Quantcast
Channel: ประชาไท
Viewing all 58343 articles
Browse latest View live

สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี: 6 ตุลา คือภาพฝังใจ ที่เปลี่ยนวิธีมองโลกของผมไปตลอดกาล

$
0
0

6 ต.ค. 2562 ในงานรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่ลานประติมานุสรณ์ โดยปีนี้มี ปาฐกถารำลึกเหตุการณ์ โดย นพ. สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลา เมื่อภาพที่เขาเห็นในวันที่ 6 ตุลาคม 2516 ได้เปลี่ยนวิธีมองโลกสำหรับเขาไปตลอดกาล

00000

 

ชีวิตคนหนุ่มสาวหลายคนเปลี่ยนไปอย่างมากมายเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519
ชีวิตผมก็เช่นกัน

ยามสายวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ผมยืนอยู่นอกกำแพงรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นิ่งงัน งุนงง หันรีหันขวาง ไม่รู้จะทำอย่างไร พยายามบังคับน้ำตาไม่ให้ไหลท้นออกมา ด้วยกลัวว่าจะเป็นเป้าสายตา

เช้าตรู่วันนั้น ผมตกใจตื่นขึ้นมาจากเตียงนอนในหอพักแพทย์รามาธิบดีเพราะพี่ๆ ที่หอพักแพทย์ตะโกนบอกกันเรื่องเหตุนองเลือดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คืนวันที่ 5 ตุลาคม ผมออกจากที่ชุมนุมกลางสนามหญ้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะมีภารกิจที่ต้องกลับมาทำที่ตึกสันทนาการ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตอนนั้นบรรยากาศเริ่มคุกรุ่นแล้ว แต่ผมไม่สังหรณ์ใจว่า จะเกิดการนองเลือดครั้งใหญ่ คิดเพียงว่า อาจมีความรุนแรงระดับเดียวกับที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งตลอดปี 2519 แม้จะรู้สึกแปลกไปบ้างที่คราวนี้น้ำเสียงวิทยุยานเกราะช่างแข็งกร้าวและหนังสือพิมพ์ดาวสยามช่างปลุกปั่น แต่ด้วยความอ่อนเยาว์ ไม่ประสีประสา จึงคิดไปไม่ถึงว่า จะเกิดอะไรขึ้นในอีก 10 ชั่วโมงข้างหน้า

เมื่อเสร็จภารกิจ ด้วยความอ่อนล้าที่ตรากตรำมาหลายวัน ผมจึงไปค้างนอนกับพี่นักศึกษาแพทย์ ที่หอพักแพทย์รามาธิบดี

เมื่อตะลีตะลานตื่นขึ้น ผมรีบนั่งรถเมล์จากรามาธิบดีมาถึงสนามหลวง และเห็นคนจำนวนนับร้อยคนมุงกันอยู่ริมสนามหลวง ตรงข้ามมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ไม่มีเสียงปืน ไม่มีการวิ่งหลบวิถีกระสุน มีแต่กลิ่นไหม้ของยางรถยนต์ ซึ่งเมื่อผมเดินเข้าไปใกล้แล้วต้องเบือนหน้าหนี มีร่างของใครสองสามคนอยู่ที่กองยางรถยนต์นั้น

มองไปไกลอีกเล็กน้อย เห็นร่างคนถูกแขวนไว้ที่ต้นมะขาม และคนกลุ่มหนึ่งยังมุงดูกันอยู่ไม่ห่าง

ผมยืนอยู่สักพัก ก็รีบถอยออกมาจากตรงนั้น โดยไม่หันหลังกลับไปดูอีกเลย

เวลา 15 นาทีกลางสนามหลวงในวันนั้น เป็นห้วงเวลาที่ผมยังจำได้ ไม่เคยลืมจนถึงวันนี้

เด็กหนุ่มอายุ 19 ปี กับ ภาพที่จำฝังลึกลงไปสุดใจ ทำให้ผมเปลี่ยนวิธีมองโลกไปตลอดกาล

ความฝันแสนงาม โลกใบที่สดใส และผู้คนที่รักสันติภาพ อยู่ที่ไหนเล่า

ไม่มีหรอก ผมบอกตัวเอง คุณยังไม่รู้อะไรอีกมาก
พอแล้ว ความอ่อนเยาว์ ไม่ประสีประสา

คืนวันนั้น ผมเดินทางกลับบ้านเกิดที่ต่างจังหวัด แล้วหมกตัวอยู่ในห้องแคบๆ ของตนเองเกือบเดือน อาม่าและแม่คอยเฝ้ามาไถ่ถามด้วยความเป็นห่วง ผมกินข้าวไม่ลง คิดวนไปวนมา ไม่รู้จะทำอะไรต่อไป พยายามติดตามข่าวคราวของเพื่อนมิตรและผู้ร่วมชุมนุมอื่นๆ แต่ก็ถูกปิดกั้นทั้งทางโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ มีแต่ข่าวเรื่องพบอาวุธและอุโมงค์ในธรรมศาสตร์ และการติดตามจับกุมนิสิต นักศึกษา ผู้นำกรรมกร ผู้นำชาวนา นับพันคน

หนึ่งเดือนที่โลกรอบตัวดูเคว้งคว้างและมืดมน

ต้นเดือนพฤศจิกายน มหาวิทยาลัยเปิดเรียน แต่บรรยากาศในมหาวิทยาลัยไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว หม่นหมอง เงียบเหงา ซึมเซา ผ่านไปวันๆ นักศึกษามาเรียนเสร็จก็รีบกลับบ้าน ไม่มีการจับกลุ่มพูดคุยกันอีก

ผมมักนั่งอยู่โดดเดี่ยวที่ม้าหินริมสนามหญ้ากลางแดดอุ่นและลมหนาว ของเดือนพฤศจิกายน ปล่อยความคิดล่องลอยไป ไม่มีจุดหมาย วันคืนผ่านไปช้าๆ ตั้งคำถามกับตนเองว่า จากนี้จะอยู่ต่อไปอย่างไร จะเรียนไปทำไม ภาพกลางสนามหลวงวันนั้น ยังผุดขึ้นมาเป็นครั้งคราว

หลังจากนั้น เริ่มมีรุ่นพี่มาติดต่อว่า อยู่ในเมืองไม่ปลอดภัย จะหลบเข้าไปในป่าเขาไหม ด้วยความคิดที่ถามตนเองมาตลอดว่า จะเรียนต่อไปทำไม ทำให้ตัดสินใจไม่ยากว่า การไปสู่ภูเขาเป็นหนทางเดียวที่เหลืออยู่

ผมเตรียมกาย เตรียมใจ เตรียมความคิด นับเดือนเพื่อให้พร้อมเสมอหากได้รับนัดหมาย ผมได้รับแจ้งว่า ให้ออกเดินทางไปพร้อมเพื่อนนักศึกษาแพทย์ชั้นเดียวกันอีก 1 คน

และเมื่อกำหนดนัดหมายก็มาถึง คืนก่อนวันนัดหมาย ผมนอนไม่หลับ พลิกตัวไปมาตลอดเวลา ใจหนึ่งก็บอกตนเองว่า เราต้องเดินหน้าต่อไป จำภาพกลางสนามหลวงเช้าวันที่ 6 ตุลาไม่ได้หรือ อีกใจหนึ่งก็พะวงว่า เรากำลังตัดสินใจทิ้งครอบครัวไปโดยไม่รู้ว่าจะได้กลับเมื่อไร หรือจะได้กลับไหม ที่สำคัญคือ อาม่าซึ่งเลี้ยงผมที่เป็นหลานชายคนแรกอย่างถนอมรักมาตั้งแต่แบเบาะ อาม่าจะทำใจได้ไหม ถ้าอาม่าตรอมใจจนป่วย ผมคงไม่สามารถยกโทษให้ตนเองไปตลอดชีวิต

วันรุ่งขึ้นที่นัดพบกัน ผมก้มหน้าอย่างละอายใจ แล้วบอกเพื่อนว่า ผมตัดสินใจไม่ร่วมเดินทางไปกับเขาแล้ว ในใจของผมเตรียมรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์จากเพื่อนอย่างยินยอม เหมือนคนขี้แพ้

ผิดคาด เขากลับบอกผมว่า ไม่เป็นไร เขาเข้าใจ แต่เมื่อตัดสินใจอยู่ในเมืองต่อไป ขออย่างเดียว ขอย่างเดียว อย่าลืมเพื่อนของเราที่เสียชีวิตไปในวันที่ 6 ตุลา

ผมนิ่งงัน นั่งจมอยู่กับที่ มองเพื่อนผู้ตัดสินใจแน่วแน่ เดินคล้อยหลังห่างออกไปทุกที วินาทีนั้น ผมบอกกับตัวเองว่า ชีวิตผมต่อจากนี้ ไม่ใช่ชีวิตผมแบบที่ใช้ชีวิตมา 19 ปีอีกต่อไปแล้ว ความฝันของผมต่อจากนี้ ไม่ใช่ความฝันเดิมที่สวยใส และราบเรียบอีกต่อไปแล้ว

จากนี้ ผมจะไม่ใช่เด็กหนุ่ม อ่อนเยาว์ ไม่ประสีประสาคนเดิม
จากนี้ ผมจะไม่เพียงแค่เรียนหนังสือ แต่ผมจะใช้เวลาที่เหลืออยู่ทำตามความฝัน อย่างมุ่งมั่น มีสติ ด้วยปัญญาที่รู้เท่าทัน
จากนี้ ผมจะหยุดซึมเศร้าแล้วก้าวต่อไป

เมื่อยังอยู่ในเมืองก็ทำตามเงื่อนไขที่อยู่ในเมือง ผมนัดพบพูดคุยกับเพื่อนมิตรที่ยังอยู่ นอกมหาวิทยาลัย หรือเวียนไปตามบ้านของเพื่อนเราเริ่มเผยแพร่ความจริงของ 6 ตุลาและข้อเขียนของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ด้วยการพิมพ์ลงกระดาษไขแล้วโรเนียวด้วยมือ ทำหนังสือทำมือ ทำหนังสือพิมพ์กำแพง และผลัดกันไปให้กำลังใจผู้ต้องหาคดี 6 ตุลา

เมื่อสถานการณ์เริ่มผ่อนคลายหลังรัฐประหารวันที่ 20 ตุลาคม 2520 เราเริ่มพบปะพูดคุยกันเพื่อฟื้นบทบาทของสโมสรนักศึกษา และเริ่มมีการติดต่อนัดหมายกันกับเพื่อนนักศึกษาระหว่างมหาวิทยาลัย

เมื่อรัฐบาลเปิดให้มีบรรยากาศประชาธิปไตยในมหาวิทยาลัยมากขึ้น ผมและเพื่อนช่วยกันสร้างสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลขึ้นมาใหม่ ส่วนระหว่างมหาวิทยาลัย เรารวมกันเป็นสโมสรนักศึกษา 16 สถาบัน แล้วขยายตัวเป็นสโมสรนักศึกษา 18 สถาบันในเวลาต่อมา

ผมและเพื่อนเรียนไป สร้างกิจกรรมนักศึกษาไป อย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย ท่ามกลางกระแสข่าวที่สับสนเกี่ยวกับความขัดแย้งเพื่อนมิตรที่อยู่ในป่าเขาและพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งส่งต่อผ่านกันมา

แต่ผมไม่สนใจว่า ภายในพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยจะแตกแยกทางความคิดกันอย่างไร

เช่นเดียวกับที่ผมไม่สนใจว่า ประเทศจีนหลังเหมาเจ๋อตงตายวุ่นวายแค่ไหน จีนทำสงครามสั่งสอนเวียดนามมีความหมายอย่างไรต่อโลกสังคมนิยม สงครามเย็นระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตจะสิ้นสุดหรือไม่

เพราะสุดท้าย ความใฝ่ฝันของผม และผองเพื่อน และวีรชน 6 ตุลา คือ ทำอย่างไร ที่ทำให้เพื่อนร่วมสังคมอยู่ดีกินดี มีโอกาสในชีวิตเท่าเทียมกัน มีเสรีภาพในการแสดงความเห็น และเลือกผู้บริหารประเทศด้วยตัวของเราเอง

เมื่อผมจบการศึกษา ผมผ่านประสบการณ์หลากหลาย ออกไปเป็นแพทย์ชนบท กลับมาเป็นอาจารย์แพทย์ เป็นรัฐมนตรี เป็นผู้ต้องขังในเรือนจำ ชีวิตมีขึ้นมีลงหลายครั้ง สูงสุดคืนสู่สามัญ

แต่ผมไม่เคยลืมภาพจำของยามสายวันที่ 6 ตุลาคม 2519

ทุกครั้งที่ความทุกข์ ความเศร้า จะเข้ามาเกาะกุมจิตใจ ผมไม่เคยยอมแพ้
เพราะเมื่อผมนึกถึงผู้เสียชีวิตในวันที่ 6 ตุลา นึกถึงเพื่อนผู้ทิ้งชีวิตสบายๆในเมืองหลวงไปสู่ป่าเขา และบางคนไม่ได้กลับมา ผมจะลุกขึ้นแล้วบอกตนเองว่า “หยุดซึมเศร้า แล้วก้าวต่อไป”

แต่การก้าวต่อไปทุกครั้ง ผมก็บอกกับตนเองว่า อย่าไร้เดียงสา ต้องมีสติกำกับเสมอ และมีปัญญารู้เท่าทัน

ผ่านมาถึงวันนี้ หลังจากการก้าวเดินจากวันที่เปลี่ยนชีวิตผมมา 43 ปี ผมสรุปบทเรียนบอกกับตนเองไว้ดังนี้

1) ไม่มีใครอยากตาย แต่มีบางคนพร้อมเผชิญหน้ากับความตายเพื่อแลกกับอุดมการณ์ที่ตนใฝ่ฝัน

2) จงมีความสุขที่ได้ทำตามความฝัน
อย่ามีความสุขเพราะอยากให้ผู้คนยกย่องจดจำชื่อและตัวตนของเรา
คนอาจจำได้ในสิ่งที่เราทำ โดยไม่ใส่ใจเลยสักนิดว่าใครทำ
เพราะเมื่อมีเรื่องราวอีกมากมายในประเทศนี้ หรือโลกใบนี้ที่จดจำกันไม่หมด
และ อีก 100 ปี หรือ 1,000 ปีข้างหน้า ก็จะไม่มีใครจดจำรายละเอียดนี้ได้อีก

3) ฝันให้ยิ่งใหญ่ แต่เดินไปทีละก้าว
อย่าโบยตีตัวเองจนหม่นหมองในความทุกข์ ใช้ชีวิตแต่ละวันอย่างมีความสุข ทำตามความฝันไปเรื่อยๆไม่หยุด เหนื่อยก็พัก หายเหนื่อยก็ลุกขึ้นมาใหม่ ใครคิดเก่ง ก็ช่วยคิด ใครพูดเก่งก็ช่วยพูด ใครทำเก่งก็ช่วยทำ ใครถนัดนำก็นำไป ใครถนัดตามก็ตามสนับสนุน ใครมีแรงก็ช่วยแรง ใครมีเงินก็ช่วยเงิน ระหว่างเดินไปด้วยกัน บ่นกันบ้าง ก็ไม่เป็นไร ตำหนิกันบ้างก็อย่าถือสา หนทางยังอีกยาวไกล อย่างไรก็ต้องกุมมือกันไป กอดคอกันไป ไม่ชิงดีชิงเด่น ไม่ยึดติดในหัวโขน ไม่หลงใหลในอำนาจ ใช้ปัญญาในการออกแบบจำลองของความฝัน ทดลองทำ ใช้ไม่ได้ก็ปรับปรุงหรือเปลี่ยนใหม่

ถ้าบรรลุซึ่งความฝันในช่วงชีวิตของเราก็ดี ไม่สำเร็จก็ไม่เป็นไร คนรุ่นหลังเขาคงผลักดันความฝันของเขาเองต่อไป ถ้าคนรุ่นหลังไม่สำเร็จ คนรุ่นต่อไปก็จะมาทำต่ออีก สักวันหนึ่ง ฝันที่ยิ่งใหญ่ย่อมเป็นจริง ผมเชื่อเช่นนั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะมาตำหนิกันว่า ทำไมคนรุ่นคุณทำไม่สำเร็จ

4) คำถามว่า “โลกพระศรีอารย์ หรือ ยูโทเปีย เป็นอย่างไร และเป็นไปได้จริงหรือ” ไม่มีผลต่อความใฝ่ฝันของผม
นักวิชาการบางคนเคยบอกว่า ประวัติศาสตร์สิ้นสุดแล้ว เราได้การเมืองประชาธิปไตย เศรษฐกิจเสรี สังคมอุดมคติแล้ว
มาวันนี้ นักวิชาการบางคนกลับบอกว่า ประชาธิปไตยตายแล้ว เสรีนิยมล้มเหลว โลกกำลังเปลี่ยนแกนไปทางขวา
วิกฤตการณ์ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก กำลังท้าทายภูมิปัญญาดั้งเดิม และต้องการทฤษฎีแบบใหม่
หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ พลังงานสีเขียว และเทคโนโลยีอีกมากมายอาจเข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตของเรา

แต่ไม่ว่าความพลิกผันจะมีมากเพียงใด แต่เมื่อคิดย้อนไปที่จุดตั้งต้น
ความฝันของผมยังคงง่ายเหมือนเดิม คือ เพื่อนร่วมสังคมอยู่ดีกินดี มีโอกาสในชีวิตเท่าเทียมกัน มีเสรีภาพในการแสดงความเห็น และเลือกผู้บริหารประเทศด้วยตัวของเราเอง
ผมเปิดใจกว้างรับความรู้ใหม่ๆ ทฤษฎีใหม่ๆ ไม่จำกัดเฉพาะความรู้ดั้งเดิมของตนเอง

5) สรรพสิ่งล้วนเป็นอนิจจัง ต้องเปลี่ยนแปลง
เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องหนีไม่พ้น ไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้า
ณ จุดตัดของกาลเวลาหนึ่ง ที่ปัจจัยทุกอย่างพร้อม การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้น
ตัวอย่างเล็กๆแต่ยิ่งใหญ่ คือ ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ณ วันที่ 6 มกราคม 2544 ด้วยปัจจัย 5 ประการ ที่สั่งสมมาทีละเล็กละน้อยจนมาครบถ้วนในวันนั้น นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบบริการสาธารณสุขที่ทะเยอทะยานที่สุดครั้งหนึ่งของมนุษยชาติ

ประการแรก นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ศึกษาเรื่องหลักประกันสุขภาพ แล้วเริ่มช่วยสร้างระบบประกันสังคมด้านสุขภาพเมื่อ พ.ศ. 2535

ประการที่สอง รัฐธรรมนูญฉบับที่ประกาศใช้มาตั้งแต่ พ.ศ.2540 นำไปสู่ระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ที่ทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง รัฐบาลเข้มแข็ง

ประการที่สาม หัวหน้าพรรคไทยรักไทยที่ผิดหวังจากการปรับเปลี่ยนพรรคพลังธรรม จึงต้องการสร้างพรรคการเมืองแบบใหม่ที่เน้นนโยบาย และเขายังมีภาวะผู้นำที่สั่งสมมาจากประสบการณ์ทางธุรกิจ

ประการที่สี่ ระบบราชการในกระทรวงสาธารณสุขที่ปูรากฐานมาตลอด 3 ทศวรรษ บุคลากรส่วนใหญ่มีอุดมการณ์เพื่อผู้ป่วย และ ณ เวลานั้น มีปลัดกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องการเปลี่ยนระบบบริการสาธารณสุขครั้งใหญ่ให้สำเร็จก่อนตนเกษียณอายุ

ประการที่ห้า อาจารย์จอน อึ๊งภากรณ์ บุตรชายอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ สานต่อความฝัน “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ของบิดาด้วยการรวมพลังองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสาธารณสุขต่างๆ เพื่อรณรงค์เรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ทั้งห้าประการนี้ มาบรรจบตัดกันในวันที่ 6 มกราคม 2544 และ จุดชี้ขาดที่สำคัญคือ เสียงของประชาชนซึ่งมาลงคะแนนเลือกตั้งในระบบใหม่ตามรัฐธรรมนูญ 2540 ทำให้พรรคไทยรักไทยได้รับเลือกตั้งถึง 248 ที่นั่ง มากเป็นประวัติการณ์ครั้งแรกของการเมืองไทย และมีฉันทานุมัติเต็มเปี่ยมในการขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

จากวันนั้น วันที่ 6 มกราคม 2544 การสาธารณสุขไทย และการเมืองไทยก็เปลี่ยนไป ไม่กลับไปเหมือนเดิมได้อีก

ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนอนิจจัง การเปลี่ยนแปลงเป็นนิรันดร์
ดังนั้น ถ้าทุกคนทำในสิ่งที่ตนทำได้ ทำเรื่อยๆ ทำไม่หยุด ทำเสริมซึ่งกันและกัน
ณ จุดตัดของกาลเวลาหนึ่ง ความใฝ่ฝันย่อมเป็นจริง

6) สุภาษิตของทิเบตกล่าวว่า “พรุ่งนี้หรือชาติหน้า ไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะมาก่อน”
วันนี้เรายังลืมตาตื่น แต่พรุ่งนี้เราอาจหลับไปตลอดกาล
วันนี้จีงควรอยู่อย่างมีสติ อยู่อย่างราวกับว่า วันนี้เป็นวันสุดท้ายของชีวิต
ไม่มีอะไรติดค้างใคร ไม่มีอะไรติดค้างในใจ
เพื่อวินาทีที่เราจะจากไป เราบอกกับตัวเองได้ว่า
ฉันได้ใช้ชีวิตอย่างที่ฉันฝันแล้ว

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

เลขาฯ ศาลยุติธรรมเยี่ยม 'ผู้พิพากษาคณากร' เผยอาการปลอดภัยแล้ว

$
0
0

เลขาธิการศาลยุติธรรม เผยอาการ 'ผู้พิพากษาคณากร' ปลอดภัยแล้ว ยังไม่ถามข้อเท็จจริงต้องรอสภาพพร้อม เตรียมรายงานปัญหาที่เกิดขึ้นในการประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม 7 ต.ค. นี้ แพทย์แถลงอาการพบใช้อาวุธปืนกระสุนจริงยิงทะลุอกซ้าย ม้ามฉีก แต่ไม่ต้องผ่าตัด คาดรักษาตัวประมาณ 1 สัปดาห์ เตรียมให้จิตแพทย์ฟื้นฟูสภาพจิตใจ

นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการศาลยุติธรรม ได้เดินทางมาเยี่ยมอาการ นายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2562 (ที่มาภาพ: ไทยโพสต์)

6 ต.ค. 2562 นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา ได้มอบหมายให้นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เดินทางไปเยี่ยมนายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลา ซึ่งพักรักษาที่โรงพยาบาลยะลา โดยล่าสุดนายคณากร ได้ออกจากห้อง ICU มาพักรักษาตัวอยู่ที่ห้องพักผู้ป่วยปกติแล้ว

โดยนายสราวุธระบุว่าทั้งนี้ขอเรียนว่าศาลยุติธรรมทำหน้าที่ด้วยความเป็นธรรมอิสระ ทุกศาลในประเทศไทยอยู่ภายใต้การดูแลของประธานศาลฎีกา ให้คำแนะนำได้ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ และพระธรรมนูญศาลยุติธรรม สำหรับกรณีนายคณากร ใช้อาวุธปืนยิงตัวเองในห้องพิจารณาคดี สำนักงานศาลยุติธรรม จะตรวจสอบข้อเท็จจริง สาเหตุของปัญหา และแนวทางแก้ไขต่อไป ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมหรือ ก.ต. ในวันพรุ่งนี้ (7 ต.ค.) ตนจะรายงานปัญหาที่เกิดขึ้นต่อที่ประชุม

"ส่วนอาการของผู้พิพากษา คณากร ดีขึ้น อยู่ในขั้นปลอดภัยแล้ว ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแจ้งว่า ได้ย้ายจากห้องไอซียู มาที่ห้องพิเศษ แต่ไม่ทราบจะพักรักษานานเท่าไร" นายสราวุธกล่าว และระบุอีกว่าโดยในวันนี้ตนไม่ได้พูดรายละเอียดเรื่องข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น วันนี้เพียงต้องการมาเยี่ยมให้กำลังใจท่านให้ปลอดภัย ไม่ได้สอบถามเรื่องที่เกิดขึ้น เนื่องจากเข้าใจสภาพท่านไม่พร้อมที่จะพูดเรื่องที่เกิดขึ้น

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีการวิจารณ์การแทรกแซงการทำหน้าที่ของศาลยุติธรรม นายสราวุธ กล่าวว่าเราเสียใจสำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เรียนพี่น้องประชาชนให้มั่นใจ เราเคารพรูปแบบของการพิพากษาของคณะผู้พิพากษา เรื่องการแทรกแซงเราระมัดระวังไม่ให้เกิดอยู่แล้ว และการทำงานของผู้พิพากษา เขียนไว้ในกฎหมายนอกจากพระธรรมนูญ วิธีพิจารณาความอาญา ก็มีชัดเจนในมาตรา 183 กรณีถ้าผู้พิพากษามีความเห็นต่างกัน สามารถทำความเห็นแย้งได้ ซึ่งการทำความเห็นแย้งต้องทำเป็นหนังสือ และในมาตรา 184 คดีอาญา ผู้พิพากษาสามารถปรึกษาหารือกัน

'มูลนิธิผสานวัฒนธรรม' ขอให้ย้ายบุคลากรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคำแถลงของ 'ผู้พิพากษาคณากร'
แพทย์ย้าย 'ผู้พิพากษาคณากร' ออกจากห้องไอซียูไปอยู่ห้องพิเศษแล้ว
สมาคมพิทักษ์ รธน. เรียกร้องให้ศาลยุติธรรมคลี่ปมเบื้องหลังกรณีผู้พิพากษายิงตัวเอง
คดีที่ผู้พิพากษายะลายิงตัวเอง พบ 'ศรีวราห์' เคยลงไปแถลงจับกุมปี 61 - กอ.รมน.ยันไม่เคยแทรกแซง
เปิดคำแถลงของผู้พิพากษา จ.ยะลา ก่อนก่อเหตุยิงตัวเอง ขออย่าแทรกแซงและความเป็นธรรมทางการเงิน
ศาลยะลา : 'ผู้พิพากษา' ยิงตัวเองสาหัส หลังลงจากบัลลังก์ พิจารณาคดี

ถ้ามีความเห็นต่างกันในคดีอาญา คนที่เห็นเป็นผลร้ายกับจำเลยมากกว่า ต้องยอมตามความเห็นของผู้พิพากษาที่เห็นเป็นผลร้ายน้อยกว่า เช่น ถ้ายกฟ้องมากกว่าลงโทษ ต้องเห็นชอบยกฟ้อง จึงเห็นชัดว่าการพิจารณาความคดีอาญา หลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดชัดเจน ประชาชนต้องได้รับความยุติธรรม ขณะเดียวกัน มั่นใจได้ว่า ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมปฏิบัติหน้าที่ด้วยความอิสระ ปราศจากการแทรกแซง นอกจากนี้จะเห็นได้ว่าคดีที่เกิดขึ้นใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คดีเกี่ยวกับความมั่นคงก็ดี มีสัดส่วนของคดีที่ศาลพิพากษาลงโทษกับยกฟ้อง ไม่ได้ลงโทษ 100 เปอร์เซ็นต์ จำนวนเกือบครึ่งหนึ่งยกฟ้อง

นอกจากนี้ นายสราวุธยังระบุว่าเราก็ไม่ได้มีปัญหากับฝ่ายบริหาร ซึ่งฝ่ายบริหารต้องไปทบทวนว่ารูปแบบในการรวบรวมพยานหลักฐานมีจุดบอดตรงไหนบ้าง ศาลมีหน้าที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนทุกคน มีคดีที่เข้าสู่ศาลได้รับความคุ้มครองจากองค์คณะผู้พิพากษา "ผมข้อย้ำว่าศาลมีความเป็นกลางและมีความเป็นอิสระที่แท้จริง" นายสราวุธ กล่าวย้ำ

เมื่อถามต่อว่ากรณีมีการเรียกร้องให้ตรวจสอบคดีย้อนหลังในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นายสราวุธ กล่าวว่า เราดูข้อมูลทั้งหมด คดีที่เกี่ยวกับความมั่นคง หรือพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีระบบตรวจสอบตลอดเวลา ท่านทราบไหม ปัจจุบันศาลยุติธรรมมีการพิจารณาคดีทั่วประเทศกว่าสองล้านคดี คดีจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเพียงส่วนหนึ่ง นโยบายประธานศาลฎีกา ให้พิจารณาคดีอย่างรวดเร็ว ในศาลฎีกา ไม่เกิน 1 ปี ศาลชั้นต้นไม่เกิน 6 เดือน การทำงานของศาลให้เกิดประสิทธิภาพ รอบคอบ รวดเร็วด้วย

นอกจากนี้ผู้สื่อข่าวถามอีกว่ากรณีนี้มีการพาดพิงไปยังอธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 ท่านได้สอบถามข้อเท็จจริงแล้วหรือไม่ นายสราวุธ กล่าวว่าได้สอบถามข้อมูลจากทุกฝ่าย สำนักงานศาลได้ฟังข้อมูลทุกรูปแบบ ส่วนการพกอาวุธปืนและไลฟ์สดจะตรวจสอบวินัยหรือไม่ นายสราวุธเปิดเผยว่าสำนักงานศาลจะรวบรวมข้อมูลรายงานต่อคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมพิจารณาในวันพรุ่งนี้ พร้อมยืนยันจะทำงานอย่างโปร่งใส

แพทย์แถลงอาการพบใช้อาวุธปืนกระสุนจริงยิงทะลุอกซ้าย ม้ามฉีก แต่ไม่ต้องผ่าตัด คาดรักษาตัวประมาณ 1 สัปดาห์ เตรียมให้จิตแพทย์ฟื้นฟูสภาพจิตใจ

นายแพทย์บรรยง เหล่าเจริญสุข ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยะลา นายแพทย์สมชาย ไวกิตติพงษ์ ศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก ได้ร่วมกันแถลงข่าวอาการของ นายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดยะลา ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุใช้อาวุธปืนยิงตัวเองจนได้รับบาดเจ็บ เมื่อวันที่ 4 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยนายแพทย์บรรยง เปิดเผยว่า สำหรับอาการของผู้ป่วยตอนมาที่โรงพยาบาลพบรอยรูกระสุนที่บริเวณทรวงอกด้านซ้ายทะลุหลังซ้าย เมื่อมาถึงห้องฉุกเฉินคนไข้ก็มีสัญญานชีพปกติ หายใจปกติ มีอาการเจ็บบริเวณชายโครงซ้าย แพทย์ที่ตรวจดูในห้องฉุกเฉินขณะนั้นประเมิณว่า กระสุนน่าจะโดนบริเวณชายปอดซ้าย และบริเวณม้าม จากนั้นได้ทำการเอกซเรย์ทรวงอกพบว่าไม่มีลมรั่วในช่องปอด หรือเลือดออกในช่องปอดด้านซ้าย แต่เนื่องจากว่าคนไข้มีอาการปวดในช่องท้องช่วงบน จึงคาดว่าน่าจะบาดเจ็บบริเวณม้าม จึงได้ทำการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ จึงพบว่าบริเวณม้ามมีรอยฉีกขาด ทำให้มีเลือดออกบริเวณช่องท้อง แต่ในปริมาณไม่มาก ซึ่งแพทย์ที่ดูแลอาการวินิจฉัยว่าอาการเช่นนี้ยังไม่จำเป็นที่จะต้องผ่าตัดจึงให้รักษาตัวตามอาการที่ตึกไอซียู และให้ยาที่ช่วยในเรื่องหยุดเลือดของม้ามได้ จากนั้นก็ให้อยู่ในห้องไอซียู 1 วัน ติดตามสัญญานชีพ เฝ้าระวังเลือดออกในช่องท้อง ป้องกันการช็อคจากการเสียเลือด แต่จากการเฝ้าดูอาการ 1 วันพบว่า สัญญานชีพปกติ จึงให้เฝ้าดูอาการต่อโดยไม่ต้องตัดม้าม จากนั้นก็ได้ย้ายผู้ป่วยไปพักรักษาตัวที่ห้องพิเศษ และเฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิด  

ล่าสุดเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาคนไข้ก็มีอารมณ์แจ่มใส ยิ้มแย้มแจ่มใส อาการทางทรวงอกก็ไม่มีอะไร ช่องท้องมีอาการปวดแผลที่ถูกยิง และได้เอกซเรย์ซ้ำอีกครั้งที่ช่องปอดก็พบว่าไม่มีอะไร สรุปปัญหาในตอนนี้คือม้ามที่ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งคาดว่าไม่น่าจะต้องผ่าตัด แต่ก็ต้องดูอาการไปอีกสักระยะให้แน่ใจว่าไม่มีเลือดออกแล้ว จากนี้ก็คงจะเหลือการดูแลทางด้านจิตใจที่จะให้แพทย์ทางด้านจิตเวช และทีมแพทย์มาพูดคุยกับคนไข้ ซึ่งภาพรวมขณะนี้ท่านปลอดภัยแล้ว แต่ต้องการให้พักผ่อนมากที่สุด จึงได้มีการสั่งห้ามเยี่ยมสำหรับผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเพื่อไม่ให้รบกวนผู้ป่วย

“นอกจากม้ามแล้วก็ไม่พบการบาดเจ็บที่อวัยวะอื่นภายใน แต่ก็จะต้องดูอาการอีกระยะ เช่นอาจจะมีอาการปวดท้องเพิ่มมากขึ้นก็จะต้องนำไปเอกซเรย์ช่องท้องอีกครั้ง เพราะบางรายในระยะแรกจะมองไม่เห็น ผู้ป่วยน่าจะต้องพักรักษาตัวไม่ต่ำกว่า 1 สัปดาห์ ต้องการให้ท่านหายปกติ ส่วนอาการเครียดของผู้ป่วยเท่าที่ได้พูดคุยก็ไม่น่าจะมีความเครียดอะไร ส่วนรายละเอียดลึกๆ ก็คงจะต้องให้จิตแพทย์มาประเมินอีกครั้งในวันจันทร์หรืออังคารที่จะถึงนี้ ส่วนกระสุนที่พบก็น่าจะเป็นกระสุนขนาด 9 มม. และเป็นกระสุนจริง บาดแผลมีรูเข้าและรูออก ไม่มีเศษกระสุนภายใน ซึ่งโดยหลักการแพทย์แล้ว อาการเช่นนี้ถือว่าสาหัส” นายแพทย์บรรยง กล่าว

ด้าน นายแพทย์สมชาย ไวกิตติพงษ์ ศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก โรงพยาบาลยะลา เปิดเผยว่าสำหรับอาการคนไข้ในขณะนี้ถือว่าปลอดภัยแล้ว พ้นระยะวิกฤติแล้ว อย่างที่ท่านผู้อำนวยการแจ้งคือจะต้องรอเยียวยาทางด้านจิตใจ และทางด้านร่างกายก็ถือว่าพ้นระยะวิกฤติไปแล้ว ไม่มีอะไรที่น่าห่วง

ที่มาเรียบเรียงจาก: ผู้จัดการออนไลน์ | ไทยรัฐออนไลน์ | เว็บไซต์ไทยโพสต์ | เดลินิวส์ออนไลน์

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

วงเสวนามองบทเรียน 6 ตุลา ความรุนแรง ไม่เป็นธรรมยังคงอยู่ในหลายมิติ

$
0
0

วงเสวนามอง 6 ตุลา 2519 กับความรุนแรงในการเมืองร่วมสมัย ยังพบจุดร่วมเยอะ การไล่ล่ายังมีอยู่ รัฐไทยไม่อนุญาตให้คนวาดฝันทางการเมือง ชีวิต มุมมองจากชายแดนใต้ที่ความเป็นธรรมถูกบี้บิดและมองข้าม 43 ปี ความรุนแรงเปลี่ยนรูป แต่ยังเป็นเรื่องชนชั้นนำที่ดื้อดึงตั้งแต่การไม่นำคนผิดมาลงโทษ-เปลี่ยนโครงสร้างการเมือง มอง 6 ตุลาผ่านภาพถ่าย สื่อสายตาที่ซื่อสัตย์แต่บิดเบือนได้

ซ้ายไปขวา: ธนาวิ โชติประดิษฐ์ นวลน้อย ธรรมเสถียร พูนสุข พูนสุขเจริญ เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว ภาสกร อินทุมาร

6 ต.ค. 2562 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ มีงานเสวนา “ถึงงิกฤตการเมืองร่วมสมัย: สี่ทศวรรษแห่งความสูญเปล่า เรายังคงฆ่ากัน” มีนวลน้อย ธรรมเสถียร ผู้สื่อข่าวอาวุโส เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว  อาจารย์จากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ธนาวิ โชติประดิษฐ์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และพูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เป็นผู้ร่วมเสวนา ดำเนินการเสวนาโดยภาสกร อินทุมาร อาจารย์สาขาการละคอน คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

อนุสรณ์ อุณโณคณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ. ขึ้นมากล่าวเปิดว่า ความโดดเด่นของ 6 ตุลา 19 คือความโหดเหี้ยมอำมหิตต่อคนที่มีความคิดต่างทางการเมืองไม่มีทางสู้ ยังไม่ต้องพูดถึงการนำคนผิดมาลงโทษด้วยซ้ำ เพราะคนตายกี่คนก็ยังไม่แน่ชัด วัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดมีจนถึงทุกวันนี้และในวันนี้ดูจะรุนแรงกว่าเก่าด้วยซ้ำ คนเห็นต่างทางการเมืองกว่าทศวรรษเศษที่ผ่านมา นอกจากจะถูกไล่ล่าในลักษณะต่างๆ จำนวนหนึ่งต้องลี้ภัยในต่างประเทศ การเอาตัวให้รอดในประเทศที่ลี้ภัยอยู่ก็ต้องคิดหนัก ต้องประสานองค์กรระหว่างประเทศ พัฒนาเอกชนระหว่างประเทศต่างๆ อนาคตอันใกล้นี้ยังไม่เห็นโอกาสในการได้กลับมา คำว่า เรายังคงฆ่ากัน บางคนบอกว่าเรายังคงถูกฆ่า เพราะเราไม่ได้ไปฆ่าใคร อยากให้วิเคราะห์ปัญหาว่าคืออะไร ทำอย่างไรให้สังคมไทยโอบรับความแตกต่างทางความคิด โดยเฉพาะจินตนาการทางการเมืองที่ไม่เหมือนกันอย่างที่สังคมอารยะและเป็นประชาธิปไตยควรเป็น

มองการไล่ล่าที่ยังมีอยู่ผ่านผู้ลี้ภัย เมื่อรัฐไทยไม่อนุญาตให้คนวาดฝันทางการเมือง

เบญจรัตน์กล่าวว่า ผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่หนีไปหลังรัฐประหาร 2557 ก่อนหน้านี้มีจำนวนไม่กี่คนที่หนีไปหลัง พ.ค. 2553 ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน เพราะการจะไปประเทศที่ 3 ได้สถานะผู้ลี้ภัยเป็นเรื่องยากและต้องใช้เวลา อยากพูดเรื่องการคุกคามชลิตา บัณฑุวงศ์ จากที่พูด 20 นาที มีประโยคเดียวที่พูดว่าการแก้ปัญหาต้องมีพื้นที่พูดคุยเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ อาจจะรวมถึงมาตรา 1 เรื่องรูปแบบของรัฐด้วย เรื่องนี้ทำให้ชลิตาถูกขู่ฆ่า ถูกแจ้งความ

ถอดคำ ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์ ในเวทีเสวนา 7 พรรคฝ่ายค้านสัญจรภาคใต้

อะไรทำให้สังคมไทยอ่อนไหวกับข้อเสนอนั้นได้ขนาดนั้น กรณีชลิตาไม่ได้ต่างจากสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ลี้ภัยในต่างประเทศ ความคิดแบบไหนที่ทำให้เขาตาย ไม่ต่างกันเลยตั้งแต่ 6 ตุลา พค 53 แล้ะดวยการเชียร์ของสังคมไทยจำนวนหนึ่งที่ออกมาบิ๊กคลีนนิ่งแล้วก็จบกันไป

เบญจรัตน์เล่าเรื่องราว 8 ผู้ลี้ภัยที่หายตัวไป เริ่มจากอิทธิพล สุขแป้น หรือดีเจซุนโฮ วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือโกตี๋ ชูชีพ ชีวะสุทธิ หรือลุงสนามหลวง สยาม ธีรวุฒิ หรือสหายข้าวเหนียวมะม่วง กฤษณะ ทัพไทย หรือสหายยังบลัด สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือสุรชัย แซ่ด่าน ชัชชาญ บุปผาวัลย์ หรือสหายภูชนะ  ไกรเดช ลือเลิศหรือสหายกาสะลอง รวมทั้งการข่มขู่ฆ่ากลุ่มไฟเย็น วงดนตรีที่ลี้ภัยในลาว ก่อนจะได้ลี้ภัยไปที่ฝรั่งเศส นอกจากนั้นยังมีคนเสื้อแดงที่ลี้ภัยในลาว และหยุดเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่ก็ยังโดนชายฉกรรจ์ไปขู่ว่าจะกลับไทยไปมอบตัวหรือถูกฆ่า และยังนำเสนอโพสท์ของหมอเหรียญทองที่บอกว่าพร้อมจ่ายเงินให้คนที่ฆ่าผู้ลี้ภัยเหล่านั้น

น้ำดื่มขวดนี้ไม่มีขาย ผู้สูญหาย(ที่ขัดแย้งกับรัฐ)ก็ยังหาไม่เจอ

รู้จัก ‘ลุงสนามหลวง’ ชูชีพ ชีวสุทธิ์ – เส้นทางวิทยุใต้ดิน - กลุ่มเหยื่อสหพันธรัฐไท

ผล DNA ยืนยัน ศพลอยแม่น้ำโขงเป็นคนสนิท อ.สุรชัย

เผยสมาชิก 'วงไฟเย็น' ได้รับการช่วยเหลือให้ออกมาจากประเทศลาวแล้ว

เบญจรัตน์เล่าต่อไปว่า สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่าความคิดแบบไหนที่ทำให้คนตายหรือคนหาย นอกจากรัฐก็ยังมีคนที่ต้องการจัดการความคิดเหล่านี้ด้วยความรุนแรง สังคมไทยไม่ยอมเปิดให้การถกเถียงหน้าตาของรัฐไทยเลย เราไม่สามารถจินตนาการถึงความเป็นชาติแบบอื่นได้ เมื่อใดที่มีการจินตนาการและนำเสนอก็ถูกไล่ล่า ถูกสังหาร ยิ่งลี้ภัยแล้วมีอิสระในการพูดก็วิจารณ์กลับในทางที่แรงขึ้นเรื่อยๆ เพราะถูกกระทำมา ในวันนี้เห็นแล้วว่าการฆ่าคนคิดต่างไม่ได้เป็นการฆ่าความคิดนั้น ในช่วงที่มีการขู่ฆ่าในลาวนั้นมีบรรยากาศความกลัว พวกเขาไม่ออกจากบ้าน ผลัดกันเป็นเวรยาม อาจมีออกไปกินข้าวนิดหน่อย หรือไม่ก็ให้คนซื้อข้าวมาให้ แต่พวกเขาไม่เคยหยุดพูด ยิ่งถูกทำให้อับจนหมดหนทาง พวกเขายิ่งพูด

เราไม่เคยเรียนรู้อย่างจริงจังว่าเกิดอะไรขึ้นใน 6 ตุลา คนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งไม่รู้ นักศึกษาหลายคนที่สอนก็ไม่รู้แล้ว สังคมไทยแทบไม่ถกกันอย่างจริงจังว่าเกิดอะไรขึ้น กรณี พ.ค. 2553 สะท้อนว่าไม่มีกระบวนการเช่นนั้น ในช่วง 6 ตุลา นักศึกษาถูกฆ่าเพราะถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์เช่นเดียวกันกับที่อื่นในภูมิภาค เวลาผ่านไป ไม่มีคอมมิวนิสต์ที่เข้มแข็ง แต่ก็มีการสร้างผีตัวใหม่ๆ ใครที่วิจารณ์ หรือบอกว่าต้องมีการแก้ไขมาตรา 112 กลายเป็นศัตรูของรัฐ บรรยากาศความขัดแย้งทางการเมืองจากการสร้างรัฐไทย ชาติไทยแบบเดียวที่เข้มข้นนำไปสู่ความรุนแรงต่อผู้เห็นต่างเรื่อยๆ ช่วงก่อนปี 2540 เรารู้สึกว่ามีความเคลื่อนไหวที่เป็นประชาธิปไตยเยอะ แต่ก็ยังไม่ได้ทบทวนเรื่องความเป็นชาติ ความเป้นรัฐไทยในทางวิธีคิดและวัฒนธรรม

บทสะท้อนจากชายแดนใต้: ชีวิต มุมมองในระบบบิดเบี้ยวและไม่เป็นธรรมที่ยาวนาน

นวลน้อยกล่าวว่า พื้นที่ 3 จ.ชายแดนใต้ เป็นตัวอย่างความรุนแรงที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก ความรุนแรง หนึ่งทำให้เกิดความรุนแรงอีกอัน ความพยายามในการระงับความรุนแรงยังไม่ถึงไหน ความพยายามที่ผ่านมาก็บ่งบอกทัศนะของการแก้ปัญหาที่ผูกโยงอยู่กับความเป็นประชาธิปไตยและเผด็จการอย่างชัดเจนมาก ช่วง 15 ปีที่ผ่านมามีมากกว่า 1 หมื่นเหตุการณ์ทั้งใหญ่และเล็ก มีทั้งความตาย การซ้อมทรมาน ความตายที่พิสดารในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ เช่น ความตายของอับดุลเลาะห์ อีซอมูซอ

'อับดุลเลาะ อีซอมูซอ' เสียชีวิตแล้ว หลังจากพักรักษาตัวจากอาการช็อกหมดสติในค่ายทหาร รวมเวลา 35 วัน

นวลน้อยเล่าว่า เหตุการณ์ต่างๆ ใน 3 จ.ชายแดนใต้ไม่ได้เกิดขึ้นมาโดดๆ แต่เกิดขึ้นท่ามกลางบริบทปัญหาสังคมไทยทั้งสิ้น ย้อนไปเมื่อปี 2518 หลัง 14 ตุลา 2516 เป็นช่วงที่การเมืองไทยกำลังไล่ล่าคอมมิวนิสต์ มีพระสงฆ์ท่านหนึ่งที่บอกว่าฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป การปราบปรามในนามการจัดการคอมมิวนิสต์เกิดขึ้นทั่วประเทศ ในพื้นที่ 3 จ. ภาคใต้ก็เกิดขึ้นเช่นกัน มีทั้งการฆ่า การปราบและการปรามที่เราไม่ได้รับรู้มาก่อน ในช่วงหลัง 14 ตุลา นักศึกษาได้ช่วยทำให้เรื่องเหล่านี้เป็นที่ได้ยินมากขึ้น มีกระแสการรื้อฟื้นเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดก่อนหน้านั้น

ในวันที่ 29 พ.ย. 2518 มีชาวบ้าน 6 คนถูกเจ้าหน้าที่สกัดแล้วนำตัวเข้าไปในค่าย จากนั้นนำตัวมาขึ้นรมยีเอ็มซี ระหว่างทางถูกรุมทำร้ายจนตายแล้วเอาศพไปทิ้งที่สะพานกอตอ คนในภาคใต้เรียกว่าเหตุการณ์สะพานกอตอ แต่มีคนหนึ่งที่อายุ 14 ปี รอดชีวิตมาชื่อซือเม บราเซะ เขาว่ายน้ำไปขอความช่วยเหลือจากชาวบ้าน แต่ชาวบ้านไม่ได้ให้ความช่วยเหลือเพราะว่าเป็นช่วงมืดและซือเมก็เลือดโซมตัว มีบางคนปามีดใส่ด้วยซ้ำ สะท้อนว่ามีภาวะความไม่ไว้วางใจว่ามีมานานแล้ว

ต่อมาซือเม บราเซะ ผู้เป็นพยานเหตุการณ์สะพานกอตอ ถูกคนที่ต้องการเรียกร้องความเป็นธรรมนำตัวเขามาขึ้นเวทีที่สนามหลวงที่จัดโดยกลุ่มนักศึกษา เขาก็มาเล่าเรื่องเหตุการณ์สะพานกอตอ สาเหตุจะมาจากอะไรก็ตามแต่ แต่การมีคนที่รอดชีวิต เล่าเหตุการณ์ที่สดใหม่ ตอกย้ำว่ามีบาดแผลแบบนี้เกิดขึ้นมากแล้ว เหมือนเป็นฟางเส้นสุดท้าย มีนักศึกษามุสลิมในช่วงนั้นที่ได้จัดการชุมนุมขึ้นที่ จ.ปัตตานีโดยมีคนในพื้นที่สนับสนุน ชุมนุมได้ 3 วันก็มีระเบิดลง ตายไป 12 คน เจ็บอีกหลายสิบ จากนั้นมีการเอาศพออกมาแห่แล้วย้ายการชุมนุมจากศาลากลางไปยังมัสยิดกลาง ยิ่งมีคนตายเพิ่ม คนไปชุมนุมก็ยิ่งเพิ่มขึ้น หลายคนประเมินว่าเป็นหมื่นคนถึงแสนคน คนชุมนุมมีทุกสาขาวิชาชีพ มีทุกวัย ช่วงปลายปีถึงต้นปีจะเป็นช่วงที่ฝนถล่มมากในพื้นที่ชายแดนใต้ แต่คนก็ไปชุมนุมทั้งกลางวันและกลางคืนอย่างไม่ย่อท้อ เนื่องจากมีระเบิด ก็มีการจัดตั้งในกลุ่มประชาชนที่ไป ทุกคนก็คงพยายามเตรียมตัวรับเหตุร้าย มีการระดมการ์ดในหมู่คนไปชุมนุมด้วยกัน การชุมนุมหนนั้นยาวนาน 45 วัน ถือว่ายาวนานที่สุดในพื้นที่ 3 จ.ชายแดนใต้

มีรายละเอียดในการชุมนุมมากมาย เช่น มีนายทหารคนหนึ่งขับทหารเข้าไปในฝูงชนแล้วโดนรุมประชาฑัณฑ์จนตายไป ทำให้เหตุการณ์ระอุมาก มีทหารเอารถยีเอ็มซีเคลื่อนตัวมาจากค่ายทหาร เป็นการชุมนุมที่เครียดมากและคนก็ยืนหยัดมาก มีคนเล่าว่าช่วงกลางคืน ฝนตกหนักและมืด ถ้าฉายไฟไปจะพบว่าผู้ชุมนุมถือไม้ยาวกันทุกคน แม้ว่าการชุมนุมจะเป็นการแสดงออกอย่างสันติวิธี แต่พวกเขาก็กังวลว่าความรุนแรงอาจจะเกิดขึ้นกับเขาได้ตลอดเวลา รัฐบาลยุคนั้นคือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ก็ไม่ได้อาศัยจังหวะแก้ปัญหาในวิถีทางการเมือง คนเรียกร้อว่าคุยกับตัวแทนนายกฯ ไม่ได้ผลอะไร อยากคุยกับนายกฯ มากกว่า แต่นายกฯ ก็ไม่ลงไป แถมให้สัมภาษณ์ว่าไปงานฝังลูกนิมิตรยังดีเสียกว่า ก็ยิ่งกระพือความไม่พอใจกับผู้ชุมนุม

ข้อเสนอรัฐบาลที่จะทำอะไรให้ดีขึ้น ในเวลาต่อมาก็ไม่ได้เกิดขึ้น วิธีแก้ปัญหาเหตุการณ์สะพานกอตอก็พยายามแก้ปัญหาด้วยการให้เงินเยียวยาครอบครัวซือเม บราเซะ ครอบครัวถูกเสนอให้รับเงิน 5 หมื่นบาท แต่ครอบครัวนั้นมีคนตายในเหตุการณ์ถึง 3 คน ก็ได้รับคำตอบว่าไม่ต้องการเงิน แต่ต้องการความยุติธรรม ความเป็นธรรม

นวลน้อยยังเล่าเรื่องของเหตุการณ์ตากใบว่า เธอเคยจัดอบรมสื่อแล้วมีหลายคนอยากทำเรื่องตากใบ แต่พอมีคนไปถ่ายทำใกล้ๆ สถานีตำรวจตากใบซึ่งเป็นที่เกิดเหตุ ก็มีเสียงย้อนกลับมาว่าทำไมถึงอยากรื้อฟื้นเรื่องเก่า แต่เรื่องเก่านั้นมันไม่ได้ปิดในแบบที่ควรจะเป็น เรารู้กันว่าเหตุการณ์ตากใบมีคนตาย 85 คน ตายบนรถเพราะถูกทำให้นอนทับซ้อนกันระหว่างการขนส่ง 78 คน กระบวนการยุติธรรมที่ควรเป็นเครื่องมือเยียวยาความรุนแรง แต่กระบวนการเริ่มต้นที่เป็นการไต่สวนการตายในชั้นศาลกลับไม่มีเลย กรณีตากใบ ศาลจังหวัดสงขลาบอกว่า สาเหตุของการเสียชีวิตมาจากการขาดอากาศหายใจ กลายเป็นเรื่องล้อเลียนกันในพื้นที่ว่าอากาศเป็นตัวผิด คณะกรรมการสมานฉันท์แห่งชาติสนับสนุนให้มีการทำรายงานตรวจสอบข้อเท็จจริง ผลการทำรายงานนำมาสู่การโยกย้ายเจ้าหน้าที่ทหาร 2-3 ท่าน ชาวบ้านบอกประชาชน 85 คนตาย แต่ว่าไม่มีการดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ แต่ผู้ชุมนุม 58 คนกลับถูกดำเนินคดี

14 ปี ตากใบ 'ประชาชาติ' หวังการพูดถึงนำมาซึ่งการรื้อฟื้นก้าวพ้นวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด

มีกระบวนการไกล่เกลี่ยที่นำมาสู่การเยียวยาในทางตัวเองอีกแล้ว แต่ว่ามีการถอนฟ้องพร้อมทำบันทึกข้อตกลงว่าประชาชนจะไม่ฟ้องเจ้าหน้าที่กลับ ประเด็นนี้เป็นน้ำที่ขุ่นคลั่กในพื้นที่นานมาก ก็มีความพยายามเดินเรื่อง สะสางข้อเท็จจริงว่าฟ้องได้หรือไม่ได้ จนกระทั่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ตกลงว่าจริงๆ แล้วพวกคุณยังฟ้องได้ แต่พอถึงเวลาที่จะเอาเข้าจริง เชื่อว่ามีการประชุมระหว่างชาวบ้านพร้อมกับ กสม. ในชุดนั้นหลายครั้ง ท้ายที่สุดไม่มีการฟ้อง คนในพื้นที่อยู่กับความรุนแรงนานมาก อยู่กับการที่คนกระทำผิดไม่มีอะไรเกิดขึ้นกับเขาเหล่านั้น สิ่งเหล่านี้ตกผลึกใน DNA ของพวกเขาว่าจะเอาชีวิตรอดอย่างไรในพื้นที่แบบนี้ที่ละครเรื่องนี้ไม่จบ และคุณก็อยู่ในนั้นด้วย ก็กลายเป็นรู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง มุสลิมก็ใช้ศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว

เคยทำสารคดีเรื่องคนๆ หนึ่งที่ถูกล้อมจับพร้อมกับคนอื่นๆ รวม 10 คน เขาถูกซ้อมหนักจนร่อแร่ก่อนนำตัวไปที่สถานีตำรวจและค่ายทหารแต่ไม่ได้รับการเยียวยารักษา อีกวันหนึ่งมีคนที่บาดเจ็บสาหัสไปปรากฏตัวที่โรงพยาบาล แล้วไม่รู้ว่าเป็นใคร ที่ไหน อยู่ๆ ก็ไปนอนที่นั่น โรงพยาบาลปัตตานีก็รักษาและส่งตัวให้โรงพยาบาลยะลาที่มีเครื่องมือครบกว่า แต่ก็เสียชีวิตที่นั่นและถูกลงชื่อว่าเป็นศพนิรนาม แต่บังเอิญว่ามีคนที่คุ้นหน้า เลยลองแจ้งข่าวให้พ่อแม่ทราบ ปรากฏว่าศพนั้นชื่ออัสฮารี สะมะแอ จากศพนิรนามก็กลายเป็นคนที่มีชื่อขึ้นมา ครอบครัวอัสฮารีใช้เวลาในการต่อสู้ 5 ปี ในที่สุดนำมาซึ่งการทำงานร่วมกันหลายองค์กร จนได้คำสั่งศาลว่าความตายของอัสฮารีเกิดจากการซ้อมทรมาน

การตายแบบนี้เกิดขึ้นเยอะ แต่ว่าคำอธิบายก็จะจบลงอย่างที่นายกฯ ประยุทธ์ในสภาที่บอกว่าลื่นล้มในห้องน้ำ แล้วก็มาบอกว่าโดนซ้อม (กรณีอับดุลเลาะห์ อีซอมูซอ) ก็ไม่ต่างจากสิ่งที่คึกฤทธิ์พูดตอนนั้นที่ยิ่งทำให้ทุกอย่างกระพือโหมความรุนแรงมากขึ้น ความรู้สึกเจ็บปวดของคนที่ฟังนั้นรุนแรง เคยถามแม่ของอัสฮารีว่าไม่คิดจะเดินเรื่องในทางอาญาเหรอ แม่บอกว่าแค่นี้พอแล้ว เพราะในช่วงเวลา 5 ปี จากคนที่พูดไทยไม่ค่อยได้ ก็ต้องหัดใช้ภาษาไทย จากคนที่อยู่แต่ในหมู่บ้าน ต้องหัดขับรถเพื่อตามเรื่องตัวเอง เดินทางไปทั่วเพื่อขอความเป็นธรรม ต้องใช้ความพยายามเยอะมากในการให้ได้รับการเยียวยา เขาก็บอกว่าพอแล้ว เรื่องที่เหลือก็เป็นเรื่องของพระเจ้า

ความรุนแรงเป็นบ่อเกิดของความรุนแรง ไม่ปฏิเสธว่าชาวพุทธในพื้นที่ถูกกระทำเยอะมาก เป็นการใช้ภาษาของความรุนแรงเพื่อประท้วงว่าคุณทำได้ เราก็ทำได้ สิ่งสำคัญคือต้องแก้ไขที่ต้นตอ แต่การแก้ไขที่ต้นตอในวันนั้นมันเกิดขึ้นหรือไม่ วันนี้เรามีการพูดคุยเพื่อสันติภาพ แต่ว่าบรรยากาศการพูดคุยสันติภาพนั้นมันเอื้อหรือไม่ เรามีข้าราชการที่พยายามอย่างมากที่จะทำงาน แต่ว่าตอบโจทย์หรือไม่ พื้นที่ชายแดนใต้กลายเป็นพื้นที่ทดลอง เป็นพื้นที่หาผลงาน เคยคุยกับนายทหารที่ทำงานให้กลุ่มเยาวชนจัดรายการวิทยุ การลงไปทำหน้าที่แบบนี้มีเยอะมาก มีการลงไปแล้วก็คิดค้นสิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา คำถามก็คือ โครงการพาคนกลับบ้านมีผลช่วยเหลืออย่างไรกับการสร้างบรรยากาศ ในขณะที่เราเห็นกรณีอับดุลเลาะห์ อีซอมูซอที่อธิบายไม่ได้ กรณีคณากร เพียรชนะ (ผู้พิพากษาที่ยิงตัวเอง) ที่ถ้าอ่านไม่ดีจะพบว่าเป็นการถูกแทรกแซงจากอธิบดี แต่ถ้าอ่านดีๆ จะพบว่ามีความบกพร่องในระบบ ที่คนตรงไปตรงมาไม่สามารถทำหน้าที่ได้

เปิดคำแถลงของผู้พิพากษา จ.ยะลา ก่อนก่อเหตุยิงตัวเอง ขออย่าแทรกแซงและความเป็นธรรมทางการเงิน

เอกสาร 25 หน้าของคณากร ตัดสินคดีฆ่าที่บันนังสตา 5 ศพ เขาตัดสินปล่อยตัวจำเลยทั้งหมด แต่ได้รับแรงกดดันให้ตัดสินประหารชีวิตและจำคุกตลอดชีวิต เขาบอกว่าทำไม่ได้เพราะพยานหลักฐานไม่มากพอ หลักฐานจำนวนหนึ่งที่ได้มามีพิรุธทั้งสิ้น มีพยานซัดทอดที่ได้จากการล้อมจับที่บอกไม่ได้ว่ามีเหตุล้อมจับอะไร เขาบอกว่าพยานคนนี้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ แต่กลับไม่ถูกฟ้อง ในขณะเดียวกัน บอกว่าติดต่อกับจำเลยคนที่เหลือทางโทรศัพท์แต่ไม่มีหลักฐานว่าโทรศัพท์นั้นเป็นของเขาจริงๆ จำเลยทั้ง 5 ให้การในชั้นถูกควบคุมตัวด้วยกฎอัยการศึกและ พรก. ฉุกเฉิน ในค่ายทหาร ซึ่งไม่ได้รับการประกันสิทธิสักเท่าไหร่ ในแถลงการณ์ของผู้พิพากษาคนดังกล่าวบอกว่า เท่ากับว่าคนที่ถูกตั้งข้อสงสัยไม่มีสิทธิมากเท่ากับผู้ต้องหา สิ่งเหล่านี้จึงไม่รับฟัง ซึ่งเป็นสิ่งที่เห็นได้ในยุคก่อนหน้านี้ แต่ในสมัยหลังๆ เทรนด์เหล่านี้มักถูกกลับ จึงบอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้น เอกสาร 25 หน้าของคณากรบ่งบอกถึงความพกพร่องของระบบยุติธรรมที่ไม่สามารถถูกใช้มาเยียวยาได้ แล้วเราไปเยียวยาด้วยการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบกรณีแล้วกรณีเล่า ที่มีผลออกมาเป็นอย่างหนึ่ง แต่พอขึ้นศาลแล้วผลเป็นอีกอย่างเช่นกรณีทุ่งยางแดง เป็นต้น เรื่องเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อคนในพื้นที่ให้รับรู้ว่าความรุนแรงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก และมันจะเกิดขึ้นไปเรื่อยๆ โดยไม่มีการเยียวยา ไม่มีการแก้ไขปัญหาที่ต้นตอคือเรื่องความเป็นธรรม และความพยายามแก้ไขปัญหาที่ต้นตอจริงๆ ก็ยังไปไม่ถึงไหน

43 ปี ความรุนแรงเปลี่ยนรูป แต่ยังเป็นเรื่องชนชั้นนำที่ดื้อดึง

พูนสุขกล่าวว่า ถ้าย้อนไป 6 ตุลา คนอายุไม่ถึง 40 ปี อาจจะคิดว่าเรื่องแบบนั้นคงไม่เกิดขึ้นอีก แต่ก็ยังเกิดอยู่ ปัจจุบัน จำนวนคนเสียชีวิต ระดับความรุนแรงอาจไม่เท่า 6 ตุลา แต่อย่างเหตุการณ์พฤษภา 2553 ก็เป็นความรุนแรงทางกายภาพและโครงสร้างที่เกิดขึ้น และถูกพยายามทำให้ลืมเลือน ศูนย์ทนายฯ ก่อตั้งหลังรัฐประหาร 2557 เพียงสองวัน ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายจากผู้ถูกเรียกรายงานตัว ผู้ชุมนุม แต่ทำมาสักระยะก็พบว่าการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายอย่างเดียวนั้นไม่พอ กระบวนการยุติธรรม กฎหมายเองก็ถูกผู้มีอำนาจควบคุมมันไว้ และถูกใช้เป็นเครื่องมือจัดการกับประชาชน จึงทำงานเก็บข้อมูลและสื่อสารว่ามีการละเมิดอย่างไร

ประกาศ คสช. ฉบับที่ 1 สกัดออกมาได้ว่ามีจุดหมาย 3 ประการ เพื่อให้สถานการณ์การชุมนุมปี 2557 กลับสู่สภาวะปกติ ประชาชนเกิดความรัก สามัคคี สอง ปฏิรูปโครงสร้างการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ซึ่งมีข้อเรียกร้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้งของ กปปส. สาม ทำให้เกิดความชอบธรรมแก่ทุกฝ่าย เวลาผ่านมา 5 ปี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ออกกฎหมาย รวมทั้งคำสั่ง คสช. รวมนับพันฉบับ ไม่มีคณะรัฐประหาร รัฐบาลเลือกตั้งใดๆ ออกมาได้ขนาดนี้ มีการเรียกคนไปรายงานตัว เป็นทางการ 472 คน มีทุกพวกทุกฝ่าย แต่ว่าในรายละเอียด พวกหนึ่งอาจถูกเรียกไปวันเดียว อีกพวกกลับถูกกักตัวตามกฎอัยการศึกเต็ม 7 วัน

มีการเรียกพลเรือนไปขึ้นศาลทหารจากคดีความผิดเกี่ยวกับกษัตริย์ ความมั่นคง ประกาศคำสั่งของ คสช. เช่นการชุมนุม การรายงานตัว และความผิดเกี่ยวกับอาวุธ นอกจากนั้นยังมี ม.44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ให้อำนาจหัวหน้า คสช. ให้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการได้เอง ชอบโดยรัฐธรรมนูญและตรวจสอบไม่ได้ เป็นเรื่องที่รุนแรงและใช้อย่างกว้างขวาง ปัจจุบันแม้ใช้ ม.44 ไม่ได้แล้ว แต่คำสั่งต่างๆ และอำนาจในการควบคุมตัวคนยังมีอยู่

มีการใช้คดีความห้ามไม่ให้คนออกมาเคลื่อนไหว กลุ่มคนอยากเลือกตั้งเป็นกลุ่มที่ชัดเจนที่ถูกยัดคดีทุกครั้งที่มีการชุมนุม คดีความทำให้ชีวิตหลายคนหักเหเหมือนกัน จะเรียกเรื่องนี้ว่าเป็นการใช้กฎหมายปิดปากก็ได้ หลายคดีผ่านไป พอคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/58 ยกเลิกก็หลุดจากคดีความบ้าง ศาลยกฟ้องบ้าง ทำให้คนเหนื่อยล้ากับภาระคดีความ นอกจากนั้นยังมีการเปิดเรือนจำพลเรือนชั่วคราวในค่ายทหาร อย่างในค่ายทหารที่นครชัยศรีที่เปิดสมัยมีระเบิดที่ราชประสงค์ปี 2558 ซึ่งผู้ถูกคุมขังก็รายงานว่ามีการซ้อมทรมาน หมอหยอง (สุริยัน สุจริตพลวงศ์) กับปรากรม วารุณประภาก็ถูกขังและเสียชีวิตอย่างไม่ชัดเจนในเรือนจำนี้ ญาติไม่ได้เห็นแม้แต่ศพ

ผู้ลี้ภัยอย่างน้อย 8 คนที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวในการเปลี่ยนแปลงสถาบันกษัตริย์ โครงสร้างอำนจรัฐ หายไปแบบไม่ทราบสาเหตุ เป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นจริง จะบอกว่าไม่มีใครเป็นอะไรในยุคนี้ก็พูดแบบนั้นไม่ได้ สถิติที่ศูนย์ทนายฯ เก็บตั้งแต่ 22 พ.ค. 2557 – 30 เม.ย. 2562 พบว่ามีอย่างน้อย 929 ถูกเรียกรายงานตัว ปรับทัศนคติ อย่างน้อย 572 ถูกข่มขู่ คุกคาม มีกิจกรรมอย่างน้อย 353 กิจกรรมที่ถูกปิดกั้นและแทรกแซง และอย่างน้อย 428 คนที่ถูกตั้งข้อหาชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป และ 121 คนที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 116 มี 169 คนถูกตั้งข้อหามาตรา 112 และ 144 คนถูกดำเนินคดีข้อหาความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2,408 พลเรือนที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหาร ตัวเลขเหล่านี้คือคนที่ถูกคัดเลือกมาแล้วว่าพวกนี้คือเป้าหมาย จะต้องหยุดพวกนี้ให้ได้ คนที่ถูกคุกคามที่ไม่ได้บันทึกนั้นมีมากกว่านี้

นอกจากนั้น โครงสร้างอำนาจรัฐก็เปลี่ยนในช่วงที่ผ่านมา สถาบันกษัตริย์มีความเปลี่ยนแปลงทางกฎหมาย อย่าง พ.ร.บ. การจัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระองค์กับส่วนพระมหากษัตริย์ มีพระราชกำหนดโอนกรมทหารราบที่ 1 และ 11 ไปเป็นหน่วยถวายอารักขา

องค์กรอิสระก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นองค์กรอิสระ คสช. เปลี่ยนแปลง แต่งตั้งและให้คงไว้ซึ่งกรรมการต่างๆ ตัวผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระก็อาจไม่ถูกเรียกว่าอิสระได้ และยังมี 250 ส.ว. ที่มีบทบาทในการกำหนดตัวนายกฯ จนทำให้เราอยู่ในรัฐบาลประยุทธ์ 2 ต่อไป และยังมีแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่คุมอยู่ ทหารไปแทรกซึมหน่วยงานพลเรือนอย่าง กอ.รมน. ที่บอกว่าเป็นหน่วยงานพลเรือน แต่ว่ามีบทบาทของทหารเยอะ แถมยังไปมีบทบาทในเขตงานอื่นๆ เช่น บรรเทาสาธารณภัย

รัฐธรรมนูญ 2560 เปลี่ยนแปลงโครงสร้างกลไกต่างๆ และรับรองความชอบธรรมของอำนาจก่อนหน้านี้ รัฐธรรมนูญที่ไม่สามารถไกล่เกลี่ยความเห็นของคนในสังคม ซึ่งอาจเป็นชนวนความขัดแย้งรอบต่อไป เราไม่ใช่แค่เสียเวลาไป 5 ปี ตัวกฎหมาย ประกาศคำสั่ง คสช. รัฐธรรมนูญ ที่ยังคงอยู่ จะมีผลกับเราอีกนับเป็นสิบๆ ปี แม้รัฐธรรมนูญจะเปลี่ยน แต่คำสั่งคณะรัฐประหารต่างๆ ยังคงอยู่ซึ่งบางฉบับยังคงอยู่มาตั้งแต่รัฐประหารสมัยก่อน ถ้าไม่ทำอะไรกับมันมันก็จะอยู่อย่างนั้น แต่ก็ยังมีความหวังว่าประชาชนมีความตื่นตัว ถึงแม้จะแพ้การลงประชามติ ไม่สามารถเลือกตั้งชนะได้ ก็ต้องคำนึงว่าเสียงที่ปริ่มน้ำ กับฝ่ายที่มีโคงสร้างรัฐในมือ เราไม่ได้ห่างกันระดับนั้น

พูนสุขมองว่ารัฐประหาร คสช. คือความรุนแรงโดยรัฐ รูปแบบอาจเปลี่ยนไป สิ่งที่เรากำลังเถียงกันอยู่ สถานการณ์ตั้งแต่ 6 ตุลา พฤษภา 2535 และ 2553 ไปจนถึงความรุนแรงสามจังหวัดใต้ มีจุดร่วมเดียวกันคือมีวัตถุประสงค์ในการคงไว้ซึ่งอำนาจรัฐและชนชั้นนำ ภาวะอำนาจ สมดุลอำนาจระหว่างฝั่งประชาชนกับชนชั้นนำอาจจะยังไม่สมดุลจริง การต่อสู้แบบนี้จึงเกิดขึ้นตลอดมา

เหตุการณ์ทั้งหมดที่ผ่านมายังไม่มีใครต้องรับผิดจากความรุนแรงที่เกิดขึ้น คนตายเป็นสิบเป็นร้อย ทำไมรัฐลืมเลือนกันไป ประชาชนได้แต่จดจำกันเอง แต่สิ่งที่ทำไม่ได้คือการค้นหาความจริง ปี 2553 เคยมีแต่ก็ยังแตกเป็นสองฝั่งและไม่ได้รับการยอมรับ การเยียวยาบางกรณีได้เป็นตัวเงิน แต่ไม่ได้รับการเยียวยาในทางความยุติธรรม

ในแง่ของทางออก ตอนนี้ศูนย์ทนายฯ พยายามทำข้อเสนอลบล้างผลพวงรัฐประหาร เราเสนอ 4 ประเด็น เรื่องการจัการกฎหมาย ประกาศ คำสั่ง คสช. การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม การเยียวยา การจัดการกับคำพิพากษา และเรื่องของการจัดการกองทัพ จำกัดอำนาจกองทัพ สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยพลังของทุกคนสนับสนุน

มอง 6 ตุลา ผ่านภาพถ่าย สื่อสายตาที่ซื่อสัตย์แต่บิดเบือนได้

ธนาวิกล่าวว่า งานวิจัยที่ทำอยู่ชื่อว่าปริซึมของภาพถ่าย การแตกตัวของความรู้ ความทรงจำว่าด้วยเหตุการณ์ 6 ตุลา ตอนนี้เริ่มทำในช่วง 6 เดือนแรก ค้นคว้าหาข้อมูล หลักๆ เป็นหอจดหมายเหตุ มธ. โครงการบันทึก 6 ตุลา เว็บ 2519.net ช่างภาพ ผู้สะสมภาพ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ พบว่าภาพเยอะกว่าที่คาดหวังไว้จากแรกเริ่มที่เดิมทีจะคุ้นๆ อยู่กับไม่กี่ภาพที่ไหลเวียนในอินเทอร์เน็ต พบภาพบางชุดถ่ายโดยอาจารย์ใน มธ. เอง ก็จะเห็นความแตกต่างของช่างภาพมืออาชีพและอาจารย์ที่บังเอิญเดินเจออะไรน่าสนใจก็ถ่ายไว้ เป็นคนละมุมมองกับนักข่าว

ธนาวิกล่าวต่อไปว่า พอได้เห็นภาพ สิ่งที่เคยมีในหัวที่เคยรับรู้ผ่านตัวอักษรก็ถูกทำให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น มองเห็นได้ ได้เห็นอีกมิติของความรุนแรง รูปภาพปะทะกับเราอีกแบบหนึ่ง ยิ่งเห็นภาพที่เป็นมุมกว้าง เห็นคนที่วิ่งอยู่ เห็นคนจะเตรียมตัวเข้าไป เห็นบริบทการใช้ภาพก็ต่างกันไปตามแนวทางการเมืองของสิ่งพิมพ์ก็ยิ่งขับเน้นมิติความรุนแรงให้รู้ได้ในเชิงสายตามากขึ้น ยกตัวอย่างเช่นภาพตำรวจเอาอาวุธสงครามเข้ามาในมหาลัย ทำให้ความรับรู้ต่อเหตุการณ์มีความสะเทือนใจเพิ่มขึ้นมาอีก ถามว่าก่อนหน้านี้รู้ไหม คนที่สนใจ 6 ตุลา ก็รู้ แต่พอเห็นความรุนแรงของอาวุธที่เขาเลือกใช้มันเป็นตัวเป็นตน เห็นระดับความรุนแรง ในขณะที่นักศึกษาบอกว่ามีอาวุธเหมือนกัน ยึดปืนพกมาได้ ก็จะเห็นความแตกต่างระหว่างอาวุธที่นักศึกษาและอีกฝ่ายมี

ภาพการทำร้ายศพมีหลายภาพมากไปกว่าภาพแขวนคอของนีล อูเลวิชจาก AFP ที่เป็นสัญลักษณ์ภาพแทนสำคัญของเหตุการณ์ ยังมีภาพอื่นๆ อีกที่ชี้ให้เห็นถึงการทำร้ายศพ ชวนให้ตั้งคำถามว่าทำไมต้องทำร้ายศพ มีความหมายอย่างไรต่อฝ่ายขวาในยุคนั้น คนที่มุงดูเหตุการณ์ เขามุงดูในฐานะอะไร มีความเป็นมหรสพหรือเปล่า เธอคิดถึงการประหารในสมัยโบราณก่อนนั้นที่การประหารไม่ได้ทำลับๆ กลายเป็นสิ่งที่ต้องมอง ต้องเห็น ซึ่งถ้า 6 ตุลา ทำด้วยเหตุผลแบบนั้นแล้ว คำถามคือจะทำไปทำไม เป็นการข่มขู่หรือทำให้เป็นเยี่ยงอย่างหรือไม่ สุดท้ายภาพเหล่านั้นย้อนมาเป็นวัตถุพยานว่ามีอะไรเคยเกิดขึ้น การมองภาพถ่ายในแง่เครื่องบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นก็ช่วยให้เราพูดถึงเหตุการณ์ในอดีตที่อาจครอบคลุมยิ่งขึ้น

ในหนังสือ 20 ปี ตามหาญาติมิตร มีการเผยแพร่ภาพศพแล้วจัดงานโดยให้คนมีการเอามาดูกัน ในปีนั้นจัดกิจกรรมเอาภาพมาดูกันเพื่อพยายามระบุว่าคนในภาพน่าจะเป็นใคร มีคนที่เสียชีวิตจำนวนมาก หลายคนยังไม่สามารถหาได้ว่าเป็นใคร สะท้อนถึงการใช้งานภาพที่ต่างกันไปตามยุคสมัย ภาพอาจเป็นภาพเดิมที่ถ่ายในวันนั้น แต่พอประกบกับสิ่งพิมพ์บางประเภทก็มีความหมายเปลี่ยนไป ช่น ภาพของอภินันท์ บัวหภักดี นักแสดงแขวนคอที่ถูกประกบกับข้อความใน หนังสือพิมพ์ดาวสยามก็ให้ความหมายอีกแบบ

ดังนั้น ภาพที่ถูกให้ความหมายว่าเป็นการบันทึกเหตุการณ์ที่ซื่อตรง แต่เอาเข้าจริงก็มีศักยภาพที่จะถูกใช้ในแบบต่างๆ เป็นของปลายเปิด อยู่ที่เอาไปอยู่กับอะไร ปัจจุบันถ้าสื่อจะทำแบบสมัย 6 ตุลา ก็คงถูกประณาม แต่ว่าการกระจายความเกลียดชังในทุกวันนี้นั้นอาจทำได้ ไปได้เยอะกว่าสมัยก่อนมากจากการมีโซเชียลมีเดียและเทคนิคการตัดต่อ

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

นักเศรษฐศาสตร์ชี้สัญญาณเศรษฐกิจโลกถดถอยชัดเจน 'ชิมช้อปใช้' ไม่ช่วย ต้องเพิ่มงบขาดดุลกระตุ้นเศรษฐกิจ

$
0
0

ผอ.ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ม.รังสิต ชี้สัญญาณเศรษฐกิจโลกถดถอยชัดเจนขึ้น มาตรการชิมช้อปใช้เฟสสองและมาตรการต่างๆ ไม่เพียงพอต่อการรับมือการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างแน่นอน งบประมาณปี 2563 ก็ยังไม่ผ่านสภา ต้องเพิ่มการขาดดุลงบประมาณเพื่อการลงทุนและสร้างงาน ปรับโครงสร้างภาคการผลิต ยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขัน 


ที่มาภาพประกอบ: Wutthichai Charoenburi(CC BY 2.0)

6 ต.ค. 2562 ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ประเมิน สัญญาณเศรษฐกิจโลกถดถอยชัดเจนขึ้น ตัวเลขภาคการผลิตของสหรัฐฯและอียูชะลอตัวลงชัดเจน ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐดิ่งลงสู่ระดับ 47.8 ในเดือน ก.ย. 2562 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน มิ.ย.2552 จากระดับ 49.1 ในเดือน ส.ค. โดยดัชนีอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 บ่งชี้ถึงภาวะการหดตัวของภาคการผลิตของสหรัฐ ซึ่งเป็นการหดตัวเป็นเดือนที่ 2 ภาคการผลิตของสหรัฐเริ่มเข้าสู่ภาวะหดตัวในเดือน ส.ค. ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 3 ปี หลังจากที่มีการขยายตัวติดต่อกัน 35 เดือน การขยายตัวของการจ้างงานในสหรัฐฯ ก็ลดลงอย่างชัดเจน 

ส่วนทางอียูนั้นดัชนีภาคการผลิตของเกือบทุกประเทศล้วนอยู่ต่ำกว่า 50 ซึ่งสะท้อนถึงการหดตัว ภาคการผลิตของเยอรมนีปรับตัวลงสู่ระดับ 41.7 ในเดือน ก.ย. 2562 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน มิ.ย.2552 จากระดับ 43.5 ในเดือน ส.ค. โดยดัชนีพีเอ็มไอยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 บ่งชี้ว่า ภาคการผลิตของเยอรมนี ยังคงเผชิญภาวะหดตัว โดยเป็นการหดตัวเป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกัน ขณะที่ได้รับผลกระทบจากการทรุดตัวลงของการจ้างงาน ซึ่งลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค.2553 และปรับตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 มีเพียงไม่กี่ประเทศในอียู เช่น ฝรั่งเศสที่ตัวเลขภาคการผลิตอยู่สูงกว่า 50 แต่ก็ขยายตัวเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเพราะดัชนีพีเอ็มไออยู่ที่ 50.1 ขณะที่ Brexit จะเป็นปัจจัยกดดันต่อเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรและอียูเพิ่มเติม 

ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่าแม้นดัชนีภาคการผลิตของจีนยังขยายตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในแต่ปีนี้เศรษฐกิจจีนอาจขยายตัวไม่ถึง 6% การลงทุนของต่างชาติลดลงย้ายฐานไปประเทศอื่น หลบผลกระทบสงครามการค้าจีนสหรัฐยืดเยื้อ มีผลสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารบรรษัทข้ามชาติญี่ปุ่นล่าสุด บ่งชี้ว่า บรรษัทข้ามชาติญี่ปุ่นจำนวนมากเตรียมปรับโครงสร้างเครือข่ายการจัดหาระหว่างประเทศและห่วงโซ่อุปทานใหม่ ผลสำรวจบริษัทญี่ปุ่น 1,000 แห่งที่เข้าไปทำธุรกิจในจีน พบว่า 23% ของผู้ตอบแบบสอบถามบอกว่าควรลดการลงทุนในจีนในช่วงที่สหรัฐและจีนกำลังมีความขัดแย้งทางการค้าระหว่างกัน ริโก้ ผู้ผลิตเครื่องถ่ายเอกสาร ได้ย้ายฐานการผลิตจากจีนไปยังประเทศไทย เช่นเดียวกับบริษัทเซรามิคส์ และเคียวเซรา ที่ย้านฐานการผลิตจากจีนไปเวียดนาม ฟาสต์รีเทลลิง เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าลำลองยี่ห้อยูนิโคล่ เตรียมย้ายฐานการผลิตจากจีนไปเวียดนาม นินเทนโด (บริษัทผลิตเกมยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น) และบริษัทฟ๊อกซ์คอน (บริษัทไต้หวัน) ก็วางแผนย้ายออกจากจีนเช่นเดียวกัน ซัมซุงจะปิดโรงงานผลิต Smart Phone ในจีนเพื่อย้ายฐานการผลิตมายังอาเซียน ขณะเดียวกัน รัฐบาลจีนเองกำลังหามาตรการเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อจูงใจให้บรรษัทข้ามชาติคงใช้จีนเป็นฐานการผลิตต่อไป 
 
จากการรวบรวมข้อมูล ตัวเลขและการคาดการณ์จากสำนักวิจัยชั้นนำของโลกหลายแห่งโดยสรุป พบว่า ผลกระทบสงครามทางการค้าและการย้ายฐานการผลิตอาจทำให้จีดีพีของเศรษฐกิจโลก ลดลง 0.6% ผลผลิตจากภาคการผลิตของจีนจะลดลง 1.6% ในขณะที่จีดีพีของสหรัฐที่แท้จริงจะลดลง 1.1% ตัวเลขการลงทุนโครงการใหม่ทั้งระบบช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 ที่บรรษัทข้ามชาติเข้าไปลงทุนในประเทศต่างๆ ลดลงเหลือเท่าระดับเดียวกับช่วงครึ่งหลังของปี 2552 ที่เศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์สินเชื่อซับไพร์มสหรัฐ 

ผศ.ดร.อนุสรณ์ เปิดเผยอีกว่าการปะทุของข้อพิพาททางการค้าจากประเด็นการตัดสินขององค์การการค้าโลกกรณีแอร์บัส ทำให้ความขัดแย้งทางการค้าสหรัฐฯอียูรุนแรงขึ้น กระทบการค้าโลกปีนี้ต่อเนื่องถึงปีหน้า โดยปีนี้การค้าโลกอาจเติบโตแค่ 1.2% (เป็นการปรับลดลงจากคาดการณ์เดิมของ WTO ค่อนข้างมาก เดิมคาดการณ์การค้าโลกขยายตัว 2.6% ปรับลดลงถึง 1.4%) หากสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีมูลค่า 7.5 พันล้านดอลลาร์จากแอร์บัสตามคำตัดสินของคณะอนุญาโตตุลาการของ WTO คาดว่า อียูต้องยกเลิกมาตรการการให้การอุดหนุนแอร์บัสหรือคงจะปรับขึ้นภาษีนำเข้าในสินค้าหลายประเภทตอบโต้สหรัฐฯ ความเสี่ยงจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับอียูจะมีแรงกดดันต่อภาคส่งออกและภาคการผลิตของไทยเพิ่มเติม 

นอกจากนี้มาตรการชิมช้อปใช้เฟสสองและมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลขณะนี้ไม่เพียงพอต่อการรับมือการชะลอตัวและถดถอยของเศรษฐกิจโลกอย่างแน่นอน งบประมาณปี 2563 ก็ยังไม่ผ่านสภาต้องเพิ่มการขาดดุลงบประมาณเพื่อการลงทุนและสร้างงาน ปรับโครงสร้างภาคการผลิต ยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขัน จัดสรรงบประมาณและทรัพยากรใหม่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและตอบโจทย์อนาคตสังคมไทย ควรทำงบประมาณขาดดุลเพิ่มเติมจากยอดขาดดุลอีกอย่างน้อย 30-50% หรือปรับลดงบประมาณจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการลงทุนโดยโยกงบประมาณจัดซื้ออาวุธมาใช้ในการลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างการจ้างงานใหม่ๆแทนและดูแลความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจของประชาชนแทน ขณะเดียวกันต้องเร่งสร้างนิติรัฐนิติธรรมเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในประเทศและความมั่นใจต่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในไทย 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

กวีประชาไท: ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป !

$
0
0

6 ตุลา 2519     กลางกรุง
อนาถโธ่ไทยมุง     มิตรร้าง
43 ปี ป้าลุง     ลืมเลือน ไม่เลย
ติดตาตรมตราบล้าง     รอยยิ้ม สยอง

แขวนคอคนหลายร่าง     ศพลอย
มะขามสนามหลวงพลอย     ภาพย้ำ
รุ่นหลังใครจะคอย     เก้าอี้ อีกครา
ปลุกผีโหดหั่นห้ำ     หินชาติ ดาษดา

ทยอยยังให้เห็น     ใจหิน
ผีเสื้อภาพโผผิน     พ่ายแพ้
ชนฉลฉ้อติฉิน     คันฉ่อง ส่องนา
รำลึกรอยหลังแล้     ลูกไทย ไยหลง

ระวังชังชาติชั่ว     โชยหา
รอยยิ้มไร้เดียงสา     ง่าเงื้อ
อำมหิตผิดฝา     ฟาดเก้า อี้เอย
ใส่ร้ายชังชาติเชื้อ     ประชาธิปไตย

6 ตุลาฆ่าคอมมิวนิสต์     ไม่บาป
2562 สหายมิตร     ม่วนได้
43 ปี เปลี่ยนทิศ     ท่วงทำ นองนอ
ประชาธิปไตยใช้     ครึ่งใบ ไชโย!

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ใบตองแห้ง: 6 ตุลาฆ่าแล้วครอบ

$
0
0

6 ตุลาฆ่าแล้วครอบ – 43 ปี 6 ตุลา นอกจากเตือนสติว่า การให้ร้ายป้ายสี ปลุกความเกลียดชัง ทำลายคนเห็นต่าง ยังไม่หายไปไหน เป็นวิธีการเดิมๆ ที่ใช้อยู่ตลอด เพื่อรักษาอำนาจของเครือข่ายอนุรักษนิยม

6 ตุลา 2519 ยังเป็น “ตลกร้าย” ในแง่ที่เป็นประวัติศาสตร์ซึ่งถูกลืม ถูกปิดบังไว้หลายสิบปี คนรุ่นถัดมาแทบไม่รู้ว่าเคยมีการเข่นฆ่าอย่างโหดร้าย กลางเมืองไทยเมืองพุทธ เห็นแต่บ้านเมืองสงบสุข ก็คิดว่าเป็นเพราะผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองมี “เมตตาธรรม”

จนกระทั่งมาเกลียดนักการเมือง เกลียดแม้ว เกลียดม็อบเสื้อแดง ออกใบอนุญาตให้ใช้กระสุนจริงปี 53 แล้วช่วยกันบิ๊กคลีนนิ่ง จึงรู้ว่าอ้าว บรรพบุรุษไทยก็เคยทำมาแล้วที่สนามหลวง

ว่าที่จริง การ “ฆ่าแล้วสวด” คือกำจัดเสี้ยนหนามอย่างโหดร้าย อยุติธรรม ยึดอำนาจได้แล้วสอนศีลธรรม ก็ทำกันมาทุกยุคสมัย เช่น ใส่ร้าย อ.ปรีดี รัฐประหาร 2490 ยิงทิ้ง 4 อดีตรัฐมนตรี จนรัฐประหาร 2500 ที่เพิ่มคำอวดอ้างว่าเผด็จการทำให้น้ำไหลไฟสว่าง

เพียงแต่หลัง 6 ตุลา อาจซับซ้อนหน่อย เพราะรัฐบาลหอยโดน พล.อ.เกรียงศักดิ์รัฐประหารซ้อน แล้ว พล.อ.เกรียงศักดิ์โดนยังเติร์กโค่น ชู พล.อ.เปรมมาเป็นผู้นำประชาธิปไตยครึ่งใบ ที่ทำให้สังคมไทยดูดีขึ้น จนบางคนปลาบปลื้มไม่อยากเป็นประชาธิปไตยเต็มใบ

หารู้ไม่ว่ามันเป็นพัฒนาการต่อเนื่องกัน คือหลังเผด็จการทหารยาวนาน เกิด 14 ตุลา 2516 ประชาธิปไตยเบ่งบาน ที่ไม่ได้หมายความแค่การเลือกตั้ง แต่เกิดสหพันธ์ชาวนา เรียกร้องให้ลดค่าเช่า เกิดสหภาพแรงงาน เรียกร้องค่าแรงสวัสดิการ เกิดการเคลื่อนไหวของนักเรียน ที่ไม่ต้องการให้ครูบังคับเสื้อผ้าหน้าผม ขณะที่ประชาชนก็ตื่นตัว ไม่ยอมรับว่าข้าราชการทหารตำรวจเป็น “เจ้าคนนายคน” อีกต่อไป

6 ตุลา “ขวาพิฆาตซ้าย” แต่ความเป็นจริง ขบวนการนักศึกษาไม่ได้เกิดจากฝ่ายซ้าย ความคิดเรื่องเสรีภาพประชาธิปไตย ได้อิทธิพลจากยุโรปอเมริกา ยุคซิกซ์ตี้ ยุคบุปผาชน ต่อต้านสงครามเวียดนาม การเดินขบวนของนักศึกษาฝรั่งเศส ฯลฯ

จนระยะหลังที่ร่วมเรียกร้องกับกรรมกรชาวนา ขบวนการนักศึกษาจึงเริ่มมีอุดมการณ์สังคมเป็นธรรม มีแนวโน้มไปสู่สังคมนิยม แต่ถ้าไม่เกิดการเข่นฆ่า ก็คงไม่มีใครเข้าป่าจับปืน

ชนชั้นนำอนุรักษนิยมไม่สามารถรับมือกับความตื่นตัวของประชาชนได้ ทั้งกระแสประชาธิปไตย กระแสสังคมนิยม ความหวาดกลัวประเทศไทยจะกลายเป็นโดมิโน ต่อจากอินโดจีน จึงก่อการเข่นฆ่า ซึ่งชัดเจนว่าจงใจ ไตร่ตรองไว้ก่อน เอาถนอมบวชเณรเข้ามาจุดชนวน แม้ไม่เกิดการแต่งภาพละครแขวนคอ ก็จะหาเหตุอื่นอยู่ดี

รัฐประหาร 6 ตุลา ไม่เพียงฆ่าคนอย่างโหดร้าย ยังต้องการ “ฆ่าความคิด” ไม่ว่าความคิดเรื่องความเป็นธรรม การเรียกร้องสิทธิต่างๆ ไปจนความคิดเสรี อย่างที่โลกตะวันตกยุคนั้นเปิดกว้าง เสรีภาพ เสมอภาค ทางเพศ ผิว ชาติพันธุ์ การฟอกล้างความคิดความเชื่อเก่าๆ ศาสนา พิธีกรรม

พูดอีกอย่าง ชนชั้นนำอนุรักษนิยมในยุคนั้นไม่ใช่เพียงกลัวคอมมิวนิสต์ แต่ยังกลัวความคิดใหม่ๆ ในยุค “แสวงหา” ของโลกตะวันตก ซึ่งเป็นอันตรายไม่น้อยไปกว่ากัน

หลังจากเข่นฆ่า รัฐประหาร ปิดกั้นความคิดใหม่ ฟื้นความคิดจารีต ปูพรมผ่านระบบการศึกษา และกลไกวัฒนธรรม จนควบคุมสมองคนไทยได้ ก็พอดีโลกเปลี่ยน ทางการเมืองเริ่มหมดยุคสงครามเย็น ทางเศรษฐกิจเข้าสู่เสรีนิยมใหม่ ญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิต ทำให้ไทยโชติช่วงชัชวาล

คนชั้นกลางไทยเติบโต เข้าสู่ระบบการศึกษาแบบเร่งรีบ ไม่ต้องคิดอะไรมาก จบมหาวิทยาลัยวัยหวานก็ออกมาทำอาชีพ ซื้อรถ ผ่อนบ้านจัดสรร แบบบ้านแทบจะเหมือนกัน ดูละครหลังข่าวเรื่องเดียวกัน อยู่ใต้แบบแผนความคิดเดียวกัน ขณะที่อำนาจอนุรักษนิยมหลังตั้งหลักได้ ก็เปิดรับความคิดใหม่ที่ไม่เป็นภัย เช่น การยอมรับเพศที่สาม การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทาง รู้จักเข้าคิว ฯลฯ กลายเป็นบุญคุณอีกต่างหาก

ปัดโธ่ ขนาดรัฐประหาร 2534 ยังรู้จักอุทิศวิทยุทหาร จส.100 ให้เป็นสื่อจราจรของคนกรุง

นั่นคือวิธีการของอำนาจอนุรักษนิยมในอดีต ฆ่าทิ้งก่อน ใช้อำนาจกวาดล้างก่อน แล้วครอบงำสังคมอย่างแยบคาย อาศัยวัฒนธรรมอ่อนละมุน ทำให้คนชั้นกลางรุ่นหลัง 6 ตุลากลายเป็น neocon

คำถามคือ อำนาจอนุรักษนิยมในปัจจุบันจะทำอย่างไร

99 ศพก็ฆ่ามาแล้ว รัฐประหารก็อยู่นาน 5 ปี รัฐบาลสืบทอดอำนาจก็ตั้งได้ แต่ฝ่ายที่ต่อต้านยังแข็งแกร่ง มีพลังมากขึ้นทุกที คนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาก็ไม่สามารถครอบงำได้ จนโวยวายหาว่าคนรุ่นใหม่คิดไม่เป็น

จะตั้งข้อหาร้ายแรงกับฝ่ายค้าน นักวิชาการที่แก้ไขรัฐธรรมนูญ แล้วไง จะกวาดเข้าคุก? จะยุบพรรค? จะปลุกคนเกลียดจนรุมทำร้าย?

ทำได้หมดนั่นแหละ แต่ไม่สามารถเอาชนะทางความคิด ไม่สามารถครอบงำได้อีกต่อไป

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน:ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th/hot-topics/news_2946573

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ฝ่ายซ้ายและสังคมนิยม 101 | หมายเหตุประเพทไทย #282

$
0
0

ในโอกาสครบรอบ 43 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ชานันท์ ยอดหงษ์ และษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อธิบายกำเนิดแนวคิดฝ่ายซ้าย สังคมนิยม ที่เริ่มต้นในยุโรปและส่งอิทธิพลมายังเอเชียและประเทศไทย ความถดถอยของแนวคิดสังคมนิยม จากที่เคยเป็นภัยคุกคามในสายตาของรัฐ ไปสู่สิ่งเพ้อฝันเมื่อสงครามเย็นสิ้นสุด และกลายเป็นความเปล่าประโยชน์ที่จะศึกษา แต่ท้ายที่สุดษัษฐรัมย์เสนออย่างมีความหวังว่าแนวคิดซ้าย การพูดถึงความเหลื่อมล้ำ ยังคงเป็น New Literacy สำหรับคนรุ่นใหม่ ทั้งหมดนี้ติดตามได้ในรายการหมายเหตุประเพทไทย

ติดตามรายการหมายเหตุประเพทไทยย้อนหลังที่
เฟสบุ๊ค
https://www.facebook.com/maihetpraphetthai
YouTube เพลยลิสต์ หมายเหตุประเพทไทย
หรือลงทะเบียนรับชมที่ https://youtube.com/prachatai

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

กวีประชาไท: ความทรงจำที่ถูกบอกเล่าจากความทรงจำแห่งเดือนตุลา

$
0
0

กระแสเรื่องเล่าอันเบาบาง
ประวัติศาสตร์อันเลือนรางแห่งยุคสมัย
อดีตกาลซ่อนเร้นความเป็นไป
หล่นร่วงทิ้งใบในเวลา

ชีวิตต้องปลิดปลงลงสู่ดิน
น้ำตาใครที่หล่นรินราวสิ้นค่า
การหมุนวนมาเยือนเดือนตุลา
พร้อมปรอยฝนที่เริ่มซา-จนชาชิน

อดีต ขีดปัจจุบัน ณ วันนี้
บทกวีป่นแหลก-และแตกบิ่น
ภาพวาด โมฆะ ศิลปิน
ล้วนแปดเปื้อนมลทิน...ได้ยินฟัง

ไม่อาจเดินสู่โลกใหม่จากใบเก่า
เรื่องเล่า ยับเยินจนเกินหยั่ง
ความฝันกลืนความจริง-จนภินท์พัง
ไม่อาจข้ามถึงอีกฝั่ง--แห่งหวังนั้น

แต่ทว่าความหวังนั้นยังอยู่
โลกไม่สิ้นทางไปสู่ฤดูฝัน
ก่อนตุลาบอกลาคืนและวัน
ประกายจันทร์คงบานผลิ...รับรัตติกาล

 

 

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

การเมืองกับความเป็นอื่น และไผ่ จตุภัทร์: October Talk | 43 ปี 6 ตุลา 19

$
0
0

เสวนาหัวข้อ "การเมืองกับความเป็นอื่น"

October Talk โดยจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน

6 ต.ค. 2562 ถ่ายทอดสดงานครบรอบ 43 ปี 6 ตุลา 2519 ช่วงบ่าย จากห้อประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

หัวข้อแรก "การเมืองกับความเป็นอื่น" อภิปรายโดย ณัฏฐา มหัทธนา นักกิจกรรมอิสระ, พริษฐ์ วัชรสินธุ์ กลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า และสุภาพร โพธิ์แก้ว คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยครับ ดำเนินรายการโดย ปกรณ์ อารีย์กุล

และหัวข้อปิดท้าย October talk โดย จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ส่งท้ายวัน #6ตุลา ขึ้นอันดับ 1 เทรนด์ทวิตเตอร์ และเทรนด์การค้นหาใน Google

$
0
0

 

ภาพจากเพจ ไข่แมวx

6 ต.ค.2562 เนื่องในวาระครบรอบ 43 ปี เหตุการณ์ล้อมปราบและสังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ สนามหลวง เมื่อวันที่ 6 ต.ค.2519 นั้น

วันนี้ แฮชแท็ก #6ตุลา ขึ้นอันดับ 1 เทรนด์ในทวิตเตอร์อยู่หลายชั่วโมง และติดเทรนด์ตลอดทั้งวัน ส่วนใหญ่เป็นการแชร์ข้อมูลเรื่องราวเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น รวมทั้งรายงานข่าวกิจกรรมรำลึกที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์วันนี้ด้วย

นอกจากนั้นคำว่า "6 ตุลา" ยังติดอันดับ 2 ของเทรนด์การค้นหาในวันนี้ของ google ประเทศไทยด้วย 

ที่มา เว็บไซต์ trends24.in/thailand/ 

ที่มา https://trends.google.co.th/trends/trendingsearches/daily?geo=TH

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า กิจกรรมรำลึกที่มีทั้งการจัดนิทรรศการและงานเสวนาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตลอดทั้งวันวันนี้ยังมีผู้เข้าชมแน่นหอประชุมศรีบูรพา และจากที่สังเกตุพบมีผู้เข้าชมเข้าร่วมกิจกรรมที่อายุน้อยจำนวนมากด้วย

เกี่ยวกับ เหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลาฯ

เหตุการณ์สังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ สนามหลวง และบริเวณโดยรอบเป็นโศกนาฏกรรมของการฟาดฟันกระแสสังคมนิยมที่เริ่มแพร่หลายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 (จะกล่าวถึงต่อไป) เมื่ออุดมการณ์สังคมนิยมถูกใช้ในการวิพากษ์ระบบชนชั้นที่กดขี่และความไม่เป็นธรรมในสังคมไทย ดังที่เห็นได้จากการพูดถึงในหมู่นักศึกษา แรงงาน ชาวนา ทั้งยังมีพรรคแนวร่วมสังคมนิยมได้รับเลือกตั้งเข้าสภาถึง 3 พรรครวม 37 ที่นั่ง กระแสหวาดกลัวคอมมิวนิสต์และสังคมนิยมในยุคสงครามเย็นทำให้ฝ่ายรัฐสร้างนโยบาย เรื่องเล่า และจัดตั้งกลุ่มประชาชนเพื่อตอบโต้ มีการโจมตีพรรคสังคมนิยม กลุ่มแรงงาน นักศึกษาว่าเป็นพวกขายชาติ หนักแผ่นดิน เป็นสายลับเวียดนาม โซเวียต ฯลฯ

การกลับมาของจอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกฯ ที่ถูกประชาชนขับไล่ไปเมื่อปี 2516 ในฐานะพระภิกษุในวันที่ 19 ก.ย. 2519 และข้อความของสถานีวิทยุยานเกราะที่บอกว่าการกลับมาไม่มีความมุ่งหมายทางการเมือง ทั้งยังเตือนไม่ให้นักศึกษาก่อความวุ่นวาย ตามมาด้วยการเคลื่อนไหวต่อต้านถนอมของขบวนการนักศึกษาและประชาชนซึ่งถูกตอบโต้จากกลุ่มฝ่ายขวา เหตุการณ์เหล่านี้ดำเนินไปท่ามกลางการลอบฆ่าและลอบทำร้ายผู้นำแรงงาน ชาวนาและนักศึกษา ที่ได้ยินกันบ่อยคือชุมพร ทุมไมย และวิชัย เกษศรีพงศา 2 พนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นครปฐมที่ถูกฆาตกรรมแล้วนำไปแขวนคอที่ประตูทางเข้าที่ดินจัดสรรบริเวณหมู่บ้าน 2 ตำบลพระประโทน

ในวันที่ 4 ต.ค. กลุ่มนักศึกษาใน มธ. รณรงค์ให้นักศึกษางดสอบแล้วมาร่วมประท้วงขับไล่ถนอม ในการรณรงค์มีการแสดงละครที่มีฉากการแขวนคอสะท้อนถึงเหตุการณ์ 2 ช่างไฟฟ้าที่นครปฐม ฉากดังกล่าวถูกเผยแพร่ต่อครั้งแรกในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ซึ่งหน้าของผู้ถูกแขวนคอ (อภินันท์ บัวหภักดี) บังเอิญไปคล้ายกับพระบรมโอรสาธิราช จากนั้นหนังสือพิมพ์ดาวสยามจึงได้เผยแพร่ภาพการแขวนคอต่อ พร้อมมีข้อความโจมตีขบวนการนักศึกษาว่าจงใจหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทำลายสถาบันกษัตริย์ เป็นส่วนหนึ่งของแผนการคอมมิวนิสต์ สถานีวิทยุทหารทุกแห่งขยายข้อความด้วยการปลุกระดมให้ทำลายพวกคอมมิวนิสต์ใน มธ. นำมาซึ่งการปิดล้อม มธ. โดยกลุ่มพลังฝ่ายขวาเช่นกลุ่มกระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้าน กลุ่มนวพลในตอนดึกวันที่ 5 ต.ค. ก่อนที่เช้าวันที่ 6 ต.ค. เจ้าหน้าที่ตำรวจเริ่มใช้อาวุธสงครามกับผู้ชุมนุมใน มธ. ตามมาด้วยการปราบปรามใหญ่ด้วยน้ำมือของเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนที่ถูกปลุกระดม (ข้อมูลจากเว็บบันทึก 6 ตุลา)

อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับ 6 ตุลาฯ 2519
https://prachatai.com/category/6-ตุลาคม-2519

ฉันไม่รู้จัก 6 ตุลา (1): สำรวจแบบเรียน-ความเข้าใจของนักเรียนไทยในปี 2562
https://prachatai.com/journal/2019/01/80694

ฉันไม่รู้จัก 6 ตุลา (2): นักสืบประวัติศาสตร์ผู้(กำลัง)ทำงานแข่งกับเวลา
https://prachatai.com/journal/2019/01/80738

บันทึก 6 ตุลา
https://doct6.com/

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

สภานิสิตจุฬาฯ แถลง ขอศิษย์เก่าในวงการเมืองทำตามข้อเรียกร้อง 'คณากร'

$
0
0

สภานิสิตจุฬาฯ ออกแถลงการณ์ ขอให้ศิษย์เก่าที่เป็นสมาชิกรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และผู้มีอำนาจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามข้อเรียกร้องเรื่องการออกกฎหมายไม่ให้มีการแทรกแซงคำพิพากษา และให้ความคุ้มครองดูแลผู้พิพากษาคณากรด้วย

คณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นศาลจังหวัดยะลา

7 ต.ค. 2562 เมื่อวานนี้ (6 ต.ค.) เฟสบุ๊คสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มีการโพสท์แถลงการณ์ ขอให้ผู้มีอำนาจได้ดำเนินการในกรณีของคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นศาลจังหวัดยะลา ที่ตัดสินยกฟ้องจำเลย 5 คน ก่อนจะใช้อาวุธปืนยิงตัวเองบาดเจ็บสาหัส และต่อมาพบแถลงการณ์เรื่องราวของการดำเนินคดี และมีข้อเรียกร้องขอสภาฯ ให้ออกกฎหมายห้ามตรวจร่างคำพิพากษาก่อนอ่านให้คู่ความฟัง และขอความเป็นธรรมทางการเงินแก่ผู้พิพากษาทั่วประเทศ มีใจความว่า

ศาลยะลา : 'ผู้พิพากษา' ยิงตัวเองสาหัส หลังลงจากบัลลังก์ พิจารณาคดี

เปิดคำแถลงของผู้พิพากษา จ.ยะลา ก่อนก่อเหตุยิงตัวเอง ขออย่าแทรกแซงและความเป็นธรรมทางการเงิน

แถลงการณ์สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เรื่อง ขอให้ผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องดำเนินการเกี่ยวกับกรณีของผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ
.
จากกรณีที่นายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นศาลจังหวัดยะลา ใช้อาวุธปืนยิงตัวเองภายในห้องพิจารณาคดี อาคารสำนักงานศาลจังหวัดยะลา จนได้รับบาดเจ็บสาหัส ผู้พิพากษาคณากรได้เผยแพร่คำแถลงการณ์จำนวน ๒๕ หน้า มีประเด็นสำคัญที่ว่า คดีความที่ผู้พิพากษาคณากรได้รับหน้าที่ให้ทำการพิจารณาตัดสินคดี เพื่อผดุงไว้ซึ่งความยุติธรรมอันเป็นคุณค่าสำคัญยิ่งของสังคม ได้รับกล่าวอ้างว่าถูกแทรกแซงโดยผู้มีอำนาจในโครงสร้างระบบกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย อีกทั้งแถลงการณ์ของผู้พิพากษาคณากรได้ระบุถึงข้อเรียกร้องจำนวน ๒ ข้อ หนึ่งในนั้นคือ “เรียกร้องให้สภานิติบัญญัติ ออกกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติม พระธรรมนูญศาลยุติธรรม เพื่อห้ามการตรวจร่างคำพิพากษาก่อนอ่านให้คู่ความฟัง ทั้งห้ามกระทำใด ๆ อันมีผลเป็นการแทรกแซงผลคำพิพากษา” อันถือเป็นแนวทางในการป้องกันมิให้เกิดการแทรกแซงเพื่อทำการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเนื้อหาของคำพิพากษา
.
การพิจารณาพิพากษาคดีของผู้พิพากษาจะต้องเป็นอิสระจากการแทรกแซงทั้งปวง เพื่อให้คงไว้ซึ่งความยุติธรรมอันสะท้อนผ่านคำพิพากษาของศาล ซึ่งได้ระบุถึงเจตนารมณ์และหลักการของกฎหมาย ที่ได้รับการปรับใช้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม ดังนั้น การที่ผู้พิพากษาคนหนึ่งซึ่งถือเป็นหนึ่งในตัวแทนของกระบวนการยุติธรรมออกมาพูดถึง “ความไม่เป็นอิสระของการพิจารณาพิพากษาคดี” เรื่องนี้ถือเป็นการชี้ให้เห็นถึงรอยด่างแห่งกระบวนการยุติธรรม ซึ่งก็ไม่มีสิ่งใดที่จะรับประกันได้ว่า จะไม่มีรอยด่างเช่นนี้อยู่ในกระบวนการยุติธรรมอีก
.
สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เชื่อมั่นความยุติธรรมในฐานะ “คุณค่าอันจำเป็นอย่างยิ่งในสังคม” ดังนั้น จึงใคร่ขอให้ศิษย์เก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เป็นสมาชิกรัฐสภา ทั้งในส่วนสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา และคณะรัฐมนตรี รวมถึงผู้มีอำนาจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามข้อเรียกร้อง รวมถึงให้ความคุ้มครองดูแลผู้พิพากษาคณากรโดยเร็ว เพื่อให้สมดังแถลงการณ์ตอนหนึ่งของผู้พิพากษาคณากรที่ว่า “คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา” “คืนความยุติธรรมให้ประชาชน”
.

“เกียรติภูมิจุฬาฯ คือเกียรติแห่งการรับใช้ประชาชน”

สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
๖ ตุลาคม ๒๕๖๒

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ม.112 ปัจจุบัน คือ มรดกของคณะรัฐประหาร หลังเหตุล้อมปราบและสังหารหมู่ 6 ตุลา 19

$
0
0

ม.112 ที่ใช้ในปัจจุบันบัญญัติขึ้นโดยคณะรัฐประหาร 6 ต.ค.2519 หลังเหตุการณ์สังหารหมู่ที่ มธ. โดยยกเลิกมาตราเดิม แล้วบัญญัติ 112 ขึ้นใหม่ เพิ่มโทษสูงสุดจาก 7 เป็น 15 ปี และเป็นครั้งแรกที่มีโทษขั้นต่ำของความผิดนี้ คือ "ตั้งแต่ 3 ปี" ไว้ด้วย

7 ต.ค.2562 วานนี้ (6 ต.ค.62) เนื่องในวาระครบรอบ 43 ปี เหตุการณ์ล้อมปราบและสังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ สนามหลวง เมื่อวันที่ 6 ต.ค.2519 ที่ได้รับความสนใจจากคนจำนวนมาก ทั้งแฮชแท็ก #6ตุลา ขึ้นอันดับ 1 เทรนด์ในทวิตเตอร์อยู่หลายชั่วโมง และติดเทรนด์ตลอดทั้งวัน รวมทั้งคำว่า "6 ตุลา" ยังติดอันดับ 2 ของเทรนด์การค้นหาในวันนี้ของ google ประเทศไทยด้วย

ขณะที่ก่อนหน้านั้น 1 วัน คือวันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมา พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยผ่านเฟสบุ๊คแฟนเพจ โดยระบุว่า ที่ผ่านมาตนกระทรวงดิจิทัลฯ และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการสืบสวนค้นหาผู้ที่เผยแพร่ข่าวหมิ่นสถาบันฯ มาโดยตลอด แต่ที่ไม่ได้แถลงข่าวเป็นระยะๆ จนอาจทำให้ประชาชนรู้สึกไม่ค่อยพอใจ เพราะในขั้นตอนการสืบสวนนั้น จำเป็นต้องสืบให้ได้แน่ชัดก่อนว่าผู้ร่วมขบวนการมีใครบ้าง หรือสื่อออนไลน์เพจไหนเว็บไหนบ้างที่มีความเกี่ยวพัน ซึ่งในขณะนี้ได้สืบสวนสอบสวนจนค่อนข้างแน่ชัดแล้ว อีกภายใน 7 วันนี้ จะมีการแถลงข่าวแน่นอน

ประชาไทอยากพาย้อน ดูกฏหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ หรือ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา112 อย่างที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ ได้รับการบัญญัติขึ้นโดยคณะรัฐประหาร 6 ต.ค.2519 ที่นำโดย พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ในนาม คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ที่ดำเนินการอย่างเป็นลำดับขั้นตอน ลงตามแผนที่วางสถานการณ์ไว้ล่วงหน้าได้ก่อรัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญ พร้อมประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศ หลังเหตุการณ์ล้อมปราบและสังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ดังกล่าว 

ซึ่ง พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล เขียนไว้เมื่อปี 2554 เผยแพร่ทางประชาไท ในหัวข้อ "มาตรา 112 : ผลพวงรัฐประหาร 6 ตุลา 2519" ว่า  21 ตุลาคม 2519 , คณะรัฐประหาร เพิ่มโทษบทบัญญัติมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา ตามคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ข้อ1 โดยปรับโทษจากเดิม "จำคุกไม่เกินเจ็ดปี"เพิ่มขึ้นเป็น "จำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี" อัตราโทษนี้ดำรงอยู่เรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้

กฎหมายดังกล่าวจึงเป็น "กฎหมาย" หรือ "ผลพวง" ของคณะรัฐประหาร และขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตย ซึ่ง คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก. 112)ได้เสนอทางออกไว้เมื่อปี 55 ว่า ทางออก เพื่อสร้างอุดมการณ์ประชาธิปไตยให้มั่นคงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องลบล้างผลพวงอันเป็นสิ่งปฏิกูลที่เกิดเนื่องมาจากการทำรัฐประหาร และยิ่งกว่านั้่น แม้แต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โทษสูงสุดเพียง 3 ปี และไม่มีโทษขั้นต่ำ

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ประธาน กสม. แนะ ประธานศาลฎีกา-ศาลปกครองสูงสุดเร่งตั้ง กสม. ชั่วคราวอย่างน้อย 1 คน ภายใน 10 ต.ค. นี้

$
0
0

'วัส ติงสมิตร' ประธาน กสม. แนะ ประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุดเร่งแต่งตั้ง กสม. ชั่วคราวอย่างน้อย 1 คน ภายใน 10 ต.ค. นี้ เพื่อขอคืนสถานะ A ให้ทันกำหนด ช่วยฟื้นเกียรติภูมิสถาบันสิทธิฯ ของชาติ

7 ต.ค.2562 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รายงานว่า วันนี้ (7 ต.ค.62) วัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 4 ต.ค.ที่ผ่านมา ตนได้มีหนังสือด่วนที่สุดเป็นฉบับที่ 10 ถึงประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุด ขอให้รีบแต่งตั้งบุคคลมาทำหน้าที่เป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นการชั่วคราว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560  (พ.ร.ป. กสม. ปี 60) มาตรา 60 ประกอบมาตรา 22 ทั้งนี้เพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อเกียรติภูมิของประเทศชาติ

“เนื่องจากขณะนี้เหลือเวลาเพียง 5 วันทำการที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ต้องประชุมเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในการส่งรายงานความสอดคล้องกับหลักการปารีสและเอกสารอื่น ๆ รวม 5 รายการ โดยจัดทำเป็นภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส หรือสเปน ทั้งในรูปแบบฉบับพิมพ์และอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อประกอบการประเมินสถานะของ กสม.ไทยขึ้นใหม่ หรือการขอคืนสถานะ A ไปให้ฝ่ายเลขานุการของ Sub-Committee on Accreditation (SCA) ใน Global Alliance of National Human Rights Institutions (GANHRI) ที่ตั้งอยู่ ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ภายในวันอังคารที่ 15 ตุลาคม 2562 นี้ ประกอบกับวันที่ 12 - 14 ตุลาคม 2562 เป็นวันหยุดราชการ กสม. จึงต้องเปิดประชุม กสม. อย่างช้าในวันศุกร์ที่ 11 ตุลาคม 2562 หากเปิดประชุมไม่ทันวันดังกล่าว ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติในการยื่นขอคืนสถานะ A ของ กสม. ไทย” วัส กล่าว

ประธาน กสม. กล่าวอีกว่า การแต่งตั้งบุคคลมาทำหน้าที่ กสม.เป็นการชั่วคราว สามารถกระทำได้ไม่ยาก  โดยประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองอาจพิจารณาจากรายชื่อบุคคลซึ่งเข้ารับการสรรหามาหลายรอบ และผ่านการตรวจสอบของคณะกรรมการสรรหาฯ แล้วจำนวนหลายสิบรายชื่อก็ได้ ในจำนวนบุคคลดังกล่าวตนทราบมาว่ามีผู้ที่มีความพร้อมและเสียสละเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับ กสม.ที่เหลือ

“หากประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุดร่วมกันแต่งตั้งบุคคลมาทำหน้าที่ กสม.เป็นการชั่วคราวอย่างน้อยเพียง 1 คนก่อนภายในวันพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม นี้ กสม. ก็จะสามารถเปิดประชุมในวันศุกร์ที่ 11 ตุลาคม นี้ได้ เพื่อพิจารณาส่งเอกสารการขอคืนสถานะจากเครือข่ายสถาบันสิทธิมนุษยชนสากล (GANHRI) ได้ทันกำหนดเส้นตาย ส่วนกรรมการชั่วคราวที่เหลือสามารถทยอยแต่งตั้งในภายหลังต่อไปก็ได้” วัส กล่าว

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

จิรายุ ในฐานะ ประธาน กมธ.กิจการศาลฯ เตรียมเชิญอธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 ชี้แจง

$
0
0

7 ต.ค. 2562 จิรายุ ห่วงทรัพย์ ประธานกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กร อัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชนและกองทุน เปิดเผยว่า ได้เสนอวาระในการประชุมกรรมาธิการกิจการศาลฯ ในวันที่ 17 ต.ค. เวลา 9.00 น. ที่รัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติพระธรรมนูญศาลฉบับแก้ไขเพิ่มเติม หลังจากคณากร เพียรชนะ ระบุเคยเสนอต่อนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และสภานิติบัญญัติให้เร่งออกกฎหมายพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ที่ห้ามตรวจร่างคำพิพากษาของผู้พิพากษาก่อนอ่านให้คู่ความฟัง และอีกหลายประเด็น เพื่อนำเสนอยกร่างแก้ไขต่อไป

"ได้นำเรื่องดังกล่าวเสนอเพื่อพิจารณาเป็นข้อศึกษาในเชิงป้องกันและแก้ไข และจะความเห็นทุกภาคส่วนมาพิจารณาศึกษาเพื่อเสนอแก้ไข พรบ. ในสมัยประชุมรัฐสภาต้นเดือน พ.ย. นี้ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีกต่อไป และในอนาคตจะเป็นประโยชน์ต่อคู่ความทั้งโจทก์และจำเลยอย่างยิ่ง ส่วนการเชิญผู้มาชี้แจงจะเชิญอธิบดีผู้พิพากษาภาค9, ผู้แทนจากสำนักงานกฤษฎีกา ผู้แทนจากสำนักงานศาลยุติธรรม,ผู้แทนจากกระทรวงยุติธรรม เข้ามาชี้แจงในวันที่ 17 ต.ค. ด้วย ขณะที่ผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ ที่พักรักษาตัวอยู่ต้องรอดูอาการก่อน หากท่านพร้อมจะชี้แจงกรรมาธิการก็ยินดีอย่างยิ่ง"

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ตั้ง 3 ก.ต.สอบข้อเท็จจริงปม 'ผู้พิพากษายะลา' ยิงตัวเองภายใน 15 วัน - ประยุทธ์ยันไม่แทรกแซง

$
0
0

'ประยุทธ์' ยันไม่มีใครแทรกแซงกระบวนการของศาล ขณะที่ 12 องค์กรจี้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีผู้พิพากษายะลาอ้างถูก "แทรกแซง"

สราวุธ เบญจกุล เลขาธิการศาลยุติธรรม ได้เดินทางมาเยี่ยมอาการ นายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมา

7 ต.ค.2562 วันนี้ สราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ครั้งที่ 15/2562 ซึ่งได้มีการประชุม ณ ศาลฎีกา เมื่อเวลา 13.30 น. โดยมี ไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา เป็นประธานการประชุม ว่าการประชุม ก.ต. ในวันนี้ ก.ต. ผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 15 คนได้มาประชุมโดยพร้อมเพรียงกัน ซึ่งหลังจากที่ได้พิจารณาระเบียบวาระการประชุมตามที่ฝ่ายเลขาได้แจ้งไปล่วงหน้าเสร็จสิ้นแล้ว ตนได้แถลงสรุปข้อเท็จจริงกรณี คณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลา ก่อเหตุใช้อาวุธปืนยิงตัวเองในห้องพิจารณาคดี เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2562 ให้ที่ประชุม ก.ต. ทราบ และภายหลังจากที่ประชุม ก.ต. รับทราบข้อมูลและพิจารณาแล้ว มีมติให้ตั้งอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมวิสามัญ

ซึ่งประกอบด้วย ก.ต. ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 3 คน เป็นอนุกรรมการวิสามัญ ได้แก่ 1) วาสนา หงส์เจริญ ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา (ก.ต. ผู้ทรงคุณวุฒิในชั้นศาลฎีกา) เป็นประธานอนุกรรมการวิสามัญ 2) อนุรักษ์ สง่าอารีย์กูล ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ (ก.ต. ผู้ทรงคุณวุฒิในชั้นศาลอุทธรณ์) เป็นอนุกรรมการวิสามัญ และ 3) สุวิชา สุขเกษมหทัย ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอาญา (ก.ต. ผู้ทรงคุณวุฒิในชั้นศาลชั้นต้น) เป็นอนุกรรมการวิสามัญ โดยกำหนดให้อนุกรรมการวิสามัญดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ และรายงานให้ ก.ต. ทราบภายใน 15 วัน ทั้งนี้ หากมีรายละเอียดเพิ่มเติมสำนักงานศาลยุติธรรมจะแจ้งให้ทราบต่อไป

ประยุทธ์ ยันไม่มีใครแทรกแซงกระบวนการของศาล

ขณะที่ โพสต์ทูเดย์ รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ กล่าวถึงกรณีนี้ว่า เรื่องของผู้พิพากษา การตัดสินคดีก็เป็นเรื่องของศาล กระบวนการยุติธรรม ก็ได้ชี้แจงไปแล้ว เลขาธิการศาลยุติธรรม ก็ได้ชี้แจงแล้ว ว่าไม่มีใครสามารถจะไปแทรกแซงกระบวนการของศาลได้ อันนี้เป็นเรื่องของศาล กระบวนการยุติธรรม ตนไม่อยากขยายความขัดแย้ง

"ส่วนกรณีที่มีการแสดงความคิดเห็นในโซเชียลมีเดีย. ก็เป็นเรื่องของโซเชียล ซึ่งวันนี้มีเยอะแยะอยู่แล้ว วิพากษ์ วิจารณ์กันไปมาอยู่แล้ว แต่ผมยึดถือตามกระบวนการยุติธรรม ทั้งหมดทุกประการ" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

12 องค์กรจี้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีผู้พิพากษายะลาอ้างถูก "แทรกแซง"

วันเดียวกัน สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและองค์กรภาคประชาสังคม รวม 12 องค์กร ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลจังหวัดยะลา อ้างว่า ถูกแทรกแซงความเป็นอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดี โดยมีเนื้อหาดังนี้ 

ตามที่ปรากฏข่าวจากสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2562 ว่า นายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลจังหวัดยะลา ได้ใช้อาวุธปืนยิงตัวเองในห้องพิจารณาคดี บัลลังก์ 4 ศาลจังหวัดยะลา ภายหลังจากที่อ่านคำพิพากษายกฟ้องคดีหนึ่ง

ต่อมาปรากฏแถลงการณ์ในสำนวนคดีอาญาหมายเลขคดีดำที่ 3428/2561 ศาลจังหวัดยะลา โดยมีนายคณากร เป็นผู้ลงชื่อท้ายคำแถลงนั้น อ้างถึงเหตุการณ์ เกี่ยวกับการทำคำพิพากษาของนายคณากร ที่ต้องส่งให้อธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 ตรวจ โดยมีผู้พิพากษาที่เกี่ยวข้องทำบันทึกความเห็นว่าไม่เห็นด้วยกับร่างคำพิพากษาของนายคณากรที่พิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 5 และให้นายคณากรทำคำพิพากษาใหม่ตามความเห็นของหัวหน้าภาคกับอธิบดีผู้พิพากษาภาค ซึ่งคัดค้านและขอแก้ไขคำพิพากษานั้นไม่ได้เป็นไปตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 11(1) และไม่มีกฎหมายรองรับให้สามารถทำได้ นอกจากนี้ ในคำแถลงยังระบุว่ามีวิธีการปฏิบัติในลักษณะเดียวกันนี้อีกในอีกหลายคดี

จากกรณีที่นายคณากรกล่าวอ้างนั้น สะท้อนให้เห็นถึงสภาพปัญหาการขาดความเป็นอิสระในการพิพากษาคดีของผู้พิพากษา ซึ่งถูกกำหนดให้ต้องรายงานและส่งร่างคำพิพากษาให้อธิบดีผู้พิพากษาภาคตรวจสอบก่อน ตามระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยมาตรฐานการรายงานคดีและการตรวจสำนวนคดีในสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค พ.ศ.2560 ซึ่งต่อมาถูกยกเลิกและแทนที่โดยระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยการรายงานคดีสำคัญในศาลชั้นต้นและศาลชั้นอุทธรณ์ต่อประธานศาลฎีกาและรายงานคดีและการตรวจสำนวนคดีในสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค พ.ศ.2562 ระเบียบดังกล่าวเป็นช่องทางให้เกิดการแทรกแซงความเป็นอิสระในการพิพากษาคดีขึ้นได้

หากข้อเท็จจริงเป็นดังเช่นแถลงการณ์ของนายคณากร ย่อมสร้างความเสียหายให้กับระบบกระบวนการยุติธรรมและก่อความเสียหายแก่ประชาชนอย่างร้ายแรง และอาจทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในระบบยุติธรรมของประเทศได้

การป้องกันการการแทรงแซงอำนาจตุลาการในการพิจารณาพิพากษาคดีนั้นถือเป็นหัวใจสำคัญในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และองค์กรภาคประชาสังคมที่มีรายชื่อด้านล่างนี้ จึงขอเสนอข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้

1. ขอให้คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่นายคณากรกล่าวอ้างในคำแถลงการณ์ โดยคณะกรรมการต้องอิสระและเป็นกลาง หากพบการกระทำความผิดก็ให้ดำเนินคดีทั้งทางวินัยและอาญาตามกระบวนการต่อไปโดยเร็ว และแจ้งผลต่อสาธารณะเพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น ทั้งนี้ ก.ต. ต้องดำเนินการเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของนายคณากร และครอบครัวในระหว่างที่มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและสอบสวนคดีที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้นายคณากรอยู่ในภาวะที่สามารถให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานต่อคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้อย่างอิสระ ไม่ถูกข่มขู่ คุกคามจากบุคคลใด

2. ขอให้ประธานศาลฎีกาพิจารณาทบทวนแก้ไข ระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยการรายงานคดีสำคัญในศาลชั้นต้นและศาลชั้นอุทธรณ์ต่อประธานศาลฎีกาและรายงานคดีและการตรวจสำนวนคดีในสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค พ.ศ.2562 และสร้างกลไกอย่างเป็นทางการเพื่อให้เกิดการพิจารณาคดีอย่างถูกต้อง เป็นธรรม และป้องกันไม่ให้มีการแทรกแซงความเป็นอิสระของผู้พิพากษา และให้ผู้พิพากษาที่ถูกแทรกแซงสามารถร้องเรียนขอความเป็นธรรมได้อย่างปลอดภัย ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชณอาณาจักรไทย มาตรา 188

3. ขอให้ผู้พิพากษาทุกท่านมีความกล้าหาญทางจริยธรรมและไม่ยอมจำนนต่ออำนาจอิทธิพลนอกกฎหมาย รวมทั้งอคติของผู้ใด อันจะทำให้การพิจาณาพิพากษาคดีเสียความยุติธรรมไป ทั้งนี้ เพื่อดำรงไว้ซึ่งเกียรติและศักดิ์ศรีของผู้พิพากษาในการสร้างความเป็นธรรมในสังคม

4. ขอให้สื่อมวลชนทั้งหลายนำเสนอข่าวโดยเคารพจรรยาบรรณสื่อมวลชน เสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมา ไม่บิดเบือนให้เป็นประเด็นทางการเมือง อันอาจก่อให้เกิดความแตกแยกแบ่งฝ่าย หรือลดทอนศักดิ์ศรีของบุคคลใด และขอให้ใช้โอกาสนี้นำเสนอข่าวเพื่อให้เป็นประโยชน์ในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมต่อไป

ทั้งนี้ สมาคมฯ และองค์กรภาคประชาสังคมเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าเกียรติศักดิ์และความมั่นคงของสถาบันตุลาการ จะดำรงอยู่และเป็นที่เชื่อถือไว้วางใจของประชาชนได้นั้น จะต้องอาศัยกระบวนการยุติธรรมที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ และต้องรับฟังความคิดเห็นและเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชน

ด้วยความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

แถลงมา ณ วันที่ 7 ตุลาคม 2562

กรุงเทพมหานคร

 

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน

สมาคมส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม

ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น

ศูนย์กฎหมายสิทธิชุมชน

ศูนย์กฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชนภาคอีสาน

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา

มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน

มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม

มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ปอท.จับนักกิจกรรมตั้งข้อหาผิด พ.ร.บ.คอมฯ ทนายชี้แค่โพสต์ประวัติศาสตร์ต่างประเทศ

$
0
0

ปอท. คุมตัวกาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์ นักกิจกรรมทางการเมือง ตั้งข้อหาผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ทนายเผยเกิดจากโพสต์ความเห็นเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในต่างประเทศ ซึ่งตรวจสอบดูแล้วพบว่าไม่ได้พาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์ไทย แต่เจ้าหน้าที่ระบุเป็นคดีความมั่นคง เร่งสอบปากคำกลางดึก เตรียมขออำนาจศาลฝากขังพรุ่งนี้

ที่มาภาพจาก Banrasdr Photo

7 ต.ค. 2562 วิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ (สกสส.) เปิดเผยกับประชาไทว่า ได้รับการประสานงานจาก กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชกรรมทางเทคโนโลยี ว่า ได้มีการควบคุมตัว กาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์ บัณฑิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักกิจกรรมทางการเมือง ตามหมายจับ ฐานกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาตรา 14

วิญญัติระบุว่า กาณฑ์ ถูกควบคุมตัวในเวลา 20.00 น. ยังไม่แน่ชัดว่าถูกควบคุมตัวที่ใด แต่คาดว่าจะเป็นการควบคุมตัวที่บ้าน โดยเจ้าหน้าที่ได้ออกหมายจับ โดยข้ามขั้นตอนการออกหมายเรียกมารับทราบข้อกล่าวหาก่อน และเจ้าหน้าที่บอกว่า จะมีการสอบปากคำในคืนในทันที จากนั้นจะควบคุมตัวกาณฑ์ไปขออำนาจศาลฝากขัง

ส่วนสาเหตุของการจับจำกุมตัวนั้น วิญญัติเปิดเผยว่า ปอท. ชี้ว่าคดีนี้เป็นคดีความมั่นคง โดยมีการนำหลักฐานเป็นภาพที่มีการตัดต่อ ว่า บัญชีเฟซบุ๊คชื่อ “กาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์” ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในต่างประเทศ โดยมีลักษณะของการนำไปเสียบประจาน และกล่าวหาว่าเป็นหมิ่นประมาทกษัตริย์ ซึ่งเมื่อตรวจสอบดูแล้วไม่มีการพาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์ไทย

ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานเพิ่มเติมว่า บัญชีชื่อ “กาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์” ไม่สามารถเข้าถึงได้แล้ว

ทั้งนี้วิญญัติระบุด้วยว่า ตามปกติแล้วการขออำนาจศาลเพื่อฝากขังนั้นจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อเป็นคดีที่มีโทษสูง และผู้ต้องหามีพฤติการณ์หลบหนี หรือมีจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐาน อย่างไรก็ตามหากศาลอนุญาตให้ฝากขังก็จะดำเนินการประกันตัวทันที และตามที่ได้สังเกตคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ศาลมักอนุญาตให้ประกันตัว

บีบีซีไทยรายงานด้วยว่า ด้าน ปอท. ได้ส่งข้อความแจ้งผู้สื่อข่าวว่า วันที่ 8 ต.ค. เวลา 10.00น. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับ บก.ปอท.แถลงข่าวจับกุม ผู้ต้องหาคดีความมั่นคง ซึ่งในการนี้ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะเดินทางมาร่วมแถลงข่าวกับ พล.ต.ต.ไพบูลย์ น้อยหุ่น ผบก.ปอท. ณ บก.ปอท. ชั้น4 ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ อาคารบี

สำหรับกาณฑ์ ก่อนหน้านี้เขาเคยร่วมเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้งช่วงปี 2561 ในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และเขายังเคยโดนดำเนินคดีจากการเคลื่อนไหวเรียกร้องดังกล่าวด้วย

ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานเพิ่มเติมด้วยว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีการเผยแพร่ภาพ SMS อ้างมาจาก 'Royal Thai Palace' เตือนนักกิจกรรมให้ลบบัญชีในโซเชียลมีเดียจากการแสดงความเห็น #ขบวนเสด็จ ซึ่งในครั้งนั้นประชาไทสอบถามไปยัง 'กองวัง' ยันได้รับการยืนยันว่า ไม่น่าใช่ของที่นี่เพราะไม่เคยมีการตอบโต้อะไรแบบนี้

นักกิจกรรมเจอ SMS อ้าง 'Royal Thai Palace' เตือนให้ลบโซเชียลฯ หลังแสดงความเห็น #ขบวนเสด็จ

พุทธิพงษ์ทนไม่ได้ ลั่นไม่เกิน 7 วัน แถลงข่าวใหญ่จับผู้เผยแพร่ข่าวหมิ่นสถาบันฯ

อีกทั้ง 5 ต.ค.ที่ผ่านมา พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยผ่านเฟสบุ๊คแฟนเพจ โดยระบุว่า ที่ผ่านมาตนกระทรวงดิจิทัลฯ และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการสืบสวนค้นหาผู้ที่เผยแพร่ข่าวหมิ่นสถาบันฯ มาโดยตลอด แต่ที่ไม่ได้แถลงข่าวเป็นระยะๆ จนอาจทำให้ประชาชนรู้สึกไม่ค่อยพอใจ เพราะในขั้นตอนการสืบสวนนั้น จำเป็นต้องสืบให้ได้แน่ชัดก่อนว่าผู้ร่วมขบวนการมีใครบ้าง หรือสื่อออนไลน์เพจไหนเว็บไหนบ้างที่มีความเกี่ยวพัน ซึ่งในขณะนี้ได้สืบสวนสอบสวนจนค่อนข้างแน่ชัดแล้ว อีกภายใน 7 วันนี้ จะมีการแถลงข่าวแน่นอน

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

วันงานที่มีคุณค่าสากล แรงงานร้อง รบ.ยกเลิกจ้างงานที่ไม่มั่นคง - คนงานรังสิตชูแก้รัฐธรรมนูญ

$
0
0

2 องค์กรแรงงานจับมือเครือข่ายรณรงค์ในวันงานที่มีคุณค่าสากลประกาศเจตนารมณ์พร้อมเสนอรัฐยกเลิกการจ้างงานที่ไม่มั่นคง เร่งสร้างงานที่มีคุณค่าแห่งอนาคต กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตฯ ชูแก้รัฐธรรมนูญ

7 ต.ค.2562 เนื่องใน “วันงานที่มีคุณค่าสากล” (World Day for Decent Work) มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงันรายงานว่า วันนี้ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ร่วมกับเครือข่ายองค์กรแรงงานทั้งในระบบ นอกระบบ และแรงงานข้ามชาติ ซึ่งมีการตั้งเป็นคณะทำงานรณรงค์ “ยกเลิกการจ้างงานที่ไม่มั่นคง เร่งสร้างงานที่มีคุณค่าแห่งอนาคต :Dencent Work for Future of work” โดยคณะทำงานได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผ่านทาง สุภรณ์ อัตถาวงศ์ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งมารับหนังสือแทน

ภาพโดย Sriprai Nonsee

ศรีไพร นนทรีย์ รายงานกับผู้สื่อข่าวด้วยว่า วันนี้ในขบวนรณรงค์ “วันงานที่มีคุณค่าสากล” กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิต และใกล้เคียงที่ร่วมเดินขบวนยังมีการรณรงค์เรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย 

ภาพโดย Sriprai Nonsee

มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน รายงานเพิ่มเติมว่า สาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการ สรส. กล่าวว่า คสรท.และ สรส. มีข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาล โดยเสนอว่า ควรมีการกำหนดนโยบายและมาตรการ “ยกเลิกการจ้างงานที่ไม่มั่นคง” ซึ่งมีรูปแบบที่หลากหลาย ในทุกหน่วยงาน ทั้งธุรกิจเอกชน ราชการและรัฐวิสาหกิจ แรงงานภาคเกษตร แรงงานนอกระบบ คนทำงานบ้าน แรงงานข้ามชาติ “เร่งสร้างงานที่มีคุณค่าแห่งอนาคต : Decent work for Future of work” เพื่อให้คนทำงานทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีมีความมั่นคงในการทำงาน มีหลักประกันในการดำรงชีวิตมีความปลอดภัยในการทำงานของคนทำงานในทุกกลุ่มสาขาอาชีพ ปฏิบัติการดำเนินนโยบายและแผนงานตามหลักการมาตรฐานและกติกาสากลที่รัฐบาลไทยได้ให้การรับรองไว้ และขอติดตามข้อเสนอเดิมที่เคยยื่นไว้เมื่อปีที่ผ่านมา โดยเชื่อว่า หากรัฐบาลมุ่งมั่นตั้งใจจริงจะเกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายรัฐบาล ผู้ประกอบการ และคนทำงาน ซึ่งนั่นก็หมายถึงประโยชน์ของประเทศชาติ ซึ่งเป็นเป้าหมายของประเทศและเป็นเป้าหมายของรัฐบาลที่ได้ประกาศต่อสาธารณชนก่อนหน้านี้แล้ว หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ข้อเสนอที่มีคุณค่านี้ จะได้รับการพิจารณาดำเนินการจากรัฐบาล ซึ่ง คสรท. และ สรส. จะติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

ภาพโดย Sriprai Nonsee

กลุ่มดังกล่าวยังได้ ประกาศเจตนารมณ์ต่อผู้แทน พล.อ.ประยุทธ์ และรองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน โดยมีรายละเอียดดังนี้

ตามที่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) กำหนดให้วันที่ 7 ตุลาคม ของทุกปีเป็นวันงานที่มีคุณค่าสากล ซึ่งมีที่มาจากการประชุมใหญ่ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ครั้งที่ 87 พ.ศ. 2547 ขบวนแรงงานทั่วโลกได้จัดรณรงค์เพื่อการจ้างงานที่ดี และมั่นคง โดยหลักการแล้ว เชื่อว่างานที่มีคุณค่าจะยกระดับคุณภาพชีวิตในการทำงาน และส่งเสริมให้มีการพัฒนาแรงงานที่ยั่งยืน หากวิเคราะห์ถึงสถานการณ์การจ้างงานในประเทศไทยในขณะนี้นั้น แม้จะเป็นหนึ่งใน 45 ประเทศที่ร่วมก่อตั้งองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ หรือILO แต่การให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับต่างๆ มีน้อยมาก จาก 190 ฉบับ แต่รัฐบาลไทยรับรองเพียง 16 ฉบับ การให้ความสำคัญต่อมาตรการต่างๆเพื่อการคุ้มครองคนงานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ยังไม่มีมีมาตรการที่ดีเพียงพอที่จะเป้นหลักประกันแก่คนงาน ทำให้คนงานต้องเผชิญกับภาวการณ์ถูกเอาเปรียบ หากนำเรื่องานที่มีคุณค่ามาตรวจสอบ เช่น สิทธิการก่อตั้งสหภาพแรงงาน การเจรจาต่อรองไม่ได้รับการคุ้มครองที่ดีพอ จนทำให้การเจรจาเรียกร้อง เพื่อแบ่งปันผลประประโยชน์ระหว่างนายจ้าง กับลูกจ้างใช้เวลายาวนาน และเมื่อตกลงกันได้แล้วนายจ้างยังละเมิดข้อตกลง และรุ่นยแรงคือ ละเมิดต่อกฎหมายเกิดการเผชิญหน้ากัน

ประเด็นแรงงานนอกระบบ คนทำงานบ้าน คนทำงานอิสระ แรงงานภาคเกษตร ทั้งภาคการผลิต และภาคบริกหาร ยังต้องวเผชิญกับความไม่แน่นอนในอาชีพ ค่าจ้าง สวัสดิการ ยิ่งการจ้างงานในรูปแบบเศรษฐกิจยุคดิจิทัล ระบบออนไลน์ ที่เรียกว่า แพลตฟอร์มต่างๆที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เช่น คนขับรถส่งของ ส่งคน ส่งอาหาร แทบทั้งหมดบริษัทไม่ได้มองผู้ให้บริหารเป็นพนักงาน แต่เป็นเพียงคู่สัญญา ซึ่งทำให้ บริษัทไม่ต้องดูแลเรื่องสวัสดิการต่างๆ ระบบการประกันสังคม รวมถึงค่าตอบแทนการจ้างงาน นอกจากนี้ การร้สถานะพนักงานทำให้ผู้ให้บริการขาดอำนาจต่อรองกับบริษัท เจ้าของแพลตฟอร์ม คือ การลดทอนมาตรฐานการคุ้มครองแรงงานภายใต้ระบบเทคโนโลยีใหม่

ประเด็นต่อมาเรื่องแรงงานข้ามชาติ ก็ยังไม่สามารถเข้าถึงหลักประกันทางสังคม ต้องต่อสู้เรียกร้องเพื่อชีวิตที่ดีกว่า จากการเอาเปรียบขูดรีดจนถึงวันนี้แม้ว่ารัฐบาลจะมีความพยายามในการแก้ไขปัญหา ด้วยการออกกฎหมาย ดำเนินการทางนโยบาย แต่การปฏิบัติก็เป็นไปด้วยความล่าช้า เพราะด้วยปัญหาที่หมักหมม สั่งสมมาเป็นเวลานาน ทั้งกระบวนการนายหน้า การหาประโยชน์จากแรงงานข้ามชาติ การค้ามนุษย์ จนนานาชาติส่งสัญญาณที่ไม่ดีต่อสถานการณ์การละเมิดสิทธิแรงงานของประเทศไทย

ประเด็นการจ้างงานในรัฐวิสาหกิจ ก็ไม่มีความแตกต่าง แม้ว่าวัตถุประสงค์แต่แรกของการจัดตั้งรัฐวิสาหกิจ คือ การบริหารจัดการทรัพยากรของประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยเฉพาะการสร้างงานบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนทุกคนในชาติ ผ่านกลไกและเครื่องมือของรัฐที่เรียกว่า “รัฐวิสาหกิจ”

แต่ปัจจุบันความคิดและนโยบายของรัฐถูกครอบงำด้วยระบบทุนนิยมเสรีกำหนดนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นเอกชนเข้ามาทำหน้าที่แทนรัฐส่วนที่ยังคงสถานะให้เป็นรัฐวิสาหกิจ ก็บังคับให้ต้องแสวงหากำไรลดต้นทุนรายจ่ายจำกัดอัตรากำลังแรงงานด้วยการไม่รับพนักงานใหม่เข้ามาทำงานทดแทนผู้ที่เกษียณอายุการปฏิบัติงาน แต่ให้ใช้วิธีการจ้างแรงงาน Outsourcing ผ่านการจ้างแรงงานรับเหมาช่วง การจ้างทำของ รวมทั้งการจ้างแรงงานสัญญาระยะสั้น คนเหล่านี้แทบจะไม่ได้รับสวัสดิการใด ๆ ซึ่งในที่สุดแล้ว การบริการสาธารณะจะเกิดการผูกขาดโดยกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ราคาค่าบริการจะแพงขึ้น พนักงานลูกจ้างจะไม่มีหลักประกันในชีวิตและงานที่มั่นคง

ประเด็นการจ้างงานในภาคราชการ ปฏิเสธไม่ได้ว่านายจ้าง ก็คือ รัฐบาล แต่ในปัจจุบันรูปแบบการจ้างงานภาครัฐก็เป็นไปในลักษณะการจ้างงานแบบชั่วคราว ตามสัญญาจ้างจ่ายค่าจ้างด้วยเงินที่ไม่ได้มาจากงบประมาณแผ่นดินก่อให้เกิดปัญหาเรื่องความไม่เป็นธรรมเลือกปฏิบัติหรืองานบางอย่างก็มอบหมายให้เอกชนรับงานไปทำเป็นส่วน ๆ ไป ซึ่งการจ้างงานที่กล่าวมานี้เป็นนโยบายของรัฐบาล จึงได้แพร่กระจายตามในหน่วยงานของรัฐทุกกระทรวง ทั้งในส่วนกลางและระดับท้องถิ่น ซึ่งก่อให้เกิดความไม่มั่นคงในอาชีพดังเช่น พยาบาล เภสัชกร หรือบุคลากรด้านสาธารณสุข ลูกจ้างในระบบประกันสังคม และที่เลวร้ายกว่านั้น คือในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานมีการจ้างครูแบบสัญญาจ้างชั่วคราวไม่มีหลักประกันใด ๆ ในเรื่องค่าจ้าง สวัสดิการไม่มีงบประมาณในการสนับสนุนอย่างเพียงพอทำให้ขาดแคลนบุคลากรด้านการศึกษา หลายโรงเรียงในหลายจังหวัดแก้ปัญหาด้วยการ “ทอดผ้าป่าเพื่อการศึกษา” เพื่อนำเงินไปจ้างครูและซื้ออุปกรณ์ด้านการศึกษาทำให้การศึกษาของไทยไม่พัฒนาให้ก้าวหน้าติดหล่มล้าหลัง ต่ำกว่ามาตรฐาน เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค และในระดับนานาชาติ

ดังนั้นในสถานการณ์ปัจจุบันและในอนาคตรัฐบาลจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทบทวนมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้คนงานเข้าถึงหลักการของ “งานที่มีคุณค่า” ที่สำคัญต้องมีหลักประกันให้คนงานให้เขาสามารถเข้าถึงหลักการได้จริงโดยเฉพาะการเสริมสร้างอำนาจการต่อรองให้กับคนงานให้เขาสามารถรวมตัวจัดตั้งองค์กร และมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ คือ ต้องใช้กลไกของคนงาน คือ สหภาพแรงงาน ร่วมดำเนินการในทุกมิติเพื่อให้ปัญหาการละเมิดสิทธิเบาบางลง ซึ่งน่าจะเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้สถานการณ์การละเมิดสิทธิแรงงานของประเทศไทยดีขึ้น และได้รับการยอมรับ และนั่นหมายถึงบทบาทของไทยในเวทีโลกที่ผ่านมารัฐบาลไทยก็พยายามแสดงบทบาทในเวทีโลกในความพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าว เช่น การรับรองหลักการขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UN Guiding Principle on Business and Human Rights :UNGP)

เพื่อกำหนดความสัมพันธ์หน้าที่ของรัฐและความรับผิดชอบของภาคธุรกิจในการคุ้มครอง (Protect) เคารพ (Respect) และเยียวยา (Remedy) และเมื่อวันที่16 พฤษภาคม 2559 คณะรัฐมนตรียังได้มีมติเห็นชอบจัดทำและดำเนินการตามแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วย ธุรกิจและสิทธิมนุษยชน(National Action Plan on Business and Human rights – NAP) เพื่ออนุวัติการตามหลักการ UNGP และการที่รัฐบาลไทยได้ลงนามยอมรับหลักการเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals–SDGs )โดยแต่ละประเทศต้องเริ่มดำเนินการ พ.ศ. 2559 (ค.ศ. 2016) จนถึงพ.ศ. 2579 (ค.ศ. 2030) ซึ่งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) นั้นมีทั้งหมด 17 ด้าน ในแผนงานลำดับที่ 8ว่าด้วยการจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องครอบคลุมและยั่งยืน การจ้างงานที่มีคุณค่าเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน โดยบรรลุเป้าหมายการผลิตในระดับที่สูงขึ้น และผลิตผ่านนวัตกรรมทางเทคโนโลยี สนับสนุนนโยบายที่ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการและการสร้างงานซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในเรื่องนี้เช่นเดียวกับมาตรการที่มีประสิทธิภาพที่จะกำจัดการบังคับใช้แรงงานทาสและการค้ามนุษย์ ด้วยเป้าหมายเหล่านี้ ภายในปี 2573 ต้องให้เกิดการจ้างงานเต็มรูปแบบและมีประสิทธิภาพและการทำงานที่เหมาะสม

ดังนั้น ประเทศไทยตามที่รัฐบาลประกาศแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ที่จะนำประเทศสู่ความ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน รวมทั้งเงื่อนไขที่จะปฏิบัติตามแผนงานของสหประชาชาติ 17 ด้าน(Sustainable development goals : SDGs) นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2015 ถึงค.ศ. 2030 ที่จะต้องขจัดความยากจนและความหิวโหยในทุกพื้นที่ ลดความเหลื่อมล้ำทั้งภายในและระหว่างประเทศ สร้างสังคมที่มีความสงบสุข ยุติธรรม และครอบคลุม ปกป้องสิทธิมนุษยชน สร้างงานที่มีคุณค่า ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ รวมทั้งเสริมพลังแก่สตรีและเด็กผู้หญิงและปกป้องโลกและทรัพยากรธรรมชาติ ความพยายามของรัฐที่กล่าวมาทั้งหมดยากที่จะบรรลุสู่เป้าหมายได้หากคนกลุ่มใหญ่ คือ ผู้ใช้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ถดถอย ตกต่ำไม่มีหลักประกันในการดำรงชีวิต เนื่องในวันงานที่มีคุณค่าสากลใน ปี 2562

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

เฟสบุ๊คแอบเปลี่ยนกฎ ปล่อยให้นักการเมืองโฆษณาได้แม้จะเป็นข้อมูลเท็จ

$
0
0

จุดด์ เลกัม นักข่าวอเมริกันรายงานเรื่องที่โซเชียลมีเดียเฟสบุ๊คแอบเปลี่ยนแปลงกฎเกี่ยวกับการห้ามเผยแพร่ข้อมูลเท็จ โดยละเว้นเป็นกรณีพิเศษให้สำหรับ "โฆษณาทางการเมือง" ทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องที่พวกเขาอนุญาตให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เผยแพร่โฆษณาใหม่บนเฟสบุ๊คได้ถึงแม้ว่าจะมีเว็บตรวจสอบข้อเท็จจริงจากภายนอกที่ได้รับการรับรองจากเฟสบุ๊คระบุว่าเป็นข้อมูลเท็จก็ตาม

ที่มาของภาพประกอบ: pexels.com

จากที่ก่อนหน้านี้เฟสบุ๊คเคยมีกฎสั่งห้ามไม่ให้มีโฆษณาที่มีเนื้อหา "หลอกลวง เป็นเท็จ หรือชวนให้ไขว้เขว" ในเฟสบุ๊ค แต่นักข่าวจุดด์ เลกัม นักข่าวอเมริกันผู้เคยทำงานให้สื่อสายก้าวหน้าอย่าง ThinkProgress ก็ระบุว่เฟสบุ๊คแอบเปลี่ยนกฎในเรื่องนี้อย่างเงียบๆ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ให้ "โฆษณาทางการเมือง" สามารถเผยแพร่ได้ถึงแม้จะมีข้อมูลเท็จ นั่นทำให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เผยแพร่วิดีโอโฆษณาโจมตีผู้แทนฝ่ายตรงข้ามคือ โจ ไบเดน ได้โดยไม่ถูกห้าม มีการตั้งข้อสังเกตว่าฝ่ายหาเสียงของประธานาธิบดีทรัมป์เพิ่มเงินซื้อโฆษณาจากเฟสบุ๊คมากกว่า 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

โฆษณาใส่ร้ายป้ายสีที่มาจากเพจของโดนัลด์ ทรัมป์ ระบุว่า "โจ ไบเดน สัญญาว่าจะให้เงินแก่ยูเครน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถ้าหากพวกเขาไล่อัยการที่สืบสวนเรื่องบริษัทของลูชายเขาออก" ซึ่งเว็บไซต์ตรวจสอบข้อเท็จจริงหลายแห่งระบุว่าไม่เป็นความจริง เช่น factcheck.org ระบุว่า "ไม่มีหลักฐานใดๆ ที่ระบุว่าฮันเตอร์ ไบเดน (ลูกชายของโจ ไบเดน) ตกอยู่ภายใต้การสืบสวนสอบสวนใดๆ" ส่วน Politifact ระบุว่า "ฮันเตอร์ ไบเดน ทำงานในยูเครนก็จริง แต่พวกเราไม่พบข้อมูลใดๆ ที่ระบุว่ารองประธานาธิบดี โจ ไบเดน ช่วยเหลือเขาเลย"

อย่างไรก็ตามโฆษกของเฟสบุ๊คกล่าวว่าโฆษณาตัวนี้ไม่ถือเป็นการละเมิดนโยบายขอเฟสบุ๊คเพราะโฆษณาจากผู้แทนทางการเมืองไม่อยู่ในข่ายของสิ่งที่ต้องถูกพิจารณาข้อเท็จจริง

ก่อนหน้านี้ทางเฟสบุ๊คมีกฎระบุห้ามไม่ให้เนื้อหาเหล่านี้นำเสนอข้อมูลเท็จเช่นเนื้อหาที่ถือเป็น "โฆษณา, เพจหน้าแรก และการทำธุรกิจ" แต่ล่าสุดเฟสบุ๊คได้เพิ่มเติมข้อความในส่วนของนโยบายตรงจุดนี้ว่า เนื้อหาจำพวกที่จะไม่ถูกนำมาพิจารณาด้วยคือเนื้อหาที่ "มีเป้าประสงค์หลักต้องการแสดงความคิดเห็นหรือเป็นวาระจากบุคคลทางการเมือง" นั่นทำให้ไม่ว่าจะมีเรื่องโกหกจากโฆษณาของทรัมป์หรือนักการเมืองคนอื่นๆ มากมายขนาดไหนก็ตามเฟสบุ๊คก็จะอนุญาตให้เผยแพร่ได้

นอกจากโฆษณาทางการเมืองแล้ว นโยบายเพิ่มเติมของเฟสบุ๊คยังอนุญาตให้ข้อความอื่นๆ อย่างบทความแสดงความคิดเห็นและงานเชิงเสียดสี (satire) ไม่เข้าข่ายที่ต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริง

โฆษกของเฟสบุ๊คแถลงว่า "พวกเราไม่เชื่อว่าการทำตัวเองเป็นกรรมการทางการเมืองจะเป็นบทบาที่เหมาะสมสำหรับพวกเรา แล้วพวกเราก็ไม่เชื่อว่ามันเหมาะสมถ้าหากจะสกัดกั้นคำกล่าวของนักการเมืองไม่ให้เข้าถึงผู้รับชมแล้วปล่อยให้มันเป็นเรื่องของประชาชนจะไปถกเถียงอภิปรายและใคร่ครวญ"

อย่างไรก็ตามมีการตั้งข้อสังเกตว่าในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมามีโฆษณาของทรัมป์หลายตัวที่เข้าข่ายเป็นข้อมูลเท็จหรือชวนให้ไขว้เขว แต่ก็จะไม่เป็นปัญหากับกฎใหม่ที่เฟสบุ๊คเพิ่งออก ทั้งนี้สื่อ The Verge ยังเคยนำเสนอข้อมูลที่รั่วไหลจากการประชุมของเฟสบุ๊ค ซึ่งซีอีโอของเฟสบุ๊คกล่าวในที่ประชุมว่ามันจะเป็นเรื่อง "ห่วยแตก" ถ้าหาก อลิซาเบธ วอร์เรน หนึ่งในผู้แทนพรรคเดโมแครตที่มาแรงได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีและบอกอีกว่าจะ "สู้" กับเธอให้ "แพ้ชนะกันไปข้างหนึ่ง"

ซึ่งอลิซาเบธ วอร์เรน กล่าวโต้ตอบซัคเคอร์เบิร์กในเรื่องนี้ว่า "สิ่งที่จะถือว่า 'ห่วยแตก' จริงๆ คือการที่พวกเราไม่แก้ไขระบบที่ฉ้อฉลปล่อยให้บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างเฟสบุ๊คมีพฤติกรรมกีดกันทางการแข่งขันซึ่งถือว่าผิดกฎหมาย มีกระทำการเหยียบย่ำสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภค และ มีความเงอะงะซ้ำๆ หลายครั้งต่อเรื่องความรับผิดชอบของพวกเขาในการปกป้องประชาธิปไตย"

เรียบเรียงจาก

Facebook says Trump can lie in his Facebook ads, Popular Information, 03-10-2019

Facebook exempts political ads from ban on making false claims, The Guardian, 04-10-2019

READ THE FULL TRANSCRIPT OF MARK ZUCKERBERG’S LEAKED INTERNAL FACEBOOK MEETINGS, The Verge, 01-10-2019

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Judd_Legum
 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ผู้ประท้วงฮ่องกง 2 รายถูกจับกุมเซ่นกฎหมายห้ามสวมหน้ากากเป็นครั้งแรก

$
0
0

หลังการชุมนุมต่อเนื่องมาหลายสัปดาห์ ล่าสุดรัฐบาลฮ่องกงออกมาตรการใหม่เพื่อบีบผู้ชุมนุม ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือการบังคับใช้กฎหมายห้ามสวมหน้ากาก โดยมีผู้ประท้วง 2 รายถูกจับด้วยข้อหานี้เป็นครั้งแรกและเพิ่งได้รับการประกันตัวในวันจันทร์นี้ (7 ต.ค.)

ทิวทัศน์ของฮ่องกงในปี 2009 (ที่มาของภาพประกอบ: Flickr/Bernard Spragg. NZ/Public Domain)

ทางการฮ่องกงจับกุมและตั้งข้อหาผู้ประท้วงด้วยกฎหมายห้ามสวมหน้ากากเป็นครั้งแรกในวันที่ 7 ต.ค. ที่ผ่านมาก่อนที่จะอนุญาตให้มีการประกันตัวผู้ประท้วง 2 คนนี้

ทางการอ้างกฎหมายห้ามสวมหน้ากากมาใช้ตั้งข้อหาพวกเขาซึ่งกฎหมายดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของ "บัญญัติสถานการณ์ฉุกเฉิน" (Emergency Regulations Ordinance) ที่มีมาตั้งแต่สมัยฮ่องกงยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ และมีบทลงโทษจำคุกสูงสุด 1 ปี

ฮ่องกงฟรีเพรสระบุว่านี้เป็นครั้งแรกที่มีการบังคับใช้กฎหมายนี้ โดยที่ผู้ประท้วง 2 รายถูกตั้งข้อหาในการพิจารณาที่ศาลอีสเทิร์นมาจีสเตรทคอร์ทเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 7 ต.ค. วันเดียวกับที่มีเทศกาลชงโหย่งที่มีการเคารพบรรพบุรุษคล้ายเทศกาลเชงเม้ง โดยในช่วงที่มีการพิจารณาคดีนั้นมีผู้ประท้วงราว 100 คนไปปรากฏตัวที่ศาลเพื่อให้กำลังใจผู้ที่ถูกจับกุมในครั้งนี้

ผู้ที่ถูกจับกุมในครั้งนี้มีนักศึกษาชายอายุ 18 ปี กับหญิงอายุ 38 ปี พวกเขาถูกจับกุมตั้งแต่วันที่ 5 ต.ค. ที่ผ่านมาในย่านกวนตง ทางการยังตั้งข้อหาชุมนุมอย่างผิดกฎหมายกับพวกเขาด้วย โดยหลังจากมีการพิจารณาคดีในศาลพวกเขาก็ได้รับอนุญาตประกันตัวและสั่งให้มีการเลื่อนพิจารณาคดีไปเป็นวันที่ 18 พ.ย. ที่จะถึงนี้ โดยที่ผู้ถูกจับกุมไม่ได้รับอนุญาตให้ออกจากฮ่องกงและต้องปฏิบัติตามกฎห้ามออกนอกเคหะสถานในช่วงเวลาระหว่าง 5 ทุ่ม ถึง 6 โมงเช้า รวมถึงต้องรายงานตัวตัวตำรวจ 1 ครั้งต่อสัปดาห์

อย่างไรก็ตามมีการฟ้องร้องเพื่อต่อสู้ในเรื่องนี้ โดยเป็นการต่อศาลสูงเพื่อให้มีการต่อต้านกฎหมายการห้ามหน้ากาก

รัฐบาลฮ่องกงประกาศบังคับกฎใหม่นี้ตั้งแต่วันที่ 4 ต.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการสร้างความไม่พอใจให้ผู้ชุมนุมมากยิ่งขึ้น เดอะการ์เดียนระบุว่ามีประชาชนหลายหมื่นคนยังคงเดินขบวนท่ามกลางสายฝนในย่านใจกลางของฮ่องกงและในหลายๆ ย่านเพื่อต่อต้านกฎหมายนี้และต่อต้านความรุนแรงของตำรวจ ซึ่งมีคนส่วนใหญ่ยังคงสวมหน้ากากเพื่อแสดงการขัดขืนต่อข้อบังคับใหม่ ในช่วงบ่ายมีการใช้แก็สน้ำตาจากตำรวจเพื่อพยายามสลายการชุมนุมส่วนผู้ชุมนุมก็เริ่มทำลายข้าวของๆ กลุ่มธุรกิจที่เชื่อว่าเป็นธุรกิจที่สนับสนุนจีนแผ่นดินใหญ่ รวมถึงมีบางส่วนทำให้เกิดความเสียหายต่อรถไฟใต้ดิน

ทั้งนี้รัฐบาลฮ่องกงยังได้สั่งปิดสถานีรถไฟใต้ดินในวันจันทร์ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ ทำให้ผู้ประท้วงแสดงความไม่พอใจทั้งจากเรื่องที่การปิดสถานีรถไฟเป็นการสกัดกั้นคนไม่ให้รวมตัวกันชุมนุมหรือสลายตัวได้ และไม่พอใจที่ตำรวจใช้กำลังโจมตีผู้ชุมนุมจากในสถานีรถไฟใต้ดิน

การประกาศใช้บัญญัติสถานการณ์ฉุกเฉินนี้ไม่เคยมีมาก่อนเลยนับตั้งแต่ช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้และไม่มีมีการประกาศใช้เลยหลังจากที่อังกฤษส่งเกาะฮ่องกงให้อยู่ใต้การปกครองของจีนในปี 2540 มีข้อกังวลว่าการบังคับใช้มาตรการนี้จะทำให้ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกง แคร์รี หลำ มีอำนาจอย่างไร้ขอบเขต นักวิจารณ์กล่าวว่าการบังคับใช้กฎหมายบัญญัติสถานการณ์ฉุกเฉินนี้ขาดความชอบธรรมและเป็นก้าวแรกไปสู่เผด็จการอำนาจนิยม อย่างการบีบบังคับควบคุมชีวิตประจำวันของประชาชน

ในช่วงที่มีการประกาศบังคับใช้บัญญัติสถานการณ์ฉุกเฉิน แคร์รี หลำ ยังเปรยไว้ว่าถ้าหากยังคงมีการประท้วงดำเนินต่อไปทางรัฐบาลอาจจะใช้มาตรการที่หนักข้อกว่านี้รวมถึงการบังคับใช้เคอร์ฟิว

คริส แพทเทน อดีตผู้ว่าการรัฐฮ่องกงคนสุดท้ายก่อนที่ฮ่องกงจะอยู่ภายใต้การปกครองของจีนเป็นหนึ่งในผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์มาตรการใหม่นี้ โดยบอกว่าแคร์รี หลำ ใช้วิธีการหนักข้อเกินไป พูดเน้นถึงเรื่องที่ตำรวจติดอาวุธทำให้เยาวชนบาดเจ็บสาหัส อีกทั้งยังเตือนว่าสถานการณ์อาจจะยกระดับมากขึ้นกว่าเดิมถ้าหากแคร์รี หลำ ยังไม่ยอมเจรจากับผู้ชุมนุม โดยเฉพาะผู้ชุนมุมที่ประท้วงอย่างสงบ

เรียบเรียงจาก

Two Hong Kong protesters charged with violating anti-mask law released on bail, Hong Kong Free Press, 07-10-2019

Hong Kong protests: first charges brought under laws banning face masks, The Guardian, 07-10-2019

Violence grips Hong Kong as Lam activates emergency powers, The Guardian, 04-10-2019

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

วันที่อยู่อาศัยโลก คนจนร้อง รบ.ยุติดำเนินคดีที่ดินกับผู้ไร้ที่ดิน - ปฏิรูปกองทุนยุติธรรมให้กับคนจน

$
0
0

เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก สมัชชาคนจน เครือข่ายสลัม 4 ภาค ร้องรัฐบาลยุติดำเนินคดีที่ดินกับผู้ไร้ที่ดินทำกินและไร้ที่อยู่อาศัย ปฏิรูปกองทุนยุติธรรมให้กับคนจน สลัม 4 ภาค ยังร้อง กทม. ออกแบบบ้านคนจน ใช้ปลูกสร้างในโครงการบ้านมั่นคง ไม่เกิน 1.5 แสน หวังคนจนมีที่อยู่อาศัยมั่นคง

7 ต.ค.2562 เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก วันนี้ สมัชชาคนจน ซึ่งปักหลักชุมนุมอย่างต่อเนื่องบริเวณถนนลูกหลวง ข้างกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยเครือข่ายสลัม 4 ภาค ได้ยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลยุติดำเนินคดีที่ดินกับผู้ไร้ที่ดินทำกินและไร้ที่อยู่อาศัย และขอให้ปฏิรูปกองทุนยุติธรรมให้กับคนจนได้รับความช่วยเหลือเข้าถึงอย่างเป็นธรรม โดย เทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้มารับหนังสือด้วยตัวเอง โดยขออนุญาตลาที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งเมื่อรับหนังสือแล้ว นายเทวัญได้ขึ้นรถกระจายเสียงของกลุ่มผู้ชุมนุมและกล่าวกับกลุ่มผู้ชุมนุมว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไม่ได้นิ่งนอนใจในการแก้ปัญหาให้กับพี่น้องผู้มีรายได้น้อย

“ผมมีความเห็นอกเห็นใจพี่น้องทุกคน จึงได้ลาที่ประชุมคณะรัฐมนตรี รีบออกมารับหนังสือจากทุกคน โดยได้บอกกับนายกรัฐมนตรีว่าขอออกมารับหนังสือจากกลุ่มพี่น้องที่มากันเป็นจำนวนมาก ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็ได้กำชับว่าเมื่อรับหนังสือเรียบร้อยแล้วให้นำมาชี้แจงในทันที” เทวัญ กล่าว

เทวัญ กล่าวด้วยว่า ขณะที่การประชุมคณะรัฐมนตรีกำลังเร่งพิจารณาวาระงบประมาณแผ่นดินเพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาสัปดาห์หน้า ซึ่งเมื่อพระราชบัญญัติงบประมาณผ่านรัฐสภาแล้ว เราจะได้เห็นทิศทางในการช่วยนำงบประมาณไปพัฒนาและช่วยเหลือประชาชนในทุกพื้นที่

สมัชชาคนจน ยังประกาศด้วยว่า วันที่ 8 ต.ค.นี้ เวลา 8.00 น. สมัชชาคนจนจะเคลื่อนขบวนไปสู่ทำเนียบรัฐบาล พร้อมทั้งอ่านแถลงการณ์สมัชชาคนจนหน้าทำเนียบรัฐบาล บริเวณประตู 5

สลัม 4 ภาค ร้องผู้ว่าฯ กทม. เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก

วันเดียวกัน (7 ต.ค.62) ช่วงเช้า ที่ศาลาว่าการ กทม. สมบุญ คงคา ประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาค นำเครือข่ายฯ จำนวน 300 คน เดินขบวนไปยื่นหนังสือเรื่องข้อเสนอภาคประชาชนเนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก ต่อ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.)

สมบุญ กล่าวว่า สำหรับข้อเรียกร้องต่อ กทม. 1.ให้ กทม.ออกแบบบ้านคนจน ใช้ปลูกสร้างในโครงการบ้านมั่นคง ราคาไม่เกิน 150,000 บาท เพื่อให้คนจนมีที่อยู่อาศัยมั่นคง 2.ให้ กทม.ลงทะเบียนชุมชนที่มีจำนวนไม่ถึงเกณฑ์ 100 หลัง ที่อยู่ในโครงการบ้านมั่นคง โดยเครือข่ายสลัม 4 ภาค คาดหวังว่า กทม.ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น และมีผู้ไร้ความมั่นคงในที่อยู่อาศัยจำนวนมาก จะให้ความสำคัญต่อประชาชนที่ไร้ที่ดินทำกินที่อยู่อาศัย ตามที่รัฐบาลได้ประกาศไว้เป็นนโยบายตามแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี ให้เกิดเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน

ทั้งนี้ พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า กทม.พร้อมให้การดูแลและแก้ไขปัญหาแก่ประชาชนทุกด้านทุกกลุ่ม ขณะนี้ได้รับหนังสือจากตัวแทนเครือข่ายแล้ว สำหรับข้อเรียกร้องที่ยื่นมา จะนำไปศึกษาและหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาว่าสามารถให้ความช่วยเหลือได้มากน้อยเพียงใด และจะนัดหารือผู้แทนฯ อีกครั้ง ยืนยันว่า ผมมาจากรากหญ้าเช่นเดียวกับประชาชน สิ่งไหนที่ทำให้ได้ จะทำให้แน่นอน และจะทำให้ดีที่สุด ประชาชนไม่ต้องเป็นห่วง

 

ที่มา : สำนักข่าวไทยมติชนออนไลน์ และเฟสบุ๊ค สมัชชาคนจน Assembly of the Poor

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai
Viewing all 58343 articles
Browse latest View live


<script src="https://jsc.adskeeper.com/r/s/rssing.com.1596347.js" async> </script>