่อนุญาต โดยจัดเป็นประเภทภาพยนตร์ที่ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร ตามมาตรา 26 (7) แห่งพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวิดีทัศน์ พ.ศ. 2551”

ทั้งนี้ ภาพยนตร์เรื่อง ‘เชคสเปียร์ต้องตาย’ เป็นภาพยนตร์ไทยที่สร้างขึ้นจากบทละคร ‘โศกนาฏกรรมแม็คเบ็ธ’ (The Tragedy of Macbeth) ของวิลเลียม เชคสเปียร์ (William Shakespeare) กวี เอกของโลก เป็นเรื่องราวของขุนพลที่มักใหญ่ใฝ่สูงอย่างไร้ขอบเขตและคลั่งไคล้ในไสยศาสตร์ เมื่อมีแม่มดมาทักว่าจะได้เป็นกษัตริย์ในภายหน้า และโดยการยุยงของภรรยา เขาสังหารพระราชาเพื่อสถาปนาตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์ แม็คเบ็ธปกครองแผ่นดินด้วยความบ้าอำนาจ พาให้บ้านเมืองตกอยู่ในยุคมืดมนแห่งความหวาดกลัว โดยที่ตัวเขาเองก็ปราศจากความสุข ต้องใช้ความรุนแรงอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เพื่อรักษาอำนาจของตน ละครเรื่องแม็คเบ็ธนี้ ได้มีการจัดแสดงโดยคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยเมื่อปีที่แล้ว นอกจากนี้ยังบรรจุอยู่ในหลักสูตรการศึกษาของเด็กมัธยมต้นทั่วโลกมายาวนาน และได้ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์มาแล้วหลายครั้ง โดยนักทำหนังอินเดีย ญี่ปุ่น และจีน เป็นต้น

ด้านมานิต ศรีวานิชภูมิ ผู้อำนวยการสร้างหนังเรื่องดังกล่าวได้ออกแถลงการณ์ถึงการแบนภาพยนตร์ดังกล่าวในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และระบุว่า “เหตุการณ์นี้ทำให้ผมเห็นว่า เราไม่สามารถพูดถึงเรื่องศีลธรรม ความโลภ ความบ้าอำนาจ ความมักใหญ่ใฝ่สูงอันไร้ขอบเขตกันได้อีกแล้วในประเทศไทย ผู้คนอยู่กันด้วยความกลัว ราวกับว่าอยู่ใต้แม็คเบ็ธในบทละครของเชคสเปียร์จริงๆ มันแปลกประหลาดมากที่องค์กรของกระทรวงวัฒนธรรมลุกขึ้นแบนหนังที่กระทรวงวัฒนธรรมเองเป็นผู้สนับสนุน และกองเซ็นเซอร์ ภายใต้กรมส่งเสริมวัฒนธรรม เห็นควรแบนเชคสเปียร์”

ส่วนผู้กำกับหนังเรื่องนี้ สมานรัชฎ์ (อิ๋ง) กาญจนะวณิชย์ ได้เขียนบทความลงในเว็บไซต์shakespearemustdie.com ในวันที่ 19 มี.ค.55 ก่อนจะส่งหนังเรื่องดังกล่าวให้กองเซ็นเซอร์พิจารณาด้วยความไม่แน่ใจว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะผ่านการพิจารณา โดยอาจโดนตั้งคำถามว่าจะทำให้สังคมแตกแยกมากขึ้นหรือไม่ โดยผู้กำกับได้ยืนยันว่า คติประจำกองถ่ายคือ  “ต่อสู้ความกลัวด้วยศิลปะ – สร้างศิลปะด้วยความรัก” พร้อมทั้งบรรยายความรู้สึกถึงความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นโดยกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 ซึ่งทำให้การถ่ายทำหยุดชะงักรวมถึงเหตุการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมา

ตอนหนึ่งในบทความระบุว่า “‘เชคสเปียร์ต้องตาย’ คือจุดรวมฝันร้ายของเรา นี่คือมโนภาพแห่งความสยองขวัญของเรา มันเป็นหนังผีมิใช่หรือ? หนังผีสมควรเป็นเรื่องของสิ่งที่พาให้เราใจหายและหวาดผวา มันไม่ใช่รายงานข่าวหรือแม้กระทั่งสารคดี มันไม่มีหน้าที่เลคเชอร์ข้อมูลอะไรให้คุณเชื่อ มันมีไว้ให้คุณได้สัมผัสด้วยอารมณ์ความรู้สึก ก็เท่านั้นเอง เราดูดซึมยาพิษจากยุคสมัยมาถักทอเป็นภาพต้องมนต์สะกดเพื่อความสนุกเพลิดเพลินของคนดู”

"หนังผี-หนังสยองขวัญ จะทำหน้าที่ของมัน--คือไล่ผีและปลดปล่อยปมขมวดทางจิตให้เรา--ได้สำเร็จก็ต่อเมื่อมันไม่หลีกเลี่ยงสารพิษในผืนดินถิ่นกำเนิดของมัน แต่พร้อมที่จะหยั่งรากลึกลงไปในก้นบึ้งของพิษร้ายนั้นอย่างเต็มอกเต็มใจและเต็มที่"

“มาถึงวันนี้ แทนที่จะเป็นอันธพาลคลั่งเจ้าที่เราต้องกลัว เรามีกลุ่มคนบ้าคลั่งกลุ่มอื่นที่ไร้เหตุผลและนิยมความรุนแรงอย่างแท้จริง อันเป็นผลงานมหกรรมปั่นหัวโดยเครื่องจักรทักษิณ ดังนั้น ไม่ว่าเขาจะอ้างว่าเขาเป็นซ้ายหรือว่าเป็นขวาไม่ใช่ประเด็น แต่คนลักษณะนี้ทำให้ชีวิตของเราและของบ้านเมืองไร้เหตุผลและเสียสติ ทำให้ความสงบเหือดหายและเป็นไปไม่ได้ เช่นเดียวกับเยอรมันกับนาซี เราควรให้ลูกหลานทุกคนได้เห็นภาพนี้ เราควรจดจำมันไว้เสมอ ไม่ใช่เพื่อโหมไฟอาฆาตพยาบาทต่อกัน แต่เพื่อเตือนใจทุกคน รวมทั้ง‘คนดี’ อย่างที่เราคิดว่าเราเป็นด้วย ที่อาจกลายเป็นปีศาจได้ ถ้าถูกยั่วยุเกินทน”

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“เอ็นแอลดี” ชนะเลือกตั้งซ่อมถล่มทลาย 43 เขต - รัฐบาลได้ที่นั่งเดียว

$
0
0

แถม “เอ็นแอลดี” ชนะยก 4 เขตที่เนปิดอว์ด้วย ส่วนพรรคสหสามัคคีและการพัฒนาซึ่งเป็นพรรครัฐบาล และพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยไทใหญ่ “พรรคเสือเผือก” ชนะพรรคละ 1 ที่นั่ง

คณะกรรมการการเลือกตั้งสหภาพ หรือ กกต. พม่า ตีพิมพ์ประกาศผลการเลือกตั้ง สมาชิกสภาประชาชน (ส.ส.) สมาชิกสภาชนชาติ (ส.ว.) และสมาชิกสภาภูมิภาค ในหนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์เมื่อ 3 เม.ย. ที่ผ่านมา (ดูภาพขนาดใหญ่คลิกที่นี่ [1]. [2]]

กกต.ประกาศผลเลือกตั้งซ่อมล็อตแรก 40 เขต “ซูจี” นำ NLD ชนะยกเขต

หนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ของรัฐบาลพม่าฉบับวันที่ 3 เม.ย. ได้ตีพิมพ์ประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้งสหภาพ (Union Election Commission) ซึ่งออกประกาศ 3 ฉบับ ลงนามโดยนายทิน เอ (Tin Aye) ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งสหภาพ โดยประกาศทั้ง 3 ฉบับ ประกอบด้วย ประกาศฉบับที่ 17/2012 ประกาศรายชื่อสมาชิกสภาประชาชน (Pyithu Hluttaw) หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประกาศฉบับที่ 18/2012 ประกาศรายชื่อสมาชิกสภาชนชาติ (Amyotha Hluttaw) หรือสมาชิกวุฒิสภา และประกาศฉบับที่ 19/2012 ประกาศรายชื่อสมาชิกสภาภูมิภาค

โดยประกาศฉบับที่ 17/2012 ประกาศรายชื่อ ส.ส. จำนวน 35 เขต ผลปรากฏว่าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD ชนะการเลือกตั้งซ่อมทั้ง 35 เขต ที่จัดขึ้น ในจำนวนนี้มีนางออง ซาน ซูจี ซึ่งชนะการเลือกตั้งที่เขตกอว์มู ทางตอนใต้ของย่างกุ้งด้วย ส่วนที่ภาคอิระวดีที่เขตมหย่องมยะ (Myaungmya) บ้านเกิดของนางขิ่นจี (Khin Gyi) มารดาผู้ล่วงลับของนางออง ซาน ซูจี ผลปรากฏว่านายมาน จอห์นนี่ (Mann Johny) จากพรรค NLD ชนะการเลือกตั้งเขตนี้เช่นกัน

 

เหมายกเขตที่ “เนปิดอว์” แกนนำ Generation Wave ชนะเลือกตั้งด้วย

ที่น่าสนใจก็คือผู้สมัครจากพรรคเอ็นแอลดียังชนะการเลือกตั้งที่กรุงเนปิดอว์ เมืองหลวงใหม่พม่ายกเขต ได้แก่ 1.นางซันดา มิน (Sanda Min) จากพรรค NLD ชนะที่เขตซาบูติริ (Zabuthiri) 2. นายหน่าย งัน ลิน (Naing Ngan Lin) อดีตติวเตอร์นักเรียนมัธยม ชนะที่เขตเด็กกินาติริ (Dekkhinathiri) 3. นายเฟียว เซยา ดอว์ หรือ เซยา ดอว์ แกนนำกลุ่มเยาวชนฮิปฮอปพม่า “Generation Wave” ซึ่งเคยถูกทางการพม่าจับกุมหลังเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล ก็ชนะการเลือกตั้งที่เขตโปบปาติริ (Pobbathiri) และ 4. นายมินตู่ ชนะที่เขตโอตะระติริ (Ottarathiri)

ส่วนประกาศฉบับที่ 18/2012 ประกาศรายชื่อ ส.ว. ที่ได้รับเลือกตั้งจำนวน 3 เขต ที่ภาคพะโค ปรากฏว่าพรรค NLD ชนะทุกเขต ส่วนประกาศฉบับที่ 19/2012 ประกาศรายชื่อสมาชิกสภาภูมิภาคจำนวน 2 เขต ที่ภาคพะโคปรากฏว่าพรรค NLD ชนะทุกเขตเช่นกัน

 

คณะกรรมการการเลือกตั้งสหภาพ หรือ กกต. พม่า ตีพิมพ์ประกาศผลการเลือกตั้ง สมาชิกสภาประชาชน (ส.ส.) สมาชิกสภาชนชาติ (ส.ว.) เพิ่มเติมลงในหนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ฉบับวันนี้ (4 เม.ย.) ทำให้สรุปผลการเลือกตั้งซ่อมทั้งหมด 45 ที่นั่ง พรรค NLD กวาด 43 ที่นั่ง พรรค USDP ได้ 1 ที่นั่ง และพรรค SNLD ได้ 1 ที่นั่ง (ดูภาพขนาดใหญ่คลิกที่นี่)

ประกาศผลเลือกตั้งอีก 5 เขต NLD ชนะ 3 พรรครัฐบาล-เสือเผือกได้ 1 ที่นั่ง

ล่าสุดวันนี้ (4 เม.ย.) หนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ได้ตีพิมพ์ประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้งสหภาพเพิ่มเติมอีก 2 ฉบับ ได้แก่ ประกาศฉบับที่ 20/2012 ประกาศรายชื่อสมาชิกสภาประชาชน หรือ ส.ส. ประกาศฉบับที่ 21/2012 ประกาศรายชื่อสมาชิกสภาชนชาติ หรือ ส.ว.

โดยประกาศฉบับที่ 20/2012 ประกาศรายชื่อ ส.ส. 2 เขต ผลปรากฏว่าผู้สมัครจากพรรค NLD ชนะการเลือกตั้งที่ภาคสะกาย 1 เขต และที่ภาคตะนาวศรี 1 เขต ส่วนประกาศฉบับที่ 21/2012 ประกาศรายชื่อ ส.ว. 3 เขต

โดยที่ภาคสะกาย โดยผลปรากฏว่า นพ.มินท์ หน่าย จากพรรค NLD ชนะการเลือกตั้งที่เขต 3 ส่วนนายทิน เมียะ จากพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา หรือ USDP ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลชนะที่เขต 7 โดยที่เขตนี้ไม่มีคู่แข่งจากพรรค NLD เนื่องจากถูกตัดสิทธิ์ลงสมัคร ส.ส.เพราะขาดคุณสมบัติ

ส่วนที่รัฐฉาน จายสานมิ้น ผู้สมัคร ส.ว.จาก “พรรคเสือเผือก” หรือพรรคสันนิบาตแห่งชาติไทใหญ่เพื่อประชาธิปไตย หรือ SNDP ชนะการเลือกตั้ง ส.ว. ที่เขต 3 ที่เมืองล่าเสี้ยว โดยสามารถเฉือนเอาชนะผู้สมัครจากพรรค NLD ได้สำเร็จ

ทำให้การเลือกตั้งซ่อมทั้ง 45 เขต เมื่อ 1 เม.ย. ผลปรากฏว่า ในการเลือกตั้ง ส.ส. ทั้ง 37 เขต พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD ชนะทั้ง 37 เขต

ส่วนการเลือกตั้ง ส.ว. ทั้ง 6 เขต พรรค NLD ชนะ 4 เขต พรรคสหสามัคคีและการพัฒนา หรือ USDP ชนะ 1 เขต และพรรคสันนิบาตแห่งชาติไทใหญ่เพื่อประชาธิปไตย หรือ SNDP ชนะ 1 เขต ที่เมืองล่าเสี้ยว ส่วนการเลือกตั้งสภาภูมิภาค พรรค NLD ชนะทั้ง 2 เขต

อย่างไรก็ตาม มีเขตเลือกตั้งซ่อมที่เหลืออีก 3 เขต ในรัฐคะฉิ่นที่ต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไป เนื่องจากคณะกรรมการการเลือกตั้งสหภาพให้เหตุผลว่าเนื่องจากปัญหาด้านความปลอดภัย

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เลขาฯยูเอ็นประณามคาร์บอมบ์ใต้ยันเข้าข่ายก่อการร้าย

$
0
0

 

เลขาฯยูเอ็นประณามคาร์บอมบ์เมืองไทย

นายบันคีมูน เลขาธิการสหประชาชาติ ได้ออกมาประณามเหตุการณ์คาร์บอมบ์ในภาคใต้ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2555 แถลงการณ์ที่ออกโดยโฆษกเลขาธิการสหประชาชาติระบุว่า เลขาธิการฯ ขอประณามเหตุการณ์คาร์บอมบ์ในจังหวัดสงขลาและยะลา ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้มีผู้ที่เสียชีวิตอย่างน้อย13 คน บาดเจ็บหลายร้อยคน เลขาธิการฯ เห็นว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นการก่อการร้าย ซึ่งเป็นสิ่งเลวร้ายอย่างยิ่ง พร้อมกับขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับรัฐบาลไทยและชาวไทย รวมทั้งผู้สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไป

รายงานข่าวจากจังหวัดสงขลาแจ้งว่า จนถึงวันที่ 3 เมษายน 2555 ยังมีผู้บาดเจ็บจากเหตุระเบิดโรงแรมลีการ์เด้นส์ พลาซ่า ที่ยังรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลต่างๆ 54 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยหนัก 19 ราย

เคลียร์โรงแรมให้รับรถคืน

ส่วนบรรยากาศที่หน้าโรงแรม ลี การ์เดนส์ พลาซ่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เจ้าหน้าที่ได้เปิดถนนรอบโรงแรมลีการ์เด้นส์ พลาซ่าให้สัญจรได้ตามปกติแล้ว ขณะเดียวกันทางเทศบาลนครหาดใหญ่ได้ประกาศให้เจ้าของรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่นำเข้าไปจอดไว้ในลานจอดรถใต้ดินชั้นบี 1–บี 5 ของโรงแรมลีการ์เด้นส์ พลาซ่า เข้าไปตรวจสอบทรัพย์สินและนำรถออกมาได้แล้ว หลังจากทหารและหน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิดเคลียร์พื้นที่ลานจอดรถแล้วเสร็จ

ทั้งนี้ มีประชาชนเจ้าของรถยนต์และรถจักรยานยนต์มาเฝ้ารอรับรถหลายร้อยคน โดยอนุญาตให้เฉพาะนำรถจักรยานยนต์ออกเท่านั้น ส่วนรถยนต์ยังไม่อนุญาตให้นำออกมาจากลานจอดรถชั้นใต้ดิน เนื่องจากมีหลายคันที่ได้รับความเสียหายอย่างหนัก แต่อนุญาตให้เจ้าของลงไปดูสภาพรถ และตรวจสอบทรัพย์สินที่อยู่ภายในรถได้ มีเจ้าของรถยนต์และรถจักรยานยนต์ทยอยรับรถและตรวจสอบทรัพย์สินที่อยู่ภายในรถอย่างต่อเนื่อง

พ.ต.อ.เอกภพ ประสิทธิ์วัฒนชัย รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา กล่าวว่า จากการตรวจสอบจนถึงขณะนี้ ไม่มีรถที่เอกสารหลักฐานไม่ตรงกับตัวรถหลายสิบคันตามที่เป็นข่าว พบเพียงรถบางคันไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียนเท่านั้น

อาจต้องทุบบี2 บี 3

นายสุกิจ วัฒนาวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักการช่างเทศบาลนครหาดใหญ่ เปิดเผยว่า ทางวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย จะส่งผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโยธามาร่วมตรวจสอบโครงสร้างของโรงแรม โดยเฉพาะชั้นใต้ดินที่เกิดเหตุระเบิดว่า ยังสามารถใช้งานได้หรือไม่ หรือต้องปรับปรุงโครงสร้างส่วนใดบ้าง

นายไพร พัฒโน นายกเทศมนตรีเทศบาลนครหาดใหญ่ เปิดเผยว่า ได้เชิญวิศวกรจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เข้าไปตรวจสอบโครงสร้างของโรงแรม ลีการ์เดนส์แล้ว พบว่า โครงสร้างยังแข็งแรง มีเฉพาะชั้นบี 2 และบี 3 ที่ได้รับแรงระเบิดอาจจะต้องทุบทิ้ง แต่ต้องรอวิศวกรผู้เชี่ยวชาญพร้อมเครื่องมือพร้อม เข้ามาตรวจสอบอีกครั้งในเร็วๆ นี้

พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากการตรวจวัตถุพยานในที่เกิดเหตุ ระเบิดที่คนร้ายใช้เป็นระเบิดแสวงเครื่องชนิดเอ็มโฟ ใช้สารแอมโมเนียไนเตรทผสมน้ำมันบรรจุถังแก๊สขนาด 15 กิโลกรัม 2 ถัง ขณะนี้กำลังหาเบาะแสของผู้ต้องสงสัยจากภาพกล้องวงจรปิดที่จับภาพไว้ได้ ทั้งสองคนเป็นแนวร่วมที่มีประวัติอยู่แล้ว

รู้ตัวสองมือบึ้มลีการ์เดนส์ พลาซ่า

รายงานข่าวจากกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 แจ้งว่า ล่าสุดตำรวจทราบตัวสองคนร้ายที่ขับรถคาร์บอมบ์แล้ว จากเบาะแสของกล้องวงจรปิด ทั้งสองคนมีความเชี่ยวชาญในการก่อวินาศกรรมและได้รับการฝึกฝนมาอย่างดีจากต่างประเทศ ลักษณะของคาร์บอมบ์ต้องการที่จะให้เกิดความสูญเสียให้มากที่สุด เนื่องจากจุดที่คนร้ายขับรถลงไปจอดบริเวณชั้น บี 3 เป็นจุดกึ่งกลางบริเวณลานจอดรถที่อยู่ชั้นใต้ดินทั้ง 5 ชั้น ต้องการให้ประกายไฟจากแรงระเบิดกระจายลุกลามไปติดรถยนต์คันอื่นๆ ที่ใช้น้ำมันหรือแก๊ส

เก๋งคาร์บอมบ์ประกอบจากรือเสาะ

สำหรับรถเก๋งที่ใช้ก่อเหตุประกอบระเบิดคาร์บอมบ์จากอำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส พร้อมกับรถยนต์กระบะอีกคัน ที่เตรียมนำไปก่อเหตุที่ว่าการอำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส แต่เกิดประสบอุบัติเหตุระหว่างทาง สำหรับกลุ่มผู้ก่อเหตุระเบิดคาร์บอมบ์ ที่อำเภอหาดใหญ่มีอย่างน้อย 5 คน ที่ตำรวจทราบชื่อแล้วคือ นายสบาเฮ นายิง ชาวอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา และนายเจะมะ หรือไคโร หรือมาค่อม ยานิ ชาวอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ทั้งสองมีหมายจับคดีลอบยิงนายสุนันท์ แก้วละเอียด นายช่างชลประทานลางา ที่ตำบลสะพานไม้แก่น อำเภอจะนะ

ผู้ว่าฯสงขลา ตั้งค่าหัว 1 ล้าน

นายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า ได้ตั้งรางวัลนำจับผู้แจ้งเบาะแสคนร้ายที่ก่อเหตุทั้งสองคน คนละ 5 แสนบาท ขณะเดียวกันได้เรียกประชุมหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในจังหวัดสงขลา เพื่อฟื้นฟูเมืองหาดใหญ่และหามาตรการรักษาความปลอดภัย โดยได้ขอให้ห้างร้านต่างๆ ปรับปรุงทางเข้าออกให้เหลือน้อยที่สุด จะได้ง่ายต่อการควบคุม พร้อมกับเตรียมจัดอบรมเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ในการตรวจสอบยานพาหนะ

สำหรับการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บหรือผู้เสียชีวิตนั้นจะใช้หลักเกณฑ์เดียวกับในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตามมติของคณะรัฐมนตรี เมื่อปี 2548 ผู้เสียชีวิตที่เป็นข้าราชการจะได้รับการเยียวยารายละ 5 แสนบาท ส่วนประชาชนรายละ 1 แสนบาท ผู้บาดเจ็บสาหัสรักษาตัวเกิน 20 วัน จ่าย 50,000 บาท หากน้อยกว่า 20 วัน จะจ่ายลดหลั่นกันลงมา เบื้องต้นทางจังหวัดได้ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บที่รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลทั้ง 337 คน ไปแล้วรายละ 14,000 บาท ส่วนกรณีนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียจะใช้หลักเกณฑ์เดียวกัน ส่วนทรัพย์สินของประชาชนที่เสียหาย จะจ่ายตามความเป็นจริง สามารถแจ้งได้ที่กองอำนวยการหน้าห้างลีการ์เดนส์ พลาซ่า ถ้าหากเกิน 7 วันให้ไปแจ้งที่อำเภอหาดใหญ่

เผาศพนักท่องเที่ยวมาเลเซีย

ช่วงบ่ายวันเดียวกัน ที่วัดศรีสว่างวงศ์ หรือวัดเกาะเสือ อำเภอหาดใหญ่ นายสุรพล พนัสอำพล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานพิธีฌาปนกิจนายโลเกียงโฮ ชาวมาเลเซียที่เสียชีวิตจากเหตุลอบวางระเบิดที่โรงแรมลีการ์เดนส์ พลาซ่า พร้อมกับนางยุพิน พุทธิมา ภรรยาชาวไทย ซึ่งนำศพไปตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดหลักเขต เขตเทศบาลตำบลสำนักขาม อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ในพิธีฌาปนกิจได้มีพี่ชายและญาติเดินทางมาจากประเทศมาเลเซีย นำอัฐิกลับไปบำเพ็ญกุศลที่บ้านเกิดในรัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย ขณะเดียวกันตัวแทนโรงแรม ลี การ์เดนส์ พลาซ่า ได้มอบเงินจำนวน 1.5 แสนบาท ช่วยเหลือครอบครัวของนายโลเกียงโฮด้วย สำหรับนายโลเกียงโฮ ทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง

เลขา ศอ.บต.ปัดไม่ได้คุยกับแกนนำบีอาร์เอ็น

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า  ข่าวตนไปเจรจากับแกนนำบีอาร์เอ็น ไม่เป็นความจริง ที่ผ่านมาตนพบกับคนหลายฝ่าย ทั้งในประเทศและประเทศมาเลเซีย แต่ไม่ใช่แกนนำบีอาร์เอ็น ที่มาเลเซียตนไปพบกลุ่มต้มยำกุ้ง ซึ่งเป็นคนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ไปประกอบอาชีพเปิดร้านอาหารในมาเลเซีย เพื่อช่วยเหลือให้ทำงานได้อย่างถูกกฎหมาย เพราะมีจำนวนมากที่เข้าไปอยู่ไม่ถูกต้อง

ส่วนคนในพื้นที่ได้พบปะพูดคุยกับผู้นำกลุ่มต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับแต่ละกลุ่ม แต่ไม่ได้พูดคุยกับแกนนำบีอาร์เอ็น ที่มีข่าวว่าตนแต่งตั้งนายนัจมุดดีน อูมา อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาส พรรคเพื่อไทยเป็นที่ปรึกษาก็ไม่เป็นความจริง ตั้งแต่มารับตำแหน่งยังไม่มีการแต่งตั้งใครเป็นที่ปรึกษาแม้แต่คนเดียว ส่วนการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นยอมรับว่ามี เพราะต้องการทุกคนมีส่วนร่วมแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

ค้น“ปอเนาะ”ยะลาหาหลักฐานโยงคาร์บอมบ์

บ่ายวันเดียวกัน พล.ต.ต.สุชาติ ธีระสวัสดิ์ หัวหน้าชุดสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมด้วยพ.อ.คมกฤช รัตนฉายา ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพราน ที่ 41 นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ และทหารหน่วยเฉพาะกิจยะลาที่ 11 ชุดทหารพรานที่ 41 เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ตำรวจพิสูจน์หลักฐานที่ 10 จังหวัดยะลา ชุดสืบสวนสอบสวนกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดยะลากว่า 150 นาย เข้าปิดล้อมตรวจค้นโรงเรียนตาร์เบียตุลวาตันมูลนิธิ เลขที่ 89 หมู่ที่ 1 ตำบลบันนังสาเร็ง อำเภอเมืองยะลา

เนื่องจากชุดสืบสวนและพนักงานสอบสวนได้รับแจ้งจากพยานว่า รถยนต์กระบะยี่ห้ออีซุซุดีแม็ก สีบรอนซ์ และรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า ไฮลักซ์ ไทเกอร์ สีขาว ที่นำไปเป็นคาร์บอมบ์ก่อเหตุที่ถนนรวมมิตร ในเขตเทศบาลเมืองยะลา พร้อมรถจักรยานยนต์อีก 2 คัน ที่ต้องสงสัย ว่าคอยดูเส้นทางและรับคนร้ายที่นำรถยนต์คาร์บอมบ์ไปจอดที่เกิดเหตุทั้ง 2 จุด เป็นจักรยานยนต์ที่ขับออกมาจากโรงเรียนตาร์เบียตุลวาตันมูลนิธิ

หลังจากใช้เวลาตรวจค้นนานกว่า 2 ชั่วโมงพบว่า บริเวณโรงเรียนดังกล่าวมีร่องรอยสติกเกอร์ถูกแกะตัวเลขตรงกับป้ายรถยนต์คาร์บอมบ์ นแกจากนี้ยังพบเศษสายไฟ แผงวงจรไฟฟ้า แผงวงจรอิเลคทรอนิคส์ เศษเหล็กเส้นที่ตัดแล้วจำนวนหนึ่ง น็อตตัวผู้–ตัวเมีย ปุ๋ยยูเรีย และสีโป้วรถยนต์ ตำรวจกองพิสูจน์หลักฐานที่ 10 จึงตรวจยึดสิ่งของทั้งหมดนำไปตรวจสอบ และเปรียบเทียบดีเอ็นเอว่า ตรงกับหลักฐานทั้งหมดที่ตกอยู่ในที่เกิดเหตุคาร์บอมบ์หรือไม่ ขณะนี้ยังไม่ได้ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย

ผู้ต้องสงสัย/ผู้ต้องหาความมั่นคงยะลารายงานตัว 10 ราย

วันเดียวกัน ที่ศูนย์ยะลาสันติสุข ห้องประชุมปกครอง ชั้น 2 อาคารศาลากลางจังหวัดยะลาหลังเก่า นายเดชรัฐ สิมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ยะลาสันติสุข ได้รับตัวผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดยะลาที่เข้ารายงานตัว 10 ราย มีนายนฤพล แหละตี ปลัดจังหวัดยะลา พ.อ.นพพร เรือนจันทร์ รองผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจยะลา พ.อ.คมกฤช รัตนฉายา ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 41 ข้าราชการตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้นำศาสนาเข้าร่วม

สำหรับผู้เข้ารายงานตัว แยกเป็น 1.ราษฎรที่ถูกต้องสงสัยว่าอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุความรุนแรง แต่ไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะสามารถออกหมายจับ 2 คน ประกอบด้วย นายมูอำหมัด แวกาจิ อายุ 19 ปี อยู่บ้านเลขที่ 67/1 หมู่ที่ 2 ตำบลพร่อน อำเภอเมือง จังหวัดยะลา 2.นายอับดุลตอฟา อุเซ็ง อายุ 44 อยู่บ้านเลขที่ 205/2 หมู่ที่ 1 ตำบลกาบัง อำภอกาบัง จังหวัดยะลา

2.ราษฎรที่มีหมายจับของทางราชการในคดีความมั่นคงขอเข้ามอบตัวต่อผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ซึ่งทางจังหวัดได้ออกหนังสือรับรองเพื่อใช้ประกอบในการยื่นคำขอปล่อยตัวชั่วคราว และได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจากพนักงานสอบสวนหรือศาล 3 คน ประกอบด้วย 1.นายบูรฮัน เดวอสนุน อายุ 23 ปี อยู่บ้านเลขที่ 11/1 หมู่ที่ 1 ตำบลยะลา อำเภอเมือง จังหวัดยะลา 2.นายมูฮัมหมัดฮัมดี กาหลง อายุ 24 ปี อยู่บ้านเลขที่ 8 หมู่ที่ 5 ตำบลกาบัง อำเภอกาบัง จังหวัดยะลา 3.นายสุขทา บากา อายุ 27 ปี อยู่บ้านเลขที่ 81 หมู่ที่ 2 ตำบลปะแต อำเภอยะหา จังหวัดยะลา

3.ราษฎรที่ตกเป็นจำเลยในคดีความมั่นคงและอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาล ซึ่งจังหวัดได้ออกหนังสือรับรองเพื่อใช้ประกอบในการยื่นคำขอปล่อยตัวชั่วคราวในคดีความมั่นคง และได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจากศาล 1 คนคือ นายอาสือหมาน บุหงา อายุ 27 ปี อยู่บ้านเลขที่ 8/4 หมู่ที่ 6 ตำบลอัยเยอร์เวง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา

4.ราษฎรที่ตกเป็นจำเลยในคดีความมั่นคง และปัจจุบันศาลได้พิพากษายกฟ้องคดีถึงที่สุด แต่ยังมีความหวาดระแวงในการประกอบอาชีพและดำรงชีวิต 4 คน ประกอบด้วย 1.นายอิบรอเฮง ลือมูซอ อายุ 28 ปี อยู่บ้านเลขที่ 3 หมู่ที่ 7 ตำบลกาบัง อำเภอกาบัง 2.นายซอมะ อาภิบาลแบ อายุ 41 ปี อยู่บ้านเลขที่ 42 หมู่ที่ 1 ตำบลบาเจาะ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา 3.นายดอเลาะ อภิบาลแบ อายุ 24 ปี อยู่บ้านเลขที่ 16 หมู่ที่ 1 ต.บาเจาะ อำเภแบันนังสตา 4.นายย๊ะยา อับดุลราซิ อายุ 36 ปี อยู่บ้านเลขที่ 10 ถนนเบาะเบาะ ตำบลบาเจาะ อำเภอบันนังสตา

นายเดชรัฐ กล่าวว่า ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2552 ถึงวันที่ 25 มกราคม 2555 มีผู้มาแสดงตนแล้ว 199 ราย ทางจังหวัดยะลายืนยันจะให้ความเป็นธรรมกับผู้เข้ารายงานตัวทุกๆ คน พร้อมกับจะดูแลเรื่องการประกอบอาชีพของผู้ที่เข้าแสดงตนด้วย เพื่อให้บุคคลเหล่านี้สามารถดำเนินชีวิตอยู่ในพื้นที่ได้อย่างมีความสุข

จับผู้ต้องสงสัยมือบึ้มตำรวจแม่ลาน

พล.ต.ต.พิเชษฐ ปิติเศรษฐพันธ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี เปิดเผยความคืบหน้าคดี หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ได้สนธิกำลังติดตามไล่ล่าผู้ต้องสงสัย ]v[วางระเบิดร้านอาหารหน้าโรงพักสถานีตรวจภูธรแม่ลานปัตตานี เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2555 เป็นเหตุให้ พ.ต.ท.จิตรกานต์ เกื้อก่อยอด รองผู้กำกับการปราบปราม สถานีตำรวจภูธรแม่ลานได้รับบาดเจ็บ ตามภาพที่ปรากฏในกล้องวงจรปิด สามารถควบคุมตัวได้ 1 ราย คือนายซัมลี ฮูลูดือเระ อายุ 34 ปี อยู่บ้านเลขที่ 36 หมู่ที่ 4 ตำบลโกตาบารู อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ได้ที่บริเวณร้านค้าส่วนราชการอำเภอแม่ลาน ห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 3 กิโลเมตร

ภายหลังจากการควบคุมตัวเจ้าหน้าที่ได้นำตัวไปตรวจค้นที่บ้านพัก พบของกลางจำนวนหลายรายการ เมื่อนำภาพถ่ายผู้ต้องสงสัยให้ผู้เสียหายดู หด้รับการยืนยันว่าเป็นคนเดียวกัน เบื้องต้นผู้ต้องสงสัยยังคงให้การปฏิเสธ ขณะนี้นำตัวไปควบคุมที่หน่วยเฉพาะกิจปัตตานี เพื่อซักถามและขยายผล และขออนุมัติหมายจับจากศาลปัตตานี

วางระเบิดเล่นงานทหาร

เมื่อเวลา 19.30 น. วันเดียวกัน พ.ต.อ.ต่วนเดร์ จุฑานันท์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรยะรัง จังหวัดปัตตานี ได้รับแจ้งเกิดเหตุระเบิดขึ้นหน้าปั๊ม ปตท. ริมถนนสายปัตตานี–ยะลา หมู่ที่ 5 บ้านพงสตา ตำบลยะรัง จึงนำกำลังไปตรวจสอบที่เกิดเหตุ จุดเกิดเหตุอยู่บริเวณสวนต้นไม้ข้างปั้ม พบหลุมระเบิดกว้าง 30 เซนติเมตร และชิ้นส่วนกล่องเหล็กบรรจุดินระเบิด สะเก็ดระเบิดกระจายไปทั่วบริเวณ รวมทั้งกระเด็นไปถูกกระจกรถยนต์ ยี่ห้อฮุนได ทะเบียน ฮน 7105 กทม. ได้รับความเสียหาย แต่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต จากการสอบสวนพบว่า ขณะที่ทหาร 3 นาย ออกรักษาความปลอดภัยบริเวณข้างปั้ม คนร้ายได้กดชนวนระเบิดแสวงเครื่องน้ำหนักประมาณ 5 กิโลกรัมที่นำมาฝังไว้

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อ้าย เหว่ย เหว่ย วางกล้องเว็บแคมในบ้านให้รัฐตรวจสอบได้!

$
0
0

อ้าย เหว่ย เหว่ย ศิลปินผู้วิจารณ์รัฐบาลจีน ตั้งกล้องเว็บแคมไว้ในบ้าน 4 ตัว ด้วยเหตุผลว่าเขาอยากแสดงให้เห็นความโปร่งใส หลังจากที่บริษัทออกแบบของเขาถูกรัฐบาลฟ้องข้อหาเลี่ยงภาษี

3 เม.ย. 2012 - อ้าย เหว่ยเหว่ย ศิลปินจีนที่ถูกรัฐบาลจีนสั่งกักบริเวณอยู่ในบ้านตั้งแต่ปีที่แล้ว (2011) ตั้งกล้องเว็บแคม 4 ตัวไว้ในบ้าน เพื่อแสดงความยินดีให้ตำรวจตรวจสอบเขาตลอด 24 ชั่วโมง

อ้าย ถูกสั่งกักบริเวณตั้งแต่เดือน เม.ย. 2011 ในช่วงที่มีการปราบปรามนักกิจกรรมทางการเมือง และในตอนนี้ถูกสั่งห้ามไม่ให้ออกจากกรุงปักกิ่ง

อ้าย กล่าวว่า การที่เขาติดตั้งกล้องวงจรปิดไว้ตามที่ต่างๆ รวมถึงเหนือเตียงของเขานั้นเพื่อเป็นการแสดงความโปร่งใสกับทุกฝ่าย 

ในตอนนี้อ้ายกำลังสู้คดีที่ถูกฟ้องเรื่องว่าบริษัท Fake Cultural Development จำกัดของเขาหนีภาษี หลังจากที่เขาถูกปล่อยตัวออกมาเมื่อเดือน มิ.ย. ปีที่แล้ว

อ้ายกล่าวว่า เขาไม่มีคำตอบที่แน่ชัดว่าเหตุใดเขาถึงถูกฟ้องและถูกให้อยู่ภายใต้การจับตาเฝ้าระวัง

"ในชีวิตของผม ผมถูกเฝ้าระวังและตรวจสอบมาก สำนักงานของผมถูกค้น ตัวผมเองถูกตรวจค้น ทุกๆ วันผมถูกติดตามตัว มีกล้องวงจรปิดอยู่หน้าบ้านของผม" อ้ายกล่าว

"ผมถึงคิดว่า ทำไมผมถึงไม่ใส่กล้องไว้เองเลยล่ะ คนพวกนี้จะได้เห็นกิจกรรมของผมทั้งหมด ผมทำเช่นนี้เพราะหวังว่าอีกฝ่ายก็จะแสดงความโปร่งใสออกมาเหมือนกัน"

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลจีนได้ยกเลิกการตัดสินใจที่จะมีคำสั่งให้บริษัทออกแบบของอ้ายจ่ายภาษี 2,400,000 ดอลลาร์ (ราว 74,000,000 บาท) เป็น "ภาษีย้อนหลัง"

นักกิจกรรมวิจารณ์ว่า ข้อหาดังกล่าวมีแรงจูงใจจากเรื่องการเมือง เนื่องจากอ้าย ผู้ที่เป็นศิลปินมีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ เป็นคนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจีนอยู่เสมอ

 

 

ที่มา
Chinese artist Ai Weiwei sets up live webcams at home, BBC, 03-04-2012

http://www.bbc.co.uk/news/world-asia-17601407

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ว่าด้วยการใช้ความรุนแรงของรัฐ: การกวาดล้างฝ่ายตรงข้าม vs การควบคุมจลาจล

$
0
0


แฟ้มภาพ: ประชาไท

ประเด็นการใช้ความรุนแรงและการไม่ใช้ความรุนแรงหรือสันติวิธี กลายเป็นประเด็นที่ค่อนข้างสับสนในสังคมไทย วิธีการเช่นไรที่ถือเป็นการใช้ความรุนแรง? การประท้วงด้วยการเทเลือดถือเป็นการใช้ความรุนแรงหรือไม่? การปราศรัยด้วยวาจาหยาบคายเป็นการใช้ความรุนแรงหรือไม่? การเพิกเฉยต่อการสังหารหมู่กลางเมืองหรือถึงขั้นยินดีในการฆ่าถือเป็นความรุนแรงหรือไม่? รัฐมีความชอบธรรมที่จะใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชนเมื่อไร? ความรุนแรงระดับไหนที่รัฐพึงใช้และไม่พึงใช้?

มีหลายประเด็นที่สามารถถกเถียงกันได้ไม่รู้จบและมีความเห็นไปได้ต่างๆ อาทิเช่น การใช้วาจาหยาบคายเป็นความรุนแรงหรือไม่ เป็นเรื่องที่วิวาทะกันไปได้อีกนานและคงหาข้อสรุปที่เป็นที่สุดหรือพึงพอใจของทุกฝ่ายได้ยาก แต่ก็มีบางประเด็นสำคัญๆ ที่มีบรรทัดฐานและหลักปฏิบัติชัดเจน ทั้งยังปฏิบัติกันเป็นส่วนมากในประเทศที่ “เจริญแล้ว” ทั่วโลก แต่กลับกลายเป็นเรื่องที่สับสนและไม่เข้าใจกันในสังคมไทยอย่างไม่น่าเชื่อ ยกตัวอย่างเช่น คำถามว่า ความรุนแรงระดับไหนที่รัฐพึงใช้และไม่พึงใช้ต่อประชาชน เป็นต้น

ความสับสนที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะสังคมไทยเป็นสังคม “ฟังครู” จึงมีอาจารย์นักวิชาการผู้รู้กูรูทั้งหลายเต็มไปหมดในสื่อต่างๆ เมื่อเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้นมาในสังคม เราก็คอยฟังว่าเจ้าสำนักสิทธิมนุษยชนและสันติวิธีจะออกมา “ฟันธง” ว่าอย่างไร แต่อย่างที่ผู้เขียนเคยเขียนไว้ในที่อื่นๆ แล้วว่า เจ้าสำนักเหล่านี้ส่วนใหญ่มักไม่ใช่นักปฏิบัติการทางการเมืองโดยตรง อย่างมากที่สุดก็เป็นนักล้อบบี้ทางการเมืองมากกว่า (แม้ว่าการล้อบบี้นั้นจะทำไปด้วยเจตนาดีก็ตาม) อีกทั้งมาตรฐานการปฏิบัติของเจ้าสำนักส่วนใหญ่ก็สับสนมาก พวกเขาออกมาพูดในเหตุการณ์หนึ่งและหายหน้าไปในอีกเหตุการณ์หนึ่ง พวกเขาแสดงความคิดเห็นคัดค้านในเหตุการณ์หนึ่ง แต่ในอีกเหตุการณ์คล้ายๆ กันกลับสนับสนุนหน้าตาเฉย การออกมาแสดงความคิดเห็นของเจ้าสำนักหลายคนผูกติดอยู่กับการเมืองในขณะนั้นมากกว่าหลักการทางปรัชญาเสียอีก

ผู้เขียนจึงคิดว่า เราควร “นอกครู” เสียหน่อย แทนที่จะรอให้ใครมานิยามความรุนแรงและความไม่รุนแรงให้ ประชาชนควรช่วยกันสร้างคำนิยามกันเองและสร้างหลักการของประชาชนขึ้นมาเอง เช่น กระบวนการประท้วงแบบไหนที่ถือว่าสันติวิธี? ประชาชนอาจเห็นว่า การผลักดันกับแนวต้านของตำรวจ/ทหารไม่เห็นจะเป็นความรุนแรงตรงไหน หรือการด่า/ขว้างขวดน้ำใส่ตำรวจ/ทหารที่ยิงใส่เพื่อนไม่ถือเป็นการใช้ความรุนแรง แต่การพกอาวุธที่สามารถฆ่าคนได้ เช่น มีด ปืนหรือกระบอง/ไม้ตีกอล์ฟ ไปร่วมชุมนุม ถือเป็นการใช้ความรุนแรง เป็นต้น ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องมาตกลงกัน หลักการที่เราสร้างขึ้นเอง เราก็ควรยึดถือโดยไม่ไปคำนึงถึงผลได้ผลเสียทางการเมืองเฉพาะหน้า และไม่ยึดถือมันแบบลักปิดลักเปิดด้วย

ในบทความนี้ ผู้เขียนขอนำเสนอประเด็นการใช้ความรุนแรงของรัฐ

การใช้ความรุนแรงของรัฐเพื่อปราบปรามพลเมืองในชาติหรือชาติอื่น มักถูกเรียกเป็นภาษาไทยรวมๆ กันว่า “การปราบจลาจล” แต่ในภาษาอังกฤษจะแยกออกเป็นสองคำที่แตกต่างกัน คำแรกคือ counterinsurgency และคำที่สองคือ riot control
 

Counterinsurgency: การกวาดล้างฝ่ายตรงข้าม
คำว่า counterinsurgency มักแปลอย่างเป็นทางการว่า “การต่อต้านการก่อกบฏ” หรือ “การต่อต้านการก่อความไม่สงบ”

อันที่จริง คำว่า counterinsurgency เป็นคำที่เกิดมาพร้อมกับนัยยะทางการเมือง และกระบวนการ counterinsurgency ใช้กับการต่อต้านการก่อกบฏของคนในชาติน้อยกว่าใช้กับการต่อต้านการลุกฮือของคนชาติอื่น กล่าวคือ counterinsurgency มักใช้ในสงครามและการยึดครอง และหากใช้กับคนในชาติ ก็มักเกิดขึ้นในสภาวะที่ระบอบดั้งเดิมง่อนแง่นใกล้พังทลาย counterinsurgency มีประวัติศาสตร์ที่ผูกพันแนบแน่นกับการล่าอาณานิคมและยุคสงครามเย็น ดังนั้น ผู้เขียนจึงเห็นว่า คำๆ นี้ควรแปลว่า “การกวาดล้างฝ่ายตรงข้าม” จะให้ความหมายที่ตรงไปตรงมามากกว่า

วิกิพีเดียอธิบายว่า “การกวาดล้างฝ่ายตรงข้าม” เป็นการผสมผสานยุทธวิธีทางการทหารเข้ากับยุทธวิธีอื่นๆ ดังนั้น มันจึงมีตั้งแต่การใช้กำลังอาวุธปราบปรามโดยตรง การใช้กลยุทธ์ “แบ่งแยกและปกครอง” เพื่อให้อีกฝ่ายเกิดความแตกแยก การโฆษณาชวนเชื่อ เช่น สร้างภาพว่าอีกฝ่ายน่าเกลียดน่ากลัวเหมือนยักษ์ปิศาจมารร้าย ใช้วิธีการทางจิตวิทยาเพื่อปลุกปั่น แม้กระทั่งการลอบสังหารบุคคลสำคัญของฝ่ายตรงข้าม

ประเด็นสำคัญอันหนึ่งของ “การกวาดล้างฝ่ายตรงข้าม” ก็คือ การแยกแยะประชาชนออกเป็นสามส่วน กล่าวคือ กลุ่มก่อการที่เป็นแกนของการต่อสู้กับรัฐ หรือ “แนวหน้า” กลุ่มประชาชนที่เป็นผู้สนับสนุนแต่ไม่ได้ติดอาวุธหรือเป็นแกนนำโดยตรง ซึ่งเรามักเรียกว่า “แนวหลัง” และกลุ่มสุดท้ายคือประชาชนทั่วไปที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่

ดังที่กล่าวแล้วว่า แนวคิดของการกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามในยุคสมัยใหม่มีความเชื่อมโยงอย่างยิ่งกับยุคสงครามเย็น การแยกแยะระหว่าง “แนวหน้า” กับ “แนวหลัง” เป็นประเด็นที่มีปัญหามากที่สุด เนื่องจากยุทธวิธีของขบวนการเหมาอิสต์เป็นไปตามที่กล่าวว่า “นักรบจรยุทธ์พึงว่ายอยู่ในหมู่ประชาชนดังเช่นปลาว่ายในท้องทะเล” รัฐที่ดำเนินการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา จึงพยายามค้นหาทั้ง “แนวหน้า” ที่ซุกซ่อนในหมู่ประชาชนและ “แนวหลัง” ที่คอยส่งเสบียงกำลังให้ การหาทางกวาดล้าง “แนวหน้า” และ “แนวหลัง” นี้เอง กลายเป็นประเด็นที่หมิ่นเหม่หรือละเมิดศีลธรรมที่สุดของกระบวนการกวาดล้างฝ่ายตรงข้าม ตัวอย่างมีให้เห็นมากมาย นับตั้งแต่การฆ่าล้างหมู่บ้านในสงครามเวียดนาม มาจนถึงการกราดยิงใส่ประชาชนในสงครามอิรัก และเป็นเรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่า ยุทธการกวาดล้างฝ่ายตรงข้าม หรือ counterinsurgency ไม่เคยประสบความสำเร็จอย่างแท้จริงเลยในการสร้างความมั่นคงดังที่รัฐต้องการ ผลกลับเป็นตรงกันข้าม นั่นคือรังแต่จะสร้างความโกรธแค้นและขยายวงความขัดแย้งออกไป

Riot Control: การควบคุมจลาจล
วิธีการควบคุมฝูงชนด้วยการใช้ความรุนแรงของรัฐอีกวิธีหนึ่งก็คือ riot control ซึ่งขอแปลว่า “การควบคุมจลาจล” หมายถึงการใช้กำลังตำรวจ ทหารหรือกองกำลังฝ่ายความมั่นคงอื่นๆ เข้าควบคุม แยกสลายและจับกุมประชาชนที่ก่อจลาจลหรือประท้วง ประเด็นสำคัญของการควบคุมจลาจลก็คือ กองกำลังของรัฐจะใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำหรืออาวุธที่ไม่ทำให้ถึงตายเป็นหลัก (less lethal weapon และ non-lethal weapon) อาทิเช่น กระบอง รถฉีดน้ำ แก๊สน้ำตา สเปรย์พริกไทย กระสุนยาง ฯลฯ

หากเราดูข่าวต่างประเทศ จะเห็นว่าประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกาและยุโรป มักใช้วิธีการนี้สลายการชุมนุม แม้กระทั่งการจลาจลกลางกรุงลอนดอนเมื่อปีที่แล้ว รัฐบาลอังกฤษก็ยังใช้วิธีการควบคุมจลาจลแบบนี้เป็นหลัก เป้าหมายของการควบคุมฝูงชนแบบนี้ก็คือ เพื่อให้มีอัตราการตายของประชาชนต่ำที่สุด โดยมองว่าประชาชนที่ก่อความวุ่นวายนี้เป็นพลเมืองของชาติที่มีความคิดแตกต่างออกไปเท่านั้นเอง

การควบคุมจลาจลแบบนี้ไม่ใช่ของใหม่ มันมีอายุมากกว่า 100 ปี โดยเริ่มจากจักรวรรดินิยมอังกฤษ ซึ่งใช้วิธีการนี้ในอาณานิคมของตน มีการประดิษฐ์กระสุนปลอม กระสุนไม้ และมุ่งยิงไปที่หัวเข่าของผู้ประท้วง จนเรียกกระสุนประเภทนี้ว่า knee-knockers วิธีการควบคุมจลาจลที่ไม่มุ่งชีวิตผู้ประท้วงเช่นนี้มีผลอย่างไรหรือไม่ต่อความเป็นปึกแผ่นยาวนานของจักรวรรดินิยมอังกฤษ เป็นเรื่องที่น่าสนใจศึกษาอย่างยิ่ง

ในปัจจุบัน หลายประเทศมีกฎหมายห้ามใช้อาวุธที่ทำให้ถึงตาย (lethal weapon) อย่างเด็ดขาดในการสลายการชุมนุมทุกกรณี ประเด็นที่มักถกเถียงกันก็คือ อาวุธอะไรที่ควรใช้และไม่ควรใช้ในการควบคุมจลาจล อาวุธที่ใช้กันมากที่สุดก็คือ แก๊สน้ำตา ซึ่งพัฒนามาจากการต่อสู้ในสนามเพลาะในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และสหรัฐอเมริกานำมาใช้ในการควบคุมจลาจลตั้งแต่ยุคทศวรรษ 1920 โดยใช้ปราบปรามการจลาจลของนักโทษในคุกและสลายการชุมนุมของขบวนการสิทธิพลเมืองในสมัยนั้น

กระสุนยาง แม้จะมีอานุภาพร้ายแรงน้อยกว่ากระสุนจริง แต่ก็สามารถทำให้เกิดความพิการ ทุพพลภาพหรือถึงขั้นเสียชีวิตได้ นิตยสาร The Lancet เคยศึกษาผลเสียร้ายแรงของการใช้กระสุนยาง และองค์การ Human Rights Watch เรียกร้องให้นานาชาติยกเลิกการใช้อาวุธนี้
 

“กวาดล้างฝ่ายตรงข้าม” หรือ “ควบคุมจลาจล”: ประชาชนในสายตาของรัฐและชนชั้นนำไทย
ถ้าดูจากแนวคิดและมาตรการที่แตกต่างกันของ “การกวาดล้างฝ่ายตรงข้าม” กับ “การควบคุมจลาจล” ข้างต้น แล้วย้อนมาดูวิธีการสลายการชุมนุมของรัฐไทย ซึ่งทำให้เกิดการสังหารหมู่ประชาชนมาหลายต่อหลายครั้ง เราพอสรุปได้ว่า รัฐและชนชั้นนำไทยยังหมกมุ่นฝังหัวอยู่ในยุคอาณานิคมและยุคสงครามเย็น

โดยเฉพาะในเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 2553 การที่เกิดกรณีกองกำลังของกองทัพไทยยิงใส่สื่อมวลชน เจ้าหน้าที่กู้ภัยและพยาบาลจำนวนมาก ตลอดจนการกวาดจับประชาชนเสื้อแดงตามต่างจังหวัดโดยไม่เลือกหน้า สะท้อนให้เห็นว่า รัฐ ชนชั้นนำและกองทัพไทยยังคงมีวิธีคิดแบบ “กวาดล้างฝ่ายตรงข้าม” และคิดว่า การฆ่า “แนวหน้า” และการปราบปราม “แนวหลัง” ของคนเสื้อแดงอย่างรุนแรง จะสามารถสร้าง “ความมั่นคง” ให้เกิดขึ้นแก่สถานภาพของตนเอง น่าเสียดายที่นักยุทธศาสตร์ของกองทัพไทยยังเลือกที่จะใช้วิธีการแบบสงครามเวียดนามกับพลเมืองในประเทศของตัวเอง ทั้งๆ ที่วิธีการแบบนี้พิสูจน์แล้วว่าไม่เคยได้ผล ไม่ว่าจะในสงครามเวียดนาม สงครามอิรัก หรือสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ทั้งนี้อาจเป็นเพราะทัศนคติของชนชั้นนำไทยที่มองว่าประชาชนไม่ใช่พลเมือง หากประวัติศาสตร์ไทยเป็นประวัติศาสตร์ของการเสียดินแดน มองในมุมกลับ ประวัติศาสตร์ไทยก็คือประวัติศาสตร์ของการยึดครองด้วย ชนชั้นนำยังคงมองต่างจังหวัดและคนต่างจังหวัดหรือกระทั่งรวมไปถึง “คนจน” และ “คนที่คิดต่าง” เสมือนเป็น “เชลยสงคราม” ภายใต้การยึดครองของกรุงเทพฯ การจมอยู่ในประวัติศาสตร์แบบอาณานิคมทำให้ชนชั้นนำคิดว่าตัวเองอยู่ในภาวะยึดครองหรือภาวะสงครามตลอดเวลา ดังนั้น การละเมิดชีวิตของ “เชลยสงคราม” จึงไม่ถือเป็นความผิดทางศีลธรรม ทั้งยังคิดว่าจะทำให้สถานภาพของตนมั่งคงต่อไป

รัฐไทยจึงยังเป็นรัฐยุคดึกดำบรรพ์ ไม่ใช่รัฐประชาชาติที่ประชาชนมีส่วนเป็นเจ้าของประเทศร่วมกัน ประเทศนี้เป็นของสถาบันกษัตริย์ กองทัพ ราชการ รัฐบาล ฯลฯ เรามักได้ยินการทวงบุญคุณหรืออ้างความเป็นเจ้าของประเทศ และบอกปัดว่าประชาชนเป็นเพียงผู้อยู่อาศัยหรือพึ่งใบบุญเสมอ หากชนชั้นนำไทยไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลงของโลกและสังคมสมัยใหม่ ไม่ยอมรับการเป็นรัฐประชาชาติ แทนที่จะทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคงสถาพรดังที่หวังไว้ ชนชั้นนำไทยกลับกลายเป็นต้นตอที่ก่อให้เกิดความไม่มั่นคงและความไม่มีเสถียรภาพเสียเอง


มาตรฐานในการคัดค้านการใช้ความรุนแรงของรัฐ

หากพิจารณาจากที่นำเสนอมาทั้งหมดข้างต้น ผู้เขียนขอเสนอว่า เราควรคัดค้านการใช้ความรุนแรงของรัฐในทุกกรณีที่รัฐใช้อาวุธสงครามมาปราบปรามประชาชน ไม่ว่าประชาชนกลุ่มนั้นจะเป็นเสื้อเหลืองเสื้อแดงหรือชาวมุสลิมก็ตาม ไม่ว่าจะไม่มีใครเสียชีวิตเลย เช่น ในกรณีเมษา 2552 การนำอาวุธสงครามมาใช้กลางเมืองก็ยังถือเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ รัฐไทยควรออกกฎหมายห้ามใช้อาวุธร้ายแรงถึงชีวิตในการสลายการชุมนุมหรือปราบจลาจล ออกกฎหมายห้ามทำรัฐประหาร ย้ายค่ายทหารออกไปชายแดน หรือดังเช่นในหลายประเทศที่มีกฎหมายห้ามกองกำลังทหารเข้ามาในเมือง นอกจากนี้ รัฐไทยควรฝึกอบรมเจ้าหน้าที่หน่วยปราบจลาจลให้มีประสิทธิภาพ มีทัศนคติที่ดีต่อประชาชนมากกว่านี้ด้วย

ในกรณีของการชุมนุมประท้วง เช่น การยึดถนนราชประสงค์ของกลุ่มคนเสื้อแดงนั้น หากรัฐไทยใช้วิธีการควบคุมจลาจลในการสลายการชุมนุมและปฏิบัติการตั้งแต่เริ่มแรกที่มีการชุมนุม ดังเช่นที่รัฐบาลอังกฤษใช้สลายการชุมนุมหน้าธนาคารแห่งชาติอังกฤษเมื่อ ค.ศ. 2009 และเยอรมนีใช้ในการสลายการชุมนุมใน ค.ศ. 2010 ผู้เขียนคิดว่าเป็นสิ่งที่เรา “พึงยอมรับได้”

ข้อถกเถียงอาจมีอยู่ เช่น ในกรณีการสลายการชุมนุมเมื่อ พ.ศ. 2551 ซึ่งทำให้นางสาวอังคณา ระดับปัญญาวุฒิเสียชีวิตนั้น เป็นเรื่องที่ควรมีการสอบสวนว่าเจ้าหน้าที่กระทำการเกินกว่าเหตุหรือไม่ แต่ไม่ใช่ข้ออ้างที่จะนำมาใช้ปฏิเสธวิธีการควบคุมจลาจล นอกจากนี้ เราควรถกเถียงและค้นคว้าเกี่ยวกับอาวุธไม่ร้ายแรงถึงชีวิตที่รัฐควรใช้หรือไม่ควรใช้ เช่น การใช้อุปกรณ์ LRAD ในการสลายการชุมนุมของแรงงานไทรอัมพ์นั้น การใช้อุปกรณ์ที่อาจทำให้เกิดการพิการถาวรเป็นสิ่งที่พึงใช้หรือไม่ เป็นต้น

ประเด็นที่สำคัญก็คือ การประท้วงหรือคัดค้านการใช้ความรุนแรงของรัฐในการสลายการชุมนุม ควรตั้งอยู่บนหลักการที่แน่นอนในระดับหนึ่ง ไม่ใช่กระทำไปตามอำเภอใจของความโน้มเอียงทางการเมืองหรือการเลือกข้างดังที่ผ่านมา

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ธิดา ถาวรเศรษฐ: ทำไม นปช. ต้องรณรงค์แก้รัฐธรรมนูญ ม.291

$
0
0
           
การต่อสู้ของประชาชนตั้งแต่ต้นคือการต่อสู้เพื่อให้การเมืองการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง  มิใช่เพียงให้พรรคการเมืองที่ร่วมต่อสู้กับประชาชนได้เป็นรัฐบาลแล้วถือว่าได้รับชัยชนะ  ภารกิจของประชาชนจบแล้ว  ที่เหลือเป็นเรื่องของรัฐบาลและพรรคการเมืองในรัฐสภาเท่านั้น
           
นปช. แดงทั้งแผ่นดินและคนเสื้อแดงเป็นองค์กรและขบวนการต่อสู้ของประชาชน  ที่มีจุดเริ่มต้นจากการต่อสู้กับการรัฐประหารที่เราถือว่าเป็นการปล้นอำนาจจากประชาชน  ดังนั้น  การล้มรัฐบาลอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะด้วยการเลือกตั้งใหม่จากคำขวัญการต่อสู้ “ยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชน” พบว่าทฤษฎีสองขาตามยุทธศาสตร์ นปช. ก็ดำเนินไปด้วยดี  เพราะสอดคล้องกันกับความเรียกร้องของ สส. อดีต สส. ทั้งหลายของพรรคเพื่อไทย  ผ่านการเสียสละชีวิตของประชาชนร่วมร้อยคน  บาดเจ็บกว่าสองพันคน  และถูกจับกุมคุมขังนับพันคนต้องหลบหนี  การได้รัฐบาลจากการเลือกตั้งของประชาชนจึงเป็นก้าวแรกของชัยชนะของประชาชนหลังจากต่อสู้มา 5 ปี  ก้าวต่อมาซึ่งเป็นเป้าหมายทางยุทธศาสตร์  เป้าหมายการต่อสู้จึงอยู่ที่กฎหมายสูงสุดคือรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมต่าง ๆ  นี่จึงเป็นเรื่องการต่อเนื่องของการต่อสู้ของประชาชนที่สู้เพื่อให้ได้ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง  ไม่ใช่ต่อสู้เพียงเพื่อให้พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล
           
คนในพรรคเพื่อไทยจำนวนหนึ่งอาจถือว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของพรรคเท่านั้น  เพราะมองไม่เห็นการต่อสู้ของประชาชนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสังคมทางการเมืองการปกครองที่อยู่ภายใต้การควบคุม  ครอบครองของระบอบอำมาตยาธิปไตยให้เป็นระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง  และคนในพรรคเพื่อไทยบางคน  บางกลุ่ม  ก็มุ่งหวังใช้ขบวนการเสื้อแดงให้เป็นแค่ฐานเสียง  ให้แกนนำเป็นหัวคะแนนและเป็นมวลชนที่คอยปกป้องหากมีการรัฐประหารเท่านั้น!  แต่ในความจริงไม่เป็นเช่นนั้น  เพราะคนเสื้อแดงมีหลักนโยบายในการต่อสู้ชุดใหญ่  ที่กำหนดขั้นตอนการต่อสู้  ยุทธศาสตร์  ยุทธวิธีไว้  ถ้าเปิดโรงเรียนใหม่เที่ยวนี้  เราก็จะทำการสรุปบทเรียนครั้งใหญ่ทั่วประเทศ  ในขณะที่เริ่มแรกบางคนในพรรคเพื่อไทยไม่อยากแก้รัฐธรรมนูญเพราะกลัวการคัดค้านจากเครือข่ายอำมาตย์  พูดแบบเดียวกับคุณสมัครที่บอกว่าจะแก้รัฐธรรมนูญเมื่อ 3 เดือนสุดท้ายก่อนครบวาระ  แต่ฝ่ายประชาชนหลังผ่านมหาอุทกภัยไปแล้ว  หลังปีใหม่เราก็เดินเครื่องทันที คือร่างหลักการการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 291 เพื่อให้ได้ สสร. จากการเลือกตั้งโดยตรงทั้งหมด 100 คนทันที  ในขณะที่ทางพรรคก็เสนอรูปแบบที่มาของ สสร. เหมือนวุฒิสมาชิกปี 2550 คือ สสร. จังหวัดละ 1 คนแล้วสรรหาจากนักวิชาการที่เสนอจากมหาวิทยาลัย  องค์กรภาคเอกชน  สภาอาชีพ ฯลฯ อีก 22 คน
           
จึงเป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นว่า  พรรคก็ทำส่วนพรรค  ประชาชนก็ทำส่วนภาคประชาชน  ปรากฎว่าภาคประชาชนทุกร่างตรงกันคือ  ให้สสร. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด  แล้วประชาธิปัตย์ก็มาโดยสารในกลุ่มนี้  โดยขอให้ได้ สสร. 200 คน จากการเลือกตั้ง  เพราะหวังจะได้ฐานเสียงระดับรองเข้ามาเป็น สสร. ด้วย
           
นี่ชี้ให้เห็นว่า นักการเมืองมุ่งคิดเรื่องฐานเสียงและอำนาจชี้นำการเขียนรัฐธรรมนูญ
           
แต่ภาคประชาชนมุ่งจะให้รัฐธรรมนูญเป็นของประชาชนโดยกระบวนการที่มาของ สสร. ต้องชอบธรรม  โปร่งใส  ให้ประชาชนส่วนใหญ่ยอมรับกระบวนการได้โดยไม่อาจโต้แย้ง  เป็นการเริ่มต้นที่ดีก็มีชัยชนะครึ่งหนึ่งแล้ว
           
เอาเป็นว่าคนเสื้อแดงทุกคนรู้ว่า  หลังจากยุบสภา  ผ่านการเลือกตั้ง  ได้รัฐบาลของประชาชนแล้ว  เราก็ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550  เพื่อให้ได้เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นของประชาชนและต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีกว่า 2550 แน่นอน
           
งานชุมนุมที่โบนันซ่า  เขาใหญ่  เรามีคำขวัญว่า “หยุดรัฐประหาร  เปลี่ยนผ่านรัฐธรรมนูญ”  เป็นฉันทามติของคนเสื้อแดงมากันหลายแสนคนเต็มภูเขาเพื่อยืนยันเจตนารมณ์  แม้แต่งานในจังหวัดนนทบุรีชุมนุมเสื้อแดงนับหมื่นคนก็ใช้คำขวัญ  “สายสัมพันธ์ร่วมใจแก้ไขรัฐธรรมนูญ  เราคือทัพหน้า”  บางที่ก็ใช้ “รวมพลคนรักประชาธิปไตย  แก้ไขรัฐธรรมนูญ”  บ่งบอกถึงเจตนารมณ์คนเสื้อแดงทั้งประเทศ  และแน่นอน  คนเสื้อแดงกับประชาชนทั่วไปรวมทั้งนักวิชาการของประชาชนก็ตั้งใจลงสมัครเพื่อได้รับเลือกเป็น สสร. กัน  แต่ก็มี สส. บางท่านดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขมาตรา 291 โดยถือเป็นการทำในนามประชาชนด้วย  แต่รายละเอียดเหมือนฉบับของพรรค  ก็หมายความว่าทางพรรคคิดเผื่อให้ สส. ทำร่างในนามของประชาชน ก็ทำได้ แต่อาจคิดไม่ถึงว่า นปช. ก็นำเสนอร่างอยู่ดี  แม้จะทำยากลำบากขึ้นบ้าง  เพราะคนเสื้อแดงสับสนว่าร่างไหนเป็นร่างของ นปช.  เราคิดล่วงหน้าแล้วจึงต้องใส่เครื่องหมายสัญลักษณ์ นปช. ที่หัวกระดาษแบบฟอร์มของแก้ไขร่าง ก็ไม่เป็นไร  นปช. ก็นำเสนอร่างจนได้  โดยมีเป้าหมายคือให้ได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นของประชาชน  ไม่ใช่ของพรรคเพื่อไทยหรือของคนเสื้อแดง  ไม่ต้องการให้เกิดปัญหาในใจประชาชนว่า  นี่เป็นเรื่องทีใครทีมัน  กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญจึงสำคัญเพื่อให้ได้ความเชื่อมั่นและประชาชนรู้สึกเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญ  ทำให้การคัดค้านต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่มีเหตุผลในสายตาประชาชน  และประชาชนจะพิทักษ์ปกป้องรัฐธรรมนูญไม่ให้ถูกฉีกโดยคณะรัฐประหารอีกต่อไป  เพราะผลสัมฤทธิ์การมีรัฐธรรมนูญที่ดี  แต่ขาดความเป็นเจ้าของของประชาชนอย่างจริงจัง  ก็จะไม่อาจรักษารัฐธรรมนูญที่ดีไว้ได้ดังเช่นรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2489, พ.ศ.2517 และ พ.ศ.2540  และถ้าเริ่มต้นให้ประชาชนมีบทบาทมากเท่าใด  ก็จะเป็นย่างก้าวสู่อนาคตที่ดีของประเทศได้  ดังนั้นร่าง นปช. จึงให้ สสร. มาจากการเลือกตั้งโดยตรง  โดยคำนึงถึงสัดส่วนประชากรในแต่ละจังหวัด มี สสร. อย่างต่ำจังหวัดละ 1 คน  กทม.ก็จะมี สสร. 8 คน  นครราชสีมามี 4 คน เป็นต้น  และเปิดโอกาสให้คนมีสิทธิ์สมัคร สสร. ได้กว้างขวางที่สุดไม่จำกัดกลุ่มคนด้วยวัยวุฒิการศึกษา,  คุณวุฒิ  และการอยู่ในพื้นที่เลือกตั้งเพียง 1 ปี
           
ถ้าเราต้องการรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย  กระบวนการได้รัฐธรรมนูญก็ต้องเป็นประชาธิปไตย  แต่ถ้าคิดแบบอนุรักษ์นิยมก็ต้องมีอรหันต์ผู้ทรงคุณวุฒิมาร่าง  โดยมีอำนาจเหนือ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง  เพราะเป็นทั้ง สสร. และผู้ทรงคุณวุฒิ (ผู้รู้ดี)  คำถามคือ  ทำไมคนเหล่านี้ไม่ลงเลือกตั้ง สสร. เสียล่ะ  จะได้เป็น สสร. เต็มภาคภูมิ  มิใช่เป็นคนที่จะถูกสังคมจ้องจับผิดว่านี่เป็น “คนของคุณทักษิณ” ทั้งหมด  แล้วสุดท้ายจะได้รัฐธรรมนูญแบบที่พรรคเพื่อไทยต้องการ หรือไม่  ยังน่าสงสัยเพราะจะได้คนแบบไหนมาร่างรัฐธรรมนูญ  เพราะต้นธารความคิดของนักวิชาการไปอยู่ที่หน่วยงานอำมาตย์ที่กำลังขยายบทบาทคือสำนักงานตรวจการแผ่นดิน  ที่กำลังตรวจจริยธรรมนักการเมืองเข้มข้น  เข้มแข็ง  และกำลังเป็นทัพใหญ่  ทัพหน้าที่จะมาจัดการต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550
           
ยังไม่รู้อนาคตการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นฉันใด  ถ้าหลุดจากมือประชาชนไปอยู่ที่นักการเมือง  สองขั้วที่มี  กองกำลังอำมาตย์  จัดทัพต่อต้านพร้อมสรรพ  ทั้งองค์กรอิสระ,  ฝ่ายตุลาการ,  นักวิชาการอนุรักษ์นิยม  และกองกำลังมวลชนอนุรักษ์นิยมที่ประกาศว่า  พวกตนเป็นฝ่ายคุณธรรมพร้อมต่อสู้กับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ 2550  ที่พวกเขาลงทุนทำรัฐประหาร  และใช้ต้นทุนทางสังคมไปจนหมดสิ้น  ประเทศไทยเสียหายยับเยิน  จึงหวงแหนรัฐธรรมนูญ 2550 มาก  แน่นอน  เขาต้องใช้ความพยายามเต็มกำลังในการสร้างอุปสรรค !
ไม่ให้เปลี่ยนแปลง
 
 
ธิดา ถาวรเศรษฐ
2  เมษายน  2555
 
 
''''''''''''''''
 
 
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อดีตปธน. ตุรกี ขึ้นศาลเหตุทำการรัฐประหารเมื่อ 30 ปีก่อน

$
0
0

ศาลเริ่มไต่สวน “คีนาน เอฟรอน” อดีตนายพลและปธน. ตุรกี พร้อมนายทหารระดับสูงเหตุทำการรัฐประหารเมื่อ 32 ปีก่อน โดยมีรัฐบาล ฝ่ายค้าน และประชาชนยื่นเป็นโจทก์ร่วมฟ้อง ในขณะที่รบ. ปัจจุบันเตรียมดำเนินการ “ล้มล้างผลพวงรปห.”

4 เม.ย.55 – สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า อดีตประธานาธิบดีตุรกีและอดีตนายพล “คีนาน เอฟรอน” พร้อมอดีตผู้บัญชาทหารอากาศ ผู้มีบทบาทในการทำรัฐประหารในตุรกีเมื่อ 32 ปีก่อนได้รับการไต่สวนโดยศาล ณ กรุงอังการาแล้ววันนี้ ในข้อหากระทำการรัฐประหารเมื่อวันที่ 12 กันยายน 1980

รายงานข่าวระบุว่า ถึงแม้ คีนาน เอฟรอน (KenanEvren) วัย 94 ปี และทาชิน ซาฮินกายา (TahsinSahinkaya) อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ วัย 87 ปี จะไม่สามารถมาขึ้นศาลได้ด้วยตนเองเนื่องจากสุขภาพที่อ่อนแอ แต่อัยการก็ระบุว่า พวกเขาสามารถให้ปากคำผ่านทางวีดีโอลิงค์กับศาล

ทั้งนี้ การรัฐประหารครั้งล่าสุดของตุรกีเมื่อวันที่ 12 กันยายน 1980 ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 20 ปีนั้น นำมาซึ่งการสังหารประชาชน 50 คน การจับกุมประชาชนกว่า 5 แสนคน และการเสียชีวิตจากการคุมขังและการหายตัวของคนอีกจำนวนมากภายในระยะเวลาสามปีของการปกครองระบอบทหาร

การไต่สวนคดีดังกล่าว ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้เมื่อสองสามปีที่แล้ว ถูกจับตาอย่างใกล้ชิดโดยทหารนับร้อยคน รวมถึงผู้บัญชาการกองทัพในอดีตและปัจจุบัน และพลเรือนที่ถูกดำเนินคดีในฐานะมีส่วนร่วมในแผนการโค่นล้มรัฐบาลปัจจุบันที่นำโดย รีเซฟ เทยิพเออร์โดกัน (RecepTayyipErdogan)

การแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อเร็วๆ นี้ ได้ทำให้ความคุ้มกันจากความผิด (immunity) จากการทำรัฐประหารของนายเอฟรอนหมดลงไป

ลบล้างผลพวงจากรัฐประหาร

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา รัฐบาลของเออร์โดกัน ฝ่ายค้าน และรัฐสภา ได้ร่วมกับประชาชนจำนวน 350 คนและกลุ่มต่างๆ ยื่นขอเป็นโจทก์ร่วมในศาลในฐานะคู่กรณีฝ่ายที่เสียหาย ซึ่งหมายความว่า ความเสียหายของโจทก์จะนำไปใช้ในการดำเนินคดีและการกำหนดบทลงโทษ

รัฐบาลเออร์โดกันระบุว่า รัฐบาลได้ตัดสินใจว่าพวกเขาควรจะได้เข้าร่วมกับผู้ที่ถูกกระทำคนอื่นๆ

“คู่กรณีอย่างแรกและที่สำคัญที่สุดต่อการรัฐประหารก็คือรัฐบาลที่มีความชอบธรรมในการเป็นตัวแทนของชาติ” เออร์โดกันกล่าวในที่ประชุมรัฐสภาต่อพรรคยุติธรรมและการพัฒนา (AKP) ของเขาเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา

ฝ่ายที่กระทำการรัฐประหารในปี 1980 อ้างว่า พวกเขาถูกบังคับให้เข้ามาแทรกแซงทางการเมือง เนื่องจากเกิดความวุ่นวายจากการปะทะกันของกลุ่มฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาเป็นเวลาหลายปี และทำให้มีคนเสียชีวิตราว 5,000 คน

เหล่านายพลดังกล่าว ซึ่งรู้จักกันโดยทั่วไปโดยคำเรียกจากสมัยออตโตมันว่า “ปาชา” (Pasha) มองตนเองว่าเป็นผู้พิทักษ์ระเบียบของรัฐโลกวิสัย ซึ่งผู้นำทหาร “มุสตาฟาเคมาล อาตาเติร์ก” ได้เป็นผู้สถาปนาขึ้นจากอาณาจักรออตโตมันในปี 1923

พวกเขาทำการรัฐประหารในปี 1960 ซึ่งนำไปสู่การแขวนคอของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอาวุโสอีกสองคน ตามมาด้วยการรัฐประหารอีกสองครั้งในปี 1971 และ 1980 เพื่อขับไล่รัฐบาลที่พวกเขาเห็นว่าเป็นอันตรายต่อระเบียบดังกล่าว

เมื่อคณะรัฐประหารพยายามฟื้นฟูประชาธิปไตยในแบบของตนเอง เช่นครั้งล่าสุดในปี 1997 กองทัพก็ได้บังคับรัฐบาลที่นำโดยพรรคอิสลามให้ลาออก

บทบาทของกองทัพของประเทศตุรกี ไม่ว่าจะอดีตหรือปัจจุบัน ยังคงเป็นประเด็นที่ถกเถียงและแบ่งแยกอย่างมาก โดยรัฐบาลที่นำโดยพรรค AKP ของเออร์โดกันก็ได้พยายามลดอำนาจของสถาบันทหารและบทบาทในรัฐลง

หนังสือพิมพ์ ราดิกัลป์ (Radikal) ของตุรกี ตีพิมพ์คำสัมภาษณ์ของโฆษกพรรค AKPฮูเซยิน เซลิค (HuseyinCelik)ว่า ในขณะนี้ ทางการตุรกีได้ทำการลบชื่อของผู้นำทหารที่ทำการรัฐประหารในปี 1980 และครั้งอื่นๆ ก่อนหน้า ออกจากชือโรงเรียน ถนน สนามกีฬา และค่ายทหาร ในปฏิบัติการ “ล้มล้างผลพวงรัฐประหาร” (Coup house cleaning)

“เราจำเป็นลบชื่อของผู้ที่ทำการรัฐประหารออกจากสถาบันสาธารณะและชื่อสถานที่ต่างๆ ออกไปให้หมด” เขากล่าว “พวกเขาถูกลบออกไปจากหัวใจของประชาชนหมดสิ้นแล้ว”

แปลจาก Turkey puts former military ruler on trial, Aljazeera, 4/04/55

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ดีเอสไอสรุปสำนวนคดีแผนผังล้มเจ้า "ไม่พบการกระทำผิด" ส่งอัยการพิจารณาต่อ

$
0
0

ดีเอสไอระบุคดีผังล้มเจ้า สืบสวนหาพยานหลักฐานในคดีครบแล้ว แต่ไม่พบการกระทำผิดของผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 39 ราย และไม่สามารถหาหลักฐานได้มากกว่านี้ ด้านอัยการรับไว้พิจารณา นัดประชุมอีกครั้งวันที่ 11 เม.ย. 

 


ดูภาพขนาดใหญ่ที่นี่
 

(4 เม.ย.55) เว็บไซต์มติชนออนไลน์ รายงานว่า ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีการกระทำความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งรัฐด้วยการล่วงละเมิดสถาบัน (คดีล้มเจ้า) กล่าวว่า ดีเอสไอได้สรุปสำนวนคดีดังกล่าวส่งต่อไปยังอัยการคดีพิเศษพิจารณาแล้ว ข้อสรุปดังกล่าวระบุว่าได้ดำเนินการสืบสวนหาพยานหลักฐานในคดีจนครบถ้วนแล้ว แต่ไม่พบการกระทำผิดของผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 39 ราย และไม่สามารถหาหลักฐานได้มากกว่านี้แล้ว โดยทางอัยการได้รับไว้พิจารณาและได้นัดประชุมกันอีกครั้งในวันที่ 11 เมษายนส่วนจะดำเนินการสอบสวนต่อหรือไม่นั้นต้องขึ้นกับทางอัยการว่าเห็นสมควรอย่างไร

สำหรับสาเหตุต้องส่งให้อัยการพิจารณาสำนวนก่อนสั่งคดีเนื่องจากบางเหตุการณ์เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร ซึ่งอัยการจะตรวจสอบว่าหลักฐานในชั้นนี้เพียงพอหรือไม่ และต้องสอบบุคคลเพิ่มเติมที่จะเป็นประโยชน์ต่อคดีพนักงานสอบสวนก็จะพิจารณาต่อไป

 

 

ที่มา: มติชนออนไลน์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จักรภพ เพ็ญแข

$
0
0

จุดอ่อนของระบอบประชาธิปไตยไทยตรงนี้ก็คือ เรากระเหี้ยนกระหือรือที่จะปรองดอง ไม่มีความอุตสาหะพอที่จะหาจุดตัดขาด ถ้าคนเรารอมชอมเร็วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราทนได้แค่ไหน

สัมภาษณ์พิเศษ 'จักรภพ เพ็ญแข': คงต้องปล่อยให้ลิ้มรสของการปรองดองกันเสียก่อน

นิติราษฎร์: การทำลายกฎหมายและคำพิพากษาในระบอบเผด็จการฯ

$
0
0
วรเจตน์ ภาคีรัตน์ และ ปิยบุตร แสงกนกกุล เขียนถึงบทเรียนเรื่องการทำลายกฎหมายและคำพิพากษาในระบอบเผด็จการ และการไม่ยอมรับรัฐประหารในนานาอารยะประเทศ 
 
 
การทำลายกฎหมายและคำพิพากษาในระบอบเผด็จการ
และการไม่ยอมรับรัฐประหารในนานาอารยะประเทศ  

เยอรมนี

เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปเป็นยุติว่าคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดแล้วนั้น เป็นสิ่งที่ชี้ขาดว่าสิทธิหน้าที่ของบุคคลในทางกฎหมายมีอยู่อย่างไร คำพิพากษานั้นจะถูกหรือผิดอย่างไรในทางกฎหมายก็ตาม โดยปกติแล้ว ก็ย่อมมีผลผูกพันบรรดาคู่ความในคดี ข้อพิพาททางกฎหมายย่อมยุติลงตามการชี้ขาดคดีของศาลซึ่งถึงที่สุด และคำพิพากษาดังกล่าวย่อมเป็นฐานแห่งการบังคับคดีตลอดจนการกล่าวอ้างของคู่ความในคดีต่อไปได้  คุณค่าของการต้องยอมรับคำพิพากษาของศาลก็คือ ความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะของบุคคล อันมีผลบั้นปลายในการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในระบบกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม กรณีย่อมเป็นไปได้เสมอที่ในการพิจารณาพิพากษาคดีนั้นอาจเกิดความผิดพลาดขึ้น ความผิดพลาดดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้ทั้งจากความจงใจหรือความประมาทเลินเล่อขององค์กรในกระบวนการยุติธรรม หรือความผิดพลาดนั้น อาจเกิดขึ้นจากเหตุสุดวิสัยก็ได้ ระบบกฎหมายที่ดีย่อมกำหนดกฎเกณฑ์ให้มีการทบทวนคำพิพากษาที่ถึงที่สุดไปแล้วได้ ในทางกฎหมาย เราเรียกกระบวนการทบทวนคำพิพากษาที่ถึงที่สุดไปแล้ว แต่มีความบกพร่อง และหากปล่อยไว้ไม่ให้มีการทบทวน ก็จะไม่ยุติธรรมแก่คู่ความในคดีว่า การรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ ในกรณีที่ปรากฏในกระบวนการรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ว่าคำพิพากษาที่ถึงที่สุดแล้วนั้น เป็นคำพิพากษาที่ผิดพลาด ศาลที่พิจารณาคดีดังกล่าวนั้น ย่อมต้องยกคำพิพากษาเดิมซึ่งเป็นคำพิพากษาที่ผิดพลาดเสีย แล้วพิพากษาคดีดังกล่าวใหม่

การรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ จึงเป็นหนทางของการลบล้างคำพิพากษาที่ถึงที่สุดแล้ว แต่เป็นคำพิพากษาที่ผิดพลาด ทั้งนี้ตามกระบวนการ ขั้นตอน และหลักเกณฑ์ที่กำหนดเอาไว้ล่วงหน้าในระบบกฎหมายนั้น โดยองค์กรที่มีอำนาจลบล้างคำพิพากษาที่ผิดพลาดดังกล่าว ก็คือ องค์กรตุลาการหรือศาลนั่นเอง

ในทางนิติปรัชญาและในทางทฤษฎีนิติศาสตร์ ยังคงมีปัญหาให้พิเคราะห์ต่อไปอีกว่า ในกรณีที่ศาลหรือผู้พิพากษาอาศัยอำนาจตุลาการพิจารณาพิพากษาคดีไปตามตัวบทกฎหมายซึ่งเห็นได้ชัดว่าไม่สอดคล้องกับความยุติธรรม หรือในกรณีที่ศาลหรือผู้พิพากษาพิจารณาพิพากษาคดีไปโดยไม่เคารพหลักการพื้นฐานของกฎหมาย นำตนเข้าไปรับใช้อำนาจทางการเมืองในห้วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ยอมรับสิ่งซึ่งไม่อาจถือว่าเป็นกฎหมายได้ ให้เป็นกฎหมาย แล้วชี้ขาดคดีออกมาในรูปของคำพิพากษา  ในเวลาต่อมาผู้คนส่วนใหญ่เห็นกันว่าคำพิพากษาดังกล่าวเป็นคำพิพากษาที่ไม่อาจยอมรับนับถือให้มีผลในระบบกฎหมายได้ และเห็นได้ชัดว่าไม่อาจใช้วิธีการรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ลบล้างคำพิพากษานั้นได้เช่นกัน จะมีหนทางใดในการลบล้างคำพิพากษาดังกล่าวนั้น

หลักการเบื้องต้นในเรื่องนี้ มีอยู่ว่า กฎเกณฑ์ที่ขัดต่อความยุติธรรมอย่างรุนแรง ไม่ควรจะได้ชื่อว่าเป็นกฎหมายฉันใด คำตัดสินที่ขัดต่อหลักการพื้นฐานทางกฎหมายและความยุติธรรมอย่างชัดแจ้งก็ไม่ควรจะได้ชื่อว่าเป็นคำพิพากษาฉันนั้น

ในประเทศเยอรมนี หลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง ความปรากฏชัดว่า ศาลต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลพิเศษที่อดอลฟ์ ฮิตเลอร์จัดตั้งขึ้นเป็นศาลสูงสุดในคดีอาญาทางการเมือง (เรียกกันในภาษาเยอรมันว่า Volksgerichtshof  ซึ่งอาจแปลตามรูปศัพท์ได้ว่า ศาลประชาชนสูงสุด เมื่อแรกตั้งขึ้นนั้น ศาลดังกล่าวนี้มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับการทรยศต่อชาติ ต่อมาได้มีการขยายอำนาจออกไปในคดีอาญาอื่นๆด้วย เช่น การวิจารณ์หรือแสดงความสงสัยในชัยชนะในสงครามของรัฐบาลนาซีเยอรมัน ศาลดังกล่าวนี้ก็อาจลงโทษประหารชีวิตผู้วิจารณ์หรือแสดงความสงสัยในชัยชนะนั้นเสียก็ได้) ได้พิพากษาลงโทษบุคคลจำนวนมากโดยขัดต่อหลักการพื้นฐานทางกฎหมายและความยุติธรรม  มีคำพิพากษาจำนวนไม่น้อยที่ศาลได้ใช้วิธีการตีความกฎหมายขยายความออกไปอย่างกว้างขวาง เพื่อลงโทษบุคคล ในหลายกรณีเห็นได้ชัดว่าศาลได้ปักธงในการลงโทษบุคคลไว้ก่อนแล้ว และใช้เทคนิคโวหารในการใช้และการตีความกฎหมายโดยบิดเบือนต่อหลักวิชาการทางนิติศาสตร์เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการลงโทษบุคคลนั้น (เช่น คดี Leo Katzenberger)

มีข้อสังเกตว่า การดำเนินคดีในนามของกฎหมายและความยุติธรรมของศาลในระบบนาซีเยอรมัน เกิดจากแรงจูงใจในทางการเมือง เชื้อชาติเผ่าพันธุ์ และศาสนา (อาจเรียกให้สมกับยุคสมัยว่า "ตุลาการนาซีภิวัฒน์") อีกทั้งกระบวนการในการดำเนินคดี ขัดต่อหลักการพื้นฐานหลายประการ เช่น การไม่ยอมมีให้มีการคัดค้านผู้พิพากษาที่เห็นได้ชัดว่ามีส่วนได้เสียหรือมีอคติในการพิจารณาพิพากษาคดี การจำกัดสิทธิในการนำพยานหลักฐานเข้าหักล้างข้อกล่าวหา การกำหนดให้การพิจารณาพิพากษากระทำโดยศาลชั้นเดียว ไม่ยอมให้มีการอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษา การจำกัดระยะเวลาในการต่อสู้คดีของจำเลย เพื่อให้กระบวนพิจารณาจบไปโดยเร็ว มิพักต้องกล่าวถึงบรรยากาศของการโหมโฆษณาชวนเชื่อในทางสาธารณะ และแนวความคิดของผู้พิพากษาตุลาการในคดีว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อผู้ถูกกล่าวหาเพียงใด ที่น่าขบขันและโศกสลดในเวลาเดียวกันก็คือ แม้ว่ากฎหมายที่ใช้บังคับในเวลานั้น จะออกโดยเผด็จการนาซี และศาลในเวลานั้นต้องใช้กฎหมายของเผด็จการนาซีในการพิจารณาพิพากษาคดีก็ตาม แต่ถ้าใช้กฎหมายดังกล่าวอย่างตรงไปตรงมาแล้วไม่สามารถเอาผิดกับผู้ถูกกล่าวหาได้ เช่นนี้ ศาลก็จะตีความกฎหมายจนกระทั่งในที่สุดแล้ว สามารถพิพากษาลงโทษผู้ถูกกล่าวหาจนได้

เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลงแล้ว มีเสียงเรียกร้องให้ลบล้างหรือยกเลิกคำพิพากษาที่ไม่ถูกต้องชอบธรรมซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างการครองอำนาจของรัฐบาลนาซีเสีย  แม้ว่าทุกฝ่ายจะเห็นตรงกันว่าควรจะต้องลบล้างบรรดาคำพิพากษาดังกล่าวก็ตาม แต่ก็ถกเถียงกันว่าวิธีการในการลบล้างคำพิพากษาเหล่านั้นควรจะเป็นอย่างไร ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าควรจะดำเนินการลบล้างคำพิพากษาของศาลนาซีเป็นรายคดีไป เพื่อรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะ อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าควรจะลบล้างคำพิพากษาทั้งหมดเป็นการทั่วไป ในชั้นแรก ในเขตยึดครองของอังกฤษนั้น ได้มีการออกข้อกำหนดลงวันที่ ๓ กรกฎาคม ๑๙๔๗ ให้อำนาจอัยการในการออกคำสั่งลบล้างคำพิพากษาของศาลนาซีหรือให้อัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งลบล้างคำพิพากษาของศาลนาซีก็ได้เป็นรายคดีไป การลบล้างคำพิพากษาเป็นรายคดีนี้ได้มีการนำไปใช้ในเวลาต่อมาในหลายมลรัฐ อย่างไรก็ตามวิธีการดังกล่าวมีปัญหาในทางปฏิบัติมาก ทั้งความยุ่งยากในการดำเนินกระบวนการลบล้างคำพิพากษาและการเยียวยาความเสียหาย ปัญหาดังกล่าวนี้ดำรงอยู่เรื่อยมาในเยอรมนีเกือบจะตลอดศตวรรษที่ยี่สิบ

ใน ค.ศ. ๑๙๘๕ สภาผู้แทนราษฎรแห่งสหพันธ์ (Bundestag) ได้มีมติเป็นเอกฉันท์เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ประกาศว่า ศาลสูงสุดคดีอาญาทางการเมือง (Volksgerichtshof) เป็นเครื่องมือก่อการร้ายเพื่อทำให้ระบบเผด็จการเบ็ดเสร็จนาซีสำเร็จผลโดยบริบูรณ์ ด้วยเหตุนี้ บรรดาคำพิพากษาทั้งหลายที่เกิดจากการตัดสินของศาลดังกล่าวจึงไม่มีผลใดๆในทางกฎหมาย และในปี ค.ศ.๒๐๐๒ ได้มีการออกรัฐบัญญัติลบล้างคำพิพากษานาซีที่ไม่ถูกต้องเป็นธรรมในคดีอาญา กฎหมายฉบับนี้มีผลลบล้างคำพิพากษาของศาลสูงสุดคดีอาญาทางการเมืองและศาลพิเศษคดีอาญาทุกคำพิพากษา
 

ฝรั่งเศส

ภายหลังจากฝรั่งเศสยอมแพ้ต่อเยอรมนี เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๑๙๔๐ รัฐสภาได้ตรารัฐบัญญัติมอบอำนาจทุกประการให้แก่รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐภายใต้อำนาจและการลงนามของจอมพล Pétain รัฐบาลได้ตัดสินใจย้ายเมืองหลวงไปยังเมือง Vichy และให้ความร่วมมือกับเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่ ๒ ตามนโยบาย Collaboration จอมพล Pétain ปกครองฝรั่งเศสโดยใช้อำนาจเผด็จการ ภายใต้คำขวัญ “ชาติ งาน และครอบครัว” ซึ่งใช้แทน “เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ” รัฐบาลวิชี่ร่วมมือกับเยอรมนีในการใช้มาตรการโหดร้ายทารุณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจับคนเชื้อชาติยิวไปเข้าค่ายกักกัน มีนักกฎหมายผู้มีชื่อเสียงหลายคนให้ความร่วมมือกับระบอบวิชี่อย่างเต็มใจ เช่น Raphael Alibert , Joseph Barthélemy , George Ripert , Roger Bonnard 

เมื่อเยอรมนีแพ้สงคราม ฝรั่งเศสได้รับการปลดปล่อยอิสรภาพ คณะกรรมการกู้ชาติฝรั่งเศสแปลงสภาพกลายเป็น “รัฐบาลชั่วคราวแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส” (Gouvernement provisoire de la  République française : GPRF) นอกจากปัญหาทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจแล้ว มีปัญหาทางกฎหมายให้ GPRF ต้องขบคิด นั่นคือ จะทำอย่างไรกับการกระทำต่างๆในสมัยระบอบวิชี่ การกระทำเหล่านั้นสมควรมีผลทางกฎหมายต่อไปหรือไม่ และจะเยียวยาให้กับเหยื่อและผู้เสียหายจากการกระทำในสมัยระบอบวิชี่อย่างไร 

รัฐบาลชั่วคราวแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสได้ตรารัฐกำหนดขึ้นฉบับหนึ่งเมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม ๑๙๔๔ ชื่อว่า “รัฐกำหนดว่าด้วยการก่อตั้งความชอบด้วยกฎหมายแบบสาธารณรัฐขึ้นใหม่ในดินแดนฝรั่งเศส”  รัฐกำหนดฉบับนี้ตั้งอยู่บนหลักการ ๒ ประการ ได้แก่ การล่วงละเมิดมิได้ของสาธารณรัฐ และการไม่เคยดำรงอยู่ในทางกฎหมายของรัฐบาลจอมพล Pétain ตั้งแต่ ๑๖ มิถุนายน ๑๙๔๑ 

ด้วยเหตุนี้ มาตราแรกของรัฐกำหนดฉบับนี้ จึงประกาศชัดเจนว่า “รูปแบบการปกครองของประเทศฝรั่งเศสคือสาธารณรัฐและดำรงอยู่แบบสาธารณรัฐ ในทางกฎหมาย สาธารณรัฐไม่เคยยุติการคงอยู่”  การประกาศความต่อเนื่องของ “สาธารณรัฐ” ดังกล่าว จึงไม่ใช่การรื้อฟื้น “สาธารณรัฐ” ให้กลับขึ้นมาใหม่ แต่เป็นการก่อตั้งความชอบด้วยกฎหมายของสาธารณรัฐขึ้นมาใหม่ต่างหาก เพราะ “สาธารณรัฐ” ไม่เคยสูญหายไป ไม่เคยถูกทำลาย ไม่เคยยุติการดำรงอยู่ รัฐบาลวิชี่ไม่ได้ทำลาย (ทางกฎหมาย) สาธารณรัฐ นายพล Charles De Gaulle หัวหน้ารัฐบาลชั่วคราวจึงไม่เคยประกาศฟื้นสาธารณรัฐ เพราะสาธารณรัฐไม่เคยสูญหายไปจากดินแดนฝรั่งเศส

เมื่อมาตราแรกประกาศความคงอยู่อย่างต่อเนื่องของสาธารณรัฐ ในมาตรา ๒ ของรัฐกำหนดฉบับนี้จึงบัญญัติตามมาว่า “ด้วยเหตุนี้ ทุกการกระทำใดไม่ว่าจะใช้ชื่ออย่างไรก็ตามที่มีสถานะทางรัฐธรรมนูญ, ที่มีสถานะทางนิติบัญญัติ, ที่มีสถานะทางกฎ, รวมทั้งประกาศทั้งหลายที่ตราขึ้นเพื่อใช้บังคับการกระทำดังกล่าว,  ซึ่งได้ประกาศใช้บนดินแดนภายหลังวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๑๙๔๐ จนกระทั่งถึงการก่อตั้งรัฐบาลชั่วคราวแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ให้เป็นโมฆะและไม่มีผลทางกฎหมายใดๆ” บทบัญญัตินี้หมายความว่า การกระทำใด ไม่ว่าจะใช้ชื่อใด ทั้งที่มีสถานะเทียบเท่ารัฐธรรมนูญ เทียบเท่ารัฐบัญญัติ เทียบเท่ากฎ หรือประกาศใดๆที่เป็นการใช้บังคับการกระทำเหล่านี้ ที่เกิดขึ้นในสมัยวิชี่ ถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นเลย พูดง่ายๆก็คือ ผลผลิตทางกฎหมายในสมัยวิชี่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และไม่มีผลทางกฎหมาย   

นอกจาก “ทำลาย” การกระทำต่างๆของระบอบวิชี่แล้ว รัฐกำหนดยังให้ความสมบูรณ์ทางกฎหมายแก่บทบัญญัติที่เผยแพร่ในรัฐกิจจานุเบกษาของกลุ่มเสรีฝรั่งเศส รัฐกิจจานุเบกษาของกลุ่มฝรั่งเศสต่อสู้ และรัฐกิจจานุเบกษาของผู้บังคับบัญชาพลเรือนและทหารฝรั่งเศส ตั้งแต่ ๑๘ มีนาคม ๑๙๔๓ และบทบัญญัติที่เผยแพร่ในรัฐกิจจานุเบกษาของสาธารณรัฐฝรั่งเศสระหว่าง ๑๙ มิถุนายน ๑๙๔๓ จนถึงวันที่ประกาศใช้รัฐกำหนดนี้ (ซึ่งอยู่ในช่วงคาบเกี่ยวกับระบอบวิชี่)  

การประกาศไม่ยอมรับการกระทำใดๆในสมัยวิชี่ แม้จะเป็นความชอบธรรมทางการเมืองและเป็นความจำเป็นทางสัญลักษณ์อย่างยิ่ง แต่ก็อาจถูกโต้แย้งในทางกฎหมายได้ ๒ ประเด็น

ประเด็นแรก การกำเนิดรัฐบาลวิชี่เป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมายทุกประการ ไม่ได้มีการรัฐประหาร หรือใช้กองกำลังบุกยึดอำนาจแล้วปกครองแบบเผด็จการ ตรงกันข้าม เป็นรัฐสภาที่ยินยอมพร้อมใจกันตรากฎหมายมอบอำนาจเด็ดขาดให้แก่จอมพล Pétain ในประเด็นนี้ พออธิบายโต้แย้งได้ว่า ระบอบวิชี่และรัฐบาลวิชี่เป็นองค์กรผู้ใช้อำนาจหรือรัฐบาลตามความเป็นจริง

ประเด็นที่สอง การประกาศให้การกระทำใดๆสมัยวิชี่สิ้นผลไป เสมือนไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อน เสมือนไม่เคยดำรงอยู่และบังคับใช้มาก่อนเช่นนี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อประชาชนทั่วไปที่สุจริตและเชื่อถือในการกระทำต่างๆที่เกิดขึ้นในสมัยวิชี่ 

รัฐกำหนดฉบับนี้ได้แก้ไขปัญหาดังกล่าวโดย กำหนดให้การกระทำต่างๆที่กำหนดไว้ในตารางที่ II ของภาคผนวกแนบท้ายรัฐกำหนดนี้ ถูกยกเลิกไปโดยให้มีผลไปข้างหน้า หมายความว่า สิ้นผลไปนับตั้งแต่ประกาศใช้รัฐกำหนดนี้ ไม่ได้มีผลย้อนหลังไปเสมือนว่าไม่เคยมีการกระทำเหล่านั้นเกิดขึ้นเลย นอกจากนี้ ในมาตรา ๘ ยังให้ความสมบูรณ์ทางกฎหมายแก่คำพิพากษาของศาลพิเศษที่ไม่ได้ตัดสินลงโทษการกระทำใดๆที่เป็นไปเพื่อการกู้ชาติ ส่วนการกระทำที่ถือว่าสิ้นผลไปโดยมีผลย้อนหลังเสมือนว่าไม่เคยมีการกระทำเหล่านั้นมาก่อนเลย ได้แก่ รัฐธรรมนูญ ๑๐ กรกฎาคม ๑๙๔๐ และการกระทำที่มีสถานะรัฐธรรมนูญต่อเนื่องจากนั้น ตลอดจนบทบัญญัติกฎหมาย ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดที่กระทบสิทธิของประชาชน เช่น การตั้งศาลพิเศษ การบังคับทำงาน การก่อตั้งสมาคมลับ การแบ่งแยกบุคคลทั่วไปออกจากคนยิว เป็นต้น

กล่าวโดยสรุป รัฐกำหนดว่าด้วยการก่อตั้งความชอบด้วยกฎหมายแบบสาธารณรัฐขึ้นใหม่ในดินแดนฝรั่งเศส ประกาศเป็นหลักการในเบื้องต้นก่อนว่า สาธารณรัฐไม่เคยยุติการดำรงอยู่  และบรรดาการกระทำทั้งหลายในสมัยวิชี่เป็นโมฆะ จากนั้นจึงเลือกรับรองความสมบูรณ์ให้กับบางการกระทำ และกำหนดการสิ้นผลของบางการกระทำ บ้างให้การสิ้นผลมีผลไปข้างหน้า บ้างให้การสิ้นผลมีผลย้อนหลังเสมือนไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน 

มีข้อสงสัยตามมาว่า รัฐกำหนด ๙ สิงหาคม ๑๙๔๔ ทำให้บุคคลที่กระทำการและร่วมมือกับระบอบวิชี่ได้รอดพ้นจากความรับผิดไปด้วย เมื่อการกระทำใดๆในสมัยวิชี่ไม่ถือว่าเคยเกิดขึ้น ดังนั้นจึงไม่มีความเสียหาย ไม่มีความผิด และไม่มีความรับผิดหรือไม่?

เดิม แนวคำพิพากษาวางหลักไว้ว่า เมื่อรัฐกำหนด ๙ สิงหาคม ๑๙๔๔ กำหนดให้การกระทำใดๆสมัยวิชี่ไม่ถือว่าเคยเกิดขึ้นและไม่มีผลทางกฎหมายใดแล้ว รัฐจึงไม่ต้องรับผิดชอบในการกระทำดังกล่าว แม้การกระทำนั้นจะนำมาซึ่งความเสียหายให้แก่เอกชนก็ตาม  อย่างไรก็ตาม ในระยะหลัง ศาลได้กลับแนวคำพิพากษาเหล่านี้เสียใหม่ ศาลยืนยันว่า แม้ระบอบวิชี่และรัฐบาลในสมัยนั้นจะไม่ถือว่าเคยดำรงอยู่ และการกระทำต่างๆในสมัยนั้นไม่เคยเกิดขึ้นและไม่มีผลทางกฎหมาย แต่หลักความต่อเนื่องของรัฐก็ยังคงมีอยู่ แม้รัฐบาลในสมัยระบอบวิชี่ไม่ได้เป็นรัฐบาลตามกฎหมาย แต่ก็เป็นองค์กรผู้มีอำนาจในความเป็นจริง และไม่มีกฎหมายใดอนุญาตให้รัฐหลุดพ้นจากความรับผิด  ดังนั้น เอกชนผู้เสียหายย่อมมีสิทธิได้รับค่าเสียหายจากการกระทำที่เกิดขึ้นในสมัยระบอบวิชี่ได้ 

จะเห็นได้ว่า ระบบกฎหมายฝรั่งเศสได้มุ่ง “ทำลาย” เฉพาะการกระทำต่างๆในสมัยระบอบวิชี่ที่เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพ และไม่สอดคล้องกับนิติรัฐ-ประชาธิปไตย ไม่ได้มุ่งทำลายหรือลิดรอนสิทธิของผู้เสียหายในการได้รับค่าเสียหาย ส่วนบรรดาความรับผิดชอบของผู้กระทำการอันก่อให้เกิดความเสียหายในสมัยนั้นก็ยังคงมีอยู่ต่อไป (เช่น ขับไล่คนเชื้อชาติยิว, จับคนเชื้อชาติยิวขึ้นรถไฟเพื่อพาไปเข้าค่ายกักกัน, พิพากษาจำคุก, ประหารชีวิต, ฆ่าคนตาย เป็นต้น) ส่วนจะเป็นความรับผิดชอบส่วนตัวของผู้กระทำการนั้น หรือเป็นความรับผิดชอบของรัฐ ย่อมพิจารณาเป็นรายกรณีไป 

นอกจากนี้ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง รัฐบาลฝรั่งเศสได้ใช้มาตรการ “แรง” เพื่อจัดการบุคคลผู้มีส่วนร่วมกับระบอบวิชี่ มาตรการนั้นเรียกกันว่า “มาตรการชำระล้างคราบไคลให้บริสุทธิ์” (épuration) มาตรการทำนองนี้ใช้กันในหลายประเทศโดยมีเป้าประสงค์ คือ จับบุคคลที่มีส่วนร่วมในการกระทำทารุณ โหดร้ายในสมัยนาซีเรืองอำนาจมาลงโทษ และไม่ให้บุคคลที่มีอุดมการณ์แบบนาซีได้มีตำแหน่งหรือมีบทบาทสำคัญ รัฐบาลชั่วคราวแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสได้ออกรัฐกำหนดหลายฉบับเพื่อใช้มาตรการชำระล้างคราบไคลอุดมการณ์นาซี เช่น การจัดตั้งศาลพิเศษเพื่อพิจารณาคดีบุคคลที่มีส่วนร่วมกับระบอบวิชี่, การปลดข้ารัฐการและเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนร่วมกับระบอบวิชี่, การปลดข้ารัฐการและเจ้าหน้าที่ที่มีอุดมการณ์และทัศนคติสนับสนุนนาซีและวิชี่ ตลอดจนกีดกันไม่ให้เข้าทำงานหรือเลื่อนชั้น, การห้ามบุคคลผู้มีอุดมการณ์และทัศนคติสนับสนุนนาซีและวิชี่ ทำงานในกระบวนการยุติธรรม การศึกษา สื่อสารมวลชน การเงินการธนาคาร การประกันภัย หรือร่วมในสหภาพแรงงาน, การจำกัดสิทธิเลือกตั้งและสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เป็นต้น 
 

สวิตเซอร์แลนด์

ปี ๒๐๐๓ รัฐสภาสวิตเซอร์แลนด์ได้ตรารัฐบัญญัติฉบับหนึ่งลงวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๐๐๓ ใจความสำคัญของรัฐบัญญัติฉบับนี้ คือ การเพิกถอนคำพิพากษาของศาลที่พิพากษาลงโทษบุคคลที่ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้หลบหนีลี้ภัยจากการกระทำของนาซี 

ในมาตราแรก เป็นการประกาศวัตถุประสงค์ของกฎหมายว่า “รัฐบัญญัตินี้วางหลักเรื่องการเพิกถอนคำพิพากษาคดีอาญาที่ลงโทษบุคคลที่ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้หลบหนีลี้ภัยจากการกระทำของนาซี และเยียวยาให้แก่บุคคลเหล่านั้น รัฐบัญญัตินี้มุ่งหมายเพิกถอนคำพิพากษาเหล่านี้ในฐานะเป็นการละเมิดความยุติธรรมอย่างร้ายแรงในยุคปัจจุบัน” จากนั้นจึงยืนยันในมาตรา ๓ ว่า “คำพิพากษาของศาลทหาร ศาลอาญาแห่งสหพันธ์ ศาลอาญาแห่งมลรัฐ ที่ลงโทษบุคคลที่ช่วยเหลือแก่ผู้หลบหนีลี้ภัยจากนาซี ถูกเพิกถอน” 

เมื่อกฎหมายประกาศให้คำพิพากษาของศาลสิ้นผลไปแล้ว  ก็จำเป็นต้องมีมาตรการเยียวยาให้แก่บุคคลที่ต้องโทษตามคำพิพากษาเหล่านั้น ในมาตรา ๔ กำหนดให้บุคคลเหล่านั้นมีสิทธิในการได้รับการเยียวยาชดเชย โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการชุดหนึ่ง ชื่อว่า “คณะกรรมการเยียวยาชดเชย” ทำหน้าที่พิจารณาคำร้องขอการเยียวยาชดเชยของบุคคลที่เคยต้องโทษตามคำพิพากษา และอาจเยียวยาชดเชยให้บุคคล เหล่านั้นโดยไม่จำเป็นต้องมีคำร้องขอก่อนก็ได้ ในกรณีที่บุคคลนั้นได้เสียชีวิตไปแล้ว ก็ให้ญาติเป็นผู้ร้องขอแทน  
 

กรีซ

รัฐธรรมนูญ ๑๙๕๒ เป็นรัฐธรรมนูญในสมัยที่กรีซมีกษัตริย์เป็นประมุข โดยในห้วงเวลานั้นเป็นช่วงหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ ๒ เกิดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายเสรีนิยมประชาธิปไตยกับฝ่ายกษัตริย์นิยม ด้วยบรรยากาศของสงครามเย็น สหรัฐอเมริกาจึงสนับสนุนฝ่ายกษัตริย์นิยม ในท้ายที่สุดฝ่ายกษัตริย์นิยมชนะ และประกาศนำรัฐธรรมนูญ ๑๙๑๑ (ซึ่งกำหนดให้มีกษัตริย์) กลับมาปัดฝุ่นใช้บังคับใหม่ให้เป็นรัฐธรรมนูญ ๑๙๕๒ โดยเรียกกันว่า “ประชาธิปไตยแบบกษัตริย์ – Royal Democracy” หรืออาจเรียกให้เข้าไทยเสียหน่อย คือ “ประชาธิปไตยแบบกรีซๆ” นั่นเอง 

ทหารกลุ่มหนึ่งได้ก่อการรัฐประหารในวันที่ ๒๑ เมษายน ๑๙๖๗ ยกเลิกระบอบกษัตริย์ และล้มล้างรัฐธรรมนูญ ๑๙๕๒ คณะรัฐประหารได้ปกครองแบบเผด็จการทหาร มีการประกาศใช้คำสั่งที่มีสถานะเป็นรัฐธรรมนูญหลายฉบับ ต่อมาด้วยสภาพปัญหาทางเศรษฐกิจและการเมืองอันรุมเร้า รัฐบาลเผด็จการไม่อาจตอบสนองต่อการแก้ปัญหาเหล่านั้น โดยเฉพาะปัญหาความขัดแย้งกับไซปรัส รัฐบาลเผด็จการทหารจึงล้มไปในปี ๑๙๗๔ นาย Karamanlis อดีตนายกรัฐมนตรีและผู้นำฝ่ายขวาซึ่งลี้ภัยอยู่ที่ปารีสตั้งแต่ปี ๑๙๖๓ ได้รับเชิญกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี เขาจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติโดยรวมขั้วการเมืองทุกฝ่าย รัฐบาลแห่งชาติของนาย Karamanlis ได้รับการคาดหวังจากประชาชนกรีซว่าจะนำพาสังคมกรีซให้ตื่นจากการหลับใหลและนำพาประเทศเข้าสู่ประชาธิปไตย 

รัฐบาลเริ่มกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยขั้นที่หนึ่ง โดยประกาศใช้คำสั่งทางรัฐธรรมนูญ ๑ สิงหาคม ๑๙๗๔ (เป็นคำสั่งที่มีสถานะเป็นรัฐธรรมนูญชั่วคราว ไม่ได้อยู่ในรูปของรัฐธรรมนูญตามความหมายเชิงรูปแบบ) ว่าด้วย “ฟื้นฟูความชอบด้วยกฎหมายแบบประชาธิปไตย” โดยรับแนวความคิดมาจากประเทศฝรั่งเศสในกรณีรัฐกำหนดว่าด้วยการก่อตั้งความชอบด้วยกฎหมายแบบสาธารณรัฐขึ้นใหม่ในดินแดนฝรั่งเศส ลงวันที่ ๙ สิงหาคม ๑๙๔๔ 

เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์การฟื้นฟูความชอบด้วยกฎหมายแบบประชาธิปไตย รัฐบาล ต้องจัดการ “ทำลาย” ผลิตผลทางกฎหมายสมัยเผด็จการทหาร ด้วยเหตุนี้ คำสั่งทางรัฐธรรมนูญ ๑๙๗๔ จึงประกาศให้บรรดารัฐธรรมนูญสมัยเผด็จการทหาร (ตั้งแต่ปี ๑๙๖๘ ถึง ๑๙๗๓) และการกระทำที่มีเนื้อหาทางรัฐธรรมนูญทั้งหลายที่ประกาศใช้ตั้งแต่ ๒๑ เมษายน ๑๙๖๗ (วันที่คณะทหารรัฐประหาร) เสียเปล่าและถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย อย่างไรก็ดี เมื่อรัฐบาลได้ประกาศความเสียเปล่าของบรรดาการกระทำทางกฎหมายทั้งหลายของรัฐบาลเผด็จการทหารไปแล้ว ก็เท่ากับว่าต้องกลับไปหารัฐธรรมนูญก่อนหน้านั้น คือ รัฐธรรมนูญ ๑๙๕๒ อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้เป็นการฟื้นฟูระบอบกษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ ๑๙๕๒ กลับมาอีก รัฐบาลจึงประกาศให้นำรัฐธรรมนูญ ๑๙๕๒ มาใช้ทั้งฉบับ เว้นแต่เรื่องรูปแบบรัฐที่มีกษัตริย์เป็นประมุข  ทั้งนี้ ก็เพราะว่ารัฐบาลแห่งชาติต้องการให้ประชาชนเป็นผู้ชี้ขาดว่ากรีซสมควรเป็นสาธารณรัฐหรือมีกษัตริย์ รัฐบาลได้กำหนดให้มีการออกเสียงลงประชามติในเบื้องต้นในวันที่ ๘ ธันวาคม ๑๙๗๔ ว่า ประชาชนเห็นสมควรให้กรีซมีกษัตริย์เป็นประมุข หรือสมควรให้กรีซเป็นสาธารณรัฐ ผลปรากฏว่าประชาชนจำนวนร้อยละ ๖๙.๒ เห็นด้วยกับรูปแบบสาธารณรัฐ เป็นอันว่า นับแต่นี้เป็นต้นไป กรีซไม่มีกษัตริย์ และเป็นสาธารณรัฐ 

นอกจากนี้รัฐบาลแห่งชาติยังได้ปล่อยตัวนักโทษการเมือง และให้เสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมือง รวมทั้งพรรคคอมมิวนิสต์ และได้ลงนามในอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนยุโรป

ขั้นตอนต่อไป คือ การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อนำมาใช้แทนรัฐธรรมนูญ ๑๙๕๒ กรีซจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะเข้าไปทำหน้าที่เป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญด้วย ผลปรากฏว่าพรรคประชาธิปไตยใหม่ของ Karamanlis ได้รับชัยชนะ จึงไม่น่าแปลกใจว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะมีรากฐานความคิดของ Karamanlis เป็นสำคัญ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญและเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรในฐานะสภาร่างรัฐธรรมนูญพิจารณา และได้รับความเห็นชอบเมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน ๑๙๗๕ และประกาศใช้บังคับในวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๑๙๗๕    
 

สเปน

สงครามกลางเมืองในสเปนสิ้นสุดลงเมื่อปี ๑๙๓๖ โดยนายพลฟรานซิสโก้ ฟรังโก้ปราบปรามกลุ่มต่างๆ และเข้าสู่อำนาจด้วยการรัฐประหาร นายพลฟรังโก้ปกครองสเปนด้วยระบอบเผด็จการฟาสซิสต์ ตรากฎหมายและออกคำสั่งละเมิดสิทธิมนุษยชนจำนวนมาก ใช้กำลังเข้าปราบปรามเข่นฆ่าบุคคลที่คิดแตกต่าง ออกมาตรการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ภายหลังระบอบฟรังโก้ล่มสลาย สเปนได้เปลี่ยนผ่านเข้าสู่นิติรัฐ-ประชาธิปไตย ภายใต้การนำของกษัตริย์ฆวน คาร์ลอสและกลุ่มการเมืองทุกกลุ่ม ในท้ายที่สุด ประชาชนก็ได้ออกเสียงประชามติให้ความเห็นชอบรัฐธรรมนูญ ๑๙๗๘ 

อย่างไรก็ตาม แม้นิติรัฐ-ประชาธิปไตยจะมั่นคงและมีเสถียรภาพในดินแดนสเปน แต่ผลกระทบจากการกระทำต่างๆในระบอบฟรังโก้ก็ไม่ได้รับการแก้ไขเยียวยาเท่าที่ควร ยิ่งไปกว่านั้น ในนามของความ “ปรองดอง” สเปนจึงออกมาตรการจำนวนมากเพื่อ “ลืม” บาดแผลจากระบอบฟรังโก้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกกฎหมายนิรโทษกรรม และการอภัยโทษให้กับการกระทำในสมัยระบอบฟรังโก้ การนิรโทษกรรมแบบสเปนนี่เอง กลายเป็นต้นแบบให้กับหลายประเทศในอเมริกาใต้ เช่น ชิลี อาร์เจนตินา 
 
ปี ๒๐๐๔ ปัญญาชน นักสิทธิมนุษยชน องค์กรเอกชน และกลุ่มเครือญาติของผู้เสียหายจากระบอบฟรังโก้ ได้รวมตัวกันจัดทำแถลงการณ์ข้อเสนอถึงรัฐบาลและรัฐสภาเพื่อลบล้างผลพวงของระบอบฟรังโก้ และแก้ไขเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากระบอบฟรังโก้

ในแถลงการณ์ดังกล่าว มีข้อเสนอในหลายประเด็น ตั้งแต่ การลบล้างการกระทำใดๆในระบอบฟรังโก้ การจ่ายค่าเยียวยาชดเชยให้แก่บุคคลที่ได้รับผลกระทบ การจัดตั้งหอจดหมายเหตุรวบรวมเอกสารทางประวัติศาสตร์ในเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในระบอบฟรังโก้ การรับรองสิทธิในการรับรู้ของผู้เสียหายหรือญาติต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระบอบฟรังโก้ 

กล่าวสำหรับ การลบล้างการกระทำใดๆในระบอบฟรังโก้นั้น แถลงการณ์ได้นำรูปแบบการลบล้างกฎหมายและคำพิพากษาสมัยนาซีของเยอรมนีมาพิจารณาประกอบ แถลงการณ์เสนอว่า ให้รัฐสภาตรากฎหมายเพื่อประกาศความเสียเปล่าของทุกการกระทำที่มีผลทางกฎหมายในระบอบฟรังโก้ ด้วยเหตุที่ว่า สหประชาชาติได้มีมติที่ ๓๒ ลงวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๑๙๔๖ และมติที่ ๓๙ ลงวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๑๙๔๖ ว่า พิจารณาจากต้นกำเนิด ลักษณะ โครงสร้าง และการกระทำทั้งหลายแล้ว เห็นว่าระบอบฟรังโก้เป็นระบอบการปกครองแบบฟาสซิสต์ นอกจากนี้ การกระทำใดๆในระบอบฟรังโก้มีความผิดตามกฎหมายอาญาระหว่างประเทศอีกด้วย ดังนั้น จึงเป็นความชอบธรรมอย่างยิ่งที่รัฐสภาจะตรากฎหมายประกาศความเสียเปล่าของทุกการกระทำที่มีผลทางกฎหมายในระบอบฟรังโก้ เพื่อให้การกระทำเหล่านั้นเสียเปล่า ไม่เคยเกิดขึ้น และไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย 

แถลงการณ์ยังได้เสนอต่อไปว่า ให้รัฐสภาตรากฎหมายประกาศให้ทุกคำพิพากษาของศาลอาญาและศาลทหาร ตลอดจนการดำเนินคดีอาญาในศาลอาญาและศาลทหาร ในสมัยระบอบฟรังโก้เสียเปล่า ไม่เคยเกิดขึ้น และไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย ด้วยเหตุที่ว่าคำพิพากษาและการดำเนินคดีเหล่านั้นเป็นไปตามอำเภอใจและไม่ชอบด้วยกฎหมาย และรัฐบาลต้องออกมาตรการที่เหมาะสมในการเยียวยาชดเชยให้กับบุคคลที่ได้รับผลร้ายจากคำพิพากษาและการดำเนินคดีเหล่านั้น 

แถลงการณ์ ๒๐๐๔ ไม่ได้รับการตอบสนองเท่าที่ควร รัฐสภาได้ตราพระราชบัญญัติ ๕๒/๒๐๐๗ ลงวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๐๐๗ ว่าด้วยการยอมรับสิทธิของบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินคดีและความรุนแรงในช่วงสงครามกลางเมืองและเผด็จการฟรังโก้ แต่กฎหมายฉบับนี้ก็ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ปัญญาชน นักสิทธิมนุษยชน องค์กรเอกชน และกลุ่มเครือญาติของผู้เสียหายจากระบอบฟรังโก้ จึงทำหนังสือเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งในวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๐๑๐ โดยยืนยันว่ารัฐสภาต้องลบล้างการกระทำใดๆของระบอบฟรังโก้ และการลบล้างดังกล่าวก็ไม่จำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และไม่กระทบต่อความมั่นคงแห่งนิติฐานะของผู้สุจริตด้วย โดยยกตัวอย่างกรณีเยอรมนีที่ได้ตรากฎหมายลบล้างกฎหมาย คำพิพากษา และการกระทำใดๆในสมัยนาซี สำเร็จมาแล้ว 
 

ตุรกี

ภายหลังจากมุสตาฟา เคมาล อัลตาเติร์กได้ปฏิวัติเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของตุรกี ระบอบการเมืองการปกครองในตุรกีก็ยังไม่มีเสถียรภาพและยังไม่เป็นประชาธิปไตยมากนัก จริงอยู่ระบอบเคมาลิสต์อาจนำความเป็นสมัยใหม่มาสู่ตุรกี แต่ความเป็นประชาธิปไตย สิทธิและเสรีภาพ และความเป็นสูงสุดของพลเรือนเหนือทหาร ยังไม่อาจฝังรากลงไปในดินแดนแห่งนี้ มีการรัฐประหารโดยคณะทหารหลายครั้ง ตั้งแต่ปี ๑๙๖๐, ๑๙๗๑, ๑๙๘๐ 

รัฐประหารครั้งที่สามของตุรกีในยุคสมัยใหม่ และเป็นรัฐประหารครั้งล่าสุด คือ รัฐประหาร ๑๒ กันยายน ๑๙๘๐ นำโดยนายพล Kenan Evren ตุรกีถูกปกครองโดยคณะรัฐประหารในชื่อ “คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ” และรัฐบาลที่แต่งตั้งโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ตั้งแต่ ๑๒ กันยายน ๑๙๘๐ จนถึง ๑๙๘๓ ส่วนนายพล Evren หัวหน้าคณะรัฐประหารก็ดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดี
 
คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติได้ดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และนำไปซึ่งให้ประชาชนออกเสียงประชามติ (ภายใต้การควบคุมของคณะรัฐประหาร) มีผลใช้บังคับเป็นรัฐธรรมนูญ ๑๙๘๒ ซึ่งใช้อยู่ในปัจจุบัน จากนั้นก็ทยอยผ่องถ่ายอำนาจ โดยการจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปตามรัฐธรรมนูญ ๑๙๘๒ และมีรัฐบาลใหม่และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่มาจากการเลือกตั้งในปี ๑๙๘๓ อย่างไรก็ตามนายพล Evren ยังคงดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีต่อไปจนถึงปี ๑๙๘๙ 

ตุรกีอยู่ภายใต้การปกครองของคณะรัฐประหารรวมระยะเวลา ๓ ปี ภายใต้การปกครองของคณะรัฐประหารนี้นำมาซึ่งการนองเลือด มีประชาชนเสียชีวิต ๕,๐๐๐ คน ถูกจำคุก ๖,๐๐๐ คน ถูกดำเนินคดี ๒๐๐,๐๐๐ คน เสียสัญชาติตุรกีไปอีกร่วม ๑๐,๐๐๐ คน และประชาชนอีกนับหมื่นที่ได้รับการทรมาน 

บรรดานักการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านต่างเห็นตรงกันมานานแล้วว่า เนื้อหาของรัฐธรรมนูญ ๑๙๘๒ ไม่ได้มาตรฐานประชาธิปไตย นายกรัฐมนตรี Recep Tayyip Erdogan มีดำริว่าสมควรแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยมุ่งลดทอนอำนาจศาลให้ได้ดุลยภาพมากขึ้น ลดทอนอำนาจกองทัพ คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ปรับปรุงโครงสร้างและที่มาของศาลรัฐธรรมนูญเสียใหม่ โดยมีรายละเอียดพอสังเขป ดังนี้ 

๑.) ให้ศาลพลเรือนมีเขตอำนาจเหนือทหารและบุคคลที่เกี่ยวข้องในคดีกล่าวหาว่าทหารและบุคคลเหล่านั้นก่อกบฏล้มล้างรัฐบาลหรือก่ออาชญากรรมต่อรัฐ 
๒.) เพิ่มจำนวนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจากเดิม ๑๑ คน เป็น ๑๗ คน จากเดิมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมดมาจากการเสนอชื่อโดยศาลและให้ประธานาธิบดีลงนามแต่งตั้ง โดยดำรงตำแหน่งจนถึงอายุ ๖๕ ปี เปลี่ยนมาเป็นสภาแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ๓ คน และอีก ๑๔ คนประธานาธิบดีแต่งตั้งโดยเลือกจากบัญชีที่เสนอจากสภาทนายความ จากสภาสูงการศึกษา และศาล โดยมีวาระดำรงตำแหน่ง ๑๒ ปี
๓.) เพิ่มจำนวนคณะกรรมการตุลาการ (กต.) จาก ๗ คน เป็น ๒๒ คน โดย ๔ คนแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี
๔.) ทหารที่ถูกสภาทหารสูงสุดปลดออกจากตำแหน่งมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้
๕.) รับรองสิทธิและเสรีภาพใหม่ๆ เช่น สิทธิสตรี สิทธิของผู้ด้อยโอกาส สิทธิของชนกลุ่มน้อย และคุ้มครองข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลมากขึ้น
๖.) กำหนดให้มีผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา

นอกจากนี้ ในร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมยังมีบทบัญญัติยกเลิกมาตรา ๑๕ ซึ่งเป็นบทบัญญัติชั่วคราวในรัฐธรรมนูญ ๑๙๘๒ โดยมาตรา ๑๕ บัญญัติว่า “การฟ้องร้องหรือดำเนินคดีให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติหรือรัฐบาลที่แต่งตั้งโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติต้องรับผิดทางอาญา ทางแพ่ง หรือทางกฎหมายใดเนื่องจากการกระทำใดๆของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติและรัฐบาล ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๒ กันยายน ๑๙๘๐ จนถึงวันที่สภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่เริ่มปฏิบัติหน้าที่ ไม่อาจทำได้” พูดง่ายๆก็คือ มาตรา ๑๕ สร้างเอกสิทธิ์และความคุ้มกันให้แก่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ และรัฐบาล ในการไม่ถูกดำเนินคดีหรือถูกฟ้องนั่นเอง 

ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมรวม ๒๖ มาตรา ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา แต่ยังไม่อาจมีผลใช้บังคับได้ เพราะ ได้เสียงเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภาไม่ถึงร้อยละ ๗๐ จึงต้องนำไปให้ประชาชนออกเสียงลงประชามติ รัฐบาลกำหนดวันออกเสียงลงประชามติในวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๐๑๐ โดยเจตนาให้ตรงกับวันครบรอบ ๓๐ ปีรัฐประหาร ๑๒ กันยายน ๑๙๘๐ นายกรัฐมนตรี Recep Tayyip Erdogan ประกาศว่า “วันที่ ๑๒ กันยายน ๒๐๑๐ เป็นวันอันเหมาะสมที่สุดสำหรับการเผชิญหน้ากับการทรมาน ความโหดเหี้ยม และการปฏิบัติอันไร้มนุษยธรรมของรัฐประหาร ๑๒ กันยายน ๑๙๘๐” 

ในรัฐธรรมนูญตุรกี การออกเสียงประชามติเป็นหน้าที่ ผู้มีสิทธิออกเสียงมีหน้าที่ต้องไปออกเสียงประชามติ หากผู้ใดไม่ไปออกเสียง ต้องถูกปรับ (ประมาณ ๖๐๐ บาท) ผลปรากฏว่าประชาชนชาวตุรกีได้ออกเสียงลงประชามติเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมจำนวนร้อยละ ๕๗.๙๐ ไม่เห็นชอบร้อยละ ๔๒.๑ มีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงร้อยละ ๗๗ (จำนวนร้อยละ ๒๐ ที่ไม่มาออกเสียงนั้น ส่วนใหญ่เป็นฐานคะแนนของพรรคสังคมประชาธิปไตยที่ประกาศบอยคอตไม่ร่วมการออกเสียงประชามติครั้งนี้)  

เมื่อรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมีผลใช้บังคับ นั่นเท่ากับว่า บทบัญญัติว่าด้วยเอกสิทธิ์และความคุ้มกันของคณะรัฐประหารและพวก (คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติและรัฐบาล) ในการไม่ถูกดำเนินคดีหรือถูกฟ้อง ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว  ดังนั้น ภายหลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมได้วันเดียว การทดสอบท้าทายตอบโต้รัฐประหาร๑๒ กันยายน ๑๙๘๐ ก็เริ่มขึ้น สมาคมนักกฎหมายและนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนเดินหน้ากล่าวโทษนายพล Kenan Evren (ปัจจุบันอายุ ๙๔ ปี) และพวกในความผิดฐานกบฏ ความผิดอาญาฐานอื่นๆ ตลอดจนความรับผิดทางแพ่ง 
 

........................

นี่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วในเยอรมนี, ฝรั่งเศส, สวิตเซอร์แลนด์, กรีซ, สเปน และตุรกีที่สมควรหยิบยกมาแสดงเป็นตัวอย่างว่า การลบล้างการกระทำใดๆในสมัยเผด็จการสามารถทำได้โดยไม่จำเป็นต้องกังวลใจว่าใครจะได้ประโยชน์ เพราะ ในท้ายที่สุด ระบบกฎหมายแบบนิติรัฐ-ประชาธิปไตยนั่นแหละที่เราจะได้กลับมา พร้อมกับ “สั่งสอน” บุคคลที่กระทำการ ร่วมมือ ตลอดจนสนับสนุนเผด็จการได้อีกด้วย อีกทั้งเป็นการประกาศให้เห็นทั้งในทางสัญลักษณ์ ในทางประวัติศาสตร์ และในทางกฎหมายว่า ต่อไปนี้ หากมีรัฐประหารเกิดขึ้นอีก ก็เป็นไปได้ว่าเมื่อคณะรัฐประหารหมดอำนาจลง ระบบการเมือง-กฎหมายเริ่มเข้าสู่สภาวะปกติ ประชาชนในฐานะรัฏฐาธิปัตย์ตัวจริงในระบอบประชาธิปไตย ย่อมมีความชอบธรรมอย่างเต็มที่ในการ “ลบล้าง” ผลพวงของรัฐประหาร และนำตัวคณะรัฐประหารมาลงโทษ 

__________________________________________

เชิงอรรถ
 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมคนแรกในสมัยระบอบวิชี่ มีบทบาทสำคัญในการบริหารและกำหนดทิศทางการทำงานของศาลปกครอง 

 ศาสตราจารย์กฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยปารีส ผู้เขียนตำรากฎหมายรัฐธรรมนูญหลายเล่ม ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมคนที่สองในสมัยระบอบวิชี่

 ศาสตราจารย์กฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยปารีส ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีการศึกษาและเยาวชน มีบทบาทสำคัญในการปลดศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยที่มีเชื้อชาติยิว

 ศาสตราจารย์กฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบอร์กโดซ์ เขียนตำรากฎหมายปกครองหลายเล่ม แม้เขาจะไม่เข้าดำรงตำแหน่งใดๆในรัฐบาล แต่ได้ประกาศอย่างชัดเจนต่อสาธารณะว่าพร้อมปวารณาตัวรับใช้และสนับสนุนระบอบวิชี่อย่างไม่มีเงื่อนไขและอย่างเต็มความสามารถ โดยมุ่งเน้นไปในงานทางวิชาการเพื่อรับรองความชอบธรรมของระบอบวิชี่และสนับสนุนนักกฎหมายที่รับใช้ระบอบวิชี่ ผ่านบทความต่างๆที่เสนอในวารสาร Revue du Droit public (วารสารกฎหมายมหาชน) ที่เขาเป็นบรรณาธิการ

 คำว่า “สาธารณรัฐ” ในบริบทของฝรั่งเศส ไม่ใช่หมายถึงเพียงรัฐที่มีประมุขของรัฐเป็นประธานาธิบดี ไม่ใช่ตำแหน่งที่สืบทอดทางสายโลหิตแบบกษัตริย์เท่านั้น แต่ยังหมายความถึงความเป็นนิติรัฐ ความเป็นประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมและพหุนิยมด้วย จะสังเกตได้ว่า คำว่า République ที่ใช้ในบริบทของฝรั่งเศส จะเขียนด้วยตัวอักษร R ตัวใหญ่เสมอ นั่นหมายความว่า มีลักษณะเฉพาะและแตกต่างจาก république 

 คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ๑๔ มิถุนายน ๑๙๔๖, Ganascia คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ๔ มกราคม ๑๙๕๒, Epoux Giraud คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ๒๕ กรกฎาคม ๑๙๕๒, Delle Remise 

 คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ๑๒ เมษายาน ๒๐๐๒, Papon คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๐๐๙, Hoffman Glemane 

ที่มา: เว็บไซต์นิติราษฎร์


สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เรียนรู้ ‘ฮอด’ ชุมชนเก่าแก่ บทเรียนก่อนและหลังกำเนิดเขื่อนภูมิพล (ตอนจบ)

$
0
0

 

ล้อมวงคุยเสริมความมั่นใจ สรุปปัญหาเพื่อหาทางออกของปัญหา
ในเวทีเสริมความมั่นใจทางกฎหมายข้อบัญญัติท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากร ณ ห้องประชุม องค์การบริหารส่วนตำบลฮอด อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2554 ที่ผ่านมา มีหลายกลุ่มหลายฝ่ายได้ล้อมวงกันเพื่อถกประเด็นปัญหาของตำบลฮอดกันอย่างจริงจัง

นายนิพันธ์ ทองคำ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลฮอด กล่าวว่า ที่ผ่านมา มีการประชุมให้ความรู้เรื่อง ข้อบัญญัติท้องถิ่นเรื่องการใช้ที่ดินตำบลฮอด ก็มีทั้งเรื่องของการจัดการที่ดิน การขับเคลื่อนจากข้อมูลพื้นฐานมาสู่การสร้างภาคีเครือข่ายในการทำงานเรื่องข้อบัญญัติท้องถิ่น โดยเฉพาะเรื่องที่ดิน ซึ่งมีปัญหาและยังไม่ชัดเจน ทั้งอุทยานฯ ป่าไม้ รวมทั้งหลายๆ หน่วยงานที่เข้ามาก็ยังไม่ชัดเจนมากนัก จึงต้องอาศัยนักวิชาการเข้ามาหนุนช่วย  พร้อมกับมอบหมายให้ทางรองจงกลฯ ทำหน้าที่ประสานงานและดำเนินการในเรื่องนี้ 

นายก อบต.ฮอด กล่าวอีกว่า ตั้งแต่เข้ามาบริหารพื้นที่ งบประมาณหมดไปกับการการแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากจนไม่เหลือไปพัฒนาในด้านอื่นๆ เมื่อน้ำท่วมจบก็แก้ปัญหาภัยแล้งต่อ ไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาเยียวยาหรือช่วยเหลืออย่างจริงจัง ชาวบ้านเคยรวมตัวกันเรียกร้องเพราะทนความยากลำบากไม่ไหว สิ่งที่ได้กลับมาคือถุงยังชีพเท่านั้น               

“คุณสร้างเขื่อนแล้วเอาน้ำมาท่วมเรา แต่ไม่เคยมาสนใจเยียวยาเรา ทุกวันนี้ชาวบ้านไม่ต่างไปจากสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ต้องคอยลุ้นว่าน้ำมาตอนไหนแล้วก็หนี”นายกอบต.ฮอด กล่าว

ในวงเสวนามีการตั้งคำถามกันด้วยว่า ต่อกรณีปัญหาเรื่องที่ดิน หากท้องถิ่นจะเข้ามาดำเนินการจัดการ จะทำได้มากน้อยแค่ไหน

นายวิโรจน์ ติปิน ได้ทบทวนบทเรียน ประสบการณ์การจัดการที่ดิน ตำบลฮอด อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่เอาไว้ว่า ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา จากการเข้ามาทำงานประสานงานกับทาง อบต.ฮอด เพื่อชักชวนพี่น้องชาวบ้านเข้ามาร่วมในการแก้ไขปัญหาเรื่องของการจัดการที่ดิน พร้อมทั้งได้รับความเห็น การปฏิบัติการในพื้นที่ รวมทั้งการพัฒนากรอบเพื่อสร้างกลไกในการดำเนินงาน ซึ่งทุกคนเห็นด้วยเป็นเสียงเดียวกันว่า ต้องลุกขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหา

แน่นอนว่า เมื่อทุกคนทุกฝ่ายได้สรุปบทเรียนและทบทวนกันแล้ว ต่างออกมาระบุและยืนยันอย่างหนักแน่นว่า ฮอดมีปัญหามาจากการสร้างเขื่อนภูมิพล และดำเนินการต่างๆภายหลังจากการสร้างเขื่อน 

ในขณะที่ เมื่อชาวบ้านได้รับผลกระทบจากปัญหา เมื่อได้เข้าพบหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็มักได้รับการบ่ายเบี่ยงเลี่ยงปัญหาไปมาอยู่อย่างนั้น

“พอทำหนังสือไปถึงกรมชลฯ กรมชลฯก็บอกว่ากรมชลฯ มีหน้าที่ปล่อย แต่ความเสียหายให้ไปเรียกร้องกับการไฟฟ้า” 

นักวิชาการกฎหมาย มช. แนะทางออกฟ้องศาลปกครอง
อาจารย์ไพสิฐ พานิชย์กุล จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้บอกเล่าให้ชาวบ้านในพื้นที่ตำบลฮอดฟังว่า จะทำอย่างไร ถึงจะให้ทางชาวบ้านใช้เป็นเงื่อนไขในการใช้กฎหมายกับสถานการณ์ปัญหาที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน   

อาจารย์ไพสิฐ ยังได้แนวทางในการเรียกร้องสิทธิให้ฟ้องศาลปกครอง

“ซึ่งเมื่อดูในข้อกฎหมาย หากพื้นที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ต้องเวนคืนให้กับชาวบ้าน โดยทางออกมีอยู่หลายแนวทาง คือ 1.อบต. และชาวบ้านเข้าชื่อกัน ทำหนังสือถึงนายกฯ 2.ฟ้องศาลปกครองให้ กฟผ.คืนพื้นที่ โดยอ้างกฎหมาย พ.ร.บ.เวนคืน และกฎหมายรัฐธรรมนูญ พร้อมกับรวบรวมรายชื่อชาวบ้าน ทำแผนที่ให้ชัดเจน แล้วทำเรื่องยื่นหนังสือไปยังกฟผ.เรื่องการเวนคืนที่ดิน การใช้ที่ดิน และ หลังจากนั้นรอคำตอบ หากไม่ทำอะไร ก็ให้มาสู่กระบวนการฟ้องศาลปกครอง รวมไปถึงการทำหนังสือถึงกรรมาธิการฯเพื่อลงมาตรวจสอบ” 

อาจารย์ไพสิฐ ยังบอกอีกว่า แต่ก่อนที่จะดำเนินการเรียกร้อง หรือฟ้องร้อง นั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ชาวบ้านในชุมชน จะต้องมีความชัดเจนในข้อมูลปัญหาและพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนทั้งหมดเสียก่อน

“เพราะปัญหาในพื้นที่ที่มีการขับเคลื่อนบางช่วง บางตอน พอเรียกหน่วยงานมา ก็ไม่ได้ทำอะไร มีความไม่ชัดเจนระหว่าง กฟผ.กับกรมชลประทาน เพราะว่าพื้นที่เป็นลักษณะขึ้น–ลงตามระดับน้ำ ในอดีตไม่ได้มีการสำรวจว่า ระดับน้ำท่วมถึงอยู่ตรงไหน เมื่อสภาพความเป็นจริง กับเอกสารไม่ตรงกัน จึงต้องเจอกับปัญหาข้อกฎหมายเช่นนี้  ฉะนั้น การใช้หลักกฎหมายต้องบวกกับข้อเท็จจริง เช่นเดียวกับปัญหากรณีอุทยานฯ ทับที่ดินชาวบ้าน หากไม่ไปดูว่า ชาวบ้านทำอะไร อย่างไร เมื่อรัฐไปวงขีดไว้ก่อน กลายเป็นเขตพื้นที่ตามกฎหมาย คนที่อยู่ในเขตก็ถือว่า ผิดแล้ว นี่เป็นประเด็นที่ทาง อบต.ฮอดและชาวบ้านสามารถดำเนินการได้เลย” 

เตรียมขับเคลื่อน ออกข้อบัญญัติท้องถิ่น 
นายโอฬาร อ่องฬะ  ผู้ประสานงานสถาบันพัฒนาท้องถิ่น บอกว่า ตำบลฮอด มีปัญหามาเป็นเวลายาวนานแล้ว ตั้งแต่ปัญหาน้ำท่วม จนไปสู่การพัฒนาศักยภาพท้องถิ่น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะมีการหนุนเสริม สร้างความเข้าใจของผู้บริหารท้องถิ่น ให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการแก้ไขปัญหาตัวเองได้ รวมไปถึงการเสริมสร้างบทบาทแต่ละภาคส่วน ว่าจะช่วยหนุนเสริมได้อย่างไรบ้าง  ในขณะที่นโยบายการปกครองในขณะนี้ ยังให้อำนาจคงอยู่ 2 ส่วน นั่นคือ การถ่ายโอนอำนาจบางส่วนไม่ได้กลับไปให้อำนาจท้องถิ่นเดิม ในขณะที่ข้างบนมีแนวโน้มที่จะมีการรื้อฟื้นโครงสร้างคณะกรรมการหมู่บ้านให้ปรับมาใช้สูงขึ้น เป็นตัวแทนรัฐ มีบทบาทเพิ่มมากขึ้น 

“ดังนั้น ทำอย่างไรถึงจะเอาบทบาทของท้องถิ่นมาขยับ มาแก้ไขปัญหาร่วมกัน หากสามารถเข้าใจพลังอำนาจท้องถิ่นแล้ว เราก็สามารถมาออกแบบ แนวทางการสร้างข้อบัญญัติท้องถิ่น มาแก้ไขปัญหาตำบลฮอดร่วมกันได้” 

นั่นทำให้ชาวบ้านและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้หันมาหยิบเอารัฐธรรมนูญไทยที่เกี่ยวกับสิทธิชุมชนและการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม มาเปิดกางเพื่อศึกษาหาแนวทางในการขับเคลื่อนต่อสู่และเรียกร้องกันต่อไป

ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 66 ที่ระบุว่า บุคคลซึ่งรวมกันเป็นชุมชน ชุมชนท้องถิ่นหรือชุมชนท้องถิ่นดั่งเดิม ย่อมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ และมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน           

และมาตรา 67 ระบุไว้อีกว่าสิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการอนุรักษ์ บำรุงรักษา และการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อม ที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน ย่อมได้รับความคุ้มครองตามความเหมาะสม

ทั้งนี้ ในเวทีดังกล่าว ได้มีการเชิญตัวแทนของ อบต.ทาเหนือ และ อบต.แม่ทา มาแลกเปลี่ยนถึงกรณีที่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้มีการเสนอออกข้อบัญญัติท้องถิ่น เพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นได้ลุกขึ้นมาจัดการฐานทรัพยากรในพื้นที่ของตนเอง 

แน่นอนว่า ปัญหาอาจแตกต่างกับพื้นที่ของฮอด แต่สามารถนำมาปรับเปลี่ยนเรียนรู้เป็นแนวทางได้

ว่ากันว่า กรณีพื้นที่ ต.ทาเหนือ ต.แม่ทา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ได้ลุกขึ้นมาจัดทำข้อบัญญัติท้องถิ่น ก็เพราะว่าชาวบ้านมีปัญหาเรื่องพื้นที่ทำกินอยู่ในเขตอุทยานฯ และการขับเคลื่อนของการออกข้อบัญญัติท้องถิ่นของ อบต.ทาเหนือ เริ่มต้นจากเอาปัญหาเป็นตัวตั้ง จากปัญหานำมาสู่ความเข้าใจร่วมกัน ในขณะที่ทาง อบต.แม่ทา ก็เริ่มจากการจัดกลุ่มไม่เป็นทางการ  เช่น ป่าชุมชน จนกลายมาเป็นข้อบัญญัติท้องถิ่นได้ 

(อ่าน การแก้ไขปัญหาที่ดินโดยชุมชน ข้อบัญญัติท้องถิ่นกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ

กรณีตำบลแม่ทา อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่http://www.codi.or.th/landresolve/index.php?option=com_content&view=article&id=167%3A2011-02-15-09-07-14&catid=38%3A2009-08-27-07-27-35&Itemid=33&lang=en)

ซึ่งต่างจากพื้นที่ตำบลฮอด ที่เกิดปัญหาจากการสร้างเขื่อน ดังนั้น ทางออกทางแก้จึงย่อมแตกต่างกัน

อย่างไรก็ตาม การผลักดันข้อบัญญัติท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากรจะสำเร็จได้หรือไม่นั้น สิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งก็คือ กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน จะต้องทำความเข้าใจชาวบ้านว่า ทำแล้วเกิดประโยชน์อย่างไร ต้องมีการสื่อสารกับชาวบ้านให้มีความเข้าใจอย่างแท้จริง ก่อนจะยกร่างข้อบัญญัติท้องถิ่น แล้วเสนอต่อสภา เพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป

ล่าสุด ชาวบ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งองค์กรหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันวางแผนในการขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาที่หมักหมมมายาวนาน โดยได้หยิบยกประเด็นหลักในการขับเคลื่อน เช่น จัดวางกลไกการทำงาน สร้างองค์กรชุมชนให้เกิดความเข้มแข็ง,การจัดทำฐานข้อมูล ทั้งข้อมูลรายแปลง เขตพื้นที่เวนคืนอุทยานแห่งชาติออบหลวง และเขตพื้นที่ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ

นอกจากนั้น ให้มีการมีสำรวจข้อมูลที่ดินทำกินในอีก 5 หมู่บ้าน ซึ่งเป็นพื้นที่เวนคืนแต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ มีทั้งหมดจำนวนกี่ไร่ กี่แปลง มีผู้ถือครองที่ราย ข้อมูลแสดงถือครองที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย จำนวนเท่าไหร่ และที่ดินในเขตป่าเพื่อขอเพิกถอน แต่เปลี่ยนเป็นขอปรับปรุงแนวเขตฯ 

ที่สำคัญคือการสืบค้นหารากเหง้าของตนเอง ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการจัดทำข้อมูลประวัติศาสตร์ชุมชน เพื่อเป็นหลักฐานอ้างอิงการตั้งถิ่นฐานชุมชน คำบอกเล่า คนเฒ่าคนแก่ ผังเมืองเก่า ผังเมืองปัจจุบัน เส้นทางการค้าวัตถุโบราณ ลายลักษณ์ อักษร เป็นต้น 

หลังจากนั้น จึงนำไปสู่การนำเสนอบนเวทีสาธารณะ และยื่นหนังสือถึงผู้เกี่ยวข้องให้ออกมารับผิดชอบและแก้ไข

และขั้นตอนต่อไป ชาวบ้าน ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บอกว่าพร้อมจะออกมาเคลื่อนไหวต่อสู้ในแง่กฎหมาย หาก กฟฝ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ตอบรับ ก็จะนำไปสู่กระบวนการฟ้องศาลปกครองในที่สุด

ทั้งนี้ ในช่วงท้ายของวงเสนาได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มีเสียงชาวบ้านตำบลฮอดคนหนึ่งสะท้อนออกมาให้หลายคนได้ฉุกคิด....

“เขื่อนเป็นของใคร เป็นของรัฐบาล หรือบริษัท ใครเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ โดยการแอบอ้างว่านี่เป็นพระราชดำริ แล้วจะไม่ให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน?!” 

 

 

ข้อมูลประกอบ:
บันทึกเวทีเสริมความมั่นใจทางกฎหมายข้อบัญญัติท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากร,21 ธันวาคม 2554 ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลฮอด อำเภอฮอด  จังหวัดเชียงใหม่

เสียงครวญของ “ชุมชนสละที่สร้างเขื่อน” เจอน้ำท่วมซ้ำซาก-เป็นพื้นที่ถูกลืม, 23 กุมภาพันธ์,ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง: 
เรียนรู้ ‘ฮอด’ ชุมชนเก่าแก่ใกล้ล่มสลาย? บทเรียนก่อนและหลังกำเนิดเขื่อนภูมิพล (ตอน 1)
เรียนรู้ ‘ฮอด’ บทเรียนก่อนและหลังกำเนิดเขื่อนภูมิพล (ตอน 2)
เรียนรู้ ‘ฮอด’ ชุมชนเก่าแก่ บทเรียนก่อนและหลังกำเนิดเขื่อนภูมิพล (ตอน 3)

เรียนรู้ ‘ฮอด’ ชุมชนเก่าแก่ บทเรียนก่อนและหลังกำเนิดเขื่อนภูมิพล (ตอน 4)

เรียนรู้ ‘ฮอด’ ชุมชนเก่าแก่ บทเรียนก่อนและหลังกำเนิดเขื่อนภูมิพล (ตอน 5 )

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กสม.แถลงประณามรุนแรงใต้ สภาประชาสังคมร้องรัฐทบทวนแก้ไฟใต้ใหม่ทั้งระบบ

$
0
0

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ออกแถลงการณ์ประณามการกระทำของผู้ก่อเหตุความรุนแรงที่หาดใหญ่และยะลา อีกฉบับสภาประชาสังคมชายแดนใต้ แถลงเรียกร้องทบทวนยุทธศาสตร์และยุทธวิธีแก้ปัญหาใต้ใหม่ทั้งระบบ

4 เมษายน 2555 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ออกแถลงการณ์กรณีความรุนแรงที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี และอำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา  เมื่อวันที่ 31 มีนาคม  2555 ประณามการกระทำของผู้ก่อเหตุความรุนแรง อันเป็นการกระทำที่ผิดต่อกฎหมาย ละเมิดสิทธิมนุษยชน และหลักมนุษยธรรม ซึ่งเป็นหลักสากลที่ต้องยึดถือ

แถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า ขอสนับสนุนรัฐบาลในการดำเนินมาตรการรักษาความสงบเรียบร้อยเพื่อให้ประชาชนรู้สึกปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน การประกอบอาชีพ และการดำรงชีวิตอย่างปกติสุข ด้วยความร่วมมือของภาคประชาชนในการเฝ้าระวัง และการป้องกันเหตุการณ์ความรุนแรง เพื่อเรียกความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในพื้นที่ในทุกๆ ด้านให้กลับคืนมา พร้อมเร่งเยียวยาความเสียหาย ฟื้นฟูจิตใจและความบอบช้ำของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว

ด้านสภาประชาสังคมชายแดนใต้ได้ออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจต่อผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนปัญหาใจกลาง ยุทธศาสตร์และยุทธวิธีแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ใหม่ทั้งระบบ โดยคัดค้านการใช้ความรุนแรงเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมืองทุกรูปแบบ เรียกร้องทุกฝ่ายมีส่วนร่วมแก้ปัญหาไม่ปล่อยให้เป็นเรื่องของนักการเมือง รัฐบาล หรือหน่วยงานด้านความมั่นคงเพียงลำพัง

แถลงการณ์ของสภาประชาสังคมชายแดนใต้ระบุด้วยว่า สภาประชาสังคมชายแดนใต้ยืนยันที่จะเป็นพื้นที่กลางสำหรับให้ทุกฝ่ายได้แลกเปลี่ยนและนำเสนอความคิดในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่อย่างเสมอภาคและเป็นธรรม

0 0 0

 

แถลงการณ์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

กรณีความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้


ตามที่ได้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี และอำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา  เมื่อวันที่ 31 มีนาคม  2555 ดังปรากฏเป็นข่าวแล้วนั้น

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขอแสดงความเสียใจเป็นอย่างยิ่งต่อผู้ที่เสียชีวิต ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ และผู้สูญเสียทรัพย์สิน รวมไปถึงครอบครัวของบุคคลดังกล่าว ตลอดจนห่วงใยในสวัสดิภาพของประชาชนในพื้นที่ ในการนี้จึงขอประณามการกระทำของผู้ก่อเหตุความรุนแรง อันเป็นการกระทำที่ผิดต่อกฎหมาย ละเมิดสิทธิมนุษยชน และหลักมนุษยธรรม  ซึ่งเป็นหลักสากลที่ต้องยึดถือ

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขอสนับสนุนรัฐบาลในการดำเนินมาตรการรักษาความสงบเรียบร้อยเพื่อให้ประชาชนรู้สึกปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน การประกอบอาชีพ และการดำรงชีวิตอย่างปกติสุข ด้วยความร่วมมือของภาคประชาชนในการเฝ้าระวัง และการป้องกันเหตุการณ์ความรุนแรง เพื่อเรียกความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในพื้นที่ในทุกๆ ด้านให้กลับคืนมา พร้อมเร่งเยียวยาความเสียหาย ฟื้นฟูจิตใจและความบอบช้ำของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว

 

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
4  เมษายน 2555

 

 

AttachmentSize
แถลงการณ์สภาประชาสังคมชายแดนใต้ ฉบับ 4.pdf51.69 KB
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สรส.ชี้ไทยยังไม่ยอมให้สิทธิ "แรงงานข้ามชาติ" เข้าถึงกองทุนเงินทดแทน

$
0
0

(5 เม.ย.55) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ออกแถลงการณ์เรียกร้องต่อกระทรวงแรงงานและหน่วยงานภาครัฐทั้งหมด ให้ยกเลิกหนังสือเวียนที่ รส.0711/ว751 ที่ปฏิเสธแรงงานข้ามชาติในการเข้าถึงสิทธิประโยชน์จากกองทุนเงินทดแทนเนื่องจากการบาดเจ็บและการเจ็บป่วยจากการทำงาน เพื่อให้แรงงานข้ามชาติได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานเช่นเดียวกับที่แรงงานทั้งหมดพึงได้รับ โดยไม่คำนึงถึงปัจจัยด้านสัญชาติและสถานะการเข้าเมือง ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามที่รัฐบาลไทยได้ประกาศว่าจะยุติการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบในประเทศไทยและจะเชิดชูสิทธิของแรงงานข้ามชาติในระหว่างที่มีการรายงาน Universal Periodic Review ที่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ที่นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์

รายละเอียดแถลงการณ์ มีดังนี้...

 

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลไทยอย่างรุนแรงสำหรับการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากแรงงานข้ามชาติ แค่เพียงหนึ่งอาทิตย์หลังจากที่รัฐบาลไทยได้ให้คำมั่นสัญญาต่อหน้าคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติถึงการป้องกันสิทธิของแรงงานข้ามชาติว่าให้มีสิทธิพิเศษก่อน ชื่อเสียงของประเทศไทยในด้านการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากแรงงานข้ามชาติยังคงเป็นจุดสนใจของประชาชน

ในรายงานสมัยประชุมที่ 101 ของการประชุมด้านแรงงานระหว่างประเทศ คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญขององค์การแรงงานระหว่างประเทศด้านการอนุมัติให้เป็นไปตามอนุสัญญาและคำแนะนำ ระบุว่าการปฏิเสธอย่างต่อเนื่องของประเทศไทยถึงการที่แรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าจะเข้าถึงกองทุนเงินทดแทนเนื่องจากประสบอุบัติเหตุจากการทำงานจากสำนักงานประกันสังคมนั้น เป็นการละเมิดพันธกรณีในฐานะรัฐภาคีสมาชิกที่ลงนามในอนุสัญญาที่ 19 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ คำตัดสินขององค์การแรงงานระหว่างประเทศนับเป็นครั้งที่สองในรอบสองปีที่มาสนับสนุนการรณรงค์อย่างยาวนานโดยสหภาพและกลุ่มสิทธิมนุษยชนที่ต้องการให้ยกเลิกเพิกถอนนโยบายที่เป็นการเลือกปฏิบัตินี้

นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) กล่าววันนี้ว่า “แรงงานข้ามชาติในประเทศไทยยังคงประสบความทุกข์ร้อนจากระบบการเลือกปฏิบัติ ทั้งๆ ที่แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ร่วมทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับแรงงานไทยเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ แทนที่จะให้แรงงานข้ามชาติเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย รัฐบาลไทยกลับปฏิเสธสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของแรงงานข้ามชาติ สรส. จึงขอเรียกร้องอีกครั้งให้กระทรวงแรงงานและหน่วยงานภาครัฐทั้งหมด ยกเลิกกฎหมายและนโยบายที่เป็นการเลือกปฏิบัติเหล่านี้เสีย เพื่อให้แรงงานข้ามชาติได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานเฉกเช่นเดียวกับที่ ‘แรงงานทั้งหมด’ พึงจะได้รับ โดยไม่คำนึงถึงปัจจัยด้านสัญชาติและสถานะการเข้าเมือง”

นายสาวิทย์กล่าวต่อไปว่า “เราขอเรียกร้องโดยทันทีให้ยกเลิกหนังสือเวียนที่ รส.0711/ว751 ที่ปฏิเสธแรงงานข้ามชาติในการเข้าถึงสิทธิประโยชน์จากกองทุนเงินทดแทนเนื่องจากการบาดเจ็บและการเจ็บป่วยจากการทำงาน รัฐบาลได้ประกาศต่อหน้าสาธารณะว่าจะยุติการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบในประเทศไทยและจะเชิดชูสิทธิของแรงงานข้ามชาติในระหว่างที่มีการรายงาน Universal Periodic Review ที่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในนครเจนีวา การยกเลิกนโยบายที่ล้าสมัยและข้อจำกัดในการเลือกปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติที่ได้รับบาดเจ็บจากการทำงานควรเป็นการดำเนินการอย่างแรกๆ ที่รัฐบาลควรทำเพื่อให้เป็นไปตามที่ให้คำมั่นสัญญาไว้ แต่แทนที่รัฐบาลจะทำ หนังสือเวียนฉบับดังกล่าวนี้กลับยังคงมีผลอยู่”

กระทรวงแรงงานยังคงปฏิเสธอย่างเหนียวแน่นที่จะยกเลิกหนังสือเวียนที่ รส.0711/ว751 ทั้งๆ ที่มีการอุทธรณ์โดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศในปี 2553 และผู้รายงานพิเศษองค์การสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชนของผู้ย้ายถิ่นและลัทธิเหยียดหยามชนชาติในปี 2554 การที่ศาลไทยยังคงปฏิเสธที่จะสั่งเพิกถอนหนังสือเวียนฉบับนี้และมีกรณีศึกษาอีกสามตัวอย่างเช่นกันที่กำลังค้นหาการยกเลิกเพิกถอนหนังสือเวียนที่ รส.0711/ว751 ซึ่งยังคงค้างอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลฎีกา รายงานเมื่อเร็วๆ นี้ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศระบุเพิ่มเติมว่า “คณะกรรมการเสียใจที่รัฐบาล…ยังคงเพิกเฉยต่อความต้องการที่จะให้มีการแก้ไขหรือยกเลิกหนังสือเวียนฉบับนี้…”

ตามที่รายงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศระบุว่า “คณะกรรมการขอกระตุ้นให้รัฐบาลให้ความมั่นใจว่า…มาตรการที่ให้มีผลบังคับเพื่อเป็นการกำจัดกรณีของการปฏิเสธการรักษาพยาบาลยามฉุกเฉินเร่งด่วนและสิทธิประโยชน์อย่างอื่นที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้เป็นผู้ประกันตนที่จะต้องทนทุกข์ทรมานจากอุบัติเหตุเนื่องจากการทำงาน… รัฐบาลควรจะใช้มาตรการเร่งด่วน (สร้างมาตรการ) ในความปลอดภัยทั้งหมดให้ครอบคลุม เข้าใจได้อย่างกว้างขวางโดยจัดหาให้มีการป้องกันขั้นพื้นฐานแก่แรงงานข้ามชาติทั้งหมดในกรณีที่ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงาน และควรที่จะเรียกร้องให้นายจ้างใช้นโยบายการประกันภัยสำหรับแรงงานข้ามชาติที่ขึ้นทะเบียนเป็นลูกจ้างในแต่ละคนของนายจ้าง บังคับให้เป็นไปตามกฎหมายโดยมีมาตรการลงโทษที่เป็นกฎเกณฑ์อย่างเคร่งครัด”

ในเรื่องการพัฒนาที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2554 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้แผนการรับประกันภัยเอกชนรายหนึ่ง ที่ไม่สามารถบังคับให้เป็นไปตามกฎหมายได้ ที่ว่านายจ้างสามารถเลือกซื้อความคุ้มครองอุบัติเหตุเนื่องจากการทำงานให้กับแรงงานข้ามชาติได้ เช่นเดียวกับนโยบายด้านแรงงานในประเทศไทยส่วนใหญ่

การตัดสินใจครั้งนี้ได้กระทำไปโดยปราศจากการประชุมปรึกษาหารือกับสหภาพ คนงาน หรือกลุ่มสิทธิมนุษยชน และ ‘ยังคงเป็นนโยบายที่อยู่บนฐานของการเลือกปฏิบัติ’ เฉกเช่นเดียวกับที่องค์การแรงงานระหว่างประเทศได้ระบุไว้เป็นพิเศษในรายงานเมื่อเร็วๆ นี้

นับตั้งแต่มกราคม 2555 มีแรงงานข้ามชาติประมาณ 3,000 รายเท่านั้นที่ถูกครอบคลุมโดยแผนการรับประกันภัยเอกชนนี้ ยังมีแรงงานข้ามชาติมากกว่าหนึ่งล้านคนจากประเทศพม่า กัมพูชา ลาว และเวียดนามที่ยังคงไม่สามารถเข้าถึงค่าทดแทนที่ต้องได้รับการชดเชยจากอุบัติเหตุจากการทำงานได้ คนงานพร้อมกับครอบครัวของเขายังคงต้องประสบกับชะตาชีวิตของความไม่แน่นอนอยู่อย่างต่อเนื่องและกำลังทนทุกข์ทรมานถ้าพวกเขาได้รับอุบัติเหตุจากที่ทำงานต่อไป
 

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)
5 เมษายน 2555

 

 

หมายเหตุ: ประชาไท แก้ไขพาดหัวข่าวตามการท้วงติงของผู้อ่าน 5 เม.ย.55 เวลา 16.20 น.

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

‘สมยศ’ ยันสู้ต่อคดีหมิ่นฯ เฮือกสุดท้ายพิสูจน์กระบวนการยุติธรรมไทย

$
0
0

 

5 เม.ย.55  รายงานข่าวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ แจ้งว่าสมยศ พฤกษาเกษมสุข ได้ยืนยันว่าจะไม่รับสารภาพและขอพระราชทานอภัยโทษเช่นเดียวกับผู้ต้องขังคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพรายอื่นๆ โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากตนเองเป็นผู้บริสุทธิ์ หากรับสารภาพก็รู้สึกตะขิดตะขวงใจ

“เขาชวนมาต่อสู้ในชั้นศาลก็อยากจะลองดู คนที่เขารับสารภาพเพราะเขาไม่เชื่อมั่น สิ้นหวังกับกระบวนการยุติธรรมแล้ว แค่สิทธิในการประกันตัวก็ยังไม่มี ฝ่ายผู้เสียหายก็ยังไม่เคยปรากฏตัวในชั้นศาลซักครั้ง ที่เราสู้ เพราะอยากรู้ด้วยตัวเองว่า ความยุติธรรมสำหรับคดี 112ยังหลงเหลืออยู่ไหม” สมยศกล่าว

“ที่เข้ามาไม่ได้เข้ามาเพื่อรอวันออก แต่เข้ามาเพื่อสู้ อย่างน้อยจะได้เป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์” สมยศกล่าว

เขากล่าวอีกว่า ผลการแพ้ชนะคดีสำหรับเขาแล้วมีค่าเท่ากัน เพราะหากได้ออกจากเรือนจำก็ยังเจอกรงขังที่ใหญ่กว่า ที่ผ่านมาถือว่าได้ทำหน้าที่พลเมืองที่ดีของประเทศแล้ว มีส่วนร่วมทางการเมือง ใช้สิทธิเสรีภาพแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างที่พลเมืองที่ดีควรจะเป็น

“ปัญหาสำคัญคือ ผู้บริสุทธิ์ต้องมารับสารภาพเพื่อหาทางรอด มันแปลว่าอะไร มันปวดลึกยิ่งกว่าอีก  เลยคิดว่าสู้ดีกว่า อย่างน้อยให้เขาเป็นฝ่ายพิพากษา” สมยศกล่าว

ทั้งนี้ สมยศถูกจับกุมที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสระแก้วเมื่อวันที่ 30 เม.ย.54 ขณะพาคณะทัวร์เตรียมผ่านแดนไปกัมพูชา โดยถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา เนื่องจากเป็นบรรณาธิการนิตยสาร Vioce of Taksin ซึ่งตีพิมพ์บทความเข้าข่ายหมิ่นเบื้องสูง 2 บทความ

เขาถูกคุมขังนับแต่นั้นและไม่ได้รับการประกันตัว ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการสืบพยาน โดยที่ผ่านมามีการสืบพยานโจทก์ไปแล้ว 4 ครั้งในจังหวัดต่างๆ ได้แก่ จังหวัดสระแก้ว เมื่อวันที่ 21 พ.ย.54, จังหวัดเพชรบูรณ์เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.54, จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อวันที่ 16 ม.ค.55, จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 13 ก.พ.55 แต่มีการเลื่อนมาสืบพยานที่กรุงเทพฯ เนื่องจากพยานอยู่กรุงเทพฯ

หลังจากนี้จะมีการสืบพยานโจทก์ที่ศาลอาญา รัชดา ต่อเนื่องอีกในวันที่ 18-20, 24-26 เม.ย.55 และสืบพยานโจทก์ในวันที่ 1-4 พ.ค.55

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ปาตานีและกรุงเทพฯ: ประชาชาติที่ไร้รัฐและความเป็นรัฐประชาชาติใหม่

$
0
0

บทวิเคราะห์แรงขับของระเบิดใต้ ปัญหาอยู่ที่  อุดมการณ์ชาตินิยมแบบอนุรักษ์ ซึ่งหมายถึง “ความเป็นรัฐที่อำนาจอธิปไตยไม่ได้เป็นของปวงชนและปวงชนไม่ใช่ชาติ และชาติในทัศนะของอุดมการณ์นี้ คือผู้นำสูงสุดหรือผู้ปกครองสูงสุด” 

ตลอดระยะเวลา 8 ปีของสถานการณ์การสู้รบกันระหว่างกองทัพไทยกับกองกำลังติดอาวุธอุดมการณ์ปลดปล่อยปาตานี เป็นที่ชัดเจนในตัวของมันเองแล้วว่าเป็นการต่อสู้กันระหว่างจุดยืนในอุดมการณ์ทางการเมืองที่ต่างกันอย่างคู่ขนานของความเป็นปาตานีและความเป็นกรุงเทพฯ

แต่แค่เพียงรู้ชัดเจนว่าใครกำลังสู้อยู่กับใครเท่านั้น คงไม่เพียงพอสำหรับการที่จะมองเห็นภาพแนวทางการคลี่คลายการสู้รบที่ชายแดนใต้ของประเทศไทย ณ ปัจจุบัน

กล่าวคือในทุกปรากฏการณ์ความขัดแย้งในสังคมที่เกิดขึ้นนั้น ย่อมมีสิ่งที่เรียกว่า “แรงขับ” เป็นตัวผลักให้เกิดขึ้นแทบทั้งสิ้น กรณีของปรากฏการณ์การสู้รบกันที่ชายแดนใต้ก็เช่นเดียวกัน ย่อมมีแรงขับให้เกิดขึ้นแน่นอน ขึ้นอยู่กับว่าจะหาเจอหรือไม่และตั้งโจทย์ของปัญหาถูกหรือไม่ แค่นั้นเอง

แรงขับแรก เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1786 ตรงกับปี พ.ศ.2329 เกิดเหตุการณ์การก่อสงครามล่าอาณานิคมโดยอาณาจักรสยามหรือรัตนโกสินทร์หรือกรุงเทพฯต่ออาณาจักรปาตานี ปรากฏว่าอาณาจักรปาตานีเป็นฝ่ายแพ้และกลายเป็นเมืองขึ้น โดยที่อำนาจอธิปไตยยังมีอยู่

แรงขับที่สอง เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1808 ตรงกับปี พ.ศ.2351 เกิดเหตุการณ์การแบ่งแยกและปกครองอาณาจักรปาตานีเป็นเจ็ดหัวเมือง

แรงขับที่สาม เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1821 ตรงกับปี พ.ศ.2364 เกิดเหตุการณ์การโยกย้ายอพยพคนสยามนับถือศาสนาพุทธมาตั้งรกรากในพื้นที่ของหัวเมืองทั้งเจ็ด

แรงขับที่สี่ เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1902 ตรงกับปี พ.ศ.2445 เกิดเหตุการณ์การผนวกหัวเมืองทั้งเจ็ดเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯภายใต้โครงสร้างแบบมณฑลเทศาภิบาล

แรงขับที่ห้า เกิดขึ้นเมื่อ ค.ศ.1909 ตรงกับปี พ.ศ.2452 เกิดเหตุการณ์การทำสนธิสัญญาแบ่งปันการยึดครองดินแดนอาณานิคมระหว่างสยามกับบรีทิช ภายใต้สัญญาที่เรียกว่า Anglo-Siamese Treaty

ถือได้ว่าแรงขับทั้งห้าข้างต้นเป็นต้นเหตุให้คนปาตานีต้องกลายเป็น “ประชาชาติที่ไร้รัฐ” จนถึงทุกวันนี้

ส่วนทางด้านอาณาจักรสยามหรือกรุงเทพฯ เมื่อแผนการของการล่าอาณานิคมสำเร็จ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะปาตานีเท่านั้นที่ตกเป็นเหยื่อ ล้านนาและล้านช้างก็ตกเป็นเหยื่อด้วยเหมือนกัน จึงจำเป็นที่กรุงเทพฯ จะต้องมีแผนการใหม่ในการที่จะรักษาดินแดนอาณานิคมที่ยึดมา ด้วยการสรรค์สร้างชุดความคิดที่เป็นอุดมการณ์ทางการเมืองให้กับปวงชนที่มีความหลากหลายอัตลักษณ์ทางชาติพันธ์และศาสนา ให้รู้สึกมีความเป็นเจ้าของร่วมในอธิปไตยของประเทศที่คิดค้นและสร้างขึ้นมาใหม่ซึ่งครอบคลุมตัวตนของปวงชนทุกคน นั่นคือ จากชื่อประเทศเดิมว่า “สยาม”เปลี่ยนเป็น “ประเทศไทย” ในสมัยของนายกรัฐมนตรีจอมพล ป.พิบูลสงคราม เมื่อปี พ.ศ.2482 ตรงกับปี ค.ศ.1939 ภายใต้ระบอบการปกครองแบบ “ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ซึ่งแผนการดังกล่าวรวมเรียกว่า “อุดมการณ์ชาตินิยมแบบอนุรักษ์”

อุดมการณ์ชาตินิยมแบบอนุรักษ์ หมายถึง “ความเป็นรัฐที่อำนาจอธิปไตยไม่ได้เป็นของปวงชนและปวงชนไม่ใช่ชาติ และชาติในทัศนะของอุดมการณ์นี้ คือผู้นำสูงสุดหรือผู้ปกครองสูงสุด”

กรุงเทพฯ ในปัจจุบันเป็นที่ชัดเจนว่ามีสถานะทางการเมืองที่ถูกหล่อหลอมจากอุดมการณ์ชาตินิยมแบบอนุรักษ์อย่างมีพัฒนาการ โดยผ่านสถิติที่ไล่เลี่ยกันของปรากฏการณ์การเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยประชาชนและการทำรัฐประหารเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีโดยทหาร ซึ่งอำนาจฝ่ายบริหารคุมไม่อยู่

เมื่อการสู้รบระหว่างปาตานีกับกรุงเทพฯต่างฝ่ายต่างก็รู้ว่า ถ้าจะให้จบโดยผลลัพธ์นั้นตัวเองเป็นฝ่ายชนะ ตัวแปรสำคัญคือ “ความจริง” เมื่อไหร่ความจริงได้ปรากฏสู่สังคมสาธารณะ เมื่อนั้นแหละการสู้รบจึงจะยุติ

แต่ในความเป็นจักรวรรดินิยมกรุงเทพฯที่มีความเป็นรัฐประชาชาติใหม่ซึ่งถูกหล่อหลอมจากอุดมการณ์ชาตินิยมแบบอนุรักษ์ ความเป็นไปได้น้อยมากที่จะรู้ความจริงจากโครงสร้างการปกครองแบบ “ลับ ลวง พราง” ซึ่งถือว่าอำนาจสูงสุด นั่นคืออำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชนจริงหรือไม่ หรือจะเป็นไปตามพลพรรคคนเสื้อแดงเรียก นั่นคือ “ประชาธิปไตยซ่อนรูปเผด็จการ” จึงเป็นการยากที่จะรู้ความจริงจากฝ่ายขบวนการอุดมการณ์ปลดปล่อยปาตานีเหมือนกัน ตราบใดที่ท่าทีของกรุงเทพฯ ยังใช้การลับ ลวง พราง ในการบอกว่า “เรามาพูดคุยเพื่อสันติภาพกันนะ”

เพราะถ้าสมมติว่าขบวนการฯ เปิดเผยตัวออกมาพูดคุยเพื่อสันติภาพ ในขณะที่โครงสร้างการปกครองของรัฐไทยโดยการนำของกรุงเทพฯ นั้น ไม่มีความชัดเจนว่าใครคือผู้มีอำนาจสูงสุดและเป็นที่สิ้นสุดในการตัดสินใจ นายกรัฐมนตรี หรือ ผู้บัญชาการทหารบก หรือ มือที่มองไม่เห็น แล้วอะไรจะเกิดขึ้นกับขบวนการฯโดยเฉพาะตัวคนที่ออกมาเปิดเผยตัวเอง  ทางขบวนการฯ ก็เลยใช้การ “ลับ ลวง พราง” ตอบโต้อย่าง “หนามยอกเอาหนามบ่ง”

ก็เลยไม่แปลกที่จนถึงปัจจุบันทางขบวนการฯ ก็ยังไม่เปิดเผยตัวเอง เพราะสถานการณ์ความเป็นจริงของทางกรุงเทพฯ นั้นอยู่ในสถานะที่ไม่พร้อมจะมาพูดคุยเพื่อสันติภาพ ที่เป็นกระแสครึกโครมว่ามีการพูดคุยกันในประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียนั้น เป็นแค่ยุทธการที่เรียกว่า “โยนหินถามทาง” และ “แหวกหญ้าให้งูตื่น” แล้วงูก็ตกใจวิ่งหนีตกเข้าไปในบ่อที่ขุดไว้

ถ้ามองในหลักการมีความเป็นไปได้บ้างของการพูดคุยเพื่อสันติภาพแล้ว ตัวแปรสำคัญอยู่ที่ท่าทีความจริงใจและมีความลึกซึ้งกับความหมายของคำว่า “สันติภาพ” มากน้อยแค่ไหนของกรุงเทพฯ หรือรัฐไทย มีแต่แนวทางนี้เท่านั้นจึงจะสามารถเปิดพื้นที่การพูดคุยเพื่อสันติภาพ ที่ไม่มีการ “ขุดบ่อล่อปลา” เหมือนหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา ถ้าทางกรุงเทพฯ สามารถพิสูจน์ความจริงใจแบบนี้ได้จริง เชื่อว่าทางฝ่ายขบวนการอุดมการณ์ปลดปล่อยปาตานีเอง ก็คงรู้สึกว่ามันถึงเวลาของการพูดคุยเพื่อสันติภาพจริงๆ แต่ปัญหาก็อยู่ที่ว่า “ใครหละจะกล้าการันตีว่ากรุงเทพฯ จะไม่หลอกปาตานีอีก”

 

 

เผยแพร่ครั้งแรก:  http://www.deepsouthwatch.org

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สัมภาษณ์ ‘กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา’ : นี่ไม่ใช่ทิศทางการพัฒนาอาหารที่เราอยากเห็น

$
0
0

รองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ได้พูดถึงโลกกำลังวิกฤติเรื่องอาหาร กับการย้ำข้อเสนอให้เกษตรกรต้องพึ่งตนเอง ผู้บริโภคต้องตื่นตัว รัฐและทุนก็ต้องปรับ และฟังเสียงประชาชน

‘กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา’ รองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ได้พูดถึงโลกกำลังวิกฤติเรื่องอาหาร ประเทศกำลังเสื่อมเพราะระบบการเกษตรที่ผูกขาด พร้อมหนุนให้ทั้งเกษตรกรหันมาพึ่งตนเอง ผู้บริโภคต้องตื่นตัวออกมาส่งเสียงว่า นี่ไม่ใช่ทิศทางการพัฒนาอาหารที่เราอยากเห็น ซึ่งรัฐและทุนก็ต้องปรับ ต้องฟังเสียงประชาชน

 
 
 
 
อยากทราบกิจกรรมที่ทางมูลนิธิชีววิถีกำลังทำอยู่ในขณะนี้มีอะไรบ้าง ?

ตอนนี้เรามี 2 แคมเปญคู่กัน เป็นโครงการรณรงค์เรื่อง ‘กินเปลี่ยนโลก’ เป็นการรณรงค์ในเรื่องอาหารการกิน เราทำเรื่องคุยกับผู้บริโภค เริ่มต้นด้วยการคุยกับผู้บริโภคว่า จะกินยังไงให้มีคุณภาพ กินแบบรู้ที่มา กินแบบใส่ใจมากกว่าตัวเอง กินแบบใส่ใจผู้ผลิตด้วย กินแบบใส่ใจสิ่งแวดล้อม แล้วก็เริ่มต้นจากการถามถึงแหล่งที่มาของอาหารด้วย

 
พอมาระยะปีที่ผ่านมา เราก็ทำอีกเรื่องหนึ่งก็คือเรื่องเมล็ดพันธุ์ ทั้งพันธุ์พื้นบ้านและไม่พื้นบ้าน แต่เป็นพันธุ์แท้ แล้วก็ตั้งเป็นโครงการรณรงค์เรียกว่า เครือข่ายอิสรภาพทางพันธุกรรม คือจะจับกลุ่มทั้งบุคคลก็ได้ ชาวบ้านหรือกลุ่มเครือข่ายที่สนใจที่จะทำการเก็บเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน เก็บแล้วก็ขยายต่อ หรือว่าพัฒนามัน ปลูกมัน จริงๆ การเก็บเมล็ดพันธุ์นั้นเก็บในตู้เย็นอย่างเดียวไม่พอ มันต้องเก็บในดิน ปลูก คัด เก็บ กินไปแจกจ่ายกันไปนี่คือลักษณะของการทำเรื่องอิสรภาพทางพันธุกรรม

 
ทำไมถึงมาคิดและสนใจประเด็นเกี่ยวกับอาหารและเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน ?

เพราะเราคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ คือถ้าบอกว่าหัวใจของระบบอาหาร ก็คือตัวระบบเกษตรกรรม คือตัวระบบการกิน แล้วหัวใจระบบอาหารที่ดีก็คือระบบการผลิต ที่เราคิดว่าต้องเกิดการยั่งยืน และความยั่งยืนของการผลิตมันอยู่ที่ความหลากหลายของพืชพันธุ์ธัญญาหารในแปลงหนึ่งๆ หรือในพื้นที่หนึ่งๆ

 
คุณกำลังจะเน้นเรื่องความหลากหลายทางพันธุกรรม ?

ใช่ ความหลากหลายมันดีในแง่ของความหลากหลายของอาหาร ความหลากหลายในการต้านทานสรรพสิ่งต่างๆ ที่จะเข้ามาทำอันตรายโดยที่คุณไม่ต้องใช้ปุ๋ยใช้ยา คุณไม่ต้องเพิ่มต้นทุน แล้วมันก็กระจายความเสี่ยงเวลาเราพูดถึงความหลากหลาย

 
เพราะฉะนั้น ระบบอาหารที่ดี ก็คือระบบอาหารที่หลากหลาย แล้วก็ไม่ได้ทำลายทั้งคนผลิต คนกิน และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเราเชื่ออย่างนั้น เราคิดว่าออร์แกนิคมันเป็นทางเลือก แล้วถ้าคุณเลือกมันก็โอเค ทีนี้ระบบอาหารวางอยู่บนระบบเกษตรกรรม หรือระบบการผลิต แล้วระบบการผลิตวางอยู่บนระบบพันธุกรรมเพราะฉะนั้น พันธุกรรมเป็นหัวใจสำคัญของกระบวนการผลิตอาหาร

 
ในขณะที่หลายกลุ่มทุนพยายามจะควบคุมความหลากหลายทางพันธุกรรมนั้นเอาไว้ ?

ถูกต้อง ซึ่งถ้าเราดูจากต้นทุน ถ้าเกษตรกรยังอยู่ในระบบเคมี ระบบอุตสาหกรรมการเกษตร จะพบว่าต้นทุนเมล็ดพันธุ์จะมีสูงถึงประมาณ 1 ใน 4 ถ้าคุณยกระดับไปเป็นพันธุ์ลูกผสม มันจะไปเป็นเกือบถึง 1 ใน 3 ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด ซึ่งนอกเหนือจากมันเป็นปัจจัยสำคัญแล้ว มันยังมีกำไรสำคัญด้วย คือถ้าคุณคุมการค้าเรื่องเมล็ดพันธุ์ได้ หรือผูกขาดเมล็ดพันธุ์ได้ คุณก็คุมกำไร คุณก็คุมระบบ คุณก็กำหนดการผลิต เพราะว่าตัวเมล็ดพันธุ์ มันจะกำหนดว่าคุณจะผลิตมันยังไงได้มากกว่า ถ้าคุณซื้อเมล็ดพันธุ์ยี่ห้อนี้ มันก็จะตอบสนองดีต่อคุณประมาณนั้น

 
ถ้าคุณเลือกเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านมันก็จะทนทานตามสภาพ แล้วเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน ก็คือว่า พอเราเอาไปปลูกตรงไหนมันก็จะปรับตัวเข้ากับตรงนั้น หรือว่าคุณเที่ยวไปเอามะเขือเทศจากภาคอีสานมาปลูกที่บนดอย มันอาจจะสู้เย็นไม่ไหว แต่ซักพักมันจะปรับตัวสู้ของมันไป เช่นเดียวกัน ถ้าเป็นเมล็ดพันธุ์บริษัท มันก็จะปรับตัวให้สอดคล้องกับระบบการพัฒนาของมนุษย์ สิ่งที่บริษัทพัฒนามา มันก็จะตอบสนองต่อปุ๋ยสูตรนั้น สูตรนี้ ตามที่บริษัททำการทดลอง

 
แต่ถ้าคุณต้องการสร้างระบบอาหารที่ดี คุณต้องปรับระบบเกษตรกรรมให้มันหลากหลาย ระบบเกษตรกรรมที่หลากหลายจะอยู่ได้ต้องมีเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านที่หลากหลาย แล้วเมล็ดพันธุ์มันไม่ถูกครอบครองโดยใครคนใดคนหนึ่ง

 
แต่หลายคนก็รู้ว่าประเทศไทยในขณะนี้ พันธุกรรมทั้งพันธุ์พืชหรือพันธุ์สัตว์ กำลังอยู่ในมือบริษัททุนไม่กี่กลุ่ม?

ตอนนี้ ถ้าเราสำรวจดู จะพบว่าอาหารหลักของเรา 60-70 เปอร์เซ็นต์จะอยู่ที่เนื้อสัตว์ อย่างเช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ ซึ่งมันก็ผูกโยง ผูกขาดอยู่กับอาหารสัตว์ และ 60-70 เปอร์เซ็นต์ก็เป็นข้าวโพด แล้วพันธุ์ข้าวโพดก็ผูกขาด 99.9 เปอร์เซ็นต์ หมายถึงว่า เกษตรกรถูกกำหนดให้ปลูกเฉพาะเมล็ดพันธุ์ชนิดนี้ คือพันธุ์ลูกผสม ฉะนั้น ข้าวโพดอาหารสัตว์ที่ผลิตมาอยู่ภายใต้อุตสาหกรรมการเกษตรไปเรียบร้อยแล้ว 99 เปอร์เซ็นต์ โดยผ่านกระบวนการเมล็ดพันธุ์ เปลี่ยนเมล็ดพันธุ์จากเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านมาเป็นเมล็ดพันธุ์ผลผลิตสูง

 
ในที่สุดเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดพื้นบ้านก็สูญหาย เหลือเพียงเมล็ดพันธุ์ลูกผสมของกลุ่มทุน?

ใช่ ถ้าเป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดพื้นบ้าน มันยังเป็นเมล็ดพันธุ์ที่เก็บไว้ต่อเองได้ เรียกง่ายๆ ว่าต่อเชื้อ สามารถเอาไปปลูกรุ่นต่อไปได้ แล้วถ้าคัดมัน มันก็จะคงตัวอยู่ไปได้เรื่อยๆ  แต่พอมาเป็นข้าวโพดพันธุ์ลูกผสมปุ๊บ เรียบร้อยเลย นั่นหมายความว่า เกษตรกรต้องซื้อทุกรอบ ไม่มีทางทำเก็บเองได้เลย นอกจากว่าต้องมีทักษะสูงพอสมควร ซึ่งอาจมีชาวบ้านบางคนเริ่มทำเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสมขายได้บ้าง แต่นี่ 99 เปอร์เซ็นต์เลย ที่คุณต้องซื้อทุกรอบ มันก็ปลูกไปแล้ว
 
คุณมองเรื่องพืชผักในบ้านเราตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง ?

ผักส่วนใหญ่ที่เรากินกันทุกวันนี้ ถ้าไม่กินผักพื้นบ้านเราก็จะกินผักจีน ทุกวันถ้าเราเข้าไปในตลาด เราก็จะเห็นแต่คะน้า กะหล่ำ ผักกาด แครอท บล็อกเคอรี่ แตงกว่า ถั่วฝักยาว มีไม่กี่อย่าง แล้วผักพวกนี้ ส่วนใหญ่เป็นเมล็ดพันธุ์ลูกผสมทั้งนั้น เกษตรกรก็เก็บเองไม่ได้ ซื้อทุกรอบอีกเหมือนกัน หรือพวกเก็บเองได้ ก็รู้สึกไม่สะดวกอยู่ดี ก็ไปซื้อผักกระป๋องมาปลูกอยู่ดี เพราะฉะนั้นผัก 90 เปอร์เซ็นต์ ก็อยู่ในมือบริษัท ตัวเมล็ดพันธุ์นะ ซึ่งที่เราทำได้ในขณะนี้ ก็คือเรื่องการเก็บรวบรวมเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน ซึ่งในขณะนี้เราก็พยายามส่งเสริมให้ชาวบ้านจัดการเรื่องการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์เอาไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ยกเว้นผักบางชนิด ถ้าเขายังปลูกขายด้วย ก็คือพวกคะน้า กะหล่ำยังไงก็ต้องซื้อ

 
มีความเห็นอย่างไรกับสถานการณ์พันธุ์ข้าวไทยในขณะนี้ ?

เรื่องเมล็ดพันธุ์ข้าว เวลานี้บางกลุ่มกำลังมีความพยายามอย่างใหญ่หลวงมาก เพราะตอนนี้ ระบบปลูกข้าวมันถูกปรับไปเป็นระบบผลผลิตสูง เมล็ดพันธุ์ผลผลิตสูงก็คือ กข ทั้งหลาย พวกที่มีตัวเลขต่อท้ายนั่นแหละ เป็นพันธุ์ที่ถูกปรับปรุงมาจากพันธุ์พื้นบ้าน มันก็ยังเป็นพันธุ์ที่ชาวบ้านเก็บไว้เองได้ ล่าสุด ตอนนี้มันมีความพยายามของบริษัทยักษ์ใหญ่ อย่างน้อย 2 บริษัท จะเข้ามาส่งเสริมเมล็ดพันธุ์ลูกผสม แล้วอ้างว่าให้ผลผลิตสูงกว่ากันหลายเปอร์เซ็นต์ สูงถึงกว่า 1,000 กิโลต่อไร่ ซึ่งราคาก็เป็นราคาคุยอยู่ดี

 
แต่ก็นั่นแหละ พอเขาพูดถึงเรื่องผลผลิตสูง ชาวบ้านก็ตาโตตามปกติ แล้วราคาเมล็ดพันธุ์ลูกผสม มันจะสูงขึ้น เฉลี่ยปัจจุบันที่เขาใช้กันเมล็ดพันธุ์ธรรมดา 25-26 บาทต่อกิโลกรัม บางแห่ง ใช้ถึง 20 กิโลต่อไร่ แต่ว่าเฉลี่ยแล้วก็ประมาณ 10 กิโลกรัมต่อไร่ แต่ถ้าเป็นลูกผสมมันจะขึ้นไปถึงกิโลกรัมละ 150 บาท ถ้าใช้ 10 กิโลต่อไร่ต้นทุนการผลิตก็ไป 1,500 บาท แล้ว 1,500 บาท ตัวเลขสมาคมชาวนา บอกต้นทุนการผลิตนาภาคกลาง เป็นนาประเภทแบบ 5 รอบต่อ 2 ปีประมาณนี้ ต้นทุนเฉลี่ยประมาณ 6,000 บาท เฉพาะเมล็ดพันธุ์ก็ปาเข้าไป 1,500 บาทแล้ว ยังไม่รวมถึงค่านู่นค่านี่ที่มันเกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์ทั้งหมด ต้นทุนมันก็จะกระฉูดขึ้นมามากเลย ถ้าใช้พันธุ์ลูกผสม คือบริษัทยักษ์ใหญ่ได้ใช้ความพยายามสูงมากที่จะผลักดัน แล้วก็มีความพยายามที่จะใช้สถานการณ์เรื่องน้ำท่วมด้วยมาเป็นเงื่อนไข เป็นโอกาสในการส่งเสริม

 
หมายความว่าในระบบการเกษตรของไทยในขณะนี้ บริษัททุนยักษ์ใหญ่นั้นเกี่ยวโยงกับนโยบายของรัฐด้วยเสมอ?

ก็แน่ละ เขาก็อยู่ในองคาพยพของรัฐเยอะนะ ถ้าจะเอ่ยชื่อบริษัท ก็เอ่ยชื่อซีพีนั่นแหละ ที่เป็นคนโปรโมทข้าวลูกผสม คือทิศทางของรัฐ เวลาส่งเสริมเรื่องการพัฒนาพันธุกรรม มันก็จะมุ่งไปในทางให้ผลผลิตสูง เทคโนโลยีใหม่  คำว่าเทคโนโลยีเพื่อให้ผลผลิตสูงมันเป็นแพคเก็ตมันไม่ได้พูดว่าให้ผลผลิตสูงแบบลอยๆ ผลผลิตสูง แต่จริงๆ แล้วมันตามมาด้วยการลงทุนที่สูงขึ้น ใช้ปุ๋ย ใช้ยามากขึ้น การต้านทานโรคมันก็น้อยลง แล้วบางทีมันก็เป็นสาเหตุเหนี่ยวนำโรคระบาดที่ลงทีเหมือนห่าลง เพราะคุณเล่นทำไปชนิดเดียวกัน ปลูกไปเวลาเดียวกัน เวลาเกิดหนอนเกิดเพลี้ยระบาดมันก็ลงทีเหมือนกัน หนอนมันก็ฟักตัวมา มันก็โผล่มาเวลาเดียวกัน

 
โดยทิศทางการส่งเสริมของรัฐ มันมักจะมีแนวโน้มอย่างนี้ คือไปผูกพันตัวเอง กับสิ่งที่เรียกว่าผลผลิตสูงแล้วก็เทคโนโลยีใหม่ ซึ่งมองแล้วมันมีความเสี่ยงเยอะ ในช่วงแรกมันอาจจะดูเร้าใจ แต่เอาเข้าจริง มันมีความเสี่ยง คือคุณต้องเพิ่มทุน สองมันก็ไม่ได้ต้านทานโรคอะไรที่มันเกิดใหม่ในปัจจุบัน ยิ่งในพื้นที่นาภาคกลาง คุณลองไปดูเลย มันมีความเสี่ยงต่อโรคแมลงเยอะมากที่จะแบบการเป็นห่าลง ฉะนั้น สิ่งที่กลุ่มชาวบ้านเคมีจะแก้ปัญหา คือทำให้มากครั้งเข้า ล้มก็ทำๆ อยู่อย่างนั้น ก็ตาดีได้ตาร้ายเสีย ก็จะปลูกอยู่กับราคาจำนำ มันก็เป็นวงจรที่ไม่รู้จะไปจบตรงไหน

 
แล้วตอนนี้ชาวบ้านกลุ่มที่เริ่มหันมาสนใจเรื่องเกษตรกรรมธรรมชาติหรือพืชผักพื้นบ้าน เขาตื่นตัวกันบ้างไหม ?

ตอนนี้ก็มีเกษตรกรหลายกลุ่ม ส่วนใหญ่เป็นชาวนาขนาดเล็กที่ปรับระบบไปแล้ว เป็นกลุ่มเกษตรทางเลือก เป็นกลุ่มเกษตรที่ทำมานานแล้ว และมันก็เริ่มอยู่ตัว แต่มาช่วงระยะหลัง ก็มีกลุ่มใหม่ๆ ที่เราเข้าไปทำงานด้วย อย่างกลุ่มเกษตรกรที่ จ.นครสวรรค์ ชาวนาเขาทำนาเป็นร้อยๆ ไร่ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลาง คือไม่เหมือนนากระจุ๋มกระจิ๋มแบบทางภาคเหนือ ไม่เหมือนนาทำกินเองของทางภาคอีสาน

 
ส่วนพืชไร่ ก็จะเป็นพืชไร่ที่ปลูกเพื่อเศรษฐกิจ อย่างภาคอีสาน กลุ่มที่ทำพืชไร่เพื่อเศรษฐกิจก็เจ๊งไปเยอะก็ได้ปรับระบบไปเป็นพืชไร่แบบผสมผสานก็พออยู่กันไปได้ แต่ภาคกลาง ชาวบ้านเขาก็พยายามปรับ มันก็มีคนที่พยายามกัน ในพื้นที่นาเพียงเล็กน้อยเอาไว้เริ่มทำเกษตรแบบไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ไม่ใช้ยา เป็นการเริ่มขยับเรียกว่า นาลดต้นทุน ส่วนแปลงใหญ่ๆ ที่ยังเหลืออยู่ก็พยายามทำนาลดต้นทุน พยายามปรับ ส่วนตรงนาที่เป็นนาปีก็จะเน้นเอาไว้กินเอง หรือเอาไว้พยายามทำตลาดขายตรง

 
เกษตรกรตอนนี้ ก็คือเริ่มมีการปรับระบบ แต่เขายังไม่ทำ สอง เพราะว่าพื้นที่มีขนาดใหญ่ ไม่ใช่อยู่ๆ คนจะลุกขึ้นมาทำทีเป็นร้อยไร่ บางทีก็เอาไม่อยู่ เพราะว่ามันเป็นงานที่ต้องใช้แรงงานมหาศาล แล้วระบบการผลิตบ้านเรามันได้เปลี่ยนไปเยอะแล้ว มันยังมีปัญหาขาดแคลนแรงงานมาก ดังนั้น จึงต้องใช้เครื่องจักร

 
ฉะนั้น การใช้เครื่องจักรบางเรื่อง มันก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องใช้เคมี บางตัวก็ต้องยอมรับ แต่ถ้าถามว่าชาวบ้านตื่นตัวขึ้นไหม ชาวบ้านกลุ่มที่เราทำงานด้วย เขาเริ่มตื่นตัวกับการจัดการกับเมล็ดพันธุ์ กลุ่มที่เป็นชาวนาภาคกลางก็จะให้ความสำคัญกับเมล็ดพันธุ์ที่เขาปลูกเอง จะไม่ไปซื้อ หรือถ้าซื้อก็ต้องไปซื้อตรงจุดที่มั่นใจว่าเขาทำดี ไม่ได้ไปซื้อตามโรงสีทั่วๆ ไปที่ส่วนใหญ่ก็จะมีการปนเปื้อน ข้าวปน ข้าวดิบเยอะ ข้าวไม่ค่อยงอก มันจะมีปัญหาอะไรแบบนั้น ถ้าชาวบ้านเริ่มจัดการพันธุ์ที่เขาปลูกเอง มันก็จะทำให้ระบบการปลูกข้าวมันควบคุมได้มากขึ้น มันหวังผลได้มากขึ้น มันก็เป็นเกษตรที่เรียกได้ว่าประณีตมากขึ้น ถ้าคุณใส่ใจเมล็ดพันธุ์เพาะปลูก

 
มีความคิดเห็นอย่างไร กับการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์พี่น้องชนเผ่าทางภาคเหนือ ดูเหมือนจะได้เปรียบคนกลุ่มอื่นหรือไม่?

มันอยู่ที่ระบบ ความหลากหลายมันผูกอยู่กับระบบอาหารจริงๆ ถ้าคุณยังทำการผลิต GMO มันจะหลากหลายมาก แล้วเป็นระบบไล่มาจากบนที่สูง มันจะหลากหลายสูงมาก ถ้าเขายังมีระบบแบบนั้นอยู่ส่วนใหญ่แล้วเขาจะเก็บเมล็ดพันธุ์ ทุกที่นะไล่มาตั้งแต่บนดอย บนดอยจะหนาแน่นหน่อย เพราะว่าระบบการผลิตอาหารเพื่อการยังชีพมันยังเข้มข้นอยู่ พอไล่ลงมาทางภาคอีสานก็ยังมีอยู่

 
คือถ้าคุณยังมีสวนหัวไร่ปลายนา สวนรอบบ้าน สวนรอบนาคุณอยู่ คุณก็เก็บเมล็ดพันธุ์ เพราะคุณยังปลูกพืชอาหารบางส่วนเอาไว้กิน ตราบเท่าที่ยังจัดการอาหารอยู่เอง ยังมีความหลากหลายทางพันธุกรรมอยู่ ลองสังเกตดู รวมทั้งชาวบ้านภาคเหนือที่ลุ่มลงมาหน่อย ที่ไม่ใช่คนดอย ไล่เรียงลงมา ถ้าคุณยังรักษาระบบอาหารรอบบ้านคุณ ยังเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ รวมทั้งชาวนาภาคกลาง เราก็พบว่าถ้าชาวนาภาคกลาง คนไหนไม่ได้ขี่กับรถพุ่มพวงทั้งเดือน ทั้งชั่วนาตาปีเขายังมีสวนรอบบ้านเอาไว้กิน เพราะฉะนั้น เขาก็ยังมีพันธุกรรม ยังมี พริก มีมะเขือ มีผักกาด มีผักใบไว้กิน แต่เราก็เห็นอยู่ว่า กรณีเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมนครสวรรค์ที่ผ่านมา มันพาเอาตัวอาหารรอบบ้านไปหมดเลย ทางเราก็เลยต้องพากันเอาพันธุกรรมกลับไปคืนให้เขาฟื้นกันใหม่ ชาวบ้านนี้พอน้ำลงปุ๊บ เขาเอาตะไคร้ไปเสียบแล้ว ชาวบ้านถ้าเขาก็ยังมีคุ้มอาหารรอบบ้านอยู่ เขายังเก็บพันธุกรรมอยู่เหมือนเดิม เพียงแต่ความหลากหลายอาจจะไม่เท่าบนดอย

 
 
แล้วถ้าชาวบ้านบอกว่า จริงๆ อยากกลับไปทำเกษตรแบบดั้งเดิม แต่มันยังมีวงจรอุบาทว์ ยังมีหนี้สินอยู่ แล้วทางมูลนิธิชีววิถีจะมีทางออกยังไง?

ที่ผ่านมา เราก็พยายามที่จะไม่สุดกู่ คือเรายังเห็นการผลิตการเกษตรเพื่อการค้า เพื่อตอบโจทย์เรื่องเงินมันก็ยังต้องมี แต่คุณต้องจัดการพื้นที่ เราคิดว่ามันไม่ใช่ข้ออ้างที่จะไม่ทำเรื่องอาหารของตัวเอง เราคิดว่าปีที่ผ่านมาคุณให้ความสำคัญกับการจัดการที่ดิน แล้วปลูกเป็นเงินก้อน ก็ไม่ได้ว่าคุณ ยังจะทำอย่างนั้นก็ได้ แต่คุณควรจะกันพื้นที่บางส่วน และกันเวลาส่วนใหญ่ ซึ่งชาวบ้านมักคิดว่าตัวเองไม่มีเวลา โดยเฉพาะจะต้องไปดูแลแปลงนั้น ก็เลยไม่มาสนแปลงที่เป็นอาหารไว้กิน

 
หมายความว่า เกษตรกรต้องปรับตัว ต้องจัดสรรที่ดิน และต้องจัดสรรเวลาในการหันกลับมาทำเกษตรแบบพึ่งพาตัวเอง?

ใช่ คือต้องจัดการ ต้องแบ่งเวลา แบ่งทั้งที่ดิน มาจัดการเรื่องอาหาร ไม่ใช่เอาปากเอาท้องของตัวเองไปฝากไว้กับรถพุ่มพวง มันมีวิธีคิดนะ เพราะว่าชาวบ้านทางภาคอีสานพูดบ่อยๆ ให้เราได้ยิน พวกที่ไม่สนใจจะจัดการเรื่องระบบอาหารรอบบ้านของตัวเอง เพราะคิดว่าซื้อง่ายกว่า ราคาบาทสองบาท นิดๆ หน่อยๆ  ไม่ต้องปลูกมันเสียเวลา เขาก็ด่าใส่กันว่าเป็นเรื่องมักง่าย แต่เราไม่ว่าอย่างนั้นก็ได้ แต่คุณก็คิดว่าเสียเงินห้าบาท สิบบาทมันง่ายกว่าไปปลูกเอง เราคิดว่า ถ้าจัดการเรื่องวิธีการตรงนี้ไม่ได้ คุณก็มักจะมีข้ออ้างว่าไม่มีที่ทำ เราก็ไม่ได้บอกว่าให้เอาที่ดินทั้งหมดมาทำ เอามาปลูกให้ใครกิน ถ้าตลาดมันยังไม่โอเค คุณก็ปลูกไปสิ แต่คุณต้องปลูกเรื่องอาหารด้วย เอาแค่นี้ทำไม่ได้เหรอ

 
เพราะฉะนั้น เราคิดว่าเรื่องหนี้ไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับเรา คุณอยากจัดการอาหาร คุณก็จัดการที่ดินและจัดการเวลา แต่ถ้าบอกว่าที่ดินไม่พอ นี่เป็นโจทย์ ถ้าที่ดินมันน้อยมากอันนี้ต้องคิดกันใหม่ โจทย์เรื่องการจัดการอาหารและการพึ่งตนเอง มันก็จะตอบคำถามได้ ต่อเมื่อเราที่ดินเพียงพอ ถ้าน้อยเกินไปมันก็เอาไม่รอด สำหรับคนที่มีที่ดินไม่เพียงพอ เราก็ต้องมาคิดประเด็นกันใหม่

 
ตอนนี้โลกหรือสังคมมันวิกฤติมากจนต้องหันมามองเรื่องความมั่นคงทางอาหารอย่างเร่งด่วนแล้วใช่ไหม? 
ใช่ มันเห็นความสำคัญมาก ซึ่งเราเห็นว่าเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว ถ้าใครพูดถึงเรื่องการพึ่งตัวเอง เรื่องอาหารเขาก็อาจจะรู้สึกว่าไม่ค่อยเข้าใจ มาเดี๋ยวนี้ เจอหลายๆ ที่แล้วมันเห็นภาพเลยนะ ว่าความขาดแคลนมันเกิดขึ้นจริง ของแพง อาหารแพง มันมีจริง อาหารด้อยคุณภาพมากขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้ด้วยตาเปล่า ไม่ต้องไปแยกแยะด้วยวิทยาศาสตร์

 
คิดว่าคนเริ่มคิดค้นเทคนิคมากขึ้นว่า ทำยังไงถึงจะเข้าถึงอาหารที่ดี ซึ่งนี่อาจจะเป็นโจทย์ของคนชั้นกลาง เราพบว่ามีคนรวยหรือคนชั้นกลางที่เบื่อจำนวนไม่น้อยอยากไปจัดการที่ดิน อยากมีที่ดินเพื่อที่จะปลูกนั่นปลูกนี่ไว้กินเองมากขึ้น เรียกว่าเป็นกระแสเห่อหรือไม่ก็ตาม แต่ว่าเราพบว่าส่วนลึกๆ แล้วมันเห็นความจริงข้อนี้มากขึ้น เห็นวิกฤติอาหารที่มีมากขึ้นในขณะเดียวกัน การทำงานกับชาวบ้านที่ให้ความสำคัญกับการปลูกพืชเพื่อการค้ามาก จนแทบไม่เหลือเวลาการคุยกับเขา มันก็เริ่มคุยกันรู้เรื่องมากขึ้น ว่าถ้าคุณจะแบ่งเวลาสักหน่อย เขาก็เริ่มเห็นด้วยมากขึ้น แล้วก็ให้ความสำคัญกับมันมากขึ้น

 
มีแนวโน้มไปในทางที่ดีขึ้น?

ก็มีแนวโน้มที่ดีมากขึ้น คือคนเริ่มเห็นความสำคัญของการพึ่งพาตนเอง ด้านอาหาร ไม่ได้หมายความว่าคุณต้องปลูกเอง แต่คุณต้องนึกให้ออกว่า คุณจะหาอาหารมาจากไหน คุณจะหาจากเพื่อนบ้าน คุณจะหาซื้อจากที่ไหนที่มันโอเคทั้งในแง่ราคา แล้วก็คุณภาพ คนต้องคิดเรื่องนี้

 
เพราะว่าช่องทางที่ได้มาซึ่งอาหาร มันไม่เหมือนกัน ชาวบ้านที่มีที่ดิน คุณก็ใช้ที่ดินของคุณให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทำไมคุณต้องไปซื้อส่วนเราไม่มีที่ดิน ไม่มีความสามารถ ไม่มีปัญญา ไม่มีพลังแรงงาน เราก็ต้องมาเริ่มคิดว่า เราจะหาอาหารดีดีที่เราพอจะซื้อไหวได้ที่ไหน นี่คือวิธีการคิดเรื่องการพึ่งพาตนเอง

ด้านอาหาร ไม่ใช่ถือเงินข้ามไปซุปเปอร์มาร์เก็ต เราคิดว่าแบบนี้ เป็นชีวิตที่ไม่ได้คิดเรื่องการพึ่งพาในด้านอาหาร ถึงแม้ว่าเราไม่ได้เป็นคนเพาะปลูก แต่เราก็ซื้อได้ ว่าเราจะจัดการอาหาร ข้าวเราจะมาจากไหน กะปิ น้ำปลา ผักเราควรจะมาจากไหน เราคิดได้ หรือเราจะหาหมูดีๆ ไก่ดีๆ  ไก่พื้นบ้านมาจากไหน เราต้องเริ่มคิดเอง

 
กิจกรรมผักสวนครัวคนเมือง ที่มูลนิธิชีววิถีกำลังทำอยู่ผลรับเป็นอย่างไรบ้าง?
ก็ถือว่าโตเร็ว กิจกรรมมีแฟนคลับเยอะมาก เขาเปิดหน้าเพจ แฟนเพจเป็นห้าพันคน ก็มีคนมาคุยกัน มีคนมาปลูกผักปลูกหญ้ากัน คนในเมืองปลูกผักปลูกหญ้าเยอะขึ้นนะ คือเปลี่ยนจากสวนหย่อม เปลี่ยนจากของที่กินไม่ได้มาเป็นของกินได้มากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งดี ตอนที่เราเริ่มคิดเรื่องนี้ ส่วนหนึ่งเราคิดว่าถ้าคนในเมืองลองปลูกของกินดูเอง เขาก็จะรู้ว่าของกินมันปลูกขึ้นได้ง่าย มันก็จะได้รู้ แล้วก็ได้รู้จริงๆ รู้เรื่องวิถีการผลิตมากยิ่งขึ้น คิดว่าน่าจะได้ผล

 
ซึ่งกิจกรรมสวนผักคนเมือง เราก็มีสองหมวด หมวดหนึ่งก็มาจากชนชั้นกลางบ้านจัดสรรทั่วไป อีกหมวดหนึ่งคือหมวดชุมชน ชุมชนอีกอันหนึ่งที่เราเรียกว่าชุมชนนอกระบบที่จะอยู่กันตามสลัม เขาก็จะมีพื้นที่ส่วนการที่มาทำด้วยกันแล้วแบ่งผักกันไปกิน กลุ่มนั้นก็เวิร์ค แล้วก็ทำกันต่อเนื่อง ผักก็งาม ก็ได้กิน ได้ขายกันบางส่วน เราคิดว่ามันต้องเพิ่มพื้นที่อาหารในทุกๆ จุด ไม่ใช่ให้อาหารเดินทางไกลเกินไป อันนี้ตอบโจทย์ข้างหน้าด้วย กรุงเทพที่มีสิบกว่าล้านคนน่าจะเลี้ยงตัวเองได้ ผักมันควรจะมาอยู่ใกล้ๆ จะต้องเป็นผักดีด้วยนะ อาจจะต้องไปจัดการกับพื้นที่รอบๆ เหมือนกับพอน้ำท่วม เราน่าจะเห็นแต่ถนน เราเห็นคลองมากขึ้นพอเราเห็นคลอง เราก็เห็นคนที่อยู่ตามคลองก็ยังทำสวนกันอยู่พื้นที่เกษตรรอบๆ ที่อยู่ตามคลองต่างๆ ที่มีน้ำมีดินทำการเกษตรก็เป็นพื้นที่เกษตรจำนวนไม่น้อยเลย

 
ตอนนี้เรากำลังทำกิจกรรมระดมเมล็ดพันธุ์ ระดมกล้าพันธุ์ ระดมเงินสนับสนุนการฟื้นฟูพื้นที่เกษตรรอบกรุงเทพมหานคร มันก็จะทำให้เกิดพื้นที่อาหารใกล้ๆ กรุงเทพมากขึ้น ต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ ไม่ต้องไปทำกับที่ไกลๆ อยู่ตรงไหนก็ทำตรงนั้น คนเชียงใหม่ก็จัดการเรื่องระบบอาหารที่เชียงใหม่ ระบบอาหารก็เกี่ยวข้องกับระบบตลาด การแลกเปลี่ยนก็ต้องผ่านระบบการค้า ไม่ได้เอามาแบ่งๆ กันกินเฉยๆ

 
ถ้าหากชาวบ้านชุมชนหันกลับมาพึ่งพาตนเองได้แล้ว แนวคิดแบบนี้ฟื้นฟูกลับมาแล้ว แต่ว่ามันยังติดขัดกับนโยบายของรัฐ ซึ่งยังถูกผูกขาดอยู่กับนายทุนบริษัทยักษ์ใหญ่ เราจะกระตุ้นหรือหาทางออกยังไง?
นึกภาพไม่ออกเหมือนกัน คือเวลามองอำนาจส่วนบน ทั้งอำนาจที่มองเห็นและมองไม่เห็น มันก็ประกอบส่วนไปด้วยอำนาจรัฐกับอำนาจทุน มันจับมือกันเหนียวแน่นมาก ถ้าพูดเรื่องระบบอาหารเรื่องเดียวแล้วพบว่าอำนาจรัฐและทุนมันครอบงำ วิธีคิดกระบวนการอาหารเยอะมาก แล้วมันก็มีแนวโน้มพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารมากกว่าพัฒนาระบบอาหารแบบที่เราอยากเห็น

 
ซึ่งเราเห็นทางออกอยู่ทางเดียวในเวลานี้ คือผู้บริโภคต้องตื่นตัวกว่านี้ แล้วมาส่งเสียงบอกว่า นี่ไม่ใช่ทิศทางการพัฒนาอาหารที่เราอยากเห็น ถ้าผู้บริโภคไม่ลุกขึ้นมา เราไม่สามารถทำอะไรได้

 
คือถามว่า ตอนนี้กระบวนการลอบบี้พยายามที่จะไปมีส่วนในการกำหนดนโยบายต่างๆ ก็ไปทุกที่ แต่สุดท้ายในทางปฏิบัติ หลังจากออกมาเป็นนโยบายออกมาแล้ว ก็ไม่มีอะไร กลไกการส่งเสริมภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บอกว่า พันธุ์ข้าวควรจะส่งเสริมพันธุ์ข้าวพื้นเมือง ส่งเสริมให้ชาวบ้านมีศูนย์จัดการเมล็ดพันธุ์ของตนเองให้ดูแลตนเอง หรือส่งเสริมให้ระดับตำบลทำศูนย์พันธุกรรมท้องถิ่นของเขาเอง ซึ่งพันธุ์นี้ต้องเป็นพันธุ์พื้นบ้านล้วนๆ ไม่ได้บอกอย่างนั้น แต่พันธุ์ต้องเป็นพันธุ์ที่ชาวบ้านจัดการเองได้แนวทางแบบนี้ก็เสนอไปตั้งเยอะตั้งแยะ แต่ก็ไม่มีใครทำ

 
รัฐไม่ทำ ชาวบ้านต้องลุกมาทำเอง?

ใช่ ชาวบ้านก็ต้องลุกขึ้นมาทำเอง ฉะนั้น ด้านหนึ่ง สิ่งที่ทำได้ก็คือ การปฏิบัติการแนวราบที่สร้างเครือข่าย แล้วให้เกิดการปฏิบัติการอันนี้ ยังไงก็ต้องทำ ส่วนในเรื่องนโยบายก็ลอบบี้ไป แต่ว่าไม่ได้หวังผลอะไรมาก แต่ด้านหนึ่ง เราก็หวังผลกับขบวนการผู้บริโภค ฝันไว้ว่ามันควรจะมีประเทศที่คิดว่าตัวเองก้าวหน้า แต่อย่างว่า ประเทศที่คิดว่าตัวเองก้าวหน้า แต่คิดผิดมากเลย เพราะเราดูๆ แล้ว พบว่าเป็นประเทศที่ล้าหลังแบบสุดกู่

 
แต่ว่าเราก็ยังคิดว่ามันมีความเป็นไปได้ ถ้าประชาชนส่วนใหญ่ล้วนออกมาบอกว่า ตัวเองต้องการระบบอาหารแบบไหน เราคิดว่ารัฐและทุนก็ต้องปรับ ก็ต้องฟังเสียงประชาชน เราคิดว่ามันมีโอกาส เพราะคนสนใจสิ่งที่มันหายไป ถ้ามันยังมีอยู่ คุณก็จะไม่รู้สึก แต่ถ้ามันหายไป คุณก็จะเริ่มรู้สึก เราคิดว่ามันเป็นโอกาสวิกฤติที่คุณมองเห็นมากขึ้น เราคิดว่ามันน่าจะเป็นโอกาสสื่อสารกับผู้บริโภคได้มากขึ้น แล้วให้ผู้บริโภคแอคทีฟมากขึ้น

 
เราคิดว่าผู้บริโภคนั้นจะมีพลังได้ คุณต้องลุกขึ้นมาออกแรง ที่เราบอกว่าชาวบ้านก็ต้องออกแรง ใช้เวลาในการจัดการอาหารและจัดการเวลาให้ดีขึ้น ผู้บริโภคเองก็ต้องจัดการเวลา ให้เวลากับการไปขวนขวายแสวงหามากขึ้น ไม่ใช่เข้าที่เดียวแล้วจะได้ทุกอย่างมีที่เดียว ที่ทำให้คุณได้คือ ซุปเปอร์มาเก็ต แต่ถึงเวลาเกิดวิกฤติ ขึ้นมาทั้งซุปเปอร์มาเก็ตก็ไม่มีให้คุณเหมือนกัน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กวีประชาไท: ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล

$
0
0
 
ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล
ดอกไม้อายุสั้นเติบโตในถุงดำ
ชูช่อเรียงรายบนเกาะกลางถนน
สูบเลือดและน้ำตาประชาชนเลี้ยงดอกใบ

บานสะพรั่งปลอบประโลมจิตใจทุกเทศกาล

 

แดดเดือนเมษาแผดเผาหัวใจไหม้หม่น

ในขณะเดียวกันพายุฝนก็โถมกระหน่ำซ้ำเติม

ประเดี๋ยวร้อน...ประเดี๋ยวหนาว

ผู้คนต่างถูกพิษไข้ ละเมอเพ้อไปเกินจินตนาการ

ว่าอีกไม่นาน ฟ้าฝนจะเข้ารูปเข้ารอย

 

 


 

เมื่อความจริงกับความลวงทำความตกลงกันได้

ตรรกะบิดเบี้ยวก็ถูกลากขึ้นมาบนเส้นสมมุติ

ความเป็นธรรมดูคล้ายว่าจะไร้ความหมาย

ความตายของใคร..ก็ดูคล้ายว่าจะไม่เคยปรากฏ

และพอฝุ่นควันตลบพลันจางลง

เสรีภาพก็ปลิวหายไปในกระแสแปรปรวนของกาลเวลา


 

ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล 
ผู้คนยังอดอยากปากแห้ง
เหลือบตาขึ้นมองยอดเมรุสูงเสียดฟ้า
หวังเพียงว่าควันไฟ...จะบอกใบ้เลขหวย!

 

 
....

 

ทางเท้า : กลุ่มกวีราษฎร์

 
 
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เชื่อ‘กลุ่มอุซตาสโซ๊ะ’บอมบ์ใต้–ตั้งค่าหัวมือบึ้มหาดใหญ่ 1 ล้าน

$
0
0

รวบผู้ต้องสงสัยมือคาร์บอมบ์ยะลาได้แล้ว 1 ตำรวจเชื่อฝีมือแกงค์ “อุซตาสโซ๊ะ” เพิ่มค่าหัวมือบอมบ์หาดใหญ่คนละ 1 ล้าน ห้าม “รถติดแก๊ส” จอดในห้าง–โรงแรม ระบุคาร์บอมบ์เหลืออีก 4 คัน ประชาสังคมชายแดนใต้ประกาศหนุนเจรจา

หาดใหญ่ห้าม“รถติดแก๊ส”จอดห้าง–โรงแรม

เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2555 ที่หอการค้าจังหวัดสงขลา พล.ต.อ.สุวัฒน์ จันทร์อิทธิกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ฉัตรชัย โปตระนันท์ ที่ปรึกษาสัญญาบัตร 10 ด้านป้องกันและปราบปราม 5 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รับผิดชอบกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 และกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ได้ร่วมประชุมหอการค้าจังหวัดสงขลา และตัวแทนภาคธุรกิจในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ทั้งโรงแรม ศูนย์การค้า ธุรกิจส่งออก ธุรกิจนำเที่ยว และฝ่ายปกครองจังหวัดสงขลา เพื่อกำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัยอำเภอหาดใหญ่ และร่วมฟื้นฟูบรรยากาศ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวมาเลเซียและสิงคโปร์ โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์

พล.ต.อ.ฉัตรชัย เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า มาตรการที่เจ้าหน้าที่และภาคธุรกิจเริ่มดำเนินการคือ การตั้งด่านตรวจบนถนนสายหลักทั้ง 4 สาย รวมทั้งสายรองและเส้นทางลัดอีกอย่างน้อย 40 เส้นทาง ตลอด 24 ชั่วโมง โดยเน้นตรวจค้นรถยนต์และบุคคลต้องสงสัย โดยใช้กำลังตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง พร้อมกับกำหนดโซนนิ่งย่านเศรษฐกิจการค้ากลางเมืองหาดใหญ่ให้เป็นสัดส่วน รถยนต์ติดแก๊สห้ามลงไปจอดชั้นใต้ดินของโรงแรม หรือศูนย์การค้าเด็ดขาด รวมทั้งตรวจเช็คสภาพความพร้อมกล้องจรปิดทุกจุดในเมืองหาดใหญ่ว่า ยังอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานหรือไม่ และนำสุนัขเข้ามาตรวจหาวัตถุระเบิดด้วย ทั้งนี้จะจัดอบรมหน่วยรักษาความปลอดภัยสถานประกอบการต่างๆ เกี่ยวกับวิธีตรวจและสังเกตรถต้องสงสัย ป้ายทะเบียนปลอม ในวันที่ 10 เมษายน 2555

ยกระดับรถหายเป็นคดีสำคัญ–คุมมือถือ/ซิมการ์ด

พล.ต.อ.วรพงษ์ เปิดเผยว่า จากนี้ไปคดีรถยนต์หายใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะต้องยกเป็นคดีสำคัญ เนื่องจากรถยนต์ที่นำมาใช้ก่อเหตุเป็นรถที่ถูกขโมยมาทั้งสิ้น และรถที่แจ้งหายจะต้องรวบรวมทำเป็นพ็อกเกตบุ๊คแจกจ่ายให้ตำรวจสายตรวจและปราบปราม รวมทั้งป้ายไวนิลติดตามจุดตรวจต่างๆ เพื่อให้ตรวจสอบได้ง่ายขึ้น และต้องทำประวัติอู่ซ่อมรถทุกแห่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะรถยนต์ที่ขโมยไปบางส่วนจะนำไปเปลี่ยนสีรถ ขณะที่สินค้าบางตัว เช่น ซิมการ์ดหรือโทรศัพท์มือถือ จะต้องปรับเป็นสินค้าควบคุม

นายสุรชัย จิตภักดีบดินทร์ ประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า ขณะนี้ความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากเหตุระเบิดหาดใหญ่มีประมาณ 800 ล้านบาท เนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวไทยยกเลิกการเดินทางทั้งหมด ส่วนมาเลเซียยกเลิกไปบางส่วน เช่นเดียวกับนักธุรกิจชาวต่างชาติที่มีแผนจะเข้ามาดูงานในหาดใหญ่ก็ยกเลิกการเดินทางทั้งหมดด้วย ขณะที่ภาคการขนส่งก็เรียกร้องเงินค่าเสี่ยงภัย และค่าใช้จ่ายต่างๆ เพิ่มขึ้น

แนะทำประกันภัยนักท่องเที่ยวคนละ 10 ล้าน

“ภาคธุรกิจและภาคการท่องเที่ยว ต้องการให้ภาครัฐประกันภัยให้แก่นักท่องเที่ยวคนละ 10 ล้านบาท จากเหตุวินาศกรรม เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว การรักษาความปลอดภัยจะต้องครอบคลุมสถานที่สำคัญทุกแห่ง โดยเฉพาะสนามบินที่ค่อนข้างหละหลวม เรียกตรวจเฉพาะรถเก๋ง ส่วนรถยนต์กระบะ และรถตู้ปล่อยให้เข้าไปง่ายๆ หลังจากนี้จะเชิญสื่อมวลชนมาเลเซียมาดูพื้นที่จริง และมาตรการรักษาความปลอดภัยของไทย เพราะข่าวที่ออกผ่านสื่อมวลชนมาเลเซียคลาดเคลื่อนทำให้เกิดความเสียหาย โดยเฉพาะจำนวนผู้เสียชีวิตที่หาดใหญ่ สื่อมาเลเซียบอกว่าสูงถึง 14 คน

เพิ่มค่าหัวมือคาร์บอมบ์หาดใหญ่คนละ 1 ล้าน

วันเดียวกัน พล.ต.ท.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 เปิดเผยว่า อีกไม่เกิน 2 วัน จะออกหมายจับ 2 คนร้ายก่อเหตุคาร์บอมบ์เมืองหาดใหญ่ รอรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมบางส่วนเท่านั้น 2 คนร้ายที่จะออกหมายจับ ได้มาจากกล้องวงจรปิดของโรงแรมลี การ์เดนส์ พลาซ่า ที่บันทึกภาพไว้ได้ขณะขับรถเก๋งคาร์บอมเข้าไปจอด และเดินออกจากโรงแรม เป็นกลุ่มเดียวกันกับที่ก่อเหตุระเบิดคาร์บอมบ์ในจังหวัดยะลา เนื่องจากสารประกอบระเบิดเป็นชนิดเดียวกัน และคนร้ายมาจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เชื่อว่าขณะนี้ยังอยู่ในพื้นที่ ตำรวจได้ตั้งรางวัลนำจับคนร้ายทั้ง 2 คนละ 1 ล้านบาท จากเดิมที่นายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ได้ตั้งรางวัลนำจับไปแล้วคนละ 5 แสนบาท

ลีการ์เดนส์ เปิดให้เจ้าของร้านค้าเข้าห้าง

วันเดียวกัน ที่โรงแรมลี การ์เดนส์ พลาซ่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ที่เกิดเหตุคาร์บอมบ์ ฝ่ายปกครองและตำรวจเข้าไปตรวจสอบความปลอดภัยภายในโรงแรมในส่วนของพลาซ่าอีกครั้ง ตั้งแต่ชั้นที่ 1 ถึงชั้นที่ 5 ก่อนให้เจ้าหน้าที่โรงแรมนำผู้ประกอบการในส่วนของพลาซ่ากว่า 200 ร้าน เข้าไปเก็บสิ่งของมีค่าภายในร้าน ส่วนรถจักรยานยนต์ยังคงทยอยนำออกมาจากชั้นจอดรถใต้ดินอย่างต่อเนื่อง สำหรับรถยนต์จะนำรถออกได้ในวันที่ 6 เมษายน 2555 ในส่วนโครงสร้างตัวตึก วิศวกรโยธากำลังตรวจตัวอาคารอย่างละเอียด

รับอาสาสมัครเยียวยาเหยื่อระเบิดลีการ์เดนส์

ทางด้านมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ได้ร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ ประกาศรับสมัครนักศึกษาหรือบุคลทั่วไปอายุ 18 ปีขึ้นไป ทำงานอาสาสมัครเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุระเบิดที่ศูนย์การค้าลี การ์เดนส์ พลาซ่า ร่วมกับโรงพยาบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้สนใจสามารถโทรศัพท์ หรือแฟกซ์ข้อมูลแจ้งชื่อ เบอร์โทรศัพท์ ที่อยู่ และช่วงเวลาที่สะดวกทำงานได้ที่ 074 455150 หรือส่งข้อมูลผ่านทางคุณกอล์ฟ (วพส.) ฝ่ายลงทะเบียนอาสาที่อีเมล์ golfgeb@hotmail.com หรือแจ้งผ่านเฟซบุ๊กเยาวชนจิตอาสา ม.อ.

เยียวยา “มาเลย์” กว่าครึ่งล้าน

เวลาบ่ายวันเดียวกัน ที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ นายสุรพล พนัสอำพล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นตัวแทนจังหวัดสงขลามอบเงินช่วยเยียวยาแก่ญาติของ MR. TAN PENG CHAN อายุ 54 ปี ชาวมาเลเซีย ซึ่งเสียชีวิตจากโดนเพลิงไหม้ในเหตุการณ์ระเบิดที่โรงแรมลี การ์เดนส์ พลาซ่า โดยรัฐบาลไทยมอบเงินเยียวยาผ่านจังหวัดสงขลารวม 434,000 บาท แยกเป็นเงินจากจังหวัดสงขลา 125,000 บาท จากกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา 309,000 บาท และห้างลี การ์เด้น พลาซ่า 150,000 บาท รวมแล้ว 584,000บาท ศพของนักท่องเที่ยวรายนี้จะบำเพ็ญกุศลในจังหวัดสงขลา และฌาปนกิจให้แล้วเสร็จ จากนั้นจะนำเถ้ากระดูกกลับประเทศมาเลเซีย

นายสุรพล เปิดเผยว่า การให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นครั้งนี้ จังหวัดสงขลาจ่ายเงินช่วยเหลือตามระเบียบกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในกรณีเสียชีวิต จ่ายค่าจัดการศพเป็นเงิน 25,000 บาท ถ้าเป็นหัวหน้าครอบครัวจ่ายเพิ่มอีก 25,000 บาท กรณีได้รับบาดเจ็บรักษาตัวเกิน 3 วัน จ่าย 3,000 บาท บาดเจ็บเล็กน้อยจ่าย 2,000 บาท และจ่ายเงินช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์รายละ 2,000 บาท หากนักท่องเที่ยวที่เสียชีวิตกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาจะจ่ายเงินผ่านสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสงขลาอีก 309,000บาท

“ในส่วนทรัพย์สินประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุระเบิด รัฐบาลมอบหมายให้จังหวัดรับดูแล ซึ่งจังหวัดมอบหมายให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา ตรวจสอบความเสียหายและให้การช่วยเหลือเยียวยา รวมไปถึงรถยนต์และจักรยานยนต์ของประชาชน ถือเป็นทรัพย์สินที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด” นายพนัส กล่าว

รวบผู้ต้องสงสัยมือคาร์บอมบ์ยะลาได้แล้ว 1

เวลา 08.45 น. วันเดียวกัน ที่ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา พล.ต.อ.วรพงษ์ เปิดเผยว่า ความคืบหน้าคดีคาร์บอมบ์กลางเมืองยะลา มีความคืบหน้ามาก โดยเฉพาะหลักฐานด้านคดีที่ทำให้ทราบจุดเริ่มต้นของรถที่ประกอบระเบิด จากการตรวจค้นเป้าหมายก็ได้พยานวัตถุจำนวนมาก น่าเชื่อว่าจะสามารถเชื่อมโยงถึงผู้กระทำความผิดได้ สำหรับเหตุเชื่อมโยงระหว่างยะลากับหาดใหญ่ พบว่ารถที่นำมาใช้ก่อเหตุเป็นรถที่ชิงมาจากในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนการประกอบระเบิดยังไม่ยืนยันว่าเหมือนกันหรือไม่ ต้องรอให้หลักฐานชัดเจนก่อน พยานหลักฐานที่พบในขณะนี้ รอผลพิสูจน์เพิ่มเติมนิดหน่อย ก็สามารถออกหมายจับคนร้ายได้ จากข้อมูลที่มีอยู่ก็เป็นกลุ่มเดิมๆ ในพื้นที่ ตนมั่นใจว่าออกหมายจับและจับกุมผู้ก่อเหตุได้แน่นอน

รายงานข่าวศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนใต้แจ้งว่า หลังจากได้วัตถุพยานภาพจากกล้องวงจรปิด ตำรวจได้เชิญตัวผู้ต้องสงสัยแล้ว 1 รายคือ นายอนุวัฒน์ โต๊ะเจ๊ะ อายุ 22 ปี ชาวตำบลยุโป อำเภอเมือง จังหวัดยะลา จากการตรวจสอบกล้องวงจรปิดพบว่า เป็นผู้ขับรถติดตามรถยนต์กระบะที่ประกอบวัตถุระเบิดในจุดแรก จึงเชิญตัวบุคคลดังกล่าวไปซักถามว่าเกี่ยวข้องหรือไม่ เบื้องต้นนายอนุวัฒน์ยังให้การปฏิเสธ

แกงค์“อุซตาสโซ๊ะ”บอมบ์ยะลา

พล.ต.ต.พีระ บุญเลี้ยง ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดยะลา เปิดเผยว่า คนร้ายที่ก่อเหตุคาร์บอมบ์กลางเมืองยะลา ตำรวจมุ่งเป้าไปยังกลุ่มนายอิสมาแอ ระยะหลง หรืออุซตาสโซ๊ะ แกนนำก่อเหตุรุนแรงระดับสั่งการ ที่สั่งการให้แนวร่วมที่มีความชำนาญการประกอบวัตถุระเบิด รวมตัวกันลงมือก่อเหตุ สำหรับมาตรการดูแลรักษาความปลอดภัยจะมีความเข้มกว่าเดิม 2–3 เท่า ในย่านการค้า และย่านชุมชน

พล.ต.ต.พีระ เปิดเผยต่อไปว่า พร้อมกันนี้ได้สั่งการให้จุดตรวจ 4 มุมเมือง ประกอบด้วย จุดตรวจท่าสาป เส้นทางมาจาก อำเภอยะหา อำเภอกาบัง จุดตรวจมลายูบางกอก เส้นทางมาจากอำเภอรามัน อำเภอบันนังสตา อำเภอธารโต จุดตรวจขุนไว เส้นทางมาจากอำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี และจุดตรวจเมืองทอง เส้นทางมาจากอำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี ตั้งด่านตรวจเข้มรถยนต์ จักรยานยนต์ และบุคคลจะตรวจหมายเลข 13 หลักทุกคน เพื่อตรวจจับผู้มีหมายจับ ทั้งหมายตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และหมายจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ก่อนจะเข้ามายังตัวเมืองยะลาอย่างละเอียด

“นอกจากนี้ ยังสั่งให้ควบคุมรถยนต์และจักรยานยนต์ที่ขาดการเสียภาษี ตลอดจนไม่สามารถนำหลักฐานการเป็นเจ้าของมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ได้ ขณะที่หน่วยงานความมั่นคงยังประกาศแจ้งเตือนให้ระมัดระวังกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบอาจจะก่อเหตุครั้งใหม่ โดยประกอบวัตถุระเบิดซุกซ่อนไว้ในรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เพื่อเตรียมก่อเหตุในเขตเทศบาลนครยะลาอีกครั้ง” พล.ต.ต.พีระ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ทางเข้าออกหน่วยงานสถานที่ราชการต่างๆ โดยเฉพาะทางเข้าออกภายศาลากลางจังหวัดยะลา มีการตรวจค้นรถยนต์และรถจักรยานยนต์อย่างละเอียด ขณะที่ทหารได้วางกำลังดูแลรักษาความปลอดภัยในพื้นที่รอบนอกเขตเทศบาลนครยะลา โดยตรวจค้นรถยนต์และรถจักรยานยนต์ รวมทั้งบุคคลเป้าหมายอย่างเข้มงวด นอกจากนี้ยังมีการกำชับไปยังอำเภอต่างๆ ให้ตรวจสอบรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และบุคคลเป้าหมายด้วย

เหลืออีก 4 คัน รถประกอบระเบิดคาร์บอมบ์

สำหรับรถประกอบระเบิด 10 คัน ที่มีการแจ้งเตือนมาก่อนหน้านี้ ขณะนี้กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี ได้ออกปฏิทินภาพรถยนต์ 7 คัน ที่คนร้ายใช้ประกอบคาร์บอมบ์ โดยล่าสุดนำไปใช้ก่อเหตุระเบิดไปแล้ว 3 คัน ประกอบด้วย รถฮอนด้า ซีวิค สีดำ ก่อเหตุระเบิดที่โรงแรม ลี การ์เดนส์ พลาซ่า รถกระบะ 2 คัน ที่ระเบิดกลางเมืองยะลา

ส่วนที่เหลืออีก 4 คัน เป็นรถโตโยต้า สีเทา ทะเบียน บน 3384 ลำปาง รถกระบะสีเขียว ยี่ห้อมิตซซูบิชิ สตาด้า ทะเบียน ม 1137 ปัตตานี และรถกระบะสีน้ำตาล ยี่ห้ออีซูซุ ดีแมคซ์ ทะเบียน 9197 ปัตตานี อีกคันเป็นรถกระบะสีน้ำตาล ไม่ทราบทะเบียน หากใครพบเบาะแสให้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ เพื่อให้ตรวจสอบอย่างเร่งด่วนที่ โทร 0-7341-4688 / 0-7334-8555

ประชาสังคมชายแดนใต้ยืนยันเปิดพื้นที่กลางและเจรจา

วันเกียวกัน สภาประชาสังคมชายแดนใต้ องค์กรกลางของกลุ่มประชาสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจต่อผู้บาดเจ็บและสูญเสียจากเหตุการณ์คาร์บอมบ์ พร้อมกับเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาทบทวนการกำหนดปัญหาใจกลาง ยุทธศาสตร์ และยุทธวิธี การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ใหม่ทั้งระบบ เนื่องจากกว่า 8 ปีที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่ารัฐไทยล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาโดยสิ้นเชิง

สภาประชาสังคมชายแดนใต้ได้แสดงจุดยืนคัดค้านการใช้ความรุนแรง เพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมืองของทุกกลุ่มในทุกรูปแบบ พร้อมทั้งเรียกร้องให้พี่น้องประชาชนคนไทยทั้งประเทศทุกองค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชนให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ปล่อยให้นักการเมือง รัฐบาล หรือหน่วยงานฝ่ายความมั่นคงแก้ปัญหากันเพียงลำพัง

“เรายังคงยืนยันการขยายการเปิดพื้นที่กลางสำหรับให้ทุกฝ่ายได้แลกเปลี่ยนและนำเสนอความคิดเห็นในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่อย่างเสมอภาคและเป็นธรรมพร้อมทั้งสนับสนุนหลักการเจรจาระหว่างฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างสันติสุขและสันติภาพอย่างยั่งยืนต่อไป” แถลงการณ์ระบุ

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live




Latest Images